[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 19:26:27



หัวข้อ: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 19:26:27
.

(http://www.easyinsurance4u.com/buddha4u/images/asalahabucha1.gif)
ภาพ : www.easyinsurance4u.com (http://www.easyinsurance4u.com)

บุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
๑. พระอัสสชิเถระ  : อาจารย์พระสารีบุตร

พระอัสสชิเถระ  เป็นบุตรพราหมณ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ บิดาท่านเป็นหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ทั้ง ๘ ที่ได้รับเชิญไปทำนายพระลักษณะ และขนานพระนามเจ้าชายสิทธัตถะ  เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช   โกณฑัญญพราหมณ์ คนเดียวในจำนวน ๘ คน ครั้งนั้น ผู้เชื่อมั่นว่าเจ้าชายจะได้ตรัสรู้แน่นอน จึงชวนท่านอัสสชิพร้อมสหายไปเฝ้าปรนนิบัติ  ขณะเจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ ณ อุรุเวลาเสนานิคม (ปัจจุบันนี้เรียกว่า ถ้ำดงคิริ)

เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าทรงเลิกทุกรกิริยา  ท่านอิสสชิจึงได้ติดตามโกณฑัญญะหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และหลังจากพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จไปแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (ว่าด้วยอริยสัจ ๔) โปรด  ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้บวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์เช่นเดียวกับสหายทั้ง ๔

หลังจากบรรลุพระอรหัตแล้ว พระอัสสชิเถระได้เป็นหนึ่งในจำนวนพระสาวก ๖๐ รูป ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนารุ่นแรก  ท่านได้ไปสั่งสอนประชาชนตามคามนิคมต่างๆ เป็นเวลาประมาณ ๓ เดือน จึงไปยังเมืองราชคฤห์ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงสร้างถวาย

ท่านออกบิณฑบาตในเช้าวันหนึ่งในเมืองราชคฤห์ อิริยาบถอันสงบสำรวม ขณะเดินบิณฑบาตอยู่ ได้ประทับใจมาณพหนุ่มนามว่า อุปติสสะ  ผู้พบเห็นเข้าโดยบังเอิญ   อุปติสสะผู้นี้มีสหายชื่อ โกลิตะ  เป็นศิษย์อาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร หนึ่งในจำนวน “ครูทั้ง ๖” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น

อุปติสสะและโกลิตะ เห็นความไม่มีแก่นสารแห่งคำสอนของสำนักตน จึงตกลงกันเงียบ ๆ ว่าจะแสวงหาแนวทางใหม่ ถ้าใครพบก่อนก็จะบอกให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ

อุปติสสะคิดว่าตนได้พบผู้ที่ควรเป็นอาจารย์ของตนแน่แล้ว จึงติดตามท่านไปห่างๆ  ครั้นได้โอกาส ขณะพระเถระนั่งฉันภัตตาหารอยู่ จึงเข้าไปนมัสการ เรียนถามธรรมะจากท่าน  พระเถระออกตัวว่า ท่านบวชไม่นาน ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้  อุปติสสะกราบเรียนท่านว่าแสดงแต่โดยย่อก็ได้

พระเถระจึงกล่าวคาถาอันแสดงถึง “แก่น” แห่งอริยสัจ ๔ ความว่า
            เย ธมฺม  เหตุปฺปภวา เตสํ       เหตุง  ตถาคโต (อาห)
            เตสญฺ จ โย นิโรโธ จ            เอวํวาที  มหาสมโณ            
            ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ  พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
            และการดับเหตุแห่งธรรมเหล่านี้ พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้

อุปติสสะได้ฟังเพียงแค่นี้ก็ได้ “ดวงตาเห็นธรรม” (เกิดธรรมจักษุ) คือบรรลุโสดาปัตติผล จึงรีบไปบอกแก่โกลิตะผู้สหาย  โกลิตะได้ฟังคาถานั้นก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกัน ทั้งสองจึงไปชวนอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตรไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

เมื่ออาจารย์ปฏิเสธ จึงได้พากันไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ณ พระเวฬุวัน ดังทราบกันทั่วไปแล้ว

พระอัสสชิเถระไม่ปรากฏว่าท่านมีความเชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษ เพราะไม่มีชื่อในทำเนียบเอตทัคคะ

ท่านเป็นพระที่ภาษาชาวบ้านสมัยนี้เรียกกันว่า “สมถะ” คือ ชอบอยู่สงบเพียงลำพัง ท่านมีบุคลิกน่าเลื่อมใส  สำรวมอินทรีย์  “การคู้ การเหยียด ซึ่งมือและเท้า การเหลียวดู เป็นไปอย่างสงบสำรวม น่าเลื่อมใสยิ่ง”  ดังความคิดของอุปติสสะ เมื่อเห็นท่านเป็นครั้งแรก  เพราะเหตุนี้เอง ท่านจึงได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงจากอุปติสสะ ซึ่งต่อมาคือพระสารีบุตรเถระ   เมื่อทราบว่าท่านพำนักอยู่ ณ ทิศใด พระอัครสาวกจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น เพื่อถวายความเคารพ “อาจารย์” ของท่าน

ไม่ปรากฏว่าพระอัสสชิเถระมีอายุพรรษาเท่าใด ท่านนิพพานไปเงียบๆ  โดยไม่มีกล่าวถึงไว้ในคัมภีร์ไหนเลย  ในส่วนที่ไม่กล่าวถึงบ่อยนัก แต่ไม่มีใครลืมได้ ก็คือ คุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่ท่านทำไว้แก่พระพุทธศาสนา โดยได้เป็นผู้ชักชวนให้พระอัครสาวกทั้งสองมาบวช เพื่อเป็นกำลังของพระพุทธศาสนา


ข้อมูล  : บทความพิเศษ โดย อาจารย์ เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://www.igetweb.com/www/watkomafai/private_folder/1223526253.jpg)
ภาพจาก : tamroiphrabuddhabat.com

๒. พระมหาปชาบดีโคตมี  
พระอรหันต์หญิง ผู้ปฏิบัติได้กฎเหล็ก ๘ ประการ

พระนางมหาปชาบดีโคตมี  เป็นราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ เป็นพระกนิษฐภคินีของพระนางสิริมหามายา  พระพุทธมารดา  เป็นพระน้านางของเจ้าชายสิทธัตถะ

เมื่อเจ้าชายประสูติได้ ๗ วัน พระราชมารดาก็ได้สิ้นพระชนม์  พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบภาระให้พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้านาง เลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะประดุจหนึ่งว่าเป็นพระโอรสของพระองค์เอง พระเจ้าสุทโธทนะทรงมีพระโอรสกับพระนางมหาปชาดีโคตมีองค์หนึ่ง พระนามว่า นันทะ และพระธิดาอีกองค์หนึ่ง พระนามว่า รูปนันทา

เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จนิวัตพระนครกบิลพัสดุ์หลังจากตรัสรู้ และหลังจากได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในแคว้นมคธแล้ว  เจ้าชายในศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ อาทิ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายมหานามะและเจ้าชายเทวทัตได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์

พระนางมหาปชาบดีโคตมี มีพระประสงค์จะบวชบ้างแต่ถูกพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ

พระนางมิได้ย่อท้อ ยังคงมีปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องบวชให้ได้

ดังนั้น ในเวลาต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่กุฎาคาร ในป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยเหล้านางสากิยานีจำนวนมาก ปลงผม นุ่งห่มกาสาวพัสตร์ พากันเดินมุ่งหน้าไปยังป่ามหาวัน เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลขออุปสมบท

พระนางมหาปชาบดีโคตมี เจ้งความประสงค์ให้พระอานนท์พุทธอนุชาทราบ และให้นำความกราบทูลพระพุทธองค์ขออุปสมบท  พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต พระอานนท์ทูลอ้อนวอนอย่างไรก็ไม่อนุญาต

ในที่สุดพระอานนท์กราบทูลถามว่าบุรุษกับสตรีมีความสามารถไม่ทัดเทียมกันใช่หรือไม่ สตรีไม่สามารถบรรลุมรรคผลชั้นสูงเฉกเช่นบุรุษใช่หรือไม่

พระพุทธองค์ตรัสว่า ในเรื่องนี้ไม่มีข้อแตกต่างกัน สตรีก็ทัดเทียมกับบุรุษ  พระอานนท์จึงทูลถามว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมพระองค์มิทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีบวช ในเมื่อพระนางก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลชั้นสูงได้  พระพุทธองค์จึงทรงยินยอมตามที่พระอานนท์ทูลขอ

แต่ก็ทรงวางกฎเหล็กกันเรียกว่า “ครุธรรม ๘ ประการ” ไว้ว่า ถ้าปชาบดีโคตมีสามารถปฏิบัติครุธรรม ๘ ประการนี้ได้ พระองค์ก็ทรงยินดีประทานอุปสมบทให้ เมื่อพระนางมหาปชาบดีทราบก็กราบทูลยืนยันว่า ยินดีปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ครุธรรม ๘ ประการนั้น คือ
๑. ภิกษุณีแม้จะมีพรรษา ๑๐๐ ก็ต้องกราบไหว้พระภิกษุซึ่งบวชในวันนั้น
๒. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
๓. ภิกษุณีจงไปถามวันอุโบสถ และฟังโอวาทจากภิกษุ
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษา แล้วต้องปวารณาสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้งสามคือ โดยได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัย
    (ในข้อนี้หมายความว่าต้องยอมให้ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ว่ากล่าวตักเตือนได้ ถ้าได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่าภิกษุณี ทำผิดสิกขาบทนั้นๆ)
๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก (ทำผิดวินัยร้ายแรง) ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย
    (คือ ลงโทษกักบริเวณตัวเอง ตามกรรมวิธีของสงฆ์) เป็นเวลา ๑๕ วัน
๖. ภิกษุณีจะต้องได้รับอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย (คือบวชจากภิกษุณีสงฆ์ครั้งหนึ่ง แล้วให้ภิกษุสงฆ์บวชอีกครั้งหนึ่ง)
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่ากรณีใดๆ
๘. ภิกษุณีไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนภิกษุ แต่ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนภิกษุณีได้

ทั้งนี้ เพราะพระพุทธองค์ไม่มีพุทธประสงค์จะให้มี “พระผู้หญิง”  ทรงเกรงว่าถ้าอยู่ใกล้ชิดกันมากจะมีปัญหาในหมู่ภิกษุและภิกษุณี เพราะ “พรหมจรรย์”   จะต้องเว้นขาดจากความเกี่ยวข้องทางกามารมณ์ พระภิกษุและภิกษุณีที่ยังมีภูมคุ้มกันไม่แข็งแรงพอ ก็อาจจะเผลอไผลละเมิดสิกขาบทได้

พระพุทธองค์ตรัสว่า สำหรับบุรุษสตรีเป็นความเศร้าหมองของพรหมจรรย์  ในทำนองเดียวกันสำหรับสตรีบุรุษก็เป็นอันตรายของพรหมจรรย์เช่นกัน

พระนางมหาปชาบดีโคตมียืนยันว่า จะบวชและปฏิบัติตาม “กฎเหล็ก” นั้น  พระพุทธองค์จึงประทานอุปสมบทให้พระนาง และรังสั่งให้ภิกษุสงฆ์บวชให้สตรีบริวาร เมื่อพระอานนท์กราบทูลถามภายหลังถึงเหตุผลที่ทรงรีรอให้การประทานอุปสมบทแก่สตรี พระพุทธองค์ทรงให้เหตุผลว่า พรหมจรรย์จะอยู่ไม่ได้นาน ถ้าสตรีบวชในพระพุทธศาสนา

หลังจากอุปสมบทแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีรับเอากรรมฐานจากพระพุทธองค์ไปปฏิบัติ ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล แม้ภิกษุณีที่อุปสมบทพร้อมกับพระเถรี ต่างก็ได้บรรลุธรรมในวาระแตกต่างกัน ในเวลาต่อมา

พระนางมหาปชาบดีโคตมีเคยนำผ้าไปถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าปฏิเสธ พระนางเสียใจมาก เมื่อพระอานนท์เข้าไปกราบทูลถาม ทรงแนะให้นำไปถวายพระสงฆ์  ทรงอธิบายว่า การถวายแก่พระสงฆ์มีอานิสงส์มากกว่าถวายแก่พระพุทธเจ้า ในฐานที่เป็นปัจเจกบุคคลเสียอีก  ทรงแสดงทักขิณาวิภังคสูตร ทรงสรรเสริญสังฆทาน (การถวายแก่สงฆ์ส่วนรวม) ว่ามีอานิสงส์มากกว่าปาฏิบุคลิกทาน (การถวายเป็นส่วนตัว)  ที่จริงแล้ว พระพุทธองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพระน้านางมาก เวลาพระนางประชวรพระพุทธองค์ก็เสด็จไปเยี่ยมดูแล ดังหนึ่งเป็นพระพุทธมารดานั่นเอง

พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็มีความเคารพในพระพุทธองค์ยิ่ง ถึงกับกราบทูลว่าในทางรูปกาย พระนางเป็นมารดาผู้ให้น้ำนมเลี้ยงดูพระองค์มา แต่ในทางนามกาย คือในทางธรรม พระพุทธเจ้าทรงเป็นบิดาของพระนาง

พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี ในอัตทัคคะ (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทาง “รัตตัญญู”   คือ ผู้รู้ราตรีนาน  คล้ายๆ จะบอกว่ายกย่อง ให้เป็นผู้อาวุโสกว่าภิกษุอื่นๆ  แต่ความหมายที่แท้จริงน่าจะหมายถึง ความเป็นผู้มีประสบการณ์มากกว่า ไม่ใช่แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน  หากแต่เป็นผู้แก่เฒ่าที่มีประสบการณ์ชีวิตมากมาย อันจะเป็นประโยชน์ในการแนะนำพร่ำสอนแก่คนรุ่นหลัง

พระนางมหาปชาบดีโคตมี นิพพานเมื่ออายุได้ ๑๒๐ ปี

พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระเถรีที่มีปฏิปทา ควรถือเป็นแบบอย่างหลายประการ เช่น
๑. เป็นผู้มีความตั้งใจแน่วแน่  พระนางตั้งใจจะบวชก็ไม่ย่อท้อ แม้ตอนแรกๆ จะได้รับการปฏิเสธ ก็พยายามจนกระทั่งได้รับพุทธานุญาตในที่สุด
๒. มีความอดทนเป็นเลิศ  พระนางมีความอดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก ต้องเดินเท้าเปล่าจากเมืองกบิลพัสดุ์ไปยังเมืองไพศาลี เพื่อทูลขอบวช
    แม้พระพุทธองค์ทรงวาง ครุธรรม ซึ่งยากต่อการปฏิบัติ พระนางก็เต็มใจปฏิบัติด้วยความอดทนยิ่ง
๓. มีความเคารพในธรรมอย่างยิ่ง แม้พระนางจะเป็นพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้า ก็มิได้แสดงตนในฐานะเป็น “แม่” ของพระองค์  
    กลับวางตนเป็นสาวิกาที่ดีคอยฟังพระพุทธโอวาท และปฏิบัติตามที่ทรงแนะนำ




ที่มา   : บทความพิเศษ “อรหันต์หญิง มหาปชาบดีโคตมี ผู้ปฏิบัติได้ซึ่งกฎเหล็ก ๘ ประการ”  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก   หนังสือมติชน สุดสัปดาห์

* ลองนั่งลำดับประวัติของพระเถรีแล้ว “พึง” เอาความดีของพระเถรีออกมาเป็นแบบอย่างแห่งการปฏิบัติ


(http://www.bloggang.com/data/v/vinitsiri/picture/1291557955.jpg)
ภาพจาก : www.bloggang.com (http://www.bloggang.com)  

๓. สามเณรกัณฏกะ  
ผู้เป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ทรงวางกฎเข้มงวด
ไม่ให้สามเณรทั้งหลายประพฤติเอาเยี่ยงอย่าง

ในพระวินัยปิฎก กล่าวว่า เดิมทีเหล่าภิกษุอุปสมบทให้แก่เด็กๆ จำนวน ๑๗ คน เรียกว่า “สัตตรสวัคคีย์”  (พวก ๑๗ คน) เด็กเหล่านี้มีอุบาลีเป็นหัวหน้า เป็น “พระเด็ก” รุ่นแรกก็ว่าได้

พอบวชมาได้ไม่กี่วัน ก็ร้องไห้กระจองอแงหิวข้าวขึ้นมาก็ร้องจะกินข้าว กินขนม อุปัชฌาย์กับอาจารย์ก็ปลอบว่า ยังไม่ถึงเวลาฉัน รอให้รุ่งเช้าก่อนจึงจะฉันได้ ก็ไม่ยอม ร้องทั้งคืน  บ้างก็อึรด ฉี่รดที่นอนเหม็นหึ่งไปหมด

พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียงร้องของ “พระเด็ก” เหล่านี้ จึงตรัสถาม ครั้นทรงทราบความแล้ว จึงตรัสห้ามว่าต่อไปห้ามทำการอุปสมบทแก่เด็กชายอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์

เพราะฉะนั้น เวลา “นาค” จะเข้ามาบวช พระกรรมวาจาจารย์จึงถามว่า “ปริปุณฺณวีสติวสฺโสสิ”  ท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์หรือเปล่า   นาคต้องตอบยืนยันว่า “อาม ภนฺเต” ครบขอรับ  (อ่าน “อามะ พันเต”)  ท่านจึงจะอนุญาตให้บวช

อีกคราวหนึ่ง ตระกูลหนึ่งป่วยด้วยอหิวาตกโรคตายกันเกือบหมด  เหลือแต่พ่อกับลูกชายตัวเล็กๆ พ่อกับลูกชายจึงบวช  เมื่อไปบิณฑบาตด้วยกัน เวลาพ่อได้อาหาร ลูกชายก็ร้องขอจากพ่อ  ชาวบ้านเห็นแล้วก็ติเตียนว่า พระรูปนี้พาเด็กมาบิณฑบาตสงสัยเด็กคนนี้คงเป็นลูกนางภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งเป็นแน่  พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงทรงบัญญัติห้ามว่า ต่อไปอย่าให้เด็กบวชพระ

เมื่อเด็กอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ถูกห้ามมิให้บวชเป็นพระภิกษุ พระสารีบุตรจึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้า (เมื่อคราวที่ตรัสสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร) ว่า “จะให้บวชด้วยวิธีไหนพระเจ้าข้า”  พระองค์จึงตรัสว่า “บวชด้วยการถึงสรณคมน์ก็แล้วกัน”  ราหุลกุมารผู้มีพระชนมายุ ๗ พรรษาจึงได้บวชเป็นสามเณรรูปแรก
เมื่อสามเณรรูปแรกอายุ ๗ ขวบ  ก็เลยถือเป็นประเพณีว่า ผู้จะบวชเณรควรอายุตั้งแต่ ๗ ขวบขึ้นไป

ในพระวินัยปิฎกอีกนั่นแหละ เล่าต่อว่า คนในตระกูลอุปัฏฐากพระอานนท์ ตายหมด  เหลือแต่เด็กชายเล็กๆ ๒ คน พระอานนท์มีความสงสารก็คิดจะให้เด็กทั้งสองบวชสามเณร เข้าใจว่าอายุคงไม่ครบ ๗ ขวบ เหมือนสามเณรราหุล  พระอานนท์จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความประสงค์ของตน พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เด็กทั้งสองนั้นโตพอไล่กาได้ไหมอานนท์

“ ได้ พระพุทธเจ้าข้า”

“ถ้าเช่นนั้น เธอให้บรรพชาเป็นสามเณรได้”

อรรถกถาอธิบายว่า เด็กอายุเท่าไรไม่สำคัญ “เด็กใดถือก้อนดินด้วยมือซ้าย นั่งแล้ว อาจเพื่อจะไล่กาทั้งหลาย ซึ่งพากันมาให้บินหนีไป แล้วบริโภคอาหารซึ่งวางไว้ข้างหน้าได้ เด็กนี้จัดว่าผู้ไล่กาไป จะให้เด็กนั้นบวชก็ควร”  สรุปก็คือ เด็กพอรู้เดียงสา สามารถไล่กา ที่จะมาแย่งอาหารจากจานข้าวได้ ก็บวชเป็นเณรได้

ในคัมภีร์ บันทึกพฤติกรรมของสามเณรกัณฏกะ (สามเณรหนาม) ไว้เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์  ดังนี้

สามเณรหนาม มีประวัติเป็นมาอย่างไรไม่แจ้งชัดรู้แต่ว่าเป็นศิษย์พระอุปนนท์ แห่งศากยวงศ์

ท่านอุปนนท์ เป็นพระ “ดัง” (ในทางไม่ค่อยดี) รูปหนึ่ง  ท่านเป็นพระนักเทศน์ รูปงาม ชอบสอนให้ลูกศิษย์ออกไปนั่งกรรมฐาน บ้างเดินจงกรมบ้างตามลานวัด ตนเองก็เข้ากุฏิปิดประตูนอน

พอเหล่าศิษย์บำเพ็ญเพียรจนเหนื่อยแล้ว คิดจะกลับมาเอนหลังสักหน่อย ท่านอุปนนท์ก็ตื่นขึ้นมาพอดี ออกมาไล่ให้ไปจงกรมหรือนั่งสมาธิต่อ จนพระลูกศิษย์ออกปากว่า อาจารย์เข้มงวดเหลือเกิน  

บังเอิญศิษย์รูปหนึ่งแอบรู้พฤติกรรมของอาจารย์เข้า จึงบอกต่อๆ กันไป จึงได้รู้ทั่วกันว่า อาจารย์ของพวกตนเป็นประเภท “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”  

เรื่องรู้ไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสสอนว่า
            ควรปฏิบัติตนให้ดีก่อน  แล้วค่อยสอนคนอื่น
            ถ้าทำได้อย่างนี้  บัณฑิตจึงจะไม่มัวหมอง

กัณฐกะ สามเณรอยู่ใกล้ชิดพระอุปนนท์ ก็คงถอดแบบจากอาจารย์  สามเณรกัณฏกะจึงไม่ค่อยสำรวมสมเป็นสมณะที่ดี ปากคอเราะร้าย พบเจอนางภิกษุณี วันดีคืนดีก็ทำอนาจารกับภิกษุณีนามว่า กัณฏกี จนมีเรื่องฉาว

พระบาลีใช้คำว่า ภิกฺขุนึ  ทูเสสิ = ประทุษร้ายภิกษุณี  อนาจารํ  อาจริสฺสติ  = ประพฤติอนาจาร

ความประพฤติของสามเณรกัณฏกะ ศิษย์พระอุปนนท์ เป็นที่รับรู้กันทั่วไป  จนพระพุทธเจ้าทรงวางบทบัญญัติไว้เพื่อกวดขันสามเณรต่อไป คือ

๑. ให้ทำทัณฑกรรม (คาดโทษ) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๕ ประการ คือ
     ๑) ความพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
     ๒) พยายามเพื่อความพินาศแห่งภิกษุทั้งหลาย
     ๓) พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
     ๔) ด่า บริภาษ ภิกษุทั้งหลาย
     ๕) ยุยงให้ภิกษุต่อภิกษุแตกกัน

๒. ให้นาสนะ (ให้ฉิบหาย, คือไล่ศึก) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๑๐ ประการ คือ
    ๑) ทำลายสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป (ฆ่าสัตว์)
    ๒) ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้ (ลักทรัพย์)
    ๓) กระทำการอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ (เสพกาม)
    ๔) กล่าวเท็จ
    ๕) ดื่มสุราเมรัย
    ๖) กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
    ๗) กล่าวติเตียนพระธรรม
    ๘) กล่าวติเตียนพระสงฆ์
    ๙) มีความเห็นผิด
   ๑๐) ประทุษร้ายนางภิกษุณี

ความซุกซนของสามเณรกัณฏกะ มองในแง่บวกก็เป็นผลดีแก่พระพุทธศาสนา คือ เป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ทรงวางกฎเข้มงวดไม่ให้สามเณรทั้งหลายเอาเยี่ยงอย่างต่อไป

พระพุทธบัญญัติเรื่องนี้เรียกว่า “สามเณรสิกขา” = สิ่งที่สามเณรทั้งหลายพึงสำเหนียกปฏิบัติ   ซึ่งสามเณรทั้งหลายในสยามประเทศสวดเตือนสติตัวเองทุกวัน หลังทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นจนกระทั่งปัจจุบันนี้


ข้อมูล : บทความพิเศษ  สามเณรกัณฏกะ   หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/normal_8.%20THE%20GREAT%20LEADER%20OF%201,000%20ASCETICS.jpg)
ภาพจาก : www.dhammajak.net (http://www.dhammajak.net)

๔. พระกุมารกัสสปเถระ  
พระธรรมกถึก ที่สามารถเทศนากลับใจคน

พระกุมารกัสสป เป็นพระเถระอีกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการเทศนากลับใจคนที่มีมิจฉาทิฐิให้เข้าใจถูกต้อง  ท่านรูปนี้มีชีวิตค่อนข้างพิสดารก่อนที่จะมาบวช

ท่านเป็นบุตรนางภิกษุณี  นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาของท่านตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัวมาก่อนบวช  บวชมาแล้ว เมื่อครรภ์โตขึ้นปรากฏต่อสายตาประชาชน  พระเทวทัตผู้ดูแลภิกษุณีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีมารดาของท่านรวมอยู่ด้วย ได้ตัดสินใจให้ท่านลาสิกขาโดยไม่สอบถามรายละเอียด

นางภิกษุณีเชื่อมั่นว่าตนบริสุทธิ์ จึงอุทธรณ์เรื่องต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอุบาลีเป็นประธานพิจารณา  ท่านพระอุบาลีจึงขอแรงนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี ช่วยคลี่คลายคดี

นางวิสาชา จึงได้ตรวจสอบอย่างละเอียด  และตรวจดูความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มีมติว่านางตั้งครรภ์ก่อนบวช นำความกราบเรียนพระเถระ พระเถระอาศัยข้อมูลนั้นเป็นหลักฐานประกอบคำวินิจฉัย ตัดสินให้นางภิกษุณีบริสุทธิ์

เมื่อนางคลอดบุตรมาก็เลี้ยงดูในวัดนั้นเอง  พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปพบเข้า จึงขอไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม

กุมารน้อย จงมีชื่อว่า กุมารกัสสปะ   (กัสสปะ ผู้เป็นพระกุมารในพระราชวัง)  เมื่อเติบโตมารู้เบื้องหลังชีวิตของตนเอง จึงสลดใจไปบวชเป็นสามเณร ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์

ข้างฝ่ายภิกษุณีมารดา มัวแต่คิดถึงลูก การปฏิบัติธรรมจึงมิได้ก้าวหน้าแม้แต่น้อย วันหนึ่งเห็นสามเณรบุตรชายขณะออกบิณฑบาต จึงรี่เข้าไปหา ร้องเรียกลูก

สามเณรอรหันต์คิดว่า ถ้าพูดดีๆ กับแม่ แม่ก็จะไม่สามารถตัดความรักฉันแม่กับลูกได้ การปฏิบัติธรรมก็ไม่ก้าวหน้า จึงพูดอย่างเย็นชาว่า “อะไร จนป่านนี้แล้ว แค่ความรักระหว่างแม่กับลูกยังตัดไม่ได้ จะทำอะไรได้สำเร็จ” ว่าแล้วก็เดินจากไป

ทิ้งให้ภิกษุณีผู้มารดาเป็นลมสลบ ณ ตรงนั้น

ฟื้นขึ้นมาก็ “ตัดใจ” ว่า เมื่อลูกไม่รักเราแล้ว เราจะมัวคิดถึงเขาทำไม กลับสำนักภิกษุณีคร่ำเคร่งปฏิบัติภาวนา ไม่ช้าไม่นานก็บรรลุพระอรหัต

เป็นอันว่าสามเณรหนุ่มได้ช่วยพามารดาของท่านลุถึงฝั่งแล้ว

เมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านได้ฟังพระโอวาทของพระพุทธองค์เรื่องปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ (วันมิกสูตร) ได้บรรลุพระอรหัต

เข้าใจว่าในช่วงท้ายๆ พุทธกาล  เพราะคัมภีร์บันทึกว่า หลังพุทธปรินิพพานไม่นานนัก มีเจ้านครเสตัพยะ  นามว่า ปายาสิ มีความเห็นผิดอันเป็นภัยร้ายกาจต่อพระศาสนาและระบบศีลธรรมจรรยา คือ เธอเชื่อว่า นรกสวรรค์ไม่มีจริง บุญบาปไม่มี ชาติก่อนชาติหน้าไม่มี

ปายาสิเธอเป็นนักพูด มีวาทะคารมคมคาย จึงสามารถหักล้างสมณพราหมณ์ได้เป็นจำนวนมาก  พระเถระอรหันต์หลายต่อหลายรูป ท่านก็หมดกิเลสเท่านั้น ไม่มีปฏิภาณปัญญาจะไปโต้ตอบกับเธอได้ จึงถอยห่างออกไป

พระกุมารกัสสปะจึงไปโต้วาทะกับปายาสิราชันย์ ใช้เหตุใช้ผลอธิบายประกอบอุปมาอุปไมย ในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ของปายาสิ

ในที่สุดปายาสิยอมจำนน ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา (ดูรายละเอียดใน ปายาสิราชัญญสูตร – ที.ม. ๑๐/๑๐๓-๑๓๐)  

เจ้าปายาสิเชื่อว่านรกไม่มี สวรรค์ไม่มี โดยทดสอบจากชีวิตจริงของคน คือสั่งนักโทษประหาร (ที่แน่ใจว่าตายแล้วต้องตกนรกแน่ เพราะทำกรรมชั่วไว้มากมาย ดังสมณพราหมณ์ทั้งหลายกล่าวสอนกัน) ว่า ถ้าตายไปตกนรกจริงก็ให้กลับมาบอก นักโทษคนนั้นรับปากแล้วก็ไม่เห็นกลับมาบอก จากนั้นก็ทดลองเช่นเดียวกันกับอุบาสกผู้มีศีลธรรมว่า หลังจากไปเกิดในสวรรค์แล้วให้กลับมาบอก ก็ไม่กลับมาบอกเช่นเดียวกัน

โดยวิธีนี้เจ้าปายาสิจึงสรุปว่า นรกไม่มี สวรรค์ก็ไม่มี

พระเถระอธิบายโดยยกอุปมาอุปไมยว่า เพียงแค่นักโทษประหารจะขออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อไปสั่งเสียลูกเมีย แล้วจะกลับมาให้ประหารทางการก็ไม่อนุญาต นักโทษประหารมีมีอิสระเสรีภาพจะไปไหนได้ตามชอบใจ  สัตว์นรกยิ่งกว่านั้น หาโอกาสจะไปไหนไม่ได้ ถึงเขาไม่ลืมคำมั่นสัญญา เขาก็ไม่สามารถกลับมาบอกได้ฉันใด ฉันนั้น

ครั้นถูกแย้งว่า สัตว์นรกไม่มีอิสระก็พอฟังขึ้น แต่คนที่ตายไปเกิดบนสวรรค์มีอิสรเสรีเต็มที่ แต่ทำไมยังไม่มาบอก  

เหตุผลที่พระเถระยกมากล่าวในข้อนี้ คือ กำหนดระยะเวลาบนสรวงสวรรค์นั้นช้ากว่าในโลกมนุษย์ (ว่ากันถึงขนาดว่า วันหนึ่งคืนหนึ่งของเทวดาเท่ากับหนึ่งร้อยปีของโลกมนุษย์) ถึงแม้เขาไม่ลืมคำมั่นสัญญา เพียงคิดว่า รอสักครู่ค่อยกลับไปบอก “สักครู่” ของเทวดา ก็เป็นสิบเป็นร้อยปี  

พระกุมารกัสสปะตอบคำถาม หักล้างความคิดเป็นของเจ้าปายาสิ ท่านใช้หลายวิธี เช่น อธิบายตรงๆ ยกอุปมาอุปไมย หรือใช้วิธีอนุมาน  จึงสามารถทำให้นักปราชญ์อย่างเจ้าปายาสิยอมรับและถวายตนเป็นอุบาสกอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในเวลาต่อไป

นัยว่าท่านพระกุมารกัสสปะ ได้ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล

ท่านดำรงชีวิตจนถึงอายุขัยแล้วนิพพาน


ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระกุมารกัสสปเถระ : พระธรรมกถึก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRUngtHnlr4Oz5ekHOt1-dsIO-DmUao5z4g3hEp6UqucAiRgyqx)
ภาพจาก : tamroiphrabuddhabat.com



หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 15:08:58
.

(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRUngtHnlr4Oz5ekHOt1-dsIO-DmUao5z4g3hEp6UqucAiRgyqx)
ภาพจาก : tamroiphrabuddhabat.com

๕. พระอัญญาโกณฑัญญเถระ  
พระผู้เฒ่าอดีตโหราจารย์

พระอัญญาโกณฑัญญะ เดิมชื่อ โกณฑัญญะ เป็นบุตรของพราหมณ์ตระกูลโทณวัตถุ เมืองกบิลพัสดุ์ เรียนจบไตรเพท  เชี่ยวชาญในพยากรณ์ศาสตร์จึงได้รับเชิญไปทำนายพระลักษณะ และขนานพระนามเจ้าชายสิทธัตถะด้วยผู้หนึ่ง

ในจำนวนพราหมณ์ทั้งหมด ๘ คนนั้น ท่านโกณฑัญญะหนุ่มแน่นกว่าพราหมณ์ทั้งหมด  ในขณะที่พราหมณ์อื่นๆ ทำนายเป็นสองคติว่า ถ้าเจ้าชายอยู่ครองเพศฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก

พราหมณ์หนุ่มโกณฑัญญะกลับยืนยันว่า ถ้าเจ้าชายอยู่ครองเพศฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก

พราหมณ์หนุ่มโกณฑัญญะกลับยืนยันว่า เจ้าชายจะเสด็จออกผนวช และจะได้เป็นศาสดาเอกแน่นอน

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช  โกณฑัญญะจึงชวนบรรดาลูกๆ ของพราหมณ์ทั้ง ๗ ได้ ๔ คน ตามไปบวชคอยเฝ้าปรนนิบัติพระองค์

คัมภีร์ไม่บอกเวลาแน่นอนว่าโกณฑัญญะและสหายตามไปทันพระพุทธองค์ในช่วงไหน พอถึงตอนทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ก็มีกล่าวถึงพราหมณ์ทั้ง ๕ ในฐานะเป็นศิษย์ใกล้ชิดแล้ว

สมัยนั้นเชื่อกันว่า การจะบรรลุจุดหมายปลายทางของชีวิตได้ ต้องดำเนิน ๒ ทาง คือ ทางหนึ่งผ่านความสุขทางเนื้อหนังมังสา อันเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค  อีกทางหนึ่งผ่านการทรมานตนเองด้วยตบะวิธีต่างๆ อันเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

พระพุทธเจ้าทรงผ่านทางแรกมาตั้งแต่อยู่ในพระราชวังแล้ว ทรงเห็นว่าทางนั้นไม่ทำให้บรรลุธรรมได้ มีแต่ทำให้ “จม” อยู่ในห้วงความทุกข์ จึงเสด็จออกผนวชแล้วไปบำเพ็ญทางจิต (ระบบโยคะ) อยู่กับดาบสทั้งสองทางนี้  พระองค์ทรงเห็นว่าดาบสทั้งสองนำไปไม่ถึงจุดหมาย จึงลองมาอีกทางหนึ่ง คือ การทรมานตนเอง  ทรมานจนถึงขั้นสุดท้าย คือ อดอาหาร

ในที่สุดก็ทรงเห็นว่าทางนี้ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน จึงย้อนกลับมาหาระบบโยคะใหม่ หลังจากทรงได้พระสติว่า “ทุกอย่างต้องพอดีจึงจะดี”  คราวนี้ไม่ก้าวเลยไปจนถึงสมาบัติ ๘ หากเข้าสมาธิจนได้ฌาน ๔ แล้ว ก็ทรงใช้ฌาน ๔ นั้น เป็นบาทแห่งวิปัสสนา เมื่อทรงหันไปทางวิปัสสนา ในไม่ช้าไม่นานก็ได้ตรัสรู้

ขณะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ พราหมณ์ทั้งห้า อันได้นามเรียกรวมว่า “ปัญวัคคีย์” ก็หมายใจว่าพระองค์คงจะได้สำเร็จโพธิญาณ  ครั้นทรงเลิกทุกรกิริยาหันมาเสวยพระกระยาหารก็ผิดหวังโดยเฉพาะโกณฑัญญะผู้เคยเชื่อมั่นมาตั้งแต่แรก ถึงกับประณามว่า  พระองค์ทรง “คลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก” คนไม่เอาไหนแล้ว

เมื่อพราหมณ์ทั้งห้าจากไป กลายเป็นผลดีแก่พระองค์ เพราะมีแต่ความสงบสงัด สะดวกแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต ในไม่ช้าก็ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  หลังตรัสรู้แล้วก็ทรงรำลึกถึงอุปการคุณของปัญจวัคคีย์ที่เคยรับใช้พระองค์มา จึงเสด็จมุ่งตรงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (ปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ) เพื่อแสดงธรรมโปรด

ทันทีที่เสด็จไปถึง ปัญจวัคคีย์อันมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า พูดกันว่า “มาแล้ว ท่านผู้คลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมาก คงไม่มีใครดูแล จึงบากหน้ามาหาเรา เราอย่าต้อนรับ ปูแต่อาสนะไว้ อยากนั่งก็นั่งไม่อยากนั่งก็ตามใจ”

ครั้นพระองค์เสด็จมาถึงจริง ต่างก็ลืมตัว ลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ แต่ปากยังแข็งอยู่ เรียกพระองค์ว่า “อาวุโส โคดม”  พระองค์ตรัสปรามว่า “อย่าเรียกเราเช่นนั้น เราได้ตรัสรู้แล้ว นั่งลง จะแสดงธรรมให้ฟัง”  ท่านทั้งห้าไม่เชื่อ ขนาดอดข้าวแทบตายยังไม่บรรลุ นี่กินข้าวจนอิ่มอ้วนแล้ว จะมีทางบรรลุได้อย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสให้รำลึกว่า ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมา เคยมีครั้งไหนบ้างไหมที่พระองค์ตรัสคำนี้ ทำให้ปัญจวัคคีย์ชักจะเชื่อแล้วว่าน่าจะเป็นความจริง จึงนั่งลงฟังธรรม

พระพุทธองค์ตรัสแสดงอริยสัจ ๔ ให้ปัญจวัคคีย์ฟัง เนื้อหาเริ่มด้วยตรัสถึงทางสองทางที่ไม่ควรดำเนิน คือ การหมกมุ่นในกาม กับการทรมานตนเอง  แล้วตรัสถึงทางที่ควรดำเนิน คือ มัชฌิมาปฏิปทา (คืออริยมรรคมีองค์แปด) เสร็จแล้วก็ทรงแสดงอริยสัจ ๔ ครบวงจรโดยละเอียด

สิ้นสุดพระธรรมเทศนา โกณธัญญะได้  “ดวงตาเห็นธรรม” คือ รู้เห็นตามเป็นจริงว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับเป็นธรรมดา" พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ  โกณฺฑญฺโญ  อญฺญาสิ  วต  โภ  โกณฺฑญฺโญ”   แปลว่า ท่านผู้เจริญ  โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ เพราะตรัสดังนี้ คำว่า “อัญญา”  จึงกลายมาเป็นชื่อหน้าของท่าน หลังจากท่านได้บวชแล้ว

โกณฑัญญะทูลขอบวช  พระองค์ทรงบวชให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า “เอหิภิกขุ อุปสัมปทา”  เพราะตรัสสั้นๆ เพียงว่า “จงมาเป็นภิกษุด้วยกันเถิด” วิธีบวชแบบนี้พระพุทธองค์เท่านั้นทรงใช้ และใช้มาระยะหนึ่งก็ทรงเลิก จากนั้นประทานให้การบวชเป็นหน้าที่ของภิกษุสงฆ์ทำกันเอง

ทรงใช้วิธีเอหิภิกขุครั้งสุดท้าย เมื่อครั้งบวชให้สุภัททปริพาชกก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

ท่านอัญญาโกณฑัญญะกว่าจะได้บวชก็อายุมากแล้ว พระพุทธองค์ทรงยกย่องให้เอตทัคคะ (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทาง “รัตตัญญู”   (แปลกันว่า ผู้รู้ราตรีนาน)  หมายถึงผู้มีประสบการณ์มาก อยู่มานาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก บางท่านว่า รัตตัญญูนี้เป็นตำแหน่งโหร ซึ่งย่อมาจาก “อโหรัตตัญญู” (แปลว่า ผู้รู้กลางวันและกลางคืน หมายถึง โหราจารย์) ว่าอย่างนั้น

ท่านทูลลาพระพุทธองค์ไปจำพรรษาอยู่ริมฝั่งน้ำมนทากินีในป่าฉัททันต์ เชิงเขาหิมพานต์ ตลอดสิบสองปี นานๆ จะมาเฝ้าพระพุทธองค์ ท่านมีหลานชายผู้ฉลาดเฉียบแหลมคนหนึ่ง นามปุณณะ บุตรนางมันตานีพราหมณี น้องสาวท่าน ท่านเห็นว่าจะเป็นกำลังแห่งพระศาสนาได้อย่างดี จึงไปนำมาบวชเป็นภิกษุ

พระปุณณมันตานีบุตร ภายหลังได้เป็นพระธรรมกถึกชั้นยอด ทำงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาร่วมกับพระสาวกอื่นๆ อาทิ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งจะเล่าให้ฟังภายหลัง

พระอัญญาโกณฑัญญะมีอายุยืนยาวถึง ๙๐ ปี จึงนิพพานที่เชิงเขาหิมพานต์อันเป็นสถานที่ที่ท่านชอบอยู่ประจำนั้นแล

นัยว่าพระอนุรุทธเถระเป็นประธานในการจัดการเผาศพท่านแล้วนำอัฐิท่านไปถวายพระพุทธองค์ที่พระเวฬุวัน พระพุทธองค์ทรงให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ ให้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนต่อไป


ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระอัญญาโกณฑัญญะ : พระผู้เฒ่าอดีตโหราจารย์ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://t1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQhFMXyXpPDAWgIQwP37DJyG_MsilghjruJaJJFVLj5gBQ_so1FvA)
ภาพจาก : www.dhammajak.net (http://www.dhammajak.net)

๖. พระสารีบุตรเถระ  
อัครสาวกเบื้องขวา
ผู้กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม

พระสารีบุตร เป็นชาวเมืองราชคฤห์โดยกำเนิด  มารดาท่าน คือนางสารีพราหมณี  บิดาท่านนามว่า วังคันตพราหมณ์  เป็นนายบ้านอุปติสสะคาม

อุปติสสะมีสหายรักคนหนึ่งนาม โกลิตะ  เป็นบุตรแห่งบ้านโกลิตะคาม ทั้งสองเป็นเพื่อนเที่ยว เพื่อนกิน หาความสำราญจากการดูการละเล่น มหรสพต่างๆ ตามประสาลูกผู้มีอันจะกิน

วันหนึ่ง หลังจากไปดูมหรสพที่เล่นอยู่บนยอดเขา เกิดความเบื่อหน่าย เห็นว่าชีวิตนี้ไร้แก่นสาร จึงชวนกันไปสมัครเป็นศิษย์ของอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร

สัญชัยเวลัฏฐบุตร เป็นเจ้าสำนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงหนึ่งในบรรดา “ครูทั้ง ๖” คือ ปุรณกัสสปะ, นิครนถนาฏบุตร, มักขลิโคสาละ, อชิตเกสกัมพล, ปกุธกัจจายนะ, สัญชัยเวลัฏฐบุตร

ท่านได้ศึกษาอยู่กับอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตรอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ก็จบความรู้ของอาจารย์  อาจารย์ชักชวนให้อยู่ช่วยสอนศิษย์รุ่นหลังๆ ต่อไป  แต่ท่านกับสหายมีความรู้สึกว่า วิทยาการที่ได้รับถ่ายทอดจากอาจารย์ ยังไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดที่นำพาให้พ้นจากความทุกข์ได้ จึงตกลงกันเงียบๆ กับโกลิตะผู้สหายว่า จะแยกย้ายกันไปแสวงหาอาจารย์ที่สอนแนวทางที่ดีกว่านี้  และให้สัญญากันว่าใครพบก่อนให้บอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง

อุปติสสะได้พบพระอัสสชิเถระ น้องสุดท้องแห่งปัญจวัคคีย์ ขณะท่านกำลังออก “โปรดสัตว์” อยู่  เห็นอิริยาบถอันสำรวมน่าเลื่อมใส จึงคิดว่าท่านผู้นี้คงจะมีอุตริมนุสสธรรม (ธรรมอันยิ่งที่มนุษย์ทั่วไปไม่มี)  จึงเข้าไปนมัสการขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง  

พระเถระออกตัวว่า ท่านเป็นพระนวกะอยู่ แสดงธรรมโดยพิสดารไม่ได้ ท่านจึงขอให้พระเถระแสดงแต่พอสังเขป พระเถระได้แสดงคาถาอันเป็น “แก่น” แห่งอริยสัจ ๔  ว่า

           เย  ธมฺมา  เหตุปฺปภวา         เตสํ  เหตุง  ตถาคโต (อาห)
          เตสัญฺจ  โย  นิโรโธ  จ        เอวํวาที  มหาสมโณ

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น  และการดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้

อุปติสสะได้ฟังคาถานั้นก็ได้ “ดวงตาเห็นธรรม” คือ บรรลุโสดาปัตติผล ท่านได้รีบไปกล่าวคาถานั้นแก่โกลิตะ  โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน ทั้งสองจึงไปชวนอาจารย์ให้ไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

เมื่ออาจารย์ปฏิเสธ จึงพากันไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ที่พระเชตวัน  หลังจากบวชได้ ๑๔ วัน  อุปติสสะ ซึ่งบัดนี้เพื่อนพรหมจารีเรียกขานในนาม “สารีบุตร” ก็ได้บรรลุพระอรหัต (ช้ากว่าโกลิตะ หรือ พระโมคคัลลานะ ๗ วัน)

การบรรลุธรรมของท่านค่อนข้างประหลาด คือ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เรื่อง เวทนาปริคคหสูตร โปรดทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน  พระสารีบุตรอยู่ ณ ถ้ำสูกรชาตา (ถ้ำหมูขุด หรือ ถ้ำคางหมู) เชิงเขาคิชฌกูฏ  ขณะนั้น พระสารีบุตรถวายงานพัดพระพุทธองค์อยู่ กำหนดตามกระแสพระธรรมเทศนาไปด้วย พอทรงแสดงธรรมจบ ท่านพระสารีบุตรก็ได้บรรลุพระอรหัต ในขณะที่ปริพาชกหลานท่านถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะเท่านั้น

การบรรลุธรรมของท่าน เปรียบเสมือนการบริโภคอาหารที่จัดเตรียมไว้เพื่อผู้อื่น ฉะนั้น  และการบรรลุธรรมมีขึ้นในวันเดือนมาฆะพอดี

ณ ราตรีวันนั้น ได้มีการประชุมใหญ่อันเรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” (การประชุมใหญ่อันประกอบด้วยองค์) ณ พระเวฬุวัน พระพุทธองค์ได้ประทานโอวาทปาติโมกข์ (พระโอวาทอันเป็นหลักสำคัญ) แก่ที่ประชุม พระอรหันต์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป

โอวาทปาติโมกข์นั้นมีทั้งหมด ๑๓ หัวข้อ  สรุปลงเป็น ๔ ประเด็น คือ
๑. ว่าด้วยอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา (พระนิพพาน)
๒. ว่าด้วยหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนา (ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส)
๓. ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา (รู้ประมาณในโภชนะ  อยู่อย่างสงัด  เคร่งครัดในระเบียบวินัย  ฝึกจิตอยู่เสมอ)
๔. ว่าด้วยเทคนิควิธีเผยแผ่พระพุทธศาสนา (ไม่ว่าร้ายเขา  ไม่เบียดเบียนเขา  มีความอดทน  ใช้สันติวิธีในการประกาศพระพุทธศาสนา)

โอวาทปาติโมกข์นี้ ปราชญ์ไทยโบราณได้คัดเอาหลักการทั่วไป “ไม่ทำชั่ว  ทำดี  ทำใจให้ผ่องใส” มาเป็น “หัวใจ”  พระพุทธศาสนา  

เหตุการณ์วันที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุพระอรหัต ได้กลายมาเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา   โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงบัญญัติขึ้นและถือปฏิบัติมาจนบัดนี้

พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม  สามารถแสดงธรรมหักล้างความคิดเห็นผิด และทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจได้แจ่มแจ้ง  เป็นผู้มีปัญญามากที่สุด รองจากพระพุทธองค์ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจากพระพุทธองค์เป็น “อัครสาวกเบื้องขวา” เลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญาคู่กับพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายผู้เลิศในทางมีฤทธิ์

คุณธรรมที่เด่นของท่านพระสารีบุตร นอกจากความเป็นผู้มีปัญญามากแล้ว ท่านยังมีความกตัญญูกตเวทิตาธรรมเป็นเลิศอีกด้วย  ท่านถือว่าพระอัสสชิเป็นอาจารย์รูปแรกที่นำท่านเข้ามาสู่ร่มเงาพระพุทธศาสนา ท่านจึงมีความเคารพในพระอาจารย์ของท่านมาก เวลาท่านจะนอน ถ้ารู้ว่าอาจารย์ของท่านอยู่ ณ ทิศใด ท่านจะหันศีรษะไปทางทิศนั้น

ภิกษุทั้งหลายที่ไม่ทราบความจริง พากันตำหนิท่านว่าเป็นถึงอัครสาวก ยังไหว้ทิศอยู่เหมือนสมัยเป็นคฤหัสถ์

ครั้งหนึ่ง มีพราหมณ์เฒ่าคนหนึ่ง นาม ราธะ อยากบวช แต่ไม่มีใครรับรอง  พระสงฆ์จึงไม่สามารถบวชให้ได้ พระพุทธเจ้าตรัสถามในที่ประชุมสงฆ์ว่า มีใครรู้จักพราหมณ์คนนี้ไหม  พระสารีบุตรกราบทูลว่า จำได้ว่าพราหมณ์คนนี้เคยใส่บาตรท่านทัพพีหนึ่ง ท่านรู้จัก จึงขอรับรอง  พระพุทธองค์ทรงมอบภาระให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์ บวชแก่ราธะพราหมณ์

หลังจากบวชแล้ว พระราธะได้เป็นสัทธิวิหาริกผู้ว่าง่ายรูปหนึ่ง นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งแสดงถึงความเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตา  แม้อุปการะเล็กน้อยท่านก็ยังเห็นความสำคัญ น่าเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นหลัง

พระสารีบุตร ปรารถนาอยากให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน อำนวยประโยชน์แก่มหาชนอย่างกว้างขวาง จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม  ซึ่งพระองค์ก็ทรงทำเมื่อถึงเวลาสมควรในกาลต่อมา  ท่านได้นำคำสอนของพระพุทธองค์จัดหมวดหมู่ตั้งแต่หมวดหนึ่ง หมวดสอง หมวดสาม ... จนถึงหมวดสิบ และหมวดเกินสิบ  ดังปรากฏอยู่ใน สังคีติสูตร  และ ทสุตตรสูตร

ในเวลาต่อมา ท่านได้แสดงสังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ท่ามกลางภิกษุสงฆ์จำนวนมาก และได้รับคำชมเชยจากพระพุทธองค์อีกด้วย

พระสารีบุตร จึงเป็นพระเถระรูปแรกที่คิดทำ “สังคายนา” พระธรรมวินัย   แต่ยังไม่ทันสำเร็จดี ท่านก็ด่วนนิพพานไปก่อน  พระมหากัสสปะจึงได้รับช่วงสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านจนสำเร็จบริบูรณ์ในกาลต่อมา

ในบั้นปลายชีวิต  พระสารีบุตรพร้อมด้วยพระจุนทะน้องชาย ได้กลับไปยังตำบลนาลันทา บ้านเกิดของท่าน เพื่อโปรดมารดา ซึ่งยังไม่นับถือพระพุทธศาสนาให้บรรลุธรรม แล้วก็นิพพาน ณ ห้องที่ท่านถือกำเนิดนั่นเอง


ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระสารีบุตรเถระ : อัครสาวกเบื้องขวา หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://lh6.ggpht.com/_Tqtel7ewKgs/TNui3pQg7RI/AAAAAAAABA0/AwUq_PGcOn0/picture_resize_thumb%5B1%5D.jpg?imgmax=800)
ภาพจาก : watphut.blogspot.com

๗. พระอนุรุทธเถระ  
สดมภ์หลักในวาระสุดท้ายแห่งพระพุทธองค์

พระเถระรูปนี้เป็นพระ “สหภูมิ” (คือถือกำเนิดในเมืองกบิลพัสดุ์  อันเป็นเมืองมาตุภูมิของพระพุทธองค์) รูปหนึ่งที่ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า  ท่านเป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ  พระอนุชาธิราชของพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระเชษฐาร่วมพระอุทร คือ เจ้าชายมหานามะ และกนิษฐา คือ นางโรหิณี  เจ้าชายอนุรุทธะเป็นคนที่สุขุมาลชาติมาก ว่ากันว่าคำว่า “ไม่มี” ไม่เคยได้ยิน อยากได้อะไรก็มักจะถูก “ประเคนให้”  หมดตามต้องการ

วันหนึ่ง เจ้าชายอนุรุทธะกับบรรดาศากยกุมารทั้งหลาย เล่นลูกขลุบพนันกันตามประสาเด็ก  อนุรุทธะแพ้อยู่เรื่อย ส่งคนไปเอาขนมจากพระมารดา  พระมารดาก็จัดขนมส่งให้ถึง ๓ ครั้ง  พอครั้งที่ ๔  พระมารดาบอกคนไปว่า “ขนมไม่มี”  เมื่อเขาทูลว่า “ขนมไม่มี” ก็ร้องบอกไปว่า “ขนมไม่มี นั่นแหละเอามา”

พระมารดาได้ยินรายงานดังนั้น จึงคิดว่า บุตรเราไม่เคยได้ยินคำว่าไม่มี จึงสั่งเอา  “ขนมไม่มี” เราจะให้บุตรเรารู้ความจริงด้วยวิธีนี้

ว่าแล้วก็เอาถาดเปล่าครอบด้วยถาดอีกใบ สั่งให้คนนำไปให้โอรสของตน

ว่ากันว่าเทวดาที่รักษาพระนคร ทนไม่ได้ที่จะให้เจ้าชายอนุรุทธะเห็นถาดเปล่า จึงเอาขนมที่มีรสอร่อยที่สุดใส่ลงไปในถาด  พอเปิดถาดออกเท่านั้น กลิ่นอันหอมหวนชวนรับประทานของขนมทิพย์ก็โชยไปทั่ว เจ้าชายน้อยเสียพระทัยมาก กลับไปต่อว่าพระมารดาว่าไม่รักตน เมื่อพระมารดาว่ารักยิ่งกว่าชีวิตของท่านเสียอีก จึงแย้งว่า
“ถ้าเสด็จแม่รักลูกจริง ทำไมไม่เคยเอาขนมไม่มีให้ลูกกินเหมือนวันนี้บ้าง”

เท่านั้นแหละ พระนางก็เลยรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นเพราะบุญญาบารมีของโอรสของตนก็ได้ จึงได้แต่นิ่งเงียบอยู่

เมื่อเจ้าชายแห่งศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ อันมีเจ้าชายภัททิยะ, ภคุ เป็นต้น  ปรารภอยากบวชตามพระพุทธองค์  เจ้าชายมหานามะจึงกล่าวว่า ตระกูลเราควรจะมีใครสักคนบวช อนุรุทธะจึงถามว่า บวชเป็นอย่างไร

ได้รับคำบอกเล่าจากพระเชษฐาว่า ผู้บวชต้องอยู่ตามป่า ตามโคนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ เที่ยวภิกขาจารขออาหารเขายังชีพ  ก็ร้องว่า พี่บวชเถอะ น้องไม่เอาด้วยแล้ว อยู่ครองเรือนดีกว่า

พระเชษฐาจึงสอนว่า การจะอยู่ครองเรือนนั้นยิ่งมีกิจที่ต้องจัดต้องทำมากมาย ยากกว่านักบวชอีก  เจ้าชายอนุรุทธะจึงตัดสินใจบวช   บวชแล้วท่านเจริญสมาธิภาวนาได้ทิพจักขุญาณ (ตาทิพย์)  ภายหลังได้รับคำแนะนำจากพระสารีบุตรเกี่ยวกับมหาปุริสวิตก ๘ ประการ  ท่านได้เดินทางไปสู่ปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจตี  สามารถทำได้บริบูรณ์ ๗ ข้อ  ส่วนข้อสุดท้ายไม่สามารถทำได้ ได้รับคำแนะนำจากพระพุทธองค์  จึงเข้าใจ และในที่สุดได้บรรลุพระอรหัตผล

ท่านชอบเจริญอาโลกกสิณ เพ่งแสงสว่างเป็นประจำ จึงมีความเชี่ยวชาญเรื่องทิพพจักขุมาก จนพระพุทธองค์ตรัสยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่นในทางมีทิพพจักขุ

เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่ามกลางพุทธบริษัทที่เฝ้าอยู่ด้วยความอาลัยนั้น พระอนุรุทธะเข้าฌานสมาบัติตามพระพุทธเจ้า แล้วบอกพุทธบริษัท อันมีพระอานนท์เป็นประธานในขณะนั้นว่า พระพุทธองค์ทรงเข้าและออกจากฌาน จนกระทั่งวาระสุดท้าย  พระองค์ “ทรงดับสนิท” ในช่วงไหน  

เพราะความที่ท่านอนุรุทธะนั้น มีความเชี่ยวชาญในการเข้าฌานสมาบัติ จึงเป็น “หลัก”  แก่พุทธบริษัทได้ในวาระสำคัญเช่นนี้  เมื่อพระอนุรุทธะบอกว่า พระพุทธองค์ทรง “ดับสนิท” แล้วเท่านั้น พุทธบริษัทที่ยังเป็นปุถุชน และเสขบุคคลบางจำพวก ก็ร้องไห้คร่ำครวญอาลัยในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเถระเจ้าก็คอยแสดงธรรมปลอบโยนให้เข้าใจถึงความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง

ภาษิตที่ท่านกล่าวในโอกาสนี้มีว่า พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระทัยมั่นคง ผู้คงที่ไม่หวั่นไหว ทรงหมดลมหายใจแล้ว

พระมุนีเจ้าทรงทำกาละอย่างสงบแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงระงับเวทนาได้ มีพระทัยหลุดพ้น ทรงดับสนิทแล้ว ดุจเปลวประทีปดับ ฉะนั้น

แสดงให้เห็นธรรมดาของสังขารว่า มีเกิดแล้วมีแปรเปลี่ยนและดับสลายไปในที่สุด แม้แต่องค์พระบรมศาสดาเอกแห่งไตรภพ ยังถึงวัน “ดับสนิท” ท่านเตือนให้พุทธบริษัทคิดได้ และได้คิด  เพื่อที่จะไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ขวนขวายเพื่อทำที่พึ่งแก่ตนให้ได้

พระอนุรุทธะนิพพานหลังพุทธปรินิพพานนานเท่าใด ไม่ปรากฏหลักฐาน


ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระอนุรุทธเถระ: สดมภ์หลักในวาระสุดท้ายแห่งพระพุทธองค์ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/b/b8/Moggallana_-_paranibbana.jpg/250px-Moggallana_-_paranibbana.jpg)
ภาพจาก : th.wikipedia.org 

๘. พระมหาโมคคัลลานเถระ  
อัครสาวกเบื้องซ้ายผู้มีฤทธิ์มาก

พระมหาโมคคัลลานเถระ นามเดิมว่า “โกลิตะ”   เป็นบุตรพราหมณ์   หัวหน้าหมู่บ้านโกลิตะคาม  ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านอุปติสสะคาม

ท่านมีเพื่อนกินเพื่อนเที่ยวด้วยกันชื่ออุปติสสะ   ชีวิตในวัยหนุ่มของท่าน ก็เช่นเดียวกับชีวิตพระสารีบุตร  คือ ได้เป็นศิษย์ของอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร 

เมื่อเบื่อหน่ายลัทธิคำสอนของอาจารย์สัญชัย ก็พากันแสวงหาทางใหม่ 

อุปติสสะได้พบกับพระอัสสชิ และได้ฟังธรรมจากท่าน จนบรรลุโสดาปัตติผล จึงนำมาบอกแก่โกลิตะ  โกลิตะได้ฟังก็บรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นกัน  ทั้งสองจึงพากันไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า  (ดังรายละเอียดเล่าไว้แล้ว)

หลังจากบวชแล้ว  โกลิตะได้นามเรียกขานในหมู่บรรพชิตว่า โมคคัลลานะ   ท่านไปบำเพ็ญเพียรทางจิต ณ หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แต่ไม่สามารถบังคับจิตให้เป็นสมาธิได้ เพราะถูกความง่วงครอบงำ  พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทานโอวาทบอกวิธีแก้ง่วง ๗ ประการให้ท่านดังนี้
     ๑. ถ้ามีสัญญาอย่างไรอยู่ เกิดความง่วง ให้นึกถึงสัญญานั้นให้มาก  หมายความว่า ถ้านึกคิดเรื่องใดอยู่แล้วเกิดความง่วงก็ให้กำหนดสิ่งนั้นให้มากกว่าเดิม แล้วความง่วงจะหาย
     ๒. ถ้ายังไม่หาย ให้พิจารณาถึงเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังมา  หรือที่เล่าเรียนมา ความง่วงจะหาย
     ๓. ถ้ายังไม่หาย  ให้ท่องข้อความที่กำลังอ่านอยู่ หรือนึกถึงอยู่ดังๆ ความง่วงก็จะหาย
     ๔. ถ้ายังไม่หาย  ให้ยอนหูทั้งสองข้าง คือเอาอะไรแยงหู  แหงนดูทิศทั้งหลาย ความง่วงจะหาย
     ๕. ถ้ายังไม่หาย  ให้ลุกขึ้นเอาน้ำล้างหน้า  แหงนดูทิศทั้งหลาย ความง่วงจะหาย
     ๖. ถ้ายังไม่หาย  ให้นึกถึง “อาโลกสัญญ” คือ วาดภาพถึงแสงสว่าง ความง่วงจะหาย
     ๗. ถ้ายังไม่หาย ให้เดินจงกรม  คือ เดินกลับไปกลับมา  ความง่วงก็จะหาย

พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้ปฏิบัติตามวิธีทั้ง ๗ นี้ ความง่วงจะหายไปแน่นอน แต่ถ้าไม่หายจริง ๆ ก็ให้นอนท่าสีหไสยาสน์ คือ ให้นอนเสีย (รับรองว่าคราวนี้หายสนิท ถึงขึ้นกรนครอกฟี้ทีเดียว)

จากนั้น พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทให้ท่านพิจารณาถึงเวทนาว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ท่านปฏิบัติตามพระโอวาทแล้วได้บรรลุพระอรหัต ในวันที่ ๗ หลังจากอุปสมบท

ผลพวงจากการได้บรรลุพระอรหัตผลของท่าน ก็คือท่านได้อภิญญา (ความสามารถพิเศษ) คือ มีอิทธิฤทธิ์ด้วย จึงได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่นในทางมีฤทธิ์มาก และได้รับแต่งตั้งเป็น “อัครสาวก” เบื้องซ้ายคู่กับพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวา

ความที่ท่านมีฤทธิ์มาก ท่านจึงได้ใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็น “สื่อ” หรือเป็น “เครื่องมือ” ชักจูงคนมิจฉาทิฐิที่มีฤทธิ์ ให้คลายจากความเห็นผิด แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนามากมาย

บางครั้งก็ได้รับพุทธบัญชาไป “ปราบ” ผู้มีฤทธิ์ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ทำให้เกียรติคุณของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว มีผู้เข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์มากขึ้นตามลำดับ

ข้อนี้แลได้สร้างผลกระทบต่อลัทธิอัญเดียรถีย์อื่นๆ มาก จนถึงกับว่าจ้างพวกโจรมาฆ่าพระโมคคัลลานะ เพื่อ “ตัดมือตัดเท้า” ของพระพุทธเจ้า

พวกโจรมาล้อมกุฏิของพระโมคคัลลานะถึง ๓ ครั้ง แต่ท่านก็เข้าฌานเหาะหนีไปได้ทั้ง ๓ ครั้ง

 ครั้งที่ ๔ ท่านไม่หนี จึงถูกพวกโจรทุบจนกระดูกแหลกละเอียด  พวกโจรนึกว่าท่านตายแล้วจึงพากันหนีไป

พระเถระดำริว่า ยังไม่กราบทูลลาพระพุทธเจ้า จะนิพพานไม่ได้  จึงประสานร่างให้คงคืนตามเดิมด้วยอำนาจฌานสมาบัติ  เหาะไปกราบทูลลาพระพุทธองค์

..........แล้วก็นิพพาน


ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระมหาโมคคัลลานเถระ : อัครสาวกเบื้องซ้ายผู้มีฤทธิ์มาก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 มีนาคม 2556 18:42:02
.

(http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m3/Unit3/B_hist44.jpg)
ภาพจาก : mediacenter.mcu.ac.th

๙. พระเขมาเถรี  
ผู้เลิศในทางมีปัญญามาก

พระเขมาเถรี เป็นธิดาแห่งตระกูลกษัตริย์ เกิดที่เมืองสาคละ แคว้นมัททะ มีรูปร่างสวยงามผิวพรรณผุดผ่องดังทอง เมื่อเจริญวัยแล้วได้เป็นมเหสีพระองค์หนึ่งในจำนวนหลายพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

ว่ากันว่า เป็นมเหสีคนโปรดของพระเจ้าพิมพิสารด้วย

พระนางเขมาเป็นผู้ที่ภาคภูมิใจในความสวยงามของตนมาก มากจนกระทั่งหลงว่าไม่มีใครงามเกินตนไปได้

พระราชสวามีนั้นเป็นคนเคร่งศาสนา หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดแสดงธรรมให้พระองค์ฟัง พระองค์ก็ได้ปฏิญญาตนเป็นพุทธมามกะผู้เคร่งครัด ถึงสละสวนไผ่อันรื่นรมย์นอกเมืองราชคฤห์ให้เป็นวิหาร (วัด) ที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ นามว่า “วัดพระเวฬุวัน” เมื่อยามว่างจากราชกรณียกิจก็จะเสด็จไปเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเสมอ

พระราชสวามีทรงชักชวนพระนางเขมาไฟธรรมทุกครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธทุกครั้งเช่นกัน

พระนางเขมาได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้ามักจะตรัสตำหนิความสวยความงามอยู่เสมอ มักจะตรัสว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  เป็นของไม่เที่ยงแท้และแน่นอน เกิดมาแล้วก็ย่อมแปรผันและเสื่อมสลายไปในที่สุด ซึ่งพระนางทรงรับฟังไม่ได้ เพราะเท่ากับมานั่ง “ฟังด่า” พระนางคิดอย่างนั้น จึงไม่ยินดีไปฟังธรรมที่พระเวฬุวัน

พระราชสวามีได้ปรึกษากับกวีเอกแห่งราชสำนัก ถึงอุบายที่จะจูงใจให้พระมเหสีคนโปรดไปฟังธรรมโดยสมัครใจ  กวีเอกแห่งราชสำนักได้แต่งเพลงบรรยายถึงความน่ารื่นรมย์แห่งพระเวฬุวัน ว่าสวยงาม น่าเที่ยวชมน่าอภิรมย์ใจเพียงใดได้อย่างกินใจ และท่วงทำนองการขับเพลงก็ไพเราะรื่นหู

ในที่สุดทุกอย่างก็เป็นไปตามพระราชประสงค์ พระนางเขมากราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า อยากไปดูพระเวฬุวัน
พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จไปพระเวฬุวันพร้อมกับพระมเหสี  วันนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาให้ทั้งสองพระองค์ฟัง ทรงเนรมิตภาพนางอัปสรสวยงามมากนางหนึ่ง ยืนถวายงานพัดพระพุทธองค์ขณะแสดงธรรม ไม่มีใครมองเห็นนอกจากพระนางเขมาพระองค์เดียว

พระนางจ้องภาพนั้นไม่กะพริบพระเนตร ทรงรำพึงว่า นางช่างสวยงามจริงๆ สวยกว่าตัวพระนางอีก ขณะที่พระนางจ้องดูอยู่นั้น นางอัปสรก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปจากเด็กสาวสวยวัยรุ่น เป็นสาวใหญ่ เป็นหญิงวัยกลางคน เป็นหญิงแก่หง่อม หนังเหี่ยว ฟันเหยิน ผมหงอก หลังโกง จนกระทั่งล้มลงนอนตายอยู่ใกล้ๆ พระพุทธองค์
จิตของพระนางเขมาเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ จากการยึดติดในความสวยงามจนกระทั่งเกิดความสะอิดสะเอียนในความน่าเกลียดของร่างกาย

พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความเปลี่ยนแปลงภายในจิตของพระนาง จึงตรัสเตือนสติแผ่วเบาว่า

“เขมา สรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน มีเกิดก็มีแปรเปลี่ยนและเสื่อมสลายไปในที่สุด ดูอย่างสาวน้อยคนนี้ ในที่สุดก็ถึงซึ่งความตาย”

พระนางเข้าใจถึงความจริงของสรรพสิ่ง  ทรงส่งจิตไปตามกระแสธรรมเทศนา และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

คฤหัสถ์ผู้บรรลุพระอรหัตแล้วไม่ควรอยู่ครองเรือน พึงบวชในวันนั้น หาไม่เพศฆราวาสจะไม่สามารถ “ธาร” (ทรง) ภาวะแห่งพระอรหันต์ได้ จะต้องนิพพานในวันนั้นหรือไม่ก็ต้องบวช จึงจะดำรงชีวิตต่อไปได้

พระนางจึงทูลของพระบรมราชานุญาตจากพระราชสวามีบวชเป็นภิกษุณี ซึ่งก็ได้รับพระราชทานอนุญาต
นางบวชเป็นภิกษุณีแล้ว ได้รับยกย่องในเอตทัคคะ (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางมีปัญญามาก

พระเขมาเถรีใช้ปัญญาอันแตกฉานของพระองค์เป็นเครื่องมือในการให้คำปรึกษาแก่ภิกษุณีอื่นๆ และในการประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายกว้างขวางออกไป

วันหนึ่งพระเขมาเถรีพำนักอยู่ที่โตรณะวัตถุ ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองสาวัตถีกับเมืองสาเกต  พระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราช กษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถีบังเอิญเสด็จผ่านไปทางนั้น ทรงทราบว่าพระเขมาเถรีพำนักอยู่ที่เมืองนั้น จึงเสด็จไปสนทนาธรรมด้วย

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามปัญหาธรรมหลายข้อ อาทิ พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย ภายหลังจากนิพพานแล้วจะยังคง “ดำรงอยู่” หรือไม่

ได้รับการวิสัชนาอย่างแจ่มแจ้งจากพระเขมาเถรี เป็นที่พอพระทัย ภายหลังพระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงเล่าถึงบทสนทนาระหว่างพระองค์กับพระเขมาเถรีถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสรับรองว่าที่พระเขมาเถรีวิสิชนานั้นถูกต้องแล้ว และทรงอนุโมทนาด้วย

หลักฐานไม่ปรากฏว่า พระเถรีนิพพานเมื่อพระชนมายุเท่าไร ณ ที่ไหน

แต่ไม่ว่าจะมีพระชนมายุสั้นหรือยาวแค่ไหน พระอรหันต์ผู้เพียงพร้อมด้วยวิชชา (ความรู้) และจรณะ (ความประพฤติดีงาม) ก็ได้ทำประโยชน์แก่มนุษย์ชาติสมบูรณ์ แม้จะมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว

ดังพุจธวจนะว่า คนที่ไม่เข้าถึงธรรม บรรลุอมตบท (พระนิพพาน) ถึงจะอยู่ร้อยปี ก็สู้คนที่เข้าถึงธรรมบรรลุอมตบท ที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวไม่ได้...


ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระเขมาเถรี : ผู้เลิศในทางมีปัญญามาก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://www.larnbuddhism.com/atatakka/tere/pasta.jpg)
ภาพจาก : dhammajak.ne

๑๐. พระกุณฑลเกสีเถรี  
อดีตปรัชญาเมธี

คำว่า “ปรัชญาเมธี”   (sophis)  มีพฤติกรรมคล้ายกับนักบวชเร่ร่อนประเภทหนึ่ง คือ ปริพาชก (ผู้หญิงเรียกว่าปริพาชิกา)  พวกนี้ตั้งเป็นสำนัก “โต้วาที”  ชอบสัญจรไปโต้วาทะกับผู้รู้ทั้งหลายตามหัวเมืองต่างๆ

พระกุณฑลเกสีเถรี หรือบางครั้งเรียก กุณฑลเกสา  เดิมนามว่า ภัททา เคยเป็นสาวิกาของสำนักนี้มาก่อน ว่ากันว่าที่ได้นามว่า กุณฑลเกสี เพราะเมื่อบวชในสำนักปริพาชก  ถูกเอาแปรงตาลครูดผมออก (แทนที่จะโกน) เมื่อผมขึ้นมาใหม่จึงหยิกเป็นลอนๆ หลังพ่ายแพ้ในการโต้วาทะกับพระสารีบุตรอัครสาวก จึงมาบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา

สมัยยังครองเรือนอยู่ ท่านเป็นลูกสาวของเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งเห็นราชบุรุษแห่นักโทษประหารประจานไปตามท้องถนน เกิดจิตปฏิพัทธรักใคร่อยากได้มาเป็นคู่ครอง จึงบอกบิดามารดาว่า ถ้าไม่ได้เขามาเป็นสามีก็จักไม่มีชีวิตอยู่ บิดามารดาก็รักลูกสาวมาก กลัวลูกสาวจะคิดสั้น จึงยินยอมให้สินบนแก่ผู้คุมให้ปล่อยนักโทษนำเขามาอยู่ในบ้าน  ข้างฝ่ายราชบุรุษหรือผู้คุมนักโทษ ก็หา “แพะ มาประหาร  แล้วกราบทูลพระราชาว่า ภารกิจในการนำนักโทษไปประหารนั้น สำเร็จลุล่วงตามพระราชประสงค์แล้วทุกประการ

มหาโจรรอดชีวิตมา และได้อยู่บนปราสาทอันโอ่อ่า ในฐานะสามีของกุณฑลเกสีผู้เลอโฉม ก็น่าจะพอใจในโชคชะตาที่พลิกผันอย่างน่ามหัศจรรย์  แต่โจรก็คือโจร เมื่อได้มาเห็นสมบัติพัสถานอันมากมาย เห็นภรรยาตกแต่งเครื่องพัสตราภรณ์อันสวยงามล้ำค่า ก็เกิดความโลภ อยากได้ไว้คนเดียว นั่งคิดนอนคิดอยู่หลายวัน วันหนึ่งจึงแสร้งทำตัวเป็นไข้นอนซม ข้าวปลาไม่แตะต้อง

ภรรยาถามว่าเป็นอะไร  มหาโจร ตอบนางว่า ก่อนที่จะถูกนำไปประหารนั้น ได้บนกับเทพเจ้าบนเขาไว้ว่าถ้ารอดชีวิตจะแก้บน จนบัดนี้ยังไม่ได้แก้บนเลย จึงไม่สบายใจ

กุณฑลเกสี จึงว่า เรื่องแค่นี้เองจะเอาอะไรไปแก้บน บอกมา จะจัดการให้

มหาโจรกล่าวว่า “พี่บนด้วยข้าวมธุปายาสอย่างดี ข้าวตอกดอกไม้”

นางจัดแจงเครื่องพลีกรรม หรือเครื่องแก้บนให้สามีจนครบถ้วน แล้วแต่งตัวด้วยพัสตราภรณ์ สวมเครื่องประดับล้ำค่าสวยงามติดตามด้วยบริวารหลายคนเดินทางมุ่งหน้าไปยังเขา “ทิ้งโจร” ที่สามีนางอ้างว่าได้บนเทพเจ้าบนหุบเขานั้นไว้

พอเดินทางไปถึงตีนเขาสามีก็ขอให้นางบอกให้บริวารกลับ เพราะการแก้บนนั้นจะต้องทำพิธีกันสองคนเท่านั้น

เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขา มหาโจรก็ออกลาย นั่งนิ่งเฉยไม่ทำอะไร เมื่อภรรยากล่าวว่า ทำไมไม่ทำพิธี ก็ตอบทันควันว่า พิธีอะไรกันข้ามิได้บนเทพเจ้าที่ไหนไว้ ข้าหลอกเจ้าต่างหาก
 
เมื่อถามว่า หลอกนางเพื่ออะไร ก็พูดแสยะยิ้มว่า หลอกมาฆ่าเอาเพชรนิลจินดาสิ ถามได้

นางตกใจสุดขีด แต่ยังทำใจดีสู้เสือ เจรจาอย่างไพเราะว่า “สมบัติของดิฉันก็เป็นของพี่ด้วย ไม่เห็นจะต้องทำอย่างนี้เลย พี่อยากได้อะไรก็บอก”
  
มหาโจรพูดว่า “เธอยกให้แล้วอาจเสียดายเอาคืนไปก็ได้ เพื่อให้แน่ ฆ่าเธอเลยดีกว่า”

เมื่อเห็นว่าไม่มีทางโน้มน้าวให้มหาโจรเชื่อแล้ว ก็ฉุกคิดว่า เราจงใช้ปัญญาหาทางเอาตัวรอดให้ได้ คิดดังนี้แล้วจึงกล่าวกับมหาโจรว่า “ถ้าเช่นนั้น ก่อนฉันจะตาย ก็ขอให้ไหว้ท่านก่อน” ว่าแล้วก็เดินประทักษิณ (เวียนขวา)  มหาโจรครบสามรอบ ก้มลงกราบสามีผู้ยืนหันหลังให้ด้วยความประมาท แล้วก็ผลักมหาโจรตกเขาตายในทันใด

ว่ากันว่าเทพยดาที่สิงสถิตบนเขาได้ให้สาธุการแก่นาง กล่าวคาถา (โศลก) ว่า
        “ใช่ว่าบุรุษจะเป็นบัณฑิตเท่านั้นไม่
        แม้สตรีผู้มีปัญญาแจ้งประจักษ์
        ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์นั้นๆ
        ก็เป็นบัณฑิตได้เช่นเดียวกัน”

นางเดินลงเขา ไม่คิดกลับบ้าน เพราะเกรงบิดามารดาจะทำโทษ จึงไปบวชเป็นพาชก สำนักปริพาชก   นางเรียนจบเคล็ดวิชาทั้งหมดจากอาจารย์แล้วก็สัญจรไปยังเมืองต่างๆ เพื่อโต้วาทะกับผู้รู้  ปรากฏว่า ไม่มีใครหักล้างวาทะของนางได้ ชื่อเสียงความเป็นผู้มีปฏิภาณยอดเยี่ยมของนางแพร่ขจายไปอย่างรวดเร็ว วันหนึ่ง นางผ่านไปยังหมู่บ้านหนึ่ง จึงปักกิ่งหว้าไว้กลางทาง กล่าวว่าใครสามารถโต้วาทะกับเรา จงเหยียบกิ่งหว้านี้ เด็กๆ พากันเฝ้าดูคนสัญจรไปมาว่าจะมีใครกล้าเหยียบหรือไม่ ก็ไม่มีใครกล้า

พระสารีบุตรอัครสาวก เดินผ่านมาเห็นเด็กๆ ล้อมวงกันอยู่ จึงถามไถ่ทราบเรื่องแล้ว บอกให้เด็กเหล่านั้นเหยียบกิ่งหว้า  พวกเด็กก็พากันเหยียบย่ำกิ่งหว้าของนางกันสนุกสนาน  นางเจ้าของกิ่งหว้ามาพบเข้า จึงดุด่าเด็กเหล่านั้น เมื่อรู้ว่าพระสมณะรูปหนึ่งสั่งให้เหยียบ จึงตามไปจนทัน ถามว่าท่านสั่งให้เด็ก ๆ เหยียบกิ่งหว้าของดิฉันหรือ

“ใช่แล้ว ปริพาชิกา”

“ท่านสามารถตอบปัญหาของดิฉันหรือ จึงสั่งให้เหยียบกิ่งหว้า"

“เราตอบได้ ปริพาชิกา ถามมาสิ”  พระเถระตอบอย่างสงบ

นางกุณฑลเกสี จึงถามปัญหายากๆ ที่นางได้เล่าเรียนมาจากสำนักอาจารย์  ถามกี่ข้อๆ พระเถระก็ตอบได้หมด เสร็จแล้วพระเถระถามว่า “เธอถามเรามามากแล้ว เราขอถามบ้าง” ว่าแล้วท่านก็ถามว่า “อะไรชื่อว่าหนึ่ง”

นางมืดแปดด้าน จึงเรียนถามท่านว่า นี้เรียกว่าอะไร  พระเถระตอบว่า นี้เรียกว่า “พุทธมนต์”  พระเถระเรียนมาจากพระพุทธเจ้า เมื่อนางขอให้สอนให้บ้าง พระเถระจึงบอกว่าจะสอนให้เฉพาะคนที่ถือเพศบรรพชิต (คือบวชในพระพุทธศาสนาเท่านั้น)

นี้แลคือสาเหตุที่นำนางมาสู่พระพุทธศาสนา  นางบวชในสำนักนางภิกษุณี ปรากฏนามว่า กุณฑลเกสีเถรี   บวชเพียงสองสามวันเท่านั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา หลังจากฟังพระธรรมเทศนาสั้นๆ จากพระพุทธองค์

ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในวันหนึ่งว่า พระกุณฑลเกสีเก่ง สามารถเอาชนะมหาโจรโหดร้ายได้ แม้มาบวชแล้วฟังธรรมเพียงสั้นๆ ก็บรรลุพระอรหัตได้  พระพุทธองค์ตรัสว่า “ธรรมะของตถาคต ไม่จำกัดว่าสั้นหรือยาว น้อยหรือมาก  ย่อมอำนวยประโยชน์ได้ทั้งนั้น และคนที่นับว่าเก่งคือคนชนะกิเลสได้ ไม่ใช่ชนะโจรภายนอกได้”  แล้วตรัสโศลกความว่า  “ผู้ที่กล่าวโศลกตั้งพัน  แต่ไม่ทำให้ผู้ฟังสงบระงับได้ ไม่ประเสริฐ พระธรรมบทเดียวที่ฟังแล้วทำให้ใจสงบระงับประเสริฐกว่า ผู้ที่ชนะข้าศึกในสงครามเป็นพันๆ หาชื่อว่าเป็นยอดผู้พิชิตไม่ ผู้ที่ชนะตนนั้นแลนับเป็นยอดผู้พิชิตแท้จริง

ประวัติมิได้บอกว่าพระเถรีเป็นเลิศในทางใด แต่จากอรรถกถาเถรีคาถา ได้ทราบว่า มีคาถาหรือโศลกธรรมของพระเถรีจำนวนมาก บรรยายถึงการสัญจรไปแสดงธรรมแก่ประชาชนยังแคว้นต่างๆ เช่น แคว้นอังคะ กาสี และโกศล แสดงให้เห็นถึงฉันทะอันแรงกล้าในการช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระพุทธศาสนา

พระเถรีดำรงอยู่จนจวบอายุขัย แล้วก็นิพพานเหลือทิ้งไว้แต่คุณงามความดีให้พุทธศาสนิกชนได้อนุสรณ์ถึงชั่วกาลนาน...


ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระกุณฑลเกสีเถรี : อดีตปรัชญาเมธี หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQv1v6JxZ1ZSz03Y3QkNyMapoEeCK-4P01AMvulqBNQ8b7_C1ziQA)
ภาพจาก : nitipatth.blogspot

๑๑. พระจูฬปันถกเถระ  
พระปัญญาทึบผู้แตกฉาน

คุณสมบัติของท่านฟังดูแล้วขัดแย้งกัน คนปัญญาทึบ ทำไมจึงมีปัญญาแตกฉาน....ปัญญาทึบมาก่อนแต่ภายหลังเป็นผู้ฉลาด มีปัญญาแตกฉาน…

พระจูฬปันถกเถระ ท่านเป็นบุตรของธิดาธนเศรษฐีแห่งเมืองราชคฤห์  มารดาท่านเป็นบุตรสาวคนเดียวของตระกูล จึงอยู่ในความกวดขันดูแลของพ่อแม่อย่างเคร่งครัด มิให้มีโอกาสคบกับบุรุษใดๆ เพื่อป้องกันความเสื่อมเสียอันจักเกิดขึ้นแก่วงศ์ตระกูล

แต่การเข้มงวดเช่นนั้นกลับกลายเป็นผลร้ายในภายหลัง หญิงสาวได้มีจิตรปฏิพัทธ์แอบได้เสียกับคนรับใช้ในตระกูล เมื่อกลัวพ่อแม่รู้ความเข้าในภายหลัง จะต้องถูกลงโทษ จึงชวนสามหนีไปอยู่ที่อื่น อยู่กันตามประสายากในชนบท

พักหนึ่ง นางก็ตั้งครรภ์ เมื่อจวนคลอด ก็นึกถึงพ่อแม่ เกรงว่าคลอดลูกออกมาแล้วจะไม่ปลอดภัยและลำบาก จึงชวนสามีกลับบ้าน แต่สามีเกรงภัยจะมาถึงตัวจึงไม่ยินยอม นางฉวยโอกาสที่สามีไม่อยู่ หนีกลับบ้าน

สามีตามมาทันระหว่างทาง พากลับไปยังที่อยู่ของตน บังเอิญนางคลอดบุตรระหว่างทาง บุตรน้อยจึงได้นามว่า “ปันถก” (แปลว่า ผู้คลอดระหว่างทาง)

ต่อมาเมื่อตั้งครรภ์บุตรคนที่สอง ก็เกิดเรื่องทำนองเดียวกัน  บุตรก็คลอดระหว่างทางเช่นกันกับคนแรก และได้ตั้งชื่อ “ปันถก” เหมือนกัน  เพื่อให้เรียกไม่สับสน คนโตจึงมีชื่อว่า “มหาปันถก”  (ปันถกคนโต)  คนน้องได้ชื่อว่า “จูฬปันถก” (ปันถกคนเล็ก)

ต่อมาสองสามีภรรยานำมหาปันถกและจูฬปันถกไปฝากให้ตาและยายเลี้ยง เพราะทั้งสองไม่กล้ากลับไปสู้หน้าพ่อแม่ จึงไปมีชีวิตอยู่ตามยถากรรม  ข้างฝ่ายมหาปันถกเกิดศรัทธาในพระศาสนา ขออนุญาตลาไปบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าตั้งแต่อายุยังน้อย

เมื่ออายุครบบวช ก็ได้รับอุปสมบทจากพระพุทธองค์ บำเพ็ญสมณธรรมด้วยความพากเพียรไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมปฏิสัมภิทา (ความแตกฉาน)

ท่านได้รับ “เอตทัคคะ” (ตำแหน่งความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทางมีความฉลาดในปัญญาวิวัฏฏะ (คือ ฉลาดเชี่ยวชาญในวิปัสสนา) นี้เป็นเรื่องของพระผู้พี่  

ส่วนเรื่องราวของพระผู้น้อง เมื่อพระมหาปันถกได้บรรลุธรรม มีความแตกฉานแล้ว ก็นึกถึงน้องชาย จึงไปขออนุญาตโยมตาเอาน้องชายมาบวชอยู่ด้วย  จูฬปันถกน้องชายท่าน มีคุณสมบัติไม่เหมือนกับพี่ชาย คือ เป็นคนมีปัญญาทึบ หัวช้า ท่องจำอะไรไม่ค่อยได้

บวชมาแล้วก็ไม่สามารถท่องบ่นสาธยายอะไรได้ กระทั่ง “คาถา” (คือโศลก) ๔ บาท  ใช้เวลาตั้ง ๓-๔ เดือน ก็ยังจำไม่ได้ คาถานั้นมีความว่า
          ปทฺมํ ยถา โกกนทํ สุคนฺธํ   ปาโต  สิยา  ผุลฺลมวีตคนฺธํ
          องฺคีรสํ  ปสฺส วิโรจมานํ   ตปนฺตมาทิจฺจมิวมนฺตลิกฺเข          
          ดอกบัวโกกนท  มีกลิ่นหอม บานแต่เช้า มีกลิ่นอบอวลฉันใด
          เธอจงดูพระอังคีรสเจ้า (พระพุทธเจ้า) ผู้รุ่งโรจน์ดุจพระอาทิตย์สว่างกลางหาว ฉะนั้น

ท่านพยายามท่องอยู่ตั้ง ๔ เดือนก็ยังจำไม่ได้  พระมหาปันถกผู้พี่ชาย จึงออกปากขับไล่ ด้วยเกรงว่าน้องชายผู้มีปัญญาทึบจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

จูฬปันถก ถูกขับไล่ออกจากวัด ไม่รู้จะไปที่ไหน จึงได้แต่ยืนร้องไห้อยู่นอกพระอาราม

ในเวลานั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์ ไปหาพระมหาปันถกในฐานะที่ท่านเป็น “ภัตตุทเทศก์” (ผู้จัดพระไปกิจนิมนต์) ขอนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน  ท่านก็จัดการให้ตามประสงค์ โดยเว้นจูฬปันถกน้องชายท่านไว้

เมื่อได้เวลา หมอชีวกให้คนยกภัตตาหารเข้าไปถวายพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์  พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ชีวกยังมีพระภิกษุอยู่ในวัด มิใช่หรือ”

พระมหาปันถกกราบทูลว่า “พระภิกษุมาด้วยกันหมดแล้วพระเจ้าข้า ไม่มีอีกแล้ว”

พระพุทธองค์คงถามย้ำอยู่เช่นเดิม หมอชีวกจึงให้คนไปที่วัด เขากลับมารายงานว่าที่วัดมีพระเต็มไปหมด  พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าให้ถามว่ารูปไหนชื่อจูฬปันถก  เขาไปแล้วกลับมารายงานว่า ทุกรูปต่างก็บอกว่าตนชื่อจูฬปันถก  พระองค์จึงตรัสบอกว่าสังเกตดูรูปไหนอ้าปากตอบก่อนให้จับแขนรูปนั้นทันที

เขาไปอีกครั้ง ทำตามพระพุทธองค์ทรงตรัสบอก พระรูปอื่นจำนวนมากหาบวับไปกับตา  เหลือแต่ท่านจูฬปันถกรูปเดียว และท่านก็ได้ตามไปยังคฤหาสน์หมอชีวกโกมารภัจจ์ในวันนั้น

ถามว่า ท่านจูฬปันถกยืนร้องไห้อยู่ก่อนหน้านี้ ทำไมตอน (ที่กล่าวถึง) นี้  จึงกลายเป็นพระผู้มีฤทธิ์มากมายปานนั้น  คำตอบก็คือ ขณะที่ท่านยืนร้องไห้อยู่นั้น พระพุทธเจ้าเสด็จมา ทรงซักถามปัญหาของท่านแล้วช่วยเหลือท่านด้วยพระมหากรุณา

คือ ให้ท่านนั่งลง เอามือลูบผ้าขาว พร้อมบริกรรมว่า “รโช หรณํ” (อ่านว่า “ระโชหะระนัง”  แปลว่า ผ้าเช็ดธุลี)  ติดต่อกัน  ท่านนั่งลูบผ้าขาว พลางบริกรรมไปพลาง (คือท่องเบาๆ)  ว่า “รโช หรณํๆๆ”

เมื่อระยะเวลาผ่านไป จิตของท่านก็เป็นสมาธิ ลืมโลกภายนอกหมด  เมื่อผ้าขาวหมองคล้ำเพราะเหงื่อมือปรากฏให้เห็น ก็ได้ความคิดเปรียบเทียบว่า ผ้าที่ขาวสะอาดเมื่อกี้นี้ บัดนี้กลับเศร้าหมอง เพราะเหงื่อมือฉันใด  จิตคนเราเดิมสะอาดอยู่แล้ว เมื่อถูกราคะ โทสะ โมหะ มาครอบงำ  ย่อมกลายเป็นจิตที่เศร้าหมอง  ฉันนั้น

พิจารณาเห็นไตรลักษณ์เข้าสู่ทางวิปัสสนา  ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมอภิญญา (ความสามารถพิเศษ เหนือสามัญวิสัย)  เพราะเหตุนี้แล  เมื่อคนของหมอชีวกไปในวัด ท่านจึงเนรมิตร่างกายให้มีเป็นร้อยเป็นพันอยู่เต็มวัด จนเขาวิ่งหน้าตาตื่นไปรายงานหมอชีวก

เรื่องของพระจูฬปันถก ให้แง่คิดอย่างดีสำหรบครูที่ไม่รู้นิสัย อุปนิสัย และอธิมุติ (ความถนัด)  ของศิษย์ย่อมสอนศิษย์ไม่สำเร็จผล   ครูจะต้องเรียนรู้จุดเด่นจุดด้อยของศิษย์ และมีเทคนิควิธีสอนที่เหมาะกับผู้เรียน การสอนจึงจะสัมฤทธิ์ผล

พระพี่ชายไม่รู้จักน้องชายดี  จึงสอนน้องชายไม่ถูกทาง  คนหัวไม่ดีเกณฑ์ให้ท่องหนังสือ ย่อมยากที่จะท่องได้

แต่พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้วิธีอื่น ไม่ให้ท่านท่อง คือ ทรงให้ท่านลูบผ้าขาว  ซึ่งก็คือทรงบอกวิธีปฏิบัติกรรมฐานนั้นเอง  เพียงแต่ไม่ตรัสบอกโดยตรงเท่านั้น  เมื่อไม่ต้องท่องให้ทำเฉยๆ  ท่านจูฬปันถกก็มีกำลังใจ เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น  หลังจากปฏิบัติตามพระพุทธองค์แล้ว ก็เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในที่สุดดังกล่าวแล้ว

พระจูฬปันถก ได้รับเอตทัคคะในทางผู้มีมโนมยิทธิ (มีฤทธิ์ทางใจ)  เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา เมื่อถึงเวลาก็นิพพานไปตามอายุขัย...


ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระจูฬปันถกเถระ : พระปัญญาทึบผูัแตกฉาน หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


.

(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQxLVhUt0DXPnxR71tqVKNR9eDLckfsOsN31Aasug5wtldNm7BX7Q)
ภาพจาก : www.sookjai.com (http://www.sookjai.com)

๑๒. พระอานนทเถระ  
พุทธอนุชา

พระอานนทเถระ พระอานนท์เป็นโอรสของเจ้าอมิโตทนะ ซึ่งเป็นพระกนิษฐภาดา (น้องชาย) ของพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาของท่านนาม กีสาโคตมี  พระอานนท์จึงมีปกติเป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า

ท่านออกบวชพราหมณ์กับเจ้าชายศากยะและเจ้าชายโกลิยะ ๕ องค์ คือ ภัททิยะ ภคุ กิมพิละ อนุรุทธะ เทวทัต รวมเป็น ๖ กับนายภูษามาลา ชื่อ อุบาลี

การอุปสมบทในครั้งนี้ ได้เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติจากการไปโปรดพระประยูรญาติที่เมืองกบิลพัสดุ์แล้ว โดยทั้ง ๗ ท่านนั้นได้ติดตามพระพุทธองค์มาทันที่อนุปิยะนิคม แคว้นมัลละ  เจ้าชายทั้ง ๖ ได้ให้อุบาลีนายภูษามาลาบวชก่อน นัยว่าเพื่อขจัดทิฐิมานะของตน

หลังจากบวชแล้ว ท่านได้ฟังโอวาทของพระปุณณมันตานีบุตร ได้บรรลุโสดาปัตติผล

หลังจากบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ได้มารับหน้าที่ “พุทธอุปัฏฐาก” ปรนนิบัติพระพุทธเจ้า ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม จึงยังคงเป็นพระโสดาบันอยู่นาน จนกระทั่งหลังพุทธปรินิพพาน จึงสามารถทำที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้

ตลอดระยะเวลาประมาณ ๒๐ ปี หลังตรัสรู้พระพุทธองค์ไม่มีอุปัฏฐากประจำพระสาวก ต่างก็ผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่รับใช้พระพุทธองค์

ต่อมาพระสงฆ์เห็นว่าควรจะมีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมาทำหน้าที่นี้ พระเถระทั้งหลายต่างก็เสนอตัวเข้ารับหน้าที่ถูกพระพุทธองค์ปฏิเสธ เพราะทรงมีพระประสงค์จะให้พระอานนท์รับหน้าที่นี้ แต่พระอานนท์ก็มิได้เสนอตน คิดว่าถ้าพระองค์ทรงมีพระประสงค์ก็จะตรัสเรียกเอง

พระสงฆ์จึงขอร้องให้ท่านพระอานนท์รับหน้าที่ พระอานนท์จึงขอพร (ยื่นเงื่อนไข) ๘ ประการ ก่อนเข้ารับหน้าที่ คือ
     ๑. พระพุทธองค์ต้องไม่ประทานจีวรอย่างดีแก่ท่าน
     ๒. ต้องไม่ประทานบิณฑบาตอย่างดีแก่ท่าน
     ๓. ต้องไม่ให้ท่านอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระพุทธองค์
     ๔. ต้องไม่นำท่านไปในที่นิมนต์ด้วย
     ๕. ต้องเสด็จไปในที่นิมนต์ที่ท่านรับไว้
     ๖. ต้องให้คนที่มาแต่ไกลเพื่อเฝ้าได้เฝ้าทันที
     ๗. ต้องให้ทูลถามข้อสงสัยได้ทุกเมื่อ
     ๘. ถ้าไม่มีโอกาสไปฟังธรรมที่ทรงแสดง ขอให้ทรงแสดงซ้ำให้ท่านฟังด้วย

เหตุผลที่ท่านขอพร ๘ ประการ ก็คือ
พรที่ ๑-๔ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ที่ท่านรับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก มิใช่เพื่อลาภสักการะ

พรที่ ๕–๗ เพื่อแสดงว่า ท่านเป็นผู้มีความปรารถนาจะปฏิบัติหน้าที่พุทธอุปัฏฐากอย่างอุทิศและให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของพระพุทธองค์และพุทธบริษัท

โดยเฉพาะสองข้อสุดท้าย เพื่อเปลื้องครหาอันอาจมีว่า อยู่ใกล้ชิดพระพุทธองค์ยังไม่รู้ว่าเรื่องใดทรงแสดงแก่ใครที่ไหน มีเนื้อหาอย่างไร

อานิสงส์ของพรสองข้อสุดท้ายนี้เอง ทำให้พระอานนท์กลายเป็น “ทรัพยากรบุคคล” ที่สำคัญที่สุด  เพราะทรงจำพุทธวจนะได้มากกว่าใคร

พระอานนท์ทำหน้าที่พุทธอุปัฏฐากอย่างดี ไม่ขาดตกบกพร่อง จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ในเอตทัคคะ (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ๕ ด้านด้วยกัน คือ
     ๑. เป็นพหูสูต (ทรงจำพุทธวจนะได้มากที่สุด)
     ๒. เป็นผู้มีสติ
     ๓. เป็นผู้มีคติ (แนวในการจำพุทธวจนะ)
     ๔. เป็นผู้มีธิติ (ความเพียร)
     ๕. เป็นพุทธอุปัฏฐากผู้เลิศ

การบรรลุพระอรหัตของพระอานนท์นั้นแปลกพิสดารกว่าสาวกรูปอื่น คือ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ท่านเร่งทำความเพียรเพื่อสำเร็จมรรคผลให้ทันการประชุมทำสังคายนาครั้งแรก ที่พระมหากัสสปะกำหนดขึ้นพยายามอย่างไรก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ รู้สึกเหนื่อยจึงหยุดเพื่อพักผ่อนชั่วครู่

ขณะกำลังเอนลงนอน เท้าไม่ทันพ้นพื้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน ท่านก็ “สว่างวาบภายใน” ความสงสัยทั้งปวงหายไปฉันพลัน กิเลสอาสวะทั้งหลายได้หมดไปจากจิตสันดาน บรรลุถึงวิมุติหลุดพ้นโดยประการทั้งปวง

การบรรลุพระอรหัตของท่าน  จะเรียกว่าเกิดขึ้นในขณะยืน เดิน นั่ง นอน อย่างใดอย่างหนึ่งก็หาไม่ นับว่า “พ้นจากอิริยาบถทั้งสี่” โดยแท้ทีเดียว

ในช่วงสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของพระพุทธองค์ พระอานนท์ได้ตามเสด็จจากเมืองราชคฤห์ไปยังเมืองกุสินารา ได้รับถ่ายทอดพระพุทธโอวาทมากมาย ที่ยังมิเคยตรัสที่ไหนมาก่อน

หลังจากพุทธปรินิพพาน ท่านก็ได้ถ่ายทอดให้ที่ประชุมสงฆ์อันประกอบด้วยพระอรหันต์ทรงอภิญญา ๕๐๐ รูปฟัง และในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกนี้  ท่านได้ทำหน้าที่วิสัชนาพระธรรม ทำให้การทำสังคายนาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เมื่อท่านอายุได้ ๑๒๐ พรรษา ถึงเวลานิพพาน พระญาติทั้งสองฝั่งน้ำโรหิณีต่างก็ปรารถนาให้ท่านนิพพาน ณ บ้านเมืองของตน พระอานนท์จึงเข้าเตโชสมาบัติเหาะขึ้นในอากาศ อธิษฐานให้ร่างของท่านแตกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งตกลง ณ ฝั่งเมืองกบิลพัสดุ์ อีกส่วนหนึ่งตกลง ณ ฝั่งเมืองเทวทหะ เพื่อให้พระญาติทั้งสองฝ่ายนำอัฐิธาตุของท่านไปบรรจุไว้บูชา

มิเพียงแต่การบรรลุธรรม แม้การจะ “ดับสนิท” ของท่านพระอานนท์ก็แปลกไปจากพระสาวกรูปอื่นๆ ด้วยประการฉะนี้...


ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระอานนทเถระ : พุทธอนุชา หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 มีนาคม 2556 11:42:37
.
(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR6QFPI07ZraqOTjBFGb4ulbJUIErFOBdgHlwkct-uaUYPMnnx8)
ภาพจาก : dhammajak.net

๑๓. พระมหากัสสปเถระ  
พระเถระผู้เฒ่าผู้จรรโลงพระพุทธศาสนา

พระมหากัสสปเถระเดิมท่านมีนามว่า ปิปผลิมาณพ  เป็นบุตรกบิลพราหมณ์ผู้มั่งคั่งแห่งมหาติตถคาม (บางแห่งเขียนมหาติฏฐะ) แคว้นมคธ  มารดาท่านนามว่าสุมนาเทวี

ท่านได้สมรสกับ นางภัททกาปิลานี บุตรของพราหมณ์โกสิยโคตร แห่งเมืองสาคละ ผู้มีสกุลเสมอกันด้วยการจัดการของผู้ใหญ่ทั้งสองตระกูล ทั้งสองสามีภรรยา ไม่มีจิตใจยินดีในโลกียวิสัย ถึงจะแต่งงานกันแล้ว ก็เป็นสามีภรรยากันแต่ในนามเท่านั้น มิได้ยุ่งเกี่ยวกันในทางกามคุณแต่อย่างใด

เมื่อบิดามารดาของทั้งสองคนสิ้นชีวิตแล้ว ปิปผลิมาณพจึงปรึกษากันว่าจะออกบวชแสวงหาโมกขธรรมดีกว่า

ทั้งสองจึงจัดแบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้คนในเรือนอย่างยุติธรรมโดยทั่วหน้ากัน แล้วก็ออกจากมหาติตถคาม เพื่อแสวงหาอาจารย์ผู้จะชี้แนะแนวทางแห่งชีวิตใหม่

เมื่อมาถึงทางสองแพร่งแห่งหนึ่ง จึงแยกย้ายกันไปคนละทาง นางภัททกาปิลานีไปบวชเป็นภิกษุณีในสำนักภิกษุณีสงฆ์

ส่วนปิปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ร่ม “พหุปุตตนิโครธ  “ (ต้นกร่าง) ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทาต่อกัน  รู้สึกเลื่อมใสในบุคลิกอันสง่างามจึงเข้าไปกราบนมัสการโดยยังไม่ทราบว่าเป็นใคร

พระพุทธองค์ทรงประทานพระโอวาท ๓ ประการคือ
     ๑. จงตั้งหิริโอตตัปปะอย่างแรงกล้าในภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นพระเถระมัชฌิมะและนวกะ (คือให้ละอายชั่ว กลัวบาป เคารพพระภิกษุทุกระดับชั้น)
     ๒. เมื่อฟังกุศลธรรมข้อใดข้อหนึ่ง พึงฟังโดยความเคารพ กำหนดพิจารณาให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
     ๓. ให้บำเพ็ญกายคตาสติอย่างสม่ำเสมอ
นัยว่าพระพุทธโอวาทนี้แลเป็นการอุปสมบทของท่าน  คือ การน้อมรับพุทธโอวาทนี้ไปปฏิบัติ เป็นพิธีอุปสมบทของท่าน  หลังจากอุปสมบทแล้ว ๗ วัน ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัต

พระมหากัสสปะบวชเมื่ออายุมากแล้ว ท่านมีนิสัยชอบอยู่อย่างสงบ จึงสมาทานธุดงควัตร ๓ ข้อ เป็นนิตย์ คือ ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร  (หาเศษผ้ามาทำจีวรไม่รับผ้าที่ทายกถวาย) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร  และถือบิณฑบาตเป็นวัตร  จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นเลิศกว่าผู้อื่นในทาง “มีวาทะขัดเกลา” (ธูตวาทะ)

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ท่านพระมหากัสสปะนั้นมีความลำบากในการทรงผ้าบังสุกุล (เนื่องจากจีวรที่ทำจากเศษผ้าต่างๆ มักจะหนาและหนัก)  พระองค์จึงประทานผ้าสังฆาฏิให้ท่าน (บางแห่งว่าประทานบาตรด้วย อันเป็นเหตุให้เกิดธรรมเนียมมอบบาตรและจีวรแก่ศาสนทายาทในพุทธศาสนานิกายเซนในการต่อมา) และทรงรับเอาจีวรของท่านมาใช้เอง เป็นพระมหากรุณาที่ประทานแก่พระมหากัสสปะโดยเฉพาะ

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประชวรหนัก ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระมหากัสสปะอยู่ต่างเมืองได้ทราบข่าว จึงชวนภิกษุจำนวนมากเดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ ระหว่างทางทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธองค์ ภิกษุสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ต่างก็นั่งสงบปลงธรรมสังเวช

ฝ่ายที่เป็นปุถุชนก็ร้องไห้อาลัยอาวรณ์ในพระองค์ มีขรัวตารูปหนึ่ง นาม สุภัททะ กล่าวปลอบภิกษุทั้งหลายมิให้ร้องไห้ พระศาสดาปรินิพพานไปก็ดีแล้ว ต่อไปนี้เราจะทำอะไรก็ได้ตามปรารถนา

คำกล่าว “จ้วงจาบ” พระธรรมวินัยนั้น ทำให้ท่านมหากัสสปะหวนรำลึกถึงพระมหากรุณาที่ทรงมอบความไว้วางพระทัยแก่ท่าน จึงดำริจะทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย จรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบต่อไป

หลังถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ท่านก็ได้คัดเลือกพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญาจำนวน ๕๐๐ รูป กระทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นแบบฉบับ และถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยการท่องจำ สืบอายุพระพุทธศาสนายืนยาวมาจนบัดนี้

การทำสังคายนาครั้งแรกนี้ ได้ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ ในความอุปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ  พระมหากัสสปะเป็นประธานซักถาม พระอุบาลีเถระทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เถระทำหน้าที่วิสัชนาพระธรรม ท่ามกลางพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา ๕๐๐ รูป

สังคายนาเริ่มทำเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๗ เดือน จึงสำเร็จบริบูรณ์ กล่าวกันว่าพระมหากัสสปะเคร่งครัดในธุดงควัตรมาตลอด แม้พระพุทธองค์เคยตรัสให้ลดหย่อนหรือเลิกถือก็ได้ เพราะท่านเป็นอเสขบุคคล (พระอรหันต์) แล้ว ไม่จำต้องถือธุดงค์ก็ได้

ท่านกราบทูลพระพุทธองค์ว่า ท่านมิได้ถือธุดงค์เพื่อตัวท่านเอง หากเพื่อเป็นแบบอย่างของอนุชนภายหลัง

นับว่าท่านเป็น “ครู” ที่สมบูรณ์แบบ คือ สอนเขาเช่นใด ทำได้เช่นนั้น เหมาะสมที่สุดแล้วที่พระพุทธองค์ทรง “มอบ” ภารกิจสำคัญให้ปฏิบัติหลังพุทธปรินิพพาน

พระมหากัสสปะมีชีวิตยืนยาวถึง ๑๒๐ ปี ก็นิพพาน ณ เขากุกกุฎสัมปาตบรรพต เมืองราชคฤห์ ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระมหากัสสปเถระ : พระเถระผู้เฒ่าผู้จรรโลงพระพุทธศาสนา หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRDuTQ03r6bPGFd9ia84vcCkQJQctGC_S_SjHBFaBnpN8lx_6jc)
ภาพจาก : www.songtoday.com (http://www.songtoday.com)

๑๔. พระปิณโฑลภารทวาชเถระ  
ผู้แสดงฤทธิ์ถูกพระพุทธองค์ตำหนิ

พระปิณโฑลภารทวาชเถระ : พระเถระรูปนี้เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล (คือ พราหมณ์ระดับเศรษฐี) เมืองราชคฤห์ เรียนสำเร็จไตรเพท ภายหลังออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมด้วยความพากเพียรไม่นานก็บรรลุพระอรหัต ปราศจากกิเลส

ท่านได้อรหัตผลพร้อมอภิญญา (ความสามารถเหนือสามัญวิสัย) มีอิทธิฤทธิ์ ท่านถึงกับประกาศอย่างองอาจว่า “ใครสงสัยในเรื่องมรรค ผล นิพพาน ให้มาถามข้าพเจ้าได้”

ความที่ท่านเป็นพระอรหันต์มีอิทธิฤทธิ์ คราวหนึ่งก็เกิดเรื่องทำให้ท่านได้แสดงฤทธิ์เป็นที่อัศจรรย์  แต่ถูกตำหนิโดยพระพุทธเจ้า

เรื่องมีว่า เศรษฐีคนหนึ่งได้บาตรไม้จันทร์มา ต้องการทดสอบว่า มีพระอรหันต์ผู้ทรงฤทธิ์จริงหรือไม่ จึงเอาบาตรไปแขวนไว้บนต้นไม้ ประกาศให้พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์เหาะมาเอาภายใน ๗ วัน หากเกินนั้นไปแล้ว จะตกลงใจว่าไม่มีพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์จริง มีแต่ราคาคุย ว่าอย่างนั้นเถอะ

ย่างเข้าเช้าวันที่ ๗ พระโมคคัลลานะกับพระปิณโฑลภารทวาชะ กำลังเดินบิณฑบาตอยู่ ได้ยินเสียงคนเขาพูดเชิงดูหมิ่นว่าไม่มีพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์จริง พระโมคคัลลานะจึงให้พระปิณโฑละแสดงฤทธิ์ไปเอาบาตรให้ประชาชนดู

ท่านก็เข้าฌาน มีอภิญญาเป็นบาท เหาะไปเอาบาตรใบนั้น  เศรษฐีก็เลื่อมใสถวายอาหารและบาตรไม้จันทน์ให้ท่าน

เมื่อท่านกลับวัด ประชาชนก็แห่แหนตาม ส่งเสียงอื้ออึง  ความทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์ตรัสเรียกท่านปิณโฑละมาตำหนิแล้วรับสั่งให้ทำลายบาตร เอาผงจันทน์มาบดทำยา และทรงห้ามพระสาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อลาภลักการะอีกต่อไป

ท่านปิณโฑละ นอกจากมีฤทธิ์แล้ว ท่านยังมีความสามารถในการแสดงธรรมเป็นเยี่ยม  ครั้งหนึ่งท่านเหาะไปพักยังอุทยานของพระเจ้าอุเทน เมืองโกสัมพี  ขณะนั้นพระเจ้าอุเทนกำลังบรรทมหลับท่ามกลางนางสนมกำนัลจำนวนมาก นางสนมทั้งหลายเหป็นพระเถระมา ก็พากันละทิ้งพระเจ้าอุเทนไปกราบไหว้ท่านหมด ยกเว้นนางหนึ่งซึ่งกำลังถวายงานพัดอยู่ นางเขย่าพระอุเทนตื่นบรรทม

เมื่อเห็นนางสนมทั้งหลายทิ้งพระองค์ไปแวดล้อมสมณะหนึ่งอยู่ จึงทรงคิดอกุศลหวังจะเอารังมดแดงไปโปรยใส่ศีรษะพระสมณะ จึงทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปหักเอารังมดแดง

ทันใดนั้น มดแดงก็พรูขึ้นมากัดศีรษะและพระวรกายของพระองค์จนปวดแสบปวดร้อนไปหมด  นางสนมกำนัลทั้งหลายได้ช่วยกันเอาออกให้

พระเถระได้ฌานเหาะหนีไปแล้ว พระเจ้าอุเทนตรัสกับนายอุทยานบาลว่า ถ้าสมณะรูปนั้นมาอีกให้บอกด้วย จะขอขมาที่คิดล่วงเกิน และเมื่อทรงพบท่าน จึงทรงสนทนาธรรมกับท่าน ตรัสถามว่าเพราะเหตุไร สมณะหนุ่มในพระพุทธศาสนาจึงบวชอยู่ได้ตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่สตรีสวยงามมีจำนวนมาก ก็ไม่ยินดีในความสวยงามเลย

พระเถระตอบว่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้คิดว่าเป็นมารดาในสตรีที่อายุปูนมารดา คิดว่าเป็นพี่สาว น้องสาว ในสตรีที่อายุปูนพี่สาว น้องสาว  ท่านเหล่านั้นจึงประคองพรหมจรรย์ไว้รอดปลอดภัย

พระราชาตรัสว่า บางครั้งบางคราวความรักก็เกิดขึ้นได้กับสตรีอายุปูนแม่ หรือปูนพี่สาว น้องสาว ก็ได้

พระเถระตอบว่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาร่างกายโดยความไม่งาม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ ว่า เป็นสิ่งปฏิกูล ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี  ด้วยเหตุนี้ภิกษุเหล่านั้นก็สามารถประคองตนให้อยู่รอดปลอดภัยได้

พระเจ้าอุเทนซักว่า สำหรับพระเถระ หรือผู้อบรมจิตจนกล้าแข็งแล้วก็ยกไว้เถิด แต่พระหนุ่มที่จิตยังไม่กล้าแข็งพอก็รู้สึกจะยาก  พระเถระตอบว่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาว่า เห็นสักแต่เห็น ได้ยินสักแต่ได้ยิน รู้สึกสักแต่รู้สึก อย่าใส่ความยินดียินร้ายลงไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ภิกษุเหล่านั้นก็ประคองพรหมจรรย์อยู่รอดปลอดภัยได้

พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสในวิธีการแสดงธรรมของพระเถระ ว่าท่านสามารถหาวิธีแสดงให้พระองค์ทรงเข้าใจแจ่มแจ้งได้ดี จึงประกาศตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตั้งแต่นั้นมา

พระปิณโฑลภารทวาชะ  ได้รับการยกย่องในเอตทัคคะจากพระบรมศาสดาในทางเป็นผู้บันลือสีหนาท คือ เปล่งออกมาด้วยความมั่นใจในอรหัตผลที่ท่านบรรลุ ด้วยความองอาจกล้าหาญในมรรค ผล นิพพาน ที่ท่านได้บรรลุ และความเป็นผู้มีความสามารถในการแสดงอิทธิฤทธิ์ ท่านจึงได้เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนาตลอดชีวิตของท่าน

เฉพาะการแสดงอิทธิฤทธิ์ที่พระองค์ทรงห้ามสาวกแสดงนั้น ทรงห้ามเฉพาะแสดงฤทธิ์เพื่อ “ผลของฤทธิ์” คือ แสดงเพื่อให้เขาอัศจรรย์ว่าเก่งจริง และแสดงเพื่อลาภสักการะ

แต่ถ้าแสดงเพื่อเป็นสื่อชักจูงคนนอกศาสนาเข้ามาสู่พระศาสนา เป็นเครื่องปราบคนเมาฤทธิ์ให้สยบ แล้วจูงเขาเข้าสู่พุทธธรรม ย่อมสมควรกระทำได้

อ่านถึงตรงนี้แล้ว คงพอมองออกได้ว่า ที่บางคน บางสำนัก อวดอ้างปาฏิหาริย์ (ที่สร้างขึ้นเอง) เพื่อให้คนนำเงินมาถวายมากๆ นั้น ผิดพุทธประสงค์หรือไม่?...


ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระปิณโฑลภารทวาชเถระ : ผู้แสดงฤทธิ์ถูกพระพุทธองค์ตำหนิ,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://www.kalyanamitra.org/vdo/images/Songgitja.jpg)
ภาพจาก : www.kalyanamitra.org (http://www.kalyanamitra.org)

๑๕. สามเณรสังกิจ (“เกี่ยว”) ผู้กล้าหาญ  

ในครั้งพุทธกาล :ไม่ทราบว่ามีสามเณรมากน้อยเพียงใด

แต่คัมภีร์ระดับอรรถกถา เช่น ธัมมปทัฏฐกถา  (อรรถกถาธรรมบท) เล่าเรื่องสามเณรเก่งๆ ไว้หลายรูป ทำนองจะให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องเกิดครั้งพุทธกาล แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เป็นที่สงสัยกันอยู่   หลายท่านสันนิษฐานว่า นิทานธรรมบทแต่งขึ้นที่ศรีลังกานี้เอง แต่โยงกลับไปไกลถึงสมัยพุทธกาล ว่ากันอย่างนั้น

พระสารีบุตรดูจะถูกเกณฑ์ให้เป็นอุปัชฌาย์สามเณรอยู่องค์เดียว ไม่ว่าจะเล่าเรื่องสามเณรใด ก็ล้วนแต่บอกว่าเป็นลัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรทั้งนั้น  ดังสามเณรสังกิจ  (ที่จะเล่าต่อไปนี้) เป็นตัวอย่าง

สามเณรสังกิจ เป็นบุตรลูกสาวเศรษฐี  ขณะท้องแก่มารดาสิ้นชีวิตลง  ญาติพี่น้องนำไปเผาที่ป่าช้ามอบภาระให้สัปเหร่อจัดการ  ตกดึกสัปเหร่อเอาขอแทงศพและพลิกไปมาเพื่อให้ไฟไหม้ทั่วถึง หารู้ไม่ว่าในท้องศพนั้น เด็กยังมีชีวิตอยู่

รุ่งเช้าขึ้นมาสัปเหร่อไปดูว่าศพไหม้เรียบร้อยหรือยัง ก็ปรากฏว่ามีเด็กน้อยคนหนึ่งนอนอยู่บนกองฟอน สัปเหร่ออัศจรรย์ใจที่เด็กในท้องศพไม่ตายและไม่ถูกเผาไปด้วย  จึงอุ้มเด็กไปบ้าน พินิจดูอย่างละเอียดแล้ว มีเพียงหาตาเท่านั้นเป็นแผลเพราะถูกปลายขอเกี่ยว  แกจึงเลี้ยงดูเด็กน้อยเป็นลูก  ตั้งชื่อว่า สังกิจ  (แปลว่าเด็กชาย “เกี่ยว”  เพราะหางตาถูกขอเกี่ยวเป็นแผลเป็น)

หมอดูหมอเดาทำนายว่า เด็กคนนี้ถ้าอยู่ครองเรือนจะทำให้ครอบครัวพ่อแม่ (เลี้ยง) เจริญก้าวหน้า ถ้าบวชก็จะเป็นใหญ่ในพระศาสนามีบริวารจำนวนมาก

เมื่ออายุ ๗ ขวบ เด็กน้อยรู้ประวัติความเป็นมาของตน แล้วก็เกิดความสลดใจคิดอยากบวช จึงขออนุญาตพ่อเลี้ยงและแม่เลี้ยงบวชเป็นศิษย์พระสารีบุตร ซึ่งคุ้นเคยอยู่กับครอบครัวนี้

ว่ากันว่า เด็กน้อยคนนี้มีบุญญาธิการสั่งสมมาแล้วแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่จะได้บรรลุถึง “ที่สุดแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล" คือจะได้เป็นพระอรหันต์

ผู้ที่เกิดมาในชาติสุดท้ายและจะได้เป็นพระอรหันต์นี้ ท่านเรียกว่า “ปัจฉิมภวิกสัตว์”  ถ้ายังไม่บรรลุแน่นอน ต่อให้เอาเขาพระสุเมรุทับก็ไม่ตาย...ว่ากันถึงขนาดนั้น
เพราะเหตุนี้เอง ขณะที่เผาศพมารดา เด็กน้อยจึงมิได้เป็นอันตรายแม้แต่น้อย เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เรื่องผลของบุญของบาปนี้ มันลึกซึ้งมหัศจรรย์เกินวิสัยปุถุชนจะนึกถึงหรือเข้าใจ

พระพุทธองค์ตรัสว่า ในโลกนี้มีเรื่อง ๔ เรื่อง ถึงคิดจนหัวแตกก็ไม่มีทางเข้าใจ คิดมากก็อาจเป็นบ้าได้ (อุมฺมาทสฺส ภาคี อสฺส) ต้องผู้ที่บรรลุอภิญญา ระดับบุพเพนิวาสนุสสติญาณ (ญาณระลึกชาติหนหลังได้)  นั่นแหละจึงจะรู้จะเห็น

เด็กชายเกี่ยวรับกรรมฐานจากอุปัชฌาย์แล้ว บรรลุอรหัตผลทันทีที่คมมีดโกนจดศีรษะ  หมายความว่า พอมีดโกนจ่อศีรษะจะโกนผมเท่านั้น เธอก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที นี้ก็เพราะผลแห่งบุญกุศลที่ได้สั่งสมมา

ในระหว่างนั้น มีพระภิกษุจำนวน ๓๐ รูป มาทูลลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญธรรมในป่า พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่าจะเกิดอันตรายแก่พวกเธอ และสามเณรสังกิจจะช่วยได้ จึงรับสั่งให้พวกเธอไปลาพระสารีบุตรก่อน พระเหล่านั้นไปลาพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ทราบเช่นกันว่า พระพุทธองค์ทรงมีพุทธประสงค์อย่างไร จึงบอกให้พระเหล่านั้นพาสามเณรสังกิจไปด้วย พวกเธอไม่เต็มใจให้สามเณรไปด้วย

พระสารีบุตรกล่าวว่า “พาสามเณรไปเถิด เมื่อคราวมีอันตรายสามเณรจะช่วยพวกท่านได้”  พวกเธอจึงพาสามเณรไปด้วย ทั้งๆ ที่ยังงงๆ อยู่ว่า สามเณรตัวเล็กแค่นี้จะช่วยอะไรพวกเธอได้

พระเหล่านั้นไปพำนักอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีญาติโยมดูแลเรื่องอาหารบิณฑบาตอย่างดี   ชายเข็ญใจคนหนึ่งผ่านมา ได้กินอาหารของเหลือจากพระฉัน เห็นว่าวัดแห่งนี้มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงขออาศัยอยู่เป็นเด็กวัดคอยรับใช้พระ พระคุณเจ้าก็ไม่ขัดข้อง  

อยู่ได้สองเดือนชายเข็ญใจก็คิดถึงลูกสาว จึงลาพระคุณเจ้าไปเยี่ยมลูกสาว  บังเอิญต้องเดินผ่านดงแห่งหนึ่ง ซึ่งมีโจรชุกชม พวกโจรได้บวงสรวงเทพเจ้าว่า ไม่ว่าใครเดินผ่านมาทางนี้ พวกเขาจะจับฆ่าบูชายัญ  ชายเข็ญใจรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็กลัวตาย จึงต่อรองว่าเขาเป็นคนยากจน กินอาหารไม่ดี เนื้อและเลือดในกายของเขาคงไม่อร่อยเป็นที่ถูกใจเทพเจ้าแน่นอน  ห่างจากนี้ไปพอสมควร มีพระอยู่ ๓๐ รูป ล้วนเกิดจากสกุลสูง ฉันอาหารประณีต อ้วนท้วนสมบูรณ์ เนื้อและเลือดของพระภิกษุเหล่านั้นคงอร่อยหวานมันถูกใจเทพเจ้า

หัวหน้าโจรบอกให้ลูกน้องพาชายเข็ญใจไปยังวัดดังกล่าว ไปถึงเขาก็ตีระฆังให้สัญญาณ พระภิกษุทั้งหลายที่กระจายนั่งสมาธิอยู่ตามที่ต่างๆ ได้ยินเสียงระฆัง นึกว่าเกิดอันตรายขึ้นกับใครคนหนึ่ง จึงพากันมาประชุมกัน  เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต่างก็เสนอตัวไปกับพวกโจร

สามเณรเกี่ยวบอกว่า ตนเท่านั้นต้องรับภาระนี้ เมื่อพระสงฆ์ไม่ยอม จึงบอกให้พวกท่านย้อนรำลึกความหลัง ว่า "...สังกิจ จะช่วยพวกท่านได้เมื่อมีอันตราย..."

พระคุณเจ้าก็จนด้วยเหตุผล และยินยอมให้สามเณรไปกับพวกโจร  สามเณรก็มิได้สะทกสะท้านแต่ประการใด  พวกโจรนำสามเณรไปขังไว้รอเวลาทำพิธี ทำให้สามเณรมีเวลาเข้าสมาธิอย่างแน่วแน่ เมื่อได้เวลาหัวหน้าโจรก็ชักดาบฟันคอสามเณรหมายเอาเลือดบวงสรวงเทพเจ้าตามที่บนบานไว้  ดาบที่ฟันลงเกิดบิดงออย่างน่าอัศจรรย์  เขาดัดดาบให้ตรงแล้วแทงหมายให้ทะลุถึงหัวใจ  ปรากฏว่าดาบงอจนถึงโคนดุจใบตาลก็มิปาน

พวกโจรเห็นปาฏิหาริย์เช่นนั้นก็ “ถอดใจ”  ทิ้งดาบก้มกราบขอขมาสามเณร  พร้อมชักชวนบริวาร ขอบวชพร้อมกัน

สามเณรเกี่ยวได้เป็นอุปัชฌาย์บวชเณรให้โจรเหล่านั้น  อ่านมาถึงตรงนี้ก็ให้สงสัยครามครันว่า เณรเป็นอุปัชฌาย์บวชเณรได้ด้วยหรือ  คิดอีกที การบวชเณรสำเร็จด้วยการเปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์ (พระรัตนตรัย)  ไม่ว่าผู้ทำพิธีให้จะเป็นพระหรือเณรก็คงจะได้... ถึงตอนนี้สามเณรเกี่ยวเธอมีศิษย์ถึง ๕๐๐ รูป (จำนวนจริงอาจไม่ถึง คำว่า “๕๐๐” คงเป็นสำนวนภาษาแปลว่า “จำนวนมาก” เท่านั้น)

จึงพาพวกเธอไปเยี่ยมพระภิกษุ ๓๐ รูปเพื่อให้พวกท่านเบาใจว่าตนไม่มีอันตรายแต่ประการใด ตรงกันข้าม กลับสามารถกลับใจพวกโจรอีกด้วย  สามเณรเกี่ยวอำลาพระคุณเจ้าทั้งหลายพาพวกศิษย์ไปหาพระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ แล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ตรัสปฏิสันถารกับสังกิจสามเณร และสามเณรอดีตโจรเหล่านั้นว่า การกลับใจมาถือศีลแม้เพียงวันเดียวก็ประเสริฐกว่ามีชีวิตอยู่อย่างคนทุศีลตั้งร้อยปี
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  สามเณร "เกี่ยว" ผู้กล้าหาญ,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://webboard.narattamunee.com/index.php?PHPSESSID=4f21d88746beb0d6cbb8f537e392b751&action=dlattach;topic=638.0;attach=6294;image)

๑๖. พระอุบาลีเถระ : ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย  

พระอุบาลีเถระ :เป็นนายภูษามาลาในราชสำนักแห่งศากยวงศ์ กรุงกบิลพัสดุ์

เมื่อคราวที่ขัตติยราชกุมารทั้ง ๖ (อันมี เจ้าชายภคุ ภัททิยะ กิมพิละ อนุรุทธะ อานนท์ และเทวทัต) ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ที่อนุปิยะอัมพวัน หรืออนุปิยะนิคม แคว้นมัลละ  อุบาลีได้ออกบวชด้วย

เพื่อกำจัดการถือมานะจากใจ เจ้าชายทั้ง ๖ อนุญาตให้อุบาลีภูษามาลาบวชก่อน ท่านพระอุบาลีจึงเป็นผู้มีพรรษามากกว่ารูปอื่น บวชแล้วได้รับกรรมฐานจากพระพุทธองค์ ไปฝึกปฏิบัติไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต

พระอุบาลีเถระสนใจพระวินัย หรือระเบียบข้อบังคับของพระสงฆ์เป็นกรณีพิเศษ ท่านได้ศึกษาจากพระพุทธองค์จนมีความรู้แตกฉาน จนกระทั่งได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ในเอตทัคคะว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุอื่น ในทางทรงจำพระวินัย

ท่านได้วินิจฉัยอธิกรณ์สำคัญ ๓ เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องภารุกัจฉกภิกษุ เรื่องอัชชุกภิกษุ และเรื่องภิกษุณีโยมมารดาของพระกุมารกัสสปะ  การวินิจฉัยของท่านเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของพระพุทธบริษัท

ขอนำเรื่องการตัดสินอธิกรณ์เรื่องที่ ๓ มาเล่าให้ฟัง ดังนี้

ภิกษุณีสาวรูปหนึ่งอยู่ในปกครองของพระเทวทัต  ตั้งท้องขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เรื่องรู้ถึงพระเทวทัต พระเทวทัตสั่งให้สึกทันที โดยมิได้ไต่สวนอะไรเลย หาว่านางภิกษุณีต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุณีแล้ว
 
นางภิกษุณีกราบเรียนท่านว่านางมิได้กระทำเรื่องเลวร้ายดังกล่าวหา นางเป็นผู้บริสุทธิ์

พระเทวทัตกล่าวว่าบริสุทธิ์อะไรกัน ก็ประจักษ์พยานเห็นชัดๆ อยู่อย่างนี้ ยังจะมายืนยันว่าตนบริสุทธิ์อยู่หรือ

แม้ว่านางจะวิงวอนอย่างไร พระเทวทัตก็ไม่สนใจ สั่งให้สึกอย่างเดียว นางภิกษุณีจึงอุทธรณ์ต่อพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ทรงทราบก่อนแล้วว่าอะไรเป็นอะไร แต่เพื่อให้เป็นที่กระจ่างแจ้งและยอมรับกันโดยทั่วไป จึงทรงแต่งตั้งให้พระอุบาลีเถระเป็นผู้วินิจฉัยอธิกรณ์

เนื่องจากเป็นเรื่องของสตรี ท่านเองก็ไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ท่านจึงขอแรงนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ช่วยเหลือ

นางวิสาขาได้ตรวจร่างกายของนางภิกษุณี  ซักถามวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย วันที่ประจำเดือนหมดครั้งสุดท้าย ตลอดถึงตรวจตราดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกายทุกอย่าง แล้วลงความเห็นว่า นางภิกษุณีได้ตั้งครรภ์ก่อนออกบวช โดยที่ตนเองไม่ทราบ จึงรายงานให้อุบาลีเถระทราบ

พระเถระได้ใช้ความเห็นของเหล่าคฤหัสถ์นั้น เป็นฐานของการพิจารณาตัดสินอธิการณ์  ได้วินิจฉัยว่านางภิกษุณีบริสุทธิ์ มิได้ต้องปาราชิกดังถูกกล่าวหา

พระพุทธองค์ทรงทราบการวินิจฉัยของอุบาลีเถระแล้ว ทรงประทานสาธุการว่า วินิจฉัยได้ถูกต้องแล้ว  นางภิกษุณีรูปนี้จึงไม่ต้องลาสิกขาตามคำสั่งของพระเทวทัต

นางคลอดบุตรแล้ว ก็เลี้ยงดูในสำนักนางภิกษุณีชั่วระยะเวลาหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาพบเข้าในภายหลัง จึงทรงขอเด็กไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรมในพระราชสำนัก
เด็กน้อยคนนี้มีนามว่า กุมารกัสสปะ   ต่อมากุมารกัสสปะได้ออกบวชเป็นสามเณร บรรลุพระอรหัตตั้งแต่อายุยังน้อย และได้แสดงธรรมโปรดภิกษุณีผู้เป็นมารดาให้บรรลุพระอรหัตด้วย

เมื่ออุปสมบทแล้ว พระกุมารกัสสปะ เป็นพระเถระที่มีความสามารถในการแสดงธรรมได้วิจิตรพิสดารมาก ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุอื่นในทางกล่าวธรรมอันวิจิตร ได้โต้ตอบกับปายาสิราชันย์ ผู้มีมิจฉาทิฐิ (ผู้ความเห็นผิดว่า บุญบาปไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี) จนปายาสิยอมจำนน สละมิจฉาทิฐินั้น หันมานับถือพระพุทธศาสนาในที่สุด

กล่าวถึงพระอุบาลีเถระ  เมื่อครั้งพระมหากัสสปะ รวบรวมพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป กระทำสังคายนาหลังพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน  ท่านพระอุบาลีก็ได้รับเลือกเข้าประชุม และมีบทบาทสำคัญ คือเป็นผู้วิสัชนาพระวินัยให้ที่ประชุมสงฆ์ฟัง ทำให้การสังคายนาพระธรรมวินัยสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระวินัยของท่านได้รับยกย่องและนับถือสืบมาในวงการสงฆ์ยาวนาน จนกลายเป็น “ธรรมเนียมปฏิบัติ”  เพราะพระวินัยถือว่าเป็น “รากแก้ว” ของพระพุทธศาสนา”  เวลาจะส่งพระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน มักจะไม่ละเลยพระเถระที่มีความเชี่ยวชาญทางพระวินัย

ดังส่งพระอุบาลีเถระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังลังกาเมื่อสมัยอยุธยาตอนปลาย

สมณศักดิ์ที่ “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์”  (อาจารย์ผู้มีคุณสมบัติเหมือนพระอุบาลี) ก็คิดขึ้น โดยยึดท่านพระอุบาลีเถระเป็นต้นแบบ และจะพระราชทานให้เฉพาะพระเถระที่ทรงพระวินัย มีศีลาจารวัตรงดงาม น่าเลื่อมใสเท่านั้น

ถึงตรงนี้ก็ขอสรุปว่า คนดีนั้นใครๆ ก็อยากเอาเยี่ยงอย่าง
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระอุบาลีเถระ ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก



หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 มีนาคม 2556 11:54:41
.

(http://www.trueplookpanya.com/data/product/media/DHAMA_PORT/thumbnail/33.jpg) ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์  วรรณปก


ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์  วรรณปก   เป็นอาจารย์ หรือนักวิชาการทางด้านพุทธศาสนาและภาษาบาลี  ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์  และยังเป็นนักเขียนบทกวี ตำรา และบทความในนิตยสารหลายฉบับ

ประวัติและการศึกษา  เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ที่บ้านโนนสูง ตำบลเลิงแฝก (ปัจจุบันคือ ตำบลหนองแวง) อำเภอบรบือ (ปัจจุบันคืออำเภอกุดรัง) จังหวัดมหาสารคาม

เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอัมพวัน ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ศึกษานักธรรมและบาลีไวยากรณ์กับอาจารย์มหาบุดดี  ปุญญกโร เจ้าอาวาส จนกระทั่งสอบได้นักธรรมโท จึงได้ย้ายไปศึกษาต่อที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม  โดยเป็นลูกศิษย์พระมหาชม ธมฺมธีโร (พระราชปริยัตยาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม)

สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญ ๓ ประโยค  หลังจากนั้นกลับไปอยู่ที่วัดอัมพวันในบ้านเกิดสอบได้เปรียญ ๔ ประโยค แล้วจึงเดินทางมาศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

เป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ

พ.ศ. ๒๕๐๘  ได้เดินทางไปศึกษาภาษาสันสกฤต ณ วิทยาลัยตรีนิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Trinity College,  Cambridge University)  ประเทศอังกฤษ  และได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชียและมูลนิธิการศึกษาวัดทองนพคุณ พ.ศ. ๒๕๑๒  สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (เกียรตินิยม)  

เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ได้สอนพระปริยัติธรรม ณ วัดทองนพคุณ ดังเดิม

พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้ลาสิกขาและรับราชการเป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม  ต่อมาโอนไปเป็นอาจารย์สอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล  และโอนกลับไปคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร ตามเดิม  จนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ ๙ ก่อนจะลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕



วิทยฐานะ
• เปรียญธรรม ๙  ขณะเป็นสามเณร (รูปแรกในรัชกาลที่ ๙  สมัยเริ่มสอบด้วยข้อเขียน และเป็นรูปที่สามในสมัยรัตนโกสินทร์)  อุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์
• ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
• ปริญญาโท  สาขาภาษาตะวันออกโบราณ (บาลี – สันสกฤต) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  ประเทศอังกฤษ
• ดุฏฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. ๒๕๔๘
• ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์ แห่งคณะมหานิกาย) พ.ศ. ๒๕๕๐




หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 พฤษภาคม 2556 14:10:42
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRFHAQcYU5Ei_T9L3gWRWYI1uJ61Sj6Y03vbZPEpFvGlz04su_s)

๑๗. พระนันทเถระ : ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แลกนางฟ้า  

พระนันทะ : เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของพระพุทธเจ้า ท่านเป็นโอรสพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางมหาปชาบดีโคตมี ท่านมีขนิษฐานามว่า รูปนันทา

เมื่อพระนางสิริมหามายาสวรรคต หลังจากทรงมีพระประสูติกาล ๗ วัน เจ้าชายสิทธัตถะก็อยู่ในการเลี้ยงดูของพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระแม่น้า ซึ่งได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะสืบแทนพระราชมารดาของพระองค์

พระนางมหาปชาบดีโคตมี มีพระโอรสและพระธิดาสององค์ คือ นันทะ กับ รูปนันทา

ทั้งสององค์พี่น้องรูปร่างหล่อเหลา และสวยงามมาก เพราะเหตุนี้ จึงมีนามว่า “นันทะ-นันทา”  ซึ่งแปลว่าหล่อและสวยงาม
 
โดยเฉพาะรูปนันทา กนิษฐาของเจ้าชายนันทะนั้น หลงใหลได้ปลื้มในความสวยงามขอตนมาก ขนาดไปบวชเป็นภิกษุณีแล้ว ไม่ยอมไปฟังพระพุทธองค์เทศน์  เพราะเกรงว่าเสด็จพี่ของตนจะเทศน์ตำหนิความสวยงามของร่างกาย

หลังจากกาฬุทายี ทูตคณะสุดท้ายของสมเด็จพระพุทธบิดา ไปอัญเชิญเสด็จนิวัตเมืองกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าทรงตัดสินพระทัยเสด็จนิวัตเมืองมาตุภูมิ เพื่อโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติ โดยมีกาฬุทายี ซึ่งขณะนั้นได้บวชแล้ว และภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งโดยเสด็จ

วันที่ ๔ หลังจากเสด็จไปถึง ได้มีงานอาวาหมงคลระหว่างเจ้าชายนันทะ กับเจ้าหญิงชนปทกัลยาณี  พระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ได้รับอาราธนาไปประกอบพิธีมงคล หลังเสร็จภัตกิจ (เสวยเสร็จ) ประทานอนุโมทนา แล้วก็เสด็จกลับไปยังนิโครธาราม ที่ประทับชั่วคราวซึ่งอยู่นอกเมือง ทรงประทานบาตรให้นันทะกุมารอุ้มตามไปส่ง

ขณะนั้น พระชายาของเจ้าชายนันทะ ตะโกนบอกว่า “เจ้าพี่รีบกลับมานะ”  เจ้าชายอุ้มบาตรโดยเสด็จไปจนถึงที่ประทับ เพราะไม่กล้ากราบทูลให้ทรงรับบาตรระหว่างทาง พอไปถึงนิโครธาราม พระพุทธองค์ตรัสถามคำถามที่ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ปฏิเสธเท่าใดนัก คือ ตรัสถามว่า
       “นันทะ เธออยากบวชมิใช่หรือ”
       “พระเจ้าข้า” จำต้องตอบรับไป ด้วยเกรงพระทัย

เท่านั้นเอง พระพุทธองค์ก็ประทานการอุปบทให้พระภาดาของพระองค์เป็นภิกษุในทันใด บวชแล้วก็ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปยังพระเชตวัน เมืองสาวัตถี  พระหนุ่มไม่เป็นอันประพฤติพรหมจรรย์ เพราะหูแว่วแต่เสียงเพรียกของชายาว่า เจ้าพี่รีบกลับมานะ

พระพุทธเจ้าทรงทราบความในใจของพระหนุ่ม  วันหนึ่งจึงตรัสถามขณะอยู่สองต่อสองว่า
       “นันทะ ดูเธอไม่มีสมาธิปฏิบัติธรรม เธอคิดถึงอะไรอยู่หรือ”
       “คิดถึงชนปทกัลยาณี พระเจ้าข้า” ภิกษุหนุ่มบอกตามตรง
       “คิดถึงเรื่องอะไร”
       “คิดถึงว่า ข้าพระองค์ผิดสัญญาต่อนาง รับปากว่าจะรีบกลับก็ไม่กลับตามสัญญา”
       “นันทะ ชายาของเธอสวยมากหรือ เธอจึงครุ่นคิดถึง”
       “สวยมาก พระเจ้าข้า ไม่มีนางใดทัดเทียมอีกแล้วในโลกนี้”

จากนั้น พระพุทธองค์จึงจับแขนพระนันทะลับหายไปจากพระเชตวัน  ภิกษุหนุ่มรู้แต่ว่ากำลังเหาะลิ่วๆ ผ่านสถานที่ที่ตนไม่เคยรู้จัก มองไปเห็นนางลิงรุ่นหางกุดตัวหนึ่งนั่งจับเจ่าอยู่บนตอไม้แล้วก็ผ่านเลยไป เห็นเหล่าสาวงามมากมายเป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาก
       “นันทะ เห็นสาวงามเหล่านั้นไหม”
       “เห็นพระเจ้าข้า”
       “สวยไหม”
       “สวยพระเจ้าข้า นางพวกนี้เป็นใครพระเจ้าข้า”
       “นางเหล่านี้เป็นอัปสรกัญญาบนสรวงสวรรค์ เทียบกับชายาของเธอ ใครสวยกว่า”
       “ชนปทกัลยาณี  ถ้าอยู่ต่อหน้านางอัปสรกัญญาเหล่านี้แล้ว ก็มิต่างกับนางลิงรุ่นหางกุดตัวที่เห็นระหว่างทาง พระเจ้าข้า”
       “อยากได้ไหม นันทะ”
       “อยากได้ พระพุทธเจ้าข้า”
       “ถ้าเช่นนั้นกลับวัด เราตถาคตมีวิธีให้เธอได้นางเหล่านี้”

ว่าแล้วก็พากันเหาะลิ่วๆ ลงมายังพระอารามที่ประทับ ทรงสอนกรรมฐานให้พระนันทะฝึกปฏิบัติ โดยมิได้ตรัสบอกว่าเป็นกรรมฐาน  พระนันทะเข้าใจแต่เพียงว่า ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้วจะได้นางอัปสรกัญญาเป็นสมบัติ ก็คร่ำเคร่งปฏิบัติไปทุกวัน

ข่าวว่าพระนันทะปฏิบัติธรรมแลกนางฟ้า ก็ได้ยินไปถึงหูพระหนุ่มเณรน้อยที่ยังเป็นปุถุชนหลายรูป ท่านเหล่านั้นก็พูดว่าพระนันทะว่า ภิกษุรับจ้างบ้าง ภิกษุบวชแลกนางฟ้าบ้าง

พระนันทะพากเพียรฝึกปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต  พอถึงจุดนี้จึงรู้ว่า ที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ทำนั้น คือแนวทางตรัสรู้ธรรม มิใช่วิธีได้นางอัปสรกัญญา หากเป็น “กุศโลบาย” หรือเทคนิควิธีฝึกสอนสาวกของพระองค์วิธีหนึ่งเท่านั้นเอง

วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายพบพระนันทะ จึงพูดเย้าว่า “ท่านนันทะใกล้จะได้นางฟ้าหรือยัง เห็นคร่ำเคร่งปฏิบัติเหลือเกิน”  พระนันทะตอบว่า ท่านไม่ต้องการนางอัปสรกัญญาเหล่านั้นแล้ว  ท่านได้บรรลุถึงสิ่งที่ประเสริฐกว่าแล้ว

ภิกษุหนุ่มทั้งหลายหาว่าพระนันทะพยากรณ์อรหัตผล (อวดว่าตนได้บรรลุพระอรหัต) จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ

พระพุทธองค์ทรงทราบอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า นันทะมิได้อวดอ้างว่าบรรลุพระอรหัตผลดอก ที่เธอพูดนั้นเป็นความจริง บัดนี้จิตของนันทะพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย    ภิกษุทั้งหลาย ที่แล้วๆ มา จิตของนันทะเป็นดุจเรือนที่มุงไม่ดี ฝนตกมาก็รั่ว  บัดนี้ จิตของเธอเป็นดุจเรือนแก้วที่มุงบังดีแล้ว ฝนตกหนักอย่างไรก็ไม่รั่ว แล้วพระองค์ก็ตรัสคาถาธรรมว่า

       เรือนที่มุงเรียบร้อย
       ฝนย่อมไหลย้อยเข้าไปไม่ได้
       จิตที่อบรมเป็นอย่างดี
       ราคะไม่มีวันครอบงำ
พระนันทเถระ   เป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมอินทรีย์ แม้จะเป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า ก็ไม่เคยมีทิฐิมานะว่าเป็นสำคัญ หากถือตนว่าเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ความที่ท่านเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ ท่านช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระพุทธศาสนา โดยการสอนที่ไม่ต้องสอน นั่นคือ ดำรงตนให้สงบสำรวมเป็นตัวอย่างแห่งการดำเนินชีวิตที่สงบสุข  ให้คนได้เห็นและทำตาม การสอนแบบนี้มีผลยิ่งกว่าการพูดสอนเสียด้วยซ้ำ

ไม่มีหลักฐานระบุว่า ท่านดำรงชีวิตอยู่กี่พรรษาจึงนิพพาน และนิพพาน ณ ที่ใด
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระนันทเถระ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แลกนางฟ้า,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRl3q7063f9nAyOvQvNZS238_8jZkvdav2DJiKNvSlKp-zLgHZgIg)

๑๘. พระโสณะโกฬิวิสเถระ  

พระโสณะโกฬิวิสเถระ : เป็นบุตรของเศรษฐี เมืองจำปา  ซึ่งเชื่อกันว่าสมัยนั้นอยู่ในครอบครองของพระเจ้าพิมพิสารมหาราชแห่งมคธรัฐ

ท่านมีรูปงาม ผิวพรรณดั่งทอง จึงมีนามว่า โสณะ  (แปลว่าทองคำ)

และที่น่าประหลาดคือ ฝ่าเท้าทั้งสองของท่านนั้น มีสีแดงดุจดอกชบา มีขนสีนิลละเอียดขึ้นเต็มไปหมด

บิดามารดาได้สร้างปราสาทสามฤดูให้อยู่ เป็นที่นิยมในสมัยโบราณ  ถ้าใครรวยมาก ต้องการเอาใจบุตรชาย ก็มักจะสร้างปราสาทสามฤดูให้อยู่ พร้อมด้วยเครื่องบันเทิงเริงใจ เช่น ดนตรี ซึ่งประกอบด้วยสตรีล้วน ร่ายรำ ขับกล่อม คอยปรนนิบัติให้สุขสบายคลายเครียด

กิตติศัพท์ของเด็กหนุ่มผู้มีฝ่าเท้าพิสดารเล่าลือขจรไปไกล จนถึงพระกรรณของพระเจ้าพิมพิสาร
 
วันหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารมีพระบรมราชโองการให้พราหมณ์ผู้นำ ๘ ตำบล ในพระราชอาณาจักรของพระองค์เข้าเฝ้าด้วยพระกรณียกิจบางอย่าง

ในการประชุมครั้งนี้ ทรงมีพระบรมราชโองการให้โสณะเข้าเฝ้าด้วย รับสั่งว่านอกจากพระราชภารกิจที่จะทรงหารือกับพราหมณ์ผู้นำ ๘ ตำบลแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรฝ่าเท้าของโสณะด้วย

มารดาของท่านสอนบุตรชายว่า เวลาเข้าเฝ้า เจ้าอย่าเหยียดเท้าไปทางพระที่นั่ง เพราะเป็นการไม่สมควร เจ้าพึงนั่งคู้บัลลังก์ (นั่งสมาธิเพชร) ต่อหน้าพระที่นั่ง  แล้วเท้าทั้งสองของเจ้าก็จะหงายขึ้นเอง  พระราชาก็จะสามารถทอดพระเนตรได้ เด็กหนุ่มได้ทำตามมารดาสอน

พระเจ้าพิมพิสารทรงพอพระทัยที่ได้เห็นฝ่าเท้าประหลาดของเด็กหนุ่มโสณะ รับสั่งพราหมณ์ผู้นำ ๘ ตำบล ให้เข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก่อนกลับไปยังที่อยู่ของตน

พวกพราหมณ์รวมทั้งโสณะด้วย ขอร้องให้พระสาคตะพุทธอุปัฏญฐากเข้าไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ขณะประทับอยู่บนเขาคิชฌกูฏ ขอเข้าเฝ้าเพื่อฟังธรรม

พระสาคตะท่านแสดงอิทธิฤทธิ์มุดลงไปใต้ดิน ไปโผล่บนเขาคิชฌกูฏ กราบทูลพระพุทธเจ้า ครั้นได้รับพระพุทธานุญาตแล้วก็ชำแรกภูเขาลงมาโผล่ขึ้นท่ามกลางพวกพราหมณ์ เชิญพวกพราหมณ์ขึ้นไปเฝ้าพระพุทธองค์

บรรดาพวกพราหมณ์ทั้งหลาย เมื่อไปถึงสำนักของพระพุทธองค์ ไม่มีใครสนใจพระพุทธเจ้า เพราะมัวแต่อัศจรรย์ในอิทธิฤทธิ์ของพระสาคตะ พระพุทธองค์ทรงทราบความคิดของพวกเขาดี จึงมีพุทธบัญชาให้พระสาคตะแสดงอิทธิฤทธิ์อีกครั้ง

ท่านได้เหาะขึ้นไปบนอากาศ เดินจงกรมบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง บัดเดี๋ยวก็ปรากฏตัว บัดเดี๋ยวก็หายตัวไปอยู่บนอากาศ เป็นที่อัศจรรย์มาก แล้วก็ลงมากราบถวายบังคมพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า ประกาศเสียงดังว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์มีนามว่าสาคตะ เป็นสาวกของพระพุทธองค์พระเจ้าข้า”

พวกพราหมณ์ได้เห็นและได้ยินดังนั้น จึงอัศจรรย์ใจว่า “โอ ท่านสาคตะ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระสาวกยังมีฤทธิ์มากปานนี้ พระศาสดาจะทรงมีอิทธิปาฏิหาริย์สักปานใดหนอ” พวกเขาได้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธองค์อย่างยิ่ง ตั้งใจสดับพระธรรมเทศนาที่ทรงพระมหากรุณาแสดงให้ฟัง  

ซาบซึ้ง ดื่มด่ำโดยทั่วหน้ากัน

โสณะหนุ่มเลื่อมใสยิ่งนัก เมื่อพวกพราหมณ์กลับกันหมดแล้ว ไม่ยอมกลับ เข้าไปกราบทูลขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธองค์รับสั่งให้ไปขออนุญาตบิดามารดาก่อน จึงกลับไปขออนุญาตผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง  ซึ่งก็ได้รับอนุญาตโดยดี จึงกลับไปบวชในสำนักของพระพุทธองค์ บวชแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญเพียรอย่างแรงกล้า เพื่อบรรลุมรรคผลที่ต้องการ ไม่ว่าท่านจะพากเพียรอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ายิ่งห่างไกลเป้าหมายทุกที จนแทบท้อแท้

วันหนึ่งท่านนั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้างอย่างหนัก จนเท้าทั้งสอง (ซึ่งละเอียดอ่อนอยู่แล้ว)  พองและแตก มีเลือดไหล ประสบทุกขเวทนายิ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทานพระพุทธโอวาทแก่ท่าน ยกอุปมาอุปไมยด้วยพิณสามสายดังนี้
     “โสณะ เธอเคยสดับเสียงพิณสามสายบ่อยมิใช่หรือ เมื่อสมัยเป็นคฤหัสถ์”
     “บ่อย พระพุทธเจ้าข้า” พระหนุ่มกราบทูล
     “โสณะ เวลาเขาขึงสายพิณตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป เสียงพิณไพเราะหรือไม่”
     “ไม่เลย พระเจ้าข้า”
     “โสณะ ถ้าเขาขึงสายพิณพอดีๆ เสียงพิณฟังไพเราะหรือไม่”
     “ไพเราะ พระเจ้าข้า”
     “โสณะ การบำเพ็ญเพียรก็ดุจดังดีดพิณนั่นแล ถ้าหากบุคคลพากเพียรมากเกินไปก็จะประสบทุกขเวทนา จิตใจฟุ้งซ่าน
       ถ้าหากบุคคลมีความเพียรย่อหย่อนเกินไป ก็จะเกียจคร้านโงกง่วง พึงบำเพ็ญเพียรแต่พอดีๆ ควรปรับอินทรีย์
       ให้พอเหมาะพอดีกัน คือศรัทธาให้สมดุลกับปัญญา วิริยะ ให้สมดุลกับสมาธิ มีสติให้มากทุกกรณี”

ท่านสดับพระพุทธโอวาทแล้ว จากนั้นก็พยายามปรับการปฏิบัติของท่านให้พอเหมาะพอดี ให้ธรรมะทั้ง ๕ ประการ สมดุลซึ่งกันและกันไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสกับพระโสณะโกฬิวิสะว่า โสณะ เธอเป็นคนสุขุมมาลชาติ ฝ่าเท้าของเธอนั้นละเอียด เราตถาคตอนุญาตให้เธอใช้รองชั้นเดียวได้ พระโสณะปฏิเสธ กราบทูลว่า ถ้าจะประทานให้เป็นกรณีพิเศษไม่ขอรับ ถ้าจะประทานพุทธานุญาตก็ให้ประทานแก่พระสงฆ์ทั้งปวงด้วย

จากนั้น พระพุทธองค์จึงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสวมรองเท้าชั้นเดียวได้ เข้าใจว่าแต่แรกทีเดียว พระไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่รองเท้า ต่อมาทรงอนุญาตให้ใช้รองเท้าชั้นเดียวได้ และใช้หลายชั้นได้ ในชนบทที่มีพื้นที่ขรุขระ
 
พระโสณะโกฬิวิสะ ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเลิศกว่าผู้อื่นในด้านมีความเพียรกล้า สมกับเป็นพระพุทธชิโนรส ดังพุทธวจนะตรัสไว้ในที่หนึ่งว่า ศาสนาของพระองค์เป็นศาสนาของผู้พากเพียร ใครเกียจคร้านย่อมอยู่ในศาสนาของพระองค์ไม่ได้

มีข้อคิดนิดหนึ่งเกี่ยวกับท่านโสณะ คือเรื่องความเพียร พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญความเพียรเจริญ แต่ต้องเป็นความเพียรที่ถูกต้อง พอเหมาะพอดีไม่ใช่เพียรจนกลายเป็นความหักโหม

อุปมาอุปไมย ดุจดังพิณสามสายนั้น ทำให้เห็นภาพชัดเจน และเห็นแนวปฏิบัติชัดเจนเช่นกัน สามารถนำไปปรับใช้กับทุกเรื่องราวในชีวิตประจำวัน
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระโสณะโกฬิวิสเถระ,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRfPHrmXLjrNqH3G5QHgb0BhtHHbFAnBBGev-v6Ui-z3hyhrIXUxA)

๑๙. สามเณรนิรนาม สมัยพุทธกาล  

สามเณรนิรนามอีกรูปหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์มาก เหาะเหินเดินหาวได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ แต่ท้ายสุดก็เสื่อมจากฤทธิ์ เพราะวัยหนุ่มเป็นเหตุ

เรื่องราวเกิดขึ้นสมัยหลังพุทธกาล คงราว พ.ศ. ๙๐๐ กว่า ยุคที่อรรถกถา (หนังสืออธิบายพระไตรปิฎก) รุ่งเรือง ในอรรถกถา “สัมโมหวิโนทนี” เล่าไว้ว่า พระเถระอรหันต์รูปหนึ่ง พร้อมกับสามเณรผู้ติดตามเดินทางจากชนบท ไปยังวัดในเมืองหลวงอันชื่อว่า ปิงครบริเวณ เพื่อนมัสการพระเจดีย์และต้นพระศรีมหาโพธิ์

ขณะที่พระเถระทั้งหลายพากันไปไหว้พระเจดีย์ พระเถระจากชนบท ท่านไม่ได้ไปด้วย รอให้ผู้คนกลับกันหมดแล้ว กลางคืนดึกสงัด ท่านจึงลุกขึ้นไปไหว้พระเจดีย์แต่เพียงผู้เดียวเงียบๆ ไม่ให้รู้แม้กระทั่งสามเณร

สามเณรเฝ้าดูอาการของพระเถระด้วยความแปลกใจ จึงแอบเดินตามหลังไปเงียบๆ พระเถระกราบพระเจดีย์แล้ว ก็ลุกขึ้นยืนประคองอัญชลีจ้องพระเจดีย์ด้วยความเคารพอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน จนกระทั่งสามเณรกระแอมกระไอขึ้น จึงหันมาถามว่า สามเณรมาเมื่อไร

“มาพร้อมท่าน ขอรับ”

“เหรอ ฉันไม่ทันสังเกต”

“ท่านอาจารย์ไหว้พระเจดีย์ ไม่เห็นมีดอกไม้เลยขอรับ”

“ถ้ามีก็ดี แต่เมื่อไม่มี ด้วยจิตใจที่เลื่อมใส ก็เสมือนบูชาด้วยดอกไม้นั่นแหละ สามเณร”

“ถ้าท่านอาจารย์ประสงค์ดอกไม้ กระผมจะไปนำมาถวาย” ว่าแล้วก็เข้าฌานเหาะไปยังป่าหิมพานต์นำดอกไม้หลากสีใส่ธมกรก (กระบอกกรองน้ำดื่ม) มาถวายพระเถระ พระเถระเกลี่ยดอกไม้ลงยังแท่นบูชา กล่าวว่า “ดอกไม้มีน้อยนะ สามเณร”

“ท่านอาจารย์ขอรับ ขอให้ท่านรำลึกถึงพระคุณอันมหาศาลของพระพุทธเจ้าแล้วบูชาเถิด” สามเณรกล่าว

พระเถระก้าวขึ้นตามบันไดไปยังมุขด้านทิศปัจฉิม แล้วเกลี่ยดอกไม้ลงแท่นบูชา ทันใดนั้นแท่นบูชาเต็มไปด้วยดอกไม้ แถมยังหล่นลงมากองบนพื้นข้างล่างอีกสูงท่วมเข่า พระเถระเดินลงยังพื้นชั้นล่างวางดอกไม้บนฐานพระเจดีย์  ดอกไม้ก็แผ่เต็มบริเวณพระเจดีย์

“สามเณร ดอกไม้ยิ่งวางก็ยิ่งมีมาก” พระเถระหันมาพูดกับสามเณร สามเณรกราบเรียนท่านว่า “ท่านอาจารย์จงคว่ำธมกรกลง” พระเถระก็ทำตามทันใดนั้นดอกไม้ก็หมดไป

พระเถระอรหันต์ทรงอภิญญา ทราบว่า สามเณรหนุ่มนี้ต่อไปจักเสื่อมจากฤทธิ์เพราะมาตุคาม  จึงกล่าวเตือนว่า “สามเณร เธอมีฤทธิ์มาก แต่ถ้าเธอประมาท ต่อไปเธอก็จะเสื่อมจากฤทธิ์ เธอจักดื่มน้ำข้าวอันช่างทอหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำแล้ว”

สามเณรขัดใจนึกตำหนิว่า “พระผู้เฒ่านี้พูดอะไร ไม่เห็นเข้ารูหูเลย” ไม่ใส่ใจ เดินหนีไป

เมื่อพระเถระจะเข้าไปบิณฑบาต ให้สามเณรถือบาตรตามหลัง  สามเณรถามว่าท่านจะไปหมู่บ้านไหน เมื่อพระเถระบอกชื่อหมู่บ้าน สามเณรก็บอกว่านิมนต์ท่านอาจารย์ไปก่อนเถอะ ปล่อยให้พระเถระเดินไป จวนจะเข้าหมู่บ้านแล้ว จึงเหาะตามไปเอาบาตรถวายพระเถระ

พระเถระกล่าวเตือนสามเณรผู้คะนองด้วยการใช้อิทธิฤทธิ์ มันหวั่นไหว เสื่อมได้ ถ้าคะนองเมื่อมันเสื่อมแล้วจะเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ในที่สุด

“พระผู้เฒ่าพูดอะไร ไม่เข้ารูหู” สามเณรหนุ่มบ่นอีกด้วยความรำคาญ ไม่ยอมฟัง

วันหนึ่งสามเณรเหาะลิ่วๆ ผ่านไปสระบัวแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงหญิงสาวร้องเพลงไพเราะจับใจ ยังกับเธอกำลังออกคอนเสิร์ตกลางสระน้ำก็มิปาน สามเณร “ลอยคว้าง” กลางอากาศ  ตำราเปรียบว่า “เหมือนแมลงตาบอดติดอยู่ในรสหวาน” ไปไหนไม่ได้ ด้วยกำลังแห่งสมาบัติที่เหลืออยู่ถึงแม้ฤทธิ์จะเสื่อมแล้ว แต่ก็ไม่หล่นตุ๊บลงบนพื้นน้ำ  สามเณรผู้ต้องศรกามเทพค่อยๆ ลงมายืนริมฝั่ง สติยังมีอยู่บ้าง จึงรีบกลับวัดมาลาอาจารย์ว่าตนมีความจำเป็นจะต้องจากไป

พระเถระรู้ล่วงหน้าแล้วว่าอะไรเป็นอะไร จึงไม่เอ่ยปากทัดทานแม้คำเดียว ถึงห้ามก็คงไม่ฟัง  ดังพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ที่ว่า “ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิว์ขังไว้ ย่อมโลดและแล่นไป มิยอมอยู่ ณ ที่ขัง” ฉะนั้นแล

สามเณรถอดสบงจีวรทิ้ง ยืนคอยหญิงสาวอยู่ริมสระ หญิงสาวขึ้นจากสระน้ำรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงขอร้องให้สามเณรกลับไปอยู่วัดอยู่วาตามเดิม ชีวิตครองเรือนมันมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบดังสามเณรฝันดอก

ก็คงพูดปัดไปตามประสา แต่ใจจริงหญิงสาวก็มีใจปฏิพัทธ์สามเณรหนุ่ม เมื่อสามเณรยืนยันจะอยู่เคียงข้างน้องนาง ไม่ว่าจะเข้าดงกุหลาบหรือดงอุตพิตก็ตาม

“ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด”   ว่าอย่างนั้นเถอะ

ทั้งสองก็พากันกลับไปยังเรือนของหญิงสาว พ่อแม่หญิงสาวกว่าวว่า “พ่อหนุ่มเอย เราเป็นช่างหูกจนๆ พ่อหนุ่มจะอยู่กับเราได้หรือ พ่อหนุ่มเคยบวชเรียนอยู่ในเพศสมณะสบายๆ จะทนลำบากไหวหรือ”

พ่อหนุ่มผู้มีรักเป็นสรณะยืนยันแข็งขัน  จึงยกลูกสาวให้

ทั้งสองอยู่ครองรักกันต่อมา จนพ่อตาแม่ยายเสียชีวิต พ่อหนุ่มก็ได้เป็นหัวหน้าครอบครัวรับมรดกช่างทอหูกสืบไป ครอบครัวอื่นเขามีคนใช้หรือผู้ช่วยงานครอบครัว  ของอดีตสามเณรมีกันเพียงสองคน เมื่อครอบครัวอื่นเขาให้คนนำอาหารไปให้สามีของเขาที่โรงทอหูกแต่เช้า ภรรยาของอดีตสามเณรหนุ่ม ทำงานบ้านก่อน กว่าจะนำอาหารไปให้สามีก็สาย  สามีรอจนโมโหหิว เหตุการณ์มักจะเป็นอย่างนี้แทบทุกวัน

จนวันหนึ่งสามีทนไม่ได้ จึงดุด่าเอาแรงๆ ภรรยาก็เถียงเอาบ้าง   เท่านั้นเอง อดีตสามเณรผู้มีฤทธิ์ ก็ออกฤทธิ์แบบชาวบ้าน  คือ หยิบกระสวยขว้างแม่ยอดยาหยี  ปลายกระสวยทิ่มตาข้างหนึ่ง เลือดไหลเป็นทาง ตาบอด ร้องไห้ครวญครางด้วยความเจ็บปวด

อดีตสามเณร เห็นดังนั้น ก็ร้องไห้ครวญครางไม่แพ้ภรรยา ชาวบ้านต่างก็มาปลอบโยนทั้งสองคนว่า เรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว ทำคืนไม่ได้อย่าได้ถือสากันเลย  ถึงเมียตาบอดข้าง ก็ยังมีอีกข้างมองเห็นอยู่

อดีตสามเณรครางว่า “ฉันมิได้ร้องไห้เพราะเหตุนี้ดอก  ฉันร้องไห้เพราะนึกถึงคำพูดของพระเถระอาจารย์ของฉัน ท่านบอกว่า ต่อไปฉันจะกินน้ำข้าวที่ช่างทอหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำ   อาจารย์ท่านมองเห็นล่วงหน้าแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น อุตส่าห์ตักเตือน แต่ฉันไม่ฟัง”

....ดูเหมือนอดีตสามเณรหนุ่มแว่วเสียงของอาจารย์มาแต่ไกลฉะนี้แล
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  สามเณรนิรนาม สมัยพุทธกาล,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก

(http://trang82.files.wordpress.com/2011/01/83.jpeg)

๒๐. พระองคุลิมาลเถระ : ผู้ “ต้นคดปลายตรง”  

พระองคุลิมาลเป็นบุตรปุโรหิตแห่งราชสำนักพระเจ้าปเสนทิโกศล บิดาท่านนามว่าคัคคะ มารดานามว่า มันตานี วันที่ท่านเกิดนั้นบิดาเฝ้าอยู่ในสำนักพระราชวัง เกิดแสงรุ่งโรจน์ขึ้นที่พระคลังแสงเป็นที่อัศจรรย์ บิดาแหงนหน้าขึ้นดูท้องฟ้า เห็นดาวโจรลอยเด่นอยู่ จึงกราบทูลว่าเด็กที่เกิดขึ้นเวลานี้จะเป็นมหาโจรชื่อดัง

พระราชาตรัสถามว่า เป็นโจรธรรมดา หรือโจรชิงราชสมบัติ (ท่านใช้ศัพท์ว่า เอกโจร กับ รัชชทูสกโจร) เอกโจร ก็โจรเอกชน รัชชทูสกโจร ก็โจรปล้นราชบัลลังก์ อาจจะมีหลายคน
ปุโรหิตกราบทูลว่าโจรธรรมดา พระราชาก็ไม่สนพระทัย เพราะยังไงก็ไม่เดือดร้อนถึงพระองค์

เมื่อปุโรหิตก้าวเท้าขึ้นบ้าน คนในบ้านก็รายงานว่าท่านได้บุตรชายแล้ว ก็รู้ทันทีว่าเด็กที่ตนกล่าวถึงเมื่อครูใหญ่ๆ นั้นคือ บุตรชายของตน กลับไปกราบทูลให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบและขอพระบรมราชานุญาตกำจัดเสีย ซึ่งก็ได้รับการทัดทานจากพระเจ้าปเสนทิโกศล

บิดาจึงตั้งชื่อแก้เคล็ดว่า “อหิงสกะ” (ผู้ไม่เบียดเบียน)  อหิงสกะก็ทำท่าไม่เบียดเบียนใคร เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ประพฤติดี เรียนเก่ง พ่อส่งไปศึกษาอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์แห่งตักกศิลา ก็ตั้งใจเรียน เป็นที่รักของอาจารย์อย่างยิ่ง

จนศิษย์ร่วมสำนักอิจฉา หาทางยุยงอาจารย์ให้เกลียดและกำจัดเสีย

ในที่สุดอาจารย์ก็เชื่อคำยุยงของศิษย์อื่นๆ เรียกอหิงสกะไปกระซิบบอกว่าจะถ่ายทอด “วิษณุมนตร์” ให้เป็นการเฉพาะ แต่ให้ไปฆ่าคน เอานิ้วมือมา ๑,๐๐๐ นิ้ว จึงจะประกอบพิธีประสิทธิ์ประสาทมนตร์ให้ได้

ศิษย์เชื่ออาจารย์เพราะความอยากได้มนตร์ จึงออกไปฆ่าคนเพื่อที่จะเอานิ้วมือ เมื่อฆ่าคนได้มากเข้า จิตใจก็เหี้ยมเกรียมขึ้น นิ้วมือที่ตัดเอามาก็เน่าหลุดไปก่อนจะครบจำนวนที่กำหนด จึงเอาเถาวัลย์มารอยเป็นพวงแขวนคอไว้ จนปรากฏเสียงเล่าลือกันทั่วไปว่า มีโจร “องคุลิมาล” (พวงมาลัยนิ้วมือคน) ไล่ฆ่าคนที่ผ่านดง “ชาลินี” เป็นประจำ  เป็นที่ครั่นคร้ามของประชาชน จนไม่มีใครกล้าสัญจรผ่านไปทางนั้น

ความร้ายกาจขององคุลิมาลเล่าขานกันทั่วไป จนพระเจ้าปเสนทิโกศลต้องตัดสินพระทัยยกกองทัพย่อยๆ ไปปราบด้วยพระองค์เอง มารดาของท่านทราบข่าวด้วยความรักลูก จึงลอบออกจากเมืองเพื่อไปบอกข่าวให้ลูกระวังตัว

พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า บัดนี้องคุลิมาลเกิดสติฟั่นเฟือนแล้ว พบใครก็จะต้องฆ่าเพื่อเอานิ้วมือให้ได้ เธออาจจะทำอนันตริยกรรม ทำให้ถลำลึกลงไปอีก จึงเสด็จไปดักหน้าองคุลิมาล ก่อนที่มารดาท่านจะมาถึง

มหาโจรเห็นคนเดินมา พระสงฆ์องค์เจ้าก็ไม่สนใจ ขอให้ได้นิ้วมืออีกสักนิ้วก็ครบ ๑,๐๐๐ นิ้วแล้ว จึงชูดาบวิ่งไล่ พระพุทธองค์เสด็จดำเนินไปตามปกติ แต่ทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ไม่ให้องคุลิมาลไล่ทัน องคุลิมาลจึงตะโกนว่า “หยุด สมณะ หยุด”
 
พระองค์ตรัสว่า “เราหยุดแล้ว แต่เธอยังไม่หยุด” เมื่อเขาสงสัย จึงตรัสต่อว่า “เราหยุดทำบาป แต่เธอยังไม่หยุด” เท่านั้นแหละ มหาโจรก็วางดาบ เข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท รับฟังพระโอวาท พระองค์ตรัสสอน แล้วประทานอุปสมบทให้ นำท่านกลับไปยังพระเชตวัน

พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะเสด็จไปปราบองคุลิมาล ทรงทราบว่า องคุลิมาลบัดนี้ได้วางดาบแล้วมาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ก็ปวารณาพระองค์เป็นอุบาสกถวายความอุปถัมภ์

แรกๆ พระองคุลิมาลบิณฑบาตไม่ได้ข้าว เพราะประชาชนจำได้ก็พากันวิ่งหนี หรือไม่ก็เอาก้อนดินก้อนอิฐขว้างปา ได้รับความเจ็บปวด พระพุทธองค์ตรัสสอนให้ท่านอดทนเพราะเป็นเศษกรรมของท่าน

วันหนึ่ง ท่านเห็นหญิงมีครรภ์แก่เดินเหินลำบาก จึงมากราบทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสบอกให้ท่านแผ่เมตตาจิตให้นาง รุ่งเช้าขึ้น ท่านไปบิณฑบาตพบสตรีครรภ์แก่คนนั้น ท่านได้ยืนสงบใกล้ๆ เธอ เปล่งวาจาตั้งสัตยาธิษฐานว่า (ขออนุญาตคัดลอก เพราะสำคัญมาก)
     ยะโตหัง ภะคินี อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ

     “ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่ราเกิดมาในชาติเป็นอริยะ (ตั้งแต่บวช) เราไม่เคยคิดทำลายชีวิตสัตว์ใดเลย
     ด้วยสัจวาจานี้ ขอให้ความสวัสดีจงมีแก่ท่านและบุตรในครรภ์ของท่าน”

ว่ากันว่าสตรีท่านนั้นคลอดบุตรอย่างง่ายดาย จนเป็นที่เล่าขานกันต่อมาว่า ท่านเป็นผู้มี “มนตร์” ทำให้คลอดบุตรง่าย มาถึงตอนนี้ไม่มีใครกลัวท่านอีกต่อไปแล้ว

น่าสังเกตว่า คำกล่าวของท่านได้บันทึกไว้ในหนังสือสวดมนต์เจ็ดตำนานและสิบสองตำนาน ในชื่อว่า อังคุลิมาลปริตร ใช้สวดเพื่อเป็นสิริมงคลโดยเฉพาะ เพื่อทำให้คลอดบุตรง่ายมาจนบัดนี้

ท่านพระองคุลิมาล ได้รับสรรเสริญว่าเป็นพระเถระประเภท “ต้นคดปลายตรง” คือ เบื้องต้นประมาทพลาดพลั้ง แต่ต่อมากลับเนื้อกลับตัวเป็นสาวกที่ดีเป็นตัวอย่างของอนุชนรุ่นหลังเป็นอย่างดี

คนประเภทนี้เข้าลักษณะ “มืดมา สว่างไป” พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระองคิลุมาลเถระ : ผู้ “ต้นคดปลายตรง”,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 พฤษภาคม 2556 09:32:03
.

หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์  อาจารย์ของผมไม่ยอมบวชให้คนแก่ที่เข้ามาบวชเป็น “พระหลวงตา”  เพราะท่านนั้นเคยมีประสบการณ์อันเจ็บแสบเกี่ยวกับหลวงตา

เมื่อครั้งที่ท่านได้รักษากฐินพระราชทาน  ในทุกๆ ปี พระทุกรูปต้องลงรับกฐิน โบสถ์คับแคบไม่พอที่จะจุพระ ท่านจึงให้เฉพาะพระเปรียญมานั่งรับกฐิน พระที่เหลือค่อยลงมาอนุโมทนาภายหลัง

หลวงตาทั้งหลายนึกว่าพวกตนจะได้รับกฐินกะเขา (ได้ซองปัจจัยตามธรรมเนียมทุกปี) ก็โกรธ หาว่าสมภารใหม่เป็นใครมาจากไหน ฉันเคยรับทุกปี (นี่หว่า) พอถึงวันประชุมซ้อมรับกฐิน บรรดาหลวงตาก็พากันยกม็อบมาต่อว่าต่อขาน กว่าจะชี้แจงกันเข้าใจก็เล่นเอาเหนื่อย

ท่านจึงไม่ยอมบวชให้ผู้สูงอายุมาแต่บัดนั้น เหตุผลของท่านก็คือ พระแก่นั้นว่ายากสอนยาก

แล้วยกพระพุทธวจนะมาประกอบว่า “พระแก่ว่าง่ายหายาก พระแก่มักน้อยหายาก พระแก่เป็นพหูสูตหายาก..”

ผมไปเปิดคัมภีร์พระไตรปิฎกดู อ้อ จริงดังท่านว่า มีพุทธวจนะตรัสตำหนิพระแก่หรือหลวงตาไว้มากพอดู  วันนี้ขอเล่าเรื่อพระแก่ว่าง่ายสักรูป ถือว่ายกเว้นครับ
•...ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก   



(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTWxUdFQpMak1-cgAj7954zts_W6hFK_uYNHqqo78n6GupW1iB5)

๒๑. พระราธเถระ   : พระผู้เฒ่าผู้ว่าง่าย

พระราธเถระ : ท่านผู้นี้เกิดมาในสกุลพราหมณ์ มีครอบครัว ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวจนอยู่ดีมีสุข เมื่อแก่ตัวรู้ว่าสังขารร่างกายสู้งานไม่ไหว เพราะเรี่ยวแรงลดน้อยถอยลงไปแถมลูกเมียก็แสดงความรังเกียจ ไม่ค่อยดูแลด้วย ก็เลยนึกน้อยใจ หนีครอบครัวมาอาศัยพระอยู่ ช่วยรับใช้พระ เช่น ปัดกวาดลานวัด ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ให้ ต้มน้ำร้อนให้พระ เป็นต้น อาศัยข้าวก้นบาตรยังชีพไปวันๆ

พราหมณ์เฒ่าปรารถนาอยากบวช ขอพระบวชพระท่านก็ไม่ยอมบวชให้หาว่าแก่ไป จะบำเพ็ญกิจสมณะอะไรไหว จึงเฉยเสีย พราหมณ์เฒ่าก็ไม่ท้อถอยตั้งใจปรนนิบัติพระสงฆ์อย่างดี เผื่อว่าท่านจะเห็นใจ อนุญาตให้บวชบ้าง

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพระญาณ ค่อนรุ่งวันหนึ่ง พราหมณ์เฒ่าปรากฏในข่ายคือ พระญาณของพระองค์ พระองค์ทรงทราบว่าพราหมณ์เฒ่ามีอุปนิสัยสมควรที่จะโปรดให้บรรลุธรรมได้ จึงเสด็จไปยังสถานที่ที่ราธพราหมณ์อยู่ ตรัสถามว่า “พราหมณ์ เธอมาทำอะไรอยู่ที่นี่”
     “มารับใช้พระสงฆ์พระเจ้าข้า” พราหมณ์เฒ่ากราบทูล
     “เธอต้องการอะไร จึงมารับใช้พระสงฆ์”
     “ต้องการบวชเป็นภิกษุ พระเจ้าข้า แต่พระสงฆ์ท่านไม่บวชให้” พราหมณ์กราบทูล

พระพุทธองค์จึงทรงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ในวันหนึ่ง ตรัสถามว่า มีใครรู้จักพราหมณ์ชื่อ ราธะ  บ้างไหม

พระสารีบุตรกราบทูลว่า ท่านรู้จัก ราธพราหมณ์คนนี้เคยใส่บาตรท่านด้วยข้าวทัพพีหนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สารีบุตร เธอเป็นคนกตัญญูรู้อุปการคุณที่คนอื่นกระทำเธอนั้นแหละจงจัดการให้ราธพราหมณ์อุปสมบท เท่ากับทรงให้พระสารีบุตรรับรอง

เมื่อมีผู้รับรอง การอุปสมบทของราธพราหมณ์ก็เป็นไปโดยง่าย พระสารีบุตรก็รับหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์บวชให้ราธพราหมณ์ด้วย “ญัตติจตุตถกัมมวาจาอุปสมบท” (การบวชด้วยการสวดประกาศสี่ครั้ง รวมทั้งญัตติหรือข้อเสนอ) นับว่าราธพราหมณ์เป็นคนแรกที่ได้รับบวชด้วยวิธีนี้

ก่อนหน้านี้ การบวช พระพุทธเจ้าทรงทำเอง และทรงอนุญาตให้สงฆ์บวชด้วยการถึงสรณคมน์  (ติสรณคมนูปสัมปทา)  ในบางครั้ง การบวชด้วยญัตติจตุตถกัมมวาจานี้ พระสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธี มีอุปัชฌาย์ มีคู่สวด มีพระอันดับ ดังที่เราทราบกันในปัจจุบัน

เมื่อบวชแล้วพระราธะได้รับพระพุทธโอวาทสั้นๆ ว่า “ราธะขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นมาร เธอจงละความกำหนัดยินดีในขันธ์ ๕ นั้นเสีย จะได้ไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร”

ท่านได้ติดตามพระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ไปยังที่อยู่แห่งหนึ่งใกล้ๆ หมู่บ้านที่มีอาหารบิณฑบาตไม่ขาดแคลน ตั้งอยู่ในโอวาทของพระอุปัชฌาย์ โดยเคารพฝึกปฏิบัติอย่างเข้มงวด ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต

วันหนึ่งพระสารีบุตรพาท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงตรัสถามว่า “สารีบุตร สัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของเธอเป็นอย่างไรบ้าง
     “ว่านอนสอนง่ายดี พระพุทธเจ้าข้า แม้ถูกตำหนิแรงๆ ก็ไม่โกรธ ทำตามโอวาทอุปัชฌาย์อย่างดี”
     “สารีบุตร ถ้าสัทธิวิหาริกเป็นอย่างราธะนี้ เธอจะรับสักกี่รูป”
     “รับได้จำนวนมาก พระเจ้าข้า”

นี้แสดงว่าหน้าที่อุปัชฌาย์ที่ดีนั้นเป็นภาระหนัก ถ้ามีศิษย์หัวดื้อสักคนสองคนพูดปากเปียกปากแฉะคนเดียวก็เหนื่อยแล้ว แต่ถ้าศิษย์ว่านอนสอนง่าย สอนอะไรก็ปฏิบัติตามด้วยดี จะมีสักร้อยคนก็ยินดีรับสอน ดังกรณีพระราธะนี้

เป็นอันว่าพระราธะลบคำพูดที่ว่า “พระแก่ว่าง่ายหายาก” ได้โดยสิ้นเชิง

ท่านได้รับยกย่องชมเชยทั่วไปว่า เป็นพระแก่ที่น่ารัก ว่านอนสอนง่าย เป็นพระแก่ที่ทรงคุณความรู้ เป็นพหูสูตที่ขยันขันแข็ง อุปัชฌาย์คือพระสารีบุตร ก็ได้รับความชื่นชมโดยทั่วไป ว่าเป็นพระเถระที่มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศมาก่อนแล้ว โดยที่เวลานอนก็หันศีรษะไปทิศทางที่พระอัสสชิ พระอาจารย์ของท่านอยู่ ท่านรับรองราธพราหมณ์บวช และให้ความอุปการะช่วยเหลือเธอจนบรรลุพระอรหัต เกียรติคุณด้านกตัญญูกตเวทิตาธรรมของท่านก็ยิ่งปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น

เล่าเรื่องพระราธะรูปเดียวก็จริง แต่เราผู้อ่านได้คุณธรรมที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่สำคัญถึง ๒ ข้อด้วยกัน คือ โสวจัสสตา (ความเป็นคนว่าง่าย) และกตัญญูกตเวทิตา (ความรู้คุณและตอบแทนคุณ)

ข้อแรก จากปฏิปทาของพระราธะผู้ศิษย์  ข้อที่สอง จากปฏิปทาของพระสารีบุตรผู้อุปัชฌาย์  ศิษย์อาจารย์คู่นี้ เป็นแบบอย่างแห่งการปฏิบัติตนให้เป็นอุดมมงคลที่เราพุทธศาสนิกชนพึงดำเนินตามเป็นอย่างยิ่ง
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระราธเถระ : พระผู้เฒ่าผู้ว่าง่าย,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRWsijFi8iIVHaNAN5k79jTcNGHu4Bu1DGy43jjTy_An46PBSKz)

๒๒. พระมหากัจจายนะ : ผู้เลิศในการขยายความ  

พระมหากัจจายนะ เป็นบุตรของปุโรหิตเมืองอุชเชนี (หรืออุชชายินี) แคว้นอวันตีในครอบครองของพระเจ้าจัณฑปัชโชต สมัยยังเป็นเด็กท่านเป็นคนรูปงามเป็นคนใฝ่รู้ ศึกษาเล่าเรียนไตรเพทจนมีความเชี่ยวชาญแต่ยังหนุ่ม

เมื่อบิดาสิ้นชีวิตท่านได้รับตำแหน่งปุโรหิตในราชสำนักสืบแทนบิดา

พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญเสด็จมาโปรดเมืองอุชเชนี จึงรับสั่งให้ท่านกัจจายนะไปกราบทูลเชิญเสด็จ

ท่านกัจจายะได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตอุปสมบทด้วย เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ท่านได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมบริวาร ๗ คน ฟังพระธรรมเทศนาจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วทูลขออุปสมบท

หลังจากอุปสมบทไม่นาน ท่านพระมหากัจจายะได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองอุชเชนี พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “กัจจายนะ เธอนั่นแหละจงไป เมื่อเธอไปแล้ว พระเจ้าจัณฑปัชโชตจักทรงเลื่อมใส” ท่านจึงเดินทางกลับไปยังเมืองมาตุภูมิ พร้อมด้วยภิกษุ ๗ รูป

ไปถึงเมืองอุชเชนี พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงต้อนรับด้วยความเคารพ พระมหากัจจายนะได้แสดงธรรมให้พระราชาพร้อมพสกนิกรจำนวนมากฟัง

พระราชาทรงเลื่อมใส ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และได้ถวายความอุปถัมภ์ และทนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนเจริญมั่นคงในพระราชอาณาจักรของพระองค์ชั่วเวลาไม่นาน

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นๆ ท่านพระมหากัจจายนะประสบความลำบากในการวางรากฐานพระพุทธศาสนาอยู่บ้าง เพราะยังไม่มีผู้เกิดศรัทธาถึงขั้นเข้ามาบวช จำนวนพระสงฆ์ที่มีนั้นไม่พอจะกระทำอุปสมบทกรรมได้ เมื่อศิษย์ของท่านนามโสณะกุฏิกัณณะ จะบวช ต้องเสียเวลานานถึง ๔ ปี จึงหาพระสงฆ์ครบจำนวนกระทำอุปสมบทกรรมได้ ซึ่งในช่วงแรกนั้น พระสงฆ์ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไป จึงจะประกอบพิธีอุปสมบทแก่กลบุตรได้

แต่ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงผ่อนผันให้พระสงฆ์จำนวน ๕ รูปขึ้นไปประกอบพิธีอุปสมบทในปัจจันตชนบท ปัญหาดังกล่าวจึงหมดไป

ครั้งหนึ่งพระมหากัจจายนะได้แสดง ภัทเทกรัตตสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสโดยย่อให้พระสมิทธิฟังโดยพิสดาร พระสมิทธิมีความเข้าใจแจ่มแจ้ง หมดความสงสัย จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ

พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญว่า “ถ้าให้ตถาคตแสดง ก็จะแสดงเช่นเดียวกับกัจจายนะ” เป็นการประทานเกียรติ และรับรองความสามารถของพระมหากัจจายนะ

เพราะความสามารถนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่นในทางขยายความแห่งภาษิตโดยพิสดาร
การที่ท่านมีรูปงามและคล้ายพระพุทธองค์มาก ทำให้พระสาวกอื่นๆ เมื่อเห็นท่านแต่ไกล เข้าใจผิดว่าพระพุทธองค์เสด็จมา จึงพากันลุกรับเก้อบ่อยครั้ง

และครั้งหนึ่งเกิดเรื่องประหลาดขึ้น คือ บุตรเศรษฐีเมืองโสเรยยะ เห็นท่านรูปงาม จึงพูดด้วยความคะนองปากว่า “สมณะรูปนี้งามนัก ถ้าได้เป็นภรรยาก็จะดีไม่น้อย”

ทันใดนั้นเขาก็กลายเพศเป็นสตรีทันที เพราะล่วงเกินต่อพระอริยเจ้า ด้วยความละอายเขาจึงหนีไปเมืองตักศิลา ได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐีในเมืองนั้น จนมีบุตรหนึ่งคนต่อมาได้ขอขมาท่าน จึงกลับเพศเป็นชายตามเดิม

ว่ากันว่าตั้งแต่บัดนั้นมา ท่านพระมหากัจจายนะได้อธิษฐานให้ร่างกายท่านอ้วนท้วนสมบูรณ์ เพื่อจะได้ไม่เป็นสาเหตุให้ปุถุชนต้องทำบาปโดยไม่รู้ตัว เพราะคิดอกุศลต่อท่าน

ชาวพุทธในภายหลังได้สร้างพระอ้วนลงพุงเป็นอนุสรณ์แด่ท่านเรียกกันว่า “พระสังกัจจายน์” หรือ “พระสังกระจาย”

เพื่อการศึกษาเพิ่มเติม ขอนำเอาข้อความในภัทเทกรัตตสูตรมาสรุปให้ฟังตรงนี้  พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่พระเชตวันให้ภิกษุทั้งหลายฟัง พระธรรมเทศนาเป็นโศลกไพเราะดังนี้
“ไม่พึงย้อนนึกถึงอดีต ไม่พึงห่วงหาอนาคต อดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ผู้เห็นแจ้งปัจจุบันธรรม ณ สภาวะนั้นๆ ไม่หวั่นไหว ไม่คลอนแคลน พึงพอกพูนความสงบ พึงรีบทำความเพียรแต่บัดนี้ ใครเล่าจะรู้ว่าจะตายพรุ่งนี้ (หรือไม่) จะผัดผ่อนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ก็ไม่ได้ คนที่มีความเพียรอยู่อย่างนี้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน สัตบุรุษทั้งหลายเรียกเขาว่า คนมีราตรีเดียวเจริญ”

ข้อความย่อๆ นี้ พระมหากัจจายนะได้นำไปขยายให้พระสมิทธิฟังอย่างพิสดารจนท่านสมิทธิเข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋ ชื่นชมพระมหากัจจายนะมาก นำความกราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระองค์ทรงสรรเสริญดังกล่าวแล้วข้างต้น

พระมหากัจจายนะดำรงอยู่ควรแก่อายุขัยแล้วก็นิพพาน ไม่ทราบว่าก่อนหรือหลังพุทธปรินิพพาน แต่เข้าใจว่าคงก่อน เพราะในคราวที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่ปรากฏว่าท่านมีบทบาทอะไร แต่เท่าที่ทราบกัน เมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี ได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพาน จนถึงพุทธศตวรรษที่สอง ในการทำสังคายนาครั้งที่สอง พระเถระจากแคว้นอวันตีมีบทบาทสำคัญหลายรูป

เฉพาะท่านมหากัจจายนะเอง ได้รับการยอมรับจากชาวพุทธ นิกายสรวาสติวาทิน (นิกายอภิธรรม) ว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญรูปหนึ่งในการถ่ายทอดอภิธรรมนอกเหนือจากพระมหากัสสปะและพระสารีบุตร และตำราไวยากรณ์ อันชื่อว่ากัจจยานมูล (หรือมูลกัจจายน์) ก็มีผู้โยงไปถึงท่านว่าท่านเป็นผู้แต่ง

ถ้าจริงก็ไม่มีปัญหา ถ้าไม่จริง ก็แสดงว่าความสามารถของท่านในการขยายความ เป็นที่ยอมรับนับถือกันมากในหมู่ชาวพุทธ แม้กระทั่งใครจะแต่งขยายความเรื่องอะไรที่สำคัญ ก็มักยืม “ชื่อ” ของท่านไปใช้

ถ้ามองในแง่นี้ก็ไม่น่าเสียหาย เป็นการถวายเกียรติแก่ผู้ที่ตนเคารพ
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระมหากัจจายนะ : ผู้เลิศในการขยายความ ,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก



(http://picdb.thaimisc.com/p/prakruang/24229-11.jpg)

๒๓. พระสีวลีเถระ : พระผู้มีลาภมาก  

พระสีวลีเถระ เป็นพระที่ชาวพุทธนับถือกันในทางมีลาภมาก  ทำไมพระสีวลีจึงได้ชื่อว่าเป็นพระให้ลาภ ก็เพราะท่านได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” ว่า เป็นผู้เลิศในทางมีลาภ
 
บางครั้งเดินทางไปในที่ทุรกันดาร พระพุทธองค์ยังต้องให้พระสีวลีตามเสด็จไปด้วย เพื่อมนุษย์และเทวดาจะได้นำพาภัตตาหารมาถวายพระสงฆ์

เรื่องราวของท่านพระสีวลีนั้นก็ค่อนข้างแปลก ท่านเป็นบุตรของนางสุปปวาสา พระธิดาของเจ้าโกลิยวงศ์พระองค์หนึ่ง บิดาของท่านคือ เจ้ามหาลิลิจฉวี ขณะที่ท่านอยู่ในครรภ์ก็นำลาภมาให้มารดาเสมอ แต่ประหลาดตรงที่อยู่ในครรภ์นานถึง ๗ ปี ไม่ยอมคลอดลูกก็ได้ จึงคิดที่จะทำบุญกุศล บอกสวามีให้ไปทูลอาราธนาพระพุทธองค์ และสั่งว่า ถ้าพระพุทธองค์รับสั่งอย่างใดให้จำไว้ด้วย

สวามีไปกราบทูลอาราธนา เพื่อให้เสด็จมาเสวยพระกระยาหาร พระพุทธองค์ตรัสว่า “ขอให้สุปปวาสาจงมีความสุขปราศจากโรค และคลอดบุตรผู้ปราศจากโรคเถิด”

พระสวามีกราบถวายบังคมลา กลับไปถึงวังก็ทราบว่าพระกุมารได้ประสูติก่อนแล้ว นางสุปปวาสาทราบพระพุทธดำรัสก็ปลื้มปีติอย่างยิ่ง บอกให้สวามีไปทูลอาราธนาพระองค์มาเสวยพระกระยาหารติดต่อกัน ๗ วัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองบุตรเกิดใหม่ด้วย

ว่ากันว่า พระกุมารน้อยได้ช่วยเอาธรรมกรกกรองน้ำดื่มถวายพระสงฆ์หลังจากเกิดมาไม่นาน เป็นที่อัศจรรย์ บางท่านก็ว่าเพราะกุมารอยู่ในครรภ์ถึง ๗ ปี คลอดออกมาแล้วก็ย่อมมีความสามารถดุจเด็กอายุ ๗ ขวบ

แต่คัมภีร์กล่าวว่า เพราะบารมีที่กุมารบำเพ็ญมาแต่ปางก่อน จนคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้กลายเป็น “ธรรมดา” ของกุมารไป มิใช่เรื่องมหัศจรรย์อันใด หากเป็นผลสัมฤทธิ์ของบุญ

พระประยุรญาติทั้งหลายได้ขนานนามพระกุมารว่า “สีวลี”  สีวลีเจริญอายุมาได้ ๗ ขวบ รู้ความเป็นมาของตน กอปรกับบุญญาธิการแต่ปางหลังเตือน จึงสลดใจคิดอยากบวช ปรารภความนี้กับพระสารีบุตร พระสารีบุตรจึงขออนุญาตนางสุปปวาสาพระมารดา นางก็อนุญาต

สามเณรสีวลีก็สำเร็จพระอรหัตผลทันทีที่ปลงผมสำเร็จ นับแต่วันที่ท่านบรรพชามา ปัจจัยสี่ได้เกิดขึ้นแก่ท่านมากมาย ลาภผลเหล่านั้นได้เผื่อแผ่ไปยังพระสงฆ์ทั้งปวงด้วย

ไม่ว่าท่านพระสีวลีจะไปที่ไหน ไม่ว่าจะทุรกันดารเพียงใด ก็มักจะมีผู้นำเอาอาหารบิณฑบาตมาถวายเสมอ แม้จะไปพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ต่างก็มีอาหารฉันอย่างเพียงพอ ไม่ขาดแคลน

ความที่ท่านเป็นผู้มีลาภมากได้เลื่องลือไปทั่ว จนพระพุทธองค์ทรงประทานตำแหน่งเอตทัคคะในด้านเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่นในทางมีลาภมาก

สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก เสด็จเพื่อไปเยี่ยมพระเรวตะ (ขทิรวนิยเรวตะ) ผู้อยู่สงัดวิเวกรูปเดียวในป่าสะแก ไปถึงทางแยกแห่งหนึ่งพระอานนท์กราบทูลว่า ทางหนึ่งเป็นทางอ้อม ระยะทางไกลถึง ๖๐ โยชน์ ตามรายทางมีหมู่บ้านคนอยู่ แต่อีกทางหนึ่งเป็นทางตรง ระยะทางเพียง ๓๐ โยชน์ ไม่มีคนอยู่เลย เป็นทางทุรกันดาร เราจะไปทางไหน

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “สีวลีมากับเราด้วยหรือเปล่า”

“มา พระพุทธเจ้าข้า” พระอานนท์กราบทูล

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้นเราไปทางลัด” แล้วพระองค์ก็เสด็จดำเนินนำหน้าไป ที่พระพุทธองค์ไปทางลัดเพราะทรงทราบว่า ไม่ว่าจะไปทางไหน ถ้ามีพระสีวลีไปด้วยย่อมไม่ลำบาก ด้วยอาหารบิณฑบาต

ซึ่งก็จริงตามนั้น เหล่าเทวดาที่สิงอยู่ในป่า ต่างก็นำอาหารมาถวายพระพุทธองค์และพระสงฆ์ตลอดทางที่ผ่านไป เพราะผลบุญของพระสีวลี

การที่พระสีวลีมีลาภมากก็ดี ต้องอยู่ในครรภ์พระมารดาถึง ๗ ปี กว่าจะคลอดก็ดี ล้วนเป็นเพราะผลบุญและบาปที่ทำไว้ในปางก่อน ในคัมภีร์อุปาทาน ท่านได้เล่าอัตชีวประวัติไว้ว่า

ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านเป็นกษัตริย์เมืองหนึ่ง ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ แล้วตั้งความปรารถนาอยากได้เอตทัคคะในทางเป็นผู้มีลาภมาก

ต่อมาอีกในชาติหนึ่ง ท่านเกิดเป็นกุลบุตรผู้ยากไร้ ได้ถวายน้ำผึ้งกับนมส้มแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ด้วยศรัทธาอย่างยิ่ง

ด้วยอานิสงส์แห่งผลทานนั้น ท่านจึงเป็นผู้มีลาภมากในชาตินี้

ในส่วนที่ท่านต้องทุกข์ทรมานอยู่ในครรภ์ถึง ๗ ปี จึงคลอดนั้น ท่านมิได้กล่าวไว้ แต่พระสงฆ์ได้ทูลถามพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงเล่าว่า ในชาติหนึ่งพระสีวลีเกิดเป็นกษัตริย์ ยกทัพไปล้อมเมืองข้าศึก เพื่อเอาเป็นเมืองขึ้น ล้อมอยู่ ๗ ปี  กษัตริย์เมืองที่ถูกล้อม ไม่ยอมแพ้ จนกระทั่งชาวเมืองเดือดร้อนมาก จึงลุกฮือจับพระราชาของตน ยกเมืองให้กษัตริย์ผู้บุกรุก เพื่อยุติปัญหา

เพราะผลบาปที่ทำไว้นั้น ท่านจึงต้องอยู่ในครรภ์ถึง ๗ ปี กว่าจะคลอด หลังจากเสวยผลกรรมในนรกมานาน

พิเคราะห์ตามประวัติของท่านพระสีวลี ท่านมีลาภมากเพราะผลทานที่ถวายด้วยจิตเลื่อมใส ก็จะให้ความคิดแก่เราชาวพุทธว่า ถ้าเราอยากได้อะไรเราก็ควรให้ก่อน การทำบุญทำทานคือการให้ ยิ่งให้มากก็ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่ได้ “ยิ่งให้ยิ่งได้” นี้คือกฎธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น ท่านที่อยากได้ลาภ ถึงกับอุตส่าห์ไปเช่าพระสีวลีมาบูชา ก็ควรจะปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านพระสีวลีนั้นคือ ให้รู้จักทำบุญทำทานมากๆ  ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มาก ไม่เห็นแก่ตัว เมื่อนั้นแหละลาภผลก็จะหลังไหลมาสู่ท่านไม่รู้จักหมดสิ้น

คนที่เอาแต่ได้ บุญทานไม่เคยทำ ถึงจะแขวนพระสีวลีเต็มคอ ก็คงหาลาภไม่ได้อยู่ดี
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระสีวลีเถระ : พระผู้มีลาภมาก ,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRb9FqEV5s_jycNBBa1thT50fCG4abD9oXTF2JB3Wf-HB_7lJQC)

๒๔. พระภัททกาปิลานีเถรี  
ผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ด้วยตนเอง   

พระภัททกาปิลานีเถรี พระสาวกรุ่นแรกสุดถัดจากพระปัญจวัคคีย์ เห็นจะเป็นพระมหากัสสปะเถระพระผู้เฒ่าท่านนี้ ที่เคร่งครัดในธุดงควัตรมาก

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นประธานสังคายนาพระธรรมวินัย ตั้งเป็นระบบสืบทอดต่อมา

ทางฝ่ายพุทธนิกายเซน ยกให้พระมหากัสสปะเป็นผู้ได้รับถ่ายทอด “เซน” โดยตรงจากพระพุทธเจ้าด้วย

ส่วนมากก็ลืมนึกไปว่า เมื่อปิปผลิมาณพ (ซึ่งต่อมาก็คือพระมหากัสสปะ) ออกบวชนั้น สตรีนางหนึ่งมีนามว่า ภัททกาปิลานี (หรือภัททากาปิลานี) ได้ออกบวชร่วมกับสามีด้วย

แต่เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์ พระมหาปชาบดีโคตมียังไม่ได้บวช ภัททกาปิลานีจึงเพียงแต่ครองผ้ากาสาวพัสตร์ถือบวชเอง ยังไม่ได้รับการอุปสมบทจากภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ต่อเมื่อมีภิกษุณีสงฆ์แล้ว นางจึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีโดยสมบูรณ์

ตรงนี้ก็ฝากไว้เป็นที่สังเกตว่า สมัยก่อนใครคิดเบื่อหน่ายในเพศฆราวาสก็ถือเพศบรรพชิตเอาเองเลย รูปแบบนักบวชคงมีหลายรูปแบบ  ในสมัยนั้นใครชอบใจแบบไหน (เช่น แบบปริพาชก แบบโยคี ฤาษีชีไพร ก็ตามสบาย) ไม่มีกฎหมายห้ามเลียนแบบพระสงฆ์เหมือนสมัยนี้  สมัยนี้ใครจะถือตามชอบในอย่างนั้นไม่ได้ ผิดกฎหมาย

ภัททกาปิลานีเป็นบุตรรีของพราหมณ์โกลิยโคตร ในเมืองสาคละ (ฟังชื่อแล้วคงอยู่ทางเหนือของชมพูทวี)

วันหนึ่งนางพร้อมบริวารไปอาบน้ำที่ท่าสำหรับอาบประจำ อาบน้ำเสร็จแล้วก็ขึ้นไปบนศาลา ผลัดเสื้อผ้า แล้วก็พักอยู่ในห้องพักที่ศาลา บรรดาพี่เลี้ยงก็ลงอาบน้ำด้วย พอเดินกลับมาจะขึ้นศาลา เห็นรูปปั้นยืนอยู่ใกล้ทางเดิน นึกว่าเป็นภัททกาปิลานี พี่เลี้ยงคนหนึ่งจึงเอามือตบหลังเบาๆ พูดว่า “ทำไมนางมายืนอยู่ที่นี้ไม่ไปอยู่บนศาลา” เมื่อมือไปสัมผัสรูปปั้นก็รู้ว่ามิใช่นายหญิงของตน  จึงร้องขึ้นด้วยความประหลาดใจ พวกพราหมณ์ทั้ง ๘ คน ที่ซ่อนตัวอยู่ก็ปรากฏกาย ถามว่า รูปนี้เหมือนใครหรือ

“เหมือนหนูภัททกาปิลานี นายหญิงของเรา” พี่เลี้ยงตอบ

ความเดิมที่ว่า พ่อแม่ของปิปผลิมาณพต้องการสตรีที่มีรูปสมบัติและทรัพย์สมบัติพร้อมเสมอบุตรชายของตนมาเป็นสะใภ้ จึงสั่งให้หล่อรูปสาวงามด้วยทองคำแล้วให้พราหมณ์ ๘ คน นำรูปนั้นไปค้นหาสตรีที่มีรูปงามเหมือนในรูป พราหมณ์ทั้งแปดนำรูปปั้นขึ้นรถตระเวนไปยังเมืองต่างๆ

จนในที่สุดมาถึงเมืองสาคละ แคว้นมัทรัฐ จึงพากันเอารูปปั้นไปวางไว้ข้างทางไปสู่ท่าน้ำ ด้วยคิดว่าท่าน้ำมีคนไปมามาก คนเห็นรูปแล้วคงจะพูดว่าเหมือนพี่เลี้ยงของภัททกาปิลานี ก็ได้เข้าใจรูปปั้นนั้นผิด คิดว่าเป็นนายหญิงของตน ดังกล่าวข้างต้น

พราหมณ์ทั้งแปดจึงตามพี่เลี้ยงของนางไปยังศาลา เห็นรูปโฉมของนางสวยงามดังรูปปั้นไม่ผิดเพี้ยน จึงแจ้งความประสงค์ แล้วตามนางไปยังบ้านของนางไปถึงก็แจ้งให้พราหมณ์โกลิยะทราบถึงความประสงค์ พราหมณ์โกลิยะก็ตกลงยกลูกสาวให้เป็นคู่ครองของปิปผลิมาณพ บอกให้ทางฝ่ายชายจัดแจงตามประเพณีต่อไป

ฝ่ายปิปผลิมาณพทราบข่าวการ “คลุมถุงชน”  ใกล้จะเป็นความจริงแล้ว ซึ่งตนไม่ปรารถนาจะอยู่ครองเรือน จึงคิดหาทางหนีไปบวชก่อนที่พิธีอาวาหมงคลจะเกิดขึ้น (เมืองแขก เวลาแต่งงาน ฝ่ายหญิงจะต้องมาอยู่ตระกูลสามี “นำเจ้าสาวมา” จึงเรียกอาวาหมงคล)  เขียนจดหมายฝากคนไปบอกภรรยาในอนาคตว่า เขากำลังจะหนีไปบวช ไม่ปรารถนาจะอยู่ครองเรือน ขอให้นางจงหาชายใหม่เถิด

หารู้ไม่ว่าฝ่ายภัททกาปิลานีก็คิดเช่นเดียวกัน ได้ฝากจดหมายกับคนของนางมาเช่นกัน ผู้ถือข่าวสารทั้งสองฝ่ายไปพบกันระหว่างทาง ด้วยความอยากรู้ว่าหนุ่มสาวทั้งสองนั้นเขียนจดหมายรักมีสำนวนหวานหยดย้อยขนาดไหน จึงพากันเปิดดู (รู้สึกว่าจะเสียมารยาทไม่น้อย ไม่น่ากระทำ)

เมื่อเปิดจดหมายออกมา ปรากฏข้อความว่าทั้งสองคนต่างปฏิเสธการแต่งงาน จึง “รวมหัวกัน” แปลงสารใหม่เขียนจดหมายรักหยดย้อยหยาดเยิ้มให้กันและกัน

เมื่อจดหมายไปถึงบุคคลทั้งสอง ต่างก็นึกว่าอีกฝ่ายปรารถนาจะแต่งงานกับตน จึงจำต้องทนยอมทำตามประเพณี

เมื่อแต่งงานแล้ว ทั้งสองได้ทราบความประสงค์ของกันและกัน เพื่อมิให้บุพการีทั้งสองฝ่ายเสียใจ จึงยับยั้งอยู่ก่อนไม่ออกบวชในทันที ทั้งสองเป็นสามีภรรยาแต่ในนามเท่านั้น มิได้เหมือนสามีภรรยาทั่วไป คอยเวลาอันสมควรที่จะออกบวช
เมื่อพ่อแม่ของปิปผลิมาณพล่วงลับไป ทรัพย์สมบัติทั้งหมดตกเป็นของปิปผลมาณพ ปิปผลิมาณพเห็นว่าถึงเวลาทำตามปณิธานที่ตั้งไว้แล้ว จึงยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ภรรยา

ภรรยาของเขาก็บอกว่า นางก็ไม่ปรารถนาทรัพย์สมบัติ ต้องการจะบวชเช่นกัน ทั้งสองจึงมอบทรัพย์สมบัติให้กับคนในตระกูล แล้วก็นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ (ผ้าย้อมน้ำฝาด) บวชอุทิศพระอรหันต์ทั้งหลาย

ทั้งสองออกเดินทางเพื่อแสวงหา “พระอรหันต์” ที่ตนจะรับเป็นอาจารย์ (ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นใคร) ปิปผลิเดินหน้า ภัททกาตามหลัง ผ่านหมู่บ้านนิคมต่างๆ ต่อมาทั้งสองได้ตกลงแยกทางกันไปเพื่อแสวงหา “อาจารย์”

พระพุทธเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นปิปผลิมาณพในข่าย ก็คือพระญาณ จึงเสด็จไปดักหน้า ประทับอยู่ใต้ต้น “พหุปุตตนิโครธ”  (ต้นกร่าง)
เมื่อปิปผลิมาณพมาพบพระพุทธองค์ ก็รู้ด้วยสัญชาตญาณว่าท่านผู้นี้แหละคือพระอรหันต์ผู้จะเป็นอาจารย์ของตน จึงเข้าไปกราบถวายบังคมฟังโอวาท ในที่สุดได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุสาวกของพระพุทธองค์

ซึ่งต่อมาปรากฏนามในหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ว่า “พระมหากัสสปะเถระ”

ข้างฝ่ายภัททกาปิลานี ภายหลังเดินทางไปอยู่ที่ “ติตถิยาราม” (วัดของพวกนักบวชนอกพุทธศาสนา) ใกล้ๆ พระเชตวัน ภายหลังได้เข้ามาพระเชตวัน เพื่อขอบวชเป็นภิกษุณี แต่ก็ต้องรออยู่ระยะหนึ่ง เพราะช่วงนั้นพระพุทธองค์ยังมิได้ทรงอนุญาตให้สตรีเป็นภิกษุณี

ต่อเมื่อพระมหาปชาบดีโคตมี ได้รับอนุญาตบวชเป็นภิกษุณี นางจึงขอบวชตามบ้าง (เข้าใจว่าบวชในคราวเดียวกันนั้น) หลังจากอุปสมบทแล้วพระเถรีก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

พระเถรีเป็นผู้เชี่ยวชาญในการระลึกชาติได้ ต้องการระลึกได้กี่ชาติๆ ก็สามารถระลึกได้หมด พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องในเอตทัคคะ (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางระลึกชาติได้

นอกจากนี้ พระเถรียังเป็นพระธรรมถึก (สตรีน่าจะเรียกว่า พระธรรมกถิกา) ชั้นเลิศ มีพระธรรมกถิกาอีกรูปหนึ่ง มีชื่อเสียงพอกันคือ พระถูลนันทาเถรี  (นันทาอ้วน)  แต่รูปหลังนี้มักไม่สำรวมเป็นต้นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบทต่างๆ เสมอ และศิษย์ของภัททกาปิลานีหลายรูปไปนิยมชมชอบพระถูลนันทาเถรี ถูกชักพาทำผิดพระวินัยบ่อยๆ

ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการระลึกชาติได้ พระเถรีได้รำลึกนึกถึงอดีตชาติของตน บางชาติก็ทำกุศล บางชาติก็ทำอกุศล ทำให้เกิดสลดสังเวชในการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏของเหล่าสัตว์

เช่น ในชาติหนึ่ง นางอิจฉาน้องสามีที่ชอบทำบุญตักบาตร จึงแกล้งเอาของสกปรกใส่ถาดให้น้องสามีจะใส่บาตรถวายพระ ภายหลังสำนึกว่าไม่ควร จึงเทของสกปรกทิ้ง ล้างถาดให้สะอาด แล้วบรรจุอาหารอย่างดีให้นางแทน

วิบาก (ผล) แห่งกรรมครั้งนั้น ทำให้นางเกิดเป็นสตรีงามแต่กลิ่นตัวแรง แต่งงานกับใคร สามีไม่ยอมรับเลี้ยง ต้องเปลี่ยนสามีหลายคน เพราะต่างทนกลิ่นอันร้ายแรงของนางไม่ได้

นางจึงเอาทองคำทั้งหมดที่มีมาหลอมเอาไปช่วยสร้างพระวิหารถวายพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ จึงได้อานิสงส์เป็นผู้มีรูปร่างสวยงามมีกลิ่นตัวหอมหวน เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั้งปวง

นี้เป็นต้นอย่างของบุพกรรมของนางที่นางรำลึกได้แล้ว นำมาเล่าให้เหล่าศิษย์ฟัง เพื่อระมัดระวังไม่ทำบาปอกุศล

พระภัททกาปิลานีเป็นพระเถรีที่ใช้ความสามารถพิเศษของตน ทำประโยชน์แก่พุทธศาสนามากมาย ดำรงชนม์อยู่จึงถึงอายุขัย (นานเท่าใดไม่แจ้ง) แล้วก็นิพพาน
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระภัททกาปิลานีเถรี : ผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ด้วยตนเอง ,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Sunny7855 ที่ 12 มิถุนายน 2556 10:52:00
เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากเลยค่ะ


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มิถุนายน 2556 15:29:24
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQExHvXwexAeehM7UxgTEI5d9anU6sgf99deMkZHC7GsHWNb-wS)

๒๕. พระราหุลเถระ  
ผู้มีความใคร่ในการศึกษา  

พระราหุลเถระเป็นพระสาวกรูปแรกที่บวชแต่อายุเพิ่ง ๗ ขวบ จึงเป็น “บิดา” แห่งสามเณรทั้งหลาย

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า เสด็จนิวัติไปโปรดพระประยูรญาติที่เมืองกบิลพัสดุ์นั้น พระมารดาของท่าน (พระนางยโสธราพิมพา)  ได้บอกกับพระราหุลกุมารว่า ตั้งแต่พระบิดาเสด็จออกผนวช ขุมทรัพย์ที่ปรากฏขึ้นพร้อมกับการประสูติของพระองค์ได้หายไป ขอให้ราหุลกุมารไปทูลขอขุมทรัพย์นั้น

ขณะที่พระพุทธองค์พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์จำนวนมาก เสด็จออกบิณฑบาตอยู่ในเมือง ราหุลกุมารก็ติดตามพระบิดาไป พลางร้องว่า “สมณะ ขอขุมทรัพย์ๆ” พระพุทธองค์มิได้ตรัสตอบ คงเสด็จดำเนินไปเรื่อย

จนกระทั่งไปถึงนิโครธาราม สถานที่ประทับชั่วคราวอยู่นอกเมือง ราหุลกุมารเข้าไปนั่งใกล้พระพุทธองค์ มีความรู้สึกสงบและร่มเย็นอย่างประหลาด จนถึงกับอุทานออกมาว่า “สมณะ ร่มเงาของของท่านสบายจริงๆ (สุขา เต สมณ ฉายา)

พระพุทธองค์ทรงดำริว่า อันทรัพย์สมบัตินั้นๆ ในโลกย่อมไม่จีรังยั่งยืน อย่ากระนั้นเลย เราจะให้อริยทรัพย์แก่ราหุลดีกว่า แล้วพระองค์จึงมีพุทธบัญชาให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร

เนื่องจากไม่เคยมีเด็กบวชมาก่อน พระเถระจึงกราบทูลถามวิธีปฏิบัติ พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้บวชด้วยการเปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์

การบวชของราหุลจึงมีชื่อว่า ติสรณคมนูปสัมปทา  การอุปสมบทด้วยการถึงสรณะสาม

ต่อมาการบวชแบบนี้ได้ใช้สำหรับการบวชสามเณรเท่านั้น บวชแล้วสามเณรราหุลเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษามาก
ว่ากันว่าในทุกๆ เช้าสามเณรน้อยลงมากอบทรายเต็มกำมือ แล้วอธิษฐานดังๆ ว่า “วันนี้ขอให้เราได้ฟังโอวาทจากพระพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาย์มากมาย ดุจเมล็ดทรายในกำมือเรานี้”

พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านว่าเอตทัคคะในทางเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา

สามเณรราหุลไม่เคยถือตนว่าเป็นโอรสพระพุทธเจ้า ท่านเป็นคนว่าง่ายและมีความเคารพในพระสงฆ์ ครั้งหนึ่งพระจากชนบทจำนวนหนึ่งมาพักที่พระเชตวัน เนื่องจากพระวินัยห้ามภิกษุนอนในที่เดียวกับอนุปสัมบัน จึงไล่ให้สามเณรราหุลไปข้างนอก โดยไม่คำนึงว่าสามเณรน้อยจะไปอยู่ที่ไหน

สามเณรราหุลไม่มีที่อยู่ จึงเข้าไปพักอยู่ที่วัจกุฎี (ส้วม) ของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์เสด็จไปพบเข้ากลางดึก จึงนำท่านกลับมาพักที่พระคันธกุฎีของพระองค์

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น พระองค์จึงทรงลดหย่อนผ่อนปรนสิกขาบทข้อที่ว่า ด้วยห้ามภิกษุอยู่ในที่มุงบังเดียวกับอนุปสัมบันเกินหนึ่งคืน ขยายเวลาออกเป็นสามคืน  

ท่านได้ฟังพระพุทธโอวาทหลายครั้ง พระโอวาทองค์ที่น่าสนใจเป็นพิเศษอยู่ครั้งหนึ่งน่าสนใจมาก ก็เพราะทรงสอนให้ใช้สื่อเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อเหมาะแก่อุปนิสัยของเด็กเป็นอย่างยิ่ง นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับโทษของการพูดเท็จ

พระพุทธองค์ทรงจับขันน้ำล้างพระบาทขึ้น แล้วทรงเทน้ำลงหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสถามว่า
     “ราหุล เห็นไหม น้ำที่เราเทลงหน่อยหนึ่งนี้”
     “เห็น พระเจ้าข้า” สามเณรน้อยกราบทูล
     “ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งๆ ที่รู้ เทคุณความดีออกจากตนที่ละนิด เหมือนเทน้ำออกจากขันนี้”
     “ราหุล เห็นไหม น้ำที่เราเทออกหมดนี้” ตรัสถาม หลังจากทรงเทน้ำหมดขัน
     “เห็น พระเจ้าข้า”
     “ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งๆ ที่รู้ ย่อมเทน้ำคุณความดีออกหมด เหมือนเทน้ำที่เราเทออกหมดนี้”

เสร็จแล้วทรงคว่ำขันลง ตรัสถามว่า
     “ราหุล เห็นไหม ขันที่เราคว่ำลงนี้”
     “เห็น พระเจ้าข้า”
     “ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งๆ ที่รู้ ย่อมคว่ำคุณธรรมออกหมดเหมือนขันคว่ำนี้”

เสร็จแล้ว ทรงหงายขันเปล่าขึ้น แล้วตรัสถามว่า
     “ราหุล เห็นไหม ขันเปล่าที่เราหงายขึ้นนี้ ไม่มีน้ำเหลือเลย”
     “เห็น พระเจ้าข้า”
     “ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมไม่มีคุณความดีเหลืออยู่เลย ดุจขันเปล่านี้”

ทรงสอนโดยใช้สื่อประกอบเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งทำให้เด็กน้อยได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง คำว่า “คุณความดี” ที่คนพูดเท็จทั้งๆ ที่รู้ เทออกจากตนนี้ ท่านใช้ศัพท์ว่า สามญฺญํ  แปลว่า ความเป็นสมณะหรือความเป็นพระนั่นเอง

คนที่พูดเท็จทั้งๆ ที่รู้ ย่อมเทความเป็นพระออกทีละนิดๆ จนไม่มีเหลือ กลายเป็น”คนโกหกหลอกลวง” หรืออลัชชีในที่สุดนั้นแล

ครั้งสุดท้ายท่านได้ฟังจุฬราหุโลวาทสูตรที่ ๒ เนื้อหาว่าด้วยขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ท้ายพระสูตรได้บันทึกไว้ว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตจากการฟังพระโอวาทนี้

ไม่ได้บอกว่าท่านบรรลุพระอรหัตเมื่ออายุเท่าไหร่ คาดว่าคงจะอายุประมาณ ๑๘ ปี และเมื่อท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ (เข้าใจว่าพระสารีบุตรอัครสาวก คงจะเป็นพระอุปัชฌาย์เช่นเดิม)

พระราหุลเถระมีสมญานามที่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายขานอีกอย่างหนึ่งว่า ราหุลภัททะ แปลว่า ราหุลผู้โชคดี หรือ ราหุลผู้ดีงาม

พระราหุลเถระยอมรับว่า คำพูดนี้เป็นความจริง เพราะท่านนับว่ามีโชคดีถึงสองชั้น  

โชคชั้นที่หนึ่ง ได้เป็นโอรสของเจ้าชายแห่งศากยวงศ์

โชคชั้นที่สอง ได้เป็นโอรสในทางธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระราหุลเถระนิพพานเมื่ออายุเท่าไร ไม่มีบันทึกไว้ที่ไหน ทราบแต่ว่าท่านนิพพานก่อนพระอุปัชฌาย์ และก่อนพุทธปรินิพพาน ถ้าเช่นนั้นท่านก็คงนิพพานเมื่ออายุไม่มากนัก

สถานที่นิพพานของท่าน คือ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระราหุลเถระ : ผู้มีความใคร่ในการศึกษา ,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTN8hRiFFLOEqu4VPkyiI8L4lQIZ1eSNp6UH7O3tpX5q2xP-yZr6A)

๒๖. สามเณรนิรนาม สมัยกัสสปะ พุทธเจ้า  

วันนี้ขอเล่าประวัติสามเณร “นิรนาม” รูปหนึ่ง มีชีวิตอยู่ก่อนพุทธกาลนี้ คือในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ว่าอย่างนั้น

ความว่า ในอารามแห่งหนึ่ง มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่อาศัยอยู่ ภิกษุทั้งหลายถือ “วัตร” อย่างเคร่งครัด คือตื่นเช้าขึ้นมาก็จะจับไม้กวาดกวาดลานวัด ลานเจดีย์ เก็บขยะไปทิ้ง อย่างพร้อมเพียงกัน วัดวาอารามสะอาดสะอ้านน่ารื่นรมย์ สมนาม “อาราม”

อาราม แปลตามศัพท์ว่า สถานที่ที่คนมาแล้วรื่นรมย์ (อาคนฺตฺวา รมนฺติ เอตฺถาติ อาราโม = สถานที่ใดที่คนทั้งหลายมาถึงแล้วมีความรื่นรมย์ สถานที่นั้นเรียกว่า อาราม)

ส่วนสถานที่ใดแม้ว่าจะมีพระสงฆ์อยู่ คนเข้าไปถึงแล้ว มีแต่ความหงุดหงิดรำคาญใจ เหลียวไปไหนก็มีแต่ขยะ และรอยขีดเขียนคำไม่สุภาพตามกำแพง และมีกลิ่นปัสสาวะเหม็นคลุ้ง แถมยังมีเสียงเพลงลูกทุ่งลอยมากับสายลม  อ้อ ตามลานวัดก็มีตลาดสด หรือไม่ก็เป็นลานจอดมากกว่าจะทำเป็นสวนหย่อม มีต้นไม้ใบหนา ให้คนที่มาถึงได้นั่งพักให้ร่มรื่นชื่นอารมณ์ สถานที่ดังว่านี้ไม่สมนามว่า อาราม ดอกครับท่าน

วันหนึ่งภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งกวาดลานวัดอยู่อย่างขะมักเขม้น เรียกสามเณรน้อยรูปหนึ่งมาสั่งว่า สามเณรเอาขยะไปทิ้งที สามเณรน้อยทำเป็นไม่ได้ยิน ภิกษุหนุ่มนึกว่าสามเณรไม่ได้ยินจริงๆ จึงเรียกตั้งสามครั้ง เจ้าสามเณรน้อยรูปนี้ก็แกล้งเอาหูทวนลมเสีย

ภิกษุหนุ่มจึงเอาด้ามไม้กวาดตีสามเณรพร้อมคำรามว่า “มันดื้อจริงวะ เณรน้อยรูปนี้” บังคับให้เธอเอาขยะไปทิ้งจนได้

สามเณรน้อยร้องไห้พลางขนขยะไปทิ้งพลาง แล้วตั้งความปรารถนา (อธิษฐาน) ดังๆ ว่า “ด้วยบุญคือการนำขยะไปทิ้งนี้ ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังไม่บรรลุพระนิพพาน ไม่ว่าจะเกิดในชาติภพใด ก็ขอให้เป็นผู้มีศักดิ์ (อำนาจ) มากดุจแสงพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน”

เมื่อทิ้งขยะเสร็จแล้ว จึงไปอาบน้ำยังแม่น้ำ เห็นคลื่นมันก่อตัวแล้วซัดเข้ามาฝั่งแล้วๆ เล่าๆ จึงตั้งความปรารถนาว่า “ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุพระนิพพาน ไม่ว่าจะเกิดในชาติภพใด ขอให้มีปฏิภาณเฉียบคมไม่รู้หมดสิ้นดุจเกลียวคลื่นเหล่านี้”

ฝ่ายภิกษุหนุ่ม ไปอาบน้ำเหมือนกัน ได้ยินสามเณรน้อยอธิษฐาน ดังนั้น  ก็ยิ้มนึกในใจ (นึก “ในใจ” ทั้งนั้นแหละ “นอกใจ” ไม่มีดอก)  ว่าเณรเปี๊ยกนี้ ทิ้งขยะก็เพราะเราใช้ให้ทำ ถ้ามีอานิสงส์จากการทิ้งขยะ เราควรจะได้ก่อน ว่าแล้วก็อธิษฐานดังๆ ว่า "ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังไม่บรรลุพระนิพพาน ไม่ว่าจะเกิดในชาติภพใดขอให้มีปฏิภาณไม่รู้หมดรู้สิ้นดุจคลื่นเหล่านี้ และขอให้สามารถแก้ปัญหาทุกข้อที่สามเณรนี้จะพึงถาม”

ทั้งสอง คือ ทั้งภิกษุหนึ่งและสามเณร ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏตลอดพุทธันดรหนึ่ง ตกมาถึงพุทธกาลนี้ สามเณรนิรนามนั้นมาเกิดเป็นพระยามิลินท์   (เป็นชาวกรีก นามว่า เมนานเดอร์) ภิกษุหนุ่มมาเกิดเป็นบุตร โสณุตตรพราหมณ์ แห่งหมู่บ้านกชังคละ เชิงเขาหิมาลัย  เด็กน้อยมีนามว่า  นาคเสน

พราหมณ์ผู้เป็นพ่อเป็นพราหมณ์นับถือศาสนาฮินดู มิได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไม่เคยทำบุญในพระพุทธศาสนา แม้จะมีพระภิกษุรูปหนึ่งยืนที่หน้าบ้านของตน แกก็มิได้สนใจ รำคาญเข้าก็ไล่ตะเพิด พระท่านก็ไม่ว่าอะไร เช้าวันรุ่งขึ้นก็มายืนสงบหน้าบ้านแกอีก แกก็ไล่ไปเหมือนเดิม

ถามว่า พระไปบิณฑบาต ไปยืนรอหน้าบ้านเขาได้หรือ ตอบว่า ธรรมเนียมโบราณสมัยพุทธกาลนั้น พระไปยืนหน้าบ้าน ถ้าเขามีอาหารและมีจิตศรัทธา ก็จะออกมาใส่บาตร ถ้าเขาไม่มีใส่ หรือไม่มีศรัทธาเขาก็จะบอกว่า “นิมนต์ไปข้างหน้าเถิด” แล้วพระท่านก็จะไปที่อื่น

ธรรมเนียมไทยไม่เช่นนั้น ถ้าเห็นพระมายืนรอรับบิณฑบาตก็นินทาแล้ว “อะไรกัน ทำไมไม่เดินบิณฑบาต มายืนรอทำไม อย่างนี้ไม่ถูกต้อง”

ครับไม่ถูกต้องตามวัฒนธรรมไทย แต่มิได้ผิดวัฒนธรรมพุทธนะขอรับ

ถามอีกว่า ทำไมพระเถระรูปนี้จึงทนทู่ซี้มายืนหน้าบ้าน พราหมณ์คนนี้ตั้งนาน (ว่ากันว่าเป็นเวลา ๗ ปี) ตอบว่า เพราะท่านถูกทำ “พรหมทัณฑ์” คือในช่วงที่พระอรหันต์ทั้งหลายประชุม “วางแผน” เกี่ยวกับอนาคตพระพุทธศาสนานั้น ท่านรูปนี้มัวแต่เข้าฌานสมาบัติอยู่ ไม่ได้มาประชุมด้วยจึงถูกสงฆ์ลงโทษ ให้หาวิธีเอาเด็กน้อยนาคเสนมาบวชให้ได้ เพื่อจะได้เป็นกำลังพระพุทธศาสนา ปราบคนมิจฉาทิฐิที่เห็นผิดอย่างพระยามิลินท์ที่พูดถึงนี้

วันหนึ่งท่านเดินกลับวัด สวนทางกับพราหมณ์โสณุตตระ พราหมณ์ถามท่านว่า สมณะ วันนี้ท่านไปบ้านข้าพเจ้าหรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบว่า ไป จึงถามว่า “ได้อะไรบ้างไหม”

ถามไปอย่างนั้นเอง เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่มีใครใส่บาตรดอก แต่ผิดคาด พระเถระตอบเบาๆ ว่า “วันนี้อาตมาได้ โยม”

ได้ยินดังนั้นก็หูร้อนทันทีรีบไปบ้านถามคนในบ้านด้วยความโกรธว่า “ใครให้ข้าวสมณะ”  เมื่อทุกคนปฏิเสธว่ามิ “ได้ให้เลย” ก็ยิ่งโกรธกำลังสองคือโกรธสมณะ หาว่าพูดเท็จ พรุ่งนี้เถอะ ข้าจะจับผิดสมณะรูปนี้ให้ได้

รุ่งเช้าขึ้นมา แกก็นั่งรอพระเถระแต่เช้า พอเห็นหน้าก็ต่อว่าหาว่าท่านโกหก เมื่อวานนี้ไม่มีใครให้อะไรท่านเลย ท่านกลับบอกว่าได้

“อาตมาได้จริงๆ โยม” พระตอบสงบ

“ได้อะไร”

“ได้คำพูดไพเราะ เมื่อวานนี้ภรรยาของท่านกล่าวกับอาตมาว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด ตลอด ๗ ปี อาตมาไม่ได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีเลย มาเมื่อวานนี้ได้คำพูดอ่อนหวานว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด อาตมาหมายเอาคำพูดนี้ อาตมาจึงบอกโยมว่าอาตมาได้”

ฟังพระเถระอธิบาย พราหมณ์ก็อึ้ง นึกไม่ถึงว่าสมณศากยบุตรนั้นเป็นผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนปานนั้น มีจิตใจกตัญญูรู้คุณอะไรปานนั้น เพียงแค่ได้คำพูดอ่อนหวานฉันไมตรีจิต ก็ยังซาบซึ้งว่าเป็นบุญคุณ จึงเกิดความเลื่อมใสนิมนต์ขึ้นไปฉันภัตตาหารที่บ้านเป็นประจำ แต่วันนั้นมาพระเถระก็กล่าวธรรมกถาวันละเล็กละน้อยโปรดโยมอุปัฏฐากของท่าน

เด็กน้อยนาคเสน เห็นพระเถระนุ่งห่มแปลกๆ ก็เข้ามาซักถามทำไมนุ่งห่มอย่างนี้ ทำไมไม่ไว้ผมเหมือนคนอื่น พระเถระก็อธิบายให้ฟังว่าพระในพระพุทธศาสนาต้องครองเพศอย่างนี้ ถามว่าท่านรู้ไตรเพทไหม ท่านบอกว่าท่านรู้ เมื่อถามไถ่เรื่องราวของไตรเพท พระเถระก็ตอบได้หมด พอพระเถระถามบ้างก็ตอบไม่ได้ จึงอยากจะขอเรียนจากพระเถระ

พระเถระว่า จะไม่สอนให้แก่คนที่ไม่ถือเพศอย่างเดียวกับตน เด็กน้อยนาคเสน อยากเรียนจากพระเถระ จึงตัดสินใจบวช ไปขออนุญาตพ่อแม่ไม่ได้รับอนุญาตในเบื้องต้น จึงประท้วงด้วยการอดอาหาร ยื่นคำขาดว่า ถ้าไม่ได้บวชก็ขออดอาหารตายดีกว่า

พ่อแม่กลัวลูกตาย และคิดอีกทีว่า ลูกชายของตนเป็นคนใฝ่รู้มาก เมื่ออยากได้ความรู้แล้ว ไม่มีใครห้ามได้ เธอบวชเรียนได้ความรู้จากพระเถระแล้วก็คงสึกออกมา จึงอนุญาตให้ลูกชายบวช

ลืมบอกไปว่า พระเถระที่เทียวไล้เทียวขื่อตลอดเวลา ๗ ปี กว่าจะได้เด็กน้อยนาคเสนมาเป็นศิษย์รูปนี้ นามว่าพระโรหนเถระ  ท่านโรหนะได้ให้เด็กน้อยนาคเสนบวชเป็นสามเณร ขณะนั้นอายุเพียง ๗ ขวบ บวชแล้วก็ให้การศึกษาอบรมอย่างดี โดยให้เรียนอภิธรรมก่อน

ว่ากันว่า อภิธรรม ๗ คัมภีร์  สามเณรน้อยนาคเสนใช้เวลา ๗ เดือนก็เรียนจบและมีความแตกฉานอย่างดีเยี่ยม เธอได้สาธยายให้พระอรหันต์ทั้งหลายฟังอย่างแม่ยำ ไม่ผิดพลาด

เมื่ออายุครบบวชพระ ก็ได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีพระโรหนะเป็นพระอุปัชฌายะ

ตามประวัติดูเหมือนว่า นาคเสนขณะยังเป็นสามเณรอยู่ได้ศึกษาเฉพาะอภิธรรม ต่อเมื่อบวชแล้วจึงถูกส่งไปศึกษาปิฎกอื่น (พระสูตรและพระวินัย) จาก พระอัสสคุต และ ธัมมรักขิต จนเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกอย่างหาผู้เปรียบปานได้ยาก

ภายหลังถูกพระธัมมรักขิตเตือนว่า “อย่าเป็นเพียงเด็กเลี้ยงโค รับค่าจ้างเลี้ยงโคให้เขา แต่มิได้ดื่มรสน้ำนมโค”  ความหมายก็คือ อย่าบำเพ็ญตนเป็นเพียงพหูสูต รู้หลักทฤษฎีเท่านั้น จงนำเอามาปฏิบัติจนได้รู้เห็นด้วยตนเองด้วย

ท่านจึงคร่ำเคร่งบำเพ็ญสมาธิวิปัสสนาจนในที่สุดได้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา (ความแตกฉานใน ๔ ด้าน คือ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในภาษา และในปฏิภาณ)


(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTtDl7zp1EAj8uf--t4FCinw7pXG3Yk36CEpYvHG6qmBuAqHXyxUg)  ในช่วงที่กล่าวถึงนี้ คู่ปรับเก่าในอดีตชาติ (พระยามิลินท์) ได้โต้วาทะหักล้างนักปราชญ์ต่างๆ จนไม่มีใครสู้ได้ต่างหลบหน้าไปหมด พระหนุ่มนาคเสน จึงได้เดินทางไปยังเมืองสาคละ เพื่อโต้วาทะกับพระยามิลินท์

การโต้วาทะอันลือลั่นครั้งนั้น ได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อว่า มิลินทปัญหา อยากทราบไหวพริบปฏิภาณของพระหนุ่มอดีตสามเณรน้อยนามว่า นาคเสน ว่าเฉียบคมอย่างไร หาอ่านจากหนังสือเล่มนี้ ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ  สามเณรนิรนาม สมัยกัสสะปะ พุทธเจ้า ,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก



(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRfPHrmXLjrNqH3G5QHgb0BhtHHbFAnBBGev-v6Ui-z3hyhrIXUxA)

๒๗. สามเณรสุมนะ  

คราวนี้มาว่าถึงสามเณรน้อยนามสุมนะ สามเณรอรหันต์ทรงอภิญญา ๖ ประการ หลานพระเจ้าอโศกมหาราช

ชื่อ สุมนะ ค่อนข้างจะดาษดื่นในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา สามเณรอรหันต์ในสมัยพุทธกาลรูปหนึ่งก็คือ สุมนะ    สุมนะ เป็นพระนามของอดีตพุทธะก็มี เป็นนามของพระปัจเจกพุทธะก็มี ชื่อของเศรษฐีก็มาก ชื่อคนยากก็เยอะ

สุมนะ สามเณรน้อยหลานกษัตริย์แห่งเมืองปาตลีบุตรรูปนี้ ประวัติท่านมีไม่มาก บอกเพียงแต่ว่าเป็นบุตรของ นางสังฆมิตตา และอัคคิพราหมณ์  ท่านเป็นบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมอภิญญา ๖ ประการในขณะเป็นสามเณร

เมื่อพระเจ้าอโศก เสด็จตา (ใช้ราชาศัพท์แบบลิเก)  ทรงอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ ๓ และส่งพระธรรมทูต ๙ คณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างประเทศ ธรรมทูตสายหนึ่งไปยังเกาะลังกา หรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบันนี้

ธรรมทูตที่ส่งไปย่อมไปเป็นคณะ เรียกว่า คณะธรรมทูต  คงมิใช่ส่งพระไปเพียงรูปสองรูปเป็นแม่นมั่น  เนื่องจากได้อ่านหนังสือที่ใครๆ แต่ง ก็มักจะไม่พูดถึงคณะธรรมทูต พูดถึงพระเถระรูปสองรูปเท่านั้น เช่น พระโสณะและอุตตระมายังสุวรรณภูมิ (มาแค่สองรูปเท่านั้น) พระมหินทเถระไปยังลังกา (รายนี้ฉายเดี่ยว)

แต่เมื่อเปิดดูต้นฉบับดั้งเดิมจริงๆ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านไปเป็นคณะมีพระสงฆ์ มีอุบาสกทำหน้าที่เป็นไวยาวัจกร คอยอำนวยความสะดวกให้แก่พระสงฆ์ ธรรมทูตสายที่ไปยังลังกาทวีป ประกอบด้วย

พระมหินทเถระ  โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นหัวหน้าคณะ
พระอัฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระภัทรสาลเถระ พระสัมพลเถระ และสามเณรชื่อ สุมมะ ผู้ทรงอภิญญา ๖ ประการมีฤทธิ์มาก ติดตามมาด้วย

และยังมีอุบาสกนามว่า ภัณฑกะ เป็นไวยาวัจกร

ทั้งคณะมีจำนวน ๗ ท่านด้วยกัน

สมัยนั้น เกาะศรีลังกายังคงนับถือผีสางตามเรื่อง ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าเทวานัมปิยะติสสะ  ครองราชย์ต่อจากพระเจ้ามุฏสีวะพระราชบิดา อันพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะพระองค์นี้เป็น “อทิฏฐสหาย” กับพระเจ้าอโศก คือ เป็นพระสหายที่เจริญสัมพันธไมตรีกัน ยังไม่เคยพบปะกันมาก่อน

ว่ากันว่า พระมหินทเถระพร้อมคณะไปยังเกาะลังกา ไปพำนักอยู่ที่มิสสกบรรพตก่อน ยังไม่ไปหาพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทันที พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เสด็จออกล่าเนื้อ มุ่งตรงไปยังสถานที่ที่พระคุณเจ้าและคณะอาศัยอยู่ พระมหินทเถระเห็นอุบายที่จะให้พระเจ้าแผ่นดินลังกาเลื่อมใสจึงจำแลงร่างเป็นละมั่งน้อยตัวหนึ่งวิ่งผ่านกษัตริย์ลังกาไป

พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะเสด็จตามละมั่งไป พลัดหลงกับข้าราชบริพารเสด็จถึงสถานที่ที่พระเถระทั้งหลายอาศัยอยู่ พระมหินทเถระบันดาลให้ละมั่งน้อยหายไป อธิษฐานจิตให้พระราชาทอดพระเนตรเห็นท่านเพียงผู้เดียว เรียกเสียงดังว่า “ติสสะ ติสสะ มาทางนี้”
พระราชาทรงฉงนพระทัยว่า ใครวะ บังอาจเรียกชื่อจริงเรา สาวพระบาทเข้ามาใกล้ ทอดพระเนตรเห็นสมณะรูปหนึ่ง ท่าทางสำรวม สง่ายืนอยู่ข้างหน้า กำลังจะตรัสถามอยู่พอดีว่า สมณะนี้เป็นใคร พระเถระชิงถวายพระพรเสียก่อน

“ขอถวายพระพร อาตมภาพคือ มหินทเถระ โอรสแห่งพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป มาที่นี่เพื่ออนุเคราะห์มหาบพิตรและประชาชนชาวเกาะลังกา” พอได้สดับว่า สมณะรูปนี้เป็นโอรสพระอทิฏฐสหายของพระองค์ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงเสด็จเข้าไปถวายบังคม

ขณะพระเถระสนทนาอยู่กับพระราชา พระเถระที่เหลือพร้อมสามเณรสุมนะและภัณฑกอุบาสกก็ปรากฏ  พระราชาทรงสงสัยว่า ท่านเหล่านี้มาได้อย่างไร พระเถระถวายพระพรว่าความจริงท่านเหล่านี้ก็อยู่ ณ ที่นี้เอง  แต่เพิ่งจะปรากฏต่อคลองจักษุของพระองค์ ณ บัดนี้ พระราชาจึงทรงทราบว่า สมณะเหล่านี้มีอิทธิฤทธิ์ จึงตรัสถามว่า พระคุณเจ้ามายังเกาะลังกาโดยทางไหน

     “ขอถวายพระพร มิใช่ทางบก มิใช่ทางน้ำ”
     “ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้ามาทางอากาศสินะ”

พระเถระทั้งหลายรับโดยดุษณีภาพ เพื่อทดสอบพระปฏิภาณของพระราชาว่าสมควรที่จะถวายความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาหรือไม่พระเถระชี้ไปที่ต้นมะม่วงต้นหนึ่งถามว่า
     “มหาบพิตร ต้นไม้นี้ชื่ออะไร”
     “ต้นมะม่วง ขอรับ” พระราชาตรัสตอบ
     “มะม่วงต้นอื่นนอกจามะม่วงต้นนี้มีหรือไม่”
     “มีอยู่จำนวนมาก ขอรับ”
     “นอกจากมะม่วงต้นนี้และมะม่วงต้นอื่น มีต้นไม้อื่นไหม”
     “มี แต่ไม้เหล่านั้นมิใช่ต้นมะม่วง”
     “นอกจากมะม่วงอื่น และที่มิใช่มะม่วง ยังมีต้นไม้อื่นไหม”
     “ก็ต้นมะม่วงต้นนี้ไงเล่า พระคุณเจ้า” พระราชาตอบ

เพื่อทดสอบอีก พระเถระถามปัญหาต่อไปว่า
     “มหาบพิตร พระญาติของมหาบพิตรมีอยู่หรือ”
     “มีหลายคน พระคุณเจ้า” พระราชาตรัสตอบ
     “นอกจากพระญาติเหล่านี้ ผู้ที่มิใช่พระญาติยังมีอยู่หรือ”
     “มีมาก พระคุณเจ้า”
     “นอกจากพระญาติของมหาบพิตร และผู้ที่มิใช่พระญาติ ยังมีใครอื่นอีกไหม”
     “ก็โยมนี่ไง พระคุณเจ้า”

 พระเถระกล่าวสาธุการว่า สาธุๆ มหาบพิตรทรงมีพระปรีชาสามารถเฉียบแหลมยิ่ง จากนั้นพระเถระได้แสดง จุฬหัตถิปโทปมสูตร แด่พระราชา (และข้าราชบริพารที่ตามมาภายหลัง) จบพระธรรมเทศนา พระราชาทรงตั้งอยู่ในสมณะสาม ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกนับถือพระพุทธศาสนา

หลังจากพระราชาเสด็จนิวัติพระนครแล้ว พระมหินทเถระสั่งให้สุมนสามเณรประกาศกาลฟังธรรม สุมนสามเณรเข้าญานมีอภิญญาเป็นบาท ออกจากญานแล้วอธิษฐานจิตว่า ขอให้เสียงประกาศกาลฟังธรรมนี้ได้ยินไปทั่วตัมพปัณณิทวีป  (คือเกาะลังกา) เสียงประกาศกาลฟังธรรมนี้ได้ยินไปทั่วพระนคร พระราชาตกพระทัยนึกว่าเกิดอันตรายแก่พระคุณเจ้าทั้งหลาย จึงเสด็จมาตรัสถาม พระเถระถวายพระพรว่า หามีอันตรายใดๆ แก่พวกอาตมภาพไม่ เสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงประกาศกาลฟังธรรม

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลของการบันดาลแห่งอิทธิฤทธิ์ เฉพาะผู้มีฤทธิ์เท่านั้นย่อมทำได้ ปุถุชนคนธรรมดาทำอะไรไม่ได้ก็อย่าได้ดูถูกว่าเหลวไหล

มีด๊อกเตอร์บางคนจบปรัชญามาจากต่างประเทศคิดว่าที่ตัวเรียนที่ตัวรู้นั่นคือยอดแห่งความรู้ แล้วก็เที่ยวไปกล่าวหาคนที่เขาเชื่อเรื่องเหนือสามัญวิสัยอื่นๆ ที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยเครื่องมือทางวัตถุว่าโง่เง่าเต่าตุ่น ถามด้วยความองอาจห้าวหาญว่า “อาจารย์ก็เชื่อเรื่องอย่างนี้ด้วยหรือ” ครั้นถามตอบว่า “แล้วคุณเชื่อเรื่องอะไรล่ะ ปรัชญาดีกรีด๊อกเตอร์ของคุณหรือ”  ก็ได้แต่อึดอักๆ ตอบไม่ได้

รู้กันหรือเปล่าไม่ทราบ ทฤษฎีที่เราจำขี้ปากเขามานั้น ปรัชญาเมธีเจ้าของทฤษฎีเองบางคนยังไม่เชื่อทฤษฎีของตัวเสียด้วยซ้ำ แล้วเรามิใช่ผู้คิดค้นทฤษฎีนั้นเองกลับเกาะติดว่านี่คือสัจจะที่แท้ยิ่งกว่าตุ๊กแกเกาะผนังเสียอีก

พระเจ้าเทวานัมปิยตัสสะได้ถวายอุทยานเมฆวันให้เป็นวัดที่อยู่อาศัยของพระมหินทเถระและคณะ พระเถระได้ทำการอุปสมบทแก่อริฏฐอำมาตย์ และพี่ชายน้องชายจำนวน ๕๕ คน จำพรรษาที่เมฆวัน ออกพรรษาปวารณาแล้วถวายพระพรพระราชาให้ทรงปรึกษากับสุมนสมเณรว่าจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานยังลังกาทวีปอย่างไร

พระราชาตรัสถามสามเณรน้อยว่า จะได้พระบรมสารีริกธาตุแต่ที่ไหน สามเณรถวายพระพรว่า เบาพระทัยเถิด มหาบพิตรไว้เป็นภาระของอาตมภาพ ว่าแล้วสามเณรน้อยก็เข้าญานหายวับไปกับตา ปรากฏตัวอีกทีที่ชมพูทวีป ณ พระราชวังของพระอัยกา ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระเจ้าอโศก ได้พระบรมสารีริกธาตุแล้วไปยังสำนักท้าวสักกเทวราช ขอพระธาตุรากขวัญเบื้องขวา จากพระองค์แล้วไปปรากฏตัวที่ตัมพปัณณิทวีป

พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ เจติยคิรี แล้วจัดงานสมโภชเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร
ตามประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในลังกา สามเณรสุมนะ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพระมหินทเถระประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ เกาะแห่งนี้

หลังจากสามเณรน้อยผู้บุตรมาไม่นาน มารดาสามเณรน้อยซึ่งบัดนี้เป็นพระเถรีนามว่า สังฆมิตตาเถรี  ลงเรือมาปลูกยังเกาะลังกา และได้เป็น “ปวัตตินี” (อุปัชฌาย์) บวชให้แก่กุลสตรีชาวเมืองอนุราธบุรีจำนวนมาก สืบสถาบันภิกษุณีสงฆ์ในเกาะลังกามาแต่บัดนี้.

ไปไหว้พระรากขวัญเบื้องขวา และต้นพระศรีมหาโพธิทีไร ชาวพุทธที่รู้ความเป็นมา ก็อดรำลึกถึงคุณูปการของสองแม่ลูกนี้เสียมิได้
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  สามเณรนิรนาม สมัยพุทธกาล,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก




หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 มิถุนายน 2556 13:29:27
.

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQuHha3IHmfgIvULBK-37sJnDG1mcKj8blR2XLZK4xEolrT4w_1VQ)

๒๘. สามเณรสังฆรักขิต  

วันนี้วันนี้ขอนำเด็กที่ถูกจับบวชเป็นสามเณรแล้วก็อยู่ต่อจนเป็นพระ เป็นพระแล้วก็ “กระสัน” อยากสึก  มาเล่าให้ฟัง

เด็กน้อยชื่อ สังฆรักขิต ชื่อเดิมจะว่าอย่างไรไม่ทราบ หลังจากบวชแล้วเขาเรียกท่านว่า สังฆรักขิต หรือ ภาคิไนยสังฆรักขิต = สังฆรักขิตผู้เป็นหลาน

ท่านเป็นหลานของพระเถระนามว่า สังฆรักขิต พระเถระรูปนี้เป็นพระอรหันต์ ทรงอภิญญา ไปเยี่ยมครอบครัวญาติพี่น้องของตน เห็นหลานชาย (บุตรน้องชาย) หน่วยก้านดีจึงพาไปบวชเป็นสามเณร สามเณรสังฆรักขิต ปรนนิบัติหลวงลุงซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของตนด้วยอย่างดีเสมอมา เมื่ออายุครบบวชหลวงลุงก็เป็นอุปัชฌาย์บวชให้

วันหนึ่งท่านสังฆรักขิตผู้หลาน กลับไปเยี่ยมโยมบิดามารดา โยมถวายผ้ากัมพลเนื้อดีมาสองผืนตั้งใจว่ากลับไปถึงวัด จะถวายผืนใหญ่แก่อุปัชฌาย์จึงนำไปถวาย ขณะบอกถวายผ้าแก่อุปัชฌาย์ ท่านสังฆรักขิตกำลังนวดเท้าอาจารย์เสร็จแล้วนั่งพัดวีให้ท่านอยู่ อุปัชฌาย์ปฏิเสธ บอกให้หลานชายเก็บไว้ใช้เองเถิด เพราะท่านมีจีวรมากพออยู่แล้ว อ้อนวอนอย่างไรหลวงลุงก็ไม่ยอมรับท่าเดียว

สังฆรักขิต จึงน้อยใจ คิดว่าเมื่อหลวงลุงไม่ยินดีรับผ้าที่เราถวาย เราจะบวชอยู่ต่อไปทำไม สึกไปครองเรือนดีกว่า

และแล้วความคิดของเธอก็เตลิดไปไกล

ข้าสึกไปแล้ว เอาผ้าสองผืนนี้ไปขายเอาเงิน ได้เงินจำนวนหนึ่งแล้ว ก็จะไปซื้อแม่แพะมาสักตัว

ธรรมดาแม่แพะย่อมตกลูกเร็ว เมื่อมีลูกแพะหลายๆ ตัว ข้าก็จะขายได้เงินมาจำนวนหนึ่ง จะใช้จ่ายสร้างบ้าน (เรือน) งามๆ สักหลัง

ซื้อที่นาสักแปลง พอที่จะปลูกข้าวไว้กิน ซื้อโคเทียมเกวียนสักคู่ สำหรับช่วยไถนาและขนทัพสัมภาระ

เมื่อมีทุกอย่างแล้วก็จะแต่งงานกับหญิงสาวที่สวยงามสักคนหนึ่ง เราทั้งสองก็จะอยู่ครองเรือนกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ สร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา

จากนั้นไม่นาน เราก็จะมีลูกชายน่าเกลียดน่าชังมาสักคนหนึ่ง..เอ... เราจะตั้งชื่อลูกชายว่าอย่างไรหนอ...เอาชื่อหลวงลุงนี่แหละมาเป็นชื่อลูกชาย

เมื่อลูกชายโตมาอีกหน่อย เราสองคนสามีภรรยา ก็จะพาลูกชายมานมัสการหลวงลุงโดยข้าจะขับยาน ภรรยานั่งอุ้มลูกอยู่ภายในประทุน

ขณะขับเกวียนไประหว่างทาง ข้าอยากอุ้มลูก อยากหอมแก้มลูก  เมียข้าไม่ยอม บอกว่าพี่ขับเกวียนไปสิ ฉันจะอุ้มเอง ไปได้สักระยะหนึ่ง เมียข้าอุ้มลูกจนเมื่อย จึงวางลูกบนพื้นเกวียน เกวียนมันกระแทกเหวี่ยงไปมาเพราะหนทางมันขรุขระ ลูกก็ร้องจ้าด้วยความตกใจและเจ็บปวด

ข้าโมโหเมีย ที่ทำให้ลูกร้อง จึงเอาปฏักเคาะหัวเมียดังโป๊ก

ขณะที่ฟุ้งซ่านมาถึงนี่ มือก็กำลังพัดวีหลวงปู่อยู่ ก็จับด้ามพัดฟาดลงบนศีรษะหลวงลุงพอดี

เธอรู้ตัว ตกใจแถมหลวงลุงยังพูดว่า “สังฆรักขิต เธอโกรธมาตุคาม (สตรี) แล้วทำไมมาตีหัวเรา พระแก่อย่างเรามีความผิดอะไรด้วยเล่า”

เธอนึกว่าที่เธอคิดฟุ้งซ่านมาทั้งหมดนี้ หลวงลุงรู้หมดแล้ว มีความละอายจึงรีบลงกุฏิหนีไปพระหนุ่มเณรน้อยวิ่งตามจับมาหาหลวงลุง หลวงลุงพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสถามเธอว่า

“สังฆรักขิต ทำไมเธอจึงหนีอุปัชฌาย์ไป”

“ข้าพระองค์ละอายใจที่คิดฟุ้งซ่าน จนหลวงลุงทราบหมด พระเจ้าข้า”

“แล้วเธอจะหนีไปไหน”

“สึกไปเป็นคฤหัสถ์ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสปลอบใจเธอว่า สังฆรักขิต ปุถุชนก็อย่างนี้แหละ คิดโน่นคิดนี่ สร้างวิมานในอากาศไปเรื่อย จิตใจตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาไม่รู้จบสิ้น เธอไม่ต้องละอายดอกใครๆ เขาก็เป็นอย่างนี้ แต่ขอให้พยายามบังคับจิตมิให้มันวิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่พยามเข้าไว้ ไม่นานก็จะสามารถทำได้เอง ของอย่างนี้มันต้องค่อยฝึกค่อยทำ ว่าแล้วพระองค์ก็ตรัสโศลกบทหนึ่ง สอนภิกษุหนุ่มว่า
          ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ
          เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา      
          จิตนี้เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในถ้ำ (ร่างกาย)
          ชนเหล่าใดสำรวมระวังจิตได้ เขาเหล่านั้นก็จักพ้นบ่วงมาร

ว่ากันว่า พอทรงเทศน์จบ สังฆรักขิต ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน กลับใจไม่ยอมสึก พากเพียรพยามปฏิบัติธรรมอยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนาต่อไป ข้อมูลไม่บอกเราว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตผลในกาลต่อมาหรือไม่  แต่เชื่อกันว่าคงได้เป็นพระอรหันต์แน่นอน
...



ขอแถมนิด สมัยผม
(อาจารย์เสถียรพงษ์ วรรณปก) เป็นพระหนุ่ม เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโนทยมหาเถระ) วัดสระเกศ  ทูลถามว่า พระองค์เคยสึกบ้างไหม (จำได้ว่า อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ไปเฝ้าด้วย)

สมเด็จฯ รับสั่งว่า “เคย มีคนเอากางเกงมาให้แล้วด้วย เราลองเอามานุ่งดู มองตัวเองแล้วรู้สึกว่าน่าสังเวช เลยตัดใจไม่สึก”

เมื่อทูลถามว่า “ทำไมตัดใจได้ง่ายปานนั้น” รับสั่งว่า “นึกถึงพระพุทธวจนะที่ตรัสสอนพระอยากสึกในคัมภีร์ เลยเกิดอุตสาหะอยากอยู่ต่อไป”

เรียกสั้นๆ ว่า ทรงได้พระพุทธวจนะเป็น “กัลยาณมิตร” ว่าอย่างนั้นเถอะ พระผู้ใหญ่บางรูปได้เด็กวัดเป็นผู้เตือนสติ พระมหาทองสุก แห่งวัดชนะสงคราม อยากสึก หันมาถาม ส.ธรรมยศ ซึ่งตอนนั้นเป็นเด็กวัด “ถ้าหลวงพี่สึก เธอจะว่าอย่างไร”

ส.ธรรมยศ ตอบว่า “อย่าสึกเลย หลวงพี่ หลวงพี่มีความเป็นคนน้อย สึกไปก็เอาตัวไม่รอด”

ได้ยินคำตอบ หลวงพี่ฉุนกึก นึกว่าลูกศิษย์ด่า แต่ลูกศิษย์อธิบายว่า หลวงพี่มีความเป็นพระมาก มีความเป็นคนครองเรือนน้อย พูดง่ายๆ ว่าปรับตัวเข้ากับโลกของคนไม่ได้ อยู่เป็นพระนี่แหละ เจริญก้าวหน้าในศาสนาแน่นอน

จริงอย่างที่ลูกศิษย์ว่า ท่านบวชอยู่ต่อมาจนได้เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ เป็นสังฆมนตรี (ตามพระราชบัญญัติปกครองสงฆ์สมัยนั้น) นี้ เพราะอานิสงส์คำเตือนของเด็กวัดนักปราชญ์แท้ๆ


ข้อมูล : บทความพิเศษ  สามเณรสังฆรักขิต,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


(http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSmBAiRd_U9DJoLvwLDquc3eR7yMNMqozywC2nEXtAetC1c5LCguQ)

๒๙. สิคาลกมาตาเถรี  
มารดาของมาณพต้นตำรับทิศหก

ทิศตามศัพท์แปลว่า “ทางซึ่งถือดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตกเป็นเกณฑ์”  พจนานุกรมให้คำจำกัดความว่าอย่างนั้น

แต่ทิศในทางพระพุทธศาสนาหมายความว่าเอาแนวทางปฏิบัติต่อบุคคลที่เราเกี่ยวข้องให้ถูกต้องเหมาะสม

เป็นหลักคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอน เพื่อให้ผู้ครองเรือนได้นำไปปฏิบัติเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข

ผู้ที่ได้รับคำสอนนี้เป็นคนแรกชื่อ สิคาลกมาณพ (อ่าน สิ-คา-ละ-กะ)  เป็นเด็กหนุ่มที่กตัญญูต่อบิดามาก เมื่อบิดาจะสิ้นชีวิตได้สั่งเสียลูกชายว่า “พ่อตายไปแล้วลูกจงไหว้ทิศทั้ง ๖ เป็นประจำทุกวัน

เรื่องการไหว้ทิศนั้นมิใช่ของแปลก เพราะโยคีอินเดียตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไหว้ทิศกันอยู่ ไปอินเดียก็จะเห็นทุกๆ เช้า ที่ท่าน้ำเมืองพาราณสี เป็นต้น  โยคีจะมายืนไหว้พระอาทิตย์ ปากก็พร่ำบ่นมนต์พึมพำๆ มีท่าโยคะท่าหนึ่ง เรียกว่า “สุรยมนัสการ”  (ท่าไหว้พระอาทิตย์) แสดงการไหว้ทิศมิใช่เรื่องประหลาด แต่ถ้าใครมายกมือไหว้ทิศปลกๆ ทุกเช้าที่เมืองไทย คนอาจหาว่าสติสตังไม่ดีก็ได้

วันหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จออกบิณฑบาต (ราชาศัพท์ว่า “ทรงบาตร”) ผ่านมายังสถานที่ที่เด็กหนุ่มหน้ามนคนนี้ไหว้พระอาทิตย์อยู่ จึงตรัสถามว่า “พ่อหนุ่มเธอกำลังทำอะไร” เด็กหนุ่มรู้ว่าผู้ถามคือพระพุทธเจ้าของชาวพุทธ (ตอนนั้นแกยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา) จึงกราบทูลว่า “ไหว้ทิศ พระเจ้าข้า”   “ไหว้ทำไม”  รับสั่งถามอีก   “บิดาสั่งให้ไหว้ทุกวัน พระเจ้าข้า” เขาตอบอย่างนอบน้อม   “ดีแล้ว เธอทำตามคำสั่งสอนของพ่อ นับว่าเป็นบุตรกตัญญู แต่พ่อเจ้าคงมิได้หมายความว่าให้เจ้าไหว้ทิศภายนอกดอกกระมัง”... รับสั่งชวนให้คิด

เมื่อเห็นว่าเขาทำท่างง พระองค์จึงตรัสอธิบายว่า พ่อเจ้าต้องการให้เธอไหว้ทิศภายใน คือปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหน้าที่ที่มีอยู่ในสังคม ว่าแล้วก็ทรงแสดง “ทิศหก”  ดังนี้
     ทิศตะวันออก   คือ บิดามารดา
     ทิศตะวันตก     คือ สามีภรรยา
     ทิศเหนือ        คือ มิตรสหาย
     ทิศใต้           คือ ครูบาอาจารย์
     ทิศเบื้องบน     คือ สมณชีพราหมณ์
     ทิศเบื้องล่าง    คือ คนใช้และคนงาน

การที่เราอยู่ในโลกนี้ ก็คืออยู่ในสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเพื่อนมนุษย์ที่อยู่รอบตัวเรา มนุษย์ที่อยู่รอบตัวเราย่อมมีฐานะต่างๆ กัน   เปรียบคนทั้งหลายที่อยู่ในฐานะต่างๆ ก็เหมือนกับทิศน้อยทิศใหญ่ที่เราจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลต่างๆ ให้ถูกต้อง จึงจะมีชีวิตอยู่ด้วยดี มีความสุข ความเจริญ การไหว้ทิศ ก็คือปฏิบัติต่อบุคคลต่างๆ ให้ถูกต้องนั่นเอง

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทิศหกในแนวใหม่ให้ฟัง เด็กหนุ่มก็เลื่อมใส น้อมรับเอามาเป็นหลักปฏิบัติ หลังจากได้กล่าวปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางดำเนินชีวิต

มารดาของสิคาลกมาณพ ซึ่งชื่อเรียงเสียงใดไม่ระบุ ใครๆ ก็เรียกเธอว่า “สิคาลกมาตา” (มารดาของสิคาลกะ) เป็นบุตรีเศรษฐี เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ แต่งงานแล้ว มีบุตรชายคนเดียว ชื่อ สิคาลกะ (ดังกล่าวข้างต้น)

วันหนึ่ง นางได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า และมีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์มาก นางเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุรุษที่มีรูปร่างสวยงาม น่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง นับว่าสิคาลกมาตาเป็นบุคคลประเภท “รูปัปปมาณิกา” (ถือรูปร่างเป็นสำคัญ หรือ แปลง่ายๆ ก็คือชอบคนรูปหล่อ)

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา (คนไทยเรียกกันสั้นๆ ว่า อรรกถาธรรมบท) กล่าวว่า คนจะเลื่อมใสในพระศาสนามีอยู่ ๔ ประเภท คือ
๑. รูปัปปมาณิกา ถือรูปเป็นประมาณ เห็นใครๆ รูปร่างสวยงาม แต่งตัวดี บุคลิกดี ก็เลื่อมใสคนประเภทนี้ มีศรัทธาแก่กล้า ดังวักกลิ
มานพน้อยคนหนึ่ง ทันทีที่เห็นพระพุทธองค์ก็ติดใจในความหล่อของพระพุทธองค์ ตามไปเฝ้าดูไม่ยอมห่าง เพื่อให้ได้ดูตลอดเวลา จึงตามไปบวชอยู่ด้วย ในที่สุดพระพุทธองค์ก็ทรงใช้วิธี “หนามยอกเอาหนามบ่ง” วักกลิก็ได้บรรลุ  สิคาลกมาตาก็เป็นประเภทเดียวกันกับวักกลิ

๒. โฆสัปปมาณิกา  ถือเสียงเป็นประมาณ บางคนก็เลื่อมใสเพราะได้ยินเสียงเทศน์เสียงเจรจาอันไพเราะของพระภิกษุบางรูป ว่ากันว่าพระโสณะกุฏิกัณณะสวดธรรมไพเราะนุ่มนวลชวนฟัง มีผู้ชื่นชอบฟังท่านแสดงธรรมมาก

๓. ลูขัปปมาณิกา  ถือข้อปฏิบัติเคร่งครัดเศร้าหมองเป็นประมาณ เช่น ชอบคนที่ถือธุดงค์อยู่อย่างขัดเกลา เห็นพระห่มจีวรสีคล้ำๆ ปักกลดอยู่ริมทางก็เลื่อมใสว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว บางทีไม่ทันพิจารณาเสียด้วยซ้ำว่า ธุดงค์แท้ หรือธุดงค์ปลอม กว่าจะรู้ก็โดนอาจารย์เลขเด็ดหลอกไปหลายเงิน อย่างนี้ก็มี

๔. ธัมมัปปมาณิกา ถือธรรมเป็นประมาณ คือ ไม่คำนึงว่าท่านจะเทศน์เสียงไพเราะหรือไม่ ถือธุดงค์เคร่งครัดขนาดไหน บุคลิกหล่อเหลาขนาดไหน  แต่จะดูว่าสิ่งที่ท่านพูดท่านแสดงนั้นมีสาระหรือไม่ สามารถนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางดำเนินชีวิตได้จริงหรือไม่ คนพวกนี้ก็มีเป็นจำนวนมากในโลก

สิคาลกมาตา เป็นประเภทรูปปัปปมาณิกา ถือบุคลิกองอาจสวยงามเป็นสำคัญ ที่ไปฟังธรรมบ่อยๆ ก็เพราะ “ประทับใจ” ในจุดนี้ ที่ออกบวชเป็นภิกษุณีก็เพราะเรื่องนี้ แรกๆ ก็มิได้ใส่ใจเนื้อหาสาระที่ทรงแสดงเท่าไร พระพุทธองค์ก็ทรงปล่อยให้เวลาผ่านไประยะหนึ่ง รอให้ “อินทรีย์แก่กล้า” (ให้มีความพร้อม) แล้วพระองค์จึงทรงแสดงธรรมให้ฟัง ไม่บอกว่าพระองค์ทรงแสดงพระสูตรอะไรให้นางฟัง แต่เข้าใจว่าทรงใช้ศรัทธานั้นแหละเป็นแนวทาง

คนที่มีศรัทธาเลื่อมใสในบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากๆ มักจะ “ติดครูอาจารย์” จนแกะไม่ออก สิคาลกมาตาก็คงประเภทเดียวกัน พระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมที่ไหนก็ตามไปฟัง แต่มิได้ใส่ใจในเนื้อหาธรรมที่ทรงแสดงเท่าไร หากจ้องมองพระพุทธองค์ด้วยความชื่นชมมากกว่า

พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เธอเห็นความเป็นปฏิกูลเน่าเหม็นของร่างกาย จนนางรู้เห็นตามสภาพเป็นจริง คลายความกำหนัดยินดีในร่างกายอันเปื่อยเน่าผุพังเป็นธรรมดาได้ .... ในที่สุดได้บรรลุพระอรหัต หมดสิ้นกิเลสอาสวะทั้งหลาย

ผู้ที่จะบรรลุธรรมระดับสูงนั้น ท่านว่ามีบารมีอันสั่งสมมาแล้วมากในอดีตชาติ  พระคัมภีร์กล่าวว่า นางเคยเกิดเป็นบุตรีของเสนาบดีในสมัยพระพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมมุตตระ ตามบิดาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ยินคนเขาสรรเสริญถึงภิกษุณีรูปหนึ่งว่าเป็นอรหันต์ในทาง “สัทธาธิมุต” (มีศรัทธามาก และบรรลุธรรมเพราะศรัทธา) จึงตั้งความปรารถนาอยากเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงพยายามทำความดีตลอดมา

ด้วยปณิธานและความดีงาม ที่สั่งมาตลอดเวลายาวนานจนนับไม่ถ้วน ในชาตินี้นางจึงได้มาเลื่อมใสในพระพุทธองค์ และได้บรรลุธรรมขั้นสูงในที่สุ

พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระสิคาลกมาตาว่า เป็นเอตทัคคะ (ผู้ที่เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านหลุดพ้น เพราะมีศรัทธาแก่กล้า (สัทธาธิมุต)

พระสิคาลกมาตาเป็นพระเถรีเป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา ดำรงอยู่ตราบอายุขัยก็นิพพาน
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  สิคาลกมาตาเถรี มารดาของมาณพต้นตำรับทิศหก,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก



(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSs20B1RvAznJJEh4I4b3ceWzSKLpg5xr2kT9uZO8bYrvPXIiXb)

๓๐. พระโสณาเถรี  
ภิกษุณีเฒ่าผู้พากเพียรสูง

พระพุทธองค์ตรัสไว้หลายวาระว่า ผู้บวชเมื่อแก่นั้นมีข้อเสียหลายอย่าง เช่น ผู้บวชเมื่อแก่นั้นว่าง่ายหายาก ผู้บวชเมื่อแก่คงแก่เรียนหายาก ผู้บวชเมื่อแก่มีอาจาระงดงามหายาก ผู้บวชเมื่อแก่มักน้อยหายาก อะไรเหล่านี้

แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นอย่างนี้กันทุกรูป พระหลวงตาราธะบวชอยู่กับพระสารีบุตรกลับได้รับยกย่องชมเชยว่าเป็นผู้ว่าง่ายที่สุด ท่านผู้นี้อยากบวช แต่พระสงฆ์ไม่ยอมให้บวช เพราะหาผู้รับรองไม่ได้

จนกระทั่งวันหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ใครเคยรู้จักพราหมณ์แก่คนนี้บ้าง”

พระสารีบุตรกราบทูลว่า “รู้จักพราหมณ์แก่คนนี้ เคยใส่บาตรท่านทัพพีหนึ่ง” พระพุทธองค์จึงให้พระสารีบุตรรับรองและท่านก็ได้บวช เมื่อบวชแล้วก็เป็นพระผู้เฒ่าหรือหลวงตาที่น่ารักที่สุด รับฟังโอวาทจากพระอุปัชฌาย์อย่างนอบน้อม

พระพุทธองค์ตรัสถามพระสารีบุตรในวันหนึ่งว่า สารีบุตร สัทธิวิหาริก เธอเป็นอย่างไร (ทรงเป็นห่วงเกรงว่าหลวงตาราธะจะดื้อรั้น)  พระสารีบุตรจึงกราบทูลว่า “ราธะ เธอว่าง่าย พระเจ้าข้า” รับฟังโอวาทและอนุศาสน์เป็นอย่างดี

โอวาท หมายถึงว่ากล่าวตักเตือนครั้งเดียว ส่วนอนุศาสน์ หมายถึงว่ากล่าวตักเตือนซ้ำๆ หลายครั้ง คำหลังนี้มาจากอนุ (เนืองๆ) + ศาสน์ (สั่งสอน) รวมแล้วอนุศาสน์ คือ การสอนบ่อยๆ สอนเนืองๆ

ข้างฝ่ายภิกษุณีเล่าว่า พระโสณา  ก็เป็นผู้ว่าง่ายที่สุดรูปหนึ่ง

สมัยเป็นคฤหัสถ์ ท่านมีบุตรหลายคน สามีก็ออกบวชอีกต่างหาก นางจึงต้องเลี้ยงลูกมาคนเดียว เมื่อลูกๆ แต่งงานออกเหย้าออกเรือนกันไปหมดแล้ว จึงแบ่งสมบัติที่มีอยู่ให้ลูกๆ ทุกคน ไม่เหลือไว้เพื่อตนเองแม้แต่น้อย คิดว่าตัวคนเดียวลูกๆ อาจช่วยกันดูแล คงไม่ลำบากอะไร

แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ บรรดาลูกๆ ต่างก็เกี่ยงงอน เมื่อไปอยู่บ้านลูกชายคนโต ลูกสะใภ้ก็คอยยุยงสามีและพูดกระทบกระเทียบต่างๆ นานาว่า คุณแม่คงเห็นว่าเราร่ำรวยกว่าลูกๆ คนอื่นกระมัง ทั้งๆ ที่ก็แบ่งสมบัติให้เท่ากันหมดทุกคน นางทนฟังคำบาดหูไม่ได้ จึงย้ายไปอยู่กับลูกคนรอง ก็โดนแบบเดียวกันอีก จนกระทั่งในที่สุดก็มาอยู่กับลูกคนเล็ก

ใหม่ๆ ก็ดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี เพราะลูกคนเล็กก็เอาใจใส่ดูแลแม่อย่างดี  ไปๆ มาๆ ก็เข้าอีหรอบเดิม คุณยายโสณาก็มานึกปลงถึงความเป็นอนิจจังแห่งชีวิต จิตใจน้อมไปในบรรพชาแต่บัดนั้น จึงบอกลูกว่าอยากบวช ลูกๆ ก็ดีใจหายที่แม่อยากบวช (เพราะได้ไล่แม่โดยทางอ้อม)  จึงพาคุณแม่ไปบวชอยู่ในสำนักนางภิกษุณี

หลังจากบวชเป็นภิกษุณีแล้ว เหล่าภิกษุณีทั้งหลายก็ไม่ได้ใส่ใจสั่งสอนนาง เพราะเห็นว่าแก่แล้ว สั่งให้ปัดกวาดลานวัด ต้มน้ำร้อนให้พระเถรีที่เป็นพระเถระผู้คงแก่เรียนอาบ เวลาภิกษุไปฟังธรรมจากพระเถระ พวกเธอก็ไม่ให้นางไปด้วย สั่งให้เฝ้าวัดอยู่คนเดียว

วันหนึ่งนางภิกษุณีเฒ่าได้ข่าวว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงแสดงพระธรรมเทศนาจึงขอไปฟังธรรมกับเหล่าภิกษุณีทั้งหลายด้วย แต่ถูกปฏิเสธ “คุณยายไม่ต้องไปดอกแก่เฒ่าแล้ว เดินเหินลำบาก อยู่เฝ้าวัดดีกว่า คอยต้มน้ำร้อนไว้ให้พระเถรีท่านอาบ”

เมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้ตามไป นางก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานตามที่สั่ง ผ่าฟืนพอที่จะต้มน้ำ แล้วก็นั่งพักผ่อนสักครู่  บังเอิญว่าบรรยากาศยามนี้สงบสงัดเหมาะแก่การทำสมาธิอย่างยิ่ง เพราะไม่มีเสียงรบกวน นางจึงนั่งสมาธิ  สักพักจิตก็ดิ่งลงสู่ความแน่วแน่ทั้งๆ ที่หลับตาอยู่ ปรากฏมีแสงสว่างวาบเข้ามา จนต้องลืมตาขึ้น ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยืนใกล้ๆ พระสุรเสียงกังวานว่า “โสณา ชีวิตของผู้ที่ปรารภความเพียร มองเห็นความจริงแห่งสรรพสิ่งแม้วันเดียวก็ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยวันของผู้ไม่เห็นธรรม”

พระภิกษุณีผู้เฒ่ามีความปลื้มปีติ ที่พระพุทธองค์เสด็จมาแสดงธรรม โปรดบุญบารมีที่นางได้สั่งสมมาแต่อดีต ก็รวมเป็นพลวปัจจัย (เงื่อนไขที่มีพลัง) ทำให้นางได้บรรลุธรรมในที่สุด

เป็นอันว่า ณ บัดนี้ ภิกษุณีผู้เฒ่าได้กลายเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญาไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่เหล่าภิกษุณีไม่มีใครทราบ

พอกลับมาถึง ภิกษุณีทั้งหลายจึงเรียกหาน้ำร้อน เพื่อผสมน้ำให้ภิกษุณีเถรีอาบ เมื่อเห็นกองฟืนยังกองอยู่ น้ำในกาก็เย็น จึงเอะอะโวยวายขึ้นว่า “คุณยายทำไมป่านนี้ยังไม่ต้มน้ำ แล้วพระเถรีอาจารย์จะเอาน้ำที่ไหนอาบ เหลวไหลจริงเชียว”

พระเถรีผู้เฒ่าก็เกรงว่า ภิกษุณีเหล่านี้จะประสบบาปมิใช่น้อย เพราะดุด่าพระอรหันต์ จึงบันดาลด้วยฤทธิ์ให้น้ำในการ้อนขึ้น กล่าวอย่างเยือกเย็นว่า “ลูกเอ๋ย อย่าได้วิตกกังวลเลย น้ำร้อนมีอยู่ในกานั้นแล้ว และในตุ่มก็อุ่น พออาบทีเดียว”

เมื่อพวกเธอไปจับกาน้ำ (ซึ่งเมื่อครู่นี้ยังเย็นเฉียบอยู่เลย) อีกครั้ง ก็ปรากฏว่าน้ำนั้นร้อนอย่างมหัศจรรย์ ครั้นไปดูที่ตุ่ม น้ำใส่ตุ่มก็อุ่นพออาบพอดิบพอดี จึงประหลาดใจไปตามๆ กัน หรือว่า...ใช่แล้วคุณยายคงได้บรรลุอรหัตผลแล้ว

พวกเธอจึงพากันมาก้มกราบขอขมาคุณยายที่พวกเธอเคยใช้ทำโน่นทำนี่จนเหนื่อย

ตามหลักแล้ว การว่าร้ายพระอริยะเป็นบาป เรียกว่า “อริยุปวาท” ผู้ว่าร้ายล่วงเกิน จะถูกถอนรากถอนโคนไม่สามารถงอกงามในพระธรรมวินัยได้ ทันทีที่รู้ตัวว่าได้ล่วงเกินพระอริยะ ต้องรีบขอขมา เมื่อท่านยกโทษให้ทุกอย่างก็จะกลับเป็นดังเดิม

ขอขมาไม่ทันขณะท่านยังมีชีวิต ก็ให้ไปขอขมา “ศพ” ท่าน  อย่างนี้ท่านก็ว่าพ้นได้เหมือนกัน คงเพราะนี้กระมังจึงมีธรรมเนียมไปเผาศพผู้ตาย เพื่อขอขมาเผื่อบางทีท่านผู้วายชนม์ที่เราอาจได้ล่วงเกินไปโดยไม่รู้ตัวนั้นเป็นพระอริยะ เราก็จะได้พ้นจาก “อริยุปวาท” ดังกล่าว ทำเผื่อไว้เป็นดีที่สุด

พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระโสณาภิกษุณีว่าเป็นเอตทัคคะ (ผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทาง “ปรารภความเพียร” คือ เป็นผู้มีความพากเพียรสูงยิ่ง
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  พระโสณาเถรี  ภิกษุณีเฒ่าผู้พากเพียรสูง,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: เรือใบ ที่ 03 กรกฎาคม 2556 12:32:44
สาธุ สาธุ สาธุครับ (:6:)


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 กรกฎาคม 2556 15:42:16
.

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS9haCsFTqSDkbpqWbPEnN8HMKfhSv2Rwxb7IdpAQy431oNPAHEvg)

๓๑. จาปาเถรี  
อดีตภรรยาของอุปกาชีวก

อดีตสามีของจาปาชื่อ อุปกะ เป็นนักบวชประเภทอาชีวก  อาชีวกเป็นนักบวชเร่ร่อน ดูเหมือนมีสองประเภท ประเภทที่ไม่นุ่งห่มผ้า เรียก “อเจลก” ประเภทนุ่งห่มผ้าเรียก “อาชีวก” หรือ “อาชีวิกา” (สตรี)

อุปกะพบพระพุทธเจ้าระหว่างทาง ขณะพระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินเพื่อไปโปรดปัญจวัคคีย์ ได้สอบถามถึงครูบาอาจารย์ของพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่มีครูอาจารย์ พระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธะ  (ตรัสรู้ชอบเอง) อุปกะ  (ตามตำนานไทยว่า) ไม่เชื่อสั่นศีรษะแล้วหลีกไป
 
แต่ถ้าดูตามคำพูดที่อุปกะพูดว่า “ผู้มีอายุ ที่ท่านพูดนั้นอาจเป็นไปได้ ถ้าอย่างนั้นท่านก็เป็นอนันตชินะ” และการสั่นศีรษะแล้ว แสดงว่าอุปกะเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะตามธรรมเนียมแขก การสั่นศีรษะหมายถึงการยอมรับ

เมื่ออุปกะจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไปอยู่ในหมู่บ้านนายพรานใกล้ฝั่งน้ำแห่งหนึ่ง ตกหลุมรักลูกสาวนายพราน สึกมาอยู่ด้วยกันจนมีบุตรชายนามว่า สุภัททะ นางจาปา   ผู้ภรรยา เวลาโกรธลูกชายที่ไม่อยู่ในโอวาท มักด่าลูกกระทบพ่อว่า “ไอ้ลูกฤาษีขี้เกียจ มึงนี้ขี้เกียจตัวเป็นขนเหมือนพ่อมึง” บ้าง “ไอ้ลูกปริพาชกมาแต่ตัว ไอ้ลูกคนยากจนไม่มีสมบัติอะไร” อะไรทำนองนั้น

อุปกะได้ฟังก็สะท้อนใจ เมียรักแรกๆ ก็เอาอกเอาใจดี พอมีลูกแล้วกลับดูถูกสามีว่ามาแต่ตัว เป็นคนยากคนจน ชีวิตหนอชีวิตมันเป็นอย่างนี้นี่เอง แล้วเราจะอยู่ให้เขาดูถูกทำไม เราไปอยู่กับ “อนันตชินะ” ดีกว่า

เมื่อสบโอกาสเหมาะ อุปกะก็ออกจากบ้าน มิใยภรรยาจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ฟัง มุ่งหน้าตรงไปยังทิศทางที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ เมื่อพบพระพุทธเจ้าแล้วก็ขอบวชเป็นสาวก

พระพุทธเจ้าตรัสปฏิสันถารว่า “อุปกะ” หลังจากวันที่เราได้พบกัน เธอไปอยู่ที่ไหน” อุปกะก็กราบทูลเรื่องราวเบื้องหลังให้พระพุทธองค์ทรงทราบ ดังข้อความข้างต้น แล้วกราบทูลขอบวช

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อุปกะ บัดนี้เธอแก่แล้วจะบวชไหวหรือ” เมื่ออุปกะรับแข็งขัน จึงทรงประทานอุปสมบทให้

พระอุปกะหลังจากบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต

ฝ่ายภรรยาเมื่อสามีทิ้งไป ก็สำนึกว่าตัวผิดที่ทำให้สามีน้อยใจหนีไป จึงมอบลูกชายไว้ให้ตายายเลี้ยง แล้วก็ออกจากบ้านตามสามี เมื่อพบตัวและทราบว่าสามีได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงไปบวชอยู่ในสำนักนางภิกษุณี

หลังจากบวชแล้ว จาปาภิกษุณีก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมอยู่ในโอวาทของอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

ขณะที่บรรลุธรรม พระจาปาภิกษุณีเปล่งอุทานขึ้นมา ข้อความค่อนข้างยาว

น่าแปลก ว่า แทนที่จะเป็นอุทานแสดงปีติปราโมทย์ที่ได้บรรลุธรรม กลับเป็นอุทานที่ย้อนรำลึกเรื่องเบื้องหลังที่ตนเป็นสาเหตุให้สามีหนีไป นัยหนึ่ง อาจแสดงถึงความโง่เขลาในอดีต ที่หลงจมอยู่ในชีวิตผู้ครองเรือนยาวนาน ก่อนจะสละออกมาบวชได้

อุทาน (นำมาเพียงบางบท) มีดังนี้

เมื่อก่อนจาปาดูหมิ่นเรา ปลอบบุตรเยาะเย้ยเรา เราจึงตัดใจสละนางจาปาออกบวช

ข้าแต่ท่านกาฬะ (อุปกะ) จงกลับมาเถิด จงมาบริโภคกามสุขเหมือนเมื่อก่อน เราและญาติทั้งหลายจักอยู่ในโอวาทของท่าน  ข้าแต่ท่านกาฬะ ท่านเป็นผู้ให้บุตรกำเนิดมา เหตุใดท่านจึงละทิ้งเราและบุตรไปเสียล่ะ

ผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมละทิ้งบุตรภรรยา ทรัพย์สมบัติอันเป็นเครื่องผูกพันออกบวชกันทั้งนั้น

ท่านกาฬะ ถ้าฉันพึงทุบตีหรือแทงบุตรของท่าน เหยียบให้จมดิน ท่านจะยังไม่เศร้าโศกถึงบุตรเชียวหรือ นางชั่วช้าเอย เด็กนั้นก็บุตรของเจ้าเช่นกัน ถึงเจ้าจักทิ้งบุตรให้สุนัขจิ้งจอกกิน ก็อย่าหมายว่าเราจักกลับคืนไป
ท่านกาฬะ บัดนี้ท่านจะไปไหน จักไปสู่บ้าน นิคม นคร ราชธานีไหนเล่า
  
เราจะไปหาพระพุทธเจ้า บัดนี้พระองค์ประทับอยู่ริมฝั่งเนรัญชรา ทรงแสดงธรรมโปรดเหล่าสัตว์ให้ละทุกข์ทั้งปวง

ถ้าเช่นนั้นขอท่านจงกราบไหว้พระองค์ กระทำประทักษิณพระองค์แทนฉันด้วย

จาปาเอย คำขอนี้เราทำให้เจ้าได้ เราจักกราบไหว้ จักทำประทักษิณพระพุทธองค์แทนเจ้าได้

จากนั้น ท่านกาฬะก็จากเราไป ไปถึงแม่น้ำเนรัญชรา ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายบังคมพระพุทธองค์ กระทำประทักษิณสามรอบแทนเรา ได้ขอบวชเป็นสาวก ทำตามคำสั่งสอนของพระองค์ ได้บรรลุวิชชาสามประการแล้ว

อุทานทั้งหมดนี้ บรรยายเรื่องเบื้องหลังของนางกับสามี ทำให้มองได้อีกแง่หนึ่งว่า อุปกะได้เมียปากร้าย ถูกเมีย (ซึ่งแรกๆ ก็รักกันดี) ด่าว่ากระเทียบเปรียบเปรยดูถูกว่ามาแต่ตัว จึงหนีไปบวช แสดงว่าความร้ายของภรรยาเป็นเงื่อนไขปัจจัยให้สามีได้พบทางสว่าง

ฝ่ายภรรยาเอง เมื่อสำนึกว่าตนได้ผิดต่อสามี อยากจะตามไปขอโทษ แต่เมื่อเห็นสามีบวชเป็นพระแล้ว จึงบวชตามบ้าง แล้วก็ได้พบความสว่างทางธรรมเช่นกัน

ชีวิตครอบครัวที่ไม่เป็นสุขของคนทั้งสอง ผลักดันให้ได้พบความสงบเย็นได้ในที่สุด นับว่าโชคดี เพราะน้อยรายนักจะลงเอยอย่างนี้
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ  จาปาเถรี อดีตภรรยาของอุปกาชีวก,  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์  โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก



(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRUuL7Z8JPoCpzGwVaILtzSqacZ09KCUpvmCtfin52H_KcH9mwL)

๓๒. โรหิณีเถรี  
ผู้เป็นปากเป็นเสียงให้สมณะทั้งหลาย

พระเถรีรูปนี้นามซ้ำกับพระนางโรหิณี กนิษฐาของพระอนุรุทธเถระ แต่คนละคน  โรหิณีกนิษฐาของพระอนุรุทธนั้นมิได้ออกบวชเป็นภิกษุณี

โรหิณีที่กล่าวถึงนี้เป็นธิดาพราหมณ์มหาศาลตระกูลหนึ่งในเมืองไพศาลี เนื่องจากมีอุปนิสัยปัจจัยอันได้สั่งสมมาแล้วแต่ปางก่อน จึงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

หลังจากฟังพระธรรมเทศนา ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็บวชอุทิศชีวิตแก่พระศาสนา บำเพ็ญสมถวิปัสสนา ไม่ช้าไม่นานก็บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา

เมื่อกลับมายังตระกูลของตน ถูกบิดาถามทำนองค่อนแคะว่า ลูกโรหิณี พ่อไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าจึงนิยมชมชอบพวกสมณะ (ศากยบุตร) ซึ่งเป็นคนไม่ทำมาหาเลี้ยงชีพ ได้แต่ขอเขากิน คนเกียจคร้านปานนี้ยังเป็นที่รักของเจ้าหรือ

เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง แม้สมัยปัจจุบันคำกล่าวหาทำนองนี้ก็ยังมีอยู่ และเมื่อกาลเวลาผ่านมาถึงยุคนี้ คำกล่าวหาอย่างนี้กลับมีน้ำหนักเสียด้วยเพราะ “สมณะยุคโลกาภิวัตน์ ส่วนมากดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นเสียด้วย

ลองมาดูคำแถลงของพระโรหิณี ดูว่าท่านแก้ต่างว่าอย่างไร

สมณะเหล่านั้นมิได้เกียจคร้านดังคุณพ่อเข้าใจ ท่านใคร่ต่อการงานเป็นอย่างยิ่ง แต่เป็นการงานทางจิตที่ประเสริฐสุด คือ งานละราคะ โทสะ (โมหะ)

สมณะทั้งหลาย กำจัดรากเหง้าแห่งบาป ๓ ประการได้แล้ว ทำแต่การงานที่สะอาดบริสุทธิ์ ละความชั่วได้ทุกชนิด

กายกรรมของท่านเหล่านั้นสะอาด วจีก็สะอาด มโนกรรมก็สะอาด สะอาดหมดจดทั้งภายนอกภายใน ดังสังข์ที่ขัดดีแล้ว เต็มเปี่ยมด้วยธรรมที่สะอาด

สมณะเหล่านั้นเป็นพหูสูตทรงธรรม เป็นอริยะ มีชีวิตอยู่ในธรรม แสดงเหตุแสดงผลให้คนเข้าใจแจ่มแจ้ง มีสติ มีสมาธิแน่วแน่ “ไปไกล” พูดพอประมาณ ไม่ฟุ้งซ่าน รู้จักวิธีขจัดทุกข์

ท่านเหล่านั้นไม่ติดถิ่นที่ ไปไหนไม่ต้องกังวลห่วงใย ท่านเหล่านั้นไม่สะสมข้าวปลาอาหาร ยังชีพด้วยภักษาหาร ฉันอาหารที่เขาถวาย และไม่รับเงินทอง

สมณะทั้งหลายออกบวชจากตระกูลต่างกันจากชนบทต่างกัน แต่รักใคร่ปรองดองกันเป็นอย่างดี เพราะเหตุผลดังว่ามานี้ สมณะเหล่านั้นจึงเป็นที่รักของอาตมภาพ

พราหมณ์ผู้บิดา ได้ฟังเกียรติคุณของพระสมณะ (ศากยบุตร) ทั้งหลาย ที่ภิกษุณีผู้สาธยายให้ฟัง พิจารณาไปตาม ในที่สุดก็เห็นด้วยกับคำพูดของภิกษุณีผู้เป็นธิดา จึงเปลี่ยนท่าทีกล่าวกับเธอว่า
โรหิณีลูกพ่อ เจ้าได้ศรัทธาปสาทะในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ นับว่าเจ้าเกิดมาเพื่อประโยชน์แก่ตระกูลเราจริงๆ

สมณะเหล่านั้นเป็น “เนื้อนาบุญ” อันประเสริฐจริงๆ ขอให้สมณะเหล่านั้นจงมารับทักษิณาของเราบ้างเถิด ไทยธรรมที่ถวายแก่สมณะเหล่านั้นจักมีผลไพบูลย์

โรหิณีภิกษุณี กล่าวกับบิดาว่า

ถ้าโยมพ่อเกลียดกลัวทุกข์ คุณพ่อจงเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ จงสมาทานศีลสรณคมน์ และศีลนั้นจักเป็นประโยชน์แก่คุณพ่อและตระกูลวงศ์ของเรา

เมื่อก่อนตระกูลเราเป็นพราหมณ์ (ถูกสอนว่าพวกเราได้เข้าถึงพระพรหม) บัดนี้อาตมภาพ ได้เป็นสมณะศากยบุตรได้รู้แจ้งวิชา ๓ ประการ ถึงฝั่งแห่งพรหมจรรย์ นับว่าได้เป็น “พราหมณ์” (ผู้ล้างบาป) ที่แท้จริงแล้ว

พระเถรีได้บรรยายคุณสมบัติของสมณะในอุดมคติให้บิดาฟังว่า สมณะศากยบุตรทั้งหลายมิได้เป็นอย่างที่บิดาคิด ท่านเหล่านั้นมีคุณสมบัติสรุปได้ดังนี้ คือ

• เป็นผู้ขยันทำงาน มิได้เกียจคร้าน หากเป็นงานด้านการพัฒนาจิตใจ ละอกุศลมูลได้ ไตรทวารสะอาดบริสุทธิ์
• เป็นพหูสูตคงแก่เรียน มีความสามารถชี้แจงแสดงธรรมให้คนอื่นเข้าใจ
• มี “วิสัยทัศน์ไกล”  มีสติ สมาธิ จิตใจแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน รู้วิธีละ และลดทุกข์
• ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่สะสม ไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยเงินและทอง ใช้วัตถุน้อย ทำประโยชน์แก่สังคมมาก

นับว่าพระเถรีได้เป็นปากเป็นเสียงแทนสมณะศากยบุตรทั้งหลายได้เป็นอย่างดี ชี้แจงให้คนที่มองพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาผิดๆ (ในกรณี คือ โยมบิดา) ให้เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วมิได้เป็นดังที่คนทั่วไปคิด
ท้ายที่สุด พระเถรีได้ให้ความมั่นใจแก่โยมบิดาว่า  ที่ท่านละทิ้งลัทธิพราหมณ์ดั้งเดิมที่เชื่อว่าเข้าถึงพระพรหมผู้ประเสริฐได้ และเป็นพราหมณ์ (คือ ผู้ล้างบาปได้) มาสู่พระพุทธศาสนานั้นเป็นความถูกต้องแล้ว เพราะการได้บรรลุวิชชา ๓ ประการนั้น ถือว่าเป็นการเข้าถึง “พรหม”  (ภาวะที่ประเสริฐ)  แท้จริง และท่านได้ละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง นับว่าเป็น “พราหมณ์” (ผู้ล้างบาปได้) ที่แท้จริง

การอาบน้ำในแม่น้ำคงคาทุกเช้าๆ แล้วเข้าใจว่าล้างบาปได้นั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะความบริสุทธิ์สะอาดแห่งจิตมิได้มีด้วยน้ำ

โยมบิดาเข้าใจ สละความเชื่อถือเดิม หันมานับถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต ด้วยประการฉะนี้แล
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ โรหิณีเถรี  ผู้เป็นปากเป็นเสียงให้สมณะทั้งหลาย, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก



(http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR1hb93FJUVwBgFNoO4LX9OcVxwUJrdxtGw5dRFTU2pB7flQUSC5A)

๓๓. พระอัฑฒกาสีเถรี
อดีตนางโสเภณี

พระท่านว่า คนเราเกิดมาเป็นอะไรอย่างไรเพราะ “เพรงกรรม” (กรรมแต่ปางก่อน) จัดสรรให้มาเกิด กรรม คือ สิ่งที่เราทำด้วยเจตนา ไม่ว่าเราจะทำดีหรือไม่ดีล้วนแต่ออกจากเจตนา (ความตั้งใจ) ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้รับผลจากการกระทำ ก็คือได้รับผลจากเจตนาของเราเอง

ถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งว่า การที่เราเกิดมาจนมิใช่เกิดมาโดยบังเอิญ ดังคำพูดว่า “บังเอิญเกิดมาจน” หากแต่ตั้งใจเกิดมาจนเองต่างหากเล่า

อ้าว คุณตั้งใจทำกรรมอันเป็นสาเหตุให้ต้องเกิดมาจน ก็เท่ากับคุณตั้งใจเกิดมาจนนั่นแหละ อย่าเถียง  ในพระไตรปิฎกพระพุทธองค์ตรัสว่า

คนชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไร้เมตตา  ตายไปตกนรก เกิดมาใหม่เป็นคนอายุสั้น

คนชอบเบียดเบียนสัตว์ ตายไปตกนรก เกิดมาใหม่เป็นคนขี้โรค

คนมักโกรธพยาบาทคนอื่น ตายไปเกิดเป็นคนมีผิวพรรณทราม ไม่สวย

คนขี้อิจฉาไม่มีความเคารพอ่อนน้อม ตายไปเกิดเป็นคนที่ไม่มีอำนาจ

คนกระด้างถือตัว ตายไปเกิดในตระกูลต่ำ

คนชอบเสวนาผู้รู้ สนใจไถ่ถามเรื่องบุญและบาป ตายไปเกิดเป็นคนฉลาด

คนที่อายุยืน ไม่มีโรค หล่อหรือสวย มีชาติสกุลสูง ฉลาด  ก็เพราะทำกรรมตรงกันข้ามกับข้างต้น

เรื่องกรรมและผลแห่งกรรมเป็น “พุทธวิสัย” พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้นจะรู้ได้ ปุถุชนคนมีกิเลสไม่สามารถหยั่งรู้ได้ จึงไม่ควรคิดให้ปวดสมองว่ามันเป็นไปได้อย่างไร

ข้อสำคัญ เราพึงสังวรสำรวจตัวเรามิให้พลาดทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่งามเป็นใช้ได้



ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ภิกษุณีนางหนึ่งด่าภิกษุณีอรหันต์รูปหนึ่งว่า “อีนางแพศยา” ด้วยความโกรธ  ด้วยสาเหตุใดไม่แจ้ง ภิกษุณีรูปนั้นในชาตินั้นไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร เพราะทำกรรมหนัก คือ “ว่าร้ายพระอริยเจ้า” (อริยุปวาท) อันเป็นหนึ่งใน “กรรมหนัก” (อนันตริยกรรม) ๕ ประการ

หลังจากใช้กรรมในนรกหมดแล้ว นางกลับมาเกิดใหม่ในพุทธกาลนี้ เป็นบุตรีของตระกูลเศรษฐีในเมืองแคว้นกาลี ก็คงกุศลกรรมบางอย่างแหละที่บันดาลให้นางมาเกิดเป็นลูกสาวเศรษฐี

แต่เศษบาปกรรมเก่าก็ยังมีอยู่ จึงทำให้ชีวิตนางผันผวนกลายเป็นนางคณิกา (หญิงโสเภณี) ในที่สุดลูกเศรษฐีกลายเป็นหมอนวดโสเภณี

นางอัฑฒกาสีชื่อเสียงเรียงใดไม่แจ้ง ที่ได้ชื่อว่า “อัฑฒกาสี” เพราะว่า “ค่าตัวเธอแพงหูฉี่” ใครจะร่วมอภิรมย์กับนางเพียง “ประตูเดียว” ก็ราคาเท่ากับครึ่งหนึ่งของภาษีแคว้นกาสีเก็บได้ในวันหนึ่ง

ว่ากันว่า แคว้นกาสีเก็บส่วยได้วันหนึ่งตกประมาณพันกหาปณะ  ครึ่งหนึ่งของหนึ่งพันก็คือ ห้าร้อยกหาปณะ เพราะเหตุนี้นางจึงมีชื่อเรียกขานว่า “อัฑฒกาสี” แปลว่า ราคาครึ่งหนึ่งของภาษีของแคว้นกาสี

นางอัฑฒกาสีมีอาชีพ “ขายเนื้อสด” อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมารู้สึกเบื่อหน่ายในอาชีพของตน คิดอยากบวชเป็นภิกษุณี พวกนักเลงล่วงรู้ความลับของนาง จึงพากันไปดักกลางทางเพื่อจับตัวนาง

นางรู้ข่าวนั้น จึงส่งคนไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า นางต้องการบวช แต่ได้ข่าวว่าพวกนักเลงดักจับตัวนางระหว่างทาง จะให้ทำประการใด

พระพุทธองค์ทรงส่ง “ทูต” ไปทำพิธีอุปสมบทให้นาง การอุปสมบทของนางจึงเป็นการอุปสมบทแบบที่เรียกว่า “ทูเตนะอุปสัมปทา” (การอุปสมบทโดยผ่านทูต)

สมัยนั้นในหมู่ภิกษุสงฆ์ มีการบวชอยู่ ๒ ประเภท คือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา (การบวชที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้เอง) กับ ทูเตนะอุปสัมปทา (การบวชผ่านทูต) การบวชของภิกษุณีมีอยู่ประการเดียว และต่อมาก็มีการบวชผ่านทูตเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับภิกษุสงฆ์ พระอัฑฒกาสีเถรี จึงเป็นรูปแรกที่ได้รับการอุปสมบทแบบนี้

พระอัฑฒกาสีเถรี หลังจากบวชแล้วก็ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผลพร้อมปฏิสัมภิทา ทันทีที่ได้บรรลุพระอรหัต พระอัฑฒกาสีเถรีได้เปล่งอุทาน อันประกอบด้วยปีติปราโมทย์ว่า

“แคว้นกาสีได้ส่วยประมาณเท่าใด คนเขาตั้งราคาของเราเท่ากับกึ่งหนึ่งของส่วยของแคว้นกาสี ต่อมาเราเบื่อหน่ายในรูปโฉมโนมพรรณของเรา เมื่อเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัดยินดีในรูปโฉม คิดว่าเราอย่าได้เวียนเกิดเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏอีกเลย (จึงออกบวช) เราได้บรรลุวิชชาสามประการแล้ว ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แล้ว”

ว่ากันว่าคนที่เวียนว่ายอยู่ในทะเลกามนานเข้าอาจถึง “จุดอิ่ม” เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาได้ เมื่อคนเช่นนี้เกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ไม่มีทางที่จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมได้ เพราะรู้สึก “เอียน” มาก ดุจเดียวกับ “คอทองแดง” บางคนเมาหัวราน้ำ วันดีคืนดีอาจหันหลังให้สุรายาเมาอย่างเด็ดขาด  ก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว

พระอัฑฒกาสีก็เป็นคนประเภทนี้ เมื่อนางออกบวชจึงบรรลุธรรม ชั่วระยะเวลาไม่นานเลย บุญบารมีแต่ปางก่อนที่ได้บวชเป็นภิกษุณี ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ก็คงมีส่วนหนุนส่งให้ได้เบนชีวิตมาในพระศาสนา และได้บรรลุธรรมในที่สุดด้วย เพราะฉะนั้น พระท่านจึงสอนเสมอว่าให้ทำบุญกุศลไว้ให้มาก บุญกุศลนี้แหละสักวันหนึ่งจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเรา

ประวัติพระอัฑฒกาสีเถรี ให้ข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนามิได้รังเกียจผู้มีเบื้องหลังชีวิตที่สังคมรังเกียจอย่างนางคณิกา  นางคณิกาเมื่ออยากบวชก็ได้รับอนุญาตให้บวชเช่นเดียวกับคนทั่วไป

พระพุทธศาสนาถือ “ศักยภาพ” เป็นสิ่งสำคัญ และเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้เสมอเหมือนกัน นางคณิกา คนยากคนจน คนเกิดวรรณะชั้นต่ำที่สังคมรังเกียจ พระพุทธศาสนาให้โอกาสเขาเข้ามาพัฒนาคนได้เสมอ ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ

นี้คือความใจกว้างของพระพุทธศาสนา

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง ผู้มีประสบการณ์ชีวิตอันขมขื่นมาก่อน หลังจากบวชแล้ว ประสบการณ์ตรงนั้นเองกลับเป็นเครื่องมือ หรือ “สื่อ” สั่งสอนคนอื่นได้เป็นอย่างดี

อย่างพระนางปฏาจาราที่ประสบความทุกข์จนเกือบเสียจริต พอบวชมาแล้วก็นำเอาประสบการณ์นั้นไปตักเตือนสั่งสอนภิกษุณีและสตรีอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าพระอัฑฒกาสีเถรีก็คงนำเอาประสบการณ์ชีวิตของนางมาเป็นบทเรียนแก่สตรีอื่นๆ เช่นกัน

ข้อสังเกตประการสุดท้าย ความพลาดพลั้งของพระอัฑฒกาสีเถรีในอดีตชาติที่ด่าพระอริยเจ้า ก็ช่วยให้เราสังวรมากขึ้นว่า อย่าพึงด่าว่าร้ายใครง่ายๆ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นพระอริยะหรือไม่ หาไม่พลาดพลั้งทำ “อริยุปวาทกรรม” ดุจดังพระอัฑฒกาสีในอดีตก็เป็นได้
...

ข้อมูล : บทความพิเศษ อัฑฒกาสีเถรี : อดีตนางโสเภณี, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก


(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRTfLIkaPBLcTD2Ue68hzykMO56Bz7Q9wc-33C40uuzkUgbxXpH)

๓๔. ปุณณิกาเถรี
อดีตทาสในเรือนเบี้ย

บางแห่งเขียนปุณณาเถรี บางแห่งเขียนปุณณิกาเถรี ชื่อปุณณา ค่อนข้าง “โหล” มีหลายคน ปุณณา (ปุณณทาสี) ที่ถวายอาหาร “รำปิ้ง” (ทางอีสานว่านี้คือ ต้นเหตุเกิดประเพณีบุญข้าวจี่) แด่พระพุทธเจ้าแล้ว กลัวท่านโยนให้หมากิน เพราะเป็นอาหารไม่ประณีต จึงเดินตามไปดูห่างๆ เห็นพระองค์ประทับนั่งฉัน “รำปิ้ง” ของตนก็ดีใจ (เขียนไว้แล้วในพระสูตรน่าสนใจ ตอน ๓๗๕5 ในข่าวสด ฉบับที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๐) นั่นก็คนหนึ่ง

ปุณณา นางทาสีผู้ที่พระพุทธเจ้าเอาผ้าเก่าขาดของนางมาทำเป็นบังสุกุลจีวรและจีวรผืนนี้เองที่พระพุทธองค์ทรงแลกกับพระมหากัสสปะนั่นก็อีกคนหนึ่ง

ปุณณา กุลธิดาเมืองสาวัตถี ศิษย์ของพระมหาปชาบดีโคตมี นั่นรูปหนึ่ง

ปุณณา หรือ ปุณณิกา ที่กำลังกล่าวถึงนี้ก็รูปหนึ่ง


อรรถกถาเถรีคาถา กล่าวว่าเป็นนางทาสเกิดในเรือน (ทาสในเรือนเบี้ย) ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี  และบอกด้วยว่าในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ นางเป็นผู้มีศรัทธามั่นในพระพุทธศาสนา บวชเรียนจนมีความรู้ธรรมแตกฉาน เพราะข้อที่ตนเป็นพหูสูตจึงมีทิฐิมานะมาก ชอบดูหมิ่นท่านผู้ทรงศีลอื่นๆ เพราะเหตุนี้แหละ มาถึงชาตินี้จึงมาเกิดในตระกูลอันต่ำต้อยเป็นทาสของเขา

นางเป็นทาสคนที่ครบ ๑๐๐ จึงได้รับขนานนามว่า “ปุณณา” (แปลว่า เต็มเปี่ยม คือเต็มร้อย) นางได้ฟังพระธรรมเทศนา “สีหนาทสูตร” ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ภายหลังได้สอนธรรมกับใจพราหมณ์ (บางฉบับบอกชื่อด้วยว่าชื่อ โสตถิยพราหมณ์) ผู้เชื่อว่าอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ล้างบาปได้  เศรษฐีผู้เป็นนายดีใจ ยอมรับในความมีปัญญาเฉียบแหลมของนาง จึงปลดปล่อยให้นางเป็นไท ปุณณาขออนุญาตท่านเศรษฐีบวชเป็นภิกษุณี  หลังจากบวชไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผล
 
ในคัมภีร์อปทานได้เล่าเรื่องของนางตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี และมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ  นางได้พลาดทำบาปกรรม คือ ถือตัวว่าเป็นพหสูตมีมานะกล้า ดูหมิ่นท่านผู้ทรงศีลอื่นๆ จึงได้มาเกิดเป็นทาสในเรือนเบี้ย แต่บุญญาธิการที่ได้สั่งสมไว้มีมาก จึงบันดาลให้พ้นจากความเป็นทาส แล้วมีปัญญาเฉียบแหลม ได้บรรลุธรรมในที่สุด

มีถ้อยคำที่โต้ตอบกับพราหมณ์ผู้เชื่อในเรื่องอาบน้ำล้างบาป (ซึ่งตามประวัติว่าได้โต้ตอบกันก่อนที่นางจะบวช) น่าสนใจมาก ขอคัดมาลงทั้งหมดเลยดังนี้
 
พระปุณณิกาเถรีกล่าวว่า เราเป็นหญิงตักน้ำ กลัวต่อภัยคืออาญาของนาย ถูกภัยคือวาจาและโทสะของนายบีบคั้นแล้ว จึงลงตักน้ำในฤดูหนาวทุกเมื่อ

ดูก่อนพราหมณ์ ท่านกลัวใครเล่า จึงลงตักน้ำทุกเมื่อ ท่านมีตัวอันสั่นเทาเสวยทุกข์ คือ ความหนาวอันร้ายกาจ
พราหมณ์กล่าวว่า ดูก่อนนางปุณณิกาผู้เจริญ ก็เมื่อท่านรู้อยู่ว่าทำกุศลกรรมอันห้ามซึ่งบาปกรรม จะสอบถามเราทำไม

ก็ผู้ใดเป็นคนแก่หรือคนหนุ่ม ทำบาปกรรมไว้ แม้ผู้นั้นก็ย่อมพ้นจากบาปกรรมได้ด้วยการอาบน้ำ

พระปุณณิกาเถรีกล่าวว่า ก็ใครหนอบอกความนี้แก่ท่านผู้ไม่รู้ เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็เมื่อบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการอาบน้ำ กบ เต่า นาค จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่น้ำ ก็จักพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน

พวกคนฆ่าแกะเลี้ยงชีวิต คนฆ่าสุกร พวกชาวประมง พวกพรานเนื้อ พวกโจร พวกนายเพชฌฆาต และคนที่มีกรรมอันเป็นบาปเหล่าอื่น แม้คนเหล่านั้นก็พึงพ้นจากบาปกรรมเพราะการอาบน้ำ

ถ้าแม่น้ำเหล่านี้ พึงนำบาปที่ท่านทำไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ แม่น้ำเหล่านี้ ก็พึงนำบุญมาให้ท่านบ้าง เพราะบุญกรรมนั้น ท่านจึงเป็นผู้เหินห่างจากพระศาสนา

ดูก่อนพราหมณ์ท่านกลัวต่อบาปกรรมอันใดจึงลงอาบน้ำทุกเมื่อ ท่านอย่าได้ทำบาปกรรมอันนั้นเลย ความหนาวอย่าได้เบียดเบียนผิวของท่าน ท่านนำข้าพเจ้าผู้เดินทางผิดไปสู่ทางที่พระอริยะเดินแล้ว

ดูก่อน นางปุณณิกาผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถวายผ้าสาฎกสำหรับสรงน้ำนี้แก่ท่าน ผ้าสาฎกจงเป็นของท่านตามเดิมเถิด เราไม่ประสงค์ผ้าสาฎก

ถ้าท่านกลัวต่อทุกข์ ถ้าท่านเกลียดทุกข์ ท่านอย่าทำกรรมอันเป็นบาปทั้งในที่แจ้งหรือในที่ลับ ก็ถ้าท่านจักทำหรือกำลังทำกรรมอันเป็นบาปไซร้ แม้ท่านจะเหาะหนีไปในอากาศ ก็จักไม่พ้นทุกข์ได้เลย

ถ้าท่านกลัวต่อทุกข์ ถ้าท่านไม่จมทุกข์ ท่านจงเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ผู้คงเป็นสรณะ
จงสมาทานศีลทั้งหลาย สรณคมน์และการสมาทานศีลของท่านนั้น จักเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น

เราจะเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ผู้คงที่เป็นสรณะ จะสมาทานศีลทั้งหลาย สรณคมน์ และการสมาทานศีลของเรานั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เรา เมื่อก่อนเราเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม วันนี้เราได้เป็นพราหมณ์จริงๆ  เราเป็นผู้มีวิชชา ๓ สมบูรณ์ด้วยญาณ มีความสวัสดี มีบาปอันล้างแล้ว
  ...

ข้อมูล : บทความพิเศษ ปุณณิกาเถรี : อดีตทาสในเรือนเบี้ย, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 สิงหาคม 2556 11:12:23
.

          วันนี้ไม่รู้เป็นยังไง อยากเล่านิทานชาดก  
          นิทานชาดกนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ และในชาตกัฏฐกถา
          (คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก ส่วนที่เป็นชาดก)
          ทุกอย่างตามต้นฉบับครับ เพียงแต่ edit นิดหน่อย  
          ให้สะใจคนเล่า ....อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก


นิทานชาดก

(http://chaokhun.kmitl.ac.th/buddhism/nt3/script_art_44may_fig03.jpg)

พระเจ้ามันธาตุราช
ผู้โลภไม่สิ้นสุด

สมัยพระพุทธองค์ ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ภิกษุทั้งหลายนำภิกษุรูปหนึ่งเข้าเฝ้า กราบทูลรายงานว่า ภิกษุหนุ่มเธอ “กระสัน”  (ภาษาพระ  หมายถึง อยากสึก) ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง จึงนำตัวมาเฝ้าเพื่อฟังพระโอวาท เผื่อจะได้เลิกคิดสึกบ้าง

พระบรมศาสดาตรัสถามว่า จริงหรือที่เธออยากสึก ทำไมจึงอยากสึก พระหนุ่มกราบทูลตามจริงว่า พบสตรีนางหนึ่งงดงาม จึงอยากจะสึกไปครองเรือน

พระพุทธองค์ตรัสว่า เธออยู่ครองเรือนก็ไม่สามารถยังความอยากให้เต็มได้ สมัยโบราณ คนที่ครองความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในทวีปทั้งสี่ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร แม้เสวยราชสมบัติในเทวโลกจนกระทั่งท้าวสักกะสามสิบหกองค์จุติ ถึงเวลาตายก็ยังไม่สามารถทำตัณหาความอยากให้เต็มได้

แล้วทรงเล่าเรื่องให้ฟังว่า

พระราชาพระนามว่า มันธาตุราช ทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิที่มีฤทธานุภาพมาก เพียงคู้พระหัตถ์ซ้ายแล้วปรบด้วยพระหัตถ์ขวา ฝนรัตนะก็ตกลงมายังกับห่าฝน สูงเท่าหัวเข่า มีความร่ำรวยมหาศาล ที่เนรมิตเอาตามชอบใจขนาดนั้น ก็ยังไม่อิ่มไม่พอใจ

จึงกระซิบบอกจักรแก้วให้พาไปยังเทวโลก ที่มีสมบัติอันเป็นทิพย์ทั้งหลาย จักรแก้วพาพระองค์เหาะไปยังเทวโลก ชั้นจาตุมมหาราชิกา ท้าวมหาราชทั้งสี่ก็ยินดีต้อนรับ เชื้อเชิญให้อยู่เสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์นั้นเป็นเวลานาน

อยู่นานเข้า ก็มีความรู้สึกว่าไม่มีอะไร เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ดีกว่า จึงอำลาท้าวมหาราชทั้งสี่ขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่สถิตอยู่ของท้าวสักกะเทวราช ท้าวสักกะก็อัญเชิญให้อยู่ด้วยกัน

บนดาวดึงส์นั้น มีทิพยสมบัติ มีความสุขมหัศจรรย์พันลึกกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา ทำให้ท้าวเธอสนุกสนานเพลิดเพลินมากกว่าเดิมหลายร้อยหลายพันเท่า
ว่ากันว่าพระเจ้ามันธาตุอยู่บนดาวดึงส์สวรรค์นานจนท้าวสักกะเทวราชจุติไปตั้งสามสิบหกองค์ ท้าวเธอก็ยังทรงครองราชย์สมบัติในเทวโลกด้วยร่างของมนุษย์นั้นเอง ไม่รู้จักแก่ไปตามสังขาร เมื่อกาลล่วงไปๆ กามตัณหา ความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น มีแต่เพิ่มขึ้นๆ

พระเจ้ามันธาตุเกิดความคิดสกปรกขึ้นว่า เรื่องอะไรจะมาแบ่งครองราชย์ถึงสองคน เราฆ่าท้าวสักกะเทวราชเสียแล้ว ครอบครองสมบัติในเทวโลกคนเดียวไม่ดีกว่าหรือ ครอบครองเสียงเทวดาผู้สนับสนุนสามร้อยเจ็ดสิบเจ็ด เอ๊ย จำนวนมากจนหมดสวรรค์มิดีกว่าหรือ

หารู้ไม่ว่า ท้าวสักกะเทวราช ไม่มีใครฆ่าได้ เกิดขึ้นมาด้วยผลบุญที่ได้สร้างไว้ เมื่อหมดบุญก็จุติไปเอง

พระเจ้ามันธาตุอยู่บนสวรรค์ยาวนานมาก ความชราก็มาถึงสรีระของพระองค์ตามลำดับ เซ็กซ์เซิกก็พลอยเสื่อมไปตามวัยว่างั้นเถอะ

แต่มนุษย์จะแตกดับทิ้งร่างในเทวโลกไม่ได้ ความคิดสกปรกนี้ พระอินทร์ทรงล่วงรู้ ว่าพระเจ้ามันธาตุมันบังอาจคิดจะลิดรอน “เทวอำนาจ” ของพระองค์ จึงให้อาณัติสัญญาณแก่เทพบริวาร

ถีบตกสวรรค์ ขณะมันธาตุราชเผลอตัว

ร่างของพระเจ้ามันธาตุก็ลอยลิ่วๆ ตกลงไปยังพระราชอุทยานของพระองค์เอง ซึ่งถึงตอนนี้กาลเวลาผ่านไปหลายหมื่นปี ราชสมบัติตกเป็นของหลานเหลน โหลน หล่อน (ภาษาไทยไม่มีโหลน หล่อน ดอกครับ พูดด้วยความเคยชินเฉยๆ) ของพระองค์ไปแล้ว

ไม่มีใครรู้จัก

ชายแก่คนนี้ นอนพะงาบๆ ใกล้สิ้นลม ปากก็พร่ำว่า “ข้าคือพระเจ้ามันธาตุราชแห่งเมืองนี้”

เมื่อรู้ว่าชายชราคนนี้คืออดีตพระเจ้ามันธาตุ พวกมหาอำมาตย์จึงกราบทูลว่า มีถ้อยคำอะไรจะสั่งเสียไหม

พระเจ้ามันธาตุราชตรัสว่า พวกท่านจงประกาศให้ชาวเมืองรู้กันทั่วกันว่า “ข้าคือพระเจ้ามันธาตุราช ผู้มีฤทธานุภาพ ขึ้นไปครองราชย์สมบัติบนสรวงสรรค์ตลอดเวลายาวนาน มีความสุข ความเพลิดเพลินสารพัด ยังไม่สมอยากเลย ก็มาตายเสียก่อน

พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องนี้แล้วก็ตรัสสรุปว่า

“พระอาทิตย์และพระจันทร์ส่องแสงสว่างไปถึงไหน คนในโลกมีอยู่ประมาณเท่าใด ทั้งหมดทั้งปวงล้วนเป็นข้าทาส บริวารของพระเจ้ามันธาตุราช แม้กหาปณะจะไหลมาดังห่าฝน ความอยากของคนหาอิ่มไม่ กามทั้งหลายมีความพอใจน้อย มีทุกข์มาก บัณฑิตรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว ย่อมไม่ก่อความยินดีแม้ในกามที่เป็นทิพย์ พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมยินดีในการสิ้นตัณหา  
 ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ พระเจ้ามันธาตุราช : ผู้โลภไม่สิ้นสุด, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 สิงหาคม 2556 09:39:34
.
(http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRoZyJxPbcgKVpY4ykSbtEB8LAKlGsYpwhMS6mwiQLBlZpp03hb)

๓๕. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรี
พระเถรีผู้มีนัยน์ตาสวย

ในกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ อันมีพระมหากษัตริย์พระนามว่า พิมพิสารครอบครอง พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานมั่นคง หลังจากชฎิลสามพี่น้องผู้เคยเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของปวงชนชาวเมืองราชคฤห์ และพระเจ้าพิมพิมสารได้สละลัทธิความเชื่อของตนมานับถือพระพุทธศาสนา

พระเจ้าพิมพิสารเองได้ถวายป่าไผ่อันร่มรื่นให้เป็นสถานที่พำนักของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ วัดแห่งแรกจึงเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีนามว่า “วัดพระเวฬุวัน”

จากนั้นไม่นานหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์หลวงได้ถวายสวนมะม่วงให้เป็นสถานที่พำนักของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ วัดแห่งแรกจึงเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีนามว่า “วัดพระเวฬุวัน”

จากนั้นไม่นานหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์หลวงได้ถวายสวนมะม่วงให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์อีกแห่งหนึ่ง

พระพุทธองค์ ภิกษุสงฆ์ แม้บางคราวภิกษุณีสงฆ์ก็ไปพำนักในสวนมะม่วงของหมอชีวก อันมีนามเป็นที่รู้กันว่า “ชีวกกัมพวัน” เป็นครั้งคราว

ภิกษุณีสาวรูปหนึ่ง กำลังเดินทางมุ่งหน้าไป เพื่อพำนักในชีวกกัมพวันนั้น ถูกชายหนุ่มคนหนึ่งขวางทางไว้ พลวงกล่าววาจาเกี้ยวพาราสี ชักชวนนางเพื่อความรื่นรมย์ทางกาม พูดให้ชัดก็คือชวนเสพเมถุนธรรมนั้นเอง

ภิกษุณีรูปนี้นามว่า สุภา ก่อนที่จะมาบวชนั้นเป็นบุตรสาวแห่งตระกูลพราหมณ์มหาศาลในเมืองราชคฤห์  เนื่องจากได้สั่งสมบุญญาบารมีมามากในอดีตชาติ  พอนางเติบโตมา เป็นหญิงสาวที่มีความงดงามมาก เป็นที่ปรารถนาของบุรุษทั่วไป แต่นางไม่มีจิตยินดีในกามารมณ์ มีความคิดน้อมไปในทางบรรพชาอยู่เสมอ ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจลาบิดามารดาออกบวชเป็นภิกษุณีในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมี

เมื่อบวชแล้วก็ขะมักเขม้นฝึกฝนอบรมตนด้วยการปฏิบัติกรรมฐาน จนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับอนาคามี หมดความยินดีในกามารมณ์โดยสิ้นเชิง

วันหนึ่งนางเดินมุ่งหน้าไปยังชีวกกัมพวันเพื่อหาความสงบวิเวก  ระหว่างทางพบบุรุษหนุ่มคนหนึ่งกั้นทางไม่ให้ไป พร้อมกล่าวเกี้ยวพาราสีเชิญชวนเพื่อความอภิรมย์ในกามารมณ์ดังกล่าวข้างต้น

ต่อไปนี้เป็นคำโต้ตอบระหว่างบุคคลทั้งสอง

เถรี : ฉันทำผิดอะไรหรือ จึงมาขวางทาง ท่านสุภาพบุรุษไม่ควรแตะต้องสตรีนักบวชผู้มีสิกขาบริสุทธิ์ ผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยราคะกิเลสเช่นเรา

บุรุษ : ท่านยังสาวยังสวย ท่านมาบวชทำไม จงเปลื้องผ้าย้อมน้ำฝาดมาหาความอภิรมย์ กันในป่า อันมีดอกหญ้าบานสะพรั่งนี้เถิด ในป่าเต็มไปด้วยเนื้อร้ายปราศจากผู้คน น่ากลัว เราสองคนอยู่ร่วมกันในป่า จะมีความสุข เรามาครองเรือนด้วยกันเถิด ท่านจักได้อยู่ปราสาทหรูหรา มีคนคอยรับใช้ ได้นุ่งห่มผ้าสวยงาม ตกแต่งร่างกายด้วยพัสตราภรณ์อันวิจิตรงดงาม นอนบนที่นอนอันนุ่ม มีค่ามาก ปูลาดด้วยผ้าขนสัตว์ และฟูกอันปราศจากธุลี ประทับด้วยแก่นจันทร์อันหอมยิ่งนัก

ท่านยังอยู่ในวัยสาว อวัยวะที่ธรรมชาติให้มายังไม่ได้ใช้สอยให้คุ้มค่าเลย แก่ชรามาแล้ว จะคร่ำคร่าหาประโยชน์มิได้

เถรี : “ร่างกายเต็มไปด้วยของปฏิกูลเน่าเหม็น อันแตกสลายไปเป็นธรรมดา ไยท่านเห็นว่ามันเป็นแก่นสาร ท่านมองเห็นส่วนไหนว่าน่าดูน่าชมอีกหรือ”

บุรุษ : “นางเอย นัยน์ตาของเจ้าดำงามเหมือนตาเนื้อทราย ดุจดังตากินรี เราเห็นนัยน์ตาของเจ้าแล้วหลงรักเจ้ายิ่งกว่าชีวิตก็มิปาน”

เถรี  : “ท่านปรารถนาในตัวเราผู้เป็นธิดาของพระพุทธเจ้านับว่าคิดผิดเดินทางผิดแล้ว ไม่สมหวังดอก ดังปรารถนาดวงจันทร์มาเชยชม ท่านเลิกคิดเสียเถิดสตรีอื่นที่เขาอภิรมย์ยินดีในกามคุณมีอีกมาก ท่านไปโลมเล้าสตรีเหล่านั้นเถิด”

บุรุษ  : “สตรีอื่นผู้มีนัยน์ตามงามดังเจ้าไม่มีอีกแล้ว นัยน์ตาเจ้ากลมโต น่ารัก แม้เราไปไหนไกลๆ ก็จักไม่นึกถึงสิ่งอื่นนอกจากนัยน์ตางามของเจ้า”

ทันใดนั้น สุภาภิกษุณีก็ควักดวงตาซ้ายออก เลือดสดๆ แดงฉาน ไหลออกจากเบ้าตา นางกล่าวพลางยื่นดวงตาให้บุรุษนั้น “ถ้าท่านปรารถนาดวงตาของข้า เชิญท่านรับเอาไปเถิด” บุรุษหนุ่มตกตะลึง คาดไม่ถึงว่า พระเถรีจะทำถึงขนาดนี้ ความกำหนัดยินดีที่มีหายไปหมดสิ้น เหลือแต่ความตื่นตระหนกงงงัน แล้วสำนึกในความผิดของตนที่ได้ล่วงเกินต่อนาง

จึงกราบแทบเท้าพระเถรี กล่าวขอขมา

สุภาเถรียกโทษให้บุรุษคนนั้น พร้อมเทศนาสั่งสอนเขาให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ แล้วเดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเชตวัน

ทันทีที่เห็นพระพักตร์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดวงตาข้างที่บอดกลับมองเห็นได้ดังปกติ เป็นที่น่าอัศจรรย์
พระพุทธองค์ทรงทราบวารจิตของนาง ได้ตรัสพระธรรมเทศนาที่เหมาะแก่อุปนิสัยของนาง และประทานกรรมฐานให้เธอได้เจริญ ไม่ช้าไม่นานเธอก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมปฏิสัมภิทา
 ...

ข้อมูล : บทความพิเศษ สุภาชีวกัมพวนิกาเถรี : พระเถรีผู้มีนัยน์ตาสวย, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก



(http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRcuIJ1RqBi6tV3EZFi_BbOsNQoktsw2Ni7AX3fUy9GvKwPOwrY1w)

๓๖. พระมหาจุนทเถระ
ผู้มีส่วนริเริ่มการสังคายนา

นามจุนทะ คงไม่ค่อยคุ้นกับผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา แต่บทบาทของท่านสำคัญมิใช่น้อย ในฐานะที่เป็นผู้สนิทกับพระอานนท์พุทธอนุชา และเหนืออื่นใดเป็นน้องชายพระอัครสาวก นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับท่านเป็นผู้ช่วยผลักดัน (ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม) ให้มีการทำสังคายนา “ร้อยกรองพุทธวจนะ

ท่านจุนทะเป็นบุตรวังคันตพราหมณ์กับนางสารีพราหมณี เป็นน้องชายของอุปติสสะมาณพ (ซึ่งภายหลังคือพระสารีบุตรอัครสาวก)  เมื่ออุปติสสะพี่ชายออกบวชและได้เป็นพระอัครสาวก จุนทะได้บวชตามพี่ชายด้วย และได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดแต่อายุยังน้อย

ก่อนที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุ มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า มหาจุนทะ บ้าง จุนทะสมณุทเทศ (จุนทะสามเณรโค่ง) บ้าง จุนทะเฉยๆ บ้าง  เข้าใจว่าเป็นรูปเดียวกัน (หรืออาจมีหลาย “จุนทะ” จนสับสนก็เป็นได้)

ท่านมีความสนิทสนมกับพระอานนท์พุทธอนุชา นัยว่าท่านถือพระอานนท์เป็นอาจารย์ด้วย

ครั้งหนึ่ง จุนทะสมณุทเทศได้ทราบข่าวความแตกแยกกันในหมู่สาวกของศาสดามหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) โดยบังเอิญ  คือ พอศาสดามหาวีระสิ้นชีวิตลงเหล่าสานุศิษย์ก็ถกเถียงกัน ต่างก็อ้างว่าตนได้รับคำสอนมาโดยตรงและถูกต้องที่สุด จากพระศาสดา  เถียงกันไม่ยอมลดราวาศอก จนแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า  ท่านจุนทะจึงนำความไปเล่าให้พระอานนท์ฟัง  ทั้งสองท่านจึงจูงมือกันไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลให้ทรงทราบ

พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า ศาสดามีหลายประเภท ประเภทไหนดี ไม่ดี ตรัสถึงวิธีสอบสวนพระธรรมวินัย และตรัสทำนองแนะให้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยด้วย

“ธรรมที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง พึงสังคายนา พึงวิจารณ์ อรรถะกับอรรถะ พยัญชนะกับพยัญชนะ เพื่อให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่ได้นาน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย"

เท่ากับบอกใบ้ว่า ให้สังคายนาพระธรรมวินัยเสีย ถ้าอยากให้พระศาสนาดำรงอยู่นาน ศาสดาล่วงลับไปแล้ว  สาวกจะได้ไม่แตกแยกกัน ดุจดังสาวกของศาสดามหาวีระ

ตามประวัติไม่ปรากฏว่าพระจุนทะได้ทำพระพุทธดำรัสให้เป็นรูปธรรม คือ ไม่ได้ดำเนินการ “สังคายนา” (ร้อยกรอง) พระธรรมวินัย ตามที่ตรัสแนะ เพราะท่านไม่มีความสามารถเพียงพอ ท่านคงจะได้เล่าเรื่องนี้แก่พระสารีบุตรอัครสาวก พี่ชายท่าน (ถ้าหากท่านพระสารีบุตรไม่ทราบจากกระแสอื่น)

เพราะหลังจากนั้นพระสารีบุตรได้รวบรวมพุทธวจนะ จัดเป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่หมวดหนึ่ง หมวดสอง...จนกระทั่งถึงหมวดสิบและหมวดเกินสิบ ตั้งชื่อว่าสังคีติสูตร” และ “ทสุตตรสูตร

ครั้งหนึ่ง เมื่อเหล่ามัลลกษัตริย์แห่งเมืองปาวาสร้างอาคารโถง (สัณฐาคาร) เสร็จแล้ว อาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปพำนักเป็นครั้งคราว เพื่อเป็นสิริมงคล  กลางดึกคืนนั้น พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า สาวกทั้งหลายยังไม่ง่วงนอน ยังมีฉันทะในการฟังธรรมอยู่ จึงรับสั่งให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย

พระสารีบุตรได้แสดงสังคีติสูตรและทสุตตรสูตรแก่ภิกษุทั้งหลาย ทำนอง “เสนอบทความทางวิชาการ” ขอคำรับรองจากคณะสงฆ์  ในที่สุดของการนำเสนอของพระสารีบุตร พระพุทธองค์ประทับอยู่ไม่ไกล ประทานสาธุการว่า ท่านพระสารีบุตรนั้นแสดงได้ถูกต้องแล้ว  

นี่คือที่มาของการทำสังคายนาพระธรรมวินัยในเวลาต่อมา

พระสารีบุตรเป็นผู้ริเริ่ม แต่เนื่องจากท่านนิพพานไปก่อนพระพุทธองค์ งานยังไม่สมบูรณ์ดี มาได้พระมหากัสสปะสานต่อ การทำสังคายนาพระธรรมวินัยจึงสำเร็จสมบูรณ์

ทั้งหมดนี้คงต้องพูดว่าพระจุนทะมีส่วนอยู่ด้วย เพราะเป็นผู้นำเรื่องราวไปกราบทูล จนเกิดมีกระแสพุทธดำรัสแนะให้สังคายนาพระธรรมวินัยในเวลาต่อมา

พระจุนทะเคารพพระพี่ชายมาก มักติดตามท่านไปไหนต่อไหนเสมอ ในบั้นปลายชีวิตของพระพี่ชาย ก็ติดตามท่านไปเทศนาโปรดโยมมารดาที่บ้านเกิด  เมื่อพระสารีบุตรนิพพานแล้ว ก็ได้นำอัฐิพร้อมบริขารของท่านเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แสดงความเสียใจและว้าเหว่ใจที่สิ้นพระอัครสาวกไป พระพุทธองค์ตรัสให้ความคิด (แก่พุทธบริษัทอื่นๆ ด้วย) ว่า “สารีบุตรสิ้นไป เธอนำเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ และวิมุติขันธ์ ไปด้วยหรือเปล่า ก็เปล่า เพราะฉะนั้นเธอไม่พึงเสียใจ”

สมัยที่พระพุทธองค์ยังไม่มีผู้อุปฐากถาวร ท่านจุนทะก็เป็นผู้หนึ่งที่ถวายการบำรุงพระพุทธองค์เป็นครั้งคราว แม้หลังจากพระอานนท์มารับหน้าที่ประจำแล้ว ท่านจุนทะก็มีโอกาสถวายการดูแลพระพุทธองค์ตามโอกาส ในคราวเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระจุนทะก็เฝ้าอยู่อย่างใกล้ชิดรูปหนึ่ง

ท่านมีชีวิตยืนยาว  ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อมาหลังพุทธปรินิพพาน ดำรงอยู่พอสมควรแก่เวลา แล้วก็ “ดับสนิท” ไปตามอายุขัย  
 ...

ข้อมูล : บทความพิเศษ พระมหาจุนทเถระ : ผู้มีส่วนริเริ่มการสังคายนา, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก



(http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRw3XeFd2DrvD-0ShrRDyB1sYxqxw29U8spy0aedyro2tK9nPTi_Q)

๓๗. ปทุมวตีเถรี  
อดีตโสเภณีผู้เป็นศิษย์ของลูกชาย


เห็นชื่อเรื่องอาจแปลกใจ ไม่แปลกดอกครับ ลูกเป็นอาจารย์ของพ่อแม่ มีถมไป ลูกสาวคนเล็กยังเรียกพ่อบังเกิดเกล้าว่า “น้องชาย” เลยครับ

นางจุลสุภัททาบุตรสาวของอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั่นยังไง นางได้บรรลุอนาคามิผลแล้ว ก่อนตายเรียกพ่อผู้เป็นพระโสดาบันว่า “น้องชายๆ” พ่อเสียใจที่ลูกสาว “หลงตาย” คือเพ้อไม่มีสติก่อนตาย แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุตรสาวของท่านเศรษฐีพูดถูกแล้ว นางได้เป็นอนาคามีจึงอยู่ในฐานะเป็นพี่ชายของท่านในทางธรรมของบิดา  นางมิได้หลงตายแต่อย่างใด

ผู้สนใจในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาคงทราบดีว่า พระเจ้าพิมพิสารแม้ว่าจะเป็นพระโสดาบัน ก็ยังเป็นเพลย์บอยตัวยง  พระองค์มักเป็น “แขก” ประจำสำนักนางนครโสเภณีต่างๆ เสมอ (นอกจากว่าท่านใดจะมีหลักฐานยืนยันว่า พระองค์บรรลุโสดาปัตติผลภายหลังการเที่ยวสำราญในสำนักนางนครโสเภณีเหล่านี้เกิดก่อนบรรลุธรรม ก็ว่ามา อาตมา เอ๊ย ข้าพเจ้ายินดีรับฟัง)

นางอัมพปาลี นางนครโสเภณีแห่งเมืองไพศาลี ก็เป็นขวัญใจของพระเจ้าพิมพิสาร จนมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง ชื่อ วิมล

นางสาลวดี นางนครโสเภณีแห่งเมืองราชคฤห์ได้ให้กำเนิดแก่ชีวกโกมารภัจจ์  ปรมาจารย์แห่งแพทย์แผนโบราณ

คราวหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จไปที่เมืองอุเชนี แห่งแคว้นอวันตี พระองค์ทรงร่วมอภิรมย์กับนางปทุมวดี นางนครโสเภณีผู้เลอโฉมหนึ่งคืน ได้พระราชทานธำมรงค์แก่นางปทุมวตีเป็นรางวัล บังเอิญว่าเกิดอุบัติเหตุ นางตั้งครรภ์คลอดบุตรชาย ตั้งชื่อว่า อภัย เมื่อบุตรชายโตขึ้นมา นางได้บอกบุตรชายว่า พระราชาแห่งแคว้นมคธเป็นบิดาบังเกิดเกล้าของเขา สั่งให้ไปหาบิดาพร้อมมอบธำมรงค์แก่บุตรชายเพื่อเป็นหลักฐาน

อภัยหาโอกาสไปเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจนได้ในวันหนึ่ง ถวายธำมงรงค์แก่พระราชา พระองค์ทรงจำธำมรงค์ได้ ตรัสถามว่าเจ้าได้ธำมรงค์มาจากไหน เด็กหนุ่มกราบทูลว่าเป็นของมารดาของข้าพระพุทธเจ้า นางฝากให้มาถวายคืนพระองค์ พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า อภัยคือพระโอรสของพระองค์ จึงทรงรับเลี้ยงไว้ที่พระราชสำนัก
 
หนุ่มอภัยเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส จึงกราบทูลของพระบรมราชานุญาตออกบวช บวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทาญาณ

ฝ่ายปทุมวดีผู้เป็นมารดาได้พบลูกชาย ได้ฟังธรรมเทศนาจากพระลูกชายมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ออกบวชเป็นภิกษุณี สำนักของภิกษุณีทั้งหลาย ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติธรรม ภายหลังได้ฟังธรรมที่พระลูกชายแสดงให้ฟังอีก ส่งใจพิจารณาไปตามเนื้อหาสาระที่พระลูกชายแสดงให้ฟัง ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลทำที่สุดทุกข์ได้แล้วโดยสิ้นเชิง

คัมภีร์ศาสนาเล่าว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าองค์ก่อน นางเกิดในตระกูลมั่งคั่งตระกูลหนึ่ง ได้ใส่บาตรด้วยข้าวทัพพีหนึ่ง ถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอานิสงส์แห่งบุญนั้น จึงได้บรรลุอรหัตผลในชาตินี้  แต่คัมภีร์ก็มิได้บอกว่านางทำบาปอะไรไว้จึงมาเกิดเป็นหญิงโสเภณี

พิเคราะห์ดูตามค่านิยมสมัยโน้น การเกิดเป็นนางนครโสเภณีมิใช่เรื่องน่ารังเกียจแต่อย่างใด เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ ที่พระราชามหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เผลอๆ อาจพูดกันว่าเพราะนางทำบุญมามาก จึงได้รับตำแหน่งนครโสเภณีเสียด้วยซ้ำไป

ธรรมเทศนาที่พระลูกชายแสดงให้ภิกษุณีผู้เป็นมารดา เป็นเรื่องเกี่ยวกับกายคตาสติ หรืออสุภกรรมฐาน  ลูกชายรู้ว่าคนที่มีรูปร่างงาม เคยดำรงตำแหน่งนางงามแห่งนครมาแล้ว ย่อมติดในความสวยความงามอย่างเหนียวแน่น แม้มาบวชเป็นภิกษุณีแล้วก็เถอะ ท่านจึงแสดงธรรมเพื่อให้ถอนความยึดติดในความงามของร่างกาย วิธีที่จะได้ผลก็ต้องชี้ให้เห็นความน่าเกลียดปฏิกูลแห่งร่างกายให้ได้

“ขอให้แม่พิจารณาเบื้องล่าง ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไปจนจรดศีรษะเบื้องบน ตั้งแต่ศีรษะมาจรดปลายเท้า พิจารณาให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว ร่างกายนี้ไม่สะอาดเน่าเหม็นอย่างยิ่ง”

นางพิจารณาตามที่พระลูกชายสอน ก็เห็นความจริงแท้จริงของสังขารทั้งหลายว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในที่สุดก็ได้บรรลุอรหัตผลดังที่กล่าวแล้ว

หลังจากบรรลุแล้ว พระปทุมวตี  หรือนามใหม่ว่า อภยมาตาเถรี  ก็ได้เปล่งอุทานเป็นบทโศลกบทหนึ่งว่า

       เอวํ วหรมานาย สพฺโพ ราโค สมูหโต
       ปริฬาโห สมุจฺฉินฺโน สีติภูตามฺหิ นิพฺพุตา
       ปฏิบัติตามที่ลูกชายสอน
       ความเร่าร้อนก็ดับสลาย
       สรรพราคะก็มลาย ดับ เย็นสบายถึงนิพพาน
 ...

ข้อมูล : บทความพิเศษ ปทุมวตีเถรี : อดีตโสเภณีผู้เป็นศิษย์ของลูกชาย, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก


(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQpFwHneR83l39OazFaZBFT_TFQdeX1M0h8v6ScaPFpn20faQKq)

๓๘. ภิกษุณีสามพี่น้อง
น้องสาวของพระสารีบุตร


หลายท่านที่ศึกษาพระพุทธศาสนาอาจลืมไปว่า พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธองค์ มีพี่น้องและหลานชายมาบวชเป็นภิกษุและภิกษุณีจนหมด

พระจุนทเถระ ผู้เป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงปรารภว่า ถ้าอยากให้พระธรรมวินัยอยู่ได้นาน พึงสังคายนา (มีโอกาสจะเล่าให้ฟังภายหลัง) ก็เป็นน้องชายพระสารีบุตร

น้องชายของท่านอีกคน นาม เรวตะ  ก็บวชเช่นกัน  น้องสาวทั้งสามของงท่านเห็นพี่ชายบวช ก็พากันไปบวชเป็นภิกษุณี  ตกลงตระกูลของท่านที่เคยนับถือศาสนาอื่น หันมาเป็นสาวกของพระพุทธองค์หมด

เมื่ออ่านประวัติท่าน ได้ทราบว่ามารดาของท่านโกรธแค้นลูกชายมาก ที่ชวนน้องไปบวชในสำนักพระพุทธองค์จนหมด ก็น่าเห็นใจ เพราะไม่มีผู้สืบสกุลวงศ์เลย   

เวลาท่านพระสารีบุตรกลับไปเยี่ยมมารดา  มารดาท่านจะต่อว่าต่อขานอย่างหนักแทบตัดแม่ตัดลูกเลยทีเดียว แต่พระเถระก็มิได้ว่ากระไร กลับเข้าใจมารดาดี

เมื่อท่านอาพาธหนักจวนจะนิพพาน ก็กราบทูลขออนุญาตพระพุทธองค์ไปนิพพานที่บ้านเกิดตน

มารดาเห็นท่านกลับมาและถามถึงห้องที่ท่านเกิด นึกว่าพระลูกชายของตนคงจะ “กลับใจ” กลับมาอยู่บ้านแล้ว จิตใจจึงอ่อนโยนขึ้น ไม่โกรธเคืองดังแต่ก่อน  โอกาสนี้เอง ท่านพระสารีบุตรได้ทำหน้าที่ตอบแทนพระคุณของมารดาบังเกิดกล้าด้วยการแสดงธรรมให้มารดาฟัง กลับใจมารดาจากความเป็นมิจฉาทิฐิ มานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะก่อนนิพพาน เพียงไม่กี่นาที
หันมาพูดถึงน้องสาวสามใบเถาของท่าน   เมื่อพี่ชายใหญ่ออกบวชก็พากันไปบวชเป็นภิกษุณีในสำนักนางภิกษุณี พี่สาวคนโตนามว่า จาลา  คนรอง นามว่า อุปจาลา  คนเล็กนามว่า สีสุปจาลา  ทั้งสามท่าน หลังจากบวชไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ

คำหลังนี้ (ขีณาสพ) มาจากคำเดิมว่า ขีณาสวะ  (มีอาสวะหรือกิเลสหมดสิ้นแล้ว)  “อรหันต์ขีณาสพ”  ก็คือ “พระอรหันต์ผู้หมดสิ้นกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิง”  ถ้ากิเลสยังไม่หมดโดยสิ้นเชิง อย่างเช่น พระโสดาบัน  พระสกิทาคามี พระอนาคามี ก็ไม่เรียกว่า “อรหันต์ขีณาสพ”

ประวัติของพระเถรีทั้งสามเป็นไปในทำนองเดียวกัน  คือ ขณะกำลังนั่งสมาธิอยู่ในป่า ถูกมารมาแกล้ง ทำนองเชิญชวนให้กลับไปครองเรือนตามเดิมเถิด ยังสาวยังแส้อยู่ อะไรทำนองนั้น  ทั้งสามท่านก็โต้ตอบแก่มารอย่างเจ็บแสบ จนมารต้องล่าถอยไปด้วยความละอาย

พระอุปจาลาภิกษุณี ขณะนิ่งสมาธิอยู่ในป่าอันธวัน มารมาปรากฏตัวขึ้น ถามในทำนองไม่สุภาพว่า “สมณะโล้น เจ้าบวชอุทิศใคร (หมายถึงบวชเป็นลูกศิษย์ใคร) ทำไมมาชอบใจวิถีของเดียรถีย์ หลงทางอยู่ในป่าอย่างนี้”  อุปจาลาภิกษุณีตอบเป็นโศลก (คาถา) ว่า

“เราบวชอุทิศพระพุทธเจ้า เราได้ฟังคำสอนของพระองค์ อันว่าด้วยทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และอริยมรรคมีองค์แปดอันเป็นทางดับทุกข์ ได้บรรลุวิชชาสาม กำจัดความเพลิดเพลินในสิ่งทั้งปวง ทำลายสรรพกิเลส ขจัดความมืดมนได้หมดแล้ว มารผู้มีบาปเอย เจ้าจึงรู้เถิด เรากำจัดเจ้าได้แล้ว “ มารได้ฟังดังนั้นก็เสียใจ อันตรธานหายไป ณ บัดนั้น

สีสุปจาลาเถรีน้องสุดท้อง ขณะนั่งสงบอยู่ในป่า มารมากระซิบกวนว่า เจ้าจงตั้งความปรารถนาเพื่อเกิดเป็นเทวดาชั้นต่างๆ เถิด มีความสุขมากนะ อะไรทำนองนั้น พระเถรีตอบเป็นโศลกว่า
“เทวดาชั้นดาวดึงส์จนถึงวสวัตตี ต่างก็เวียนว่ายอยู่ภพในต่างๆ ได้รับทุกข์ เพราะเกิดและตายไม่จบสิ้น โลกลุกเป็นไฟ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมดับความเร่าร้อนทั้งปวง ใจของเรามีความยินดีในธรรมของพระองค์ เราทำตามคำสอนของพระองค์ ได้บรรลุวิชชาสาม ทำที่สิ้นทุกข์ กำจัดความเพลิดเพลินในสิ่งทั้งปวง ทำลายความมืดหมดแล้ว มารผู้มีบาปเอย จงรู้เถิดว่าเรากำจัดเจ้าได้แล้ว”

ข้อพึงสังเกต มารที่ว่ามาเชิญชวนพระเถรีให้กลับไปยินดีในเพศฆราวาสให้ยินดีในการเกิด หรือให้ตั้งความปรารถนาไปเกิดเทวดา ตีความเป็นมารจริงๆ ก็ได้ เพราะพระพุทธศาสนาก็พูดถึงเทพถึงมารว่าเป็นสัตว์ (BEING)  ชนิดหนึ่ง มีจริง แปลตามตัวอักษร มารก็คือมาร แปลอย่างนั้น ก็ไม่ว่ากระไร

แต่ถ้าคิดในอีกรูปหนึ่ง “มาร”  ในที่นี้ก็คือ ความคิดคำนึงที่ผุดขึ้นชั่วแวบเดียวในใจของภิกษุณีทั้งสาม คือ ขณะท่านนั่งสงบอยู่ในสมาธิ ก็นึกแวบไปถึงความสุขในกามสมัยยังเป็นฆราวาส นึกถึงการเวียนว่ายตายเกิดสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุพระอรหัต นึกถึงคนทั่วไป มักตั้งความปรารถนาอยากไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ เพราะเข้าใจว่าดีกว่าความเป็นมนุษย์ นึกขึ้นมาเพียงแวบเดียว ก็ทราบว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องของผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในกามคุณ เป็นสิ่งไร้สาระ สู้การบรรลุพระอรหัตผล (อย่างที่ท่านได้บรรลุ) มิได้ เพราะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับกามคุณอีกต่อไป ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายในภพชาติต่างๆ แม้กระทั่งเกิดในสุคติโลกสวรรค์อีกต่อไป

การที่มารหายวับไปในบัดเดี๋ยวนั้น ก็แสดงอยู่แล้วว่า ใจของพระเถรีอรหันต์มิได้ติดข้องอยู่ในเรื่องที่ผุดขึ้นมาในขณะนั้น เพียงนึกถึงแล้วก็ผ่านเลยไป 

ทำให้นึกถึงฉากธิดามารทั้งสามมายั่วยวนพระพุทธเจ้า หลังตรัสรู้เพียงชั่วครู่ก็หายวับไป นั่นก็คือหลังตรัสรู้ เอาชนะกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว พระองค์ทรงหวนระลึกถึงความร้ายกาจของกิเลส กว่าจะเอาชนะได้ต้องบำเพ็ญบารมีกี่กัปกี่กัลป์ นึกถึงแล้วก็ผ่านเลยไป
  ...

ข้อมูล : บทความพิเศษ ภิกษุณีสามพี่น้อง : น้องสาวของพระสารีบุตร, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 สิงหาคม 2556 11:36:18
.

(http://www.larnbuddhism.com/atatakka/tere/Buddha01.JPG)

๓๙. สามาเถรี
สหายของนางสามาวดี


วันนี้ขอนำเรื่องราวของสามาเถรี ผู้เป็นสหายรักของนางสามาวดี มาเล่าให้ฟัง

ผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนา คงเคยได้ทราบประวัติของนางสามาวดี มเหสีของพระเจ้าอุเทนมาบ้าง

พระนางสามาวดีนี้แหละครับเป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ตรัสพุทธภาษิตสอนใจว่า “ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ผู้ไม่ประมาทจะไม่มีวันตาย ผู้ประมาทแล้ว ถึงยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว”

พระนางสามาเป็นบุตรของเศรษฐี หนีตายเพราะโรคห่าลงเมือง มาเมืองโกสัมพีพร้อมกับพ่อแม่ พ่อแม่ส่งลูกสาวไปขอทานบ้านเศรษฐี  วันแรกนางขออาหารสำหรับคนสามคน วันที่สองขอสำหรับคนสองคน เพราะพ่อตรอมใจตายไป วันที่สามขอสำหรับตัวคนเดียว เพราะแม่มาตายไปอีกคน

ผู้จัดการโรงทานของเศรษฐีดุด่าหาว่าเป็นเด็กตะกละ วันแรกๆ คงคิดว่าท้องตัวจะบรรจุอาหารได้มาซีนะ จึงขอไปมากๆ วันนี้รู้ประมาณท้องของตัวเองแล้วใช่ไหม อะไรทำนองนั้น นางจึงเล่าความจริงให้ฟัง ผู้จัดการโรงทานรับนางเป็นบุตรสาวบุญธรรม

ต่อมานางบอกพ่อให้ทำรั้วให้คนขอทานเรียงคิวเข้ารับทานทีละคน เสียงอื้ออึงจึงหายไป เพราะเหตุนี้นางจึงได้นามใหม่จากพ่อบุญธรรมว่า สามาวดี (สามาผู้เป็นต้นคิดทำรั้ว) เศรษฐีรู้เรื่องของนาง ขอนางไปเป็นบุตรสาวบุญธรรม พ่อบุญธรรมเดิมเห็นว่านางจะได้เจริญก้าวหน้า จึงมอบให้ไป

ต่อมา นางได้เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทน

พระนางสามาวดีได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าบรรลุโสดาปัตติผลมาก่อนแล้ว ตั้งแต่อยู่เมืองเดิม เมื่อได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองโกสัมพี ก็อยากฟังธรรม แต่หาโอกาสไม่ได้ เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงส่งสาวใช้ร่างค่อมไปฟังธรรม แล้วให้มาเล่าให้ฟัง จึงเกิดมีการ “เทศน์” ขึ้นในตำหนักของนาง โดยนางขุชชุตตรา  (อุตตราร่างค่อม) เป็นผู้แสดง

สาวใช้ในวังต่างก็สนใจฟังธรรม และอยากเห็นพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์  นางจึงสั่งให้เจาะฝาห้องของตนส่องดูเวลาพระองค์เสด็จออกบิณฑบาตพร้อมพระสงฆ์

บังเอิญในราชสำนักนั้นมีนางคันทิยา คู่แค้นเก่าของพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย นางผูกใจเจ็บที่พระองค์แสดงธรรมให้พ่อแม่ของตนฟัง กล่าวตำหนินางว่าเป็นเพียง “กระสอบอุจจาระ”

เรื่องของเรื่องก็คือ อีตาพ่อจะยกลูกสาวให้พระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์จึงทรงตรัสสอนพราหมณ์ผู้พ่อว่า สมัยพระองค์เป็นเจ้าชายอยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์ นางสนมกำนัลงามกว่าลูกสาวพราหมณ์ พระองค์ยังไม่ยินดีเรื่องอะไรจะมายินดีกับความงามของลูกสาวพราหมณ์ ซึ่งก็คือ “กระสอบอุจจาระ” ดีๆ นี่เอง

นี่แหละครับ คือที่มาของความแค้นของนางมาคันทิยา

นางมาคันทิยา รู้เรื่องพระนางสามาวดีกับบริวาร จึงหาทางกลั่นแกล้งใส่ไฟหาว่าพระนางสามาวดีตีตัวเอาใจออกห่างจากพระเจ้าอุเทน พระราชาทรงเชื่อ จึงจะประหารชีวิต พระองค์ลงมือแผลงศรเพื่อปลิดชีพพระมเหสีเอง แต่ไม่สามารถปล่อยลูกศรได้ จึงวางธนูเข้าไปขอโทษพระนาง และทรงอนุญาตให้พระนางพร้อมบริวารนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์มาเสวยภัตตาหารที่วังได้แต่นั้นมา

มาคันทิยาแทบคลุ้มคลั่งที่แผนการของตนไม่สำเร็จ จึงสั่งให้ลอบวางเพลิงเผาพระนางสามาวดีพร้อมทั้งบริวารหมดสิ้น

หลังจากพระนางสามาวดีสิ้นชีพ พระสงฆ์ได้กราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า ทำไม อุบาสิกาผู้มั่นในพระรัตนตรัยอย่างพระนางสามาวดีจึงต้องตายอย่างอนาถเช่นนี้

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า สามาวดีมิได้ประมาทในธรรม ถึงตายก็เสมือนไม่ตาย ดังกล่าวข้างต้น

สหายสนิทของพระนางสามาวดี นามว่า สามา  เช่นกัน ได้เห็นเหตุโศกนาฏกรรมนั้นถนัดตา เกิดความสลดสังเวชใจ ไปบวชอยู่ในสำนักนางภิกษุณีบำเพ็ญสมาธิภาวนา แต่ทำอย่างไรก็ลืมภาพอันสยดสยองนั้นไม่ลง ไม่ว่าเธอจะนั่งสมาธิเมื่อใด ภาพของสหายรักก็ผุดขึ้นให้เห็นเมื่อนั้น จนไม่ประสบความก้าวหน้าในสมาธิภาวนา

วันหนึ่ง นางได้กราบเรียนให้พระอานนท์ทราบ พระเถระได้แสดงธรรมอันเป็นวิธีแก้ไขให้นางฟัง นางได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระเถระ จึงก้าวหน้าในการทำสมาธิภาวนาไปเรื่อยๆ จนในที่สุดบรรลุพระอรหัต ทำที่สิ้นสุดทุกข์โดยสิ้นเชิง

ขณะที่ให้คำแนะนำแก่สามาภิกษุณีนั้น พระอานนท์ท่านยังเป็นพระโสดาบันอยู่ เนื่องจากพระเถระเป็นพหูสูต ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้ามามากกว่าใคร จึงรู้เทคนิควิธีหลากหลายที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้ประสบความขัดข้องในการปฏิบัติ

ครั้งหนึ่งพระวังคีสะ ซึ่งเป็นจินตกวี หลังจากบวชใหม่ๆ เดินตามท่านพระอานนท์ไปบิณฑบาต เกิดเรื่อง  คือราคะ ความกำหนัดยินดีขึ้นปัจจุบันทันด่วนถึงกับเดินต่อไปไม่ได้ จึงร้องบอกพระอานนท์ว่า ช่วยผมด้วย  พระอานนท์จึงหยุดเดินบอกให้พระวังคีสะกำหนด “อสุภนิมิต” (คือนึกภาพว่ามันไม่สวยงาม กระสอบขี้ทั้งนั้น อะไรทำนองนั้น) พระหนุ่มทำตาม ราคะกำหนัดจึงสงบ เดินตามท่านต่อไปได้

ที่ยกมาพูดนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า พระอานนท์ท่านมีเทคนิควิธีสอนที่ได้ผล เพราะท่านจดจำมาจากพระพุทธองค์มาก เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้ว พระสามาเถรีได้กล่าวโศลกธรรม ความว่า

ตามปกติแล้วเราไม่สามารถบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ นั่งสมาธิแล้วต้องลุกออกไปจากวิหาร ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง  จำเดิมแต่เราได้ฟังโอวาทจากพระอานนทเถระเราจึงบังคับจิตเราได้ ถอนตัณหาได้หมดแล้ว เราได้รับทุกข์ใจมหาศาล (เพราะเพื่อนตายอย่างน่าสงสาร)

บัดนี้เรายินดีในความไม่ประมาท บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว นับว่าเราได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
 ...

ข้อมูล : บทความพิเศษ สามาเถรี : สหายของนางสามาวดี, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก


(http://www.dhammajak.net/board/files/_40_201.jpg)
๔๐. พระเจ้าพิมพิสาร
โยมอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า


จบเรื่องภิกษุณีแล้ว ขอเล่าเรื่องของอุบาสกผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย เพื่อเป็นแบบอย่างแห่งชีวิตของอนุชนรุ่นหลัง

คราวก่อนโน้นได้เล่าเรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐีโดยละเอียดต่างหากแล้ว คราวนี้ขอนำเรื่องของอุบาสกท่านอื่นๆ มาเล่าให้ฟัง  ขอเริ่มด้วยพระเจ้าพิมพิสารมหาราชแห่งมคธรัฐก่อนก็แล้วกัน

ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา จะต้องได้ยินพระนามกษัตริย์พระองค์นี้ก่อนใครอื่น เพราะเกี่ยวพันกับพระพุทธองค์ตั้งแต่ก่อนเสด็จออกผนวช จนกระทั่งหลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วก็ได้เป็น “โยมอุปฐาก” ต่อมาจนสิ้นพระชนม์

หลักฐานบางแห่งว่าพระพุทธเจ้าแก่กว่าพระเจ้าพิมพิสาร ๕ พรรษา และว่า ทั้งสองเป็น “อทิฏฐสหาย” (เพื่อนที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน) มาตั้งแต่ยังเป็นพระราชกุมาร เพราะว่าพระราชบิดาแห่งแคว้นมคธและแคว้นศากยะ เจริญสัมพันธไมตรีกัน ว่ากันว่าอย่างนั้น (คัมภีร์ที่พูดอย่างนี้ชื่อมหาวังสะ หรือมหาวงศ์)

แต่จากพุทธประวัติระบุว่า พระเจ้าพิมพิสารนั้นเพิ่งจะรู้จักพระพุทธองค์ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จออกผนวช เสด็จดำเนินผ่านมายังแคว้นมคธ และมาประทับอยู่ที่ปัณฑวบรรพต พระเจ้าพิมพิสารขึ้นครองราชย์สืบต่อพระราชบิดาแล้ว  

พระเจ้าพิมพิสารได้ข่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จมายังแคว้นของพระองค์ จึงเสด็จไปนมัสการทอดพระเนตรเห็นพระอากัปกิริยาอันสงบสำรวมก็เลื่อมใส  ชักชวนให้พระพุทธองค์ละเพศบรรพชิตมาครองราชย์ด้วยกัน โดยทรงยินดียกดินแดนให้กึ่งหนึ่ง

พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ตรัสว่าสิ่งที่พระองค์ทรงแสวงหาคือโมกษธรรม หาใช่สมบัติทางโลกไม่  

พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า ถ้าพระพุทธองค์ทรงค้นพบสิ่งที่แสวงหาเมื่อใด ขอให้เสด็จมาสอนพระองค์เป็นคนแรก ว่ากันว่าพระพุทธองค์ทรงปฏิญญา

ด้วยเหตุนี้เมื่อโปรดปัญจวัคคีย์  โปรดพระยสะและสหาย มีพระอรหันต์จำนวน ๖๐ รูป ทรงส่งไปประกาศพระศาสนายังแคว้นต่างๆ แล้ว  พระองค์จึงเสด็จพุทธดำเนินมุ่งตรงไปยังเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ  ว่ากันว่า เพื่อเปลื้องปฏิญญาที่ประทานให้กับพระเจ้าพิมพิสารนั้นเอง

แต่ผมว่าถึงจะไม่มี “พันธสัญญา” อะไรกับพระเจ้าพิมพิสารมาก่อน พระพุทธองค์เมื่อจะประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลาย ก็คงต้องเสด็จไปเทศน์สอนพระเจ้าพิมพิสารอยู่ดี  เพราะการจะสอนแนวคิดอะไรใหม่ๆ ที่ค้านกับความเชื่อถือดั้งเดิมของคนทั้งปวง จะต้องหาคนที่มี “ฐาน” กำลัง “สนับสนุน”

แน่ะ  พูดยังกับจะปฏิวัติ

ไม่ผิดดอกครับ พระพุทธเจ้ากำลังปฏิวัติความคิดของคนทั้งหลายให้ละทิ้งความเชื่อถือดั้งเดิม หันมาเชื่อถือแบบใหม่ที่ดีกว่า มีเหตุมีผลกว่า แต่การปฏิบัติครั้งนี้จะสำเร็จไม่ได้ หรือสำเร็จยาก ถ้า “ผู้นำ” ชุมชนนั้นๆ ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าพระเจ้าพิมพิสารนั้นเป็นผู้นำแคว้นใหญ่ ถ้าพระเจ้าพิมพิสารทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว ประชาชนคนอื่นก็จะดำเนินรอยตาม เพราะทรงพระดำริเช่นนี้ จึงเสด็จมุ่งตรงไปยังเมืองราชคฤห์  แต่เมื่อทรงพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองทรงเคารพนับถือ “เตภาติกชฎิล” (ชฎิลสามพี่น้อง) อยู่ จึงต้องไปโปรดสามพี่น้องก่อน

ชฎิลสามพี่น้องเป็นนักบวชเกล้าผมที่มาบูชาไฟประจำ ขอแทรกตรงนี้สักเล็กน้อย  “บูชาไฟ” เป็นกิจกรรมที่คนสมัยนั้นเชื่อและทำกันเป็นส่วนใหญ่ คือเขาเชื่อกันว่ามีเทพเจ้าเบื้องบนที่เป็นหัวหน้าเทพทั้งหลาย นาม “ปชาบดี” (พระพรหม) คอยรับการเซ่นสรวงจากมนุษย์ผู้บำเพ็ญตบะ  มนุษย์ผู้บำเพ็ญตบะก็จะนำเครื่องเซ่นมาเผาไฟให้เกิดเป็นเปลว  ขณะนั้น “อัคนีเทพ” ก็จะนำเอาเครื่องเซ่นนั้นขึ้นไปบนสรวงสวรรค์ไป “ป้อน” เข้าปากพระปชาบดีและทวยเทพทั้งหลาย ดุจแม่นกป้อนเหยื่อลูกนก  

ฉะนั้น เมื่อพระปชาบดีและทวยเทพได้รับเครื่องเซ่นแล้ว ก็จะประทานพรให้มนุษย์ผู้ทำพิธีเซ่นไหว้นั้นให้บริสุทธิ์ พ้นทุกข์ตามควรแก่การกระทำของแต่ละคน

พิธีบูชาไฟจะกระทำเป็นครั้งคราวตามกำหนด กิจวัตรของพวกที่ถือการบูชาไฟอย่างชฎิลสามพี่น้องนี้ คือ การบำเพ็ญตบะ (ทรมานตนเองให้ลำบากโดยวิธีการต่างๆ )  ซึ่งเป็นค่านิยมที่แพร่หลายในสังคมยุคนั้น  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม โปรดให้ชฎิลสามพี่น้องสละลัทธิความเชื่อถือดั้งเดิมนั้น มาเป็นสาวกของพระองค์หมดแล้ว ก็พาสาวกใหม่หมาดๆ จำนวนพันรูป ไปพักยัง “สวนตาลหนุ่ม” ใกล้เมืองราชคฤห์

คำว่า “สวนตาลหนุ่ม”   ศัพท์เดิมคือ ลัฏฐิวัน   คำว่า ลัฏฐิวัน แปลว่า (๑) ไม้เท้า  (๒) หน่อไหม้, ต้นไม้อะไรก็ได้ที่เพิ่งเจริญงอกงาม “ลัฏฐิวัน” ในเรื่องนี้เป็นชื่อของป่าตาล ก็คงเป็นป่าตาลธรรมดาๆ นี้เอง  ทั้งตาลหนุ่มและตาลแก่นั่นแหละ  แต่เมื่อคำว่า ลัฏฐิ แปลว่า หน่อไม้หรือต้นไม้รุ่นๆ ได้ ท่านจึงแปลว่า “สวนตาลหนุ่ม”

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้สดับข่าวนี้ จึงเสด็จพร้อมประชาชนจำนวนมากไปยังสวนตาลหนุ่ม ทอดพระเนตรเห็นบรรดาอาจารย์ของตนสละเพศชฎิล หันมานุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แถมยังนั่งแวดล้อม “สมณะหนุ่ม” รูปหนึ่ง หน้าตาคลับคล้ายคลับคลาเคยเห็นที่ไหนมาก่อน ก็มีความสงสัยอยู่ครามครัน  

พระพุทธเจ้าทรงทราบพระราชดำริของกษัตริย์หนุ่ม จึงหันมาตรัสถามพระปูรณะกัสสปะ หัวหน้าชฎิลทั้งหลายว่า “ท่านเห็นอย่างไร จึงสละเพศชฎิลและการบูชาไฟที่ทำมาเป็นเวลานานจนผ่ายผอม  หันมานับถือพระพุทธศาสนา”

ปูรณกัสสปะกราบทูลว่า “ยัญทั้งหลายสรรเสริญรูป เสียง กลิ่น รส และสตรี ล้วนแต่เป็นเรื่องมลทิน ข้าพระองค์เห็นว่ามิใช่ทางแห่งความสงบรำงับกิเลส จึงละการเซ่นสรวงบูชา”

พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น ใจท่านยินดีอะไรในเทวโลก หรือมนุษยโลก”

ท่านปูรณกัสสปะกราบทูลว่า “ใจของข้าพระองค์ยินดีในการสิ้นอุปธิ (กิเลส) ทั้งหลาย ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป”

พระเจ้าพิมพิสารและประชาชนได้ยินอาจารย์ของตนนั่งคุกเข่าประคองอัญชลีต่อพระสมณะหนุ่ม และประกาศเหตุผลว่า ทำไมจึงจะละลัทธิความเชื่อของตนมานับถือสมณะหนุ่มเป็นอาจารย์ ก็หายสงสัย พลอยเลื่อมใสตามอาจารย์ของตน กษัตริย์หนุ่มก็พลอยรำลึกได้ว่า

สมณะหนุ่มรูปนี้ก็คือผู้ที่ตนพบมาก่อนที่ปัณฑวบรรพตนั้นเอง บัดนี้ได้เป็น “พระสัมมาสัมพุทธ” แล้ว

พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลว่า บัดนี้ความปรารถนาก่อนขึ้นครองราชย์ ๕ ประการได้สำเร็จแล้ว คือ
๑. ปรารถนาอยากได้ครองราชย์ตั้งแต่ยังหนุ่ม
๒. ปรารถนาอยากให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธะเสด็จมาโปรดเมืองของตน
๓. ปรารถนาอยากได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธะ
๔. ปรารถนาอยากให้พระสัมมาสัมพุทธะนั้นแสดงธรรมให้ฟัง
๕. ปรารถนาอยากให้รู้ทั่วถึงธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธะนั้นแสดง

เมื่อประกาศความสำเร็จแห่งมโนปณิธานของพระองค์แล้ว ก็ก้มกราบมอบพระองค์เป็นสาวก นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดพระชนม์ชีพ อัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวังในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ถวาย “สวนไผ่” นอกเมืองให้เป็น “วัด” แห่งแรกในพุทธศาสนา  นามว่า เวฬุวัน

เวฬุวันมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า กลันทกนิวาปะสถาน  (อ่าน กะ-ลัน-ทะ-กะ-นิ-วา-ปะ-สะ-ถาน) แปลว่า สถานที่ให้เหยื่อแก่กระแต   หรือสถานที่เลี้ยงกระแต   เรื่องราวมีดังนี้ครับ


(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTAKhwXsQ6FU1ncGPYF1rA_KotGVkJKS_0DPHTR-4vwrmWP2As1)

พระราชาองค์หนึ่งเสด็จกลับจากล่าสัตว์ มาประทับพักผ่อนอยู่ใต้กอไผ่  ในสวนไผ่แห่งนี้  ทรงบรรทมหลับไปหลังจากเสวยน้ำจัณฑ์จนเมา  ข้าราชบริพารเห็นในหลวงบรรทมหลับ จึงพากันถอยออกไปเก็บผลไม้ซึ่งอยู่ห่างจากที่นั้น

ขณะนั้นอสรพิษตัวหนึ่งได้กลิ่นเหล่า จึงเลื้อยมาทางพระราชา อสรพิษนั้นอาจจะกัดพระราชาจนสิ้นพระชนม์ได้ ถ้าหากว่าเสียงกระแตไม่ไล่มันไป

พระราชาทรงตื่นบรรทม เห็นงูพิษมันเลื้อยหนีไปเพราะเสียงกระแตทำให้มันตกใจ  ทรงดำริว่ากระแตช่วยชีวิตของพระองค์ไว้ ทรงสำนึกในบุญคุณของพวกมันจึงทรงประกาศให้สวนไผ่แห่งนี้เป็นอภัยทาน ห้ามใครๆ ทำร้ายพวกมัน แถมยังพระราชทานทรัพย์ส่วนหนึ่งให้เป็นกองทุนเลี้ยงอาหารพวกมันด้วย

เพราะเหตุนี้แหละ สวนไผ่แห่งนี้จึงมีชื่อเรียกขานกันว่า “สถานที่เลี้ยงกระแต”  

เรื่องนี้เล่าไว้ในอรรถกถาอุทาน   ผมไม่แน่ใจว่าทำไมงูเห่ามันถึงเจาะจงไปกัดพระราชา เพราะธรรมดางูนั้นอยู่ๆ จะไม่กัดคน นอกเสียจากว่ามันตกใจจวนตัวจึงจะฉก แต่นี่ตามเรื่องมันจงใจจะไปกัดให้ตายเลยแหละ

หลักฐานทางทิเบตกล่าวว่า งูตัวนี้มิใช่งูธรรมดา เป็น “วิญญาณ” เจ้าของที่เดิม มันอาฆาตที่พระราชาริบที่ดินแห่งนี้ของเขา (ด้วยความผิดใดไม่แจ้ง) เมื่อเขาตายไป แต่ไฟแค้นนั้นยังอยู่ จึงแปลงเป็นงูเห่ามากัดพระราชา ว่าอย่างนั้น

แซมมวล  บีล  ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของจีน  กล่าวว่า กลันทกะมิได้เกี่ยวกับกระแตอะไรดอก หากเป็นชื่อของพ่อค้านายหนึ่ง นามกลันทกะ ผู้ถวายสวนไผ่นี้ให้เป็นของหลวงว่าอย่างนั้น และสวนแห่งนี้ก็มีมานานแล้ว ก่อนสมัยพระเจ้าพิมพิสารแต่ตำนานเรื่องกระแตช่วยชีวิตพระราชานี้ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป  และพระราชาองค์นี้ว่ากันว่าคือพระเจ้าพิมพิสาร

จบเรื่องเวฬุวัน  ก็มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันกับพระเจ้าพิมพิสาร ว่ากันอีกนั่นแหละว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นคนแรกที่ทำพิธี “กรวดน้ำ” อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย

เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากถวายพระเวฬุวันแก่พระพุทธองค์แล้ว คืนนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงฝันร้าย เห็นพวกเปรตมาร่ำร้องต่อหน้า น่าเกลียดน่ากลัวมาก  รุ่งเช้าขึ้นมาพระองค์เสด็จไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ

พระพุทธองค์ตรัสว่าสัตว์ประหลาดทั้งหลายที่มาปรากฏนั้นเป็นเปรต ซึ่งเคยเป็นพระญาติของมหาบพิตรในอดีตกาลอันยาวนานโพ้น พวกเขามาขอส่วนบุญ
“หม่อมฉันควรจะทำอย่างไร พระเจ้าข้า”  พระราชากราบทูลถาม
“มหาบพิตรควรกวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้พวกเขา”

วันต่อมา พระราชาจึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารในพระราชวัง  แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่พวกเปรตที่เคยเป็นพระญาติของพระองค์

ตกดึกมา บรรดาพระญาติเก่าก็มาปรากฏโฉมอีก คราวนี้หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ขอบคุณที่แบ่งส่วนบุญให้ ต่างก็ได้กินอิ่มหมีพีมันไปตามๆ กัน แล้วก็อันตรธานหายวับไปกับตา  ว่ากันว่าตั้งแต่นั้นมา ชาวพุทธจึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับทุกครั้งที่ทำบุญทำทาน  มีคำถามสอดแทรกเข้ามาว่า พระญาติของพระเจ้าพิมพิสารทำบาปทำกรรมอะไรหรือ จึงมาเกิดเป็นเปรตหิวโหยทรมานตลอดกาลนาน

เฉลยว่า สมัยก่อนโน้น พวกเขาได้ตระเตรียมอาหารจะถวายพระสงฆ์แต่ยังไม่ทันได้ถวาย พากันหยิบเอามากินเสียส่วนหนึ่งก่อน ด้วยบาปอันนั้นแหละ ตายไปแล้วจึงไปเกิดเป็นเปรต ว่าอย่างนั้น

เพราะเหตุนี้แล ปู่ย่าตาทวดจึงเข้มงวดนักห้ามไปแตะอาหารที่ตั้งใจจะถวายพระเป็นอันขาด  เวลาเด็กร้องขอกินก็จะตวาดว่า “ไอ้นี่จะกินก่อนพระ ด้วยเป็นเปรตพิมพิสาร” (หมายถึงเปรตที่เคยเป็นญาติพระเจ้าพิมพิสาร)
 ...


(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRXdYxiE46gTyOt5YK346kaxe7AYVXpIUs7pNrbcOfH4io2i-bn)

พระเจ้าพิมพิสารบรรลุธรรมะระดับโสดาบัน แต่ก็มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับนางโสเภณีหลายคน จึงทำให้คนมองเห็นว่า ภาพหนึ่งของพระราชาหนุ่มพระองค์นี้เป็นคนเจ้าสำราญ อีกภาพหนึ่งเป็นคนวัด

ไม่ทราบว่าเจ้าสำราญมาก่อนเข้าวัด หรือว่าเป็นไปพร้อมๆ กัน (เพราะโสดาบันก็ยังยุ่งอยู่ในโลกโลกียวิสัยได้)

อีกอย่างหนึ่ง นครโสเภณีสมัยก่อน ไม่ใช่อาชีพไร้เกียรติดังในปัจจุบัน หากเป็นตำแหน่งที่พระราชาทรงแต่งตั้งและมีเงินเดือนกินด้วย

ตำแหน่งนี้ ตั้งขึ้นตามนโยบายการ “ดึงดูดเงินตรา” จากต่างประเทศ คือ พ่อค้าวานิช หรือกษัตริย์จากเมืองน้อยใหญ่ จะพากันมาเที่ยวอภิรมย์ ณ สำนักนครโสเภณีเป็นประจำ ปีๆ หนึ่งนำเงินเข้าประเทศมิใช่น้อย

ตำแหน่งนครโสเภณีเกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ของกษัตริย์ลิจฉวี พระเจ้าพิมพิสารไปที่นั้น และได้อภิรมย์กับนางอัมพปาลี จนมีโอรสด้วยกัน นามว่า วิมล

หนุ่มวิมล ภายหลังไปอยู่ที่พระราชสำนัก พระนครราชคฤห์ และออกบวชเป็นภิกษุ บรรลุพระอรหัตผล

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารแต่งตั้งนางสาลวดีเป็นนครโสเภณีที่พระนครราชคฤห์ตามอย่างเมืองไพศาลีของพวกกษัตริย์ลิจฉวี นางมีบุตรชายองค์หนึ่ง นามว่า ชีวก (ชีวกโกมารภัจจ์) ว่ากันว่า นี้ก็เป็นพระโอรส พระราชาหนุ่มพระองค์นี้เหมือนกัน

ยังครับ ยังมีอีก พระองค์มีโอรสกับนางปทุมวดี นางนครโสเภณีอีกคน แห่งเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี นามว่า อภัย  อภัยราชกุมารนี้เองต่อมามาอยู่ที่พระนครราชคฤห์และได้เป็นบิดาบุญธรรมของหมอชีวกโกมารภัจจ์...เรื่องราวดูสับสนจริงเนาะขอรับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาเป็นสาวกของพระพุทธองค์แล้ว พระเจ้าพิมพิสารทรงเอาพระทัยใส่ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน จนแว่นแคว้นของพระองค์มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วว่าเป็นดินแดนแห่งพระธรรม

พระเจ้าพิมพิสารมีพระอัครมเหสี พระนามว่า โกศลเทวี หรือ “เวเทหิ” พระนางเวเทหิเป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้พระกนิษฐาของพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมเหสีเช่นกัน แว่นแคว้นใหญ่ทั้งสองนี้ “ดอง” กันจึง “ชัวร์” ได้ว่าจะไม่รบรากันเป็นอันขาด ยกเว้นเล่น “สงครามจิตวิทยา” กัน เพื่อความภาคภูมิใจส่วนตน (เล่นกันอย่างไรไว้เล่าภายหลัง)

นอกจากนี้ มีระบุมเหสีพระองค์หนึ่ง นามเขมา สวยงามมาก นางลุ่มหลงในรูปโฉมโนมพรรณของตนมาก (อย่างว่าแหละครับ คนสวยก็ย่อมภาคภูมิใจในความสวยของตนเป็นธรรมดา)  พระราชสวามีชักชวนให้เข้าวัดฟังธรรม อย่างไรก็ไม่ไป กลัวพระพุทธเจ้าตรัสตำหนิความงามของตน

แต่ในที่สุดนางก็ไปบวชเป็นภิกษุณี กลายเป็นพระเถรีที่มีความเฉียบแหลมทางปัญญา ได้รับยกย่องเป็นพระอัครสาวิกาของพระองค์

ชีวิตมันไม่แน่นอนอย่างนี้แหละครับ คนที่ใครๆ คิดว่าห่างวัดห่างวา ชาตินี้คงไม่รู้จักพระธรรม เผลอแผล็บเดียว อ้าวกลายเป็นนักปฏิบัติธรรมผู้เคร่งครัดไปแล้วก็มี เรื่องอย่างนี้แล้วแต่บุญบารมีแต่ปางหลังใครทำมาอย่างไร

พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชโอรสพระนามว่า อชาตศัตรู  จากพระนางเวเทหิ  ตอนทรงประชวรพระครรภ์ ก็คือแพ้ท้อง (ไม่ทราบว่าผมใช้ราชาศัพท์ถูกหรือเปล่า)  พระเทวีใคร่จะเสวย “เลือด” ของพระราชสวามี แพ้ท้องอะไรบ้าๆ ก็ไม่รู้ มีหรือพระนางจะบอกพระราชสวามี

ต่อมาเมื่อทรงซักไซ้จึงกราบทูลความจริง ด้วยความรักพระมเหสี พระราชาจึงเฉือนพระพาหา เอาพระโลหิตออกมาให้พระมเหสีดื่ม อาการประชวรพระครรภ์ก็สงบ โหราจารย์ทำนายว่าพระโอรสองค์นี้จะทำ “ปิตุฆาต” แต่พระราชาก็มิทรงแยแสต่อคำทำนาย

ว่ากันว่า พระเทวีแอบไปทำแท้งที่ถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชฌกูฏ ไปเอาก้อนหินทุบท้องเพื่อให้แท้ง พระราชาทรงทราบ ตรัสห้ามทำเช่นนั้นเป็นอันขาด ทารกน้อยจึงมีโอกาสเกิดขึ้นมาดูโลก

ที่พระนางทำมิใช่ไม่รักลูก แต่มิอยากได้ชื่อว่ามีลูกฆ่าพ่ออันเป็นความอัปยศอย่างยิ่ง แต่พระราชสวามีก็ปลอบพระทัยว่าเรื่องในอนาคตไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ได้ เพียงคำทำนายก็ไม่พึงเชื่อว่าจะเป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกอย่าง อยู่ที่กระทำของคน ถ้าเราอบรมลูกให้ดี มีหรือจะกลายเป็นคนชั่วเช่นนั้นได้

เพราะความเชื่อมั่นอย่างนี้ เมื่อพระราชโอรสประสูติแล้ว จึงพระราชทานนามว่า อชาตศัตรู (ผู้เกิดมาไม่เป็นศัตรู) ทรงให้การศึกษาอบรมแก่พระราชโอรสเป็นอย่างดี เจ้าชายน้อยก็ทรงเจริญเติบโตมา เป็นคนว่านอนสอนง่าย อยู่ในพระโอวาทอย่างดี ไม่เห็นวี่แววว่าจะออกนอกลู่นอกทางแต่อย่างใด

แต่ก็เหมือนฟ้าลิขิต เจ้าชายน้อยได้รู้จักอลัชชี นามเทวทัต ถูกเทวทัตผู้เป็นบาปมิตรล้างสมองให้เห็นผิดเป็นชอบ จนจับพระราชบิดาขังคุกให้อดพระกระยาหารจนสิ้นพระชนม์

ใครไปเยี่ยมซากปรักหักพังของเมืองราชคฤห์ เดินลงเขาคิชฌกูฏ ไกด์จะชี้ให้ดูสถานที่คุมขังพระเจ้าพิมพิสารอยู่เชิงเขา ว่ากันว่า เมื่อถูกห้ามเยี่ยมเด็ดขาด พระราชาผู้เฒ่า “เสด็จเดินจงกรม” ไปมา ยังชีพอยู่ได้ด้วย “พุทธานุสสติ” คือ มองลอดช่องหน้าต่าง ทอดพระเนตรดูพระพุทธองค์เสด็จขึ้น-ลงเขาคิชฌกูฏ พร้อมภิกษุสงฆ์ทุกวัน เรียกว่าอยู่ได้ด้วยปีติโสมนัสแท้เทียว

เมื่อรู้ว่าเสด็จพ่อยังเดินได้อยู่ กษัตริย์อชาตศัตรูก็สั่งให้เอามีดโกนเฉือนพระบาท เอาเกลือทา ย่างด้วยถ่านไฟร้อน พระราชาผู้เฒ่าผู้น่าสงสาร ทนทุกขเวทนาไม่ไหว ก็สิ้นพระชนม์ ณ ที่คุมขังนั้นแล

ที่ประหลาดก็คือ วินาทีที่พระราชาผู้เฒ่าสิ้นลมนั้น ก็เกิดชีวิตใหม่ร้องอุแว้ในพระราชสำนัก อชาตศัตรูผู้พ่อดีพระทัยที่ได้โอรส ทันใดนั้นก็นึกว่าเวลาตนเกิดเสด็จพ่อก็คงดีพระทัยอย่างนี้ จึงรีบสั่งให้เปิดคุกปล่อยพระราชบิดา แต่ทุกอย่างก็สายเสียแล้วครับ

พระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ทรงอุปถัมภ์พระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ทำให้พระพุทธศาสนาหยั่งรากลงในแคว้นมคธ และเจริญแพร่หลายชั่วระยะเวลาอันรวดเร็ว ชาวพุทธจึงควรรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ในข้อนี้..



ข้อมูล : บทความพิเศษ พระเจ้าพิมพิสาร : ,โยมอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล โดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 ตุลาคม 2556 11:39:16
.
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgdkWdEZJjvuCJuT4aOweykBlIBQrlWo3IwVbNVTHnaeIe92OD0Q)

๔๑. พระเจ้าปเสนทิโกศล (ตอนที่ ๑)
พระมหากษัตริย์ผู้อุปถัมภ็พระศาสนา

• เล่าเรื่องของพระเจ้าพิมพิสารแล้ว ไม่เล่าเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดูกระไรอยู่  เพราะสองกษัตริย์นี้มีอะไรๆ เกี่ยวข้องกันอยู่ ไม่ว่าจะนด้านการเมือง หรือในด้านการพระศาสนา ไว้เล่ารายละเอียดข้างหน้า

ก่อนอื่นขอเล่าพระประวัติตั้งแต่ต้นก่อน

พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามหาโกศล เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล สมัยยังเป็นพระราชกุมาร พระราชบิดาส่งไปศึกษาศิลปวิทยาที่มหาวิทยาลัยตักสิลา

ณ ที่นี้ เจ้าชายปเสนทิโกศลได้พบกับเจ้าชายอีกสององค์ ซึ่งเป็น “ศิษย์ร่วมรุ่น” กับพระองค์ และทรงรักกันมาก คือเจ้าชายมหาลิ จากเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี และเจ้าชายพันธุละจากเมืองกุสินาราแห่งแคว้นมัลละ

เมื่อจบการศึกษาแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันกลับมาตุภูมิ และได้แสดงศิลปวิทยาการที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากตักสิลาแก่พระประยูรญาติโดยทั่วหน้ากัน และพระเจ้ามหาโกศลได้มอบพระราชบัลลังก์ให้พระราชโอรสครอบครองแทนพระองค์ในเวลาต่อมา

ข้างฝ่ายเจ้าชายมหาลิแห่งแคว้นวัชชี ถูกกษัตริย์ลิจฉวีบางคนที่มีจิตใจอิจฉาริษยากลั่นแกล้ง ขณะใช้ดาบฟันลำไผ่หลายลำที่เขามัดเข้าด้วยกันไว้ ได้เกิดอุบัติเหตุ ซี่เหล็กที่เขาแอบใส่ไว้ กระเด็นเข้าถูกตาทั้งสองข้าง ได้รับบาดเจ็บ จนกระทั่งบอดทั้งสองข้างในเวลาต่อมา

พวกกษัตริย์ลิจฉวีเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถมาก จึงได้แต่งตั้งให้เจ้าชายมหาลิเป็นอาจารย์สอนเจ้าชายลิจฉวีทั้งหลาย ในราชสำนักแห่งเมืองไพศาลี

เจ้าชายพันธุละถูกคู่อริกลั่นแกล้งเช่นกัน แม้การแสดงศิลปวิทยาท่ามกลางพระประยูรญาติจะจบลงด้วยความพอใจของมหาสมาคม แต่เจ้าชายพันธุละทรงน้อยพระทัยที่ไม่มีใครบอกให้ทราบก่อนว่ามีซี่เหล็กอยู่ในนั้น ถ้ารู้ก็จะได้ฟันมัดไม้ไผ่ให้ขาดกระเด็นโดยไม่ให้มีเสียง “กริ๊ก” แม้แต่นิดเดียว

ฟันขาดจริง แต่ยังมีเสียงดังกริ๊ก แสดงว่าวิทยายุทธ์ยังไม่ยอดเยี่ยมจริงอะไรทำนองนั้น ไม่มีใครคิดอย่างนี้ แต่เจ้าชายพันธุละทรงคิด รู้สึกเสียศักดิ์ศรี จึงออกจากเมืองกุสินาราไปหาพระสหายร่วมรุ่น คือ พระเจ้าปเสนทิโศล ขอถวายตัวเข้ารับราชการเพื่อรับใช้พระราชาหนุ่ม พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงดีพระทัยมากที่พระสหายของพระองค์ยินดีมาอยู่ด้วย จึงทรงแต่งตั้งให้พันธุละเป็นเสนาบดี

เรื่องราวของพันธุละและนางมัลลิกาภริยาพันธุละ “ถูกกระทำ” จากพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นอย่างไรได้เขียนเล่าไว้แล้วในที่อื่น (ที่ไหนก็จำไม่ได้แน่) ไปตามหาอ่านเอาเองแล้วกัน จะไม่ขอเล่าอีก ขอพูดถึงแง่มุมอื่นก็แล้วกัน

พระเจ้าปเสนทิโกศลเดิมทีนั้นนับถือศาสนานิครนถ์ (ศาสนาเชน หรือลัทธิชีเปลือยของศาสดามหาวีระ) และเชื่อถือในการบูชายัญของพราหมณ์อีกด้วย เมื่อมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังไม่เลิกบูชายัญ และยังติดต่อกับพวกชีเปลือยเป็นต้นอยู่

ที่พูดดังนี้ก็เพราะมีหลักฐานในพระไตรปิฎกเล่าถึงเรื่องเหล่านี้ว่า ครั้งหนึ่งขณะที่อยู่ในสำนักพระพุทธเจ้า พอดีเหล่าชีเปลือย ปริพาชก เป็นต้น เดินผ่านมาใกล้ๆ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงคุกพระชานุ ประคองอัญชลี ประกาศว่า ข้าพระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี ขอนมัสการพระคุณเจ้าทั้งหลาย เมื่อพวกเขาคล้อยหลัง พระเจ้าปเสนทิโกศลหันมากราบทูลพระพุทธองค์ว่า สมณะเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์

พระพุทธเจ้าตรัสเตือนสติว่า มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์ผู้ “บริโภคกาม” (กามโภค) รู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ทำเอาพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชะงักทีเดียว

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า

     จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่   ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ
     จะรู้ว่ามีความสะอาดหรือไม่   ด้วยการสนทนา
     จะรู้ว่ากำลังใจเข้มแข็งหรือไม่   ก็ต้องเมื่อตกอยู่ในอันตราย

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงประกอบพิธีบูชายัญยิ่งใหญ่ มีการตระเตรียมฆ่าสัตว์อย่างละ ๗๐๐ บังเอิญว่าพระนางมัลลิกาพระมเหสีทรงทัดทาน การฆ่าสัตว์ครั้งมโหฬารจึงไม่เกิดขึ้น

จากหลักฐานดังกล่าว แสดงว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเชื่อทั้งลัทธิพราหมณ์ ทั้งลัทธินิครนถ์ (รวมถึงลัทธิอื่นๆ ด้วยในขณะเดียวกัน) คงเป็นด้วยว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้อุปถัมภ์พระศาสนา พระองค์ย่อมจะนำเอาหลักพระศาสนามาปรับใช้ในการปกครองประเทศ พระองค์จึงให้ความสำคัญแก่พระศาสนาต่างๆ ทัดเทียมกัน

ต่อเมื่อมานับถือพระพุทธศาสนาน้อมนำเอาพระรัตนตรัยมาเป็นสรณะเด็ดขาดแล้ว จึงทรงเลิกการกระทำที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนชีวิต (เช่น การฆ่าสัตว์บูชายัญ) และนำเอาหลักคำสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแบบอย่างดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น

สาเหตุที่พระเจ้าปเสนทิโกศลนับถือพระพุทธศาสนา มิได้พูดไว้ชัดเจน แต่คงจะมาจากสองสาเหตุ คือ
     ๑. เพราะการแนะนำของพระนางมัลลิกา
     ๒. เพราะเหตุผลทางการเมือง

สาเหตุแรกนี้มีความเป็นไปได้เพียงใด อยู่ที่ระยะเวลาเข้ามาเป็นมเหสีของพระราชา  ถ้าหลักฐานบ่งชัดว่า พระนางมัลลิกาเป็นมเหสีหลังจากพระเจ้าปเสนทิโกศลนับถือพระพุทธศาสนา ก็แสดงว่าพระราชามิได้นับถือเพระการแนะนำของพระนางมัลลิกา แต่ถ้าก่อนหน้านั้นพระราชายังนับถือลัทธินิครนถ์อยู่ พอนางมัลลิกาเป็นมเหสีแล้ว พระนางมัลลิกานั้นแหละเป็นผู้ชักจูงพระราชาเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา

พระนางมัลลิกานั้น เป็นสาวิกาผู้บรรลุโสดาปัตติผลมาตั้งแต่อายุยังน้อย มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย เมื่อมาเป็นพระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ย่อมจะทรงมีอิทธิพลต่อความเชื่อของพระราชสวามีมิใช่น้อย

หลักฐานในพระไตรปิฎกหลายแห่งบ่งบอกอิทธิพลของพระนางต่อพระราชสวามี ดังเช่นเรื่องการฆ่าสัตว์บูชายัญ (ที่กล่าวในตอนที่แล้ว) และคำแนะนำในเรื่องสำคัญๆ อีกมาก

ถ้ามิใช่เหตุผลข้อแรก พระเจ้าปเสนทิโกศลคงนับถือพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา เพื่อจะเอาชนะพระเจ้าพิมพิสารมากกว่า

กษัตริย์สองพระองค์นี้เป็น “ดอง” กัน คือ ต่างฝ่ายก็อภิเษกสมรสกับพระกนิษฐาภคินีของกันและกัน เพราะฉะนั้น การที่จะรบราฆ่าฟันเพื่อแย่งราชอาณาจักร หรือแผ่ขยายอาณาจักรจึงเป็นไปไม่ได้

แต่ก็ใช่ว่าทั้งสองเมืองจะไม่ “รบกัน” ทั้งสองพระองค์ไม่รบกันทางกาย แต่ก็รบกันทางใจ เรียกว่าเล่น “สงครามจิตวิทยา” กัน ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระพุทธเจ้าทรงเป็นยอดมนุษย์ เปรียบดุจสมบัติล้ำค่าของโลก เมื่อไปอยู่ ณ อาณาจักรใด อาณาจักรนั้นย่อมเจริญรุ่งเรือง ชื่อเสียงขจรขยายไปทั่ว และอาณาจักรนั้นก็ร่มเย็นด้วยร่มเงาแห่งพุทธธรรม




(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRTcNizMYQ5DWWYlC9mHyMEyAskamVfGQLeNXf7-FySs04ufA7YTg)
พระเจ้าปเสนทิโกศล (ตอนที่ ๒)

ในช่วงแรกๆ หลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประกาศพระพุทธศาสนาที่แคว้นมคธ ประทับอยู่ที่แคว้นนี้ พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายความอุปถัมภ์ พูดอย่างสามัญก็ว่า พระเจ้าพิมพิสารทรง “ได้หน้า” ที่มีพระบรมศาสดาเอกของโลกเป็น “สมบัติ” หรือเป็น “อาภรณ์” ประดับเมือง

พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมจะทรงคิดบ้างล่ะว่า ทำไมจะต้องเป็นพระเจ้าพิมพิสาร ทำไมไม่เป็นเราบ้าง อะไรทำนองนี้

เมื่อคิดเช่นนั้น จึงหาทาง “ดึง” พระพุทธเจ้าไปที่แคว้นของตนและประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าบ้าง เพื่อไม่ให้น้อยหน้าพระเจ้าพิมพิสาร และในที่สุดพระองค์ก็ทำสำเร็จ

ไม่มีที่ไหนบอกไว้ชัดแจ้งดอกครับ แต่ถ้าโยงกับเหตุการณ์ที่สุทัตตคหบดี (อนาถบิณฑิกเศรษฐี) ไปอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าไปที่เมืองสาวัตถี เรื่องราวก็จะ “สอดรับ” กันพอดี

สุทัตตะอาจได้รับนโยบายจากพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ ใครจะไปรู้

เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประจำอยู่ที่เมืองสาวัตถีแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงถวายความอุปถัมภ์ดูแลพระพุทธองค์และพระสงฆ์อย่างดี พระองค์เองเสด็จเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลถามปัญหาธรรมและฟังพระพุทธโอวาทอยู่เสมอ

คงจะภูมิใจลึกๆ ว่า แว่นแคว้นของพระองค์ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับเป็นศักดิ์เป็นศรี มิได้น้อยหน้าพระเจ้าพิมพิสารแต่ประการใด

ดูเหมือนว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้เป็นพระโสดาบัน ปุถุชนย่อมอดที่จะคิดยื้อแย่งแข่งดีกันทำนองนี้ โดยไม่ต้องสงสัย อ่านตำราแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลคิดจะเอาชนะพระเจ้าพิมพิสารมากกว่านั้น นั่นคือคิดอยากจะเป็นญาติทางสายโลหิตกับพระพุทธเจ้า แทนที่จะเป็นญาติทางธรรมเพียงอย่างเดียว

เพราะความคิดนี้เองที่เป็นสาเหตุให้ศากยวงศ์ต้องถูกทำลายล้างจนสูญหายไปจากประวัติศาสตร์ในเวลาไม่นาน

ได้ทิ้งท้ายตอนที่แล้วไว้ว่า  จะเล่าเรื่องศากยวงศ์หลังจากที่ถูกวิฑูฑภะทำลายล้าง  ก็เห็นจะต้องเล่าตามสัญญาละครับ  เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพมาทำลายล้างศากยวงศ์ เพื่อชำระความแค้นแต่ปางหลัง ได้รับสั่งว่า ยกเว้นแต่ผู้ที่อยู่กับพระเจ้าตาของข้าเท่านั้น นอกนั้นฆ่าให้หมด เลือดให้นองพื้นปฐพีในคราวนั้น

คัมภีร์อรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ว่า พระเจ้ามหานามทรงเศร้าสลดพระทัยที่พระญาติวงศ์ถูกฆ่าตายเป็นเบือ จึงไปกระโดดน้ำตาย บังเอิญลงไปยังนาคพิภพ พญานาคเจ้าแห่งนาคพิภพได้รับไปอยู่ด้วย ดูแลอย่างดีเสมือนญาติโกโหติกาว่าอย่างนั้น

ตอนสมัยที่ผมเป็นเณรน้อย แปลบาลี ถึงตรงนี้ก็นึกวาดภาพ “นาคพิภพ” ที่อยู่ใต้ทะเลลึก และสงสัยครามครันว่า พระเจ้ามหานามไม่ใจขาดตายหรือไปอยู่ใต้น้ำอย่างนั้น

มาบัดนี้เณรน้อยคือผมนั้น ได้เติบโตมาแล้ว ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น ความสงสัยนั้นหายไปแล้วครับ เพราะเข้าใจใหม่ว่า “นาค” ที่ว่านี้คือมนุษย์เผ่านาคา ซึ่งมีอยู่มากในชมพูทวีปสมัยโน้น

พระเจ้ามหานามคงหนีไปอาศัยอยู่กับเผ่านาคาที่ว่านี้แล

เข้าใจว่า นอกจากพระเจ้ามหานามกับบรรดาบริษัทบริวารแล้ว คงมีอีกหลายคนทีเดียวที่หนีเล็ดลอดออกไปได้ อย่างน้อยก็บรรพบุรุษของจันทรคุปต์ จันทรคุปต์เป็นโจรชิงราชสมบัติ ได้ซ่องสุมพลพรรคจำนวนมาก บุกเข้าโจมตีเมืองปาตลีบุตรหลายครั้ง ในช่วงนั้นเมืองปาตลีบุตรอยู่ในครอบครองของกษัตริย์วงศ์นันทะ (พระนามลงท้ายด้วยนันทะหมดทุกองค์) จันทรคุปต์บุกเข้าตีทีไรก็พ่ายแพ้มาทุกที

ครั้งล่าสุดถูกโต้กลับพ่ายยับเยิน  แถมถูกตามล่าด้วย จันทรคุปต์หนีกระเจิดกระเจิงผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงแม่ดุลูกสาวว่า “อีหน้าโง่ มึงนี่โง่เหมือนโจรจันทรคุปต์ จะตีเมืองทั้งที เสือกยกเข้าตีใจกลางกรุง แทนที่จะตีมาแต่รอบนอกแบบป่าล้อมเมือง มึงก็เหมือนกิน จะกินขนมเบื้องทั้งๆ ที่ร้อน มึงต้องค่อยๆ แทะจากขอบมาซีวะ”

แม่เห็นลูกสาวกัดขนมกร้วมตรงกลาง และวางด้วยความร้อน จึงด่ากระทบกระเทียบจันทรคุปต์ หารู้ไม่ว่าผู้ถูกด่ายืนแอบฟังอยู่ในมุมมืดใกล้บ้าน จันทรคุปต์จึงได้คิด จึงคิดพยายามจะโจมตีปาตลีบุตรอีกครั้ง

ในช่วงนั้นอเล็กเซนเดอร์มหาราช บุกมาจากกรีกเข้ามายังประเทศอินเดีย จันทรคุปต์ทราบข่าว จึงไปเจรจาขอกำลังช่วยตีเมืองปาตลีบุตร แต่เจรจากันอีท่าไหนไม่ทราบ ทั้งสองทะเลาะกันรุนแรง (สงสัยกษัตริย์กรีกดูหมิ่นเอาก็ไม่รู้ จันทรคุปต์จึงไม่ยอม) ในที่สุดจันทรคุปต์ถูกจับขัง แต่หนีรอดออกมาได้ พร้อมที่ปรึกษาคู่ใจ นามว่า จาณักยะ

บังเอิญช่วงนั้นเหล่าทหารของอเล็กซานเดอร์ขัดขืนเจ้านาย ไม่ยอมยกทัพต่อไป เพราะมาไกลมากจนเมื่อยล้า อเล็กซานเดอร์จำต้องยกทัพกลับ และสิ้นพระชนม์ระหว่างทางจันทรคุปต์ได้ทีก็โจมตีเมืองเล็กเมืองน้อยที่เคยอยู่ในครอบครองของอเล็กซานเดอร์ได้แล้ว ก็ยาตราทัพเข้าบุกเมืองปาตลีบุตร คราวนี้ประสบความสำเร็จ ได้ประกาศสถาปนาตนเป็นกษัตริย์ ตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ว่า ราชวงศ์โมริยะ (หรือเมารยะ) จันทรคุปต์นี้เองที่อ้างตนว่ามีเชื้อสายศากยะสืบเนื่องมาแต่พวกที่หนีภัยสงคราม “ล้างโคตร” คราวโน้น

ถ้าเช่นนั้น จันทรคุปต์ก็เป็นลูกหลานพระพุทธเจ้า

ในรัชกาลของพระเจ้าจันทรคุปต์ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับกรีก เพราะรบกันไม่มีใครแพ้ชนะ จึงแลกเปลี่ยนทูตกัน ผู้คนชาวกรีกก็มาอาศัยอยู่ทีเมืองปาตลีบุตร  ชาวปาตลีบุตรก็ไปอยู่ที่กรีก ว่ากันว่าพระมเหสีองค์หนึ่งพระเจ้าจันทรคุปต์เป็นเจ้าหญิงกรีก


และว่ากันอีกแหละว่า จากพระมเหสีพระองค์นี้ก็กำเนิด พินทุสาร พินทุสารขึ้นครองราชย์ มีพระราชโอรสพระนามว่า อโศก  

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พระเจ้าอโศกก็มีสายเลือดกรีก และเป็นลูกหลานพระพุทธเจ้า นักประวัติศาสตร์บางคนโยงกันถึงปานนี้แหละครับ กระทั่งท่านเนห์รูเองก็ยังตั้งข้อสันนิษฐานว่า ที่พระพุทธศาสนาไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากชาวอินเดีย ก็เพราะเขาถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สถาปนาขึ้นโดยคนนอก (พระพุทธเจ้า มิใช่อารยันแท้) และอุปถัมภ์โดยคนนอก (พระเจ้าอโศก มิใช่เชื้อสายอารยันแท้ เช่นกัน)

ข้อความนี้คลับคล้ายคลับคลาว่าผมได้อ่านที่ไหน ถ้าจำผิดต้องขออภัยด้วยนะครับ

นี่แลคือ “เกร็ดประวัติศาสตร์” ที่นำมาเล่าให้ฟัง ฟังแล้วจะเชื่อหรือไม่ ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคลครับ.


ข้อมูล : บทความพิเศษ พระเจ้าปเสนทิโกศล หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS7LpdlCmEE3pEA36cmcRHAR4YMLmIZvfAEVE80zPOdlEPohhcHQw)

๔๒. จิตตคหบดี
อุบาสกนักเทศน์

พระพุทธศาสนาเน้นความรู้ไม่ว่าจะเป็นความรู้ระดับโลกๆ อันเรียกว่า “สุตะ” หรือความรู้ทางธรรมอันเรียกว่า “ญาณ” ก็ตาม  สุตะนั้น ถ้าใครมีมากๆ ก็เรียกคนนั้นว่า พหูสูต  หมายถึง การจำได้ ท่องได้ แสดงได้อย่างเชี่ยวชาญ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ผู้คงแก่เรียน” นั่นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า  การจะมีความรู้ระดับคงแก่เรียนที่สมบูรณ์ จะต้องฝึกฝนตนให้ครบ ๕ ขั้นตอน คือ
๑. ฟังมาก   พยายามฟัง อ่าน ศึกษาเล่าเรียน รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด ในยุคที่มีมากมายนี้ สื่อต่างๆ จะเป็นแหล่งให้เราได้ศึกษาค้นคว้า จนมีความรู้หลากหลายที่สุด
๒. จำได้ พยายามจดสาระสำคัญหรือประเด็นสำคัญให้ได้มาก และแม่นยำที่สุด เมื่อต้องการใช้ก็เรียกใช้ได้ทันที ไม่ต้องนึกหรือไม่ต้องเที่ยวไปเปิดตำราอีกให้เสียเวลา
๓. คล่องปาก ประเด็นหลัก ประเด็นสำคัญที่จดจำไว้ จะต้องท่องให้คล่องปาก ไม่ผิดเพี้ยน ดังหนึ่งท่องบทสวดมนต์หรือบทอาขยานอย่างนั้นแหละ
๔. เจนใจ นึกภาพในใจจนกระจ่าง เห็นชัดเจน แล้วบรรยายออกมา ดุจดังบรรยายภาพที่มองเห็นในจอทีวี ฉะนั้น
๕. ประยุกต์ใช้ได้ ท่องได้จำได้เจนใจแล้ว ถ้าหากนำไปประยุกต์หรือปรับใช้ไม่เป็น ก็ไม่นับว่าเป็นผู้รู้จริง คำว่าประยุกต์ใช้ได้ หมายถึงย่อยแก่นออกมาแล้ว สร้างแนวคิดใหม่ๆ อันสืบเนื่องมาจากที่ท่องได้ จำได้ เจนใจนั้นเอง

ความเป็นผู้คงแก่เรียนนี้เป็นความรู้ระดับโลกิยะก็จริง แต่ก็เป็นเครื่องช่วยให้การปฏิบัติตามหลักพระศาสนาเป็นผลดี เพราะเท่ากับแผนที่ชี้บอกผู้เดินว่าไปทางไหน อย่างไร จึงจะถึงจุดหมายปลายทาง

การปฏิบัติโดยไม่มีความรอบรู้ทางทฤษฎีเป็นเครื่องตรวจสอบ อาจไขว้เขวผิดทางได้ง่าย

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าสรรเสริญผู้คงแก่เรียนว่า มีอุปการะสำคัญต่อการดำรงอยู่แห่งพระศาสนา ดังทรงยกย่องพระอานนท์ว่าเป็น พหูสูต ทรงยกย่องพระราหุลว่า เป็นผู้ใคร่การศึกษา  ทรงยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร และพระเขมาเถรี ว่า เป็นยอดพระธรรมกถึก

ฝ่ายคฤหัสถ์ ก็ทรงยกย่องนางขุชชุตตรา สาวใช้ร่างค่อมของนางสามาวดี และจิตตคหบดี ว่าเป็นธรรมกถึก เพราะท่านทั้งสองเป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนมามาก และมีความสามารถในการเทศน์สอนคนอื่น

กล่าวเฉพาะจิตตคหบดีนี้ ท่านเป็นชาวเมืองมัจฉิกาสัณฑะ แคว้นมคธ ตอนท่านเกิดนั้น ว่ากันว่ามีปรากฏการณ์ประหลาด คือ มีดอกไม้หลากสีตกลงทั่วเมืองซึ่งเป็นนิมิตหมายแห่งความวิจิตรสวยงาม ท่านจึงได้นามว่า จิตตกุมาร (สันสกฤต เขียน จิตร) ซึ่งแปลว่ากุมารผู้น่าพิศวง หรือกุมารผู้ก่อให้เกิดความวิจิตรสวยงาม  บิดาของท่านเป็นเศรษฐี ท่านจึงได้เป็นเศรษฐีแทนบิดา  ในวงการพระพุทธศาสนาเรียกท่านว่า จิตตคหบดี

ก่อนที่จะได้มานับถือพระพุทธศาสนานั้น ท่านมีโอกาสพบพระเถระนามว่า มหานามะ (หนึ่งในปัญจวัคคีย์) เห็นท่านสงบสำรวมน่าเลื่อมใสมาก จึงมีความศรัทธานิมนต์ท่านไปฉันภัตตาหารที่คฤหาสน์ของตน และได้สร้างที่พำนักแก่ท่านในสวน ชื่อ อัมพาฏการาม นิมนต์ให้ท่านอยู่เป็นประจำ

พระมหานามะได้แสดงธรรมให้จิตตคหบดีฟังอยู่เสมอ  วันหนึ่ง ได้แสดงเรื่อง อายตนะ ๖ (สื่อสำหรับติดต่อโลกภายนอก ๖ ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) หลังจบธรรมเทศนาจิตตคหบดีได้บรรลุอนาคามิผล

จิตตคหบดีเอาใจใส่พิจารณาธรรมอยู่เนืองๆ จนแตกฉาน มีความสามารถในการอธิบายธรรมได้ดี  ความสามารถของท่านในด้านนี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา  ท่านเคยโต้วาทะกับบุคคลสำคัญของศาสนาอื่นมาแล้วหลายท่าน

จิตตคหบดีท่านเป็นผู้มีใจบุญ ได้ถวายทานอย่างประณีตมโหฬารติดต่อกันครึ่งเดือนก็เคยมี เคยพาบริวารสองพันคนบรรทุกน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น จำนวนมากถึง ๕๐๐ เล่มเกวียน ไปถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

ครั้งหนึ่งท่านป่วยหนัก เทวดามาปรากฏให้เห็น กล่าวกับท่านว่า คนมีบุญอย่างท่านนี้ แม้ปรารถนาราชสมบัติหลังตายแล้วก็ย่อมได้ไม่ยาก  ท่านตอบเทวดาว่า ถึงราชสมบัติก็ไม่จีรัง เราไม่ต้องการ บรรดาลูกหลานที่เฝ้าไข้อยู่ นึกว่าท่านเพ้อจึงกล่าวเตือนว่า “กรุณาทำใจดีๆ อย่าได้เพ้อเลย”   ท่านบอกบุตรหลานว่า มิได้เพ้อ เทวดามาบอกให้ปรารถนาราชสมบัติ แต่ท่านได้บอกเทวดาว่าไม่ต้องการ เพราะสิ่งนั้นไม่จีรัง ยังมีสิ่งอื่นที่ดีว่า น่าปรารถนากว่า  เมื่อถูกถามว่าคืออะไร ท่านกล่าวว่าสิ่งนั้นคือ ศรัทธาอันแน่วแน่มั่นคงในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

อัมพาฏการามนั้นเป็น “วัด” ที่ท่านสร้างถวายพระมหามานะ นิมนต์ให้ท่านอยู่ประจำ  แต่พระเถระพักอยู่ชั่วเวลาหนึ่งก็จาริกไปยังที่อื่น  พระเถระอื่นๆ เช่น พระอิสิทัตตเถระ พระโคทัตตเถระ พระกามภูเถระ พระอรหันต์เตี้ย นามว่า ลกุณฏกภัททิยเถระ ที่พระเณรอื่นนึกว่าเป็นเณรน้อย ก็มาพักอยู่เสมอ เพราะเป็นสถานที่สงบสงัด แต่ท่านเหล่านั้นก็มิได้อยู่ประจำนานๆ เพราะท่านไม่ติดที่อยู่

ต่อมามี่พระรูปหนึ่ง นามว่า สุธัมมเถระ มาพำนักอยู่เป็นประจำเป็นเวลานาน นานจนกระทั่งนึกว่าตัวท่านเป็น “สมภาร”  จิตตคหบดีก็อุปถัมภ์บำรุงท่านเป็นอย่างดี พระสุธรรมยังเป็นปุถุชน จิตตคหบดีเป็นอริยบุคคลระดับอนาคามี ขึ้นไปอีกขั้นก็เป็นพระอรหันต์แล้ว แต่พระอนาคามีที่ถือเพศฆราวาส ก็ยังแสดงความเคารพ กราบไหว้พระภิกษุปุถุชน เพราะถือว่าเพศบรรพชิตเป็น “ธงชัยแห่งพระอรหันต์”

วันหนึ่ง พระอัครสาวกทั้งสอง (พระสารีบุตร กับ พระโมคคัลลานะ) เดินทางผ่านมา ท่านจิตตคหบดีนิมนต์ให้พระอัครสาวกทั้งสองพำนักอยู่ที่อัมพาฏการามพร้อมนิมนต์เพื่อฉันอาหารที่บ้านท่านในวันรุ่งขึ้น แล้วท่านก็ไปนิมนต์พระสุธรรมไปฉันด้วย  พระสุธรรมถือตัวว่าเป็น “เจ้าอาวาส” (ไม่รู้ว่าใครแต่งตั้ง) ถือตัวว่าเป็นผู้ที่คหบดีอุปถัมภ์ทำนองเป็นโยมอุปฐาก พอเห็นโยมอุปฐากของตนให้ความสำคัญแก่พระอัครสาวกมากกว่าตน ถึงกับนิมนต์ไปฉันภายหลัง (น่าจะนิมนต์ตนก่อน ว่าอย่างนั้นเถอะ) จึงไม่ยอมรับนิมนต์  แม้ท่านคหบดีที่อ้อนวอนอย่างไรก็ไม่ยอมรับ   ไม่รับก็ไม่เป็นไร ท่านจิตตคหบดีก็สั่งให้ตระเตรียมภัตตาหารเพื่อถวายพระอัครสาวก

ในวันรุ่งขึ้น พระสุธรรมก็เดินไปในคฤหาสน์อย่างคนคุ้นเคย ดูนั่นดูนี่แล้วก็เปรยว่า “อาหารที่ท่านเตรียมถวายพระพรุ่งนี้ดีทุกอย่าง แต่ขาดอยู่อย่างเดียวที่ไม่ได้เตรียมถวาย”   จิตตคหบดีถามว่า “ขาดอะไร พระคุณเจ้า”  “ขนมแดกงา” เสียงดังฟังชัด

ว่ากันว่าขนมแดกงา เป็นคำที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับตระกูลของท่านคหบดี จะมีนัยสำคัญอย่างไร ตำราไม่ได้บอกไว้ คงทำนองเป็น “ปมด้อย” หรือ “ปมเขื่อง” ของตระกูลก็ได้  เช่น ตระกูลบางตระกูล บรรพบุรุษเป็นกุลีมาก่อน แต่ภายหลังได้เป็นเศรษฐี ความลับของตระกูลนี้ คนในตระกูลจะไม่เปิดเผยให้ใครทราบ  ถ้าเผื่อใครยกเอามาพูดในทำนองดูหมิ่นก็จะโกรธทันที อะไรทำนองนั้น

เรื่องขนมาแดกงานี้ก็คงทำนองเดียวกัน พอพระพูดจบ ท่านคหบดีก็ฉุนว่าเอาแรงๆ เพื่อให้สำนึก  พระสุธรรมไม่สำนึก แต่โกรธตอบ หนีจากวัดไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงตำหนิแรงๆ และมีพุทธบัญชาให้กลับไปขอโทษจิตตคหบดี

ท่านไปขอโทษคหบดี คหบดีไม่ยอมยกโทษให้  ท่านกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอีก  คราวนี้พระองค์ทรงให้ภิกษุอีกรูปหนึ่งเป็น “อนุทูต” พาพระสุธรรมไปเพื่อขอขมาคหบดี  ก่อนส่งไป พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง เธอบรรลุพระอรหัต  หลังทรงแสดงธรรมจบพร้อมกับพระอนุทูตเดินทางไปขอขมาจิตตคหบดี

คราวนี้ท่านคหบดียกโทษให้ พร้อมกล่าวว่า หากโทษของกระผมมี ขอพระคุณเจ้าจงยกโทษให้กระผมด้วย  พระสุธรรมซึ่งตอนนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ยกโทษให้แก่จิตตคหบดีเช่นกัน

จิตตคหบดีคงจะมีปฏิภาณเฉียบแหลม และมีความสามารถในการแสดงธรรมมาก จึงได้รับการยกย่องให้เอตทัคคะว่าเป็นเลิศกว่าผู้อื่นในทางเป็นธรรมกถึก  ในพระคัมภีร์มิได้บันทึกเทศนาของท่านไว้ แต่บันทึกเหตุการณ์โต้วาทีกับบุคคลสำคัญของลัทธิอื่น แสดงว่าท่านต้องเก่งจริงๆ จึงสามารถโต้กับบุคคลเหล่านั้นได้  บุคคลเหล่านี้ที่ว่านี้คือ ท่านนิครนถ์นาฏบุตร และอเจลกนามกัสสปะ ท่านแรกเป็นถึงศาสดาของศาสนาเชน (ศาสนาพระแก้ผ้า) ท่านที่สองเป็นนักบวชชีเปลือยเหมือนกันที่เก่งมาก เพราะปรากฏว่าเคยสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้าด้วย

เมื่อศึกษาประวัติของท่านจิตตคหบดีแล้ว ได้ความคิดว่า พระพุทธศาสนาก็เป็นของพวกเราชาวบ้านเหมือนกัน  พวกคฤหัสถ์หัวดำเช่นเราท่านทั้งหลาย ควรศึกษาพระพุทธวจนะให้เข้าใจแจ่มแจ้ง จนสามารถสื่อสารแสดงให้คนอื่นเข้าใจได้เมื่อถึงคราวที่จำเป็น เราจะได้มีโอกาสปกป้องพระศาสนาของเราได้ โดยไม่ต้องไปวานให้ใครมาช่วยทำแทน... น่าภูมิใจออก


ข้อมูล : บทความพิเศษ จิตตคหบดี : อุบาสกนักเทศน์ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก




หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล โดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 พฤศจิกายน 2556 13:26:37
.
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQuAtz7cia-vWm0reowe9QOhlxdixmQqcBFc3SFr24rzlDhDWtfEA)

๔๓. พระจ้าอชาตศัตรู
พระราชา เสือสำนึกบาป (๑)

เล่าถึงประวัติกษัตริย์ที่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาแล้ว ไม่เอ่ยถึง อชาตศัตรู ก็ดูกระไรอยู่ เมื่อครั้งร่างหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาสำหรับชั้นมัธยมฯ มีหัวข้อหนึ่ง คือ สาวก สาวิกาตัวอย่าง ได้ยกพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นผู้หนึ่งในจำนวนนั้น บางท่านท้วงว่าไม่ควรนำมาใส่ เพราะอชาตศัตรูทำปิตุฆาต  แต่ก็มีหลายท่าน ให้เหตุผลว่าให้พูดในประเด็นอื่นที่เป็นอุปการคุณพระพุทธศาสนา ในแง่ที่ปิตุฆาตนั้นก็อาจพูดได้ เพื่อชี้ให้เด็กเห็นว่าไม่ควรเอาอย่าง  แต่ในแง่ดีของพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นสิ่งที่ไม่น่าละเลย ควรนำมาเน้นย้ำให้ถือเอาเป็นตัวอย่าง  

ผมก็เห็นด้วย เพราะคนเราถ้ากระทำผิดแล้วสำนึกตนว่าผิด พยายามแก้ไขปรับปรุงตน ก็ย่อมเป็นประเภท “ต้นคดปลายตรง” น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง  พระองคุลมาลก็จัดอยู่ในประเภทนี้เช่นเดียวกัน

คงทราบกันบ้างแล้วว่า สาเหตุที่อชาตศัตรูฆ่าพ่อ เพราะได้มิตรชั่ว คือ พระเทวทัตชักจูง เทวทัตเอง แรกเริ่มเดิมทีก็ใช่ว่าจะเป็นพระอลัชชี ออกบวชด้วยศรัทธาปสาทะ ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนได้ “โลกิยฤทธิ์” เหาะเหินเดินหาวได้ หายตัวได้ แสดงว่าเล่นกสิณจนช่ำชอง จะว่าญาติโยมเป็นเหตุด้วยหรือเปล่าไม่ทราบนะครับ ญาติโยมเวลาไปวัดมักถามหาพระรูปอื่น น้อยรายจะถามหาพระเทวทัต

พระคุณเจ้าจึงน้อยใจว่าเราเป็นถึงเจ้าชายออกบวชไม่ได้กระจอกอะไรนักหนา ทำไมโยมจึงถามหาแต่พระรูปอื่น ไม่มีใครให้ความสำคัญเราบ้าง  เพราะจุดน้อยใจนี้เอง ทำให้พระเทวทัตเธอหาทางสร้างจุดเด่นให้แก่ตัวเอง  

นึกถึงยุวราชแห่งเมืองราชคฤห์ บริสุทธิ์ไร้เดียงสา เทวทัตจึงไปสำแดงฤทธิ์ให้เห็น อชาตศัตรูทรงเลื่อมใสว่าท่านเก่ง จึงมอบตนเป็นศิษย์ คอยอุปถัมภ์บำรุง ตอนนี้พระเทวทัตจึงเดินกร่างในฐานะเป็นพระอาจารย์เจ้าชายแห่งเมืองราชคฤห์

วันดีคืนดีก็ยุให้เจ้าชายจับพระราชบิดาขังคุก ให้อดพระกระยาหารจนสิ้นพระชนม์  

เหตุการณ์โดยละเอียดเกี่ยวกับฉากนี้เป็นอย่างไร อย่าให้ผมต้องเล่าเลยครับ เพราะเล่าไปน้ำตาผมจะร่วงเปียกต้นฉบับเปล่าๆ ด้วยความสงสารพระเจ้าพิมพิสาร

เอาเป็นว่าในที่สุด พระเจ้าพิมพิสารก็สิ้นพระชนม์ในวินาเดียวกับที่พระโอรสน้อยของพระเจ้าอชาตศัตรูออกมาดูโลก  หลังจากนั้น พระนางเวเทหิเทวีพระราชมารดา ก็ตรอมพระทัยสิ้นพระชนม์ไปอีกองค์

พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเชษฐาธิราชของพระนางเวเทหิ รู้ว่าพระกนิษฐาของพระองค์สิ้นพระชนม์เพราะลูกอกตัญญู จึงทรงพิโรธมาก ทรงยกทัพมาจับอชาตศัตรูสั่งสอน แต่ก็มิได้ปลงพระชนม์ เพราะถือเป็นพระเจ้าหลาน  กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ พอขัดเคืองกันก็รบกันเรื่อย ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ว่ากันอย่างนั้น  

อชาตศัตรูหลังจากทำปิตุฆาตพระบิดาแล้ว ก็บรรทมไม่ค่อยหลับ ทรงฝันร้ายตลอด  คืนวันหนึ่งพระจันทร์เพ็ญแจ่มกระจ่างบนท้องฟ้า พระเจ้าอชาตศัตรูประทับท่ามกลางเหล่าเสนามาตย์ ตรัสถามว่า คืนวันพระจันทร์เพ็ญอย่างนี้ ข้าควรจะไปสนทนาธรรมกับสมณะท่านใดดี เพื่อให้สบายใจ  เหล่าเสนามาตย์ต่างก็กราบทูลเสนอให้ไปปรึกษาสมณะสำนักปูรณกัสสปะบ้าง อชิตเกสกัมพลบ้าง ฯลฯ พระราชาก็ทรงสงบนิ่งอยู่

เมื่อทอดพระเนตรเห็นหมอชีวกโกมารภัจจ์นั่งเงียบเฉยไม่เสนออะไร จึงตรัสถามว่า “ชีวก เธอไม่มีความคิดเห็นอะไรหรือ

หมอชีวกโกมารภัจจ์ กราบทูลว่า “ขณะนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของข้าพเจ้าพระพุทธเจ้าข้า”
“พาข้าไปเฝ้าพระองค์ได้ไหม ชีวก”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า“ หมอชีวกทูลรับ ...  (มีต่อ)


ข้อมูล : บทความพิเศษ พระจ้าอชาตศัตรู : พระราชา “เสือสำนึกบาป (๑) หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

พระจ้าอชาตศัตรู พระราชา เสือสำนึกบาป (จบ)

แล้วหมอชีวกโกมารภัจจ์นำเสด็จอชาตศัตรูไปสวนมะม่วงของตนเพียงลำพังเพื่อเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  บรรยากาศเงียบสงบ ท่ามกลางแสงจันทร์สลัวๆ เมื่อมองไปไม่เห็นอะไร พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงนึกว่าถูกหลอกมาฆ่า จึงทรงจับแขนหมอชีวกกระชาก รับสั่งว่า “ชีวก” เจ้าลวงข้ามาทำร้ายหรือ”

หมอชีวกกราบทูลเบาๆ ว่า “จุ๊ๆ อย่าเอ็ดไป พระเจ้าข้า ขอพระองค์ทอดพระเนตรดูโน่น” ว่าแล้วก็ชี้มือไปข้างหน้า

พระราชาหนุ่มมองผ่านแสงจันทร์สลัวๆ ออกไปตามที่มือชี้ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่ และแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่  บรรยากาศเงียบสงบ ไม่มีแม้แต่เสียงกระแอมกระไอ

พระราชาหนุ่มทรงมีพระโลมชาติชูชันด้วยความอัศจรรย์ใจ ทรงสัมผัสบรรยากาศอันสงบอย่างประหลาด ทรงเข้าไปถวายบังคมแทบพระยุคลบาทของพระศาสดา คำแรกที่หลุดจากพระโอษฐ์ก็คือ “ขอให้อุภัยภัททะของลูกข้า จงมีความสงบอย่างนี้เถิด”  พระเจ้าอชาตศัตรูทรงขอขมาต่อพระพุทธองค์ ที่ทรงหลงผิดถึงกับทำกรรมหนัก พระพุทธองค์ก็ทรงปลอบให้หายกังวลพระทัย แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนา ชื่อว่า “สามัญญผลสูตร” ให้พระเจ้าอชาตศัตรูฟัง

ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา พระเจ้ากรุงราชคฤห์แทนที่จะได้บรรลุมรรคผล แต่ก็ไม่บรรลุ เพราะ “ขุดรากถอนโคนตนเอง” แล้ว แต่ก็ได้ประกาศตนถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดพระชนม์ชีพ

จากนั้นพระองค์ก็ทรงทำประทักษิณ (เดินเวียนขวา) รอบพระพุทธองค์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินถอยหลังไปจนละคลองแห่งจักษุ (จนกระทั่งมองไม่เห็น) แล้วจึงผินพระปฤษฎางค์ให้พระพุทธองค์

เป็นการแสดงความเคารพในพระพุทธองค์อย่างสุดซึ้ง

ว่ากันว่าหลังจากนั้นพระเจ้าอชาตศัตรู ก็ทรงบรรทมหลับสนิท ไม่มีฝันร้ายอีกต่อไป พระองค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ทำนอง “ไถ่บาป” แต่หนหลัง

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประมุข ประชุมกันกระทำสังคายนาพระธรรมวินัย ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา เชิงเขาเวภารบรรพต พระเจ้าอชาตศัตรูได้ถวายอุปถัมภ์ถวายอารักขาและอำนวยความสะดวกแก่คณะสงฆ์ทุกประการ จนกระทั่งสังคายนาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ชีวิตของพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นชีวิตแบบ ต้นคดปลายตรง ให้สติแก่คนจำนวนมากที่อาจกำลังถลำลงสู่เหวหายนะ (เช่น ติดอบายมุข) ให้กลับเนื้อกลับตัว

เมื่อคิดจะกลับตัวย่อมไม่มีคำว่าสายครับ ดูพระเจ้าอชาตศัตรูทำผิดมหันต์ก็ยังไม่ซ้ำเติมตัวเอง กลับหันเข้าหาพระธรรมในบั้นปลายชีวิต ฉะนี้แล....


ข้อมูล : บทความพิเศษ พระจ้าอชาตศัตรู : พระราชา “เสือสำนึกบาป (จบ) หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ5aJeYpYzozqDVE44_O9jmFiPUaeOz3Olncy15m5nF3s6_vB_c)

๔๔. เมนานเดอร์
กษัตริย์กรีกผู้นับถือพระพุทธศาสนา  

เมื่อพูดถึงพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ก็น่าจะพูดถึงลูกหลานอเล็กซานเดอร์บ้าง โดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะพูดถึงนี้เป็นปราชญ์เมธีซึ่งต่อมากลายเป็นพุทธมามกะด้วย ก็ยิ่งน่าสนใจ

ชาวพุทธอาจนึกไม่ออกว่า เมนานเดอร์คือใคร

ท่านผู้นี้ก็คือมิลินทะ หรือพระยามิลินท์ที่คุ้นหูนั่นเอง  พระนามของพระองค์ท่านคือ เมนานเดอร์ บาลีถอดออกมาเป็นภาษาแขกน่ารังเกียจว่า “มิลินฺโทราชา”  ดุจเดียวกับอเล็กซานเดอร์มหาราชถอดว่า “อลิกสุนฺ ทโร มหาราชา” ฉะนั้นแล

เอ๊ะ ว่าแต่ว่า อลิก มันแปลว่า “เหลาะแหละ, ไม่แน่นอน, เหลวไหล” มิใช่หรือ  อลิกสุนฺทโร ก็ต้องแปลว่า คนดีที่เหลวไหล เสียหายหมด…ช่างเถอะครับ มาพูดถึงพระยามิลินท์ดีกว่า

ท่านผู้นี้มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๕ พ.ศ. ๔๐๐ กว่าๆ ประมาณนั้น แต่นักปราชญ์ฝรั่งนับระยะเวลาก่อนหน้านั้น คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๔ พ.ศ. ๓๐๐ กว่าๆ หลังสมัยพระเจ้าอโศก

หลังจากอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพกลับจากอินเดีย และสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง อาณาจักรต่างๆ ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชตีได้ คือ อาณาจักร “สิเรีย” และอาณาจักร “บากเตรีย” แยกกันปกครอง อาณาจักรสิเรียอยู่ตอนเหนือของประเทศอาหรับในปัจจุบัน อาณาจักรบากเตรียอยู่เหนือประเทศอินเดีย แต่ในที่สุดอาณาจักรบากเตรียตกอยู่ในปกครองของอาณาจักรสิเรียมาเป็นเวลานาน

จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. ๒๘๗ ข้าหลวงผู้ปกครองบากเตรีย นามว่า ดิโอโดตัส ประกาศปลดแอกสิเรีย สถาปนาเป็นรัฐอิสระขึ้น จากนั้นก็มีกษัตริย์ครองราชย์สืบต่อมา มีดิโอโดตัสที่สอง ยุไธเดมัส ดิมิตริอุส ยูเครติเดส เฮลีโอเครส ตามลำดับ

ใครเป็นใคร ถ้าอยากทราบรายละเอียดก็หาประวัติศาสตร์มาอ่านเอาครับ ผมไม่แม่นประวัติศาสตร์ จึงไม่กล้าพูดมาก กลัวผิด

ว่ากันว่าในราว พ.ศ. ๓๘๒ พระราชากรีกพระองค์หนึ่งก็ปรากฏพระเกียรติคุณก้องฟ้าก้องแผ่นดินขึ้น พระนามของพระองค์คือ เมนานเดอร์  นัยว่า เมนานเดอร์มิใช่เชื้อสายของพระเจ้ายูเครติเดส หากเป็นกรีกที่มาล้างราชวงศ์ยูเครติเดส สถาปนาตนเป็นกษัตริย์ปกครอง พระองค์ได้ขยายอาณาจักรมาถึงตอนบนของลุ่มแม่น้ำคงคา  เดิมมิได้นับถือพระพุทธศาสนา ตรงข้ามกลับเป็นปฏิปักษ์ คอยรุกรานพระสงฆ์องค์เจ้าเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากพระองค์เป็นนักปรัชญา มีความรู้มากมายจึงท้าโต้วาทะกับนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลาย ตลอดถึงพระสงฆ์องค์เจ้าทั้งปวง

ปรากฏว่า ไม่มีใครหาญสู้พระองค์ได้ ทำให้ทรงหยิ่งผยองในความรู้ความสามารถของตนมากยิ่งขึ้น  

จะไม่ให้คิดว่าตัวเองแน่อย่างไรไหว ก็ไม่มีใครกล้าต่อกรเลยนี่ครับ สมณพราหมณ์ที่ไหนว่าแน่ๆ พอโต้กับพระยามิลินท์แล้ว เป็น “ตกม้าตาย” ทุกราย

วงการพระพุทธศาสนาเดือดร้อนมาก เพราะไม่สามารถหาผู้ที่จะมาโต้ตอบกับพระยามิลินท์ได้  จนกระทั่งพระสงฆ์ต้องประชุมกันคัดสรรบุคคลมากอบกู้เกียรติคุณพระพุทธศาสนา

พระสงฆ์ได้ส่งพระเถระรูปหนึ่งให้ไปหาทางนำเด็กหนุ่ม นามว่า นาคเสนมาบวช ให้การศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จนเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกและวิปัสสนากรรมฐาน ระยะเวลาที่นาคเสนศึกษาและปฏิบัติอยู่คงไม่นานนัก เพราะพื้นเพเดิมเป็นผู้จบไตรเพท เฉลียวฉลาดอยู่ก่อนแล้ว  

พระนาคเสน ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ให้ทำหน้าที่กอบกู้เกียรติคุณพระพุทธศาสนา จากการดูถูกดูหมิ่นของพระราชาเดียรถีย์ผู้ประกาศชัดเจนว่า คำสอนของพระพุทธศาสนาไม่มีอะไร บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพานที่สอนๆ กันนั้นมิได้มีจริง พระสงฆ์เองก็ล้วนแต่คนโง่ๆ เถียงสู้ตนก็ไม่ได้

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSR8IGtz4fNORuz_1LcYKdBu_O_16B-WS6mRXzUia28SpGRvC7LnQ)    และแล้วการโต้วาทะครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาก็เกิดขึ้น

พระยามิลินท์ทรงดีพระทัยมากที่มี “เหยื่อ” มาให้มีดโกนอาบน้ำผึ้งเฉือนอีกราย หลังจากว่างเว้นมาเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ว่ากันอย่างนั้น แต่เมื่อประจันหน้ากันจริงๆ พระยามิลินท์ที่ว่าแน่ๆ ก็ชักจะหวั่นๆ เพราะบุคลิกท่าทางของพระหนุ่มนามว่านาคเสนมิบันเบาเสียแล้ว

พระยามิลินท์เอ่ยขึ้นก่อนว่า “วันนี้โยมอยากถามปัญหากับพระคุณเจ้า”
“ถามเถิด อาตมาภาพยินดีตอบ” พระหนุ่มตอบ
“โยมถามแล้วล่ะ ขอรับ” พระราชาตรัสยิ้มๆ
“อาตมาภาพก็ถวายวิสัชนาแล้ว” คำตอบจากพระหนุ่มทันกันจริงๆ ครับ
“วิสัชนาว่าอย่างไร” พระราชาตรัสต่อ
“มหาบพิตรตรัสถามว่าอะไรล่ะ” พระหนุ่มถาม
บ๊ะ ชักมันเสียแล้ว พระยามิลินท์ถามต่อไปว่า
“พระคุณเจ้ามีนามว่ากระไร”
“เพื่อนพรหมจรรย์ (คือเพื่อนพระด้วยกัน) เรียกอาตมาภาพว่า “นาคเสน บิดา มารดา เรียกอาตมาภาพว่า สีหเสนบ้าง วีรเสนบ้าง สุรเสนบ้าง” ภิกษุหนุ่มตอบ
“ที่ว่านาคเสน อะไรคือนาคเสน ผมหรือคือนาคเสน” พระราชารุก
 “หามิได้ มหาบพิตร” ภิกษุหนุ่มตอบ
“ขนหรือคือนาคเสน”
“หามิได้ มหาบพิตร
“เล็บ ขน หนัง ตา หู จมูก ลิ้น ตับ ไต ไส้ พุง ฯลฯ หรือ”
“หามิได้ มหาบพิตร”
“ร่างกายทั้งหมดอันประชุมด้วยธาตุสี่ขันธ์ห้านี้หรือ”
“หามิได้ มหาบพิตร”
“ถ้าอย่างนั้น นาคเสนก็มีนอกเหนือจากร่างกายอันประกอบด้วยธาตุสี่ ขันธ์ห้านี้หรือ”
“หามิได้ มหาบพิตร”
เมื่อมาถึงตรงนี้ พระยามิลินท์ก็หันไปพูดกับประชาชนที่มาประชุมว่า
“ท่านผู้ฟังทั้งหลาย ท่านได้ยินไหม เมื่อกี้ภิกษุหนุ่มรูปนี้บอกว่าตนเองชื่อนาคเสน ครั้นถามว่า ผม ขน เป็นต้น คือนาคเสนหรือ ก็ตอบว่า มิใช่ ครั้นถามว่า นาคเสนมีนอกเหนือจากร่างกายอันประชุมด้วยธาตุสี่ขันธ์ห้านี้หรือ ก็บอกว่าไม่ใช่อีก ท่านทั้งหลายเห็นหรือยังว่า พระหนุ่มรูปนี้โกหกต่อที่ประชุมนี้ ทีแรกบอกว่ามีนาคเสนต่อมาบอกว่าไม่มี”

พระหนุ่มจึงถามพระราชาว่า “มหาบพิตรเสด็จมาสู่ที่ประชุมนี้อย่างไร”
“นั่งรถมา ขอรับ” พระราชาตอบงงๆ ว่า พระถามทำไม ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังสนทนา
“ที่ว่ารถนั้น อะไรคือรถ ล้อมันหรือ ดุมมันหรือ แอกมันหรือ โครงรถหรือ หลังคาหรือ ฯลฯ”
“หามิได้พระคุณเจ้า”
“รถมีอยู่นอกเหนือจากส่วนประกอบเหล่านี้หรือ” พระหนุ่มซัก
“หามิได้ พระคุณเจ้า” พระราชาตอบ
“ถ้าเช่นนั้นรถอยู่ที่ไหน” พระหนุ่มซักต่อ
พระยามิลินท์อธิบายว่า เพราะอาศัยส่วนประกอบต่างๆ อาทิ ล้อดุม กงกำ ตัวรถ หลังคารถ ฯลฯ ประกอบกันเข้า คำว่า “รถ” จึงมี ถ้าไม่มีส่วนประกอบเหล่านั้นประชุมกัน ก็ไม่มี “รถ” ขอรับ

พระนาคเสนจึงอธิบายว่า ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อวัยวะต่างๆ มีตาหู เป็นต้น มิใช่นาคเสน แต่นาคเสนก็มิได้มีนอกเหนือจากอวัยวะ มีตาหูเป็นต้น เพราะอวัยวะเหล่านั้นประกอบกันเข้า บัญญัติว่า “นาคเสน” จึงมี

พระหนุ่มจึงกล่าวเป็นโศลกว่า
     ยะถา ห อังคะสัมภารา    โหติ สัทโท ระ โถ อิติ
     เอวัง ขันเธสุ สันเตสุ      โหติ สัตโตติ สัมมะติ

เพราะมีองค์ประกอบทั้งหลาย เสียงเรียกว่า “รถ” จึงมี   เพราะมีขันธ์ทั้งหลายรวมกันอยู่ จึงมีบัญญัติเรียกว่า “สัตว์”

คาถานี้ไม่ต้อง “แปลไทยเป็นไทย” อีก ก็คงพอจะเข้าใจใช่ไหมครับ ที่เราเรียกว่า “รถ” นั้น รถมันไม่มีดอก เพราะมีล้อ มีพวงมาลัย มีคลัตช์ มีเบรก มีโครงรถ มีเครื่องยนต์ เป็นต้น เราจึงเรียกมันว่ารถ

ลองแยกชิ้นส่วนเหล่านั้นออกสิครับ คำว่ารถก็ยังพอมีอยู่บ้าง เช่น ล้อรถ พวงมาลัยรถ เครื่อง
ยนต์รถ  แต่ถ้าแยกชิ้นส่วนเหล่านั้นให้ละเอียด คำว่ารถก็จะหายไป คงเหลือแต่เหล็ก ยาง อะไรอย่างนี้ เป็นต้น

ในกรณีของคนก็เช่นเดียวกัน เพราะร่างกายมีอวัยวะต่างๆ รวมกันอยู่ จึงเรียกว่าคนคน คนนี้ ชื่อ เสถียรพงษ์  วรรษปก แต่ถ้าลองหั่น (สมมติ) โดยมีดของคุณเสริม หรืออดีตรองอธิการฯ ออกเป็นชิ้นๆ คำว่า เสฐียรพงษ์ หายไปแล้ว พอเหลือแต่ “คน” เช่น ขาคน หัวคน แขนคน แต่ถ้าสับให้ละเอียด คำว่า “คน” ก็คงหายไป เหลือแต่ กระดูก (กระดูกหมา หรือ กระดูกคนวะ) “เนื้อ” (หรือเนื้อหมู หรือเนื้ออะไรวะ) อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น “นาคเสน” จึงเป็นสมมติ ไม่ใช่ของมีอยู่จริง ดุจ “รถ” ไม่มีจริงฉันนั้น

การโต้วาทะครั้งนั้นดำเนินไปด้วยความเคร่งครัด เนื้อหาที่นำมาโต้กันนั้นเป็นความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและปรัชญาทั้งนั้น ทั้งสองท่านใช้วาทะเชือดเฉือนกันมันหยดเลยทีเดียว ปรากฏว่าพระยามิลินท์ยอมแพ้ เพราะว่าพระองค์จะถามเรื่องอะไร พระเถระก็ตอบได้หมด อธิบายได้อย่างแจ่มแจ้ง แถมยังย้อนกลับจนพระยามิลินท์ตั้งตัวไม่ติด

สังเกตพระนาคเสนท่านใช้กลยุทธ์อันชาวยุทธจักรเรียกว่า “ยืมดาบศัตรูฟันศัตรู” เอาชนะพระยามิลินท์ได้อย่างราบคาบ จนท้าวเธอยกธงขาว และประกาศนับถือพระพุทธศาสนา และถวายความอุปถัมภ์แก่พระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ในที่สุด

การโต้ตอบกันระหว่างบุคคลผู้ยิ่งใหญ่สองท่าน ได้รับบันทึกในเวลาต่อมาในหนังสืออันเรียกว่า “มิลินทปัญหา” ว่ากันว่า แต่เดิมเป็นฉบับสันสกฤต และต่อมาได้แปลเป็นบาลี ต้นฉบับบาลีมีพิสดารกว่าต้นฉบับสันสกฤต สันนิษฐานกันว่าคงแต่งเติมภายหลัง แต่ทั้งสองฉบับข้อความก็ลงรอยกัน
...
 
ข้อมูล : บทความพิเศษ เมนานเดอร์ : กษัตริย์กรีกผู้นับถือพระพุทธศาสนา  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 ธันวาคม 2556 14:15:12
.
(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ1haxNuSSOJ7Su35KK7BxrPnk_nSN64d51LjDLeaaWyyYs7O_D)
๔๕. อนาถบิณฑิกเศรษฐี
อุบาสกผู้มีอุปการคุณต่อพระศาสนา (ตอนที่ ๑)  

ผมได้เขียนเรื่องเศรษฐีใจบุญท่านนี้ไว้แล้ว พร้อมที่จะรวมเล่มต่างหาก

แต่เมื่อพูดถึงบทบาทของอุบาสกที่มีอุปการคุณต่อพระพุทธศาสนา ไม่มีชื่อท่านรวมอยู่ด้วยก็ดูกระไรอยู่ จึงขอนำประวัติโดยสังเขปของท่านมาลงไว้ในที่นี้

ผู้ที่ต้องการแบบพิสดาร ขอจงติดตามอ่าน “ชีวิตตัวอย่างชุด ๓ อนาถบิณฑิกเศรษฐีใจบุญ”

เดิมท่านมีนามว่า สุทัตตะ เป็นเศรษฐีใจบุญสร้างโรงทานให้ทานแก่ยาจกและวณิพกทุกวัน หลังจากมานับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ถวายทานแด่พระสงฆ์เป็นนิตย์

สาเหตุที่มานับถือพระพุทธศาสนา ก็เนื่องมาจาก ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปธุระที่เมืองราชคฤห์ พักอยู่ที่คฤหาสน์น้องเขย เห็นคนในบ้านนั้นสาละวนอยู่กับการเตรียมการ คล้ายอย่างกับจะมีงานเลี้ยงมโหฬาร

สุทัตตะจึงถามไถ่ว่า จะมีงานเลี้ยงเนื่องในโอกาสอะไรหรือ ได้รับคำตอบว่า พรุ่งนี้จะนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์มาเสวยภัตตาหาร

สุทัตตะได้ยินคำว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เท่านั้น ขนลุกชูชันด้วยความปีติ จึงถามว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน น้องเขยบอกว่าประทับอยู่ ณ ป่าสีตะวัน  สุทัตตะขอร้องให้น้องเขยพาไปเฝ้า น้องเขยบอกว่า พรุ่งนี้พระองค์ก็จะเสด็จมาอยู่แล้ว รอเฝ้าตอนนั้นก็ได้

แต่คืนนั้นสุทัตตะนอนไม่หลับ พอถึงประมาณตีสี่ เขาก็ตัดสินใจออกจากคฤหาสน์เดินทางไปยังป่าสีตะวัน สถานที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ พอเข้าไปใกล้ได้ยินพระสุรเสียงตรัสว่า “สุทัตตะมานี่สิ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง”

สุทัตตะปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ที่พระพุทธองค์ตรัสเรียกเขาคล้ายกับทรงรอการมาของเขาอยู่ จึงเข้าไปกราบถวายบังคมนั่งฟังธรรมจากพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุบุพพีกถาแก่สุทัตตะ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา สุทัตตะได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลระดับต้น

ว่ากันว่า สุทัตตะได้ขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพในการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ๗ วันติดต่อกัน แล้วกราบทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี สมณะศากยบุตรทั้งหลายย่อมยินดีในสถานที่สงบสงัด”

เขารู้ทันทีว่า พระองค์ทรงรับอาราธนา เมื่อกลับไปถึงเมืองสาวัตถี ก็มองหาสถานที่ที่เหมาะสมจะสร้างวัด ไปชอบใจสวนของเจ้าเชต จึงเจรจาขอซื้อ เจ้าเชตไม่ต้องการขาย จึงพูดแบบโก่งราคาว่า ราคาของสวนนี้แพงมาก คือจะต้องเอากหาปณะมาปูจนเต็มบริเวณทั้งหมด นั่นแหละราคาของสวนนี้ล่ะ

เศรษฐีได้ยินดังนั้นไม่ต่อแม้แต่คำเดียว สั่งให้คนขนกหาปณะออกจากคลังมาปูพื้นที่ ปูได้ประมาณ ๑๘ โกฏิ เจ้าเชตก็ตกใจ ไม่นึกว่าจะเจอคนจริงปานนั้น จึงบอกว่าพอแล้ว เอาแต่นี้แหละ แล้วถามว่า ทำไมท่านเศรษฐีจึงเอาจริงเอาจังปานนี้

เศรษฐีบอกว่าจะสร้างวัดถวายพระพุทธเจ้า เมื่อรู้ว่าเศรษฐีจะสร้างวัด เจ้าเชตจึงขอมีส่วนร่วมในการสร้างด้วย ทั้งสองจึงช่วยกันสร้างวัด หมดเงินไปอีก ๑๘ โกฏิ สร้างเสร็จแล้วก็เฉลิมฉลองอีกเจ็ดวันเจ็ดคืน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาจากเมืองราชคฤห์ มาพำนักประจำ ณ วัดแห่งใหม่ที่สุทัตตะเศรษฐีกับเจ้าเชตสร้างถวาย อันได้นามภายหลังว่า “วัดพระเชตวันมหาวิหาร” ตามชื่อเจ้าของสวน คือ เจ้าเชต

เป็นอันว่าหลังจากนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับประจำ ณ วัดแห่งนี้นานที่สุดกว่าวัดอื่นๆ แม้นางวิสาขาจะได้สร้างวัด “บุพพาราม” ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ก็เสด็จไปประทับเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น

พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในเมืองสาวัตถี เมืองสาวัตถีจึงกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของพระพุทธศาสนาแห่งใหม่แทนเมืองราชคฤห์ด้วยประการฉะนี้

พระราชาแห่งเมืองสาวัตถี คือ พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็สละสิทธิดั้งเดิม (นัยว่าทรงนับถือศาสนาเชนของนิครนถ์นาฏบุตร หรือมหาวีระ) มานับถือพระพุทธศาสนาพระองค์เป็นชาวพุทธอย่างเคร่งครัด มักหาเวลามาสนทนาธรรม ทูลถามปัญหาจากพระพุทธองค์เสมอ

ฝ่ายสุทัตตะเศรษฐี เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี บริจาคทานแก่คนยากจนและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ ท่านจึงปรากฏนามเป็นที่เรียกขานกันทั่วไปว่า “อนาถบิณฑิกะ” แปลว่า เศรษฐีผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถาเสมอ หมายถึง “ผู้ใจบุญ” นามนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป  

คัมภีร์พระพุทธศาสนาก็เรียกท่านโดยนามว่า “อนาถบิณฑิกะ” จนกระทั่งลืมว่านามเดิมท่านว่ากระไร

มีอยู่คราวหนึ่ง การค้าขายของท่านเศรษฐีขาดทุน ฐานะของท่านยากจนลงแต่ท่านก็ยังถวายทานมากมายเหมือนเดิม จนเทวดาที่สิงอยู่ตรงซุ้มประตูมาเตือนให้ท่านลดการถวายทานลงบ้าง เทวดาเตือนด้วยความเป็นห่วง

แต่เศรษฐีพอรู้ว่าผู้ที่มาเตือนคือเทวดาที่สิงอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านตน จึงขับไล่เทวดาออกไป

เทวดาตนนั้นไม่มีที่อยู่ไปขอความกรุณาจากพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสให้ไปขอขมาเศรษฐีเสีย ซึ่งเธอก็ทำตามที่ทรงแนะนำ เศรษฐีก็ยกโทษให้ และอนุญาตให้อยู่ ณ ซุ้มประตูบ้านตามเดิม

ท่านเศรษฐีมีบุตรชายนาม กาละ เป็นคนเกเรในเบื้องต้น แต่ท่านก็ปราบลูกชายได้ โดยจ้างให้ไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ เมื่อเข้าไปฟังธรรมบ่อยเข้า (เพื่อเอาค่าจ้าง) ก็ค่อยเข้าใจธรรมทีละนิดๆ จนในที่สุดก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล และไม่รับค่าจ้างจากบิดาอีกต่อไป

ส่วนลูกสาวของท่านซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามคน แต่ละคนก็เป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด ลูกสาวคนเล็กได้บรรลุอนาคามิผล ก่อนเสียชีวิตเพราะโรคปัจจุบัน ได้เรียกบิดาของตนว่าน้องชาย เศรษฐีนึกว่าลูกสาว “หลงทำกาละ” (ตายด้วยอาการไม่สงบ) รู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ

พระพุทธองค์ตรัสเฉลยว่า ลูกสาวของท่านเศรษฐีมิได้หลงทำกาละ นางได้บรรลุอนาคามิผลสูงกว่าบิดาหนึ่งขั้น ที่นางเรียกบิดาว่า “น้องชาย” นั้นถูกต้องแล้ว

อนาถบิณฑิกเศรษฐี เพราะความเคารพในพระพุทธองค์มาก เห็นพระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจทุกวันจนเหน็ดเหนื่อย ไม่อยากให้พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยไปกว่านั้น จึงไม่เคยทูลถามปัญหาธรรมจากพระองค์เลย

จนพระองค์ตรัส (เชิงตำหนิ) ว่า “สุทัตตะดูแลรักษาเราในฐานะที่ไม่ควรดูแลรักษา” หมายความว่ารักพระพุทธองค์ไม่ถูกทาง

หลังจากทรงเตือนอย่างนี้แล้ว ท่านเศรษฐีได้ทูลถามปัญหาธรรมบ้างหรือไม่ ในตำราไม่ได้กล่าวไว้

แต่เชื่อว่าคงปฏิบัติตามที่ทรงแนะนำ เพราะมีหลักฐานปรากฏว่า ท่านชอบฟังธรรมมากขึ้น นิมนต์พระสารีบุตรและพระอานนท์ไปแสดงธรรมให้ฟังเสมอ ครั้งหนึ่งได้ฟังธรรมที่พระสารีบุตรแสดงให้ฟังง่ายๆ รู้สึกซาบซึ้งจนน้ำตาไหล เรียนท่านว่า ขอให้พระคุณเจ้าแสดงธรรมง่ายๆ เช่นนี้ให้ผู้อื่นฟังเสมอเถิด  


(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ-V27AgvpQv8F-bNXd1ce_RKZgk47_Z_iGs841EJiIGGc9d7BVVw)

ตอนที่ ๒ (จบ)

คราวที่แล้วได้กล่าวถึงอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังเทศน์ง่ายๆ ที่พระสารีบุตรแสดง ร้องไห้น้ำตาไหลด้วยความซาบซึ้ง ขอร้องให้พระเถระแสดงอย่างนี้มากๆ ไม่ได้บอกว่าเทศนากัณฑ์นี้ชื่อว่าอะไร ก็ขอขยายวันนี้เลย

สมัยหนึ่ง ท่านเศรษฐีป่วยหนัก ได้ส่งคนไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ถวายบังคมแทบพระยุคลบาท และขอได้โปรดมีพุทธบัญชาให้พระสารีบุตรได้ไปแสดงธรรมให้ฟังด้วย

พระพุทธองค์รับสั่งให้พระสารีบุตรไปอนุเคราะห์ท่านเศรษฐี พระสารีบุตรไปบ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐีพร้อมพระอานนท์ เมื่อเห็นท่านเศรษฐีมีอาการหนักมาก แต่สติยังดีอยู่ จึงแสดงธรรมที่เรียกว่า “อนาถปิณฑิโกวาทสูตร” ให้ฟัง

เนื้อพระสูตรกล่าวถึงไม่ให้ยึดมั่นในจักษุ (ตา) โสตะ (หู) ฆานะ (จมูก) ชิวหา (ลิ้น) กาย (ร่างกาย) มโน (ใจ) ไม่ให้ยึดมั่นในวิญญาณ (การรับรู้) ที่อาศัยอยู่ในตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนนั้น ไม่ให้ยึดมั่นในสัมผัสอันเกิดจากตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้สูดกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้ถูกต้องสัมผัส ใจได้คิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ให้ยึดมั่นในเวทนา (ความรู้สึก) ที่เกิดขึ้นจากตาได้เห็นรูป หูได้ฟังเสียง จมูกได้สูดกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้ถูกต้องสัมผัส ใจได้คิดเรื่องราวต่างๆ

การแสดงของพระสารีบุตร คงจะสื่อสารได้ด้วยโวหารง่ายๆ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงได้น้ำตาไหลพราก จนพระเถระถามว่า ท่านก็ได้ปฏิบัติธรรมมานาน ไฉนจึงร้องไห้กลัวตาย

ท่านเศรษฐีกล่าวกับพระเถระว่า มิได้ร้องไห้เพราะเหตุนั้น เพราะว่า ธัมมีกถา (การกล่าวธรรม) อย่างนี้ไม่เคยฟังมาก่อนเลย พระคุณเจ้าแสดงธรรมได้เข้าใจง่ายมาก  

ต่อไปขอนิมนต์ท่านได้กล่าวธัมมีกถาเช่นนี้แก่คฤหัสถ์ให้มากเถิด

เมื่อพระสารีบุตรและพระอานนท์กลับไปไม่นาน อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ถึงแก่กรรม ว่ากันว่าท่านไปเกิดเป็นเทพบุตร นาม อนาถบิณฑิกเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดุสิต วันดีคืนดีก็มาเฝ้าพระพุทธองค์ กล่าวโศลกธรรมถวายดังนี้

“พระเชตวันนี้ได้เกื้อกูลประโยชน์ เป็นสถานที่พระผู้แสวงคุณธรรมพักอาศัย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นธรรมราชาได้ประทับอยู่ ก่อให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ การกระทำ, ความรู้, ธรรมะ (ความดีงาม), ศีล และการดำรงชีวิตที่ประเสริฐเหล่านี้ ที่ทำให้ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์ หาใช่โคตรหรือทรัพย์ไม่ เพราะฉะนั้น บัณฑิตเมื่อเห็นประโยชน์ตน พึงพินิจพิจารณาธรรมโดยอุบายแยบคายด้วยการกระทำเช่นนี้เท่านั้น จึงจะบริสุทธิ์ได้ พระสารีบุตรเป็นภิกษุที่ลุถึงจุดสุดยอดแห่งพรหมจรรย์ (บรรลุอรหัตผล) แล้ว มีปัญญา มีศีล และความสงบ นับเป็นยอดในเรื่องนี้แล้ว”

พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังถึงเรื่องนี้ พระอานนท์กราบทูลถามว่า เทพบุตรที่มากล่าวโศลกธรรมนี้ ข้าพระองค์เดาว่าเป็นอนาถบิณฑิกเศรษฐีใช่หรือไม่

พระพุทธองค์ตรัสว่า “อานนท์ เธอเดาได้ถูกต้องแล้ว”

เรื่องราวของท่านอนาถบิณฑกะโดยพิสดารนั้น ขอให้อ่านชีวิตตัวอย่าง ชุดที่ ๓ อนาถบิณฑิกเศรษฐีใจบุญ” ซึ่งจะรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มในไม่ช้านี้ คติชีวิตที่พึงได้จากชีวประวัติของท่านผู้นี้มีมากมาย อาทิ

๑. ความเป็นผู้มั่นคงในการทำความดี ท่านได้นามว่า “ผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถา” แสดงถึงความเป็นผู้มีใจบุญสุนทานอย่างยิ่ง สร้างโรงทานไว้สำหรับผู้ยากไร้ ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์เป็นนิตย์

ว่ากันว่า เวลาท่านไปวัด ไม่ไปมือเปล่าเลย ถ้าไปเวลาเช้าก็นำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ ถ้าไปเวลาเย็นก็นำเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย อันเป็นเภสัช ไปถวายพระสงฆ์ มั่นคงแน่วแน่ในการทำบุญ

แม้ว่าบางครั้งจะประสบภาวะวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจค้าขายขาดทุน กลายสภาพจากเศรษฐีเป็น "คนที่เคยรวย” ท่านก็ไม่งดการทำบุญสุนทาน เคยตั้งงบไว้สำหรับการทำบุญอย่างไร ก็คงทำตามอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง
จนกระทั่งเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูทนเห็นท่านเศรษฐีอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ มาแนะนำให้ลดการถวายทานลงบ้าง ท่านก็ไม่ยอม ดังรายละเอียดได้กล่าวมาแล้ว

๒. ความมีปณิธานแน่วแน่ ตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ คุณสมบัติข้อนี้เห็นได้จากการที่ท่านมุ่งมั่นจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ให้ได้ ทั้งๆ ที่น้องเขยบอกว่าให้รอจนถึงรุ่งเช้า พุทธองค์ก็เสด็จมาอยู่แล้ว ท่านก็ไม่รอ เพราะมีความมุ่งมั่นว่าจะเข้าพบฟังธรรมให้ได้ ในที่สุดท่านก็ออกจากคฤหาสน์ของน้องเขยไปเฝ้าพระพุทธองค์จนได้ เมื่อจวนสว่างของคืนวันนั้น

ความมุ่งมั่นอีกเรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อท่านตัดสินใจจะขอซื้อสวนจากเจ้าเชตสร้างวัด ท่านก็เอาให้จงได้ เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดแล้ว แม้ว่าเจ้าของสวนจะโก่งราคา (ให้เอากหาปนะมาปูเต็มพื้นที่) ท่านก็ยอม สั่งให้ขนกหาปณะมาปูพื้นที่ตามที่เจ้าของสวนต้องการ จนกระทั่งเจ้าเชตเห็นในความมีปณิธานแน่วแน่ของท่าน จึงลดราคาให้ และขอมีส่วนในการสร้างวัดด้วย

๓. คุณธรรมประการสุดท้ายที่จะพูดถึง คือความเป็นพ่อที่ดีของลูก ท่านมีลูกชายหนึ่งคน ลูกสาวสามคน ลูกสาวนั้นต่างก็อยู่ในโอวาท ช่วยท่านถวายทานแด่พระสงฆ์ และให้ทานแก่ยาจกและวนิพก อันเป็นกิจวัตรประจำวัน

ตัวท่านเศรษฐีเองมักได้รับเชิญจากประชาชนชาวเมืองสาวัตถี เพื่อไปให้คำแนะนำแก่พวกเขาในการทำบุญทำกุศล เรียกสมัยนี้ว่า เป็น “มรรคนายก” นั้นแล ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน หน้าที่ในการตระเตรียมทานในบ้านจึงตกอยู่กับลูกสาว เมื่อลูกสาวคนโตแต่งงานออกเรือนไปแล้ว คนรองก็รับหน้าที่ทาน เมื่อคนรองออกเรือนไปแล้ว คนเล็กก็ทำแทน

ส่วนลูกชายคนโตเป็นเด็กเกเร ชอบเที่ยวเตร่หาความสำราญตามประสา “เพลย์บอย” ไม่ได้ช่วยพ่อแม่ทำกิจการงาน ท่านอนาถบิณฑิกะมีเทคนิควิธีในการอบรมลูก เมื่อว่ากล่าวตักเตือน ลูกชายไม่รับก็คิดหาทางอื่นที่ได้ผล  ในที่สุดก็ใช้วิธี “เอาเหยื่อล่อ” เมื่อลูกชอบใช้เงิน ใช้ทองมาเป็นเครื่องล่อ แต่วางเงื่อนไขว่า ถ้าอยากใช้เงินมากๆ ก็ให้ทำอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์

การจ้างลูกไปฟังธรรมจึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ แรกๆ ลูกชายของท่านก็ไปฟังพอเป็นพิธี ไปถึงก็หาทำเลเหมาะนั่งหลับ เมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรมจบก็กลับบ้านทวงค่าจ้าง

ทำอย่างนี้ไประยะหนึ่ง พ่อจึงวางเงื่อนไขใหม่ คือให้จำบทธรรมที่ทรงแสดงจำได้มากจะจ่ายให้มาก ด้วยความโลภอยากได้เงินมาก เขาจึงตั้งใจฟัง พยายามจำให้ได้มากที่สุด

เมื่อเขาทำอย่างนี้นานเข้าก็เข้าใจในธรรมที่ทรงแสดง เมื่อเข้าใจมากขึ้นจนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็เลยไม่เอาค่าจ้างอีกต่อไป แม้ว่าพ่อจะเอาถุงทรัพย์จำนวนมากมามอบให้ต่อพระพักตร์พระพุทธองค์ บุตรชายก็ปฏิเสธ เพราะเขาได้พบขุมอริยทรัพย์อันประเสริฐแล้ว ไม่ต้องการทรัพย์ภายนอกแต่อย่างใด

ในที่สุด ด้วยเทคนิควิธีอันแสนชาญฉลาด อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็กลับใจบุตรชายได้ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเกเรเกตุง ลองนำวิธีของท่านอนาถบิณฑิกะไปใช้บ้างก็ดีนะครับ เผื่อจะได้ผล ถึงจะเสียเงินมาก แต่ถ้าลูกกลับกลายเป็นเด็กดี ก็คุ้มเกินคุ้มครับ

 
ข้อมูล : บทความพิเศษ อนาถบิณฑิกเศรษฐี : อุบาสกผู้มีอุปการคุณต่อพระศาสนา หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/08/bud06250854p1.jpg&width=360&height=360)
๔๖. ชีวกโกมารภัจจ์
แพทย์ประจำพระพุทธองค์ (ตอนที่ ๑) 

ความจริงเรื่องหมอชีวกได้เขียนไว้ต่างหาก และรวมเป็นชุดบุคคลตัวอย่าง แต่ในที่นี้ขอเล่าย่อๆ สักสองตอน เพื่อให้เข้าชุดอุบาสกตัวอย่าง ผู้ที่หวังทราบความพิสดารต้องตามอ่านจากชุดสมบูรณ์ต่อไป (ตรงนี้เป็นเพียง "เรียกน้ำย่อยเฉยๆ”)

หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นบุตรนางโสเภณี นามว่า สาลวดี นางนครโสเภณี ผู้ทรงเกียรติแห่งเมืองราชคฤห์

ที่ว่าทรงเกียรติเพราะตำแหน่งนครโสเภณี พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้ง มีเงินเดือนแพงกว่าคนเขียนหนังสืออย่างผมเสียอีก

เพราะไม่ได้ตั้งใจให้เกิด เมื่อเกิดมาแล้วแถมเป็นชายเสียด้วย นางจึงไม่เลี้ยงสั่งให้เอาไปทิ้งที่หน้าประตูวัง เพราะรู้ว่าจะต้องมีเจ้านายมาเห็น และนำไปเลี้ยงแน่นอน 

ซึ่งก็จริงตามคาด เจ้าชายน้อย พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารเสด็จพบเข้า นำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

ตอนเป็นเด็กชีวกเป็นเด็กฉลาด ปฏิภาณเฉียบคม ถูกเด็กๆ ในวังด่าว่าเสียดสีว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ จึงมีมานะจะเอาชนะหาความรู้ใส่ตัว ให้ใครดูถูกไม่ได้ จึงหนีไปกับกองคาราวานไปยังกรุงตักสิลา อันเป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่ลือชื่อ

ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาแพทย์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เรียนอยู่ ๗ ปี ก็จบ ลาอาจารย์กลับบ้านเกิดเมืองนอน

อาจารย์ให้เสบียงกรังมานิดหน่อย หมดระหว่างทาง จึงต้องใช้วิชาการที่เรียนมารักษาโรคประหลาดของเศรษฐีเมืองหนึ่ง (เมืองอะไรขี้เกียจตรวจเช็ค) รักษาหาย จึงได้ค่ารักษาจำนวนมาก

กลับมาถึงบ้านได้โอกาสถวายการรักษาพระโรคพระเจ้าพิมพิสารหาย ได้รับพระราชทานบำเหน็จจำนวนมาก รวมสวนมะม่วงด้วย

นัยว่าพระเจ้าพิมพิสารประชวรพระโรค “ภคันทลา” แปลกันว่าโรคริดสีดวงทวาร พระเจ้าพิมพิสารทรงแต่งตั้งหมอชีวกให้เป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนัก

ในช่วงนี้หมอชีวกได้สร้างเกียรติคุณครั้งยิ่งใหญ่ จนลือไปทั่วเมืองว่าเป็นหมอเทวดา เพราะท่านได้ผ่าตัดสมองของเศรษฐีคนหนึ่งให้หายจากโรคอย่างมหัศจรรย์ในยุคที่เครื่องไม้เครื่องมือยังไม่มี หมอชีวกได้ผ่าตัดสมองคนไข้เป็นคนแรก 

ท่านทำอย่างไรไว้รออ่านฉบับสมบูรณ์ก็แล้วกัน (มีวิธียั่วให้ผู้อ่านกระหายใคร่รู้ดีแฮะ)

ชื่อเสียงของหมอชีวกได้ฟุ้งขจรไปยังต่างแดน อันรวมถึงแคว้นอวันตี ซึ่งอยู่ห่างไกลด้วย พระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าจัณฑปัชโชต ทรงประชวรด้วยโรคปวดพระเศียรข้างเดียวมาเป็นเวลานาน ๗ ปี รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ได้ทราบว่าเมืองราชคฤห์มีแพทย์มือฉมัง จึงส่งราชทูตมาขอพระเจ้าพิมพิสารให้ไปรักษา

หมอชีวกถวายการรักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชตจนหาย แต่ก็เกือบถูกประหารชีวิต เพราะในหลวงท่านไม่ชอบเนยใส หมอชีวกปรุงยาใส่เนยใสด้วย ถึงกับสั่งคนตามล่า หาว่าหมอชีวกแกล้งแต่หมอชีวกก็รอดจากน้ำมือคนตามล่า

เหตุการณ์ในคราวนั้นระทึกใจดี ก็ขอถ่ายทอดบรรยากาศมาให้ “สัมผัส” ดังนี้

“ยาอะไรข้าก็กินได้ทั้งนั้นแหละ ขออย่างเดียวอย่าให้มีเนยใส ข้าเกลียดเนยใส” พระเจ้าจัณฑปัชโชตรับสั่ง หมอหนุ่มสะดุ้ง เพราะยาที่จะผสมให้เสวยต้องเข้าเนยใสเสียด้วย จึงสู้สะกดใจกราบทูลอีกว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า ขอกราบทูลพระกรุณา พระราชทานของสามสิ่ง คือ
๑. ห้องพิเศษสำหรับปรุงยา
๒. ให้เปิดประตูวังตลอดคืน
๓. ขอช้างหรือม้าฝีเท้าเร็วที่สุดหนึ่งตัว”

“รักษาโรคสวรรค์วิมานอะไรของเอ็ง ไอ้อย่างแรกพอมีเหตุผล สองอย่างหลังจะเอาไปทำไม” ปัชโชตซักถามด้วยความขุ่นพระทัย

“ขอเดชะฯ เวลาต้องการยาสมุนไพรเพิ่มเติม จะได้รีบขึ้นช้างหรือม้าไปเอาได้ พ่ะย่ะค่ะ”

เมื่อได้ตามต้องการแล้ว หมอชีวกก็เข้าห้องพิเศษปรุงยาผสมเนยใส เคี่ยวจนไม่มีกลิ่นเนย แล้วสั่งให้มหาดเล็กถวายพระราชาตามกำหนด ตัวเองก็รีบขึ้นช้างพังที่ได้รับพระราชทาน นามภัททวดี รีบหนีไป

คล้อยหลังไม่นาน หลังจากเสวยพระโอสถแล้ว พระเจ้าจัณฑปัชโชต “ทรงเรอ” ออกมา ได้กลิ่นเนยใส จึงสั่งตามล่าหมอชีวก หาว่ากลั่นแกล้งพระองค์

ทาสฝีเท้าเร็วยิ่งกว่านักโอลิมปิก นาม “กากะ”  วิ่งไปทันหมอชีวกที่ชายแดน พยายามจับแขนหมอเพื่อกลับกรุงอุชเชนี เพื่อเฝ้าในหลวงให้ได้ แต่หลงกลหมอ ถูกหลอกให้กินผลมะขามป้อม เกิดอาการท้องร่วง ขี้แตกจนหมดแรง หมอแอบเอายาถ่ายอย่างแรงซ่อนไว้ในเล็บ แล้วจิกผิวมะขามป้อม ยื่นให้ทาสกากะกินแก้กระหายน้ำ ยาออกฤทธิ์ในไม่ช้าไม่นานจนขี้ไหลดังกล่าว ร้องโอยๆ นึกว่าหมอมอมยาพิษ

“ไม่เป็นไร เพื่อนยาก ขี้ออกหมดแล้วก็หายเอง ไม่ใช่ยาพิษอะไรดอก” หมอหนุ่มกล่าวร่าเริง “ฝากนำช้างคืนเจ้านายด้วยนะ ฮะๆ ๆ” รอดตายในที่สุด ขอรับ…


ตอนที่ ๒ (จบ)

หมอชีวกได้นำผ้าสองผืนไปถวายพระพุทธเจ้า จนเป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านถวายแต่บัดนั้นมา ไว้เล่าภายหลัง ตอนนี้ขอย้อนเล่าถึงสาเหตุที่หมอชีวกได้เป็นนายแพทย์ประจำพระพุทธองค์ก่อน
เข้าใจว่า หมอชีวกคงได้เป็นนายแพทย์ประจำพระพุทธองค์ก่อนเกิดเหตุพระเทวทัตทำร้ายพระพุทธองค์ เพราะท่านได้ถวายสวนมะม่วงที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสารแก่พระพุทธเจ้าก่อนหน้านั้นแล้ว ในช่วงนั้นพระเทวทัตได้วางแผนปลงพระชนม์พระพุทธองค์หลายครั้ง แต่พลาดทุกครั้ง

ครั้งล่าสุด ลงทุนขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฎ กลิ้งก้อนหินลงมา หมายจะให้ทับพระพุทธองค์สิ้นพระชนม์ แต่ก้อนหินกลิ้งลงไปปะทะชะง่อนผา กระเด็นห่างไปไกล กระนั้นก็ตาม สะเก็ดหินได้กระเด็นไปต้องพระบาท จนเกิดอาการพระโลหิตห้อ พระสงฆ์ได้พาพระพุทธองค์ไปสวนมะม่วงของหมอชีวก ให้คนไปตามหมอชีวกมาถวายการรักษาพยาบาล

หมอชีวกนำผ้าไปถวายพระพุทธองค์ ตอนแรกไม่ยอมรับ เพราะพระสงฆ์ใช้ “ผ้าบังสุกุล” (คือ แสวงหาผ้าที่คลุกฝุ่นมาเย็บทำจีวรใช้เอง) พระพุทธองค์ยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้ผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านมาถวาย หมอชีวกได้กราบทูลให้ทราบรับผ้ากัมพลเนื้อละเอียดนั้น ในที่สุดทรงรับและตรัสอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าที่ชาวบ้านนำมาถวายในที่สุด

นับว่าหมอชีวกนั้น เป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับ “คหบดีจีวร” (ผ้าที่ชาวบ้านถวาย) เป็นคนแรก พระสงฆ์ไม่ต้องลำบากลำบนในการแสวงหาผ้ามาทำจีวรอีกต่อไป

ต้องเข้าใจนะครับ เดิมนั้นพระสงฆ์ใช้ผ้า “บังสุกลจีวร” เท่านั้น บังสุกุล แปลว่า “คลุกฝุ่น” หมายถึงผ้าที่คลุกฝุ่น เช่น ผ้าห่อศพ เศษผ้าที่ชาวบ้านทิ้ง พระก็จะไปแสวงหาผ้าเหล่านั้นมา เมื่อได้เพียงพอแล้วก็จะมาเย็บทำจีวรเอง การตัดเย็บจีวรพระสงฆ์ต้องช่วยกัน เพราะบางรูปไม่มีฝีมือในการเย็บ ต้องอาศัยพระภิกษุมีฝีมือช่วยกันตัดชายกับเย็บ

ตำราอรรถกถา (อรรถกถาธรรมบท) เล่าไว้ว่า แม้พระพุทธองค์ก็ได้ทรงไปร่วมตัดเย็บจีวรของพระสาวกบางรูปบางครั้งด้วย จึงเห็นได้ว่า “จีวรกรรม” (กิจกรรมเกี่ยวกับการทำจีวร) เป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงแต่แสดงน้ำใจว่าต้องช่วยกันเท่านั้น หากแสดงถึง “สปิริตแห่งความสามัคคี” ในหมู่สงฆ์ด้วย

เมื่อพระสงฆ์ไม่ได้รับการอนุญาตให้รับผ้าสำเร็จรูปจากชาวบ้าน ชาวบ้านที่อยากถวายผ้าแก่พระ เพราะเห็นว่าท่านมีความลำบากในการแสวงหาผ้า จึงนำไปถวาย “ทางอ้อม” เช่น เห็นพระท่านเดินมาแต่ไกล ก็รีบเอาผ้าไปห้อยไปแขวนไว้ตามกิ่งไม้บ้าง วางไว้บนพุ่มไม้ข้างหน้าบ้าง แล้วตัวเองก็หลบไป

เมื่อพระเดินมาพบเข้า ก็จะหันซ้ายหันขวาประกาศดังๆ ว่า ผ้านี้มีเจ้าของหรือเปล่า สามครั้ง เมื่อไม่ได้ยินเสียงขานรับ ท่านก็จะทำ “ปังสุกูลสัญญา” (ทำความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นผ้าบังสุกุล) แล้วชักเอาผ้านั้นมาเป็นของตน นำไปตัดเย็บทำจีวรต่อไป

ชัก” หมายถึงการดึงเอาผ้านั้นมา เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกกิริยาอาการที่พระท่านดึงผ้าเข้ามาว่า “ชักบังสุกุล” จนบัดนี้

ปัจจุบัน แม้ว่าพระท่านไม่ได้ดึงเอาผ้านั้นจากกิ่งไม้หรือพุ่มไม้เหมือนแต่ก่อน และผ้านั้นก็ไม่ใช่ผ้าคลุกฝุ่นอีกต่อไปแล้ว เราก็ยังเรียกว่า “ชักผ้าบังสุกุล” อยู่เช่นเดิม

และการถวายผ้าบังสุกุลหรือผ้าป่าทุกครั้ง จะเห็นว่าเขาเอาพุ่มไม้มาตั้ง เอาผ้าบ้าง ปัจจัย (ธนบัตร) บ้าง แขวนระโยงระยางตามกิ่ง ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาสัญลักษณ์เดิม สมัยที่เขาเอาผ้าไปแขวนตามกิ่งไม้หรือพุ่มไม้ไว้นั้นเอง

หมอชีวกมักจะเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจกับพระพุทธองค์เสมอ ปัญหาหนึ่งที่สำคัญมาก ก็คือเรื่องพระฉันหรือไม่ฉันเนื้อสัตว์ ขอนำคำถามและคำวิสัชนาของพระพุทธองค์มาลงไว้ให้ศึกษากันดังนี้ครับ

วันหนึ่ง หมอชีวกเข้าเฝ้า แล้วกราบทูลถามปัญหาดังนี้
“ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินคนเขาตำหนิพระองค์ว่า พระองค์สอนให้คนอื่นงดฆ่าสัตว์ แต่เสวยอาหารที่เขาฆ่าถวาย เป็นความจริงเพียงไร”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ถ้าได้เห็น ได้ยิน และสงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงถวายพระองค์จะไม่เสวยเนื้อนั้น แต่ถ้าไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงถวาย พระองค์เสวยเนื้อนั้น

พระองค์ตรัสอธิบายต่อไปอีกว่า ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนามีจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และแผ่คุณธรรมเหล่านี้ไปยังสรรพสัตว์ทั่วโลกอยู่ด้วยจิตที่ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทต่อใคร เลี้ยงชีพด้วยอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านเขาถวาย

เมื่อมีคนเขานิมนต์ไปฉันอาหาร ท่านก็ไป เขาถวายอาหารชนิดใด จะเลวหรือประณีต ท่านก็ฉันพอดำรงอัตภาพ ไม่ติดหรือยึดมั่นในอาหารที่ฉันนั้น

เสร็จแล้ว พระองค์ย้อนถามหมอชีวกว่า “พระภิกษุปฏิบัติเช่นนี้จะเรียกว่าเบียดเบียนคนอื่นหรือไม่”
“ไม่พระเจ้าข้า” หมอชีวกกราบทูล
“อาหารอย่างนี้ไม่มีโทษ (คือ กินได้ ไม่เรียกว่าเป็นการสนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์) มิใช่หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระองค์ตรัสต่อไปว่า ใครก็ตามถ้าฆ่าสัตว์เจาะจงถวายพระตถาคต หรือพระภิกษุสงฆ์สาวก ย่อมก่อบาปกรรม ทั้งแก่ตนเองและแก่คนอื่น ด้วยสถานะ ๕ ประการคือ 
     ๑. สั่งให้คนอื่นนำสัตว์ตัวโน้นตัวนี้มา (เท่ากับชักนำเอาคนอื่นมาร่วมทำบาปด้วย)
     ๒. สัตว์ที่ถูกนำมาฆ่า ถูกลากถูลู่ถูกังมา ได้รับความเจ็บปวดเป็นอันมาก
     ๓. ออกคำสั่งให้เขาฆ่าสัตว์นั้น (ตัวเองก็บาป คนฆ่าก็บาป)
     ๔. สัตว์ที่ถูกฆ่าได้รับทุกขเวทนาจนสิ้นชีพ
     ๕. ทำให้คนอื่นเขาหาช่องว่างว่าพระตถาคตและพระสงฆ์สาวกด้วยเรื่องเนื้ออันไม่ควร
(จริงอยู่ถ้าพระไม่รู้ ไม่เห็น ไม่สงสัยว่าเขาเจาะจงจะฆ่าถวาย ไม่ต้องอาบัติ แต่คนภายนอกอาจหาว่าพระรู้ แต่แกล้งทำไม่รู้ หรือปากว่าตาขยิบก็ได้)

หมอชีวกได้สดับวิสัชนาจากพระพุทธองค์จนแจ่มแจ้ง หายสงสัยแล้ว ในที่สุดก็ได้กล่าวขึ้นว่า ตนเคยแต่ได้ยินได้ฟังผู้หลักผู้ใหญ่เล่าว่า “พระพรหม” นั้น มีจิตประกอบด้วยพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ไม่เคยเห็น “พระพรหม” ตัวจริงสักทีที่แท้ “พระพรหม” ก็คือ พระพุทธองค์นั่นเอง เพราะพระองค์ทรงมีคุณธรรมเหล่านี้ในพระทัยเป็นพยานที่เห็นได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “พรหมที่ว่านี้ ถ้าชีวกหมายถึงผู้ที่ไม่มีความพยาบาท ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ตถาคตก็เห็นด้วย เพราะตถาคตละกิเลสเหล่านี้ได้โดยเด็ดขาดแล้ว”...

 
ข้อมูล : บทความพิเศษ ชีวกโกมารภัจจ์ : แพทย์ประจำพระพุทธองค์ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก




หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 มกราคม 2557 12:29:31
.
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRx2xsXRPX0jSEByElwDvPaXGX1YS-qPk63j90syMXbTnWnFPA7)
๔๗. พระเจ้าจันทรคุปต์
พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช  

เมื่อพูดถึงพระเจ้าอโศกมหาราชผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ก็น่าจะพูดถึง “เสด็จปู่” ของพระองค์บ้าง เพราะมีปู่จึงมีหลาน   

แม้ปู่จะไม่มีบทบาทในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ก็เห็นว่ามีประวัติน่าสนใจ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ “กระซิบ” และประวัติศาสตร์จริงๆ

ถามว่าต่างกันอย่างไร ต่างกัน ประวัติศาสตร์จริงๆ มีบันทึกเป็นหลักเป็นฐาน แต่ประวัติศาสตร์กระซิบ มักกระซิบต่อๆ กันมา ใส่ไข่บ้าง ไม่ใส่บ้าง

ฟังแล้ว “มัน” กว่าอ่านประวัติศาสตร์จริงเสียอีก

เสด็จปู่ของพระเจ้าอโศกมหาราช พระนามว่า จันทคุตต์ (สันสกฤษเขียน จันทรคุปต์) เป็นลูกเต้าเหล่าใคร ไม่มีใครทราบ เพราะไม่ได้บันทึกไว้

เปิดหาประวัติในพจนานุกรมอสาธารณนาม (วิสามานยนาม) ฉบับที่อ้างอิงกันมาก รวบรวมและเรียบเรียงโดย ด๊อกเตอร์มาลาลา เสเกรา นักปราชญ์ชาวสิงหล มีพูดถึงจันทรคุปต์หน่อยเดียวเท่านั้น

จันทคุตต์หรือจันทรคุปต์ พระราชาแห่งชมพูทวีป ราชวงศ์โมริยะ และได้ปราบดาภิเษกเป็นพระราชา ด้วยความช่วยเหลือของปุโรหิต นาม จาณักกะ โดยสังหารพระเจ้านันทะและรัชทายาท พระนามว่า ปัพพตะ แห่งเมืองปาตลีบุตร

พระเจ้าจันทคุปต์ปกครองประเทศอยู่ ๒๔ ปี พระองค์มีพระราชโอรส นามว่า พระเจ้าพินทุสาร เป็นพระอัยกา(ปู่) ของพระเจ้าพินทุสาร รัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ร่วมสมัยกับพระเจ้าปัณฑุกาภัยแห่งศรีลังกา พระเจ้าปัณฑุกาภัยได้เสด็จสวรรคตในปีที่ ๑๔ แห่งรัชกาลของพระเจ้าจันทรคุปต์

นอกจากนี้ ก็มีข้อความอีกเล็กน้อย อ้างจากมิลินทปัญหาว่าบิดาของพระเถระรูปหนึ่งไม่ถูกกับจันทรคุปต์ ถูกจาณักกะยุยงให้จับเขาขังคุก แสดงว่าบุคคลดังกล่าวนั้นคงเป็นคนสำคัญ แต่ไม่ได้บอกไว้ว่าชื่อเสียงเรียงใด

รายละเอียดในพจนานุกรมมีเพียงแค่นี้

เรื่องราวของจันทรคุปต์ มักจะมีเล่าในหนังสือประวัติศาสตร์อินเดีย เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกันกับอเล็กซานเดอร์มหาราช (หรือที่ทางบาลีเรียกว่า “อลิกสุนทร”)

คือเมื่อครั้งสมัยที่ปาตลีบุตรถูกปกครองด้วยกษัตริย์ราชวงศ์นันทะ (พระนามพระมหากษัตริย์จะลงท้ายด้วย “นันทะ” หมดถึง ๙ ราชวงศ์)

ในพุทธศตวรรษที่ ๒ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเข้าตีอาณาจักรเปอร์เซียได้แล้ว ได้ยกทัพข้ามเขาฮินดูกูฏ เข้ามาทางเหนือของอินเดีย ยึดครองเมืองตักสิลาและแคว้นปัญจาปได้ ก็เดินทัพเรื่อยมาจนถึงลุ่มน้ำสินธุ หมายเข้าตีเมืองปาตลีบุตรแห่งราชวงศ์นันทะ

ในช่วงก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อย มหาโจรผู้โด่งดังคนหนึ่ง นามว่าจันทรคุปต์ได้ซ่องสุมกำลังเข้าโจมตีเมืองปาตลีบุตรหลายครั้ง ไม่สำเร็จแม้แต่ครั้งเดียว

มหาโจรท่านนี้บางตำราก็ว่ามิใช่มหาโจร แต่เป็นข้าราชการในราชสำนักเมืองปาตลีบุตรนั้นเอง ด้วยความช่วยเหลือของพราหมณ์คนหนึ่ง นามว่า จาณักยะ จึงคิดการปฏิวัติแต่ก็ล้มเหลว

สองคน (อาจารย์กับศิษย์) ได้แตกทัพเร่ร่อนหลบซ่อนตัวในป่า ซ่องสุมกำลังพลได้มากพอแล้ว ก็ยกเข้ามาโจมตีเมืองปาตลีบุตรอีก พ่ายแพ้อีก แต่ทั้งสองก็ไม่ย่อท้อ คงพยายามเรื่อยมา

พอได้ข่าวว่าอเล็กซานเดอร์มหาราชจากกรีกบุกเข้ามาชมพูทวีป สองคนอาจารย์กับศิษย์ ก็ไปเจรจาขอให้อเล็กซานเดอร์มหาราชช่วยตีเมืองปาตลีบุตร แต่เจรจากันอีท่าใดไม่ทราบ เกิดผิดใจกับมหาราชกรีก ทั้งสองถูกจับขังคุก แต่ในที่สุดก็หนีออกไปได้

ว่ากันว่ากองทัพอเล็กซานเดอร์มหาราชจำต้องยกกลับ เพราะทหารหาญเกิดแข็งข้อ ไม่อยากเดินทัพต่อไป เนื่องจากมาไกลโขและก็เหนื่อยล้ากันมาก อเล็กซานเดอร์จำต้องถอยทัพกลับ ยังมิทันได้เข้าตีเมืองปาตลีบุตรเลย กษัตริย์หนุ่มต้องสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง (บางกระแสว่าถูกวางยาพิษ) ขณะพระชนมายุเพียง ๓๐ กว่าพรรษา (๓๓ ประมาณนั้น)

จาณักยะกับจันทรคุปต์ ได้โอกาสก็บุกเข้าโจมตีเมืองเล็กเมืองน้อยที่อเล็กซานเดอร์เคยได้ไว้ในครอบครอง ตีได้เรื่อยมา จนกระทั่งเข้าตีเมืองปาตลีบุตรสำเร็จ สถาปนาตนขึ้นเป็นพระเจ้าจันทรคุปต์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ นามว่า “โมริยะ” (หรือเมารยะ) จาณักยะผู้อาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแห่งราชวงศ์โมริยะ

ว่ากัน (อีกแล้ว) ว่า ก่อนที่จะพบอเล็กซานเดอร์มหาราช สองอาจารย์กับศิษย์ได้บุกเข้าโจมตีเมืองปาตลีบุตร แล้วพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ต้องหนีกระเซอะกระเซิงแทบเอาตัวไม่รอด

ข้างฝ่ายจันทรคุปต์ผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงแม่บ้านขนมเบื้องดุลูกสาวผู้กัดกินขนมเบื้องทั้งที่ยังร้อน จนต้องคายทิ้งเพราะความร้อนว่า “อีหน้าโง่ มึงนี่โง่เหมือนโจรจันทรคุปต์”

ได้ยินใครด่าตัวเองเข้าก็สะดุด จึงยืนแอบฟังอยู่ แม่ค้าขนมเบื้องกล่าวต่อว่า “มึงก็รู้ว่าขนมมันร้อน มึงก็กัดกินที่ขอบเข้ามาซีวะ เสือกกัดกร้วมทั้งอันมันก็ร้อน ไอ้โจรหน้าโง่นั่นก็เหมือนกัน จะตีเมืองทั้งทีเสือกไปตีกลางใจเมือง ทำไมไม่ตีโอบมาจากเมืองข้างนอก ไม่ตายห่าก็บุญแล้ว”

คำด่าลูกของแม่ค้าขนมเบื้องนั้น ทำให้จันทรคุปต์ “ฉุกคิด” ขึ้นมา จึงปรึกษาอาจารย์ว่าควรจะตีโอบมาจากรอบนอกแบบ “ป่าล้อมเมือง” (ไม่รู้ถูกหรือเปล่านะ) พอดีได้ข่าวว่าอเล็กซานเดอร์มหาราชเข้ามาอินเดีย จึงได้ขอแรงให้ช่วยตีเมืองแต่เกิดแตกคอกันก่อน แผนการเลยล้มเหลว

แต่ในที่สุดจันทรคุปต์ก็ได้ราชบัลลังก์ตามประสงค์

เล่ามาทั้งหมด ไม่เห็นมีอะไรเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา นอกเสียจากว่าจันทรคุปต์เป็นพระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เป็นศาสนูปถัมภกองค์สำคัญเท่านั้น

เมื่อหลานมีอุปการคุณต่อพระศาสนาก็เท่ากับว่าปู่มีส่วนด้วย เพราะถ้าไม่มีปู่ก็ไม่มีหลาน จะพูดแค่นั้นก็คงได้ ไม่มีใครว่า เพราะความดีย่อมควรแบ่งปันกัน

แต่ที่อยากจะตั้งข้อสังเกตไว้ตรงนี้ก็คือ ประวัติศาสตร์กระซิบได้ว่า เมื่อครั้งพระเจ้าวิฑูฑภะทำสงครามล้างโคตรพวกศากยวงศ์นั้น มีพวกศากยะที่หนีรอดคราวนั้นจำนวนหนึ่ง

หลังจากนั้นมาไม่นานก็มีบุคคลคนหนึ่งซ่องสุมกำลังเข้าโจมตีเมืองปาตลีบุตรสำเร็จ ตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะ และอ้างว่าตนคือเชื้อสายศากยะที่หนีรอดมาคราวนั้น

บุคคลนี้ คือ จันทรคุปต์

ถ้าเป็นเรื่องจริง พระเจ้าจันทรคุปต์และพระเจ้าอโศกมหาราช ก็คือลูกหลานศากยวงศ์ หรือพูดให้ชัดก็คือลูกหลานของพระพุทธเจ้านั้นเอง...

 
ข้อมูล : บทความพิเศษ จันทรคุปต์ : พระอัยกาของพระเจ้าอโศก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


(http://www.dhammathai.org/monktalk/data/imagedb/375.jpg)
๔๘. ฉัตตปาณิอุบาสก 
อุบาสกผู้ทรงธรรม

บุคคลท่านนี้ไม่ทราบประวัติอันแน่ชัด แต่ในอรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทิฏฐกถา) ที่พระเณรใช้เรียนกันนั้น ระบุว่า ฉัตตปาริอุบาสกเป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต แถมเป็นพระอนาคามีอีกต่างหาก

อุบาสกที่เป็นพหูสูตสมัยพุทธกาลนั้นมีมาก เช่น จิตตคหบดี (ได้เล่าประวัติไว้ก่อนแล้ว) วิสาขอุบาสก อดีตสามีของพระเถรีรูปหนึ่งคนนี้ ก็มีความรู้ทางธรรมมาก สามารถโต้ตอบกับพระเถรีอดีตภรรยาของตนในธรรมลึกซึ้งได้

อุบาสกอดีตสาวกมหาวีระ ชื่อ อุบาลี นี้ก็เป็นพหูสูตคนสำคัญ เพราะเคยอยู่ในศาสนาเชนมาก่อน เมื่อมาเป็นพุทธศาสนิกก็เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา โอกาสหน้าจะนำประวัติมาเล่าให้ฟัง

วันนี้ขอเล่าเรื่องของฉัตตปาณิก่อน

ฉัตตปาณิเป็นชาวเมืองสาวัตถี รักษาศีลอุโบสถประจำ และกินมื้อเดียว ว่ากันว่าพอเป็นพระอนาคามีปั๊บ เคยกินสองมื้อมาก่อน จะกินมื้อเดียวโดยอัตโนมัติเลย เคยยุ่งเกี่ยวกับสามีภรรยามาก่อน จะไม่มีความต้องการทางเพศเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ “ละได้ด้วยอนาคามิมรรค” พระอรรถกถาจารย์ว่าอย่างนั้น

ที่พูดนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นธรรมชาติของพระอนาคามี แกล้งเป็นหรือหลอกคนอื่นว่าตนเป็นไม่ได้

ส่วนอุโบสถศีลนั้น พระอนาคามีไม่จำเป็นต้องรักษา ไม่จำเป็นต้องสมาทานอุโบสถศีล เพราะพระอนาคามีเป็นผู้มีอุโบสถศีลโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

แต่ที่ฉัตตาปาณิอุบาสกไปสมาทานอุโบสถศีลจากพระศาสดานั้น คิดเป็นเรื่องอื่นไม่ได้ นอกจากจะทำให้เป็นแบบอย่างแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป ขนาดพระอนาคามีซึ่งมีอุโบสถศีลโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ท่านยังสมาทานอุโบสถศีล แล้วเราปุถุชนทั่วไปไฉนไยขี้เกียจอยู่อะไรทำนองนี้

พระมหากัสสปะก็เช่นเดียวกัน ถือธุดงค์เคร่งครัด

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอถึงที่สุดพรหมจรรย์แล้วไม่ต้องถือธุดงค์ก็ได้ ท่านกราบทูลพระพุทธเจ้า “ข้าพระองค์ถือธุดงค์เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนในภายหน้าพระเจ้าข้า”

พระอรหันต์ทั้งหลายท่านน่ารักไหมครับ

วันหนึ่ง ฉัตตปาณิอยู่ในสำนักของพระผู้ดี พระผู้มีพระภาค พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาเฝ้าพระพุทธองค์เช่นกัน ฉัตตปาริไม่ลุกขึ้นถวายความเคารพแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ยังคงนั่งอยู่อย่างสงบ พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็ไม่ทรงพอพระทัย แต่ก็ไม่ว่ากระไร

เช้าวันหนึ่ง ขณะทรงยืนทอดพระเนตรผ่านช่องสีหบัญชร (หน้าต่าง) พอดี ฉัตตปาณิกางร่ม สวมรองเท้าเดินผ่านไปทางพระลานหลวง พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็ทรงจำได้ รับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญฉัตตปาณิอุบาสกมา ฉัตตปาณิอุบาสกหุบร่มและถอดรองเท้า เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมอย่างนอบน้อม

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “อุบาสก” ทำไมท่านจึงหุบร่ม ถอดรองเท้ามาหาเราเล่า”
“ข้าพระพุทธเจ้าทราบว่า พระองค์รับสั่งให้เข้าเฝ้าจึงได้มา” อุบาสกกราบทูลอย่างนอบน้อม
“ชะรอยท่านเพิ่งจะรู้ว่าวันนี้เราเป็นพระเจ้าแผ่นดิน” พระราชาตรัสขึ้น
“หามิได้ พระพุทธเจ้าค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าทราบด้วยเกล้าฯ มาตลอดเวลา” อุบาสกกราบทูล
“แล้วทำไมวันนั้นอยู่ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า เจ้ามิได้ใส่ใจ มิได้ลุกขึ้นต้อนรับเราเล่า”

ฉัตตปาณิกราบทูลว่า “วันนั้นข้าพระพุทธเจ้าคิดว่า เมื่ออยู่ในสำนักสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นศาสดาเอกในโลกแล้ว เมื่อเห็นพระราชาแห่งประเทศแล้วลุกขึ้นถวายความเคารพ คงเป็นการไม่เหมาะสม เป็นการไม่เคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจึงมิได้ลุกขึ้นถวายความเคารพต่อพระองค์”

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งว่า “ช่างเถอะ เรื่องนั้นเราไม่ติดใจ เรารู้จากพระพุทธองค์ว่าท่านเป็นพหูสูตทรงธรรม เราอยากให้สตรีในวัง โดยเฉพาะพระอัครมเหสีและพระมเหสีได้เรียนธรรม เจ้าจะมาช่วยกล่าวสอนธรรมแก่พวกนางได้ไหม”

ฉัตตปาณิกราบทูลว่า “หน้าที่นี้คงไม่เหมาะสมสำหรับข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นคฤหัสถ์ เพราะคฤหัสถ์เดินเข้าเดินออก สถานที่ใดก็ตามที่มีสตรีอยู่ ย่อมไม่วายเป็นที่ครหาของบัณฑิต”
“ถ้าอย่างนั้นใครจะแนะนำใคร”
“ขอเดชะฯ เห็นสมควรนิมนต์พระสงฆ์มาถวายความรู้ จะเหมาะสมกว่า”
เป็นอันว่าฉัตตปาณิไม่ได้สอนธรรมในพระราชวัง

พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์หลังจากฉัตตปาณิอุบาสกปฏิเสธที่จะเข้าไปสอนธรรมแก่สตรีในวังโดยเฉพาะพระอัครมเหสี และพระมเหสี กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปสอนธรรมแก่พระอัครมเหสี พระนางวาสภขัตติยา และพระนางมัลลิกาเทวีเป็นประจำแทน

พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ ทรงส่งพระอานนท์พุทธอนุชาไป พระอานนท์ก็ทำหน้าที่อย่างดีไม่บกพร่อง

กาลเวลาผ่านไประยะหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า “อานนท์ พระเทวีทั้งสองยังเรียนธรรมอยู่หรือไม่”
“ยังคงเรียนอยู่ พระเจ้าข้า”
“เป็นอย่างไรบ้าง”
“พระนางมัลลิกาทรงสนพระทัยดี ทรงศึกษาเล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ส่วนพระนางวาสภขัตติยา มิได้ใส่พระทัยนักพระเจ้าข้า”
พระอานนท์กราบทูลตามเป็นจริง

พระนางมัลลิกาเป็นธิดาช่างทำพวงดอกไม้มาก่อน เป็นสตรีที่มีความชาญฉลาด นัยว่าได้เป็นพระโสดาบันแต่อายุยังน้อย เพราะได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ช่วยแก้ความเข้าใจผิด ความประพฤติผิดบางอย่างของพระเจ้าปเสนทิโกศลด้วย พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงรักและทรงห่วงใยมาก

ส่วนพระนางวาสภขัตติยาเป็นพระธิดาของเจ้ามหานามศากยะ อันเกิดจากนางทาสี ที่พวกศากยะส่งไปให้พระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อคราวส่งราชทูตมาขอนางขัตติยานีศากยะไปอภิเษก

เมื่อความลับแตกในกาลต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพิโรธพวกศากยะที่หลอกลวงพระองค์ สั่งถอดพระเทวีพร้อมพระราชโอรสออกจากตำแหน่ง

พระพุทธองค์เสด็จมาช่วยไว้ได้ ทรงอธิบายว่า เชื้อสายทางแม่นั้นไม่สำคัญเท่าทางพ่อ ถึงยังไงๆ เจ้าชายวิฑูฑภะก็เป็นราชโอรสของพระราชาผู้ทรงเป็นมหาราชอยู่ดี

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงคืนตำแหน่งแก่แม่ลูกทั้งสอง

เมื่อพระองค์ทรงได้ทราบจากพระอานนท์ พระองค์จึงตรัสคาถา (โศลก) สองบทความว่า
“วาจาสุภาษิตของผู้ที่ทำไม่ได้ตามที่พูด ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร ดุจดอกไม้สีสวย แต่ไร้กลิ่น
วาจาสุภาษิตของผู้ที่ได้ทำตามที่พูด ย่อมอำนวยผลดี  ดุจดอกไม้สีสวย และมีกลิ่นหอม”

พุทธวจนะนี้ตรัสให้เป็นหลักปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้มีหน้าที่สอนคนอื่น

คนที่พูดธรรมะหรือวิชาการได้ดี น่าทึ่ง น่าเลื่อมใส แต่ถ้าสักแต่พูด ไม่ทำตามที่พูดสอน คนนั้นก็ไร้ค่า ดุจดอกไม้สีสวยแต่ไม่หอม

แต่ถ้าพูดเก่ง พูดดีด้วย ปฏิบัติได้ตามที่ตนพูดด้วย ก็จะมีประโยชน์มาก ดุจดอกไม้สีสวยด้วย ฉะนั้นแล

ฉัตตปาณิอุบาสกคงจะเป็นประเภทหลัง เพราะท่านเป็นถึงพระอนาคามีและมีความมุ่งมั่นที่จะสอนธรรมแก่คนอื่นอย่างจริงจัง ถึงกับรักษาอุโบสถศีล ทั้งๆ ท่านเป็นพระอนาคามีแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นก็ได้ แต่ท่านก็ทำตนให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง

การสอนคนโดยการทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีนั้น บางครั้งมีผลมากกว่าพร่ำสอนด้วยวาจา จนเปลืองน้ำลายไปหลายกระโถนเสียอีก

ประวัติของท่านฉัตตปาณิอุบาสกมีไม่มาก เท่าที่ปะติดปะต่อได้ ก็มีเท่านี้อย่าถามว่าเมื่อประวัติมีน้อยแค่นี้นำมาเขียนทำไม  ที่นำมาเขียนไว้ก็เพราะพินิจดูจาก “บริบท” (ความแวดล้อม)

ท่านผู้นี้คงเป็นคนสำคัญมิใช่น้อย พระมหากษัตริย์เชิญให้ไปสอนธรรมในวัง พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล คนระดับนี้ต้องเป็น somebody แน่นอน เพียงแต่เราไม่มีประวัติของท่านโดยละเอียดเท่านั้น...

 
ข้อมูล : บทความพิเศษ ฉัตตปาณิอุบาสก : อุบาสกผู้ทรงธรรม หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก



หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 มกราคม 2557 13:34:57
.
(http://www.dhammathai.org/monktalk/data/imagedb/375.jpg)
๔๙. พระเจ้าอโศกมหาราช
ผู้ทรงธรรม (๑)

พูดถึงอุบาสกที่มีชื่อเสียงในพระพุทธศาสนา ก็อดที่พูดถึงพระเจ้าอโศกมหาราชมิได้ ถ้าหากว่าท่านนี้จะมีชีวิตอยู่ในสมัยพุทธกาล คงได้รับยกย่องในเอตทัคคะจากพระพุทธเจ้าด้านใดด้านหนึ่งเป็นแน่

พระเจ้าอโศกมหาราชมีพระราชประวัติน่าสนใจ จะเรียกว่าเป็นผู้ “ต้นคตปลายตรง” ก็คงได้ ถึงแม้ต้นจะไม่คตมากขนาดองคุลิมาล หรืออชาตศัตรูก็ตาม พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระราชาจอมทัพผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งชาวกรีกขนานพระนามว่า “สัตตุฆ็อต” (แปลว่า ผู้สังหารศัตรู)

พระเจ้าพินทุสารเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจันทรคุปต์ กษัตริย์ต้นวงศ์โมริยะ หรือเมารยะ “ปู่” พระเจ้าอโศกพระองค์นี้ก็มีประวัติที่น่าสนใจ มีเวลาจะเล่าภายหลัง

เข้าใจว่าอโศกกุมารมิใช่พระราชโอรสองค์ใด เพราะมีพระเชษฐาเป็นสุมนะอันเกิดแต่พระมเหสี (เข้าใจว่าเป็นพระมเหสีองค์รอง) อโศกกุมารคงเป็นพระราชโอรสจากพระอัครมเหสี เพราะสมัยที่ยังหนุ่มถูกส่งไปเป็นอุปราชครองเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในครอบครองของพระเจ้าพินทุสาร

เจ้าชายอโศกได้อภิเษกสมรสกับบุตรสาวแห่งนายบ้ายวิทิสา (หรือเวทิส) ขณะอยู่เมืองอุชเชนี ก็มีโอรสองค์หนึ่งนามว่า มหินท์ และธิดานามว่า สังฆมิตตา

เมื่อพระราชบิดาสวรรคต ก็กลับมายังเมืองปาตลีบุตร

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการแก่งแย่งราชบัลลังก์กันในหมู่พระเชษฐาและพระอนุชา อโศกกุมารถือว่าตนเป็นผู้มีสิทธิ์ในพระราชบัลลังก์เต็มที่ ก็ขึ้นครองราชย์หลังจากได้สังหารพี่น้องเป็นจำนวนมาก

ว่ากันว่าได้ฆ่าทั้งหมด ยกเว้นเพียงพระอนุชาร่วมพระอาทร (คือ เกิดจากพระมารดาเดียวกัน) นามว่า “ติสสะ”

พระเชษฐานามว่าสุมนะ รู้ว่าชะตาตัวเองจะขาดแน่นอน จึงสั่งให้พระชายาซึ่งทรงครรภ์แก่ หนีเอาตัวรอดไป นางจึงหลบหนีออกจากเมืองไปอยู่กับพวกคนจัณฑาลในหมู่บ้านคนจัณฑาลนอกเมือง ให้กำเนิดบุตรชายใต้ต้นไทร จึงขนานนามว่า “นิโครธ”

ซึ่งต่อมาเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ นิโครธก็บวชเป็นสามเณรด้วยความยินยอมของมารดา เพราะเห็นว่าเป็นทางเดียวที่จะพ้นราชภัย

ติสสกุมาร พระอนุชาของพระเจ้าอโศกก็ออกบวชหนีราชภัยเช่นเดียวกัน เพื่อความเป็นใหญ่ พี่น้องก็ฆ่ากันได้ ติสสะคิดว่า วันดีคืนดีถ้าเสด็จพี่ระแวงก็อาจหาเรื่องฆ่าได้ จึงถือเพศบรรพชิตเสียเลยจะได้ปลอดภัย

พระเจ้าอโศกในช่วงที่ยังหนุ่มแน่น ว่ากันว่าทรงดุร้ายมาก จนได้รับขนานนามว่า “จัณฑาโศก” (อโศกผู้ดุร้าย) ทรงกระหายสงคราม ขยายอาณาจักรยกทัพไปตีเมืองต่างๆ ไว้ในอำนาจมากมาย ว่ากันว่า อาณาเขตปกครองของพระเจ้าอโศกกว้างใหญ่ไพศาลมาก

แต่วันดีคืนดีก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ คือ หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ ๘ ปี พระเจ้าอโศกเสด็จไปทำสงครามที่แคว้นกลิงคะ ทอดพระเนตรเห็นผู้คนล้มตายจำนวนมาก ก็สลดสังเวชพระราชหฤทัย พระทัยที่เคยดุดันแข็งกร้าวก็อ่อนโยนลง เห็นในความทุกข์วิปโยคของคนอื่น

ดังข้อความในศิลาจารึก ฉบับที่ ๑๓ ว่า
“สมเด็จพระปิยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๘ พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงนั้น จากแคว้นกลิงคะนั้น ประชาชนจำนวนหนึ่งแสนห้าหมื่นถูกจับเป็นเชลย จำนวนประมาณหนึ่งแสนคนถูกฆ่า และอีกหลายเท่าของจำนวนนั้นได้ล้มตายไป นับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้ อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะถูกยึดครองแล้ว การทรงประพฤติปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม และการอบรมสั่งสอนธรรมก็ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ”

ว่ากันว่า การหันมาประพฤติธรรมของพระเจ้าอโศก ก็คือหันมานับถือพระพุทธศาสนานั่นเอง และในศิลาจารึกหลักหนึ่งบอกว่าพระองค์ “ทรงเข้าถึงพระสงฆ์” มีผู้ตีความว่าทรงผนวชเป็นเวลาสามเดือน ขณะที่ยังครองราชย์

และผลจากที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนานี้เอง ทำให้ทรงเปลี่ยนวิธีการเผยแผ่กฤษดาภินิหารจากการทำสงคราม มาเป็นการเอาชนะได้ด้วยคุณธรรม อันเรียกว่า “ธรรมวิชัย” (หรือธรรมราชา) ดังจารึกตอนหนึ่งว่า
“สำหรับพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ชัยชนะที่ทรงถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ได้แก่ “ธรรมวิชัย” (ชัยชนะโดยธรรม) พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ทรงกระทำสำเร็จแล้วทั้ง ณ ที่นี้ (ในพระราชอาณาจักร) และในดินแดนข้างเคียงทั้งปวงไกลออกไป ๖๐๐ โยชน์...”

ก่อนจะหันมานับถือพระพุทธศาสนา เชื่อกันว่าพระองค์ทรงนับถือศาสนาเชน (ลัทธิชีเปลือย) มาก่อน ตามบรรพบุรุษแห่งโมริยวงศ์ และหลังจากหันมาทรงดำเนินนโยบายธรรมวิชัย แผ่กฤษดาภินิหารด้วยธรรมะแล้วทรงได้รับขนานพระนามใหม่ว่า “ธัมมาโศก” (อโศกผู้ทรงธรรม)

พิเคราะห์ตามนี้ แสดงว่าพระเจ้าอโศกทรงนับถือพระพุทธศาสนา เพราะทรงสำนึกได้ว่าได้ทำบาปไว้มาก จึงละความเบียดเบียน หันมาถืออหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) โดยประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้นเรื่องความไม่เบียดเบียนเป็นหลัก

แต่ถ้าถือตามหลักฐานทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท พระเจ้าอโศกทรงนับถือพระพุทธศาสนา เพราะสามเณรน้อยรูปหนึ่งชักจูง

ในหนังสือสมันตปาสาทิกา (อรรถกถาพระวินัยปิฎก) กล่าวว่า เช้าวันหนึ่ง ขณะประทับทอดพระเนตรผ่านช่องสีหบัญชร (หน้าต่าง) พระราชมณเทียร ทอดพระเนตรเห็นสามเณรน้อยรูปหนึ่งเดินผ่านไป

ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถอันสงบของสามเณรน้อย รับสั่งให้นิมนต์ขึ้นไปบนพระราชมณเทียร ทรงซักถามได้ทราบความว่า สามเณรน้อยเป็นบุตรของสุมนราชกุมาร พระเชษฐาของพระองค์เอง นามว่า นิโครธ

เมื่อทรงทราบว่าเป็น “หลาน” ของพระองค์ ก็ยิ่งทรงมีพระเมตตาต่อสามเณรน้อย ขอให้สามเณรน้อยกล่าวธรรมให้ฟัง

สามเณรน้อยถวายพระพรว่า ตนเพิ่งบวชเรียนศึกษาได้ไม่มาก ไม่สามารถกล่าวธรรมโดยพิสดารได้ ขอกล่าวแต่โดยย่อ ว่าแล้วก็ได้กล่าวพุทธภาษิตใน “พระธรรมบท” ว่า
       อัปปะ มาโท อะมะตังปะทัง ปะมาโท มัจจุโน ปะทัง
       อัปปะมัตตา นะ มียันติ เย ปะมัตตา ยะถา มะตา

ความว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ที่ประมาท ถึงมีชีวิตอยู่ก็เสมือนตายแล้ว

ถ้าจะ “ประนีประนอม” ความก็คงจะได้ว่า พระเจ้าอโศกทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาเอง หลังจากทรงเกิดความสลดพระทัยที่ทอดพระเนตรเห็นคนตายจำนวนมากในสงคราม เมื่อครั้งไปตีเมืองกลิงคะก็ถูก  จะกล่าวว่าทรงนับถือพระพุทธศาสนาเพราะได้ฟังธรรมจากสามเณรนิโครธ นั้นก็ถูกเหมือนกัน

เหตุการณ์ทั้งสองนี้เกิดไล่เลี่ยกัน พระองค์ทรงสังเวชพระทัยในการล้มตายของทหารและพลเมืองชาวกลิงคะอยู่ก่อนแล้ว พอดีมาพบสามเณรน้อย ได้ฟังธรรมจากสามเณรน้อยเข้า ก็ยิ่งทรงแน่ใจว่า การประพฤติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นทางถูกต้องและดีที่สุด ในที่สุดจึงประกาศตนเป็นพุทธมามกะ

ว่ากันอีกเหมือนกันว่า พระเจ้าอโศกมิเพียงเป็นพุทธมามกะเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเท่านั้น หากยังทรงประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติด้วย

พระองค์ทรงศึกษาธรรมจนซาบซึ้ง และได้ประยุกต์หลักพุทธธรรมมาใช้ในการปกครองประเทศ อันเรียกว่า “อโศกธรรม” ทรงวางหลักการปกครองแผ่นดินโดยธรรม ยึดเอาประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้งและส่งเสริมกิจการสาธารณูปการ ประชาสงเคราะห์ สวัสดิการสังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง

แนวทางของพระองค์ได้รับการยึดถือเอาเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ผู้ครองแว่นแคว้นในยุคต่อมา เช่น พระเจ้ากนิษกมหาราช (พุทธศตวรรษที่ ๗) พระเจ้าหรราวรรธนะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒) พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรไทย (พุทธศตวรรษที่ ๑๙) เป็นต้น

ทรงสร้างวัดแปดหมื่นสี่พันวัด สร้างเจดีย์แปดหมื่นสี่พันองค์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์เป็นอย่างดี จนพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุคของพระองค์ เป็นเหตุให้เหล่า “เดียรถีย์” (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) เข้ามาปลอมบวชเพื่อหวังจะอยู่สุขสบาย

เมื่อบวชเข้ามาแล้วได้แสดงธรรมวินัยวิปริตผิดเพี้ยนไป สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นในพระศาสนา จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการชำระสะสางสังฆมณฑลครั้งใหญ่ อันเรียกว่าทำ “สังคยานาครั้งที่สาม” ...


พระเจ้าอโศกมหาราช
ผู้ทรงธรรม (๒)
เมื่อพระเจ้าอโศก ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์อย่างนี้ พระพุทธศาสนาโดยรวมก็เจริญรุ่งเรือง พวกนอกศาสนาเห็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้รับความเคารพนับถือ และมีลาภสักการะเช่นนั้นบ้าง ก็พากันปลอมบวชเป็นพระภิกษุ บวชเข้ามาแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่า “ไผเป็นไผ” เพราะนุ่งห่มเหมือนกัน

พระภิกษุปลอมบวชก็ยังไม่รู้ว่าเป็นพระปลอม จนกว่าจะแสดงธรรมวินัยออกมาผิดเพี้ยนจากแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา

ถ้าเอามาตรฐานนี้วัด แม้ผู้ที่บวชถูกต้องตามพระวินัย แต่ไม่ศึกษาเล่าเรียน แสดงธรรมผิดๆ เพี้ยนๆ เอาพุทธไปเป็นพราหมณ์ ก็น่าจะเรียกว่าเป็นพระปลอมเหมือนกันนะครับ

พวกเดียรถีย์ที่ปลอมบวช ต่างก็แสดงธรรมวินัยวิปริตผิดเพี้ยน แถมวัตรปฏิบัติก็ไม่เคร่งครัดสำรวมเหมือนพระสงฆ์ทั่วไป ก็ได้รับความรังเกียจจากพระสงฆ์ผู้ทรงศีล หนักเข้าถึงขนาดท่านเหล่านั้นไม่ยอมลงโบสถ์สังฆกรรมด้วย ความแตกแยกก็เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบว่าพระสงฆ์ไม่ลงรอยกัน จึงได้ส่งมหาอำมาตย์คนหนึ่งไปจัดการให้พระสงฆ์สามัคคีกัน  

อำมาตย์ถือว่าได้รับพระบรมราชานุญาตให้ไป “จัดการ” ให้พระสงฆ์สามัคคีกัน แกก็ไป “จัดการ” จริงๆ เหมือนกัน  ไปถึงก็เรียกประชุมภิกษุสงฆ์ บอกท่านเหล่านั้นว่า “ในหลวงมีรับสั่งให้ผมมาจัดการให้พวกท่านสามัคคีกัน พวกท่านจะลงโบสถ์ทำสังฆกรรมร่วมกันตามพระราชประสงค์หรือไม่” ภิกษุปลอมเป็นพวกไม่มีกระดูกสันหลัง จะเอาอย่างไรก็ได้อยู่แล้ว จึงกล่าวว่า “พวกอาตมาไม่มีปัญหา” (แน่ พูดเหมือนอดีตนายกฯ ที่ชื่อ “น้าชาติ” ผู้ล่วงลับแฮะ) ว่า แต่ว่าท่านเหล่านั้นจะยินยอมไหม

ท่านเหล่านั้น ก็หมายถึงพระภิกษุผู้ทรงศีลทั้งหลาย เมื่อมหาอำมาตย์หันไปถาม ท่านเหล่านั้นจึงว่า “พวกอาตมาจะไม่ยอมลงโบสถ์กับพวกทุศีลเป็นอันขาด”
“ท่านจะยอมไหม” มหาอำมาตย์ย้ำคำถามเดิม
“ไม่ยอม” เสียงยืนกรานดังมาจากแทบทุกปาก

ทันใดนั้น มหาอำมาตย์ก็ชักดาบออกจากฝัก ฟันคอพระเถระผู้นั่งอยู่แถวหน้าล้มลงถึงแก่มรณภาพทันที สร้างความตกตะลึงไปทั่ว แล้วร้องถามเสียงดังว่า “ท่านล่ะจะยอมไหม”
พระเถระรูปถัดไปร้องว่า “ไม่ยอม”
“ไม่ยอมหรือ นี่แน่ะ” สิ้นคำว่านี่แน่ะก็เสียงดังเฟี้ยว คอหลุดจากบ่าพระเถระอีกรูป เลือดแดงฉานนองพื้น

พระนวกะรูปหนึ่งนั่งอยู่ท้ายแถว เห็นเหตุการณ์จะไปกันใหญ่ จึงถลันเข้ามานั่งขวางไว้ มหาอำมาตย์ชักดาบกำลังจะเงื้อฟันอยู่พอดีเห็นหน้าพระคุณเจ้าก็จำได้ จึงสอดดาบเข้าฝักเดินลงจากศาลากลับไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน

พระหนุ่มนั้นหาใช่ใครไม่ คือ พระติสสะ พระอนุชาของพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง

พระเจ้าอโศกทรงทราบว่ามหาอำมาตย์ไปทำการเกินคำสั่ง ก็ร้อนพระทัย รีบเข้าไปหาพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ผู้เป็นหลักในสมัยนั้น กราบทูลถามว่า พระองค์จะบาปมากไหมที่ส่งให้อำมาตย์ไปทำการอย่างหนึ่ง แต่อำมาตย์ได้ปลงชีวิตพระภิกษุไปหลายรูป

พระเถระถวายพระพรว่า “ถ้าพระองค์มิได้มีพระประสงค์ให้พวกอำมาตย์ไปฆ่าพระ ก็ถือว่าไม่มีเจตนา ถึงบาปก็เบา”
“โยมจะทำอย่างไรดี” พระเจ้าอโศกตรัสปรึกษา
“ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ถึงอุปถัมภ์สังคายนา” พระเถระถวายคำแนะนำ ซึ่งพระเจ้าอโศกก็ทรงเห็นด้วย แล้วสังคายนาพระพุทธศาสนาครั้งที่สามก็เกิดขึ้น

พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูป ได้รับคัดเลือกเพื่อทำสังคายนา ณ อโศการาม เมืองปาตลีบุตร โดยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงถวายความอุปถัมภ์ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบความรู้พระธรรมวินัยพระสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล คำถามนั้นเป็นคำถามกว้างๆ แบบ “อัตนัย” คือถามว่า “พระผู้มีพระภาคมีปกติตรัสอย่างไร”

ผู้เข้าสอบจะต้องอธิบายธรรมะที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมา กรรมการจะซักถามทุกแง่ทุกมุมจนเป็นที่พอใจ จึงสอบผ่าน

ว่ากันว่า ถ้าใครไม่ตอบในแง่ที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็น “วิภัชชวาที” คือ ตรัสจำแนก หรือ ตรัสสอนแบบวิเคราะห์แยกแยะแล้ว ปรับตกหมด ถึงจะอธิบายดีอย่างไรก็ตาม อลัชชีปลอมบวชนั้น แน่นอน ต้องสอบตกแน่ๆ แต่พระภิกษุที่บวชถูกต้องตามพระวินัย ที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ไม่รู้พระพุทธศาสนา ถูกปรับตก ก็มีไม่น้อย ท่านที่สอบไม่ผ่านจะถูกจับสึกทั้งหมด

ว่ากันว่าพระภิกษุจำนวนหมื่นๆ รูปถูกจับสึกเหลือแต่พระภิกษุที่มีความรู้พระธรรมวินัยดี เท่ากับคัดบุคลากรที่มีคุณสมบัติไม่พร้อมที่จะธำรงพระพุทธศาสนาออก เหลือแต่ที่มีคุณภาพล้วนๆ ถึงเหลือน้อยก็ทำให้พระศาสนามีกำลังและดำรงอยู่ได้นาน

ในสมัยอยุธยาเองก็มีการสอบแบบนี้เหมือนกัน ว่ากันว่ามีคนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามากมาย จนกระทั่งขาดชายหนุ่มที่มารับราชการรับใช้บ้านเมือง พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงปรึกษาหารือกับพระเถระผู้ใหญ่ พระเถระผู้ใหญ่จึงแนะให้จัดสอบความรู้ พระเถระใดสอบตกก็ไล่สึกให้ไปทำราชการ

คำว่า “สอบไล่” มีมาตั้งแต่สมัยนั้น แต่มิได้หมายถึงสอบเลื่อนชั้น ที่จริงหมายถึง “ไล่สึก” ครับ ไปยังไงมายังไงไม่ทราบ เรานำมาใช้ในความหมาย “สอบครั้งสุดท้าย” หรือ final exams เดี๋ยวนี้คำนี้หายไปแล้ว

หลังทำสังคายนาครั้งนั้นสิ้นสุดลง ก็ได้มีการส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังประเทศต่างๆ จำนวน ๙ คณะ คือ
๑. พระมัชฌันติกะและคณะ ไปแคว้นกัสมีระและคันธาระ (คือ แคชเมียร์และอัฟกานิสถานปัจจุบัน)
๒. พระมหาเทวะและคณะไปมหิสกมณฑล (คือ ไมชอร์ ติดต่อกับแคว้นมัทราส ทางใต้ของชมพูทวีป)
๓. พระรักขิตะและคณะไปวนวาสีประเทศ (แถบอินเดียใต้ จังหวัดกรรนาฏในปัจจุบัน)
๔. พระโยนกธัมมรักขิตะไปอปรันตประเทศ (คัชราฏ) (ที่ตั้งของเมืองบอมเบย์ปัจจุบัน)
๕. พระมหาธัมมรักขิตะ และคณะไปมหารัฐ (แคว้นมหาราษฎร์ในปัจจุบัน)
๖. พระมหารักขิตะและคณะไปโยนกประเทศ (เขตบากเตรียในเปอร์เซียปัจจุบัน)
๗. พระมัชฌิมะและคณะไปหิมวันตประเทศ (คือแถบเนปาลในปัจจุบัน)
๘. พระมหินทะและคณะไปลังกาทวีป
๙. พระโสณะและพระอุตตระพร้อมคณะ ไปสุวรรณภูมิ (ดินแดนพม่า มอญ ไทย ในปัจจุบัน)

ถ้าไม่กางแผนที่ก็ไม่รู้ดอกว่าท่านรูปใดไปแคว้นดินแดนใด ผมเองก็ไม่เก่งทางด้านภูมิศาสตร์ด้วย มองภาพไม่ออกว่าที่ไหนเป็นที่ไหน พูดกว้างๆ ก็แล้วกันว่าพระเจ้าอโศกทรงส่งคณะธรรมทูตไปยังแคว้นต่างๆ ในชมพูทวีปเอง และออกนอกชมพูทวีป เช่น ลังกา ไทย (ในปัจจุบัน) เป็นต้น

แม้ว่านักประวัติศาสตร์บางท่าน เช่น โอลเดน เบอร์ก จะปฏิเสธว่าไม่มีการทำสังคายนาที่สามที่พระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์ และไม่เชื่อว่าพระเจ้าอโศกส่งคณะธรรมทูตไปยังต่างประเทศ การที่พระพุทธศาสนาแพร่ไปยังดินแดนต่างๆ เช่น ลังกาเป็นผลแห่งการถ่ายโอนทางศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งค่อยเป็นค่อยไป มิใช่มีใครมาจัดส่งพระพุทธศาสนาแบบ “สำเร็จรูป” ไปดังเชื่อกัน

การถ่ายโอนทางศาสนาและวัฒนธรรม ก็ผ่านเส้นทางพาณิชย์ การค้าขายติดต่อกันระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง เมื่อพ่อค้าเดินทางไปยังต่างเมือง พระสงฆ์ก็เดินทางไปด้วย พระพุทธศาสนาก็พลอยได้รับความเชื่อถือและปฏิบัติจากประชาชนประเทศนั้นๆ ว่ากันอย่างนั้น

จะอย่างไรก็ตาม มีผู้พบหลักฐาน ก็คือจารึกผอบหินทรายที่ขุดพบที่โบราณสถานที่เมืองสาญจิ บอกว่าเป็นผอบบรรจุอัฐิแห่งพระโมคคัลลีบุตร พระกัสสปโคตร ผู้ทรงศีลแห่งแคว้นหิมาลัย พระมัชฌิมะผู้สัปปุรุษ เป็นหลักฐานแสดงว่า ในสมัยพระเจ้าอโศก มีการส่งพระธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนายังดินแดนจริง มิใย (ขอโทษอาจารย์สุลักษณ์ ขอยืมวลีประจำตัวมาใช้หน่อย) ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นแบบอย่างอุบาสกผู้ทรงธรรม ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เป็นมหากษัตริย์ที่นำเอาพุทธธรรมมาปรับใช้เป็นหลักการปกครองประเทศและสำหรับดำเนินชีวิต เป็นต้นแบบ “ธรรมวินัย” หรือ “ธรรมราช” ที่พระมหากษัตริย์ในยุคต่อมาพยายามดำเนินรอยตาม

ชาวพุทธจึงควรสำนึกในพระมหากรุณาที่ทรงช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาจนกระทั่งยั่งยืนมาถึงเราในปัจจุบันนี้....

 
ข้อมูล : บทความพิเศษ พระเจ้าอโศกมหาราช : ผู้ทรงธรรม (๑) และ (๒) หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 11:22:45
.
(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcT5ueNgRFLOFpuNCjNIuaat_GdvSe7-qB2NIQE02c4G_qhkeBLR)
๕๐. พระเจ้าสุทโธทนะ
สมเด็จพระพุทธบิดา (๑)

พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีหนุ และพระนางกัญจนา กษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ เมืองเล็กๆ อยู่ที่เชิงเขาหิมาลัย ชมพูทวีป กษัตริย์แห่งสองนครพี่น้องกัน คือ กษัตริย์ศากยวงศ์ และกษัตริย์โกลิยวงศ์ ตั้งเมืองอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำสายหนึ่ง ชื่อ โรหิณี

ทั้งสองพระนครยังชีพด้วยเกษตรกรรมเป็นหลัก เพราะฉะนั้นพระนามของเจ้านายในราชวงศ์ โดยเฉพาะราชวงศ์ศากยะจะลงท้ายด้วยคำว่า “โอทนะ” เป็นส่วนใหญ่ เช่น สุทโธทนะ (ข้าวบริสุทธิ์) อมิโตทนะ (ข้าวนับไม่ถ้วน) โธโตทนะ (ข้าวขัดแล้ว) สุกโกทนะ (ข้าวขาว)

พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงมีพระอัครมเหสีพระนามว่า มายา หรือ สิริมหามายา มีพระราชโอรสพระนามว่า สิทธัตถะ

หลังจากพระราชโอรสประสูติได้ ๗ วัน พระนางสิริมหามายาก็สวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะได้สถาปนาพระนางปชาบดีโคตมี พระกนิษฐาของพระนางสิริมหามายาขึ้นเป็นพระอัครมเหสีสืบแทน

เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในความเลี้ยงดูของพระ “น้านาง” จนเติบใหญ่ และมีพระอนุชาและพระกนิษฐาอันประสูติแต่พระน้านาง ๒ พระองค์ คือ เจ้าชายนันทะและเจ้าหญิงรูปนันทา

โหราจารย์ทำนายพระลักษณะและอนาคตของเจ้าชายสิทธัตถะว่า ถ้าอยู่ในเพศผู้ครองเรือน ก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีกฤดาภินิหารเป็นที่ยำเกรงของแคว้นน้อยใหญ่  ถ้าเสด็จออกผนวชก็จะได้เป็นพระศาสดาเอกในโลก เผยแพร่สัจธรรมที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน

โดยเฉพาะโหรผู้มีอายุน้อยที่สุดในคณะนามว่า โกณฑัญญะ ทำนายด้วยความมั่นใจว่า เจ้าชายจะเสด็จออกบวช และจะได้เป็นพระศาสดาแน่นอน  พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะมิให้เจ้าชายเกิดความคิดเบื่อหน่ายในการครองเรือนถึงกับสละโลก จึงทรงปรนเปรอพระราชโอรสด้วยความสุขสนุกบันเทิงต่างๆ เช่น สร้างปราสาทสามหลังสวยหรูสำหรับประทับสามฤดู พยายามไม่ให้เจ้าชายได้ทอดพระเนตรเห็นภาพที่ไม่น่าดู เช่น ความทุกข์ยากของประชาชนพลเมือง อันจักกระตุ้นให้พระราชโอรสเกิดความสลดพระทัยแล้วเสด็จออกผนวช

จึงเกิดมีสิ่งที่เรียกกันบัดนี้ว่า การ “เคลียร์พื้นที่” เมื่อจะทรงอนุญาตให้พระราชโอรสออกไปนอกประตูวัง ก็จะทรงรับสั่งให้ “เคลียร์พื้นที่” ให้หมด ไม่ให้ภาพอันจะก่อให้เกิดความสลดสังเวชพระทัยเกิดขึ้น ให้ทอดพระเนตรเห็นแต่ภาพอันสวยๆ งามๆ

การณ์ก็เป็นไปด้วยดี แต่วันดีคืนดีเจ้าชายก็ได้ทอดพระเนตรเห็นภาพแห่งความเป็นจริงจนได้ เมื่อพระองค์พร้อมด้วยมหาดเล็กสนิท นาม ฉันนะ ลอบออกไปนอกพะราชวัง ได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะตามลำดับ คง “หนีเที่ยว” หลายครั้ง จึงได้เห็นสิ่งเหล่านั้น มิใช่เห็นทีเดียวครบ ๔ อย่าง

เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสลดพระทัยว่า คนเราเกิดมาทุกคนย่อมแก่ เจ็บ และตายอยู่อย่างนี้ ตราบเท่าที่ยังไม่ตัดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ โลกนี้จึงเป็นทุกข์อย่างแท้จริง

เมื่อ “ได้คิด” ขึ้นมาอย่างนี้ ก็คิดเปรียบเทียบว่าสรรพสิ่งย่อมมีคู่กัน เมื่อมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ดุจเดียวกับมีมืดก็มีสว่าง มีร้อนก็มีเย็น ฉะนั้น ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะผู้สงบ ก็ทรงคิดว่าการดำเนินวิถีชีวิตอย่างท่านผู้นี้น่าจะเป็นทางพ้นจากความทุกข์นี้ได้ จึงตัดสินพระทัยเสด็จผนวช  จวบกับได้รับทราบข่าวการประสูติของพระโอรสน้อย ก็ยิ่งต้องรีบตัดสินพระทัยแน่วแน่จะออกผนวชให้ได้ เพราะถ้ารอช้า ความรักความผูกพันในพระโอรสจะมีมากขึ้น ไม่สามารถปลีกพระองค์ออกไปได้

ดังได้ทรงเปล่งอุทานทันทีที่ได้สดับข่าวนี้ว่า บ่วง (ราหุล) เกิดแล้ว พันธนาการเกิดแล้ว” อันเป็นที่มาของพระนามแห่งพระโอรส

คำถามที่คนสมัยนี้มักจะถามก็คือ เจ้าชายสิทธัตถะทิ้ง “ลูกเมีย” ออกบวชเพื่อหาความสำเร็จส่วนตน ทั้งๆ ที่พระโอรสก็เพิ่งประสูติ ดูเป็นการเห็นแก่ตัว บางท่านก็ว่าแรงขนาดว่า เจ้าชายสิทธัตถะไม่รับผิดชอบครอบครัว อะไรไปโน่น ก็ใคร่ตอบสั้นๆ ดังนี้
๑. ต้องไม่ลืมว่า เจ้าชายสิทธัตถะมิใช่คนธรรมดาอย่างพวกเรา ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ เป็น “นิตยโพธิสัตว์”
    (พระโพธิสัตว์ผู้แน่นอนว่าจะต้องตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) ทรงบำเพ็ญบารมีจนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
๒. พระโพธิสัตว์ได้ตั้งปณิธานไว้ว่า จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากห้วงแห่งทุกข์ คือ การเวียนว่ายตายเกิด
    แต่การจะช่วยสัตว์ทั้งหลายได้ พระองค์ต้องทำตนให้พร้อมที่จะช่วยได้ การบำเพ็ญบารมีนั้น
    คือ การเตรียมความพร้อมในเบื้องต้น
๓. จากนั้นพระโพธิสัตว์ก็จะต้องทำความเพียร เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจึงจะเรียกว่าพร้อมโดยสมบูรณ์
    ที่จะช่วยสัตว์โลกได้ ถ้าหากพระโพธิสัตว์ไม่เสด็จออกผนวช ภาระหน้าที่นี้ก็ยังไม่ได้กระทำ
    เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเสด็จออกผนวช
๔. การเสด็จออกผนวชของพระองค์นั้น แทนที่จะคิดอย่างปุถุชนผู้โง่เขลาควรจะพิจารณา
    ด้วยเหตุผลของวิญญูชนว่า เป็นการเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ เป็นพระมหากรุณาอย่างใหญ่หลวง
    และเป็นความรับผิดชอบอย่างยิ่งใหญ่
๕. ถ้าหากพระองค์ไม่เสด็จออกผนวช พระองค์ก็ช่วยได้เฉพาะ “ลูกเมีย” ของพระองค์และบ้านเมือง
    ของพระองค์เท่านั้น แต่เมื่อเสด็จออกผนวชเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์มิเพียงแต่ช่วยบ้านเมือง
    ของพระองค์เท่านั้น หากทรงช่วยโลกและคนทั้งโลกอีกด้วย อย่างนี้จะว่าเป็นการเห็นแก่ตัว
    หรือไม่รับผิดชอบครอบครัวกระไรได้

ลองคิดให้ดีให้ลึกแล้วจะเห็นว่า การเสด็จออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะเป็นกิจกรรมของผู้เสียสละอย่างใหญ่หลวง และของผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยพระกรุณายิ่งใหญ่เพียงใด

และที่พวกเราได้มีบุญวาสนาได้สืบทอดพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์มาจนบัดนี้ มิใช่เพราะมหากรุณานั้นดอกหรือครับ

ข้อคิดอีกประการหนึ่งก็คือ ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะจึงเพิ่งจะทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คน (คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ) เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ก่อนหน้านั้นไม่เห็นหรือ

คำตอบก็คือ ก่อนหน้านั้นก็เห็นด้วยตาเนื้อธรรมดา ไม่ได้เห็นด้วยตาใน (คือปัญญา) เห็นก็เท่ากับไม่เห็น แต่เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระองค์ก็ได้ “เห็นด้วยปัญญา”  

ความจริงจะเขียนเรื่องพระเจ้าสุทโธทนะ ไปๆ มาๆ กลายเป็นพุทธประวัติจนได้ ทั้งนี้ ก็เพราะพุทธประวัติบางตอนมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เช่น เหตุการณ์เสด็จออกผนวช ที่กล่าวมาข้างต้น แม้กระทั่งการกระทำของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ที่พระราชทานชายาและพระโอรส เด็กรุ่นใหม่บอกว่า “รับไม่ได้” ก็น่าจะนำมาพูดกันเพื่อความเข้าใจ

หาไม่พวกเราจะบาปหนาที่ไปกล่าวหาพระโพธิสัตว์ด้วยความโง่เขลาของเราเอง เดี๋ยวคราวหน้าคงได้พูดจากันครับ!!...



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQXaKBgWwPSpEEdZOk7rz9eSB12J_3opN0Lhx42pQXThsE1PpuX)
พระเจ้าสุทโธทนะ
สมเด็จพระพุทธบิดา (๒)

หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช พระเจ้าสุทโธทนะทรงเสียพระทัยมาก เพราะทรงหวังจะให้พระราชโอรสครองราชย์เป็นเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่  

ด้วยความรักความห่วงใยในพระราชโอรส พระองค์ก็ทรงส่งคนไปติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวตลอด

เมื่อทรงทราบว่าพระราชโอรสได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ส่งคณะทูตไปอัญเชิญเสด็จนิวัติพระนครครั้งแล้วครั้งเล่า ว่ากันว่าทำถึง ๙ คณะ แต่ก็ไม่มีคณะไหนสำเร็จ

ครั้งสุดท้ายพระองค์ทรงส่งกาฬุทายี อำมาตย์ผู้เป็นสหชาติกับพระพุทธองค์ เพื่ออัญเชิญเสด็จเมืองมาตุภูมิให้จงได้  กาฬุกายีกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตบวชก่อนแล้วจะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้ามาให้จงได้ ก็ได้รับพระราชทานอนุญาต

คราวหน้าพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาของพระกาฬุทายี เพราะทรงเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะเสด็จนิวัติพระนครมาตุภูมิ เพื่อโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จออกจากพระนครราชคฤห์ไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ ไปประทับอยู่ที่สวนไทร (นิโครธาราม) นอกพระนคร

พระเจ้าสุทโธทนะและบรรดาพระประยูรญาติต่างก็มาเฝ้าพระพุทธองค์ พระญาติผู้ใหญ่บางพวกมีทิฐิมานะอยู่ แสดงความกระด้างกระเดื่อง ไม่ถวายบังคม เพราะถือว่าเจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้อ่อนชนมายุพรรษากว่าตน

พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้ฝนเม็ดหยาบสีแดงเรื่อตกลงท่ามกลางมหาสันนิบาต อันเรียกว่า ”ฝนโบกขรพรรษ” สร้างความประหลาดมหัศจรรย์แก่มหาสันนิบาตเป็นอย่างยิ่ง คือ ใครใคร่จะเปียกจึงเปียก ใครไม่อยากให้เปียกก็ไม่เปียก พระพุทธองค์ทรงแสดงมหาเวสสันดรชาดกแก่ประชุมพระประยูรญาติ

ถ้าอยากให้ยาวก็ต้องสรุปเนื้อหาของพระเวสสันดรชาดก และวิเคราะห์ประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อความกระจ่างดีบ่ครับ

มหาเวสสันดรชาดกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ที่ประชุมพระประยูรญาติหลังจากฝนโบกขรพรรษได้ตกลงมา เป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์นามว่า เวสสันดร ผู้บำเพ็ญทานบารมีอันเป็นบารมีสุดท้ายในสิบบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาในชาติต่างๆ พร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโอกาสต่อไป

เรื่องราวย่อๆ (ดังชาวพุทธไทยส่วนมากทราบกันดีแล้ว) มีว่า

พระโพธิสัตว์ ถือกำเนิดเป็นพระราชโอรสพระเจ้าสัญชัย และพระนางผุสดีแห่งนครสีพี มีพระนามว่า เวสสันดร (ว่ากันว่าประสูติที่ตรอกพ่อค้า ขณะพระราชมารดาเสด็จประพาสพระนคร) เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ก็ได้อภิเษกสมรสกับพระนางมัทที (หรือมัทรี) เจ้าหญิงแห่งแคว้นมัททะ มีพระโอรสและพระธิดา คือ เจ้าชายชาลี กับ เจ้าหญิงกัณหา

พระเวสสันดรได้บริจาคช้างปัจจัยนาค อันเป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง แก่พราหมณ์แคว้นกลิงคะ ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ พากันไปร้องเรียนพระเจ้ากรุงสีพี พระราชบิดา จำต้องทำตามมติของมหาชน ให้พระเวสสันดรออกไปจากเมือง

ก่อนจากไป พระเวสสันดรทูลขอโอกาสบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ อันเรียกว่า “สัตตสดกมหาทาน” (คือ ให้ของอย่างละ ๗๐๐ เป็นทาน)

พระเวสสันดรพร้อมทั้งพระชายาและพระโอรสธิดาทั้งสอง เดินทางไปอยู่ ณ เขาวงกต ในป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญภาวนา ณ ปากทางเข้าไปยังนิเวศสถานของพระเวสสันดร มีพรานเจตบุตรได้เฝ้าอารักขาอยู่ เป็นพระราชบัญชาของพระเจ้าเจตราชนคร ใครไปใครมาจะต้องผ่านด่านนี้ก่อน

มีพราหมณ์เฒ่า นามว่า ชูชก ถูกเมียสาวให้ไปหาทาสมารับใช้ เดินทางมาเพื่อจะไปขอเจ้าชายชาลีและเจ้าหญิงกัณหาจากพระเวสสันดรเป็นไปทาส ด้วยรู้ว่าพระเวสสันดรเป็นคนใจบุญ คงจะพระราชทานให้แน่

ผ่านด่านนายพรานเจตบุตรไปได้ด้วยเล่ห์อุบายออกปากขอพระโอรสและพระธิดาจากพระเวสสันดรขณะพระนางมัทรีไม่อยู่

ทั้งสองกุมารเมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงพากันหนีไปหลบซ่อนอยู่ในสระ พระเวสสันดรต้องมากล่อมให้เข้าใจจุดมุ่งหมายที่พระราชทานพระโอรสและพระธิดาให้แก่พราหมณ์เพื่อพระโพธิญาณ และจะได้ช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากสังสารทุกข์ มิใช่เพราะไม่รัก “ลูก” ชาลีและกัณหาก็เข้าใจ จึงยินยอมไปกับพราหมณ์

ชูชกพากุมารและกุมารีทั้งสองไปยังเมืองสีพี ด้วยมุ่งหมายจะได้ค่าไถ่มหาศาลจากพระเจ้ากรุงสีพี พระเจ้ากรุงสีพีไถ่พระเจ้าหลานทั้งสองพระองค์ เลี้ยงดูปูเสื่อพราหมณ์เฒ่าอย่างอิ่มหนำสำราญ อิ่มมากจน “ท้องแตก” (อาหารไม่ย่อย) ตาย

หลังจากพระราชทานพระโอรสและพระธิดาแก่ชูชกแล้ว ก็ปรากฏพราหมณ์เฒ่าอีกคนหนึ่งในทันใด เอ่ยปากขอพระนางมัทรี จึงออกปากให้แก่พราหมณ์ ทันทีทันใดนั้นพราหมณ์เฒ่าก็ได้กลายร่างเป็นท้าวสักกะเทวราช แจ้งแก่พระโพธิสัตว์ว่ามาลองใจพระเวสสันดร และรู้แล้วว่าพระเวสสันดรนั้นมีพระทัยกว้างขวาง บริจาคได้แม้กระทั่งพระชายาจริงๆ แล้วก็มอบคืนพระชายาดังเดิม

ฝ่ายพระเจ้ากรุงสีพี เมื่อไถ่พระราชนัดดาทั้งสองแล้ว ก็ทรงสำนึกว่าตนได้ทำความลำบากแก่พระราชโอรสและพระราชสุณิสา (สะใภ้) มาก จึงรับสั่งให้เตรียมกระบวนช้าง กระบวนม้า ออกเดินทางไปยังเขาวงกต เพื่อรับทั้งสองพระองค์กลับเมือง

เมื่อทั้งหกพระองค์พบกันอีกครั้งก็สวมกอดกัน ทรงกันแสงพิลาปพิไรจนกระทั่งสิ้นสมประดี

ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมาต้องพระวรกายทั้งหกพระองค์ก็ได้สติฟื้นคืนมา จากนั้นพระเจ้ากรุงสีพีก็ตรัสบอกพระราชโอรสให้ “ลาพรต” พาพระชายาเสด็จนิวัติพระนครสีพีดังเดิม

มหาเวสสันดรชาดกได้สรุปมีเพียงเท่านี้ พระเวสสันดรโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญทานบารมีอย่างอุกฤษฏ์ คือ บริจาคพระชายาและพระโอรสพระธิดาอันเป็นที่รักยิ่งให้เป็นทาน อันเรียกว่า ปรมัตถบารมี (บารมีชั้นยอด)

บารมีทั้งสิบประการ เรียกว่า พุทธการกธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า หรือธรรมที่นำให้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ) ความเป็นพระพุทธเจ้าจะไม่สำเร็จถ้าบารมีทั้งสิบประการไม่สมบูรณ์ถึงขั้น “ปรมัตถบารมี” ดังกล่าว

การที่พระเวสสันดรโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมีถึงขั้นอุกฤษฏ์ บริจาคลูกเมียเป็นทานถูกวิพากษ์ตัดสินโดยคนยุคปัจจุบันต่างๆ นานา เช่น พระเวสสันดรใจร้าย เห็นแก่ตัว พระเวสสันดรไม่เอาไหน ไม่รับผิดชอบชีวิตครอบครัว พระเวสสันดรคบไม่ได้

พฤติกรรมของพระเวสสันดรควรประณามมากกว่าที่จะเอามาเป็นแบบอย่าง อะไรไปโน่น ชักเลยเถิดไปกันใหญ่

ผมอาจแก้ข้อกังขา (หรือข้อกล่าวหา) ไม่ได้ดีนัก แต่ก่อนอื่นใคร่อยากให้ผู้ที่มองอย่างนี้ได้ตระหนักสักนิดว่า  
   ๑. เราอย่าเอาความรู้สึกของปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลสอย่างเราๆ ไปตัดสินการกระทำของพระเวสสันดร
   ๒. เราอย่าลืมว่าเหตุการณ์ที่กล่าวในคัมภีร์มิได้เกิดขึ้นในยุคสังคมบริโภคที่ผู้คน “คลั่งวัตถุ” กันเป็นบ้าเป็นหลัง “บริบท” ทางสังคม มันย่อมแตกต่างจากสมัยนี้มาก
   ๓. อย่าลืมว่า การกระทำทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการกระทำของ “พระโพธิสัตว์” ผู้มีจุดมุ่งหมายแตกต่างจากปุถุชนทั่วไป

ทีนี้ลองพิจารณาดูว่า พระเวสสันดรท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ตั้งปณิธานเพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าถามว่าตรัสรู้ไปทำไม ตอบว่าเพื่อจะได้ไปช่วยสรรพสัตว์ผู้ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ในสังสารวัฎให้พ้นจากความทุกข์

พูดให้สั้นคือเพื่อจะได้ช่วยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นสุดยอดความทุกข์ในโลก

ดูจากจุดนี้เป็นจุดแรกจะเห็นได้ว่า พระเวสสันดรโพธิสัตว์มิได้เห็นแก่ตัว ตรงกันข้าม กลับเป็นคนมีจิตใจกว้างขวาง เห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นอย่างยิ่ง

เพราะท่านต้องการไปช่วยคนให้พ้นทุกข์

และการจะช่วยให้สำเร็จ ก็ต้องได้บรรลุโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าก่อน การบำเพ็ญบารมีนี้ เป็นขั้นตอนของการเตรียมพร้อมเพื่อให้ได้บรรลุทานอันอุกฤษฏ์เป็นหนึ่งในธรรมที่ต้องบำเพ็ญเพื่อให้ได้โพธิญาณนั้น

ถ้าไม่บริจาคลูกเมีย บารมีก็ไม่สมบูรณ์ ไม่มีทางเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้นเพราะโพธิสัตว์จึงบริจาคลูกเมียเป็นทาน

เมื่อบริจาคลูกเมียเป็นทานแล้ว ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระโพธิสัตว์ก็สามารถช่วยเหลือไม่เฉพาะลูกเมียของตน หากได้ช่วยเหลือคนทั้งโลก

การกระทำอย่างนี้แทนที่จะเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ตน กลับเป็นการเห็นแก่โลกทั้งโลก เพราะหลังจากนั้นมา พระเวสสันดรโพธิสัตว์ก็ได้กลายมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศสัจธรรม ช่วยปลดเปลื้องสัตว์โลกจากความทุกข์มากต่อมากและได้ฝากคำสั่งสอนเป็นประทีปส่องนำทางชีวิตของชาวโลกทั้งหลายจนบัดนี้

ถ้าพระเวสสันดรไม่บริจาคลูกเมียในคราวนั้นพระเวสสันดรก็สามารถช่วยได้เฉพาะลูกเมียของท่าน เมื่อกลับมาครองเมืองสีพีแล้ว ก็ช่วยเหลือชาวเมืองสีพี สิ้นพระชนม์แล้วก็จมหายไปตามกาลเวลา

ถ้าอย่างนี้จะเรียกว่า พระเวสสันดรเป็นคนเห็นแก่ตน เห็นแก่ลูกเมีย และเห็นแก่บ้านเมืองของตนก็สมควรอยู่ แต่นี้พระเวสสันดรท่านไม่ทำอย่างนั้นเลย แล้วจะมากล่าวหาท่านเห็นแก่ตัวอย่างไร

อนึ่ง ทุกขั้นตอนของการกระทำนั้น พระโพธิสัตว์ทำด้วยปัญญา พินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ และเปี่ยมด้วยความรักต่อลูกเมียทั้งนั้น.



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcThNYtVf9IMcYzP3ZS6acHr8c78npDKk1vCCNwS4HtTPIHJczCcXQ)

พระเจ้าสุทโธทนะ
สมเด็จพระพุทธบิดา (จบ)

ขอต่อจากคราวที่แล้ว...ที่พูดถึงพระเวสสันดร เป็นคนเห็นแก่ตัว ว่าทำไมพระเวสสันดรจึงบริจาคทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนมีไม่ว่าใครจะมาขอลูกก็ให้ มาขอเมียก็ให้ พระองค์ทรงขยายความว่า
   ๑. ทรงชี้แจงให้ลูกทั้งสองเข้าใจว่า การกระทำของพ่อมิใช่เพราะไม่รักลูก หากทำด้วยความรักลูกสุดชีวิต เพราะมุ่งหวังโพธิญาณเพื่อจะได้ช่วยโลกทั้งมวล จึงต้องบริจาคลูกเป็นทาน

และท้ายที่สุดลูกทั้งสองก็เข้าใจเจตนาของพ่อ จึงยินยอมเป็น “สำเภาทอง” เพื่อนำส่งให้พ่อข้ามฟากในที่สุด

การบริจาคทานของพระเวสสันดร เป็นการบริจาคที่บริสุทธิ์ เพราะทั้งผู้ให้ (พ่อ) และผู้ถูกให้ (ลูกทั้งสอง) ศรัทธาในจุดหมายอันสูงสุดและยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย

   ๒. นอกจากนี้พระเวสสันดรวางแผนให้พราหมณ์นำลูกทั้งสองไปให้ “ปู่” อย่างผู้มีปัญญายิ่ง ที่ท่านตั้งค่าไถ่ลูกทั้งสองไว้สูงมาก (ชาลีค่าตัวทองลิ่ม  กัณหา ค่าตัวทองร้อยลิ่ม และทาสทาสี และสิ่งมีค่าอื่นๆ อีกอย่างละร้อย) ก็เพราะเล็งเห็นว่า คนที่มีทรัพย์มากมายไถ่ลูกได้ก็มีแต่พระเจ้ากรุงสีพี พระราชบิดาเท่านั้น และชูชกเป็นคนโลภอยากได้เงินมากๆ ก็ต้องพาสองกุมารกุมารีไปกรุงสีพีแน่นอน ซึ่งก็เป็นไปตามคาด

การกระทำนี้ก็ด้วยความรักความเมตตาที่มีต่อลูกทั้งสองนั้นเอง ส่งลูกกลับไปอยู่เมือง เพื่อความสุขสบาย แทนที่จะให้ลำบากอยู่กับตนในป่า

   ๓. พอให้ลูกเป็นทาน ปุบปับก็มีพราหมณ์แก่ท่าทางใจดี สะอาดสะอ้าน โผล่เข้ามาจากไหนไม่ทันสังเกต ออกปากขอพระชายา พระโพธิสัตว์นึกในใจอยู่แล้วว่า คงมิใช่คนธรรมดา จึงออกปากให้ชายาโดยมิลังเล

ทันทีที่หลั่งน้ำลงบนหัตถ์ของพราหมณ์เฒ่า พราหมณ์เฒ่าก็กลับร่างเป็นพระอินทร์ กล่าวอนุโมทนาในการทำทานอุกฤษฏ์ครั้งนี้ และขอให้บรรลุสัมโพธิญาณตามที่มั่นหมาย  จริงดังที่สังหรณ์ใจ ในที่สุดพระอินทร์ก็มาช่วยเป็น “สำเภาทอง” ส่งพระโพธิสัตว์ข้ามฝั่งอีกคนหนึ่ง ดุจเดียวกับสองกุมารกุมารี

ทำไมคนสมัยนี้มองไม่เห็นความเสียสละยิ่งใหญ่ กรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ต่อสัตว์โลกทั้ง
ปวง   มองไม่เห็นว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับพระโพธิสัตว์ต่างเป็น “สำเภาทอง” ช่วยหนุนนำให้พระเวสสันดรได้บรรลุถึงฝั่ง แล้วจะได้มาช่วยสรรพสัตว์ที่กำลังจมน้ำให้ข้ามฝั่งกันโดยปลอดภัย  หรือว่าคนเราสมัยนี้ใจแคบ มองใกล้ “ใฝ่ต่ำ” (ดังที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเปรยไว้) กันไปหมดแล้ว จึงปรากฏคำกล่าวหาเสียๆ หายๆ ดังข้างต้น

พระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ หลังจากจากไปหลายปี พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงดีพระทัยมาก ตระเตรียมภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก  

รุ่งเช้าของวันที่มาถึง พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์จำนวนมากเสด็จออกบิณฑบาตในเมือง ประชาชนต่างแห่แหนไปชมเพราะไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนี้มาก่อน

บ้างก็ว่าพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์กำลังจะเดินขอทาน บ้างก็ว่าคงไม่ใช่ดอกท่านเหล่านั้นคงเดินชมเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเจ้าสิทธัตถะมิได้เห็นเมืองหลวงมาเป็นเวลานานแล้ว คงทรงอยากทอดพระเนตรเมืองหลวง ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง  

พระเจ้าสุทโธทนะ ทันทีที่เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินไปตามถนน มีบาตรในพระหัตถ์ก็ทรงเข้าพระทัยทันทีว่าจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก “ขอทาน”  ทรงเสียพระทัยมากที่พระราชโอรสของพระองค์ทรง “ลดฐานะ” ลงมาถึงเพียงนี้ สู้อดกลั้นโทมนัสไว้

เมื่อพระองค์เสวยภัตตาหารเสร็จจะตรัสอนุโมทนา พระพุทธบิดาก็ทรงต่อว่าพระราชโอรสทันที
   “ทำไมลูกถึงทำอย่างนี้”
   “มหาบพิตร ตถาคตทำอะไรหรือ” พระพุทธดำรัสตรัสถาม
   “ก็เที่ยวขอทานน่ะสิ พ่ออายชาวเมืองเหลือเกิน ที่พระราชโอรสของพระราชาเที่ยวขอทานชาวบ้านกิน แล้วนี่พ่อจะเอาหน้าไว้ที่ไหน”
   “มหาบพิตร การออกบิณฑบาตมิใช่การขอทาน เป็นการโปรดเวไนยสัตว์ ตถาคตทำตามจารีตแห่งวงศ์ของตน”
   “ลูกเอ๋ย วงศ์ของเราไม่เคยมีจารีตอย่างนี้นะ”
   “หามิได้ มหาบพิตรมิใช่วงศ์ของพระองค์ หากแต่เป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีมาเช่นนี้แต่อดีตกาลแล้ว”

พระพุทธองค์ตรัสอธิบายต่อไปว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์หลังจากตรัสรู้แล้วก็ออกไปโปรดสัตว์ สั่งสอนเวไนยนิกรตามหัวเมืองต่าง ๆ การออกบิณฑบาตเป็นโอกาสหนึ่งที่จะได้สอนธรรมแก่ประชาชน

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสพระคาถา (โศลกบรรยายธรรม) บทหนึ่งว่า
บรรพชิตไม่พึงดูแคลนก้อนข้าวที่ตนพึงยินรับจากชาวบ้าน
บุคคลพึงประพฤติธรรมให้ดี
ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า
บุคคลพึงประพฤติธรรมให้ดี ไม่พึงประพฤติทุจริต
ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า

หลังจากพระธรรมเทศนาสั้นๆ นี้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงบรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น มีพระราชศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย

พอถึงวันที่สาม มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายนันทะ กับพระนางชนบทกัลยาณี เจ้าภาพอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารพร้อมภิกษุสงฆ์ เสร็จพิธีแล้วเจ้าชายนันทะอุ้มบาตรตามเสด็จ ขณะที่นางชนบทกัลยาณีพระชายากำชับว่า เจ้าพี่ส่งเสด็จพระศาสดาแล้ว ให้รีบกลับมาเร็วๆ นะ เจ้าชายนันทะไม่กล้ากราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงรับบาตร จึงตามเสด็จไปจนถึงที่พำนัก คือ นิโครธาราม นอกพระนคร พอไปถึง พระพุทธองค์ตรัสกับเจ้าชายนันทะว่า “นันทะ เธออยากบวชไหม”

ด้วยความเคารพในพระพุทธองค์อย่างยิ่ง เจ้าชายนันทะไม่กล้าปฏิเสธ จึงกราบทูลว่า “อยากบวชพระเจ้าข้า”

เท่านั้นแหละครับ เจ้าชายผู้ซึ่งเพิ่งผ่านพิธีอภิเษกสมรสมาหยกๆ เรียกแบบภาษาชาวบ้านยังไม่ได้ส่งตัวเข้าเรือนหอเสียด้วยซ้ำ ก็หลายสภาพเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

ว่ากันว่าหลังจากบวชแล้ว พระภิกษุนันทะไม่มีกิจิตกะใจปฏิบัติธรรม เพราะได้แต่หวนรำลึกถึงพระชายาที่จากมา พระพุทธองค์จึงทรงใช้กุศโลบายสอนให้เธอฝึกกรรมฐาน (โดยมิได้บอกว่าเป็นกรรมฐาน) ในที่สุดเธอก็ตัดอาลัยในความรักชายาได้บรรลุถึงพระอรหัตผล) ...(รายละเอียดไว้เล่าภายหลังเมื่อมีโอกาส)

วันที่เจ็ด ก็เกิดเหตุการณ์อีกเหตุการณ์หนึ่ง พระนางโสธราพิมพาทรงกระซิบบอกกับราหุลว่า “เสด็จพ่อของเจ้ากลับมาพระนครกบิลพัสดุ์แล้ว เวลาเช้าเสด็จพ่อจะเข้ามาในเมือง ขอให้ลูกจงไปขอความเป็นทายาท”

บาลีว่า ทายัชชะ   แปลว่า ขุมทรัพย์บ้าง ความเป็นทายาทบ้าง

นัยแรกอธิบายว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จะมีขุมทรัพย์ปรากฏขึ้นเป็นคู่บุญบารมี พอเมื่อพระองค์เสด็จออกผนวช ขุมทรัพย์นั้นได้หายไป พระนางยโสธราจึงบอกให้โอรสไปขอขุมทรัพย์นั้น

นัยที่สองอธิบายว่า เจ้าชายสิทธัตถะเป็นรัชทายาท มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา เมื่อเสด็จออกผนวช ก็ไม่แน่ว่าจะทรงสละราชสมบัติจริงหรือไม่ พระนางยโสธราพิมพา จึงกระซิบให้ลูกน้อยไปขอจากเสด็จพ่อ เพื่อยืนยันว่า ถ้าเสด็จพ่อไม่เอาสมบัติแล้ว ก็ขอมอบให้โอรสก็แล้วกัน

เจ้าชายน้อยเห็นเสด็จพ่อดำเนินไปตามถนนนำหน้าพระสงฆ์จำนวนมาก ก็ตามไปข้างหลัง พลางกล่าวขอว่า “สมณะ ขอขุมทรัพย์ สมณะ ขอขุมทรัพย์” เมื่อพระพุทธองค์ไม่ตรัสอะไร ราหุลกุมารจึงตามไปจนถึงนิโครธารามที่ประทับนอกเมือง ไปถึงพระองค์ทรงดำริว่า ทรัพย์ภายนอกนั้นไม่จีรัง อย่ากระนั้นเลย เราจะให้ทรัพย์ภายใน (อริยทรัพย์) ดีกว่า ว่าแล้วก็ตรัสให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร พระเถระกราบทูลถามว่า จะให้บวชวิธีไหน เพราะที่แล้วมามีแต่คนอายุมากแล้ว บวชเด็กอายุ ๗ ขวบยังไม่เคยมี

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ให้บวชด้วยการรับสรณคมน์ (ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง) ก็พอ”

เป็นอันว่าราหุลกุมารได้กลายเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระพุทธบิดาทรงเสียพระทัยมากที่พระเจ้าหลานเธอบวช จึงทูลขอพรจากพระพุทธองค์ว่า ต่อไปภายหน้าจะบวชให้ใคร ขอให้พ่อแม่เขาอนุญาตเสียก่อน

พระพุทธองค์ทรงรับพรนั้น ตั้งแต่นั้นมาใครจะบวชต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่เสียก่อน

การเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้า ได้อำนวยประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ศากยวงศ์ บ้างก็ได้บรรลุอริยมรรค อริยผล ตามอุปนิสัยปัจจัยที่แต่ละคนได้สั่งสมมา บ้างก็เลื่อมใสออกบวชตามพระพุทธองค์จำนวนมาก อาทิ เจ้าชายอนุรุทธ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคุ เจ้าชายพิมพิละ เจ้าชายมหานาม เจ้าชายเทวทัตแห่งโลกิยวงศ์ ก็เป็นอีกพระองค์หนึ่งที่ออกบวชตามพระพุทธองค์ด้วยศรัทธา น่าเสียดายว่า ภายหลังกลับถูกความอยากใหญ่ครอบงำ กระทำผิดต่อพระพุทธเจ้าจนถูกแผ่นดินสูบในที่สุด

ตำนานมิได้บอกไว้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์เสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์กี่ครั้ง เชื่อว่าคงไม่ต่ำกว่าห้าครั้ง

ครั้งหนึ่งเสด็จมาห้ามสงครามแย่งน้ำกันระหว่างพระญาติฝ่ายโกลิยวงศ์และฝ่ายศากยวงศ์ จนชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูป “ปางห้ามพระญาติ” ไว้เป็นอนุสรณ์ในการสงเคราะห์พระประยูรญาติครั้งนั้น

ตำนานกล่าวว่า พระพุทธบิดานั้น หลังจากสดับพระธรรมเทศนาสั้นๆ ข้างต้นได้บรรลุโสดาปัตติผล จากนั้นก็ได้สดับพระธรรมเทศนาอีก (ไม่บอกว่าเรื่องอะไร) ก็บรรลุสกิทาคามิผล ท้ายสุดได้สดับมหาธัมมปาลชาดก ได้บรรลุอนาคามิผล

ในบั้นปลายแห่งชีวิต สมเด็จพระพุทธบิดา ทรงพระประชวรหนัก ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่กรุงไพศาลี แคว้นวัชชี  พระพุทธองค์ทรงทราบข่าว พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง เสด็จไปเยี่ยม ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้พระพุทธบิดาฟัง  หลังจากจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะบิดาก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ในเพศผู้ครองเรือนนั้นแล แล้ว “ดับสนิท” ในเวลาต่อมา

พระพุทธองค์ทรงถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธบิดาแล้ว ได้เสด็จกลับไปยังเมืองไพศาลีตามเดิม

พระเจ้าสุทโธทนะทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้พระราชโอรสขึ้นครองราชย์เพราะได้รับคำทำนายว่า ถ้าได้ครองราชย์สมบัติเจ้าชายสิทธัตถะจะกลายเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ อันเป็นความปรารถนาของผู้ครองนครทั่วไป  แต่เมื่อพระราชโอรสของพระองค์เสด็จออกผนวช กลายเป็นพระพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลกแล้ว พระองค์ก็ทรงพอพระทัย และทรงเห็นประโยชน์จากการเสด็จออกผนวชของพระราชโอรส จึงทรงอนุญาตให้เจ้าชายในศากยวงศ์หลายองค์ออกบวช เพื่อสืบทอดพระศาสนา

ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ ก็ได้ลิ้มรสพระธรรมสูงขึ้นตามลำดับ จนบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต เป็นพระอรหันตขีณาสพ นับว่าได้ประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรมโดยสมบูรณ์...

 

ข้อมูล : บทความพิเศษ พระเจ้าสุทโธทนะ : สมเด็จพระพุทธบิดา (๑) (๒) (จบ) หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 11:00:34
.
(http://image.ohozaa.com/i/553/J8qZ6.jpg)
๕๑. สันตติมหาอำมาตย์
ขี้เมาผู้บรรลุธรรม

เขาว่าชีวิตเมื่อถึงจุดเปลี่ยนเพราะ “เงื่อนไข” พร้อมแล้ว ย่อมเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ มหาโจรองคุลิมาลเปลี่ยนใจในทันทีทันใดหันเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัต และหลายต่อหลายคนเป็นเช่นว่านี้

สันตติมหาอำมาตย์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้  

ท่านผู้นี้เป็นถึงมหาอำมาตย์คนสำคัญของแคว้นโกศล หลังจากที่ปราบปัจจันตชนบทที่ก่อความไม่สงบขึ้นลงได้ราบคาบในครั้งหนึ่ง ได้รับการไว้วางพระทัยจากพระเจ้าปเสนทิโกศลมาก มากถึงขนาดปูนบำเหน็จความดีความชอบที่ไม่เคยมีใครได้มาก่อน คือ ได้รับพระราชทานราชสมบัติ ๗ วัน

พูดให้ชัดก็คือ ทรงแต่งตั้งให้สันตติมหาอำมาตย์ครองราชย์บัลลังก์ ปกครองประเทศแทนพระองค์ ๗ วัน พระราชทานสตรีที่ฉลาดในการขับร้องฟ้อนรำประโคมดนตรี สวยเลิศประเสริฐศรีหนึ่งนาง นามกรใดไม่แจ้ง ช่างเถอะข้อนั้นสำคัญไฉนขอให้รำสวยบริการดีเป็นใช้ได้

แม่หนูติ๋ม เอ๊ย! แม่นางรำคนสวยก็เสิร์ฟท่านมหาอำมาตย์ ซึ่งบัดนี้เป็นพระราชาชั่วคราวด้วยสุราอาหารอย่างดี บำรุงบำเรอให้อิ่มหมีพีมันเมาแล้วเมาอีก

ถึงวันที่ ๗ เป็นวันสิ้นกำหนดความเป็นราชาชั่วคราว เขาประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ขึ้นข้างทรงตัวประเสริฐไปยังท่าน้ำเพื่อสรงสนาน พอดีพระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปโปรดสัตว์ (บิณฑบาต) ยังพระนคร ผ่านไปทางนั้น สันตติมหาอำมาตย์เห็นพระพุทธองค์ จึงค้อมศีรษะถวายบังคมพระพุทธองค์ด้วยจิตนอบน้อม  

พระพุทธองค์ทรงแย้มพระสรวล พระอานนท์กราบทูลถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ทรงทำการแย้มสรวลให้ปรากฏ”
“อานนท์ เธอเห็นสันตติมหาอำมาตย์นั่นไหม”
“เห็น พระเจ้าข้า”
“สันตติมหาอำมาตย์ วันนี้มึนเมาสุราแทบครองสติไม่อยู่ วันนี้เขาจะมาสำนักเรา ได้ฟังโศลกธรรม ๔ บท จากเรา จะได้บรรลุอรหัตผลและปรินิพพาน”

นัยว่า พระกระแสรับสั่งกับพระอานนท์นี้ มีผู้ได้ยินและเล่าต่อๆ กันไป ประชาชนที่ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่างก็ชื่นชมโสมนัสกับผลสำเร็จอันเกิดแก่สันตติมหาอำมาตย์  แต่บางจำพวกที่เป็นมิจฉาทิฐิได้ทราบเรื่องนี้แล้วก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นจริง
“มันจะเป็นไปได้อย่างไร ก็มหาอำมาตย์เมาหยำเปออกอย่างนี้ จะได้บรรลุพระอรหัตผลในวันนี้ เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด”

เมื่อไม่เชื่อก็คอยจับผิด ตามดูสันตติมหาอำมาตย์ทุกฝีก้าว ว่าจะไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจนบรรลุพระอรหัตจริงหรือไม่

ข้างฝ่ายสันตติมหาอำมาตย์ เมื่อสรงสนานเสร็จแล้วก็เข้าไปพักอยู่ ณ พระราชอุทยานเพื่อดื่มน้ำจัณฑ์ต่อ พลางเรียกนางนักฟ้อนมาร่ายรำ ขับร้องให้ฟังไปด้วย เรียกว่ากินทั้งทางปาก ทั้งทางตา และทางหู ว่าอย่างนั้นเถอะ

เนื่องจากนางได้ทำงานรับใช้สันตติมหาอำมาตย์ตลอดทั้ง ๗ วันไม่ได้พักผ่อนเลย จึงรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ถึงขนาดล้มทั้งยืนในขณะที่ร่ายรำอยู่ หมดสติแน่นิ่งไป  

สันตติมหาอำมาตย์สั่งให้คนไปดู เมื่อได้รับรายงานว่า “นางสิ้นใจแล้ว เจ้านาย” เท่านั้น ก็เกิดความเศร้าโศกเป็นกำลัง เสียใจที่ตนเองเป็นสาเหตุทำให้นางถึงแก่ชีวิต ความเมามายที่มีมาตลอดสัปดาห์ได้หายเป็นปลิดทิ้ง  เขารำลึกถึงพระบรมศาสดาทันที
“มีแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะบรรเทาความโศกเศร้าของเราได้”
เขาคิดเช่นนั้น จึงรีบไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ พระเชตวันมหาวิหารทันที

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยญาณว่า บัดนี้อินทรีย์ของสันตติมหาอำมาตย์แก่กล้าพอที่จะฟังธรรมเข้าใจแล้ว จึงตรัสโศลกธรรมความว่า
     กิเลสเครื่องกังวลใด ที่เคยมีในกาลก่อน (อดีต)  
     เธอจึงละกิเลสเครื่องกังวลนั้นเสีย
     กิเลสเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอในภายหลัง (อนาคต)
     ถ้าเธอไม่ยึดมั่นในขันธ์ในท่ามกลาง (ปัจจุบัน)
     จักเป็นผู้เที่ยวไปไหนได้อย่างสงบรำงับ

ความหมายของโศลกธรรมสั้นๆ นี้ ก็คือจงอย่ายึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะขันธ์ ๕ เป็น “ภาระ” (ของหนัก) ใครยึดมั่นถือมั่นก็เรียกว่า “คนแบกของหนัก” ปลง (วาง) ของหนักเสียได้ ก็จะเป็น “เบา”

สันตติมหาอำมาตย์พิจารณาตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตทันทีที่ตรัสจบ เมื่อล่วงรู้อายุขัยของตนจักมีในวันนั้น จึงกราบทูลขอพระพุทธานุญาตปรินิพพาน

พระพุทธองค์ทรงประทานอนุญาต พร้อมตรัสสั่งในสันตติมหาอำมาตย์คลายความสงสัยของเหล่ามิจฉาทิฐิ บุคคลที่ไม่เชื่อในเรื่องนี้ (ไม่เชื่อว่าสันตติมหาอำมาตย์ผู้ขี้เมาจักบรรลุพระอรหัตผลพร้อมปฏิสัมภิทา) สันตติมหาอำมาตย์จึงถวายบังคมพระศาสดา แล้วเหาะขึ้นสู่อากาศสูงประมาณต้นตาลลงมากราบถวายบังคมอีกครั้ง ขึ้นไปนั่งในอากาศ แล้วประกาศบุพกรรม (กรรมเก่า) ของตนให้พระพุทธองค์และฝูงชนได้ทราบ

จากนั้นก็เข้าเตโชธาตุปรินิพพาน เปลวไฟลุกโพลงขึ้นเผาร่างของเขากลางอากาศนั้นแล คงเหลือแต่ธาตุเป็นสีขาวดุจดอกมะลิโปรยลงยังพื้นดิน

กรรมเก่า หมายถึงกรรมดี ที่สันตติมหาอำมาตย์เล่าให้ประชาชนฟังอันมีพระพุทธองค์ประทับเป็นประธาน นั้นก็คือในกาลแห่งพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี ได้เที่ยวชักชวนให้ประชาชนทำทาน สมาทานอุโบสถศีล เป็นต้นมิได้ขาด จนพระราชาแห่งแคว้นทรงทราบ เห็นเขาเดินป่าวประกาศจึงพระราชทานรถม้าและช้างให้เป็นพาหนะสำหรับเที่ยวป่าวประกาศชักชวนผู้คนให้ทำบุญกุศล

หลังจากสันตติมหาอำมาตย์ปรินิพพานแล้ว ภิกษุทั้งหลายต่างก็ “ตั้งวง” สนทนาธรรมกัน ณ อุปัฏฐานศาลา (หอฉันอันเป็นศาลาธรรมด้วย) ในเย็นวันหนึ่งว่า สันตติมหาอำมาตย์แต่งกายอย่างเลิศหรู นั่งบนคอช้างที่ประดับประดาอย่างงดงาม บรรลุธรรมทั้งๆ ที่อยู่ในเครื่องแต่งกายอันโอฬาร เราจะเรียกเขาว่าเป็น “สมณะ” หรือ “พราหมณ์” ได้ไหมหนอ

พระพุทธองค์เสด็จมา ทรงทราบเรื่องเข้าจึงตรัสว่าจะเรียกบุตรของเราว่าสมณะ (ผู้สงบ) หรือพราหมณ์ (ผู้ลอยบาปได้) ก็สมควรทั้งนั้น แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า

แม้ว่าประดับประดาอย่างดี หากประพฤติธรรมสม่ำเสมอ สงบ ฝึกฝนตนเป็นผู้เที่ยงตรงอริยมรรค มีความประพฤติประเสริฐ ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย คนเช่นนี้จะเรียกว่าเป็น “พราหมณ์” เป็น “สมณะ” หรือ “ภิกษุ” ก็ย่อมได้

พระพุทธองค์ตรัสว่า จะแต่งกายอย่างไรก็ได้ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่จิตใจ จิตใจปฏิบัติธรรมจริงหรือไม่ ถ้าฝึกฝนตนอย่างจริงจัง ดำเนินตามอริยมรรคในที่สุด ก็เข้าถึงจุดสูงสุดแห่งชีวิต คือ บรรลุพระอรหัตผลแน่นอน...


   
ข้อมูล : บทความพิเศษ สันตติมหาอำมาตย์ : ขี้เมาผู้บรรลุธรรม หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQq0LLlR77kBNydVdaihrqwIHteEoV-UcoARtiRXYSNr2NP2h3zLw)
๕๒. อภัยราชกุมาร
พระบิดาแห่งนายแพทย์ประจำพระพุทธองค์

นายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ว่านี้นามว่า ชีวกโกมารภัจจ์ ได้เขียนประวัติของท่านต่างหากออกไปแล้ว อภัยราชกุมารเป็นเพียงพระบิดาเลี้ยงเท่านั้น แต่ชีวกโกมารภัจจ์ก็นับถือท่านมาก

อภัยราชกุมารเองประวัติความเป็นมาก็ไม่กระจ่างชัด ที่ว่าเป็นพระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสารแห่งมคธรัฐ ก็ว่ากันไปอย่างนั้นเอง บิดาบังเกิดเกล้าเป็นใครมีใครรู้ นอกจากนางปทุมวดี พระมารดาของท่าน

ปทุมวดีนั้นเป็นนาง “นครโสเภณี” แห่งเมืองอุชเชนี  (หรืออุชชายินี) แคว้นอวันตี เมืองนี้ดูเหมือนจะเป็นต้นคิดให้มีนางนครโสเภณี โดยเลือกสาวงามที่ฉลาดในศิลปะการฟ้อนรำไว้บำเรอชาย โดยเฉพาะแขกบ้านแขกเมืองผู้ทรงเกียรติ มีค่าจ้างรางวัลพระราชทานเป็นพิเศษ (มีเงินเดือนพร้อมโบนัส ว่าอย่างนั้นเถิด)

ข่าวที่ว่า นางนครโสเภณีเมืองอวันตีนั้นสวยงามมาก โด่งดังไปถึงนครราชคฤห์ กษัตริย์หนุ่มเจ้าสำราญ นามว่า พิมพิสาร จึงได้เสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ด้วยความช่วยเหลือของปุโรหิต สงสัยจะแอบไปแล้วก็ติดใจนางปทุมวดี ได้อภิรมย์กันหลายครั้ง และตอนเสด็จกลับบ้านเมือง ก็ไม่รู้ดอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

จนกระทั่งเด็กน้อยคนหนึ่งถือกำเนิดมา ผู้เป็นแม่คือ ปทุมวดี ได้เลี้ยงดูอย่างดี

เมื่อกุมารน้อยอายุได้ ๗ พรรษา แม่ก็ส่งไปพระราชสำนัก พระนครราชคฤห์ พร้อมมอบแหวนวงหนึ่งให้ลูกชายไปสำแดงแก่กษัตริย์หนุ่ม

กษัตริย์หนุ่มพระนามพิมพิสาร ทอดพระเนตรเห็นธำมรงค์ก็ทรงจำได้ สอบถามได้ความว่า กุมารน้อยนี้ได้แหวนมาจากแม่ของตน จึงยอมรับว่ากุมารน้อยนั้นที่แท้ก็คือพระราชโอรสของพระองค์เองอันเกิดแด่นางปทุมวดีนั้นเอง โดยมิต้องพิสูจน์ดีเอ็นเอแต่อย่างใด

อภัยราชกุมารเจริญเติบโตในพระราชสำนักเป็นผู้เก่งกล้าในการรบมาก จนครั้งหนึ่งเกิดกบฏขึ้นที่ชายแดนแคว้นมคธ พระราชบิดาส่งอภัยราชกุมารไปปราบจนราบคาบ มีความดีความชอบมาก ได้รับพระราชทานหญิงนักฟ้อนแสนสวยไว้ให้บำเรอความสุขด้วย

แต่ท้าวเธอก็สุขได้ไม่นาน ต้องเศร้าโศกเสียพระทัยสุดซึ้ง เมื่อนางได้สิ้นชีวิต จุดนี้เองเป็นหัวเลี้ยวสำคัญของชีวิตเจ้าชายอภัย ซึ่งจะเล่าภายหลัง

แรกเริ่มเดิมทีอภัยราชกุมารเป็นศิษย์ของนิครนถ์นาฏบุตร หรือศาสดามหาวีระของพวกศาสนาเชน ได้ศึกษาคำสอนของพวกนิครนถ์นาฏบุตรจนเชี่ยวชาญ

วันหนึ่งนึกอยากลองดีกับพระพุทธองค์ ตั้งประเด็นปัญหาไปซักพระพุทธองค์ โดยคิดว่าพระพุทธเจ้าของชาวพุทธคงต้องจนปัญญาแน่ๆ

ปัญหานั้นก็คือ จะถามพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าเคยตรัสคำที่ไม่เป็นที่ชอบใจคนอื่นบ้างไหม ถ้าพระองค์ตรัสตอบว่าเคย ก็จะรุกต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นพระพุทธเจ้าจะวิเศษไปกว่าสามัญชนอย่างไร ในเมื่อสามัญชนก็พูดคำเช่นนั้นเหมือนกัน

แต่ถ้าพระองค์ตรัสไม่เคยตรัสคำเช่นนั้นเลย ก็จะรุกฆาตว่า แล้วทำไมพระเทวทัตจึงโกรธพระพุทธองค์เล่า มิใช่เพราะพระพุทธองค์พูดคำแรงๆ ที่พระเทวทัตไม่ชอบใจหรือ

“โดนรุกฆาตเช่นนี้ พระพุทธเจ้าของชาวพุทธคงต้องจนมุมแน่” อภัยราชกุมารคิด ขอประทานอภัย เรื่องมันมิได้ง่ายอย่างนั้นดอก

พระพุทธองค์มิใช่คนธรรมดาที่คนอย่างอภัยราชกุมารผู้มีปัญญาแค่ “หางอึ่ง” จะเอาชนะได้ พอไปถามพระองค์จริงๆ เข้า พระองค์มิได้ตอบทันทีทันควันอย่างที่คนถามคิดเลย

พระองค์ตรัสว่าปัญหาเช่นนี้ตอบแง่เดียวมิได้ ต้องแยกประเด็นตอบ คำที่ไม่เป็นที่พอใจคนอื่น บางครั้งพระองค์ก็ตรัส ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและกาลเวลา แล้วทรงอธิบายให้ฟังโดยละเอียด อภัยราชกุมารเลื่อมใสมาก จึงประกาศตนนับถือพระพุทธองค์เป็นสรณะ

เรียกว่าเปลี่ยนศาสนากันเลยทีเดียว

จากนั้นมาวันหนึ่ง อภัยราชกุมารเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏไปเฝ้าพระพุทธองค์ทรงสดับพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับเหตุแห่งความไม่รู้ไม่เห็น (นิวรณ์) และเหตุแห่งความรู้ ความเห็น (โพชฌงค์ ๗) ถึงอุทานว่า ขึ้นเขามาเหนื่อยๆ พอได้ฟังพระธรรมเทศนาอันจับใจเช่นนี้ถึงกับหายเหนื่อยสนิททีเดียว ว่ากันว่า อภัยราชกุมารบรรลุธรรม (โสดาปัตติผล) เพราะพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งคือ อรรถกถาธรรมบทภาค ๖ เล่าว่า อภัยราชกุมารบรรลุโสดาปัตติผลหลังจากเกิดเหตุการณ์หญิงนักฟ้อนสิ้นชีวิต คือเมื่อได้รับพระราชทานหญิงนักฟ้อนจากพระราชบิดา แล้วก็ทรงสำราญอยู่กับนางฟ้อนรำของนางตลอด ๗ วัน มิได้เสด็จออกมานอกพระราชมนเทียรเลย

พอถึงวันที่ ๘ เสด็จออกไปสรงสนานแล้ว แล้วเสด็จออกไปยังพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรการฟ้อนรำอยู่ ทันใดนั้นนางนักฟ้อนซึ่งตรากตรำงานมาตลอดสัปดาห์ก็ล้มลงสิ้นชีวิตยังความเศร้าโศกให้เกิดแก่เจ้าชายอภัยเป็นอย่างยิ่ง จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมสั้นๆ เตือนสติว่า สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันตระการตาดุจราชรถที่พวกคนเขาหมกมุ่นอยู่ แต่ผู้รู้หาติดข้องอยู่ไม่ ก็คงจะตรัสชี้แจงอีกมากแต่พระคัมภีร์ว่า พระพุทธองค์ตรัสสั้นๆ แค่นี้

หลังจากฟังพุทธโอวาท อภัยราชกุมารก็บรรลุโสดาปัตติผล ว่าอย่างนั้น จะบรรลุธรรมเพราะเหตุการณ์ครั้งไหนก็ช่างเถิด เอาเป็นว่าในที่สุดเจ้าชายก็ได้เป็นพระโสดาบันก็แล้วกัน

ไม่มีหลักฐานว่าอภัยราชกุมารอภิเษกสมรสกับใคร แต่ปรากฏว่าพระองค์มีพระโอรสพระองค์หนึ่งที่ทรงรักมาก ครั้งหนึ่งทรงอุ้มพระโอรสมาเฝ้าพระพุทธจ้า เมื่อคราวอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหารในวัง อภัยราชกุมารทูลถามปัญหาบางข้อ พระพุทธองค์ทรงยกเอาโอรสน้อยขึ้นมาเป็นอุปมาประกอบคำอธิบาย (ตรงนี้อยากให้สังเกตเทคนิควิธีการสอนธรรมของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงใช้ “สื่อ” ในการสอนธรรมได้อย่างดี พ่ออุ้มลูกมาหา เอาลูกเขานั่นแหละเป็น “สื่อสอนธรรม” ให้เข้าใจยิ่งขึ้น ไม่จำต้องเสียเวลาหาสื่ออื่นไกลตัว)

แต่โอรสที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ก็คือ ชีวกโกมารภัจจ์ ท่านผู้นี้เป็นโอรสบุญธรรมของเจ้าชายอภัยราชกุมาร น่าประหลาดว่า มีชะตากรรมเดียวกันกับพระบิดา คือ เป็นลูกนางโสเภณีด้วยกัน โดยที่ชีวกโกมารภัจจ์เป็นบุตรนางสาลวดี นางนครโสเภณี แห่งเมืองราชคฤห์ ถูกให้นำมาทิ้งไว้หน้าวังหลังคลอด เจ้าชายอภัยเสด็จมาพบเข้า จึงเก็บไปเลี้ยง และขนานนามว่า ชีวก (เพราะขณะพบนั้นตรัสถามว่า เด็กยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า “ยังมีชีวิตอยู่” คำว่ามีชีวิตอยู่คือ “ชีวก” ส่วนคำว่า “โกมารภัจจ์” นั้นหมายถึงได้รับการเลี้ยงดูดุจพระโอรสของพระองค์จริงๆ)

ประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์โดยละเอียด ได้เขียนไว้ต่างหากแล้ว ไม่จำต้องเขียนซ้ำอีก ผู้สนใจโปรดหาอ่านเอาเองเทอญ

อภัยราชกุมารหลังจากเป็นพุทธศาสนิกแล้ว เอาใจใส่ทำบุญกุศลตามแบบอย่างชาวพุทธและเป็นชาวพุทธที่ดี คือ สนใจศึกษาธรรม ทูลถามปัญหาธรรมกับพระพุทธองค์เนืองๆ

ความดีอย่างหนึ่งของอภัยราชกุมาร ก็คือทรงให้ความอุปถัมภ์เลี้ยงดูเด็กน้อยที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด นามว่า ชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อชีวกสำเร็จการศึกษากลับมา ก็ให้กำลังใจและสนับสนุนให้ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระเจ้าพิมพิสาร  จนในที่สุดมีบุญวาสนาได้เป็นแพทย์ประจำพระพุทธองค์

ทั้งหมดนี้อภัยราชกุมาร ผู้พระบิดาย่อมมีส่วนอยู่มิใช่น้อยเลย...•


   
ข้อมูล : บทความพิเศษ อภัยราชกุมาร : พระบิดาแห่งนายแพทย์ประจำพระพุทธองค์ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


.
(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR6QFPI07ZraqOTjBFGb4ulbJUIErFOBdgHlwkct-uaUYPMnnx8)
๕๓. บุรุษนิรนาม
ผู้ใคร่ในการฟังธรรม

ผู้รจนาคัมภีร์ศาสนา เวลาท่านยกตัวอย่างบุคคลไม่ว่าในด้านดีหรือด้านเสีย ท่านก็จะบอกชื่อโคตร บ้านเมืองที่เขาเกิด และพฤติกรรมที่เขาทำเบ็ดเสร็จหมด เพื่อให้เป็นหลักเป็นฐานน่าเชื่อถือ

แต่ก็มีบางครั้งท่านไม่เอ่ยชื่อให้ปรากฏ อาจเป็นเพราะไม่ทราบ หรือบุคคลนั้นไม่มีตัวตนจริง

เป็นบุคคล “สมมติ” ยกมาเป็นตัวอย่างเฉยๆ ก็อาจเป็นได้

ในกรณีหลังนี้ การกระทำของตัวละครนั้นสำคัญกว่า จะเป็นใครมาจากไหนไม่ใช่ประเด็น ประเด็นก็คือ คนคนนั้นมีการกระทำที่ควรเอาอย่างหรือไม่ควรเอาอย่าง อย่างไรบ้าง

ในเรื่องที่จะพูดถึงนี้ก็เช่นเดียวกัน ท่านพูดแต่เพียงว่าเป็นเรื่องของ “อัญญตรอุบาสก”  แปลว่า อุบาสกคนหนึ่’

บุรุษนิรนาม” คนนี้เป็นคนจน มีโคหลายตัว (มีโคหลายตัว ไม่น่าจะเป็นคนจนเพราะถ้าจนจริงๆ ต้องไม่มีโคแม้แต่ตัวเดียว) ได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองอาฬวี และชาวเมืองอาฬวีอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์เสวยภัตตาหารและแสดงธรรมด้วย

บุรุษนิรนามอยากไปฟังธรรม แต่ติด้วยโคของตนหายไปตัวหนึ่ง จำเป็นต้องตามหาหาโคให้เจอเสียก่อน เพราะสมบัติของเขาก็มีเพียงแค่นี้เอง เขาจึงติดตามหาโคที่หายไปหลายแห่ง ในที่สุดก็พบและรีบต้อนเข้าคอกแต่ยังหัววัน

เขาคิดว่าป่านนี้พระพุทธองค์คงทรงแสดงธรรมไปจนเกือบจบแล้ว ไปก็คงไม่ได้ฟัง แต่อย่างไรก็ดีขอได้ทันกราบนมัสการพระองค์ก็ยังดี คิดแล้วเขาจึงรีบเดินทางไปยังบริเวณที่เขาจัดถวายทานและฟังธรรม หิวก็หิว เพราะตั้งแต่เช้าไม่ได้กินอะไรเลย ไปถึงเขาก็ประหลาดใจมาก

พระพุทธองค์หลังเสวยเสร็จแล้ว ขึ้นประทับบนธรรมาสน์ แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์และประชาชนจำนวนมาก ขอฟังอนุโมทนาและธรรมเทศนาอยู่ พระพุทธองค์กลับประทับนิ่งเฉย ไม่ตรัสอะไรแม้แต่คำเดียว

เมื่อพระพุทธองค์ไม่ตรัสอะไร ก็ไม่มีใครกล้าขยับ ได้แต่นั่งสงบอยู่โดยทั่วหน้ากัน

บุรุษนิรนามเห็นพระพุทธองค์ทรงเหลียวมามองทางเขา ขนลุกซู่ด้วยปีติปราโมทย์คิดว่าพระพุทธองค์ยังคงคอยเราอยู่ จึงคลานเข้าไปกราบถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ท้ายบริษัท (ท้ายบริษัท หมายถึงนั่งหลังใครๆ หมดนะครับ ไม่ใช้ท้ายบริษัทไทยเมล่อน อะไรอย่างนั้น)

แทนที่พระองค์จะรีบแสดงพระธรรมเทศนา พระองค์ตรัสถามทายกผู้จัดอาหารถวายพระ ว่า
     “มีอาหารเหลือจากที่พระฉันหรือเปล่า”
     “มี พระเจ้าข้า” เขากราบทูล
     “ไปเอาอาหารมาให้บุรุษผู้นี้รับประทานก่อน”
ทายกได้จัดแจงอาหารมาให้เขารับประทานจนอิ่ม หลังรับประทานอาหารเขารู้สึกอิ่มสบาย ไม่กระวนกระวายเพราะความหิว จิตใจก็สงบพร้อมจะฟังธรรม

พระอรรถกถาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานที่ไหนในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงจัดการให้หาอาหารมาให้ใครรับประทาน มีที่นี้แห่งเดียว รับประกันได้ว่าอย่างนั้น

พระพุทธองค์ตรัสอนุปุพพิกถา (ถ้อยแถลงเรื่องตามลำดับจากง่ายไปหายาก) คือ
๑. ทาน การให้ หรือแบ่งปันสิ่งที่เรามีแก่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการให้เพื่ออนุเคราะห์ เช่น ให้แก่ยาจกวณิพก หรือให้เพื่อบูชาคุณความดี เช่น ให้แก่ผู้มีพระคุณและสมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล

ทานนี้ทำค่อนข้างง่าย ถ้ารู้จักทำหรือทำเป็น เมื่อมีทรัพย์มีศรัทธาก็ทำทานได้ แต่ถ้าทำไม่เป็น ทานก็ไม่เป็นทาน เช่น ให้ด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ให้เพื่อหวังผลตอบแทน ให้ด้วยทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตหรือให้แก่ผู้รับที่ไม่มีศีล หรือไม่สมควรให้

๒. ศีล การรักษา กาย วาจา ให้อยู่ในกรอบ ทำยากกว่าทาน เพราะเป็นเรื่องของการควบคุมใจ

ศีลนี้เน้นกายสุจริต (กระทำดีทางกายสาม คือ ไม่ฆ่าและเบียดเบียน ไม่ลักของคนอื่น ไม่ผิดกาม) และวจีสุจริต (กระทำดีทางวาจาสี่ คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ)

เน้นการกระทำดีทางกายและวาจาก็จริงอยู่ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ จิตใจต้องแน่วแน่มั่นคง มีความอดทนสูง จึงเท่ากับเน้นการควบคุมใจด้วย รักษาศีลจึงยากกว่าทำทาน

๓. สวรรค์ การไปเกิดในสวรรค์เป็นรางวัล หรือผลตอบแทนของการทำงานและรักษาศีล ถ้าทานไม่บริสุทธิ์ ศีลไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่มีโอกาสไปเกิดในสวรรค์ และเมื่อเกิดในสรวงสวรรค์แล้ว ท่านว่าโอกาสบำเพ็ญคุณงามความดีก็มีน้อย เพราะชีวิตได้แต่เพลิดเพลินในกามคุณ เทียบกับชีวิตคนธรรมดาก็ได้

คนเราถ้ามีความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุมากๆ มักจะลืมตัว หลงติดอยู่ในความสุขสบายนั้น ไม่ค่อยนึกถึงการทำบุญทำกุศลนัก ทำบุญตักบาตรหรือเข้าวัดฟังธรรมนับวันได้เลย

อีกอย่างหนึ่ง เทวดานั้นมีความยับยั้งชั่งใจน้อย เผลอๆ อาจจุติปัจจุบันทันด่วนดุจข้าราชการถูกปลดกลางอากาศได้ การเกิดในสวรรค์จึงเป็นเรื่องยาก

๔. โทษของกาม นี่ยิ่งยากใหญ่ เพราะคนที่ตกอยู่ในความสนุกเพลิดเพลินทางกามคุณ ย่อมจะหูหนวกตาบอด มองไม่เห็นโทษของกาม ดุจหนอนอยู่ในหลุมคูถ ดำผุดดำว่ายอยู่ในบ่ออาจม ย่อมไม่รู้สึกว่าคูถมันเหม็นและสกปรก ตรงข้ามกลับเห็นว่ามันหอม กินเข้าไปแล้วรสหวานอร่อย ฉันใดก็ฉันนั้นแล

๕. ออกจากกาม เมื่อไม่รู้ไม่เห็นว่ากามมีโทษแล้ว การออกจากกามยิ่งทำได้ยาก ดุจดังหนอนในหลุมคูถข้างต้น

ถ้าหนอนมันพูดได้และรู้ภาษา มีใครสักคนไปบอกมันว่าอาจมนั้นเหม็นและสกปรกเหลือเกิน เจ้าจงออกจากหลุมอาจมเถิด หนอนมันก็จะตอบว่า ไม่เห็นเหม็นเลย หอมหวานและสะอาดออกจะตายไป ที่ท่านพูดอย่างนี้ท่านอยากกินเองใช่ไหม จึงมาพูดจาหลอกข้า ข้าไม่หลงกลท่านดอก อะไรไปโน่น

ดีไม่ดีผู้ชักชวนอาจเสียผู้เสียคนเพราะความปรารถนาดีก็ได้

พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่อง ศีล สวรรค์ โทษของกาม และการออกจากกาม เป็นการ “ปูพื้น” จากนั้นก็ทรงแสดงอริยสัจสี่ประการโดยพิสดาร

ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาเขาได้บรรลุโสดาปัตติผล

หลังจากโปรดบุรุษนิรนามเสร็จแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จกลับไปยังเมืองสาวัตถี แสดงว่าที่เสด็จมาไกลปานฉะนี้ก็เพื่อโปรดเขาคนเดียวจริงๆ

ขณะเสด็จกลับ พระสาวกตามเสด็จที่เป็นปุถุชนอยู่ พูดซุบซิบในทำนองไม่เข้าใจว่า ทำไมพระพุทธองค์เสด็จมาตั้งไกลเพียงเพื่อโปรดชาวนายากจนคนเดียว พระองค์เอาพระทัยใส่เขามาก ถึงขนาดทรงให้เขาหาอาหารมาให้ชาวนาคนนั้นกินเองเลยทีเดียว แน่ะ พระสงฆ์องค์เจ้าก็ชอบนินทาแฮะ นินทากระทั่งสมเด็จพระบรมครู

พระพุทธเจ้าทรงได้ยิน จึงหยุดเสด็จดำเนิน ทรงหันมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไร”
ถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงจะ “ปละ เปล่า พระเจ้าข้า” อะไรทำนองนั้น แต่พระเหล่านั้นก็กล้าพอที่จะพูดความจริง พระพุทธองค์จึงตรัสถาม บุรุษคนนั้นเขาต้องการฟังธรรม พระองค์ทรงเห็นว่าเขามีอุปนิสัยที่จะบรรลุธรรม จึงเสด็จมาจากที่ไกลเพื่อสอนเขา  แต่ว่าเขาหิวข้าว คนเราเมื่อยังหิวอยู่ ถึงธรรมะจะดีอย่างไร เขาก็ไม่ยินดีฟังหรือถึงฟังก็ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น พระองค์จึงให้เขาหาข้าวให้เขากินก่อน  

แล้วพระองค์จึงตรัสว่า  “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง รู้ความจริงนี้แล้ว พึงปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน เพราะพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”

บุรุษนิรนามคนนี้จะเป็นใครก็ช่างเถิด แต่สิ่งที่ควรเอาอย่างก็คือ มีความใฝ่ดี คือ ใฝ่แสวงหาความรู้ความเข้าใจในธรรม ตั้งใจจะฟังธรรม แล้วพยายามมาฟังให้จนได้ ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขามีหน้าที่จะต้องทำ เขาทำหน้าที่ที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงมาฟังธรรม มิได้ละทิ้งหน้าที่โดยอ้างว่าจะไปฟังธรรม

เรื่องนี้น่าจะให้ความคิดแก่ “นักปฏิบัติธรรม” ทั้งหลายได้อย่างดี บางคนทิ้งครอบครัวที่ต้องดูแล อ้างว่าต้องไปปฏิบัติธรรม ท่านนี้ประสบความสำเร็จในธรรม กลายเป็นครูอาจารย์เขา ไปสอนใครๆ เรื่องการดำรงชีวิตที่ดีในโลก ผู้ที่เขารู้ภูมิหลังก็จะว่าเอาได้ “อย่าไปเชื่อเขาเลย ตัวเขาเองเมื่อครั้งที่มีครอบครัวก็ยังไม่มีปัญญาทำครอบครัวให้มีความสุขได้ เป็นคนมีชีวิตล้มเหลวมาแล้ว” อะไรทำนองนี้ คำพูดคำสอนของเขาก็จะไม่มีน้ำหนัก

อ่านเรื่องนี้แล้ว ทำให้เกิดอัศจรรย์ใจในเทคนิควิธีสอนของพระพุทธองค์ หลายคนในปัจจุบันนี้พูดว่า จิตใจสำคัญที่สุด คนเราถ้าจิตใจดี มีคุณธรรมแล้ว ทุกอย่างจะดีหมด เพราะคิดกันอย่างนี้ จึงมุ่งแต่เทศน์แต่สอน โดยไม่ดูว่าผู้ฟังเทศน์ฟังสอนนั้นๆ ท้องยังร้องจ๊อกๆ อยู่หรือเปล่า

คนเราเมื่อท้องหิวเสียแล้ว ต่อให้รู้ว่าธรรมะดีปานใดก็ไม่ต้องการฟัง

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้ดี ทันทีที่บุรุษนิรนามไปถึง พระองค์ก็สั่งให้หาข้าวมาให้กินก่อน ให้เขาหายหิวก่อน จะสอนอะไรก็ค่อยว่ากันภายหลัง...


ข้อมูล : บทความพิเศษ บุรุษนิรนาม : ผู้ใคร่ในการฟังธรรม หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 มีนาคม 2557 11:26:13
.
(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR6QFPI07ZraqOTjBFGb4ulbJUIErFOBdgHlwkct-uaUYPMnnx8)
๕๔. อุบาลีคหบดี
อดีตมือขวาของพระมหาวีระ (๑)

ขอนำอดีตเดียรถีย์อีกท่านหนึ่ง ที่หันมาเป็นสาวกของพระพุทธองค์ เป็นสาวกหนึ่งในจำนวน ๕ ท่านที่ “แตกฉานในปฏิสัมภิทา” ทั้งๆ ที่ยังเป็นเสขะ (ยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์) อีกท่านที่เหลือคือ พระอานนท์ จิตตคหบดี ธมมิกอุบาสก นาขุชชุตตรา และ อุบาลีคหบดี เท่านั้น

ตามประวัติ อุบาลีเป็นคนมั่งคั่ง เกิดที่นาลันทา เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ นับถือพวกนิครนถ์ อันมีมหาวีระ (หรือนิครนถ์นาฏบุตร) เป็นศาสดา

ในพระศาสดานี้เดิมไม่นุ่งห่มผ้า เรียกว่า “ทิคัมพร” (แปลตามตัวว่านุ่งทิศห่มทิศ หมายถึงนุ่งลมห่มฟ้า หรือชีเปลือยนั้นเอง) ต่อมาได้อนุโลมให้นุ่งขาวห่มขาวได้ จึงแบ่งเป็นสองนิกาย คือ นิกายทิคัมพร (นุ่งลมห่มฟ้า) กับ นิกายเสตัมพร คือ เศวตามพร (นุ่งขาวห่มขาว)

ศาสดามหาวีระ หรือนิครนถ์นาฏบุตร เน้นในความเคร่งครัด เคร่งจนเกินพอดี อันเข้าข่าย “อัตตกิลมถานุโยค” (ทรมานตนเอง)

เขาเชื่อว่า ถ้าทรมานร่างกายให้ได้รับความลำบากแล้ว กิเลสก็จะเหือดแห้งแต่พระพุทธองค์ตรัสตำหนิว่าเป็น “ทางสุดโต่ง” (extreme) อย่างหนึ่งในสองทางที่ไม่นำไปสู่การพ้นทุกข์ ดังที่ได้ตรัสสอนปัญจวัคคีย์ ณ วันเพ็ญเดือนอาสาฬหะที่ป่าอิลิปตนมฤคทายวัน
(ปัจจุบันคือสารนาถ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย)

อุบาลีเป็นสาวกระดับนำของนิครนถ์ เป็นผู้แตกฉานในคำสอนของนิครนถ์ เป็นประดุจมือขวาของพระศาสดามหาวีระทีเดียว (ไม่ขวาก็ซ้ายละครับ) เพราะในช่วงนั้นมีคนดังอยู่สองคน คือ สัจจกะนิครนถ์ กับอุบาลีคนนี้แหละ แต่ทั้งสองคนก็กลายมาเป็นพุทธมามะหมด)

อุบาลีถูกส่งตัวมาโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า เขามีปฏิภาณยอดเยี่ยม มีวาทะแหลมคม สามารถต้อนคู่ต่อสู้จนมุมมามากต่อมาก คราวนี้เขาก็หยิ่งผยองว่าเขาจะสามารถเอาชนะพระพุทธเจ้าของชาวพุทธได้อย่างไม่ยากเย็น

ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย นิครนถ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนาม ทีฆตปัสสี (แปลว่า โย่ง ผู้เคร่งตบะ) เตือนอุบาลีว่า อย่าได้ประมาทพระสมณโคดมเป็นอันขาด ท่านผู้นี้มีมนตร์ “อาวัฏนีมายา” คือ มนต์กลับใจคน ใครเข้าใกล้เป็นต้องถูกครอบงำหมดระวังตัวให้ดี

แต่อุบาลีว่าไม่ต้องกลัว เพราะฝึกซ้อมมาดี  เขาเข้าไปหาพระพุทธเจ้า ขณะประทับอยู่ที่ปาวาริกอัมพวัน พร้อมพวกพ้องบริวารกลุ่มใหญ่ การโต้วาทะกันก็เกิดขึ้นท่ามกลางมหาสันนิบาต อันมีประชาชนจำนวนมาก

ทั้งสองท่านเถียงเรื่องอะไรกัน บางท่านอาจสงสัยอย่างนี้ แน่นอนครับ เรื่องที่เถียงกันนั้นเป็นวิชาการชั้นสูงที่มีประโยชน์แก่การปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น มิใช่เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง

เรื่องที่เถียงกันคือเรื่องกรรมครับ

นิครนถ์ใช้ศัพท์เทคนิคว่า “ทัณฑ์” มี ๓ นิกาย คือ กายทัณฑ์ (ทัณฑ์ หรือการกระทำทางกาย) วจีทัณฑ์ (ทัณฑ์ทางวาจา) มโนทัณฑ์ (ทัณฑ์ทางใจ) พระพุทธองค์ ทรงใช้คำว่า “กรรม” มี ๓ คือ กายกรรม (การกระทำทางกาย) วจีกรรม (การกระทำทางวาจา) มโนกรรม (การกระทำทางใจ)

อุบาลีกล่าวว่า บรรดาทัณฑ์ทั้ง ๓ นั้น ทัณฑ์ทางกายสำคัญที่สุด ขณะที่พระพุทธองค์ตรัสว่า การกระทำทางใจคือความคิดสำคัญที่สุด หลังจากอภิปรายซักค้านกันพักใหญ่ อุบาลีก็ถูกพระพุทธองค์ค่อยๆ ต้อนเข้ามุมจนอับจนปัญญาจะโต้ตอบ ได้แต่นั่งก้มหน้านิ่ง เสียงกองเชียร์ก็เงียบกริบ

ปัญญาชนอย่างเขามิใช่คนดื้อดึง เมื่อรู้ตัวว่าสติปัญญาสู้พระพุทธเจ้าไม่ได้ ก็ยอมรับ จึงก้มกราบพระพุทธองค์ เปล่งวาจาขอถวายตนเป็นสาวกของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ยกพระหัตถ์ขึ้นปรามว่า

“อุบาลี คนมีชื่อเสียงเช่นท่าน จะตัดสินอะไรลงไป ขอให้ใคร่ครวญก่อนนั้นจะเป็นการดี” พูดง่ายๆ ว่าอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ เพราะคนดังคนเด่นเช่นอุบาลี เป็นถึงสาวกมือขวาของศาสดามหาวีระ ทำอะไรลงไปแล้วย่อมเกิดความกระทบกระเทือนต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาเชนจะกระเทือนหนักที่สาวกคนสำคัญละทิ้งศาสนาดั้งเดิม

และที่สำคัญก็คือ พระพุทธเจ้าจะถูกกล่าวหาว่า “แย่ง” สาวกของพวกเขาไปด้วย

แต่อุบาลีก็ยืนยันเจตนารมณ์เดิม แม้พระพุทธองค์จะเตือนถึงสามครั้งก็ตาม เมื่อทรงเห็นว่าเขาไม่เปลี่ยนใจแน่แล้ว จึงตรัสว่า “อุบาลี” ท่านเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกนิครนถ์มาช้านาน ถึงจะมาเป็นสาวกของเราตถาคตแล้ว ก็ควรถวายทานแก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิม ทรงแสดงธรรมให้เขาฟัง ที่สุดพระธรรมเทศนาเขาได้บรรลุโสดาปัตติผล

จากเรื่องนี้จะเห็นถึงความเป็น “ผู้ใจกว้าง” ของพระพุทธองค์ เห็นได้ชัดว่าพระพุทธองค์มิใช่ศาสดาประเภท “กระหายสาวก” ขนาดคนสำคัญอย่างอุบาลีขอเป็นสาวก พระองค์ยังไม่รีบรับ กลับตรัสให้เขาคิดทบทวนให้ดีก่อน

แม้เขาเข้ามาเป็นสาวกของพระองค์ พระองค์ก็ยังทรงห่วงใยพวกเดียรถีย์กลัวว่าจะขาดผู้อุปถัมภ์ พระองค์ทรงมีพระเมตตาตรัสให้อุบาลีถวายอาหารบิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ ซึ่งเคยเป็น “พระ” ของเขา เหมือนที่เคยปฏิบัติ

นับเป็นพระมหากรุณาอันใหญ่หลวง

ทีฆตปัสสี ผู้เคยเตือนอุบาลี ทราบว่าอุบาลีทิ้งศาสนาเชนไปเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงรีบแจ้งแก่มหาวีระศาสดาของตน มหาวีระก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นจริง แม้ทีฆตปัสสีจะยืนยันว่าเป็นจริง เพราะได้ไปเห็นมากับตา มหาวีระจึงไปยังคฤหาสน์ของอุบาลี เพื่อพิสูจน์ความจริง

เมื่อไปถึง รปภ.เฝ้าคฤหาสน์ไม่ยอมให้ท่านเข้า แม้ท่านจะบอกว่า ไปบอกอุบาลี ศาสดาของเขามาหา ให้ออกมาต้อนรับ เขาสั่งคนของตนให้ไปปูอาสนะไว้ที่ศาลาบริเวณบ้านใกล้ซุ้มประตู แล้วให้ไปเชิญนิครนถ์นาฏบุตรเข้าไป

เมื่อศาสดามหาวีระ หรือนิครนถ์นาฏบุตรเข้าไป เห็นคนที่เคยเป็นสาวกของตนนั่งอยู่บนอาสนะแรกที่สูงกว่าอาสนะอื่นๆ พร้อมผายมือเชิญให้ท่านหาอาสนะนั่งเอาเองตามใจชอบ ใครมันจะไม่สะอึกเล่าครับ เมื่อวันก่อนยังกราบอาจารย์ ก้นโด่งอยู่เลย วันนี้ทำท่าเหมือนเป็นบรมครู ไม่สนใจ ไม่ให้เกียรติศาสดาของตน

มหาวีระจึงพูดทั้งน้ำตาว่า ชาวเมืองราชคฤห์นับตั้งแต่พระราชาลงมา ต่างก็รู้ว่าอุบาลีเป็นสาวกของนิครนถ์ บัดนี้เราอยากรู้ว่าท่านเป็นสาวกของใครกันแน่ เราหรือสมณโคดม

อุบาลีจึงห่มผ้าเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปทิศทางที่พระพุทธเจ้าประทับกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าด้วยพระคุณ ๑๐๐ บท ให้มหาวีระฟัง ยังมิทันจะครบ ๑๐๐ บทเลย มหาวีระทนฟังต่อไปไม่ไหว กระอักโลหิตอุ่นๆ ออกมา ลูกน้องต้องเอาเปลหามออกจากคฤหาสน์ทันใด

ว่ากันว่า หลังจากนั้นมามหาวีระก็ป่วยกระเสาะกระแสะ แล้วก็สิ้นชีวิตในที่สุด

พุทธคุณ ๑๐๐ บทมีอะไรบ้าง เคยเขียนถึงแล้ว แต่เมื่อให้เรื่องมัน “เข้าชุดกัน” ขอนำมาเล่าสู่กันฟังคราวหน้าขอรับ...


อุบาลีคหบดี
อดีตมือขวาของพระมหาวีระ (๒)

ที่พูดค้างไว้เกี่ยวกับพุทธคุณ ๑๐๐ บท ที่อุบาลีสวดคำบรรยายให้กับศาสดามหาวีระหรือนิครนถ์นาฏบุตรยังไม่ทันจบ ก็ร้องว่าพอๆ ไม่อยากฟังแล้ว แล้วก็กระอักโลหิตอุ่นๆ ออกมาลูกก็ต้องหามออกไปจากบ้าน อุบาลีคหบดี อดีตมือขวาก็กลายเป็นชาวพุทธร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ทำให้มหาวีระชีช้ำกะหล่ำปลี

พุทธคุณ ๑๐๐ บทนั้น ชาวพุทธไทยไม่ค่อยคุ้น ผมเขียนมาครั้งหนึ่งแล้ว (คอลัมน์จำไม่ได้ เขียนมากด้วยกัน) ขอนำมาร่วมไว้ในที่นี้ เพราะเป็นพระพุทธคุณที่กล่าวสรรเสริญโดยอุบาลีคหบดี ท่านพุทธทาสได้แปลไว้ในพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ผมจึงขออนุญาตคัดลอกออกมา (เปลี่ยนแปลงบ้างบางคำ) ดังนี้ครับ

ดูก่อนท่านผู้เจริญ ขอท่านจงฟังซึ่งคำของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้านั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
(๑) เป็นนักปราชญ์ผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญา (๒) เป็นผู้ปราศจากแล้วจากโมหะ (๓) เป็นผู้มีเสาเขื่อนเครื่องตรึงจิตอันหักแล้ว (๔) เป็นผู้มีชัยชนะอันวิชิตแล้ว (ชนะเด็ดขาด) (๕) เป็นผู้ปราศจากแล้วจากสิ่งคับแค้นสะเทือนใจ (๖) เป็นผู้มีจิตสม่ำเสมอด้วยดี (๗) เป็นผู้มีปกติภาวะแห่งบุคคลผู้เป็นพุทธะ (๘) เป็นผู้มีปัญญาเครื่องยังประโยชน์ให้สำเร็จ (๙) เป็นผู้ข้ามไปได้แล้วซึ่งวัฏสงสารอันขรุขระ (๑๐) เป็นผู้ปราศจากแล้วมลทินทั้งปวง  

(๑๑) เป็นผู้ไม่มีการถามใครว่าอะไรเป็นอะไร (๑๒) เป็นผู้อิ่มแล้วด้วยความอิ่มในธรรมอยู่เสมอ (๑๓) เป็นผู้มีเหยื่อในโลกอันทรงคายทิ้งแล้ว (๑๔) เป็นผู้มีมุทิตาจิตในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง (๑๕) เป็นผู้มีสมณภาวะอันทรงกระทำสำเร็จแล้ว (๑๖) เป็นผู้ถือกำเนิดแล้วแต่กำเนิดแห่งมนุษย์โดยแท้ (๑๗) เป็นผู้มีสรีระอันมีในครั้งสุดท้าย (๑๘) เป็นผู้เป็นนรชน คือเป็นคนแท้ (๑๙) เป็นผู้อันใครๆ กระทำอุปมามิได้ (๒๐) เป็นผู้ปราศจากกิเลสอันพึงเปรียบได้ด้วยธุลี

(๒๑) เป็นผู้หมดสิ้นแล้วจากความสงสัยทั้งปวง (๒๒) เป็นผู้นำสัตว์สู่สภาพเดิม (๒๓) เป็นผู้มีปัญญาเครื่องตัดกิเลสดุจหญ้าคาเสียได้ (๒๔) เป็นสารถีอันประเสริฐกว่าสารถีทั้งหลาย (๒๕) เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่าโดยคุณธรรมทั้งปวง (๒๖) เป็นผู้มีธรรมเป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งปวง (๒๗) เป็นผู้ขจัดความสงสัยของสัตว์ทั้งปวง (๒๘) เป็นผู้กระทำซึ่งความสว่างแก่ปวงสัตว์ (๒๙) เป็นผู้ตัดซึ่งมานะเครื่องทำความสำคัญมั่นหมาย (๓๐) เป็นผู้มีวีรธรรมเครื่องกระทำความแกล้วกล้า

(๓๑) เป็นผู้เป็นยอดมนุษย์แห่งมนุษย์ทั้งหลาย (๓๒) เป็นผู้มีคุณอันใครๆ กำหนดประมาณมิได้ (๓๓) เป็นผู้มีธรรมสภาวะอันลึกซึ้ง ไม่มีใครหยั่งได้ (๓๔) เป็นผู้ถึงซึ่งปัญญาเครื่องทำความเป็นแห่งมุนี (๓๕) เป็นผู้กระทำความเกษมแก่สรรพสัตว์ (๓๖) เป็นผู้มีเวทคือญาณ เครื่องเจาะแทงซึ่งโมหะ (๓๗) เป็นผู้ประดิษฐานอยู่ในธรรม (๓๘) เป็นผู้มีพระองค์อันทรงจัดสรรดีแล้ว (๓๙) เป็นผู้ล่วงกิเลสอันเป็นเครื่องข้องเสียได้  (๔๐) เป็นผู้หลุดรอดแล้วจากบ่วงทั้งปวง

(๔๑) เป็นผู้เป็นดังพระยาช้างตัวประเสริฐ (๔๒) เป็นนอนสงบสงัดจากการรบกวนแห่งกิเลส (๔๓) เป็นผู้มีกิเลสเครื่องประกอบไว้ในภพสิ้นสุดแล้ว (๔๔) เป็นผู้พ้นพิเศษแล้วจากทุกข์ทั้งปวง (๔๕) เป็นผู้มีความคิดเหมาะเจาะเฉพาะเรื่อง (๔๖) เป็นผู้มีปัญญาเครื่องทำความเป็นแห่งมุนี (๔๗) เป็นผู้มีมานะเป็นดุจธงอันทรงลดลงได้แล้ว (๔๘) เป็นผู้ปราศจากแล้วจากราคะ (๔๙) เป็นผู้มีการฝึกตนอันฝึกแล้ว (๕๐) เป็นผู้หมดกิเลสเครื่องเหนี่ยวหน่วงให้เนิ่นช้า

(๕๑) เป็นผู้แสวงหาพบคุณอันใหญ่หลวง (๕๒) เป็นผู้ปราศจากแล้วจากความคดโกง (๕๓) เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งวิชชาทั้งสาม (๕๔) เป็นผู้เป็นพรหมแห่งปวงสัตว์ (๕๕) เป็นผู้เสร็จจากการอ่านการล้างแล้ว (๕๖)เป็นผู้มีหลักมีเกณฑ์ในการกระทำทั้งปวง (๕๗) เป็นผู้มีกมลสันดานอันระงับแล้ว (๕๙) เป็นผู้ทำลายซึ่งธานีนครแห่งกิเลสทั้งห้า (๖๐) เป็นผู้เป็นจอมแห่งสัตว์ทั้งปวง

(๖๑) เป็นผู้ไปพ้นแล้วจากข้าศึก คือ กิเลส (๖๒) เป็นผู้มีตนอันอบรมถึงที่สุดแล้ว (๖๓) เป็นผู้มีธรรมที่ควรบรรลุอันบรรลุแล้ว (๖๔) เป็นผู้กระทำซึ่งอรรถะทั้งหลายให้แจ่มแจ้ง (๖๕) เป็นผู้มีสติสมบูรณ์อยู่เองในทุกกรณี (๖๖) เป็นผู้มีความรู้แจ้งเห็นแจ้งเป็นปกติ (๖๗) เป็นผู้มีจิตใจไม่แฟบลงด้วยอำนาจแห่งกิเลส (๖๘) เป็นผู้มีจิตไม่ฟูขึ้นด้วยอำนาจแห่งกิเลส (๖๙) เป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจแห่งกิเลส (๗๐) เป็นผู้บรรลุถึงซึ่งความมีอำนาจเหนือกิเลส

(๗๑) เป็นผู้ไปแล้วโดยชอบ (๗๒) เป็นผู้มีการเพ่งพินิจทั้งในสมาธิและปัญญา (๗๓) เป็นผู้มีสันดานอันกิเลสตามถึงไม่ได้แล้ว (๗๔) เป็นผู้หมดจดแล้วจากสิ่งเศร้าหมองทั้งปวง (๗๕) เป็นผู้อันตัณหาและทิฐิอาศัยไม่ได้แล้ว (๗๖) เป็นผู้ไม่มีความหวาดกลัวในสิ่งที่น่าหวาดกลัว (๗๗) เป็นผู้สงัดแล้วจากการรบกวนแห่งกิเลสทั้งปวง (๗๘) เป็นผู้บรรลุแล้วซึ่งธรรมอันเลิศ (๗๙) เป็นผู้ข้ามแล้วซึ่งโอฆะกันดาร (๘๐) เป็นผู้ยังบุคคลอื่นให้ข้ามแล้วซึ่งโอฆะนั้น

(๘๑) เป็นผู้มีสันดานสงบรำงับแล้ว (๘๒) เป็นผู้มีปัญญาอันหนาแน่น (๘๓) เป็นผู้มีปัญญาอันใหญ่หลวง (๘๔) เป็นผู้ปราศจากแล้วจากโลภะ (๘๕) เป็นผู้มีการไปการมาอย่างพระพุทธเจ้าทั้งหลาย (๘๖) เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี (๘๗) เป็นบุคคลผู้ไม่มีบุคคลใดเปรียบ (๘๘) เป็นบุคคลผู้ไม่มีบุคคลใดเสมอ (๘๙) เป็นบุคคลผู้มีญาณอันแกล้วกล้า (๙๐) เป็นผู้มีปัญญาละเอียดอ่อน

(๙๑) เป็นผู้เจาะทะลุข่ายคือตัณหา เครื่องดักสัตว์ (๙๒) เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นปรกติ (๙๓) เป็นผู้มีกิเลสดุจควันไฟไปปราศแล้ว (๙๔) เป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่ฉาบทาได้อีกต่อไป (๙๕) เป็นผู้เป็นอาหุไนยบุคคล ควรแก่ของบูชา (๙๖) เป็นผู้ที่โลกทั้งปวงต้องบูชา (๙๗) เป็นบุคคลผู้สูงสุดแห่งบุคคลทั้งหลาย (๙๘) เป็นผู้มีคุณอันไม่มีใครวัดได้ (๙๙) เป็นผู้เป็นมหาบุรุษ (๑๐๐) เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความเลิศด้วยเกียรติคุณ

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นดังนี้แล

ขอความสุข สมหวัง ความเจริญงอกงามในธรรม จงมีแด่สาธุชนทุกท่านตลอดปีและตลอดไป...


ข้อมูล : บทความพิเศษ อุบาลีคหบดี  : อดีตมือขวาของพระมหาวีระ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

.
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRVLuMLKt3HN1-dqpjrQat0_QoOXny2a0nOSKUOgAeUeHdB4WHcAQ)
๕๕. สุปปพุทธะ  
อริยะขี้เรื้อน

คำว่า “ขี้เรื้อน” มักเป็นคำด่าที่รุนแรง เพราะคนได้ยินมักจะนึกถึงโรคเรื้อน หรือหมาขี้เรื้อน บุคคลที่กล่าวถึงนี้เป็นโรคเรื้อนจริงๆ โรคที่คนรังเกียจนั้นเอง

แต่คนที่เป็นโรคสังคมรังเกียจคนนี้ ในท้ายที่สุดแห่งชีวิต มิใช่คนธรรมดา เขาได้กลายเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบันก่อนสิ้นชีวิต

ที่พระท่านว่าคนเราเป็นไปตามกรรม (ที่ทำไว้) นั้นเป็นความจริง เรื่องราวของสุปปพุทธะท่านนี้ พระอรรถกถาจารย์ขานไขให้เราทราบว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะกรรมที่เขาก่อไว้ทั้งสิ้น

แล้วจะเล่าให้ฟังตอนท้าย

วันหนึ่งสุปปพุทธะไปฟังธรรมที่พระวิหารโดยแอบไปนั่งอยู่ท้ายบริษัท เพราะกลัวคนอื่นเขาเห็น เขาจะตะเพิดไล่ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ต้องการจะกราบทูลให้พระพุทธองค์ทราบว่าเขาได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว (ความจริงเขาหารู้ไม่ว่าพระพุทธองค์ทรงทราบแล้ว) นั่งหลบรอให้คนอื่นเขากลับไปหมด ก่อนจะได้เข้าไปถวายบังคมได้สะดวก

ขณะนั้นท้าวสักกเทวราชเข้ามากล่าวกับเขาว่า “สุปปพุทธะ ท่านเป็นคนทุกข์ยาก เราจะให้ทรัพย์แก่ท่านหาประมาณมิได้ ขอเพียงท่านบอกคืนพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์”

สุปปพุทธะถามขึ้นว่า ท่านเป็นใคร เมื่อทราบว่าเป็นท้าวสักกเทวราช จึงตอบว่า
“เจ้าคนอันธพาล ไร้ยางอาย ถึงข้าจะเป็นคนยากจนเพราะไร้ทรัพย์ แต่ข้าก็ร่ำรวยนะ”
“รวยอะไร” ผู้มาเยือนถาม
“รวยทรัพย์ภายใน (อริยทรัพย์) นั่นไง เจ้าคนอันธพาล ใครเป็นอย่างข้าไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าไร้ทรัพย์ เพราะทรัพย์ของเรามีค่ามากกว่าทรัพย์ภายนอกใดๆ แล้วเขาก็กล่าวคาถา (โศลก) บทหนึ่งดังนี้
“ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ (การสดับตรับฟังมาก) ทรัพย์คือจาคะ และทรัพย์คือปัญญา

ทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้มีแก่ผู้ใดไม่ว่าชายหรือหญิง ผู้นั้นเรียกว่าคนไม่ยากจน และชีวิตของเขาก็ไม่สูญเปล่า”

ท้าวสักกเทวราชได้ฟังดังนั้นก็หายวับไปกับตา มาเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลคำโต้ตอบกัน ระหว่างสุปปพุทธะกับตนให้พระพุทธองค์ทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า สักกะบุคคลเช่นท่าน ต่อให้ร้อยคนหรือพันคนก็ไม่สามารถให้สุปปพุทธะกล่าวปฏิเสธคุณพระรัตนตรัยได้

ขอแทรกตรงนี้นิดหนึ่ง อ่านวรรคดีพระพุทธศาสนา มักจะมีบทบาทของพระอินทร์แทรกเป็นยาดำเรื่อย แม้กระทั่งพุทธประวัติตอนอดพระกระยาหาร ทำทุกรกิริยาอยู่ พระอินทร์ก็มา “เตือนสติ” โดยหยิบพิณ (วีณา) สามสายขึ้นมาเทียบเสียงให้ฟัง จนพระพุทธองค์ได้คิดว่า ทุกอย่างต้องพอดี จึงจะสำเร็จประโยชน์

จะแปลความตามนั้นก็ไม่ว่ากระไร

แต่ถ้ามองอีกแนวหนึ่ง การที่ทรงคิดได้อย่างนั้น เป็นหัวเลี้ยวสำคัญมากดุจดังเทพมาบอกทีเดียว พูดง่ายๆ ว่าทรงคิดขึ้นเอง แต่เมื่อเป็นการคิดที่ดีมาก จึงเรียกความคิดนั้นว่าดุจเทพมาบอก ดังเจ้าชายสิทธัตถะทรงได้คิดเมื่อพระชนม์ได้ ๒๙ พรรษา ว่า คนเราย่อมแก่ ย่อมเจ็บ ย่อมตาย เป็นธรรมดา ชีวิตนี้เต็มไปด้วยทุกข์ จริงๆ ที่ต้องเวียนเกิดเวียนตายไม่รู้จบ

ต่อมาเห็นสมณะแล้วได้คิดต่อไปว่า การครองเพศบรรพชิตอย่างท่านผู้นี้อาจเป็นทางพ้นทุกข์ได้ ความคิดที่ผุดขึ้นนี้เป็นความคิดที่ดี ที่อำนวยประโยชน์ ท่านเรียกว่า “ได้ข่าวดีจากเทพ” หรือเทวทูต

พระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราช ที่มาปรากฏต่อหน้าสุปปพุทธะ ผู้มั่นคงต่อพระรัตนตรัย ต้องการลองใจ จึงเอาทรัพย์หาประมาณมิได้มาล่อให้เลิกนับถือพระรัตนตรัย บังเอิญว่าสุปปพุทธะเธอไม่เล่นด้วย แปลความอย่างนี้ก็ไม่น่าเสียหายประการใด

เมื่อปลอดคนแล้วเขาก็เข้าไปถวายบังคมพระพุทธองค์ กราบทูลให้ทราบว่าเขาได้บรรลุธรรมแล้ว พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนาในผลสำเร็จของเขา

เขากราบทูลลากลับยังที่พำนัก ในระหว่างทางถูกแม่โคขวิดตายครับ ตายอย่างอนาถ

แต่ชีวิตเขาไม่อนาถ คือ ไม่ไร้ที่พึ่ง เพราะมีอริยมรรคอริยผลเป็นที่พึ่ง

ตำราแทรกความตรงนี้ไว้ว่า แม่โคตัวนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่โคแท้ เป็นนางยักษิณีที่มีเวรกันมาก่อนกับบุคคล ๔ คน คือ ปุกกุสาติกุลบุตร พาหิยะ ทารุจีริยะ ตัมพทาฐิกะ (เพชฌฆาตเคราแดง) และสุปปพุทธะกุฏฐิ ตามมาแก้แค้น

ว่ากันว่าในอดีตชาติยาวนานโพ้น บุคคลทั้ง ๔ ดังกล่าวมา เป็นบุตรเศรษฐีเพื่อนรักกัน ได้ร่วมอภิรมย์กับโสเภณีนางหนึ่ง หลังจากอภิรมย์สมใจแล้ว จ่ายค่าชั่วโมงเสร็จแล้ว ก็แย่งทรัพย์ที่ให้แก่นางคืน ไม่แย่งเปล่า ฆ่าหมกป่าด้วย

นางโสเภณีนั้น ก่อนที่จะขาดใจตาย ได้ผูกอาฆาตจองเวรกับเด็กหนุ่มสี่สหายนั้น หากตายจากชาตินั้นแล้ว จะตามฆ่าคนทั้ง ๔ นี้ไปอีกหลายร้อยชาติ กว่าจะสิ้นเวรสิ้นกรรมกัน

นัยว่าสุปปพุทธะนี้ก็ถูกคู่เวรในร่างโคขวิดตายมาแล้วหลายร้อยชาติ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่จะสิ้นเวร

ส่วนที่เขากลายเป็นโรคเรื้อนนั้น เพราะกรรมเก่าของเขาเช่นกัน เขาเคยด่าพระปัจเจกพุทธะองค์หนึ่งว่า “ขี้เรื้อน” ด้วยคำพูดนั้นคำเดียว แต่บังเอิญพูดกับพระปัจเจกพุทธะ เขาจึงเกิดเป็นขี้เรื้อน หลังจากเสวยผลกรรมในนรกหลายร้อยชาติ

สุปปพุทธะก็ได้ทำกรรมดีในอดีตเหมือนกัน จึงบันดาลให้เขาพบพระพุทธเจ้าขึ้นมา เป็น topic พระพุทธองค์ตรัสอธิบายถึงกรรมเก่าของเขาให้สงฆ์ฟัง แล้วตรัสโศลกธรรมบทหนึ่งว่า

คนพาลปัญญาทรามทั้งหลายย่อมประพฤติเป็นศัตรูกับตนเอง ด้วยการทำบาปหยาบช้า ซึ่งจะนำวิบากอันเผ็ดร้อนภายหลัง

พระธรรมเทศนาสั้นๆ เป็นการเตือนว่า คนเราเมื่อโง่เขลา (ไม่ว่าใครทั้งนั้น) ย่อมประพฤติเหมือนไม่รักตน คือ ก่อศัตรูแก่ตนด้วยการทำแต่ความไม่ดีใส่ตัว แล้วในที่สุดก็เดือดร้อนเพราะผลแห่งความชั่วที่ตัวทำเองนั้นแล

พูดเป็นนัยๆ ว่า ถ้าไม่อยากให้ตัวเองเดือดร้อนภายหลังก็อย่าทำบาปนั้นเองขอรับ

ชีวิตของนายสุปปพุทธะขี้เรื้อน มองในแง่เป็นบทเรียนก็คือ อย่าริทำชั่ว หรือสร้างเวรแก่คนอื่น ดุจดังที่เขาทำมา เมื่อเกิดมาเป็นขี้เรื้อนก็ถือว่าเพราะวิบากแห่งกรรมเก่า เขาก็ไม่ย่อท้อต่อชีวิต พยายามทำความดี จนในที่สุดได้เป็นพระอริยบุคคล นับว่าเกิดมาทั้งทีไม่เสียชาติเกิดแล้ว แม้ภายนอกจะเป็นคนน่าสงสารและสมเพช แต่ภายในเขาเปี่ยมไปด้วยคุณความดี...

   
ข้อมูล : บทความพิเศษ สุปปพุทธะ : อริยะขี้เรื้อน หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTH2ETWZdeXtdWtGjfED_SjJIgzEybkQlG7cR5W0WpKYI5nPFl7)
 
๕๖. พราหมณ์ใจบุญคนยาก
ผู้ได้อานิสงส์ทันตาด้วยผ้าผืนเดียว

พระท่านว่า คนดีใจบุญสุนทาน ทำดีง่าย แต่คนที่ห่างวัดห่างวา นานๆ ใจจะนึกถึงบุญกุศลสักที โอกาสจะทำนั้นยาก มักอ้างความไม่พร้อม ผลที่สุดก็ไม่ได้ทำดีกับเขาสักที แต่ถ้าเรื่องไม่ดี เหลวไหลไร้สาระละก็เมื่อใดเมื่อนั้น มัน “คล่อง” เสียจริงๆ

การทำบุญทำทานต้องใช้ความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนเราเมื่อมีวัตถุสิ่งของแล้วย่อมยึดติดหวงแหนเป็นธรรมดา จะสละให้ใครสักครั้งก็ตัดสินใจยาก

นึกถึงลูกชายผมตอนเด็กๆ ชอบสะสมหนังสือการ์ตูนไว้มากมาย กองเป็นตั้งๆ เต็มห้อง อ่านแล้วอ่านอีก เราถามว่า จะบริจาคให้เด็กอื่นๆ ตามชนบทอ่านบ้างได้ไหม เธอบอกว่า “ได้ครับ” แล้วก็นั่งเลือกหยิบออกเป็นชั่วโมง ไม่ได้สักเล่ม ถามว่า “ทำไมเลือกนานนัก” เธอบอกว่า “เสียดาย อยากเอาไว้อ่านอีก”

ตกลงเลยไม่ได้บริจาคสักเล่ม นี่แค่หนังสือนะ ถ้าเป็นของอื่นราคาแพงๆ คงจะยากกว่านี้ การเสียสละของให้ทานแก่ผู้อื่น ท่านจึงเรียกว่า “บริจาค” คือ “ตัดใจให้” ถ้าไม่ตัดใจไม่มีทางให้ได้

วันนี้จะขอเล่าเรื่องทุคตะ (คนยากเข็ญ) คนหนึ่ง ที่ใช้ความกล้าหาญเป็นอย่างมากในการ “ตัดใจ” ในที่สุดก็ทำสำเร็จ

เขาผู้นี้ชื่อเรียงเสียงใดไม่ปรากฏ แต่ชาวบ้านเรียกว่า “นายผ้าผืนเดียว” เนื่องจากทั้งสองคนผัวเมียมีผ้าห่มอยู่ผืนเดียว (ผ้านุ่งคนละผืน) ผลัดกันห่ม เวลาออกจากบ้านไปไหน ต้องออกไปทีละคน ไปพร้อมกันไม่ได้ เพราะมีผ้าคลุมกายอยู่ผืนเดียว

ถ้าใครเคยไปเมืองแขกก็จะเห็นว่าชาวภารตะเขาใช้ผ้าแพรผืนใหญ่ห่มไม่ต้องใช้เสื้อก็ได้ เอาผ้าผืนนั้นแหละคลุมส่วนบน

แต่ถึงจะยากจนปานนั้น ทั้งสองสามีภรรยาก็เป็นคนใจบุญ ชอบในศีลในธรรม วันหนึ่งมีเทศกาลฟังธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน เขาประกาศโฆษณาไปทั่ว พราหมณ์จึงปรึกษากับภรรยาว่า เขาประกาศเทศกาลสำหรับฟังธรรมแล้ว เราทั้งสองมีผ้าห่มเพียงผืนเดียว จะไปฟังธรรมพร้อมกันไม่ได้ต้องแบ่งกันไป ใครจะไปเวลาไหน
     “พี่ไปกลางคืนเถอะ ฉันจะไปกลางวัน” ภรรยาออกความเห็น
     “ดีเหมือนกัน กลางคืนไม่ปลอดภัย เป็นอันว่าสายวันนี้เธอไปก่อนแล้วกัน” สามีเห็นด้วย
เมื่อภรรยาไปฟังธรรมตลอดทั้งวัน กลับมาแล้ว พราหมณ์จึงอาบน้ำอาบท่ากินข้าวเสร็จก็ออกจากเรือนไปวัด เพื่อสดับพระธรรมเทศนาที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดง

เขานั่งอยู่ท้ายบริษัท ตั้งใจกำหนดตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็เข้าใจไปตามลำดับ เกิดปีติทั้ง ๕ สลับกันไปไม่ขาดสาย คิดใคร่จะบูชาพระธรรมเทศนาด้วยการถวายผ้าสาฎก (ผ้าห่ม) เป็นทาน ตั้งแต่ปฐมยามทีเดียว

ถึงตอนนี้ขอแวะข้างทางก่อน คำว่าปีติแปลว่าความอิ่มเอิบใจ ปีติมี ๕ ชนิด คือ
     ๑. ขุททกาปีติ  ปีติเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนชัน น้ำตาไหล
     ๒. ขณิกาปีติ  ปีติชั่วครู่ รู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ แล้วก็หายไป
     ๓. โอกกันติกาปีติ  ปีติเป็นระลอก รู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง
     ๔. อุพเพงคาปีติ  ปีติโลดลอย ตัวเบา หัวใจฟู คล้ายกับจะลอยขึ้นสู่อากาศ
     ๕. ผรณาปีติ  ปีติแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ทั้งหมดนี้มักเกิดขึ้นจากการที่จิตเป็นสมาธิ

พราหมณ์ฟังธรรม มีความเข้าใจในธรรม จิตเป็นสมาธิแน่วดิ่ง จึงเกิดปีติซาบซ่าน เกิดศรัทธาใคร่จะถวายผ้าสาฎกเป็นทาน แต่ทันทีที่คิดจะถวายทานก็เกิดความตระหนี่ขึ้นในใจ เพราะนึกถึงความจำเป็น

จำเป็นที่ต้องใช้ผ้าผืนนั้นอยู่ และไม่ได้ใช้คนเดียว หากต้องใช้ร่วมกันสองคน ตัวเองก็ต้องใช้ ภรรยาก็ต้องใช้ พราหมณ์คิดหนักว่า “ถ้าเราถวายผ้าผืนนี้เสีย เราก็จะไม่มีผ้าห่ม ภรรยาก็จะไม่มีเช่นกัน อย่ากระนั้นเลย ไม่ถวายดีกว่า”

เขานั่งสงบฟังธรรมต่อไป เกิดจิตประกอบด้วยศรัทธาขึ้นมาอีก อยากถวายผ้าเป็นทาน ชั่วครู่จิตตระหนี่ก็เกิดขึ้นมาอีก เป็นเช่นนี้แล้วเป็นเช่นนี้เล่า พระคัมภีร์พูดให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า “เมื่อจิตศรัทธาดวงหนึ่งผุดขึ้นในใจ พราหมณ์ว่าจะถวายผ้า จิตตระหนี่ตั้งพันดวงก็เกิดขึ้นครอบงำศรัทธาจิตนั้นเสีย

หนึ่งต่อพันมันจะสู้ไหวหรือ ไหวไม่ไหวพราหมณ์แกก็สู้เต็มที่ ว่ากันว่าแกคิดแล้วคิดอีกตั้งแต่ปฐมยามจนถึงมัชฌิมยาม ก็คิดไม่ตกว่าจะถวายผ้าดีหรือไม่ดี จนในที่สุดล่วงเข้าปัจฉิมยาม แกก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่า “ต้องถวายแน่นอน” เท่านั้น ความตระหนี่ได้ปลาสนาการจากจิตใจแกทันที จิตเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา มีความอิ่มเอิบใจอย่างบอกไม่ถูก จนเผลอร้องอุทานดังๆ ว่า
     “เราชนะแล้วๆ”

พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับฟังพระธรรมเทศนาในคืนนั้นด้วย ท่ามกลางบริษัทจำนวนมาก ทรงสดับเสียงร้องของพราหมณ์ว่า “เราชนะแล้ว” ทรงสงสัยว่าใครชนะอะไร

ถามไถ่ไปทั่ว จนได้คำตอบว่า พราหมณ์คนนั้นเอาชนะความตระหนี่ได้ตัดใจบริจาคผ้าผืนเดียวที่มีบูชาธรรม จึงทรงเลื่อมใสในการกระทำของเขา รับสั่งให้คนนำผ้ามาพระราชทานผ้าผืนใหม่ให้แก่เขา ๒ ผืน

พราหมณ์ได้นำผ้าคู่นั้นไปถวายพระพุทธเจ้า

พระราชาพระราชทานผ้าอีก ๔ คู่ ๘ คู่ ๑๖ คู่ ในโอกาสต่อมาแก่เขาตามลำดับ เขาก็ถือเอาเพียงคู่เดียว ที่เหลือนำไปถวายพระพุทธองค์หมด

การกระทำของพราหมณ์ทราบถึงพระราชา พระองค์ทรงเลื่อมใสมาก จึงพระราชทานผ้าแพรอย่างดีราคาแพงแก่เขา เขารับพระราชทานผ้ามาแล้ว คิดว่าคนอย่างเขาไม่ควรใช้ผ้าเนื้อดีขนาดนั้น จึงเอาไปขึงเป็นเพดานบนที่บรรทมของพระพุทธเจ้า ที่พระคันธกุฎีผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งขึงเป็นเพดานเรือนของตน ตรงที่ที่พระมาฉันภัตตาหารเป็นนิตย์ (แสดงว่าตอนนี้พราหมณ์แกได้รับพระราชทานทรัพย์จากพระเจ้าแผ่นดิน มีเงินพอที่จะนิมนต์พระมาฉันที่บ้านเป็นนิตย์แล้ว)

วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ พระคันธกุฎี ทอดพระเนตรเห็นผ้าแพร ทรงจำได้ ทูลถามว่า ใครทำการบูชาด้วยผ้าแพรผืนนี้ ได้รับคำตอบว่า พราหมณ์ผ้าผืนเดียวเป็นคนทำ ก็ยิ่งทรงชื่นชมในความใจบุญของพราหมณ์ จึงพระราชทานสิ่งของอย่างละ ๔ แก่พราหมณ์ คือ ช้าง ๔ ม้า ๔ กหาปณะ ๔ พัน ทาสี ๔ พัน ทาสา ๔ บ้านส่วย ๔ ตำบล เป็นอันว่าตอนนี้พราหมณ์ผ้าผืนเดียวกลายเป็นเศรษฐีย่อยๆ ไปแล้ว

เรื่องราวของคนที่ทำบุญได้อานิสงส์ทันตาอย่างพราหมณ์ผ้าผืนเดียวนี้เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไป แม้เหล่าสาวกเมื่อไม่มีเรื่องจะสนทนากัน ก็ยกเรื่องพราหมณ์ขึ้นมาเม้าธ์กันจนได้

พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนพระเหล่านั้นว่า ภิกษุทั้งหลายถ้าพราหมณ์นี้ถวายผ้าในปฐมยาม เขาจักได้รับพระราชทานสิ่งของอย่างละ ๑๖ ถ้าเขาถวายในมัชฌิมยาม เขาจักได้อย่างละ ๘ ที่เขาได้อย่างละ ๔ เพราะอานิสงส์แห่งการถวายทานในปัจฌิมยาม จะเห็นว่าความดีนั้นควรรีบๆ ทำ ถ้าขืนชักช้า จิตที่ศรัทธานั้นจะกลายเสีย แล้วจะไม่มีโอกาสทำความดี เสร็จแล้วได้ตรัส “โศลกธรรม” สั้นๆ ว่า “บุคคลควรรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิตจากความชั่ว เมื่อบุคคลชักช้าในการทำความดี จิตจะยินดีในความชั่วเสีย แล้วจะอดทำความดี ว่าอย่างนั้นเถิด”

พราหมณ์ผ้าผืนเดียว แกต่อสู้กับความตระหนี่อยู่เกือบทั้งคืน ในที่สุดก็สามารถเอาชนะตัวเองได้

ไม่มีการชนะอะไรที่ยิ่งใหญ่เท่ากับการชนะใจตนเองครับ จะลงนรกหรือขึ้นสวรรค์ก็อยู่ที่ใจนี้แหละครับ ขอฝากไว้ตรงนี้ด้วย...

   
ข้อมูล : บทความพิเศษ พราหมณ์ใจบุญคนยาก : ผู้ได้อานิสงส์ทันตาด้วยผ้าผืนเดียว หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 เมษายน 2557 14:41:09
.
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTRKA0S9fw4jCpQTF8nyRDaaqE4f-pwimdx2ZFH6klcn5az7moC)
 
๕๗. ปายาสิราชันย์
นักคิดนักปรัชญาผู้หลงผิด (๑)

เหตุการณ์เกิดหลังพุทธปรินิพพานประมาณกี่ปีก็ไม่บอก คัมภีร์พระพุทธศาสนาก็อย่างนี้แหละครับ มุ่งแสดงแต่สัจธรรม ไม่สนใจ “บริบท” แห่งกาลเวลาและสถานที่ ปล่อยให้ผู้ศึกษาค้นคว้าหาเอาเอง เรื่องราวของปายาสิราชันย์ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ส่วนสุตตันตปิฎกทีฆนิกาย ชื่อว่า ปายาสิราชัญญาสูตร

พระเจ้าปายาสิ ครองเมืองเสตัพยะ เมืองขึ้นของแคว้นโกศล ของมหาราชพระนามว่าปเสนทิโกศล พระเจ้าปายาสิเป็นมัจฉาทิฐิ คือมีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าชาติก่อนชาติหน้าไม่มี บุญบาปไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี

เนื่องจากปายาสิเป็นนักคิด นักปรัชญา กว่าจะตกลงปลงใจยึดมั่นในความคิดเห็นเช่นนี้ก็นาน มิใช่อยู่ๆ ก็สรุปเอาเอง พระองค์ได้ทำการค้นคว้าทดลองตามกรรมวิธีของพระองค์หลายอย่าง แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า บุญบาปไม่มีจริง นรกสวรรค์ไม่มีจริง  พวกสมณพราหมณ์สอนเรื่องเหล่านี้เพื่อตัวพวกเขาเองมากกว่า คือ สอนคนให้ทำบุญทำทาน ก็เพื่อพวกเขาจะได้รับประทานกินอยู่สบาย แล้วก็หลอกให้ผู้โง่เขลานำเอาของไปให้เพื่อหวังสุคติโลกสวรรค์

ปายาสิได้ทดลองอะไรบ้าง เอาไว้ให้ปายาสิท่านได้เล่าเองในภายหลัง ตอนนี้มาพูดถึงเหตุการณ์ทั่วไปก่อน

เมื่อพระองค์มีความเชื่ออย่างนี้ แล้วก็ไปรุกรานพวกสมณชีพราหมณ์ทั้งหลาย ว่าพวกท่านเหล่านั้นกำลังหลอกลวงประชาชนผู้โง่เขลา เมื่อสมณชีพราหมณ์ทั้งหลายได้โต้ตอบว่ามิได้หลออกลวงแต่ประการใด เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นไปได้จริง แต่เนื่องจากท่านเหล่านั้นไม่มีปฏิภาณปัญญาพอจะโต้ตอบหักล้างความคิดเห็นของปายาสิได้ จึงพากันถอยไปเป็นส่วนมาก

ปายาสิราชันย์ก็ยิ่งได้ใจ ประกาศท้าโต้วาทะกับนักปราชญ์คนใดก็ได้ในโลก อย่างว่าแหละครับ เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือปายาสิยังมีพระคุณเจ้ากุมารกัสสปะ

กุมารกัสสปะ เป็นนามของพระเถระอดีตสามเณรน้อย และอดีตโอรสบุญธรรมของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีความเป็นมาย่อๆ ว่า นางภิกษุณีนิรนามรูปหนึ่งตั้งครรภ์ก่อนมาบวช ครั้นบวชแล้วก็คลอดบุตร พระเทวทัตผู้ดูแลภิกษุณีรูปนั้นอยู่ไล่ท่านสึกหาว่าต้องปาราชิก

พระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระอุบาลีเถระเป็นประธานสอบสวน ปรากฏว่าภิกษุณีบริสุทธิ์ เมื่อคลอดบุตรออกมา พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบเรื่อง จึงทรงนำไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ขนานนามว่า กุมารกัสสปะ

หนูน้อยกุมารกัสสปะบวชเป็นสามเณรแต่อายุยังน้อย อยู่ในพระพุทธศาสนาเรื่อยมาจนเป็นภิกษุ เป็นผู้คงแก่เรียน มีปฏิสัมภิทาญาณแตกฉานในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ในเอตทัคคะ (ความเป็นเลิศ) ทางด้านเป็นพระธรรมกถึก แสดงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดาร

พระกุมารกัสสปะทราบเรื่องราวของพระเจ้าปายาสิ จึงไปพบเพื่อเตือนให้ละความเห็นผิดนั้น ปายาสิหรือจะยอมง่ายๆ ขอท้าโต้วาทะกับท่าน บอกว่า ถ้าพระเถระสามารถหาเหตุผลมาหักล้างความเห็นของเขา ทำให้เขายอมรับได้จะนับถือเป็นอาจารย์

และแล้วการโต้วาทะกันก็เกิดขึ้น

พระเถระถามว่า “เพราะเหตุใด มหาบพิตรจึงมีความเชื่อว่าบุญบาปไม่มี สวรรค์นรกไม่มี”

ปายาสิตรัสว่า “โยมได้ทดลองอยู่หลายครั้ง จนแน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มี”

กุมารกัสสปะ “ทดลองอย่างไร”

ปายาสิ “โยมเคยบอกให้คนที่ทำชั่วมากที่สุด ที่พวกสมณพราหมณ์สอนว่า ตายแล้วจะตกไปนรกแน่นอน สั่งเขาว่าถ้าตายไปตกนรกจริง ก็ให้กลับมาบอก เขาก็รับปาก แต่จนป่านนี้เขายังไม่มาบอกเลย แสดงว่าเขาไม่ได้ไปตกนรกจริง”

กุมารกัสสปะ “มหาบพิตร สมมติว่านักโทษที่ต้องโทษเด็ดขาด ถูกสั่งประหารชีวิต เขาจะขอว่า ขอให้ปล่อยเขาไปสั่งเสียลูกเมียสักสามสี่วันก่อนเถอะ แล้วเขาจะกลับมาให้ประหาร จะได้ไหม”

ปายาสิ “ไม่ได้สิ พระคุณเจ้า นักโทษเด็ดขาดไม่ได้รับอิสรภาพขนาดนั้น เกรงว่าเขาจะหนีไปเสีย ทางการจึงไม่อนุญาต”

กุมารกัสสปะ “เช่นเดียวกัน นักโทษเด็ดขาด ไม่ได้รับอิสรภาพแม้เพียงชั่วคราว สัตว์ตายไปเกิดในนรกก็ไม่มีอิสรภาพไปไหนมาไหนได้ ถึงแม้เขาจะไม่ลืมสัญญาที่ให้ไว้กับพระองค์ เขาก็ไม่สามารถมาบอกได้”

ปายาสิ “เรื่องนี้พอฟังขึ้น แต่โยมก็สั่งให้คนที่มีศีลมีธรรมที่พวกสมณพราหมณ์บอกว่า ตายแล้วต้องไปเกิดบนสวรรค์แน่นอน สั่งให้เขามาบอกบ้าง แต่เขาก็ไม่มาบอก เขาไม่ถูกกักกันอะไรมิใช่หรือ ทำไมจึงไม่มาบอกเล่า”

กุมารกัสสปะ “มีอยู่สองเหตุผล ประการที่หนึ่ง วันเวลาของมนุษย์และเทวดาไม่เท่ากัน วันหนึ่งของบนสวรรค์เท่ากับร้อยปีของมนุษย์ ถึงแม้คนผู้นั้นไม่ลืมสัญญากว่าจะกลับมาบอกมหาบพิตรก็กลายเป็นเถ้าถ่านไปนานแล้ว

อีกประการหนึ่ง ผู้ที่ไปเกิดเป็นเทวดาแล้วย่อมไม่ปรารถนาจะกลับมายังโลกมนุษย์อีก เพราะมนุษย์โลกน่ารังเกียจ ดุจคนตกหลุมคูถเน่าเหม็น คนช่วยให้ขึ้นมาอาบน้ำชำระกายให้สะอาด ประพรมด้วยน้ำหอมอย่างดี จะให้เขากระโดดลงไปในหลุมคูถอีก เขาย่อมไม่ปรารถนาจะลงไป ฉะนั้นแล”

ปายาสิ “โยมยังไม่เชื่ออยู่ดีที่ว่าคนเราตายไปแล้วไปเกิดใหม่ โยมก็ทดลองแล้ว ไม่เห็นเป็นตามที่พวกสมณพราหมณ์สอนกันเลย”

กุมารกัสสปะ “มหาบพิตรทรงทดลองอย่างไร”

ปายาสิ “โยมสั่งให้เอาโจรลงไปในหม้อใหญ่ๆ ทั้งเป็น ปิดฝาแล้วเอาหนังรัดให้แน่น เอาดินเหนียวฉาบให้มิดชิด ยกขึ้นเตาจุดไฟเผา เมื่อรู้ว่าตายแล้วก็ยกลงกะเทาะดินออก เปิดฝาค่อยๆ เฝ้าดูเพื่อจะดูว่า “ชีวะ” (วิญญาณ) มันออกทางไหนก็ไม่เห็นมีอะไรออกไป จึงสรุปได้ว่าโลกอื่นไม่มีแน่นอน

กุมารกัสสปะ “เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เวลามหาบพิตรบรรทมหลับในตอนกลางวัน มีมหาดเล็กนั่งเฝ้าอยู่ พระองค์ทรงพระสุบินนิมิต (ฝัน) ในกลางวัน ว่า พระองค์เสด็จไปเที่ยวป่าบ้าง เที่ยวชมรมณียสถานต่างๆ บ้าง มหาดเล็กที่นั่งเฝ้าอยู่เห็น “ชีวะ” ของพระองค์ออกไปทางไหนไหม”

ปายาสิ “ไม่เห็นพระคุณเจ้า”

กุมารกัสสปะ “นี่ขนาดมหาบพิตรยังทรงมีพระชนม์อยู่ ชีวะออกจากร่างทางไหนมหาดเล็กยังไม่เห็นเลย ไฉนจะเห็น “ชีวะ” ของคนตายแล้วเล่า

ปายาสิ “โยมยังทดลองอีกนะพระคุณเจ้า สั่งให้ชั่งน้ำหนักนักโทษประหาร แล้วก็ประหารโดยเอาเชือกรัดคอ พอเขาตายแล้วก็ชั่งน้ำหนักอีกครั้ง ปรากฏว่าศพน้ำหนักมากกว่าเมื่อเขายังมีชีวิตอีก ไหนว่าตายแล้ว ชีวะ (วิญญาณ) ออกจากร่างไง ทำไมจึงหนักกว่าตอนมีชีวิตเล่า

กุมารกัสสปะ “มหาบพิตร เหล็กที่เผาไฟร้อนย่อมเบากว่าเหล็กเย็นๆ ฉันใดร่างกายของคนเป็นสิ่งที่มีจิตวิญญาณ มีเตโชธาตุ ปฐวีธาตุ วาโยธาตุ อาโปธาตุ ย่อมเบากว่าศพ ฉันนั้น”

แม้ว่าพระเถระจะยกตรรกะหรือเหตุผลมาหักล้างอย่างไร ปายาสิราชันย์ยังไม่ยอมรับ ยังคงเสนอ “ผลงานวิจัย” ของพระองค์อยู่ต่อไป มีโปรเจ็กต์ใดบ้าง ไว้สัปดาห์หน้าค่อยว่ากันต่อไปครับ น่าสนใจทีเดียว...



ปายาสิราชันย์
นักคิดนักปรัชญาผู้หลงผิด (๒)

พระเจ้าปายาสิ รายงานให้พระกุมารกัสสปะทราบว่า พระองค์ทรงทดลองอีกวิธีหนึ่ง เพื่อพิสูจน์ว่าตายแล้วเกิดจริงหรือไม่ โดยสั่งให้ประหารนักโทษประหาร โดยไม่ให้กระทบกระทั่งผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก เพื่อจะดูว่า “ชีวะ” (วิญญาณ) ออกจากร่างทางไหน เมื่อโจรตายแล้วก็ให้จับพลิกคว่ำหงายดู ให้นอนตะแคง จับห้อยหัวลง ฯลฯ ก็ไม่เห็นช่องไหนที่ชีวะหรือวิญญาณออกจากร่างไป

นี่แสดงว่า ตายแล้วไม่ไปเกิดใหม่จริง เพราะไม่เห็นมีอะไรออกจากร่างไปเกิดใหม่

พระกุมารกัสสปะอธิบายเปรียบเทียบให้ฟังว่า บุรุษผู้หนึ่งเป่าสังข์เสียงไพเราะ ชาวบ้านนอกได้ยินก็มารุมถามว่าเสียงอะไร เขาบอกว่าเสียงสังข์ ชาวบ้านถามว่าเสียงออกมาจากทางไหน บุรุษนั้นตอบว่าออกมาจากสังข์ ชาวบ้านจึงจับสังข์มาพลิกไปมาเพื่อให้สังข์เปล่งเสียง สังข์ก็ไม่เปล่งเสียงอะไร ฉันใด ชีวะ ถ้ามันออกจากร่างจริง ก็ไม่สามารถเห็นได้ด้วยประสาทสัมผัส ฉันนั้น

หมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า ความจริงความคิดที่ว่าร่างกายแตกดับแล้ว วิญญาณออกจากร่างไปเกิดใหม่นั้น เป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา พระเจ้าปายาสิเชื่อตามที่สมณพราหมณ์สมัยนั้นสอนกัน จึงพยายามทดลองว่า คนเราเมื่อตายไปชีวะ หรือวิญญาณมันออกไปทางไหน เมื่อหาไม่พบ จึงมีความเข้าใจว่าไม่มีการตายเกิด

พระกุมารกัสสปะยกอุปมาอุปไมยให้ฟังว่า ถึงแม้ (สมมติว่า) วิญญาณมันออกจากร่างจริง วิญญาณมันไม่มีรูปร่าง มันจะมีร่องรอยแห่งการไปมาได้อย่างไร ดุจเสียงสังข์ที่ออกจากสังข์ก็รู้แต่เพียงว่ามันออกไป แต่มันออกไปทางไหนย่อมบอกไม่ได้

ฉันนั้น การยกเหตุผลมาชี้แจงนี้ เป็นเหตุผลทางตรรกะที่พอฟังแล้วเข้าใจได้ทันที แต่มิได้หมายความว่า พระพุทธศาสนาสอนการตายเกิดแบบนี้อันนี้พึงคำนึงในเรื่องนี้ให้ดีนะครับ

ปายาสิราชันย์ยังไม่ยอม ยังอ้างผลงานวิจัยต่อไปว่า เคยสั่งให้ชำแหละร่างของโจรทีละชิ้นๆ อย่างละเอียด เพื่อดูว่าชีวะมันอยู่ที่ไหนก็ไม่พบ แสดงว่าโลกอื่นไม่มีจริง ที่ว่าตายแล้วชีวะไปเกิดในโลกใหม่ย่อมเป็นไปไม่ได้

พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า “อาตมาภาพจะยกเรื่องราวให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง”

มีฤๅษีตนหนึ่งเป็นผู้นับถือการบูชาไฟในป่า มีลูกศิษย์เป็นเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง วันหนึ่งฤๅษีจะไปธุระข้างนอกอาศรม สั่งลูกศิษย์ให้ดูแลไฟอย่างดี อย่าให้ดับ ถ้าไฟดับก็ให้ก่อขึ้นมาใหม่

ฤๅษีคล้อยหลังไปไม่นาน เด็กมัวแต่เล่นเพลินไฟก็ดับ เด็กน้อยจึงเอาไม้สีไฟสองอันมาสีกัน สีอย่างไรก็ไม่มีไฟเกิดขึ้น วันก่อนเห็นหลวงพ่อเอาไม้สีกันทำไมไฟมันจึงมี วันนี้ทำไมไม่มี

เขาคิดแล้วจึงเอามีดมาผ่าไม้สีไฟออกเป็นสองซี่ สามซี่ สี่ซี่ จนกระทั่งสับเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก็ไม่มีไฟ จึงเอาโขลกกับครกจนละเอียดเป็นผงโปรยลงดินก็ไม่มีไฟเกิดขึ้น เขาจึงก่อไฟไม่ได้

ฤๅษีกลับมา เมื่อเห็นว่าเขาเป็นเด็กโง่ ไม่รู้จักวิธีหาไฟที่ถูกต้อง จึงนำไม้สีไฟก่อไฟให้ดู ฉันใดก็ดี การที่มหาบพิตรหาชีวะเพื่อพิสูจน์โลกหน้าเท่าที่ทำมานี้ผิดวิธีแสวงหาอย่างไรก็ไม่มีทางทราบข้อเท็จจริง เพราะมันผิดมาแต่ต้นแล้ว

ผิดมาแต่เมื่อใด ก็ผิดมาแต่แรกเริ่มที่คิดว่าคนเราเมื่อตายแล้ว ชีวะหรือวิญญาณมันออกจากร่างไปเกิดใหม่ ผิดมาตั้งแต่เข้าใจว่า ชีวะหรือวิญญาณ เป็นสิ่งกายสิทธิ์ที่อมตะสิงอยู่ในร่างกาย เมื่อร่างกายแตกดับก็ออกจากร่างไป หาที่เกิดใหม่ เหมือนเดินออกจากบ้านที่ถูกไฟไหม้ ฉะนั้น

ความเชื่ออย่างนี้ผิด เมื่อเชื่อผิด เวลาหาวิธีพิสูจน์มันก็พิสูจน์ผิดวิธี เมื่อพิสูจน์ผิดวิธี คำตอบที่ได้ก็ย่อมผิด ดุจดังปายาสิราชันย์กระทำมานั้นแล

พระกุมารกัสสปะได้ชี้แจงให้พระเจ้าปายาสิทรงเข้าใจว่า ความเห็นที่ถูกต้องคืออะไร ให้ละความเห็นผิดแต่เก่าก่อนเสีย ปายาสิท่านก็เห็นด้วยที่จะสละทิฐิดั้งเดิมหันมานับถือพระพุทธศาสนา แต่ติดที่พระองค์เองเป็นคนดังในสังคม จึงบอกขัดข้องพระองค์ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลและพระราชาแคว้นอื่นก็ทรงทราบว่าโยมมีความเห็นดังกล่าวมา ครั้นจะสละความเห็นนั้นเสีย ก็ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่มีจุดยืน

พระกุมารกัสสปะจึงอุปมาให้ฟัง ๔ ข้อดังนี้
๑. กองเกวียนสองกอง กองละประมาณ ๕๐๐ เล่มเกวียน ออกเดินทางผ่านที่กันดาร พวกที่ไปก่อนได้รับคำบอกเล่าจากคนที่สวนมาว่า ข้างหน้าน้ำและหญ้าบริบูรณ์ จึงทิ้งหญ้าและน้ำหมด ปรากฏว่าโคต้องอดอยากและล้มตายจำนวนมาก ส่วนพวกที่ไปคราวหลังไม่เชื่อคำหลอกของคนที่สวนทางมา จึงบรรลุถึงที่หมายโดยปลอดภัย
๒. ชายเลี้ยงหมูคนหนึ่ง ห่อเอาขี้หมูแห้งนึกว่าเป็นอาหารหมู เทินศีรษะกลับบ้าน พอฝนตกขี้หมูละลายไหลย้อยลงบนร่างกายของคนนั้น แม้คนเขาจะบอกว่าเทินขี้หมูไปทำไม เขาเถียงว่าเป็นอาหารหมูต่างหากไม่ใช่ขี้หมู
๓. นักเลงสกาสองคน คนหนึ่งพอเห็นท่าจะแพ้ ก็อมลูกสกาที่จะทำให้แพ้เสีย คนที่สองเอาอย่างบ้าง แต่บังเอิญอมลูกสกาที่มีพิษแล้วเสียชีวิต
๔. บุรุษสองคนเดินทางไกลด้วยกัน ผ่านไปพบป่าน ก็หอบป่านเดินไป ไปพบผ้าที่ทอจากป่าน พบผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่ว เงิน ทอง ตามลำดับ คนแรกก็ทิ้งของมีค่าน้อย ถือเอาทองอันมีค่ามากกว่ากลับบ้าน แต่อีกคนเห็นว่าหอบป่านมาไกลแล้ว ก็ไม่ยอมทิ้ง และไม่ยอมเอาสิ่งอื่น

ทั้งสองกลับไปถึงบ้าน คนแรกได้รับความชื่นชมจากญาติพี่น้อง คนที่สองถูกคนในครอบครัวตำหนิว่า โง่เขลา ไม่รู้จักทิ้งของไร้ค่าถือเอาของมีค่า

พระกุมารกัสสปะยกขึ้นมาเล่าก็กล่าวต่อว่า พระองค์ก็เช่นเดียวกับคนทั้งสี่นั้นแหละ ไม่รู้จักทิ้งความเห็นผิดเป็นโทษ ความเห็นผิดที่จะสร้างความเดือดร้อนแก่พระองค์เองและคนอื่น ยึดถือเอาความเห็นถูกที่มีประโยชน์ ในที่สุดปายาสิราชันย์ก็ยินยอม ประกาศตนเป็นอุบาสกถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พระเจ้าปายาสิเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ เมื่อมาศึกษาพระพุทธธรรมอย่างถ่องแท้แล้ว ย่อมเป็นกำลังในการประกาศศาสนาไม่น้อยทีเดียว แม้คัมภีร์จะไม่บอกไว้ว่าหลังจากเป็นพุทธมามกะแล้ว พระเจ้าปายาสิทำอะไรบ้างก็ตาม ...

   
ข้อมูล : บทความพิเศษ ปายาสิราชันย์ : นักคิดนักปรัชญาผู้หลงผิด โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์

.
(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRMxV8A7b8ybssn9gV8fYHF7Pppy2BtpAskKqE18GJaSJgkBI1R)
 
๕๘. กุมภโฆสกะ
เศรษฐีผู้ตกยาก

เหตุการณ์เกิดขึ้นที่กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ของพระมหาราช พระนามว่าพิมพิสาร คราวหนึ่งเกิดอหิวาตกโรคร้ายแรง ชาวบ้านเรียกโรคระบาดชนิดนี้ว่า “โรคห่า” เกิดขึ้นเมื่อใด ประชาชนมีอันต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก

เศรษฐีเมืองราชคฤห์ป่วยด้วยโรคระบาดนี้ ก่อนตายได้บอกให้ลูกชายหนีไปที่อื่น รักษาตัวให้รอดก่อน เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วค่อยกลับมา เศรษฐีได้บอกที่ฝังขุมทรัพย์แก่ลูกชายก่อนสิ้นชีวิต  ภุมภโฆสกะหนีไปอยู่ต่างเมืองเป็นเวลา ๑๒ ปี เมื่อกลับมายังเมืองราชคฤห์อีก ไม่มีใครจำเขาได้

เขาคิดจะไปขุดทรัพย์ที่บิดาบอกก็ไม่กล้าทำ เพราะกลัวคนอื่นจะหาว่าเขาลักทรัพย์คนอื่น จึงได้แค่แอบไปดู รู้ว่าทรัพย์ยังอยู่ก็ใจชื้น รอว่าวันเวลาอันสมควรมาถึงเมื่อใดค่อยขุดทรัพย์ขึ้นมาใช้ก็แล้วกัน

เขาไปรับจ้างคนอื่นยังชีพ เขาได้งานแปลกประหลาดทำ คือ การปลุกคนให้ตื่นขึ้นมาทำงานแต่เช้าตรู่ เรียกว่า เป็นนายยามคอยปลุกคน ว่าอย่างนั้นเถอะ

เมื่อถึงเวลาจวนสว่าง เขาก็จะเดินตะโกนปลุกผู้คนจากบ้านนี้ไปบ้านโน้นด้วยเสียงอันดังว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย ได้เวลาตื่นขึ้นมาทำงานแล้ว จงลุกขึ้นมาหุงข้าวหุงปลาเถิด ใครใคร่ทำบุญตักบาตรก็จงเตรียมภัตตาหารไว้ใส่บาตร”

เขาได้ปฏิบัติหน้าที่นี้มาด้วยความซื่อสัตย์ รับเงินจากนายจ้างไม่กี่มากน้อย เพียงพอยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น

วันหนึ่ง เขาเดินตะโกนปลุกชาวบ้านไปใกล้พระราชวัง พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับเสียงของเขา จึงตรัสกับข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดว่า “เอ๊ะ นั่นเสียงคนมีเงินนี่”

ว่ากันว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงเชี่ยวชาญในศาสตร์ชื่อว่า “สัพพรวศาสตร์” (วิชาว่าด้วยเสียงร้องของคนและสัตว์ทุกชนิด) คือ ฟังเสียงคนพูดก็บอกได้ว่าใครเป็นอย่างไร ฟังเสียงสัตว์ต่างๆ ก็เข้าใจว่ามันหมายความว่าอย่างไร

ไม่ทราบว่าทรงศึกษามาจากสำนักไหน แต่เชื่อว่าเรื่องนี้คงมีจริง เพราะได้ทราบว่าพระวิปัสสนาจารย์บางรูปท่านส่งเสียงนกเสียงกาคุยกันเข้าใจ

ในตำนานเรื่องวันสงกรานต์ก็เล่าถึงหนุ่มธรรมบาล หลังจากครุ่นคิดคำตอบของกบิลพรหมไม่เข้าใจ นอนหมดอาลัยตายอยากว่าตนคงถูกตัดหัวแน่นอน ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งได้ยินเสียงนกสองตัวคุยกันเกี่ยวกับปริศนาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาล แล้วตัวหนึ่งก็เฉลยคำตอบให้อีกตัวฟัง ธรรมบาลฟังภาษานกเข้าใจ จึงจำเอาไปตอบ และชนะกบิลพรหมในที่สุด เรื่องนี้ก็แต่งให้ธรรมบาลเป็นผู้เชี่ยวชาญใน “สัพพรวศาสตร์” ดุจเดียวกับพระเจ้าพิมพิสาร

นางสนมได้ยินดังนั้น จึงสั่งให้คนตามไปดูเจ้าของเสียงว่าเป็นคนมีทรัพย์ดังที่ในหลวงรับสั่งหรือไม่

คนของนางไปแล้วกลับมารายงานว่านายคนนั้นเป็นคนยากจน มิได้ร่ำรวยดังในหลวงรับสั่ง พระสนมคิดว่า ในหลวงคงมิได้ตรัสเหลวไหลแน่นอน เพื่อพิสูจน์ให้รู้แน่ จึงกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตพาพระธิดาไปพิสูจน์ความจริงโดยรับปากว่า ถ้าเป็นจริง จะนำทรัพย์ของบุรุษหนุ่มนั้นมาถวายพระราชาจนได้

นางพร้อมพระธิดาใช้อุบายไปขออาศัยอยู่ที่บ้านกุมภโฆสกะ ใช้มารยาหญิงห้าร้อยเล่มเกวียน (อาจมากกว่านั้น) หลอกให้กุมภโฆสกะได้เสียกับลูกสาวของตนจนได้ หลังจากนั้น พระสนมก็สงสาร ไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ผู้คนในละแวกนั้นจัดมหรสพขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยให้ทุกคนออกเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้ใครขัดขืนจะถูกลงพระอาญา

พระสนมผู้ซึ่งบัดนี้เป็นแม่ยายกุมภโฆสกะรบเร้าให้ไปเขาหาเงินมาให้จงได้ เขาบอกว่าจะไปหามาจากไหนก็เห็นๆ อยู่ว่าหาเช้ากินค่ำอย่างนี้ จะไปเอาเงินมาจากไหน
“ลูกพูดอย่างนั้นก็ไม่ถูก นี่เป็นพระบรมราชโองการนะ” แม่ยายเสียงแข็ง
“ข้อนั้นน่ะรู้อยู่ แต่จะไปหาเงินมาจากไหน” เขากล่าว
“ไม่รู้ล่ะไปหามาให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะต้องถูกลงพระอาญานะ” แม่ยายขู่
เขากลัวจะถูกลงพระอาญา จึงจำใจออกจากบ้าน แอบไปขุดเอาทรัพย์จำนวนที่ต้องการมา พระสนมก็ส่งเงินจำนวนนั้นเข้าวังหลวง

มีพระบรมราชโองการให้ผู้คนละแวกนั้นจัดมหรสพในทำนองนี้หลายครั้ง กุมภโฆสกะก็ไปขุดเอาทรัพย์มาให้แม่ยายทุกครั้ง ทรัพย์เหล่านั้นถูกส่งมาไว้ในวังทั้งหมด

วันดีคืนดี ราชบุรุษมาตามกุมภโฆสกะไปเฝ้าพระราชา เขาตกใจมาก ไม่รู้ว่าตนทำผิดอะไร จึงต้องถูกจับตัวไป พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้ขนทรัพย์ของเขามากองไว้ต่อหน้า แล้วตรัสถามว่า “ทรัพย์ทั้งหมดนี้เป็นของเธอ พระสนม (แม่ยายเธอ) ส่งมาให้ เธอยังมีทรัพย์อีกใช่ไหม”

เมื่อไม่สามารถจะปิดบังได้ เขาจึงรับว่าเป็นความจริง
“ทำไมเธอจึงซ่อนทรัพย์ไว้มากมายอย่างนี้ ไม่นำออกมาใช้” พระราชารับสั่งถาม

กุมภโฆสกะกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้ากลับมามาตุภูมิหลังจากหนีไปเป็นเวลา ๑๒ ปี ไม่มีใครจำได้ ครั้นจะขุดทรัพย์ออกใช้ เกรงว่าคนอื่นจะไม่เชื่อว่าทรัพย์นั้นเป็นมรดกของข้าพระพุทธเจ้า จึงจำต้องทำงานรับจ้างเขาเลี้ยงชีพไปวันๆ พระพุทธเจ้าข้า”

พระเจ้าพิมพิสาร รับสั่งให้ขนทรัพย์ทั้งหมดเข้าไปกองไว้ในวัง รวมได้ประมาณ ๔๐ โกฏิ แล้วทรงคืนทรัพย์ทั้งหมดให้แก่เขา สถาปนาเขาเป็นเศรษฐีประจำเมืองราชคฤห์คนหนึ่ง พร้อมกับพระราชทานพระราชธิดาให้เป็นภริยาของเขาอย่างเป็นทางการอีกด้วย

กุมภโฆสกะเศรษฐี ความจริงก็เป็นลูกเศรษฐีมาก่อน ภายหลังตกยาก ก็อดทนทำงานรับจ้างเลี้ยงชีพไป เมื่อได้โอกาสเหมาะจึงได้เปิดเผยสถานภาพของตนได้เป็นเศรษฐีประจำเมืองราชคฤห์

นัยว่าเขาเป็นเศรษฐีใจบุญ ทำบุญทำทานเสมอมั่นคงในพระรัตนตรัย สดับฟังธรรมเป็นนิจศีล ท้ายที่สุดได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อคราวตกทุกข์ก็ไม่ยอมแพ้ เมื่อคราวมั่งมีก็มิได้ลืมตน ทำบุญกุศลไว้ให้มาก เพื่อเป็นที่พึ่งพิงในสัมปรายภพ

นับว่าเป็นชีวิตที่ควรเอาเยี่ยงอย่างแท้จริงแล...

   
ข้อมูล : บทความพิเศษ กุมภโฆสกะ: เศรษฐีผู้ตกยาก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTeASZXd0Kw0hHRHa4Q0rr6-6cKnBIksrOjWzW8HVhjTO2sC5T8sg)
๕๙. ตปุสสะ ภัลลิกะ
อุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา

ในพระพุทธศาสนานั้น มีอุบาสกคนแรกอยู่ชุดแรก คือ สองพ่อค้าจากอุกกลชนบท นามว่า ตปุสสะ และภัลลิกะ

ชุดที่สอง คือ บิดามารดาของยสะ เฉพาะตปุสสะ และภัลลิกะ เรียกว่าเป็น “เทวฺวาจิกอุบาสก” (อุบาสกเปล่งวาจาถึงรัตนะสองเป็นสรณะ)

ทำไมต้องถึงเพียงสองรัตนะ ก็เพราะตอนนั้นพระพุทธเจ้ายังมิได้ออกไปประกาศพระพุทธศาสนา มีแต่พระพุทธ และพระธรรม พระสงฆ์สาวก (อริยสงฆ์) ยังไม่มี สองพ่อค้านี้จึงได้มีโอกาสนับถือเพียงสองรัตนะ

สองพ่อค้านี้มาจากไหน พระคัมภีร์กล่าวว่า หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงยังกาลเวลาให้ล่วงไปภายใต้ต้นโพธิ์ ๗ วัน เสวยวิมุตติสุข จากนั้นในสัปดาห์ที่สองก็ไปประทับอยู่ที่ใต้ต้นไทร (อชปาลนิโครธ) ๗ วัน จากนั้นก็ไปประทับใต้ต้นจิก (มุจลินท์) และต้นเกด (ราชายตนะ) แห่งละ ๗ วัน

พระไตรปิฎกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นโพธิ์ และต้นไม้อื่นๆ ในปริมณฑล เพียง ๔ สัปดาห์เท่านั้น แต่อรรถกถาเพิ่มเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์ (โดยไม่ทราบจุดประสงค์)

ขณะนั้นพ่อค้าสองคนนาม ตปุสสะ และภัลลิกะ เดินทางมาจากอุกกลชนบท ว่ากันว่าเทวดาที่เคยเป็นญาติสายโลหิตกันในชาติปางก่อน มาดลใจให้เข้าไปหาพระพุทธเจ้า

ทั้งสองคนเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะ ได้น้อมนำเอาข้าวสัตตุผง (มันถะ) และสัตตุก้อน (มธุบิณฑิกา) ไปถวาย กล่าวว่า “ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับสัตตุผลและสัตตุก้อน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองตลอดกาลนานเทอญ”

พุทธประวัติเขียนว่า “ข้าวสัตตุก้อน และสัตตุผง” คือสัตตุก้อนมาก่อน สัตตุผงมีทีหลัง (แต่ผมดูศัพท์แล้ว คำว่า มันถะ น่าจะเป็นสัตตุผง มธุบิณฑิกา น่าจะเป็นสัตตุก้อน จึงแปลว่า “สัตตุผงและสัตตุก้อน”)

ขณะนั้นพระพุทธองค์ทรงดำริว่า เราจะรับสัตตุผงและสัตตุก้อนอย่างไรหนอ (พระพุทธองค์ไม่มีบาตร) ทันใดนั้น ท้าวมหาราชทั้งสี่รู้พระปริวิตกของพระพุทธองค์ ต่างก็นำบาตรศิลาเข้าไปถวาย บาตรมีถึง ๔ ลูก จะทำอย่างไรล่ะทีนี้

พระองค์จึงทรงอธิษฐานประสานบาตรทั้ง ๔ ลูกให้เป็นลูกเดียว ทรงรับสัตตุผงและสัตตุก้อนจากพ่อค้าทั้งสอง แล้วเสวยข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนนั้น

พ่อค้าทั้งสองนั้นได้กล่าวขอถึงรัตนะสองเป็นสรณะว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองขอถึงพระผู้มีพระภาคและพระธรรมว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองว่าเป็นอุบาสก ผู้เปล่งวาจาถึงรัตนะสองตั้งแต่วันนี้จนตลอดชีวิตเถิด”

ข้อความจากพระไตรปิฎก (วินัยมหาวรรค ๔/๖/๕-๖) มีเท่านี้ มีข้อความที่ควรหาความรู้เพิ่มเติม ก็คือพ่อค้าสองคนนี้เป็นใคร อุกกลชนบทนั้นอยู่ที่ไหน และสิ่งที่ถวายนั้นคืออะไรแน่ ก็เห็นจะต้องหาความสว่างจากคัมภีร์อรรถกถา

ลองเปิดอรรถกถาดู ก็ได้ความเพียงว่า สองพ่อค้านี้เป็นพี่น้องกัน (ภาตโร) มาจาก “อุกกลชนบท” ไม่บอกต่อว่าอยู่ส่วนไหนของชมพูทวีป กำลังเดินทางไปมัชฌิมประเทศ (ส่วนกลางของชมพูทวีป) เพื่อค้าขาย และสิ่งของที่ถวาย ท่านอธิบายนิดหน่อยว่า สัตตุที่ไม่จับเป็นก้อน กับสัตตุที่จับกันเป็นก้อน กับสัตตุที่จับกันเป็นก้อน โดยผสมกับเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เป็นต้น

จริงอย่างผมเดา มันถะ คือ สัตตุผง มธุบัณฑิกา คือ สัตตุก้อน

น่าสนใจเข้าไปอีกก็คือ อรรถกถาได้เพิ่มเติมข้อมูลว่า พ่อค้าสองคนพี่น้องกราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า จากนี้ไปพวกเขาจะกราบไหว้และลุกรับพระพุทธองค์โดยวิธีใด พูดง่ายๆ ว่าจะได้อะไรเป็นที่เคารพสักการะเมื่อจากพระองค์ไปแล้ว

พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร เส้นพระเกศา (ไม่บอกว่ากี่เส้น) หลุดติดพระหัตถ์มา พระองค์ประทานพระเกศานั้นให้แก่สองพี่น้อง ตรัสว่า เธอทั้งสองจงรักษาไว้ให้ดี ทั้งสองได้พระเกศาธาตุนั้นแล้ว ดีใจดังถูกรดด้วยน้ำอมฤต กราบถวายบังคมลาพระพุทธองค์ หลีกไป

ข้อความในอรรถกถามีเพียงเท่านี้ สรุปว่า ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ได้เป็นอุบาสกคู่แรกที่สมาทานพระพุทธองค์และพระธรรมเป็นสรณะ อันเรียกว่า “เทวฺวาจิกอุบาสก” นั้นแล

ยังครับ ยังไม่จบ คัมภีร์พม่าแต่งต่อ ให้ข้อมูลเพิ่มอีก ส่วนท่านผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของท่านนะครับ อย่าไปว่าพม่าเขาว่า “ขี้ตู่” เพราะไทยเราขี้ตู่ในบางเรื่องเหมือนกัน (เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง)

พม่าแต่งต่อว่า สองพี่น้องนั้นเป็นชาวพม่า เดินทางมาจากหงสาวดีไปค้าขายที่ชมพูทวีป ได้ถวายสัตตุผง สัตตุก้อน แก่พระองค์ และได้รับประทานพระเกศาเป็นธาตุที่ระลึก ทั้งสองได้นำไปสร้างเจดีย์บรรจุไว้บูชาพระเจดีย์นั้น ชื่อว่า “ชเวดากอง” ว่ากันอย่างนั้น

ส่วนที่ว่าไทยเราก็ตู่บางเรื่องเหมือนกัน คือตอนพญานาคปลอมมาบวชถูกจับได้ว่าเป็นสัตว์เดียรฉาน พระพุทธองค์รับสั่งให้สึก เพราะเพศบรรพชิตไม่เหมาะแก่สัตว์เดียรฉาน พระคัมภีร์พูดแค่นี้ แต่คัมภีร์ไทยก็มาแต่งเพิ่มว่า ไหนๆ ก็ไม่มีโอกาสบวชต่อไปแล้ว ขอฝากชื่อไว้ในพระศาสนาด้วยเถิด ต่อไปใครมาบวชก็ขอให้เรียกผู้จะบวชนั้นว่า “นาค” เถิด พระเจ้าข้า ว่ากันว่าพระพุทธองค์ทรงรับคำของพญานาค

ด้วยเหตุนี้แล เราจึงเรียกคนที่จะบวชว่า “นาค” ว่าอย่างนั้น เห็นไหมพี่ไทยก็จอมต่อเติมเหมือนกัน...

   
ข้อมูล : บทความพิเศษ ตปุสสะ ภัลลิกะ : อุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 พฤษภาคม 2557 10:34:27
.

(http://2.bp.blogspot.com/-6C-psiJSO-8/TlyajcA4LmI/AAAAAAAAA3M/0qHN8-QGevo/s1600/%25E0%25B9%2581%25E0%25B8%259A%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%2587%25E0%25B8%259E%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B0%25E0%25B8%259A%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B5%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%2598%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2595%25E0%25B8%25B8.jpg)
๖๐. โทณพราหมณ์  
ผู้แจกพระบรมสารีริกธาตุ

เมื่อครั้งเจ้ามัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ตั้งใจจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดไปประดิษฐานไว้ให้ประชาชนชาวเมืองกุสินาราถวายการบูชา ก็มีกษัตริย์จากต่างเมืองส่งทูตมาขอแบ่ง

ตอนแรกเหล่ามัลลกษัตริย์ไม่ต้องการแบ่ง ร่ำๆ จะเกิดสงครามแย่งพระบรมสารีริกธาตุ พอดีพราหมณ์เฒ่าผู้คงแก่เรียน นามว่า โทณะก็โผล่ขึ้นมาห้ามไว้ แสดงสุนทรพจน์ได้จับใจมาก สามารถ “กล่อม” ให้บรรดาผู้ครองนครทั้งหลายสงบอารมณ์และยินยอมให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุเท่าๆ กัน โดยมอบความไว้วางใจแก่โทณพราหมณ์ให้ช่วยดำเนินการให้

โทณพราหมณ์เป็นใคร มักจะไม่ค่อยมีใครสนใจใคร่รู้

ถ้าเปรียบก็ดุจการดูหนัง หนังดำเนินเรื่องมาอย่างสนุกตื่นเต้น ตัวละครต่างๆ ก็แสดงบทบาทของตนมาตามลำดับ มีอยู่ฉากเดียวสั้นๆ มีตัวละครตัวหนึ่งโผล่เข้ามาแล้วก็หายไป ดูหนังจบแล้ว คนก็ลืมตัวละครตัวนั้นสนิทใจเพราะแสดงบทบาทอะไรไม่มาก ฉันใด บทบาทของโทณพราหมณ์ก็คงคล้ายๆ กัน ทำนองนี้

เรารู้ว่าสงครามเลือดครานั้นไม่เกิดขึ้น ก็เพราะว่าฝีปากของโทณพราหมณ์ แต่เมื่อเรื่องสงบไปแล้ว ต่างก็ลืมเลือนโทณพราหมณ์จนหมดสิ้น

โทณพราหมณ์คือใคร ในพระไตรปิฎกมีเรื่องของโทณพราหมณ์บ้างไหม

เท่าที่ทราบมีอยู่สูตรหนึ่ง ชื่อ โทณสูตร พระพุทธเจ้าตรัสโต้ตอบกับพราหมณ์ชื่อโทณะ

วันเวลาที่เกิดเหตุนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินทางไกลถึงเขตแดนระหว่างเมืองอุกกัฏฐากับเมืองเสตัพยะต่อกัน ขณะนั้นพราหมณ์ชื่อโทณะ เดินมาข้างหลังเห็นรอยพระบาทที่ประทับอยู่ตามทาง พิจารณาลักษณะของพระบาทอันสมบูรณ์ด้วยเครื่องหมายที่เป็นมงคล จึงประทับใจ คิดว่าท่านผู้เป็นเจ้าของรอยเท้านี้มิใช่คนธรรมดา จึงตามไปจนทัน แล้วได้สนทนากับพระองค์

พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ความจริงพระพุทธองค์ ทรงมีพระประสงค์จะให้โทณพราหมณ์ไปทัน และได้ทูลถามปัญหา จึงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่สมบูรณ์ด้วยพระลักษณะที่เป็นมงคลไว้ให้พราหมณ์เห็นดุจดังประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ให้มาคัณฑิยพราหมณ์เห็น ฉะนั้น

เรื่องราวเป็นฉันใด เอาไว้เล่าต่อเมื่อมีโอกาสก็แล้วกัน ตอนนี้มาต่อเรื่องโทณพราหมณ์ พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวอีกว่า พระองค์ทรงต้องการให้โทณพราหมณ์นี้เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้พระองค์ หลังจากพุทธปรินิพพาน วางแผนไว้แต่เนิ่นๆ ปานนั้นเชียว

โทณพราหมณ์กราบทูลถามว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นเทวดาหรือเปล่า”
“เรามิใช่เทวดา” พระพุทธองค์ตรัสตอบ
“ถ้าเช่นนั้นท่านคงเป็นคนธรรพ์”
“เรามิใช่คนธรรพ์”
“ถ้าเช่นนั้นท่านคงจะเป็นยักษ์”
“เรามิใช่ยักษ์”
“ถ้าเช่นนั้น ท่านคงจะเป็นมนุษย์”
“เรามิใช่มนุษย์”

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสดังนี้ โทณพราหมณ์ก็ยิ่งสงสัยหนักขึ้น เทวดาก็ไม่เป็น คนธรรพ์ ยักษ์ และมนุษย์” ก็ไม่เป็น แล้วเป็นอะไร จึงกราบทูลถาม พระพุทธองค์ตรัสอธิบายว่า “กิเลสเหล่าใดที่พาให้เกิดเป็นเทวดา คนธรรพ์ ยักษ์ และมนุษย์ กิเลสเหล่านั้นเราได้ละหมดแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงมิใช่เทวดา คนธรรพ์ ยักษ์ และมนุษย์”
“แล้วท่านผู้เจริญเป็นอะไร” คำถามสุดท้ายจากปากของพราหมณ์
“เราเป็นพุทธะ (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน)” พระพุทธองค์ตรัส แล้วตรัสพระคาถา (โศลกธรรม) บทหนึ่งว่า กิเลสที่ทำให้เกิดเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ เราละได้หมดแล้ว ดอกบุณฑริกเจริญในน้ำ ไม่เปียกน้ำ ฉันใด เราเกิดในโลก แต่ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินของโลก เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพุทธะ

พระสูตรนี้บันทึกไว้เพียงแค่นี้ ไม่ได้บอกด้วยว่าหลังจากสนทนากับพระพุทธองค์แล้ว โทณพราหมณ์ได้บรรลุมรรคผลอะไรหรือไม่ แต่อรรถกถาบอกต่อว่า โทณพราหมณ์ได้บรรลุผล ๓ (โสดาปัตติผล สกทาคามิผล และอนาคามิผล) คือ เป็นพระอนาคามี นี้เป็นทรรศนะของพระอรรถกถาจารย์ครับ ในพระไตรปิฎกไม่ได้ระบุเอาไว้ เปิดพจนานุกรมอสาธารณนาม โดย ดร.มาลาลา เสเกรา ท่านบอกไว้ดังนี้ครับ

โทณพราหมณ์พบพระพุทธเจ้าครั้งแรกระหว่างเมืองอุกกัฏฐาและเสตัพยะดังกล่าวแล้ว หลังจากฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว ได้บรรลุอนาคามิผล และได้แต่งโศลกสรรเสริญพระพุทธคุณจำนวนพันคำ โศลกนี้ปรากฏชื่อว่า โทณคัชชิตา

มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สถานะของโทณพราหมณ์นั้นสูงมาก เป็นอาจารย์ที่ประชาชนให้ความเคารพมากมาย

วันดีคืนดีเหล่ากษัตริย์และพราหมณ์ในชมพูทวีปจะมาประชุมกัน ฟังโอวาทโทณพราหมณ์เป็นครั้งคราว เพราะความมีชื่อเสียง และความเป็นครูของคนทุกชนชั้นนี้เอง การปรากฏตัวของโทณพราหมณ์ เมื่อคราวสงครามแย่งพระบรมสารีริกธาตุกำลังจะเกิด จึงมีความหมายมาก ทุกคนพอเห็นโทณพราหมณ์ จึงเกรงใจ และยินยอมทำตามประสงค์ของโทณพราหมณ์

พุทธประวัติตอนนี้มีว่า ข่าวพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแพร่กระจายไปยังนครต่างๆ อย่างรวดเร็ว ผู้ครองนครทั้ง ๗ ส่งคณะทูตมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปสักการบูชา อันประกอบด้วย
๑. พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งกรุงราชคฤห์
๒. กษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายแห่งเมืองไพศาลี
๓. กษัตริย์ศากยะแห่งเมืองกบิลพัสดุ์
๔. กษัตริย์โลกิยะแห่งรามคาม
๕. มัลลกษัตริย์ทั้งหลายแห่งเมืองปาวา
๖. มหาพราหมณ์แห่งเมืองเวฏฐทีปกะ
๗. เจ้าพุลิ (ฐลิยะ) แห่งเมืองอัลลกัปปะ

เหล่ามัลลกษัตริย์ปฏิเสธแข่งขันไม่ยอมแบ่ง สงครามเลือดกำลังจะระเบิดขึ้น พอดีพราหมณ์ นามว่า โทณะ มาเจรจาขอให้สงบศึก และรับอาสาแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน แล้วมอบให้ผู้ครองนครทั้ง ๘ นำไปสักการบูชาที่บ้านเมืองของตน

วาทะของโทณพราหมณ์ที่สามารถ “กล่อม” คณะทูตจากเมืองทั้งหลาย มีดังนี้ครับ
สุณนฺตุ โภนฺโต มม เอก วากฺยํ อมฺหาก พทฺโธ อหุ ชนฺติวาโท

นหิ สาธุ ยํ อุตฺตมปุคฺลสฺส สรีรภาเค สย สมฺปหาโร

สพฺเพว โภนฺโต สหิตา สมคฺ คาสมฺโมทมานา กโรมฏฐภาเค

วิคฺถาริกา โหนฺตุ ทิ สาสุธูป พหู ชนา จกฺขุมโต ปสนฺนา

คำแปลจาก ปฐมสมโพธิกถา จะไพเราะกว่าครับ ผมคัดลอกมาดังนี้
“ท่านทั้งหลายจงสดับคำแห่งเราสักครู่หนึ่ง ซึ่งพระบรมครูแห่งเราย่อมตรัสเทศนาซึ่งขันติธรรมว่าประเสริฐแล ซึ่งมาเกิดยุทธประหารในที่พระสารีริกธาตุ อันศาสดาปรินิพพานนี้ บ่มิดี บ่มิสมควร

ดูกรท่านทั้งหลาย จงอดกลั้นเสียซึ่งโทษ จึงคิดประนีประนอมพร้อมหฤทัยยินดีด้วยกัน เราจะแบ่งปันพระบรมธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ให้แก่บพิตรทั้งปวงตามควร องค์ละส่วนเสมอกัน จะได้อัญเชิญไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ทุกพระนคร เป็นที่ให้ไหว้บูชาแห่งมหาคนในทิศทั้งหลายต่างๆ”

“เมื่อกษัตริย์ทั้งปวงได้สดับรับคำแห่งโทณพราหมณ์พร้อมกันแล้ว จึงตรัสว่า ถ้าฉะนั้น อาจารย์จงแบ่งปันพระสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ควรจะแจกให้ข้าพเจ้าทั้งปวง”

เป็นอันว่าโทณพราหมณ์ได้ช่วยระงับสงครามแย่งพระบรมสารีริกธาตุ ทำหน้าที่แจกแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระศาสดาให้ชาวพระนคร ทั้ง ๘ นำไปบูชาที่บ้านเมืองของตน กษัตริย์โมริยะจากปัปผลิวันมาไม่ทัน จึงได้พระอังคารธาตุไปบูชา

ส่วนโทณพราหมณ์ ว่ากันว่า แอบเอาฑาฒธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ซ่อนในมวยผม หวังจะเอาไปบูชา

แต่พระอินทร์มาขมายต่อไปอีก ว่ากันอย่างนั้น

ในที่สุดได้รับฉันทานุมัติจากบรรดากษัตริย์ทั้งปวง ให้เอาทะนานทองไปบูชา

ตรงนี้คงจะเขียนเพลิน ไหนว่าตอนแรกโทณพราหมณ์ได้เป็นพระอนาคามีแล้ว ไฉนไยจึงมีจิตคิดขโมยพระเขี้ยวแก้ว แล้วพระอินทร์จอมเทพ ก็มีพฤติกรรมไม่แพ้กัน คือ “ขมาย” ต่อไปอีก ฟังๆ ไว้ก็แล้วกันครับ...

   
ข้อมูล : บทความพิเศษ โทณพราหมณ์ : ผู้แจกพระบรมสารีริกธาตุ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


.

(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQvQhaxxcQMJAPhzov43A0X29ZUS9on-SpDWKbgY0dWlJscXFoc)
๖๑. กาละ
บุตรเศรษฐีเกเรผู้กลับใจ

ชีวิตนี้ถือเป็นบทเรียนที่คุ้มค่าที่สุด น่าจะเป็นชีวิตของคนประเสริฐ ที่เรียกว่า “ต้นคดปลายตรง” หรือคนที่เหลวไหลมาก่อน ภายหลังกลับเนื้อกลับตัว

คนอย่างองคุลิมาลก็ดี พระเจ้าอโศกก็ดี เป็นแบบอย่างชีวิตที่น่าชื่นชม ที่พลาดถลำลงแล้วไม่ถลำลึกลงไปอีก รู้สำนึกตน ปรับปรุงตนให้ดีขึ้น และทำประโยชน์แก่สังคมให้มากขึ้น

แม้ไม่ได้ทำความดีอะไรแก่สังคมให้เป็นที่ปรากฏ เพียงการที่เขากลับตัวเป็นคนดี ก็มีส่วนได้ช่วยสังคมแล้ว คือ สังคมจะได้เอาเป็นแบบอย่าง สั่งสอนลูก หลาน เหลน เลียด (จากเหลนเป็น “เลียด” ครับ มิใช่ “โหลนๆ”) ต่อๆ ไป

นายกาละก็เป็นคนหนึ่งที่ควรนำมาพูดถึง

นายกาละเป็นบุตรโทนของท่านสุทัตตะเศรษฐี (ต่อมาเรียกขานกันในชื่อว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี) ในขณะที่บุตรสาวคนอื่นๆ ของเศรษฐีเป็นบุตรในโอวาท ช่วยกิจการงานของครอบครัว กาละ บุตรชายโทน เอาแต่เที่ยวเตร่ ดื่มกิน สนุกสนานกับเพื่อนๆ ลูกชายคนร่ำรวยอื่นๆ

เศรษฐีผู้เป็นบิดาจะตักเตือนสั่งสอนอย่างไรก็ไม่ฟัง หรือฟังแต่ก็เข้าหูซ้าย ออกหูขวา

ผู้ที่เดือดร้อน คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้บิดา เพราะตัวท่านเป็นผู้สนใจใคร่ธรรม เป็นผู้ถวายความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ถวายทานแก่พระสงฆ์เป็นประจำทุกวัน บุตรสาวแต่ละคนก็ช่วยกันรับหน้าที่ดูแลงานแทนท่าน เมื่อบุตรสาวคนโตออกเรือนแล้วก็ได้บุตรสาวคนรอง เมื่อคนรองออกเรือนไปอีกคน ก็ได้บุตรสาวคนเล็กช่วยดูแล

ตัวท่านเองนั้นก็ได้รับเชิญไปให้ปรึกษาแก่ทายกทายิกาที่เขาทำบุญทำกุศลแทบทุกวันก็ว่าได้ จึงไม่มีเวลาดูแลเอง การบริหารกิจการเกี่ยวกับงานบุญงานกุศลประจำบ้าน จึงตกเป็นหน้าที่ของบุตรสาวทั้งสาม

ภาระหน้าที่นี้ แทนที่บุตรชายจะได้ช่วยแบ่งเบาบ้าง ก็พึ่งพาอาศัยไม่ได้เพราะเธอเอาแต่เที่ยวเตร่ แค่นั้นยังไม่เท่าไร ที่สำคัญทำให้ “ขายหน้า” ประชาชนนี้สิครับ พ่อเป็นคนธรรมะธัมโม แต่ลูกไม่เอาไหน รู้ถึงไหนอายถึงนั่น เขาหาว่าพ่อไม่มีปัญญาอบรมลูก

นี่แหละคือสิ่งที่ทิ่มแทงใจของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีตลอดมา พยายามคิดหาวิธีการจะให้ลูกชายกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีได้

วันหนึ่งท่านก็คิดหาวิธีได้  คือจ้างให้ลูกไปฟังธรรม ท่านเรียกบุตรชายมาบอกว่า พ่อจะให้เงินเจ้าใช้วันละเท่านั้นเท่านี้ (ตำราไม่ได้บอกว่าให้วันละเท่าไร แต่คงมากพอสมควร) ขอให้ลูกไปฟังธรรมทุกวัน

ลูกชายตอบรับด้วยความดีใจ (ดีใจที่จะได้เงิน) ไปวัดพระเชตวันทุกเย็น เพราะทุกเย็นพระพุทธเจ้าจะประทับนั่งแสดงธรรมแก่ประชาชนจำนวนมาก กาละเข้าไปนั่งอยู่ใต้ธรรมาสน์ฟังธรรม ฟังไปได้หน่อยหนึ่งก็หลับ จะตื่นขึ้นมาก็ต่อเมื่อพระธรรมเทศนาจบ

แล้วก็รีบลงศาลากลับไปบ้าน รายงานให้พ่อทราบ พร้อมแบมือขอค่าจ้างเศรษฐีก็จ่ายให้ตามสัญญา เหตุการณ์ผ่านไปนานพอควร พ่อจึงกล่าวว่า “ถ้าลูกจำข้อธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงได้ พ่อจะจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นบทละเท่านั้นเท่านี้” (ราคาเท่าไรก็ว่ากันไป)

ด้วยความโลภในทรัพย์ นายกาละก็รับปากทันที วันรุ่งขึ้นไปนั่งใต้ธรรมาสน์เช่นเดิม คราวนี้ไม่นั่งหลับ ใจจดใจจ่อทีเดียว พยายามกำหนดเนื้อหาของธรรมที่ทรงแสดง เพื่อจะจำเอามากๆ ไปแลกค่าจ้าง

พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้เขาลืม เมื่อลืมก็ตั้งใจจำบทต่อๆ ไปอย่างนี้ไปจนจบ ว่ากันว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อโปรดเขาโดยเฉพาะ เมื่อจบพระธรรมเทศนา เขากลับจำเนื้อความได้หมดและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

เขาเข้าไปกราบแทบเบื้องพระยุคลบาท ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ พร้อมภิกษุสงฆ์ เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านในวันรุ่งขึ้น เช้าขึ้นมาเขาไปวัด อุ้มบาตรของพระพุทธองค์ตามเสด็จมายังคฤหาสน์ของตน

เศรษฐีผู้เป็นพ่อแปลกใจอยู่ที่ไม่เห็นลูกทวงเงินค่าจ้างเมื่อวันนี้ วันนี้ก็เห็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน รู้สึกปลื้มใจอย่างบอกไม่ถูก

มาถึงบ้านเขาได้กุลีกุจอช่วยคนในบ้าน “อังคาสพระ” (เลี้ยงอาหารพระ) ยังกับคนคุ้นวัดคุ้นวามาเป็นสิบๆ ปี เศรษฐีผู้พ่อยกถุงเงินค่าจ้างมาห่อใหญ่ วางไว้ตรงหน้าบุตรชาย “เอ้า ลูก นี่คือค่าจ้างของลูก รับไว้เสีย” (นึกแปลกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมวันนี้ลูกชายไม่ทวงค่าจ้าง)

นายกาละทำท่าทางอิดเอื้อน ไม่ยอมรับถุงเงิน แม้ว่าพ่อจะคะยั้นคะยออย่างไรก็ตาม

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องว่าอะไรเป็นอะไร จึงตรัสกับเศรษฐีว่า สุทัตตะบุตรชายท่านไม่ต้องการทรัพย์ภายนอกใดๆ ต่อไปแล้ว เพราะเธอได้บรรลุโสดาปัตติผลอันเป็นอริยทรัพย์ มีค่ามากกว่าทรัพย์ภายนอกแล้ว แล้วตรัสโศลกธรรมบทหนึ่งว่า
     ยิ่งกว่าเอกราชเหนือแผ่นดิน
     ยิ่งกว่าขึ้นสวรรคาลัย
     ยิ่งกว่าอธิปไตยในโลกทั้งปวง
     คือพระโสดาปัตติผล

เป็นอันว่าวิธีจ้างลูกเกเรฟังธรรมของอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ผล ใครจะจำเอาไปใช้บ้างก็คงดีไม่น้อย
อย่างน้อยถ้าใช้วิธีอื่นล้มเหลวมาแล้ว น่าจะลองวิธีนี้ดูบ้าง

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยบอกผมว่า ท่านก็เคยจ้างลูกชายซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย อ่านหนังสือ “สองทศวรรษในดงขมิ้น” ของ ไต้ ตามทาง

ผมถามว่าทำไมต้องจ้าง

ท่านบอกว่า หนังสือดีๆ แบบนี้ อยากให้ลูกอ่าน บอกเฉยๆ มันไม่อ่าน จึงจ้าง

และว่าต่อไปว่า บรรยากาศอย่างนี้ (อย่างที่บรรยายไว้ในหนังสือ) ต่อไปคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักแล้ว ท่านว่าอย่างนั้น

ลืมถามว่าได้ผลเหมือนอนาถบิณฑิกะหรือไม่ ...

   
ข้อมูล : บทความพิเศษ กาละ : บุตรเศรษฐีเกเรผู้กลับใจ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS3viDu0jn2V0W_2_4ML9I0m1arp7YELoG4XuPxczHlpo-emZj8eA)
๖๒. ครหทิน  
อุบาสกอดีตเดียรถีย์

อดีตเดียรถีย์ที่หันมาเป็นชาวพุทธ มีหลายท่านที่น่าพูดถึงอย่างนั้นก็ ๓ ท่านแหละครับ เท่าที่นึกออกในขณะนี้ ท่านแรกชื่อว่า ครหทิน  

ครหทินเป็นชาวสาวัตถี เป็นคนมั่งคั่ง มีเพื่อนซี้คนหนึ่งชื่อ สิริคุปต์ นับถือคนละศาสนา โดยครหทินนับถือศาสนาเชนของมหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) ซึ่งเป็นศาสนาที่เคร่งครัดมาก ขนาดไม่ยอมนุ่งผ้าเอาเลย เขาถือว่าสมบัติพัสถานเป็นที่มาแห่งความยึดมั่นถือมั่น แม้กระทั่งเสื้อผ้าก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลสได้ เมื่อประกาศตนว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็ไม่ควรมีแม้กระทั่งผ้านุ่งห่ม เปลือยมันซะเลย ว่าอย่างนั้นเถอะครับ

พวกนี้ก็จะพูด (ค่อนขอด) ลัทธิศาสนาอื่นว่า ไม่เคร่งเท่าตน ปากบอกว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ก็ยังนุ่งห่มอยู่ ยึดติดในพัสตราภรณ์อยู่ เรียกว่าไม่ปล่อยวางจริงว่าถึงขนาดนั้น

ศาสนาชีเปลือยนี้ ต่อมาได้มีนิกายเพิ่มเข้ามาอีกนิกายหนึ่ง เรียกว่า เศวตามพร (เสตัมพร) พวกนี้อนุญาตให้นุ่งขาวห่มขาวได้ ไม่ต้องเปลือยกายอวดของดีต่อผู้คน พวกที่เปลือยกายเรียกว่า ทิคัมพร แปลว่า ผู้นุ่งทิศ หมายถึงนุ่งลมห่มฟ้า นั้นแหละครับ

ครหทินเลื่อมใสในพวกชีเปลือย พยายามโน้มน้าวจิตใจให้สิริคุปต์เพื่อนกันไปเลื่อมใสด้วย มีโอกาสทีไรก็จะพรรณนาถึงความเก่งกาจของอาจารย์ของตนให้สิริคุปต์ฟัง สิริคุปต์ไม่ขัดคอ แต่ก็ไม่ปฏิเสธออกนอกหน้า เพียงแต่ฟังๆ ไว้

จะไม่ให้สิริคุปต์เฉยอย่างไร เพราะสิริคุปต์เธอเป็นอุบาสกนับถือพระพุทธเจ้าอย่างมั่นคง เธอคิดว่าเธอได้มาถูกทางแล้ว เรื่องอะไรจะเดินออกนอกทางตามคำชวนของสาวกเดียรถีรย์เล่า

ว่ากันว่า ที่ครหทินเฝ้าชักชวนสิริคุปต์นั้น เพราะครูอาจารย์แกสั่งให้ทำ ด้วยวาดหวังผลข้างหน้าว่า ถ้าดึงคนอย่างสิริคุปต์เข้ามาสู่ศาสนาเชนอีกคน จะมีอุบาสกผู้อุปถัมภ์พระศาสนาอย่างเข้มแข็งอีกแรงหนึ่ง เพราะสิริคุปต์ก็ร่ำรวยมหาศาลไม่แพ้ครหทิน

เมื่อถูกชักชวนบ่อยๆ เข้า สิริคุปต์จึงได้ถามว่า ที่เพื่อนอยากให้เราไปนับถือศาสนาของเพื่อน เราอยากทราบว่าศาสดาของเพื่อนนั้นมีดีอย่างไร

ครหทินตอบว่า เพื่อนอย่าถามอย่างนี้เลย ศาสดาจารย์ของเราเป็นสัพพัญญูย่อมรู้ทุกอย่างไม่เฉพาะแต่พระศาสดาเท่านั้น พระสาวกอื่นๆ ก็รู้หมดทุกอย่างเช่นกัน

สิริคุปต์ต้องการทดสอบอะไรบางอย่าง จึงทำท่าเลื่อมใส กล่าวว่า “ถ้าพระของเพื่อนเก่งปานนั้น ก็น่าจะเลื่อมใสนะ การทำบุญทำทานกับพระผู้เก่งปานนี้คงได้บุญมาก ถ้าเช่นนั้น เพื่อนช่วยนิมนต์ท่านเหล่านั้นมาฉันภัตตาหารที่บ้านเราได้ไหม”
“ได้สิเพื่อน” ครหทินรับปากด้วยความดีใจ รีบไปสำนักของพวกนิครนถ์รายงานให้อาจารย์ของตนทราบว่า “ภารกิจที่ให้ไปเกลี้ยกล่อมสิริคุปต์ของกระผมสำเร็จแล้ว บัดนี้เธอให้ผมมานิมนต์พระคุณเจ้าไปฉันภัตตาหารที่บ้านเขา”

พระคุณเจ้าทั้งหลายก็ดีใจที่จะได้สาวกใหม่ จึงนัดหมายเวลาว่าง เพื่อไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านสิริคุปต์

ข้างฝ่ายสิริคุปต์ก็สั่งให้ขุดหลุมกว้างใหญ่ระหว่างเรือนสองหลังใส่คูถไว้ข้างล่าง ปิดหลุมใหญ่นั้นไว้ ให้ตั้งตั่งสำหรับนั่งไว้บนเชือกที่ขึงต่อกันบนปากหลุมปูลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดี อำพรางตาไม่ให้มองเห็นหลุมคูถข้างล่าง กะว่าพอพวกเขานั่งพร้อมกัน หัวจะได้คะมำลงในหลุม

พอได้เวลานัด เหล่าเดียรถีย์ก็พากันมายังคฤหาสน์ของสิริคุปต์ ติดตามด้วยครหทิน พอท่านเหล่านั้นมาถึง สิริคุปต์ก็ยืนประคองอัญชลีอธิษฐานในใจว่า

“ศิษย์ของท่านบอกว่า ท่านรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ข้าพเจ้าจึงอยากทดสอบว่าเป็นจริงหรือไม่ ถ้าท่านเป็นสัพพัญญูจริงๆ ก็จะรู้ว่าข้างล่างอาสนะนี้เป็นหลุมคูถ และภัตตาหารที่ตั้งไว้มุมบ้านที่แลเห็นอยู่ข้างหน้านั้นไม่ใช่ของจริงเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น เมื่อท่านรู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าได้ขึ้นไปนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ แต่ถ้าท่านยังขึ้นไปแสดงว่าท่านไม่ได้เป็นสัพพัญญูจริง ขออย่าได้ถือโทษข้าพเจ้าเลย”

เหล่าเดียรถีย์เห็นสิริคุปต์ยืนประคองอัญชลีนิ่งอยู่เป็นเวลานาน นึกว่าสิริคุปต์คงตื้นตันใจที่จะได้เป็นสาวกของพวกตน พระผู้เป็นหัวหน้าจึงพูดว่า อุบาสกนิมนต์พระขึ้นนั่งบนอาสนะเถิด

สิริคุปต์กล่าวอย่างนอบน้อมว่า ขอพระคุณเจ้าจงขึ้นไปยืนพร้อมกัน แล้วนั่งลงพร้อมกันเถอะ พระคุณเจ้าทั้งหลายก็ขึ้นไปยืนพร้อมกัน แล้วนั่งลงพร้อมกัน พอก้นหย่อนลงนั่งบนอาสนะเท่านั้น พระคุณเจ้าทั้งหลายก็หัวคะมำตกลงสู่หลุมคูถพร้อมกัน พากันตะเกียกตะกายขึ้นจากหลุม หนีกลับไปยังสำนักของตน

ข้าวก็ไม่ได้ฉัน แถมสิริคุปต์ยังพูดให้อับอายอีกว่า “ไหนว่าพวกท่านเป็นสัพพัญญูรู้หมดทุกอย่าง หลุมคูถอยู่ข้างหลังยังไม่รู้เลย ตกไปในหลุม ช่วยไม่ได้ฮะๆๆๆๆ”

คนที่โกรธมากคือ ครหทิน หาว่าเพื่อนจงใจกลั่นแกล้งพระของตน จึงนำเรื่องฟ้องพระเจ้าปเสนทิโกศล  พระราชาสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง ในที่สุดก็ตัดสินว่าสิริคุปต์ไม่ผิด

มิตรภาพของคนทั้งสองหมางเมินไปพักหนึ่ง วันหนึ่งครหทินมาคืนดีด้วยบอกเพื่อนว่า เรื่องที่แล้วไปแล้วก็ให้ลืมเสีย ขอให้เราเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม สิริคุปต์ก็เห็นด้วย
วันหนึ่งครหทินบอกว่า อยากถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์บ้าง ขอให้สิริคุปต์ช่วยจัดการอาราธนาพระองค์ให้ด้วย ครหทินไม่เลื่อมใสจริงดอกครับ แกวางแผนแก้แค้นแทนพระของเขา จะดิสเครดิตของพระพุทธเจ้าศาสดาของสิริคุปต์บ้าง ทีใครทีมันให้มันรู้ซะบ้างไผเป็นไผ

แต่ไผจะเป็นไผ เดี๋ยวรู้กัน

สิริคุปต์ไปกราบอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านครหทิน พระพุทธองค์ทรงทราบแผนการของครหทิน แต่ก็ทรงรับนิมนต์เพราะทรงเห็นอุปนิสัยของเขาว่า สมควรโปรดให้บรรลุธรรมได้

สิริคุปต์ไปแจ้งแก่สหาย พร้อมทั้งแนะให้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉันสำหรับพระให้พร้อม (ที่ต้องบอกก็เพราะครหทินใช่ชาวพุทธ ยังไม่รู้ธรรมเนียมพุทธ ครหทินก็บอกว่าจะจัดการตามที่เพื่อนบอกทุกประการ

แต่เอาจริงไม่จัดอะไรสักอย่าง ไพล่ไปทำอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือสั่งให้คนขุดหลุมลึก แล้วเอาถ่านไฟร้อนๆ ใส่ไว้ข้างบนก็เอากระดานปิด แล้วปูเสื่อลำแพนทับไว้ให้มองเห็น จัดที่นั่งสำหรับพระพุทธองค์และพระสงฆ์ไว้ที่ศาลาอีกหลังหนึ่ง หลังหลุมถ่านเพลิง กะว่าเมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์เดินเหยียบแผ่นกระดานเพื่อขึ้นไปบนศาลา ก็จะตกหลุมถ่านเพลิงก่อน ไม่ตายก็คางเหลืองละ ว่ากันถึงปานนั้นเชียว

ก็คนมันจะแก้แค้นนี่ครับ พระคุณเจ้าอาจารย์ของเขาถูกสิริคุปต์ศิษย์พระตถาคตทำเจ็บแสบมาก่อนนี่ ทำไมจะไม่แค้นเล่า

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินมาถึงหน้าบ้านของครหทิน เสด็จด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครหทินอธิษฐานในใจว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิริคุปต์สาวกของพระองค์บอกว่า พระองค์ทรงรู้อดีตและอนาคต ถ้ารู้จริง จงรู้ว่าระหว่างทางไปศาลาโน้นมีหลุมถ่านเพลิงอยู่ข้างล่าง ใครเข้าไปแล้วจะตกหลุมถ่านเพลิง และของเคี้ยวของฉันก็ไม่มีในบ้านนี้ ถ้าพระองค์ทรงทราบก็อย่าเสด็จเข้าไป ถ้าหากไม่ทราบก็ทรงเสด็จเข้าไปเถิด ข้าพระองค์จะได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าอาจารย์ของสิริคุปต์มิได้ญาณหยั่งรู้อย่างที่โอ้อวดกัน”

อธิษฐานเสร็จ ก็กราบทูลให้พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปก่อน แล้วให้พระภิกษุรูปอื่นๆ เข้าตามไปทีละรูป (แกวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าเข้าไปพร้อมกัน เมื่อเห็นองค์หนึ่งตกหลุมก่อน ที่เหลือก็จะไม่มีใครเข้าไปนั่งอาสนะ)

พระพุทธองค์เสด็จเข้าไป ทันทีที่พระบาทประทับลงบนเสื่อลำแพนที่ปูทับหลุมถ่านเพลิง ดอกบัวเท่าล้อเกวียนก็ผุดขึ้นท่ามกลางถ่านเพลิง รอรับพระบาททุกย่างก้าว พอถึงอาสนะที่จัดไว้แล้ว ก็ประทับนั่งอย่างสง่าสงบ

เมื่อเห็นดังนั้น ความเร่าร้อนก็เกิดแก่ครหทิน เขาหันไปอ้อนวอนสิริคุปต์ สหายของเขาว่า โอ สิริคุปต์เพื่อนรัก จงช่วยผมด้วย ผมแย่แล้ว
“แย่อะไรกันเพื่อน เพื่อนกำลังถวายภัตตาหารแก่พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์มิใช่หรือ”
“นั่นแหละแย่แล้วๆ” เขาร้องอย่างน่าเวทนา
“ข้าพเจ้ามิเตรียมอาหารไว้ถวายพระแม้แต่น้อย ข้าพเจ้าขุดหลุมถ่านเพลิงเพื่อหลอกให้พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ตกลงไป”
“โอ เพื่อน ทำอย่างนี้ทำไม กรรมหนักแล้วเพื่อนเอ๋ย” สิริคุปต์ร้องขึ้นบ้าง
“ก็คราวก่อนเพื่อทำกับอาจารย์ของเรา เราก็หวังแก้แค้นเพื่อนบ้างสิ” ครหทินพูด
“อ้าว แล้วที่เพื่อนบอกว่าเตรียมข้าวปลาอาหารไว้เต็มตุ่ม ตั้งเรียงรายไว้หลังบ้านมิใช่หรือ”
“นั่นก็เป็นเท็จเช่นกัน ตุ่มเปล่าทั้งนั้น” เขาครางอย่างน่าสงสาร
“แล้วจะเอาอาหารที่ไหนถวายพระพุทธองค์”

สิริคุปต์เดินไปเปิดฝาตุ่มดูเพื่อแน่ใจ เขาก็ประหลาดใจเป็นล้นพ้น ตุ่มเปล่าที่ว่านั้นเต็มไปด้วยข้าวยาคู ส่งกลิ่นฉุยน่ารับประทานเสียนี่กระไร เปิดอีกตุ่มหนึ่งเป็นข้าวสวยเพิ่งหุงเสร็จใหม่ๆ เปิดอีกตุ่ม เป็นพยัญชนะ (กับ) และของขบเคี้ยว เป็นต้น ล้นหลาม

อย่าว่าพระสงฆ์ ๕๐๐ รูปเลย เลี้ยงคนเป็นพันก็ไม่หมด
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยพุทธานุภาพ

ครหทินก็เคยคิดอกุศลต่อพระพุทธองค์และพระศาสนาก็ “หมอบราบคาบแก้ว” ขนลุกซู่ด้วยปีติปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง เขา “อังคาส” (เลี้ยงอาหาร) พระพุทธองค์และภิกษุด้วยใจเบิกบาน

เสร็จภัตกิจ พระพุทธองค์ตรัสคาถาธรรมแก่ครหทินและประชาชนที่มาร่วมในงานว่า “ดอกบัว กลิ่นหอมเกิดจากกองขยะริมทางใหญ่ เป็นที่ชอบใจของคน ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมไพโรจน์ ล่วง ปุถุชนทั้งหลายผู้เป็นดุจกองขยะฉันนั้น”
ความหมายก็คือ ปุถุชนเป็นดุจกองขยะที่สกปรกเน่าเหม็น สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นดุจดอกบัวที่เกิดจากกองขยะ

จบพระธรรมเทศนา สิริคุปต์กับครหทินบรรลุโสดาปัตติผล ครหทินถวายตนเป็นสาวกพระพุทธองค์ ถือไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

ทั้งสองสหายได้เป็นอุบาสกอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน ตราบจนสิ้นชีวิต...

   
ข้อมูล : บทความพิเศษ ครหทิน : อุบาสกอดีตเดียรถีย์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์




หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 มิถุนายน 2557 14:15:10
.

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTkhWDjw-ZE4cRHPDbLSL4HAvaodfH-6JHWOMCyt4H6YYoNyqqc)
๖๓. อุตตรมาณพ
ผู้เตือนปายาสิราชันย์

เล่าเรื่องปายาสิราชันย์ผู้เคยเป็นมิจฉาทิฐิ ต่อมาสละความเห็นผิดประกาศตนถึงไตรสรณคมน์มาแล้ว ๒ ตอน  ตั้งใจจะจบเพียงแค่นี้ แต่มีบางสิ่งเกี่ยวกับปายาสิราชันย์ที่น่าจะเป็นอนุสติ (เครื่องเตือนใจ) ชาวพุทธบ้าง จึงนำมาเล่าต่อ แต่คราวนี้เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มผู้ดูแลโรงทานของปายาสิราชันย์ นามว่า อุตตระ ครับ

อุตตระ คนนี้ เดิมมิได้เกี่ยวข้องกับปายาสิราชันย์ แต่เห็นพฤติกรรมของปายาสิราชันย์แล้วไม่พอใจ หรือไม่เลื่อมใส จึงตักเตือน “โดยอ้อม”

เรื่องของเรื่องก็คือ หลังจากที่พระเจ้าปายาสิได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านก็ถวายทานแก่พระสงฆ์เป็นนิตย์ แต่เนื่องจากไม่เคยทำ เพราะเป็นคนนอกศาสนามานาน หรือเหตุใดก็ไม่ทราบได้ ท่านถวายทานที่ “เลว” ไม่ประณีต และทำก็สักแต่ว่าทำ ถวายทานโดยไม่เคารพ แม้ทำทานแก่ยาจกวณิพกทั้งหลายก็ทำด้วยท่าทีเช่นเดียวกัน และก็ทำอย่างนี้เสมอมา

อุตตรมาณพเห็นแล้วไม่สบายใจ จึงเตือนปายาสิราชันย์โดยทางอ้อม นั่นก็คือ แกจัดถวายทานแด่พระสงฆ์ด้วยภัตตาหารและไทยธรรมอันประณีต และให้ทานแก่ยาจกวณิพกโดยเคารพ ทุกครั้งที่ทำทานก็จะตั้งความปรารถนาดังๆ (คงต้องการให้ได้ยินไปถึงปายาสิราชันย์) ว่า
“ด้วยผลทานครั้งนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้พบกับปายาสิในชาตินี้เท่านั้น อย่าได้พบอีกในชาติหน้าเลย”

อธิษฐานดังๆ อย่างนี้หลายครั้งเข้า พระเจ้าปายาสิหรือปายาสิราชันย์ก็ได้ยินจนได้ มีความสงสัย จึงรับสั่งเรียกเขาเข้าเฝ้า ตรัสถามว่าทำไมอธิษฐานอย่างนั้นทุกครั้งที่ให้ทาน รังเกียจพระองค์ด้วยเรื่องใด จึงไม่ปรารถนาพบหน้าในชาติหน้า


อุตตรมาณพกราบทูลว่า มิได้มีความรังเกียจพระองค์แต่ประการใด แต่ไม่ชอบใจวิธีทำทานของพระองค์ จึงไม่ปรารถนาจะคบกับคนเช่นนี้  “เราทำทานอย่างไรจึงไม่ชอบใจเธอ” ปายาสิราชันย์ตรัสถาม

พระองค์ถวายทานโดยไม่เคารพ ให้อาหารแก่พระและยาจกวณิพก ก็ให้อาหารที่เลวๆ อย่าว่าแต่จะบริโภคเลย แม้จะจับต้องก็ไม่ยากจะจับต้อง (ในบาลีว่าแรงขนาดว่า “ไม่อยากจะแตะแม้ด้วยเท้า” = ตีนก็ไม่อยากเอาแตะ อะไรจะรุนแรงปานนั้น)  ให้เสื้อผ้าก็ให้เก่าๆ ขาดๆ เพราะเหตุนี้แหละ ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่ปรารถนาจะพบคนเช่นพระองค์ในชาติหน้า

พระเจ้าปายาสิทรงใคร่ครวญดูก็เห็นจริง จึงยอมรับว่าตนทำไม่ถูก ทรงแต่งตั้งอุตตรมาณพให้เป็นผู้จัดการเรื่องการทำทานของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นทานแด่พระสงฆ์ หรือแก่ยาจกวณิพก

อุตตรมาณพ ก็แนะนำว่า ใช้สอยเสื้อผ้าอาภรณ์เช่นใด พระองค์พึงให้ทานด้วยอาหารและเสื้อผ้าอาภรณ์เช่นนั้น ซึ่งพระเจ้าปายาสิก็ทรงยินยอมทำตาม และได้ทรงมอบภาระให้อุตตรมาณพช่วยดำเนินการให้

ในส่วนของอุตตรมาณพ ทำทานที่ประณีตดียิ่งกว่านั้น เมื่ออุตตรมาณพสิ้นชีพไป จึงไปเกิดเป็นเทพชั้นดาวดึงส์

ในขณะที่ปายาสิราชันย์สวรรคตแล้ว ไปอุบัติเป็นเทพในหมู่จาตุมหาราช สถิตอยู่ที่ต้นเสรีสกะ หรือสีรีสกะ (แปลกันว่าไม่ซึก) คือ ต้นเสรีสกะเป็นวิมาน ว่าอย่างนั้นเถอะ

ปายาสิเทพบุตร เมื่อรำลึกชาติหนหลังของตนได้ จึงปรารถนาจะเตือนมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อพบพระเถระ นามว่า ควัมปติ จึงเข้าไปนมัสการแล้วฝากคำมายังมนุษย์ทั้งหลายว่า
“พระคุณเจ้าควัมปติ ข้าพเจ้าเมื่อเป็นมนุษย์มีมิจฉาทิฐิ เห็นว่าบุญบาปไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี อาศัยพระคุณเจ้ากุมารกัสสปะช่วยชี้แนะ จึงสละทิฐิอันชั่วช้านั้นเสีย กระนั้นก็ถวายทานโดยไม่เคารพ ไม่ถวายทานที่ประณีต จึงมาบังเกิดเป็นเทพในหมู่จาตุมหาราช มีต้นเสรีสกะเป็นวิมาน

พระคุณเจ้าควัมปติ ข้าพเจ้าขอสั่งความไปยังมนุษย์ทั้งหลายได้ไหม ถ้าจะถวายทานก็ขอให้ถวายทานโดยเคารพ ถวายทานด้วยมือของตนเอง อย่าถวายทานไม่ประณีต อย่าถวายทานแบบทิ้งๆ ขว้างๆ (สักแต่ให้)”

จากนั้นปายาสิเทวบุตรก็ได้ถามถึงอุตตรมาณพว่าไปเกิดที่ไหน พระเถระ ตอบว่า อุตตรมาณพไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะอุตตรมาณพเธอถวายทานโดยเคารพ ถวายทานทีประณีต ไม่ใช่สักแต่ให้ ด้วยอานิสงส์นี้ เธอจึงไปเกิดเป็นเทพชั้นดาวดึงส์

ความจริงปายาสิราชันย์เป็นถึงเจ้าครองนคร ย่อมมีโอกาสทำบุญทำกุศลได้ดีกว่าอุตตรมาณพซึ่งเป็นข้ารับใช้ธรรมดา แต่ปรากฏว่าปายาสิราชันย์ไม่ได้ใช้โอกาสที่ดีกว่า ทำกุศลที่ดีกว่า จึงไปเกิดเป็นเทพชั้นจาตุมหาราช ต่ำกว่าดาวดึงส์สวรรค์ของอุตตรมาณพเสียอีก

เรื่องนี้เป็นอนุสสติเตือนใจชาวพุทธอย่างดี การทำทานนั้นจะต้องทำให้ครบองค์ประกอบ จึงจะไม่เสียทีที่ได้ทำทาน องค์ประกอบที่ว่านี้คือ
๑. สิ่งของที่จะให้ทาน จะต้องบริสุทธิ์ คือ ได้มาด้วยอาชีพสุจริต ได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายจริงๆ มิใช่ได้มาด้วยการทุจริต เช่น ลักเขามาถวาย โกงเขามาถวาย ของนั้นต้องประณีต
๒. เจตนาที่ถวายก็ต้องบริสุทธิ์ คือ ก่อนจะให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว ต้องเป็นเจตนาที่เลื่อมใส ไม่เสียดาย ไม่ใช่พอให้ไปแล้วนึกเสียดายภายหลังว่า แหมเสียดาย ไม่น่าถวายพระเลย เอามากินเองยังจะดีกว่า อะไรทำนองนี้
๓. ผู้รับทานก็ต้องบริสุทธิ์ คือเป็นผู้มีศีลมีธรรม (ถ้าเราเลือกได้ ทานของเราก็จะมีผลมาก แต่ข้อนี้สุดวิสัยที่จะเลือกได้ ก็ต้องทำข้อ ๑ และข้อ ๒ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์)

การให้ทานด้วยจิตใจเลื่อมใสจริงๆ แม้เล็กน้อยก็ให้ผลมหาศาล การทำทานด้วยจิตไม่บริสุทธิ์ เช่น หวังให้เขายกย่องว่าใจบุญ หวังอะไรมากกว่าเป็นผลตอบแทน หวังเอาหน้า ถึงจะสละเงินเป็นแสนเป็นล้านก็หาเป็นบุญโดยบริสุทธิ์ไม่ ถึงจะได้ผลก็คงพอได้บ้าง แต่ไม่สมบูรณ์เต็มที่

ความบริสุทธิ์ทั้งวัตถุและจิตใจนี้ พระพุทธศาสนาเน้นมาก สมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง  ยายแฟง แม่เล้าเก็บเงินจากหยาดเหงื่อจากการค้ากามของบรรดาลูกๆ ได้มาก จึงเอามาสร้างวัด ชื่อว่า วัดใหม่ยายแฟง ชื่อเป็นทางการภายหลัง “วัดคณิกาผล”

สร้างวัดเสร็จยายแฟงก็ทำบุญฉลอง นิมนต์สมเด็จโตมาเทศน์ฉลอง สมเด็จท่านก็เทศน์ตรงๆ ว่า ถึงจะสร้างวัดใหญ่โต ยายแฟงก็ได้บุญไม่เท่าไหร่ดอก สู้บรรดานางคณิกาทั้งหลายไม่ได้

ว่าแล้วยายแฟงโกรธสมเด็จนานทีเดียว ภายหลังมาตรึกตรองดู จึงรู้ว่าสมเด็จท่านพูดถูก เพราะทรัพย์ที่นำมาสร้างนั้นได้มาด้วยความไม่บริสุทธิ์เท่าไหร่ เพราะเป็นผลมาจากซ่อง และคนที่ทำทรัพย์นั้นให้ก็คือบรรดาลูกๆ ทั้งหลายของเธอ แหล่งที่มาของทรัพย์ไม่ค่อยบริสุทธิ์ ผลมันจึงไม่ค่อยได้เท่าที่ควร ตามที่สมเด็จโตท่านว่านั้นแล...

   
ข้อมูล : บทความพิเศษ อุตตรมาณพ : ผู้เตือนปายาสิราชันย์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์



(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTGTYxB-iHVFpyPU_ehLJwQcqCDBZOFlNHQa-vRrwY9CAw6TTlp)
๖๔. จิตตหัตถ์
ชายเจ็ดโบสถ์

มีคำพังเพยว่า “ชายสามโบสถ์” ความหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไม่มีใครให้ความกระจ่างแก่ผมได้ บ้างก็ว่าคนที่เปลี่ยนศาสนาถึงสามครั้ง คบไม่ได้ ที่ถูกเป็นอย่างไร คงต้องเป็นปริศนาต่อไป

เจ้าคุณอนุมาณฯ ท่านได้ความรู้ใหม่จากเด็กว่า “ตูดเอาไว้ขี้ ก้นเอาไว้นั่ง” ซึ่งผมก็เห็นว่าเข้าที แต่คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ กวีซีไรต์ เพื่อผู้น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เธอว่าไม่ถูก ที่ถูกคือกลับกัน “ตูดเอาไว้นั่ง ก้นเอาไว้ขี้” แล้วก็อ้างเหตุผลยกตัวอย่างมามากมาย จนผมร่ำๆ จะเชื่อแล้ว (แต่ไม่เชื่อ ฮิฮิ)

กระทาชายนายจิตตหัตถ์เป็นคนยากจน มีอาชีพเลี้ยงโค ภูมิลำเนาอยู่เมืองสาวัตถี ที่ว่าอยู่เมืองสาวัตถีนี้ หมายถึงเกิดในแคว้นโกศล อันมีเมืองสาวัตถีเป็นเมืองหลวง

วันหนึ่ง โคหายไปตัวหนึ่ง ตามหาจนเหนื่อยกว่าจะพบ ต้อนมันเข้าฝูงแล้วท้องก็ร้องจ๊อกๆ ด้วยความหิว เห็นวัดป่าแห่งหนึ่ง จึงเข้าไปขอข้าวกิน พระสงฆ์องค์เจ้าก็ดีใจหาย เอาข้าวเอาน้ำมาให้นายจิตตหัตถ์กินจนอิ่มหมีพีมัน

กินข้าวอิ่มก็เรียนถามพระคุณเจ้าด้วยความสงสัยว่า
“พระคุณเจ้าไปบิณฑบาตได้มาหรือ ขอรับ”
“ใช่โยม ทายกทายิกาที่หมู่บ้านไม่ไกลจากนี้นัก ใส่บาตรมาทุกวัน การขบฉันไม่ลำบากดอก”

ฉับพลัน ความคิดก็พุ่งปรู๊ดปร๊าด
“เราทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำกว่าจะได้กินข้าวสักมื้อ พระคุณเจ้าเหล่านี้ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่ๆ ก็มีผู้คนเอาข้าวปลาอาหารมาถวายล้วนดีๆ ทั้งนั้น เราจะอยู่เป็นคฤหัสถ์ทำไม บวชดีกว่า”

แล้วเขาก็เข้าไปขอบวชอยู่กับพระคุณเจ้าทั้งหลาย

เมื่อบวชแล้วอุปัชฌาย์อาจารย์ให้ท่องบทสาธยาย ทำวัตรสวดมนต์ให้ปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด วันๆ แทบไม่มีเวลาพักผ่อน ก็คิดว่า “แหม นึกว่าบวชแล้วจะได้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร แต่นี่กลับต้องมาสวด มาท่อง นั่งสมาธิแต่เช้ายันดึก แถมยังต้องระมัดระวังกาย วาจาใจ อย่างเข้มงวดอีก ดูประหนึ่งว่าจะเหยียดเท้าไม่ได้ นั่นก็อาบัติ นี่ก็อาบัติ โอ๊ย ชีวิตพระสงฆ์นี้ไม่มีอิสรภาพเสียเลย สึกดีกว่า”

ว่าแล้วก็ไปลาอุปัชฌาย์สึก มิไยอุปัชฌาย์จะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่เชื่อ สึกออกมาแล้วไปเลี้ยงโคเหมือนเดิม ไม่ได้เลี้ยงโคพักหนึ่ง กลับมาคราวนี้ทำไมมันเหนื่อยกว่าเดิม จึงคิดอยากบวชอีก ไปขอบวชอยู่กับพระคุณเจ้าอีก

พระคุณเจ้าเห็นแกบวชๆ สึกๆ หลายหน จึงเตือนว่า ทำอะไรจับจด ไม่ดีหนา จะบวชก็บวชเลย จะสึกก็สึกไปเลย แกก็ครับๆ คราวนี้ไม่สึกอีกแล้ว

ที่ไหนได้ ผ่านไปอีกไม่กี่วันก็ร้อนผ้าเหลืองอีก สึกออกไป

ว่ากันว่าแกไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้ถึง ๖ ครั้ง

พระสงฆ์เห็นแกเป็นคนว่านอนสอนง่าย ถึงจะโลเล ก็อดสงสารแกไม่ได้ จึงให้บวชทุกครั้ง นัยว่าระหว่างนี้ภรรยาแกตั้งท้องพอดี

ครั้งที่ ๗ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย แกแบกไถกลับจากนาเข้าบ้าน ขณะภรรยานอนหลับอยู่ เขาเข้าห้องหมายหยิบผ้ามาเปลี่ยน เห็นภรรยานอนผ้านุ่งหลุดลุ่ยลงมา น้ำลายไหลออกจากปาก เสียงกรนดังครืดๆ กัดฟันกรอดๆ

ภาพนี้ใช่ว่าเพิ่งจะเคยเห็น แต่การเห็นคราวนี้ มันก่อความเปลี่ยนแปลงภายในใจเขาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะ “อินทรีย์” เขาแก่กล้าพอดี หมายความว่า มีความพร้อมจะเข้าถึงธรรมแล้ว เขาจึงมองดูภรรยาดุจดังซากศพขึ้นอืด (คงอ้วนเป็นพะโล้ด้วยล่ะ ฮิฮิ)

อนิจจตา ทุกขตา ก็ปรากฏขึ้นชัดแจ้งในสำนึก จึงคว้าผ้า “ขาวม้า” (ผ้าแขกจะเป็นผืนใหญ่ ขนาดผ้าขาวม้าไทยเหมือนกัน) คาดพุงรีบลงเรือน มุ่งหน้าไปวัดหวังจักบวชไม่ยอมสึก แม่ยายยืนอยู่บนเรือนอีกหลัง เห็นลูกเขยเพิ่งกลับจากนาหยกๆ ออกจากบ้านอย่างรีบร้อน จึงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น รีบไปบนเรือน เห็นลูกสาวนอนกรนครืดๆ อยู่ จึงปลุกขึ้นด่า “นังชาติชั่ว ผัวเอ็งเห็นเอ็งอยู่ในสภาพที่ทุเรศอย่างนี้ เบื่อหน่ายหนีไปวัดแล้วเว้ย”

ลูกสาวงัวเงียขึ้นตอบว่า “ช่างเถอะแม่ เขาไปๆ มาๆ อย่างนี้หลายหนแล้ว เดี๋ยวอีกสองสามวันก็กลับมา”

นายจิตตหัสถ์เดินไปบ่นไปว่าไม่เที่ยงหนอๆๆ เป็นทุกข์หนอๆๆ ตลอดทางได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว (บรรลุโสดาปัตติผล) ในระหว่างทางนั้นเอง เข้าไปขอบวชกับพระคุณเจ้า

พระเถระประธานสงฆ์กล่าวว่า
“เธอบวชๆ สึกๆ มาแล้วตั้ง ๖ ครั้ง แสดงถึงความโลเลไม่เอาจริง ศีรษะเธอถูกมีดโกนไถจนจะเป็นหินลับมีดอยู่แล้ว เราไม่สามารถบวชให้เธอได้อีก

“ได้โปรดเถอะครับ คราวนี้จะไม่สึกอีกแล้ว กระผมรับรอง” เขาขอร้องอย่างน่าเห็นใจ

ในที่สุดท่านก็ใจอ่อนจนได้ อนุญาตให้เธอบวชเป็น “โบสถ์ที่ ๗” บวชแล้วเธอก็หมั่นทำความเพียรจากจิต ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตถ์

คราวนี้บรรดาสมาชิกดงขมิ้นเห็นว่าท่านอยู่นานกว่าทุกครั้ง จึงกระเซ้าว่า “ทำไมคราวนี้ชักช้าอยู่เล่า ไม่ห่วงไถห่วงเมียหรือ”

ท่านบอกพระคุณเจ้าทั้งหลายว่า
“ผมจะไปๆ มาๆ ก็ต่อเมื่อมีความผูกพัน แต่ตอนนี้ตัดความผูกพันได้แล้ว ไม่ต้องไปไม่ต้องมาได้แล้ว” (แน่ะ เป็นปริศนาธรรมเสียด้วย)

พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องของจิตตหัตถ์ตรัสรับรองกับภิกษุทั้งหลายว่า จิตตหัตถ์ไม่กลับไปอีกแล้ว เพราะเธอ “ละบุญละบาปได้แล้ว” (หมายถึงเป็นพระอรหันต์)

นำเรื่องของจิตตหัสถ์มาล่าให้ฟัง เป็นเครื่องเตือนสติว่า ไปๆ มาๆ ขึ้นๆ ลงๆ ตามอำนาจกิเลสตัณหาชักพาไป กาลเวลาบางทีมันค่อยๆ สะสมประสบการณ์ ค่อยๆ อบรมบ่มนิสัย สักวันหนึ่งเมื่อทุกอย่าง “พร้อม” และ “ลงตัว” มันก็จะ “คลิก” ของมันเอง

ท่ามกลางความวุ่นวายนั่นแหละจะค้นพบความไม่วุ่นวาย ท่ามกลางปัญญานั่นแหละจะค้นพบการแก้ปัญหา

เพื่อนพ้องผมที่แทบฆ่าตัวตายเพราะพิษไอเอ็มเอฟบางคน บัดนี้ได้คิดหันเข้าสู่พระธรรม จิตใจสงบมั่นคง เพราะได้คำชี้แนะจากผมผู้เป็นกัลยาณมิตร น่าอนุโมทนา

นึกๆ ดูก็ขำ ก่อนนี้มาหาเรา พูดไปร้องไห้ไป วันนี้กลับมาเยี่ยม แถมสอนเราด้วยแน่ะว่า “ปล่อยวางบ้างนะ”

เกือบจะสวนไปว่า ฉันน่ะทั้งปล่อยทั้งวางเว้ย ถ้าไม่ปล่อยไม่วาง ป่านนี้ก็ร้องไห้ตาแดงเหมือนแกวันนั้นไปแล้ว ฮิฮิ ...

   
ข้อมูล : บทความพิเศษ จิตตหัตถ์ : ชายเจ็ดโบสถ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์




หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 มิถุนายน 2557 18:42:55
.

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTQly5CZT8MJ7UXgvkp4bQosXufFKGc8H1D70k0LZem1Ruxcemc)
๖๕. พราหมณ์เฒ่า
ผู้ได้รับพระกรุณาจากพระพุทธเจ้า

เหตุการณ์เกิดขึ้นที่เมืองสาวัตถี สถานที่อันเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา เรื่องราวหลากหลายเกิดขึ้นในเมืองนี้ พระพุทธองค์ทรงเป็นที่พึ่งทางใจแก่ประชาชนทุกชั้นวรรณะ ไม่ว่ายากดีมีจน บ่ายหน้าเข้ามาพึ่งพระมหากรุณาธิคุณ ย่อมได้รับการปัดเป่าให้สิ้นไปทุกผู้ทุกนาม

พราหมณ์เฒ่านิรนามคนนี้มีความทุกข์แสนสาหัส เพราะถูกบรรดาลูกๆ ที่ตนเลี้ยงมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอยไล่ออกจากบ้าน ต้องซัดเซพเนจรขอทานยังชีพมุ่งหน้าไปพระเชตวัน ตามคำแนะนำของผู้ใจบุญท่านหนึ่ง

พราหมณ์เฒ่ามิใช่คนยากจน เขาเป็นผู้มีทรัพย์สินมากมาย ลูกๆ ก็ออกเหย้าออกเรือนเป็นฝั่งเป็นฝากันหมด แต่ทรัพย์สินบางส่วนยังไม่ได้แบ่งให้ บรรดาลูกๆ จึงรบเร้าให้พ่อแบ่งมรดกให้เรียบร้อย พราหมณ์แกก็แบ่งให้ลูกทุกคนเท่าๆ กัน ก็เป็นที่ปีติยินดีของบรรดาลูกๆ

ตัวแกเองนั้นเหลือไว้ส่วนตัวนิดเดียว เพราะลูกๆ บอกว่าจะช่วยกันเลี้ยงดูพ่อเอง

เบื้องแรกก็ไปอยู่กับครอบครัวลูกชายคนโต ใหม่ๆ ก็ดีอยู่ ลูกสะใภ้ก็เอาใจใส่ดูแลดี  ต่อมาไม่นานลูกสะใภ้ก็ออกฤทธิ์ บอกสามีว่า คุณพ่อมีลูกตั้งหลายคน แล้วทำไมเราต้องมาดูแลท่านคนเดียว ให้คนอื่นเขารับผิดชอบบ้างสิ สามีก็ดุภรรยาว่าไม่ควรพูดหรือคิดอย่างนั้น ท่านเป็นบุพการี ภรรยาเถียงว่าบุพการีของคุณพี่สิ มิใช่ของฉันด้วย  

สามีถูกภรรยายกเหตุผลโน้มน้าวจิตใจบ่อยๆ ชักเชื่อว่าตนถูกน้องๆ เอาเปรียบ ปล่อยให้พ่ออยู่ในความดูและของตนคนเดียว ในเมื่อได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินมาเท่าๆ กัน ก็ควรช่วยเลี้ยงดูพ่อบ้าง จึง “ไล่” ให้พ่อไปอยู่กับลูกคนรอง

ลูกคนรองเลี้ยงดูพ่อพักเดียว ถูกภรรยาล้างสมอง พลอยเชื่อตามด้วย เลยขับพ่อออกจากบ้าน  พ่อก็ไปอาศัยอยู่กับลูกชายคนที่สาม คนที่สี่ นัยว่าแกมีลูกชายถึงสี่คน อยู่กับลูกชายคนเล็กไม่นาน ก็โดนไล่แบบเดียวกัน

พราหมณ์ต้องระเห็จระเหเร่ร่อนเพราะถูกลูกๆ ขับออกจากเรือน นอนกลางดินกินกลางทราย ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส

ท้ายที่สุดก็ได้เข้าไปพึ่งพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ที่พระเชตวัน ดังได้กล่าวมาข้างต้น

พระพุทธองค์ตรัสสอนคาถาให้แก่พราหมณ์บทหนึ่ง สั่งให้ท่องให้คล่องปาก คาถานั้นมีความว่า  

ข้าพเจ้าเพลิดเพลินด้วยบุตรเหล่าใด ปรารถนาความเจริญแก่บุตรเหล่าใด บุตรเหล่านั้นถูกภรรยายุยงไล่ข้าพเจ้าออกจากบ้านดุจสุนัขไล่กัดสุกร บุตรเหล่านั้นเป็นคนชั่วช้า เลวทราม ปากก็เรียกข้าพเจ้าว่า พ่อ พ่อ ที่แท้ก็คือยักษ์มารแฝงมาในร่างบุตรข้าพเจ้า  

พวกมันทอดทิ้งข้าพเจ้าผู้แก่ผู้เฒ่าให้เที่ยวขอทานยังชีพ ดุจดังม้าแก่ที่ใช้งานไม่ได้ ถูกคนเลี้ยงไล่ไม่ให้กินอาหาร ฉะนั้น

ไม้เท้าของข้าพเจ้ายังดีกว่า ไอ้ลูกสารเลวที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เพราะไม้เท้ากันหมากัดได้ ใช้คลำทางในที่มืดได้ ใช้หยั่งน้ำลึกได้ ใช้พยุงกายลุกขึ้นเวลาก้าวพลาดล้มได้

พระองค์ตรัสว่า เมื่อใดพวกลูกๆ ของพราหมณ์ไปประชุมสภา ให้หาโอกาสเข้าไปถวายคาถานี้ในที่ประชุม ถึงวันประชุมสภา ซึ่งลูกๆ ของแกเข้าประชุมกันพร้อมหน้า พราหมณ์เฒ่าก็แต่งกายอย่างสะอาดสะอ้าน เดินเข้าไปในที่ประชุม ขอโอกาสที่ประชุมกล่าว “อะไรบางอย่าง”  ที่สำคัญมากให้ที่ประชุมฟัง เมื่อได้รับอนุญาตพราหมณ์ก็กล่าวคาถาที่ท่องจำมาจากพระพุทธองค์ด้วยเสียงดัง

ที่ประชุมเงียบกริบ เมื่อพราหมณ์กล่าวจบลง ก็มีเสียงอื้ออึงตำหนิลูกชายทั้งสี่ของพราหมณ์ บ้างก็ลุกขึ้นทำท่าจะประชาทัณฑ์พวกเขา เพราะผู้อกตัญญูต่อพ่อแม่ เป็นบุคคลที่รังเกียจของสังคม

ลูกชายทั้งสี่จึงเข้ากราบแทบเท้าพ่อ กล่าวขอโทษในความผิดของพวกตน อะไรเล่าที่เท่าน้ำใจอันประเสริฐของพ่อแม่ เมื่อลูกๆ สำนึกผิดกล่าวขอโทษ มีหรือจะไม่ยกโทษให้ พ่อลูกต่างกอดกันร่ำไห้ด้วยปีติโสมนัส

เสียงประชาชนแว่วเข้ามาว่า “ต่อแต่นี้ไป พวกท่านจงดูแลพ่อให้ดีนะ ไม่อย่างนั้นโดนเล่นงานแน่” ลูกชายทั้งสี่นำพ่อกลับบ้าน เฝ้าปรนนิบัติให้ความสุขสบายดังเช่นแต่ก่อน

พราหมณ์เฒ่า เมื่อได้รับความเอาใจใส่จากบรรดาลูกๆ เช่นเดิม ก็รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ วันหนึ่งได้ผ้าเนื้อดีคู่หนึ่งจากลูกคนหนึ่ง จึงนำไปถวายพระพุทธองค์ กล่าวถวายว่า “ข้าแต่พระสมณโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ ย่อมเคารพนับถืออาจารย์เป็นอย่างยิ่ง พระองค์นับว่าเป็นอาจารย์สอนคาถาให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงขอถวายผ้าแพรคู่นี้เป็นอาจริยบูชา ขอพระองค์ทรงรับเถิด”

พระพุทธองค์ทรงรับผ้าคู่นั้น แล้วแสดงธรรมโปรด ในที่สุดพระธรรมเทศนา พราหมณ์ได้ละความเชื่อถือเดิมของตน มอบตนเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ประกาศถึงไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แล้วกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้าน

เหล่าลูกๆ ต่างก็ทำอย่างพ่อ คือ นิมนต์พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานไปฉันภัตตาหาร และสดับพระธรรมเทศนาที่บ้านตน กราบทูลว่า พวกเขาได้ดูแลพ่ออย่างดีแล้ว เดี๋ยวนี้พ่อของพวกเขาอ้วนท้วนดี มีอินทรีย์เปล่งปลั่ง

ซึ่งพระพุทธองค์ก็ตรัสอนุโมทนา และตรัสสอนว่า บัณฑิตแต่ปางก่อนทั้งหลาย กระทั่งปัจจุบันต่างก็สรรเสริญบุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดา ขอให้พวกเขาดูแลพ่อของตนให้อยู่ดีมีสุขเถิด

พระพุทธองค์มิเพียงแต่ทรงอนุเคราะห์พราหมณ์เฒ่าเท่านั้น หากทรงแผ่พระกรุณาธิคุณไปยังบรรดาลูกๆ ของพราหมณ์เฒ่าด้วย ...

   
ข้อมูล : บทความพิเศษ พราหมณ์เฒ่า  : ผู้ได้รับพระกรุณาจากพระพุทธเจ้า โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRtTEvIaxiEZZik1SBGEK0AFz_T36AwklvSgHYTPuEkZEx_6BwOXw)
๖๖. วิสาขะ
อุบาสกผู้แตกฉานในธรรม

นอกจากอุบาสกผู้แตกฉานในธรรม ได้รับยกย่องใน ‘เอตทัคคะ’ (ความเป็นผู้เลิศกว่าคนอื่น) ในทางแสดงธรรม คือ จิตตคหบดี  วิสาขะก็มีความแตกฉานในธรรมไม่แพ้กัน ภูมิธรรมก็เป็นอนาคามีเช่นเดียวกับจิตตคหบดี เพียงแต่ไม่ได้รับแต่งตั้งในเอตทัคคะเท่านั้น

ประวัติของท่านวิสาขะสับสนนิดหน่อย เพราะชื่อ วิสาขะ มีอีกคนหนึ่ง บังเอิญว่าเป็นบุตรคนร่ำรวยเช่นเดียวกัน เป็นชาวเมืองราชคฤห์เหมือนกัน พระอรรถกถาจารย์ จึงเหมาเอาว่าเป็นคนเดียว ดังเรียกวิสาขะอุบาสกคนนี้ว่า ‘ปัญจาลีพราหมณีบุตร’ (บุตรนางปัญจาลีพราหมณี)  วิสาขะ บุตรนางปัญจาลีนั้น ประวัติบอกว่าได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา แต่วิสาขะอุบาสกไม่มีหลักฐานว่าได้ออกบวช จึงน่าจะเป็นคนละคน

วิสาขะอุบาสกแต่งงานกับนางธรรมทินนา ท่านเป็นเศรษฐีที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งมคธรัฐท่านหนึ่ง ดังปรากฏว่าได้เสด็จในงานต่างๆ เสมอ

ครั้งหนึ่งตามเสด็จพระเจ้าพิมพิสารไปเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังจากที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนา ได้บรรลุโสดาปัตติผล

ต่อมาเมื่อได้รับฟังพระโอวาทจากพระพุทธองค์บ่อยๆ ก็ได้บรรลุสกทาคามิผล และอนาคามิผล โดยลำดับ

พอเป็นพระอริยบุคคลระดับอนาคามีแล้ว ก็มีความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในชีวิตครอบครัว เนื่องจากพระอนาคามีละความต้องการทางเพศได้แล้ว จึงมิยุ่งเกี่ยวกับภรรยาฉันสามีภรรยาทั่วไป วิสาขะจึงอธิบายให้ภรรยาสาวฟังถึงสาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้

นางธรรมทินนาจึงบอกสามีว่า ถ้าเช่นนั้นฉันขออนุญาตไปบวชเป็นภิกษุณี (คงคิดว่าการครองเรือนกับผู้ไม่มีความรู้สึกทางเพศ คงเป็นปัญหามาก สู้ตัดใจออกไปบวชเสียให้รู้แล้วรู้รอด) สามีก็อนุญาต และเพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยา

วิสาขะอุบาสกจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระเจ้าพิมพิสาร แห่นางรอบเมือง (คงเช่นเดียวกับที่เราแห่นาคในทุกวันนี้กระมัง) อย่างสมเกียรติ

เมื่อนางธรรมทินนาบวชแล้ว ก็ลาอุปัชฌาย์อาจารย์ (อุปัชฌาย์ภิกษุณี เรียกตามศัพท์ว่า ‘ปวัตตินี’ ) ไปปฏิบัติธรรมในป่าซึ่งอยู่ต่างเมือง ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ คือ
     แตกฉานในอรรถ (เนื้อความรายละเอียด)
     แตกฉานในธรรม (หลักการใหญ่ ประเด็นหลัก)
     แตกฉานในนิรุกติ (ภาที่นำเสนอหรือสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ)
     และ แตกฉานในปฏิภาณ (ปรับประยุกต์ให้เกิดความแจ่มแจ้ง จนสามารถสร้างแนวคิดหรือทฤษฎีใหม่ๆ ได้)

วันดีคืนดี พระธรรมทินนาเถรีก็กลับมายังมาตุภูมิ ตั้งใจที่จะอนุเคราะห์อดีตสามีและญาติมิตร จึงไปบิณฑบาตทางบ้านเดิมของตน วิสาขะอดีตสามีและญาติมิตร จึงไปบิณฑบาตทางบ้านเดิมของตน วิสาขะอดีตสามีพบท่านเข้าจึงได้นิมนต์ไปฉันภัตตาหาร ในใจก็คิดว่า ธรรมทินนาอดีตภรรยาของตนคง ‘กระสัน’ (ภาษาพระแปลว่า อยากสึก) กระมัง จึงกลับมาเยี่ยม ถ้าอยากสึกก็ตามใจเธอวิสาขะคิด

วิสาขะจึงลองถามปัญหาธรรมกับพระเถรี ถามเรื่อยไปตั้งภูมิชั้นต้นๆ จนถึงภูมิธรรมระดับอนาคามีที่ตนได้บรรลุ พระเถรีก็วิสัชนาได้อย่างถูกต้องและแจ่มแจ้งจนวิสาขะจนปัญญาจะถามต่อ จึงรู้แน่ว่าที่แท้พระเถรีนั้นได้บรรลุคุณวิเศษเหนือตน แต่จะเป็นชั้นใด เกินวิสัยที่ภูมิอนาคามีอย่างตนจะหยั่งรู้ได้ จึงมีความยินดียิ่งนักและกล่าวอนุโมทนาในความก้าวหน้าในธรรมของพระเถรี

ส่งภิกษุณีกลับสำนักแล้ว วิสาขะอุบาสกก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบถึงการปุจวิสัชนาปัญหาธรรมกับพระธรรมทินนาเถรี

ความจริงรายละเอียดของการสนทนากัน มีปรากฏในจูฬเวทัลลสูตรครับ เป็นธรรมสากัจฉาที่ลึกซึ้งมาก อยากจะนำมาเล่าไว้ในที่นี้ ก็กลัวจะเป็น ‘ยานอนหลับ’ ขนานเอก ครั้นจะแปลเป็นภาษาง่ายๆ ก็ไม่แน่ใจตนเองว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ กลัวว่ายิ่งแปลให้ง่ายก็ยิ่งจะยากขึ้นกว่าเดิมอีก เอาไว้คราวหน้าค่อยทำก็แล้วกัน

คราวนี้เอาเพียงพอให้เห็นภาพว่า ท่านทั้งสองสนทนาว่าด้วยเรื่องอะไร ท่านตอบกันเกี่ยวกับสักกายะ (กายของตน) ว่าคืออะไร เกิดมาจากสาเหตุอะไร จะดับมันได้โดยวิธีไหน สักกายทิฐิ (ความเห็นว่ามีตัวตน ความยึดมั่นในตัวตน) คือ อะไรจะดับได้โดยวิธีไหน ขันธ์ห้ากับอุปาทานขันธ์ห้า เป็นอันเดียวกันหรือคนละอย่างกัน ถามตอบสูงๆ ขึ้น จึงถึงการเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ (การดับสัญญาความจำ และดับเวทนาความรู้สึก) ว่าเป็นอย่างไร โอ๊ย ลึกมาก จนหยั่งไม่ถึง อย่าหยั่งดีว่า ถอยมาตั้งหลักบนตลิ่งก็แล้วกัน

เป็นอันว่า วิสาขะอุบาสกได้ฟังพระเถรีวิสัชนาอย่างแจ่มแจ้งพิสดาร

จึงนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้าดังกล่าวข้างต้น พระพุทธองค์ตรัสว่า “ที่ธรรมทินนาบุตรสาวเราวิสัชนานั้นถูกต้องแล้ว ถ้าเราตถาคตอธิบายก็จะอธิบายเช่นเดียวกับธรรมทินนาอธิบายนั้นแล”

จากนั้นพระพุทธองค์ก็ตรัสพระคาถา (โศลกธรรม) ความว่า ผู้ใดไม่มีความกังวลในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เราเรียกผู้นั้นว่าคนไม่มีอะไรแล เรียกว่า ‘พราหมณ์’

ความหมายของพระองค์ ก็คือผู้ที่ไม่ยึดมั่นด้วยอำนาจ ความอยากในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ผู้นั้นก็เรียกว่าคนไม่มีอะไร คือคนไม่มีความยึดมั่นในสิ่งใดๆ คนเช่นนี้เรียกว่า ‘พราหมณ์’ ในความหมายว่าละบาปได้หมดแล้ว

พูดสั้นๆ ก็คือ คนที่มีลักษณะดังว่ามีนี้คือพระอรหันต์ว่าอย่างนั้นเถอะ เท่ากับบอกวิสาขะอุบาสกว่า ธรรมทินนาบุตรสาวของพระพุทธองค์เป็นพระอรหันต์แล้ว ธรรมะที่พระอรหันต์แสดงนั้นถูกต้องแล้ว

ไม่ปรากฏว่าวิสาขะอุบาสกออกบวช แต่เพราะความที่ท่านเป็นพระอนาคามีถึงไม่บวชก็เหมือนบวชนั้นแล ท่านได้ใช้ภูมิธรรมที่ท่านมี ช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเต็มความสามารถ ตราบจนอายุขัย

ครับ ผู้ครองเรือนก็มีส่วนสำคัญในการธำรงพระพุทธศาสนาไม่แพ้ภิกษุ ภิกษุณี ข้อสำคัญ ใครอยู่ในสถานะไหน ก็ให้ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ เป็นใช้ได้...


ข้อมูล : บทความพิเศษ วิสาขะ  : อุบาสกผู้แตกฉานในธรรม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTW-QtlShGZfGpQU8qO3rhWn2MeAwehYMBHsTTbFJSw4WEVCbBeeA)
๖๗. อิลลีสะ  
เศรษฐีผู้ขี้เหนียว

เรื่องมีมานานแล้ว เข้าใจว่าก่อนสมัยพุทธกาล แต่เรื่องของท่านผู้นี้น่าจะเป็นตัวอย่างของคนที่ “กลับใจได้” คนหนึ่ง จึงนำมาขยายให้อ่านกันเพลินๆ (อ่านคอลัมน์ธรรมะก็มีสิทธิ์เพลินได้ไม่ใช่หรือฮะ)

มีเศรษฐีคนหนึ่ง รูปร่างไม่ค่อยหล่อเหลาสักเท่าไหร่ ว่ากันว่าแกตาเขข้าง เดินหลังค่อมนิดๆ อีกด้วย แถมบนศีรษะมี “ความลับ” พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งช่างกัลบกเท่านั้นที่รู้

มันคืออะไร ค่อยบอกทีหลังนะครับ

ท่านเศรษฐีคนนี้มีนามว่า อิลลีสะ มีทรัพย์สมบัติตกทอดมา ๗ ชั่วอายุคน ประมาณไม่ได้ว่ามีเท่าไร มากมายมหาศาลก็แล้วกัน

แต่แกเป็นคนขี้เหนียว ไม่เคยบริจาคเงินทำบุญทำทานแม้แต่บาทเดียว  ตัวแกเองก็อยู่อย่างปอนๆ กินง่าย นอนง่าย ทำยังกับคนจน ไปไหนมาไหนไม่มี “มาด” มหาเศรษฐีเอาเลย

วันหนึ่ง อิลสีสะเศรษฐีเห็นชายคนหนึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ มีปลาแห้งกินเป็นกับแกล้ม นึกอยากจะกินอย่างเขาบ้าง ก็ไม่กล้าซื้อสุรามาดื่ม เพราะกลัวเสียทรัพย์ ขี้เหนียวปานนั้นนะครับ

สู้อดใจมาหลายวัน ความอยากกินมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดอดใจไว้ไม่ไหว จึงแอบไปซื้อสุรามาขวดหนึ่ง ไม่ให้ใครรู้ กลัวเขาจะขอแบ่ง จึงออกไปนอกเมืองคนเดียว ยึดเอาพุ่มไม้พุ่มหนึ่ง ปลอดคน เป็นสถานที่นั่งดื่มสุราคนเดียวเงียบๆ

ขณะนั้นท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ว่ากันว่าเคยเป็นบรรพบุรุษของเศรษฐีขี้เหนียวมาในชาติก่อน เห็นว่า ลูกหลานของตนนั้นมันขี้เหนียวเหลือประมาณต้องการให้สำนึก จึงแปลงกายเป็นอิลสีสะเศรษฐีอีกคนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระราชา (แน่นอนพระราชาในนิทานชาดกก็ต้องเป็นพระเจ้าพาราณสี พระนามว่า พรหมทัต) บอกถวายสมบัติทั้งปวงที่ตนมีให้แก่พระราชา

พระราชาทรงตกพระทัย อยู่ๆ เศรษฐีขี้เหนียวมามอบสมบัติให้ จึงไม่ยอมรับ รับสั่งว่าให้คิดดีๆ ก่อนท่านเศรษฐี อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ แกก็ยังยืนกรานมอบถวายสมบัติเช่นเดิม พระราชาไม่ยอมรับ แกจึงทูลว่า ถ้าอย่างนั้นข้าพระพุทธเจ้าจะขนทรัพย์ทั้งหมดออกให้ทานแก่ยาจกวณิพกและคนทั่วไป

อิลลีสะเศรษฐี (ตัวปลอม) ไปคฤหาสน์ สั่งให้คนในบ้านเปิดคลังสมบัติ ขนออกมาบริจาคแก่ประชาชน ให้ป่าวประกาศทั่วเมืองว่า ท่านเศรษฐีจะบริจาคของทำทาน ขอให้มารับกันได้โดยทั่วหน้ากัน ประชาชนได้ยินข่าวก็พากันมา แรกๆ ก็ไม่แน่ใจว่าเศรษฐีขี้เหนียวจะทำจริง ครั้นเห็นว่าแกให้ทานจริงๆ ก็มารับข้าวของไปตามที่ตนต้องการ มากบ้าง น้อยบ้าง

กระทาชายชาวบ้านนอกคนหนึ่ง ขนของที่ได้รับบริจาคใส่เกวียน ออกจากเมือง ปากก็พร่ำสรรเสริญความใจบุญสุนทานของเศรษฐี อวยพรให้อิลลีสะเศรษฐีมีอายุมั่นขวัญยืนตลอดทาง

อิลลีสะเศรษฐี (ตัวจริง) ได้ยินคนเอ่ยชื่อตัวเอง จึงลุกขึ้นจากพุ่มไม้ที่แอบนั่งดื่มสุราอยู่ มองไปเห็นข้าวของที่ชายคนนั้นบรรทุกเกวียนไป จำได้ว่าเป็นของตน จึงเข้าไปยื้อแย่งกลับคืน ถูกกระทาชายนั้นทุบต่อยเอาสะบักสะบอม แถมตะโกนใส่หน้าว่า “ไอ้ฉิบหาย มึงอยากได้มึงก็ไปรับเอาซีวะ ท่านอิลลีสะเศรษฐีกำลังให้ทานอยู่ มึงมาแย่งจากกูทำไม”

ได้ยินดังนั้น อิลสีละเศรษฐีตัวจริงก็ฉุกคิดได้ว่า มันคงต้องเกิดอะไรสักอย่างขึ้นแน่ๆ รีบวิ่งไปยังคฤหาสน์ของตน เห็นประชาชนยืนมุงส่งเสียงอึงมี่ จึงแหวกฝูงชนเข้าไปจะเข้าไปในบ้าน ถูกนายประตูห้ามไว้ จึงร้องตะโกนว่า
“เฮ้ย ข้าคืออิลลีสะเศรษฐีเจ้าของบ้านนี้ ให้ข้าเข้าไป”

คนเฝ้าประตูตะคอกว่า
“ไอ้ฉิบหาย มึงอยากได้รับบริจาค มึงก็เจียมเนื้อเจียมตัวหน่อยซีวะ ไปเข้าคิวโน่น อย่าอ้างชื่อเจ้านายส่งเดช”
“ไม่ได้อ้างโว้ย ข้านี่แหละอิลลีสะ ทรัพย์สมบัติของข้า ใครถือสิทธิอะไรขนออกมาบริจาค”
“ไอ้นี่มันวอนเสียแล้ว” คนเฝ้าประตูชักโมโห จึงสั่งให้พรรคพวกรุมเตะต่อยจนสะบักสะบอม เฉดหัวออกจากบริเวณบ้าน

เมื่อถูกไล่ออกจากบ้าน อิลลีสะเศรษฐีก็คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร ไปเฝ้าพระราชา ขอพระบารมีพระราชาเป็นที่พึ่ง ร้องว่ามีคนขนข้าวของของแกออกให้ทานโดยไม่ได้รับอนุญาต

พระราชาก็รับสั่งว่า “อ้าว ก็เมื่อกี้ท่านมาหา บอกว่าจะยกทรัพย์สมบัติให้ข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่รับ ท่านบอกเองว่าจะบริจาค แล้วนี่มาร้องเสียดายภายหลัง ดีนะที่ข้าพเจ้าไม่ได้รับบริจาคจากท่านแต่แรก ไม่งั้นท่านก็จะมาทวงคืนอีก”
 “ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มาเฝ้า และมิได้บอกถวายทรัพย์สมบัติดังรับสั่งแต่ประการใด พระเจ้าข้า”
“อ้าว” พระราชาทรงอุทานขึ้น สงสัยจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นเสียแล้ว จึงรับสั่งให้คนไปเชิญคนที่กำลังบัญชาการขนทรัพย์ออกบริจาคอยู่เข้าไปเฝ้า

ปรากฏว่า คนที่ว่านี้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันกับคนที่มาร้องทุกข์ไม่ผิดเพี้ยน จนพระราชาเองก็ไม่ทรงทราบว่าใครเป็นใคร รับสั่งถามว่า “ใครคืออิลลีสะ”
“ข้าพระพุทธเจ้าเอง พระเจ้าข้า” ทั้งสองคนกราบทูลพร้อมกัน
“ไม่จริง ข้าพระพุทธเจ้าเองต่างหาก ไอ้หมอนั่นพูดเท็จ” ตัวจริงกราบทูล
“ไม่จริง พระเจ้าข้า เจ้าตนนี้กล่าวตู่ ข้าพระพุทธเจ้าคืออิลลีสะเศรษฐีตัวจริง” ตัวปลอมกราบทูลบ้าง
“เอาล่ะๆ ไม่ต้องเถียงกัน ให้ใครไปรับภรรยาและบุตรเศรษฐีมา” พระราชารับสั่ง

เมื่อภรรยาและบุตรของเศรษฐีมาถึง ต่างก็พิศวงงงงวย ไม่สามารถบอกได้ว่าใครคือสามีและบิดาของพวกตน เพราะทั้งสองคนเหมือนกันยังกับแกะ  อิลลีสะเศรษฐีตัวจริงนึกถึงทีเด็ดของตนได้ จึงกราบทูลให้รับสั่งนายช่างกัลบกมาตัดสิน พระอินทร์ในคราบของอิลลีสะตัวปลอมรู้ทันจึงเตรียมการไว้พร้อมสรรพ

ทีเด็ดที่ว่านี้ คือ อิลลีสะตัวจริงมี “ไฝ” เม็ดใหญ่อยู่กลางศีรษะ ช่างกัลบกประจำตัวเท่านั้นที่รู้ความลับ เมื่อช่างกัลบกได้เปิดศีรษะทั้งสองคน ตรวจสอบแล้วก็กราบทูลว่า
“ขอเดชะ” ทั้งสองท่านหลังค่อม ทั้งสองท่านตาเขข้างหนึ่ง ทั้งสองท่านมีไฝเม็ดใหญ่ที่ศีรษะเหมือนกัน ข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถชี้บอกได้ว่าใครคืออิลลีสะเศรษฐีตัวจริง”

เท่านั้นแหละครับ อิลลีสะเศรษฐีตัวจริงเสียใจมาก ล้มฟุบสิ้นสติ พอฟื้นขึ้นมา พระอินทร์จึงคืนร่างแล้วกล่าวกับอิลลีสะเศรษฐีว่า “เราคือบรรพบุรุษของท่าน เราเห็นท่านตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เคยบริจาคทานแม้ข้าวทัพพีเดียว จึงได้มาตักเตือนท่าน ต่อไปนี้ท่านอย่าได้ตระหนี่ถี่เหนียว จงบริจาคทรัพย์ทำทาน รักษาศีลบ้าง” ขอคำมั่นสัญญาจากอิลลีสะเศรษฐี แล้วก็หายวับไปกับตา

ตั้งแต่นั้นมา อิลลีสะเศรษฐีก็กลายเป็นนิวอิลลีสะที่มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำบุญทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาตามความสามารถ เป็นที่รักของคนทั้งหลายตลอดชีวิตแล...


ข้อมูล : บทความพิเศษ อิลลีสะ : เศรษฐีผู้ขี้เหนียว โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 กรกฎาคม 2557 16:58:17
.

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRt33SktdkiGmZz_P3imjpSwCreetZDUcGaas4nTRVTkrBHccyP)
๖๘. อายุวัฒนกุมาร 
เด็กรอดตายเพราะต่ออายุ

พิจารณาตามเนื้อหาแล้ว เรื่องนี้น่าจะแต่งภายหลังพุทธกาล แต่พยายามโยงไปถึงพระพุทธองค์

เหตุผลง่ายๆ คือ สมัยพุทธกาลไม่มีการสวดพระปริตร การต่ออายุหรือสวดพระปริตร ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ฝากนักปราชญ์พิจารณาด้วย ขอเล่าเรื่องให้ฟังก่อน

ดาบสสองตนเป็นเพื่อนกัน บำเพ็ญพรตเคร่งครัดอยู่ในป่า ดาบสตนหนึ่งคิดว่า ขืนบวชอยู่อย่างนี้จนตายก็คงไม่มีบุตรสืบสกุล แล้วสกุลวงศ์ก็ขาดสูญ

คิดได้ดังนี้จึงลาพรตมาเป็นผู้ครองเรือน แต่งงานกับหญิงสาวที่เหมาะสมกัน ก่อร่างสร้างตัวจนฐานะมั่นคง มีโคถึง ๑๐๐ ตัว (สมัยโน้นใครมีโคมากปานนั้น ถือว่ามีฐานะดี)

ไม่ช้าไม่นานก็ได้บุตรชายน่าเกลียดน่าชังมาคนหนึ่ง พอดีได้ข่าวว่าดาบสสหายเก่าของตน อาศัยอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านตน จึงพาลูกเมียไปกราบ

ขณะบิดาไหว้ดาบสก็อวยพรว่า “ขอให้โยมอายุมั่นขวัญยืน” ขณะมารดาไหว้ก็ได้รับคำอวยพรเช่นเดียวกัน

แต่เมื่อบุตรชายไหว้บ้าง ท่านดาบสกลับนั่งนิ่ง

“พระคุณท่านไม่อวยพรให้บุตรชายเราหรือขอรับ” คุณพ่อเด็กเรียนถามดาบสผู้เป็นสหายเก่า
“เด็กคนนี้อายุจะไม่ยืน อาตมาจึงไม่อวยพร”
“มีทางช่วยอย่างไรบ้างหรือไม่ครับท่าน” ผู้เป็นพ่อถามด้วยความกังวลใจ
“อาตมาไม่รู้วิธีแก้ไข รู้แต่ว่าเด็กจะอายุไม่ยืน” ดาบสกล่าว
“มีใครบ้างที่ทราบ”
“พระสมณโคดมคงจะทราบ” ดาบสเอ่ยถึงพระพุทธองค์ คงเพราะเกียรติคุณของพระพุทธคุณแพร่ขจรไปทั่ว แม้ฤๅษีชีไพรนักบวชต่างศาสนาก็ทราบกันดี
“แต่ผมไม่นับถือศาสนาของพระสมณโคดมนะ เกรงว่าตบะจะเสื่อม” พ่อเด็กแย้ง
ถ้าโยมรักลูก ไม่อยากให้ลูกตาย โยมคิดเอาเองก็แล้วกัน” ดาบสแนะนำ

เขาและภรรยาจึงตัดสินใจอุ้มลูกน้อยไปเฝ้าพระพุทธองค์ ขณะเขาและภรรยาถวายบังคมพระพุทธองค์ ก็ได้รับพรจากพระพุทธองค์ว่า ขอให้อายุมั่นขวัญยืน แต่เมื่อให้ลูกน้อยกราบบังคมทูลบ้าง พระพุทธองค์กลับประทับดุษณีเช่นเดียวกับดาบสสหายเก่าของเขา

เขาจึงกราบทูลถามสาเหตุ พระพุทธองค์ตรัสบอกว่าเด็กจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๗ วัน หลังจากวันนี้ เมื่อเขากราบทูลถามว่า มีทางรอดไหม

พระพุทธองค์ตรัสว่า มี ถ้าท่านจักให้พระสาวกทั้งหลายของเราสวดพระปริตร ๗ วัน ๗ คืน โดยสร้างปะรำไว้บริเวณบ้าน ตั้งตั่งไว้ ขึงสายสิญจน์รอบบริเวณ เอาเด็กนอนตรงกลาง นิมนต์พระสาวกของเรามาสวดพระปริตร ๗ วัน ๗ คืน โดยวิธีนี้เด็กจะรอดชีวิต

เขากลับไปตระเตรียมปะรำพิธี ตั้งตั่งสำหรับสวดพระปริตร ขึงด้วยสายสิญจน์รอบบริเวณ นำบุตรน้อยมานอนตรงกลางปะรำตามที่พระองค์ตรัสบอกนิมนต์ พระสงฆ์ไปสวดพระปริตรติดต่อกัน ๖ คืน คืนที่ ๗ พระพุทธองค์เสด็จไปสวดพระปริตร

ตำรากล่าวว่า ที่เด็กน้อยจะมีอายุแค่ ๗ วันเท่านั้น ก็เพราะมียักษ์ตนหนึ่งรับใช้ท้าวเวสสวัณ หัวหน้ายักษ์อย่างดีมาเป็นเวลา ๑๒ ปี ท้าวเวสสวัณพอใจ จึงให้พรว่าภายใน ๗ วันนี้ อนุญาตให้จับเด็กกินได้คนหนึ่ง บังเอิญว่าเด็กคนนี้เกิดในวันที่ยักษ์ตนนี้ได้รับพร แกจึงจ้องที่จะจับเด็กคนนี้กิน

แต่เมื่อพ่อแม่ของเด็กจัดการสวดพระปริตรต่ออายุให้ ยักษ์ตนนั้นก็ไม่มีโอกาสจับเด็ก ได้แต่จ้องรอจังหวะอยู่ใกล้ๆ บริเวณพิธี (รอว่าเด็กน้อยออกจากวงด้ายสายสิญจน์เมื่อใด ก็จะจับเอาไปกินทันที)

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาในปะรำพิธี เพื่อทรงสวดพระปริตร เหล่าเทวดาผู้มีปกติใหญ่น้อยทั้งหลายต่างก็แห่กันมาเฝ้าพระพุทธองค์ บริเวณพิธีจึงเต็มไปด้วยเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่ เทพผู้มีศักดิ์น้อยจำต้องถอยออกไปยืนห่างๆ

ยักษ์ตนที่พูดถึงนี้ก็จำต้องถอยออกไปยืนอยู่ไกลมาก เพราะตนเป็นเพียงยักษ์ “กระจอก” ตนหนึ่งเท่านั้น จึงไม่ได้โอกาสเข้าไปรอจับเด็กกิน เมื่อพ้น ๗ วัน ๗ คืนไปแล้ว เธอก็ไม่มีสิทธิทำอะไรเด็กน้อยได้

เด็กน้อยจึงรอดชีวิต พ่อแม่เด็กจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า บุตรชายของตนจะอายุยืนเท่าไร พระพุทธองค์ตรัสว่า เขาจะมีอายุ ๑๒๐ ปี

ด้วยเหตุนี้พ่อแม่จึงตั้งชื่อเขาว่า อายุวัฒนกุมาร (กุมารผู้มีอายุยืน) และเขาก็มีอายุยืนจริงๆ เขาเจริญเติบโตมา แต่งงานเป็นหลักฐาน มีชีวิตครอบครัวที่มั่นคงตลอดอายุขัย

วันหนึ่งเหล่าสาวกพระพุทธองค์สนทนากันใน “อุปัฏฐานศาลา” (หอฉันใช้เป็นศาลาสนทนาธรรมด้วย) ยกประเด็นเรื่องเด็กที่จะตายภายใน ๗ วัน รอดชีวิตมาได้เพราะอานุภาพการสวดพระปริตร จนเด็กได้ชื่อว่าเด็กชายอายุยืน

พระพุทธองค์เสด็จมาตรัสให้โอวาทพวกเธอว่า คนจะอายุยืนนั้น จะต้องมีคุณสมบัติหรือคุณธรรม ๔ประการ มิใช่เพียงอายุยืนอย่างเดียว วรรณะ (ผิวพรรณ) ก็ผ่องใส มีความสุข และมีพละกำลังด้วย คุณธรรมที่ว่านี้คือ

๑. ต้องมีปกติกราบไหว้ผู้อื่นเสมอ
๒. ต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตัวต่อผู้เจริญด้วยวัยวุฒิเป็นนิตย์

คุณธรรม ๒ ประการนี้ ความจริงสรุปลงเป็นข้อเดียวได้ คือ ความเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน กราบไหว้ผู้ควรกราบไหว้เป็นนิตย์

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ คนที่รู้จักสัมมาคารวะ มืออ่อน ไม่ถือเนื้อถือตัว เหตุผลอื่นอาจลึกมากจนผมมองไม่เห็น

แต่ที่เห็นแน่ๆ ก็คือ คนที่รู้จักเคารพนบนอบ เป็นคนน่ารัก ใครๆ เห็นใครๆ ก็เอ็นดู คนเช่นนี้จะหาศัตรูไม่ได้ อันโอกาสคนที่จะเตะต่อยทุบตี หรือถูกมีดจิ้มพุงถูกหามส่งโรงพยาบาล ดังคนยโสโอหังบางคนนั้นไม่มีแน่ คนอย่างนี้ย่อมมีโอกาสแก่ตายครับ ไม่ตายโหง

อายุยืนเพราะเป็นคนนอบน้อม พอมองเห็นเหตุผล แต่คนอ่อนน้อมถ่อมตน มีผิวพรรณสวย มองยาก แต่พอไปอ่านฉบับอื่น ตรงนี้ท่านใช้คำว่า “กิตติ” (ชื่อเสียง) แทนคำว่า “วณฺณ” (ผิวพรรณ) จึงถึงบางอ้อ ว่าคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิตย์คนเขาย่อมยกย่องสรรเสริญ ชื่อเสียงก็ขจรไปไกล

ส่วนความสุขนั้น แน่นอน คนเช่นนี้มีความสุขแน่

และพละ ถ้าไม่คิดถึงแต่เพียงกำลังกาย พลังด้านอื่น เช่น พลังเพื่อนพ้อง ญาติมิตร ผู้ช่วยเหลืออุปถัมภ์ คนที่ชอบอ่อนน้อมถ่อมตน ย่อมมีคนรักใคร่ช่วยเหลือมากมาย มีเหตุผลฟังขึ้นครับ

แต่ที่จะขอฝากให้ช่วยคิดต่อ ก็คือที่ผมได้เกริ่นไว้ตอนต้นนั้น สมัยพุทธกาลไม่มีการสวดพระปริตร และไม่มีการโยงสายสิญจน์ทำพิธีตลอดจนทำน้ำมนต์ ประเพณีอย่างนี้เข้าใจว่าเกิดขึ้นที่ศรีลังกาสมัยหลังแล้วก็แต่งคัมภีร์โยงไปถึงสมัยพุทธกาล ทำนองให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลโน้น

ขอฝากไว้พิจารณาด้วยครับ ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ อายุวัฒนกุมาร : เด็กรอดตายเพราะต่ออายุ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRTmbn62DnroWBAVGqN5RnxppFAlo9Zx3v-wHK7s2MTfvtfME3F_w)
๖๙. ชาวนานิรนาม
ผู้รอดตายเพราะพระมหากรุณา

เหตุการณ์เกิดขึ้น ณ ทุ่งนาแห่งหนึ่ง แห่งเมืองสาวัตถี ชาวนาผู้ที่ตำนานไม่ได้จดชื่อไว้คนหนึ่ง กำลังไถนาเหย็งๆ อยู่ตั้งแต่เช้า พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอานนนท์พุทธอนุชา เสด็จผ่านมาทางนั้น ขณะที่เขากำลังหยุดไถ จะมานมัสการพระพุทธองค์ เขาก็ได้ยินพระพุทธดำรัสตรัสสนทนากับพระอานนท์แว่วมา
“อานนท์ เธอเห็นอสรพิษไหม”
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า อสรพิษตัวใหญ่ พิษร้ายกาจเสียด้วย”  ตรัสแล้วพระองค์ก็เสด็จพุทธดำเนินต่อไป

เขาคว้าไม้มาท่อนหนึ่ง หมายใจว่าจะฆ่างูพิษตัวนั้น เพราะทิ้งไว้เดี๋ยวจะไปกัดคนเดินผ่านไป ผ่านมา ไม่เห็นอสรพิษสักตัว เห็นถุงวางอยู่ถุงหนึ่ง ด้วยความอยากรู้จึงแก้ออกดู ปรากฏว่าเป็นกหาปณะ (เงิน) จำนวนมาก

ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เขาจึงเอาถุงนั้นซุกไว้ใต้พุ่มไม้แห่งหนึ่ง แล้วก็กลับไปไถนาต่อ เสียงประชาชนร้องเย้วๆ ใกล้เข้ามา เขาก็มิได้ใส่ใจ ยังคงไถนาอยู่อย่างนั้น ตั้งใจจะรีบไถให้เสร็จก่อนสาย จะได้ปักดำให้แล้วเสร็จ

ชาวบ้านหยุดอยู่ ณ จุดนั้น ปากก็ร้องบอกกันว่าเจอแล้ว ถุงเงินอยู่ตรงนี้ มันต้องไอ้คนที่แกล้งไถนาอยู่นี่แหละตัวการ แล้วก็กรูเข้ามาจับเขา เฆี่ยนตีอย่างเจ็บแค้น เขาร้องเสียงหลงว่า ตีผมทำไม

“มึงขโมยเงินกูแล้วยังมีหน้ามาร้องถามว่าตีทำไม ไม่กระทืบให้ตายคาตีนก็บุญแล้ว” เจ้าของทรัพย์ร้องตอบ
“ผมเปล่า ผมไม่รู้เรื่อง”
“เอามันไปให้ทางการลงโทษให้เข็ด” ชาวบ้านร้องบอกกัน แล้วก็จับเขาไปส่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองพิจารณาทำโทษ

ขณะที่ถูกนำตัวไปนั้น ชาวนานิรนามผู้น่าสงสารร้องได้อยู่สองประโยคว่า
“อานนท์ เธอเห็นอสรพิษไหม....”
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า อสรพิษตัวใหญ่ พิษร้ายกาจเสียด้วย”

ร้องอยู่อย่างนี้ตลอดทาง จนเขาเข้าใจว่ามันคงกลัวตายจนเพ้อ ไม่ได้สติ

เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเมื่อเห็นเขาร้อง อ้างพระดำรสัของพระพุทธเจ้าและพระอานนท์ จึงไม่กล้าที่จะทำอะไร รีบเข้ากราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาแห่งโกศลรัฐ พระราชาจึงรับสั่งว่า อย่าพึ่งไปทำอะไรชายคนนั้น

พระองค์ก็เสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบบังคมทูลเรื่องราวให้ทรงทราบพร้อมกราบทูลถามว่า เรื่องราวมันเป็นมาอย่างไร ชายคนนั้นจึงบังอาจอ้างพุทธดำรัสอย่างนั้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า ชาวนาคนนั้นก็มิใช่ขโมย ถุงทรัพย์นั้นมันตกอยู่ในที่นาของเขา โดยที่เขาไม่รู้ ตถาคตเกรงว่าเขาจะถูกเข้าใจผิดและถูกจับไปประหารชีวิต จึงได้ผ่านไปทางนั้น และกล่าวคำดังกล่าวกับพระอานนท์ ที่เขาอ้างคำพูดของตถาคตนั้นถูกต้องแล้ว

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเสด็จกลับ รับสั่งให้ปล่อยชาวนาคนนั้น แล้วให้สืบหาคนผิดมาลงโทษในภายหลัง

เป็นอันว่าชาวนานิรนามคนนี้ได้พ้นจากความตาย เพราะพระมหากรุณาของพระพุทธองค์

พระพุทธองค์นั้นทรงมีพระคุณมากมาย สรุปได้เป็น ๓ ประการ คือ
๑. พระปัญญาคุณ ทรงมีพระปัญญาเฉียบแหลม ตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐด้วยพระองค์เอง
๒. พระวิสุทธิคุณ ทรงมีความบริสุทธิ์หมดจดแห่งจิตสันดาน ปราศจากกิเลสเครื่องมัวหมองทั้งหลาย
๓. พระมหากรุณาธิคุณ ทรงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่หาที่เปรียบมิได้

พระคุณ ๒ ประการแรก เป็นคุณสมบัติส่วนพระองค์ เป็นความรู้เป็นความบริสุทธิ์เฉพาะพระองค์ ถ้าพระองค์ทรงพอพระทัยที่จะอยู่อย่างเงียบๆ ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่สอนใคร ย่อมมีสิทธิทำได้ แต่ที่พระองค์ทรงทำเช่นนี้ เพราะพระคุณประการสุดท้าย เป็นพลังผลักดันให้พระองค์ทรงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้

พระมหากรุณาธิคุณนี้แลเป็นพลังขับเคลื่อนให้พระองค์ต้องเสด็จออกไปโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ให้ได้รู้ธรรมตามพระองค์

การเคลื่อนไหวด้วยพระมหากรุณาธิคุณนี้ จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่ดุจเดียวกับพระเทพชั้นสูง คือ พระพรหมมาอันเชิญทีเดียว

คนสมัยโน้นถือว่า พระพรหมเป็นเทพยิ่งใหญ่ การที่เขียนตำนานให้มีพระพรหมอันเชิญเสด็จไปโปรดสัตว์นั้น เป็นการบอกในตัวว่า การที่พระองค์เสด็จออกไปโปรดสัตว์นั้น เป็นการเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่

ข้อเท็จจริงไม่จำเป็นต้องเป็นพรหมจริงๆ ก็ได้ หากเป็น “สัญลักษณ์”

พรหม หมายถึง พรหมวิหาร (อันมีเมตตากรุณาเป็นหลักใหญ่) การที่พระพุทธองค์รับคำเชิญของพรหมออกไปสอนประชาชน ก็คือทรงเกิดความเมตตากรุณารักห่วงใย สงสารสัตว์โลกที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ ความเมตตา ความสงสาร มีมากท่วมท้นพระทัย จนไม่สามารถนิ่งนิ่งอยู่ ต้องออกไปโปรด

เพราะพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้เอง ทำให้เหล่าสัตว์ผู้น่าสงสารได้รับแสงสว่างแห่งธรรมะตามสมควรแก่นิสัยและอุปนิสัยของแต่ละคน

กระทั่งคนกำลังจะถูกฆ่าตายเพราะไม่มีความผิดอย่างชาวนานิรนามนี้ก็รอดตาย

มหาโจรฆ่าคนมาเป็นร้อยเป็นพัน กำลังจะพบมารดา และ (หากพบ) ก็จะฆ่ามารดา กลายเป็นคนบาปหนาสาหัสมาก ก็ได้กลับใจขอบวชเป็นพระสาวก

ทั้งหมดนี้ เพราะมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์นั้นแล
“องค์ใดประกอบด้วยพระกรุณาดังสาคร
โปรดหมู่ประชากร มะละโอฆะกันดาร
ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย...
ข้าขอประณตน้อม  ศิรเกล้าบังคมคุณ
สัมพุทธการุณยภาพนั้น นิรันดร”

ครูและนักเรียนทั้งหลาย ทราบไหมว่าบทสวดสรรเสริญพุทธคุณอันไพเราะนี้ใครเป็นผู้แต่'

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร  เปรียญ ๗ ประโยค) แห่งสำนักวัดสระเกศวรมหาวิหาร ชาวเมืองแปดริ้ว ผู้ปราดเปรื่อง ได้ประพันธ์ไว้เพื่อให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย ขอรับ
ช่วยบอกต่อๆ กันด้วย
ความซาบซึ้งในความดีงามของท่านเป็นกตัญญุตา
การบอกต่อๆ กันไป การสวด และพยายามปฏิบัติตามคำสวดนั้น เป็นกตเวทิตา ขอรับ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ ชาวนานิรนาม : ผู้รอดตายเพราะพระมหากรุณา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQnAc3hm7FvtMYMVXAXxKfWfu9wUYEfkiQcPh37evno1XB1872fkw)
๗๐. อุคคตสรีระ 
พราหมณ์โย่งผู้กลับใจ

พราหมณ์มหาศาล (ระดับมหาเศรษฐี) คนหนึ่ง นาม “อุคคตสรีระ” (แปลว่า ผู้มีร่างกายสูงใหญ่) ต้องการทำบุญ บุญครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต คือ จัดการบูชายัญ นำสัตว์อย่างละร้อยมาเพื่อการนี้ คือ โคผู้ โคเมีย ลูกโคเมีย แพะ แกะ นำมาผูกไว้กับหลักเตรียมประหารบูชายัญ

พวกพราหมณ์สมัยนั้น มักคิดว่าฆ่าสัตว์เหล่านั้นบูชายัญ แล้วตนเองจะได้บุญกุศลมาก อุคคตสารีระก็เหมือนกัน

เมื่อเขาได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาใกล้บ้านเขา เขาจึงเข้าเฝ้าทูลถามพระองค์ ขณะพระอานนท์เฝ้าอยู่ด้วยว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าสดับมาว่า การก่อกองไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พระองค์ทรงได้ยินดังนั้นหรือเปล่า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราตถาคตก็ได้ยินมาเหมือนกัน
เขาทำท่าจะกราบทูลลา เพราะได้คำยืนยันจากพระองค์ว่า ที่เขากำลังทำอยู่นั้นถูกต้อง พระอานนท์จึงท้วงพราหมณ์ขึ้นว่า ท่านพราหมณ์ไม่ควรทูลถามอย่างนั้น ควรทูลถามว่า ท่านกำลังจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ขอประทานโอวาทเกี่ยวกับเรื่องนี้

พราหมณ์จึงทูลถามตามที่พระอานนท์แนะนำ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟปักหลักบูชายัญในเบื้องต้น เชื่อว่า เงื้อศัสตรา ๓ ชนิดที่เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร จะเรียกว่าทำบุญกุศลได้อย่างไร ศัสตรา ๓ ชนิดที่เป็นอกุศลนั้น คือ ศัสตราทางกาย ศัสตราทางวาจา และศัสตราทางใจ

ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลย่อมคิดวางแผนว่าจะนำโคผู้ โคเมีย ลูกโคผู้ ลูกโคเมีย แพะ แกะ อย่างละเท่านั้นเท่านี้ มาฆ่าบูชายัญ นี้แลเรียกว่าเงื้อศัสตราทางใจ อันเป็นบาปอกุศล เขาคิดว่ากำลังทำบุญ แต่แท้ที่จริงเขากำลังทำบาป หาทางไปทุคติ

ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลเมื่อสั่งว่า จงฆ่าโคผู้ จงฆ่าโคเมีย ฯลฯ เท่านั้นเท่านี้ตัว นี้แลเรียกว่าเงื้อศัสตราทางวาจาอันเป็นอกุศล เขาสั่งว่าเขากำลังทำบุญ แท้ที่จริงแล้วกำลังทำบาปหาทางไปทุคติ

ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อเขาลงมือด้วยตนเอง คือ ฆ่าโคผู้ ฆ่าโคเมีย ฯลฯ เพื่อบูชายัญ เขาลงมือว่าจะทำบุญกุศล แท้จริงแล้วเขากำลังลงมือทำบาปอกุศล นี้แล เรียกว่าเงื้อดาบทางกายอันเป็นอกุศล เขากำลังทำบาปทางกาย หาทางไปทุคติ

จากนั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องไฟ โดยแบ่งเป็นไฟที่ควรดับ ๓ กอง ไฟควรบูชาอีก ๒ กองคือ
๑. ไฟควรดับ ดับไม่มีเหลือเลยยิ่งดี ๓ กอง คือ
   ราคัคคิ – ไฟราคะ
   โทสัคคิ – ไฟโทสะ
   โมหัคคิ -  โฟโมหะ
๒. ไฟควรบูชา ควรก่อบูชาประจำอย่าให้ดับ ๓ กอง คือ
คหปัตัคคิ – ไฟเจ้าของบ้าน คือ คนในบ้าน ได้แก่บุตร ภรยา และคนใช้บริวาร
อาหุเนยยัคคิ – ไฟที่ควรบูชา ได้แก่ บิดา มารดา ลูกๆ พึงเคารพบูชา เลี้ยงดูท่าน
ทักขิเณยยัคคิ – ไฟที่ควรทำบุญด้วย ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล

ทรงสอนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องเกี่ยวกับไฟเหล่านี้ คือไฟควรดับก็ต้องดับ อย่าก่อให้ลุกโชน เพราะจะนำโทษภัยมาให้ ไฟควรก่อบูชาเสมอๆ ก็ต้องก่อบูชา เพื่อสวัสดิมงคล

พราหมณ์รู้สึกซาบซึ้งที่ได้ทราบความหมายใหม่ของไฟ และวิธีการบูชายัญไฟแนวใหม่ เห็นด้วยกับพระพุทธองค์ว่า การทำบุญกุศลที่ลงทุนด้วยการฆ่า การเบียดเบียน ไม่เป็นบุญกุศลแม้แต่น้อย จึงสั่งให้ปล่อยสัตว์ทั้งหลายที่เตรียมมาฆ่าบูชายัญ

ตั้งแต่ได้สดับพระพุทธโอวาทคราวนั้น อุคคตสรีระได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

พระจริยวัตร เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกนั้นเด่นชัดมาตลอด อ่านเรื่องราวในพระคัมภีร์ แล้วจะเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาช่วยชีวิตคนและสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมากมาย ต่างกรรม ต่างวาระ

ในกรณีนี้ มิเพียงแต่อุคคตสรีระพราหมณ์เท่านั้นที่ทรงโปรดให้ได้พบทางสงบ สันติแห่งจิต สัตว์ผู้น่ารักที่กำลังจะสังเวยชีวิตในการบูชายัญของพราหมณ์ก็ได้รอดชีวิตโดยทั่วหน้ากัน เพราะพระมหากรุณาดุจสาครของพระพุทธองค์

องค์ใดประกอบด้วยพระกรุณาดังสาคร
โปรดหมู่ประชากร มะละโอฆกันดาร
ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานติ์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย  สาธุ ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ อุคคตสรีระ : พราหมณ์โย่งผู้กลับใจ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 สิงหาคม 2557 12:06:31
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTvykBsEiPy3urbChC9eGUWWZLTgqStB5XDDyo07NY_MGyU9Zt-)
๗๑. พราหมณ์ขี้ยัวะ
ผู้ซึ่งกลับตัวกลับใจได้

พรหมณ์ผู้นี้ชื่อเสียงเรียงไรไม่ทราบ แต่เรียกกันว่า “ภารัทวาชะ” ตามชื่อ โคตร หรือตระกูล เขาเป็นคนหยิ่งทะนง ขี้โมโห ต่อมาพฤติกรรมได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะเทคนิควิธีของพระพุทธเจ้า อันได้นาม (ตามภาษากำลังภายใน) ว่า”ยืมดาบศัตรูฟันศัตรู” ศัตรูที่อยู่ตรงหน้าจอมยุทธ์ผู้ทระนงตน ไม่มีดาบอยู่ในมือ แต่ชั่วพริบตาเดียวนั้น ดาบที่อยู่ในมือของตนนั้นไปอยู่ที่มือศัตรูได้อย่างไร และกว่าที่จะรู้ตัวก็ล้มลงไปแล้ว และกำลังจะสิ้นใจพอดี ช่างรวดเร็วอะไรปานนั้น

พราหมณ์คนนี้โกรธพระพุทธองค์ที่ชักจูงพี่ชายน้องชายไปบวชกันหมด พวกพราหมณ์ต่อต้านพระพุทธเจ้า และคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว การที่พวกพราหมณ์ต่อต้านพระพุทธเจ้า ก็มีเหตุผลที่ฟังขึ้น ถ้าพวกเขาไม่ต่อต้านสิจะเป็นเรื่องประหลาด เพราะพระพุทธองค์ทรงสอนคำสอนที่ หักล้าง” ความเชื่อดั้งเดิมและการปฏิบัติสืบต่อกันมาของพวกเขา แบบหน้ามือเป็นหลังมือ

พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาไม่เท่ากัน เกิดมาตามพระประสงค์ของพรหมัน (พระพรหม) ที่แบ่งสันปันส่วนมา

พระพุทธเจ้าก็ค้านว่ามนุษย์มิได้ถูกแบ่งสันปันส่วนมาโดยเทพองค์ใด มนุษย์มีความทัดเทียมกันโดยความเป็นมนุษย์ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนได้ โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ

พวกเขาเชื่อกันว่า คนดี คนเลว ตัดสินได้จากวรรณะที่เกิดมา เกิดมาในตระกูลสูงก็เป็นคนดี เกิดมาในวรรณะต่ำก็เป็นคนเลว เพราะเป็นบัญญัติจากพระเจ้า

พระพุทธเจ้าก็ค้านว่า คนดี คนเลว ตัดสินกันด้วยการกระทำ คนจะเป็นคนเลวก็การกระทำ เทพไท้ทั้งหลายหามีส่วนไม่

พวกเขาเชื่อในยัญพิธีต่างๆ เช่น บูชาไฟ ฆ่าสัตว์บูชายัญ อาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ

พระพุทธเจ้าก็ทรงคัดค้านหมด แล้วอย่างนี้จะให้นิ่งดูดายได้อย่างไร

พอต่อต้านได้ก็ต่อต้าน ไม่ต่อต้านออกหน้าออกตาก็ต่อต้านเงียบๆ

ยิ่งพรรคพวกพราหมณ์กันเอง ใครไปเห็นดีเห็นงามด้วยกับ “พระสมณโคดม” (คือพระพุทธเจ้า) ถือว่าไม่รักดี จะถูกพวกพราหมณ์รุกรานเอา)

พราหมณ์ปากร้ายคนนี้โกรธมากที่พระพุทธเจ้าชักจูงเอาพี่ชายและน้องชายไปบวชเรียกว่า ขายหน้าพวกพราหมณ์ด้วยกัน จึงตามไปด่าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ

คำด่ามีอะไรบ้าง บันทึกเป็น “แบบฟอร์ม” เลยครับ เช่น ไอ้โจร ไอพาล ไอ้หลงเลอะ ไอ้อูฐ ไอ้โค ไอ้ลา ไอ้สัตว์นรก ไอ้สัตว์เดรัจฉาน คนเช่นเจ้าไม่มีหวังได้ไปสู่สุคติ มีแต่ทุคติเท่านั้น อะไรทำนองนี้

พระพุทธองค์ปล่อยให้เขาด่าจนพอใจ ไม่โต้ตอบแม้แต่คำเดียว อันเป็น “วิธีการต่อสู้แบบพุทธ” ก็ว่าได้ หลายครั้งหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นกับพระพุทธองค์ พระองค์จะไม่โต้ตอบ

ดังครั้งหนึ่ง นางมาคันทิยาจ้างคนมาด่าพระพุทธเจ้า (เพราะความแค้นแต่หนหลัง) พระองค์ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอนแม้คำเดียว เล่นเอาพระอานนท์ร้อนใจ ถึงกับกราบทูลให้หนีไปยังเมืองที่ไม่มีใครด่า พระองค์ตรัสถามว่า ถ้าเมืองนั้นเขาด่าอีกล่ะจะไปที่ไหน พระอานนท์ก็กราบทูลว่า ไปเมืองอื่นที่ไม่มีใครด่า

พระองค์ไม่เห็นด้วย เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็จะต้อหนีไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะคนเลวมีมาก พระองค์ว่าอย่างนั้น ไปไหนก็ต้องเจอคนเลว และถูกคนเลวด่าจนได้

เมื่อเขาด่าจนพอใจแล้ว พระพุทธองค์ตรัสถามเขาว่า “พราหมณ์ที่บ้านท่านมีแขกไปใครมาไหม”

“มีสิ สมณโคดม ข้าพเจ้ามิใช่คนกระจอกนี่” เขาตอบด้วยความทระนงว่า คนอย่างเขาก็เป็นพราหมณ์มีอันดับ มีเพื่อนฝูง และคนนับหน้าถือตามากมาย ย่อมต้องมีแขกไปมาหาสู่มากเป็นธรรมดา
“เวลาแขกมา ท่านเอาอะไรมาต้อนรับ”
“ก็ของต้อนรับแขกตามธรรมเนียมสิ สมณโคดม ข้าพเจ้ามิใช่คนป่าเถื่อนนี่”
เขาตอบอย่างทระนงเช่นเคย พราหมณ์มีอันดับอย่างเขาย่อมรู้ขนบธรรมเนียม เวลาใครไปใครมาควรจะต้อนรับอย่างไร ไม่น่าถาม ว่าอย่างนั้นเถอะ
“ถ้าแขกไม่กินของที่ท่านนำมาต้อนรับ ของนั้นจะเป็นของใคร”
“ก็เป็นของข้าพเจ้าตามเดิมสิ” พราหมณ์ตอบ ยังไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสถามทำไม คำถามพื้นๆ นี้ใครก็ตอบได้ หารู้ไม่ “ดาบศัตรู” ได้มาอยู่ที่พระหัตถ์ของพระองค์โดยที่เขาไม่รู้สึก

พระองค์ตรัสว่า ก็เช่นเดียวกันละนะ เมื่อกี้ท่านด่าเรามากมายด้วยถ้อยคำหยาบคาย เราตถาคตไม่รับคำด่าเหล่านั้น คำด่าเหล่านั้นตกเป็นของท่านตามเดิมสินะ” พระพุทธองค์ตรัสเงียบๆ

เขาสะดุ้งดุจถูกเสียบด้วยดาบคมกริบก็มิปาน
ไม่สะดุ้งไหวหรือครับ คำ “ไอ้โค ไอ้อูฐ ไอ้สัตว์เดรัจฉาน” เป็นต้น ที่เขาด่า ด่า ด่า และด่าออกไปเมื่อกี้นี้ มันหันกลับมาหาเขาเอง พูดง่ายๆ ว่าเขากำลังด่าตัวเองว่าเป็นโค เป็นอูฐ เป็นสัตว์เดรัจฉาน

เมื่อเขาสำนึก พระพุทธเจ้าจึงตรัสพระคาถา (โศลกธรรม) สอนเขา ความว่า
“ผู้ที่ไม่มักโกรธ ผู้ฝึกตนแล้ว มีชีวิตราบเรียบ หลุดพ้นเพราะรู้แจ้ง สงบ และมั่นคง ความโกรธจะมีแต่ที่ไหน (คือ คนเช่นนี้ไม่มีความโกรธแม้แต่น้อย) ผู้โกรธที่ตอบคนที่ด่า เลวกว่าคนด่าเสียอีก ผู้ไม่โกรธตอบคนที่ด่า นับว่าชนะสงครามที่เอาชนะได้ยากยิ่ง

คนที่รู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว มีสติ สงบใจได้ นับว่าได้ทำประโยชน์แก่ตนและคนอื่นทั้งสองฝ่าย คนที่ว่านี้นับว่าได้ช่วยเยียวยาแก่คนทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งตนเองและคนอื่น คนที่ไม่รู้ธรรม (ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว) เขาเรียกกันว่า “คนโง่”

พราหมณ์ได้สดับฟังพระธรรมเทศนาโดยย่อ ก็ซาบซึ้งใจ ก้มกราบ กล่าวปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า เป็นสรณะ (ที่พึ่ง ที่ระลึก เป็นแนวทางดำเนินชีวิต) ตลอดชีวิต

จากความเป็นพราหมณ์ขี้ยัวะ หยิ่งทระนงตนว่ามีชาติตระกูลสูง กลายเป็นสงบเสงี่ยม ไม่ถือตนเข้าใจโลกและชีวิต พฤติกรรมได้เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง ตำราขยายต่อไปว่า ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตเขาได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วย...


ข้อมูล : บทความพิเศษ พราหมณ์ขี้ยัวะ : ผู้ซึ่งกลับตัวกลับใจได้ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSem9PvZdk9T56Q6SiSH4ZQUgSqFFbx9YnmywANY9vxeI2s-Wth)
๗๒. เวรัญชพราหมณ์
พราหมณ์ผู้ขี้หลงขี้ลืม

เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จออกประกาศพระพุทธศาสนาใหม่ๆ ยังมิได้วางกฎเกณฑ์หรือสิกขาบทให้พระปฏิบัติ เพราะยังไม่มีผู้ล่วงละเมิดทำสิ่งไม่ดีไม่งามอันไม่เหมาะสมแก่สมณะ (สิกขาบทจะบัญญัติขึ้นหลังจากมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น)

พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งเสด็จไปประทับ ณ เมืองเวรัญชรา วันหนึ่งพราหมณ์นามว่า เวรัญชะ ได้ข่าวว่าพระองค์เสด็จมา จึงเข้าไปหาเพื่อสนทนาปราศรัย เมื่อกล่าวทักทายพระพุทธองค์แล้ว เห็นพุทธองค์ประทับนั่งเฉย มิได้ลุกขึ้นยืนรับตนในฐานะที่เป็นพราหมณ์ผู้เฒ่า ก็นึกโกรธขึ้นมาทันที กล่าวเชิงตำหนิว่า “สมณโคดม เป็นคนไม่มีรสชาติ”

ความหมายของพราหมณ์ก็คือ “สามัคคีรส” คือ ความสามัคคี ร่วมมือกันปฏิบัติตามธรรมเนียมของสังคม เช่น ผู้น้อยเคารพผู้อาวุโส ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ดีทำให้ขนบธรรมเนียมอันดีงามเป็นไปด้วยดี แต่พระพุทธเจ้าไม่รู้จักแสดงความเคารพต่อผู้อาวุโส จึงนับว่าเป็น “คนไม่มีรสชาติ”

พนะพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ที่พราหมณ์ว่า ตถาคตไม่มีรสชาตินั้น ถูกต้องแล้วเพราะรสชาติฉันใดที่ชาวโลกเขามีกัน เช่น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ (ความคิดคำนึง) อันน่าใคร่ น่าพอใจ รสชาติอย่างนั้น
 
ตถาคตละได้แล้ว จึงเป็นคนไม่มีรสชาติ

“สมณโคดมไร้สมบัติ” สมบัติในที่นี้ก็คือการรู้จักนอบน้อมต่อผู้ใหญ่นั่นแหละ ใครมีสิ่งเหล่านี้เรียกว่าคนมีสมบัติ คงจะตรงกับสมัยนี้ว่า “สมบัติผู้ดี” นั่นแหละ ใครมีมากก็เรียกกว่าคนมีสมบัติผู้ดี หรือรวยสมบัติผู้ดี ใครไม่ค่อยมีก็เรียกว่าคนยากไร้ไปเลย

พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ว่าเราไร้สมบัตินั้น กล่าวถูกต้อง เพราะสมบัติ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่ชาวโลกเขาชอบพอยินดีนั้น เราตถาคตละได้หมดแล้ว จึงไม่มีสมบัติเหล่านั้น

“สมณโคดมสอนไม่ให้กระทำ”  พราหมณ์ หมายถึงพระพุทธองค์สอนให้คนกำจัด และพระองค์เองก็เป็นคนกำจัดขนบธรรมเนียมอันดีงามของสังคม ไม่รู้จักนบนอบต่อผู้หลักผู้ใหญ่

พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ว่าเราตถาคตสอนให้กำจัดนั้นเป็นความจริง เพราะเราตถาคตเป็นผู้กำจัดสรรพกิเลส
ได้สิ้นเชิง และสอนให้คนอื่นกำจัดกิเลสเหล่านั้นไปด้วย

“สมณโคดมเป็นคนล้างผลาญ” ความหมายของพราหมณ์ก็คือ คนที่ไร้การศึกษาไม่มีการศึกษาไม่มีการฝึกอบรมเรื่องกิริยามารยาทของสังคม อย่างนี้นับว่าเป็นคนชั่ว คนเลว ตายไปไม่ได้ผุดได้เกิดในสุคติภพเป็นแน่

พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ท่านว่าเราตถาคตไม่ผุดไม่เกิดนั้น เป็นคำกล่าวถูกต้อง เพราะกิเลสเหล่าใดอันจะนำพาให้เกิดใหม่ กิเลสเหล่านั้นเราตถาคตละได้เด็ดขาดแล้ว จึงไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

พราหมณ์ว่าพระองค์อีกสองสามอย่างไม่มีเวลามาค้นมาเล่าโดยละเอียด

เอาเป็นว่าไม่ว่าพราหมณ์จะ “ด่า” พระองค์ในแง่ไหน พระองค์ทรง “แปร” ความหมายไปในด้านดีหมด เช่น ด่าว่า “ไม่ผุดไม่เกิด” นี้ออกจะแรง เพราะเท่ากับว่าพระพุทธเจ้าไม่มีโอกาสเกิดในท้องมนุษย์อีก มีแต่จะไปเกิดเป็นพวกเปรต พวกอสูรกาย (ซึ่งไม่เกิดในท้องคน แต่จะผุดเกิดแล้วโตทันที เพื่อเสวยผลแห่งกรรมชั่ว)

พูดให้ชัด คำว่า “ไม่ผุดไม่เกิดนี้ หมายถึงด่าว่า “ไอ้เปรต ไอ้อสุรกาย” อะไรทำนองนั้น ปานนั้นแหละ ขอรับ ก็พราหมณ์แกโกรธนี่ครับ โกรธที่พระพุทธเจ้ายังหนุ่มกว่าตน แต่ไม่แสดงความเคารพตนตามลำดับอาวุโส

พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายเชิงเปรียบเทียบว่า ลูกไก่ที่แม่ไก่ฟักออกจากไข่หลายฟอง ตัวโตเจาะกระเปาะไข่ออกมาก่อน เขาก็เรียกลูกไก่ตัวนั้นว่า “พี่” หรือ “ลูกไก่ตัวโต” ฉันใด ในหมู่มนุษย์นั้น พระองค์เป็นคนแรกที่เจาะกระเปาะไข่ คือ อวิชชาออกมาได้ พระองค์จึงควรนับว่าเป็น “พี่ใหญ่” ของมนุษย์ทั้งปวง ทั้งนี้ ด้วยคุณธรรมเป็นเครื่องวัด มิใช่ด้วยอายุพรรษา

พราหมณ์พยักหน้าเห็นด้วย มีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ จึงกล่าวปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสมณะตลอดชีวิต พราหมณ์ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ประทับจำพรรษาที่เมืองเวรัญชราปวารณาว่า จะดูแลเรื่องปัจจัยสี่ อำนวยความสะดวกแก่พระพุทธองค์และคณะสงฆ์แล้วก็หลีกไป

ในพรรษานั้นเกิดฝนแล้ง ประชาชนไม่ได้ทำนา ทำไร่ ข้าวยากหมากแพง พราหมณ์เองหลังจากออกปากว่าจะอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธองค์และพระสงฆ์แล้วก็ลืมสนิท ภิกษุทั้งหลายประสบความยากลำบากด้วยอาหาร การฉันต้องอาศัยข้าวแดงจากพวกพ่อค้าม้าที่พักแรมฤดูฝน ณ เมืองนั้นยังชีพ อย่างทรหดอดทนจนพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญเหล่าสาวกของพระองค์ว่าไม่เห็นแก่ปากท้องยอมอยู่อย่างอดๆ อยากๆ ตลอดพรรษา

พระโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก เห็นพระสงฆ์ลำบากจึงกราบทูลเสนอวิธีแก้ไขปัญหาหลายประการ เช่น จะไปบิณฑบาต ณ ที่อื่นไกลๆ ด้วยอำนาจฤทธิ์ นำอาหารมาถวายพระสงฆ์ แต่ถูกพระพุทธองค์ห้ามไว้

ออกพรรษาแล้ว พระพุทธองค์ชักชวนพระอานนท์พุทธอนุชาไปลาเวรัญชพราหมณ์ ผู้นิมนต์ให้จำพรรษา

พราหมณ์พอเห็นพระพุทธองค์เท่านั้น ก็รำลึกได้ว่าตนเป็นสาเหตุให้พระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขอดอยากตลอดพรรษา รู้สำนึกผิด จึงกราบทูลนิมนต์พระองค์พร้อมเล่าสาวกไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน ถวายไทยธรรมอันประณีตจำนวนมาก (แก้ตัวว่าอย่างนั้นเถอะ)

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเขา ทรงอำลาเขาเสด็จไปยังเมืองไพศาลี ประทับอยู่ ณ เรือนยอดในป่ามหาวัน

พราหมณ์แกผิดคำสัญญา แต่ตอนหลังกราบขอขมาและถวายทานแก้ตัวก็เลยไม่ต้องรับผลแห่งการผิดสัญญา

คัมภีร์เล่าว่า คนที่ออกปากว่าจะถวายสิ่งนั้นสิ่งนี้แก่ภิกษุผู้ทรงศีล แล้วไม่ทำตามที่พูดไว้ มักจะทำมาค้าขายขาดทุนหรือไม่ก็มักจะพลาดโอกาสดีๆ ที่พึงได้ในชีวิตบ่อยๆ เช่น มีข่าวว่าจะได้เลื่อนยศ ได้ตำแหน่ง ขนาด “เต็งหาม” แล้วก็ยังพลาด

ใครที่เป็นอย่างนี้บ่อยๆ ให้รีบทำบุญแก้ตัวเสีย และต่อไปอย่าปากไวว่าจะถวายนั้น ถวายนี้ แล้วลืมเป็นอันขาดนะ สิบอกไห่!. ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ เวรัญชพราหมณ์ : พราหมณ์ผู้ขี้หลงขี้ลืม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTRKA0S9fw4jCpQTF8nyRDaaqE4f-pwimdx2ZFH6klcn5az7moC)
๗๓. เทวานัมปิยะติสสะ  
อทิฏฐสหายของพระเจ้าอโศก

เขียนถึงอุบาสกผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนามาหลายท่าน ทั้งในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาล จะละเลยท่านที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ไม่ได้ เพราะเป็นผู้มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาไม่น้อย

ท่านผู้นี้ หรือ “พระองค์นี้” คือ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งศรีลังกา ร่วมยุคสมัยกับพระเจ้าอโศก

พระเจ้าอโศกได้ทรงมีสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ดังที่ภาษาบาลีเรียกว่า “ทรงเป็นอทิฏฐสหาย” (สหายที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน) มาตลอดรัชกาล

เมื่อพระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนา ครั้งที่ ๓ เสร็จ สังคายนาก็ทรงส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนายังนานาประเทศทั้งหมด แบ่งเป็น ๙ สาย

หนึ่งใน ๙ สายนั้น คือ คณะสมณทูต อันมีพระมหินทเถระเป็นประมุข ไปยังเกาะศรีลังกา อีกรายหนึ่ง คือคณะของพระโสณะ และพระอุตตระมายังสุวรรณภูมิ (ว่ากันว่าคือภูมิภาคแถบนี้ อันมีเมืองนครปฐมในปัจจุบันนี้เป็นศูนย์กลาง)

กล่าวเฉพาะศรีลังกา ก่อนพระมหินทเถระมา ไม่ทราบแน่ชัดว่าชาวเกาะศรีลังกานับถือศาสนาอะไร คงจะเป็นลัทธิถือผีถือสางตามถนัด คนพื้นเมืองนี้แต่ดั้งเดิมเรียกกันว่า “ยักษ์” หรือก็คงจะเป็นบรรพบุรุษของพวกทมิฬในปัจจุบัน

เมื่อพระเจ้าวิชัย กษัตริย์อารยัน ยกทัพมาบุกเกาะศรีลังกา และยึดเกาะนี้ได้ ก็ได้ผสมกับพวกยักษ์จนกลายมาเป็นชาวสิงหล เพราะฉะนั้น ชาวสิงหลจึงนับได้ว่าเป็นพวกอารยันเช่นเดียวกับชาวอินเดีย

พระเจ้าอโศกผู้เป็นเชื้อสายอารยัน จึงทรงมีสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ศรีลังกาผู้มีเชื้อสายอารยันเช่นเดียวกัน เมื่อจะส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน จึงทรงเผื่อแผ่มายังพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะด้วย

เมื่อพระมหินท์พร้อมคณะ อันมีพระอัฏฏิยะ พระอุตติยะ พระภัทสาละ พระสาณสัมพละ สามเณรสุมนะ และภัณฑะอุบาสก เป็นไวยาวัจกร มาถึงเกาะศรีลังกา ในปี พ.ศ. ๒๓๖ ปีเดียว หลังสังคายนาครั้งที่ ๓ ว่ากันอย่างนั้น (เรื่อง พ.ศ. ยังเห็นต่างกันอยู่) เมื่อมาถึงใหม่ๆ ได้พำนักอยู่ที่เขามิสสกะบรรพต (เจติยบรรพต) อยู่นอกเมือง

พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเสด็จออกล่าเนื้อ ทอดพระเนตรเห็นเนื้อสมันกินหญ้าเพลินโดยไม่ระวังภัย ทรงดำริว่าไม่ควรยิงเนื้อขณะที่มันไม่ได้ระวังตัว จึงค่อยเสด็จพระราชดำเนินไปใกล้ เนื้อรู้ตัววิ่งหนีไปยังเนินมะม่วง พระราชาเสด็จตามเข้าไป ทันใดนั้นก็ได้สดับเสียงเรียก “ติสสะ มาทางนี้”
“ใครเรียกชื่อเรา” พระราชาทรงฉงนพระทัย จึงสืบพระบาทไปตามเสียง ทอดพระเนตรเห็นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง นั่งสงบอยู่ใต้ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง จึงเสด็จเข้าไปนมัสการ พระเถระรู้พระราชดำริจึงกล่าวว่า
“ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมภาพคือสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เพื่อทดสอบพระปรีชาญาณของกษัตริย์ศรีลังกา พระเถระจึงเอ่ยถามว่า
“มหาบพิตร ต้นไม้นี้ชื่ออะไร”
“ต้นมะม่วง ขอรับ”
“มหาบพิตร นอกจากต้นมะม่วงนี้และต้นมะม่วงอื่น ยังมีต้นไม้อื่นอีกไหม”
“มีมาก ขอรับ”
“มหาบพิตร นอกจากต้นมะม่วงนี้และต้นมะม่วงอื่น ยังมีต้นไม้อื่นอีกไหม”
“มี ขอรับ แต่ไม่ใช่ต้นมะม่วง”
“มหาบพิตร นอกจากต้นมะม่วงอื่น และต้นไม้ที่ไม่ใช่ต้นมะม่วง ยังมีต้นไม้อีกไหม”
“ก็ต้นมะม่วงต้นนี้นะสิ ขอรับ”
พระเถระถามต่อไปว่า
“มหาบพิตร พระประยูรญาติของพระองค์มีไหม”
“มีมาก ขอรับ”
“นอกจากพระประยูรญาติเหล่านั้น ยังมีใครอื่นอีกไหม”
“ผู้มิใช่ญาติมีมากกว่า ขอรับ”
“นอกจากพระประยูรญาติ และผู้มิใช่พระประยูรญาติ ยังมีใครอื่นอีกไหม”
“ก็โยมนี้แหละ ขอรับ”
พระเถระกล่าว “สาธุ” ทรงชมเชยว่าพระมหากษัตริย์แห่งเกาะศรีลังกา ทรงมีพระปฏิภาณปัญญาเฉียบคมยิ่งนัก จึงแสดง “จูฬหัตถิปโทปมสูตร” (พระสูตรว่าด้วยธรรมะอุปมาดุจรอยเท้าช้าง) ถวายพระราชา

พระราชาทรงนิมนต์พระเถระพร้อมคณะไปฉันภัตตาหารในพระราชสำนักในวันรุ่งขึ้น

หลังพระคุณเจ้าฉันเสร็จ พระราชาทรงมอบถวายอุทยานเมฆวัน ให้เป็นวัดที่พำนักของพวกท่านอีกแห่งหนึ่งด้วย พระเถระได้แสดงธรรมหลายวาระโอกาสแก่พระเจ้าเทวานิมปิยติสสะ พร้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพารและชาวเมืองจำนวนมาก

ในจำนวนผู้ที่สดับธรรมเทศนา มีอำมาตย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง นาม อริฏฐะ เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา กราบทูลขอพระบรมราชานุญาตบวชเป็นภิกษุซึ่งก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ท่านอริฏฐะพร้อมญาติพี่น้องอีก ๕๕ คน ได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว

หลังจากออกพรรษาแรกในลังกาทวีป พระมหินทเถระเจ้า มีเถรบัญชาให้สุมนะสามเณรผู้มีฤทธิ์ไปขอพระเขี้ยวแก้วจากท้าวสักกเทวราช อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ ถูปาราม พระเขี้ยวแก้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังคงอยู่ที่ประเทศศรีลังกา เป็นปูชนียวัตถุที่ชาวศรีลังกาเขาเคารพและหวงแหนมาก ทุกปีจะมีการอัญเชิญพระธาตุแห่แหนรอบเมือง และประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชาในเทศกาลวันวิสาขบูชา

พระนางอนุฬาเทวีพระมีพระประสงค์จะบวช เนื่องจากไม่มีภิกษุณีเป็น “วัตตินี” (แปลว่าอุปัชฌาย์) บวชให้ พระเถระจึงถวายพระพรพระราชา ให้ทรงส่งคณะทูตไปขอพระราชทานภิกษุณีจากพรเจ้าอโศก ทุกอย่างเป็นไปตามต้องการ

ในที่สุดพระเจ้าอโศกก็ทรงอนุญาตให้พระสังฆมิตตาเถรี พระขนิษฐาของพระมหินทเถระมาลังกา พระเถรีได้อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์ลงเรือมาด้วย มาปลูกไว้ให้ประชาชนชาวศรีลังกาได้สักการบูชา ว่ากันว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ยังมีชีวิตอยู่ตราบทุกวันนี้ (ต้นเดิมคงตายไปนานแล้ว ที่เห็นๆ อยู่คงจะเป็นลูกหลานต้นเดิมนั้น)

ชาวลังกาหวงแหนมาก ไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ กั้นรั้วไว้ถึงสามชั้น เมื่อครั้งผมและคณะแสวงบุญไปศรีลังกา เราได้นำผ้าแพรไปด้วย ตั้งใจจะไปห่มต้นศรีมหาโพธิ์ เจ้าหน้าที่วัดห้ามเข้า

เจรจาอยู่นานกว่าจะอนุญาตให้ตัวแทนคณะ ๒ คน (คือผมกับคุณลุงปลั่ง) นำผ้าเข้าไป ผ่านรั้วขั้นที่หนึ่ง ที่สองตามลำดับ พอถึงรั้วขั้นที่สาม เขาให้เรายืนอยู่ตรงนั้น เอาผ้าพาดไว้ที่รั้ว บอกว่าเขาจะนำเข้าไปห่มให้เอง

ผมถามว่าทำไมไม่ให้เข้าไป เขาบอกว่า “เกรงว่าจะนำเชื้อโรคไปติดต้นไม้” เอากะแขกลังกาสิ พูดยังกับเราเป็นตัวแพร่เชื้อโรค  แต่เราก็ไม่ว่าอะไร เพราะซาบซึ้งว่าชาวศรีลังกาเขารักและหวงแหนต้นศรีมหาโพธิ์เหลือเกิน น่าอนุโมทนายิ่งนัก

พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นกษัตริย์แห่งเกาะศรีลังกาพระองค์แรก ที่ได้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองบนเกาะแห่งนี้ เป็นมรดกตกทอดมั่นคงมาจนถึงบัดนี้ไม่ขาดสายเลย นับว่าประเทศศรีลังกา เป็นศูนย์กลางสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา นอกเหนือไปจากประเทศสยามของเรา

ว่าตามจริงแล้ว ทั้งไทยและศรีลังกาต่างก็มีความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด ไทยเราได้นำเอาพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มา ขณะที่ลังกาเมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงก็ได้ขอพระสงฆ์ไทยไปฟื้นฟูขึ้นที่ลังกา จนกระทั่งมีพระสงฆ์นิกายสยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์ มาจนบัดนี้

ไทยมีลังกาวงศ์ ลังกามีสยามวงศ์ ด้วยประการฉะนี้แล...


ข้อมูล : บทความพิเศษ เทวานัมปิยะติสสะ : อทิฏฐสหายของพระเจ้าอโศก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQS3UhkvSZ2GoRn_7L6mlntvT4w5mLZMvO10DMQb7_rbedKBcPR)
๗๔. สามเณรปิโลติกะ

วันนี้ขอนำเอาสามเณรอดีตเด็กสลัมขอประทานโทษ เด็กชุมชนแออัดมาเล่าสู่กันฟัง เด็กคนนั้นชื่อเสียงเรียงไรไม่แจ้ง แต่ชาวบ้านเขาเรียก “ไอ้ผ้าเก่าขาด” หรือ “ไอ้ตูดขาด” เพราะแกนุ่งผ้าเก่าขาดวิ่นอยู่ผืนเดียว ก็มีอยู่แค่นี้นี่ครับ

วันๆ ก็ถือกะลาขอทานยังชีพ ได้อาหารการกินบ้าง อดบ้าง (อดเสียแหละส่วนมาก) ท่านพระอานนทเถระ ไปบิณฑบาต พบเด็กคนนี้เข้า ก็เกิดความสงสารตามประสาพระชอบเลี้ยงเด็ก

พระอานนท์เป็นคนรักเด็ก เห็นเด็กเร่ร่อนก็นึกสงสารแล้วเขาจะอดตาย จึงจับมาบวชและให้การศึกษาอบรมเป็นจำนวนมาก จนพระมหากัสสปะเถระ ท่านพูดกระเซ้าเวลาพบกัน ด้วยวาทะว่า “เจ้าเด็กน้อย”

พระอานนท์ถามเด็กมอมแมมคนนี้ว่า เจ้าอยู่อย่างนี้ลำบากเหลือเกินเจ้าบวชจะไม่ดีกว่าหรือ

เด็กน้อยถามว่า “ใครจะบวชให้ผมเล่าครับ”
“ฉันเอง” พระเถระพูด แล้วนำเขาไปวิหารอาบน้ำให้ด้วยมือท่านเอง ขัดคราบไคลออกหมดจนสะอาดสะอ้านแล้ว ให้กรรมฐานแล้วให้บวชเป็นสามเณร

พระเถระจับกางเกงขึ้นมาคลี่ดู ไม่เห็นว่าจะนำไปใช้อะไรได้ จึงเอาพาดกิ่งไม้ไว้

สามเณรน้อยได้รับการฝึกฝนอบรมจากพระอานนท์ เมื่ออายุครบบวช ก็ได้อุปสมบทจากภิกษุสงฆ์ มีปัจจัยสี่ใช้สอยไม่ขาดแคลน เมื่ออยู่ดีกินดีขึ้นฉวีวรรณก็ผุดผ่องอ้วนท้วน มีน้ำมีนวลขึ้นแล้วก็ “กระสัน” ขึ้นมา

คำนี้ (กระสัน) เป็นภาษาพระ หมายถึงอยากสึกครับ ศัพท์บาลีว่า อุกฺกณฺฐิโต แปลตามศัพท์ว่า “ชูคอ” อาจารย์สอนบาลีท่านอธิบายว่า มีความรู้สึกว่า ผ้าเหลืองร้อน นั่งไม่เป็นสุข วันๆ ก็นั่ง ”ชูคอ” หรือชะเง้อคอมองออกนอกกำแพงวัดว่า เมื่อไรฉันจะได้ออกไปสักทีหนาอะไรทำนองนี้

ไต้ ตามทาง น้องชายผมแกเล่าเรื่องคนหนีเมียไปบวชเป็นพระหลวงตาไว้ใน “สองทศวรรษในดงขมิ้น” อ่านแล้วเห็นภาพพระที่เกิดอาการ “ชูคอ” นี้เป็นอย่างดี นายคนหนึ่งทะเลาะกับเมียแล้วหนีไปบวช อุปัชฌาย์บวชเพราะต้องการประชดเมียมากกว่า ถือหนังสือปาติโมกข์เดินไปท่องอยู่ที่กำแพงวัด ตาก็ชำเลืองไปยังหลังคาบ้าน ท่อง “โย ปะนะภิกขุ โย ปะนะภิกขุ”

ข้างฝ่ายภรรยา ทีแรกนึกว่าสามีคงบวชไม่นาน เดี๋ยวก็สึก แต่ผ่านไปห้าวันแล้วยังไม่สึก จึงสั่งลูกชายไปบอกพ่อว่า จะขายควาย เมื่อลูกชายไปบอกหลวงพ่อ “หลวงพ่อ แม่บอกว่าจะขายควาย” หลวงพ่อก็ตอบทันทีว่า “ขายก็ขายไป ไม่ใช่ควายของกู โยปะนะภิกขุ”

วันหลังลูกชายมาบอกตามาคำของแม่อีก “หลวงพ่อ แม่ว่าจะขายนา “ขายก็ขายไป ไม่ใช่นาของกู โยปะนะภิกขุ... ไอ้แดงมึงอย่ามากวนใจกู กูจะท่องหนังสือ”

ไอ้แดงกลับไปรายงานแม่ คราวนี้แม่ปล่อยทีเด็ดกระซิบข้างหูลูกชาย ทันทีที่ลูกชายบอกว่า “หลวงพ่อ แม่ว่าจะเอาผัวใหม่ (คือแต่งงานใหม่นะครับ)” เท่านั้นแหละหลวงพ่อโยนหนังสือปาติโมกข์ทันที
“ไปบอกแม่มึง กูจะสึกวันนี้” (ฮิฮิ)

นี่แหละครับ ที่ท่านว่า  “อุกฺกณฺฐิโต” แปลตามศัพท์ว่า “ชูคอ” หมายถึงอยากสึก

เมื่อพระปิโลติกะเธอเกิดความคิดอยากสึก เธอจึงกลับไปยังต้นไม้ต้นนั้น กางเกงตูดขาดยังอยู่ เธอจึงหยิบมันขึ้นมาตั้งจะจะนุ่งแล้วถือกะลาไปขอทานตามเดิม

ทันใดนั้นเธอก็ชะงัก กล่าวสอนตนเองว่า “ไอ้โง่เอ๊ย เอ็งชักไม่มียางอายเสียเลย เอ็งบวชมาแล้ว มีเครื่องนุ่งห่มอย่างดี มีอาหารอย่างดีกิน แล้วยังอยากจะกลับมานุ่งผ้าเก่าขาดเที่ยวขอทานอีกหรือ”

ให้โอวาทตนเองเสร็จ ก็นึกละอายใจ ตัดสินใจไม่สึก จะขอบวชอยู่ในพระศาสนาต่อไป จึงเอากางเกงตูดขาดแขวนกิ่งไม้ไว้เช่นเดิม

ว่ากันว่าพระคุณเจ้า “กางเกงตูดขาด” เทียงไล้เทียวขื่อไปยังต้นไม้นั้นจับกางเกงตูดขาดลูบคลำไปมา พลางให้โอวาทเตือนสติตนเอง แล้วก็ตัดสินใจไม่สึก ทำอย่างนี้ถึงสามครั้งสามครา เวลาพระอื่นถามว่าไปไหนก็บอกว่า “ผมจะไปสำนักอาจารย์”

สามสี่วันต่อมา เธอก็ได้บรรลุพระอรหัต ไม่ไปๆ มาๆ อีกต่อไป ภิกษุทั้งหลายจึงถามท่านว่า “ผู้มีอายุ เดี๋ยวนี้ท่านไม่ไปสำนักอาจารย์หรือ ทางนี้เป็นทางเที่ยวไปของท่านมิใช่หรือ”

เธอตอบว่า “ท่านทั้งหลาย เมื่อมีความเกี่ยวพันอยู่กับอาจารย์ ผมจึงไป แต่บัดนี้ผมตัดความเกี่ยวข้องกับอาจารย์หมดสิ้นแล้ว” เท่ากับบอกนัยว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว

เหล่าภิกษุไม่พอใจ หาว่าท่านปิโลติกะ (พระกางเกงตูดขาด) อวดอ้างว่า บรรลุพระอรหัต จึงพากันไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงสดับคำกล่าวหาของภิกษุทั้งหลายแล้ว จึงตรัสว่าถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรา เมื่อมีความเกี่ยวข้องอยู่ จึงไปสำนักอาจารย์ บัดนี้เธอได้ตัดความเกี่ยวข้องนั้นแล้ว เธอได้บรรลุพระอรหัตแล้ว

จากนั้นพระพุทธองค์ ได้ตรัสคาถาดังต่อไปนี้
“คนที่หักห้ามใจจากความคิดอกุศลด้วยหิริ มีน้อยคนในโลกผู้ที่ไม่เห็นแก่นอน ตื่นอยู่เสมอ เหมือนมีม้าดีคอยหลบแส้ของสารถีหาได้ยาก

เธอทั้งหลายจงพากเพียร มีความสังเวช (สลดใจในความบกพร่องของตนเองแล้วเร่งพัฒนาตน) เหมือนม้าดี ถูกเขาหวดด้วยแส้แล้วเร่งฝีเท้าขึ้นฉะนั้น

เธอทั้งหลายจงศรัทธา (เชื่อมั่นในสิ่งที่ดี) มีศีล (พระพฤติดีงาม) มีวิริยะ (ความพากเพียร) มีสมาธิ (ความตั้งใจมั่น) และพรั่งพร้อมด้วยการวินิจฉัยธรรม มีความรู้และความประพฤติดี มีสติมั่นคง ปฏิบัติตนได้ดังนี้ จักละทุกข์ได้ไม่น้อยเลย”

“พระกางเกงตูดขาด” อดีตเด็กสลัมมีหิริหักห้ามความคิดอกุศล มีความเพียร พยายามแก้ไขตนเอง สอนตนเองอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งพรหมจรรย์

กางเกงตูดขาดตัวนั้น ได้เป็น “อาจารย์” ของท่าน คือเป็นเครื่องเตือนสติให้ท่านมีฉันทะอยู่ในพระศาสนาจนได้เป็นพระอรหันต์ด้วยประการนี้...


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรปิโลติกะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 สิงหาคม 2557 15:50:37
.
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRgofjNIr2rcuUeALbGFO_Zlpt3bq7Oj6qTyOwn6RvTzlrx4tMi)
๗๕. นางสุชาดา เสนิยธิดา
ผู้ถึงสรณะเป็นคนแรก (๑)

หมดอุบาสกแล้วก็ต่อด้วยอุบาสิกา ท่านแรกคือ สุชาดา เสนิยธิดา นางเป็นบุตรสาวของกุฎุมพี (เศรษฐี) นามเสนิยะ แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกแห่งแม่น้ำเนรัญชรา ตรงข้ามกับตำบลพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่ากันว่า นางได้บนเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทร เมื่อได้ตามต้องการแล้วก็ลืมแก้บนไปหลายปี

สิ่งที่นางบนไว้ก็คือ ขอให้ได้บุตรชายสืบสกุล ถ้าได้สมปรารถนาแล้วจะมาแก้บน นางก็ได้บุตรชายสมปรารถนาจริงๆ

บุตรชายคนนี้นามว่า ยสะ จนกระทั่งยสะโตเป็นหนุ่มแล้ว ผู้เป็นแม่จึงนึกขึ้นมาได้ว่า ได้ “ค้างชำระ” กับเทพเจ้าแห่งต้นไทรไว้

เมื่อนางรำลึกได้ว่าเคยบนบานศาลกล่าวกับเทพแห่งต้นไทรไว้แล้วยังไม่ได้แก้บน จึงตระเตรียมเครื่องแก้บนไว้พร้อมสรรพ คือ ข้าวมธุปายาส หุงด้วยนมโคอย่างดี เสร็จแล้วได้สั่งนางปุณณา สาวใช้ให้ไปปัดกวาดโคนต้นไทรให้สะอาด ก่อนนำเครื่องเซ่นไปถวาย

สาวใช้รีบไปยังต้นไทร แลไปแต่ไกล เห็นมีคนนั่งสงบอยู่ที่โคนต้นไม้ ยังไม่ทันพิจารณาถ้วนถี่ นึกว่าเป็นเทพแห่งต้นไทรไม่ต้องปัดกวาดกันละ รีบจ้ำอ้าวมาบ้าน ตะโกนบอกนายหญิงว่า เทพเจ้าท่านนั่งรออยู่แล้วเจ้าค่ะ ยกเครื่องเซ่นไปเถิด

ผู้ที่นั่งสง่าและสงบอยู่ใต้ต้นไทรหาใช่ใครไม่ คือพระบรมโพธิสัตว์เจ้า หลังจากทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาจนกระทั่งผอมซูบซีดเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เป็นลมสลบแล้วสลบอีก แทบจะสิ้นพระชนม์หลายครั้ง แว่วเสียงพิณสามสายลอยมา นัยว่าเป็นพระอินทร์มาเทียบเสียงพิณให้ฟัง ก็พลันได้คิดว่าการบำเพ็ญเพียรก็ไม่ต่างกับการเทียบสายพิณ ถ้าตึงนักสายก็จะขาด ถ้าหย่อนนักเสียงก็จะไม่ไพเราะ ต้องขึงสายให้พอดีๆ จึงจะบรรเลงเพลงไพเราะเสนาะโสต

ทรงคิดได้ดังนี้แล้ว ก็ทรงหันมาดำเนินทางสายกลาง คือไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก เริ่มเสวยพระกระยาหาร เพื่อให้พระวรกายคงคืนสู่สภาพที่แข็งแรง การที่ทรงทำเช่นนี้ ทำให้ปัญจวัคคีย์ที่คอยเฝ้าปรนนิบัติอยู่ผิดหวัง ถึงกับชวนกันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

การที่ศิษย์ทั้งห้าหนีไปในช่วงนี้กลับเป็นผลดี เพราะบรรยากาศโดยรอบจะได้สงัดสงบ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างยิ่ง

ขณะพระบรมโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นไทร สาวใช้ก็มาเห็นดังกล่าวข้างต้น รีบไปรายงานให้นายหญิงทราบ นายหญิงคือนางสุชาดาก็เอาข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองแล้วปิดฝาอย่างดี ถือไปยังต้นไทร ที่คิดว่าเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ และกำลังรอรับเครื่องเซ่นบูชาจากนาง ไปถึงก็ไม่กล้ามองดูตรงๆ รีบยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นถวาย แล้วก็รีบกลับบ้าน (ถวายทั้งข้าวทั้งถาด)

พระบรมโพธิสัตว์เมื่อเสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ก็ทรงลงไปยังแม่น้ำเนรัญชราทรงอธิษฐานจิตว่า ถ้าหากจะได้สำเร็จในสิ่งที่ตั้งปณิธานไว้มายาวนาน (คือได้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ) ก็ขอให้เกิดนิมิตให้เห็น ว่าแล้วก็ทรงลอยถาดน้ำ ทันใดนั้นถาดทองก็ลอยทวนกระแสน้ำเป็นที่อัศจรรย์ ไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็จมลง

ว่ากันว่าจมลงไปยังนาคพิภพโน่นแน่ะ พญานาคขี้เซา นอนหลับมาหลายกัปหลายกัลป์ ได้ยินเสียงถาดจมลงมากระทบใบเก่าดังกริ๊ก ก็ผงกหัวขึ้นรับรู้หน่อยหนึ่งว่า อ้อ มาตรัสรู้อีกหนึ่งองค์แล้ว เมื่อวานนี้ก็อีกหนึ่ง วันนี้ก็อีกองค์หนึ่ง อะไรทำนองนั้น

เห็นจะต้องหมายเหตุตัวใหญ่ไว้ตรงนี้ว่า เรื่องราวดังว่ามานี้ไม่มีในพระไตรปิฎก อาจารย์ผู้แต่งพุทธประวัติเขียนกันขึ้นมาเป็น “ภาษาสัญลักษณ์” ไม่ให้แปลตามตัวอักษร ถาดทอง หมายถึงพระศาสดา  แม่น้ำ หมายถึงโลกหรือคนในโลก  การที่ถาดทองลอยทวนกระแส หมายถึง คำสอนของพระศาสดา ทวนกระแสโลกไปสู่กระแสนิพพาน  พญานาคนอนหลับ หมายถึงปุถุชนผู้หลับใหลอยู่ด้วยกิเลสนิทรา

ตกบ่าย พระบรมโพธิสัตว์ก็ทรงข้ามน้ำไปยังฝั่งตะวันตก คือตำบลพุทธคยา ทรงรับหญ้ากุศะ (แปลกันว่าหญ้าคา แต่คงไม่ใช่) จากพราหมณ์ ตัดหญ้าคนหนึ่งนาม โสตถิยะ จำนวน ๘ กำมือ ทรงนำไปปูลาดเป็นอาสนะ ณ ควงไม้ “อัสสัตถะ” (ไม้ตระกูลไทร) ที่มีร่มเงาร่มเย็น ประทับพระปฤษฎางค์พิงต้นไม้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก (ต้นไม้นี้ต่อมาได้เรียกกันว่า ต้นโพธิ์ เพราะพระโพธิสัตว์ตรัสรู้ “โพธิ” ณ ที่นี้)

ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณที่พึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงแห่งบุรุษ ด้วยความบากบั่นแห่งบุรุษ จะไม่ยอมลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้เป็นอันขาด แม้ว่าเลือดและเนื้อจะแห้งเหือดไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามที

ทรงเข้าฌาน ๔ ทำฌานนั้นให้เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา ล่วงปฐมยามก็ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติแต่หนหลังได้) ล่วงมัชฌิมยาม ก็ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์ การเกิดตายของสรรพสัตว์ตามกรรมที่ทำไว้) พอล่วงถึงปัจฉิมยาม ก็ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ (ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ สิ้นกิเลสอาสวะทั้งมวลเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ (พระผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง)

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ณ วันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์วิสาขะตรงกับวันเพ็ญเดือนหกพอดี

นางสุชาดาผู้ถวายข้าวมธุปายาส หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงเลิกทุกรกิริยา และอาหารมื้อนี้ทำให้พระองค์มีพละกำลังสดชื่น ทรงอิ่มต่อมาอีกหลายวันทีเดียว

พระพุทธเจ้าตรัสภายหลังว่า ในบรรดาบิณฑบาตที่มีอานิสงส์มาก มีอยู่ ๒ คราวเท่านั้น คือ ข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายก่อนตรัสรู้กับ “สูกรมัททวะ” ที่นายจุนทะกัมมารบุตรถวายก่อนพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

นางสุชาดาได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะ (เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางถวายทาน คือ การถวายข้าวมธุปายาสนี้เองครับ.



นางสุชาดา เสนิยธิดา
ผู้ถึงสรณะเป็นคนแรก (๒)

เรื่องราวของนางสุชาดานั้น ควรจะจบตั้งแต่คราวที่แล้ว แต่ยังจบไม่ลง เพราะมีเรื่อง “ค้างใจ” ผมอยู่ประเด็นหนึ่ง คือ ตำราว่า นางสุชาดาเป็นมารดาของยสกุลบุตร ผมเลยต้องสะดุด สะดุดเพราะเหตุใด ขอนำประวัติยสกุลบุตร หรือ ยสะ มาเล่าก่อนครับ

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากพุทธคยาไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เพื่อแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ ศิษย์เก่าซึ่งหนีมาพักอยู่ที่นี่ ปัญจวัคคีย์ได้ละความเห็นผิด (ความเห็นที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงคลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก ไม่มีทางตรัสรู้แน่) กลับมามีความเห็นถูกต้อง และเชื่อว่าพระพุทธองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแน่นอน จึงได้นั่งลงฟังธรรม

หลังจบพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก โกณฑัญญะได้ “ดวงตาเห็นธรรม” ทูลขอบวชเป็นสาวกองค์แรก

วันต่อๆ มา สี่ท่านที่เหลือนั้นก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และขอบวชเช่นเดียวกัน

หลังจากโปรดปัญวัคคีย์แล้ว พระพุทธองค์ประทับจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เวลาจวนรุ่งวันหนึ่ง ขณะทรงจงกรม (เดินกลับไปกลับมาโดยมีสติกำกับ) ทรงสดับเสียงว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” แว่วมา จึงตรัสตอบว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เข้ามานี่สิ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง”

เจ้าของเสียง “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เป็นเด็กหนุ่มบุตรชายโทนของเศรษฐีเมืองพาราณสี นามว่า ยสะ เศรษฐีคนนี้คือใครไม่บอกชื่อไว้ มารดาของยสะ ชื่ออะไรก็ไม่บอกเช่นกัน ยสะถูกเลี้ยงดูมาอย่างทะนุถนอม เอาอกเอาใจจากพ่อแม่ดุจ “ไข่ในหิน” ตามประสาลูกเศรษฐี หรือคนชั้นสูงสมัยนั้น

บิดาสร้างปราสาทสามฤดูให้บุตรชายอยู่ มีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม ทุกคืนจะจัด “ปาร์ตี้” ย่อยๆ ในบ้าน มีการขับร้องฟ้อนรำบำรุงบำเรอให้สนุกสำราญเต็มที่

ว่ากันว่า “วงดนตรี” ที่ขับร้องฟ้อนรำนั้น เป็นชนิดที่ “มีสตรีล้วน” ไม่มีบุรุษเจือปนเลย

ยสะเธอก็สนุกสนานสำเริงสำราญเต็มที่ แต่อย่างว่านั่นแหละครับอะไรก็ตาม ถ้ามากไปก็ให้เบื่อหน่ายหรือ “เอือม” ได้

แล้ววันนั้นก็มาถึง ยสะตื่นนอนกลางดึก มองเห็นบรรดาสาวนางรำเหล่านั้นนอนหลับสนิท มีกิริยาอาการแปลกๆ น่าสังเวชใจ

ตรงนี้ปฐมสมโพธิกถาบรรยายเห็นภาพดีว่า นางบางจำพวกก็นอนกลิ้งเกลือก มีเขฬะ (น้ำลาย) ไหล บางเหล่าก็นอนกรนสำเนียงเสียงกา บางหมู่ก็นอนเคี้ยวทนต์ (ฟัน) นางบางพวกก็นอนละเมอเพ้อฝันจำนรรจาต่างๆ บางหมู่ก็นอนโอษฐ์อ้าอาการวิปลาส

บางเหล่านางก็นอนมีกายเปลือย ปราศจากวัตถา สำแดงสัมพาธฐานให้ปรากฏ “สัมพาธ” แปลว่า แคบ “ฐาน” แปลว่า.... ที่รวมกันแล้วแปลยังไงก็เชิญแปลเอาเอง เทอญ

ยสะเห็นอาการวิปลาสต่างๆ ดังนั้น ก็เกิดความเบื่อหน่าย สังเวชใจ ร้องได้อย่างเดียวว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เดินลงมาจากคฤหาสน์กลางดึกโดยไม่มีใครเห็น

ยสะเดินบ่นมาตลอดทาง เดินไปอย่างไร้จุดหมาย มาจวนจะรุ่งสางเอาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธองค์ทรงสดับเสียงบ่นของเขา จึงรับสั่งตอบว่าที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง ยสะดังหนึ่งตื่นจากภวังค์เข้าไปหาพระพุทธองค์ ถอดรองเท้าเข้าไปถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

พระพุทธองค์ทรงแสดง อนุปุพพิกถา (เรื่องที่พึงแสดงลุ่มลึกลงตามลำดับ คือ ทาน ศีล โทษของกาม สวรรค์ การออกจากกาม) เพื่อวางพื้นฐานให้ยสะพอจะรับรู้เรื่องสูงกว่านั้น แล้วก็ทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ

พอจบพระธรรมเทศนา ยสะก็มีดวงตาเห็นธรรม

เช้าวันรุ่งขึ้น บิดามารดาของยสะ เห็นบุตรหายไป (เอ หายไปไม่เห็น) ก็เกณฑ์ผู้คนตามหาเป็นการใหญ่ ทั้งสองคนเดินมุ่งหน้ามาทางป่าอิสิปตนมฤคทายวันพบพระพุทธเจ้า จึงเข้าไปถวายบังคม ถามว่า พระองค์เห็นเด็กหนุ่มบุตรชายของตนมาทางนี้หรือไม่

ความจริงในขณะนี้ ยสะเธอก็อยู่กับพระพุทธองค์นั้นเอง แต่พระองค์ทรงใช้อิทธิภินิหาริย์ บันดาลให้พ่อแม่ลูกไม่เห็นกัน พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาให้สามีภรรยาคู่นั้นฟัง จบพระธรรมเทศนา ยสะได้บรรลุพระอรหัตสองสามีภรรยาได้ประกาศตนเป็นอุบาสก

บิดามารดาพระยสะ จึงนับว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรกก่อนหน้านี้มีพาณิชย์สองคน คือ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ เปล่งวาจาถึงพระรัตนะสอง คือ พระพุทธ พระธรรม เป็นสรณะ

จากนั้นพระพุทธองค์ทรงคลายฤทธิ์ พ่อแม่ลูกทั้งสามจึงมองเห็นกัน บิดาและมารดาของยสะ ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวภัตตาหารที่บ้าน ยสะ ทูลขออุปสมบทจากพระพุทธเจ้า แล้วโดยเสด็จไปยังบ้านตน

เพื่อซี้ของยสะล้วนเป็นบุตรของผู้มีอันจะกินทั้งนั้น รวม ๕๔ คน ได้ข่าวว่ายสะออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ก็พากันมาบวชตามหลังจากบวชแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยทั่วหน้ากัน

เป็นอันว่า เวลาไม่นานได้เกิดมีพระอรหันต์ขึ้นในโลก จำนวน ๖๐ องค์ (ไม่นับพระพุทธเจ้า) ด้วยกัน นี้คือเรื่องราวอดีตเพลย์บอย นามว่า ยสะ  ยสะคนนี้แหละที่คัมภีร์อรรถกถาบอกว่าเป็นบุตรชายของนางสุชาดา หรือพูดอีกนัยหนึ่ง นางสุชาดาเป็นมารดาของยสะคนนี้

ที่ผม “ค้างใจ” ก็เพราะว่า นางสุชาดาอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ใกล้กับสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงทำทุกรกิริยา ก่อนตรัสรู้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตรงข้ามกับตำบลพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้อยู่ในเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ห่างกันคนละโยชน์และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ อยู่คนละเมือง คนละแคว้นเลยทีเดียว ถ้าดูตามแผนที่ปัจจุบันนี้ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมอยู่ห่างจากป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (ปัจจุบันนี้เรียกว่า สารนาถแห่งรัฐพิหาร) ประมาณ ๒๐๐ กว่ากิโลเมตร

แล้วอย่างนี้ คัมภีร์อรรถกถาท่านว่า นางสุชาดาเป็นมารดาของยสะได้อย่างไร หรือว่าคนละยสะ แต่เมื่อเปิดดูพจนานุกรมวิสามานยนามของ ดร.มาลาลา เสเกรา ท่านก็บอกว่าเป็นสุชาดาคนเดียวกัน และเป็นยสะคนเดียวกัน

ถ้าจะให้ผมเดา (สมมติว่าที่พูดนี้เป็นเรื่องจริง) เมืองพาราณสี แคว้นกาสีในสมัยนั้นอยู่ในปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ นี้คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

เมื่อรัฐทั้งสองอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน ผู้คนโดยเฉพาะ เศรษฐีย่อมจะย้ายนิวาสสถาน หรือไปมีบ้านอยู่ในแคว้นทั้งสองได้นี้เป็นเรื่องธรรมดา นางสุชาดาก็คงอยู่ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธบ้าง ตามสามีไปอยู่ที่เมืองพาราณสี แคว้นกาสีบ้างเป็นครั้งคราว ตอนนางบนเทวดาและให้กำเนิดบุตรนามยสะนั้น คงอยู่ที่แคว้นมคธ พอบุตรชายโตแล้วก็คงมาอยู่ที่เมืองพาราณสี จนเกิดเรื่องราวดังกล่าวมาข้างต้น

ถ้าจะให้เดาก็เดาดังนี้แล ผิดถูกอย่างไร ท่านผู้รู้ (จริง) ต้องชี้แจงมาให้ผมทราบ ส่วนผู้รู้ไม่จริงไม่ต้องบอกมา เพราะมีอยู่แล้วคนหนึ่งคือตัวผม...



ข้อมูล : บทความพิเศษ นางสุชาดา เสนิยธิดา : ผู้ถึงสรณะเป็นคนแรก (๑)-(๒) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๕-๒๑ และ ๒๒-๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗


.
(http://www.dhammathai.org/monktalk/data/imagedb/400.jpg)
๗๖. นางขุชชุตตรา  
สาวใช้ร่างค่อมผู้มีปัญญาเลิศ

พระพุทธศาสนานั้นมีข้อเด่นอยู่อย่างหนึ่งในหลายร้อยหลายพันอย่าง คือ ให้โอกาสแก่มนุษย์ว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีความเป็น “คน” ทัดเทียมกัน แล้วก็ให้กำลังใจ ให้พยายามพัฒนาตนไปสู่เป้าหมายสูงสุดด้วยวิริยะอุตสาหะ และให้ความทัดเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรี

บุรุษบรรลุมรรคผลได้ สตรีก็บรรลุได้

บุรุษมีโอกาสได้บวชเรียน  สตรีก็มีโอกาสนั้นเหมือนกัน

นอกจากนี้ พระพุทธศาสนาชี้คุณค่าของคนที่รู้จักใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ใครที่มีปัญญา ไม่ว่าจะเป็นคนเกิดในวรรณะไหน ก็ได้รับการยอมรับ

ที่พูดมาหลายบรรทัดนี้ก็เพื่อจะเข้าหาเรื่องราวของสาวใช้คนหนึ่ง แถมยังพิการ คือ ร่างค่อมด้วย ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้คงแก่เรียน

สาวใช้พิการคนนี้ คือ นางขุชชุตตรา ครับ


นางเป็นคนใช้ของสามาวดี มเหสีของพระเจ้าอุเทน กษัตริย์ผู้ครองเมืองโกสัมพี  นางสามาวดีเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้า ทุกวันมอบเงินให้นางขุชชุตตรา ไปซื้อดอกไม้จากนายมาลาการ ๘ กหาปณะ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า (เรื่องราวของนางสามาวดีจะนำมาเล่าภายหลัง)

ขุชชุตตราขยักไว้ ๔ กหาปณะ เพี่อตัวเอง เรียกง่ายๆ ว่า “ยักยอก” เจ้านายนั่นแหละ อีก ๔ กหาปณะก็ซื้อดอกไม้ไปให้นายหญิง วันหนึ่ง นายมาลาการนิมนต์พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน พูดกับนางขุชชุตตราผู้มาซื้อดอกไม้ว่า “หนู วันนี้ฉันอาราธนาพระพุทธเจ้า เสวยภัตตาหารที่บ้าน หนูช่วยเลี้ยงพระก่อน แล้วค่อยเอาดอกไม้ไปให้นายหญิงของหนูได้ไหม”

“ได้จ้ะ”  ขุชชุตตราตอบ แล้วก็อยู่ช่วยงานจนแล้วเสร็จ

เมื่อพระพุทธองค์เสวยเสร็จแล้ว ก็ทรงอนุโมทนา ทรงแสดงธรรมแก่นายมาลาการและครอบครัว นางขุชชุตตราทีแรกก็ตั้งใจจะรีบกลับ แต่ใจหนึ่งก็คิดว่าไหนๆ ก็รอมาแล้ว ลองฟังธรรมเสร็จก่อนค่อยกลับดีกว่า จึงตั้งใจฟังธรรมจนจบ

พอจบพระธรรมเทศนา นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

นางขุชชุตตราซื้อดอกไม้ ๘ กหาปณะ ได้ดอกไม้ไปกำใหญ่กว่าทุกวันไปให้นายหญิง นางสามาวดี นายหญิงของขุชชุตตราเห็นดอกไม้มากกว่าทุกวัน จึงถามว่า “วันนี้ พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินค่าดอกไม้แก่ฉันเพิ่มขึ้นหรือ”

“หามิได้ พระแม่เจ้า” นางตอบ
“เพราะเหตุไร ดอกไม้จึงมากกว่าทุกวันเล่า”

นางขุชชุตตราก็เปิดเผยความจริงว่า วันก่อนๆ นางยักยอกเอาไว้ใช้ส่วนตัว ๔ กหาปณะ  ซื้อดอกไม้เพียง ๔ กหาปณะเท่านั้น
“แล้ววันนี้ทำไมเธอไม่เอาไว้เพื่อตัวเอง ๔ กหาปณะเล่า” นายหญิงถาม
“เพราะหม่อมฉันฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุธรรม”

นางสามาวดีไม่ได้โกรธสาวใช้เลยที่ยักยอกเอาเงินค่าซื้อดอกไม้ กลับกล่าวด้วยความยินดีว่า
“โอ ดีจังเลย เธอช่วยแสดงธรรมที่เธอได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าให้เราฟังได้ไหม”

เมื่อขุชชุตตรารับปาก นางสามาวดีจึงให้นางอาบน้ำชำระกายให้สะอาด ประพรมด้วยน้ำหอม ให้นางนุ่งผ้าสาฎกใหม่เอี่ยมเนื้อดีผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ปูลาดอาสนะและวางพัดอันวิจิตรไว้ข้างอาสนะ เชิญนางขุชชุตตราขึ้นนั่งบนอาสนะ

ขุชชุตตรา ได้แสดงธรรมตามที่ได้ยินได้ฟังมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า แก่สตรีจำนวน ๕๐๐ คน มีนางสามาวดีเป็นประธาน นางเป็นคนมีความจำแม่น และมีความสามารถในการใช้คำสละสลวย ธรรมเทศนาของนางเป็นที่จับจิตจับใจของคนฟังมาก ว่ากันว่าได้บรรลุธรรมไปตามๆ กัน

นางสามาวดีบอกว่า ต่อแต่นี้ไปเธอไม่ต้องทำงานเป็นคนใช้ ขอให้เธอดำรงอยู่ในฐานะมารดาและอาจารย์ในทางธรรมของพวกเราทุกวัน ขอให้เธอไปฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วกลับมาแสดงให้พวกเราฟัง

นางขุชชุตตราจึงได้ “เลื่อนขั้น” ขึ้นมาเป็นอาจารย์แสดงธรรมแก่นายหญิงตั้งแต่วันนั้นมา ท่านอาจารย์ขุชชุตตราก็ทำหน้าที่ของตนไม่ขาดตกบกพร่อง นับว่าได้ทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่บรรดาสตรีในวังด้วย

ในทางส่วนตัวก็คือ นางได้ฟังหลากเรื่องหลายปริยาย ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมกว้างขวางพิสดารขึ้น ชนิดที่ไม่สามารถหาเอาจากที่ไหน ในไม่ช้าไม่นานนางก็กลายเป็น “พหูสูต” (ผู้คงแก่เรียน)

เมื่อมีความรู้แตกฉาน นางก็มีลีลาในการแสดงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดารและจับจิตจับใจยิ่งขึ้น ความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสยกย่องนางให้เป็น “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางสดับตรับฟังมาก คือ เก่งกว่าคนอื่นในทางเป็นพหูสูต หรือผู้คงแก่เรียน

การที่หญิงค่อมขี้ริ้วจนๆ คนหนึ่งได้รับเกียรติถึงปานนี้ ก็เพราะพระพุทธศาสนาเปิดทางให้ พระพุทธศาสนามิได้มองแค่เปลือกนอกของคน หากมองที่ศักยภาพภายในมากกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในหมู่มนุษย์ไม่ว่ายากดีมีจน คนมีปัญญาเป็นผู้ประเสริฐสุด

พระสงฆ์ทั้งหลายกราบทูลถามพระพุทธเจ้าในวันหนึ่งว่า
เพราะเหตุใดนางขุชชุตตราจึงมีร่างค่อม
เพราะเหตุใดจึงมีปัญญามาก
เพราะเหตุใดจึงบรรลุโสดาปัตติผล
และเพราะเหตุใดจึงเป็นสาวใช้ของคนอื่น

พระพุทธเจ้าตรัสบุพกรรมของนางให้ภิกษุสงฆ์ฟัง (น่าสนใจมากครับ) ดังนี้
๑. ชาติก่อนนางเคยเป็นอุปัฏฐายิกาของพระปัจเจกพุทธ พระปัจเจกพุทธรูปนั้นร่างค่อม นางนึกสนุกทำร่างค่อมเลียนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะกรรมนั้นนางจึงมีร่างค่อมในปัจจุบันนี้
๒. ชาติก่อนนางถวายข้าวปายาสร้อนในบาตรพระปัจเจกพุทธ พระปัจเจกพุทธอุ้มบาตรร้อน จึงเปลี่ยนมืออยู่เรื่อย นางจึงถวายวลัยงา ๘ อัน (เรียกอันหรือเปล่าไม่รู้สิครับ) เพื่อให้ท่านรองบาตร เพราะผลแห่งการถวายวลัยงารองบาตรนั้น มาชาตินี้นางจึงเป็นพหูสูต
๓. และเพราะการอุปัฏฐากดูแลพระปัจเจกพุทธ นางจึงบรรลุโสดาปัตติผล
๔. ในชาติก่อนอีกชาติหนึ่ง นางเกิดเป็นธิดาเศรษฐี วันหนึ่ง ขณะนางแต่งตัวอยู่ พระเถรีอรหันต์รูปหนึ่งมาเยี่ยมนางที่บ้าน เวลานั้นนางมองหาคนใช้ไม่พบ จึงกล่าวกับพระเถรีอรหันต์ว่า พระแม่เจ้า ดิฉันไหว้ล่ะ ช่วยหยิบกระเช้าเครื่องประดับให้ดิฉันหน่อย

พระเถรีอรหันต์คิดว่า ถ้าไม่หยิบให้นางก็จะเคืองและเพราะเหตุนั้นจักเกิดในนรกหลังตายแล้ว แต่ถ้าหยิบให้ นางจักเกิดเป็นคนใช้คนอื่น แต่การเป็นคนใช้เขายังดีกว่า ว่าแล้วพระเถรีอรหันต์จึงหยิบกระเช้าให้นาง มาชาตินี้นางจึงเป็นคนใช้เขา

การทำบาปโดยเฉพาะต่อบุคคลผู้บริสุทธิ์ แม้แต่เพียงเล็กน้อยก็บันดาลผลหนัก ดังเรื่องของนางขุชชุตตราในชาติก่อน เพราะฉะนั้น เราพึงระวังมิให้เผลอทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร

นี้คือข้อสรุปที่ได้จากเรื่องนี้ ขอรับ ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางขุชชุตตรา   : สาวใช้ร่างค่อมผู้มีปัญญาเลิศ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๒๙สิงหาคม - ๔ กันยายน  ๒๕๕๗

.
(http://f.ptcdn.info/523/005/000/1369502370-2644334609-o.jpg)
๗๗. พระนางมัลลิกา
พระนางเทวีผู้ชาญฉลาด

นางมัลลิกาที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ ท่าน คือ พระนางมัลลิกาผู้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล กับ มัลลิกา ผู้เป็นภริยาของพันธุละเสนาบดี พระสหายสนิทของพระเจ้าปเสนทิโกศล จะนำมาเล่าขานสู่กันฟังทั้งสองท่าน

วันนี้ขอเริ่มด้วยพระนางมัลลิกาก่อน

เธอเป็นธิดาของนายมาลาการ (ช่างทำดอกไม้) เธอจะออกไปสวน ไปเก็บดอกไม้มาให้พ่อทำพวงมาลัย หรือจัดดอกไม้เป็นระเบียบไว้ขายเป็นประจำ

เธอได้ถวายดอกไม้พระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่อายุยังน้อย

ช่วงที่เกิดเรื่องราวนี้ เธอมีอายุอานามประมาณ ๑๖ ปี ยังสาวรุ่น น่ารัก ขณะเก็บดอกไม้อยู่ เธอก็ฮัมเพลงไปพลางอย่างมีความสุข หารู้ไม่ว่ามีสุภาพบุรุษวัยรุ่นพ่อ “ยืนม้า” อยู่ใกล้ๆ ฟังเพลงเพลินอยู่ พอเธอร้องจบก็ปรับมือชื่นชม

สาวน้อยตกใจสีหน้าขุ่นเคืองที่มีคนมาแอบฟังเพลง เธอจึงเอ่ยขึ้นว่า “ไม่มีมารยาท”

สุภาพบุรุษหนุ่มใหญ่ (ไม่โสด) ขออภัยเธออย่างสุภาพ ทำให้นางหายเคือง เห็นเขาท่าทางอิดโรย จึงเข้าไปจูงอาชาพาเขาเข้าไปยังร่มไม้ใกล้ๆ

เขาเป็นใครไม่ทราบ แต่เห็นเขากิริยาท่าทางไว้ใจได้ จึงนั่งลงสนทนากับเขา รู้สึกมีความอบอุ่นอย่างประหลาดเมื่ออยู่ใกล้ๆ เขา

ฤๅว่า กามเทพได้ซุกซนแผลงศรเข้าเสียบหัวใจน้อยๆ ของเธอแล้วก็ไม่รู้

แล้วเขาก็รวบรัดว่า “แล้วจะมาเยี่ยมใหม่” ว่าแล้วเขาก็ขึ้นอาชาควบหายไป

สองสามวันผ่านไป ได้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง เชิญนางมัลลิกาธิดานายมาลาการเข้าวัง นั่นแหละเธอจึงได้รู้ว่า สุภาพบุรุษหนุ่มใหญ่ที่พบกับเธอวันนั้นมิใช่สามัญชน หากแต่เป็นเจ้าชีวิตของประชากรทั่วประเทศ

พระเจ้าปเสนทิโกศลได้รับนางมาไว้ในพระราชวัง ทรงอภิเษกสมรสกับเธอ นัยว่าทรงสถาปนาเธอเป็นพระมเหสีด้วย จะเป็นมเหสีเบอร์ไหนไม่ทราบชัด

ในอรรถกถาธรรมบทก็ว่าเป็นถึงอัครมเหสี แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลมาถึงวัยปูนนี้ก็ไม่น่าจะว่างตำแหน่งอัครมเหสีไว้ก่อนถึงนางมัลลิกา เพราะช่วงที่ได้พบนางมัลลิกา ก็เป็นระยะเวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแพ้ศึกสงครามกับพระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นหลานมาหยกๆ

พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นเป็นพระสหายกับพระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดาของพระเจ้าอชาตศัตรูได้ “ดอง” กับพระเจ้าพิมพิสาร คือ ต่างฝ่ายก็อภิเษกกับพระกนิษฐภคินี (น้องสาว) ของกันและกัน พระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระเจ้าอชาตศัตรูจึงเป็น “ลุง-หลาน” กัน เมื่อคราวที่พระองค์ต้องพเนจรมาเดียวดายมาพบมัลลิกานี้ เพิ่งจะพ่ายสงครามกับพระเจ้าหลาน

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพิโรธที่อชาตศัตรูยึดราชบัลลังก์พระเจ้าพิมพิสารแถมยังทำปิตุฆาต (ฆ่าพ่อ) จึงยกทัพไปรบ ตั้งใจว่าจะสั่งสอนพระเจ้าหลานให้สำนึก แต่บังเอิญแพ้พระเจ้าหลาน ตำราว่ารบหลายครั้งและแพ้ทุกครั้งเสียด้วย ฝีมือสู้พระเจ้าหลานไม่ได้ บางทีคงไม่ใช่ฝีมือดอก แก่แล้วพละกำลังก็ถดถอยเป็นธรรมดาครับ

มเหสีอีกองค์หนึ่งคือ วาสภขัตติยา ธิดาเกิดจากนางทาสีของพระเจ้ามหานาม แห่งศากยวงศ์ เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลขอขัตติยนารีจากพวกศากยะ มหานามก็เสนอให้ส่งธิดาของตนไปให้ เพื่อตัดปัญหาการปะปนกับสายเลือดอื่น (พวกศากยะทะนงในสายเลือดของตนมาก จะไม่ยอมให้ปะปนกับเผ่าอื่น) พระนางวาสภขัตติยานี้ อรรถกถาธรรมบทก็ว่าเป็นอัครมเหสี

เขียนคนละทีก็เลยขัดแย้งกันเองอย่างนี้แหละครับ ผมจึงไม่ใส่ว่าองค์ไหนเป็นอัครมเหสี พูดกลางๆ ว่าเป็น “มเหสีองค์หนึ่ง” สบายใจกว่าเยอะเลย

พระนางมัลลิกาเป็นสตรีที่มีความเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เป็นที่รักและชื่นชมของพระสวามีมาก พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น แม้ว่าในระยะหลังนี้จะหันมาสนใจในพระพุทธศาสนา ก็ยังมีความเชื่อลัทธิดั้งเดิมบางอย่างอยู่ เช่น เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีบูชายัญว่า ถ้าทำยัญพิธียิ่งใหญ่แล้วจะมีความสุขความเจริญ มีอำนาจวาสนา เป็นที่เกรงขามของพระราชามหากษัตริย์ทั่วทิศานุทิศ

ครั้งหนึ่งพระองค์รับสั่งให้ตระเตรียมพิธีบูชายัญยิ่งใหญ่ มีการฆ่าสัตว์อย่างละ ๗๐๐ ตัวเซ่นสรวงด้วย พระนางมัลลิกานี่แหละเป็นผู้ทัดทานพระองค์มิให้ทำบาปมหันต์ปานนั้น ได้แนะนำให้พระสวามีเข้าเฝ้า เพื่อขอคำแนะนำจากพระพุทธองค์ ในที่สุดพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงเลิกพิธีบูชายัญ

ความเฉลียวฉลาดของนางมัลลิกายังมีอีกมาก เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลแข่งกับชาวเมืองทำบุญกัน ประชาชนเขาทำทานอันประณีตและมโหฬารมาก พระเจ้าปเสนทิโกศลจนพระทัยว่าจะทำอย่างไรจึงจะมโหฬารและแปลกใหม่กว่าประชาชน

ก็ได้พระนางมัลลิกานี่แหละแนะนำให้ทำ “อสทิสทาน” (ทานที่ไม่มีใครเหมือน หรือ ทานที่ไร้เทียมทาน) รายละเอียดมีอย่างไรขอผ่านไปก่อนก็แล้วกัน

พระนางมัลลิกาไม่มีพระราชโอรส เมื่อพระนางทรงพระครรภ์แก่ จวนจะมีประสูติกาล พระสวามีทรงปรารถนาอยากได้พระราชโอรส ตั้งความหวังไว้มากทีเดียว แต่พอได้พระราชธิดา พระราชบิดาถึงกับเสียพระทัยมาก เข้าเฝ้าปรับทุกข์กับพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ตรัสปลอบพระทัยว่า ลูกสาวหรือลูกชายไม่สำคัญต่างกันดอก เพศมิใช่เป็นเครื่องแบ่งหรือบอกความแตกต่างในด้านความรู้ความสามารถ สตรีที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ประพฤติธรรม และเป็นมารดาของบุคคลสำคัญ ย่อมประเสริฐกว่าบุรุษอีกมากมาย

อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามพระนางมัลลิกาว่า พระนางรักพระองค์ไหม รักมากเพียงไร ก็ตามประสาสามีภรรยา เมื่ออยู่ด้วยกันก็มักจะขอความมั่นใจว่า อีกฝ่ายยังคงรักตนเหมือนเมื่อครั้งยังข้าวใหม่ปลามันไหม คำตอบของพระมเหสีทำให้พระสวามีชะงักงันไปครู่หนึ่ง

พระนางตอบว่า พระนางรักตนเองมากกว่าสิ่งใด

ทรงน้อยพระทัยที่พระมเหสีไม่รักพระองค์เสมอเหมือนชีวิตของนาง เมื่อมีโอกาสเหมาะจึงกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงบทสนทนาของพระองค์กับพระมเหสี ทำนอง “ฟ้อง” ว่าพระนางมัลลิกาของพระพุทธองค์ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เรื่องแล้วนะ อะไรทำนองนั้น

พระพุทธองค์กลับตรัสว่า มัลลิกาพูดถูกแล้ว มหาบพิตร เพราะบรรดาความรักทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีความรักใดจะเท่าความรักตนเอง มัลลิกาเธอพูดจริง พูดตรงกับใจของเธอ มหาบพิตรควรจะชื่นชมมเหสีที่ยึดมั่นในสัจจะ (ความจริง) เช่นนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงค่อยคลายความน้อยเนื้อต่ำใจลง

พระนางมัลลิกาเป็นพุทธสาวิกาผู้มั่นคงในธรรม และช่วยคนอื่นให้เข้าถึงธรรมด้วย ในฐานะพระมเหสีของพระราชา พระนางก็เป็นช้างเท้าหลัง ที่ช่วยประคับประคองให้ “เท้าหน้า” ก้าวไปอย่างมั่นคงในฐานะที่เป็นพระสาวิกาของพระพุทธเจ้า พระนางก็เป็นพระสาวิกาพึ่งตนเองได้ในทางธรรม และช่วยให้ผู้อื่น โดยเฉพาะพระสวามีพึ่งตัวเองได้ด้วย

จึงเป็นสตรีตัวอย่างที่ดีท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา...


ข้อมูล : บทความพิเศษ พระนางมัลลิกา   : พระนางเทวีผู้ชาญฉลาด โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๕-๑๑ กันยายน  ๒๕๕๗


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 กันยายน 2557 12:55:55
.
(http://www.sookjaipic.com/images/4186584970_2.png)
๗๘. นางสุปปวาสา
โกลิยธิดาผู้มีประวัติพิสดาร

วันนี้ขอเล่าประวัติของอุบาสิกามารดาพระเถระที่ได้ชื่อว่า “มีลาภมากที่สุด” คือ พระสีวลี มารดาของท่านสีวลี นามว่า สุปปวาสา โกลิยธิดา

“นาม โกลิยธิดา บอกอยู่แล้วว่า สุปปวาสาเป็นพระธิดาของเจ้าโกลิยะองค์หนึ่ง จะเป็นองค์ไหน ไม่มีบอกไว้”  พอนางเจริญวัยมาก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าลิจฉวี นามว่า มหาลิ   มหาลิองค์นี้ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนาไม่น้อย มีหลายสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนมหาลิโดยเฉพาะ

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งคือ สามีของนาง คือเจ้าแห่งราชวงศ์โกลิยะองค์หนึ่งมิใช่มหาลิ และที่ทำให้ “เง็ง” ยิ่งกว่านี้ ก็มีหลักฐานอีกแห่งหนึ่ง คือ ในสังยุตตนิกาย (สุปปวาสาสูตร) บอกว่า สุปปวาสา โกลิยธิดา เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าปเสนทิโกศล จะเป็นสุปปวาสาคนเดียวกันหรือว่าชื่อซ้ำกัน ยังไม่มีเวลาที่จะตรวจสอบให้ชัดเจนได้

จึงขอติดหนี้ไว้ก่อนก็แล้วกัน

นางสุปปวาสา มีประวัติพิสดาร รวมทั้งสีวลีกุมารลูกชายของนางด้วย คือ หลังจากอภิเษกสมรสแล้ว นางสุปปวาสาก็ตั้งครรภ์พิสดาร คือ ไม่ยอมคลอดสักที อุ้มท้องอยู่เป็นเวลาถึง ๗ ปี ๗ เดือน รู้สึกอึดอัดเจ็บปวดทรมานมาก ไปไหนมาไหนต้องอุ้มท้องหนัก เดินเหินไม่สะดวก ถ้าเป็นสมัยนี้คงไปตรวจที่โรงพยาบาลแล้วว่าทำไมจึงไม่คลอดสักที

สุปปวาสา โกลิยธิดา กับลูกน้อยสีวลีของเธอ ทั้งแม่และลูกคงทำกรรมอะไรบางอย่างร่วมกันมา ในอรรถกถาธรรมบท เมื่อพระสงฆ์ประชุมสนทนากันถึงเรื่องราวของพระสีวลีด้วยความอัศจรรย์ใจ อัศจรรย์ที่เด็กน้อยอยู่ในครรภ์ตั้ง ๗ ปี ๗ เดือน ไม่คลอด จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าผู้เสด็จมายังวงสนทนาพอดี เกี่ยวกับบุพกรรมของท่านสีวลี

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้ฟังว่า ที่สีวลีต้องอึดอัดอยู่ในครรภ์ถึง ๗ ปี ๗ เดือนไม่คลอดเสียทีนั้น เพราะในชาติปางก่อนสีวลีเป็นกษัตริย์ยกทัพไปล้อมเมืองหนึ่งขอให้ยอมยกเมืองให้ กษัตริย์ของเมืองนั้นไม่ยอม จะล้อมก็ล้อมไป ตนเองสั่งให้ชาวเมืองตระเตรียมเสบียงไว้ให้พอ ข้าศึกล้อมเมืองอยู่ไม่นานก็คงล่าถอยไปเอง

ศึกล้อมเมืองทำท่าจะยืดยาว เพราะชาวเมืองมีเสบียงกรังเพียงพอ พระราชมารดาของกษัตริย์องค์ที่ไปล้อมเมืองเขา ทรงแนะให้กษัตริย์โอรสของตนสั่งปิดประตูเมืองน้อยเมืองใหญ่ห้ามคนในออก ห้ามให้คนนอกเข้า สงครามจะได้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

เมื่อทำตามที่พระราชมารดาทรงแนะนำแล้ว ชาวเมืองที่ถูกล้อมได้รับความลำบากเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันก่อกบฏ จับพระราชาของตนสำเร็จโทษ ยินยอมยกเมืองให้พระราชาผู้เป็นข้าศึกแต่โดยดี

พระพุทธองค์ตรัสว่า ทั้งแม่ทั้งลูกได้ทำกรรมร่วมกันมา คือล้อมเมืองเขา ห้ามชาวเมืองนั้นเข้าออกเมือง กรรมนั้นแหละบันดาลให้ผู้เป็นแม่คือ สุปปวาสา ในชาตินี้ต้องอุ้มท้องอยู่ถึง ๗ ปี ๗ เดือน และผู้เป็นลูก คือ สีวลีกุมาร ต้องนอนขวางอยู่ในท้องแม่ ไม่ยอมคลอดเสียที

นางสุปปวาสาได้รับความอึดอัดทรมานมาก จนคิดว่าชีวิตของตนคงจะไม่รอดแล้ว จึงวานสามีให้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ ฝากกราบทูลถวายบังคมพระพุทธองค์และถ้าพระพุทธองค์รับสั่งอย่างใด ให้จดจำมาบอกด้วย

สามีไปเฝ้าพระพุทธเจ้าตามคำขอร้องของนางสุปปวาสา กราบทูลเล่าถึงเรื่องตัวของภริยาของตนแด่พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า “สุขินี โหตุ สุปฺปวาสา โกลิยธีตา อโรคา อโรคํ ปุตฺตํ วิชายติ = ขอให้สุปปวาสา โกลิยธิดา จึงมีความสุข ปราศจากโรค และคลอดบุตรที่ไม่มีโรคเถิด”

พอสิ้นพระพุทธดำรัสประทานพร นางสุปปวาสาซึ่งอยู่ในบ้านของตนก็คลอดบุตรชายออกมาอย่างง่ายดาย ง่ายยังกับเทน้ำออกจากกระบอก ว่าอย่างนั้น บุตรน้อยของเธอ ทันทีที่คลอดจากครรภ์ก็มีอายุ ๗ ปีแล้ว พูดจาได้ ทำอะไรได้เหมือนเด็ก ๗ ขวบทั่วไป

มหาลิสามีของนาง กลับมาถึงบ้านก็เห็นบุตรชายคลอดออกมาแล้ว มีสุขภาพแข็งแรง แถมยังทำอะไรได้ดุจเด็กอายุ ๗ ขวบทั่วไป นางสุปปวาสามีความปลื้มปีติและเชื่อมั่นว่าที่ตนคลอดบุตรง่ายก็เพราะว่าอานุภาพแห่งพระพรที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้นั้นเอง จึงจัดพิธีถวายทานอันยิ่งใหญ่ ทูลอาราธนาพระพุทธองค์มาเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน พร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เป็นเวลา ๗ วันติดต่อกัน

นางได้ตระเตรียมอาหารอันประณีตไว้ถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ เพราะเหตุที่นางสุปปวาสาถวายทานแต่ของประณีตแด่พระสงฆ์ จึงได้รับยกย่องในเอตทัคคะว่าเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่นในทาง “ถวายทานอันประณีต”

การถวายทานนั้น ท่านสอนนักสอนหนาว่า อย่าสักแต่ว่าให้ เพราะการให้ทานที่ไม่ครบองค์ประกอบ ย่อมจะมีอานิสงส์น้อย องค์ประกอบที่ดีของทานคือ
๑. ของที่ให้ทานจะต้องได้มาอย่างสุจริต ได้จากหยาดเหงื่อแรงกายอันสุจริตของเรา มิใช่ของที่ลักขโมย หรือเบียดเบียนคนอื่นได้มา
๒. เจตนาจะต้องบริสุทธิ์ คือ ก่อนจะให้มีจิตเลื่อมใส กำลังให้ก็ให้ด้วยความเลื่อมใส ให้ไปแล้วก็มีจิตยินดี ไม่เสียดายภายหลัง
๓ ปฏิคาหก (ผู้รับทาน) ก็เป็นผู้ควรที่จะให้ เช่น มีศีลบริสุทธิ์ หรือมีคุณธรรมสูง ให้แก่คนชั่ว ให้แก่อลัชชี ย่อมจะได้อานิสงส์น้อยเป็นธรรมดา

นอกจากนี้ ในสัปปุริสทาน (การให้ของสัตบุรุษ) ๑๐ ท่านจะเน้นว่าต้องให้ของสะอาด, ให้ของประณีต, ให้เหมาะแก่กาล, ให้ของสมควรหรือของที่ควรที่ผู้รับจะใช้ได้, พิจารณาเลือกให้ หรือให้ด้วยวิจารณญาณ, ให้เนืองนิตย์, ขณะให้มีจิตผ่องใส, ให้แล้วเบิกบานใจ

ถ้าให้ทานครบองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้น ย่อมได้รับอานิสงส์มาก โบราณจึงสอนให้ตั้งอกตั้งใจให้ทาน ให้ทานด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธา มิใช่สักแต่ว่าให้ หรือให้ด้วยความรำคาญ อันจักนำมาซึ่งผลที่ไม่พึงปรารถนา

ดังเรื่องนางปัญจปาปา

นางคนนี้ได้ตำดินเหนียวให้ละเอียด ผสมกับโคมัย (มูลโค) เพื่อฉาบทาบ้าน

ขณะนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงออกจากญาณสมาบัติใหม่ๆ ท่านต้องการดินเหนียวไปฉาบทาผนังถ้ำ จึงมาบิณฑบาตดินเหนียว นางไม่ต้องการให้จึงทำเฉย

พระปัจเจกก็ยังไม่ยอมไป นางจึงเอาก้อนดินเหนียวที่ตำละเอียดก้อนใหญ่โยนลงในบาตรท่านพร้อมกล่าวอย่างรำคาญว่า “เอ้า อยากได้ก็เอาไป”

ว่ากันว่านางเกิดมาในชาติต่อมา เป็นเด็กขี้ริ้วขี้เหร่ อวัยวะพิการถึง ๕ ส่วน เพราะผลแห่งการให้ทานด้วยความโกรธและรำคาญ แต่สัมผัสของนางเป็นทิพย์คือชายใดได้ถูกเนื้อต้องตัวเป็นต้องหลงใหลในตัวเธอ เพราะผลแห่งการให้ดินเหนียวที่ละเอียด

ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า การให้ทาน อย่าสักแต่ให้ พึงให้ด้วยศรัทธาเต็มที่ ให้ของที่สะอาดประณีต และถ้าได้ปฏิคาหกที่มีศีลมีธรรมด้วย ก็ยิ่งจะอำนวยให้ทานของเรามีอานิสงส์ (ผล) ไพศาลยิ่งขึ้น

นางสุปปวาสา โกลิยธิดา เป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เวลาจะถวายทานแต่ละครั้ง จึงเตรียมแต่ของที่สะอาดประณีตถวาย จนได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทาง “ให้ทานอันประณีต” ด้วยประการฉะนี้...


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางสุปปวาสา   : โกลิยธิดาผู้มีประวัติพิสดาร โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๒-๑๘ กันยายน  ๒๕๕๗


(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSqmibvQ0FUGXktQJm342qYiPccaOhaZFlTlP97QzHCWTh81uUNhQ)
๗๙. นกุลมาตา นกุลปิตา
ผู้สนิทคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้า

วันนี้ ขอเล่าเรื่องอุบาสิกาตัวอย่างนามว่า นกุลมาตา มีสามีซึ่งเป็นคู่สร้างคู่สมที่เกื้อกูลกันดีมาก ได้รับคำชมเชยจากพระพุทธองค์ ว่ามีคุณสมบัติเหมือนกัน จึงขอนำมาเขียนรวมกันไว้ตรงนี้เลย

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง เสด็จดำเนินไปยังเมืองสุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ พระองค์ประทับแรม ณ ป่าอันมีนามว่า “เภสกฬาวัน”

สองตายายไม่ทราบว่าชื่อจริงว่าอย่างไร แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า นกุลมาตา นกุลปิตา เพราะทั้งสองเป็นแม่และพ่อของนกุลมาณพ

นกุลมาณพนี้ ไม่มีรายละเอียดบอกว่าเป็นใครยังไงในประวัติพระพุทธศาสนา สันนิษฐานว่าคงจะเป็น “คนดัง” ในละแวกนั้นพอสมควร ไม่เช่นนั้นชาวบ้านไม่เรียกชื่อพ่อแม่แกโดยชื่อแกดอกครับ
“เอ สองตายายนี้ใครกับนะ” คนหนึ่งถามขึ้นอย่างนี้
“เอ้า ไม่รู้จักหรือ พ่อแม่ของนกุลไงล่ะ” อีกคนบอก
“อ้อ” คนถามก็ถึงบางอ้อทันที เพราะนกุลคนนี้คงต้องมีชื่อเสียงพอสมควร

สองตายายได้พบกับพระพุทธเจ้า ทันทีที่พบก็เกิด “ปุตตสิเนหา” (ความรักฉันบุตร) ขึ้นมาทันที เข้าไปหมอบแทบพระบาทพระพุทธองค์ รำพันว่า”โอ ลูกพ่อ ลูกแม่ ทำไมเพิ่งจะมาให้พ่อแม่เห็นหน้า ก่อนหน้านี้ไปอยู่เสียที่ไหน พ่อแม่คิดถึงเหลือเกิน”

พระพุทธองค์ก็ทรงยินยอมให้สองตายายทำและพูดอย่างนั้นไม่ทักท้วงอะไร เมื่อพวกเขาเรียกพระพุทธองค์ว่า ลูก พระองค์ก็ตรัสเรียกพวกเขาว่า พ่อ แม่ เช่นเดียวกันปรากฏการณ์นี้ สร้างความมึงงงให้แก่พระภิกษุสงฆ์จำนวนมากที่ตามเสด็จ

สองตายายได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ได้บรรลุโสดาปัตติผล

จากนั้นทั้งสองก็คร่ำเคร่งปฏิบัติธรรม ทำบุญทำกุศลร่วมกัน

ครองคู่กันอย่างมีความสุขตามประสาคนแก่

ครั้งหนึ่งนกุลปิตาล้มป่วยลง อาการน่าวิตก นกุลมาตาก็มาคอยเฝ้าเอาใจใส่ดูแล และพูดปลอบใจว่า “ตาไม่ต้องเป็นห่วง เพราะถ้ายังห่วงกังวล แล้วจะตายตาไม่หลับ เป็นทุกข์มาก พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ”

ยายรู้ว่าตาเป็นห่วงเรื่องอะไรบ้าง จึงบรรยายให้ตาฟังว่า ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ไม่ต้องเป็นห่วง ยายจะประพฤติตัวให้ดีที่สุด เรื่องต่างๆ ที่ว่ามีอะไรบ้าง
๑. ถ้าห่วงว่าตาตายไปแล้วยายจะมีสามีใหม่ ข้อนี้ก็ไม่ต้องห่วงเพราะอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยามานานถึง ๑๖ ปี ยายซื่อสัตย์ต่อตามาตลอด ถึงตาจะตายไปแล้วยายก็ยังรักเดียวใจเดียว
๒. ถ้าห่วงว่าหลังจากตาสิ้นไปแล้ว ยายจะลืมพระพุทธเจ้า ลืมไปเฝ้าไปฟังธรรมจากพระองค์ หรือลืมพระสงฆ์ข้อนี้ก็ไม่ต้องเป็นห่วง
๓. ถ้าห่วงว่ายายจะเลิกรักษาศีล ก็ไม่ต้องห่วง เพราะยายจะรักษาศีลปฏิบัติธรรมร่วมกับหมู่สาวิกาผู้นุ่งขาวห่มขาวทั้งหลาย ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
๔. ถ้าห่วงว่ายายสักแต่ถือรูปแบบของผู้ปฏิบัติธรรมเฉยๆ จิตใจไม่ได้เข้าถึงธรรม ไม่ได้สงบมีความสันติภายใน ก็ยิ่งไม่ต้องห่วง ยายจะพยายามสร้างความสงบภายในให้เกิดอย่างแน่นอน

เมื่อนกุลมาตาปลอบใจ และให้คำมั่นอย่างนี้ นกุลปิตาก็ดีใจและหายป่วยในที่สุด หลังจากหายป่วยแล้ว จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลเรื่องราวให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า
“คหบดี เป็นลาภของท่านแล้วที่ได้ภรรยาเช่นนกุลมาตา ผู้มีจิตใจเอื้อเฟื้ออนุเคราะห์ หวังประโยชน์ คอยแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในอีกสูตรหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงยกย่องนกุลมาตาว่า เป็นมาตุคาม (สตรี) ที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติดีงาม ๘ ประการ คือ
๑. เป็นภรรยาที่ดีของสามี ตื่นก่อนนอนภายหลัง คอยเฝ้ารับใช้ประพฤติตนให้ถูกใจสามี กล่าวคำอันเป็นที่รัก
๒. เคารพบิดามารดาของสามี และคนที่เป็นที่เคารพสักการะของสามี
๓. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการงานต่างๆ สามารถบริหารงานให้ลุล่วงด้วยดี
๔. ดูแลคนภายใน เช่น ทาส คนใช้ กรรมกร ให้ดี รู้จักรักษาในยามที่เขาเหล่านั้นป่วยไข้
๕. รู้จักแบ่งปันของกินของใช้แก่พวกเขาตามสมควร
๖. รู้จักเก็บรักษาทรัพย์สินเงินทองที่สามีหามาไว้ จับจ่ายใช้สอยพอเหมาะสมกับความเป็นอยู่ภายในครอบครัว
๗. ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต รักษาศีลเคร่งครัด
๘. ใจบุญสุนทาน ไม่ตระหนี่เหนียวแน่น สละทรัพย์ทำบุญเสมอ

คราวหนึ่งนกุลปิตาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า ข้าพระองค์แก่เฒ่าแล้ว ขอพระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อคนแก่เฒ่า เพื่อให้มีความสุขเถิด พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี ร่างกายของคนเรามันเปราะบางดุจไข่ที่มีเปลือกหุ้ม จะหาความไม่มีโรคแม้ครู่เดียวก็ยังยาก คนโง่เท่านั้นที่ประมาทว่าไม่มีโรค คหบดี ขอให้ท่านศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อกายเรากระสับกระส่าย จิตเราจะไม่กระสับกระส่าย”

นกุลปิตาพบพระสารีบุตร พระสารีบุตรทักว่าใบหน้าผ่องใสเหลือเกิน มีอะไรหรือ ก็กราบเรียนท่านว่า ตนได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์มา พระองค์ตรัสสอนว่า แม้กายกระสับกระส่าย ก็ให้สำเหนียกศึกษาว่าจิตใจจะไม่กระสับกระส่าย เพราะพระธรรมเทศนานี้เองที่ทำให้ตนมีใบหน้าผ่องใส

เมื่อพระสารีบุตรถามว่า แล้วโยมเข้าใจความหมายแห่งพุทธดำรัสหรือเปล่า คุณตาตอบว่าไม่ทราบ แต่คำเทศน์จับใจดีเหลือเกิน แล้วขอให้พระสารีบุตรตรัสอธิบายให้ฟัง

พระสารีบุตรอธิบายว่า ให้ขจัด “สักกายทิฏฐิ” (ความเห็น ความยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน) ออกเสีย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันจะแปรปรวนไปอย่างใด จิตเราก็จะไม่กระสับกระส่ายไปด้วย เพราะเราเห็นแจ้งว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีตัวตนและมิใช่ตัวตนของเรา

คุณตานกุลปิตา ได้ฟังคำอธิบายจากพระสารีบุตร ก็ชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ชี้ทางสว่างให้

สองตายาย (นกุลมาตา นกุลปิตา) ได้คุ้นเคยสนิทสนมกับพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์มาก พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า ในชาติปางก่อน สองตายายได้เป็นบิดามารดาของพระองค์ห้าร้อยชาติ ได้เป็นญาติพี่น้องของพระองค์มากกว่าห้าร้อยชาติ มาชาตินี้ พอพบพระพักตร์เท่านั้นก็เกิดความรัก “ฉันบิดามารดากับบุตร” ทันที เป็นความผูกพันเก่าๆ ที่ฝังอยู่ในจิตใจ

พระพุทธองค์ทรงยกย่องสองตายายว่าเป็นเลิศกว่าบุคคลอื่นในด้านเป็นผู้ที่สนิทคุ้นเคยกับพระพุทธองค์


ข้อมูล : บทความพิเศษ นกุลมาตา นกุลปิตา : ผู้สนิทคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้า โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๙-๒๕ กันยายน ๒๕๕๗


.
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTo09g9sxT2KvfPKp4_OIIzyj-vFi_pDR9JvJOwFeuQ4StPYjA5)
๘๐. กาติยานี  
อุบาสิกาผู้มีความเลื่อมใสมั่นคง

คราวนี้มาว่าถึงกุลสตรีผู้ได้รับยกย่องในเอตทัคคะว่าเป็นผู้มีศรัทธามั่นคง นางชื่อ กายิตานี หรือ กัจจานี

กาติยานีเป็นชาวเมืองกุรรฆรนคร (อ่าน “กุ-ระ-ระ-คะ-ระ”) มีเพื่อนสนิทนามว่ากาฬี ทั้งสองคนมีนิสัยใจคอและความสนใจเหมือนกัน จึงเข้ากันได้อย่างสนิทคือต่างก็สนใจการศึกษาธรรมะด้วยกัน

สมัยนั้นมีพระเถระที่มีชื่อเสียงในการแสดงธรรม ชื่อ พระโสณกุฏิกัณณะ (หรือโกฏิกัณณะ) ท่านรูปนี้เป็นศิษย์เอกของพระมหากัจจายนะ (พระธรรมกถึกผู้ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้มีความสามารถในการขยายภาษิตย่อให้พิสดาร)

โสณะท่านเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองอุชเชนี อยากบวช แต่ก็เสียเวลาไปตั้งกว่าสามปี เพราะหาพระภิกษุมา “นั่งหัตถบาส” ไม่ได้ เมื่อบวชแล้วพระอุปัชฌาย์จึงส่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้กราบทูลขอพรให้ลดหย่อนบทบัญญัติหลายข้อ

หนึ่งในหลายข้อนั้นก็คือ ในปัจจันตชนบทห่างไกล หาภิกษุสงฆ์มาประกอบพิธีอุปสมบทยาก กว่าจะครบ ๑๐ รูป ก็เสียเวลานาน ดังกรณีพระโสณะเป็นตัวอย่าง ขอให้ทรงลดหย่อนให้ภิกษุ ๕ รูป ทำการอุปสมบทกุลบุตรในปัจจันตชนบทได้ พระพุทธองค์ก็ทรงประทานให้ตามที่ได้กราบทูลขอ

ท่านโสณะได้สวดธรรมด้วยทำนอง (สวดสรภัญญะ) ให้พระพุทธองค์ทรงสดับ พระพุทธองค์ตรัสชมเชยว่าสวดได้ถูกต้องและไพเราะดี ท่านคงมิใช่จะมีความสามารถแต่ในการสวดทำนองเท่านั้น ในด้านการอธิบายธรรมก็เป็นยอเหมือนกัน เพราะเป็น “ศิษย์มีครู” ท่านจึงแสดงธรรมแก่ประชาชนเสมอ

นางกาติยานีพร้อมสหายไปฟังธรรมที่พระโสณะแสดง ตั้งใจว่าจะนั่งฟังจนจบจึงจะกลับบ้าน พระเถระแสดงธรรมต่อเนื่องกันเกือบตลอดทั้งคืน ก่อนนั้นเล็กน้อย นางกาติยานีสั่งนางทาสให้กลับไปเอาตะเกียงน้ำมันมาจุดฟังธรรม ทาสีรุดกลับบ้าน หารู้ไม่ว่าพวกโจรจำนวนหนึ่งกำลังขุดอุโมงค์สร้างทางลับเพื่อไปโผล่ที่บ้านนางกาติยานีอยู่ หัวหน้าโจรได้มาดูลาดเลาที่วัด

นางทาสีไปพบพวกโจรกำลังขุดอุโมงค์อยู่ จึงรีบกลับมารายงานนายหญิงให้ทราบ หัวหน้าโจรคิดว่า ถ้านางคนนี้เชื่อคำรายงานของนางทาสี รีบกลับไปดูบ้านตนก็จะดักฆ่านางระหว่างทาง แต่ก็ประหลาดใจที่นางกาติยานีได้รับรายงานจากนางทาสีแล้ว กลับพูดว่า ช่างเถอะ เรากำลังฟังธรรม ถ้าเรากลับไปบ้านเราก็จะไม่ได้ฟังธรรมจนจบ ฟังธรรมจบ แล้วค่อยคิดอีกทีว่าจะทำอย่างไร

นางกาติยานีกำชับนางทาสีไม่ให้เอะอะโวยวาย หรือบอกเรื่องราวแก่ใคร โดยให้เหตุผลว่า ขึ้นชื่อว่าโจรแล้ว เขาจะลักขโมยของคนอื่น ยากที่คนจะขัดขวางได้ แต่ถึงโจรมันจะลักของเราไป ก็ได้แต่ของภายนอก ทรัพย์ภายใน (คือพระธรรม) ไม่มีโจรที่ไหนลักไปได้ดอก

หัวหน้าโจรได้ยินดังนั้น ก็ได้สำนึกว่าตนเองกำลังทำความผิดต่อนางผู้มีจิตใจงดงามเสียแล้ว จึงรีบไปยังสถานที่ที่ลูกน้องกำลังทำงานอยู่ พอไปถึง ลูกน้องก็ขุดอุโมงค์ทะลุเข้าไปบริเวณบ้านนางกาติยานีแล้ว และกำลังขนทรัพย์สินออกจากบ้าน หัวหน้าโจรจึงสั่งให้ขนทรัพย์สินเหล่านั้นไปคืนไว้ยังที่เดิม แล้วสั่งลูกน้องให้ตามไปฟังธรรมที่วัด

ถึงลูกน้องโจรจะมึนงงอย่างไร ก็ต้องตามหัวหน้าคือไปฟังธรรม

นางกาติยานีตั้งใจฟังธรรมด้วยจิตสงบ พอพระเถระแสดงธรรมจบ นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยสาวิกาผู้มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย

หัวหน้าโจรแสดงตนต่อนางกาติยานี พลางเล่าเรื่องราวให้นางฟัง เขาพร้อมบริวารได้หมอบแทบเท้านาง กล่าวขอขมาที่ได้ล่วงเกิน

นางกาติยานีกล่าวว่า ในเมื่อพวกท่านสำนึกตนว่าได้ทำผิด ก็ไม่มีโทษอีกต่อไป ฉันอภัยให้

หัวหน้าโจรปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง เลื่อมใสในความเป็นผู้มีจิตใจดีงามของนาง จึงขอร้องให้นางพาตนไปหาพระเถระ เพื่อขอขมาพระเถระ และขอบวชเป็นศิษย์ของท่าน นางกาติยานีก็นำพวกโจรไปฝากให้พระเถระบวชให้ตามประสงค์

ว่ากันว่าหลังจากบวชแล้ว พระภิกษุโจรกลับใจเหล่านั้นตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตทุกรูป

คิดดูก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะโจรเหล่านี้ไม่มีสันดานหยาบอะไรนัก ดังหัวหน้าโจรเห็น “เหยื่อ” เป็นคนดี ก็ซาบซึ้งในความดีของนาง และคิดต่อว่า ถ้าตนผิดต่อสตรีที่มีคุณธรรมเช่นนี้ เทวดาฟ้าดินไม่ยอมยกโทษให้แน่ นี้แสดงถึงสันดานลึกๆ ของหัวหน้าโจรยังใฝ่ดีอยู่

พวกลูกน้องโจร เมื่อเจ้านายบอกให้ขนทรัพย์ที่ขโมยมาคืนเจ้าของ เพราะเจ้าของเป็นคนดีมีคุณธรรม ก็เชื่อฟังโดยดี เมื่อหัวหน้าชวนไปบวชก็ไปด้วยดี แสดงว่าลึกๆ จริงๆ แต่ละคนก็มี “อุปนิสัย” ที่ขัดเกลาเป็นคนดีได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมาบวชแล้วได้รับการฝึกฝนอบรมที่เหมาะสม จึงได้บรรลุจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตในที่สุด

นางกาติยานีเอง หลังจากบรรลุโสดาปัตติผลครั้งนั้นแล้ว ก็เข้าวัดฟังธรรมสม่ำเสมอ ด้วยศรัทธาปสาทะอันแน่วแน่ในพระรัตนตรัย จนได้รับสถาปนาในเอตทัคคะ (ตำแหน่งเป็นผู้เลิศกว่าคนอื่น) ในทางเป็นอุบาสิกาผู้มีความเลื่อมใส อันแน่นแฟ้นในพระรัตนตรัย (อเวจจปสาทะ) ด้วยประการฉะนี้แล


ข้อมูล : บทความพิเศษ กาติยานี : อุบาสิกาผู้มีความเลื่อมใสมั่นคง โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๙-๒๕ กันยายน ๒๕๕๗


.
(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTz70QWg3_Z--1aOWqVYueJHdSS1OVOOIe9JTL-DM82sOEPHiSDyw)
๘๑. นางวิสาขา มิคารมาตา
ผู้เป็นเลิศในทางถวายทาน

ชาวพุทธย่อมจะคุ้นเคยกับนาม วิสาขามหาอุบาสิกา และอนาถบิณฑิกเศรษฐี เพราะสองท่านี้เป็นอุบาสก อุบาสิกา “คู่ขวัญ” ในพระพุทธศาสนา ทั้งสองท่านนี้ได้ให้ความอุปถัมภ์แก่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันทีเดียว

ประวัติโดยพิสดารของนางวิสาขาเขียนไว้ต่างหากแล้ว ในที่นี้ขอเล่าโดยย่อ นางวิสาขาเป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี และนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ ติดกับแคว้นมคธ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ

ต่อมาตามบิดาไปอยู่เมืองสาวัตถี ได้แต่งงานกับปุณณวัฒนะ บุตรมิคารเศรษฐี

นางวิสาขาเป็นสตรีที่ลือชื่อว่าเป็นเบญจกัลยาณี คือ มีความงาม ๕ ประการ ได้แก่
๑. ผมงาม  หมายถึง ผมสลวย เป็นเงางาม (เกสกัลยาณะ)
๒. เนื้องาม หมายถึงมีริมฝีปากงาม ไม่ต้องทาลิปสติก (มังสกัลยาณะ)
๓. กระดูกงาม (หมายถึง ฟันงาม (อัฏฐิกัลยาณะ)
๔. วัยงาม หมายถึง ไม่แก่ตามอายุ (วลกัลยาณะ)
๕. ผิวงาม หมายถึง ผิวพรรณผุดผ่อง (ฉวิกัลยาณะ)

ก่อนส่งตัวไปยังตระกูลสามี บิดาได้ให้โอวาทนางวิสาขา ๑๐ ข้อ ให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เมื่ออยู่ในตระกูลสามี

ตระกูลสามีของนางเป็น “มิจฉาทิฐิ” (คือไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) เมื่อนางซึ่งเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ไปอยู่ที่ตระกูลสามี นางก็ทำบุญใส่บาตรเป็นประจำ

วันหนึ่งก็เกิดเรื่อง คือ ขณะที่บิดาสามีของนางบริโภคอาหารอยู่ โดยมีนางวิสาขานั่งปรนนิบัติพัดวีอยู่ เศรษฐีเห็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนามาบิณฑบาตยืนอยู่ที่หน้าบ้าน เศรษฐีแกล้งไม่เห็นภิกษุรูปนั้น หันข้างให้พระภิกษุท่าน

นางวิสาขาก็ค่อยถอยออกไปพูดกับภิกษุรูปนั้น ดังพอให้บิดาสามีได้ยินว่า “พระคุณเจ้านิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด บิดาของดิฉันกำลังกินของเก่า”

เศรษฐีได้ยินก็โกรธ หาว่าลูกสะใภ้ดูถูกตนว่า “กินอุจจาระ” จึงไล่นางออกจากตระกูลของตน  พราหมณ์ทั้ง ๘ คนที่เศรษฐีส่งมาให้ดูแลนางได้ทำการสอบสวนเรื่องราว เรียกทั้งบิดาของสามีและนางวิสาขามาซักถาม

นางวิสาขาอธิบายว่า นางมิได้กล่าวหาว่าบิดาของสามีนางกิน “อุจจาระ” คำว่า “กินของเก่า” ของนางหมายถึง บิดาสามีของนางได้เกิดเป็นเศรษฐีทุกวันนี้ เพราะ “บุญเก่า” ที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อน แต่เศรษฐีมิได้สร้างบุญใหม่เลย ท่านเศรษฐีจึงได้ชื่อว่า “กินของเก่า”

พราหมณ์ทั้ง ๘ ได้ตัดสินว่า นางวิสาขาไม่ผิด และเศรษฐีก็ให้อภัย ไม่ส่งนางกลับตระกูลเดิมอีกต่อไป แถมยังหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามนางอีกด้วย เศรษฐีได้นับถือลูกสะใภ้ว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อตน ที่นำตนเข้ามาสู่พระพุทธศาสนาจึงเรียกขานนางว่าเป็น “มารดาในทางธรรม”

ตั้งแต่บัดนั้นมา นางวิสาขาจึงมีสมญานามว่า วิสาขา มิคารมาตา (วิสาขา มารดาแห่งมิคาระเศรษฐี)

นางวิสาขาได้ขายเครื่องประดับที่มีค่าแพงของนางชื่อ ลดาปสาธน์ ได้เงิน ๘ โกฏิ ๑ แสนกหาปณะ (ตั้งราคาให้แต่ไม่มีใครซื้อ จึงซื้อเสียเอง) และเพิ่มเงินอีกจำนวน ๙ โกฏิ สร้างวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า “วัดบุพพาราม”

นางวิสาขาไปวัดทุกเช้าเย็น ดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์อย่างใกล้ชิด บางครั้งก็มีส่วนในการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ด้วย ดังกรณีนางภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะ

ภิกษุณีรูปหนึ่งอยู่ในปกครองของพระเทวทัต ตั้งท้องก่อนมาบวช เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้น ก็เป็นที่โจษจันกัน พระเทวทัตผู้ปกครองสั่งให้นางสละเพศบรรพชิตทันที เพราะถือว่าเป็นปาราชิกแล้ว แต่นางยืนยันในความบริสุทธิ์ของตน จึงไม่ยอมสึกอุทธรณ์ขึ้นไปถึงพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์รับสั่งให้พระอุบาลีเถระชำระอธิกรณ์ พระอุบาลีเถระมาขอแรงนางวิสาขาให้ช่วยพิจารณาด้วย นางได้สอบถามวันออกบวช วันประจำเดือนหมด ตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย คำนวณวันเวลา ได้รายละเอียดทุกอย่างแล้วสรุปว่านางได้ตั้งครรภ์ก่อนบวช จึงไม่มีความผิดทางพระวินัยแต่อย่างใด คำวินิจฉัยนั้นถือว่าถูกต้องยุติธรรม ได้รับการยอมรับจากพระพุทธองค์

ภิกษุณีรูปที่กล่าวถึงนี้ คือมารดาของพระกุมารกัสสปะ พระเถระนักแสดงธรรมผู้มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา

นางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะ (เป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการถวายทาน เป็นอุบาสิกาตัวอย่างที่ควรดำเนินตามอย่างยิ่ง  


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางวิสาขา มิคารมาตา : ผู้เป็นเลิศในทางถวายทาน โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๓-๙ ตุลาคม ๒๕๕๗


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 ตุลาคม 2557 16:20:46
.
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRieLLZPIad2T301ezKwNhBg77zTSIDglikdfH3BEw-p_lClwtM)
๘๒. นางสามาวดี  
พุทธสาวิกาผู้อมตะ (ตอนที่ ๑)

วันนี้มาว่าด้วยพุทธสาวิกาที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ เธอตายแล้วก็เหมือนไม่ตาย เพราะเธอไม่มีความประมาทในชีวิต ดังพุทธภาษิตว่า อัปปะมัตตา นะ มี ยันติ เย ปะมัตตา ยะถา มะตา ผู้ไม่ประมาทไม่มีวันตาย ส่วนผู้ประมาทแล้ว ถึงยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว

ชีวิตของสามาวดีในวัยเด็ก ต้องผจญกับความผันผวนของชีวิตอย่างน่าเวทนาหน่อย

เมืองภัททวดีที่อาศัยเกิดอหิวาตกโรค ผู้คนล้มตายกันเกลื่อนกลาด เศรษฐี ภรรยา และบุตรสาว ซึ่งก็คือ สามาวดี หนีออกจากเมือง มุ่งหน้าไปยังเมืองโกสัมพี

ที่เมืองโกสัมพีนี้มีเศรษฐีชื่อ โฆสกะ เป็นสหายกับเศรษฐีพ่อของสามาวดี เขาและครอบครัวหวังไปพึ่งใบบุญเพื่อน จึงเดินทางรอนแรมไปหลายราตรี กว่าจะลุถึงเมืองโกสัมพี ทั้งสามพักเหนื่อยอยู่ประตูเมือง กะว่ารุ่งเช้าจะไปหาเศรษฐีผู้สหาย

แต่เศรษฐีผู้ตกยากก็ไม่แน่ใจเสียแล้วว่าตนและครอบครัวมาในสภาพอย่างนี้ เศรษฐีผู้สหายจะยินดีต้อนรับหรือไม่ จึงยับยั้งอยู่ก่อน

สั่งให้ลูกสาวไปขอทานมากินแก้หิวก่อน ค่อยคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป

โฆสกะเศรษฐีนั้นเคยเป็นคนที่ตกยากมาก่อน เมื่อเป็นเศรษฐีแล้วก็คิดถึงหัวอกของคนจน จึงตั้งโรงทานให้ทานแก่ยาจกและวณิพกเป็นประจำ โดยมอบหมายให้มิตตะกุฎุมพีเป็นผู้อำนวยการให้ทานแทนในทุกๆ เช้า

เช้าวันที่พูดถึงนี้ สามาวดี ถือภาชนะไปขอทาน มิตตะกุฎุมพีถามว่า เอากี่ส่วน นางตอบว่าสามส่วนจ้ะ (หมายถึงเอาไปให้ ๓ คน)

คืนนั้นเอง เศรษฐีตกยาก พ่อของสามาวดีก็เสียชีวิตลง เพราะความบอบช้ำเนื่องจากเดินทางฝ่าทุรกันดารมาไกล เข้าใจว่าคนไม่เคยลำบาก พออยู่ในภาวะสิ้นเนื้อประดาตัว คงตรอมใจตายมากกว่าอย่างอื่น

วันรุ่งขึ้น เมื่อกุฎุมพีให้ทาน สามาวดีร้องบอกว่า วันนี้ขอสองส่วนจ้ะ กุฎุมพีก็นึกแปลกใจว่าอีหนูคนนี้เมื่อวานนี้ขอสามส่วน วันนี้ของสองคงรู้ประมาณท้องของตัวเองแล้วสินะ

คืนนั้น ภริยาเศรษฐี (แม่ของสามาวดี) ก็มาตายลงไปอีกคน  ทิ้งลูกสาวตัวน้อยๆ ต้องผจญชีวิตตามลำพัง สามาวดีร้องไห้จนไม่มีน้ำตาจะไหล รุ่งเช้าขึ้นมาก็ถือกะลาไปขออาหารตามเดิม

เมื่อกุฎุมพีจะตักให้สองส่วน นางก็ร้องบอกว่านายจ๋าวันนี้เอาส่วนเดียวพอ ทำให้กุฎุมพีเดือดขึ้นมาทันที

“อีตะกละ วันก่อนโน้นเอ็งคงหิวมากซีนะ ขอไปตั้งสามส่วน วันต่อมารับสองส่วน วันนี้กลับขอส่วนเดียว เพิ่งรู้ประมาณท้องของตัวเองใช่ไหม”

สามาวดีตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีใคร่ขู่ตะคอกด้วยผรุสวาจาอย่างนี้ เลือดผู้ดีขึ้นหน้า จึงย้อนถามว่า “อะไรกันนาย แค่นี้ก็ด่ากันด้วยหรือ”

“เออซิวะ อีเด็กถ่อย ทำไมวันก่อนเอ็งขอสามส่วน เมื่อวานขอสองส่วน วันนี้กลับขอส่วนเดียว อย่างนี้ไม่น่าด่าหรือ” มิตตะกุฎุมพี กล่าว

“หามิได้นาย เมื่อวันก่อนฉันมีกันสามคน วานนี้มีสองคน แต่วันนี้เหลือฉันคนเดียว ฉันจึงขออาหารเพียงส่วนเดียว” นางอธิบายพลางร้องไห้สะอึกสะอื้น

มิตตะกุฎุมพีจึงถามไถ่เรื่องราว นางก็เล่าให้ฟังจนหมดสิ้น พลอยทำให้ผู้รับฟังเรื่องราวต้องเช็ดน้ำตาไปด้วย เขาจึงขอโทษนางและรับนางมาอยู่ด้วยในฐานะบุตรบุญธรรม

เป็นอันว่าสามาวดีได้ผ่านวิกฤตแห่งชีวิตแล้ว ได้ช่วยบิดาบุญธรรมบริจาคทานที่โรงทานทุกวัน เห็นคนขอทานมายืนออกันรอรับทานไม่เป็นระเบียบ แถมยังส่งเสียงอื้ออึงหนวกหู นางจึงเกิด “ไอเดีย” น่าจะมีวิธีให้ผู้เข้ามารับทานมารับอย่างเป็นระเบียบและไม่ส่งเสียงอึกทึก แล้วเข้าไป “ขายไอเดีย” กับบิดาบุญธรรม
“ลูกจะทำอย่างไร” บิดาบุญธรรมซัก
“ก็กั้นรั้วทำทางเดินแคบๆ เดินได้คนเดียว ให้ผู้เข้ามารับทานเข้ามารับทีละคนตามคิว เข้าประตูหนึ่งออกอีกประตูหนึ่ง โดยวิธีอย่างนี้จะเป็นระเบียบยิ่งขึ้น และไม่มีเสียงอึกทึก” ลูกสาวแจง

บิดาบุญธรรมจึงตกลงตามนั้น จึงสั่งให้ทำทางเดินกั้นด้วยรั้วตามที่บุตรีบุญธรรมเสนอ ทดลองใช้ดูในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าไม่มีเสียงอึกทึกเช่นแต่ก่อน และเป็นระบบระเบียบขึ้น

เดิมนางมีชื่อสั้นๆ ว่า “สามา” ตั้งแต่คิดกั้นรั้วทำทางให้คนมารับบริจาคทานเข้าออกเป็นระเบียบขึ้น จึงได้สมญานามว่า “สามาวดี” (แปลว่า สามาผู้กั้นรั้ว)

โรงทานของโฆสกะเศรษฐี ใหญ่มาก มียาจกและวณิพกมารอรับทานวันละเป็นร้อยเป็นพัน ย่อมมีเสียงอึกทึกโกลาหลไม่น้อย ภาพและเสียงอย่างนี้คงชินหูชินตาผู้คน รวมทั้งเศรษฐีด้วย แต่ตั้งแต่มิตตะกุฎุมพีกั้นรั้วตามคำแนะนำของบุตรสาวบุญธรรม ทั่วบริเวณโรงทานสงบเงียบ ไม่มีเสียงอื้ออึงเหมือนเดิม เศรษฐีเอ่ยถามมิตตะกุฎุมพี ผู้อำนวยการโรงทานว่า เลิกให้ทานแล้วหรือ
“ยังให้อยู่เหมือนเดิมนาย” กุฎุมพีตอบ
“อ้าว แล้วทำไมไม่ได้ยินเสียง” เศรษฐีซัก
“เพราะได้ให้ทานโดยวิธีใหม่” กุฎุมพีตอบ ครั้นซักว่าวิธีใหม่นะวิธีอะไร กุฎุมพีจึงบอกให้เศรษฐีไปดูด้วยตาในวันรุ่งขึ้น

รุ่งเช้าขึ้นมาเศรษฐีไปที่โรงทาน ได้เห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโรงทานก็รู้สึกชอบใจ จึงเอ่ยถามด้วยความแปลกใจว่า “ทำไมมิตตะไม่ทำอย่างนี้เสียตั้งแต่แรก”
“เพราะคิดไม่ได้ครับ” มิตตะตอบ
“แล้วทำไมตอนนี้คิดได้” โฆสกะเศรษฐีซัก
“ไม่ใช่ความคิดของข้าพเจ้า ลูกสาวข้าพเจ้าเป็นคนต้นคิดครับ”
“ท่านมีลูกสาวตั้งแต่เมื่อใด” เศรษฐีย้อนถามด้วยความแปลกใจ เพราะเท่าที่ทราบมิตตะกุฎุมพีไม่มีลูกสาว

มิตตะกุฎุมพีจึงเล่าเรื่องราวของสาวน้อยนามสามาวดีให้เศรษฐีฟัง เศรษฐีจึงให้ตามนางมา แล้วกล่าวว่า “พ่อเจ้าเป็นเพื่อนฉัน ลูกเพื่อนฉันก็เท่ากับลูกของฉัน ต่อแต่นี้เจ้าจงมาอยู่ด้วยกันเถิด”  แล้วรับนางไปอยู่ด้วย ตั้งไว้ในฐานะธิดาคนโต มอบหญิง ๕๐๐ คน เป็นบริวารรับใช้

วันหนึ่ง ขณะนางพร้อมบริวารไปอาบน้ำที่ท่าน้ำในวันนักขัตฤกษ์ พระเจ้ากรุงโกสัมพีทอดพระเนตรเห็น ก็มีพระราชหฤทัยปฏิพัทธรักใคร่ ทราบว่าเป็นบุตรโฆสกะเศรษฐี จึงให้คนไปขอนาง แต่พ่อบุญธรรมปฏิเสธ ถูกพระเจ้ากรุงโกสัมพีพิโรธ รับสั่งให้ไล่ทุกคนออกจากคฤหาสน์แล้วตีตราสั่งยึดบ้าน

สามาวดีกลับมาจากท่าน้ำ รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงกล่าวกับบิดาบุญธรรมว่า “พ่อ ขึ้นชื่อว่าพระราชามหากษัตริย์ ทรงปรารถนาอะไร ยากที่ใครจะขัดขืนได้ พ่ออย่าลำบากเพราะลูกเลย” เศรษฐีก็ทราบว่านางเองก็คงพึงพอใจ จึงให้คนไปกราบทูลพระราชาว่า ยินดีถวายลูกสาวเข้าวัง

เป็นอันว่า ตั้งแต่นั้นมาสามาวดีก็ได้เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทน กษัตริย์หนุ่มแห่งโกสัมพี ว่ากันว่าเป็นที่โปรดปรานของพระราชสวามีอย่างยิ่งด้วย

ประวัติของนางสามาวดียังอีกยาว เล่าตอนเดียวไม่จบ ขอยกยอดไปสัปดาห์หน้าก็แล้วกัน


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางสามาวดี : พุทธสาวิกาผู้อมตะ (๑) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๐-๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๗


.
(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ5Au-pBMmNsMFTSxkuLNlG7hpiKEG9OOFRFJmrOE2vTxfAsT4cXQ)
๘๒. นางสามาวดี 
พุทธสาวิกาผู้อมตะ (ตอนที่ ๒)

พระเจ้าอุเทนมีมเหสีทั้งหมด ๒ พระองค์ คือ สุลทัตตา และ พระนางมาคันทิยา

เฉพาะองค์หลังนี้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับนางสามาวดี สาเหตุมิใช่เกิดจากนางสามาวดี หากแต่มาคันทิยาเธอมีเรื่องอาฆาตแค้นพระพุทธเจ้ามาก่อน

เมื่อมาอยู่ในวังพระเจ้าอุเทน เห็นนางสามาวดีและนางสนมกำนัลในทั้งหลายเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เธอก็เลยพาลโกรธแค้นไปด้วย

มาคันทิยา เป็นใคร และอาฆาตแค้นพระพุทธองค์ด้วยเรื่องอะไร ถ้าจะเล่าก็ยาว เอาสั้นๆ ก็แล้วกัน นางเป็นสตรีผู้สวยงาม พ่อแม่ไม่ยอมให้แต่งงานกับคนที่มาขอ อ้างว่าไม่คู่ควรกับลูกสาวของตน

วันหนึ่ง พราหมณ์ผู้เป็นบิดาของนางเห็นพระพุทธเจ้าแล้วเกิดชอบใจ จึงพาลูกสาวมาหา บอกว่า “สมณะคู่ควรกับลูกสาวของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอมอบลูกสาวให้แก่สมณะ”

พระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลในตัวพราหมณ์เฒ่าและภรรยา จึงตรัสสอนธรรมพาดพิงถึงเรื่องความไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ของร่างกายที่เปื่อยเน่า

พระองค์ตรัสว่า “เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าชายอยู่ นางสนมกำนัลสวยงามยิ่งกว่าลูกสาวท่าน เราตถาคตยังสละมาเลย ลูกสาวท่านไม่ได้สวยงามอะไรนักหนา เราตถาคตไม่ปรารถนาจะแตะต้อง แม้ด้วยเท้า”

ประโยคหลังนี้กระทบใจสองผัวเมีย คือทำให้ทั้งสองเข้าใจซึ้งถึงความเป็นจริงของสังขาร ว่าไม่มีอะไรน่าปรารถนา ทั้งสองได้บรรลุโสดาปัตติผลทันทีที่ตรัสจบ

แต่ลูกสาวคนสวยรู้สึกโกรธขึ้นมาทันที ที่ถูกพระพุทธองค์กล่าวดูถูกให้เสียหาย จึงผูกอาฆาตว่า “กูได้เป็นใหญ่เมื่อใด กูจะเล่นงานสมณะองค์นี้ให้ได้ ฝากไว้ก่อนเถอะ”

บังเอิญบุญพาวาสนาส่ง (หรือบาปก็ไม่รู้สิ) นางได้กลายเป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทน เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์บิณฑบาตในเมืองโกสัมพี ก็จำได้ ความแค้นเก่าก็ผุดขึ้นมา

ยิ่งรู้ว่านางสามาวดีกับบริวารเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ก็ยิ่งโกรธแค้นหนักขึ้น คอยหาโอกาสเล่นงานทั้งพระศาสดาและเหล่าสาวิกาของพระองค์อยู่

สามาวดีได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ยังไม่เห็นพระองค์ คือสาวใช้หลังค่อม นาม ขุชชุตตรา ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ สามาวดีได้ขอให้นางแสดงธรรมที่ได้รับฟังมาจากพระองค์ให้ฟังอีกทีหนึ่ง นางได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่นั้นมา

นางพร้อมกับสตรีในวังได้ขอให้นางขุชชุตตราไปฟังธรรม แล้วมาแสดงให้พวกนางฟังทุกวัน ผลจากการทำเช่นนี้ ทำให้นางขุชชตรากลายเป็นพหูสูต (ผู้คงแก่เรียน) ในที่สุด

เมื่อนางสามาวดีพร้อมกับสตรีบริวารอยากเห็นพระพุทธองค์ นางขุชชุตตราจึงแนะให้เจาะช่องเล็กๆ ที่ฝาห้อง เวลาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์เสด็จผ่านมาก็ให้แลดูและบูชาด้วยดอกไม้และของหอม พวกเธอก็ทำอย่างนั้นโดยไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงกับทำให้นางสามาวดีเกือบต้องสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา

พวกเธอไม่รู้ว่า พระนางมาคันทิยาได้ระแคะระคายในเรื่องนี้ แล้วก็นำไป “ป้ายสี” พระนางสามาวดี  มาคันทิยาเธอกราบทูลพระสวามีว่า สามาวดีกับบริวารกำลังเอาใจออกห่าง คิดไม่ซื่อ ไม่รู้กำลังทำกรรมหนักอะไรอยู่ เห็นเจาะช่องที่ฝาห้อง ถ้าพระองค์ไม่เชื่อ ขอให้เสด็จไปทอดพระเนตรดูก็ได้

พระราชาเสด็จไปทอดพระเนตร เห็นช่องเล็กๆ ตามฝาห้อง จึงตรัสถาม ได้ความว่าเป็นช่องที่พวกนางเจาะไว้เพื่อดูและนมัสการพระพุทธเจ้าเมื่อท่านเสด็จผ่านมาผ่านไป

พระราชาก็ไม่ตรัสว่ากระไร แต่รับสั่งให้ปิดช่องเหล่านั้นเสีย ให้ทำหน้าต่างเล็กๆ ที่ดูดีกว่าแทน

แผนการยุแหย่ไม่สำเร็จ นางมาคันทิยาก็วางแผนต่อไป นางว่าจ้างพวกนักเลงให้ตามด่าพระพุทธองค์ พวกนักเลงตามไปบริภาษพระพุทธองค์ด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย เช่น ไอ้โค ไอ้ควาย ไอ้อูฐ ไอ้สัตว์นรก จนพระอานนท์ร้อนใจ กราบทูลอัญเชิญเสด็จหนีไปเมืองอื่น

พระพุทธองค์ตรัสว่า เรื่องเกิดที่ไหนก็ควรอยู่ที่นั่นจนกว่าเรื่องจะสงบ ไม่เกิน ๗ วัน พวกนี้ก็จะเลิกด่า ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น ไม่ถึง ๗ วัน พวกนักเลงก็กลับใจ ไม่ตามด่าพระองค์อีกแล้ว

มาคันทิยาวางแผนที่ ๓ สั่งให้อาส่งไก่มา ๑๖ ตัว ไก่เป็น ๘ ตัว ไก่ตาย ๘ ตัว และทำตามแผนที่วางไว้เป็นขั้นๆ นางกราบทูลพระเจ้ากรุงโกสัมพีว่า อาของนางส่งไก่มาถวาย ๘ ตัว จะให้ทำอะไรดี พระราชารับสั่งว่า กำลังอยากเสวยแกงไก่อยู่พอดี ลาภปากมาแล้ว ให้จัดการให้ด้วย

นางมาคันทิยากราบทูลว่า นางสามาวดีและสตรีบริวารฝีมือแกงไก่ชั้นยอดเลย ขอให้พระองค์รับสั่งให้นางแกงถวายเถิด

พระราชารับสั่งตามนั้น นางสามาวดีและสตรีบริวารเป็นพุทธมามกะไม่ทำปาณาติบาต จึงกราบทูลกลับขึ้นมาว่า พวกนางไม่สามารถจะฆ่าไก่ได้

มาคันทิยาจึงยุแยงต่อไปว่า “พระองค์เห็นไหม หม่อมฉันทูลว่าสามาวดีเธอเอาใจออกห่างพระองค์ก็ไม่ยอมเชื่อ นางไม่ฆ่าไก่แกงถวายพระองค์ แต่ถ้าสั่งให้ฆ่าไก่แกงถวายพระสมณโคดม รับรองนางไม่ปฏิเสธแน่นอน” (พูดในทำนองว่า สามาวดีเธอมีใจให้กับพระพุทธองค์ ช่างคิดอกุศลอะไรปานนั้น)

พระราชารับสั่งให้สามาวดีแกงไก่ถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ มาคันทิยาเธอให้อาณัติสัญญาณแก่คนของนาง ให้เปลี่ยนเป็นไก่ตาย ๘ ตัว  สามาวดีพร้อมสตรีบริวารก็ดีใจ พากันกุลีกุจอแกงไก่ไปถวายพระพุทธองค์  เรื่องทั้งหมดทราบถึงพระราชา แถมเสียงยุแยงตะแคงรั่วก็สอดเข้ามาด้วย
“พระองค์เห็นหรือยัง สามาวดีอ้างว่าไม่ฆ่าสัตว์ แต่พอบอกให้แก่ไก่ถวายพระสมณโคดม กลับยินดีฆ่าไก่ อย่างนี้หมายความว่าอย่างใด”

พระเจ้าอุเทนก็ยังไม่ปลงพระทัยเชื่อ ทรงนิ่งเฉยอยู่ มาคันทิยายิ่งแค้นในอก

วันหนึ่งได้โอกาส ขณะที่พระราชาจะเสด็จไปประทับที่ปราสาทของสามาวดี มาคันทิยาได้แอบเอางูพิษใส่ในพิณ “หัสดีกันต์” เครื่องดนตรีคู่พระทัย แล้วอ้างเรื่องขอติดตามไปด้วย เพราะมีลางสังหรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพระราชา

พระราชาไม่อนุญาตให้ตามเสด็จก็หน้าด้านตามไปจนได้  พอพระราชาทรงวางพิณไว้เท่านั้น นางก็แอบไปเปิดช่องที่ปิดไว้ งูพิษที่อยู่ในพิณสามสี่วันก็เลื่อยออกมาแผ่พังพานขู่ฟู่ๆ

มาคันทิยาแกล้งหวีดร้องเสียงหลง “ต๊ายๆ อีนางใจร้าย เธอจะฆ่าทูลกระหม่อมเชียวหรือ ปล่อยงูพิษมากัดทูลกระหม่อมได้” แล้วก็หันมาหาพระสวามี

“พระองค์เห็นหรือยัง หม่อมฉันสังหรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพระองค์แล้วก็เกิดจริงๆ”

พระเจ้าอุเทนทรงพิโรธ รับสั่งให้จับนางสามาวดีพร้อมสตรีบริวารมายืนเรียงแถว คว้าธนูเพื่อยิงให้สิ้นชีพ

สามาวดีให้โอวาทแก่สตรีบริวารว่า พวกเธอจงแผ่เมตตาจิตแด่พระเจ้าอยู่หัว อย่ามีจิตโกรธหรืออาฆาตใดๆ พระองค์ทรงทำไปเพราะหลงเชื่อคนพาล พวกเธอจงรำลึกถึงพระพุทธเจ้าทุกลมหายใจ

เมื่อพระเจ้าอุเทนทรงง้างคันศรปล่อยลูกธนูจากแล่ง ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ก็เกิด ลูกศรแทนที่จะทะลุหัวใจของนางสามาวดีและสตรีบริวาร กลับแฉลบไปผิดทาง ไปกระทบกับกำแพงแล้วกลับมาตกแทบพระบาทของพระองค์

พระราชาทรงรู้สึกเสมือนตื่นจากภวังค์ สำนึกผิดชอบชั่วดีเกิดขึ้น ทรงก้มลงแทบเท้านางสามาวดี รำพันว่า
“เราฟั่นเฟือนเลือนหลงมืดแปดด้าน สามาวดีเอ๋ย เจ้าจงเป็นที่พึ่งแก่เราเถิด”
“ถ้าเช่นนั้น เราขอถึงสามาวดีและพุทธเจ้าของนางเป็นที่พึ่งด้วยกันก็แล้วกัน” พระราชารับสั่ง
 
ประวัติของนางสามาวดียาวทีเดียวเชียว เล่ามาสองตอนแล้วก็ยังไม่จบ คงต้องยกยอดไปต่อสัปดาห์หน้าอีกตอน


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางสามาวดี : พุทธสาวิกาผู้อมตะ (๒) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๗-๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๗


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 พฤศจิกายน 2557 14:49:31
.
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRieLLZPIad2T301ezKwNhBg77zTSIDglikdfH3BEw-p_lClwtM)
๘๒. นางสามาวดี  
พุทธสาวิกาผู้อมตะ (ตอนที่ ๓)

พระเจ้าอุเทนได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลอัญเชิญเสด็จไปถวายภัตตาหารในพระราชวังในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระพุทธองค์และพระสงฆ์เสร็จภัตกิจแล้ว พระราชาตรัสกับสามาวดีว่า “เธอจะขอพรอะไร เราจะให้” สามาวดีว่า “หม่อมฉันไม่ได้ต้องการพรอย่างอื่น อยากได้อย่างที่พระองค์ทรงทำอยู่ ณ บัดนี้ ตลอดกาลเป็นนิตย์” (หมายความว่า ขอให้ได้ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เป็นประจำทุกวัน)

พระราชาก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามประสงค์

พระเจ้าอุเทนพระราชทานพรให้นางสามาวดีถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เป็นประจำในพระราชวัง พระองค์เองก็ทรงปฏิญาณเป็นพุทธมามกะ นับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแต่บัดนั้น

พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมากได้เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวังชั่วระยะเวลาหนึ่ง พระเจ้าอุเทนทรงปรารถนาให้พระพุทธองค์เสด็จไปสงเคราะห์พระองค์และข้าราชบริพารเป็นนิตย์

พระพุทธองค์ตรัสว่า พระสัมมาสัมพุทธะทั้งหลาย จะต้องไปโปรดเวไนยสัตว์ทั่วไป จะอยู่ประจำ ณ ที่ใดที่หนึ่งหาควรไม่

เมื่อพระเจ้าอุเทนกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นขอให้ทรงมอบภาระให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมาแทนก็ได้ พระพุทธองค์จึงทรงมอบภาระให้แก่พระอานนท์

พระอานนท์เถระเจ้าก็พาพระภิกษุจำนวนหนึ่ง (ว่ากันว่า ๕๐๐ รูป) ไปฉันภัตตาหารในวังพระเจ้ากรุงโกสัมพีเป็นประจำ วันหนึ่งนางสามาวดีและสตรีในวังบูชาธรรมเทศนาของพระเถระด้วยผ้ากัมพลเนื้อดีจำนวน ๕๐๐ ผืน พระเถระก็รับไปทั้งหมด

พระเจ้าอุเทนทราบเรื่องเข้าก็ไม่พอพระทัย นึกตำหนิว่าพระสมณศากยบุตรทำไมจึงมักมากในปัจจัยปานนี้ จึงเสด็จไปหาพระอานนท์ ตรัสถามว่า สามาวดีและสตรีในวังถวายผ้ากัมพลเนื้อดีแด่พระคุณเจ้าถึง ๕๐๐ ผืนจริงหรือ
“เป็นความจริง มหาบพิตร”
“พระคุณเจ้ารับหมดหรือ”
“เป็นเช่นนั้น มหาบพิตร”
“พระคุณเจ้าเอาผ้ามากมายนั้นไปทำอะไร ใช้องค์เดียวหมดหรือ”
“อาตมภาพรับไว้ผืนเดียว ที่เหลือให้แก่พระที่มีจีวรเก่า มหาบพิตร”
“ท่านเหล่านั้นเอาจีวรเก่าไปทำอะไร”
“ให้แก่พระที่มีจีวรเก่ากว่า มหาบพิตร”
“ท่านเหล่านั้นทำอย่างไรกับจีวรเก่า”
“เอาไปทำผ้าปูนอน มหาบพิตร”
“ผ้าปูนอนเก่าจะเอาไปทำอะไร”
“ทำผ้าปูพื้น มหาบพิตร”
“ผ้าปูพื้นเก่าไว้ทำอะไร”
“ทำเป็นผ้าเช็ดเท้า มหาบพิตร”
“ผ้าเช็ดเท้าเก่าเอาไว้ทำอะไร”
“เอามาโขลกให้ละเอียด ผสมกับดินเหนียวไว้ฉาบทาฝา มหาบพิตร”

พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่า พระสมณศากยบุตรทั้งหลายช่างประหยัด ใช้ปัจจัยสี่คุ้มค่าจริงๆ จึงถวายผ้าอีก ๕๐๐ ผืนแด่พระอานนท์ ท่านก็รับแล้วแจกจ่ายให้พระภิกษุที่มีจีวรเก่ากันถ้วนหน้า...


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางสามาวดี : พุทธสาวิกาผู้อมตะ (๓) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๒๔-๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๗


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRieLLZPIad2T301ezKwNhBg77zTSIDglikdfH3BEw-p_lClwtM)
๘๒. นางสามาวดี  
พุทธสาวิกาผู้อมตะ (ตอนที่ ๔)

จะกล่าวถึงมาคันทิยา นางอิจฉาตัวร้าย เมื่อแผนการที่ผ่านมาล้มเหลวทุกครั้ง ก็มานั่งคิดวางแผนใหม่ ว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะกำจัดสามาวดีและบริวารได้ ครั้งหนึ่งโอกาสเหมาะ พระเจ้าอุเทนเสด็จออกนอกเมืองเพื่อไปล่าสัตว์ มาคันทิยาจึงให้ตามอาของตนมา สั่งให้ไปจัดการตามแผน

แผนของมาคันทิยาเหี้ยมโหดเหลือประมาณ นางสั่งให้ขนผ้าจากคลังผ้า และน้ำมันจากคลังน้ำมันจำนวนมาก ให้คนไปต้อนนางสามาวดีและบริวารไปขังรวมไว้ที่ห้องหนึ่งของตำหนักนางสามาวดี ปิดประตูตายออกไม่ได้ แล้วก็ให้คนเอาผ้าชุบน้ำมันให้ชุ่มทุกผืนพันเสาปราสาททุกต้น แล้วให้จุดไฟเผา ไฟลุกพรึบอย่างรวดเร็ว

เปลวเพลิงพร้อมกลุ่มควันก็พุ่งเป็นลำสู่ท้องฟ้าแดงฉานท่ามกลางเสียงอื้ออึงด้วยความตื่นตระหนกของผู้ที่ได้พบเห็น

สามาวดีกล่าวเตือนสติสตรีบริวารของนางว่า
“พวกเราได้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอันหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้ ไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ที่พวกเราเวียนเกิดเวียนตายอยู่ และก็ไม่รู้ว่าในอดีตชาติพวกเราได้ทำกรรมชั่วร้ายอะไรไว้บ้าง แต่ที่รู้แน่ๆ คือ ในชาตินี้พวกเราทั้งหมดไม่ได้ทำกรรมชั่วร้ายอะไรเลย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะมาคันทิยา แต่พวกเราเป็นสาวิกาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขออย่าได้อาฆาตพยาบาทนางมาคันทิยาและคนของเธอเลย จงแผ่เมตตาจิตและอโหสิให้เธอเถิด ให้ตั้งสติกำหนดลมหายใจ ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วพวกเราก็จะละโลกนี้ไปด้วยจิตอันสงบเย็น”

ปราสาททั้งหลังก็วอดไปในเปลวเพลิง พร้อมชีวิตของสตรีสาวิกาของพระพุทธเจ้า อันมีนางสามาวดีเป็นประมุขด้วยประการฉะนี้

พระเจ้าอุเทนเสด็จกลับมารับทราบโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ทรงกลั้นอุสสุชลไม่ไหว ทรงกันแสงด้วยความเศร้าสลดและสงสารมเหสีผู้เคราะห์ร้าย ทรงดำริว่าจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ที่ก่อกรรมชั่วร้ายนี้ นอกจากนางมาคันทิยา

ฉับพลันก็ทรงระงับความเศร้าโศกไว้ แสร้งดีพระทัย พระพักตร์เบิกบานเสด็จขึ้นพระตำหนักไป

วันหนึ่ง ขณะทรงพระสำราญอยู่ท่ามกลางมเหสีและหมู่พระสนมกำนัลใน พระเจ้าอุเทนรับสั่งว่า ตั้งแต่สามาวดีตายไป เราสบายใจขึ้นมาก นางตายไปก็ดีแล้ว

มาคันทิยาทูลถามว่า พระองค์ทรงทราบไหมว่า ใครเผาปราสาทนางสามาวดี พระเจ้าอุเทนตรัสว่า คงเป็นคนที่รักเรามากคนใดคนหนึ่งทำ เพราะเขาคงรู้ว่า นี้แหละคือสิ่งที่เราต้องการ

เท่านั้นแหละครับ แผนขุดบ่อล่อปลาก็สำเร็จ นางอิจฉาตัวร้ายก็พูดออกมาว่า “จะมีใครที่รักพระองค์เท่ากับหม่อมฉัน มาคันทิยาคนนี้ ทั้งหมดนี้เป็นฝีมือหม่อมฉันเองเพคะ”

พระเจ้าอุเทนแสร้งดีพระทัย รับสั่งว่า เธอทำได้ดีมาก ถูกใจเรายิ่งนัก เราจะให้รางวัลอย่างงาม มีใครบ้างที่ช่วยเหลือเธอครั้งนี้ ขอให้มารับรางวัลจากเราโดยถ้วนหน้ากัน

มาคันทิยาให้คนส่งข่าวไปยังอาของตน ให้พาพรรคพวกที่ทำงานนี้มาเฝ้าในหลวงทุกคน เพื่อรับบำเหน็จความดีความชอบ มาถึงแล้วแทนที่จะได้รางวัล กลับต้องมารับโทษทัณฑ์ที่สาสมกับที่พวกเขาก่อไว้

พระเจ้ากรุงโกสัมพีสั่งให้ขุดหลุมลึกประมาณสะดือ แล้วให้ฝังนางมาคันทิยาและบริวารให้โผล่พ้นหลุมครึ่งตัว เอาฟางกลบแล้วจุดไฟเผา ดังประหนึ่งเช่นไก่อบฟางก็มิปาน แล้วรับสั่งให้เอาไถเหล็ก ไถงัดเอาร่างที่ไร้วิญญาณขึ้นมา ให้สับเป็นหมื่นๆ ชิ้นให้สาสมกับความแค้นและความสูญเสียอันใหญ่หลวงที่พระองค์ทรงได้รับ เป็นอันว่าชีวิตอันชั่วร้ายของนางมาคันทิยาปิดฉากลงด้วยประการฉะนี้

พระสงฆ์ประชุมสนทนากันในธรรมสภาวันหนึ่งว่า อุบาสิกาที่ทรงธรรมอย่างสามาวดี ไม่สมควรตายอย่างอนาถเช่นนี้เลยหนอ พระพุทธองค์ตรัสว่า “การตายของสามาวดีในชาตินี้ไม่สมควรก็จริง แต่ก็สมกับกรรมที่นางได้ทำไว้ในปางก่อนแล้ว”

ทรงเล่าต่อไปว่า ในอดีตสามาวดีพร้อมบริวารเป็นสนมของพระราชาองค์หนึ่ง ไปเล่นน้ำรู้สึกหนาว จึงพากันจุดกอหญ้าผิงไฟให้หายหนาว เมื่อกอหญ้ายุบลงก็เห็นพระปัจเจกพุทธะองค์หนึ่งซึ่งนั่งเข้าฌานสมาบัติอยู่ในกอหญ้าก่อนแล้ว พวกนางก็ตกใจว่าทำให้พระปัจเจกพุทธะตายโดยไม่รู้ตัว

ด้วยความกลัวว่าใครจะรู้เรื่อง จึงเอาฟืนมาสุมทับร่างพระปัจเจกพุทธะแล้วจุดไฟเผา คิดว่าไฟคงไหม้ร่างท่านเหลือแต่กระดูก ไม่ทิ้งหลักฐานอะไรไว้ให้เป็นความผิดของพวกตนแต่ประการใด

พอถึงเจ็ดวัน พระปัจเจกพุทธะท่านก็ออกจากฌานสมาบัติมิได้ถูกไฟเผาแต่ประการใด (เพราะผู้เข้านิโรธสมาบัติ ย่อมไม่มีใครทำให้ตายได้) ด้วยบุพกรรมนั้นแล สามาวดีและสตรีบริวารจึงถูกไฟคลอกตาย

แต่ถึงสามาวดีจะตายไปแล้ว เธอก็เสมือนยังไม่ตาย เพราะเธอไม่ประมาทในชีวิต จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสพระคาถาว่า
“ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ประมาทแล้ว ถึงยังมีชีวิตอยู่ก็เสมือนตายแล้ว บัณฑิตทั้งหลายรู้ข้อแตกต่างนี้แล้ว พึงเป็นคนไม่ประมาท ยินดีในธรรม ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของพระอริยะทั้งหลาย มีความเพียรอย่างต่อเนื่อง ย่อมได้สัมผัสพระนิพพานอันยอดเยี่ยม”

นางสามาวดีได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ ว่าเป็นเลิศในทางมีเมตตามาก เป็นสาวิกาผู้ดีงามที่สตรีทั้งหลายพึงถือเอาเป็นแบบอย่างแห่งชีวิตอย่างยิ่ง...


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางสามาวดี : พุทธสาวิกาผู้อมตะ (๔) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๓๑ ตุลาคม - ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗


size=1pt].[/size]
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ6JnTVi9UF7fIxcFe2J8KirZ27o6gXBpOWX_NZAw86VByzWPGABw)
๘๓. นางอุตตรา  
ผู้เป็นเลิศทางเข้าฌาน(๑)

คราวนี้มาถึงเรื่องของอุบาสิกาท่านหนึ่งนาม อุตตรา ผู้ได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทางเข้าฌาน

หมายถึงนางได้ฌานและก็เข้าฌานเสมอ จนมีความคล่องแคล่ว (วสีภาพ) ในการเข้าฌาน จะเข้าเมื่อไรก็ได้ นานเท่าไรก็ได้ตามปรารถนา ดุจดังจอมยุทธ์ผู้เชี่ยวชาญคล่องแคล่วในการใช้วิทยายุทธ์

อุตตรา เดิมเป็นลูกสาวของ “คนขัดสนผู้ยิ่งใหญ่” นามปุณณะ ต่อมาปุณณะคนนี้ได้กลายเป็นมหาเศรษฐี อุตตราก็เลยกลายเป็นลูกสาวของมหาเศรษฐีด้วย

เรื่องราวของพ่อของนางอุตตรา ค่อนข้างจะประหลาดมหัศจรรย์ คือ ปุณณะเป็นคนงานของสุมนะ เศรษฐีในเมืองราชคฤห์ วันหนึ่งมีงานนักขัตฤกษ์ คนงานขอหยุดงานไปเล่นนักขัตฤกษ์กันหมด นายปุณณะบอกว่าไม่มีเงินจะไปใช้จ่ายสำหรับการเล่นนักขัตฤกษ์ ข้าวสารจะกรอกหม้อก็ยังไม่มี ขอรับจ้างทำงานวันนักขัตฤกษ์ดีกว่า

สุมนะเศรษฐีจึงให้โคนายปุณณะเพื่อไปไถนา นายปุณณะสั่งให้ภรรยาต้มผักไว้ ให้นำไปส่งเขายังที่นาแล้วเขาก็ล่วงหน้าไปก่อน

เมื่อเขากำลังไถนาอยู่ พระสารีบุตรซึ่งเพิ่งออกจากการเข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน อุ้มบาตรเดินผ่านมาทางที่นาเขา แล้วยืนสงบอยู่ใกล้พุ่มไม้ริมบ่อน้ำ

นายปุณณเห็นพระสารีบุตร จึงวางคันไถ ไหว้พระเถระ พระเถระยื่นบาตรและผ้ากรองน้ำให้เขา เขาเข้าใจว่าพระเถระคงต้องการน้ำดื่ม จึงเอาผ้าไปกรองน้ำดื่มใส่บาตรถวายท่าน

พระเถระอนุโมทนาเขา แล้วเดินมุ่งหน้าไปยังหมู่บ้าน ขณะนั้นภรรยาของนายปุณณะ นำอาหาร (ผักต้ม) เดินทางมาพอดี พบพระเถระระหว่างทาง จึงคิดว่า ครั้งก่อนๆ เวลาพบพระคุณเจ้าก็ไม่มีอาหารอะไรจะไปใส่บาตร แม้ว่าจะมีศรัทธาก็ตาม วันนี้เรามีอาหารและศรัทธาเราก็มี เราไม่ควรพลาดโอกาสทำบุญ จึงใส่อาหารลงในบาตรพระเถระ ขณะที่นางเกลี่ยผักต้มลงบาตรได้ครึ่งหนึ่ง พระเถระก็เอามือปิดบาตรเป็นสัญญาณว่า พอแค่นี้ ที่เหลือให้นำไปให้สามี นางก็กราบเรียนพระเถระว่า “ท่านเจ้าขา ดิฉันประสงค์จะถวายท่านให้หมดเลย ท่านไม่ต้องสงเคราะห์พวกเราในชาตินี้ ขอให้สงเคราะห์ในปรโลกเถิด” ว่าแล้วก็เกลี่ยผักต้มลงในบาตรจนหมด พระสารีบุตรเถระได้กล่าวอนุโมทนาว่า “ขอจงสำเร็จดังมโนรถเถิด”  นางจึงกลับเข้าบ้าน หาข้าวสารมาหุงเพื่อไปให้สามีใหม่

กว่านางจะหุงข้าวเสร็จ นายปุณณะผู้สามีหิวเต็มที่ ไม่สามารถไถนาต่อไป จึงปล่อยโค หลบไปนั่งรอเมียอยู่ใต้ร่มไม้

ฝ่ายผู้ภรรยาเห็นสามีนั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่ ก็กลัวว่าบุญที่ทำไว้จะไม่เผล็ดผล จึงรีบร้องบอกว่า “พี่จ๋า วันนี้ขณะฉันนำอาหารมาให้พี่พบพระสารีบุตรระหว่างทาง ได้ถวายให้ท่านหมด รีบกลับไปหุงข้าวมาใหม่ พี่อย่าโกรธนะจ๊ะ ทำใจให้สบาย แล้วอนุโมทนาในทานที่ฉันให้แล้วด้วย”

ทีแรกก็กะจะตวาดเมียว่า ทำไมมาช้านัก คนมันโมโหหิวนี่ครับ ย่อมทำอะไรได้โดยไม่ทันคาดคิด ดังนิทานเรื่อง “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” นั่นไง เพราะฤทธิ์ความโมโหหิว จึงทำให้ลูกฆ่าแม่

แต่พอได้ยินเสียงอันอ่อนหวานของภรรยาก็หายโกรธ มีจิตเลื่อมใสชื่นบาน เพราะได้กินอาหารเลยเวลา จึงทำให้เขากินไม่ได้มาก ยังไม่หายอ่อนเพลีย จึงเอนกายลงนอนเอาศีรษะหนุนตักภรรยา ม่อยหลับไปภายใต้ร่มไม้อันรื่นรมย์

น่าอิจฉาอะไรเช่นนั้น

ว่ากันว่า ทานที่ถวายแด่พระอรหันต์ในวันที่ท่านออกจากนิโรธสมาบัติ จะมีอานิสงส์ทันตาเห็น นายปุณณะก็เช่นกัน เมื่อเขาตื่นขึ้น มองไปยังที่นาที่เขาไถใหม่ๆ เห็นก้อนดินสีเหลืองอร่ามไปหมด เขาขยี้ตาหลายครั้ง มองยังไงก็เหลืองอร่ามเป็นทองคำทุกครั้งจึงถามภรรยา ว่า “ตาพี่ฝ้าฟางไปหรือเปล่า ทำไมที่ที่พี่ไถไว้จึงกลายเป็นสีทองไปหมด”

ภรรยาบอกว่า นางก็เห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เขารีบลุกขึ้นไปหยิบเอาก้อนดินมาก้อนหนึ่งทุบกับงอนไถ ก็ทราบว่ามันเป็นทองจริงๆ เขาร้องด้วยความดีใจสุดประมาณ “แม่เจ้าโว้ย ที่ดินของข้ากลายเป็นทองหมด จะทำอย่างไรดี” พลันก็คิดว่า ทองมากมายขนาดนี้ไม่สามารถปิดบังใครได้ จึงเอาใส่ถาดจนเต็ม แล้วนำไปทูลเกล้าฯ ถวายพระราชาแห่งเมืองราชคฤห์

พระราชาเมื่อทรงทราบเรื่องราวอันมหัศจรรย์นี้แล้ว ก็รับสั่งให้ขนทองเข้ามากองไว้ในพระบรมมหาราชวัง และเกิดปรากฏการณ์พิลึก คือ เมื่อพวกราชบุรุษดูว่าทองเหล่านี้ถึงจะเกิดในที่นาของนายปุณณะ แต่ก็ต้องเป็นของพระราชาหรือของหลวง พอพวกเขาพูดดังนี้ ทองเหล่านั้นกลับกลายเป็นก้อนดินทันที พวกเขากลับไปกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ

พระราชารับสั่งว่า ทองเหล่านี้เป็นของนายปุณณะ หาใช่ของเราไม่ พวกเธอจงไปพูดตามคำพูดของเรา เมื่อพวกเขาไปพูดใหม่ว่า ทองเหล่านี้เป็นของนายปุณณะ เมื่อนำทองมากองไว้ที่หน้าพระลานหลวง กองทองก็สูงใหญ่ประมาณ ๘๐ ศอก ไม่รู้ว่ากี่แสนกี่ล้านบาท

พระราชาจึงประกาศแต่งตั้งให้นายปุณณะคนยากจนเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งแห่งเมืองราชคฤห์ แต่บัดนั้น

เมื่อสามีเป็นเศรษฐี ภรรยาก็เป็นคุณนายไปด้วย สองสามีภรรยามีลูกสาวคนหนึ่งและคนเดียวนามว่า อุตตรา

ปุณณะเศรษฐี (เศรษฐีใหม่) ก็ให้คนสร้างคฤหาสน์ในที่ที่ได้รับพระราชทาน สร้างเสร็จก็ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ นิมนต์พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข มาฉันภัตตาหารในคฤหาสน์ใหม่ตลอด ๗ วัน วันสุดท้ายหลังเสวยภัตตาหารเสร็จ พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาและแสดงพระธรรมเทศนา  สามคนพ่อแม่ลูกได้บรรลุเป็นพระโสดาบันพร้อมกัน

จะกล่าวถึงสุมนะเศรษฐี เจ้านายเก่าของปุณณะเศรษฐี ได้ขอลูกสาวจากปุณณะเศรษฐีมาเป็นภรรยาของลูกชายตน ปุณณะเศรษฐีไม่ยินดียกให้จนสุมนะเศรษฐีลำเลิกความหลังว่า แต่ก่อนก็อาศัยฉันเลี้ยงชีพ พอเป็นเศรษฐีแล้ว ทำไมไม่นึกถึงบุญคุณกันบ้าง ขอลูกสาวก็ไม่ให้

ปุณณะเศรษฐีกล่าวว่า “มิใช่อย่างนั้น บุตรท่านเป็นมิจฉาทิฐิ (ไม่นับถือพระพุทธศาสนา) ลูกสาวผมเป็นพระอริยบุคคล มั่นคงในพระรัตนตรัย จะยกให้ลูกชายท่านได้อย่างไร”

สุมนะเศรษฐีก็ขอร้องให้เห็นแก่ไมตรีที่มีมาก่อน ตลอดจนผู้คนที่คุ้นเคยอื่นขอให้ปุณณะ เห็นแก่บุญคุณของสุมนะเศรษฐีบ้าง เขาจึงยกลูกสาวให้เป็นสะใภ้ของตระกูลสุมนะเศรษฐี ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยเต็มใจ

มาอยู่ในตระกูลสามีที่ไม่มีใครนับถือพระพุทธศาสนา นางอุตตราไม่มีโอกาสพบพระสงฆ์ ไม่มีโอกาสทำบุญทำทานเหมือนแต่ก่อน ไม่รู้ว่าเวลาใดเป็นวันเข้าพรรษา ออกพรรษา วันไหนเป็นวันอุโบสถ

วันหนึ่ง นางเอ่ยถามคนใช้ว่า เวลานี้ถึงฤดูกาลเข้าพรรษาแล้วหรือยัง คนใช้บอกว่ายัง อีกหนึ่งเดือนก็จะออกพรรษาแล้ว นางได้ยินดังนั้นก็รู้สึกเสียใจ ที่ตั้งแต่มาอยู่ในตระกูลสามี ไม่มีโอกาสทำบุญเลย ดังหนึ่งถูกขังอยู่ในคุกมืด แลไม่เห็นแสงสว่างแม้แต่น้อย จะทำอย่างไรดี

ขณะที่นึกน้อยเนื้อต่ำใจอยู่นั้นเอง พ่อแม่ของนางก็ส่งเงินมาให้นางหนึ่งหมื่นห้าพันกหาปนะ พร้อมจดหมายบอกว่า “นครนี้มีหญิงคณิกาคนหนึ่ง นาม สิริมา ลูกไปจ้างนางให้มาปรนนิบัติสามีแทน จ่ายวันละพันกหาปนะเลย ลูกก็จะได้มีเวลาไปวัด ฟังธรรม และทำบุญกุศลที่ลูกพึงประสงค์”

อุตตราจึงปลาบปลื้มที่บิดาชี้ทางออกให้

เรื่องของนางอุตตรายังไม่จบเท่านี้ สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางอุตตรา : ผู้เป็นเลิศทางเข้าฌาน (๑) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๗-๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ6JnTVi9UF7fIxcFe2J8KirZ27o6gXBpOWX_NZAw86VByzWPGABw)
๘๓. นางอุตตรา  
ผู้เป็นเลิศทางเข้าฌาน(จบ)

นางอุตตราทำตามข้อเสนอแนะของบิดา คือ ไปว่าจ้างนางคณิกา ชื่อ สิริมาให้ปรนนิบัติสามีแทน พูดง่ายๆ ให้มาเป็น “เมียเช่า” นั่นเอง ค่าจ้างก็แพงสุดประมาณ คือวันละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ สัญญาว่าจ้างครึ่งเดือนก่อน อาจต่อสัญญาอีกได้ เจรจากันแล้วก็พามาหาสามี

ทีแรกสามีทำท่าจะไม่ยอม แต่พอเห็นรูปโฉมอันสวยงามของนางสิริมา จึงตกลง เป็นอันว่านางอุตตรา มีเวลาทำบุญทำกุศลตามปรารถนาแล้ว

นางได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านครึ่งเดือน จนถึงวันออกพรรษาและปวารณา เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับนิมนต์แล้ว นางอุตตราดีใจ สั่งตระเตรียมภัตตาหารไว้ถวายพระสงฆ์ตั้งแต่วันนั้น

ว่ากันว่า นาง “เข้าครัว” เองเลยทีเดียว พาบริวารปรุงอาหารอันประณีตไว้ถวายพระสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข

ฝ่ายสามีก็ได้รับการปรนนิบัติเอาใจจากคณิกาอย่างมีความสุข

หนึ่งวันก่อนจะถึงวันปวารณา ก็มีความคิดสงสัยว่าภรรยาผู้แสนโง่ของตนกำลังทำอะไรอยู่หนอในเวลานี้ จึงเดินไปที่ระเบียง เคลียคลอด้วยด้วยคณิกา มองลงไปยังโรงครัว เห็นนางอุตตรากำลังง่วนอยู่กับการปรุงอาหาร ร่างมอมแมมด้วยเถ้าถ่านและขี้เถ้า เหงื่อโชกกาย จึงยิ้มด้วยความสมเพชว่า “หญิงโง่เอ๋ย มีทรัพย์สมบัติมากมายปานนี้ไม่ชอบ กลับพอใจที่จะทำตัวเปรอะฝุ่นขี้เถ้าเพียงเพราะอยากจะอุปฐากสมณะโล้น”

เขาหัวเราะแล้วก็เดินเฉไปทางอื่น

สิริมาคณิกาเห็นสามียิ้มและหัวเราะ จึงหันไปมองบ้าง เห็นนางอุตราก็โกรธ ลืมไปว่าตัวเองเป็นเพียงภรรยาชั่วคราวเท่านั้น “อีนางตัวดี ถือดียังไงมายั่วสามีฉัน เดี๋ยวได้เห็นดีกัน” ว่าแล้วตัวอิจฉาก็เข้าไปในโรงครัว เอาทัพพีตักเนยใสที่เดือดพล่านในกระทะ เดินตรงไปยัง นางอุตตรา กะจะราดให้สุกไปทั้งตัว ปานนั้นเชียว

นางอุตตราเห็นสิริมาย่างสามขุมเข้ามา ก็แผ่เมตตาให้นางว่า “สิริมา เธอมีบุญคุณแก่เราไม่น้อย ถ้าไม่ได้เธอมาทำหน้าที่แทน เราก็คงไม่มีโอกาสได้ถวายทานแด่พระสงฆ์ และได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ถ้าเรามีความโกรธแม้แต่น้อย ขอให้เนยใสก้อนนี้จงลวกเรา แต่ถ้าเราไม่มีความโกรธต่อนาง ก็ขออย่าได้ลวกเราเลย”

ด้วยอำนาจเมตตา ด้วยอำนาจน้ำใจอันประเสริฐของนางอุตตรา ปรากฏว่า เนยในเดือนพล่านที่ราดลงบนร่างของนาง กลับเย็นดุจดังน้ำฝนอันเย็นฉ่ำก็มิปาน

เหล่าสตรีบริวารของนางอุตตรา ได้เห็นสิริมาคณิกาบังอาจทำร้ายนายหญิงของตน ก็กรูกันเข้าไปเล่นงานนางสิริมา บ้างก็ตบ บ้างก็จับผมทึ้ง บ้างก็เตะถีบ จนนางล้มหมอบกระแตอยู่บนพื้น มิไยที่นายหญิงจะร้องห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง เกือบตายแหละครับ

นางอุตตราเข้าไปประคองนางสิริมาขึ้นมาพาไปอาบน้ำอุ่น เอาน้ำมันนวดให้หายฟกช้ำ การกระทำของนางอุตตราทำให้นางสิริมาสำนึกผิด จึงหมอบกราบลงแทบเท้านาง กล่าวขอขมาว่า “คุณแม่ ลูกผิดไปแล้ว ขอให้คุณแม่ยกโทษให้ลูกเถิด (ว่าเขาเป็นอีตัวดีอยู่หยกๆ มาคราวนี้เรียก “คุณแม่” เชียวนิ)  นางอุตตราไม่ถือโทษโกรธนางแม้แต่น้อย แต่เพื่อให้นางได้มีส่วนแห่งความดีบ้าง จึงกล่าวว่า “ฉันมีพ่อนะจ๊ะ ถ้าพ่อของฉันยกโทษให้ ฉันจึงจะยกโทษให้”

เมื่อนางสิริมาบอกว่า เธอพร้อมจะไปกราบขอขมาท่านปุณณะเศรษฐี บิดาของนางอุตตรา นางอุตตราจึงกล่าวว่า “เธอเข้าใจผิดแล้ว พ่อปุณณะเป็นพ่อในทางโลก แต่ฉันมีพ่อในทางธรรมที่จะให้เธอไปกราบขอขมา”
“ใครกันคือพ่อในทางธรรมของคุณแม่”
“พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
“ตกลงค่ะคุณแม่ แต่หนูไม่คุ้นเคยกับพระองค์ท่าน ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร” สิริมาบอกความขัดข้องของตน

นางอุตตราบอกว่า ไม่เป็นไร พรุ่งนี้พระพุทธองค์จะทรงเสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้านเรา ฉันจะพาเธอเข้าเฝ้าเอง

เป็นอันว่า นางสิริมาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าด้วยการจัดการของนางอุตตรา นางเข้าไปหมอบกราบแทบพระยุคลบาท ขอขมาในความผิดของตน

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “เธอมีความผิดอะไร”
นางกราบทูลว่า “เมื่อวานนี้ หม่อมฉันเอาเนยใสเดือดพล่านราดศีรษะคุณแม่อุตตรา ถูกพวกสาวใช้ของคุณแม่ทำร้าย คุณแม่ไม่ถือโกรธหม่อมฉัน แถมยังเข้าไปห้ามปรามพวกสาวใช้มิให้ทำร้ายหม่อมฉันอีกด้วย หม่อมฉันสำนึกผิด จึงขอโทษนาง แต่คุณแม่บอกว่า จะยกโทษให้ก็ต่อเมื่อพระองค์ยกโทษให้”
“จริงหรือ อุตตรา“ พระพุทธองค์ทรงหันมาตรัสถามสาวิกาของพระองค์
“จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า”
“ตอนที่นางเอาเนยใสร้อนราดศีรษะเธอ เธอคิดอย่างไร อุตตรา” ตรัสถามอีก
“หม่อมฉันคิดว่า สิริมาเธอมีบุญคุณกับหม่อมฉันมาก ถ้าไม่ได้นางมาทำหน้าที่ภรรยาแทน หม่อมฉันคงไม่มีโอกาสทำทานและฟังธรรม จึงมิบังควรโกรธนาง”
“ดีแล้ว อุตตรา เธอคิดถูกและทำถูกแล้ว”

จากนั้นพระพุทธองค์ก็ตรัสคาถา (โศลก) สอนนางทั้งสองว่า
“พึงเอาชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
พึงเอาชนะคนไม่ดี ด้วยความดี
พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้
พึงเอาชนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยการพูดความจริง”

จบพระธรรมเทศนาสั้นๆ บทนี้ นางสิริมาได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นสาวิกาอีกคนหนึ่งของพระพุทธองค์ ทั้งนี้เพราะได้นางอุตตราผู้มีน้ำใจประเสริฐ เป็นผู้ชักจูงเข้าหาพระธรรม หาไม่ นางก็คงแหวกว่ายอยู่ในทะเลกามไปจนตาย

เรื่องราวของนางอุตตรา ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางอุตตรา : ผู้เป็นเลิศทางเข้าฌาน (๑) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๔-๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

.
(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTZyMGJPtrPR5IssUR9iprxNRwEN3vQhEkVGpNiqvdVVT-fjJHHjA)
๘๔. นางสุปปยา
อุบาสิกาผู้เลิศในทางพยาบาลไข้

คราวนี้มาพูดถึงนางสุปปิยา สุปปิยาเป็นคนสนิทของนางวิสาขา มักติดตามนางวิสาขาไปวัดฟังธรรมเสมอ เมื่อเสร็จจากการฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว สิ่งที่สองคน ทำเป็นประจำก็คือ เดินตรวจตราดูตามกุฏิที่พำนักของพระสงฆ์ เพื่อดูว่าพระคุณเจ้ารูปใดขาดตกบกพร่องในเรื่องปัจจัยสี่อะไรบ้าง จะได้จัดหามาถวาย

วันหนึ่งสุปปิยาพบภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ สอบถามทราบว่าพระคุณเจ้าป่วยด้วยโรคนี้เป็นประจำ และหายด้วยการฉันอาหารปรุงด้วยเนื้อ นางจึงกราบเรียนท่านว่า นางจะจัดหามาถวาย

เมื่อกลับมาถึงบ้าน นางจึงสั่งสาวใช้ให้ไปซื้อ “ปวัตตมังสะ” จากตลาด เพื่อมาปรุงอาหารไปถวายภิกษุไข้รูปดังกล่าว

คำว่า”ปวัตตมังสะ” แปลตามตัวอักษรว่า “เนื้อที่เป็นไปในตลาด” แปลแล้วก็ไม่ได้ความ ความหมายก็คือ “เนื้อที่เขาขายตามตลาด” การที่นำเนื้อที่ขายตามตลาดมาปรุงอาหารถวายพระ ไม่ถือว่าเป็นความผิด พระภิกษุฉันก็ไม่อาบัติ เพราะเป็นเนื้อที่บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วน คือ ไม่เห็นว่าเขาฆ่าเจาะจงตน ไม่ได้ยินได้ฟังว่าเขาฆ่าเจาะจงตน และไม่สงสัยว่าเขาจะฆ่าเจาะจงตน

สาวใช้ไปหาซื้อเนื้อตามตลาดไม่ได้ จึงกลับมารายงานนายหญิง นายหญิงรู้สึกร้อนใจที่หาเนื้อมาปรุงอาหารถวายภิกษุไข้ไม่ได้ตามที่สัญญาไว้ จึงคว้ามีดคมเดินเข้าไปในครัว เฉือนเอาเนื้อที่ขาของตนเอง สั่งให้สาวใช้ปรุงอาหารแล้วนำไปถวายภิกษุไข้รูปนั้น

พร้อมสั่งให้กราบเรียนท่านว่า นางไม่สบาย จึงสั่งให้สาวใช้นำอาหารมาถวายแทน

ภิกษุไข้รูปนั้นได้ฉันอาหารปรุงด้วยเนื้อขาของนางสุปปิยา อาการไข้ก็หายไป แต่ตัวนางสุปปิยาเองยังนอนซมด้วยพิษไข้ เมื่อสามีกลับมาบ้าน ได้ทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว แทนที่จะตำหนิภรรยา กลับปีติปราโมทย์ชื่นชมในความใจบุญใจกุศลของภรรยา

สามีนางไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พร้อมอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านตนพร้อมภิกษุสงฆ์ พระพุทธองค์ทรงรับด้วยดุษณีภาพ (อาการนิ่ง)

รุ่งเช้าขึ้น พระองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของนาง เมื่อพระพุทธองค์ไม่ทรงเห็นนางสุปปิยามาเข้าเฝ้า ทั้งที่ทรงทราบล่วงหน้าแล้ว แต่ก็ยังตรัสถามหานาง นางสุปปิยาเกิดปีติยินดีที่พระพุทธองค์ทรงห่วงใย จึงลุกขึ้นเพื่อเข้าไปกราบแทบเบื้องพระยุคลบาท

ด้วยพุทธานุภาพ แผลที่ขาหายสนิท เมื่อเอาผ้าพันแผลออก ปรากฏว่าเนื้อนูนขึ้นเต็มบริเวณที่เฉือนออก แถมยังมีขนอ่อนๆ ขึ้นเต็ม ยังกับไม่เคยบาดเจ็บแต่อย่างใด
“สุปปิยา จริงหรือที่ว่า เธอเฉือนเนื้อขาตัวเองปรุงอาหารถวายพระภิกษุไข้” พระพุทธองค์ตรัสถาม
“จริง พระเจ้าค่ะ” นางกราบทูลอย่างนอบน้อม

พระพุทธองค์ทรงชมเชยในความมีจิตศรัทธาอันแรงกล้าของนาง แต่เมื่อทรงประทานอนุโมทนาเสด็จกลับยังพระอารามแล้ว รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสเรียกภิกษุไข้รูปนั้นมาสอบสวน
“ภิกษุ ได้ยินว่าเธอฉันเนื้อที่นางสุปปิยาถวายหรือ”
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” ภิกษุหนุ่มกราบทูล
“เธอทราบไหมว่านั่นเป็นเนื้อมนุษย์”
“ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

ท่านคงทราบภายหลังเองว่า “แกงเนื้อ” ที่อร่อยนักหนานั้นปรุงด้วยเนื้อมนุษย์ พระพุทธองค์ตรัสตำหนิภิกษุหนุ่ม แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์อันเป็นหนึ่งในจำนวนเนื้อ ๑๐ อย่างที่ห้ามพระฉัน

เนื้อ ๑๐ อย่างนั้น คือ
๑. เนื้อช้าง
๒. เนื้อม้า
๓. เนื้อเสือโคร่ง
๔. เนื้อเสือดาว
๕. เนื้องู
๖. เนื้อราชสีห์
๗. เนื้อหมี
๘. เนื้อสุนัขบ้าน
๙. เนื้อสุนัขป่า
๑๐. เนื้อมนุษย์

๑. พระสงฆ์สมัยโน้นฉันเนื้อปลา  ฉันปลาแน่นอน เพราะชีวิตพระภิกษุอาศัยชาวบ้านเป็นอยู่ พูดง่ายๆ ว่า “ขอเขากิน” เมื่อขอเขากิน ก็ต้องทำตัวให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่มีเงื่อนไขอะไรมาก ชาวบ้านเขากินอาหารอะไร เขาก็เอาอาหารชนิดนั้นมาถวายพระ พระไม่มีสิทธิบอกว่าอาหารนี้อาตมาไม่ฉันนะโยม อาตมาฉันแต่อย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่พ้นความเป็นคนเลี้ยงยาก นี้ประการหนึ่ง
๒. อีกประการหนึ่ง ถึงจะทรงอนุญาตให้ฉันเนื้อ ฉันปลา (ตามที่ชาวบ้านเขาถวาย) พระพุทธองค์ก็มิได้ฉันทุกอย่าง เนื้อนี้ไม่สมควร (อกัปปิยมังสะ) พระองค์ก็ทรงห้ามฉัน ดังทรงห้ามฉันเนื้อ ๑๐ ประการ ดังกล่าวข้างต้น

เฉพาะเนื้อมนุษย์นั้น ถ้าภิกษุฉันเข้าไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย อันเป็นอาบัติหนักรองลงมาจากปาราชิก และสังฆาทิเสส ถ้าฉันเนื้อต้องห้าม ๙ ประการที่เหลือต้องอาบัติทุกกฎ

เพราะฉะนั้น ในพระวินัย พระองค์จึงทรงวางสิกขาบทไว้ว่า “ห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ ภิกษุรูปใดฉันต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุรูปใดจะฉันเนื้อควรพิจารณาก่อนแล้วค่อยฉัน ขืนฉันทั้งที่ไม่ได้พิจารณา ต้องอาบัติทุกกฎ” แม้เนื้อที่ทรงอนุญาตให้ฉัน ใช่ว่าจะไม่มีความผิด ต้องเป็นเนื้อที่บริสุทธิ์ ๓ ส่วน จึงจะฉันได้ คือไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงตนเท่านั้น จึงจะฉันได้

นางสุปปิยาเป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้าในพระรัตนตรัย เป็นผู้ดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์เป็นอย่างดี มีฉันทะพิเศษในการพยาบาลภิกษุไข้ รู้ว่าภิกษุไข้ต้องการอะไร จัดหามาถวายได้เสมอ ดุจดังนางพยาบาลที่ดี ฉะนั้น

พระพุทธองค์จึงทรงประกาศยกย่องนางสุปปิยา ใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางพยาบาลภิกษุไข้ด้วยประการฉะนี้แล.


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางสุปปยา : อุบาสิกาผู้เลิศในทางพยาบาลไข้ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๒๑-๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 ธันวาคม 2557 12:03:28
.

(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTZyMGJPtrPR5IssUR9iprxNRwEN3vQhEkVGpNiqvdVVT-fjJHHjA)
๘๕. ธิดาช่างหูกนิรนาม  
ผู้มีปัญญาเฉียบแหลม

วันนี้ขอพูดถึงธิดาช่างหูกนิรนามผู้เฉียบแปลม เธอมีอายุสั้น แต่ก็ไม่เสียชาติเกิด เพราะได้บรรลุธรรมก่อนตายด้วยพระมหากรุณาขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า

เรื่องมีว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรดชาวเมืองอาฬวี พระองค์ทรงสอนให้ชาวเมืองเจริญมรณัสสติ คือให้ระลึกนึกถึงความตายเสมอว่า ชีวิตนี้สั้นนัก จะตายเมื่อไรไม่มีใครรู้ ความตายเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ คือทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย

ตรัสสอนต่อไปว่า ผู้ที่เจริญมรณัสสติเนืองๆ พอถึงคราวจะตายจริงๆ ย่อมไม่สะดุ้ง หวาดกลัว ดังเช่นคนขี้ขลาดเห็นอสรพิษแล้วร้องลั่น ฉะนั้น

พระธรรมเทศนานั้น จับใจเด็กหญิงธิดาช่างหูกมาก นางจึงเจริญมรณัสสติทุกวันติดต่อกันเป็นเวลาสามปี ณ ปัจจุสมัย (เวลาใกล้รุ่ง)

วันหนึ่ง พระพุทธองค์ตรวจดูสัตว์โลกที่จะพึงไปโปรดด้วยพุทธจักษุ ทอดพระเนตรเห็นธิดาช่างหูกปรากฏหลังจากนั้นก็จะสิ้นชีวิต เพื่อมิให้นางได้ตายไปในร่างปุถุชนผู้มีคติไม่แน่นอน

พระพุทธองค์จึงเสด็จไปยังเมืองอาฬวีอีกครั้งเพื่อโปรดนาง

ชาวเมืองเมื่อทราบข่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จมาโปรดอีกครั้งก็ดีใจ เตรียมภัตตาหารถวายพระสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน และเตรียมสถานที่สำหรับสดับพระธรรมเทศนา

ธิดาช่างหูกเธอแสนจะดีใจที่ทราบว่า “พระบิดา” ของเธอได้เสด็จกลับมาโปรดชาวเมืองอีก ตั้งใจว่าจะไปร่วมถวายทานและฟังธรรมด้วย

วันนั้น บิดาของเธอสั่งให้เธอกรอด้ายหลอดไว้ให้เพียงพอ แล้วให้นำไปส่งที่โรงทอผ้า เพราะจะเร่งงานให้เสร็จภายในวันนั้น

ธิดาช่างหูกเธอคิดว่า ถ้าจะรีบไปฟังธรรมโดยไม่ทำงานให้บิดาก่อน บิดาก็จะโกรธและทุบตีเอา นางจึงตัดสินใจทำงานให้บิดาก่อน ถ้าทำเสร็จเร็วก็มีโอกาสฟังธรรมบ้าง ไม้จะไม่ได้ฟังตั้งแต่ต้นก็ตาม

นางจึงกรอด้ายด้วยหลอดจนเพียงพอ เอาใส่ตะกร้า รีบเดินไปยังโรงทอผ้า บังเอิญว่าโรงทอผ้าอยู่เลยสถานที่ที่พระองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาด้วย นางจึงแวะไปนมัสการพระพุทธเจ้าก่อนไปส่งงานพ่อ เห็นพระพุทธองค์ประทับนั่งท่ามกลางประชาชนจำนวนมาก

พระองค์ทรงชะเง้อพระศอทอดพระเนตรดูนางอยู่พอดี นางจึงขนลุกด้วยความปีติปราโมทย์สุดพรรณนา ดีใจว่าพระพุทธองค์ยังทรงรอการมาของเราอยู่ จึงวางตะกร้าด้ายหลอดเข้าไปถวายบังคม

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “กุมาริกา เธอมาจากไหน”
“ไม่ทราบ พระเจ้าค่ะ” นางตอบดังหนึ่งเล่นลิ้น
“เธอจะไปไหน” ตรัสถามอีก
“ไม่ทราบ พระเจ้าค่ะ”
“เธอไม่ทราบหรือ”
“ทราบ พระเจ้าค่ะ”
“เธอทราบหรือ”
“ไม่ทราบ พระเจ้าค่ะ”

ประชาชนที่นั่งฟังอยู่ต่างก็มีความรู้สึกว่า สาวน้อยคนนี้กำลังเล่นลิ้นกับพระพุทธเจ้า พระศาสดาแห่งโลก ทนไม่ได้ ถึงกับพึมพำออกมาว่า อะไรกันธิดาช่างหูกคนนี้ ช่างไม่รู้ที่ต่ำที่สูง พูดจากเล่นลิ้นกับพระพุทธองค์อยู่ได้

บางคนก็ว่าหนักว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอนอบรมบ้างหรือไร”

พระพุทธเจ้าทรงปรามให้ประชาชนเงียบเสียง แล้วตรัสถามเด็กหญิงต่อไปว่า “กุมาริกา” เมื่อเราถามว่ามาจากไหน ทำไมเธอถึงตอบว่าไม่ทราบ”
นางกราบทูลว่า “พระพุทธองค์ทรงทราบอยู่แล้วว่า หม่อมฉันมาจากบ้าน ที่พระองค์ทรงถามนี้ คงมิได้หมายความธรรมดา คงหมายความว่าหม่อมฉันมาจากไหน จึงมาเกิดในชาตินี้ เรื่องนี้หม่อมฉันไม่ทราบ จึงกราบทูลไปตามนั้น”
“ถ้าเช่นนั้น เมื่อเราถามว่าจะไปไหน ทำไมเธอตอบว่าไม่ทราบ”
“พระองค์ทรงทราบอยู่แล้วว่า หม่อมฉันจะไปโรงทอผ้า พระองค์คงไม่ทรงถามเรื่องนี้ พระองค์คงทรงถามว่า หม่อมฉันตายจากชาตินี้แล้วจะไปเกิดที่ไหน เรื่องนี้หม่อมฉันไม่ทราบ จึงกราบทูลไปตามนั้น”
“เมื่อเราถามว่า ไม่ทราบหรือ เธอตอบว่าทราบ ครั้นเราถามว่า ทราบหรือ เธอกลับตอบว่าไม่ทราบ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นล่ะ”
“เรื่องนี้ก็เช่นกัน เมื่อทรงถามว่า ไม่ทราบหรือ คงหมายความว่าไม่ทราบหรือว่าจะตาย หม่อมฉันจึงกราบทูลว่าทราบ (ทราบว่าจะตายแน่นอน) เมื่อพระองค์ตรัสถามอีกว่าทราบหรือ คงทรงหมายถึงว่า ทราบหรือว่าจะตายวันไหน เมื่อใด เรื่องนี้หม่อมฉันไม่ทราบ จึงกราบทูลไปว่า ไม่ทราบ”

คราวนี้ประชาชนไม่ส่งเสียงเหมือนก่อน กลับนั่งนิ่งด้วยความอัศจรรย์ใจในปฏิภาณของหญิงสาว

พระพุทธองค์ทรงประทานสาธุการว่า “สาธุ กุมาริกา เธอตอบปัญหาที่เราตถาคตถามได้อย่างแจ่มแจ้ง

จากนั้น พระพุทธองค์ทรงหันไปตรัสกับประชาชนว่า พวกเธอไม่ทราบนัยแห่งคำสนทนาระหว่างเรากับกุมาริกา จึงบ่นพึมพำตำหนิกุมาริกาไม่เคารพเราตถาคต ใครที่ไม่ปัญญาจักษุ (ตาคือปัญญา) ก็เป็นคนตาบอด ส่วนคนที่มีปัญญาจักษุจึงจะเรียกว่าคนมีตาแท้จริง แล้วพระองค์ก็ตรัสคาถา (โศลก) บทหนึ่งสั้นๆ ว่า
“โลกนี้มืดมน น้อยคนนักจักเห็นแจ้ง น้อยคนจะไปสวรรค์ดุจนกติดบ่วงนายพราน น้อยตัวจะหลุดรอดไปได้”

ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา กุมาริกาได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลระดับต้น เป็นผู้แน่วแน่ต่อมรรคผลขั้นสูง

นางถวายบังคมพระพุทธเจ้า แล้วรีบนำตะกร้าด้ายหลอดไปให้บิดาที่โรงทอผ้า

ฝ่ายผู้บิดานั่งรอลูกสาวเป็นเวลานาน ไม่เห็นมาสักทีจึงนั่งหลับอยู่ที่หูกทอผ้านั่นเอง มือหนึ่งจับฟืมค้างอยู่ ลูกสาวไม่ทันสังเกต ยื่นตะกร้าด้ายหลอดไปให้บิดา พร้อมกล่าวว่า พ่อนี้ตะกร้าด้ายหลอด หนูนำมาให้แล้ว

บิดาสะดุ้งตื่นพลันกระชากมือที่จับฟืมค้างอยู่เข้ามาหาตัวด้วยสัญชาตญาณ ปลายฟืมกระแทกเข้าหน้าอกลูกสาวล้มลงตายทันที ณ ที่นั้นแล สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้แก่บิดาอย่างยิ่ง เขาร้องไห้คร่ำครวญวิ่งไปหาพระพุทธเจ้า กราบทูลรายงานให้ทรงทราบว่า เกิดอะไรขึ้นแก่ธิดาของตน

พระพุทธเจ้าตรัสปลอบโยนให้เขาเข้าใจถึงความจริงของสรรพสิ่งว่าเป็นอนิจจัง ไม่คงที่ มีเกิด มีดับสลาย อย่าได้เศร้าโศกเสียใจไปเลย เขาบรรเทาความโศกได้ กราบทูลขอบวชเป็นสาวกพระพุทธองค์ในที่สุด

ธิดาช่างหูกนั้น “ถึงคราว” ของเธอแล้ว จะต้องตายแน่ในวันนั้น ไม่ตายที่โรงทอผ้า ก็ที่อื่น ด้วยเหตุอื่น เพราะเหตุนี้แหละ พระพุทธองค์จึงเสด็จมาโปรดเธอให้ได้บรรลุธรรมก่อนตาย นับว่าเธอมิได้ตายเปล่าเลย

ชีวิตของเธอนั้นเป็นตัวอย่างของเด็กหนุ่มสาวทั้งหลายให้หันมาสนใจศึกษาปฏิบัติธรรมให้ได้ลิ้มรสพระธรรมแต่อายุยังน้อยเพราะไม่มีใครทราบว่า จะตายเมื่อใด ไม่ควรประมาทว่า เรายังอายุน้อยอยู่ แก่มาค่อยเข้าวัดฟังธรรม

ทางที่ดีควรรีบทำความดีเสียให้พร้อมตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาว ดุจธิดาช่างหูกคนนี้ จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา


ข้อมูล : บทความพิเศษ ธิดาช่างหูกนิรนาม : ผู้มีปัญญาเฉียบแหลม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๒๘ พ.ย. - ๔ ธ.ค. ๕๗


(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRuL65Vy6MHjUy9LkrCuMQ_dHZAxeBE89EJssQK74521wFp3sFf)
๘๖. ปุณณทาสี
นางทาสีผู้ยากไร้

วันนี้ขอพูดถึงนางทาสีผู้ยากไร้ แต่ได้เข้าถึงธรรมในที่สุด นางมีชื่อเรียกขานกันว่า ปุณณา เป็นทาสของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ มีหน้าที่ตำข้าวให้ครอบครัวเศรษฐี ตำกระดกขึ้นกระดกลง โดยสากที่ติดอยู่กับคัน จะทำให้ข้าวเปลือกในครกล่อนออกมาเป็นข้าวสาร

อธิบายอย่างนี้มองเห็นภาพหรือเปล่าไม่ทราบ ถ้ายังไม่รู้ ก็ลองสอบถามผู้รู้เอาแล้วกัน ผมจนปัญญาให้คำจำกัดความ

วันหนึ่ง เศรษฐีสั่งให้นางปุณณา ตำข้าวเปลือกเป็นจำนวนมาก เรียกว่าใช้แรงงานจนเกินคุ้ม ว่าอย่างนั้นเถอะ

นางปุณณาก็ตำข้าวเหงื่อไหลไคลย้อยตลอดทั้งวัน ยังเสร็จไม่ถึงครึ่ง จึงตำต่ออีก มืดค่ำก็ตามประทีป (คือจุดตะเกียง) ตำต่อตลอดทั้งคืน โดยออกไปยืนตากลมเพื่อพักเอาแรงเป็นระยะๆ

ไม่ไกลจากที่นางตำข้าวเท่าใดนัก มีภูเขาลูกหนึ่ง พระสงฆ์จำนวนมากพักอาศัยอยู่ ณ ภูเขาลูกนั้น

ตอนกลางคืน พระทัพพมัลลบุตร ซึ่งเป็นพระที่มีความชำนาญในการจัดแจงเสนาสนะสำหรับพระทั้งหลาย ท่านเดินไปเดินมาเพื่อจัดแจงอาสนะให้พระภิกษุทั้งหลาย โดยตัวท่านจุดประทีป เดินนำพาภิกษุแต่ละรูป แต่ละกลุ่มไปพำนักยังเสนาสนะที่ได้ตระเตรียมไว้

นางปุณณามองไปเห็นแสงไฟวูบวาบๆ บนภูเขานั้น รำพึงว่า ค่ำคืนดึกดื่นป่านฉะนี้พระคุณเจ้าทั้งหลายยังไม่นอน เราเองก็ยังไม่ได้นอนที่เราเองยังนอนไม่ได้เพราะเรามีความทุกข์บีบคั้น มีภาระหน้าที่จะต้องทำ แต่พระคุณเจ้าไม่นอนเพราะมีความทุกข์อะไรหนอ  หรือว่าพระคุณเจ้ารูปใดรูปหนึ่งอาพาธ หรือถูกงูเห่างบกัด

รุ่งเช้าขึ้นมา นางเอารำมาคลุกน้ำ แล้วปั้นเป็นก้อนๆ ทำเป็นขนมจี่ไฟ แล้วก็เหน็บไว้ที่ชายพก เดินไปท่าน้ำ หวังว่าจะเอาไปกินระหว่างทาง

สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปยังหมู่บ้านตามทางที่นางออกมากำลังจะไปที่ท่าน้ำพอดี

นางพบพระพุทธองค์แล้วก็คิดว่า ในวันอื่นเราพบพระศาสดาอยากจะถวายท่าน ก็ไม่มีไทยธรรม (ของจะถวายทาน) บางวันมีไทยธรรมแต่ก็ไม่พบพระพุทธองค์ แต่วันนี้เราพบพระพุทธองค์ และไทยธรรมก็มีด้วย ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงรังเกียจว่า อาหารของเราเศร้าหมอง (คือเป็นของเลว) ทรงรับไว้ เราก็จะพึงถวายแด่พระพุทธองค์

นางวางหม้อน้ำลง ยกมือนมัสการกราบทูลว่า
“ถ้าพระองค์มิทรงรังเกียจว่า อาหารนี้เศร้าหมอง ขอพระองค์ทรงรับ เพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉันด้วยเถิด”

พระพุทธองค์ทรงชำเลืองมองมาทางพระอานนท์พุทธอนุชา พระอานนท์นำบาตรไปถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงรับ “รำจี่” จากนางปุณณา

นางปุณณาถวายขนมใส่ลงไปในบาตร ก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์ แล้วกราบทูลว่า “ด้วยอานิสงส์ของการถวายรำจี่นี้ ขอให้หม่อมฉันได้มีส่วนแห่งการบรรลุธรรมในปัจจุบันทันตาเห็นเถิด”

พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนาว่า “เอวัง โหตุ – จงสัมฤทธิผลดังปรารถนาเถิด” แล้วเสด็จพุทธดำเนินเข้าไปยังหมู่บ้าน มีพระอานนท์พุทธอนุชาตามเสด็จ

ฝ่ายนางปุณณาไม่แน่ใจว่า พระพุทธองค์จะเสวยขนมของตนหรือไม่ นางคิดว่า ขนมของคนยากไร้หารสชาติมิได้ พระองค์ไม่เสวยดอก ที่พระองค์ทรงรับไว้คงเพื่อถนอมน้ำใจ ไม่ต้องการให้เราเสียใจมากกว่า พระองค์คงจะทรงโยนให้สุนัขหรือกาในระหว่างทางก็เป็นได้   นางจึงเดินตามพระพุทธองค์ไปห่างๆ หารู้ไม่ว่าพระพุทธองค์ทรงทราบความในใจของนาง เสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง ก็ทรงชำเลืองดูพระอานนท์พุทธอนุชา

พระอานนท์ทราบด้วยพระกิริยาจึงลาดจีวรเป็นอาสนะให้พระพุทธองค์ประทับ พระพุทธองค์เสวยขนมรำจี่ของนางปุณณาที่นอกเมือง ตรงนี้ท่านผู้แต่งคัมภีร์ก็ “ใส่ไข่” ว่า เทวดาในหมื่นจักรวาล ได้นำเอาโอชารสอันหวานอร่อยมาโรยใส่ในขนม ทำให้ขนมนั้นแสนจะอร่อย ว่าอย่างนั้น ทำอย่างกับว่าถ้าไม่อร่อย พระพุทธองค์จะไม่เสวย

ความจริง “พระ” ย่อมฉันอาหารอย่างพระอยู่แล้ว ไม่ติดในรสอาหาร ฉันสักแต่ว่ามันเป็นอาหาร ไม่จำเป็นต้องใส่ผงชูรส ใส่ซอสเพิ่มรสชาติก็ได้

สำหรับพระพุทธองค์ด้วยแล้ว ข้อความนี้ไม่จำเป็นเลย นอกเสียจากจะให้เทวดาได้มีส่วนในการทำบุญทำทานครั้งนี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นางปุณณายืนดูอยู่ห่างๆ เกิดความปีติโสมนัสเป็นล้นพ้น พระพุทธองค์ตรัสให้พระอานนท์เรียกนางปุณณาเข้ามาใกล้ๆ ตรัสถามว่า “ปุณณา ทำไมเธอดูหมิ่นสาวกของเรา”

นางสะดุ้ง กราบทูลว่า “หม่อมฉันมิได้ดูหมิ่นเลย พระเจ้าข้า”
“ถ้าเช่นนั้น เมื่อคืนที่ผ่านมา เธอมองดูสาวกของเราบนเขาแล้วพูดอะไรออกมา”
“หม่อมฉันเห็นพวกท่านไม่นอนกัน จึงพึมพำออกมาว่า ทำไมพระคุณเจ้ายังไม่นอน ท่านมีความทุกข์เหมือนเราหรือเปล่าหนอ หรือว่ามีท่านรูปใดอาพาธ หม่อมฉันพูดเพียงแค่นี้เองพระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ปุณณา เธอไม่ได้นอนเพราะมีความทุกข์บีบคั้น แต่สาวกของเราไม่นอนเพราะมีความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ”

แล้วตรัสคาถา (โศลก) แสดงธรรม ความว่า
“สำหรับผู้ตื่นอยู่เสมอ ตลอดเวลาสำเหนียกศึกษาทุกทิพาราตรี มีใจน้อมไปสู่พระนิพพาน อาสวะย่อมอันตรธานหมดสิ้น”

จบพระธรรมเทศนา นางปุณณาก็บรรลุโสดาปัตติผล


นับว่าทานที่นางถวายแด่พระพุทธองค์ ได้บันดาลผลในปัจจุบันทันตาเห็นทีเดียว

ถึงตรงนี้นึกถึงประเพณีทำบุญ “ข้าวจี่” ข้าวจี่คืออะไรต้องอธิบายเสียหน่อย เพราะเป็นประเพณีท้องถิ่นอีสาน คนภาคอื่นอาจไม่ทราบ

ชาวบ้านเขาจะนำข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ชุบไข่ แล้วนำไป “จี่” หรือปิ้งไฟถ่าน แล้วก็นำมากินกันเอร็ดอร่อย ฤดูหนาวชาวบ้านจะทำข้าวจี่ไปถวายพระ มีการรักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย ถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่งทีเดียว

พระท่านจะเทศน์ “อานิสงส์ของข้าวจี่” ฉลองศรัทธา เล่าต้นเหตุแห่งการเกิดประเพณีบุญข้าวจี่ และอานิสงส์ (ผล) ของการถวายข้าวจี่

เรื่องนางปุณณานี้แหละครับ เป็น “ต้นฉบับ” ประเพณีทำบุญข้าวจี่

ถ้าถามว่า ทานที่นางปุณณาถวายเป็นเพียงรำจี่เท่านั้น ทำไมมีผลมากขนาดนั้น คำตอบคือ การถวายทานจะให้ผลน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ ประการคือ
๑. สิ่งของที่จะให้ทานต้องบริสุทธิ์ คือได้มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ของนี้ไม่จำเป็นจะต้องประณีต หรูหรา ราคาแพง
    ของเลวๆ แทบไม่มีราคาเช่น “รำจี่” ของนางปุณณานี้ก็ได้
๒. เจตนา คือ ความตั้งใจจะต้องบริสุทธิ์ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว จะต้องมีความเลื่อมใส ไม่คิดเสียดายในภายหลัง
๓. ผู้รับทานต้องบริสุทธิ์ คือ เป็นผู้มีศีล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็น “ปฏิคาหก” (ผู้รับ) ที่บริสุทธิ์
    ทานที่ให้จึงมีผลมาก ยิ่งพระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ผู้ถวายทานแก่ท่าน ย่อมได้ผลทันตาเห็นเลยทีเดียว

ทานของนางปุณณานั้น มีองค์ประกอบครบทั้งสามประการ จึงมีอานิสงส์มากด้วยประการฉะนี้.


ข้อมูล : บทความพิเศษ ปุณณทาสี  : นางทาสีผู้ยากไร้ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน - ๔ ธันวาคม ๒๕๕๗


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcT_G5qI1Ih6ZTwqxG_HpSLRXcV3rEA8snLpSPs69GGpZvaotCUJ)
๘๗. นางมัลลิกา
ภริยาพันธุละเสนาบดี

มัลลิกาที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ ท่าน คือ พระนางมัลลิกาผู้เป็นพระมเหสีพระเจ้าปเสนทิโกศล กับ นางมัลลิกา ผู้เป็นภริยาของพันธุละเสนาบดี พระสหายสนิทของพระเจ้าปเสนทิโกศล

เรื่องของพระนางมัลลิกา ได้เคยนำมาเล่าขานสู่กันฟังไปแล้ว  วันนี้มีถึงเรื่องของนางมัลลิกาอีกท่านที่เหลือ

นางมิลลิกาเป็นธิดาของมัลลกษัตริย์องค์หนึ่ง ได้สมรสกับพันธุละซึ่งเป็นโอรสของมัลลกษัตริย์องค์หนึ่งเช่นเดียวกัน ทั้งสองเป็นชาวเมืองกุสินารา

พันธุละเป็นศิษย์สำนักทิศาปาโมกข์รุ่นเดียวกับปเสนทิโกศล แห่งแคว้นโกศล และมหาลิลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี เมื่อจบการศึกษา ต่างก็กลับยังมาตุภูมิ มหาลิแสดงศิลปวิทยาให้เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีชม แต่บังเอิญถูกผู้อิจฉาริษยาแกล้งจนได้รับอุบัติเหตุตาบอดสองข้าง ต่อมาได้เป็นที่ปรึกษาของเหล่าสิจฉวีกุมารทั้งหลาย

ส่วนพันธุละ เมื่อกลับมาตุภูมิแสดงศิลปวิทยาอวดชาวกุสินารา ถูกแกล้งเช่นเดียวกับมหาลิ แต่ไม่ถึงกับได้รับอุบัติเหตุ แต่ผลการแสดงศิลปวิทยาคราวนั้นไม่สำเร็จดังใจหวัง จึงตัดสินใจออกจากเมืองกุสินาราพร้อมภรรยา มาพึ่งใบบุญพระสหายเก่าที่เมืองสาวัตถี

พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงสถาปนาพันธุละในตำแหน่งเสนาบดี พันธุละก็รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าปเสนทิโกศลด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

นางมิลลิกาไม่มีบุตรมาเป็นเวลานาน จนพันธุละจะส่งตัวกลับมาตุภูมิ นางคิดว่าก่อนที่จะกลับไป ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อนดีกว่า จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์

พระองค์ตรัสถามว่าจะไปไหน นางกราบทูลว่า “จะกลับยังมาตุภูมิ เพราะไม่สามารถมีบุตรสืบสกุลได้”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ถ้าเธอจะกลับบ้านเพราะเหตุเพียงแค่นี้ เธอไม่ต้องกลับ”

นางคิดว่า เมื่อพระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้ แสดงว่าเราจะต้องมีบุตรแน่นอน จึงกลับไปบอกสามี พันธุละดีใจ ไม่คิดจะส่งภรรยากลับมาตุภูมิอีกต่อไป

ไม่นานนางก็ตั้งครรภ์ เกิดแพ้ท้อง อยากอาบและดื่มน้ำในสระโบกขรณี อันเป็นสระมงคลและหวงห้ามของกษัตริย์ลิจฉวีเมืองไพศาลี

พันธุละจึงอุ้มนางขึ้นรถม้า ห้อตะบึงเข้าไปยังเมืองไพศาลี ตรงไปยังสระโบกขรณี ถือแส้หวายหวดเหล่าทหารผู้อารักขาสระน้ำแตกกระจาย ตัดข่ายโลหะให้ภรรยาลงไปอาบและดื่มน้ำในสระแล้วก็อุ้มขึ้นรถม้ากลับ พวกลิจฉวีพอทราบว่าผู้บุกรุกเข้าใกล้สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ก็พากันติดตาม

มหาลิได้ยินเสียงรถและฝีเท้าม้าก็รู้ทันทีว่าเป็นพันธุละ สหายของตน จึงห้ามเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีไม่ให้ติดตาม เพราะจะเป็นอันตราย แต่พวกนั้นหาฟังไม่

พันธุละสั่งภรรยาว่า ถ้ารถม้าที่ตามมาปรากฏเป็นแนวเดียวกันเมื่อใดให้บอก เมื่อรถม้าปรากฏเป็นแนวเดียวกันแล้ว มัลลิการ้องบอกสามี

พันธุละจึงน้าวคันธนูปล่อยลูกศรออกไปด้วยความแรง ลูกศรออกจากแล่งด้วยความเร็วทะลุหัวใจของพวกลิจฉวีล้มลง สิ้นชีวิตพร้อมกัน 

ต่อมา นางมัลลิกาให้กำเนิดบุตรชายฝาแฝดสิบหกครั้ง (รวมเป็น ๓๒ คน) บุตรทั้งหมดเจริญเติบโต เรียนศิลปวิทยาสำเร็จ และได้แต่งงานมีครอบครัวทุกคน และต่างก็รับราชการสนองคุณประเทศดุจบิดาของตน

อยู่มาวันหนึ่ง พันธุละเสนาบดีได้ทราบว่า เหล่าตุลาการวินิจฉัยด้วยความไม่ยุติธรรม จึงนั่งว่าคดีเสียเอง โดยให้ความยุติธรรมแก่เจ้าทุกข์ ทำให้ประชาชนแซ่ซ้องสาธุการไปทั่ว ความทราบถึงพระกรรณพระราชา พระองค์จึงทรงมอบหน้าที่วินิจฉัยคดีแก่พันธุละอีกตำแหน่งหนึ่ง

พวกตุลาการที่หลุดจากตำแหน่งก็หาทางเล่นงานพันธุละ เมื่อสบช่องโอกาสจึงกราบทูลยุยงพระราชาว่า พันธุละคิดการใหญ่ถึงขั้นก่อการกบฏ

แรกๆ พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงเชื่อ แต่เมื่อมีผู้เพ็ดทูลบ่อยเข้า จึงทรงคลางแคลงพระทัย หาอุบายกำจัดพันธุละ ให้พันธุละพร้อมบุตรชายทั้งหมด ไปปราบโจรที่ชายแดน แล้วส่งทหารไปดักฆ่ากลางทางทั้งหมด

วันที่สามีและบุตรชายทั้ง ๓๒ คนถูกฆ่า นางมัลลิกากำลังถวายภัตตาหารแก่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งที่คฤหาสน์ของตน มีผู้นำจดหมายด่วนมาแจ้งข่าวร้าย

นางนิ่งอึ้งไปพักใหญ่ แต่ก็สู้อดกลั้นความเศร้าโศกไว้ เพราะกำลังทำบุญเลี้ยงพระอยู่ เหน็บจดหมายไว้ที่ชายพก แล้วสั่งให้ยกอาหารมาถวายพระ

สาวใช้ถือถาดเนยใสเข้ามา ทำถาดตกแตกต่อหน้าพระสารีบุตรเถระ พระเถระเจ้าจึงกล่าวเตือนว่า “ของที่แตกได้ก็แตกแล้ว ไม่ควรคิดอะไรมาก”

นางมัลลิกานำจดหมายออกจากชายพก แล้วกราบเรียนท่านว่า “ดิฉันได้ข่าวว่าสามีและบุตรชายทั้งหมดถูกฆ่าตายแล้ว ยังอุตส่าห์ข่มความโศกไว้ได้ เพียงถาดเนยใสแตกใบเดียว ดิฉันไม่คิดอะไรดอกเจ้าค่ะ”

พระสารีบุตรอัครสาวกเมื่อรู้ข่าว จึงเทศนาปลุกปลอบจิตนางมิลลิกาว่าชีวิตของสัตว์โลกนี้ไม่มีนิมิตหมาย (รู้ไม่ได้ว่าจะตายเมื่อใด ตายด้วยอาการอย่างไร ที่ไหน) ชีวิตนั้นสั้นนัก เป็นอยู่ลำบาก และประกอบด้วยทุกข์ จึงไม่ควรประมาท”

นางมิลลิกาเรียกสะใภ้ทั้ง ๓๒ คนมาแจ้งข่าวและให้โอวาทว่า สามีของพวกนางไม่มีความผิด แต่ได้รับผลกรรมแต่ชาติปางก่อน ไม่ควรเศร้าโศกเกินเหตุ

และที่สำคัญที่สุด ไม่ควรผูกอาฆาตพยาบาทต่อผู้กระทำ ไม่ว่าใครก็ตาม

จารบุรุษ (ผู้สอดแนม) ที่พระราชาส่งมาดูลาดเลาได้นำความไปกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล  ท้าวเธอจึงทรงทราบความจริงว่า พระองค์ได้ผิดต่อพระสหายและบุตรของเขาผู้ไม่มีความผิดเสียแล้ว ทรงเสียพระทัยมาก ทรงจัดพิธีศพพันธุละและบุตรทั้ง ๓๒ คนอย่างสมเกียรติ

ต่อมาก็ได้สถาปนา ทีฆการายนะ หลายคนเดียวของพันธุละในตำแหน่งเสนาบดีสืบแทนเพื่อ “ไถ่บาป” ของพระองค์

ทีฆการายนะไม่เคยลืมสิ่งที่ลุงและน้องๆ ของตนถูกกระทำ เมื่อสบโอกาสจึงยุยงพระราชโอรสของพระราชา (เจ้าชายวิฑูฑภะ) ยึดราชสมบัติ ขณะที่พระราชกำลังจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อกลับเข้าเมืองไม่ได้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงขึ้นม้าหนีไปหมายจะขอกำลังจากพระเจ้าหลาน “อชาตศัตรู” ให้มาช่วย แต่เมื่อเข้าเมืองราชคฤห์ไม่ได้ จึงนอนสิ้นพระชนม์อยู่หน้าประตูเมืองราชคฤห์นั้นเอง

นางมัลลิกาหลังจากเสียสามีและบุตรชาย จึงกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตพาบรรดาสะใภ้หม้ายกลับไปยังกุสินารา เมืองมาตุภูมิ

นางมัลลิกาเป็นตัวอย่างของสตรีที่เข้าถึงธรรม นางเป็นคนเข้าใจโลกและชีวิต รู้จักอดกลั้นในความทุกข์โศก เมื่อชีวิตกระทบกับความไม่แน่นอนอย่างรุนแรง นอกจากนั้น ยังเมตตากรุณาเป็นอย่างยิ่ง

สามีและลูกๆ ถูกฆ่าตายทั้งที่ไม่มีความผิดและรู้ว่าต้นเหตุมาจากใครก็ไม่ผูกพยาบาท ยังสอนสะใภ้ทั้งหลายไม่ให้พยาบาทอีกด้วย

นับว่าเป็นสตรีชาวพุทธตัวอย่างที่ดีคนหนึ่ง...


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางมัลลิกา : ภริยาพันธุละเสนาบดี โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๗๙๑ ประจำวันที่ ๑๒-๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๗


(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTYYdUSISDS-X8btjIFusK1RcuKRWv1u4h0tDfO8zZsUQnNGFQp)
๘๘. มันตานีพราหมณี 
มารดาขององคุลิมาล

วันนี้ขอพูดถึงสตรีผู้ซึ่งเป็นมารดาของคนดังในคัมภีร์พระพุทธศาสนา คือมารดาขององคุลิมาล

มารดาขององคุลิมาล ดูเหมือนว่าจะชื่อ มันตานีพราหมณี เกิดในวรรณะพราหมณ์ เป็นภรรยาของปุโรหิตในราชสำนักพระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล นางตั้งครรภ์แก่จวนคลอด ผู้เป็นสามีก็เข้าเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล ตามปกติที่เคยปฏิบัติมา

บังเอิญวันที่นางจะคลอดลูกนั้น เกิดวิปริตอาเพศ ห้วงเวหามืดครึ้ม ฟ้าแลบแปลบปลาบ ดังหนึ่งฝนจะตกหนัก แต่ก็ไม่ตก อาวุธ เช่น หอก ดาบ แหลน หลาว ในพระคลังแสง เกิดแสงโชติช่วงโชตนาการดังต้องไฟ สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วพระราชวัง

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามปุโรหิตว่า จะเป็นลางร้ายอะไรหรือไม่

ปุโรหิตแหงนดูท้องฟ้า เห็นดาวโจรลอยเด่นอยู่กลางอากาศ จึงกราบทูลว่า เด็กที่เกิดในขณะนี้คนหนึ่ง จะกลายเป็นมหาโจรลือชื่อ เป็นที่หวาดกลัวของประชาชนทั่วไป

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า โจรที่ว่านี้เป็นโจรธรรมดา หรือว่าเป็นโจรปล้นราชสมบัติ  ปุโรหิตกราบทูลว่า เป็นโจรธรรมดา เมื่อทรงทราบว่าเป็นโจรธรรมดา ก็มิได้ทรงใส่พระทัยแต่อย่างใด

ปุโรหิตฉุกใจคิดอะไรบางอย่างขึ้นมา จึงรีบกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวกลับมายังคฤหาสน์ของตน พอก้าวขึ้นเรือนก็ได้รับรายงานทันทีว่า นางพราหมณี ภรรยาได้ให้กำเนิดบุตรชายพอดี คือ ตรงกับฤกษ์ดาวโจรที่ว่านี้พอดิบพอดีเลยทีเดียว

พราหมณ์ปุโรหิตรีบกลับไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า เด็กที่ว่านั้นคือบุตรชายของตนเอง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต “กำจัด” เสียตั้งแต่ยังเด็ก ก่อนที่จะเติบโตกลายเป็นขุนโจรชื่อดัง

ในหลวงรับสั่งว่า เมื่อเขาเป็นโจรธรรมดา ไม่เป็นภัยต่อราชสมบัติ ก็ปล่อยไปเถอะ เพราะเหตุนี้แล เด็กน้อยจึงรอดมาได้จนเติบโต

ปุโรหิตผู้เป็นพ่อเชี่ยวชาญในโหราศาสตร์ จึงพยายามหาวิธีแก้ดวง เพื่อมิให้บุตรชายเป็นไปตามคำพยากรณ์ โดยตั้งชื่อแก้เคล็ดว่า อหิงสกะ แปลว่า “ผู้ไม่เบียดเบียน” หวังว่าชื่อที่มีความหมายในทางดี จะช่วยให้วิถีชีวิตลูกดำเนินไปในทางถูกต้องได้ ซึ่งก็ทำท่าจะเป็นดังหวัง

อหิงสกะเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย มีความประพฤติเรียบร้อย ใฝ่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง พ่อจึงส่งไปเรียนในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลา ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกว่า ส่งไปเรียนมหาวิทยาลัยดังในต่างประเทศ ว่าอย่างนั้นเถอะ

อหิงสกะก็เรียนเก่ง มีความประพฤติเรียบร้อย เป็นคนโปรดของอาจารย์ จนกระทั่งบรรดาศิษย์ที่เรียนไม่เอาไหน ถูกอาจารย์ตำหนิอยู่เสมอ เกิดความอิจฉาริษยา พากันยุยงให้อาจารย์เกลียดชังศิษย์รักจนสำเร็จ

อย่างว่าแหละครับ “น้ำหยดลงหินทุกวัน หินมันยังกร่อน” ดังเพลงเขาว่า หัวใจอ่อนๆ ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ผู้ถูกเป่าหูแทบทุกเช้าเย็น จะไปเหลืออะไร

ในที่สุดอาจารย์ก็เชื่อว่า อหิงสกะคิดคดทรยศตน จึงหาทางกำจัด โดยอ้างว่าจะถ่ายทอดวิชาลี้ลับให้ ให้ศิษย์ไปเอานิ้วคนมา ๑,๐๐๐ นิ้ว จะประกอบพิธีประสิทธิ์ประสาทเคล็ดวิชาให้

เด็กหนุ่มซึ่งก็อยากจะได้เคล็ดวิชา กอปรกับที่อาจารย์ใช้วาทศิลป์เกลี้ยกล่อม จึงรับปากออกไปฆ่าคนตัดเอานิ้ว

ใหม่ๆ ก็คงยากมาก แต่พอฆ่าได้คนสองคนจิตใจก็ “คุ้น” กับการกระทำ จนกลายเป็นความเคยชิน

ในที่สุดก็ฆ่าแล้วตัดเอานิ้ว นัยว่าเอาแต่นิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วโป้ง ได้หลายนิ้วก็เอามาเสียบเป็นพวงห้อยคอเพื่อกันหาย

ฆ่าได้กี่คนๆ ก็ยังไม่ได้ครบ ๑,๐๐๐ นิ้วเสียที เพราะที่ได้ไว้บ้างแล้วบางนิ้วก็เน่าหลุดไป

ถึงตอนนี้ชื่อเสีย (ไม่มี ง งู) ของอหิงสกะก็ขจรขจายไปทั่ว ผู้คนได้ยินว่ามีโจรองคุลิมาล (โจรห้อยพวงนิ้วมือ) เกิดขึ้น ก็พากันหวาดผวา ไม่กล้าเดินทางผ่านดงอันเป็นที่อยู่อาศัยของมหาโจร  ทำให้ขุนโจรชื่อดังหากินลำบากยิ่งขึ้น นิ้วที่ได้ไว้ก็เน่าหลุดไปทีละนิ้วสองนิ้ว

หนทางจะได้ประสิทธิ์ประสาทเคล็ดวิชา ก็ยิ่งดูห่างไกลยิ่งขึ้น

กล่าวถึงนางพราหมณีผู้เป็นแม่ของอหิงสกะ ก็เฝ้าทะนุถนอมเลี้ยงดูลูกด้วยความรัก แม้ว่าตอนแรกพ่อจะบอกว่า ลูกคนนี้เติบโตมาจะเป็นโจร นางก็มิได้คลายความรักที่มีต่อลูกลงแม้แต่น้อย ตรงข้ามกลับเฝ้าทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูลูกอย่างดี

เมื่อลูกถูกส่งไปศึกษายังมหาวิทยาลัยตักศิลา ก็คอยสดับฟังข่าวคราวลูกเสมอ แม้ในช่วงหลังจะได้ยินข่าวร้ายว่าลูกกลายเป็นโจรชื่อดัง ก็ยิ่งสงสารลูก ไม่เป็นอันกินอันนอน เฝ้าครุ่นคิดถึงแต่ลูกชาย

ยิ่งในช่วงหลังๆ ได้ข่าวว่า พระเจ้าอยู่หัวถึงกับจะยกกองทัพน้อยๆ ไปปราบลูกชาย นางก็ยิ่งกังวลหนัก เพราะความรักลูก กลัวลูกจะถูกฆ่าตาย

นางจึงตัดสินใจรีบเดินทางมุ่งตรงไปยังดงที่ลูกชายอาศัยอยู่ เพื่อแจ้งข่าวให้ลูกทราบ จะได้ระวังตัว เพราะความรักลูกโดยแท้ นางมิได้คิดถึงตัวเองเลย

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณแล้วว่า เมื่อถึงเวลานี้ องคุลิมาลมีจิตฟั่นเฟือนแล้ว จำใครไม่ได้ เห็นมารดาก็จะฆ่าเอานิ้วมือถ่ายเดียว พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณา ไม่ประสงค์จะให้องคุลิมาลถลำทำบาปกรรมถึงขั้น “มาตุฆาต” (ฆ่ามารดา) อันเป็นกรรมหนัก

จึงรีบเสด็จไปดักหน้า ก่อนที่สองคนแม่ลูกจะพบกัน ทรงแสดงธรรมโปรดองคุลิมาลให้กลับใจมาบวชในพระพุทธศาสนา


ข้อมูล : บทความพิเศษ มันตานีพราหมณี : มารดาขององคุลิมาล โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๗๙๒ ประจำวันที่ ๑๙-๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 มกราคม 2558 18:42:50
.

(http://www.sookjaipic.com/images/6235254493_17.gif)
๘๙. พระนางเวเทหิ
มารดาของพระเจ้าอชาตศัตรู

ตอนที่แล้ว เล่าถึงมารดาขององคุลิมาล วันนี้ขอพูดถึงมารดาของคนดังอีกคนหนึ่งในคัมภีร์พระพุทธศาสนา นั่นคือ มารดาของพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งเป็นคนที่น่าสงสารมาก นางชื่อ เวเทหิ (อาจมีชื่ออื่นด้วย)

พระนางเวเทหิเป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิโกศล อภิเษกสมรสกับพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์เมืองราชคฤห์ นางมีโอรสนามว่า อชาตศัตรู นาม “อชาตศัตรู” ก็เป็นนามที่ตั้งแก้เคล็ดเช่นเดียวกับองคุลิมาล

คือตอนจวนประสูติ พระนางเวเทหิเกิดแพ้พระครรภ์ คือแพ้ท้อง อยากเสวยเลือดพระราชสวามี ด้วยความรักลูก พระเจ้าพิมพิสารจึงกรีดพระโลหิตจากพระพาหา (ต้นแขน) ของพระองค์ให้พระมเหสีเสวย อาการแพ้ท้องก็สงบระงับ

โหราจารย์ได้ทำนายว่า พระโอรสองค์นี้เติบโตมาจะทำปิตุฆาต (ฆ่าบิดา) แต่ด้วยความรักลูก พระเจ้าพิมพิสารก็ไม่ได้สะทกสะท้านต่อคำพยากรณ์ ยังคงเลี้ยงดูพระโอรสอย่างดี

ทรงเชื่อในอานุภาพแห่งการฝึกอบรม ว่าเด็กที่ได้รับการฝึกอบรมดี ย่อมจะไม่ทำผิดแน่นอน ทรงเชื่ออย่างนั้น

ที่ทรงขนานพระนามว่า “อชาตศัตรู” (ผู้เกิดมาไม่เป็นศัตรู) ก็ด้วยความเชื่อเช่นนี้

และแล้วการณ์ก็ไม่เป็นไปตามที่พระราชบิดาทรงคาดหวัง มีมารมาทำให้วิถีชีวิตของเจ้าชายน้อยหักเหจนได้

ในช่วงเวลาดังกล่าว พระเทวทัตอยากเป็นใหญ่ อยากจะปกครองพระสงฆ์ จึงดำเนินแผนการ “ยึดอำนาจปกครองสงฆ์” เงียบๆ เห็นว่าเจ้าชายอชาตศัตรูจะเป็นมือเป็นไม้ได้อย่างดีในเรื่องนี้ จึงใช้อิทธิฤทธิ์ที่ได้จากการฝึกสมาธิภาวนา สำแดงให้เจ้าชายน้อยเลื่อมใส มอบตัวเป็นศิษย์ “ก้นกุฏิ” ได้สำเร็จ

พระเทวทัตก็ชักจูงเจ้าชายอชาตศัตรูให้กำจัดพระราชบิดา ยึดบัลลังก์เสีย

แรกๆ เจ้าชายน้อยก็ทรงคัดค้าน เพราะในไม่ช้า พระองค์ก็จะได้สมบัติจากพระราชบิดาอยู่แล้ว

แต่พระเทวทัตก็ใช้วาทศิลป์กล่อมจนสำเร็จ เจ้าชายอชาตศัตรูจับพระราชบิดาขังคุก ให้อดพระกระยาหารจนสิ้นพระชนม์

ข้างฝ่ายพระนางเวเทหิ พยายามเกลี้ยกล่อมพระราชโอรสให้เห็นผิดชอบชั่วดี ด้วยความรักลูก ไม่อยากให้ลูกถลำลึกลงไปมากกกว่านี้

อย่างว่าแหละครับ คนเราลงว่า ได้ถูกโมหะอวิชชาบังตาบังใจเสียแล้วย่อมยากที่จะรู้สำนึกผิดชอบชั่วดี อชาตศัตรูเธอไม่ฟังเสียงทัดทาน ท้ายที่สุด ดวงใจน้อยๆ ของพระนางเวเทหิก็แตกสลาย พระนางก็พระหทัยวาย

สิ้นพระชนม์ด้วยความตรอมพระทัย

ว่ากันว่าแม่นั้น ถึงลูกจะเป็นอย่างไร ก็ยังคงรักลูกเหมือนเดิม แม่รักลูกเพราะรัก มิใช่เพราะเหตุอื่นใด ลูกจะดีจะชั่ว ก็ยังคงเป็นลูกแม่อยู่เช่นเดิม

เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ความรักของแม่เป็นความรักที่บริสุทธิ์ เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไขเวลา ทรงสอนให้แผ่เมตตา (ความรัก) ให้คนอื่น พระองค์จึงตรัสสอนให้แผ่ความรักที่บริสุทธิ์ให้คนอื่น เหมือนความรักของแม่ที่มีต่อลูก ฉันนั้น

นำเรื่องราวของสตรีสองนางที่เป็นแม่ในสมัยพุทธกาลมาเล่าให้ฟัง คือนางมันตานีพราหมณี แม่ขององคุลิมาลในตอนที่แล้ว และพระนางเวเทหิ พระราชมารดาของพระเจ้าอชาตศัตรู เพื่อให้เห็นอานุภาพความรักมหาศาลที่แม่มีต่อลูกครับผม  


ข้อมูล : บทความพิเศษ พระนางเวเทหิ : มารดาของพระเจ้าอชาตศัตรู โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๘ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๗๙๓ ประจำวันที่ ๒๖ ธ.ค.๕๗ – ๑ ม.ค. ๕๘


(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSs20B1RvAznJJEh4I4b3ceWzSKLpg5xr2kT9uZO8bYrvPXIiXb)
๙๐. นางกาลี
สาวิกาผู้เลื่อมใสเพราะฟังจากผู้อื่น


อุบาสิกาท่านนี้ ไม่ค่อยคุ้นชื่อในหมู่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาสักเท่าไร แต่ถ้าเอ่ยว่าเธอคือมารดาของพระ
โสณะกุฏิกัณณะ คงจะร้อง อ๋อ เพราะพระลูกชายท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล

ท่านโสณะกว่าจะได้บวชก็เสียเวลาหลายปี เพราะแคว้นอวันตีที่ท่านเกิดนั้น มีพระไม่พอทำพิธีอุปสมบทให้ได้ พระมหากัจจายนะ พระอุปัชฌาย์ของท่านหลังจากบวชให้ท่านแล้ว จึงส่งท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อขอให้ลดจำนวนพระที่ทำพิธีอุปสมบทในปัจจันตชนบท จากจำนวน ๑๐ รูป เหลือ ๕ รูป

ท่านโสณะ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้พำนักที่พระคันธกุฎีของพระพุทธองค์ ตกดึกได้มาสวดธรรมโดยทำนอง “สรภัญญะ” ให้พระพุทธองค์สดับ ได้รับคำชมเชยจากพระพุทธองค์

และนี่คือที่มาของการสวดทำนองสรภัญญะ ที่เรายังสืบทอดมาจนบัดนี้

มารดาของท่านโสณะนั้นคงจะเป็นชาวเมืองราชคฤห์ แล้วไปอยู่ตระกูลสามีที่เมืองอวันตี เพราะคัมภีร์เล่าว่า วันหนึ่งท่านกลับไปเยี่ยมบิดามารดาที่เมืองราชคฤห์ ได้ยินคนเขาสนทนากันถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า

ขณะที่ตนยืนรับลมอยู่ที่ช่องหน้าต่างของคฤหาสน์ ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และได้บรรลุโสดาปัตติผลเพราะความตั้งใจฟังบทสนทนานั้น

ว่ากันว่า ท่านได้เป็นพระโสดาบัน วันเดียวกับที่ลูกชาย (โสณะ) คลอด พอดิบพอดี

เมื่อกลับมายังเมืองอวันตีแล้ว ได้ไปไหว้พระมหากัจจายนะ ฟังธรรมจากท่านเป็นประจำ ต่อมาได้อนุญาตให้ลูกชายบวชอยู่กับพระมหากัจจายนะดังกล่าวแล้ว

เมื่อพระลูกชายกลับมาจากเฝ้าพระพุทธเจ้า นางกาลีได้ขอให้เธอสวดธรรมให้ฟัง พระโสณะได้สวดธรรมในหมวดที่เรียกว่า “อัฏฐกวรรค” ตามที่เคยสวดถวายพระพุทธเจ้าให้มารดาฟัง

มารดามีความรู้สึกซาบซึ้งในบทสวดนั้นมาก

นางกาลีมีนามเต็มว่า กาลีกุรุรฆริกา เป็นอุบาสิกาโสดาบันระดับหัวหน้าของอุบาสิกาทั้งหลาย มีสหายรักนามว่า กาติยานี ไปมาหาสู่กันเป็นนิตย์ นางกาติยานี้นิยมการฟังธรรม บางครั้งฟังทั้งคืนจนเกิดเรื่อง

วันหนึ่งขณะฟังธรรมอยู่ มีคนมากระซิบบอกว่า โจรกำลังขึ้นบ้าน แต่นางไม่ยอมบอกใครและไม่ตกใจ ตั้งอกตั้งใจฟังธรรมจนจบ ลูกน้องโจรที่นายสั่งมาให้ดักฆ่านางเมื่อนางกลับมาบ้าน ได้ยินนางพูดกับคนใช้ว่า ช่างเถอะ เราไม่อยากทำลายบรรยากาศการฟังธรรม กลับไปรายงานนาย เจ้านายโจรสำนึกผิด พาลูกน้องมากราบขอขมานาง

นี้คืออุบาสิกาผู้เปี่ยมคุณธรรม สามารถกลับใจโจรร้ายได้ นางกาติยานีเป็นเช่นไร นางกาลีก็เป็นเช่นนั้น เพราะทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกัน ยิ่งคนหลังมีพระลูกชายที่สวดธรรมได้ไพเราะยิ่ง ทั้งสองก็ยิ่งมีศรัทธาพากันไปวัดฟังธรรมมิได้ขาด ทั้งจากพระโสณะกุฏิกัณณะและพระมหากัจจายนะ ผู้อุปัชฌาย์

คราวหนึ่ง นางกาลีได้ไปนมัสการพระมหากัจจายนะ เรียนถามปัญหาธรรมกับพระเถระ  พระเถระได้วิสัชนาให้นางทราบจนหายสงสัย

เนื้อหาพระธรรมเทศนาเป็นเรื่อง กสิณ ๑๐ ประการ คือ ปฐวีกสิณ (เพ่งดิน)  อาโปกสิณ (เพ่งน้ำ)  เตโชกสิณ (เพ่งไฟ)  วาโยกสิณ (เพ่งลม)  นีลกสิณ (เพ่งสีเขียว)  ปีตกสิณ (เพ่งสีเหลือง)  โลหิตกสิณ (เพ่งสีแดง)  โอทาตกสิณ (เพ่งสีขาว)  อาโลกกสิณ (เพ่งแสงสว่าง)  อากาสกสิณ (เพ่งที่ว่าง)

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการฝึกสมาธิ การที่นางถามปัญหาเรื่องเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า นางเป็นผู้ใฝ่ใจในการฝึกฝนอบรมจิตอย่างเข้มข้นสม่ำเสมอ


ข้อมูล : บทความพิเศษ นางกาลี : สาวิกาผู้เลื่อมใสเพราะฟังจากผู้อื่น โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๙๔ ประจำวันที่ ๒-๘ มกราคม ๒๕๕๘


(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS7LpdlCmEE3pEA36cmcRHAR4YMLmIZvfAEVE80zPOdlEPohhcHQw)
๙๑. สุทัตตะ อนาถบิณฑิกเศรษฐี
เศรษฐีผู้ใจบุญ

ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับการสถาปนาพุทธบริษัทใน “เอตทัคคะ” (ในตำแหน่งความเป็นผู้เลิศกว่าคนอื่น) ด้านต่างๆ ตรัสถึงอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า เป็นผู้เลิศกว่าบุคคลอื่นในด้านการถวายทาน

ท่านอนาถบิณฑิกะ เดิมชื่อว่า สุทัตตะ เป็นชาวเมืองสาวัตถีโดยกำเนิด เป็นบุตรของสมุนะเศรษฐี ชีวิตในวัยหนุ่มเป็นอย่างไร จบการศึกษาชั้นไหน ไม่มีที่ไหนบอกไว้ (หรือมีแต่ผมอ่านไม่พบเองก็ได้) รู้แต่ว่าท่านได้แต่งงานกับสุภาพสตรีนามว่า บุญญลักขณา

อนาถบิณฑิกะกับคุณนายบุญญลักขณา มีบุตรด้วยกัน ๔ คน เป็นชายหนึ่งคน นามว่า กาละ เป็นหญิงอีกสามคน คือ มหาสุภัททา จุลสุภัททา และสุมนา ตามลำดับ

ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย ไม่ค่อยเอาถ่าน ตามธรรมดาของลูกคนมีเงิน แต่พ่อก็มีวิธี “ปราบ” ลูก ให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในที่สุด วิธีอย่างไรค่อยว่ากันภายหลัง เพราะเรื่องบุตรชายบุตรสาวของท่านเศรษฐี มีแง่มุมน่าศึกษาไม่น้อย

สุทัตตะ เดิมนับถือศาสนาอะไร ก็ไม่ชัดเช่นกัน แต่ภายหลังได้ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต หลังจากได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ป่า “สีตวัน” นอกเมืองราชคฤห์

เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งท่านเศรษฐีเดินทางไปทำธุรกิจที่เมืองราชคฤห์ คราวนี้ไม่ได้พักโรงแรมหรูๆ เหมือนเศรษฐีสมัยนี้ (สมัยโน้นอาจจะยังไม่มีก็ได้) ท่านได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านน้องเขยของท่าน ซึ่งเป็นเศรษฐีเมืองราชคฤห์

วันนั้น เศรษฐีน้องเขยท่านกำลังสั่งให้ตระเตรียมอาหาร และจัดสถานที่สำหรับจัดเลี้ยงเป็นการใหญ่ สุทัตตะสงสัย จึงถามว่าจะมีงานเลี้ยงฉลองอะไรหรือ เลี้ยงต้อนรับใคร ดูท่าจะเป็นงานใหญ่โต

น้องเขยกล่าวว่า กำลังตระเตรียมอาหารถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ซึ่งเสด็จมาเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น

พอเขาได้ยินว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เท่านั้น ปีติโสมนัสได้แผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย อยากจะได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ในบัดเดี๋ยวนั้น น้องเขยบอกว่า ใจเย็นๆ พรุ่งนี้เช้าพระพุทธองค์ก็จะเสด็จแล้วไว้ค่อยเฝ้าพระองค์เวลานั้น

คืนนั้นสุทัตตะนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ใคร่จะเข้าเฝ้าพระองค์อย่างยิ่ง ยังไม่ทันรุ่งสางเลย เขาก็ตัดสินใจออกจากคฤหาสน์ที่พัก เดินมุ่งหน้าไปยังป่าสีตวัน ทั้งๆ ที่ยังมืดอยู่ กลัวก็กลัว แต่ความอยากเข้าเฝ้าพระพุทธองค์มีมากกว่า จึงข่มความกลัว เดินทางไปจนถึง

ถึงปัจจูสมัยใกล้รุ่ง (คงประมาณตีสี่กว่าๆ) พระพุทธองค์ตื่นบรรทมเสด็จจงกรมอยู่ พอทอดพระเนตรเห็นสุทัตตะเดินเข้ามาใกล้ พระองค์ก็เสด็จลงจากที่จงกรม ตรัสว่า “สุทัตตะ มานี่เถิด”

สุทัตตะเกิดปีติปราโมทย์เป็นล้นพ้น ที่พระพุทธองค์ตรัสเรียกชื่อท่าน จึงเข้าไปหมอบแทบพระยุคลบาท กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงบรรทมหลับหรือไม่ (คงนึกว่าพระพุทธเจ้าคงนอนไม่หลับเหมือนตนเอง จึงมาเดินท่ามกลางความมืดอยู่เช่นนี้)

พระพุทธองค์ตรัสว่า “สุทัตตะ ผู้ที่สละกิเลสสละบาปกรรมได้แล้ว ย่อมนอนหลับสบายทุกเมื่อ ผู้ไม่ติดอยู่ในความรัก เป็นผู้เยือกเย็น ไม่มีกิเลสแล้วย่อมนอนหลับสบายทุกเมื่อ ผู้ตัดความผูกพันทั้งปวง ขจัดความเร่าร้อนทุรนในใจได้แล้ว ย่อมนอนหลับสบายทุกเมื่อ”

พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุบุพพีกถา” แก่เศรษฐีเป็นการวางพื้นฐาน สร้างความเข้าใจในเบื้องต้นแก่เศรษฐีก่อน แล้วได้ทรงแสดง “อริยสัจสี่” จนจบ หลังฟังพระธรรมเทศนา สุทัตตะเศรษฐีได้ “ดวงตาเห็นธรรม” แล้วกราบบังคมทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น

พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ

คำแรกคือ อนุบุพพีกถา หมายถึง “การแถลงตามลำดับ” คือ แถลงเรื่องต่างๆ ๕ เรื่องด้วยกันตรงนี้มีคำศัพท์ ๓ คำ ที่คิดว่านักศึกษาพระพุทธศาสนาส่วนมากได้ยินบ่อย แต่เพื่อประโยชน์ของอีกหลายท่านที่อาจไม่ “กระจ่าง” เกี่ยวกับคำ ๓ คำนี้ ขออนุญาต “แวะข้างทาง” ตรงนี้สักประเดี๋ยวนะครับ

ค่อยๆ ลึกลงตามลำดับ คือ เรื่องทาน (การให้ การเสียสละแบ่งปันให้คนอื่น)

เรื่องศีล (การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม)

เรื่องสวรรค์ (กล่าวถึงความสุข ความเพลิดเพลินส่วนดีของกาม อันเป็นผลที่พึงได้จากการปฏิบัติสองเรื่องข้างต้น)

เรื่องโทษของกาม (กล่าวถึงส่วนเสียของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม)

และเรื่องอานิสงส์การออกจากกาม (กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นในกาม มีใจอิสระจากกามคุณ)

ทั้ง ๕ เรื่องนี้ ทานทำได้ง่ายกว่า ศีลทำได้ยากกว่าทาน ความดี หรือผลแง่บวกของกาม อันเป็นผลของการให้ทานและรักษาศีลละเอียดขึ้นไปอีก แต่ก็พอมองเห็นได้ง่าย

ส่วนการมองเห็นแง่เสีย หรือโทษของกามนั้นยากกว่า ต้องคนที่มีจิตใจละเอียดมากพอสมควร จึงจะมองเห็นได้ ส่วนมากมักตกอยู่ในอำนาจของกามทั้งนั้น บางทีก็พอมองเห็นว่ากามเป็นทุกข์อย่างไร แต่เห็นก็สักแต่เห็น ไม่สามารถบังคับจิตให้อยู่เหนือกามได้ ต้องอาศัยการปฏิบัติฝึกฝนจิตให้กล้าแข็งขึ้นตามลำดับ

คำที่สอง คือ อริยสัจ หมายถึงความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงที่ทำให้คนเป็นผู้ประเสริฐ ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค หลักอริยสัจเป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา

คำสุดท้าย คือ ดวงตาเห็นธรรม คำนี้แปลมาจากคำบาลีว่า “ธรรมจักษุ” หมายถึงการบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลระดับต้นขึ้นไป

พูดให้ชัดก็คือการเข้าใจสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริงของพระโสดาบันขึ้นไป ธรรมจักษุหรือดวงตาเห็นธรรมนั้นมีหลายระดับ

ระดับต้น หมายถึงการเข้าใจของพระโสดาบัน
ระดับสูง หมายถึง การเข้าใจของพระอริยบุคคลสูงกว่าพระโสดาบัน

ปุถุชนธรรมดาถึงจะเข้าใจอะไร มองเห็นอะไร ก็ไม่มีสิทธิเรียกว่าได้ดวงตาเห็นธรรม แต่ก็เห็นมีคนใช้อยู่

ในคืนวันนั้น (วันที่น้องเขยถวายทานนั่นแหละ) สุทัตตะก็สั่งเตรียมอาหารเป็นการใหญ่ ตระเตรียมภัตตาหารที่ประณีตไว้ถวายพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระพุทธองค์พร้อมพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งเสด็จมาแล้ว สุทัตตะก็ถวายภัตตาหาร ตรงนี้ภาษาศาสนาเรียกว่า “อังคาสพระพุทธองค์ด้วยมือ”

อังคาส แปลว่า เลี้ยง “เลี้ยงพระด้วยมือ

ผมเคยมีความเข้าใจว่า ผู้เลี้ยงพระหรือผู้ถวายภัตตาหารพระ จะต้องเข้าครัวทำอาหารเอง ทำอย่างนี้จะได้ “บุญ” มากกว่าซื้ออาหารสำเร็จรูปมาถวาย เพราะมิได้ลงแรงเอง ผมเข้าใจอย่างนั้น แต่เมื่อได้ไปเห็นชาวพุทธลังกา เขาเลี้ยงพระจึงเข้าใจ

ชาวลังกาเขาไม่ประเคนอาหารพระทั้งหมด ถวายจานเปล่าให้พระ แล้วก็ตักข้าวและกับถวาย เมื่อพระท่านฉันหมดแล้วก็เติมให้ พระท่านฉันอิ่มแล้ว ท่านจะยกมือให้สัญญาณว่าพอแล้ว เสร็จแล้วก็ยกขันน้ำและสบู่มาให้ท่านล้างมือ (ชาวลังกา “กินมือ” ส่วนมาก) แล้วก็ถวายผ้าเช็ดมือให้ท่านเช็ดมือ เป็นอันเสร็จพิธีเลี้ยงพระ

นี่แหละครับที่เรียกว่า เลี้ยงพระด้วยมือ ลังกาอยู่ใกล้อินเดีย และพระพุทธศาสนาในลังกาเป็น “สายตรง” จากอินเดีย (ไทยเรารับมาจากลังกาอีกต่อหนึ่ง) ประเพณีของชาวลังกาโยงย้อนกลับไปยังสมัยพุทธกาลได้ใกล้กว่าไทย

ผมเข้าใจว่าสมัยพุทธกาล การเลี้ยงพระด้วยมือ ก็คงจะเป็นอย่างที่ผมเห็นมานี้ก็ได้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยภัตตาหารเสร็จ ทรงอนุโมทนาแล้ว สุทัตตะได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปโปรดชาวเมืองสาวัตถีบ้าง พระพุทธองค์ตรัสว่า “ตถาคตทั้งหลายย่อมยินดีในเสนาสนะอันสงัด”

สุทัตตะก็ทราบทันทีว่าจะทำอย่างไร จึงกราบทูลว่า “ข้อนั้น ข้าพระองค์ทราบพระเจ้าข้า”

สุทัตตะเศรษฐีกลับไปเมืองสาวัตถีแล้ว ก็เที่ยวสำรวจสถานที่ที่จะสร้าง “เสนาสนะอันสงัด” คือ สร้างวัดถวายพระพุทธเจ้า สำรวจอยู่หลายวัน ในที่สุดก็ไปชอบใจสวนของเจ้าเชต จึงเจรจาขอซื้อ เจ้าเชตเธอก็ไม่ประสงค์จะขาย จึงโก่งราคาชนิดที่ “แพงจังฮู้” เชียวแหละครับ

แพงขนาดไหนเอาไว้ต่อคราวต่อไปครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สุทัตตะ อนาถบิณฑิกเศรษฐี  : เศรษฐีผู้ใจบุญ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๗๙๕ ประจำวันที่ ๙-๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗



(http://www.watthaichetavan.org/images/1214297971/1220539350.jpg)
๙๒. สร้างพระเชตวัน  

เจ้าเชต ที่กล่าวถึง (ในครั้งก่อน) คือ เชตกุมาร ว่ากันว่าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล นาม “เชต” แปลว่า ผู้ชนะ

ที่ได้พระนามอย่างนี้ท่านว่า ด้วยเหตุผล ๓ ประการ ประการใดประการหนึ่ง คือ
๑. เพราะพระราชกุมารเป็นผู้ชนะศัตรู
๒. เพราะพระราชกุมารประสูติ เมื่อครั้งพระราชบิดา (พระเจ้าปเสนทิโกศล) ทรงรบชนะศัตรู
๓. ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น แต่ได้พระนามนี้เพราะพระราชบิดาเห็นว่าเป็นมงคลนาม จึงพระราชทานให้ หลักฐานจากฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระราชมารดาของเชตกุมาร คือ พระนางวรรษิกา คงมิได้เป็นอัครมเหสี เพราะอัครมเหสีคือ พระนางวาสภขัตติยา

เชตุกุมารกับวิทฑูฑภะ ไม่ทราบว่าใครเกิดก่อนกัน บาลีเรียกว่า “ภาตา” ภาษาฝรั่งเรียกว่า “brother” เลยไม่รู้ว่าเป็นพี่ชายหรือน้องชาย

ผมเดาเอาแล้วกัน เดาว่าเป็นพี่ชาย ที่มิได้เป็นมกุฎราชกุมาร เพราะมิได้เป็นเจ้าฟ้า อาจเป็นเพียง “พระองค์เจ้า”

วิฑูฑภะเมื่อยึดราชสมบัติจากพระราชบิดา (ทั้งๆ ที่เป็นมกุฎราชกุมารอยู่แล้ว) แล้วชวนเชตกุมารไปรบกับพวกศากยะ เพื่อชำระความแค้นแต่หนหลังของตน (เรื่องนี้เล่าไว้ในที่อื่น ประมาณ ๑๐ กว่าหนแล้วกระมัง ยังไม่ขอเล่าอีก) แต่ถูกเชตกุมารปฏิเสธ จึงสังหารเสีย

แต่พระกุมารก็ได้สร้างบุญกุศลไว้มากก่อนสิ้นพระชนม์ เพราะอานิสงส์ที่ได้คบกับสุทัตตะ หรืออนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ได้ขอซื้อสวนเจ้าเชต เพื่อสร้างวัดถวายพระพุทธเจ้า

ตอนแรก เจ้าเชตปฏิเสธ

เมื่อได้ฟังคำปฏิเสธขายสวนจากเจ้าเชต เศรษฐีก็อ้อนวอนขอซื้อ เรียกว่า ตื๊อจนถึงที่สุด ว่าอย่างนั้นเถอะ

เจ้าเชตจึงพูดว่า “ให้เอากหาปณะ (กษาปณ์) มาเรียงๆ กันจนเต็มพื้นที่ทั้งหมด นั่นแหละ คือราคาของสวนนี้ละ” โอโห อะไรจะ”แพงจังฮู้” ขนาดนั้น

เศรษฐีก็แน่จริงเหมือนกัน สั่งให้ขนกหาปณะ ออกจากคลังมาปูพื้นที่  เจ้าเชตเห็นความมุ่งมั่นของเศรษฐีจึงร้องว่า พอแล้ว แค่นั้น  

ตกลงเศรษฐีจ่ายเงินไป ๑๘ โกฏิ เป็นค่าซื้อที่ดินเท่านั้นครับ

เศรษฐียังจ่ายเงินอีก ๑๘ โกฏิ เป็นค่าก่อสร้าง เช่น สร้างวิหาร หอฉัน กัปปิยะกุฏี (เรือนเก็บของ) เวจกุฏี (ส้วม) ที่จงกรม ศาลาจงกรม บ่อน้ำ ศาลาบ่อน้ำ เรือนไฟ ศาลาเรือนไฟ สระโบกขรณี (สระบัว) ตลอดจนตกแต่งบริเวณมณฑลต่างๆ

เจ้าเชตช่วยสร้างซุ้มประตู ๗ ชั้นขึ้นอย่างสวยงาม

เมื่อวัดสร้างเสร็จ ได้ตั้งชื่อว่า “เชตวัน” เพื่อเป็นอนุสรณ์ของเจ้าเชต ผู้เป็นเจ้าของสวน

แค่นั้นยังไม่พอ เศรษฐีได้จัดงานเฉลิมฉลองวัดเป็นการมโหฬารยิ่ง ใช้เงินเพื่อการนี้ถึง ๑๘ โกฏิ อะไรจะปานนั้นก็ไม่รู้สิครับ

รวมเบ็ดเสร็จ วัดพระเชตวันสร้างด้วยเงินจำนวน ๕๔ โกฏิ คิดเป็นเงินไทยเท่าไหร่ก็คำนวณเอาก็แล้วกัน

เมื่อวัดสร้างเสร็จเรียบร้อย เศรษฐีก็กราบทูลอัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์พร้อมพระภิกษุสงฆ์ก็ได้เสด็จมาประทับ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ ประการ โปรดเวไนยสัตว์ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงนับแต่บัดนั้นมา

ยุคแรกที่ทรงประกาศพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ประทับที่วัดพระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ที่นี่เป็นศูนย์กลางแห่งแรกของพระพุทธศาสนา แต่หลังจากนั้นก็ได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองสาวัตถี ในความอุปถัมภ์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล และเศรษฐีกับเศรษฐีนีสองท่าน คือ อนาถบิณฑิกะ และวิสาขามหาอุบาสิกา

ว่ากันว่า พระพุทธองค์ประทับที่วัดพระเชตวันนี้นานที่สุด พระอรรถกถาจารย์บันทึกรายละเอียดไว้ บอกพรรษาเท่าไหร่ ประทับอยู่ไหน แต่พอตอนท้ายๆ ชักจำไม่ได้ สรุปรวบยอดว่า พรรษาที่เหลือประทับอยู่ที่พระเชตวันเป็นส่วนมาก ว่าอย่างนั้น

บันทึกนั้นมีดังนี้ครับ
พรรษาที่ ๑ ประทับที่อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
พรรษาที่ ๒-๔ ประทับที่พระเวฬุวัน ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงสร้างถวาย
พรรษาที่ ๕ ประทับที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน แห่งเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี
พรรษาที่ ๖ ประทับที่มกุฏบรรพต
พรรษาที่ ๗ ประทับภายใต้ต้นปาริชาต ณ ดาวดึงส์สวรรค์
พรรษาที่ ๘ ประทับที่เภสกลาวัน ป่าไม้สีเสียด ใกล้สุงสุมารคิรีภัคครัฐ
พรรษาที่ ๙ ประทับที่ป่าลิเลยยกะ เมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ
พรรษาที่ ๑๐ ประทับที่หมู่บ้านนาฬายพราหมณ์ (หรือนาลา) ใกล้พุทธคยา แคว้นมคธ
              (คัมภีร์พุทธองค์ว่า พรรษาที่ ๑๑)
พรรษาที่ ๑๑ ประทับที่ใต้ต้นสะเดา (ปุจิมันทพฤกษ์) เมืองเวรัญชรา ตามคำอาราธนาของเวรัญชพราหมณ์
               ว่ากันว่ามีเหตุทำให้ทรงเริ่มบัญญัติพระวินัยตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
พรรษาที่ ๑๒ ประทับที่ปาลิยบรรพต (หรือ จาลิกบรรพต) หลักฐานบางแห่งว่า พรรษาที่ ๑๘ และ ๑๙ ก็ประทับที่นี่ด้วย
พรรษาที่ ๑๓ ประทับที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี
พรรษาที่ ๑๔ ประทับที่นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ (ศากยะ)
พรรษาที่ ๑๕ ประทับที่อัคคาฬเจดีย์ ใกล้เมืองอาฬวี ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองพาราณสี
พรรษาที่ ๑๖-๑๘ ประทับที่พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์
พรรษาที่ ๑๙-๔๔ ประทับสลับกันระหว่าง พระเชตวัน กับบุพพาราม เมืองสาวัตถี
          (ที่พระเชตวัน ๑๙ พรรษา ที่บุพพาราม ๖ พรรษา)
พรรษาที่ ๔๕ ประทับที่เวฬุวคาม ใกล้เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี...


ข้อมูล : บทความพิเศษ สร้างพระเชตวัน โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๗๙๖ ประจำวันที่ ๑๖-๒๒ ม.ค. ๕๘



หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 มกราคม 2558 15:39:39
.

(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR_VuUYM8RV7yHkpR3AGMK-NDWQiF3TLSg6TB59dkrlYqrXQ2ac-w)
๙๓. คนดีเทวดายังเกรง


เมื่อพูดถึงอนาถบิณฑิกเศรษฐี จะข้ามกิจการหรือผลงานสำคัญของท่านไปไม่ได้ ชาวพุทธสมัยโน้นเรียกท่านโดยนามใหม่ว่า “อนาถบิณฑิกะ” แปลว่า “ผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถาเสมอ”

หมายความท่านได้ให้ทานประจำ ไม่เฉพาะถวายทานแด่พระสงฆ์ ประชาชนทั่วไป แม้กระทั่งคนอนาถาไร้ที่พึ่ง จำพวกยาจกวณิพกทั้งหลาย ท่านก็ให้เป็นประจำ

คำ “อนาถบิณฑิกะ” นี้ ถ้าไม่แปลตามตัวอักษร แปลเอาความก็คือ “เศรษฐีผู้ใจบุญ” นั่นเอง

ผมเปิดดูพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ อยากจะรู้ว่าเขาแปลคำนี้อย่างไร ก็ปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง ที่เขาแปลเหมือนผมเดี๊ยะเลย เขาแปลว่า the benefactor ขอรับ

ความใจบุญของท่านเห็นได้ตั้งแต่วันแรกที่สร้างวิหารเสร็จ ก่อนจัดงานเฉลิมฉลองเป็นการมโหฬาร ท่านได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านท่าน พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ท่านได้ถวายภัตตาหารที่ประณีต

วันรุ่งขึ้นได้จัดงานเฉลิมฉลองพระวิหารเป็นการใหญ่ เป็นเวลา ๙ เดือน

หมดเงินสำหรับการนี้ จำนวน ๑๘ โกฏิ

รายละเอียดเอาเงินนี้ไปทำอะไรบ้าง ไม่ได้บอกไว้ คงรวมเบ็ดเสร็จหมดทุกอย่าง กล่าวเฉพาะทานที่ท่านถวายประจำ มีดังนี้
- สลากภัต ๕๐๐ ที่ สลากภัต คือ อาหารถวายตามสลากตามปกติ ไม่ได้ทำคนเดียว มักทำในเทศกาล เช่น เทศกาลผลไม้เผล็ดผล เป็นต้น คือ ทายกทั้งหลายต่างคนต่างเอาของมา (ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอาหาร อย่างอื่นก็ได้) เมื่อเอาของมารวมกันแล้ว ก็ทำสลากจดชื่อเจ้าภาพลงบนกระดาษใบละชื่อ ม้วนรวมกัน แล้วถวายให้พระท่านจับ พระท่านจับได้หมายเลขอะไร ก็ไปรับของจากทายกนั้น แต่เศรษฐีอาจทำคนเดียวกับครอบครัว คือ จัดไว้ ๕๐๐ ที่ เขียนหมายเลขกำกับไว้ แล้วให้พระท่านจับสลากหมายเลขอะไร ก็รับของถวายตามหมายเลขนั้น อย่างนี้ทำเป็นกิจวัตรทุกวันได้ ไม่มีปัญหา
- ปักขิตภัต ๕๐๐ ที่ เช่นเดียวกับสลากภัต แต่ของที่ถวายเป็นข้าวยาคู นัยว่าธรรมเนียมถวายข้าวยาคู เกิดในสมัยอนาถบิณฑิกเศรษฐี กับนางวิสาขามหาอุบาสิกานี้แหละ  คือท่านทั้งสองเห็นว่า พระท่านกว่าจะบิณฑบาตได้ข้าวและฉัน ก็มักสายมากแล้ว ท่านคงหิวมาก จึงถวายข้าวยาคูให้ฉัน “เอาแรง” ก่อน ทำนองถวายข้าวต้มแด่พระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันนี้นั่นแล ว่ากัน (อีก) ว่า สมัยก่อนพระท่านฉันมือเดียวทุกรูป การฉันข้าวยาคูนี้เองได้กลายมาเป็นอาหารมื้อเช้าในเวลาต่อมา
- ปักขิกยาคู ยาคูที่ถวายทุก ๑๕ วัน ๕๐๐ ที่
- ธุวภัต ภัตตาหารที่ถวายทุกวันมิได้ขาด ๕๐๐ ที่
- อาคันตุกภัต อาหารที่ถวายแด่ภิกษุผู้จะเดินทางมาจากที่ไกล ๕๐๐ ที่
- คมิกภัต อาหารที่ถวายแด่ภิกษุผู้จะเดินทางไกล ๕๐๐ ที่
- คิลานภัต อาหารที่ถวายแด่ภิกษุไข้ ๕๐๐ ที่
- คิลานุปัฏฐากภัต อาหารที่ถวายแก่ผู้พยาบาลภิกษุไข้ ๕๐๐ ที่

ท่านถวายอย่างละ ๕๐๐ ที่เป็นประจำมิได้ขาด ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านเป็น “อัครทายก” (ทายก หรือผู้ถวายทานที่เลิศ)

ผู้ร่ำรวยระดับอภิมหาเศรษฐีอย่างท่านอนาถบิณฑิกะก็มีมาก แต่ในบรรดาเศรษฐีใหญ่เหล่านั้น ไม่มีใครใจบุญทุ่มทรัพย์สินเงินทอง เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนามากมายเท่าท่านอนาถบิณฑิกะ” ด้วยเหตุนี้สมญานามว่า “เศรษฐีใจบุญ” จึงเหมาะสมกับท่านอย่างยิ่ง”

มาคราวหนึ่งเศรษฐกิจ “ตกสะเก็ด” ธุรกิจของท่านประสบปัญหา ทำมาค้าขายขาดทุน เงินทองร่อยหรอลงตามลำดับ แต่ท่านก็ยังถวายทานเป็นประจำเช่นเดิม ไม่ตัดงบส่วนที่กันไว้สำหรับทำบุญแม้แต่บาทเดียว ว่าอย่างนั้นเถอะ คงจะคิดว่าจะจนเพราะทำบุญทำทานก็ให้มันรู้ไป อะไรทำนองนั้นกระมัง

จนเทวธิดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูทนไม่ได้ นัยว่าเพราะสงสารเศรษฐี มาปรากฏตัวต่อหน้าเศรษฐี บอกมิให้เศรษฐีทำบุญทำทานมากนัก ลดลงเสียบ้าง ทำจนยากจนลงทุกวันเห็นไหม อะไรทำนองนั้น

เศรษฐีถามว่า “ท่านเป็นใคร มาพูดอย่างนี้กับข้าพเจ้า”
“เป็นเทวธิดาที่อยู่ซุ้มประตูของท่าน”

เท่านั้นแหละครับ ได้เรื่องเลย เศรษฐีตวาดว่า การที่ได้เกิดเป็นเทพ ไม่ว่าเทพชั้นสูงหรือต่ำเป็นผลจากการทำทานรักษาศีล ท่านยังไม่รู้หรือ ท่านยังจะมาห้ามมิให้ข้าพเจ้าทำบุญทำทานหรือ เท่ากับว่าเป็นเทพอันธพาล คน เอ๊ย เทพอย่างท่านไม่สมควรอยู่ที่บ้านข้าพเจ้า จะไปไหนก็ไป

เทวธิดาจึงจำต้องออกจากซุ้มประตูบ้านเศรษฐี เร่รอนไปหาที่อยู่ใหม่  หาที่ไหนก็ไม่ได้ ต้องกลับมาขอโทษเศรษฐี เศรษฐีก็ยกโทษให้ แล้วอนุญาตให้สิงอยู่ที่เดิมต่อไป

เรื่องอย่างนี้คนธรรมดาที่มองไม่เห็นแล้วเอามาเล่า ก็อาจมีบางคนว่าโม้หรือฝอย  แต่เรื่องอย่างนี้ถ้าตนยังไม่สามารถพิสูจน์เองได้ (เพราะไม่มีเครื่องมือพิสูจน์) ก็มิบังควรรีบปฏิเสธ รับฟังท่านไว้ก็ไม่เสียหลาย

ในคราวที่ท่านเศรษฐีตกอับ กิจการค้าขายขาดทุนนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบ หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการจาริกไปสั่งสอนประชาชนที่แว่นแคว้นต่างๆ พระองค์ตรัสถามเศรษฐีว่า ยังให้ทานเหมือนเดิมหรือเปล่า เศรษฐีกราบทูลว่า ยังให้เป็นประจำเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าตอนนี้อาหารและสิ่งของที่ถวายมิได้ประณีตเท่าเดิม เพราะเศรษฐกิจซบเซา

พระพุทธองค์ตรัสว่า วัตถุที่ให้นั้นจะเศร้าหมองหรือประณีต (แปลเป็นไทยง่ายๆ คือจะราคาแพงหรือถูก หรือจะดีหรือไม่ดี) ก็ตาม นั่นมิใช่สิ่งสำคัญ เจตนาและความเลื่อมใส ตลอดจนกิริยาอาการที่ให้นั้นสำคัญกว่า

ถ้าให้ด้วยความไม่เคารพ ไม่นอบน้อม มิได้ให้ด้วยมือของตน ให้แบบทิ้งๆ ขว้างๆ สักแต่ให้ ไม่เชื่อในกรรมและผลของกรรม ทานนั้นไม่ว่าจะประณีตเพียงใด ก็ไม่มีอานิสงส์มาก แต่ถ้าให้ด้วยความเคารพนอบน้อม ให้ด้วยมือของตน ไม่ทิ้งให้เทให้ ให้เพราะเชื่อมั่นในกรรมและผลของกรรม ทานนั้นย่อมมีอานิสงส์มาก

แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องเวลาพราหมณ์ให้เศรษฐีฟัง เพื่อให้กำลังใจแก่เศรษฐี

พราหมณ์คนนี้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าพาราณสี เป็นอาจารย์สอนศิษย์ที่เป็นขัตติยราชกุมารถึง ๘๔ องค์ มีทรัพย์สมบัติมากมาย ให้ทานเป็นการใหญ่ ด้วยจิตศรัทธาเชื่อมั่นในผลของการทำบุญกุศล

จนการให้ทานของเขาเป็นที่รู้กันกว้างขวาง ในนาม “เวลามหายัญ” (ยัญยิ่งใหญ่ของเวลามะ)

พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องนี้แล้ว ทรงสอนต่อไปว่า ทานนั้นไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด ไม่ว่าจะสร้างวัดวาอารามมากมายเพียงไร ก็ยังสู้การถึงไตรสรณคมน์ (ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก) การรักษาศีล การเจริญเมตตา และการรำลึกถึงความเป็นอนิจจัง ไม่ได้หมายความว่าสี่อย่างหลังนี้ยิ่งใหญ่กว่าการให้วัตถุเป็นทาน

ทรงเตือนเศรษฐีว่าอย่าขวนขวายแต่เรื่องให้วัตถุทานเพียงอย่างเดียว บำเพ็ญศีลและภาวนาบ้าง

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ท่านเศรษฐีไปวัดบ่อยก็จริง เวลาท่านไปวัดเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นเวลาเช้านำภัตตาหารไปถวายพระองค์และภิกษุสงฆ์ ถ้าหลังจากเวลาฉันแล้ว ท่านก็จะให้นำเภสัช เช่น เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ถ้าไปเวลาเย็นก็จะให้คนถือดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เป็นต้นไป

ไม่เคยทูลถามธรรมปฏิบัติจากพระพุทธองค์เลย เพราะเกรงว่าพระพุทธองค์จะเหนื่อย อยากให้พระพุทธองค์ทรงพักผ่อนให้มาก หลังจากเทศนาโปรดประชาชนมามากมาย

เศรษฐีท่านคิดอย่างนี้จริงๆ ครับ จนพระพุทธองค์ตรัสเปรยๆ ในครั้งนี้ว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีรักษาดูแลพระองค์ในฐานะที่ไม่ควรรักษาดูแล พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาด้วยความยากลำบาก ก็เพื่อสอนคนอื่น แต่เศรษฐีไม่ชอบฟังธรรม ไม่ยอมซักถามธรรมจากพระองค์เลย

เล่นเอามหาอุบาสกเขิน จนต้องนั่งลงฟังธรรมจากพระองค์เสีย ๑ กัณฑ์ หลังจากได้ฟังธรรมแล้ว เกิดฉันทะในการฟังธรรมยิ่งขึ้น (เพิ่งจะรู้ว่ารสพระธรรมนั้นอร่อยหวานมันแค่ไหน) คราวนี้ก็เลยเป็นนักฟังธรรมตัวยงคนหนึ่ง ไม่ฟังเฉพาะพระพุทธองค์ ยังนิมนต์พระเถระอาวุโสอื่นๆ ไปแสดงธรรมให้ฟังที่บ้านด้วย

พระสารีบุตรดูเหมือนจะได้รับนิมนต์บ่อย แต่พระสารีบุตรท่านเป็นนักวิชาการ อธิบายธรรมแต่ละข้ออย่างละเอียดลึกซึ้ง ผู้ฟังต้อง “ปีนบันไดฟัง” เลยเชียวแหละ ท่านเศรษฐีก็ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรแสดงธรรมง่ายเป็นพิเศษ แทนที่จะใช้ภาษานักวิชาการ ท่านเทศน์ง่ายๆ เศรษฐีฟังแล้วซาบซึ้งจนน้ำตาไหล

กราบงามๆ สามครั้งแล้ว เศรษฐีก็เรียนท่านว่า ทำไมท่านไม่แสดงธรรมะง่ายๆ อย่างนี้ให้โยมฟังบ้าง ต่อไปนิมนต์ท่านแสดงธรรมอย่างนี้เถิด

ธรรมะอะไรที่ท่านพระสารีบุตรแสดงแล้ว อนาถบิณฑกเศรษฐีฟังเข้าใจและขอร้องให้ท่านแสดงง่ายๆ เช่นนี้ต่อไป คราวหน้าจะนำมาเล่าให้ฟังครับ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ คนดีเทวดายังเกรง โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๙๗ ประจำวันที่ ๒๓-๒๙ มกราคม ๒๕๕๘



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRLJCDLxpctT-mRz530Dd8lR-zcfcryIi13pAZI3auo2OinhrBJ9Q)
๙๔. จ้างลูกชายฟังธรรม
(บุตรชายเศรษฐี)


ว่าจะเล่าธรรมเทศนาที่พระสารีบุตรแสดงแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี แล้วเศรษฐีดีใจที่พระเถระแสดงธรรมง่ายๆ ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ที่ต้อง “ปีนบันไดฟัง”  อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงขอร้องให้ท่านแสดงธรรมง่ายๆ อย่างนี้ต่อไป

คราวนี้ยังไม่ขอเล่าขอรับ (เพราะยังไม่มีเวลาค้นดูต้นฉบับ) เอาไว้คราวหน้า คราวนี้ขอ “โฟกัส” ไปยังชีวิตภายในครอบครัวของท่านเศรษฐีก่อน

ดังที่เล่ามาแล้วว่า ท่านเศรษฐีมีบุตรชายโทนกับบุตรสาวอีกสามคน

บุตรสาวทุกคนใจบุญสุนทานตามอย่างบิดาเลยทีเดียว บิดาจึงมอบให้ดูแลเกี่ยวกับการทำบุญเลี้ยงพระด้วย

พระที่รับนิมนต์มาฉันบ้านเศรษฐีประจำ มีจำนวนวันละพันรูป ที่บ้านจึงต้องมีผู้คนตระเตรียมอาหารถวายพระ ยังกับมีงานมหรสพทุกวันก็ว่าได้

มหาสุภัททา ลูกสาวคนโตเป็นแม่งานใหญ่ดูแลสั่งการทุกอย่าง งานดำเนินมาด้วยความเรียบร้อยตลอดมา  พอสุภัททาแต่งงานออกเรือนไปแล้ว น้องสาวคนรองคือจุลสุภัททา ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทน ครั้นจุลสุภัททาแต่งงานไปอยู่กับครอบครัวพ่อแม่สามีแล้ว น้องคนสุดท้องชื่อสุมมาเทวี รับหน้าที่แทน

ครับ มีลูกสาวก็ดีอย่างนี้แหละ แบ่งเบาภาระได้ ตัวท่านเศรษฐีนั้นไม่มีเวลาว่างเลย ไปเป็นที่ปรึกษาในกิจการงานบุญของชาวบ้านตลอดเวลา เพราะท่านเป็นผู้ใกล้ชิดพระศาสนา ใกล้ชิดพระสงฆ์ ใครจะทำบุญเลี้ยงพระ หรือจัดงานบุญอื่นๆ ต้องมาขอคำแนะนำจากท่านอนาถบิณฑิกะตลอด

งานภายในบ้านต้องมอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของบุตรสาว

แล้วบุตรชายคนโตและคนเดียวของเศรษฐีเล่า ไม่ได้ช่วยอะไรเลยหรือ

ในเบื้องต้นแล้วไม่ได้ช่วยอะไรเลยครับ เป็นบุตรไม่เอาถ่าน เอาแต่เที่ยวเตร่เป็นเพลย์บอยตามประสาลูกมหาเศรษฐี

ดีว่าสมัยโน้นไม่มีรถซิ่ง ถ้ามีแกคงซิ่งรถแข่ง ไม่มีโอกาสตายตอนแก่ (รถคว่ำตาย) ก็อาจเป็นได้

ท่านเศรษฐีเองก็ “เจ๊กอั่ก” ที่มีลูกชายไม่เอาไหน แต่ท่านก็ใจเย็น คอยหาวิธีอบรมลูกชายด้วยความอดทน สารพัดเทคนิควิธี ท่านได้คิดค้นออกมาเพื่อจะปรับเปลี่ยนนิสัยของลูกชาย แต่ก็ไม่เป็นผล

ในที่สุด ท่านก็คิดได้วิธีหนึ่งขึ้นมาคือ “จ้างลูกไปฟังธรรม”

ท่านเรียกลูกชายมาต่อรองว่า ถ้าลูกไปฟังธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงวันละครั้ง พ่อจะให้เงินเท่านั้นเท่านี้ คงให้มากโขกอยู่  ลูกชายจึงตกลงไปฟังธรรมที่วัดพระเชตวันทุกเย็น ว่ากันว่า แกไปวัดเพราะอยากได้เงิน มิใช่อยากได้ความรู้ธรรม

เมื่อไปถึงก็มองหาทำเลเหมาะนั่งฟังธรรม แลเห็นใต้ธรรมาสน์เหมาะเหม็งดี จึงคลานเข้าไปนั่งฟังธรรม หลับไปอยู่ตรงนั้นเอง เมื่อฟังจบก็ลุกขึ้นกลับบ้าน แบมือทวงค่าจ้าง “ไหนเงิน”

“กินข้าวกินปลาก่อนค่อยเอาก็ได้” คุณพ่อบอก
“ไม่ได้ ต้องเอาเงินมาก่อน” ลูกชายกลัวเบี้ยว เศรษฐีต้องเอาถุงเงินมาวางไว้ตรงหน้า พอเจ้าประคุณจึงจะยอมกันข้าว

เหตุการณ์เป็นไปอย่างนี้พอสมควร วันหนึ่ง พ่อบอกลูกชายว่าถ้าลูกฟังแล้วจำได้วันละบท พ่อจะให้บทละเท่านั้นเท่านี้ ถ้าจำได้มาก พ่อก็จะให้มาก

บุตรชายดีใจมากที่พ่อจะขึ้น “ค่าตัว” จึงตั้งใจฟังตั้งแต่ต้น

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า เด็กหนุ่มต้องการจดจำพระธรรมให้ได้มากที่สุด พระพุทธองค์จึงแสดงธรรมให้เขาค่อยกำหนดทีละประโยค จนกระทั่งจบพระธรรมเทศนา เขาได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

เขาได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านเขาในวันรุ่งขึ้น

วันนั้นเขารีบกลับบ้าน รีบกินข้าว ไม่พูดถึงเงินค่าจ้างเลย รุ่งเช้าขึ้นมาเขาก็รีบไปวัดพระเชตวัน อุ้มบาตรพระพุทธองค์ตามเสด็จมาถึงคฤหาสน์ของตน ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์และพระสงฆ์ “ด้วยมือของตน”

ตรงนี้ขอแทรกนิดหน่อย สำนวนภาษาว่า “เลี้ยงพระสงฆ์ด้วยมือของตน” มิใช่เข้าครัวทำกับข้าวเอง

เป็นประเพณีชาวชมพูทวีปสมัยโน้น เวลาจะถวายอาหารพระ ญาติโยมจะถวายภาชนะ (จานหรือชาม) เปล่าหนึ่งใบ ตัวเองก็ถือขันข้าวและแกงกับตักถวายพระท่านลงในภาชนะเดียวกัน (สมัยพุทธกาล พระท่านฉันในบาตรส่วนมาก) พระท่านก็ “ฉันมือ” (คือใช้มือแทนช้อนส้อม) ถ้าท่านพอแล้วก็ยกมือเป็นสัญญาณว่าพอแล้ว เสร็จแล้วก็ถวายน้ำล้างมือและผ้าเช็ดมือ

อย่างนี้เรียกว่า “เลี้ยงพระสงฆ์ด้วยมือของตน”

เมื่อพระพุทธองค์พร้อมภิกษุเสวยเสร็จ จะประทานอนุโมทนา เศรษฐีผู้เป็นพ่อก็นำเอาถุงทรัพย์ถุงใหญ่มาวางไว้ต่อหน้าลูกชาย กล่าวดังๆ ว่า “เอ้า นี่ค่าจ้างฟังธรรม รับไว้ซะ” ลูกชายถลึงตาใส่พ่อว่า อย่าพูดอย่างนั้น พ่อยังไม่ “เก็ต” กล่าวว่า ค่าฟังธรรมของลูก รับไว้เสีย เล่นเอาบุตรชายเศรษฐีหน้าแดงด้วยความละอาย

พระพุทธองค์ทรงทราบอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไรมาตั้งแต่ต้น พระองค์ตรัสกับเศรษฐีว่า “อนาถบิณฑิกะ” บัดนี้บุตรชายท่านได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ไม่ยินดีรับทรัพย์ภายนอกใดๆ เพราะได้ทรัพย์ภายในแล้ว” เสร็จแล้วพระองค์ก็ตรัสคาถาสอนธรรมสั้นๆ บทหนึ่งว่า
     ปฐพฺยา เอกรชฺเชน    สคฺคสฺส คมเนน วา
     สพฺพโลกาธิปจฺเจน    โสดาปตฺติผลํ วรํ
     ยิ่งกว่าเอกราชทั่วแผ่นดิน  ยิ่งกว่าขึ้นสวรรคาลัย
     ยิ่งกว่าอธิปไตยในโลกทั้งปวง  คือพระโสดาปัตติผล
     Than sole sovereignty over the earth, than going to celestial worlds,
     than lordship over all the worlds,  is the fruit of a stream-winner.

ก็เป็นอันว่า ท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกชายได้สำเร็จ หมดเงินไปเท่าไหร่ไม่ทราบ แต่ก็คุ้ม เพราะหลังจากนั้น นายกาละ ลูกชายโทนของท่านก็เป็นอุบาสกคนสำคัญอีกคนหนึ่ง ผู้เป็นพ่อเองก็ “ตายตาหลับ” ว่าอย่างนั้นเถิด

มีลูกไม่ดีนี่ อย่าว่าแต่จะตายตาไม่หลับเลยครับ ขณะยังไม่ตายนี่แหละ กลุ้มอกกลุ้มใจดุจไฟลน เรื่องของโลกก็อย่างนี้แหละ ไม่มีบุตรชายก็กลุ้ม เพราะค่านิยมถือว่าบุตรชายเป็นผู้สืบสกุล ถึงกับพูดว่า “แต่งงานแล้วไม่มีบุตรสืบสกุล จะตกนรกขุมปุตตะ” พอมีบุตรชายมา บุตรชายไม่เอาไหน เกเรเกตุง ก็ “ตกนรก” อีกเช่นกัน

เพราะเหตุนี้แหละ เมื่อเทวดาองค์หนึ่งมากล่าวภาษิตถวายพระพุทธองค์ว่า “คนมีบุตรเพลิดเพลินเพราะบุตร” พระองค์ตรัสว่า ไม่ถูกดอก นั่นมันมองโลกแบบโลกียชน ในสายตาของพระอริยเจ้าแล้ว ท่านเห็นตรงกันข้าม ท่านเห็นว่า “คนมีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร” ต่างหาก

ท่านผู้อ่านละครับ จะถือข้างไหน

คือจะเสมอข้าง “คนมีบุตร เพลิดเพลินเพราะบุตร” หรือ “คนมีบุตร เศร้าโศกเพราะบุตร” หรือจะเอาทั้งสองอย่าง เพลิดเพลินก็เอา เศร้าโศก (ถึงไม่เต็มใจ) ก็ยอมรับ สำหรับผมขอจบแค่นี้ก่อน...


ข้อมูล : บทความพิเศษ จ้างลูกชายฟังธรรม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๙๘ ประจำวันที่ ๓๐ ม.ค.-๕ ก.พ. ๒๕๕๘

.

(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQaor4Z99LmcF76sqGnmpe4_a89Td8j5JQkkxithsrUFzAbatV1GQ)
๙๕. จ้างลูกสาวคนโตและคนรอง
(มหาสุภัททากับจุลสุภัททา)


เล่าเรื่องลูกชายคนโตของอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาแล้ว คราวนี้มาเล่าเรื่องลูกสาวของท่านบ้าง หมดเรื่องลูกสาวแล้วค่อยเล่าเรื่องภรรยา

ท่านเศรษฐีมีลูกสาวสามคน คือ มหาสุภัททา จุลสุภัททา และสุมนาเทวี

ในตำราระดับอรรถกถาเล่าเรื่องของนางมหาสุภัททากับจุลสุภัททา ปนกันจนเป็นเรื่องคนเดียวกัน

เรื่องที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้ ในคัมภีร์อรรถกถาแห่งอังคุตตรนิกายว่าเป็นเรื่องของพี่สาว (มหาสุภัททา) แต่ในอรรถกถาธรรมบท (อรรถกถาแห่งขุททกนิกาย) บอกว่าเป็นเรื่องของจุลสุภัททา

เรื่องมีดังนี้

สมัยอนาถบิณฑิกเศรษฐียังหนุ่มแน่น มีสหายรักอยู่คนหนึ่ง ชาวเมืองอุคคนคร ทั้งสองคนรู้จักกันและได้เป็นสหายกัน เพราะเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน  ทั้งสองได้สัญญากันว่า เมื่อต่างคนต่างแต่งงานมีลูกมีเต้าแล้ว ถ้าใครมีลูกชายก็ขอให้หมั้นหมายกับลูกสาวของอีกฝ่ายหนึ่ง

หลังจากเรียนจบกลับมาบ้านเมืองของตน ทั้งสองต่างก็ได้เป็นเศรษฐี เป็นศักดิ์เป็นศรีแก่บ้านเมืองของตน  

วันหนึ่ง อุคคเศรษฐีเดินทางไปด้วยเรื่องธุรกิจที่เมืองสาวัตถี ได้ทราบว่าสุทัตตะ (นามเดิมของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี) มีบุตรสาวถึงสามคน ตนมีลูกชายคนหนึ่ง จึงทวงสัญญาที่เคยให้กันไว้สมัยยังเป็นนักศึกษา

เศรษฐีจึงเรียกจุลสุภัททา (อรรถกถาอังคุตตรนิกายว่าเป็นมหาสุภัททาผู้พี่) บอกว่าพ่อได้หมั้นหมายเจ้าไว้กับลูกอุคคเศรษฐี ตั้งแต่ลูกยังไม่เกิด บัดนี้เขามาทวงสัญญาแล้ว ลูกจะต้องแต่งงานกับลูกชายเขา

ธรรมเนียมสมัยโน้น แน่นอนย่อม “คลุมถุงชน” เป็นปกติธรรมอยู่แล้ว ลูกสาวจำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพ่อแม่ งานแต่งงานอันใหญ่โตโอฬารก็เกิดขึ้น

สมัยโน้น ฝ่ายหญิงต้องไปอยู่กับตระกูลฝ่ายสามี พ่อแม่จึงให้โอวาทสอนแล้วสอนอีกว่า แต่งงานแล้วจะต้องปรนนิบัติพ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างไร โอวาท ๑๐ ข้อที่พ่อนางสุภัททาสอนนางนั่นแหละครับ เป็นโอวาที่พ่อแม่ทุกคนนำมาสอนลูก

โอวาท ๑๐ ข้อนั้น คือ
๑. ไฟในอย่านำออก (อย่านำเรื่องภายในครอบครัวไปนินทาให้คนข้างนอกฟัง)
๒. ไฟนอกอย่านำเข้า (อย่าเอาเรื่องของคนข้างนอกมานินทาให้ครอบครัวฟัง)
๓. จงให้คนที่ให้ (คนยืมของแล้วคืน มายืมอีกจงให้)
๔. อย่าให้คนไม่ให้ (คนที่ยืมของแล้วไม่คืน ภายหลังอย่าให้ยืมอีก)
๕. จงให้คนที่ไม่ให้ (ญาติพี่น้อง ถึงเขายืมแล้วไม่คืนก็ให้)
๖. นั่งให้เป็นสุข (นั่งในที่ไม่ต้องลุก คืออย่านั่งขวางทางคนอื่น)
๗. นอนให้เป็นสุข (อย่านอนขวางทางคนอื่น)
๘. กินให้เป็นสุข (ไม่กินในที่ที่ขวางทางคนอื่น)
๙. จงบูชาไฟ (ให้ปรนนิบัติพ่อสามี แม่สามี และสามีให้ดี)
๑๐. จงบูชาเทวดา (ให้ทานต่อสมณะชีพราหมณ์)

เวลาพ่อจะส่งลูกสาวให้ไปอยู่กับตระกูลสามี พ่อได้ส่งกฎุมพี ๘ คน ไปเป็นหูเป็นตาช่วยดูแลลูกสาวด้วย ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับลูกสาว ก็ให้กฎุมพีทั้ง ๘ ช่วยวินิจฉัยด้วย คล้ายส่งที่ปรึกษาไปช่วยดูแลแทนนั้นแหละครับ

ว่ากันว่า ตระกูลสามีเป็น “มิจฉาทิฐิ” ในความหมายนี้ก็คือ พวกเขานับถือสมณะชีพราหมณ์ลัทธิอื่น

นัยว่าตระกูลนี้นับถือพวกชีเปลือย (ศาสนาเชน หรือนิครนถ์นาฏบุตร) ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในอินเดียสมัยโน้น

เวลามีงานมงคล พ่อสามีจะสั่งสอนให้ลูกสะใภ้มาไหว้สมณะที่เขาเคารพนับถือ นางก็ไม่ค่อยไป เมื่อบ่อยเข้าพ่อสามีก็หาว่าลูกสะใภ้หัวแข็ง ไม่เคารพต่อสามี มีความผิดมหันต์ถึงขั้นต้องส่งกลับตระกูลเดิม

ว่ากันว่า สตรีที่ตระกูลของสามีส่งกลับบ้าน นับว่าเป็นกาลกิณีใหญ่หลวง เป็นความอัปยศอย่างสุดประมาณ เผลอๆ พ่อแม่อาจไม่รับคืนบ้าน ขับไล่ไสส่งให้ไปอยู่ที่อื่นอีกต่างหาก

สุภัททาเธอเห็นว่า เรื่องจะไปกันใหญ่ จึงเล่าเรื่องให้กฎุมพี ๘ คนฟัง

กฎุมพีทั้ง ๘ จึงไปไกล่เกลี่ยไม่ให้เศรษฐีเอาเรื่อง เพราะนางไม่ผิด นางมีสิทธิ์นับถือศาสนาใดๆ ก็ได้ที่ตนเลื่อมใส ไม่ควรบังคับให้นับถือชีเปลือย

ภรรยาเศรษฐียังไม่วายบ่น ว่าลูกสะใภ้ฉันมันหัวแข็งและปากไม่ดี หาว่าพระของพวกฉันไม่มียางอาย อยากรู้นักว่า พระของนางดีเด่นแค่ไหน

สุภัททาจึงกล่าวโศลกพรรณนาคุณของพระของนางให้ฟัง ดังนี้ครับ

ท่านมีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ ยืนเดินเรียบร้อย มีจักษุทอดลงต่ำ พูดพอประมาณ สมณะของฉันเป็นเช่นนี้

กายกรรมหมดจด วจีกรรมหมดจด มโนกรรมก็หมดจด สมณะของฉันเป็นเช่นนี้

ท่านบริสุทธิ์ ไร้มลทิน ดุจสังข์ขัด และดุจมุกดามณี บริสุทธิ์ทั้งภายในและภายนอก ด้วยธรรมอันหมดจด สมณะของฉันเป็นเช่นนี้

ชาวโลกฟูเมื่อมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ ฟุบเมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศและนินทา

สมณะของฉันไม่ฟูหรือฟุบ ไม่ว่าจะมีลาภหรือเสื่อมลาภ มียศหรือเสื่อมยศ มีสรรเสริญหรือนินทา จิตใจท่านมั่นคง สมณะของฉันเป็นเช่นนี้

แม่สามีกล่าวว่า เธอจงแสดงสมณะของเธอให้ฉันดูเดี๋ยวนี้ นางรับว่า ได้ พรุ่งนี้ฉันจะนิมนต์พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้านให้ดูเป็นขวัญตา ว่าแล้วนางก็ขึ้นบนปราสาทชั้นบน ผินหน้าไปทางพระเชตวัน กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ทำการบูชาด้วยดอกไม้ของหอมแล้วกราบทูลอาราธนาว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลูกสุภัททาขออาราธนาพระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาฉันภัตตาหารที่บ้านของลูกในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด”

เสร็จแล้วก็ซัดดอกมะลิไปในอากาศ ๘ กำ ดอกไม้นั้นลอยหายวับไปกับตาอย่างมหัศจรรย์ แล้วมาตกลงเบื้องพระบาทของพระพุทธองค์ที่พระเชตวัน ขณะทรงแสดงธรรมอยู่

หลังทรงแสดงธรรมเสร็จ อนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลอาราธนาให้เสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านท่าน พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ตถาคตรับนิมนต์สุภัททา บุตรสาวท่านแล้ว”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุภัททาบุตรสาวข้าพระองค์อยู่ถึงอุคคนคร ไกลลิบเลย นางมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์ได้อย่างไร”

ของพรรค์นี้ง่ายนิดเดียว นางสุภัททาเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ย่อมสามารถส่งกระแสจิตมานิมนต์พระพุทธองค์ได้ หรือแม้นางไม่ได้เป็นพระอริยะระดับใด พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นสัพพัญญูย่อมทรงทราบอยู่แล้ว พระองค์มิได้ตอบอนาถบิณฑิกเศรษฐีอย่างนี้ แต่ตรัสเป็นคาถา (โศลกประพันธ์) ว่า

สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล ดุจเขาหิมพานต์ อสัตบุรุษต่างหาก แม้อยู่ไกลก็ไม่ปรากฏ ดุจลูกศรที่ยิงในเวลากลางคืน (มองไม่เห็น)

ว่ากันว่า วิสสุกรรมเทพบุตร นิรมิตเรือนยอดใหญ่โตให้พระพุทธองค์ประทับพร้อมภิกษุสงฆ์ แล้วเรือนยอดก็ลอยลิ่วๆ จากพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ไปยังอุคคนครปรากฏต่อสายตาครอบครัวอุคคเศรษฐี เป็นที่อัศจรรย์นัก

เศรษฐีเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เลยทิ้งศาสนาเดิม หันมานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะพร้อมครอบครัว ถวายทานแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ๗ วันติดต่อกัน

เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับเมืองสาวัตถี พระองค์รับสั่งให้พระอนุรุทธะอยู่ก่อน เพื่ออนุเคราะห์นางสุภัททาและครอบครัวสามี

เรื่องที่เล่านี้ไม่รู้ว่าสุภัททาไหน มหาสุภัททาหรือจุลสุภัททา

เอาเป็นว่าสุภัททาบุตรสาวของเศรษฐีก็แล้วกัน...


ข้อมูล : บทความพิเศษ ลูกสาวคนโตและคนรอง โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๗๙๙ ประจำวันที่ ๖-๑๒ ก.พ. ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 09:18:22
.

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ_o_CGeZWWC6tnjU1c88k7bi8DQ7ywykWLiVG-9VYqhVvgpsJT)
๙๖. เมื่อลูกกลายเป็นพี่ของพ่อ
(สุมนาเทวี)


ลูกสาวคนโตและคนรองของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชื่อ มหาสุภัททา และ จุลสุภัททา ตามลำดับ

สองคนนี้คัมภีร์พระพุทธศาสนาเล่าประวัติปะปนกัน จนแยกไม่ออกว่าใครเป็นสุภัททาผู้พี่ ใครเป็นสุภัททาผู้น้อง เพราะทั้งสองคนต่างก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และทั้งสองก็ได้แต่งงานกับสามีที่คู่ควรกัน และได้ไปอยู่ที่ตระกูลสามี ตามประเพณีของชาวชมพูทวีป

ทั้งสองเป็นพระอริยบุคคลระดับพระโสดาบัน มีศรัทธา ไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัย ไม่เหมือนปุถุชนยัง “แกว่ง” ไปมาอยู่

เมื่อเธอทั้งสองเป็นสาวิกาผู้แน่วแน่มั่นคง จึงไม่แปลกที่สามารถ convert ทั้งสามีและพ่อแม่สามี ให้ละทิ้งลัทธิคำสอนเดิมที่ตนเคยนับถือ หันมานับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

เมื่อพี่สาวทั้งสองออกเรือนไปแล้ว หน้าที่ในการดูแลการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ประจำก็ตกอยู่ที่สุมนาเทวี บุตรสาวคนเล็กของท่านเศรษฐี

ท่านเศรษฐีนั้นคงไม่มีเวลามาดูแล เพราะต้องยุ่งกับธุรกิจค้าขาย และไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ดูแลวัดและความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ ตลอดถึงเป็นที่ปรึกษาในกิจการงานบุญที่ชาวบ้านอื่นๆ เขาทำด้วย

นัยว่า เวลาชาวบ้านเขาจะทำบุญทำทาน เขาก็มักเชิญท่านเศรษฐีกับนางวิสาขามหาอุบาสิกาไปให้คำปรึกษาหารือ ทำนองมรรคนายก และมรรคนายิกา อะไรอย่างนั้นแหละ

แล้วอย่างนี้ท่านจะมีเวลาที่ไหน ก็ต้องให้ลูกสาวรับหน้าที่ดูแลกิจการภายในบ้านแทน  

เมื่อพี่สาวทั้งสองคนออกเรือนไปแล้ว นางสุมนาเทวีน้องสาวคนเล็กก็ดูแลแทน ส่วนพี่ชายคนโต (นายกาละ) ในช่วงระยะเวลาที่กล่าวถึงนี้ คงเกเรเกตุง คุมผับบาร์ทั่วไป ไม่สนใจเรื่องทำบุญสุนทาน หรือเข้าวัดฟังธรรม  ซึ่งก็เป็นธรรมดา ลูกชายโทนส่วนมากมักจะมีนิสัยออกมาแนวนี้ เพราะถูกเลี้ยงอย่างเอาอกเอาใจ

เดชะบุญที่ในที่สุดท่านเศรษฐีผู้พ่อ “ดัดสันดาน” ได้สำเร็จ เรียกว่าถึงพ่อจะตายก็ตายตาหลับแล้ว ว่าอย่างนั้นเถอะ

วิธีฝึกลูกชายของเศรษฐี (ดังได้เล่าไว้แล้วในตอนก่อน) คือจ้างลูกไปฟังธรรมให้มันแพงๆ มันอยากได้เงินเที่ยวผับเที่ยวบาร์มากๆ มันก็ไปฟังเอง ตอนแรกก็จ้างให้ไปวัดฟังธรรมเฉยๆ ต่อมาจ้างให้มันจดจำคำเทศน์มาด้วย จำได้มากจะให้มาก เมื่อมีเครื่องล่อใจ คนเรามันก็ทำสิครับ แต่เมื่อฟังไปๆ ได้ความรู้มากขึ้น ก็ได้สำนึกขึ้นมาเอง ดังกรณีนายกาละคนนี้

พ่อแม่ท่านใดที่ยังแก้ปัญหาลูกชายเกเรไม่ตก ลองเอาวิธีของอนาถบิณฑิกเศรษฐีใช้บ้างก็ได้ครับ

หันมาพูดถึงสุมนาเทวี ขณะที่รับหน้าที่เป็นแม่งานการถวายภัตตาหารประจำแก่พระสงฆ์นี้ นัยว่าเธอได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบันแล้ว ต่อมาเธอก็ก้าวสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือเป็นพระสกทาคามี

ต่อมาไม่นานเธอก็ล้มป่วยลง เป็นโรคอะไรไม่แจ้ง แต่ปรากฏว่าอาการทรุดลงทุกขณะ  จนกระทั่งใกล้จะถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต พ่อไม่อยู่บ้าน เพราะมัวแต่ไปให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้าน คนในบ้านไปตามพ่อ บอกว่าสุมนาเทวีอาการหนัก

เศรษฐีรีบกลับมาหาลูกด้วยความเป็นห่วง มาถึงก็ถามว่า ”เป็นยังไงบ้างลูกพ่อ”
“ไม่เป็นอะไรมากดอก น้องชาย” ลูกสาวตอบ


ได้ฟังดังนั้น เศรษฐีก็ตกใจว่าลูกสาวอาการหนักจนเพ้อ ปลอบลูกว่า “อย่ากลัวเลยลูก พ่ออยู่นี่”
“พี่ไม่กลัว น้องชาย” เรียกน้องเหมือนเดิม
“ลูกพ่อเพ้อแล้ว” เศรษฐีหดหู่ใจอย่างยิ่ง
“พี่ไม่ได้เพ้อนะ น้องชาย น้องชายอย่าเศร้าโศกเสียใจเลย พี่จะไปแล้ว”
ว่าแล้วก็เงียบ ไม่พูดไม่จาอีกต่อไป จนกระทั่งสิ้นลมหายใจ

เศรษฐีเศร้าโศกเสียใจมาก แทบไม่เป็นอันกินอันนอน เสียใจที่สูญเสียลูกน่ะมากโขอยู่แล้ว แต่เสียใจที่ว่าลูกสาวของตน “หลงทำกาละ” มากกว่าหลายเท่า เมื่อนึกว่าลูกสาวคงมีคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้าไม่ดีแน่ ก็ยิ่งรันทดใจหนักขึ้น

ตรงนี้ต้องขยายสักเล็กน้อย คือ คนที่ทำบาปทำกรรมมากๆ จะได้รับผลทั้งทันตาเห็นในโลกนี้ และในชาติหน้า ดังนี้ครับ
๑. ย่อมเสื่อมจากโภคทรัพย์ คือ เสียเงินเสียทองเพราะการทำชั่วเป็นเหตุ เช่น ถูกจับกุมต้องเสียเงินประกัน เสียเงินจ้างทนายขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกตัดสินริบทรัพย์สมบัติ ดังกรณีทรราชทั้งหลาย เป็นต้น
๒. ชื่อเสีย (ไม่มีตัว ง นับครับ) ขจรขยายไปทั่ว ถูกคนเขาสาปแช่งไปทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่มีอะไรดีเลย ถ้าชั่วมากจนแผ่นดินรับไว้ไม่ไหว ก็อาจถูกแผ่นดินสูบดังกรณีพระเทวทัต นางจิญจมาณวิกาในอดีต เป็นต้น ถ้าชั่วน้อยหน่อยก็ตกเป็นขี้ปากชาวบ้าน ไปไหนมาไหนคนก็สะกิดให้กันดู “นั่นไง คนเอางบประมาณแผ่นดินเข้าพกเข้าห่อตัวเอง” อะไรทำนองนี้
๓. ไม่แกล้วกล้าในสมาคม เข้าสมาคมไหนก็จ๋องๆ หวาดๆ กลัวๆ เพราะตัวเองมีแผล กลัวจะโดนสะกิดแผลเข้า บางทีก็ลืมตัวไปว่าคนอื่น เพราะปากไว พอเขาสวนกลับเท่านั้น สะดุ้งแปดตลบ เพราะโดนแผลขี้เรื้อนตัวเองเข้า จำต้องสงบปากสงบคำ
๔. ย่อมหลงตาย หมายความว่าเวลาจะตายมักจะเพ้อไร้สติ เพราะนิมิตแห่งบาปกรรมที่ทำไว้มาปรากฏให้เห็น แล้วก็สะดุ้งหวาดกลัวร้องออกมา ว่ากันว่านายพลคนดังในอดีต สั่งประหารชีวิตคนจำนวนมาก บางทีก็ประหารผิด ผู้บริสุทธิ์ถูกประหารตายไปหลายคน พอถึงคราวจะตาย เพ้อ “เผามันเลย ประหารมันเลย” แล้วก็ร้องว่า “โอ๊ย ร้อนๆ” แล้วก็ขาดใจตาย นี่แหละเรียกว่าหลงตาย
๕. ตายแล้วไปสู่ทุคติ คือไปเกิดในแดนไม่ดี ตกนรกหมกไหม้ หรือไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย หรือแม้กระทั่งเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เห็นลูกสาวคนเล็กเพ้อไม่ได้สติก่อนที่จะสิ้นลม ท่านจึงรันทดใจมาก สงสัยว่าลูกสาวตัวเองก็ใจบุญสุนทาน ไม่ปรากฏว่าทำบาปทำกรรมอะไร ทำไมจึง “หลงตาย” ทำไมจึงต้องไปสู่ทุคติ

ท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ ไม่วายตัดพ้อว่าเพราะเหตุใดคนที่ทำแต่ความดีอย่างลูกสาวตน จึงจะต้อง “หลงตาย” ด้วย หรือว่าบาปกรรมแต่ชาติปางไหน

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “ทำไมคหบดีจึงว่าอย่างนั้น”

เศรษฐีกราบทูลว่า “เพราะลูกสาวข้าพระองค์เพ้อพูดกับข้าพระองค์ ว่า “น้องชาย” แสดงว่าเธอหลงตาย พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “สุมนาพูดถูกแล้ว เธอเป็นอริยบุคคลระดับสกทาคามีแล้ว สูงกว่าท่านตั้งหนึ่งขั้น เธอจึงเป็นพี่ท่านในทางคุณธรรม เธอหาได้เพ้อไม่”

เศรษฐีเอามือป้ายน้ำตาด้วยความปลาบปลื้ม ความทุกข์โศกพลันสลายไปสิ้นแล ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ เมื่อลูกกลายเป็นพี่ของพ่อ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๐ ประจำวันที่ ๑๓-๑๙ ก.พ. ๒๕๕๘


.

(http://www.br.ac.th/elearning/social/jitraporn/Buddhism%20%20M6/image/unit_8/B_hist34[1].jpg)
๙๗. นายดี คนใช้ไม่ดี
(นายกาลกัณณี - นายนันทะ)


ตามบริบทของพระสูตรและอรรถกถา มองเห็นภาพท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นคนใจบุญสุนทานจริงๆ มีความเคารพในพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์มาก

โดยเฉพาะความเคารพรักในพระพุทธองค์มีมากจนเกิดความไม่สมดุล หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ท่านรักและเคารพพระพุทธองค์ไม่ค่อยถูกทาง  ดังพระพุทธดำรัสว่า “รักษาเราในฐานะที่ไม่ควรรักษา”

รักษาในที่นี้แปลว่า ดูแลเลี้ยงดูได้ด้วย (ดังภาษาชาวใต้นั่นแหละ) แปลว่าปกป้องคุ้มครองได้ด้วย

สาเหตุที่พระพุทธองค์ดำรัสอย่างนี้ ก็เพราะท่านเศรษฐี แม้ว่าจะ “ไปสู่ที่บำรุง” (หมายถึงเข้าเฝ้า) พระพุทธเจ้าวันละสามครั้ง (เช้า-กลางวัน-เย็น) ก็เฝ้าเฉยๆ เวลาใครไปทูลถามปัญหาและเวลาพระพุทธองค์ตอบปัญหาแก่ผู้เข้าเฝ้าอื่นๆ ก็พลอยนั่งฟังอยู่ด้วย ไม่เคยคิดที่จะทูลถามข้อข้องใจของตนกับพระพุทธองค์เลย

เหตุผลของท่านเศรษฐีก็คือ กลัวพระพุทธองค์จะทรงเหนื่อย พระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนประชาชนมาทั้งวันแล้ว ถ้าจะทรงแสดงธรรมหรือประทานโอวาทแก่ตัวท่านอีก พระองค์จะไม่ทรงมีเวลาพักผ่อน จึงไม่คิดรบกวนพระพุทธองค์ ด้วยการถามปัญหาข้อข้องใจกับพระพุทธองค์  จนพระพุทธองค์ตรัสเปรยๆ ว่า ท่านเศรษฐี “รักษาพระองค์ในฐานะที่ไม่ควรรักษา” ดังกล่าวมา

แต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี คงไม่เก็บงำความสงสัยเรื่องต่างๆ ไว้ในใจตลอดไป เพราะมีพระเถระที่ท่านเศรษฐีคุ้นเคยมากที่สุดอย่างน้อยสองรูป คือ พระสารีบุตรอัครสาวกกับพระอานนท์พุทธอนุชา

ท่านมีข้อสงสัยอะไรก็เรียนถามพระเถระทั้งสอง รูปใดรูปหนึ่ง วันไหนว่างก็นิมนต์พระสารีบุตรไปแสดงธรรมให้ฟังที่บ้าน เนื่องจากพระสารีบุตรเป็นพระนักวิชาการ อธิบายธรรมละเอียดลึกซึ้ง ท่านเศรษฐีฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็สนุกเพลิดเพลินในการฟังธรรม

มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรแสดงธรรมง่ายเป็นพิเศษ เศรษฐีเข้าใจแจ่มแจ้ง หลังพระสารีบุตรแสดงธรรมจบ ท่านเศรษฐีก็บอกว่า ต่อไปขอพระคุณเจ้าแสดงธรรมง่ายๆ อย่างนี้เสมอได้ไหม

จากเรื่องราวเช่นนี้ แสดงว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคุ้นเคยกับพระอัครสาวกมาก ถึงขนาดกล้า “คอมเมนต์” ว่า ที่แล้วๆ มาเทศนาไม่รู้เรื่อง แต่คราวนี้รู้เรื่องดี ต่อไปเทศน์แบบนี้สิขอรับ อะไรทำนองนั้น

ความจริงสาวกอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดีนะครับ ที่ท่านเศรษฐีไม่อยากรบกวนพระพุทธองค์ เพราะคิดว่า พระองค์เป็นคนของประชาชนให้พระองค์ทรงมีเวลาโปรดประชาชนได้เต็มที่จะดีกว่า ความสงสัยอะไรที่ตนมีถามพระเถระทั้งสองรูปดังกล่าวมาก็ย่อมได้ ไม่จำเป็นต้องรบกวนเบื้องยุคลบาทพระบรมศาสดา

ยกเว้นแต่เรื่องสำคัญๆ ค่อยทูลถาม มองในแง่มุมของเศรษฐีก็น่าจะเรียกว่า ท่านเศรษฐี “รักษาพระพุทธองค์ในฐานะที่ควรรักษา” ก็ได้นะครับ

ในอีกแง่มุมหนึ่งของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็น่าคิด ท่านเศรษฐีถึงจะเป็นคนมีบุญเป็นเศรษฐีใจบุญ แต่ท่านก็มีเพื่อนที่มักจะมีนิสัยตรงข้ามกับท่าน คนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเหล้า บางคนก็คิดแต่จะเอารัดเอาเปรียบ เรียกว่า “มีบุญแต่กรรมบัง” ดังสำนวนไทยกระมังครับ

พูดถึงคนใช้ ว่ากันว่าคนใช้ของท่านก็มักไม่ค่อยฉลาด คนที่ฉลาดก็มักจะแกมโกง เป็นเสียอย่างนั้น คนใช้คนหนึ่ง (สงสัยจะเป็นประเภททาสในเรือนเบี้ย) เป็นเพื่อนเล่นกับท่านมาตั้งแต่เด็ก ชื่อไม่เป็นมงคลเสียด้วย คือชื่อ “กาลกัณณี” (นายอับโชค)

หลายคนเตือนท่านว่าอย่าเอาคนใช้คนนี้ไว้เลย จะทำให้ธุรกิจไม่เจริญก้าวหน้า ท่านก็ไม่เชื่อ เพราะถือว่าเป็น “เพื่อน” กันมาแต่เด็ก ต้องชุบเลี้ยงไว้

วันหนึ่งนายอับโชคก็นำชโชคมาให้ท่านเศรษฐี ขณะที่ท่านไม่อยู่บ้าน พวกโจรมันย่องขึ้นบ้านท่าน วันนั้นอยู่บ้านแต่นายอับโชคคนเดียว นายอับโชคได้ต่อสู้กับพวกขโมย จนสามารถขับไล่พวกขโมยหนีไปได้ โดยไม่สูญเสียทรัพย์สมบัติใดๆ เศรษฐีกลับมาทราบเรื่องเข้า ก็ชมเชยนายอับโชค ตกรางวัลให้ตามสมควร

เล่าไว้อีกว่า สาวใช้คนหนึ่งทึ่มทึบมากขนาดฆ่าแม่ตัวเองตายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เห็นแมลงวันเกาะจมูกแม่ ด้วยความหวังดี เอาสากฟาดแมลงวันตุ้บใหญ่ ได้ผล ตายแหงแก๋ 

แม่ตายครับ ไม่ใช่แมลงวัน

คนทึ่มปานนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไป อย่านึกว่าไม่มี สมัยผมบวชพระอยู่วัดทองนพคุณ ฝั่งธนบุรี ท่านเจ้าคุณภัทรมุนี หรือที่ใครๆ รู้จักในนามว่า “เจ้าคุณอิน” ท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของผม เมื่อครั้งผมบวช ท่านมีชื่อเสียงในทาง มีคน “ขึ้น” มากมาย

สิ่งหนึ่งที่ท่านพยายามทำคือ ฝึกศิษย์ให้มีปฏิภาณแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ท่านให้สังเกตแขกที่มาหาท่าน และให้ศิษย์ต้อนรับแขกอย่างถูกต้องเหมาะสม เวลาแขกมาก็ให้ยกน้ำท่ามาให้แขกโดยไม่ต้องให้ตะโกนเรียก ซึ่งมันดูไม่ดีไม่งาม

มีศิษย์คนหนึ่งชื่อ ไอ้โรจน์ ปัญญาค่อนข้างทึบ ท่านพยายามฝึกยังไงก็ไม่ดีขึ้น จะใช้ให้ทำอะไรต้องแจงละเอียด คิดเอาเองไม่ค่อยเป็น

วันหนึ่งท่านเห็นไอ้โรจน์ยกกับข้าวมาถวายเพล ท่านสังเกตเห็นถ้วยน้ำพริกไม่มีผักจิ้มมาด้วย ท่านจึงเอาช้อนเคาะจานเบาๆ ชำเลืองดูไอ้โรจน์ ไอ้โรจน์ก็ไม่ยอม “เก๊ต” ยืนทื่ออยู่ ท่านเห็นว่า ขืนไม่พูดคงอดฉันน้ำพริกแน่ จึงถามว่า “น้ำพริกนี่มากะอะไร”

ไอ้โรจน์ตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “มากับถ้วยครับผม” (ฮิฮิ)

ถึงอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะมีความพรั่งพร้อมอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง แต่ก็มีบริวารที่ไม่ค่อยได้ดังใจดังกล่าวมา ซึ่งก็เป็นธรรมดาไม่ว่าสมัยไหน

ท่านเศรษฐีมีฟาร์มเลี้ยงโคใหญ่โต เป็นธุรกิจทำรายได้มหาศาล มีผู้ดูแลฟาร์มชื่อนันทะ ว่ากันว่านายนันทะคนนี้ “หนีราชภัย” (ไม่ทราบว่าเรื่องอะไร) มาเป็นนายโคบาลอยู่กับเศรษฐี ฐานะความเป็นอยู่ของนายนันทะนั้นร่ำรวย มิใช่โคบาลธรรมดา

นายนันทะเห็นอนาถบิณฑิกเศรษฐีอุปัฏฐากอุปถัมภ์พระพุทธเจ้าสม่ำเสมอก็อยากทำบ้าง ขออนุญาตเศรษฐีไปอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตนหลายครั้ง

แต่พระพุทธองค์ตรัสให้รอก่อน ถึงเวลาอันควรแล้วพระองค์จะเสด็จไปเอง

คัมภีร์ศาสนาว่า พระพุทธองค์รอ “ความแก่กล้าแห่งอินทรีย์” ของนายนันทะ หมายความว่ารอความพร้อมของนายนันทะก่อน

เมื่อทรงทราบว่านายนันทะมีความพร้อมจะฟังธรรมและได้ผลจากการฟังธรรมแล้ว จึงพร้อมภิกษุสงฆ์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านนายนันทะ

นายนันทะตระเตรียมงานถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานติดต่อกัน ๗ วัน ในวันสุดท้ายหลังจากฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว นายนันทะได้บรรลุโสดาปัตติผลกลายเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น คือพระโสดาบัน

นายนันทะ ตามส่งเสด็จพระพุทธองค์กลับพระเชตวัน ระหว่างทางเดินกลับบ้าน ถูกยิงเสียชีวิต ว่ากันว่าคนยิงเป็นนายพรานคนหนึ่ง สงสัยคู่อริจ้างวานมาปลิดชีพก็เป็นได้ แต่นายนันทะก็ไม่ตายฟรี แม้ว่าจะจับคนจ้างวานและคนฆ่าไม่ได้ นายนันทะก็ตายหลังจากได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว

พระอริยบุคคลระดับนี้มีคติแน่นอนไม่ไหลงลงสู่ที่ต่ำ อยู่ในโลกเพียงวันเดียว ก็ดีกว่าคนไม่เห็นธรรมมีชีวิตอีกตั้งร้อยปี ปานนั้นแหละขอรับ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ นายดี คนใช้ไม่ดี โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๑ ประจำวันที่ ๒๐-๒๖ ก.พ. ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 มีนาคม 2558 14:59:36
.

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQO-yM4PjUxKUItZheWSna_VM9fyvZBqrRAXq-dO2UaRELPQQHf)
ธรรมะที่ทรงสอนอนาถบิณฑิกเศรษฐี (๑)


ที่เคยบอกว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มักไม่ทูลถามข้อธรรมปฏิบัติจากพระพุทธเจ้า เพราะท่านเกรงว่าจะเป็นการรบกวนเบื้องยุคลบาท เมื่อไม่ต้องการให้พระพุทธองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย จึงไม่ทูลถามปัญหาใดๆ นั้น มิได้หมายความว่าท่านเศรษฐีเป็นคนไม่ใฝ่ใจศึกษาปฏิบัติธรรม หามิได้

ที่จริงแล้วท่านเป็นผู้มี “ธัมมกามตา” (ความใฝ่ธรรม, ความใฝ่รู้) เป็นอย่างยิ่ง

ท่านมีพระเถระที่สนิทคุ้นเคยสองรูปคือ พระสารีบุตรและพระอานนท์ มีปัญหาข้องใจอะไร พระเถระทั้งสองจะเป็นผู้อนุเคราห์แสดงธรรมให้ท่านฟัง ดังปรากฏในพระสูตรหลายแห่ง

เข้าใจว่า เมื่อได้รับคำเตือนจากพระพุทธองค์แล้ว ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี คงกล้ากราบทูลถามธรรมะมากขึ้น

ดังปรากฏว่ามีหลายสูตรบันทึกธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ท่านฟัง

น่าสนใจว่า ธรรมะที่ทรงแสดงแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นธรรมพื้นๆ ธรรมะสำหรับชาวบ้านพึงปฏิบัติ ผมขอยกตัวอย่างมาลงไว้ ณ ที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใฝ่ใจศึกษา

๑. “จิตที่คุ้มครองดีแล้ว ปลอดภัยเหมือนเรือนที่มุงบังดีแล้ว ฝนไม่รั่วรดฉะนั้น”
พุทธภาษิตบทนี้ทรงสอนคนอื่นในที่อื่นด้วย ความหมายทรงเน้นไปที่ “ราคะ” (ความกำหนดในกาม)  มันเหมือนฝนที่รั่วรดบ้านที่หลังคามุงไม่ดี บ้านหลังคามุงไม่ดี  บ้านหลังคารั่วเดือดร้อนอย่างไร เวลาฝนตกเป็นที่รู้กันดี ทรงเปรียบเหมือนจิตใจที่ถูกราคะความกำหนัดครอบงำ  ย่อมจะทำความเดือดร้อนกระวนกระวายให้ผู้นั้นอย่างยิ่ง

๒. “การให้อาหารเป็นทาน ย่อมได้รับผลบุญ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ”
 ข้อนี้อธิบายด้วยเหตุผลธรรมก็ได้ คนที่ให้ข้าวน้ำแก่คนอื่น คนที่รับ หรือคนที่กินข้าวน้ำนั้น ย่อมจะมีอายุยืนยาวไปอีก มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีความสุข ไม่ต้องหิวโหย ทนทุกข์ทรมาน และมีพละกำลังเพิ่มขึ้น นี้พูดถึงอานิสงส์ที่ผู้รับได้   ส่วนผู้ให้ก็ย่อมจะได้รับอานิสงส์เช่นนั้นเหมือนกัน เห็นคนอื่นเขาได้กินข้าวปลาอาหารที่ตนให้แล้ว ก็มีปิติสุข จิตใจผ่องใสเบิกบาน ว่าตนได้สงเคราะห์เพื่อนมนุษย์

คนที่มีความสุขใจ ผิวพรรณก็ย่อมจะผุดผ่อง ไม่เศร้าหมอง ยืดอายุไปได้อีก มีกำลังใจและความเข้มแข็งขึ้น

มองสั้นเพียงแค่นี้ก็เห็นว่า การให้ข้าวน้ำเป็นทาน มีอานิสงส์มากมาย ยิ่งมองให้ลึกและมองให้ยาวไกล ยิ่งจะเห็นมากขึ้น

แปลกนะครับ คนที่ใจกว้าง ใจบุญ ใจกุศล ยิ่งให้มากๆ โดยมิได้คิดถึงผลตอบแทน ผลที่ตอบแทนกลับมีมากโดยไม่รู้ตัว ตรงกันข้าม ใครที่งก เห็นแก่ได้ ไม่รู้จักสละอะไรให้ใครๆ เลย มีแต่ความเห็นแก่ตัว มักไม่ค่อยได้อะไร

เอริก ฟรอมม์ นักจิตวิทยามีชื่อ กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า “ความรักคือการให้ ยิ่งคุณให้มากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งได้มากเท่านั้น” ท่านผู้นี้พูดอย่างกับเปิดพระไตรปิฎกอ่านแน่ะครับ เพราะข้อเขียนของท่าน สอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาพอดิบพอดี

๓. “หน้าที่ ๔ อย่างที่คฤหัสถ์ผู้มีจิตศรัทธาจะพึงปฏิบัติคือ บำรุงพระสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่” (จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ที่บางท่านคิดเป็นคำง่ายๆ ว่า “ข้าว ผ้า ยา บ้าน”)

ธรรมะข้อนี้เท่ากับบอกหน้าที่ที่คฤหัสถ์พึงทำ และบอกด้วยว่า คฤหัสถ์เท่านั้นที่จะต้องทำหน้าที่นี้ บรรพชิตหรือพระ มีหน้าที่อื่นที่ต้องทำ โดยสรุปคือ สั่งสอนประชาชนผู้ที่บำรุงเลี้ยงท่านด้วยปัจจัยสี่ เป็นการตอบแทน

พูดให้ชัดก็คือ การจัดหาอาหารบิณฑบาต การจัดสร้างสถานที่พำนักอาศัย การจัดหาจีวร เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนการถวายการรักษาพยาบาล เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์โดยตรง   คฤหัสถ์ต้องดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ ให้ท่านสะดวกสบายทางด้านวัตถุ พระสงฆ์ท่านจะได้ไม่ต้องมากังวลในเรื่องเหล่านี้ จะได้อุทิศเวลาศึกษาปฏิบัติธรรม และสั่งสอนประชาชนได้เต็มที่

เมื่อใดพระสงฆ์ท่านมาเริ่มทำสิ่งเหล่านี้เสียเอง คือก่อสร้างโบสถ์ วิหาร เสนาสนะอื่นๆ กันเอง แสวงหาเงินทองมาเป็นทุนในการสร้างและปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมกันเอง ก็แสดงว่าชาวบ้านบกพร่องในหน้าที่  เพราะชาวบ้านไม่ได้ดูแลท่าน ท่านจึงต้องขวนขวายทำกันเอง เมื่อท่านมาทำเรื่องเหล่านี้ ท่านก็ “เขว” ออกจากทางเดินของท่าน เรียกว่า “ออกนอกทาง” ว่าอย่างนั้นเถอะ

ชาวบ้านเห็นพระท่านเขวออกนอกทาง “เพราะความบกพร่องในหน้าที่ของตน” แทนที่จะละอายใจ แต่เพื่อกลบเกลื่อนความบกพร่องของตน ก็ยุพระส่งเลยว่า ท่านทำดีแล้ว ท่านเก่ง ท่านมีบารมีมาก หาเงินทองได้มาก ก็เลยเฮโลสนับสนุนเป็นการใหญ่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

พระภิกษุบางรูป มีความสามารถในการระดมทุน ก็สนุกสนาน ขวนขวายหาเงินเป็นการใหญ่ ท่ามกลางความชื่นชมของพุทธศาสนิกชน (ผู้บกพร่องในหน้าที่ของตนเอง)

เมื่อมีหนึ่งรูป ก็มีรูปที่สอง ที่สาม  ที่สี่ ตามมา ตกลงสังคมพุทธจึงเต็มไปด้วยพุทธบริษัทผู้ไขว้เขวในหน้าที่อันแท้จริงของตน หรือพูดให้ชัดก็คือ พากันเดินหลงทางไปกันหมด

แล้วอย่างนี้ เมื่อไรจะถึงเป้าหมายเล่าครับ มัวแต่เข้ารกเข้าพงกันไปหมดอย่างนี้ ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ ธรรมะที่ทรงสอนอนาถบิณฑิกเศรษฐี (๑) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๒ ประจำวันที่ ๒๗ ก.พ. - ๕ มี.ค. ๒๕๕๘


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQO-yM4PjUxKUItZheWSna_VM9fyvZBqrRAXq-dO2UaRELPQQHf)
ธรรมะที่ทรงสอนอนาถบิณฑิกเศรษฐี (๒)


๔. ความปรารถนาสมหวังได้ยาก ๔ ประการ คือ
๑. ขอให้สมบัติจงเกิดมีแก่เราโดยทางที่ชอบ
๒. ขอยศจงมีแก่เรากับญาติพี่น้อง
๓. ขอให้เรามีอายุยืนนาน
๔. เมื่อสิ้นชีวิต ขอให้เราจงไปเกิดในสวรรค์

ธรรมะหลักนี้ ตรัสสอนแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

ตรัสถึงสิ่งที่ปรารถนาแล้วสมใจยาก ๔ ประการ สิ่งเหล่านี้มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุเพียงปรารถนาอ้อนวอนเอา ต้องลงมือทำเหตุที่จะบันดาลผลเช่นนั้น และการสร้างการทำเอาก็มิใช่ว่าทำเล็กๆ น้อยๆ แล้วจะได้ผลดังกล่าว ต้องสร้างต้องสมอย่างจริงจัง และใช้เวลานานพอสมควร

ในมหาชนกชาดก มีสุภาษิตบทหนึ่งว่า “น หิ จินฺตามยา โภคา คือ โภคทรัพย์ทั้งหลายจะสำเร็จด้วยการคิดเอาหาได้ไม่” หมายความว่า ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องทำเอา อยากได้โภคทรัพย์ก็ต้องพยายามทำเหตุที่จะได้โภคทรัพย์ เช่น ตรัส “หัวใจเศรษฐี” ไว้ ๔ ประการ ใครอยากรวยให้ปฏิบัติดังนี้ คือ
๑. ขยันหาทรัพย์ในทางซื่อสัตย์สุจริต
๒. หามาได้แล้วรู้จักใช้จ่าย รู้จักเก็บออม
๓. คบเพื่อนที่เกื้อกูลแก่อาชีพ (เช่น คนทำมาหากิน อย่าริคบนักเลงพนัน)
๔. ใช้จ่ายให้พอเหมาะพอสมแก่อัตภาพความเป็นอยู่ (เห็นเศรษฐีเขากินอาหารมื้อละหมื่น ตัวมีรายได้เดือนละแค่ไม่กี่พัน อย่าริทำตาม)

ถ้าสร้างเหตุที่เหมาะสม ก็จะได้ผลสมควรพอแก่เหตุ ไม่มีดอกครับที่จะลอยมาเฉยๆ

คนที่พากเพียรกระทำการต่างๆ ย่อมสามารถชนะอุปสรรค ได้รับผลน่าพึงพอใจในที่สุด ได้แล้วก็หายเหนื่อย ว่ากันว่า พลังแห่งความเพียรนี้ แม้เทวดาก็กีดกันไม่ได้

ขอเล่านิทานประกอบ (เพราะ “เข้าทาง” พอดี)

ในอดีตกาล พระราชาสองเมืองรบกันมาราธอนมาก ไม่มีใครแพ้ชนะ รบไปๆ ถึงหน้าฝนก็พักรบ หมดหน้าฝนก็มารบกันใหม่

ว่ากันว่า ฤๅษีตนหนึ่งเล่าเรื่องนี้ให้ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ฟัง แล้วถามพระอินทร์ว่า พระราชาองค์ไหนจะชนะ ฤๅษีก็เลยมาบอกให้ลูกศิษย์ฟัง ลูกศิษย์ก็ไปบอกใครต่อใครว่า อาจารย์เราทายว่า พระราชา ก. จะชนะ

เรื่องล่วงรู้ไปถึงพระราชาทั้งสองพระองค์ องค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะก็ดีใจ ไม่สนใจฝึกซ้อมวิทยายุทธ์ ว่าอย่างนั้นเถอะ ไม่ฝึกปรือทหารหาญ มัวประมาท เพราะคิดว่าตนจะชนะแหงๆ อยู่แล้ว

ข้างฝ่ายพระราชาที่ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้ ทีแรกก็เสียใจ แต่หักห้ามใจได้ คิดว่าถ้าฟ้าดินจะให้แพ้ก็ยอมรับลิขิตฟ้าดิน แต่ไหนๆ ก็ได้ลงสนามรบแล้ว เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด ว่าแล้วก็ระดมฝึกปรือทหารหาญเป็นการใหญ่ ไม่ประมาท เตรียมพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อถึงวันรบกัน ปรากฏว่า ข้างฝ่ายพระราชา ก. แพ้ยับเยิน  พระราชา ข. กำชัยชนะไว้ได้

ต่อมาพระราชา ก. ก็ฝากต่อว่ามายังฤๅษีว่า ทำนายชุ่ยๆ โกหกทั้งเพ ว่า เราจะชนะ ท้ายที่สุดก็แพ้เขาหมดท่า “หมอดูเฮงซวย เชื่อไม่ได้” อะไรทำนองนั้น ฤๅษีก็ว่า มิใช่ตนเป็นคนทำนาย ตนฟังมาจากคนอื่น ว่าแล้วก็ถือไม้เท้ายักแย่ยักยันไปหาพระอินทร์ (ความจริงแกคงเข้าฌานหายตัวไปหาพระอินทร์มากกว่า) ต่อว่าพระอินทร์ที่ทำให้ขายหน้า และถูกด่าอีกต่างหาก

พระอินทร์กล่าวว่า ที่ทายนั้นไม่ผิดดอก ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามทางของมัน ท้ายที่สุด พระราชา ก. จะต้องชนะอย่างแน่นอน แต่นี้เพราะพระราชา ก. ประมาท พระราชา ข. ไม่ประมาท พากเพียรพยายามจนถึงที่สุด จึงกลับตาลปัตรอย่างนี้ แล้วพระอินทร์ก็กล่าวสุภาษิตซึ่งคมมากว่า

คนที่พากเพียรพยายามอย่างแท้จริง แม้เทวดาก็กีดกันมิได้

๕. สิ่งที่น่าปรารถนาจะสำเร็จได้ยาก ๔ ประการ คือ
๑. ขอให้มีอายุยืนนาน
๒. ขอให้มีรูปงาม
๓. ขอให้มีความสุข
๔. ขอให้มีเกียรติยศชื่อเสียง

ถ้าคนเราปรารถนาด้วย ทำด้วย ในเรื่องทั้ง ๔ ประการนี้ ถึงจะสำเร็จ ก็ใช่ว่าจะสำเร็จโดยง่าย อายุคนเรานั้นจะยืนนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับกรรมเก่า และขึ้นอยู่กับกรรมใหม่

กรรมเก่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้าคนมักฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในปางก่อน เกิดมาชาตินี้จะมีอายุนั้น คำว่า “จะ” นั้น มิใช่ว่า “ต้อง” ขึ้นอยู่กับกรรมใหม่ เราทำมากพอหรือไม่ ถ้าแนวโน้ม (ตามกรรมเก่า) ว่าจะอายุสั้นแต่พยายามทำเหตุที่จะให้ยืดอายุ อายุนั้นก็อาจไม่สั้นก็ได้

นี้แหละเรียกว่า กรรมใหม่

มีเรื่องเล่าทำนองนิทานเล่าขานกันเล่นๆ แต่สาระน่าสนใจ คือ สามเณรน้อยได้รับคำพยากรณ์ว่า จะตายภายในเจ็ดวัน สามเณรน้อยเสียใจมาก เดินออกจากวัดไป หวังไปตายดาบหน้า ระหว่างทางไปพบปลาดิ้นอยู่ในแอ่งน้ำในนาซึ่งกำลังแห้งขอด เกิดความสงสารจึงจับปลานั้นไปปล่อยในน้ำ ช่วยชีวิตปลาไว้ได้

เลยเวลาเจ็ดวันแล้วสามเณรยังไม่ตาย จึงกลับวัดเดิม อาจารย์เห็นสามเณรไม่ตาย ก็สงสัยว่า ตาม “ดวง” ว่าจะเสียชีวิต แต่ทำไมยังรอดอยู่ได้ ว่ากันว่าสามเณรได้ “สร้างเงื่อนไขใหม่” คือ ทำบุญกุศลช่วยชีวิตปลา ชีวิตที่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุด ก็ยังไม่สิ้นสุด มีอายุยืนยาวออกไปอีก ว่าอย่างนั้น

มีนักวิชาการบอกว่า ถ้าอยากมีอายุยืน ให้ปฏิบัติตามหลัก ๕ อ. คือ อ.ออกกำลังกาย  อ.อากาศ  อ.อาหาร  อ.อารมณ์  อ.อุจจาระ ว่าทำตามนี้เป็นกิจวัตร อายุจะยืน ว่าอย่างนั้นก็มิใช่ว่าจะเป็นสูตรตายตัว เพราะคนที่ระมัดระวังอย่างดี ทำตามนั้นทุกอย่าง ก็ตายไม่ทันแก่ก็มี สาเหตุใหญ่และสาเหตุที่แท้จริงอยู่ที่กรรมเก่าทำมาอย่างไร

และอยู่ที่กรรมใหม่ (การทำความดีใหม่ๆ) มากน้อยเพียงใดมากกว่า

เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า สิ่งที่น่าปรารถนาประการแรก คือ ขอให้อายุยืน ถึงจะสำเร็จ ก็สำเร็จได้ยาก

สิ่งที่น่าปรารถนาประการที่สอง ขอให้รูปงาม สำเร็จได้ยาก  ข้อนี้อธิบายง่าย เอาแค่เกิดมารูปไม่หล่อ ไม่สวย อยากจะมีรูปหล่อ รูปสวย ก็สามารถทำได้สำเร็จ แต่ก็สำเร็จได้ยาก เพราะจะต้องเสียเงินทองแพงๆ บางคนหน้าหัก จมูกบี้ อยากสวยเหมือนคนอื่นเขา ก็ทำได้ด้วยการไปให้ศัลยแพทย์ตัดนั่น เฉือนนี่ เติมโน่น ออกมาดูดีได้ แต่กว่าจะสำเร็จ ก็หมดเงินไปหลายพัน หลายแสน สำเร็จได้โดยยากครับ

ยิ่งคนที่ไม่เคยทำบุญกุศลชนิดที่จะเป็นสาเหตุให้รูปงามด้วยแล้ว ยังไงๆ ก็เกิดมาในชาตินี้ด้วยรูปร่างหน้าตาที่สวยสดงดงามไม่ได้  เพราะเหตุนี้ การขอให้เกิดมารูปงามนั้น มิใช่สำเร็จได้โดยง่ายๆ ต้องทำบุญทำกุศลไว้มากพอสมควร

การขอให้มีความสุข ไม่มีทุกข์เลย หรือมีทุกข์น้อย ยิ่งเป็นไปได้ยาก คนจะมีความสุข ก็ต้องสร้างเหตุแห่งความสุข จึงจะมีสุข เช่น ไม่เบียดเบียน ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำตนให้อยู่ในกรอบเบญจศีลเบญจธรรมอย่างเคร่งครัด จะเป็นเครื่องรับประกันว่า จะมีความสุขในชีวิตอย่างแน่นอน รวมทั้งชื่อเสียงที่ดีงามด้วย ดังในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์ของการมีศีลบริสุทธิ์ว่า ผู้มีศีลบริสุทธิ์ จะได้รับผลดี ๕ ประการ ๒ ใน ๕ ประการนั้นคือมีเกียรติยศชื่อเสียง มนุษย์ก็รัก เทพก็ชม พรหมก็สรรเสริญ มีความสุข ไม่มีเวรมีภัย แม้จะตายก็ยังตายอย่างสงบ

จะมีสุขปานนั้นหรือมีเกียรติยศปานนั้น ก็ต้องรักษาศีล (อย่างน้อย ศีล ๕) ได้อย่างครบถ้วน และการรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นมิใช่ของง่าย ยากยิ่งกว่ากลิ้งครกขึ้นเขาเสียอีก  เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า การขอให้มีเกียรติยศชื่อเสียง ขอให้มีความสุขมากกว่าความทุกข์ สำเร็จได้ไม่ง่ายนัก

แต่ถึงจะตรัสว่าสำเร็จยาก ก็บอกนัยแง่บวกไว้อยู่ว่า “สำเร็จได้” แต่สำเร็จยากเท่านั้นเอง

ถ้าเข้าใจว่า ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ก็จะไม่หมดกำลังใจ อยากได้ผลอย่างไร ก็จะสร้างเหตุให้เกิดผลอย่างนั้น ด้วยความอุตสาหะพยายามต่อไป ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ ธรรมะที่ทรงสอนอนาถบิณฑิกเศรษฐี (๒) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๓ ประจำวันที่ ๖-๑๒ มี.ค. ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 มีนาคม 2558 13:54:56
.

(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR_VuUYM8RV7yHkpR3AGMK-NDWQiF3TLSg6TB59dkrlYqrXQ2ac-w)
ธรรมะที่ทรงสอนอนาถบิณฑิกเศรษฐี  (๓)


๖. ธรรมกิเลส ๕ ประการ
ธรรมะพื้นฐาน แต่จำเป็นมากสำหรับคฤหัสถ์ทุกคน (บรรพชิตด้วย) คือการละเว้นจากกรรมกิเลส ๕ ประการดังจะกล่าวข้างท้ายนี้ ก่อนอื่นขอแปลศัพท์ กรรมกิเลสก่อน

กรรมกิเลส แปลว่า ความมัวหมองแห่งกรรม (กรรมกระทำ) แปลไทยเป็นไทยอีกทีก็คือ การกระทำที่ทำให้เสื่อมเสีย การกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียมีอยู่ ๕ ประการ ซึ่งก็คือการละเมิดศีล ๕ ข้อนั่นเอง มีดังนี้
๑. การฆ่าสัตว์
๒. การลักทรัพย์
๓. การผิดในกาม
๔. การพูดเท็จ
๕. การดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

โดยตัวอักษร ถ้าเราไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดลูกเมียเขา ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มสุราเมรัย ก็น่าจะเป็นคนดีมีศีลแล้ว นั่นนับว่าถูกในระดับหนึ่งเท่านั้น

แต่ถ้าจะว่าโดยความจริงแล้ว เวลาพระพุทธองค์ตรัสถึงศีล ท่านมักจะตรัสในแง่ลบและแง่บวกรวมกันไป

ทำให้เห็นว่า การงดเว้นจากการกระทำที่ไม่เหมาะสมนั้นๆ เป็นศีลในแง่ลบ ส่วนการบำเพ็ญหรือพัฒนาคุณธรรมเสริมเป็นศีลในแง่บวก

เช่นตรัสว่า “ละขาดจากปาณาติบาต เว้นการตัดรอนชีวิต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอายใจ กอปรด้วยเมตตา ใฝ่ใจช่วยเหลือเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง”

พูดอีกนัยหนึ่งว่า ศีลที่สมบูรณ์ในความหมายของศัพท์คือ
๑. การละเว้นจากการฆ่าสัตว์ (รวมถึงการเบียดเบียนต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ) และความเมตตากรุณา
๒. การละเว้นจากการลักทรัพย์ (รวมถึงการละเมิดสิทธิของผู้อื่นทางด้านทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์) และการประกอบสัมมาอาชีพที่ช่วยให้ชีวิตมั่นคง อันจะไม่เป็นเหตุให้ลักทรัพย์ (คนเราถ้ามีอาชีพมั่นคง ก็จะไม่จำเป็นต้องลักขโมยคนอื่นกิน นอกเสียจากจะเป็น “สันดาน”)
๓. การละเว้นจากการผิดในกาม (รวมถึงไม่ผิดต่อบุคคลที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ผิดประเวณีทางเพศ ไม่นอกใจคู่ครองของตน) และการสำรวมในกาม หรือความพอใจในคู่ครองของตนเท่านั้น
๔. การละเว้นจากการพูดเท็จ (รวมถึงพูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ หรือการเบียดเบียนผู้อื่นทางวาจาในรูปแบบอื่น) และความซื่อสัตย์
๕. การละเว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท (รวมถึงเครื่องมึนเมา เครื่องเสพติดทุกชนิด เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ บุหรี่ กัญชา เฮโรอีน ฯลฯ) และความไม่ประมาท หรือมีสติสัมปชัญญะ

นักปราชญ์ไทย บัญญัติศีลกับธรรมเป็นคนละอย่าง คือเอา “ศีลในแง่ลบ” เป็นศีล เอา “ศีลในแง่บวก” เป็นธรรม เรียกว่า “เบญจศีล” กับ “เบญจธรรม” โดยจับคู่กันดังนี้

เวลาที่สอนก็จะเน้นว่า อย่างนี้คือศีล อย่างนี้คือธรรม แล้วอ้างอรรถกถาที่ท่านวางเกณฑ์ตัดสินว่า แค่ไหนเพียงไหนถือว่า “ศีลขาด” แค่ไหนไม่ขาด เรียกว่า “องค์ประกอบ” ของศีลแต่ละข้อคือ
๑. ศีลข้อ ๑ ปาณาติบาต มีองค์ ๕ คือ
- สัตว์มีชีวิต
- รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
- จิตคิดจะฆ่า
- ลงมือฆ่า
- สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
๒. ศีลข้อ ๒ อทินนาทาน มีองค์ ๕ คือ
    - ของนั้นเขาหวงแหน
    - รู้อยู่ว่าเขาหวงแหน
    - จิตคิดจะลัก
    - ลงมือลัก
    -ลักมาได้สำเร็จ
๓. ศีลข้อ ๓ กาเมสุมิจฉาจารา มีองค์ ๔ คือ
    - สตรีหรือบุรุษที่ไม่ควรละเมิด
    - จิตคิดเสพ
    - พยายามเสพ
    - เสพสำเร็จ
๔. ศีลข้อ ๔ มุสาวาท มีองค์ ๔ คือ
   - เรื่องไม่จริง
    - คิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน
    - พยายามกล่าวออกไป
    - ผู้ฟังเข้าใจตามนั้น
๕. ศีลข้อ ๕ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน มีองค์ ๔ คือ
    - สิ่งนั้นเป็นของเมา
    - จิตคิดที่จะดื่ม
    - พยายามที่จะดื่ม
    - น้ำเมานั้นร่วงลงสู่ลำคอไป

ถ้าถือองค์ประกอบเป็นหลักสำคัญ ก็กลายเป็นการศึกษาศีล แต่ในแง่ลบ การกระทำนั้น แม้จะเป็นการเบียดเบียนคนอื่นให้ลำบากในรูปแบบต่างๆ แต่บังเอิญว่าไม่ครบองค์ประกอบของศีลแต่ละข้อ ก็ถือว่าไม่ผิดศีล ผู้ถือศีลในแง่ลบอย่างเดียว บางครั้งจึงเป็นคนโหดร้าย เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบคนอื่นอย่างน่าเกลียด

เพราะถืออย่างนี้เอง บางครั้งเราจึงได้เห็นภาพ (สมมตินะครับ) สามเณรน้อยไล่เตะหมา หมาร้องเอ๋งๆ ด้วยความเจ็บปวด ครั้นญาติโยมถามว่า เณร ทำไมเตะหมา เณรน้อยตอบด้วยความรอบรู้ว่า “ไม่เป็นไรดอกโยม ไม่ผิดศีล)

การถือศีลเพียงในแง่นี้ ไม่มีทางที่จิตจะละเอียด ประณีต คนมีศีลในแง่ลบ ยิ่งมากเท่าไร กลับจะเป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมมากขึ้นเท่านั้น เพราะแต่ละคนจะหาทางเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างหน้าตาเฉย แถมยังภูมิใจด้วยว่า การกระทำนั้นไม่ผิดศีล เพระไม่ครบองค์ประกอบ

เจ้าของโรงงานที่ใช้แรงงานจนเด็กพิการ ที่เขาเรียกว่าโรงงานนรก เศรษฐีนีเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยแพงหูดับตับไหม้ กระทั่งโรงงานผลิตสินค้าที่ทำลายสภาพแวดล้อม เป็นเหตุให้สุขภาพของประชาชนเสื่อมโทรม และผลิตสินค้าต้นทุนถูกแต่ขายแพง ฯลฯ ต่างก็นั่งภูมิใจว่าตนไม่เห็นผิดตรงไหนเลย เพราะไม่ครบองค์ประกอบ

เพราะฉะนั้น เมื่อจะรักษาศีลให้อำนวยประโยชน์ จึงต้องคำนึงถึง “ศีลในแง่บวก” (ที่ปราชญ์ไทยโบราณเรียกว่า “ธรรม”) ควบคู่ไปด้วย พูดให้ชัดว่าต้องรักษาทั้งศีลและธรรม

อันที่จริง เมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนศีล พระองค์ทรงหมายรวมความหมายในแง่บวกด้วย ไม่เคยแยกว่า นี่ศีล นี่ธรรม เพราะศีลก็คือธรรม ธรรมก็คือศีล อ้าว ไม่เชื่อหรือ

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด สรุปรวมลงในอริยมรรคมีองค์แปด และอริยมรรคมีองค์แปด สรุปได้อีกขึ้นหนึ่งเป็นไตรสิกขา (สิกขา ๓) คือศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็คือธรรม (ธรรมขั้นศีล) สมาธิก็คือธรรม (ธรรมขั้นสมาธิ) และปัญญาก็คือธรรม (ธรรมขั้นปัญญา) เห็นไหมครับ ทีนี้เชื่อหรือยังล่ะ

ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงตรัสถึงศีลทั้งในแง่ลบและแง่บวก คนส่วนมากมักจะพูดถึงศีลในแง่ลบ ให้ศีล รับศีล รักษาศีล เฉพาะในแง่ลบ พฤติกรรมของคนที่คิดว่าตนมีศีลจึงไม่ดีขึ้น เพราะขาดคุณสมบัติด้านบวกของศีล ปราชญ์ไทยโบราณจึงหาวิธีสอนศาสนาใหม่โดยแบ่งว่า นี่คือศีล และนี่คือธรรม แล้วก็บอกต่อไปว่า  รักษาศีลอย่างเดียวไม่พอ ต้องรักษาธรรมหรือพัฒนาธรรมด้วย จึงจะนับว่าเป็นคนดี ก็โอเคครับ การบัญญัติใหม่อย่างนี้เป็นไปด้วยกุศลจิต ด้วยความปรารถนาดีอยากจะให้คนมีศีลทั้งในแง่ลบและแง่บวก ถือว่าไม่ขัดแย้งกับหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา

ศีล ๕ (ทั้งแง่ลบและแง่บวก) นี้เป็นเครื่องประกันความบริสุทธิ์สะอาด ใครสามารถรักษาได้ครบถ้วน จะปราศจากความมัวหมองและปราศจากเวรภัย อย่าคิดว่าศีลในแง่ลบอย่างเดียวแล้วจะประกันความประพฤติได้

เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การละเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และสุราเมารัย เป็นเครื่องทำให้ไม่มีความเสื่อมเสียทางความประพฤติ และไม่ก่อเวรภัยแก่ตนและสังคมด้วยประการฉะนี้แล เอวัง...


ข้อมูล : บทความพิเศษ ธรรมะที่ทรงสอนอนาถบิณฑิกเศรษฐี (๓) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๔ ประจำวันที่ ๑๓-๑๙ มี.ค. ๒๕๕๘


.

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTEVoaD_NwyuQXlDMtPkgtPotBMkKdiaMd8ps8HyqlF47VGYaAi)

วาระสุดท้าย อนาถบิณฑิกเศรษฐี


ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีป่วยหนักสองครั้ง (เท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ที่ไม่บันทึกไว้ก็มีอีก)

ครั้งแรกท่านป่วยหนัก นึกถึงพระสารีบุตรเถระ จึงส่งคนไปนิมนต์ท่านไปยังนิเวศสถานของตน ขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง เพื่อบรรเทาทุกขเวทนา เพราะอาการไข้กำเริบ สุดจะอดกลั้นเวทนาไว้ได้ สงสัยไม่รอดแน่ๆ

พระสารีบุตรอัครสาวกได้แสดงธรรมให้ฟังว่า ท่านคหบดี ท่านจะร้อนใจไปทำไม คนอย่างท่านเป็นคนเลื่อมใส มั่นคงในพระรัตนตรัย ถึงพร้อมด้วยศีล มีสัมมาทิฐิ ประกอบสัมมากัมมันตะ (การทำงานชอบ) ประกอบสัมมาอาชีวะ (อาชีพสุจริต) มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ (ความหยั่งรู้ชอบ) และสัมมาวิมุตติ (ความหลุดพ้นชอบ) จะเดือดร้อนทำไม

ท่านกล่าวต่อไปว่า ปุถุชนมีกิเลสหนา ที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ไม่มีศีล มีมิจฉาทิฐิ มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ (การหยั่งรู้ผิด) และมิจฉาวิมุติ (การหลุดพ้นผิด)

คนเช่นนี้ตายไปแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุกคติ วินิบาต นรก ส่วนความไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเช่นที่ว่านั้น ไม่มีแก่ตัวท่าน ท่านมีความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย มีศีล ฯลฯ มีสัมมาวิมุติ ก็เมื่อท่านเห็นความดีเหล่านี้ในคน ทุกขเวทนาพึงสงบระงับได้โดยพลัน

พอพระสารีบุตรเทศน์จบลง ทุกขเวทนาของเศรษฐีก็สงบระงับ ท่านจึง “อังคาส” (ถวายภัตตาหาร) แก่พระสารีบุตรด้วยมือ (เคยเล่าไว้แล้วว่า อังคาสพระสงฆ์ด้วยมือ มิใช่เข้าครัวทำอาหารเองแล้วมาถวายพระ หากหมายถึงคอยเสิร์ฟด้วยมือของตน จนพระท่านฉันเสร็จ มิใช่ยกอาหารประเคนพระ แล้วก็ไป ดุจดังชาวพุทธไทยปฏิบัติอยู่)

เมื่อพระสารีบุตรฉันภัตตาหารเสร็จ ก็ได้กล่าวคาถาอนุโมทนา ความว่า “ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลอันงามที่พระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง (เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม) บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์)”

ลืมไปว่าพระอานนท์ได้ตามไปเป็น “ปัจฉาสมณะ” (พระตามหลัง) ของพระสารีบุตรในครั้งนี้ด้วย พระอานนท์นั้นเคารพนับถือพระสารีบุตรมาก พระสาวกทั้งปวงนับถือพระสารีบุตรเป็น “พี่ชายใหญ่” (คำนี้พระพุทธองค์ทรงรับสั่งเรียกเป็นพระองค์แรก) เช่น เวลาพระสงฆ์จะมากราบทูลลาพระพุทธองค์ไปยังต่างเมือง พระองค์ก็จะตรัสว่า “พวกเธอไปลาพี่ชายใหญ่ของพวกเธอด้วย”

เมื่อกลับพระอาราม พระอานนท์เข้าไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบถึงธรรมเทศนาที่พระสารีบุตรแสดงให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟัง

พระพุทธองค์ตรัสว่า อานนท์ สารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เธอได้จำแนก “โสตาปัตติยังคะ” (องค์คุณแห่งพระโสดาบัน) ๔ ประการ ออกเป็น ๑๐ ประการอย่างน่าฟังยิ่ง

ครั้งที่สอง ท่านป่วยหนักอีก ให้คนไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า บัดนี้ท่านป่วยหนัก ลุกไม่ขึ้น ขอน้อมเกล้าฯ ถวายบังคมมา ณ บัดนี้ด้วย กับขออาราธนาพระสารีบุตรไปแสดงธรรมให้ฟัง เพื่อระงับทุกขเวทนา พระพุทธองค์ทรงส่งพระสารีบุตรไป พระอานนท์เป็น “ปัจฉาสมณะ” ตามเคย

พระสารีบุตรได้แสดงธรรมเรื่องตัณหา (ความอยาก) มานะ (ความถือตัว ความยึดมั่นว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่) ทิฐิ (ความเห็นผิด)

สรุปธรรมเทศนาก็คือไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น เมื่อแสดงธรรมจบลง ท่านทั้งสองเห็นว่าอาการป่วยของท่านเศรษฐีทุเลาลง 

อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็น้ำตาไหล กล่าวกับพระเถระว่า ยังไม่เคยได้ฟังธรรมที่รู้สึกจับใจเช่นนี้มาก่อนเลย วันนี้ท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมง่ายๆ เข้าใจดี

ต่อไปขอให้ท่านแสดงง่ายๆ อย่างนี้เถิด (พระนักวิชาการมักแสดงธรรมลึกซึ้ง แต่คราวนี้ท่านนำเสนอง่ายๆ เศรษฐีจึงประทับใจเป็นพิเศษ)

พอพระเถระทั้งสองคล้อยหลังไปไม่นาน อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ถึงแก่กรรม ว่ากันว่าไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ชั้นดุสิต คืนนั้นเองเมืองล่วงปฐมยามแล้ว อนาถบิณฑิกเทพบุตร ผู้มีรัศมีอันเรืองรอง ได้ลงมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ได้กล่าวโศลกสรรเสริญพระสารีบุตรว่า

พระเชตวันนี้ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่พำนักอยู่ พระธรรมราชา (หมายถึง พระพุทธเจ้า) ก็ประทับอยู่ ณ ที่นี้ เป็นสิ่งซึ่งเพิ่มพูนปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยการงาน ความรู้ คุณธรรม ศีล และชีวิตที่อุดม หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่

เพราะเหตุนี้แล บัณฑิตเมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงฟังธรรมโดยแยบคายจึงจะบริสุทธิ์ในธรรม  พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา มีศีล มีธรรมเป็นเครื่องระงับ ในบรรดาภิกษุผู้บรรลุถึงฝั่ง (ถึงจุดหมายสูงสุด) ก็มีพระสารีบุตรนี้แหละเยี่ยมยอดที่สุด  กล่าวดังนี้แล้ว เทพบุตรก็อันตรธานหายไป

รุ่งเช้าขึ้น พระพุทธองค์ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่ามีเทพบุตรองค์หนึ่งมากล่าวโศลกสรรเสริญพระสารีบุตร แล้วทรงเล่าโศลกให้ภิกษุสงฆ์ฟัง

พระอานนท์กราบทูลว่า เทพบุตรองค์นี้คงจะเป็นอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นแน่ เพราะท่านเคารพเลื่อมใสในพระสารีบุตรเหลือเกิน

ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันจากพระพุทธองค์

เรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผมได้ปะติดปะต่อจากพระสูตรต่างๆ เท่าที่มี เรียงร้อยเป็นเรื่องเป็นราวได้เพียงแค่นี้ครับ ชีวิตของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นชีวิตของชาวพุทธ (คฤหัสถ์) ตัวอย่างเรียกว่าเป็น “อุบาสกรัตนะ” (อุบาสกแก้ว) เพราะมีคุณสมบัติล้ำเลิศ ๕ ประการ คือ
๑. มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย
๒. มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์
๓. เชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว
๔. ไม่แสวงหาทักษิณนอกพระพุทธศาสนา (คือ ไม่ทำบุญนอกหลักการของพระพุทธศาสนา)
๕. อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง

น่าคิดว่า ท่านเป็นนักธุรกิจ แต่ท่านเชื่อมั่นในการทำธุรกิจที่ประกอบด้วยธรรม ค้าขายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยมั่นคงในธรรม ท่านก็เจริญรุ่งเรืองด้วยโภคทรัพย์ แม้ว่าบางครั้งจะประสบภาวะวิกฤต แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยความมั่นคงในธรรมเสมอต้นเสมอปลาย

ชีวิตของท่าน จึงน่าจะเป็นแบบอย่างของชาวพุทธ และนักธุรกิจการค้าทั้งหลายเป็นอย่างดี...


ข้อมูล : บทความพิเศษ วาระสุดท้าย อนาถบิณฑิกเศรษฐี โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๕ ประจำวันที่ ๒๐-๒๖ มี.ค. ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 เมษายน 2558 12:28:04
.

(http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2007/12/Y6089073/Y6089073-12.jpg)

อานันทโพธิ


ผู้มีโอกาสไปเยือนอินเดียเพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล  เมื่อย่างเข้าไปยังบริเวณวัดพระเชตวันมหาวิหารกว้างใหญ่อันเป็นที่เสด็จประทับของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเห็นวัดศรีลังกาซึ่งเพิ่งสร้างใหม่ไม่นาน ที่หน้าวัดเป็นที่นาของชาวบ้าน มีบริเวณที่ผู้คนเชื่อกันว่าเป็นที่ฝังศพของนางจินจมานวิกา   แล้วนางจินจมานวิกาเป็นใครหรือ

นางจินจมานวิกาเป็นคนให้ร้ายป้ายสีพระพุทธองค์ เล่นกันถึงขนาดหนัก ถึงขั้นว่าพระพุทธเจ้ามีสัมพันธ์กับนางจนมีบุตร พูดไม่พูดเปล่า นางมีตัวอย่างมาให้ประชาชนดูด้วย

“นี่ไง ดูครรภ์ของข้ามันโตขึ้น”  ประชาชนที่ไม่ใช้สติปัญญาเป็นจำนวนมาก ต่างก็เชื่อไปตามๆ กัน ส่งเสียงอื้ออึงไป นางบอกอีกว่า “ถ้าไม่เชื่อตามข้ามา จะพาไปถามพระสมณโคดม อาจารย์ของท่านด้วยตัวเอง”

ว่าแล้วก็นำประชาชนจำนวนมากเข้าไปยังพระอารามที่พระองค์ท่านประทับ ไปถึงก็กล่าวว่า “สมณะ ท่านได้แต่สอนคนอื่น ภรรยามีบุตรไม่เคยดูแล”

พระพุทธองค์สงบพระวรกายดังเช่นปกติ  ตรัสถามว่า “น้องหญิง ที่เจ้าพูดนั้นจริงหรือเท็จ เธอและเราเท่านั้นที่รู้ความจริง”

นางได้ฟังดังนั้นก็สนองรับทันที “ใช่สิๆ เรื่องนี้มีแต่เราสองคนที่รู้ดี” นางถือไพ่เหนือกว่าพระพุทธองค์ กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ คงสมใจอยาก  พูดว่า “พี่น้องเห็นไหม ในที่สุดพระสมณโคดม ก็ยอมรับแล้ว”  พูดพลางกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ

บังเอิญกระโดดแรงไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ท่อนไม้ที่นางผูกไว้ที่พุงทำทีเป็นตั้งครรภ์ ก็หลุดลงต่อหน้าต่อตาประชาชน  อนิจจา คนพาลที่ให้ร้ายพระพุทธองค์ก็มีอันเป็นไป   ประชาชนต่างลุกฮือขึ้นจับตัวนางจินจมานวิกามาทำโทษ ไม่แน่ใจว่าทำโทษหนักเบาแค่ไหน บ้างก็ว่ารุนแรงถึงขั้นทำร้ายจนตาย 

แต่พระคัมภีร์เล่าไว้ว่า ธรณีสูบร่างนางต่อหน้าต่อตาประชาชน เพราะเหตุนี้แหละ คนเขาจึงเชื่อกันว่า แผ่นดินสูบนาง ณ ที่แห่งนั้น

ส่วนภายในวัดนั้นมีสถานที่ควรพิจารณา ๒-๓ แห่งคือ พระคันธกุฎี สถานที่ประทับของพระพุทธองค์ ปัจจุบันยังมีซากปรักหักพังให้เห็นอยู่ เมื่อผมไปอินเดีย ยังได้ไปสวดมนต์ไหว้พระ ณ กุฏิของพระพุทธองค์ ไปนั่งสมาธิกลางวันแสกๆ ตอนแรกก็ร้อนแดด นั่งไปสักหนึ่งแดดหายไป กลายเป็นความร่มเย็น มีสายลมเย็นพัดผ่านมาเป็นที่อัศจรรย์

ข้างกุฏิที่ประทับมีสระน้ำ (ยังมีน้ำอยู่) คนไปตักน้ำติดตัวไปด้วย ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใกล้สระน้ำมนต์นั้น มีต้นมหาโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่ง  ทราบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี และพระอานนท์ ช่วยกันปลูก  พระราชาตั้งชื่อต้นโพธิ์ว่า “อานันทโพธิ”

ส่วนอีกสถานที่หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นที่พักของพระมหาเถระทั้งหลาย เช่น พระอานนท์ พระมหากัสสปะ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระสีวลี ฯลฯ  เชื่อกันว่า เป็นกุฏิที่พระเหล่านี้ประทับอยู่ ส่วนกุฏิไหนเป็นของพระเถระรูปไหน รู้ได้อย่างไร ไม่ทราบเหมือนกัน ใครเป็นคนบอกไม่ทราบ แต่ก็มีคนเชื่อต่อๆ กันมา บอกเล่ากันว่า ที่นั่นเป็นของพระเถระรูปนั้นรูปนี้ รู้กันทั่วไป แม้แต่เด็กที่เดินตามหลังพวกเรา ต่างก็รู้ว่ากุฏิไหนเป็นของพระเถระรูปไหน

ปรากฏว่า กุฏิของพระสีวลีมักจะมีดอกไม้มาวางสักการะไม่ขาดสาย เรียกว่าเป็นที่โปรดปรานของญาติโยม เพราะท่านเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงว่าเป็นพระเถระที่มีลาภมาก ลาภใครก็อยากได้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

ครานี้มาว่ากันถึงต้นอานันทโพธิ ความเป็นมาก็คือ  คราวหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปหาพระอานนท์ พุทธอนุชา  กราบเรียนท่านว่า เวลาที่พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ ณ ที่อื่น ขอให้พระอานนท์กราบทูลว่า ถ้าจะสร้าง “เจดีย์” (หมายถึงสถานที่ควรบูชา) อะไรสักอย่างสำหรับบูชาแทนพระพุทธองค์ ควรจะเป็นอะไร

พระอานนท์กราบทูลความประสงค์ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า เจดีย์มีอยู่ ๔ ชนิดคือ
๑. ธาตุเจดีย์ สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์ สิ่งของที่พระพุทธเจ้าเคยใช้สอย หรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ
๓. ธรรมเจดีย์ สิ่งที่บรรจุพระธรรม
๔. อุทเทสิกเจดีย์ สิ่งที่สร้างอุทิศ (เจาะจง) พระพุทธเจ้า คือ พระพุทธรูป

พระอานนท์ จึงกราบทูลขอพระพุทธานุญาต นำต้นโพธิ์จากพุทธคยามาปลูกเพื่อให้เป็นปูชนียสถาน เป็นเครื่องสักการะรำลึกถึงพระองค์ในคราวเสด็จไป ณ ที่อื่น ก็ได้รับพระบรมพุทธานุญาต

พระอานนท์ จึงไปแจ้งเรื่องนี้ให้พระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขา มหาอุบาสิกาทราบ  ได้นิมนต์ให้พระโมคคัลลานะ ไปนำต้นโพธิ์มาจากพุทธคยา พระโมคคัลลานะเข้าฌาน เหาะไปเอาเมล็ดมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พระพุทธองค์ประทับเมื่อคราวตรัสรู้

ว่ากันว่า ท่านไปเอามาภายในวันเดียว

เมื่อได้เมล็ดโพธิ์แล้ว ก็ได้ปรึกษากันว่า จะให้ใครเป็นคนปลูก

พระอานนท์เสนอว่า ควรให้พระเจ้าปเสนทิโกศล ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี และเป็นผู้นำแห่งพุทธศาสนิกฝ่ายคฤหัสถ์ ทรงเป็นผู้ปลูก  แต่พระราชาทรงปฏิเสธ ตรัสว่า ควรให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นคนปลูก เพราะเป็นผู้ริเริ่มความคิดนี้ก่อนผู้อื่น  ที่ประชุม (ผมเดาว่าต้องประชุมเป็นการเป็นงาน คงมิใช่ยืนคุยกันว่าเอายังไง อะไรทำนองนั้น) ตกลงยกให้เป็นเกียรติแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี

อนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงนำเมล็ดโพธิ์มา เอาน้ำหอมประพรมแล้วปลูกลง ณ พื้นที่ที่เตรียมไว้ ท่ามกลางเหล่าพุทธศาสนิกชน อันมีพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเป็นประธาน และเพื่อถวายเป็นเกียรติแก่พระอานนท์ ผู้เป็นตัวจักรสำคัญให้แนวคิดนี้สำเร็จขึ้นมา  จึงพร้อมใจกันขนานนามต้นโพธิ์ตามนามของท่านว่า “อานันทโพธิ” จะแปลตามศัพท์ว่าต้นโพธิ์เพลิดเพลินเจริญใจ หรือโพธิ์สุขใจก็ไม่มีใครว่า   ความหมายที่แท้จริงก็คือ ต้นโพธิ์ที่ปลูกขึ้นด้วยคำแนะนำและความช่วยเหลือของพระอานนท์

อานันทโพธิ ยังอยู่จนปัจจุบันนี้ ที่ยืนต้นให้เห็นนั้น คงเป็นลูกหลานของต้นเดิมกระมัง...


ข้อมูล : บทความพิเศษ อานันทโพธิ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๖ ประจำวันที่ ๒๗ มี.ค. - ๒ เม.ย. ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 เมษายน 2558 12:29:15
.

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTeHbSxd-xWIvB8hsy7jJOkRlQ1NPQIad63SJ_OsoZwyrSBbyWX)

๙๘. วิสาขามิคารมาตา
มหาอุบาสิกา


เล่าเรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้วเห็นจะลืมบุคคลอีกท่านหนึ่งไม่ได้เป็นอันขาด เพราะท่านผู้นี้มีอุปการคุณมากต่อพระสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นส่วนรวม

ท่านผู้นี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไรไว้บอกภายหลัง ตอนนี้ขอนำพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้แก่ท่านผู้นี้ฟัง ดังต่อไปนี้

คราวหนึ่ง หลานสาวที่รักยิ่งได้ถึงแก่กรรมลง นางเศร้าโศกเสียใจมาก ร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสสอนเธอว่า

วิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๑๐๐  ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๙๐  ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘๐  ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๑  ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีความโศก ไม่มีความคับแค้นใจ

นางวิสาขาได้หายเศร้าโศกเพราะธรรมเทศนานั้น

พระพุทธเจ้าได้เปล่งอุทานว่า “โศก ปริเวทนาและทุกข์มากหลาย ย่อมมีในโลกนี้ เพราะอาศัยสิ่งที่รัก เมื่อไม่มีรัก โศกเป็นต้นนั้นก็ไม่มี ผู้ไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ต้องการโศกเศร้าก็ไม่ควรรักสิ่งใด

ข้อความข้างต้นมาจากพระสูตรชื่อ วิสาขาสูตร ฟังชื่อพระสูตรก็รู้แล้วใช่ไหมว่าทรงแสดงแก่วิสาขามหาอุบาสิกาฟัง  คราวหนึ่งนางมีความทุกข์ ร้องห่มร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะหลานสาวตาย มีหลายคนสงสัยว่า นางวิสาขาเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบันมิใช่หรือ แล้วทำไมจึงเศร้าโศก

ก็ขอเรียนว่า พระอริยบุคคลระดับต้นๆ ยังละกิเลสอะไรได้ไม่มาก ความเศร้าโศกจึงมีเหมือนๆ ปุถุชนอื่นๆ มีบางท่านเปรียบการละกิเลสของพระอริยะระดับต่างๆ เป็นเปอร์เซ็นต์เชียวครับ บอกว่าพระโสดาบัน ละได้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์  พระสกทาคามี ละได้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์  พระอนาคามี ละได้ ๗๕ เปอร์เซ็นต์  พระอรหันต์ละได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  เห็นเป็นรูปธรรมดีแท้

• เป็นโสดาบันอายุ ๗ ขวบ
นางวิสาขา เป็นบุตรสาวของอภิอมตะเศรษฐีคนหนึ่งเชียวครับ  บิดาของนางชื่อว่า ธนัญชัยเศรษฐี ซึ่งเป็นบุตรของ เมณฑกเศรษฐี และมารดาของนางชื่อว่า นางสุมนา ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกว่า คุณหญิงสุมนา เป็นอย่างต่ำ  เมณฑกเศรษฐีนี้ว่ากันว่าร่ำรวยมหาศาล ไว้เล่าให้ฟังวันหลังแล้วกัน

นางวิสาขาเกิดที่เมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ ติดกับแคว้นมคธ แห่งพระเจ้าพิมพิสาร  กษัตริย์ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาสำคัญพระองค์หนึ่ง

ในเวลาที่กล่าวถึงนี้ พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร (วัดแห่งแรกที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย) เป็นส่วนใหญ่ เสด็จไปโปรดสัตว์ยังต่างเมืองเป็นครั้งคราว

คราวหนึ่งเสด็จไปยังเมืองภัททิยะ นางวิสาขา (เรียกเด็กหญิงวิสาขาจึงจะถูก) มีอายุ ๗ ขวบเท่านั้น พร้อมกับบริวารจำนวนมาก ได้ไปฟังธรรม ด้วยบุญญาบารมีที่ได้บำเพ็ญมาแต่ปางก่อน เป็นอุปนิสัยปัจจัย นางจึงได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน  

หลังฟังพระธรรมเทศนาจบ ได้เป็นสาวิกาผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย มีศรัทธาไม่คลอนแคลนในพระพุทธศาสนามาแต่บัดนั้น

ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล มีพระประสงค์อยากได้เศรษฐีระดับอภิอมตะเช่นธนัญชัยไปประดับเมืองของพระองค์บ้าง เพราะเมืองราชคฤห์นั้นมีเศรษฐีอยู่หลายท่าน เช่น โชติกเศรษฐี ปุณณกเศรษฐี เมณฑกเศรษฐี (ปู่ของนาวิสาขา)  ธนัญชัยเศรษฐี ขอมาสักหนึ่งเศรษฐี ก็คงไม่กระทบกระเทือนเมืองราชคฤห์เท่าไร

ถามว่าขอกันง่ายๆ อย่างนี้หรือ ตอบว่าไม่ใช่ง่ายดอกครับ บังเอิญว่ามหาราชทั้งสองพระองค์นี้ “ดอง” อยู่แล้ว ด้วยต่างก็เป็นสวามีของภคนีของกันและกันอยู่แล้ว มีความรักใคร่ชอบพอกันดี จึงขอกันได้ หาไม่คงไม่มีทางสำเร็จดอก นั่นคือเหตุผล

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เศรษฐีที่กล่าวถึงนี้ ท่านเต็มใจที่จะย้ายไปอยู่เมืองใหม่อยู่แล้วด้วย (บางทีอาจเห็นว่ามีทำเลสำหรับประกอบธุรกิจได้ดีกว่าเดิมก็ได้) การโยกย้ายจึงเกิดขึ้น

เข้าใจว่า ในสมัยนั้นแคว้นอังคะคงอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร ไม่เช่นนั้น ธนัญชัยเศรษฐีคงไม่ถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลขอจากพระเจ้าพิมพิสาร

การที่ครอบครัวมหึมาเช่นครอบครัวของธนัญชัยเศรษฐีจะเคลื่อนย้ายที่อยู่นั้น คงทำไม่ได้ง่ายๆ ต้องมีการเตรียมการกันนานโข เมื่อ “คาราวาน” ใหญ่ปานนั้นเคลื่อนย้ายออกจากเมืองราชคฤห์ ก็ปรากฏประดุจว่าว่างไปถนัดตา

เมื่อมาถึงกึ่งกลางระหว่างเมืองสาวัตถี กับเมืองราชคฤห์ต่อกัน ธนัญชัยเศรษฐีจึงทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าปเสนทิโกศลขอสร้างเมืองขึ้น ณ สถานที่นั้น ซึ่งก็ได้รับพระราชทานอนุญาตตามปรารถนา

ตำรามิได้บอกว่าเมืองใหม่นี้สร้างนานสักเท่าไร แต่คงไม่ใช่ ๗ วันเสร็จ ดังพระเจ้าสร้างโลกดอกครับ เมืองที่สร้างขึ้นใหม่นี้มีนามว่า “สาเกต”

ตกลงเด็กหญิงวิสาขาเลยกลายเป็นพลเมืองของเมืองสาเกตไป ด้วยประการฉะนี้

• เบญจกัลยาณี
เด็กหญิงวิสาขาเจริญเติบโตตามลำดับ ยิ่งโตก็ยิ่งสดสวยงดงาม เป็นที่เจริญตาเจริญใจของผู้พบเห็น ว่ากันว่านางงามพร้อมทั้งห้าส่วน อันเรียกว่า “เบญจกัลยาณี” คือ
๑. ผมงาม (เกศกัลยาณะ)
๒. เนื้องาม (มังสกัลยาณะ)
๓. กระดูกงาม (อัฏฐิกัลยาณะ)
๔. ผิวงาม (ฉวิกัลยาณะ)
๕ วัยงาม (วยกัลยาณะ)

ความงามประการที่หนึ่ง (ผมงาม) คงไม่ได้หมายถึงทรงผมแน่นอน เพราะทรงผมเปลี่ยนแปลงได้ตามแฟชั่น คงจะหมายถึงผมที่ดำเงางามสลวย (ในกรณีผมดำ) ถ้าผมสีทองหรือสีอื่นก็สลวยงามเป็นเงาเช่นเดียวกัน) คัมภีร์อธิบายว่า ผมนั้นสลวยยาว ปล่อยลงมาถึงชายผ้านุ่ง และปลายงอนขึ้นดุจกำหางนกยูง ว่าอย่างนั้น (สงสัยสมัยนั้นนิยมหญิงผมยาว)

ความงามประการที่สอง (เนื้องาม) ท่านหมายเอาริมฝีปากแดงงาม ดังสีผลตำลึกสุกโดยไม่ต้องเอาสีอื่นใดมาทา แดงงามโดยธรรมชาติ (สาวสมัยนี้ถึงเกิดมาเนื้อริมฝีปากไม่แดง ก็หาลิปสติกมาทาให้แดงได้ จะเอา แดงแก่ แดงอ่อน หรือแม้กระทั่งสีม่วง สีคราม สีดำ ก็ย่อมทาได้)

ความงามประการที่สาม (กระดูกงาม) คงไม่มีใครไปเอ็กซเรย์ดูว่า กระดูกข้างในนั้นงามทุกท่อนหรือไม่ ในที่นี้ท่านหมายถึงฟันสวยงาม  เบญจกัลยาณี ฟันจะต้องขาวเป็นระเบียบ ไม่ห่าง ไม่เก เหมือนกับสังข์ที่เขาขัดอย่างดี แล้วเรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อย (สมัยนี้คนมีเขี้ยวออกมา กลับเห็นว่างามดี ถ้าสมัยก่อนคงไม่นับเป็นเบญจกัลยาณีเป็นแน่)

ความงามประการที่สี่ (ผิวงาม) หมายถึงผิวพรรณเปล่งปลั่ง คนดำผิวก็ดำเนียนงาม คนผิวขาวก็ขาวงาม เคยเห็นนิโกรงาม ถึงจะดำก็ดำงามจริงๆ ครับ

ความงามประการที่ห้า (วัยงาม) หมายถึงอายุจะมากเท่าไรก็ดูเหมือนไม่แก่ไปตามวัย เป็นประเภทสาวพันปี ว่าอย่างนั้นเถอะ

มีบางคน (หลายคน) อยากวัยงาม อุตส่าห์ไปดึงนั่นดึงนี่ ดูเผินๆ ก็เต่งตึงดีดอกครับ อย่าแอบไปดูที่ซอกหู หรือใต้ท้องแขนเป็นอันขาด จะเห็นรอยเย็บน่าเกลียด หรือเห็นเนื้อท้องแขนหย่อนยานไม่น่าดูชม เขาเหล่านี้ดึงแล้วดึงอีก ก็ยังสู้ความชราไม่ไหว อย่างนี้ไม่เรียกว่าวัยงามดอกครับ

นางวิสาขานั้น ว่ากันว่าไม่แก่ตามวัย เมื่อมีบุตรหลานจำนวนมากแล้ว เดินไปไหนมาไหนด้วยกันกับลูกๆ หลานๆ ไม่มีใครจำได้เลยว่านางวิสาขาคนไหน เพราะทุกคนวัยไล่เลี่ยกันหมด

งามปานนั้นนะขอรับ...


ข้อมูล : บทความพิเศษ วิสาขามิคารมาตา มหาอุบาสิกา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๗ ประจำวันที่ ๓-๙ เมษายน ๒๕๕๘


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTeHbSxd-xWIvB8hsy7jJOkRlQ1NPQIad63SJ_OsoZwyrSBbyWX)

๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร
เนื้อคู่ของนางวิสาขา


ในช่วงระยะเวลานั้นมีบุตรชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยของมิคารเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถีชื่อ ปุณณะวัฒนะกุมาร หรือจะเรียกให้สั้นๆ ว่า “ปุณณวัฒน์

ปุณณวัฒน์ ถึงวัยจะต้องมีครอบครัวแล้ว เศรษฐีผู้บิดาจึงสั่งให้คนไปดูสตรีที่มีคุณสมบัติคู่เคียงกับลูกชายของตน เรียกว่าส่ง “แมวมอง” ไปด้อมๆ มองๆ หาสาวงามมาเป็นลูกสะใภ้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

เขียนมาถึงตรงนี้ชักสงสัยว่า วัฒนธรรมแขกอินเดีย ฝ่ายหญิงสาวมิใช่หรือเป็นผู้ที่จะต้องไปสู่ขอชาย แล้วทำไมในเรื่องนี้ท่านจึงเขียนกลับตาลปัตรไปอย่างนี้ล่ะครับ

สงสัยตำราพระพุทธศาสนาเล่มนี้คงไม่ได้แต่งที่อินเดีย คนแต่งคงมิใช่ชาวภารตะ (ดังที่อ้างว่าพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียแต่ง) คงจะเป็นเถระชาวลังกากระมังหว่า ประเพณีลังกาผู้ชายขอผู้หญิงกระมังครับ ท่านจึงเผลอเขียนไว้อย่างนี้

แต่ช่างเถอะ เรามาฟังกันต่อดีกว่า

คนที่เศรษฐีส่งไปคือพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในการดูโหงวเฮ้ง และทรงความรู้ด้านอื่นด้วยจำนวน ๘ ท่าน ก่อนส่งไปก็เชิญมารับเลี้ยงอย่างอิ่มหมีพีมันก่อนด้วย พราหมณ์ทั้ง ๘ ไปเสาะหาหญิงเบญจกัลยาณียังเมืองต่างๆ ก็ยังไม่พบ ต่อเมื่อหวนกลับมายังเมืองสาเกตซึ่งเพิ่งจะตั้งใหม่หมาดๆ ก็ได้พบกุลสตรีผู้งามสรรพเข้าจนได้

ช่วงนั้นเมืองสาเกตมีงานนักขัตฤกษ์ประจำปี เทศกาลอะไรไม่แจ้ง รู้แต่ว่า วันเช่นนี้ผู้คนต่างก็ออกจากบ้านเรือนไปสนุกสนานในงาน นางวิสาขา (ความจริง “นางสาว” หรือต่อไปไม่ช้าก็จะเป็น “คุณวิสาขา” แล้ว) พร้อมด้วยสตรีบริวารจำนวนหลายร้อย (ว่ากันว่าตั้งห้าร้อย) ก็ออกไปสนุกสนานในงานด้วย

บรรดาหนุ่มๆ ลูกเศรษฐี ลูกคุณหญิงคุณนาย “ไฮโซ” ทั้งหลาย ก็ได้มีโอกาสมาด้อมๆ มองๆ แอบยลโฉมของเยาวนารีแรกรุ่นทั้งหลาย เพราะสตรีสาวทั้งหลายมีโอกาสได้เผยร่างโดยไม่ต้องเอาผ้าคลุมหน้า เพราะได้รับอนุญาตพิเศษ ในวันนักขัตฤกษ์เช่นนี้ ไม่ถือว่าผิดประเพณี

การคล้องพวงมาลัยให้แก่หญิงสาวของชายหนุ่มก็ไม่ถือว่าผิดอันใด เป็นเครื่องแสดงว่า เขาได้พึงพอใจ หมายมั่นประสงค์อยากได้กุลสตรีนางนั้นเป็นคู่ครอง ว่ากันอย่างนั้น

พราหมณาจารย์ได้เข้าไปอาศัยอยู่บนศาลาแห่งหนึ่งริมแม่น้ำ สอดส่ายสายตาดูหญิงสาวเหล่านั้น

ขณะนั้นนางวิสาขามีอายุ ๑๕ ปี กำลังจะย่างเข้า ๑๖ ปี

นางได้แต่งกายเป็นพิเศษ ประดับประดาเครื่องอาภรณ์ครบทุกอย่าง พร้อมทั้งเหล่ากุมารีอีก ๕๐๐ คน แวดล้อมอยู่ ได้ชักชวนกันเดินทางไปยังแม่น้ำ เพื่อประสงค์จะอาบน้ำกันให้สนุก  เมื่อเดินไปถึงริมฝั่งน้ำ เมฆตั้งเค้าทะมึนขึ้นทันที ฝนตกลงมาอย่างหนัก กุมารีทั้งหลาย ๕๐๐ คน ต่างรีบวิ่งไปสู่ศาลาฝั่งน้ำเพื่อหลบฝน พวกพราหมณ์ก็พยายามจับตาดูกุมารีทั้ง ๕๐๐ คน เหล่านั้น ก็ไม่เห็นเลยสักคนเดียวที่ต้องด้วยเบญจกัลยาณี

ส่วนนางวิสาขานั้นมิได้วิ่งหนีฝนดังเช่นเพื่อนหญิงอีก ๕๐๐ คน นางเดินไปตามปกติ ผ้าและอาภรณ์ก็เปียกโชกด้วยน้ำฝน

พวกพราหมณ์ที่จับตาดูอยู่ก็เห็นความงามของนางถึง ๔ อย่าง แต่กล่าวบอกซึ่งกันและกันว่า หญิงผู้นี้เป็นคนเฉื่อยชา สามีของหญิงคนนี้ เห็นทีจักไม่ได้กินแม้เพียงข้าวปลายเกวียน

นางวิสาขาได้ยินเช่นนั้นจึงถามพราหมณ์นั้นว่า พวกท่านว่าใครกัน พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า ว่าเธอนั่นแหละ พราหมณ์จึงได้ยินสำเนียงไพเราะของเธอที่เปล่งออกมา ประหนึ่งเสียงของกังสดาล เธอจึงถามพราหมณ์เหล่านั้นต่อไปด้วยเสียงอันไพเราะอีกว่า เพราะเหตุไรท่านจึงมาว่าฉัน

พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า เพราะบรรดาหญิงทั้งหลายซึ่งเป็นบริวารของเธอ เขาพยายามไม่ให้ผ้าและเครื่องประดับของเขาเปียก จึงรีบวิ่งมาสู่ศาลา ส่วนเธอนั้นมิได้ปฏิบัติเช่นนั้น เธอเดินด้วยความเฉื่อยชา ปล่อยให้ผ้าและเครื่องอาภรณ์เปียกโชก พวกเราจึงพากันว่าเธอ

นางวิสาขาจึงตอบแก้พราหมณ์นั้นว่า พราหมณ์ พวกท่านอย่าพูดอย่างนั้น ฉันแข็งแรงกว่าเด็กหญิงเหล่านั้นมาก แต่เพราะฉันกำหนดเหตุการณ์แล้ว จึงไม่วิ่งมาโดยเร็ว

พราหมณ์จึงถามด้วยความสงสัยว่า ด้วยเหตุอะไร

นางวิสาขาจึงให้เหตุผลว่า ท่านทั้งหลาย ชนทั้ง ๔ จำพวกนี้ เมื่อวิ่งแล้วย่อมไม่งาม นี่เป็นเหตุผลอันหนึ่ง และยังไม่ใช่เพียงเท่านี้ อย่างอื่นยังมีอยู่อีก

พราหมณ์ถามว่า ชน ๔ จำพวกที่เธอกล่าวนั้น ได้แก่ชนเหล่าใดบ้าง

นางวิสาขาตอบว่า ท่านทั้งหลาย ชนประเภทที่ ๑ คือ พระราชาผู้อภิเษกแล้ว ทรงประดับประดาเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง ถ้าถกเขมรวิ่งไปในพระลานหลวง ย่อมจะไม่งาม  ทั้งยังจะได้รับคำครหานินทาอย่างแน่นอนว่า เพราะเหตุใดพระราชาองค์นั้นจึงวิ่งเหมือนคหบดี พระราชาที่ค่อยๆ เสด็จไปนั่นแหละ จึงจะงาม

อีกประการหนึ่ง ช้างมงคลของพระราชา เมื่อประดับแล้ววิ่งไปก็ไม่งาม ต้องเดินไปด้วยลีลาแห่งช้างจึงจะงาม

อีกประการหนึ่ง บรรพชิตเมื่อวิ่งก็ไม่งาม จะได้รับคำครหานินทาว่า ทำไมสมณะรูปนี้จึงวิ่งเหมือนกับคฤหัสถ์ แต่ถ้าเดินอย่างอาการสำรวม อย่างผู้สงบเสงี่ยมจึงจะดูงดงาม

อีกประการหนึ่ง สตรีเมื่อวิ่งก็ไม่งาม เพราะจะถูกติเตียนอย่างเดียวว่า ทำไมผู้หญิงคนนี้จึงวิ่งเหมือนผู้ชาย แต่ถ้าเดินอย่างธรรมดาจึงจะงาม

นี่แหละท่านทั้งหลาย ชนทั้ง ๔ จำพวกนี้ เมื่อวิ่งแล้วดูไม่งดงาม •


ข้อมูล : บทความพิเศษ เนื้อคู่ของนางวิสาขา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๘ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ เมษายน ๒๕๕๘


๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร (ต่อ)
เนื้อคู่ของนางวิสาขา


ทดสอบความงามและความฉลาด
พราหมณ์จึงซักถามต่อไปอีกว่า แล้วเหตุอย่างอื่นที่ยังมีอยู่อีกเล่า ได้แก่อะไรบ้าง

นางวิสาขาตอบด้วยความฉลาดว่า ท่านทั้งหลาย ธรรมดามารดาบิดาท่านย่อมถนอมอวัยวะน้อยใหญ่ของธิดาท่านในระหว่างเลี้ยงดู  พวกดิฉันนี้เหมือนสิ่งของอันบิดามารดาจะพึงขายได้

มารดาบิดาเลี้ยงฉันมาจนกระทั่งโตเป็นสาว ก็เพื่อต้องการจะส่งไปสู่ตระกูลสามี  ถ้าหากว่าในเวลาที่พวกดิฉันวิ่งไปเหยียบผ้านุ่งหรือลื่นหกล้มลง มือหรือเท้าดิฉันอาจจะหัก พวกดิฉันก็จะเป็นภาระของตระกูลอีกต่อไป  ส่วนเครื่องแต่งตัวที่เปียกนี้ก็ยังแห้งได้ ไม่เสียหายอะไร เมื่อดิฉันกำหนดเหตุการณ์เช่นนี้แล้วจึงไม่วิ่ง

พราหมณ์คล้องพวงมาลัยให้
ในระหว่างที่สนทนากันอยู่นั้น พราหมณ์ทั้งหลายได้เห็นความงามของฟันทั้งหมด ครบเบญจกัลยาณี พราหมณ์จึงเปล่งขึ้นมาว่า สมบัติเช่นนี้พวกเรายังไม่เคยเห็นเลย เมื่อกล่าวจบลงแล้ว จึงสวมพวงมาลัยทองนี้ให้ แล้วกล่าวว่าพวงมาลัยพวงนี้สมควรแก่เธอเพียงคนเดียวเท่านั้น

นางวิสาขาจึงถามว่า “พวกท่านทั้งหลายมาจากเมืองไหน?”
พราหมณ์ตอบว่า “มาจากเมืองสาวัตถี โดยเศรษฐีใช้ให้มา”
วิสาขาจึงถามว่า “ตระกูลเศรษฐีนั้นชื่ออะไร?”
พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อปุณณวัฒนกุมาร จ้ะ”

นางวิสาขาจึงกล่าวรับรองว่า ถ้าเช่นนั้น ตระกูลของเราทั้งสองก็เสมอกัน นางจึงส่งข่าวให้แก่บิดาของนางว่า ขอให้คุณพ่อคุณแม่ส่งรถมารับพวกดิฉันด้วย ตอนนี้เป็นที่น่าสงสัยว่า ในระหว่างที่นางเดินทางมาหาความสำราญที่ริมแม่น้ำ นางก็เดินมาเอง ไม่ได้ขึ้นรถมา แต่ทำไมขากลับ จึงส่งข่าวให้คุณพ่อคุณแม่เอารถมารับ

ข้อนี้มีประเพณีอยู่ว่า เมื่อสตรีใดได้ประดับด้วยพวงมาลัยทองคำแล้ว ย่อมจะเดินไปเช่นนั้นไม่ได้ ส่วนเด็กหญิงทั้งหลายที่เป็นบริวารก็ต้องขึ้นรถไปด้วย ต่างกันแต่ว่ารถที่นั่งไปนั้น สตรีพวงมาลัยทองจะต้องนั่งรถกั้นฉัตรหรือใบตาลข้างบน ถ้าฉัตรและใบตาลไม่มี ก็ให้ยกชายผ้านุ่งขึ้นมาพาดบนบ่า

ปรากฏว่าบิดาของนางวิสาขาส่งรถมาถึง ๕๐๐ คัน แล้วก็รับพราหมณ์เหล่านั้นไปด้วย ครั้นไปถึงบ้านของนางวิสาขาเรียบร้อยแล้ว เศรษฐีจึงถามพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่านเดินทางมาจากไหน?”

พราหมณ์ตอบว่า “ข้าพเจ้ามาจากเมืองสาวัตถี”
เศรษฐีถามว่า “เศรษฐีตระกูลนี้ชื่ออะไร?”
พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อมิคารเศรษฐี”
เศรษฐีถามต่อไปว่า “บุตรชายของเศรษฐีเล่าชื่ออะไร?”
พราหมณ์ตอบว่า “ชื่อปุณณวัฒนกุมาร”
เศรษฐีถามอีกว่า “ตระกูลนี้มีทรัพย์เท่าไร?”
พราหมณ์ตอบว่า “มีอยู่ ๕๐ โกฏิ ท่านมหาเศรษฐี”

ท่านเศรษฐีได้ฟังเช่นนั้นก็คิดว่า ทรัพย์เพียงแค่นั้นเทียบกับทรัพย์ของเราก็เท่ากับกากณึกเดียวเท่านั้น แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ถือว่าไม่สำคัญ เศรษฐีจึงให้พราหมณ์พักอยู่เพียง ๒ วัน แล้วให้เดินทางกลับไป เพื่อส่งข่าวให้แก่มิคารเศรษฐีถึงเรื่องการยอมยกธิดาให้เป็นบุตรสะใภ้

เมื่อพราหมณ์เดินทางถึงเมืองสาวัตถีแล้ว จึงเรียนกับท่านเศรษฐีว่า ข้าพเจ้าได้นางทาริกาแล้ว

มิคารเศรษฐีจึงถามพราหมณ์ว่า “เป็นลูกสาวของใคร พราหมณ์?”
พราหมณ์ตอบว่า “เป็นลูกสาวของท่านธนัญชัยเศรษฐี”

เมื่อมิคารเศรษฐีได้ทราบเช่นนั้น ก็ดีใจว่าตนได้นางทาริกามาจากตระกูลใหญ่มั่งคั่ง จึงนำความเรื่องนี้กราบทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงดำริว่า ตระกูลใหญ่นี้พระองค์นำมาจากสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร แล้วให้อาศัยที่เมืองสาเกต จึงควรที่พระองค์จะได้ยกย่องตระกูลนี้ ด้วยการเสด็จไปในงานแต่งงานครั้งนี้ด้วย พระองค์จึงได้แจ้งความประสงค์ว่าจะเสด็จไปในพิธีแต่งงานครั้งนี้

มิคารเศรษฐีจึงได้ส่งข่าวมายังท่านธนัญชัยเศรษฐีว่า พระราชาจะเสด็จมาในงานของข้าพเจ้าด้วย ซึ่งรี้พลข้าทาสบริวารของพระราชาก็มีมาก ท่านสามารถที่จะต้อนรับคนทั้งหลายเหล่านี้ได้หรือไม่

ท่านธนัญชัยเศรษฐีได้ตอบไปว่า อย่าว่าแต่พระองค์จะเสด็จมาเพียงพระองค์เดียว ถึงแม้พระราชาจะเสด็จมาสักสิบพระองค์ ก็ขอเชิญเสด็จมาได้ และให้ขนคนในเมืองมาให้หมด เหลือไว้แต่คนเฝ้าเรือน เราก็สามารถที่จะต้อนรับได้


ธนัญชัยเศรษฐีกับนางวิสาขาเตรียมงานต้อนรับ
ท่านธนัญชัยเศรษฐีจึงได้ปรึกษากับนางวิสาขาว่า ลูกพ่อทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสด็จมากับพ่อสามีของลูกด้วย เราควรจะจัดเรือนหลังไหนสำหรับเป็นที่พักของพ่อสามีลูก หลังไหนสำหรับเป็นที่ประทับของพระราชา และหลังไหนเป็นที่พักของพวกอำมาตย์ข้าราชบริพาร

เมื่อนางวิสาขาได้ทราบเช่นนั้น เธอก็ใช้ความฉลาดเฉียบแหลมที่ได้อบรมมาตลอดแสนกัป บงการจัดสถานที่ทันที โดยจัดเรือนพักสำหรับพ่อสามีหลังหนึ่ง สำหรับพระราชาปเสนทิโกศลหลังหนึ่ง สำหรับอุปราชหลังหนึ่ง

พร้อมกันนั้น ก็เรียกข้าทาสกรรมกรมาประชุม มอบภาระหน้าที่การงานให้หมดทุกคน โดยแบ่งให้ทาสกรรมการเหล่านั้นดูแลสัตว์พาหนะ อันมี ช้าง ม้า เป็นต้น

การจัดสายงานต้อนรับแขกต่างเมืองที่มาในงานครั้งนี้ นางวิสาขาจัดต้อนรับถึงคนเลี้ยงสัตว์ของพระราชาเหล่านั้นด้วย นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของนางวิสาขา เพราะตามธรรมดาแล้วงานใหญ่ๆ ส่วนมากผู้ต้อนรับมิได้คำนึงถึงผู้น้อยเท่าไรนัก เช่น เป็นต้นว่า คนรถ คนใช้ ส่วนมากมักจะถูกลืมในงานทั่วๆ ไป เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าภาพจึงไม่พ้นไปจากการนินทาของชนชั้นนี้ได้

นางวิสาขาทราบเช่นนี้เป็นอย่างดี นางจึงจัดการต้อนรับให้ความสะดวกสบายแก่คนทั้งหมดโดยทั่วถึงกัน เพื่อป้องกันมิให้คนเหล่านี้นินทานั่นเอง เพราะคนเหล่านั้นจะได้เที่ยวชมมหรสพในงานอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการดูแลช้างม้า •


ข้อมูล : บทความพิเศษ เนื้อคู่ของนางวิสาขา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑-๗๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๐๙ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ เมษายน ๒๕๕๘


๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร (ต่อ)
เนื้อคู่ของนางวิสาขา


โอวาท ๑๐ ข้อ
ธนัญชัยเศรษฐี ผู้บิดานางวิสาขา ได้เรียกช่างทอง  ช่างออกแบบ หรือดีโซเนอร์ชั้นดี จำนวน ๕๐๐ คน สั่งให้ทำเครื่องประดับอันงามวิจิตรพิสดารพันลึก มีนามว่า “มหาลดาปสาธน์” เพื่อเป็นชุดวิวาห์ของบุตรสาวสุดที่รัก โดยใช้ทองคำสุกปลั่งพันลิ่ม แก้วมณี แก้วประพาฬ และเพชร พอสมส่วนกัน ว่ากันว่า มหาลดาปสาธน์ นี้ ใช้เพชรถึง ๒๐ ทะนาน (กี่กะรัต นับเอาแล้วกัน ผมไม่มีความรู้ในเรื่องนี้) แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน ไม่ใช้ด้ายเลย เอาเงินแทนด้าย

ชุดที่ว่านี้สวมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ลูกดุมทำเป็นวงแหวนทองคำ ห่วงสำหรับลูกดุมทำด้วยเงิน วงหนึ่งสวมที่กลางกระหม่อม ที่หลังหู ๒ วง ที่ข้างสะเอวสองข้างอีก ๒ วง ที่เครื่องประดับนั้นทำเป็นนกยูงรำแพน ๑ ตัว ขนปีกนกทำด้วยทองถึง ๕๐๐ ขน จะงอยปากนกยูงทำด้วยแก้วประพาฬ ตาสองข้างทำด้วยแก้วมณีที่คอและแววหางทำด้วยแก้วมณี ก้านขนนกยูงทำด้วยเงิน ขาทำด้วยเงิน รูปนกยูงนี้ประดิษฐ์อยู่กลางกระหม่อมผู้สวม ประหนึ่งว่ากำลังรำแพนอยู่บนยอดเขา เสียงก้านปีกสองข้างกระทบกัน ไพเราะกังวานดุจเสียงดนตรี

ชุดวิวาห์นี้มีค่าถึง ๙ โกฏิ เศรษฐีจ่ายค่าหัตถกรรมกระทำเครื่องประดับครั้งนี้ จำนวน ๑ แสนบาท เอ๊ย ไม่ใช่บาท แสนกหาปณะครับ เทียบเงินไทยประมาณสี่ถึงห้าแสนบาท ถูกมากสำหรับเครื่องประดับอันสวยงามปานนั้น และผู้ว่าจ้างก็เป็นอภิอมตะมหาเศรษฐี แค่นี้ขนหน้าแข้งไม่ร่วง

เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ ใช้เวลาประดิดประดอยเป็นเวลาถึงสี่เดือนจึงเสร็จ นอกจากนี้ ท่านเศรษฐีได้มอบของขวัญแต่งงานให้แก่บุตรสาวมากมาย ประกอบด้วย กหาปณะ ภาชนะทองคำ ทองแดง ภาชนะสำเริด (สัมฤทธิ์ก็ว่า) ผ้าด้วยไหม เนยใน น้ำมัน น้ำอ้อย ข้าวสารและข้าวสาลี อย่างละ ๕๐๐ เล่มเกวียน รวมถึงอุปกรณ์เกษตรกรรม ๕๐๐ เล่มเกวียน  นอกจากนี้ ก็มีรถ ๕๐๐ คัน (ยี่ห้ออะไรบ้างไม่บอก) แต่ละคันมีสตรีรูปงามประจำรถ ๓ คน  และให้นางปริจาริกา (ก็สาวใช้นั่นแหละครับ) อีก ๑,๕๐๐ คน  อ้อ มีโคนมอีก ๖๐,๐๐๐ ตัว

ลูกสาวออกเรือนทั้งที ก็ให้สมบัติมากๆ สมกับเป็นลูกสาวเศรษฐีใหญ่

ก่อนจะส่งตัวลูกสาวไปอยู่ในตระกูลสามี ธนัญชัยเศรษฐีได้เรียกลูกสาวมาให้โอวาท ๑๐ ข้อ ให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โอวาท ๑๐ ข้อนั้น คือ
๑. ไฟในอย่านำออก
๒. ไฟนอกอย่านำเข้า
๓. พึงให้แก่คนที่ให้
๔. อย่าให้แก่คนที่ไม่ให้
๕. เขาให้หรือไม่ให้ก็พึงให้
๖. นั่งให้เป็นสุข
๗. นอนให้เป็นสุข
๘. พึงบริโภคให้เป็นสุข
๙. พึงบำเรอไฟ
๑๐. พึงนอบน้อมต่อเทวดา

ฟังอย่างนี้อาจไม่เข้าใจ ต้องมีคำอธิบายประกอบจึงจะกระจ่าง ท่านให้อรรถาธิบายไว้ดังนี้ครับ
๑. ไฟในอย่านำออก  หมายถึง อย่าเอาเรื่องภายในครอบครัวไปเล่าให้คนข้างนอกฟัง เช่น ทะเลาะกันตามประสาผัวเมียแล้วนำไปโพทะนาข้างนอก ไส้กี่ขดๆ คนอื่นเขารู้หมด มันก็ไม่ดี เป็นความเสื่อมเสียแก่ครอบครัว
๒. ไฟนอกอย่านำเข้า  หมายถึง เรื่องราวข้างนอกก็ไม่ควรมาเล่าให้กวนใจคนในบ้าน เช่น มีใครนินทาว่าร้ายสามี พ่อหรือแม่สามี (เช่น ญาติตัวเอง) ก็ไม่ควรนำมาเล่าให้คนในบ้านฟัง จะเกิดความไม่สงบขึ้นได้
๓. พึงให้แก่คนที่ให้ หมายความว่า ใครยืมของใช้ของสอยไปแล้วนำมาคืน ทีหลังมายืมอีกก็จงให้ไป เพราะคนเช่นนี้เป็นคนที่รักษาคำมั่นสัญญาดี
๔. ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า คนที่ยืมแล้วไม่คืน ทำเป็นลืม เจอหน้าก็ตีหน้าเฉย ไม่รู้ไม่ชี้ คนเช่นนี้มายืมอะไรอีก อย่าให้เป็นอันขาด
๕. เขาให้หรือไม่ให้ก็พึงให้  หมายความว่า ถ้าใครมายืมของแล้ว ไม่ว่าเขาจะคืนหรือไม่คืนก็จงให้ เป็นการสงเคราะห์ญาติ ว่าอย่างนั้นเถอะ
๖. พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า เวลาอยู่ในตระกูลสามี ต้องรู้จักระมัดระวัง เวลานั่งก็อย่าขวางประตู หรือที่ที่จะต้องลุกให้คนผ่าน
๗. พึงนอนให้เป็นสุข หมายความว่า เวลาจะพิงจะเอน ณ ที่ใดก็ตาม พึงดูด้วยว่าที่นั้นเหมาะสมหรือไม่ ขวางทางใครหรือไม่ แม้เวลาเข้านอนก็พึงรู้ตำแหน่งแห่งที่ที่พึงนอน ยิ่งประเพณีโบราณถือว่าภรรยาต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง เมื่อพ่อเจ้าประคุณนอนยึดพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ตัวเองจะนอนที่ไหน ก็เป็นเรื่องของการรู้จักกาลเทศะ เกิดเป็นสตรี โดยเฉพาะสตรีอินเดีย ก็กลุ้มอย่างนี้แหละครับ ดังคำพังเพยว่า “วัวลังกา ม้าอินเดีย เมียฮินดู” ถูกใช้อานเลย ขอรับ
๘. พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า กินทีหลังสามี เวลาจะกินก็ต้องรู้ว่าจะนั่งกินตรงไหน เวลาใด นี่เป็นเรื่องกาลเทศะอีกเช่นกัน การกินให้เป็นสุข รวมถึงการรู้จักมารยาทในการกิน ตามที่กุลสตรีพึงปฏิบัติอีกด้วย
๙. พึงบำเรอไฟ หมายถึง พ่อสามี แม่สามี และสามี ถือว่าเป็น “ไฟ” ในครอบครัว พึงบำเรอ คือดูแลอย่างดี ธรรมดาไฟนั้นมีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ เช่นเดียวกัน ถ้าดูแลไฟไม่ดี ไฟอาจไหม้บ้านวอดก็ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น บุคคลทั้งสามในตระกูลของสามี สตรีที่มาอยู่ด้วยต้องปรนนิบัติดูแลเป็นอย่างดี ถ้าทำให้เขาเหล่านั้นโกรธ ไม่พอใจ ก็นับว่าเป็นสะใภ้ที่ใช้ไม่ได้ อาจถึงกับถูกตราหน้าว่าเป็น “กาลกิณี” ต่อตระกูลวงศ์สามีก็ได้
๑๐. พึงบูชาเทวดา หมายความว่า ให้นับถือพ่อสามี แม่สามี และสามี ดุจเทวดา ไม่ต้องสงสัย เมื่อเห็นพวกเขาเป็นเทวดา ก็พึงนอบน้อมแต่เทวดา ทำตามคำบัญชาของเทวดาโดยไม่ขัดขืน และเทวดาเดินได้นี่ เอาใจยากเสียด้วยสิครับ

เศรษฐีผู้เป็นพ่อกำชับลูกสาวว่า อยู่ในตระกูลสามีให้ปฏิบัติตามโอวาท ๑๐ ข้อนี้อย่างเคร่งครัด ลูกสาวก็ตกปากรับคำพ่อเป็นอย่างดี •



ข้อมูล : บทความพิเศษ เนื้อคู่ของนางวิสาขา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑-๗๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๐ ประจำวันที่ ๒๔-๓๐ เมษายน ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 พฤษภาคม 2558 15:02:28
.
๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร (ต่อ)
เนื้อคู่ของนางวิสาขา


ขัดแย้งกับพ่อสามี
นางวิสาขา เมื่อมาอยู่ในตระกูลของมิคารเศรษฐี ก็วางตัวได้อย่างเหมาะสมกับที่เป็นลูกผู้ดีมีสกุล

นางมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนทั่วไป

ให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโส ผู้อยู่ในวัยควรเรียกว่า พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา นางก็เรียกเหมาะสมแก่วัยของผู้นั้นๆ นางจึงเป็นที่รักของคนทั้งปวง

อยู่ในตระกูลสามีก็ปรนนิบัติพ่อสามี แม่สามี และสามีด้วยดีไม่บกพร่อง เป็นที่รักของสามีและพ่อแม่ของสามีทั่วหน้ากัน

วันหนึ่งก็เกิดเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันจนได้ แต่ก็ยังไม่ถึงกับใหญ่โตนัก คือสกุลมิคารเศรษฐีนั้นนับถือพวก “อเจลลกะ” (ชีเปลือย) มาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่วิสาขาเป็นอริยสาวกของพระพุทธศาสนา นี่แหละครับคือที่มาแห่งความขุ่นเคืองและลุกลามไปเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงในที่สุด

ก่อนอื่นก็ขอ “แวะข้างทาง” ตรงนี้ซักหน่อย

นักบวชสมัยพุทธกาลมีมากมายหลายลัทธิ ลัทธิที่ขึ้นหน้าขึ้นตามากก่อนที่พระพุทธศาสนาแพร่หลาย ก็คือลัทธิเชนของศาสดามหาวีระ (ตำราพุทธเรียกว่า นิครนธ์นาฏบุตร) มหาวีระหรือนิครนธ์นาฏบุตร บางตำราว่าเป็นขัตติยราชกุมารออกบวช ถือความเคร่งครัดมาก ขนาดไม่ยอมนุ่งห่มผ้า เพราะถือว่าเสื้อผ้าเป็นเครื่องแสดงถึงความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะหมดกิเลสจริงต้องไม่ยึดแม้กระทั่งเสื้อผ้า

พูดง่ายๆ ว่าต้องเปลือยกายล่อนจ้อน

พวกที่เปลือยกายเดินโทงๆ ทั่วไปจึงเรียกกันว่า “อเจลกะ” แปลว่าไม่นุ่งผ้า หรือชีเปลือย

แต่ก็มีชีเปลือยอีกพวกหนึ่งไม่สังกัดลัทธิเชนก็มี เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงอเจลกะ (ชีเปลือย) จึงอาจหมายถึงพระในลัทธิเชนหรือชีเปลือยทั่วไปก็ได้  ชีเปลือยที่ตระกูลสามีของนางวิสาขานับถือกันมาหลายชั่วอายุคนนี้ คงเป็นพวกพระในลัทธิเชนดังกล่าวข้างต้น

ท่านเศรษฐีนิมนต์พระเชนมาฉันที่คฤหาสน์ เมื่อพระมาถึงท่านก็สั่งให้คนไปเชิญลูกสะใภ้มา “ไหว้พระอรหันต์”

นางวิสาขาได้ยินคำว่า “พระอรหันต์” ก็ดีใจ เพราะนางเป็นอริยสาวิการะดับพระโสดาบัน มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย จึงรีบมาเพื่อนมัสการพระอรหันต์

แต่พอมาถึงก็เห็นประดา “นู้ดภิกขุ” (พระนู้ด) เต็มไปหมด นางเกิดความขยะแขยงจึงกล่าว (ค่อนข้างแรง) ว่า นึกว่าคุณพ่อให้มาไหว้พระ กลับเรียกมาไหว้พวกไม่มียางอายผ้าผ่อนก็ไม่ยอมนุ่ง

ว่าแล้วก็เดินหนีไป

พระคุณเจ้า “นู้ดภิกขุ) โกรธจนหน้าดำหน้าแดง ว่าท่านเศรษฐีทำไมเอาคนนอกศาสนาไม่เคารพพระสงฆ์เข้ามาเป็นสะใภ้ภายในบ้าน เท่ากับนำ “กาลกิณี” เข้าบ้าน ไม่เป็นสิริมงคลเสียเลย มีอย่างที่ไหนปล่อยให้มาด่าพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างนี้ ท่านเศรษฐีต้องจัดการไล่อีตัวกาลกิณีนี้ออกจากตระกูล หาไม่พวกอาตมาจะไม่มารับอาหารบิณฑบาตจากบ้านท่านเป็นอันขาด

ถูกยื่นโนติสอย่างนี้ ท่านเศรษฐีจึงว่า กราบขออภัยเถอะขอรับ นางยังเด็ก ยังไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ขอพระคุณเจ้าโปรดยกโทษให้นางด้วยเถอะ

“ไม่ได้ เศรษฐีต้องไล่นางไป เรื่องนี้มิใช่เรื่องเล็ก จะมาอ้างว่ายังเด็กยังเล็กไม่ได้ โตจนมีผัวเป็นตัวเป็นตนแล้ว พ่อแม่ไม่สั่งสอนหรืออย่างไร”

“แต่ว่านางเป็นธิดาของตระกูลใหญ่ การจะไล่นางออกง่ายๆ นั้นไม่ได้ขอรับ เพราะก่อนจะส่งตัวนางมา พ่อแม่ของนางก็มอบนางไว้ในความดูแลของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้งแปด ทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจากพราหมณ์เหล่านั้นก่อน” เศรษฐีอธิบาย

“ไม่รู้ล่ะ ท่านเศรษฐีต้องจัดการก็แล้วกัน” ว่าแล้วท่านพร้อมทั้งบริวารก็ลงจากเรือนไปด้วยจิตใจที่ขุ่นเคือง (ฮั่นแน่ ไหนว่าไม่นุ่งผ้าแล้วกิเลสจะไม่มี ที่แท้แค่นี้ยังแสดงอาการโกรธ งอนตุ๊บป่องเลยเชียว)

เศรษฐีถึงจะไม่พอใจลูกสะใภ้ที่พูดเช่นนี้ แต่ก็คิดว่า เรื่องไม่ใหญ่โตถึงขั้นต้องส่งนางกลับตระกูลเดิม

แต่อยู่มาวันหนึ่ง เรื่องที่เศรษฐีเห็นว่าร้ายแรงก็เกิดขึ้น

วันนั้น นางวิสาขาปรนนิบัติพ่อสามี ขณะที่นั่งรับประทานอาหารข้าวมธุปายาสอย่างดีอยู่ที่ระเบียงบ้าน พระเถระในพระพุทธศาสนารูปหนึ่ง เดินบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านเศรษฐีพอดี ท่านได้มายืนต่อหน้าเศรษฐี

ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่า สมัยก่อนโน้นพระมายืนหน้าบ้านได้ ถ้าชาวบ้านปรารถนาจะใส่บาตร ก็นำอาหารไปใส่ ถ้าไม่มีอะไรจะใส่ หรือยังไม่พร้อมที่จะใส่ ก็บอกท่านว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด เจ้าข้า” ท่านก็จะไปยืนที่อื่น

แต่พระสงฆ์ในเมืองไทย ถ้ารูปใดไปยืนรอให้คนใส่บาตร จะถูกตำหนิติเตียน เรื่องนี้มีข้อแตกต่างกันอยู่

เศรษฐีมองเห็นพระแล้ว แต่ทำเป็นไม่เห็น ก้มหน้าก้มตากินข้าวมธุปายาสเฉย ซึ่งนางวิสาขาก็รู้จึงค่อยๆ ถอยออกไปกระซิบกับพระคุณเจ้า ดังพอที่พ่อสามีจะพึงได้ยินว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิดเจ้าข้า คุณพ่อของดิฉันกำลังกินของเก่า”

เท่านั้นแหละครับ เศรษฐีพันล้านลุกขึ้นเตะจานข้าวกระจายเลย พูดด้วยความโกรธจัดว่า พวกเอ็งไล่นางกาลกิณีคนนี้ออกไปจากตระกูลข้าเดี๋ยวนี้ หนอยแน่ะ มันกำแหงถึงขนาดหาว่าข้ากินขี้เชียวเรอะ

ครับ คราวนี้เกิดเรื่องใหญ่ ครอบครัวที่เคยสงบสุขมานาน ก็ปั่นป่วน ณ บัดดล พ่อสามีโกรธ แม่สามีก็โกรธ เจ้าประคุณสามีก็โกรธด้วย ที่ถูกหญิงสาวจากตระกูลอื่นมาด่าเสียๆ หายๆ แบบนี้

นางวิสาขาต้องเข้าไปเคลียร์กับคนเหล่านั้นว่าไม่ได้หมายความตามที่พวกเขาเข้าใจ แต่ใครมันจะฟังเล่าครับ

นางวิสาขาพูดว่า นางเองมิได้ถูกนำมาสู่ตระกูลนี้ ดุจนางกุมภทาสีที่เขานำมาจากท่าน้ำ นางเป็นบุตรของตระกูลใหญ่เช่นเดียวกัน ก่อนจะมาอยู่ในตระกูลนี้ บิดามารดาก็ได้มอบความรับผิดชอบไว้กับพราหมณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งแปด เมื่อเกิดเรื่องราวอะไรขึ้น ต้องให้ท่านทั้งแปดรับทราบด้วย

เศรษฐีจึงพูดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว จึงเรียกพราหมณ์ทั้งแปดมาตัดสินคดี และแล้วท่านทั้งแปดก็ถูกตามตัวมา เศรษฐีได้ฟ้องว่า นางวิสาขาลูกสะใภ้ของตน ด่าด้วยคำพูดหยาบคายว่า ตนกินขี้ ขอให้พวกท่านตัดสินเอาผิดนางด้วย

และแล้วการพิจารณาคดีก็เริ่มขึ้น โดยนางวิสาขาตกเป็นจำเลย คราวหน้าค่อยมาฟังคำให้การของจำเลยนะครับ วันนี้ขอยุติเพียงเท่านี้ก่อน


ข้อมูล : บทความพิเศษ เนื้อคู่ของนางวิสาขา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๑ ประจำวันที่ ๑-๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘


๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร (ต่อ)
เนื้อคู่ของนางวิสาขา


วิสาขาถูกสอบสวน
พราหมณ์ทั้งแปดถูกเชิญมาสอบสวนกรณีพิพาทระหว่างนางวิสาขา กับมิคารเศรษฐี พ่อสามี  เศรษฐีได้กล่าวหานางวิสาขา ว่า ดูถูกดูหมิ่นตน หาว่าตนกินของเก่า ซึ่งหมายถึงกินอุจจาระ เป็นคำพูดสบประมาทที่ร้ายแรงมาก ยอมไม่ได้

สะใจที่ด่าว่าพ่อสามีเสียหายเช่นนี้ต้องถูกขับไล่โดยถ่ายเดียว ไม่มีข้อยกเว้น

พราหมณ์ทั้งแปดหันมาถามนางวิสาขา ว่า เป็นเช่นนั้นหรือ ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น นางก็ต้องรับโทษทัณฑ์อย่างหนักตามที่เศรษฐีกล่าวแล้ว

นางตอบว่า “หาเป็นเช่นนั้นไม่ นางมิได้ดูหมิ่นว่าคุณพ่อสามีของนางกินอุจจาระแต่ประการใด คุณพ่อเข้าใจไปเอง”
“เข้าใจไปเองอย่างไร นางพูดกับพระใช่ไหม ว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังรับประทานของเก่า ถึงฉันจะแก่แล้วแต่หูฉันยังดี ได้ยินคำพูดเธอชัดถ้อยชัดคำ” เศรษฐีเถียง
“ดิฉันพูดเช่นนั้นจริง” นางกล่าว
“เห็นไหม ท่านทั้งหลาย นางยอมรับแล้วว่านางพูดจริง” เศรษฐีหันไปกล่าวต่อพราหมณ์ทั้งแปด
“หามิได้ ดิฉันกล่าวเช่นนั้นจริง แต่มิได้หมายความอย่างที่คุณพ่อเข้าใจ ดิฉันหมายถึงว่า คุณพ่อดิฉันเกิดมาในตระกูลมั่งคั่ง เสวยโภคทรัพย์มากมายในปัจจุบันนี้ เพราะอานิสงส์แห่งบุญเก่าที่ทำไว้แต่ปางก่อน แต่คุณพ่อของดิฉันมิได้สร้างบุญใหม่ในชาตินี้เลย ดิฉันหมายเอาสิ่งนี้ จึงกล่าวว่า คุณพ่อดิฉันกินของเก่า”

เมื่อนางวิสาขาแก้ดังนี้ พวกพราหมณ์จึงหันมาหาเศรษฐี กล่าวว่า “ที่นางพูดนั้นก็ถูกต้องแล้ว นางไม่มีความผิดเพราะเรื่องนี้”

เมื่อเศรษฐีแพ้ในกระทงแรก แกก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังหาเรื่องต่อไปอีกว่า “เรื่องนี้ก็ช่างเถิด ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง นางวิสาขากับคนใช้หนีจากเรือนไปยังหลังเรือนกลางดึกวันหนึ่ง สงสัยว่านางแอบไปทำความไม่ดีอะไรบางอย่าง ไม่สมควรที่จะเป็นสะใภ้ของตระกูลใหญ่เช่นตระกูลของข้าพเจ้า”
“จริงหรือ วิสาขา” พราหมณ์ผู้ไต่สวนซัก

“จริงเจ้าค่ะ แต่มิใช่อย่างที่คุณพ่อเข้าใจ คืนนั้นมีคนรายงานว่าแม่ลา ซึ่งเป็นแม่ม้าอาชาไนยกำลังตกลูกใกล้กับเรือนนี้ ดิฉันคิดว่าไม่ควรนิ่งดูดาย เพราะม้าอาชาไนยหายาก กลัวว่ามันจะเป็นอันตราย ดิฉันกับคนใช้ชายหญิงจำนวนหนึ่งจึงลงไปดูแลช่วยเหลือแม่ลาที่ตกลูกนั้นให้ปลอดภัย”

กรรมการผู้ตัดสินกล่าวแก่เศรษฐีว่า “ถ้าเช่นนั้น วิสาขาก็ไม่มีความผิดตามที่กล่าวหาแต่ประการใด”

เศรษฐีแพ้กระทงนี้ก็หาเรื่องต่อไปว่า “ช่างเถิด แต่มีข้อแคลงใจข้าพเจ้ามานานแล้ว วันแต่งงานลูกชายข้าพเจ้า พ่อของนางได้กระซิบความลับสิบประการแก่นาง ซึ่งคงมีความมุ่งหมายไม่ดีแน่นอน บังเอิญข้าพเจ้าได้รับรู้มาว่าความลับสิบประการนั้น ข้อที่หนึ่ง ห้ามนำไฟในออกข้างนอก มันเป็นไปได้หรือที่จะไม่ให้นำไฟจากข้างในเรือนไปข้างนอก แสดงว่าต้องมีความลับลมคมในอะไรสักอย่าง”
“เรื่องนี้จะว่าอย่างไร วิสาขา” พราหมณ์ทั้งแปดซึ่งเป็นกรรมการตัดสินถาม

นางตอบว่า “คุณพ่อของดิฉัน (ธนัญชัยเศรษฐี) ไม่ได้หมายความเช่นนั้น ท่านหมายความว่า ไม่ควรนำความไม่ดีของครอบครัวออกไปนินทาให้คนข้างนอกฟัง เพราะไม่มีอะไรจะร้ายแรงเท่าไฟ คือการนำเอาเรื่องที่เกิดขึ้นภายในเรือนไปโพนทะนาให้คนข้างนอกฟัง”

ประเด็นนี้ นางวิสาขาไม่ผิดอีก

เศรษฐีจีงกล่าวหาต่อไปว่า
“ยังมีอีก ไฟนอกไม่ควรนำเข้า; พึงให้แก่คนที่ให้, ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้, พึงให้แก่คนที่ให้หรือไม่ให้, พึงนั่งให้เป็นสุข, พึงบริโภคให้เป็นสุข, พึงนอนให้เป็นสุข, พึงบำเรอไฟ, พึงนอบน้อมต่อเทวดา สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความลับลมคมในทั้งสิ้น”

เมื่อถูกถามให้อธิบาย นางวิสาขาจึงอธิบายให้ฟังว่า “ที่คุณพ่อดิฉันสอนว่า ไฟนอกไม่ควรนำเข้า หมายถึง ไม่ควรเอาเรื่องราวข้างนอก เช่น มีคนอื่นกล่าวร้ายคนในครอบครัวมาเล่าให้ครอบครัวฟัง เพราะจะเป็นสาเหตุให้ทะเลาะวิวาทโดยใช่เหตุ

ที่ว่า พึงให้แก่คนที่ให้ หมายถึง ใครยืมขอใงช้ของสอยไปแล้วนำมาคืน ทีหลังมายืมอีกก็พึงให้
คำว่า ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ใครยืมแล้วไม่เอามาคืน ภายหลังมายืมอีกก็ไม่พึงให้
คำว่า พึงให้แก่คนที่ให้หรือไม่ให้ หมายความว่า ญาติของทั้งสองฝ่ายมายืมของไป ถึงเขาจะเอามาคืนหรือไม่ก็ตาม พึงให้เขายืม เพราะถือเป็นการสงเคราะห์ญาติ
คำว่า พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า พึงนั่งในที่ที่จะไม่ต้องลุกหลีกทางให้คนอื่น
คำว่า พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า พึงบริโภคอาหารภายหลังพ่อสามี แม่สามี และสามี
คำว่า พึงนอนให้เป็นสุข หมายถึง พึงนอนภายหลังพ่อสามี แม่สามี และสามี
คำว่า พึงบำเรอไฟ หมายความว่า พึงเคารพนบนอบ ปรนนิบัติพ่อสามี แม่สามี และสามีให้ดี
คำว่า พึงนอบน้อมต่อเทวดา หมายความว่า พ่อสามี แม่สามี และสามี ให้ถือเสมือนเป็นเทวดา พึงนอบน้อมเคารพเชื่อฟังท่านทั้งสามอย่างดี”

ได้ฟังอรรถาธิบายจากนางวิสาขาแล้ว พราหมณ์ทั้งแปดจึงตัดสินใจว่า นางไม่มีความผิด หรือท่านเศรษฐีติดใจอะไรไหม เศรษฐีกล่าวว่า ไม่ติดใจแล้วครับ ข้าพเจ้าเข้าในแจ่มแจ้งแล้ว ลูกสะใภ้ของข้าพเจ้าบริสุทธิ์ ไม่มีความผิดแต่อย่างใด ข้าพเจ้าต้องขออภัยที่เข้าใจนางผิดไป

นางวิสาขากล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ดิฉันตั้งใจจะกลับตระกูลตามคำขับไล่ของคุณพ่อสามีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากคุณพ่อได้มอบให้ดิฉันอยู่ในความดูแลของท่านทั้งหลาย ดิฉันจึงยังไปไม่ได้ จนกว่าท่านทั้งหลายจะตัดสินคดี บัดนี้ท่านทั้งหลายตัดสินว่าดิฉันไม่มีความผิดแล้ว ดิฉันพร้อมที่จะกลับตระกูลได้แล้ว ดิฉันให้คนจัดข้าวของไว้เรียบร้อยแล้ว จึงขอลา ณ บัดนี้”

มิคารเศรษฐีได้ยินดังนั้น จึงขอพราหมณ์ทั้งแปดให้เกลี้ยกล่อมนางไม่ให้ไป พร้อมกับกล่าวขอโทษนางและให้นางอยู่ต่อไป นางวิสาขากล่าวขึ้นว่า จะให้อยู่ได้อย่างไร นางเป็นอริยสาวิกาของพระพุทธศาสนา มาอยู่ในตระกูลสามีไม่เคยมีโอกาสได้ทำบุญในพระพุทธศาสนาเลย ถ้าจะให้นางอยู่ ขอให้นางได้ทำบุญตักบาตร นิมนต์ให้พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้านได้

เศรษฐีกล่าวว่า “เอาเถอะลูกเอ๋ย พ่อยินดีอนุญาตให้ลูกทำอย่างที่ลูกประสงค์”

เป็นอันว่าพ่อสามียอมทุกอย่าง นางวิสาขาจึงยอมอยู่ในตระกูลสามีต่อไป จนต่อมานางได้รับสมญาว่า “มิคารมาตา” (มารดาของมิคารเศรษฐี) ลูกสะใภ้คนนี้ได้กลายเป็นแม่ของพ่อสามี เรื่องราวเป็นมาอย่างไรโปรดติดตาม


ข้อมูล : บทความพิเศษ เนื้อคู่ของนางวิสาขา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๒ ประจำวันที่ ๘-๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘


๙๙. ปุณณะวัฒนะกุมาร
เนื้อคู่ของนางวิสาขา (ต่อ)


เมื่อสะใภ้กลายเป็นมารดาพ่อสามี
ฟังแล้วก็พิลึกดีเหมือนกัน แต่ถ้ารู้ความเป็นมาเป็นไปแล้วก็จะไม่แปลกใจแต่อย่างใด ดังที่กล่าวไว้ครั้งก่อนว่า พ่อสามีของลูกสะใภ้หาว่าลูกสะใภ้กิน “อุจจาระ” เนื่องจากนางวิสาขากล่าวกับพระที่มายืนรอรับบิณฑบาตที่หน้าบ้าน ขณะพ่อสามีกินข้าวอยู่ว่า “ขอนิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังรับประทานของเก่า” คำว่า “ของเก่า” ในที่นี้เศรษฐีเขาว่าของเก่าที่ออกจากกระเพาะ (ก็อึนั่นไงเล่าครับ)

แต่เมื่อกรรมการสอบสวนซักถามจำเลยแล้ว จำเลยนามว่าวิสาขาชี้แจงว่า “ของเก่า” หมายถึงบุญเก่า มิใช่ดังที่พ่อสามีเข้าใจ  พร้อมให้อรรถาธิบายอย่างแจ่มชัดว่า บุญที่ทำไว้แต่ปางก่อน เรียกว่า “ของเก่า” พ่อสามีนางเกิดมาในตระกูลร่ำรวย มีโภคทรัพย์มากมาย ก็เพราะอานิสงส์แห่งบุญแต่ปางก่อน แต่มาชาตินี้เศรษฐีไม่สนใจทำบุญกุศลเลยจึงเท่ากับกินบุญเก่านั่นเอง

เมื่อพ่อสามีแพ้แก่เหตุผลของลูกสะใภ้ หันมาพิจารณาตนด้วยจิตใจเป็นกลาง ก็รู้ว่าตนนั้น “กินของเก่า” จริงๆ จึงยอมขอขมาลูกสะใภ้  ลูกสะใภ้ได้ทีก็พูดจาขึงขังว่า เมื่อนางพ้นผิดแล้วก็ขอกลับไปตระกูลของนางตามความประสงค์ของคุณพ่อสามีต่อไป  ว่าแล้วก็สั่งให้คนขนของเตรียมเดินทาง เศรษฐียิ่งร้อนใจจึงอ้อนวอนว่าอย่าไปเลย พ่อก็ขอโทษแล้ว พ่อผิดจริง นาง (คราวนี้ “ขี่แพะ” เลย) จึงต่อรองว่า “ถ้าจะให้ลูกอยู่ต่อไป ต้องอนุญาตให้ลูกนิมนต์พระสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข มาฉันอาหารที่บ้านทุกวัน” เศรษฐีก็ยินยอม

นางจึงอยู่ต่อไป

วันต่อมา นางวิสาขาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์มาเสวยภัตตาหารที่บ้าน เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง นางจึงให้คนไปแจ้งแก่พ่อสามีว่าให้มา “อังคาส” พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

“อังคาส” หมายถึงเลี้ยงพระ คือลูกสะใภ้เชิญให้พ่อสามีมาเลี้ยงพระด้วยกัน เศรษฐีก็ทำท่าจะมา แต่พวก “อเจลกะ” (นักบวชเปลือยกาย) ห้ามไว้ว่า ท่านเศรษฐีไม่ควรไปเสวนากับพระสมณโคดม

เศรษฐีจึงให้คนไปบอกลูกสะใภ้ว่า เชิญลูกอังคาสพระองค์เองเถอะ  เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์เสวยเสร็จแล้วจะทรงแสดงพระธรรมเทศนา นางวิสาขาให้คนไปแจ้งพ่อสามีอีกว่า ให้มาฟังธรรม คราวนี้พวกอเจลกะจะห้ามอย่างไรเศรษฐีก็ไม่ฟัง คิดว่าเป็นการไม่สมควรที่จะขัดใจลูกสะใภ้ (เดี๋ยวนางจะโกรธจะกลับตระกูลของนางเสีย)  พวกอเจลกะบอกว่าท่านเศรษฐีจะไปฟังก็ได้ แต่ให้ฟังอยู่นอกม่าน อย่าเห็นพระสมณโคดม ว่าแล้วก็สั่งคนไปกั้นม่าน จัดที่ให้เศรษฐีนั่งฟังธรรม

พระพุทธองค์ทรงดำริว่า ถึงเศรษฐีจะนั่งอยู่นอกจักรวาล ถึงจะถูกภูเขาหลายแสนลูกบังอยู่ ก็สามารถได้ยินเสียงของพระองค์ ว่าแล้วพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา มุ่งสอนเศรษฐีโดยตรง เริ่มด้วยทรงแสดง “อนุปุพพีกถา” (พรรณนาเรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม อานิสงส์การออกจากกาม แล้วจบลงด้วยอริยสัจสี่ประการ)

เศรษฐีรู้สึกประหนึ่งว่า พระธรรมเทศนานี้ทรงมุ่งเทศน์ให้ตนฟังคนเดียว จึงตั้งอกตั้งใจส่งกระแสจิตพิจารณาไปตามความที่ทรงแสดง  เมื่อจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น มีศรัทธามั่นคง ปราศจากความสงสัยในพระรัตนตรัย และเลิกให้การสนับสนุนพวกอเจลกะ  กลายเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าในที่สุด

เศรษฐีได้ยกย่องนางวิสาขาบุตรสะใภ้ของตนเป็น “มิคารมาตา” (แปลว่า แม่ของมิคารเศรษฐี) เพราะนางเป็นประดุจแม่ผู้ให้กำเนิดในทางธรรมแก่ตน

ว่ากันว่าเศรษฐีได้จุมพิตที่ถันของนางด้วย  ทำนองเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นลูกผู้ดื่มนมจากแม่จริงๆ อันนี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมแขกมากกว่าไทย คงเลียนแบบไม่ได้ เดี๋ยวลูกชายจะหาว่าพ่อมาทำมิดีมิร้ายกับเมียตน นี่แหละครับ คือความเป็นมาของสมญานามว่า “มิคารมาตา” (มารดาของมิคารเศรษฐี)

นางวิสาขาก็คงรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับนามนี้พอสมควร กลัวใครๆ จะหาว่า “ข่ม” พ่อสามี ซึ่งเป็นอันตรายมิใช่น้อยในสังคมยุคที่นิยมยกย่องเพศชาย กดขี่เพศหญิง ดังอินเดียสมัยนั้น  นางจึงหาทางออกในเวลาต่อมา คือ เมื่อนางมีบุตรชาย นางจึงตั้งชื่อบุตรชายว่า “มิคาระ” เหมือนชื่อพ่อสามี เพราะเหตุฉะนี้แล เมื่อใครเรียกนางว่า มิคารมาตา (มารดาของมิคาระ) จึงสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เพราะลูกของนางชื่อมิคาระจริงๆ

ต่อมาท่านเศรษฐีเห็นว่าเครื่องประดับที่ชื่อ “ลดาปสาธน์” นั้น หนักเกินไป นางวิสาขาจะสวมใส่ทุกโอกาสได้ยาก จึงทำเครื่องประดับให้ใหม่ เบากว่าเดิม ชื่อ “ฆนะมัฏฐกะ” ให้ช่างฝีมือดีสร้างไป สิ้นเงินไปหนึ่งแสนกหาปณะ


นางวิสาขาผู้ทรงพลังเท่าช้างห้าเชือก
ก็เล่าขานประหนึ่งนิยายว่า นางวิสาขามีพลังมาก มากเท่าช้างห้าเชือกเลยทีเดียว

คัมภีร์กล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลบุญที่นางทำไว้แต่ปางก่อน

เรื่องนี้ปัจจุบันนี้เรามีคำพูดฮิตติดปากกว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” ฟังๆ ไว้ก็แล้วกันครับ เพราะเรื่องบาปบุญนี้มันเหนือวิสัยสามัญมนุษย์จะหยั่งรู้ได้

เสียงร่ำลือนี้ได้ยินไปถึงพระกรรณของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ก็คงไม่เชื่อเหมือนคนทั่วๆ   ไป จึงทรงประสงค์จะทดสอบโดยสั่งให้ปล่อยช้างเชือกหนึ่ง ดุเสียด้วย วิ่งไปหาทางที่นางวิสาขาพร้อมบริวารจำนวนร้อยเดินผ่านมา  ช้างก็แปร๋นๆ มาเชียว  ฝ่ายสตรีสาวสวยบริวารของนางวิสาขาก็แตกฮือหนีเอาตัวรอดไป เหลือนางวิสาขายืนอยู่คนเดียว  เมื่อช้างเข้ามาใกล้ นางก็เอานิ้วสองนิ้วจับงวงมัน แค่นั้นแหละครับ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ช้างเชือกนั้นก็ทรุดตัวลง ทรงกายไม่อยู่เลยทีเดียว อะไรจะปานนั้น

คราวนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเชื่อสนิทว่า ที่ว่านางมีพลังเท่าช้างห้าเชือกนั้นของจริง  มิใช่ราคาคุย


ข้อมูล : บทความพิเศษ เนื้อคู่ของนางวิสาขา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๓ ประจำวันที่ ๘๑๕-๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘



(http://www.sil5.net/images/bank/buda-1/col-3/148-1001.jpg)

นางวิสาขาขายเครื่องประดับสร้างวัด

หลังจากนางวิสาขาเดินตรวจตราดูรอบๆ พระอาราม เพื่อดูว่าพระคุณเจ้ารูปใดขาดสิ่งใด จะได้จัดถวาย นางเรียกหาเครื่องประดับ “ลดาปสาธน์” สาวใช้ผู้ดูแลเครื่องประดับตกใจ เรียนนายหญิงว่า ตนลืมไว้ที่วัด จึงรีบกลับไปเอา

พระอานนท์เห็นสาวใช้นางวิสาขา จึงถามว่า “เธอมาด้วยประสงค์ใด”  
สาวใช้ตอบว่า “มาเอาเครื่องประดับของนายหญิงที่ตนลืมไว้”
พระอานนท์ตอบว่า “อาตมาเก็บไว้ที่ราวบันได เธอจงไปเอาเถิด”

สาวใช้จึงรีบเอาเครื่องประดับนั้นกลับไปส่งให้นายหญิง นางวิสาขาฉุกคิดอะไรขึ้นมา จึงถามว่า
“มีใครเห็นเครื่องประดับนี้หรือเปล่า”
“พระอานนท์เห็นเจ้าค่ะ ท่านเอาไปพาดไว้ที่ราวบันไดกุฏิ”
“ถ้าเช่นนั้น ฉันจะไม่ใช้เครื่องประดับที่พระคุณเจ้าอานนท์ถูกต้องแล้ว ขอถวายให้แก่ท่านเสียเลย แต่เมื่อพระท่านไม่ใช้เครื่องประดับ ฉันจะขายเอาเงินไปบำรุงวัด”

นางวิสาขาจึงเรียกช่างมาตีราคาเครื่องประดับ ช่างได้ตีราคาว่าเครื่องประดับมีค่า ๙ โกฏิ และค่ากำเหน็จอีก ๑ แสน นางจึงประกาศขายในราคาเท่านั้น

ว่ากันว่าในชมพูทวีปสมัยนั้น คนที่มีเครื่องประดับล้ำค่าอย่างนี้มีอยู่ ๓ คนเท่านั้นเอง นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางมัลลิกาภริยาพันธุละเสนาบดี แห่งแคว้นโกศล และลูกสาวเศรษฐีกรุงพาราณสีคนหนึ่ง (ชื่ออะไรไม่เห็นบอก) จึงหาคนซื้อไม่ได้

นางจึงซื้อเสียเอง แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิ กับอีก ๑ แสน ใส่เกวียนไปพระเชตวันมหาวิหาร เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถามว่า จะให้ทำอย่างไรกับเงินจำนวนนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้สร้างที่อยู่สำหรับภิกษุสงฆ์ทางด้านทิศปราจีน  นางวิสาขาจึงเอาเงิน ๙ โกฏินั้นซื้อที่ดิน และบริจาคเพิ่มอีก ๙ โกฏิ สร้างวัดถวายพระสงฆ์ด้วยทรัพย์จำนวนนั้น เป็นอาคารสองชั้น มีห้องถึง ๑,๐๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง ชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง  สร้างยอดปราสาท บรรจุน้ำได้ถึง ๖๐ หม้อ นางได้ตั้งชื่อวัดว่า “บุพพาราม” ใช้เวลาสร้างนาน ๙ เดือน จึงสำเร็จ

ในช่วงเวลาที่นางวิสาขาสร้างวัดนั้น พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปโปรดสัตว์ยังแว่นแคว้นอื่น ก่อนเสด็จไป พระองค์มีพุทธบัญชาให้พระมหาโมคคัลลานะกับภิกษุจำนวนหนึ่ง อยู่คอยให้คำแนะนำแก่นางวิสาขาจนสร้างวัดเสร็จดังกล่าว

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จนิวัติยังพระนครสาวัตถี นางวิสาขาจึงกำหนดจัดงานเฉลิมฉลองวัดบุพพารามถึง ๔ เดือน แล้วถวายภัตตาหารทุกวันเป็นประจำ (ธรรมดาของการทำบุญฉลอง ไม่ว่าสมัยไหน ก็คงมีมหรสพต่างๆ ประกอบด้วย)

ครั้งนั้นมีหญิงเป็นสหายเก่าของนางวิสาขาคนหนึ่ง อยากมีส่วนร่วมในการทำบุญครั้งนี้ด้วย จึงนำผ้าอย่างดีราคาพันหนึ่ง มาเพื่อปูลาดพื้นที่ (สงสัยจะเป็นพรมปูพื้น) ขอโอกาสนางวิสาขาเพื่อจะปูลาดผ้านั้น นางวิสาขาบอกว่า ตามสบายเถิด เห็นสมควรที่จะปูลาดตรงไหน เพื่อนจงจัดการเถิด  นางเดินหาที่ที่จะปูลาดผ้าของตนไม่พบ เพราะผ้าที่ปูอยู่ก่อนแล้วล้วนราคามากกว่าผ้าของนาง เมื่อไม่มีโอกาสปูลาดผ้า นางจึงยืนร้องไห้อยู่

พระอานนท์มาพบเข้า ถามไถ่ได้ความว่า หาที่ปูลาดผ้าไม่พบ เพราะตลอดทั้ง ๑,๐๐๐ ห้องมีผ้าปูลาดไว้หมดแล้ว และมีราคามากกว่าผ้าของนางด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้นางก็หมดโอกาสได้ทำบุญกุศลแล้ว

พระเถระบอกว่า ถ้าอย่างนั้นตามอาตมามา ว่าแล้วก็พานางไปชี้ให้ดูที่ขั้นบันได  “จงลาดผ้าไว้ที่เชิงบันไดนี้ให้เป็นผ้าเช็ดเท้าพระ หลังจากท่านล้างเท้าแล้ว จะได้เช็ดเท้า ณ จุดนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุญกุศลเป็นอันมากย่อมเกิดขึ้นแก่ท่าน”  นางจึงได้ทำตามพระเถระแนะนำ มีความปลาบปลื้มปีติมากที่ได้มาส่วนร่วมในการฉลองวัดบุพพารามของนางวิสาขา

การฉลองวัดหมดเงินไป ๙ โกฏิ (ดูเหมือนเลย ๙ จะเป็นมงคลนะครับ) เป็นอันว่าวัดบุพพารามสร้างและฉลองเป็นเงินทั้งหมด ๒๗ โกฏิ (ซื้อที่ ๙ โกฏิ ค่าก่อสร้าง ๙ โกฏิ ค่าจัดงานฉลอง ๙ โกฏิ)

ในงานฉลองวัดครั้งนี้ นางวิสาขาเต็มไปด้วยปีติโสมนัส เดินชมรอบพระวิหารแล้วเปล่งอุทานจากความรู้สึกภายในใจ ด้วยสำเนียงอันไพเราะว่า
- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอเราจะได้สร้างปราสาทใหม่ ฉาบด้วยปูนขาวและดิน ถวายเป็น “วิหารทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว  
- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะมีโอกาสถวายเตียงตั่ง ฟูกและหมอน เป็น “เสนาสนภัณฑ์” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้ถวายสลากภัตผสมด้วยเนื้อบริสุทธิ์เป็น “โภชนทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว  
- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้ถวายผ้ากาสิกพัสตร์ (ผ้าทอที่แคว้นกาสีอย่างดี) ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้าย เป็น “จีวรทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
- เราเคยมีความคิดว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้ถวายเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เป็น “เภสัชทาน” บัดนี้ความคิดของเราสำเร็จบริบูรณ์แล้ว

พระภิกษุจำนวนหนึ่งเห็น และได้ยินนางวิสาขาเดินครวญเพลงเบาๆ รอบปราสาท (ตึก) ไปกราบทูลพระพุทธองค์ว่า นางวิสาขาไม่เคยร้องเพลงในวัดอย่างนี้เลย วันนี้นึกครึ้มใจอะไรขึ้นมา หรือ “ดีของนางกำเริบ” (เป็นสำนวนโบราณ คงหมายความว่า เกิดผิดปกติอะไรขึ้นมา อะไรทำนองนั้น)”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ไม่มีอะไรดอก วันนี้ธิดาของเราได้ทำทุกสิ่งสมความปรารถนาที่ตั้งไว้ จึงเปล่งอุทานออกมาด้วยความดีใจเท่านั้นเอง”


ข้อมูล : บทความพิเศษ เนื้อคู่ของนางวิสาขา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๕ ประจำวันที่ ๒๙ พฤษภาคม - ๔ มิถุนายน ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 พฤษภาคม 2558 13:12:50
.
(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRuke1MyTLznYB87JKwAmSRknwyZ_tflMaoNe_SnxMwA3SveYiQ)

๑๐๐. นางสุปปิยา
คนสนิทผู้ใจบุญ


นางสุปปิยาเป็นคนสนิทของนางวิสาขา มักจะติดตามนางวิสาขาเดินดูความเรียบร้อยของพระอาราม หลังจากเสร็จธุระเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ในพุทธประวัติมีชื่อนางสุปปิยาอีกคน คนนี้เป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติว่า ภิกษุห้ามฉันเนื้อมนุษย์ และเนื้อสัตว์ที่ไม่ควรอื่นๆ อีก ๙ ชนิด

ผมจึงตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นสุปปิยาคนเดียวหรือคนละคน ว่าจะค้นมาเล่าสู่กันฟัง จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ค้น

ตามข้อมูลที่อยู่ในมือ (ข้อมูลมีน้อย เพราะไม่ได้ค้นดังได้บอกแล้ว)  สุปปิยาที่เป็นต้นเหตุให้ทรงบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ มีเล่าในพระวินัยปิฎกเล่ม ๕ (ข้อความแวดล้อมน่าสงสัยมาก สงสัยอย่างไรจะบอกภายหลัง ตอนนี้ฟังข้อมูลไปก่อน)

เมื่อครั้งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี สามีภรรยาคู่หนึ่งชื่อ สุปปปิยะ และสุปปิยา ตามลำดับ เป็นทายกและกัปปิยการกบำรุงพระสงฆ์มาโดยตลอด

บ่ายวันหนึ่ง นางสุปปปิยา ได้เดินเรียนถามความต้องการของพระภิกษุ ตามที่อยู่ของท่าน พบพระภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ เป็นโรคท้องเดิน ฉันน้ำเนื้อดิบเป็นยารักษา

บังเอิญวันนั้นเป็นวันห้ามฆ่าสัตว์ ไม่มีเนื้อขายในตลาด นางสั่งให้คนไปหาที่ไหนๆ ก็ไม่ได้ จึงตัดสินใจเอามีดคมกริบเฉือนเนื้อขาของตนเอง สั่งให้หญิงรับใช้นำไปต้ม เอาน้ำไปถวายพระภิกษุรูปนั้น ส่วนตนก็เอาผ้าพันขา แล้วเข้าห้องนอน

สุปปิยะอุบาสก ผู้สามีกลับมาบ้าน ทราบเรื่องราวเข้า แทนที่จะตำหนิภรรยา กลับปีติยินดีที่ภรรยาของตนมีศรัทธาในพระศาสนาอย่างแรงกล้า ถึงขั้นเฉือนเนื้อขาตัวเองถวายเป็นอาหารภิกษุสงฆ์ จึงไปกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตนในเช้าวันรุ่งขึ้น “เพื่อเจริญกุศลยิ่งใหญ่และปีติปราโมทย์” ยิ่งๆ ขึ้นไป ว่าอย่างนั้น

รุ่งเช้าขึ้นมา พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งเสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของคนทั้งสอง พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องราวของสุปปิยา จากคำกราบบังคมทูลของสามีนาง ทรงรับสั่งให้นางเข้าเฝ้า

ตอนแรกนางคิดว่าคงไม่สามารถลุกขึ้นไปเข้าเฝ้าได้ เพราะบาดแผลระบมตลอดทั้งคืน แต่พอขยับกายเท่านั้น ไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย ปรากฏว่าแผลได้มีเนื้อขึ้นเต็ม สมานสนิทเหมือนปกติ ด้วยพุทธานุภาพ

ครั้นเสวยเสร็จแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดสองสามีภรรยา

เสด็จนิวัติยังพระอาราม รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ทรงไต่ถามเอาความจริงจากภิกษุรูปที่ฉันน้ำต้มเนื้อมนุษย์นั้นว่า
“เขาว่าเขาเอาน้ำต้มเนื้อมนุษย์มาถวายหรือ”
“พระเจ้าข้า” ภิกษุรูปนั้นรับ
“เธอฉันแล้วหรือ”
“ฉันแล้ว พระเจ้าข้า”
“เธอพิจารณาหรือเปล่า” (ดูหรือเปล่าว่าเป็นเนื้อคน)
“ไม่ได้พิจารณา พระเจ้าข้า”

ตรัสถามอะไรก็รับเป็นสัตย์หมดทุกกระทงความ พระพุทธองค์จึงตรัสตำหนิว่า-
“โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อนแล้วค่อยฉัน เธอเป็นคนมักมาก เห็นแก่ตัว ประมาท ฉันเนื้อมนุษย์ไปแล้ว การกระทำของเธอไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ไม่ทำให้คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว เลื่อมใสมากยิ่งขึ้น” เสร็จแล้วทรงบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ ใครฝ่าฝืนต้องอาบัติถุลลัจจัย

ต่อมามีผู้เอาเนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อหมี เนื้อสุนัข เนื้องู ไปถวายพระภิกุบางเหล่า พวกท่านก็ได้ฉันเนื้อเหล่านั้น

พระพุทธองค์ทรงทราบจึงทรงบัญญัติห้ามพระภิกษุฉันเนื้อดังกล่าว ใครฝ่าฝืนปรับอาบัติทุกกฎ

พจนานุกรม “วิสามานยนาม” รวบรวมโดย ดร.มาลาลา เสเกรา  พูดเช่นเดียวกันว่า สุปปิยาเป็นชาวเมืองพาราณสี

ถ้าเป็นเช่นนั้น สุปปิยา ผู้ติดตามนางวิสาขา กับสุปปิยาผู้ถวาย “ซุปน่องคน” แก่พระอาพาธรูปหนึ่ง เป็นคนละคน

ที่ผมว่า “ข้อความแวดล้อม” มันน่าสงสัยก็คือ เรื่องเหล่านี้บอกว่าเกิดขึ้นในสมัยพระพุทธองค์ประทับอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี  สมัยที่เกิดเรื่องนี้ มีพระสงฆ์อยู่ร่วมกันเป็นอันมาก นางสุปปิยามักจะเดินตรวจตราดูความเป็นอยู่ของพระสงฆ์เป็นประจำ จนพบพระรูปดังกล่าวป่วย หาเนื้อไม่ได้ จึงเฉือนเนื้อขาของตนต้มถวาย จนเป็นเหตุให้มีพุทธบัญญัติห้ามพระฉันเนื้อ

ความน่าจะเป็นก็คือ พระองค์คงเสด็จกลับมาพำนักที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันหลายครั้งหลายคราวแน่นอน (คงไม่ใช่พักครั้งเดียวเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์แน่) เพียงแต่ไม่มีหลักฐานบ่งชัดไว้เท่านั้น เหตุการณ์ทรงบัญญัติห้ามพระฉันเนื้อมนุษย์ จะต้องเกิดขึ้นหลังจากพรรษาที่ ๑๑ และก่อนเสด็จไปประจำที่เมืองสาวัตถี

ทำไมจึงว่าอย่างนั้น เหตุผลง่ายๆ ก็คือ มีหลักฐานว่าระยะแรก พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุเสพเมถุน ใครเสพต้องอาบัติปาราชิก หลังจากนั้นก็มีการกระทำที่ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูปอื่นๆ อีก พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทข้ออื่นๆ ต่อมา

ปาราชิกข้อที่หนึ่งเกิดก่อนข้ออื่นๆ และปาราชิกข้อหนึ่งนี้ทรงบัญญัติเมื่อคราวพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชรา ในพรรษาที่ ๑๑

การบัญญัติห้ามพระฉันเนื้อมนุษย์ก็ต้องมีขึ้นที่หลังปฐมปาราชิกแน่เหมือนแช่แป้งอยู่แล้วใช่ไหมขอรับ

การศึกษาพระพุทธศาสนาลำบากอยู่นิดหนึ่ง คือ ชื่อคนมักจะซ้ำกัน แล้วท่านก็ไม่ค่อยให้รายละเอียดไว้ด้วย ทำให้ผู้ศึกษาสับสนและนำมาปะปนกัน

อีกทั้งในคัมภีร์ก็ไม่ค่อยจะคำนึงถึงเรื่องช่วงเวลาด้วย มักจะกล่าวกว้างๆ เช่น ในสมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่...เกิดเรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ เลยไม่รู้ว่า “สมัยหนึ่ง” น่ะ สมัยไหน ปีไหน เดือนไหน

อยากให้นักวิจัยมาวิจัยเรื่องวันเวลา สถานที่ที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก จะได้เป็นข้อมูลที่สำคัญ และได้คำตอบในหลายเรื่องที่ยังคลุมเครืออยู่

ใครมีฝีมือกรุณาทำด้วยเถิดครับ จะเป็นประโยชน์แก่การศาสนศึกษาอย่างมหาศาลเลยทีเดียว



ข้อมูล : บทความพิเศษ นางสุปปิยา คนสนิทผู้ใจบุญ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๖๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๔ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41797942419846__3623_3636_3626_3634_3586_3634.gif)
ต้นเหตุเกิดผ้าอาบน้ำฝน

สมัยก่อน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระใช้ผ้าเพียงสามผืนเท่านั้น คือมีจีวร (ผ้าห่ม)  สบง (ผ้านุ่ง)  สังฆาฏิ (ผ้าห่มซ้อน) เท่านั้น

ผ้าสามผืนนี้ ศัพท์ทางวิชาการจริงๆ เขาเรียกดังนี้ครับ
ผ้าห่ม เรียกว่า อุตราสงค์
ผ้านุ่ง เรียกว่า อัตราวาสก
ผ้าห่มซ้อน เรียกว่า สังฆาฏิ

เฉพาะผ้าสังฆาฏินั้น ปัจจุบันนี้ พระสงฆ์ไทยเอามาพาดบ่า เป็นสายสะพายไปเสียแล้ว  สมัยพุทธกาลใช้ห่มซ้อนเวลาอากาศหนาวมาก  ในพุทธประวัติปรากฏว่า พระพุทธองค์ทรงใช้ปูลาดสำหรับบรรทมด้วย ดังพระอานนท์ได้ลาดผ้าสังฆาฏิ ถวายให้พระองค์บรรทม ขณะเสด็จถึงแม่น้ำกกุธา ก่อนที่จะเสด็จไปปรินิพพานที่กรุงกุสินารา

ปัจจุบันนี้ ถ้าภิกษุรูปใดเอาผ้าสังฆาฏิมาปูนั่งปูนอน เดี๋ยวก็โดนพระอุปัชฌาย์หาว่าอุตริ พิเรนทร์ แน่นอน

พระสงฆ์สมัยนั้น เวลาอาบน้ำ ก็เปลือยกายอาบน้ำกันเพราะไม่มีผ้านุ่งอาบน้ำ จนนางวิสาขาเห็นความลำบากของพระสงฆ์ จึงขอพรจากพระพุทธเจ้า ขอถวายผ้าสำหรับอาบน้ำแก่พระสงฆ์

เรื่องมีว่า วันหนึ่ง นางวิสาขาทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น พระพุทธองค์ทรงรับด้วยดุษณีภาพ (คือรับด้วยอาการนิ่ง) นางกลับถึงบ้าน ก็สั่งเตรียมอาหารไว้สำหรับถวายพระในวันรุ่งขึ้น  บังเอิญว่าตอนเช้ามืดฝนตกหนัก ภิกษุทั้งหลายก็พากันอาบน้ำก่อนที่จะไปฉันข้าว นางวิสาขาสั่งให้สาวใช้ไปนิมนต์พระ หลังจากตระเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว สาวใช้ไปที่วัดพระเชตวัน บังเอิญพระคุณเจ้าบางรูปยังอาบน้ำไม่เสร็จ สาวใช้แลไปเห็นพระคุณเจ้าเปลือยกายล่อนจ้อนอาบน้ำอยู่ ก็รีบกลับไปรายงานนายหญิงว่า
“ไม่มีพระสงฆ์อยู่เลยเจ้าค่ะ”
“ไม่มีได้อย่างไร ฉันนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไว้แล้ว เมื่อวานนี้” นางวิสาขาสงสัย
“ไม่มีจริงๆ เจ้าค่ะ เห็นแต่พวกชีเปลือยเต็มวัดไปหมดเลย” สาวใช้ยืนยัน

สาวใช้เข้าใจอย่างนั้นจริงๆ เพราะในอินเดียสมัยนั้น (สมัยนี้ก็ยังมีอยู่) นักบวชประเภทไม่นุ่งผ้ามีเป็นจำนวนมาก อย่างพระเชน (ศิษย์ของศาสดามหาวีระ หรือนิครนถนาฏบุตร) และพวกอเจลกะก็ไม่นุ่งผ้า ท่านเหล่านี้ได้รับความนับถือบูชาจากชาวชมพูทวีปไม่น้อยไปกว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

นางวิสาขาเป็นคนฉลาด พอได้ยินสาวใช้รายงานเช่นนั้นก็รู้ทันทีว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์เสวยภัตตาหารเสร็จ นางวิสาขาจึงกราบทูลขอพรจากพระพุทธองค์
“เราตถาคตเลิกให้พรแล้ว วิสาขา” พระพุทธองค์ตรัส
“ได้โปรดเถิด หม่อมฉันทูลขอพรที่เหมาะสม ไม่มีโทษพระพุทธเจ้าข้า”
“จงบอกมาเถิด วิสาขา”
“หม่อมฉันปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) ถวายภัตเพื่อพระอาคันตุกะ ถวายภัตเพื่อพระที่เตรียมจะเดินทาง ถวายภัตเพื่อพระอาพาธ ถวายภัตเพื่อพระที่พยาบาลพระอาพาธ ถวายเภสัชแก่ภิกษุอาพาธ ถวายข้าวยาคูประจำสำหรับภิกษุณี หม่อมฉันจะถวายผ้าอุทกสาฏิกา (ผ้าผลัดอาบน้ำของนางภิกษุณี) ตลอดชีวิตพระเจ้าข้า”

“เธอเห็นประโยชน์อะไร จึงปรารถนาจะถวายสิ่งเหล่านี้” พระพุทธองค์ตรัสถาม

นางวิสาขากราบทูลว่า วันนี้หม่อมฉันสั่งให้สาวใช้ไปนิมนต์พระ นางไปเห็นพระสงฆ์กำลังอาบน้ำอยู่ นึกว่าเป็นพวกชีเปลือย หม่อมฉันจึงคิดว่า พระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำไม่เป็นที่เลื่อมใสของคนทั้งหลาย และคนเขาจะไม่เห็นความแตกต่างระหว่างชีเปลือยนอกศาสนากับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และเห็นว่ามีสิ่งจำเป็นอื่นๆ อีกที่พระสงฆ์ต้องการ จึงอยากถวายทั้ง ๘ ประการ ดังกราบทูลให้ทรงทราบด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๑ การเปลือยกายอาบน้ำไม่งามสำหรับภิกษุสงฆ์ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้จึงปรารถนาจะถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุสงฆ์
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๒ พระอาคันตุกะที่ไม่ชำนาญทาง ไม่รู้จักโคจร (ที่สำหรับเที่ยวไปบิณฑบาต) ย่อมลำบากในการเที่ยวบิณฑบาต เมื่อท่านได้ฉันอาคันตุกภัตแล้ว ก็จะไม่ลำบาก เบื้องต้น หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงปรารถนาอยากถวายอาคันตุกภัต
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๓ ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทางไกล ถ้ามัวแต่แสวงหาภัตอยู่ก็จะไม่ทันการณ์ อาจพลาดจากหมู่เกวียนที่ตนจะอาศัยเดินทางไปด้วย กว่าจะถึงที่หมายอาจพลบค่ำหรือมืดก่อน เดินทางลำบาก เมื่อท่านได้ฉันภัตตาหารก่อนแล้วก็จะไปทันเวลา และการเดินทางก็จะไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นประโยชน์จึงปรารถนาอยากถวายภัตเพื่อพระผู้จะเดินทาง
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๔ เมื่อพระอาพาธ ไม่ได้อาหารที่สบาย โรคภัยไข้เจ็บก็อาจจะกำเริบ อาจถึงมรณภาพได้ เมื่อท่านได้ฉันอาหารที่เป็นสัปปายะ อาพาธก็จะทุเลาลง จนกระทั่งหายในที่สุด หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงปรารถนาอยากถวายภัตเพื่อภิกษุอาพาธ
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๕ ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุอาพาธ มัวแต่แสวงหาอาหารให้พระที่อาพาธ ตนเองก็จะไม่ได้ฉันภัตตาหาร หม่อมฉันมีความปรารถนาอยากถวายแก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุอาพาธด้วย ท่านจะได้ไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นประโยชน์จึงปรารถนาอยากถวายภัตเพื่อภิกษุผู้พยาบาลภิกษุ
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๖ ภิกษุไข้เมื่อไม่ได้เภสัชที่ถูกกับโรค ก็จะไม่หายป่วยไข้ บางทีอาจถึงแก่มรณภาพ หม่อมฉันเห็นประโยชน์ จึงปรารถนาอยากถวายเภสัชเพื่อภิกษุไข้
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๗ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญอานิสงส์ของการบริโภคข้าวยาคูไว้ ๑๐ ประการ (คือ อายุยืน, ผิวพรรณผ่อง, มีความสุขสบาย, มีกำลัง, มีปฏิภาณ, ขจัดความหิว, บรรเทาความกระหาย, ลมเดินคล่อง, ล้างลำไส้, ระบบย่อยอาหารดี) หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงอยากถวายข้าวยาคูประจำ
• เหตุผลที่ขอพรข้อที่ ๘ ภิกษุณีเปลือยกายอาบน้ำร่วมกับนางแพศยา ถูกนางพวกนั้นค่อนแคะว่า ไม่แตกต่างไปจากพวกเขา ทำให้ภิกษุณีเก้อเขิน อีกอย่างหนึ่ง สตรีเปลือยกายไม่งาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสตรีทีประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

หม่อมฉันเห็นประโยชน์นี้ จึงปรารถนาอยากถวายผ้าผลัดอาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์

เมื่อนางวิสาขากราบทูลเหตุผลจบสิ้นลง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์ ๘ ประการนี้ จึงขอพรจากเราตถาคต เราตถาคตอนุญาตพรทั้ง ๘ ประการนี้ แล้วตรัสอนุโมทนาว่า :-
 
สตรีใดให้ข้าวให้น้ำ มีใจเบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นสาวิกาของพระสุคต  ครอบงำความตระหนี่ได้แล้ว บริจาคทาน อันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำมาซึ่งความสุข  สตรีนั้นอาศัยมรรคปฏิบัติ ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องยั่วใจปราศจากธุลี ย่อมได้กำลังและอายุเป็นทิพย์

สตรีผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีความสุขสมบูรณ์ด้วยพลานามัย ย่อมปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน


จาก : บทความพิเศษ "ต้นเหตุเกิดผ้าอาบน้ำฝน" โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์  วรรษปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๖ ประจำวันที่ ๕-๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 กรกฎาคม 2558 15:38:34
.
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSQI8j_Zu6WxgWJVD9qbagMgRrKHGHpulMP5K3dNAmIXeCSBZmcKg)

วิสาขา
ที่พึ่งแก่เหล่าเพื่อนหญิง


นางวิสาขามีเพื่อนหลายคน คบหากันตลอด เวลาเพื่อนคนใดมีความทุกข์ หรือมีปัญหาชีวิต นางวิสาขาก็ช่วยปัดเป่าทุกข์ให้ด้วยความยินดี

ครั้งหนึ่งไปพบเพื่อนหญิงของนางหลายคนพากันดื่มสุรา เมาแอ่น เสียงเอะอะโวยวาย ก็สลดใจ นึกไม่ถึงว่าไม่ได้พบเพื่อนหญิงหลายเดือน พวกเธอเปลี่ยนแปลงไปถึงขั้นนี้ได้อย่างไร

สอบถามได้ความว่า พวกนางได้สามีที่เป็นนักเลงสุราทั้งนั้น เมื่อมีงานมหรสพ สามีเหล่านั้นก็ “ตั้งวง” ดื่มสุรากันสนุกสนาน

คราวหนึ่งหลังงานเลิกแล้ว มีสุราเหลืออยู่ พวกนางจึงพากันลองชิมดูบ้าง อยากรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร สามีของพวกนางจึงชอบดื่มกันนัก

ลองแล้วก็เลยติดในรสสุรา จึงแอบนัดกันไปตั้งวงดื่มกัน ในที่สุดพวกสามีก็จับได้ จึงทุบตีพวกนาง ทำนองว่าเป็นผู้หญิงริดื่มสุรา เสียชื่อหมด (ในขณะที่ตัวเองดื่มได้ไม่เสีย ว่าอย่างนั้นเถอะ)

แต่พวกนางก็ไม่เข็ด มีโอกาสเมื่อไรก็นัดกันไป “ก๊ง” จนกระทั่งนางวิสาขามาพบเข้า จึงว่ากล่าวตักเตือน พวกนางก็ทำท่าว่าเห็นด้วยกับที่นางวิสาขาตักเตือน แต่ก็อดที่จะแอบดื่มสุราไม่ได้

ของมันเคยแล้วนี่ครับ เลิกยากเสียแล้ว

วันหนึ่งพวกนางขอติดตามนางวิสาขาไปชมสวน แล้วเลยไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ที่วัดพระเชตวัน

นางวิสาขาบอกว่า ก็ได้ แต่พวกเธออย่าดื่มสุราเป็นอันขาด หาไม่จะเป็นที่ตำหนิติเตียนของพวกเดียรถีย์ เขาจะหาว่าสาวิกาของพระพุทธเจ้าเป็นนักเลงสุรา กระทำการไม่เหมาะไม่ควร

พวกนางก็รับปากแข็งขัน แต่ก็แอบเอาสุราใส่ขวดซ่อนไว้ เดินชมสวนไปก็ดื่มน้ำอมฤตไปด้วย หลายอึกเข้าก็มันเมาเป็นธรรมดา กว่าจะมาถึงวัดก็หมดไปหลายอึก

ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ พวกเธอก็ลืมตัว บ้างก็ถลำขึ้นรำ บ้างก็ร้องเพลงฟังไม่ได้ศัพท์ บ้างก็หัวเราะขบขัน ไม่มีปี่ไม่ขลุ่ย แสดงอาการอันน่าทุเรศต่อสายตาวิญญูชน

พระพุทธองค์จึงทรงบันดาลให้เกิดความมืดมนทันที สตรีเหล่านั้นตกอยู่ในความหวาดกลัว หายเมาไปครึ่งต่อครึ่ง นั่งตัวสั่นอยู่

ทันใดนั้น พระพุทธองค์ทรงฉายรัศมีออกจากพระอุณาโลม เกิดแสงสว่างขึ้น ดุจแสงพระจันทร์พันดวง

พระองค์ตรัสกับสตรีเหล่านั้นว่า จะมัวสนุกสนานกันอยู่ไย เมื่อโลกลุกเป็นไฟเป็นนิตย์ พวกเธอถูกความมืดมิดปิดบังอยู่ฉะนี้ ไยไม่แสวงหาแสงสว่างกันเล่า พวกนางได้สติ หายเมาหมดสิ้น และได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์

นางวิสาขากราบทูลว่า สุรานั้นมีพิษสงร้ายกาจเหลือเกิน สหายของข้าพระพุทธเจ้าตามปกติก็เป็นคนสงบเสงี่ยม พอสุราเข้าปากกลับทำอะไรต่างๆ ที่น่าละอายมากมาย แม้ต่อพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่เว้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า “เป็นเช่นนั้น วิสาขา” แล้วทรงเล่าความเป็นมาของสุราให้นางวิสาขาฟัง

เรื่องราวเป็นฉันใด คราวหน้าค่อยว่าต่อครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ วิสาขา ที่พึ่งแก่เหล่าเพื่อนหญิง โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๘ ประจำวันที่ ๑๙-๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๘


(http://www.dhammathai.org/chadoknt/pic/nt133.gif)

ประวัติของสุรา (๑)


ประวัติของสุราผมเคยเขียนไว้ที่อื่นบ้างแล้ว แต่เป็นฉบับ “แปลงสาร” คือไม่เอาตามต้นฉบับเดิมทั้งหมด ดัดแปลงเพื่อจุดประสงค์เฉพาะกิจ

คราวนี้เห็นทีจะต้องดำเนินตามต้อนฉบับเดิมเสียหน่อย ต้นฉบับเดิมมีอยู่ในชาดก นามว่า กุมภชาดก

เนื้อความมีดังนี้ครับ

ในอดีตกาลนานมาแล้ว เมื่อสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี (นิทานชาดกทุกเรื่องเกิดที่เมืองนี้ และพระเจ้าแผ่นดินก็พระนามนี้ เป็น “สูตรสำเร็จ” ขอรับ)  มีนายพรานป่าคนหนึ่ง นามว่า สุรา คนละคนกับ สุระ แสนคำ (เขาทราย)

นายสุระไปเห็นบรรดานกทั้งหลายพากันมากินน้ำที่โพรงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง แล้วก็เมามายตกลงมายังพื้นดิน สักพักนกเหล่านั้นก็สร่างเมา บินต่อไปได้

จึงมีความฉงนใจอยากรู้ว่า นกมันกินน้ำอะไร จึงเกิดอาการอย่างนั้น

แกปีนต้นไม้ขึ้นไปดู เห็นโพรงใหญ่มาก เต็มไปด้วยน้ำ มีกลิ่นและสีแปลกๆ จึงเอานิ้วจิ้มและดูดดู ปรากฏว่ารสมันซาบซ่านถึงหัวใจเลย คิดว่าน้ำนี้คงไม่มีพิษ เพราะถ้ามีพิษจริง พวกนกเหล่านี้ก็คงตายกันหมดแล้ว

ว่าแล้วก็ตักใส่กระติก เอ๊ย กระบอกไม้ไผ่ไปกิน เมื่อหมดแล้วก็ขึ้นไปตักมากินใหม่ ทำอยู่อย่างนี้หลายเดือน

วันหนึ่ง หลังจากดื่มน้ำพรรค์อย่างว่าเข้าไปหลายอึก เห็นบรรดานกมันเมา สลบเหมือดอยู่บนพื้นดิน ก็เกิดความคิดขึ้นว่า เอานกมาย่างกินกับน้ำนี้ก็คงดี จึงจับนกมาฆ่า ย่างได้ที่แล้วก็จับกินกับน้ำนั้น บ๊ะ รสชาติมันช่างเอร็ดอร่อยแท้

ตั้งแต่นั้น นายสุระแกก็กินน้ำนั้นกับนกย่างบ้าง ไก่ป่าย่างบ้าง สำเริงสำราญอยู่คนเดียว ธรรมเนียมกับแกล้มก็เกิดมาตั้งแต่บัดนั้นแหละขอรับ กินน้ำพรรค์นี้แล้วต้องมีกับแกล้มด้วย จึงจะอร่อยถึงที่ ว่าอย่างนั้นเถอะ

น้ำนี้ต่อมาได้ชื่อว่า “สุรา” ตามนามของผู้ค้นพบ ตั้งเป็นเกียรติแก่คนที่พบคนแรก ดุจดังสมัยนี้ ใครค้นพบอะไร หรือประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้นมา กระทั่งค้นพบเชื้อโรค หรือยารักษาโรค ที่ยังไม่มีใครรักษาหาย เขาก็จะตั้งชื่อตามชื่อของผู้ที่ค้นพบนั้น เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่คนค้นพบ

อาทิ ในเมืองไทยนี่เอง ในด้านโลหิตวิทยา มีโรคธาลัสซีเมียชนิดหนึ่งชื่อว่า “วะสี” ตั้งตามนามของนายแพทย์ประเวศ วะสี ผู้ค้นพบนั่นเอง

ต่อมานายพรานป่าสุระ ดื่มสุราคนเดียวรู้สึกไม่ค่อยมัน จึงพยายามหาเพื่อนมาร่วมวง  

พอดีไปเจอฤๅษีนามว่า วรุณ นั่งบำเพ็ญญาณอยู่ที่อาศรมในป่าหิมพานต์ ก็เข้าไปสนทนาด้วย

แรกๆ ก็สนทนาธรรมดีอยู่ ไปๆ มาๆ แกก็เสนอให้ท่านฤๅษีลองดื่มน้ำสุราดูบ้าง บอกว่าเป็นน้ำวิเศษ ดื่มแล้วจะคึกคัก แก้กระษัยได้อย่างดี เคยปวดเคยเมื่อยเวลานั่งสมาธินานๆ ไม่ต้องให้สีกานวด ดื่มน้ำวิเศษนี้ก็จะหาย

หลวงพ่อแกลองดื่มดูสักแก้วหนึ่ง รู้สึกรสมันซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์ ลองแก้วที่สอง ที่สาม ที่สี่ บ๊ะ มันช่างอร่อยเหาะอะไรปานนั้น

ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองก็ “ตั้งวง” กันร่ำสุราเป็นอาจิณ ฤๅษีวรุณก็ลืมจำศีลภาวนา กลายเป็นนักดื่มคอทองแดงไปเลย

ตั้งแต่นั้นมา น้ำสุราก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วารุณี” หลวงพ่อฤๅษีแกขอมีเอี่ยวด้วยในการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่นี้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

ต่อมาทั้งสองคิดว่า การที่เทียวไปเทียวมาเพื่อนำน้ำสุรามาดื่มนั้น มันเสียเวลามาก จึงคิดผลิตขึ้นมาเองดีกว่า ทั้งสองก็ศึกษาวิธีการผลิตน้ำเมานี้ เริ่มจากดูส่วนประกอบของมันว่ามีอะไรบ้าง เช่น มีเมล็ดข้าวสาลี ผลไม้อื่นๆ ฯลฯ อะไรบ้าง สัดส่วนแค่ไหนอย่างไร ศึกษาอย่างละเอียดแล้วก็ลองผลิตขึ้นมา ลองชิมดูว่ารสชาติได้ที่หรือยัง ทดลองอยู่นานพอสมควร จนกระทั่งได้น้ำเมาที่รสชาติทัดเทียมของเดิม

ว่ากันว่า นี่เป็นโรงงานกลั่นสุราแห่งแรกในโลกเชียวครับ



ข้อมูล : บทความพิเศษ ประวัติของสุรา (๑) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๑๙ ประจำวันที่ ๒๖ มิ.ย.-๒ ก.ค.๕๘


ประวัติของสุรา (๒)


นายสุระกับฤๅษีวรุณ เมื่อผลิตสุราได้จำนวนมาก ก็คิดหาตลาดจำหน่ายสินค้า จึงตักน้ำใส่กระบอกมากมายไปขายให้ชาวเมือง

ชาวเมืองต่างก็ซื้อไปดื่มกันกันแพร่หลาย ในไม่ช้าไม่นาน บ้านเมืองก็เต็มไปด้วยพวกคอทองแดง

เสียงเล่าลือก็ขจรขจายไปทั่วว่า มีน้ำวิเศษชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแล้วในโลก ใครไม่ได้ลองลิ้มรสจะ “เชยระเบิด”

ยิ่งเล่าลือไปไกล สองคนต้นคิดก็ยิ่งมั่งคั่งร่ำรวยเป็น “หลวงเสี่ย” และ “อาเสี่ย” เพราะสินค้าของพวกเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

เสี่ยทั้งสองจึงเดินทางไปยังอีกเมืองหนึ่งเพื่อขยายตลาดให้กว้างขวางขึ้น เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเมืองนั้น เสนอโปรเจ็กต์ผลิตสุราให้พระเจ้าแผ่นดินฟัง จนกระทั่งพระองค์ทรงเลื่อมใสมองเห็นทางมาของรายได้เข้ารัฐมากมาย

จึงรับสั่งให้ตั้งโรงงานผลิตสุราเป็นทางการเลยทีเดียว โดยแต่งตั้งให้ทั้งสองคนเป็นผู้ควบคุมการผลิต

ทั้งสองให้หาตุ่มใหญ่มา ๕๐๐ ใบ ใส่น้ำเต็มทุกตุ่ม ใส่ส่วนผสมลงไปจนครบสูตร แล้วปิดฝาอย่างมิดชิด หมักน้ำนั้นให้แปรสภาพเป็นน้ำเมา

เมื่อตุ่มหมักน้ำเมาตั้งเรียงรายมากมายเช่นนั้น ก็มีปัญหาหนูชุกชุม จึงแก้ปัญหาโดยเอาแมวมาผูกติดไว้กับตุ่มใบละสองตัวเพื่อไล่หนูไม่ให้มารบกวน

เมื่อน้ำหมักเกิดแปรสภาพกลายเป็นฟองขึ้นมา มันก็ไหลล้นออกมาจากตุ่ม แมวที่ผูกติดอยู่กับตุ่มหิวน้ำ จึงเลียน้ำนั่นเข้าไป เมามายจนสลบไสลไปทุกตัว

เมื่อข้าราชบริพารเดินผ่านมาเห็นเข้า ก็นำความไปกราบบังคมทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระเจ้าสัพพมิตต์ (ลืมบอกไปว่า  พระราชาเมืองนี้พระนามว่า พระเจ้าสัพพมิตต์) ทรงเข้าพระทัยผิดว่า สองคนนี้คงวางแผนผลิตยาพิษเพื่อฆ่าพระองค์และประชาชนเป็นแน่แท้ จึงรับสั่งให้จับมาประหาร

ทั้งสองคนกราบทูลว่า น้ำนี้มิใช่ยาพิษ เป็นน้ำดื่มวิเศษ มีรสชาติอร่อยมาก ดื่มแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัยใดๆ ทั้งสิ้น  พระราชาไม่ทรงเชื่อ เพราะมีประจักษ์พยานชัดเจน คือพวกแมวที่ดื่มน้ำนั้นแล้วตายเป็นจำนวนมาก

เป็นอันว่าสองนักคิดค้นผู้ยิ่งใหญ่ ได้จบชีวิตลงด้วยประการฉะนี้แล

หลังจากประหารชีวิตสองคนแล้ว มหาอำมาตย์ก็เข้าเฝ้ากราบทูลว่า แมวที่คิดว่าตายเพราะดื่มน้ำนั้นฟื้นและหนีกันไปหมดแล้ว พระราชาจึงรับสั่งให้นำน้ำมาลองเสวยดู ก็ทรงทราบว่ามิใช่ยาพิษ จึงทรงปีติโสมนัสอย่างยิ่งที่ได้น้ำดื่มพิเศษขึ้นมา

จึงรับสั่งให้จัดพระราชพิธีเสวยน้ำสุราขึ้นอย่างใหญ่โตมโหฬาร โดยให้ประดับประดาพระนครด้วยธงชัยและธงแผ่นผ้าให้สวยงาม สร้างมณฑปที่หน้าพระลานหลวง ถึงเวลาพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินไปประทับบนพระราชบัลลังก์ ที่ยกเศวตฉัตรขึ้นไว้ในมณฑปที่ตกแต่งสวยงามนั้น แวดล้อมไปด้วยเหล่าอำมาตย์มุขมนตรีทั้งหลาย

พระราชพิธีอันมโหฬารกำลังจะเริ่มพอดี ก็มีผู้มาขัดจังหวะ พราหมณ์เฒ่าคนหนึ่ง แต่งกายขาวสะอาด ลอยอยู่บนนภากาศตรงข้ามมณฑปที่ประทับ มือประคองหม้อน้ำขนาดย่อมใบหนึ่ง กล่าวกับพระเจ้าสัพพมิตต์ว่า
“ขอเดชะฯ หม้อนี้บรรจุน้ำวิเศษยิ่งกว่าน้ำดื่มใดๆ ในโลก ขอพระองค์โปรดซื้อหม้อน้ำนี้ไปเถิด”

พระเจ้าสัพพมิตต์ทรงทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์เช่นนั้น คิดว่าท่านผู้นี้มิได้ยืนอยู่บนพื้นดินเหมือนคนทั่วไป คงจักเป็นผู้มีคุณวิเศษที่มีชื่อคนใดคนหนึ่งแน่ จึงตรัสถามว่า “ท่านเป็นใคร และน้ำวิเศษที่ท่านว่านี้ มีสรรพคุณอย่างไร”

“ขอเดชะฯ ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นใคร ยกไว้ก่อนเถิด แต่ว่าน้ำวิเศษนี้มีสรรพคุณมากมาย ดังข้าพระพุทธเจ้าจะบรรยายถวาย ณ บัดนี้”

ว่าแล้วพราหมณ์เฒ่าก็ได้บรรยายสรรพคุณของน้ำวิเศษนั้นให้พระเจ้าสัพพมิตต์ฟัง

มีอย่างไรบ้าง อดใจฟังวันหน้าครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ ประวัติของสุรา (๒) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๐ ประจำวันที่ ๓-๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘


(http://www.sil5.net/images/bank/buda-1/col-3/148-1001.jpg)

อริยสาวิการ้องไห้ (๑)


เล่าเรื่องราวของนางวิสาขา มหาอุบาสิกา มาหลายตอน เห็นจะต้องจบลงในสองตอนต่อไปนี้แล้วครับ จะได้เอาเวลาไปเขียนเรื่องอื่นบ้าง

พระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตให้คฤหัสถ์มีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีของพระภิกษุและภิกษุณีได้ ดังเรื่องราวต่อไปนี้

ภิกษุณีรูปหนึ่งออกบวชด้วยศรัทธา แต่อยู่ๆ เธอก็ท้องโตขึ้นๆ จนล่วงรู้กันทั่วไป พระเทวทัต ผู้ดูแลภิกษุกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีนางภิกษุณีรูปดังกล่าวรวมอยู่ด้วยตัดสินใจโดยไม่ฟังคำแย้งของนางว่า นางต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุณีแล้ว

ภิกษุณีนางนั้นยืนยันในความบริสุทธิ์ของตน จึงอุทธรณ์ต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่า นางภิกษุณีรูปนั้นบริสุทธิ์ แต่เพื่อให้ปรากฏชัดเจนต่อประชาชนทั่วไป จึงทรงแต่งตั้งพระอุบาลีเถระ ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย ช่วยตัดสินอธิกรณ์

พระอุบาลีเห็นว่าเรื่องนี้พระจะรู้เท่าคฤหัสถ์นั้นยาก จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากคฤหัสถ์ ผู้มีประสบการณ์ช่วยเหลือ จึงกราบทูลขอพุทธานุญาตให้เชิญคฤหัสถ์มาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งก็ได้รับประทานอนุญาต

พระอุบาลีจึงตั้งนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาช่วย เรื่องของผู้หญิง ผู้หญิงรู้ดีกว่า นางวิสาขาจึงมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้

นางนิมนต์นางภิกษุณีผู้ถูกกล่าวหามาสอบสวน ถามวันที่ออกบวช ถามวันที่ประจำเดือนหมด ตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ฯลฯ ครบหมดทุกด้านได้ข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปว่า “นางภิกษุณีตั้งครรภ์ก่อนบวช” จึงเสนอพระอุบาลีเถระ

พระเถระก็ได้ข้อมูลนั้นมาประกอบการพิจารณาอธิกรณ์ ในที่สุดก็ตัดสินว่าผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์ พระพุทธองค์ก็ทรงประทานอนุโมทนาว่า นางภิกษุณีรูปนั้นบริสุทธิ์

พระเทวทัตก็หน้าแตกไปตามระเบียบ

เห็นหรือยังครับ สมัยพุทธกาลก็ปรากฏว่าคฤหัสถ์อย่างนางวิสาขา อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีบทบาทในการช่วยพิจารณาอธิกรณ์ของสงฆ์

แล้วสมัยนี้ถ้าคฤหัสถ์อย่างคุณ อย่างผม จะมีส่วนในการชำระพระสงฆ์ให้บริสุทธิ์ เอาไว้กราบไหว้อย่างสนิทใจ จะไม่ได้หรือ

นางวิสาขามหาอุบาสิกา มีส่วนคล้ายท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีอยู่เรื่องหนึ่ง คือตลอดเวลาที่ปรนนิบัติดูแลพระพุทธองค์และพระสงฆ์ทั้งปวง ท่านไม่ค่อยมีเวลาได้ปฏิบัติธรรมเท่าที่ควร เพราะภารกิจในการถวายความสะดวกแก่พระสงฆ์นั้นมีมาก จนเกินเวลาของท่านทั้งสองแทบหมดสิ้น

ไหนยังจะต้องไปให้คำปรึกษาหารือแก่ประชาชนเวลาเขาทำบุญทำทาน ทำนอง “มรรคนายก” และ “มรรคนายิกา” อีกด้วย

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น ไม่กล้าทูลถามปัญหาธรรมกับพระพุทธองค์ด้วยเข้าใจว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนก็ทรงเหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว ตนจึงไม่ควรไปรบกวนให้พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายเพิ่มขึ้นอีก ให้พระองค์ทรงมีเวลาพักผ่อนมากๆ ดีกว่า

จนพระพุทธองค์ตรัสถึงท่านลับหลังว่า “สุทัตตะรักษาเราในสถานะที่ไม่ควรรักษา” ตีความง่ายๆ ว่า ท่านเศรษฐีรักพระพุทธองค์ไม่ถูกทาง หรือทะนุถนอมพระพุทธองค์ในทางที่ไม่ถูก ว่ากันให้ชัดๆ อย่างนี้ดีกว่าเนาะ

คุณวิเศษที่ทั้งสองท่านได้บรรลุก็เท่ากัน คือได้เป็นพระอริยบุคคลระดับต้น (ระดับโสดาบัน) และทั้งสองท่านก็ได้บรรลุธรรมขั้นนี้ เมื่อครั้งแรกที่ได้พบและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ไม่ได้บรรลุธรรมขั้นสูงอีกเลย

ภูมิพระโสดาบันนี้ก็สูงกว่าปุถุชนเล็กน้อย ท่านว่าละกิเลสได้ ๓ อย่าง คือ สักกายทิฐิ (ความเห็นว่ามีตัวตน, ความยึดมั่นในตัวกูของกู ขอใช้สำนวนของท่านพุทธทาสก็แล้วกัน) ๑  วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย เช่น สงสัยในกฎแห่งกรรม สงสัยในพระคุณของพระรัตนตรัยว่าดีจริงหรือเปล่า อะไรทำนองนั้น) ๑  สีลัพพตปรามาส (แปลกันมาว่า “ลูบคลำศีลาและพรต” ฟังยังไงก็ไม่เข้าใจ ความหมายที่แท้จริง คือ ถือศีล ถือพรต ผิดจุดประสงค์ของศีลพระพรต เช่น รักษาศีลแทนที่จะเพื่อขัดเกลาจิต กลับรักษาศีลเพื่ออวดว่าตนเคร่ง) ๑

ส่วนกิเลสอื่น และกิเลสที่สำคัญ คือ โลภ โกรธ หลง ก็ยังมีอยู่เหมือนปุถุชน เพียงแต่เบาบางลงกว่าปุถุชนเท่านั้น



อริยสาวิการ้องไห้ (จบ)

พระโสดาบันนั้นร้องห่มร้องไห้ได้เวลาเศร้าโศก.

อนาถบิณฑิกะที่บรรลุระดับโสดาบันก็เคยสะอึกสะอื้นไปเฝ้าพระพุทธองค์ ตอนลูกสาวคนเล็กตาย เสียใจที่ลูกสาวตายก็มากอยู่แล้ว แถมก่อนตายลูกสาวยังเพ้อ ตายอย่างไม่มีสติอีก คือเพ้อ เรียกพ่อว่า “น้องชาย”

ท่านเข้าใจว่าลูกสาวของท่าน “หลงทำกาละ” (ตายอย่างไม่มีสติ) คงจะต้องไปสู่ทุคติแน่นอน

เมื่อคิดดังนี้จึงร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสว่า ถูกแล้วที่ลูกสาวท่านเรียกท่านว่า “น้องชาย” เพราะลูกสาวคหบดีได้บรรลุสกทาคามิลผลสูงกว่าโสดาปัตติผล เท่ากับเป็นพี่ของท่าน

ใช่ว่านางเพ้อหรือหลงทำกาละแต่อย่างใดไม่

นางวิสาขาก็เช่นกัน วันหนึ่งก็ร้องไห้ขี้มูกโป่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ดูก่อน วิสาขา ทำไมเธอร้องไห้น้ำตานองหน้าเช่นนี้”

นางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมาริกาหลานรักของหม่อมฉัน ได้ทำกาละเสียแล้ว หม่อมฉันไม่มีโอกาสเห็นหน้าเธออีกแล้ว “ว่าแล้วก็สะอึกสะอื้น
“วิสาขา ในกรุงสาวัตถีนี้มีคนประมาณเท่าไร” พระพุทธองค์ตรัสถาม
“ประมาณ ๗ โกฏิ พระเจ้าข้า”
“ถ้าคนเหล่านั้นน่ารักเหมือนหลานสาวของเธอ เธอจะรักเขาเหมือนหลานสาวเธอหรือไม่”
“รัก พระเจ้าข้า”
“วิสาขา ในเมืองสาวัตถีนี้ คนตายวันละเท่าไร”
“มาก พระเจ้าข้า มากจนกำหนดไม่ได้”
“ถ้าเช่นนั้น เธอมิต้องเศร้าโศกทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ เธอมิต้องร้องห่มร้องไห้ทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ”

ตรัสสอนต่อไปว่า
“วิสาขา อย่าโศกเศร้าเสียใจเลย เพราะความโศกก็ดี ความกลัวก็ดี ย่อมเกิดแต่ความรัก
วิสาขาเอย ผู้ใดมีสิ่งที่รักร้อยสิ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์ร้อย
ผู้ใดมีสิ่งที่รักเก้าสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์เก้าสิบ
ผู้ใดมีสิ่งที่รักแปดสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์แปดสิบ
ผู้ใดมีสิ่งที่รักหนึ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์หนึ่ง
ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีความคับแค้นใจ”

นางคิดตามกระแสพระธรรมเทศนาที่ตรัสสอน ก็บรรเทาความเศร้าโศกได้ในที่สุด
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า
“โศก ปริเทวนา (ความคร่ำครวญ) และทุกข์มากมายย่อมมีในโลกนี้ เพราะอาศัยสิ่งที่รัก เมื่อไม่มีสิ่งที่รัก โศกเป็นต้นนั้นก็ไม่มี ผู้ไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ต้องการโศกเศร้า ก็ไม่ควรรักสิ่งใด”

นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นผู้มีใจบุญสุนทานเป็นอย่างยิ่ง นางมีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นนิจศีล และชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามนั้นด้วย ดังชักจูงสามีและบิดาสามีให้มานับถือพระพุทธศาสนาจนกระทั่งมิคาระเศรษฐีผู้บิดาสามี ยกย่องเธอเป็น “แม่ในทางธรรม” ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาจึงมีชื่อเรียกขานอีกอย่างหนึ่งว่า “มิคารมาตา” (มารดาของมิคาระเศรษฐี)

นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้รับยกย่องจากพุทธองค์ใน “เอตทัคคะ” (เป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางถวายทาน

นับเป็นอุบาสิกาตัวอย่างที่ชาวพุทธทั้งหลายพึงดำเนินรอยตามเป็นอย่างยิ่ง


ข้อมูล : บทความพิเศษ อริยสาวิการ้องไห้ (๑),(จบ)  โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๑-๑๘๒๒ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ และ ๑๗-๒๓ ก.ค.๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 กรกฎาคม 2558 15:38:20
.
(http://www.siamtownus.com/Resource/images/news/203/Img1409000146.jpg)

หมอชีวกโกมารภัจจ์


หมอชีวกโกมารภัจจ์นั้น เป็นนายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล  

สำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์จากสำนักตักศิลา  ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าพิมพิสาร เจ้าแห่งมคธรัฐ ให้ดำรงตำแหน่งแพทย์หลวงประจำพระราชสำนัก  ต่อมาเขาได้ถวายการรักษาพระโรคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  

ด้วยความใกล้ชิดกับพระพุทธองค์นี่เอง เขาจึงเกิดศรัทธาในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ปรุงพระโอสถถวายทุกคราวที่ทรงพระประชวร  นอกจากนี้ เขายังได้ถวายสวนมะม่วงอันเป็นสมบัติของเขาให้เป็นอารามที่ประทับประจำของพระพุทธเจ้าอีกด้วย  ตลอดชีวิตเขาได้บำเพ็ญแต่คุณงามความดี ช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ ไม่เลือกยากดีมีจน จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นที่รักของปวงชน

เรื่องราวชีวิตของเขามีกล่าวไว้ในพระวินัยปิฎก และคัมภีร์อรรถกถาเพียงกระท่อนกระแท่น  ผู้เขียนจึงขอเก็บรวบรวมมาแต่งเติมเสริมต่อให้เป็นเรื่องเป็นราวเพื่อประกาศเกียรติคุณของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งตลอดชีวิตมุ่งทำแต่ประโยชน์เพื่อคนอื่นในด้านที่ตนถนัด จนแทบไม่มีเวลาสำหรับตนเอง  

คนชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นคนที่น่าสรรเสริญและเจริญรอยตามเป็นอย่างยิ่ง

แรงอธิษฐาน
ย้อนหลังจากภัทรกัปนี้เป็นแสนกัป สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตระ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ประสูติที่เมืองจัมปา เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอสมะ กับพระนางอสมา  

ก่อนเสด็จออกผนวช ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางอุตตรา มีพระโอรสพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า รัมมะ  

ภายหลังทรงรู้สึกเบื่อหน่ายในเพศผู้ครองเรือน จึงเสด็จออกทรงผนวช บำเพ็ญพรต จนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเสด็จไปประกาศพระศาสนา โดยได้แสดงธรรมเทศนา กัณฑ์แรก ชื่อ ธนัญชุยยานสูตร   ไม่นาน มีผู้เลื่อมใสมอบตนเป็นสาวกมากขึ้นตามลำดับ ในจำนวนนี้มีพระภราดาทั้งสองของพระองค์ คือ เจ้าชายสาละกับเจ้าชายอุปสาละรวมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ตามลำดับ

สมัยนั้นชีวกโกมารภัจจ์เกิดทันเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาเห็นชายคนหนึ่งท่าทางภูมิฐาน เดินเข้าเดินออกพระอารามที่ประทับของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ อยากรู้ว่าชายคนนี้ไปวัดทำไมบ่อยๆ วันหนึ่งจึงไปดักรออยู่นอกประตูวัด พอชายคนนั้นเดินออกมาจากประตู เขาจึงกรากเข้าไปถามว่า “นี่คุณ ผมเห็นคุณเดินเข้าเดินออกวัดทุกวัน ผมอยากทราบว่าคุณไปทำไม”

สุภาพบุรุษคนนั้นมองเขาแวบหนึ่ง แล้วตอบอย่างสุภาพว่า “ผมเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ผมไปเฝ้าพระองค์ทุกวันเพื่อรับพระโอวาท และถวายการรักษาในคราวที่ทรงพระประชวร”
“แหม คุณช่างมีตำแหน่งน่าสรรเสริญจริงๆ ทำอย่างไรผมจะได้เป็นอย่างคุณบ้างนะ”
“หน้าที่อย่างนี้ ชั่วพุทธกาลหนึ่งก็มีเพียงคนเดียว ถ้าคุณอยากเป็นอย่างผม ก็ตั้งอธิษฐานไว้ชาติหน้าสิ ผมไปล่ะ จะรีบไปดูคนไข้ในเมือง”

แล้วหมอก็รีบผละไป ปล่อยให้เขายืนคิดอยู่คนเดียว “ถ้าคุณอยากเป็นอย่างผม ก็ตั้งอธิษฐานไว้ชาติหน้าสิ” คำพูดของหมอยังก้องอยู่ในใจ ชาติหน้ามีจริงหรือ? อธิษฐานจิตมีผลถึงชาติหน้าจริงหรือ? ฯลฯ คำถามเหล่านี้เรียงคิวเข้ามาสู่สมองของเขาเป็นทิวแถว

แต่ก็ให้คำตอบแก่ตัวเองไม่ได้

พลันนึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ จึงไปเข้าเฝ้าพระองค์ยังพระอาราม กราบทูลถามข้อข้องใจต่างๆ พระองค์ก็ทรงประทานวิสัชนาให้เป็นที่หายสงสัยหมดสิ้น เป็นครั้งแรกที่เขามีโอกาสได้เข้าเฝ้าและสนทนาอย่างใกล้ชิดกับพระผู้เป็นศาสดาเอกในโลก ให้รู้สึกปีติดีใจเหลือพรรณนา   หลังจากได้รับรสพระธรรมจากพระองค์เป็นที่ชุ่มชื่นใจแล้ว เขาได้กราบทูลอาราธนาพระองค์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของเขาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ พระองค์ทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

หลังจากถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกแล้ว เขาเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท กล่าวคำอธิษฐานต่อพระพักตร์ว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายภัตตาหารครั้งนี้ ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าจงเป็นแพทย์ประจำพระพุทธเจ้าในอนาคตเช่นเดียวกับนายแพทย์ผู้อุปัฏฐากพระองค์ด้วยเถิด”

“เอวัง โหตุ ขอให้สัมฤทธิ์ดังปรารถนาเถิด”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำรัสตอบ ทรงประทานอนุโมทนาเสร็จแล้วเสด็จกลับไปยังพระอาราม

ดับขันธ์จากชาตินั้นแล้ว เขาได้เวียนว่ายตายเกิดในภพต่างๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง ตามแรงกรรมที่ก่อสร้างไว้ กาลผ่านไปเป็นระยะเวลานานนับได้แสนกัป  

ในที่สุด “แรงอธิษฐาน” ของเขาสัมฤทธิ์ผล เมื่อเขาได้มาถือกำเนิดเป็นชีวกโกมารภัจจ์โอรสบุญธรรมของเจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารเจ้าแห่งมคธรัฐ

โปรดติดตามเรื่องราวของเขาต่อไปเถิด


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๓ ประจำวันที่ ๒๔-๓๐ ก.ค.๕๘


• กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์

ขอกล่าวถึงเมืองไพศาลีก่อน ในครั้งพุทธกาล เมืองไพศาลีเป็นเมืองมั่งคั่ง มีประชาชนพลเมืองมากมาย อุดมสมบูรณ์ด้วยภักษาธัญญาหารนานาชนิด ในพระวินัยปิฎก ท่านพรรณนาถึงความยิ่งใหญ่แห่งเมืองนี้ว่า
“มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ”

ยิ่งกว่านั้นยังมีสิ่งที่แปลกและใหม่ที่เมืองอื่นไม่มี คือ นครโสเภณี หรือหญิงงามเมือง

ตำแหน่งนี้โบราณถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมาก เพราะเป็นตำแหน่งที่พระราชาทรงตั้ง โดยคัดเอาสตรีที่มีเรือนร่างสะคราญตาที่สุด และชำนาญฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีอย่างดีเยี่ยม

สตรีผู้มีเกียรติได้ดำรงตำแหน่งนครโสเภณีเป็นคนแรกชื่อ อัมพปาลี นัยว่า เป็นผู้ที่มีรูปร่างผิวพรรณเฉิดฉาน น่าเสน่หายิ่งนัก ราคาค่าตัวคราวละ ๕๐ กหาปณะ (ประมาณ ๒๐๐ บาท)

เกียรติศัพท์เมืองไพศาลี มีหญิงนครโสเภณีผู้เลอโฉมสำหรับบำเรอชาย ได้ยินไปยังแว่นแคว้นแดนไกล เป็นเหตุให้พ่อค้าคฤหบดีจากเมืองต่างๆ ขนเงินขนทองมาทิ้งให้เมืองไพศาลีเป็นจำนวนมาก

คราวหนึ่ง นายพาณิชจากเมืองราชคฤห์จำนวนหนึ่งเดินทางไปค้าขายที่เมืองไพศาลี ได้ทราบเรื่องนี้เข้า จึงคิดกันว่าตำแหน่งนครโสเภณี เป็นอุบายดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศได้อย่างหนึ่ง สมควรที่จะกราบบังคมทูลพระราชาให้ทรงแต่งตั้งหญิงนครโสเภณีเหมือนอย่างเมืองไพศาลีบ้าง

กลับไปแล้ว พวกเขาได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลความดำริของตนให้พระองค์ทราบ

พระองค์ทรงเห็นชอบด้วย จึงรับสั่งให้คัดเลือกสตรีงามเพื่อดำรงตำแหน่งนี้

ในที่สุดได้สตรีวัยรุ่นนางหนึ่ง ชื่อ สาลวดี โดยได้ตั้งอัตราค่าตัวสำหรับผู้ร่วมอภิรมย์ ๑๐๐ กหปณะ

นางสาลวดีครองตำแหน่งนี้ไม่นานก็ตั้งครรภ์โดยบังเอิญ มาสำนึกได้ว่า อันธรรมดาหญิงโสเภณี เมื่อตั้งครรภ์ย่อมเป็นที่เบื่อหน่ายของชาย รายได้ที่เคยได้ประจำก็ย่อมจะหมด จะทำแห้งหรือ ก็มีมโนธรรมพอที่จะไม่ทำบาปหยาบช้าถึงขั้นฆ่าลูกในไส้ จะทำอย่างไรดีล่ะ

ในที่สุดก็คิดอุบายได้ แสร้งทำเป็นป่วย บอกงดรับแขกชั่วคราว จนคลอดลูกออกมาเป็นชาย ตกดึกสงัดยามปลอดคน นางได้สั่งให้หญิงรับใช้คนสนิท เอาทารกน้อยผู้น่าสงสาร ใส่กระด้งไปทิ้งไว้ที่กองขยะนอกเมือง

อกุศลกรรมใดที่บันดาลให้ทารกน้อยผู้ไร้เดียงสาต้องถูกนำไปทิ้งอย่างน่าอนาถเช่นนี้ ก็สุดที่จะทราบได้ แต่เดชะบุญกุศลที่ทารกน้อยผู้นี้ได้ก่อสร้างไว้ในอดีตชาติ มีมากมายมหาศาล จึงบันดาลให้เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร มีอันต้องเสด็จออกนอกเมืองแต่เช้า มุ่งพระพักตร์มายังกองขยะที่ทารกน้อยนอนอยู่

ฝูงแร้งกาที่มารุมกันอยู่ที่ขยะมูลฝอยกองนั้น เห็นคนเดินมาใกล้มากหน้าหลายตา พากันแตกฮือบินหนีไป เจ้าฟ้าอภัยทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงรับสั่งถามมหาดเล็กที่ตามเสด็จว่า “นั่นแร้งกามันรุมกินอะไรที่กองขยะนั่น ไปดูซิ”

พวกมหาดเล็กวิ่งไปดู เห็นทารกน้อยนอนแบบอยู่ที่กระด้งบนกองขยะ จึงรีบมาทูลว่า
“แร้งกามันรุมกันเพื่อจะจิกกินทารกคนหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครเอามาทิ้งไว้พ่ะย่ะค่ะ”
“ผู้หญิงหรือผู้ชาย”
“ผู้ชาย พ่ะย่ะค่ะ”
“ยังมีชีวิตอยู่ หรือตายแล้ว”
“ยังมีชีวิตอยู่ พะยะค่ะ”

ได้ฟังคำกราบทูลของมหาดเล็ก ทรงเกิดความสงสารขึ้นจับพระทัย “ใครหนอ ช่างใจร้าย เอาลูกในไส้มาทิ้งได้” ทรงรำพึงในพระทัย พลางรีบสาวพระบาทไปยังกองขยะ ทอดพระเนตรเห็นทารกน้อยดิ้นกระแด่วๆ ยื่นมือไขว่คว้ามายังพระองค์  จึงรับสั่งให้นำเด็กน้อยเข้าวัง สั่งให้พี่เลี้ยงนางนมเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอม ทรงรับไว้เป็นโอรสบุญธรรมต่อมา

เพราะคำกราบทูลของมหาดเล็กว่า “ยังอยู่” (ชีวโก) เจ้าชายจึงทรงขนานนามทารกน้อยว่า “ชีวกโกมารภัจจ์” หรือเรียกตามภาษาไทยว่า “บุญยัง” (หมายความว่า ผู้ยังมีชีวิตรอดมาได้ เพราะบุญที่เจ้าฟ้าอภัยทรงนำมาเลี้ยงดู)

เจ้าบุญยังมีแววว่าเป็นเด็กฉลาดมาแต่น้อย หน่วยก้านจะได้ดีต่อไปภายหน้า ไม่ว่าจะเล่นอะไรกับลูกหลวงอื่นๆ เจ้าบุญยังสามารถเอาชนะเขาได้หมด จนพวกเขาขัดใจที่เอาชนะเจ้าบุญยังไม่ได้ ด่าเอาเจ็บๆ ว่า
“เจ้าลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่นี่เก่งจริงโว้ย”
“เจ็บใจนัก เล่นสู้เจ้าเด็กข้างถนนไม่ได้” ฯลฯ

ทำเอาเจ้าหนูน้อยบุญยังสงสัยเป็นกำลัง จึงไปทูลถามเจ้าฟ้าอภัย ว่าใครเป็นพ่อแม่ของตน เจ้าฟ้าอภัยทรงอึดอัดที่ถูกถามอย่างจังเช่นนั้น จึงทรงชี้ไปที่พี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายว่า “พวกโน้นแหละแม่เจ้า”

ครั้นเด็กน้อยย้อนถามอีกว่า “คนอื่นเขามีแม่คนเดียว ทำไมหนูมีแม่หลายคนนัก”

เจ้าชายตอบให้เธอหายสงสัยไม่ได้ ก็ได้แต่บ่ายเบี่ยงไปต่างๆ นานา  ครั้นถูกรุกถามหนักเข้า จึงตัดบทว่า
“ก็ข้าเลี้ยงเอ็งมาตั้งแต่เล็กๆ ข้านี่แหละเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ของเจ้า”
“พวกเพื่อนๆ เขาว่าหนูเป็นเด็กข้างถนน เป็นความจริงเพียงไร” หนูน้อยบุญยังซัก
“เฮ้ย อย่าไปเอาใจใส่กับคำพูดเหลวไหลอย่างนั้น” เจ้าชายดุ

ยิ่งถามก็ยิ่งงง เสด็จพ่อไม่เคยให้ความกระจ่างอะไรเลย ชักจะแน่ใจแล้วว่า ตนเองไม่มีพ่อแม่ที่แท้จริง หาไม่เสด็จพ่อคงไม่บ่ายเบี่ยงเช่นนั้น และพวกเพื่อนๆ ลูกหลวงอื่นๆ คงไม่ด่าว่าเป็นเด็กข้างถนนหรอก เจ้าหนูน้อยนั่งคิด  “เจ้าเด็กข้างถนน...อา มันช่างเสียวแปลบขั้วหัวใจทุกครั้งที่นึกถึงคำดูถูกเหยียดหยามเช่นนี้” น้ำตาเจ้ากรรมมันจะไหลซึมออกมาให้ได้

ฉับพลันแรงแห่งมานะก็ฉายวาบขึ้นในใจ “สักวันหนึ่งเถอะ ไอ้ลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่คนนี้จะหาวิชาความรู้ใส่ตัว เอาชนะลูกผู้ดีเหล่านี้ให้ได้”


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๔ ประจำวันที่ ๓๑ ก.ค.- ๖ ส.ค.๕๘


• ศึกษาวิชาแพทย์ที่กรุงตักสิลา

สมัยนั้นสำนักตักสิลาเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นมหาวิทยาลัยแหล่งผลิตสรรพวิชาทั่วโลก

เจ้าบุญยังหรือชีวกโกมารภัจจ์ คอยสืบเสาะหาทางไปศึกษาวิชาที่เมืองนี้อยู่เสมอ

วันหนึ่งพบปะพวกพาณิชมาจากเมืองตักสิลา จึงพยายามตีสนิท ขออาศัยเดินทางไปกับพวกเขาด้วย โดยมิได้ทูลลาแม้กระทั่งเสด็จพ่อ ด้วยเกรงว่า ถ้าทรงทราบความประสงค์ของเขาคงจักไม่ทรงอนุญาตให้เขาไปเป็นแน่

เมื่อไปถึงเมืองตักสิลา เขาได้เข้าไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มอบตัวถวายเป็นศิษย์ ขอเรียนวิชาแพทยศาสตร์

การศึกษาเล่าเรียนในสมัยนั้นมีอยู่สองประเภท คือประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นคนยากจนไม่เสียเงินค่าเล่าเรียน ต้องอยู่รับใช้อาจารย์ ช่วยทำกิจสารพัด ตั้งแต่ตักน้ำ ผ่าฟืน หุงอาหาร บีบนวด ฯลฯ

อีกประเภทหนึ่ง ถ้ามีเงินเสียค่าเล่าเรียน ถึงแม้จะอยู่ในสำนักก็ไม่ต้องทำงานให้อาจารย์ นอกจากเรียนหนังสืออย่างเดียว

ชีวกโกมารภัจจ์ไม่มีเงินให้อาจารย์ จึงมอบตนเป็นศิษย์ประเภทแรก ช่วยทำงานทำการ รับใช้อาจารย์สารพัดอย่าง อาศัยว่าเป็นเด็กที่อ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพเชื่อฟังโอวาทอาจารย์เป็นอย่างดี และมีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่เกียจคร้าน จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ วิชาความรู้เท่าไรอาจารย์ก็ถ่ายทอดให้จนหมด ไม่ปิดบังอำพราง

ชีวกเรียนวิชาแพทย์อยู่กับอาจารย์ ๗ ปี มีความรอบรู้ในสาขาวิชานี้เต็มตามที่อาจารย์ถ่ายทอดให้ แต่ไม่มีทีท่าว่าจะเรียนจบสักที ชักคิดถึงบ้าน คิดถึงเสด็จพ่อเต็มที วันหนึ่งจึงเข้าไปหาอาจารย์เรียนถามท่านว่า
“อาจารย์ครับ เมื่อไร่ผมจะเรียนจบเสียที”
“ทำไมหรือ” อาจารย์ถาม
“ผมคิดถึงบ้านเต็มทีแล้วครับ ผมตั้งใจเรียนตามที่อาจารย์เมตตาสั่งสอนเป็นเวลา ๗ ปีแล้ว ผมอยากทราบว่าเท่านี้ผมพอจะทำมาหากินได้หรือยัง”

“พ่อน่ะพอหรอก แต่วิชาแพทย์เป็นวิชาที่กว้างขวาง เรียนไม่รู้จบ อาจารย์ตั้งใจจะให้เธอเรียนอีก ๒” ปี แล้วจึงจะให้กลับ แต่ถ้าเธออยากกลับบ้านจริงๆ ก็ตามใจ”

อาจารย์มองหน้าศิษย์รักด้วยปรานี แล้วเอ่ยต่อไปว่า
“ก่อนอื่นอาจารย์ขอสอบความรู้เธอก่อน ถ้าเธอสอบผ่านจึงจะอนุญาตให้กลับ เธอจงไปสำรวจดูต้นไม้ต้นหญ้าทุกชนิด ทั่วทั้งสี่ทิศ ภายในรัศมี ๔๐๐ เส้น ให้ดูว่าหญ้าชนิดไหน ใบไม้เปลือกไม้ชนิดไหน ใช้เป็นยาอะไรได้บ้าง อย่างไหนใช้ทำยาไม่ได้เลย”

ชีวกเดินออกจากมหาวิทยาลัยตักสิลา ขึ้นเขาเข้าป่าไปสำรวจสมุนไพรทั่วทั้งสี่ทิศประมาณเจ็ดวัน จึงกลับมาหาอาจารย์ เมื่อถูกถาม เขาได้สาธยายต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่ไปสำรวจมาว่าชนิดนั้นๆ ใช้ผสมทำยาแก้โรคนั้นๆ ตามตำราที่ได้เล่าเรียนมา สุดท้ายเขาบอกแก่อาจารย์ว่า

“ต้นไม้ใบหญ้าและสมุนไพรใดๆ ในชมพูทวีปนี้ที่ใช้ทำยาไม่ได้ ไม่มี ทุกอย่างเป็นยาทั้งนั้น

อาจารย์เอื้อมมือมาลูบศีรษะเขาด้วยปรานี พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า “เป็นอันว่า เธอเรียนจบหลักสูตรวิชาแพทย์แล้ว กลับบ้านได้”

แล้วอาจารย์ได้มอบเงินจำนวนเล็กน้อย พร้อมทั้งกล่าวอวยพรแก่ศิษย์รักด้วยอาลัย เขากราบลาอาจารย์และเพื่อนๆ ออกเดินทางจากเมืองตักสิลา มุ่งหน้ามายังเมืองราชคฤห์ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน

ตรงนี้คัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า เหตุที่อาจารย์ให้เงินและเสบียงเดินทางแก่ชีวกโกมารภัจจ์เพียงเล็กน้อย เพราะอาจารย์คิดว่าชีวกเป็นโอรสเจ้าฟ้า เจริญเติบโตในราชสกุลอันโอ่อ่า พอเรียนศิลปวิทยาจบ กลับไปก็ยังได้รับการยกย่องในฐานันดรอันสมเกียรติจากพระบิดา และพระอัยกา  เมื่อเป็นเช่นนี้เขาคงจักไม่รู้จักบุญคุณของครูบาอาจารย์ และไม่รู้คุณค่าแห่งวิชาการที่ได้เรียนมา

แต่ถ้าเสบียงเดินทางของเขาหมดในระหว่างทาง เขาจักดิ้นรนใช้วิชาความรู้หาเงินหาทองและเสบียงเดินทาง อันจักทำให้เขารู้จักซาบซึ้งในบุญคุณของอาจารย์และวิชาความรู้ยิ่งขึ้น


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๕ ประจำวันที่ ๗-๑๓ ส.ค.๕๘


• รักษาภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกต

พอมาถึงเมืองสาเกต ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองตักสิลาและเมืองราชคฤห์ เสบียงเดินทางที่มีติดตัวมาก็หมดเกลี้ยง เจ้าบุญยังชักรู้สึกหิวขึ้นมาตงิดแล้ว จะได้ข้าวที่ไหนกิน?

กำลังคิดหนักใจอยู่พอดี ได้ยินเสียงคนพูดกันถึงเมียเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาเกต เป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี รักษาจนหมดเงินทองมากมาย ไม่มีหมอคนไหนรักษาให้หายได้ จนหมดอาลัยตายอยากในชีวิต นอนรอความตายไปวันๆ

หมอหนุ่มจึงแสดงตัวเป็นหมอที่สำเร็จมาจากเมืองตักสิลา โรคของเมียเศรษฐีเขาสามารถรักษาให้หายได้ ขอให้ช่วยพาเขาไปยังบ้านเศรษฐีเถิด

คนฟังเห็นหมอหนุ่มพูดจาเอาจริงเอาจัง จึงพาเขาไปยังบ้านเศรษฐี แจ้งว่ามีหมอคนหนึ่งรับอาสาจะรักษาโรคให้เมียเศรษฐี “หมอแก่ๆ ยังไม่มีปัญญารักษาให้หายได้ เสียเงินเสียทองไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไร่ หมอหนุ่มจะเก่งอาจมาจากไหน บอกเขาเถิด ไม่ต้องมายุ่งกับฉัน” เมียเศรษฐีกล่าวด้วยความเบื่อหน่าย

“เขาบอกว่าถ้ารักษาไม่หายไม่เอาตังค์” เสียงคนใช้รายงานหลังจากนำความไปแจ้งแก่ชายหนุ่ม และได้รับคำมั่นสัญญาจากเขา
“ถ้างั้นบอกให้เขาเข้ามา” เมียเศรษฐีตัดบท

หมอหนุ่มเข้าไปตรวจอาการไข้ประเดี๋ยวเดียวก็รู้ทางแก้

จึงสั่งให้หาเนยในมาประมาณหนึ่งถ้วยตะไล กับเครื่องยาอีกสองสามชนิดมาผสมกัน ให้เมียเศรษฐีนอนหงาย แล้วให้นัตถุ์

พอนัตถุ์ยาเข้าไป เนยใสไหลเยิ้มออกมาทางปาก นางจึงถ่มลงกระโถน แล้วตะโกนสั่งให้สาวใช้เอาสำลีมาซับเนยใสไว้ กิริยาอาการเช่นนั้นทำให้หมอหนุ่มตะลึง คิดในใจว่า “เรามาเจอแม่ยอดตังเมเข้าแล้วสิ เนยใสที่ถ่มทิ้งแล้วยังอุตส่าห์เอาสำลีซับเก็บไว้อีก อย่างนี้แกจะให้ค่ารักษาเรากี่ตังค์”

เมียเศรษฐีดูเหมือนจะเข้าใจความคิดของหมอหนุ่ม จึงพูดขึ้นว่า “หมอคิดว่าฉันขี้เหนียว แต่หมออย่าลืมว่าฉันป่วยมาตั้ง ๗ ปี เสียค่ารักษาไปแล้วเท่าไหร่ สิ่งใดที่พอจะกระเหม็ดกระแหม่ได้ ก็ไม่ควรให้เสียเปล่า เนยใสที่ซับไว้นี้ ใช้ทามือ ทาเท้า แก้เมื่อยขบหรือใช้เป็นน้ำมันตามไฟก็ได้ หมอไม่ต้องกลัวว่าฉันจะไม่ให้ค่ารักษาแก่หมอหรอก ขอให้หายจริงเถอะ เท่าไหร่เท่ากัน”

“เปล่าหรอกครับคุณนาย ผมมิได้คิดในทำนองนั้น ผมเพียงสงสัยว่าคุณนายให้ซับเนยใสไว้ทำไมเท่านั้นแหละครับ” หมอหนุ่มแก้ตัว

ปรากฏว่าพอนัตถุ์ยาที่หมอชีวกประกอบให้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โรคปวดศีรษะของเมียเศรษฐีได้หายไปดังปลิดทิ้ง นางรู้สึกปลาบปลื้มที่หมอหนุ่มได้บันดาลชีวิตใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากทอดอาลัยตายอยากในชีวิตมานานแล้ว  จึงให้รางวัลเขาถึง ๔,๐๐๐ กหาปณะ (ประมาณหนึ่งหมื่นหกพันบาท)

ฝ่ายลูกเขย ลูกสะใภ้ ลูกชาย ต่างรู้สึกดีใจที่นางหายจากโรค ให้รางวัลหมออีกคนละหลายพัน ชื่อเสียงของหมอหนุ่มได้แพร่สะพัดไปทั่งเมืองสาเกตอย่างรวดเร็ว บ้างก็มาตามตัวไปรักษาโรคของญาติพี่น้องของตน

หมอหนุ่มรวบรวมเงินทองจากการใช้วิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาจากอาจารย์ได้มากเพียงพอแก่ความต้องการ ก็อำลาครอบครัวเศรษฐีและชาวเมืองสาเกต ออกเดินทางไปยังเมืองมาตุภูมิทันที

ไปถึงเมืองราชคฤห์ เขาได้รีบไปเฝ้าเสด็จพ่อ เจ้าฟ้าอภัยตกพระทัยที่จู่ๆ “เจ้าบุญยัง” ก็โผล่พรวดเข้ามา หลังจากหายหน้าไปตั้ง ๗ ปี ครั้งแรกทรงมีพระพักตร์บึ้งตึง ที่โอรสบุญธรรมไปไหนมาไหนไม่บอกกล่าว

เขาได้กราบทูลสาเหตุที่ต้องหลบหนีออกจากพระราชวังไปศึกษาวิชาแพทย์ที่เมืองตักสิลา จนมีความชำนาญรักษาโรคได้สารพัดโรค แล้วกราบทูลขอขมาโทษที่ทำการครั้งนี้ไปโดยพลการ เสมือนมิรู้บุญคุณข้าวแดงแกงร้อนที่ทรงเมตตาอุปถัมภ์ชุบเลี้ยงมา แล้วนำเงินทองที่เหลือจากที่ใช้จ่ายทั้งหมดมาถวายแด่เสด็จพ่อ

“เงินจำนวนนี้ หม่อมฉันได้จากการรักษาภรรยาเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาเกต ขอทูลถวายเพื่อเป็นเครื่องบูชาพระเดชพระคุณที่ทรงเมตตาชุบเลี้ยงหม่อมฉัน”

ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงแน่พระทัยว่าที่ “เจ้าบุญยัง” กล่าวมาทั้งหมดน่าจะเป็นความจริง

ทรงชื่นชมในความกตัญญูรู้คุณของโอรสบุญธรรม ไม่ทรงรับเงินจำนวนนั้น หากแต่รับสั่งให้เขาเก็บไว้เป็นสมบัติของตน

ตั้งแต่นั้นมาเขากลายเป็นนายแพทย์คนโปรดประจำพระองค์เสด็จพ่ออีกตำแหน่งด้วย •


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๖ ประจำวันที่ ๑๔-๒๐ ส.ค.๕๘


• รักษาพระโรคพระเจ้าพิมพิสาร

เวลานั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรเป็นโรค “ภคันธลาพาธ” (“ภคันธลา” ภาษาไทยแปลว่า โรคริดสีดวงทวาร แต่ฉบับภาษาฝรั่งแปลว่า fistula ได้แก่โรคที่เกิดเป็นโพรงระหว่างช่องอุจจาระกับผิวหนังที่ก้น คนละชนิดกับโรคริดสีดวงทวารและรักษายากกว่า) มีพระโลหิตไหลออกมาเปื้อนพระภูษา ทรงเป็นที่รำคาญพระทัยอยู่เสมอ

แพทย์หลวงถวายโอสถขนานใดๆ ก็มิได้หายขาด บางคราวต้องระงับพระราชกิจเป็นเวลานาน

เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสได้กราบทูลแนะให้พระราชทานพระราชวโรกาสให้หมอชีวกถวายการรักษาสักครั้ง จึงทรงรับสั่งให้หมอชีวกเข้าเฝ้าตรวจพระอาการ

หมอหนุ่มวินิจฉัยโรคอย่างถี่ถ้วนแล้ว ประกอบพระโอรถถวายให้เสวยเพียงสองสามครั้ง อาการประชวรก็หายขาดเป็นปลิดทิ้ง จึงทรงโปรดปรานหมอชีวกมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เขาดำรงตำแหน่งนายแพทย์ประจำพระราชสำนัก

รับพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นจำนวนมาก

ผ่าตัดใหญ่สองรายซ้อน
ในเมืองพาราณสี มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งป่วยเป็นโรคเนื้องอกในลำไส้ รับประทานอาหารลงไปมีอาการจุกเสียด ได้รับทุกขเวทนามาก ผอมแห้งแรงน้อยลงทุกวัน

เศรษฐีได้ทราบข่าวว่า มีหมอผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร เมืองราชคฤห์ จึงไปกราบทูลขออนุญาตให้เขาไปรักษาบุตรชายของตน พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ตามประสงค์

หมอหนุ่มไปถึงบ้านเศรษฐีตรวจดูคนไข้ก็รู้ทันทีว่า ลำไส้เป็นเนื้องอก ต้องผ่าตัด แต่การที่จะลงมือผ่าตัดใดๆ ในสมัยที่ผู้คนยังไม่รู้จักศัลยกรรม และยังไม่ยอมรับกัน เป็นเรื่องยากลำบาก ดีไม่ดีเขาจะเข้าใจว่าฆ่าลูกเขาก็จะลำบาก

หมอชีวกจึงหันมาพูดกับพ่อของคนไข้ว่า
“ใต้เท้าอยากให้ลูกหายไหม”
“แล้วกัน ไม่อยากให้หายจะตามหมอมาทำไม ถามพิลึก” เศรษฐีเลิกคิ้วด้วยความสงสัย
“คือผมอยากจะขอคำมั่นสัญญาจากใต้เท้าก่อน โรคนี้ร้ายแรงมาก ถ้าใต้เท้าไม่ตกลงให้รักษาตามวิธีของผม ลูกชายใต้เท้าต้องตายแน่” หมอหนุ่มไซโค
“เอาเถอะ จะรักษาด้วยวิธีไหนยอมทั้งนั้น ขอชีวิตลูกฉันก็แล้วกัน” เศรษฐีให้คำมั่น
“เห็นจะต้องผ่าตัดเอาไส้ออก” หมอหนุ่มกล่าวเบาๆ
“หา หมอว่าอะไรนะ?” เศรษฐีตาค้าง
“อย่าลืมว่าใต้เท้าสัญญาไว้แล้ว ผมต้องผ่าตัดลูกชายใต้เท้า ไม่งั้นลูกชายใต้เท้าไม่รอดชีวิตแน่” หมอหนุ่มกล่าวเคร่งขรึม

พูดคำว่าตายบ่อยนัก เศรษฐีชักใจไม่ดี จึงหันหน้าไปมองเมีย แม่เด็กก็กลัวลูกชายตายไม่แพ้พ่อ จึงพยักหน้าอนุญาตให้หมอรักษาตามกรรมวิธีของหมอ เพราะไม่มีทางเลือกอย่างอื่น

หมอชีวกลงมือใช้วิชาผ่าตัดที่เรียนมาจากอาจารย์ วางยาสลบเสร็จ แล้วผ่าพุงคนไข้ล้วงลำไส้ออกมาชะล้างอย่างดี ตัดส่วนที่เสียออก เย็บลำไส้ เย็บพุงให้สนิท ทายาสมาน ชั่วเวลาไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ จากนั้นมาไม่กี่วันคนไข้ก็หาย ได้รับรางวัลจากพ่อแม่ของคนไข้มากมาย

จากนั้นมา เกียรติคุณของหมอหนุ่มก็แพร่สะพัดไปทั่วเมือง ต่างก็โจษจันกันว่า
“หมอหนุ่มจากเมืองราชคฤห์ ผ่าท้องคน เอาไส้ออกมา แล้วนำกลับเข้าไปใหม่ได้ คนที่ถูกผ่าท้องกลับหายป่วยได้ น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เขาเห็นจะเป็นหมอเทวดาเป็นแน่แท้”

เกียรติคุณเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะนำความภูมิใจมาให้แก่เขาเท่านั้น แม้เจ้าฟ้าอภัยและพระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้มีหมอวิเศษเช่นเขาประดับพระราชสำนัก

การผ่าตัดใหญ่รายที่สองกระทำที่เมืองราชคฤห์ อันเป็นเมืองมาตุภูมิของเขานั่นเอง คราวนี้เขาผ่าตัดสมองเศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์คนหนึ่ง เศรษฐีคนนี้เป็นโรคปวดศีรษะมานาน หมอไหนๆ มารักษาก็ไม่หาย จนใจที่สุด อาการทรุดหนักเหลือกำลังที่หมอจะรักษาได้ บางคนคาดว่าเขาจะต้องตายภายใน ๗ วัน บางคนก็ว่าเขาจะต้องตายภายใน ๕ วัน ครั้งสุดท้ายพวกญาติพี่น้องเศรษฐีได้มาตามหมอชีวกไปรักษา

หมอชีวกตรวจดูอาการของเศรษฐีอย่างละเอียดแล้วพูดขึ้นว่า
“โรคของใต้เท้าหนักนัก ถ้าอยากหายก็ต้องให้สัญญากันก่อนจะรักษา”
“เอาเถอะครับหมอ จะเรียกร้องเท่าไหร่ ผมยินดีจ่ายให้ทั้งนั้น ไม่ต้องเซ็นสัญญงสัญญาอะไรก็ได้ ผมไม่โกงหรอก” เศรษฐีกล่าวขึ้น

หมอหนุ่มโบกมือ ยิ้มละไม
“ใต้เท้าเข้าใจผิด ผมมิได้หมายถึงสัญญาอย่างนั้น”
“ถ้างั้นสัญญาอะไร”
“สัญญาว่า ใต้เท้าจะนอนตะแคงข้างขวา ๗ เดือน ข้างซ้าย ๗ เดือน นอนหงาย ๗ เดือน หลังจากผ่าตัด”
“ตกลง” เศรษฐียอมรับคำ เพราะอยากหาย

หมอชีวกสั่งให้จัดห้องพิเศษไว้ห้องหนึ่ง ห้ามใครเข้าไปนอกจากเมียเศรษฐีคนเดียว ผสมยาและเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการผ่าตัดเรียบร้อยดีแล้ว ให้เศรษฐีนอนบนเตียง วางยาสลบ ถลกหนังศีรษะออก ผ่ารอยประสานกะโหลกศีรษะออกพบพยาธิสองตัว เล็กตัวหนึ่ง ใหญ่ตัวหนึ่ง เอาคีมคีบออกมา แล้วปิดแนวประสานศีรษะ เย็บหนังศีรษะแล้วทายาสมานแผล

หลังจากผ่าตัด เขาได้นำพยาธิสองตัวมาแสดงให้บรรดาญาติพี่น้องเศรษฐีดู ที่เขาคาดว่าจะตายภายใน ๕ วันนั้น เพราะเขาตรวจพบพยาธิตัวใหญ่นี้ ส่วนอีกคนที่คาดว่าเศรษฐีจักตายภายใน ๗ วัน เพราะเขาตรวจพบพยาธิตัวเล็กนี้

เศรษฐีนอนตะแคงขวาบนเตียงไปได้ประมาณ ๗ วัน ก็รู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งตัว จึงกล่าวแก่หมอชีวกว่า จะขอเปลี่ยนท่านอนได้หรือยัง จึงอนุญาตให้เปลี่ยนมานอนตะแคงซ้าย เศรษฐีทนนอนไปได้ ๗ วัน ก็ขอเปลี่ยนอีก คราวนี้หมอให้เศรษฐีนอนหงายไปได้ ๗ วัน ก็ร้องว่า ทนต่อไปไม่ไหว

“ถ้าเช่นนั้น เชิญใต้เท้าลุกได้ ใต้เท้าหายแล้ว” หมอหนุ่มกล่าวยิ้มๆ เศรษฐีรีบผุดลุกขึ้นพลางเอามือลูบศีรษะตัวเองด้วยความเคยชิน ปรากฏว่าแผลหายสนิทและความเจ็บปวดปลาสนาการไปหมดสิ้น
“เป็นอันว่าหมอรักษาผมหายภายในสามสัปดาห์เท่านั้น แล้วทำไมหมอให้ผมสัญญาว่าจะต้องนอนถึง ๒๑ เดือน?” เศรษฐีถามขึ้น

“ถ้าผมไม่บอกจำนวนเกินไว้อย่างนี้ ใต้เท้าคงนอนได้ไม่ถึงข้างละสัปดาห์นะซีครับ” หมอหนุ่มอธิบาย

เศรษฐีรู้สึกดีใจเป็นล้นพ้นที่ตนได้พ้นจากโรคอันทรมานนี้ เขาจึงตกรางวัลแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์อย่างมหาศาล


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๗ ประจำวันที่ ๒๑-๒๗ ส.ค.๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 กันยายน 2558 14:42:09
(http://www.yesspathailand.com/images/column_1287752954/a245-200.gif)

หมอชีวกโกมารภัจจ์
พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงพระประชวร (๑)


คราวนี้ขอเชิญท่านผู้อ่านนึกไปถึงเมืองอีกเมืองหนึ่ง อยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ไปทางด้านทิศตะวันออกอีกไกลมาก เมืองนี้มีชื่อว่าอุชเชนี มีพระราชาทรงพระนามว่าปัชโชตครองราชสมบัติ ปัชโชตขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นกษัตริย์ที่ดุร้ายมาก ใครทำอะไรขัดพระทัยนิดหน่อยก็จับตัดคอทันที

จนได้สมญานามว่า "จัณฑปัชโชต" แปลว่า "ปัชโชตผู้โหดร้าย"

ปัชโชตมีโรคร้ายประจำอยู่อย่างหนึ่งคือ "ปัณฑุโรค" (โรคดีซ่าน) ได้ทราบว่าที่เมืองราชคฤห์นี้มีหมอวิเศษอยู่คนหนึ่ง จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปยังพระเจ้าพิมพิสาร ขอนายแพทย์มารักษาพระโรค

พระเจ้าพิมพิสารจึงส่งหมอชีวกไปถวายการรักษา พร้อมทั้งรับสั่งให้หมอระมัดระวังตัวให้ดีด้วย เพราะทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ดุนัก

พลาดท่าพลาดทางอาจโดนตัดหัวก็ได้

หมอชีวกเดินทางไปเมืองอุชเชนี เข้าเฝ้าพระเจ้าจัณฑปัชโชต ก็แจ้งประจักษ์แก่ใจว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีพระนิสัยหงุดหงิดดุร้ายจริงตามคำเล่าลือ

เขาลงมือตรวจพระอาการเสร็จแล้วกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินว่า ก่อนจะรักษาโรคร้ายให้หายได้ต้องขอให้ทรงสัญญาก่อน
"สัญญาอะไรวะ ข้าเอาแกมารักษาโรค มิใช้ให้มาสัญญา" ปัชโชตตวาดพระเนตรเขียวปัด

"ขอเดชะฯ พระอาการค่อนข้างน่าวิตก ข้าพระพุทธเจ้าจึงอยากจะกราบทูลพระกรุณาขอพระราชทานสัญญาว่าจะทรงเสวยพระโอสถที่ข้าพระพุทธเจ้าประกอบถวายพ่ะย่ะค่ะ" หมอหนุ่มกราบทูลพยายามทำเสียงให้เป็นปกติ

"ยาอะไรแกให้ข้ากินได้ทั้งนั้นแหละ ขออย่างเดียวอย่าให้มีเนยใส ข้ากินเนยใสไม่ได้ เข้าใจไหม"

หมอหนุ่มสะดุ้ง เพราะยาที่จะผสมให้เสวยจะต้องใส่เนยใสเสียด้วย ถ้าขาดเนยใสมาผสมเป็นกระสาย โรคอย่างนี้จะไม่หาย จึงสู้สะกดใจไว้ กราบทูลอีกว่า
"ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลพระกรุณาพระราชทานของสามสิ่ง คือ
๑.ห้องพิศษสำหรับปรุงยา
๒.ให้เปิดประตูวังไว้ตลอดคืน
๓.ขอช้างทรง หรือม้าทรงที่มีฝีเท้าเร็วที่สุดหนึ่งตัว"

"รักษาโรคสวรรค์วิมานอะไรของแกวะ ขอให้เปิดประตูวังตลอดคืน ขอช้างขอม้าฝีเท้าเร็ว ไอ้ข้อแรกก็พอมีเหตุผลอยู่หรอก แต่สองข้อหลังนี่ จะเอาไปทำไม" ปัชโชตทรงซักถามด้วยความขุ่นพระทัย

"ขอเดชะฯ หากเวลาต้องการเครื่องยาสมุนไพรที่จำเป็นบางอย่างกะทันหัน ข้าพระพุทธเจ้าจะได้ขึ้นช้างหรือม้าไปเอาพ่ะย่ะค่ะ"

"เออ ตกลง รักษามาไม่รู้กี่หมอแล้ว มีแก่นี่แหละยุ่งที่สุด" ทรงบ่นอุบอิบ


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๙ ประจำวันที่ ๔-๑๐ กันยายน ๒๕๕๘


หมอชีวกโกมารภัจจ์
• พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงพระประชวร (จบ)


เมื่อได้ของตามต้องการแล้ว หมอชีวกจึงเข้าห้องพิเศษ ปรุงยาตามที่เล่าเรียนมา ใส่เนยใสผสมเป็นกระสาย ก่อไฟตั้งเตา ปิดประตูหน้าต่างห้องอย่างมิดชิด ป้องกันกลิ่นเนยระเหยออกไปข้างนอก ใส่สมุนไพรดับกลิ่นเนยอย่างดี เคี่ยวยาอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ได้ยาสกัดออกมาเป็นถ้วยขนาดใหญ่ ลองดมดู ไม่มีกลิ่นเนยหลงเหลืออยู่แม้แต่นิดเดียว

เสร็จแล้วนำเข้าถวายพระเจ้าแผ่นดิน กราบทูลวิธีเสวยและอาการหลังจากเสวยว่า “หลังจากที่เสวยยาแล้ว วันแรกจะมีอาการแน่น ถ้ามีพระอาการอย่างไรขอให้ทรงอดทน พอตกถึงวันที่สองจะทรงเรอออกมา แล้วอาการของโรคจะค่อยๆ หายไป”

เสร็จแล้วหมอหนุ่มรีบเข้าไปโรงช้าง ขึ้นช้างพังชื่อภัททวดีซึ่งมีฝีเท้าเร็ว วิ่งได้วันละ ๕๐ โยชน์ออกไปจากพระนคร สั่งมหาดเล็กให้กราบทูลพระเจ้าแผ่นดินว่า จะรีบเก็บสมุนไพรมาเพิ่มเติม

ออกจากวังได้ก็รีบไสช้างวิ่งหนีไปทางเมืองราชคฤห์ ไปได้หลายสิบโยชน์เห็นว่ามาไกลพ้นเขตอันตรายแล้ว จึงหยุดช้างลงไปนั่งพักเหนื่อยใต้ต้นมะขามป้อมต้นหนึ่ง

กล่าวถึงพระเจ้าจัณฑปัชโชต พอเสวยยาเข้าไปวันแรกเกิดอาการแน่นอึดอัดตามที่หมอบอก แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดอะไรรุนแรงนัก

พอรุ่งเช้าขึ้นวันที่สอง ทรงเรอออกมาเนยใสที่ผสมเป็นกระสายยาระเหยออกมาแตะพระนาสิก รู้สึกว่าโดนหมอหลอกให้เสวยเนยใสเข้าแล้วเท่านั้น ก็ทรงอาเจียนโอ้กอ้ากทันที ได้พระสติจึงแหวออกมา ทั้งๆ ที่เกือบจะไม่มีพละกำลังอยู่แล้ว รับสั่งให้ตามมหาดเล็กชื่อกากะมาทันที

“มึงรีบไปตามไอ้หมอชีวกมาให้กูให้ได้ ไอ้หมอเจ้าเล่ห์ กูจะตัดหัวมันให้สมกับที่มันโกหกกู” ทรงตะโกนก้องด้วยความพิโรธ

กากะ มหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์ ซึ่งวิ่งได้เร็ววันละ ๑๐ โยชน์ รีบวิ่งออกจากพระราชวังทันที
“เฮ๊ย เดี๋ยวก่อน” ทรงรับสั่งไล่หลังมหาดเล็ก
“ไอ้หมอคนนี้มันเล่ห์เหลี่ยมมาก มึงอย่าเสือกกินอะไรที่มันให้เป็นอันขาดนะ”

กากะวิ่งบ้างเดินบ้าง ตามรอยชีวกไปจนทันที่ป่ามะขามป้อม เห็นหมอชีวกผูกช้างไว้ข้างต้นไม้ นั่งกินอาหารอยู่ จึงจู่โจมเข้าไปจับแขนจะลากกลับเมืองอุชเชนีทันที
“ตายละสิ นึกว่ามาพ้นแล้ว เจ้าบ้านี่ตามมาจนได้”

หมอชีวกคิด ฉับพลันนั้นไวเท่าความคิด เขาจึงพูดขึ้นว่า
“เดี๋ยว ขออนุญาตผมกินข้าวอิ่มก่อนได้ไหม ข้าวยังมีอยู่แยะ เชิญกินข้าวด้วยกันก่อน ค่อยกลับไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน”
“ไม่” เขาสั่นศีรษะ “พระราชารับสั่งว่าคุณมารยามาก ห้ามกินอะไรที่คุณเอาให้เด็ดขาด”
“พระราชาคงทรงกลัวว่าผมจะวางยาพิษกระมัง ก็เราไม่ได้เป็นศัตรูอะไรกัน ผมจะวางยาคุณทำไม” หมอรบเร้าให้เขาร่วมวงให้ได้
“เชิญตามสบายเถิด คำสั่งต้องเป็นคำสั่ง ไม่งั้นหัวผมขาด” กากะกล่าวยืนยันความตั้งใจเดิม

เมื่อเห็นว่ากำลังจะเข้าตาจน เพราะเจ้าหมอนั่นรักษาคำสั่งของเจ้าเหนือหัวอย่างเคร่งครัด จึงคว้าผลมะขามป้อมที่หล่นอยู่มาผลหนึ่ง กัดกินแล้วดื่มน้ำพลางหยิบมะขามป้อมที่เพิ่งหล่นจากต้นไม้ส่งให้กากะ ชวนให้กินแก้กระหายน้ำบ้าง

กากะเห็นว่ามะขามป้อมเพิ่งหล่นจากต้นหยกๆ คงไม่เป็นไรจึงรับมากัดกินบ้าง หารู้ไม่ว่าก่อนส่งให้ หมอหนุ่มได้เอาเล็บจิกผิวมะขามป้อมนิดหนึ่ง ปล่อยยาซึ่งซ่อนอยู่ที่ปลายเล็บ ซึมเข้าไปในผลมะขามป้อม

พักเดียวได้เรื่อง เจ้าหมอนั่นรู้สึกปวดท้องกะทันหัน ไม่ทันกล่าวอะไรออกมา อุจจาระก็ไหลออกมาดั่งสายน้ำพุ่งออกจากท่อ
“โอย ได้โปรดช่วยชีวิตผมด้วยเถิด คุณหมอ” มหาดเล็กผู้น่าสงสารอ้อนวอน
“ไม่เป็นไรหรอกเพื่อนยาก ถ่ายออกหมดแล้วก็จะหายเองแหละ ไม่ใช่ยาพิษอะไรหรอก” หมอหนุ่มกล่าวพร้อมกับหัวเราะร่าเริง
“ฝากนำช้างไปถวายคืนเจ้านายด้วย ลาก่อนนะ”

เวลาผ่านไปประมาณ ๓๐ นาที มหาดเล็กชื่อกากะก็ค่อยมีกำลังขึ้นบ้าง เดินโผเผไปแก้ช้างออกจากโคนต้นมะขามป้อม ขี่ช้างกลับมายังพระราชวัง เข้าไปกราบทูลแด่พระเจ้าแผ่นดินด้วยอาการตัวสั่นงันงก  พระเจ้าจัณฑปัชโชตทอดพระเนตรเห็นมหาดเล็กรูปร่างอิดโรยผิดปกติ ก็ทรงรู้ทันทีว่าคงเสียทีหมอหนุ่มเสียแล้ว จึงรับสั่งด้วยอารมณ์ดีว่า “กูบอกแล้ว อย่ากินอะไรที่มันให้ มึงก็เสียทีมันจนได้ ปล่อยมันเถอะวะ กูหายดีแล้ว ยามันวิเศษจริงๆ”

พอหายประชวรแล้ว พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงนึกถึงบุญคุณของหมอชีวก คิดจะพระราชทานรางวัลให้สมใจ จึงทรงได้เลือกผ้าเนื้อสีทองอย่างดีสองผืนที่ทอที่ประเทศสีพี เป็นผ้าเนื้อละเอียดมาก คนธรรมดาไม่มีโอกาสได้ใช้ผ้าเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น

พร้อมกับมีพระราชสาส์นไปขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสาร ที่ทรงประทานหมอวิเศษไปรักษาโรคให้จนหายสนิท.  


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๐ ประจำวันที่ ๑๑-๑๗ กันยายน ๒๕๕๘


หมอชีวกโกมารภัจจ์
• หมอชีวกถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้า (๑)


หมอชีวกได้ผ้าเนื้อสีทองอย่างดีสองผืน แล้วนึกถึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าขึ้นมาทันที เห็นว่าผ้านี้เป็นผ้าเนื้อดี หาได้ยากควรจักนำไปถวายพระพุทธเจ้า จึงนำไปยังเวฬุวนาราม ตั้งใจจะถวายแด่พระพุทธองค์

แต่สมัยนั้นภิกษุสงฆ์ถือผ้าบังสุกุลอย่างเดียว คือท่านแสวงหาเศษผ้าที่ชาวบ้านเขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพ (คนส่วนมากคิดว่า ผ้าห่อศพสกปรก เปื้อนเลือดและหนอง ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระเอามาทำจีวร ความจริงแล้วชาวอินเดียวเขาเอาผ้าอย่างดี ยาวเป็นหูกๆ พันศพหลายๆ ชั้น นำไปทิ้งป่าช้า ผ้าเหล่านี้ชั้นนอกไม่เปื้อนอะไรเลย จึงตัดเอามาทำจีวรได้) มาเย็บทำจีวรเอง และใช้สอยเพียงสามผืนเท่านั้น พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้รับผ้าจีวรที่คฤหัสถ์ทำถวาย

หมอชีวกจึงขอพรพระพุทธเจ้า ให้ทรงรับผ้าเนื้อสีทองที่เขาน้อมถวาย และให้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้า หรือจีวรของหมอชีวก และอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์รับคฤหบดีจีวรได้ตามคำขอของหมอชีวกแต่บัดนั้นมา

ชาวบ้านได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าหรือจีวรที่ชาวบ้านถวายได้ ต่างดีใจ พากันนำจีวรมาถวายพระเป็นจำนวนมาก เนื้อดีบ้าง เนื้อหยาบบ้าง ทอด้วยวัตถุดิบต่างๆ กัน

พระสงฆ์เลยเกิดความสงสัยว่า จีวรชนิดไหนควรจักรับ ชนิดไหนไม่ควรจักรับจึงนำความเข้าทูลถามพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสอนุญาตไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวร ๖ ชนิด คือ จีวรทำด้วยเปลือกไม้ ๑ ทำด้วยฝ้าย ๑ ทำด้วยไหม ๑ ทำด้วยขนสัตว์ ๑ ทำด้วยป่าน ๑ ทำด้วยทอง (ทั้งห้าอย่างนั้น) เจือกัน ๑

ปัญหาของหมอชีวก
หมอชีวกเป็นผู้เลื่อมใสพระพุทธศาสนามาก มีเวลาว่างจากการดูแลคนไข้เมื่อไร เป็นถือโอกาสไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที เขาจึงมักจะเทียวไปเทียวมาระหว่างตัวเมืองกับสวนมะม่วงของเขาเสมอ

สวนมะม่วงที่ว่านี้ เป็นสมบัติส่วนตัวของเขา เป็นสถานที่สงบสงัด เหมาะแก่ผู้ที่ใคร่วิเวกเป็นอย่างยิ่ง ภายหลังหมอชีวกได้มอบถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้า เมื่อว่างจากภารกิจเมื่อใด เขาก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามข้อข้องใจในธรรมอยู่เสมอ

ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรบันทึกบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับหมอชีวกอยู่หลายแห่ง เป็นเรื่องมีสาระน่ารู้ทั้งสิ้น จึงขอถือโอกาสถ่ายทอดให้ทราบเพียงสองแห่ง ดังต่อไปนี้
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนปฏิบัติ ได้แค่ไหน ถึงจะเรียกว่าเป็นอุบาสก”
“ผู้ที่นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ จึงจะเรียกว่าเป็นอุบาสก”
“อุบาสกชนิดไหน เรียกว่าอุบาสกมีศีล”
“อุบาสกที่งดเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มสุราเมรัย เรียกว่าอุบาสกมีศีล”
“อุบาสกชนิดไหน เรียกว่าเอาตัวรอดคนเดียว”
“อุบาสกที่มีศรัทธา มีศีล มีทัศนะ (ความเห็นถูกต้อง) ใคร่เห็นพระสงฆ์ ใคร่สดับธรรม ฟังธรรมแล้วจดจำได้ จดจำได้แล้ว พิจารณาไตร่ตรอง รู้ข้อธรรมแล้วประพฤติปฏิบัติธรรมถูกต้อง อุบาสกชนิดนี้เรียกว่า เอาตัวรอดคนเดียว”
“แล้วอย่างไหนเรียกว่า เอาตัวรอดด้วย ช่วยคนอื่นด้วย”
“คนที่ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวข้างต้น แล้วชักชวนให้คนอื่นทำตาม ชื่อว่าช่วยตัวด้วย ช่วยคนอื่นด้วย”


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๑ ประจำวันที่ ๑๘-๒๔ กันยายน ๒๕๕๘


หมอชีวกโกมารภัจจ์
• หมอชีวกถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้า (จบ)


คราวหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่สวนมะม่วง เช่นเดียวกัน หมอชีวกเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลถามปัญหา ดังนี้
“ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินคนเขาตำหนิพระองค์ว่า พระองค์ได้สอนให้คนอื่นงดฆ่าสัตว์ แต่เสวยอาหารที่เขาฆ่าถวาย เป็นความจริงเพียงไร”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ถ้าได้เห็น ได้ยิน และสงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงถวาย พระองค์ไม่เสวยเนื้อนั้น แต่ถ้าไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงถวาย พระองค์เสวยเนื้อนั้น

พระองค์ตรัสอธิบายต่อไปว่า ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนามีจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และแผ่คุณธรรมเหล่านี้ไปยังสรรพสัตว์ทั่วโลก อยู่ด้วยจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทต่อใคร เลี้ยงชีพด้วยอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านเขาถวาย เมื่อมีคนเขานิมนต์ไปฉันอาหาร ท่านก็ไป เขาถวายอาหารชนิดใด จะเลวหรือประณีต ท่านก็ฉันพอดำรงอัตภาพ ไม่ติดหรือยึดมั่นในอาหารที่ฉันนั้น

เสร็จแล้วพระองค์ย้อนถามหมอชีวกว่า
“พระภิกษุที่ปฏิบัติเช่นนี้ จะเรียกว่าเบียดเบียนคนอื่นหรือไม่”
“ไม่ พระเจ้าข้า” หมอชีวกกราบทูล
“อาหารอย่างนี้ไม่มีโทษ (คือกินได้ ไม่เรียกว่าเป็นการสนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์) มิใช่หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระองค์ตรัสต่อไปว่า ใครก็ตาม ถ้าฆ่าสัตว์เจาะจงถวายพระตถาคตหรือพระภิกษุสงฆ์สาวก ย่อมก่อบาปกรรมทั้งแก่ตนเองและคนอื่น ด้วยสถานะ ๕ ประการ คือ
๑) สั่งให้คนอื่นนำสัตว์ตัวโน้นตัวนี้มา (เท่ากับชักนำเอาคนอื่นมาร่วมทำบาปด้วย)
๒) สัตว์ที่ถูกนำมาฆ่า ถูกลากถูลู่ถูกังมาได้รับความเจ็บปวดเป็นอันมาก
๓) ออกคำสั่งให้เขาฆ่าสัตว์นั้น (ตัวเองก็บาป คนฆ่าก็บาป)
๔) สัตว์ที่ถูกฆ่าได้รับทุกขเวทนาจนสิ้นชีพ
๕) ทำให้คนอื่นเขาหาช่องว่าพระตถาคตและพระสงฆ์สาวกด้วยเรื่องเนื้ออันไม่ควร
(จริงอยู่ ถ้าพระไม่รู้ ไม่เห็น ไม่สงสัย ว่าเขาเจาะจงฆ่าถวาย ไม่ต้องอาบัติ แต่คนภายนอกอาจหาว่าพระรู้ แต่แกล้งทำไม่รู้ หรือปากว่าตาขยิบก็ได้)

หมอชีวกได้สดับวิสัชนาจากพระพุทธองค์จนแจ่มแจ้งหายสงสัยแล้ว ในที่สุดได้กล่าวขึ้นว่า ตนเคยแต่ได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่าว่า “พระพรหม” นั้นมีจิตประกอบด้วยพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ไม่เคยเห็น “พระพรหม” ตัวจริงสักที ที่แท้ “พระพรหม” ก็คือพระพุทธองค์นั่นเอง เพราะพระองค์ทรงมีคุณธรรมเหล่านี้ในพระทัย เป็นพยานที่เห็นได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“พรหมที่ว่านี้ ถ้าชีวกหมายถึงผู้ที่ไม่มีความพยาบาท ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ตถาคตเห็นด้วย เพราะตถาคตละกิเลสเหล่านี้ได้เด็ดขาดแล้ว”


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๒ ประจำวันที่ ๒๕ ก.ย.-๑ ต.ค.๕๘


(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQVqsF0gLvz54z_yQMlxqg6LXx1Sn7yqz7crJlyEy8dBKgTEP_atg)
หมอชีวกโกมารภัจจ์
เหตุการณ์ระทึกใจในสวนมะม่วง (๑)


คราวหนึ่ง เหตุการณ์ที่ใครๆ ไม่คาดฝันก็อุบัติขึ้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกลอบทำร้ายโดยคนใจบาป

เจ้าวายร้ายนั้นปีนขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏ กลิ้งก้อนหินลงมา หมายใจจักให้หินทับพระพุทธองค์ ขณะที่กำลังนั่งเข้าฌานสมาบัติอยู่ในถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชฌกูฏ  แต่เดชะ พระบารมีของพระพุทธองค์ ก้อนหินก้อนนั้นกลิ้งลงมาปะทะชะง่อนผาเบื้องบนพระเศียรกระเด็นไปทางอื่น  

แต่กระนั้นสะเก็ดหินก็กระเด็นไปต้องพระบาททำให้ห้อพระโลหิต ได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก  พระสงฆ์สาวกช่วยกันหามพระพุทธองค์ออกมายังสวนมะม่วงของหมอชีวก

หมอชีวกกำลังตรวจคนไข้อยู่ในเมือง พอได้ทราบข่าวว่าพระพุทธองค์ถูกทำร้ายอาการสาหัส วิ่งแจ้นไปสวนมะม่วงทันที ได้ถวายการรักษา โดยชะล้างและพันแผลให้พระพุทธองค์ แล้วทูลลาไปดูคนไข้ในเมืองต่อ

ขอย้อนกล่าวถึงสาเหตุที่พระพุทธองค์ถูกลอบทำร้าย ตัวการผู้ก่อมหันตกรรมครั้งนี้คือ พระเทวทัต

พระเทวทัตคือใคร?

พระเทวทัต โดยเชื้อสายดั้งเดิมเป็นชายในโกลิยวงศ์ ลูกพี่ลูกน้อง (บางแห่งว่าเป็นพี่) ของพระนางยโสธราหรือพิมพา เมื่อสิทธัตถะกุมารออกผนวช สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระราชบิดา และพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์

พวกเจ้าชายในตระกูลศากยะเป็นจำนวนมากได้ออกผนวชเป็นพุทธสาวก เทวทัตกุมารได้ถือโอกาสออกผนวช ปรากฏว่าได้บำเพ็ญสมณธรรมจนได้ฌานขั้นโลกีย์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ครั้นต่อมาเกิดขัดพระทัยเรื่องลาภสักการะเป็นเหตุ

เรื่องก็มีอยู่ว่า ชาวบ้านนำภัตตาหารบ้าง ของถวายอย่างอื่นบ้าง ไปถวายพระ ต่างก็หามหาพระองค์อื่นๆ ไม่มีใครถามหาพระเทวทัตเลย จึงเกิดมานะขึ้นในใจว่า พระเหล่านั้นก็เป็นกษัตริย์ออกบวช เราก็เป็นกษัตริย์เหมือนกัน ทำไมจึงไม่เห็นความสำคัญของเรา พวกนี้มันรู้จักเทวทัตน้อยไปเสียแล้ว

คิดดังนี้จึงวางแผนเข้าไปสนิทชิดเชื้อกับพระเจ้าอชาตศัตรู สมัยยังเป็นพระราชกุมาร แสดงฤทธิ์เดชให้ดู จนเจ้าชายเกิดความเลื่อมใส มอบตนเป็นศิษย์ก้นกุฏิ ตั้งแต่นั้นมาลาภสักการะก็ไหลมาเทมาสมเจตนานึก เพราะบารมีของศิษย์ก้นกุฏิ

เมื่อคนขนาดมกุฎราชกุมารยกย่องนับถือเป็นพระอาจารย์ เทวทัตก็ชักมองเห็นลู่ทางไปสู่ความยิ่งใหญ่ กำเริบเสิบสานถึงขึ้นคิดจะกุมอำนาจการปกครองคณะสงฆ์แทนพระบรมศาสดา ทูลขอให้พระองค์ทรงมอบอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ให้ตน โดยอ้างว่าตนเองมีความปรารถนาดีต่อพระธรรมวินัย ใคร่จะจัดการให้พระศาสนาเจริญก้าวหน้า พระพุทธองค์ทรงพระชราภาพมากแล้ว ทั้งยังมีพระภารกิจอย่างอื่นที่ต้องทรงกระทำเป็นอันมาก ขอให้ประทานอำนาจการปกครองให้ตนเถิด จะได้ช่วยแบ่งเขาพระภาระ

พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นเจตนาอันลามกของพระเทวทัต จึงไม่ประทานอำนาจการปกครองคระสงฆ์ให้  ทั้งยังทรงตักเตือนสั่งสอนด้วยถ้อยคำแรงๆ เพื่อให้สำนึก

แต่แทนที่พระเทวทัตจะสำนึก กลับผูกใจเจ็บ พระพุทธองค์หนักขึ้น หาว่าพระพุทธองค์ทำให้อับอายต่อหน้าธารกำนัล


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๓ ประจำวันที่ ๒-๘ ต.ค.๕๘


หมอชีวกโกมารภัจจ์
• เหตุการณ์ระทึกใจในสวนมะม่วง (จบ)


ด้วยเจตนาหยาบช้าอยากใหญ่ของพระเทวทัต ฤทธิ์โลกีย์ที่เคยมีเคยได้ก็เสื่อมหมด เมื่อแผนการขั้นแรกล้มเหลว จึงหันไปเดินวิธีใหม่ โดยยุให้อชาตศัตรูกุมารหาอุบายกำจัดพระราชบิดาเสีย แล้วตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง ส่วนตนเองก็จะฆ่าพระพุทธเจ้า ตั้งตนเป็นพระพุทธเจ้าแทน

อชาตศัตรูกุมารตกหลุมพรางพระเทวทัต เห็นผิดเป็นชอบ จับพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดาขังคุกทรมานให้อดพระกระยาหารจนสิ้นพระชนม์ ตั้งตนเป็นพระราชาสำเร็จ

ฝ่ายพระเทวทัตก็พยายามหาทางกำจัดพระพุทธองค์ให้ได้ ไปขอแรงพระเจ้าอชาตศัตรู ให้ส่งนายขมังธนูไปยิงพระศาสดา

แต่แผนการล้มเหลวอีก

“เมื่อแผนการที่วางไว้อย่างรัดกุมเช่นนี้ยังล้มเหลว คราวนี้เห็นทีจะต้องแสดงเอง” เจ้าคุณใจบาปคิด จึงค่อยๆ ด้อมๆ มองๆ หาโอกาสเหมาะ

พอดีวันหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่ถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชกูฏ  พระเทวทัตจึงแอบปีนเขาขึ้นไปผลักก้อนหินลงมา เพื่อให้ทับพระศาสดาให้สิ้นพระชนม์

แต่บังเอิญก้อนหินลงมาปะทะชะง่อนผาเหนือพระเศียรกระเด็นห่างออกไป สะเก็ดหินกระเด็นไปกระทบพระบาท ยังผลให้ห้อพระโลหิต ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

หมอชีวกมัววุ่นวายกับการดูแลคนไข้ในเมืองจนถึงเย็น พลันนึกขึ้นมาได้ว่า ถึงเวลาแก้ผ้าพันแผลพระพุทธองค์แล้ว จึงรีบมุ่งหน้าไปยังสวนมะม่วง พอดีได้เวลาประตูเมืองปิด เขาจึงไม่สามารถออกไปเฝ้าพระพุทธองค์ได้

“ตายล่ะสิ ถึงเวลาแก้ผ้าพันแผลที่พระบาทแล้วด้วย ถ้าไม่แก้ คืนนี้ทั้งคืนพระองค์จักมีอาการร้อนใน”

เขาคิดเสียใจ ที่ได้ปฏิบัติต่อองค์พระศาสดาเอกของโลก เหมือนกับคนไข้ธรรมดาคนหนึ่ง

ขณะที่หมอชีวกคิดกลุ้มใจอยู่นั้น พระบรมศาสดาทรงทราบกระแสความคิดของเขา จึงตรัสเรียกพระอานนท์มาแก้ผ้าพันแผลออก

ตื่นเช้าขึ้นหมอชีวกได้รีบเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลถามลำล่ำละลักว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้ พระองค์ทรงมีพระอาการร้อนในหรือเปล่า”

ทรงทราบดีว่าเขาหมายถึงอะไร แต่พระพุทธองค์ตรัสยิ้มๆ ว่า “ตถาคตดับความร้อนทุกชนิดได้สนิทแล้ว ตั้งแต่วันตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นโพธิ์ ผู้ที่เดินมาจนสุดทางแห่งสังสารวัฏ หมดความโศก หลุดพ้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ แล้ว ไม่มีความร้อนหรอกชีวก ไม่ว่าร้อนนอกหรือร้อนใน”

ตรัสจบก็ทรงยื่นพระบาทข้างที่บาดเจ็บให้หมอชีวกดู พร้อมทั้งตรัสบอกเขาว่าพระองค์ได้รับสั่งให้พระอานนท์แก้ผ้าพันแผลให้ตั้งแต่เย็นวานนี้ ตรงกับเวลาที่เขานั่งคิดกลุ้มใจอยู่หน้าประตูเมืองนั่นแหละ

หมอชีวกมองดูพระบาท เห็นแผลหายสนิทดีแล้วรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้ถวายการรักษาพระบรมศาสดาจนหายประชวร

เรื่องราวหมอชีวกโกมารภัจจ์ เท่าที่เก็บปะติดปะต่อจากพระไตรปิฎกและอรรถกถามีเท่านี้

สังเกตดูตามประวัติจะเห็นได้ว่า ตลอดชีวิตเขายุ่งแต่กับการรักษาโรคคนทั้งเมืองจนแทบหาเวลาปฏิบัติธรรมไม่ได้

อาจเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้ที่เขาไม่ได้ออกบวชหรือบรรลุคุณธรรมแม้เพียงขั้นของโสดาปัตติผล แต่เขาได้ใช้วิชาความรู้ที่เล่าเรียนมาบำเพ็ญประโยชน์แก่คนหมู่มาก นับว่าเป็น “อุบาสกผู้ช่วยตัวเองด้วย และช่วยผู้อื่นด้วย” ตรงตามพุทธพจน์ทุกประการ

คนเช่นนี้ถือว่า ไม่เสียชาติเกิดโดยแท้ และคนเช่นนี้ เราควรเอาเยี่ยงอย่างเป็นอย่างยิ่ง มิใช่หรือ?


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๐ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๔ ประจำวันที่ ๙-๑๕ ต.ค.๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 ตุลาคม 2558 15:21:17
(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQGgWXa6jKLwEEEO6dDnWnOqlOaSPVBGbb11dL9k3U5_z2MYTXh)

สามเณรราหุล (๑)


สมัยเรียนบาลี อาจารย์ท่านให้วิเคราะห์ศัพท์ “สามเณร” (คือกระจายคำตามรูปไวยกรณ์บาลี) ว่า สมณสฺส อปจฺจํ สามเณโร-เหล่ากอแห่งสมณะชื่อว่าสามเณร สามเณรตัวเล็กๆ อย่างผม จบประถมสี่ ภาษาไทยไม่แตก เรียนถามอาจารย์ว่า หมายความว่าอย่างไร

อาจารย์แทนที่จะตอบดีๆ ท่านกลับพูดเป็นนัยเปรียบเทียบว่า หน่อไม้ไผ่มันย่อมงอกออกมาเป็นลำไผ่

ไม่เห็นจะเกี่ยวกันเลย หน่อไผ่ก็หน่อไผ่ เณรก็เณร ผมไม่หายสงสัย แต่ก็มิได้ซักต่อ กลัวโดนดุ ต่อเมื่อเรียนมากขึ้นจึงรู้ความหมายว่า พระ (สมณะ) มาจากเณร เมื่อไม่มีเณร ก็ไม่มีพระ ดุจไม่มีหน่อไผ่ก็ไม่มีกอไผ่ ฉันใดฉันนั้น

ความจริงการบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา เริ่มแรกจริงๆ ก็บวชเป็นพระเลยโดยพระพุทธเจ้าทรงประทานการบวชให้ ดังปัญจวัคคีย์ภิกษุรุ่นแรก พระองค์ตรัสว่า “เอหิ ภิกฺขุ = จงมาเป็นภิกษุด้วยกันเถิด” เท่านั้นเธอก็กลายเป็นภิกษุในทันที

ต่อมาเมื่อผู้ขอบวช มีมากขึ้น พระพุทธเจ้าทรงประทานอำนาจการบวชแก่พระสงฆ์ การบวชมีพิธีรีตองขึ้น เช่น มีการกำหนดคุณสมบัติผู้มาขอบวช มีอุปัชฌาย์ผู้เป็นประธานในการบวช มีผู้ทำหน้าที่สอบถามคุณสมบัติ (อีกครั้ง) และสวดประกาศท่ามกลางสงฆ์ทำพิธีบวช เรียกว่า กรรมวาจาจารย์ เป็นต้น

ไม่ทราบว่าการบวชในสมัยพุทธกาลต้องผ่านการบวชเณรก่อนหรือไม่ (ไม่เห็นมีที่ไหนพูดไว้)

การบวชเณร ปรากฏครั้งแรกเมื่อครั้งราหุลกุมาร ติดตามทูลขอทรัพย์สมบัติตามคำสั่งของผู้เป็นพระมารดา พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า การให้ “อริยทรัพย์” ดีกว่าให้ทรัพย์ธรรมดา จึงรับสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร

พระสารีบุตรจึงกราบทูลถามวิธีปฏิบัติว่าจะให้บวชแบบไหน เพราะไม่เคยมีเด็กบวชมาก่อน

พระองค์รับสั่งว่าให้รับไตรสรณคมณ์ก็พอ พระราหุล (ความจริงคือ เณรราหุล) จึงได้รับการบวชด้วย ไตรสรณคมณ์เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา (การอุปสมบทด้วยการถึงสรณะสาม)

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ คำว่าบรรพชา กับอุปสมบทใช้หมายถึงสิ่งเดียวกัน บวชเป็นพระจะเรียกว่า บรรพชาก็ได้ อุปสมบทก็ได้ บวชเป็นเณร (อย่างกรณีราหุลสามเณรนี้) จะเรียกว่า บรรพชาก็ได้ อุปสมบทก็ได้

ต่อมาภายหลังเท่านั้นที่แบ่งแยกว่า บวชเณรเรียกบรรพชา บวชพระเรียกอุปสมบท

สามเณรราหุลบวชมาแล้วก็อยู่ในความดูแลของอุปัชฌาย์คือ พระสารีบุตรตามหน้าที่ในพระวินัย แต่บางครั้งอุปัชฌาย์ดูแลไม่ทั่วถึง เกิดเรื่องราวขึ้น จนพระพุทธเจ้าต้องตรัสเชิงตำหนิในความบกพร่องหน้าที่ก็มี

เช่นคราวหนึ่ง พระภิกษุจำนวนมากจากต่างเมืองมาพักอยู่ที่วัด เสนาสนะไม่เพียงพอ จึงไล่สามเณรราหุลไปนอนที่อื่น สามเณรจึงออกไปข้างนอก ด้วยความเคารพในพระเถระทั้งหลาย เมื่อไม่มีที่อยู่จึงเข้าไปอาศัยที่วัจกุฎี (ส้วม) ของพระพุทธเจ้า

คิดดูแล้วกัน เด็กตัวเล็กๆ นั่งตัวลีบอยู่ในส้วมท่ามกลางความมืดและน่ากลัว มันทรมานขนาดไหน ตกดึกพระพุทธองค์เสด็จเข้าไปในวัจกุฎี พบราหุลน้อยนั่งสั่นงั่กๆ ด้วยความกลัวอยู่ในนั้น ทรงนำกลับไปยังพระคันธกุฎี  รุ่งเช้าขึ้นมาตรัสถามพระสารีบุตรว่า รู้ไหมเมื่อคืนนี้ สัทธิวิหาริกของเธออยู่ที่ไหน เมื่อพระสารีบุตรกราบทูลว่า ไม่ทราบพระเจ้าข้า พระองค์จึงตรัสบอกว่า เมื่อคืนนี้ราหุลอยู่ในวัจกุฎีของตถาคต

ราหุลสามเณรมีคุณสมบัติที่น่าสรรเสริญอย่างน้อย ๓ ประการคือ
๑.เป็นผู้ว่าง่าย ไม่ถือตัวว่าเป็นโอรสพระพุทธเจ้า

ดังกรณีภิกษุจากชนบทไล่ให้ไปนอนข้างนอกที่กล่าวมานั้น ถ้าราหุลเธออ้างว่าเป็น “ลูก” ของพระพุทธเจ้าก็ย่อมทำได้ อย่างน้อยภิกษุเหล่านั้นก็อาจเกรงใจพระพุทธชิโนรสบ้าง แต่เธอไม่ได้นำเอาเรื่องนั้นมาอ้าง กลับออกไปเสียโดยดี เพราะความเป็นคนว่านอนสอนง่าย  

กรณีนี้ต่างจากพระฉันนะ อดีตเป็นเพียงนายสารถีของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อมาบวช ความรู้สึกเดิมยังคงอยู่ คือยังคิดว่าตนเป็นคนใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า ใครว่ากล่าวตักเตือนมักไม่ฟัง “ท่านเป็นใครมาว่ากล่าวผม รู้ไหมผมคืออดีตสารถีผู้ใกล้ชิดพระพุทธองค์” อะไรทำนองนี้

๒. เป็นผู้ใฝ่การศึกษาอย่างยิ่ง
เล่ากันว่าความกระหายใคร่เรียนรู้ของราหุลน้อย มีมากถึงขนาดว่า ทุกเช้าราหุลน้อยจะเดินลงมาที่ลานวิหาร เอามือกอบทรายขึ้นมาเต็มมือ แล้วอธิษฐานดังๆ ว่า วันนี้ขอให้เราได้ฟังพระโอวาทและโอวาทจากพระพุทธเจ้าและจากพระอุปัชฌาย์มากมายดุจดังเมล็ดทรายในกำมือเรานี้เถิด ทำให้พระพุทธเจ้าทรงยกย่องราหุลว่าเป็นเลิศกว่าผู้อื่นใดในด้านใฝ่การศึกษา

๓. เป็นผู้มีความเคารพและกตัญญูกตเวทีต่ออุปัชฌาย์อย่างยิ่ง

โบราณว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” น่าจะใช้ได้กับพุทธชิโนรสนี้เป็นอย่างดี ที่ราหุลท่านเป็นเช่นนี้คงเพราะดำเนินตามรอยพระอุปัชฌาย์นั่นเอง


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรราหุล โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๕ ประจำวันที่ ๑๖-๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๘


สามเณรราหุล(จบ)
พระสารีบุตรเป็นนักศึกษาวิชาปรัชญาในสำนักสัญชัย เวลัฏฐบุตร เจ้าของทฤษฎีที่ภาษาพระไตรปิฏกเรียกว่า “อมราวิกเขปิกา” (มีทรรศนะไม่ตายตัว ลื่นไหลไปมาดุจปลาไหล) ซึ่งฝรั่งเรียกว่าเป็นพวก skeptic นั่นเอง

ท่านได้มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เพราะพระอัสสชิเถระแนะนำ ท่านจึงมีความเคารพต่ออาจารย์ของท่านมาก

เวลานอนเมื่อรู้ว่าอาจารย์ของท่านอยู่ทิศใดก็จะหันศีรษะไปทางทิศนั้น เดี๋ยวก็นอนหันศีรษะไปทางทิศเหนือบ้าง ทิศตะวันออกบ้าง ทิศใต้บ้าง ฯลฯ จนภิกษุช่างสังเกตทั้งหลายเอามานินทาว่า บวชจนเป็นพระอัครสาวกแล้ว ท่านสารีบุตรยังไหว้ทิศตามแบบพราหมณ์อยู่

พระพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุช่างสงสัยเหล่านั้นเข้าใจว่า พระสารีบุตรท่านไหว้อาจารย์ของท่าน มิใช่ไหว้ทิศดังที่เข้าใจ

ราหุลมีสมญานามที่เพื่อนพรหมจรรย์ด้วยกันเรียกอีกนามหนึ่งคือ “ราหุลภัททะ” แปลว่าราหุลผู้ดีงาม หรือราหุลผู้โชคดี พระราหุลท่านยอมรับว่าคำพูดนี้เป็นความจริงเพราะท่านนับว่ามีโชคดีถึงสองชั้น

โชคชั้นที่หนึ่งคือได้เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ โชคชั้นที่สอง ได้เป็นโอรสในทางธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เปิดดูพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระโอรสของท่าน พบว่ามีถึง ๗ สูตร เนื้อหาที่ทางแสดงมีแตกต่างกันออกไป ดังนี้
๑.จูฬราหุโลวาสูตร (ฉบับโรมันเรียกว่า อัมพลัฏฐิการาหุโลวาทสูตร) ข้อความบ่งบอกว่า ทรงแสดงเมื่อราหุลอายุได้ ๗ ขวบ เนื้อหาพระสูตรกล่าวถึงโทษของการพูดเท็จทั้งที่รู้ วิธีการแสดง ทรงใช้อุปกรณ์การสอน หรือ “สื่อ” คือขันน้ำ ทรงแสดงเป็นขั้นเป็นตอน เนื้อหาน่าสนใจยิ่ง
-ทรงเทน้ำแล้วเหลือไว้หน่อยหนึ่ง
-ทรงเทน้ำจนหมดขัน
-ทรงคว่ำขันลง
-ทรงหงายขันเปล่าขึ้น

ทรงเน้นว่า คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ค่อยๆ เทคุณความดีออกทีละน้อยๆ จนไม่มีเหลือในตัวเองเลยดุจขันเปล่านั้น

ทรงสอนเด็กนี่ครับ ต้องใช้สื่อการสอนและสอนเป็นขั้นเป็นตอนจึงจะแจ้งจางปาง

๒.มหาราหุโลวาทสูตร ทรงแสดงเมื่อราหุลอายุ ๑๘ ปี เป็นสามเณรหนุ่มแล้ว เนื้อหาว่าด้วยธาตุ ๖ ตบท้ายด้วยอานาปานสติ (คำนี้พจนานุกรมให้เขียนอานาปานัสสติ)
๓.อีก ๔ สูตรมีชื่อว่าราหุลสูตรเหมือนกันหมด มีเนื้อหาแยกได้ ๒ ประเด็นคือ (๑)สอนให้มองธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และ (๒) สอนให้คบกัลยาณมิตร อยู่ที่สงัด รู้ประมาณในโภชนะ ไม่โลภในปัจจัยสี่ สำรวมอินทรีย์ มีสติในการเจริญอสุภภาวนา และให้ละมานะ

๔. จูฬราหุโลวาทสูตรที่ ๒ ไม่บอกว่าทรงแสดงเมื่อราหุลอายุเท่าใด เนื้อหาพูดถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของขันธ์ ๕

ท้ายพระสูตรบันทึกไว้ว่า หลังจากฟังเทศน์กัณฑ์นี้จบ ราหุลก็บรรลุพระอรหัตผล ท่านผู้ใฝ่การศึกษาก็สำเร็จการศึกษาเป็น “อเสขบุคคล” ผู้ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไปแล้วด้วยประการฉะนี้

สามเณรราหุลนับเป็นบิดาของสามเณรทั้งหลายในปัจจุบัน สมัยพระเจ้าอโศกทรงประยุกต์หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ปกครองประเทศ ประกาศนโยบายปกครองอันเรียกว่า ธรรมวิชัย (หรือธรรมราชา) ที่กษัตริย์ในยุคต่อๆ มาถือเป็นแบบอย่างนั้น พระองค์ถึงกับทรงคัดเลือกพระสูตร และเนื้อหาธรรมะด้วยพระองค์เอง แล้วทรงแนะนำว่า สูตรไหนพระเถระและพระเถรีทั้งหลายควรอ่านควรศึกษา

ทรงสร้างสถูปอุทิศให้สามเณรราหุลไว้สำหรับให้สามเณรทั้งหลายได้กราบไหว้ด้วย

ข้อความนี้อ่านพบในพจนานุกรมวิสามานยนามของ ดร.มาลาลา เสเกรา ท่านเสเกราอ้างข้อเขียนของ แซมมวล บีล อีกทีหนึ่ง เมื่อผมไม่ได้อ่านมาเองก็จำต้องอ้างคนที่เขาว่าเขาได้อ่านมาอย่างนี้แหละขอรับ

ปัจจุบันนี้ในเมืองไทยมีวันสามเณร โดยที่สามเณรแต่ละวัดกำหนดกันขึ้นเองแล้วก็มีกิจกรรมจัดโดยบรรดาสามเณรล้วน เช่น จัดให้มีปาฐกถา อภิปรายโต้วาทีธรรมะ ฯลฯ เพื่อรำลึกถึง “บิดา” แห่งสามเณรรูปนั้น และเพื่อเสริมกำลังแก่ “เหล่ากอแห่งสมณะ” ทั้งหลายซึ่งเหลืออยู่น้อยเต็มทีในปัจจุบันนี้ นับเป็นกิจกรรมที่น่าส่งเสริมและสนับสนุน

ขอเสนอความคิดเห็นนิดเดียวในฐานะเป็นอดีตเณรน้อย วันสามเณรน่าจะกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งตายตัว แล้วจัดกิจกรรมร่วมกันทั้งประเทศ น่าจะดีนะครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรราหุล โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๖ ประจำวันที่ ๒๓-๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๘


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTJPY1Ob42A_KCdjDZ-QdtTYT14o88hH0DDE9WcrpoMH9G5sfxa)

สามเณรสังกิจ (๑)


ในครั้งพุทธกาล ไม่ทราบว่ามีสามเณรมากน้อยเพียงใด แต่คัมภีร์ระดับอรรถกถา เช่น ธัมมปทัฏกถา (อรรถกถาธรรมบท) เล่าเรื่องสามเณรเก่งๆ ไว้หลายรูป ทำนองจะให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เกิดเมื่อครั้งพุทธกาล แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ หลายท่านสันนิษฐานว่า นิทานธรรมบทแต่งขึ้นที่ศรีลังกานี้เอง แต่โยงกลับไปไกลถึงสมัยพุทธกาล ว่ากันอย่างนั้น เรื่องนี้ผมมิบังอาจวินิจฉัย ฝากท่านผู้รู้พิจารณาเอาก็แล้วกัน

พระสารีบุตรดูจะถูกเกณฑ์ให้เป็นอุปัชฌาย์สามเณรอยู่องค์เดียว ไม่ว่าจะเล่าเรื่องสามเณรใด ก็ล้วนแต่บอกว่าเป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรทั้งนั้น

ดังสามเณรสังกิจ (ที่จะเล่าต่อไปนี้) เป็นตัวอย่าง

สามเณรสังกิจ เป็นบุตรลูกสาวเศรษฐี มารดาสิ้นชีวิตลงขณะท้องแก่ ญาติพี่น้องนำไปเผาที่ป่าช้า มอบภาระให้สัปเหร่อจัดการ ตกดึกสัปเหร่อเอาขอแทงศพและพลิกไปมาเพื่อให้ไฟไหม้ทั่วถึง หารู้ไม่ว่าในท้องศพนั้น เด็กน้อยยังมีชีวิตอยู่

รุ่งเช้ามาสัปเหร่อไปดูว่าศพไหม้เรียบร้อยหรือยัง ก็ปรากฏว่ามีเด็กน้อยคนหนึ่งนอนอยู่บนกองฟอน สัปเหร่ออัศจรรย์ใจที่เด็กในท้องศพไม่ตายและไม่ถูกเผาไปด้วย จึงอุ้มเด็กไปบ้าน พินิจดูอย่างละเอียดแล้ว มีเพียงหาตาเท่านั้นที่เป็นแผลและถูกขอเกี่ยว

แกจึงเลี้ยงดูเด็กน้อยเป็นลูก ตั้งชื่อว่า สังกิจ (แปลว่าเด็กชาย “เกี่ยว” เพราะหางตาถูกขอเกี่ยวเป็นแผลเป็น)

หมอดูหมอเดาทายว่า เด็กคนนี้ถ้าอยู่ครองเรือน จะทำให้ครอบครัวพ่อแม่ (เลี้ยง) เจริญก้าวหน้า ถ้าบวชก็จะเป็นใหญ่ในพระศาสนา มีบริวารจำนวนมาก

เมื่ออายุ ๗ ขวบ เด็กน้อยรู้ประวัติความเป็นมาของตน แล้วก็เกิดความสลดใจ คิดอยากบวช จึงขออนุญาตพ่อเลี้ยงและแม่เลี้ยงบวชเป็นศิษย์พระสารีบุตรซึ่งคุ้นเคยอยู่กับครอบครัวนี้

ว่ากันว่า เด็กน้อยคนนี้มีบุญญาธิการอันสั่งสมมาแล้วแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่จะได้บรรลุถึง “ที่สุดแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล” พูดจาภาษาชาวบ้านก็คือจะได้เป็นพระอรหันต์

ผู้ที่เกิดมาในชาติสุดท้ายและจะได้เป็นพระอรหันต์นี้ ศัพท์เทคนิคท่านเรียกว่า “ปัจฉิมภวิกสัตว์” ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัตผล ชัวร์ป้าดเลยว่าไม่ตายก่อนบรรลุแน่นอน ต่อให้เอาเขาพระสุเมรุทับก็ไม่ตาย ว่ากันถึงขนาดนั้นนะครับ เพราะเหตุนี้เอง ขณะที่เขาเผาศพมารดา เด็กน้อยจึงมิได้เป็นอันตรายแม้แต่น้อย เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เรื่องผลของบุญของบาปนี้มันลึกซึ้งมหัศจรรย์ เกินวิสัยปุถุชนจะนึกถึงหรือเข้าใจครับ

พระพุทธองค์ตรัสว่า ในโลกนี้มีเรื่อง ๔ เรื่องที่ปุถุชนไม่ควรคิด เรื่องกรรมและผลของกรรมเป็น ๑ ใน ๔ เรื่องนี้ ถึงคิดจนหัวแตกก็ไม่มีทางเข้าใจ คิดมากอาจเป็นบ้าก็ได้ (อุมฺมาทสฺส ภาคี อสฺส) ต้องผู้ที่บรรลุอภิญญาระดับปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ญาณระลึกชาติหนหลังได้) นั่นแหละจึงจะรู้จะเห็น

เด็กชายเกี่ยวรับกรรมฐานจากอุปัชฌาย์แล้ว บรรลุอรหัตผลทันทีที่คมมีดโกนจรดศีรษะ หมายความว่าพอมีดโกนจ่อจะโกนผมเท่านั้น เธอก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที รวดเร็วยิ่งกว่ากามนิตหนุ่มเสียอีก

นี้ก็เพราะผลแห่งบุญกุศลที่ได้สั่งสมมาครับ



สามเณรสังกิจ (จบ)  

ในระหว่างนั้น มีพระภิกษุจำนวน ๓๐ รูป มาทูลลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญธรรมในป่า พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่าจะเกิดอันตรายแก่พวกเธอ และสามเณรสังกิจซึ่งบรรลุอรหัตผลทันทีที่คมมีดโกนจรดศีรษะนั้นจะช่วยได้ จึงรับสั่งให้พวกเธอไปลาพระสารีบุตรก่อน

พระเหล่านั้นไปลาพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ทราบเช่นกันว่า พระพุทธองค์ทรงมีพุทธประสงค์อย่างไร จึงบอกให้พระเหล่านั้นพาสามเณรสังกิจไปด้วย

พระสารีบุตรกล่าวว่า “พาสามเณรไปเถิด เมื่อคราวมีอันตรายสามเณรจะช่วยพวกท่านได้”

พวกเธอจึงพาสามเณรไปด้วยทั้งๆ ที่ยังงงๆ อยู่ว่าสามเณรตัวเล็กแค่นี้จะช่วยอะไรพวกเธอได้

พระเหล่านั้นไปพำนักอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีญาติโยมดูแลเรื่องอาหารบิณฑบาตอย่างดี กระทาชายเข็ญใจคนหนึ่งผ่านมา ได้กินอาหารของเหลือจากพระฉัน เห็นว่าวัดแห่งนี้มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ จึงขออาศัยอยู่เป็นเด็กวัดคอยรับใช้พระ  พระคุณเจ้าก็ไม่ขัดข้อง

อยู่ได้สองเดือนก็คิดถึงลูกสาว จึงลาพระคุณเจ้าไปเยี่ยมลูกสาว บังเอิญต้องเดินผ่านดงแห่งหนึ่งซึ่งมีโจรชุกชุม

พวกโจรได้บวงสรวงเทพเจ้าไว้ว่า ไม่ว่าใครเดินผ่านมาทางนี้ พวกเขาจะจับฆ่าบูชายัญ

พอกระทาชายนายนี้ผ่านมา ก็ถูกพวกโจรจับเตรียมเข้าสู่พิธีบูชายัญ นายนี้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็กลัวตาย จึงต่อรองว่า ตัวเขาเป็นคนยากจน กินอาหารไม่ดี เนื้อและเลือดในกายของเขาคงไม่อร่อยเป็นที่ถูกใจเทพเจ้าแน่นอน

ห่างจากนี้ไปพอสมควร มีพระอยู่ ๓๐ รูป ล้วนเกิดจากสกุลสูง ฉันอาหารประณีต อ้วนท้วนสมบูรณ์ เนื้อและเลือดของภิกษุเหล่านั้นคงอร่อยหวานมันถูกใจเทพเจ้าแน่นอน

“ไอ้เบื๊อกนี่พูดเข้าที” หัวหน้าโจรบอกลูกน้อง จึงให้แกพาไปยังวัดดังกล่าว ไปถึงเขาก็ตีระฆังให้สัญญาณ พระภิกษุทั้งหลายที่กระจายนั่งสมาธิอยู่ตามที่ต่างๆ ได้ยินเสียงระฆังนึกว่าเกิดอันตรายขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่ง จึงพากันมานั่งประชุมกัน เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต่างก็เสนอตัวไปกับพวกโจร

สามเณรเกี่ยวบอกว่า ตนเท่านั้นต้องรับภาระนี้ เมื่อพระสงฆ์ไม่ยอม จึงบอกให้พวกท่านย้อนรำลึกถึงความหลัง

“หลวงพี่ทั้งหลายจำได้ไหม วันที่เรามานั้น อุปัชฌาย์ของผมพูดกับท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านบอกว่า สังกิจจะช่วยพวกท่านได้เมื่อมีอันตรายใช่ไหม”

พระคุณเจ้าทั้งหลายจึงจนด้วยเหตุผล และยอมให้สามเณรไปกับพวกโจร สามเณรเธอก็มิได้มีความสะทกสะท้านแต่ประการใด พวกโจรนำสามเณรไปขังไว้รอเวลาทำพิธี ทำให้สามเณรมีเวลาเข้าสมาธิอย่างแน่วแน่ เมื่อได้เวลา หัวหน้าโจรก็ชักดาบฟันคอสามเณร หมายเอาเลือดบวงสรวงเทพเจ้าตามที่บนบานไว้

ดาบที่ฟันลงเกิดบิดงออย่างน่าอัศจรรย์ เขาดัดดาบให้ตรงแล้วแทงหมายให้ทะลุหัวใจเลย ปรากฏว่าดาบงอจนถึงโคนดุจใบตาลก็ไม่ปาน พวกโจรเห็นปาฏิหาริย์เช่นนั้นก็ “ถอดใจ” ทิ้งดาบก้มกราบขอขมาสามเณร

หัวหน้าโจรมองตาบริวารถามว่า “ต่อไปนี้จะเอายังไงดี”
“แล้วแต่เจ้านาย เจ้านายเอายังไง พรรคพวกเอาอย่างนั้น” ลูกน้องตอบ
“กูตัดสินใจบวชอยู่กับท่านสามเณร” หัวหน้าโจรบอก
“พวกผมก็ขอบวชเหมือนกัน” ลูกน้องตอบพร้อมกัน

เป็นอันว่า สามเณรเกี่ยวได้เป็นอุปัชฌาย์บวชเณรให้โจรเหล่านั้น อ่านมาถึงตรงนี้ก็ให้สงสัยความครันว่า เณรเป็นอุปัชฌาย์บวชเณรได้ด้วยหรือ คิดอีกที การบวชเณรสำเร็จด้วยการเปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์ (พระรัตนตรัย) ไม่ว่าผู้ทำพิธีให้จะเป็นพระหรือเณรก็คงจะได้

ถึงตอนนี้ สามเณรเกี่ยวเธอมีศิษย์ถึง ๕๐๐ รูป (จำนวนจริงอาจไม่ถึง คำว่า “๕๐๐” คงเป็นสำนวนภาษา แปลว่า “จำนวนมาก” เท่านั้น) จึงพาพวกเธอไปเยี่ยมพระภิกษุ ๓๐ รูป เพื่อให้พวกท่านเบาใจว่า ตนไม่เป็นอันตรายแต่ประการใด อำลาพระคุณเจ้าทั้งหลายพาพวกศิษย์โค่งไปหาพระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ แล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ตรัสปฏิสันถารกับสังกิจสามเณรและสามเณรอดีตโจรเหล่านั้นว่า การกลับใจมาถือศีลแค่เพียงวันเดียว ก็ประเสริฐกว่ามีชีวิตอยู่อย่างคนทุศีลตั้งร้อยปี

พระพุทธวจนะมีดังนี้ครับ
โย จ วสฺสสตํ ชีเว  ทุสฺสีโล อสมาหิโต
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย  สีลวนฺตสฺส ฌายิโน

คนทุศีล ไม่มีสมาธิ ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็สู้คนมีศีล มีฌาน ที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวไม่ได้

ข้อที่สังเกตคือ ไม่ว่าประวัติสามเณรรูปใด มักจะบวชเมื่ออายุ ๗ ขวบทุกราย เริ่มมาตั้งแต่สามเณรราหุลแล้ว จนกระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมว่า อายุ ๗ ขวบบวชเณรได้ ความจริงถ้ารับแค่ไตรสรณคมน์ สมาทานศีล ๑๐ จะอายุมากกว่า ๒๐ ปี ก็ยังเป็นสามเณรอยู่นั่นเอง เพียงแต่ไม่นิยมทำกันเท่านั้น

ในอรรถกถาบอกว่า เด็กอายุต่ำว่า ๗ ขวบ ก็บวชได้ ขอเพียงแต่ให้รู้เดียงสา และ “สามารถไล่กาที่จะมาแย่งข้าวจากจานข้าวข้างหน้าได้” ก็สามารถบวชเณรได้ ว่าอย่างนั้น


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสังกิจ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๖-๑๘๓๗ ประจำวันที่ ๒๓-๒๙ ต.ค. และ ๓๐ ต.ค.-๕ พ.ย.๒๕๕๘


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63434495156009_1.png)

สามเณรสานุ (๑)


สามเณรรูปที่จะเขียนถึงนี้เป็นสามเณรหนุ่มนามว่า สานุ เรื่องราวของเธอบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ ข้อ ๘๑๔-๘๑๘ และเรื่องราวละเอียดมีอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๘

หนุ่มน้อยสานุบวชเณรอยู่ในพระเชตวัน ไม่บอกว่าใครเป็นพระอุปัชฌาย์ บอกแต่ว่าเมื่อบวชแล้วก็ปรนนิบัติอุปัชฌาย์อย่างดี พร้อมทั้งมีมนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ รู้จักต้อนรับอาคันตุกะด้วยอัธยาศัยไมตรี สานุสามเณรมีเสียงดี สวดพระธรรมด้วยทำนองสรภัญญะได้ไพเราะ ภิกษุทั้งหลายมักจะเชื้อเชิญให้เณรสวดบทธรรมให้ฟังเสมอ

เณรสานุคงรักแม่มาก ทุกครั้งที่สวดธรรมจะกล่าวว่า ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลจากการสวดธรรมนี้แก่มารดาข้าพเจ้า

ว่ากันว่าเวลามีคนอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ ถ้าผู้ที่เขาอุทิศให้ไม่รู้ตัวและไม่อนุโมทนา เขาก็ไม่ได้รับส่วนบุญนั้น ว่ากันอย่างนั้น มารดาสามเณรจึงไม่ได้อนุโมทนาบุญเพราะไม่รู้

แต่นางยักษิณีตนหนึ่ง อ้างว่าเคยเป็นมารดาของเณรในชาติก่อนรู้ว่าเณรอุทิศส่วนบุญให้ก็เปล่งวาจาอนุโมทนา พวกยักษิณีรวมทั้งเทวดา (คงเทพซีไม่สูงนัก) ต่างก็เกรงใจนางยักษิณีตนนั้น เวลาเธอไปไหนพวกยักษ์ ยักษิณีและเทวดาทั้งหลายต้องหลีกทางให้เพราะเธอเป็นแม่ “คนสำคัญ”

ความสำคัญของสามเณรอยู่ที่การมีศีลาจารวัตรอันงดงาม ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ไม่ขาดตกบกพร่อง เมื่อเป็นหนุ่มเต็มที่ก็คิดอยากสึกไปครองเพศคฤหัสถ์ จึงถือบาตรและจีวรเดินออกจากวัดรูปเดียวมุ่งหน้าไปยังเรือนของมารดา มารดาก็แปลกใจที่เห็นบุตรมารูปเดียว เพราะตามปกติจะมาพร้อมกับอุปัชฌาย์บ้าง ภิกษุหนุ่มและเณรน้อยอื่นๆ บ้าง จึงเอ่ยปากถาม
“อาตมาจะลาสึก โยม” เณรหนุ่มบอกมารดา
“สึกทำไมล่ะ ลูกบวชก็ดีอยู่แล้ว แม่ก็สบายใจที่เห็นลูกเจริญในพระศาสนา” แม่ตกใจไม่นึกว่าจะได้ยินคำพูดนี้จากปากลูกชาย

แม่อ้อนวอนให้ลูกชายบวชอยู่ต่ออย่างไร ลูกชายก็ไม่ฟัง คงตัดสินใจแน่วแน่แล้ว อย่างว่าล่ะครับ “ฝนจะตก ขี้จะแตก ลูกจะออก พระจะสึก ห้ามไม่ได้หรอก” โบราณว่าอย่างนั้น

จริงๆ แล้ว ได้เหมือนกัน หากผู้ห้ามคืออุปัชฌาย์อาจารย์ต้องเก่งในการโน้มน้าวจูงใจให้ศิษย์อยากอยู่ต่อ บางทีมิใช่พระเล็กเณรน้อยที่ “กระสัน” (ศัพท์ศาสนาแปลว่าอยากสึก) พระเถระผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ในเมืองไทยนี้เอง พระเถระเปรียญสูงสุดรูปหนึ่ง ส่งใบลาไปยังกรมการศาสนา ส่งแล้วไปนอนมือก่ายหน้าผากคิดที่วัด รุ่งเช้ารีบมาขอคืน ทำอย่างนี้ตั้ง ๓ ครั้ง รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ จนกระทั่งได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชื่ออะไรไม่ต้องรู้ดอกครับ ไม่ใช่เรื่องลับ แต่เป็นเรื่อง “ปกปิด” เหมือนที่นักการเมืองชอบอ้าง ฮิฮิ

เมื่อลูกชายยืนยันว่าสึกแน่ มารดาก็บอกว่า ไม่เป็นไร ลูกฉันข้าวยาคูเสร็จแล้วค่อยว่ากัน จึงรีบเข้าครัวตักข้าวสารใส่หม้อล้างน้ำ ในขณะที่เณรหนุ่มนั่งรออยู่ที่ระเบียง

นางยักษิณีแม่ในอดีตของเณรพอรู้ว่าลูกชายจะมาสึก จึงรีบมาเข้าสิงร่างของเณร โดยบิดคอเณรจนตาถลน น้ำลายไหลฟูมปาก ดิ้นตูมๆ แม่เณรและชาวบ้านร้องเอะอะโวยวาย พากันมาห้อมล้อม จุดธูปเทียนเซ่นสรวงผีสางไปตามเรื่อง

มารดาเณรร้องไห้คร่ำครวญว่า
“ผู้ที่รักษาศีลในวันพระ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ รักษาศีล ๘ ศีลอุโบสถ ประพฤติพรหมจรรย์ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่ตอแยกับคนเหล่านี้ ฉันได้ยินอรหันต์ทั้งหลายพูดอย่างนี้ ไม่จริงเสียแล้ว ผีเข้าสิงสานุสามเณรบุตรของฉัน ต่อหน้าต่อตาฉัน”

นางยักษิณีพูดผ่านสามเณรว่า “ที่ท่านได้ยินนั้นถูกต้องแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายกล่าวไว้ไม่ผิดดอก แต่สามเณรบุตรอุบาสิกาไม่คิดประพฤติพรหมจรรย์ต่อแล้ว กำลังจะทำชั่ว ถ้าสานุฟื้นจงบอกเธอว่า อย่าคิดทำอย่างนี้ทั้งที่ลับและที่แจ้ง ขืนทำไม่ว่าจะหนีไปไหนก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ไปได้”

ว่าแล้วก็ออกจากร่างสามเณร


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสานุ (๑) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๘ ประจำวันที่๖-๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘


สามเณรสานุ (จบ)

สามเณรฟื้นขึ้นมาหลังนางยักษิณีเข้าสิงเพื่อขัดขวางไม่ให้สึก ลืมตาดูคนรอบๆ ข้างร้องไห้ฟูมฟาย ตัวเองก็นอนแอ้งแม้งบนพื้น จึงเอ่ยปากถามแม่ว่า “แม่ร้องไห้ถึงคนตายแล้ว หรือคนยังมีชีวิตอยู่ที่จากไป อาตมาเองก็ยังมีชีวิตอยู่ แม่ร้องไห้ถึงทำไม

มารดาตอบทั้งน้ำตาว่า “โยมแม่มิได้ร้องไห้ถึงคนตายแล้วหรือจากไป ที่ร้องไห้เพราะสงสารคนที่ละกามแล้วเวียนกลับมาหากามอีก คนเช่นนี้ถึงมีชีวิตอยู่ก็เรียกว่าตายแล้ว ลูกถูกคนเขายกจากหลุมเถ้ารึงแล้วยังอยากตกลงไปอีก ถูกเขายกขึ้นจากเหวแล้วยังอยากตกลงไปอีก ลูกเป็นดุจของที่เขาขนออกจากไฟไหม้แล้ว ยังปรารถนาจะเข้าไปยังกองไฟอีกหรือ

มารดาสามเณรพูดกับลูกชายโดยนัยอุปมาอุปไมย สามเณรฉลาดปราดเปรื่องอยู่แล้ว จึงตอบมารดาหลังจากนิ่งสงบไปพักหนึ่งว่า “อาตมาไม่ต้องการสึกแล้วล่ะ”

มารดาดีใจ หุงข้าวยาคูถวายสามเณรลูกชายฉัน ถามอายุลูก ทราบว่าอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงจัดแจงให้เธออุปสมบทเป็นพระภิกษุ

พระสานุมีประสบการณ์เกี่ยวกับจิตของตัวแล้ว รู้ว่าจิตของคนเรานี้มันแวบไปโน่นไปนี่ ชอบครุ่นคิดแต่เรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิดคำนึงที่น่าพึงพอใจ จึงพยายามบังคับจิตของตน

พระพุทธองค์ทรงทราบปัญหาของพระหนุ่ม จึงตรัสสอนเธอในวันหนึ่งว่า

จิตนี้ เมื่อก่อนนี้ ชอบท่องเที่ยวไปในอารมณ์ตามความใคร่ ตามความพอใจ ตามสบาย วันนี้เราจะไม่ปล่อยมันเป็นเช่นนั้นอีก เราจะข่มมันโดยอุบายที่แยบคาย ดุจดังควาญช้างถือขอบังคับช้างตกมันฉะนั้น

“ขอ” ในที่นี้พระองค์ทรงใช้ศัพท์ว่า “โยนิโส” อันหมายถึง “โยนิโสมนสิการ” นั่นเอง

แปลกันว่า อุบายอันแยบคาย อุบาย คือเทคนิควิธีแยบคายหรือรอบคอบ ถูกต้อง เหมาะสม พูดกันด้วยภาษาสามัญก็คือ ให้ใช้ปัญญาควบคุมจิต ปัญญาจะเป็นตัวบอกเองว่า จะทำอย่างไร แค่ไหน

พระเซนรูปหนึ่งคิดว่าการจะบรรลุต้องปฏิบัติเคร่งครัด ไม่เหมือนใคร จึงขึ้นไปนั่งสมาธิบนยอดไม้ ไม่กินไม่นอนเป็นเวลา ๓ วัน อาจารย์เซนเดินมาพบเข้าจึงถามว่าไปทำอะไรอยู่บนนั้น

พระหนุ่มตอบว่า “ผมกำลังนั่งสมาธิเพื่อเป็นพุทธะ”

อาจารย์เซนได้ยินดังนั้นจึงคว้าก้อนอิฐข้างทาง มาถูกับมือจนเลือดไหล พระหนุ่มถามว่า ท่านทำอะไร อาจารย์บอกว่า ผมจะถูให้มันเป็นกระจกใส

พระหนุ่มบอกว่า ท่านจะบ้าเรอะ ท่านถูกจนมือขาดมันก็เป็นกระจกไม่ได้  อาจารย์สวนทันทีว่า “คุณจะบ้าเรอะ คุณนั่งจนกลายเป็นลิงก็เป็นพุทธะไม่ได้”

ในเรื่องเล่าว่า พระหนุ่มได้เข้าถึง “ซาโตริ” (การรู้แจ้ง) นี้คือตัวอย่างเทคนิควิธีที่ไม่ใช้ปัญญา ดีว่าได้อาจารย์เป็นกัลยาณมิตร จึงไม่เดินหลงทาง

สานุสามเณรได้รับการชี้แนะจากพระพุทธองค์ พิจารณาตามกระแสดำรัสก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

กล่าวกันว่า ท่านเป็นธรรมกถึกเอก สอนชาวชมพูทวีปให้ซาบซึ้งในรสพระธรรม ดำรงชีพอยู่นาน ๑๒๐ ปีจึงดับขันธ์


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสานุ (จบ) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๓๙ ประจำวันที่ ๑๓-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 ธันวาคม 2558 13:06:17
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSvZ15veVs0JDMLpqVxcYVQ49Y-B6wtMq4d0czJHI2DH2Hj8Ede)

สามเณรสุมน (๑)


มีสามเณรอีกรูปหนึ่ง ประวัติความเป็นมาค่อนข้างน่าอัศจรรย์ : อัศจรรย์อย่างไรลองอ่านดูก่อนนะครับ

สามเณรน้อยรูปนี้นามว่า สามเณรสุมน เรื่องราวบันทึกอยู่ในธัมมปทัฏกถาภาค ๘

ในอดีตกาลนานโพ้น เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระมาตรัส คนใช้ทำหน้าที่ขนหญ้าให้เศรษฐีคนหนึ่ง ได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าในเช้าวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าออกนิโรธสมาบัติพอดี ซึ่งตำราบอกว่าเป็นทานที่อำนวยผลทันตาเลยทีเดียว

เศรษฐีทราบเรื่องเข้าก็ขอ “ซื้อ” บุญทั้งหมดที่คนขนหญ้าทำ (พูดยังกับบุญมันซื้อขายกันได้เนาะ)

นายคนนี้แกก็ไม่ยอม เศรษฐีจึงขอว่า ถ้าอย่างนั้นขอให้แบ่งส่วนบุญให้ได้ไหม ฉันขออนุโมทนาด้วย

นายคนใช้แกไม่ทราบว่า จะแบ่งส่วนบุญให้กันได้ไหม จึงขอไปปรึกษาพระท่านก่อน แกจึงไปเรียนถามท่าน ท่านยกอุปมาให้ฟังว่า เหมือนกับหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีหลายหลังคาเรือน หลังแรกจุดตะเกียงไว้ เพื่อนบ้านมาขอต่อไฟจากตะเกียงนั้นไป แสงไฟจากตะเกียงแรกก็ยังสว่างไสวอยู่เหมือนเดิม ไม่ลดน้อยลงไปเลย แถมยังเพิ่มแสงสว่างให้มากกว่าเดิมอีก

การทำบุญแล้วแบ่งส่วนบุญให้คนอื่นก็เป็นเช่นเดียวกัน

กระทาชายนายขนหญ้าดีใจ รีบมาแบ่งส่วนบุญให้เศรษฐี พระราชาแห่งเมืองนั้นทรงทราบเรื่อง อยากได้ส่วนบุญบ้าง จึงรับสั่งให้เขาเข้าเฝ้าขอส่วนบุญด้วย แล้วพระราชทานทรัพย์สินจำนวนมากแก่เขา เพิ่มจากที่เศรษฐีเคยให้แล้ว

ตกลงด้วยผลทานที่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งเดียว บันดาลผลทันตาเห็น ทำให้กระยาจกกลายเป็น “เสี่ย” ภายในสองสามวัน

เขาได้รับสถาปนาจากพระราชาให้เป็นเศรษฐีใหม่อีกคนหนึ่งของเมืองและได้เป็นเพื่อนซี้กับเศรษฐีเจ้านายเก่าของตนต่อมาจนสิ้นอายุขัย

หลังจากเวียนว่ายอยู่ในภพต่างๆ ตามแรงกรรมดี-ชั่วที่ทำไว้ในชาติสุดท้าย เขาก็มาเกิดในราชสกุลศากยะ เป็นโอรสองค์ที่สองของเจ้าอมิโตทนะ (เชษฐาคือเจ้าชายมหานาม)

ด้วยอานิสงส์แห่งทานที่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าคราวนั้น และด้วยแรงอธิษฐานที่คนขนหญ้าตั้งไว้ว่า เกิดชาติใดฉันใดอย่าได้พบคำว่า “ไม่มี” อีกเลย

เจ้าชายน้อยองค์นี้ซึ่งมีพระนามว่า “อนุรุทธะ” จึงไม่เคยได้ยินคำว่าไม่มีเลย อยากได้อะไร อยากกินอะไร สั่งเดี๋ยวเดียวก็ได้มารวดเร็วทันใจ

เจ้าชายน้อยมีพระสหายวัยเดียวกันหลายองค์ วันหนึ่งกำลังเล่นตีคลีกัน (ถ้าสมัยนี้ก็คงเล่นเกมคอมพิวเตอร์ สมัยนั้นยังไม่มี) โดยเอาขนมพนันกัน เจ้าชายอนุรุธะเล่นแพ้จนขนมหมด ส่งคนไปขอขนมจากเสด็จแม่

เสด็จแม่ส่งมาให้หลายเที่ยว เพราะเล่นแพ้อยู่เรื่อย จนขนมหมด บอกว่า ตอนนี้ขนมไม่มี เมื่อคนรับใช้มารายงานว่า เสด็จแม่บอกว่าขนม “ไม่มี” เจ้าชายน้อยจึงบอกว่า “ขนมไม่มีนั่นแหละเอามาเร็ว”

เสด็จแม่ได้ยินดังนั้น จึงคิดว่า ลูกเราไม่เคยรู้จักคำว่า ไม่มี และมีพระประสงค์จะสอนให้โอรสรู้จักคำว่าไม่มีเสียบ้าง จึงเอาถาดทองคำเปล่าใบหนึ่งมา เอาอีกใบครอบไว้ แล้วให้คนนำไปให้เจ้าชาย

ว่ากันว่า ร้อนถึงเทพยดาต้องนำขนมทิพย์มาใส่ไว้เต็มถาด พอเจ้าชายรับถาดมา เปิดฝาครอบออกเท่านั้น ขนมทิพย์ส่งกลิ่นหอมหวนน่ารับประทานอย่างยิ่ง เจ้าชายน้อยเกิดน้อยพระทัย ว่าเสด็จแม่ไม่รักตน ขนม “ไม่มี” อร่อยปานนี้ เสด็จแม่ไม่เคยให้เสวยเลย จึงไปต่อว่าพระมารดา

พระมารดาก็แปลกพระทัยว่าเกิดอะไรขึ้น จึงตรัสถามมหาดเล็กที่นำถาดเปล่าไปให้ มหาดเล็กกราบทูลเรื่องราวแปลกประหลาดที่ตนเห็นมาให้ทรงทราบ

พระมารดาทรงเข้าใจว่า คงเป็นเพราะบุญแต่ปางก่อน โอรสน้อยของตนเองจึงไม่เคยรู้รสชาติของ “ความไม่มี”

เมื่อเจ้าชายโตขึ้น ได้ออกผนวชพร้อมกับเจ้าชายจากศากยวงศ์ ๖ องค์พร้อมกับอุบาลี นายภูษามาลาอีก ๑ คน รวมเป็น ๗  หลังจากอุปสมบทแล้ว ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น “เอตทัคคะ” (เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางมีทิพยจักษุ (ตาทิพย์)  



สามเณรสุมน (๒)

พระอนุรุทธะผู้ตาทิพย์ วันดีคืนดีก็นั่งเข้าฌานดูว่า เศรษฐีสหายเก่าของตนเมื่อครั้งกระโน้น บัดนี้เกิดเป็นใครอยู่ที่ไหน

ก็ทราบว่า นิคมชื่อมุณฑนิคม อยู่เชิงเขาแห่งหนึ่ง หัวหน้านิคมชื่อมหามุณฑะ มีบุตรชายอยู่ ๒ คน ชื่อ มหาสุมน กับ จูฬสุมน

สหายเก่าของท่านเกิดเป็นจูฬสุมน หวังจะสงเคราะห์สหายเก่า จึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังนิคมนั้น

หัวหน้านิคมเห็นพระเถระก็นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่นิคมของตน เพื่อสงเคราะห์ชาวบ้าน ท่านก็รับนิมนต์เพราะมีความประสงค์เช่นนั้นอยู่แล้ว

ถึงวันออกพรรษา มหามุณฑะก็นำไทยธรรม (ของถวายพระ) จำนวนมากมายมาถวาย พระเถระบอกว่า จะให้อาตมารับได้อย่างไร อาตมาไม่มีสามเณรผู้เป็น “กัปปิยการก

นายนิคมจึงว่า ถ้าอย่างนั้นผมจะให้บุตรชายคนโตบวชรับใช้ท่าน พระเถระบอกว่า ขอให้คนเล็กบวชดีกว่า ผู้เป็นพ่อก็ยินยอมให้จูฬสุมนบวช ในขณะนั้นเธอมีอายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น

อ้อ คำว่า “กัปปิยการก” แปลว่าผู้ทำให้ควร ทำให้ถูกตามพระวินัย เช่น เวลาเอาส้มถวายพระฉัน จะต้องปอกเปลือกหรือไม่ก็เฉาะตรงขั้วก่อน เพื่อป้องกันมิให้พระท่านผิดวินัยข้อห้ามทำลายพีชคาม (พืชพรรณ) ผู้มีหน้าที่อย่างนี้แหละ เรียกว่า “กัปปิยการก”

แปลกันง่ายๆ ว่า เด็กรับใช้ หรือเด็กวัด

สามเณรสุมนได้บรรลุพระอรหัตผลคือ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันทีที่บวชเสร็จ ไม่ใช่แค่หมดกิเลสอย่างเดียว ยังบรรลุอภิญญา (ความสามารถพิเศษ) เช่น อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์) อีกด้วย ท่านพระอนุรุทธะพาสามเณรสุมนไปอยู่ในป่าหิมพานต์ (เขาหิมาลัย) บังเอิญโรคลมจุกเสียด ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของพระเถระกำเริบ ทำให้ได้รับทุกขเวทนา

พระเถระบอกสามเณรสุมนให้ไปเอาน้ำจากสระอโนดาตมาให้ดื่ม เพื่อระงับโรคลม สั่งว่าพญานาคชื่อ ปันนกะ รู้จักกับท่าน ให้ไปขอน้ำจากพญานาค

สามเณรเหาะไปด้วยอิทธิฤทธิ์มุ่งตรงไปยังสระอโนดาต ขณะนั้นปันนกะกำลังจะพาประดาอีหนูทั้งหลายลงเล่นน้ำในสระอโนดาตพอดี เห็นสมณะน้อยเหาะข้ามศีรษะมาก็โกรธ หาว่าสมณะโล้นน้อยนี้มาโปรยฝุ่นที่เท้าลงบนศีรษะตน

แกคงโกรธที่มาขัดจังหวะกำลังจะเล่นโปโลน้ำกับอีหนูทั้งหลายมากกว่า จึงหาว่าสามเณรโปรยขี้ตีนใส่หัว ทั้งๆ ที่ไม่มีแม้แต่นิดเดียว

สามเณรอ้างนามพระอุปัชฌาย์ซึ่งพญานาครู้จัก ขอน้ำไปทำยาเพราะท่านกำลังป่วย พญานาคไม่สนใจ ไล่กลับท่าเดียว แถมยังแผ่พังพานใหญ่ปิดสระน้ำทั้งหมด ดุจเอาฝาปิดหม้อข้าว ฉันใดฉันนั้น ร้องท้าว่า ถ้าสามเณรเก่งจริงก็มาเอาได้เลย

สามเณรถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว จึงแปลงกายเป็นพรหมสูงใหญ่ เหยียบลงตรงพังพานของพญานาค พังพานยุบลง เปิดช่องให้สายน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นลำ สามเณรเอาบาตรรองน้ำจนเต็มแล้วก็เหาะกลับไป

พญานาคทั้งเจ็บทั้งอายที่ถูกสามเณรน้อยเหยียบหัวแบน จึงตามไปทันที่สถานที่อยู่ของพระเถระ ฟ้องว่าสามเณรเอาน้ำมาโดยไม่ชอบธรรม

พระเถระหันมามองสามเณร สามเณรกราบเรียนท่านว่า น้ำนี้กระผมนำมาโดยชอบธรรมแล้ว พญานาคร้องบอกอนุญาตแล้ว

พระเถระเชื่อว่าพระอรหันต์ย่อมไม่พูดเท็จ จึงฉันน้ำนั้น และโรคในกายท่านก็สงบระงับ

พระเถระขอให้พญานาคขอโทษสามเณรเสีย พญานาคก็ยอมขอขมา

และปวารณาว่าถ้าสามเณรต้องการน้ำเมื่อใด เพียงแต่สั่งเท่านั้น ตนจะนำมาให้เอง



สามเณรสุมน (จบ)

เมื่อพระอนุรุทธะพาสามเณรไปพระวิหารเชตวัน พระภิกษุอื่นๆ เห็นสามเณรน้อยน่าเอ็นดู ก็จับหูบ้าง ลูบศีรษะบ้าง ด้วยความเอ็นดู หยอกล้อว่าเจ้าเด็กน้อย บวชแต่อายุยังน้อย เจ้าไม่คิดถึงแม่ดอกหรือ หย่านมหรือยังจ๊ะ อะไรทำนองนี้

พระพุทธองค์ทรงเกรงว่า พระปุถุชนจะละลาบละล้วงล่วงเกินพระอรหันต์มากกว่านี้ เป็นบาปเป็นกรรมเปล่าๆ

ทรงต้องการให้พระสงฆ์ทราบว่าสามเณรเป็นใคร จึงรับสั่งให้ประชุมสามเณร นัยว่ามีถึง ๕๐๐ รูป ตรัสว่าพระองค์ต้องการน้ำจากสระอโนดาตในเร็วพลัน สามเณรรูปใดจะอาสาเหาะไปเอามาถวายได้

สามเณรอื่นที่เป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญามีอิทธิปาฏิหาริย์ก็มี แต่ทราบว่า “พวงดอกไม้” นี้ พระพุทธองค์ทรงร้อยไว้เพื่อสามเณรสุมานเท่านั้น (เป็นสำนวน หมายความว่า เรื่องนี้ต้องการให้เป็นหน้าที่ของสามเณรสุมน) จึงไม่เสนอตัว

เมื่อไม่มีใครอาสา สามเณรสุมนก็รับอาสาถวายบังคมพระพุทธองค์ แล้วถือบาตรเหาะลิ่วๆ ไปในอากาศบ่ายหน้าไปยังป่าหิมพานต์ทันที

ว่ากันว่าแสดงตัวให้พระสงฆ์เห็นกับตาเลยทีเดียว ต่างก็ร้อง โอ้โฮๆ น่าชื่นชมแท้ๆ ว่ากันอย่างนั้น

ขากลับก็ปรากฏตัวให้เห็นกลางนภากาศลิ่วๆ ลงมายังลานพระวิหารแล้วก็นำน้ำไปถวายพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสถามเธอว่าอายุเท่าไหร่

สามเณรกราบทูลว่า อายุ ๗ ขวบพระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ตรัสว่าตั้งแต่วันนี้ไปเธอเป็นพระภิกษุได้

คัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า การอุปสมบทที่ทรงประทานให้สามเณรครั้งนี้เรียกว่า “ทายัชชอุปสมบท” เป็นกรณีพิเศษที่บวชเณรอายุ ๗ ขวบเป็นพระ

นัยว่ามีสามเณร ๒ รูปเท่านั้นที่ได้รับพระมหากรุณานี้คือ สามเณรสุมนกับสามเณรโสปากะ

เรื่องราวของสามเณรสุมนค่อนข้างพิลึกกว่าสามเณรรูปอื่น คือ เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ ความจริงเรื่องนี้มิใช่เรื่องประหลาดหรือลึกลับอะไร

ผู้สำเร็จอรหัตผลพร้อมอภิญญาสามารถสำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้ นับว่าเป็น “ธรรมดาของพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา” ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร

ถ้าท่านเข้าในคำว่า “ธรรมดา” ก็จะหมดสงสัย ธรรมดาของนกมันย่อมบินได้ ธรรมดาของปลาย่อมแหวกว่ายในน้ำได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามพิเศษอะไร

เวลาเราเห็นนกบิน เห็นปลาแหวกว่ายอยู่ในน้ำทั้งวันเราอัศจรรย์ไหม

เปล่าเลย เห็นเป็นของธรรมดาฉันใด พระอรหันต์ที่ท่านได้อภิญญา (อรหันต์บางประเภทก็ไม่ได้อภิญญา) ท่านสามารถแสดงฤทธิ์ เช่น เหาะได้ดุจนก เพราะนั่นเป็น “ธรรมดา” ของท่าน

พญานาคที่พูดถึงนี้จะเชื่อตามนิยายว่า เป็นสัตว์พิเศษชนิดหนึ่ง อยู่ในนาคพิภพจำแลงกายเป็นคนได้ ดังนาคที่แปลงกายเป็นคนมาบวช (ในพระวินัยปิฎก) ก็ตามใจครับ ไม่ว่ากัน

แต่ถ้ามองในแง่มานุษยวิทยา นาคในที่นี้ก็คือมนุษย์เผ่าหนึ่งที่ยังไม่ศิวิไลซ์นัก ชื่อเผ่านาคา มีอยู่ทั่วไปตามป่าเขาในชมพูทวีป

ตามรูปศัพท์ นาค แปลว่า “ผู้อยู่ในภูเขา” หรือชาวเขา (นค=ภูเขา, นาค=บุคคลผู้อยู่ในภูเขา) มนุษย์เผ่านี้คงบูชางูใหญ่ด้วย คำว่า นาค จึงแปลกันว่า งู ได้ด้วย

ส่วนนาคที่ไปเกี่ยวกับน้ำ ไปเกี่ยวกับใต้บาดาลนั้นน่าจะเป็นความเชื่อของทางฮินดูที่ว่า นาคเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ

และเป็นความเชื่อประจำถิ่นของบางภูมิภาคครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสุมน (๑), (๒) และ (จบ) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๐-๑๘๔๒ ประจำวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน - ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๘



(http://www.watkaokrailas.com/private_folder/11_415.jpg)

สามเณรบัณฑิต


มีสามเณร ๒ รูป ประวัติคล้ายกันมาก ยังกับเรื่องของคนคนเดียวกันคือ เรื่องสามเณรบัณฑิตกับสามเณรสุข

รูปแรกมีเรื่องเล่าอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔  รูปหลังมีประวัติอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕ คล้ายกันอย่างไร ขอเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้ครับ

บัณฑิตสามเณร เป็นบุตรชายของตระกูลอุปฐากพระสารีบุตรเถระ พอเกิดมาเด็กในบ้านที่โง่เซอะกลายเป็นคนฉลาด มีปฏิภาณโต้ตอบฉับไวน่าอัศจรรย์

พ่อแม่จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดี ตั้งชื่อลูกชายว่า บัณฑิต

พ่อแม่ตั้งใจว่า จะไม่ขัดใจลูก ถ้าลูกต้องการอะไรอย่างไร จะพยายามทำตามทุกอย่างตามประสาคนรักลูกมาก

บังเอิญว่าเด็กชายบัณฑิตเป็นบัณฑิตสมชื่อ โตมาได้ ๗ ขวบ ก็คิดอยากบวชเป็นลูกศิษย์พระสารีบุตร  พ่อแม่จึงพาไปมอบให้พระเถระบวชเณร บวชลูกชายแล้ว ก็อยู่ในวัดนั้นเอง เลี้ยงพระสงฆ์ ๗ วัน วันที่ ๘ จึงกลับมาบ้าน

รอสามเณรน้อยไปบิณฑบาตที่บ้าน

วันนั้น พระสารีบุตรพาบัณฑิตสามเณรไปยังเรือนของพ่อแม่สามเณรสายกว่าปกติ

ระหว่างทางจากวัดไปยังหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนา สามเณรน้อยเห็นชาวนาไขน้ำเข้านา ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างศรกำลังดัดลูกศร ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างไม้ถากไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ จึงถามไถ่ตามประสาเด็กอยากรู้อยากเห็น

พระเถระก็อธิบายให้ฟัง ขณะฟังคำอธิบายของพระเถระ สามเณรน้อยก็ “ฉุกคิด” ขึ้นในใจว่า
   น้ำไม่มีจิตใจ คนยังบังคับให้มันไหลไปโน่นไปนี่สนองความต้องการของคนได้
   ลูกศรก็ไม่มีจิตใจ คนก็ดัดให้ตรงได้ตามต้องการ  
   ไม้ไม่มีจิตใจ ช่างไม้ก็ถากไม้ให้มันเกลี้ยง และให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามชอบใจ  

ไฉนเราซึ่งมีจิตใจจะฝึกฝนตนให้ได้สิ่งที่ต้องการไม่ได้เล่า  คิดดังนั้นจึงกล่าวกับอุปัชฌาย์ว่า ท่านขอรับ ถ้าท่านจะกรุณาให้ผมกลับวัดไปบำเพ็ญภาวนาก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

พระเถระบอกกับสามเณรว่าตามใจ แล้วก็รับบาตรจากสามเณรเดินไปหมู่บ้านรูปเดียว

ศิษย์น้อยสั่งว่า กรุณานำอาหารมาเผื่อด้วย ได้ปลาตะเพียนก็ดี (แน่ะ สั่งเอาตามใจชอบด้วย)  พระเถระถามว่า จะได้มาจากไหน (ไม่ได้ไปจ่ายตลาดนะจ๊ะ)

สามเณรน้อยบอกว่า ถ้าไม่ได้ด้วยบุญของท่าน ก็ด้วยบุญของผม แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

สามเณรกลับไปวัด เข้ากุฏิปิดประตูนั่งกรรมฐานท่ามกลางความเงียบสงัด เพราะพระเณรออกไปภิกษาจารกันหมด จิตของเธอจึงเป็นสมาธิแน่วแน่ ฝ่ายพระสารีบุตรเป็นห่วงจะเลยเวลาเพลเพราะจวนจะเที่ยงแล้ว ได้อาหาร (มีปลาตะเพียนด้วยแน่ะครับ ว่ากันว่าเพราะบุญสามเณร) จึงรีบกลับวัด

พระพุทธเจ้าเสด็จไปดักหน้าพระสารีบุตรที่ประตูพระเชตวันมหาวิหารเพราะทรงทราบว่าสามเณรกำลังจะบรรลุอรหัตผล ถ้าพระสารีบุตรเข้าไปในเวลาดังกล่าวจะ “ขัดจังหวะ”

พระพุทธองค์จึงตรัสถามปริศนา ๔ ข้อให้พระสารีบุตรตอบ พระเถระก็ตอบได้ถูกต้อง ความประสงค์ของพระพุทธองค์ก็เพียงหน่วงเหนี่ยวพระเถระมิให้ไปรบกวนสมาธิสามเณรเท่านั้น มิใช่เพื่อทดสอบปัญญาพระอัครสาวก หรือเล่น “เกมทายปัญหา” แต่ประการใด

เมื่อพระสารีบุตรวิสัชนาปัญหา ๔ ข้อจบลง ก็พอดีสามเณรได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา พระพุทธองค์ตรัสตอบพระสารีบุตรว่า ไปเถิดสารีบุตร สามเณรคงหิวแล้ว

ว่ากันว่า วันนั้นพระเถระเข้าบ้านสายกว่าปกติ กว่าจะฉันเสร็จ กว่าจะนำอาหารกลับมาให้สามเณรน้อยก็ผ่านไปหลายชั่วโมง คือตกบ่ายแล้ว

แต่คัมภีร์ได้เขียนไว้ว่าเดือดร้อนถึงท้าวสักกเทวราช ต้องสั่งให้สุริยเทพบุตรฉุดรั้ง “สุริยมณฑล” ให้นิ่งอยู่กับที่อย่าให้เลยเที่ยงไป จนกว่าสามเณรจะฉันเสร็จ ว่าอย่างนั้น

พอสามเณรฉันเสร็จ ล้างบาตร เช็ดบาตรเท่านั้น พระอาทิตย์ซึ่งนิ่งอยู่กับที่ก็ติด “เทอร์โบ” โคจรปรู๊ดปร๊าดตกบ่ายทันที คงประมาณบ่ายสองบ่ายสามกระมัง ไม่อย่างนั้นเหล่าภิกษุคงไม่เกิดฉงนฉงาย ถึงกับพูดว่า วันนี้แปลก ทำไมบ่ายเร็วนัก สามเณรเพิ่งจะฉันเสร็จเมื่อกี้นี้เอง

ดีนะที่ไม่กล่าวหาว่า สามเณรศิษย์พระสารีบุตรฉันเย็น

พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระทั้งหลายเกิดฉงนฉงายใจ จึงตรัสว่า เวลาผู้มีบุญทำสมณธรรม จันทเทพบุตรฉุดมณฑลพระจันทร์รั้งไว้ สุริยเทพบุตรฉุดมณฑลพระอาทิตย์รั้งไว้ อย่างนี้แหละ แล้วทรงยกสามเณรบัณฑิตเป็นตัวอย่างของคนที่มองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้วเกิดแง่คิดในการปฏิบัติจนได้บรรลุพระอรหัตผล โดยตรัสพระคาถาว่า
   ชาวนาไขน้ำเข้านา
   ช่างศรดัดลูกศร
   ช่างไม้ถากไม้
   บัณฑิตย่อมฝึกตน

เรื่องราวของสามเณรบัณฑิตมหัศจรรย์กว่านี้มาก แต่ผมตัดส่วนที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ออกบ้าง ถ้าเราไม่มองแค่ชาตินี้ชาติเดียว เราจะเห็นว่าความสำเร็จอะไรอย่างง่ายดายและความมหัศจรรย์บางอย่างเกี่ยวกับสามเณรบัณฑิต เป็นผลเนื่องมาจาก “บุญเก่า” ที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อนทั้งนั้น

เรื่องนี้มองเห็นได้ในปัจจุบัน บางคนตั้งแต่เกิด ไม่ได้ทำบุญกุศลอะไรเห็นๆ กันอยู่ แต่ชีวิตสะดวกสบาย เกิดมาในกองเงินกองทองต้องการอะไรก็ได้ ถามว่า เขาทำเอาในชาตินี้หรือ เปล่าทั้งนั้น คนนิสัยอย่างนี้ พื้นเพจิตใจอย่างนี้ถ้าให้เริ่มจาก “ศูนย์” เหมือนคนอื่น รับรองไม่พ้นกระยาจกธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง

ที่เขามีอยู่เป็นอยู่ เชิดหน้าเหยียดหยามคนอื่นอยู่นั้น เพราะผลบุญเก่าทั้งนั้น

คัมภีร์กล่าวว่า สามเณรบัณฑิตนั้น ในอดีตชาติอันยาวนานโพ้น เกิดเป็นชายทุคตะ (คนยากจน) คนหนึ่ง เห็นเขาพากันนิมนต์พระคนละสิบรูป ยี่สิบรูปไปฉันที่บ้าน ก็อยากทำบุญกะเขาบ้าง จึงชวนภรรยาไปรับจ้างเขาเพื่อเอาข้าวน้ำมาถวายพระ ไป “จองพระ” ไว้รูปหนึ่ง

หลังจากได้ค่าจ้างแล้วก็พากันตระเตรียมอาหารถวายพระ นายทุคตะไปถามผู้จัดการในการทำบุญว่าจองพระรูปไหนให้ตน ตนจะไปนิมนต์ไปฉันที่บ้าน  ผู้จัดการบอกว่าลืมจดบัญชีไว้ ขอโทษขอโพยนายทุคตะเป็นการใหญ่ นายทุคตะแทบล้มทั้งยืนครวญกับผู้จัดการว่า นายเป็นคนชวนผมทำบุญ ผมก็ไปรับจ้างหาเงินมาตระเตรียมอาหารถวายพระตามคำชวนของนายแล้ว นายไม่มีพระให้ผม จะให้ผมทำอย่างไร

ผู้จัดการหาทางออกให้เขาว่า พระพุทธเจ้ายังไม่มีใครนิมนต์ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อคนยากไร้อยู่แล้ว แกรีบไปนิมนต์พระองค์เถอะ

นายทุคตะได้ยินดังนั้นก็รีบไปกราบแทบพระบาทกราบทูลอาราธนาพระองค์เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านตน พระองค์ทรงรับ ประทานบาตรให้นายทุคตะอุ้มนำหน้า อัญเชิญเสด็จไปยังเรือนของตน

เรื่องเล่าถึงพระอินทร์ปลอมเป็นพ่อครัวหัวป่า ฝีมือเยี่ยมมาช่วยนายทุคตะทำกับข้าวจานเด็ดให้โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด ถ้าไม่พูดถึงอิทธิฤทธิ์ใดๆ ก็คงจะเป็นเพื่อนบ้านสักคนมาช่วยทำอาหารให้นั่นเอง

หลังจากพระพุทธองค์เสวยเสร็จ เสด็จกลับพระอาราม ก็เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์คือ เรือนน้อยๆ ของนายทุคตะเต็มเปี่ยมไปด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ (ทำไมแค่ ๗ ไม่ใช่ ๙ ก็ไม่รู้สิครับ) เป็นที่ฮือฮามาก คนเข้าใจกันว่าเป็นเพราะผลแห่งทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้า

พระราชาแห่งเมืองนั้นทรงทราบเรื่อง เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง รับสั่งให้ขนรัตนะเหล่านั้นออกมากองยังลานบ้าน ตรัสถามว่าทรัพย์สมบัติมากมายปานนี้ มีใครบ้านในเมืองนี้ เมื่อไม่มีใครมีมากเท่านายทุคตะ จึงทรงสถาปนาเขาในตำแหน่งเศรษฐี มีศักดิ์เป็นศรีของเมืองต่อไป

เขาจึงได้นามว่า ทุคตเศรษฐี แต่บัดนั้น เขาสำนึกเสมอว่าสมบัติเหล่านี้ได้มาเพราะการทำบุญทำทาน เขาจึงไม่ประมาทในการทำบุญทำทานจนสิ้นชีวิต ตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดเป็นบุตรของตระกูลอุปฐากพระสารีบุตรในบัดนี้

ได้รับขนานนามว่า บัณฑิต เพราะพอเกิดมา คนโง่ๆ ที่พูดไม่รู้เรื่องในบ้าน กลายเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูงโดยอัตโนมัติ

คนใช้ประเภทนายบอกว่า “อย่าลืมเอาแอปเปิ้ลแช่ตู้เย็นนะ” แล้วก็เอาลูกเจ้านายที่ชื่อ “แอปเปิ้ล” ยัดตู้เย็นจนตาย ถ้าไปอยู่บ้านพ่อแม่เด็กชายบัณฑิต ก็จะฉลาดหมดเลยครับ

สามเณรบัณฑิตมี “บุญเก่า” ที่สั่งสมไว้มาก จึงอำนวยให้เธอประสบความสำเร็จในชีวิตแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะสำเร็จเป็นสามเณรอรหันต์แต่อายุเพียง ๗ ขวบ เรื่องผลบุญผลบาปเป็นอจินไตยครับ คนธรรมดาสามัญอย่าคิดสงสัย คิดจนหัวแทบแตกก็ไม่เข้าใจดอก ขืนคิดมากเดี๋ยวจะเป็นอย่างที่พระบาลีว่า อุมฺมาทสฺส ภาคีอสฺส =เขาพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า

แค่คิดเรื่องว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมันเป็นมรดกตกทอดที่ใครจะยกให้ใครได้ตั้งแต่เมื่อใด คนอายุ ๖๔ เป็นนายกฯ ยังถูก “อัด” แทบกระอักแล้ว คนอายุ ๘๔ เดินยังไม่ค่อยไหว จะทนทานได้หรือ หรือคิดว่าปากว่าไม่อยากเป็นนายกฯ แต่ทำไมวิ่งล็อบบี้กันพล่าน แม้ที่เป็นแล้วยังไม่อยากเลิกเป็น

คิดแค่นี้ยังจะเป็นบ้าเลยครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรบัณฑิต โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๓ ประจำวันที่๑๑-๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘


(http://www.bloggang.com/data/a/angelonia17/picture/1419525926.jpg)

สามเณรสุข (๑)


เรื่องราวของสามเณรสุข คล้ายกับสามเณรบัณฑิต แม้กระทั่งแรงบันดาลใจให้บรรลุธรรมก็อย่างเดียวกัน พุทธวจนะที่ตรัสสอนพระภิกษุเนื่องมาแต่สามเณรเป็นเหตุก็คล้ายกับที่ตรัสในเรื่องสามเณรบัณฑิต ความคล้ายกันอาจเกิดจากการเอาอย่างกันก็ได้

สามเณรบัณฑิตอาจเป็นแรงบันดาลใจให้สามเณรสุขก็เป็นได้

ที่พูดถึงนี้นึกถึงสามเณรประยุทธ์ สอบเปรียญ ๙ ประโยคได้ตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร และจบพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยด้วย

โยมพ่อของสามเณรอีกรูปหนึ่งมีลูกชายก็ตั้งชื่อเลียนแบบสามเณรประยุทธ์ว่า “ประยูร” ตั้งใจว่าจะให้ลูกจบเปรียญ ๙ ประโยคเช่นเดียวกัน จึงให้ลูกชายบวชหลังจากจบประถมศึกษา สามเณรประยูรก็สามารถสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคตั้งแต่เป็นสามเณรเช่นกัน จบพุทธศาสตรบัณฑิตเช่นกัน

ที่น่ามหัศจรรย์ก็คือต่างก็เป็นปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนา ดำรงสมณเพศยืนยาวมาจนเป็นพระราชาคณะ เจริญวัฒนาในพระบวรพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

สามเณรประยูรบอกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลแห่งการ “เลียนแบบ” อันเกิดจากแรงจูงใจเป็นสำคัญ (ตอนแรกโยมพ่ออยากให้ทำ แต่ตอนหลังเห็นคุณค่าด้วยตนเอง จึงทำตามด้วยความเต็มใจ)

สามเณรสุขที่กล่าวถึงนี้ อาจเกิดแรงบันดาลใจอยากเอาอย่างสามเณรบัณฑิตก็เป็นได้ จึงมีอะไรคล้ายกับสามเณรบัณฑิต

สามเณรสุข เกิดในตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตรเถระในเมืองสาวัตถี ตอนแม่ตั้งครรภ์เกิดแพ้ท้องอยากกินอาหารที่เป็นเดนของภิกษุสงฆ์ นางจึงนิมนต์พระสารีบุตรพร้อมภิกษุจำนวนมากไปฉันภัตตาหารที่บ้านตนเอง นุ่งผ้าย้อมฝาด นั่งท้ายอาสนะ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วก็กินอาหารที่เป็นเดนของพระสงฆ์

ว่ากันว่าตลอดระยะเวลาที่เด็กน้อยอยู่ในครรภ์ ไม่มีใครมีความทุกข์เลย มีแต่ความสุขความสบายกันถ้วนหน้า

เมื่อคลอดออกมา บุตรน้อยคนนี้จึงมีชื่อว่าเด็กชายสุข เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ เด็กชายสุขก็พูดกับแม่ว่าอยากบวชอยู่กับพระเถระ

แม่ก็ไม่ขัดใจ จัดแจงให้บวชเป็นสามเณรรับใช้พระสารีบุตร

โยมบิดามารดาบวชให้ลูกชายแล้วก็อยู่ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ที่วัดเป็นเวลา ๗ วัน วันที่ ๘ จึงกลับบ้าน

พระสารีบุตรได้พาสามเณรไปบิณฑบาตที่บ้านโยมในวันที่ ๘ ขณะเดินผ่านท้องนา สามเณรน้อยเห็นคนไขน้ำเข้านา เห็นช่างศรดัดลูกศร เห็นช่างไม้ถากไม้ จึงเรียนถามอุปัชฌาย์เช่นเดียวกับสามเณรบัณฑิตและก็ได้คำตอบเช่นเดียวกัน

สามเณรสุขคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เอ่ยมาข้างต้นนั้น ไม่มีจิตใจ แต่คนสามารถบังคับให้มันเป็นไปตามความต้องการได้ เราเองมีจิตใจ มีความคิด ไฉนจะบังคับตัวเองไม่ได้เล่า

คิดดังนี้แล้ว จึงกราบเรียนอุปัชฌาย์ว่า ถ้าท่านจะรับบาตรและอนุญาตให้กระผมกลับไปบำเพ็ญกรรมฐานที่วัดก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

พระเถระรับบาตรจากมือสามเณรและอนุญาตให้กลับวัดตามประสงค์ สามเณรสั่งอุปัชฌาย์ว่า ถ้าจะกรุณานำอาหารที่มีรส ๑๐๐ (สงสัยว่าอาหารอร่อยมาก) มาฝากก็จะเป็นพระคุณมาก พระเถระว่าจะไปเอาที่ไหน

สามเณรบอกว่าถ้าไม่ได้ด้วยบุญท่านก็ด้วยบุญของกระผมขอรับ ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

บังเอิญว่าพอฉันเสร็จญาติโยมก็ฝากอาหารมีรส ๑๐๐ มากับพระเถระ พระเถระรีบนำอาหารนั้นกลับวัด เพื่อให้ทันก่อนเที่ยง

พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยพระญาณ ทรงทราบต่อไปว่าขณะที่สามเณรกำลังเข้าฌานแน่วดิ่งอยู่นั้น สารีบุตรอาจมา “ขัดจังหวะ” ทำให้เป็นอันตรายแก่การบรรลุมรรคผล พระองค์จึงเสด็จไปดักพระสารีบุตรที่หน้าซุ้มประตูพระเชตวัน

ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ พระสารีบุตรก็ถวายวิสัชนาได้อย่างถูกต้องทั้ง ๔ข้อ (ปัญหาก็เช่นเดียวกับที่ถามในเรื่องสามเณรบัณฑิต) เมื่อทรงเห็นว่าสามเณรได้บรรลุพระอรหัตแล้ว พระองค์จึงตรัสให้พระสารีบุตรรีบนำอาหารไปให้สามเณร

ว่ากันว่าขณะที่สามเณรฉันข้าว พระอาทิตย์ก็ยังไม่เที่ยงวัน หลังจากสามเณรฉันเสร็จล้างบาตรแล้ว เงาพระอาทิตย์ก็เอียงวูบบ่ายคล้อยไปอย่างรวดเร็ว  พระภิกษุทั้งหลายจึงโจษขานกันเซ็งแซ่ว่า เมื่อกี้นี้ยังเช้าอยู่เลย พอสามเณรฉันเสร็จก็บ่ายคล้อยทันที ทำไมเวลาเช้ามีมาก เวลาเย็นมีน้อย แปลกแท้ๆ

พระพุทธองค์เสด็จมาตรัสบอกภิกษุเหล่านั้นว่า เวลาผู้มีบุญบำเพ็ญสมณธรรมมักจะเป็นเช่นนี้แหละ แล้วก็ตรัสพระคาถาว่า
   ชาวนา ไขน้ำเข้านา
   ช่างศร ดัดลูกศร
   ช่างไม้ ถากไม้
   คนดี ย่อมฝึกตน

พระคาถาที่ตรัสก็คล้ายที่ตรัสเกี่ยวกับสามเณรบัณฑิต เปลี่ยนเพียง “บัณฑิตย่อมฝึกตน” มาเป็น “คนดีย่อมฝึกตน” เท่านั้น




หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 มกราคม 2559 14:18:02
สามเณรสุข (จบ)
คัมภีร์ได้เล่าเรื่องราวในอดีตชาติของสามเณรสุขว่า ที่สามเณรสุขเกิดมาสบายอยากได้อะไรก็ได้โดยง่าย เพราะเธอได้ทำบุญมาแต่ปางก่อน

ว่ากันว่า บุตรเศรษฐีคนหนึ่งได้รับมรดกจากบิดาจำนวนมาก จึงใช้ทรัพย์นั้นอย่างฟุ่มเฟือย

วันหนึ่งแกสั่งให้ตระเตรียมอาหารมีรสเลิศราคาแสนแพง ตกแต่งสถานที่อย่างโอ่อ่า แล้วประกาศทั่วเมืองว่า เศรษฐีหนุ่มจะนั่งรับประทานอาหารที่รสเลิศและหรูที่สุดในวันนี้ เชิญประชาชนทั้งหลายมาดู

ประชาชนต่างก็พากันมามุงดูเศรษฐีรับประทานอาหารโคตรแพง โคตรอร่อย ขณะนั้นกระทาชายชาวบ้านนอกคนหนึ่งมาเที่ยวกรุงกับเพื่อนทราบเรื่องก็อยากไปดูกับเขาบ้าง พอได้กลิ่นอาหารเท่านั้นก็เกิดน้ำลายไหล อยากกินขึ้นมาทันที จึงร้องขอแบ่งจากเศรษฐีบ้าง

เมื่อถูกปฏิเสธ เขาจึงร้องขึ้นมา ถ้าผมไม่ได้กินอาหารนี้ ผมคงต้องตายแน่นอน ได้โปรดเมตตาผมเถิด ว่าแล้วก็ลงนอนดิ้นอย่างน่าสงสาร

เศรษฐีเห็นท่าว่าเจ้าหมอนั้นจะตายจริงๆ ก็สงสาร จึงบอกว่าฉันให้เปล่าไม่ได้ดอก ถ้าแกอย่างได้จริงๆ แกต้องทำงานรับใช้ฉัน ๓ ปี แล้วฉันจะให้อาหารแกถาดหนึ่ง

เงื่อนไขตั้ง ๓ ปีแน่ะครับ ปรากฏว่าชายบ้านนอกแกยอมแฮะ

เมื่อแกทำงานรับใช้เศรษฐีด้วยความขยันหมั่นเพียรครบ ๓ ปี เศรษฐีเห็นในความตั้งใจจริงของกระทาชายนายคนนี้ จึงให้ตระเตรียมสถานที่อย่างโอ่โถง จัดที่นั่งสำหรับรับประทานอาหารอย่างสมเกียรติ ให้คนในบ้านทุกคนยกเว้นภรรยาของตนคอยปรนนิบัติรับใช้เขา

ได้เวลาก็เชิญเขามานั่งในที่ที่จัดไว้ ให้คนนำถาดอาหารพิเศษมาเสิร์ฟ ท่ามกลางประชาชนที่ทราบข่าวพากันมามุงดูจำนวนมาก

จะไม่ให้มุงดูอย่างไรได้ เพราะไม่เคยมีใคร “บ้า” ขนาดยอมรับใช้เขาถึง ๓ ปี เพียงเพื่อจะได้กินอาหารเพียงถาดเดียว คนพิลึกอย่างนี้ก็มีด้วย อยากดูว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ว่าอย่างนั้นเถอะ

ขณะที่ชายบ้านนอกแกนั่งหน้าบานจะกินอาหารที่รอมาถึง ๓ ปี พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเดินอุ้มบาตรผ่านมา เขาเหลือบเห็นพระก็นึกขึ้นมาว่า เราเกิดมายากจนข้นแค้น แค่อยากจะกินอาหารอร่อยถาดเดียวต้องลงแรงรับจ้างเขาทำงานถึง ๓ ปี ถ้าเราจะกินอาหารนี้เราก็อิ่มชั่ววันเดียว อย่ากระนั้นเลย เราถวายทานแก่พระคุณเจ้าดีกว่า ด้วยผลบุญนี้ เราพึงมีอยู่มีกินอย่างสบายในชาติหน้า

คิดได้ดังนี้จึงยกอาหารถาดนั้นไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า นัยว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเพิ่งออกจากฌานสมาบัติ และทานที่ถวายแก่พระที่เพิ่งออกจากฌานสมาบัตินั้นมีอานิสงส์มาก ส่วนมากมักจะให้ผลทันตาเห็น

กรณีกระทาชายนายนี้ก็เช่นกัน แกได้รับผลทันตาเห็นเลยทีเดียว เศรษฐีนายจ้างแกอยากรู้ว่ากระทาชายนายลุงเชยได้อาหารรสเลิศประเภท “เชลล์ชวนชิม” แล้ว แกจะกินเอร็ดอร่อยปานใด หรือว่าจะมูมมามจนท้องแตกตายเหมือนชูชก จึงส่งคนมาดูแล้วให้ไปรายงาน

คนของเศรษฐีมาเห็นกระทาชายนายนี้แกยกอาหารถวายพระ จึงกลับไปรายงานให้เศรษฐีทราบ เศรษฐีให้เรียกเขาไปหา ชมเชยการกระทำของเขาและให้ทรัพย์จำนวนหนึ่ง ขออนุโมทนาในผลบุญที่เขากระทำ

กระทั่งพระราชา เมื่อทรงทราบก็ทรงเลื่อมใสในการกระทำของเขา จึงทรงขอแบ่งส่วนบุญจากเขา และพระราชทานทรัพย์ให้เขาจำนวนมาก สถาปนาให้เขาในตำแหน่งเศรษฐีนามว่า “ภัตตภติกะเศรษฐี” แปลว่า เศรษฐีผู้รับจ้าง (๓ ปี) เพื่ออาหาร (ถาดเดียว)

คัมภีร์ยังกล่าวด้วยว่า คนเราทำบุญแล้วได้อานิสงส์มาก เพราะประกอบด้วย “สัมปทา” (ความถึงพร้อมสมบูรณ์) ๔ ประการ คือ
   ๑.ผู้รับทานมีศีลบริสุทธิ์ เช่น เป็นพระอริยบุคคล (วัตถุสัมปทา)
   ๒.สิ่งของที่จะให้ทานได้มาด้วยความสุจริต (ปัจจยสัมปทา)
   ๓.จิตเลื่อมใสใน ๓ กาล คือ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว (เจตนาสัมปทา)
   ๔.ผู้รับทานเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ (คุณาติเรกสัมปทา)

กระทาชายนายนี้แกมีครบทั้ง ๔ ประการ ข้าวถาดเดียวของแกจึงบันดาลให้ได้เป็นเศรษฐีทันตาเห็น เศรษฐีอดีตกระยาจกคนนี้แหละมาเกิดเป็นสามเณรสุขรูปที่กล่าวถึงนี้


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสุข โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๔-๑๘๔๕ ประจำวันที่ ๑๘-๒๔ และ ๒๕-๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘


(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQGgWXa6jKLwEEEO6dDnWnOqlOaSPVBGbb11dL9k3U5_z2MYTXh)

สามเณรโสปากะ (๑)


คราวก่อนกล่าวไว้ในตอนท้ายว่า สามเณรอายุ ๗ ขวบที่ได้รับพุทธานุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธีพิเศษมีอยู่ ๒ รูปคือ สามเณรสุมนกับสามเณรโสปากะ

สามเณรโสปากะไม่มีประวัติในคัมภีร์ ธัมมปทัฏฐกถาหรืออรรถกถาธรรมบทที่พระเณรท่านเรียนกัน แต่มีอยู่ในอรรถกถาแห่งเถรคาถา (ปรมัตถทีปนีภาค ๒) จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในแวดวงยุทธจักรดงขมิ้น

ประวัติโสปากะพูดขัดแย้งกัน ตอนแรกกล่าวว่าเป็นบุตรสัปเหร่อ จึงได้นามว่าโสปากะ คำว่า “โสปากะ” คงแปลว่าเผา เช่น เผาศพ (แปลว่าหุง แปลว่าต้มก็ได้ ดังเรามีคำเรียกพ่อครัวว่า พ่อครัวหัวป่าก์ ต่อมาเขียนหดเข้าเป็นหัวป่า)

คนเขียนคนเดียวกันนั้นแหละกล่าวต่อว่า อาจารย์บางพวกกล่าวว่า โสปากะเกิดในตระกูลพ่อค้านามว่า “โสปากะ” สักแต่ว่าตั้งขึ้นเพื่อสิริมงคลเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับสัปเหร่อหรือการเผาผีเผาศพแต่อย่างใด

แล้วท่านก็บรรยายรายละเอียดว่า

เด็กน้อยโสปากะเกิดได้ ๔ เดือน บิดาก็สิ้นชีวิต จึงตกอยู่ในการดูแลของจุฬบิดา (น้องชายพ่อ หรืออา) ไม่บอกว่าอากลายเป็นพ่อเลี้ยงหรือผู้ดูแลแทนพ่อ พิเคราะห์ดูอาจเป็นพ่อเลี้ยงจริงๆ ก็ได้ เวลาโสปากะทะเลาะกับลูกๆ ของเขา พ่อเลี้ยงจะดุด่าและลงโทษเสมอ

ไม่ว่าหญิงหรือชายมี “เรือพ่วง” ไปแต่งงานใหม่มักจะมีปัญหา มีเรื่องระหองระแหงกันในครอบครัว เช่น ลูกคุณมารังแกลูกฉัน หรือลูกคุณมารังแกลูกเรา หรือลูกเรารังแกลูกคุณและลูกฉัน ว่ากันให้วุ่น

วันหนึ่งพ่อเลี้ยงโกรธจัด จึงนำเด็กชายโสปากะไปป่าช้า เอาเชือกผูกแขนไพล่หลังมัดไว้กับศพทิ้งไว้ด้วย หมายใจจะให้เป็นเหยื่อสุนัขจิ้งจอก เด็กน้อยเห็นสุนัขจิ้งจอกกำลังมาจึงร้องไห้ด้วยความกลัว ว่ากันว่า เสียงร้องไห้ของเด็กน้อยผู้น่าสงสารได้ยินไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรวจดูด้วยพระญาณก็ทรงทราบเหตุการณ์โดยตลอด จึงทรงแผ่พระรัศมีไปยังเด็กน้อยตรัสว่า โสปากะไม่ต้องกลัว เธอจงมองดูตถาคต ตถาคตจะช่วยเธอให้รอด ดุจปล่อยพระจันทร์จากปากราหูฉะนั้น

ด้วยพุทธานุภาพ เชือกที่มัดอยู่ขาดออก โสปากะเป็นอิสระและได้บรรลุโสดาปัตติผล รู้ตัวอีกทีก็มานั่งเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในพระคันธกุฎีแล้ว

ข้างฝ่ายมารดาเมื่อบุตรชายหายไป ก็เที่ยวตามหาไปจนทั่ว เมื่อไม่พบจึงเข้าไปพระอาราม คิดได้อย่างเดียวว่า พระพุทธเจ้าทรงมีญาณหยั่งรู้อดีต ปัจจุบัน อนาคต พระองค์ย่อมทรงทราบว่าลูกเราอยู่ที่ไหน เราไปกราบทูลขอพึ่งพระมหากรุณาของพระองค์ดีกว่า ไปถึงก็ถวายบังคมแล้วกราบทูลถามถึงบุตรชายของตนเอง

พระพุทธองค์ทรงทราบว่า นางมีอุปนิสัยแห่งมรรคผล จึงตรัสสอนธรรมว่า  บุตรทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้ บิดาและพี่น้องก็ช่วยไม่ได้  คนเราเมื่อถึงคราวจะตาย ญาติพี่น้องทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้

เท่ากับเตือนว่า บุตรที่สุดแสนรักนั้น เขาก็มีคติหรือทางไปเป็นของเขาเอง เอาเข้าจริงเขาก็ช่วยเหลืออะไรเราไม่ได้ คติหรือทางไปของเราจะเป็นอย่างไร จะไปดีไปร้ายก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง

นางได้ฟังก็ได้คิด คิดตามไปก็ยิ่งเห็นจริงตาม จึงได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หารู้ไม่ว่าในขณะนั้นบุตรน้อยของตนก็นั่งฟังพระธรรมเทศนานั้นอยู่ใกล้ๆ นั่นเอง แต่ด้วยอิทธาภิสังขาร (การบันดาลด้วยฤทธิ์) สองแม่ลูกจึงมองไม่เห็นกัน ลูกชายได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

จากนั้นพระพุทธองค์ทรงคลายฤทธิ์ สองแม่ลูกจึงเห็นกัน



สามเณรโสปากะ (จบ)

ถามว่าทำไมเด็กน้อยอายุเพียง ๗ ขวบจึงได้บรรลุพระอรหัตผล คำตอบก็มีว่า เพราะเด็กน้อยคนนี้ ในอดีตกาลอันนานโพ้นได้สร้างบุญบารมีไว้

ในชาติที่กล่าวถึงนั้น โสปากะเกิดในตระกูลพราหมณ์ ออกบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตอยู่บนยอดเขาสูงแห่งหนึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ ขณะเขาใกล้จะตาย พระพุทธเจ้าสิทธัตถะเสด็จไปโปรดเขา

เขาแต่งอาสนะดอกไม้ถวายให้พระพุทธองค์ประทับ พระพุทธองค์ประทับเหนืออาสนะดอกไม้นั้น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอนิจจตา (ความไม่เที่ยง) ปลดเปลื้องเขาจากความยึดถือผิดๆ ว่าสรรพสิ่งเที่ยงแท้นิรันดร

เขาเจริญอนิจจสัญญา (ความระลึกว่าไม่เที่ยงแท้) ในใจ จวบจนสิ้นลม ละจากอัตภาพนั้นแล้วไปเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวในสังสารวัฏตลอดกาลยาวนาน

ในที่สุดก็บังเกิดเป็นเด็กน้อยโสปากะในกรุงราชคฤห์ดังที่กล่าวมาแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสถามปัญหา “อะไรเอ่ย” ทำนองปริศนาธรรม เช่น “อะไรเอ่ยชื่อว่าหนึ่ง” โสปากะกราบทูลว่า “สัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร (อาหารชื่อว่าหนึ่ง)
“อะไรชื่อว่าสอง” ตรัสถามอีก
“นามกับรูป ชื่อว่าสอง” โสปากะกราบทูล

จนกระทั่งถึง “อะไรชื่อว่าสิบ” เด็กน้อยก็กราบทูลได้ทุกข้อ ไม่ได้อย่างไรเล่าครับ ไม่ใช่เด็กน้อยธรรมดา หากแต่เป็นเด็กน้อยอรหันต์นี่ครับ

“การมอบปัญหาให้คิดหาคำตอบนี้คงคล้ายกับที่พุทธนิกายเซนเรียกว่า “โกอาน” (ญี่ปุ่น) หรือ “กงอั้น” (จีน) นั่นเอง เมื่ออรหันต์น้อยโสปากะตอบได้หมดทุกข้อ พระพุทธองค์ก็ประทานสาธุการ แล้วประทานการอุปสมบทให้เธอ

เรียกการอุปสมบทนี้ว่า “ปัญหาพยากรณูปสัมปทา” (การอุปสมบทด้วยการตอบปัญหา)

น่าสังเกตว่า โสปากะเธอมิได้ผ่านการบวชเณรก่อน พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทในทันทีทันใด ต่างจากกรณีเด็กน้อยสุมน (ที่พูดถึงมาแล้ว) เด็กน้อยสุมนได้บรรพชาเป็นสามเณรก่อน พระพุทธเจ้าประทานการอุปสมบทอันเรียกว่า “ทายัชชอุปสัมปทา) ให้ แต่โสปากะไม่ต้องบวชเณรก่อนข้ามขั้นเป็นพระภิกษุเลย

โสปากะเถระอดีตเด็กน้อยเกือบจะตกเป็นเหยื่อสุนัขจิ้งจอกเมื่อหวนรำลึกถึงเรื่องราวในอดีตของตน ได้กล่าวคาถามประพันธ์ทำนองอัตชีวประวัติไว้อย่างไพเราะ ขอนำมาลงไว้ตอนท้ายดังนี้ครับ

เราเห็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่านรชน เป็นอุดมบุรุษเสด็จจงกรม อยู่ในร่มเงาแห่งพระคันธกุฎี จึงเข้าไปกราบถวายบังคม เราห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่งประนมมือไหว้พระองค์ผู้ปราศจากกิเลส พระองค์ตรัสถามปัญหา เรารู้ความของปัญหานั้น ไม่สะทกสะท้าน วิสัชนาปัญหานั้น พระองค์ตรัสอนุโมทนาแล้วหันไปตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า โสปากะนี้ใช้สอยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะและคิลานเภสัชของชาวอังคะและชาวมคธเหล่านั้น นับเป็นลาภของชาวอังคะและชาวมคธ และเป็นลาภของพวกเขาที่ได้ทำสามีจิกรรม (ความเคารพในรูปแบบอื่นๆ) แก่โสปากะ พระองค์ตรัสกับเราว่า โสปากะ การวิสัชนาปัญหานี้เป็นการอุปสมบทของเธอ เราอายุเพียง ๗ ขวบ ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุ มีชีวิตและร่างกายนี้เป็นชาติสุดท้าย

พระธรรมอันดีงามของพระพุทธองค์ช่างน่าอัศจรรย์แท้หนอ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรโสปากะ  โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๖-๑๘๔๗ ประจำวันที่ ๑-๗ และ ๘-๑๔ มกราคม ๒๕๕๙


.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQeaJwP-oNlWkg5qDr32IG0v74zLzVwn6wMHtDpLp96lAdp3EmI)

สามเณรนิโครธ
สามเณรที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มีชีวิตอยู่หลังพุทธกาลสามศตวรรษ ชื่อสามเณรนิโครธ ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป

พระเจ้าอโศกเป็นใคร ชาวพุทธรู้จักกันดีพอๆ กับรู้จักพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระเจ้าพิมพิสารในยุคพุทธกาลนั้นแล

ขอเท้าความสั้นๆ เพื่อผู้ที่ยังไม่เคยทราบได้รู้จักไว้

หลังพุทธปรินิพพานประมาณสองร้อยกว่าปี (พ.ศ.ไม่แน่นอนจึงไม่อยากใส่) พระเจ้าพินทุสารผู้ครองเมืองปาตลีบุตรก็สิ้นพระชนม์

เมื่อสิ้นพระราชบิดา พระราชโอรสทั้งหลาย (ว่ากันว่ามีถึง ๑๐๑ องค์) ก็แย่งชิงราชสมบัติกัน

อโศกกุมารขณะนั้นเป็นอุปราชครองเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี ทรงถือว่าเป็นรัชทายาทโดยตรงจึงยกพลมาจากเมืองอุชเชนีมายึดราชบัลลังก์ โดยจับพระราชโอรสเหล่านั้นปลงพระชนม์เรียบ ยกเว้นติสสกุมาร พระอนุชาร่วมพระอุทร

สุมนกุมาร พระเชษฐาองค์ใหญ่ ก่อนจะสิ้นพระชนม์รับสั่งให้พระชายาผู้ทรงครรภ์แก่หนีไป นางได้หนีไปอยู่กับพวกคนจัณฑาลนอกเมือง ให้กำเนิดบุตรน้อย ณ กระท่อมใต้ต้นไทร จึงขนานนามว่า “นิโครธ”

หัวหน้าคนจัณฑาลได้ปรนนิบัติดูแลนางและบุตรอย่างดีดังหนึ่งเจ้านายของตน

เมื่อกุมารน้อยอายุได้ ๗ ขวบก็บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา (แม่คงต้องการให้ลูกปลอดภัยในชีวิตด้วย จึงสนับสนุนให้บวช หาไม่อาจต้องราชภัยในภายหลัง) สามเณรน้อยนิโครธออกบิณฑบาตโปรดสัตว์เป็นนิตย์

วันหนึ่งผ่านไปทางพระราชวัง บังเอิญเช้าวันนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชทรงยืนใกล้สีหบัญชร (หน้าต่าง) ผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา ทอดพระเนตรผ่านช่องพระแกล (หน้าต่างอีกนั่นแหละ) เห็นสามเณรน้อยเดินไปอย่างสงบสำรวมก็เกิดความเลื่อมใส

ตำราว่าเกิดความรักดุจดังบุตร ทรงรำพึงเบาๆ ว่า คนส่วนมากมีจิตฟุ้งซ่าน หวาดกลัวดุจเนื้อสมันระวังภัย แต่เด็กน้อยนี้มีจิตสงบเยือกเย็นสำรวมยิ่งนัก จะแลหน้าเหลียวหลัง ยกเท้าแกว่างมือ ก็สำรวมงดงามยิ่งนัก

“สามเณรน้อยนี้มิใช่ธรรมดาแน่ คงบรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง” พระราชาทรงรำพึงกับพระองค์เอง

จึงรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์สามเณรน้อยเข้าไปในวัง ถวายภัตตาหารแก่สามเณรแล้วรับสั่งถามว่า “สามเณรทราบพุทโธวาทบ้างไหม แสดงให้โยมฟังหน่อย”

สามเณรนิโครธกล่าวอย่างถ่อมตนว่า “ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพทราบโดยเอกเทศ” ความหมายก็คือทราบบางส่วน ไม่มากนัก
“แสดงให้โยมฟังบ้างเถิด” พระราชาทรงอาราธนา

สามเณรจึงกล่าวคาถาพุทธวจนะว่า
   อปฺปมาโท อมตํปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
   อปฺปมตฺตา น มียนฺติเย ปมตฺตา ยถา มตา
“ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ที่ประมาทแล้ว ถึงมีชิวิตอยู่ก็เสมือนคนตายแล้ว”

พระราชาทรงเกิดปีติปราโมทย์อย่างยิ่ง จึงตรัสว่า
“สามเณร โยมจะถวายภัตตาหารแด่สามเณรประจำ ๘ ที่”
“ขอถวายพระพร อาตมภาพขอถวายแก่อุปัชฌาย์ของอาตมา” สามเณรตอบอย่างสำรวม
“อุปัชฌาย์คือใคร” พระราชาตรัสถาม ต้องการทราบนามของอุปัชฌาย์ของสามเณรน้อย แทนที่สามเณรน้อยจะบอกนาม กลับอธิบายความหมายของคำว่า “อุปัชฌาย์” ให้พระราชาฟังว่า
“อุปัชฌาย์คือผู้ที่เห็นโทษ (ความผิด) น้อยใหญ่ แล้วตักเตือนให้ระลึกได้” (ความหมายก็คือผู้ที่คอยดูแลว่า ศิษย์มีความบกพร่องอะไร ตรงไหน แล้วคอยตักเตือนพร่ำสอน)
“ถ้าเช่นนั้น โยมจะถวายอีก ๘ ที่”
“อาตมภาพขอถวายแก่อาจารย์ของอาตมา”
“อาจารย์คือใคร”
“อาจารย์คือผู้ที่ให้ศิษย์ดำรงอยู่ในธรรมอันพึงศึกษาในพระศาสนานี้” (ความหมายก็คือ ผู้ที่คอยให้การศึกษาอบรมแก่ศิษย์)
“ถ้าเช่นนั้น โยมจะถวายอีก ๘ ที่”
“อาตมภาพขอถวายแก่พระสงฆ์”
“พระสงฆ์คือใคร” พระราชาเห็นปฏิภาณอันเฉียบคมของสามเณรน้อยจึงทรง “เล่น” ด้วย คราวนี้ไม่คิดเอาคำตอบสามัญแล้ว หากแต่ต้องการคำอธิบายในทางธรรมจากสามเณร สามเณรก็อธิบายความหมายของพระสงฆ์ว่า
“พระสงฆ์คือหมู่แห่งภิกษุซึ่งเป็นที่อาศัยบรรพชาและอุปสมบทของอาจารย์และอุปัชฌาย์ของอาตมภาพ” (ความหมายก็คือ อาจารย์และอุปัชฌาย์ของสามเณรนิโครธบวชเป็นเณรและบวชเป็นพระอาศัยหมู่ภิกษุใด หมู่ภิกษุนั้นแหละคือพระสงฆ์ พูดให้ชัดก็คือ หมู่แห่งภิกษุที่ทำการบรรพชาอุปสมบทแก่ผู้มาขอบวชนั่นเอง

“ถ้าเช่นนั้น โยมถวายอีก ๘ ที่” พระราชาตรัสย้ำ

สามเณรจึงรับว่า “สาธุ” วันรุ่งขึ้นจึงนิมนต์ภิกษุ ๓๒ รูปเข้าไปรับภัตตาหารในพระบรมมหาราชวัง

พระเจ้าอโศกเมื่อได้ทราบว่าสามเณรน้อยรูปนี้เป็นพระภาคิไนย (หลาน) ของพระองค์ก็ยิ่งเลื่อมใส ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ถวายความอุปถัมภ์แก่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจังต่อไป

คัมภีร์อรรถกถาของฝ่ายเถรวาท (สมันตปาสาทิกา) แต่งไว้อย่างนั้น แต่จากหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งคือ ศิลาจารึกที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำไว้เองกลับระบุว่า พระองค์ทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาเพราะเหตุผลอื่น

คือทรงสลดพระราชหฤทัยที่ทอดพระเนตรเห็นคนตายในสงครามมากมาย จึงทรงเห็นมาหาความสงบในทางธรรม

หลักฐานที่ว่านี้บันทึกไว้ดังนี้ครับ
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่อได้อภิเษกแล้ว ๘ พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงได้ จากแคว้นกลิงคะนั้นประชาชนจำนวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนถูกจับเป็นเชลย จำนวนประมาณหนึ่งแสนคนถูกฆ่าและอีกหลายเท่าของจำนวนนั้นได้ล้มตายไป นับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้ อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะได้ถูกยึดครองแล้ว การทรงปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรมและการอบรมสั่งสอนธรรม ก็ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระผู้ทรงเป็นที่รักแห่งทวยเทพ (จารึกศิลาฉบับที่ ๑๓)

ไม่พูดตรงๆ ว่า “นับถือพระพุทธศาสนา” แต่คำว่า “การทรงปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม และการอบรมสั่งสอนธรรม” ในที่นี้คือธรรมในพระพุทธศาสนานั่นเอง

และกล่าวกันว่า พระเจ้าอโศกทรงอุปสมบทเป็นภิกษุในขณะที่ยังครองราชสมบัติด้วยสิ้นระยะเวลาหนึ่ง (ว่ากันว่าหนึ่งพรรษา) การสละราชสมบัติออกผนวชนี้พระมหากษัตริย์ที่มีพระบุญญาบารมีมากๆ เท่านั้นจะพึงทำ เพราะไม่แน่ว่าขณะยังทรงผนวชอยู่นั้นจะถูกปฏิวัติรัฐประหารแย่งชิงราชบัลลังก์หรือไม่ กษัตริย์พระองค์ใดทรงทำได้อย่างนี้ ถือกันว่าเป็นพระมหาราชอย่างแท้จริง

หลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว ก็มีพระมหากษัตริย์ในยุคหลังพยายามเป็น “อโศกที่สอง” หลายพระองค์ คือทรงสละราชสมบัติผนวชชั่วคราว และอุปถัมภ์สังคายนาพระพุทธศาสนา ตลอดจนอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์อย่างจริงจัง

พระเจ้าอโศกมหาราชหลังจากเป็นพุทธมามกะแล้วทรงสร้างเจดีย์และวิหาร (แปลว่าวัด) อย่างละ ๘๔,๐๐๐ แห่งนี้ ถือตามจำนวนพระธรรมขันธ์หรือหัวข้อธรรมในพระไตรปิฎกและถวายความอุปถัมภ์แก่พระภิกษุสามเณรเป็นการใหญ่ พระภิกษุสงฆ์สามเณรไม่มีความลำบากเกี่ยวกับปัจจัยสี่ มีความสะดวกในการบำเพ็ญกิจพระศาสนา

ถือว่ายุคนี้เป็นยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ แต่ในความเจริญนั้นถ้าประมาท ความเสื่อมก็เข้ามาแทรกได้ พวกอัญเดียรถีย์ (ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น) เห็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้รับเกียรติ มีลาภสักการะมากมายอยากได้เป็นอย่างนั้นบ้าง จึงปลอมบวชเป็นจำนวนมาก (ระบบคัดคนเข้าหละหลวมแล้วครับ)

บวชมาแล้วก็มาแสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย สร้างความวิปริตบิดเบือนขึ้นแก่พระพุทธศาสนา จนเป็นเหตุให้กระทำสังคายนาครั้งที่สาม ชำระสะสางสังฆมณฑล (คัดคนไม่ดีออก) ทำให้พระศาสนาคืนคงความบริสุทธิ์ดังเดิม

ท่านทำกันอย่างไร ผมไม่มีหน้าที่บรรยายตรงนี้เพราะเท่าที่เล่ามานี้ก็นอกเรื่องพอสมควรแล้ว

สรุปตรงนี้คือสามเณรนิโครธมีบทบาทสำคัญยิ่งคือเป็นผู้ชักจูงให้พระเจ้าอโศกซึ่งเดิมเขาเรียกว่า “จัณฑาโศก” (อโศกดุร้าย) หันมานับถือพระพุทธศาสนากลายเป็น “ธรรมาโศก” (อโศกผู้ทรงธรรม) เป็นต้นแบบการปกครองบนพื้นฐานแห่งพุทธธรรมอันเรียกว่า “ธรรมราชา” หรือ “ธรรมวินัย” นั้นแล


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรนิโครธ (๑) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๘ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ มกราคม ๒๕๕๙




หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 มกราคม 2559 15:33:26
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRKFupqITf5m3L9q1d51JBRCUHXsMHYhZuPYQEM-BqfTYtvEbznHQ)

สามเณรจุนทะ
วันนี้ขอนำเรื่องราวสามเณรน้องชายพระสารีบุตรอัครสาวกมาเล่าให้ฟัง ว่ากันว่าท่านพระสารีบุตรมีน้อง ๓ คน คือ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ ทั้งสามคนถูกพี่ชายใหญ่จับบวชเณรหมด สร้างความเสียอกเสียใจแก่มารดาของท่านมาก ที่ไม่มีใครสืบสกุล ว่ากันว่าอีกนั่นแหละ มารดาของท่านเคยโกรธลูกชายคนโตขนาดหนักมาระยะหนึ่ง ตอนพระลูกชายจะนิพพานนั่นแหละค่อยเข้าใจลูกชาย ฟังพระลูกชายเทศนาธรรมแล้วถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

วันนี้ขอพูดถึง สามเณรจุนทะก่อน ผู้บันทึกประวัติดูจะสับสนพอสมควรคือ พูดถึงจุนทะ ๒ คน มหาจุนทะ คนหนึ่ง จูฬจุนทะ อีกคนหนึ่ง และพูดถึงจุนทะสมณุทเทศ (สามเณรโค่ง) อีกคนหนึ่ง แล้วบอกว่า จุนทะสมณุทเทศนี้เป็นคนเดียวกับมหาจุนทะ

ในคัมภีร์อปทาน มีคาถาหรือโศลกเล่าเรื่องราวของพระจุนทะ และบอกด้วยว่า ท่านเป็นบุตรของพราหมณ์วังคันตะและนางสารีพราหมณี

และในอรรถกถาอปทานเรียกจุนทะท่านนี้ว่า “จูฬจุนทะ”

ในหลักฐานอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า มหาจุนทะ (หรือจุนทะสมณุทเทศ) ตามพระพี่ชายไปในช่วงท้ายแห่งชีวิตท่าน พอพระพี่ชายท่านนิพพานแล้วหอบบาตรจีวรและพระธาตุของท่าน ร่ำไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จนพระพุทธองค์ตรัสถามว่า สารีบุตรตายไป สารีบุตรนำเอาศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุติไปด้วยหรือ จุนทะกราบทูลว่า เปล่า  “อ้าว เปล่า แล้วเธอจะเสียใจทำไม”

มหาจุนทะ (จุนทะสมณุทเทศ) นี้ ร่ำไห้เพราะพี่ชายตาย ทั้งๆ ที่หลักฐานบอกว่าได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ทำไมในที่นี้จึงร่ำไห้ พระอรหันต์ขีณาสพ ร่ำไห้ดูกระไรอยู่ เห็นมีแต่พระโสดาบันเท่านั้นที่ร้องไห้เหมือนคนทั่วไป (ดังกรณีนางวิสาขา)

สรุปแล้ว แม้ว่าอรรถกถาจะพยายามพูดถึงจุนทะ ๒ ท่าน แต่ไปๆ มาๆ ก็ปนเปกัน จนเป็นจุนทะเดียวกัน ผมจึงขอรวบรัดตัดประเด็น เอาว่าเรื่องราวต่างๆ ที่ระบุที่นั่นบ้างในนาม “จุนทะ” เป็นเรื่องของสามเณรจุนทะน้องชายพระสารีบุตรทั้งหมดก็แล้วกัน

คัมภีร์หนึ่งเล่าอดีตชาติของท่านจุนทะว่า ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ท่านได้เกิดเป็นช่างหม้อ ได้ถวายบาตรดินแด่พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เมื่อท่านมาเกิดในชาตินี้ ได้บรรพชาและอุปสมบทเป็นภิกษุแล้วจึงมีผู้เรียกท่านว่า เอกปัตตทายกะ (ผู้ถวายบาตรใบหนึ่ง) ทำไมรู้ก็ไม่ทราบ หรือว่าพระพุทธเจ้าตรัสบอกหรือว่าท่านจุนทะเองรำลึกชาติได้แล้วเล่าให้คนอื่นฟัง

อีกคัมภร์หนึ่ง บอกว่า ในชาติก่อนอันยาวนานโพ้น สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สิทธัตถะ ท่านได้ถวายกำดอกมะลิอันหอมหวน ด้วยอานิสงส์แห่งบุปผาทานนั้น ท่านไปเกิดเป็นท้าวสักกะจอมเทพ ๗๗ ครั้ง และได้เกิดเป็นพระราชามหากษัตริย์หนึ่งครั้ง ในปัจจุบันชาตินี้ ท่านจึงได้ออกบวชและได้บรรลุพระอรหัตตั้งแต่ ๗ ขวบ ต่อมาได้เป็นอุปัฏฐากรับใช้พระพุทธเจ้าอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่พระอานนท์จะมารับหน้าที่ถาวร

เรื่องราวสมัยเป็นสามเณรของท่านจุนทะ ไม่มีเล่าไว้พอจะนำมาขยายต่อได้ แต่เดาเอาว่า เมื่อบวชแล้วก็คงอยู่ในความดูแลของพระพี่ชายอยู่พักหนึ่ง แต่เมื่อท่านได้พระอรหันต์แล้ว ถึงจะอายุยังน้อยก็ยังถือว่าเป็น “พระเถระ” ดูแลตนเองได้แล้ว พระพี่ชายคงจะไม่จำเป็นต้องให้ติดสอยห้อยตามท่านตลอดไป

การที่ท่านจุนทะชอบติดตามพระสารีบุตรผู้พี่ไปไหนต่อไหนในเหตุการณ์สำคัญๆ หลายครั้ง คงเป็นด้วยท่านจุนทะมีความรักและสนิทกับพี่ชายมาก

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งเล่าว่า อาจารย์ของท่านจุนทะคือ พระอานนท์ เป็นไปได้ว่า นอกจากพระพี่ชายแล้วก็คงพระอานนท์นี่แหละองค์หนึ่งทำหน้าที่เป็นอาจารย์ของท่านจุนทะ แต่ก็ตะขิดตะขวงใจนิดหนึ่งว่า พระอานนท์ยังเป็น “เสขบุคคล” (คือเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์) ในขณะที่ท่านจุนทะเป็นพระอรหันต์มาตั้งแต่อายุ ๗ ขวบแล้ว จะเป็นศิษย์อาจารย์กันได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ท่านจุนทะสนิทสนมกับพระอานนท์มาก เรื่องหนึ่งที่ถือว่าท่านจุนทะมีบทบาทสำคัญ และชักชวนให้พระอานนท์พลอยมีบทบาทด้วยก็คือ ความเป็น “จุดเริ่ม” แห่งการทำสังคายนา

เมื่อคราวมหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) ศาสดาแห่งศาสนาเชน (ศาสนาพระแก้ผ้าและต่อมามีนิกายนุ่งขาวห่มขาว) ปรินิพพาน สาวกทั้งหลายต่างก็ทะเลาะทุ่มเถียงกันเป็นการใหญ่ กล่าวว่า นี้ธรรม นี้มิใช่ธรรม นี้วินัย นี้ไม่ใช่วินัย เรื่องอย่างนี้พระศาสดาไม่เคยสอน ท่านสอนอย่างนี้ต่างหาก อะไรทำนองนั้น

ปรากฏว่าเหล่าสาวกของมหาวีระแตกสามัคคี แยกกันออกเป็นก๊กเป็นเหล่า ไม่ผิดอะไรกับสมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งประเทศสนธยาหลังยุบสภา บ้างก็เร่ร่อนไปเข้าพรรคนั้นพรรคนี้ บ้างก็หาพรรคแทบไม่ได้ บ้างก็ถูกรับเข้าพรรคแล้วถูกเขาเขี่ยทิ้งภายหลัง ต้องเก็บความแค้นไว้ลึกๆ รอชำระในวันข้างหน้า “วันพระมิได้มีหนเดียวดอกเว้ย” อะไรทำนองนั้น

ท่านจุนทะสมณุทเทศ (แสดงว่าตอนนั้นยังอายุไม่ครบบวชพระ เป็นสามเณรโค่งวัยจ๊าบอยู่) ทราบข่าวเข้า จึงไปหาพระอานนท์ผู้เป็นอาจารย์ เล่าเรื่องราวให้ฟังแล้วทั้งสองก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบ

พระพุทธองค์ตรัสถึงศาสดาหลายประเภท ศาสดาประเภทไหนดี ประเภทไหนไม่ดี ตรัสถึงวิธีสอบสวนพระธรรมวินัย และตรัสทำนองแนะให้สังคายนาพระธรรมวินัยว่า “ธรรมที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง พึงสังคายนา พึงวิจารณ์อรรถะกับอรรถะ พยัญชนะกับพยัญชนะ เพื่อให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นาน เพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เท่ากับบอกเป็นนัยว่า ถ้าอยากให้พระศาสนาดำรงอยู่ได้นาน หลังจากศาสดาล่วงลับไปแล้ว ก็ให้ “สังคายนา” พระธรรมวินัยให้เป็นระเบียบวินัย หาไม่พอสิ้นพระศาสดาอันเป็นหลักชัยแล้ว สาวกจะทะเลาะแตกแยกกันเปล่าๆ ดังกรณีศาสดามหาวีระ

ตามเนื้อเรื่องของท่านจุนทะ มิได้ทำอะไรเป็นรูปธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ ผู้ทำกลับเป็นพระพี่ชายของท่าน เข้าใจว่าท่านจุนทะก็คงเล่าให้พระสารีบุตรฟังด้วยนั่นแหละครับ เมื่อพระสารีบุตรทราบเรื่องแล้วจึง “ลงมือ” สังคายนาพระธรรมวินัย

สังคายนาในความหมายนี้คือ รวบรวมพระธรรมวินัยเป็นหมวดหมู่ ท่านได้จัดสรรหมวดหมู่ธรรมะ คำสอนของพระพุทธองค์ตั้งแต่หมวดหนึ่ง หมดสอง หมวดสาม เรื่อยไปจนถึงหมวดสิบ

ใช้เวลานานเท่าไร ไม่ระบุชัด แต่หลังจากทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านตั้งชื่อว่า “สังคีติสูตร” (สูตรว่าด้วยการร้อยกรอง หรือรวบรวมธรรม) และอีกสูตรหนึ่งชื่อ “ทสุตตรสูตร” (สูตรว่าด้วยหมวดธรรมจากน้อยไปมากจนถึงสิบ)

เมื่อทำเสร็จ ท่านก็แสดงต่อที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ทำนองเสนอบทความทางวิชาการ อะไรอย่างนั้นแหละครับ พระสงฆ์ท่านฟังแล้วก็ยอมรับ คราวนั้นเป็นโอกาสเหมาะสมที่สุดที่พระสารีบุตรได้แสดงผลงานของท่านต่อที่ประชุม เพราะมีพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากมาประชุมกันที่ห้องโถง (สัณฐาคาร) สร้างใหม่ของพวกศากยะ และที่สำคัญก็คือพระพุทธองค์ทรงบัญชาให้ท่านแสดงด้วย

หลังจากท่านแสดงธรรมจบลง พระพุทธองค์ก็ประทานสาธุการเป็นการยอมรับผลงานของท่านว่าใช้ได้

น่าเสียดายอยู่นิดเดียวว่า ท่านพระสารีบุตรอายุสั้น ท่านด่วนนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ถ้าท่านอยู่นานกว่านี้ งานการสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยคงจะสำเร็จสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นท่านพระสารีบุตรแล้ว ก็ยังมีผู้สืบทอดเจตนารมณ์นี้ก็คือ พระมหากัสสปะ ได้ประชุมพระอรหันต์ล้วน ๕๐๐ รูป กระทำสังคายนา ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ๓ เดือน

การทำสังคายนาครั้งนี้ส่วนหนึ่งก็สานต่องานที่พระสารีบุตรอัครสาวกกระทำไว้ อีกหลายส่วนก็เป็นการวางหลักการสำรับสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป

เราซึ่งเป็นคนรุ่นหลัง ก็ได้ทราบเพียงว่าในการสังคายนาครั้งนี้ พระมหากัสสปะเป็นประธาน และทำหน้าที่ซักถามข้อธรรม ข้อวินัย ที่เป็นประเด็นสำคัญๆ พระอุบาลีผู้เป็นเอตทัคคะในด้านพระวินัย ก็วิสัชนาปัญหาทางพระวินัยให้ที่ประชุมทราบ พระอานนท์ผู้เป็นเอตทัคคะในด้านเป็นพหูสูต หรือผู้สดับตรับฟังมากก็วิสัชนาปัญหาด้านพระธรรม

พระสงฆ์ที่ประชุมกันก็รับรองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การรับรองของพระสงฆ์ ณ คราวนี้เองเรียกว่า “เถรวาท” (วาทะ หรือข้อตกลงของพระเถระทั้งหลาย)

คำนี้เดิมมีความหมายเพียงแค่นี้ แต่ต่อมาเมื่อเกิดการแยกนิกายออกไป และตั้งชื่อนิกายของตนว่า มหาสังฆิกะ ในศตวรรษที่ ๒ หลังพุทธปรินิพพาน พระสงฆ์ที่ถือตามแบบฉบับเดิมมาตั้งแต่สมัยสังคายนาครั้งที่หนึ่งจึงได้นามที่เป็นนิกาย “เถรวาท” ตั้งแต่บัดนั้นมา

ที่ว่ามาทั้งหลายนี้ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับท่านจุนทะสักเท่าไร แต่ที่จริงแล้ว การทำสังคายนาของพระสารีบุตรและของพระสงฆ์อรหันต์ ๕๐๐ รูป อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ก็สืบเนื่องมาแต่อดีตสามเณรน้อยจุนทะรูปนี้เอง

เพราะอดีตสามเณรจุนทะเห็นความแตกแยกของสาวกของศาสดาที่ไม่จัดระบบคำสอนให้ดี จึงคิดว่าน่าจะกระทบถึงพระพุทธศาสนาด้วย จึงเข้าหาพระอานนท์ชวนพระอานนท์ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า

เพราะความเคลื่อนไหวของท่านครั้งนี้ ทำให้พระพุทธองค์ประทาน “นัย” ให้เหล่าสาวกไปคิดทำอะไรสักอย่างเพื่อความมั่นคงแห่งพระศาสนา

และพระสารีบุตรท่านก็ sense ได้ จึงเริ่มสังคายนาพระธรรมวินัยจนได้รับการสานต่อจากพระมหากัสสปะในกาลต่อมา

เครดิตทั้งหมดนี้ต้องยกให้อดีตสามเณรจุนทะ หรือพระจุนทะรูปนี้เองครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรจุนทะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๙ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ มกราคม ๒๕๕๙


(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQeaJwP-oNlWkg5qDr32IG0v74zLzVwn6wMHtDpLp96lAdp3EmI)

สามเณรเรวตะ
เล่าเรื่องสามเณรน้องชายพระสารีบุตรมาแล้วหนึ่งรูปคือสามเณรจุนทะ คราวนี้มาถึงเรื่องราวของสามเณรเปี๊ยก นามว่า เรวตะ หรือ เรวัต บ้าง ดังได้กล่าวแล้วว่า พระสารีบุตรท่านได้พบชีวิตใหม่ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า เพราะพระอัสสชิเป็นผู้แนะนำ เมื่อท่านบวชเข้ามาแล้วจึงเคารพพระอัสสชิ อาจารย์ของท่านมาก ถึงกับนอนหันศีรษะไปยังทิศต่างๆ ที่ทราบว่าท่านอัสสชิอยู่

เมื่อท่านเข้ามาในพระพุทธศาสนาก็อยากเห็นลูกหลานได้เข้ามาลิ้มรสแห่งสันติสุขอย่างท่านบ้าง จึงเกลี้ยกล่อมน้องชายมาบวชกันทุกคน

น้องคนเล็กที่ชื่อเรวตะนี้ ตอนนั้นยังเล็กมาก แต่ท่านก็บอกพระสงฆ์ที่อยู่หมู่บ้านท่านไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าน้องชายท่านอยากบวช ก็จงให้บวชเลย  โยมทั้งสองก็คอยระวังแจกลัวลูกชายคนโตจะมาเอาน้องคนเล็กไปบวชอีก จึงชิง “ตัดหน้า” ด้วยการจัดการให้ลูกชายแต่งงานตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ

งานแต่งงานได้จัดขึ้นอย่างหรูหรา เจ้าบ่าวเจ้าสาวยังเล็กเกินกว่าจะรู้เรื่องของโลก เขาพาทำพิธีต่างๆ ก็ตื่นเต้นสนุกสนานตามประสาเด็ก  ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็ผลัดกันเข้ามายังห้องพิธี เพื่ออวยพรเจ้าบ่าวเจ้าสาว
“ขอให้อายุมั่นขวัญยืนครองชีวิตคู่ยาวนาน”
“ขอให้ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร”
“ขอให้อายุยืนเหมือนคุณยาย”

เสียงอวยพรดังขึ้นไม่ขาดระยะ จนกระทั่งพิธีแต่งงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นที่ชื่นชมของญาติวงศ์ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว  

เจ้าบ่าวน้อยเรวตะได้ยินคำอวยพรก็สะดุดใจทันที ภาพคุณยายอายุเกินร้อยร่างกายทรุดโทรม หนังเหี่ยวฟันหลุด ผมขาวโพลน เดินแทบไม่ได้ มือไม้สั่นเทิ้ม ต้องให้คนคอยพยุงลุกพยุงนั่ง จึงถามผู้ใหญ่ว่า เจ้าสาวของผมก็จะเป็นเช่นคุณยายใช่ไหม
“ใช่แล้ว จะอายุยืนปานนั่นแหละ” ญาติๆ ตอบ
“แล้วผมก็จะเป็นเช่นนั้นไหม”
“เป็นคือกัน คักแท้ๆ เด้ ลูกเอ๋ย” เสียงตอบยืนยัน ผู้ตอบนึกว่าเป็นการให้กำลังใจ

ตรงข้ามกับสร้างความสลดหดหู่ให้เกิดขึ้นแก่เจ้าบ่าวน้อย พลันภาพพระพี่ชายก็ผุดขึ้นในใจ สงสัยอุปติสสะพี่ชายเราคงคิดเห็นเช่นเดียวกันนี้ จึงเบื่อหน่ายออกไปบวช อย่ากระนั้นเลย เราไปบวชดีกว่า

คิดว่าถ้าจะลาบวชตรงๆ คงไม่ได้รับอนุญาตเพราะเพิ่งแต่งงาน จึงคิดจะหนีไปบวชขณะที่เขาแห่เพื่อส่งตัวเจ้าบ่าวไปยังห้องหอที่เตรียมไว้อย่างสวยหรูนั่น เรวตะได้ช่องทางหลบหนีไปยังสำนักวัดป่าซึ่งอยู่ใกล้ทางผ่าน เข้าไปขอบวช

ภิกษุทั้งหลายรู้ว่าเด็กน้อยเป็นน้องชายพระสารีบุตร จึงจัดการบวชเณรให้ เพราะถือว่าได้รับอนุญาตจากพระพี่ชายแล้ว

พระสารีบุตรรู้ว่าน้องชายคนเล็กได้บวชเป็นสามเณรแล้ว คิดจะไปนำตัวมาอยู่ด้วยที่พระเชตวันมหาวิหาร แต่พระพุทธองค์ตรัสว่าให้รอสักพรรษาหนึ่งก่อน ออกพรรษาแล้วค่อยไป พระองค์ก็จะเสด็จไปด้วย

ต้องเข้าใจนะครับ น้องชายท่านอยู่เมืองราชคฤห์ พระเชตวันมหาวิหารอยู่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ห่างกันคนละรัฐทีเดียว ระยะทางมิใช่ใกล้

ฝ่ายสามเณรน้อยเรวตะคิดว่า ถ้าอยู่ที่วัดป่านั้น พวกญาติอาจตามมาพบและนำตัวกลับบ้าน จึงเรียนกรรมฐานจากพระเถระทั้งหลายแล้วเข้าไปอยู่ในป่าสะแก ซึ่งอยู่ห่างจากวัดประมาณ ๓๐ โยชน์ (๔๐๐ เส้นเป็นหนึ่งโยชน์ เอา ๓๐ คูณก็แล้วกัน)

ภายในพรรษานั้นเอง สามเณรน้อยบำเพ็ญจิตภาวนาจนได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นสามเณรน้อยอรหันต์

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระสารีบุตรไปทูลลาพระพุทธเจ้า เพื่อไปเยี่ยมสามเณรน้องชายอีก ท่านคงเป็นห่วงว่าอยู่อย่างไร เพราะตัวยังเล็กนัก คราวนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ก็จะไปด้วย จึงพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมากเสด็จดำเนินไปยังเมืองราชคฤห์

ว่ากันว่ามีทางไปยังสองเส้นทาง เส้นทางหนึ่งเป็นทางตรงระยะทางประมาณ ๓๐ โยชน์ แต่เต็มไปด้วยพวก “อมนุษย์”

อีกเส้นทางหนึ่งเป็นทางอ้อมระยะทางประมาณ ๖๐ โยชน์ สะดวกสบายไม่มีอันตราย พระพุทธองค์ทรงเลือกเส้นทางตรง แม้จะไม่ค่อยปลอดภัยนักก็ไม่สู้กระไร เพราะคงไม่เกิดอะไรขึ้นกับขบวนพระสงฆ์ซึ่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข

แต่เส้นทางนี้ค่อนข้างกันดาร ไม่ค่อยมีผู้คน อาหารบิณฑบาตย่อมหายาก สงสัยกันว่าทำไมพระพุทธองค์ทรงเลือกเส้นทางนี้ ไม่กลัวพระสงฆ์อดตายหรืออย่างไร

ไม่อดและไม่ตายแน่นอนครับ เพราะทรงทราบว่าในขบวนตามเสด็จมีพระสีวลีเถระอยู่ด้วย พระสีวลีเป็นพระเถระมีบุญ มีลาภมาก ไปไหนๆ ก็จะมีลาภเสมอ คราวนี้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าเข้าป่ากันดาร ถึงไม่มีผู้คนจะนำข้าวปลาอาหารมาถวายพระสงฆ์ เหล่าเทพยดาทั้งหลายก็พากันตระเตรียมอาหารมาถวายตลอดทาง

ฝ่ายสามเณรน้อยอรหันต์เรวตะก็นิรมิตพระคันธกุฎีถวายพระพุทธองค์ประทับ สร้างเรือนยอด ลานจงกรม สถานที่พักกลางวันและกลางคืนถวายพระภิกษุสงฆ์ด้วยอิทธิฤทธิ์ ทำให้พระสงฆ์ทั้งปวงคิดว่ากำลังอยู่ในวัดสวยงามท่ามกลางป่า

แท้ที่จริงแล้วก็คือป่าสะแกดีๆ นี้เอง ที่กลายเป็นสถานที่มีสิ่งปลูกสร้างโอ่โถง สวยงามได้เพราะอำนาจอิทธิฤทธิ์บันดาล

พระแก่สองรูป เห็นกุฏิตึก เห็นอาคารต่างๆ สร้างอย่างสวยงาม ก็นึกตำหนิว่าภิกษุนี้ (หมายถึงสามเณรเรวตะ) คงมัวแต่ก่อสร้าง จะเอาเวลาที่ไหนบำเพ็ญเพียรทางจิต พระศาสดาเสด็จมาเยี่ยมผู้สนใจแต่กับการก่อสร้างอย่างเรวตะ คงเห็นว่าเป็นน้องชายพระอัครสาวก พูดง่ายๆ ว่า เห็นแก่หน้าว่าอย่างนั้นเถอะ

พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระขรัวตาสองรูปนี้คิดอกุศลต่อพระอรหันต์ขีณาสพ (ผู้หมดสิ้นกิเลส) จะเป็นบาปเป็นกรรมโดยใช่เหตุ จึงทรงบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ให้ขรัวตาสองรูปนี้ลืมบริขาร เมื่อทั้งสองกลับมาเอาบริขารที่วัดไม่เห็นตึกรามสวยงามที่เคยพักเลยแม้หลังเดียว มีแต่ป่าสะแกเต็มไปหมด ต้องบุกป่าฝ่าหนามสะแกค้นหาบริขารของตน พบห่อของๆ ตนห้อยอยู่ที่กิ่งสะแกต้นหนึ่ง แล้วกลับไปด้วยอาการงงๆ เหมือนนักมวยถูกหมัดฮุกของฝ่ายตรงข้าม

เหตุการณ์ผ่านไปเดือนกว่าๆ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากการเยี่ยมสามเณรน้อยอรหันต์แล้วก็เสด็จกลับไปยังเมืองสาวัตถีประทับบุพพาราม นางวิสาขามหาอุบาสิการู้ว่าพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมากประทับอยู่ที่วัดบุพพารามของตนจึงตระเตรียมภัตตาหารไว้ถวายในวันรุ่งขึ้น

ขรัวตาสองรูปอยู่ในจำนวนนั้นด้วยรีบไปบ้านนางวิสาขาแต่เช้าตรู่ทีเดียว (แสดงว่าต่างคนต่างไป ไม่พร้อมกัน ฉันเสร็จก็กลับวัด) นางวิสาขานำข้าวยาคูมาถวายขรัวตาทั้งสองรูป จึงเรียนถามว่าที่อยู่ของเรวตะอรหันต์น้อยเป็นอย่างไร น่าอยู่ไหม

ทั้งสองรูปลืมว่าเมื่อเดือนกว่าที่ผ่านมาพวกตนได้อยู่ในตึกสวยงามอย่างไร นึกได้แต่ตอนกลับไปเอาของที่ลืมไว้ ต้องบุกดงสะแกถูกหนามตำเท้าจนเลือดไหล จึงตอบว่า “น่าอยู่อะไรกัน โยม มีแต่ป่าสะแกไม่เหมาะที่คนจะอยู่ น่าจะเป็นที่อยู่ของพวกเปรตมากกว่า”

พระแก่คล้อยหลัง พระหนุ่มอีกสองรูปมาถึง นางถวายข้าวยาคูแล้วถามถึงที่อยู่ของเรวตะอรหันต์น้อย ทั้งสองพูดด้วยความอัศจรรย์ใจว่า “โอ มหาอุบาสิกา ในป่าในดงอย่างนั้นทำไมมีกุฏิสวยงามมากมายหลายหลัง ยังกับวิมาน น่ารื่นรมย์ดุจเทวสภาชื่อสุธรรมาบนดาวดึงส์สวรรค์ก็มิปาน โยมเอ๋ย”

ฟังภิกษุสองกลุ่มพูดไม่เหมือนกันเลย นางวิสาขาคิดว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างแน่หลังจากถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์แล้ว จึงกราบทูลถามว่าที่อยู่ของเรวตะอรหันต์น้อยเป็นอย่างไรกันแน่

พระพุทธองค์ตรัสว่า “อุบาสิกา ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือป่าก็ตาม พระอรหันต์อยู่ ณ สถานที่ใด สถานที่นั้นน่ารื่นรมย์ทั้งนั้น” แล้วตรัสโศลกบทหนึ่งว่า ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม หรือที่ดอน พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ที่ใด ที่นั้นไซร้ น่ารื่นรมย์

สามเณรเรวตะหลังจากได้อุสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ในเอตทัคคะ (ในความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ด้านอยู่ป่าเป็นวัตร (คืออยู่ป่าเสมอ) ตลอดชีวิตท่าน ท่านอยู่สงบแต่ในป่า โดยเฉพาะป่าสะแกท่านชอบมาก จนได้นามว่า “ขทิรวนิยเรวตะ” (เรวตะ ผู้ชอบอยู่ป่าสะแก) บางท่านแปลว่า “อยู่ป่าตะเคียน” ก็แล้วแต่จะแปลเถอะครับ

เพราะชอบอยู่ป่านี่เอง จึงเกิดเรื่องครั้งหนึ่ง เมื่อท่านชราภาพแล้ว ท่านถูกจับพร้อมของกลาง ที่พวกโจรมาทำหล่นไว้ เขาหาว่าท่านขโมยของเขามา  เมื่อเรื่องถึงพระราชาท่านได้แสดงความบริสุทธิ์ของท่าน ว่าอย่าว่าแต่ขโมยเลย แม้เจตนาสักนิดเดียวที่จะเอาของที่เขาไม่ให้ก็ไม่มีในใจท่าน พระราชาทรงเชื่อจึงให้ปล่อยท่านไป

แล้วท่านก็เข้าเตโชธาตุสมาบัติเหาะขึ้นในอากาศ  บัดดลนั้น ก็เกิดเปลวเพลิงลุกไหม้เผาร่างท่านเป็นเถ้าธุลี ดับขันธ์ปรินิพพาน ในห้วงนภากาศนั้นแล


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรเรวตะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๐ ประจำวันที่ ๒๙  มกราคม - ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙


.

(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRcpge-PL3UTn-lN4KbBeGUtZ5ndeHIHLkF1kzIDQaNlvEvEPjnSA)

สามเณรนาคเสน

วันนี้ขอเล่าประวัติสามเณร “นิรนาม” รูปหนึ่ง มีชีวิตอยู่ก่อนพุทธกาลนี้ คือในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ว่าอย่างนั้น ความว่า ในอาวาสแห่งหนึ่ง มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่อาศัยอยู่ ภิกษุทั้งหลายถือ ”วัตร” อย่างเคร่งครัด คือตื่นเช้าขึ้นมาก็จะจับไม้กวาดกวาดลานวัด ลานเจดีย์ เก็บขยะไปทิ้ง อย่างพร้อมเพรียงกัน วัดวาอารามสะอาดสะอ้านน่ารื่นรมย์ สมนาม “อาราม”

อาราม แปลตามศัพท์ว่า สถานที่ที่คนมาแล้วรื่นรมย์ (อาคนฺตวา รมนฺติ เอตฺถาติ อารามโม=สถานที่ใดที่คนทั้งหลายมาถึงแล้ว มีความรื่นรมย์ สถานที่นั้นเรียกว่า อาราม)

ส่วนสถานที่ใดแม้ว่าจะมีพระสงฆ์อยู่ คนเข้าไปถึงแล้ว มีแต่ความหงุดหงิดรำคาญใจ เหลียวไปไหนก็มีแต่ขยะ และรอยขีดเขียนคำไม่สุภาพตามกำแพง และมีกลิ่นปัสสาวะเหม็นคลุ้ง

อ้อ ตามลานวัดก็มีตลาดสด หรือไม่ก็เป็นลานจอดมากกว่าจะทำเป็นสวนหย่อม มีต้นไม้ใหญ่ใบหนา ให้คนที่มาถึงได้นั่งพักให้ร่มรื่นชื่นอารมณ์ สถานที่ดังว่านี้ไม่สมนามว่า อารามดอกครับท่าน

วันหนึ่งภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งกวาดลานวัดอยู่อย่างขะมักเขม้น เรียกสามเณรน้อยรูปหนึ่งมาสั่งว่า สามเณรเอาขยะไปทิ้งที สามเณรน้อยทำเป็นไม่ได้ยิน ภิกษุหนุ่มนึกว่าสามเณรไม่ได้ยินจริงๆ จึงเรียกตั้งสามครั้ง เจ้าสามเณรน้อยรูปนี้ก็แกล้งเอาหูทวนลมเสีย

ภิกษุหนุ่มจึงเอาด้ามไม้กวาดตีสามเณร พร้อมคำรามว่า “มันดื้อจริงวะ เณรน้อยรูปนี้” บังคับให้เธอเอาขยะไปทิ้งจนได้

สามเณรน้อยร้องไห้พลางขนขยะไปทิ้งพลาง แล้วตั้งความปรารถนา (อธิษฐาน) ดังๆ ว่า “ด้วยบุญคือการนำขยะไปทิ้งนี้ ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังไม่บรรลุพระนิพพาน ไม่ว่าจะเกิดในชาติภพใด ก็ขอให้เป็นเป็นผู้มีศักดิ์ (อำนาจ) มากดุจแสงพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน”

เมื่อทิ้งขยะเสร็จแล้ว จึงไปอาบน้ำยังแม่น้ำ เห็นคลื่นมันก่อตัวแล้วซัดเข้าหาฝั่งครั้งแล้วครั้งเล่า จึงตั้งความปรารถนาว่า “ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุพระนิพพาน ไม่ว่าจะเกิดในชาติภพใด ขอให้มีปฏิภาณเฉียบคมไม่รู้หมดสิ้นดุจเกลียวคลื่นเหล่านี้”

ฝ่ายภิกษุหนุ่ม ไปอาบน้ำเหมือนกัน ได้ยินสามเณรน้อยอธิษฐาน ว่าเณรเปี๊ยกนี้ ทิ้งขยะก็เพราะเราใช้ให้ทำ ถ้ามีอานิสงส์จากการทิ้งขยะเราควรจะได้ก่อน ว่าแล้วก็อธิษฐานดังๆ ว่า ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังไม่บรรลุพระนิพพาน ไม่ว่าจะเกิดในชาติภพใดขอให้มีปฏิภาณไม่รู้หมดรู้สิ้น ดุจคลื่นเหล่านี้ และขอให้สามารถแก้ปัญหาทุกข้อที่สามเณรนี้จะพึงถาม

เรียกว่าเกทับบลั๊ฟฟ์แหลกกัน ว่าอย่างนั้นเถอะ

ทั้งสอง คือ ทั้งภิกษุหนึ่งและสามเณรหนึ่งท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏตลอดพุทธันดรหนึ่ง ตกมาถึงพุทธกาลนี้ สามเณรนิรนามนั้นมาเกิดเป็นพระยามิลินท์ (เป็นชาวกรีก นามเดิมว่า เมนานเดอร์)

ภิกษุหนุ่มมาเกิดเป็นบุตรโสณุตตรพราหมณ์ แห่งหมู่บ้านกชังคละ เชิงเขาหิมาลัย เด็กน้อยมีนามว่า นาคเสน พราหมณ์ผู้เป็นพ่อเป็นพราหมณ์นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู มิได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไม่เคยทำบุญในพระพุทธศาสนา แม้จะมีพระภิกษุรูปหนึ่งยืนที่หน้าบ้านของตน แกก็มิได้สนใจ รำคาญเข้าก็ไล่ตะเพิด พระท่านก็ไม่ว่าอะไร เช้าวันรุ่งขึ้นก็มายืนสงบหน้าบ้านแกอีก แกก็ไล่ไปเหมือนเดิม

ถามว่า พระไปบิณฑบาต ไปยืนรอหน้าบ้านเขาได้หรือ ตอบว่า ธรรมเนียมโบราณสมัยพุทธกาลนั้น พระไปยืนหน้าบ้าน ถ้าเขามีอาหารและมีจิตศรัทธา ก็จะออกมาใส่บาตร ถ้าเขาไม่มีใส่ หรือไม่มีศรัทธาเขาก็จะบอกว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด” แล้วพระท่านก็จะไปที่อื่น

ธรรมเนียมไทยไม่เช่นนั้น ถ้าเห็นพระมายืนรอรับบิณฑบาต ก็นินทาแล้ว “อะไรกัน ทำไมไม่เดินบิณฑบาต มายืนรอทำไม อย่างนี้ไม่ถูกต้อง”

ครับ ไม่ถูกต้องตามวัฒนธรรมไทย แต่มิได้ผิดวัฒนธรรมพุทธนะขอรับ

ถามอีกว่า ทำไมพระเถระรูปนี้จึงทนทู่ซี้มายืนหน้าบ้านพราหมณ์คนนี้ตั้งนาน (ว่ากันว่าเป็นเวลา ๗ ปี) ตอบว่า เพราะท่านถูกทำ “พรหมทัณฑ์” คือในช่วงที่พระอรหันต์ทั้งหลายประชุม “วางแผน” เกี่ยวกับอนาคตพระพุทธศาสนานั้น ท่านรูปนี้มัวแต่เข้าฌานสมาบัติอยู่ ไม่ได้มาประชุมด้วยจึงถูกสงฆ์ลงโทษ ให้หาวิธีเอาเด็กน้อยนาคเสนมาบวชให้ได้ เพื่อจะได้เป็นกำลังพระพุทธศาสนา ปราบคนมิจฉาทิฐิที่เห็นผิดอย่างพระยามิลินท์ที่พูดถึงนี้

วันหนึ่ง ท่านเดินกลับวัด สวนทางกับพราหมณ์โสณุตตระ พราหมณ์ถามท่านว่า สมณะ วันนี้ท่านไปบ้านข้าพเจ้าหรือไม่ เมื่อรับคำตอบว่าไป จึงถามว่า “ได้อะไรบ้างไหม”

ถามไปอย่างนั้นเอง เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่มีใครใส่บาตรดอก แต่ผิดคาด พระเถระตอบเบาๆ ว่า “วันนี้อาตมาได้ โยม”

ได้ยินดังนั้นก็หูร้อนทันทีรีบไปบ้านถามคนในบ้านด้วยความโกรธว่า “ใครให้ข้าวสมณะ” เมื่อทุกคนปฏิเสธ “มิได้ให้เลย” ก็ยิ่งโกรธกำลังสอง คือโกรธสมณะ หาว่าพูดเท็จ พรุ่งนี้เถอะ ข้าจะจับผิดสมณะรูปนี้ให้ได้

รุ่งเช้าขึ้นมา แกก็นั่งรอพระเถระแต่เช้า พอเห็นหน้าก็ต่อว่าหาว่าท่านโกหก เมื่อวานนี้ไม่มีใครให้อะไรท่านเลย ท่านกลับบอกว่าได้
“อาตมาได้จริงๆ โยม” พระตอบสงบ
“ได้อะไร”
“ได้คำพูดไพเราะ เมื่อวานนี้ภรรยาของท่านกล่าวกับอาตมาว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด ตลอด ๗ ปี อาตมาไม่ได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีเลย มาเมื่อวานนี้ได้คำพูดอ่อนหวานว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด อาตมาหมายเอาคำพูดนี้ อาตมาจึงบอกโยมว่าอาตมาได้”

ฟังพระเถระอธิบาย พราหมณ์ก็อึ้งไป นึกไม่ถึงว่าสมณศากยบุตรนั้นเป็นผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนปานนั้น มีจิตใจกตัญญูรู้คุณอะไรปานนั้น เพียงแค่ได้คำพูดอ่อนหวานฉันไมตรีจิต ก็ยังซาบซึ้งว่าเป็นบุญคุณ จึงเกิดความเลื่อมใสนิมนต์ขึ้นไปฉันภัตตาหารที่บ้านเป็นประจำ แต่วันนั้นมาพระเถระก็กล่าวธรรมกถาวันละเล็กละน้อย โปรดโยมอุปัฏฐากของท่าน

เด็กน้อยนาคเสน เห็นพระเถระนุ่งห่มแปลกๆ ก็เข้ามาซักถาม ทำไมนุ่งห่มอย่างนี้ ทำไมไม่ไว้ผมเหมือนคนอื่น พระเถระก็อธิบายให้ฟังว่าพระในพระพุทธศาสนาต้องครองเพศอย่างนี้ ถามว่าท่านรู้ไตรเพทไหม ท่านบอกว่าท่านรู้ เมื่อถามไถ่เรื่องราวของไตรเพท พระเถระก็ตอบได้หมด พอพระเถระถามบ้างก็ตอบไม่ได้ จึงอยากจะขอเรียนจากพระเถระ

พระเถระว่า จะไม่สอนให้แก่คนที่ไม่ถือเพศอย่างเดียวกับตน เด็กน้อยนาคเสน อยากเรียนจากพระเถระ จึงตัดสินใจบวช ไปขออนุญาตพ่อแม่แต่ไม่ได้รับอนุญาตในเบื้องต้น

จึงประท้วงด้วยการอดอาหาร ยื่นคำขาดว่าถ้าไม่ได้บวชก็ขออดอาหารตายดีกว่า

พ่อแม่กลัวลูกตาย และคิดอีกทีว่า ลูกชายของตนเป็นคนใฝ่รู้มาก เมื่ออยากได้ความรู้แล้ว ไม่มีใครห้ามได้ เธอบวชเรียนได้ความรู้จากพระเถระแล้วก็คงสึกออกมา จึงอนุญาตให้ลูกชายบวช

ลืมบอกไปว่า พระเถระที่เทียวไล้เทียวขื่อตลอดเวลา ๗ ปี กว่าจะได้ตัวเด็กน้อยนาคเสนมาเป็นศิษย์รูปนี้ นามว่าพระโรหนเถระ ท่านโรหนะได้ให้เด็กน้อยนาคเสนบวชเป็นสามเณร ขณะนั้นอายุเพียง ๗ ขวบ บวชแล้วก็ให้การศึกษาอบรมอย่างดี โดยให้เรียนอภิธรรมก่อน

ว่ากันว่า อภิธรรม ๗ คัมภีร์ สามเณรน้อยนาคเสนใช้เวลา ๗ เดือน ก็เรียนจบและมีความแตกฉานอย่างดีเยี่ยม เธอได้สาธยายให้พระอรหันต์ทั้งหลายฟังอย่างแม่นยำ ไม่ผิดพลาด เมื่ออายุครบบวชพระก็ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีพระโรหนะเป็นพระอุปัชฌาย์

ตามประวัติดูเหมือนว่า นาคเสนขณะยังเป็นสามเณรอยู่ได้ศึกษาเฉพาะอภิธรรม ต่อเมื่อบวชแล้วจึงถูกส่งไปศึกษาปิฎกอื่น (พระสูตร และพระวินัย) จาก พระอัสสคุต และพระธัมมรักขิต จนเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกอย่างหาผู้เปรียบปานได้ยาก

ภายหลังถูกพระธัมมรักขิตเตือนว่า “อย่าเป็นเพียงเด็กเลี้ยงโค รับค่าจ้างเลี้ยงโคให้เขา แต่มิได้ดื่มรสน้ำนมโค” ความหมายก็คือ อย่าบำเพ็ญตนเป็นเพียงพหูสูต รู้หลักทฤษฎีเท่านั้น จงนำเอามาปฏิบัติจนได้รู้เห็นด้วยตนเองด้วย

ท่านจึงคร่ำเคร่งบำเพ็ญสมาธิวิปัสสนาจนในที่สุดได้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา (ความแตกฉาน ๔ ด้าน คือ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในภาษา และในปฏิภาณ)

ในช่วงที่กล่าวถึงนี้ คู่ปรับเก่าในอดีตชาติ (พระยามิลินท์) ได้โต้วาทะหักล้างนักปราชญ์ต่างๆ จนไม่มีใครสู้ได้ ต่างหลบหน้าไปหมด พระหนุ่มนาคเสน จึงได้เดินทางไปยังเมืองสาคละ เพื่อโต้วาทะกับพระยามิลินท์

การโต้วาทะอันลือลั่นครั้งนั้น ได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อว่า มิลินทปัญหา อยากทราบไหวพริบปฏิภาณของพระหนุ่มอดีตสามเณรน้อยนามว่า นาคเสน ว่าเฉียบคมอย่างไร หาอ่านจากหนังสือเล่มนี้


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรนาคเสน โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๑ ประจำวันที่ ๕-๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 มีนาคม 2559 13:27:29
.

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSUyl7sdR-8qgnwWoxHs7xz9ct9SFEQvOaEUSgtrANrGYK3TEgq)

สามเณรกุมารกัสสปะ (๑)

สามเณรรูปต่อไปที่จะกล่าวถึงคือสามเณรกุมารกัสสปะ ในคัมภีร์เรียกว่า กุมารกัสสปเถระ ทันทีที่ออกบวช

แต่ดูตามประวัติแล้ว กุมารกัสสปะบวชตั้งแต่อายุยังน้อย จะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากสามเณร ประวัติของท่านค่อนข้างพิสดาร ดังนี้ครับ

มีธิดาเศรษฐีเมืองราชคฤห์นางหนึ่ง มีอุปนิสัยในการบรรพชา อยากบวชมาตั้งแต่รู้ความ ขออนุญาตพ่อแม่ไปบวชในสำนักนางภิกษุณี ก็ไม่ได้รับอนุญาต เมื่อเติบโตเป็นสาวแล้ว พ่อแม่ก็ตกแต่งให้มีครอบครัวกับชายที่มีฐานะทัดเทียมกัน แต่งงานไม่นานก็ตั้งครรภ์โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว

ความคิดอยากจะบวชยังไม่เลือนหายไปจากส่วนลึกของจิตใจ นางจึงขออนุญาตสามีไปบวช สามีคงเห็นความตั้งใจแน่วแน่ของนางกระมัง ในที่สุดได้อนุญาตตามที่ขอ นางจึงไปบวชอยู่ในสำนักของนางภิกษุณี  บวชไม่นานครรภ์ก็โตขึ้นๆ จนปิดบังไม่อยู่ เมื่อความลับเปิดเผยว่านางภิกษุณีตั้งท้อง ใครรู้เข้าก็ตำหนิติเตียน ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเป็นข่าวใหญ่ทางสื่อมวลชน แต่นางภิกษุณีรูปนี้มิได้ทำผิด

ว่ากันว่าสำนักภิกษุณีที่นางสังกัดอยู่ในความดูแลของพระเทวทัต ข่าวภิกษุณีมีท้องรู้ถึงพระเทวทัต ท่านก็ “ฟันธง” ทันทีว่า นางภิกษุณีต้อง “อันติมวัตถุ” คือต้องปาราชิก ขาดความเป็นภิกษุณีแล้ว จึงสั่งให้สึกโดยไม่ต้องสอบสวนให้เปลืองสมอง

นางภิกษุณีผู้น่าสงสาร ก็อุทธรณ์ว่านางไม่มีความผิดตามกล่าวหา ขอความเป็นธรรมด้วย 

พระเทวทัตก็ไม่ยอม พูดว่า ก็ท้องเห็นๆ อยู่จะว่าไม่ผิดได้อย่างไร อยู่ๆ มันป่องขึ้นมาเองหรือ อย่างนี้แสดงว่านางมี “เพศสัมพันธ์” กับบุรุษทั้งผ้าเหลืองแน่นอน

นางบอกเหล่าภิกษุณีว่า นางมิได้บวชอุทิศพระเทวทัต นางบวชอุทิศพระศาสดา (หมายความว่าไม่ได้บวชเป็นศิษย์พระเทวทัต บวชเป็นสาวกของพระศาสดาต่างหาก) ขอให้พานางไปกราบทูลขอพระมหากรุณาจากพระบรมศาสดาเถิด ภิกษุทั้งหลายจึงพานางไปเฝ้าพระพุทธองค์ ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี

พระองค์รับสั่งให้พระอุบาลี ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย สอบสวนอธิกรณ์นี้ พระอุบาลีเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะของสตรี  บุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภิกษุอย่างท่านจะจัดการเรื่องนี้คงไม่ถนัด จึงไปขอร้องนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ช่วยสอบสวน  นางวิสาขาให้กั้นม่าน นำนางภิกษุณีเข้าไปตรวจสอบภายใน (ภายในม่านครับ และอาจจะ “ภายใน” จริงๆ ด้วยเพื่อความแน่นอน)  ตรวจดูมือ เท้า ท้อง และสะดือว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ซักถามวันเวลาที่บวช วันเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย วันเวลาที่รู้สึกว่าประจำเดือนไม่มา คำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็ได้ข้อสรุปว่า  นางตั้งครรภ์ก่อนบวชเป็นภิกษุณี

นางและคณะผู้สอบสวนจึงรายงานผลการสอบสวนให้พระอุบาลีทราบ พระเถระได้นำความกราบทูลพระพุทธองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์รับสั่งประชุมสงฆ์ ตรัสรับรองความบริสุทธิ์ของนางภิกษุณี

เกือบโดนไล่สึกฟรี โดยพระเทวทัตผู้ไม่รอบคอบแล้วละครับ

นางอุ้มท้องอยู่สำนักนางภิกษุณีจนครบกำหนด ก็คลอดลูกชายน่าเกลียดน่าชังคนหนึ่ง เลี้ยงดูตามมีตามเกิด ด้วยความช่วยเหลือของเหล่าภิกษุณีในสำนัก

เย็นวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จพระราชดำเนินตรวจบริเวณวัด หลังจากเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ตามปกติ ได้ยินเสียงทารกร้อง จึงเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปยังกุฏิที่มีเสียงเด็กร้องลอดออกมา ด้วยความสงสัยในพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จเข้าไปก็ทอดพระเนตรเห็นนางภิกษุณีรูปหนึ่งกำลังให้นมทารกน้อยอยู่ จึงตรัสถาม ได้รับการถวายพระพรถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นภิกษุณีมีความลำบากในการเลี้ยงลูกจึงตรัสขอไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรมในพระราชวัง นางก็ตัดใจมอบให้ไปเพื่อเห็นแก่อนาคตของลูกน้อย เด็กน้อยได้รับขนานนามว่า “กุมารกัสสปะ” แปลว่า กัสสปะผู้ได้รับการเลี้ยงดูดุจพระราชกุมารอื่นๆ

กุมารกัสสปะเจริญเติบโตพอรู้เดียงสาได้ทราบว่าตนเป็นลูกไม่มีพ่อ เกิดสลดใจ อยากบวช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกบวชในสำนักของภิกษุสงฆ์ตั้งแต่อายุยังน้อย

ไม่ได้บอกว่าอายุเท่าไหร่ แต่ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท บอกว่าเป็นเวลา ๑๒ ปี  นับแต่ลูกน้อยจากไป ภิกษุณีผู้เป็นแม่ไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรม มัวคิดถึงแต่ลูกน้อยผู้จากไป แสดงว่า กุมารกัสสปะคงบวชสามเณรเมื่ออายุประมาณสิบกว่าขวบ

วันหนึ่งขณะสามเณรกุมารกัสสปะ ไปบิณฑบาตในเมือง นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาก็ไปบิณฑบาตเช่นเดียวกัน นางเห็นสามเณรน้อย จำได้ว่าเป็นลูกชายของตน (จำได้อย่างไรไม่ทราบ เพราะจากไปตั้งแต่ยังเล็กๆ) จึงวิ่งเข้าไปหา ปากก็ร้องเรียกว่า “โอ ลูกแม่ๆ” ล้มลงต่อหน้าบุตรชาย ถันหลั่งขีรธาราออกมาเปียกจีวรหมด (นี่ก็ “เวอร์” อีก ตั้งสิบสองปีแล้วน้ำนมยังไหลอยู่หรือ)

สามเณรน้อยอรหันต์ คิดว่า ถ้าแม่เราได้ยินมธุรสวาจาจากเรา นางก็ยิ่งจะตัดความรักบุตรไม่ขาด เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรมแน่นอน คิดแล้วก็กล่าวกับมารดาด้วยเสียงห้าวๆ ว่า “มัวทำอะไรอยู่ จนป่านนี้แล้ว ยังตัดไม่ขาดกระทั่งความรักลูก”

คำพูดของสามเณรลูกชาย เป็นดุจสายฟ้าฟาดเปรี้ยงลงกลางกระหม่อม นางร้องไห้ด้วยความเสียใจล้มสลบลง ฟื้นขึ้นมา ไม่รู้สามเณรน้อยบุตรชายไปที่ไหนเสียแล้ว

นางคร่ำครวญอย่างน่าสงสารว่า ดูหรือลูกเรา เราร้องไห้คร่ำครวญหาด้วยความรักความห่วงใยมาเป็นเวลาสิบสองปี พอพบหน้า จะพูดดีกับเราสักคำก็ไม่มี ช่างใจไม้ไส้ระกำอะไรปานนั้น

นางพยายามข่มใจ ตัดความรักในบุตรได้ เรียกว่าเมื่อลูกไม่ง้อแม่ก็ไม่ง้อเหมือนกัน ว่าอย่างนั้นเถิด ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญเพียรทางจิต  ไม่นานก็สามารถบรรลุมรรคผลชั้นสูงคือเป็นพระอรหันต์

สามเณรกุมารกัสสปะเมื่ออายุครบบวชพระ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในเวลาต่อมา ว่ากันว่าท่านได้บรรลุธรรม เพราะได้ฟังปัญหาพยากรณ์ (การตีปริศนาธรรม) ๑๕ ข้อ จากพระพุทธองค์ แล้วนำไปเพ่งพิจารณาในป่าอันธวัน

จนกระทั่งกระจ่าง “สว่างวาบในใจ” บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา (ความแตกฉานในเรื่องต่างๆ ๔ ประการ)

ในคัมภีร์มิได้ระบุชัดว่า ท่านบรรลุก่อนบวชพระ หรือขณะยังเป็นสามเณรอยู่

ปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ คืออะไรบ้าง รวมถึงการอธิบายเรื่องนรก สวรรค์ ให้เข้าใจง่ายและเป็นรูปธรรมที่สุดของท่านด้วย จะเล่าภายหลัง




สามเณรกุมารกัสสปะ (๒)

เรื่องราวของสามเณรกุมารกัสสปะยังไม่จบ ขอต่ออีกสักตอนสองตอน

หลังจากอุปสมบทแล้ว ปรากฏว่าพระกุมารกัสสปะมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการแสดงธรรมอย่างวิจิตร มีปฏิภาณฉับไวโต้ตอบปัญหายากๆ ได้อย่างดี จนพระพุทธเจ้าทรงยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการแสดงธรรมอันวิจิตร

ในคาถารัตนบัญชร ต่อมาเรียก ชินบัญชร นั้น  บทหนึ่งได้กล่าวนมัสการท่านกุมารกัสสปะว่า กุมารกสฺสโป เถโร มเหสิ จิตฺตวาทโก โส มยฺหํ วทเน นิจฺจํ ปติฏฐาสิ คุณากโร = พระกุมารกัสสปะ ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้มีวาทะอันวิจิตร ผู้เป็นแหล่งแห่งคุณความดีได้มาสถิตอยู่ที่ปากของข้าพเจ้าเป็นนิตย์

ว่ากันว่าเป็น “คาถานักเทศน์” คือ นักเทศน์ นักโต้วาที นักอภิปราย รวมถึงพวกที่อาศัยปากหากินทั้งหลาย จะเสกคาถานี้ประจำ หรือขณะจะขึ้นเวทีประคารมกับคนอื่น

นี้แสดงว่า ความเป็นเลิศของท่านกุมารกัสสปะอดีตสามเณรน้อยกำพร้ารูปนี้ เป็นที่รู้กันในหมู่ชาวพุทธทั้งหลาย อ้อ ใครจะจำคาถานี้ไปใช้ก็ได้นะครับ ใช้แล้วได้ผลอย่างไร บอกด้วยก็แล้วกัน

สมัยหนึ่งขณะท่านกุมารกัสสปะอยู่ที่ป่าอันธวันเมืองสาวัตถี เทวดาตนหนึ่งปรากฏตัวต่อหน้าท่านกล่าวปริศนาธรรม ๑๕ ข้อแล้วก็หายวับไป

ท่านกุมารกัสสปะ นึกอย่างไรก็ไม่ทราบคำตอบ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลถามปริศนาธรรม ๑๕ ข้อนั้น และกราบทูลขอคำอธิบายจากพระพุทธองค์

ปริศนาธรรม ๑๕ ข้อนั้นคือ
มีจอมปลวกหนึ่ง กลางคืนพ่นควัน กลางวันลุกเป็นไฟ พราหมณ์คนหนึ่งสั่งศิษย์ชื่อสุเมธ ให้เอาจอบมาขุดจอมปลวกนั้น สุเมธจึงขุดลงไปพบลิ่มสลัก พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบทางสองแพร่ง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบหม้อน้ำด่าง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงอีกพบเต่า พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบเขียงหั่นเนื้อ พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบพญานาค พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกว่า อย่าไปทำอันตรายมัน จงเคารพนอบน้อมมันอย่างดีที่สุด

พระพุทธเจ้าตรัสไขปริศนาให้ท่านกุมารกัสสปะฟัง ดังนี้
๑.จอมปลวก นั้น หมายถึงร่างกายของคนเรา อันประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และขันธ์๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) นี้เอง
๒.กลางคืนพ่นควัน หมายถึงคนเราเมื่อเวลากลางคืน มันจะคิดวางแผนว่าจะทำนั่นทำนี่ จนสมองเต็มไปด้วยโครงการต่างๆ เต็มไปหมด นี่แหละเรียกว่า กลางคืนพ่นควันละ
๓.กลางวันลุกเป็นไฟ หมายถึงพอเช้าขึ้นมาก็จะไปทำตามแผนการที่วางไว้ให้เป็นรูปร่าง เหนื่อยแทบสายใจจะขาด ดังคำพังเพยว่า “อาบเหงื่อต่างน้ำ” จบแทบว่าร่างกายจะลุกเป็นไฟ
๔.พราหมณ์ หมายถึงผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ในกรณีนี้เพ่งเอาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๕.สุเมธ ผู้เป็นศิษย์พราหมณ์ หมายถึง ผู้ยังต้องศึกษาปฏิบัติเพื่อมรรคผล คำว่า “สุเมธ” (แปลว่าผู้มีปัญญา) บอกเป็นนัยว่าผู้ศึกษาต้องใช้ปัญญา
๖.จอบ เครื่องสำคัญขุดดิน หมายถึงปัญญา
๗.การขุด หมายถึง วิริยารัมภะ (ความเพียรที่ต่อเนื่อง) ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ละทิ้งกลางคัน
๘.ลิ่มสลัก หมายถึง อวิชชา (ความโง่เขลา ความไม่รู้ตามเป็นจริง) ขุดไปพบอวิชชาแล้ว ต้องรีบเอาทิ้ง คือเอาความโง่ทิ้งไป หาไม่จะไม่ได้ผลจากการปฏิบัติ
๙.อึ่งอ่าง หมายถึง ความคับแค้น เพราะความโกรธ ในการปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามอย่าให้กิเลสฝ่ายโทสะเข้ามาครอบงำ

ขอแทรกตรงนี้นิดหน่อย คราวหนึ่งผมถวายความรู้แก่พระนิสิตมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์) ผมยกพระสูตรนี้ขึ้นมาแล้วเปรยว่า ผมไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำไมท่านเปรียบความคับแค้นด้วยความโกรธเหมือนอึ่งอ่าง พระนิสิตจากภาคอีสานท่านหนึ่งกล่าวว่า “อาตมารู้แล้ว อาจารย์ อึ่งอ่างนั้นมันจะโผล่ออกมาจากพื้นดินเฉพาะหน้าฝนเวลาฝนตกเท่านั้น เวลานอกนั้นไม่รู้มันอยู่ที่ไหน คงอยู่ใต้ดินนั่นแหละ นานๆ ฝนจะตกสักที ยิ่งทางภาคอีสานฝนยิ่งไม่ค่อยตก อึ่งอ่างมันคงคับแค้นใจมาก พอมีฝนตกมาที มันจึงได้โอกาสโผล่ขึ้นมาร้อง แถมยังถูกคนจับเอาไปทำ ‘ปลาแดก’ (ปลาร้า) อีกด้วย อย่างนี้ไม่คับแค้นไหวหรือ ท่านว่าอย่างนั้น”

ฟังดูก็เข้าทีนะครับ

๑๐.ทางสองแพร่ง หมายถึงวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ความสงสัยไม่ตัดสินใจอะไรเด็ดขาด เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติเพื่อมรรคผลอย่างยิ่งเป็นหนึ่งในนิวรณ์ (เครื่องปิดกั้นมิให้บรรลุธรรม) ๕ ประการ ข้อเปรียบเทียบนี้ชัดเจนแทบไม่ต้องขยายความ
๑๑.หม้อน้ำด่าง หมายถึง นิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ อันมี ความพอใจในกาม เป็นต้น นิวรณ์ ๕ เป็นเครื่องย้อมใจให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน ไม่ต่างกับหม้อน้ำด่างที่ย้อมผ้าให้เป็นสีต่างๆ พูดให้ชัดก็คือนักปฏิบัติธรรมไม่พึงให้กิเลสทั้งหลายมันย้อมใจจนสูญเสียปกติภาพ
๑๒.เต่า หมายถึงความยึดมั่นในขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ยึดมั่นว่าตัวกู ของกู (ตัวมึง ของมึงด้วยแหละ) ไม่ว่าทำอะไรถ้าเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นเกินเหตุก็ยากจะได้ผล ยิ่งการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุผลขั้นสูง ยิ่งต้องปล่อยวางความยึดติดในตัวเราของเราให้ได้

ทำไมเปรียบการยึดมั่นในขันธ์ ๕ ดุจเต่าก็ไม่ทราบสิครับ อาจเป็นด้วยว่าเต่ามันเป็นสัตว์เชื่องช้า ความยึดติดในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้บรรลุช้าก็เป็นได้ หรือเต่านั้นกระดองหนามาก ความยึดมั่นถือมั่นมัน “หนา” ไม่แพ้กระดองเต่า ยากที่จะทำลายได้

หรือเต่านั้นมีนิสัยชอบหดหัวเข้ากระดอง เดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่ การปฏิบัติธรรมถ้ามัวแต่ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็คงไม่ได้ผลเท่าที่ควร

โอ๊ย แปลความได้สารพัดแหละครับ ผิดถูกอย่างไรเป็นเรื่องของท่านผู้อื่นวินิจฉัยเอา ผมก็ลืมอ่าน “อรรถกถา” ว่าท่านอธิบายความไว้อย่างไร
๑๓.เขียงหั่นเนื้อ หมายถึงกามคุณ (ชนิดของกาม) ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ข้อนี้อธิบายง่าย ปุถุชนอย่างเราร้อยทั้งร้อยก็ตกอยู่ในอำนาจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้แหละ ท่านเปรียบเหมือนสัตว์ถูกจูงจมูก แล้วแต่มันจะจูงไปไหนเอาง่ายๆ  บางคนเป็นทาสลิ้น ติดใจในรสอร่อย เสือกสนไปหามาปรนเปรอลิ้น ไกลแค่ไหนก็ไป บางทีขับรถไปเป็นระยะทางร้อยๆ กิโลเมตร เพียงเพื่อไปกินก๋วยเตี๋ยวชามสองชามที่เขาว่ามันอร่อยนัก เวลาคนเราถูกครอบงำด้วย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันไม่ต่างกับกำลังถูกเขา “ยกขึ้นเขียงเชือด” ยังไงยังงั้น…ถูกเชือดบ่อยๆ แล้วมันจะเหลืออะไร
๑๔.ชิ้นเนื้อ หมายถึง นันทิราคะ (ความกำหนัดยินดี) ตัวความกำหนัดนี่แหละเป็นประดุจชิ้นเนื้อที่เอร็ดอร่อยนักสำหรับปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ใครมัวแต่เพลินกินชิ้นเนื้อก็ถูกเนื้อเป็นพิษเล่นงานเอา เสียผู้เสียคนไปนักต่อนักแล้ว
๑๕.พญานาค หมายถึง พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง เมื่อขุดมาพบพญานาค นับว่าได้มาพบ “สิ่งประเสริฐที่สุด” แล้ว ไม่ควรเอาทิ้ง ตรงข้าม ควรให้ความเคารพบูชา

ข้อนี้อธิบายได้ว่า
ผู้ปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามละสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอุปสรรคแห่งการปฏิบัติให้หมดตามลำดับ ตั้งแต่ความเขลาไม่รู้จริง ความลังเลสงสัย ความโกรธ ความคับแค้น ความยึดมั่นถือมั่น ความติดในรูป รส กลิ่น เสียง เอาออกให้หมด

เมื่อละสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะบรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องละอะไรอีก เพราะได้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติแล้ว

พระกุมารกัสสปะได้ฟังพระพุทธองค์ทรงไขปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ ก็หมดความสงสัย

อ้อ!! เทวดาที่มาถามปริศนาธรรม จะตีความตามตัวอักษรก็ไม่มีใครว่า

ผมว่าคงหมายถึงความนึกคิดของท่านเองมากกว่า

ว่างๆ ก็นึกปริศนาขึ้นมาแล้วเมื่อแก้ไม่ได้หรือไม่กระจ่างจึงต้องไปกราบทูลพระพุทธองค์

คงเพราะนิสัยชอบขบคิดด้วยปัญญาเช่นนี้แหละ ท่านกุมารกัสสปะจึงกลายเป็นผู้ปฏิภาณเฉียบแหลมในเวลาต่อมา

นึกแล้วเชียวว่าเรื่องนี้จะต้องมีตอนสาม ขอยกยอดไปสัปดาห์หน้าครับ



สามเณรกุมารกัสสปะ (๓)

เล่าประวัติสามเณรกัสสปะยังไม่จบ ขอต่ออีกสักตอนเถอะครับ เพราะท่านรูปนี้หลังจากอุปสมบทแล้ว มีชื่อเสียงในด้านการแสดงธรรม เผยแผ่พระพุทธศาสนามาก

ปายาสิราชัญญสูตร ในทีฆนิกาย เป็นบันทึกการโต้วาทะครั้งยิ่งใหญ่ ระหว่างราชันย์ปายาสิผู้ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ กับพระกุมารกัสสปะ ในที่สุดแห่งการถกเถียงอภิปราย ราชันย์ปายาสิยอมเชื่อและละทิฐิ (ทฤษฏี, ความเห็น) ของตน

ปายาสิท่านนี้ พระบาลีเรียกว่า “ราชญญะ” (ราชันย์) เจ้าผู้ครองนครเล็กๆ นามว่า เสตัพยะ ในแคว้นโกศล ปายาสิเป็นนักคิดนักวิจัยก็ว่าได้ เพราะทฤษฎีของเธอที่ว่านรกไม่มีสวรรค์ไม่มีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่เกิดจากความสงสัยในเบื้องต้นแล้ว “ทดลอง” เพื่อพิสูจน์

เมื่อพิสูจน์ตามแนวทางของตนแล้ว จึงประกาศออกมาสู่สาธารณะ ไม่ประกาศเปล่า ท้าทายด้วยว่าใครแน่จริงให้มาโต้กับตน

ประดาพระอรหันต์ที่ไม่มีอภิญญา (ความสามารถพิเศษ) ไม่มีปฏิสัมภิทา (ความแตกฉาน) ก็หลบๆ ไป ไม่อยากตอแยกับท้าวเธอ

ยิ่งทำให้ท้าวเธอได้ใจว่า ในโลกนี้ไม่มีใครเก่งเท่าข้าฯ (นักวิชาการแสนรู้ทั้งหลายมักจะคิดเช่นนี้แหละครับ)

ร้อนถึงท่านกุมารกัสสปะ อดีตสามเณรน้อยลูกกำพร้าได้เดินทางไปสนทนากับราชันย์ปายาสิ

ปายาสิประกาศว่า โลกหน้าไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี

พระมหากัสสปะ ถามว่า ทำไมคิดเช่นนั้น

ปายาสิตอบว่า ข้าพเจ้าเคยทดลองโดยสั่งคนทำชั่ว (ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพูดว่าจะต้องไปตกนรกแน่ๆ) ให้กลับมาบอกหลังจากไปตกนรกแล้ว สั่งไปหลายคนแล้ว แต่ละคนก็รับปาก แต่จนบัดนี้ไม่มีใครกลับมาบอกเลย

พระมหากัสสปะอธิบายว่า นักโทษประหารที่เขานำไปสู่ตะแลงแกงแกจะขออนุญาตให้ปล่อยตัวแกเพื่อไปสั่งเสียลูกเมียสักระยะหนึ่ง ย่อมไม่ได้รับอนุญาต เช่นเดียวกับสัตว์นรก ย่อมไม่มีอิสระที่จะไปไหนมาไหนได้ ถึงเขาไม่ลืมสัญญาของท่าน เขาก็มาบอกท่านไม่ได้

ปายาสิแย้งว่า ไม่ใช่เพียงแค่นั้น พระคุณเจ้า ข้าพเจ้ายังได้สั่งให้คนดีมีศีลธรรม (ที่สมณพราหมณ์ยืนยันว่าตายไปจะต้องไปเกิดบนสวรรค์แน่) ให้กลับมาบอกเช่นเดียวกัน พวกนี้ไปแล้วก็เงียบหาย

พวกเทวดาไม่ได้ถูกทำโทษทรมาน แล้วทำไมเขาไม่มาบอกเล่า อย่างนี้ชี้ให้เห็นชัดๆ แล้วว่าสวรรค์ไม่มีจริง

พระกุมารกัสสปะอธิบายว่า มีเหตุผลสองประการที่เทวดาไม่มาบอกท่าน

ประการแรก คือ ระยะเวลาห่างกันมาก ร้อยปีในเมืองมนุษย์เท่ากับวันคืนหนึ่งของสวรรค์ ถึงแม้ผู้ที่รับปากท่านไม่ลืม กะว่าพรุ่งนี้จะกลับมาบอกท่าน ถึงเวลานั้นท่านก็ตายไปนานแล้ว

อีกประการหนึ่ง โลกมนุษย์นั้นมันสกปรก เหม็นร้ายกาจ ไม่เป็นที่ปรารถนาของเทวดา เมื่อคนตายจากโลกมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดาแล้ว ก็ไม่อยากกลับมาอีก ดุจคนตกหลุมคูถเน่าเหม็น มีคนช่วยยกขึ้นจากหลุม อาบน้ำชำระให้สะอาดแล้วลูบไล้ด้วยของหอม เขาจะยินดีกระโจนลงไปหลุมคูถอีกหรือ ไม่แน่นอน ท่านปายาสิ ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ

ปายาสิกล่าวว่า คำตอบของท่านพอฟังได้โดยอุปมา แต่ข้าพเจ้ายังไม่เชื่ออยู่ดี เพราะถ้านรกสวรรค์มีจริง ข้าพเจ้าก็น่าจะสัมผัสได้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเลย

พระกุมารกัสสปะตอบว่า คนตาบอดตั้งแต่กำเนิดไม่เคยเห็นสีแสงเลย ไม่เคยเห็นพระจันทร์ พระอาทิตย์ เขากล่าวว่า ข้าฯ ไม่เชื่อว่ามีสีต่างๆ ไม่เชื่อว่ามีพระจันทร์ พระอาทิตย์ เพราะข้าฯ ไม่เห็น คำพูดนี้ฟังขึ้นไหม ไม่ขึ้นแน่นอน เพราะคนตาดีเขามองเห็นและรู้ว่าสีต่างๆ มีจริง พระจันทร์ พระอาทิตย์มีจริง

ปายาสิอ้างผลวิจัยว่า ข้าพเจ้าเคยทดลองโดยนำนักโทษประหารมาใส่หม้อใหญ่ทั้งเป็น เอาดินเหนียวพอก ปิดให้มิดชิด แล้วยกขึ้นตั้งบนไฟ คอยเฝ้าดูว่าคนตายแล้ว ชีวะ (วิญญาณ) เขาจะออกจากร่างไปไหน ก็ไม่เห็น ครั้งกะเทาะดินออกดู  ก็ไม่เห็นชีวะเขาแต่อย่างใด แสดงว่าตายแล้วสูญ

พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า คนนอนหลับฝันว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ คนที่อยู่ใกล้ๆ เห็นชีวะเขาหรือไม่ ขนาดชีวะของคนเป็นๆ ยังไม่มีใครเห็นเลย ชีวะของคนตายแล้วจะเห็นได้อย่างไร

ปายาสิกล่าวว่า คำอุปมาของท่านก็เข้าที แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่ออยู่ดี ข้าพเจ้าเคยวิจัยอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้จับนักโทษประหารมาชั่งน้ำหนักแล้ว เอาเชือกรัดคอเขาจนตาย แล้วยกขึ้นชั่งน้ำหนักดูอีกที ศพกลับหนักกว่าตอนยังมีชีวิตอยู่อีก

ที่ว่าตายแล้วชีวะออกจากร่างก็ไม่จริง เมื่อมันออกจากร่าง ร่างกายต้องเบากว่าสิ แต่นี่กลับหนักกว่าเสียอีก

พระกุมารกัสสปะยกอุปมาอุปไมยให้ฟังว่า เหล็กที่เผาไฟจนร้อนนั้นย่อมเบากว่าเหล็กที่เย็น ฉันใด มนุษย์ก็ฉันนั้น เมื่อยังมีไออุ่น ยังมีจิตวิญญาณอยู่ ร่างกายย่อมเบากว่าเมื่อตายแล้ว ไม่เกี่ยวกับความเชื่อว่าวิญญาณออกจากร่างหรือไม่ออกจากร่างแต่อย่างใด (ความเชื่อแบบนั้นมิใช่คำสอนของพระพุทธศาสนา)

ปายาสิกล่าวอีกว่า ข้าพเจ้ามิได้ทดลองเพียงนั้น ยังทดลองวิธีอื่นอีก คือจับนักโทษประหารมาฆ่าโดยมิให้ผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกของเขาช้ำ เมื่อเขาจวนจะตายก็ให้นอนหงาย นอนตะแคง คว่ำหน้า ฯลฯ เพื่อเฝ้าดูว่าชีวะของเขาจะออกมาทางไหน ก็ไม่เห็นเลย

พระกุมารกัสสปะตอบว่า ชาวบ้านมุงดูชายคนหนึ่งเป่าสังข์เสียงไพเราะ ชาวบ้านถามว่าเสียงอันไพเราะนี้มาจากไหน คนเป่าสังข์บอกว่าออกมาจากสังข์นี้ ชาวบ้านจึงจับสังข์มาหงายบอกให้เปล่งเสียง สังข์เงียบจับมันคว่ำแล้วบอกให้มันเปล่งเสียง สังข์ก็เงียบอีก จับตะแคง เอาไม้เคาะเอามือทุบ สั่งให้มันเปล่งเสียง มันก็เงียบเหมือนเดิม

คนเป่าสังข์จึงยกสังข์ขึ้นเป่าให้ดู เสียงอันไพเราะก็เปล่งออกมาก ชาวบ้านก็จ้องดูว่าเสียงมันออกมาทางไหน ก็ไม่เห็น

ชาวบ้านโง่ๆ ไม่รู้ว่าวิธีจะให้เสียงเปล่งออกมาจากสังข์ทำอย่างไรและโง่จนไม่รู้ว่าเสียงสังข์นั้นมันมิใช่สิ่งที่มองเห็นได้ ไม่ต่างอะไรกับบางคนที่ต้องการพิสูจน์วิญญาณออกจากร่างกายอย่างไร ทำไมจึงมองไม่เห็น

ตรงนี้พระเถระกำลังจะบอกว่า การพิสูจน์ทดลองเรื่องการตายโดยวิธีนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ถูกตั้งแต่สมมติฐานแล้วว่า คนตายไปชีวะ (วิญญาณ) จะต้องออกจากร่าง เมื่อไม่สามารถพิสูจน์ว่าวิญญาณมันออกจากร่างได้อย่างไรก็เลยไม่เชื่อเรื่องการตาย การเกิด

ปายาสิก็ยังไม่ลดละ เสนอผลงานวิจัยของตนต่อไปว่า ข้าพเจ้าเคยสั่งให้เชือดผิวหนัง เชือดเนื้อ ตัดเอ็น กระดูก ของนักโทษประหารเพื่อจะหาว่าชีวะมันอยู่ที่ไหน ก็ไม่พบ เอามาสับละเอียดก็ไม่พบ ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าชีวะหรือวิญญาณไม่มีจริง

พระกุมารกัสสปะเตือนสติอีกครั้งโดยยกอุปมาอุปไมยว่า ชฏิลผู้บูชาไฟคนหนึ่ง สั่งศิษย์อายุประมาณ ๑๐-๑๑ ขวบ ให้ดูแลกองไฟให้ดี ถ้ามันดับให้ก่อไฟใหม่ ศิษย์มัวเล่นเพลินไฟดับ กลัวอาจารย์ดุ จึงเอาไม้สีไฟมาสีกัน (เพราะเคยเห็นอาจารย์ทำประจำ) ก็ไม่เกิดไฟจึงเอามีดมาถากไม้สีไฟ ก็ไม่มีไฟออกมา จึงสับเป็นชิ้นๆ ก็ไม่เห็นไฟออกมา เสร็จแล้วเอาโขลกในครกจนละเอียด โปรยละอองให้ลมพัด ก็ไม่เห็นไฟออกมา จึงไม่สามารถก่อไฟได้

“เด็กโง่คนนี้ ไม่รู้จักวิธีหาไฟ จึงไม่สามารถก่อกองไฟได้ เช่นเดียวกับท่านไม่รู้จักวิธีแสวงหาปรโลก (โลกหน้า) ก็ย่อมไม่พบความจริง ฉันนั้น” พระกุมารกัสสปะเตือนสติปายาสิว่า เรื่องการตายเกิด เรื่องจิตวิญญาณ ไม่สามารถค้นหาโดยวิธีนั้นได้ เมื่อใช้ “เครื่องมือไม่ถูกกับเรื่อง” ก็ย่อมไม่ได้ความรู้ หรือความจริงที่ถูกต้อง

ปายาสิเมื่อไม่สามารถจะหาเหตุผลมาโต้แย้งได้ จึงกล่าวขึ้นว่า “พระคุณเจ้าก็พูดน่าฟัง แต่ข้าพเจ้ายังไม่สละความคิดเห็นเดิมที่ตัวท่านเองก็เห็นว่ามันไม่ถูกต้องแล้ว”

ปายาสิตอบว่า “จะให้สละได้อย่างไร ในเมื่อใครๆ ก็รับรู้แล้วว่าข้าพเจ้ามีทรรศนะอย่างนี้มาแต่ต้น พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งโกศลรัฐก็ดี กษัตริย์แว่นแคว้นอื่นๆ ก็ดี ต่างก็รับรู้ว่าข้าพเจ้ามีทรรศนะอย่างนี้”

พูดให้ชัดก็ว่า อายเขา ว่าอย่างนั้นเถอะ นักวิชาการผู้มากความรู้ก็อย่างนี้แหละครับ ทั้งๆ ที่รู้ภายหลังว่าตนเห็นผิด ก็ไม่ยอมรับว่าผิด ดึงดันไปทั้งที่ผิดๆ อย่างนั้นแหละ

พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า เมื่อรู้ว่าทรรศนะเดิมไม่ถูกต้อง ก็จงสละเสียเถิด อย่าดึงดันเลย เพราะไม่เป็นผลดีแก่ตัวท่าน ว่าแล้วท่านก็ยกอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบ ๔ เรื่อง ขอยกมาเพียงสองเรื่องคือ
๑.คนเลี้ยงหมูไปหมู่บ้านอื่นเห็นขี้หมู นึกว่านี่แหละอาหารหมูจึงเอาผ้าห่มเทินศีรษะเดินกลับบ้าน บังเอิญฝนตกน้ำขี้หมูไหลลงมาเปรอะตามตัว คนเห็นเขาก็หัวเราะเยาะชี้ให้กันดูชายโง่ที่ไหนแบกขี้หมูตากฝน เขาเถียงว่าไม่ใช่ขี้หมูเว้ย นี่คืออาหารหมู พวกท่านสิโง่ไม่รู้จักอาหารหมู
๒.ชายสองคนเดินทางไปด้วยกัน พบสิ่งต่างๆ ระหว่างทางมากมาย เช่น เชือกป่าน ด้าย ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่ว เงิน ทอง ชายคนแรกถือเอาเชือกป่านแล้วก็ไม่ยอมทิ้ง เมื่อพบสิ่งอื่นดีกว่าก็ไม่ยอมเอา เพราะคิดว่าเชือกป่านนี้ถือติดตัวมาไกล จะทิ้งก็เสียดาย แต่ชายอีกคนเมื่อพบของดีกว่าก็ทิ้งของเก่า เอาของใหม่ จนในที่สุดเขานำทองติดตัวกลับบ้านมากมาย

เมื่อชายทั้งสองกลับถึงบ้าน บุตรและภรรยาของชายคนแรกต่างก็ว่าเขาโง่ ส่วนชายที่ได้ทองไปมากเป็นที่ชื่นชมยินดีของบุตรและภรรยา

“เมื่อรู้ว่าอะไรดีกว่า ถูกต้องกว่า ก็น่าจะยึดถือปฏิบัติสละทิ้งสิ่งที่ผิดๆ เสีย” พระเถระกล่าวสรุป

ปายาสิยอมจำนนด้วยเหตุผล จึงประกาศสละความเห็นผิดของตนนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เริ่มให้ทานรักษาศีลแต่บัดนั้นจนสิ้นชีวิต

เรื่องราวของสามเณรกุมารกัสสปะก็จบลงเพียงเท่านี้


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรกุมารกัสสปะ (๑)-(๓) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๒-๑๘๕๔ ประจำวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ - ๒ มีนาคม ๒๕๕๙


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 มีนาคม 2559 15:17:12
.

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSUyl7sdR-8qgnwWoxHs7xz9ct9SFEQvOaEUSgtrANrGYK3TEgq)

สามเณรติสสะ

ชักจะหาสามเณรมาเล่ายากทุกทีแล้ว

น่าแปลกมากครับในคัมภีร์พระพุทธศาสนา มีพูดถึงสามเณรน้อยมาก แสดงถึงการไม่เห็นความสำคัญของเหล่ากอสมณะมาตั้งแต่ต้น

วันนี้ขอนำเอาประวัติ สามเณรติสสะ มาเล่าให้ฟัง

สามเณรน้อยรูปนี้ตอนเป็นสามเณรไม่โด่งดังเท่าไหร่ พอบวชเป็นพระแล้วก็มาดังเอาตอนแก่ เพราะมีบทบาทสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนา

ประวัติความเป็นมาของท่านติสสะคล้ายกับประวัติของ พระนาคเสน และพระพุทธโฆสาจารย์ คือท่านเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ และถูกพระเถระรูปหนึ่งชักจูงให้มาบวช และพระเถระรูปที่ว่านี้ก็รับคำสั่งจากคณะสงฆ์ที่ลง “ทัณฑกรรม” ท่าน (พูดง่ายๆ ว่าลงโทษ) ฐานไม่ไปประชุมปรึกษาหารือเรื่องสำคัญเกี่ยวกับพระศาสนา

ท่านจึงต้องพยายามชักจูงเด็กน้อยให้มาบวชให้ได้ เพื่อจะได้พ้นจากทัณฑกรรม

หรือพูดให้ถูก ประวัติพระนาคเสนและพระพุทธโฆสาจารย์ คล้ายกับประวัติสามเณรติสสะ เพราะติสสะท่านเกิดก่อนสองรูปนั้น

เรื่องมีอยู่ว่า หลังเสร็จสังคายนาครั้งที่สอง (พ.ศ.๑๐๐) แล้ว พระเถระทั้งหลายก็ปรึกษากันว่า อีกประมาณร้อยปีข้างหน้า พระศาสนาจักเกิดความมัวหมองเพราะน้ำมืออลัชชี จะมีใครสามารถทำหน้าที่ชำระสะสางพระศาสนาให้บริสุทธิ์ได้บ้าง

พระเถระผู้ทรงอภิญญาก็หยั่งเห็นด้วยทิพยจักษุว่า ติสสมหาพรหม จักมาเกิดเป็นมนุษย์และถ้านำเธอออกบวชให้การศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างดีแล้ว ก็จักเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา แต่เมื่อพิจารณาแล้วแต่ละท่านก็ชราภาพแล้ว คงอยู่ไม่ถึงวันนั้น

บังเอิญว่ามีพระหนุ่มสองรูปไม่ได้มาประชุมปรึกษาหารือด้วย คือ พระสิคควะ กับ พระจัณฑวัชชี

พระเถระทั้งหลายจึงลง “ทัณฑกรรม” ภิกษุหนุ่มทั้งสองว่า ท่านทั้งสอง รูปหนึ่งจงนำเด็กมาบวชให้ได้

อีกรูปหนึ่งรับภาระให้ศึกษาพระพุทธวจนะ หาไม่แล้วจักไม่พ้นโทษ

ท่านสิคควะรับหน้าที่ชักจูงเด็กน้อยมาบวชก็คอยดูว่าจะมีเด็กน้อยบุตรพราหมณ์คนไหนอยู่ในข่ายบ้าง ก็เล็งเห็นว่า บุตรชายโมคคลีพราหมณ์น่าจะใช่บุคคลที่พระเถระผู้เฒ่าทั้งหลายพูดถึง จึงพยายามไปบิณฑบาตที่บ้านพราหมณ์ทุกวัน

บังเอิญว่าพราหมณ์แกเป็น “มิจฉาทิฐิ” (ไม่นับถือพระพุทธศาสนา) จึงไม่สนใจไยดีจะใส่บาตร หรือทำบุญทำกุศลแต่อย่างใด เห็นพระเถระมายืนหน้าบ้านก็ตะเพิดด้วยความไม่พอใจ

พระเถระก็ยังไม่ย่อท้อ ยังคงบิณฑบาตที่หน้าบ้านพราหมณ์อย่างต่อเนื่อง ว่ากันว่าเป็นเวลา ๗ ปีทีเดียว ไม่ได้แม้กระทั่งข้าวทัพพีเดียว

วันหนึ่งพราหมณ์ออกไปธุระนอกบ้าน ขากลับเดินสวนทางกับพระเถระ จึงเอ่ยปากถามว่า สมณะ วันนี้ได้อะไรบ้างไหม ถามไปอย่างนั้นเอง รู้อยู่แล้วว่าคงไม่มีใครในเรือนที่ให้ข้าวแก่สมณะ

แต่ผิดคาด พระเถระกล่าวว่า “วันนี้ อาตมาได้ โยม” ได้ยินดังนั้นแกก็หูร้อนขึ้นมาทันที หน็อยแน่ กูไม่อยู่วันเดียว เมียกูบังอาจให้ข้าวสมณะเชียวเรอะ กลับมาต่อว่าเมีย เมียบอกว่าไม่ได้ให้อะไรแก่สมณะเลย

พราหมณ์เข้าใจว่าสมณะพูดเท็จ ต้องการจะจับเท็จท่าน วันรุ่งขึ้นจึงดักพบท่านแต่เช้า ต่อว่าท่านว่าพูดเท็จ เมื่อวานนี้ไม่มีใครให้อาหารท่านเลย ท่านกลับบอกว่าได้

พระเถระตอบว่า “อาตมามาบิณฑบาตที่บ้านโยมเป็นเวลา ๗ ปีแล้วไม่เคยได้อะไรเลย มาเมื่อวานนี้อาตมาได้คำพูดอันไพเราะว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด อาตมาหมายเอาคำพูดนี้ เมื่อโยมถามว่าได้อะไรไหม อาตมาจึงตอบว่าได้”

ได้ยินดังนั้น พราหมณ์ก็เลื่อมใสขึ้นมาทันที “โอ สมณะศากยบุตรนี้จิตใจละเอียดอ่อนเหลือเกิน เพียงแค่ได้คำพูดไพเราะประโยคเดียวก็ ‘อภิเชต’ (appreciate) จึงนิมนต์ให้ท่านไปฉันบนบ้าน และปวารณาตนเป็นโยมอุปัฏฐากตั้งแต่วันนั้น

ฝ่ายบุตรชายนามว่าติสสะ ตอนนี้เป็นหนุ่มน้อยวัย ๑๖ ปีแล้ว เรียนไตรเพทจนแตกฉาน ถือตนเป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องคนหนึ่ง เห็นพระผู้เฒ่ามาฉันที่บ้านประจำ แต่ก็ไม่เคยสนใจจะสนทนาปราศรัยด้วย

วันหนึ่งพระเถระเห็นว่า ถึงเวลาอันควรแล้วจึง “หาเหตุ” สนทนากับเด็กหนุ่มจนได้

คือเมื่อท่านเดินขึ้นเรือนมา พราหมณ์หาอาสนะไม่ได้ จึงไปเอาอาสนะของบุตรชายมาปูให้ท่านนั่ง (นัยว่า พระเถระบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ให้อาสนะอื่นอันตรธาน) เด็กหนุ่มกลับมาเห็นพระเถระนั่งอาสนะของตน ก็ไม่พอใจ จึงพูดเปรยๆ ว่า คนที่สมควรนั่งอาสนะของข้าพเจ้าจะต้องมีความรู้เรื่องไตรเพทเท่านั้น สมณะท่านรู้อะไรไหม

พูดทำนองดูถูกว่า น้ำหน้าอย่างท่านคงไม่มี “กึ๋น” อะไรดอก แล้วยังสะเออะมานั่งอาสนะของปราชญ์ใหญ่เช่นเรา ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระเถระตอบเย็นๆ ว่า ก็พอรู้บ้าง พ่อหนุ่ม ถามสิ บางทีอาตมาอาจจะตอบได้

เด็กหนุ่มก็ถามเรื่องที่ยากๆ ในไตรเพท ที่ตนเรียนมา พระเถระตอบได้หมด สร้างความประหลาดใจแก่เด็กหนุ่มเป็นอย่างมาก

ในที่สุดพระเถระกล่าวว่า เธอถามอาตมามากแล้ว ขออาตมาถามบ้าง

ว่าแล้วท่านก็ถามปัญหาพระอภิธรรม เด็กหนุ่มมืดแปดด้าน จึงเรียนถามท่านว่า อันนี้เรียกว่าอะไร พระเถระตอบว่า นี้เรียกว่าพุทธมนต์

เมื่อเด็กหนุ่มขอเรียนบ้าง พระเถระตอบว่า จะถ่ายทอดให้เฉพาะคนที่ถือเพศเช่นเดียวกับท่านเท่านั้น

ด้วยความอยากเรียนพุทธมนต์ จึงขออนุญาตบิดาบวช เมื่อบวชแล้วพระเถระก็บอกกรรมฐานให้ปฏิบัติ ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระเถระเห็นว่าถ้าให้สามเณรปฏิบัติกรรมฐานต่อไป ก็จะบรรลุพระอรหัต บางทีอาจ “ขวนขวายน้อย” คือไม่ใส่ใจศึกษาพุทธวจนะก็เป็นได้

จึงส่งสามเณรไปเรียนพุทธวจนะจากพระจัณฑวัชชีเถระ

สามเณรไปกราบท่านพระจัณฑวัชชี ตามคำสั่งของพระอุปัชฌาย์ ถามว่า สามเณรมาจากไหน

“พระอุปัชฌาย์ของกระผมส่งกระผมมาขอรับ”

อุปัชฌาย์ของเธอชื่ออะไร
“ชื่อ สิคควะ ขอรับ”
“ฉันชื่ออะไร” ท่านชี้ที่ตัวท่าน
“พระอุปัชฌายะของกระผม รู้จักชื่อใต้เท้าดีขอรับ” สามเณรตอบ (ตอบแบบนี้ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ว่า “ยวน” แต่คิดอีกทีเป็นการสอบปฏิภาณก็ได้นะครับ)

พระจัณฑวัชชีรับสามเณรเป็นศิษย์ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉานในเวลาอันสั้น ต่อมาก็เจริญกรรมฐานต่อ จนได้บรรลุพระอรหัต

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีพวก อัญเดียรถีย์ (คนนอกพุทธศาสนา) ปลอมตัวมาบวชเป็นจำนวนมาก แสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย สร้างความปั่นป่วนขึ้นในสังฆมณฑล พระผู้ทรงศีลไม่ลงโบสถ์ร่วมกับพวกอลัชชี พระเจ้าอโศกทรงทราบ ทรงส่งอำมาตย์ไปจัดการให้สงฆ์สามัคคีกัน

อำมาตย์เข้าใจผิดนึกว่าพระราชามอบอำนาจเด็ดขาดให้ตนเอง ได้ตัดคอพระที่ไม่ยอมลงโบสถ์ไปหลายรูป จนกระทั่ง พระติสสะ อนุชาของพระเจ้าอโศกมาขวางไว้ เรื่องทราบถึงพระเจ้าอโศก พระองค์ทรงร้อนพระทัยที่เป็นสาเหตุให้พระถึงแก่มรณภาพไปหลายรูปจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี

มีผู้กราบทูลให้ไปปรึกษากับพระติสสะ (อดีตสามเณรหนุ่ม) พระเจ้าอโศกจึงนิมนต์ท่านเข้ามายังเมืองปาตลีบุตร ถามข้อข้องใจจนสิ้นกังขาทุกกระทงแล้ว ตกลงพระทัยช่วยพระเถระทำสังคายนาชำระสังฆมณฑลเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว นับเป็นการสังคายนาครั้งที่สาม

ว่ากันว่า หลังสังคายนาครั้งนี้เสร็จสิ้น พระองค์ได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังนานาประเทศ ถึง ๙ สายด้วยกัน

หนึ่งในเก้าสายนั้น มายังดินแดนอันเรียกขานสมัยนั้นว่า “สุวรรณภูมิ” พระโสณเถระ กับ พระอุตตรเถระ เป็นผู้เดินทางมาเผยแผ่ ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในภูมิภาคแถบนี้

สุวรรณภูมิก็คือดินแดน “ลุ่มเจ้าพระยาเห็นสายธาราละล่อง” นี้เอง มีเมืองนครปฐมในปัจจุบันนี้เป็นศูนย์กลาง ว่ากันอย่างนั้นนะครับ

อดีตสามเณรหนุ่มนามติสสะ เป็นผู้มีบทบาทในการทำสังคายนาครั้งนี้โดยเป็นประธานและเป็นกรรมการจัดสอบความรู้พระสงฆ์ด้วย พระภิกษุที่สอบไม่ผ่านถูกจับสึกเป็นจำนวนมาก เหลือแต่พระที่บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง

ท่านได้แต่งหนังสือชื่อ “กถาวัตถุ” แสดงทรรศนะอย่างไรถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ทรรศนะอย่างไรเป็นมิจฉาทิฐิ บิดเบี้ยวไปจากคำสอนของพระพุทธองค์

หนังสือเล่มนี้ ได้ถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งในอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ในเวลาต่อมา


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรติสสะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๖ ประจำวันที่ ๑๑-๑๗ มีนาคม ๒๕๕๙


(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSUyl7sdR-8qgnwWoxHs7xz9ct9SFEQvOaEUSgtrANrGYK3TEgq)

สามเณรสุมนะ

คราวนี้มาว่าถึงสามเณรน้อยนามสุมนะ สามเณรอรหันต์ทรงอภิญญา ๖ ประการ หลานพระเจ้าอโศกมหาราช

ชื่อ สุมนะ ค่อนข้างจะดาษดื่นในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา สามเณรอรหันต์ในสมัยพุทธกาลรูปหนึ่งก็คือ สุมนะ  สุมนะเป็นพระนามของอดีตพุทธะก็มี เป็นนามของพระปัจเจกพุทธะก็มี ชื่อของเศรษฐีก็มาก ชื่อคนยากก็เยอะ

ช่างเถอะครับ วันนี้ขอพูดถึงสุมนะ สามเณรน้อยหลานกษัตริย์แห่งเมืองปาตลีบุตรรูปเดียวเท่านั้น

ประวัติท่านมีไม่มาก บอกเพียงแต่ว่าเป็นบุตรของ นางสังฆมิตตา และอัคคิพราหมณ์

ท่านบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมอภิญญา ๖ ประการในขณะเป็นสามเณร

เมื่อพระเจ้าอโศก เสด็จตา (ราชาศัพท์แบบลิเกนะครับ) ทรงอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ ๓ และส่งพระธรรมทูต ๙ คณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างประเทศ ธรรมทูตสายหนึ่งไปยังเกาะลังกา หรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบันนี้

ธรรมทูตที่ส่งไปย่อมไปเป็นคณะ เรียกว่า คณะธรรมทูต คงมิใช่ส่งพระไปเพียงรูปสองรูปเป็นแม่นมั่น

ความข้างต้นนี้เป็นความคิดของผมนานแล้ว เนื่องจากได้อ่านหนังสือที่ใครๆ แต่ง ก็มักจะไม่พูดถึงคณะธรรมทูตพูดถึงพระเถระรูปสองรูปเท่านั้น เช่น พระโสณะและพระอุตตระมายังสุวรรณภูมิ (มาแค่สองรูปเท่านั้น) พระมหินทเถระไปยังเกาะลังกา (รายนี้ฉายเดี่ยว)

แต่เมื่อเปิดดูต้นฉบับดั้งเดิมจริงๆ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านไปเป็นคณะ มีพระสงฆ์ มีอุบาสกทำหน้าที่เป็นไวยาวัจกร คอยอำนวยความสะดวกให้แก่พระสงฆ์ ธรรมทูตสายที่ไปยังลังกาทวีป ประกอบด้วย

พระมหินทเถระ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นหัวหน้าคณะ

พระอัฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระภัทรสาลเถระ พระสัมพลเถระ

และสามเณรชื่อ สุมนะ ผู้ทรงอภิญญา ๖ ประการ มีฤทธิ์มากติดตามมาด้วย

และยังมีอุบาสกนามว่า ภัณฑกะ เป็นไวยาวัจกร ทั้งคณะมีจำนวน ๗ ท่านด้วยกัน

สมัยนั้นเกาะศรีลังกายังคงนับถือผีสางตามเรื่อง ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าเทวานัมปิยะติสสะ ครองราชย์ต่อจากพระเจ้ามุฏสีวะพระราชบิดา อันพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะพระองค์นี้เป็น “อทิฏฐสหาย” กับ พระเจ้าอโศก คือ เป็นพระสหายที่เจริญสัมพันธไมตรีกัน ยังไม่เคยพบปะกันมาก่อน

ว่ากันว่า พระมหินทเถระพร้อมคณะไปยังเกาะลังกา ไปพำนักอยู่ที่มิสสกบรรพตก่อน ยังไม่ไปหาพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทันที พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เสด็จออกล่าเนื้อ มุ่งตรงไปยังสถานที่ที่พระคุณเจ้าและคณะอาศัยอยู่ พระมหินทเถระเห็นอุบายที่จะให้พระเจ้าแผ่นดินลังกาเลื่อมใส จึงจำแลงร่างเป็นละมั่งน้อยตัวหนึ่ง วิ่งผ่านกษัตริย์ลังกาไป

พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเสด็จตามละมั่งไป พลัดหลงกับข้าราชบริพารเสด็จถึงสถานที่ที่พระเถระทั้งหลายอาศัยอยู่ พระมหินทเถระบันดาลให้ละมั่งน้อยหายไป อธิษฐานจิตให้พระราชาทอดพระเนตรเห็นท่านเพียงผู้เดียว เรียกเสียงดังว่า “ติสสะ ติสสะ มาทางนี้”

พระราชาทรงฉงนพระทัยว่า ใครวะ บังอาจเรียกชื่อจริงเรา สาวพระบาทเข้ามาใกล้ ทอดพระเนตรเห็นสมณะรูปหนึ่ง ท่าทางสำรวม สง่า ยืนอยู่ข้างหน้า กำลังจะตรัสถามอยู่พอดีว่า สมณะนี้เป็นใคร พระเถระชิงถวายพระพรเสียก่อน

“ขอถวายพระพร อาตมภาพคือ มหินทเถระ โอรสแห่งพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป มาที่นี่เพื่ออนุเคราะห์มหาบพิตรและประชาชนชาวเกาะลังกา” พอได้สดับว่า สมณะรูปนี้เป็นโอรสพระอทิฏฐสหายของพระองค์ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงเสด็จเข้าไปถวายบังคม

ขณะพระเถระสนทนาอยู่กับพระราชาอยู่ พระเถระที่เหลือพร้อมสามเณรสุมนะและภัณฑกอุบาสกก็ปรากฏกาย พระราชาทรงสงสัยว่า ท่านเหล่านี้มาได้อย่างไร พระเถระถวายพระพรว่า ความจริงท่านเหล่านี้ก็อยู่ ณ ที่นี้เอง แต่เพิ่งจะปรากฏต่อคลองจักษุของพระองค์ ณ บัดนี้ พระราชาจึงทรงทราบว่า สมณะเหล่านี้มีอิทธิฤทธิ์ จึงตรัสถามว่า พระคุณเจ้ามายังเกาะลังกาโดยทางไหน
“ขอถวายพระพร มิใช่ทางบก มิใช่ทางน้ำ”
“ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้ามาทางอากาศสินะ”
พระเถระทั้งหลายรับโดยดุษณีภาพ

เพื่อทดสอบพระปฏิภาณของพระราชาว่าสมควรที่จะถวายความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาหรือไม่ พระเถระชี้ไปที่ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง ถามว่า
“มหาบพิตร ต้นไม้ชื่ออะไร”
“ต้นมะม่วง ขอรับ” พระราชาตรัสตอบ
“มะม่วงต้นอื่นนอกจากมะม่วงต้นนี้มีหรือไม่”
“มีอยู่จำนวนมาก ขอรับ”
“นอกจากมะม่วงต้นนี้และมะม่วงต้นอื่น มีต้นไม้อื่นไหม”
“มี แต่ไม้เหล่านั้นมิใช่ต้นมะม่วง”
“นอกจากมะม่วงอื่น และที่มิใช่มะม่วง ยังมีต้นไม้อื่นไหม”
“ก็ต้นมะม่วงต้นนี้ไงเล่า พระคุณเจ้า” พระราชาตอบ

เพื่อทดสอบอีก พระเถระถามปัญหาต่อไปว่า
“มหาบพิตร พระญาติของมหาบพิตรมีอยู่หรือ”
“มีหลายคน พระคุณเจ้า” พระราชาตรัสตอบ
“นอกจากพระญาติเหล่านี้ ผู้ที่มิใช่พระญาติยังมีอยู่หรือ”
“มีมาก พระคุณเจ้า”
“นอกจากพระญาติของมหาบพิตร และผู้ที่มิใช่พระญาติ ยังมีใครอื่นอีกไหม”
“ก็โยมนี่ไง พระคุณเจ้า”

พระเถระกล่าวสาธุการว่า สาธุๆ มหาบพิตรทรงมีพระปรีชาสามารถเฉียบแหลมยิ่ง จากนั้นพระเถระได้แสดงจุฬหัตถิปโทปมสูตร แด่พระราชา (และข้าราชบริพารที่ตามมาภายหลัง) จบพระธรรมเทศนา พระราชาทรงตั้งอยู่ในสมณะสามประกาศพระองค์เป็นอุบาสกนับถือพระพุทธศาสนา

หลังจากพระราชาเสด็จนิวัติพระนครแล้ว พระมหินทเถระสั่งให้สุมนสามเณรประกาศกาลฟังธรรม สุมนสามเณรเข้าญานมีอภิญญาเป็นบาท ออกจากญานแล้วอธิษฐานจิตว่า ขอให้เสียงประกาศกาลฟังธรรมนี้ได้ยินไปทั่วตัมพปัณณิทวีป (คือ เกาะลังกา) เสียงประกาศกาลฟังธรรมนี้ได้ยินไปทั่วพระนคร

พระราชาตกพระทัยนึกว่าเกิดอันตรายแก่พระคุณเจ้าทั้งหลาย จึงเสด็จมาตรัสถาม พระเถระถวายพระพรว่า หามีอันตรายใดๆ แก่พวกอาตมภาพไม่ เสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงประกาศกาลฟังธรรม

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลของการบันดาลแห่งอิทธิฤทธิ์เฉพาะผู้มีฤทธิ์เท่านั้นย่อมทำได้ ปุถุชนคนธรรมดาทำอะไรไม่ได้ ก็อย่าได้ดูถูกว่าเหลวไหล

พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะได้ถวายอุทยานเมฆวันให้เป็นวัดที่อยู่อาศัยของพระมหินทเถระและคณะ พระเถระได้ทำการอุปสมบทแก่อริฏฐอำมาตย์ และพี่ชายน้องชายจำนวน ๕๕ คน จำพรรษาที่เมฆวัน ออกพรรษาปวารณาแล้วถวายพระพรพระราชาให้ทรงปรึกษากับสุมนสามเณรว่าจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานยังลังกาทวีปอย่างไร

พระราชาตรัสถามสามเณรน้อยว่า จะได้พระบรมสารีริกธาตุแต่ที่ไหน

สามเณรถวายพระพรว่า เบาพระทัยเถิด มหาบพิตร ไว้เป็นภาระของอาตมภาพ

ว่าแล้วสามเณรน้อยก็เข้าฌานหายวับไปกับตา ปรากฏตัวอีกทีที่ชมพูทวีป ณ พระราชวังของพระอัยกา ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระเจ้าอโศก ได้พระบรมสารีริกธาตุแล้วไปยังสำนักท้าวสักกเทวราช ขอพระธาตุรากขวัญเบื้องขวา จากพระองค์แล้วไปปรากฏตัวที่ตัมพปัณณิทวีป

พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ เจติยคิรี แล้วจัดงานสมโภชเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร

ตามประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในลังกา สามเณรสุมนะ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพระมหินทเถระประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ เกาะแห่งนี้

หลังจากสามเณรน้อยผู้บุตรมาไม่นาน มารดาสามเณรน้อยซึ่งบัดนี้เป็นพระเถรีนามว่า สังฆมิตตาเถรี ลงเรือมาปลูกยังเกาะลังกา และได้เป็น “ปวัตตินี” (อุปัชฌาย์) บวชให้แก่กุลสตรีชาวเมืองอนุราธบุรีจำนวนมาก สืบสถาบันภิกษุณีสงฆ์ในเกาะลังกามาแต่บัดนั้น

ไปไหว้พระรากขวัญเบื้องขวา และต้นพระศรีมหาโพธิทีไร ชาวพุทธที่รู้ความเป็นมา ก็อดรำลึกถึงคุณูปการของสองแม่ลูกนี้เสียมิได้



ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสุมนะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๗ ประจำวันที่ ๑๘-๒๔ มีนาคม ๒๕๕๙


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 เมษายน 2559 19:54:44

(http://www.watkaokrailas.com/private_folder/11_415.jpg)

สามเณรปาลิต

เล่าเรื่องสามเณรอรหันต์มามากแล้ว คราวนี้ขอเล่าเรื่องสามเณรปุถุชนบ้าง แถมยังเป็นปุถุชนสมนามเสียด้วย (ปุถุชน=คนมีกิเลสหนาแน่น)

สามเณรรูปนี้นามว่า ปาลิต หลานชายพระอรหันต์จักษุบอดรูปหนึ่งนามว่า จักขุปาละ (จักษุบาล)

ความเป็นมาของสองลุงหลานนี้ค่อนข้างยาว เริ่มตั้งแต่มหากุฎุมพีคนหนึ่งนามว่า มหาสุวรรณ แห่งเมืองสาวัตถี ไม่มีบุตรสืบสกุล ไปบนขอบุตรจากรุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ว่าถ้าได้บุตรหรือธิดาจะทำพิธีกรรมถวายคือแก้บนนั่นเอง ไม่บอกว่าแก้บนด้วยอะไร แต่คงไม่แก้ผ้าฟ้อนรอบต้นไม้เหมือนบางคนที่บนพระพรหมกระมัง  

และคงไม่บนพิเรนทร์เหมือนเด็กสาวคนหนึ่งบนจะทำกับหลวงพ่อวัดฉลอง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า เมื่อครั้งท่านเสด็จไปตรวจราชการที่ปักษ์ใต้ พระเถระรูปหนึ่งมาต้อนรับ แข็งท่านเต็มไปด้วยทองเหลืองอร่าม ได้ทราบว่าชาวบ้านเอามาปิดแก้บน ท่านรีบมาต้อนรับไม่ทันได้ล้างออก ทรงเล่าว่าแปลกที่คนเขาปิดทองพระเป็นๆ ไม่ยักปิดทองพระพุทธรูป

ได้ทราบว่าท่านเป็นพระขลัง

มีครั้งหนึ่งสาวคนหนึ่งบนว่าถ้าสิ่งที่ต้องการสำเร็จ จะปิดทอง “ปลัดขิก” หลวงพ่อ บังเอิญสำเร็จตามปรารถนา แต่นางไม่กล้าแก้บน จึงปล่อยให้กาลเวลาผ่านเลยไป  ปรากฏว่านางเจ็บป่วยรักษาไม่หายขาดสักที จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่านางอาจผิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่าง พ่อแม่จึงถามเอาความจริง ถูกซักมากเข้านางจึงบอกความจริง  พ่อแม่พานางไปขอขมาหลวงพ่อ เล่าการบนอันพิเรนทร์ของลูกสาวของตนให้ท่านทราบ หลวงพ่อท่านบ่นคำเดียวว่า “บนอะไรบ้าๆ” ว่าแล้วก็เปิดสบงขึ้นบอกว่าเอ้าอยากปิดก็ปิด (หมายถึงปิดทองที่ปลัดขิก)

หญิงสาวหลับหูหลับตายื่นมือเอาทองไปปิด...ว่ากันว่าหลังจากนั้น หายป่วยสนิท

นัยว่าหลวงพ่อท่านเอาไม้เท้าสอดเข้าหว่างขาแทน “ของจริง” ว่ากันอย่างนั้น

กล่าวถึงกุฎุมพีคนนั้น หลังจากบนต้นไม้แล้ว ไม่นานภรรยาก็ตั้งครรภ์ได้บุตรชายมาคนหนึ่งตั้งชื่อว่าปาละ จากนั้นไม่นานก็ได้มาอีกคนหนึ่งชื่อปาละเหมือนกัน เลยต้องตั้งคนโตว่ามหาปาละ คนเล็กว่า จุลปาละ

มหาปาละ ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเลื่อมใสใคร่จะบวชจึงไปขออนุญาตน้องชายไปบวช

หลังจากบวชแล้ว ได้ขอกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าเพื่อนำไปปฏิบัติ พร้อมภิกษุจำนวน ๖๐ รูป เดือนทางออกจากพระเชตวันไปยังราวป่าแห่งหนึ่ง ที่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ๆ พำนักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้น โดยมีญาติโยมในหมู่บ้านนั้นปวารณารับใช้และอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับปัจจัยสี่อันสมควรแก่สมณะบริโภค

จวนเข้าพรรษา ท่านมหาปาละเรียกประชุมสงฆ์ถามว่า ในพรรษานี้พวกท่านทั้งปวง จะยังกาลเวลาให้ล่วงไปด้วยอิริยาบถเท่าไร (เป็นภาษาพระ หมายถึงว่า จะอยู่ด้วยอาการอย่างไร ยืน เดิน นั่ง นอน ครบสี่อิริยาบถหรือจะเอาเท่าไหร่)

พระทั้งปวงก็เรียนท่านว่า ก็ต้องสี่อยู่แล้ว พระเถระตำหนิว่าพวกท่านรับกรรมฐานมาจากพระพุทธองค์ ยังมัวประมาทหรือตามใจพวกท่านเถิด แต่ผมจะอยู่ด้วยอิริยาบถสามเท่านั้น ตลอดพรรษานี้จะไม่เอนหลังนอนเป็นอันขาด

พระเถระเอาจริง ไม่ยอมนอนเลย นั่งกรรมฐานทั้งวันทั้งคืน เมื่อยท่านั่งก็ลุกเดินจงกรม จนกระทั่งมีน้ำตาไหลจากเบ้าตา มีอาการเสียดแทงตา ชาวบ้านเห็นอาการของท่านไปตามหมอให้ไปรักษาท่าน  หมอผสมยาหยอดตาส่งไปถวาย สั่งว่าให้ท่านหยอดทางจมูก ครั้งสองครั้งก็จะหาย ท่านนั่งหยอดจมูกมันจะเข้าอย่างไรเล่าครับ ยาก็ไหลลงเปรอะจีวรเท่านั้นเอง โรคก็ไม่ทุเลา เมื่อไปบิณฑบาตหมอถามว่าท่านหยอดยาตาหรือยัง ท่านบอกว่าหยอดแล้ว หมอถามท่านว่าอาการเป็นอย่างไร

“ยังเสียดแทงอยู่ อุบาสก” พระเถระตอบ

หมอคิดว่า ไม่น่าเป็นไปได้ ยาที่ตนให้เป็นยาชั้นดี หยอดเพียงครั้งเดียวก็ทุเลาแล้ว จึงเรียนถามท่านว่าท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด พระเถระก็นิ่งเสีย หมอจึงตามไปดูที่วัด ไม่เห็นที่นอนเห็นแต่ที่นั่งและที่เดินจงกรม จึงขอร้องให้ท่านนอนหยอด พระเถระก็ไม่ยอม เมื่อคนไข้ดื้อ หมอก็ระอา กล่าวว่า ท่านท่านอยากหายท่านต้องทำตามหมอสั่ง ไม่อย่างนั้นช่วยไม่ได้นะขอรับ ต่อไปนี้ถ้าเกิดอะไรขึ้น ท่านอย่าได้บอกว่าผมเป็นหมอรักษาท่าน ผมก็จะไม่แพร่งพรายให้ใครทราบ

แน่ะ กลัวเสียชื่อว่ารักษาโรคไม่หาย จะหมดทางทำมาหากิน อะไรจะปานนั้น

เมื่อหมอไปแล้ว ท่านมหาปาละก็นั่งปรึกษากับ “กรัชกาย” (หมายถึงร่างกายตัวเองนั่นแหละ) พูดกับตัวเองว่า จะเห็นแก่จักษุหรือแก่พระศาสนา ในสังสารวัฏนี้คนตาบอดก็มีนับไม่ถ้วน แต่คนที่พบพระพุทธองค์แล้วมีโอกาสดีๆ อย่างนี้หายาก ตามันจะบอดก็ช่างมันเถอะ เราจะพยายามเพื่อบรรลุธรรมให้ได้

ท่านกล่าวเป็นโศลกมีเนื้อหากินใจมาก เสียดายหน้ากระดาษไม่พอจะนำมาลงให้อ่าน ขอผ่านไปก็แล้วกันครับ

จากนั้นท่านก็คร่ำเคร่งนั่งกรรมฐาน เดินจงกรม ตาของท่านก็ปะทุมืดสนิทพร้อมๆ กับบรรลุพระอรหัตในขณะเดียวกัน เป็นพระอรหันต์อันมีนามว่า “สุขวิปัสสกะ” (คือหมดกิเลสด้วยวิปัสสนาล้วนๆ ไม่มีอภิญญา=ความสามารถเหนือสามัญวิสัยอย่างอื่น=เป็นของแถมเลย)

ออกพรรษาแล้วเหล่าภิกษุศิษย์ท่านพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวัน ท่านมหาปาละขออยู่เพียงผู้เดียว เพราะไม่อยากไปเป็นภาระแก่ท่านเหล่านั้น สั่งว่าไปถึงเมืองสาวัตถีแล้วให้แจ้งความแก่น้องชายท่านก็พอ

น้องชายทราบว่าพระพี่ชายตาพิการ จะส่งหลานของตนชื่อปาลิตให้ไปพาท่านกลับ ภิกษุทั้งหลายให้ปาลิตบวชสามเณรก่อนเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางซึ่งจะต้องผ่านดง อันเต็มไปด้วยอันตรายนานาชนิด  

สามเณรปาลิต อายุอานามอยู่ในวัยรุ่น เดินทางผ่านดงไปยังที่พำนักของพระเถระ เรียนท่านว่า ลุง (จุลปาละ) สั่งให้ผมมาพาหลวงลุงกลับเมืองสาวัตถีเพื่อจะได้ดูแลใกล้ชิด

พระเถระกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเธอจงจับไม้เท้าพาเราไปลาญาติโยมที่หมู่บ้านก่อน ว่าแล้วท่านก็เดินเข้าหมู่บ้าน โดยมีสามเณรหลานชายจูงไปอำลาญาติโยมทั้งปวงแล้ว เดินทางมุ่งตรงไปยังเมืองสาวัตถี

ขณะที่มาถึงกลางดง พลันเสียงเพลงขับของหญิงสาวก็แว่วมา ไม่บอกว่าเพลงอะไร เนื้อหาคงชวนฝันไม่น้อยทีเดียว ผู้แต่งตำรายังยกเอาพระพุทธวจนะมาสอดแทรกตรงนี้เลยว่า

ไม่มีเสียงอื่นใดจะสามารถแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ชำแรกเข้าไปถึงเยื่อในกระดูกของบุรุษได้เท่ากับเสียงสตรี สมดังพุทธวจนะว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นเสียงแม้เสียงเดียวที่จับจิตจับใจบุรุษเหมือนเสียงสตรีเลย

สามเณรหนุ่มบอกหลวงลุงว่า หลวงลุงครับ พักตรงนี้ประเดี๋ยว ผมจะไปทำ “สรีรกิจ” (หมายถึงไปอึ) แล้วก็หายไปครู่ใหญ่

พระเถระนั่งรออยู่ตั้งนาน รำพึงว่า ทำไมมันถ่ายอุจจาระนานนักหว่า นี่ก็ล่วงไปเกือบชั่วโมงแล้ว หรือว่า...พลันพระผู้เฒ่าก็นึกขึ้นมาได้

เมื่อกี้นี้แว่วเสียงเด็กหญิงร้องเพลง แล้วบัดนี้เสียงก็เงียบไป เห็นทีสามเณรปาลิตหลานเราจะทำอะไรมิบังควรเสียแล้ว

หลานชายหลับมากล่าวกับหลวงลุงว่า เรามาไปกันต่อเถอะจะจับไม้เท้าหลวงลุงจูง พระเถระไม่ให้จับ ถามว่า “ปาลิต เธอกลายเป็นคนชั่วแล้วหรือ” สามเณรไม่ตอบ พูดบ่ายเบี่ยงว่า เรามาไปกันต่อเถอะครับ เดี๋ยวจะมืดค่ำ พระเถระยังถามคำถามเดิม สามเณรก็ได้แต่นิ่ง  

นิ่งคือการยอมรับ พระเถระจึงกล่าวว่า ไม่ต้องจับไม้เท้าเราดอกคนชั่วคนพาล ไม่ควรจะจับไม้เท้าเรา ปล่อยเราไว้ตรงนี้เถอะ เราไม่ปรารถนาจะเดินทางร่วมกับคนชั่ว

สามเณรอ้อนวอนว่า หลวงลุง ท่านจะอยู่ที่นี่ได้อย่างไร อันตรายมากมาย มาไปกันเถอะ พระเถระก็ยืนกรานไม่ไปท่าเดียว

สามเณรเปลื้องจีวรออก แต่งตัวอย่างคฤหัสถ์แล้วกล่าวกับพระเถระว่า บัดนี้ผมได้สึกแล้ว เป็นคฤหัสถ์แล้ว และผมก็มิได้บวชด้วยศรัทธา บวชเพราะต้องการความปลอดภัยในการเดินทางเท่านั้น

คำพูดของพระเถระเจ็บแสบมาก จนทำให้ “น้อยปาลิต” (ภาษากลางเรียกพระเณรที่สึกว่า “ทิด” เหมือนกันหมด ภาคเหนือพระสึกเรียก “หนาน” เณรเรียกว่า “น้อย” ภาคอีสานพระสึกเรียก “ทิด” เณรเรียกว่า “เซียง”) กอดแขนร้องไห้วิ่งเข้าป่าหายไปเลย

คำพูดนั้นมีว่า “อาวุโส คิหิปาโปปิ สมณปาโปปิ ปาโปเยว ตฺวํ สมณภาเว ฐตฺวา สีลมตฺตํ ปูเรตุ นาสกฺขิ คิหี หุตฺวา กินฺนาม กลฺยาณํ กริสฺสสิ=พ่อหนุ่มเอ๋ย คฤหัสถ์ชั่ว หรือสมณะชั่ว  มันก็คนชั่วเหมือนกัน เธอบวชแล้วแม้เพียงศีลก็รักษาไม่ได้ สึกไปเป็นคฤหัสถ์จักทำความดีงามอะไรได้”

“เซียงปาลิต” จะวิ่งกลับไปหาอีหนูกลางดงหรือว่าไปไหน ผู้แต่งตำราไม่ได้บอกไว้ แต่ก็ดีที่รู้ว่าตนประพฤติไม่สมควรแล้วสึกไปเสีย.


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรปาลิต โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๘ ประจำวันที่ ๒๕-๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙


(http://www.watkaokrailas.com/private_folder/11_415.jpg)

สามเณรปิโลติกะ

วันนี้ขอนำเอาสามเณรอดีตเด็กสลัม ขอประทานโทษ เด็กชุมชนแออัดมาเล่าสู่กันฟัง เด็กคนนั้นชื่อเสียงเรียงไรไม่แจ้ง แต่ชาวบ้านเขาเรียก “ไอ้ผ้าเก่าขาด” หรือ “ไอ้ตูดขาด” เพราะแกนุ่งผ้าเก่าขาดวิ่นอยู่ผืนเดียว ก็มีอยู่แค่นี้นี่ครับ

วันๆ ก็ถือกะลาขอทานยังชีพ ได้อาหารการกินบ้าง อดบ้าง (อดเสียแหละส่วนมาก) ท่านพระอานนทเถระ ไปบิณฑบาต พบเด็กคนนี้เข้าก็เกิดความสงสารตามประสาพระชอบเลี้ยงเด็ก

พระอานนท์เป็นคนรักเด็ก เห็นเด็กเร่รอนก็นึกสงสารแล้วเขาจะอดตาย จึงจับมาบวชและให้การศึกษาอบรมเป็นจำนวนมาก จนพระมหากัสสปะเถระ ท่านพูดกระเซ้าเวลาพบกัน ด้วยวาทะว่า “เจ้าเด็กน้อย”

พระอานนท์ถามเด็กมอมแมมคนนี้ว่า เจ้าอยู่อย่างนี้ลำบากเหลือเกิน เจ้าบวชจะไม่ดีกว่าหรือ

เด็กน้อยถามว่า “ใครจะบวชให้ผมเล่าครับ”
“ฉันเอง” พระเถระพูด แล้วนำเขาไปวิหารอาบน้ำให้ด้วยมือท่านเอง ขัดคราบไคลออกหมดจนสะอาดสะอ้าน แล้วให้กรรมฐาน แล้วให้บวชเป็นสามเณร

พระเถระจับกางเกงขึ้นมาคลี่ดู ไม่เห็นว่าจะนำไปใช้อะไรได้ จึงเอาพาดกิ่งไม้ไว้

สามเณรน้อยได้รับการฝึกฝนอบรมจากพระอานนท์ เมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทจากภิกษุสงฆ์ มีปัจจัยสี่ใช้สอยไม่ขาดแคลน เมื่ออยู่ดีกินดีขึ้น ฉวีวรรณก็ผุดผ่องอ้วนท้วน มีน้ำมีนวลขึ้น

แล้วก็ “กระสัน” ขึ้นมา

คำนี้ (กระสัน) เป็นภาษาพระ หมายถึงอยากสึกครับ ศัพท์บาลีว่า อุกฺกณฺฐิโต แปลตามศัพท์ว่า “ชูคอ”

อาจารย์สอนบาลีท่านอธิบายว่า มีความรู้สึกว่า ผ้าเหลืองร้อน นั่งไม่เป็นสุข วันๆ ก็นั่ง “ชูคอ” หรือชะเง้อคอมองออกนอกกำแพงวัดว่า เมื่อไรฉันจะได้ออกไปสักทีหนา อะไรทำนองนี้

ผมเคยเล่าเรื่องคนหนีเมียไปบวชเป็นหลวงตาไว้ใน “สองทศวรรษในดงขมิ้น” อ่านแล้วเห็นภาพพระที่เกิดอาการ “ชูคอ” นี้เป็นอย่างดี นายคนหนึ่งทะเลาะกับเมียแล้วหนีไปบวช บวชเพราะต้องการประชดเมียมากกว่า ถือหนังสือปาติโมกข์เดินไปท่องอยู่ที่กำแพงวัด ตาก็ชำเลืองไปยังหลังคาบ้าน ท่อง “โย ปะนะภิกขุ โย ปะนะภิกขุ”

ข้างฝ่ายภรรยา ทีแรกนึกว่าสามีคงบวชไม่นาน เดี๋ยวก็สึก แต่ผ่านไปห้าวันแล้วยังไม่สึก จึงสั่งลูกชายไปบอกพ่อว่า จะขายควาย เมื่อลูกชายไปบอกหลวงพ่อ “หลวงพ่อ แม่บอกว่าจะขายควาย” หลวงพ่อก็ตอบทันทีว่า “ขายก็ขายไป ไม่ใช่ควายของกู โยปะนะภิกขุ”

วันหลังลูกชายมาบอกตามคำของแม่อีก “หลวงพ่อ แม่ว่าขายนา” “ขายก็ขายไป ไม่ใช่นาของกู โย ปะนะภิกขุ...ไอ้แดงมึงอย่ามากวนใจกู กูจะท่องหนังสือ”

ไอ้แดงกลับไปรายงานแม่ คราวนี้แม่ปล่อยทีเด็ดกระซิบข้างหูลูกชาย ทันทีที่ลูกชายบอกว่า “หลวงพ่อ แม่ว่าจะเอาผัวใหม่ (คือแต่งงานใหม่นะครับ)” เท่านั้นแหละหลวงพ่อโยนหนังสือปาติโมกข์ทันที

“ไปบอกแม่มึง กูจะสึกวันนี้”

นี่แหละครับ ที่ท่านว่า “อุกฺกณฺฐิโต” แปลตามศัพท์ว่า “ชูคอ” หมายถึงอยากสึก

เมื่อพระปิโลติกะเธอเกิดความคิดอยากสึก เธอจึงกลับไปยังต้นไม้ต้นนั้น กางเกงตูดขาดยังอยู่ เธอจึงหยิบมันขึ้นมาตั้งใจจะนุ่งแล้วถือกะลาไปขอทานตามเดิม

ทันใดนั้นเธอก็ชะงัก กล่าวสอนตนเองว่า “ไอ้โง่เอ๊ย เอ็งชักไม่มียางอายเสียเลย เอ็งบวชมาแล้ว มีเครื่องนุ่งห่มอย่างดี มีอาหารอย่างดีกิน แล้วยังอยากจะกลับมานุ่งผ้าเก่าขาดเที่ยวขอทานอีกหรือ”

ให้โอวาทตนเองเสร็จ ก็นึกละอายใจ ตัดสินใจไม่สึก จะขอบวชอยู่ในพระศาสนาต่อไป จึงเอากางเกงตูดขาดแขวนกิ่งไม้ไว้เช่นเดิม

ว่ากันว่าพระคุณเจ้า “กางเกงตูดขาด” เทียวไล้เทียวขื่อไปยังต้นไม้นั้นจับกางเกงตูดขาดลูบคลำไปมา พลางให้โอวาทเตือนสติตนเองแล้วก็ตัดสินใจไม่สึก ทำอย่างนี้ถึงสามครั้งสามครา เวลาพระอื่นถามว่าไปไหนก็บอกว่า “ผมจะไปสำนักอาจารย์”

สามสี่วันต่อมา เธอก็ได้บรรลุพระอรหัต ไม่ไปๆ มาๆ อีกต่อไป ภิกษุทั้งหลายจึงถามท่านว่า “ผู้มีอายุ เดี๋ยวนี้ท่านไม่ไปสำนักอาจารย์หรือ ทางนี้เป็นทางเที่ยวไปของท่านมิใช่หรือ”

เธอตอบว่า “ท่านทั้งหลาย เมื่อมีความเกี่ยวพันอยู่กับอาจารย์ ผมจึงไป แต่บัดนี้ผมตัดความเกี่ยวข้องกับอาจารย์หมดสิ้นแล้ว” เท่ากับบอกนัยว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว

เหล่าภิกษุไม่พอใจ หาว่าท่านปิโลติกะ (พระกางเกงตูดขาด) อวดอ้างว่า บรรลุพระอรหัต จึงพากันไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงสดับคำกล่าวหาของภิกษุทั้งหลายแล้วจึงตรัสว่าถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรา เมื่อมีความเกี่ยวข้องอยู่ จึงไปสำนักอาจารย์ บัดนี้เธอได้ตัดความเกี่ยวข้องนั้นแล้ว เธอได้บรรลุพระอรหัตแล้ว

จากนั้นพระพุทธองค์ ได้ตรัสคาถาดังต่อไปนี้
“คนที่หักห้ามใจจากความคิดอกุศลด้วยหิริ มีน้อยคนในโลก ผู้ที่ไม่เห็นแก่นอน ตื่นอยู่เสมอเหมือนมีม้าดีคอยหลบแส้ของสารถีหาได้ยาก

เธอทั้งหลายจงพากเพียร มีความสังเวช (สลดใจในความบกพร่องของตนเองแล้วเร่งพัฒนาตน) เหมือนม้าดี ถูกเขาหวดด้วยแส้ แล้วเร่งฝีเท้าขึ้นฉะนั้น

เธอทั้งหลายจงศรัทธา (เชื่อมั่นในสิ่งที่ดี) มีศีล (ประพฤติดีงาม) มีวิริยะ (ความบกพร่อง) มีสมาธิ (ความตั้งใจมั่น) และพรั่งพร้อมด้วยการวินิจฉัยธรรม มีความรู้และความประพฤติดี มีสติมั่นคงปฏิบัติตนได้ดังนี้ จักละทุกข์ได้ไม่น้อยเลย”


“พระกางเกงตูดขาด” อดีตเด็กสลัมมีหิริหักห้ามความคิดอกุศลมีความเพียร พยายามแก้ไขตนเอง สอนตนเองอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งพรหมจรรย์

กางเกงตูดขาดตัวนั้น ได้เป็น “อาจารย์” ของท่านคือเป็นเครื่องเตือนสติให้ท่านมีฉันทะอยู่ในพระศาสนาจนได้เป็นพระอรหันต์ด้วยประการนี้


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรปิโลติกะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๙ ประจำวันที่ ๑-๗ เมษายน ๒๕๕๙

.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRKFupqITf5m3L9q1d51JBRCUHXsMHYhZuPYQEM-BqfTYtvEbznHQ)

สามเณรสังฆรักขิต
วันนี้ขอนำเด็กที่ถูกจับบวชเป็นสามเณรแล้วก็อยู่ต่อจนเป็นพระ เป็นพระแล้วก็ “กระสัน” อยากสึก มาเล่าให้ฟัง

เด็กน้อยชื่อ สังฆรักขิต ชื่อเดิมจะว่าอย่างไรไม่ทราบ หลังจากบวชแล้ว เขาเรียกท่านว่า สังฆรักขิต หรือ ภาคิไนยสังฆรักขิต = สังฆรักขิตผู้เป็นหลาน

ท่านเป็นหลานของพระเถระนามว่า สังฆรักขิต พระเถระรูปนี้เป็นพระอรหันต์ ทรงอภิญญา ไปเยี่ยมครอบครัวญาติพี่น้องของตน เห็นหลานชาย (บุตรน้องชาย) หน่วยก้านดีจึงพาไปบวชเป็นสามเณร สามเณรสังฆรักขิตปรนนิบัติหลวงลุง ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของตนด้วยอย่างดีเสมอมา เมื่ออายุครบบวชหลวงลุงก็เป็นอุปัชฌาย์บวชให้

วันหนึ่งท่านสังฆรักขิตผู้หลาน กลับไปเยี่ยมโยมบิดามารดา โยมถวายผ้ากัมพลเนื้อดีมาสองผืน ตั้งใจว่ากลับไปถึงวัด จะถวายผืนใหญ่แก่อุปัชฌาย์จึงนำไปถวาย ขณะบอกถวายผ้าแก่อุปัชฌาย์ ท่านสังฆรักขิตกำลังนวดเท้าอาจารย์ เสร็จแล้วนั่งพัดวีให้ท่านอยู่ อุปัชฌาย์ปฏิเสธบอกให้หลานชายเก็บไว้ใช้เองเถิด เพราะท่านมีจีวรมากพออยู่แล้ว อ้อนวอนอย่างไรหลวงลุงก็ไม่ยอมรับท่าเดียว

สังฆรักขิต จึงน้อยใจ คิดว่าเมื่อหลวงลุงไม่ยินดีรับผ้าที่เราถวาย เราจะบวชอยู่ต่อไปทำไม สึกไปครองเรือนดีกว่า

และแล้วความคิดของเธอก็เตลิดไปไกล

ข้าสึกไปแล้ว เอาผ้าสองผืนนี้ไปขายเอาเงิน ได้เงินจำนวนหนึ่งแล้ว ก็จะไปซื้อแม่แพะมาสักตัว

ธรรมดาแม่แพะย่อมตกลูกเร็ว เมื่อมีลูกแพะหลายๆ ตัว ข้าก็จะขายได้เงินมาจำนวนหนึ่ง จะใช้จ่ายสร้างบ้าน (เรือน) งามๆ สักหลัง   ซื้อที่นาสักแปลง พอที่จะปลูกข้าวไว้กิน ซื้อโคเทียมเกวียนสักคู่ สำหรับช่วยไถนาและขนทัพสัมภาระ

เมื่อมีทุกอย่างแล้วข้าก็จะแต่งงานกับหญิงสาวที่สวยงามสักคนหนึ่ง เราทั้งสองก็จะอยู่ครองเรือนกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา  จากนั้นไม่นาน เราก็จะมีลูกชายน่าเกลียดน่าชังมาสักคนหนึ่ง เราจะตั้งชื่อลูกชายว่าอย่างไรหนอ (อีตาเสฐียรพงษ์ แกก็ยังเป็นวุ้นอยู่ที่ไหนไม่ทราบ ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร แต่ช่างเถิด ตั้งเองก็แล้วกัน) เอาชื่อหลวงลุงนี่แหละมาเป็นชื่อลูกชาย

เมื่อลูกชายโตมาอีกหน่อย เราสองคนสามีภรรยา ก็จะพาลูกชายมานมัสการหลวงลุง โดยข้าจะขับยาน ภรรยานั่งอุ้มลูกอยู่ภายในประทุน

ขณะขับเกวียนไประหว่างทาง ข้าอยากอุ้มลูก อยากหอมแก้มลูกสักฟอด (คนมีลูกใหม่ๆ มักจะเป็นอย่างนี้แหละ) เมียข้าไม่ยอม บอกว่าพี่ขับเกวียนไปสิ ฉันจะอุ้มเอง ไปได้สักระยะหนึ่ง เมียข้าอุ้มลูกจนเมื่อย จึงวางลูกบนพื้นเกวียน เกวียนมันกระแทกเหวี่ยงไปมาเพราะหนทางมันขรุขระ ลูกก็ร้องจ้าด้วยความตกใจและเจ็บปวด

ข้าโมโหเมียที่ทำให้ลูกร้อง จึงเอาปฏักเคาะหัวเมียดังโป๊ก ขณะที่ฟุ้งซ่านมาถึงนี่ มือก็กำลังพัดวีหลวงลุงอยู่ก็จับด้ามพัดฟาดลงบนศีรษะหลวงลุงพอดี

เธอรู้ตัว ตกใจแถมหลวงลุงยังพูดว่า “สังฆรักขิต เธอโกรธมาตุคาม (สตรี) แล้วทำไมมาตีหัวเรา พระแก่อย่างเรามีความผิดอะไรด้วยเล่า”

เธอนึกว่าที่เธอคิดฟุ้งซ่านมาทั้งหมดนี้หลวงลุงรู้หมดแล้ว มีความละอายจึงรีบลงกุฏิหนีไป

พระหนุ่มเณรน้อยวิ่งตามจับมาหาหลวงลุง

หลวงลุงพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสถามเธอว่า
“สังฆรักขิต ทำไมเธอถึงหนีอุปัชฌาย์ไป”
“ข้าพระองค์ละอายใจที่คิดฟุ้งซ่าน จนหลวงลุงทราบหมด พระเจ้าข้า”
“แล้วเธอจะหนีไปไหน”
“สึกไปเป็นคฤหัสถ์ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสปลอบใจเธอว่า
สังฆรักขิต ปุถุชนก็อย่างนี้แหละ คิดโน่นคิดนี่ สร้างวิมานในอากาศไปเรื่อย จิตใจตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาไม่รู้จบสิ้น เธอไม่ต้องละอายดอก ใครๆ เขาก็เป็นอย่างนี้ แต่ขอให้พยายามบังคับจิตมิให้มันวิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่ พยายามเข้าไว้ ไม่นานก็จะสามารถทำได้เอง ของอย่างนี้มันต้องค่อยฝึกค่อยทำ ว่าแล้วพระองค์ก็ตรัสโศลกบทหนึ่ง สอนภิกษุหนุ่มว่า
     ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ
     เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา
     จิตนี้เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในถ้ำ (ร่างกาย)
     ชนเหล่าใดสำรวมระวังจิตไว้ เขาเหล่านั้นก็จักพ้นบ่วงมาร


ว่ากันว่า พอทรงเทศน์จบ สังฆรักขิต ก็บรรลุเป็นพระโสดาบันกลับใจไม่ยอมสึก พากเพียรพยามปฏิบัติธรรมอยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนาต่อไป

ข้อมูลไม่บอกเราว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตผลในการต่อมาหรือไม่ แต่เชื่อว่าคงได้เป็นพระอรหันต์แน่นอน

ขอแถมนิด สมัยผมเป็นพระหนุ่ม เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) วัดสะเกศ ทูลถามว่า พระองค์เคยสึกบ้างไหม (จำได้ว่า อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ไปเฝ้าด้วย)

สมเด็จฯ รับสั่งว่า “เคยมีคนเอากางเกงมาให้แล้วด้วย เราลองเอามานุ่งดู มองตัวเองแล้วรู้สึกว่าน่าสังเวชเลยตัดใจไม่สึก”

เมื่อทูลถามว่า “ทำไมตัดใจได้ง่ายปานนั้น”  รับสั่งว่า “นึกถึงพระพุทธวจนะที่ตรัสสอนพระอยากสึกในคัมภีร์ เลยเกิดอุตสาหะอยากอยู่ต่อไป”

เรียกสั้นๆ ว่า ทรงได้พระพุทธวจนะเป็น “กัลยาณมิตร” ว่าอย่างนั้นเถอะ  พระผู้ใหญ่บางรูปได้เด็กวัดเป็นผู้เตือนสติ พระมหาทองสุก แห่งวัดชนะสงคราม อยากสึก หันมาถาม ส.ธรรมยศ ซึ่งตอนนั้นเป็นเด็กวัด “ถ้าหลวงพี่จะสึก เธอจะว่าอย่างไร”

ส.ธรรมยศ ตอบว่า “อย่าสึกเลย หลวงพี่ หลวงพี่มีความเป็นคนน้อย สึกไปก็เอาตัวไม่รอด”

ได้ยินคำตอบ หลวงพี่ฉุนกึก นึกว่าลูกศิษย์ด่า แต่ลูกศิษย์อธิบายว่า หลวงพี่มีความเป็นพระมาก มีความเป็นคนครองเรือนน้อย พูดง่ายๆ ว่าปรับตัวเข้ากับโลกของคนไม่ได้ อยู่เป็นพระนี่แหละ เจริญก้าวหน้าในพระศาสนาแน่นอน

จริงอย่างที่ลูกศิษย์ว่า ท่านบวชอยู่ต่อมาจนได้เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ เป็นสังฆมนตรี (ตามพระราชบัญญัติปกครองสงฆ์สมัยนั้น) นี้ เพราะอานิสงส์คำเตือนของเด็กวัดนักปราชญ์แท้ๆ 


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสังฆรักขิต โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๐ ประจำวันที่ ๘-๑๔ เมษายน ๒๕๕๙


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 เมษายน 2559 16:06:36
.

(http://www.bloggang.com/data/a/angelonia17/picture/1419525926.jpg)

สามเณรกัณฏกะ

มีผู้ถามว่าคนจะบวชพระอายุต้องครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าจะบวชสามเณรจะต้องอายุเท่าไร มีกำหนดไว้แน่นอนหรือเปล่า

เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ตอบว่า ต้องอายุ ๗ ขวบขึ้นไป เมื่อซักว่าทำไมต้อง ๗ ขวบ ท่านก็บอกว่าไม่รู้สิ แต่เมื่อคราวราหุลกุมารบรรพชา ก็มีพระชนมายุ ๗ พรรษา ข้อนี้น่าจะเป็นเกณฑ์ปฏิบัติทั่วไป ท่านว่าอย่างนั้น

ถามอีกว่า ถ้าอายุเลย ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว สามเณรรูปนั้นไม่บวชพระเลยยังคงเป็นสามเณรอยู่อย่างนั้น จะได้ไหม ผิดกฎข้อไหนไหม ท่านผู้เฒ่า เอ๊ย ผู้ใหญ่ท่านเดิมตอบว่า ไม่ผิดกฎข้อใด เพราะไม่มีกฎไว้

แต่ไม่เหมาะสม

ลองเปิดพระวินัยปิฎกทบทวนดู ก็ปรากฏว่าข้อความน่าสนใจ คือเดิมที เหล่าภิกษุอุปสมบทให้แก่เด็กๆ จำนวน ๑๗ คน เรียกว่า “สัตตรสวัคคีย์” (พวก ๑๗ คน) เด็กเหล่านี้มีอุบาลีเป็นหัวหน้า เป็น “พระเด็ก” รุ่นแรกก็ว่าได้

พอบวชมาได้ไม่กี่วัน ก็ร้องไห้กระจองอแง หิวข้าวขึ้นมาก็ร้องจะกินข้าว กินขนม อุปัชฌาย์กับอาจารย์ก็ปลอบว่า ยังไม่ถึงเวลาฉัน รอให้รุ่งเช้าก่อนจึงจะฉันได้ ก็ไม่ยอม ร้องทั้งคืน บ้างก็อึรด ฉี่รดที่นอนเหม็นหึ่งไปหมด

พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียงร้องของ “พระเด็ก” เหล่านี้ จึงตรัสถามทรงทราบความแล้วจึงตรัสห้ามว่าต่อไปห้ามทำการอุปสมบทแก่เด็กชายอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นเวลา “นาค” จะเข้ามาบวช พระกรรมวาจาจารย์จึงถามว่า “ปริปุณฺณวีสติวสฺโสสิ” ท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์หรือเปล่า นาคต้องตอบยืนยันว่า “อาม ภนฺเต” ครบขอรับ (อ่าน “อามะ พันเต”) ท่านจึงจะอนุญาตให้บวช

ไม่ทราบว่า สัตตรสวัคคีย์ เหล่านี้มีอายุเท่าไรกันแน่

มีอีกคราวหนึ่ง ตระกูลหนึ่งป่วยด้วยอหิวาตกโรคตายกันหมด เหลือแต่พ่อกับลูกชายตัวเล็กๆ พ่อกับลูกชายจึงบวช เมื่อไปบิณฑบาตด้วยกัน เวลาพ่อได้อาหาร ลูกชายก็ร้องขอจากพ่อว่า พ่อให้ผมกินเถอะ อะไรทำนองนี้ ชาวบ้านเห็นแล้วก็ติเตียนว่า พระรูปนี้พาเด็กมาบิณฑบาต สงสัยเด็กคนนี้คงเป็นลูกนางภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งเป็นแน่ พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องจึงทรงบัญญัติห้ามว่า ต่อไปอย่าให้เด็กบวชพระ

เมื่อเด็กอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ถูกห้ามมิให้บวชเป็นพระภิกษุ พระสารีบุตรจึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้า (เมื่อคราวที่ตรัสสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร) ว่า “จะให้บวชด้วยวิธีไหน พระเจ้าข้า” พระองค์จึงตรัสว่า “บวชด้วยการถึงสรณคมน์ก็แล้วกัน” ราหุลกุมารผู้มีพระชนมายุ ๗ พรรษาจึงได้บวชเป็นสามเณรรูปแรก

เมื่อสามเณรรูปแรกอายุ ๗ ขวบ ก็เลยถือเป็นประเพณีว่า ผู้จะบวชเณรควรอายุตั้งแต่ ๗ ขวบขึ้นไป

ในพระวินัยปิฎกอีกนั่นแหละ เล่าต่อว่าคนในตระกูลอุปัฏฐากพระอานนท์ ตายหมดเหลือแต่เด็กชายเล็กๆ ๒ คน พระอานนท์มีความสงสารก็คิดจะให้เด็กทั้งสองบวชสามเณร เข้าใจว่าอายุคงไม่ครบ ๗ ขวบ เหมือนสามเณรราหุล พระอานนท์จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความประสงค์ของตน พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เด็กทั้งสองนั้นโตพอไล่กาได้ไหมอานนท์

“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าเช่นนั้น เธอให้บรรพชาเป็นสามเณรได้”

อรรถกถาอธิบายว่า เด็กอายุเท่าไรไม่สำคัญ “เด็กใดถือก้อนดินด้วยมือซ้าย นั่งแล้ว อาจเพื่อจะไล่กาทั้งหลาย ซึ่งพากันมาให้บินหนีไปแล้วบริโภคอาหารซึ่งวางไว้ข้างหน้าได้ เด็กนี้จัดว่าผู้ไล่กาไป จะให้เด็กนั้นบวชก็ควร”

สรุปก็คือ เด็กพอรู้เดียงสา สามารถไล่กา (ไล่หมาด้วย) ที่จะมาแย่งอาหารจากจานข้าวได้ ก็บวชเป็นเณรได้

ที่จับบวชหน้าไฟ ส่วนมากก็อายุยังน้อยทั้งนั้น บวชให้แล้วดูแลดีๆ ก็คงไม่เป็นไร บางครั้งผมเห็นญาติโยม (ตัวดี) พาเณรน้อยไปเที่ยวที่ห้างสรรพสินค้าก็มี

สามเณรที่อายุน้อยๆ ถ้าซนก็คงซนตามประสาเด็กไม่ค่อยเดียงสา แต่ถ้าสามเณรโค่ง คือสามเณรวัยรุ่น ความซนอาจออกไปทางอนาจาร เสี่ยงต่อการละเมิดทางเพศ ดังในคัมภีร์บันทึกพฤติกรรมของสามเณรกัณฏกะ (สามเณรหนาม) ไว้เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์

สามเณรหนาม มีประวัติเป็นมาอย่างไร ไม่แจ้งชัด รู้แต่ว่าเป็นศิษย์พระอุปนนท์ แห่งศากยวงศ์ ท่านอุปนนท์รูปนี้เป็นพระ “ดัง” (ในทางไม่ค่อยดี) รูปหนึ่ง ท่านเป็นพระนักเทศน์ รูปงาม เสียงจะดีด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ ชอบสอนให้ลูกศิษย์ออกไปนั่งกรรมฐานบ้าง เดินจงกรมบ้าง ตามลานวัด ตนเองก็เข้ากุฏิปิดประตูนอน

พอเหล่าศิษย์บำเพ็ญเพียรจนเหนื่อยแล้ว คิดจะกลับมาเอนหลังสักหน่อย ท่านอุปนนท์ก็ตื่นขึ้นมาพอดี ออกมาไล่ให้ไปจงกรม หรือนั่งสมาธิต่อจนกระทั่งพระลูกศิษย์ออกปากว่าอาจารย์เข้มงวดเหลือเกิน

บังเอิญศิษย์รูปหนึ่งแอบรู้พฤติกรรมของอาจารย์เข้า จึงกระซิบบอกต่อๆ กันไป จึงได้รู้ทั่วกันว่า อาจารย์ของพวกตนเป็นประเภท “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” เรื่องรู้ไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสสอนว่า  ควรปฏิบัติตนให้ดีก่อน แล้วค่อยสอนคนอื่น  ถ้าทำได้อย่างนี้ บัณฑิตจึงจะไม่มัวหมอง

แต่บัณฑิตอย่างอุปนนท์ ไม่สนใจ วันหนึ่งก็แสดงพฤติกรรมน่าเกลียดอีกจนได้ คราวนี้ท่านเดินทางไปยังวัดต่างๆ สามสี่แห่งก่อนวันเข้าพรรษา วางรองเท้าไว้ที่วัด ก. ร่มไว้ที่วัด ข. น้ำเต้าไว้ที่วัด ค. ตนเองไปจำพรรษาอยู่ที่วัด ง. พอออกพรรษาแล้วก็ไปทวง “ส่วนแบ่ง” ที่ผู้อยู่จำพรรษาพึงได้รับ ครั้นเขาแย้งว่า หลวงพ่อไม่ได้จำพรรษาวัดนี้นี่ครับ

“ใครว่า คุณ ผมเอารองเท้าจำพรรษาแทน แล้วไง คุณก็ต้องแบ่งให้ผมด้วย” เล่นกะหลวงพ่ออุปนนท์สิ

เมื่ออาจารย์เป็นอย่างไร ลูกศิษย์ก็คงไม่แตกต่างกัน กัณฏกะสามเณรอยู่ใกล้ชิดพระอุปนนท์ก็คงถอดแบบจากอาจารย์ สามเณรกัณฏกะจึงไม่ค่อยจะสำรวมสมเป็นเหล่ากอแห่งสมณะที่ดี ปากคอเราะร้าย พอเจอนางภิกษุณีก็มักจะ “ขายขนมจีบ” ไม่เลือกหน้า วันดีคืนดีก็ทำอนาจารกับภิกษุณีนามว่า กัณฏกี จนมีเรื่องฉาวโฉ่

พระบาลีใช้คำว่า ภิกฺขุนึ ทูเสสิ = ประทุษร้ายภิกษุณี  (sc!) = ประพฤติอนาจาร ไม่ทราบว่าถึงขั้นไหน เพราะภาษากำกวม แม้ในภาษาปัจจุบันนี้ก็ใช้คำว่า กระทำอนาจารทางเพศเช่นกัน คือ กำกวมเช่นกัน

ความซุกซนของสามเณรกัณฏกะ ศิษย์หลวงพ่ออุปนนท์ เป็นที่รับรู้กันทั่วไป จนพระพุทธเจ้าทรงวางบทบัญญัติไว้เพื่อกวดขันสามเณรต่อไปคือ
๑.ให้ทำทัณฑกรรม (คาดโทษ) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๕ ประการคือ
   ๑) ความพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
   ๒) พยายามเพื่อความพินาศแห่งภิกษุทั้งหลาย
   ๓) พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
   ๔) ด่า บริภาษ ภิกษุทั้งหลาย
   ๕) ยุยงให้ภิกษุต่อภิกษุแตกกัน
๒.ให้นาสนะ (ให้ฉิบหาย, คือไล่ศึก) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๑๐ ประการ คือ
   ๑)ทำลายสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป (ฆ่าสัตว์)
   ๒) ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้ (ลักทรัพย์)
   ๓) กระทำการอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ (เสพกาม)
   ๔) กล่าวเท็จ
   ๕) ดื่มสุราเมรัย
   ๖) กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
   ๗) กล่าวติเตียนพระธรรม
   ๘) กล่าวติเตียนพระสงฆ์
   ๙) มีความเห็นผิด
  ๑๐) ประทุษร้ายนางภิกษุณี

รวมถึงประทุษร้ายสามเณรด้วยแหละครับ แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายต่าง “ประทุษร้ายกันและกัน” ก็ต้องเฉดหัวออกไปทั้งสองแหละครับ ขืนปล่อยไว้เดี๋ยวจะ “ประทุษร้ายพระศาสนา”

ความซุกซนของสามเณรกัณฏกะ มองในแง่บวกก็เป็นผลดีแก่พระศาสนา คือ เป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ทรงวางกฎเข้มงวดไม่ให้สามเณรทั้งหลายเอาเยี่ยงอย่างต่อไป

พระพุทธบัญญัติเรื่องนี้เรียกว่า “สามเณรสิกขา” = สิ่งที่สามเณรทั้งหลายพึงสำเหนียกปฏิบัติ ซึ่งสามเณรทั้งหลายในสยามประเทศสวดเตือนสติตัวเองทุกวัน หลังทำวัตรช้า ทำวัตรเย็น จนกระทั่งปัจจุบัน 


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรกัณฏกะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๑ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ เมษายน ๒๕๕๙


หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 เมษายน 2559 14:31:36
.

(http://www.bloggang.com/data/a/angelonia17/picture/1419525926.jpg)

สามเณรอธิมุตตกะ

วันนี้ขอเล่าเรื่องของสามเณรอธิมุตตกะ ชื่อนี้แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พ้นโดยยิ่งแล้ว” หรือ “ผู้พ้นโดยสิ้นเชิง”

ถ้าท่านผู้อ่านติดตามเรื่อง สามเณร=เหล่ากอแห่งสมณะ มาตั้งแต่ต้น คงจำได้ว่าผมได้นำเรื่องของสามเณรสังกิจ มาเล่าให้ฟังแล้ว

สามเณรสังกิจ บวชเป็นพระจนมีอายุพรรษาเป็นพระเถระ ท่านนำหลานชายคนหนึ่งชื่อ อธิมุตตกะ มาบวชเป็นสามเณร

สามเณรอธิมุตตกะ ได้อยู่รับใช้หลวงลุง จนกระทั่งอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ สมควรบวชเป็นพระภิกษุแล้ว หลวงลุงจึงสั่งให้เดินทางกลับบ้านไปลาบิดามารดา เพราะผู้จะบวชเป็นพระจะต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน

สามเณรอธิมุตตกะ เพื่อความแน่ใจว่าอายุตนเองครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แน่หรือไม่ จึงแวะไปเยี่ยมน้องสาวซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ใกล้ดงแห่งหนึ่ง ถามอายุของตน  น้องสาวบอกว่าไม่ทราบ ต้องไปถามพ่อแม่

สามเณรจึงเดินทางข้ามดงไปเพื่อจะไปถามวันเดือนปีเกิดของตน และขออนุญาตพ่อแม่บวชเป็นพระภิกษุ

บังเอิญ ไม่ทราบเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้าย สามเณรถูกโจรห้าร้อยจับไว้ (โจรจำนวนห้าร้อย ไม่ใช่ “โจรห้าร้อย”) ในจำนวนโจรห้าร้อยนั้นก็มีบางคนที่หยาบช้า “ห้าร้อย” จริงๆ บอกว่าจะต้องฆ่าสามเณรบูชายัญ แต่อีกบางคนมีจิตใจอ่อนโยนเห็นแก่ผ้าเหลืองค้านว่า อย่าฆ่าสามเณรเลย เอาคนอื่นบูชายัญแทนเถอะ

สามเณรคิดว่า เราน่าจะสั่งสอนพวกโจรเหล่านี้ให้รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษได้บ้าง จึงพูดกับหัวหน้าโจรว่า ท่านหัวหน้า อาตมาจะเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง ในอดีตกาลมีเสือตัวหนึ่งอยู่ในดง มันฆ่า “จัมปกะ” (ไม่ได้แปลว่าเป็นอะไร สงสัยจะเป็นเนื้อตัวหนึ่ง)  เมื่อจัมปกะถูกเสือกัดกิน เรื่องรู้ไปถึงหมู่เนื้อตัวอื่นๆ จึงพากันหนีจากดงนั้น ไม่อยู่เป็นเหยื่อของเสือตัวนั้นอีกต่อไป

ฉันใดก็ฉันนั้นแหละท่านหัวหน้า ถ้าท่านฆ่าสามเณรชื่ออธิมุตตกะตาย ใครๆ ได้ทราบข่าวว่าสามเณรอธิมุตตกะเดินทางผ่านดงมา ถูกพวกโจรจับฆ่าเสีย   คนอื่นๆ ก็จะไม่เดินทางผ่านมาทางนี้เลย พวกท่านก็จะหมดโอกาสได้ทรัพย์สินจากคนเดินทาง คิดดูให้ดี การฆ่าสามเณรรูปหนึ่ง คุ้มกับสิ่งที่ท่านควรจะได้ในอนาคตไหม

สามเณรท่านเล่น “ไซโค” กับพวกโจร หัวหน้าโจรเอามือลูบเคราคิดหนักเอ่ยขึ้นว่า “ถ้าพวกผมปล่อยสามเณรไป สามเณรก็จะไปบอกคนอื่นว่าพวกโจรซุ่มอยู่ในดงนี้ พวกผมก็อดได้ปล้นทรัพย์คนเดินทางอยู่ดี”

“รับรอง อาตมาไม่บอกใคร สมณะเมื่อรับคำแล้วย่อมไม่คืนคำ” สามเณรกล่าวยืนยัน

หัวหน้าโจรจึงสั่งปล่อยสามเณร

สามเณรเดินข้ามดงไปพบบิดามารดาและญาติ  ถามวันเดือนปีเกิดของตน และขออนุญาตบวชเป็นพระภิกษุแล้วก็เดินทางกลับ จากนั้นพ่อแม่และญาติๆ ของสามเณรเดินผ่านดงไป ถูกพวกโจรจับได้ จึงพากันร้องไห้คร่ำครวญด้วยความเสียใจ (เจ็บใจมากกว่า)

โดยเฉพาะโยมแม่ของสามเณรน้อยร้องเสียงดังกว่าเพื่อนว่า เณรน้อยลูกแม่ทำไมไม่บอกว่าที่ดงนี้มีพวกโจรอยู่ ปล่อยให้พ่อแม่และญาติๆ ถูกพวกมันจับฆ่าเสีย หรือว่าลูกเป็นพรรคพวกของพวกโจร

เมื่อพวกโจรถาม จึงบอกว่า สามเณรรูปที่เดินทางล่วงหน้าไปก่อนนั้นแหละคือลูกของตน ทำไมหนอลูกชายของตนจึงกลายเป็นพวกโจรไปได้ น่าเจ็บใจจริงๆ

หัวหน้าโจรรำพึงเบาๆ ว่า “สามเณรอธิมุตตกะรูปนี้ พูดจริงทำจริง เห็นพ่อแม่ญาติพี่น้องเดินทางมายังที่อยู่ของพวกโจรเช่นพวกเราก็มิได้บอกกล่าวแพร่งพรายให้ทราบถึงอันตราย น่านับถือจริงๆ”

เขาว่าสัจจะก็มีในหมู่โจร หัวหน้าโจรเห็นสามเณรยึดมั่นในสัจจะ ก็เลื่อมใสจึงสั่งปล่อยโยมพ่อแม่ รวมทั้งญาติๆ ของสามเณร  ตนเองพร้อมบริวารรีบเดินทางตามสามเณรไปจนทัน แล้วขอบวชเป็นศิษย์สามเณร  สามเณรอธิมุตตกะ จึงบวชให้โจรทั้งห้าร้อยเป็นสามเณรพาไปหาหลวงลุง  อธิมุตตกะสามเณรได้อุปสมบทเป็นภิกษุ และสามเณรอดีตโจรเหล่านั้นก็ได้อุปสมบทในเวลาถัดมา และได้เป็นศิษย์อยู่ในโอวาทของพระอธิมุตตกะ ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันทุกรูป

นับว่าสามเณรน้อยรูปนี้ สามารถนำมหาโจรมาบวชในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันทีเดียว

ตำราบอกว่า สามเณรได้บรรลุพระอรหัตตั้งแต่บวชใหม่ๆ ตอนที่เดินทางผ่านดงถูกพวกโจรจับนั้นไม่ใช่สามเณรปุถุชนธรรมดา หากเป็นสามเณรอรหันต์ทรงอภิญญา จึงไม่หวาดกลัวต่อความตาย ตรงข้ามกับ “ขึ้นธรรมาสน์ เทศน์สอน” พวกโจรอย่างไม่สะทกสะท้าน

เรื่องราวของสามเณรอธิมุตตกะนี้ มีบันทึกไว้ในสารัตถปกาสินีอรรถกถาแห่งพระสุตตันตปิฎกสังยุตตนิกาย ท่านเล่าเป็นเรื่องประกอบความเห็นของเทวดาที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทำนองจะขอความเห็นว่า ภาษิตของใครจะลึกซึ้งกว่ากัน

หัวข้อที่ประกวดกันกล่าวก็คือ “คบสัตบุรุษดี” ดีเพราะอะไร ต่างคนต่างให้เหตุผล

เทวดาองค์หนึ่งกล่าวว่า “บุคคลควรนั่งใกล้สัตบุรุษ ควรสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะผู้ที่คบสัตบุรุษมีแต่ความประเสริฐ ไม่มีโทษเลย”

อีกองค์หนึ่งกล่าวว่า “บุคคลควรนั่งใกล้สัตบุรุษ ควรสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะผู้ที่คบสัตบุรุษย่อมไพโรจน์ท่ามกลางหมู่ญาติ”

เมื่อถึงบทว่า “คนคบสัตบุรุษย่อมไพโรจน์ท่ามกลางหมู่ญาติ” ก็ยกเรื่องสามเณรอธิมุตตกะประกอบ ว่าสามเณรอธิมุตตกะนี้เป็นสัตบุรุษและคบสัตบุรุษ (คือพระสังกิจจะ) จึงไพโรจน์ คือสง่างามท่ามกลางหมู่ญาติทั้งหลายดังกล่าวมาข้างต้น

มีข้อน่าสังเกตนิดว่า ภาษิตของเทวดาสองสามองค์นั้น พระพุทธองค์ทรงรับว่าเป็นสุภาษิต (คือคำกล่าวดี พอใช้ได้) แต่ที่ถูกจริงๆ พระองค์ตรัสว่า “ผู้ที่คบสัตบุรุษย่อมพ้นทุกข์ทั้งปวง)

สัตบุรุษแท้จริงย่อมทำตนให้พ้นทุกข์ได้ และสามารถสอนคนอื่นให้พ้นทุกข์ได้ด้วยดังพระพุทธองค์ ทรงเป็นยอดสัตบุรุษ เพราะพระองค์
     ทรงรู้ยิ่งแล้ว       สอนเพื่อให้ผู้อื่นรู้ยิ่ง
     ทรงดับเย็นแล้ว   สอนให้ผู้อื่นดับเย็น
     ทรงหลุดพ้นแล้ว  สอนให้ผู้อื่นหลุดพ้น

เรื่องสามเณรอธิมุตตกะก็อวสานลงเพียงเท่านี้


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรอธิมุตตกะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๒ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ เมษายน ๒๕๕๙


(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTU1PcB_uc42345uvO6gh8mjitSMKMI1hBE-4YxIRlwqhNol8xMvg)

สามเณรวาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ

วันนี้ขอเล่าเรื่องสามเณรสองรูปชื่อ วาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ เรื่องราวของสามเณรน้อยทั้งสองรูปมีบันทึกไว้ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย (อัคคัญญสูตร) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑

สามเณรทั้งสองเป็นบุตรพราหมณ์ เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งได้ชวนกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดบุพพาราม เมืองสาวัตถี  พระพุทธเจ้าตรัสถามว่าเธอทั้งสองเป็นพราหมณ์มาบวชในธรรมวินัยของตถาคต ไม่ถูกพวกพราหมณ์ด้วยกันด่าว่าเอาหรือ สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า ถูกด่ามากทีเดียว พระเจ้าข้า

“เขาด่าอย่างไรบ้าง” ตรัสซัก
“เขาด่าว่า พวกข้าพระองค์เกิดในวรรณะประเสริฐ เป็นวรรณะบริสุทธิ์ เป็นบุตรพรหม เกิดจากปากของพรหม ยังไม่รักดี มาบวชอยู่กับพวกสมณะโล้นซึ่งเป็นพวกไพร่ วรรณะเลว เกิดจากเท้าของพรหม”

พระพุทธเจ้าทรงสดับรายงานดังนั้น จึงตรัสว่า “พวกพราหมณ์พวกนั้นลืมตนเกิดจากโยนีของพราหมณีแท้ๆ ยังกล่าวว่าเกิดจากปากพระพรหม เป็นการพูดเท็จแท้ๆ”

พระองค์ตรัสต่อไปว่า ต่อไปถ้าใครถามว่าเป็นใคร พวกเธอจงกล่าวตอบว่า พวกเราเป็นสมณะ ศากยบุตร เป็นโอรสของตถาคตเกิดจากธรรมอันธรรมะสร้าง เป็นธรรมทายาท เพราะคำว่า ธรรมกาย พรหมกาย ธรรมทูต เป็นชื่อของตถาคต

จากนั้นพระองค์ตรัสเล่าว่า เมื่อโลกพินาศลง สัตว์ส่วนมากไปเกิดเป็นอาภัสรพรหม มีปีติเป็นภักษา ไม่มีเพศ มีความเรืองแสง อยู่ในวิมานอันสวยงาม เมื่อโลกเกิดขึ้นใหม่หลังพินาศ สัตว์เหล่านั้นจุติลงมาสู่โลกนี้ยังมีความเรืองแสงอยู่ และเหาะเหินเดินหาวได้

เบื้องแรกยังมีแต่น้ำ มืดมนไม่มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ไม่มีกลางคืนกลางวัน

ต่อมาเกิดง้วนดินลอยบนผิวน้ำ มีกลิ่นสีและรสอร่อย สัตว์โลกตนหนึ่งลองเอานิ้วจิ้มชิมดู ปรากฏว่ามีรสอร่อย สัตว์อื่นก็ทำตาม ต่างก็ติดในรสอร่อย  ความเรืองแสงของร่างกายจึงหายไป เหาะไม่ได้อีกต่อไป

จากนั้นพระจันทร์พระอาทิตย์ก็ปรากฏ มีกลางวัน กลางคืน มีวัน เดือน ปี มีฤดูกาล  จากนั้นก็เกิดสะเก็ดดิน มีสีกลิ่นและรสดีกินเป็นอาหารได้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายกินสะเก็ดดิน ผิวพรรณก็ค่อยหยาบขึ้นๆ ความแตกต่างแห่งผิวพรรณดีก็ดูหมิ่นเหยียดหยามพวกที่ผิวพรรณหยาบ เมื่อเกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามกันเพราะผิวพรรณ สะเก็ดดินก็หายไป มีเถาดินหรือเครือดินเกิดขึ้นแทน และเครือดินก็หายไปในที่สุด  

เกิดข้าวสาลี ไม่มีเปลือก มีแต่ข้าวสาร มีรสชาติอร่อย เมื่อเก็บเอาตอนเช้า ตอนเย็นก็งอกขึ้นแทน เมื่อเก็บเอาตอนเย็น ตอนเช้าก็งอกขึ้นแทน เหล่าสัตว์ที่กินข้าวสาลี ต่างก็มีผิวพรรณหยาบขึ้นๆ พวกที่ผิวพรรณยังดีดูกว่าพวกอื่น ก็เหยียดหยามพวกที่ผิวพรรณเลวกว่าตน

จากนั้นก็เกิดเพศหญิงเพศชายขึ้น มีการเพ่งมองกันเกินขอบเขตเมื่อเพ่งมองมากเข้าราคะกำหนัดก็เกิด มีการเสพเมถุนธรรมกัน ถูกพวกสัตว์ที่ไม่เสพเมถุนธรรมรังเกียจ เอาก้อนดิน ท่อนไม้ขว้างปา ด่าว่าเสียๆ หายๆ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างกระท่อมหรือบ้านเรือนเพื่อกำบัง

ต่อมามีบางคนเกิดความโลภ นำข้าวสาลีมาตุนไว้เพื่อกินหลายวัน สัตว์อื่นๆ ก็ทำตาม การสะสมอาหารก็เกิดขึ้นทั่วไป ข้าวสาลีจึงมีเปลือก ที่ถูกถอนขึ้นแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทนเหมือนแต่ก่อน เหล่าสัตว์โลกจึงประชุมแบ่งเขตข้าวสาลีกัน

ต่อมามีคนสันดานโกง ขโมยส่วนของคนอื่น  เมื่อถูกจับได้ ก็ด่าว่าถกเถียงกัน จึงเห็นความจำเป็นจะต้องมีใครสักคนที่เป็นที่เชื่อถือของชุมชนคอยดูแลผลประโยชน์ของชุมชน ทั้งหมดจึงแต่ตั้งบางคนเป็นหัวหน้าคอยทำหน้าที่ตำหนิคนควรตำหนิ ขับไล่คนควรขับไล่ โดยพวกเขาแบ่งส่วนข้าวสาลีให้

คนที่ประชาชนเลือกขึ้นมาจึงมีชื่อเรียกกันว่า “มหาชนสมมติ” (ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง) เขาทำหน้าที่เป็นที่พอใจของปวงชน จึงมีชื่อว่า “ราชา” (ผู้เป็นที่พอใจของปวงชน) เขาเป็นหัวหน้าดูแลที่นาให้ปวงชนจึงชื่อว่า “กษัตริย์” (ผู้เป็นใหญ่แห่งที่นา) วรรณะกษัตริย์ เกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ (จะสังเกตว่าวรรณะกษัตริย์เกิดก่อน)

จากนั้นก็มีบางพวกปลีกตัวออกจากชุมชนเข้าป่าแสวงวิเวกสวดมนต์ภาวนา หรือเพ่งพินิจ พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะพราหมณ์

บางพวกยังยินดีในการครองเรือน ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพชั้นสูงต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะแพศย์

บางพวกประกอบอาชีพชั้นต่ำอื่นๆ เช่น การล่าเนื้อ ใช้แรงงานทั่วไป พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะศูทร

เมื่อทรงเล่าให้สามเณรทั้งสองฟังอย่างนี้แล้ว พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ทั้งพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ถ้าดูให้ดี ล้วนเกิดมาจากสัตว์พวกนั้น ไม่ได้เกิดจากพวกอื่น เกิดจากพวกที่เสมอกันมิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม

ตรงนี้เท่ากับทรงแย้งความเห็นของพราหมณ์ที่อ้างว่าคนเรามีกำเนิดสูงต่ำไม่เหมือนกัน พวกที่เกิดจากปากพรหมเป็นวรรณะพราหมณ์ พวกที่เกิดจากพาหาพรหมเป็นวรรณะกษัตริย์ พวกที่เกิดจากโสเภณี (ตะโพก) ของพรหมเป็นวรรณะแพศย์ พวกที่เกิดจากเท้าของพรหม เป็นวรรณะศูทร

พูดอีกนัยหนึ่ง วรรณะมิใช่เป็นเครื่องแบ่งความสูงต่ำ วรรณะแบ่งตามอาชีพที่แต่ละคนทำมากกว่า  

โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์เกิดมาทัดเทียมกัน

จากนั้นทรงสรุปว่า ไม่ว่าคนเราจะมีกำเนิดมาอย่างไรก็ตาม นั้นมิใช่ประเด็นสำคัญ ที่สำคัญก็คือการกระทำของแต่ละคน ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ถ้าประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ก็เป็นคนชั่วคนเลวเสมอเหมือนกัน เมื่อตายไปก็ไปเกิดในอบาย ทุคติวินิบาต นรก เหมือนกัน

ถ้าประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ ก็เป็นคนดีเสมอกัน เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน

ชาติชั้นวรรณะหาใช่เครื่องแบ่งแยกความแตกต่างกันไม่

ถ้าวรรณะทั้งสี่ สำรวมกาย วาจา ใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (คือ สติปัฏฐาน=การตั้งสติ ๔,  สมมัปปธาน=ความเพียรชอบ ,  อิทธิบาท=ธรรมเครื่องให้บรรลุความสำเร็จ ๔,  อินทรีย์=ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๕,  พละ=ธรรมที่เป็นกำลัง ๕,  โพชฌงค์=ธรรมอันเป็นองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้ ๗,  อริยมรรค=ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๘) ก็สามารถปรินิพพาน (ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล) ได้ในปัจจุบันเหมือนกัน

ในบรรดาวรรณะทั้งสี่นั้น ผู้ใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ (หมดสิ้นอาสวะ) หมดภารกิจ ปลงภาระ หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ นับว่าเป็นพระอรหันต์นั้นแหละเป็นวรรณะสูงที่สุด

ท้ายสุดทรงย้ำสุภาษิตของสนังกุมารพรหม ซึ่งตรงกับพระมติของพระองค์ว่า “ในหมู่ผู้ถือโคตร กษัตริย์นับว่าประเสริฐสุด แต่ผู้มีวิชชา (ความรู้ดี) และจรณะ (ความประพฤติดี) เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

พระสูตรนี้ มีผู้ตีความไปต่างๆ นานา เช่น บางคนว่า พระสูตรนี้เป็นตัวแทนพระพุทธศาสนาในเรื่องเกี่ยวกับกำเนิดและวิวัฒนาการของโลก และของมนุษย์  โดยเล่าว่าโลกเกิดขึ้นมาอย่างไร มนุษย์เกิดและพัฒนามาอย่างไร วรรณะต่างๆ (ในทรรศนะพระพุทธศาสนา) เป็นมาอย่างไร ตลอดจนสังคมความความคิดทางการเมือง และสถาบันทางการเมืองว่าเกิดขึ้นและวิวัฒนาการเป็นขั้นๆ อย่างไร

บางท่านก็ว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธองค์ทรงเล่าตามความเชื่อของคนสมัยนั้นมากกว่า ทรงเล่าผ่านๆ เพื่อต้องการวกเข้าหาประเด็นสำคัญที่ทรงต้องการสอนมากกว่า  นั่นก็คือ ไม่ว่าโลกจะเป็นมาอย่างไร ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดมาอย่างไร (ไม่ว่าจะเป็นอย่างที่เล่ามา หรืออย่างอื่นก็ตาม) ไม่ใช่เรื่องสำคัญ  ที่สำคัญที่สุด ธรรมะ เท่านั้นเป็นเครื่องแบ่งแยกว่าคนจะเป็นคนดี หรือคนชั่วมิใช่ชาติชั้นวรรณะ

ธรรมะที่ทำให้คนเป็นคนดีที่สุดและประเสริฐที่สุด  วิชชา=ความรู้ (ดี) และ จรณะ=ความประพฤติ (ดี)

สามเณรทั้งสองสดับพระธรรมเทศนาจบลงก็ชื่นชมในภาษิตของพระพุทธองค์มาก ตำราในที่อื่นบอกว่าจากนั้นไม่นาน สามเณรทั้งสองก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุและได้บรรลุพระอรหัต  ดร.มาลาลาเสเกร่า ผู้รวบรวมเรียบเรียง Dictionary of Pali Proper Names กล่าวว่า สามเณรสองรูปนี้คือ วาเสฏฐะ และ ภารทวาชะ เป็นศิษย์ของโปกขรสาติพราหมณ์ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าครั้งแรกแล้วปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต ภายหลังมาบวชเป็นสามเณร และได้ฟังพระธรรมเทศนา เตวิชชสูตรและอัคคัญญสูตร ดังข้างต้น ว่าอย่างนั้น

เรื่องอย่างนี้ต้องเชื่อนักปราชญ์ผู้เป็น “เซียน” ทางด้านนี้เขา เหมือนคนเล่นพระเครื่อง ก็ต้องเชื่อ “เซียนพระเครื่อง” ฉะนี้แล


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรวาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๓ ประจำวันที่ ๒๙ เมษายน - ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙


(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTU1PcB_uc42345uvO6gh8mjitSMKMI1hBE-4YxIRlwqhNol8xMvg)

สามเณรสา

เล่าเรื่องสามเณรทั้งในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาลมาหลายรูปแล้ว บัดนี้ขอพูดถึงสามเณรในประเทศไทยสักสามรูป

ในประวัติศาสตร์การศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศสยาม มีสามเณรผู้สอบผ่านจนจบชั้นสูงสุดแต่อายุยังน้อยเป็นรูปแรกในสมัยรัชกาลที่สาม  

สามเณรรูปนั้นเป็นชาวเมืองนนท์ นามว่า สามเณรสา บวชสามเณรที่วัดใหม่บางขุนเทียน จ.นนทบุรี

ก่อนจะไปไกล ขอเรียนเพิ่มเติมตรงนี้หน่อย สมัยก่อนโน้นพระท่านเรียนพระไตรปิฎกกัน แบ่งชั้นเรียนเป็นสามชั้น คือ บาเรียนตรีเรียนพระสุตตันตปิฎก บาเรียนโทเรียนพระวินัยปิฎก และบาเรียนเอกเรียนพระอภิธรรมปิฎก

ต่อมาในรัชกาลที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ขยายออกเป็นเก้าชั้นเรียกว่า “ประโยค” หลักสูตรเปลี่ยนจากใช้พระไตรปิฎกโดยตรงมาเป็นอรรถกถา (หนังสืออธิบายพระไตรปิฎก)

ประมาณสองหรือสามปี จะจัดสอบไล่ครั้งหนึ่ง ผู้สมัครสอบจะต้องเข้าแปลข้อความที่คณะกรรมการกำหนดให้ อันเรียกว่า “ประโยค” ใครสอบผ่านได้กี่ตอน ก็เรียกว่าสอบได้เท่านั้นเท่านี้ประโยค จนกระทั่งจบเก้าประโยคอันเป็นชั้นสูงสุด

ผู้สอบผ่านตั้งแต่สามประโยคขึ้นไปเรียกว่า มหาบาเรียน (ต่อมาเรียกมหาเปรียญ)

การสอบสมัยนั้นสอบ “แปลปาก” คือ แปลปากเปล่าให้คณะกรรมการฟัง ผู้ที่สอบได้เพียงหนึ่งหรือสองประโยค สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงถวายอุปถัมภ์เป็นการให้กำลังใจว่าให้พยายามต่อไป จะได้เป็นเปรียญแน่นอน

ท่านที่สอบได้สองหรือสามประโยคเหล่านี้จึงเรียกว่า “เปรียญวังหน้า”

ต่อมาในรัชกาลที่หก ได้เปลี่ยนระบบการสอบปากเปล่าเป็นสอบข้อเขียน และกำหนดให้สอบได้ปีละครั้ง จึงไม่มีสามเณรสอบได้เปรียญเก้าประโยคมาเป็นเวลานาน เพราะอายุมักเกินยี่สิบปีบริบูรณ์ก่อน

นี่คือความเป็นมาย่อๆ ของประวัติการสอบพระปริยัติธรรม กลับมาพูดถึงสามเณรสา เข้าแปลบาลีครั้งแรกสอบได้สองประโยค ได้เป็น “เปรียญวังหน้า”

ต่อมาสามเณรสาได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระวชิรญาณภิกขุ (พระเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทววงศ์) เมื่อครั้งทรงผนวชอยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) จนอายุ ๑๘ ปี จึงเข้าแปลบาลีอีกครั้งหนึ่ง  

คราวนี้สามเณรสาแปลคราวเดียวผ่านถึงเก้าประโยค อายุยังไม่ครบบวชเสียด้วยซ้ำ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๒ สามเณรสาอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ได้รับการอุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ เป็นนาคหลวงในรัชกาลที่สาม บวชได้ ๖ พรรษา ก็ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี  

ครั้นสิ้นรัชกาลที่สาม พระเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงสละเพศบรรพชิตขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอมรโมลีหรือพระมหาสา ปุริโส ขอลาสิกขาไปรับราชการด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ทรงโปรดให้สึก เพราะทรงเห็นว่าจะเป็นกำลังของพระศาสนาอย่างดี

แต่อย่างว่าแหละครับ “ฝนจะตก ลูกจะออก ขี้จะแตก พระจะสึก ใครจะห้ามได้” คำพังเพยเขาว่าอย่างนั้น มหาสาก็ดื้อสึกจนได้

ประวัติศาสตร์กระซิบเล่าว่า ในหลวงรับสั่งให้เอามหาสาขัง ให้เอาผ้าไตรไปวางไว้ข้างๆ รับสั่งว่าเลือกเอา จะเอาคุกหรือผ้าไตร ใครมันจะอยากติดคุกเล่าครับ (ประวัติศาสตร์กระซิบบางฉบับว่า ถูกโบยด้วย) มหาสาก็เลยตัดสินใจเลือกเอาผ้าไตร ในหลวงก็โปรดเกล้าฯ ให้กลับไปอุปสมบทใหม่ คราวนี้ได้ฉายาว่า ปุสฺสเทโว

ขอเรียนว่า “ประวัติศาสตร์กระซิบ” ที่ผมพูดถึง (ออกบ่อย) นี้ ไม่มีบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เล่าขานสืบต่อกันมา จึงควรใช้วิจารณญาณในการฟัง อย่าเพิ่งเชื่อและอย่าเพิ่งปฏิเสธ ฟังๆ ไว้แหละดี มันดีด้วย

ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาจารย์ (เกษม อํสุการี) วัดมหาธาตุ สมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ ไปเป็นพระธรรมทูตที่วัดพุทธปทีป ประเทศอังกฤษ ท่านพูดกับผมว่า “เธอรู้ไหม ฉันนี่แหละเป็นเชื้อสายของมหาสา สังฆราชหลังลาย ฉันเป็นชาวเมืองนนท์) ว่าแล้วท่านก็เล่าประวัติสมเด็จพระสังฆราชสาอย่างละเอียด ชนิดที่ผมไม่เคยได้อ่านพบที่ไหนเลย ผมเรียนถามท่านว่า ทำไมหลวงพ่อเรียกพระองค์ว่า “สังฆราชหลังลาย

“อ้าว ตอนถูกจับขังคุกนั้น ไม่ได้ขังเฉยๆ ถูกโบยหลังด้วย ไม่งั้น มหาสาคงไม่ตัดสินใจไปบวชอีก” ท่านว่าอย่างนั้น

พระมหาสาอยากทดสอบความรู้ภาษาบาลีของตนอีก จึงเข้าแปลอีกครั้ง ปรากฏว่าแปลครั้งเดียวก็ผ่านฉลุยถึงเก้าประโยค จึงเป็นที่ฮือฮา เรียกขานว่า “พระมหาสิบแปดประโยค” เป็นรูปแรกและรูปเดียวในประวัติศาสตร์การศึกษาพระพุทธศาสนา

เมื่ออุปสมบทได้ ๗ พรรษา ก็ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ “พระสาสนโสภณ” (แปลว่าผู้งดงามในพระศาสนา)  พระราชทินนามนี้แปลก มีคำว่า “สา” อันเป็นนามเดิมของท่านด้วย นับว่าเป็นนามที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้แม้ว่าท่านจะได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นเพียงใดก็ตามยังคงเป็นตำแหน่งในพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จฯ ที่ “พระธรรมวโรดม” ก็ยังคงนาม “พระสาสนโสภณ” อยู่ คือเป็น “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม”

ตั้งแต่อุปสมบทครั้งหลัง ท่านอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ตลอดจนเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พ.ศ.๒๔๓๖ ก็ได้รับสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงดำรงตำแหน่งสังฆบิดรอยู่เป็นเวลา ๖ ปี ก็สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ สิริรวมพระชนมายุ ๘๗ พรรษา

ตรงนี้ถ้า “สิริ” รวมตัวเลขผิดก็ขออภัยด้วยนะครับ เพราะ “สิริ” เธอไม่มีเครื่องคิดเลข ด้วยเคยมีเรื่องขัน ท่านผู้หนึ่งอ่านประวัติคนตาย บอกวันเดือนปีเกิดและวันตายเสร็จ แล้วรวมอายุผิด โดยเขียนว่า “สิริรวมอายุ ๗๒ ปี” ท่านผู้นั้นเห็นว่ารวมผิด ควรเป็น ๗๓ ด้วยความปรารถนาดีจึงเขียนไปบอกเจ้าภาพว่า

ช่วยกรุณาบอก “คุณสิริ” ด้วย ว่ารวมอายุคนตายผิด


สมเด็จพระสังฆราช อดีตสามเณรสารูปนี้มีสติปัญญาเฉียบแหลมอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นถ้าอยู่ในเพศบรรพชิตจะเป็นกำลังสำคัญในการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จึงไม่ทรงโปรดฯ ให้สึกไปรับราชการ จึงหาทางผลักดันให้กลับมาบวชใหม่จนได้ ท่านได้แต่งหนังสือพุทธประวัติและปฐมสมโพธิ สำนวนใหม่ สำนวนภาษากระชับอ่านเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป

ยุคที่อดีตสามเณรสาบวชเรียนอยู่นั้น เป็นยุคทองแห่งภาษาบาลีก็ว่าได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอาจารย์ของสามเณรสา ทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีมาก ทรงได้พระราชนิพนธ์บทสวดมนต์ตำรา เช่น ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์สังเขป ความเรียงภาษาบาลีพุทธศาสนสุภาษิต เป็นภาษาบาลีเสมอ ดังคาถาพระราชนิพนธ์พระนามและพระราชทานพรแก่พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอทั้งหลายก็เป็นฉันท์ภาษาบาลี ทรงประดิษฐ์คิดคำใหม่ๆ ชนิดที่ไม่มีในอดีตอีกด้วย

รวมถึงคาถาขอขมาเป็นภาษาบาลีที่ชาวบ้านเรียกว่า “คำลาตาย” ก็ทรงเป็นภาษาบาลีได้ลึกซึ้งและไพเราะยิ่ง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ “ปัญญา อัคคภิกขุ” สัทธิวิหาริกในพระเจ้าฟ้ามงกุฎฯ พระอุปัชฌาย์ของอดีตสามเณรสาก็ทรงดำเนินตามรอยยุคลบาท โดยทรงนิพนธ์เรื่อง “สุคตวิทัตถิวิธาน” (วินิจฉัยเรื่องคืบพระสุคต) เป็นภาษาบาลี นับเป็นวรรณคดีบาลีที่ดีเยี่ยมเรื่องหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ เสียดายว่าไม่มีใครรู้จัก

พุทธศาสนสุภาษิตหลายบท ที่คนส่วนมากนึกว่าเป็นพุทธวจนะ เพราะเนื้อหาเป็นธรรมะถูกต้องดีงาม แต่ที่จริงเป็นผลงานของ “อาจารย์และศิษย์” สำคัญสามท่านคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชสา เช่น โลโก ปตฺถมฺภิกา เมตฺตา=เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก เป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ

รกฺเขยฺย อตฺตโน สาธุ ลวณํโสณตํ ยถา=พึงรักษาความดีของตน ดุจเกลือรักษาความเค็ม  สุภาษิตบทนี้อดีตสามเณรสาเป็นผู้แต่งครับ

ตราบใดที่เกลือยังเค็มอยู่ ขอให้เรารักษาความดีให้ดีตราบนั้น มิได้หมายความว่าให้ “เค็ม” เหมือนเกลือนะขอรับ  


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๔ ประจำวันที่ ๖-๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙



หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 พฤษภาคม 2559 13:54:58

(http://www.dhammajak.net/board/files/__989.jpg)

สามเณรปลด

วันนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวสามเณรน้อยนามว่า ปลด ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สามเณรปลด นามสกุล เกตุทัต เป็นบุตรขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ)  และนางปลั่ง เกิดวันจันทร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๑ โยมบิดาเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า และเป็นเจ้ากรมคนแรกในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

สามเณรปลดบวชเรียนเมื่ออายุ ๑๒ ปี ที่วัดพระเชตุพน เข้าสอบแปลบาลีคราวแรกได้ ๑ ประโยค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า เสด็จพระราชดำเนินฟังการแปลในวันนั้นด้วย ทอดพระเนตรเห็นสามเณรปลดแปลได้ก็ทรงพอพระทัย ตรัสว่า “เณรเล็กๆ ก็แปลได้”

และเมื่อทรงทราบว่า “เณรเล็กๆ” เป็นบุตรขุนพิษณุโลกประชานาถ ก็ทรงมีพระมหากรุณายิ่งขึ้น  ทรงโปรดฯ ให้ย้ายมาอยู่วัดเบญจมบพิตรตั้งแต่วันที่เข้าสอบครั้งแรกนั้น

สามเณรปลดเข้าแปลอีกประมาณห้าหรือหกครั้ง ก็สอบผ่านได้เปรียญ ๙ ประโยค เมื่ออายุย่าง ๒๐ ปี ใน พ.ศ.๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า ทรงมีพระราชปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์เป็นกรณีพิเศษ โดยรับจัดพิธีอุปสมบทให้

พูดอย่างภาษาสามัญก็ว่าทรงเป็น “โยมบวช” ให้ สามเณรปลดเป็น “นาคหลวง” ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระมหาปลดได้ฉายาว่า กิตฺติโสภโณ (ผู้งามด้วยเกียรติ) มีสมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทยมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณณทัตตมหาเถระ) และพระธรรมเจดีย์ (เข้ม ธัมมสรมหาเถระ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ ตามลำดับ

พระมหาหนุ่มความรู้เปรียญธรรมเก้าประโยค ใครๆ ก็คาดว่าคงจะบวชไม่นาน คงจะลาสิกขาไปรับราชการเหมือนพระมหาหนุ่มอื่นๆ หลายรูปในสมัยนั้น เช่น

พระมหาปั้น สุขุม เปรียญสามประโยค วัดหงส์รัตนาราม ลาสิกขา ออกมารับราชการจนเป็นถึงเจ้าพระยายมราช
พระมหานิ่ม กาญจนาชีวะ เปรียญ ๖ ประโยคแห่งวัดสุทัศนเทพวราราม ลาพรตออกมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย แต่ไวยากรณ์ไทยที่คนไทยบ่นกันว่ายากอย่างยิ่ง (เพราะท่านยืมไวยากรณ์บาลีมาใช้) ท่านผู้นี้รับราชการจนเป็นถึงพระยาอุปกิตศิลปสาร

เวลาคนไทยพบหน้ากันก็ทักกันว่า “สวัสดี” จนติดปาก ใครไม่รู้ก็จงรู้เสียว่ามหานิ่มคนนี้แหละครับเป็นผู้บัญญัติคำนี้ขึ้นใช้

พระมหาน้อย อาจารยางกูร เปรียญ ๗ ประโยคแห่งวัดสระเกศ สึกออกมารับราชการเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร เป็นกวีเอก แต่งฉันท์ กาพย์กลอนได้ไพเราะยิ่ง บทสวดมนต์ที่สวดแล้วกินใจ “องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บมิหม่นมิหมองมัว...”

นั่นแหละครับฝีปากมหาน้อยท่าน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่หก ทรงเปรยทำนองจะชวนพระมหาปลดสึกมารับราชการ แต่พระมหาปลดแสดงท่าทีว่ายินดีอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มากกว่า

ตอนนั้นท่านเป็นพระราชาคณะหนุ่ม ถวายพระธรรมเทศนาแด่ในหลวงเป็นที่โปรดปรานมาก ถ้าท่านลาสิกขาไปรับราชการ ท่านคงเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการแน่นอน

ผู้เฒ่าผู้แก่กระซิบ (ประวัติศาสตร์กระซิบอีกแล้ว) ว่า ที่พระมหาปลดไม่สึกนั้นเพราะ “รับฝากวัด” ไว้จากในหลวงรัชกาลที่ห้า เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนอุปสมบทหนึ่งวัน มีการประกอบพิธีทำขวัญนาคที่พระที่นั่งทรงธรรม ในหลวงรัชกาลที่ห้าเสด็จในพิธีด้วย  ในตอนเสร็จพิธีก่อนจะเสด็จกลับ ทรงมีพระราชดำรัสกับสามเณรปลดว่า “เณร ฝากวัดด้วยนะ”  สามเณรปลดก็ได้เฝ้าวัดที่ทรงฝากไว้จนกระทั่งได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช  ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ห้า ทรงทราบว่าสามเณรน้อยรูปนั้นได้รักษาวัดที่ทรงฝากไว้มาเป็นอย่างดี พระองค์ก็คงทรงปีติและโสมนัสมิใช่น้อย

สามเณรปลด ได้เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาตามลำดับ ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์ แล้วเลื่อนเป็นพระราชเวที พระเทพมุนี พระธรรมโกศาจารย์ พระพรหมมุนี สมเด็จพระวันรัต และในที่สุดได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ พระนามตามจารึกในสุพรรณบัฏยาวถึงสามบรรทัดว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส ภูมิพลมหาราชอนุศาสวนาจารย์ กิตติโสภณาภิธานสังฆวิสสุต ปาวจนุตมกิตติโสภณ วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถานวิจิตปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช”

เรื่องชื่อยาวนี้มีเกร็ดเล่าว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์นี้เสด็จไปดูการพระศาสนายังยุโรปและอเมริกา หนังสือพิมพ์ฝรั่งพาดหัวข่าวว่า พระสังฆราชแห่งเมืองไทย ผู้มีนามยาวที่สุดในโลก โดยนำพระนามมาลงเป็นอักษรโรมัน

ผมอ่านแล้วทั้งฉุนทั้งขัน ที่ฉุนก็เพราะแกเรียกพระองค์ว่า “Mister Somdej” แต่เมื่อนึกว่าอยู่คนละวัฒนธรรมกับเรา ก็หายฉุนกลายเป็นขันแทน

อย่าว่าแต่คนอื่นเลย พี่ไทยเรานี่ก็เหมือนกัน ส่วนมากไม่ค่อยจะรู้เรื่องพระเรื่องเจ้า บางคนอยู่สมาคมอื่น องอาจกล้าหาญ พูดเสียงดัง แต่พอเข้าพระเข้าเจ้าตัวสั่นงันงก เก้ๆ กังๆ ไม่รู้จะวางตัวอย่างไร ไม่รู้จะพูดกับท่านอย่างไร พระท่านถามว่า มีธุระอะไรหรือโยม

“อาตมาจะมานิมนต์เชิญท่านไปฉันเพลที่บ้าน เจริญพร” แน่ะ แย่งคำของพระมาใช้หน้าตาเฉย

สมณศักดิ์พระราชาคณะที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ศรี” สมัยก่อนสงวนไว้สำหรับพระมหาเปรียญเก้าประโยค เช่น ถ้าเห็นพระราชทินนามว่า พระศรีวิสุทธิวงศ์ พระศรีโสภณ รู้ทันที่ว่า “เจ้าคุณ” องค์นี้มีภูมิปริยัติเปรียญเก้าประโยค  และถ้าอยู่ในยุทธจักรดงขมิ้นก็จะรู้ “ศักดิ์ศรี” ของแต่ละตำแหน่งไม่เท่ากัน ตำแหน่งใน “ทำเนียบ” จะดูดีกว่า ผู้ได้รับสถาปนาก็จะภูมิใจกว่า ว่ากันอย่างนั้น สังเกตดูตำแหน่งที่พระมหาปลดได้รับล้วนแต่อยู่ในทำเนียบทั้งนั้น เช่น พระศรีวิสุทธิโมลี พระราชเวที พระเทพมุนี ฯลฯ  

เฉพาะนามที่ลงท้ายด้วย “เวที” มีปัญหา ถูกญาติโยมผู้หวังดีแก้เป็น “เทวี” ทุกครั้งเลย เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ อาจารย์ผมเมื่อสมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเวที รับนิมนต์ไปแสดงธรรมทางวิทยุบ่อย แต่ถูกแก้ชื่อแทบทุกครั้ง “ต่อไปนี้ ท่านจะได้ฟังพระธรรมเทศนา แสดงโดย พระเทพเวที” ทราบว่าท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์สมัยดำรงสมณศักดิ์ พระเทพเวที ก็ถูกแก้ชื่อเช่นเดียวกัน นี่คือฝีมือของ “ผู้หวังดี” คือหวังดีจนทำเสีย

อดีตสามเณรปลด เป็นคนเจ้าระเบียบ เป็นนักการศึกษาและให้การศึกษาแก่ศิษยานุศิษย์ตลอดเวลาที่มีโอกาส ความเป็นเจ้าระเบียบ “เฮี้ยบ” นั้นลือลั่นกันมากในสมัยนั้น

เอาแค่ภายในวัดเบญจมบพิตร พระเณรเวลาลงจากกุฏิ จะเดินลงมาโดยมีแต่สบงกับอังสะเท่านั้นไม่ได้ ต้องห่มผ้าให้เรียบร้อยเป็นปริมณฑล

สีสบงกับจีวรจะต้องให้กลมกลืนกัน เข้มหรืออ่อนกว่ากันผืนใดผืนหนึ่ง นุ่งห่มแล้วมองเห็นสีไม่กลมกลืนกันไม่ได้

เวลามีงานพระราชพิธี ในหลวงจะเสด็จ เช่นที่วัดพระแก้ว อดีตสามเณรปลด เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต หรือสมเด็จพระสังฆราชแล้ว จะไปตรวจดูก่อนว่า จัดสถานที่เรียบร้อยหรือไม่  

บุคลิกภาพก็เป็นสิ่งสำคัญที่ท่านกวดขันมาก เริ่มแต่รูปร่างหน้าตา ถ้าพระเณรรูปใดรูปร่าง “ขี้ริ้ว” เช่น ดำเกินไป (จนจะปิดทองได้เลย) สูงเกินไป (จนจะพอๆ กับเปรตวัดสุทัศน์) อย่าหมายว่าจะได้อยู่วัดเบญจมบพิตร เพราะท่านไม่เต็มใจรับ หาว่าเป็น “ปุริสทูสกะ” (ทำให้บริษัทเสียความงาม)

บริษัทในที่นี้หมายถึงภิกษุบริษัทนะครับ ไม่ใช่บริษัทมติชน อะไรทำนองนั้น

ความเป็นนักการศึกษาของท่าน ยืนยันได้จากการที่ท่านได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่ง “แม่กองบาลีสนามหลวง” และ “สังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา” มีหน้าที่จัดการศึกษารวมถึงการวัดและประเมินผล ติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

เวลาให้อุปสมบทแก่กุลบุตร เมื่อให้ฉายาแก่นาคแล้ว มักจะหันมาถามพระที่ร่วมพิธีอุปสมบทว่า แปลว่าอย่างไร เป็นการทดสอบความรู้สัทธิวิหาริก (ศิษย์ที่ท่านบวชให้) และอันเตวาสิก (ศิษย์ที่ผู้อื่นบวชให้แต่มาอยู่ด้วย) ไปในตัว นี้นับเป็นวิธีการให้การศึกษาทางอ้อมที่ได้ผลดี ทำให้ศิษยานุศิษย์ตื่นตัวเตรียมพร้อมที่จะตอบคำถาม ซึ่งไม่รู้ว่าจะถูกถามเมื่อใด  แต่ถึงจะเป็นนักการศึกษาอย่างใดก็ตาม ในช่วงแรกๆ นั้นท่านไม่นิยมให้พระเณรเรียนวิชาอื่นนอกจากพระธรรมวินัย หาว่าเป็น “ดิรัจฉานวิชา” ท่านจะไม่พอใจเมื่อเห็นพระในวัดไปเรียนมหาจุฬาฯ  มหามกุฏฯ  หรือเรียนภาษาฝรั่งมังค่า

ต่อเมื่อได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วนั่นแหละ ทรรศนะนี้ได้เปลี่ยนไป  พระองค์ได้รับอาราธนาให้ไปดูการพระศาสนายังต่างแดน ตรัสภาษาฝรั่งไม่ได้ต้องอาศัยล่ามช่วยแปล นั่นแหละพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของวิชาการอื่นจากพระธรรมวินัย

เมื่อผมบวชใหม่ๆ ไปเข้าเฝ้า พระองค์ท่านรับสั่งถามว่า “เรียนภาษาฝรั่งบ้างหรือเปล่า” ผมกราบทูลด้วยความมั่นใจว่าพระองค์ทรงโปรดแน่ “ไม่ กระหม่อม” แต่ผิดถนัด พระองค์รับสั่งว่า “เรียนไว้นั่นแหละดี ไม่รู้ภาษาฝรั่งต้องหัวเราะทีหลัง อายเขา” เมื่อเห็นผมงง จึงทรงอธิบายว่า “ฉันพูดฝรั่งไม่ได้ ต้องผ่านล่าม เวลาพวกเขาพูดคุยกันหัวเราะขบขัน กว่าจะรู้ว่าเขาพูดเรื่องอะไรและได้หัวเราะบ้างก็ช้าไปแล้ว หัวเราะทีหลังมันอายเขาอย่างนี้แหละ”

สามเณรปลดนับเป็นสามเณรรูปที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สอบได้เปรียญเก้าประโยคในสมัยแปลปาก แต่หลังจากเปลี่ยนเป็นสอบข้อเขียนแล้ว ไม่มีใครสอบได้มาเป็นเวลาห้าสิบกว่าปี จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๐๓ มีสามเณรน้อยจากมหาสารคาม ชื่อ เสฐียรพงษ์ วรรณปก สอบได้เป็นรูปแรกในรัชกาลปัจจุบัน ในปีถัดมาก็มีสามเณรประยุทธ์ อารยางกูร ถัดจากสามเณรประยุทธ์ ก็มีตามมาอีกจำนวนมาก มีใครบ้างจำไม่ค่อยได้แล้ว

ต่อไป ถ้ารัฐได้ขยายโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับจากหกปีเป็นเก้าปี ผู้จบประถมศึกษาย่างเข้าวัยต้องใช้แรงงานกันแล้ว คงจะพากันบวชเณรน้อยลง ถึงมาบวชก็คงไม่มีสามเณรเปรียญเก้าอีกต่อไป เพราะอายุจะเลยยี่สิบปีบริบูรณ์

นั่นไม่สำคัญเท่ากับต่อไปจะหาเณรน้อยลงทุกที เมื่อเณรน้อยลง พระก็จะลดน้อยลงด้วย แล้วใครจะอยู่สืบพระศาสนาเล่าเจ้าประคุณเอ๋ย


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรปลด โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๖ ประจำวันที่ ๒๐-๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTTLOiP-34q0dLD4-t-ZA4zA71m8skEQWcAXZj9DBRo1nyTlS73)

สามเณรนิรนาม สมัยพระโปฏฐิละ

คราวนี้ถึงคิวสามเณรนิรนาม ไม่ทราบว่าชื่ออะไร รู้แต่ว่าอายุ ๗ ขวบ แถมยังเป็นสามเณรอรหันต์อีกต่างหาก มีบทบาทในการ “ปราบพยศ” พระเถระพหูสูตรูปหนึ่งผู้หยิ่งผยองในความรู้ของตนเอง

พระเถระรูปนี้ชื่อว่า โปฏฐิละ แปลว่า ตำราหรือคัมภีร์

นัยว่าท่านคัมภีร์นี้มีอายุอยู่ร่วมสมัยพุทธกาลโน่นแน่ะครับ อรรถกถาธรรมบท เขียนเล่าไว้อย่างนั้น

แต่เปิดพระไตรปิฎกดูทำเนียบพระสาวกทั้งหลายแล้วไม่ปรากฏชื่อ 

เปิดพจนานุกรมอสาธารณนาม หรือ Dictionary of Pali Proper Names รวบรวมโดย ดร.มาลาลาเสเกรา ก็ไม่มี  สงสัยผู้แต่ง (พระพุทธโฆษาจารย์) จะแต่งขึ้นมา โยงเรื่องราวไปถึงสมัยพุทธกาลมากกว่า 

ท่านโปฏฐิละเป็นผู้ทรงจำพุทธวจนะได้มาก เป็นอาจารย์ของภิกษุทั้งหลายจำนวนหลายร้อย (ว่ากันว่า ๕๐๐ รูป) วันๆ ได้แต่สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา ไม่เคยคิดสั่งสอนตัวเองเลยว่า จะหาที่สิ้นสุดทุกข์แก่ตนได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าทรงมีพระพุทธประสงค์จะเตือนเธอ เวลาท่านไปเฝ้าพระพุทธองค์พร้อมภิกษุทั้งหลาย พระองค์จะตรัสกับท่านว่า "อ้อ คุณใบลานเปล่า นั่งสิ คุณใบลานเปล่า”

เวลาท่านกราบทูลลากลับ พระองค์ก็จะตรัสว่า “คุณใบลานเปล่า จะกลับแล้วหรือ” อะไรอย่างนี้เป็นต้น

ท่านโปฏฐิละ คิดว่า เราเป็นถึงอาจารย์ใหญ่ เชี่ยวชาญในพระพุทธวจนะบอกธรรมแก่พระสงฆ์ถึง ๑๘ คณะใหญ่ ทำไมหนอ พระบรมศาสดายังตรัสเรียกเราว่า “ใบลานเปล่า”  นี่คงหมายความว่า เราได้แต่บอกได้แต่สอนคนอื่น ไม่ได้สอนตัวเองเลย ไม่เช่นนั้นพระองค์คงไม่ทรงเรียกเราอย่างนี้

ครับ เรียกว่า ได้สำนึกตัวขึ้นมา เพราะพระพุทธองค์ตรัสเตือน จะเรียกว่าโดยตรงก็ได้ โดยอ้อมก็ได้ พระองค์มิได้ตรัสตรงๆ แต่ถ้อยคำมันบ่งค่อนข้างชัด “ใบลานเปล่า” ใครฟังก็เข้าใจทันทีว่า มีแต่ใบลาน ไม่มีพระธรรมจารึกไว้เลย

คนที่หลงตัว มัวเมาว่าตนเก่ง ตนดี ก็ต้องมีผู้เตือนอย่างนี้แหละครับจึงจะสำนึกได้ จะรอให้เขาเตือนตนเองคงยาก

“แพรเยื่อไม้” นักเขียนเรื่องสั้นชั้นเยี่ยมรูปเดียว ในวงการคณะสงฆ์ ผู้ล่วงลับไปแล้วได้แต่งเรื่อง “หลวงตา” เล่าถึงพระนักเทศน์เอกรูปหนึ่ง เทศน์เก่งมาก ไปเทศน์ที่ไหนญาติโยมตามไปฟังเป็นร้อยๆ แน่นศาลา ท่านจึงหลงตัว มัวเมาในความเด่นความดังของตน ไม่มีเวลาตรวจสอบจิตและสอนจิตตนเองแม้แต่น้อย  วันหนึ่งหลังจากเทศน์จบ หลวงตาก็ลงจากธรรมาสน์ กระหยิ่มยิ้มย่องว่าวันนี้ตนเทศน์ได้ยอดเยี่ยมจริงๆ มานั่งรอรับกัณฑ์เทศน์ ทายกผู้เฒ่าคนหนึ่งยกถาดกัณฑ์เทศน์ถวาย สายตาหลวงตาเหลือบไปเห็นขวานวางอยู่ในถาดด้วย จึงเอ่ยถามว่า “กัณฑ์เทศน์มีขวานด้วยหรือ โยม”

“ครับ ถวายขวานให้ท่านใช้ ขวานนี้ดีนะครับ คม ถากอะไรได้สารพัด เสียอย่างเดียว...” พูดแค่นี้ก็ทำท่าจะยกกัณฑ์เทศน์ถวาย
“เสียอะไร โยม” พระถามต่อ
“มันถากด้ามของมันไม่ได้ครับ”

หลวงตานั่งรถกลับวัด คิดถึงคำพูดของทายกไปตลอดทาง กว่าจะรู้ว่าถูกโยมด่าก็ต่อเมื่อก้าวขึ้นบันไดกุฏินั้นแล

โยมเขาเตือนว่า ท่านก็ได้แต่ “ถาก” (สอน) คนอื่น ไม่ได้ “ถาก” ตนเองเลย แสบไหมละครับ

ท่านโปฏฐิละก็เช่นกัน เมื่อสำนึกตนได้ ก็บอกลาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย เข้าไปวัดป่าเพื่อขอปฏิบัติกรรมฐาน ไปกราบพระอาจารย์ผู้เฒ่ารูปหนึ่ง กล่าวว่า “ท่านอาจารย์ โปรดเป็นที่พึ่งของกระผมเถิด สอนธรรมให้ผมด้วยเถิด”

พระเถระกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรเช่นนั้น ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญพระพุทธวจนะ พวกเราได้รู้แนวการปฏิบัติก็เพราะท่านเป็นคนช่วยบอกช่วยสอน”

พระเถระนักปฏิบัติ ๓๐ รูป ที่ท่านโปฏฐิละเข้าไปมอบตนเป็นศิษย์ไม่ยอมรับ ต่างออกตัวไปตามๆ กัน ว่ากันว่า เพื่อขจัดทิฐิมานะของท่านให้หมดไป

พระนักปฏิบัติทั้งหลาย ดูเหมือนจะมองออกว่า คนระดับอาจารย์ใหญ่ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายนั้น ทิฐิมานะย่อมฝังรากลึก เพื่อให้แน่ใจว่าหมดพยศจริงๆ จึงจะยินดีสอนกรรมฐานให้ ทางเดียวที่จะรู้ว่าหมดพยศจริงๆ หรือไม่ คือส่งไปหาสามเณร จึงส่งท่านไปยังสามเณรน้อยนิรนามรูปหนึ่ง ขณะกำลังสั่งสอยจีวรอยู่  ท่านโปฏฐิละเข้าไปหาสามเณรประคองอัญชลี (ยกมือไหว้) กล่าวว่า ท่านสัตบุรุษโปรดเป็นที่พึ่งให้ผมด้วย สอนธรรมให้ผมด้วย

สามเณรน้อยตกใจ ร้องว่า “ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรอย่างนั้นผมเป็นสามเณรมิบังอาจสอนอะไรให้แก่ท่านได้ ท่านเป็นถึงอาจารย์ใหญ่ระดับซาร์ศาสนา” (คงประมาณเดียวกับ “ซาร์เศรษฐกิจ” กระมัง ฮิฮิ)

“ได้โปรดเถิด พ่อเณร ผมไม่มีที่พึ่งอีกแล้ว” ซาร์ใหญ่อ้อนวอนอย่างน่าสงสาร

สามเณรน้อยกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ถ้าผมบอกให้ท่านอาจารย์ทำอะไรท่านอาจารย์ยินดีทำตามไหม” สามเณรน้อยยื่นเงื่อนไข

ความจริงสามเณรน้อยมิใช่ขี้ไก่ เป็นสามเณรอรหันต์ ย่อมรู้ว่าจะสอนนักวิชาการแสนรู้จะต้องทำอะไร

“ยินดีทำตามทุกอย่างครับ พ่อเณร” พระโปฏฐิละตอบ
“ท่านอาจารย์ เห็นสระน้ำข้างหน้าไหม”
“เห็นครับ”
“นิมนต์ท่านอาจารย์เดินลงไปยังสระน้ำนั้น ก้าวลงอย่างช้าๆ จนกว่าผมจะสั่งให้หยุด” อรหันต์น้อยสั่ง

พระเถระเดินลงสระน้ำอย่างว่าง่าย จนจีวรเปียกน้ำแล้วเดินลงไปตามลำดับ สามเณรน้อยเห็นพระเถระเอาจริง จึงสั่งให้หยุดให้ขึ้นมา แล้วกล่าวสอนว่า “ท่านอาจารย์ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง เหี้ยตัวหนึ่งวิ่งเข้าวิ่งออกตามช่องทั้ง ๖ นั้นเสมอ บุคคลประสงค์จะจับเหี้ยตัวนั้น จึงอุดช่องทั้ง ๕ ช่อง เปิดไว้เพียงช่องเดียว คอยเฝ้าอยู่ใกล้ช่องนั้น เมื่อเหี้ยออกช่องอื่นไม่ได้ ก็ออกมาทางช่องนั้น เขาก็จับเหี้ยตัวนั้นได้ตามประสงค์ เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้แหละ ท่านอาจารย์”

อรหันต์น้อยกล่าวเป็นปริศนาธรรม

พระเถระผู้พหูสูต ฟังแค่นี้ก็ “get” ทันที ร้องว่า I’ve got it อะไรทำนองนั้น ท่านโปฏฐิละเข้าใจอย่างไรหรือครับ ท่านเข้าใจว่า ในกายของเรานี้มีอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นดุจ “ช่อง” ให้จิตเราเข้า-ออกๆ อยู่เสมอด้วยความเคยชิน เป็นที่ตั้งใจแห่งรัก โลภ โกรธ หลง ผูกพันไว้กับทุกข์ตลอดเวลา เมื่อต้องการบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจ ก็ต้องปิด “ช่อง” (ทวาร) ทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เปิดไว้ช่องเดียว คือ จิต คอยเฝ้าดูจิตตลอดเวลา บังคับให้มันอยู่กับที่เป็นสมาธินานๆ ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อทำได้ดังนี้ก็จะสามารถทำจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ไม่ตกเป็นทาสให้กิเลสตัณหามันเสือกไสไปตามปรารถนาของมัน

พูดให้สั้นก็คือ พระเถระนึกได้แล้ว จะพ้นทุกข์ต้องฝึกฝนจิตของตนด้วยการปฏิบัติกรรมฐานนั่นแหละ จึงเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง แล้วก็ก้าวหน้าในการปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแผ่รัศมีไปตรงหน้าท่าน ขณะท่านนั่งสมาธิอยู่ ดังหนึ่งปรากฏพระวรกายตรงหน้า ตรัสคาถา (โศลก) สอนว่า
     โยคา เว ชายเต ภูริ       อโยคา ภูริสงฺขโย
     เอตํ เทวธาปถํ ญตฺวา     ภวาย วิภวาย จ
     ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย        ยถา ปญฺญา ปวฑฺฒติ

ปัญญาเกิดมีได้ เพราะตั้งใจพินิจ   เสื่อมไป เพราะไม่ตั้งใจพินิจ

เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมของปัญญาแล้ว ควรทำตนโดยวิถีทางปัญญาจะเจริญ

พระดำรัสสั้นๆ นี้ กระจ่างแก่พระโปฏฐิละเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุด ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัต ถึงจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตแล้ว
 
งานนี้ ไม่ขอบคุณสามเณรน้อย จะขอบคุณใครเล่าครับ เพราะสามเณรน้อยอรหันต์นี้เอง พระพหูสูตอย่างท่านโปฏฐิละจึงเดินถูกทาง จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาจากพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดในที่สุด

เสียดายเราไม่มีโอกาสรู้ว่า สามเณรน้อยรูปนี้คือใคร


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรนิรนาม สมัยพระโปฏฐิละ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๗ ประจำวันที่ ๒๗ พฤษภาคม-๒ มิถุนายน ๒๕๕๙



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTTLOiP-34q0dLD4-t-ZA4zA71m8skEQWcAXZj9DBRo1nyTlS73)

สามเณรนิรนาม สมัยพุทธกาล

สามเณรนิรนามอีกรูปหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์มาก เหาะเหินเดินหาวได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ แต่ท้ายสุดก็เสื่อมจากฤทธิ์ เพราะวัยหนุ่มเป็นเหตุ เสื่อมอย่างไร เสื่อมเพราะใครคงเดากันได้ ถ้าเดาไม่ได้ก็ตามผมมา จะเล่าให้ฟัง

เรื่องราวเกิดขึ้นสมัยหลังพุทธกาล คงราว พ.ศ.๙๐๐ กว่า ยุคที่อรรถกถา (หนังสืออธิบายพระไตรปิฎก) รุ่งเรือง ในอรรถกถา “สัมโมหวิโนทนี” เล่าไว้ว่า พระเถระอรหันต์รูปหนึ่ง พร้อมกับสามเณรผู้ติดตามเดินทางจากชนบทไปยังวัดในเมืองหลวงอันชื่อว่า ปิงครบริเวณ เพื่อนมัสการพระเจดีย์และต้นพระศรีมหาโพธิ์

ขณะที่พระเถระทั้งหลายพากันไปไหว้พระเจดีย์ พระเถระจากชนบท ท่านไม่ได้ไปด้วย รอให้ผู้คนกลับกันหมดแล้ว กลางคืนดึกสงัด ท่านจึงลุกขึ้นไปไหว้พระเจดีย์แต่เพียงผู้เดียวเงียบๆ ไม่ให้รู้แม้กระทั่งสามเณร

สามเณรเฝ้าดูอาการของพระเถระด้วยความแปลกใจ จึงแอบเดินตามหลังไปเงียบๆ พระเถระกราบพระเจดีย์แล้ว ก็ลุกขึ้นยืนประคองอัญชลีจ้องพระเจดีย์ด้วยความเคารพอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานจนกระทั่งสามเณรกระแอมกระไอขึ้น จึงหันมาถามว่า สามเณรมาเมื่อไร
     “มาพร้อมท่าน ขอรับ”
     “เหรอ ฉันไม่ทันสังเกต”
     “ท่านอาจารย์ไหว้พระเจดีย์ ไม่เห็นมีดอกไม้เลยขอรับ”
     “ถ้ามีก็ดี แต่เมื่อไม่มี ด้วยจิตที่เลื่อมใส ก็เสมือนบูชาด้วยดอกไม้นั่นแหละ สามเณร”
     “ถ้าท่านอาจารย์ประสงค์ดอกไม้ กระผมจะไปนำมาถวาย” ว่าแล้วก็เข้าฌานเหาะไปยังป่าหิมพานต์นำดอกไม้หลากสีใส่ธมกรก (กระบอกกรองน้ำดื่ม) มาถวายพระเถระ พระเถระเกลี่ยดอกไม้ลงยังแท่นบูชา กล่าวว่า “ดอกไม้มีน้อยนะ สามเณร”
     “ท่านอาจารย์ขอรับ ขอให้ท่านรำลึกถึงพระคุณอันมหาศาลของพระพุทธเจ้าแล้วบูชาเถิด” สามเณรกล่าว

พระเถระก้าวขึ้นตามบันไดไปยังมุขด้านทิศปัจฉิม แล้วเกลี่ยดอกไม้ลงแท่นบูชา ทันใดนั้นแท่นบูชาเต็มไปด้วยดอกไม้ แถมยังหล่นลงมากองบนพื้นข้างล่างอีกสูงท่วมเข่า พระเถระเดินลงยังพื้นชั้นล่าง วางดอกไม้บนฐานพระเจดีย์ ดอกไม้ก็แผ่เต็มบริเวณพระเจดีย์

“สามเณร ดอกไม้ยิ่งวางก็ยิ่งมาก” พระเถระหันมาพูดกับสามเณร สามเณรกราบเรียนท่านว่า “ท่านอาจารย์จงคว่ำธมกรกลง” พระเถระก็ทำตาม ทันใดนั้นดอกไม้ก็หมดไป

พระเถระอรหันต์ทรงอภิญญา ทราบว่า สามเณรหนุ่มนี้ต่อไปจักเสื่อมจากฤทธิ์เพราะมาตุคาม จึงกล่าวเตือนว่า “สามเณร เธอมีฤทธิ์มาก แต่ถ้าเธอประมาท ต่อไปเธอก็จะเสื่อมจากฤทธิ์ เธอจักดื่มน้ำข้าวอันช่างทอหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำแล้ว”

สามเณรขัดใจนึกตำหนิว่า “พระผู้เฒ่านี้พูดอะไร ไม่เห็นเข้ารูหูเลย” ไม่ใส่ใจ เดินหนีไป

เมื่อพระเถระจะเข้าไปบิณฑบาต ให้สามเณรถือบาตรตามหลัง สามเณรถามว่าท่านจะไปหมู่บ้านไหน เมื่อพระเถระบอกชื่อหมู่บ้าน สามเณรก็บอกว่านิมนต์ท่านอาจารย์ไปก่อนเถอะ ปล่อยให้พระเถระเดินไป จวนจะเข้าหมู่บ้านแล้ว จึงเหาะตามไปเอาบาตรถวายพระเถระ

พระเถระกล่าวเตือนสามเณรผู้คะนองด้วยการใช้อิทธิฤทธิ์ มันหวั่นไหว เสื่อมได้ถ้าคะนอง เมื่อมันเสื่อมแล้วจะเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ในที่สุด

“พระผู้เฒ่าพูดอะไร ไม่เข้ารูหู” สามเณรหนุ่มบ่นอีกด้วยความรำคาญ ไม่ยอมฟัง

วันหนึ่งสามเณรเหาะลิ่วๆ ผ่านไปสระบัวแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงหญิงสาวร้องเพลงไพเราะจับใจ ยังกับเธอกำลังออกคอนเสิร์ตกลางสระน้ำก็มิปาน สามเณร “ลอยคว้าง” กลางอากาศ ตำราเปรียบว่า “เหมือนแมลงตาบอดติดอยู่ในรสหวาน” ไปไหนไม่ได้ ด้วยกำลังแห่งสมาบัติที่เหลืออยู่ถึงแม้ฤทธิ์จะเสื่อมแล้วแต่ก็ไม่หล่นตุ๊บลงบนพื้นน้ำ สามเณรผู้ต้องศรกามเทพค่อยๆ ลงมายืนเซ่ออยู่ริมฝั่ง สติยังมีอยู่บ้าง จึงรีบกลับวัดมาลาอาจารย์ว่าตนมีความจำเป็นจะต้องจากไป

พระเถระรู้ล่วงหน้าแล้วว่าอะไรเป็นอะไร จึงไม่เอ่ยปากทัดทานแม้คำเดียว ถึงห้ามก็คงไม่ฟัง ดังพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ที่ว่า “ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิว์ขังไว้ ย่อมโลดและแล่นไป มิยอมอยู่ ณ ที่ขัง” ฉะนั้นแล

ไม่ว่ารักของคนหนุ่มหรือของคนแก่ ความรักมันบุกไปถึงทั้งนั้นแหละครับ

สามเณรถอดสบงจีวรทิ้ง ยืนคอยหญิงสาวอยู่ริมสระ หญิงสาวขึ้นจากสระน้ำรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงขอร้องให้สามเณรกลับไปอยู่วัดอยู่วาตามเดิม ชีวิตครองเรือนมันมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบดังสามเณรฝันดอก 

ก็คงพูดไปตามประสา แต่ใจจริงหญิงสาวก็มีใจปฏิพัทธ์สามเณรหนุ่มรูปหล่ออยู่ เมื่อสามเณร (ตอนนี้กลายเป็น “น้อย” หรือ “เซียง” ไปแล้ว) ยืนยันจะอยู่เคียงข้างน้องนาง ไม่ว่าจะเข้าดงกุหลาบหรือดงอุตพิดก็ตาม

“ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดๆ” ว่าอย่างนั้นเถอะ

ทั้งสองก็พากันกลับไปยังเรือนของหญิงสาว พ่อแม่หญิงสาวกล่าวว่า “พ่อหนุ่มเอย เราเป็นช่างหูกจนๆ พ่อหนุ่มจะอยู่กับเราได้หรือ พ่อหนุ่มเคยบวชเรียนอยู่ในเพศสมณะสบายๆ จะทนลำบากไหวหรือ”

พ่อหนุ่มผู้มีรักเป็นสรณะยืนยันว่า “จะให้ทำอะไร ผมทำได้ทั้งนั้น เรื่องการงานข้อยบ่ยั่น” ขึงขังอะไรปานนั้น

เมื่อพ่อหนุ่มยืนยันแข็งขัน จึงยกลูกสาวให้ ทั้งสองอยู่ครองรักกันต่อมา จนพ่อตาแม่ยายเสียชีวิต พ่อหนุ่มก็ได้เป็นหัวหน้าครอบครัวรับมรดกช่างทอหูกสืบไป ครอบครัวอื่นเขามีคนใช้หรือผู้ช่วยงาน ครอบครัวของอดีตสามเณรมีกันเพียงสองคน เมื่อครอบครัวอื่นเขาให้คนนำอาหารไปให้สามีของเขาที่โรงทอหูกแต่เช้า ภรรยาของอดีตสามเณรหนุ่มทำงานบ้านก่อน กว่าจะนำอาหารไปให้สามีก็สาย สามีรอจนโมโหหิว เหตุการณ์มักจะเป็นอย่างนี้แทบทุกวัน

จนวันหนึ่งสามีทนไม่ได้ จึงดุด่าเอาแรงๆ ภรรยาก็เถียงบ้างว่า ก็ฉันมีอยู่คนเดียว ไม่มีใครช่วยงานบ้าน ก็ทำไมไม่หาคนมาช่วยงานบ้าง นำอาหารมาให้ก็บุญแล้ว อยากกินก็กิน ไม่อยากกินก็ตามใจสิ ว่าแล้วก็โยนอาหารลงพื้น โกรธเหมือนกันนี่คะ

เท่านั้นแหละครับ อดีตสามเณรผู้มีฤทธิ์ คราวนี้ออกฤทธิ์แบบชาวบ้านคือ หยิบกระสวยขว้างแม่ยอดยาหยี ภรรยาหลบไม่ทัน ปลายกระสวยทิ่มตาข้างหนึ่ง เลือดไหลเป็นทาง เธอเอามือกุมตาที่แตก ร้องไห้ครวญครางด้วยความเจ็บปวด

ตาบอดทันทีทันใดครับ

ไอ้ “น้อย” หรือ “ไอ้เซียง” เห็นดังนั้น ก็ร้องไห้ครวญครางไม่แพ้ภรรยา ชาวบ้านต่างก็มาปลอบโยนทั้งสองคนว่า เรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว ทำคืนไม่ได้อย่าได้ถือสากันเลย ไอ้หนุ่มก็พาเมียไปรักษาตาให้หายเสีย เธอก็อย่าได้คร่ำครวญไปเลย ถึงเมียตาบอดข้าง ก็ยังมีอีกข้างมองเห็นอยู่ ต่อไปอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกก็แล้วกัน บวชเรียนมาแล้ว เย็นๆ ลงเสียบ้างไอ้น้อย

ไอ้น้อยครางอ่อยๆ ว่า “ฉันมิได้ร้องไห้เพราะเหตุนี้ดอก ฉันนึกถึงคำพูดของพระเถระอาจารย์ของฉัน ท่านบอกว่า ต่อไปฉันจะกินน้ำข้าวที่ช่างทอหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำ อาจารย์ท่านมองเห็นล่วงหน้าแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น อุตส่าห์ตักเตือน แต่ฉันไม่ฟัง ฉันไม่ดีเอง ฮือ ฮือ”

“ไอ้น้อยเอ๋ย ก็เอ็งเลือกเดินทางนี้แล้ว ก็จงเดินต่อไป เมียตาบอดข้างก็เพราะเอ็งทำเขา เอ็งก็จงรับผิดชอบต่อไป”

ดูเหมือนอดีตสามเณรหนุ่มแว่วเสียงของอาจารย์มาแต่ไกลฉะนี้แล


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรนิรนาม สมัยพุทธกาล โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๘ ประจำวันที่ ๓-๙ มิถุนายน ๒๕๕๙




หัวข้อ: Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 มิถุนายน 2559 16:35:13

(http://www.palungdham.com/news/name02.jpg)

สามเณรเสฐียรพงษ์  วรรณปก

ส่วนสามเณรรูปถัดมานี้ ชื่อ ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นอาจารย์หรือนักวิชาการทางด้านพุทธศาสนาและภาษาบาลี ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ และยังเป็นนักเขียนบทกวี ตำรา และบทความในนิตยสารหลายฉบับ

ประวัติและการศึกษา เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๒ ที่บ้านโนนสูง ตำบลเลิงแฝก (ปัจจุบันคือ ตำบลหนองแวง) อำเภอบรบือ (ปัจจุบันคืออำเภอกุดรัง) จังหวัดมหาสารคาม

เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอัมพวัน ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ศึกษานักธรรมและบาลีไวยากรณ์ กับอาจารย์มหาบุดดี ปุญญากโร (บุดดี สุวรรณคำ) เจ้าอาวาส  จนกระทั่งสอบได้นักธรรมโทจึงได้ย้ายไปศึกษาต่อที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยเป็นลูกศิษย์พระมหาชม ธมฺมธีโร (พระราชปริยัติยาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม)

สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญ ๓ ประโยค หลังจากนั้นกลับไปอยู่ที่วัดอัมพวันในบ้านเกิดสอบได้เปรียญ ๔ ประโยค แล้วจึงเดินทางมาศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

เป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ

พ.ศ.๒๕๐๘ ได้เดินทางไปศึกษาภาษาสันสกฤต ณ วิทยาลัยตรีนิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Trinity College, Cambridge University) ประเทศอังกฤษ โดยการติดต่อประสานงานของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชียและมูลนิธิการศึกษาวัดทองนพคุณ พ.ศ.๒๕๑๒

สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (เกียรตินิยม)

เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ได้สอนพระปริยัติธรรม ณ วัดทองนพคุณ ดังเดิม พ.ศ.๒๕๑๔ ได้ลาสิกขาและรับราชการเป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พ.ศ.๒๕๑๙

โอนไปเป็นอาจารย์สอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใน พ.ศ.๒๕๒๒

โอนกลับไปคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตามเดิม จนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ ๙ 

ก่อนจะลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕

วิทยฐานะ
- เปรียญธรรม ๙ ขณะเป็นสามเณร (รูปแรกในรัชกาลที่ ๙ สมัยเริ่มสอบด้วยข้อเขียน และเป็นรูปที่สามในสมัยรัตนโกสินทร์) อุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์
- ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
- ปริญญาโท สาขาภาษาตะวันออกโบราณ (บาลี-สันสกฤต) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
- ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.๒๕๔๘
- ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะมหานิกาย) พ.ศ.๒๕๕๐

ผลงานประพันธ์ ได้เขียนบทความลงในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์เมื่อครั้งเป็นภิกษุ โดยการชักชวนของคุณสุลักษณ์  ศิวรักษ์ ภายหลังได้เขียนบทความลงในนิตยสารต่างๆ เช่น ต่วยตูน, แม่และเด็ก, รักลูก, ชีวจิต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์มติชน มีผลงานที่พิมพ์เป็นเล่มประมาณ ๒๐๐ เล่ม

นามปากกา
- ไต้ ตามทาง ใช้เขียนเรื่องประเภทขำขันทีเล่นทีจริง
- “เปรียญเก้าประโยค” ใช้เขียนเรื่องประเภทการใช้ภาษา
- เสฐียรพงษ์ วรรณปก ใช้เขียนเรื่องประเภทวิชาการและสารคดี

มีผลงานหนังสือทางวิชาการ และกึ่งวิชาการที่พิมพ์เผยแพร่มากกว่า ๒๐๐ เล่ม อาทิ พุทธวจนะในธรรมบท, พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์, พุทธจริยาวัตรพากษ์ไทย-อังกฤษ, พุทธจริยาวัตร ๖๐ ปาง, มีศัพท์ มีแสง, บทเพลงแห่งพระอรหันต์ : Song of the Arahant, เพลงรักจากพระไตรปิฎก, พระไตรปิฎกวิเคราะห์, สองทศวรรษในดงขมิ้น, สู่แดนพุทธภูมิ, ไปไหว้พระบาทพระพุทธองค์, เนื้อติดกระดูก, นิทานปรัชญาเต๋า, ยุทธวิธีแก้ทุกข์, สัมผัสพระพุทธเจ้าด้วยใจ, ยุทธจักรดงขมิ้น, ใต้ร่มใบบุญ, ฤๅสมัยนี้โลกมันเอียง, จุดศูนย์ถ่วง, บัวบานกลางเปลวเพลิง, ฝ่าความมืดสีขาว, ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ, สวนทางนิพพาน, พุทธศาสนสุภาษิต, พจนานุกรมไทย-อังกฤษ จัดทำร่วมกับ คุณดำเนิน การเด่น, ชุดสิบล่อหั่น (สิบอรหันต์) สี่เล่ม (๑.สิบล่อหั่นต้นพุทธกาล ๒.สิบล่อหั่นชีวิตพิสดาร ๓สิบล่อหั่นหญิง ๔.สิบล่อหั่นน้อย) จุดประกายแห่งชีวิต, ภูฏาน ดินแดนแห่งพุทธศาสนา, ไปสืบพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา, พระไตรปิฎกศึกษา ชุด ๑ ธรรมะนอกธรรมาสน์ พระไตรปิฎกศึกษา ชุด ๒ วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์, คำบรรยายพระไตรปิฎกช่องที่ไม่ว่าง, ผีสางคางแดง, สูตรสำเร็จชีวิต, ชีวิตตัวอย่าง หมอชีวกโกมารภัจจ์, คุณธรรมสำหรับนักบริหาร จากเสฐียรพงษ์ถึงพระเทพเวที และพุทธทาสภิกขุ, ความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย : ทางออก กรณียันตระ อมโร, สองอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ หลวงพ่อพุทธทาส และหลวงพ่อชา, คิดเป็นทำเป็นตามนัยพุทธธรรม, บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ เพื่อความความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม, พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็นอุบาสกรัตนะ, พระสูตรดับทุกข์, ธรรมะสู้ชีวิต, เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเปิดโลก มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางสองมิติ และสัปปุริสธรรม ๗ นัยที่สอง, ๙ พุทธ ๙ เต๋า ๙ เซน, สติ-สมาธิ, พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์, ธรรมะ HOW TO ฯลฯ

เกียรติคุณที่ได้รับ
- ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ พ.ศ.๒๕๓๕
- ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักรในฐานะผู้เขียนหนังสือพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๓๕
- ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ รายการส่งเสริมคุณธรรมดีเด่น รายการ “ดรุณธรรม” ทางช่อง ๕ พ.ศ.๒๕๒๕
- ได้รับประทานเข็มเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายเรืออากาศอาวุโส กองทัพอากาศ พ.ศ.๒๕๓๕
- ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน กรมตำรวจ
- ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พ.ศ.๒๕๔๓ สาขามนุษยศาสตร์ ในฐานะได้รับการยอมรับว่ามีความรู้ ความสามารถและแสดงให้เป็นที่ปรากฏว่ามีฝีมือและชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา
- ได้รับรางวัลหนังสือวิชาการยอดเยี่ยมแห่งปี พจนานุกรมไทย-อังกฤษ จากอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) พ.ศ.๒๕๔๖ โดยได้รับรางวัลร่วมกับ คุณดำเนิน การเด่น
- ได้รับรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๕๒
- ได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ จากคุรุสภา พ.ศ.๒๕๕๓ 


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรเสฐียรพงษ์  วรรณปก โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๙ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81040510659416_3.JPG)
สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร ขณะอ่านหนังสืออยู่บนเตียงนอน
ในกุฏิที่วัดปราสาททอง ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ (พระภิกษุท่านหนึ่งแอบถ่ายภาพและมอบให้)

สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) นามเดิม ประยุทธ์ อารยางกูร หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา “ป.อ.ปยุตฺโต”  เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๑ ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี 

ได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ และเข้ามาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร จนสอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร เป็นรูปที่สองในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นรูปที่สี่ในสมัยรัตนโกสินทร์  จึงได้รับการอุปสมบทเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๔ ณ พัทธสีมา วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโน) เป็นพระอุปัชฌาย์

สอบได้ปริญญาพุทธศาสนาบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๑) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๐๔ และได้วิชาชุดครู พ.ม. เมื่อปี ๒๕๐๖

พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระนักวิชาการ นักคิดนักเขียนผลงานทางพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ มีผลงานทางวิชการพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก 

ผลงานที่เป็นที่รู้จัก เช่น พุทธธรรม เป็นต้น  ได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยผลงานทำให้ได้รับรางวัลและดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบันทั้งในและนอกประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)

นอกจากนี้ ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์รวมแล้วมากกว่า ๑๕ สถาบัน ซึ่งนับว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์ไทยที่ได้รับการยกย่องให้ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากที่สุดในปัจจุบัน

เนื่องจากเป็นเด็กสุขภาพไม่ใคร่ดีตั้งแต่เล็กจนโต จากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดกล่าวว่า วัยเยาว์จะควบคู่ไปกับการเจ็บป่วยเรื่อยมา เป็นเกือบทุกโรค  เป็นต้นว่า หัวใจรั่ว ต้องผ่าตัดถึงสองครั้ง หูเป็นน้ำหนวก อักเสบเข้าไปในกระดูกพรุนถึงโพรงศีรษะ แพ้อากาศ โรคปอด นิ่วในไต หลอดลมอักเสบ กล้าเนื้อแขนอักเสบ เส้นเสียงอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองข้างซ้ายเล็กลีบ เป็นต้น

จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนตามปกติ 

หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ทางบ้านจึงสนับสนุนให้ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านกร่าง ตำบลศรีประจันต์ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน เพราะเล็งเห็นว่าการอยู่ในเพศบรรพชิตจะเอื้ออำนวยต่อการศึกษาได้มากกว่า เพราะไม่ต้องยุ่งยากเดินทางไปโรงเรียน และยังสามารถศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดได้

เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรประยุทธ์ได้เริ่มเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๖ ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ รับเป็นนาคหลวง โดยมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ 

ศึกษาจนกระทั่งได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

หลังจากสอบชุดวิชาครู พ.ม.ได้ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาถึง ๑๐ ปี มีบทบาททางด้านการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยพยายามเชื่อมโยงความรู้ทางธรรมให้เข้ากับปัญหาสังคมร่วมสมัย


(http://2.bp.blogspot.com/-07lAYI8E1OY/TuZCw3Uek0I/AAAAAAAAAVw/yhk7GYk1fLA/s400/%25E0%25B8%259E%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B0%25E0%25B8%2598%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%259B%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%258F%25E0%25B8%2581.jpg)

ในทางด้านการบริหารเคยดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๖ และลาออกจากตำแหน่งบริหารหลังจากนั้นในสามปีต่อมา โดยทุ่มเทเวลาและกำลังกายให้กับงานด้านวิชาการ ตีพิมพ์ผลงานเป็นหนังสือและบทความออกมาอย่างแพร่หลาย ทั้งร่วมเสวนาและสัมมนาทางวิชาการ กับนักวิชาการและปัญญาชนร่วมสมัยอย่างสม่ำเสมอ

หนังสือพุทธธรรม ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำเอกของวงการพุทธศาสนา ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า ๑๐ แห่ง และได้รับรางวัล “การศึกษาเพื่อสันติภาพ” จากยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่งได้มอบเงินรางวัลทั้งหมดให้แก่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อจัดตั้งกองทุนการศึกษาพระธรรมปิฎกเพื่อสันติภาพ พระ ป.อ. ปยุตฺโต ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ เป็นพระเทพเวที พระธรรมปิฎก และพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจำพรรษาอยู่ที่วัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

สมณศักดิ์
- พ.ศ.๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
- พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวรมุนี ศรีปริยัติบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ศรีวิสาลปาพจนรจิต ตรีปิฎกบัณฑิตมหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปิฎก อดุลญาณนายก ปาพจนดิลกนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ.๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพรหมคุณาภรณ์สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมปิฎก ปรากฏในหลายลักษณะ ทั้งในด้านการสอน การบรรยาย การปาฐกถา การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการแสดงพระธรรมเทศนา

ท่านได้รับอาราธนาไปสอนวิชาการทางพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศหลายครั้ง อาทิ University Museum, University of Pennsylvania พ.ศ.๒๕๑๕ Swarthmore College, Pennsylvania ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ และ Harvard University ในปี พ.ศ.๒๕๒๔

และเป็นพระสงฆ์ไทยที่ได้รับการระบุอาราธนาแสดงปาฐกถาในที่ประชุมนานาชาติ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหลายครั้ง

เช่น ปาฐกถาในการประชุม The International Conference on Higher Education and the Promotion of Peace เรื่อง Buddhism and Peace ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙

บรรยายในการประชุม Buddhistic Knowledge Exchange Program in Honor of His Majesty the King of Thailand เรื่อง Identity of Buddhism ซึ่งจัดโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๐

ปาฐกถาในการประชุม The Sixth Asian Workshop on Child and Adolescent Development เรื่อง Influence of Western & Asian Thought on Human Culture Development เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๓ และได้รับนิมนต์ให้จัดทำสารบรรยายสำคัญ เรื่อง A Buddhist Solution for the Twenty- Century ในการประชุมสภาศาสนาโลก (Parliament of the World’s Religions) ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๖

งานนิพนธ์ในลักษณะตำรา เอกสารทางวิชาการ และหนังสืออธิบายธรรมทั่วๆ ไป เป็นที่รู้จักแพร่หลายในแวดวงวิชาการมีจำนวนมากกว่า ๒๓๐ เรื่อง เช่น พุทธธรรม, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ : ฉบับประมวลธรรม, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, ธรรมนูญชีวิต, การศึกษาของคณะสงฆ์ : ปัญหาที่รอทางออก, การศึกษาที่สากลบนรากฐานแห่งภูมิปัญญาไทย, Thai Buddhist in the Buddhist Economics, พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์, นิติศาสตร์แนวพุทธ เป็นต้น

พระธรรมปิฎกยังได้รับนิมนต์เป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์สำเร็จสมบูรณ์เป็นฉบับแรกของโลก

ทำให้การศึกษาค้นคว้าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำอีกด้วย 


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๐ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๙