[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 02 มีนาคม 2561 17:45:28



หัวข้อ: เกร็ดเสี้ยวหนึ่งของคอนสแตนติน ฟอลคอน (เจ้าพระยาวิชาเยนทร์)
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 02 มีนาคม 2561 17:45:28
เกร็ดเสี้ยวหนึ่งของคอนสแตนติน ฟอลคอน (เจ้าพระยาวิชาเยนทร์) จากนักผจญภัยผู้กลายมาเป็นอัครมหาเสนาบดีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์


(https://scontent.fbkk1-5.fna.fbcdn.net/v/t31.0-8/28423674_2030813680291945_7968873101735629516_o.jpg?oh=00a1697bb7667be9b6967ba92018f17f&oe=5B02CCA6)
ภาพ : ภาพวาดคอนสแตนติน ฟอลคอน ในพิธีราชทูตฝรั่งเศสถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนารายณ์ และฟอลคอน จากละครบุพเพสันนิวาส แสดงโดย หลุยส์ สก็อต

เจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ฉลาดเฉลียว และมีความสามารถในการทำราชการที่ล้ำหน้าเกินใคร
ทั้งยังพูดได้หลายภาษา รวมทั้งภาษาไทย โดยเฉพาะความสามารถในการจดจำคำราชาศัพท์ได้เป็นอย่างดี เขาจึงเป็นที่โปรดปรานยิ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระองค์มักจะมอบหมายงานสำคัญๆ ให้ทำอยู่เสมอ และให้ขุนนางชาวกรีกผู้นี้ เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ได้ตลอดเวลา

บันทึกหลายฉบับ ได้เล่าเรื่องราวความรักใคร่ในตัวฟอลคอน ของสมเด็จพระนารายณ์ไว้มากมาย แต่ที่ให้รายละเอียดไว้อย่างน่าเหลือเชื่อเกี่ยวกับความโปรดปราน
ที่ลึกซึ้งมากเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นบันทึกความทรงจำของเดอ แบส ผู้เป็นบาทหลวงคณะเยซูอิตชาวฝรั่งเศส ที่ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของฟอลค่อนไว้ค่อนข้างละเอียดกว่าใคร
ดังที่เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า....

อ้างถึง

“ในหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ มร.ก็องสตังซ์ (ชื่อที่พวกฝรั่งเศสใช้เรียกฟอลค่อน) เข้าเฝ้าไม่เว้นแต่ละวัน
และทรงพอพระทัยนักที่จะประทับสนทนาปราศรัยอยู่กับเขาตลอดวันทีเดียว...”




เรื่องราวที่น่าตื่นเต้นที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องที่สมเด็จพระนารายณ์ ทรงเข้าช่วยชีวิตนายฟอลค่อนด้วยพระองค์เอง เดอ แบส เล่าเหตุการณ์นี้ไว้ว่า...

อ้างถึง

“วันหนึ่ง พระองค์เสด็จออกประพาสล่าสัตว์ด้วยกัน มร.ก็องสตังซ์ซึ่งล่วงหน้าไปก่อน ได้เผชิญกับฝูงกระบือป่าและชีวิตของเขาตกอยู่ในระหว่างอันตราย
ในหลวงทรงลืมระลึกถึงพระชนมชีพและพระอิสริยศักดิ์ของพระองค์เอง ได้ทรงถลันเข้าขวางไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกมากที่พวกกระบือได้ล่าถอยไป
เพราะโดยธรรมดาแล้วมันเป็นสัตว์จำพวกที่ดุร้ายที่สุด แม้กระนั้น มร.ก็องสตังซ์ก็ยังถูกมันตัวหนึ่งขวิดเอาจนได้ และคงจะถึงแก่ชีวิตเป็นอันตรายเป็นแน่
ถ้าในหลวงไม่ทรงเข้าขัดขวางไว้ สุดท้ายจึงเพียงแต่เสื้อขาดไปเท่านั้นเอง ในหลวงเองก็ทรงพระปริวิตกอยู่มากเหมือนกัน
และพระราชทานคำปลอบโยนแก่ มร.ก็องสตังซ์ ด้วยประการต่างๆ นับแต่นั้นมาก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ มร.ก็องสตังซ์ มีหน่วยทหารคุ้มตัว
และโปรดฯ ให้นำไปไหนมาไหนด้วยเสมอเพื่อปกป้องภยันตราย...
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาถึงพระบรมมหาราชวังแล้ว พระองค์โปรดให้นำเนื้อผ้าแพรพรรณจากเมืองจีนและเมืองโมโกล (Mogol)
กับเงินจำนวนมากไปพระราชทานรับขวัญ โดยรับสั่งว่าเป็นการชดใช้ค่าเสื้อตัวที่ขาดไปนั้น ด้วยการสูญเสียเพียงเสื้อตัวหนึ่งไปนั้นพอจะเยียวยาได้
แต่ถ้าพระองค์จะต้องทรงสูญเสีย มร.ก็องสตังซ์ ไปแล้วไซร้ ก็จะหามาชดใช้ไม่ได้เลย และพระองค์จะไม่ทรงมีวันคลายความเศร้าสลดพระทัยได้เป็นอันขาด
พร้อมกับทรงขอร้องและทรงบังคับว่า แต่นี้ต่อไปเมื่อหน้าอย่าได้เข้าไปเผชิญภัยโดยทำนองนี้อีกเลย...”




นี่คือตัวอย่างหนึ่งในบันทึกของบาทหลวงเดอ แบส ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดาระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับนายฟอลคอน แต่อย่างไรก็ตาม
เรื่องที่บาทหลวงผู้นี้เล่ามา แม้จะเป็นหลักฐานชั้นต้นที่มีคุณค่าต่อวงการประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ยังมีข้อฉงนสงสัยอยู่บ้างว่า
ใครเป็นผู้ที่เล่าเรื่องนี้เดอ แบส ฟัง มีความน่าเชื่อถือมากเพียงใด และระหว่างเกิดเหตุกระบือป่าเข้าล้อมนั้น เหล่าบรรดามหาดเล็ก ราชองครักษ์ หายไปไหนกันหมด
ทำไมถึงปล่อยให้องค์พระมหากษัตริย์ต้องตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวงได้ขนาดนี้

แต่เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์โดยรวมแล้วก็น่าเชื่อว่าสมเด็จพระนารายณ์ ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษต่อขุนนางฝรั่งผู้นี้จริง อีกทั้งมีขุนางคนไทยหลายต่อหลายคน
ต้องสังเวยชีวิตจากพระราชอาญาอันเกิดจากการได้ไปมีความขัดแย้งกับฟอลค่อน ไม่เว้นแม้แต่พระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ผู้เป็นพี่ชายของออกพระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน)
ผู้ที่จงรักภักดีและเคยเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางพระทัย ก็ต้องมาจบชีวิตด้วยพระราชอาญาอันเนื่องมาจากความขัดแย้งเรื่องการสร้างป้อมกับฟอลค่อน
 
ด้วยเหตุนี้เอง เจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือฟอลค่อน จึงเป็นที่อิจฉาริษยาจากบรรดาขุนนางชาวไทย รวมถึงความเก่งกล้าในด้านการหาผลประโยชน์ทางการค้าของฟอลคอนเอง
ที่ทำให้ทั้งคนไทย แขก แลฝรั่งพวกอื่นๆ ล้วนจงเกลียดจงชัง แต่ด้วยพระบารมีปกป้องขององค์พระมหากษัตริย์นี้เอง ที่ทำให้ฟอลคอนเป็นอัครมหาเสนาบดี
ผู้ที่มีวาสนาสูงสุดในกรุงศรีอยุธยา

แต่ทว่า ชะตาชีวิตของฟอลคอนเองก็ขึ้นอยู่กับพระชนม์ชีพของสมเด็จพระนารายณ์เองด้วย เพราะเมื่อถึงคราวที่พระองค์ประชวรใกล้จะสิ้นพระชนม์
วาสนาของฟอลค่อนก็เริ่มดิ่งวูบลง จนนำไปสู่มรณกรรมอันน่าสยดสยองจากศัตรูที่เก็บงำความเกลียดชังในตัวฝรั่งผู้นี้ตลอดมา

-------------------------------------



อ้างอิง : บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน : แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร