[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 04 พฤษภาคม 2564 19:55:42



หัวข้อ: วัดธรรมาราม ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 พฤษภาคม 2564 19:55:42
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/78032294288277_1_Copy_.jpg)

วัดธรรมาราม
ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


วัดธรรมาราม วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก เยื้องกับเจดีย์ศรีสุริโยทัย  

ในพระราชพงศาวดาร ได้กล่าวถึงวัดธรรมารามเป็นครั้งแรกในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ นั้น กองทัพบางส่วนได้มาตั้งมั่นอยู่ที่วัดธรรมารามแห่งนี้ด้วย แสดงให้เห็นว่า วัดธรรมารามได้สร้างขึ้นแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง

ภายหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ แล้ว วัดธรรมารามถูกทอดทิ้งให้รกร้างไร้ผู้ดูแลรักษา ตราบจนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๓๕๐ มีหลักฐานกล่าวถึงวัดธรรมารามในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ ตอนหนึ่งว่า


           ถึงวัดธาระมาใหม่ใจระย่อ             ของพระหน่อสุริยวงศ์พระวังหลัง
           อุตส่าห์ทรงศรัทธามาประทัง                 อารามร้างหรือมางามอร่ามทอง
           สังเวชวัดธรรมาที่อาศรัย             ถึงสร้างใหม่ชื่อยังธาระมาหมอง
           เหมือนทุกข์พี่ที่จะมีจินดาครอง                 มงกุฎทองสร้อยสะอิ้งมาใส่กายฯ

เห็นชัดได้ว่า “พระวังหลัง” หรือ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศ (ทองอิน) ซึ่งประสูติเมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๘๙ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นในราวปี พ.ศ.๒๓๒๘-๒๓๔๘ ก่อนหน้าที่จะทิวงคตในปี พ.ศ.๒๓๕๐

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งภายในวัดธรรมาราม คือ พิพิธภัณฑ์พระอุบาลี  มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระอุบาลี ในจดหมายเหตุประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ ในลังกาทวีป ได้กล่าวถึง ว่า ศักราช ๑๑๑๕ (พ.ศ.๒๒๙๖) สมัยพระเจ้ากิตติศิริราชสีห์ ครองเมืองสิงขัณฑนคา ในลังกาทวีป ได้แต่งตั้งทูตจำทูลพระราชสาสน์มาเจริญพระราชไมตรี ณ สยาม เพื่อขอภิกษุสงฆ์ไปอุปสมบทสืบพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้อาราธนาพระอุบาลี พระอริยมุนี กับพระสงฆ์อันดับสิบสองรูป ออกไปตั้งพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป

ตามประวัติของวัดธรรมาราม เป็นสถานที่จำพรรษาของพระอุบาลีมหาเถระ กับพระอริยมุนีมหาเถระ ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แห่งวัดพุทไธสวรรย์ แต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาจารย์ออกไปลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ.๒๒๙๖  เพื่อให้อุปสมบทกุลบุตรชาวลังกา เนื่องจากพุทธศาสนาได้เสื่อมหายไปจากดินแดนแห่งนี้ ตามพระราชโองการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทำให้พระพุทธศาสนาลัทธิสยามวงศ์อุบัติขึ้น ณ ลังกาทวีปตั้งแต่นั้นมา  ตามหลักฐานว่า พระอุบาลีมหาเถระได้ให้อุปสมบทพระภิกษุได้ ๗๐๐ รูป บรรพชาเป็นสามเณรได้ ๓,๐๐๐ รูป ครั้นแล้วก็ถึงแก่มรณภาพ เมื่อพุทธศักราช ๒๒๙๘ ณ วัดบุปผาราม กรุงลังกาทวีป  พระเจ้ากรุงลังกาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิง แล้วบรรจุอัฐิธาตุไว้บนยอดเขา ซึ่งยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้  ส่วนพระอริยมุนีมหาเถระ เมื่อได้ร่วมกันประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงษ์ในลังกาทวีปเป็นการมั่นคงแล้ว ก็ถวายพระพรลาพระเจ้ากรุงลังกากลับกรุงศรีอยุธยา ออกจากกรุงลังกาปลายเดือนยี่ จุลศักราช ๑๑๑๗ ถึงกรุงศรีอยุธยา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ พุทธศักราช ๒๒๙๙ และได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดธรรมารามดังเดิม จนกระทั่งมรณภาพ

ปัจจุบัน วัดธรรมารามเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน คือ เขตพุทธาวาส ประกอบด้วยเจดีย์ทรงระฆังเป็นประธาน มีวิหารอยู่ทางทิศตะวันออก และอุโบสถอยู่ทางทิศตะวันตก ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว  ส่วนเขตสังฆาวาส ประกอบด้วย หอไตร หอระฆัง หมู่กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และศาลาท่าน้ำ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97206895467307_3_Copy_.jpg)

จิตรกรรมฝาผนังวัดธรรมาราม จิตรกรรมฝาผนังภยในหอไตร เป็นภาพเขียนผนังที่รองพื้นและขัดมันทั้ง ๔ ด้าน
ด้านทิศตะวันออกเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งขนาบด้วยแจกันดอกไม้เครื่องสักการะเป็นตั่งสีแดง ระหว่างหน้าต่างทั้งสองขานเขียนเป็นภาพพุทธประวัติ ส่วนผนังด้านทิศเหนือด้านบนเขียนเป็นภาพเทพชุมนุม หรือเหล่าเทวดานั่งประนมมือหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านล่างระหว่างหน้าต่างเขียนเป็นภาพการปลงอสุภกรรมฐาน และผนังด้านทิศใต้บนเขียนภาพเทพชุมนุมเช่นเดียวกับด้านทิศเหนือ ส่วนด้านล่างเขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ที่เสาด้านทิศตะวันออกเขียนภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพจิตรกรรมภายในหอไตรนี้ เขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยได้ใช้รูปแบบการจัดวางองค์ประกอบของภาพจิตรกรรมตามคติแนวคิดที่นิยมในสมัยอยุธยา


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/60693161230948_2_Copy_.jpg)
พระอุโบสถ วัดธรรมาราม อยู่ในเขตพุทธาวาส

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42243299426303_7_Copy_.jpg)
พระประธาน ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดธรรมาราม

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/54085500496956_8_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84803489388691_9_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/36020469417174_10_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33835926610562_4_Copy_.jpg)
หอไตรและหอระฆัง ภายหลังการบูรณะแล้วเสร็จ พ.ศ.๒๕๔๖
หอไตร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน ยกใต้ถุนสูง
ภายในหอไตรบอกเล่าถึงพระอุบาลีมหาเถระ ซึ่งเป็นสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาลัทธิสยามวงศ์ในประเทศ
ศรีลังกา ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยาตอนปลาย

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15991249846087_5_Copy_.jpg)
ชั้นบนของหอไตร ทางด้านขวามือมีร่องรอยภาพจิตรกรรม ซึ่งส่วนมากลบเลือน สีหลุดลอก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11220807333787_6_Copy_.jpg)
จากชั้นบนของหอไตร จะเห็นเจดีย์พระศรีสุโยทัยโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นกลาง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/24440384159485_11_Copy_.jpg)
ความมีระเบียบ สะอาดตา และความร่มรื่นของหมู่แมกไม้ในเขตสังฆาวาส วัดธรรมาราม