[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
16 พฤษภาคม 2567 01:16:53 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หุ่นกระบอกไทย  (อ่าน 1266 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5489


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 30 พฤศจิกายน 2561 15:12:00 »




หุ่นกระบอกไทย

หุ่นกระบอก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔  ให้คำนิยามไว้ว่า “หุ่นชนิดหนึ่ง  มีแต่ส่วนหัวและมือ ๒ ข้างลำตัว ทำด้วยไม้กระบอก มีผ้าเย็บเป็นถุงคลุม เวลาเชิดใช้มือสอดเข้าไปจับไม้กระบอกนั้นเชิด”

ลักษณะโดยทั่วไปของหุ่นกระบอกไทยจะสูงประมาณ ๓๐ – ๕๐ เซนติเมตร ผู้เชิดจะอยู่ด้านล่างของตัวหุ่นคล้ายกับหุ่นกระบอกของเวียดนาม หากแต่หุ่นกระบอกเวียดนามจะใช้ผู้เชิดแสดงหุ่นอยู่ใต้น้ำซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว จึงนิยมเรียกหุ่นกระบอกเวียดนามว่า “หุ่นน้ำ”
 
ประวัติความเป็นมาของการเล่นหุ่นในไทย
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยพบว่ามีการเล่นหุ่นเป็นมหรสพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปรากฏว่ามีการเล่นหุ่นในหมายรับสั่ง สมุดไทย และวรรณคดีเรื่องต่างๆ  ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เรื่อยมาจนถึงสมัยธนบุรี ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการระบุว่ามีการเล่นหุ่นในงานฉลองและสมโภชในพิธีหลวง เช่น การออกพระเมรุ  ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นการเล่นหุ่นหลวง ไม่ใช่หุ่นกระบอกเกิดขึ้นและแพร่หลายตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงมา

สำหรับหุ่นหลวงนั้น นายจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ได้ให้นิยามเอาไว้ว่า “หุ่นหลวง เป็นศิลปะการแสดงชนิดหนึ่งที่ใช้วัสดุมาประดิษฐ์ให้มีรูปร่างท่าทางเหมือนคน มีขนาดใหญ่ สูงถึง ๑ เมตร มีคนเชิดและชักให้เคลื่อนไหว หุ่นหลวงเป็นมหรสพของหลวงที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา”

ลักษณะของหุ่นหลวงตัวหุ่นทำด้วยไม้คว้านให้เบาลง เฉพาะที่ส่วนเอวของตัวหุ่นใช้เส้นหวายขดซ้อนกันเพื่อให้เคลื่อนไหวได้ มีเชือกร้อยจากนิ้วมือผ่านลำแขนเข้าสู่ลำตัวของหุ่นเพื่อให้มือและแขนขยับได้ ส่วนเท้าติดกับแข้งและขาเคลื่อนไหวไม่ได้เหมือนมือ ภายในลำตัวมีแกนไม้ยาวสำหรับคนเชิดจับยื่นออกมาจากส่วนก้นของหุ่น แม้หุ่นหลวงจะมีขนาดใหญ่กว่าหุ่นกระบอก แต่มีน้ำหนักเบากว่ามาก การประดิษฐ์และรายละเอียดของหุ่นมีความประณีตมาก เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของหุ่นหลวงมีลักษณะคล้ายกับเครื่องแต่งกายของโขนละคร วิธีเชิดหุ่นหลวงนั้น นายจักรพันธุ์ โปษยกฤต สันนิษฐานว่าผู้เชิดคงจะเชิดหุ่นให้อยู่ในระดับเหนือศีรษะ โดยผู้เชิดยืนจับแกนไม้ที่ใช้บังคับหุ่น ยกชูขึ้นด้วยมือข้างหนึ่งและใช้มืออีกข้างหนึ่งคอยบังคับสายชักที่ร้อยจากอวัยวะต่างๆ ของหุ่นให้ออกมาทางก้น โดยห้อยลงมารวมกันที่แป้นไม้ที่ตรึงติดอยู่กับแกนไม้ชิ้นที่สำหรับจับเชิด

นอกจากหุ่นหลวงแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญได้ทรงประดิษฐ์หุ่นที่มีความสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เรียกกันว่า หุ่นเล็ก และเรียกหุ่นหลวงที่มีมาแต่เดิมว่า หุ่นใหญ่ หุ่นเล็กที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นมี ๒ แบบ คือ “หุ่นจีน” เป็นลักษณะหุ่นมือ ใช้นิ้วเชิดบังคับให้เคลื่อนไหว หัวและหน้าเขียนสีต่างๆ รวมทั้งเครื่องแต่งกายเหมือนอย่างงิ้ว หุ่นจีนใช้เล่นเรื่องวรรณคดีของจีน เช่น ซวยงัก สามก๊ก เป็นต้น ส่วน “หุ่นไทย” มีลักษณะของเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย รวมถึงวิธีชักเหมือนกับหุ่นหลวง ใช้เล่นเรื่องรามเกียรติ์ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เรียกกันโดยทั่วไปว่า “หุ่นวังหน้า”
         
หุ่นวังหน้าในชุดหุ่นไทย จะมีความสูงประมาณ ๒๘ – ๓๐ เซนติเมตร โครงหุ่นแกะเหลาด้วยไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบา คว้านเจาะให้กลวงตลอดลำตัวเพื่อร้อยเชือกสำหรับชักให้อวัยวะบางส่วนเคลื่อนไหวได้ หัวหุ่นโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อนเช่นเดียวกับตัวหุ่น แล้วปั้นเสริมรายละเอียดบนใบหน้าด้วยรัก ปิดกระดาษเขียนสีตัดเส้นวิธีเดียวกับหัวโขน ส่วนคอของหุ่นมีก้านไม้เล็กๆ ต่อยาวลงไปทางช่องกลวงกลางลำตัวสำหรับบังคับหุ่นให้หันหน้าไปมาได้ขณะที่เชิด

หุ่นทุกตัวมีแกนไม้สำหรับให้ผู้เชิดถือเชิดอยู่ต่อจากส่วนล่างของโครงลำตัว มีสายเชือกร้อยต่อจากมือ ขา และแขน หรับชักให้ส่วนต่างๆ เคลื่อนไหวเช่นเดียวกับหุ่นหลวง หุ่นบางตัวมีสายเชือกสำหรับชักมากถึง ๑๘ เส้น

แขนของหุ่นที่เป็นตัวละครสำคัญ แบ่งเป็น ๓ ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ ๑ ตั้งแต่นิ้วมือจนถึงข้อมือ ฝ่ามือและนิ้วหัวแม่มือแกะด้วยไม้ ส่วนนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อยทำด้วยเส้นโลหะตัดให้เรียวงอน ลงรักปิดทอง
ส่วนที่ ๒ ตั้งแต่ข้อมือจนถึงข้อศอก แกะด้วยไม้เจาะรูตรงกลางกลวงตลอด
ส่วนที่ ๓ ช่วงแขนท่อนบนตั้งแต่เหนือข้อศอกถึงต้นแขน แกะด้วยไม้เนื้ออ่อน คว้านกลวงตลอดเพื่อร้อยสายเชือกเช่นเดียวกับส่วนที่ ๒

ขาของหุ่นแกะด้วยไม้ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ ๑ ตั้งแต่ปลายเท้าถึงหน้าแข้งต่อกับข้อเข่า
ส่วนที่ ๒ ตั้งแต่ช่วงข้อเข่าจนถึงต้นขา

หุ่นพระและหุ่นยักษ์บางตัวสวมรองเท้าเชิงงอน อวัยวะส่วนต่างๆ ของหุ่นยึดด้วยเชือกเส้นเล็กๆ

สายเชือกสำหรับชักหุ่นจะโยงจากตรงกลางข้อมือ สอดร้อยเข้าไปในลำแขนมายังต้นแขนช่วงต่อกับไหล่ แล้วร้อยผ่านรูเล็กๆ  เข้าไปยังช่องกลางลำตัวหุ่นลงมายังแกนไม้สำหรับถือเชิด  ซึ่งทำเป็นแป้นเจาะรูเพื่อจัดสายชักให้เป็นระเบียบ  ปลายสายชักมีห่วงสำหรับคนเชิดสอดนิ้วบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว
         
หุ่นวังหน้า ในชุดหุ่นไทย จำแนกได้ดังนี้

ตัวพระ ได้แก่ตัวหน้ามนุษย์ผู้ชายที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์หรือตัวเอกของเรื่อง กษัตริย์เมืองต่างๆ รวมถึงเทพเจ้า อาทิ พระอิศวร พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม และพระวิษณุกรรม เป็นต้น ตลอดจนบุรุษที่เป็นบุคคลชั้นสูง เช่น เสนาผู้ใหญ่ เป็นต้น

เครื่องประดับที่ประดับศีรษะหุ่นตัวพระมีทั้งชฎาเครื่องยอดและสวมกะบังหน้าประกอบกรรเจียกจอน  ลวดลายที่ใช้ประกอบเครื่องประดับใช้รักตีลายจากพิมพ์หินสบู่ เครื่องแต่งกายประกอบด้วยอินทรธนู สังวาล ตาบทิศทับทรวง สวมสนับเพลาทับด้วยผ้าโจง มีผ้าห้อยหน้า ผ้าห้อยข้าง การแต่งกายของตัวพระคล้ายกับโขน  หุ่นตัวพระที่สำคัญ  เช่น พระรามสีเขียวสวมชฎายอดบัด พระลักษมณ์ สีจันทร์ เสื้อสีเหลือง ชฎายอดบัด พระพรต สีแดง เสื้อสีม่วง ชฎายอดบัด พระสัตรุด สีม่วงอ่อน เสื้อสีม่วง ชฎายอดบัด พระมงกุฎ สีเขียว สวมกะบังหน้า รัดเกล้าจุกอย่างเด็กผู้ชาย พระวิษณุกรรม สีเขียว สวมกระบังหน้า เสื้อสีม่วง ตัวนาง ได้แก่นางฟ้า อัครชายา นางกำนัล หญิงสูงศักดิ์ เครื่องประดับศีรษะนางฟ้าหรือมนุษย์สวมชฎา หากเป็นยักษ์สวมรัดเกล้า ยักษ์ที่มีศักดิ์ใช้รัดเกล้ายอด ส่วนนางกำนัลใช้รัดเกล้าเปลว

เนื่องจากตัวนางในรามเกียรติ์เวลาแสดงโขนมักไม่จำแนกสีกายชัดเจนอย่างตัวพระและลิง ทำให้เมื่อจำลองออกมาเป็นหุ่นจึงไม่สามารถจำแนกลงไปได้ว่าหุ่นตัวนางแต่ละตัวคือใคร นอกจากพิจารณาอย่างกว้างๆ จากการเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เช่น หุ่นตัวนางที่ไว้ผมปีก สวมชฎายอดแหลม มีกรรเจียกจอน อาจจะเป็นนางสีดา นางมณโฑ หรือเทพธิดาองค์ใดองค์หนึ่ง หุ่นตัวนางที่หวีผมแสก สวมรัดเกล้าเปลว อาจเป็นนางเบญจกาย หรือนางสำมนักขาแปลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจะใช้แสดงในตอนใด ส่วนหุ่นตัวนางที่สวมกะบังหน้าไม่มียอดนั้นได้แก่ นางกำนัล นอกจากหุ่นนางกาลอัคคี ธิดาท้าวกาลนาค มเหสีองค์หนึ่งของทศกัณฐ์ ที่สามารถระบุได้ชัดเจน เนื่องจากสวมกะบังหน้า ชฎายอดทำเป็นเศียรนาค

หุ่นตัวนางทุกตัวห่มผ้าสะพัก ๒ ไหล่อย่างนางในโขนละคร ประดับกรองศอ ทับทรวง พาหุรัด ทองกร ผ้าห่มปักลวดลวดลายประดับลูกปัดงามวิจิตร นุ่งผ้าจีบตาดเยียรบับคาดปั้นเหน่ง
         
ตัวยักษ์ หุ่นตัวยักษ์มีการกำหนดชฎาเครื่องยอด สีกาย ปาก ตา และอาวุธคู่มือเอาไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

กำหนดด้วยชฎาเครื่องยอด เช่น ไมยราพ พญาทูต สวมชฎายอดกระหนก วิรุญจำบัง บรรลัยจักร สวมชฎายอดหางไก่ มารีศ สวาหุ ทัพนาสูร สวมชฎาสามกลีบ

กำหนดด้วยสีกาย เช่น ทศกัณฐ์ อินทรชิต กุมภกรรณ สีเขียว มารีศ สหัสเดชะ ตรีเศียร สีขาว ไมยราพ บรรลัยจักร กุเรปัน สีม่วงอ่อน ทัพนาสูร ทศคีรีธร กุมภกาศ สีหงดิน

หัวหุ่นยักษ์แกะโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อน ปั้นเสริมรายละเอียดต่างๆ  ปิดกระดาษและเขียนสีเช่นเดียวกับหัวโขน
         
ตัวลิง หุ่นตัวลิงจะมีลักษณะและรายละเอียดเหมือนกันการแสดงโขน
 
นอกจากนี้ยังมีหุ่น ฤๅษี ซึ่งบางตัวสวมชฎาทรงสูง ลำโพงแหลมเรียว ประดับกรองศอ ทับทรวง พาหุรัด ทองกร และสวมรองเท้าเชิงงอน เครื่องแต่งกายห่มผ้าเฉียงลายหนังเสือ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็น “ราชฤๅษี” เช่นท้าวชนกบิดาบุญธรรมของนางสีดา บางตัวมีหนวดเครายาวลงมาถึงเข่า ซึ่งอาจจะเป็นฤๅษีต่างๆ ที่มีอยู่หลายตนในเรื่องรามเกียรติ์
 
ในส่วนของหุ่นวังหน้า ชุดหุ่นจีนนั้น มีลักษณะเป็นหุ่นถุงมือ คือใช้มือสอดเข้าไปบังคับให้ตัวหุ่นเคลื่อนไหว หัวหุ่นและมือหุ่นแกะด้วยไม้เนื้อเบา เรื่องที่นำมาเป็นบทสำหรับแสดงหุ่นจีนเป็นเรื่องพงศาวดารจีนและเกล็ดย่อยต่างๆ หุ่นจีนนี้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เคยทรงจัดไปแสดงช่วยในงานทำบุญวันสมภพครบรอบ ๗๑ ปี ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ ซึ่งหุ่นจีนนี้  จักรพันธุ์  โปษยกฤต สันนิษฐานไว้ว่า “...หุ่นทั้งหมดเป็นฝีมือช่างจีนแท้ๆ อาจเป็นช่างจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย เนื่องจากมีหลักฐานปรากฏตามพระประวัติกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญว่าทรงมีโรงงิ้ว และมีการหัดงิ้วกันขึ้นภายในวังหน้า”
 
นอกจากหุ่นหลวงที่กล่าวข้างต้นแล้วนั้น ยังมีการแสดงหุ่นอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ละครเล็ก  ซึ่งสันนิษฐานว่าเริ่มมีการเล่นเป็นมหรสพราว พ.ศ.๒๔๔๔ โดย นายแกร ศัพทวนิช เป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้น ตัวหุ่นมีขนาดสูงประมาณ ๑ เมตร สร้างขึ้นเลียนแบบหุ่นหลวงและหุ่นเล็ก แต่ต่างกันที่การบังคับหุ่นและลีลาการเชิดซึ่งเป็นศิลปะที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ต่อมาเมื่อนายแกรถึงแก่กรรม นายทองอยู่ ศัพทวนิช ลูกชาย และนายทองหยิบ ลูกสะใภ้ ได้รับการสืบทอดต่อมาจนถึงวัยชรา จึงได้มอบตัวหุ่นละครเล็กที่ยังหลวงเหลืออยู่บ้างให้แก่ นายสาคร ยังเขียวสด (รู้จักกันทั่วไปว่าโจหลุยส์) ตัวละครหุ่นละครเล็กที่นายแกรสร้างไว้ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๓๐ ตัว จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

แต่เดิมตัวหุ่นละครเล็กที่สำคัญและเป็นตัวนายโรงจะใช้ผู้เชิด ๓ คน ส่วนตัวนางและตัวตลกอื่นๆ จะใช้ผู้เชิด ๑ - ๒ คน เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นละคร เช่น พระอภัยมณี แก้วหน้าม้า จนกระทั่งนายสาคร ยังเขียวสด ได้สร้างหุ่นละครเล็กขึ้นมาใหม่ และมีการพัฒนารูปแบบในการเชิดให้ออกมาเชิดอยู่ด้านนอก เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นลีลาของผู้เชิดไปพร้อมๆ กับหุ่น โดยหุ่น ๑ ตัว ใช้ผู้เชิด ๓ คน และมีการถ่ายทอดสู่บุตรชายหญิง โดยจัดตั้งคณะหุ่นขึ้นครั้งแรก ใช้ชื่อว่า คณะสาครนาฏศิลป์ละครเล็กหลานครูแกร และได้ก่อตั้งโรงละครสำหรับจัดแสดงหุ่นละครเล็กขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรู้จักกันในนาม นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) ในปัจจุบัน
 
ประวัติความเป็นมาของหุ่นกระบอกไทย
สันนิษฐานว่าหุ่นกระบอกไทยถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานในหนังสือสาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบกันระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ดังนี้

วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๗๙  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีลายพระหัตถ์ความว่า “...ทำให้รู้สึกว่าตาสังขารานั้นเป็นคนเลิศประเสริฐมนุษย์ แกแบ่งใจให้เป็นสองภาค เล่นสองอย่างพร้อมกันได้ เราแบ่งไม่ได้ จึงเล่นไม่ได้ ทางที่แกเล่นคือหุ่นกระบอกเรานี่เอง แต่เวลานั้นหุ่นกระบอกยังไม่เกิด หุ่นกระบอกก็เอาอย่างตาสังขารานั้นเองไปเล่น แต่หุ่นกระบอกนั้นไม่ประหลาดเพราะคนหนึ่งร้อง คนหนึ่งนั่งสีซอ เป็นของทำได้ง่าย ไม่เหมือนตาสังขาราซึ่งร้องเองสีซอเอง เล่นยากเหลือเกิน...”    วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๗๙ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลายพระหัตถ์ตอบความว่า “...จะทูลเลยไปถึงเรื่องหุ่นกระบอก เพราะเรื่องประวัติเกี่ยวข้องกับตัวหม่อมฉันเองมากอยู่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ ปีที่หม่อมฉันเข้าว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงเดือนตุลาคม หม่อมฉันขึ้นไปตรวจหัวเมืองเหนือ ครั้งนั้น ลูกชายกลางอิทธิดำรง (น้องรองจุลดิศ) อายุได้สัก ๕ ขวบ ติดหม่อมฉัน จึงตามไปด้วย หม่อมราชวงศ์เถาะ (เป็นทหารมหาดเล็กอยู่ก่อน ท่านคงอยู่จัก) รับอาสาเป็นพี่เลี้ยง เมื่อไปถึงเมืองอุตรดิตถ์ สามเณรรณชัยเวลานี้เป็นพระยาสุโขทัย ให้หุ่นกระบอกมาเล่นให้ดู ได้เห็นเป็นครั้งแรก แกเล่าให้ฟังว่า หุ่นกระบอกนั้นเกิดขึ้นที่เมืองสุโขทัย ด้วยคนขี้ยาคนหนึ่งชื่อเหน่ง ซึ่งเที่ยวอาศัยอยู่ตามวัด เห็นหุ่นจีนไหหลำจึงคิดเอาอย่างมาคิดทำเป็นหุ่นไทย และคิดกระบวนร้องตามรอยหุ่นจีนไหหลำ มีคนชอบจึงเลยเที่ยวเล่นหากิน ลูกชายคนกลางของหม่อมฉันได้เห็นหุ่นก็ชอบเป็นกำลัง สามเณรรณชัยจึงไปขอเขามาให้เธอตัวหนึ่ง แต่เวลาเดินทางหม่อมฉันให้เขาทำวอป่าให้เธอนั่งมา ก็เล่นเชิดหุ่นกับคุณเถาะเรื่อยมาตลอดมา แต่เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ได้สักหน่อยหนึ่ง ชายกลางป่วยสิ้นชีพ คุณเถาะเกิดความคิดจะเล่นหุ่น ยืมเงินหม่อมฉันได้ลงทุนทำ ก็เกิดมีหุ่นกระบอกขึ้นในกรุงเทพฯ ราว พ.ศ.๒๔๓๖ แต่แรกมักเรียกว่า หุ่นคุณเถาะ ด้วยประการฉะนี้...”

วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๗๙  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีลายพระหัตถ์ความว่า “...เรื่องหุ่นกระบอกเรียกว่าหุ่นคุณเถาะนั้น เกล้ากระหม่อมทราบดี คนเล่นก็ทราบว่าชื่อ นางเลียบ ตัวคุณเถาะก็รู้จักดีเป็นคนเลี้ยงชายกลาง ตัวชายกลางก็คุ้นกับเกล้ากระหม่อม ทั้งเกรงใจ ด้วยเกล้ากระหม่อมเป็นผู้มีหน้าที่ปลอบให้กินยา หุ่นคุณเถาะนั้นได้เห็นเป็นครั้งแรกที่ไหน ฝ่าพระบาทนำไปเล่นถวาย ดูเหมือนที่บางปะอิน จะเป็นงานอะไรก็ลืมเสียแล้ว ฝ่าพระบาทได้กราบบังคมทูลถึงประวัติหุ่นว่า นายเหน่งเป็นต้นคิด แปรมาจากหุ่นไหหลำ และจำทำนองร้องเดินเรื่องมาจากเพลงตาสังขารา...”

ดังนั้นกล่าวโดยสรุป สันนิษฐานได้ว่าหุ่นกระบอกไทยถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทั้งนี้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวทำให้ทราบได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็เริ่มมีการแสดงหุ่นกระบอกในประเทศไทยแล้ว
 

โอกาสในการแสดงหุ่นกระบอก

หุ่นกระบอกไทยถือว่าเป็นมหรสพที่แสดงทั้งในพระราชพิธีและพิธีราษฎร์ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐ ได้มีการกล่าวถึงการแสดงหุ่นกระบอกในรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ได้มีการแสดงหุ่นกระบอก เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษาที่พระราชวังบางปะอิน  "...วันที่ ๑๙ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ เวลาย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ประทับที่ปรำริมน้ำ ข้างตพาน เสด็จโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเรือแข่ง... เมื่อแข่งเรือแล้วเริ่มมีการเล่นที่ลานที่พระที่นั่งวโรภาษพิมาน แลในสระมีแตรวงพิณพาทย์ ทแยแลเพลงแคนต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรหุ่น (เลียนอย่าง) เมืองเหนือ จนเวลาทุ่มเศษ เสด็จขึ้นประทับในพระที่นั่งวโรภาษพิมาน...”
         
จะสังเกตได้ว่าในเวลานั้นผู้คนโดยทั่วไปเรียกหุ่นชนิดนี้ว่า “หุ่นเมืองเหนือ”  ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเรียกว่า “หุ่นกระบอก” ในภายหลัง พบหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑ หน้า ๔๗๓ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ในตอนที่กล่าวถึงงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลวาดวรองค์ ความว่า “...การมหรสพสมโภชมีตั้งแต่วันนี้ไป คือ โขน ๑ โรง หุ่น ๑ โรง งิ้ว ๑ โรง มอญรำ ๑ โรง หนัง ๒ โรง หุ่นกระบอก ๑ โรง และญวนหก สิงโต มังกร รำโคม...”

และในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒ หน้า ๑๐ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๓๘) ในตอนงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี กล่าวถึงมหรสพที่แสดงในงานพระเมรุ  “...โขน ๑ โรง หุ่น ๑ โรง งิ้ว ๑ โรง มอญรำ ๑ โรง หนัง ๒ โรง ไม้ลอย แลญวนหก สิงโต มังกร รำโคน กับหุ่นกระบอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพมีถวาย ๑ โรง...”

จะเห็นได้ว่าหุ่นกระบอกในระยะแรกนี้คือ หุ่นกระบอกจะถูกนำมาใช้เล่นเป็นมหรสพในงานพระเมรุเฉพาะพระราชโอรสและพระราชธิดาเป็นส่วนใหญ่ ในงานพระเมรุพระราชวงศ์ระดับรองลงมายังนิยมเล่นแต่หุ่นหลวงเช่นเดิม

นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๖ ที่หม่อมราชวงศ์เถาะได้ตั้งคณะหุ่นกระบอกขึ้นและเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีหุ่นกระบอกชนิดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันแสดงอยู่ตามหัวเมืองมาก่อนหน้าแล้ว เนื่องจากหุ่นของหม่อมราชวงศ์เถาะเป็นของใหม่สำหรับผู้คนในกรุงเทพฯ มีการประดิษฐ์ตัวหุ่น และอุปกรณ์ประกอบการแสดงที่ประณีตงดงามกว่าหุ่นกระบอกที่เล่นกันตามหัวเมือง มีหลักฐานกล่าวว่าหม่อมราชวงศ์เถาะได้สร้างหุ่นกระบอกถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เมื่อครั้งทรงพระเยาว์เป็นที่โปรดปรานอย่างมาก จากความคิดริเริ่มของหม่อมราชวงศ์เถาะทำให้เกิดความนิยมเล่นหุ่นกระบอกไทยอย่างกว้างขวาง ทำให้มีคณะหุ่นกระบอกเกิดขึ้นตามมามากมายหลายคณะ

เจ้าของคณะหุ่นกระบอกส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้าน แม้จะมีเจ้านายเป็นเจ้าของคณะอยู่บ้างก็ไม่ได้ ออกรับงานโดยทั่วไป คณะที่เป็นที่นิยมอย่างมากก็คือคณะของหม่อมราชวงศ์เถาะ มีผู้ช่วยเชิดหุ่นที่มีความสามารถสูงหลายคน หนึ่งในนั้นคือ “นายเปียก ประเสริฐกุล” ซึ่งต่อมาคือเจ้าของคณะหุ่นกระบอก “คณะนายเปียก  ประเสริฐกุล”  พื้นฐานการแสดงมาจากการที่นายเปียกได้อาศัยอยู่ในบ้านของหม่อมราชวงศ์เถาะมาตั้งแต่วัยเยาว์ และหัดเชิดหุ่นจนสามารถเชิดได้ทุกตัว เมื่อคราวพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๔๓๖  ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน นายเปียกได้มีโอกาสติดตามคณะหุ่นกระบอกหม่อมราชวงศ์เถาะ แสดงต่อหน้าพระที่นั่ง ด้วยอายุเพียง ๑๖ ปี โดยเชิดหุ่นกระบอกตัวขุนช้างในการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพระไวย เป็นที่ต้องพระทัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างมาก จึงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเงิน ๑ ถุง แก่นายเปียก แม้ต่อมาจะมีคณะหุ่นกระบอกมากมายหลายคณะ แต่นายเปียกยังคงครองใจผู้ชมส่วนใหญ่ จนถึง พ.ศ.๒๔๔๒ นายเปียกจึงได้ตั้งคณะหุ่นกระบอกของตนเองขึ้น และมีนางชื้น สกุลแก้ว บุตรสาว เป็นผู้สืบทอดจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีคณะของนางเลียบ หรือ “แม่ครูเคลือบ” ซึ่งเดิมเป็นผู้เชิดในคณะหุ่นกระบอกหม่อมราชวงศ์เถาะเช่นกัน แม่ครูเคลือบมีความสามารถในการขับร้องเป็นเลิศและได้ใช้ชีวิตปั้นปลายสั่งสอนลูกศิษย์ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ลูกศิษย์ท่าน ๒ คน ต่อมาก็ได้ตั้งคณะหุ่นกระบอกสืบต่อมา คือ “นางสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์” เจ้าของคณะหุ่นกระบอก “แม่สาหร่าย” และ “ครูวงษ์  รวมสุข” ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของคณะหุ่นกระบอก “ชูเชิดชำนาญศิลป์”

และยังมีคณะหุ่นกระบอกของมหาอำมาตย์ตรี พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศนนิภาธร เรียกกันอย่างสามัญว่า “หุ่นพระองค์สุทัศน์” เป็นหุ่นกระบอกคณะสำคัญที่เป็นที่นิยมในภาคตะวันตกของประเทศไทย คณะหุ่นกระบอกที่ยังคงรับงานแสดงในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่คณะ คือ คณะหุ่นกระบอกนายเปียก ประเสริฐกุล คณะหุ่นกระบอกชูเชิดชำนาญศิลป์ คณะหุ่นกระบอกดรุณีสี่พี่น้อง และคณะหุ่นกระบอกแม่สังวาล ส่วนคณะหุ่นกระบอกของกรมศิลปากร และคณะหุ่นกระบอกของนายจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ เป็นการจัดแสดงเพื่อการกุศล ไม่ได้รับงานแสดงโดยทั่วไป
 

องค์ประกอบในการเชิดแสดงหุ่นกระบอกไทย จัดจำแนกได้ดังนี้

๑. ตัวหุ่นกระบอก
หุ่นกระบอกที่ใช้แสดงกันในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าสร้างแบบเดียวกับหุ่นซึ่งหม่อมราชวงศ์เถาะได้ประดิษฐ์ขึ้น คือ ตัวหุ่นกระบอกประกอบขึ้นจาก ๔ ส่วน ได้แก่ ศีรษะหุ่น ลำตัว มือ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ตัวหุ่นกระบอกที่เลียบแบบอวัยวะจริงของมนุษย์มีเพียง ๒ ส่วน คือ ศีรษะและมือทั้งสองข้าง ส่วนลำตัวหุ่นเป็นกระบอกไม้ไผ่สอดเข้าไปตรงลำคอ ศีรษะและลำตัวถอดออกจากกันได้ เมื่อไม่ใช้ทำการแสดงก็จะถอดแยกส่วนและเก็บไว้แยกจากกัน

ศีรษะของหุ่นกระบอกโดยมากทำด้วยไม้เนื้อเบาทั้งแท่ง เช่น ไม้ทองหลาง ไม้โมก ไม้สักทอง ไม้ที่นำมาใช้ควรเป็นไม้เนื้อดีไม่มีตา แท่งไม้ควรมีขนาดความกว้างประมาณ ๑๒ เซนติเมตร และความยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร เมื่อได้ไม้แล้วช่างก็จะนำมาแกะให้เป็นรูปศีรษะ รูปหน้า และลำคอ ส่วนของรูปหน้าและศีรษะยาวประมาณ ๑๐ – ๑๒ เซนติเมตร ส่วนของลำคอยาวประมาณ ๘ เซนติเมตร คว้านให้เป็นรูกว้างพอที่กระบอกไม้ไผ่รวกจะสอดเข้าไปได้สะดวก เหตุที่ต้องทำลำคอให้ยาวเพราะจะใช้เป็นส่วนที่ต่อกับกระบอกไม้ไผ่ที่เป็นส่วนลำตัวหุ่น เมื่อสวมเสื้อคลุมทับอีกชั้นหนึ่งก็จะได้รูปลำคอพอได้ จากนั้นก็จะนำมาปั้นแต่งด้วยรักสมุกหรือดินให้เป็นจมูก ปาก คิ้ว และหู ประเพณีนิยมเกี่ยวกับความเชื่อในการทำศีรษะหุ่นกระบอกคือการเบิกเนตรหุ่น คล้ายกับการประดิษฐ์หัวโขนที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องกระทำจะขาดไม่ได้ ดังนั้นการเขียนตาจึงเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะต้องทำในพิธีเบิกเนตร

ลำตัวของหุ่นกระบอกใช้ลำไม้ไผ่รวก ยาวประมาณ ๓๐ – ๕๐ เซนติเมตร กระบอกไม้ไผ่ที่จะทำเป็นลำตัวหรือแกนให้คนเชิดถือจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ – ๕ เซนติเมตร อวัยวะส่วนที่เป็นมือมักแกะด้วยไม้ ขนาดประมาณ ๔ – ๕ เซนติเมตร ให้พอดีกับขนาดลำตัวหุ่น หรือทำด้วยหนังตัดเป็นรูปมือมีนิ้วมือและดัดให้อ่อนอย่างมือละคร โดยมือขวาของหุ่นตัวพระจะกำอาวุธไว้เสมอ จึงเจาะรูตรงกลางสำหรับเสียบอาวุธซึ่งเปลี่ยนได้ตามท้องเรื่องที่แสดง ถ้าในบทไม่มีกำหนดให้ถืออะไรก็ปล่อยให้มือกำอยู่อย่างนั้น มือซ้ายเป็นรูปมือตั้งวงรำ ถ้าเป็นมือตัวนางจะเป็นมือตั้งวงรำทั้งสองข้างตอกติดกับไม้ไผ่ซี่เล็กๆ ๒ ซี่ ยาวเท่ากับกระบอกไม้ไผ่ที่ทำเป็นลำตัวสำหรับจับเชิด ชาวหุ่นกระบอกเรียกซี่ไม้ไผ่ทั้งสองนี้ว่า  “ตะเกียบ”
         
๒. เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ 
เสื้อของหุ่นกระบอกประดิษฐ์ด้วยผ้าผืนเดียว ขนาดความกว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๑๒๐ – ๑๕๐ เซนติเมตร นำมาพับครึ่งเย็บเป็นถุงคลุม กึ่งกลางส่วนที่เป็นสันพับครึ่งซึ่งคลุมไหล่หุ่นจะเจาะเป็นวงกลมเล็กๆ ให้มีขนาดพอเหมาะกับขนาดลำคอของหุ่นสำหรับสอดลำคออันเป็นส่วนศีรษะ มุมผ้าทั้งสองข้างที่พับจะมีช่องสำหรับให้มีหุ่นออกมา ซี่ไม้ไผ่ที่ตรึงติดกับมือหุ่นทั้งสองข้างและกระบอกลำตัวซ่อนอยู่ภายในเสื้อที่คลุมไว้

การตกแต่งส่วนศีรษะของหุ่นจะใช้เครื่องประดับศีรษะ เช่น มงกุฎ ชฎา รัดเกล้า ซึ่งช่วยให้หุ่นกระบอกจะสวยงดงามมากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ที่จะนำมาแสดงพร้อมกับหุ่นกระบอกตามท้องเรื่อง จะมีการทำขึ้นให้มีขนาดพอเหมาะกับตัวหุ่นกระบอก เช่น เรือสำเภา โคมไฟ สีวิกา และสัตว์ที่เป็นพาหนะ
 
๓. โรงหุ่นกระบอก
แต่เดิมนั้น เจ้าของคณะหุ่นกระบอกจะมีโรงหุ่นกระบอกเป็นของตนเอง โรงหุ่นกระบอกมักสร้างด้วยไม้กระดาน ไม้นิยมใช้ไม้ไผ่เพราะถือเป็นของชั่วคราว ไม่คงทนถาวรและไม่แข็งแรง โรงหุ่นกระบอกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละประมาณ ๕ เมตร ยกพื้นขึ้นให้สูงพอเหมาะกับสายตาของผู้ชมที่จะยืนดูได้ถนัด โดยมากจะยกพื้นสูงประมาณ ๑ – ๑.๕ เมตร  ความสูงจากพื้นโรงถึงหลังคาประมาณ ๕ เมตร ด้านข้างและด้านหลังมีฝากั้นทึบ ส่วนด้านหน้าตั้งเสาเรียงกัน ๔ เสา ตั้งเป็นเสาคู่ด้านข้าง ทำให้ด้านหน้าโรงจะมีที่ว่างประมาณ ๓ เมตร
 
๔. ฉาก
ฉากที่ใช้ตกแต่งโรงหุ่นกระบอกแยกออกได้เป็น ๓ ส่วน  คือ
๑. ฉากส่วนแรก คือฉากที่ขึงไว้เสมอด้านหน้าโรงระหว่างเสาทั้ง ๒ ข้าง โดยขึงตลอดตั้งแต่ชายหลังคาจนจรดพื้นโรง ด้านล่างมักวาดเป็นรูปป้อมปราการ มีกำแพงเมืองและสุมทุมพุ่มไม้ตกแต่ง ที่ฉากส่วนนี้มักมีผ้าต่วนหรือผ้าแพรยกดอกแขวนตลอดความสูง ทำเป็นม่านสองไขไว้ทั้งสองข้างทับด้านนอกของฉากอีกทีหนึ่ง
๒. ฉากส่วนที่ ๒ คือฉากที่เขียนบนจอที่ขึงลึกจากด้านหน้าโรงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร กั้นเป็นจอ เขียนรูปอย่างฉากละคร ฉากนี้เป็นฉากใหญ่ความยาวประมาณ ๓ เมตร พอดีกับโรง ในยุคที่หุ่นกระบอกเฟื่องฟู นายเปียก ประเสริฐกุล ใช้วิธีเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่องมี ๓ ฉากด้วยกัน คือ ฉากปราสาทราชมนเทียร ฉากป่าเขา และฉากท้องทะเล แต่โดยทั่วไปแล้วพื้นจอจะเขียนเป็นรูปอะไรก็ได้แล้วแต่ความนิยม  นปัจจุบันมักจะเขียนเป็นรูปพระราชวัง ฉากส่วนตรงกลางโรงนี้จะมีประตูทางเข้า ๒ ข้าง ขนาดพอดีกับหุ่นกระบอก ติดผ้าม่านปิดไว้เพื่อบังสายตาผู้ชม ด้านล่างของฉากจะยกสูงจากพื้นโรงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เพื่อให้ผู้เชิดลอดมือไปเชิดหุ่นได้สะดวก ชายหน้าจอนี้จะทำด้วยผ้าโปร่งสีขาวสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ยาวตลอดแนวฉากเพื่อให้คนเชิดมองเห็นตัวหุ่นกระบอกที่ตนกำลังเชิดอยู่
๓. ฉากส่วนที่ ๓ คือแผงกระจกติดภาพต่างๆ ใช้กันสายตา ตั้งเรียงติดต่อกันประมาณ ๖ – ๗ ภาพ ที่ด้านล่างโรงหุ่นกระบอกเพื่อบังสายตาผู้ชมไม่ให้เห็นมือผู้เชิดหุ่นและบังชายผ้าขาว แผงกระจกเหล่านี้เรียกว่า “กระจกบังมือ” นิยมประดับด้วยภาพตัวละครสำคัญในวรรณคดีของไทย เช่น พระราม พระลักษมณ์ ทศกัณฐ์ หนุมานตอนหาวเป็นดาวเป็นเดือน หรือรูปสัตว์ในวรรณคดี เช่น พญาครุฑ กินรี กินนร ไกรสร ราชสีห์ หรือไม่ก็ได้วิธีวาดภาพบนแผ่นกระจกเป็นแผงติดที่ด้านล่างของโรง เพื่อความคงทนไม่ชำรุดง่าย ภาพบนแผ่นกระจกเหล่านี้จะช่วยดึงดูดผู้ชมก่อนที่จะมีการแสดงนั่นเอง
 
๕. เครื่องดนตรี ทำนองเพลง และการดำเนินเรื่อง
เครื่องดนตรีสำหรับประกอบการแสดงหุ่นกระบอกจะมีทั้งเครื่องห้า เครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่ แต่ในวงปี่พาทย์สำหรับการแสดงหุ่นกระบอกจะต้องมีตะโพน ซออู้ กลองต๊อก กลองแต๋ว และม้าล่อ เป็นเครื่องดนตรีประกอบอยู่ด้วย

การดำเนินเรื่องของหุ่นกระบอกอาจใช้เพลงร่ายนอกหรือร่ายในก็ได้ แต่ที่นิยมกันมากคือใช้เพลง “สังขารา” ซึ่งเป็นทำนองเพลงโบราณ จนถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของการแสดงหุ่นกระบอก นำมาดัดแปลงเพื่อการแสดงหุ่นกระบอกโดยประกอบเข้ากับการสีซออู้เคล้าไปในการขับร้อง เป็นการดำเนินเรื่อง

ส่วนเนื้อเรื่องที่นำมาแสดงโดยมากเป็นเนื้อหาที่นำมาจากวรรณคดีไทย ทั้งนิทานคำกลอน หรือบทละครนอก เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ลักษณวงศ์ ไกรทอง เป็นต้น
   


ที่มา : เว็ปไซต์กรมศิลปากร (นายภูวนารถ  สังข์เงิน  นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ค้นคว้าเรียบเรียง)
 

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
นาฏกรรมในวังหน้า - หุ่นกระบอกไทย
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 1 5714 กระทู้ล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2558 13:03:26
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.898 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 27 มีนาคม 2567 19:36:22