ที่จริงแล้ว มนุษย์เราแต่ละคนมีระบบความคิด ระบบการมองโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าจะเป็นพี่น้องกัน หรือว่าอยู่ในครอบครัวเดียวกันก็ตาม การที่เราสามารถเข้าใจระบบการมองโลก และระบบความคิดของเขาได้ จะช่วยให้เราเข้าใจมนุษย์มากขึ้น ถ้าเราเข้าใจจริตของมนุษย์ เราย่อมสามารถอ่านใจสามีหรือภรรยา ลูก หัวหน้าหรือลูกน้องได้ เราสามารถคาดว่าถ้าเราพูดอย่างนี้ เขาจะโต้ตอบมาว่าอย่างไร จะไม่มีการแปลกประหลาดใจ โดยเฉพาะผู้เป็นคุณพ่อคุณแม่ จะได้เข้าใจถึงลูกของตัวเองดีขึ้น หัวหน้าจะได้มอบหมายลูกน้องให้ทำงานตรงกับลักษณะนิสัยมากขึ้น จะได้ไม่ประหลาดใจกับผลที่ได้เมื่อสั่งงานไปแล้ว ส่วนหากเราเป็นลูกน้องก็จะสามารถเข้าใจบุคคลผู้เป็นนายว่า
ทำไม่เขาถึงพูดถึงทำเช่นนั้น และเราจะมีทางหนีทีไล่ได้อย่างไร เมื่อไปเจอกับหัวหน้ารูปแบบแตกต่างกัน
หากคนเรามีความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว สามารถคาดคะเนพฤติกรรมของกันละกันแล้ว รู้ว่าจะพูดอย่างไร ทำเช่นไร กับคนประเภทต่างๆ แล้ว ความขัดแย้งก็จะลดน้อยหายไป ในทางกลับกัน เราจะรู้สึกสงสารเห็นใจ รู้จักประนีประนอม ถนอมน้ำใจคนอื่นมากขึ้น เพื่อให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข (สารชมรมฯ เรื่อง การวิเคราะห์จริตมนุษย์หลายๆ ตอนต่อไปนี้ เป็นตอนที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตให้มีความสุข จึงอยากให้ท่านผู้อ่าน ได้โปรดอ่านช้าๆ และทำความเข้าใจที่ลงประโยคทีละบรรทัด ทีละย่อหน้า ผู้เขียนเชื่อว่าท่านต้องมีความสุขในชีวิตมากกว่าเดิมแน่ – ผู้เขียน)สิ่งที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของชีวิต คือ เราจะได้รู้จักตัวเองดีขึ้นว่า เราเป็นคนเช่นไร คนเราส่วนใหญ่มองตัวเองไม่ออก เพราะเรามักจะมองออกไปจากตัวเรา เราไม่คอยได้มองกลับมาหาตัวเอง เราแทบจะไม่เคยสังเกตว่าเราใส่แว่นสีอะไร เพราะเราใส่มันมาตั้งแต่เกิดแล้ว เราแทบไม่เคยสังเกตระบบการมองโลก ระบบความคิด และนิสัยว่าเป็นอย่างไร เพราะเราคุ้นเคยกับมัน หรือไม่ก็คิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับความเป็นตัวเราจนแยกไม่ออก เราไม่เคยคิดจะเปลี่ยนความคิด เพราะคิดว่ามันหมายถึงเปลี่ยนความเป็นตัวของเรา หรือเพราะคิดว่ามันเป็นธรรมชาติของเรา หากเราเข้าใจจริตของมนุษย์ จะช่วยให้เราเข้าใจจิตใจ ความรู้สึก เข้าใจอารมณ์พื้นฐาน และระบบความคิดของตัวเองได้ดีขึ้น
เมื่อเราเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้เท่านั้น เราจึงจะสามารถเข้าใจผู้อื่น เมื่อเราเข้าใจและเกิดความเมตตาในตัวเองเท่านั้น เราจึงจะสามารถมีความเมตตาต่อผู้อื่นได้ และเมื่อเรารู้และเข้าใจตัวเราเองแล้ว เราถึงจะปรับเปลี่ยนตัวเราเองได้
แนวความคิดเกี่ยวกับประเภทของจริตมนุษย์มีรากฐานมาจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งผู้ประพันธ์เป็นพระชาวลังกา ในคัมภีร์ดังกล่าว ได้อธิบายถึงสภาวจิตของคนเรา หรือจริตมีอยู่ด้วยกัน 6 ประเภท ได้แก่ โทสะจริตหรือสภาวจิตที่โกรธง่าย โมหะจริต หรือจิตที่มัก อยู่ในสภาพง่วงนอนซึมเศร้า วิตกจริต หรือสภาวจิตที่ช่างกังวลสงสัยฟุ้งซ่านเป็นอารมณ์ ราคะจริต คือสภาวจิตที่หลงติดในรูปรสกลิ่นเสียง ศรัทธาจริต คือสภาวจิตที่มีความเชื่อถือศรัทธาเป็นหลัก ประการสุดท้าย พุทธิจริต คือสภาวจิตที่เน้นการใช้ปัญญาในการหาเหตุ หาผลแก้ปัญหา คำว่าจริตในที่นี้ หมายถึงสภาวจิตของเรา จากการแบ่งจริตมนุษย์เป็น 6 ประเภทใหญ่ ท่านจะสามารถสังเกตได้ว่าตัวท่านเอง และคนรอบๆ ตัวท่าน เป็นคนประเภทใด แม้ว่าคนเราอาจมีหลายจริตประสมประสานกันอยู่ แต่จะมีจริตใดจริตหนึ่งที่เด่นกว่าจริตอื่นในแต่ละขณะเวลา
มงคล กริชติทายาวุธ ประธานชมรมศาสนาและการกุศล Pic by : Google
Credit by :
http://www.watnai.org/forum1/index.php?topic=1513.0ขอบพระคุณที่มาทั้งหมดมากมาย
อนุโมทนาค่ะ