[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 ตุลาคม 2555 17:05:26



หัวข้อ: กำเนิดคณะธรรมยุต
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 ตุลาคม 2555 17:05:26
(http://t1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ77DKJAQpI8iC4vkCskZw8mbRHXMrNdB8Bah9QVgOzIvZqIi3E)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ภาพจาก : chaoprayanews.com

กำเนิดคณะธรรมยุต

พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า คณะธรรมยุต นั้นคือพระสงฆ์ที่ออกมาจากคณะสงฆ์เดิมของไทยนั่นเอง  แต่ได้รับอุปสมบทซ้ำในรามัญนิกายด้วย อันเป็นผลเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขณะเมื่อยังทรงผนวชอยู่ ทรงศึกษาพระไตรปิฎก และทรงปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระองค์ขึ้นก่อนเป็นประเดิม  ตามความรู้ที่ได้ทรงศึกษามาจากพระไตรปิฎก  ภายหลังจึงมีภิกษุอื่น ๆ เกิดความนิยมนับถือแล้วถวายตัวเป็นศิษย์ปฏิบัติตามแบบอย่างที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มปรับปรุงแก้ไขนั้นทีละรูปสองรูป และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ จนกลายเป็นพระสงฆ์หมู่หนึ่งที่ได้รับขนานนามว่าคณะธรรมยุต  หรือ คณะธรรมยุติกนิกายในภายหลังต่อมา

โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงมีพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง  โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์  สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นพระอาจารย์ถวายศีล  ประทับ ณ วัดมหาธาตุ เป็นเวลา ๗ เดือน จึงทรงลาผนวช

ถึง พ.ศ. ๒๓๖๗  พระชนมายุ ๒๐ พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามโบราณราชประเพณี  โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์ เสด็จประทับ ณ วัดมหาธาตุ  ทรงทำอุปัชฌายวัตร ๓ วัน แล้วเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดสมอราย เพื่อทรงศึกษาวิปัสสนาธุระตามธรรมเนียมนิยมของเจ้านายผู้ทรงผนวชเพียงพรรษาเดียวในครั้งนั้น หลังจากทรงผนวชได้เพียง ๑๕ วัน  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระบรมชนกนาถ  ทรงพระประชวรเสด็จสวรรคต  จึงได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะดำรงสมณเพศศึกษาวิปัสสนาธุระที่ได้ทรงเริ่มศึกษามาแต่แรกทรงผนวชแล้วให้ถ่องแท้ต่อไป  ได้ทรงศึกษาอยู่ในสำนักอาจารย์ ณ วัดสมอรายนั้น  และได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ วัดราชสิทธาราม อันเป็นสำนักวิปัสสนาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในยุคนั้น  แต่ไม่ได้ประทับอยู่ประจำ  คงเสด็จไปมาระหว่างวัดราชสิทธารามกับวัดสมอราย  นอกจากนี้ยังได้เสด็จไปทรงศึกษากับอาจารย์ในสำนักอื่น ๆ ที่ปรากฏว่ามีการเล่าเรียนวิปัสสนาธุระทั่วทุกแห่งในยุคนั้น  แม้กระนั้นก็ยังไม่เต็มตามพระราชประสงค์  จึงทรงพระราชดำริที่จะศึกษาพระปริยัติธรรม คือภาษามคธหรือภาษาบาลี  เพื่อจะได้สามารถอ่านพระไตรปิฎกได้ด้วยพระองค์เอง  อันจะเป็นทางให้ทรงศึกษาหาความรู้ในพระปริยัติธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้โดยลำพังพระองค์ต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาพระปริยัติธรรมมิใช่เพื่อพระเกียรติยศหรือผลประโยชน์อื่นใด  แต่ทรงศึกษาด้วยทรงมุ่งหวังที่จะทราบพระธรรมวินัยให้แจ้งชัดในข้อปฏิบัติ  อันเป็นมูลรากของพระศาสนาว่าเป็นอย่างไร  ผลแห่งการศึกษาและทรงพิจารณาอย่างละเอียดทั่วถึง  ทำให้ประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่าวัตรปฏิบัติและอาจาริยสมัยที่ได้สั่งสอนสืบกันมาในครั้งนั้นได้คลาดเคลื่อนหรือหย่อนยานไปเป็นอันมาก  จึงทรงรู้สึกสลดสังเวชพระราชหฤทัย  ถึงกับทรงเห็นว่ารากเหง้าเค้ามูลแห่งการบรรพชาอุปสมบทจะเสื่อมสูญเสียแล้ว



(http://www.sookjaipic.com/images/3155984141_DSC02599_1_.JPG)

ทรงญัตติซ้ำในรามัญนิกาย

ในระหว่างที่กำลังทรงพระปริวิตกถึงเรื่องความเสื่อมสูญแห่งวงศ์บรรพชาอุปสมบทอยู่นั้นเอง  ก็ได้ทรงพบพระเถระชาวรามัญรูปหนึ่งชื่อ ซาย  พุทฺธวํโส   ซึ่งอุปสมบทมาแต่เมืองมอญมาอยู่วัดบวรมงคลได้เป็นพระราชาคณะที่พระสุเมธมุนี   เป็นผู้ชำนาญพระวินัยปิฎก ประพฤติวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  สามารถทูลอธิบายเรื่องวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์รามัญคณะกัลยาณีที่ท่านได้รับอุปสมบทให้ทรงทราบอย่างพิสดาร  ทรงพิจารณาเห็นว่าสอดคล้องต้องกันกับพระพุทธพจน์ที่ได้ทรงศึกษามาจากพระบาลีไตรปิฎก  ก็ทรงเลื่อมใสและทรงรับเอาวินัยวงศ์นั้นเป็นแบบอย่างสำหรับปฏิบัติสืบมา ด้วยการทำทัฬหีกรรม คือทรงอุปสมบทซ้ำในคณะสงฆ์รามัญอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระสุเมธมุนี (ซาย  พุทธวํโส)  เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ จ.ศ. ๑๑๘๗  ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๖๘  อันเป็นปีที่ทรงผนวชได้ ๒ พรรษา  การทำทีทัฬหีกรรมครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๑

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำทัฬหีกรรมอุปสมบทซ้ำในคณะสงฆ์รามัญนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ โดยเริ่มต้นที่พระองค์เป็นประเดิมแล้วจึงมีภิกษุอื่นเกิดความนิยมเลื่อมใสและประพฤติปฏิบัติตามอย่างขึ้นในช่วงที่ประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุนั้น  มีภิกษุมาถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและประพฤติปฏิบัติตามแนวพระราชดำริเพียง ๕ – ๖ รูปเท่านั้น ในบรรดาผู้ที่มาถวายตัวเป็นศิษย์ในชั้นแรกนี้ก็คือ สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ  พุทฺธสิริ)  เมื่ออุปสมบทได้ ๒ พรรษา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  แต่เมื่อแรกทรงอุปสมบท  ในระยะนี้การเปลี่ยนแปลงแก้ไขในทางวัตรปฏิบัติคงทำได้ไม่มากนัก  เพราะยังทรงอยู่ในระหว่างศึกษาพระปริยัติธรรมและเริ่มมีผู้มาศึกษาปฏิบัติอยู่ด้วยเพียงห้าหกรูป  แต่คงค่อยเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาโดยลำดับ  ส่วนการแนะนำสั่งสอนในพระธรรมวินัยแก่ผู้ที่นิยมเลื่อมใสนั้น คงทรงกระทำในขอบเขตที่ทรงกระทำได้  ดังที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงบันทึกไว้ในพระราชประวัติว่า
“พระองค์ทรงอนุเคราะห์สั่งสอนกุลบุตรผู้มีศรัทธาให้เล่าเรียนศึกษา ทั้งกลางวันกลางคืน  มิได้ย่อหย่อนพระทัย ทรงสั่งสอนในข้อวินัยวัตรและสุตตันตปฏิบัติต่างๆ  ให้ถูกต้องสมธรรมวินัย  เป็นข้ออ้างแห่งธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ครั้งนั้นก็เป็นมหามหัศจรรย์ประจักษ์แก่ตาโลก  ด้วยมีกุลบุตรซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาสู่สำนักพระองค์ท่านขอบรรพชาอุปสมบทประพฤติตามลัทธิธรรมยุติกนิกายมีปรากฏขึ้นเป็นครั้งปฐมหลายองค์  โดยไม่ได้ข่มขี่ล่อลวงหลอกหลอนหามิได้”

ที่กล่าวว่า “ขอบรรพชาอุปสมบทประพฤติตามลัทธิธรรมยุติกนิกาย”  ดังที่อ้างมาข้างต้นนั้น คงหมายถึง อุปสมบทวิธีแบบรามัญที่ทรงเห็นว่าถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ  และทรงแนะนำผู้ที่มาถวายตัวเป็นศิษย์ในระยะที่ประทับ ณ วัดมหาธาตุนั้น  ให้รับการอุปสมบทซ้ำในคณะสงฆ์รามัญตามอย่างพระองค์  คงมิได้หมายถึงทรงให้บรรพชาอุปสมบทด้วยพระองค์เอง  ดังปรากฏในประวัติสมเด็จพระวันรัตน์ที่ท่านเขียนเองว่า  เมื่อท่านได้ถวายตัวเป็นศิษย์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขณะที่เสด็จประทับ ณ วัดมหาธาตุนั้น  พระองค์ได้ทรงสั่งสอนชี้แจง  โดยข้อปฏิบัติสิกขาบทวินัยต่าง ๆ ทรงแนะนำในพิธีอุปสมบทรามัญและอักขรวิธี  โดยฐานกรณ์ที่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ  พร้อมทั้งทรงจัดหาพระรามัญจากวัดชนะสงครามมาเป็นพระอุปัชฌาย์  นิมนต์พระสงฆ์รามัญมาเป็นคณปูรกะ  อุปสมบทให้ใหม่ตามรามัญวิธีในพระอุโบสถวัดมหาธาตุนั้น

เพราะเหตุใดจึงทรงเลือกรับเอาวงศ์บรรพชาของพระสงฆ์รามัญมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ในพระมหาสมณศาสนภาษาบาลีที่พระราชทานไปยังลังกา ตอนหนึ่งว่า
“อนึ่ง ในเรื่องวงศ์นี้ พวกข้าพเจ้าขอบอกความมุ่งหมายของบัณฑิตฝ่ายธรรมยุตตามเป็นจริงโดยสังเขป  คือหากสีหฬวงศ์เก่ายังตั้งอยู่ในสีหฬทวีป  มาจนถึงปัจจุบันนี้ไซร้ พวกธรรมยุตบางเหล่าจักละวงศ์เดิมของตนบ้าง  บางเหล่าจักให้ทำทัฬหีกรรมบ้าง  แล้วนำวงศ์ (สีหฬ) นั้นไปเป็นแน่แท้  แต่เพราะไม่ได้วงศ์เก่าเช่นนั้น ไม่เห็นวงศ์อื่นที่ดีกว่าจึงตั้งอยู่ในรามัญวงศ์  ซึ่งนำไปแต่สีหฬวงศ์เก่าเหมือนกัน  ด้วยสำคัญเห็นวงศ์ (รามัญ) นั้นเท่านั้นเป็นวงศ์ดีกว่าเพื่อนโดยความที่ผู้นำวงศ์ไปนั้นเป็นผู้นำไปจากสีหฬทวีปในกาลก่อนบ้าง  โดยความวิธีเปล่งเสียงอักขระของภิกษุรามัญเหล่านั้นใกล้เคียงกับสีหฬในบัดนี้บ้าง”  


(http://www.sookjaipic.com/images/6272349382_kimleng._1_.gif)

ที่มา : หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับงานพระพุทธศาสนา”  จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบรอบ ๒๐๐ ปี  พุทธศักราช ๒๕๔๗  โดย คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   กรมการศาสนา  กระทรวงวัฒนธรรม