[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 มิถุนายน 2559 13:34:44



หัวข้อ: ตรีทูต : ลักษณะบอกอาการของคนใกล้ตาย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 มิถุนายน 2559 13:34:44

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/16564002053605_view_resizing_images_1_.jpg)

ตรีทูต

"ตรีทูต" เป็นศัพท์กล่าวถึงสภาพของผู้ป่วยที่มีอาการหนักจวนเจียนจะตาย คือลักษณะบอกอาการของคนใกล้ตาย โดยกล่าวว่าผู้ป่วยนั้นอยู่ในระยะตรีทูต หรือเข้าตรีทูต หรือเข้าขั้นตรีทูต

ที่มาของศัพท์ บ้างว่ามาจากความเชื่อที่ว่า เมื่อคนใกล้ตาย ยมบาลจะส่งทูต ๓ ตน จากทั้งหมด ๔ ตน มานำตัวผู้ใกล้ตายไปยังยมโลก การมาของทูต ๓ ตนคือ ตรีทูต บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีอาการหนักจวนตาย และหากทูตมาครบ ๔ ตนเมื่อใด เป็นอันว่าถึงแก่การสิ้นชีพ

บ้างว่าใช้ ตรีภูต ก็มี ซึ่งเป็นคำอุปมาของแพทย์แผนโบราณหรือของชาวบ้าน จากความเชื่อว่าหากเจตภูตหรือวิญญาณของคนใกล้ตายออกจากตัวไปแล้ว ๓ ดวง จากทั้งหมด ๔ ดวง จะเรียกระยะนี้ว่าเข้าระยะตรีภูต (ต่อมาเพี้ยนกลายเป็น ตรีทูต) เป็นสภาพการณ์ที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีอาการร่อแร่จวนตาย จำเป็นต้องเฝ้าดูแลไม่ให้คลาดสายตา และถ้าวิญญาณออกจากตัวครบ ๔ ดวงเมื่อใดก็เป็นอันว่าถึงแก่การสิ้นชีพ นอกจากนี้ ยังมีที่ใช้ว่า ตรีโทษ โดยเชื่อว่าเมื่อผู้ป่วยมีอาการหนักจวนตาย ธาตุจะแตกสลาย คุมประสานกันไม่ติด เป็นตรีโทษหนัก ทั้งนี้ แม้ว่าการเรียกชื่อ รวมทั้งความเชื่อในที่มาของชื่อแตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วหมายถึงอาการใกล้ตายที่ธาตุทั้ง ๔ ธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟ และลม ค่อยสูญลงไป

อย่างไรก็ดี ศ.นพ.ประเสริฐ กังสดาลย์ (ผู้ได้รับการยกย่องจากลูกศิษย์ว่าเป็นปรมาจารย์ทางอายุรศาสตร์ของไทย) กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๔ ว่า ตามหลักฐานแล้วยังไม่พบคำอธิบายสำหรับข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่มีคำอธิบายสำหรับคำว่า ตรีโทษ หมายความว่าอาการไข้หนักจวนจะตาย และคำว่า ตรีโทษ อาจจะเพี้ยนเป็น ตรีทูต ก็ได้

ขณะที่คำอธิบายศัพท์ คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์ หนังสือเรียนภาษาไทย วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ตรีโทษ หมายถึงอาการไข้หนักมาก อยู่ในระยะที่เลือด ลม และเสมหะบังเกิดเป็นพิษขึ้นพร้อมกัน (เป็นโทษสามอย่าง) สำนวนที่ชาวบ้านใช้ว่า อาการเข้าขั้นตรีทูตนั้น คำว่า ตรีทูต น่าจะเป็น ตรีทูษ ซึ่งเพี้ยนมาจาก ตรีโทษ

ด้าน นพ.ดำรง เพ็ชรพลาย ให้ความรู้เรื่องนี้ไว้ในสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๒ ว่า อาการตรีทูต หรือเข้าตรีทูต หมายถึงอาการแสดงระยะสุดท้ายของผู้ป่วย บอกให้ทราบว่าความตายกำลังใกล้เข้ามา ผู้ป่วยที่มีอาการตรีทูตมักนอนราบอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนไหว ผิวหนังซีดคล้ำ ไม่สดใส ตาโบ๋แต่ลืมตาแจ๋ว ใบหน้าหมองมัว จมูกเสี้ยม ขมับหวำ คางแหลมปากอ้า ขากรรไกรล่างตก ใบหูเย็นและหดฝ่อ แก้มตอบ ใบหน้าเช่นนี้ทางแพทยศาสตร์เรียกว่าใบหน้าแบบฮิปโปเครตีส ทั้งยังมีอาการหายใจเบา ชีพจรอ่อน และผู้ป่วยนั้นไม่รู้เรื่องรู้ราวอันใดอีก

ลักษณาการนี้บ่งบอกว่าหมดหวังในผู้ป่วยแล้ว การที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นกลับมาเป็นปกติเป็นไปได้ยากยิ่ง โรคจะดำเนินต่อไปเองจนถึงวาระสุดท้าย และผู้ป่วยนั้นจะถึงแก่ความตายในที่สุด

ยังมีข้อมูลจากข้อเขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า คำว่า ตรีทูต ในพระบาลี มีลักษณะเป็นทูตจริงๆ คือถูกส่งตัวจากที่หนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่ง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งผู้ส่งและผู้รับ ตรีทูต อันหมายถึง ชรา พยาธิ มรณะ นั้น เป็นเทวทูตที่สวรรค์ส่งมาสำแดงตนแก่พระโพธิสัตว์เจ้า เมื่อเสด็จทรงราชรถออกประพาสตามบ้านเมือง เทวทูตตนหนึ่งสำแดงตนเป็นคนชรา อีกตนหนึ่งสำแดงตนเป็นคนป่วย และอีกตนหนึ่งสำแดงตนเป็นศพที่กำลังขึ้นอืดเน่าพุพอง ทั้งสามทูตน่าเกลียดและน่ากลัวทั้งนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นก็ฉุกพระทัยในสภาพแห่งชีวิต จึงได้เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ และได้ตรัสรู้อริยสัจในที่สุด



ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : หนังสือพิมพ์ข่าวสด