[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 01 กุมภาพันธ์ 2561 16:37:45



หัวข้อ: หลวงปู่ทองสุข ชิตังกาโร วัดอัมพวัน บ้านหนองค้อ ต.บัวค้อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 01 กุมภาพันธ์ 2561 16:37:45
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/38464706515272__3627_3621_3623_3591_3611_3641.jpg)

หลวงปู่ทองสุข ชิตังกาโร
วัดอัมพวัน บ้านหนองค้อ ต.บัวค้อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม     

“หลวงปู่ทองสุข ชิตังกาโร” อดีต เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน บ้านหนองค้อ ต.บัวค้อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมที่มีชื่อเสียง

อัตโนประวัติ เกิดในสกุล ลาวัลย์ เมื่อปี พ.ศ.2443 ที่บ้านไม้ล่าว ต.เมืองหงส์ อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด บิดา-มารดา ชื่อพ่อทาและแม่น้อย ลาวัลย์ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

ช่วงวัยเด็ก ได้ช่วยงานครอบครัวด้วยความขยันขันแข็งและเป็นผู้มีจิตใจเอนเอียงเข้าหาพระธรรมชมชอบไปช่วยกิจการต่างๆ ที่วัดในหมู่บ้านเป็นประจำ เมื่ออายุได้ 14 ปี บิดามารดาเห็นว่าบุตรชายเป็นผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้ทางธรรมจึงนำไปบรรพชาที่วัดในหมู่บ้าน

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ พ.ศ.2463 อุปสมบทที่พัทธสีมา วัดไพรสณฑ์ ต.เมืองหงส์ อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด โดยมีพระครูอุบาลีลาภิญโญ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ยอดแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนพระอนุสาวนาจารย์ไม่ทราบนาม

หลังอุปสมบท จำพรรษาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ณ สำนักเรียนวัดไพรสณฑ์ จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และยังศึกษามูลกัจจายน์ด้วย

ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณใช้รักษาผู้ที่เจ็บป่วย เนื่องจากเมื่อ 50-60 ปีที่ผ่านมา การสาธารณสุขยังไม่เจริญก้าวหน้า ต้องรักษากันด้วยยาสมุนไพรพื้นบ้านเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิทยาคมจากพระอาจารย์ชาวเขมรท่านหนึ่ง ซึ่งพระอาจารย์ได้เมตตาถ่ายทอดไสยเวทสาย เขมรให้จนหมดสิ้น รวมทั้งอักขระโบราณจนแตกฉาน

พ.ศ.2478 ย้ายติดตามครอบครัวมาอยู่ จำพรรษาที่วัดอัมพวัน บ้านหนองค้อ จ.มหาสารคาม
 
ในช่วงนั้น วัดอัมพวัน บ้านหนองค้อ ขาดแคลนพระผู้ใหญ่ บรรดาญาติโยมบ้านหนองค้อจึงได้นิมนต์ให้ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ซึ่งท่านรับนิมนต์ และอยู่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ตราบจนวาระสุดท้าย

วัตรปฏิบัติในช่วงหลังเทศกาลออกพรรษาทุกปี จะออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรในภาคอีสานและเขมร เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น

เล่าให้ศิษยานุศิษย์ฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านต้องเผชิญหน้ากับช้างป่าในระยะประชิด จะหลบหนีอย่างไรก็ไม่พ้น ท่านจึงสงบนิ่งแผ่เมตตา ทำให้ช้างป่าตัวนั้นไม่กล้ำกรายเข้ามาทำร้ายท่านแต่อย่างใด

จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทำให้หลวงปู่ทองสุขมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ รวมทั้งปรารถนาเหรียญรูปเหมือนที่เข้มขลังอย่างล้นหลาม

นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา นักการศึกษา เนื่องเพราะทราบดีว่าพระภิกษุสามเณรที่มาบวชเรียนส่วนใหญ่ล้วนมาจากครอบครัวที่ยากจน ท่านจึงเปิดสำนักเรียนปริยัติธรรมขึ้น และรับหน้าที่เป็นครูสอนเอง

สำหรับปัจจัยที่ได้จากการบริจาค หลวงปู่จะนำมาสนับสนุนการเรียนของพระภิกษุ-สามเณร หากรูปใดเรียนเก่ง มุมานะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่านจะมีทุนการศึกษาให้ทุกปี

นอกจากนี้ หลวงปู่ทองสุขยังได้นำปัจจัยส่วนหนึ่งไปพัฒนาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดแห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นศาลาการเปรียญ กำแพงแก้ว กุฏิ เป็นต้น มีครบหมด ทำให้วัดอัมพวันเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว รวมทั้งท่านได้พาญาติโยม พระภิกษุ-สามเณร พัฒนาบรรยากาศภายในบริเวณวัด โดยร่วมกันปลูกต้นไม้ในวันสำคัญตลอดปี ทำให้บริเวณวัดมีแต่ความสงบร่มเย็น เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมยิ่ง

ช่วงปัจฉิมวัย สุขภาพของหลวงปู่ทองสุข ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วจากการรับกิจนิมนต์อยู่มิได้ขาด ด้วยญาติโยมมีศรัทธาจะปฏิเสธไม่ได้ บางครั้งไม่สบายเจ็บป่วย ท่านยังฝืนสังขารลุกขึ้นมาปัดเป่าทุกข์ให้ญาติโยม

สุดท้าย มรณภาพอย่างสงบในปี พ.ศ.2536 สิริอายุ 94 ปี พรรษา 76


อริยะโลกที่ 6 ข่าวสดออนไลน์