[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ => ข้อความที่เริ่มโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 06 มกราคม 2553 19:43:11



หัวข้อ: ดาวเคราะห์วงโคจรประหลาดอีกแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 06 มกราคม 2553 19:43:11
ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราโคจรรอบดวงอาทิตย์ในทิศทางเดียวกันกับการหมุนรอบตัวเองของดวงอาทิตย์และมีระนาบใกล้เคียงกัน เป็นที่มาของ "สมมุติฐานเนบิวลา" ซึ่งเป็นแนวคิดที่กล่าวว่าดาวเคราะห์เกิดขึ้นจากจานฝุ่นที่หมุนวนรอบดวงอาทิตย์ที่เพิ่งเกิดใหม่

ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงเชื่อว่า ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นก็น่าจะมีต้นกำเนิดไม่ต่างกัน อาจจะเล็กใหญ่อย่างไรก็ควรมีลักษณะการโคจรแบบเดียวกัน

แต่เมื่อไม่นานมานี้นักดาราศาสตร์สองคณะจากญี่ปุ่นและอเมริกา ได้พบว่าดาวเคราะห์ดวงหนึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์กลับด้าน หรือยิ่งกว่านั้น โคจรในแนวเกือบตั้งฉากกับระนาบศูนย์สูตรของดาวฤกษ์

การโคจรในลักษณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่อยู่เหนือจินตนาการของนักดาราศาสตร์ เพราะแบบจำลองการเกิดระบบสุริยะเคยแสดงว่าระบบสุริยะแบบนี้เกิดขึ้นได้หากมีดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งหรือดาวเคราะห์ดวงอื่นมารบกวนวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงนี้ให้หลุดจากวงโคจรเดิม แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์ได้เห็นของจริง

ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า เอชเอที-พี-7 บี (HAT-P-7b) อยู่ห่างออกไปราว 1,000 ปีแสง มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดี 1.8 เท่า ส่วนดาวฤกษ์มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 1.5 เท่า ในจำนวนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่พบแล้วกว่า 400 ดวง มีเพียงสามดวงเท่านั้นที่มีวงโคจรไม่อยู่ในแนวเดียวกับการหมุนรอบตัวเองของดาวฤกษ์ แต่ไม่มีดวงไหนเลยที่มีวงโคจรเบี่ยงเบนไปมากอย่างดวงนี้

การค้นพบนี้เป็นผลงานของคณะนักดาราศาตร์ญี่ปุ่นที่นำโดย โนะริโอะ นะริตะ จากหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่น โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ซุบะรุในฮาวาย กับอีกคณะหนึ่งซึ่งนำโดยโจชัว วินน์ จากเอ็มไอทีในบอสตัน สหรัฐอเมริกา

นักดาราศาสตร์สองคณะนี้ได้คำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงนี้จากการสังเกตว่าสเปกตรัมของดาวฤกษ์แม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อดาวเคราะห์ผ่านหน้า ขณะที่ดาวฤกษ์หมุนรอบตัวเอง จะมีพื้นผิวบางส่วนเคลื่อนที่เขาหาโลกและบางส่วนเคลื่อนที่ถอยห่างจากโลก สเปกตรัมของส่วนที่เคลื่อนที่เข้าหาโลกจะมีการเลื่อนไปในทางสั้นลง (เลื่อนไปทางน้ำเงิน) ส่วนพื้นผิวด้านที่ถอยห่างจากโลกจะมีสเปกตรัมยืดยาวขึ้น (เลื่อนไปทางแดง) อันเป็นผลจากปรากฏการณ์ดอปเพลอร์ ขณะที่ดาวฤกษ์หมุนรอบตัวเอง ก็จะเกิดสเปกตรัมที่มีรูปแบบทั้งเลื่อนไปทางแดงและเลื่อนไปทางน้ำเงิน แต่เมื่อมีดาวเคราะห์มาบังหน้าดาวฤกษ์รูปแบบของสเปกตรัมก็จะเปลี่ยนไป การศึกษารูปแบบที่เปลี่ยนไปนี้ก็จะทราบวงโคจรของดาวเคราะห์ได้ ซึ่งในกรณีของดาว เอชเอที-พี-7 พบว่ามันโคจรถอยหลัง

"วงโคจรของเอชเอที-พี-7พี เป็นกรณีสุดโต่งที่สุดตามทฤษฎีกำเนิดดาวเคราะห์และวิวัฒนาการของวงโคจรดาวเคราะห์เลยทีเดียว" วินน์กล่าว




ที่มา:
Outlandish planet has wonky orbit - COSMOS Magazine

รายงานโดย:
วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) สมาคมดาราศาสตร์ไทย


หัวข้อ: Re: ดาวเคราะห์วงโคจรประหลาดอีกแล้ว
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 06 มกราคม 2553 19:44:42

(http://thaiastro.nectec.or.th/news/2009/img/news20091202a.jpg)

ดาววอสป์ 17 ดาวเคราะห์ที่พบว่ามีวงโคจรกลับด้านเป็นดวงแรก
(ภาพจากESA)