[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 14:48:40



หัวข้อ: เครื่องใช้ในเรือนไทยโบราณ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 14:48:40

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33418125617835_151549077_1095461450969534_330.jpg)
เตาประกอบอาหารของชาวไทยชนบท ปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่มาก

เตาถ่าน

เมื่อมนุษย์เริ่มเรียนรู้ใช้ไฟช่วยในการประกอบอาหาร เริ่มแรกนิยมก่อกองไฟกับพื้นดิน แต่เมื่อรู้จักใช้ภาชนะ เช่น หม้อดิน การนำหม้อดินวางบนกองไฟจะทำให้หม้อตะแคง การประกอบอาหารเป็นไปอย่างยากลำบาก  มนุษย์จึงคิดหาทางแก้ โดยนำก้อนดินหรือก้อนหิน จำนวน ๓ ก้อน (เรียกว่า ก้อนเส้า) มาวางรับก้นหม้ออีกทีหนึ่ง  ต่อมา คิดหาวิธีที่สะดวกและปลอดภัย จึงนำเอาไม้มาตีเป็นกระบะสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ ๑ x  ๑ เมตร สูงประมาณ ๑๐-๑๕ เซนติเมตร นำไปวางบนพื้นบ้านภายในครัว และเอากาบกล้วยมาวางรองก้นกระบะ เอาดินใส่ให้เต็มเพื่อป้องกันไฟไหม้บ้าน เสร็จแล้วจึงนำก้อนเส้าไปวางและก่อไฟประกอบอาหารบนนั้น  แต่การปรุงอาหารในลักษณะนี้ก็ยังไม่ได้รับความสะดวกที่เท่าควร จึงได้คิดปั้นดินให้มีรูปทรงกะทัดรัดขึ้น เพื่อสะดวกในการใช้สอยและขนย้าย จึงกลายเป็นเตาดังปัจจุบัน และเชื้อไฟที่เคยใช้เป็นไม้ฟืนก็หันมาใช้ถ่านแทน

เตา ที่ใช้ในการหุงต้ม ทำจากดินเหนียว ปั้นเป็นรูปโครงเตาลักษณะและขนาดต่างๆ ตกแต่งผึ่งลมจนแห้งแล้วนำไปเผาให้แข็งแกร่ง แล้วนำมาติดแต่งรังผึ้ง* อุดแต่งด้วยปูนทราย  แล้วนำสังกะสีมาประกอบภายนอก โดยใช้ดินเหนียวผสมแกลบดำพอเหนียวอัดช่องว่างภายในระหว่างข้างเตาและถังสังกะสีที่หุ้มอยู่ แกลบดำและดินเหนียวนอกจากจะช่วยให้ตัวเตาติดแน่นกับสังกะสีแล้ว ยังเป็นฉนวนกันความร้อนจากตัวเตาไม่ให้แผ่มายังสังกะสี ทำให้เตามีอายุการใช้งานได้ยาวนาน

ส่วนประกอบของเตามี ๒ ส่วน ส่วนปากเตาคือส่วนบนตั้งแต่รังผึ้งขึ้นไปเป็นส่วนที่ใส่ถ่าน ส่วนล่างรังผึ้งลงมาเรียกว่า หน้าเตา เป็นส่วนระบายอากาศและที่เก็บขี้เถ้าออกทิ้ง

*รังผึ้ง เป็นชื่อเรียกแผ่นวงกลมที่วางในตัวเตา มีรูระบายอากาศ ทำจากดินเหนียวผสมกับแกลบดำให้เป็นเนื้อเดียวกัน นำไปกดลงในแบบพิมพ์รังผึ้ง ผึ่งลมให้แห้ง นำไปเผาพร้อมตัวเตาจนแกร่ง


หัวข้อ: Re: เครื่องใช้ในเรือนไทยโบราณ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 16:39:52
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33418125617835_151549077_1095461450969534_330.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/48393022848500_154676079_1098185274030485_167.jpg)

หวดนึ่งข้าว

หวด เป็นเครื่องใช้ที่สานด้วยตอก ใช้นึ่งข้าว มีใช้กันทั่วไปในภาคเหนือ ภาคอีสาน

ลักษณะของหวดมีรูปทรงคล้ายกรวย ก้นสอบและมีมุม ๔ มุม ปากผายออกกว้าง  ขนาดของหวดมีตั้งแต่ขนาดปากกว้าง ๒๐ เซนติเมตร ไปจนถึง ๔๐-๕๐ เซนติมาตร มักสานด้วยตอกไม้ไผ่ โดยสานไม่ให้ตอกติดกัน ให้ห่างกันพอเมล็ดข้าวสารลอดไปไม่ได้ตลอดทั้งใบ

โดยทั่วไป นิยมสานหวดด้วยตอกไม้ไผ่บงหรือไม้ไผ่เรี้ย  โดยนำไผ่บงหรือไผ่เรี้ยมาผ่าแล้วจักเป็นตอก ๓ ขนาด  คือตอกตัวยืนเรียกว่า “ตอกซั้ง” มีขนาดประมาณ ๖ มิลลิเมตร  ตอกสานตามขวางเรียกว่า “ตอกเกี้ยว” หรือ “ตอกอ้อม” มีขนาดประมาณ ๓-๔ มิลลิเมตร  ตอกไพสำหรับขัดสานส่วนบน ขนาดประมาณ ๒ มิลลิเมตร  ใช้ตอกขนาดใหญ่ก่อก้นหวดเป็นตอกซั้ง แต่ละซั้งใช้ตอก ๒ เส้นคู่กัน สานส่วนที่เป็นก้นด้วย “ลายสอง” จากนั้นนำก้นที่ก่อแล้วมาติดกับแม่พิมพ์หวด ใช้ไม้เสียบส่วนก้นทแยงมุมให้ก้นติดกับแม่พิมพ์ แล้วพับตอกขึ้นตามพิมพ์โดยค่อยๆ แยกตอกซั้งที่คู่กันให้แต่ละเส้นสานเกี้ยวขึ้นด้วย “ลายทาน” คือยกเส้นข้ามเส้น สานสูงตามความต้องการ จึงใช้ตอกไพนั้นไพต่อขึ้นไป การไพใช้ตอกไพ ๒ เส้นต่อ ๑ รอบ เกี้ยวขัดตามกันไป โดยไพสูงประมาณ ๕ เซนติเมตร แล้วจึง “เม้มปาก” คือเอาตอกซั้งที่เหลือขึ้นไปนั้นพับลงขัดเข้ากับตอกซั้งไปทางขวา ปลายม้วนเสียบลงกับตอกไพให้แน่น ก็จะได้หวดไว้ใช้งานต่อไป

หวดที่สานด้วยไม้ไผ่เรี้ย จะมีความเหนียว ยืดหยุ่นอ่อนตัวได้ดี เวลาบีบปากหวดจะอ่อนตัวตามได้โดยไม่หัก ส่วนหวดที่สานด้วยไม้ไผ่บงมีความแข็งแรงกว่า แต่เสียตรงที่หักได้ง่าย แต่ความนิยมคนชอบทำด้วยไผ่บงมากกว่า แต่บางท้องถิ่นนิยมใช้ไม้รวกดำสานหวด เพราะเห็นว่ามีคุณสมบัติอยู่ระหว่างไม้เรี้ยและไม้บง

หวด ใช้ใส่ข้าวเหนียวหรือข้าวสารที่แช่แล้ว ที่เรียกกันว่า เข้าหม่า โดยซาวน้ำให้เมล็ดข้าวสะอาดแล้วใส่ไว้ในหวด ปล่อยให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นจึงนำหวดไปวางบนปากหม้อน้ำซึ่งกำลังเดือด ประมาณไม่ให้น้ำจรดก้นหวด ใช้ภาชนะหรือฝาหม้อปิดปากหวด ไอน้ำเดือดจะระเหยเข้าไปตามช่องว่างระหว่างรอยสานของตอก ข้าวหรืออาหารจะสุกทั่วกันโดยข้าวไม่แฉะ

นอกจากจะนิยมใช้หวดนึ่งข้าวแล้ว ยังใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกด้วย เช่น ใช้นึ่งผัก หรือใช้ล้างผักสด


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/72548131561941_151975877_1095461474302865_620.jpg)

ช้อนสังกะสีเคลือบ

จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า ช้อนชนิดแรกที่เผ่าพันธุ์มนุษย์รู้จักใช้ก็คือเปลือกหอยธรรมชาติ ต่อมาก็ใช้เศษไม้หรือเปลือกไม้ขูดให้เว้าเป็นแอ่งสำหรับใช้ตักอาหารเหลวที่อ่อนนุ่ม จากนั้นช้อนก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยตามสังคมอารยะที่มนุษย์สร้างขึ้น

ช้อนเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบทำมาจากดินเผา หลังจากนั้นมีการใช้วัสดุอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสัตว์ เขาสัตว์ หรือ งาช้าง จนกระทั่งในยุคปัจจุบันที่เราให้ค่ากับแร่โลหะ โดยเฉพาะทองคำและเงินบริสุทธิ์ ช้อนส้อมที่แข็งแรงทนทานจึงทำมาจากโลหะจำพวกสเตนเลส บรอนซ์ หรือโลหะผสมระหว่างดีบุกกับตะกั่ว ส่วนช้อนส้อมชนิดที่หรูหรามีราคาแพงมักทำจากทองคำ และ เงิน

ในวัฒนธรรมไทยแต่โบราณรับประทานข้าวหรือเปิบข้าวด้วยมือ ในวงข้าวจึงมีชามใส่น้ำสะอาดไว้ล้างมือตั้งวางไว้ข้างตัวเสมอ มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ และแพร่หลายมากขึ้นในรัชกาลที่ ๕ โดยเฉพาะช่วงหลังกลับจากเสด็จประพาสยุโรป มีการใช้ช้อนสั้นตักข้าวและอาหาร แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีการนำช้อนมาใช้คู่กับส้อมตั้งแต่เมื่อใด /size]


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33366217960913_153962092_1098211120694567_434.jpg)
ยังมีอีกมากในแผ่นดินไทย ยามค่ำคืนปราศจากแสงไฟฟ้า ต้องพึ่งพาแสงสว่างจากตะเกียงน้ำมัน

เครื่องตามไฟ - ตะเกียงกระป๋อง

เครื่องตามไฟนี้ทำจากกระป๋องนมใช้แล้ว โดยใช้สังกะสีม้วนเป็นหลอดสำหรับใส่ไส้ที่ทำด้วยด้ายดิบหรือเศษผ้าม้วนให้กลมสอดลงไปในหลอด คะเนให้ด้ายหรือผ้ายาวพอที่จะลงไปได้ถึงก้นกระป๋องที่บรรจุน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันพืช ด้ายดิบและเศษผ้าจะอมน้ำมัน เมื่อจุดไฟไส้ตะเกียงจะดูดน้ำมันขึ้นมาทำให้ลุกไหม้เกิดเป็นแสงสว่าง  เมื่อไส้ตะเกียงไหม้เกรียม จะใช้คีมคีบดึงไส้ขึ้นมาเพื่อให้เกิดแสงสว่างต่อไปได้อีกตามเวลาต้องการ ตะเกียงยังคงพัฒนามาเป็นลำดับ จากตะคันที่ใช้ไขสัตว์มาเป็นตะเกียงที่ใช้น้ำมันก๊าด มีครอบแก้ว


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/58196847264965_26_Copy_.jpg)

โก๋ย

“โก๋ย” เครื่องใช้สานจากไม้ไผ่ ผ่าแล้วจักทำเป็นตอก สานขัดอย่างง่ายๆ ให้โปร่งเพื่อระบายอากาศได้ดี
ใช้ใส่พืชผัก ผลไม้ และสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนไทใหญ่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน