[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 02 มิถุนายน 2565 15:19:11



หัวข้อ: การทรงตั้งเปรียญ ของพระภิกษุ สามเณร
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 มิถุนายน 2565 15:19:11
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/20806475770142_281245497_138027238808566_5664.jpg)

การทรงตั้งเปรียญ

คำว่า เปรียญ มาจากคำบาลีว่า ปริญญา แปลว่า รอบรู้ เป็นชื่อสมณศักดิ์ฝ่ายวิทยฐานะ ของพระภิกษุ สามเณร ผู้สอบเปรียญธรรมได้ โบราณใช้คำว่า บาเรียน มาจากคำว่า บา หมายถึงชายหนุ่ม หรือครู เรียนคือผู้ศึกษาหาความรู้  ซึ่งในเอกสารเก่า เรียกคนที่มีความรู้ว่า บา เช่น บาพิศณุ เป็นต้น ดังนั้นคำว่า มหาเปรียญ ก็หมายถึงผู้มีความรู้มาก

ผู้ที่สอบได้เปรียญธรรม จะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ดังกล่าวเป็น พระมหา ซึ่งมีพระเถระรุ่นเก่ากล่าวว่า มาจากคำว่า พระมหากรุณาธิคุณ หมายความว่า ได้รับการศึกษาและสอบได้ มีเบี้ยหวัด ได้รับการยกย่อง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน แท้จริงแล้วอาจไม่เป็นดังนั้น ด้วยคำว่า พระมหากรุณาธิคุณ เป็นคำใหม่ น่าจะมีใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่คำเรียกผู้มีความรู้เปรียญว่า มหา มีมาช้านานแล้ว

เมื่อรัชกาลที่ ๑ ยศเปรียญยังกำหนดแต่เป็น ๓ ชั้น เหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาคือ เปรียญเอก มีความรู้สอบได้พระสูตร พระวินัย และพระปรมัตถปิฎก เปรียญโท สอบได้เพียงพระสูตรกับพระวินัยบีฎก เปรียญตรี สอบความรู้ได้เพียงพระสุตันตปิฎกในหนังสือพงศาวดารจึงเรียกแต่ว่า เปรียญเอก เปรียญโท เปรียญตรี  ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (มี) คิดระเบียบการแปลพระปริยัติธรรมถวายใหม่แบ่งชั้นเปรียญเป็น ๙ ประโยค ชั้นเปรียญจึงกลายเป็นนับตามประโยคแต่นั้นมา

เมื่อพระภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบพระปริยัติธรรมได้ จักทรงตั้งเป็นพระมหาเปรียญหรือสามเณรเปรียญ พระราชทานพัดยศเป็นเครื่องกำกับบอกประโยค การสอบพระปริยัติธรรมมีมาแล้วแต่ครั้งกรุงเก่า เมื่อถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยบ้านเมืองยังไม่สู้สงบนัก หลายปีจึงมีการสอบคราวหนึ่ง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงถวายความอุปถัมภ์แก่พระบวรพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวด โปรดให้มีการสอบปีหนึ่งถึงสามหน แต่เดิมสอบที่วัดซึ่งเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งได้แก่วัดระฆังโฆสิตาราม วัดมหาธาตุ จนถึงรัชกาลที่ ๔ มาเป็นวัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรการสอบพระปริยัติธรรม จึงโปรดให้มีการสอบในพระบรมมหาราชวัง โดยได้เสด็จฯ เป็นประธานในการสอบด้วย เรียกการสอบนี้ว่า การสอบบาลีสนามหลวง เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนเปลี่ยนเป็นการสอบแบบข้อเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๗

การทรงตั้งเปรียญนั้น จะพระราชทานพัดยศ ย่าม ผ้าไตร ใบประกาศนียบัตร พร้อมมีนิตยภัตถวาย เข้าใจว่าแต่เดิมนั้นเมื่อการสอบเสร็จแล้ว ก็พระราชทาน ณ ตอนนั้นเลย ด้วยเสด็จฯ ไปประทับเป็นองค์ประธานอยู่แล้ว หรือโอกาสอันสมควรในการพระราชพิธีต่างๆ หลังจากการสอบเสร็จแล้ว โดยมิได้กำหนดแน่นอนตายตัว โดยมากแล้วโปรดให้เข้ารับพัดเปรียญต่อจากการเข้ารับพระราชทานพัดยศสมณศักดิ์ของพระครูแลพระราชาคณะ  ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ เมื่อเปลี่ยนเป็นวิธีสอบแบบข้อเขียนแล้ว จึงโปรดให้จัดพิธีตั้งเปรียญไว้ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระกุศลวันวิสาขบูชา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นปีแรก เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สมัยก่อนจะพระราชทานพัดยศ ไตรย่าม พร้อมสรรพทุกชั้นประโยคไป ต่อมาเมื่อมีจำนวนมากขึ้น จึงพระราชทานเฉพาะเปรียญ ๙ และ ๖ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนเปรียญ ๓ นั้น พระราชทานเป็นพระธุระแด่สมเด็จพระสังฆราชตามโอกาสที่สมควรต่อไป


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99663072990046_281336129_138027272141896_6654.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/12409975669450_281145753_138029715474985_7701.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/16370405256748_280885340_138027262141897_4009.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/62588591915037_281241490_138038185474138_4478.jpg)


เผยแพร่เป็นวิทยาทานโดย #พิกุลบรรณศาลา