[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ใต้เงาไม้ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 มกราคม 2566 13:00:48



หัวข้อ: โองการแช่งน้ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 มกราคม 2566 13:00:48
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/88917211774322__Copy_.jpg)
ภาพ : ครูเหม เวชกร

โองการแช่งน้ำ

“โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่.......”

อีกสามปีที่กษัตริย์วงศ์สุโขทัยองค์ที่ ๓ จะสวรรคตนั้น ทางใต้พระเจ้าอู่ทองก็ได้อพยพผู้คนย้ายบ้านเมือง จากเมืองอู่ทองมาตั้งเมืองใหม่ที่ตำบลหนองโสน แล้วราชาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา ทรงนาม สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เหตุการณ์นี้เกิดใน พ.ศ.๑๘๙๓ และตอนนี้ไทยก็แยกอำนาจออกเป็นสองภาค คือ ภาคใต้ พระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑) เป็นใหญ่ ทางเหนือพญาเลอไทยเป็นใหญ่ ไม่ต้องสงสัยว่าเมื่อมีการ แบ่งแยกอำนาจเช่นนี้ จะต้องมีการปราบปรามทำลายเพื่อความเป็นใหญ่แต่เพียงแห่งเดียว ในระยะนั้นทางสุโขทัยเสื่อมอำนาจลงมาก จนกระทั่ง พ.ศ.๑๙๒๐ ในสมัยพญาไสยลือไทยก็สิ้นวงศ์พระร่วงศรีอินทราทิตย์ และกรุงสุโขทัยก็ตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา

ความเสื่อมโทรมของกรุงสุโขทัยนี้ เป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง แต่ว่าหลักฐานต่าง ๆ ที่ยังคงมีอยู่ในขณะนี้มีไม่เพียงพอที่เราจะศึกษาค้นคว้าหาเรื่องราวได้อย่างละเอียด พอที่เราจะให้ข้อวินิจฉัยอันมีหลักฐานได้

วรรณกรรมสมัยพระเจ้าอู่ทอง เท่าที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน คือ โองการแช่งน้ำ อันเป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับพระราชพิธีของบ้านเมือง

โองการแช่งน้ำนี้ มีแบบฉันทลักษณ์เหมือนโคลงห้า ต้นฉบับเขียนเป็นหนังสือขอม เนื้อความเป็นภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์วินิจฉัยไว้ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนว่า “ถ้อยคำที่ใช้ลึกซึ้งที่ไม่เข้าใจบ้างก็มี... ถ้อยคำในโคลงนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าคงจะตกหล่นแลผิดเพี้ยนเสียเป็นอันมาก ถ้อยคำนั้นก็ลึกซึ้งจนฟัง ถ้าไม่เอาใจใส่ก็เกือบจะเป็นเสกคาถาภาษาอื่นได้.....พิเคราะห์ดูในคำโคลงแช่งน้ำนี้ ไม่มีเจือปนทางพุทธศาสนาเลย เป็นของไสยศาสตร์แท้ จนน่าสงสัยว่าจะมิใช่เกิดขึ้นในครั้งพระรามาธิบดีที่ ๑ ด้วยซ้ำไปอีก”

โองการแช่งน้ำนี้ พราหมณ์อ่านในพิธีถือน้ำ หรือที่ เรียกตามทางราชการว่าพิธีศรีสัจจปานกาล อันเป็นราชพิธีประจำพระนครมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่าคงจะมีตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยา และสถาปนาพระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ เราควรจะเข้าใจว่า แผ่นดินในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลางนั้น แต่โบราณอยู่ในอิทธิพลของขอม และโดยที่การกล่าวโองการแช่งน้ำเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ ดังนั้น การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเราคงจะได้รับแบบอย่างจากขอม ซึ่งได้รับมาจากพราหมณ์อีกทอดหนึ่ง

พิธีการถือน้ำที่ทำกันครั้งกรุงเก่านั้น ไม่ปรากฎรายละเอียด แต่ในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ได้ทำกันที่วัด พระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์พรรณนาพิธีไว้อย่างละเอียดชัดเจน จะขอเก็บความมาโดยย่อดังต่อไปนี้

การชุบ (แทง) พระแสงศรนั้นเป็นหน้าที่ของพระมหาราชครูในพิธี ซึ่งเป็นผู้อ่านโองการแช่งน้ำ เมื่อเวลาจะอ่านเชิญพระขันหยก มีรูปนารายณ์ทรงธนูตั้งอยู่ในกลางขัน เชิญพระแสงศรประนมมือว่าคำสรรเสริญพระนารายณ์ จบแล้วชุบ (แทง) พระแสงศรสามครั้ง แล้วจึงรับพระแสงองค์อื่นมาทำต่อไปจนครบสามองค์

พระแสงสามองค์นี้คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนิวาต ศรทั้งสามองค์นี้ เป็นของสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ คำที่พราหมณ์อ่านโองการมีดังนี้

โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข์จักรคทาธรณี ภีรุอวตาร อสุรแลงลาญทัก ททัคนี้จรนาย แทงพระแสงศรประลัยวาต
(ตอนนี้สรรเสริญพระนารายณ์ มีคำที่เราไม่เข้าใจคือ ทัก ททัคนี จรนาย)

โอมปรเมศวราย ผายผาหลวงอะคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี่ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปืน ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่งแกว่งเพชรกล้า ฆ่าภิฆจัญไร แทงพระแสงศรอัคนิวาต
(ตอนนี้สรรเสริญพระอิศวร เงือก คืองู )

โอมไชยะไชย ไชโสฬสพรหมญาณ บานเศียรเกล้า เจ้าคลี่บัวทอง ผยองเหนือขุนห่าน ท่านรังก่อดินฟ้า หน้าจตุรทิศ ไทมิตรดา มหากฤตราไตย อมไตยโลเกษ จงตรีศักดิ์ท่าน พิญาณปรมาธิเบศ ไทธเรศสุรสิทธิพ่อ เสวยพรหมานใช่น้อย ประถมบุญภารดิเรก บูรพภพบ่รู้กี่ร้อย ก่อมา แทงพระแสงศรพรหมาสตร์
(ตอนนี้สรรเสริญพระพรหม)

ครั้นแล้วก็ประนมมืออ่านแช่งน้ำต่อไปจนจบ แล้วอาลักษณ์อ่านประกาศคำสาบาน จบแล้วจึงเอาพระแสงศรองค์อื่น ๆ อีกหลายองค์ชุบลงในหม้อและขันสาคร จากนั้นแจกน้ำให้ข้าราชการกิน แต่ก่อนพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้เสวยด้วย แต่มาในรัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้เสวยด้วย เป็นการแสดงพระราชหฤทัยเมตตากรุณาโดยเที่ยงธรรม การถือน้ำนี้ ในหัวเมืองก็ต้องถืออย่างในพระนคร

การถือน้ำที่เคยมีในกรุงรัตนโกสินทร์ มี ๕ อย่าง คือ ถือน้ำเมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้รับราชสมบัติอย่างหนึ่ง ทหารถือน้ำทุกเดือนอย่างหนึ่ง ผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารถือน้ำแสดงความจงรักภักดีอย่างหนึ่ง ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินถือน้ำเมื่อแรกได้รับตำแหน่งอย่างหนึ่ง ข้าราชการทั่วไปถือน้ำปีละสองครั้งอย่างหนึ่ง

การถือน้ำเป็นพิธีสำคัญอย่างยิ่ง ข้าราชการที่ไปราชการหัวเมือง เมื่อถึงกำหนดถือน้ำที่เมืองใด ก็ต้องไปถือน้ำพร้อมเจ้าเมืองกรมการที่เมืองนั้น ผู้ใดขาดถือน้ำโทษถึงตาย เว้นไว้แต่ป่วยไข้ ถ้าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่เจ็บป่วย ไปถือน้ำไม่ได้ เจ้าพนักงานต้องนำน้ำไปให้ที่บ้าน นอกจากนั้นแต่เดิมมีข้อห้ามจุกจิกอีกหลายอย่างเช่น ผู้ที่ไปถือน้ำจะสวมแหวนนาก แหวนทอง กินอาหารไปก่อนไม่ได้ และถ้ากินน้ำแล้วเททิ้ง ถือว่าเป็นขบถ ข้อห้ามนี้มาภายหลังยกเลิก และในที่สุดเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว การถือน้ำก็เลิกไป

ต่อไปนี้ขอให้เราพิจารณาข้อความในโองการแช่งน้ำในแง่วรรณคดี

แช่งน้ำโคลงห้านี้เป็นบทกวีสั้น ๆ เป็นบทกวีเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน แบบคำประพันธ์ตอนสรรเสริญพระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหมนั้น เป็นร่ายดั้น ต่อมากล่าวถึงการสร้างโลก และการบังเกิดราชาสืบวงศ์ต่อเนื่องกันมา แล้วก็เริ่มคำสาปแช่งผู้ที่คิดคดต่อราชา แต่งเป็นร่ายดั้นและแบบโคลงห้าสลับกันไป ที่เรียกว่าแบบโคลงห้านั้น ที่จริงก็ไม่ถูกต้องตามระเบียบโคลงห้าอย่างบริบูรณ์ แต่ว่ามีลักษณะคล้ายๆ กัน และจบลงโดยการกล่าวคำถวายพระพรว่า

“ขจายขจรอเนกบุญ สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศรราชเรื่อยหล้า สุขผ่านฟ้าเบิก สมบูรณ์พ่อสมบูรณ์”

บทสุดท้ายนี้ ทำให้เข้าใจว่าโคลงแช่งน้ำนี้จะแต่งขึ้นในสมัยพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง)

คำที่ใช้มีคำเป็นภาษาทางเหนือหลายคำ เช่น เงือก (งู) ขุนห่าน (หงส์) ผาหลวง (เขาไกรลาศ) ผาเผือก (เขาไกรลาศ) ขุนหงส์ทองเกล้าสี่ (พระพรหม)

เรื่องนี้นับว่ามีคุณค่าทางภาษา ให้เราได้เห็นถ้อยคำภาษาเก่า ๆ บ้าง และคุณค่าทางวัฒนธรรม ให้เราแลเห็นความนับถือและความเชื่อถือของคนไทยสมัยนั้น และถ้าเราจะถือการที่เริ่มสรรเสริญพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าก่อนองค์อื่น เป็นเครื่องแสดงความนับถือของพราหมณ์ ซึ่งน่าจะเป็นผู้แต่งเรื่องนี้ ก็พอจะสันนิษฐานต่อไปได้อีกว่าต้องเป็นพราหมณ์ที่นับถือพระนารายณ์ คือพวกนิกายวิษณุ




ที่มา มูลนิธิเหม เวชกร - วิจิตรวรรณคดีไทย พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๑๑ สนพ.ไทยวัฒนาพานิช ตอน ๔ หน้า ๑๐ - ๑๒
ภาพวาด - ครูเหม เวชกร
เรียบเรียง... Niramol Niramol

700