[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 12 กรกฎาคม 2553 19:25:16



หัวข้อ: โอ้ว่าอนิจจาความรัก ( ความสุขจากการได้รัก และ ถูกรักของคนหนุ่มสาว )
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 12 กรกฎาคม 2553 19:25:16

[ โดย อ.มดเอ็กซ์ จากบอร์ดเก่า ]




(http://sph.thaissf.org/pic_article/article_67.jpg) (http://"http://sph.thaissf.org/pic_article/article_67.jpg")
 
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
 
ผมได้รับการติดต่อให้เขียนเรื่อง “ความสุขจากการได้รักและถูกรักของคนหนุ่มสาว” ชื่อเชยและยาวกว่าหนังเกาหลีเป็นอันมาก จึงขอตั้งชื่อใหม่แล้ววงเล็บชื่อเก่าเอาไว้เป็นหลักฐาน มีคำสำคัญคือ “ความรัก” และ “ความสุข”
 
จากหนังสือ กามนิต ของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป พระพุทธเจ้าตรัสว่า “วาสิฏฐี เราขอให้ภาวนาธรรมบทนี้ไว้คือ ที่ใดมีความรัก ที่นั้นมีความทุกข์” แล้วยังจะมาให้เขียนเรื่องความรักกับความสุขอยู่อีก ลองมาดูกันว่าความรักและความสุขสัมพันธ์กันอย่างไร
 
ผู้ใหญ่มักพูดว่าความรักเป็นอารมณ์ ชนิดหนึ่ง ทำนองว่าอย่าไปยึดมั่นอะไรกับความรักให้มากนัก ลองขึ้นชื่อว่าอารมณ์ก็จะผ่านมาและผ่านไป เมื่อครั้งผมเรียนจิตเวชศาสตร์ก็มีตำราบางเล่มเขียนทำนองนี้ แต่ไม่มีรายละเอียดว่าความรักเป็นอารมณ์อย่างไร และเพราะอะไร ทั้งนี้ยังไม่นับว่าจริงหรือเปล่าที่ว่าความรักเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่ง
 
ผมไปพบอะไรบางอย่างที่คล้ายๆคำตอบในหนังสือ The Expression of the Emotions in Man and Animals เขียนโดย ชาร์ลส์ ดาร์วิน ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1872 เล่มที่ผมอ่านเป็นฉบับพิมพ์ของสำนักพิมพ์อ๊อกซ์ฟอร์ดปี ค.ศ.1998 สำหรับคนที่ไม่เชื่อดาร์วินก็สามารถหยุดอ่านตรงนี้ได้เลยครับ
 
ดาร์วินเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์และกล้ามเนื้อ กล่าวคืออารมณ์มิใช่เกิดขึ้นลอยๆแต่มีกล้ามเนื้อกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่แสดงออกซึ่งอารมณ์นั้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นอารมณ์ที่ตรงข้ามกันก็จะใช้กล้ามเนื้อที่ทำงานตรงข้ามกันอีกด้วย โดยดาร์วินยกตัวอย่างสุนัขที่กำลังดีใจได้พบเจ้าของจะใช้กล้ามเนื้อร่างกายกลุ่มหนึ่งในการกำหนดท่าทางดีใจ เปรียบเทียบกับเวลาที่สุนัขพบศัตรูมันจะใช้กล้ามเนื้ออีกชุดหนึ่งซึ่งทำงานตรงข้ามกับชุดแรก
 
หนังการ์ตูนสั้นเรื่อง Geri’s Game ของพิกซาร์ที่ฉายปะหน้าหนังการ์ตูน A Bug’s Life ของดิสนีย์จะช่วยให้เข้าใจสิ่งที่ดาร์วินเขียนได้ง่ายขึ้น การ์ตูนสั้นความยาว 4 นาทีเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกๆของโลกที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกทั้งหมดและชนะรางวัลออสการ์ในปี 1998 เล่าเรื่องการดวลหมากรุกระหว่างชายชราหนึ่งคน เขียนถูกต้องแล้วครับระหว่างชายชราหนึ่งคน ที่น่าสนใจคือพิกซาร์ได้สาธิตการทำงานของกล้ามเนื้อบนใบหน้ามนุษย์คือชายชราทั้งหนึ่งคนนั้นอย่างชัดเจนว่าในแต่ละอารมณ์ที่แสดงออก กล้ามเนื้อมัดต่างๆทำงานอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ Zygoma และ Orbicularis ที่ควบคุมการหัวเราะ หรือ Corrugator supercilii และ Occipitofrontalis ที่ควบคุมอารมณ์เศร้า เป็นต้น นั่นคืออารมณ์มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ
 
ดาร์วินแบ่งอารมณ์ของมนุษย์ออกเป็น 2 พวก พวกแรกคือ เป็นสุข โศกเศร้า โกรธ และกลัว พวกที่สองคือ รัก เกลียด ริษยา และ หึง ก่อนจะอ่านต่อไปลองทำแบบฝึกหัดต่อไปนี้ก่อนก็ได้ครับ สำหรับคนที่พอวาดการ์ตูนเป็นลองวาดใบหน้าที่แสดงความสุข โศกเศร้า โกรธ และกลัว เราจะพบว่าวาดง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบหน้ามีความสุขและโศกเศร้านั้น ใครๆก็ควรวาดได้ ยิ้มให้วาดริมฝีปากโค้งขึ้น เศร้าให้วาดริมฝีปากโค้งลง ใช่มั้ยครับ อารมณ์โกรธและกลัวก็วาดได้ไม่ยากสำหรับคนที่วาดการ์ตูนเป็น
 
เหตุที่วาดได้ง่ายเพราะอารมณ์กลุ่มแรกนี้มีกล้ามเนื้อบนใบหน้าบางกลุ่มรับผิดชอบอยู่
 
คราวนี้ลองวาดใบหน้าที่แสดงอารมณ์รัก เกลียด อิจฉา และหึง ใครคิดว่าง่ายก็ลองหยิบกระดาษและดินสอลองวาดดู อย่าลืมว่าให้วาดใบหน้าเท่านั้นนะครับ ห้ามใช้ลำคอหรือเส้นผมมาช่วย ห้ามใช้ฉากหลังหรือองค์ประกอบใดๆมาช่วย ห้ามเขียนรูปหัวใจถูกธนูเสียบด้วย แล้วจะพบว่าอารมณ์ที่เราเคยคิดว่าน่าจะวาดได้คือรักและเกลียดนั้นไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยใบหน้า ใบหน้าริษยาหรือหึงยิ่งไปกันใหญ่
 
เหตุที่วาดไม่ได้เพราะอารมณ์กลุ่มหลังนี้ไม่มีกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ คำถามต่อไปจึงเป็นว่าอารมณ์ทั้งสองกลุ่มนี้ต่างกันอย่างไร
 
ดาร์วินเขียนว่าอารมณ์กลุ่มแรกนั้นมักจะเกิดขึ้นได้รวดเร็วและไม่มีเป้าหมายเฉพาะ หัวเราะเพราะขำกลิ้ง ร้องไห้เพราะโศกเศร้า เป็นที่เข้าใจได้ง่าย แต่ว่าแม้กระทั่งความโกรธและความกลัวก็ไม่มีเป้าหมายเฉพาะด้วย ตรงนี้อ่านแล้วอาจจะเข้าใจยากเพราะคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเวลาเราโกรธหรือกลัว เรามักมีเป้าหมายชัดเจนว่าโกรธใครหรือกลัวอะไร อย่างไรก็ตามถ้าเข้าใจงานของซิกมันด์ ฟรอยด์ เราจะพบว่าไม่ง่ายนักที่จะตอบได้อย่างมั่นใจว่ากำลังโกรธใครหรือกลัวอะไร เช่นกันครับ ใครไม่เชื่อฟรอยด์ก็หยุดอ่านที่ตรงนี้ได้
 
เปรียบเทียบกับอารมณ์กลุ่มหลังมักเป็นอารมณ์ที่เกิดจากการค่อยๆสั่งสมและมีเป้าหมายเฉพาะ นั่นคือ รักใคร เกลียดใคร อิจฉาใคร และหึงใคร จะมีความรู้สึกเหล่านี้ได้ต้องบิลด์อารมณ์กันสักระยะหนึ่ง แต่ไม่มีกล้ามเนื้อช่วยแสดง
 
ดาร์วินเขียนต่อไปว่ากลุ่มอารมณ์ที่มีกล้ามเนื้อช่วยแสดงนั้นเป็นกลุ่มอารมณ์ที่รับใช้ผลประโยชน์ทางชีววิทยา เช่น โกรธศัตรูเพื่อป้องกันตัว กลัวศัตรูเพื่อจะได้หลบเลี่ยง เป็นต้น อารมณ์เหล่านี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ จะเห็นว่าสอดคล้องกับความรู้ในปัจจุบันที่พบว่าอารมณ์เป็นสุขหรือเศร้านั้นถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ส่วนอารมณ์โกรธหรือกลัวนั้นจะพบว่ามันได้ทำหน้าที่ของมันอย่างดีเยี่ยมในการช่วยให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมากสามารถอยู่รอดศัตรูมาได้จนถึงทุกวันนี้
 
ขณะที่อารมณ์รัก เกลียด อิจฉา หรือหึง ไม่มีกล้ามเนื้อรับผิดชอบและไม่ได้รับใช้ผลประโยชน์ทางชีววิทยาใดๆเลย ที่แท้แล้วอารมณ์กลุ่มนี้รับใช้ประโยชน์ทางสังคมมากกว่านั่นคือเป็นกลุ่มอารมณ์ที่ใช้ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างเฉพาะช่วงเวลานั้นๆ จึงไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและไม่เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ
 
จะเห็นว่าความเกลียดไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากตระกูลของโรเมโอและจูเลียตจะเกลียดกัน หรือชาติพันธุ์ใดๆสองกลุ่มจะเกลียดกันก็เพราะปัจจัยทางสังคมและการเมือง ไม่ใช่ปัจจัยทางชีววิทยา
 
สรุปความสำหรับความรัก ความรักนั้นเป็นเรื่องชั่ววูบ วูบเดียวจริงๆเมื่อเทียบกับสายวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ยิ่งไปว่านั้นความรักเป็นของไม่มีประโยชน์ทางชีววิทยา จึงไม่มีประโยชน์ต่อการสืบเผ่าพันธุ์ ที่มีประโยชน์ต่อการสืบเผ่าพันธุ์นั้นเขาเรียกว่าความใคร่
 
ย่อหน้าสุดท้ายผมเขียนเอง ไม่ใช่ดาร์วินหรือฟรอยด์เขียน
 
ฮา (มีความสุขและถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม)
 
หมายเหตุ: ผมได้เตือนผู้ขอต้นฉบับแล้วว่าอย่าให้เขียนเรื่องความรักและความสุข เพราะอ่านแล้วอาจจะเครียดและเป็นทุกข์



 ;D
 
http://sph.thaissf.org/index.php?module=article&page=detail&id=67 (http://sph.thaissf.org/index.php?module=article&page=detail&id=67)