[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 16 มกราคม 2566 20:02:35



หัวข้อ: พิธีอาพาธพินาศ - เกิดไข้ป่วงใหญ่ร้ายแรงที่สุดในเมืองไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 มกราคม 2566 20:02:35
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/93657162495785_55_Copy_Copy_.jpg)
ภาพ : ครูเหม เวชกร

พิธีอาพาธพินาศ

ปีมะโรง พ.ศ.๒๓๖๓ เดือน ๗ เกิดไข้ป่วงใหญ่ร้ายแรงที่สุดในเมืองไทย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ว่ากันว่าคนไทยได้รู้จักไข้ป่วงใหญ่ ก็ในปีมะโรง พ.ศ.๒๓๖๓ นี้เป็นครั้งแรก ไข้นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไข้ลงราก ปัจจุบันเรียกว่า อหิวาตกโรค

ไข้ป่วงใหญ่คราวนี้เกิดในอินเดียก่อน และคนไทยได้ไปเห็นมาด้วยตาตนเอง คือพวกเมืองตรัง ที่นำกำปั่นใบไปค้าช้างที่อินเดีย เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๒ ได้เห็นไข้นั้นเกิดที่อินเดีย ตกใจกลัว รีบหนีกลับมาบอกเล่าให้พวกคนไทยทราบ ขึ้น พ.ศ.๒๓๖๓ ก็ปรากฏว่าระบาดเข้ามาเมืองไทย ปรากฏตามจดหมายเหตุโหรว่า ในเดือน ๗ ข้างขึ้นเวลายามเศษ ทางทิศพายัพแลเห็นเป็นแสงเพลิงแดงอยู่ในอากาศ เรียกว่าชุมเพลิง ต่อจากนั้นก็ได้ข่าวว่าไข้นั้นเกิดที่เกาะหมากและเมืองตรัง ลามขึ้นมาเมืองไชยา ขึ้นมาเมืองสมุทรปราการ ชาวเมืองสมุทรปราการตายมาก ราษฎรอพยพหนีความไข้ขึ้นมากรุงเทพฯ และไปเมืองอื่นๆ บ้าง ไข้ป่วงก็เริ่มระบาดในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ เป็นต้นไป คนตายเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงโปรดฯ ให้ตั้งพระราชพิธีอาพาธพินาศ เมื่อวันขึ้น ๑๐ ค่ำ

พระราชพิธีที่ทำ ก็คือ ยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดรุ่งคืนหนึ่ง แล้วเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะไปในกระบวนแห่ ประน้ำมนต์ ทั้งทางบกทางเรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุโบสถศีล โปรดฯ อนุญาตข้าราชการทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ไม่ต้องให้เข้าเฝ้าฯ และปฏิบัติราชกิจที่ไม่จำเป็น ไพร่ในพระราชวังก็ปล่อยให้กลับบ้านเรือน เพื่อไปรักษาพยาบาลบิดามารดา บุตรภรรยา ญาติพี่น้อง คนไทยก็ให้ปล่อยออกหมดสิ้น

ไข้ป่วงระบาดหนักที่สุดอยู่ประมาณ ๑๕ วัน ปรากฏว่าคนตายกันอย่างน่าอเนจอนาถสยดสยอง เป็นที่หวาดหวั่นพรั่นพรึงกันที่สุด เป็นต้นว่าคนที่เข้ากระบวนแห่และหามพระพุทธรูปและพระสงฆ์ที่เข้ากระบวน เดินๆ ไปล้มลงตายก็มี คนตายทั้งหญิงทั้งชาย เอาศพไปทิ้งที่ป่าช้าวัดสระเกศ วัดบางลำพู วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา และวัดอื่นๆ ศพก่ายกันเหมือนกองฟืน ในแม่น้ำลำคลองศพลอยเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง น้ำในแม่น้ำกินไม่ได้ พระสงฆ์หนีจากวัด คฤหัสน์หนีจากบ้าน ถนนหนทางไม่มีคนเดิน ตลาดไม่มีการซื้อขาย เงียบสงัดวังเวงไปทุกหนแห่ง คนหวาดหวั่นครั่นคร้ามต่อความตายทั่วไปทั้งพระนคร ตกปลายเดือน ๗ ไข้จึงค่อยๆ ซาลงจนสงบไป รวมคนตายทั้งสิ้นประมาณ ๓ หมื่นเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสเล่าว่าในปีที่เกิดไข้ป่วงใหญ่นั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปี ทรงสังเกตเห็นว่า ในหน้าหนาวปี พ.ศ.๒๓๖๒ นั้น เดือนอ้ายเดือนยี่ (ธันวาคม - มกราคม) อากาศหนาวมาก สิ้นเดือนสาม (กุมภาพันธ์) ก็ร้อนจัด แล้วความร้อนก็ยิ่งทวีขึ้น จนชาวเมืองพากันบ่นว่า เกิดมาไม่เคยร้อนอย่างนี้ ถึงเดือน ๗ (มิถุนายน) ก็เกิดไข้ป่วงใหญ่ ทำให้คนล้มตายอเนกอนันต์ อากาศจึงเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่ง

ตอนเกิดไข้ป่วงใหญ่นั้น มีทูตมาจากเมืองญวน ทูตคนหนึ่งชื่อ องกาย กับไพร่อีก ๑๐ คนก็เป็นไข้ป่วงตาย ได้ความว่าทางเมืองญวนก็เกิดไข้ป่วงใหญ่ คนตายหลายหมื่น เฉพาะที่เมืองเว้ อันเป็นเมืองหลวง คนตายถึงสามหมื่น


มูลนิธิเหม เวชกร (ที่มา)
700