[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
10 พฤษภาคม 2567 06:59:31 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: โน๊ตดนตรีไทยเดิม และบทร้อง : ตับพญาผานอง (รวม ๑๙ เพลง)  (อ่าน 10143 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
Moderator
นักโพสท์ระดับ 14
*****

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5477


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 02 ตุลาคม 2556 12:21:11 »

.

โน๊ตเพลงไทยเดิม
ตับเรื่อง พญาผานอง

เรื่องพญาผานอง
จากบทละครพันทางเรื่องพญาผานอง ตอนจากรัก กรมศิลปากรสร้างบทใหม่ จัดแสดง ณ โรงละครศิลปากร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑

เพื่อให้ทราบความเป็นมาและเนื้อหาของเรื่อง จึงขอนำคำนำซึ่งนายธนิต  อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรสมัยนั้น ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ สูจิบัตร การแสดงพันทางเรื่องพญาผานอง ไว้ดังนี้

...เมื่อระหว่างปลายเดือนพฤษภาคมกับต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ข้าพเจ้าได้เดินทางโดยรถยนต์ไปสำรวจโบราณวัตถุและโบราณสถานในจังหวัดทางภาคเหนือหลายจังหวัด ก่อนไปก็ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวและตำนานของจังหวัดและโบราณสถานแห่งนั้นๆ จากหนังสือตำนานและพงศาวดารไว้บ้าง และเมื่อไปถึงจังหวัดนั้นๆ ก็ได้หาโอกาสไปดูโบราณสถาน วัตถุสถาน และติดต่อสอบถามเรียนรู้เรื่องราวเพิ่มเติม จากท่านผู้รู้ในท้องถิ่นนั้นๆ อีก ครั้นกลับถึงที่พักก็หาเวลาตรวจดูแผนที่และอ่านหนังสือเรื่องราวและตำนาน หรือพงศาวดารที่รวบรวมติดกระเป๋าไปด้วย เมื่อเกิดเป็นปัญหาก็ยกขึ้นเป็นข้อถกเถียงกับท่านที่ร่วมคณะไปด้วยกัน ซึ่งได้ปฏิบัติเป็นธุรกิจประจำวันตลอดเวลาที่เดินทางไปสำรวจโบราณ วัตถุสถาน ในต่างจังหวัด และเมื่อกลับมาแล้วถ้าโอกาสอำนวยก็ยังศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปอีก ขณะพักอยู่ที่จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ ๑ และที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๐ รวมเวลา ๒ วัน ก็ได้ไปชมโบราณวัตถุสถานพร้อมกับติดต่อสอบถามเรียนรู้เรื่องราวและศึกษาตำนาน ทั้งของโบราณวัตถุสถานและของจังหวัดด้วย เมื่อได้เห็นทั้งสถานที่และได้อ่านเรื่องราชวงศ์ปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน จากประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐ หลายครั้งเข้า ก็เกิดข้อคิดเห็นว่า เรื่องราวเบื้องต้นของพงศาวดารเมืองน่าน ตอนกล่าวด้วยราชวงศ์ภูคา ก่อนลงมาสร้างเมืองน่านลงในท้องที่อำเภอเมืองน่านปัจจุบัน มีโครงเรื่องพอที่จะนำมาสร้างขึ้นเป็นเรื่องละครรำ ให้บรรจุไว้ด้วยเพลงดนตรีและบทขับร้องอันไพเราะ ประกอบด้วยท่ารำอันงดงามได้

เมื่อกลับลงมาถึงพระนคร ข้าพเจ้าจึงนำเอาโครงเรื่องและข้อคิดเห็นนี้ไปร่วมปรึกษากับหม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ผู้เชี่ยวชาญทางนาฏศิลป  ของกรมศิลปากร และนายมนตรี ตราโมท ศิลปินเอก ในกรมศิลปากร ซึ่งท่านทั้งสองนั้นก็ตกลงเห็นชอบด้วย ข้าพเจ้าจึงมอบให้นายมนตรี  ตราโมท ช่วยดัดแปลงแบ่งโครงเรื่องออกเป็นองก์ให้เหมาะแก่ที่จะสร้างขึ้นเป็นเรื่องละคอนรำ แล้วได้มอบหมายให้ผู้ซึ่งมีนามปรากฏอยู่ในหน้า ๘ รับไปแต่งบทขึ้นแต่ละองค์โดยให้อยู่ในความควบคุมของนายมนตรี ตราโมท  บทละครพันทาง เรื่อง พญาผานอง อันเป็นละครรำเรื่องประวัติศาสตร์ ของกรมศิลปากร จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้

บางทีท่านผู้อ่านคงจะใคร่ทราบเรื่องราวเบื้องต้นของราชวงศ์ภูคา ในเรื่องราชวงศ์ปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่านบ้าง เพื่อมิให้เสียเวลาไปค้นหาอ่านจากประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐ จึงขอนำเรื่องย่อเฉพาะตอนที่นำมาสร้างขึ้นเป็นบทละคอนพันทาง มากล่าวไว้เสียในที่นี้ ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า

พญาภูคา เสวยราชย์อยู่ในเมืองย่าง และบางทีก็เรียกว่าเมืองภูคา ปัจจุบันยังมีหมู่ บ้านย่าง ตั้งอยู่ใกล้น้ำตก บริเวณติดต่อดอยภูคา ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว สายน้ำย่างไหลมาลงแม่น้ำน่านตรง สบย่าง  ในท้องที่อำเภอปัว

พญาภูคาได้เด็กมาเลี้ยงไว้เป็นลูก ๒ คน ภายหลัง คนพี่ชื่อขุนนุ่น ว่าไปครองเมืองจันทบุรี เข้าใจว่าผู้แต่งตำนานจะให้หมายถึงเวียงจันทน์  ส่วนคนน้องมีชื่อ (ต่อมา) ว่า ขุนฟอง ให้ครองเมืองวรนคร คือเมืองปัว ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีอำเภอปัวขึ้นอยู่ในจังหวัดน่าน  ขุนฟอง มีลูกชายคนหนึ่งชื่อว่า เก้าเกื่อน  ได้ครองราชย์สืบแทนพ่ออยู่ในวรนคร ต่อมาพญาภูคา ผู้เป็นปู่ให้มาเชิญพญาเก้าเกื่อนไปครองเมืองย่างหรือเมืองภูคา  พญาเก้าเกื่อนจึงมอบให้นางคำบิ่น หรือคำปิ๋วผู้เป็นพระชายา ซึ่งตั้งครรภ์อยู่แล้ว อยู่ครองเมืองวรนคร พญาเก้าเกื่อนเองไปครองเมืองภูคาตามคำเชิญของปู่
ขณะที่นางพญาคำบิ่นครองวรนครอยู่ทางนี้ พญางำเมืองแห่งเมืองพะเยายกกองทัพมาตีได้วรนคร นางพญาคำบิ่นกับเด็กหญิงผู้หนึ่งหนีเล็ดลอดออกจาเมืองไปหลบซ่อนอยู่ในไร่แห่งหนึ่ง และประสูติโอรส ณ ที่ห้างไร่นั้น บังเอิญฝนซึ่งแล้งมาหลายวันแล้ว ก็ตกลงมาห่าใหญ่ พัดพาเอาก้อนหินก้อนผามากองเต็มไปหมด  วันต่อมาเจ้าของไร่ซึ่งเคยเป็นพ่อครัวของพญาเก้าเกื่อนอยู่แต่ก่อนมาพบเข้า ก็เชิญไปอยู่ด้วย ครั้นพระกุมารผู้เป็นโอรสนางพญาคำบิ่นกับพญาเก้าเกื่อนเจริญวัย ก็ถูกพาตัวไปอยู่กับพญางำเมือง ๆ ก็โปรดปรานทรงรับเลี้ยงไว้เป็นลูกและตั้งชื่อว่า เจ้าขุนไส่ หรือเจ้าขุนไส แล้วต่อมาโปรดให้ขุนไสไปกินเมืองปราด พระราชทานนามว่า เจ้าขุนไส่ยศ หรือ เจ้าขุนไสยศ ซึ่งอาจเป็น เจ้าขุนไชยยศ ก็ได้  

ส่วนเมืองปราดนั้น เวลานี้ยังไม่ทราบว่าอยู่แถวไหน  และคำอักษรกล้ำ ป.ร. ในสำเนียงเหนือนั้น ก็เป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าควรจะเป็นเมืองปาด ถ้าเช่นนั้น คงจะตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอและในจังหวัดน่านนั่นเอง เพราะในท้องที่ตอนเหนือของอำเภอและ มีศาลาสบปาดและน้ำปาด จึงเข้าใจว่า บางทีจะตั้งอยู่แถวนั้นก็ได้ แต่ในพงศาวดารเขียนไว้ว่าเมืองปราด ในบทละคอนนี้จึงคงไว้ตามพงศาวดาร เพราะอาจเป็นแห่งอื่นก็ได้

ส่วนทางเมืองวรนคร พญางำเมืองมอบให้ชายาองค์หนึ่งชื่อว่าอั้วสิม ซึ่งมีโอรสชื่อเจ้าอามป้อมกับพระองค์แล้ว ให้อยู่ครอบครอง ภายหลังนางอั้วสิมกับพญางำเมืองเกิดเรื่องขัดใจกัน นางอั้วสิมจึงให้ไปเชิญเจ้าขุนไสยศมาวรนคร พญางำเมืองทรงทราบก็ยกกองทัพมาจากเมืองพะเยา มาพบเจ้าอามป้อมผู้เป็นโอรสของพระองค์ตั้งรับเป็นทัพหน้าของวรนครอยู่ ก็ทรงสงสาร จึงยกทัพกลับ เจ้าขุนไสยศ ก็ได้อุสาภิเษกขึ้นครองเมืองวรนคร มีพระนามว่า พญาผานอง เรื่องที่นำมาดัดแปลงสร้างขึ้นเป็นบทละครก็มีเพียงนี้

แต่อาจมีท่านที่สนใจใคร่ศึกษาเปรียบเทียบเหตุการณ์ในประวัติอยู่บ้าง จึงขอเล่าเรื่องต่อไปว่า พญาผานองมีโอรส ๖ องค์ แต่จะมีกับนางอั้วสิมหรือกับชายาอื่นหากล่าวไว้ในตำนานไม่ ต่อมาโอรสองค์ใหญ่ ชื่อ พญาการเมือง ได้ครองเมืองวรนครสืบมา และได้ร่วมคิดกับพระมหาเถรธรรมบาล พากันลงมาสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นไว้ ณ ดอยภูเพียงแช่แห้ง ซึ่งนับว่าเป็นบูชนียสถานสำคัญของจังหวัดน่านอยู่ในทุกวันนี้  แล้วพญาการเมืองก็ได้ลงมาสร้างตัวเมืองน่านขึ้น ณ บริเวณนั้นด้วย

พญาการเมืองมีโอรสครองราชย์สืบมา คือ พญาผากอง ซึ่งเป็นไมตรีกับกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง แห่งกรุงสุโขทัยตอนปลาย  ดังมีกล่าวถึงเจ้าพญาผากอง และท้าวผากอง ในศิลาจารึกสุโขทัยและในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ส่วนพญางำเมือง แห่งเมืองพะเยา ผู้มีบทบาทสำคัญอยู่ในละคอนเรื่องพญาผานองนี้ ปรากฏในพงศาวดารโยนกและตำนานบางฉบับว่า เกิดปีจอ พ.ศ. ๑๗๘๑ (จ.ศ. ๖๐๐) ขึ้นครองเมืองพะเยาสืบต่อพญาเมืองมิ่ง ผู้เป็นพระบิดา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๑ เวลานั้นมีพระชนมายุ ๒๐ ปี เป็นพระปิยสหายกับพ่อขุนรามคำแหง แห่งกรุงสุโขทัย และ พญาเม็งราย แห่งแคว้นลานนา บางตำนานว่าเกิดปีเดียวกับพญาเม็งราย

พญางำเมืองครองราชย์อยู่ ๖๐ ปี ถ้าเป็นไปตามนี้ พญางำเมืองก็ต้องสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๑ ต่างเวลากับที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเมืองน่าน ว่าพญาผานองขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๕ (จ.ศ. ๖๘๔) จึงอาจเป็นว่า พญาผานองได้ขึ้นครองราชย์ หลังจากที่พญางำเมืองสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ราว ๔-๕ ปีก็ได้  ซ้ำในบางตำนานบ่งว่า พญางำเมืองสิ้นพระชนม์ก่อนอายุ ๘๐ ปี จึงควรพิจารณากันในทางประวัติศาสตร์ต่อไป แต่ในการนำเอาเรื่องราวมาสร้างขึ้นเป็นละคอนเรื่องพญาผานองนี้ ได้รวบรัดเหตุการณ์ให้กระชับเข้า เพื่อสะดวกแก่การดำเนินเรื่องทางนาฏกรรม จึงย่อมจะแตกต่างไปจากพงศาวดารอยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนพลความและตัวประกอบ ส่วนเหตุการณ์ที่เป็นหลักของเรื่องและตัวละคอนสำคัญ ได้พยายามที่จะดำเนินไปตามพงศาวดารโดยตลอด

ข้อยุ่งยากในการสร้างบทละครเรื่องนี้มีอยู่อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งขอเรียนให้ท่านผู้ดูผู้ชมได้ทราบ คือ บทเจรจาของตัวละคอน ถ้าจะสร้างคำเจรจาขึ้นตามสำนานและสำเนียงพูดของชาวเหนือ ก็จะลำบากแก่ผู้แต่งบทและยุ่งยากแก่การฝึกหัดพูดออกสำเนียงของผู้แสดง ทั้งท่านผู้ดูเองก็จะฟังรู้เรื่องยาก แต่จะไม่ใช้คำพูดและสำเนียงแบบไทยชาวเหนือเสียเลย ก็จะขาดรสไพเราะและบรรยากาศที่ควรมีในการดำเนินเรื่องไป ซึ่งเท่ากับขาดสิ่งส่งเสริมรสศิลปทางนาฏกรรมอย่างสำคัญไปด้วย เมื่อได้ปรึกษาหารือกันดูแล้ว จึงตกลงแต่เพียงแทรกถ้อยคำและเจรจาเลียนสำเนียงพูดของไทยเหนือไว้บ้าง เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศและรสไพเราะตามท้องเรื่อง ถ้ามีตอนใดขัดเขินหรือผิดพลาด ก็หวังว่าจะได้รับอภัยจากท่านผู้รู้ ด้วยความเห็นใจ


ธนิต  อยู่โพธิ์  
กรมศิลปากร
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑


บทร้องเพลงตับเรื่อง พญาผานอง

        ๑. เพลงยวนเคล้า
     เมื่อนั้น                          นางพญาคำปินมารศรี
ครองวรนครธานี                     ชาวบุรีถ้วนหน้าสามิภักดิ์
หวนคะนึงคิดถึงพระภรรดา         ท่านพญาเก้าเกื่อนผู้ทรงศักดิ์
ห่วงลูกน้อยในครรภ์อันสุดรัก       เกรงว่าจักมิใช่เป็นชายชาญ


        ๒. เพลงลาวดวงดอกไม้
ชมดอกไม้เบ่งบานสลอน          ฝูงภมรวะว่อนใฝ่หา
ดอกพิกุลยี่สุ่นจำปา                ลมพัดพาลำเพยขจร
เกดกระถินสิ่งกลิ่นหอมฟุ้ง         กำจายจรุงระรื่นเกสร
จันทน์กะพ้อช่างล่อภมร           ให้หลงเริงร่อนบินว่อนตอม
โอ้ดอกไม้ก็ได้ชายกลิ่น            อวดประทินที่แสนสุดหอม
เร้าฤทัยเราให้ใฝ่ดอม              ช่างน่าถนอมจริงเนอ
ปวงดอกไม้ก็ไม่งามเท่า           พักตร์แม่เจ้าแม่สาวคำปิน
สำรวยเลิศช่างเฉิดโฉมฉิน         บ่มีมลทินทั่วสรรพางค์
กลิ่นดอกไม้ก็ไม่ระรื่น              หอมชุ่มชื่นเท่าคุณพระนาง
ข้าเจ้าภักดีบ่มีจืดจาง              จนชีวิตวางวายเนอ  


         -ออกชั้นเดียว-
     บัดนั้น                             สาวลำยวงอกสั่นขวัญหาย
เห็นดาวหางกลางฟ้าอาภาพราย     ยอบกายกราบทูลทันใด


        ๓. เสภาลาว
     ฟังว่า                            นางพญาเห็นงามตามข้าหลวง
แสนวิโยคโศกศัลย์ตื้นตันทรวง     สุดาดวงจำพรากจากนคร
หักอารมณ์ข่มหทัยไคลคลา        สั่งเสนาอยู่หลังระวังก่อน
เหลียวดูข้าหญิงยิ่งอาวรณ์          บังอรจรพลางทางโสกี    


         -- เพลงกระแต –-

        ๔. เพลงลาวพุงดำ
     เมื่อนั้น                          ท่านพญางำเมืองเรืองศรี
นำทหารชาญยุทธรุดราวี           ยึดได้ธานีดังใจจง
ร้องสั่งไพร่พลเร่งค้นหา            นางพญามิ่งเมืองเรืองระหง
เหล่าทหารรับคำดังจำนง           มุ่งตรงค้นหาเทวี
จับได้คำแมนแสนกล้า              ฉุดคร่ามาแทบพระแท่นที่
ท่านพญางำเมืองเรืองฤทธี         จึงเอ่ยวาทีถามไป  


        ๕. เพลงลาวดวงเดือน ชั้นเดียว
     บัดนั้น                           เสนีบังคมก้มเกล้า
ออกไปสั่งพลไกรไม่ดูเบา           แบ่งเหล่าป่าวร้องทั่วพารา  



        ๖. เพลงโอ้ลาวครวญ
     เมื่อนั้น                           คำปินเยาวยอดเสน่หา
ต้องพลัดพรากจากญาติจากพารา   อยู่เอกากลางไร่ให้อาวรณ์
ครุ่นคิดถึงพระจอมราช               สุดอนาถหม่นไหม้หทัยถอน
คงจะเป็นเวรกรรมมาตามรอน       ดวงสมรสะอื้นโอ้โสกี  


        -- เพลงกระแต –-

        ๗. เพลงลาวเชิญผี
นบเอ๋ยนบเกศ                     ไหว้เทเวศทุกทิศา
ทั่วสวรรค์ชั้นฟ้า                   ทั้งเจ้าป่าทุกตำบล
ไหว้พระวรุณราช                  ผู้ประสาทหลั่งสายฝน
หากโอรสจะยืนชนม์              ดำรงรัฐสวัสดี
โปรดเอ๋ยโปรดประทาน           ดลบันดาลด้วยฤทธี
ทรงเมตตาโปรดปรานี            แก่ข้าน้อยและกุมาร
โปรดดลให้ฝนถั่ง                 ตกไหลหลั่งดังท่อธาร
โปรยปรายให้สำราญ             ได้อาบกินสิ้นทุกข์ภัย


        ๘. ลาวพุงขาว
     เมื่อนั้น                      พระวรุณอุทกราชเป็นใหญ่
ประทับเหนือเทพอาสน์อำไพ  ภูวไนยทอดพระเนตรนางพญา
ร่ายรำขอน้ำจากสวรรค์         ทรงธรรม์โปรดประสาทดังปรารถนา
บัดดลน้ำทิพย์ธารา             หลั่งลงพสุธาทันดี    


 
       ๙. เพลงลงสรงลาว
     เมื่อนั้น                       แม่ท้าวคำปินมารศรี
ครั้นฝนถั่งยังพื้นปฐพี            เทวีบังคมเทพไทย
แล้วโอบอุ้มพระราชกุมาร       สรงสนานวารี เย็นใส
สาวสำยวงเอมอิ่มกระหยิ่มใจ   ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปมา    



        ๑๐. เพลงขุนบรม
จะกล่าวถึงเฒ่าแก้วจมูกใหญ่   เจ้าของไร่หนวดโง้งทั้งซ้ายขวา
ขอบตาแดงก่ำดังชาดทา        กายาสักดำไปทั้งตัว
ข้อยเป็นข้าเก่าของเจ้าเมือง     ออกชื่อลือเลื่องทุกแห่งหน
นางพญาเก้าเกื่อนจอมคน       ครองชนเมืองวรนคร
เฒ่าแก้วออกจากราชฐาน        จากภูบาลมาอยู่ใกล้สิงขร
หักร้างถางพงอยู่ดงดอน         หลับนอนกลางไร่ใจสำราญ  



        ๑๑. เพลงลาวลอดค่าย
     บัดนั้น                       สาวคำยวงคว้าดาบกระโจนโผน
ปัดดาบไพล่ไปมิให้โดน         ปากตะโกนร้องท้าว่าไป
ถ้าข้าเป็นหญิงบ่นิ่งขลาด        ใครหวาอวดอำนาจบาตรใหญ่
รังแกแม่อยู่หัวเอาตามใจ        จะฟันให้หัวขาดจงคอยดู    


 
       ๑๒. เพลงลานนา ๑.
     เมื่อนั้น                       แม่ท้าวคำปินโฉมศรี
สองกรช้อนทรวงโศกี            แจ้งคดีทุกสิ่งตามจริงไป
อันองค์เก้าเกื่อนภัสดา           ไปครองเวียงภูคาเป็นใหญ่
ให้ข้าครองวรนครเวียงชัย       ข้ามีครรภ์มาได้ช้านาน
จึงมีศัตรูจู่โจม                    หักโหมนิเวศน์วังสถาน
คนของเราป้องกันประจัญบาน   ไม่อาจต้านต่อสู้หมู่ไพรี
ข้าจึงหลบลี้หนีเข้าป่า            ประสูติโอรสาในไพรศรี
เมื่อมีเหตุนั้นพระสวามี           อยู่ภูคาธานีบ่รู้กัน    



        ๑๓. เสภาลาว
นางพญาคำปินปิ่นบุรี            แสนยินดีปรีเปรมเกษมสันต์
ตรัสตอบขอบใจไปพลัน         คุณท่านนั้นเหลือล้นคณนา
เรานี้ห่อนลืมบุญคุณ             ที่เมตตาการุณแก่ข้า
จะจดจำใส่จิตคิดตรึงตรา        ไปกว่าชีวันจะบรรลัย  



        ๑๔. เพลงลาวต่อนก
ปราบปลื้มใจใดปาน             ต่างชื่นบานสราญรมย์
ได้ชื่นได้ชมแห่ห้อม             ใฝ่เฝ้าล้อมนางพญา
ผ่านมรรคาอารัญ                 อุดมพันธุ์บุปผชาติ
สองฟากดาษดื่นมี               ต่างต่างสีสดสวย
กลิ่นระรวยหอมระรื่น             ชุ่มชื่นจรุงเร้า
ปลดโศกวิโยคเศร้า              สบถ้วนสุนทร  แลนา    



        ๑๕.เพลงฝั่งโขง
     เมื่อนั้น                      โอรสเก้าเกื่อนอดิศร
เจริญชนม์เติบใหญ่ในดงดอน  ได้ครูสอนเพลงอาวุธสุดว่องไว  


       -เพลงลาวรำดาบ-



















































..ขอกราบขอบพระคุณ ท่านอาจารย์สมพล  อนุตตรังกูร  ครูผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านดนตรีไทย
ที่อนุญาตให้นำโน๊ตทำนองดนตรีไทย ซึ่งท่านเป็นผู้ประพันธ์และเขียนด้วยลายมือของท่านเอง
เผยแพร่เป็นวิทยาทานใน www.sookjai.com
โดยวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่า และช่วยกันอนุรักษ์ศิลปการดนตรีไทย
ให้สืบทอดยาวนานคงอยู่คู่วัฒนธรรมไทย มา ณ ที่นี้ ด้วยความเคารพสูงยิ่ง.... 

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 สิงหาคม 2558 14:10:23 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
โน๊ตดนตรีไทยเดิม และบทร้อง : ชุดตับลาว-ตับเจริญศรี (รวม ๑๒ เพลง)
เพลงไทยเดิม
Kimleng 0 33931 กระทู้ล่าสุด 17 พฤษภาคม 2556 18:22:25
โดย Kimleng
โน๊ตดนตรีไทยเดิม และบทร้อง : ชุดตับลาว - ตับพระลอตอนลาแม่ (รวม ๖ เพลง)
เพลงไทยเดิม
Kimleng 0 6965 กระทู้ล่าสุด 02 กรกฎาคม 2556 16:16:20
โดย Kimleng
โน๊ตดนตรีไทยเดิม และบทร้อง : ชุดตับลาว-ตับพระลอเสี่ยงน้ำ (รวม ๙ เพลง)
เพลงไทยเดิม
Kimleng 0 6567 กระทู้ล่าสุด 03 กรกฎาคม 2556 13:15:25
โดย Kimleng
โน๊ตดนตรีไทยเดิม และบทร้อง : ชุดตับลาว - ตับพระลอตอนตามไก่ (รวม ๕ เพลง)
เพลงไทยเดิม
Kimleng 0 11102 กระทู้ล่าสุด 03 กรกฎาคม 2556 14:07:02
โดย Kimleng
โน๊ตดนตรีไทยเดิม และบทร้อง : ชุดตับลาว - ตับพระลอตอนลงสวน (รวม ๖ เพลง)
เพลงไทยเดิม
Kimleng 0 13722 กระทู้ล่าสุด 12 กรกฎาคม 2556 16:58:00
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.632 วินาที กับ 36 คำสั่ง

Google visited last this page 08 พฤษภาคม 2567 01:46:45