[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 11 กรกฎาคม 2553 11:52:49



หัวข้อ: การงานธารธรรม : ก้าวข้าม
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 11 กรกฎาคม 2553 11:52:49
[ โดย อ.มดเอ็กซ์ จากบอร์ดเก่า ]


(http://www.gooodbook.com/images/column_1224948979/Cover_Aom_Chee_Wit.jpg)
 
 
ก้าวข้าม
 
ระยะทางเพียงชั่วยกเท้าย่างไปข้างหนึ่งของใครบางคน อาจเป็นรอยเท้าที่คนจำนวนมากมายต่อมาก้าวเดินตามไม่ขาดสาย กลายเป็นสายธารธาราที่นำพาความชุ่มชื่นฉ่ำเย็นเยี่ยมเยือนทุกผู้คนบนสองฟากฝั่ง ดังก้าวย่างเล็กๆ แต่หนักแน่นมั่นคงของพรทิพย์ ไหมทอง หัวหน้าหอผู้ป่วย งานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ทุ่มเทปฏิบัติงานตามวิชาชีพอย่างเคร่งครัดแข็งขัน
 
"ในการทำงานไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองทำเกินเลยหน้าที่ที่ควรทำของวิชาชีพพยาบาลเลย เพราะพยาบาลมีหน้าที่ที่จะต้องให้อยู่แล้ว ถ้ารู้ช่องทางและเห็นว่ายังไม่เต็ม ก็ต้องเติมให้เต็ม คิดได้แบบนี้ต่อให้งานหนักก็ไม่ท้อถอย เพราะนี่คือหน้าที่ของพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดต้องทำให้สมบูรณ์ ให้คนไข้ได้รับความสุขสูงสุด ไม่ใช่ทำเพราะต้องมีเมตตา"
 
พรทิพย์เผยแนวทางการทำงานตามปณิธานนางฟ้าชุดขาวที่มีพื้นฐานของความเมตตารองรับ แล้วเล่าด้วยว่าแม้จะต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มเติมขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อมองเห็นปัญหาจนรู้สึกเหนื่อยอยู่บ้าง แต่ก็ได้การมองโลกแง่บวกและการให้กำลังใจซึ่งกันและกันของทีมงานคอยประคับประคอง กระทั่งอาการ "จิตตก" ปลาสนาการไปในความเข้าใจเห็นใจที่ก่อเกิดขึ้นมาแทนที่
 
ที่สำคัญ ถึงแม้นมวลอากาศของสถานที่จะหนักหน่วงด้วยความป่วยไข้ของเด็กที่ทุกข์ทรมานจากโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งและไตวายเรื้อรัง แต่ก็ยังสอดแทรกด้วยความความสดใส เสียงหัวเราะเฮฮาอยู่เป็นระยะๆ ตามประสาเด็ก รวมทั้งพลังใจจากญาติคนไข้ที่มาดูแลลูกหลาน และอาสาสมัครที่มาช่วยเหลือหรือบริจาคสิ่งของ ก็ทำให้ไม่หงอยเหงาเศร้าโศกตามอาการเจ็บป่วยของคนไข้ไปด้วย
 
"ทั้งเวลาทำงานมักไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีคนคอยช่วยเหลือเสมอ ทำให้เรามั่นใจในสิ่งที่ทำว่าคงต้องเป็นประโยชน์กับผู้อื่น เป็นความภาคภูมิใจว่าเราทำสิ่งที่ดี ไม่ได้อวดว่าตัวเองเป็นคนดี แต่สายตาของคนไข้บอกเรา สายตาคนไข้ที่มองเราเป็นรางวัลให้ทุ่มเททำงานต่อไป"
 
นัยน์ตาสื่อประกายสะท้อนความหมายภายในลึกล้ำต่อกัน เช่นนี้มีคุณค่ายิ่งต่อผู้เยียวยารักษาคนไข้ให้ไม่ถดถอยทดท้อต่อการงานหนักหนาสาหัสตรงหน้า จนเธอปรารถนาให้ทีมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องพยาบาลได้มาสัมผัสเพื่อจะได้มีกำลังใจต่อไป ไม่ถอดใจในการงานเพื่อเพื่อนมนุษย์
 
"บอกน้องพยาบาลเสมอว่าสิ่งที่เราให้คนไข้นั้น ในท้ายที่สุดแล้วจริงๆ เราเป็นคนได้ เหมือนที่พระราชบิดาตรัสว่า ให้ถือประโยชน์คนอื่นเป็นประโยชน์ที่หนึ่ง แล้วให้ถือประโยชน์ของตัวเราเองเป็นที่สอง ถ้าทำได้ดังนี้ ผลประโยชน์ เกียรติยศก็จะตกต่อตัวท่านเอง จึงทำให้เราคาดหวังกับน้องพยาบาลมากในฐานะหัวหน้าหอผู้ป่วย และฐานะพี่ที่ทำงานมานานผ่านประสบการณ์มาเยอะ"
 
ทว่าเมื่อวาดหวังสูงเกินไป ก็ต้องกลับมาปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย การลดทอนความคาดหวังลง และรับฟังด้วยใจที่เปิดกว้างไม่ตัดสินพิพากษามากขึ้น ปรับตัวเข้าหากันมากขึ้น
 
"ยับยั้งความคาดหวังของตัวเองลง และฟังกันมากขึ้นเพื่อจะเข้าใจกันมากขึ้น น้องพยาบาลก็กล้าพูดคุยกับเรามากขึ้น ความคาดหวังที่เราเคยอยากได้และไม่ได้ในช่วงแรกก็เริ่มได้ น้องพยาบาลก็เบิกบานใจ มีความสุข เราเองก็มีความสุขตามไปด้วย บรรยากาศการทำงานดีขึ้น เหมือนดังสะพานทอดยาวออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ โดยระหว่างนั้นก็ได้เรียนรู้ร่วมกันไปเรื่อยๆ ด้วย"
 
การเรียนรู้ของพรทิพย์ ที่ทอดยาวราวสะพานพาดผ่านน่านนทีกว้างใหญ่แห่งความไม่เข้าใจเพราะไม่ฟังกัน ไปยังฝั่งที่มีแต่คำชื่นชมให้กำลังใจสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน ระหว่างพยาบาลกับพยาบาล พยาบาลกับแพทย์ และคนไข้กับโรงพยาบาลนั้น เริ่มต้นมาจากความรู้สึกซาบซึ้งถึงคุณค่าของคำว่า "ให้" ที่มีค่ากว่า "รับ"
 
"ไม่ได้คิดว่าเราเป็นผู้ให้ ด้วยจริงๆ แล้วไม่มีใครที่ให้ฝ่ายเดียว การทำงานด้านนี้ทำให้เราได้รับจากฝ่ายอื่น การไม่ยอมแพ้ของคนไข้ ความเข้มแข็งของญาติคนไข้ และการแก้ปัญหาของน้องพยาบาลล้วนสอนเรา หน้าที่ในฐานะพี่จึงต้องสร้างคนรุ่นต่อไปให้รู้ถึงคุณค่าของการให้ เหมือนพยาบาลรุ่นพี่ที่สร้างเราขึ้นมาให้ไม่ใช่แค่เป็นคนดี แต่ยังสามารถทำสิ่งต่างๆ ให้แก่คนไข้ได้เยอะแยะ"
 
การมุ่งให้มากกว่ารับและรับฟังมากกว่าพูดเช่นนี้ จึงได้รับความไว้วางใจจากน้องพยาบาลมาเล่าเรื่องราวไม่ดีของคนอื่นให้ฟังตลอด แต่เธอก็ไม่ได้คล้อยตามไปกับถ้อยคำมากอารมณ์เหล่านั้น หากกลับคอยดึงสิ่งดีงามของคนที่ถูกนินทาว่าร้ายออกมา โดยเน้นย้ำว่าไม่มีใครสักคนที่ไม่มีดีเลย ส่วนที่ยังไม่ดีหรือส่วนที่ไม่ใช่ไม่ดีแต่ยังไม่สมบูรณ์ของเขานั้นก็เป็นหน้าที่ทีมงานต้องช่วยกันแก้ไข และเสริมสร้างให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทว่าก็ต้องอดทนเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายในวันสองวัน
 
นั่นรวมถึงการจัดการเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริงและใช้ความสงบสยบความขุ่นข้องหมองใจในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเธอทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ
 
"ไม่ได้โกรธเคืองแค้น แต่คิดเชิงบวกว่า คือบททดสอบที่จะเป็นสะพานให้เราก้าวข้ามไป ถ้าวันนั้นทำได้วันต่อไปก็ทำได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงร้อนนาน แต่ตอนนี้ไม่ร้อนแล้ว แค่อุ่นๆ ยังไม่ถึงกับเย็น"
 
พรทิพย์เผยพัฒนาการอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบของน้องพยาบาลในการก้าวข้ามมหานทีแห่งการมองเห็นความไม่ดี ไม่ถูกใจของผู้อื่นที่มีเพียงเล็กน้อย แล้วหันมามองส่วนดีที่ก่อคุณแก่คนไข้ที่เขามีมากมาย อันจะทำให้คนไข้ไม่เสียประโยชน์จากการไม่ลงรอยกันของคนทำงาน
 
อีกทั้งการลงทุนลงแรงรดน้ำพรวนดินเมล็ดพันธุ์ความดี ด้วยศรัทธาในความงามความดีของเพื่อนมนุษย์ยังกลายมาเป็นต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไข้เด็กป่วยเรื้อรัง แก่น้องพยาบาลผู้รักการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงของเธอ ดังเคสที่ทำให้ทั้งแพทย์และพยาบาล เกือบถอดใจจากการวุ่นวายและไม่ค่อยนำพาขั้นตอนรักษา ทว่าเธอกลับยืนยันหนักแน่นว่าสามารถจัดการได้ กระทั่งท้ายสุดคนไข้เด็กที่ต้องได้รับการฉายแสงหลังผ่าตัด ที่มีพ่อป่วยเป็นวัณโรค แม่ติดเชื้อเอชไอวี มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก
 
การงานในระบบบริการ ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์จักทวีคูณความสุขให้ทั้งคนไข้และคนทำงานได้ หากคนทำทางสามารถสรรค์สร้าง สะพานสำหรับตัวเองและมวลกัลยาณมิตรก้าวข้ามขวากหนามนานาที่พาดผ่านเข้ามาทดสอบ.
 
ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ
 
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ
 
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
 
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

http://www.thaipost.net/tabloid/270909/11356 (http://"http://www.thaipost.net/tabloid/270909/11356")