[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 30 กันยายน 2564 20:40:08



หัวข้อ: เห้งเจีย ลิงในนิยายไซอิ๋ว กลายเป็นเทพที่คนจีนกราบไหว้ และแพร่เข้าไทยได้อย่างไร
เริ่มหัวข้อโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 30 กันยายน 2564 20:40:08

เห้งเจีย ลิงในนิยายไซอิ๋ว กลายเป็นเทพที่คนจีนกราบไหว้ และแพร่เข้าไทยได้อย่างไร


(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2019/10/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%A2-%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%8B%E0%B8%A7-696x364.jpg)

(ซ้าย) รูปเคารพเห้งเจียใน "ศาลเจ้าพ่อเฮ่งเจีย" สวนผัก ธนบุรี (ขวา) ลายเส้นเห้งเจียจาก "เห้งเจีย (ฉีเทียนต้าเสิ้ง) ลิงในวรรณกรรมที่กลายเป็นเทพเจ้า"


         ความเชื่อความศรัทธาเป็นสิทธิส่วนบุคคลตราบใดที่ความเชื่อนั้นไม่ละเมิดสิทธิหรือสร้างความเดือดร้อน/เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น การศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของความเชื่อเพื่อบันทึกไว้ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญไม่แพ้แนวคิดการเคารพในความเชื่อความศรัทธาของผู้อื่น ซึ่งในบรรดาความเชื่อที่น่าสนใจนั้น มีตัวละครที่ไม่มีจริงในประวัติศาสตร์ซึ่งกลายเป็นสัตว์ที่ดำรงอยู่ในโลกความเป็นจริงจนนำมาสู่การกราบไหว้บูชาของคนทั่วไปได้     เห้งเจียเป็นตัวละครหนึ่งใน “ไซอิ๋ว” เท่านั้น แต่ในปัจจุบันตัวละครนี้เสมือนมีตัวตนดำรงอยู่ในโลกความเป็นจริงและเป็นที่เคารพของกลุ่มคน แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเห้งเจีย อาจต้องเอ่ยถึงต้นฉบับวรรณคดีที่ตัวละครนี้ปรากฏอยู่ นั่นคือ ไซอิ๋ว ซึ่งเดิมทีเชื่อกันว่าเป็นวรรณกรรมสมัยราชวงศ์หมิง เคยเล่ากันว่า “อู๋ เฉิงเอิน” นักประพันธ์ (ค.ศ. 1500-1582) เป็นผู้รวบรวมเรื่องเล่าจากท้องถิ่นต่างๆ มาผสมผสานเป็นวรรณกรรม

         อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาค้นคว้าของจรัสศรี จิรภาส ผู้เขียนหนังสือ “เห้งเจีย (ฉีเทียนต้าเสิ้ง)” อธิบายว่า ผู้แต่งที่แท้จริงนั้นจะใช่ “อู๋ เฉิงเอิน” หรือไม่ ยังไม่สามารถบ่งชี้อย่างชัดเจน แต่ที่ศึกษากันจนยอมรับกันนั้นคือ เรื่องไซอิ๋วเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง อันเป็นรอยต่อระหว่างราชวงศ์ถัง ภายหลังจากพระถังซัมจั๋งกลับมาจากประเทศอินเดียและแปลคัมภีร์พุทธศาสนาเผยแพร่ในประเทศ   เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ ลูกศิษย์ของท่านแต่งหนังสือเรื่อง “ต้าถังซานจั้งชวี่จิงซือฮว้า” (บันทึกการเดินทางไปอาราธนาพระไตรปิฎกของพระตรีปิฎกแห่งมหาราชวงศ์ถัง) ซึ่งเชื่อกันว่าผลงานนี้เป็นจุดเริ่มต้นของวรรณกรรมไซอิ๋ว และเล่มนี้เช่นกันที่ “เห้งเจีย” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก

         “ต้าถังซานจั้งชวี่จิงซือฮว้า” เล่าถึงการเดินทางของพระถังซัมจั๋งพร้อมด้วยผู้ติดตาม 6 คน เมื่อเดินทางผ่านเมืองแรกก็พบลิงชุดขาวที่เรียกกันว่า “ไป๋อีซิ่วฉาย” มาดักรอ ลิงชุดขาวแนะนำตัวว่ามาจากถ้ำจื่ออวิ๋นที่ภูเขาฮวากั่ว เดินทางมาเพื่อช่วยเหลือพระถังซัมจั๋งไปอาราธนาพระไตรปิฎก พระถังซัมจั๋งตอบรับและตั้งชื่อลิงชุดขาวว่า “ลิงเห้งเจีย” (โหวสิงเจ่อ) แต่ในฉบับนี้ ลิงเห้งเจียยังไม่มีอิทธิฤทธิ์พิสดารมากนัก นอกเหนือจากมีพละกำลัง หายตัว แปลงร่างได้หลายร่าง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นแปลงได้ 72 อย่าง เหาะไม่ได้ กระโดดไกลเป็นพันลี้ดัง “เห้งเจีย” ในไซอิ๋วไม่ได้เช่นกัน

(“ต้าถังซานจั้งชวี่จิงซือฮว้า” ไม่มีตัวละครอย่างตือโป๊ยก่าย และซัวเจ๋ง จรัสศรี จิรภาส มองว่า มีความเป็นไปได้ที่อู๋ เฉิงเอิน หรือผู้ที่แต่งขึ้นอาจเอานิทานพื้นบ้านถิ่นต่างๆ จากหลายยุคสมัยมาผนวกรวมกับเรื่องราวของพระถังซัมจั๋ง พร้อมปรับแต่งเติมจนกลายเป็นเห้งเจียในไซอิ๋ว)


อ่านเพิ่มเติม : “พระถังซำจั๋ง” ภิกษุต่างชาติคนเดียวที่ได้รับการยกย่องเป็น “ตรีปิฎกาจารย์” จากนาลันทา (http://“พระถังซำจั๋ง” ภิกษุต่างชาติคนเดียวที่ได้รับการยกย่องเป็น “ตรีปิฎกาจารย์” จากนาลันทา)

อ่านเพิ่มเติม : พระถังซัมจั๋ง เล่าตำนานอุบายพระอนุชากษัตริย์แคว้นคุจี รอดโดนใส่ร้ายเล่นกามนางใน (http://พระถังซัมจั๋ง เล่าตำนานอุบายพระอนุชากษัตริย์แคว้นคุจี รอดโดนใส่ร้ายเล่นกามนางใน)

          แน่นอนว่าลิงเทพเจ้าที่โด่งดังอย่างเห้งเจีย ก็สืบเนื่องมาจากฉบับไซอิ๋วมากกว่า และกลายเป็นเทพ “ฉีเทียนต้าเสิ้ง” ที่ผู้คนบูชา
สำหรับเนื้อเรื่องในไซอิ๋วนั้น ชาวไทยและผู้คนหลายประเทศทั่วโลกน่าจะคุ้นเคยกันดี แต่ในที่นี้ผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเห้งเจีย ตั้งข้อสังเกตกันไว้ว่า ในวรรณกรรมจีนไม่เคยมีตัวละครที่ถูกเขียนให้ท้าทายอาละวาดสวรรค์อย่างหนักหน่วงเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ผู้เขียนแฝงแนวคิดต่อต้านระบอบศักดินาในช่วงเวลานั้น ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวคิดก้าวหน้าของผู้คนในยุคสมัยหมิงเช่นกัน

          เมื่อมีกำเนิดตัวละครแล้ว พัฒนาการมาสู่ความศรัทธาในภายหลังนั้น อาจต้องเริ่มต้นที่คำอธิบายว่า การนับถือลิง หรือสัตว์อื่นไม่ใช่เรื่องแปลก ประวัติศาสตร์จีนปรากฏพฤติกรรมการบูชาลิงมาก่อน เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ คนยุคโบราณจึงกราบไหว้ลิงเป็นเทพเจ้า แต่ความคิดเห็นของผู้ศึกษาเกี่ยวกับเห้งเจียอย่างจรัสศรี มองว่า การบูชาลิง-เห้งเจีย ซึ่งกำเนิดจากวรรณกรรมเป็นเรื่องแปลก   การบูชาลิงจากวรรณกรรมนี้ไม่ใช่แค่ชนชาติอื่นอาจไม่เข้าใจ ชนชาติจีนเองและต้นกำเนิดตัวละครก็ยังไม่เข้าใจสาเหตุ ดังเช่นบันทึกของเผิง กวางโต่ว ชาวจีนสมัยราชวงศ์ชิง เขาบันทึกการเดินทางไปเมืองฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ว่า เมืองแห่งนี้มีเรื่องประหลาด 3 เรื่อง หนึ่งในนั้นย่อมมีเรื่อง “การบูชาเห้งเจีย”  อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวจีนทางใต้เองมองว่าการบูชาลิงเห้งเจียเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากทางใต้ของจีนบูชาลิงกันมายาวนาน จึงอาจพอสันนิษฐานได้ว่า เมื่อไซอิ๋วเริ่มแพร่หลายโด่งดังไปทั่วประเทศ ชาวจีนในท้องถิ่นที่มีการบูชาลิงจึงผนวกการบูชาลิงที่มีมาแต่โบราณเข้ากับการบูชาเห้งเจีย

          บันทึกของเผิง กวางโต่ว ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า การกราบไหว้บูชาลิงไม่ได้เป็นเรื่องปกติทั่วไปในจีน แต่นิยมอยู่ในบางท้องถิ่น โดยเฉพาะทางตอนใต้ อาทิ มณฑลหนิงเซี่ยะ กว่างตง (กวางตุ้ง) หูเป่ย และฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) พื้นที่เหล่านี้อยู่ในลุ่มน้ำตอนใต้ โดยเฉพาะฝูเจี้ยน ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ซึ่งมีการกราบไหว้เห้งเจียกันมากและเก่าแก่ที่สุด มีวัดบูชาเทพเจ้าลิงที่เก่าแก่ในฝูเจี้ยนชื่อ “วัดเหนิงเหยินซื่อ” อีกทั้งยังมีบันทึกโบราณหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ทางตอนใต้ของจีนเป็นแหล่งที่อยู่ของฝูงลิง วิถีชีวิตของคนท้องถิ่นย่อมคุ้นเคยกับลิงมาแต่เดิม

          จรัสศรี ยังสืบค้นต่อไปว่า ชาวจีนภาคใต้มีความเชื่อเรื่องลิงมีจิตวิญญาณคล้ายมนุษย์ โดยมนุษย์โบราณเชื่อว่าลิงชราอายุร้อยปี กลายเป็นลิงวิเศษ หากอายุพันปีจะกลายเป็นมนุษย์ เรื่องเล่าเช่นนี้ทำให้ชาวจีนบางส่วนไม่กล้าทำร้ายลิง และอาจเรียกลิงว่า “ซือฟู่” (อาจารย์) สำหรับลิงขาวก็จะได้รับการยกย่องในหมู่ชาวจีนบางท้องถิ่น และกราบไหว้ลิงขาวเป็น “ไป๋เจี้ยงจวิน” หรือ จอมพลขาว เป็นเทพอารักษ์ในหมู่บ้าน   ยิ่งประกอบกับฝูเจี้ยน เป็นแหล่งโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ การเผยแพร่และความนิยมเรื่อง “ไซอิ๋ว” น่าจะแพร่กระจายได้ไม่ยาก ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดความนิยมความเชื่อบูชาเห้งเจียด้วย



หัวข้อ: Re: เห้งเจีย ลิงในนิยายไซอิ๋ว กลายเป็นเทพที่คนจีนกราบไหว้ และแพร่เข้าไทยได้อย่างไร
เริ่มหัวข้อโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 30 กันยายน 2564 20:42:18


          (ต่อ)....แต่ในยุคปัจจุบัน ร่องรอยการบูชาเห้งเจียในจีนตอนใต้โดยเฉพาะฝูเจี้ยนในมุมมองของชาวต่างชาติยังปรากฏหลากหลาย นักวิชาการไต้หวันเคยเขียนบทความว่าเขตเมืองฝูโจว ในมณฑลฝูเจี้ยน ไม่ปรากฏศาลเจ้าฉีเทียนต้าเสิ้ง อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ศึกษาของจรัสศรี เมื่อพ.ศ. 2546 ได้พบว่า เมืองฝูโจวส่วนหนึ่งยังนิยมกราบไหว้เห้งเจีย มีสถานบูชาเห้งเจียหลายแห่ง แต่เมื่อสำรวจรอบเมืองฝูโจว ในพื้นที่ซึ่งเป็นเมืองโบราณเก่าแก่กลับไปการบูชาเห้งเจียเทียบเท่า   ส่วนการแพร่ความเชื่อความศรัทธามาสู่ดินแดนอื่นนั้น เห็นได้ว่า ชาวจีนที่แผ่นดินใหญ่ที่ไปตั้งรกรากในที่ต่างๆ จะปรากฏร่องรอยความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าไปอยู่ด้วย ดินแดนโพ้นทะเลที่มีชาวจีนหรือลูกหลานชาวจีนอาศัยอยู่มากและมีร่องรอยการเคารพบูชาเห้งเจียก็มีตั้งแต่ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย

           สำหรับการแพร่สู่ไทย จรัสศรี วิเคราะห์ไว้ 2 แนวทางคือ เส้นทางตามข้อมูลประวัติศาสตร์ และเส้นทางร่องรอยที่ปรากฏในเชิงตำนาน   ในแง่เส้นทางประวัติศาสตร์ ผู้สืบค้นเกี่ยวกับเห้งเจียมองว่า ชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในไทยมาจากมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) และกว่างตง (กวางตุ้ง-แต้จิ๋ว) มากพอสมควร กลุ่มนี้นับถือวานรเทพและเห้งเจียอย่างแพร่หลาย จึงสันนิษฐานได้ว่า ความศรัทธาในเห้งเจียเข้ามาในไทยพร้อมเรือสำเภาทะเลผ่านการล่องเรือจากทางตอนใต้ของจีน มาสู่ท่าเรืออ่าวไทย เช่น ชลบุรี สงขลา ภูเก็ต สำหรับภูเก็ตแล้วเป็นพื้นที่ซึ่งมีชาวฮกเกี้ยนอาศัยอยู่มาก เมื่อไปสำรวจพื้นที่เหล่านี้จะพบเห็นศาลเจ้าเห้งเจียจำนวนมาก

           อ่านเพิ่มเติม :  ชาวจีนในไทยมาจากไหน เปิดประวัติการอพยพยุคแรกเริ่ม ถึงการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม (http://ชาวจีนในไทยมาจากไหน เปิดประวัติการอพยพยุคแรกเริ่ม ถึงการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม)

          ส่วนเส้นทางในเชิงตำนานมีหลากหลายกันไป เมื่อพิจารณาจากความเชื่อและลักษณะของเห้งเจียที่มีอิทธิฤทธิ์พิสดารของเห้งเจีย จรัสศรี บรรยายว่า กลุ่มผู้นับถือมักอธิบายด้วยเรื่องเล่าอันพิสดาร อาทิ ผู้คนบางท้องที่ในไทยหยิบยกสถานที่สำคัญในเรื่องไซอิ๋วมาปรากฏในเมืองไทย อาทิ พระอุโบสถชื่อ “ลุ่ยอิมยี่” (วัดเหลยอินชื่อ) ที่ประทับของพระพุทธเจ้าในเรื่องไซอิ๋ว เป็นชื่อสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาที่วัดพระพุทธบาท สระบุรี ชาวบ้านในท้องที่สระบุรีกลุ่มหนึ่งจะเชื่อกันว่า วิญญาณทุกดวงที่ล่องหนในที่ใดก็ตามจะมาประทับตราต่ออายุที่วัดเหลยอินซื่อที่สระบุรี หรือกรณีอุโบสถ “ซีเทียนฝอ” หรือ “พุทธชมพูทวีป” จุดหมายที่เห้งเจียกับคณะเดินทางไปอาราธนาพระไตรปิฎก

          สิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนคุณค่าทางความคิดของชาวบ้านและยังแสดงถึงความศรัทธาและความแพร่หลายของเจ้าพ่อเห้งเจียในเมืองไทยอีกด้วย สำหรับพื้นที่ที่ปรากฏเทพเจ้าเห้งเจียอย่างแพร่หลายย่อมมีชื่อภูเก็ตด้วย โดยจรัสศรี อธิบายว่า เห้งเจียเป็นเทพขวัญใจของคนหนุ่ม คนทรงเห้งเจียมักเป็นกลุ่มวัยรุ่น




          อ้างอิง:   จรัสศรี จิรภาส. เห้งเจีย (ฉีเทียนต้าเสิ้ง) ลิงในวรรณกรรมที่กลายเป็นเทพเจ้า. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547
          เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2563