[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 14 ตุลาคม 2558 19:21:05



หัวข้อ: ตำนานพระขรัวอีโต้ลอยน้ำ
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 14 ตุลาคม 2558 19:21:05
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/29879619595077_16_3614_3619_3632_3586_3619_36.jpg)

ตำนานพระขรัวอีโต้ลอยน้ำ

"ตำนานพระขรัวอีโต้ลอยน้ำกำเนิดขึ้นที่วัดราชบูรณะ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ระหว่างถนนจักรเพชรกับถนนตรีเพชร กรุงเทพฯ วัดนี้เดิมชื่อ วัดเลียบ เป็นวัดราษฎร์เก่าแก่โบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา"

วัดเลียบ หรือ วัดราชบูรณะ เป็นวัดเก่าแก่โบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา มาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 1 พร้อมทูลขอพระบรมราชานุญาตสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง โดยพระราชทานนามว่า "วัดราชบูรณะราชวรวิหาร" แต่ผู้คนก็มักนิยมเรียกกันว่า "วัดเลียบ" เรื่อยมา

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชศรัทธา โปรดให้สร้างพระวิหารคดเป็นที่ประดิษฐาน "พระระเบียง 162 องค์" ที่นำมาจากหัวเมืองต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณรอบพระอุโบสถ และโปรดให้สร้างพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพร้อมด้วยพระอสีติ มหาสาวกอีกจำนวน 80 องค์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระพุทธปรางค์ ซึ่งแม้จะเกิดสงครามภายหลังก็ไม่ได้รับอันตราย แต่ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา และในรัชกาลต่อๆ มา ก็โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์และสร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดมา

วัดเลียบแห่งนี้มี "พระกรุ" ที่นับว่าได้รับความนิยมสะสมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องพระบูชาอย่างกว้างขวาง ซึ่งปัจจุบันหาดูหาเช่าของแท้จริงๆ ค่อนข้างยาก เพราะเป็นพระกรุเก่าแก่และทรงพุทธคุณเป็นเลิศ ทั้งหมด 2 กรุ คือ พระขรัวอีโต้ลอยน้ำและพระวัดเลียบ โดยฉบับนี้ขอกล่าวถึงที่ไปที่มาของ "พระขรัวอีโต้ลอยน้ำ" เพราะนามขององค์พระค่อนข้างแปลกดีครับผม

พระขรัวอีโต้ลอยน้ำ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "พระขรัวอีโต้" มีการแตกกรุที่วัดเลียบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 เมื่อคราวที่รื้อพระเจดีย์ทรงมอญที่อยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ เพื่อตัดถนนตรีเพชร

ปรากฏพบ "พระขรัวอีโต้ลอยน้ำ" เป็นพระเนื้อดินผสมผงจำนวนนับหลายหมื่นองค์ พร้อมแผ่นทองแดงจารึกว่า "สมเด็จพระศรีสมโพธิ์ราชครูกับนายทองด้วงมหาดเล็ก" เป็นผู้สร้างพระเครื่องนี้

สำหรับมูลเหตุที่เรียกขานนามพระพิมพ์นี้ว่า "พระขรัวอีโต้ลอยน้ำ" นั้น มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ...

"สมเด็จพระศรีสมโพธิ์ราชครู เป็นพระภิกษุในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกแก่พม่าเมื่อปี พ.ศ.2310 ท่านได้ถูกพม่ากวาดต้อนไปเมืองพม่าพร้อมญาติพี่น้องเป็นเวลาหลายปี ครั้นทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้และตั้งกรุงธนบุรี เป็นเมืองหลวง

ท่านจึงชวนน้องสาวเดินทางกลับเมืองไทย ระหว่างทางพอพลบค่ำก็เข้าไปนอนในกลดเดียวกัน โดยเอา "มีดอีโต้" ที่น้องสาวนำติดตัวมาเพียงเล่มเดียวคั่นกลางไว้

กระทำเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงกรุงธนบุรี ท่านจึงถูกทางการสอบสวน จึงเล่าความจริงให้ฟังพร้อมเสี่ยงทายว่า ถ้าท่านบริสุทธิ์จริง ขอให้มีดอีโต้เล่มที่คั่นกลางนี้เมื่อขว้างลงน้ำแล้วไม่จมน้ำ

ปรากฏว่าเมื่อท่านขว้างมีดอีโต้ลงน้ำ มีดเล่มดังกล่าวลอยน้ำจริงๆ ตามคำอธิษฐาน เป็นที่อัศจรรย์ปรากฏแก่สายตาชาวบ้าน จึงใช้นำมาเรียกขานนามของพระเครื่องที่ท่านสร้างด้วยเหตุฉะนี้"

ต่อมาในช่วงสงครามอินโดจีนเมื่อปี พ.ศ.2483 พระขรัวอีโต้ลอยน้ำ ก็เป็นพระเครื่องหนึ่งในหลายๆ พิมพ์ซึ่งนำออกแจกจ่ายแก่ทหาร ตำรวจผู้ออกสู้รบเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ และได้สร้างปาฏิหาริย์ด้านแคล้วคลาดเป็นที่ประจักษ์จนเป็นที่เคารพศรัทธา

ปัจจุบันไม่มีเหลือที่วัดเลียบเลย เพราะสูญหายไปหมดตั้งแต่คราวสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งวัดถูกภัยทางอากาศทำลายเสียหายเป็นอันมาก และในคราวนั้นเอง ที่วัดเลียบก็ปรากฏพบพระเครื่องที่เป็นที่นิยมอีกกรุหนึ่ง

เหตุด้วยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งวัดถูกภัยทางอากาศพังพินาศเป็นอันมาก โดยเฉพาะพระอุโบสถ แต่เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งที่ "พระเทพนิมิต" พระประธานในพระอุโบสถ ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย บริเวณฐานชุกชีที่เผยอขึ้น เป็นเหตุให้องค์พระเอนไปทางด้านหลัง และที่ใต้ฐานชุกชีนี้เองก็ปรากฏพระเครื่องหลายพิมพ์ทรงบรรจุอยู่เต็ม อันเป็นที่มาของ "พระวัดเลียบ" นั่นเอง

ปัจจุบันทั้ง "พระขรัวอีโต้ลอยน้ำ" และ "พระวัดเลียบ" ของแท้นั้น หาดูหาเช่าได้ยากยิ่ง เป็นที่หวงแหนของผู้สักการะครับผม


ราม วัชรประดิษฐ์