อโหสิกรรม

(1/2) > >>

เงาฝัน:
Tweet





 อโหสิกรรม
โดย อาจารย์สุคนธ์ สุ่นศิริ


ขอบพระคุณที่มาภาพจาก: forum.sanook.com/forum/?topic=2682223.11475


อโหสิกรรม หมายถึง กรรมนั้นได้กระทำสำเร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งผลกรรมนั้นสำเร็จแล้ว แต่กรรมนั้นไม่มีผล และกรรมนั้นสำเร็จแล้ว แต่กรรมนั้นจักไม่ส่งผล ดังในปฏิสัมภิทามรรคพระบาลีแสดงไว้ แปลความว่า “ กรรมนั้นได้กระทำสำเร็จแล้ว แต่ผลของกรรมนั้นหาใช่เกิดแล้วไม่ กรรมนั้นสำเร็จแล้ว แต่ผลของกรรมนั้นหาใช่กำลังเกิดไม่ กรรมนั้นสำเร็จแล้ว แต่ผลของกรรมนั้นจะไม่เกิด

หมายความว่า อโหสิกรรม มีชื่อเรียกได้ 3 อย่าง คือ

อย่างที่ ๑ ชื่อว่ากรรมที่ยังไม่ให้ผล คือ กรรมที่ได้ทำสำเร็จแล้วนั้น เป็นอโหสิกรรมไป โดยที่ผลของกรรมนั้นยังไม่มีโอกาสส่งผลดังเช่น เจตนาที่อยู่ในชวนะดวงที่ ๑ ที่ชื่อว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ซึ่งจะต้องส่งผลในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสส่งผลในภพชาตินี้ ทิฏฐธรรมเวทนีย กรรม ก็ชื่อว่าเป็นอโหสิกรรมไป

ส่วนเจตนาที่อยู่ในชวนะดวงที่ ๗ ที่ชื่อว่า อุปปัชชชาเวทนีย กรรม ซึ่งจะต้องส่งผลในภพที่ ๒ (ต่อจากภพปัจจุบัน) ถ้าไม่มีโอกาสส่งผลในภพที่ ๒ อุปปัชชชาเวทนียกรรม ก็ชื่อว่าเป็นอโหสิกรรมไป

หรือ เจตนาที่อยู่ในชวนะดวงที่ ๒ – ๖ (ชวนะตรงกลาง ๕ ดวง) ที่เรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม ซึ่งจะต้องส่งผลตั้งแต่ภพชาติที่ ๓ เป็นต้นไปจนถึงเข้านิพพานไป ถ้าไม่มีโอกาสส่งผล ก็ชื่อว่า เป็นอโหสิกรรมไป อีกประการหนึ่ง

บรรดากรรมต่าง ๆ ที่ได้สร้างสมไว้หลาย ๆ อย่าง ที่เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมด้วยกัน หรืออุปปัชชชาเวทนียกรรมด้วยกัน เมื่อกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในประเภทของตนให้ผลแล้ว กรรมที่เหลือนอกนั้นที่ไม่ได้ส่งผล จึงเป็นอโหสิกรรมไป

ดังในสัมโมหวิโนทนีอรรถกถาแสดงว่า “ บรรดากรรมที่ได้ทำสำเร็จไว้หลาย ๆ อย่างมีทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เป็นต้นนั้น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมให้ผล ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่เหลือ นอกนั้นก็ไม่ได้ให้ผล ซึ่งเป็นอโหสิกรรมไป อุปปัชชชาเวทนียกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง นำปฏิสนธิให้เกิดขึ้นแล้ว อุปปัชชชาเวทนียกรรมที่เหลือนอกนั้น ก็ไม่ได้ให้ผลเป็นปฏิสนธิ จึงเป็นอโหสิกรรมไป หรือโดยอาศัยอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่งผลให้เกิดในนิรยภูมิแล้ว อนันตริยกรรมที่เหลือนอกนั้น ก็ไม่ได้ส่งผล จึงเป็นอโหสิกรรมไป ส่วนฌานสมาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสมาบัติ ๘ ส่งผล ให้เกิดในพรหมโลกแล้ว สมาบัติที่เหลือนอกนั้นก็เป็นอโหสิกรรมไป พระสารีบุตรมุ่งหมาย เอากรรมชนิดนี้ จึงกล่าวว่า นาโหสิ กมฺม วิปากโก หมายถึง ผลกรรมนั้นไม่มีโอกาสส่งผลนั้นเอง

อนึ่งกรรมเล็ก ๆ น้อยนั้นคือ กุศล – อกุศลเจตนาสามัญที่ไม่เข้าถึงกรรมบถ คือ เป็นอกุศลกุศลที่ผู้กระทำมิได้ตั้งใจทำโดยเฉพาะ เพียงแต่คำถามผู้อื่น โดยถูกเขาชักชวนและไม่มีความตั้งใจเป็นพิเศษ เจตนาเหล่านี้ไม่มีอำนาจสืบต่ออยู่ในขันธสันดานเหนียวแน่นนัก ฉะนั้นจึงเป็นอโหสิกรรมเป็นส่วนมาก นอกจากนี้กรรมใดที่ให้ผลไปแล้ว ย่อมไม่ให้ผลซ้ำอีก ก็ได้ชื่อว่าเป็นอโหสิกรรมไปด้วย อโหสิกรรมข้อแรกนี้ มุ่งหมายถึง กรรมในอดีตนี้ได้ทำสำเร็จแล้วตกเป็นอโหสิกรรมไป

ข้อที่ ๑ ที่เป็นอโหสิกรรมเพราะไม่มีผล หมายความว่า กรรมที่กำลังกระทำอยู่นั้นไม่ก่อให้เกิดผลใด ๆ เพราะกรรมนั้นมิได้ปัจจัยจากอาสวกิเลส ได้แก่ การกระทำของพระอรหันต์ซึ่งกระทำด้วย กิริยาจิต อันไม่เป็นบุญเป็นบาป ฉะนั้นผลของกรรมจึงไม่มี อโหสิกรรมข้อนี้ หมายถึง กรรมที่กำลังทำในปัจจุบันนี้ไม่มีผล อโหสิกรรมชนิดนี้ มีได้เฉพาะพระอรหันต์ขีณาสพ เท่านั้น

ข้อที่ ๒ เป็นอโหสิกรรม เพราะผลในอนาคตภพจะไม่มี หมายความว่า เจตนากรรม ต่าง ๆ ทั้งหลายที่ได้กระทำแล้ว ย่อมส่งผลได้ทั้งในภพนี้ ภพหน้า และภพต่อ ๆ ไปตราบเท่าที่สัตว์ทั้งหลายยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ด้วยอำนาจของกิเลสและกรรม แต่ถ้าบุคคลใดได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนสำเร็จมรรค ผล นิพพาน เข้าถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว ภพชาติอันจะต้องเกิดอีกสืบไปไม่มี บรรดากรรมต่าง ๆ ที่ได้กระทำไว้ก่อนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น จะส่งผลได้ก็แต่เฉพาะภพชาติที่เป็นพระอรหันต์ได้อีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น

ครั้นเมื่อเข้าถึงปรินิพพาน ไม่มีภพชาติจะต้องเกิดอีกแล้ว กรรมที่เคยทำไว้แล้วเหล่านั้น ไม่มีผู้รับสนองผลของกรรมนั้น ๆ อีก บรรดากรรมเหล่านั้นจึงเป็นอโหสิกรรมไป อโหสิกรรมข้อนี้มุ่งหมายถึง กรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จะเป็นอันไม่ให้ผลอีกได้ในอนาคต ฉะนั้นอโหสิกรรมทั้ง ๓ อย่างดังที่บรรยายมานี้ จึงไม่มีองค์ธรรมโดยเฉพาะ มีแต่องค์ธรรมโดยส่วนรวมคือ เจตนาที่อยู่ในกามชวนะ หรือมหัคคตชวนะ ที่เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม, อุปปัชชชาเวทนียกรรม และอปราปริยเวทนียกรรม เมื่อล่วงเวลาของตน ๆ ที่กำหนดไว้แล้ว ยังไม่ได้ส่งผล หรือที่ไม่มีโอกาสส่งผลเพราะกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ในประเภทเดียวกันนั้นให้ผลไปแล้ว หรือจะไม่ให้ผลเพราะไม่มีบุคคลผู้รับผลของกรรมนั้นแล้วนั่นเอง

sometime:
อโหสิกรรม




(:LOVE:)ธรรมทั้งปวง คือ อนัตตา (:LOVE:)


(:LOVE:)จิตเราสะอาดอยู่เสมอ จิตไม่จำ - จิตไม่โกรธ - จิตไม่โลภ - จิตไม่หลง (:LOVE:)


(:LOVE:)จะว่าไปแล้วจิตคือ พุทธะ และพุทธะ คือ จิต ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้ง (:LOVE:)





Namokar Mantra

เงาฝัน:



อโหสิกรรม

ภาพจาก: intouch.thaiza.com/blog_view.php?blog_id=1999

วิธีแก้ไข อกุศลกรรมให้เป็นอโหสิกรรมนั้น จะทำอย่างไร?

โดยเหตุที่อปราปริยเวทนีย กรรม คือกรรมชวนะดวงที่ ๒ ถึง ๖ มีจำนวน ๕ ดวงนี้ มีกำหนดเวลาให้ผลยาวนาน หนักหนาตั้งแต่ชาติที่ ๓ เป็นต้นไป จนกว่าเจ้าของกรรมนั้นจะถึงเวลาดับขันธ์ปรินิพพานไป ซึ่งก็หมายความว่า อันว่ากรรมชั่วที่เราได้ทำไปแล้วนั้น จะติดตามให้ผลเจ้าของกรรมนั้นไปตลอด มีโอกาสเมื่อไร เป็นให้ผลได้ทันที ก็มีวิธีอันวิเศษซึ่งสามารถป้องกัน ไม่ให้อกุศลอปราปริยเวทนียกรรมตามมาให้ผลร้ายแก่เราได้ทุก ๆ ชาติไปนั้น ก็จะต้องทำตนให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการทุก ๆ ชาติ นับกันแต่ชาติที่ ๓ เป็นต้นไป คุณสมบัติ ๕ ประการคือ

๑.ปุพเพกตปุญญตา = ความเป็นผู้เคยสร้างบุญไว้แต่ปางก่อน

๒.ปฏิรูปเทสวาสะ = การอยู่ในประเทศอันสมควร คืออยู่ในถิ่นฐานที่ประกอบด้วย คนดีมีศีลธรรม

๓.สัปปุริสูปนิสสยะ = การได้คบหาสมาคมกับเหล่าสัตบุรุษ

๔.สัทธัมมัสสวนะ = การได้สดับตรับฟังพระสัทธรรม

๕.อัตตสัมมาปณิธิ = การตั้งตนไว้ในทางที่ถูกที่ชอบ

ถ้าหากบุคคลผู้ทำอกุศลอปราปริยเวทนียกรรมไว้ มีความหวั่นไหวเกรงว่าผลร้ายจักบังเกิดแก่ตนโดยผลของกรรมนั้น เมื่อใช้วิธีอันวิเศษนี้เป็นเกราะป้องกันตนแล้ว รับรองได้ว่าอกุศลอปราปริยเวทนียกรรมนั้น มันย่อมตามมาไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นเวลานานกี่แสนล้านชาติ ก็ตาม ส่วนในการที่เราจะทำตนให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ เพื่อเป็นเกราะป้องกันภัยนั้น สำคัญอยู่ที่กรรมซึ่งได้แก่การกระทำของเราในชาตินี้นั่นเอง โดยเราจะต้องปฏิบัติตนต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด คือ

๑. จะต้องประพฤติปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงาม ตั้งตนอยู่ในศีลธรรม พยายามบำเพ็ญทานรักษาศีล เจริญภาวนาอยู่เสมอ แล้วตั้งความปรารถนา เพื่อหวังได้คุณสมบัติข้อที่ ๑ คือ ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญได้เคยทำไว้แต่ปางก่อน โดยนัยว่าดังนี้คือ

“ ด้วยเดชะแห่งกุศลกรรมที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญนี้ ด้วยเดชะแห่งกุศลกรรมความดีที่ได้บำเพ็ญในชาตินี้ ขอจงเป็นอุปนิสัยปัจจัยให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลไปทุก ๆ ชาติ ด้วยเถิด ”

๒. จะต้องประพฤติตนให้เป็นคนพอใจยินดีอยู่แต่ในสถานที่ที่เป็นปฏิรูปเทศ คือประเทศ ที่ประกอบด้วยคนดีมีศีลธรรม แล้วตั้งความปรารถนา เพื่อหวังได้คุณสมบัติในข้อที่ ๒ คือปฏิรูปปเทสวาสะ การอยู่ในประเทศที่สมควร โดยนัยว่าดังนี้คือ

“ ด้วยเดชะแห่งกุศลกรรมที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญนี้ ต่อไปภายหน้า ขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดอยู่ในปฏิรูปเทศ คือประเทศที่ประกอบด้วยบุคคลมีศีลมีธรรมตลอดไปจนทุก ๆ ชาติด้วยเถิด ”

๓. จะต้องประพฤติตนให้เป็นคนดีมีปัญญา ในการสมาคมโดยหลีกเว้นให้ห่างไกลจาก คนชั่ว ไม่เกลือกกลั้วสมาคมกับคนพาล พยายามคบหาสมาคมกับบัณฑิต คือท่านที่มีความรู้และมีศีลธรรม แล้วตั้งความปรารถนา เพื่อหวังได้คุณสมบัติข้อที่ ๓ คือ สัปปุริสูปนิสสยะ การคบหาสมาคมกับสัตบุรุษ โดยนัยว่าดังนี้คือ

“ ด้วยเดชะแห่งกุศลกรรมที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญนี้ ต่อไปภายหน้า ขอให้ข้าพเจ้าจงอย่า ได้พบกับคนพาลมิจฉาทิฏฐิ ขอจงได้พบได้สมาคมคบหากับเหล่าสัตบุรุษตลอดไปจนทุกๆ ชาติด้วยเถิด ”

๔. จะต้องประพฤติตนให้เป็นคนใคร่ในการศึกษาธรรม อุตสาหะสดับตรับฟัง หมั่นศึกษาธรรมที่มีประโยชน์ และธรรมที่ถูกต้อง แล้วตั้งความปรารถนา เพื่อหวังได้คุณสมบัติข้อที่ ๔ คือ สัทธัมมัสสวนะ การได้สดับตรับฟังพระสัทธรรม โดยนัยว่าดังนี้คือ 

“ ด้วยเดชะแห่งกุศลกรรมที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญนี้ ต่อไปในภายหน้า ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีปัญญา ได้มีโอกาสศึกษาและเข้าใจในพระสัทธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่มีประโยชน์ และเป็นธรรมที่ถูกต้องตลอดไปจนทุก ๆ ชาติด้วยเถิด ”

๕.จะต้องประพฤติตนให้เป็นคนดีมีศีลมีธรรมอยู่เสมอ พยายามรักษากาย วาจา ใจ ของตน ให้เป็นไปในทางสุจริตอยู่เป็นนิตย์ พูดง่าย ๆ ก็ว่า อุตส่าห์ตั้งตนอยู่แต่ในทางที่ดีที่ชอบอยู่จนตลอดชีวิต แล้วตั้งความปรารถนา เพื่อหวังได้คุณสมบัติข้อที่ ๕ คือ อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ในทางที่ถูกที่ควรในชาติต่อไป โดยนัยว่า ดังนี้ คือ

“ ด้วยเดชะอำนาจแห่งการที่ข้าพเจ้าได้ประพฤติกาย วาจาใจ ในทางสุจริตนี้ ต่อไปใน ภายหน้า ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม พยายามตั้งตนอยู่แต่ในทางที่ชอบที่ควรตลอดไปจนทุก ๆ ชาติด้วยเถิด ”

วิธีปฏิบัติเพื่อทำตนให้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทั้ง ๕ ประการ ในชาติต่อไปดังกล่าวมานี้ เมื่อเราเริ่มตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเสียแต่ในชาตินี้อย่างครบถ้วน ซึ่งต้องอาศัยศรัทธาซึ่งเป็นไปอย่างแรงกล้าแล้ว ก็ย่อมจะผลิตผลออกมาตามที่ตั้งความปรารถนาเอาไว้ โดยสามารถทำให้เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ ในทุก ๆ ชาติ จนกว่าจะดับขันธ์ปรินิพพานได้ทีเดียว และเมื่อเราถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว อกุศลอปราปริยเวทนียกรรมที่กระทำไว้ ก็ไม่สามารถติดตามเราทันได้ คือ ย่อมไม่มีโอกาสส่งผลอันชั่วร้ายแก่เราได้



เงาฝัน:





ตัวอย่างของบุคคลผู้ทำบาปในปัจจุบันชาติ แต่บาปทั้งหมดที่จะรอส่งผลในอนาคตชาตินั้นต้องเป็นอโหสิกรรมไป คือ พระองคุลีมาลอรหันต์นี่เอง ผู้เป็นบุตรชายคนแรกของท่าน ปุโรหิตาจารย์ ปรากฎเป็นลางร้ายขณะที่ทางพราหมณีจะคลอดบุตรชายนั้น คือเครื่องอาวุธศาสตราทั้งปวงในเมืองเกิดลุกเป็นเปลวเพลิงรุ่งโรจน์ ท่านปุโรหิตผู้เป็นบิดารีบออกจากเรือนแล้วเล็งดูฤกษ์บนนั้นก็ปรากฏในอากาศเป็นที่แปลกประหลาด รุ่งเช้าจึงกราบทูลให้พระราชาทรงทราบว่า “ กุมารผู้เป็นบุตรแห่งข้าพระบาทจะเป็นโจรใหญ่ประทุษร้าย ปล้นพระนคร เพื่อหวังเอาสิริราชสมบัติก็หามิได้ แต่ว่าจะมีน้ำใจ หยาบช้า ไล่พิฆาต หมู่มหาชน เป็นโจรกระทำร้าย ชาวบ้านชาวเมือง เบียดเบียนมนุษย์หญิงชายให้ได้รับความเดือดร้อน เป็นอันมาก ฉะนั้น ข้าพระบาทจึงใคร่ที่จักทูลพระองค์ว่า จงให้จับเอากุมารผู้เป็นบุตรแห่งข้าพระบาทนั้น มาทำการประหารเสียในกาลบัดนี้ เพื่อที่ประชาชนทั้งหลายจะได้ไม่เดือดร้อนในภายภาคหน้า พระเจ้าข้า

แต่พระราชาทรงแนะให้เลี้ยงดูต่อไป ฝ่ายปุโรหิตาจารย์จึงตั้งชื่อให้แก่บุตรเพื่อเป็นมงคลนามว่า ” อหิงสกกุมาร ” แปลว่า กุมารอยู่ไม่เบียดเบียนใคร ทั้งนี้เพื่อให้พ้นฤกษ์จัญไรในขณะที่กุมารเกิด... เมื่ออหิงสกกุมาร เติบใหญ่ ท่านบิดาจึงส่งตัวไปยังเมืองตักกศิลา ในสำนักแห่งท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ปรากฏว่า อหิงสกกุมาร เป็นศิษย์ที่ดีเยี่ยม มีปัญญาไว เรียนวิชาใด ๆ ก็รู้จบรวดเร็ว จนเป็นที่ริษยาแก่เหล่าศิษย์ของท่านอาจารย์อื่น ๆ จึงคิดอุบายกำจัด อหิสกกุมาร เสียด้วยการยุยงใส่ความแก่ท่านอาจารย์ แรก ๆ อาจารย์ก็ไม่เชื่อ หนักเข้า ๆ เสาเหินที่ปักไว้ในปฐพีอันลึก จับสั่นทุกวันบ่อยเข้าก็มีโอกาสได้ฉันใด นับประสาอะไรกับดวงฤทัยที่ยังอยู่ในร่างซึ่งยังเป็นปุถุชนแห่งท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์เล่า

ในที่สุดก็ออกอุบายคิดกำจัดอหิงสก โดยยืมมือทางราชการให้ฆ่าเสียโดยบอกว่า ยังมีวิชาฤทธิ์มนต์วิเศษอยู่อีก ๑ อย่าง จะบอกให้อหิงสกเล่าเรียนต่อเมื่อฆ่าคนมาให้ครบ ๑,๐๐๐ แล้ว จงนำมา เราจะบอกวิชานั้นให้ อหิงสกกุมารครั้งแรกก็ปฏิเสธว่า ทำไม่ได้ผิดเพศประเพณีวงศ์ตระกูลแห่งบิดา แต่เล่ห์ของท่านอาจารย์คะยั้นคะยอหนักเข้า ก็เชื่อฟังอาจารย์ยอมทำตาม ฆ่าคนแล้วตัดแขนสะสมไว้ มิได้นำติดตัวไป หนักเข้าก็เลอะเลือนว่า ฆ่าไปได้เท่าไรแล้ว จึงคิดตัดเอาแต่นิ้วร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอไว้ จึงได้สมญานามว่า องคุลิมาลโจร แปลว่า โจรผู้มีนิ้วมือคนเป็นพวงมาลัย ข่าวเรื่องโจรองคุลิมาลทราบถึงสมเด็จพระราชาจึงสั่งให้ยกโยธา เสด็จจะไปปราบด้วยตนเอง นางพราหมณีผู้มารดาได้ทราบ ก็คิดจะไปนำลูกชายมาซ่อนตัวไว้ ด้วยเกรงลูกจะถูกฆ่าตาย จึงออกไปหาลูกตามทางที่มีคนบอกว่า องคุลีมาลโจรนั้นซุ่มซ่อนอยู่

ด้วยอำนาจแห่งบารมี ที่สร้างสมไว้ของอหิงสก หรือ องคุลีมาล ทำให้ติดข่ายพระญาณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพิจารณาดูแล้วว่า “ เมื่อเราตถาคตไปพบองคุลีมาลแล้วแสดงธรรมเทศนา แต่ประมาณเพียง ๔ บาทแห่งพระคาถาเท่านั้น เขาจักพลันเกิดศรัทธาเลื่อมใส ขอบรรพชาอุปสมบท เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และต่อไปจะมีปัญญารู้ธรรมได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เพราะมีกุศล วาสนาอันตนสั่งสมมาแต่ปางก่อน ดังนี้ ถ้าเราตถาคตจะละไว้ให้เนิ่นช้าเกลือกว่ามารดาองคุลิมาลนั้นไปถึงก่อน แล้วจะมิเป็นการเพราะองคุลีมาลจักประหารมารดาให้ ดับสูญสิ้นชีพไป แต่ในขณะพอได้เห็นหน้า อันจะเป็นมาตุฆาต อนันตริยกรรมมหันตโทษ เพราะเมื่อเขาต้องมาตุฆาตกรรมอันเป็นบาปเช่นนี้ เขาก็จักนิราศปราศจาก มรรค ผล เป็นอภัพพบุคคลเสียเป็นแน่แท้ ควรที่ตถาคตจักรีบไปแก้ไขเสียแต่ในกาลบัดนี้

ฝ่ายองคุลีมาล ผู้ฆ่าคนมายังขาดอีกคนเดียวก็จะครบ ๑,๐๐๐ ตามที่อาจารย์ต้องการ เมื่อเห็นพระพุทธองค์จึงดีใจคิดว่า น่าจะได้ครบแล้วในวันนี้ทีเดียว คิดแล้วก็คว้าดาบวิ่งไล่ตามพระพุทธองค์ ตามจนเหนื่อยอ่อนล้าหมดกำลังกายวิ่งต่อไปอีกไม่ไหว จึงเอ่ยปากร้องเรียก พระพุทธองค์เอาดื้อ ๆว่า “ ดูก่อนสมณะ ท่านจงหยุดก่อน สมณะท่านจงหยุดก่อน ” ดูก่อนองคุลีมาล เราตถาคตหยุดแล้ว แต่ตัวท่านสิมิได้หยุด พระพุทธองค์ตรัสบอกแล้วดำเนินต่อไปตามปกติ องคุลีมาล ได้ฟังดังนั้นจึงขัดเคือง กล่าวต่อสมเด็จพระพุทธองค์ว่า ดูกรสมณะ ธรรมดาสมณะทั้งหลายย่อมมีปกติกล่าวเป็นคำสัตย์เป็นคำจริง เหตุไฉนจึงกล่าวมุสาต่อหน้าเราเปล่า ๆ ว่าหยุดแล้ว และว่าตัวเรานั้นยังไม่หยุดเล่า ! พระพุทธองค์จึงตรัสเป็นใจความว่า “ ดูก่อนองคุลีมาล เราตถาคตเป็นผู้ประกอบด้วยเมตตา ขันติ และมีใจตั้งอยู่ในสาราณียธรรมอย่างมั่นคง เราตถาคตนี้เมื่อสิ้นชนม์ดับขันธ์ไปแล้ว ก็จักพ้นชาติกันดาร ชรากันดาร มรณกันดาร มิได้เวียนว่ายในวัฎฎสงสารอีกสืบไป เพราะฉะนั้น เราตถาคต จึงได้ชื่อว่าหยุดแล้ว แต่ตัวท่านสิ ยังหาได้หยุดไม่ เหตุว่าท่านมีใจหยาบช้ากล้าแข็ง ไล่ฆ่ามนุษย์หญิงชายล้มตายเป็นอันมาก ท่านจะต้องได้เสวยความสำบากอย่างแสนสาหัสในอบายภูมิ ๔ และยังจะต้องเวียนเกิดเวียนตายในวัฎฎสังสารอีกนับภพชาติไม่ถ้วน เราตถาคตจึงกล่าวว่า ท่านยังไม่หยุด

องคุลีมาลได้สติ ก็ปลงอาวุธลงทั้งหมดขว้างทิ้งลงไปในซอกเหวแห่งหนึ่ง แล้วค่อยดำเนินเข้าไปหาสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประทับยืนอยู่ ถวายนมัสการที่พระยุคลบาทแล้วทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์ทรงตรวจดูวาสนาบารมีแต่ปางก่อนก็ทราบว่า องคุลีมาล หรืออหิงสกกุมารนี้ เคยถวายอัฎฐบริขาร แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ และได้บำเพ็ญธรรมประกอบด้วยพรหมวิหารกรรมมาก่อน จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ แล้วมีพุทธฎีกาตรัสเรียกว่า เอหิ ภิกขุ ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ท่านจงเป็นภิกษุเข้ามาปฏิบัติศาสนพรหมจรรย์ อันเป็นทางบรรลุ มรรค ผล นิพพาน เพื่อบรรเทาทุกข์ให้สิ้นไปจากขันธสันดานด้วยปัญญา อันเป็นสมุจเฉทประหาน ในกาลครั้งนี้เถิด เพียงขาดพระวจนะแห่งพระองค์เท่านั้น เพศฆราวาสขององคุลีมาลก็อันตรธานไป เพศสมณะปรากฏขึ้นมาแทน แล้วพระพุทธองค์ทรงนำพระภิกษุใหม่นั้นเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร

การบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ของภิกษุใหม่องคุลิมาลในครั้งนั้น ต้องพบอุปสรรคมากมาย ทั้งในการบิณฑบาตในระยะแรกไม่ได้อาหาร เพราะความกลัวของชาวบ้าน รวมทั้งไม้ค้อนก้อนอิฐทั้งหลาย ที่ชาวบ้านขว้างปาออกไป โดยมิได้เจตนานั้น ก็ให้บังเอิญไปถูกต้องศีรษะของพระองคุลีมาลเข้าอย่างถนัดใจ จนกระทั่งวันหนึ่งท่านสงเคราะห์หญิงมีครรภ์แก่ ซึ่งวิ่งหนีท่านไปติดอยู่ที่รั้วหิน ให้คลอดบุตรออกโดยง่ายด้วยแรงอธิษฐานของท่านนั้นแล ประชาชนจึงเกิดความเลื่อมใส หายตกใจกลัว ท่านจึงเริ่มได้รับอาหารสะดวกสบายขึ้นบ้าง ในที่สุดด้วยอำนาจวาสนาบารมีที่ท่านได้อบรมมาแต่ปางก่อน ก็ทำให้ท่านบรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอรหันตบุคคลในบวรพระพุทธศาสนา พร้อมอภิญญาคุณ อันประเสริฐตามบารมีเก่าที่ท่านได้สั่งสมมา

ฉะนั้นประวัติของท่านพระองคุลีมาลทำให้มีผู้มาถามกันเนือง ๆ เสมอว่า พระองคุลีมาลเป็นโจรฆ่าคนตายมากมาย ทำไมจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ บาปที่ฆ่าคนตายนั้นไปหลบซ่อนอยู่ที่ไหน เมื่อจะตอบตามสภาวธรรมก็คือ อกุศลกรรมที่ฆ่าคนตาย เกิดขึ้นด้วยโทสชวนะวิถีละ ๗ ขณะตลอดมา ซึ่งการส่งผลของชวนะนั้นมีกำหนดเวลาคือ ชวนะดวงที่ ๑ ให้ผลได้ในชาตินี้เท่านั้น ซึ่งท่านองคุลีมาลก็ได้รับขณะบำเพ็ญสมณธรรม ด้วยความลำบากมากมาย แต่ชวนะดวงที่ ๗ ซึ่งจะส่งผลปฏิสนธิในอบายทุคตินิรยภูมินั้น ต้องรอให้ถึงแก่ความตายเสียก่อน คือส่งผลได้ในภพหน้า แต่ไม่มีโอกาสส่งผลเป็นอโหสิกรรมไป เพราะท่านบำเพ็ญกุศลอันเป็นอรหัตมัค ซึ่งตัดภพตัดชาติตัดการเกิดให้สิ้นไปแล้ว บาปกรรมต่าง ๆ จึงไม่มีโอกาสส่งผลเพราะผู้รับผลของกรรมนั้นไม่มี เนื่องจากดับขันธปรินิพพานไปแล้วนั่นเอง

เงาฝัน:




บุคคลตัวอย่างอีกท่านหนึ่ง ซึ่งฆ่าคนตายในชาติสุดท้ายแล้วดับขันธปรินิพพานคือ พระกุณฑลเกสีเถรี เป็นธิดาเศรษฐี ได้โจรเป็นสามีด้วยวัยเพียง ๑๖ ปี นางอยู่บนปราสาท ๗ ชั้นแลเห็นโจร ซึ่งเขาจะนำไปฆ่า เกิดมีจิตปฏิพัทธ์ บอกมารดาว่าถ้านางไม่ได้โจรนั้นเป็นสามีแล้วนางจะขอตาย เศรษฐีบิดามารดาจึงเอาเงินไปแลกตัวโจร แล้วให้ราชบุรุษฆ่าบุรุษอื่นแทน นางได้สามีโจรนั้นสมปรารถนา กาลล่วงไป ๒ – ๓ วัน โจรคิดหนี โดยวางแผนล่อภรรยา ธิดาเศรษฐีไปฆ่าเสีย จึงบอกนางว่า ได้ทำพลีกรรมต่อเทพยดาไว้ เมื่อตอนที่ได้รอดชีวิตมา จึงต้องแก้ที่บนบานไว้ที่เขาทิ้งโจรเป็นภูเขาหน้าผาโกรกชัน แล้วนำโจรที่ถูกประหารมาโยนทิ้ง จึงเรียกเขาทิ้งโจร นางก็ตกลงแต่งเครื่องประดับมีค่ามากมายพร้อมกับเครื่องพลีกรรม เมื่อถึงที่หมายแล้ว โจรจึงบอกนางว่า จะฆ่านางเพื่อต้องการสมบัติ นางบอกจะยกให้แต่ขอชีวิตไว้โจรก็ไม่ยอม เพราะเกรงว่าจะพาคนมาจับตัวในภายหลัง

เมื่ออ้อนวอนจนถึงที่สุดแล้วโจรก็ไม่ยอม จึงออกอุบายว่า ขอเห็นหน้าให้เต็มตา กอดให้สมรักเป็นครั้งสุดท้าย ในที่สุดนางจึงได้โอกาสนั้นผลักโจรตกเขาตาย หลังจากนั้นนางทิ้งเครื่องประดับไว้ที่นั้น เข้าไปสู่ป่าไปถึงอาศรมของพวกปริพาชกแห่งหนึ่ง ขอบวชเป็นปริพาชิกา นางทำการเรียนวาทะ ๑,๐๐๐ แล้วไปเที่ยว แล้วท้าทายให้ผู้ตอบปัญหา จนมาถึงกรุงสาวัตถีก็ปักกิ่งหว้าไว้ แล้วประกาศว่า ผู้สามารถจะกล่าวปัญหากับเรา จงเหยียบกิ่งหว้านั้น ในกาลนั้นพระสารีบุตรเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเห็นกิ่งหว้า แล้วรู้เรื่องจากเด็ก ๆ ที่ยืนล้อมกิ่งหว้าไว้ จึงกล่าวกะเด็ก ๆ ให้เหยียบกิ่งหว้า นางธิดาเศรษฐีผู้บวชเป็นปริพาชิกา จึงประลองปัญหากะพระสารีบุตรนางถามปัญหา ๑,๐๐๐ นั้น พระเถระแก้ปัญหานางนั้นหมดแล้ว ถามนางว่า มีอีกไหม นางบอกว่าหมดแล้ว พระสารีบุตรจึงถามนางบ้างว่า “ อะไรชื่อว่าหนึ่ง ” นางปริพาชิกาจนปัญญา จึงขอเรียนปัญหานี้แก่พระเถระ พระเถระบอกแก่นางภิกษุณีทั้งหลายให้บรรพชาแล้วมีชื่อว่า กุณฑลเกสีเถรี บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย โดยภายใน ๒ - ๓ วันเท่านั้น


[อ่านต่อรายละเอียดพระเถรีสมัยพุทธกาล : http://www.sookjai.com/index.php?topic=1574.0 ]


พระพุทธองค์เมื่อทรงแสดงธรรมโดยปรารภนางกุณฑลเกสี ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า “ก็ผู้ใดพึงกล่าวคาถาตั้ง ๑๐๐ ซึ่งไม่ประกอบด้วยบทเป็นประโยชน์ บทแห่งธรรมบทเดียวที่บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ประเสริฐกว่า (การกล่าวคาถาตั้ง ๑๐๐ ของผู้นั้น) ผู้ใดพึงชนะมนุษย์พันหนึ่งคูณด้วยพันหนึ่ง (คือ หนึ่งล้าน) ในสงครามผู้นั้นหาชื่อว่า เป็นยอดแห่งชนผู้ชนะในสงครามไม่ ส่วนผู้ใดชนะตนคนเดียวได้ ผู้นั้นแลเป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม

จากตัวอย่าง พระอรหันต์ ผู้ทำบาปแล้วดับขันธ์ปรินิพพาน กรรมทั้งหมดจึงเป็นอโหสิกรรมไป เพราะผู้จะมารับผลของกรรมนั้นไม่มีแล้วนั่นเอง

จบเรื่องอโหสิกรรมเพียงเท่านี้


http://www.raksa-dhamma.com/topic_34.php
ufoatkaokala11.com/

อนุโมทนาสาธุธรรมค่ะ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป