[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
13 พฤษภาคม 2567 01:26:27 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เงินถุงแดง  (อ่าน 2064 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1024


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 52.0.2743.116 Chrome 52.0.2743.116


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 24 สิงหาคม 2559 17:55:43 »



เงินถุงแดง
โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์

งินที่เรียกกันมาว่า “เงินถุงแดง”  นั้นเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า เป็นเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้จากการค้าสำเภาส่วนพระองค์ แล้วทรงเก็บสะสมเอาไว้ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์โปรดฯ ให้ใส่ถุงแดงเก็บไว้ข้างพระแท่นบรรทม จึงเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “เงินพระคลังข้างที่”  คำว่า “พระคลังข้างที่” ในเวลาต่อมาก็เนื่องมาจากเงินข้างพระแท่นบรรทมนี้

ในสมัยก่อนโน้นการค้าขายไปมาระหว่างประเทศ อาศัยเรือสำเภา และตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีถึงรัชกาลที่ ๒ มาจนถึงรัชกาลที่ ๓ การค้าขายส่วนใหญ่ของไทยเป็นการติดต่อค้าขายกับจีนเป็นส่วนมาก นอกจากนี้ก็มีแขกเช่น อินเดีย มะละกา ชวา (เมืองยักกะตรา) แขกมัวร์ ฯลฯ
 
สำเภาที่ส่งออกไปค้าขายเมืองจีน เมืองแขกนั้น ส่วนใหญ่เป็นสำเภาของหลวงหรือทางราชการ แต่ไม่ได้ห้ามหวงเอกชน ดังนั้น นอกจากพ่อค้าจีนแล้ว ผู้ใดมีทุนรอนก็แต่งสำเภาออกไปค้าขายได้ ซึ่งส่วนมากเป็นของเจ้านายสูงศักดิ์ หรือของเสนาบดี ขุนทางสูงศักดิ์
 
ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ ทรงกำกับกรมท่า (พาณิชย์และต่างประเทศในปัจจุบัน) ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นหัวแรงสำคัญในการจัดการค้าสำเภาหลวงและยังทรงแต่งสำเภาเป็นส่วนของพระองค์ออกไปด้วย ในส่วนของพระองค์เองนั้นก็ทรงถวายให้สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงใช้สอยมิให้ขาดแคลนเหมือนเมื่อต้นๆ รัชกาล ซึ่ง “เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น พระราชทรัพย์ขัดสน เงินท้องพระคลังจะแจกข้าราชการไม่พอ ต้องลดกึ่งและแบ่ง ๓ แต่ให้ ๒ แทบทุกปี เงินไม่มีต้องเอาผ้าตีให้ก็มีบ้าง มีบัญชีแต่ว่าไปขอยืมเงินในพระบวรราชวังมาแจกเบี้ยหวัด แล้วจึงเก็บเงินค้างใช้คืน เพราะครั้งนั้นพระบวรราชวังค้าสำเภามีกำไรมาก” (จากชุมนุมพระบรมราชาธิบายในรัชกาลที่ ๔) 

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ ทรงทำให้กิจการค้าขายได้ผลดี ทั้งสำเภาหลวงและในส่วนของพระองค์เอง ปรากฎว่า สมเด็จบรมชนกนาถโปรดปรานอย่างยิ่ง ตรัสเรียกสัพยอกอยู่เสมอว่า “เจ๊สัว” (เจ้าสัว)
 
ครั้นเมื่อขึ้นแผ่นดินของพระองค์ เพราะทรงพระปรีชาสามารถในการค้าขายกับต่างประเทศอยู่แล้ว ในรัชกาลนี้จึงปรากฎว่าการค้าขายขยายวงกว้างออกไปและมีการปรับปรุงเก็บภาษีอากรเป็นแบบให้เจ้าภาษีนายอากรผูกขาดรับผิดชอบ เพราะการเก็บแบบเดิมนั้นกระจัดกระจายไปตามบรรดาข้าราชการต่างๆ มักขาดหายไปไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สำหรับการค้าขายนั้น โปรดฯ ให้ทำสัญญาซื้อขายกับอังกฤษและอเมริกาที่ขอเข้ามาอยู่ จนกระทั่งร้อยเอก เฮนี่ เบอร์นี่ (หรือกะปิตันหันตรี บารนี) กลับไปถูกผู้ว่าราชการเมืองสิงคโปร์ (หรือสมัยนั้นเรียกว่าเมืองใหม่) ตำหนิเอา
 
สำหรับเงินถุงแดงข้างพระที่นั้น ก็ยังทรงเก็บไว้ และคงจะเพิ่มมากขึ้นเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ นอกจากเงินในท้องพระคลังหลวงหรือพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นรายได้จากการเก็บภาษีอากรและจากการค้าขายของหลวงดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จะว่าเงินถุงแดงของพระองค์เป็นคล้ายเงินทุนสำรองก็คงว่าได้ ซึ่งเมื่อพระราชทานแก่แผ่นดินแล้วก็คงเก็บไว้อย่างเดิมโดยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงนำออกใช้เลยตลอดรัชกาลของพระองค์ และยังคงอยู่ตลอดมาจนกระทั่งได้นำออก “ไถ่บ้านไถ่เมือง” จริงๆ ตามที่ทรงมีพระราชปรารภทรงมองเห็นการณ์ไกลเอาไว้นั้น คือเมื่อรบกับฝรั่งเศส ร.ศ.๑๑๒
 
เมื่อเฉลิมพระเกียรติครบรอบ ๒๐๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ ท่านได้บรรยายพิเศษถึงเรื่องนี้ไว้อย่างแจ่มแจ้งเด็ดขาดเป็นอย่างยิ่ง ดีกว่าผู้เล่าแน่นอน เพราะท่านเป็นทหาร จึงขออนุญาตนำมาลงในที่นี้ด้วยความเคารพ
 
“ฝรั่งเศสจึงยื่นสินไหมปรับทันที ปรับเป็นเงิน ๖ ล้านบาท ในฐานะยอมเซ็นสัญญาสงบศึก ค่าทำขวัญทหารศึก ๑ ล้านบาท รวมเป็น ๗ ล้านบาท งบประมาณของประเทศสมัยนั้นประมาณ ๑๖ ล้านบาทต่อปี มันเฉือนไปเสีย ๗ ล้าน เงินถุงแดงนั้น ผมทราบว่ามีประมาณ ๔-๕ หมื่นชั่ง จึงช่วยได้มาก (ที่จริง ๓ หมื่นชั่งเศษๆ เพราะ ๑ หมื่นชั่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงของเอาไว้สำหรับปฏิสังขรณ์ และสร้างวัดวาอารามที่ทรงทำยังไม่เสร็จ เงิน ๓ หมื่นชั่งเศษ เวลานั้นก็ประมาณ สองล้านห้าสองล้านหกแสนบาท...จุลลดาฯ)
 
เราต้องเข้าใจว่าคนในรั้วในวังนั้นไม่ใช่จะกินข้าวร้อนนอนสบาย ถึงคราวศึกก็รบถึงคราวเสียเงินก็เสีย บันทึกมีแน่นอนว่า ข้าราชการทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และพระราชวงศ์ทั้งหลายได้เอาสร้อยเงินทองไปขายเพื่อให้ได้เงินจำนวนนี้มาไถ่ เพราะมันมีกำหนดเวลา ถ้าไม่ได้ในเวลา ๔๘ ชั่วโมง มันจะยึด ต้องหาเงินให้ได้ ฉะนั้น นอกจากเงินถุงแดงมาช่วยแล้วยังได้มาจากเพชรนิลจินดาไปขาย คนในรั้วในวังเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทั้งสิ้นที่มีส่วนช่วยบ้านเมืองก็เลยไถ่มาได้”

อนึ่งมีผู้เข้าใจผิดว่า การที่บรรดาเจ้านายฝ่ายในในวังนำเงินออกมาสมทบนั้นเป็นเสมือนการหมุนเวียน คือได้รับ (พระราชทาน) มา แล้วก็เวียนออกไปทำนองว่าได้แจกจากเงินถุงแดง ในที่สุดก็กลับคืนไปซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเพราะประการ ๑ เงินถุงแดงยังคงอยู่ตลอดมาดังเล่ากันบ่อยๆอีกประการ ๑ เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาววังว่า เจ้านายฝ่ายในทรงสละทรัพย์สินเงินทองช่วยบ้านเมืองครั้งนั้นกันมากมาย จนกระทั่งเมื่อขนเงินเหรียญเงินพดด้วงในรถเข็นออกไปหลายเที่ยว ถึงขนาดหินปูนถนนเป็นรอยสึกเพราะหนัก ว่ากันว่า สมเด็จฯ กรมพระยาสุดารักษราชประยูร และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงบริจาคมากมายยิ่งกว่าพระองค์อื่นๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่ถามกันอยู่เสมอคือ เจ้าพระยาพระคลัง ทำไมจึงเป็นเจ้าพระยาพระคลังแต่ว่าการกรมท่า (ที่ต่อมาเป็นกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์)
 
และพระยาราชมนตรี (ภู่) บิดาของคุณพุ่ม บุษาท่าเรือจ้าง ก็ว่าในรัชกาลที่ ๓ ได้ว่าพระคลังหลวง มิซ้ำซ้อนกันหรือ
 
ขอตอบเท่าที่จะตอบได้ว่า ตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังนั้น เป็นตำแหน่งเสนาบดี ๑ ในจตุสดมภ์ ๔ พระคลัง ในราชทินนาม หมายถึง พระคลังสินค้า ซึ่งเป็นคลังสินค้าของหลวง เริ่มมีมาแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นที่รวมสินค้าต่างๆ ที่จะซื้อขายกับพ่อค้าต่างประเทศ ในสมัยก่อนเรียกกันว่า สิบสองท้องพระคลัง ดังในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ จดไว้เมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “จึงพระยาพิพัฒนโกษา ราชปลัดทูลฉลองฝ่ายกรมท่ากราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทูลเกล้า ทูลกระหม่อมถวายเครื่องพัทธยากรราชสมบัติทั้ง ๑๒ ท้องพระคลัง ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร”

ที่จริงตามธรรมเนียมต้องเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีเป็นผู้กราบบังคมทูลถวายฯ ทว่าในปลายรัชกาลที่ ๓ นั้น เสนาบดีขุนนางว่างลงหลายตำแหน่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ทรงตั้ง จึงคงมีแต่ปลัดทูลฉลองทั้งเวียง วัง คลัง และนา

ส่วนอีกพระคลังหนึ่งนั้นคือ พระคลังมหาสมบัติ หรือบางทีก็เรียกกันว่า พระคลังหลวง มีพระยาราชภักดี (ในรัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้มีราชทินนามว่า “พระยาราชมนตรี” เป็นผู้ว่าพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่รักษาเงินและจ่ายเงินรับเงินทั้งแผ่นดิน เงินถุงแดงว่าที่จริงก็อยู่ในข่ายเป็นเงินพระคลังมหาสมบัติ แต่แยกเก็บไว้ไม่โปรดฯ ให้นำออกใช้จ่าย ด้วยรัชกาลที่ ๓ นั้น การเงินทองของแผ่นดินมั่นคงตลอดรัชกาล ไม่จำเป็นต้องพระราชทานเงินถุงแดงช่วย

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1024


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 52.0.2743.116 Chrome 52.0.2743.116


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 24 สิงหาคม 2559 18:07:51 »


พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นภาพแกะสลักลายไม้ ขณะเมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศ
พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ ในรัชกาลที่ ๒
ทรงฉลองพระองค์แบบจีน ว่ากันว่าลม้ายคล้ายพระองค์จริงที่สุด
พระชนมายุคงจะประมาณ ๒๕-๓๐ พรรษา
ขณะนั้นทรงกำกับกรมท่า (พาณิชย์และต่างประเทศในปัจจุบัน)
ทรงวางรากฐานการเงินของประเทศให้มั่นคง
ตั้งแต่รัชกาลของพระองค์เป็นต้นมา

เงินถุงแดง
โดย ปถพีรดี

เรื่องนี้ได้เคยนำลงในคอลัมน์นี้มาหลายปีแล้ว บัดนี้มีผู้ถามมาอีกจึงขอเสนอประวัติศาสตร์ เงินถุงแดงอีกครั้งหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีพระมหากรุณาธิคุณแก่บ้านเมืองไทยเป็นล้นพ้น เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชกาลที่ ๒ นั้น ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นอย่างมาก ทั้งด้านการทหาร การปกครอง และเศรษฐกิจ

ในด้านเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพ่อค้าเชี่ยวชาญในการค้าสำเภามาก ทรงส่งเรือไปค้าขายนอกประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศจีน จึงมีผลกำไรเข้าท้องพระคลัง ถวายพระบรมชนก สำหรับใช้ในกิจการด้านต่างๆของบ้านเมือง รวมทั้งการบูรณปฏิสังขรณ์ และสร้างวัดวาอาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชบิดา ถึงกับทรงขนานพระสมัญญาว่า “เจ้าสัว”

เมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชย์แล้ว ก็ได้ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองทรงหาเงินเข้าท้องพระคลัง นำความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆมาสู่บ้านเมืองไทย ตราบจนเสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๗ พระมหากรุณาธิคุณ ก็ยังแผ่ปกคุ้มเศียรเกล้าพสกนิกรไทย นำความร่มเย็นรอดพ้นจากภัยพิบัติที่จะทำลายบ้านเมืองไทย ทั้งนี้โดยพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ไว้ในพระคลังข้างที่เรียกว่า “เงินถุงแดง” สำหรับใช้ในราชการแผ่นดิน มิได้พระราชทานให้เป็นประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ “เงินถุงแดง” นี้ ในเวลาต่อมา ได้ช่วยรักษา “เอกราช” ของชาติไว้ ช่วยให้บ้านเมืองไทยรอดพ้นจากการคุกคามและยึดครองของฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหากไม่มี “เงินถุงแดง” จำนวนนี้แล้ว บ้านเมืองอาจมีอันตราย

ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของ “เงินถุงแดง” มีดังนี้
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๑ ประเทศไทยมีเรื่องพิพาทกับฝรั่งเศส เรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือเรื่องเมืองไล อันเป็นเมืองอยู่ในดินแดนสิบสองจุไท ตรงตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงพระบาง ซึ่งขณะนั้น เป็นดินแดนของไทย ไทยถือว่า เมืองไล เป็นดินแดนของไทย จีนก็ถือว่าเป็นของจีน และฝรั่งเศสก็ถือว่าเป็นของฝรั่งเศส จึงมีการเจรจากันเพื่อรังวัด แต่เหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นเสมอ เพราะฝรั่งเศสคอยพาลกลาวหาว่า ไทยรุกล้ำดินแดนญวนและเขมร ซึ่งฝรั่งเศสยึดครองเป็นอาณานิคมไว้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯให้รวมเมืองต่างๆขึ้นเป็นภาค เช่น ภาคอุดร ภาคอีสาน ภาคลาวพวน ลาวกาว ลาวพุงขาว ต่อมาเกิดกรณีพิพาทในการรังวัดเขตแดน เช่น แย่งปักธงในทุ่งเชียงคำ เขตลาวพวน และถึง พ.ศ.๒๔๓๖ เกิดกรณีพระยอดเมืองขวาง ต่อสู้กับ นายทหารฝรั่งเศส ซึ่งจะขับไล่ไทยออกจากเมืองคำม่วน ฝ่ายฝรั่งเศสแพ้ นายทหารฝรั่งเศสตาย ๑ คน ทหารญวนตายประมาณ ๒๐ คน ไทยตาย ๕-๖ คน

รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบโคเมต์ กับเรือลังกองสตอง เข้ามาในน่านน้ำไทย สมทบกับเรือลูตัง ซึ่งเข้ามาจอดอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๕ ทั้งนี้ก็เพราะฝรั่งเศสมีเจตนาจะยึดครองดินแดนไทยให้ได้

เมื่อเรือทั้ง ๒ ลำของฝรั่งเศสเข้ามาถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า เรืออรรคเรศของไทยจึงยิงเรือรบฝรั่งเศสเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติไทย ขณะนั้นฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจและประสงค์จะยึดครองไทยเป็นอาณานิคม เหมือนดังที่ยึดครองดินแดนประเทศต่างๆในอินโดจีนไว้หมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงต้องทรงดำเนินนโยบาย เสียน้อยเพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ มีการเจรจาตกลงกันระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งในที่สุดไทยต้องยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส โดยยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศส เป็นเงิน ๓ ล้านบาท และไทยต้องสละสิทธิในดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน ซึ่งยึดไว้เป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี

สมภพ จันทรประภา อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร เขียนเล่าไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงนำเงินที่ใส่ ‘ถุงแอง’ จำนวนสามหมื่นชั่ง (๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท) ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้สำหรับแผ่นดิน และ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงนำไปใช้จ่าย มาทรงใช้ในการนี้ และส่วนที่ยังขาดอยู่ ๖ แสนบาทนั้น ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายในช่วยกันออก ส่วนใหญ่เป็นของ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ที่ทรงเก็บไว้ใต้ถุนตำหนัก”

จึงนับได้ว่า “เงินถุงแดง” นี้ ช่วยรักษา “เอกราช” ของชาติไว้ได้หาไม่แล้ว ความพยายามหลากหลายวิธีของฝรั่งเศสก็จะต้องสัมฤทธิผลและไทยจะต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับระเทศเพื่อนบ้านของไทย แต่เป็นบุญของชาติไทยที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงรักชาติบ้านเมือง ทรงรักและซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินและประชาชนดังเช่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพสกนิกรไทยทั้งปวงสมควรน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ยิ่งใหญ่ไพศาลตลอดกาล

ในการจัด “งานเฉลิมพระเกียรติ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพนั้น รัฐบาลไทยโดยมี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้จัดกิจกรรมหลายหลากเฉลิมพระเกียรติ และในบรรดาโครงการต่างๆนั้น ได้มีการจัดทำ “เงินถุงแดง” จำลอง โดยใช้ถุงแดงบรรจุเหรียญที่ระลึกงาน ๒๐๐ ปี พระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกจำหน่ายเพื่อหารายได้สมทบทุนก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ และก่อตั้งมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ถนนราชดำเนิน หน้าวัดเทพธิดาราม บริเวณโดยรอบจัดเป็นพลับพลาและอุทยานสำหรับงานพิธีรับรองแขกเมือง มีชื่อว่า ลานเจษฎาบดินทร์
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1024


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 52.0.2743.116 Chrome 52.0.2743.116


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 24 สิงหาคม 2559 18:13:41 »




พระราชดำรัส"เงินถุงแดง" ของ รัชกาลที่ 3

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีกำไรจากการค้าสำเภา แต่มิได้นำมาใช้จ่ายไปเพื่อความบันเทิง ทรงนำเงินเหรียญทองใส่ในถุงแดง แยกเป็นถุงๆ ถุงละ ๑๐ ชั่ง   
           
ทรงกัน เงินถุงแดง ไว้ต่างหากจากเงินพระคลังมหาสมบัติ ไม่โปรดฯ ให้นำออกมาใช้จ่าย ด้วยทรงต้องการรักษาไว้เป็นทุนสำรอง เพื่อความมั่นคงและสงบสุขของแผ่นดิน ทรงรับสั่งว่า “ส่วนหนึ่งให้เก็บไว้เพื่อเป็นทุนสำหรับสร้างและทำนุบำรุงวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในและนอกพระนคร อีกส่วนหนึ่งยกให้แผ่นดินเก็บรักษาไว้ใช้ในยามจำเป็น”
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.33 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 18 เมษายน 2567 12:43:53