[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เอกสารธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 22 พฤษภาคม 2553 05:41:32



หัวข้อ: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 22 พฤษภาคม 2553 05:41:32

(http://gotoknow.org/file/papangkorn/DSC00316.JPG)

พุทธวัจน์
คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า


อานนท์! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า
ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว
พวกเราไม่มีพระศาสดาดังนี้

อานนท์! พวกเธออย่าคิดดังนั้น
อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดีที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย
ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสนาของพวกเธอทั้งหลาย
โดยการล่วงไปแห่งเรา


(มหาปรินิพพานสูตร มหา. ที. ๑๐/๑๕๙/๑๒๘.)
Credit by : http://gotoknow.org/blog/kalayanamittata/172386 (http://gotoknow.org/blog/kalayanamittata/172386)



ชมคลิปพุทธวัจน์ถาม-ตอบ

คลิ๊กค่ะ :
http://www.watnapahpong.com/download/book/buddhawaj.pdf (http://www.watnapahpong.com/download/book/buddhawaj.pdf)


หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 22 พฤษภาคม 2553 08:42:04




(http://images.temppic.com/25-03-2010/images_vertis/1269531665_0.83261300.gif)


(:88:) (:88:) (:88:)


(:LOVE:) (:LOVE:) (:LOVE:)


หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 มกราคม 2554 14:47:41





ภิกษูทั้งหลาย! เธอทั้งหลายจงเพียรเผากิเลส
อย่าได้เป็นผู้ประมาท
อย่าเป็นผู้ที่ต้องร้อนใจ ในภายหลังเลย
นี่แล เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนของเธอทั้งหลาย ของตถาคต







หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 มกราคม 2554 14:50:00





ภิกษูทั้งหลาย!
บัดนี้...เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลาย

สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
พวกเธอทั้งหลาย
จงให้ถึงพร้อมด้วยไม่ประมาทเถิด

นี่เป็นวาจามีในครั้งสุดท้าย ของตถาคต






หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 มกราคม 2554 14:54:42




"สิ่งนั้น" หาพบในกายนี้
"แน่ะเธอ! ที่สุดโลกแห่งใดอันสัตว์
ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ
เราไม่กล่าวว่า ใครๆอาจรู้ อาจเห็น
อาจถึงที่สุดแห่งโลกนั้น ด้วยการไป

"แน่ะเธอ! ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้
ที่ยังประกอบด้วยสัญญา(ความจำ)และใจนี่เอง
เราได้บัญญัติโลก, เหตุให้เกิดโลก,
ความดับสนิทไม่เหลือของโลก,
และทางดำเนินให้ถึงความดับสนิทไม่เหลือของโลกไว้" ดังนี้แล





หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 มกราคม 2554 15:17:48





เมื่อ "เธอ" ไม่มี!
เมื่อใดเธอเห็นรูปแล้ว สักว่าเห็น,
ได้ยินเสียงแล้ว สักว่าฟัง,
ได้กลิ่นแล้ว ก็สักว่าดม,
ได้ลิ้มรสแล้ว ก็สักว่าลิ้ม,
ได้สัมผัสทางผิวกายแล้ว ก็สักว่าสัมผัส,
ได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ ก็สักว่าได้รู้แจ้งแล้ว

เมื่อนั้น "เธอ" จักไม่มี

เมื่อใด "เธอ" ไม่มี,
เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฎในโลกนี้,
ไม่ปรากฎในโลกอื่น,
ไม่ปรากฎในระหว่างโลกทั้งสอง

นั่นแหละ คือ ที่สุดแห่งทุกข์






หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 มกราคม 2554 15:22:27





ไม่ได้ทรงประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อให้เขานับถือ


พรหมจรรย์นี้
เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคนให้นับถือ
มิใช่ประพฤติเพื่อเรียกคนมาเป็นบริวาร
มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นลาภสาการะและเสียงสรรเสริญ
มิใช่เพื่ออานิสงส์จะได้เป็นเจ้าลัทธิ
หรือเพื่อค้านลัทธิอื่นใดให้ล้มลงไป
และหามิใช่เพื่อให้มหาชนเข้าใจว่า
เราได้เป็นผู้วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หามิได้

ที่แท้ พรหมจรรย์นี้
เราประพฤติเพื่อสำรวม
เพื่อละ เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับทุกข์...สนิท






หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 มกราคม 2554 15:30:38





ลำดับการหลุดพ้น เมื่อเห็นไตรลักษณ์

รูปเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา,
สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นนั่นไม่ใช่ของเรา
นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

เธอทั้งหลายพึงเห็นข้อนั้นด้วยปัญญาโดยชอบ
ตรงตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ด้วยประการดังนี้
(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ก็ตรัสอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูป ทุกประการ)

เมื่อบุคคลเห็นข้อนั้น ด้วยปัญญาโดยชอบ
ตรงตามที่เป็นจริงอย่างนี้,

ปุพพันตานุทิฎฐิ(ความเห็นที่ปรารภขันธ์ในเบื้องต้น
หรือความเห็นที่เป็นไปในส่วนของบอดีต)ทั้งหลาย ย่อมไม่มี

เมื่อปุพพันตานุทิฎฐิไม่มี, 
อปรันตานุทิฎฐิ(ความเห็นที่ปรารภขันธ์ในเบื้องปลาย
หรือความเห็นที่เป็นไปในส่วนของอนาคต)ทั้งหลาย ย่อมไม่มี

เมื่ออปรันตานุทิฎฐิไม่มี,
ความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าย่อมไม่มี

เมื่อความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าไม่มี,
จิตย่อมจางคลายกำหนัดในรูป ในเวทนา
ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ

ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น

เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่
เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่ จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี
เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง
เมื่อไม่หวาดสะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตน นั่นเทียว

เธอนั้นย่อมรู้ชัดว่า "ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว
กิจอื่นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก







หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 มกราคม 2554 15:38:21





สิ่งที่ตรัสรู้...แต่ไม่ทรงนำมาสอน
มีมากกว่าที่ทรงนำมาสอนมากนัก

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกำใบไม้สีสปา
ที่ร่วงอยู่ตามพื้นดินขึ้นมาหน่อยหนึ่ง
แล้วตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายเข้าใจว่าอย่างไร
ใบไม้สีสปาที่เรากำขึ้นหน่อยหนึ่งนี้มาก
หรือว่าใบไม้สีสปาที่ยังอยู่บนต้นเหล่านั้นมาก?"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ใบไม้ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงกำขึ้นหน่อยหนึ่งเป็นของน้อย
ส่วนใบไม้ทียังอยู่บนต้นสีสปาเหล่านั้น ย่อมมีมาก"

ภิกษุทั้งหลาย! ฉันใดก็ฉันนั้น
ธรรมะส่วนที่เรารู้ยิ่งด้วยปัญญาอันยิ่ง
แล้วไม่กล่าวสอนนั้น มีมากกว่าส่วนที่นำมาสอน

ภิกษุทั้งหลาย! เหตุไรเล่า
เราจึงไม่กล่าวสอนธรรมะส่วนนั้นๆ?

ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุว่า ธรรมะส่วนนั้นๆ
ไม่ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ ที่เป็นเงื่อนต้นพรหมจรรย์,
ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ
ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม
ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน,  ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวสอน

ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมะอะไรเล่าเป็นธรรมะที่เรากล่าวสอน?
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมที่เรากล่าวสอน
คือข้อที่ว่า ความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ,
เหตุเป็นที่เกิดของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ,
ความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ,
ข้อปฏิบัติเพื่อถึงความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ

ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุไรเล่า
ธรรมะส่วนนี้เราจึงนำมากล่าวสอน?

ภิกษุทั้งหลาย! เพราะว่าธรรมะส่วนนี้
ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์
เป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อความดับ เป็นไปเพื่อความสงบ
เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม
เป็นไปเพื่อนิพพาน, เพราะเหตุนั้นแล เราจึงนำมากล่าวสอน






หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 มกราคม 2554 15:47:18





ผู้ไม่ประมาทในความตายแท้จริง

มรณสติ(ความระลึกถึงความตาย)
อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
หยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่สุด
พวกเธอเจริญมรณสติอยู่บ้างหรือ?

พวกที่เจริญมรณสติอย่างนี้ว่า    "โอ้หนอ
เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันคืนหนึ่งฯ ดังนี้ก็ดี,
เราอาจมีชีวิตอยู่ได้ เพียงชั่วเวลากลางวันฯ ดังนี้ก็ดี,
เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่กินเสร็จมื้อหนึ่งฯ ดังนี้ก็ดี,
เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่กินอาหารเสร็จเพียง 4-5 คำ
เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด
การปฏิบัติตามคำสั่งสอน ควรทำให้มากแล้วหนอ"  ดังนี้ก็ดี,

ผู้ที่เจริญเหล่านี้ เราเรียกว่า ยังเป็นผู้ประมาทอยู่
ยังเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะช้าไป

พวกที่เจริญมรณสติ อย่างนี้ว่า "โอ้หนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้
เพียงชั่วขณะที่กินอาหารเสร็จเพียงคำเดียว" ดังนี้ก็ดี,
ว่า "โอ้หนอ เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่หายใจเข้า
แล้วก็หายใจออก หรือชั่วขณะหายใจออกแล้วหายใจเข้า
เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด,
การปฏิบัติคำสอนควรทำให้มากแล้วหนอ" ดังนี้ก็ดี

ผู้ที่เจริญเหล่านี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว,
เป็นผู้เจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า
"เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นอยู่,
จักเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง" ดังนี้
เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้อย่างนี้แล






หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 มกราคม 2554 16:08:57


ทรงมีความชราทางกายภาพเหมือนคนทั่วไป

(ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของผู้มีพระภาคอยู่
พลางกล่าวถ้อยคำนี้ว่า)

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์ ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค
ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน
มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด
ทั้งจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ"

อานนท์! นั่นต้องเป็นอย่างนั้น คือความชรามี(ซ่อน)อยู่ในความหนุ่ม,
ความเจ็บไข้มี(ซ่อน)อยู่ในความไม่มีโรค, ความตายมี(ซ่อน)อยู่ในชีวิต
ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน
ตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด
ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้

พระผู้มีพระภาคครั้งตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้(เป็นคำกาพย์กลอน)อีกว่า

โธ่เอ๋ย! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย!
ความแก่อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย!
กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว
แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
ทุกคนก็ยังมีความตาย เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน


http://www.tairomdham.net/index.php/topic,4941.0/topicseen.html (http://www.tairomdham.net/index.php/topic,4941.0/topicseen.html)
ขอบพระคุณ
ผู้รวบรวมข้อมูลนำมาแบ่งปัน : น้องเล็ก
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ




หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 มกราคม 2554 04:51:58


ตั้งหน้าทำ...ก็แล้วกัน

ภิกษุทั้งหลาย! กิจของคฤหบดีชาวนา
ที่เขาจะต้องรีบทำมี 3 อย่างเหล่านี้,
3 อย่างอะไรบ้างเล่า?.....

3 อย่าง คือ คฤหบดีชาวนา รีบๆไถ คราด พื้นที่นาให้ดีเสียก่อน,
ครั้นแล้ว ก็รีบๆปลูกพืช, ครั้นแล้วก็รีบๆไขน้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้าง,

ภิกษุทั้งหลาย! กิจของคฤหบดีชาวนา
ที่เขาจะต้องรีบทำ มี 3 อย่างเหล่านี้แล

แต่ว่าคฤหบดีชาวนานั้น
ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพ ที่จะบันดาลว่า
"ข้าวของเรา จงงอกในวันนี้,
ตั้งท้องพรุ่งนี้, สุกมะรืนนี้"ดังนี้ได้เลย,

ที่แท้ ย่อมมีเวลาที่ข้าวนั้น
เปลี่ยนแปรสภาพไปตามฤดูกาล
ย่อมจะงอกบ้าง ตั้งท้องบ้าง สุกบ้าง

ภิกษุทั้งหลาย! ฉันใดก็ฉันนั้น
กิจของภิกษุที่เธอจะต้องรีบทำ
มี 3 อย่างเหล่านี้....
3 อย่างอะไรบ้างเล่า?....
3 อย่าง คือ การสมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง,
การสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง,
และการสมาทานการปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย! กิจของภิกษุ
ที่เธอจะต้องรีบทำ มี 3 อย่างเหล่านี้แล

แต่ว่าภิกษุนั้น ก็ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพ
ที่จะบันดาลว่า "จิตของเรา จงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่มีอุปทานในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้"
ดังนี้ได้เลย, ที่แท้ย่อมมีเวลาที่เหมาะสม....
เมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติไปแม้ในศีลอันยิ่ง,
ปฏิบัติไปแม้ในจิตอันยิ่ง, และปฏิบัติไปแม้ในปัญญาอันยิ่ง
จิตก็จะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีอุปทานได้เอง




หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 มกราคม 2554 05:03:56



ทรงสอนเฉพาะแต่เรื่องทุกข์
กับความดับสนิทของทุกข์


ทั้งที่เรามีถ้อยคำอย่างนี้
มีการกล่าวอย่างนี้...
สมณะและพราหม์บางพวก
ยังกล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ เปล่าๆปลี้ๆ
ไม่มีจริงเป็นจริงว่า

"พระสมณโคดมเป็นคนจูงคน
ให้เดินผิดทาง ไปสู่ความฉิบหาย
ย่อมบัญญัติลัทธิความสูญเปล่า
ความวินาศ ความไม่มีของสัตว์
คน ตัวตน เราเขาขึ้นสั่งสอน" ดังนี้

สมณะและพราหมณ์บางพวกเหล่านั้น
กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ เปล่าๆปลี้ๆ
ไม่มีจริงเป็นจริง โดยประการที่เราไม่ได้กล่าว
หรือจะกล่าวอย่างนั้นก็หามิได้

ในกาลก่อนก็ตาม ในบัดนี้ก็ตาม
เราบัญญัติขึ้นสอนแต่เรื่องความทุกข์
และความดับสนิทไม่มีเหลือของความทุกข์ เท่านั้น

ในการกล่าวแต่เรื่องความทุกข์ และ
ความดับสนิทของความทุกข์ เช่นนี้
แม้จะมีใรมาด่าว่า ถากถาง กระทบกระเทียบ
เสียดสี ตถาคตก็ไม่มีความขุ่นแค้นโกรธเคือง
เดือดร้อนใจ เพราะเหตุนั้นแต่ประการใด
 
ในเรื่องเดียวกันนั้นเอง...
แม้จะมีใครมาสักการะเคารพสรรเสริญบูชาตถาคต
ก็ไม่มีความรู้สึกเพลิดเพลิน  ชื่นชมหรือเคลิ้มใจไปตาม

ถ้ามีใครมาสักการะเคารพสรรเสริญบูชา
ตถาคตย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า....
ก่อนหน้านี้เรามีความรู้สึกตัวทั่วถึงอย่างไร
บัดนี้เราก็ต้องทำความรู้สึกตัวทั่วถึงอย่างนั้น, ดังนี้




หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 มกราคม 2554 07:57:21


ถ้ามัวรอให้รู้เรื่องที่ไม่เป็นเสียก่อน...ก็ตายเปล่า

มาลุงกยะบุตร! เปรียบเหมือนบุรุษหนึ่ง
ถูกลูกศรอันกำซาบด้วยยาพิษอย่างแรงกล้า,
มิตร อมาตย์ ญาติสาโลหิตจัดการเรียกแพทย์ผ่าตัดผู้ชำนาญ
บุรุษอย่างนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า...

"ถ้าเรายังไม่รู้จักตัวบุรุษ
ผู้ที่ยิงเราว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์
เวสส์ ศูทร ชื่อไร โคตรไหนฯลฯ,
ธนูที่ใช้ยิงนั้นเป็นชนิดหน้าไม้หรือเกาทัณฑ์ฯลฯเสียก่อนแล้ว,
เรายังไม่ต้องการจะถอนลูกศรอยู่เพียงนั้น"

มาลุงกยะบุตร! เขาไม่อาจรู้ข้อความที่เขาอยากรู้นั้นได้เลย ต้องตายเป็นแน่แท้!

อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน,
บุคคลผู้นั้น กล่าวว่า เราจักยังไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า จนกว่า...
พระองค์จักแก้ปัญหาทิฐิ 10 แก่เราเสียก่อน,
และตถาคตก็ไม่พยากรณ์ปัญหานั้นแก่เขา
เขาก็ตายเปล่า...โดยแท้

มาลุงกยะบุตร! ท่านจงซึมทราบสิ่งที่เราไม่พยากรณ์ไว้
โดยความเป็นสิ่งที่เราไม่พยากรณ์...
ซึมทราบสิ่งที่เราพยากรณ์ไว้...
โดยความเป็นสิ่งที่เราพยากรณ์...

อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์?
คือความเห็น 10 ประการว่า
โลกเที่ยง...โลกไม่เที่ยง
โลกมีที่สิ้นสุด...โลกไม่มีที่สิ้นสุดฯลฯ(เป็นต้น),
เป็นสิ่งที่เราไม่พยากรณ์

มาลุงกยะบุตร! อะไรเล่าที่เราพยากรณ์?
คือสัจจะว่า "นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์,
นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,
และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์
ดังนี้....นี้เป็นสิ่งที่เราพยากรณ์

เหตุใดเราจึงพยากรณ์เล่า?
เพราะสิ่งๆนี้ย่อมประกอบด้วยประโยชน์
เป็นเงื่อต้นของพรหมจรรย์
เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์
ความคลายกำหนัด ความดับ ความระงับ
ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 25 มกราคม 2554 08:25:19


ผู้ไม่เข้าไปหา...ย่อมหลุดพ้น

ผู้เข้าไปหา เป็นผู้ไม่หลุดพ้น
ผู้ไม่เข้าไปหา...เป็นผู้หลุดพ้น


วิญญาณซึ่งเข้าถือเอารูปตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้,
เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย,
มีนันทิ(ความเพลิน)เป็นที่เข้าไปส้องเสพ
ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้

วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาเวทนาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์
มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย ...
มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ
ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้

วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาสัญญาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์
มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย...
มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ
ก็ถึงความเจริญ งอกงาม และไพบูลย์ได้

วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาสังขารตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์
มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย...
มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ
ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้

ผู้ใดจะพึงกล่างอย่างนี้ว่า....
"เราจักบัญญัติซึ่งการมา การไป การจุติ การอุบัติ
ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ของวิญญาณ
โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขาร"
ดังนี้นั้น, นี่ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย

ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ
ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ท่านละได้แล้ว


เพราะละราคะได้ อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลง
ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี...
วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้นก็ไม่งอกงาม
หลุดพ้นไปเพราะไม่ถูกปรุงแต่ง

เพราะหลุดพ้นไปก็ตั้งมั่น
เพราะตั้งมั่นก็ยินดีในตนเอง
เพราะยินดีในตนเองก็ไม่หวั่นไหว
เมื่อไม่หวั่นไหว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน

ย่อมรู้ชัดว่า "ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว ....
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้...มิได้มีอีก..." ดังนี้



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 27 มกราคม 2554 12:50:48


กัลยาณมิตรของพระองค์เอง

อานนท์! ภิกษุผู้ชื่อว่า มีมิตรดี
มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญ
ทำให้มากซึ่งอริยมรรค
ประกอบด้วยองค์แปด
โดยอาการอย่างไรเล่า?

อานนท์! ภิกษุในศาสนานี้
ย่อมเจริญทำให้มากซึ่ง...สัมมาทิฐิ,
สัมมากัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ,
สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ,
สัมมาสมาธิ  มันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ
อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อการสลัดลง

อานนท์!  ข้อนั้นเธอพึงทราบด้วยปริยายอันนี้เถิด
คือว่า พรหมจรรย์ทั้งหมดนั้นเทียว ได้แก่
ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี, ดังนี้

อานนท์!  จริงทีเดียว, สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา
ได้อาศัยกัลยาณมิตรของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากการเกิด....

ผู้มีความแก่ชรา, ความเจ็บป่วย, ความตาย, ความโศก,
ความคร่ำครวญ, ความทุกข์กาย, ความทุกขใจ,
ความแห้งผากใจเป็นธรรมดา  ครั้นได้อาศัยกัลยาณมิตรของเราแล้ว
ย่อมหลุดพ้นจากความแก่ชรา, ความเจ็บป่วย, ความตาย,
ความโศก, ความคร่ำครวญ, ความทุกข์กาย, ความทุกข์ใจ,
ความแห้งผากใจ...

อานนท์!  ข้อนั้นเธอพึงทราบด้วยปริยายอันนี้เถิด
คือว่า พรหมจรรย์นี้ทั้งหมดนั้นเทียว ได้แก่
ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ดังนี้



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 29 มกราคม 2554 06:56:07


ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย!
 
แม้ภิกษุจับชายสังฆาฏิ...
เดินตามรอยเท้าเราไปข้างหลังๆ
แต่ถ้าเธอนั้นมากไปด้วยอภิชฌา
มีกามราคะกล้า...มีจิตพยาบาท
มีความดำริแห่งใจ เป็นไปในทางประทุษร้าย
มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ...
มีจิตไม่เป็นสมาธิ แกว่งไป แกว่งมา
ไม่สำรวมอินทรีย์แล้วไซร้...

ภิกษุนั้นชื่อว่า...อยู่ไกลจากเรา
แม้เราก็อยู่ไกลจากภิกษุนั้นโดยแท้
เพราะเหตุไรเล่า?....

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! 
เพราะว่าภิกษุนั้น ไม่เห็นธรรม
เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ชื่อว่าไม่เห็นเรา



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 29 มกราคม 2554 06:59:43


มนุษย์เป็นอันมาก...
ได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิดๆ

มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก...
ถูกความกลัวคุกคามเอาแล้ว
ย่อมยึดถือเอาภูเขาบ้าง...
ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง...
สวนศักดิ์สิทธิ์บ้าง...
รุกขเจดีย์บ้าง...ว่าเป็นที่พึ่งของตนๆ

นั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันทำความเกษมให้ได้เลย,
นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงนสุด
ผู้ใดถือเอาสิ่งนั้นๆเป็นที่พึ่งแล้ว
ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใด ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
แล้วเห็นอริยสัจทั้ง 4  ด้วยปัญญาอันถูกต้อง...
คือ เห็นทุกข์, เห็นเหตุ เป็นเครื่องให้เกิดขึ้นของทุกข์,
เห็นความก้าวหน้าล่วงเสียได้ซึ่งทุกข์,
และเห็นมรรคประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐ
ซึ่งเป็นเครื่องให้ถึงความเข้าไปสงบรำงับแห่งทุกข์

นั่นแหละ คือ ที่พึ่งอันเกษม,
นั่นคือ ที่พึ่งอันสูงสุด
ผู้ใดถือเอาที่พึ่งนั้นแล้ว
ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้แท้



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 29 มกราคม 2554 07:04:12


ภิกษุ ท. ! กิจอันใด
ที่ศาสดาผู้เอ็นดูแสวงหาประโยชน์
เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว
จะพึงแก่สาวกทั้งหลาย,
กิจอันนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย

ภิกษุ ท. ! นั่น 
โคนไม้ทั้งหลาย,
นั่น เรือนว่างทั้งหลาย

ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย
จงเพียรเผากิเลส,
อย่าได้ประมาท

พวกเธอทั้งหลาย
อย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจ ในภายหลังเลย

นี่แล เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนพวกเธอทั้งหลายของเรา



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 29 มกราคม 2554 07:13:36


นันทิ คือ ความเพลิน

สัมมาปัสสัง นิพพินทะติ
เมื่อเห็นอยู่โดยถูกต้อง ย่อมเบื่อหน่าย

นันทิกขะยา ราคักขะโย
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิ จึงมีความสิ้นไปแห่งราคะ

ราคักขะยา นันทิกขะโย
เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ จึงมีความสิ้นไปแห่งนันทิ

นันทิราคักขะยา จิตตัง สุวิมุตตันติ วุจจะติ
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิและราคะ

กล่าวได้ว่าจิตหลุดพ้นด้วยดี



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 29 มกราคม 2554 07:44:49


ทรงเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! พระผู้มีพระภาค
ทรงเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูลสัตว์ทั้งปวง
มิใช่หรือพระเจ้าข้า"

คามณิ! ถูกแล้ว,
ตถาคตเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่,

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าอย่างนั้น
ทำไมพระองค์จึงทรงแสดงธรรมแก่คนบางพวก
โดยเอื้อเฟื้อ และแก่คนบางพวก
โดยไม่เอื้อเฟื้อเล่า พระเจ้าข้า? "

คามณิ !   ถ้าอย่างนั้น
เราขอย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านจงตอบเราตามที่ควร

คามณิ !  ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน
ในถิ่นแห่งเรานี้  ชาวนาผู้คหบดีคนหนึ่ง
มีนาอยู่ 3 แปลง...
แปลงหนึ่งเป็นนาชั้นเลิศ,
แปลงหนึ่งเป็นนาชั้นกลาง,
แปลงหนึ่งเป็นนาเลว มีดินเป็นก้อนแข็ง มีรสเค็ม พื้นที่เลว

คามณิ!  ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร
ชาวนาผู้คหบดีนั้น เมื่อประสงค์จะหว่านพืช
เขาจะหว่านในนาแปลงไหนก่อน...
คือว่าแปลงที่นาชั้นเลิศ, นาปานกลาง,
หรือว่านาเลว มีดินเป็นก้อนแข็ง มีรสเค็ม พื้นที่เลว เล่า?

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ชาวนาคหบดีผู้ประสงค์จะหว่านพืชคนนั้น
ย่อมหว่านในนาเลิศก่อน, แล้วจึงหว่านในนาปานกลาง,
สำหรับนาเลว ซึ่งดินเป็นก้อนแข็ง รสเค็ม พื้นที่เลวนั้น
เขาก็หว่านบ้าง ไม่หว่านบ้าง เพราะเหตุว่า อย่างมากที่สุด
ก็หว่านไว้ให้โคกิน พระเจ้าข้า!"

คามณิ!  นาเลิศนั้น เปรียบเหมือนภิกษุภิกษุณีของเรา
เราย่อมแสดงธรรม งดงามในเบื้องต้น
งดงามในท่ามกลาง งดงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ แก่ภิกษุภิกษุณีเหล่านั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? คามณี! เพราะเหตุว่า
ภิกษุภิกษุณีทั้งหลายเหล่านั้น มีเราเป็นประทีป
มีเราเป็นที่ซ่อนเร้น มีเราป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นที่พิงอาศัยอยู่

คามณี! นาปานกลางนั้น เปรียบเหมือนอุบาสกอุบาสิกาของเรา
เราย่อมแสดงธรรม งดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง
งดงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ แก่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายเหล่านั้น

ข้อนั้นเป็นอย่างไรเล่า? คามณี! เพราะเหตุว่า
ชนทั้งหลายเหล่านั้นมีเราเป็นประทีป มีเราเป็นที่ซ่อนเร้น
มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นที่พิงอาศัยอยู่

คามณี!  นาเลว มีดินเป็นก้อนแข็ง รสเค็ม  พื้นที่เลวนั้น
เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ปริพพาชกทั้งหลาย
ผู้เป็นเดียรถีย์อื่นต่อเรา เราก็ย่อมแสดงธรรม งดงามในเบื้องต้น
งดงามในท่ามกลาง งดงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์

บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ
แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? เพราะเหตุว่า
ถึงแม้ว่าเขาจะเข้าใจธรรมที่เราแสดง สักบทเดียว
นั่นก็ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข
แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น ตลอดกาลนาน



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 มกราคม 2554 08:06:54


ดับตัณหา คือ ปลงภาระหนักลงได้

ภิกษุทั้งหลาย!  การปลงภาระหนักลงเสียได้ เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับสนิทเพราะความจางคลาย...
โดยไม่เหลือของตัณหานั้นนั่นเทียว, ความละไปของตัณหานั้น,
ความสลัดกลับคืนของตัณหานั้น, ความหลุดออกไปของตัณหานั้น,
และความไม่มีที่อาศัยอีกต่อไปของตัณหานั้นอันใด

ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เราเรียกว่า การปลงภาระหนักลงเสียได้ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพุทธวจนะนี้ ซึ่งเป็นคำร้อยกรองสืบต่อไป

"ขันธ์ทั้งห้า...เป็นของหนัก!
บุคคลแหละ...เป็นผู้แบกของหนักพาไป
การแบกถือของหนัก...เป็นความทุกข์ในโลก
การปลงภาระหนักเสียได้...เป็นความสุข

พระอริยเจ้าปลงภาระหนักลงเสียแล้ว...
ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก
ก็เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก(อวิชชา)
เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนา...ดับสนิท...ไม่มีส่วนเหลือ" ดังนี้



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 มกราคม 2554 08:23:39


ผู้แบกของหนัก

ภิกษุทั้งหลาย! เ้ราจักแสดงของหนัก
ผู้แบกของหนัก
และการแบกของหนักแก่พวกเธอ,
เธอทั้งหลาย...จงฟังข้อความนั้น

ภิกษุทั้งหลาย! อะไรเล่า...ชื่อว่าของหนัก?
ภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทานักขันธ์ทั้งห้านั่นแหละ
เรากล่าวว่าเป็นของหนัก...


อุปาทานักขันธ์ทั้งห้า...เหล่าไหนเล่า?
ห้าคือ...ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ รูป,
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ เวทนา,
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ สัญญา,
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ สังขาร,
และขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ วิญญาณ,
ภิกษุทั้งหลาย! นี้ เราเรียกว่า ของหนัก....

ภิกษุทั้งหลาย! อะไรเล่า?...ชื่อว่าผู้แบกของหนัก?
ภิกษุทั้งหลาย! บุคคล(ตามสมมติ)นั่นแหละ...
เราเรียกว่าผู้แบกของหนัก...เขามีชื่ออย่างนี้...
มีโคตรอย่างนั้น...ตามที่รู้กันอยู่ ...
ภิกษุทั้งหลาย! นี้  เราเรียกว่า  ผู้แบกของหนัก...

ภิกษุทั้งหลาย! อะไรเล่า?...ชื่อว่าการแบกของหนัก?
ภิกษุทั้งหลาย! ตัณหานี้ใดที่ทำให้มีการเกิดอีก...
อันประกอบด้วยความกำหนัดเพราะอำนาจแห่งความเพลิน
ซึ่งมีปรกติทำให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ....
ได้แก่ ตัณหาในกาม ตัณหาในความมีความเป็น
ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น...
ภิกษุทั้งหลาย!นี้เราเรียกว่า การแบกของหนัก...



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 31 มกราคม 2554 11:39:09
สาธุ อนุโมทนาครับ


หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2554 06:33:20

ผู้มีหลักเสาเขื่อน

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุผู้มีสังวรนั้นเป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเห็นรูปด้วยตา,
ฟังเสียงด้วยหู, ดมกลิ่นด้วยจมูก, ลิ้มรสด้วยลิ้น,
สัมผัสโผฎฐัพพะด้วยกาย, รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ,
ก็ไม่สยบอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก
ไม่เครียดแค้นในอารมณ์อันไม่น่ารัก
เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งกายคตาสติ
มีจิตหาประมาณไม่ได้, ย่อมรู้ตามที่เป็นจริงซึ่ง เจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับแห่งบาปอกุศลที่เกิดแล้ว
แก่เขานั้นโดยสิ้นเชิง

ภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด
อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน
มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง,
จับจระเข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน, จับสุนัขจิ้งจอก, และจับลิง
มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ ครั้นแล้วนำไปผูกไว้กับเสาเขื่อน
หรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง


ภิกษุทั้งหลาย! ครั้งนั้น สัตว์ทั้ง 6 ชนิดเหล่านั้นมีที่อาศัย
และที่เที่ยวต่างๆกัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน
เพื่อที่จะไปสู่ที่อาศัยและที่เที่ยวของตนๆ

งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ,
สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, และลิงก็จะไปป่า

ภิกษุทั้งหลาย! ในกาลใดแล
ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้ง 6 ชนิดเหล่านั้น
มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว,
ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า
อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุรูปใด
ได้อบรมกระทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตาก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ,
รูปที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง,
หูก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง,
เสียงที่ไม่น่าฟังก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง,
จมูกก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม,
กลิ่นที่ไม่น่าสูดดมก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง,
กายก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ,
สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง,
และใจก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ,
ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง,
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุผู้มีสังวร เป็นอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย!  คำว่า "เสาเขื่อน หรือเสาหลัก" นี้
เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่งกายคตาสติ

ภิกษุทั้งหลาย! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้
พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า
"กายคตาสติของเราทั้งหลาย...
จักเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก
กระทำให้เป็นยาน...เครื่องนำไป
กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้...
เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ
เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี" ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย !   พวกเธอทั้งหลาย
พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้ แล ...



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2554 06:51:52

ทรงแสดงเรื่องที่เป็นไปได้ยากเกี่ยวกับพระองค์เอง

ภิกษุทั้งหลาย! สมมติว่ามหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้
มีน้ำทั่วถึงเป็นอันเดียวกันทั้งหมด
บุรุษคนหนึ่งทิ้งแอก(ไม้ไผ่!)
ซึ่งมีรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น
ลมตะวันออกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก,
ลมตะวันตกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันออก,
ลมทิศเหนือพัดไปให้ลอยไปทางทิศใต้,
ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนือ อยู่ดังนี้

ในน้ำนั้นมีเต่าตัวหนึ่ง...ตาบอด
ล่วงไปร้อยๆปี มันจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่งๆ
ภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้อย่างไร
จะเป็นไปได้ไหมที่เต่าตาบอดร้อยปีจึงจะผุดขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง
จะพึงยื่นคอเข้าปในรู ซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น?

"ข้อนี้ ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า!
ที่เต่าตาบอดนั้นร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว
จะพึงยื่นคอเข้าไปในรู ซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น"

ภิกษุทั้งหลาย! ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกัน
ที่ใครๆ จะพึงได้ความเป็นมนุษย์...
ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกัน...
ที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ
จะเกิดขึ้นในโลก...
ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกัน
ที่ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว
จะรุ่งเรืองไปทั่วโลก...

ภิกษุทั้งหลาย! แต่ว่าบัดนี้
ความเป็นมนุษย์ก็ได้แล้ว...
ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ
ก็บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว...
และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว
ก็รุ่งเรืองไปทั่วโลกแล้ว...

ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุนั้น
ในกรณีนี้ พวกเธอพึงกระทำโยคกรรม
เพื่อให้รู้ว่า
"นี้ ทุกข์...
นี้ เหตุให้เกิดทุกข์...
นี้ ความดับแห่งทุกข์...
นี้ หนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์" ดังนี้เถิด



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2554 07:20:09

วิหารธรรมที่ทรงอยู่มากตลอดพรรษา
และทรงสรรเสริญมาก


ภิกษุทั้งหลาย! ถ้าพวกปริพพาชกเดียรถีย์อื่น
จะพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า...
"ท่านผู้มีอายุ! พระสมณโคดมทรงอยู่จำพรรษาส่วนมาก
ด้วยวิหารธรรมไหนเล่า?" ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อพวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว
พึงตอบแก่พวกปริพพาชกเดียรถีย์อื่นเหล่านั้น
อย่างนี้ว่า "ท่านผู้มีอายุ! พระผู้มีพระภาค
ทรงอยู่จำพรรษาส่วนมากด้วยวิหารธรรม
คือ อานาปานสติสมาธิ แล" ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีนี้
เราเป็นผู้มีสติอยู่ หายใจเข้า,
มีสติอยู่ หายใจออก,
เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า
"เราหายใจเข้ายาว" ดังนี้,
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า
"เราหายใจออกยาว" ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อใครจะกล่าววิหารธรรมใดโดยชอบ
ว่าเป็นอริยวิหารก็ดี พรหมวิหารก็ดี ตถาคตวิหารก็ดี,
เขาพึงกล่าวโดยชอบซึ่งอานาปานสติ สมาธินั้น
ว่าเป็นอริยวิหาร พรหมวิหาร ตถาคตวิหาร


ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดยังเป็นเสขะ
มีวัตถุประสงค์แห่งใจอันยังไม่บรรลุแล้ว...

ปรารถนาอยู่ซึ่งโยคักเขมธรรม
อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าอยู่...
อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ

ภิกษุทั้งหลาย! ส่วนภิกษุทั้งหลายเหล่าใดเป็นอรหันต์ขีณาสพ
มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว
มีกิจควรทำอันกระทำแล้ว
มีภาระหนักปลงลงแล้ว มีประโยชน์ตนอันตามบรรลุแล้ว
มีสัญโญชน์ในภพอันสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ด้วยปัญญาโดยชอบ

อานาปานสติสมาธิ
อันภิกษุเหล่านั้นเจริญทำให้มากแล้ว
ก็ยังเป็นไปเพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบันด้วย
เพื่อสติสัมปชัญญะอยู่ด้วย



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2554 14:53:44
สาธุ อนุโมทนาครับ


หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 14:14:21


ทำไมต้องพุทธวจน 1.mpg (http://www.youtube.com/watch?v=Chz001QA32M#)







หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 14:17:08


ทำไมต้องพุทธวจน 4.mpg (http://www.youtube.com/watch?v=q5arBBd2nuQ&feature=player_embedded#)
มี ๑ - ๖ คลิปค่ะ




หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 14:47:17



ทูไนท์โชว์ - ธรรมจากพุทธวจนะ 24/05/10 (1-4) (http://www.youtube.com/watch?v=3SIry5d6-bk&feature=player_embedded#)
มี ๑ - ๔ คลิปค่ะ


หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 02 มิถุนายน 2555 15:01:41


(http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRsLt3yEVqXfXz7NZJw5IetaoRJM3EblyikosZXOGKt2eFkQ9dG)

......พุทธพจน์/เจโตวิมุติ

ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติ
มิใช่เพื่อหลอกลวงให้คนนับถือ
มิใช่ประพฤติเพื่อเรียกคนมาเป็นบริวาร
มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นลาภสักการะ และเสียงสรรเสริญ

มิใช่เพื่ออานิสงส์จะได้เป็นเจ้าลัทธิ
หรือเพื่อคัดค้านลัทธิอื่นให้ล้มไป
และมิใช่เพื่อมหาชนเข้าใจได้ว่าเรา
เป็นผู้วิเศษ อย่างนั้น.. อย่างนี้..

.......ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้
เราประพฤติ เพื่อสำรวม เพื่อละ
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับความดับสนิทแห่งทุกข์

(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQQJBkc93Trdo3s3ldTPxY-ducqb58b3z-G7M-hFRw_zqnQqmG1ZQ)

ขอบพระคุณที่มา  http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=37528



หัวข้อ: Re: พุทธวัจน์ (คำสอนจากพระโอษฐ์)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 สิงหาคม 2555 21:27:52


(http://2.bp.blogspot.com/-CQd4d9Ruis0/T81X2BzsDLI/AAAAAAAACW8/9sIeaeGClQE/s640/556405_335290563207793_100001805567334_777618_2016320109_n.jpg)

(http://1.bp.blogspot.com/-v5_LeQEoQnY/T81W3TzxtTI/AAAAAAAACV8/gGzHDZbeRsw/s640/524299_229742730458795_489947343_n.jpg)

(http://1.bp.blogspot.com/-129kHIXg6ZE/T81W-AgR-9I/AAAAAAAACWM/RhxJg32_9Gg/s640/527866_229742960458772_227379577361777_311259_346836887_n.jpg)

(http://3.bp.blogspot.com/-TrkLW3q0aYk/T81XAbYfbwI/AAAAAAAACWU/wSiln1tjc0o/s640/529835_229742873792114_1505766566_n.jpg)

- http://chaiwat201149.blogspot.com/ (http://chaiwat201149.blogspot.com/)