[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 05 ธันวาคม 2553 21:55:07



หัวข้อ: เพลง เสียงที่ดังมาจาก หัวใจ
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 05 ธันวาคม 2553 21:55:07
(http://www.thairath.co.th/media/content/2010/11/13/126734/hr1667/630.jpg)
เสียงเพลงเชื่อมโยงให้เราเป็นมิตรกันได้.

เดี๋ยวนี้พอถามเด็กวัยรุ่นว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร มักจะมีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่ตอบว่าอยากเป็นนักร้อง ทำให้โรงเรียนสอนร้องเพลง และเวทีการประกวดร้องเพลงต่างๆกลายเป็นของฮิตกันได้ง่ายๆ

ไทยรัฐ ซันเดย์ สเปเชียล โดยทีมงานต่วย-ตูน จึงจะขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเพลง เสียงขับขานที่สื่อได้ทุกความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็น สุข เศร้า เหงา รัก หรือแม้แต่ฮึกเหิมให้มีกำลังในการต่อสู้


(http://www.thairath.co.th/media/content/2010/11/13/126734/l20/o11/420/420.jpg)
 
 
ชนพื้นเมืองในอเมริกาบรรเลงกลอง.

ในตำนานที่เก่าแก่ที่สุดตำนานหนึ่งของโลก คือ กรีกปกรณัม นั้น ว่ากันว่า กวีและนักขับลำนำทั้งหลาย ล้วนได้แรงบันดาลใจและการอุปถัมภ์จากกลุ่มเทวนารีนามมิวส์ พวกนางเป็นเทพธิดาที่มีกันอยู่ทั้งหมด 9 นาง เป็นธิดาของมหาเทพซุส และนิโนซิเน ซึ่งเมื่อพวกนางขับขานบทเพลง ไม่ว่าใครก็ต้องหยุดทุกสิ่งลงเพื่อฟังความไพเราะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุข หรือโศก ทำให้นักขับลำนำทั้งหลายต่างบูชามิวส์

(http://www.thairath.co.th/media/content/2010/11/13/126734/l20/o10/420/252.jpg)
แม้แต่ในกองทัพก็ต้องมีเพลง.


แต่อันที่จริง หากจะพูดถึงเสียงดนตรีแล้ว น่าจะมีมาก่อนยุคกรีกมากนัก หรือหากจะว่าไปดนตรีคงจะถือกำเนิดมาพร้อมๆกับอารยธรรมของมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มมีสังคมเกิดขึ้น มีการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ เสียงดนตรีก็เกิดขึ้น อาจจะเริ่มมาจากการตีเกราะ เคาะไม้ จนเกิดเป็นเสียงที่ให้จังหวะ และกลายเป็นบทเพลง นำมาสู่การประดิษฐ์เครื่องดนตรีแบบง่ายๆ

(http://www.thairath.co.th/media/content/2010/11/13/126734/l20/o9/420/252.jpg)
เพลงประสานเสียงในโบสถ์.


สันนิษฐานกันว่า ดนตรียุคต้นๆของโลกน่าจะถือกำเนิดขึ้นจากย่านแอฟริกา ซึ่งเป็นดินแดนแรกๆในการก่อกำเนิดอารยธรรมมนุษย์ และหลังจากนั้น ดนตรีและเสียงเพลงต่างๆก็ถูกพัฒนาการขึ้น ทั้งเป็นเสียงที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น การเล่นดนตรี หรือขับขานเพื่อบูชาเทพเจ้า มาจนถึงการขับขานเป็นลำนำ เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ยุคสู่ยุค กลายเป็นการร้องและเล่าขานตำนาน นิทาน หรือเรื่องเก่าแก่ ต่างๆ จนกลายมาเป็นบทเพลงอย่างที่เราได้ยิน และคุ้นเคยกันดีในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่หากไม่ เป็นเรื่องในทำนองสุขนาฏกรรม ก็เป็นโศกนาฏกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

(http://www.thairath.co.th/media/content/2010/11/13/126734/l20/o8/420/252.jpg)
วงดนตรีสุนทราภรณ์เมื่อครั้งอดีต.


นอกจากนั้น ยังมีบทเพลงที่เกี่ยวกับการสงคราม เช่น การให้ จังหวะเพื่อเดินทัพ ซึ่งในระยะต้นๆอาจจะใช้ เสียงกลอง หรือเครื่องเป่า เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบในการเดินทัพที่มีทหารจำนวนมาก และการสั่งการอาจจะไม่ทั่วถึง เสียงดนตรีจึงสามารถเข้ามาเป็นตัวช่วยในการสั่งการกองกำลังขนาดใหญ่ได้

นอกจากนั้น การร้องเพลงปลุกใจก็ยังเป็นสิ่งที่ช่วยในการทำสงครามด้วยเหมือนกัน เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความฮึกเหิม แต่ยังเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ช่วยผ่อนคลายยามอ่อนล้า ซึ่งถึงตรงนี้ก็คงต้องขอฝอยออกนอกเรื่องไปหน่อยว่า เพลงปลุกใจที่สำคัญของยุโรปเพลงหนึ่ง ได้กลายเป็นเพลงชาติเลยทีเดียว นั่นคือเพลง La Marseillaise ซึ่งในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาล้มระบบกษัตริย์ นั้น ระหว่างการเดินทัพของกองทัพประชาชนได้ร้องเพลงนี้เพื่อให้เกิดความฮึกเหิม จนกลายเป็นเพลงปลุกใจที่สำคัญของคณะปฏิวัติตั้งแต่ปี ค.ศ.1792 และต่อมาใน ค.ศ.1795 เพลง La Marseillaise ก็ถูกเลือกให้เป็นเพลงชาติของฝรั่งเศสมาจนปัจจุบันนี้ (ยกเว้นบางช่วงที่ถูกระงับการใช้ไปเป็นเวลาสั้นๆ) แสดงให้เห็นว่าเพลงพื้นบ้าน เพลงปลุกใจ ก็กลายเป็นเพลงสำคัญขึ้นมาได้

ถัดจากเพลงพื้นบ้านที่ได้ รับความนิยมมาในยุคแรกๆแล้ว บทเพลงยุคใหม่ของฝรั่งก็เริ่มต้นมาจากความเชื่อและศาสนา ว่ากันว่า เพลงดีๆมีจุดกำเนิดมาจากการร้องเพลงในโบสถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มชาวอเมริกัน-แอฟริกัน ที่เป็นพวกชอบเสียงเพลง เมื่อได้มานับถือศาสนาคริสต์ และมาปักหลักฐานอยู่ในยุโรป พวกคนผิวสีก็นำเสียงเพลงมาสู่ การเผยแผ่ศาสนา และร้อง เพลงกันสนุกสนานในวิหาร ของพระเจ้า ก่อนจะพัฒนาเป็นบทเพลงในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะเพลงที่คนไทยเราหลายคนชอบเรียกว่า เพลงลูกทุ่งของฝรั่ง หรือเพลงคันทรีนั่นเอง

ถึงปัจจุบันนี้ มีเพลงประเภทใหม่ๆเกิดขึ้นอีกมาก เช่น เพลงร็อก เพลงป๊อป หรือเรื่อยไปถึงแร็พ แต่เพลงคันทรีก็ไม่เคยจางหาย และยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

(http://www.thairath.co.th/media/content/2010/11/13/126734/l20/o3/420/252.jpg)
เทพธิดามิวส์.


ในยุคต้นๆ ประมาณก่อนทศวรรษที่ 1920 เพลงแนวคันทรีมักจะมีนักร้องคนเดียวมากับกีตาร์หนึ่งตัว หรือไม่ก็มีเครื่อง ดนตรีอื่นๆอีกไม่กี่ชิ้น เช่น กลอง ซึ่งผู้ฟังมักจะไปจิบเหล้าเคล้าเสียงเพลงอยู่ในผับ หรือร้านอาหารต่างๆ นักร้อง นักดนตรีหลายคนอาจจะแต่งเพลงเอง เล่นเอง ร้องเอง และได้รับความชื่นชมในกลุ่มย่านใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับความนิยมในดินแดนย่านทางใต้ของสหรัฐอเมริกา และแม้ระยะหลังๆ นักร้อง เพลงคันทรีดังๆจะเป็นคนผิวขาว แต่โดยรากฐานแล้ว ก็เชื่อกันว่า ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีของคนผิวสีที่เป็นผู้ริเริ่มมาก่อน แต่ก็ยังคงเป็นเพลงที่มีคนฟังในกลุ่มแคบๆ

ทว่าหลังจากช่วงทศวรรษที่ 1930 เมื่อมีวิทยุถือกำเนิดขึ้น บทเพลงที่เคยฟังกันในท้องถิ่นก็แพร่ขยายกระจายออกไปในวงกว้าง ทำให้เพลงคันทรีกลายเป็นดนตรีฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรัก หรือชีวิตของคนหนุ่มเดินทาง ผู้โดดเดี่ยว ทระนง หรือเรื่องราวของวีรบุรุษต่างๆ

(http://www.thairath.co.th/media/content/2010/11/13/126734/l20/o4/420/252.jpg)
เพลงลูกทุ่งที่สะท้อนชีวิตคนไทยมาเนิ่นนาน.


จนถึงปัจจุบันนี้ เพลงคันทรีก็ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มเพลงยอดนิยมของชาวตะวันตก ด้วยความเรียบง่าย สื่อถึงชีวิตของคนเดินดินธรรมดา ซึ่งจะว่าไป ก็ไม่ต่างกับเพลงลูกกรุง หรือเพลงลูกทุ่งของบ้านเรา ที่ได้รับการยกย่องว่า สะท้อนชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคได้เป็นอย่างดีเหมือนกัน ว่ากันว่าเพลงแรกของวงการเพลงลูกทุ่งนั้น มีอายุกว่า 72 ปี คือเพลง "เจ้าสาวชาวไร่" ประพันธ์ คำร้องทำนองโดยครูเหม เวชกร ขับร้องโดย คำรณ สัมปุณณานนท์

(http://www.thairath.co.th/media/content/2010/11/13/126734/l20/o5/420/252.jpg)
หางเครื่องเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของลูกทุ่งไทย.


นอกจากนี้ วิวัฒนาการของเพลงไทยจากอดีตถึงปัจจุบันก็มีแนวทางคล้ายกับที่อื่นๆและมีหลากหลายประเภท ซึ่งมักจัดแบ่งตามเนื้อเพลงที่สะท้อนถึงความมุ่งหมายของครูเพลง เช่น เพลงปลุกใจ เพลงที่เกี่ยวกับศีลธรรม และการดำรงชีวิต เพลงที่ชื่นชมความงามของธรรมชาติ ฯลฯ

(http://www.thairath.co.th/media/content/2010/11/13/126734/l20/o6/420/252.jpg)
Claude Joseph Rouget de Lisle โชว์ลูกคอเพลงปลุกใจ La Marseillaise ที่ตนแต่งขึ้น ซึ่งต่อมาได้เป็นเพลงชาติฝรั่งเศส.


และหากท่านผู้อ่านเป็นคนหนึ่งที่ชอบฟังเพลงก็อยากจะแนะนำกิจกรรมสำคัญในโครงการร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์ ชุด "ลูกทุ่ง ลูกกรุง สุนทราภรณ์" ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดขึ้น ทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเพลงไทย และชีวประวัติครูเพลงคนสำคัญ ที่อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ 16-21 พฤศจิกายนนี้ และการแสดงดนตรีโดยนักร้องลูกทุ่ง-ลูกกรุงยอดนิยม และวงดนตรี สุนทราภรณ์ กับวงกาญจนะผลิน ในวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 3 วัน 3 แนว ไม่ซ้ำกัน ที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ใครบอกว่าของฟรีไม่มีในโลก คงต้องเปลี่ยนใจกันก็คราวนี้ เพราะเพลงดีๆมีมาให้ฟังฟรีๆแล้วจะพลาดได้ยังไง.
 
 
ทีมงาน ต่วย'ตูน
http://www.thairath.co.th/column/life/sundayspecial/126734 (http://www.thairath.co.th/column/life/sundayspecial/126734)


หัวข้อ: Re: เพลง เสียงที่ดังมาจาก หัวใจ
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 06 ธันวาคม 2553 00:54:39
สุดยอดมากครับ อ.มด ทั้งสาระ ความรู้ ความบันเทิงที่ได้รับ