[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
15 พฤษภาคม 2567 11:19:57 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประมวลเรื่อง "คัมภีร์จากใบลาน" และ "หีบพระธรรม"  (อ่าน 6017 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5483


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 21 พฤษภาคม 2556 15:06:57 »

.


ใบลานที่จารแล้ว  ภาพจาก หนังสือสารนครศรีธรรมราช

คัมภีร์ใบลาน : วัฒนธรรมลายลักษณ์
ในสมัยโบราณไม่มีกระดาษสำหรับเขียนหนังสืออย่างปัจจุบัน นอกจากใช้กระดาษสมุดข่อยแต่ก็มีอยู่น้อย ไม่แพร่หลาย  ใช้กันในวงจำกัด  ดังนั้น คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา จึงเขียนหรือจารลงในใบลาน

คัมภีร์ใบลานเป็นมรดกวัฒนธรรมลายลักษณ์อักษรที่บรรพชนไทยสร้างสรรค์ขึ้น ด้วยความศรัทธาอย่างสูงในพระพุทธศาสนา เป็นเอกสารโบราณที่จารด้วยเหล็กแหลมลงบนใบของต้นลาน  ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ เรียกกันโดยทั่วไปว่า “หนังสือใบลาน”  แต่เนื่องจากคนไทยนิยมจารเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาลงบนใบลาน จึงเรียกหนังสือใบลานว่า “คัมภีร์ใบลาน”   คัมภีร์ใบลานนั้นใช้เฉพาะในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาลัทธิหินยาน เช่นในประเทศไทย พม่า ลาว เขมร  ศรีลังกา  และเชื่อกันว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จารลงบนใบลานเป็นครั้งแรกที่ประเทศศรีลังกา




ต้นลาน ภาพจาก : www.travelfortoday.com

กรรมวิธีจารคัมภีร์ จากใบลาน
การคัดเลือกต้นลานมาใช้จารหนังสือ ชั้นแรกต้องเข้าใจธรรมชาติของใบลานก่อนว่า เนื้อใบลานมีเส้นใยติดกันเป็นพืดขวางไปมาซ้อนกันประมาณ ๓-๔ ชั้น หากเป็นใบแก่มากเส้นใยก็จะเหนียวมากขึ้น และเมื่อแห้งก็จะกรอบเปราะและหักง่าย ใช้จารหนังสือยาก  ดังนั้น ใบลานที่มีคุณภาพพอเหมาะสำหรับจารหนังสือมากที่สุดคือ ใบที่ยังไม่แก่จัด หรือที่เรียกว่า เพสลาดคือใบอ่อนที่สองที่เพิ่งจะเริ่มคลี่ใบออก เป็นระยะที่เส้นใยของใบลานยังไม่เหนียวมาก ผิวใบลานนิ่มและไม่แตกหักง่าย  ใช้งานได้นาน

เมื่อตัดใบลานลงจากต้นแล้ว ใช้วิธีแยกลานออกจากกันด้วยวิธีสาดลานขึ้นไปกลางอากาศ ปล่อยให้หล่นเกลื่อนพื้น  ทิ้งไว้ให้ผึ่งแดดผึ่งน้ำค้างประมาณ ๓ วัน ๓ คืน แล้วจึงเก็บรวบรวมไว้เป็นมัดใหญ่ๆ  ในมัดหนึ่งๆ มีประมาณ ๒,๐๐๐ ใบ เรียกว่า “ซองหนึ่ง”  และเนื่องจากใบลานดังกล่าวมีขนาดไม่เท่ากัน จึงเรียกใบลานนั้นว่า “ลานรวม”

คนในสมัยโบราณ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการนับใบลานโดยกำหนดเป็นมาตรานับลานดังนี้
     ใบลาน ๒ ใบ         เท่ากับ ๑ ก้าน
     ใบลาน ๕๐ ก้าน     เท่ากับ ๑ แหนบ
     ใบลาน ๒๐ แหนบ   เท่ากับ ๑ ซอง

ใบลานที่ใช้จารหนังสือจะต้องมีขนาดกว้างจึงจะใช้การได้โดยคัดเอายอดลานที่ได้ขนาดมาจัดทำด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ใน ๒ วิธี ดังต่อไปนี้
วิธีที่ ๑ ตัดหัวตัดท้ายของยอดออกแล้วนำไปต้มในกระทะเพื่อป้องกันเชื้อราและป้องกันการเปลี่ยนสีของใบลาน เอาออกจากกระทะที่ต้ม ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วกรีดก้านกลาง (ก้านใหญ่) และริมขอบใบ ที่เชื่อมกับใบที่ติดกันออกก็จะได้ใบลานอ่อนที่ต้มแล้วใบละ ๒ ซีก

ยอดลานยอดหนึ่งๆ จะมีใบประมาณ ๒๕-๓๐ ใบ  หรือคิดเป็นจำนวนซีกประมาณ ๕๐-๖๐ ซีก นำไปผึ่งแดดจนแห้งก็จะได้ใบลานสีขาวนวล ใช้มีดคมเจียนข้างทั้งสองให้เป็นแนวตรง มีความกว้างประมาณ ๑.๕-๒.๐ นิ้ว ตัดหัวตัดท้ายให้เหลือความยาวประมาณ ๑๘-๒๐ นิ้ว  วางซ้อนกันประมาณ ๗ ใบ เจาะรู ๒ รู แต่ละรูจากปลายทั้งสองเข้ามาประมาณ ๖ นิ้ว แล้วใช้เส้นด้ายร้อยรู  แล้วเอาปลายเส้นด้ายทั้งสองผูกเข้าด้วยกันอย่างหลวม ๆ เพื่อให้ใบลานที่ผูกไว้นั้นพลิกได้อย่างภาพพลิก

วิธีที่ ๒  นำยอดใบลานที่เลือกได้ต้มในกระทะทั้งข้อที่ติดปลายทาง โดยไม่ต้องตัดหัวตัดท้ายอย่างวิธีที่ ๑ เพียงแต่กรีดใบ ตัดก้านออกแล้วเลื่อนไปมาให้ถูกน้ำเดือดจนทั่ว แล้วยกออกผึ่งแดดจนแห้ง ตัดใบให้ได้ขนาดตามต้องการ เจาะรู ใช้ด้ายร้อยรู ผูกด้วยเส้นด้ายเหมือนวิธีที่ ๑



ใบลานที่จารแล้ว และร้อยหูด้วยสายสนอง   ภาพจาก หนังสือสารนครศรีธรรมราช

กรรมวิธีการจารใบลาน   ก่อนจารต้องตีเส้นบรรทัดในใบลานทุกใบ โดยใช้เส้นด้ายเหนียวขึงตึงกับกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่กว่าหน้าลานเล็กน้อย เชือกที่ขึงตึงนี้ใช้เป็นเส้นบรรทัด เมื่อจะตีเส้นบรรทัด ให้ใช้ลูกประคบชุบเขม่าไฟผสมน้ำ ลบลงไปบนเส้นด้ายที่เป็นสายบรรทัดนั้น วางกรอบบรรทัดบนใบลาน กำหนดเส้นบรรทัดให้ได้ขนาดตามต้องการ แล้วดึงสายบรรทัดขึ้น แล้วปล่อยให้ดีดลงบนใบลาน ทำนองเดียวกับการตีเส้นด้วยสายบรรทัดของช่างไม้ ก็จะปรากฏเส้นบรรทัดบนใบลานตามต้องการ

นำใบลานที่ตีเส้นบรรทัดเรียบร้อยแล้ว วางบนหมอนสำหรับรองจาร (หมอนดังกล่าวทำจากใบลานเรียงซ้อนกัน ๖ – ๗ ใบ  หุ้มด้วยผ้าที่เย็บริมเรียบร้อย มีไม้ไผ่ยาวประมาณ ๗-๑๐ เซนติเมตร เสียบทางด้านยาวของหมอนตามร่องลานข้างละ ๒ อัน เพื่อใช้เป็นที่คีบลานต้นฉบับ) แล้วใช้เหล็กจาร (เหล็กแหลมคมมีด้ามสำหรับถือ ทำเป็นรูปต่าง ๆ สำหรับใช้จารหนังสือใบลานโดยเฉพาะ)  จารตัวหนังสือตามต้นฉบับลงบนใบลานที่มีเส้นบรรทัดนั้น และให้จารตัวหนังสือใต้เส้นบรรทัดและจารได้ทั้ง ๒ หน้าของใบลาน

ใบลานที่จารเสร็จแล้วจะมีรอยเส้นสีขาวอ่านได้ไม่ชัดเจน ฉะนั้น จึงต้องลบด้วยเขม่าไฟผสมน้ำมันยาง โดยใช้ลูกประคบลบให้สีดำของเขม่าไฟจมลงไปตามร่องลายเส้นอักษรทั่วทั้งลาน แล้วจะเห็นตัวอักษรที่จารได้เด่นชัด
เมื่อจะทำใบลานให้เป็นเล่มหนังสือ ต้องร้อยเชือก เรียกว่าสายสนอง เข้าไปในรูที่เจาะไว้ทางด้านซ้ายเรียกว่า “ร้อยหู” เพื่อรวมเป็นผูกหลายๆ ผูกรวมกันเป็นคัมภีร์ แต่ละคัมภีร์จะมีไม้ประกบหัวท้ายกำกับไว้แล้วมัดรวมกัน โดยมีผ้าห่อรอบนอกอีกชั้นหนึ่ง นอกผ้าห่อคัมภีร์จะมีฉลากหรือป้ายบอกคัมภีร์ไว้ด้วย และยังนิยมตกแต่งขอบคัมภีร์ใบปกหน้า ใบปกหลัง ไม้ประกับด้วยสีและลวดลายต่าง ๆ เช่น ปิดทองทึบ ปิดทองล่องชาด และลายรดน้ำ โดยเฉพาะไม้ประกับบางครั้งมีการตกแต่งเป็นพิเศษ เช่นประดับมุกคร่ำเงินคร่ำทองเป็นต้น  สำหรับผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์ นิยมใช้ผ้าชั้นดี




 กากะเยีย หรือ ที่สำหรับวางคัมภีร์ใบลาน  ภาพจาก หนังสือสารนครศรีธรรมราช

คำศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคัมภีร์ใบลาน
• กากะเยีย หมายถึง เครื่องมือที่สร้างขึ้นสำหรับวางคัมภีร์ใบลานเพื่อการอ่านโดยเฉพาะ ทำด้วยไม้กลึงเป็นแท่งกลมเล็กๆ ยาวประมาณ ๑๘ นิ้ว มีจำนวน ๘ อัน เจาะรูปลายไม้ด้านหนึ่งและตอนกลางอีกที่หนึ่ง ใช้เชือกหรือด้ายร้อยไขว้กันเป็นที่วางคัมภีร์ใบลาน
• คัมภีร์  หมายถึง เรียกใบลานที่ร้อยหูแล้วรวมกันหลายๆ ผูก, มัด ก็เรียก
• จาร  หมายถึง ขีดตัวอักษรให้เป็นร่องรูปลึกลงบนใบลานด้วยเหล็กจาร (แล้วใช้เขม่าไฟและน้ำมันยาง ลบให้เป็นตัวอักษรเด่นชัด)
• ฉบับ  หมายถึง  ลักษณะนามเรียกหนังสือใบลานที่จารตามประเภทของหน้าปกและริมขอบลาน เท่าที่พบที่หอสมุดแห่งชาติกรุงเทพฯ (ท่าวาสุกรี)
• ฉลาก  หมายถึง  ป้ายบอกชื่อคัมภีร์ นิยมประดิษฐ์ให้สวยงามด้วยไม้ งา ผ้า หรือหนังเป็นต้น จำหลักนูนต่ำให้เป็นลายดอกไม้และอื่นๆ
• เชือกมัด  หมายถึง เชือกที่ใช้มัดคัมภีร์ใบลาน เมื่อใช้ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเรียบร้อยแล้ว ต้องใช้เชือกมัดให้แน่น เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและสัตว์เข้าไปกัดกินข้างใน เชือกที่ใช้มัดคัมภีร์ใบลาน เป็นเชือกที่ยาวมากใช้พันเป็น ๕ เปลาะ เปลาะละ ๓ รอบ เชือกมัดคัมภีร์ใบลานทำจากด้าย ผ้า ปอ ป่าน หรือไหม ผู้ที่ศรัทธามากอาจตัดผมของตนเองมาถักเป็นเปียใช้มัดคัมภีร์
• บล. หมายถึง  เป็นอักษรย่อของคำว่า “ใบลาน”
• ผ้าห่อคัมภีร์  หมายถึง  ผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์ใบลานที่จารครบชุด มีไม้ประกับ ๒ ข้าง และมัดเรียบร้อยดีแล้ว เมื่อจะเก็บต้องใช้ผ้าห่อให้เรียบร้อย ผ้าห่อคัมภีร์มีหลายชนิด ทั้งผ้าธรรมดา ผ้าทอยกดอก ผ้าทอยกดิ้น ผ้าพิมพ์ลายสีต่างๆ แต่นิยมใช้ผ้าชั้นดี เช่น ผ้าไหม และผ้าต่วน เป็นต้น



คัมภีร์ใบลานที่ห่อผ้าเรียบร้อย และมีฉลากหรือป้ายบอกชื่อคัมภีร์
ภาพจาก หนังสือสารนครศรีธรรมราช

• ผูก  หมายถึง  เรียกใบลานที่ร้อยหูแล้ว ใบลานที่เรียงลำดับอังกาครบ ๒ อักษรแล้ว จะมี ๒๔ ลาน  เรียกว่า ๑ ผูก
• ไม้ประกับ  หมายถึง  ไม้ที่ใช้ขนาบคัมภีร์ก่อนมัดรวมกัน แล้วใช้ผ้าห่อรอบนอกอีกชั้นหนึ่ง ไม้ประกับอาจตกแต่งเป็นลวดลาย เช่น ประดับมุกคร่ำเงิน คร่ำทอง เป็นต้น

ไม้ประกับมีมากมายหลายประเภท เท่าที่พบที่หอสมุดแห่งชาติกรุงเทพฯ (ท่าวาสุกรี) เช่น  ไม้ประกับไม้สักธรรมดา ไม้ประกับแกะสลัก ไม้ประกับประดับมุก ไม้ประกับประดับเกล็ดหอย ไม้ประกับประดับมุก-เกล็ดหอย ไม้ประกับประดับทองนากมุก ไม้ประกับประดับงา ไม้ประกับประดับกระจก ไม้ประกับทารักแดง ไม้ประกับรดน้ำดำ ไม้ประกับรดน้ำแดง ไม้ประกับกรุขอบเงินกาไหล่ทอง ไม้ประกับลายกำมะลอ ไม้ประกับกำมะลอชายผ้า ไม้ประกับชาดทึบ ไม้ประกับทองทึบ ไม้ประกับทาชาดเขียนลายฉลุทอง ไม้ประกับลายทองจีน ไม้ประกับงาแดงลายดุน ไม้ประกับทาน้ำมัน ไม้ประกับทาสีดำ ไม้ประกับทาสีแดง ไม้ประกับรักทึบหรือทารักดำ ไม้ประกับรดน้ำดำลายเทพชุมนุม ไม้ประกับงาธรรมดา ไม้ประกับงาขาวลายดุน ไม้ประกับงาเหลืองลายดุน ไม้ประกับงาเขียวลายดุน

• ร้อยหู  หมายถึง วิธีการร้อยเชือกอย่างหนึ่งเมื่อจะทำใบลานให้เป็นเล่มหนังสือ ต้องร้อยเชือกเรียกว่า “สายสนอง” เข้าในรูที่เจาะไว้ทางด้านซ้าย เรียกวิธีดังกล่าวว่า “ร้อยหู”
• รู  หมายถึง  รูที่เจาะไว้ด้านซ้ายมือของใบลานเพื่อใส่สายสนองผูกหูไว้ เพราะว่าคัมภีร์ผูกหนึ่งผูกหูไว้ด้วยสายสนอง
• สายสนอง  หมายถึง เชือกที่ใช้ร้อยใบลานให้เป็นเล่มหนังสือ ปลายด้ายหรือสายสนองข้างหนึ่งต้องผูกเป็นห่วงไว้ แล้วเอาปลายสายอีกข้างหนึ่งสอดเข้าในห่วง โดยโอบรอบกึ่งใบลานด้านบนไว้ ทำดังนี้เพื่อได้คลายสายสนองออกเมื่อจะคลี่ใบลานอ่าน และดึงเข้าให้แน่นสนิทเมื่อต้องการจะเก็บหลังจากอ่านแล้ว
• อังกา  หมายถึง เครื่องหมายบอกลำดับหน้าลาน เป็นตัวอักษรจารไว้ที่กึ่งกลางใบลานริมซ้ายด้านหลังของใบลานเพียงแห่งเดียวเท่านั้น อักษรที่ใช้บอกหน้าหรืออังกานั้นใช้พยัญชนะบาลี ซึ่งมีอยู่ ๓๓ ตัวอักษรที่ใช้บอกอังกาใช้อักษรละ ๑๒ ลาน โดยเริ่มตั้งแต่อักษร ก ผสมรูปสระ ๑๒ ตัว ดังนี้
       ก กา กิ กี กุ กู เก ไก โก เกา กํ กะ
เมื่อครบ ๑๒ ลานแล้ว ลานที่ ๑๓ เป็นต้นไป ต้องเปลี่ยนอักษรบอกอังกาใหม่ เป็นอักษรตัวต่อไปเรียงตามลำดับ คืออักษร ข ผสมสระต่อไปอีก ๑๒ ลาน ดังนี้
       ข ขา ขิ ขี ขุ ขู เข ไข โข เขา ขํ ขะ   ใบลานที่เรียงอังกาครบ ๒ อักษรแล้ว จะมี ๒๔ ลาน รวมเรียกว่า ๑ ผูก



คัมภีร์ใบลานที่ห่อผ้าสีสันต่างๆ สวยงาม  ภาพจาก หนังสือสารนครศรีธรรมราช

ประเภทของคัมภีร์ใบลาน
คัมภีร์ใบลานมี ๒ ประเภท คือ คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง และคัมภีร์ใบลานฉบับราช (หรือฉบับเชลยศักดิ์)
คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง มี ๑๖ ฉบับ ได้แก่
๑.  ฉบับลานดิบ
๒. ฉบับรักทึบ
๓. ฉบับชาดทึบ
๔. ฉบับทองทึบ
๕. ฉบับข้างลายรดน้ำดำ
๗. ฉบับข้างลายรดน้ำแดง
๘. ฉบับทองใหม่
๙. ฉบับทองชุบ
๑๐. ฉบับชุบย่อ
๑๑. ฉบับรองทรง
๑๒. ฉบับรดน้ำแดง
๑๓. ฉบับทองน้อย
๑๔. ฉบับรดน้ำดำโทรดน้ำดำเอก รดน้ำดำลายเทพชุมนุม
๑๕ ฉบับล่องชาด
๑๖. ฉบับล่องรัก

คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์ หรือฉบับเชลยศักดิ์ ที่พระสงฆ์สามเณร อุบาสกอุบาสิกาสร้างขึ้นเท่าที่พบที่หอสมุดแห่งชาติกรุงเทพฯ (ท่าวาสุกรี) มีเพียง ๕ ฉบับได้แก่
๑.ฉบับลานดิบ
๒. ฉบับรักทึบ
๓. ฉบับล่องรัก
๔. ฉบับล่องชาด
๕. ฉบับทองทึบ




ส่วนหนึ่งของคัมภีร์ใบลาน ที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานจังหวัดนครศรีธรรมราช
ภาพจาก : หนังสือ สารนครศรีธรรมราช

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าผู้ที่สร้างคัมภีร์ใบลานจะต้องสร้างขึ้นด้วยจิตศรัทธาอันสูงส่ง และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ผลงานคัมภีร์ใบลานจึงปรากฏออกมาอย่างล้ำค่าทั้งด้านเนื้อหาที่จดจาร รวมทั้งศิลปะการตกแต่งและวัสดุที่เกี่ยวเนื่อง

คุณค่าของคัมภีร์ใบลานในเชิงสังคมวิทยา :  เป็นหนังสือที่ใช้บันทึกพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของความเป็นไทย สภาพของสังคมไทยในยุคสมัยนั้น ซึ่งเป็นระบบสังคมครอบครัวที่มีความผูกพัน ประกอบกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี นับถือพระพุทธศาสนา และส่งเสริมให้มีการสืบทอดอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัดเป็นสถานศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้โดยมีพุทธศาสนิกชนเป็นผู้อุปถัมภ์

คุณค่าของคัมภีร์ใบลานในเชิงศิลปกรรม : บางคัมภีร์มีการตกแต่งปกลานอย่างวิจิตรบรรจงด้วยลวดลายต่างๆ เช่น ลายทองพื้นแดง ลายกรวยเชิง   ขอบคัมภีร์มีการตกแต่งขอบลาน เช่น ทำเป็นทองทึบ ล่องชาด ชาดทึบ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อฉบับของคัมภีร์  ไม้ประกับตกแต่งด้วยลายรดน้ำ คร่ำเงิน คร่ำทอง ประดับมุก ประดับกระจก   แม้แต่ผ้าห่อคัมภีร์ก็ยังเลือกสีสันและลวดลายที่สวยงาม และเนื้อผ้าดีเป็นพิเศษ กล่องใส่คัมภีร์แกะสลักอย่างประณีต

ฉะนั้น งานศิลปกรรมที่คัมภีร์ใบลานจึงมิใช่เป็นศิลปะอย่างธรรมดา



ข้อมูล : วารสาร "สารนครศรีธรรมราช"  จัดพิมพ์โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช  

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ตุลาคม 2556 13:30:27 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5483


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 03 มิถุนายน 2556 19:33:21 »

.


หีดธัมม์ หรือ หีบธัมม์ หรือ หีบพระธรรม
วัดสันป่าตึง  ต.สันป่ายาง  อ.แม่แตง  จ.เชียงใหม่

หีดธัมม์ หรือ หีบธรรม
 

หีดธัมม์ หรือ หีบธรรม คือหีบหรือกล่องไม้ขนาดใหญ่ ใช้บรรจุคัมภีร์ฉบับใบลานประจำวัดต่างๆ ใช้สืบต่อกันมาแต่โบราณกาลในดินแดนแถบล้านนา

ลักษณะหีดธัมม์ที่พบในดินแดนล้านนาสามารถแบ่งตามลักษณะโครงสร้างได้ดังนี้
     ๑. หีบธรรมแบบทรงสี่เหลี่ยมคางหมู
     ๒. หีบธรรมแบบทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส
     ๓. หีบธรรมแบบทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า

โครงสร้างของหีบพระธัมม์แบบล้านนา จะไม่ซับซ้อนมากนัก เนื่องจากเป็นครุภัณฑ์ที่สร้างเพื่อประโยชน์ใช้สอยโดยตรง จึงเน้นความแข็งแรงเป็นสำคัญ  หีดธัมม์บางใบอาจเคยใช้เป็นที่เก็บเสื้อผ้าทรัพย์สินของเจ้านาย คหบดีชั้นสูงมาก่อน เมื่อถึงแก่กรรมลงบรรดาลูกหลานจึงนำมาถวายวัด

จากการสำรวจหีดธัมม์ในล้านนา รูปทรงที่พบมากที่สุดคือแบบทรงสี่เหลี่ยมคางหมู  ซึ่งสามารถแยกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
๑. ส่วนฐาน  เป็นส่วนที่รับน้ำหนักมากที่สุด มีขนาดกว้างที่สุด จะมีการซ้อนชั้นต่างๆ จากขนาดเล็กไปหาขนาดใหญ่ ใช้วิธีเข้าไม้โดยอาศัยการเข้าเดือยยึด ๔ มุมเข้าด้วยกัน  นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่มีการต่อขาเป็นรูปลักษณะคล้ายเท้าสิงห์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงในส่วนของฐานอีกด้วย

๒. ส่วนกลาง หรือส่วนที่เป็นตัวหีบ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ท้องไม้หรือฝาโดยรอบทั้ง ๔ ด้าน เป็นไม้กระดานต่อกัน โดยอาศัยเสา ๔ ต้นเป็นโครงยึดติดเข้าด้วยกัน ใช้วิธีการเข้าไม้โดยใช้เดือยยึด ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ฝาไม้ทั้ง ๔ ด้านมีแรงผลักดันซึ่งกันและกัน ช่วยรักษาตัวโครงสร้างให้คงรูปไว้อย่างมั่นคง บริเวณปากหีบจะทำเป็นสลักตัวผู้ไว้ มีลักษณะคล้ายกับการซ่อนปากหีบที่มีลักษณะเล็กเท่าตัวหีบ เพื่อใช้สวมกับบริเวณส่วนที่เป็นฝา

๓. ส่วนฝา คือส่วนที่ใช้ปิดหีบ มีลักษณะคล้ายฝาบาตรพระ เพียงแต่มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนฝานี้จะสร้างให้พอดีกับส่วนที่เป็นตัวหีบ บริเวณด้านหน้าของฝาจะใช้ไม้กระดานต่อกัน เข้าเดือยยึดกับด้านข้างทั้ง ๔ ด้าน ประกอบกันเป็นรูปทรง ฝาด้านบนสุดจะเป็นแผ่นไม้กระดานต่อกันจนเรียบเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนด้านข้างจะผายออกตรงปลายเพื่อให้สวมสนิทกับส่วนที่เป็นตัวหีบ

ลักษณะของหีบพระธัมม์ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก็มีลักษณะโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับหีดธัมม์ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู  กล่าวคือ มีส่วนฐาน ส่วนกลาง และส่วนฝา  ซึ่งใช้วิธีการเข้าไม้โดยใช้เดือยยึดเสาและคานเช่นเดียวกัน


หีบพระธรรม วัดเกตุการาม อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะตู้พระธัมม์ของล้านนา มีโครงสร้างอยู่ในระบบเสาและคานเช่นเดียวกับหีบพระธัมม์ แต่ต่างกันที่ลักษณะตู้พระธัมม์จะมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ส่วนบนสอบเล็ก มีขาที่มุมทั้ง ๔ มีทั้งขาตรง ที่เรียกว่า “ขาหมู” และแบบโครงรูปเท้าสิงห์ การทำขาตู้ทั้ง ๒ แบบขึ้นอยู่กับลักษณะของตู้และลวดลาย ส่วนที่เป็นตัวตู้จะมีเสาเป็นแกนทั้ง ๔ ด้าน  เป็นโครงยึดไม้กระดานที่ต่อกันเป็นแผ่นเรียบ ด้านหน้าตู้มีบานประตูเปิดเข้าหากัน ๒ บาน มีกุญแจสำหรับล็อคภายนอก ภายในตู้แบ่งออกเป็นชั้นๆ สำหรับวางห่อพระคัมภีร์ ลักษณะการประกบกันเป็นตู้จะใช้วิธีการเข้าไม้ยึดเดือยเช่นเดียวกับหีบธัมม์

จากการรวบรวมโครงสร้างลวดลายปรากฏที่ตู้-หีดธัมม์ สามารถแบ่งตามลักษณะได้ดังนี้
๑. โครงสร้างลวดลายที่เป็นพรรณพฤกษา ลายชนิดนี้จะทำเป็นรูปดอกไม้ดอกใหญ่อยู่กลางแผ่น ลักษณะเป็นรูปวงกลมใหญ่เพียงรูปเดียว ส่วนที่มุมทั้ง ๔ จะมีลายประดับอยู่ในรูปกรอบสามเหลี่ยมที่เรียกว่าลายปีกค้างคาวอยู่ทั้ง ๔ ด้าน

๒. โครงสร้างลวดลายที่เป็นภาพเล่าเรื่อง ลายที่เป็นภาพเบ็ดเตล็ดนี้จะมีที่มาจากชาดกต่างๆ ภาพรามเกียรติ์ เป็นต้น  การวางโครงสร้างของลายจะมีความเป็นอิสระมากกว่าโครงสร้างของลายพรรณพฤกษา และจะเน้นที่จุดศูนย์กลางแผ่น แล้วจึงคลี่คลายออกไปบริเวณด้านข้าง น้ำหนักขององค์ประกอบภาพจะเป็นแบบ ๒ ข้างเท่ากัน

๓. โครงสร้างลวดลายภาพเบ็ดเตล็ด ลวดลายที่เป็นภาพเบ็ดเตล็ดนี้ จะเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไป เช่น ภาพสัตว์ พระธาตุเจดีย์ เป็นต้น การวางโครงสร้างภาพเหล่านี้ก็เช่นเดียวกับโครงสร้างทั้ง ๒ ที่กล่าวมาแล้ว เพียงแต่อาจจะอยู่ในโครงสร้างทรงเลขาคณิต หรืออาจมีลายปีกค้างคาวประดับตามมุม หรือลายประจำยามต่อกันเป็นแถวหรือเป็นริ้วคาดรอบๆ ก็ได้


วัสดุที่ใช้
ไม้เป็นวัสดุสำคัญในการทำตู้-หีดธัมม์ล้านนา ไม้ที่นิยมใช้มากที่สุดคือไม้สัก เมื่อนำมาแปรสภาพหรือแกะสลักจึงไม่ทำให้เสียรูปทรง นอกจากนี้ยังเป็นไม้ที่คงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้เป็นอย่างดี นอกจากไม้สักแล้วยังอาจใช้ไม้มะค่าหรือไม้ฉำฉาแทนก็ได้ เพียงแต่คุณสมบัติบางประการอาจไม่เทียบเท่าไม้สัก จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก ส่วนวัสดุอื่นๆ ได้แก่ รัก ชาด ซึ่งจะใช้ในขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีการทำตู้-หีดธัมม์



หีบพระธรรม วัดเกตุการาม อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่

กรรมวิธีการทำตู้-หีดธัมม์  

สามารถลำดับขึ้นตอนดังนี้
ขั้นแรก เลือกไม้ที่จะนำมาประกอบโดยจะต้องเป็นไม้อย่างหนาที่ใช้ประกอบกันเข้าเป็นฐาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในการรับน้ำหนัก เนื่องจากไม้ส่วนฐานมีการซ้อนชั้นกันหลายๆ ชั้น  ใช้วิธีการเข้าเดือยยึดกันทั้ง ๔ มุม  นอกจากนั้นจึงเตรียมไม้ที่จะทำเป็นไม้กระดาน ซึ่งควรมีขนาดเบาและบางกว่าไม้ที่ใช้ทำโครง  ช่างจะใช้ไม้กระดานเหล่านี้มาประกอบเข้ากันเป็นแผ่นใหญ่มาบุรอบโครง เช่น ส่วนฝาทั้ง ๔ ด้าน ส่วนฝาด้านบนและฝารองรับด้านล่างของตัวหีบ ฝาต่างๆ เหล่านี้เมื่อประกอบกันเข้ากับเสาโครงแล้วจะทำหน้าที่ค้ำ และยึดรักษารูปทรงของกันและกันในแต่ละด้านไว้

ขั้นที่สอง เมื่อประกอบไม้ในส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันแล้วจะต้องขัดไม้ให้ผิวเรียบเสมอกัน หากมีส่วนใดของเนื้อไม้ที่ไม่สนิท จะต้องอุดให้เรียบร้อยเสียก่อน ส่วนที่เป็นฝาเปิดด้านบนจะต้องทำให้ปิดปากหีบได้สนิท ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป

ขั้นตอนสุดท้าย ช่างทาชาด รัก และหรือทาสี เพื่อให้เนื้อไม้มีความคงทนไม่ผุพังง่าย ช่วยรักษาคุณภาพของเนื้อไม้ไว้ให้ทนนาน  จากนั้นจึงจะเริ่มงานประดับตกแต่งภายนอก โดยอาศัยเทคนิคต่างๆ เช่น การฉลุกระดาษลายรดน้ำ และเทคนิคการปั้นรักกระแหนะ ประดับด้วยกระจกสีต่างๆ บริเวณฝาทั้ง ๔ ด้าน รวมทั้งฝาปิดด้านบน โดยเน้นที่ความกลมกลืนต่อเนื่องกัน



ธัมม์หรือหีดธัมม์ เป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา คุณค่าความงามของลวดลายและสีที่ใช้จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ จากการศึกษาเกี่ยวกับลวดลายประดับตกแต่งของตู้-หีบพระธัมม์ล้านนา พบว่ามีลวดลายประดิษฐ์ ใบไม้ ดอกไม้ ลายรัศมี ทรงกลม ลายกระหนกสานในโครงสร้างรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และลายประกอบอิสระ เช่น ภาพเล่าเรื่องต่างๆ โดยนำไปใช้ตามส่วนต่างๆ ดังนี้

การประกอบลายตามแนวนอน เช่น ลายหน้ากระดาน ลายท้องไม้ และส่วนฐาน นิยมทำเป็นลายดอกไม้ ลายรัศมี ทรงกลม ลายก้านขด ลายก้านแย่ง ลายประจำยาม และหรือลายประจำยามผสมกระหนกในส่วนที่เป็นฐานหีดธัมม์ล้านนา แต่ทั้งนี้มักไม่นิยมลายกระหนกมากนัก เนื่องจากเป็นความเชื่อว่าเป็นลายที่ร้อนและไม่เป็นมงคล

การประกอบลายตามแนวตั้ง เช่น ลายเสาหรือหรือของต่างๆ นิยมใช้ลายก้านแย่ง คือการแตกลายออกไปทั้ง ๒ ข้าง เท่าๆ กัน  ลายเครือเถานำมาจากการเลื้อยของเถาไม้ตามแนวตั้ง ส่วนลวดลายที่เป็นการแสดงภาพเล่าเรื่อง ช่างจะเขียนภาพชาดก เช่น ทศชาติ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าลักษณะลวดลายถึงแม้จะยึดถือแบบไทยๆ แต่ก็ได้สอดแทรกลักษณะอันเป็นส่วนบุคคลลงไปในงานด้วย อันได้แก่ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว องค์ประกอบของสังคมในสมัยนั้น จากภาพเครื่องใช้ เครื่องพิธีกรรม การแต่งกาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของท้องถิ่น



หีบพระธรรม วัดสันป่าตึง  ต.สันป่ายาง  อ.แม่แตง  จ.เชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม ลวดลายประดับตู้-หีดธัมม์ล้านนายังขึ้นอยู่กับเทคนิคต่างๆ ที่ช่างใช้ ซึ่งแต่ละเทคนิคก็จะแสดงออกถึงลักษณะพื้นผิว อารมณ์ ความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่น พื้นผิวเทคนิคลายรดน้ำ พื้นผิวเทคนิคลายปูนปั้นรักกระแหนะ และพื้นผิวเทคนิคการติดแก้วอังวะ  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

๑. พื้นผิวเทคนิคลายรดน้ำ เทคนิคนี้สามารถตกแต่งลายได้อย่างละเอียด เป็นเทคนิคที่มีการทำซับซ้อนมากที่สุดด้วยลักษณะพื้นผิวจะเรียบมัน มีความแวววาวจากการปิดทอง เกิดความสว่าง เสริมให้งานตู้-หีดธัมม์ล้านนาเป็นของมีค่ายิ่งขึ้น

๒. พื้นผิวเทคนิคลายปรุกระดาษ เป็นเทคนิคที่พบมากในงานตู้-หีดธัมม์ กรรมวิธีจะใช้ลวดลายซ้ำๆ กัน เช่น จังหวะที่เท่ากัน แม้ว่าความละเอียดของลายจะไม่เท่าลายรดน้ำแต่ยังคงความเป็นระเบียบและคงความแวววาวของทองให้เห็นอยู่

๓. พื้นผิวเทคนิคการเขียนรักปิดทอง อาจทำให้เกิดความละเอียดประณีตหรือหยาบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือของช่างแต่ละบุคคล

๔. พื้นผิวที่เกิดจากเทคนิคการทำรักเขียนชาด พบมากเช่นเดียวกับเทคนิคลายปรุกระดาษ พื้นผิวของรักจะดูดกลืนความสว่างชัดเจนไปมาก ลวดลายชาดสีแดงจึงไม่ชัดเจนเท่าใดนัก

๕. พื้นผิวที่เกิดจากเทคนิคการติดแก้วอังวะ เทคนิคที่มีการประดับกระจกนี้จะให้ความรู้สึกแวววาวระยิบระยับ อันเกิดจากการหักเหของแสงที่มากระทบ เกิดมิติบนเนื้อไม้

นอกจากเทคนิคต่างๆ ดังกล่าวแล้ว สีที่ใช้ในงานลวดลายประดับก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้ตู้-หีดธัมม์มีความงดงาม ในอดีตที่ผ่านมาสีที่ได้จากวัสดุธรรมชาติ เช่น จากยางไม้ ใบไม้ รากไม้ ดิน และเขม่า มีเพียงไม่กี่สีเท่านั้น แต่สีที่เป็นสีหลักสำคัญที่ใช้อยู่มี ๕ สี คือ สีแดง ดำ เหลือง ขาว และน้ำเงิน  ส่วนสีทองนั้นได้มาจากแผ่นทองคำเปลว ซึ่งช่วยให้ความสว่างและความงดงามแก่ตู้หีดธัมม์  นอกเหนือจากการป้องกันการกัดกร่อนของแมลงต่าง ๆ และที่สำคัญ คือสีต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายเกี่ยวกับความเชื่อของชาวล้านนา อาทิ สีดำเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาที่มีความเจริญรุ่งเรือง ความมีอำนาจ และเป็นสีที่ใช้กับกษัตริย์ หรือเป็นสีที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนา สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาหรือพระสงฆ์ เป็นต้น



คัมภีร์ใบลาน วัดสันป่าตึง  ต.สันป่ายาง  อ.แม่แตง  จ.เชียงใหม่

ข้อมูล : หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม ๑๔ หน้า ๗๕๙๐-๗๕๙๒  จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ตุลาคม 2556 13:37:13 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 2.68 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 16 เมษายน 2567 02:07:27