[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
12 พฤษภาคม 2567 22:31:24 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การสร้างพระโกศจันทน์ และ พระโกศทองคำลงยา  (อ่าน 12312 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 05 เมษายน 2557 13:56:26 »

.


พระโกศทองคำลงยา
พระโกศทรงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าภคนีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ทำด้วยทองคำลงยาประดับพลอย


การสร้างพระโกศจันทน์ และ พระโกศทองคำลงยา
The Making of Sandalwood and Golden Urns

พระโกศจันทน์มีลักษณะพิเศษ หรือแตกต่างจากพระโกศองค์อื่นๆ ทั้งหมด คือมีทรวดทรงองค์พระโกศเป็นทรงแปดเหลี่ยมฐานเตี้ย ฝาพระโกศเตี้ยแจ้ คล้ายพระโกศลองใน ซึ่งพระโกศลองในมีองค์พระโกศเป็นทรงกระบอกกลม แต่พระโกศจันทน์มีองค์พระโกศเป็นทรงกระบอกแปดเหลี่ยม พระโกศลองในมีฐานพระโกศเป็นลวดบัวฐานสิงห์เกลี้ยงทรงกลม แต่พระโกศจันทน์มีฐานพระโกศเป็นบัวคว่ำติดเป็นชิ้นเดียวกับองค์พระโกศเป็นฐานเตี้ยทรงแปดเหลี่ยม พระโกศลองในสำหรับทรงพระบรมศพและพระศพ มีฝาเป็นฝาปริกทรงกลม แต่พระโกศจันทน์มีฝาเป็นบัวถลาบ้าง เป็นทรงเกี้ยวบ้าง เป็นทรงมงกุฎบ้าง แต่มีทรงเตี้ยแจ้ ล้อทรงปริกของฝาพระโกศลองใน พระโกศจันทน์นี้มีที่มาจากฟืนไม้จันทน์ เมื่อจะทำการถวายพระเพลิง หรือพระราชทานเพลิง พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการเปลื้องพระโกศทองออก เหลือแต่พระโกศลองในซึ่งเป็นโกศกลมฝาปริก แลดูไม่งดงาม จึงได้มีการคิดประดิษฐ์ฟืนไม้จันทน์ขึ้นให้เป็นรูปทรงล้อทรงของพระโกศลองใน แต่ประดิษฐ์ลวดลายและบัวองค์พระโกศคล้ายพระโกศทองที่เปลื้องออก ทำให้พระโกศจันทน์มีรูปทรงกระเดียดไปทางพระโกศลองใน แต่มีลวดลายกระเดียดไปทางพระโกศทอง ลวดลายที่ประกอบขึ้นเป็นองค์พระโกศ มิได้ทำการกลึงโกลนแกะสลักอย่างพระโกศองค์อื่น ๆ หากแต่ใช้ลวดเหล็กขนาดต่างๆ ผูกเชื่อมต่อกันเข้าเป็นโครงหุ่นอย่างการผูกหุ่น แล้วนำแผงลวดตาข่ายเข้าผูกกรุเป็นผนังตามรูปทรงของหุ่นพระโกศ จากนั้นจึงนำลวดลายที่เรียกว่าลายซ้อนไม้เข้าผูกประดับจนทั่วองค์พระโกศ เป็นลายโปร่งทะลุมองเห็นพระโกศลองในเป็นสีทองรางๆ ทำหน้าที่เป็นพื้นลายให้พระโกศจันทน์ ซึ่งสวมครอบอยู่ภายนอก เกิดความงดงามอย่างประหลาด ไม่ปรากฏในพระโกศองค์อื่นๆ เหตุที่มีการประดิษฐ์สร้างพระโกศไม้จันทน์ให้มีลักษณะสัณฐานดังกล่าวก็เนื่องมาจากเหตุผลสองประการคือ

ประการที่หนึ่ง พระโกศจันทน์มีที่มาจากฟืนไม้จันทน์ มีหน้าที่เป็นฟืนหรือเชื้อเพลิงสำหรับเผาพระบรมศพหรือพระศพ จึงไม่มีการแกะสลักเพียงแต่โกรกฉลุแผ่นไม้บางๆ เป็นชิ้นลายขนาดต่างๆ แล้วนำมาซ้อนให้เป็นชั้นเชิงและรูปทรงตามต้องการ ไม่มีการแต่งสีหรือปิดทองร่องกระจกใดๆ แต่ถึงอย่างไรก็ยังแลเห็นสีทองของพระโกศลองใน ทะลุช่องไฟลายฉลุออกมาให้เห็นสวยงาม เป็นความชาญฉลาดของช่างไทยในอดีตอย่างน่าชมเชยอย่างยิ่ง

ประการที่สอง เมื่อพระโกศจันทน์เป็นพระโกศโครงตาข่าย มีลายเป็นชิ้นๆ ประดับแบบลายฉลุโปร่ง ทำให้มีน้ำหนักเบา สะดวกแก่การนำเข้าประกอบครอบประดับองค์พระโกศลองใน เมื่อเวลาติดไฟหรือถวายพระเพลิงก็จะทำให้เพลิงลุกไหม้ได้โดยสะดวก ไม้อู้ลมหรือต้านลม เป็นที่กำบังอากาศ ซึ่งเป็นธาตุที่ช่วยให้ไฟลุกไหม้ได้โดยสะดวกอีกด้วย นับเป็นภูมิปัญญาของคนไทยในอดีตที่น่าศึกษาและยกย่องเทิดทูนอย่างยิ่ง



ซ้าย พระโกศจันทน์  ขวา พระโกศทองคำลงยา

เหตุที่ใช้ไม้จันทน์เป็นฟืน หรือเชื้อเพลิงในการถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพพระมหากษัตริย์และบรมราชวงศ์ผู้ใหญ่ เนื่องจากประเพณีของชนชาติแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมเชื่อถือว่าไม้จันทน์เป็นไม้ที่มีคุณลักษณะพิเศษกว่าไม้อื่นทั่วไป คล้ายกับคนทั่วโลกนิยมนับถือทองคำว่าเป็นโลหะ ที่มีลักษณะพิเศษกว่าโลหะอื่นทั่วๆ ไปนั่นเอง คือไม้จันทน์มีคุณสมบัติพิเศษหลายอย่าง เช่น มีกลิ่นหอม ซึ่งไม้ที่มีเนื้อไม้หรือน้ำมันในเนื้อไม้มีกลิ่นหอมนั้นมีอยู่หลายชนิด แต่มักมีสีไม่สวย หรือบางชนิดมีสีสวยแต่เนื้อไม่ละเอียด ฯลฯ ไม้จันทน์เป็นไม้ที่มีกลิ่นหอม แก่นและเนื้อไม้มีสีเหลืองสวยงามคล้ายสีของทองคำ คนในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอีกหลายภูมิภาค มีความนิยมนับถือว่าไม้จันทน์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์และสูงศักดิ์ เป็นของมีค่าและหายาก ไม่นิยมใช้ในหมู่คนธรรมดาสามัญ ชนชาติที่นับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์นิยมยกย่องไม้จันทน์ว่ามีค่าสูงส่งยิ่งกว่าไม้ใดๆ จึงใช้เป็นฟืนหรือเชื้อเพลิงในการเผาศพผู้ที่ตนเคารพรักอย่างสูงสุดในแว่นแคว้น ถือว่าเป็นการให้เกียรติและเป็นการสักการะอย่างสูงยิ่งดังปรากฏในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธสรีระ ณ เมืองกุสินารา เมื่อ ๒๕๕๖ ปีที่ผ่านมา ซึ่งในพระพุทธประวัติกล่าวว่าใช้ไม้จันทน์หอมล้วน และได้ถือเป็นประเพณีสืบมาจนปัจจุบัน

ไม้จันทร์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีอายุยืน โตช้า มักขึ้นและเจริญเติบโตในพื้นที่ดอนป่าไม้เบญจพรรณ หรือเขาหินปูน มีใบเรียวแหลม ดอกสีเหลืองนวล มีกลีบดอกเล็กๆ หลายกลีบ มีหลายชนิด เช่น จันทนา จันทิมา จันทน์เทศ จันทน์ชะมด จันทน์แดง ฯลฯ จันทน์ชะมดมีกลิ่นหอม ไม้จันทน์ชะมด หรือจันทน์หอม มีแก่นหรือเนื้อไม้สีเหลืองคล้ายสีทอง มีกลิ่นหอมเมื่อเนื้อไม้แก่ได้ขนาด เนื้อไม้มีน้ำมันเมื่อถูกความร้อนจะมีกลิ่นหอมยิ่งขึ้น ผู้คนในสมัยโบราณนิยมนำไม้จันทน์ประเภทนี้มาใช้ในงานช่างชั้นสูง และใช้เป็นฟืนเผาศพผู้สูงศักดิ์ หรือผู้มีคุณธรรมสูง มีเกียรติยศสูงดังกล่าวแล้ว



ภาพที่ ๑

การสร้างพระโกศจันทน์

รายละเอียดและขั้นตอนการสร้างพระโกศจันทน์ เมื่อได้รับทราบคำสั่งกรมศิลปากร เรื่องการดำเนินการจัดซ่อมสร้างเครื่องใช้ประกอบในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สำนักช่างสิบหมู่ได้จัดเตรียมการทั้งบุคลากรและวัสดุทุกด้านที่จะต้องปฏิบัติภารกิจอันสำคัญยิ่งนี้อย่างเร่งด่วน

ในการสร้างพระโกศจันทน์ครั้งนี้ กรมศิลปากรได้มอบหมายให้นายนิยม กลิ่นบุบผา นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ด้านช่างสิบหมู่) เป็นผู้ออกแบบและกำหนดลวดลายประดับองค์พระโกศ โดยมีพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ให้คำแนะนำปรึกษา นายพิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน เป็นผู้เขียนขยายแบบรูปทรงขนาดเท่าจริง และถอดลวดลายจากแบบร่างเป็นชิ้นส่วนของลายซ้อนไม้ขนาดเท่าจริง เพื่อทำการโกรกฉลุเป็นลวดลาย มีนายมนตรี ชื่นช่วย นายช่างศิลปกรรมปฏิบัติงานเป็นผู้ช่วย  กลุ่มงานช่างแกะสลักและช่างไม้ประณีต ในการควบคุมของนางวิจิตร ไชยวิชิต ดำเนินการ ตัด ผ่า ไสไม้จันทน์ และดำเนินการโกรกฉลุแผ่นไม้จันทน์ให้เป็นลวดลายตามแบบ



ภาพที่ ๒-๔ นายนิยม กลิ่นบุบผา  นายพิจิตร นิ่มงาม และนายมนตรี ชื่นช่วย
กำลังดำเนินการขยายแบบขยายลาย และเขียนลายละเอียดส่วนต่างๆ ของพระโกศจันทน์
ขนาดเท่าจริง เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการโกรกฉลุแผ่นไม้จันทน์ แล้วนำมาติดซ้อนกัน
ให้เป็นกลุ่มช่อชั้นลวดลายตามแบบ เรียกว่าลายซ้อนไม้ แล้วคุมประกอบกันขึ้น
ตามรูปทรงของโครงพระโกศให้ได้ทรวดทรวงและลวดลายตามต้องการ



หลังจากการออกแบบเขียนแบบและขยายแบบเท่าจริงเรียบร้อยแล้ว กลุ่มงานช่างโลหะฯ เริ่มดำเนินการสร้างหุ่นโครงพระโกศจันทน์ โดยใช้เหล็กเส้นรูปลักษณะต่างๆ ตามความเหมาะสม ตัด ต่อ เชื่อม ผูก ให้ได้รูปทรงของโครงหุ่นตามแบบที่กำหนด แล้วนำลวดตาข่ายที่มีตาค่อนข้างถี่และมีเส้นลวดเล็กเพื่อความสะดวกในการนำช่อลายฉลุไม้จันทน์เข้าผูกประกอบได้ทุกขนาด และมองไม่เห็นลวดตาข่ายด้านใน การกรุลวดตาข่ายต้องกรุให้ทั่วและขึงให้ตึง บังคับให้เข้ารูปทุกสัดส่วนและซอกมุมเพื่อให้ได้รูปทรงของโครงหุ่นงดงามตามต้องการ การทำหุ่นโครงพระโกศในลักษณะนี้โบราณเรียกการผูกหุ่นโครง ตามภาพที่ ๕ และภาพที่ ๖

ทางด้านช่างแกะสลัก และช่างไม้ประณีตจะทำการคัดเลือกไม้จันทน์ที่เนื้อดีมีสีสวยเหมาะสมจากไม้ที่มีจัก ผ่า ตัดออกเป็นแผ่นบาง จะให้บางมากหรือน้อยตามลักษณะสัดส่วนของลายที่จะใช้ เช่น ลายส่วนล่างมักจะจัก ผ่าไม้ให้ค่อนข้างบาง ลายที่ซ้อนทับอยู่ด้านบนหรือด้านนอกมักจะมีความหนามากขึ้น หรือตามลักษณะดอก ใบ ก้าน เถา หรือกรอบลายบางส่วน เช่น ตรงฝาพระโกศและฐานพระโกศมักมีลักษณะเป็นบัวถลา จะต้องจักผ่าไม้ให้เป็นแผ่นโค้งตามรูปทรงของทรงบัว ตรงนี้จะค่อนข้างยาก ตามภาพที่ ๗ และภาพที่ ๘ จากนั้นจึงนำแบบลวดลายส่วนต่างๆ ขึ้นติดบนผิวไม้กระดานที่เตรียมไว้ ตามภาพที่ ๙และภาพที่ ๑๐



ต่อจากนั้นช่างแกะสลักก็จะทำการโกรกฉลุแผ่นไม้จันทน์ตามแบบลายที่ติดไว้บนผิวไม้ ให้เป็นชิ้นลายรูปร่างต่าง ๆ ตามแบบแล้วจึงนำลายขนาดต่างๆ เข้าติดซ้อนกันให้เป็นช่อกลุ่มหรือกลีบให้ถูกต้องตรงตามแบบที่กำหนดไว้ แยกเป็นพวกหรือประเภทไม่ให้สับสน เพื่อความสะดวกในการหยิบใช้ประกอบเข้าเป็นช่อกลุ่มของลายต่างๆ ต่อไป ตามภาพที่ ๑๑ และภาพที่ ๑๒

การโกรกฉลุลวดลายซ้อนไม้ที่ใช้ประดับพระโกศจันทน์ ช่างจะเริ่มฉลุลายส่วนที่เป็นพื้นล่างหรือลายที่เป็นกลุ่มรูปทรงของช่อลายก่อน แล้วจึงฉลุลายที่จะซ้อนขึ้นมาในแต่ละชั้นจนถึงลายส่วนที่ซ้อนอยู่บนสุดหรือผิวหน้าสุดและมีขนาดใหญ่ไปหาเล็กสุด เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการจัดซ้อนลายและไม่เกิดการสับสนในการจัดลาย

วิวัฒนาการสร้างลายซ้อนไม้เริ่มจากการเขียนลายต่างๆ ตามขนาดเท่าจริงเพื่อใช้เป็นแบบโกรกฉลุไม้ให้เป็นลวดลายต่างๆ ตามแบบในภาพที่ ๑๓ แล้วเริ่มฉลุลายส่วนล่างสุดที่ใช้เป็นช่อหรือทรงของกลุ่มลายตามภาพที่ ๑๔ และภาพที่ ๑๕ ซึ่งเป็นรูปกลีบบัว ต่อจากนั้นจึงฉลุลายรูปแบบต่างๆ ที่เป็นดอกบานดอกตูม ใบ กิ่ง ก้าน เถาของใบเทศ แล้วนำเข้าจัดซ้อนเป็นช่อลายในรูปทรงของกลีบบัวดังในภาพที่ ๑๕ ต่อจากนั้นจึงนำกลุ่มช่อของลายเข้าประกอบกับองค์พระโกศ จัดให้มีระยะของกลีบหลักและกลีบรองในภาพที่ ๑๖


 

ช่างกลุ่มงานเกาะสลักกำลังนำลายกลีบบัวองค์พระโกศเข้าประกอบตามชั้นเชิง หรือตำแหน่งของลายอย่างบรรจงจัดและประณีตสวยงาม ตามภาพที่ ๑๗ และภาพที่ ๑๘

ลวดลายส่วนฝาของพระโกศจันทน์ส่วนใหญ่จะเป็นงานประเภทลายทรงกระจังตามแบบลวดลายที่ช่างในอดีตนิยมใช้สืบต่อกันมาเพราะเป็นลายที่มีความเหมาะสมกับลักษณะของทรงมงกุฎ ทำให้มีความงดงามตามรูปทรงและเป็นระเบียบดูสวยงามทุกด้านทุกมุม ในภาพที่ ๑๙ เป็นภาพฝาพระโกศตอนเริ่มประดับลายชั้นแรก มองจากยอดพระโกศลงไป ภาพที่ ๒๐ การประดับลายฝาพระโกศที่ซ้อนลายเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ครบทุกชั้น ทำให้เห็นวิธีการ ขั้นตอนการประดับลายซ้อนไม้อย่างไทย



เมื่อคณะช่างจากกลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการติดประดับลวดลายซ้อนไม้ ซึ่งเป็นไม้จันทน์ที่มีสีอ่อนและสีเข้มวางซ้อนสลับสีกัน เกิดเป็นจังหวะและระยะของสีอย่างสวยงามเป็นธรรมชาติตามสีของเนื้อไม้โดยไม่ต้องแต่งแต้มสีแต่อย่างใด มีฝาเป็นทรงมงกุฎ มี ๓ ชั้นเกี้ยว  เกี้ยวแต่ละชั้นมีชั้นกระจังลดหลั่นกันตามระยะที่พอเหมาะ โดยตั้งกระจังสองชั้นตั้งอยู่เหนือหน้ากระดานชั้นเกี้ยวรองรับแนวกระจัง ชั้นหน้ากระดานนี้ประดับลายดอกอย่างลายเนื่อง มีลายกระจังทั้งแนวบนและแนวล่างประดับตามแนวลวดคั่นระยะดอกไปโดยตลอด เหนือแนวลวดตั้งกระจังตาอ้อยแถวนอกตั้งกระจังเจิมแถวในทุกชั้น จนถึงปลียอดพระโกศ เหนือปลียอดพระโกศประดับพุ่มข้าวบิณฑ์ เหนือชั้นเกี้ยวบัวถลาฝาพระโกศและเกี้ยวชั้นที่ ๒ ปักช่อดอกไม้ไหวประดับฝาพระโกศโดยรอบทั้งสองชั้น

องค์พระโกศทำเป็นสองซีกเมื่อเวลาจะประกอบพระโกศ นำเข้าประกบชิดกันเกาะยึดด้วยบ่าลิ้นโครงเหล็กภายใน เพื่อความสะดวกในการถอดประกอบ เนื่องจากองค์พระโกศมีรูปทรงที่เป็นภาชนะก้นสอบแคบ ปากผาย ไม่สามารถสวมลงจากด้านบนได้ จึงต้องทำเป็นสองซีกถอดประกอบทางด้านข้าง แล้วครอบฝาพระโกศอีกทางหนึ่งด้วยเพื่อความมั่นคงและองค์พระโกศไม่แยกจากกันดังภาพที่ ๒๑ และภาพที่ ๒๒

ภาพที่ ๒๓-๒๕ แสดงให้เห็นการครอบประกอบพระโกศจันทน์เข้ากับองค์พระโกศลองในที่ใช้ทรงพระศพ ทำให้ทราบว่าในขณะที่พระโกศสองใบประดิษฐานอยู่ภายในพระโกศจันทน์มีลักษณะอย่างไร มีขนาดสัดส่วนที่สัมพันธ์สอดคล้องกันอย่างไร

พระโกศจันทน์ เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วมีลักษณะเป็นพระโกศแปดเหลี่ยมฐานเตี้ย องค์พระโกศเป็นกลีบบัวอุบล หรือบัวสายประดับลวดลายช่อดอกใบเทศอยู่ในรูปทรงพุ่มก้านต่อดอก อยู่ในกลีบบัวที่แทรกสลับกลีบอยู่โดยรอบองค์ พระโกศซ้อนกลีบกันขึ้นไป ๓ ชั้นจนถึงปากพระโกศ มีเกสรบัวฉลุลาย ส่วนปลายมีตุ้มเกสรประดับขอบปากพระโกศ ตรงมุมเหลี่ยมปากพระโกศทั้งแปดมุมห้อยช่อเฟื่องระย้าประดับพระโกศโดยรอบ รวม ๘ ชุด ที่เอวพระโกศตั้งกระจังตาอ้อย แนวนอกตั้งกระจังเจิมขนาดใหญ่แนวในและในสุดของเอวพระโกศประดับช่อดอกไม้เอวโดยรอบรวม ๑๖ ดอก อยู่เหนือหน้ากระดานฐานพระโกศถัดลงไปเป็นท้องไม้และลายบัวคว่ำ ฐานพระโกศรองรับด้วยลายหน้ากระดานล่าง ฐานพระโกศทำเป็นลายดอกหกกลีบดอกใหญ่สลับดอกเล็ก เป็นแนวเนื่องโดยรอบหน้ากระดานฐานล่าง หรือหน้ากระดานเชิงฐาน



 ฝาพระโกศเป็นทรงมงกุฎแปดเหลี่ยมเช่นเดียวกับองค์พระโกศ ขอบฝาด้านล่างสุดที่กรอบเหนือปากพระโกศทำเป็นชั้นเกี้ยวแบบเกี้ยวชฎา มงกุฎ ทำเป็นลายดอกหกกลีบเรียงกันเหลี่ยมละ ๕ ดอก ตรงมุมเหลี่ยมของฝาจะประดับดอกใหญ่คั่นระยะตรงกับพวงอุบะช่อเฟื่องระย้า ปากพระโกศและตรงตำแหน่งนี้เหนือขึ้นไปจะปักช่อดอกไม้ไหวช่อมุมทุกมุมด้วย และระหว่างช่อดอกไม้ไหวตรงมุมจะประดับช่อรายไปตามแนวกระจังอีก ๒ ช่อต่อ ๑ ด้าน มี ๘ ด้าน รวมทั้งหมดเหนือเกี้ยวชั้นล่างนี้มีดอกไม้ไหว ๒๔ ดอก เหนือเกี้ยวเป็นบัวถลา หรือบัวฝาละมี เหนือบัวถลาตั้งกระจัง ๒ ชั้น รอบบัวเกสร รองรับเกี้ยวชั้นที่ ๒ ซึ่งลายประดับชั้นเกี้ยวเหมือนกันกับเกี้ยวชั้นล่าง แต่เล็กกว่าตามขนาดของทรงเกี้ยว เหนือชั้นเกี้ยวประดับกระจัง ๒ ชั้น ด้านในปักช่อดอกไม้ไหวโดยรอบ ดอกไม้ไหวชั้นนี้มี ๑๖ ดอก ถัดขึ้นไปเป็นชั้นกระจังของฝาโกศทรงมงกุฎ ๒ ชั้น ต่อด้วยชั้นบัวเกสรรองรับเกี้ยวชั้นที่ ๓ หรือเกี้ยวชั้นบนสุดประดับชั้นเกี้ยวเป็นลายดอกหกกลีบเหมือนชั้นเกี้ยวชั้นล่างและชั้นที่ ๔ ตั้งกระจังเหนือเกี้ยว ๒ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นกระจังเหนือชั้นเกี้ยวรองรับปลียอด ซึ่งเป็นทรงดอกบัวตูมแบบบัวปทุม หรือบัวหลวงประดับช่อพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดพระโกศ การโกรกฉลุลายซ้อนไม้ใช้ประดับให้เป็นดอกดวงช่อพวงพุ่มกลีบก้านแนวแถวชั้นเชิงต่างๆ ตั้งแต่ฐานตลอดยอดองค์พระโกศที่เป็นลวดลายไม้ชิ้นน้อยชิ้นใหญ่รวมทั้งหมด ๘,๓๒๐ ชิ้น เมื่อนำขึ้นประกอบเป็นองค์พระโกศแล้ว นายนิยม กลิ่นบุบผา ผู้ออกแบบเห็นว่าลายบางช่วงยังไม่เด่นชัดจึงให้เพิ่มลายขนาดเล็กและไส้ลาย ตรงส่วนที่เห็นสมควรเพิ่มที่ปากพระโกศและฝาพระโกศจนดูงดงาม จึงมีลายเพิ่มจากยอดเดิมอีกประมาณ ๗๐๐ ชิ้น รวมเป็นชิ้นลายทั้งสิ้นประมาณ ๙,๐๐๐ ชิ้น แล้วเสร็จสมบูรณ์ งดงาม สง่า สมพระเกียรติยศ พร้อมที่จะใช้ประกอบพระโกศลองในประดิษฐานบนพระจิตกาธาน เพื่อการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในลำดับต่อไป

พระโกศจันทน์ จึงเป็นพระโกศที่จะต้องใช้ประกอบพระศพก่อนการพระราชทานเพลิง หลังจากพระราชทานเพลิงแล้วจะต้องใช้พระโกศทองคำลงยาสำหรับทรงพระอัฐิเป็นลำดับต่อไป



ภาพ-ข้อมูล : "การสร้างพระโกศจันทน์ และพระโกศทองคำลงยา" โดย นิยม  กลิ่นบุบผา นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร, หน้า ๓๑-๔๐ นิตยสารศิลปากร

 

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 พฤศจิกายน 2558 13:19:12 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 21 เมษายน 2557 15:43:33 »

.
 
การสร้างพระโกศจันทน์ และ พระโกศทองคำลงยา (ต่อ)

พระโกศพระอัฐิ หรือพระโกศสำหรับใช้ทรงพระอัฐิ เป็นพระโกศที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระอัฐิไว้เพื่อการรำลึกถึงเพื่อถวายราชสักการะ ถวายสักการะการบำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล อุทิศถวายในโอกาสสำคัญตามพระราชประเพณี และประเพณีไทยที่สืบทอดมายาวนาน

พระโกศพระอัฐินี้ จะมีการจัดสร้างขึ้น เมื่อมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ หรือพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศ์ชั้นสูงของไทยเป็นการเฉพาะเป็นคราวๆ ไป

เมื่อมีการเตรียมงานพระบรมศพ หรือพระศพ เพื่อการออกพระเมรุก็จะต้องเตรียมจัดสร้างพระโกศจันทน์เพื่อใช้ประกอบพระโกศในการถวายพระเพลิง หรือพระราชทานเพลิงพระศพ ในขณะเดียวกันก็จะต้องเตรียมการจัดสร้างพระโกศทรงพระอัฐิ ซึ่งเป็นพระโกศทองคำขนาดเล็ก เพื่อใช้เก็บรักษาพระบรมอัฐิและพระอัฐิเป็นการเฉพาะทุกๆ พระองค์

พระโกศพระอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าตามพระราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานั้น ล้วนสร้างด้วยทองคำลงยาประดับพลอยมีรูปทรงโดยรวมเป็นทรงกระบอก ก้นสอบ ปากผาย ฐานรองพระโกศเป็นบัวฐานสิงห์ ฝาเป็นทรงมงกุฎ และมีเครื่องประดับพระโกศ การสร้างพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมศิลปากรได้มอบหมายให้นายนิยม กลิ่นบุบผา นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่เป็นผู้ออกแบบเขียนแบบ พร้อมกำหนดรายละเอียดต่างๆ ให้ถูกต้องตามแบบแผนพระราชประเพณีและสมพระเกียรติยศทุกประการ โดยมีพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ

ในการออกแบบพระโกศองค์นี้ อาศัยรูปแบบพระโกศทองทรงพระบรมอัฐิของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและพระโกศทองทรงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นแนวทาง ซึ่งพระโกศทองทรงพระบรมอัฐิและพระอัฐิของทั้งสองพระองค์เป็นพระโกศที่มีรูปลักษณะโดยรวมคล้ายกับพระโกศทองใหญ่ที่ใช้ทรงพระบรมศพและพระศพ ต่างกันที่พระโกศทองทรงพระอัฐิจะมีทรวดทรงไปในทางสูงหรือทางตั้ง และมีรูปทรงที่เพรียวกว่าพระโกศทองใหญ่

พระโกศทองทรงพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในครั้งนี้ก็มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่เป็นทรงกระบอกกลม ลวดลายและรายละเอียดต่างๆ ทั้งองค์พระโกศ เครื่องประดับพระโกศแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ ๑ ส่วนฐานพระโกศ ทำเป็นบัวฐานสิงห์ทำนองฐานบัลลังก์มีหน้ากระดานล่าง ซึ่งอยู่ตรงส่วนล่างสุดของฐานพระโกศมีลายประดับในแนวนอน หรือแนวระนาบบุดุนเป็นลายประจำยามก้ามปู ตรงส่วนกลางของลายก้ามปูทำเป็นดอกหกกลีบ ไม่มีลูกฟัก ไส้กลางดอกประดับพลอยพื้นหน้ากระดานลงยาสีชมพู ตั้งกระจังลอยทั้งแนวบนและแนวล่างของลายหน้ากระดานแทนลายลูกขนาบ เหนือชั้นหน้ากระดานขึ้นไปเป็นชั้นฐานสิงห์บุดุนเป็นลายฐานสิงห์ มีกาบประดับแข้งสิงห์เป็นระยะช่วงระหว่างแข้งสิงห์เหยียบพื้นทรุดเข้าด้านในลงยาสีแดงชมพู ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวหลังสิงห์บุดุนลวดลายในลักษณะลายกระจังกลีบบัวรองรับท้องไม้ฐาน ซึ่งทำเป็นช่องลูกฟักกลาง ช่องลูกฟักทำเป็นลายดอกสี่กลีบอย่างลายประจำยามราชวัติล่องถุน แต่พื้นทึบเหนือขึ้นไปเป็นลวดบัวรองรับชั้นหน้ากระดานฐานสิงห์บุดุนเป็นลวดลายบัวกระจังรองรับหน้ากระดาน หน้ากระดานฐานสิงห์บุดุนเป็นลายประจำยามก้ามปู ประดับดอกเช่นเดียวกับชั้นหน้ากระดานล่าง เหนือชั้นหน้ากระดานเป็นชั้นท้องไม้บุดุนเป็นกลีบบัวเกสรรองรับชั้นบัวปากฐาน ชั้นบัวปากฐานทำเป็นลายกระจังกลีบบัว ๒ ชั้น อยู่ในรูปทรงของบัวฉัตรหรือบางคนเรียกบัวคลุ่มเป็นปากฐานรองรับองค์พระโกศ ทุกชั้นตั้งกระจังตาอ้อยและกระจังเจิมซ้อนเป็นชั้นคู่ประดับ ลงยาพื้นสีขาวสลับสีชมพูประดับพลอย

ส่วนที่ ๒ ส่วนองค์พระโกศบุดุนเป็นลายใบเทศประดับดอกอยู่ในรูปทรงกลีบบัวอุบลจงกล โกศซ้อนกัน ๔ ชั้น หรือ ๔ แนว ประกอบกันเป็นองค์พระโกศ ตามแบบอย่างที่ทำสืบเนื่องมาแต่โบราณ มีกลีบใหญ่สลับกลีบแทรกโดยรอบทุกชั้น กลีบบัวนี้ลายรอบขอบกลีบบุดุนเป็นลวดลายอย่างลายน่องสิงห์ กลางกลีบเป็นลายก้านต่อดอกในลักษณะลายใบเทศ ประดับพลอยสีขาวสลับพลอยสีชมพู พื้นลงยาสีขาว ตรงกลางกลีบบัวประมาณส่วนกลางองค์ พระโกศประดับตราอักษรพระนามย่อ พร. ภายใต้พระชฎาห้ายอด ขอบปากพระโกศด้านนอก เป็นลวดบัวบุดุนเป็นลายกระจังกลีบบัว หันปลายลงเป็นการบอกระยะสุดขององค์พระโกศ ปากพระโกศด้านในทำเป็นลิ้นสำหรับบังคับฝาพระโกศ

ส่วนที่ ๓ ส่วนที่เป็นฝาพระโกศ ทำเป็นทรงมงกุฎ ประดับชั้นเกี้ยว ๓ ชั้น ชั้นเกี้ยวนี้บางทีเรียกมาลัยทอง หรือเกี้ยวมาลัยทอง บุดุนเป็นลายประจำยามก้ามปูประดับดอก กลางดอกประดับพลอยสีขาวลงยาสีชมพูทุกชั้นเกี้ยว เหนือขึ้นไปเป็นบัวถลา ฝาพระโกศบุดุนเป็นลายกระจังกลีบบัวตามรูปทรงของบัวถลา ตั้งกระจังล้อมแนวล่างของชั้นบัวถลา ๑ แนว ด้านบน ๒ แนว หรือกระจังชั้นซ้อน โดยแนวล่างเป็นลายกระจังตาอ้อย แนวบนเป็นลายกระจังเจิม ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวเกสร ซ้อนเป็นชั้นคู่เหนือปลายบัวเกสรตั้งแนวกระจัง แนวล่างเป็นกระจังตาอ้อย แนวบนเป็นกระจังเจิม ๒ ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นชั้นบัวเกสรรองรับชั้นเกี้ยวชั้นที่ ๒ ไล่ขนาดตามทรงมงกุฎทั้ง ๓ ชั้น ชั้นกระจังนี้ถ้ามองดูรวมชั้นเกี้ยวด้วยจะแลเห็นเป็นแนวกระจัง ๓ ชั้น มีชั้นละ ๒ แนวดังกล่าว และชั้นรองแนวกระจังจะทำเป็นชั้นบัวเกสรทุกชั้นลงยาสีขาวระหว่างร่องกลีบบัวเกสรทุกชั้นไปจนถึงชั้นกระจังรองปลียอดมงกุฎ ทำเป็นชั้นกระจังชั้นเดียวเรียงขึ้นไป ๓ ชั้น หรือ ๓ ตับ เนื่องจากมีพื้นที่แคบ และกระจังมีขนาดเล็กมากรองรับปลียอดและทำบัวเกสรประดับใต้ชั้นกระจังทุกชั้นจนถึงปลียอด

ส่วนที่ ๔ ส่วนที่เป็นยอดพระโกศ ทำเป็นสองแบบ แบบที่ ๑ ทำเป็นช่อดอกไม้ใบเทศอยู่ในทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ ประดับพลอยสีขาว ติดประดับอยู่เหนือปลียอดมงกุฎ แบบที่ ๒ ทำเป็นสุวรรณฉัตรเจ็ดชั้น เดิมเป็นสุวรรณฉัตรหัวชั้น ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานฉัตรเจ็ดชั้น จึงเป็นเป็นสุวรรณเจ็ดชั้นทำด้วยทองคำอยู่เหนือปลียอดมงกุฎทรงคันฉัตรและก้านพุ่มข้าวบิณฑ์ที่อยู่ตรงส่วนล่างของปลียอดถัดชั้นกระจังลงไปทำเป็นแกนเกลียวสำหรับถอดใส่ผลัดเปลี่ยนกันเมื่อจะต้องผลัดเปลี่ยน

ส่วนที่ ๕ เป็นเครื่องประดับพระโกศ ทำด้วยเงินประดับพลอยขาวทั้งหมด ประกอบด้วย
- ดอกไม้เอว ทำเป็นทรงใบเทศบุดุนลวดลายเป็นช่อก้านโค้งและไหวสั่นได้ใช้ปักประดับเหนือบัวปากฐานหลังแนวกระจังปากฐานมีทั้งหมด ๑๒ ช่อ หรือ ๑๒ ดอก
- ดอกไม้ไหวหรือดอกไม้ฝามีลักษณะเดียวกับดอกไม้เอว ใช้ปักหลังชั้นกระจังเหนือชั้นบัวถลา มี ๑๒ ช่อ หรือ ๑๒ ดอก ชั้นกลางมี ๘ ดอก และชั้นบนมี ๘ ดอก รวมทั้งหมด ๓๖ ดอก



พระโกศทองคำลงยา
พระโกศทรงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทำด้วยทองคำลงยาประดับพลอย มีขนาดความสูงตามแบบที่กำหนดตั้งแต่ชั้นหน้ากระดานเชิงฐาน ส่วนล่างสุดถึงยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ ๖๔.๐๙ เซนติเมตร ขนาดความกว้างที่สุดที่ชั้นเกี้ยวฝาพระโกศ ๑๔.๐๕ เซนติเมตร เชิงฐานกว้างที่สุด ๑๖.๐๖ เซนติเมตร ทำด้วยทองคำเนื้อ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักทองคำ ๒,๒๔๑.๒ กรัม น้ำหนักเงิน ๓๙๓.๕ กรัม น้ำหนักพลอย ๑๒.๒ กรัม น้ำหนักสี ๖.๔ กรัม อื่นๆ ๑๘.๕ กรัม รวมน้ำหนักทั้งองค์ ๒,๖๗๑.๘ กรัม

การออกแบบพระโกศทองคำลงยาเพื่อใช้ทรงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในครั้งนี้ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติได้ให้คำแนะนำว่าควรจะออกแบบเป็นพระโกศทรงกลม และลงยาสีขาวเป็นหลักการออกแบบ โดยใช้แนวทางของศิลปกรรมรูปแบบโดยรวมขององค์พระโกศ คล้ายพระโกศทองคำทรงพระอัฐิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระโกศทองคำทรงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งพระโกศทองคำองค์ที่ทรงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นี้ นายนิยม กลิ่นบุบผา เป็นผู้ออกแบบ แต่เป็นทรงแปดเหลี่ยม ส่วนพระโกศที่ทรงพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เป็นทรงกลม ฝาทรงมงกุฎเช่นเดียวกัน แนวกระจังที่ประดับตามชั้นกระจังของฝาพระโกศทำเป็นแนวกระจังซ้อน ๒ แถวแถวล่างเป็นกระจังตาอ้อย แถวบนเป็นกระจังเจิม ทุกชั้นต่างกับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ตรงแนวกระจังฝาพระโกศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทำเป็นลวดบัวกลีบลาย คล้ายกระจังอยู่แนวล่าง แล้วซ้อนกระจังเจิม ตั้งอยู่แนวบนของปากบัวทุกชั้น การลงยาสีพระโกศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ลงยาสีแดงสลับสีเขียวประดับพลอยสีขาวทั้งองค์ แต่ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ลงยาสีขาวแทรกสลับสีชมพูประดับพลอยสีขาวและสีชมพูตลอดทั้งองค์

การออกแบบเริ่มจากการเขียนลายเส้นร่างแล้วลงเส้นหนักให้แน่นอนจนแล้วเสร็จแล้วกะส่วนให้ได้ขนาดสัดส่วนรายละเอียดตามชั้นเชิงต่างๆ ตามภาพที่ ๒๙ ต่อจากนั้นระบายสีตามลวดลายตามสัดส่วนต่างๆ เช่น ลายกลีบบัวลายลวดบัวลายกระจังบัวหลังสิงห์ ฐานสิงห์ หน้ากระดานท้องไม้ บัวเกสร ชั้นกระจังหลังคาฝาพระโกศ ดอกไม้ไหว เฟื่องระย้าพุ่มข้าวบิณฑ์ดอกไม้เอวฉัตร ถ้ำศิลาฐานและแป้นรับยอดและฝาพระโกศจนแล้วเสร็จ ตามภาพที่ ๓๐ ต่อจากนั้นนำแบบเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เมื่อได้รับการอนุมัติรูปแบบแล้วดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้าง จัดหาวัสดุที่จะต้องใช้ เช่น ทองคำ เงิน พลอย น้ำประสานทองยาสี ฯลฯ





เมื่อได้ทองคำ ซึ่งเป็นทองคำแท่งมาแล้ว ต้องนำไปรีดให้เป็นแผ่นบางตามขนาดที่ต้องการและเหมาะกับการที่จะใช้ขึ้นรูปหุ่นพระโกศ ทำการตัดขนาดรูปร่างที่จะม้วนให้เป็นรูปทรงกระบอกก้นสอบปากผายออก ทำน้ำประสานทองแล้วเป่าแล่นเชื่อมให้ติดกันเหมือนท่อโลหะ ตามภาพที่ ๓๑ และภาพที่ ๓๓

จากนั้นเคี่ยวชันที่ผสมแล้วกรอกลงในกระบอกทองคำให้เต็มตามภาพที่ ๓๒ ทิ้งไว้สักครู่แล้วนำไปแช่ในน้ำเย็น ให้ลดอุณหภูมิจนเย็นสนิทและแข็งตัวพอเหมาะที่จะเคาะให้เป็นรูปทรงตามต้องการ ตามภาพที่ ๓๓ และภาพที่ ๓๔ ช่างโลหะประณีตกำลังเคาะขึ้นรูปหุ่นพระโกศทองคำ

ภาพที่ ๓๕  และภาพที่ ๓๖  เป็นการเคี่ยวชันกรอกลงในหุ่นฐานพระโกศเพื่อจะทำการบุดุนลวดลายตามลำดับต่อไป

เมื่อกรอกชันได้ที่แล้ว ช่างโลหะจะเริ่มสลักดุนองค์พระโกศตามแนวเส้นในแบบที่กำหนดให้เกิดเป็นร่องเส้นลึกลงไปในผิวกระบอกทองคำเป็นรูปกลีบบัวอุบลจนตลอดหุ่นองค์พระโกศ แล้วตีสันคัดกลีบให้สวยงาม ตามภาพที่ ๓๗ ต่อจากนั้นวางลวดลายกลีบบัวลงบนกลีบที่สลักดุนเส้นไว้ให้ทั่วตามภาพที่ ๓๘ แล้วเริ่มสลักดุนหรือบุดุนลวดลายให้ทั่วทุกกลีบ แล้วลอกแบบออกโดยการเป่าไฟละลายขี้ผึ้งออกแล้วเข้าชันนอกเพื่อตอกสลักดุนภายในลายให้มีระยะสูง – ต่ำ ทางด้านนอกตามต้องการ





ต่อจากนั้นกลับเข้าชันในอีกครั้ง เพื่อทำการสลักดุนเก็บรายละเอียดของตัวลายทุกตัว ยกสันลายเหยียบพื้นลายเพื่อให้ลายคมชัดและมีชั้นเชิงที่งดงาม ตามภาพที่ ๓๙ จากนั้นจึงนำชิ้นส่วนต่างๆ เข้าประกอบกันตามภาพที่ ๔๐

เสร็จแล้วทำการฝังพลอย ลงยาสี และติดเฟื่องระย้าปากพระโกศตามลำดับดังภาพที่ ๔๑ คณะช่างกำลังช่วยกันติดประดับเฟื่องระย้าปากพระโกศ คนที่อยู่ทางด้านซ้ายของภาพทำหน้าที่ฝังพลอยประดับตามลวดลายต่างๆ ทั่วองค์พระโกศ

ภาพที่ ๔๒ ช่างโลหะกำลังดำเนินการสลักดุนโดยใช้สิ่วดุนโลหะ ตอกเดินสิ่วตามเส้นลวดลาย ให้เป็นลายกระจังตาอ้อยและกระจังเจิมต่างๆ

ภาพที่ ๔๓  ลายกระจังที่สลักดุนแล้วและเห็นเป็นแถวแนวแต่ละชั้นกระจังยังไม่ได้ตัดให้เป็นรูปตัวกระจัง

ภาพที่ ๔๔  ลายกระจังที่ตัดแบ่งตัวแล้วเป็นแถวๆ เมื่อแต่งขอบรอบทรงของกระจังแล้ว โค้งตับแถวกระจังให้เป็นวงกลมตามทรงของฝาพระโกศ แล้วนำไปติดตั้ง เชื่อมกับชั้นกระจังเรียงตามลำดับเป็นชั้นๆ ให้สวยงาม

ภาพที่ ๔๕ นำลายกระจังที่ตัดไว้เป็นแถวๆ แล้วโค้งเป็นวงขึ้นติดประดับตามชั้นของฝาพระโกศไล่ขนาดจากใหญ่ไปหาเล็กและจากล่างขึ้นไปข้างบนจนแล้วเสร็จ

ภาพที่ ๔๖ ชั้นลายกระจังที่ใช้ประดับฝาพระโกศ ทำเป็นกระจังซ้อนชั้น ชั้นล่างเรียกกระจังตาอ้อย ชั้นบนเรียกกระจังเจิม ลักษณะการตั้งลายกระจังแบบนี้ เรียกลายกระจังชั้นคู่หรือกระจังซ้อนชั้น



องค์พระโกศเมื่อทำการสลักดุนเรียบร้อยแล้วทำการลงยาวสีขาวแทรกสีชมพูตามสีประจำวันประสูติ พร้อมประดับพลอยสีขาวและพลอยสีชมพูตามดอกลายในกลีบบัวและลายขอบของกลีบบัวทั่วองค์พระโกศ ภาพที่ ๔๗ จากนั้นทำการประดับเฟื่องมาลัยปากพระโกศ ซึ่งประกอบด้วยสายเฟื่องทำเป็นดอกแปดกลีบมีดอกเล็กคั่นระยะดอกใหญ่ มีสายละ ๕ ดอก มีสายเล็กอยู่ด้านบน ประดับดอกทิศห้อยพวงอุบะเป็นระยะรอบปากพระโกศ มี ๘ ชุด ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ประดับพลอยสีขาวเรียกว่าเฟื่องระย้าตามภาพที่ ๔๘

จากภาพที่ ๔๙-๕๑ แสดงให้เห็นวงแว่นฉัตรหรือชั้นฉัตรทองคำที่บุสลักดุนเสร็จแล้วตอกปรุให้เป็นลายโปร่งก่อนจะนำเข้าประกอบเป็นคันฉัตร ภาพที่ ๕๐ นำแว่นหรือชั้นฉัตรเข้าประกอบเป็นคันฉัตรโดยสมบูรณ์แล้วพร้อมที่จะนำขึ้นติดประดับบนยอดพระโกศต่อไป

พระโกศทองคำลงยาประดับพลอย ถ้ำศิลาพร้อมแป้นไม้แกะสลักปิดทองรองรับฝาพระโกศและฐานไม้กลึงปิดทองรองรับยอดพุ่มและยอดฉัตร เมื่อต้องการผลัดเปลี่ยนเพื่อให้ประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในโอกาสต่างๆ เมื่อจะประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลหรืออัญเชิญเข้าขบวนแห่ต่างๆ จะประดับสุวรรณฉัตรเหนือพระโกศ หากประดิษฐานพระโกศไว้ในที่พระวิมานหรือในหอพระอัฐิ จะประดับพุ่มข้าวบิณฑ์เหนือพระโกศ



"การสร้างพระโกศจันทน์ และพระโกศทองคำลงยา" โดย นิยม  กลิ่นบุบผา นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร, หน้า ๓๑-๔๗ นิตยสารศิลปากร
เว็บไซต์ "สุขใจดอทคอม" ขอขอบคุณสำหรับภาพและข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในเรื่องราวและวิชาการของสำนักช่างสิบหมู่แก่คนไทยในสมัยโลกาภิวัตน์ ให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภูมิปัญญาบรรพชนที่สืบทอดมาตั้งครั้งโบราณ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 พฤศจิกายน 2558 13:18:29 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.547 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 15 เมษายน 2567 20:53:28