[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 25 มีนาคม 2557 16:03:40



หัวข้อ: เทวประติมากรรม "พระพิฆเนศ" เทพในจินตนาการจากสัตว์หิมพานต์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 มีนาคม 2557 16:03:40
.

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/03/bud08100357p1.jpg&width=360&height=360)

การสร้างรูปเคารพพระพิฆเนศ

รูปองค์พระพิฆเนศคงจะเกี่ยวเนื่องกับคติบูชาสัตว์หรือเจ้าแห่งสัตว์ของชนพื้นเมืองในเอเชียใต้ ซึ่งแพร่หลายในอินเดียทางตอนใต้ในระยะเริ่มแรก ก่อนจะมาปรากฏเป็นงานประติมากรรมเป็นรูปเป็นร่างขึ้นปลายสมัยพระเวทต่อยุคมหากาพย์ ยุคพุทธกาล และศาสนาเชน เรื่อยมาจนแพร่หลายไปทั่วโลก โดยการผสมผสานระหว่างความเชื่อพื้นเมืองกับคติเทพเจ้าของพราหมณ์-ฮินดู คติพุทธศาสนา และเชนขึ้น

รูปองค์พระพิฆเนศระยะเริ่มแรกจะเป็นงานประติมากรรมที่จำหลักจากศิลาทรายเป็นรอยขูดขีด ก่อนจะพัฒนาเป็นศิลปะนูนต่ำ ศิลปะนูนสูง และศิลปะลอยตัวในเวลาต่อมา

งานประติมากรรมรูปองค์พระพิฆเนศระยะเริ่มแรก ปรากฏเศียรเป็นช้างแต่เริ่มต้น อันนับเป็นสิ่งที่แสดงถึงความยืนยาวก่อนการเข้ามาของพวกอารยัน (Aryan) อย่างชัดเจน เนื่องจากมิได้มีเทพอื่นที่ปรากฏเทวลักษณะดังกล่าวเป็นเฉพาะ นอกจากการอวตารของเทพชั้นสูงบางองค์ เช่น นรสิงหาวตาร คือ การที่พระวิษณุหรือพระนารายณ์อวตารเป็นครึ่งคนครึ่งสิงห์ ส่วนใหญ่อวตารจะเป็นสัตว์ประเภทนั้นๆ ไปเลย เช่น กูรมาวตาร คือการอวตารเป็นเต่า หรือการแบ่งภาคของพระอิศวรเป็นช้างหรือสัตว์อื่น

อาจกล่าวได้ว่า "พระพิฆเนศ" นับเป็นเทพเบื้องต้นองค์แรกแห่งการผสมผสานระหว่างสัตว์กับมนุษย์ของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมาปรากฏมากขึ้นในการจินตนาการเหล่าสัตว์หิมพานต์ในเวลาต่อมา

งานประติมากรรมแห่งองค์พระพิฆเนศ เริ่มจากการปรากฏเศียรเป็นช้างงาหักข้างใดข้างหนึ่ง ปลายงวงมักตวัดไปทางซ้ายขององค์ ระยะแรกมีเพียงสองกร ประทับนั่งขัดสมาธิแบบราบบนบัลลังก์ ก่อนจะปรากฏเทวพาหนะเป็นมุสิกะ หรือหนู, นกยูง, สิงห์ และช้าง ตลอดจนแสดง "ปางมหาราชลีลา" ในภายหลัง

ต่อมาเมื่อลัทธิบูชาพระพิฆเนศได้แพร่หลายจึงปรากฏการสร้าง "เทวสถานพระพิฆเนศ" ตลอดจนเทวประติมากรรมในแถบอินเดียใต้ก่อนสมัยคุปตะ และเผยแพร่ไปทั่วโลกอย่างน่ามหัศจรรย์

ในพุทธศาสนาคติมหายาน "พระพิฆเนศ" ได้รับการยอมรับในฐานะผู้เป็นใหญ่แห่งอุปสรรคและการกำจัดอุปสรรค เป็นตัวแทนแห่งความสำเร็จ มีบทบูชาในลักษณะของลัทธิมนตระยาน ชื่อ "คณปติ-หฤทยา" หมายถึง หัวใจพระพิฆเนศ ในฐานะผู้ทำลายและผู้สร้าง โดยเฉพาะในสมัยจักรวรรดิคุปตะ (ค.ศ.320-535) ซึ่งถือเป็นยุค Classical Age ของอินเดีย ในตอนปลายจะปรากฏรูปองค์พระพิฆเนศปะปนอยู่กับเทพอื่นๆ ทางพุทธศาสนา ในภาพพุทธประวัติ ที่สารนาถ ตอนพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน


(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/03/bud08100357p3.jpg&width=360&height=360)
   ศาสนาเชน ของพระมหาวีระ ที่มีอายุร่วมกับพุทธศาสนา โดยเน้นการปฏิบัติ แบ่งเป็นนิกายเศวตัมพร (ผู้นุ่งขาวห่มขาว-ชีปะขาว) และนิกายฑิฆัมพร (ผู้นุ่งฟ้า-ชีเปลือย) ปรากฏเรื่องราวและประติมากรรมพระพิฆเนศ โดยเฉพาะในนิกายเศวตัมพร พระองค์ทรงปรากฏบทบาทในฐานะยักษ์ มีพระนามว่า ปาวรศวยักษะ หรือธรรมเมนทรา งานประติมากรรมที่พบเป็นเทวรูป ประทับนั่งบนหลังเต่า มีนาคปรก จัดเป็นเทพสำคัญองค์หนึ่งของนิกายเศวตัมพร มักสร้างโดยมี ๒ พระกร จนถึง ๑๐๘ พระกร

พระพิฆเนศได้รับการนับถือแพร่หลาย มีการสร้างเทวประติมากรรมในหลายลักษณะ ชาวทมิฬในอินเดียใต้และลังกาเอ่ยนามพระองค์ว่า "Pillaiyar" จีนที่เป็นพุทธแบบมหายานปรากฏงานประติมากรรมและจิตรกรรมเกี่ยวกับองค์พระพิฆเนศ และเรียกพระองค์ว่า "Knangi-Ten" ทิเบตเรียกว่า "Tsoge-Bdag" พม่าและมอญซึ่งเป็นพุทธแบบหินยาน เอ่ยนามพระองค์ว่า "Mahapienne"

ส่วนขอมที่ได้รับอิทธิพลของฮินดูจากอินเดียโบราณมากที่สุดเอ่ยนามพระองค์ว่า "Prah-Kenes" ในญี่ปุ่นเรียกว่า "Daikon" ทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันคล้ายท้าวจตุโลกบาลของไทย

บางครั้งในญี่ปุ่นปรากฏเป็นรูปองค์พระพิฆเนศสององค์ในท่ากอดปล้ำเรียกว่า "Deva Bliss" หมายถึง เทพแห่งความสุขและความยินดี และประติมากรรมของพระองค์ยังแพร่หลายไปยังที่ต่างๆ อาทิ อินโดนีเซีย ชวา มลายู อีกด้วย


(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/03/bud08110357p1.jpg&width=360&height=360)

ในอินเดีย มีเทวสถานองค์พระพิฆเนศมากมายตามลัทธินิกายต่างๆ แม้ในนิกายที่มิได้นับถือพระพิฆเนศเป็นเทพสูงสุด ก็ยังปรากฏรูปองค์พระพิฆเนศบูชา และที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏ "ประติมากรรมรูปองค์พระพิฆเนศในลักษณะเทวสตรี" ทรงพระนาม "พระคเณศานี" หรือ "พระไว นายกี" เป็นรูปสลักบนระเบียงในเทวสถานหิระปุระ (Hirapura) เมืองภูวเนศวร รัฐโอริสสา เทวลักษณะมีเศียรเป็นช้าง สองกร ประทับยืนในท่าตริภังค์ (การหย่อนสามส่วน ได้แก่ หย่อนไหล่-หย่อนสะโพก-หย่อนหัวเข่า) บนหลังมุสิกะหรือหนู ปรากฏพระถันเหมือนเทวสตรี

เทวประติมากรรมองค์พระพิฆเนศในลักษณาการเช่นนี้ เข้าใจว่าเกิดขึ้นจากอิทธิพลของนิกายศักติ อันเป็นนิกายที่เกิดขึ้นหลังไศวนิกายและไวษณพนิกาย โดยหลักคิดที่ว่าทุกสรรพสิ่งในจักรวาลมิได้กำเนิดจากเทวบุรุษหรือลึงค์อย่างเดียว หากต้องประกอบด้วยเทวสตรีหรือโยนีด้วย

ลัทธินี้ให้ความสำคัญแก่เทวสตรีและเข้าผสมกลมกลืนกับลัทธินิกายอื่นๆ เช่น ปรากฏการสร้างฐานโยนีอยู่ใต้แท่นศิวลึงค์ หรือการบูชาพระแม่ปวารวตีหรือพระอุมาในภาคต่างๆ เช่น พระแม่ทุรคา พระแม่กาลี และบูชาพระมหาเทวีอื่นๆ เช่น พระลักษมี เป็นต้น
 
สำหรับประเทศไทย งานประติมากรรมรูปองค์พระพิฆเนศพบในแถบภาคใต้ เช่น ที่บ้านทุ่งตึก อ.คุระบุรี จ.พังงา พบประติมากรรมองค์พระพิฆเนศศิลาทรายสูงประมาณ ๓๖.๕ ซ.ม., ที่ ต.พังหนุน อ.สทิงพระ จ.สงขลา พบประติมากรรมพระพิฆเนศดีบุก สูง ๖.๕ ซ.ม. ฐานกว้าง ๕ ซ.ม., บริเวณถ้ำเกาะหลัก ทางออกสู่ทะเลอันดามัน เป็นปางประทับนั่ง มี ๔ กร อายุราวอยุธยาตอนต้น และรูปประติมากรรมพระพิฆเนศยังปรากฏในงานศิลปะขอมโบราณตามปราสาทหินต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ ในสยามประเทศองค์พระพิฆเนศยังได้รับการยกย่องในฐานะบรมครูช้าง และเรียกในอีกพระนามหนึ่งว่า "พระเทวกรรม" จึงมีการจัดสร้างประติมากรรมพระเทวกรรมอันเป็นบรมครูที่สำคัญของผู้ที่ศึกษาวิชาคชศาสตร์ หรือที่เรียกว่า "ตำราช้าง" ซึ่งรับมาจากอินเดีย ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาสันสกฤต ประกอบด้วย "ตำราคชลักษณ์" กล่าวถึงลักษณะของช้าง และ "ตำราคชกรรม" ว่าด้วยการหัดช้างเถื่อนและวิธีหัดขี่ช้าง มนต์สำหรับบังคับช้าง และระเบียบพิธีต่างๆ ที่จะทำให้เกิดสิริมงคลและบำบัดเสนียดจัญไรในการที่เกี่ยวเนื่องกับช้าง และยังพบรูปพระเทวกรรมบนด้ามขอสับช้างและด้ามมีดของควาญช้างด้วย


(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/03/bud08110357p3.jpg&width=360&height=360)  ในสมัยอยุธยา การคชกรรมเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก เนื่องจาก "ช้าง" นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของสยาม และสื่อถึง "ช้างแก้ว" ในรัตนมณีทั้งเก้าประการในคติจักรพรรดิราชแล้ว ยังส่งช้างเป็นสินค้าออกสำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) พระองค์โปรดให้มีการสร้างเพนียดคล้องช้างที่ลพบุรี และเสด็จประทับ ณ นารายณ์ราชนิเวศฯ เป็นเวลายาวนานในช่วงปีหนึ่ง การให้ความสำคัญกับบรมครูช้าง ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ถึงการที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปพระพิฆเนศ และพระเทวกรรมหลายครั้งด้วยกัน

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งราชวงศ์จักรี ทรงอัญเชิญพระนาม "พระพิฆเนศ" มา สถาปนาพระราชทานเป็นพระนามทรงกรมฯ ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เมื่อพระองค์ทรงพระชนมายุได้ ๙ พรรษา โดยจารึกในพระสุพรรณบัฏขึ้นทรงพระอิสริยยศเป็น "กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ" ถือศักดินา ๘๐๐

จึงนับได้ว่าพระองค์ทรงสนพระทัยถึงขนาดอัญเชิญพระนามองค์พระพิฆเนศมาเป็นอิสริยยศของพระเจ้าลูกยาเธอฯ ภายหลังจึงได้พระราชทานพระนามอีกครั้ง เปลี่ยนเป็น "กรมขุนพินิตประชานารถ" ซึ่งต่อมาเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรื่องราวขององค์พระพิฆเนศ ก็ได้ปรากฏและถ่ายทอดแพร่หลายในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา

ในเวลาเหล่านี้ยังนิยมสร้างรูปเคารพพระพิฆเนศขนาดเล็ก จากสำริดบ้าง ทองแดง ทองเหลือง หินทรายบ้าง เพื่อใช้พกติดตัวบูชาในลักษณะเครื่องรางของขลังครับผม
   ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(http://www.sookjaipic.com/images/6006466973_SAM_2848.JPG)
ภาพจากร้าน Suan Lahu Cafe'   จังหวัดเชียงใหม่