"คินสึงิ" (Kintsugi) ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต
จบลงอย่างสวยงามสำหรับละครฟีลกู๊ด อย่าง “มาตาลดา” ที่ได้ทั้งยอดไลค์ ยอดวิว ยอด Engagement และได้ใจคนดูไปอย่างถล่มทลาย ซึ่งนอกจากจะเป็นละครที่ทำให้คนดูอมยิ้มในทุกบท ทุกตอนแล้ว มาตาลดา ยังเปรียบเสมือนละครที่ช่วย Healing หรือเยียวยาบาดแผลในใจของผู้คนอีกนับล้านด้วยไดอะล็อกโดนใจในหลายฉาก หลายซีน
ดูละครเรื่องนี้แล้ว ชวนให้คิดถึง ปรัชญา Kintsugi คินสึงิ ของญี่ปุ่น ที่เชื่อว่าการมีบาดแผลในชีวิต คือ หนทางของการเติบโต
“คินสึงิ (金継ぎ)” คือศาสตร์ของการซ่อมแซมภาชนะที่แตกบิ่นเสียหายของชาวญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมายาวนาน ‘คิน’ แปลว่า ทอง ส่วน ‘สึงิ’ แปลว่า เชื่อม โดยศาสตร์แห่งการซ่อมแซมนี้ก็ไม่ใช่การซ่อมเพื่อทำให้ภาชนะกลับคืนมาสู่สภาพเดิมเฉยๆ เท่านั้น แต่เป็นการซ่อมแซมที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิด วะบิ–ซะบิ (wabi–sabi) ที่พูดถึงการยอมรับตัวตนและความผิดพลาดภายใน ความเรียบง่ายไม่สมบูรณ์แบบ โดยวิธีการซ่อมแซม คือ การนำยางรักมาอุดช่องว่างหรือร่องรอยการแตกของภาชนะ จากนั้นนำผงทองมาทาไว้ที่ผิว จนเกิดเป็นร่องรอยที่สวยงามอันเกิดขึ้นจากการแตกสลายที่เราควบคุมไม่ได้นั่นเอง
เราทุกคนล้วนมีบาดแผลในชีวิต แผลที่บางครั้งมองไม่เห็น แต่ก็ไม่ได้หายไปไหน กลับซ่อนอยู่ในหัวใจของเรา มีเพียงเราเท่านั้นที่รับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ซึ่งในการดำเนินชีวิตของเราทุกคนนั้น ล้วนหลีกหนีความเจ็บปวดทางใจไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็นการต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักหรือสิ่งที่เป็นที่รัก เผชิญกับอาการเจ็บป่วยร้ายแรงหรืออุบัติเหตุที่ส่งผลต่อชีวิต แม้แต่ความเจ็บปวดที่ต่อเนื่องมาจากอดีตอย่างการถูกทำร้ายจิตใจในวัยเด็ก
หลายคนคิดว่าบาดแผลในใจคือตราบาปที่ตอกย้ำความผิดพลาด ล้มเหลวในชีวิต แต่ปรัชญาคินสึงิไม่เชื่อเช่นนั้น หลักคิดแบบคินสึงิ เชื่อว่าบาดแผลในใจคือสิ่งสวยงามของชีวิต เหมือนการซ่อมแซมถ้วยชาที่แตกร้าวด้วยการนำยางรักที่สกัดจากต้นอุรุชิมาผสมกับทอง ก่อนจะนำมาเชื่อมชิ้นส่วนที่แตกร้าวของถ้วยชาเข้าด้วยกัน ให้กลายเป็นถ้วยชาที่มีลวดลายสวยงามกว่าเดิม เป็นการเปลี่ยน “รอยร้าว” ให้เป็น “ลวดลาย”
‘คินสึงิ’ เป็นส่วนหนึ่งในปรัชญาการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่ถูกเขียนเป็นหนังสือ โดย โทมาส นาวาร์โร จิตแพทย์ชาวสเปนที่มีประสบการณ์รักษาผู้บาดเจ็บทางใจมายาวนาน ที่นอกจากจะเป็นการนำเสนอปรัชญาล้ำค่าในการเยียวยารักษาใจจากอดีตแล้ว ยังบอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดที่เป็นตัวอย่างจากชีวิตจริงมากมายของคนที่ถูกทำร้ายจิตใจจนแตกหักยับเยินที่นาวาร์โรได้พบเจอ และใช้แนวคิดคินสึงิในการเยียวยาคนเหล่านั้นจนมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น
เอาเข้าจริงแล้ว จิตใจมนุษย์เองก็ไม่ต่างจากถ้วยชามที่แตกสลาย หากเกิดบาดแผลก็ต้องได้รับการเยียวยาสมานแผลอย่างทะนุถนอม เปลี่ยนความหมายของร่องรอยบาดแผลเหล่านั้นให้กลายเป็นลวดลายที่สวยงาม เป็นเหมือนกับสีสันในชีวิตที่ช่วยให้เราทุกคนเติบโตขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่งและสวยงาม
ยอมรับและให้อภัยคือหัวใจสำคัญของ คินสึงิ
หลักการสำคัญ คือ ทุกคนควรเรียนรู้และยอมรับความผิดพลาดให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งหากไม่เข้าใจ ก็อาจจะมองว่า วิธีคิดแบบนี้ สวนทางกับเทรนด์การใช้ชีวิตแบบปัจจุบันที่เชิดชูแค่ความสำเร็จ แต่ไม่เหลือที่ยืนให้กับคนที่ผิดพลาด กระทั่งตราหน้าพวกเขาว่าเป็นผู้แพ้ของสังคม
แม้ว่าจริงๆ แล้วหนทางในการรักษาเยียวยาบาดแผลในจิตใจ (Trauma) อาจไม่ใช่การพยายามไป ‘ลบ’ รอยแผลนั้น แต่หมายถึงการ ‘ยอมรับ’ บาดแผลนั้น ปล่อยให้มันคงอยู่ ปล่อยให้มันเตือนสติเราด้วยบท เรียนในอดีต เหมือนที่แนวคิด คินสึงิ (Kintsugi) จากญี่ปุ่นบอกเรา
บางครั้งความสมบูรณ์แบบอาจเป็นเพียงโลกในนิยายที่มีอยู่จริงแค่ในจินตนาการ ซึ่งในเมื่อความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริงในโลกของเรา ก็ควรมองความไม่สมบูรณ์แบบให้เป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์คนหนึ่ง
ทุกรอยร้าวคือเอกลักษณ์ ทุกบาดแผลคือบทเรียนชีวิต ที่สอนให้เราโอบรับความไม่สมบูรณ์แบบ ความเจ็บปวดในใจ อาจนำไปสู่ความรู้สึกปล่อยวางและมีความสงบสุขในใจมากขึ้น
ที่สำคัญ ปรัชญาคินสึงิจะช่วยให้เราสามารถซ่อมแซมบาดแผลทางใจที่หนักหนาและค้างคา เพื่อที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น และเข้าใจผู้ที่ยังเจ็บปวดคนอื่นๆมากขึ้นด้วย.
จาก
https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/2721854http://www.tairomdham.net/index.php/topic,16158.0.html