[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
12 พฤษภาคม 2567 11:06:57 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 154 155 [156] 157 158 ... 274
3101  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา : สถาปัตยกรรมต้นแบบปราสาทนครวัด กัมพูชา เมื่อ: 22 มิถุนายน 2559 13:40:37

ปุจฉา...?
วิสัชนา...เราสามารถทราบวิวัฒนาการของปราสาทขอม
ได้จากรูปแบบสถาปัตยกรรม






อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ต้นแบบของปราสาทนครวัด
สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่อยู่ในประเทศกัมพูชา

kimleng


อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “ปราสาทหินพิมาย”  ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นแหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่า ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมือง ขนบธรรมเนียมประเพณี คติการนับถือศาสนา และอื่นๆ ของผู้คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ปราสาทหินพิมาย เป็นศาสนสถานโบราณสมัยขอมเรืองอำนาจที่ใหญ่โตและงดงามอลังการ สิ่งก่อสร้างแห่งนี้แสดงถึงบารมีอันยิ่งใหญ่ของผู้สร้าง และพลังแห่งศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อศาสนา

โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของปราสาทหินพิมายเป็นระเบียบได้สัดส่วน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๕๖๕ เมตร ยาว ๑,๐๓๐ เมตร  มีปราสาทประธานตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของเมือง ล้อมรอบด้วยแม่น้ำมูลไหลผ่านทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ด้านทิศใต้มีลำน้ำเค็ม ทางทิศตะวันตกมีลำน้ำจักราชไหลผ่านไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ท่าสงกรานต์ มีแหล่งน้ำภายในเมืองได้แก่ สระแก้ว สระพลุ่ง และสระขวัญ  และสระน้ำที่ขุดขึ้นนอกเมือง ได้แก่ สระเพลง สระโบสถ์ สระเพลงแห้ง และอ่างเก็บน้ำ (บาราย) ขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยโบราณสถานและสระน้ำที่ขุดขึ้นใช้ให้เห็นทางทิศเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออก



ปราสาทนครวัด เมืองพระนคร จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
ภาพ : Mckaforce


ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
สร้างเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒
โดยนำสถาปัตยกรรม 'ปราสาทหินพิมาย' ไปเป็นต้นแบบของการก่อสร้าง
ภาพ : Mckaforce

ปราสาทหินพิมายสร้างด้วยหินทราย มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากปราสาทหินแห่งอื่น คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้หรือหันหน้าไปทางเมืองนครวัด ในราชอาณาจักรขอม ซึ่งปราสาทหินแห่งอื่นมักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร มายังเมืองพิมายทางด้านทิศใต้  เพื่อให้เป็นศาสนสถานของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ภายในปรางค์ประธานประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก ภายนอกสลักภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ภายในประกอบด้วยศาสนสถานอื่นๆ ได้แก่ ธรรมศาลา ปรางค์พรหมทัต ปรางค์หินแดง คลังเงิน บรรณาลัย เป็นต้น  โดยมีลักษณะทางศิลปกรรมแบบปาปวน ซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น และศิลปะแบบนครวัดซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยต่อมาปะปนอยู่บ้าง

จากการศึกษาโดยการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี มีการกำหนดอายุของหลักฐานต่างๆ ได้แก่ ศิลาจารึก หลักฐานทางโบราณคดี และหลักฐานทางด้านศิลปกรรม ที่แตกต่างไปจากที่พบโดยทั่วๆ ไป ของปราสาทแห่งอื่น  เช่น ภาพสลักประดับสถาปัตยกรรม ซึ่งในปราสาทหินแบบศิลปกรรมเขมร นิยมแกะสลักรูปลงในเนื้อหินตามส่วนต่างๆ ของอาคาร ได้แก่ หน้าบัน ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู และเสาติดผนัง   รวมทั้งเมืองพิมายในสมัยนั้นเป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรขอม ที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสูงสุด ดังนั้น วัฒนธรรมขอมจึงแผ่อิทธิพลขยายเข้ามายังดินแดนอาณาจักรไทยแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผ่านทางกลุ่มชนสองเชื้อชาติที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เป็นเหตุให้มีการเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันด้วยการแต่งงาน สืบเชื้อสายลูกหลานไปสร้างบ้านแปงเมืองขยายขอบเขตขึ้นในถิ่นอื่นๆ  และโดยที่ชาวเขมรโบราณส่วนใหญ่นับถือศาสนาพราหมณ์ (ต่อมานับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน) ด้วยเหตุนี้ จึงสันนิษฐานได้ว่า ปราสาทหินพิมายคงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โดยได้มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘  เพื่อเป็นสถานที่สำหรับกษัตริย์และเจ้านายผู้สูงศักได้ทำพิธีเซ่นไหว้บูชา ประกอบกิจทางศาสนา เผยแผ่ศาสนา ตลอดจนการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนยามเสด็จมา ณ ศาสนสถานแห่งนี้  

เชื่อกันว่า คำว่า “พิมาย” น่าจะเป็นคำเดียวกับชื่อ “วิมาย” หรือ “วิมายปุระ” ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรที่จารบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของทางเข้าปราสาทหินพิมาย

ชื่อ “วิมาย” นี้นำหน้าด้วยคำว่า “กมรเตงชคต”  พบในศิลาจารึกในที่อื่นหลายแห่งด้วยกัน เช่น จารึกเขาพนมรุ้ง จารึกเขาพระวิหาร เป็นต้น   จึงอาจจะเป็นคำนำหน้าที่ใช้เรียกรูปเคารพประจำศาสนสถานและอาจเรียกรวมไปถึงศาสนสถานด้วย  

ชื่อ “พิมาย” นั้น ปรากฏเป็นชื่อเมืองอยู่ในศิลาจารึกพบในประเทศกัมพูชาหลายแห่ง แม้รูปคำจะไม่ตรงกันทีเดียวนัก แต่เป็นที่เชื่อกันว่า หมายถึงเมืองพิมายอันเป็นที่ตั้งของปราสาทหินพิมายนี่เอง โดยเรียกว่า “ภีมปุระ” บ้าง (จารึกพระเจ้าอิสาณวรมันที่ ๑ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑๕๙-๑๑๗๒) เรียกเมืองวิมาย หรือวิมายะปุระ บ้าง (จารึกปราสาทพระขรรค์ พุทธศตวรรษที่ ๑๘) โดยเฉพาะข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ที่กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง จากราชธานีมายังเมืองพิมาย รวม ๑๗ แห่งด้วยกันนั้น แสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเมืองวิมายกับอาณาจักรเขมร และแสดงว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญไม่น้อย  จากหลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่มีอยู่ในเมืองพิมาย ตลอดจนโบราณสถานที่เชื่อว่าคือที่พักของคนเดินทางที่พบหลายแห่ง ระหว่างเส้นทางโบราณจากเมืองพระนครแห่งอาณาจักรเขมรโบราณมาสู่เมืองพิมาย เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า เมืองพิมายนี้ ควรจะเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองวิมายที่กล่าวถึงในจารึกปราสาทพระขรรค์



สะพานนาคราช



 

เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมปราสาทหินพิมายจะผ่านส่วนนี้เป็นส่วนแรก ถนนที่ตรงจากท่าน้ำผ่านประตูเมืองด้านหน้าจะมาสิ้นสุดลงที่สะพานนาคราชและประติมากรรมรูปสิงห์ ตั้งอยู่ด้านหน้าของซุ้มประตู หรือที่มีศัพท์เรียกว่า โคปุระ ด้านทิศใต้ของปรางค์ประธานซึ่งเป็นส่วนหน้าของปราสาท ทั้งนี้อาจมีจุดมุ่งหมายในการสร้างให้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ ตามคติความเชื่อในเรื่องจักรวาลทั้งในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ  มีลักษณะเป็นสะพานรูปกากบาท ขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๓๑.๗๐ เมตร ยกพื้นขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ ๒.๕๐ เมตร ด้านหน้าและด้านข้างลดชั้น ทั้งสามด้านมีบันไดขึ้น-ลง เชิงบันไดทำเป็นอัฒจันทร์รูปปีกกา ราวสะพานโดยรอบทำเป็นลำตัวของนาคราช ชูคอแผ่พังพานเป็นนาค ๗ เศียร เศียรนาคเหล่านี้มีรัศมีติดกันเป็นแผ่นสลักลายในแนวนอน อันเป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะเขมรแบบนครวัด ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หันหน้าออกไปยังเชิงบันไดทั้งสี่ทิศ ที่เชิงบันไดมีประติมากรรมรูปสิงห์สลักด้วยหินทรายตั้งประดับอยู่ที่เสา

ถัดจากสะพานนาคราชเข้ามาเป็นซุ้มประตูหรือที่เรียกว่า โคปุระ ของกำแพงปราสาทด้านทิศใต้ ประตูซุ้มนี้ก่อด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาทและมีซุ้มประตูลักษณะเดียวกันนี้อีก ๓ ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก โดยมีแนวกำแพงสร้างเชื่อมต่อระหว่างกันเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากเหนือถึงใต้ ๒๗๗.๕๐ เมตร และกว้างจากตะวันออกไปตะวันตก ๒๒๐ เมตร ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกมีทับหลังชิ้นหนึ่งสลักเป็นรูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรกที่ประดิษฐานอยู่เหนือคานหาม















ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว




ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว (Arched Gateways and Kamphaeng kaew)
ซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพง อยู่ในแนวตรงกันทั้งหมด ๔ ด้าน คือ ทิศเหนือและทิศใต้
อยู่ตรงกึ่งกลางของกำแพงทิศตะวันออกและทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย
 
ผังโดยรอบของซุ้มประตูมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านใน
เชื่อกันว่าเป็นดินแดนเข้าสู่โลกสวรรค์อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า







กำแพงชั้นในของปราสาทก่อด้วยหินทรายสีแดง ยกเว้นส่วนที่ต้องการความแข็งแรงพิเศษ
มีลักษณะต่างจากกำแพงชั้นนอก คือก่อเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาคลุมยาวต่อเนื่องกัน
ล้อมรอบลานปราสาทชั้นใน อันเป็นลักษณะที่เรียกว่า ระเบียงคด  ภายในสามารถเดินทะลุถึงกันได้โดยตลอด



ลูกมะหวด หมายถึงลูกกรงที่ใช้แทนหน้าต่างปิดตาย มักพบตามปราสาทหิน


ที่ซุ้มประตูและกำแพงชั้นใน ส่วนที่เป็นกรอบประตู กรอบหน้าต่าง เสารับทับหลัง
สร้างด้วยหินทรายสีขาว  ก่อห้องยาวสูงขึ้นมาจากระดับพื้นดินประมาณ ๑ เมตร สูง ๒.๓๕ เมตร
ความยาวของด้านทิศเหนือและทิศใต้ ๗๒ เมตร ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ยาว ๘๐ เมตร
ผนังด้านในทุกด้านเจาะหน้าต่างเป็นระยะตรงกัน ส่วนผนังด้านนอกปิดทึบแต่ทำเป็นหน้าต่างหลอก
ประดับลูกกรงสลักหินทราย อย่างที่เรียกว่า ลูกมะหวด

ซุ้มประตูและระเบียงคดส่วนใหญ่พังทลายลง เนื่องจากใช้หินทรายซึ่งมีคุณสมบัติผุเปื่อย พังง่าย
เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง



3102  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 20 มิถุนายน 2559 11:47:38
.

.



• (อวสาน) เกิดมาคู่กัน ตายเคียงกัน…ข้าขอลิขิตชีวิตข้าเองฯ

ถ้าเปรียบชีวิตคือการเดินทาง ชีวิตของแฝดสยาม อิน-จัน คู่นี้คือนักเดินทางผู้เกรียงไกร กล้าหาญ และเป็นมนุษย์มหัศจรรย์จอมทระนงที่ไม่ยอมก้มหัวต่ออุปสรรคทั้งปวง

นับตั้งแต่ลืมตาดูโลกเมื่อ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๕๔ ที่บ้านปากคลองแม่กลอง ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม แฝดคนคู่ตัวติดกันชาวสยามมีชะตาชีวิตที่โลดโผน เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขึ้นสวรรค์ เฉียดนรก แล้วปีนป่ายขึ้นไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ดุจนิทานปรัมปรา แต่ทั้งหมดคือเรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยายครับ

ร่างกายประหลาดของเด็กชาย ๒ คนที่เกิดมามีหน้าอกติดกัน คลอดมาจากท้องนางนากที่ประดุจโดนคำสาป กลับกลายเป็นคนที่มีพรสวรรค์ พ่อค้าชาวอังกฤษและกัปตันเรือชาวอเมริกันที่เข้ามาทำมาค้าขายในสมัยในหลวง ร.$ มองเห็นเป็น “มนุษย์ทองคำ” จนต้องขอเช่าตัวเด็กแฝดจากแม่เพื่อนำไปแสดงตัวอวดโฉม ตระเวนหาเงินในอเมริกาและยุโรป ทั้งๆ ที่ชาวสยามทั้งมวลไม่เคยทราบว่าอเมริกาคืออะไร อยู่ที่ไหน จะไปหากินกันยังไง ภาษาอังกฤษก็สื่อสารกันแสนลำบาก

การตัดสินใจพาตัวเองลงเรือสินค้าไปกับฝรั่งตอนอายุ ๑๘ ปี ข้ามมหาสมุทร ๑๓๘ วัน จากบางกอกไปถึงบอสตัน อเมริกา เป็นความกล้าหาญชาญชัยยิ่งนัก แฝดอิน-จันมีใจประดุจเหล็กเพชร มีการครองตนอย่างชาญฉลาด การรู้จักเก็บหอมรอมริบ ในที่สุดชาวสยามคู่นี้สามารถประกอบธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ในอเมริกา

อิน-จัน อดทนต่อความยากลำบากทั้งปวง ปรับตัวปรับใจให้สอดคล้องกับสังคมอเมริกันที่รังเกียจคนผิวสี กีดกันคนต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ แต่อิน-จัน มิได้ยำเกรง คนคู่ฝ่าฟันทะลุทะลวงอุปสรรคทั้งปวง โอนสัญชาติเป็นประชาชนอเมริกัน ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ทำไร่ที่เขตปกครองเมาท์แอรี่ รัฐนอร์ธแคโรไลนา ซื้อทาสนิโกรผิวดำมาทำงาน สร้างตำนานรักบันลือโลกที่คนแฝดตัวติดกัน (Cojoined Twins) แต่งงานกับสองสาวพี่น้องชาวอเมริกันผิวขาว ที่เมืองเมาท์แอรี่ มีลูกโขยงใหญ่ ๒ ท้อง ๒๑ คน

ผู้คนพลเมืองฝรั่งต่างตะเกียกตะกายสืบเสาะว่า กินอยู่หลับนอนกับภรรยากันด้วยท่วงทีลีลาเช่นไร ทำไมจึงลูกดกปานฉะนี้?

แฝดอิน-จัน คือคนที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าทั้งสองเป็นชาวสยามคู่แรกที่โอนสัญชาติเป็นอเมริกัน เป็นชาวสยามคู่แรกที่เป็นเจ้าของที่ดินในสหปาลีรัฐอเมริกา (ชื่อในสมัยนั้น) เป็นชาวสยามคู่แรกที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับสาวมะริกัน แฝดสยามมีลูกชายเป็นทหารม้าของกองทัพฝ่ายใต้เข้าร่วมรบในสงครามกลางเมืองอเมริกา แฝดเคยได้รับเชิญให้ไปพบประธานาธิบดีสหรัฐ ๒ ท่าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความปรองดองในทางการเมืองและสังคมของอเมริกาที่แบ่งแยกสีผิว

อิน-จัน เป็นคนเฉลียวฉลาด เป็นนักกีฬา เล่นหมากกระดานเก่งมาก มีทักษะในงานช่าง ล่าสัตว์ ใช้อาวุธได้ทุกชนิด มีอารมณ์ขันหยอกล้อฝรั่งมังค่าทั้งหลายได้สารพัด ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ทำบัญชีรายรับรายจ่ายได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนมาก่อน

แทนที่จะอับอายในร่างกายที่พิกลพิการ จนฝรั่งทั้งหลายแอบนินทาว่าเป็น Monster (สัตว์ประหลาด-ปีศาจ) แต่แฝดคู่นี้กลับกล้ายืดอกเผชิญกับทุกสายตา ท้าทายทุกคนที่เดินเข้ามาหา เงินทองไหลมาเทมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ร้อนหนาวแค่ไหนไปแสดงตัวได้ทุกที่

ตำนานฝรั่งบันทึกว่า แฝดอิน-จัน มีความคิดเฉกเช่นพ่อค้าเร่ ชอบซื้อมาขายไป เดินทางไปเปิดการแสดงแทบทุกเมือง เหนือจดใต้ในแผ่นดินอเมริกาเมื่อราว ๑๘๐ ปีที่แล้ว คุ้นเคยกับดิน น้ำ ลม ไฟ สัมผัสผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ในอเมริกายากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน แม้ชาวมะริกันเจ้าถิ่นยังไม่เคยมีประสบการณ์เยี่ยงนี้

เพื่อนอเมริกันที่สนิทสนมยังเขียนบันทึกชื่นชมการใช้ชีวิตแบบหนักเอาเบาสู้ไม่เคยท้อถอย ประการสำคัญคือ ความมีวิสัยทัศน์ของแฝดที่เลือกมาตั้งรกรากในชนบทของรัฐทางตอนใต้ เพื่อหลบกระแสการต่อต้าน กีดกันชาวจีนที่ทะลักเข้ามาตั้งรกรากในอเมริกา ชาวจีนชอบทำงานเป็นกุลีตามเมืองท่าใหญ่ๆ ในอเมริกาโดยเฉพาะนิวยอร์ก คนผิวขาวเจ้าถิ่นพากันหวาดระแวง

อิน-จัน เติบโตมาจากชนบทเมืองแม่กลอง เรื่องทำไร่เลี้ยงสัตว์เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ชีวิตเขาแข็งแกร่ง เมื่อมาเป็นเกษตรกรในอเมริกา จึงเป็นเรื่องเล็ก ซึ่งทำเอาเพื่อนฝรั่งแปลกใจไม่น้อย แถมยังเป็นผู้นำชุมชน สร้างโรงเรียน บริจาคที่ดินสร้างโบสถ์ให้กับท้องถิ่น

แฝดคู่นี้เคยได้รับเชิญให้ไปเฝ้าควีนวิกตอเรียที่ทรงอานุภาพของอังกฤษในพระราชวังบั๊คกิ้งแฮม เคยได้รับเชิญจากไกเซอร์ของเยอรมัน และพบปะกับซาร์ของรัสเซียในมอสโคว์
ชีวิตหันเหจากเด็กเลี้ยงเป็ดที่ปากน้ำแม่กลอง กล้าตัดสินใจลงเรือออกมหาสมุทรเสี่ยงตาย แต่ไม่ตายแถมโด่งดัง

 
อิน-จันเป็นผู้ให้กำเนิดคำว่า “Siamese Twins” ให้โลกรู้จักมาจนถึงปัจจุบัน

ทรรศนะของฝรั่งในหนังสือ The Lives of Chang and Eng โดย Joseph A. Orser บรรยายไว้ว่า แฝดร่างกายประหลาดคู่นี้มีจุดขายคือความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ ความเป็นคนต่างเชื้อชาติที่อพยพเข้ามาในอเมริกา การใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นเรื่องลึกลับ ท่วงทีลีลาการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ชีวิตร่วมกัน อวัยวะภายในร่างกายที่เป็นปริศนาสำหรับแพทย์ หนังสือพิมพ์ในอเมริกาและยุโรปเกาะติดชีวิตความเคลื่อนไหวขายข่าวได้ตลอดเวลาที่แฝดขยับตัว ซึ่งปัจจัยต่างๆ ล้วนเป็นคุณูปการแก่ชีวิตของแฝดทั้งสิ้น

ประเด็นที่เป็นสีสัน ซ่อนเร้นกินใจฝรั่งผิวขาวตาน้ำข้าวที่แอบตั้งข้องสังเกตคือบรรดาลูกๆ ของแฝดที่ออกมาเค้าจะมีหน้าตา ผิวพรรณ สีของนัยน์ตา สีผม สีคิ้ว ความคมเข้มของใบหน้าแบบไหน แปลความได้ว่าฝรั่งผิวขาวทั้งหลายตื่นเต้นกับการสมรสข้ามเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ คนอเมริกันผิวขาวเกือบทั้งหมดอพยพมาจากยุโรป เป็นพวกคอเคซอยด์ (ฝรั่งผิวขาว) ด้วยกัน เมื่อแฝดสยามเผ่าพันธุ์มองโกลอยด์ (ชาวเอเชียตะวันออก) เข้าไปเป็น “ต้นแบบ-พ่อพิมพ์” แต่งงาน มีลูกผสมออกมาให้เห็น ซึ่งผลที่ออกมาทำให้คนขาวทั้งหลายยอมรับว่า “ลูกครึ่งเหล่านี้รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณดี ฉลาดเฉลียว แข็งแรง” แต่ก็ยังถูกกีดกันจากสังคมว่าไม่ใช่คนผิวขาว ถึงขนาดต้องกรอกในทะเบียนราษฎร์ว่าเป็น “คนผิวสี (Colored)” ซึ่งสังคมคนผิวขาวในอเมริกาในครั้งกระโน้นก็ยังโลกแคบ ไม่ทราบว่ามนุษย์ในโลกนี้เค้าไม่ได้มีเฉพาะคนตัวขาว จึงเรียกลูกๆ ของแฝดอิน-จันว่าเป็นเผ่าพันธุ์พวกมองโกเลียนหรือพวกมาลายัน (Mongolian หรือ Malayan)

เพื่อเป็นการยืนยันแบบข้อมูลเชิงประจักษ์ เรื่องหน้าตา หล่อ-สวย-ขี้ริ้ว-ขี้เหล่ ของลูกอิน-จัน

ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ผู้สื่อข่าวจากนิตยสาร LIFE ซึ่งพิมพ์จำหน่ายไปทั่วโลกได้เดินทางไปที่บ้านของแฝดอินที่เมาท์แอรี่ เพื่อติดตามถามไถ่ ขอดูหน้าตาทายาทรุ่นหลานของแฝด ซึ่งพบว่าทายาทรุ่นหลานของแฝดที่เป็นเจ้าของไร่ขนาดใหญ่ ทุกคนล้วนหน้าตาดี ผิวเข้ม ร่างกายกำยำ ผมดำ เรียกได้ว่าหล่อและสวยกันทุกคน ข้อมูลเหล่านี้ทำให้คนขาวขี้อิจฉาต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ เรื่องการสมรสข้ามเผ่าพันธุ์ (Interracial marriage)

ก็ต้องยอมรับนะครับว่า ลูกครึ่ง ลูกผสมไทย-ฝรั่ง จำนวนหนึ่งมีรูปร่างหน้าตาดี ได้เป็นดาราหนัง นางเอก พระเอกละครในสังคมไทยจนทำให้คนไทยหลายคนต้องไปทำศัลยกรรมใบหน้า ทำตา ทำจมูก อมเหล็กเส้นเต็มปาก เพื่อหลบหนี “หน้าตาดั้งเดิม” และเพื่อให้ดูดีมีอนาคตกะเค้าบ้าง

ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา หลาน เหลนของแฝดอิน-จัน ชื่อ Dottie และ Alex คือทายาทกลุ่มแรกที่กล้าประกาศความเป็นผู้สืบสายเลือดของ Siamese Twins อย่างเปิดเผย และพยายามรวบรวมทายาทที่กระจัดกระจายแยกย้ายกันอยู่ในอเมริกา

Alex เป็นทายาทรุ่นหลานของแฝดสยาม เธอเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๕๓ เธอกล้าประกาศต่อสาธารณชนทั้งหลายว่าบรรพบุรุษของเธอคืออิน-จัน

ในเวลาเดียวกัน ลูกหลานของแฝดสยามหลายคนพยายามปกปิดเรื่องบรรพบุรุษของตนที่มีรูปร่างผิดธรรมชาติ เป็นคนผิวสี ทายาทบางคนละอายที่ถูกล้อเลียนซักถาม บางคนขอไปตั้งหลักใช้ชีวิตในฝั่งตะวันตกของอเมริกาที่มีชาวเอเชียอพยพเข้ามาอยู่ เพื่อให้ดูกลมกลืน

เรื่องนี้ต้องขอเรียนกับท่านผู้อ่านที่เคารพว่า ในยุคสมัยนั้นในอเมริกากระแสการเหยียดผิวเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย การไม่ได้เกิดเป็นคนผิวขาวแล้วทะเล้นไปเดินอยู่ในอเมริกาเป็นเรื่อง “ลำบากยากแค้น แสนสาหัส”

การเลือกปฏิบัติที่เอาจริง เอาจังที่สุดคือ การกีดกัน จำกัดขอบเขตชาวจีนที่กำลังทะลักเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกา ซึ่งอิน-จัน ถูกนับรวมแบบเหมาเข่งว่ามีเชื้อจีนเช่นกัน

กลับมาที่เรื่องศพของแฝดครับ

หมอแพนโคสต์ (William H. Pancoast M.D.) หัวหน้าทีมแพทย์ที่ผ่าศพแฝดสยามเพื่อการพิสูจน์อวัยวะภายในของแฝด กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเพียงชั่วข้ามคืน คุณหมอเขียนรายงานผลการผ่าศพพิสูจน์ที่ผู้คนทั้งหลายอยากรู้ อยากเห็น ลงในวารสารทางการแพทย์ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และส่งผลให้คุณหมอขยับสถานะขึ้นเป็นศาสตราจารย์ ในวิทยาลัยแพทย์ในเวลาต่อมา

เกร็ดประวัติศาสตร์อีกตอนหนึ่งยังจารึกด้วยว่าลูกชาย ๒ คนของแฝดอิน-จัน คือ คริสโตเฟอร์ เร็น (Christopher Wren) และสตีเฟน เดคาเตอร์ (Stephen Decatur) ตัดสินใจไม่ผิดเลยที่ขอนำศพของแฝดสยามกลับมาฝังที่เมาท์แอรี่แทนที่จะบริจาคศพดองในน้ำยาเพื่อแสดงในพิพิธภัณฑ์ให้สาธารณชนมาเที่ยวชม เพราะสังคมอเมริกันส่วนหนึ่งเห็นว่า อิน-จัน เป็นคนจีนที่คนผิวขาวไม่ยินดีต้อนรับ

คริสโตเฟอร์กังวลเรื่องนี้มาก ถึงกับกล่าวว่า “แต่นี้ต่อไปจะไม่มีใครได้เห็นแฝดสยามอีกเลย”

ส่วนศพของซาร่าห์ ที่แยกออกมาจากสุสานที่หลังโบสถ์ไวท์เพลนนั้น รุ่นหลานรุ่นเหลนให้ข้อมูลต่อมาว่า เธอได้ร้องขอไว้ก่อนเสียชีวิตในวัย ๗๐ ปีว่า ให้ฝังร่างของเธอไว้ใกล้ๆ กับลูกของเธอที่เสียชีวิตก่อนเธอตรงนั้น

ส่วนอาดีเลด ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของแฝดจัน เธอเสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย ๙๔ ปี ถูกฝังไว้ใกล้กับหลุมศพของแฝดอิน-จัน

นายแพทย์ที่ผู้เขียนปรึกษาหารือและท่านติดตามเรื่องของแฝดสยามมาตลอดบอกกับผู้เขียนว่า ปริศนาเกี่ยวกับอวัยวะภายในลำตัวของแฝดอิน-จัน ที่อยากรู้อยากเห็นกันนักหนา ถ้าเป็นสมัยนี้เรื่องของอวัยวะภายในของแฝดจะเป็นเรื่องง่ายประดุจการเคี้ยวกล้วยในปาก เพราะโลกนี้เพิ่งมีเครื่องเอกซเรย์หลังแฝดเสียชีวิตแล้ว และปัจจุบันนี้มีเครื่องมือไฮเทคที่เรียกว่า MRI (Magnetic Resonance Imaging) ที่ส่องเห็นทุกอณูในร่างกาย ภาพชัดเหมือนกับคณะแพทย์และพยาบาลเดินจูงมือกันเข้าไปทางปากของเราและเดินสำรวจไปได้ทุกแห่งในร่างกายของเราตั้งแต่ปากจรดทวารหนัก ไม่อะไรในร่างกายที่เป็นความลับอีกต่อไป




การรวมตัวของ “ทายาทอิน-จัน” เพิ่งเป็นรูปเป็นร่างเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๒๓ เป็นต้นมาการ “รวมญาติตระกูล บังเกอร์” ที่สืบสายเลือดมาจากแฝดอิน-จัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ มาไล่เรียงเทือกเถาเหล่ากอ ซึ่งติดต่อสืบค้นกันทางอินเตอร์เน็ต นับญาติได้ราว ๑,๕๐๐ คนครับ (ตามภาพ)

หลุมฝังศพ สุสาน และโบสถ์ไวท์เพลน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สะอาด สว่าง สงบ สวยงาม สนามหญ้าเขียวขจี มีนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องราวของแฝดสยามมาท่องเที่ยวเสมอ ทำให้เขตปกครองเมาท์แอรี่มีชีวิตชีวา

อนุสรณ์ของแฝดอิน-จัน ในอเมริกาที่เมืองเมาท์แอรี่ ที่ทางการจัดสร้างให้คือสะพานชื่อ อิน-จัน ยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร ที่ทอดข้ามลำห้วยสจ๊วต (Stewarts Creek) ถือว่าเป็นการให้เกียรติระลึกถึงพลเมืองดีที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ ชื่อ อิน-จัน ที่สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔

นามสกุลบังเกอร์ (Bunker) ของคนอเมริกันมีหลายสายนะครับ มีสายตรงของแฝดอิน-จัน และที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย นามสกุลซ้ำกัน ก็พลอยต้องคอยตอบคำถามเรื่องแฝดสยามไปด้วย

ท่านผู้อ่านที่เคารพ สอบถามมาเรื่องหลานเหลนของแฝดสยาม ซึ่งจากการสืบค้นพบว่ามีหลายคนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง เช่น

นายจอร์จ เอฟ แอชบี เป็นประธานกิจการรถไฟในอเมริกาที่เรียกว่า บริษัท ยูเนียนแปซิฟิก เรลโรด ในปี พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๓

คาเลบ แวนซ์ เฮนส์ นายพลของกองทัพอากาศสหรัฐ เคยเป็นนักบินรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

อเล็กซ์ ซิงค์ สาวสวย เหลนของแฝดจัน เป็นสาวสวยที่มีชื่อเสียงในวงการการเงิน การธนาคารในอเมริกา เธอประกาศว่าเธอเป็นทายาทตระกูลอิน-จัน

ทายาทอิน-จันนัดรวมตัวกันเป็นประจำทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมของทุกปี

ข่าวดีครับ…ล่าสุด หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ลงข่าวว่านายกเทศมนตรีเมืองเมาท์แอรี่ รัฐนอรธ์แคโรไลนาของอเมริกา ทำจดหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศไทยขอจับมือเป็น “เมืองพี่เมืองน้องกับเมืองสมุทรสงคราม” และจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ผู้เขียนถือว่าเป็นข่าวสร้างสรรค์สำหรับเมือง สมุทรสงครามที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่คึกคักสำหรับมิตรรัก แฟนเพลง ญาติมิตร หรือแฟนคลับของแฝดอิน-จัน ทั้งไทยและเทศ

ผู้เขียนขอสนับสนุนชาวเมืองสมุทรสงครามที่จะติดตามสืบค้นหาทายาทแฝดอิน-จันที่เป็นบุคคลระดับโลก สถานที่ที่พอจะอนุมานได้ว่าเป็นที่เกิด บ้านริมน้ำที่ครอบครัวแฝดอาศัย เพื่อให้แฟนคลับที่จะมาเยือนได้ชื่นอกชื่นใจ

ชาย-หญิงชาวไทยแถงเมืองแม่กลองที่มีหน้าตาคล้ายแฝดอิน-จัน รีบส่องกระจกดูหน้าตัวเอง ลองถามไถ่ไล่เรียงลำดับญาติกันดูนะครับ เผื่อเจอะเจอว่าเป็นหลานเป็นเหลนของแฝดอิน-จัน รับรองว่าดังข้ามโลก ต้องไปเยี่ยมญาติถึงอเมริกาโน่น

ส่วนอนุสาวรีย์แฝดอิน-จัน กลางเมืองสมุทรสงครามที่ทำหล่อด้วยสำริดขนาดเท่าของจริง กำเนิดจากศรัทธาของประชาชนชาวแม่กลองรวมตัวกันจัดสร้างไว้ ยืนตระหง่านอยู่ค่อนข้างเงียบเหงา มีภาพสลักนูนเล่าเรื่องชีวิตของแฝดที่ค่อนข้างสื่อความหมายแบบลางเลือน ควรได้รับการปรับปรุง เสริมแต่งให้มีชีวิต มีความสง่างามเพื่อส่งเสริมตำนานของบรรพบุรุษสยามที่สร้างชื่อเสียงให้แผ่นดินไทย และควรค่าแก่การมาเยือนของทุกคนในโลกนี้

ด้วยจิตคารวะต่ออิน-จัน บรรพบุรุษสยามและขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่เคารพ กรุณาติดตามมา ๒๕ ตอน ขอบคุณและชื่นชมผลงานของคุณอริยา จินตพานิชการ ขอบคุณและชื่นชมผลงานของคุณวิลาส นิรันดร์สุขศิริ และข้อมูลจากต่างประเทศในระบบอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิตอลจำนวนมหาศาล




ขอบพระคุณต่อ นสพ.มติชนที่ให้ผู้เขียนมีโอกาสแปลและเรียบเรียงด้วยความสุขใจครับ
จบบริบูรณ์
3103  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 20 มิถุนายน 2559 11:43:42
.



• อีกราว ๒ ชั่วโมง…พญามัจจุราชก็มารับแฝดอินไปอีกคน

ราวตี ๔ ของวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๑๗ ณ เขตปกครองเมาท์แอรี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา Siamese Twins หรือแฝดสยาม จากเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม ต้นตระกูลบังเกอร์ (Bunker) สูญเสียแฝดจันที่มีเรือนร่างติดกับแฝดอินไปโดยไม่มีวันกลับ

คืนก่อนหน้านี้ แฝดคู่ทุกข์คู่ยากที่กระหนาบข้างกันมา ๖๓ ปี ได้พูดคุย ปรับทุกข์ ผูกมิตร ให้กำลังใจซึ่งกันและกันหน้าเตาผิงในบ้านแล้วจูงมือกันเข้านอนบนเตียงคู่ แล้วก็ผล็อยหลับไปทั้งคู่

ไม่มีลางสังหรณ์ใดๆ มาสะกิดเตือนก่อนเลยว่า คนคู่สู้ชีวิตจากสยามประเทศคู่นี้จะต้องแยกวิญญาณออกจากกันซะแล้ว

พญามัจจุราชมาพรากเอาวิญญาณของแฝดจันไปเงียบๆ คงทิ้งให้แฝดอินที่นอนติดกันถึงกับผวาที่จะต้องตามแฝดจันไป

แฝดอินสุขภาพแข็งแรงดี มีเรือนร่างติดกับแฝดจันมา ๖๓ ปี นอนขนาบข้างแฝดจันที่ปราศจากวิญญาณด้วยความตื่นตระหนก พร้อมกล่าวกับภรรยาและลูกหลานว่า “คนต่อไป ก็ฉันสินะ” มันคือประโยคที่แฝดอินมีแรงรำพึงออกมาจากลำคอที่สั่นเครือ

“ขอพระผู้เป็นเจ้า ประทานความเมตตาต่อวิญญาณของข้าพเจ้าด้วย” ประโยคสุดท้ายของชีวิตแฝดสยามผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก พร้อมกับกอดศพของแฝดจันแล้วนิ่งสนิท ท่ามกลางความสงบ เงียบสงัด แสนวังเวง

ท่านผู้อ่านที่เพิ่งมาอ่านมหากาพย์ตอนใกล้อวสานตอนนี้ อาจไม่ทราบว่า อิน-จัน หรือแฝดสยาม ฝรั่งเรียกว่า Siamese Twins เป็นแฝดประหลาดที่มีร่างกายบริเวณหน้าอกเชื่อมติดกันมาตั้งแต่เกิด มีพ่อค้าอังกฤษและอเมริกันขอเช่าตัวจากแม่ในราคา ๑,๖๐๐ บาท เดินทางออกจากสยามไปอเมริกาตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี ตอนนั้นตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓

แฝดอิน-จัน ตั้งรกราก มีบ้าน มีเมียฝรั่งผิวขาว ในอเมริกา มีครอบครัวใหญ่ ลูกรวม ๒ ท้อง ๒๑ คน มาบัดนี้อายุเหยียบ ๖๓ ปี ตระเวนไปหาหมอที่เก่งที่สุดในอเมริกาและยุโรปทั่วทุกสารทิศ ไม่มีหมอสำนักไหนยอมผ่าแยกร่างให้

“แฝดคนคู่” ทราบดีทุกลมหายใจว่า ความตายของใครคนหนึ่งจะทำให้อีกคนต้องตายตาม จึงดิ้นรนขวนขวายจะให้หมอผ่าแยกร่างกายให้มานานแล้ว หมอโจและหมอบิลลี่ที่สนิทกับครอบครัวของแฝดเคยบอกว่า หากใครคนหนึ่งเสียชีวิตลง จะรีบมาผ่าแยกร่างให้ทันที และนาทีนี้ แฝดจันหลอดลมอักเสบ ปอดบวม เส้นโลหิตในสมองอุดตันเสียชีวิตไปขณะนอนอยู่ข้างๆ

ขณะที่แฝดจันเสียชีวิต เป็นห้วงเวลาที่แฝดทั้งสองต้องมานอนที่บ้านของแฝดอินตามกฎ ๓ วัน

ท่ามกลางความหนาวเหน็บ บวกกับอาการตกตะลึง ซาราห์และลูกๆ ชะเง้อมองหารถม้าที่กำลังบึ่งไปรับหมอโจและหมอบิลลี่ ที่สัญญาว่าจะมาผ่าแยกร่างเพื่อรักษาชีวิตของแฝดอีกคนไว้ให้จงได้

๑ นาทีที่ผ่านไปช่างยาวนานประดุจ ๑ ชั่วชีวิตคน หมอโจคือผู้กำหนดชะตาชีวิตว่า แฝดอินจะอยู่หรือตาย

บ้านหมอโจห่างออกไป ๓ ไมล์ (ราว ๕ กม.)

ลูกๆ ทุกคนในบ้านพร้อมใจกันมาปลอบใจพ่อแฝดอินที่อยู่ในอาการผวา ตื่นตระหนก เพราะทราบดีว่าจะต้องตายตกตามกันไปเป็นแน่แท้ ร่างกายของแฝดอินชุ่มไปด้วยเหงื่อจากอาการช็อก แต่ยังพอมีสติเล่าเหตุการณ์ก่อนที่จะแฝดจันจะเสียชีวิตให้ซาราห์และลูกๆ ทุกคนได้ฟัง

หลังจากปัจฉิมวาจาประโยคนี้ แฝดอินนอนสงบนิ่งกอดร่างของแฝดจันไปอีกราว ๑ ชั่วโมง โดยไม่ไหวติง ไม่มีใครรู้ว่าควรจะต้องรักษาพยาบาลอย่างไรเพื่อช่วยชีวิตแฝดอิน มันช่างเป็นความทรมานกายและใจสุดบรรยาย

หมอโจผู้มีน้ำใจแสนประเสริฐพร้อมเครื่องมือผ่าตัดนั่งรถม้าฝ่าความหนาวยะเยือกมาถึงที่บ้าน แต่พบว่าแฝดอินก็เพิ่งหมดลมหายใจตามแฝดจันไปอย่างสงบแล้ว

วินาทีก่อนจากโลกนี้ไป ทั้งคู่ยังต้องกอดกัน ความตายมิอาจพรากให้สุภาพบุรุษเลือดสยามคู่นี้ต้องแยกจากกัน

มหากาพย์ชีวิตของ Siamese Twins หรือแฝดสยามที่โด่งดังกว่าครึ่งโลก ปิดฉากลงในวัย ๖๓ ปี

เช้าวันถัดมา เพื่อนฝูง มิตรรักทั้งหลายในชุมชนและเมืองถัดไปต่างรับทราบการจากไปของ อิน-จัน บังเกอร์ ฝาแฝดร่างกายติดกันจากสยามประเทศที่กลายมาเป็นประชาชนอเมริกันที่มีคุณค่า ด้วยร่างกายที่เป็นจุดอ่อนกว่าคนทั่วไป แต่สามารถสร้างตัว สร้างตน ทำมาหาเลี้ยงชีพ จนกลายเป็นผู้มีอันจะกินได้

บรรดามิตรรักบ้านใกล้เรือนเคียงต่างร่วมใจกันมาเพื่อแสดงความอาลัย แต่ไม่ปรากฏพิธีศพแต่อย่างใด

หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก เฮอรัลด์ ในอเมริกาพาดหัวการเสียชีวิตของปู่แฝด และเล่นข่าวต่อเนื่องอีกหลายวัน ทำเอาครอบครัวบังเกอร์ต้องเป็นกังวลกับปัญหาใหม่ คือ แพทย์หลายสถาบันพยายามที่จะขอเป็นเจ้าภาพผ่าศพพิสูจน์ เพื่อไขปริศนาอวัยวะภายในร่างกายของปู่แฝด แพทย์ทั้งหลายอยากรู้จริงๆ ว่า ข้างในร่างกายมนุษย์ประหลาดมีโครงสร้างอย่างไร และมีอะไรซุกซ่อนอยู่

แม้กระทั่งพ่อค้า นักธุรกิจ ก็แสดงความจำนงอยากซื้อศพเอาไปดองเพื่อนำออกแสดงหาเงิน ถ้าเป็นในเมืองไทยก็คล้ายๆ กรณีศพของซีอุยที่ชอบกินตับคน ที่ใครก็อยากเห็นตอนตาย

ร่างที่ไร้วิญญาณของปู่แฝดเป็นเงินเป็นทองแม้ยามตาย ที่ผู้คนพยายามแย่งยื้อ หรือมีคนคิดจะขโมยศพด้วยซ้ำไป

เมื่อครอบครัวบังเกอร์กลับมารวมตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตา ในขั้นต้นตกลงกันว่าได้ว่า ให้นำศพบรรจุลงในโลงไม้วอลนัท และเพื่อไม่ให้ศพเน่าเหม็นและเพื่อป้องกันการขโมยศพ จะต้องบรรจุลงในโลงศพที่ทำด้วยดีบุกอีกชั้นหนึ่ง และฝังโลงศพไว้ในบริเวณบ้าน

ชาวเมืองเมาท์แอรี ชื่อ ไอแซค ออกัสตัส ไรช์ (Isac Augustus Reich) มีอาชีพทำถังดีบุก เลยต้องหันมาทำโลงศพดีบุกแทน ประเด็นสำคัญคือยังไม่ได้ฉีดยารักษาศพ

ครอบครัวบังเกอร์ มีลูกชายคนโตชื่อคริสโตเฟอร์ บังเกอร์ เป็นอดีตทหารม้ากองทัพฝ่ายใต้ ผ่านการรบในสงครามกลางเมือง (Civil War) เคยโดนจับเป็นเชลยศึก ต่อมาไปทำมาหากินอยู่ที่ซานฟรานซิสโกเดินทางกลับมาถึงเมาท์แอรี เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดการศพ

มีเกร็ดตำนานเล่าว่า ซาร่าห์และอาดีเลด ๒ ภรรยาของแฝดสยามไม่แน่ใจในการทำพิธีทางศาสนา เนื่องจากแฝดสยามคู่นี้ตั้งแต่แต่งงานกันมาไปโบสถ์ด้วยกันเสมอ แต่ไม่เคยปฏิญาณตนเป็นคริสต์ ในขณะที่ตอนเป็นเด็กที่เมืองแม่กลองเป็นชาวพุทธ

ในช่วงที่ปู่แฝดจากแม่กลองเสียชีวิต ตรงกับช่วงที่นายพลยูลีซิส แกรนท์ (Ulysses Grant : อดีตแม่ทัพของฝ่ายเหนือที่ชนะสงครามกลางเมือง) เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

หมอโจที่เป็นคู่คิดของครอบครัวบังเกอร์รับหน้าที่ประสานการทำงานเรื่องศพ ซึ่งในใจของหมอโจค่อนข้างจะสนับสนุนการบริจาคศพให้กับสถาบันทางการแพทย์

สื่อกระแสหลักคือหนังสือพิมพ์ในอเมริกา ยังคงติดตามชีวิตคนดังหลังความตายไม่ลดละ พร้อมกับการตั้งคำถามต่อสังคมต่อไปว่า สาเหตุที่แฝดอินตาย ทั้งๆ ที่มิได้เจ็บป่วย เกิดจากอะไรกันแน่ ?

หนังสือพิมพ์ NY Herald ส่งนักข่าวจากนิวยอร์กมาที่เมาท์แอรีเพื่อขอสัมภาษณ์หมอโจถึงสาเหตุที่แฝดอินต้องตายไปต่อหน้าต่อตา แต่ช่วยอะไรไม่ได้
หมอโจให้ความเห็นในทำนองว่า แฝดอินตายเพราะหวาดผวา เกิดอาการช็อกตกใจสุดขีด เนื่องจากฝังใจว่า เมื่อแฝดคนหนึ่งตายและอีกคนต้องตายตาม ความเห็นหมอโจดังกล่าวทำเอาหลายคนส่ายหน้า ไม่เห็นด้วย เลยกลายเป็นประเด็นอื้ออึง ต่อความยาวสาวความยืดกันไปในสังคมเมืองมะกัน

การเจรจาเรื่องศพของแฝดอิน-จัน มายุติลงโดยที่คุณหมอวิลเลียม เอช. แพนโคสท์ (William H. Pancoast) อธิการบดีวิทยาลัยแพทย์เจฟเฟอร์สัน (Jefferson Medical College) ติดต่อผ่านหมอโจ ขอความกรุณาครอบครัวบังเกอร์บริจาคศพเพื่อเป็นวิทยาทานแก่วงการแพทย์ทั่วโลก ซึ่งครอบครัวบังเกอร์ไฟเขียวให้ความเห็นชอบถ้วนหน้า

ทีมแพทย์กล่อมครอบครัวบังเกอร์ว่า ตั้งแต่แฝดสยามมาเหยียบแผ่นดินอเมริกาตอนอายุ ๑๘ ปี แพทย์ทั้งหลายในอเมริกาและยุโรปได้ช่วยดูแลรักษาแฝดมาตลอด เมื่อแฝดเสียชีวิตลงคู่แฝดต้องตอบแทนแพทย์ โดยการให้แพทย์ศึกษาร่างกายของแฝด

เมื่อหมอแพนโคสท์และทีมแพทย์ได้รับโทรเลขข่าวดีว่าจะได้ศพของแฝดสยามมาผ่าพิสูจน์ จึงรีบเดินทางมาเมาท์แอรีทันที

๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๗ ทีมแพทย์เดินทางมาถึงบ้านแฝดอิน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ขุดเอาศพขึ้นมาเพื่อฉีดยาถนอมศพ

ทีมแพทย์ประวัติศาสตร์ที่ถือว่าได้ลงมีดผ่าศพแฝดสยามพิสูจน์เพื่อเป็นองค์ความรู้ทางการแพทย์ประกอบด้วย หมอแพนโคสท์ หมอแฮริสัน แอลเลน (Harrison Allen) และหมอที. เอช. แอนดรู (T.H. Andrews)

ครอบครัวบังเกอร์ขอร้องมิให้ทีมแพทย์ผ่าตัดบนผิวด้านนอกของท่อนเอ็นจนเกิดเป็นรอยแผล เพื่อรักษารูปทรงให้คงเดิมให้ได้ ซึ่งทีมแพทย์ให้สัญญาจะปฏิบัติตาม

วันที่ลงมือผ่าศพขั้นต้น คือ ๑๕ วันหลังจากแฝดคนคู่เสียชีวิต เมื่อเริ่มงานชันสูตรศพไปได้พักเดียวก็พบว่า ที่บ้านของแฝดอินไม่เหมาะสำหรับการทำงานของแพทย์ที่ต้องการเครื่องมือประกอบการทำงานของแพทย์อีกมาก

การจัดการศพและลักษณะของศพตามที่วารสาร Philadelphia Medical Times บรรยายไว้ดังนี้ :

“ศพของแฝดสยามถูกฝังไว้ที่ห้องใต้ดินภายในบ้านของแฝดอิน มีผงถ่านกลบไว้ข้างบน ศพถูกบรรจุไว้ในโลงไม้วอลนัท ที่บรรจุไว้ในโลงดีบุกอีกชั้นหนึ่ง ต้องคลายตะปูควงออกแล้วจึงเปิดฝาโลง สิบห้าวันผ่านไป ไม่มีกลิ่นศพแต่อย่างใด ศพยังไม่เน่า ใบหน้าของแฝดอินเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แต่ใบหน้าของแฝดจันมีริมฝีปากซีด ปากเบี้ยว ผิวหนังบริเวณหูเป็นสีม่วงคล้ำ”

ทีมแพทย์ฉีดยารักษาศพเข้าไปทางเส้นเลือดของศพทั้งสอง การทำงานของทีมแพทย์ไม่สะดวกจึงขออนุญาตจากครอบครัวนำศพไปพิพิธภัณฑ์มุตเตอร์ (Mutter Museum) ในวิทยาลัยแพทย์แห่งฟิลาเดลเฟีย

ใช้เวลาเดินทาง ๕ วัน จึงนำศพเข้าสู่กระบวนการในห้องปฏิบัติการของแพทย์ในฟิลาเดลเฟียที่มีเครื่องมือพร้อมทำงาน โดยมีหมอแพนโคสท์คอยกำกับดูแลให้เป็นไปตามสัญญา มีการตั้งคณะทำงานอย่างเป็นระบบ เพราะทีมแพทย์ต้องการทราบว่า
๑.ข้างในท่อนเอ็น/พังผืดที่เชื่อมลำตัวต่อกันนั้นมีอวัยวะอะไรซ่อนอยู่ข้างใน ?
๒.ชีวิตของแฝดมีอวัยวะอะไรที่ใช้ร่วมกัน ?
๓.ถ้าผ่าตัดแยกร่างตอนมีชีวิตอยู่จะทำให้เสียชีวิตหรือไม่ และหากผ่าแยกร่าง เมื่อคนหนึ่งเสียชีวิตก่อนจะสามารถรักษาชีวิตอีกคนหนึ่งไว้ได้หรือไม่ ?

หนังสือพิมพ์ The New York Times เกาะติดเรื่องการชันสูตรศพ เพราะร่างกายของแฝดสยามที่มีหนึ่งเดียวในโลก

กรรมวิธีการชันสูตรเริ่มจากจัดสภาพศพในท่ายืน สวมเสื้อผ้า แล้วถ่ายภาพจากหลายมุม ต่อมาเปลื้องเสื้อผ้าศพออก แล้วถ่ายภาพซ้ำอีก ซ้าย ขวา หน้า หลัง แล้วให้ช่างดำเนินกรรมวิธีเพื่อหล่อเป็นรูปปั้นของแฝดทำด้วยปูนปลาสเตอร์ขนาดเท่าของจริงตามที่ครอบครัวบังเกอร์ระบุไว้ในสัญญา

การผ่าศพแฝดเพื่อศึกษาเป็นข้อมูลศึกษาทางการแพทย์ ใช้เวลาทำงานราว ๘ วันเต็ม

เช้าวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ในห้องโถงของวิทยาลัยแพทย์ มีคณาจารย์แพทย์มารวมตัวกันจำนวนมาก เพื่อรอฟังผลการชันสูตรร่างของแฝดสยาม สื่อฉบับเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมฟังการแถลงข่าวคือ Philadelphia Medical Times นอกนั้นห้ามเข้า

การแถลงข่าวตามแบบฉบับของแพทย์เพื่อการเรียนรู้ จะต้องนำศพมาแสดงประกอบการชี้แจง หมอแพนโคสท์ กล่าวรายงานเป็นคนแรก ความว่า :

ร่างกายทั้งคู่เชื่อมต่อกันด้วยกระดูกอ่อน ที่เป็นส่วนฐานของกระดูกหน้าอก โดยมีเนื้อเยื่อตับบรรจุอยู่ในท่อนเอ็น แฝดทั้งสองใช้ตับร่วมกัน การผ่าตัดแยกร่างเมื่อโตขึ้นแล้วจะเป็นอันตราย จะอันตรายน้อยกว่าหากผ่าแยกร่างในวัยเด็ก การผ่าตัดผ่านกระบังลมและช่องท้องอาจทำให้เกิดอาการช็อกต่อระบบประสาท อาจก่อให้เกิดอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบและกระบังลมอักเสบ และอาจจะลุกลามไปถึงถุงหุ้มหัวใจหรือเยื่อหุ้มปอดได้ (เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มียาปฏิชีวนะ)

แพทย์ได้ฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดของแฝดอิน พบว่าสีนั้นไหลเข้าไปในเส้นเลือดของแฝดจัน แสดงว่าเลือดสามารถไหลผ่านท่อนเอ็นที่เชื่อมร่างกายอิน-จันได้

หมอแอลเลนนำเสนอเป็นคนต่อไป ความว่า :

ท่อนเอ็นตรงที่ติดกับตัวแฝดจันมีความอ่อนแอมากกว่าบริเวณที่ติดกับลำตัวของแฝดอิน เนื้อเยื่อของท่อนเอ็นติดกับลำตัวอินมีไขมันมากกว่าด้านของแฝดจัน การผ่าตัดแยกร่างในขณะที่แฝดยังมีชีวิตเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

บรรดาแพทย์ที่มาฟังสรุปการผ่าพิสูจน์ มีความเห็นในช่วงท้ายว่า การผ่าตัดแยกร่างหลังจากคนหนึ่งเสียชีวิตแล้ว ถ้าลงมือผ่าทันที ก็จะทำให้อีกคนปลอดภัย

ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น สมองของแฝดทั้งสอง ครอบครัวไม่ยินยอมให้คณะแพทย์ผ่าพิสูจน์ แต่แพทย์มีความเห็นตรงกันว่า สาเหตุที่แฝดจันเสียชีวิตน่าจะเกิดจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน (Cerebral clot)

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของแพทย์ครั้งนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในวงการแพทย์อย่างอเนกอนันต์มาจนถึงปัจจุบัน

คริสโตเฟอร์ บังเกอร์ ลูกชายคนโตของแฝดอินและเดคาเตอร์ ลูกชายของแฝดจัน พากันเดินทางมาฟิลาเดลเฟียเพื่อรับศพพ่อและอาทันทีเมื่อแพทย์ชันสูตรศพแล้วเสร็จ ลูกชายทั้งสองทราบดีว่าได้นำพาเฉพาะร่างกายกลับบ้าน คุณูปการอันยิ่งใหญ่คือ การบริจาค ปอด ตับ และอวัยวะภายในร่างของแฝดสยามดองในน้ำยา ตั้งแสดงต่อสาธารณชนในพิพิธภัณฑ์มุตเตอร์ได้ต่อไป

ศพของแฝดสยามถูกนำกลับไปถึงเมาท์แอรี นอร์ทแคโรไลนา และยังต้องฝังไว้ในชั้นใต้ดินบ้านของแฝดอินอีกราวปีเศษเพื่อมิให้โดนขโมย ต่อมาเมื่อผู้คนคลายความสนใจลงจึงย้ายศพไปฝัง ณ ใต้ต้นฮอลลี่ในที่ดินของแฝดจัน

ผ่านมาอีกราว ๔๓ ปี ลูกหลานของแฝดสยามเห็นว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวอาจจะถูกขายต่อไปอยู่ในมือผู้อื่น จึงย้ายศพของบรรพบุรุษไปไว้ ณ สุสานหลังโบสถ์ไวท์เพลนส์ (White Plains Cemetery) ที่แฝดอิน-จันได้เคยบริจาคที่ดินและลงมือสร้างโบสถ์ให้กับชุมชน

ในระหว่างเคลื่อนย้ายที่ฝังศพของแฝดสยาม ปรากฏนกพิราบสีขาวมาเกาะอยู่บนโลงศพตลอดเวลาการเดินทาง ต่อเมื่อจะนำศพลงฝัง ณ หลังโบสถ์ไวท์เพลนส์แห่งนี้ นกพิราบขาวนิรนามตัวนี้ก็โผบินขึ้นฟ้าหายไป

ศพของอาดีเลด ภรรยาของแฝดจัน เสียชีวิตในวัย ๙๔ ปี ก็ถูกฝังไว้เคียงกันกับศพของแฝดสามี

ส่วนศพของซาราห์ ภรรยาของแฝดอิน เสียชีวิตเมื่ออายุ ๗๕ ปี แยกฝังอยู่ก่อนแล้วในไร่เมาท์แอรีมาจนถึงปัจจุบัน


ตอนต่อไปจะเป็นตอนอวสานแล้วครับ

3104  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 20 มิถุนายน 2559 11:15:03
.



• แฝดวิงวอนแพทย์เยอรมันผ่าแยกร่างก่อนตาย – ทัวร์สุดท้ายของชีวิต

ช่วงต้นรัชสมัย ในหลวง ร.๓ มีชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ มาลงทุนตั้งบริษัทในบางกอก ชาวตะวันตกเริ่มทยอยขอทำสัญญาการค้ากับสยามคึกคัก เดินกันเพ่นพ่าน ชาวสยามจะเรียกคนผิวขาวเหล่านี้ว่า ฝรั่ง แต่มีแขกเปอร์เซีย และจีน เป็นคู่ค้าหลักของสยาม

เรือกลไฟพ่นควันดำยาวเป็นสายบนท้องฟ้า เรือสินค้าคือองค์ประกอบหลักในอ่าวไทยและแม่น้ำเจ้าพระยา บางกอกเป็นเมืองที่ถูกกล่าวขานว่ามีสินค้าทุกอย่างที่ตลาดยุโรปต้องการ สินค้าเกษตร ข้าว ปลา อาหาร และหนังสัตว์

ขอเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพว่า ในรัชสมัยในหลวง ร.๓ ต่อเนื่องไปถึงรัชสมัยในหลวง ร.๔ นั้น มีชายฝาแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins) จากเมืองแม่กลองที่เป็นตัวแทนชาวสยามออกไปทำมาหากิน แสดงตัวหาเงินต่อผู้คนในอเมริกา และยุโรปจนได้ฉายาว่า Siamese Twins เป็นตำนานที่เลื่องลือระดับโลกนะครับ

ตำนานของแฝดสยามที่ฝรั่งบันทึกไว้อย่างละเอียด เป็นการบ่งบอกต่อชาวไทยทั้งหลายว่า อิน-จัน คือชาวสยามที่กล้าเดินออกไปนอกประเทศอย่างสง่างาม มีโอกาสได้พูดคุยกับประธานาธิบดีสหรัฐถึง ๒ ท่าน คือ อับราฮัม ลินคอล์น และแอนดรูว์ จอห์นสัน

อิน-จัน เคยได้เข้าเฝ้าควีนวิกตอเรียของอังกฤษ ไกเซอร์ของเยอรมัน พระเจ้าซาร์ของรัสเซียและบุคคลสำคัญในยุโรปอีกหลายท่าน

แหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ หมอบรัดเลย์ หมอสมิธ สาธุคุณแมคฟาร์แลนด์ และฝรั่งอีกหลายท่านได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมสยามในบางกอกอย่างน่ายกย่องสรรเสริญยิ่งนัก

สยามไม่เคยสิ้นคนดี คนกล้า มีฝรั่งมาได้ ก็มีคนสยามไปได้

กลับไปที่ตำนานชีวิตวัย ๖๐ ปีของแฝดอิน-จัน ในอเมริกาครับ

แฝดอิน-จัน จากเมืองแม่กลองไปใช้ชีวิตในอเมริกาเกือบ ๔๐ ปีมีครอบครัวใหญ่ เผชิญกับเหตุการณ์ชั่ว ดี ถี่ ห่าง มีได้ มีเสียมาตลอดชีวิต ในช่วงหลังสงครามกลางเมืองในอเมริกา ทำเอาครอบครัวทรุดฮวบเรื่องเงินทองไม่พอใช้จ่ายสำหรับลูกดกเดินเต็มบ้าน

ในช่วงที่อายุราว ๖๐ เศษ แฝดยังมีความกล้า ความขยันที่จะพาลูกออกไปตระเวนแสดงตัวหาเงินในยุโรป และถือโอกาสไปพบแพทย์ในประเทศนั้น เพื่อขอคำปรึกษาที่จะผ่าแยกร่างออกจากกันก่อนตายให้จงได้ แพทย์ทุกประเทศที่ไปพบมา ลงความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่สมควรผ่าแยกร่าง เพราะอวัยวะภายในไม่เอื้ออำนวย แม้กระทั่งคณะแพทย์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ที่วิทยาลัยแพทย์เอดินเบอร์ก ในอังกฤษก็ปฏิเสธที่จะลงมือผ่าแยกร่างให้

๕ เดือนต่อมา นายวอลเลซ (Wallace) เพื่อนใหม่เพิ่งพบหน้ากันที่ลอนดอน ขอเป็นโต้โผ จัดโปรแกรมพาลุงอิน-จัน ไปเปิดการแสดงตัวหาเงินในเยอรมัน และอีกหลายประเทศในยุโรป การเดินทางรอบนี้ ลุงแฝดขอพาลูกชายไปทัวร์ด้วย ๒ คน คือ เจมส์ อายุ ๒๑ ปีลูกของแฝดอิน และอัลเบิร์ต อายุ ๑๒ ปี ลูกของแฝดจัน
๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๓ คณะของลุงแฝดสยามจำนวน ๕ คนลงเรือชื่อ Allemagne จากท่าเรือนิวยอร์ก ใช้เวลา ๑๘ วัน ไปขึ้นฝั่งที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ของเยอรมัน

แฝดสยามคู่นี้ เป็นนักเดินทางท่องโลกที่ยิ่งใหญ่ ใช้ชีวิตคุ้มค่า

คณะเดินทางต่อไปเมืองเบอร์ลิน (Berlin) นายวอลเลซจองโรงแรมไว้นาน ๓ สัปดาห์ เพื่อโชว์ตัวขอโกยเงินจากกระเป๋าชาวเยอรมันผู้ไม่เคยมีใครเห็นคนประหลาดแบบนี้มาก่อน

ความตกตะลึงที่ลุงแฝดได้รับทราบแล้วกระอักกระอ่วนที่สุดคือการแสดงของแฝดสยามที่ต้องไปเล่นร่วมกับคณะละครสัตว์ ที่ผ่านมาในชีวิต แก่ป่านนี้แล้ว ยังไม่เคยต้องมาบูรณาการเล่นกับคณะละครสัตว์

ไม่มีปัญหา ไม่มีอุปสรรคใดๆ ทั้งนั้น เล่นก็เล่น เปรียบได้กับสุภาษิตไทยที่ว่า ผีถึงป่าช้าแล้วยังไงก็ต้องฝัง

ในห้วงเวลานั้น เยอรมันกำลังขับเคี่ยวกับฝรั่งเศส ชิงดีชิงเด่นกันในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะด้านการเป็นมหาอำนาจทางทหาร ประเทศต่างๆ ในยุโรปกำลังจับขั้วแบ่งข้างจะทำสงครามกันทั้งทวีป

บุคคลสำคัญที่ตั้งใจเข้ามาชมการแสดงตัวของแฝดประหลาดในกรุงเบอร์ลิน คือ ไกเซอร์ วิลเฮม ที่ ๑ บุรุษเหล็กของเยอรมัน อายุ ๗๓ ปี และขุนพลคู่บารมีชื่อ Prime Otto Von Bismark ขุนศึกทั้งสองท่านนี้เพิ่งส่งกำลังทหารไปบดขยี้เดนมาร์ก และออสเตรียพินาศสิ้น

นาทีนั้นกองทัพเยอรมันฮึกเหิม เกรียงไกรสะท้านทวีปยุโรป

ทุกเวลานาทีในวัย ๖๐ ปีของแฝดอิน-จัน ที่โชว์ตัวในเยอรมันมีค่ายิ่งนัก แต่ทว่าสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจคือ การเสาะแสวงหาแพทย์จากทุกสำนักในยุโรป ที่จะขอผ่าแยกร่างออกจากกัน

การแสดงตัวของ Siamese Twins ราบรื่นได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ชาวเมืองเบียร์ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

วาระซ่อนเร้นในใจคือ คำถามว่า หมอเยอรมันจะช่วยผ่าตัดแยกร่างออกจากกันก่อนตายได้มั้ย?

นายวอลเลซ ชาวอังกฤษที่เป็นหุ้นส่วนเดินทางมาด้วย แอบไปติดต่อเงียบๆ กับแพทย์เยอรมันที่ชื่อ นายแพทย์ รูดอล์ฟ เวอร์โชว์ ( Dr.Rudolf Virchow) เพื่อขอนัดให้แฝดมาตรวจร่างกาย

ลุงแฝดอิน-จัน บรรพบุรุษสยามของเรา ตอนนี้มีความเชื่องช้า ขึ้นรถลงเรือ เดินเหินไปไหนไม่ปราดเปรียวเหมือนตอนหนุ่มๆ แต่ก็ได้รับการต้อนรับด้วยมิตรไมตรีจากสังคมชาวเยอรมันที่อยากเห็นความประหลาดของแฝดบันลือโลกที่ข้ามทะเลมาจากอเมริกา หนังสือพิมพ์ในเบอร์ลินชื่อ The Vossiche Zeitung ฉบับ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๓ ลงข่าวครึกโครมเรื่องการแสดงตัวของลุงแฝดในเบอร์ลิน ทำให้การแสดงทุกรอบอุ่นหนาฝาคั่งจากชาวเมืองเบียร์และไส้กรอก

ประวัติความเป็นมาของแฝดสยามอายุ ๖๐ ปี ถูกนำไปพิมพ์ขาย และขายได้ขายดี แน่นอนที่สุด สรีระร่างกายของแฝดคู่นี้เป็นประเด็นอร่อยปากที่หมอในเยอรมันนำมาพูดคุย ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวาง และหมอทุกคนต่างกระตือรือร้นที่จะมาขอสัมผัสตัวเป็นๆ ของแฝดด้วยความอยากได้ใคร่รู้

การแสดงไหลลื่นไปทุกวัน จิตใจก็พะวงที่จะได้พบหมอเวอร์โชว์วันแล้ววันเล่า

คุณหมออายุ ๔๙ ปี แกมีลูกเล่นที่เหนือชั้น คืนวันหนึ่งหมอเวอร์โชว์แอบไปซื้อตั๋วเข้าชมการแสดงของแฝดแบบไม่ให้ใครรู้ แกเข้าไปนั่งชมการแสดงได้พักเดียว แทนที่หมอจะได้ยินเสียงปรบมือ แต่หมอกลับได้ยินแต่เสียงหัวเราะปนเสียงบ่นเวทนาจากคนดูตลอดการแสดง

สิ่งที่หมอประจักษ์ด้วยตา คือ แฝดทั้งสองมีสภาพของผู้สูงวัยเงอะงะ งุ่มง่าม ไม่น่าดูชมแต่ประการใด การแสดงน่าเบื่อหน่ายจนคุณหมอทำใจไม่ได้ เลยต้องขอลุกออกจากห้องชมการแสดงก่อนจบ

ในที่สุด หมอเวอร์โชว์ผู้ใส่ใจกับลุงแฝด จึงยอมรับนัดให้ไปพบเพื่อตรวจร่างกายอย่างเป็นทางการ

จากการตรวจของแพทย์ชาวเยอรมันที่ชื่อเวอร์โชว์ราว ๑ ชั่วโมง คุณหมอบอกว่าจะส่งผลการตรวจวิเคราะห์ให้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยเร็วที่สุด แต่ที่หมอบอกได้ทันทีหลังการตรวจ คือ แฝดทั้งสองกำลังจะเป็นคนหูตึง โดยแฝดคนหนึ่งจะเริ่มหูตึงก่อน และจะตามด้วยแฝดอีกคน

หมอวินิจฉัยได้ตรงเป๊ะ เพราะแฝดจันเริ่มหูตึงทั้งสองข้างแล้ว ส่วนของแฝดอินนั้น หูข้างซ้ายด้านที่ติดกับแฝดจัน ก็เริ่มไม่ได้ยินเสียง

นอกจากนั้น หมอยังบันทึกไว้ด้วยว่า ใน ๑ นาทีชีพจรของแฝดจันเต้นเร็วกว่าของแฝดอิน ๖-๘ ครั้ง และแฝดจันหายใจเร็วกว่าแฝดอิน

ทีมแพทย์เยอรมันในเบอร์ลินยังระบุด้วยว่า สำหรับอวัยวะภายในของแฝดนั้น ทีมแพทย์ไม่มั่นใจประเด็นเดียว คือ แฝดใช้ตับร่วมกันหรือไม่?

นี่เป็นข้อมูลที่คุณหมอเยอรมันบันทึกไว้เกือบ ๒๐๐ ปีที่แล้วครับ

ยุคสมัยนั้น ยังไม่มีเครื่องเอกซเรย์ที่จะมองเห็นตับ ไต ไส้ พุง ในร่างกาย หมอก็บอกอะไรมากไม่ได้นัก แต่สำหรับยุคปัจจุบันหมอบอกเราได้ทุกอย่างเหมือนหมอเดินเข้าไปในปากเรา แล้วเห็นทุกอย่างในร่างกาย (ผู้เขียน)

ลุงแฝดตระเวนแสวงหาหมอเพื่อผ่าตัดแยกร่างมาเกือบตลอดชีวิต อเมริกา อังกฤษ และเยอรมัน ยังไม่เคยมีหมอสำนักไหนกล้าลงมือผ่าให้ ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ที่ตรงกันทั้งหมด คือ ถ้าผ่าแยกร่างคือการเสียชีวิต

ความฝันดับวูบลงอีกครั้ง ในเบอร์ลินผ่าแยกร่างไม่ได้ หมอไม่ลงมีดเฉือนให้ แถมยังกำลังจะกลายเป็นคนหูหนวกตอนแก่

ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ไม่มีคำว่าท้อถอย

คณะของลุงแฝด ๕ คนนำโดยนายวอลเลซ เก็บข้าวของย้ายวิก ออกเดินทางต่อไปเมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St.Petersberg) แล้วเดินทางต่อไป มุ่งหน้ามอสโก

การประสานงานล่วงหน้าทำได้อย่างยอดเยี่ยม ลุงแฝดได้รับการต้อนรับอย่างดีในเมืองหลวงของรัสเซียเช่นเดียวกับทุกประเทศที่ผ่านมา ผู้เขียนพยายามค้นหาข้อมูลการแสดงในมอสโก ไม่มีบันทึกให้คนรุ่นหลังได้ติดตาม

ความเป็นคนดังของแฝดกระหึ่มในมอสโก ทำให้ทหารของพระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ ที่ ๒ มาพบหลังเวที เพื่อขอเทียบเชิญแฝดสยามผู้อาวุโสและบุตรทั้งสองไปเข้าเฝ้าท่านฯ ในพระราชวัง

โอ้ว พระเจ้าช่วย…แฝดสยามนอนไม่หลับอีกแล้ว

ลุงแฝดพร้อมด้วยเจมส์ อายุ ๒๑ ปี และอัลเบิร์ต อายุ ๑๒ ปี เป็นแขกของพระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ กษัตริย์ของรัสเซีย เดินทางเข้าไปในพระราชวังอย่างสง่างาม

อิน-จัน ต้องตกตะลึงอีกครั้งเมื่อพระเจ้าซาร์โปรดฯ ให้ลุงแฝดจากเมืองแม่กลองไปนั่งชมการแสดงละครในพระราชวังพร้อมกับพระองค์ ที่สำคัญที่สุดคือ พระเจ้าซาร์โปรดฯ ให้อิน-จัน นั่งดูละครด้วยกันในห้องส่วนตัวของพระองค์ในโรงละคร พระเจ้าซาร์ทรงพูดคุย หยอกล้อเป็นกันเองกับสุภาพบุรุษแฝดอย่างนึกไม่ถึง

ในการสนทนากับพระเจ้าซาร์ แฝดจันได้ทูลกับพระเจ้าซาร์ว่า ลูกชาย ชื่ออัลเบิร์ต ไม่ค่อยสบาย เป็นฝีที่บริเวณลำคอ ซึ่งพระเจ้าซาร์ ทรงเมตตารับสั่งให้หมอหลวงในวังมาช่วยดูแลรักษาให้ด้วย

นี่เป็นตำนานชีวิตของบรรพบุรุษไทย ที่คนไทยรุ่นหลังควรได้รับทราบ แฝดคู่นี้ แรกเกิดมาจากท้องนางนาก ที่บ้านเรือนแพริมน้ำ เมืองแม่กลอง มีแต่คนชี้นิ้วว่าเป็นกาลกิณีกับบ้านเมือง แต่เมื่อไปอยู่อเมริกา ท่องยุโรป คนที่ร่างกายผิดปกติคู่นี้ กลับกลายเป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับเกียรติให้เข้าพบผู้นำของโลกในสมัยนั้น ชนิดที่ใครก็ทำเทียม เลียนแบบไม่ได้

แผนการเดินทางไป คือตระเวนต่อไปหาเงินในเวียนนา โรม มาดริด และตบท้ายด้วยการแสดงที่ปารีส

ในความเจิดจรัสรุ่งเรืองของยุโรปเวลานั้น แอบแฝงไปด้วยความคุกรุ่น ความขัดแย้งที่ซ่อนในใจของผู้นำประเทศ การแย่งชิงทรัพยากร การแข่งขันกันแย่งยึดดินแดนให้กว้างใหญ่ที่สุดของมหาอำนาจทั้งหลาย สะสมกันมาเหมือนไฟสุมขอน พร้อมที่จะเปิดศึกสงครามต่อกัน

นายวอลเลซ ที่เป็นผู้จัดการทีมของลุงแฝด ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ได้รับคำเตือนว่า ไฟสงครามในยุโรปกำลังก่อตัว บรรยากาศไม่อำนวยต่อการเดินทางไปหาเงิน
และข่าวลือก็เป็นความจริง ใน ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๓ ฝรั่งเศสประกาศสงครามกับปรัสเซีย (พัฒนาต่อมาเป็นประเทศเยอรมัน)

คณะ ๕ คนของแฝด มีทางเลือกเดียวเท่านั้นคือ ยกเลิกการเดินทางต่อ เก็บของกลับบ้านในอเมริกา ซึ่งในเวลานั้นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่ กำลังสร้างชาติให้แข็งแกร่ง โดยไม่เข้ามาข้องแวะกับความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ในยุโรป

จากมอสโก ย้อนกลับไปฮัมบูร์ก และตีตั๋วเรือโดยสารชื่อ Gluckstadt มุ่งหน้ากลับนิวยอร์ก ระหว่างการเดินทางบนเรือ แฝดผู้มากมิตรไม่เคยเหงา เฮฮากับผู้โดยสารมากหน้าหลายตา ที่ถนัดที่สุดคือ การดวลหมากกระดานกับใครก็ได้ ที่คิดว่าเก่งพอ

วันที่ ๗ ของการเดินทางบนเรือเดินสมุทรกลับอเมริกา สถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน หลังจากการดวลหมากรุกจบ ข้อมูลแรกระบุว่า แฝดเล่นหมากรุกกับ ดร.โรเบิร์ต ประธานาธิบดีประเทศไลบีเรีย ที่เดินทางมาบนเรือ ข้อมูลที่สองระบุว่า ลุงแฝดเล่นหมากรุกกับเฟรดเดอริก ดักกลาส (Frederick Douglas) ที่ปรึกษาคนสำคัญของประธานาธิบดีลินคอล์น

เกมดวลหมากรุกที่ลุงแฝดเก่งขั้นเทพจบลง ลุงแฝดลุกขึ้นยืนพร้อมกัน ปรากฏว่า แฝดจันลุกขึ้นตามแฝดอินไม่ไหว แขนขวา และขาไม่มีแรงพยุงตัว

แฝดอินสอบถามคู่ชีวิตตัวติดกันชื่อจัน ที่เคียงข้างกันมา ๖๐ ปี จันตอบว่าไม่มีแรง ไม่สามารถขยับตัวได้เลย แขนขวาชาไปหมด ชาลงไปถึงท่อนล่างของลำตัว นี่คืออัมพาตอย่างอ่อนๆ

สัญญาณเตือนความเสื่อมทรุดของสังขาร ได้มาถึงลุงแฝดอิน-จันแล้วขณะเดินทางบนเรือในมหาสมุทรแอตแลนติกจากฮัมบูร์กกลับบ้านในอเมริกา เป็นการเจ็บป่วยแบบล้มหมอนนอนเสื่อครั้งแรกที่คนคู่ตัวติดกันไม่เคยประสบมาก่อนตั้งแต่เกิด

เมื่อแฝดจันขยับลุกออกจากเตียงไม่ได้ แฝดอินเลยต้องนอนบนที่นอนในเรือ ติดหนึบอยู่ด้วยกันตลอดการเดินทาง บนเรือไม่มีหมอที่จะดูแลรักษา

ท่านผู้อ่านคงมโนได้นะครับว่า สภาพที่แฝดทั้งสองประสบอยู่เวลานั้น แฝดอิน-จัน มีลำตัวติดกันตรงบริเวณซี่โครง แฝดจันเป็นอัมพาต แขนข้างหนึ่งและร่างกายท่อนล่างไม่มีแรง ตัวเชื่อมติดกัน จะลุกนั่งนอนเดิน จะไปห้องน้ำ ทานอาหาร มันทรมานร่างกายและจิตใจแฝดอินแค่ไหน

สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๓ เรือเดินสมุทรจากฮัมบูร์กวิ่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เทียบท่าที่นิวยอร์ก ผู้โดยสารทั้งหมดขึ้นฝั่ง ลูกชายของแฝดอิน-จัน รีบพาพ่อและลุงแฝดไปให้หมอตรวจทันที ลุงแฝดอยู่ในความดูแลของแพทย์ในนิวยอร์ก ๒-๓ วัน เมื่ออาการทุเลาลง พอจะขยับเขยื้อนได้บ้าง ครอบครัวบังเกอร์ทั้ง ๔ ชีวิตรีบเดินทางกลับบ้านที่เมาท์แอรี่ นอร์ธแคโลไรนา

หมอโจเซฟ และหมอวิลเลี่ยม โฮลลิงส์เวิธ (Dr.Joseph- Dr.William Hollingsworth) คือเพื่อนรักและแพทย์ประจำครอบครัวรุดมาตรวจร่างกายทันทีที่แฝดกลับมาถึงบ้าน

อาการของแฝดจัน คือ ไอ เหนื่อย หอบ แขนขวาและร่างกายท่อนล่างไม่มีแรง ส่วนแฝดอินยังสุขภาพดีแข็งแรง แต่สภาพจิตใจตกต่ำสุดขีด แฝดอินมีความเครียดกับแฝดจันที่เป็นคนเจ้าอารมณ์ โมโหฉุนเฉียว และแฝดจันที่บัดนี้กลายเป็นนักดื่มหัวราน้ำ

อาการของแฝดจันกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงต้องพยุงกันไปตลอดเวลา ภรรยาของแฝดที่เป็นพี่น้องคลานตามกันมา คือ ซาราห์ และอาดีเลด คือ ตัวละครที่มีชีวิตจริง ต้องทำงานหนักเพื่อประคับประคองร่างกายที่อ่อนล้าและจิตใจที่ตกต่ำของสามีแฝดทั้งสอง

เธอทั้งสองทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการดูแลสามี เปรียบประดุจของขวัญจากพระเจ้าที่ส่งมาเป็นภรรยาของแฝดสยามยามแก่เฒ่า

ตำนานชีวิตของแฝดสยามนักสู้จากเมืองแม่กลองยิ่งใหญ่ตลอดกาล ช่วงสุดท้ายของชีวิตแฝดบันลือโลกกำลังวิ่งเข้ามาหา งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา





• เมื่อพญามัจจุราช กวักมือเรียกทีละคน

ชีวิตของคนคู่ตัวติดกัน ที่เรียกว่า Siamese Twins หรือ แฝดสยาม อิน-จัน บรรพบุรุษของชาวไทยจากเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม ที่ไปใช้ชีวิตในอเมริกาย่างเข้าสู่วัย ๖๐ ปี โชกโชนด้วยประสบการณ์ขั้นเทพ ร่างกายที่แปลกประหลาดน่าจะเป็นกาลกิณีอับอาย น่าจะเป็นอุปสรรคของชีวิต ผู้คนทั้งหลายเย้ยหยัน แต่คนคู่อิน-จัน กลับใช้ชีวิตได้อย่างสง่างาม มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เดินทางท่องโลก มีเงินมีทอง มีครอบครัวในอเมริกา สร้างตำนานระดับโลกต้องจารึก

ลุงแฝดหอบหิ้วพะรุงพะรังกันกลับมาบ้านในอเมริกาหลังจากยุติแสดงตัวหาเงินในเยอรมันและรัสเซีย เพราะเกิดสงครามในยุโรป แฝดจันเป็นอัมพาต ท่อนล่างของลำตัวไม่มีแรง แขนขวาไม่มีกำลังเป็นตัวรั้งหน่วงแฝดอินให้ต้องหอบหิ้วกัน ใช้เชือกรั้งร่างกายให้พยุงกันไปไหนต่อไหนได้บ้าง

แฝดอิน-จัน ตระหนักดีว่า การที่ร่างกายเชื่อมติดกัน และอวัยวะภายในร่างกายยังคงเป็นปริศนาแบบนี้ หากวันหนึ่งใครสักคนต้องตายลงก่อน จะทำให้อีกคนต้องตายตามเป็นแน่แท้

ทางออกที่ง่ายที่สุดคือ แยกร่างกายออกจากกันเป็นอิสระ ขอเป็นคน ๒ คน ๒ ร่างกาย แต่ที่ผ่านมาทั้งชีวิต ไม่มีหมอที่ไหนยอมผ่าตัดแยกร่างให้

คนเป็นอัมพาตตัวคนเดียวก็น่าอึดอัดอยู่แล้ว แต่นี่คน ๒ คน ดันมีร่างกายตรงบริเวณหน้าอกเชื่อมติดกัน ยิ่งเป็นความระทมขมขื่นเป็นสองเท่า

กฎแบ่งกันอยู่บ้านละ ๓ วันมานานนับ ๑๐ ปี ยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัด บ้านของแฝดอินและบ้านของแฝดจัน ๒ ที่ เมาท์แอรี่ เมืองเล็กๆ ในชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐ นอร์ธแคโรไลนา ห่างกันราว ๑ ไมล์ แยกกันอยู่เพื่อลดความแออัดและลดการกระทบกระทั่งอย่างได้ผล

ครอบครัวของแฝดทั้งสอง มีหมอโจและหมอบิลลี่ เพื่อนรักของลุงแฝดทำหน้าที่คอยดูแลมายาวนาน หมอทั้งสองประคองดูแลสุขภาพให้แฝดทั้งสองมีสุขภาพร่างกายดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปัญหาหลักคือ แฝดจันพยายามบำบัดความกลัดกลุ้มด้วยการใช้เหล้าเป็นตัวช่วยเสมอมา

วันที่แฝดจันไม่กินเหล้า แฝดทั้งสองก็เป็นปกติสุข แยกสั่งการคนงานในไร่ของตนให้ทำงาน บริหารจัดการธุรกิจ ทำมาค้าขายแบบที่เพื่อนบ้านอเมริกันยังต้องอิจฉา แต่เมื่อดื่มเหล้าแฝดจันจะกลายเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจที่สุดที่ไม่สามารถผลักไสออกไปได้ และการทะเลาะเบาะแว้ง มีปากเสียงก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ทุกครั้งที่ทะเลาะกัน จะจบลงด้วยความใจเย็นของแฝดอินที่คอยปลอบประโลมและเอื้อเฟื้อต่อแฝดจันเสมอ และแฝดจันก็จะขอโทษขอโพยแฝดอิน เป็นเช่นนี้ร่ำไป แต่ไหนแต่ไรตั้งแต่เป็นเด็กแถวเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม

การทำมาหาเลี้ยงชีพ แฝดทั้งสองทุ่มเทกับการเกษตร ที่ดิน ทรัพย์สินของแฝดแยกขาดจากกัน

แฝดจันมีลูกเหลือ ๙ คน ทำมาค้าขายเก่ง มีกิจการผลิตเนย ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ในที่ดิน ๓๕๐ เอเคอร์ มีคนงานผิวสีทำไร่ ๓ คน มีการประเมินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเสียภาษีว่า ทรัพย์สินของแฝดจันมีค่ารวมราว  ๒๓,๐๐๐ เหรียญ ถือได้ว่าเป็นผู้มีอันจะกินในสังคมชนบทของอเมริกา

ส่วนแฝดอิน ผู้ใจดี ใจเย็น ได้รับการประเมินทรัพย์สินและที่ดินเป็นมูลค่าราว ๗,๐๐๐ เหรียญ น้อยกว่าแฝดอิน แต่ครอบครัวก็สุขสบายพอตัว

ถ้าอารมณ์ดีๆ อากาศแจ่มใส ลุงแฝดทั้งสองจะชวนกันนั่งรถม้าออกไปกินลมชมวิว ทักทายเพื่อนฝูง เฮฮา เพื่อผ่อนคลาย และบางครั้งยังเข้าไปช้อปปิ้งถึงในเมือง ซึ่งแทบทุกคนจะคุ้นเคยกับลุงอิน-จัน คู่นี้เป็นอย่างดี

หนังสือพิมพ์ยังติดตามเขียนข่าวชีวิตและครอบครัวของลุงแฝดเป็นระยะๆ

ความโชคดี โดดเด่นของแฝดคู่นี้ประการหนึ่งที่ฝรั่งเขียนบันทึกไว้คือ ความสามารถและพลังทางเพศที่เหลือเฟือ

ที่ผ่านมา หลังแต่งงาน ทั้งคู่แทบไม่เคยปล่อยให้ภรรยาท้องว่าง ทั้งสองมีลูกต่อเนื่องกันมา ประดุจจูงมือกันเดินแถวออกมาจากครรภ์ของซาร่าห์และอาดีเลดได้

ลูกสาวคนสุดท้ายของแฝดจัน ชื่อ แฮตตี้ คลอดออกมาก่อนแฝดจันเป็นอัมพาต ๒ ปี

ส่วนโรเบิร์ต ลูกชายคนสุดท้องของแฝดอิน เกิดก่อนแฝดจันเป็นอัมพาต ๓ ปี

แปลความหมายได้ว่า แฝดอายุใกล้ ๖๐ กันแล้ว ยังทำให้ภรรยาทั้งสองตั้งครรภ์ได้ ถือเป็นพรสวรรค์เฉพาะตัวที่พระเจ้าประทานมาให้

อย่าลืมนะครับว่า ลุงแฝดตัวติดกัน คงชวนกัน สะกิดกัน และมีความสุขกายสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย ๔ คนเสมอมา

ท่ามกลางความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุลักทุเล ครอบครัวทั้งสองยังมีความเห็นใจ ห่วงใยเอื้ออาทรต่อกันเสมอ เมื่ออายุมากขึ้นเพื่อนฝูงทั้งหลาย งานสังคมที่เคยไปร่วมเสมอก็ต้องถอยตัวเองออกมา อยู่กับความจริงของชีวิต

เกล็ดตำนานที่ผู้พิพากษาเกรฟส์ เพื่อนรักของลุงแฝด บันทึกเอาไว้ระบุว่า อยู่มาวันหนึ่ง แฝดได้รับจดหมายจากเมืองสยาม เขียนโดยนายชู แจ้งมายังน้าแฝดว่า นายน้อยพี่ชายของแฝดที่เหลืออยู่คนเดียวเสียชีวิตแล้วที่บ้านแม่กลอง ภรรยาของลุงน้อยและลูก ๘ คน ยังอยู่ในเมืองแม่กลอง

นายชูคนนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นลูกของพี่สาวแฝดที่ไปแต่งงานกับคหบดีในบางกอก และนายชูคนนี้เคยมาเยี่ยมน้าแฝดที่อเมริกา มีการศึกษาได้เรียนหนังสือในบางกอก
ขอนำพาท่านผู้อ่านย้อนอดีต กลับมามองสยามว่าในห้วงเวลานั้นมีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจบ้าง

ในช่วงที่แฝดสยามออกจากสยามไปอเมริกา ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ มาบัดนี้กลายเป็นลุงแฝดที่อายุ ๖๓ ปี ซึ่งตรงกับรัชสมัยของในหลวง ร.๕ ในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น ในหลวง ร.๕ เสด็จเยือนเกาะสิงคโปร์และเกาะชวา (อินโดนีเซีย) เป็นครั้งแรก โปรดเกล้าฯ ให้เลิกทรงผมมหาดไทย โปรดเกล้าฯ ให้เลิกการหมอบคลานเวลาเข้าเฝ้าฯ ทรงให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาส ทรงให้ตั้งโรงเรียนสตรีวังหลัง โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือรัฐมนตรีสภา และโปรดเกล้าฯให้ปรับปรุงกิจการทหารให้เป็นแบบตะวันตกครั้งใหญ่

กลับไปดูตำนานชีวิตลุงแฝดที่กำลังป่วย ในอเมริกาครับ

แฝดจันอาการยังไม่ดีขึ้นจากอัมพาตท่อนล่างของลำตัว สุขภาพมีแต่ทรงกับทรุด แต่สิ่งที่สุภาพบุรุษทั้งสองท่านไม่เคยงอแง คือ กฎอยู่บ้านละ ๓ วันที่ยึดถือกันมามากกว่า ๑๐ ปี
ในช่วงเวลา ๓ วันที่ไปอยู่บ้านของแฝดอิน แฝดจันก็จะต้องหุบปาก ให้แฝดอินเป็นนาย แฝดจันต้องให้ความร่วมมือทุกอย่าง และนี่คือ ๓ วันที่แฝดอินห้ามแฝดจันดื่มเหล้าเด็ดขาด ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดี

แต่ ๓ วันถัดมา เมื่อต้องหมุนเวียนไปอยู่ที่บ้านแฝดจัน แฝดอินจะต้องทำเหมือนกับว่าไม่มีตัวตนในโลกนี้ แฝดจันจะกินเหล้าหัวราน้ำ แฝดอินก็ต้องหุบปากเงียบ

นี่คือวงจรชีวิตสุดแสนพิสดารของแฝดบันลือโลกคู่นี้ที่เรียกว่า Siamese Twins ที่ฝรั่งต้องเอามาตีแผ่ให้คนทั้งโลกทราบ

ช่วงเวลาแห่งความเจ็บป่วยแสนขลุกขลักผ่านไปราว ๓ ปี

เช้าวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๑๗ เป็นห้วงเวลาที่แฝดทั้งสองต้องอยู่บ้านของแฝดจัน หนุ่มคาวบอยในชุมชน ชื่อ เชฟเพิร์ด มอนโร ดักเกอร์ แวะเวียนมาเยี่ยมลุงแฝด ทักทายพูดคุยพอหอมปากหอมคอ แล้วลากลับ แฝดจันเริ่มมีอาการไอต่อเนื่อง หนักขึ้นและหนักขึ้น เหนื่อย หอบ เจ็บหน้าอก หมดเรี่ยวแรง ซึ่งเดิมก็เป็นอัมพาตอยู่ก่อนแล้ว

หนุ่มน้อยดักเกอร์คงไม่ทราบหรอกว่า เขาคือแขกคนสุดท้ายในชีวิตของ Siamese Twins แฝดบันลือโลกที่ได้มาพบปะพูดคุยด้วย
หลังจากเพื่อนบ้านกลับไปแล้ว แฝดจันไอไม่หยุด บ่นเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หน้าตาบอกบุญไม่รับ

อาดีเลดภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของแฝดจันรีบให้รถม้าไปรับหมอโจตามที่เคยรับปากไว้ ว่าเรียกได้ตลอดเวลา แต่ปรากฏว่าหมอวิลเลี่ยม (ฝรั่งเรียกว่า บิลลี่) นั่งรถม้ามาแทน
หมอบิลลี่ลงความเห็นว่า แฝดจันหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) ต้องนอนพักผ่อน ห้ามออกไปโดนความหนาวเย็น ทำให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ ส่วนแฝดอินร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ

แฝดอินที่แข็งแรงดีทำตามหมอสั่ง ให้ความร่วมมือเต็มที่ นอนก็นอนด้วยกันบนเตียงถึงแม้จะไม่ป่วยตลอดจันทร์-อังคาร-พุธ เพราะไม่รู้จะหนีไปไหนมาตั้ง ๖๓ ปีแล้ว ทั้งคู่นอนคุยกัน ให้กำลังใจ ดูแลกันเป็นอย่างดี ความรักของแฝดที่มีต่อกัน ยิ่งใหญ่มากกว่าตำนานรักใดๆ ในโลกนี้ แฝดจันอาการดีขึ้นเล็กน้อย

กฎ ๓ วันเป็นสิ่งที่แฝดจันต้องเคารพแบบไม่มีวันอ่อนข้อ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มกราคม อาการของแฝดจันทรงตัว ไอน้อยลง แต่ยังคงต้องพักผ่อน ทำร่างกายให้อบอุ่นเสมอ เมื่ออาการกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แฝดจันยืนยันว่าจะต้องย้ายไปอยู่บ้านของแฝดอินตามกติกา ๓ วัน

แฝดอินขอร้องว่าไม่ต้องย้ายไปบ้านแฝดอินหรอก เพราะหมอไม่ให้กระทบหนาว ร่างกายต้องอุ่นตลอดเวลา อาดีเลด ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากก็ร้องขอ มิให้สามีเดินทางระยะ ๑ ไมล์เพราะอากาศหนาวจัด

รถม้าเป็นรถเปิดประทุน ไม่มีหลังคา และเย็นวันนั้นอุณหภูมิดิ่งลงสู่จุดเยือกแข็ง หิมะกระหน่ำไร้ความปรานี ถนนขรุขระเต็มไปด้วยหิมะ

แฝดจันเป็นสุภาพบุรุษรักษาคำพูด ในที่สุดแฝดทั้งสองทุลักทุเลหอบหิ้วกันนั่งรถม้าวิ่งฝ่าหิมะ ฝ่าความหนาวเพื่อไปบ้านของแฝดอินตามกติกาบ้านละ ๓ วัน

ตามกติกาเรื่องบ้านละ ๓ วันนั้น จะต้องเดินทางไปให้ถึงก่อนค่ำมืด รถม้าวิ่งฝ่าความหนาวเย็นมาตลอดทาง แฝดทั้งสองที่ตระกองกอดกันมาตั้งแต่เริ่มหัดเดินที่เมืองแม่กลอง ผ่านมา ๖๓ ปี มาจนบัดนี้ก็ยังต้องกอดกันเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ชีวิตบั้นปลาย

เวลาผ่านไปนานเกินจะจดจำ รถม้าไปถึงบ้านของแฝดอิน ซาราห์และลูกๆ ลงมาช่วยกันพาพ่อและอาจันที่ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ และกำลังไอจนหมดแรงขึ้นบ้านทันที
ซาราห์เตรียมซุปร้อนๆ ไว้ต้อนรับสามีและคู่แฝด แฝดจันทานได้ไม่มากนัก เพราะหนาวสั่น และดูเหมือนว่าอาการป่วยจะทรุดลงไปจากความหนาวเย็นที่เพิ่งผจญมาบนรถม้า
ลุงแฝดทานอาหารเสร็จ ทุกคนในบ้านแยกย้ายกันไป

แฝดจันขอร้องให้แฝดอินพากันไปนั่งผิงที่หน้าเตาผิงในบ้านเพื่อรับไออุ่นจากกองฟืนที่เผาไหม้ คนคู่สู้ชีวิตนั่งคุยกันหน้าเตาผิงเป็นเวลานานพอที่จะรับรู้ความรักแท้ที่เป็นนิรันดร์
เมื่อแฝดอินรู้สึกดีขึ้น แฝดคู่ทุกข์คู่ยากก็ประคองกันไปที่ห้องนอน ทันทีที่แผ่นหลังถึงฟูก แฝดจันหลับปุ๋ย

รุ่งสางวันต่อมา เมื่อรู้สึกตัวตื่น แฝดจันบอกกับแฝดอินว่า เมื่อคืนเจ็บหน้าอกมาก เจ็บทั้งคืน นึกว่าจะตายซะแล้ว

เช้าวันศุกร์ที่ ๑๖ มกราคม อาดีเลดเข้ามาสอบถามอาการสามี ซึ่งแฝดจันฝืนตอบไปว่า ดีขึ้นแล้ว ไม่ต้องห่วง แต่ในความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น อาการของแฝดจันทรุดลง ลุงแฝดทั้งสองนั่งๆ นอนๆ ในบ้าน คุยกันเรื่อยเปื่อยแก้เหงายาวไปจนถึงอาหารค่ำ

หลังอาหารค่ำ ที่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันแบบอบอุ่นแฝดพร้อมใจกันเข้านอน

มันเป็นคืนที่เงียบสงัด วังเวง และเย็นยะเยือก

แฝดอินที่สุขภาพดี แข็งแรง เมื่อหัวถึงหมอนหลับสนิท ส่วนแฝดจันที่อาการไม่ค่อยดียังไม่หลับ อึดอัด หายใจลำบาก

แฝดจันสะกิดคู่ชีวิตตัวติดกันที่กำลังกรนให้ตื่น เพื่อขอให้พาไปสูดอากาศบริสุทธิ์ใกล้หน้าต่าง หลังจากสูดอากาศ ดื่มน้ำนิดหน่อย แฝดจันจึงชวนแฝดอินกลับเข้าไปนอน
แฝดอินชิงหลับก่อนได้อีกครั้ง แฝดจันยังไม่หลับ และกระสับกระส่าย

นาฬิกาชีวิตเดินผ่านเที่ยงคืน ข้ามไปวันเสาร์ที่ ๑๗ มกราคม แฝดจันก็ยังไม่หลับ แถมสะกิดแฝดอินให้พาไปนั่งผิงไฟที่ห้องผิงไฟอีกครั้ง แฝดอินงัวเงียปฏิเสธที่จะลุกขึ้น บอกว่าบนเตียงนี่ก็อุ่นพอแล้ว

แฝดจันยืนยันว่า หายใจไม่ออก เขย่าตัวแฝดอินบนเตียง และในที่สุดแฝดอินผู้ให้มาตลอดชีวิต ก็ประคองแฝดจันมานั่งบนเก้าอี้แฝดในห้องที่มีเตาผิงไฟ

ราวตี ๑ เศษ หลังจากคุยกันจนอิ่ม ทั้งสองประคองกันกลับไปที่เตียงอีกครั้ง ทั้งสองเอนกายลงบนเตียงพร้อมกัน คราวนี้แฝดจันผล็อยหลับทันทีที่หลังแตะฟูก

ราวตี ๔ มีเสียงร้องเรียกออกมาจากห้องของแฝด ทุกคนในบ้านไม่รู้สึกแปลกใจอันใด แต่วิลเลี่ยมลูกชายวัย ๑๘ ของแฝดอิน ถือตะเกียงลุกไปดูห้องนอนพ่อ

วิลเลียมเปิดผ้าห่มดูอาการหายใจของพ่อ ที่บริเวณหน้าอกมีการขยับเล็กน้อย และถามพ่อว่าเป็นไงบ้าง แฝดอินตอบลูกว่า พ่อสบายดี ไม่เป็นอะไร และบอกให้ไปดูอาจัน

วิลเลียมเดินอ้อมเตียงไปอีกด้าน ขยับตะเกียงในมือลงไปใกล้ตัวอาจัน เพ่งมองที่หน้าอกชั่วครู่ใหญ่ ไม่มีการไหวติง หน้าอกนิ่งสนิท และเมื่อเอื้อมมือไปแตะลำตัวอาจัน สัมผัสที่มือได้รับคือความเย็นเยือก

วิลเลียมพูดพึมพำในลำคอว่า อาจันตายแล้ว !

วิลเลียมตะโกนเรียกคนในบ้านให้มาช่วยกันดูอาจันอีกครั้ง ซึ่งสมาชิกในบ้านทุกคนมาสัมผัส พยายามขยับ ปลุกแล้วปลุกอีก แต่อาจันหาได้ไหวติงแต่ประการใดไม่

แฝดอินที่นอนเคียงคู่ทราบดีว่า พญามัจจุราชได้มานำตัวแฝดจันไปแล้วเป็นคนแรก

เสียงร้องไห้ระงมตกใจ เสียใจดังทั่วบ้าน เสียงคร่ำครวญจากลูกหลานโหยหวนระคนกันไป

แฝดอินอยู่ในอาการผวาสุดขีด พึมพำในลำคอฟังไม่ได้ศัพท์ เพราะแฝดอินคือ คนเดียวบนปฐพีนี้ที่ทราบว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเขา

ประโยคเดียวที่พอฟังรู้เรื่องจากปากของแฝดอิน คือ ต่อไปก็ฉันนะสิ !

พญามัจจุราชมารับแฝดจันไปก่อน ร่างกายคน ๒ คนที่เชื่อมติดกันมา ๖๒ ปี มีการใช้อวัยวะร่วมกันมาตลอด พญามัจจุราชจะจัดการอย่างไรต่อไปกับแฝดอิน


เชิญติดตามตอนต่อไปครับ
3105  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / ไข่เสี่ยงทาย เมื่อ: 18 มิถุนายน 2559 17:03:05



• ไข่เสี่ยงทาย

ในมานวธรรมศาสตร์ ว่า เมื่อครั้งที่โลกยังว่างเปล่ายังไม่มีสรรพสัตว์ พระอาตมภูได้ทรงสร้างน้ำขึ้นก่อน แล้วทรงเอาพืชหว่านลงไป ยังเกิดเป็น “ไข่ทอง” แล้วแตกออกเกิดเป็นพระพรหม (เรื่องข้างสำรับ ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์พิมพ์คำ  พ.ศ.๒๕๕๙)

อีกตำราขยายความออกไป เปลือกไข่ที่แตกออกเป็นสองซีกนั้น ซีกข้างบนเป็นฟ้า ซีกข้างล่างกลายเป็นแผ่นดิน ความเชื่อพรหมเกิดจากไข่ โบราณาจารย์จึงเอาไข่ต้มเสียบไว้บนยอดกรวยข้าวที่บายศรี นี่คือที่มาของไข่ยอดบายศรี

เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ผู้หญิงมีท้องนิยมเอาไปรับประทาน เชื่อกันว่าช่วยให้คลอดลูกง่าย มนุษย์นิยมกินไข่กันมานาน ชาวโรมันเชื่อว่า เมื่อทุบไข่กินแล้วต้องรีบทำลายเปลือกไข่ เพราะอาจเป็นโอกาสให้พ่อมดหมอผีเอาไปเสกทำร้ายคนกินไข่ได้

ชาวเกาะอังกฤษ มีเรื่องเล่า พวกเงือกรู้ความลับของน้ำต้มไข่ แต่ความลับนั้นคืออะไร เงือกไม่ยอมบอก

ชาติต่างๆ ในสมัยโบราณ เช่น อียิปต์ อิหร่าน โรมัน เชื่อว่าเคล็ดลับของชีวิตอยู่ในไข่ ชาวอิหร่านนิยมระบายสีไข่ แล้วส่งเป็นของขวัญในวันปีใหม่ วันนั้นจึงได้อีกชื่อว่า วันรื่นเริงไข่ ยิวนิยมส่งไข่เหมือนกัน แต่ต้มเสียก่อนแล้วระบายสี ในพิธีแต่งงานชาวยิว ชาวโมร็อกโก เจ้าบ่าวต้องเอาไข่ปาเจ้าสาว ถือเป็นเคล็ดลับทำให้เจ้าสาวคลอดลูกง่าย

ยิวในรัสเซีย นิยมเอาไข่ไปวางตรงหน้าเจ้าสาว เป็นความหมาย ขอให้ลูกดกคลอดง่าย เหมือนไก่ออกไข่

ประเพณีฝรั่งมีฤดูถือศีลอดอาหาร ระหว่างนี้ห้ามกินไข่ จะกินได้ก็ต่อเมื่อถึงเทศกาลอีสเตอร์ และจะมีการส่งไข่ที่เขียนภาพไว้ให้กันในระหว่างเพื่อนฝูง

ไข่...ในเรื่องเล่าเหล่านี้ ดูจะหมายถึงไข่ไก่ หากจะพูดถึงเรื่องไข่เป็ด...ก็มีเรื่องส่วยไข่เป็ด ในตำนานศรีวิชัย

ในสมัยศรีวิชัย เอาว่าก็ราวๆ พันปี นิยมเลี้ยงเป็ดกันแล้ว พระยาจันทรภาณุ น้องพระยาศรีธรรมาโศกราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นชื่อว่าเลี้ยงเป็ดไว้มาก ในขณะที่เมืองศรีวิชัยในชวา เลี้ยงเป็ดไม่เป็น ไม่มีไข่เป็ดกิน พระเจ้าศรีวิชัยวางอุบาย ส่งหนังสือมาบอกว่า จะยกพระธิดาให้เป็นชายา ให้พระยาจันทรภาณุเดินทางไปรับ เมื่อพระยาจันทรภาณุไป ก็ถูกจับ แต่เมื่อเจรจากันบรรลุข้อตกลง นครศรีธรรมราชจะส่งส่วยไข่เป็ดให้ศรีวิชัย พระยาจันทรภาณุจึงถูกปล่อยตัวกลับ แต่ไม่มีเรื่องเล่าได้ธิดาเจ้าศรีวิชัยมาเป็นชายาด้วยหรือเปล่า

นอกจากเอาไข่กินเป็นอาหาร ส่งไข่เป็นของขวัญ และถึงขั้นต้องส่งส่วยไข่ อาจารย์ ส.พลายน้อย เล่าว่า หมอกลางบ้าน ชาวอินเดียตะวันออก ยังใช้ไข่เป็นเครื่องเสี่ยงทาย ในกรณีที่มีคนเจ็บป่วย มีกระดานแผ่นเล็กๆ ยาวราว ๖ นิ้ว กว้างราว ๔ นิ้ว วางไว้ในกระจาด

หมอถือไข่ไว้ให้ตรงกระดาน ปล่อยไข่ให้ตกลงไป แล้วทำนายไปตามลักษณะที่ไข่ตก เช่น เอียงไปทางซ้าย ค่อนไปทางขวา หรือตรงกลาง บางทีก็ดูไข่แดงว่าแตกเป็นรูปอะไร ถ้าไข่แดงแตกเป็นรูปสี่เหลี่ยม ท่านว่าร้ายมาก บอกอาการตายของคนเจ็บจะตายมากกว่าจะอยู่ คนไทยโดยทั่วไปมีเรื่องราวและคำพูดเกี่ยวกับไก่มากมาย แต่เรื่องไข่มีน้อย ที่ติดปาก คือตั้งไข่ สำนวนนี้หมายความถึง เด็กทารกมีอายุถึงระยะจะยืน อย่างที่เรียกว่า “สอนยืน” ตอนสอนยืนเด็กยังทรงตัวไม่ได้ ก็ล้มๆ ลุกๆ คล้ายกับการเอามาตั้ง จึงเรียก “ตั้งไข่” บทสำหรับเด็กร้องเล่นบทหนึ่ง “ตั้งไข่ล้ม ต้มไข่กิน ไข่ตกดิน ใครจะกินไข่เน้อ...”
        ฯลฯ


ที่มา : “ไข่เสี่ยงทาย” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙
3106  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: จิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว สืบสานเรื่องราว "ปูม่าน-ย่าม่าน" วัดภูมินทร์ จ.น่าน เมื่อ: 18 มิถุนายน 2559 15:00:54































ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในกระทู้
แกะรอย "กระซิบรักบรรลือโลก" ปู่ม่าน-ย่าม่าน วัดภูมินทร์ จ.น่าน
โดยกดอ่านที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีเทาด้านล่างค่ะ
http://www.sookjai.com/index.php?topic=168579.0
3107  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / จิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว สืบสานเรื่องราว "ปูม่าน-ย่าม่าน" วัดภูมินทร์ จ.น่าน เมื่อ: 18 มิถุนายน 2559 14:35:13
.


จิตรกรรมฝาผนังพระวิหารวัดหนองบัว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน


เชื่อว่าเป็นฝีมือชาวไทลื้อเมืองน่าน เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕
ด้วยเอกลักษณ์ทางศิลปะที่แตกต่างจากช่างฝีมือท่านอื่นในแถบล้านนา
รวมทั้งลวดลายและการให้สีของภาพ มีความใกล้เคียงกับจิตรกรรมวัดภูมินทร์
จึงสันนิษฐานว่า ผู้วาดจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดหนองบัว เป็นศิลปินคนเดียวกัน
ที่ฝากฝีมือไว้ที่พระวิหารวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

จิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว
ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
ภาพ : ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

บ้านหนองบัว เป็นชุมชนโบราณ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๕ หรือประมาณ ๑๙๔ ปีล่วงมาแล้ว โดยการนำของเจ้าหลวงเมืองหล้า  ชาวไทลื้อจากแคว้นสิบสองปันนา มณฑณยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้อพยพผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแคว้นล้านนา ราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์  โดยแยกผู้อพยพเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่ ๑ ไปอยู่บ้านล้าหลวง อ.เชียงคำ จ.พะเยา กลุ่มที่ ๒ มาอยู่บ้านหนองบัว และได้แผ่ขยายเครือญาติไปยังบ้านต้นฮ่าง ต.ป่าคา และบ้านดอนมูล ต.ศรีภูมิ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ซึ่งผู้สืบสายบรรพบุรุษยังดำรงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง รวมทั้งภาษาพูด สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  

ในเดือนธันวาคม ของทุกๆ ๓ ปี ชาวบ้านหนองบัว จะจัดให้มีพิธีเชิญดวงวิญญาณของเจ้าหลวงเมืองหล้า ที่ชาวไทลื้อนับถือมาบวงสรวง พร้อมกับมีพิธีกรรมอันเก่าแก่ที่ชนรุ่นปัจจุบันได้รักษาไว้และหาดูได้ยาก

วัดหนองบัว สร้างขึ้นในราว พ.ศ.๒๔๐๕ (สมัยรัชกาลที่ ๔) โดยท่านสุนันต๊ะ (ครูบาหลวง) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงนำชาวบ้านสร้างขึ้นเป็นวัดประจำหมู่บ้านหนองบัว เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านไทยลื้ออันสงบร่มเย็น วัดแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานทางสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมฝาผนังชิ้นเอกอันงดงามใกล้เคียงกับวัดภูมินทร์ของเมืองน่าน  

เนื่องจากเป็นวัดที่สร้างอยู่ในชนบท ลักษณะของการตกแต่งภายในตัววิหารเรียบง่ายกว่า  ทั้งลักษณะวิหารก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา  แต่กระนั้นวิหารวัดหนองบัวก็เป็นอาคารที่ทรงคุณค่าในแง่สถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่สวยงามและหาชมได้ยาก กล่าวกันว่า แต่แรกนั้นยังไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เข้าใจว่าจะเขียนขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๐-๒๔๔๙ (สมัยรัชกาลที่ ๕)






พระประธานประจำพระวิหารวัดหนองบัว


พระวิหารวัดหนองบัว ภายในเขียนภาพจิตรกรรมที่หาชมได้ยากยิ่ง

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารวัดหนองบัว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน
สันนิษฐานว่าผู้วาดเป็นคนๆ เดียวกันกับที่วาดภาพ "ปู่ม่าน-ย่าม่าน"
ที่พระวิหารวัดภูมินทร์ อ.เมือง จ.น่าน

* ดูภาพ "ปู่ม่าน-ย่าม่าน" ที่กระทู้ด้านล่าง โดยกดตัวอักษรสีเทาด้านล่างสุดค่ะ






























ศิลปินผู้วาดจิตรกรรมพระวิหาร ได้วาดรูปของตนเองพร้อมจารึกชื่อไว้ที่ผนังพระวิหารด้วย
แต่ภาพเลือนลาง และชื่อผู้วาดลบเลือนหายไป เนื่องจากเกิดอุทกภัย-น้ำท่วมพระวิหาร


ผู้บอกเล่าเรื่องราวของศิลปินไทลื้อ ผู้วาดภาพ
3108  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อ: 17 มิถุนายน 2559 16:35:13



สามเณรเสฐียรพงษ์  วรรณปก

ส่วนสามเณรรูปถัดมานี้ ชื่อ ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นอาจารย์หรือนักวิชาการทางด้านพุทธศาสนาและภาษาบาลี ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ และยังเป็นนักเขียนบทกวี ตำรา และบทความในนิตยสารหลายฉบับ

ประวัติและการศึกษา เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๒ ที่บ้านโนนสูง ตำบลเลิงแฝก (ปัจจุบันคือ ตำบลหนองแวง) อำเภอบรบือ (ปัจจุบันคืออำเภอกุดรัง) จังหวัดมหาสารคาม

เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอัมพวัน ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ศึกษานักธรรมและบาลีไวยากรณ์ กับอาจารย์มหาบุดดี ปุญญากโร (บุดดี สุวรรณคำ) เจ้าอาวาส  จนกระทั่งสอบได้นักธรรมโทจึงได้ย้ายไปศึกษาต่อที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยเป็นลูกศิษย์พระมหาชม ธมฺมธีโร (พระราชปริยัติยาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม)

สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญ ๓ ประโยค หลังจากนั้นกลับไปอยู่ที่วัดอัมพวันในบ้านเกิดสอบได้เปรียญ ๔ ประโยค แล้วจึงเดินทางมาศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

เป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ

พ.ศ.๒๕๐๘ ได้เดินทางไปศึกษาภาษาสันสกฤต ณ วิทยาลัยตรีนิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Trinity College, Cambridge University) ประเทศอังกฤษ โดยการติดต่อประสานงานของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชียและมูลนิธิการศึกษาวัดทองนพคุณ พ.ศ.๒๕๑๒

สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (เกียรตินิยม)

เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ได้สอนพระปริยัติธรรม ณ วัดทองนพคุณ ดังเดิม พ.ศ.๒๕๑๔ ได้ลาสิกขาและรับราชการเป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พ.ศ.๒๕๑๙

โอนไปเป็นอาจารย์สอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใน พ.ศ.๒๕๒๒

โอนกลับไปคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตามเดิม จนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ ๙ 

ก่อนจะลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕

วิทยฐานะ
- เปรียญธรรม ๙ ขณะเป็นสามเณร (รูปแรกในรัชกาลที่ ๙ สมัยเริ่มสอบด้วยข้อเขียน และเป็นรูปที่สามในสมัยรัตนโกสินทร์) อุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์
- ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
- ปริญญาโท สาขาภาษาตะวันออกโบราณ (บาลี-สันสกฤต) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
- ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.๒๕๔๘
- ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะมหานิกาย) พ.ศ.๒๕๕๐

ผลงานประพันธ์ ได้เขียนบทความลงในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์เมื่อครั้งเป็นภิกษุ โดยการชักชวนของคุณสุลักษณ์  ศิวรักษ์ ภายหลังได้เขียนบทความลงในนิตยสารต่างๆ เช่น ต่วยตูน, แม่และเด็ก, รักลูก, ชีวจิต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์มติชน มีผลงานที่พิมพ์เป็นเล่มประมาณ ๒๐๐ เล่ม

นามปากกา
- ไต้ ตามทาง ใช้เขียนเรื่องประเภทขำขันทีเล่นทีจริง
- “เปรียญเก้าประโยค” ใช้เขียนเรื่องประเภทการใช้ภาษา
- เสฐียรพงษ์ วรรณปก ใช้เขียนเรื่องประเภทวิชาการและสารคดี

มีผลงานหนังสือทางวิชาการ และกึ่งวิชาการที่พิมพ์เผยแพร่มากกว่า ๒๐๐ เล่ม อาทิ พุทธวจนะในธรรมบท, พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์, พุทธจริยาวัตรพากษ์ไทย-อังกฤษ, พุทธจริยาวัตร ๖๐ ปาง, มีศัพท์ มีแสง, บทเพลงแห่งพระอรหันต์ : Song of the Arahant, เพลงรักจากพระไตรปิฎก, พระไตรปิฎกวิเคราะห์, สองทศวรรษในดงขมิ้น, สู่แดนพุทธภูมิ, ไปไหว้พระบาทพระพุทธองค์, เนื้อติดกระดูก, นิทานปรัชญาเต๋า, ยุทธวิธีแก้ทุกข์, สัมผัสพระพุทธเจ้าด้วยใจ, ยุทธจักรดงขมิ้น, ใต้ร่มใบบุญ, ฤๅสมัยนี้โลกมันเอียง, จุดศูนย์ถ่วง, บัวบานกลางเปลวเพลิง, ฝ่าความมืดสีขาว, ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ, สวนทางนิพพาน, พุทธศาสนสุภาษิต, พจนานุกรมไทย-อังกฤษ จัดทำร่วมกับ คุณดำเนิน การเด่น, ชุดสิบล่อหั่น (สิบอรหันต์) สี่เล่ม (๑.สิบล่อหั่นต้นพุทธกาล ๒.สิบล่อหั่นชีวิตพิสดาร ๓สิบล่อหั่นหญิง ๔.สิบล่อหั่นน้อย) จุดประกายแห่งชีวิต, ภูฏาน ดินแดนแห่งพุทธศาสนา, ไปสืบพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา, พระไตรปิฎกศึกษา ชุด ๑ ธรรมะนอกธรรมาสน์ พระไตรปิฎกศึกษา ชุด ๒ วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์, คำบรรยายพระไตรปิฎกช่องที่ไม่ว่าง, ผีสางคางแดง, สูตรสำเร็จชีวิต, ชีวิตตัวอย่าง หมอชีวกโกมารภัจจ์, คุณธรรมสำหรับนักบริหาร จากเสฐียรพงษ์ถึงพระเทพเวที และพุทธทาสภิกขุ, ความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย : ทางออก กรณียันตระ อมโร, สองอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ หลวงพ่อพุทธทาส และหลวงพ่อชา, คิดเป็นทำเป็นตามนัยพุทธธรรม, บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ เพื่อความความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม, พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็นอุบาสกรัตนะ, พระสูตรดับทุกข์, ธรรมะสู้ชีวิต, เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเปิดโลก มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางสองมิติ และสัปปุริสธรรม ๗ นัยที่สอง, ๙ พุทธ ๙ เต๋า ๙ เซน, สติ-สมาธิ, พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์, ธรรมะ HOW TO ฯลฯ

เกียรติคุณที่ได้รับ
- ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ พ.ศ.๒๕๓๕
- ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักรในฐานะผู้เขียนหนังสือพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๓๕
- ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ รายการส่งเสริมคุณธรรมดีเด่น รายการ “ดรุณธรรม” ทางช่อง ๕ พ.ศ.๒๕๒๕
- ได้รับประทานเข็มเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายเรืออากาศอาวุโส กองทัพอากาศ พ.ศ.๒๕๓๕
- ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน กรมตำรวจ
- ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พ.ศ.๒๕๔๓ สาขามนุษยศาสตร์ ในฐานะได้รับการยอมรับว่ามีความรู้ ความสามารถและแสดงให้เป็นที่ปรากฏว่ามีฝีมือและชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา
- ได้รับรางวัลหนังสือวิชาการยอดเยี่ยมแห่งปี พจนานุกรมไทย-อังกฤษ จากอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) พ.ศ.๒๕๔๖ โดยได้รับรางวัลร่วมกับ คุณดำเนิน การเด่น
- ได้รับรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๕๒
- ได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ จากคุรุสภา พ.ศ.๒๕๕๓ 


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรเสฐียรพงษ์  วรรณปก โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๙ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙




สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร ขณะอ่านหนังสืออยู่บนเตียงนอน
ในกุฏิที่วัดปราสาททอง ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ (พระภิกษุท่านหนึ่งแอบถ่ายภาพและมอบให้)

สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) นามเดิม ประยุทธ์ อารยางกูร หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา “ป.อ.ปยุตฺโต”  เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๑ ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี 

ได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ และเข้ามาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร จนสอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร เป็นรูปที่สองในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นรูปที่สี่ในสมัยรัตนโกสินทร์  จึงได้รับการอุปสมบทเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๔ ณ พัทธสีมา วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโน) เป็นพระอุปัชฌาย์

สอบได้ปริญญาพุทธศาสนาบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๑) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๐๔ และได้วิชาชุดครู พ.ม. เมื่อปี ๒๕๐๖

พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระนักวิชาการ นักคิดนักเขียนผลงานทางพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ มีผลงานทางวิชการพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก 

ผลงานที่เป็นที่รู้จัก เช่น พุทธธรรม เป็นต้น  ได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยผลงานทำให้ได้รับรางวัลและดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบันทั้งในและนอกประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)

นอกจากนี้ ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์รวมแล้วมากกว่า ๑๕ สถาบัน ซึ่งนับว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์ไทยที่ได้รับการยกย่องให้ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากที่สุดในปัจจุบัน

เนื่องจากเป็นเด็กสุขภาพไม่ใคร่ดีตั้งแต่เล็กจนโต จากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดกล่าวว่า วัยเยาว์จะควบคู่ไปกับการเจ็บป่วยเรื่อยมา เป็นเกือบทุกโรค  เป็นต้นว่า หัวใจรั่ว ต้องผ่าตัดถึงสองครั้ง หูเป็นน้ำหนวก อักเสบเข้าไปในกระดูกพรุนถึงโพรงศีรษะ แพ้อากาศ โรคปอด นิ่วในไต หลอดลมอักเสบ กล้าเนื้อแขนอักเสบ เส้นเสียงอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองข้างซ้ายเล็กลีบ เป็นต้น

จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนตามปกติ 

หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ทางบ้านจึงสนับสนุนให้ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านกร่าง ตำบลศรีประจันต์ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน เพราะเล็งเห็นว่าการอยู่ในเพศบรรพชิตจะเอื้ออำนวยต่อการศึกษาได้มากกว่า เพราะไม่ต้องยุ่งยากเดินทางไปโรงเรียน และยังสามารถศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดได้

เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรประยุทธ์ได้เริ่มเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๖ ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ รับเป็นนาคหลวง โดยมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ 

ศึกษาจนกระทั่งได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

หลังจากสอบชุดวิชาครู พ.ม.ได้ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาถึง ๑๐ ปี มีบทบาททางด้านการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยพยายามเชื่อมโยงความรู้ทางธรรมให้เข้ากับปัญหาสังคมร่วมสมัย




ในทางด้านการบริหารเคยดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๖ และลาออกจากตำแหน่งบริหารหลังจากนั้นในสามปีต่อมา โดยทุ่มเทเวลาและกำลังกายให้กับงานด้านวิชาการ ตีพิมพ์ผลงานเป็นหนังสือและบทความออกมาอย่างแพร่หลาย ทั้งร่วมเสวนาและสัมมนาทางวิชาการ กับนักวิชาการและปัญญาชนร่วมสมัยอย่างสม่ำเสมอ

หนังสือพุทธธรรม ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำเอกของวงการพุทธศาสนา ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า ๑๐ แห่ง และได้รับรางวัล “การศึกษาเพื่อสันติภาพ” จากยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่งได้มอบเงินรางวัลทั้งหมดให้แก่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อจัดตั้งกองทุนการศึกษาพระธรรมปิฎกเพื่อสันติภาพ พระ ป.อ. ปยุตฺโต ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ เป็นพระเทพเวที พระธรรมปิฎก และพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจำพรรษาอยู่ที่วัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

สมณศักดิ์
- พ.ศ.๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
- พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวรมุนี ศรีปริยัติบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ศรีวิสาลปาพจนรจิต ตรีปิฎกบัณฑิตมหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปิฎก อดุลญาณนายก ปาพจนดิลกนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ.๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพรหมคุณาภรณ์สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมปิฎก ปรากฏในหลายลักษณะ ทั้งในด้านการสอน การบรรยาย การปาฐกถา การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการแสดงพระธรรมเทศนา

ท่านได้รับอาราธนาไปสอนวิชาการทางพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศหลายครั้ง อาทิ University Museum, University of Pennsylvania พ.ศ.๒๕๑๕ Swarthmore College, Pennsylvania ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ และ Harvard University ในปี พ.ศ.๒๕๒๔

และเป็นพระสงฆ์ไทยที่ได้รับการระบุอาราธนาแสดงปาฐกถาในที่ประชุมนานาชาติ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหลายครั้ง

เช่น ปาฐกถาในการประชุม The International Conference on Higher Education and the Promotion of Peace เรื่อง Buddhism and Peace ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙

บรรยายในการประชุม Buddhistic Knowledge Exchange Program in Honor of His Majesty the King of Thailand เรื่อง Identity of Buddhism ซึ่งจัดโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๐

ปาฐกถาในการประชุม The Sixth Asian Workshop on Child and Adolescent Development เรื่อง Influence of Western & Asian Thought on Human Culture Development เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๓ และได้รับนิมนต์ให้จัดทำสารบรรยายสำคัญ เรื่อง A Buddhist Solution for the Twenty- Century ในการประชุมสภาศาสนาโลก (Parliament of the World’s Religions) ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๖

งานนิพนธ์ในลักษณะตำรา เอกสารทางวิชาการ และหนังสืออธิบายธรรมทั่วๆ ไป เป็นที่รู้จักแพร่หลายในแวดวงวิชาการมีจำนวนมากกว่า ๒๓๐ เรื่อง เช่น พุทธธรรม, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ : ฉบับประมวลธรรม, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, ธรรมนูญชีวิต, การศึกษาของคณะสงฆ์ : ปัญหาที่รอทางออก, การศึกษาที่สากลบนรากฐานแห่งภูมิปัญญาไทย, Thai Buddhist in the Buddhist Economics, พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์, นิติศาสตร์แนวพุทธ เป็นต้น

พระธรรมปิฎกยังได้รับนิมนต์เป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์สำเร็จสมบูรณ์เป็นฉบับแรกของโลก

ทำให้การศึกษาค้นคว้าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำอีกด้วย 


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๐ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๙




3109  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: เรือนไทย ๔ ภาค และคติความเชื่อเรื่องการปลูกสร้างบ้าน เมื่อ: 16 มิถุนายน 2559 13:23:25


เรือนพื้นถิ่นอีสาน มุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก

เฮือนอีสาน
ภาพจาก : ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
(๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙)

เฮือนอีสาน : เฮือน เป็นภาษาถิ่นอีสาน หมายถึง เรือนที่อยู่อาศัยของชาวอีสานตอนกลางและอีสานตอนเหนือ  ลักษณะเรือนโดยทั่วไปเป็นเรือนเดี่ยว กล่าวคือ เมื่อครอบครัวขยายก็จะออกเรือนใหม่ หรือแยกเรือนไปสร้างหลังใหม่ในบริเวณใกล้ๆ เรือนของพ่อแม่ จากวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นนี้ทำให้การตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านหนึ่ง เกิดกลุ่มหนาแน่น วางตัวเรือนด้านยาวตามตะวัน ยักยื้องไปมา บริเวณที่ว่างรอบตัวเรือนแต่ละหลังกำหนดให้เป็นลานบ้าน ใช้เป็นทางสัญจรติดต่อกันได้ตลอดภายในหมู่บ้านหนึ่งๆ

เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของอีสานค่อนข้างร้อนและแห้งแล้ง เรือนอีสานส่วนใหญ่จึงสร้างให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ คือเป็นเรือนยกใต้ถุนสูง มีลักษณะเปิดโล่งให้ลมพัดผ่านใต้ถุนบ้าน จึงช่วยระบายลมได้ดี ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความร่มเย็น และพื้นที่ว่างบริเวณใต้ถุนบ้านซึ่งโปร่งโล่ง ยังสนองประโยชน์ใช้สอยที่สำคัญแก่การดำรงชีวิตของชาวอีสาน คือ ใช้เป็นที่ทำงานฝีมือหัตถกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ การทอผ้า จักสาน ปั้นเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ  ทำเป็นคอกโค-กระบือ เป็นที่เก็บเครื่องมือการเกษตร เก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่ได้จากการเกษตร เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์พืชไร่ เมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว ใช้เป็นที่วางแคร่นั่งพักผ่อน เป็นต้น


เฮือน (เรือน) อีสานแบ่งตามประเภทและลักษณะใหญ่ๆ ได้ ๓ ลักษณะ

๑.เฮือนแฝดมีเรือนโข่ง เป็นเรือนปลูกสร้างคู่กันสองหลัง ระหว่างเรือนใหญ่หรือเรือนนอน และเรือนโข่ง (เรือนระเบียง) โดยให้หลังคาเรือนสองหลังมาจรดกัน มีฮางลิน (รางน้ำ) เชื่อมต่อระหว่างเรือนสองหลัง

เรือนโข่ง เป็นเรือนที่นิยมปลูกสร้างในพื้นถิ่นอีสาน เนื่องจาก สามารถรื้อไปปลูกที่อื่นได้ ลักษณะภายในจะเปิดโล่ง ไม่กั้นห้อง จึงเป็นศูนย์กลางภายในที่เชื่อมต่อกับเรือนอื่นบนเรือนเดียวกัน เช่น เรือนใหญ่ ครัว ชาน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

๒.เฮือนเดียว พบมากเช่นเดียวกับเรือนแฝดที่มีเรือนโข่ง  เป็นเรือนขนาดเล็กกว่าเรือนแฝด มีบันไดขึ้นลงทางเดียว หน้าเรือนเป็นเฉลียงมีโครงสร้างหลังคาต่อจากเรือนใหญ่ ด้านหน้าเฉลียงเป็นชาน และฮ้่านแอ่งน้ำ (ร้านโอ่งน้ำ)

๓.เฮือนชั่วคราว เป็นเรือนที่ปลูกสร้างขึ้นชั่วคราวใกล้กับเรือนของพ่อแม่ ของผู้ที่ออกเรือนใหม่หรือคู่หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานกันและมีฐานะยังไม่มั่นคงพอที่จะสร้างเรือนใหม่ ก็จะสร้างเรือนชั่วคราวอยู่ระยะหนึ่ง เรือนชั่วคราวมีสองลักษณะคือ ทำโครงสร้างลักษณะเกย (เพิง) ต่ออาคาร เช่น ตูบต่อเล้า หรือเกยต่อเล้าข้าว(เพิงต่อยุ้งข้าว) และชนิดเป็นตูบ หรือกระต๊อบเล็กๆ

เฮือนชั่วคราว เป็นเรือนขนาดเล็ก ปลูกสร้างจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ หญ้า ใบไม้ และวัสดุอื่นๆ













ฮ้านแอ่งน้ำ (ร้านโอ่งน้ำ) หมายถึงบริเวณที่ตั้งโอ่งน้ำดื่มและน้ำใช้ในครัวเรือน
ที่ตั้งโอ่งน้ำมีสองลักษณะ คือ วางไว้ด้านริมสุดบนพื้นของชานใกล้กับครัว
และชนิดทำโครงสร้าง เสา ๔ ต้น หรือ ๒ ต้น ยกพื้นมุงหลังคา เพื่อตั้งโอ่งน้ำดื่ม
ส่วนโอ่งน้ำใช้จะวางบนพื้นชานบ้าน


สีหน้า เป็นชื่อเรียกแผงหน้าจั่วตามลักษณะของลวดลาย เช่น ลายตะเว็น (ตะวัน) ลายตั้ง และลายนอน เป็นต้น


เฮือนแฝดมีเรือนโข่ง เป็นเรือนปลูกสร้างคู่กันสองหลัง ระหว่างเรือนใหญ่หรือเรือนนอน และเรือนโข่ง (เรือนระเบียง)
โดยให้หลังคาเรือนสองหลังมาจรดกัน มีฮางลิน (รางน้ำ) เชื่อมต่อระหว่างเรือนสองหลัง




ขั้นได หรือ กระได หมายถึง บันได เป็นส่วนที่จะขึ้นสู่บริเวณบนเรือน
ตัวบันไดประกอบด้วย แม่กระได ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขนาด ๒.๕๐x๒.๕๐ นิ้ว ลบเหลี่ยม
ช่วงลูกบันไดมีระยะห่างกันประมาณ ๑๔ นิ้ว พอดีกับช่วงก้าวขึ้นลง



ตูบต่อเล้า เรือนชั่วคราวของผู้ที่ออกเรือนใหม่ ที่มีฐานะไม่มั่นคงพอจะสร้างเรือนใหญ่


ฝาเฮือน


ลักษณะฝาเรือนอีสานมี ๒ ลักษณะ คือ ฝาไม้ (แป้นแอ้ม) และ ฝาไม้ไผ่สาน เช่นฝาสานลายขัดและลายคุบ




แป้นมุง กระเบื้องไม้มุงหลังคา นิยมใช้ไม้ไผ่ผ่าเพื่อให้น้ำฝนไหลได้สะดวกและคงทน


เมล็ดพันธุ์ทานตะวัน แขวนเก็บรักษาไว้ที่ขาง (รอด)ใต้ถุนบ้าน
ช่วยให้เก็บรักษาไว้ได้นาน เนื่องจากเป็นพื้นที่โปร่งอากาศถ่ายเทสะดวก

ขาง (รอด) เป็นตัวไม้ที่รองรับน้ำหนักพื้นเรือนที่ถ่ายลงมาจากตง
ส่วนขางวางตามแนวทิศเหนือใต้โดยเจาะทะลุเสา

ตง เป็นไม้รองรับพื้นเรือน ลักษณะตงเป็นไม้สี่เหลี่ยม
ชาวชนบทนิยมใช้เป็นที่แขวนเครื่องใช้ไม้สอย และเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ


ที่อยู่ของคนจน เป็นเรือนปลูกสร้างอย่างง่ายๆ ไม่พิถีพิถัน

3110  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ขนมจีนน้ำย้อย สูตรและวิธีทำ : ของดีเมืองลอง จ.แพร่ เมื่อ: 16 มิถุนายน 2559 11:16:21
.




ขนมจีนน้ำย้อย
ของดีอำเภอลอง จังหวัดแพร่

• เครื่องปรุง
- กระดูกหมูสันหลังหมู 200 กรัม
- ซี่โครงหมู 100 กรัม
- หมูสับ 50 กรัม
- เลือดไก่ หรือ เลือดหมู
- มะเขือเทศ (ไม่เอาเมล็ด)  ½ ผล
- หอมหัวใหญ่ ¼ หัว
- เกลือป่น


วิธีทำน้ำซุปขนมจีนน้ำย้อย
1.ล้างซี่โครงหมูให้สะอาด นำใส่หม้อ เติมน้ำให้ท่วม ตุ๋นด้วยไฟอ่อน
   ประมาณ 2 ชั่วโมง ใส่หอมหัวใหญ่หั่นชิ้นใหญ่ ตุ๋นจนซี่โครงหมูเปื่อย
2.ใส่หมูสับ เลือดไก่หรือเลือดหมูหั่นสี่เหลี่ยมเล็ก มะเขือเทศ ปรุงรสด้วยเกลือ ตุ๋นจนหมูสุกนิ่ม...พักไว้  

    วิธีทำน้ำพริกน้ำย้อย:
1.คั่วพริกแห้ง นำไปโขลกพอหยาบ พักไว้
2.ซอยกระเทียมไทย และหอมแดง บางๆ นำไปทอดจนกรอบเหลือง
3.ใส่น้ำมันทอดกระเทียมและหอมแดง ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ตั้งไฟพอร้อน
   ใส่พริกคั่วกระเทียม หอมแดง ลงไปผัด ปิดไฟ แล้วโรยเกลือป่นคลุกเคล้าให้เข้ากัน


วิธีรับประทานขนมจีนน้ำย้อย
จัดขนมจีนใส่จาน โรยด้วยน้ำพริกน้ำย้อย ผักเหมือด (ผักบุ้งลวก ถั่วฝักยาวลวก ถั่วงอกดิบ กะหล่ำปลี ผักกาดดอง)
คลุกให้เข้ากัน รับประทานคู่กับน้ำซุปใสร้อนๆ แก้เผ็ด

* ร้านค้าที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีผงซุปรสดี (คนอร์ ฟ้าไทย ฯลฯ) ตั้งไว้บนโต๊ะไว้ให้คลุกเคล้ารวมกับขนมจีน
แต่ผู้โพสท์ไม่ได้ผสมลงไปก็อร่อยเหลือเกินแล้ว มาได้รสชาติตรงน้ำพริกผัด และน้ำซุปใสร้อนๆ
ถึงกระนั้นก็ยังคอแห้งไปหลายชั่วโมง คงเนื่องจากผู้ขายใส่ผงชูรส หรือผงรสดีลงไปมาก
(มีความรู้สึกไวกับผงชูรส เพราะที่บ้านปรุงอาหารไม่ใช้ผงชูรสค่ะ)  




ตุ๋นซี่โครงหมูประมาณ 2 ชั่วโมง ด้วยไฟอ่อนสุด หมั่นช้อนฟองทิ้ง จะทำให้น้ำซุปใสน่ารับประทาน


ใส่หอมหัวใหญ่ ผสมลงตุ๋นไปด้วย เพื่อให้น้ำซุปหอมหวาน
พอซี่โครงหมูเปื่อยนิ่ม จึงใส่หมูสับ และมะเขือเทศ (ไม่เอาเมล็ด) ปรุงรสด้วยเกลือป่นให้ออกรสเค็มเล็กน้อย

 
ซอยหอมแดงและกระเทียมให้บางๆ นำไปคลุกแป้งข้าวโพด (ช่วยให้กรอบนาน)


ทอดให้กรอบเหลือง พักไว้


ผัดพริกคั่วกับน้ำมันเจียวหอมกระเทียม ด้วยไฟอ่อนๆ
ใส่หอมกระเทียมเจียว ปิดไฟ แล้วโรยเกลือป่น คลุกเคล้าให้เข้ากัน




น้ำพริกน้ำย้อยถ้วยนี้ ใส่แคบหมูหักชิ้นเล็กๆ ผสมด้วย

แนะนำร้านอร่อย
ขนมจีนน้ำย้อย อำเภอลอง  จังหวัดแพร่
(ร้านอยู่ตรงข้ามปั๊มน้ำมัน PT)





ร้านนี้ขายถูกมากค่ะ ชุดนี้ราคา 30 บาทพร้อมน้ำซุปใสร้อนๆ ชามโต


น้ำพริกน้ำย้อย มีไว้บริการบนโต๊ะ ให้ตักผสมตามอัธยาศัย


ส้มตำหมูยอ จานนี้รสชาติเค็มไป




3111  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / ตัดกรรม เมื่อ: 14 มิถุนายน 2559 16:19:03


ตัดกรรม

กรรม คือการกระทำ เป็นคำกลางๆ ยังไม่บ่งว่าเป็นการกระทำดีหรือชั่ว ถ้าทำดี เรียก กุศลกรรม ถ้าทำชั่ว เรียก อกุศลกรรม พระพุทธศาสนาแบ่งประเภทกรรม ตามที่ให้ผล มี ๑๒ อย่าง
๑ กรรมที่ให้ผลในชาตินี้
๒ กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า
๓ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆไป
๔ กรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว
๕ กรรมที่แต่งให้เกิด
๖ กรรมที่สนับสนุน
๗ กรรมที่บีบคั้น
๘ กรรมที่ตัดรอน
๙ กรรมที่หนัก
๑๐ กรรมที่ทำจนชิน
๑๑ กรรมที่ให้ผลเมื่อใกล้ตาย
๑๒ กรรมที่สักแต่ว่าทำ

๔ กรรมแรก ดูเราจะรู้จักดี โดยเฉพาะกรรมที่ ๔ อโหสิกรรม กรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว คนโบราณมักใช้วิธีอโหสิกรรม เลิกตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไป ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า ตัดหางปล่อยวัด สำนวนนี้มีที่มาจาก ไก่ ในกฎมณเฑียรบาล มีข้อหนึ่งว่า

อนึ่ง วิวาทตบตีฟันแทงกันให้โลหิตตกในพระราชวังก็ดี และหญิงสาวใช้ทาษไทยผู้ใด คลอดลูกแท้งลูกในพระราชวังก็ดี ท่านให้มันพลีวัง ท่านให้ตั้งโรงพิธี ๔ ประตู.. .....ไก่ประตูละคู่.....นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์สามวัน

“ให้หาชีพ่อพราหมณ์ซึ่งพลีกรรม มากระทำบวงสรวงตามธรรมเนียม.....ครั้นเสร็จการพิธีแล้ว จึงให้เอาไก่นั้นไปปล่อยเสียนอกเมือง ให้พาเสนียดจัญไรภัยอุปัทว์ไปให้พ้นพระนครท่าน” พิธีสะเดาะเคราะห์คือเอาไก่ไปปล่อย นิยมทำกันตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ร่วมพันปีมาแล้ว

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับ “หาง” ถือกันว่าหางเป็นส่วนสำคัญ เป็นเครื่องชูรูปโฉมให้งาม ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เรื่องนางช้างแสนงอน พญาช้างสั่งสอน แล้วก็สั่งนางพังแม่หนัก ให้กัดหางนางพัง เสียเพียงเข่า ให้เสียโฉม แล้วก็ไล่ออกจากโขลง

ในพงศาวดารกัมพูชา มีเรื่องพระเจ้าอาทิตย์วงษ์ มีพระราชบุตร ๔ พระองค์ องค์หนึ่งชื่อพระทอง ปกครองปัจจันตประเทศ ก่อกบฏแล้วกลับใจอ่อนน้อม พระเจ้าอาทิตย์วงษ์ สั่งให้จับพระทอง ตัดผมที่เกล้ามวยทั้งไพร่ นาย แล้วขับไล่ให้ออกจากเมือง

บางกรรมที่รุนแรงกว่าอโหสิกรรม แม้ใช้คำ “ตัดเป็นตัดตาย” แต่ก็ไม่ถึงกับฆ่าฟันกัน ตัดเป็นตัดตาย เป็นสำนวนหมายความว่า ตัดขาดจากการเป็นญาติ นิยมใช้คำว่า ไม่เผาผี การเผาผี เป็นการอโหสิกรรมครั้งสุดท้าย ถ้าโกรธถึงขนาดไม่เผาผี ก็แสดงว่าขาดกันทีเดียว เช่นในอิเหนา ว่า “แม้มิยกพลไกรไปช่วย ถึงเราม้วยก็อย่ามาดูผี อย่าดูทั้งเปลวอัคคี แต่วันนี้ขาดกันจนบรรลัย”

กรรมบางกรรม หนักเบาต่างกัน สำนวนโบราณว่า มีเมียผิดคิดจนตัวตาย ปลูกเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย ตัดผมผิดคิดเจ็ดวันหาย...

กรรม คือการตัดผมผิด เทียบกับแต่งเมีย ปลูกบ้าน...เบากว่ากันมาก เพราะผมมีปกติงอกยาว ตัดผมผิดทรงไม่ชอบใจ ถึงเจ็ดวันผมก็ยาวไป ตัดทรงใหม่ที่ถูกใจได้

ผมตั้งใจอ่าน วิธีจัดการกับ “กรรม” ตามแบบโบราณ ชอบวิธีอโหสิกรรม แบบตัดหางปล่อยวัด นี่เป็นกรรมที่ก่อทางใจ ฯลฯ


ชักธงรบ ไทยรัฐออนไลน์
3112  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท) เมื่อ: 08 มิถุนายน 2559 15:40:11

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๓๙)
ภิกษุแลกเปลี่ยนสิ่งของมีประการต่างๆ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเป็นผู้ชำนาญการทำจีวร เธอเอาผ้าเก่าๆ ทำผ้าสังฆาฏิย้อมแต่งดีแล้วห่ม  ขณะนั้นปริพาชกผู้หนึ่งห่มผ้ามีราคามาก เห็นผ้าของพระอุปนันทะแล้วเกิดชอบใจ ชักชวนกันแลก
       ปริพาชกห่มผ้าผืนของท่านอุปนันท์ไปอาราม พวกปริพาชกพูดว่า ผ้าผืนนี้จักอยู่ได้กี่วัน ปริพาชกเห็นจริงตามนั้น จึงกลับไปหาท่านอุปนันท์ขอแลกกลับคืน แต่ท่านอุปนันท์ไม่ยอม ปริพาชกได้เพ่งโทษติเตียนว่า คฤหัสถ์เขายังคืนให้กัน นี่บรรพชิตต่อบรรพชิตไฉนจึงไม่ยอมคืน ภิกษุทั้งหลายได้ยิน ได้ติเตียนที่เธอแลกเปลี่ยนกับปริพาชก กราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า "อนึ่ง ภิกษุใด ถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์"

อรรถาธิบาย
       -ที่ชื่อว่า มีประการต่างๆ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของภิกษใช้ โดยที่สุดแม้ก้อนฝุ่น ไม้ชำระฟัน ด้ายชายผ้า
       -ถึงการแลกเปลี่ยน คือภิกษุพูดเป็นเชิงบังคับว่า จงให้ของสิ่งนี้มาด้วยของสิ่งนี้ จงนำของสิ่งนี้ จงแลกเปลี่ยนของสิ่งนี้ด้วยของสิ่งนี้ จงจ่ายของสิ่งนี้ด้วยของสิ่งนี้ ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติทุกกฏในเวลาที่แลกแล้ว ของๆ ตนไปอยู่ในมือของคนอื่น และเปลี่ยนแล้ว คือของๆ คนอื่นมาอยู่ในมือของตน เป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยน มีประการต่างๆ ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้าเป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่สงฆ์"
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ พึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า "ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ของสิ่งนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ของสิ่งนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้"

วิธีเสียสละแก่คณะ
       ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป...กล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ...ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่ท่านทั้งหลาย" ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้ "ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า...ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้ของสิ่งนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้"

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง..."ท่าน ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยน มีประการต่างๆ...ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่ท่าน"
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยคำว่า "ข้าพเจ้าให้ของสิ่งนี้แก่ท่าน" ดังนี้

อาบัติ
       ๑.แลกเปลี่ยน ภิกษุรู้ว่าแลกเปลี่ยน เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.แลกเปลี่ยน ภิกษุสงสัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.แลกเปลี่ยน ภิกษุคิดว่าไม่ได้แลกเปลี่ยน เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.ไม่ได้แลกเปลี่ยน ภิกษุคิดว่าแลกเปลี่ยน ต้องทุกกฏ
       ๕.ไม่ได้แลกเปลี่ยน ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฏ
       ๖.ไม่ได้แลกเปลี่ยน ภิกษุรู้ว่าไม่ได้แลกเปลี่ยน ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุถามราคา ๑  ภิกษุบอกแก่กัปปิยการว่าของสิ่งนี้เรามีอยู่ แต่เราต้องการของสิ่งนี้และของสิ่งนี้ ดังนี้ ๑  ภิกษุวิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๙๗๘-๙๘๓
      ๑.ทรงแสดงเฉพาะกัปปิยภัณฑ์ตั้งต้นแต่จีวร มีด้ายชายผ้าเป็นที่สุด เพราะการแลกเปลี่ยนด้วยอกัปปิยภัณฑ์ ย่อมไม่ถึงการสงเคราะห์เข้าในการซื้อขาย
         -ในเวลาทำภัณฑะของผู้อื่นให้อยู่ในมือของตน ชื่อว่าซื้อ และในเวลาทำภัณฑะของตนให้อยู่ในมือของผู้อื่น ชื่อว่าขาย
         -พึงสละกัปปิยภัณฑ์ ที่รับเอาจากมือของคนอื่น ด้วยอำนาจแห่งการซื้อขายอย่างนี้; ก็การซื้อขายอย่างนี้กับพวกคฤหัสถ์และนักบวชที่เหลือ เว้นสหธรรมิกทั้ง ๕ โดยที่สุดแม้กับมารดาบิดา ก็ไม่ควรซื้อขาย
       ๒.วินิจฉัยในการซื้อขายนั้นดังต่อไปนี้.
         -ผ้ากับผ้าก็ตาม อาหารกับอาหารก็ตาม จงยกไว้, ภิกษุกล่าวถึงกัปปิยภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ เป็นทุกกฏ, ภิกษุกล่าวอย่างนั้น แล้วให้ภัณฑะของตนแม้แก่มารดาก็เป็นทุกกฏ, ภิกษุอันมารดากล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ หรือกล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ฉันจักให้สิ่งนี้แก่ท่าน แล้วถือเอาภัณฑะของมารดาเพื่อตน ก็เป็นทุกกฏ, เมื่อภัณฑะของตนถึงมือของคนอื่น และเมื่อภัณฑะของคนอื่นถึงมือของตน เป็นนิสสัคคีย์
       แต่เมื่อภิกษุกล่าวกะมารดาหรือบิดาว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ ไม่เป็นการออกปากขอ, เมื่อภิกษุกล่าวว่า ท่านจงถือเอาสิ่งนี้ ไม่เป็นการยังศรัทธาไทยให้ตกไป, เมื่อภิกษุพูดกะผู้มิใช่ญาติว่า ท่านจงให้สิ่งนี้เป็นการออกปากขอ, เมื่อพูดว่า ท่านจงถือเอาสิ่งนี้ เป็นการยังศรัทธาไทยให้ตกไป; เมื่อภิกษุถึงการซื้อขายว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ เป็นนิสสัคคีย์ เพราะฉะนั้นภิกษุผู้จะแลกเปลี่ยนกัปปิยภัณฑ์ พึงแลกเปลี่ยนกับมารดาบิดาให้พ้นการซื้อขายกับพวกคนผู้มิใช่ญาติให้พ้นอาบัติ ๓ ตัว
       ๓.อธิบายวิธีการแลกเปลี่ยนกัปปิยภัณฑ์ ดังนี้
         ภิกษุมีข้าวสารเป็นเสบียงเดินทาง เธอเห็นบุรุษถือข้าวสุกในระหว่างทางแล้ว พูดว่า เรามีข้าวสารและเราไม่มีความต้องการด้วยข้าวสารนี้ แต่มีความต้องการด้วยข้าวสุก บุรุษรับเอาข้าวสารแล้วถวายข้าวสุก ควรอยู่ ไม่เป็นอาบัติทั้ง ๓ ตัว, ชั้นที่สุดแม้เพียงสักว่านิมิตกรรมก็ไม่เป็น เพราะเหตุไร? เพราะมีมูลเหตุ และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ข้างหน้านั่นแลว่า ภิกษุพูดว่า เรามีสิ่งนี้ แต่มีความต้องการด้วยสิ่งนี้และสิ่งนี้ ดังนี้
         อนึ่ง ภิกษุใด ไม่กระทำอย่างนี้ แลกเปลี่ยนว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ เป็นอาบัติตามวัตถุแท้, ภิกษุเห็นคนกินเดน กล่าวว่า เธอจงกินข้าวสุกนี้ แล้วนำน้ำย้อมหรือฟืนมาให้เรา แล้วให้ข้าวสุกนั้น เป็นนิสสัคคีย์หลายตัว ตามจำนวนสะเก็ดน้ำย้อมและจำนวนฟืน, ภิกษุกล่าวว่า พวกท่านบริโภคข้าวสุกนี้แล้ว จงทำกิจชื่อนี้ แล้วใช้พวกช่างศิลป์ มีช่างแกะสลักงาเป็นต้น ให้ทำบริขารนั้นๆ บรรดาบริขารมีธมกรก เป็นต้น  หรือใช้พวกช่างย้อมให้ซักผ้า เป็นอาบัติตามวัตถุทีเดียว
         ภิกษุให้พวกช่างกัลบกปลงผม ให้พวกกรรมกรทำนวกรรม เป็นอาบัติตามวัตถุเหมือนกัน, ก็ถ้าภิกษุไม่กล่าวว่า พวกท่านบริโภคอาหารนี้แล้ว จงทำกิจนี้ กล่าวว่า เธอจงบริโภคอาหารนี้ เธอบริโภคแล้ว หรือจักบริโภค จงช่วยทำกิจชื่อนี้ ย่อมสมควร, ก็ในการให้ทำบริขารเป็นต้นนี้ ภัณฑะของผู้อื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ชื่อว่า อันภิกษุพึงสละย่อมไม่มี ในการซักผ้า หรือในการปลงผม หรือในนวกรรม มีการถางพื้นที่เป็นต้น แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นเพราะท่านกล่าวไว้หนักแน่นในมหาอรรถกถา ซึ่งใครๆ ไม่อาจคัดค้านคำนั้นได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงแสดงปาจิตตีย์ในเพราะการจ้างซักผ้าเป็นต้นนี้ เหมือนแสดงปาจิตตีย์ในเพราะนิสสัคคิยวัตถุที่ตนใช้สอยแล้ว หรือเสียหายแล้ว ฉะนั้น
       ๔.ภิกษุใดถึงการซื้อขาย ภิกษุนั้นจงเป็นผู้มีความสำคัญในการซื้อขายนั้นว่า เป็นการซื้อขายหรือมีความสงสัย หรือมีความสำคัญว่า ไม่ใช่การซื้อขายก็ตามที เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ทั้งนั้น
         -ภิกษุถามว่า บาตรของท่านนี้ราคาเท่าไร? แต่เมื่อเจ้าของบาตรกล่าวว่า ราคาเท่านี้ ถ้ากัปปิยภัณฑ์ของภิกษุนั้นมีราคามาก และภิกษุตอบอุบาสกนั้นไปอย่างนี้ว่า อุบาสก วัตถุของเรานี้มีราคามาก ท่านจงให้บาตรของท่านแก่คนอื่นเถิด ฝ่ายอุบาสกได้ยินคำนั้น กล่าวว่า ผมจะแถมกระถางอื่นให้อีก จะรับเอาไว้ก็ควร, ของนั้นตกไปในลักษณะที่ตรัสไว้ว่า เรามีสิ่งนี้เป็นต้น, ถ้าบาตรนั้นมีราคาแพง สิ่งของของภิกษุมีราคาถูก และเจ้าของบาตรไม่รู้ว่าของนั้นราคาถูก ภิกษุอย่าพึงรับเอาบาตร พึงบอกว่า ของของเรามีราคาถูก, เมื่อภิกษุกล่าวหลอกลวงว่า มีราคามาก แล้วรับเอาบาตรไป จะถึงความเป็นผู้อันพระวินัยธรพึงให้ตีราคาสิ่งของแล้วปรับอาบัติ, ถ้าเจ้าของบาตรกล่าวว่า ช่างเถอะ ขอรับ ที่เหลือจักเป็นบุญแก่ผม แล้วถวาย ควรอยู่
         -ภิกษุทำคนอื่นเว้นคนที่ตนรับภัณฑะจากมือ โดยที่สุดแม้เป็นบุตรหรือพี่น้องชายของเขาให้เป็นกัปปิยการก แล้วบอกว่า เธอจงเอาสิ่งนี้ด้วย สิ่งนี้ให้ด้วย ถ้าบุตรหรือพี่น้องชายนั้นเป็นคนฉลาด คัดเลือกต่อรองซ้ำๆ ซากๆ แล้วจึงรับเอง, ภิกษุพึงยืนนิ่งอยู่ ถ้าเขาเป็นคนไม่ฉลาด ไม่รู้จักจะถือเอา พ่อค้าจะลวงเขา ภิกษุพึงบอกเขาว่า เธออย่าเอา ดังนี้
         -ในคำว่า เรามีสิ่งนี้ เป็นต้น  มีวินิจฉัยว่า ภิกษุกล่าวว่าน้ำมันหรือเนยใสที่รับประเคนแล้วนี้ ของเรามีอยู่ แต่เราต้องการของอื่นที่ยังไม่ได้ประเคน ถ้าเขารับเอาน้ำมันหรือเนยใสนั้น ให้น้ำมันหรือเนยใสอื่น อย่าพึงให้ตวงน้ำมันของตนก่อน เพราะเหตุไร? เพราะยังมีน้ำมันที่เหลืออยู่ในทะนานน้ำมัน น้ำมันที่เหลือนั้นจะพึงทำน้ำมันที่ยังไม่ได้รับประเคนของภิกษุผู้ตวงในภายหลังให้เสียไป
       ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓




นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๔๐)
ภิกษุเก็บอดิเรกบาตรได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าให้ล่วง ๑๐ วันไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์สั่งสมบาตรไว้เป็นอันมาก ชาบ้านพบเข้าติเตียนว่า ท่านคงจักตั้งร้านขายบาตรหรือร้านขายดินเผา
       ภิกษุทั้งหลายได้ยิน...จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า "อนึ่ง ภิกษุใด ทรงอดิเรกบาตร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์"
       สมัยต่อมา บาตรเกิดแก่พระอานนท์ ท่านประสงค์จะถวายพระสารีบุตร จึงกราบทูล...ตรัสถามว่า พระสารีบุตรจะกลับมาเมื่อไร ทูลว่า อีก ๙ หรือ ๑๐ วัน จึงทรงมีพระอนุบัญญัติว่า "พึงทรงอดิเรกบาตรไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์"
       สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ไม่คืนบาตรที่เสียสละ ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บาตรที่ภิกษุเสียสละแล้ว สงฆ์ คณะ หรือบุคคล จะไม่คืนให้ไม่ได้ ภิกษุรูปใดไม่คืนให้ ต้องอาบัติทุกกฏ"

อรรถาธิบาย
       -บทว่า ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง คือ ทรง (เก็บ) ไว้ได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างมาก
       -ที่ชื่อว่า อดิเรกบาตร ได้แก่ บาตรที่ยังมิได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป
       -ที่ชื่อว่า บาตร มี ๒ อย่าง คือ บาตรเล็ก ๑  บาตรดินเผา ๑
       บาตร มี ขนาด คือ บาตรขนาดใหญ่ ๑  ขนาดกลาง ๑  ขนาดเล็ก ๑
       บาตรขนาดใหญ่ จุข้าวสุกแห่งข้าวสารกึ่งอาฬหก ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น
       บาตรขนาดกลาง จุข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๑ นาฬี ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น
       บาตรขนาดเล็ก จุข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๑ ปัตถะ ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น ใหญ่กว่านั้นเป็นบาตรที่ใช้ไม่ได้
       -คำว่า ให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคีย์ คือ เมื่ออรุณที่ ๑๑ ขึ้นมา บาตรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า
       "ท่านเจ้าข้า บาตรใบนี้ของข้าพเจ้าล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ  ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้แก่สงฆ์"  ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนบาตรให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า "ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า บาตรใบนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้บาตรใบนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้"

วิธีเสียสละแก่คณะ
       ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป... "ท่านเจ้าข้า...ข้าพเจ้าสละบาตรนี้ให้แก่ท่านทั้งหลาย" ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า "ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า... ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้บาตรใบนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้"

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... กล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านเจ้าข้า... ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้แก่ท่าน"  ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วคืนให้ด้วยคำว่า "ข้าพเจ้าให้บาตรใบนี้แก่ท่าน" ดังนี้

อาบัติ
       ๑.บาตรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุรู้ว่าล่วงแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.บาตรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.บาตรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ล่วง... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.บาตรยังไม่ได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป ยังไม่ได้สละ ภิกษุสำคัญว่าอธิษฐานแล้ว วิกัปแล้ว สละแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๕.บาตรยังไม่หาย ยังไม่ฉิบหาย ยังไม่แตก ยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุสำคัญว่าหายแล้ว ฉิบหายแล้ว แตกแล้ว ถูกชิงไปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๖.บาตรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุยังไม่เสียสละ บริโภค ต้องทุกกฏ
       ๗.บาตรยังไม่ล่วง ๑๐ วัน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ล่วง บริโภค ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ๑.ภิกษุอธิษฐาน ๑  วิกัปไว้ ๑  สละให้ไป ๑  บาตรหายไป ๑  บาตรฉิบหาย ๑  บาตรแตก ๑  โจรชิงเอาไป ๑  ภิกษุถือวิสาสะ ๑  ในภายใน ๑๐ วัน วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๙๙๒-๑๐๐๑
       ๑.ในบาตรนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
          พึงเอาข้าวสารแห่งข้าวสาลีเก่า (ซึ่งเก็บไว้แรมปี) ที่ไม่หัก ซึ่งซ้อมบริสุทธิ์ดีแล้ว ๒ ทะนานมคธ หุงให้เป็นข้าวสุกด้วยข้าวสารเหล่านั้นไม่เช็ดน้ำ ไม่เป็นข้าวท้องเล็น ไม่แฉะ ไม่เป็นก้อน สละสลวยดี เช่นกับกองดอกมะลิตูมในหม้อ แล้วบรรจุลงในบาตรไม่ให้เหลือ เพิ่มแกงถั่วที่ปรุงด้วยเครื่องปรุงทุกอย่าง ไม่ข้นนัก ไม่เหลวนัก พอมือหยิบได้ ลงไปปริมาณเท่าส่วนที่ ๔ แห่งข้าวสุกนั้น แต่นั้นจึงเพิ่มกับข้าวมีปลา และเนื้อเป็นต้น ลงไปสมควรแก่คำข้าวเป็นคำๆ จนเพียงพอกับคำข้าวเป็นอย่างยิ่ง, ส่วนเนยใส น้ำมัน รสเปรี้ยว และน้ำข้าวเป็นต้น ไม่ควรนับ, เพราะของเหล่านั้นมีคติอย่างข้าวสุกนั่นเทียว ไม่อาจเพื่อจะลดลง และไม่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ อาหารที่บรรจุลงอย่างนี้แม้ทั้งหมดนั่น ถ้าตั้งอยู่เสมอแนวล่างแห่งขอบปากบาตร, เมื่อเอาเส้นด้ายหรือไม้ซีก (เสี้ยนตาล) ปาดไป (ของในบาตรนี้) ถูกที่สุดภายใต้เส้นด้าย หรือไม้ซีกนั้น (คือ ของในบาตรมีข้าวสุกทะนานหนึ่ง เป็นต้นนี้ ถูกที่สุดเบื้องล่างแห่งด้ายหรือเสี้ยนตาลของบุคคลผู้ตัดด้วยด้าย หรือเสี้ยนตาล), บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดใหญ่ (อย่างกลาง), ถ้าของในบาตรนั้นพูนเป็นจอมเลยแนว (ขอบปากบาตร) นั้นขึ้นมา  บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดใหญ่อย่างเล็ก, ถ้าของในบาตรนั้นไม่ถึงแนวขอบ (ปากบาตร) พร่องอยู่ภายในเท่านั้น บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดใหญ่อย่างใหญ่
       -ถ้าของมีข้าวสุก ๑ ทะนาน เป็นต้น แม้ทั้งหมดที่บรรจุแล้ว อยู่เสมอแนวขอบล่าง โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นเอง บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดกลาง (อย่างกลาง), ถ้าของพูนเป็นจอมเลยแนวขอบนั้นขึ้นมา บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดลางอย่างเล็ก, ถ้าไม่ถึงแนวขอบนั้น พร่องอยู่เพียงภายในเท่านั้น บาตรนี้ชื่อว่าบาตรขนาดกลางอย่างใหญ่
       -ถ้าของทั้งหมดมีข้าวสุกประมาณกึ่งทะนานเป็นต้น ที่บรรจุลงแล้วอยู่เสมอแนวล่าง (แห่งขอบปากบาตร) บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดกลาง (อย่างกลาง), ถ้าของพูนเป็นจอมเลยแนวขอบนั้นขึ้นมา บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดกลางอย่างเล็ก, ถ้าของไม่ถึงแนวขอบนั้นพร่องอยู่ภายในเท่านั้น บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดเล็กอย่างใหญ่ ผู้ศึกษาพึงทราบ บาตร ๙ ชนิดเหล่านี้โดยประการดังกล่าวมาฉะนี้แล
       -บรรดาบาตร ๙ ชนิดนั้น บาตร ๒ ชนิด คือ บาตรขนาดใหญ่อย่างใหญ่ ๑ บาตรเล็กอย่างเล็ก ๑ ไม่จัดเป็นบาตร (เป็นบาตรใช้ไม่ได้), จริงอยู่ คำว่า ใหญ่กว่านั้นไม่ใช่บาตร เล็กกว่านั้นไม่ใช่บาตรนี้ตรัสหมายเอาบาตร ๒ ชนิดนั่น, แท้จริงบรรดาบาตร ๒ ชนิด บาตรขนาดใหญ่อย่างใหญ่ คือ ใหญ่กว่านั้น ตรัสว่าไม่ใช่บาตร เพราะใหญ่กว่าขนาดใหญ่, และบาตรขนาดเล็กอย่างเล็ก คือ เล็กกว่านั้น ตรัสว่าไม่ใช่บาตร เพราะเล็กกว่าขนาดเล็ก เพราะฉะนั้น บาตรเหล่านี้ ควรใช้สอยอย่างใช้สอยภาชนะ ไม่ควรอธิษฐาน ไม่ควรวิกัป ส่วนบาตร ๗ ชนิดนอกนี้ พึงอธิษฐานหรือวิกัปไว้ใช้เถิด
       เมื่อภิกษุไม่กระทำอย่างนี้ ให้บาตรนั้นล่วง ๑๐ วันไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือ เมื่อภิกษุให้บาตรแม้ทั้ง ๗ ชนิด ล่วงกาลมี ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

       ๒.อธิบายบาตรที่ควรอธิษฐานและวิกัป
            บาตรเหล็กระบมแล้วด้วยการระบม ๕ ไฟ บาตรดินระบมแล้วด้วยการระบม ๒ ไฟ จึงควรอธิษฐาน, บาตรทั้ง ๒ ชนิด เมื่อให้มูลค่าที่ควรให้แล้วนั่นแล ถ้าระบมยังหย่อนอยู่แม้เพียงหนึ่งไฟ หรือยังไม่ได้ให้มูลค่าแม้เพียงกากกณิกหนึ่ง ไม่ควรอธิษฐาน, ถ้าเจ้าของบาตรกล่าวว่า ท่านจงให้ในเวลาที่ท่านมีมูลค่า ท่านจงอธิษฐานใช้สอยเถิด ดังนี้ก็ยังไม่ควรอธิษฐานแท้ เพราะว่ายังไม่ถึงการนับว่าเป็นบาตร เพราะการระบมยังหย่อนอยู่ ยังไม่ถึงความเป็นบาตรของตน ยังเป็นของผู้อื่นอยู่ทีเดียว เพราะมูลค่าทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ให้ เพราะฉะนั้น เมื่อระบมและเมื่อให้มูลค่าเสร็จแล้วนั่นแล จึงเป็นบาตรควรอธิษฐาน บาตรใบที่ควรอธิษฐานเท่านั้นจึงควรวิกัป บาตรนั้นจะมาถึงมือแล้วก็ตาม ยังไม่มาถึงก็ตาม ควรอธิษฐานหรือควรวิกัปไว้เสีย

       ๓.อธิบายการอธิษฐานบาตร
           บรรดาการอธิฐานและวิกัปนั้น อธิฐานบาตรมี ๒ คือ อธิษฐานด้วยกายอย่าง ๑ อธิษฐานด้วยวาจาอย่าง ๑  ภิกษุเมื่อจะอธิษฐานด้วยอำนาจแห่งการอธิษฐาน ๒ อย่างนั้น พึงปัจจุทธรณ์ (ถอน) บาตรเก่าที่ตั้งอยู่ต่อหน้าหรือในที่ลับ อย่างนี้ว่า อิมํ ปตฺตํ ปจฺจุทฺธรามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถอนบาตรใบนี้  หรือว่า เอตํ ปตฺตํ ปจฺจุทฺธรามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถอนบาตรใบนั้น หรือให้แก่ภิกษุอื่นแล้ว เอามือลูบคลำบาตรใหม่ที่ตั้งอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ทำความคำนึงด้วยใจ และทำกายวิการอธิษฐานด้วยกายหรือเปล่งวาจาแล้วอธิษฐานด้วยวาจาว่า อิมํ ปตฺตํ อธิฏฺฐามิ แปลว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรใบนี้
          ในอธิษฐาน ๒ อย่าง ถ้าบาตรอยู่ในหัตถบาส พึงเปล่งวาจาว่า อิมํ ปตฺตํ อธิฏฺฐามิ แปลว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรใบนี้, ถ้าบาตรนั้นอยู่ภายในห้องก็ดี ที่ปราสาทชั้นบนก็ดี ในวิหารใกล้เคียงก็ดี ภิกษุพึงกำหนดสถานที่บาตรตั้งอยู่ แล้วพึงเปล่งวาจาว่า เอตํ ปตฺตํ อธิฏฺฐามิ แปลว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรใบนั้น, ก็ภิกษุผู้อธิษฐาน แม้อธิษฐานรูปเดียว ก็ควร แม้จะอธิษฐานในสำนักของภิกษุอื่นก็ควร การอธิษฐานในสำนักของภิกษุอื่น มีอานิสงส์ดังต่อไปนี้, ถ้าเธอเกิดความเคลือบแคลงว่าบาตรเราอธิษฐานแล้วหรือไม่หนอ. ดังนี้อีกรูปหนึ่งจักเตือนให้นึกได้ ตัดความสงสัยเสีย, ถ้าภิกษุบางรูปได้บาตรมา ๑๐ ใบ ตนเองประสงค์จะใช้สอยทั้งหมดทีเดียว, อย่าพึงอธิษฐานทั้งหมด, อธิษฐานบาตรใบหนึ่งแล้ววันรุ่งขึ้น ปัจจุทธณ์บาตรนั้นแล้ว พึงอธิษฐานใบใหม่ โดยอุบายนี้อาจจะได้บริหาร (การคุ้มครอง) ตั้ง ๑๐๐ ปี

       ๔.การขาดอธิฐานของบาตร
          ถามว่า การขาดอธิษฐาน พึงมีแก่ภิกษุผู้ไม่ประมาทอย่างนี้ได้หรือ? ตอบว่า พึงมีได้, หากว่าภิกษุนี้ให้บาตรแก่ภิกษุอื่นก็ดี หมุนไปผิดก็ดี บอกลาสิกขาก็ดี กระทำกาละเสียก็ดี เพศของเธอกลับก็ดี ปัจจุทธรณ์เสียก็ดี บาตรมีช่องทะลุก็ดี บาตรย่อมขาดอธิษฐาน และคำนี้แม้พระอาจารย์ทั้งหลายก็ได้กล่าวไว้ว่า
          การขาดอธิษฐานย่อมมีได้ด้วยการให้ ๑ หมุนไปผิด ๑ ลาสิกขา ๑ กระทำกาลกิริยา ๑ เพศกลับ ๑ ปัจจุทธณ์ ๑ เป็นที่ ๗ กับช่องทะลุ ๑ ดังนี้
         แม้เพราะโจรลักและการถือเอาโดยวิสาสะ บาตรก็ขาดอธิษฐานเหมือนกัน บาตรจะขาดอธิษฐานด้วยช่องทะลุประมาณเท่าไร? จะขาดอธิษฐานด้วยช่องทะลุพอเมล็ดข้าวฟ่างลอดออกและลอดเข้าไปได้
          บรรดาธัญชาติ ๗ ชนิด เมล็ดข้าวฟ่างนี้เป็นเมล็ดธัญชาติอย่างเล็ก เมื่อช่องนั้นอุดให้กลับเป็นปกติด้วยผงเหล็ก หรือด้วยหมุด แล้วพึงอธิษฐานบาตรนั้นใหม่ภายใน ๑๐ วัน

       ๕.การวิกัปบาตร
         วิกัปมี ๒ อย่าง คือ วิกัปต่อหน้าอย่าง ๑ วิกัปลับหลังอย่าง ๑, วิกัปต่อหน้าคือภิกษุพึงรู้ว่าบาตรมีใบเดียวหรือหลายใบ และวางใกล้หรือมิได้วางไว้ใกล้ แล้วกล่าวว่า อิมํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนี้หรือว่า อิเม ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านี้ก็ดี, ว่า เอตํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนั่น หรือว่า เอเต ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านั้นก็ดี, แล้วกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปแก่ท่าน นี้ชื่อว่า วิกัปต่อหน้า ด้วยวิธีวิกัปเพียงเท่านี้ จะเก็บไว้ ควรอยู่ แต่จะใช้สอย จะจำหน่าย หรือจะอธิษฐาน ไม่สมควร, แต่เมื่อภิกษุผู้รับวิกัปกล่าวอย่างนี้ว่า มยฺหํ สนฺตกํ ปริภุญฺช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ บาตรนี้ของข้าพเจ้า ท่านจงใช้สอย จงจำหน่าย หรือจงกระทำตามปัจจัยก็ตาม ดังนี้ชื่อว่า ถอน, จำเดิมแต่นั้นแม้การใช้สอยเป็นต้น ควรอยู่
       อีกนัยหนึ่ง ภิกษุทราบว่า บาตรมีใบเดียวหรือหลายใบ และวางไว้ใกล้หรือมิได้วางไว้ใกล้อย่างนั้นเหมือนกัน แล้วกล่าวว่า อิมํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนี้ หรือว่า อิเม ปตฺเต ซึ่งบาตรทั้งหลายเหล่านี้ ก็ดี, ว่า เอตํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรทั้งหลายเหล่านั้นก็ดี ในสำนักของภิกษุนั้นนั่นแหละ แล้วระบุชื่อแห่งบรรดาสหธรรมิกทั้ง ๕ รูปใดรูปหนึ่ง คือ ท่านใดท่านหนึ่งที่ตนชอบใจ แล้วพึงกล่าวว่า ติสฺสสฺส ภิกขุโน วิกฺปเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปแก่ภิกษุ ชื่อว่า ติสสะ ดังนี้ก็ดี, ว่า ติสฺสาย ภิกฺขุนิยา...ติสฺสาย สิกฺขมานาย... ติสฺสสฺส สามเณรสฺส...ติสสาย สามเณริยา วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปแก่ภิกษุณีชื่อติสสา...แก่สิกขมานาชื่อติสสา...แก่สามเณรชื่อติสสะ...แก่สามเณรีชื่อติสสา ดังนี้ก็ดี นี้ชื่อว่าวิกัปต่อหน้า, ด้วยคำเพียงเท่านี้ จะเก็บไว้สมควรอยู่ แต่บรรดากิจมีการบริโภคเป็นต้น แม้กิจอย่างหนึ่ง ก็ไม่ควร
          แต่เมื่อภิกษุผู้รับวิกัปนั้นกล่าวว่า ติสฺสสฺส ภิกขุโน สนฺตกํ ฯลฯ ติสฺสาย สามเณริยา สนฺตกํ ปริภุญฺช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ บาตรนี้ ของภิกษุชื่อติสสะ ฯลฯ ของสามเณรชื่อติสสา ท่านจงใช้สอยก็ตาม จงจำหน่ายก็ตาม จงกระทำตามปัจจัยก็ตาม ดังนี้แล้วชื่อว่า ถอน, จำเดิมแต่นั้น แม้จะบริโภคเป็นต้น ก็สมควร
          -วิกัปลับหลังเป็นอย่างไร? คือ ภิกษุทราบว่า บาตรมีใบเดียวหรือหลายใบ และวางไว้ใกล้หรือมิได้วางไว้ใกล้อย่างนั้นนั่นแล แล้วกล่าวว่า อิมํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนี้ หรือ อิเมฺ ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านี้ก็ดี ว่า เอตํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนั่น หรือว่า เอเต ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านั้นก็ดี แล้วกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺปนตฺถาย ทมฺมิ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อต้องการวิกัป ดังนี้
          ภิกษุผู้รับวิกัปนั้นพึงถามเธอว่า ใครเป็นมิตรหรือเป็นเพื่อนเห็นกันของท่าน ลำดับนั้น ภิกษุผู้วิกัปนอกนี้ พึงกล่าวว่า ติสฺโส ภิกฺขุ ภิกษุชื่อว่า ติสฺส ฯลฯ หรือว่า ติสฺสา สามเณรี สามเณรีชื่อว่าติสสา โดยนัยก่อนนั่นแหละ ภิกษุนั้นพึงกล่าวอีกว่า อหํ ติสฺสสฺส ภิกฺขุโน ทมฺมิ ฯลฯ หรือว่า ติสสาย สามเณริยา ทมฺมิ ข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุชื่อติสสะ ฯลฯ หรือว่าข้าพเจ้าให้แก่สามเณรีชื่อติสสา นี้ชื่อว่าวิกัปลับหลัง, ด้วยการวิกัปเพียงเท่านี้ จะเก็บไว้ ควรอยู่, แต่กิจมีการบริโภคเป็นต้น ไม่ควร แต่เมื่อภิกษุนั้นกล่าวว่า อิตฺถนฺนามสฺส สนฺตกํ ปริภุญช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ บาตรนี้...ในวิกัปต่อหน้าอย่างที่สองนั่นแล ย่อมชื่อว่า ถอนจำเดิมแต่นั้น แม้การจะใช้สอยเป็นต้น ก็ควร

        ๖.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนปฐมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑ แห่งจีวรวรรค)

         ๗.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์/๒๓๐

                                 มาตราตวง
          ๑ มุฏฐิ (กำมือ)    เป็น ๑ กุฑวะ (ฝายมือ)
          ๒ กุฑวะ             เป็น ๑ ปัตถะ (กอบ)
          ๓ ปัตถะ             เป็น ๑ นาฬี (ทะนาน)
          ๔ นาฬี              เป็น ๑ อาฬหกะ




อิธ โสจติ เปจฺจ โสจติ   ปาปการี อุภยตฺถ โสจติ
โส โสจติ โส วิหญฺญติ    ทิสิวา กมฺมกิลิฎฺฐมตฺตโน ฯ ๑๕ ฯ 

คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกในโลกหน้า
คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกเดือดร้อนยิ่งนัก
เมื่อมองเห็นแต่กรรมชั่วของตน

Here he grieves, hereaafter he grieves, In both worlds the evil-doer grieves;
He mourns, he is afflicted, Beholding his own impure deeds. .
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

3113  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / เค้กศิลาลาย สูตรและวิธีทำ เมื่อ: 08 มิถุนายน 2559 13:04:14



เค้กศิลาลาย
โดย กิมเล้ง

ส่วนผสม
- แป้งเค้ก 220 กรัม (2+¼ ถ้วย)
- ผงฟู 3 ½  ช้อนชา
- เกลือป่น ½  ช้อนชา
- โซดาไบคาร์บอเนต ¼ ช้อนชา
- โกโกผง 3 ½  ช้อนโต๊ะ
- ไข่ขาวของไข่ไก่ 4 ฟอง (เบอร์ 0)
- นมสด 1 ถ้วยตวง
- เนยสด 100 กรัม
- น้ำตาลทรายเม็ดเล็ก 1 ¼ ถ้วย
- กลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา
- ครีมออฟทาร์ทาร์ 1/4 ช้อนชา
- น้ำอุ่น 2 ช้อนโต๊ะ

   
วิธีทำ
1.ร่อนแป้ง ผงฟู เกลือ พักไว้
2.ผสมน้ำอุ่นในโกโก้และโซดาไบคาร์บอเนต คนให้ละลายเข้ากัน
3.ตีเนยสดกับน้ำตาลทรายทีละน้อย จนเป็นครีมขาวฟู ใส่วานิลลา คนให้เข้ากัน
4.ใส่แป้งสลับกับนมสด ในเส่วนผสมเนยสดของข้อ 3  เสร็จแล้วแบ่งแป้งเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน
   - ส่วนที่หนึ่ง เป็นส่วนผสมสีขาวนวล
   - ส่วนที่สอง  ใส่โกโก้ที่ละลายไว้ คนให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน (สีน้ำตาล)
5.ตีไข่ขาวกับครีมออฟทาทาร์จนขึ้นฟูตั้งยอดอ่อน
6.แบ่งส่วนผสมของไข่ขาวเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน นำไปผสมกับส่วนผสมที่หนึ่ง (สีขาวนวล) และส่วนผสมของโกโก้ (สีน้ำตาล)
  ใช้พายยางตะล่อมเบาๆ ให้เข้ากัน
7.ตักส่วนผสมสีขาวใส่ในพิมพ์ที่ทาด้วยเนยขาว รองกระดาษไข (เคาะแป้งนวล)  ตามด้วยส่วนผสมของแป้งโกโก้ (สีน้ำตาล)
   ใช้ตะเกียบหรือปลายช้อน คนส่วนผสมวนไปมาให้เกิดลวดลาย
8.นำเข้าอบด้วยอุณหภูมิ 160°C  (ไฟล่าง-บน) จนสุก  เคาะออกจากพิมพ์ พักไว้ให้เย็น ตัดเสิร์พเป็นชิ้นตามขวาง



ส่วนผสม


ตีเนยสด ใส่น้ำตาลทรายทีละน้อย จนขึ้นเป็นครีมฟูขาว


ใส่แป้งสลับกับนมสดทีละน้อย จนส่วนผสมเข้ากัน


แบ่งแป้งเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน โดยส่วนผสมที่ 1 เป็นสีขาวนวล


ส่วนผสมที่ 2 ใส่โกโก้ที่ละลายไว้ คนให้เข้ากัน เป็นสีน้ำตาล


ตีไข่ขาวกับครีมออฟทาทาร์จนขึ้นฟูตั้งยอดอ่อน
แบ่งส่วนผสมเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน นำไปผสมกับส่วนผสมที่หนึ่ง (สีขาวนวล)
และส่วนผสมของโกโก้ (สีน้ำตาล)   ใช้พายยางตะล่อมเบาๆ ให้เข้ากัน


ตักส่วนผสมสีขาวใส่ในพิมพ์ ตามด้วยส่วนผสมของแป้งโกโก้ (สีน้ำตาล)
ใช้ตะเกียบหรือปลายช้อน คนส่วนผสมวนไปมาให้เกิดลวดลาย
นำเข้าอบไฟล่าง-บน จนสุก




พอสุกเคาะออกจากพิมพ์ พักไว้ให้เย็น ตัดเสิร์พเป็นชิ้นตามขวาง
เก็บใส่กล่องพลาสติกใส ใส่ตู้เย็นไว้ได้หลายวัน


ขนมชิ้นสีเหลือง คือพายสับปะรด ไว้แนะนำสูตร-วิธีทำในโอกาสต่อไป

เค้กสูตรนี้ ไม่ได้ใช้ส่วนผสมของไข่แดง
ลักษณะขนมจึงเป็นสีขาวนวล  ตัดกับสีน้ำตาลดำของผงโกโก้
สวยน่ารับประทาน...รสชาติอร่อยกลมกล่อม ด้วยส่วนผสมของเนยสด และนมสด
(ผู้ทำใช้นมสดแท้ ไม่ได้ใช้นมข้นจืดผสมน้ำ ขนมจึงออกสีขาวไม่เหลืองอ่อน)   
3114  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า จ.เชียงใหม่ เมื่อ: 08 มิถุนายน 2559 11:38:05

มีข้อมูลท่องเที่ยวรอการโพสท์เยอะ ต้องเหยียบเบรคชั่วคราว เนื่องจากมาสะดุดที่กระทู้ของนายแม็กกี้
"น้าแม๊คพาเที่ยว - ตะลุยเวียดนาม ฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ มุยเน่ ฯลฯ «"
มหากาพย์สุดเฉื่อย
 

มหากาพย์หมื่นปีของน้าแม็ค ที่รอแล้วรอเล่าคงจะไม่ยอมจบจริงๆ
ผู้โพสท์ก็อายุถอยหลังลงทุกวัน...แต่ก่อนได้หน้าลืมหลัง เดี๋ยวนี้ นอกจากลืมหลัง ลืมปัจจุบัน แล้ว ยัง "ลืมข้างหน้า"  
ดังนั้น ผู้โพสท์เกรงจะลืมข้อมูล คงจะไม่รอให้มหากาพย์หมื่นปีของน้าแม็คจบละ
จะอาสาพาท่านไปรู้จัก "ห้วยตึงเฒ่า" สถานที่พักผ่อน ในท่ามธรรมชาติของจังหวัดเชียงใหม่
อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ไปเยือนและสรรหาหาที่พักในราคาย่อมเยาของเมืองเชียงใหม่





ซุ้มนั่งพักผ่อนและรับประทานอาหารริมอ่างเก็บน้ำ ซึ่งบริเวณรอบๆ อ่างเก็บน้ำ มีร้านอาหารให้เลือกสั่งมากมายหลายสิบร้าน
เช่น ปลาเผา หมูย่าง ไก่ย่าง ส้มตำ เมนูยอดฮิตของหนุ่มสาวยันแก่เฒ่าชรา


อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า
ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม  จังหวัดเชียงใหม่

อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ตั้งอยู่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่...หากขับรถยนต์จากตัวเมืองเชียงใหม่ ให้มุ่งหน้าสู่อำเภอแม่ริม เมื่อผ่านสถานที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ  สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี แล้ว ให้ขับรถเลียบคลองชลประทาน ผ่านโรงเรียนนวมินทร์ฯ  พอถึงสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ ให้เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานคลองชลประทาน อีกไม่ไกลนักจะเข้าสู่อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ค่าธรรมเนียมเข้าอ่างเก็บน้ำคนละ 20 บาท

อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า เป็นสถานที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีความลึกมาก อยู่ในเขตพื้นที่ทหาร ในความรับผิดชอบของมณฑลทหารบกที่ 33 ก่อสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่ใช้ในศูนย์เกษตรกรรมทหารฯ และราษฎรบริเวณใกล้เคียง ให้มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคหรือใช้ประโยชน์ต่างๆ

ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ได้จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจที่ไม่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่  

บริเวณรอบๆ อ่างเก็บน้ำมีทิวทัศน์อันร่มรื่นงดงาม ในยามเช้ามืดและยามเย็นจะมีประชาชนมาออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก โดยการวิ่ง และขี่จักรยานรอบอ่างเก็บน้ำ ซึ่งสร้างถนนราดยางแอสฟัลท์คุณภาพดีไว้โดยรอบ (ระยะทางรอบอ่างเก็บน้ำประมาณ 3 กิโลเมตร) และเมื่อถึงบริเวณสันเขื่อนจะพบเห็นผู้คนจำนวนมากกำลังยืนตกปลา พักผ่อนชมวิวทิวทิศน์ของป่าไม้และขุนเขาอันสูงลิบลิ่ว

ริมอ่างเก็บน้ำมีลักษณะเป็นหาดทรายขาวสะอาดคล้ายชายฝั่งทะเล  นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำได้ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของกองทัพบกคอยให้การรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำ มีบริการห่วงยาง เรือพายให้เช่าในราคาย่อมเยา    

เนื่องจากรอบๆ อ่างเก็บน้ำเป็นธรรมชาติของภูเขา ป่าไม้ของภาคเหนือที่ยังอุดมสมบูรณ์  อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าจึงเป็นสถานที่ยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบกิจกรรมท้าทาย  เพราะมีเส้นทางให้ผจญภัยเดินป่าศึกษาธรรมชาติ  มีสถานที่กระโดดหอสูงตามสไตล์ของทหาร  มีกิจกรรมเกมโซน เพ้นท์บอล รถเอทีวีไว้บริการ และเครื่องเล่นกีฬาผาดโผนต่างๆ  

ภายในบริเวณอ่างเก็บน้ำ สามารถทำกิจกรรมค่ายพักแรม ก่อกองไฟร้องทำทำเพลง ย่างปลาย่างหมูฯลฯ ในยามค่ำคืน  มีบ้านพัก และพื้นที่กางเต็นท์ให้เช่าในราคาไม่แพง




ช่วยเหลือ กู้ภัย ห้วยตึงเฒ่า


เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่จะคอยดูแลนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำ
(ผู้โพสท์ถ่ายรูปประมาณ 6 โมงเช้าจึงยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา)




เรือแคนูให้เช่า










บ้านพักให้เช่า ราคาคืนละ 500 บาท/คืน
(นอกจากนี้ มีเต้นท์ให้เช่า หรือนำเต้นท์เข้าไปกางได้ โดยเสียค่าบำรุงสถานที่)


ตัวการสำคัญ ที่ทำให้การไปเชียงใหม่ ต้องเลือกพักที่ห้วยตึงเฒ่า
เพราะกระเตงเจ้าสองตัวนี้ไปด้วย ไปไหนไปด้วย
(นำสุนัขเข้าไปในที่พักได้ค่ะ)




เห็นตัวเท่านี้เถอะ ปีนี้ไปมาแล้ว...เชียงใหม่-ภูเก็ต




หนูไม่เกี่ยวกับเจ้าสองตัวนั่นนะเออ...บ้่านหนูอยู่เชียงใหม่
3115  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องราว จากนอกโลก / Re: เรื่องนอกโลก "ปรากฏการณ์เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาล" เมื่อ: 07 มิถุนายน 2559 13:51:08



การตั้งชื่อดาวชาละวัน

จากข้อมูลที่รายงานโดย วิมุติ วสะหลาย กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสมาคมดาราศาสตร์ ว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ประกาศผลการคัดเลือกชื่อสามัญโลกต่างระบบ 20 แห่ง หนึ่งในนั้นคือดาว 47 หมีใหญ่ (47 Ursae Majoris) ได้ชื่อว่า "ชาละวัน" นับเป็นดาวฤกษ์ดวงแรกบนท้องฟ้าที่มีชื่อสามัญสากลเป็นชื่อไทย

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือไอเอยู (IAU-International Astronomical Union) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่มีหน้าที่รับผิดชอบการกำหนดชื่อและนิยามต่างๆ ในทางดาราศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการ "เนม เอกโซ เวิลด์ส" (NameExoWorlds) มีเป้าหมายที่จะตั้งชื่อสามัญ ให้แก่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นจำนวน 20 ระบบ บางระบบที่ดาวฤกษ์เองยังไม่มีชื่อสามัญก็ให้ตั้งชื่อสามัญให้ดาวฤกษ์นั้นด้วย โดยเปิดโอกาสให้องค์กรทางดาราศาสตร์จากทั่วโลกเสนอชื่อเข้าไป และตัดสินด้วยการลงคะแนนเสียงออนไลน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดย มีองค์กรทางดาราศาสตร์ 584 องค์กรทั่วโลกร่วมเสนอชื่อ และสมาคมดาราศาสตร์ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

ดาวฤกษ์ 20 ดวง ที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลคัดมาเข้าในโครงการตั้งชื่อในครั้งนี้ได้แก่ ดาวเอปไซลอนวัว (epsilon Tauri), ดาวไอโอตามังกร (iota Draconis), ดาวแกมมาซีฟิอัส หรือ แกมมาเซเฟ (gamma Cephei), ดาวแอลฟาปลาใต้ (alpha Piscis Austrini), ดาวบีตาคนคู่ (beta Geminorum), ดาวเอปไซลอนแม่น้ำ (epsilon Eridani), ดาวมิวแท่นบูชา (mu Arae), ดาวเทาคนเลี้ยงสัตว์ (tau Bootis)

ดาวอิปไซลอนแอนดรอเมดา (upsilon Andromedae), ดาวไซนกอินทรี (xi Aquilae), ดาว 14 แอนดรอเมดา (14 Andromedae), ดาว 18 โลมา (18 Delphini), ดาว 42 มังกร (42 Draconis), ดาว 47 หมีใหญ่ (47 Ursae Majoris), ดาว 51 ม้าบิน (51 Pegasi), ดาว 55 ปู (55 Cancri), ดาวเอชดี 81688 (HD 81688), ดาวเอชดี 104985 (HD 104985), ดาวเอชดี 149026 (HD 149026) และพีเอสอาร์ 1257+12 (PSR 1257+12)


ในการเฟ้นหาชื่อดาวที่จะเสนอไปยังสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้จัดการประกวดชื่อผ่านทางเว็บไซต์ของสมาคมฯ เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเสนอชื่อเข้ามา ซึ่งก็มีผู้เสนอชื่อน่าสนใจหลายชื่อ เช่น ข้าวสวย ขนมครก สุดสาคร เป็นต้น ที่สุดสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้เลือกเอาชื่อ "ตะเภาแก้ว" เสนอโดย ด.ญ.ศกลวรรณ ตระการรังสี ส่วนชื่อ "ชาละวัน" เสนอโดย นายสุภาภัทร อุดมรัตน์นุภาพ คณะทำงานของสมาคมดาราศาสตร์ไทยจึงได้เพิ่มชื่อ "ตะเภาทอง" เข้าไปอีกหนึ่งชื่อเพื่อนำไปตั้งให้แก่ระบบสุริยะของดาว 47 หมีใหญ่ เหตุที่เลือกดาวดวงนี้เนื่องจากอยู่ในกลุ่มดาวที่ตรงกับดาวจระเข้ ของไทย สอดคล้องกับตัวละครในเรื่องไกรทองพอดี โดยให้ ชื่อชาละวันแก่ดาวฤกษ์ ส่วนตะเภาแก้วและตะเภาทองยกให้เป็นชื่อของดาวเคราะห์ทั้งสองของดาวชาละวัน

การลงคะแนนเพื่อคัดเลือกของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2558 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ปีเดียวกัน ผลออกมาว่า ชื่อดาวชาละวัน-ตะเภาแก้ว-ตะเภาทอง มีผู้ลงคะแนนให้สูงสุด ได้เป็นชื่อสามัญของดาว 47 หมีใหญ่และบริวารอย่างเป็นทางการ

การสถาปนาชื่อไทยให้โลกต่างระบบครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ได้เผยแพร่ถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานให้ชาวโลกได้รับรู้" นายเชิดพงศ์ วิสารทานนท์ กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ประธานโครงการสถาปนาชื่อไทยให้โลกต่างระบบ (Thai NameExoWorld) กล่าวและว่า

"เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้โหวตสนับสนุนกว่าครึ่งล้านคะแนนเสียงจาก 182 ประเทศ ที่เลือกโลกต่างระบบจากทั้งหมด 19 ระบบ พบว่าประเทศไทยมีคะแนนโหวตมากเป็นอันดับที่ 7 และมากกว่าชื่อลำดับที่ 2 ที่โหวตแข่งในระบบเดียวกันถึงเกือบ 3 เท่าตัว"




จันทร์ยิ้ม

พระจันทร์ยิ้มที่เคยเกิดขึ้น เกิดได้อย่างไร?

คำตอบนำมาจากอรรถาธิบายของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ว่า ดวงจันทร์ยิ้ม คือปรากฏการณ์ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี อยู่ใกล้กัน ปรากฏให้เห็นในช่วงหัวค่ำของวันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ นับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นได้ยาก วัตถุท้องฟ้า 3 วัตถุสว่างที่สุดยามค่ำคืน ได้แก่ ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี มาชุมนุมกัน โดยดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างกันเพียง 2 องศา ส่วนดวงจันทร์ปรากฏเป็นเสี้ยว (ขึ้น 4 ค่ำ) และหันด้านมืดเข้าหาดาวเคราะห์ทั้งสองพอดี ปรากฏการณ์ในครั้งนี้จึงเป็นภาพที่น่าสนใจและปรากฏให้เห็นไม่บ่อยนัก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดาวพฤหัสฯ ดาวศุกร์ และ ดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู

ทั้งนี้ ดาวพฤหัสฯ จะใช้เวลาในการเปลี่ยนราศีปีละ 1 ราศี และใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ทั้งหมด 12 ปี ทำให้โอกาสของดาว 2 ดวงและดวงจันทร์ที่จะโคจรมาอยู่บนราศีเดียวกันเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลานับ 10 ปี

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นไปตามระบบสุริยะ แต่เป็นเรื่องยากที่จะได้พบเห็น

ยังมีข้อมูลจาก วรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ว่า ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่ดวงจันทร์เสี้ยวได้เคลื่อนไปอยู่ใกล้ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี จนมีลักษณะคล้ายหน้าคนยิ้ม และหลายคนเรียกว่าพระจันทร์ยิ้ม หรือฟ้ายิ้ม นั้น เป็นภาวะประจวบเหมาะที่สำคัญหลายอย่าง คือ ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้กันมากที่สุด ด้วยระยะห่างพอประมาณ ไม่ใกล้กันมากเกินไป หากใกล้ชิดจนเกือบติดกันก็จะทำให้ดูไม่เหมือนเป็นดวงตา 2 ข้าง ขณะที่จันทร์เสี้ยวอยู่ในตำแหน่ง พอเหมาะพอเจาะสอดรับกันกับดาวสองดวง ประกอบเข้ากันเป็นตำแหน่งของปาก และทั้งดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ อยู่สูงจากขอบฟ้ามากพอสมควร ทำให้สังเกตได้ง่าย ทั้งปรากฏการณ์เกิดในเวลาหัวค่ำซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่นอน หากเกิดตอนเช้ามืดคงไม่เป็นที่สนใจและสร้างความฮือฮามากเท่านี้ โดยเฉพาะเกิดในฤดูหนาวซึ่งท้องฟ้าส่วนใหญ่ปลอดโปร่ง ไม่ค่อยมีเมฆเป็นอุปสรรค ยกเว้นภาคใต้

กล่าวได้ว่าพระจันทร์ยิ้มเป็นส่วนหนึ่งของ ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งเดียวกันเสียทีเดียว เพราะดาวเคียงเดือนใช้กับปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวสว่าง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์) ไม่ว่าจะเรียงกันเป็นรูปอะไร

แต่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ยังมีปัจจัยเพิ่มเกี่ยวกับการเรียงกันของวัตถุท้องฟ้าทั้งสามดวงจนกลายเป็นหน้าคนยิ้ม ซึ่งหากพุ่งเป้าไปที่การเข้าใกล้กันระหว่างดวงจันทร์ ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี ขอบเขตของการค้นหาก็แคบลง การเข้าใกล้กันระหว่างดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเกิดขึ้นได้ปีละ 1-2 ครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดในระยะใกล้ๆ นี้ที่จะมีดวงจันทร์มาร่วมอยู่ด้วยจนเกิดเป็นหน้าคนยิ้มได้

อย่างปรากฏการณ์ในเช้ามืดวันที่ 16 กรกฎาคม 2555 เกือบจะดูคล้ายหน้ายิ้มแล้ว แต่ออกจะบิดเบี้ยวไปค่อนข้างมาก ส่วนปรากฏการณ์ในค่ำวันที่ 18 กรกฎาคม 2558 ดูคล้ายหน้าคนเช่นกัน แต่ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ กับดาวพฤหัสบดี อยู่ห่างไกลกันพอสมควร

ต้นพุทธศตวรรษหน้า จะมีการเรียงกันของดวงจันทร์ ดาวศุกร์ กับดาวพฤหัสบดี จนดูคล้ายหน้ายิ้มในค่ำวันที่ 3 เมษายน 2603 และ 20 กันยายน 2620

โดยครั้งแรกจะมีดาวเสาร์มาร่วมอยู่ด้วย แต่ระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับดาวเคราะห์ก็ยังไกลกว่าที่เราเห็นเมื่อคืนวันที่ 1 ธันวาคม 2551 (วันถัดไปดวงจันทร์จะเข้าใกล้ดาวเคราะห์มากที่สุด แต่เคลื่อนเลยไปจนดูไม่เหมือนหน้าคน)

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าเหตุการณ์ที่หลายคนกล่าวขานว่าพระจันทร์ยิ้มเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากนักหากไม่เจาะจงว่าเป็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี แต่ยากพอสมควรเมื่อคำนึงถึงแต่เฉพาะดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีซึ่งเป็นดาวเคราะห์สองดวงที่สว่างที่สุดและเห็นได้ง่ายที่สุดบนท้องฟ้า




อุกกาบาตใหญ่ที่สุด

เคยมีอุกกาบาตตกที่ไหนบ้างที่มีขนาดใหญ่ๆ ของโลก?

ตอบ เข้าเว็บไซต์ฟิสิกส์ราชมงคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัด 7 อันดับอุกกาบาตขนาดใหญ่โตที่สุดที่เคยพบบนโลกไว้ดังนี้

ลำดับ 7 "วิลลาเมต-Willamette" น้ำหนักโดยประมาณ 15.5 ตัน ด้วยขนาด 7.8 ตารางเมตร ส่งให้วิลลาเมตเป็นสะเก็ดดาวที่ใหญ่ที่สุดที่พบในสหรัฐอเมริกา องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นแร่เหล็กถึง 91 เปอร์เซ็นต์ และนิกเกิล 7.62 เปอร์เซ็นต์ ตกในรัฐโอเรกอน แต่ร่องรอยการกระแทกไม่หลงเหลือแล้ว

ทั้งนี้ หากไม่นับรวมชนอเมริกันพื้นเมืองในอดีต ผู้ค้นพบวิลลาเมตคือ เอลลิส ฮิวจ์ ในปี ค.ศ. 1902 เขาใช้เวลากว่า 3 เดือนในการขนย้ายสะเก็ดดาวก้อนนี้ไปไกล 3 ส่วน 4 ก.ม. จากจุดตก ซึ่งเป็นที่ดินของบริษัทโอเรกอน ไอร์ออน แอนด์ สตีล และพยายามอ้างความเป็นเจ้าของ แต่สุดท้ายก็ถูกจับ และสะเก็ดดาวถูกขายไปในราคา 26,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.6 แสนบาทขณะนั้น) ก่อนที่ภายหลังจะนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน

ลำดับ 6 "เอ็มโบซี-Mbozi" น้ำหนักโดยประมาณ 16 ตัน สะเก็ดดาวเอ็มโบซีถูกค้นพบอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1930 ในประเทศแทนซาเนีย และเช่นเดียวกับอุกกาบาตจำนวนมากที่เคยพบ คือแทบไม่หลงเหลือร่องรอยการตกกระทบพื้นผิวโลกเลย ซึ่งเป็นไปได้ว่ามันกลิ้งหลังจากตกสู่พื้นโลก หรือตั้งอยู่ที่เดิมเป็นเวลานานหลายพันปี

เมื่อเอ็มโบซีถูกพบครั้งแรก ครึ่งหนึ่งของมันฝังอยู่ใต้ดิน ปัจจุบันถูกขุดขึ้นมาวางบนฐานที่ก่อสร้างขึ้น ส่วนหลุมที่เกิดจากการขุด กล่าวกันว่าคงสภาพไว้ตามเดิม

ลำดับ 5 "อักปาลิลิก-Agpalilik" น้ำหนักโดยประมาณ 20 ตัน หนึ่งในชิ้นส่วนของอุกกาบาต เคป ยอร์ก ค้นพบโดย วาน เอฟ. บุชวาลด์ ที่คาบสมุทร อักปาลิลิก ทวีปกรีนแลนด์ รู้จักกันในชื่อ เดอะ แมน ตกสู่พื้นโลกเมื่อราว 10,000 ปีก่อน เป็นหนึ่งในสะเก็ดดาวเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา เดอะ แมน ถูกใช้เป็นแหล่งแร่โลหะเพื่อสร้างเครื่องใช้และอาวุธ ก่อนที่ข่าวการคงอยู่ของมันจะไปถึงหูของนักวิทยาศาสตร์ในปี 1818 แต่คณะเดินทาง 5 ชุดที่ออกไปตามหาหินก้อนนี้ในช่วงปี 1818-1883 ล้มเหลวทั้งหมด

ลำดับ 4 "บาคุบิริโต-Bacubirito" น้ำหนักโดยประมาณ 22 ตัน วัตถุจากนอกโลกความยาว 4 เมตร เป็นสะเก็ดดาวเต็มก้อนที่สมบูรณ์ที่สุดที่เคยค้นพบในเม็กซิโกอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง พบเมื่อปี 1892 โดย กิลเบิร์ต เอลลิส ไบเลย์ นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันซึ่งมาจากสำนักวารสารในเมืองชิคาโก ต่อมาทีมสำรวจได้ขุดค้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากชนพื้นเมืองและตั้งชื่อตามชุมชนที่ค้นพบ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่เมืองคัลญาคาน ประเทศเม็กซิโก

ลำดับ 3 "อาห์นิกิโต - Ahnighito" น้ำหนักโดยประมาณ 31 ตัน เป็นเศษชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของอุกกาบาต เคป ยอร์ก รู้จักกันในชื่อ เดอะ เตนต์ นับเป็นสะเก็ดดาวก้อนใหญ่ที่สุดที่เคยถูกเคลื่อนย้ายโดยกำลังของมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์พยายามตามหามันมาตั้งแต่ปี 1818 จนกระทั่ง โรเบิร์ต อี เพียรี่ นักสำรวจมหาสมุทรอาร์กติก ชาวอเมริกัน สามารถระบุที่ตั้งที่ชัดเจนของมันได้ในปี 1894 โดยความช่วยเหลือจากชนพื้นเมืองนิรนาม ทีมของเพียรี่ใช้ความพยายามถึง 3 ปี กว่าจะขนก้อนโลหะหนักอึ้งขนาด 12.1 ตารางเมตรลงเรือได้

เพียรี่ขายให้พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน ได้ราคาสูงถึง 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะนั้น หรือประมาณ 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน

ลำดับ 2 "เอล คาโก - El Chaco" น้ำหนักโดยประมาณ 37 ตัน ชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดจากกลุ่มสะเก็ดดาว คัมโป เดล เชโล ซึ่งตกกระแทกกับพื้นโลกสร้างหลุมยุบขนาด 60 ตารางกิโลเมตร ในประเทศอาร์เจนตินา เอล คาโก เป็นวัตถุจากนอกโลกที่หนักที่สุดเป็นลำดับที่ 2 เท่าที่เคยพบบนพื้นโลก

ค้นพบในปี 1969 ในหลุมลึก 5 เมตร ด้วยการใช้เครื่องตรวจจับโลหะ และจากการตรวจสอบจุดตกพบว่ามีอายุประมาณ 4,000-5,000 ปี เมื่อปี 1990 เกิดคดีใหญ่โต เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจอาร์เจนตินาสามารถหยุดแผนขโมยสะเก็ดดาวเอล คาโก ของนักล่าอุกกาบาต โรเบิร์ต ฮัก ได้สำเร็จ ทั้งที่หินดังกล่าวถูกเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศไปแล้ว

ลำดับ 1 "โฮบา - Hoba" น้ำหนักโดยประมาณ 60 ตัน ขนาด 6.5 ตารางเมตร เป็นเจ้าของตำแหน่งสะเก็ดดาวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบบนโลกใบนี้ ด้วยน้ำหนักที่มากกว่าลำดับ 2 เกือบเท่าตัว

อยู่ที่เมืองกรูตฟอนไตน์ แคว้นโอตโจซอนด์จูปา ประเทศนามิเบีย

คาดกันว่ามันถูกชะลอโดยชั้นบรรยากาศโลกก่อนที่จะตกสู่พื้น ด้วยความเร็วที่ทำให้มันไม่บุบสลายและจมลงเนื้อดินเกือบมิด นอกจากนี้มันยังมีรูปทรงราบแปลกตา ซึ่งมีคำอธิบายว่าอาจตกกระดอนไปกับพื้นในลักษณะการโยนหินให้กระดอนบนผิวน้ำ

จากการตรวจสอบพบว่า สะเก็ดดาว โฮบา ตกสู่พื้นโลกเมื่อประมาณ 80,000 ปีก่อน มีส่วนประกอบของแร่เหล็ก 84 เปอร์เซ็นต์ นิกเกิล 16 เปอร์เซ็นต์ และเนื่องจากมวลมหาศาลทำให้มันไม่เคยถูกเคลื่อนย้ายไปจากจุดที่ตั้งอยู่เลยตั้งแต่มีการค้นพบเมื่อปี 1920 โดยชาวนาคนหนึ่ง

ปัจจุบันทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปชมหินอุกกาบาตก้อนนี้

นสพ.ข่าวสด

  นสพ.ข่าวสด
3116  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / ตรีทูต : ลักษณะบอกอาการของคนใกล้ตาย เมื่อ: 07 มิถุนายน 2559 13:34:44



ตรีทูต

"ตรีทูต" เป็นศัพท์กล่าวถึงสภาพของผู้ป่วยที่มีอาการหนักจวนเจียนจะตาย คือลักษณะบอกอาการของคนใกล้ตาย โดยกล่าวว่าผู้ป่วยนั้นอยู่ในระยะตรีทูต หรือเข้าตรีทูต หรือเข้าขั้นตรีทูต

ที่มาของศัพท์ บ้างว่ามาจากความเชื่อที่ว่า เมื่อคนใกล้ตาย ยมบาลจะส่งทูต ๓ ตน จากทั้งหมด ๔ ตน มานำตัวผู้ใกล้ตายไปยังยมโลก การมาของทูต ๓ ตนคือ ตรีทูต บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีอาการหนักจวนตาย และหากทูตมาครบ ๔ ตนเมื่อใด เป็นอันว่าถึงแก่การสิ้นชีพ

บ้างว่าใช้ ตรีภูต ก็มี ซึ่งเป็นคำอุปมาของแพทย์แผนโบราณหรือของชาวบ้าน จากความเชื่อว่าหากเจตภูตหรือวิญญาณของคนใกล้ตายออกจากตัวไปแล้ว ๓ ดวง จากทั้งหมด ๔ ดวง จะเรียกระยะนี้ว่าเข้าระยะตรีภูต (ต่อมาเพี้ยนกลายเป็น ตรีทูต) เป็นสภาพการณ์ที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีอาการร่อแร่จวนตาย จำเป็นต้องเฝ้าดูแลไม่ให้คลาดสายตา และถ้าวิญญาณออกจากตัวครบ ๔ ดวงเมื่อใดก็เป็นอันว่าถึงแก่การสิ้นชีพ นอกจากนี้ ยังมีที่ใช้ว่า ตรีโทษ โดยเชื่อว่าเมื่อผู้ป่วยมีอาการหนักจวนตาย ธาตุจะแตกสลาย คุมประสานกันไม่ติด เป็นตรีโทษหนัก ทั้งนี้ แม้ว่าการเรียกชื่อ รวมทั้งความเชื่อในที่มาของชื่อแตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วหมายถึงอาการใกล้ตายที่ธาตุทั้ง ๔ ธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟ และลม ค่อยสูญลงไป

อย่างไรก็ดี ศ.นพ.ประเสริฐ กังสดาลย์ (ผู้ได้รับการยกย่องจากลูกศิษย์ว่าเป็นปรมาจารย์ทางอายุรศาสตร์ของไทย) กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๔ ว่า ตามหลักฐานแล้วยังไม่พบคำอธิบายสำหรับข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่มีคำอธิบายสำหรับคำว่า ตรีโทษ หมายความว่าอาการไข้หนักจวนจะตาย และคำว่า ตรีโทษ อาจจะเพี้ยนเป็น ตรีทูต ก็ได้

ขณะที่คำอธิบายศัพท์ คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์ หนังสือเรียนภาษาไทย วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ตรีโทษ หมายถึงอาการไข้หนักมาก อยู่ในระยะที่เลือด ลม และเสมหะบังเกิดเป็นพิษขึ้นพร้อมกัน (เป็นโทษสามอย่าง) สำนวนที่ชาวบ้านใช้ว่า อาการเข้าขั้นตรีทูตนั้น คำว่า ตรีทูต น่าจะเป็น ตรีทูษ ซึ่งเพี้ยนมาจาก ตรีโทษ

ด้าน นพ.ดำรง เพ็ชรพลาย ให้ความรู้เรื่องนี้ไว้ในสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๒ ว่า อาการตรีทูต หรือเข้าตรีทูต หมายถึงอาการแสดงระยะสุดท้ายของผู้ป่วย บอกให้ทราบว่าความตายกำลังใกล้เข้ามา ผู้ป่วยที่มีอาการตรีทูตมักนอนราบอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนไหว ผิวหนังซีดคล้ำ ไม่สดใส ตาโบ๋แต่ลืมตาแจ๋ว ใบหน้าหมองมัว จมูกเสี้ยม ขมับหวำ คางแหลมปากอ้า ขากรรไกรล่างตก ใบหูเย็นและหดฝ่อ แก้มตอบ ใบหน้าเช่นนี้ทางแพทยศาสตร์เรียกว่าใบหน้าแบบฮิปโปเครตีส ทั้งยังมีอาการหายใจเบา ชีพจรอ่อน และผู้ป่วยนั้นไม่รู้เรื่องรู้ราวอันใดอีก

ลักษณาการนี้บ่งบอกว่าหมดหวังในผู้ป่วยแล้ว การที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นกลับมาเป็นปกติเป็นไปได้ยากยิ่ง โรคจะดำเนินต่อไปเองจนถึงวาระสุดท้าย และผู้ป่วยนั้นจะถึงแก่ความตายในที่สุด

ยังมีข้อมูลจากข้อเขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า คำว่า ตรีทูต ในพระบาลี มีลักษณะเป็นทูตจริงๆ คือถูกส่งตัวจากที่หนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่ง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งผู้ส่งและผู้รับ ตรีทูต อันหมายถึง ชรา พยาธิ มรณะ นั้น เป็นเทวทูตที่สวรรค์ส่งมาสำแดงตนแก่พระโพธิสัตว์เจ้า เมื่อเสด็จทรงราชรถออกประพาสตามบ้านเมือง เทวทูตตนหนึ่งสำแดงตนเป็นคนชรา อีกตนหนึ่งสำแดงตนเป็นคนป่วย และอีกตนหนึ่งสำแดงตนเป็นศพที่กำลังขึ้นอืดเน่าพุพอง ทั้งสามทูตน่าเกลียดและน่ากลัวทั้งนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นก็ฉุกพระทัยในสภาพแห่งชีวิต จึงได้เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ และได้ตรัสรู้อริยสัจในที่สุด



ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3117  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / คำพระสอน เมื่อ: 05 มิถุนายน 2559 19:02:26


พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

“กรรมทั้งหลายไม่ได้มาจากอื่นไกล
มาจากกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเราเท่านี้”

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร - จังหวัดสกลนคร

*゚¨゚✎-·´¯`·.¸¸.·´¯`·._.·¯`·.¸> <((((º> ♫♫♫~*



วิหารพระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

“ผู้ทรงศีลด้วยความบริสุทธิ์ ก็เท่ากับว่านานั้นมีคันนา
ฝนตกลงมาน้ำก็ขัง เอาปุ๋ยใส่มันก็ขัง
ถ้าใครไม่มีศีลบริสุทธิ์ ก็เท่ากับนาไม่มีหัวคันนา
ฝนตกลงมาน้ำในนาไหลหนีหมด ใครจะไปหว่านปุ๋ยก็ไม่อยู่ เมล็ดข้าวก็ไม่อยู่”

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร)
วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ


*゚¨゚✎-·´¯`·.¸¸.·´¯`·._.·¯`·.¸> <((((º> ♫♫♫~*




พระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

“เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก
อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์เราจะต่ำลงกว่าสัตว์
และจะเลวกว่าสัตว์อีกมากมาย อย่าพากันทำ
ให้พากันละบาป บำเพ็ญบุญ ทำแต่คุณความดี
อย่าให้เสียชีวิตเปล่าที่มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์”

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
วัดป่าสุทธาวาส  จังหวัดสกลนคร


*゚¨゚✎-·´¯`·.¸¸.·´¯`·._.·¯`·.¸> <((((º> ♫♫♫~*



พระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

“คนทำบุญเหมือนน้ำเย็น
คนรักษาศีล ภาวนา เย็นเหมือนน้ำ
คนไม่ทำบุญให้ทาน ไม่รักษาศีล ไม่ภาวนา มันเป็นไฟ
เหมือนไฟ มันร้อน มันไหม้เรื่อยไป”

พระญาณสิทธาจารย์  (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่



พระอริยสาวก พระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

รู้แล้วอย่าหลงรู้ รับว่ารู้ แล้ววางรู้ รู้จึงไม่มีพันธะ
จิตก็บริสุทธิ์ได้ ละบุญละบาปใดๆ ก็ได้

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ
วัดป่าวิเวกวัฒนาราม อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร



ภาพ: วัดแม่นางปลื้ม  
อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

“ในทางโลก  การได้มามากๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
แต่ในทางธรรม  การสละสิ่งที่มีมากๆ ให้หมดไป
แม้แต่สิ่งละเอียดอ่อนภายในใจได้
ท่านว่า ประเสริฐสุด

พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป)
วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี


*゚¨゚✎-·´¯`·.¸¸.·´¯`·._.·¯`·.¸> <((((º> ♫♫♫~*




การปฏิบัตินั้น ให้พยายามทำ มันจะสงบหรือไม่สงบก็ช่าง ปล่อยไว้ก่อน
เอาเรื่องเราปฏิบัติเป็นเรื่องแรก เอาเรื่องเราได้สร้างเหตุนี้แหละ ถ้าทำแล้วผลจะเป็นอย่างไรก็ได้
เราทำได้แล้วอย่ากลัวว่าจะไม่ได้ผล มันไม่สงบเราก็ได้ทำ ทีนี้ถ้าเราไม่ทำใครเล่าจะได้ ใครเล่าจะเห็น
"คนหานั่นแหละจะเห็น คนกินนี่แหละจะอิ่ม"

หลวงปู่ชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี


*゚¨゚✎-·´¯`·.¸¸.·´¯`·._.·¯`·.¸> <((((º> ♫♫♫~*




กายเดียว จิตเดียว หนังแผ่นเดียว
เรียนเท่านี้ไปนิพพานได้

หลวงปู่บุดดา ถาวโร
วัดกลางชูศรีเจริญสุข ต.พักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี


*゚¨゚✎-·´¯`·.¸¸.·´¯`·._.·¯`·.¸> <((((º> ♫♫♫~*



มันจะมีนรก มีสวรรค์อย่างไร
นั่นมันกิเลสต่างหากเล่า
กิเลสหมด มันก็หมดนรก หมดสวรรค์ซิ

หลวงปู่บุดดา ถาวโร
วัดกลางชูศรีเจริญสุข ต.พักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี









ภาพ : หัตถ์พระอัครสาวก พระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก
(พระอัครสาวกประดิษฐานอยู่ด้านข้างพระพุทธชินราช)


พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
(กรกฎาคม ๒๕๕๙)

"กรรมดีกรรมชั่ว ผู้นี้เป็นกำเอา เป็นผู้ทำเอา
ไม่เห็นมีกรรมมาจากต้นไม้ภูเขาเลากา ไม่เห็นมีกรรมมาจากฟ้าอากาศ
มาจากกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเท่านี้แหละ"

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


*゚¨゚✎-·´¯`·.¸¸.·´¯`·._.·¯`·.¸> <((((º> ♫♫♫~*



รูปหล่อเหมือน หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

 *゚¨゚✎-·´¯`·.¸¸.·´¯`·._.·¯`·.¸> <((((º> ♫♫♫~*




พระเนตรขวา พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต)
วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มหาเหตุ
...เหตุทั้งหลายของคนเรา ก็ล้วนมาจากใจ
ใจจึงเป็นมหาเหตุ ถ้าใจดี ใจสูง ใจประเสริฐ การทำ การพูด
ก็พลอยดีและประเสริฐไปด้วย...


ธรรมวจนะ  พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา
(หลวงปู่หลอด ปโมทิโต)



ภาพจาก : วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

พระพุทธองค์ตรัสว่า
"ผู้ไม่มีสติก็คือคนประมาท คนประมาทนั้นก็คือคนตาย"
แม้มีชีวิตอยู่ก็เรียกว่าตายแล้่ว เพราะจิตใจมันตาย ไม่มีอะไรแล้ว เป็นผู้ประมาท
"ปมาโท มจฺจุโนปทํ คนประมาทแล้วเหมือนคนตาย"
นี่ตายในภาษาธรรมะ ตายในภาษาด้านปรมัตถ์ ไม่ใช่ตายในร่างกายของเรา


พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)



"พระพักตร์" สมเด็จนางพญาเรือนแก้ว วัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก
(๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐)

"พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัยก็ดี รู้อะไรๆ ได้ด้วยทศพลญาณก็ดี
รอบรู้สรรพเญยฺยธรรมทั้งปวงก็ดี ก็เพราะมีมหาเหตุนั้นเป็นดั้งเดิมทีเดียว จึงทรงรอบรู้ได้เป็นอนันตนัย
แม้สาวกทั้งหลายก็มีมหาเหตุนี้แลเป็นเดิม จึงสามารถรู้ตามคำสอนของพระองค์ได้ด้วยเหตุนี้แล"

พระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ
ณ วัดป่าบ้านนามน กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร พ.ศ.๒๔๘๖

*บันทึกโดยพระอาจารย์วิริยังค์ สิรนฺธโร (พระราชธรรมเจติยาจารย์)
วัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร



ภาพจาก : วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร  ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ภิกษุผู้ถอนภวตัณหาได้แล้ว มีจิตสงบแล้ว
สิ้นความเวียนเกิดแล้ว ย่อมไม่มีภพอีก

อุจฺฉินฺนภวตณฺหสฺส  สนฺตจิตฺตสฺส ภิกฺขโน
วิกฺขีโณ ชาติสํสาโร   นตฺถิ ตสฺส ปุนพฺภโว

ขุ.อุ.๒๕/๑๔๓



"พระหัตถ์ขวา" สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพจากหงสาวดี
ภาพจาก : พระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก
(๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐)

หมู่ปราชญ์บัณฑิต เปรียบได้กับ "รวงข้าวที่สมบูรณ์"
รวงข้าวที่สมบูรณ์นั้น จะโน้มรวงอ่อนลงสู่เบื้องล่าง
อันหมู่ปราชญ์บัณฑิต ย่อมอ่อนน้อมถ่อมตน
ที่ชูก้านขึ้นสูง ชี้โด่เด่ นั้นคือ "ข้าวลีบ"

พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์




"อะไรเล่าจะทรมานจิตใจมนุษย์
ยิ่งไปกว่าการสำนึกผิดโดยไม่มีทางแก้
"

 
จาก : ธรรมะใต้เงาไม้ - หลวงปู่แบน ธนากโร (พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร) 
วัดดอยธรรมเจดีย์  บ้านนาสีนวล ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
ภาพถ่ายปี พ.ศ.๒๕๕๙



สมเด็จนางพญาเรือนแก้ว วัดนางพญา อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก



"รตฺตสฺส  หิ อุกฺกฏิกํ ปทํ ภเว
ทุฏฺฐสฺส โหติ สหาสนุปิฬิตํ
มูฬฺหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ
วิวฏฉทสฺส อยมีทิสํ ปทํ"


คนราคจริต รอยเท้าจะเว้าตรงกลาง
คนโทสจริต รอยเท้าจะจิกปลาย
ส่วนรอยเท้า (ราบเสมอกัน) เป็นของคนหมดกิเลสแล้ว

ที่มา : สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๕ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐



รูปปั้นหล่อหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
ภาพจาก : วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (พ.ศ.๒๕๕๙)

ให้ท่องอยู่ในใจเสมอว่า เรามีความแก่ เจ็บ ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน ป่าช้าอันเป็นที่เผาศพภายนอก
และป่าช้าที่ฝังศพภายใน คือตัวเราเอง เป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝังหรือบรรจุ จะอยู่ในตัวเรา
ตลอดเวลาทั้งศพเก่าศพใหม่ทุกวัน พิจารณาธรรมสังเวช พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ ย่อมมีทางถอดถอน
ความเผลอเย่อหยิ่งในวัย ในชีวิต และวิทยฐานะต่างๆ ออกได้  จะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัว และพยายาม
แก้ไขได้เป็นลำดับมากกว่าจะไปเห็นโทษของคนอื่น แล้วมานินทาเขา ซึ่งเป็นความไม่ดีใส่ตน
นี่คือการภาวนา คือวิธีเตือนตน สั่งสอนตน ตรวจตราดูความบกพร่องของตน
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

3118  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / พุทธนิกายสยามวงศ์ เมื่อ: 05 มิถุนายน 2559 17:38:21



พุทธนิกายสยามวงศ์

ประเทศไทยและประเทศศรีลังกามีประวัติความสัมพันธ์ด้านศาสนายาวนานกว่า ๗๐๐ ปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัยนับเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศไทยมีชื่อว่า "ลังกาวงศ์" ในขณะที่พุทธศาสนานิกายเถรวาทที่สำคัญนิกายหนึ่งในประเทศศรีลังกามีชื่อว่า "สยามวงศ์" หรือ "สยามนิกาย"

พระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นได้รับสืบทอดมาจากประเทศศรีลังกาเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กล่าวคือในปี พ.ศ.๑๖๙๖ พระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช กษัตริย์แห่งลังกาทวีป ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาจนรุ่งเรืองทั้งการศึกษาและการปฏิบัติ จนลังกาในยุคนั้นเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา พระสงฆ์จากประเทศต่างๆ เดินทางเข้าไปศึกษาพระธรรมวินัยและบวชใหม่ในลังกา แล้วกลับไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในประเทศของตน บ้างก็นิมนต์พระสงฆ์จากลังกาเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนา เช่น ในกรณีของสยามประเทศ นิมนต์พระสงฆ์จากลังกา นามว่า ราหุล มาจำพรรษาและเผยแผ่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ณ เมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗

ในปี พ.ศ.๑๘๒๐ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย อาราธนาพระมหาเถรสังฆราชจากเมืองนครศรีธรรมราชมาจำพรรษา ณ วัดอรัญญิก กรุงสุโขทัย ทำให้พระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองในสยามประเทศ รวมถึงในปี พ.ศ.๑๙๐๔ พระเจ้าลิไท กษัตริย์องค์ที่ ๕ ของกรุงสุโขทัย ทรงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราช จากลังกาทวีปมาจำพรรษา และในยุคนี้เองที่เริ่มแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายคามวาสี และฝ่ายอรัญวาสี

ขณะที่สยามนิกายในศรีลังกา กำเนิดปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คณะสงฆ์ในศรีลังกาเสื่อมสูญไป เนื่องจากภัยคุกคามจากพวกทมิฬกับชาติตะวันตก ครั้งนั้นลังกาทวีปมีเพียงคณะสามเณร นำโดย สามเณรสรณังกร สามเณรเหล่านั้นไม่สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ เพราะไม่มีพระอุปัชฌาย์และพระอันดับ กษัตริย์พระนามว่า พระกีรติศรีราชสิงหะ จึงได้ส่งคณะทูตมายังกรุงศรีอยุธยา ขอสมณทูตจากสยามไปช่วยฟื้นสมณวงศ์ในศรีลังกาเมื่อปลาย พ.ศ.๒๒๙๓

พ.ศ.๒๒๙๕ คณะพระธรรมทูตชุดแรกจากกรุงศรีอยุธยา นำโดย พระอุบาลี พร้อมพระอริยมุนี และพระนามะ เดินทางไปยังศรีลังกาโดยเรือกำปั่นของฮอลันดา ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น ๕ เดือน ๔ วัน

เมื่อถึงเกาะลังกาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบุปผาราม กรุงศิริวัฒนบุรี (ปัจจุบันคือวัดมัลวัตตะ เมืองแคนดี้) พระธรรมทูตจากสยามได้อุปสมบทสามเณรสรณังกรและคณะ รวมทั้งกุลบุตรแห่งลังกาทวีปเป็นพระภิกษุกว่า ๗๐๐ รูป ภายในระยะเวลา ๓ ปี ที่พำนักอยู่ ทั้งยังได้ร่วมกันฟื้นฟูสมณวงศ์ในศรีลังกาจนเป็นผลสำเร็จ นำสู่การก่อตั้งคณะสงฆ์นิกายใหญ่ที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุดนิกายหนึ่งจวบจนถึงปัจจุบัน นามว่า "สยามนิกาย" ด้วยเป็นนิกายที่สืบเชื้อสายสมณวงศ์มาจากสยาม

ปี พ.ศ.๒๒๙๘ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงส่งคณะธรรมทูตชุดที่ ๒ ไปยังศรีลังกาเพื่อผลัดเปลี่ยนหน้าที่กับคณะธรรมทูตชุดแรก คณะธรรมทูตไทยชุดที่ ๒ นำโดย พระวิสุทธาจารย์ และ พระวรญาณมุนี เมื่อเดินทางถึงเมืองท่าตรินโคมาลีแห่งลังกาทวีป ได้ทราบว่าพระอุบาลีถึงแก่มรณภาพเสียแล้วภายในกุฏิวัดบุปผาราม ด้วยโรคหูอักเสบ

คณะธรรมทูตชุดที่ ๒ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบุปผาราม และดำเนินกิจกรรมทางศาสนาต่อเนื่องจากคณะสงฆ์สยามชุดแรกเป็นเวลารวมทั้งสิ้น ๔ ปี จนกระทั่งเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาในปี ๒๓๐๑ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

การที่คณะสงฆ์สยามเดินทางไปสืบพุทธศาสนาในศรีลังกา ทำให้พุทธศาสนาในศรีลังกาซึ่งเดิมเสื่อมทรามลงได้กลับมาฟื้นฟูจนเป็นหลักให้กับดินแดนลังกาทวีปอีกครั้ง

ศรีลังกาขนานนามพระสงฆ์ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระอุบาลีว่า "อุบาลีวงศ์" หรือ "สยามวงศ์" และทำให้ "สยามนิกาย" เป็นหนึ่งในพุทธศาสนานิกายเถรวาทในศรีลังกาที่มีผู้ให้การยอมรับนับถือเป็นจำนวนมากสืบต่อมา

เกี่ยวกับพระอุบาลี ธรรมทูตรูปแรกแห่งสยามวงศ์ ศึกษาเรื่องราวของท่านได้ที่ "พิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ" ตั้งอยู่ภายในวัดธรรมาราม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตกนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ก่อตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระอุบาลีมหาเถระ และเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ ๒๖๐ ปี แห่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในแผ่นดินลังกา



ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3119  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: สารคดี ชีวิตสัตว์โลก เมื่อ: 05 มิถุนายน 2559 17:17:45
.




ปลาบิน : ปลานกกระจอก
ข้อเขียนของ สุทธิชัย ฤทธิธรรม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง พูดถึง "ปลาบิน" ที่ชื่อ ปลานกกระจอก ว่ามีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Flying fish อยู่ในสกุล Exocoetidae เป็นปลาขนาดเล็ก ความยาวราว ๔-๕ นิ้วฟุต น้ำหนักไม่เกิน ๕๐ กรัม อาศัยอยู่บริเวณผิวหน้าน้ำทะเล เมื่อเรือแล่นไปในท้องทะเล มักจะเห็นปลานกกระจอกกระโดดขึ้นมาร่อนไปเหนือผิวน้ำเพื่อหนีเรือเป็นระยะๆ ตลอดทาง

เหตุใดเจ้าปลานกกระจอกถึงขึ้นมาร่อนอยู่ในอากาศ ทำไมไม่พุ่งไปในน้ำอย่างที่ปลาอื่นเขาทำกัน ข้อมูลบอกว่า ความหนาแน่นของน้ำทะเลโดยเฉลี่ย มีค่าอยู่ระหว่าง ๑.๐๒๔-๑.๐๓๐ กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ความหนาแน่นของอากาศที่ระดับผิวน้ำทะเลมีค่าเท่ากับ ๐.๐๐๑๒๒๕ กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร คิดง่ายๆ ได้ความว่า แรงเสียดทานต่อการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าในน้ำย่อมสูงกว่าในอากาศประมาณ ๑,๐๐๐ เท่า และแรงเสียดทานยังขึ้นกับรูปทรงอีกด้วย ดังนั้น ปลาที่ประสงค์จะพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วใต้น้ำ ต้องพัฒนารูปร่างให้หัวแหลม ท้ายเรียว และชโลมตัวด้วยเมือกให้ลื่นไหลปรู๊ดปร๊าด เช่น ปลาอินทรี ปลาสาก เป็นต้น




แต่ปลานกกระจอกเลือกที่จะพัฒนาครีบหูและครีบอกแผ่กว้างกางออกเพื่อร่อนไปในชั้นบรรยากาศที่ความหนาแน่นต่ำกว่ากันมาก ซึ่งคงสิ้นเปลืองพลังงานเฉพาะตอนเทก ออฟ (take off) ระยะสั้นๆ เท่านั้น จากนั้นก็กางครีบร่อนไปอย่างสบาย

ทั้งนี้ ความหนาแน่นของน้ำในอีกมุมมองหนึ่งก็มีแรงพยุงรับน้ำหนักได้มาก ดังนั้น การลอยตัวอยู่ในน้ำจึงใช้พลังงานน้อยมาก ปลาที่เลือกที่จะพุ่งไปข้างหน้าในน้ำจึงสามารถที่จะพัฒนาลำตัวให้มีกล้ามเนื้อหนาขนาดใหญ่จะได้มีพลังมาก เช่น ปลาโอและปลาทูน่าที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่หลายกิโลกรัมไปจนถึงหลายร้อยกิโลกรัม

ส่วนในบรรยากาศที่มีความหนาแน่นต่ำก็มีแรงพยุงรับน้ำหนักน้อยมาก ปลาที่เลือกที่จะร่อนไปเหนือน้ำจึงต้องมีขนาดลำตัวเล็กและเบา เมื่อร่อนไปได้สักพักก็ตกลงมาเพราะหมดแรงส่ง การเทกออฟของปลานกกระจอกต้องมีรันเวย์และอาศัยแรงคลื่นหนุนส่ง อย่างไรก็ตาม ปลานกกระจอกทำได้แค่ร่อนไปข้างหน้าตรงๆ ไม่สามารถโผซ้ายแฉลบขวาหรือตีวงโค้งย้อนกลับ




สาเหตุมันไม่ต้องพัฒนาความสามารถแบบนั้น ก็เพราะว่าในทะเลเปิดท้องน้ำกว้างใหญ่ไพศาลไม่มีที่สิ้นสุด พุ่งไปทางไหนไกลเท่าใดก็ได้เท่าที่มีแรง แต่ในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ มีผนังกำแพงขวางหน้าทางวิ่ง แรงส่งไม่พอ เบรกก็ไม่มี ปลาที่ตกใจพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจึงชนเข้ากับผนังบ่ออย่างจัง ปากเจ่อดั้งหักเสียหล่อไปเลย ครีบหูที่กว้างใหญ่เมื่อมาอยู่ในบ่อน้ำนิ่งกลายเป็นอวัยวะส่วนเกินเทอะทะ ห้อยร่องแร่ง เกะกะ

ยังมีข้อมูลจากวิกิพีเดียว่า ปลานกกระจอก หรือปลาบิน เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็งวงศ์หนึ่ง มีลำตัวยาวมาก ค่อนข้างกลม จะงอยปากสั้น ทู่ ปากเล็ก ไม่มีฟัน ไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหูขยายใหญ่ยาวถึงครีบหลัง ครีบท้องขยายอยู่ในตำแหน่งท้อง ครีบหางมีแพนล่างยาวกว่าแพนบน เว้าลึกแบบส้อม เส้นข้าง ลำตัวอยู่ค่อนลงทางด้านล่างของลำตัว เกล็ดเป็นแบบขอบบางไม่มีขอบหยักหรือสาก หลุดร่วงง่าย

จัดเป็นปลาทะเลขนาดเล็ก พบกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยพบในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งพอสมควร ส่วนใหญ่มีลำตัวสีเขียว หรือสีน้ำเงินหม่น ข้างท้อง สีขาวเงิน พบมากกว่า ๕๐ ชนิดทั่วโลก แบ่งออกเป็น ๘ สกุล เป็นปลาที่ขี้ตื่นตกใจ และตายง่ายมากเมื่อพ้นน้ำ

ลักษณะเด่น มีความคล่องแคล่วว่องไว เมื่อตกใจหรือหนีภัยจะกระโดดได้ไกลเหมือนกับร่อนหรือเหินไปในอากาศ ซึ่งอาจไกลได้ถึง ๓๐ เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลาและจังหวะ อันเป็นที่มาของชื่อ โดยใช้ครีบอกหรือครีบหูที่มีขนาดใหญ่มากเป็นตัวพยุงช่วย ขณะที่บางชนิดมีครีบก้นที่มีขนาดใหญ่ร่วมด้วย ปลานกกระจอกเมื่อกระโดดอาจกระโดดได้สูงถึง ๗-๑๐ เมตร ด้วยความเร็วประมาณ ๖๕ กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถอยู่กลางอากาศได้นานอย่างน้อย ๑๐ วินาที




แมงมุมแม่ม่ายดำ

แมงมุม : ๓ อันตราย
เกี่ยวกับแมงมุมพิษในประเทศไทย ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท และ พญ.เบ็ญจ์สชีว์ ปัทมดิลก จากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เขียนให้ความรู้ไว้ว่า แมงมุมพิษในประเทศไทยนั้นปกติไม่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากมีผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกๆ ได้นำแมงมุมพิษจากต่างประเทศเข้ามา และเมื่อมากัดคนจึงเกิดโรคขึ้น แมงมุมพิษนั้นมีอยู่ ๓ ชนิด คือ แมงมุมแม่ม่ายดำ, แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล และ แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล

๑.แมงมุมแม่ม่ายดำ (black widow spider) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Latrodectus mactans เป็นแมงมุมขนาดเล็ก พบได้ในหลายประเทศ แต่มีชุกชุมมากในทวีปอเมริกาใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปออสเตรเลีย ชื่อของแมงมุมชนิดนี้สื่อถึงพฤติกรรมที่แมงมุมตัวเมียมักจะกินแมงมุมตัวผู้หลังจากผสมพันธุ์ ส่วนกรณีกัดคน มักถูกกัดจากการไปสัมผัสมันเข้าโดยบังเอิญ  




แมงมุมแม่ม่ายดำตัวเมียมีความยาวประมาณ 1๑-๒ เซนติเมตร สีดำ ตัวกลม ที่ท้องมีลายเป็นรูปนาฬิกาทรายสีแดง และเฉพาะตัวเมียเท่านั้นที่กัดมนุษย์ได้ ส่วนตัวผู้ตัวมีขนาดเล็กและกรามไม่แข็งแรงพอ สารพิษของแมงมุมแม่ม่ายดำเป็นพิษที่มีผลหลักต่อระบบประสาท โดยพิษจะทำให้เกิดช่องว่างบริเวณปลายเซลล์ประสาท ทำให้เกิดการส่งกระแสประสาทอย่างต่อเนื่องและมากกว่าปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็งจนเป็นอัมพาต

สาเหตุการเสียชีวิตจะเกิดจากกล้ามเนื้อกะบังลมและกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงาน ความรุนแรงขึ้นกับปริมาณสารพิษที่ได้รับ สำคัญคือพิษของแมงมุมแม่ม่ายดำมีความรุนแรงกว่าพิษงูส่วนใหญ่ โดยจะเริ่มแสดงอาการหลังถูกกัดประมาณ ๒๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง




อาการแสดงระยะแรกจะมีแค่เกิดผื่นแดงๆ และมีอาการปวดบริเวณที่ถูกกัด ต่อมาภายใน ๓๐ นาทีจะเห็นผิวหนังบริเวณรอบๆ แดงขึ้น ร่วมกับมีอาการขนลุก เหงื่อออก อาจมีอาการชาหรือปวดร้าวบริเวณที่ถูกกัดด้วย อาจมีอาการเป็นตะคริว และมีผื่นลมพิษร่วม

อย่างไรก็ตาม บริเวณที่ถูกกัดจะไม่มีเนื้อตายเกิดขึ้น และเนื่องจากพิษของแมงมุมชนิดนี้มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้อาจมีอาการอื่นๆ เช่น ปวดท้องรุนแรงจนบางครั้งสับสนกับอาการปวดท้องจากไส้ติ่งอักเสบ หรือการปวดจากนิ่วในถุงน้ำดีไปอุดตันทางเดินน้ำดี หรือมีอาการปวดหน้าอกจนอาจคล้ายคลึงกับอาการหัวใจขาดเลือดได้

นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตสูง น้ำตาและน้ำลายไหล มือสั่น และชัก ในผู้ป่วยบางรายอาจพบความดันโลหิตสูงขึ้นและไตวายเฉียบพลันจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

การรักษา ควรรีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากควรได้รับการประเมินอาการทางระบบประสาทโดยแพทย์ ปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษแมงมุมแม่ม่ายดำในประเทศไทย

การรักษา คือ หากมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย อาจใช้การประคบน้ำอุ่นร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด หรือการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ รอให้พิษหมดไปเอง และอาจต้องได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักร่วมด้วย



แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล

๒.แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล (brown widow spider) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Latrodectus geometricus พบครั้งแรกในประเทศโคลัมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ จากนั้นกระจายกว้างออกไปยังอเมริกา เหนือ แอฟริกา ออสเตรเลีย รายงานพบที่ทวีปเอเชียโดยเริ่มจากประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอินเดีย ในประเทศไทยมีรายงานพบที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี เชียงใหม่ พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง พิจิตร ชัยนาท ระยอง จันทบุรี นครราชสีมา และหนองบัวลำภู

แมงมุมชนิดนี้ไม่มีนิสัยก้าวร้าว เมื่อถูกรบกวนจะวิ่งหนีเข้าหาซอกที่กำบังในรังนอนของมันหรือทิ้งตัวลงไปแกล้งตายที่พื้น ทำให้มีโอกาสกัดคนน้อยมาก ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกกัดเกิดจากไปสัมผัสหรือกดทับตัวแมงมุมให้บาดเจ็บก่อน

มีขนาดเล็กกว่าแมงมุมแม่ม่ายดำเล็กน้อย สีน้ำตาล ตัวกลม ที่ท้องมีลายเป็นรูปนาฬิกา ๒ เท่าตัว เมื่อเทียบพิษในปริมาณที่เท่ากัน แต่มีเฉพาะแมงมุมตัวเมียเต็มวัยเท่านั้นที่กัดผ่านผิวหนังมนุษย์ได้




ส่วนแมงมุมตัวผู้และแมงมุมตัวเมียที่ยังไม่เต็มวัยมีเขี้ยวที่เล็กและสั้นจนไม่สามารถกัดผ่านผิวหนังมนุษย์ได้ และแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลจะปล่อยพิษในการกัดแต่ละครั้งน้อยมาก ขณะที่แมงมุมแม่ม่ายดำปล่อยพิษทั้งหมดในการกัดแต่ละครั้ง จึงทำให้ส่วนใหญ่มีอาการปวดเฉพาะบริเวณที่ถูกกัด

อาการและอาการแสดงด้วยเป็นพิษทางระบบประสาท ก่อให้เกิดอาการเกร็งกระตุกและตะคริว มักมีอาการเฉพาะบริเวณที่โดนกัด ไม่ค่อยกระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย ส่วนใหญ่จะสร้างความเจ็บปวดในบริเวณที่โดนกัดคล้ายถูกผึ้งต่อยเท่านั้น มีโอกาสน้อยที่ทำให้ปวดทั่วทั้งอวัยวะได้ และพิษจะไม่ทำให้เกิดภาวะเนื้อตายตรงบริเวณที่ถูกกัด การรักษา ให้การรักษาแบบเดียวกับการรักษาพิษจากแมงมุมแม่ม่ายดำ



แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล

๓.แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล (brown recluse spider) พบได้ทางตะวันออกของอเมริกาเหนือ มีขนาดเล็กประมาณ ๖-๒๐ มิลลิเมตร (เล็กกว่าแมงมุมแม่ม่ายดำ) ลักษณะลำตัวสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลืองเข้ม ขนาดเล็ก

มีลักษณะเด่นคือด้านหลังตรงช่วงศีรษะถึงอกมีลายสีออกดำรูปคล้ายไวโอลิน โดยด้ามจับหันไปด้านตรงข้ามกับหัว ชอบอยู่ในที่มืด แห้ง สงบ เช่นเดียวกับแมงมุมแม่ม่ายดำ กินแมลงเป็นอาหาร และจะออกจากที่อยู่อาศัยเพื่อล่าสัตว์อื่นในเวลากลางคืน มักอาศัยอยู่ในห้องใต้หลังคา เสื้อผ้า ตู้เสื้อผ้า รองเท้า เตียงนอน ซึ่งคนอาจถูกกัดได้หากไปสัมผัสโดยบังเอิญ

อาการและอาการแสดง เมื่อถูกกัดมักจะไม่รู้สึกเจ็บแดงเพียงเล็กน้อย ก่อนมีอาการปวดและคันบริเวณที่ถูกกัดหลัง ๒-๘ ชั่วโมง เกิดเป็นตุ่มน้ำพอง อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อและข้อ

การรักษา ปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการล้างแผลและประคบน้ำแข็ง ยกบริเวณที่ถูกกัดให้สูงขึ้น ห้ามนวดหรือประคบด้วย น้ำร้อนหรือบีบรัดบริเวณแผลโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้พิษกระจาย นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที โดยนำแมงมุมที่กัดไปด้วย





พระโคกับโคขาวลำพูน
จากบทความของฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เขียนไว้ว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณ พระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้จัดขึ้นเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร เป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎรผู้ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร และเพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง ในพระราชพิธีอันสำคัญนี้ พระโคคู่งามซึ่งทำหน้าที่ไถนาและเสี่ยงทายเพื่อทำนายสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของผู้คน ในปีนั้นๆ ส่วนใหญ่เป็นพระโคที่คัดเลือกมาจากโคสายพันธุ์ "ขาวลำพูน" โคพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดลำพูนและพื้นที่ใกล้เคียง อันเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นโคที่มีลักษณะดีครบถ้วนสมบูรณ์ตามตำรา เช่น ขนสวยเป็นมัน เขาโค้งงามสีน้ำตาลส้ม ขอบตาสีชมพู นัยน์ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา หางยาวสีขาว ขนฟู กีบและข้อเท้าแข็งแรง เป็นต้น

และต่อไปนี้คือลักษณะเด่น ๑๕ อย่างของโคขาวลำพูน
     ๑.ตะโหนกปานกลาง
     ๒.หนังสีชมพู หนังบาง
     ๓.ขนสีขาวเกรียน
     ๔.เนื้อทวารต่างๆ มีสีชมพูส้ม ไม่มีจุดด่างขาว
     ๕.พู่หางสีขาว
     ๖.เนื้อกีบสีชมพูส้ม
     ๗.ลำลึงค์แนบพื้นท้อง
     ๘.เหนียงสะดือสั้น ติดพื้นท้อง
     ๙.เหนียงคอปานกลาง
    ๑๐.เนื้อจมูกสีชมพูส้ม
    ๑๑.สีนัยน์ตาน้ำตาลดำ
    ๑๒.ขนตายาว
    ๑๓.หน้าผากแบน
    ๑๔.เนื้อเขาสีชมพูส้ม
    ๑๕.ใบหูเล็กกาง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นวัวพื้นเมืองที่มีลักษณะงาม แต่ในเชิงเศรษฐกิจ โคขาวลำพูนให้ผลตอบแทนน้อย เหตุเพราะมีรูปร่างเล็ก ให้เนื้อน้อย ชาวบ้านจึงหันไปเลี้ยงวัวพันธุ์เทศที่รูปร่างสูงใหญ่ให้เนื้อดีแทน ทำให้โคสายพันธุ์ขาวลำพูนเหลือน้อยมาก ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ประกาศให้เป็นสัตว์อนุรักษ์แล้วเพราะเกรงว่าจะสูญพันธุ์ ทั้งนี้เพราะเห็นว่าโคสายพันธุ์พื้นเมืองนี้มีคุณสมบัติเฉพาะ นั่นคือมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง ทนทานต่อโรคพยาธิและแมลงเขตร้อน แม้จะได้รับการเลี้ยงดูแบบแร้นแค้นก็ตาม จึงเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นชนบทของไทย




ท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้ ชาวบ้านชุมชนบ้านไร่ป่าคา ต.ท่าตุ้ม อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๖ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์โคขาวลำพูนมิให้สูญสิ้นพันธุ์ รวมทั้งสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน โดยมี นายอยุธ ไชยยอง ผู้ใหญ่บ้าน บ้านไร่ป่าคา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูน งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนจาก สกว.

ยังมีข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า พระโค ตามคติพราหมณ์ คือเทวดานนทิผู้แปลงรูปเป็นโคอุสุภราชให้พระอิศวรทรง ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์จัตุบาท เปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง ทั้งยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล เปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้มีพระโคเพศผู้ ๑ คู่เข้าร่วมพิธีเสมอมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์

ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีฯ โดยจะดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า ๑๒๐ เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า ๑๘๐ เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย ต้องตามลักษณะที่ดีและสง่างาม





แซลมอน
จากข้อเขียนของ รศ.ดร.นงนุช ตั้งเกริกโอฬาร ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ว่า ปลาแซลมอนที่พบอาศัยอยู่ในธรรมชาติ เป็นปลาที่อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม หรือเรียกว่า "ปลาสองน้ำ" (แซลมอนที่บริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ร้อยละ ๖๐ มาจากการเพาะเลี้ยง)

แซลมอนเป็นชื่อสามัญของปลาทะเลที่อยู่ในวงศ์แซลโมนิดี (Salmonidae) พบแพร่กระจายอยู่บริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นในซีกโลกทางเหนือ ได้แก่ อลาสกา ไซบีเรีย อเมริกาเหนือ ยุโรปเหนือ เอเชียเหนือ และเอเชียตะวันออก

ลำตัวมีสีเงินวาว มีจุดสีดำด้านบนของลำตัวเหนือเส้นข้าง ลำตัว เป็นปลาที่มีวิถีชีวิตอันแปลกประหลาด คือ ผสมพันธุ์และให้กำเนิดลูกในน้ำจืด แต่ดำรงชีวิตและเจริญเติบโตในน้ำเค็ม โดยจะอาศัยอยู่ในน้ำเค็มหรือในมหาสมุทรเป็นหลัก และเมื่อถึงเวลาที่จะผสมพันธุ์ให้กำเนิดลูกปลา ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูวางไข่จะว่ายทวนกระแสน้ำจากมหาสมุทรเข้าสู่แม่น้ำไปเพื่อไปผสมพันธุ์และวางไข่ในน้ำจืด
 
คำว่า "แซลมอน" มาจากภาษาละตินว่า แซลโม (Salmo) แปลว่า ที่จะกระโดด จากพฤติกรรมการว่ายทวนผ่านสายน้ำเชี่ยวกราก ว่ายกระโดดข้ามเกาะแก่งมากมาย เพื่อกลับเข้าไปสู่แม่น้ำ ระยะทางไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานกว่า ๑ เดือน โดยไม่ได้กินอาหาร แต่จะใช้ไขมันที่สะสมอยู่ในตัวในช่วงที่ดำรงชีวิตอยู่ในมหาสมุทร





ดังนั้นกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง แซลมอนจะสูญเสียน้ำหนักไปถึงร้อยละ ๓๐-๔๐ เมื่อถึงแหล่งวางไข่ ปลาแซลมอนเพศเมียจะขุดรังโดยใช้ปลายหางกวาดบริเวณที่จะวางไข่ไปมา และเริ่มวางไข่ จากนั้นแซลมอนเพศผู้ก็จะปล่อยเชื้ออสุจิเข้ามาปฏิสนธิกับไข่ เพศเมียจะใช้หางกลบไข่เพื่อให้ไข่ไม่ถูกกระแสน้ำพัดพาไป

และเมื่อกิจกรรมผสมพันธุ์และวางไข่เสร็จสิ้น ปลาแซลมอนทั้งเพศผู้และเพศเมียจะตายภายใน ๒-๓ วันหรือ ๒-๓ สัปดาห์

ไข่ของปลาแซลมอนจะฟักออกเป็นตัวโดยใช้เวลาประมาณ ๒-๓ เดือน ลูกปลาที่ฟักออกจากไข่แบ่งเป็น ๔ ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง เพิ่งฟักออกจากไข่ ตัวมีขนาดเล็ก ไดัรับอาหารจากถุง ไข่แดงที่ติดมากับตัวมัน เรียกว่า อะลีวิน (alevin) หรือ แซคฟราย (sac fry) ใช้เวลาอยู่ในระยะนี้นานหลายสัปดาห์ เมื่อถุงไข่แดงถูกใช้หมด จะเข้าสู่ระยะที่สอง เป็นลูกปลาแซลมอน ที่ยังมีขนาดเล็กอยู่ เรียกว่า ฟราย (fry) จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นลูกปลาแซลมอนที่มีแถบสีดำๆ อยู่ข้างลำตัว เรียกระยะนี้ว่า พาร์ (Parr) ซึ่งเป็นระยะที่สาม ใช้เวลาอยู่ในระยะนี้ประมาณ ๖ เดือนถึง ๒ ปี

จากนั้นเข้าสู่ระยะที่สี่ มีชื่อเรียกว่า สโมลต์ (Smolts) เป็นลูกปลาแซลมอนที่อยู่ในวัยที่เจริญเติบโตเต็มที่อายุประมาณ ๒ ปี พร้อมจะออกจากแหล่งน้ำจืด ว่ายน้ำตามกระแสน้ำออกสู่มหาสมุทรในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน กลับไปสู่มหาสมุทรซึ่งมีแหล่งอาหารสำหรับการเจริญเติบโต

เมื่อถึงฤดูวางไข่ปลาแซลมอนที่โตเต็มวัยพร้อมที่จะวางไข่ก็จะอพยพกลับไปวางไข่ในถิ่นกำเนิดของมันเหมือนกับพ่อและแม่ เป็นวงจรชีวิตเช่นนี้เรื่อยไป และการเดินทางกลับไป-มาในช่วงชีวิตของปลาแซลมอนถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งเดียวของชีวิต

งานวิจัยพบว่า ลูกปลาแซลมอนเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่รอดชีวิตกลับสู่มหาสมุทรอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่สันนิษฐานว่าสิ่งที่นำทางลูกปลาแซลมอนให้เดินทางกลับไปยังมหาสมุทรได้อาจเกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็กโลก โดยเสนอว่า ลูกปลาแซลมอนแปซิฟิกกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับสิ่งที่ติดตัวมาที่เรียกว่าแผนที่แม่เหล็ก ซึ่งช่วยให้มันสามารถเดินทางอพยพกว่าพันไมล์กลับไปยังมหาสมุทร และอพยพกลับมาวางไข่ในแม่น้ำที่เป็นบ้านเกิด

ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ เช่น การที่ปลาแซลมอนว่ายน้ำกลับมาวางไข่ในแม่น้ำได้ถูกต้อง เนื่องจากกลิ่นเฉพาะของแม่น้ำที่มันเกิดและพฤติกรรมแบบฝังใจในลูกปลาแซลมอนที่เกิดขึ้นทันทีที่มันฟักออกจากไข่ เป็นสิ่งที่ใช้นำทางปลาแซลมอนที่โตเต็มที่จากมหาสมุทรไปยังแหล่งวางไข่ หรือปลาตัวเต็มวัยอาจได้รับการชักนำจากปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เช่น มีดวงดาวเป็นเครื่องนำทาง เป็นต้น





นกบินได้
จากงานเขียนของ ผศ.ดร.ประภากร ธาราฉาย คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ว่า จากการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานต่างๆ จากซากดึกดําบรรพ์ หรือฟอสซิล ของนักบรรพชีวินวิทยา ทําให้เชื่อได้ว่านกมีวิวัฒนาการจากสัตว์เลื้อยคลานที่หากินอยู่ตามพื้นดิน บนต้นไม้ หรือแหล่งน้ำ มาเป็นสัตว์ที่บินได้ในอากาศ ความสามารถในการบินของนกเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิวัฒนาการและการปรับปรุงตัวที่พอจะสรุปเป็นหัวข้อใหญ่ได้ ๓ ประการคือ

๑.การปรับตัวเพื่อให้มีน้ำหนักเบา การบินต้องใช้พลังงาน สูงมาก นกจึงจําเป็นต้องลดน้ำหนักตัวให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ จะทําได้ พร้อมทั้งจะต้องมีร่างกายที่กระชับและได้สมดุลที่สุด การเปลี่ยนแปลงและการลดรูปของอวัยวะต่างๆ มีดังนี้
     ๑.๑ กะโหลกของนกมีน้ำหนักเบา
     ๑.๒ หาง นกมีการลดกระดูกหางทั้งจํานวนและขนาด ปกติแล้วหางของนกที่แท้จริงจะมองไม่เห็น ที่เห็นยื่นยาวออกมานั้นคือขนหาง นกใช้ขนหางบังคับทิศทางในขณะบิน จึงทําให้ขนหางของนกมีรูปร่างและลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดและความต้องการในการบิน ในนกบางชนิด เช่น นกหัวขวาน นกเปลือกไม้ ขนหางยังทําหน้าที่ค้ำยันลําตัวขณะที่ไต่ต้นไม้ด้วย
     ๑.๓ กระดูกโครงสร้าง มีการลดน้ำหนักให้เบาลงแต่แข็งแรง กระดูกของนกมีลักษณะเป็นโพรงภายใน ภายในโพรงนี้มีก้านกระดูกที่ทําหน้าที่ค้ำจุนเพื่อเพิ่มความแข็งแรง นอกจากนี้ยังลดน้ำหนักของกระดูกโดยการเชื่อมรวมตัวกันของกระดูกหลายชิ้น และบางชิ้นลดรูปหายไป
     ๑.๔ ระบบทางเดินอาหาร การบินของนกต้องใช้พลังงานสูงมาก นกจึงจําเป็นต้องได้รับพลังงานจากอาหารให้เพียงพอสําหรับการบิน การปรับตัวของระบบทางเดินอาหารทำให้นกสามารถกินอาหารได้มากและเพียงพอ ประการหนึ่งคือการขยายตัวของหลอดอาหารเป็นกระเพาะพัก นกส่วนใหญ่จะเก็บอาหารไว้ในกระเพาะพักก่อนค่อยๆ ส่งอาหารเข้าสู่ระบบการย่อยในช่วง กลางคืน เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอ ที่จะใช้บินในตอนเช้า
     ๑.๕ ระบบขับถ่าย นกกินน้ำน้อย น้ำส่วนใหญ่ที่ได้รับมาจากอาหารที่กินเข้าไป ทั้งนกไม่มีกระเพาะปัสสาวะที่จะเก็บน้ำปัสสาวะไว้ในตัว แต่จะขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายในรูปของกรดยูริก ลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายแป้ง
     ๑.๖ ระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนกเพศเมีย แม่นกจะไม่อุ้มท้องให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบิน นกจะออกลูกเป็นไข่เพื่อให้ลูกมีการเจริญพัฒนาอยู่นอกร่างกายแม่

๒.การปรับตัวเพื่อให้มีพลังงานสูง นกจะเลือกกินอาหารที่มีน้ำหนักเบาแต่ให้พลังงานสูง เช่น น้ำหวานจากดอกไม้ แมลง หนอน ปลา ผลไม้และเมล็ดพืชซึ่งมีน้ำหนักเบาแต่ให้พลังงานสูงกว่าหญ้าและใบไม้ซึ่งมีน้ำหนักมากแต่ให้พลังงานต่ำ

ด้วยเหตุนี้จึงพบว่าพวกนกที่กินอาหารประเภทใบไม้หรือยอดอ่อนของต้นไม้จึงเป็นนกที่มีความสามารถในการบินต่ำ มีนิสัยหาอาหารกินบนพื้นดิน และใช้วิธีหลบหลีกศัตรูโดยการวิ่งหนีมากกว่าการบิน

นกมีระบบการหายใจที่มีประสิทธิภาพสูงมากเพื่อให้สามารถจัดหาพลังงานได้เพียงพอต่อความต้องการเพื่อการบิน ปอดของนกจะยังคงมีประสิทธิภาพการทํางานที่สูงอยู่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากๆ และมีความกดอากาศต่ำ

นอกจากนี้นกยังมีถุงลมแทรกไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีส่วนช่วยอย่างมากในการระบายความร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนสะสมในตัวนกมากเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่นกบินซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมาก  และ

๓.การปรับตัวเพื่อให้มีสมดุล การที่นกจะบินอยู่ในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ นกจะต้องมีการทรงตัวและสมดุลที่ดี นกมีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ อวัยวะที่มีน้ำหนักมากจะอยู่ตรงส่วนกลางของร่างกาย ในขณะที่อวัยวะที่อยู่ห่างออกไปจากจุดศูนย์กลางจะมีน้ำหนักลดลง การบินจึงไม่มีปัญหาเนื่องจากนกได้ปรับเปลี่ยนระบบทางกายวิภาคให้เหมาะสม โดยกล้ามเนื้อที่ใช้สําหรับบินอยู่ที่หน้าอกและโคนปีก


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3120  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: สารคดี ชีวิตสัตว์โลก เมื่อ: 05 มิถุนายน 2559 17:15:30
.



หมาไนกับหมาจิ้งจอกต่างกันอย่างไร
เริ่มจาก "หมาใน" ก่อน หมาใน หรือ หมาแดง (อังกฤษ Dhole, Asian wild dog, Asian red dog) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cuon alpinus วงศ์ Canidae เป็นหมาป่า ลักษณะจมูกสั้น ปากสั้น มีกรามและฟันแข็งแรงมาก ใบหูกลมใหญ่ ขนหนาแน่น

ขนตามลำตัวค่อนข้างสั้นมีสีน้ำตาลแดงอมส้ม สีขนบริเวณท้องอ่อนกว่าบริเวณหลัง หางยาวเป็นพวงฟูมีสีเทาเข้มหรือดำ ความยาวลำตัวและหัว ๘๐-๙๐ เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ความยาวหาง ๓๐-๓๕ เซนติเมตร

น้ำหนักเพศผู้ ๑๐-๒๑ กิโลกรัม เพศเมีย ๑๐-๑๓ กิโลกรัม

หมาในมีเขตกระจายพันธุ์ที่กว้างขวาง ทำให้มีสายพันธุ์ย่อยถึง ๑๑ ชนิด พบได้ตั้งแต่รัสเซียตะวันออก ภาคใต้ของไซบีเรีย มองโกเลีย เทือกเขาหิมาลัยในเนปาล สิกขิม และภูฏาน แคชเมียร์และทางใต้ของทิเบต จีน อินเดีย พม่า เรื่อยมาจนถึงคาบสมุทรเกาหลี ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สุมาตราและเกาะชวา

หมาในปรับตัวเข้ากับพื้นที่ได้หลายประเภท ร้อนจัด เย็นจัด ชอบอยู่ในป่าทึบบนภูเขา ป่าอัลไพน์ ป่าไม้พุ่ม ป่าเปิดใกล้ทุ่งหญ้า แต่ไม่เคยพบในทะเลทราย

มันเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ฝูงหนึ่งมีสมาชิก ๖-๑๒ ตัว บางฝูงอาจใหญ่มากถึง ๒๕ ตัว ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของ ๒-๓ ครอบครัวที่ใกล้ชิดกัน การวิวาทในฝูงเกิดน้อยมาก เพราะสังคมหมาในถือระบบลำดับชั้น

ออกล่าเหยื่อตอนกลางวัน เช้าตรู่ และพลบค่ำ พวกมันเป็นสังคมนักล่าที่มีประสิทธิภาพ ทั้งมีระบบประสาทหู ตา และการดมกลิ่นที่ดีเยี่ยม จะทำงานเป็นทีมเมื่อล่าสัตว์ใหญ่ ล่าเหยื่อที่หนักกว่าตัวเองถึง ๑๐ เท่าได้ และหมาในเพียง ๒-๓ ตัว ก็ล่ากวางที่หนักถึง ๕๐ กิโลได้ภายในเวลาไม่ถึง ๒ นาที

มันจะทำให้เหยื่อสับสนโดยเข้าล้อมแล้ววิ่งไล่ให้เหยื่ออ่อนล้า หมดแรง หรือไม่ก็ต้อนลงน้ำ จากนั้นจะช่วยกันกระโดดเข้ากัดตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจนเหยื่อตายในที่สุด

หมาในไม่เก็บเหยื่อไว้กินในครั้งต่อไปเหมือนพวกเสือ โดยเลือกกินลูกตา ท้อง และเครื่องในของเหยื่อก่อน



ในอดีตมีความเชื่อว่า หมาในจะปัสสาวะรดไว้ตามใบไม้เพื่อให้เข้าตาเหยื่อ ทำให้เหยื่อตาบอด ซึ่งไม่เป็นความจริง

หมาในชอบน้ำมาก มักลงน้ำหลังจากกินอาหาร และมักนั่งแช่น้ำตื้นๆ ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือเย็น ชอบส่ายหางเมื่อดีใจเช่นเดียวกับหมาบ้าน แต่มันไม่ค่อยอยากยุ่งเกี่ยวกับคนและมักเลี่ยงคนเสมอ มันยังเก่งในการเปล่งเสียงหลายแบบ นอกจากเสียงเหมือนผิวปากซึ่งใช้สื่อสารในฝูง ยังทำเสียงเมี้ยวเหมือนลูกแมว เสียงกรีดร้อง เสียงซู่ซี่เบาๆ หรือแม้แต่เสียงกุ๊กๆ ได้ด้วย

หมาในผสมพันธุ์ได้เกือบตลอดทั้งปี ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ ๙ สัปดาห์ ออกลูกครั้งละ ๘-๑๐ ตัว โดยแม่หมาในมักออกลูกในรังตามโพรงดิน หรือซอกหินคล้ายๆ ถ้ำ หรือรังที่สัตว์อื่นทิ้งแล้ว

ลูกที่เกิดใหม่จะมีขนสีน้ำตาลเทา สมาชิกทุกตัวในฝูงจะช่วยกันดูแลเด็กและป้อนอาหารให้ หมาในผู้ใหญ่จะนำอาหารมาสู่เด็กด้วยการขย้อนออกมาให้เด็กๆ กิน บางตัวอาจเฝ้ารังดูแลเด็กๆ ขณะที่ตัวอื่นออกไปหาเหยื่อ

ระหว่างที่ลูกหมาเติบโต จะประลองกำลังกันเพื่อจัดลำดับชั้นในฝูง การต่อสู้เพื่อจัดอันดับนี้จะสิ้นสุดลงเมื่ออายุได้ราว ๗ เดือน ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มออกไปล่าเหยื่อร่วมกับฝูงได้ หรืออาจแยกตัวไป

อาหารของหมาในได้แก่สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ เช่น กวาง เก้ง วัวแดง ไปจนถึงกระต่าย หนู ทั้งนี้ในธรรมชาติหมาในมีอายุขัยประมาณ ๑๐ ปี ส่วนในแหล่งเพาะเลี้ยงอาจอยู่ได้นานถึง ๑๖ ปี

หมาในถูกคุกคามเพราะสัตว์เหยื่อลดจำนวนลง ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย และจากการล่าเพื่อเอาหนัง รวมถึงการที่มนุษย์บุกรุกเข้าไปตั้งถิ่นฐานในป่า นำหมาบ้านเข้าไปเลี้ยง อาจทำให้โรคติดต่อบางอย่างแพร่ไปยังประชากรหมาในได้ เช่นในอินเดีย โรคจำพวกหัดหมาและโรคพิษสุนัขบ้ากวาดล้างประชากรหมาในจำนวนมาก

ปัจจุบันหมาในได้รับการคุ้มครองโดยถูกจัดอยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์ สำหรับประเทศไทยเป็นหมาป่า ๑ ใน ๒ ชนิดที่พบ (อีกชนิดคือ หมาจิ้งจอก) แต่จากเดิมที่เคยพบในป่าทั่วประเทศ

ปัจจุบันเชื่อว่าเหลือเพียงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕




หมาจิ้งจอก
"หมาจิ้งจอก" (อังกฤษ Fox, Golden Jackal, Jackal, อีสาน หมาจอก) ชื่อวิทยาศาสตร์ Canis aureus วงศ์ Canidae จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ลักษณะมีขนาดลำตัวเล็กกว่าสุนัขบ้านทั่วไป และคล้ายกับสุนัขไทยพื้นเมือง จมูกแหลมยาว หูยาวชี้ตั้ง ฟันกรามแข็งแรงและแหลมคม หางยาวเป็นพวง ขนหยาบสั้น สีน้ำตาลแกมเหลืองทอง บริเวณหลังปลายขนสีดำหรือ สีเทา ความยาวหัวถึงลำตัว ๖๐-๑๐๖ เซนติเมตร หางฟูเป็นพวงยาว ๒๐-๓๐ เซนติเมตร ปลายหางดำ ความสูงหัวไหล่ ๓๕-๕๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๗-๑๕ กิโลกรัม

หมาจิ้งจอกมี ๒๗ ชนิด ใน ๕ สกุล พบได้ทั่วโลก แม้กระทั่งขั้วโลกเหนือ เพราะปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพแวดล้อมได้ นับว่ามีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางมาก

พบตั้งแต่ทวีปแอฟริกาตอนเหนือทั้งหมด ตั้งแต่โมร็อกโกจนถึงอียิปต์ทางใต้ แพร่ไปจนถึงเคนยา ในยุโรปพบในคาบสมุทรบอลข่าน

ส่วนเอเชียพบในตะวันออกกลาง เอเชียใต้ พม่า มาจนถึงประเทศไทย ลาว กัมพูชาตอนบน และเวียดนาม ในบางพื้นที่ของแอฟริกาพบว่าเขตกระจายพันธุ์ยังคงแผ่ขยายออกไป เมื่อไม่นานมานี้พบที่อุทยานแห่งชาติ Bale Mountains ของเอธิโอเปียที่ระดับความสูง ๓,๘๐๐ เมตร และพบในป่า Harenna และในอิตาลีตะวันออก หมาจิ้งจอกชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งที่มีทั้งต้นไม้ ไม้พุ่ม หญ้า ไม้แคระ

นอกจากนี้ยังพบอยู่ตามโอเอซีส และชุมชนมนุษย์ ในประเทศไทยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมักพบหมาจิ้งจอกตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ บางครั้งพบเห็นร่องรอยบริเวณป่าเสื่อมโทรมใกล้กับหมู่บ้านทางตะวันออกและทางตอนใต้ของพื้นที่

หมาจิ้งจอกเป็นสัตว์ที่ปรับตัวเก่งมาก มีจมูก สายตา และหู ดีเยี่ยม หากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ในพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่มักหากินเวลากลางคืนมากกว่า ในพื้นที่ที่อาหารอุดมสมบูรณ์อาจรวมฝูงกันเป็นฝูงใหญ่ได้ถึง ๒๐ ตัว ชอบส่งเสียงหอนเสียงดัง ว้อๆ เป็นระยะๆ ตลอดทั้งคืน โดยเฉพาะช่วงเวลาหัวค่ำและเช้ามืดก่อนฟ้าสาง

หมาจิ้งจอกกินได้ทั้งพืชและสัตว์ สัตว์ที่กินส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระต่าย ป่า หนู ลูกกวาง นก สัตว์เลื้อยคลาน บางครั้งก็กินซาก ส่วนอาหารที่เป็นผลไม้อาจมีมากถึงเกือบครึ่งหนึ่ง ในพื้นที่ใกล้ชุมชนมนุษย์ก็อาจเข้ามารื้อค้นเศษกองขยะหาอาหารกิน

อย่างในอินเดียพบว่าถ้าหากหมาจิ้งจอกไม่สามารถล่าสัตว์ได้มันจะเข้าไปในหมู่บ้านแล้วขโมยกินข้าวโพดหรือเมล็ดกาแฟที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้ บางครั้ง มันขโมย เป็ด ไก่ หรือลูกแพะตัวเล็กๆ มากินด้วย

หมาจิ้งจอกเป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียว หากินตัวเดียวหรือเป็นคู่ ไม่ค่อยอยู่เป็นฝูง สำหรับช่วงเวลาผสมพันธุ์ ในประเทศไทยจะผสมพันธุ์ในราวเดือนมีนาคม ในถิ่นอื่นอาจต่างกันไป เช่น ในรัสเซียเป็นเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม อิสราเอลอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์

ตั้งท้องนาน ๖๐ วัน ออกลูกครั้งละ ๑-๙ ตัว ในรังตามโพรงไม้ที่ปลอดภัย เมื่อลูกอายุได้ ๓ สัปดาห์ก็จะเริ่มกินอาหารแข็งได้ โดยพ่อแม่สำรอกอาหารออกมาให้กิน หมาจิ้งจอกในธรรมชาติมีอายุยืนได้ถึง ๑๓ ปี ในสถานเพาะเลี้ยงอาจมีอายุได้ ๑๖ ปี

ปัจจุบันสถานภาพประชากรของหมาจิ้งจอกยังอยู่ในระดับปลอดภัย เพราะยังพบได้ทั่วไปในเขตกระจายพันธุ์ ในทุ่งหญ้า เซเรนเกตีคาดว่ามีอยู่ประมาณ ๑,๖๐๐ ตัว

แต่สำหรับในประเทศไทย หมาจิ้งจอกจัดอยู่ในสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบหมาจิ้งจอกได้เพียงชนิดเดียว คือหมาจิ้งจอกทอง หรือหมาจิ้งจอกเอเชีย ซึ่งเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษต้นสายพันธุ์ของสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว





ม้าน้ำ
ม้าน้ำเป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าไม่ใช่ปลา

ทั้งนี้ ม้าน้ำเป็นสัตว์ที่มีส่วนผสมของสัตว์ ๓ ชนิดอยู่ในตัว คือ มีหน้าและหัวคล้ายม้า ลำตัวมีครีบคล้ายปลา ลอยตัวในแนวดิ่ง มีกระดูกหรือก้างห่อหุ้มเป็นเกราะอยู่ภายนอกตัวแทนเกล็ด

ส่วนหาง แทนที่จะเป็นครีบสำหรับว่ายน้ำไปมาอย่างปลาด้วยกัน กลับมีหางยาวเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน มีไว้เพียงเพื่อเกี่ยวยึดตัวเองกับพืชน้ำหรือปะการัง มีครีบอกและมีครีบบางใสตรงเอวอีกครีบหนึ่งช่วยโบกพัดกระพือ

ม้าน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Hippocampus Kuda Bleeker ชื่อภาษาอังกฤษ Sea Horse ทั่วโลกจำแนกได้ ๓๒ ชนิด

พบบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของไทยมี ๔ ชนิด ได้แก่
๑.ม้าน้ำหนาม (H. trimaculatus) อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำค่อนข้างลึกใสสะอาด เป็นม้าน้ำที่มีสีสันสวยงาม สีน้ำตาลแดง มีลายจุด สีขาว มีหนามแหลมและยาว

๒.ม้าน้ำ ๓ จุด
(H. trimaculatus) พบตามชายฝั่งในฤดูหนาวเพราะเป็นช่วงผสมพันธุ์และวางไข่ มีจุด ๓ จุดตรงส่วนบนของ ลำตัว เป็นที่มาของชื่อเรียกดังกล่าว

๓.ม้าน้ำแคระ (H. mohnikei) มีขนาดเล็ก พบน้อยมากตามชายฝั่ง โดยเกาะอยู่ตามสาหร่ายที่เป็นพื้นทราย

และ ๔.ม้าน้ำดำ (H. kuda) เป็นม้าน้ำที่ขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนที่พบในน่านน้ำไทย ตัวใหญ่สุดขนาดเท่าฝ่ามือ สีดำสนิท ผิว ค่อนข้างเรียบ ไม่มีหนามยาวแหลม อาศัยตามชายฝั่งบริเวณค่อนข้างขุ่น เปลี่ยนสีได้ เป็นสีครีม สีเหลือง สีน้ำตาลแดง

ธรรมชาติม้าน้ำ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายอุ้มท้อง โดยมีอวัยวะตรงบริเวณหน้าท้องคล้ายถุง ใช้สำหรับเก็บไข่และฟักเป็นตัว

เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ม้าน้ำตัวผู้จะปรับเปลี่ยนสีของลำตัวเพื่อดึงดูดม้าน้ำตัวเมีย จากนั้นตัวผู้จะใช้หางโอบกอดตัวเมียเข้ามาหาพร้อมกับแอ่นท้องประกบกับท้องตัวเมียจะออกไข่ใส่ลงในถุงหน้าท้องของตัวผู้ และม้าน้ำตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่และฟักเป็นตัวอ่อนภายในถุงหน้าท้อง โดยใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ ๒ สัปดาห์ จำนวนไข่ราว ๑๐๐-๒๐๐ ฟอง มากที่สุดคือ ๑,๕๐๐ ฟอง
 
เมื่อถึงเวลา พ่อม้าน้ำจะบีบกล้ามเนื้อส่วนท้องและพ่นลูกม้าน้ำนับร้อยๆ ตัวให้ออกจากกระเป๋าหน้าท้องสู่โลกท้องทะเล ทำหน้าที่เป็นผู้คลอดแบบที่ผู้เป็นพ่อทั้งหลายบนโลกใบนี้ไม่เคยได้สัมผัส

อีกเอกลักษณ์ของม้าน้ำคือการครองคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตายจากไป กลายเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์สำหรับชีวิตคู่

สำหรับการเลี้ยงม้าน้ำ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ กรมประมง ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงม้าน้ำ โดยมีภาคเอกชนนำไปขยายผลแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายนัก ม้าน้ำจากการเพาะพันธุ์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่อยู่ในความสนใจของนักสะสมปลาทะเล แต่การนำม้าน้ำมาเลี้ยงในตู้ทะเลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากม้าน้ำมีความต้องการแตกต่างกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในตู้ทะเลทั่วไป ดังนี้

๑.พฤติกรรมการกินของม้าน้ำที่มีนิสัยการกินแบบผู้ดี พิจารณาอาหารทุกครั้งก่อนสูบอาหารให้เข้าไปในปากที่เป็นรูขนาดเล็ก

๒.นิสัย สวย เริ่ด เชิด แต่ช้า ไม่ได้เป็นผลดีต่อการหากินของม้าน้ำสักเท่าไหร่ เพราะดูถึงขนาดของปากมันแล้ว ม้าน้ำแทบไม่มีความสามารถในการแย่งชิงอาหารกับปลาทะเลชนิดอื่นๆ ได้ทัน

๓.อาหารที่ดีที่สุดของม้าน้ำ ไม่ใช่ไรทะเลหรืออาร์ทีเมียตัวมีชีวิต แต่ม้าน้ำยังควรได้รับสารอาหารจากกุ้งขนาดเล็กตัวเป็นๆ และ

๔.ระบบกรองและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจใช้ได้กับปลาทะเลทั่วไป อาจกลายเป็นกับดักปลิดชีวิตม้าน้ำตัวน้อยได้

ถ้าทำให้เกิดฟองอากาศภายในตู้ เพราะหากมีฟองอากาศเข้าไปสะสมอยู่ในตัวม้าน้ำมากเกินไป จะทำให้ม้าน้ำเสียศูนย์ เกิดอาการลอยเคว้งคว้างหาที่ยึดเหนี่ยวไม่ได้ และจากไปในที่สุด







นกออก
นกออก หรืออินทรีทะเล หรืออินทรีทะเลปากขาว (อังกฤษ : White-bellied Sea-eagle, White-bellied Fish- eagle, White-breasted Sea Eagle) ชื่อวิทยาศาสตร์ Haliaeetus leucogaster วงศ์ Accipitridae สกุล Haliaeetus จัดเป็นนกขนาดใหญ่ จำพวกเหยี่ยวและอินทรี เพราะมีขนาดความยาวลำตัวสูงสุดถึง ๖๖-๖๙ เซนติเมตร

ตัวที่โตเต็มวัย ส่วนหัว อกและลำตัวด้านล่างสีขาว ด้านบน สีน้ำตาลเทา หางและปีกเป็นสีเทาเข้มหรือน้ำตาล ปลายหางสีขาวเป็นหางพลั่วชัดเจน เมื่อยังเล็กมีสีน้ำตาลทั้งตัว กระทั่งอายุได้ราว ๓ ปีจึงมีลักษณะดังกล่าว ขณะบินเห็นปีกค่อนข้างหักเป็นมุมเหนือลำตัว

นกออกมีการกระจายพันธุ์ในอินเดีย หมู่เกาะนิโคบาร์ จีนตะวันออกเฉียงใต้ เกาะ ๓ ชนิด ในแถบจังหวัดที่อยู่บนชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้

พฤติกรรมนกออกมักอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ บ้างชอบอยู่ตามชายฝั่งทะเล ทะเลสาบ แม่น้ำใหญ่ หากินบริเวณใกล้เคียงกับที่มันทำรังอยู่ และมักใช้รังเป็นที่สะสมอาหารด้วย อาหารได้แก่สัตว์น้ำ เช่น งูทะเล หมึก ปลา เป็นต้น

หาอาหารด้วยการเกาะกิ่งไม้หรือร่อนกลางอากาศคอยจ้องหาเหยื่อในน้ำ เมื่อพบจะบินลงโฉบด้วยกรงเล็บนำไปฉีกกินบนกิ่งไม้หรือในรัง เป็นนกที่ไม่เชื่อง แต่ชอบทำรังใกล้ที่อยู่ของคน ชอบส่งเสียงร้องในเวลาเช้าและเย็น




นกออกเริ่มผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน ระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ทำรังอยู่บนต้นไม้บนหน้าผาริมชายทะเลหรือใกล้แหล่งน้ำที่ใช้หากิน รังเป็นแบบง่ายๆ โดยนำโดยนำกิ่งไม้มาซ้อนกัน ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๒๕-๑.๕๐ เมตร ลึก ๕๐-๗๕ เซนติเมตร อยู่สูงจากพื้นดิน  ๑๐-๕๐ เมตร ไข่สีขาว วางไข่ครั้งละ ๒ ฟอง

ทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆ มีขนอุยสีขาวปกคลุม ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้โดยเฉพาะการหาอาหาร พ่อแม่ต้องคอยหาอาหารมาป้อนและเลี้ยงลูกจนกว่าจะแข็งแรง บินและล่าเหยื่อเป็นในอายุประมาณ ๑.๕-๒ เดือน จากนั้นลูกนกจะทิ้งรังไป

สภาพปัจจุบันถือเป็นนกประจำถิ่นในประเทศไทย แต่ในสภาพธรรมชาติพบไม่บ่อยและปริมาณไม่มากนัก โดยพบตามชายฝั่งทะเลทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ทั้งสองฝั่ง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕

มีข้อมูลจากหนังสือชุด นกในเมืองไทย เล่ม ๓ โดย รศ.โอภาส ขอบเขตต์ สำนักพิมพ์สารคดีระบุว่า ชื่อสกุลนกออกมาจากภาษาละตินคือ haliaeetos แปลว่านกอินทรีทะเล หรือนกออก (ภาษากรีก hais แปลว่าทะเล และ aetos แปลว่านกอินทรี) ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ Haliaeetus leucogaster มาจากภาษากรีกว่า leuc, -o หรือ leukos แปลว่าสีขาว และ gast, -er, -ero, -r, -ro แปลว่าท้อง ความหมายคือนกอินทรีทะเลที่มีท้องสีขาว พบครั้งแรกที่เกาะ Prince?s Island ประเทศอินโดนีเซีย ไม่มีการแบ่งเป็นชนิดย่อย

นกในสกุลนี้ปากอ้วน โคนสันขากรรไกรบนตรง บริเวณอื่นโค้ง ขอบขากรรไกรหยัก รูจมูกกลม ปีกกว้างมาก ขนปลายปีกยาวกว่าขนกลางปีกเล็กน้อย ขนปลายปีกเส้นที่ ๓ นับจากด้านนอกยาวที่สุด ขนปลายปีกเส้นที่ ๔ และ ๕ สั้นกว่าเล็กน้อย ปลายหางมนหรือเป็นหางพลั่ว

แข้งอ้วน ยาวปานกลาง มีขนคลุมด้านบนประมาณ ๑ ใน ๓ จนถึงครึ่งหนึ่งของความยาวแข้ง แข้งส่วนที่เหลือทางด้านหน้าของโคนนิ้วเป็นเกล็ดชนิดเกล็ดซ้อน บริเวณอื่นเป็นเกล็ดชนิดเกล็ดร่างแห เล็บด้านล่างเป็นร่อง




นกเขาชวา

นกเขาชวา หรือนกเขาเล็ก หรือนกเขาแขก ชื่ออังกฤษ zebra dove ชื่อวิทยาศาสตร์ Geopelia striata-เป็นภาษาละติน แปลว่ารอยไถ หรือลาย มีความหมายว่า นกที่มีลาย เป็นนกขนาดเล็กในวงศ์นกพิราบและนกเขา (columbidae) ชาวชวา เรียก "ปุรงปะระกูตด" ชาวมลายูเหนือ เรียก "บุรงตีเต้" ชาวมลายูกลาง และสิงคโปร์ เรียก "มะระบก" ส่วนชื่อ นกเขาชวา สันนิษฐานที่มากันไว้ในหลายด้าน ได้แก่
     ๑.เป็นนกเขาที่พบมากในชวา ประเทศอินโดนีเชีย และนิยมเลี้ยงมากในแถบนั้น จนแพร่เข้ามาในประเทศไทย
     ๒.เสียงขันไพเราะดังกังวานคล้ายเสียงปี่ชวา และ
     ๓.ชาวชวาเป็นผู้เริ่มแรกเลี้ยงในประเทศไทย

มีขนปกคลุมตัวสีน้ำตาล หัวสีเทา หรือบ้างมีสีน้ำเงิน ด้านข้างคอมีแถบสีดำสลับกับแถบขาวเป็นลายตามขวาง ด้านหลังสีเข้มมีขีดขวางคล้ายกับลายของม้าลาย (เป็นที่มาของชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ) ด้านท้องสีจาง ใต้ลำตัวเป็นสีขาวมีขีดขวางเล็ก ขอบท้ายของขนหางสีขาว ขนาดเมื่อโตเต็มที่ไม่เกิน ๘-๙ นิ้ว

นกตัวผู้ลักษณะทั่วไปใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย หัวใหญ่ค่อนข้างยาว มีสีขาวที่หน้าผากถึงกลางหัว ส่วนตัวเมียหัวกลมเล็ก สีขาวที่ส่วนหัวไม่ยาวเท่า และมีรายละเอียดต่างกันอีก เช่น หางที่ตัวเมียจะยกแอ่นกว่าตัวผู้ และเกล็ดที่ข้อเท้าจะละเอียดเล็กกว่าตัวผู้

พฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ชายทุ่ง และบริเวณที่เพาะปลูก ชอบอยู่เป็นคู่ หรือเพียงตัวเดียว ไม่ชอบหากินอยู่เป็นฝูงใหญ่ ส่งเสียงร้องบ่อยๆ ในเวลาเช้าและเวลาเย็น มีถิ่นกระจายพันธุ์ในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย จนถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นกเขาชวาเสน่ห์อยู่ที่เสียงร้องไพเราะ จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงไว้ฟังเสียง (ตัวที่มีเสียงร้องไพเราะอาจมีราคาสูงถึงหลักล้านบาท) จนกลายเป็นวัฒนธรรมในคาบสมุทรมลายู มีการจัดแข่งขัน ประกวด การเพาะขยายพันธุ์ ก่อตั้งเป็นชมรมหรือสมาคมต่างๆ ตลอดจนแตกแขนงกลายเป็นอาชีพ เช่น ผลิตอาหารนก เพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ประดิษฐ์กรงนกขาย และนายหน้าหรือพ่อค้านก

สำหรับประเทศไทย ประวัติเล่าว่านิยมเลี้ยงมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามหลักฐานพระราชตำรับดูลักษณะนกเขาชวา รัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ปัจจุบันนิยมเลี้ยงและเล่นนกเขาชวากันมากในภาคใต้ รองลงมาได้แก่ภาคกลาง ไม่จัดว่าเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง

ยังมีข้อมูลจาก pasusat.com โดย สุพัตรา อินทรคีรี ว่า ลักษณะนกเขาชวาที่นิยมเลี้ยง
   ๑.มีสร้อยรอบคอ
   ๒.ขนที่คอดำ เป็นจุดอยู่บริเวณลำคอ
   ๓.ปากงอโค้งเหมือนงาช้าง
   ๔.เวลาคูจะยกปีกทั้งสองข้างเสมอ
   ๕.สีปีกเด่นกว่าสีลำตัว
   ๖.มีรูปพระภควัมอยู่เหนือเศียร
   ๗.หัวปีกมีนะทั้งซ้ายขวา
   ๘.มีสร้อยคอจดโคนหาง
   ๙.ที่หลังนก เป็นตัวธะ
  ๑๐.ปลายหางเป็นตัวยะ ปกหางกลางเส้นเดียว
  ๑๑.ขันเสียงกวักๆ และ
  ๑๒.เวลาขันหางกระดกลงทุกคำ เวลาคูก็เอาหางลง ไม่ใช่ยกหางขึ้นเหมือนนกทั้งหลาย

ส่วนลักษณะนกเขาชวาที่ไม่นิยมเลี้ยง
   ๑.มีขนลายทั่วตัว เหมือนนกกระจอก หรือมีขนที่สันหลัง
   ๒.มีเท้าเหมือนเป็ด
   ๓.ขาสองข้างยาวไม่เท่ากัน
   ๔.มีขนลายทั้งตัวเหมือนนกพิราบ
   ๕.มีลักษณะไม่สมประกอบ เช่น ตาข้างใดข้างหนึ่งบอด และ
   ๖.หางตกลากระพื้น

ขนาดของเสียงนกเขาชวา
   ๑.นกเสียงใหญ่มีราคาแพงกว่านกเสียงกลาง และเสียงกลางราคาแพงกว่าเสียงเล็ก
   ๒.นกที่ขันจังหวะช้ามีราคาแพงกว่านกที่ขันจังหวะเร็ว และขันจังหวะธรรมดา
   ๓.นกที่ขันเสียงท้ายก้องดังราคาแพงกว่าท้ายก้องน้อย เสียงขันท้ายยาวมีราคาแพงกว่าเสียงท้ายสั้น เสียงหน้ายาวมีราคาแพงกว่าเสียงหน้าสั้น และ
   ๔.นกที่ขัน ๕ จังหวะ เป็นที่นิยมมากกว่า ๔ จังหวะ และ ๓ จังหวะ

นกเขาชวาได้มาอย่างไร
   ๑.จับจากป่า เป็นวิธีการสมัยก่อนที่เริ่มเลี้ยงแรกๆ มักหาพ่อแม่พันธุ์นกเขาด้วยวิธีการเข้าจับในป่า หรือตามแหล่งต่างๆ ที่นกเขาชวาอาศัยอยู่ ด้วยการใช้กรงที่มีนกเขาตัวเมียหรือตัวผู้อยู่ล่อให้นกอีกเพศเข้ามาติดในกรง   วิธีการนี้ในปัจจุบันยังใช้อยู่สำหรับแสวงหาพันธุ์นกเขาที่มีเสียงไพเราะ และ
   ๒.การผสมพันธุ์จากกรงเลี้ยง คือจากพ่อแม่พันธุ์ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ลูกที่มีลักษณะเด่นตามพ่อแม่พันธุ์ที่ต้องการ





กั้ง-กุ้ง
เว็บไซต์คลังความรู้สู่ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) บอกว่า กุ้งและกั้งในทางชีววิทยานั้น มีการจำแนกชั้นเหมือนและต่างกันดังนี้

กั้ง (Mantis shrimp) นับเป็นญาติสนิทของกุ้ง เพราะอยู่ในกลุ่มครัสตาเซียนเหมือนกัน คือสัตว์น้ำจำพวกหนึ่ง อาศัยอยู่ในทะเล โดยทั่วไปมีรูปร่างคล้ายกุ้งผสมกับตั๊กแตนตำข้าวหายใจด้วยเหงือกเช่นเดียวกับกุ้ง

ลำตัวมีรูปร่างแบนหรือกลม แบ่งเป็นปล้องๆ เปลือกที่หุ้มท่อนหัวและอกคลุมมาถึงอกปล้องที่ ๕ แต่ไม่ถึงปล้องที่ ๘ กรีมีลักษณะแบนราบ มีขาทั้งหมด ๓ คู่

มักอาศัยอยู่ในทะเลโคลน หรือบริเวณปากแม่น้ำ หรือตามแนวปะการัง พบได้ถึงระดับความลึกกว่า ๑,๕๐๐ เมตร ค้นพบแล้วกว่า ๔๕๐ ชนิด ในไทยมีรายงานพบแล้วอย่างน้อย ๖๑ ชนิด

กั้งเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดในโลกนี้มาก่อนกุ้ง มีจุดเด่นคือมีดวงตาขนาดใหญ่ใช้สแกนมองภาพได้ดี โดยเฉพาะการมองภาพชัดลึก ตาแต่ละข้างของกั้งมองเห็นได้ ๓ ตา และตาแต่ละดวงมองเห็นภาพได้ ๓ ภาพ ทั้งกะระยะได้ดีมากเพื่อใช้ล่าเหยื่อ มีแก้วตาหลายพันชิ้น มองเห็นสีได้ในระดับที่ซับซ้อน ถือเป็นสัตว์จำพวกหนึ่งที่มีระบบการมองเห็นภาพดีที่สุดในอาณาจักรสัตว์โลก




กั้งไม่มีก้ามหนีบ แต่มีรยางค์ส่วนอกคู่ที่ ๒ มีลักษณะเป็นก้ามสับขนาดใหญ่พับได้คล้ายมีดโกน และมีซี่ฟันแหลมคมเรียงกันเป็นแถวคล้ายหวี ใช้สำหรับฆ่าเหยื่อหรือป้องกันตัว ทั้งใช้สับน้ำให้เกิดเป็นแรงขนาดมากจนอาจถึงทำร้ายสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่นมนุษย์ให้บาดเจ็บได้

กั้งเป็นสัตว์ใกล้เคียงกับกุ้ง แต่รูปร่างแตกต่างไปอย่างเห็นได้ชัด มีตัวแบนกว่ากุ้ง บางชนิดหัวก็แบน ขาสั้น อาศัยหากินอยู่ที่พื้นทะเลทั่วไปทั้งที่เป็นทรายและที่เป็นโคลน โดยการขุดรูอยู่ กั้งจะขึ้นจากรูเมื่อมีคลื่นลมจัด คลานไปมาหาอาหาร




ส่วนกุ้ง แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ได้ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มกุ้งโบราณ (prawn) ได้แก่ เคย และกุ้งพีเนียด ส่วนอีกกลุ่มคือ กุ้ง (shrimp) ได้แก่ กุ้งนักมวย และกุ้งคาริเดีย โดยมากแล้วกุ้งที่พบเห็นในท้องทะเลจะเป็นกุ้งในกลุ่มที่สอง

สีสันและรูปร่างอันหลากหลายของกุ้งทะเลแต่ละชนิด นอกจากจะให้ความสวยงามน่าชมแล้ว เบื้องหลังความงามนั้นมีความลับต่างๆ ของท้องทะเลซ่อนอยู่มากมาย มันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่บอกถึงการพึ่งพาอาศัยกัน การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ตลอดจนอธิบายได้ถึงระบบนิเวศที่กุ้งแต่ละชนิดอาศัยอยู่

อย่าง กุ้งปะการังลูกโป่ง อาศัยซ่อนตัวอยู่แค่ในปะการังลูกโป่งเท่านั้น หรือกุ้งสีสันสวยงามอย่าง กุ้งตัวตลก ที่ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเป็นนักล่าหน้าสวยที่สังหารดาวขนนกได้อย่างเลือดเย็น แต่ก็ยังมีกุ้งใจดีอย่าง กุ้งพยาบาล ที่คอยช่วยทำความสะอาดฟันให้เจ้าปลาไหลมอเรย์อย่างเต็มอกเต็มใจ หรือกระทั่งความสัมพันธ์แบบพึ่งพาที่เกิดขึ้นระหว่าง กุ้งดีดขัน กับปลาบู่ที่ใช้บ้านหลังเดียวกันได้

กุ้งมีลำตัวกลม ท่อนหัวโต เรียวลงไปทางหาง ลำตัวกุ้งแบ่งออกได้เป็นสามท่อนคือ หัว อก และท้อง แต่หัวกับอกมีเปลือกแข็งห่อหุ้ม รวมเป็นท่อนเดียว มักเรียกกันว่าหัวกุ้ง ส่วนที่ถัดมาจากหัวเป็นท้อง คือส่วนที่เรียกกันว่าตัวกุ้ง โค้งและงอได้ ที่ท้องมีขาสำหรับว่ายน้ำ ปลายของท้องเป็นหางรูปคล้ายพัดคลี่ออกได้ กุ้งมีขา ๕ คู่เท่ากันกับปู กับมีหนวดเป็นเส้นยาวหลายเส้นยื่นออกไปจากหัวสำหรับคลำทาง หายใจทางเหงือก

กุ้งมีทั้งกุ้งน้ำจืดและกุ้งน้ำเค็ม กุ้งทะเลมีหลายขนาดทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ กุ้งในทะเลที่เป็นกุ้งขนาดใหญ่ ได้แก่ กุ้งหัวโขนหรือกุ้งยักษ์ กุ้งชนิดนี้มีส่วนหัวกลมยาวเป็นรูปทรงกระบอกและค่อยเรียวลงไปทางหาง เปลือกแข็ง ผิวขรุขระ และมีหนามแหลมทั้งตัว หนวดเส้นยาวใหญ่มีหนามแหลมด้วย อาศัยหากินอยู่ตามพื้นทะเลที่มีหินปะการัง และเป็นกุ้งที่มีรูปร่างน่าดูมาก



ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
หน้า:  1 ... 154 155 [156] 157 158 ... 274
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.854 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 02 พฤษภาคม 2567 16:58:20