[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 18 เมษายน 2566 19:38:22



หัวข้อ: กบฏ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) - ผู้บุกเบิกเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณายาสิทธิราช
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 เมษายน 2566 19:38:22

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/29780437424778_130_Copy_.jpg)
คณะนายทหารที่ก่อการกบฏขณะถูกจำคุกในเรือนจำ

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔)

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เป็นความพยายามของคณะนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยให้เป็นแบบรัฐธรรมนูญในปลาย พ.ศ.๒๔๕๔ แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อน จึงถูกจับกุม และถูกตัดสินให้จำคุก

ความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบรัฐธรรมนูญในเมืองไทยไม่ได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกโดยคณะนายทหารหนุ่มใน ร.ศ.๑๓๐ แต่ได้มีมาแล้วตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) ดังใน ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๒๗) เจ้านายและขุนนางกลุ่มหนึ่ง รวม ๑๑ นาย เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวร์วรฤทธิ์  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์  ได้ร่วมกันทำหนังสือกราบบังคมทูลขอให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจาก “แอฟโสลุดโมนากี” ให้เป็นประเพณีซึ่งเรียกว่า “คอนสติตูชาแนลโมนากี” คือ จากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นแบบพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ยังไม่สมควรที่จะให้มีการปกครองในระบอบดังกล่าว ขณะเดียวกัน เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส. วัณโณโภ นักหนังสือพิมพ์ ก็ได้เสอนความคิดทำนองนี้ในหนังสือพิมพ์ของเขาใน พ.ศ.๒๔๔๙ เพราะเห็นว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นล้าสมัยเสียแล้ว

ความตื่นตัวของคณะนายทหารหนุ่มในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนวางแผนเพื่อจะก่อการปฏิวัติใน พ.ศ.๒๔๕๔ นั้น ได้รับอิทธิพลมาจากกระแสประชาธิปไตยที่แพร่หลายอยู่ในเวลานั้น ได้แก่ ใน พ.ศ.๒๔๓๒ ญี่ปุ่นในสมัยเมจิ (Meiji พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๕) ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๔๘ เมื่อญี่ปุ่นมีชัยชนะต่อรัสเซียซึ่งถือกันว่าเป็นชัยชนะของระบอบรัฐธรรมนูญต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใน พ.ศ.๒๔๕๑ มีการปฏิวัติของพวกยังเติร์กในตุรกี นอกจากนี้การเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตยของ ดร.ซุน  ยัตเซ็น (Dr.Sun Yatsen พ.ศ.๒๔๐๙-๒๔๖๘) และการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงลงได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๔๕๔ ทำให้นายทหารที่มีความคิดก้าวหน้าอยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยด้วย

นอกจากอิทธิพลจากภายนอกซึ่งรับรู้โดยผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น จีโนสยามวารศัพท์  ปัจจัยภายในก็มีส่วนกระตุ้นให้ความคิดประชาธิปไตยแพร่หลายด้วย นั่นคือ การศึกษาสมัยใหม่ที่เริ่มปฏิรูปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกมากขึ้น แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสภาพของเมืองไทยในเวลานั้น และเห็นว่าบ้านเมืองมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอยู่มากเกือบทุกด้านระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชน

มีสาเหตุเกี่ยวกับทหารโดยเฉพาะที่ทำให้กลุ่มทหารหนุ่มเป็นผู้นำในการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้คือ ใน พ.ศ.๒๔๕๒ ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจทหารมาก คือการเฆี่ยนหลังนายทหารสัญญาบัตร จากเหตุขัดแย้งส่วนตัวระหว่างมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับทหารของกรมทหารราบที่ ๒ ที่ไปติดพันแม่ค้าขายหมากสมัต (หมากที่ทำเป็นคำๆ แล้ว) จนทำมหาดเล็กทำร้ายทหารและไปท้าทายพวกทหารที่หน้ากรมทหารราบที่ ๒  นายร้อยเอก สม เจริญผล ผู้บังคับกองร้อยได้นำทหารยศร้อยตรีและนายดาบบาง ผู้ถูกตีออกไปสู้  ต่อมา มีทหารมาร่วมอีก ๒ คน รวมเป็น ๕ คน  ปรากฏว่า มหาดเล็กสู้ไม่ได้จึงหลบหนีไป และนำความไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จึงให้สอบสวนนายร้อยเอก สม กับพวก โดยที่นายร้อยเอก สม ให้การรับสารภาพ  จากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอให้ลงพระอาญาเฆี่ยนหลัง ในชั้นแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วย รวมทั้งเจ้านายบางองค์ เช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงยืนยัน มิฉะนั้นจะทรงลาออกจากตำแหน่งรัชทายาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงยินยอมให้เฆี่ยนนายร้อยเอก สม ๓๐  ต่อหน้าที่นั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดความเศร้าสลดใจในหมู่ทหารและนักเรียนนายร้อยทหารบก (คือนักเรียนนายร้อย จปร. ในปัจจุบัน) เป็นอย่างยิ่ง ถึงกับจะหยุดเรียนหยุดฝึก แม้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ จะทรงเรียกประชุมพวกนักเรียนนายร้อยทหารบก ก็ช่วยผ่อนคลายด้านจิตใจได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

สาเหตุอีกประการหนึ่งในส่วนของทหารคือ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ไม่นานนักคือในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๔ ก็ทรงตั้ง “กองทหารเสือป่า” ขึ้นมา พระองค์ทรงสนพระทัยต่อกองทหารเสือป่าอย่างยิ่ง โดยทรงฝึกสอนด้วยพระองค์เอง และทรงเป็นนายกองใหญ่ผู้บังคับกองทหารเสือป่า จุดมุ่งหมายของกองทหารเสือป่าคือ การอบรมข้าราชการพลเรือน พ่อค้า และประชาชนให้รู้วิชาทหาร เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมทั้งเสริมสร้างความสามัคคีในชาติ ทั้งในเวลาปกติและในเวลาเกิดสงคราม การตั้งกองทหารเสือป่าทำให้พวกทหารไม่พอใจมาก เพราะเป็นงานที่ซ้ำซ้อนกับทหาร แข่งกับทหาร เหมือนกับไม่ไว้วางใจทหาร และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมากด้วย

ด้วยสาเหตุประการต่างๆ ดังที่กล่าวมา จึงทำให้นายทหารหนุ่มมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองและบุคคลที่เป็นต้นคิดคือ นายร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์ และ นายร้อยตรี จรูญ ษตะเมษ  ทั้งคู่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยในปลาย พ.ศ.๒๔๕๑  นายร้อยตรี เหรียญ มีอายุเพียง ๑๘ ปี  แต่นายร้อยตรี จรูญ มีอายุ ๒๔ ปี ทั้งคู่เริ่มสนิทสนมกันเมื่อไปประจำการที่กรมทหารราบที่ ๑๒ นครไชยศรี ใน พ.ศ.๒๔๕๒ และที่นั่นเอง บุคคลทั้งสองซึ่งได้เห็นความทุกข์ยากของราษฎร ความอยุติธรรมที่ชาวบ้านได้รับ การขาดโอกาสทางการศึกษา และการปกครองที่ไม่ส่งเสริมให้ราษฎรมีชีวิตที่ดีขึ้น จึงทำให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แผนการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายแบ่งเป็น ๒ ระยะ ระยะแรก ๑๐ ปี เป็นการเตรียมพร้อมโดยเผยแพร่อุดมการณ์ให้กับทหารเกณฑ์ ๑๐ รุ่น และหวังว่าทหารเกณฑ์เหล่านั้นจะไปเผยแพร่แนวความคิดให้แก่เพื่อนฝูง ญาติมิตร บุตรหลานต่อไป  ระยะที่ ๒ ใน ๑๐ ปีต่อมา เป็นการลงมือปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อทำได้สำเร็จก็จะมีผู้สนับสนุนและเข้าใจระบอบการปกครองใหม่ทั่วประเทศ

ในต้น พ.ศ.๒๔๕๓ นายร้อยตรี เหรียญ กับ นายร้อยตรี จรูญ ได้รับคำสั่งย้ายให้ไปประจำกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง จึงทำให้ทั้งคู่ได้โอกาสพูดคุยกับเพื่อนนายทหารรุ่นเดียวกันมากขึ้น และในไม่ช้าก็มีผู้ร่วมอุดมการณ์เพิ่มขึ้น ๑ คนคือ นายร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ อย่างไรก็ดี ทั้งสามยังขาดหัวหน้าขบวนการ นายร้อยตรี เหรียญ จึงเสนอพี่ชายคือ นายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) นายแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถและครอบครัว ให้เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งนายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ยินยอมรับอย่างเต็มใจ

การประชุมขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔ – นับตามแบบเก่า) ที่บ้านนายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ มีผู้เข้าร่วมประชุม ๗ คน คือนายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์  นายร้อยตรี เหรียญ  นายร้อยตรี จรูญ  นายร้อยตรี เนตร  นายร้อยตรี ปลั่ง  นายร้อยตรี ม.ร.ว. แช่ รัชนิกร  และนายร้อยตรี เขียน อุทัยกุล  โดยมีสาระสำคัญคือ การเลือกหัวหน้าชั่วคราว ซึ่งได้แก่ นายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์  นายร้อยตรี เนตร เป็นเลขานุการและนายทะเบียน กำหนดวัตถุประสงค์ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบใดแบบหนึ่ง และให้สมาชิกไปอบรมสั่งสอนทหารให้รู้จักการปกครองระบอบใหม่นี้

ขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ มีการประชุมรวมทั้งหมด ๑๒ ครั้งก่อนถูกจับกุม มติที่สำคัญ คือ ร่นเวลาเตรียมการจาก ๑๐ปีลงมา และให้มีการปฏิวัติเร็วที่สุด โดยกำหนดในต้นเดือนเมษายน ร.ศ.๑๓๑ (พ.ศ.๒๔๕๕) ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับจากการซ้อมรบเสือป่าที่นครปฐม  ให้สมาชิกหาสมาชิกใหม่ให้เร็วที่สุด การทำพิธีสาบานตนว่า “เราทุกคนจะต้องซื่อสัตย์สุจริตต่อกันทุกเมื่อ โดยยอมพลีชีวิตเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติไทย มิหวังผลอันมิชอบเพื่อส่วนตัวด้วยประการทั้งปวง” ส่วนรูปแบบการปกครองแบบใหม่มีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้างว่าจะเป็นลักษณะใดระหว่าง (๑) แบบพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (“ลิมิเต็ดมอนากี”) และจะทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป  (๒) แบบสาธารณรัฐ (“รีปับลิค”) แล้วทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี แม้ว่าที่ประชุมจะนิยมแบบที่ ๒ มากกว่า แต่ความเห็นก็ยังไม่ยุติ

ขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ หาสมาชิกได้ประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ คน ทั้งหมดเป็นชนชั้นกลางอยู่ในวัยหนุ่ม ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกชั้นนำประมาณ ๑๐๐ คน และ ๑ ใน ๑๐๐ คนนี้คือ นายร้อยเอก หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ) ผู้เข้ามาเป็นสมาชิกและร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๔ ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ เพราะในวันดังกล่าวนั้น หลังเลิกประชุมแล้ว นายร้อยเอก หลวงสินาดโยธารักษ์ ก็ได้นำเรื่องแผนการการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปทูลหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ เกษมสันต์ ผู้บังคับบัญชากรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ ที่บางซื่อ และนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทรงทราบต่อไปในวันเดียวกันนั้น

ในวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เสด็จขึ้นรถไฟไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่นครปฐม กราบบังคมทูลเรื่องราวของขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ ซึ่งพระองค์มีรับสั่งให้ดำเนินการจับกุมในทันที

ขบวนการ ร.ศ.๑๓๐ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๔ รวม ๑๐๖ คน พร้อมเอกสารเกี่ยวกับการปกครองแบบต่างๆ  ผู้ต้องหาถูกแยกขังเป็น ๓ ประเภท  ประเภทที่ ๑ ขังเดียวไว้ที่กองมหันตโทษ หรือคุกต่างประเทศ มี ๑๐ คน ซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดของขบวนการ  ประเภทที่ ๒ ขังไว้ที่กระทรวงกลาโหม มีจำนวน ๒๐ คนเศษ  ประเภทที่ ๓ ขังหรือกักบริเวณในกรมทหาร  ทั้งทหารบก เรือ และกระทรวงยุติธรรม มี ๖๐ คนเศษ

การสอบสวนมีขึ้นทันทีหลังการจับกุมและใช้เวลา ๑๒ วันก็แล้วเสร็จ  พอถึงวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งคณะกรรมการทหารพิเศษขึ้น ๗ นาย มีนายพลเอก พระยาสีหราชเดโชไชย ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิจารณาพิพากษาโทษพวกก่อการ การพิจารณาใช้เวลาราว ๓ สัปดาห์ จึงแล้วเสร็จในกลางเดือนเมษายน ซึ่งในเวลานั้นได้เริ่มศักราชใหม่เป็น พ.ศ.๒๔๕๕ แล้ว โดยลงความเห็นว่า พวกก่อการกบฏมีความผิดฐานคิดประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และฐานคิดกบฏในพระราชอาณาจักร จึงได้กำหนดโทษไว้เป็น ๕ ชั้น คือ ชั้นที่ ๑ ให้ลงโทษประหารชีวิต ๓ นาย  ชั้นที่ ๒ จำคุกตลอดชีวิต ๒๐ นาย  ชั้นที่ ๓ จำคุก ๒๐ ปี ๓๒ นาย  ชั้นที่ ๔ จำคุก ๑๕ ปี ๖ นาย  ชั้นที่ ๕ จำคุก ๑๒ ปี ๓๐ นาย  รวมแล้วมีผู้ถูกลงโทษ ๙๑ นาย (ภายหลังมีผู้ถูกลงโทษเพิ่มอีก ๑ นาย รวมเป็น ๙๒ นาย)

อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยว่า “ความผิดของพวกเหล่านี้มีข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทอาฆาตมาดร้ายต่อพวกนี้” จึงโปรดเกล้าฯ ให้ลดโทษลงบางส่วน เป็น (๑) จำคุกตลอดชีวิต ๓ นาย คือ นายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์  นายร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง  นายร้อยตรี เจือ ศิลาอาสน์  (๒) คำคุก ๒๐ ปี ๒๐ นาย  (๓) ที่เหลือให้รอลงอาญาไว้ และ “อย่าเพ่อให้ออกจากตำแหน่งยศ”  ดังนั้น ผู้ที่ถูกลงโทษจริงๆ จึงมีจำนวน ๒๓ คน ซึ่งต้องถูกถอดยศบรรดาศักดิ์ตามระเบียบด้วย และต่อมาอีก ๔ เดือน ได้มีการฟ้องบุคคลที่เคยได้รับพระราชอภัยโทษและรอการลงอาญาจำนวน ๒ คน ขึ้นมาใหม่ที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์ ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยถูกตัดสินจำคุกคนละ ๒๐ ปี คือ นายร้อยตรี หรี่ บุญสำราญ และนายร้อยตรี เปลี่ยน ไชยมังคละ  ผู้ก่อการกบฏ ร.ศ.๑๓๐ ถูกจำคุกตั้งแต่ต้น พ.ศ.๒๔๕๕ จนถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๗ รวมเวลา ๑๒ ปีเศษ ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติครบ ๑๕ ปี  โดยมีผู้เสียชีวิตระหว่างคุมขังไปก่อน ๒ นาย จึงมีผู้ถูกปลดปล่อยเพียง ๒๑ นาย

เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๔๗๕ ผู้นำของคณะราษฎรได้กล่าวกับคณะผู้ก่อการ ร.ศ.๑๓๐ ว่า “ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม” ซึ่งเท่ากับเป็นการให้เกียรติคณะผู้ก่อการ ร.ศ.๑๓๐ ว่าเป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้นำในการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมา ใน พ.ศ.๒๔๗๖ รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยได้ออกพระราชบัญญัติลบล้างมลทินคณะผู้ก่อการ ร.ศ.๑๓๐ พร้อมกับคืนบรรดาศักดิ์ให้ด้วย



ที่มา - กบฏ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔)สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่