[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 18 พฤศจิกายน 2557 16:26:55



หัวข้อ: ที่มาของภาษาบาลี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 พฤศจิกายน 2557 16:26:55
.

(http://www.sookjaipic.com/images/5853045860_SAM_2704.JPG)
พระไตรปิฎกที่จารลงบนคัมภีร์ใบลาน
ของ วัดสันป่าตึง ตำบลสันป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

ที่มาของภาษาบาลี

ภาษาบาลีนำมาจากอรรถาธิบายของ ดร.ศุภรางศุ์ อินทรารุณ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ว่า ภาษาบาลี (Pali) เป็นภาษาของอินเดียฝ่ายเหนือในราวสมัย ๕๐๐-๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล อยู่ในตระกูลอินโด-ยูโรเปียน และอยู่ในกลุ่มอินโด-อารยัน หรืออินดิก เช่นเดียวกับภาษาสันสกฤต โดยนักปราชญ์ทางภาษาส่วนใหญ่จัดเข้าในกลุ่มอินโด-อารยัน หรืออินดิกสมัยกลาง

อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ค้านว่าไม่ใช่และเห็นว่าเป็นภาษาสมัยใหม่กว่านั้นคือเป็นภาษาปรากฤต (ภาษาถิ่นในอินเดียสมัยนั้น) ภาษาหนึ่ง แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถชี้ขาดลงไปได้ว่าเป็นภาษาของถิ่นใดกันแน่ และมีต้นกำเนิดมาจากภาษาอะไร อย่างไร ส่วนใหญ่ลงมติกันว่าเป็นภาษาอินดิกสมัยกลาง รุ่นเก่ากว่าภาษาปรากฤตอื่นๆ โดยดูจากรูปภาษา

ภาษาบาลีใช้กันแพร่หลายในฐานะภาษาที่ใช้เขียนคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายหินยาน หรือเรียกอีกชื่อว่าเถรวาท ทั้งนี้ คำว่า pali โดยปกติ แปลความหมายว่า แถว แนว ขอบเขต เป็นต้น ผู้ที่นับถือพุทธศาสนาส่วนใหญ่เชื่อว่าบาลีคือภาษาของชาวมคธ ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ทางใต้ของแคว้นพิหารปัจจุบัน เพราะพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธนานกว่าที่อื่น คงจะทรงใช้ภาษามคธในการเผยแผ่พุทธศาสนา ความเชื่อนี้แพร่หลายมากโดยเฉพาะในเมืองไทยสมัยก่อน เห็นได้จากพจนานุกรม หรือปทานุกรมรุ่นเก่าที่มักย่อชื่อภาษาบาลีว่า ม. อันหมายถึงมคธ คำว่าภาษามคธนี้เป็นชื่อที่เรียกกันในเมืองไทยเท่านั้น ศัพท์เฉพาะที่เป็นชื่อภาษาของชาวมคธคือคำว่า มาคธี

แต่มีนักปราชญ์ที่สำคัญ ๒ คนคือ บูร์นุฟ (Burnouf) และ ลาสเสน (Lassen) ให้เหตุผลแย้งว่า ลักษณะของภาษามาคธีต่างกับบาลีหลายประการ จึงไม่น่าจะเป็นภาษาเดียวกัน เหตุผล ดังกล่าวมีผู้แย้งตอบว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะพระพุทธเจ้าเป็นชาวแคว้นโกศล มิใช่แคว้นมคธ สำเนียงพูดย่อมเพี้ยนจากคนท้องถิ่นนั้นไปบ้างไม่มากก็น้อย เรียกว่าเป็นการพูดภาษามคธแบบชาวโกศล อีกประการหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสว่าไม่ควรยึดมั่นในภาษาถิ่นใดถิ่นหนึ่ง เมื่อเสด็จไปสอนที่ใดก็คงจะทรงใช้ภาษาถิ่นนั้น ภาษาจึงอาจเกิดการปะปนกัน ประกอบกับการใช้ศัพท์เฉพาะที่แปลกออกไป ภาษามาคธีที่พระพุทธเจ้าตรัสจึงไม่ควรจะเหมือนภาษามาคธีบริสุทธิ์ที่ชาวมคธใช้พูดกันเพราะได้รับอิทธิพลมาจากภาษาอื่น

เหตุผลอีกข้อหนึ่ง ก็คือ เรารู้จักลักษณะภาษามาคธีอย่างที่เป็นอยู่นี้ จากบทละครสันสกฤตซึ่งเขียนขึ้นหลังสมัยพุทธกาล เป็นเวลานาน ไม่มีใครรู้ว่าในสมัยพุทธกาลภาษามาคธีมีลักษณะอย่างไร อาจคล้ายคลึงกับภาษาบาลีมากก็ได้ แล้วจึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะหลัง ภาษาบาลีเองก็เป็นภาษาที่ถ่ายทอดกันมาโดยมุขปาฐะ กว่าจะได้จารึกเป็นหลักฐานก็เป็นภาษาตาย ไม่มีใครใช้พูดกันแล้ว ในขณะที่ภาษามาคธีซึ่งยังไม่ตายได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปไปเรื่อยๆ จนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นภาษาเดียวกัน


(http://www.sookjaipic.com/images/2407283443_SAM_4327.JPG)
สมุดไทย เรื่องพระมาลัย
สมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ของวัดราชพฤกษ์ศรัทธาราม จังหวัดกำแพงเพชร
มอบให้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร

นักปราชญ์ทางภาษาบางคน เช่น เวสเตอร์การ์ด (Westergard) คูห์น (E. Kuhn) และ ฟรังเก (R.O. Franke) อ้างหลักฐานจากศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกว่า พระมหินทรเถระ โอรสพระเจ้าอโศก ผู้เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนายังลังกาทวีป ได้ใช้ภาษาของพระองค์ซึ่งมีลักษณะคล้ายภาษาบาลี เมื่อลังการับคำสอนทางพุทธศาสนาจึงรับภาษานั้นมาใช้ด้วย และภาษานี้เองที่ได้วิวัฒนาการมาเป็นภาษาบาลีที่รู้จักกัน นักปราชญ์กลุ่มนี้สันนิษฐานว่า ต้นกำเนิดของภาษาบาลีน่าจะอยู่บริเวณตั้งแต่ใจกลางของประเทศอินเดียจนจดเทือกเขาหิมาลัยตะวันตก ใกล้เคียงกับบริเวณกรุงอุชเชนี เพราะพระมหินทรเถระเป็นชาวอุชเชนี แต่ข้อเสนอดังกล่าว โอลเดนแบร์ก (Oldenberg) ไม่เห็นด้วย ทั้งข้อที่ว่าพระมหินทรเถระเป็นชาวอุชเชนี และข้อที่ว่าได้เสด็จไปสืบศาสนาที่ลังกา

ขณะที่ผู้รู้บางกลุ่มไม่บอกประวัติของภาษาว่ามีกำเนิดแต่ไหน เพียงแต่แปลคำว่า pali ว่ามาจาก pala แปลว่า คุ้มครอง รักษา หมายถึงเป็นภาษาที่คุ้มครองรักษาพุทธศาสนาไว้ให้ยืนยงต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนบางคนก็เชื่อว่าภาษาบาลีอาจเป็นภาษาที่พระพุทธองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นภาษากลางในการเผยแผ่พุทธศาสนา เพราะไม่ต้องการเลือกที่รักมักที่ชังด้วยการใช้ภาษาถิ่นใดถิ่นหนึ่ง แต่ได้ดัดแปลงให้ออกเสียงง่ายและสะดวกกว่าสันสกฤต รูปคำหลายรูปคลายความซับซ้อนลงและไม่เหมือนภาษาถิ่นใด อาจเป็นการรวมและหลอมออกมาใหม่แล้วตั้งชื่อใหม่ก็เป็นได้

ข้อที่ควรสังเกตคือ ภาษาบาลีเดิมไม่ได้ชื่อนี้ ไม่มีใครทราบว่าชื่ออะไร คำว่า pali เดิมเป็นคำที่ใช้เรียกคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ชื่อภาษา เช่นในสำนวนว่า ในพระบาลี ซึ่งหมายถึงพระไตรปิฎก ภาษานี้ได้ชื่อว่า Pali หรือบาลี เพราะใช้ถ่ายทอด พระไตรปิฎก เช่นเดียวกับภาษาพระเวท ซึ่งไม่มีใครทราบว่าชื่ออะไร เรียกกันทั่วไปว่าภาษาพระเวท เพราะใช้บันทึกคัมภีร์พระเวท

ภาษาบาลีไม่มีตัวอักษรของตนเอง เรียกว่าเป็นภาษาพูด ที่ถ่ายทอดกันมาโดยการท่องจำ ใช้ในถิ่นใดก็ใช้อักษรของถิ่นนั้นถ่ายเสียง เช่น ไทยก็ใช้อักษรไทย ลาวใช้อักษรธรรม เขมรใช้อักษรขอม (ส่วนใหญ่เป็นขอมบรรจง) ในซีกโลกตะวันตกใช้อักษรโรมัน ถ้าอักษรภาษาใดถ่ายเสียง ได้ไม่ครบเสียงก็จะเปลี่ยนไป แต่ในปัจจุบันอักษรโรมันเป็นที่นิยมใช้มากที่สุดในการศึกษาภาษาบาลีเช่นเดียวกับภาษาสันสกฤต

ภาษาปรากฤต หรือภาษาพื้นเมืองของชาวอารยันในอินเดียสมัยกลางแบ่งย่อยออกเป็น ๖ ภาษา ได้แก่
๑. มหาราษฎรี ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้นมหาราษฎร์
๒. เศารนี ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้น ศูรเสน
๓. มาคธี ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้นมคธ
๔. อรรถมาคธี ภาษากึ่งมาคธี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาษาอารษปรากฤต
๕. ไปศาจี ภาษาปีศาจ หรือภาษาชั้นต่ำ และ
๖. อปภรังศ ภาษาปรากฤต รุ่นหลังที่ไวยากรณ์ได้เปลี่ยนไปเกือบหมดแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อโบราณนั้นประเทศอินเดียมีภาษาหลักอยู่ ๒ ตระกูล คือ ภาษาปรากฤต และภาษาสันสกฤต


(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/11/you02181157p3.jpg&width=360&height=360)

ข้อมูล : นสพ.ข่าวสด