[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 25 มิถุนายน 2553 00:20:03



หัวข้อ: บังอบายเบิกฟ้า กินเจ ไม่กินใจ
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 25 มิถุนายน 2553 00:20:03
[ โดย อ.มด บอร์ดเก่า ]


(http://i242.photobucket.com/albums/ff298/akapong999/glitter/greeting1/01-10-51-02.gif)
 
ถึงเทศกาลเจแล้วครับ
 
เทศกาลเจยุคปัจจุบันเห็นจะเอิกเกริกครึกครื้นกว่าสมัยโบราณ เพราะเดี๋ยวนี้เขาโหมประโคมเพื่อชวนคนไปท่องเที่ยวจังหวัดที่มีประเพณีกินเจ หรืออีกอย่างหนึ่งเพื่อโฆษณาอาหารเจ ซึ่งมีขายในโรงแรมหรูๆ มีเชฟสำแดงฝีมือทั้งการทำอาหารและการตกแต่ง นอกไปจากเป็นช่วงรณรงค์การขายเครื่องปรุงอาหารเจ เช่น ซีอิ๊วขาว
 
ผู้เขียนเคยกินอาหารเจสมัยเด็กจากโรงเจ เลยอาจตามไม่ทันวิวัฒนาการปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น คติการกินเจของคนบางส่วนเดี๋ยวนี้กระเดียดไปทางแฟชั่นก็มี นอกจากเป็นเรื่องกระแสแล้ว แถมยังข่มคนไม่กินเจอีกต่างหาก
 
กินเจกับมังสวิรัติเหมือนกันไหม
 
ต่างกันครับ
 
เจเป็นเรื่องของจีน มังสวิรัติเป็นเรื่องแขก เพราะคำว่ามังสวิรัติแปลว่า งดเว้นเนื้อสัตว์ เจก็หมายถึงเว้นเนื้อสัตว์เช่นกัน แต่วัฒนธรรมความเชื่อยังต่างกัน เพราะการกินเจถือเป็นบุญกุศลอย่างหนึ่ง แสดงถึงความเมตตาธรรม ส่วนคนที่กินมังสวิรัติอาจจะมุ่งสุขภาพของตนเป็นหลัก ยกเว้นท่านที่กินตามคติศาสนา เช่น สิกข์นิกายหนึ่งที่ถือมังสวิรัติ กระนั้น การกินเจแม้ละเว้นเนื้อสัตว์แล้วก็จะกินพืชผักได้สารพัดก็หาไม่ ท่านว่ายังต้องเว้นผักอีก 5 ชนิด ซึ่งจะไปมีส่วนกระตุ้นกาม ผัก 5 ชนิดนี้ผู้เขียนรู้จักเพียง 3 ชนิดแรก อีก 2 ชนิดหลังไม่รู้จักจริงๆ ผักทั้ง 5 คือ กระเทียม ต้นหอม กู๋ไฉ่ หลักเกี๋ย และเฮงกื๋อ
 
คนกินเจที่รู้สึกว่าตนมีศีลสูงกว่าคนไม่กินเจนั้น เห็นจะยังเป็นคนไม่ถึงธรรม จึงมี "ตัวกู-ของกู" มีความยึดมั่นถือมั่น มีความสำคัญมั่นหมาย อันที่จริงการกินเจนั้นดีแล้วหากต้องไม่ยกตนข่มท่าน การกินเจจะก่อเกิดการกินใจกันไปเปล่าๆ
 
สำหรับชาวพุทธด้วยกันอาจเห็นต่างกันตามลัทธนิกาย ทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน พระภิกษุท่านฉันอาหารเจ แต่ท่านฉัน 3 มื้อ ซึ่งคงถือว่าเมื่อไม่บิณฑบาตเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน มีโรงอาหารทำอาหารเจถวายจึงฉัน 3 มื้อ ขณะพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทดังในไทย ลาว เขมร พม่า ลังกา นั้น บิณฑบาตขอชาวบ้านตามพุทธานุญาตและโดยพระวินัยให้ฉัน 2 มื้อ ฉันเนื้อสัตว์ได้ เพราะถือว่าชาวบ้านเขากินอะไรก็แล้วแต่เขาจะตักบาตร เป็นพระก็ต้องทำตัวเป็นคนเลี้ยงง่าย ทั้งนี้เป็นเรื่องการถือพระวินัยต่างกัน ถึงนิกายเดียวกันบางทียังตีความพระวินัยต่างกัน เช่น หลวงญวนบรรพชิตมหายานในไทย ท่านออกบิณฑบาตเยี่ยงเดียวกับพระไทยแล้วก็ฉันเพียง 2 มื้อ อาจเป็นการปรับตนเข้ากับสังคม สำหรับนิกายเถรวาทอย่างไทยเราถือพระวินัยว่าเมื่อเลขเวลาเที่ยงวัน ภิกษุสามเณรจะฉันจังหัน (อาหาร) ที่ขบเคี้ยวไม่ได้ พระลังกาก็ถือตามนี้ เว้นไว้ที่เวลาวิกาลของท่านสิ้นสุดเมื่อเที่ยงคืน เลยเที่ยงคืนแล้วถ้าเจ้ากูที่ศรีลังกายังไม่จำวัด เกิดหิวขึ้นมาย่อมฉันอาหารได้ตามอัธยาศัย
 
ทำไมภิกษุฝ่ายมหายานฉันเจตลอดชีวิต ซึ่งมีผลให้อุบาสก อุบาสิกา พลอยถือเจตามไปด้วยในเดือนเก้า ความพยายามของฝ่ายกินเจจะสมานฉันท์กับฝ่ายไม่กินเจ ได้อ้างว่าแม้พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามเด็ดขาดว่าห้ามพระสาวกฉันเนื้อสัตว์ แต่พระพุทธองค์ไม่เสวยแน่
 
ข้อดังกล่าวเป็นการคาดคะเนไม่ตรงกับความจริงนัก เนื่องจากมีพระคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทชื่อว่า ปรมัตถโชติกา อรรถกถาสุตตนิบาต จูฬวรรคที่ 2 อามคันธสูตรที่ 2 ยืนยันว่าเมื่อมีผู้นำปลาและเนื้อปรุงอาหารมาถวาย ได้ทรงรับประเคนและเสวย
 
ที่มาของพระสูตรนี้เกิดขึ้นเมื่อมีฤๅษีหรือดาบสผู้ไม่กินเนื้อสัตว์ กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้าว่าเบียดเบียนสัตว์ ไม่เป็นผู้ทรงศีลที่แท้จริง หัวหน้าฤๅษีคณะนี้คือพราหมณ์อามคันธะ ท่านเป็นผู้ซักไซร้ว่า "ข้าแต่พระสมณโคดมผู้เจริญ พระองค์เสวยกลิ่นดิบหรือไม่เสวย"
 
กลิ่นดิบคงมีความหมายเดียวกับชอในภาษาจีน
 
วิธีการของพระพุทธเจ้านั้น ทรงตั้งต้นด้วยภาษาอันเป็นสมมุติ โดยตรวจสอบว่าภาษานั้นมีความหมายตรงกันหรือไม่ โดยเฉพาะภาษาคนกับภาษาธรรม
 
จึงตรัสถามพราหมณ์ว่ากลิ่นดิบคืออะไร พราหมณ์ทูลว่า ปลาและเนื้อชื่อว่ากลิ่นดิบ นั่นคือภาษาคน จากนั้นตรัสด้วยภาษาธรรมว่า "ดูก่อนพราหมณ์ ปลาและเนื้อไม่ใช่กลิ่นดิบ ก็แลกิเลสทั้งปวงที่เป็นบาป เป็นอกุศลธรรม ชื่อว่ากลิ่นดิบ"
 
อีกทั้งเทศน์โปรดว่า ความสงสัยเรื่องบริโภคปลาและเนื้อ มิได้มีเพียงในสมัยของพระองค์เท่านั้น อดีตกาลสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระนามว่ากัสสป ได้เคยมีผู้ทูลถามพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมาแล้ว
 
ล่วงมาถึงสมัยพระสมณโคดมพระพุทธเจ้า เคยมีพระเทวทัตทูลต่อพระองค์เรื่องวัตถุ 5 อีกด้วย กล่าวคือ
 
1.ให้พระภิกษุอยู่ป่าตลอดชีวิต
 
2.รับบิณฑบาตตลอดชีวิต ห้ามรับนิมนต์
 
3.ถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ไม่รับประเคนไตรจีวรจากที่มีผู้ถวาย
 
4.อยู่โคนไม้ (รุกขมูล) ตลอดชีวิต ไม่เข้าอาศัยที่มุงหรือบัง
 
5.ห้ามฉันปลาและเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต
 
ฟังดูออกจะขลังดี เคร่งครัด เข้มงวด แต่ไม่เป็นการเดินทางสายกลาง เผื่อคนที่ต้องการเลือกปฏิบัติแตกต่างหากไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย กรณีนี้ตรัสไว้ปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ 10
 
"อย่าเลยเทวทัต ภิกษุใดปรารถนาอยู่ป่าก็จงอยู่ป่า ภิกษุใดปรารถนาอยู่บ้านก็จงอยู่ (หมายถึงหมู่บ้าน) ภิกษุใดปรารถนาบิณฑบาตจงเที่ยวไปบิณฑบาต ภิกษุใดปรารถนาการรับนิมนต์ (เช่น รับนิมนต์ฉันเช้าฉันเพล) จงรับนิมนต์ ภิกษุใดปรารถนาถือผ้าบังสุกุล (ยินดีนุ่งห่มผ้าจากที่เขาห่อศพมาย้อมจีวร) ก็จงถือผ้าบังสุกุล ภิกษุใดยินดีรับผ้าอันคหบดีถวายก็จงรับ"
 
เรื่องเนื้อและปลา ภิกษุควรฉันอย่างไร
 
ได้ตรัสไว้ในพระวินัยที่อ้างแล้วว่า
 
"เราอนุญาตปลาและเนื้อบริสุทธิ์ด้วยอาการ 3 อย่าง คือ 1.ไม่ได้เห็น 2.ไม่ได้ยิน 3.ไม่ได้รังเกียจ"
 
หลักใหญ่คือ ภิกษุเป็นผู้ขอยังชีวิตด้วยผู้อื่น จึงควรตามแต่จะหาได้ไม่เรื่องมาก เป็นผู้เลี้ยงง่าย ทว่าอาหารบิณฑบาตนั้นยังมีเงื่อนไขสำคัญ 3 ข้อ
 
ที่ว่าไม่ได้เห็นนั้น หมายถึง ไม่เห็นว่าเขาฆ่าสัตว์เพื่อนำมาถวายภิกษุนั้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งกลายเป็นทำให้สัตว์ต้องตาย ส่วนเขาฆ่ากินของเขาแล้วแบ่งมาถวายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 
ที่ว่าไม่ได้ยิน หมายถึง ไม่รับทราบว่าใครเขามาบอกว่าจะฆ่าสัตว์มาถวาย
 
ที่ว่าไม่ได้รังเกียจ หมายความว่า พิจารณาดีแล้วว่าเนื้อสัตว์นั้นไม่ขัดพระวินัย หรือได้ยินโยมบอกว่าจะฆ่าสัตว์ทำอาหารมาถวาย จะต้องห้ามเขา หรือเมื่อเขาไปทำมาแล้วนำมาถวาย ต้องไม่รับประเคน
 
เนื้อที่มีพระวินัยบัญญัติห้ามภิกษุฉันมี 10 อย่าง คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือดาวและเนื้อหมี
 
สำหรับการกินเจละเว้นเนื้อสัตว์ของพระภิกษุฝ่ายมหายาน น่าจะเป็นเพราะคัมภีร์มหายานรับอิทธิพลจากคำกราบทูลพระพุทธเจ้าของพระเทวทัต ขณะเดียวกันถ้ามองปูมหลังของจีนและการรับพระพุทธศาสนา ก่อนพระโพธิธรรมตั๊กม้อไปเมืองจีน ได้มีลัทธิเต๋าในจีนอยู่ก่อนแล้ว เต้าสือหรือนักพรตเต๋าล้วนกินเจพร้อมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ให้กินเจ
 
อย่างไรก็ดี การกินเจนั้นเป็นเรื่องดี แสดงความเมตตา และต้องรักษาศีลประพฤติพรหมจรรย์ด้วย ในฝ่ายมหายานนั้นมีสิกขาบทพระโพธิสัตว์ ที่ถือเป็นความผิดอันหนักหรือครุกาบัติ 10 ข้อ และลหุกาบัติ 48 ข้อ เช่น เผลอไปกินผักอย่างหนึ่งอย่างใดใน 5 ชนิดที่กล่าวแล้ว ต้องอาบัติอย่างเบา แต่ถ้ากินเจแล้วกล่าวร้ายพุทธบริษัทหรือยกตนข่มท่าน ก็จะต้องอาบัติหนัก
 
การกินเจมิใช่เรื่องเพียงวัตถุหรือรูปแบบ ยังต้องสนใจทางจิตใจและเนื้อหาด้วย ปลายทางคือการเข้าถึงพุทธธรรม กินเจเป็น กินเจถูกต้อง ย่อมไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่ก่อเกิดความกินใจ ไม่เป็นการทำบุญเอาหน้าหรือสร้างภาพ หรือสักแต่ภาวนากันตาย
 
โครงสร้างอาหารเจน่าจะจำแนกออกเป็นผัก แป้งและน้ำมัน สมัยก่อนความรู้โภชนาการยังไม่มีมากนัก คิดด้วยความคิดปัจจุบันย้อนนึกถึงอดีตแล้วใจหาย เพราะบรรดากับข้าวที่ผัดล้วนน้ำมันเยิ้ม ใครไม่ชอบผัก พอมากินเจย่อมเลือกกินกับข้าวที่ทำจากแป้ง เวลานี้ความรู้ทางโภชนาการดีกว่าแต่ก่อน การกินเจการทำกับข้าวเจมีข้อพิจารณาในทางปฏิบัติให้ดีขึ้นเพื่อสุขภาพด้วย
 
บางคนไม่กินเจแต่ชอบแซว เลยแอบอ้างว่ากินเหมือนกัน หากกินเฉพาะน้ำเจซึ่งกินได้ทั้งผสมโซดา และน้ำอำพันฟองพรายทำนองนั้น ถ้ากินอย่างนั้นเป็นเจ ป่านนี้นักการเมืองและคุณหมอสาธารณสุขยุคไทยขลุกขลัก โกงกันเข้มแข็ง คงมีข้ออ้างเพียบว่ากำลังกินเจ เพราะกินโรงพยาบาล กินเครื่องมือแพทย์ ฯลฯ
 
เป็นเรื่องกินแหนงแคลงใจกันไม่จบ แล้วความหวัง ความศรัทธาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร รัฐบาลทุกรัฐบาลต่างมากอบโกย โกงกินอย่างหิวโหย ไม่มีสักรัฐบาลพอเป็นตัวอย่างบ้างหรือ
 
เพราะอย่างดีที่สุดจะได้เพียงหัวหน้ารัฐบาลพายเรือให้โจรนั่ง!
 

http://www.thaipost.net/sunday/181009/12405 (http://www.thaipost.net/sunday/181009/12405)