สาบ และ สาป มีความหมายต่างกัน - "รู้และใช้" ภาษาไทยให้ถูกต้อง

(1/3) > >>

Kimleng:
Tweet





คำว่า สาบ และ สาป มีความหมายต่างกัน

คำว่า สาบ มีความหมายหลายอย่าง เป็นต้นว่า กลิ่นเหม็น เช่น เหม็นสาบ 

เป็นชื่อแมลงชนิดหนึ่ง คือ แมลงสาบ

สาบ หมายความว่า จืด เช่น ทะเลสาบ คือ ทะเลน้ำจืด

สาบ หมายความว่า หมดไป สูญไป ในคำว่า สาบสูญ 

นอกจากนี้ ยังใช้ในความหมายว่า ผ้าทาบที่อกเสื้อสำหรับติดกระดุมหรือเจาะรังดุม เรียกว่า สาบเสื้อ

ส่วนคำว่า สาป มีความหมายว่า กล่าวให้ร้ายให้มีอันเป็นไปต่างๆ เช่น สาปแช่ง สาปส่ง ถูกสาปให้เป็นหิน

ที่มา :  สำนักงานราชบัณฑิตยสภา - บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

Kimleng:



พวงมาลัย และ พวงมาลา

พวงมาลัย คือ ดอกไม้ทั้งดอกหรือกลีบดอกไม้ที่นำมาร้อยเป็นพวงประดิดประดอยอย่างสวยงาม มักมีอุบะห้อย. ดอกไม้ที่นิยมใช้ เช่น ดอกมะลิ ดอกพุด ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง กลีบดอกไม้ที่นิยมใช้ เช่น กลีบกุหลาบ กลีบกล้วยไม้ กลีบบัว มีใบไม้ประกอบบ้างก็ได้ มีทั้งดอกไม้สดและดอกไม้แห้งที่ทำจากกระดาษหรือพลาสติก

ชาวพุทธนิยมใช้พวงมาลัยสำหรับบูชาพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และนำไปไหว้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ในเทศกาลต่างๆ เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์

พวงมาลัยที่ร้อยเป็นพวงสั้นๆ มีหลายแบบ เช่น มาลัยข้อมือ มาลัยชายเดียว ส่วนพวงยาวๆ เป็นแบบสวมคอหรือเป็นมาลัยสองชาย มักใช้คล้องคอคู่บ่าวสาวหรือคนสำคัญในงานต่างๆ เช่น แขกบ้านแขกเมือง นักแสดง

ส่วน พวงมาลา คือ พวงดอกไม้ขนาดใหญ่ที่จัดแต่งขึ้นตามโครงรูปต่างๆ เช่น วงกลม วงรี ใช้ในการเคารพพระศพของเชื้อพระวงศ์ ใช้พระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์ที่ทำคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน หรือใช้สำหรับวางที่อนุสาวรีย์ หรือพระบรมรูป เพื่อเป็นเกียรติหรือแสดงความเคารพ

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒

ที่มา :  สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

Kimleng:


สัด

คำว่า สัด เขียน ส เสือ ไม้หันอากาศ ด เด็ก มีความหมายอย่างหนึ่งว่า ภาชนะรูปทรงกระบอก ทำด้วยไม้หรือสานด้วยไม้ไผ่ ใช้ตวงข้าว

เมื่อใช้เป็นชื่อมาตราตวง ๑ สัด มี ๒๕ ทะนาน ดังในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ขุนแผนตอบโต้ถ้อยคำต่อว่าของนางวันทองว่า

         “อันตัวเจ้าแลเสียสัตย์วิบัติคิด       พี่จึงติดตามทวนมาสวนสัด          เจ้าเจนตวงท่วงทีดีสันทัด             ป้องปัดปาดหมุนละมุนตา          ขุนช้างได้นางมาสอบสวน              เจ้าจึงทวนถูกสัดยี่สิบห้า”
สัดยี่สิบห้า คือ ๑ สัด เท่ากับ ๒๕ ทะนาน อย่างไรก็ดี ในมูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มีว่า “สัดหนึ่งยี่สิบทะนานชัด”

การที่ ๑ สัด ลดจาก ๒๕ ทะนาน เป็น ๒๐ ทะนาน เพราะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีฝรั่งเข้ามาตั้งโรงสีไฟ มีการกำหนดมาตราตวงขึ้นใหม่ สัดซึ่งเคยเป็นหน่วยตวงข้าวเปลือก เปลี่ยนมาใช้เป็นหน่วยตวงข้าวสาร และกำหนดใหม่ว่า ๑ สัดเท่ากับ ๒๐ ทะนานเท่านั้น

Kimleng:
.


    ลั่นถัน (ทวารบาล)
     วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ

ลั่นถัน

คำว่า ลั่นถัน เขียน ล ลิง ไม้หันอากาศ ไม้เอก น หนู ถ ถุง ไม้หันอากาศ น หนู. ลั่นถัน เป็นคำภาษาจีนฮกเกี้ยน ลั่น แปลว่า สับสน, อลหม่าน, วุ่นวาย. ส่วน ถัน แปลว่า กระโดดโลดเต้น

เดิมลั่นถัน เป็นชื่องิ้วประเภทหนึ่งซึ่งเล่นกันแพร่หลายในแถบตะวันออกของมณฑลกวางตุ้งและทางใต้ของมณฑลฮกเกี้ยนในช่วงปลายราชวงศ์หมิงต่อกับต้นราชวงศ์ชิง ไทยเรียกว่า งิ้วลั่นถัน เป็นงิ้วที่เมื่อถึงฉากต่อสู้ ตัวงิ้วก็กระโดดฟาดฟันกันจนดูสับสนอลหม่านไปทั่วทั้งเวที

ต่อมาไทยได้นำทำนองเพลงประกอบงิ้วลั่นถันมาประดิษฐ์เป็นเพลงไทยสำเนียงจีน ประเภทเพลงเถา เรียกว่า เพลงลั่นถัน ภายหลังแต่งขยายเป็นเพลงเถา ๓ ชั้น เรียกว่า เพลงจีนลั่นถัน

นอกจากนี้ ลั่นถัน ยังใช้เป็นคำเรียกตุ๊กตาหินแกะสลักเป็นรูปตัวงิ้วทหาร มือหนึ่งถือศัสตราวุธ อีกมือหนึ่งเท้าเอว มักตั้งไว้สองข้างของประตูเข้าพระอารามเพื่อให้เป็นทวารบาลด้วย อย่างประตูเขตพุทธาวาสของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ มีตัวลั่นถันยืนเฝ้าอยู่หนึ่งคู่ทุกๆ ประตูทางเข้า  ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒


ขอขอบคุณเว็บไซต์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (ที่มาข้อมูล)

Kimleng:


กงสุล

"กงสุล" คำที่มักเขียนผิด เป็น "กงศุล"

กงสุล เป็นชื่อตำแหน่งทางการเมือง หรือชื่อตำแหน่งของบุคคลซึ่งรัฐบาลของประเทศหนึ่งแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประจำอยู่ในเมืองต่างๆ ของอีกประเทศหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือคนในบังคับของตน และคอยดูแลผลประโยชน์ทั่วไปของประเทศผู้แต่งตั้ง

กงสุล มี ๒ ประเภท คือ กงสุลกิตติมศักดิ์ และกงสุลประจำตำแหน่งหรือกงสุลอาชีพ  และแบ่งเป็น ๔ ระดับ คือ กงสุลใหญ่ กงสุล รองกงสุล และตัวแทนกงสุล

กงสุลต่างประเทศคนแรกในประเทศไทยเป็นชาวโปรตุเกส ชื่อ กาโลส มานูเอล ดา ซิลเวย์รา (Carlos Manuel da Silveira) ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสโปรดให้อุปราชแห่งอินเดียที่เมืองกัว แต่งตั้งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ส่วนกงสุลไทยคนแรกในต่างประเทศนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เด เกรออง (dé Gréhan) เป็นพระสยามธุรานุรักษ์ กงสุลไทยประจำอยู่ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๐๖ .

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป