[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 26 พฤศจิกายน 2553 17:07:27



หัวข้อ: รู้ได้อย่างไรว่าเป็นธรรมะที่แท้จริง และ พระอาจารย์ที่แท้จริง
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 26 พฤศจิกายน 2553 17:07:27
(http://www.dorjeshugden.com/images/tsongkhapaoct10.jpg)


รู้ได้อย่างไรว่าเป็นธรรมะที่แท้จริง และพระอาจารย์ที่แท้จริง


ในขณะนี้กำลังมีข่าวเกี่ยวกับพระภิกษุถูกฟ้องอีกแล้ว ก็นับว่าสั่นสะเทือนวงการชาวพุทธพอสมควร เพราะท่านนี้เป็นที่นับถือกันว่าเป็นพระปฏิบัติที่เคร่งครัด และมีแนทางสอนเพื่อให้บรรลุมรรคผลโดยตรง เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนีขึ้นมา ชาวพุทธก็เกิดความท้อแท้ใจ คิดว่าพระดีจริงๆไม่มีเลยหรืออย่างไร ทำไมเมื่อมีพระภิกษุที่มีชื่อเสียงขึ้นมา มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ก็เกิดเรื่องทุกที เพราะเราเพิ่งเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้มาไม่นาน แล้วก็มาเกิดอีก หลายท่านอาจจะสงสัยว่า เราจะมีวิธีการอะไรหรือไม่ ที่จะตรวจสอบคำสอนของพระภิกษุ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่า พระท่านนี้ควรที่เราจะฝากตัวเป็นศิษย์หรือไม่

ในคำสอนของทิเบต การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นอาจารย์เป็นสิ่งสำคัญมาก และในขณะเดียวกันการที่พระอาจารย์จะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นศิษย์ของมีความสำคัญมากไม่แพ้กัน ในหนังสือเรื่อง “การเห็นทางธรรมสามระดับ” เตชุงริมโปเชได้สอนไว้ว่า ในการตรวจคุณสมบัติของผู้ที่เราจะฝากตัวเป็นศิษย์นั้น ประการแรก ผู้ที่ควรแก่การเป็นอาจารย์ผู้สอนการปฏิบัติธรรม จะต้องมีความประพฤติที่ไม่ด่างพร้อยใดๆ และมีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่บริสุทธิ์สะอาด ประการที่สอง เจตนาของท่านในการสั่งสอนจะต้องเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ กล่าวคือท่านมีจิตมุ่งมั่นที่จะสอนผู้คนให้เกิดดวงตาเห็นธรรม มองเห็นแนวทางที่นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของคำสอนจริงๆ ประการที่สาม ท่านต้องมีปัญญาอันบริสุทธิ์ กล่าวคือต้องมีความรู้แตกฉานในข้อธรรม ในคัมภีร์ต่างๆ และที่สำคัญคือรู้และเข้าใจความหมายของข้อความในคัมภีร์เหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง เตชุงริมโปเชเน้นหนักที่ข้อสามนี้อย่างยิ่ง ผู้ที่เราควรจะยกย่องเป็นอาจารย์จะต้องไม่มีเพียงแค่ความรู้แบบครึ่งกลางๆในคัมภีร์อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ต้องมีความรู้เต็มสมบูรณ์ครบถ้วน ผู้ที่เราจะรับเป็นพระอาจารย์จะต้องไม่มีการสอนอย่างผิดๆ ซึ่งเกิดจากการไม่เข้าใจคำสอน หรือมิได้ปฏิบัติตามคำสอนจนเห็นแจ้ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้สอนนั้นจะต้องเข้าถึงและมองเห็นความเป็นจริงอันเดียวกันกับที่ปรากฏอยู่ในคำสอนที่ตนเองกำลังจะสอน เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง

เราอาจเปรียบเทียบได้กับการสอนเรื่องอื่นๆ เช่นการว่ายน้ำ เมื่อเราเรียนว่ายน้ำ เราก็อยากจะเรียนกับครูที่ว่ายน้ำเก่ง มีประสบการณ์โดยตรงกับการว่ายน้ำมาเป็นอย่างดี เมื่อครูเช่นนี้อธิบายให้เราฟังเกี่ยวกับเทคนิคการว่ายน้ำ ก็จะออกมาจากใจโดยตรง จากประสบการณ์ตรงของตัวเองในฐานะนักว่ายน้ำ เราคงไม่อยากเรียนกับครูที่ว่ายน้ำไม่เป็น เพียงแต่เคยอ่านเรื่องว่ายน้ำมาเท่านั้น

ทีนี้เราก็อาจเกิดปัญหาว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าพระอาจารย์รูปนี้เห็นแจ้งเรื่องที่ตนเองกำลังสอนอยู่จริงๆ แต่เวลาเราหาครูว่ายน้ำ เรารู้ได้อย่างไรว่าครูคนนี้ว่ายน้ำเป็นจริงๆพอจะสอนได้? ปกติเราก็ไม่ไดสงสัยเรื่องนี้ เราอาจเห็นครูคนนี้ว่ายน้ำอย่างคล่องแคล่ว ซึ่งก็เป็นตัวชี้วัดที่ดี ดังนั้นในกรณีของพระอาจารย์สอนธรรมะ เราก็น่าจะสังเกตได้แบบเราๆที่ยังอยู่ในระดับโลกียะว่าท่านได้ปฏิบัติตามคำสอนจนได้ผลจริงๆ เช่น เราไม่เคยเห็นท่านโกรธเลย หรือเรื่องพัวพันใดๆกับทางโลกเลย เป็นต้น

นอกจากนี้ เงื่อนไขสองประการแรกที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นอะไรที่เราสังเกตได้ไม่ยาก คือการประพฤติปฏิบัติตนของพระอาจารย์ว่าเป็นไปตามพระวินัย ไม่อะไรด่างพร้อยให้ผู้คนติฉินนินทาหรือไม่ หรือเงื่อนไขที่สองเกี่ยวกับเจตนาในการสั่งสอนธรรมะ ก็สังเกตได้ไม่ยากเช่นกัน เช่นเจตนาจะสอนเพื่อให้ลูกศิษย์พ้นทุกข์หรือไม่ หรือเพื่อแสวงหาลาภยศชื่อเสียงส่วนตัว

ในทิเบตเรื่องการหาพระอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่นเดียวกับการที่อาจารย์จะรับสอนเฉพาะศิษย์ที่คุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งก็สำคัญมากเช่นเดียวกัน อาจเปรียบได้ว่าแม่เหล็กคนละขึ้วที่จะดึงดูดกัน หรือคู่ของสิ่งที่เหมือนๆกัน ซึ่งก็จะดึงดูดกันเช่นเดียวกัน ในทิเบต เวลาศิษย์จะไปขอวิชากับพระอาจารย์ บางทีอาจารย์รอดูพฤติกรรมของผู้ที่จะมาเป็นศิษย์ถึงสามปีกว่าจะรับเป็นศิษย์สอนวิชาให้ หรือบางทีคนที่จะเรียนปฏิบัติธรรมะ ก็ใช้เวลามากๆในการตรวจสอบผู้ที่ตนเองจะฝากตนฝากชีวิตไว้ให้เป็นพระอาจารย์ของตนเช่นกัน


http://soraj.wordpress.com/2010/09/22/%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%a3/ (http://soraj.wordpress.com/2010/09/22/%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%a3/)


หัวข้อ: Re: รู้ได้อย่างไรว่าเป็นธรรมะที่แท้จริง และ พระอาจารย์ที่แท้จริง
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 26 พฤศจิกายน 2553 18:42:59
อ้างถึง

ประการแรก ผู้ที่ควรแก่การเป็นอาจารย์ผู้สอนการปฏิบัติธรรม

ประการที่สอง เจตนาของท่านในการสั่งสอนจะต้องเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์

ประการที่สาม ท่านต้องมีปัญญาอันบริสุทธิ์


กว่าวไว้สามประการจริง แต่สามประการนี้มันช่างหาได้ยากเย็นซะเหลือเกิน

.....

 (o0!) (o0!) (o0!) (o0!)