[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
14 พฤษภาคม 2567 00:59:29 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 152 153 [154] 155 156 ... 274
3061  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 03 สิงหาคม 2559 15:49:24

http://www.mahamodo.com/modo/dhama_bud/bud_history/images/pic_page/68.jpg


ปางประทานบาตรและจีวร (๑)

ไม่มีปางนี้มาก่อน ผม "ตั้งขึ้นมา" เอง โบราณาจารย์ท่านตั้งไว้หลายปาง แต่ก็ยังไม่หมด น่าจะคิดขึ้นอีกหลายๆ ปาง โดยเอาเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระพุทธองค์เป็นหลัก เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ ของพระบรมศาสดา

เรื่องที่พระพุทธเจ้าประทานบาตรและจีวรแก่พระมหากัสสปะนี้ มีกล่าวถึงจริงในตำรา และมีนัยสำคัญในกาลต่อมา คือเป็นพันธะทางใจที่พระมหากัสสปะพึงสนองพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่นี้ในภายหลัง และพุทธศาสนิกฝ่ายเซน ถือเป็นที่มาของนิกายเซนด้วย จะเล่าให้ฟัง ตามผมมา (ไม่ตามจะรู้หรือ ปานนั้นเชียว)

พระมหากัสสปะ เป็นพระที่เคร่งครัดมาตั้งแต่บวชใหม่ๆ (ความจริงแล้วเคร่งมาก่อนบวชอีก เมื่อพ่อแม่จับแต่งงาน ก็มิได้อยู่กับภรรยา ดังคู่อื่นเขา เป็นสามีภรรยาแต่ในนาม ทั้งสองตกลงใจออกบวช เพราะมีความประสงค์ตรงกัน) เมื่อบวชแล้ว ท่านก็ถือธุดงควัตร ๓ ข้ออย่างเคร่งครัดคือ ถือบิณฑบาตเป็นวัตร (คือเป็นนิตย์) ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร อยู่ป่าเป็นวัตร

เฉพาะอย่างที่สองนั้น ทำให้พระท่านลำบากมิใช่น้อย ผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งไว้คลุกฝุ่น ส่วนมากก็เป็นเศษผ้าที่เขาไม่ใช้ หรือใช้ไม่ได้ อย่างดีก็เป็นผ้าที่เขาห่อศพเอาไปทิ้ง พระท่านก็จะเอาผ้าเหล่านั้นมาเย็บเป็นจีวร ย้อมด้วยน้ำฝาด คิดดูก็แล้วกัน มันจะปุปะขนาดไหน ที่แน่ๆ คือคงหนักน่าดู ยิ่งเวลาเปียกฝน ก็แทบจะ "ลาก" ไปไม่ไหว

พระมหากัสสปะ ท่านเป็นพระผู้เฒ่าด้วย คงลำบากมาก พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาคุณแก่พระมหากัสสปะ ถึงกับตรัสว่า ไม่ต้องถือธุดงควัตรก็ได้ เพราะท่านก็เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ หมดกิเลสแล้ว กิจด้วยการถือปฏิบัติขัดเกลาไม่จำเป็นแล้ว แต่ท่านก็กราบทูลพระบรมศาสดาว่าจำเป็นต้องถือ

คำกราบทูลของท่านนั้น น่าจะจดจำเอาเป็นแบบอย่างในภายหลังกันให้มาก

ท่านกราบทูลว่า "ข้าพระองค์มิได้ถือธุดงควัตร เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หากเพื่ออนุเคราะห์อนุชนภายหลัง" (ปัจฉิมาชนตาย อ่านว่า "ปัด-ฉิม-มา-ชะ-นะ-ตา-ยะ" ขอรับ) นี้คือพระอรหันตสาวกของพระพุทธองค์ ท่านมิได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านอย่างเดียว หากจะทำอะไรต้องคำนึงถึงอนุชนภายหลังด้วย คือพยายามวางแบบอย่างที่ดีงามให้คนภายหลังได้ประพฤติปฏิบัติตาม เป็นความกรุณาอันยิ่งใหญ่นัก

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า พระมหากัสสปะลำบากในการครองจีวรอันหนาเตอะนั้น จึงประทานจีวรของพระองค์ให้พระมหา กัสสปะ ทรงรับเอาจีวรของพระมหากัสสปะมาห่มเสียเอง นัยว่าประทานบาตรให้ท่านด้วย

พระมหากัสสปะจึงสำนึกในพระมหากรุณาครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ได้สนองงานพระศาสนาตามความถนัดของตนตลอดมา เมื่อครั้งพาเหล่าศิษย์เดินทางไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ที่ทรงประชวรหนัก ไปไม่ทัน พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานก่อน ได้ถามข่าวคราวจากปริพาชกคนหนึ่ง ที่ถือดอกมณฑารพเดินสวนทางมา

ได้ทราบจากปริพาชกนั้นว่า พระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานก่อนหน้านั้น ๗ วันแล้ว เหล่าภิกษุสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ก็นั่งนิ่งปลง "ธรรมสังเวช" ฝ่ายที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์



ปางประทานบาตรและจีวร (จบ)
ภิกษุแก่รูปหนึ่งนามว่า สุภัททะ ได้ปลอบโยนภิกษุเหล่านั้นว่า อย่าได้ร้องไห้เสียใจเลย ควรจะดีใจเสียอีก เพราะขณะทรงพระชนม์อยู่ พระศาสดาทรงจู้จี้สารพัด ห้ามนั่นห้ามนี่ จะเหยียดแขนเหยียดขาก็ยาก ดูเหมือนจะผิดไปหมด บัดนี้พวกเราเป็นอิสระแล้ว อยากทำอะไรก็ได้ตามปรารถนา

วาทะอันเป็นดุจหนามแทงใจนี้ ได้ยินไปถึงหูของพระมหากัสสปะ ท่านเกิดความสลดใจว่า พระบรมศาสดาปรินิพพานยังไม่ทันไรเลย สาวกยังพูดจ้วงจาบพระธรรมวินัยปานนี้ ถ้ากาลล่วงเลยไปนานเข้า จะเกิดภัยอันยิ่งใหญ่แก่พระศาสนาแน่นอน

เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว ท่านมหากัสสปะจึงดำเนินการเพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นระบบระเบียบ ก่อนลงมือทำงาน ท่านก็มานั่งรำพึงอยู่คนเดียว

รำพึงอะไร รำพึงถึงพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ที่มีต่อตัวท่าน

ขอคัดเอาคำรำพึงของท่านมาลงเลยดีไหม ไม่ต้องฟังจาก version ของผม เอาของจริงเลย

"ฐานํ โข ปเนตํ วิชฺชติ ยํ ปาปภิกฺขู อีตสตฺถุ ปาวจนนฺติ มญฺญานา ปกฺขํ ลภิตฺวา นจิรสเสว สทฺธมฺมํ อนฺตรธาเปยฺยุ อุตฺริมนุสฺสธมฺเม อตฺตนา สมสมฏฺฐาเน จ อนุคฺคหิโต ตสฺส เม กิมญฺญํ อาณณฺยํ ภวิสฺสติ...อิมินา อสาธารเณน อนุคฺคเหน อนุคฺคเหสิ จินฺตยนฺโต ธมฺมวินยสงฺ คายนตถํ ภิกฺขูนํ อุสฺสาหํ ชเนสิ"

 แปลเป็นไทยว่า เป็นไปได้ ที่ภิกษุบาปทั้งหลายจะคิดว่า พระศาสนาไม่มีศาสดาแล้ว ได้สมัครพรรคพวกแล้วก็จะทำให้พระสัทธรรมอันตรธาน เราเองพระพุทธองค์ให้เกียรติยกไว้ในฐานะเสมอกับพระองค์ ในด้านอุตริมนุสสธรรม ทางอื่นจะปลดเปลื้องหนี้ไม่มี พระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์เราด้วยการสงเคราะห์นี้ ที่ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น คิดดังนี้ พระมหากัสสปะจึงชักชวนให้ภิกษุทั้งหลายคิดสังคายนาพระธรรมวินัย

คำว่า "ทรงสงเคราะห์ด้วยการสงเคราะห์ที่ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น" ท่านมหากัสสปะหมายเอาการที่พระองค์ประทานบาตรและ จีวรให้ท่าน

นับเป็นกรณีพิเศษจริงๆ เพราะไม่ปรากฏว่าประทานให้สาวกรูปใด นอกจากท่านมหากัสสปะ

ชาวพุทธนิกายเซน จึงยกเอาเหตุการณ์ครั้งนี้ไปสร้างเป็น "นิทาน" (ในที่นี้แปลว่าต้นเหตุ) แห่งการเกิดขึ้นของนิกายเซน

โดยเล่าว่า พระพุทธเจ้าประทาน "เซน" แก่พระมหากัสสปะ พร้อมมอบบาตรและจีวรให้ด้วย พระมหากัสสปะก็ถ่ายทอดแก่พระอานนท์ พระอานนท์ก็ถ่ายทอดต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงพระโพธิธรรม (หรือ ตั๊กม้อโจวซือ) ตั๊กม้อ จีน ก็ไปถ่ายทอดต่อๆ กันไป จนถึงเว่ยหล่าง หรือ ฮุยเน้ง

ฮุยเน้ง ยกเลิกประเพณีการมอบบาตรและจีวร เพราะท่านเองกว่าจะมีโอกาสเผยแพร่พระศาสนา ก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุน หนีการตามไล่ล่าแย่งเอาบาตรและจีวรสิครับ รายละเอียดเคยเขียนไว้ใน ธรรมะของท่านพุทธทาส แล้ว โปรดหาอ่านเอาเทอญ





ปางโปรดสุภมาณพ (๑)

มาณพหนุ่มคนนี้เป็นบุตรเศรษฐีมีสมบัติสี่สิบห้าโกฏิ (คำนวณเอาก็แล้วกันว่ามากขนาดไหน) พ่อสุภมาณพเป็นคนขี้เหนียว ฝังทรัพย์ไว้ในดิน ไม่บอกให้ใครรู้จำนวนหนึ่ง เมื่อถึงแก่กรรมลงไป สุภมาณพเป็นผู้สืบทอดมรดก ไม่รู้ว่าสมบัติมหาศาลส่วนหนึ่งพ่อฝังไว้ในดิน แต่ที่เหลืออยู่ก็มหาศาล กินใช้ชั่วชีวิตไม่หมด

โตเทยยพราหมณ์ไม่ได้ทำบุญทำทานแม้แต่ครั้งเดียว เพราะกลัวทรัพย์จะหมดเปลืองด้วยการให้ทาน แถมยังสอนลูกๆ มิให้ประมาทในการใช้จ่ายทรัพย์ ทรัพย์ที่มีถึงจะมากก็มีวันหมดไปได้ดุจเดียวกับยาหยอดตา หยอดบ่อยๆ ก็หมดขวด หมั่นสะสมทรัพย์ที่เล็กๆ ดุจปลวกก่อจอมปลวก แมลงผึ้งสะสมน้ำหวาน

ตายไป เกิดเป็นสุนัขในบ้านของตนเพราะห่วงขุมทรัพย์ที่ซ่อนไว้ สุภมาณพผู้บุตรก็เลี้ยงลูกสุนัขตัวนั้นด้วยความรัก ให้กินอาหารอย่างดี ให้นอนบนที่นอนอย่างดี สุนัขมันก็รักสุภมาณพมากเช่นกัน เพราะความผูกพันที่มีแต่ปางก่อน

เช้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตในเมือง เสด็จผ่านไปยังคฤหาสน์ของสุภมาณพ สุนัขตัวโปรดของมาณพเห่าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเรียกมันว่า "โตเทยยะ เมื่่อก่อนแกไม่เห็นความสำคัญของเรา มาบัดนี้ยังจะมาเห่าเราอีก แกจะไปเกิดในอเวจีแล้ว"

สุนัขเลิกเห่า วิ่งหางจุกตูดไปนอนคลุกขี้เถ้าข้างเตาไฟ ไม่ยอมขึ้นนอนบนที่นอนหรูหราเหมือนเช่นเคย

สุภมาณพกลับจากทำธุระนอกบ้านเห็นอาการของหมาตัวโปรดผิดปกติไป จึงซักถามคนในบ้านว่าเกิดอะไรขึ้นกับสุนัขตัวโปรดของเขา ใครทำอะไรมัน ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีใครทำอะไร มีแต่พระพุทธเจ้าดุมันเมื่อมันเห่าพระองค์ โดยตรัสเรียกว่า "โตเทยยะ"

สุภมาณพได้ยินก็หูร้อนทันที คิดว่าพระพุทธองค์หมิ่นประมาทพ่อเขาและเขาอย่างแรง "ใครๆ ก็เข้าใจว่า พ่อเราไปเกิดในพรหมโลก ทำไมพระสมณะโคดมมาดูหมิ่นกันปานนี้" ไม่รอให้พระพุทธองค์เสด็จมาในวันรุ่งขึ้น เพราะไม่ทันใจ จึงรีบไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเชตวันเลยทีเดียว


ปางโปรดสุภมาณพ (จบ)
ไปถึงก็ต่อว่าพระพุทธองค์ หาว่าดูหมิ่น กล่าวหาว่าพ่อตนเป็นหมา พระพุทธองค์ตรัสว่า มิได้ดูหมิ่นเขาแต่ประการใด ที่ตรัสนั้นเป็นความจริง บิดาเขาเกิดเป็นสุนัขตัวนั้นจริงๆ แล้วตรัสถามเขาว่า
“มาณพ ทรัพย์สมบัติที่บิดาเธอมิได้บอกมีไหม”
“มีมาลาทองราคาแสนหนึ่ง รองเท้าทองราคาแสนหนึ่ง ถาดทองราคาแสนหนึ่ง และกหาปณะอีกแสนหนึ่ง หายไป” มาณพกราบทูล
“มาณพ วันนี้เธอกลับไปบ้านให้อาหารอย่างดีแก่สุนัขของท่าน ให้มันนอนบนที่นอนหรูหรา เมื่อมันใกล้จะหลับ ให้กระซิบถามมันว่า พ่อ พ่อซ่อนสมบัติที่เหลือไว้ไหน สุนัขจะพาท่านไปยังที่ฝังทรัพย์”

สุภมาณพกลับไปคฤหาสน์ของตนด้วยความคิดสองประการคือ (๑) ถ้าไม่พบขุมทรัพย์ตามที่บอกจริง คอยดูเถอะเราจะเล่นงานพระสมณะโคดมให้เข็ด  (๒) ถ้าพบจริง เราก็จะยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูจริงๆ จัดการตามที่ตรัสบอกทุกอย่าง

เมื่อสุนัขตัวโปรดใกล้จะหลับ ก็กระซิบถามว่า “พ่อ พ่อเอาสมบัติไว้ที่ไหน”  

ทันใดนั้นสุนัขตัวโปรดก็ลุกขึ้น ร้องและกระดิกหางด้วยความดีใจว่า ลูกชายจำตนได้แล้ว จึงวิ่งลงไปหลังคฤหาสน์ เห่าพลางเอาเท้าคุ้ยดิน

สุภมาณพสั่งให้ขุดตรงนี้ พบสมบัติที่หายไปตามที่พระพุทธองค์ตรัสบอกจริงๆ เขาจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามข้อข้องใจ ๑๔ ข้อ ได้รับวิสัชนาจนหายสงสัย จึงประกาศตนถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แต่บัดนั้นมา




ปางโปรดสุภัททะ ปัจฉิมสาวก
สุภัททะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในเมืองกุสินารา ตั้งใจว่าถ้ามีเวลาจะเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจของตนที่มีมานาน ที่ยังรีรออยู่ก็เพราะคิดว่ายังมีเวลา แต่พอทราบว่าพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว จึงรีบไปยังสาลวโนทยาน สถานที่พระพุทธองค์ประทับก่อนปรินิพพาน

พระอานนท์ พุทธอนุชา ปรนนิบัติพระพุทธองค์อยู่ รู้ว่าพระอาการประชวรหนักหนาสาหัสมาก ไม่ควรอนุญาตให้ใครเข้าเฝ้า เป็นการรบกวนพระยุคลบาท สุภัททะมาถึงก็ขอเข้าเฝ้าพระอานนท์ไม่ยินยอมให้เข้าเฝ้า เขาก็ยังยืนกรานขอเข้าเฝ้าให้ได้ หาไม่เขาจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว

เสียงโต้เถียงกันแว่วไปถึงพระกรรณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามผ่านพระวิสูตรว่า เสียงใคร พระอานนท์กราบทูลว่ามีมาณพคนหนึ่งยืนกรานจะเข้าเฝ้าให้ได้ ข้าพระพุทธองค์เห็นว่ามิบังควรเข้าเฝ้าเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท พระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณา รับสั่งให้เขาเข้าเฝ้า สุภัททะเข้าไปถวายบังคม แล้วกราบทูลถามว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมณะพราหมณ์ที่เป็นเจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นเจ้าลัทธิ มีชื่อเสียง ชนเป็นอันมากยอมรับว่าเป็นคนดี คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาละ อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตร ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตนๆ ทั้งหมด หรือว่าไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกได้ตรัสรู้ บางพวกไม่ได้ตรัสรู้"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "สุภัททะ ข้อนั้นยกไว้ก่อนเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟัง จงตั้งใจฟังธรรมนั้นให้ดี สุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคมีองค์แปด ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใดมีอริยมรรคมีองค์แปด ในธรรมวินัยนั้นมีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ดูก่อนสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้นมีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง

ดูก่อนสุภัททะ หากภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์"

มีเรื่องขอแทรกตรงนี้นิดหนึ่ง ๒ ประเด็นคือ
(๑) พระพุทธองค์จะไม่ทรงเสียเวลาสนทนาเรื่องที่นอกประเด็น หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ยิ่งเป็นการทับถมลัทธิศาสนาอื่น แม้ว่าจะมีผู้ถามนำก็ตาม พระองค์จะไม่ต่อประเด็น ดังสุภัททะทูลถามว่า ครูทั้งหก อันมีปูรณกัสสปะ เป็นต้น ตรัสรู้จริงหรือเปล่า พระองค์ก็ตัดบทว่า เรื่องนั้นยกไว้ก่อนเถิดเราจะแสดงธรรมให้ฟัง จงตั้งใจฟังธรรม

เมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูเข้าเฝ้า ก็ถามในทำนองเดียวกันว่าปูรณกัสสปะ เป็นต้น ใครสอนธรรมมีเหตุมีผลมากกว่ากัน พระองค์ก็ตัดบทว่าอย่าไปสนใจเลยว่าใครจะสอนมีเหตุมีผลมากกว่าใคร เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง

(๒) สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ หมายถึง พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ลัทธิศาสนาใดไม่สอนอริยมรรคมีองค์แปด ลัทธิศาสนานั้นไม่มีพระอริยบุคคลทั้ง ๔ ระดับนี้

พระพุทธวจนะที่ตรัสว่า "ถ้าภิกษุทั้งหลายพึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์" คำว่า "อยู่โดยชอบ" คือปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด สรุปลงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา หรือสรุปให้สั้นกว่านั้นคือ สมถะ กับ วิปัสสนา

ปัจจุบันนี้คนชอบถามว่า มีพระอรหันต์หรือเปล่า ถ้าถูกถามอย่างนั้น เราควรย้อนถามว่าเดี๋ยวนี้มีผู้ปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์แปดหรือเปล่าล่ะ ถ้ามี พระอรหันต์ก็มี ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติถูกต้องตาม อริยมรรคมีองค์แปด พระอรหันต์ก็ไม่มี

สุภัททะ ฟังพระธรรมเทศนาโดยย่อแล้ว ประกาศตนเป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ทูลขอบวช เนื่องจากสุภัททะเป็นเดียรถีย์คือนับถือศาสนาอื่นมาก่อน การจะบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ต้องผ่านการอยู่ "ปริวาส" (คืออยู่ปฏิบัติทดสอบศรัทธา) เป็นเวลา ๔ เดือนก่อน จึงจะบวชได้ แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าไม่มีเวลาแล้ว จึงทรงอนุญาตให้เธอบวชเป็นกรณีพิเศษ โดยประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ด้วยพระองค์เอง

เป็นอันว่า พระสุภัททะ ได้เป็นพระสาวกรูปสุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำว่า "สาวกสุดท้าย" หมายถึงสาวกที่พระพุทธเจ้าประทานการอุปสมบทให้เอง มิใช่หมายความว่า หลังจากพระสุภัททะแล้ว ไม่มีใครบวชในพระพุทธศาสนาเลย หามิได้



http://www.bloggang.com/data/t/travelaround/picture/1290009758.jpg

พระพุทธรูป ปางประทานธรรม

ปางประทาน มรดกธรรม (๑)

ปางนี้ เป็นเรื่องที่ประทานมรดกธรรม หรือพระพุทธวจนะตอนเกือบสุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ประทานคำสอน อันเป็นประดุจมรดกธรรม ให้เหล่าสาวกสืบทอดต่อๆ กันไป ไว้หลายเรื่องด้วยกัน อาทิ

๑.เกี่ยวกับอนาคตพระพุทธศาสนา พระองค์ตรัสประทานหลักการกว้างๆ ไว้ว่า "อานนท์ต่อไปภายหน้า ถ้าสงฆ์ประสงค์จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้"

ทรงมองเห็นการณ์ไกลว่า ในอนาคตเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป พระสงฆ์อาจประสบความลำบากในการรักษาสิกขาบทวินัยบางข้อ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พระองค์จึงมีพุทธานุญาตให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ บ้างก็ได้ แต่ต้องเป็นความเห็นร่วมกันของสงฆ์ มิใช่ผู้ใดผู้หนึ่งจะยกเลิกเอาเองโดยพลการ  เนื่องจากพระอานนท์มิได้ทูลถามว่าสิกขาบทเล็กน้อยคือข้อใดบ้าง พระสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูป ที่ประชุมสังคายนาพระธรรมวินัย หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน จึงไม่ยอมยกเลิก มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จะคงไว้ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มติที่ว่านี้เรียกว่า "เถรวาท" (แปลว่าข้อตกลงของพระเถระทั้งหลาย) ต่อมาเมื่อเกิดมีนิกายขึ้น คำว่าเถรวาท กลายเป็นชื่อนิกายดั้งเดิม และดำรงอยู่มาจนปัจจุบัน

๒.เรื่องมหาปเทส (ข้ออ้างใหญ่) ๔ ประการ ทรงมองเห็นการณ์ไกลอีกเช่นกันว่า ต่อไปในอนาคตอันยาวไกล คงจะต้องมีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า บางเรื่องไม่ปรากฏว่ามีห้ามไว้ หรืออนุญาตไว้จะยึดถืออย่างไร จึงจะรู้ว่าถูกหรือผิด พระพุทธองค์จึงประทานหลักสำหรับตรวจสอบเทียบเคียงอันเรียกว่า "มหาปเทส" มี ๔ ประการ คือ
   (๑) หากภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับฟังมาเฉพาะพระพักตร์ ของพระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์
   (๒) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีสงฆ์อยู่ พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาติโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าสงฆ์ ว่านี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์
   (๓) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระจำนวนมาก เป็นพหูสูต ถึงอาคม (หมายถึงเชี่ยวชาญในพุทธวจนะ) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) ข้าพเจ้าสดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้น
   (๔) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระรูปหนึ่ง เป็นพหูสูต ถึงอาคม ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าสดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์



ปางประทาน มรดกธรรม (จบ)

เธอทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในพระสูตร เทียบดูในพระวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้นสอบลงในพระสูตร เทียบเข้าในพระวินัยไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาค ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น, พระเถระเหล่านั้น, พระเถระรูปนั้น) ถือไว้ผิด พึงทิ้งเสีย

ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรได้ เทียบเข้าในพระวินัยได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแน่แท้ ภิกษุนั้น (สงฆ์นั้น, พระเถระเหล่านั้น, พระเถระรูปนั้น) รับมาด้วยดี

กล่าวโดยสรุปก็คือ การยกข้ออ้างเพื่อพิสูจน์ว่า ใช่ธรรม ใช่วินัย ใช่สัตถุสาสน์ของพระผู้มีพระภาคหรือไม่ มีหลักอยู่ ๔ ข้อ
(๑) พุทธาปเทส = ยกพระพุทธเจ้าขึ้นอ้าง
(๒) สังฆาปเทส = ยกพระสงฆ์ขึ้นอ้าง
(๓) สัมพหุลเถราปเทส = ยกพระเถระหลายรูปขึ้นอ้าง
(๔) เอกเถราปเทส = ยกพระเถระรูปเดียวขึ้นอ้าง

ถ้าเขายกพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ทั้งปวง พระเถระหลายรูป พระเถระรูปเดียวขึ้นมาอ้าง ก็ให้ตรวจสอบกับพระสูตร พระวินัย ว่าเข้ากันได้ ลงกันได้ไหม ถ้าเข้ากันไม่ได้ ลงกันไม่ได้ ก็ไม่ควรเชื่อถือ ถ้าเข้ากันได้ ลงกันได้ ก็ควรถือปฏิบัติ

นอกจากนี้ยังมี มหาปเทส ทางพระวินัยอีก ๔ ข้อที่ตรัสไว้ในที่อื่น โดยสรุปคือ (๑) สิ่งใดที่ไม่ทรงห้ามไว้ แต่ขัดกับสิ่งที่ควรทำ นับว่าไม่ควร (๒) ไม่ได้ห้ามไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ นับว่าควร (๓) สิ่งใดที่ไม่อนุญาตไว้ แต่ขัดกับสิ่งที่ควร นับว่าไม่ควร (๔) ไม่ได้อนุญาตไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ นับว่าควรหลักมหาปเทส หรือข้ออ้างใหญ่ ทั้งด้านธรรม และด้านวินัย เมื่อพระศาสดาไม่อยู่แล้ว ถ้าเกิดข้อถกเถียงกัน หรือไม่แน่ใจ ว่าอย่างไหนควรทำ อย่างไหนไม่ควรทำ ก็จะได้อาศัยตรวจสอบเทียบเคียง ถ้าลงรอย เข้ากันได้ ก็พึงเชื่อถือ ถ้าลงรอยกันไม่ได้ก็ไม่พึงเชื่อถือ

นี้เป็นมรดกธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ทรงฝากไว้ให้เหล่าสาวกในภายหลังของพระพุทธองค์ นอกจากพระธรรมวินัยอันเป็นมรดกใหญ่แล้ว ยังมีมหาปเทส อันเป็นเสมือนหลักสำหรับดูแลรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ควบคู่กันไปด้วย

นับว่าชาวพุทธมีโชคดี เป็นพุทธโอรสที่ได้รับมรดกอันมหาศาล


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
3062  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / Re: พระประวัติ-บันทึกข้อคิด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) เมื่อ: 01 สิงหาคม 2559 12:47:25

การเตรียมพร้อม

ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา อาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๗ พระมหาละออ นิรโช ป.๗ จะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระราชาคณะที่ พระชินวงศเวที เพราะเป็นสัทธิวิหาริกรุ่นสุดท้ายในเสด็จฯเจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า จึงนำพระนามมาเชิดชูพระเกียรติไว้ด้วย ที่จริงวัดเรา เป็นวัดขนาดเล็ก มีภิกษุสามเณรจำนวนน้อย มีพระราชาคณะอยู่แล้ว ๔ รูป เมื่อพระมหาละออจะได้รับสมณศักดิ์อีก ๑ รูป รวมเป็น ๕ รูป ดูออกจะเฝือ เป็นสี่สะดุดใจแก่ผู้อื่นอยู่บ้าง ต้องชี้แจงว่า วัดเล็กพระเณรน้อยก็จริง แต่ได้เข้าร่วมในฝ่ายบริหารถึง ๒ รูป โดยตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะธรรมยุตภาค เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัด และสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ ก็จำเป็นที่จะต้องมีผู้ช่วยมากรูปอยู่เอง

ในการรับสมณศักดิ์ ตกลงใช้พระอุโบสถเป็นสถานที่รับรอง ด้วยมีภิกษุสามเณรในวัดทั้งหมดประชุมสวดชยันโต และรับรองผู้มาแสดงมุทิตาจิต ได้สั่งเตรียมจัดสถานที่ เพื่อความเรียบร้อยเป็นระเบียบ ตั้งแต่วันที่ ๔ นึกอะไรได้ที่ควรตระเตรียมก็บอกสั่งไว้ และมอบหมายผู้สมควรให้ดูแลจัดการ แม้เช่นนี้ยังอดบกพร่องในสิ่งเล็กน้อยไม่ได้

เช่น พระชินวงศเวที ควรจะได้พาดสังฆาฏิเข้าในพระอุโบสถ โดยเปลี่ยนจีวรที่ซ้อนไปพับแทนสังฆาฏิเสียตัว ๑ หรือสั่งให้เตรียมสังฆาฏิเดิมมาคอยอยู่หน้าพระอุโบสถ ก็ขาดไป

ควรมีน้ำล้างเท้า ผ้าสำหรับเช็ดเท้า ก่อนเข้าพระอุโบสถ เพราะเท้าเปื้อนมาจากพระที่นั่งในวัง ก็ขาด ไม่ได้เตรียม ไม่มีใครนึกถึง

ดอกไม้สำหรับบูชาพระประธาน ควรเตรียมไว้ใกล้ที่จัดส่งได้ง่าย ก็ไปเตรียมเก็บรวมไว้เสียห่างไกล ถึงคราวจุดธูปเทียน ต้องวิ่งเที่ยวค้นหาดอกไม้

เหล่านี้ แม้เป็นการเล็กน้อย แต่ถ้าได้จัดเตรียมพร้อมไว้ก่อนก็จะเรียบ+ร้อย=เรียบร้อย งามตาขึ้นอีกมาก เหล่านี้ผู้น้อยมักเห็นว่าผู้ใหญ่จู้จี้จุกจิก แต่พอตนเป็นผู้ใหญ่ขึ้นบ้าง จึงจะเห็นคุณประโยชน์

เรื่องเช่นนี้ หัวหน้าต้องอ่านงานได้ตลอดก่อนว่า ขึ้นต้นทำอย่างไร ท่ามกลาง สุดท้าย ทำอย่างไร แล้วมอบหมายหรือทำกำหนดการให้รับทราบทุกหน่วยงาน

ทุกหน่วย ก็ต้องพิจารณาจัดทำหน่วยของตนๆ ให้เรียบร้อยทุกอย่าง ควรเตรียม ควรจัด อะไรที่จะต้องปฏิบัติ ก็เตรียมจัดพร้อมไว้ คอยประสานงานกับหน่วยอื่น สงสัยอย่างไร ต้องรีบไต่ถามแก้ไขเสียก่อนถึงงาน อย่างนี้ เท่ากับทุกหน่วยได้ช่วยคิดค้นความบกพร่องของงานไปด้วย

หัวหน้างาน จะต้องคอยสอบถาม ตรวจตรา ตักเตือน แนะนำ เป็นหูเป็นตาสอดส่องทั่วไป มิใช่คอยแต่จะนั่งสั่งงานโดยไม่ได้เห็นรูปงาน

การเตรียมพร้อมก่อนเริ่มงาน เท่ากับช่วยให้เหน็ดเหนื่อยในขณะปฏิบัติงานน้อยลง และสะดวกในการเก็บงาน ไม่ว่างานอะไร งานเล็กงานใหญ่ก็ตาม ถ้าขาดการเตรียมพร้อมแล้วก็เท่ากับเชิญแขกมาดูความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของตนนั่นเอง เหนื่อยใจ เหนื่อยกาย แล้วมิหนำซ้ำถูกตำหนิให้กระเทือนใจอีก มิเป็นการเหน็ดเหนื่อยอย่างเสียหายที่สุดหรือ วิสัยทำงาน เมื่อตกลงทำ ต้องไม่กลัวเหนื่อย ถ้ากลัวเหนื่อยก็ไม่ควรทำ เมื่อเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว ถึงเหนื่อย ก็อาจหายเหนื่อยด้วยได้รับคำชมเชย ว่าเรียบร้อยเป็นระเบียบ

ทำอย่างไร ต้องทุมเททำกันจริงๆ อย่าทำอย่างเสียไม่ได้ อย่าทำอย่างคอยเอาหน้า อย่าทำอย่างคอยกินแรงผู้อื่น อย่าทำแต่เพียงคอยกิน หรือทำด้วยคำพูด เป็นการทำลายสามัคคี ตัวเองก็จมอยู่ในปลักแห่งการถือตัวอย่างบรมโง่เท่านี้น เหมือนโคถึก เนื้อของมันเจริญจริง แต่สติปัญญาหาเจริญไม่เลย..  

บันทึก ๘ ธ.ค.๙๗



การเตรียมพร้อม (ต่อ)

คืนวันอังคารที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๙๗ สัตตมวารศพ นายซุ่นใช้ บำรุงตระกูล เจ้าภาพผู้มีอุปการะแก่วัดมานาน อาราธนาพระภิกษุในวัดไปสวดคาถาแปล ซึ่งทางวัดต้องอนุโลมเพื่อรักษาศรัทธา

จึงได้กำชับภิกษุผู้จะไปสวดให้ซักซ้อมเพื่อความเรียบร้อย ตลอดจนอากัปอย่างอื่นๆ ให้มาก เป็นการออกหน้าแก่ผู้ฟังหลายชั้น เพราะเคยทราบว่า มักคร้านต่อการซ้อม ถึงเวลาทำงาน ก็ไปแสดงความบกพร่องอวดเจ้าภาพ น่าขายหน้า ครั้นถูกตำหนิกลับไม่พอใจ ในชุดนี้ไม่ทราบว่าซักซ้อม ๒ ครั้ง  ครั้นถึงเวลาทำงาน วางพัดก็ไม่รักษาระเบียบ (วางทางซ้าย) สวดจบที่ ๓-๔ เริ่มแสดงความบกพร่องให้เห็น คณะผู้สวดจะสำนึกผิดแล้วจำไว้แก้ตัวให้เรียบร้อยในภายหลังหรือไม่ ยังทราบยาก แต่เราผู้เป็นประธานรู้สึกหน้าชา เพราะคนของเราไม่พยายามรักษาเกียรติของตนและของเราด้วย

เคยพร่ำเตือนกันเสมอ ในเรื่องการเตรียมพร้อมเพื่อรักษาระเบียบเรียบร้อย ครั้งนี้ก็เตือน แต่ดูเหมือนคำเตือนไม่ถึงใจคล้ายกับจะนึกว่า เตรียมมากเหนื่อยมาก ไทยทานไม่คุ้มเหนื่อย กล้อมแกล้มถ่วงเวลาไปประเดี๋ยวก็อนิจจาเป็นเสร็จเรื่อง นี่มิกลายเป็นความคิดของนักสวดหากินเข้ามาสิงใจไปหรือ หากได้รับตักเตือนเป็นเชิงตำหนิ กลับไม่พอใจ หาว่ารุนแรงเกินไปบ้าง ระเบียบจัดไปบ้าง กลับจะเข้าตำรา “การกินการอยู่ใครไม่สู้พ่อ การพายการถ่อ พ่อไม่สู้ใคร” หรือ “ทำแต่น้อย หวังผลให้มาก” เสียแล้วกระมัง

จึงจำเป็นต้องนำมาเขียน เป็นการเตรียมพร้อมต่อไว้อีกเพื่อผลภาคหน้า เวลานี้ผู้ถูกพร่ำว่าจะอิดหนาระอาใจเพียงไรก็ตาม ก็หวังผลภาคหน้า คงจะสำนึกได้เป็นแท้ เพียงธุระหน้าที่การงานเป็นเรื่องธรรมเนียมหยาบๆ ยังไม่สามารถทำให้เรียบร้อยงดงามตาน่าสดับตรับฟังได้แล้ว จะป่วยกล่าวไปใย ถึงเรื่องเตรียมพร้อมในด้านคุณธรรมความดีงาม ซึ่งเป็นของละเอียดลึกซึ้งอยู่ภายใน จะได้เตรียมพร้อมเป็นปุพเพกตปุญญตาละหรือ เห็นเหลือหวังอย่างยิ่งเป็นแท้

และในบทคาถาแปล มีแสดงอานิสงส์ของศีลอยู่มาก จึงชี้แจงแก่หมู่เจ้าภาพว่า คำว่า ศีลๆ ที่ฟังสวดเมื่อกี้นี้ ควรเข้าใจว่า ตรงกับคำว่าวัฒนธรรมในสมัยนี้นี่เอง ผู้มีวัฒนธรรมพร้อมในด้านกิริยามารยาท การสังคม การอยู่หลับนอน เป็นต้น มีเจริญมั่นคงแก่ผู้ใด คณะใด หมู่นั้นคณะนั้นก็ชื่อว่า ผู้มีศีล ตามความหมายแล้ว ศีลคือยอดคุณของวัฒนธรรม ส่วนข้อห้าม ๕ ข้อนั้น เป็นการตั้งบังคับไว้ไม่ให้ละเมิดความชั่วอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า ๕ ข้อนี้เท่านั้น เพียงข้อห้ามหยาบๆ ง่ายๆ ๕ ข้อเท่านี้ ก็ยังมีผู้สารภาพว่ายังรักษาไม่ได้ครบทั้ง ๕ เสมอไป อย่างนี้ยังจะหวังสวรรค์นิพพานที่ไหนอีกเล่า ขอให้ตั้งใจงดเว้นเพียง ๕ ข้อ ก็ยังไม่สมบูรณ์พร้อมเพียงได้แล้ว อย่าเอื้อมที่สูงทำนองกระต่ายหมายจันทร์เลย ไร้ประโยชน์เป็นแท้

ฉะนั้นการเตรียมพร้อมในหน้าที่การงาน ก็นับเป็นความดีที่ควรอบรมไว้ ย่อมส่งเสริมให้เจริญยิ่งขึ้นในโลกนี้ ฉันใด การเตรียมพร้อมในด้านคุณธรรมความดี เป็นบุญกุศล ก็นับเป็นปุพเพกตปุญญตาส่งเสริมให้เจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าตลอดกาล ฉันนั้น  

บันทึก ๙ ธ.ค.๙๗



การเตรียมพร้อม (ใหม่)

ในการบำเพ็ญกุศลของกรมราชทัณฑ์ ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่ออาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๗ ขณะฉันเพล (อาหารจีน จัดแบ่งเป็นที่รวมมาในถาดไม้ พร้อมอาหารและน้ำจิ้ม เฉพาะรูป) ท่านอธิบดี (พระนิกรบดี) ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานทั่วๆ ไปว่า ต้องมีความรู้ความเข้าใจโดยเฉพาะทั้งนั้น เพียงการล้างชาม ก็ต้องมีความเข้าใจว่าล้างอย่างไรจึงสะอาดรวดเร็วเรียบร้อย อาศัยเหตุที่เคยไปพบความบกพร่องของข้าราชการในต่างจังหวัดมามากแห่ง จึงเล่าว่า ในการอบรมข้าราชการซึ่งจะได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านจึงนำความบกพร่องตามที่พบมาเล่าให้ผู้รับการอบรมฟัง ต่างนิทานจนหมดเวลาอบรม

เรื่องที่ ๑ ว่า ในการต้อนรับรัฐมนตรี เห็นงานจัดเลี้ยงกาแฟต้อนรับ ด้วยนำกาแฟใส่ขวดขนาดขวดแม่โขงตั้งบนโต๊ะมีแก้วเปล่าวางล้อมไว้ นี่ก็เป็นการไม่เหมาะสมกับฐานะผู้ใหญ่ น่าจะขวนขวายหยิบยืมที่ชุดกาแฟให้เหมาะสม แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดนี้ก็ทำได้อย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจเลย

เรื่องที่ ๒ ในการเปิดป้ายโรงไฟฟ้าจังหวัด ซึ่งนายกเทศมนตรี เตรียมให้ท่านรัฐมนตรีกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย ครั้นถึงใกล้เวลา เครื่องไฟฟ้าเสียใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องให้คนคอยรูดผ้าแพร พร้อมกับท่านรัฐมนตรีกดปุ่มไฟฟ้า แต่ด้วยไม่ซักซ้อมให้เป็นที่เข้าใจก่อน เมื่อท่านรัฐมนตรีกล่าวตอบ พอลงท้ายถึงตอนว่าบัดนี้ได้อุดมฤกษ์แล้ว ข้าพเจ้าจะทำพิธีเปิดนามโรงไฟฟ้า เพียงนี้เท่านั้น พวกคนที่สั่งไว้ให้รูดผ้าแพรคลุมป้าย ก็รูดผ้าเปิดเสียเรียบร้อยแล้ว ครั้นท่านรัฐมนตรีกล่าวจบ เตรียมจะกดปุ่มไฟฟ้า เหลียวดูป้าย อ้าว! เปิดเสียเมื่อไหร่.

เรื่องที่ ๓ ในลักษณะพิธีเปิดป้ายสถานที่ เช่นเรื่องที่ ๒ แต่รายนี้ใช้ลูกโป่งให้ฉุดผ้าเปิดลอยไป ใช้แถบแพรกว้างใหญ่เป็นเชือกดึง เมื่อถึงพิธีอ่านรายงาน รัฐมนตรีกล่าวตอบ ได้อุดมฤกษ์ดึงแถบแพรเปิดป้ายแล้ว แทนที่ลูกโป่งจะพาผ้าลอยขึ้นไปบนอากาศ กลับลอยลงมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวเชิงบันไดนั่นเอง นี้ก็เพราะไม่ทดลองตรวจตรา ลูกโป่งอัดมานานกำลังก็ลดลง แถมยังมีแถบแพรกว้างใหญ่ถ่วงอยู่อีก จึงลอยหยามน้ำหน้าอยู่เพียงบันไดเท่านั้น

เรื่องที่ ๔ มีพิธีสงฆ์ในกาลมงคลครั้งหนึ่ง เมื่อพระสวดถวายพรพระ (คือพาหุํ) ท่านอธิบดีก็เตือนให้เตรียมสำรับมาแต่ก็ยังไม่มีการยกสำรับ พระสวดจบเวลา ๑๑.๐๐ น. ต้องรอไปอีกราว ๓๐ นาที สำรับจึงได้ยกมาถวายพระ พอพระจะเริ่มฉัน เปิดฝาชามข้าว! ตายจริง ข้าวไม่มี ท่านรัฐมนตรีต้องพูดแก้เก้อ อาราธนาให้ฉับกับไปพลางก่อน ว่าสมัยนี้เขานิยมทานกับมากกว่าข้าว รอไปอีกจนเกือบเที่ยงจึงได้ข้าวมา ตกลงพระคงฉันข้าวได้เพียงรูปละไม่กี่คำ เหตุทั้งนี้ สืบได้ความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบให้ศึกษาๆ มอบให้ครูโรงเรียนๆ มอบให้ภารโรงเป็นทอดกันลงไป ไม่มีใครลงมือตรวจตราด้วยตนเอง ได้แต่สั่งไปเท่านั้น

ท่านอธิบดียังเล่าต่อไปว่า สมัยเมื่อท่านยังรับราชการเป็นชั้นอำเภอ ผู้ใหญ่จะสั่งอะไรท่านมักสอนมักแนะนำให้สิ่งที่ควรไปด้วย หรือจะย้ายข้าราชการไปประจำอยู่ที่ไหน ผู้ใหญ่ก็กำชับไปเสร็จทีเดียวว่า ถ้าไปทำให้ผู้ใหญ่ในจังหวัดนั้นไม่พอใจแล้ว อย่าหวังได้เลื่อนตำแหน่งเลย จึงเป็นเหตุให้รู้ตัวว่า จะเร่งให้สูงขึ้นดี หรือจะย่ำอยู่ที่เดิม เช่นนี้ข้าราชการจึงสามารถปฏิบัติราชการได้ผลเป็นที่พอใจ

เราได้ฟังแล้วพอใจมาก เพราะถูกกับอัธยาศัยของเรา ที่ได้ปลุกปล้ำเคี่ยวเข็ญผู้อยู่ในปกครองซ้ำซากมาแล้วเสมอ เรื่องการจะเป็นนายเขา ต้องหัดเป็นบ่าวเสียก่อน หรือการเตรียมพร้อมไว้เสมอ เป็นความเจริญของชีวิต ที่นำมาบันทึกไว้ ก็เพื่อแสดงให้ปรากฏว่า การงานทุกอย่าง ไม่เลือกว่าฝ่ายโลกหรือฝ่ายธรรมย่อมมีหลักการเป็นอย่างเดียว คือการเตรียมพร้อม เพื่อให้งานสำเร็จไปด้วยความเรียบร้อย สมเกียรติ ถ้าไม่รู้ก็ต้องหาทางไต่ถาม จะรับรองท่านผู้ใหญ่ ก็ต้องทราบอัธยาศัยผู้ใหญ่เสียก่อน เช่นเวลาเช้าท่านชอบทานอะไร ไม่ชอบอะไร ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติให้สบอัธยาศัยเป็นต้น ข้อสำคัญ ตนเองโง่เขลา ยังทะนงว่าฉลาด ครั้นปฏิบัติงานพลั้งพลาด ได้รับการติเตียน กลับโพทนาว่าผู้ใหญ่อคติ อย่างนี้แหละ ควรเรียกว่า “บรมมหาพาล” เทียวแล  

บันทึก ๑๒ ธ.ค.๙๗



ปรอทวัดอารมณ์

ตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ อากาศแปรปรวนกลับหนาวเย็นอยู่ ๓-๔ วัน  บางเสียงว่าเพราะประหารชีวิตนักโทษคราวเดียว ๓ คน อากาศจึงหนาวเย็น, บางเสียงก็ว่า อากาศหนาวเย็นต้อนรับพวกฝรั่งจะเข้ามาประชุมในพระนคร  ในระหว่างนั้น พระภิกษุ พระลิปิกกรณ์โกศล มาหาด้วยกิจธุระบางประการ แล้วปรารภว่า ปรอทลดลงอีก ๒-๓ ดีกรี จึงทำให้หนาวเย็นมาก จึงตอบไปตามแนวความคิดในทันทีนั้นว่า “ช่างเถอะ เรื่องดินฟ้าอากาศก็มีแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อยู่เสมอ จะเอาแน่นอนคงที่อยู่ไม่ได้ อย่าไปสนใจนัก ปรอทสำหรับวัดอากาศให้ทราบหนาวร้อนมีอยู่ ก็พออาศัยเทียบเคียงดูลักษณะของอากาศได้บ้าง แต่สู้สร้างปรอทไว้สำหรับวัดอารมณ์ของเราเองไม่ได้ คือหมั่นมีสติคอยพิจารณาดูจิตใจของเราเองอยู่เสมอ อารมณ์โกรธมากระทบ ทำให้ใจฉุนเฉียว นี่ก็เหมือนความร้อนสูง อบอ้าว อารมณ์โลภมากระทบ ทำให้กระสับกระส่ายดิ้นรนเที่ยวแสวงหา ก็เหมือนความร้อนลดต่ำใกล้ศูนย์. อารมณ์หลงมากระทบ ทำให้งมงายขาดใคร่ครวญ หลงเป็นจริงเป็นจังไป ก็เหมือนความร้อนลดลงใต้ศูนย์ดีกรี เมื่อรู้ลักษณะอารมณ์ของตัวได้เช่นนี้ พยายามประคับประคองอย่าให้สูงเกินไป หรือลดลงต่ำจนหลงงมงายขาดสติปัญญา ปล่อยตามอารมณ์แล้วแต่จะนำไป คอยพยายามควบคุมเหนี่ยวรั้ง ให้อยู่ในระดับอบอุ่นด้วยคุณธรรม สร้างปรอทไว้วัดอารมณ์ของเราเช่นนี้ เป็นคุณประโยชน์แก่เราเอง ดีกว่าปรอทวัดอากาศมากมาย”

คุณพระรับว่า “จริงครับ”  

บันทึก ๖ มี.ค.๙๘


โปรดติดตาม
พระนิพนธ์ในลำดับถัดไป
หัวข้อ “ปล่อยผ่านไป”
3063  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ปลาช่อนแดดเดียว สูตร/วิธีทำ - สด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารเจือปน เมื่อ: 30 กรกฎาคม 2559 10:30:42





ปลาช่อนแดดเดียว

ส่วนผสม
- ปลาช่อน  น้ำหนัก 1 กิโลกรัม
- น้ำสะอาด 4 ถ้วยตวง
- เกลือ 6 ช้อนโต๊ะ
  (หมายเหตุ สัดส่วนน้ำและเกลือ ตวงด้วยถ้วยตวงและช้อนขนาดมาตรฐาน มีขายตามร้านอุปกรณ์ทำขนมอบหรือห้างสรรพสินค้า)  


วิธีทำ
• ขอดเกร็ดปลา ตัดหัว ควักเครื่องในออกให้หมด แล้วแล่สันหลังปลา แผ่ออกเป็นแผ่น (ตามภาพ) นำไปล้างให้สะอาด
• แช่ปลาในน้ำเกลือ ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง
• นำปลาไปตากแดดประมาณ ครึ่งวัน หรือจนกว่าเนื้อและหนังปลาแห้งตึง
• ทอดปลาด้วยไฟปานกลางจนสุกเหลืองสองด้าน



ใส่เกลือในน้ำสะอาด คนให้ละลาย


นำปลาไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง
(น้ำนักปลาตามภาพ 1 กิโลกรัม หลังจากตัดส่วนหัวและควักเครื่องในออกแล้ว)


นำไปวางบนตะแกรงโปร่ง ตากแดดจนผิวปลาแห้งตึง (ผู้ทำใช้เวลาตากแดดครึ่งวัน)


ทอดด้วยไฟกลางจนสุกเหลืองสองด้าน รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยเด็ดนัก
3064  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: วัดพระเชตุพนฯ : แหล่งสรรพวิทยาการ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย เมื่อ: 29 กรกฎาคม 2559 15:31:23


พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้เกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี คือ พระยาสรรค์ได้ตั้งตัวเป็นกบฏ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เสด็จกลับจากกัมพูชาเข้ามาปราบจลาจลที่กรุงธนบุรี ก็ได้เสด็จประทับ ณ พลับพลาหน้าวัดโพธารามก่อน แล้วจึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งข้ามไปยังพระราชวังธนบุรี แล้วปราบปรามกบฏจนบ้านเมืองสงบ ทรงเห็นว่าเหตุเพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระสติวิปลาส จึงให้นำไปสำเร็จโทษ แล้วทรงปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ พระชนมายุ ๔๗ พรรษา กับทั้งให้ย้ายพระมหานครมาตั้งทางฝั่งตะวันออก สมัยกรุงธนบุรีจึงสิ้นสุดลงในที่สุด

บริเวณที่ทรงให้สร้างพระบรมมหาราชวังนั้น อยู่ในระหว่างวัดสองวัด คือด้านเหนือเป็นวัดมหาธาตุ (วัดสลัก) ด้านใต้เป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธาราม)  การที่มีวัดอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังเช่นนี้ จะปล่อยให้วัดเสื่อมโทรมอยู่มากไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบมา พระราชกรณียกิจประการสำคัญประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็คือ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรยิ่งขึ้น ในปีพุทธศักราช ๒๓๓๑ จึงโปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธารามให้บริบูรณ์งดงามขึ้น ดังปรากฏอยู่ใน “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ ครั้งรัชกาลที่ ๑” ซึ่งจารึกไว้ที่พระวิหารทิศพระโลกนาถมุขหลัง ดังต่อไปนี้

“ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว สองพันสามร้อยสามสิบเบ็ดพระวษา ณ วันจันทร์เดือนสิบเบ็ด แรมแปดค่ำ ปีระกานักษัตรเอกศก สมเด็จพระบรมธรรมมฤกมหาราชาธิราช พระเจ้ารามาธิบดีบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ผู้ผ่านพิภพไอศวรรยาธิปัติถวัลยราชกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานี บุรีรมย์อุดมพระราชมหาสถาน เสด็จทอดพระเนตร์เห็นวัดโพธารามเก่าชำรุดปรักหักพังเป็นอันมาก ทรงพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์สร้างให้บริบูรณ์งามขึ้นกว่าเก่า ซึ่งที่เป็นลุ่มดอนห้วยคลองสระบ่อร่องคูอยู่นั้น ทรงพระกรุณาให้เอาคนสองหมื่นเศษขนดินมาถมเต็มแล้ว รุ่งขึ้นปีหนึ่งสองปีกลับยุบลุ่มไป จึงให้ซื้อมูลดินถมสิ้นพระราชทรัพย์สองร้อยห้าชั่ง สิบห้าตำลึง  จึงให้ปราบที่พูนดินเสมอดีแล้ว  ครั้น ณ วันพฤหัศบดี เดือนสิบสอง แรมสิบเบ็ดค่ำ ปีฉลูนักษัตรเบญจศก ให้จับการปฏิสังขรณ์สร้างพระอุโบสถ มีกำแพงแก้วกระเบื้องปรุล้อมรอบ พื้นในกำแพงแก้วแลหว่างพระระเบียงชั้นในชั้นนอก ก่ออิฐห้าชั้นแล้วดาดปูน กระทำพระระเบียงล้อมสองชั้น ผนังพระระเบียงข้างในประดับกระเบื้องปรุ ผนังหลังพระระเบียงเขียนเป็นลายแย่ง มุมพระระเบียงนั้นเป็นจัตุรมุขทุกชั้น มีพระวิหารสี่ทิศ บรรดาหลังคาพระอุโบสถพระวิหารพระระเบียงนั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวเหลืองสิ้น ตรงพระวิหารทิศตวันตกออกไป ให้ขุดรากพระเจดีย์ใหญ่กว้างสิบวา ลึกห้าศอก ตอกเข็มเอาอิฐหักใส่กะทุ้งให้แน่น แล้วเอาไม้ตะเคียนยาวเก้าวาน่าศอกจัตุรัส เรียงประดับประกับกันเป็นตะรางสองชั้น แล้วจึงเอาเหล็กดอกเห็ดใหญ่ยาวสองศอกตรึงตลอดไม้แกงแนงทั้งสองชั้น หว่างช่องแกงแนงนั้น เอาอิฐหักทรายถมกะทุ้งให้แน่นดีแล้ว รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือนสาม ขึ้นสิบค่ำ ปีขาลฉศก เพลาเช้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรพร้อมด้วยพระราชวงษานุวงษ์ เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตโหราจารย์ มายังที่ลานพระมหาเจดีย์ จึงให้ชักชะลอพระพุทธปฏิมากรศรีสรรเพชญ์อันชำรุดรับมาแต่กรุงเก่าเข้าวางบนราก ได้ศุภฤกษประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ดุริยางดนตรีปี่พาทย์ เสด็จทรงวางอิฐทองอิฐนากอิฐเงินก่อราก ข้าทูลละอองทุลีพระบาททั้งปวงระดมกันก่อฐานกว้างแปดวาถึงที่บรรจุ จึงเชิญพระบรมธาตุแลฉลองพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง พระเขี้ยวทององค์หนึ่ง พระเขี้ยวนากองค์หนึ่ง บรรจุในท้องพระมหาเจดีย์ แล้วก่อสืบต่อไปจนสำเร็จ ยกยอดสูงแปดสิบสองศอก กระทำพระระเบียงล้อมสามด้าน ผนังนั้นเขียนนิยายรามเกียรติ  จึงถวายนามพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ แลในวงพระระเบียงชั้นในมีพระมหาธาตุสี่ทิศ นอกพระระเบียงชั้นนอกหว่างพระวิหารคดนั้น มีพระเจดีย์ฐานเดียวห้าพระองค์ สี่ทิศยี่สิบพระองค์ เข้ากันทั้งพระมหาเจดีย์ใหญ่ พระมหาธาตุ เป็นยี่สิบห้าพระองค์ บรรจุพระบรมธาตุสิ้น แลมีพระวิหารคดสี่ทิศ กำแพงแก้วคั่น ประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบสองประตู มีรูปสัตว์ประตูละคู่ ทำหอไตรย์มุงกระเบื้องหุ้มดีบุก ฝาแลเสาปิดทองลายรดน้ำ แลตู้รูปปราสาทใส่คัมภีร์พระปริยัติไตรปิฎก ทำการบุเรียนหอระฆัง พระวิหารน้อยซ้ายขวา สำหรับทายกไว้พระพุทธรูป ขุดสระน้ำ ปลูกพรรณไม้ ทำศาลารายห้าห้อง เจ็ดห้อง เก้าห้อง เป็นสิบเจ็ดศาลา เขียนเรื่องพระชาดกห้าร้อยห้าสิบพระชาติ ตั้งตำรายาและฤๅษีดัดตนไว้เป็นทาน ทำกำแพงแก้วล้อมรอบนอก มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องถ้วยสี่ประตู มีรูปอสูรประจำประตูละคู่ มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบเก้าประตู ทั้งประตูกำแพงคั่นสองเป็นสิบเบ็ดประตู มีรูปสัตว์ประตูละคู่ เป็นรูปสัตว์ยี่สิบสองตัว แล้วทำตึกแลกุฎีสงฆ์หลังละสองห้อง สามห้อง สี่ห้อง ห้าห้อง หกห้อง เจ็ดห้อง ฝากระดาน พื้นกระดานมุงกระเบื้อง เป็นกุฎีร้อยยี่สิบเก้า ทำหอฉัน หอสวดมนต์ ศาลาต้มกรักตากผ้า สระน้ำ ทำกำแพงล้อมกุฎีอีกวงหนึ่ง แลริมฝั่งน้ำนั้น มีศาลาสามหน้าต้นสะพานพระสงฆ์สรงน้ำ ทำเว็จกูฎีสี่หลัง แลในพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียงนั้น เชิญพระพุทธปฏิมากรอันหล่อด้วยทองเหลืองทองสำฤท ชำรุดปรักหักพังอยู่ ณ เมืองพระพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองศุกโขไท เมืองลพบุรี เมืองกรุงเก่า วัดศาลาสี่หน้า ใหญ่น้อย พันสองร้อยสี่สิบแปดพระองค์ ลงมาให้ช่างหล่อต่อพระศอ พระเศียร พระหัตถ พระบาท แปลงพระภักตร์พระองค์ให้งามแล้ว พระพุทธรูป พระประธานวัดศาลาสี่หน้า น่าตักห้าศอกคืบสี่นิ้ว เชิญมาบุณะปฏิสังขรณ์ เสร็จแล้วประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ บรรจุพระบรมธาตุ ถวายพระนามว่า พระพุทธเทวะปฏิมากร แลผนังอุโบสถ เขียนเรื่องทศชาติทรมานท้าวมหาชมภูแลเทพชุมนุม พระพุทธรูปยืนสูงยี่สิบศอก ทรงพระนามว่า พระโลกนาถศาสดาจารย์ ปรักหักพัง เชิญมาแต่วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงเก่า ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วเชิญประดิษฐานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลัง บรรจุพระบรมธาตุด้วย ผนังเขียนพระโยคาวจรพิจารณาอาศภสิปและอุปรมาญาณสิบ พระพุทธรูปวัดเขาอินเมืองสวรรคโลก หล่อด้วยนาก น่าตักสามศอกคืบ หาพระกรมิได้ เชิญลงมาบุณะปฏิสังขรณ์ด้วยนาก เสร็จแล้วประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในพระวิหารทิศตวันออก บรรจุพระบรมธาตุถวายพระนามว่าพระเจ้าตรัสในควงไม้พระมหาโพธิ์ มีต้นพระมหาโพธิ์ด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องมารผะจญ  พระพุทธรูปน่าตักสี่ศอกห้านิ้วเชิญมาแต่กรุงเก่า ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศใต้ ถวายพระนามว่าพระพุทธเจ้าเทศนาพระธรรมจักร มีพระปัญจวัคคียทั้งห้านั่งฟังพระธรรมเทศนาด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องเทศนาพระธรรมจักรแลเทศนาดาวดึงษ์ พระพุทธรูปน่าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว เชิญมาแต่ลพบุรี ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศตะวันตก บรรจุพระบรมธาตุถวายพระนามว่าพระนาคปรก มีพญานาคแผลงฤทธิเลิกพังพาน มีต้นจิกด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องพระเกษธาตุ พระพุทธรูปหล่อใหม่สูงแปดศอกคืบห้านิ้ว ประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศเหนือ บรรจุพระบรมธาตุ ถวายพระนามว่าพระป่าเลไลย มีช้างถวายคนทีน้ำ มีวานรถวายรวงผึ้ง แลผนังนั้นเขียนไตรภูม มีเขาพระสุเมรุราชแลเขาสัตตะพันท์ ทวีปใหญ่ทั้งสี่ แลเขาพระหิมพานต์ อะโนดาตสระแลปัญจมหานที พระพุทธรูปในพระอุโบสถอารามเก่าน่าตักสี่ศอก เชิญเข้าประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในการบุเรียน แล้วจัดพระพุทธรูปใส่ในพระระเบียงชั้นในชั้นนอกแลพระวิหารคด เป็นพระพุทธรูปมาแต่หัวเมืองชำรุดปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ หกร้อยแปดสิบเก้าพระองค์ พระพุทธรูปทำด้วยอิฐปูนสำหรับอาราม ชำรุดอยู่ร้อยแปดสิบสามพระองค์ เข้ากันเป็นพระพุทธรูปและพระอรหันต์แปดร้อยเจ็ดสิบสองพระองค์ ลงรักปิดทองสำเร็จ เหลือนั้นข้าทูลละอองทุลีพระบาทสัปรุษทายก รับไปบุณะไว้ในพระอารามอื่น แลการถาปนาพระอาราม เจ็ดปี ห้าเดือน ยี่สิบแปดวันจึงสำเร็จ สิ้นพระราชทรัพย์แต่ที่จำได้ คิดค่าดินถมอิฐปูนไม้ทรุงสัก ขอนสัก ไม้แก่น เหล็ก กระเบื้อง ฟืน ไม้จากทำโรงงานร่างร้าน เรือนข้าพระ เสากะดานกุฎี น้ำอ้อย น้ำมันยาง ชัน ดีบุก ทองเหลือง ทองแดง สีผึ้งหล่อ ถ่าน กระจก น้ำรัก ทองคำ กระดาด ขาด เสน เครื่องเขียน รง ดินแดง พระราชทานช่างแลเลี้ยงพระสงฆ์ เลี้ยงช่าง แล้วช่วยคนชายสกันหกสิบหกคน สมโนครัวสองร้อยยี่สิบสี่คน เป็นเงินเก้าสิบห้าชั่ง สิบเบ็ดตำลึง สักแขนขวาถวายเป็นข้าพระขาดไว้ในพระอาราม ตั้งหลวงพิทักษชินศรี เจ้ากรม ขุนภักดีรศธรรม ปลัดกรม ควบคุมข้าพระรักษาพระอาราม เข้ากันสิ้นพระราชทรัพย์สร้างและช่วยคนเป็นเงินสามพันเจ็ดร้อยแปดสิบห้าชั่งหกตำลึง แล้วทรงพระกรุณาให้เอาแพรลายย้อมครั่ง ทรงพระพุทธรูปในพระวิหารทิศ พระระเบียงวิหารคด การบุเรียน พระมหาธาตุเจดีย์ใหญ่น้อย สิ้นแพรร้อยพับ แต่พระพุทธรูปเทวะปฏิมากรในพระอุโบสถ ทรงผ้าศรีทับทิมชั้นใน ตาดชั้นนอก ครั้น ณ วันศุกร์ เดือนห้า แรมสิบสองค่ำ ปีระกาตรีนิศก ให้ตั้งการฉลอง  อาราธนาพระราชาคณะ ถานานุกรม อธิการอันดับฝ่ายคันธะธุระวิปัศนาธุระพันรูปพร้อมกัน ณ พระอุโบสถ เพลาบ่ายแล้วสี่โมงห้าบาต  สมเด็จพระบรมนาถบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชพระราชวงษานุวงษ์ เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตาจารย์ มายังพระอุโบสถ  ทรงสมาทานพระอุโบสถศีล แล้วหลั่งน้ำอุทิโสทกลงเหนือพระหัตถพระพุทธปฏิมากร  ถวายพระอารามตามพระบาฬีแก่พระสงฆ์  มีองค์พระพุทธปฏิมากรเป็นประธานมีนามปรากฏชื่อวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ  มอบถวายพระวันรัตนพิพัฒฌานอดุลสุนทรวรนายกปิฎกธรา มหาคณิศรบวรทักขิณาคณะสังฆารามคามวาสีสถิตในวัดพระเชตุพน แล้วถวายแก่พระพุทธปฏิมากร แพรยกไตรย์หนึ่ง บาตร์เหล็กเครื่องอัฐะบริขารพร้อม ย่ามกำมะหยี่ เครื่องย่าม พร้อมพัชแพร ร่มแพร เสื่ออ่อน โอเถา โอคณะ กาน้ำ ช้อนมุก ขวดแก้วใส่น้ำผึ้ง น้ำมันพร้าว น้ำมันยา กลักใส่เทียนธูปสิ่งละร้อย ไม้เท้า รองเท้า สายระเดียง  พระสงฆ์พันหนึ่งก็ได้เหมือนกันทุกองค์  ครั้นจบพระบาฬีที่ทรงถวาย พระสงฆ์รับสาธุพร้อมกัน  ประโคมดุริยางค์ดนตรี แตรสังข์ฆ้องกลองสนั่นไปด้วยสัรทสำเนียงกึกก้องโกลาหล พระสงฆ์รับพระราชทานแล้วไปสรงน้ำครองไตรย์ มาสวดพระพุทธมนต์เพลาเย็นวันละพันรูป ปรนนิบัติพระสงฆ์ฉันเช้าเพนสามวันๆ ละพันรูป  ถวายกระจาดทุกองค์ให้มีพระธรรมเทศนาบอกอานิสงส์ทุกวัน แล้วปรนิบัติพระสงฆ์ซึ่งศรัทธาทำดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนไตร์ฉันเช้าทั้งเจ็ดวัน เป็นพระสงฆ์หกร้อยยี่สิบสี่รูป ถวายผ้าสบงทุกองค์ ถวายบาตร์เหล็ก ซึ่งพระสงฆ์ไม่มีครอง แล้วถวายกระจาด เสื่อ ร่ม รองเท้า ธูป เทียน ไม้เท้าด้วย


ภาพวาดการละเล่นและความรื่นเริงต่างๆ ในวันปีใหม่ของไทย
ในแผ่นดินของพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อสร้างบรรยากาศให้ครึกครื้นบันเทิงเสมือนกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา)
ตามบันทึกของคณะนักบวช บาทหลวงชาวฝรั่งเศส


การละเล่นต่างๆ ลอดบ่วง ระทาดอกไม้ไฟ โรงหนังจีน (หุ่น)


ระทาดอกไม้ไฟ โรงหนังไทยญวนหก โปรดสังเกตร้านน่ังที่อยู่โรงมหรสพทุกแห่ง
มีบันไดพาด และมีหม้อน้ำตั้งไว้สำหรับดับไฟ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการจุดดอกไม้ไฟ


การแสดงของโรงงิ้ว


การต่อยมวย และการละเล่นต่างๆ

แล้วให้ตั้งโรงฉ้อทานเลี้ยงสมณะชีพราหมณะอนาประชาราษฎรทั้งปวง แลมีโขนอุโมงค์โรงใหญ่ หุ่น ละคอน มอญรำ ระบำ มงครุ่ม คุลาตีไม้ ปรบไก่ งิ้วจีน ญวน หกขะเมนไต่ลวด ลวดบ่วง รำแพน นอนหอกดาบ โตฬ่อแก้วแลมวย เพลากลางคืนประดับไปด้วยประทีบ แก้วระย้า แก้วโคม พวงโคมรายแลดอกไม้รุ่งสว่างไปทั้งพระอาราม แล้วให้มีหนังคืนละเก้าโรง มีดอกไม้เพลิงคืนละสองร้อยพุ่ม ระทาใหญ่แปดระทา พลุ ประทัด พะเนียง ดอกไม้ม้า ดอกไม้กะถาง ดอกไม้กลต่างต่าง แลมังกรฬ่อแก้ว ญวนรำโคม  เป็นที่โสมนัศบูชาโอฬาริกวิเศษ เป็นพระราชทรัพย์ทิ้งทานต้นกามพฤกษ์  ฉลากพิกัดค่าพระราชบุตร์ บุตรี พระภาคีไนยราช แลนางพระสนม ราชกุญชรอัศดรนาวา ฉลากละห้าชั่ง สี่ชั่ง สองชั่ง  เป็นเงินสามร้อยสามสิบแปดชั่ง เงินใส่ผลมะนาวร้อยหกสิบแปดชั่ง เข้ากันทิ้งทานห้าร้อยหกชั่ง คิดทั้งเงินค่าผ้าทรงพระ ดอกไม้สดบูชา เลี้ยงพระสงฆ์ กระจาดและโรงฉ้อทาน เครื่องไทยทาน ทำเครื่องโขน โรงโขน เครื่องเล่นเบ็ดเสร็จ พระราชทานการมะโหระสพ แลถวายระย้าแก้ว โคมแก้ว บูชาไว้ในพระอาราม เป็นเงินในการฉลอง พันเก้าร้อยสามสิบชั่งสี่ตำลึง เข้ากันทั้งสร้างเป็นพระราชทรัพย์ ห้าพันแปดร้อยสิบเบ็ดชั่ง  ครั้นเสร็จการฉลองพระอารามแล้ว ภายหลังทรงพระกรุณาให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้งสอง ซึ่งสถิตในพระวิหารฝ่ายทักขิณทิศแลทิศประจิมนั้น ขึ้นไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้งสองพระองค์ ซึ่งเชิญมาแต่เมืองศุกโขไท น่าตักห้าศอกคืบกับนิ้วหนึ่งเท่ากัน พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระพุทธชินราช เข้าประดิษฐานไว้แทนที่ในพระวิหารฝ่ายทักขิณทิศ  พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระพุทธชินศรี เข้าประดิษฐานไว้แทนที่ในพระวิหารฝ่ายปัจจิมทิศคงดังเก่า  ซึ่งทรงพระราชศรัทธาบำเพ็ญพระราชกุศลทั้งนี้ ใช่พระทัยจะปรารถนาสมบัติบรมจักรจุลจักรท้าวพญาสามลราช แลสมบัติอินทร์พรหมหามิได้  ตั้งพระทัยหมายมั่นพระบรมโพธิญาณในอนาคตกาล จะรื้อสัตว์ให้พ้นจากสงสารทุกข์ แลการพระราชกุศลทั้งนี้ ขออุทิศให้แก่เทพเจ้าในอนันตจักรวาล แลเทพยเจ้าในฉกามาพจร แลโสฬศมหาพรหม อากาศเทวดา พฤกษเทวดา ภูมเทวดา อารักษเทวดาแลกษัตราธิราช พระราชวงษานุวงษ์ เสนาพฤฒามาตย์ ราชปโรหิต สมณชีพราหมณ์ อนาประชาราษฎร์ ทั่วสกลราชอาณาจักรในมงคลทวีป จงอนุโมทนาเอาส่วนพระราชกุศลนี้ ให้เป็นลาภศิริสวัสดิ์ทีฆายุศม์ ฯ “

กว่าจะมาเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า วัดโพธารามซึ่งมีมาแต่กรุงศรีอยุธยา และก่อนการบูรณะคงมีความเสื่อมโทรมอยู่มาก ยิ่งตอนกรุงแตก อาณาจักรทั้งปวงก็แปรปรวนวิปริต มิได้ปกติเหมือนแต่ก่อน ประชาราษฎรก็ได้ความเดือดร้อนทุกขภัย ทิ้งเหย้าเรือนอพยพครอบครัวหนีเข้าป่าดงไปก็มีเป็นอันมาก บ้านเรือนถูกทิ้งร้างว่างเปล่าอยู่ทุกแห่งทุกตำบล

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ  เสด็จทอดพระเนตรเห็นวัดโพธาราม ชำรุดปรักหักพังเป็นอันมาก ทรงพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์งามขึ้นกว่าเก่า จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้บูรณะวัดโพธารามขึ้นใหม่ กลายเป็นวัดที่มีระเบียบสวยงาม การก่อสร้างก็ล้วนวิจิตรบรรจง จนเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมที่เชิดหน้าชูตา และเป็นสง่าแก่ชนผู้ได้ทัศนาการมากที่สุด  

พระราชภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทรงโปรดฯ ให้รวบรวม อัญเชิญพระพุทธปฏิมากร หล่อด้วยทองเหลือง ทองสัมฤทธิ์ มาจากหัวเมืองต่างๆ  ได้แก่ กรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัย เมืองพิษณุโลก เมืองลพบุรี วัดศาลาสี่หน้า จำนวน ๑,๒๔๘ พระองค์ ซึ่งส่วนใหญ่ชำรุดเสียหาย หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะเสียหายมากยิ่งขึ้น มาบูรณปฏิสังขรณ์ ให้ช่างหล่อต่อพระเศียร พระศอ พระหัตถ์ พระบาท เสร็จแล้วอัญเชิญประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ประจำพระวิหาร พระระเบียง พระวิหารทิศ พระวิหารคด และพระระเบียงล้อมพระมหาเจดีย์ กับทั้งให้ไปประดิษฐานตามวัดวาอื่นๆ บ้าง

จาก “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ ครั้งรัชกาลที่ ๑”  มีเรื่องราวที่ต้องขยายให้ละเอียด ดังนี้
๑.การลงทุนลงแรง ใช้กำลังคนมากถึงสองหมื่นคนเศษ ขนดินมาถมที่ปราบที่ให้เสมอกัน  
๒.ใช้เวลาก่อสร้าง ทำนุบำรุงถึง ๑๒ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๓๒ ถึง พ.ศ.๒๓๔๔  
๓.สิ้นพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์วัด เฉลิมฉลองพระอาราม ทิ้งทาน และบูชาพระ (เท่าที่จำได้) ๕,๘๑๑ ชั่ง (หรือ ๔๖๔,๘๘๐ บาท – ราคาในสมัยรัชกาลที่ ๑)
๔.ให้วัดโพธาราม มีนามปรากฏชื่อ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ
๕.นับรวมพระเจดีย์ทั้งหมดแล้ว  มีเจดีย์มากถึง ๙๙ องค์ (รวมพระมหาธาตุรูปปรางค์รอบพระอุโบสถ)
๖.ให้ตั้งการฉลอง มีการสวดพระพุทธมนต์เพลาเย็นสามวันวันละ ๑,๐๐๐ รูป ปรนนิบัติพระสงฆ์ฉันเช้าเพลสามวัน วันละ ๑,๐๐๐ รูป
๗.ปรนนิบัติพระสงฆ์ ๖๒๔ รูป ซึ่งศรัทธาทำดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนตรัย ฉันเช้าทั้ง ๗ วัน  

พึงสังเกตว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเป็นนักรบที่สามารถ ก่อนขึ้นเสวยราชย์ พระองค์ไม่มีเวลาว่างจากการทำศึกสงคราม ทรงได้ต่อสู้ข้าศึกจากภายนอกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อความร่มเย็นของราษฎรมาโดยตลอด  เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็มิได้ทรงลืมความสำคัญของการพระศาสนา โปรดฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต (ที่เมื่อครั้งยังเป็นที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ได้ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๔ ได้ชัยชนะกวาดต้อนผู้คนข้ามมาไว้ ณ เมืองพรนพร้าวฟากตะวันตก และอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตปฏิมากรแก้วมรกต มาพร้อมกันด้วยในครั้้งนั้น  พระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ โรงริมพระอุโบสถวัดแจ้งภายในพระราชวัง ต่อมาเมื่อได้ครองราชย์ จึงได้นำไปประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงทุกวันนี้), โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม),  โปรดฯ ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ฯลฯ  เพื่อให้พระพุทธศาสนาวัฒนาการรุ่งเรืองมั่นคงถาวรยิ่งขึ้น  

หลักฐานแม้เพียงบางเรื่องที่นำมาลงไว้ในที่นี้ ย่อมเห็นว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงเอาพระทัยใส่ฟื้นฟู ทำนุบำรุงเกี่ยวกับการพระศาสนาไว้เป็นอันมาก





พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ

พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ เป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ประดับกระเบื้องสีเขียว นับเป็นพระมหาเจดีย์ที่สำคัญของวัดพระเชตุพนฯ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อครอบพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง ๑๖ เมตร ได้ชะลอมาจากพระราชวังที่กรุงศรีอยุธยา ภายในบรรจุพระบรมธาตุ นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑

ตำนานของพระมหาเจดีย์องค์นี้ มีเรื่องราวเกี่ยวข้องไปถึงพระพุทธรูปครั้งกรุงศรีอยุธยาองค์หนึ่ง คือ พระพุทธปฏิมากรศรีสรรเพ็ชญ์  ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงโปรดให้สร้างขึ้น ปรากฏความว่า ศักราช  ๘๖๒  วอกศก  (พ.ศ.๒๐๔๓)  สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า แรกให้หล่อพระพุทธเจ้าพรีศรีสรรเพชญ์  และแรกหล่อในวันพระ อาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ครั้นเถิงศักราช ๘๖๕ กุนศก (พ.ศ.๒๐๔๖) วันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ฉลองพระพุทธเจ้าศรีสรรเพชญ์คณนา พระพุทธเจ้านั้น แต่พระบาทเถิงยอดรัศมีนั้น สูง ๘ วา (๑๖ วา) พระพักตร์นั้นยาวได้ ๔ ศอก (๒ เมตร) กว้างพระพักตร์นั้น ๓ ศอก (๑.๕ เมตร) และพระอุระนั้นกว้าง ๑๑ ศอก (๕.๕ เมตร) และทองหล่อพระพุทธเจ้านั้นหนัก ๕ หมื่น ๓ พันชั่ง ใช้ทองสำริดหล่อเป็นแกนในน้ำหนัก ๕,๘๐๐ ชั่ง (๓,๔๘๐ กิโลกรัม) ทองคำหุ้มนั้นหนัก ๒๘๖ ชั่ง (๓๔๗.๗๗๖ กิโลกรัม)  ข้างหน้านั้นทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา ข้างหลังนั้นทองเนื้อหกน้ำสองขา  (สมัยนั้นถือว่าทองนพคุณเก้าน้ำหรือทองเนื้อเก้าเป็นทองคำบริสุทธิ์กว่าทองเนื้ออื่นน้ำอื่น) แล้วถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ พม่าได้เอาไฟสุมลอกทองไป

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดให้ชะลอมากรุงเทพฯ หวังจะหลอมหล่อขึ้นใหม่ เพราะเห็นว่าพระพุทธรูปที่ชำรุดมีมากมายนัก โดยเฉพาะพระศรีสรรเพ็ชญ์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ชำรุดเหลือกำลังซ่อมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ  แต่เมื่อทรงปรึกษาสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะแล้ว ต่างก็เห็นว่าไม่สมควร ดังมีสำเนาพระราชปุจฉาในรัชกาลที่ ๑ ดังต่อไปนี้

“ทรงพระกรุณาพระราชปุจฉาสืบต่อไปว่า ผู้มีศรัทธาแต่ก่อน ถวายส่วยสัดพัฒนากรค่าที่เรือกสวนไร่นา อุทิศเป็นกัลปนาบูชาไว้เป็นของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สำหรับอารามใดๆ ก็ดี บัดนี้พระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ วัดวาอารามทั้งปวง ก็ยับเยินสาปสูญไปเป็นอันมาก แลพระธรรม พระสงฆ์ผู้รักษาพยาบาลก็หามิได้ ยังแต่ค่าเรือกสวนไร่นา ส่วนสัดพัฒนากรนั้น ชอบจะเอาของนั้นไปกระทำประการใดจึงจะสมควร หาโทษมิได้ ถ้าจะเอาทรัพย์สิ่งของนั้นมาสร้างพระไตรปิฎก และจะทำการบูชาพระพุทธบาทมหาเจดียฐานนั้นจะควรฤๅมิควรประการใด ให้สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวง วิสัชนามาให้แจ้ง”

“อาตมภาพ สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวง ๑๒ รูป ขอถวายพระพรว่า อารามมีผลไม้ดอกไม้ ถ้าหาผลไม้ดอกไม้มิได้ มีแต่ที่เปล่าก็ดี แลพระมหากษัตริย์ เศรษฐี ท่านอุทิศเป็นกัลปนาไว้ สำหรับขึ้นเป็นของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในอารามต่างๆ สืบๆ กันมาแต่ก่อน ท่านอุทิศไว้แต่เดิมนั้นเป็นค่าจตุปัจจัย ถึงปีแล้วให้ถวายเป็นบิณฑบาท เสนาศนคิลานเภสัช ครั้นเรียวมา ราชบุรุษ อารามิกโยมวัด คิดอ่านกันเรียกเอาเป็นกัปปิยวัตถุ เอาเป็นเงินเป็นทอง สืบกันมาตราบเท่าทุกวันนี้  บัดนี้ วัดวาอารามสาปสูญไปเป็นอันมากแล้ว มีแต่ที่เรือกสวนไร่นา ซึ่งเคยขึ้นมาแต่ก่อน แลจะเอาส่วยสัดพัฒนากรอารามนี้ ไปอุทิศบูชาแด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อารามอื่นนั้นมิควร  ครั้นจะเอาส่วยสัดพัฒนากรไปส่งไว้ตามตำแหน่งอารามเดิมนั้น หาผู้จะรักษาแลปฏิสังขรณ์มิได้ ของนั้นก็จะสาปสูญเสียเปล่า ถ้าอารามใดยังมีพระพุทธรูปอยู่ ควรจะนิมนต์ลงมาปฏิสังขรณ์ได้ ให้อาราธนาลงมาปฏิสังขรณ์โดยควร ถ้าพระพุทธรูปใหญ่โตนัก มิควรจะอาราธนาลงมาได้ ให้เอาทรัพย์นั้นไปจำหน่ายเป็นสัมภาระ ซื้อไม้ ซื้อจาก ซึ่งจะเป็นร่มพระพุทธรูป พอสมควรที่จะทำได้ ถ้าทรัพย์ทั้งปวงนั้นเหลืออยู่ จะสร้างพระไตรปิฎกนั้นเสร็จแล้ว ให้เขียนจาฤกอุทิศเฉภาะไว้สำรับอารามนั้น แล้วจะช่วยพิทักษ์รักษาบูชาเรียนไปพลางกว่าอารามจะมีผู้พิทักษ์รักษา แล้วจึงส่งไปก็ควร ถ้าเป็นของสงฆ์ ให้สร้างเป็นกุฎีแลเตียงตั่งเป็นอาทิ ถวายอุทิศไว้ให้สงฆ์อื่นบริโภคพลาง แม้นสงฆ์ในอาวาศเก่านั้นมีขึ้นเมื่อใด พึงให้ไปเป็นของสงฆ์ในอาวาศนั้น ถ้าปลงเจตนาไว้ดั่งนี้แล้ว จะเอาทรัพย์นั้นมาจำแนกแจกจ่ายปฏิสังขรณ์ดังว่ามานี้ก็หาโทษมิได้ อนึ่งของเขาอุทิศพระเจดีย์องค์นี้แล้ว ผู้ใดจะเอาของพระเจดีย์องค์นี้ไปบูชาองค์อื่น มิควร ถ้าบูชาพระเจดีย์องค์เดิมนั้นแล้ว แลเหลือไปบูชาองค์อื่นนั้นได้ แลซึ่งห้ามไว้โดยเลอียดว่า จะน้อมของที่นี่ ไปที่โน่น มิได้นั้น พบบทแต่ห้ามสิกขาบทข้างพระภิกษุฝ่ายเดียว มิได้พบในฆราวาศ ถ้าฆราวาศผู้ใดบูชาพระเจดีย์เดิมแล้วแลเหลือ จะเอาของที่เหลือสร้างพระไตรปิฎกจาฤกไว้สำหรับอารามก็ควร จะทำบูชาสักการพระพุทธบาทมหาเจดียฐานก็ควร หาโทษมิได้ ขอถวายพระพร”

เมื่อจะซ่อมก็ไม่ได้ ครั้นจะยุบก็เกรงจะผิด เมื่อสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะ เห็นว่าไม่สมควรจะยุบ จึงได้โปรดฯ ให้บรรจุพระศรีสรรเพ็ชญ์ไว้ในพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ ตามนามพระพุทธรูปพระศรีสรรเพ็ชญ์




มหาเจดีย์ก่อเบื้อง    โบราณ แลฤๅ
นามพระศรีสรรเพ็ชญ์    พากย์พร้อง
ชำรุดธริการย์   กอบประกิจ ใหม่แฮ
ประกาศโลกให้ซร้องสร้อง    สาธุ์แถลง

ประดับลวดลายติดกระเบื้อง     บางเคลือบ สีนา
พิมพ์ภาคพื้นเขียวแสง    สดแพร้ว
ดอกดวงพิลาศเหลือบ     เล็งเลิศ แลพ่อ
อย่างแย่งยลล้ำแล้ว     เลิศหลาย

ฐาปนาใหม่ผเจิดสร้าง     สององค์ อีกเอย
สูงใหญ่หมายเดิมเทียม     เท่าแท้
ลายลวดประกวดผจง     ผจองดุจ เดียวนา
ต่างแต่เหลืองแล้พื้น      แผกพรรณ
พระนิพนธ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโรรส








โปรดติดตามตอนต่อไป

3065  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / จตุรมาสยะ : เข้าพรรษาของพราหมณ์ เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2559 15:27:18



จตุรมาสยะ : เข้าพรรษาของพราหมณ์

เรารู้กันเป็นอย่างดีว่าช่วง “เข้าพรรษา” เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุจะได้หยุดจำพรรษา คือพำนักยังที่ใดที่หนึ่ง โดยไม่ “จาริก” ไปที่อื่น  คงด้วยเหตุผลจากธรรมชาติเป็นสำคัญ เพราะเข้าพรรษาเป็น “ฤดูฝน” ซึ่งในอดีตการเดินทางเป็นเรื่องไม่สะดวกอย่างยิ่ง  บางท่านก็ว่าเป็นเพราะชาวบ้านติเตียนพระภิกษุที่เหยียบย่ำลงไปในนาข้าวของเขาเสียหายในช่วงฤดูเพาะปลูก  ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติการเข้าพรรษาขึ้น

ในประเทศอินเดีย นักบวชทุกศาสนาตั้งแต่โบราณ ไม่เคยมีชีวิตเป็นหลักเป็นแหล่ง ต้องจาริกไปเรื่อยๆ เสมอ เพราะถือว่าได้ทอดทิ้งบ้านเรือนชีวิตเดิม โลกทั้งโลกก็คือบ้านไปแล้ว ดังมีคำกล่าวว่า “สฺวเทเศ ภุวตฺรยมฺ – สามโลกก็คือถิ่นฐานของตัว” ปัจจุบันนี้นักบวชฮินดูบางพวกยังคงปฏิบัติอยู่

ในทางประวัติศาสตร์ เดิมนักบวชพุทธศาสนาใช้ชีวิตเร่รอนไม่มีหลักแหล่ง “เพื่อประโยชน์และความสุข (ของสรรพสัตว์)” (หิตายะ สุขายะ) แต่ภายหลังเป็นนักบวชกลุ่มแรกที่มีการตั้งชีวิตใน “อาราม” ขึ้น และมีกฎมีเกณฑ์กติกาองค์กรอย่างเป็นทางการ

นับแต่นั้นการจาริกก็ไม่ใช่รูปแบบหลักของชีวิตนักบวชพุทธอีกต่อไป

ภายหลังศาสนาอื่นๆ เช่น ฮินดูและไชนะ ก็เริ่มตั้งชีวิตนักบวชในอารามขึ้นมาเช่นเดียวกัน แต่พวกที่เน้นการจาริกยังมีมากอยู่

ในอินเดีย โดยเฉพาะในโลกโบราณ ศาสนาไม่ได้มีพรมแดนชัดเจนอย่างที่เรามีในปัจจุบัน ความคิดความเชื่อต่างๆ รวมทั้งประเพณีพิธีกรรมมักจะหยิบยืมกันไปมา บางอันพอจะทราบว่ามาจากไหน บางอันไม่ทราบว่าศาสนาใดเป็นต้นคิด แต่ก็มีร่วมกันเป็นสมบัติทางความคิดของดินแดนอินเดีย

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็มีการ “เข้าพรรษา” ด้วยเช่นกัน เรียกว่า “จตุรมาสยะ” แปลว่า “สี่เดือน” หรือ จตุรมาสยะวรัต (วรัต เป็นคำเดียวกับ พรต) เพราะการเข้าพรรษาของพราหมณ์นั้นกินเวลาทั้งสิ้นสี่เดือนจนหมดฤดูฝน

จตุรมาสยะของพวกไวษณวนิกายมักจะเริ่มในวัน ๑๑ ค่ำ (เรียกว่า เอกาทศี) ในเดือน “อาษาฒะ” (บาลีว่า อาษาฬห) ตามจันทรคติ จนไปถึง ๑๑ ค่ำ ในเดือน “การติกะ” ตกในราวเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ไปจนถึงเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน

บางนิกายจะเริ่มในวันเพ็ญเดือนอาษฒะ ซึ่งจะตรงกับวันอาสาฬหบูชาของเราพอดี

เข้าพรรษาของฮินดูกับของพุทธ จึงเกือบจะตรงกันเป๊ะๆ

วันแรกของเอกาทศีในจตุรมาสยะ เรียกว่า “เทวศยนีเอกาทศี” แปลว่า วัน ๑๑ ค่ำ “(เทพ) หลับ” และวันสุดท้ายเรียกว่า “อุฐนีเอกาทศี”, หรือวัน ๑๑ ค่ำ “ตื่น” เพราะเชื่อกันว่าในช่วงจตุรมาสยะ พระวิษณุจะบรรทมและตื่นบรรทมเมื่อสิ้นสุดจตุรมาสยะแล้ว

พระเป็นเจ้าทรงบรรทมหลับไปก่อน เช่นเดียวกับเมล็ดพืชพันธุ์ที่ยังหลับใหลอยู่ใต้อกพระแม่ธรณี รอวันจะตื่นจากบรรทมเช่นพืชพันธุ์ที่งอกเงยขึ้นจากความมืดหลังสี่เดือนในฤดูฝนผ่านไป

เพราะพืชก็คือจิตวิญญาณของโลก และคือเทพนั่นแหละครับ ในวันเทวศยนีเอกาทศี เขาจึงให้ถือพรตห้ามกินธัญพืชต่างๆ

คนฮินดูมักไม่ค่อยจัดงานมงคลในช่วงจตุรมาสยะ เช่น แต่งงานหรือสวมด้ายศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่อยากรบกวนทวยเทพที่ยังหลับใหล

ในวัฒนธรรมผีพราหมณ์พุทธบ้านเราก็เช่นกันครับ ครูดนตรีอาวุโสท่านเคยบอกผมว่า แต่ก่อนไหว้ครูนาฏศิลป์ดนตรีไทยอะไร เขาไม่ทำกันในช่วงเข้าพรรษา ท่านบอกโบราณว่า เทวดาถือศีลกันไม่รับเครื่องเซ่นสรวง

ที่จริงก็คือ “ผี” ที่ยอมโอนอ่อนต่อพุทธนั่นแหละครับ คือ พิธีเซ่นไหว้ต้องมีเนื้อและเหล้า ต้องเชือดต้องฆ่า พอรับพุทธมาทั้งเทวดาและผีพากันยอมพุทธ (บ้าง) โดยไม่ฆ่าไม่แกงในช่วงเวลาพุทธศาสนาถือว่าเป็นช่วงละเว้น

เข้าพรรษาฮินดูจะเก่าแก่แค่ไหนยังไม่ทราบ แต่น่าจะถึงสมัยปุราณะ เพราะมีบันทึกในคัมภีร์สกันทะปุราณะ และเข้าพรรษานี้ถือกันทั้งนักบวชและฆราวาส

ในฝ่ายนักบวชฮินดู การเข้าจตุรมาสยะจะต้องถือไม่จาริกไปไหนเป็นเวลาสี่เดือน ติรุวัลลุวาร์ กวีทมิฬที่มีชีวิตอยู่ในราว คริสต์ศตวรรษที่หนึ่งบรรยายไว้ว่า เพื่อที่บรรดาสันยาสีจะได้หยุดจาริกเพื่อประพฤติอหิงสาธรรม โดยไม่เบียดเบียนมดแมลง สัตว์เล็กน้อยทั้งหลาย

การอธิษฐานจตุรมาสยะเรียกว่า “จตุรมาสยะ สังกัลปะ” โดยมากศิษย์มักกล่าวคำอาราธนาให้ สันยาสีหรือนักบวชคุรุของตนจำพรรษาในที่นั้นๆ ตลอดสี่เดือน เพื่อจะได้มีโอกาสศึกษาข้อธรรมต่างๆ และได้อยู่ใกล้ชิดครู และสันยาสีจะต้องปลงผมตัดเล็บทุกวันเพ็ญ

สันยาสีมีธรรมเนียมนับอายุพรรษาโดยผ่านการเข้าพรรษาจตุรมาสยะเช่นเดียวกันกับพระภิกษุ แม้จะมีอายุมากกว่า แต่ถ้าอีกฝ่ายมีพรรษา “จตุรมาสยะ” มากกว่า ฝ่ายที่อายุมากกว่าก็ต้องแสดงความเคารพ

ในฝ่ายฆราวาสที่ถือพรต จตุรมาสยะนั้น จะต้องงดอาหารบางชนิดตลอดจตุรมาสยะ เช่น น้ำผึ้ง มะเขือยาว ฯลฯ ข้อนี้มีกล่าวไว้ในปุราณะ และในแต่ละเดือนจะต้องงดอาหารดังนี้
ในเดือนแรก คือผักใบเขียว เช่น ผักโขม ในเดือนที่สอง คือโยเกิร์ต ในเดือนที่สาม คือนม และในเดือนที่สี่ คือถั่วบางชนิด เช่น ดาล หรือคนที่ไม่ได้ทานมังสวิรัติจะงดเนื้อและปลาในช่วงนี้

นอกนั้นจะต้องบำเพ็ญภาวนา สวดมนต์ไหว้พระฟังธรรมตลอดจตุรมาสยะ เชื่อว่าผลบุญในจตุรมาสยะจะไพศาล

ส่วนในศาสนาไชนะ หรือศาสนาเชน การเข้าพรรษาเรียกว่า “วรษโยคะ” นักบวชจะหยุดการจาริกไปยังที่ต่างๆ และเข้าจำพรรษา ตลอดสี่เดือนในอารามหรือที่ที่กำหนดไว้ โดยนักบวชผู้ใหญ่จะใช้เวลาช่วงนั้นให้คำสอนแก่ศิษย์

ที่แสดงมาทั้งหมด มิได้จะมีข้อสรุปว่าพุทธศาสนารับประเพณีการเข้าพรรษามาจากฮินดูนะครับ เพราะหลักฐานยังไม่มากพอ (ในเรื่องนี้)

แต่ที่สำคัญ ผมอยากแสดงให้เห็นว่า ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ที่เราเคยเชื่อกันว่ามันมีแต่เรา มันเป็นของเราเท่านั้น คนอื่นเขาก็มี มีกันทุกศาสนาในอินเดีย เป็นประเพณีปฏิบัติของนักบวชโดยทั่วๆ ไป ไม่ใช่ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

สายปฏิบัติที่เรียกว่า “สมณะ” หรือสายพรตนิยมในอินเดียนี่ไม่ได้เป็นของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่มีผลต่อทุกศาสนา  เราจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นว่า เราดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ประเสริฐที่สุด คนอื่นผิดหมด

นั่นแหละครับ ท่าทีที่ควรมีควรเป็น ของคนนับถือศาสนา 

ไม่งั้นก็รอแต่จะไปกระทืบคนอื่นในนามแห่งศาสนา.


ที่มา : จตุรมาสยะ : เข้าพรรษาของพราหมณ์ คอลัมน์ "ผี พราหมณ์ พุทธ" โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หน้า ๘๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๕ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙
3066  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / ราชรถน้อย : มรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของชาติ เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2559 13:28:12

มีคำถามแสดงความสงสัยว่าราชรถเก่าที่จอดเรียงยาวข้างระเบียงหมู่พระวิมาน ไม่แน่ใจว่าจะเป็นราชรถแห่พระศพเจ้านายหรือใช้แสดงโขน เนื่องจากมีขนาดเล็ก

ตอบ : บรรดาราชรถที่จอดอยู่ข้างระเบียงหมู่พระวิมาน มีทั้งสิ้น ๖ รายการ เดิมเคยจัดแสดงไว้ภายในโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร) โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะนายกราชบัณฑิตยสภา ผู้กำกับดูแลพิพิธภัณฑสถานฯ ให้สร้างโรงราชรถขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒ เพื่อเก็บรักษาราชรถ และจัดแสดงตามแบบอย่างโรงราชรถโบราณของประเทศโปรตุเกส ให้ประชาชนได้ชม

ราชรถน้อย-ใหญ่ โดยมากใช้ในการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ ส่วนหนึ่งภายในโรงราชรถจึงเก็บรักษาวัตถุเนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระราชทานเพลิงพระศพด้วย เช่น พระยานมาศสามลำคาน พระโกศ พระโกศจันทน์ พระจิตกาธาน พระแท่นแว่นฟ้า ชิ้นส่วนองค์ประกอบพระเมรุต่างๆ มีฉากบังเพลิง ฉัตร เทวดาอัญเชิญฉัตร บังแทรก เสาหงส์ และตุง เป็นต้น

เมื่อเวลาผ่านไป มีสิ่งของจัดแสดงเพิ่มเติมขึ้นจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระราชทานเพลิงพระศพทวีจำนวนมากยิ่งขึ้นทุกขณะ ปัจจุบันภายในโรงราชรถเก็บรักษาเฉพาะราชรถสำคัญขนาดใหญ่ พร้อมเครื่องประกอบในการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ จึงจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายราชรถขนาดเล็กเก็บรักษาไว้ ณ ระเบียงหมู่พระวิมาน พระราชมณเฑียรสถานของพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นการชั่วคราว

ราชรถขนาดเล็กเหล่านี้ใช้ในการเชิญพระศพเจ้านายและผู้มียศ ไปในขบวนแห่อัญเชิญพระศพและศพไปยังพระเมรุและเมรุ เป็นเกียรติยศตามฐานานุศักดิ์ สืบต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์กว่า ๒๐๐ ปี ซึ่งจะทำการซ่อมแซมและจัดเตรียมการใช้งาน ก็ต่อเมื่อมีการพระศพและการศพตามโบราณราชประเพณี ส่วนใหญ่เมื่อมิได้ใช้เพื่อประโยชน์ดังกล่าวแล้ว จึงมีสภาพเก่าและชำรุดไปตามกาลเวลา

ราชรถขนาดเล็ก มีชื่อเรียก รูปทรงสัณฐานและการใช้สอย ต่างกันไปตามลำดับแห่งเกียรติยศ มีลำดับการใช้ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า พระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระราชวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ พระวงศ์เธอ หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมหม่อมห้าม ท้าวนางราชสกุล ขุนนางชั้นสมเด็จเจ้าพระยา พระยา พระ พระสงฆ์ผู้ทรงสมณะศักดิ์ ตั้งแต่ชั้นสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือใช้ตามแต่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้ได้เป็นกรณีพิเศษ ดังนี้
   ๑.รถโถง
   ๒.ราชรถน้อย
   ๓.รถพระวอวิมาน หรือ รถมณฑป
   ๔.รถพระวิมาน หรือ รถจัตุรมุข
   ๕.รถวอพระประเทียบ
   ๖.รถวอประเทียบ
   ๗.รถวอ
   ๘.รถแปลง
   ๙.รถปืน

ราชรถโถง คือรถไม่มีหลังคาและเสาสำหรับเทียมม้า มี ๔ ล้อ กึ่งกลางมีแท่นทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสำหรับทรงพระโกศ ทำเป็นชั้นเกรินซ้อนกัน ๒ ชั้น ชั้นบนตกแต่งกระหนกเศียรนาคและกระหนกหางนาคเรียงกัน ๓ แถว ชั้นล่างมีกระหนก ๕ แถว มีเทพนมประดับโดยรอบ ส่วนบนสุดซ้อนฐานบัวกลุ่มรองรับพระโกศ ส่วนหน้าและส่วนท้ายมีเกรินราชรถ จำหลักกระหนกเศียรนาคและหางนาค ๗ แถว สำหรับชาวภูษามาลาแต่งตัวเป็นเทวดาขึ้นประคองพระโกศ ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ ด้านหลังมีที่นั่งสำหรับเทวดาถือเครื่องสูง ที่มุมทั้งสี่ของราชรถและฐานเกรินชั้นบนล้อมราชวัตรย่อมุมไม้สิบสอง เว้นช่องไว้ทางด้านข้าง สองข้างราชรถตกแต่งเป็นรูปลำตัวนาค ใต้ลำตัวนาคที่กึ่งกลางมีบันได้รูปนาค สำหรับเหยียบขึ้นราชรถ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ๒ รถ หมายเลขทะเบียน ๙๗๘๕ และ นช.๕๓๘ จากลักษณะทางศิลปกรรมเทียบเคียงได้กับพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราชรถ จึงอาจสร้างขึ้นครั้งรัชกาลที่ ๑ โดยใช้เป็นรถโกศจันทน์ (ประดิษฐานพระโกศจันทน์) และรถเครื่องหอม (ตั้งพานแว่นฟ้าใส่ไม้จันทน์เทศ จันทน์คันนา (จันทนา หรือ จันทน์ขาว) สน กรักขี กฤษณา สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ) ในกระบวนแห่พระบรมศพของพระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหาอุปราช

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เคยใช้ทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศ จากถนนระหว่างพระอุโบสถและกุฎีวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปยังพระเมรุวัดราชบพิธ ในวันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘ (พุทธศักราช ๒๔๒๙) ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตมธำรง จากวังพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ไปยังหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงพระมหาพิไชยราชรถ เข้าสู่พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุนนพศก ๑๒๔๙ พุทธศักราช ๒๔๓๐ และใช้แห่ศพเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม (พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี  พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี  และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จากวังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการไปยังพระเมรุสวนมิสกะวัน เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๓

ราชรถโถง จึงใช้สำหรับเจ้านายซึ่งมีพระเกียรติยศตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า (เจ้าฟ้าลูกเธอ) ถึงพระองค์เจ้า (พระองค์เจ้าลูกเธอ) ตลอดจนถึงใช้กับศพสามัญชนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้เป็นกรณีพิเศษ



ราชรถโถง
เลขทะเบียน ๙๗๘๕
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด ยาว ๕๘๕ เซนติเมตร สูง ๒๖๖ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ราชรถโถง
เทียมม้า เชิญโกศกุดั่นใหญ่ศพเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม
เคลื่อนจากถนนราชดำเนินนอกไปสู่เมรุสวนมิสกะวัน
วันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๓ เครื่องสูงสำหรับยศ
มีบังแทรก กลดกำมะลอ บังสูรย์ พักโบก และภูษามาลา
ขึ้นประคองพระโกศ


ราชรถโถง
เลขทะเบียน นช.๕๓๘
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด ยาว ๕๔๕ เซนติเมตร สูง ๒๖๘ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ราชรถโถง
เทียมด้วยม้าเทศ ๖ ม้า เชิญพระโกศมณฑปทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอ
พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศ จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ไปสู่พระเมรุวัดราชบพิธ วันจันทร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๒๙
มีอินทรพรหมถือจามรคู่เคียงราชรถ เครื่องสูงกลดกำมะลอ บังสูรย์
พัดโบก ๑ สำรับ บนรถมีสารถีขับม้า ภูษามาลาประคองพระโกศ
ปักฉัตรประกอบเกียรติยศที่มุมทั้งสี่ของราชรถ
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๒๔๕-๒๔๖


ราชรถน้อย ลักษณะอย่างราชรถโถง คือไม่มีหลังคาและเสา มี ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า หรือใช้กำลังคนฉุดชัก (คนฉุดชัก ๔๐ คน) แท่นรองรับพระโกศทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ส่วนหน้าและส่วนท้ายมีเกรินราชรถ สำหรับชาวภูษามาลาขึ้นประคองพระโกศ ด้านหน้าจำหลักไม้เป็นกระหนกเศียรนาค และด้านหลังจำหลักเป็นกระหนกหางนาค สองข้างราชรถจำหลักเป็นลำตัวนาค ใช้สำหรับพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า (ชั้นพี่เธอ น้องเธอ) และพระองค์เจ้า (ชั้นลุง ป้า อา น้า ของพระเจ้าแผ่นดิน และชั้นพี่เธอ น้องเธอ) และอาจโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นกรณีพิเศษสำหรับพระอนุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ และพระวรวงศ์เธอ (พระองค์เจ้าชั้นพระนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน) สำหรับพระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์ ใช้สำหรับสมเด็จพระสังฆราช และอาจโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นกรณีพิเศษสำหรับสมเด็จพระราชาคณะ

ราชรถน้อยมีหลายองค์ รูปลักษณ์การสร้างปรับเปลี่ยนไปตามสุนทรียภาพแห่งยุคสมัย ปัจจุบันภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เก็บรักษาราชรถน้อย จำนวน ๒ องค์ องค์แรกเลขทะเบียน นช.๕๓๙ อาจสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ และองค์ที่สอง (ไม่มีเลขทะเบียน) สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖




ราชรถน้อย
สมัยรัชกาลที่ ๖ เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ราชรถน้อย
เลขทะเบียน นช.๕๓๙
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด ยาว ๕๒๐ เซนติเมตร สูง ๒๑๓ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่ง พระนคร

ราชรถน้อย มี ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า ส่วนหน้าและส่วนท้ายมีเกรินราชรถ
จำหลักกระหนก ๕ แถว ตรงกลางเป็นแท่นรองรับพระโกศ ตัวแท่นทำเป็นฐานสิงห์
ด้านหน้าและด้านหลังแท่นมีเกยลา สำหรับชาวภูษามาลาขึ้นประคองพระโกศ
เหนือแท่นมีพนักลูกกรงล้อมโดยรอบ เว้นช่องพนักตรงเกยลาทั้งสองด้าน
คานสองข้างราชรถจำหลักรูปนาค สภาพชำรุด ลวดลายไม้จำหลักหักหายไปบางส่วน



ราชรถน้อย
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค ไม้แกะสลักลงรักปิดทองทาชาดประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๓๐ เซนติเมตร ยาว ๗๘๐ เซนติเมตร สูง ๒๓๐ เซนติเมตร

ประวัติ สร้างสำหรับทรงพระโกศสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา ออกพระเมรุ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๘ และใช้ในการรัฐพิธีหลายครั้ง เช่น ใช้ในการแห่พระบรมสารีริกธาตุเข้าบรรจุในพระธาตุพนม แห่พระบรมสารีริกธาตุจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปประดิษฐานยังโลหะปราสาท แห่พระพุทธสิหิงค์ออกสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ แห่ไฟพระฤกษ์ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๑๓ และแห่ไฟพระฤกษ์ในการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ ๗

ราชรถน้อย ตรงกลางมีแท่นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสำหรับทรงโกศ ทำด้วยไม้จำหลักลงรักปิดทองประดับกระจก เป็นแท่นเท้าสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง ท้องสิงห์ยกสูง ทำลวดลายแผลงราชวัตรประดับดอกสี่กลีบทรงกลมฉลุลายโปร่ง กึ่งกลางแท่นประดับลายหน้ากาล ๓ ด้าน เว้นด้านหน้า เหนือแท่นเท้าสิงห์ประดับลายกระจัง รองรับด้วยฐานบัวกลุ่มทรงสี่เหลี่ยม สำหรับรองรับโกศ ส่วนด้านหน้าและด้านหลังแท่นเท้าสิงห์ประกอบด้วยเกริน ตกแต่งกระหนกท้ายเกริน ๑ ชั้น ใช้สำหรับชาวภูษามาลาขึ้นประคองพระโกศ ด้านหน้าราชรถมีแท่นขาสิงห์ทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก สองข้างประดับลายหน้ากาล สำหรับพลขับนั่งหรือตั้งเครื่องสูง สี่มุมราชรถมีที่สำหรับปักฉัตร คานสองข้างจำหลักรูปลำตัวนาค งอนราชรถทาชาดปลายงอนทำเป็นรูปเหราคายนาค ๑ เศียร มีธงพร้อมพู่ประดับอยู่บนงอนราชรถ




ราชรถน้อย
เทียมม้า ๔ ม้า อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพ
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุ
ท้องสนามหลวง วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๕๗


ราชรถพระวอวิมาน หรือ รถมณฑป หลังคาทรงจัตุรมุขพิมานประกอบยอด หลังคาทองก้านแย่งประดับช่อผ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนยอดมีชั้นเชิงกลอนซ้อน ๓ ชั้น องค์ระฆัง เหม บัวกลุ่ม ปลีต้น เม็ดน้ำค้าง ปลีปลาย และพุ่ม ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขยื่นยาวออกไปเป็น ๓ ห้อง ทำหลังคาซ้อน ๓ ชั้น มีเสารองรับหลังคา ๘ คู่ ผูกม่านทุกเสา ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ มีล้อ ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า มีลำดับศักดิ์การใช้ต่ำกว่าราชรถน้อย โดยเป็นราชรถอัญเชิญพระศพสมเด็จเจ้าฟ้า (ชั้นพี่เธอ น้องเธอ) และพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้นลุง ป้า อา น้าของพระเจ้าแผ่นดิน) ทรงกรมไปขึ้นราชรถใหญ่หรือราชรถน้อย นอกจากนี้ใช้กับพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ไม่ทรงกรม) และพระองค์เจ้าชั้นพี่เธอ น้องเธอ เป็นต้น

รถพระวอวิมานเดิมเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา




รถพระวอวิมาน หรือ รถมณฑป
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๕๐ เซนติเมตร สูง ๕๕๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



(บน) รถพระวอวิมาน เทียมม้า ๔ ม้า อัญเชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ จากวังเทวะเวสม์ไปทรงเวชยันตราชรถ
ที่หน้าพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๓๒

(ล่าง) รถพระวอวิมาน เทียมม้า ๔ ม้า อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพ
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา สิรินิภาพรรณวดี
กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา จากพระที่นั่งอภิเษกดุสิตไปประดิษฐาน
บนราชรถน้อย หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วันที่ ๑๓ กรกฎาคม
พุทธศักราช ๒๔๖๘ ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๕๖


รถวิมาน หรือ รถจัตุรมุข  คือรถหลังคาทรงจัตุรมุข มีล้อ ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า หลังคาทองก้านแย่งประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่มียอด ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขยื่นยาวออกไปเป็น ๓ ห้อง ทำหลังคาซ้อน ๓ ชั้น มีเสารองรับหลังคา ๘ คู่ ผูกม่านทุกเสา ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ ใช้สำหรับพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ และพระราชวงศ์เธอ (พระโอรส พระธิดาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) เจ้าจอม ท้าวนางราชสกุล และสมเด็จพระราชาคณะ เป็นต้น

รถวิมานเดิมเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา



รถวิมาน หรือ รถจัตุรมุข
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๕๐ เซนติเมตร สูง ๕๕๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


รถพระประเทียบ หรือ รถประเทียบบราลี
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๕๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


รถพระประเทียบ รถประเทียบ และรถวอ คือ รถมีหลังคาทรงคฤห (ทรงจั่ว) อย่างวอ สำหรับเทียมม้า มีลักษณะการตกแต่งและลำดับศักดิ์การใช้ต่างกันเป็นลำดับ คือ

รถพระประเทียบ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ารถประเทียบบราลี ใช้สำหรับพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ (พระนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน) พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระราชวรวงศ์เธอ (พระโอรสธิดาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) และพระวรวงศ์เธอ (พระองค์เจ้าที่ได้รับการสถาปนาเป็นพิเศษ) ไปจนถึงเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า และเจ้าจอม ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้เป็นกรณีพิเศษ ลักษณะรถพระประเทียบ หลังคาหุ้มผ้าทองซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และบราลี มีเสารองรับหลังคา ๔ คู่ แบ่งเป็น ๓ ห้อง ผูกม่านทอง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รถประเทียบ ใช้สำหรับเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ท้าวนาง เจ้าจอม หม่อมห้าม ขุนนางชั้นเจ้าพระยา พระยา พระ และพระสงฆ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ ลักษณะรถพระประเทียบหลังคาหุ้มผ้าทอง ซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีเสารองรับหลังคา ๔ คู่ แบ่งเป็น ๓ ห้อง ผูกม่านดาดสี เดิมเคยเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันสำนักพระราชวังเก็บรักษา




(บน) รถพระประเทียบ หรือรถประเทียบบราลี
เทียมม้า เชิญโกศลองในศพ เจ้าจอมมารดาชุ่ม
ในรัชกาลที่ ๔ เวียนพระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๙๔

(ล่าง) รถพระประเทียบ หรือรถประเทียบบราลี
เลขทะเบียน ๙๗๘๖
อายุสมัยฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาดกว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๕๐ เซนติเมตร
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รถพระประเทียบ มี ๔ ล้อ สำหรับเทียมม้า หลังคาเป็นวอช่อฟ้า ทรงจั่ว ซ้อน ๒ ชั้น ดาดด้วยผ้าทอง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ รูปเศียรนาค สันหลังคาประดับบราลี อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า “รถประเทียบบราลี” หน้าบันจำหลักลายพุ่มหน้าขบอยู่กึ่งกลางลายก้านขดฉลุโปร่ง ปิดทองทึบ มีเสารองรับข้างละ ๔ เสา รวม ๘ เสา ปลายเสามีคันทวยรูปนาครองรับชายคา ส่วนหน้ารถมีแท่นที่นั่งสำหรับพลขับนั่ง ตรงกลางรถเป็นแท่นกว้าง สำหรับวางโกศผู้มีศักดิ์ ลวดลายประดับทำด้วยดีบุกหล่อปิดทอง สองข้างราชรถจำหลักลายรูปนาค



(บน : ภาพซ้าย/ขวา) รถประเทียบ
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๐๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

รถประเทียบหลังคาทรงจั่ว ซ้อน ๒ ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
มีเสา ๔ เสา ผูกม่านดาดสี สองข้างรถตกแต่งไม้จำหลักรูปนาค
ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ เทียมม้า

(ล่าง : ภาพซ้าย/ขวา) รถประเทียบ
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๖
วัสดุ/เทคนิค ไม้จำหลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๔๐๐ เซนติเมตร สูง ๔๒๐ เซนติเมตร
เดิมเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

รถประเทียบ หลังคาทรงจั่ว ซ้อน ๒ ชั้น ประดับช่อฟ้า
ใบระกา หางหงส์ มีเสา ๔ คู่ ผูกม่านทอง สองข้างรถตกแต่งไม้
จำหลักรูปนาค  ด้านหน้ามีที่นั่งสำหรับพลขับ เทียมม้า


รถวอ ใช้สำหรับเจ้าจอม ท้าวนาง และขุนนาง ชั้นพระยา ไม่ทราบลักษณะรถ เข้าใจว่าเป็นรถหลังคาซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ดาดผ้าสีและผูกม่านดาดสี

รถแปลง ไม่ทราบลักษณะ เข้าใจว่าเป็นรถไม่มีหลังคา อาจดัดแปลงจากรถวอ จึงเรียกรถแปลง ใช้กับท้าวนางราชนิกุล เจ้าจอมมารดา ขุนนางชั้นเจ้าพระยา พระยา และผู้มียศอื่นๆ

รถปืน คือรถดัดแปลงจากรถบรรทุกปืนใหญ่ มีฐานรองรับโกศ ใช้โดยเฉพาะกับผู้มียศทางทหาร นับตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศ์ และผู้มียศอื่นๆ รถปืนซึ่งเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เดิมใช้เชิญศพจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

นอกจากนี้ รถขนาดเล็กซึ่งใช้ในการศพยังมีอีกมาก โดยใช้เป็นรถพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรมนำหน้าศพรถโยงผ้าสดับปกรณ์ รถโปรยข้าวตอกดอกไม้ รถตามขบวน รถสังเค็ต ตามธรรมเนียมแห่ศพไปสู่เมรุที่เผา เป็นขบวนใหญ่โตครึกครื้นมาแต่ในอดีต รถดังกล่าวนี้ได้เสื่อมหายและชำรุดหักพังไปตามเวลาอันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมการศพ ตัดการโยง การโปรย กระบวนรถนำ รถตามต่างๆ ให้มีความเรียบง่ายสมสมัยมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ รถขนาดเล็กซึ่งห่างหายจากการใช้สอยตามธรรมเนียมดั้งเดิมจึงเป็นแต่เพียงหลักฐานของอดีตให้รำลึกถึงวันวารที่ร่วงโรยพ้นผ่านกาลเวลาล่วงสมัยไปแล้วในปัจจุบัน





(บน) รถปืนใหญ่รางเกวียน ประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เวียนพระเมรุมาศ วันที่ ๒๔ มีนาคม
พุทธศักราช ๒๔๖๘ โดยอนุโลมตามพระราชพินัยกรรม ซึ่งทรงระบุให้ใช้
รถปืนใหญ่บรรทุกพระบรมศพจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุ
มีความตอหนึ่งว่า “เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางระยะสุดนี้เป็นอย่างทหาร”
ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม หน้า ๑๘๒

(ล่าง) รถปืน
เลขทะเบียน ไม่มีหมายเลข
อายุสมัย/ฝีมือช่าง รัตนโกสินทร์
วัสดุ/เทคนิค โครงสร้างเหล็กและไม้
ขนาด กว้าง ๑๘๙ เซนติเมตร ยาว ๖๑๐ เซนติเมตร สูง ๑๗๙ เซนติเมตร
ประวัติ กรมสรรพาวุธทหารบกมอบให้ เคยใช้รองโกศของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

รถปืนใหญ่ มีล้อหลัง ๒ ล้อ และล้อบังคับเลี้ยว ๑ ล้อ ท้ายมีแท่นรองโกศ
ทำด้วยไม้ทาสีปิดทอง ทำเป็นฐานบัวกลุ่มย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้าและด้านหลัง
มีมุขประดับรูปนาคเหรา สำหรับผู้ขึ้นประคองโกศสองข้างรถประดับรูปนาคเหรา


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : ถามมา - ตอบไป "ราชรถน้อย" โดย เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
                         นิตยสารศิลปากร กรมศิลปาการ จัดพิมพ์เผยแพร่
3067  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ประเพณี "จกสาว" สุดแปลก! เรื่องจริงที่ต้องเล่า เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2559 11:20:11

ประเพณี "จกสาว"
เรื่องจริงที่เหลือเชื่อ (จบ)

ปัญหาที่เล่าค้างไว้ ว่าเมื่อการลูบคลำได้บังเกิดอารมณ์ถึงขั้นสุดท้ายจะทำอย่างไร ปัญหานี้อยู่ที่ตัวสาว หากอารมณ์นั้นตรงกันถึงขีดสุด สาวเจ้าก็จะเปิดหน้าต่างซึ่งอยู่เหนือ "ช่องล้วงสาว" นั้นให้ไอ้หนุ่มปีนขึ้นไปหาเท่านั้นก็สิ้นเรื่องราว แต่มิได้หมายความว่าจะให้ไอ้หนุ่มได้กินไข่แดงฟรีๆ  เมื่อนาทีอันสุดยอดนั้นผ่านไปแล้วสาวก็จะเรียกพ่อเฒ่าแม่เฒ่าให้ลุกขึ้นมาดูหน้าลูกเขยแมวขโมยคนนั้นทันที

เมื่อมาถึงขั้นนี้ ประเพณี "ล้วงสาว" ก็ได้คลายไปอีกเปราะหนึ่งโดยกลายเป็นประเพณีของการได้ผัวได้เมียในแบบฉบับที่เขาเรียกกันว่าประเพณี "ซู"  ความพิสดารของประเพณีนี้ก็มีแยกแตกแขนงออกไปอีก เพราะมันคาบเกี่ยวกับประเพณีแรก   นั้นคือเมื่อเกิดการ "ซู" กันขึ้นซึ่งหมายถึงการลักลอบได้เสียกันเอง ถ้าหากว่าสาวเจ้าไม่ร้องเรียกพ่อแม่ให้รู้ว่าตนถูกไอ้หนุ่มกินไข่แดง หรือเผลอไปโดยกะว่าจะร้องเรียกแม่พ่อในตอนใกล้จะสว่าง ไอ้หนุ่มมันแว๊บหายตัวโดดหน้าต่างไปก็เป็นอันว่าชวด โดนกินไข่แดงฟรีไป แต่ถ้าสาวเจ้าไม่เผลอ หรือไม่ประมาทร้องเรียกพ่อเฒ่าแม่เฒ่าให้รู้เสียแล้วก็เป็นอันว่าเจ้าหนุ่มนั้นจะต้องเสียผี ตบแต่งตามประเพณี ถ้าหากไอ้หนุ่มไม่ยอมแต่งก็จะต้องเสียค่าสินไหมตามคำเรียกร้องของฝ่ายหญิง และไอ้หนุ่มคนนั้นก็อย่าได้มาแหย็มอีกต่อไปตลอดชาตินี้

ความยอกย้อนของประเพณี "ซู" ที่คาบเกี่ยวกับประเพณีล้วงสาวยังมีปลีกย่อยพิสดารออกไปอีกคือ หากไอ้หนุ่มยินยอมตบแต่งตามประเพณี ซู และอยู่กินกับสาวถึง ๓ วัน ต่อไปหมอจะโดดตุ๊บลงเรือนหายป๋อมไปเลยเป็นแรมเดือนยังไงก็แล้วแต่ หากหมอกลับมาสาวคนนั้นก็ยังเป็นสิทธิของหมออยู่ แต่หากหมอนั่นอยู่กับสาวเพียงคืนเดียว แล้วหายป๋อมไม่มาบ้านสาวอีกเลยเป็นระยะเวลาเลยสามวันขึ้น ถือว่าสาวคนนั้นอิสระไม่มีพันธะใดๆ ต่อกันอีก ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลกลใดก็ตาม ฟังดูให้ดีครับสามคืนกับคืนเดียวมีผลแตกต่างกันมหาศาลอย่างนี้  นี่แหละครับประเพณีอันพิสดารที่ให้ความอิสระในเรื่องความรักและกามารมณ์ โดยวางอยู่บนมาตรฐานของศีลธรรมอันดีงาม

ย้อนกล่าวถึงน้ำใจอันกว้างขวางของหนุ่มเจ้าถิ่นต่ออาคันตุกะ หากอาคันตุกะผู้นั้นอยู่ในหมู่บ้านนั้นนานเหมือนผู้เขียน การคบหาสมาคมเป็นบันไดแรกที่จะไต่เต้าเข้าไปถึงประเพณีของเขา หากการคบหาสมาคมเป็นบันไดแรกที่จะไต่เต้าเข้าไปถึงประเพณีของเขา หากการคบหานั้นเป็นที่ถูกอกถูกใจรักใคร่ซึ่งกันและกัน และลงได้ถึงขั้นผูกแขนเป็น "เสี่ยวเหยเพยแพง" กันแล้วก็ยิ่งง่ายเข้า เพื่อนรักซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นหากหมอบังเอิญเป็นคนเจ้าชู้มีโค๊ตลับหลายอันกับสาวๆ หมอก็จะแบ่งปันโค๊ตอันนั้นให้ ซึ่งไม่ผิดอะไรกับ "บัตรปันส่วน" หรือหากหมอไม่เจ้าชู้หมอก็จะไปขอจากเพื่อนๆ ที่เจ้าชู้มาเป็นการต้อนรับหรือรับรองแขกเมืองให้เรา ๑ อัน แล้วก็พาเราไปชี้ตัวสาวเจ้าของโค๊ต หรือนำไปแนะนำให้รู้จักกันโดยไม่ให้เกิดพิรุธว่าไอ้หนุ่มต่างถิ่นมันมีใบเบิกทางที่จะย่องมาล้วงตับสาวละ

ตานี้ก็เป็นบทบาทของเราเองที่จะขึ้นไป "แอ่ว" ดังได้กล่าวข้างต้นเป็นการกรุยทางแล้วก็ลองขอสิ่งแลกเปลี่ยน (โค๊ต) หากสาวไม่ให้ก็ บ่เป็นหยังดอก เพราะเรามีอยู่แล้ว กะว่าได้เวลาสาวควรจะหลับนอนแล้วเราก็ลาลงเรือนมาเสีย แล้วก็ย้อนกลับไปเคาะสัญญาณลับที่ช่องล้วงสาว

ในขณะที่ "แอ่ว" สายตาเราก็โลมเลียมหน้าตาส่วนสัดของสาวเจ้าไว้แล้ว (สัปดนวันละนิดจิตแจ่มใส) อดใจไว้อีกสักนิดก็จะได้พิสูจน์ด้วยประสาทสัมผัสอยู่แล้วน่า อะไรทำนองนั้น ปากก็คุยไปตาก็โลมเลียมไป

สาวๆ ในหมู่บ้านที่มีประเพณีอันนี้ ถ้าดูเพียงฉาบฉวยจะเหมือนคนใจง่าย แต่ที่จริงแล้วสาวๆ เหล่านั้นได้ถูกฝึกปรือให้มีความคิดเห็น มีความพอใจ โดยตนของตนเอง โดยเฉพาะเหตุผลของเจ้าหล่อนเหล่านั้น ไม่มีใครจะกล้ายื่นมือเข้าไปสอดแทรก ทั้งนี้ก็เพราะหมู่บ้านได้ตราประเพณีเสรีภาพ อิสรภาพ  ทั้งกายและใจไว้แก่พวกหล่อนอย่างนั้นนี่...  ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เจ้าหล่อนจะอ่อนไหวไปกับคำโลมเลียมของหนุ่มและไม่หนุ่ม หากอารมณ์ของพวกหล่อนเกิดพ้องพานกันขึ้น

สาวที่หมู่บ้าน 'ห้วยกระเดียน' ไม่เห็นเป็นของแปลกหรือเป็นที่เสียหายอะไร ในเมื่อเจ้าหล่อนจะให้ "โค๊ต" ไปกับหนุ่มหลายๆ คน ในเมื่อหนุ่มๆ เหล่านั้นยังรักเผื่อเลือกได้ทำไมพวกเจ้าหล่อนจะทำบ้างไม่ได้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น

ผู้เขียนผวาร่างไปที่ "ช่องล้วงสาว" เคาะป๊อกๆ ตามโค๊ตที่ได้รับมา ๒ ที  ภายในห้องของสาวยังเงียบกริบอยู่ อีกอึดใจหนึ่งก็เคาะป๊อกๆ อีกสองที คราวนี้ได้ยินเสียงฟากไม้ไผ่ที่รองรับร่างของหล่อนดังกรอบแกรบ  แสดงว่าเจ้าหล่อนรู้แล้วว่าเป็นสัญญาณหรือโค๊ตของใคร  พออีกป๊อกๆ หนสุดท้าย สลักที่ปิดบนช่องล้วงก็ดังแกร๊กแต่หล่อนไม่เปิดเอง ผู้เขียนลองเอานิ้วมือดันเบาๆ มันก็เปิดออก แล้วผู้เขียนก็เสือกลำแขนเข้าไปจนสุดช่วงไหล่ เอามือควานคว้าหาตัวสาวเจ้า ปรากฏว่าควานพบแต่อากาศอันว่างเปล่าท่ามกลางเสียงหัวเราะคิกคักชอบใจของเจ้าหล่อน  ควานจนแขนล้าก็ไม่พบเจ้าของห้อง จึงเลยทอดแขนลงด้วยความอ่อนใจ ตอนนี้เองที่สาวเจ้าตะครุบมือของผู้เขียนปั๊บ  หล่อนเอามือหนึ่งกดแขนไว้ให้อยู่นิ่งๆ กับที่ อีกมือหนึ่งของหล่อนก็คลำหา "โค๊ต" ที่นิ้วมือผู้เขียนได้ "โค๊ต" เป็นแหวนถักด้วยหวายสวมไว้ที่นิ้วกลาง หล่อนคลำดูที่แหวนนั้นจนมั่นใจแล้วจึงหยิกมั๊บลงบนหลังมือ แล้วร่างของหล่อนก็ขยับมาจนชิด "ช่องล้วงสาว" ตัดพ้อต่อว่า ว่าทำไมมาถึงดึกนัก เค้าง่วงนอนแล้วไม่ใช่เหรอ  วันหลังมาใหม่ดีกว่า ฯลฯ อะไรทำนองนี้เป็นเชิงเง้างอน ผู้เขียนก็โอ้โลมด้วยคำหวานเบาๆ เพื่อคล้อยตามอารมณ์งอนของเจ้าหล่อน

ตอนที่หล่อนขยับตัวเข้ามาชิด "ช่องล้วงสาว" นั้น แขนของผู้เขียนเป็นอิสระแล้ว ผู้เขียนได้ยกมันขึ้นลูบไล้ตามหลังไหล่และลำแขนของเจ้าหล่อนอย่างแผ่วเบาละมุนละไม ไม่ปรากฏว่าสาวเจ้าขัดขืนแต่ประการใด  แต่พอผู้เขียนทำท่าจะเลยเส้นขนานไปตามสัญชาตญาณของเพศผู้ สาวเจ้ากลับปัดป้องอย่างเหนียวแน่น ผู้เขียนจึงต้องใช้ลิ้นลมเข้าโลมเล้าอีกแรงหนึ่ง สาวเจ้าจึงทอดตัวลงนอนเหยียดอยู่ข้างๆ "ช่องล้วงสาว"

ปล่อยให้ผู้เขียนลูบไล้ไปตามสบาย ท่านลองหลับตานึกภาพเอาเองเถอะว่าการที่ผู้ชายอย่างเราท่าน มีโอกาสได้ลูบไล้ร่างของหญิงสาวด้วยความเต็มใจของเจ้าหล่อน เพียงมีแขนและมือข้างเดียวนั้น มันจะทารุณจิตใจสักเพียงไหน?  ผู้เขียนชักกระตุกดิ้นงอแดยันอยู่เพียงฝ่ายเดียว  สาวเจ้ากลับนอนหัวเราะคิ๊กๆ เหมือนจะยั่วให้ทลายฝาห้องเข้าไปพิชิตเสียสิ้นดี แต่ก็ทำไม่ได้ จนแล้วจนรอดมันก็ไอ้แค่นั้น วอนเสียงสั่นเสียงเครือให้สาวเปิดหน้าต่าง สาวก็เงียบเฉย แม้ว่าบางครั้งร่างของหล่อนจะบิดเบี้ยวไปมา แต่เสียงกระซิบที่ดังโต้ตอบออกมาก็มีอยู่เพียงประโยคเดียวซ้ำซากอยู่อย่างนั้นว่า...ไม่ได้ ไม่ได้ ..ผิดผี...ผิดผี...!!  ไม่มีอะไรดีกว่ากระซิบกระซาบนัดหมายหล่อนอีกในคืนวันรุ่งขึ้น, นัดเวลา, นัดแนะโค๊ตใหม่ที่จะใช้ในวันรุ่งขึ้น ซักซ้อมกันจนเป็นที่ขึ้นใจ  ผู้เขียนก็ลาสาวกลับไปนอนที่พักด้วยอาการอันโผเผเบาเนื้อเบาตัวพอประมาณ...เฮ่อ...เหนื่อย...


คืนวันรุ่งขึ้น เมื่อถึงเวลานัดผู้เขียนก็ตรงไปเลย โดยไม่ต้องขึ้นไปแอ่วอย่างเมื่อวานนี้ เมื่อได้โค๊ตที่ได้นัดหมายกันไว้ถูกต้องแล้ว “ช่องล้วงสาว” ก็เปิดออกมาดังแกร๊ก แต่คราวนี้สาวเจ้าเป็นคนเปิดเอง

มีการตรวจสอบเครื่องหมายที่นิ้วมืออีกเช่นเคย แต่คราวนี้สาวเจ้ายอมทอดตัวให้ลูบไล้เร็วกว่าคืนที่แล้ว กระบิดกระบวนต่างๆ ก็ไม่มี เสียงพูดคุยจากเจ้าหล่อนก็ชักจะหายไป มีแต่เสียงลมหายใจฟืดฟาดดังลอดฝาออกมาแทน  ผู้เขียนได้รับทราบเคล็ดลับมาจากไอ้หนุ่มเจ้าของโค๊ตแล้วว่าจักต้องดำเนินการอย่างไรกับสาวนางผู้นี้  หลักใหญ่หรือเคล็ดที่ว่านี้ก็ไม่มีอะไรนอกจากไอ้หนุ่มผู้ใจกว้างมันสอนไว้ว่า ให้ใจเย็น, ข่มอารมณ์,  ดำเนินการอย่างละมุนละไม,  อย่าตะกรุมตะกราม  หากดำเนินการอย่างนี้ได้แล้วโดยไม่ด่วนวิ่งล่วงหน้าหล่อนไปถึงหลักชัยก่อนแล้ว ไม่นานนักดอกสาวเจ้าก็จะลุกพรวดพราดขึ้นมาเปิดหน้าต่างรับอย่างแน่นอน นั่นแหละคือชัยชนะของคำว่า ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’

และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เวลาผ่านไปไม่ถึง ๓๐ นาที เสียงครางของสาวกลายเป็นเสียงสะอื้นถี่ๆ อยู่พักหนึ่ง หน้าต่างเหนือ ‘ช่องล้วงสาว’ ก็เปิดผลั๊วะออกมา ก็ไม่มีปัญหาอะไรต่อไปอีกแล้วใช่ไหม? ครับ!

ความจริงประเพณีการล้วงสาว มันสิ้นสุดสมบูรณ์แบบตั้งแต่คืนแรกโน่นแล้วขอยืนยันอีกครั้งว่า ประเพณีการล้วงสาวมีเพียงแค่นั้นจริงๆ ผู้เขียนยอมรับว่าไอ้เพียงแค่นั้นของประเพณีนี้ ทำให้อารมณ์หนุ่มของผู้เขียนผ่อนคลาย หรือที่เรียกว่า “แก้ขัด” ไปได้อย่างสบายมาก แต่ก็อย่างว่าคำว่าพอของโลกมนุษย์มีซะเมื่อไหร่ ได้เท่านี้แล้วก็อยากจะได้ให้มันมากไปยิ่งกว่านั้น เป็นสันดานของมนุษย์

ส่วนเหตุเกิดในคืนที่สองนั้น มันได้กลายเป็นประเพณี “ซู” ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ ไปเสียแล้ว ไม่ใช่ประเพณีล้วงสาว

ผู้เขียนอาจเป็นคนโชคดีในการคบมิตร ไอ้หนุ่มเพื่อนเกลอผู้เสียสละหมอยังอุตส่าห์แนะทีเด็ดเกี่ยวกับทางหนีทีไล่ไว้เสร็จ เมื่อก้าวล้ำเข้าไปถึงขั้น “ซู” แล้วจะแก้ไขอย่างไร ไอ้เพื่อนรักมันบอกให้ผู้เขียนต่อยให้หนัก อย่าให้คู่ต่อสู้โงหัวขึ้นมาได้ ยิ่งใกล้จะสว่างเท่าไหร่ มีหมัดน็อคเท่าไหร่ น็อคให้สลบเหมือดไปเลย อย่าได้ปรานี  

ดังนั้น พอไก่ขันครั้งที่ ๓ ผู้เขียนก็กล่อมสาวน้อยบ้านห้วยกะเดียนเสียสลบไสลไปเลย แล้วผู้เขียนก็ปาฏิหาริย์ตุ๊บลงทางหน้าต่าง หายลับไปกับความสลัวๆ ของเวลารุ่งอรุณ  หวานไปรายหนึ่งละ

สามอาทิตย์ที่อยู่ ณ หมู่บ้านวิมานทิพย์แห่งนั้น ผู้เขียนได้ล้วงสาวโดยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของบรรดาเสี่ยวๆ รุ่นราวคราวเดียวกันไม่เว้นแต่ละคืน และแทบทุกคืนมักจะถึงขั้น “ซู” ทั้งนั้น ทั้งนี้เพราะได้ลับเคล็ดหรือทริกจากเพื่อนๆ นั่นเอง  

เพียงอาทิตย์ที่ ๓ ผู้เขียนก็เดินโต๋เต๋ จำต้องอำลาหมู่บ้านพิสวาสแห่งนั้นกลับมาด้วยความอาลัย

จากวันนี้ไปจนถึงวันหน้า ประเพณีอันนี้ก็คงจักได้เป็นเพียงอดีตที่ฝังใจของผู้ได้ผ่านพบประสบมาเท่านั้น โลกได้วิวัฒนาการก้าวไกลไปจนมนุษย์ถึงโลกพระจันทร์แล้ว ประเพณีดังกล่าวนี้ก็คงสูญหายไปทีละนิดๆ จนกระทั่งมลายไปตามความเจริญของโลกยุคใหม่  ประเพณีอันพิสดารนี้วางมาตรการอยู่ได้ด้วยจิตใจของคนในสมัยนั้นบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียจริงๆ ถึงแม้ว่ามันจะถูกประคับประคองมาจนถึงปัจจุบันนี้ มันก็คงจะดำเนินไปบนหลักการดังกล่าวนั้นไม่ได้ เพราะคนในยุคนี้ได้เปลี่ยนแปลงจิตใจ ไปจนไม่มีสิ่งใดที่จะกระชากฉุดหยุดรั้งไว้ได้เสียแล้ว...น่าเสียดาย...[/size]

...เฮ๊อ...น่าเสียดาย...น่าเสียดายจริงๆ...

3068  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ไก่ทอดตะไคร้ สูตรและวิธีทำ เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2559 18:50:08

ตะไคร้ ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคหืด แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ แก้อหิวาตกโรค ทำเป็นยาทาแก้ปวดก็ได้
และยังใช้รวมกับสมุนไพรชนิดอื่นรักษาได้ เช่น บำรุงธาตุ เจริญอาหาร และขับเหงื่อ
ตำรายาไทยใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด
ประโยชน์เยอะขนาดนี้ ถ้าเอามาทำให้อร่อยด้วยละก็ถึงกับกินจนลืมนึกถึงประโยชน์กันเลยทีเดียว





ไก่ทอดตะไคร้
กรอบ อร่อย - กิมเล้ง

เครื่องปรุง
- น่องไก่ติดสะโพก ½ กิโลกรัม
- พริกไทยดำ ¼ ช้อนชา
- กระเทียมไทย 4-5 กลีบ
- ตะไคร้  1 ต้น
- เกลือป่น 1 ช้อนชา
- แป้งทอดกรอบ 2 ช้อนโต๊ะ


วิธีทำ
1.ล้างตะไคร้ให้สะอาด หั่นเป็นท่อนตามขวาง ยาวประมาณ 2 ซม. ใช้สากหรือมีดหนักๆ ทุบให้แตก ยีให้กระจาย แล้วนำไปตากแดด พอหมาดๆ หรือเกือบแห้ง
2.ล้างไก่ให้สะอาด แล่เนื้อด้านละ 2-3 บั้ง (เนื้อไก่สุกยาก และเพื่อให้เครื่องหมักซึมเข้าเนื้อ)  
3.โขลกพริกไทยดำ กระเทียม ตะไคร้หั่นละเอียด และเกลือป่น
4.นำเครื่องที่โขลกไปหมักกับเนื้อไก่แช่ไว้ในตู้เย็นอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือข้ามคืน
5.โรยแป้งทอดกรอบที่ชามหมักไก่ คลุกให้ทั่ว นำไปทอดด้วยไฟปานกลางจนสุกเหลือง



ท่านที่ติดตาม "สุขใจ ในครัว" มาต่อเนื่อง วันนี้อาจรู้สึกแปลกใจ
ทำไมครัวมีลักษณะแปลกๆ ... ทุกทีเคยเห็นวางอาหารโพสต์บนโต๊ะหินแกรนิต
พอดีหยุดต่อเนื่องเข้าพรรษา 5 วัน kimleng ลาพักผ่อนต่อในวันพฤหัสฯ-ศุกร์ อีก 2 วัน
ได้วันหยุดรวม 9 วัน จึงหิ้วกระเป๋าไปพักสมองบ้านแฝดหลังเล็กๆที่ลพบุรี พร้อมกับผู้คุ้มครองที่เราต้องไปด้วยกันเสมอ

ครัวอาจแปลกตา แต่ผู้ปรุงและเจ้าของสูตรอาหารยังเป็น kimleng คนเดิมค่ะ


ภาพประกอบจากหัวข้อ หมูทอดตะไคร้ เว็บไซต์ สุขใจดอทคอม


ภาพประกอบจากหัวข้อ หมูทอดตะไคร้ เว็บไซต์ สขใจดอทคอม
ใช้ตะไคร้สดหั่นตามขวางบางๆ ก็ได้ แต่ให้ลดปริมาณลงไปด้วย
เพราะตะไคร้สดมีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยในเนื้อเยื่อที่ให้รสปร่า  
จะให้ดีควรใช้ตะไคร้แห้ง จะหอมกว่าใช้ตะไคร้สด



ไก่ที่หมักทิ้งไว้ข้ามคืน พอจะทอดก็โรยแป้งทอดกรอบสัก 2 ช้อนโต๊ะ เคล้าให้เข้ากันโดยไม่ต้องผสมน้ำ


นำไปทอดด้วยไฟกลาง (น้ำมันอาจสีเข้มไป เพราะเป็นน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารเป็นครั้งที่ 2)






ผู้คุ้มครอง "โคล่า (ปิ๊บ ปิ๊บ)" ต้องจับโยนใส่รถไปด้วยกันเสมอ




3069  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม : แหล่งสรรพวิทยาการ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2559 14:39:35





วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ผู้เรียบเรียง : Kimleng
อ้างอิง : ๑.พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่๓ ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่
          ๒.แผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ, วอลเตอร์ เอฟ.เวลลา แต่ง, พันเอก นิจ ทองโสภิต แปล, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
          ๓.ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์, กาญจนาคพันธุ์, สำนักพิมพ์สาส์นสวรรค์
          ๔.สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช,  ณัฐวุฒิ  สุทธิสงคราม เรียบเรียง, จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘
          ๕.สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, หน้า ๕๗๓๔-๕๗๓๗, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เผยแพร่
          ๖.เว็บไซท์ watpho.com
          ๗.เว็บไซท์ dooasia.com
          ๘.เว็บไซท์ th.wikipedia.org
----------------------------------------

วัดพระเชตุพน หรือ วัดโพธิ์ หรือนามทางราชการว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร  เป็นวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดในเมืองไทย

หากจะย้อนถามว่า อะไร “สำคัญ”.....สำคัญอย่างไร?

คำตอบ : ไม่มีวัดไหนในเมืองไทย จะให้สิ่งที่เป็นความรู้ในเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางเท่าเทียมกับวัดโพธิ์

วัดโพธิ์ เป็นวัดที่ให้ความรู้ ทั้งทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ศาสนคดี  แพทยศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งปรากฏให้เห็นตามภาพเขียน รูปหล่อ รูปปั้น ประกอบคำจารึกอยู่ตามบานประตู หน้าต่างของพระอุโบสถ วิหาร และศาลาต่างๆ มากมาย  เป็นเครื่องเชิดชูให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาการอันล้ำค่าต่างๆ ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงสร้างขึ้นไว้ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นวิทยาทานแก่ไพร่ฟ้าประชากรของพระองค์ ดังนั้น จึงถือกันว่า วัดโพธิ์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีมาเก่าแก่แห่งหนึ่งในเมืองไทย เป็นแหล่งที่รวมเอารวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ ภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กันอย่างไม่รู้จบสิ้น

วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมัลคลาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี แต่เดิมเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณกันว่าคงสร้างในระหว่าง พ.ศ.๒๒๓๑-๒๒๔๖ ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นคนสร้าง  เข้าใจว่าในชั้นเดิมเป็นเพียงวัดราษฎร์ธรรมดาสามัญเท่านั้น ไม่ได้สร้างใหญ่โตอะไร เพราะอยู่ไกลเมืองหลวงกรุงศรีอยุธยามาก  และในครั้งนั้นเห็นจะปลูกต้นโพธิ์ขึ้นในวัดด้วย จึงมีชื่อเรียกกันว่า “วัดโพธาราม” แต่คนธรรมดาสามัญ เรียกกันติดปากว่า “วัดโพธิ์” มาจนทุกวันนี้

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ วัดโพธิ์ซึ่งคงจะเป็นวัดราษฎร์มาได้ประมาณ ๖๐-๗๐ ปี ก็คงจะกลายเป็นวัดร้างไปด้วย  ต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงกอบกู้อิสรภาพปราบพม่าข้าศึกหมดแล้ว ได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง  ทรงเห็นว่า วัดโพธิ์เป็นวัดที่อยู่ใกล้พระราชวัง  จึงให้ปฏิสังขรณ์และยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีพระราชาคณะปกครองสืบมา

วัดโพธารามในยุคตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เห็นจะไม่ได้สร้างถาวรวัตถุอะไรมากนัก  ส่วนเจ้าอาวาสนั้น ปรากฏว่าเป็นตำแหน่งพระพิมลธรรม  พระพิมลธรรมองค์แรกที่ออกชื่อปรากฏว่าชื่อ อิน

ในพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อวันอังคาร เดือนห้า ขึ้นสิบสี่ค่ำ ศักราช ๑๑๔๒ ปีชวด โทศก (เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๓๒๓) ได้มีผู้เป็นโจทก์มาฟ้องหลายคน ต่างยกข้ออธิกรณ์พระพิมลธรรมวัดโพธาราม ด้วยข้ออทินนาทานปาราชิก  พระยาเสด็จฯ กราบทูล พระกรุณาดำรัสสั่งให้ชำระคดี ได้ความเป็นสัตย์จริง จึงให้สึกเสีย และนายอินพิมลธรรมนั้น โปรดฯ ตั้งให้เป็นหลวงธรรมรักษา เจ้ากรมสังฆการีขวา

เมื่อเจ้าอาวาสวัดโพธารามว่างลงเช่นนี้ จึงโปรดฯ ให้พระธรรมเจดีย์ (ฉิม) วัดนาค เลื่อนขึ้นเป็นพระพิมลธรรม มาครองวัดโพธารามสืบไป  

ครั้นในปีรุ่งขึ้นนั้นเองก็เกิดเหตุใหญ่ ในพงศาวดารกล่าวว่า  
     "สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ โรงพระแก้ว ให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกัน และพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือน ถึงสัญญาวิปลาส สำคัญพระองค์ว่าได้โสดาปัตติผล จึงดำรัสถามพระราชาคณะว่า พระสงฆ์ปุถุชน จะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น จะได้หรือมิได้ประการใด และพระราชาคณะที่มีสันดานโลเล มิได้ถือมั่นในพระบาลีบรมพุทโธวาท  เกรงพระราชอาญา เป็นคนประสมประสาน จะเจรจาให้ชอบพระอัธยาศัยนั้น มีเป็นอันมาก มีพระพุทธโฆษาจารย์ วัดบางหว้าใหญ่ พระโพธิวงศ์ พระรัตนมุนี วัดหงส์ เป็นต้นนั้น  ถวายพระพรว่า พระสงฆ์ปุถุชน ควรจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นโสดาบันนั้นได้ แต่สมเด็จพระสังฆราช วัดบางว้าใหญ่ พระพุฒาจารย์ วัดบางว้าน้อย พระพิมลธรรม วัดโพธาราม สามพระองค์นี่ มีสันดานมั่นคง ถือพระพุทธวจนะโดยแท้ มิได้เป็นคนสอพลอประสมประสาน จึงถวายพระพรว่า ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์จะเป็นโสดาบันก็ดี แต่เป็นหีนเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร และพระจตุปาริสุทธศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์อันเป็นพระโสดาบันนั้น ก็มิบังควร   สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระพิโรธว่า ถวายพระพรผิดจากพระบาลี ด้วยพวกที่ว่าควรนั้นเป็นอันมาก ว่าไม่ควรแต่สามองค์เท่านี้ จึ่งดำรัสให้พระโพธิวงศ์ พระพุทธโฆษาจารย์ เอาตัวสมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ พระพิมลธรรม กับทั้งฐานาเปรียญอันดับ ซึ่งเป็นอันเตวาสิกสัทธิงวิหาริก แห่งพระราชาคณะทั้งสามนั้น ไปลงทัณฑกรรม ณ วัดหงส์ทั้งสิ้น”

สรุปแล้ว พระพิมลธรรมที่มาจากวัดนาค ได้ครองวัดโพธารามอยู่เพียงปีเดียว ก็ถูกถอดจากสมณฐานันดรศักดิ์ลงเป็นพระอนุจร และถูกควบคุมตัวอยู่ที่วัดหงส์ ส่วนวัดโพธารามนั้นไม่มีเจ้าอาวาส จึงโปรดฯ ให้พระญาณไตรโลก วัดเลียบ มาครองแทน และเห็นจะครองอยู่ได้ไม่ถึงปี ก็เปลี่ยนแผ่นดินใหม่.




พระพุทธเทวปฏิมากร
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม







โปริดติตามตอนต่อไป
3070  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: ชุดภาพ 'เงาะป่า' ภาพและคำบรรยาย โดย เหม เวชกร เมื่อ: 25 กรกฎาคม 2559 12:44:06




















3071  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา : สถาปัตยกรรมต้นแบบปราสาทนครวัด กัมพูชา เมื่อ: 20 กรกฎาคม 2559 16:50:19



โบราณสถาน "อโรคยาศาล"

จากบทความเรื่อง "โรงพยาบาลในจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗" โดย นวพรรณ ภัทรมูล นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่า "เมื่อประชาชนมีโรคถึงความหายนะ ตามภาวะแห่งกรรมด้วยการสิ้นไปแห่งอายุเพราะบุญ พระองค์ผู้เป็นราชา ได้กระทำโคที่สมบูรณ์ทั้งสาม เพื่อประกาศยุคอันประเสริฐ" ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ บอกถึงความมุ่งหมายในการสร้างสถานพยาบาล หรือ "อโรคยาศาล" (คำๆ นี้ปรากฏอยู่ในจารึกบรรทัดที่ ๗ ด้านที่ ๒ ของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปแบบและภารกิจของอโรคยาศาล ที่ได้ระบุไว้ในจารึกนั้น ก็เทียบได้กับ "โรงพยาบาล" ในปัจจุบันนั่นเอง

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์มหิธรปุระ โดยทางพระราชบิดา (พระเจ้าธรณินธรวรมันที่ ๒) ส่วนพระราชมารดาเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๓ พระองค์ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๗๒๔ ทรงมีพระเมตตาต่ออาณาประชาราษฎร์ยิ่ง ทรงโปรดให้สร้างสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล จำนวนมากถึง ๑๐๒ แห่ง ทั่วราชอาณาจักร ทั้งยังพระราชทานข้าวของเครื่องใช้ตลอดจนยารักษาโรค

อโรคยาศาลประกอบด้วยปรางค์ประธาน มีอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัย สร้างด้วยศิลาแลง หันหน้าสู่ปราสาทประธาน ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ตำแหน่งของบรรณาลัยมักจะอยู่ค่อนไปที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เสมอ มีซุ้มประตูทางเข้าเรียกว่า โคปุระ ทางด้านหน้าเพียงแห่งเดียว ตั้งอยู่ใกล้ๆ จุดกึ่งกลางของกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก

บริเวณด้านนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรียกว่า บาราย หรือ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ กรุด้วยศิลาแลง เป็นสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นตามรายทางของอาณาจักรขอมสมัยพระนคร จะเชื่อมกับปราสาทนครธม และปราสาทหินอื่นๆ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แผ่พระราชอำนาจไปถึงและสร้างปราสาทหินเอาไว้

เหตุที่ทราบว่าเป็นโรงพยาบาลเพราะมีหลักฐานจารึกไว้ ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลคำอ่าน-คำแปลของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ รวม ๖ หลัก ได้แก่
   -จารึกพบที่ จ.สุรินทร์ ๓ หลัก คือ จารึกปราสาท (สร.๔),
   -จารึกตาเมียนโตจ (สร.๑),
   -จารึกสุรินทร์ ๒ (สร.๖)
   -จารึกพบที่ จ.นครราชสีมา ๑ หลัก คือ จารึกเมืองพิมาย (นม.๑๗)
   -จารึกพบที่ จ.บุรีรัมย์ ๑ หลัก คือ จารึกด่านประคำ (บร.๒) และ
   -จารึกพบที่ จ.ชัยภูมิ ๑ หลัก คือ จารึกวัดกู่บ้านหนองบัว (ชย.๖)

เมื่อได้พิจารณาและเปรียบเทียบในส่วนของเนื้อหาแล้วพบว่า ทุกหลักมีเนื้อหาและการเรียงลำดับข้อมูลเหมือนกัน กล่าวคือ

จารึกด้านที่ ๑ จะขึ้นต้นด้วยการกล่าวนมัสการเทพประจำโรงพยาบาล ตามด้วยสรรเสริญพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และพระเทวี พร้อมกล่าวถึงมูลเหตุที่สร้างโรงพยาบาล
จารึกด้านที่ ๒ กล่าวถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล ตลอดจนหน้าที่ของแต่ละคน
จารึกด้านที่ ๓ กล่าวถึงจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้อุทิศไว้เพื่อใช้ในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง และ
จารึกด้านที่ ๔ กล่าวสรรเสริญและอำนวยพรแด่พระราชาผู้ได้กระทำกุศล อีกทั้งประกาศข้อห้ามต่างๆ ในโรงพยาบาล

เทพประจำโรงพยาบาลมี ๓ องค์ คือ พระไภษัชครุไวทูรย์ (พระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระชินะ ถือเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งผู้ประสาทความไม่มีโรค อีก ๒ องค์เป็นพระชิโนรส คือ พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ และพระศรีจันทรไวโรจนโรหินีศะ ผู้ขจัดโรค

ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลมีหลายตำแหน่ง แต่ละตำแหน่งมีจำนวนบุคคลไม่เท่ากันในแต่ละโรงพยาบาล จำนวนคร่าวๆ ได้แก่ แพทย์ ๒ คน เจ้าหน้าที่ดูแลทรัพย์สิน ธุรการ หาข้าวเปลือก หาฟืน จ่ายยา ทำบัตร สถิติ จ่ายสลากยา พลีทาน หาฟืนต้มยา เจ้าหน้าที่หุงต้ม ดูแลรักษาและจ่ายน้ำ หาดอกไม้และหญ้าบูชายัญ เจ้าหน้าที่โม่ยา ตำข้าว เจ้าหน้าที่ประกอบพิธีบูชายัญ เจ้าหน้าที่ดูแลทั่วไป และทำความสะอาดเทวสถาน

เจ้าหน้าที่ที่มีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มคือผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาโรงพยาบาลและส่งยาให้แก่แพทย์ จำนวน ๑๔ คน และเจ้าหน้าที่ที่มีความสำคัญอีกคนหนึ่งคือโหราจารย์ ทั้งนี้ จากจารึกปราสาทและจารึกสุรินทร์ ๒ ระบุไว้ว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดในโรงพยาบาลมีถึง ๙๘ คน

สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ประกอบการรักษาพยาบาล ได้แก่ เครื่องพลีทาน ข้าวสาร เครื่องแต่งตัวยาวเก้าคืบ เสื้อผ้ายาว สิบคืบ เครื่องนุ่งห่มที่มีชายสีแดง เครื่องนุ่งห่มสีขาว ผ้าสีขาว กฤษณา เทียนขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง น้ำมัน เนยใส จันเทศ เกลือ ผลกระวาน ใหญ่เล็ก กำยาน มหาหิงคุ์ น้ำตาลกรวด ไม้จันทน์ เทียนไข อาหารโค ฯลฯ
3072  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท) เมื่อ: 20 กรกฎาคม 2559 16:14:08

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๔๓)
ภิกษุแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนเกิน ๑ เดือน
และทำผ้านุ่งเกิน ๑๕ วันก่อนวันเข้าพรรษา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตผ้าอาบน้ำฝนแล้ว จึงแสวงหาจีวร คือผ้าอาบน้ำฝนเสียก่อนบ้าง ทำแล้วนุ่งเสียก่อนบ้าง ครั้นผ้าอาบน้ำฝนเก่าแล้วก็เปลือยกายอาบน้ำฝน
       ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า "ภิกษุรู้ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีก ๑ เดือน พึงแสวงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน รู้ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีกกึ่งเดือน พึงทำนุ่งได้ ถ้าเธอรู้ว่าฤดูร้อนเหลือล้ำกว่า ๑ เดือน แสวงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน รู้ว่าฤดูร้อนเหลือล้ำกว่ากึ่งเดือน ทำนุ่ง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์"

อรรถาธิบาย
       -คำว่า ภิกษุรู้ว่า ฤดูร้อนยังเหลืออีก ๑ เดือน พึงแสวงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนได้ อธิบายว่า ภิกษุพึงเข้าไปหาชาวบ้านที่เคยถวายจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนมาก่อน แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า "ถึงกาลแห่งผ้าอาบน้ำฝนแล้ว ถึงสมัยแห่งผ้าอาบน้ำฝนแล้ว แม้ชาวบ้านเหล่าอื่นก็ถวายจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน" ดังนี้ แต่อย่าพูดว่า จงให้จีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนแก่อาตมา จงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนมาให้อาตมา จงแลกเปลี่ยน จงจ่ายจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนมาให้อาตมา ดังนี้เป็นต้น
       -เมื่อฤดูร้อนยังเหลืออยู่กึ่งเดือน พึงทำนุ่งได้ เมื่อฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่า ๑ เดือน แสวงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน ทำนุ่ง เป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านเจ้าข้า จีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้ของข้าพเจ้า แสวงหาได้มาในฤดูร้อนซึ่งยังเหลือเกินกว่า ๑ เดือน ทำนุ่งในฤดูร้อนซึ่งยังเหลืออยู่เกินกว่ากึ่งเดือน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้แก่สงฆ์"
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้ "ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้ของภิกษุ มีชื่อว่า เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่งสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้

วิธีเสียสละแก่คณะ
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป..."ท่านเจ้าข้า จีวร คือผ้าอาบน้ำฝน... ข้าพเจ้าสละจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย"
       ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า "ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า... ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้"

วิธีเสียสละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... "ท่าน จีวรคือผ้าอาบน้ำฝน... ข้าพเจ้าสละจีวร คือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้แก่ท่าน" ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยคำว่า "ข้าพเจ้าให้จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้แก่ท่าน" ดังนี้

อาบัติ
       ๑.ฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่า ๑ เดือน ภิกษุรู้ว่าเกิน แสวงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.ฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่า ๑ เดือน ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.ฤดูร้อนยังเหลือเกินว่า ๑ เดือน ภิกษุคิดว่ายังไม่ถึง...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.ฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่ากึ่งเดือน ภิกษุรู้ว่าเกิน ทำนุ่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๕.ฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่ากึ่งเดือน ภิกษุสงสัย ทำนุ่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๖.ฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่ากึ่งเดือน ภิกษุคิดว่ายังไม่ถึง ทำนุ่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๗.เมื่อผ้าอาบน้ำฝนมี ภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝน ต้องทุกกฏ
       ๘.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึง ๑ เดือน ภิกษุคิดว่าเกิน แสวงหา ต้องทุกกฏ
       ๙.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึง ๑ เดือน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๑๐.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึง ๑ เดือน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ถึง... ไม่ต้องอาบัติ
       ๑๑.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึงกึ่งเดือน ภิกษุคิดว่าเกิน... ต้องทุกกฏ
       ๑๒.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึงกึ่งเดือน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๑๓.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึงกึ่งเดือน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ถึงกึ่งเดือน ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุรู้ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีกกึ่งเดือน แสวงหา, ภิกษุรู้ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีกกึ่งเดือน ทำนุ่ง ๑  ภิกษุรู้ว่าฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึงกึ่งเดือน แสวงหา ๑  ภิกษุรู้ว่าฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึงกึ่งเดือน ทำนุ่ง ๑ เมื่อผ้าอาบน้ำฝน ภิกษุแสวงหาได้แล้ว ฝนแล้ง  เมื่อผ้าอาบน้ำฝน ภิกษุทำนุ่งแล้ว เมื่อฝนแล้ง ซักเก็บไว้ ๑  ภิกษุนุ่งในสมัย ๑  ภิกษุมีจีวรถูกโจรชิงไป ๑  จีวรหาย ๑  มีอันตราย ๑  โจรชิงผ้ามีราคาที่ภิกษุนุ่งอาบน้ำฝน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๑๐๖๒-๑๐๖๗
       ๑.ผ้าอาบน้ำฝน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ในเรื่องนางวิสาขา ในจีวรขันธกะ
          - ภิกษุทำให้สำเร็จลงด้วยการเย็บ ย้อม และกัปปะเป็นที่สุด และภิกษุเมื่อจะทำ พึงกระทำผืนเดียวเท่านั้น แล้วอธิษฐานในสมัย จะอธิษฐาน ๒ ผืน ไม่ควร
       ๒.ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง หลังจากวันเพ็ญของเดือน ๗ ไปจนถึงวันอุโบสถในกาฬปักษ์ข้างแรมนี้ เป็นเขตแห่งการแสวงหาและเขตแห่งการกระทำ แท้จริงในระหว่างนี้ ภิกษุจะแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนที่ยังไม่ได้ และจะทำผ้าอาบน้ำฝนที่ได้แล้ว ควรอยู่ จะนุ่งห่มและจะอธิษฐาน ไม่ควร
          กึ่งเดือนหนึ่ง ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง หลังวันอุโบสถในกาฬปักษ์ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน ๘ นี้ เป็นเขตแห่งการแสวงหา การกระทำ และการนุ่งห่ม  ในระหว่างนี้จะแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนซึ่งยังไม่ได้กระทำ ผ้าที่ได้แล้วจะนุ่งห่ม ควรอยู่ จะอธิษฐานอย่างเดียว ไม่ควร
          ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง หลังวันเพ็ญเดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญเดือนกัตติกา (เดือน ๑๒) ๔ เดือนนี้ เป็นเขตแห่งการแสวงหา การกระทำ การนุ่งห่ม และการอธิษฐาน  ในระหว่างนี้จะแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนที่ยังไม่ได้ หรือจะกระทำผ้าที่ได้แล้ว จะนุ่งห่มและจะอธิษฐาน ควรอยู่
         อนึ่ง ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง หลังวันเพ็ญเดือน ๑๒ ไปจนถึงวันเพ็ญแห่งเดือน ๘ ต้น ๗ เดือนนี้ ชื่อว่า ปัฏฐิสมัย (หลังสมัย) ในระหว่างนี้เมื่อภิกษุทำการเตือนสติ โดยนัยเป็นต้นว่า กาลแห่งผ้าอาบน้ำฝนแล้วให้จีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน สำเร็จจากที่ของคนผู้ไม่ใช่ญาติและไม่ใช่ปวารณา เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทนี้  เมื่อกระทำวิญญัติโดยนัยเป็นต้นว่า ท่านจงให้จีวรคือผ้าอาบน้ำฝนแก่เรา แล้วให้สำเร็จเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ด้วยอัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๖ แห่งจีวรวรรค) เมื่อกระทำการเตือนสติโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ให้สำเร็จจากที่แห่งญาติและคนปวารณา เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทนี้แล (สิกขาบทนี้แม้ขอจากญาติและคนปวารณามาทำ ก็ไม่พ้นอาบัติ)
           อนึ่ง ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง หลังวันเพ็ญแห่งเดือน ๗ ต้น ไปจนถึงวันเพ็ญเดือนกัตติกา (เดือน ๑๒ ตกในราวปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน)  ๕ เดือนนี้ชื่อว่า กุจฉิสมัย (ท้องสมัย) ในระหว่างนี้เมื่อภิกษุทำการเตือนสติโดยนัยที่กล่าวแล้ว ให้จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนสำเร็จจากที่แห่งคนผู้มิใช่ญาติมิได้ปวารณา เป็นทุกกฏ เพราะเสียธรรมเนียม  แต่พวกชาวบ้านซึ่งเคยถวายจีวร คือผ้าอาบน้ำฝน แม้ในกาลก่อน ถึงหากว่าจะเป็นผู้มิใช่ญาติและมิใช่ผู้ปวารณาของตน ก็ไม่มีการเสียธรรมเนียมเพราะทำการเตือนสติ ในชนเหล่านั้นทรงอนุญาตไว้ เมื่อภิกษุกระทำวิญญัติให้สำเร็จเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยอัญญาตกวิญญัติสิกขาบท เพราะเหตุไร?  เพราะตรัสไว้ว่า ภิกษุเข้าไปหาพวกชาวบ้านผู้เคยถวายจีวร คือผ้าอาบน้ำฝนเสียก่อน แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ ดังนี้เป็นต้น      
          ก็จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนนี้ ตามปกติย่อมมีแม้ในหมู่ทายกผู้ถวายผ้าอาบน้ำฝนนั่นแล  เมื่อภิกษุเตือนให้เกิดสติโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นเอง แล้วให้สำเร็จจากที่แห่งคนผู้เป็นญาติและคนปวารณาไม่เป็นอาบัติด้วยสิกขาบทนี้  เมื่อกระทำวิญญัติให้สำเร็จมา ไม่เป็นอาบัติด้วยอัญญาตกวิญญัติสิกขาบท คำว่า ไม่พึงบอกเขาว่า จงถวายแก่เรา นี้ตรัสหมายถึงคนผู้มิใช่ญาติและมิใช่ปวารณานั่นเอง
       ๓.ภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนนั้น พระวินัยธรอย่าปรับตามจำนวนเมล็ดฝน พึงปรับด้วยทุกกฏทุกๆ ประโยค ด้วยอำนาจเสร็จการอาบน้ำ ก็ภิกษุนั้นอาบน้ำที่ตกลงมาจากอากาศอยู่ในลานที่เปิดเผย (กลางแจ้ง) เท่านั้น (จึงต้องทุกกฏ) เมื่ออาบอยู่ในซุ้มอาบน้ำและในบึงเป็นต้น หรือด้วยน้ำที่ใช้หม้อตักรด (ตักอาบ) ไม่เป็นอาบัติ
       ๔.ถ้าเมื่อผ้าอาบน้ำฝนทำเสร็จแล้ว พวกภิกษุให้เดือนท้ายฤดูสิ้นไปแล้ว เดือนต้นฤดูฝนนั่นแหละขึ้นมาเป็นเดือนท้ายฤดูร้อนอีก พึงซักผ้าอาบน้ำฝนเก็บไว้ ไม่ต้องอธิษฐาน ไม่ต้องวิกัป ได้บริหารตลอด ๒ เดือน พึงอธิษฐานในวันวัสสูปนายิกา (วันเข้าพรรษา) ถ้าว่าผ้าอาบน้ำฝนภิกษุมิได้ทำเพราะหลงลืมสติ หรือเพราะผ้าไม่พอก็ดี ย่อมได้บริหารตลอด ๖ เดือน คือ ๒ เดือนนั้นด้วย ๔ เดือนฤดูฝนด้วย  แต่ถ้าภิกษุกรานกฐินในเดือนกัตติกา ย่อมได้บริหารอีก ๔ เดือน รวมเป็น ๑๐ เดือน ด้วยประการอย่างนี้ แม้ต่อจาก ๑๐ เดือนนั้นไป เมื่อมีความหวังจะได้ผ้าอาบน้ำฝนของภิกษุผู้ทำให้เป็นจีวรเดิมเก็บไว้ ได้บริหารอีกเดือนหนึ่ง ดังนั้นจึงได้บริหารตลอด ๑๑ เดือน อย่างนี้
          ในกุรุนทีกล่าวถึงที่สุดแห่งนิสสัคคีย์ว่า ผ้าอาบน้ำฝนควรอธิษฐานเมื่อไร? ก็แลผ้าอาบน้ำฝนที่สำเร็จแล้วภายใน ๑๐ วัน ตั้งแต่วันที่ได้มา ควรอธิษฐานภายใน ๑๐ วันนั้นนั่นแหละ ถ้าผ้าไม่พอย่อมได้บริหารไปจนถึงเพ็ญเดือน ๑๒
       ๕.สิกขาบททนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
       ๖.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
          ผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฎิกา) - ผ้าสำหรับอธิษฐานไว้ใช้นุ่งอาบน้ำฝนตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน ซึ่งพระภิกษุจะแสวงหาได้ในระยะ ๑ เดือน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ และทำให้นุ่งได้ในเวลากึ่งเดือน ตั้งแต่ขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปัจจุบันมีประเพณีทายกทายิกาทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนตามวัดต่างๆ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘      




น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ เยนตฺถฺ สหสา นเย
โย จ อตฺถํ อนตฺถญฺจ อุโภ นิจฺเฉยฺย ปณฺฑิโต ฯ ๒๕๖ ฯ

ผู้ที่ตัดสินความโดยหุนหันพลันแล่น ไม่จัดเป็นผู้เที่ยงธรรม
ส่วนผู้ที่ฉลาด วินิจฉัยรอบคอบ ทั้งฝ่ายถูก และฝ่ายผิด
(จึงจัดเป็นผู้เที่ยงธรรม).  

He who hastily arbitrates Is not known as 'just'
The wise investigating right and wrong
(Is known as such). .
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

3073  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / Re: ขนมโมจิ (ขนมเปี๊ยะนมข้นหวาน) สูตรและวิธีทำ เมื่อ: 19 กรกฎาคม 2559 17:46:39


วิธีทำไส้ถั่วกวน


• ส่วนผสม
- ถั่วเขียวเลาะเปลือกดิบ 1+½ ถ้วย
- น้ำตาลทราย 1+½  ถ้วย
- มะพร้าวขูดขาว 300 กรัม
- หัวกะทิสด 1 ถ้วย
- เกลือป่น 1 ช้อนชา

  
• วิธีทำ
1.แช่ถั่วในน้ำอุ่น 3-4 ชั่วโมง  ล้างน้ำให้สะอาด นำไปนึ่งให้สุก
2.บดหรือปั่นถั่วนึ่งให้ละเอียด
3.นำถั่วบดใส่ภาชนะ เติมน้ำตาลทราย เกลือ และหัวกะทิ กวนจนเกือบแห้ง  
4.ใส่มะพร้าวขูดขาว กวนต่อจนแห้งสนิท  ทิ้งไว้ให้เย็น นำไปปั้นเป็นไส้ขนมโมจิ

  

แช่ถั่วในน้ำอุ่น 3 ชั่วโมง ล้างให้สะอาด


ใส่รังถึงที่ปูผ้าขาวบาง นำไปนึ่งให้สุก แล้วปั่นหรือบดให้ละเอียด


ผสมถั่วบด น้ำตาลทราย เกลือ และหัวกะทิ กวนจนเกือบแห้ง


ใส่มะพร้าวขูดขาว


กวนต่อจนแห้งสนิท


พักไว้ให้เย็น นำไปปั้นเป็นไส้ขนมโมจิ
และส่วนที่เหลือจากทำไส้นำไปอบควันเทียนอบ ใส่พิมพ์กดเป็นรูปต่างๆ ใช้รับประทานเป็นของว่าง


3074  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / Re: ขนมโมจิ (ขนมเปี๊ยะนมข้นหวาน) เมื่อ: 19 กรกฎาคม 2559 17:40:19



วิธีทำไส้มะพร้าวกวน

• ส่วนผสม
 - มะพร้าวขูดขาว 250 กรัม
- น้ำตาลปีบ 3 ช้อนโต๊ะ (พูน)
- น้ำตาลทราย 3 ช้อนโต๊ะ
- แบะแซ  2 ช้อนโต๊ะ
- มาการีนเบสท์ฟู้ดส์ 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำสะอาด 2 ช้อนโต๊ะ

      
• วิธีทำ
ใส่น้ำสะอาด น้ำตาลปีบ และน้ำตาลทราย และแบะแซ ในกระทะทอง หรือหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟ กวนด้วยไฟปานกลาง
พอมะพร้าวเกือบแห้ง ใส่มาการีน กวนต่อจนเหนียวปั้นเป็นก้อนได้  ทิ้งไว้ให้เย็น นำไปปั้นเป็นไส้ขนมโมจิ









3075  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ขนมโมจิ (ขนมเปี๊ยะนมข้นหวาน) สูตรและวิธีทำ เมื่อ: 19 กรกฎาคม 2559 17:35:05





โมจิ (ขนมเปี๊ยะนมข้นหวาน)

• ส่วนผสม
- แป้งสาลีชนิดพิเศษ 300 กรัม (แป้งตราบัวแดง ฯลฯ)
- ผงฟู 1 ช้อนชา
- โซดาไบคาร์บอเนต ½  ช้อนชา
- มาการีนเบสท์ฟู้ดส์ 40 กรัม
- น้ำสะอาด 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำหวานเฮลบลูบอย สีเขียว สีแดง
- นมข้นหวาน 1 กระป๋อง


 • วิธีทำ
1.ร่อนแป้งกับผงฟู เข้าด้วยกัน
2.ละลายโซดาไบคาร์บอเนต กับน้ำสะอาด พักไว้
3.ตวงนมข้นหวานให้ได้เกือบ 1 ถ้วยตวง (ปริมาณนมข้นอยู่ต่ำกว่าระดับขอบของถ้วยตวงประมาณ 1 เซนติเมตร
4.คนมาการีนให้อ่อนนุ่ม ใส่นมข้นหวาน และโซดาไบคาร์บอเนต ใช้ตะกร้อมมือคนให้เข้ากัน
  เทส่วนผสมลงในแป้ง เคล้าเบาๆ ให้เข้ากัน แล้วแบ่งแป้งออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน
5.ส่วนที่หนึ่ง : ใส่นมข้นหวานลงไปผสมในแป้งอีก 2 ช้อนโต๊ะ นวดจนนุ่มมือ พักไว้
6.ส่วนที่สอง : ใส่น้ำหวานเฮลบลูบอย สีเขียวลงไปผสมในแป้งอีก 2 ช้อนโต๊ะ นวดจนนุ่มมือ พักไว้
7.ส่วนที่สาม : ใส่น้ำหวานเฮลบลูบอย สีแดงลงไปผสมอีก 2 ช้อนโต๊ะ นวดจนนุ่มมือ พักไว้
8.ปั้นแป้งเป็นก้อนกลมปริมาณเท่ากับไส้ขนม แผ่แป้งเป็นแผ่น วางไส้ขนมตรงกลาง ห่อหุ้มแป้งให้มิดไส้ กดให้แบนเล็กน้อย
  แล้ววางผลไม้เชื่อมหั่นชิ้นเล็กๆ ตรงกึ่งกลางหน้าขนม วางในถาดที่ปูรองด้วยกระดาษไข
9.นำไปอบด้วยอุณหภูมิ 160° (ไฟล่าง-บน) ใช้เวลาอบ 15 นาที ตักวางบนตะแกรงโปร่ง พักไว้ให้เย็น  เก็บใส่กล่องไว้รับประทานได้นานวัน



ส่วนผสมของขนมเปี๊ยะนมข้นหวาน หรือโมจิ
ผูโพสท์ใช้ผลิตภัณฑ์มาการีนของเบสท์ฟูดส์ นมข้นหวานคาร์เนชั่น และน้ำหวานเฮลบลูบอย
ไม่แนะนำให้ใช้เนยสดเป็นส่วนผสม ให้ใช้มาการีน เพราะกลิ่นรสจะเข้ากันได้ดีเมื่อผสมกับน้ำหวานสีเขียว - แดง


ในถ้วยสีขาว คือ โซดาไบคาร์บอเนตผสมกับน้ำสะอาดให้ละลาย


คนมาการีน นมข้นหวาน และโซดาไบคาร์บอเนตรให้เข้ากัน


นำส่วนผสมของนมข้นหวาน เทลงไปในโถแป้ง เคล้าเบาๆ พอเข้ากัน (ยังไม่ต้องนวด)
แล้วแบ่งแป้งออกเป็น 3 ส่วน


ส่วนที่ 1 ใส่นมข้นหวานลงไปอีก 2 ช้อนโต๊ะ  ส่วนที่ 2 ใส่น้ำหวานสีเขียวลงไปอีก 2 ช้อนโต๊ะ
และส่วนที่ 3 ใส่น้ำหวานสีแดงลงไปอีก 2 ช้อนโต๊ะ  แล้วนวดจนนุ่มมือ (ใช้เวลา 2-3 นาทีเท่านั้้น)


ได้แป้ง 3 สี ให้กลิ่นและรสของนมข้นหวาน (แป้งสีนวล) กลิ่นครีมโซดา (สีเขียว) และกลิ่นสละ (สีแดง)


ไส้ขนมโมจิ วันนี้แนะนำ 2 ไส้ คือไส้ถั่วกวนและไส้มะพร้าวกวน




ใช้ผลไม้เชื่อมสีเขียว แดง เหลือง ฯลฯ ติดที่หน้าขนม เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าข้างในเป็นไส้อะไร
ผู้โพสท์ (ผู้ทำ) ใช้ผลเชอรี่และลูกเกดแห้ง เท่าที่มีติดตู้เย็น โดยสีแดงสำหรับไส้มะพร้าว
และลูกเกดสำหรับไส้ถั่วกวนค่ะ


ปั้นเสร็จแล้ว กดให้ขนมแบนเล็กน้อย (ลูกกลมไม่ค่อยสวย) วางเรียงในถาดที่ปูด้วยกระดาษไข


ใช้เวลาอบ 15 นาที อบไฟล่างบน อุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส


ขนมสุกแล้ว ตักวางบนตะแกรงโปร่ง พักไว้ให้เย็น
 





3076  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / ประเพณี "จกสาว" สุดแปลก! เรื่องจริงที่ต้องเล่า เมื่อ: 19 กรกฎาคม 2559 16:42:45


คนลาวในอีสาน และเวียงจันทน์ (ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕)

ประเพณี "จกสาว"
เรื่องจริงที่เหลือเชื่อ

ประเพณี "จกสาว" แปลตรงตัวก็คือ "ประเพณีล้วงสาว"  ประเพณีดังกล่าวนี้มีอยู่ในภาคอิสานและทางฝั่งพี่น้องประเทศลาวในแถบภาคใต้บางแห่ง

ทำไมการล้วงลักควักสาว จึงกลายเป็นประเพณี ทั้งๆ ที่ฟังดูแล้วมันเป็นเรื่องหยาบโลนไม่น่าที่จะมากลายเป็นประเพณีได้เลย

คนที่คิดประเพณีอะไรๆ บัญญัติขึ้นในภาคอิสานนั้น ผู้เขียนเลื่อมใสเทิดทูนว่าช่างเป็นยอดนักปราชญ์, มหาปรัชญาชั้นเยี่ยมจริงๆ เพราะท่านผู้นั้นได้มองโลกและมุมชีวิตของส่ำสัตว์ในโลกนี้ทะลุปรุโปร่งไปหมด แต่กะอีล้วงลักควักพุงสาวก็ยังอุตส่าห์วางกฏเกณฑ์เป็นประเพณีขึ้น....อย่าเพิ่งคิดแบบฉาบฉวย...จะต้องมีอะไรแอบเร้นเป็นกรรมดีอยู่อย่างแน่นอน  ลึกลงไปเบื้องหลังประเพณีนี้จะต้องมีอะไรๆ สักอย่างแน่ๆ

ตามธรรมดา คนอิสานระดับพื้นๆ ที่อยู่ไกลออกไปจากย่านความเจริญ เขาเหล่านั้นอยู่ง่ายกินง่าย แต่มิได้หมายความถึงว่าเขาจะมักง่ายเข้าไปด้วย เขากินง่ายก็เพราะความแห้งแล้งกันดารของธรรมชาติ ทำให้เขากินง่ายๆ กินเพื่ออยู่, ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน

อยู่ง่ายของเขาก็หมายถึงที่พักอาศัย เขาปลูกขึ้นง่ายๆ ด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาตินำมาดัดแปลง สิ่งที่จะบันดาลให้เกิดเป็นที่อยู่อาศัยมีอยู่เยอะแยะทั้งดีและไม่ดี แต่เขาก็เลือกเอาเพียงอุปกรณ์ในการสร้างที่อยู่อาศัยมาสร้างพอสถานประมาณแห่งกำลังตน จึงดูให้เห็นไปว่าอยู่ง่ายๆ

บ้านเรือนในแถบถิ่นที่มีประเพณีนี้ มักจะปลูกด้วยไม้ไผ่ หลังคาและฝาห้องมุงด้วยหญ้าแฝก พื้นก็เป็นไม้ไผ่สับฟาก ในสิบหลังจะมีเรือนฝาและพื้นเป็นไม้กระดานสักหลัง ซึ่งหมายถึงอัครฐานของผู้เป็นเจ้าของนั้นอยู่ในขั้นเศรษฐีของหมู่บ้าน  ถ้าไม่ใช่ผู้มีอันจะกินก็ต้องเป็นบ้านของหัวหน้าบ้านเข้าไปโน่น ตำแหน่งก็เป็นตาแสง หรือกำนันนั่นแหละ

ปรเพณีการล้วงสาวนี้ เท่าที่พบประสบมาด้วยตนเองในเขตไทย ก็มีอยู่แถวบ้านโซง บ้านจิก บ้านเปือย ในเขตอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่ง พล.ต.ต.วิเชียร สีมันตร ได้ไปสร้างเมืองล้อมป่าให้เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอนี้แล้ว หมู่บ้านโซงในสมัยโน้นก็กลายเป็นตำบลโซง มีถนนหนทางรถราแล่นไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวก ความเจริญและอารยะแผนใหม่ก็ทะลักเข้าไปขับไล่ประเพณีต่างๆ ที่เห็นว่าล้าสมัยเหล่านั้นกระเจิดกระเจิงข้ามแดนไปสู่แคว้นลาวและเขมรไปเลย

ผู้เขียนได้มีโอกาสนำชีวิตของตนเองตะลุยลงไปในดินแดนของลาวต่อกับเขมรนานมาแล้วเมื่อ ๒๐ ปีก่อนโน้น (ประมาณ ๖๕ ปี นับถึงปีปัจจุบัน...ผู้โพสท์) เลียบแดนของเขมรและลาวเรื่อยลงไปจนกระทั่งสุดแดนลาวที่ "หลี่ผี" ข้ามตะลุยลึกไปฝั่งลาวตรงกันข้ามบุกผ่าฝ่าดงขึ้นเขาลงห้วยไปจนกระทั่งถึง "อัตตะปือ" เมืองข่า จึงได้ย้อนกลับ ไปทำไมและเพื่ออะไรจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ยังหาคำตอบให้ตนเองยังไม่ถูกต้องอยู่ดี นอกจากจะตอบได้คำเดียวเท่านั้นว่า ไปเที่ยว

ปัจจุบันนี้ ผู้เขียนจึงซึมซาบเข้าหัวกะโหลกว่าได้การไปเที่ยวแต่หนกระโน้นนั้น มันคือประสบการณ์ที่หาไม่ได้อีกแล้วในชั่วชีวิตนี้

ตลอดระยะทางที่ไปและกลับ หมู่บ้านที่ผ่านมาเหล่านั้น มีอะไรๆ หลายอย่างที่ประทับใจ บางทีก็แปลกใจ และมหัศจรรย์ใจ ในขนบธรรมเนียมแปลกๆ ของเขา นั่งเขียน นั่งเล่า อีกสามปีก็ไม่มีวันจบ  ในที่นี้ผู้เขียนกำลังนำเอาประสบการณ์ "ประเพณีล้วงสาว" ออกมาตีแผ่ เราก็ควรจะพักเรื่องอื่นไว้ก่อน เรียกว่าเอากันเป็นเรื่องๆ ไป ว่างั้นเถอะ!

'ประเพณีจกสาว' หรือ 'ล้วงสาว' นี้ อันที่จริงขณะที่ไปประสบการณ์ สมองไม่ได้คิดประหวัดถึงมูลเหตุแห่งการเกิดขึ้นของประเพณีนี้แม้แต่น้อย ค่าที่ยังตกอยู่ในวัยที่หนุ่มคะนอง จึงสนุกสานในประเพณีพิสดารนี้แต่ถ่ายเดียว ไม่ได้คิดอย่างอื่น ค่ำลงก็ไปดำเนินการตามประเพณีจนแทบจะบักโกรกตาย

ความพิสดารของประเพณีนี้ได้บัญญัติไว้ว่า เรือนหลังใดที่มีลูกสาวเป็นสาวเป็นนางแล้ว จักต้องจัดห้องนอนให้ลูกสาวอยู่ต่างหาก ตรงที่ลูกสาวนอนจะต้องเจาะช่องพอให้มือลอดเข้ามาได้หนึ่งรู และพื้นเรือนก็อย่าให้สูงเกินหน้าอก ถ้าหากปลูกบ้านสูงกว่านั้นก็จักต้องหาครกตำข้าว หรือที่รองเท้ามาทิ้งไว้ใกล้ๆ บริเวณนั้น หากมิปฏิบัติตามนั้น ถูกขว้างปาบ้านจะมาร้องทุกข์เอาเรื่องเอาราวมิได้ มันเป็นบัญญัติหรือปกาศิตที่ได้รับสืบกันมาเป็นทอดๆ เขาก็ปฏิบัติตามนั้นเป็นทอดๆ สืบต่อเนื่องกันเรื่อยมา เหนือช่วงรูที่เจาะให้มือลอดขึ้นไปเป็นหน้าต่างกว้างพอที่คนจะปีนป่ายพาตัวลอดเข้าไปได้ ปกติหน้าต่างจะปิดอยู่ตลอดเวลา เว้นจากเจ้าของห้องเขาจะพอใจเปิดเมื่อไหร่ก็เปิดได้ อันนี้เป็นประเพณีไม่บังคับว่าจะต้องเปิด ที่รูสำหรับช่องล้วงก็เหมือนกันมีฝาปิดฝาเปิดเหมือนกับบานหน้าต่าง

ความจริงประเพณีนี้มิได้หยาบโลนอะไรเลย ในทางตรงกันข้ามหรือลึกลงไปนั้น ประเพณีนี้ให้อิสรภาพ เสรีภาพ ในเรื่องการครองคู่ สมสู่ ตามหลักธรรมชาติไว้อย่างละเมียดละมัยอ่อนโยนมาก หากไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมเขาอย่างดีแล้ว มันจะกลายเป็นอีกรูปหนึ่ง นั่นหมายถึงท่านได้ดูถูกเหยียดหยามพวกเขาอย่างร้ายแรงจนอาจจะอภัยให้ไม่ได้ซึ่งจะหมายถึงการเอาชีวิตไปทิ้งเสียเปล่าๆ

ฟังนะ...อ่านช้าๆ แล้วตรึกตรองดูให้ลึกซึ้ง

ธรรมดาคนเราไม่ใช่พอพระอาทิตย์ตกดินปุ๊บ ก็จะนอนปั๊บ แม้ว่าตามชนบทบ้านนอกทั่วๆ ไป  พอค่ำลงความมืดมิดและความเปล่าเปลี่ยวก็จะครอบคลุมไปทั่วทั้งหมู่บ้านก็ตาม หรือเวลาสามทุ่มจะเท่ากับหกทุ่มในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี อะไรก็ตามเถอะ ในหมู่บ้านที่มีประเพณีล้วงสาว มิใช่ว่าพอค่ำลงก็จะไปล้วงลักควักสาวกันได้ทันที และก็มิใช่ว่าขึ้นชื่อว่าเป็นอีสาวในหมู่บ้านนี้แล้วท่านก็จะไปล้วงพุงเขาได้ทุกคนไป

ประเพณี 'จกสาว' จะเริ่มต้นขึ้นด้วย เมื่อสามทุ่มผ่านพ้นไปแล้ว สาวเจ้ากำลังปฏิบัติกิจอันเป็นงานประจำก่อนที่จะง่วงนอน ด้วยการปั่นด้าย เข็นไหม หรือทำธุรกิจอันใดก็ตามแต่อยู่ที่ระเบียงบ้านหรือนอกชานบ้าน ท่ามกลางแสงใต้หรือตะเกียงอันวับแวม ก็เป็นขณะเดียวกันกับเจ้าหนุ่มจะลงจากบ้านพักของตนเตร็ดเตร่ไปคุยสาวยังบ้านที่ตนชอบ พฤติการณ์ของสาวก็ดี ของหนุ่มก็ดี เป็นพฤตินัยที่อยู่ในขอบข่ายของประเพณีว่าด้วยการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้คุยกัน โอ้โลม ปฏิโลมกัน อันเป็นธรรมเนียมประเพณีทั่วๆ ไปในภาคอิสานและประเทศลาว

การคุยกัน การโอ้โลมปฏิโลมกันของหนุ่มสาวในช่วงนี้ เรียกว่าเป็นช่วงของการอุ่นเครื่องก่อนที่จะก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ความพึงพอใจซึ่งกันและกันจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยฝ่ายชายจะเป็นผู้เอาลิ้นชุบน้ำผึ้งเข้าเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ฝ่ายหญิงอ่อนเปลี้ยลงด้วยความหวาน ความรัก ความปรารถนา ฯลฯ สุดแท้แต่จะสรรหามา "แอ่ว"

โอกาสคุยกับสาวสองต่อสองเช่นนี้ มักจะมีน้อยเพราะหนุ่มไม่หนุ่มทั้งหลายในละแวกเดียวกันหรืออาคันตุกะผู้มาเยี่ยมเยียนจากถิ่นอื่น จะถือโอกาสขึ้นไป "แอ่ว" ร่วมอยู่เป็นประจำ และโดยจารีตคุณธรรมที่ปฏิบัติกันมานานก็คือ หนุ่มแรกจะต้องหลีกทางให้ผู้มาใหม่ "แอ่ว" บ้าง และแล้วหากเขาปลงใจกับสาวน้อยนางนี้แน่แล้ว เขาจะย้อนขึ้นไป "แอ่ว" กับสาวคนนั้นเป็นหนสอง ผู้ที่มาแอ่วต่อจากเขาคนแรกก็จะรู้ได้ในเชิงทันที ว่าหนุ่มสาวคู่นั้นเป็นแฟนกันแม่นแล้ว เพราะช่วงเวลาที่หนุ่มแรกให้โอกาสแก่คนที่ ๒ นั้น บางทีก็ ๓๐ นาที บางทีก็ชั่วโมงหนึ่ง เรียกว่าให้โอกาสกันอย่างลูกผู้ชายใจนักเลง แต่เมื่อได้เวลาย้อนกลับไปใหม่ คนที่นั่งคุยอยู่จะต้องรู้และอำลาทันที และอำลาอย่างชนิดไม่ต้องย้อนไปอีกเป็นครั้งที่สอง เรียกว่าเป็นอันรู้ๆ กัน

ธรรมเนียมการคุย การ "แอ่ว" เช่นนี้ เป็นของธรรมดาทั่วไปของหนุ่มสาว เมื่อไม่มีอะไรเกินเลยไปยิ่งกว่านั้นสาวก็เข้านอน ช่องเล็กๆ ที่ห้องนอนก็ไม่เปิด คืนสอง, คืนสามหากความผูกพันทวีคูณขึ้น การจับมือถือแขนก็บังเกิดขึ้นเป็นการชิมลาง แต่ก็ได้เพียงแค่นั้น จะเกินเลยไปกว่านั้นไม่ได้ จนกว่าสาวจะปลงใจด้วยอย่างแน่แท้แล้ว การแลกเปลี่ยนของที่ระลึกซึ่งกันและกันจะเกิดขึ้น ซึ่งหมายความถึงการไต่เต้าเข้าไปสู่อันดับสองเข้าไปแล้ว นั่นคือ ไอ้หนุ่มจะลงไปคุยสาวต่อโดยเปิดช่องล้วงสาวยื่นมือเข้าไปประกอบการคุยให้ออกรสได้

เห็นไม๊ล่ะครับ ประเพณีการล้วงสาวดำเนินการด้วยลีลาดังกล่าวนี้เป็นขั้นๆ ไป มิใช่ว่าจะไปล้วงเขาได้ตะพึดตะพือ มันต้องมีพิธีรีตองเป็นขั้นๆ ไป

การแลกเปลี่ยนของที่ระลึก จากสาวมายังหนุ่ม เป็นการเปิดอกหรือเปิดไต๋กันอย่างโจ่งแจ้ง ว่าสาวเจ้าโอเคแล้วที่จะเปิดโอกาสให้หนุ่มได้ล้วงควักไชในตัวของสาวได้แล้วด้วยความเต็มใจ เรียกว่าหล่อนได้ตกลงใจเลือกเอาเจ้าหนุ่มนั้นเป็นชู้สวาทของนางแล้วตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป

การแลกเปลี่ยนของที่ระลึกให้แก่ไอ้หนุ่ม ก็คือการให้โค้ตลับหรือสัญญาณลับโดยตรงนั่นเอง เช่น แหวน หรือกำไลเพื่อที่เจ้าหนุ่มจะได้นำสิ่งที่มอบให้นั้นมาแสดงต่อเจ้าของ ในเมื่อหมอนั่นเอื้อมมือสอดเข้าไปในช่องที่เจาะไว้สำหรับล้วงสาวนั้น ถ้าหากว่าเป็นมือของยอดชู้ที่นางเลือก มือหรือนิ้วที่ลอดเข้าไปในช่องนั้นก็จักต้องมีสัญญาณลับดังกล่าวนี้ด้วย จึงจะเชื่อว่าเป็นมือหรือนิ้วของชู้สวาทของนาง หากว่ามือลึกลับอันนั้นไม่มีอะไรเป็นสัญญาณ ก็แปลว่าเป็น "มือเถื่อน" ช่องสวรรค์ดังกล่าวนั้นก็จะปิดฉับทันที

วิธีที่จะปิดช่องของสาวง่ายนิดเดียว เมื่อรู้ว่าเป็นมือเถื่อนที่หล่อนไม่เต็มใจ ก็เอาเข็มหรือไม้ขีดไฟ..จุดเฟ่!...แล้วก็จี้หมับไปที่มือนั้น มันก็หดผลุ๊บร้องเสียงโหยหวนไปเลย และช่องนั้นก็ปิดลั่นดานทันที เป็นอันว่ามือเถื่อนไม่ได้แอ้มเสียละ! แต่ก็ไม่แน่นักเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังต่อไป

ทีนี้ขอย้อนกล่าวถึงหนุ่มสาวคู่ใดที่ตกล่องปล่องชิ้นกันถึงขั้นเปิดช่องล้วงให้ล้วงลักควักพุงกันแล้ว ไอ้หนุ่มก็ไม่จำเป็นจะต้องขึ้นไป "แอ่วสาว" ในตอนหัวค่ำให้บ่อยนัก เพราะเป็นอันที่รู้ๆ อะไรๆ กันดีอยู่แล้ว เพียงแต่โผล่หน้าขึ้นไปพะยักพะเยิดให้สาวเห็นเป็นนัยแล้วก็ผลุ๊บไปหาเศษหาเลยรายอื่นต่อไป เป็นทั้งการรอเวลาและเป็นทั้งการเปิดโอกาสให้หนุ่มอื่นบ้างตามอัธยาศัย

ครั้นได้เวลาสาวขอตัวหนุ่มอื่นเข้านอนในห้องหับของตนแล้ว ไอ้หนุ่มยอดชู้คู่สวาทของนางก็จะวูบเข้าประชิดรูหรือช่องล้วงสาวดังกล่าวนั้นทันที เมื่อเห็นปลอดคนแล้วเขาก็จะเคาะกระดานที่เปิดรูนั้นเป็นโค๊ตตามสัญญาที่ได้ระบุกันไว้ สาวเจ้าก็เปิดกลอนดังแกร๊ก

ห้องของสาวตามปกติโดยทั่วไปมักจะไม่จุดไฟหรือทำอะไรให้มีแสงสว่าง สาวเจ้าจะอยู่ในความมืด...ความมืดอันแสนรัญจวนนั้น...แต่เพียง...เดียวดาย...พร้อมด้วยมือของชู้สวาทที่ไต่คลำไปบนร่างอย่างนุ่มนวลอ่อนโยน...ทั้งภาษารักที่กระซิบกระซาบตอบโต้กันเพียงมีฝากั้น ทั้งน้ำคำและน้ำมือที่ไขว่คว้าประกอบสวรรค์อันหวานฉ่ำก็เป็นของเขาทั้งสองแล้ว  โลกทั้งโลกสงัดเงียบมีแต่หรีดหริ่งเรไรระงมร้อง แต่ก็ดูเหมือนจะแว่วแผ่วโผยเสียสิ้นดีในบรรยากาศอย่างนั้น

เชื่อไหมครับ?...ประเพณีล้วงสาวมีจุดไคลแม็กซ์มาถึงเพียงแค่นี้...แค่นี้จริงๆ ไม่มีก้าวเกินไปยิ่งกว่านี้ ถ้าหากจะมีก้าวเกินไปยิ่งกว่านี้ รูปการณ์มันก็กลายไปสู่ประเพณีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

เล่ามาถึงแค่นี้ ท่านผู้ทรงภูมิปัญญาคงจะเห็นแล้วกระมังว่า ตราบัญญัติของประเพณีนี้ได้วางแนวเซ็กโซโลยี่แอบแฝงมาในเนื้อหานั้นอย่างแนบเนียน โดยยึดเอาหลักธรรมชาติเป็นสโลแกน คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวย่อมร้อนแรงไปด้วยสายเลือดแห่งกามตัณหาทุกรูปทุกนาม ก็เมื่อรู้แล้วอย่างนั้น ทำไมเล่าไม่หาทางให้เขาเหล่านั้นได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่เขากระหายจะรู้นั้นบ้าง ประเพณีนี้จึงมีขึ้นเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้ผ่อนคลายในสิ่งที่เขาปรารถนา และคลางแคลง ตั้งแต่เขารู้จักหรือมีสัญชาตญาณในเรื่องเพศเกิดขึ้น

การรู้เรื่องเพศด้วยการบอกเล่า กับการรู้ด้วยการสัมผัสโดยตรง ย่อมมีความหมายและคุณค่าแตกต่างกัน และเมื่อหนุ่มสาวได้รู้รสในการสัมผัสเบื้องต้นบ้างแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ก้าวไปจนถึงขั้นสุดท้าย เลือดอันระอุร้อนของเขาก็คงจะคลายลงบ้างไม่มากก็น้อย การยับยั้งชั่งใจก็ย่อมจะมีขึ้น แต่ทั้งนี้เราต้องดูพฤติการณ์ของสองหนุ่มสาวนั้นประกอบด้วย มิใช่ว่าเขาลักลอบเข้าสัมผัสลูบคลำกันโดยที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เต็มใจ  เหตุเกิด, เกิดจากคนทั้งสองได้ปลงใจที่จะรักกันแล้ว มันถึงเกิด มันจึงเป็นคนละเรื่องกับคำว่า "ร่านราคะ"

หมู่บ้านที่มีประเพณี "ล้วงสาว" ที่ผู้เขียนได้ไปประสบมาด้วยตาตนเอง มีหลายหมู่บ้านทั้งในเขตแดนไทยและแดนลาว หมู่บ้านที่ประทับใจแก่ผู้เขียนมากที่สุดอยู่ในลาวภาคใต้เกือบจะถึง "หลี่ผี" เรียกว่าหมู่บ้าน "ห้วยกะเดียน" ขึ้นอยู่กับตำบลสุขุมาลย์ เมืองมูลปาโมกข์ แขวงนครจำปาศักดิ์ หมู่บ้านนี้เป็นคนลาวกับเขมรอยู่ปนเปกัน และบางทีก็มีสาวลูกผสมเขมร-ญวน, ลาว-เขมร, ฯลฯ อะไรๆ ให้ยุ่งๆ ไปหมด แต่พูดถึงเรื่องหน้าตา ผิวพรรณ และสัดส่วนของสาวๆ ที่นี่แล้ว ไม่เลวเลยจริงๆ ถ้าเป็นลูกผสมไปทางฝ่ายญวน คือมีพ่อเป็นญวนมีแม่เป็นเขมรแล้วละก้อ มีภาษีกว่าสาวใดทั้งหมดในหมู่บ้าน เพราะว่าผิวของสาวเจ้าไปทางพ่อ สัดส่วนไปทางแม่ซึ่งมีความแข็งแรงบึกบึนในลักษณะของคนร่างระหง สะโพกผาย ส่วนใหญ่มีใบหน้าเป็นลูกไข่ ๙๐% ทั้งหมู่บ้าน  ฝ่ายที่พ่อเป็นเขมรแม่เป็นลาวยิ่งเด็ดมากเพราะผิวของเจ้าหล่อนกระเดียดไปทางพ่อครึ่งหนึ่งแม่ครึ่งหนึ่ง แต่สัดส่วนยิ่งร้ายเหลือเข้าไปอีก สรุปแล้วผู้เขียนยังไม่เคยเห็นเปอร์เซนของสาวหมู่บ้านใดจะเหนือไปกว่า เท่าที่ได้ตะเวนทั้งขาไปขากลับที่หมู่บ้านนี้ผู้เขียนได้หยุดพักแรมอยู่นานถึง ๓ อาทิตย์ จึงได้เดินทางกลับแดนไทย...

ประเพณีล้วงสาวทั้งหมดที่ผู้เขียนบรรยายมาได้เกิดขึ้นที่นี่ แม้ว่าจะมีที่หมู่บ้านอื่นนอกเหนือไปจากนี้ ความประทับใจที่มิได้มีเหมือนกับหมู่บ้าน "ห้วยกระเดียน" เนื่องจากผู้เขียนได้อยู่ศึกษาประเพณีของเขา จนหลับตาเห็นภาพแต่หนหลังเหมือนกับมันเกิดขึ้นเมื่อวานนี้แท้ๆ

ความประทับใจของประเพณีนี้ อยู่ที่น้ำใจอันกว้างขวางของหนุ่มเจ้าของถิ่นที่เปิดโอกาสให้อาคันตุกะได้เข้าถึงประเพณีของเขา ผู้เขียนได้ลองสอบถามตาแสง (กำนัน) ว่าในหมู่บ้านนี้มีการฉุดคร่าอนาจารกันบ้างไหม? ได้รับคำตอบว่าตั้งแต่แก (กำนัน) จำความได้จนกระทั่งผมเป็นสีดอกเลาอยู่ขณะนี้ ไม่เคยได้ยินหรือมีเรื่องราวดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเลย แต่ไอ้เรื่องคบชู้สู่ชายที่นี่ถือเป็นเรื่องธรรมดาของพวกเขา เพราะประเพณีได้เปิดประตูให้เสรีภาพในเรื่องความรักใคร่กันอย่างไม่อั้น แต่ก็มิใช่เละเฟะฟอนเหมือนสังคมในฮอลีวูด

ไม่ว่าจะอยู่ในป่าดงพงไพรหรือในย่านนครธรรมที่เต็มไปด้วยแสงสีแห่งอารยะ  ผู้ชายเป็นเพศผู้ที่แสวงหากำไรเอาเปรียบเพศตรงกันข้ามทุกรูปทุกนาม  ในหมู่บ้านที่มีประเพณีล้วงสาวก็เช่นกัน น้อยนักที่ไอ้หนุ่มจะมีรักเดียวใจเดียวในเมื่อประเพณีให้โอกาสอย่างกว้างขวางแก่เขา เขาก็ดำเนินการเป็นพ่อพวงมาลัยกับสาวๆ โดยแอบซ่อนเป็นชู้คู่สวาทกับสาวๆ ในหมู่บ้านสองสามคนขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ วิธีการของเขาก็ง่ายนิดเดียวคือพยายามจีบสาวจนให้ได้โค๊ตลับ หรือสัญญาณลับ' จากสาวมาคนละอันแล้วเขาก็จะใช้โค๊ตนั้นๆ กับเจ้าของโค๊ตโดยพยายามอย่าให้มันผิดตัวเท่านั้น เขาก็เป็นชายที่มีความสุขคนหนึ่งในโลก โดยเฉพาะในหมู่บ้านนั้น
3077  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก เมื่อ: 17 กรกฎาคม 2559 11:26:00




พระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก


พระพุทธรูปปางเลไลก์ที่ผนังด้านหลังพระอัฏฐารส
ในภาพจะเห็นภาพเสาวิหารเก่าบางส่วนหลงเหลืออยู่

พระอัฏฐารส

พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสูง ๑๘ ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ในราว พ.ศ.๑๘๐๐ ประดิษฐานบริเวณหลังวิหารพระพุทธชินราช เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ ๓-๔ ต้น และเนินพระวิหารบางส่วน เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง”...ข้อมูล : วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี



โพธิ์สามเส้า มีจำนวน ๓ ต้น
วิหารเล็กๆ ที่เห็นอยู่ด้านหลังพระพุทธรูปปางสมาธิสีขาว คือที่ประดิษฐาน "พระเหลือ"

โพธิ์สามเส้า

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย หลังจากได้ทรงสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว ทรงรับสั่งให้นำอิฐและดินที่ก่อเป็นเตา สร้างเป็นแท่นฐานชุกชี ณ สถานที่หล่อพระพุทธรูปนั้น เพื่อประดิษฐานพระเหลือ แล้วทรงปลูกหน่อพระศรีมหาโพธิ์ จำนวน ๓ ต้น ซึ่งเป็นหน่อโพธิ์ตรัสรู้ที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศลังกา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสร้างพระพุทธรูป ๓ องค์ เรียกว่า “โพธิ์สามเส้า”

เส้า หมายถึงวัตถุต่างๆ มีหินหรือก้อนดิน เป็นต้น ที่ตั้งเป็น ๓ มุม เพื่อเป็นฐานก่อเตาไฟสำหรับรองรับภาชนะ

ต้นโพธิ์ ถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เรียกว่า อุทเทสิกเจดีย์หรือรุกขเจดีย์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการระลึกถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับแล้วตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญวิสาขมาส พุทธศาสนิกชนจึงเคารพบูชาเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์





















ธรรมาสน์เทศน์ และธรรมาสน์สวด
งานพุทธศิลป์อันทรงคุณค่าสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง
เป็นศิลปกรรมสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก
(ภาพถ่ายไม่ค่อยชัดเจน เนื่องจากถูกเก็บรักษาไว้ในห้องกระจก ไม่สามารถเข้าไปชมอย่างใกล้ชิดได้)

ธรรมาสน์เทศน์ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง สภาพยังค่อนข้างสมบูรณ์ มีบันไดทำเป็นรูปดอกบัวชูก้าน บันไดชั้นล่างสุดประดิษฐานเป็นรูปกวางหมอบ ตรงราวบันไดเป็นรูปพญานาค ธรรมาสน์เทศน์เป็นงานพุทธศิลป์อันทรงคุณค่าของชาติอีกชิ้นหนึ่ง และเป็นทานวัตถุที่มีผู้นำมาถวายพระสงฆ์เพื่อปลงศพ  ธรรมาสน์นี้ถือว่าเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกในสมัยอยุธยา และงดงามที่สุดในประเทศไทย

ธรรมาสน์สวด เป็นธรรมาสน์ขนาดใหญ่สำหรับพระนั่งสวดได้ ๔ รูป มีลักษณะงดงามมาก เป็นฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย เจ้านายองค์ใดองค์หนึ่งคงจะนำมาถวายให้เป็นพุทธบูชา ธรรมาสน์สวดยังอยู่ในลักษณะสมบูรณ์ ลวดลายจำหลักลงรักปิดทองและล่องกระจกงดงาม หลังคาจตุรมุขมียอดปราสาท มีมุขประเจิด สันหลังคาประดับบราลีเรียงราย ชายคารูปกระเบื้องเชิงชาย เพดานจำหลักลวดลายเป็นรูปดาวล้อมเดือนและอื่นๆ ฐานและหลังคามีรูปทรงเป็นเส้นอ่อนโค้งท้องช้าง ธรรมาสน์สวดนี้ถือเป็นศิลปกรรมชั้นเอกในสมัยอยุธยาและงดงามที่สุดในประเทศไทย









3078  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก เมื่อ: 13 กรกฎาคม 2559 16:04:48



ปฐมเหตุ การชื่อพระพุทธชินราช

ในการตั้งชื่อพระพุทธปางมารวิชัยที่สวยงามสง่าองค์ใหญ่ว่า พระพุทธชินราช นั้น ยังไม่มีหลักฐานระบุชัดแจ้ง นอกจากคำสันนิษฐานและเหมาะสมด้วยเหตุผลของนายจำนง ทองประเสริฐ (จากหนังสือประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก) ที่ให้เหตุผลของการตั้งนามของพระพุทธชินราช จนรู้จักกันไปทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

“ปัญหาเกี่ยวกับการตั้งขนานพระนามของพระพุทธชินราช ตามที่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) สร้างขึ้นมานั้น เฉพาะพระนามของพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดานี้ไม่สู้มีปัญหานัก  ปัญหาที่น่าจะพิจารณากันซึ่งนับว่าเป็นปัญหาทางพุทธศาสนาที่สำคัญก็คือคำว่า “พระพุทธชินราช” ซึ่งมีความหมายลึกซึ้ง

ในอาณาจักรขอมขณะนั้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์นิกายไศวะมาตั้งแต่อาณาจักรฟูนันและเจนละ ต่อมาภายหลังได้เกิดมีลัทธิใหม่คือลัทธิ เทวราช โดยถือเอาพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นใหญ่เหนือทั้งปวง กษัตริย์ขอมที่เรืองอำนาจอยู่ในยุคนั้นคือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (ประมาณ พ.ศ.๑๓๔๕-๑๓๙๓) ได้สร้างเมืองขึ้น ๔ แห่งคือ เมืองอินทรปุระ หริหราลัย เอมเรนทรปุระ และมเหนทรบรรพต  พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิด ลัทธิเทวราช หมายถึงพระองค์เป็นเทวราชเหนือพระอิศวรจุติมาเป็นใหญ่ในโลกนี้

ต่อมาพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๔๕-๑๕๙๓) พระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ได้เข้ามามีอิทธิพลทำให้ศาสนาพราหมณ์เสื่อมลง พระเจ้าสูรยวรมันที่ ๑ ทรงถือพุทธศาสนาแบบมหายานอยู่แล้วจึงได้รวมลัทธิไศวะ ของพราหมณ์กับพุทธศาสนามหายาน เข้าด้วยกัน เปลี่ยนลัทธิจาก เทวราช มาเป็น ลัทธิพุทธราช แต่ลัทธินี้มิได้แพร่หลายมากนัก

ในทางพุทธศาสนานั้นถือว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นธรรมราชา หรือ ธรรมราช (ราชาแห่งพระธรรม) สำหรับเมืองสุโขทัยนั้น เมื่อพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เผยแพร่เข้ามามีการปกครองสงฆ์อย่างมีระเบียบแบบแผน โดยมีพระสังฆราช หรือพระสวามีสังฆาราช (ผู้เป็นใหญ่หรือเจ้านาย) เป็นประมุข ส่วนพระครูที่ปกครองหัวเมืองใหญ่ ๘ หัวเมืองเรียกว่า พระสังฆราชา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น สังฆปาโมกข์+ คำเหล่านี้พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดี

แต่คำว่า พุทธราช ยังไม่คุ้นเคยกันนัก  พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงเห็นว่าถ้าจะถวายนามของพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นใหม่งดงามที่สุด ว่า “พระพุทธชินราช” คงจะมีความหมายลึกซึ้งดี แทนที่จะใช้คำว่า “พุทธราช” ตามแบบขอมในยุคนั้น พระองค์จึงเติมคำว่า “ชิน” เข้าไปอีกคำ แต่ถ้าหากจะเรียก “พระชินราช” เฉยๆ โดยไม่มีคำว่า “พุทธ” ไว้ด้วย อาจจะทำให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปเข้าใจผิดหรือไขว้เขวว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้า

เนื่องจากในประเทศอินเดียมี “ศาสนาเชน” เป็นศาสนาคู่แข่งของพุทธศาสนา มีพระศาสดาพระนามว่า พระมหาวีร หรือ พระชินะ หากจะใช้เพียงคำว่า ชินราช อาจจะไปหมายถึงพระศาสดาของศาสนาเชนก็ได้ เพื่อให้แตกต่างกันและไม่เข้าใจสับสนภายหลัง พระมหาธรรมราชาลิไทย จึงถวายพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้เสียให้ชัดเจนเพื่อเป็นการแสดงว่า “พระชินะเจ้า” ของศาสนาพุทธมิใช่ พระชินะ ของศาสนาเชน  ดังนั้น พระพุทธรูปที่สร้างองค์ใหญ่จึงมีพระนามว่า พระพุทธชินราช

พุทธลักษณะพระพุทธชินราช
พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ความงามล้ำเลิศกว่าพระพุทธรูปใดๆ ในโลก  กล่าวคือ งามถึง ๔ มิติ ได้แก่ ความกว้าง ความยาว ความหนา และ งามประทับต่อความรู้สึกจิตใจ  ทำให้จิตใจอ่อนน้อมปลาบปลื้มปีติยินดี มีพุทธลักษณะที่พอจะกล่าวได้ดังนี้
     ๑.หล่อด้วยทองสำริดลงรักปิดทองทั้งองค์
     ๒.ลักษณะประทับนั่งสมาธิราบปางมารวิชัย
     ๓.พุทธลักษณะสมส่วน หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๗ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว
     ๔.ประทับนั่งเอาพระบาทขวาซ้อนพระบาทซ้าย
     ๕.วางพระหัตถ์ซ้ายที่พระเพลา
     ๖.พระหัตถ์ขวาพาดอยู่ที่บริเวณพระชานุ
     ๗.พระพักตร์เป็นรูปไข่หรือคล้ายผลมะตูม
     ๘.มีตรีสูรย์อยู่ระหว่างพระขนงหรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าพระอุณาโลม
     ๙.พระหนุเหมือนราชสีห์
   ๑๐.ชายจีวรส่วนที่พาดพระอังสะยาวจรดพระนาภี และทำเป็นสองแฉกชนิดเขี้ยวตะขาบ
   ๑๑.นิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ (นิ้วชี้, กลาง, นาง,ก้อย) ยาวเสมอกันทั้งพระหัตถ์ซ้าย-ขวา
   ๑๒.นิ้วพระบาททั้ง ๕ ยาวเสมอกันทั้งพระบาทซ้าย-ขวา ฝ่าพระบาทแนบราบ ส้นพระบาทยาว
   ๑๓.ประทับนั่งบนฐานชุกชีมีลวดลายปูนปั้นดอกบัวคว่ำ-บัวหงายรองรับ
   ๑๔.พระเนตรทอดต่ำด้วยพระอาการสำรวมอินทรีย์
   ๑๕.พระโอษฐ์แย้มสรวลน้อยๆ เหมือนจะทรงทักทาย
   ๑๖.พระขนงโก่งดั่งวงพระจันทร์ หรือคล้ายคันธนูโก่ง
   ๑๗.พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง ๕ ชั้น สูง ๑๕ นิ้ว
   ๑๘.พระเกศาเป็นลายขดหอยสังข์เวียนซ้าย
   ๑๙.พระกรรณยาวเกือบถึงพระอังสา
   ๒๐.พระศอระหง กลมเป็นปล้อง ๓ ปล้อง
   ๒๑.มีซุ้มเรือนแก้วประดับด้วยไม้สักแกะลวดลายประณีตอ่อนช้อยงดงาม หลายท่อนต่อกัน ล่างสุดของซุ้มเรือนแก้วแกะเป็นหัวมังกรคาบแก้ว เท้าหน้าทั้ง ๒ ยืนกับพื้น ทั้ง ๒ ตัวเหมือนกัน
   ๒๒.ด้านข้างพระเพลาเบื้องขวามีรูปหล่อสำริด เรียกว่า อาฬวกยักษ์ นั่งชันเข่าข้างหนึ่ง คุกเข่าข้างหนึ่ง มือทั้ง ๒ เทินหัว ผู้มีฤทธิ์ที่ผ้าโพกศีรษะ ข้างพระเพลาซ้ายมีรูปหล่อสำริดเรียกว่าท้าวเวสสุวรรณ นั่งยองๆ มือทั้ง ๒ ข้างจับตะบอง ผู้มีฤทธิ์ด้วยตะบองดูประหนึ่งว่าคอยพิทักษ์รักษาหลวงพ่อพระพุทธชินราช




พุทธลักษณะพระพุทธชินราช


หล่อด้วยทองสำริดลงรักปิดทองทั้งองค์ ประทับนั่งสมาธิราบปางมารวิชัย
บนฐานชุกชีมีลวดลายปูนปั้นดอกบัวคว่ำ-บัวหงายรองรับ
มีซุ้มเรือนแก้วประดับด้วยไม้สักแกะลวดลายประณีตอ่อนช้อยงดงาม
พุทธลักษณะสมส่วน หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๗ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว
ประทับนั่งเอาพระบาทขวาซ้อนพระบาทซ้าย วางพระหัตถ์ซ้ายที่พระเพลา
พระหัตถ์ขวาพาดอยู่ที่บริเวณพระชานุ (เข่า-หน้าแข้ง)
นิ้วพระบาททั้ง ๕ ยาวเสมอกันทั้งพระบาทซ้าย-ขวา ฝ่าพระบาทแนบราบ ส้นพระบาทยาว


พระพักตร์เป็นรูปไข่หรือคล้ายผลมะตูม
มีตรีสูรย์อยู่ระหว่างพระขนง หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า พระอุณาโลม
พระขนงโก่งดั่งวงพระจันทร์ หรือคล้ายคันธนูโก่ง
พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง ๕ ชั้น สูง ๑๕ นิ้ว
พระศอระหง กลมเป็นปล้อง ๓ ปล้อง


พระอุณาโลม พระพุทธชินราช


พระหนุ (ขากรรไกร) เหมือนราชสีห์
พระกรรณยาวเกือบถึงพระอังสา
พระเกศาเป็นลายขดหอยสังข์เวียนซ้าย
พระเนตรทอดต่ำด้วยพระอาการสำรวมอินทรีย์
พระโอษฐ์แย้มสรวลน้อยๆ เหมือนจะทรงทักทาย


รูปหล่อสำริดท้าวเวสสุวรรณ นั่งยองๆ มือขวาจับตะบอง มือซ้ายกุมหัวเข่า
ประดิษฐานด้านข้างพระเพลาซ้ายพระพุทธชินราช


รูปหล่อสำริดอาฬวกยักษ์ ผู้มีฤทธิ์ที่ผ้าโพกศีรษะ
นั่งชันเข่าข้างหนึ่ง คุกเข่าข้างหนึ่ง มือทั้ง ๒ เทินหัว
ประดิษฐานด้านข้างพระเพลาขวาพระพุทธชินราช


ซุ้มเรือนแก้วแกะเป็นหัวมังกรคาบแก้ว เท้าหน้าทั้ง ๒ ยืนกับพื้น ทั้ง ๒ ตัวเหมือนกัน



(มีต่อ)
3079  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: นครสรลวงสองแฅว เมืองพระพิศณุโลกย์ เมื่อ: 13 กรกฎาคม 2559 15:00:45
.

อาณาเขตของแคว้นสุโขทัย
อาณาเขตของแคว้นสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่ามีเมืองสำคัญ คือ เมืองสุโขทัย กับเมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) ดินแดนทิศเหนือ ถึงเมืองแพร่ อำเภอปัว จังหวัดน่าน (เมืองพลัว) ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงหลวงพระบาง (ชะวา) ดินแดนด้านทิศใต้ถึงคณที (บ้านโคน อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก (อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ) สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช) จรดฝั่งทะเลดินแดนด้านทิศตะวันออก ถึงสรลวง (พิจิตร)

สินค้าที่อาณาจักรสุโขทัยส่งออกไปค้าขายในจีน ได้แก่ ของป่า ไม้สัก ไม้ฝาง และข้าว  ส่วนสินค้านำเข้าจากจีนได้แก่ ผ้าแพร ผ้าไหม และภาชนะเคลือบดินเผา

ในบันทึกของสำนักพระราชวังของจีน สมัยจักรพรรดิกุบไลข่าน ได้กล่าวไว้ว่า “แผ่นดินจี่หงวน ปีที่ ๒๘ ซินเบ๊าจับหง้วย (ตรงกับ เดือน ๑๒ ปีเถาะ จุลศักราช ๖๒๕ พ.ศ.๑๘๓๔) หลอฮกก๊กอ๋องให้ราชทูตนำราชสาส์นอักษรเขียนด้วยทองกับเครื่องบรรณาการคือ ทองคำ งาช้าง นกกะเรียน นกแก้วห้าสี ขนนกกระเต็น นอแรด อำพันทอง มาถวาย” (จากจดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน พระเจนจีนอักษรแปล)

ในปี พ.ศ.๑๘๓๖ จักรพรรดิหงวนเสงจงฮ่องเต้ พระเจ้ากรุงจีน ส่งทูตจีนเชิญพระราชสาส์นมาขอให้อาณาจักรเสียนข่านมู่ตึง Hisien (เสียน หมายถึงสุโขทัยหรือสุพรรณบุรี) Kan Mu Ting (หมายถึงชื่อกษัตริย์) อย่าได้รุกราน หลอหู (คือ ละโว้) และดินแดนมลายู



๔.พระยาไสสงคราม (ปู่ไสสงคราม)
พระยาไสสงครามหรือปู่ไสสงคราม เป็นพระโอรสอีกองค์หนึ่งของพ่อขุนรามคำแหง มีข้อสันนิษฐานว่าปู่ไสสงคราม แม้จะได้ครองราชย์ก็ยังไม่ได้ราชาภิเษก ครั้งเมื่อพระยาเลอไท ซึ่งเป็นพระเชษฐากลับมาจากเสด็จเมืองจีนใน พ.ศ.๑๘๔๒ จึงได้ถวายราชสมบัติคืนให้พระยาเลอไท ผู้เป็นรัชทายาทที่มีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ต่อมา

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสิ้นพระชนม์ลง ได้ทำให้บรรดาเมืองต่างๆ ที่มีพ่อขุนครองเมืองได้พากันแยกตัวเป็นอิสระ ทั้งนี้ อาจจะเนื่องจากการรวมเมืองต่างๆ เป็นอาณาจักรนั้น ได้รวมขึ้นด้วยความศรัทธาในความสามารถของพ่อขุนองค์เดียว ครั้นเมื่อพ่อขุนสิ้นพระชนม์ลง เมืองต่างๆ จึงตั้งตนเป็นอิสระ รวมถึงราชวงศ์กษัตริย์ที่จะครองเมืองสุโขทัยก็เกิดการขัดแย้งกัน จึงเป็นเหตุให้พระยาไสสงคราม ได้มีโอกาสเข้ามาครองเมืองสุโขทัย ส่วนจะครองราชย์ปีเดียวหรือเป็นเวลาเท่าใดนั้นไม่ปรากฏข้อมูล

แต่มีข้อมูลระบุว่า พระยาเลอไทเสด็จกลับมาจากประเทศจีน ใน พ.ศ.๑๘๔๒ ปู่ไสสงครามจึงได้คืนเมืองให้ครองราชย์ต่อมา พระยาไสสงครามสิ้นพระชนม์ภายหลังใน พ.ศ.๑๘๖๖ พระยาเลอไทโอรสพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงได้ครองราชย์ต่อมา




๕.พระยาเลอไท (พระเจ้าหฤทัยชัยเชษฐ์สุริวงศ์)

พระยาเลอไทย หรือพระเจ้าหฤทัยชัยเชษฐ์สุริวงศ์ (ในไตรภูมิพระร่วงว่าพญาเลลิไทย) เป็นโอรสของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และเป็นพระเชษฐาของพระยาไสสงคราม ในจารึกขอมเรียกว่า พระเจ้าหฤทัยชัยเชษฐ์สุริวงศ์ และในชินกาลมาลินีก็ว่า อุทกโชตถตราช (แปลว่าพระยาจมน้ำ) ครองราชย์ประมาณ พ.ศ.๑๘๔๒ (บางแห่ง พ.ศ.๑๘๖๖)

เมื่อ พ.ศ.๑๘๖๑ สมัยพระยาเลอไทย กองทัพสุโขทัยอ่อนแอไม่เข้มแข็ง ทำให้พวกมอญต่างแยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับอาณาจักรสุโขทัย และชาวสยามทางภาคกลาง เมืองละโว้และเมืองสุพรรณบุรี ภายใต้การนำของของพระเจ้าอู่ทองได้อพยพผู้คนมาตั้งอาณาจักรใหม่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กรุงศรีอยุธยา

มีเรื่องเล่าว่า สมัยพระยาเลอไทย เมื่อ พ.ศ.๑๘๗๓ เมืองรามัญเป็นกบฏหลังจากที่พระเจ้าแสนเมืองมิ่งสิ้นพระชนม์ พระเจ้าหฤทัยชัยเชษฐฯ ได้ยกกองทัพไปปราบปรามไม่สำเร็จ จึงเป็นเหตุให้เมืองรามัญแข็งเมืองตั้งแต่นั้นมา

แม้ว่าในพงศาวดารพม่าจะกล่าวถึงไทยตีได้เมืองทวาย เมืองตะนาวศรีมาเป็นเมืองขึ้น เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเรื่องของกษัตริย์ในกรุงศรีอยุธยามากกว่า ด้วยขณะนั้นอาณาจักรสยามด้านใต้ได้สร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีแล้ว และต่อมาพม่าได้ตั้งเมืองหลวงที่เมืองตองอู ริมแม่น้ำสะโตง เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๐

พระยาเลอไทยหรือพระเจ้าหฤทัยชัยเชษฐาฯ ครองราชย์สมบัติสืบมา ๓๖ ปี สวรรคตใน พ.ศ.๑๘๘๒ (บางแห่งว่า พ.ศ.๑๘๖๖-๑๘๘๔ รวม ๑๔ ปี)



๖.พระยางั่วนำถม

พระยางั่วนำถมหรือพญางั่วนำถุม เป็นอนุชาของพระยาเลอไทย ครองเมืองสุโขทัยช่วงระหว่าง พ.ศ.๑๘๘๒-๑๘๙๒ (๑๐ ปี) บางแห่งว่าครองราชย์ พ.ศ.๑๘๘๔-๑๘๙๐ (๖ ปี) ไม่มีรายละเอียดว่าได้ครองเมืองสุโขทัยอย่างไร โดยเฉพาะกรณีพระยาลิไทย โอรสของพระยาเลอไทยซึ่งมีตำแหน่งพระมหาอุปราช ครองเมืองเชลียงอยู่นั้นไม่ได้ครองเมืองสุโขทัยต่อจากพระราชบิดา แต่กลับเป็นพระยางั่วนำถม จึงมีการสันนิษฐานว่า พระยาลิไทยน่าจะยังมีพระชนมายุน้อยอยู่ หรือเป็นรัชทายาทที่ยังเยาว์วัย หรือครองอยู่เมืองเชลียง (เมืองศรีสัชนาลัย)

ดังนั้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแผ่นดิน หรือพระยาเลอไทยทรงประชวร อำนาจของเมืองสุโขทัยซึ่งเป็นที่รวมศรัทธาของเมืองต่างๆ ในอาณาจักรได้อ่อนแอลง ทำให้เมืองต่างๆ พยายามแยกตัวเป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้การทำให้เมืองสุโขทัยสามารถรักษาฐานอำนาจให้เมืองอื่นมีความศรัทธานับถือได้ จึงทำให้พระยางั่วนำถม พระอนุชาของพระยาเลอไทยขึ้นครองเมืองสุโขทัยแทน

ต่อมาเมื่อพระยางั่วนำถมสิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน พระยาเลอไทยน่าจะยังประชวรอยู่ ใน พ.ศ.๑๘๙๗ ทำให้เมืองสุโขทัยเกิดปัญหาในการครองเมืองสุโขทัยต่อไป จนเกิดการแย่งชิงอำนาจกันเองในกลุ่มเมืองบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง เพื่อแย่งราชสมบัติครองเมืองสุโขทัย จนพระยาลิไทยต้องเสด็จออกจากเมืองเชลียงเข้ามาทำการปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เมืองสุโขทัย

ดังนั้น การปกครองอาณาจักรที่มีรูปแบบ “พ่อขุน” หรือ “พระยา” จึงได้มีการปรับรูปแบบเพื่อสร้างอาณาจักรสุโขทัยให้มั่นคงขึ้น โดยมีการนำเอาพุทธศาสนาเข้ามาสร้างความเป็นปึกแผ่นจนอาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา กษัตริย์ผู้ครองเมืองสุโขทัยจึงมีรูปแบบของการเป็น “พระธรรมราชา” ดังนั้น เมื่อพระยาลิไทยเสด็จออกมาจากเมืองเชลียงมาขึ้นครองเมืองสุโขทัย จึงมีพระนามเป็น พระมหาธรรมราชาองค์แรก



๗.พระมหาธรรมราชาลิไทย ๑ (พระยาลิไทย)

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพระยาลิไทย เป็นพระโอรสของพระยาเลอไทย ในจารึกปรากฏพระนามว่า “พระธรรมราชา” แต่ในศิลาจารึกภาษาขอม (ศิลาจารึกหลักที่ ๔) มีนามว่าพระบาทกมรเดง (กมรเตง) อัญศรีสุริยพงษราม มหาธรรมราชาธิราช (หมายถึง พญาลิไทยมหาธรรมราชา) มีความว่า เมื่อปีกุน พ.ศ.๑๘๗๐ (จ.ศ.๗๐๙) พระเจ้าหฤทัยชัยเชษฐฯ (พระยาเลอไทย) ได้แต่งตั้งให้พญาลิไทยอันได้รับพระนามบัญญัติว่า พระศรีธรรมราช เป็นมหาอุปราชไปครองเมืองเชลียง (เมืองศรีสัชนาลัย) ต่อจากนั้นมา ๓ ปี คือ พ.ศ.๑๘๙๒ (จ.ศ.๗๑๒) ปีขาล พระเจ้าอู่ทองจึงได้สร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของอาณาจักรสยามขึ้นทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

พระศรีธรรมราช หรือ พระมหาธรรมราชา เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองเชลียง (เมืองศรีสัชนาลัย) อยู่ ๗ ปี จนถึงปีมะเมียจุลศักราช ๘๑๖ (พ.ศ.๑๘๙๗) พระยาเลอไทยหรือพระเจ้าหฤทัยชัยเชษฐฯ พระบิดาทรงประชวรหนัก ในขณะนั้นเจ้าเมืองต่างๆ เช่นเมืองเชียงทอง เมืองปานพราน เมืองบางขลัง เมืองคณฑี เมืองพระบาง ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงต่างแก่งแย่งกันชิงอำนาจกันเพื่อจะครองเมืองสุโขทัย พระองค์จึงยกพยุหเสนามาจากเมืองศรีสัชนาลัยถึงเมืองสุโขทัย เมื่อวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ.๑๘๙๗

เหตุการณ์ตอนนี้มีความเล่าในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาขอม พ.ศ.๑๙๐๔) ว่า พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทัดเข้าประตูเมืองทิศพายัพปราบศัตรูหมู่ปัจจามิตร ประหารผู้คิดมิชอบเสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระบิดาที่สวรรคต พระองค์ทรงราชาภิเษกเป็นพระบาทกมรเดงอัญศรีสุริยพงศ์ราม มหาธรรมมิกราชาธิราช ในหนังสืออื่นเรียก พระยาลิไทยบ้าง พระมหาธรรมราชาลิไทยบ้าง เป็นพระนามพระองค์เดียวกัน

ส่วนศักราชการครองราชย์นั้นน่าจะอยู่ระหว่าง พ.ศ.๑๘๙๐-๑๙๑๒ (๒๒ ปี) โดยนับรวมเวลาที่พระยาลิไทยครองราชย์ในเมืองเชลียง (เมืองศรีสัชนาลัย) ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๙๐-๑๘๙๗ (๗ ปี) ด้วย ดังนั้น การที่พระยางั่วนำถมได้ครองเมืองสุโขทัยก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่พระยาเลอไทยทรงประชวรอยู่ หรือพระยาลิไทยยังทรงพระเยาว์อยู่ โดยเป็นพระมหาอุปราชครองอยู่เมืองศรีสัชนาลัย การที่พระยาลิไทยยกกองทัพเข้าเมืองสุโขทัยจึงน่าจะเกิดในช่วงเวลาที่พระยางั่วนำถมสิ้นพระชนม์ลงมากกว่า

การครองราชย์ของพระมหาธรรมราชาลิไทย นั้น  พระองค์ทรงพยายามรวบรวมหัวเมืองสร้างอาณาจักรสุโขทัยให้มั่นคง เพื่อแสดงพระราชอำนาจโดยชอบธรรมตามการสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบิดา ด้วยขณะนั้นบริเวณรอบอาณาจักรของเมืองสุโขทัย ได้มีการตั้งอาณาจักรขนาดใหญ่ ได้แก่ อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรหงสาวดี  ส่วนอาณาจักรอยุธยาที่ตั้งขึ้นทางตอนใต้ ไม่มีหลักฐานว่าอาณาจักรสุโขทัยได้มีสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอยุธยามาก่อน  ภายหลังสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพมาทางเมืองชัยนาทแล้วตีเมืองชายแดนของอาณาจักรสุโขทัยเสมอ และยึดได้เมืองนครพังคา เมืองแสงเชรา และเมืองชากังลาว

ในปลายปี พ.ศ.๑๙๐๖ พระมหาธรรมราชาลิไทย จึงต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลก เพื่อดูแลหัวเมืองทางด้านใต้ ได้แก่ เมืองนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพชร เป็นต้น เหตุที่ให้พระมหาธรรมราชาลิไทย เสด็จมาประทับที่เมืองพิษณุโลกตอลดมาจนสิ้นพระชนม์ (ประมาณ พ.ศ.๑๙๐๖-๑๙๑๒ รวม ๗ ปี) ครั้งนั้นได้มีการสร้างพระราชวังจันทน์ขึ้น ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงสนพระทัยในพุทธศาสนา พระองค์จึงเผยแพร่ไตรภูมิพระร่วงและทำนุบำรุงพุทธศาสนสถานหลายแห่ง ดังเช่น ในพ.ศ.๑๙๐๕  พระองค์ทรงโปรดให้จำลองรอยพระพุทธบาทจากลังกามาสร้างสำหรับประดิษฐานตามสถานต่างๆ หลายแห่งในเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย เมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร และเมืองพระบาง (เมืองนครสวรรค์)

อาณาจักรสุโขทัย จึงมีความเจริญทางด้านพุทธศาสนา  จนทำให้ ใน พ.ศ.๑๙๑๓ พระยากือนา (พ.ศ.๑๘๘๙-๑๙๒๘) กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ได้มีพระราชสาส์นขอให้พระองค์ส่งพระสงฆ์ไปช่วยปรับปรุงพุทธศาสนา พระองค์ทรงมีพระราชานุญาตให้ พระสุมนเถระ พระสังฆราชเมืองสุโขทัย เดินทางไปปรับปรุงคณะสงฆ์ในอาณาจักรล้านนา ทำให้สองอาณาจักรมีสัมพันธไมตรีที่ดีสืบต่อกันมา อาณาจักรสุโขทัยสุโขทัยมีความเจริญสุขสำราญร่มเย็นถ้วนหน้า ไม่มีทาสในเมืองสุโขทัย และไม่มีข้าศึกศัตรูเข้ามารุกรานหรือเบียดเบียน ด้วยพระมหาธรรมราชาลิไทยทรงครองแผ่นดินด้วยธรรมานุภาพเช่นเดียวกับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พระมหาธรรมราชาลิไทยสวรรคตปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน สันนิษฐานกันว่าพระองค์สวรรคตประมาณ พ.ศ.๑๙๑๒ (บ้างว่าประมาณ พ.ศ.๑๙๑๑-๑๙๑๗ ด้วยมีข้อความระบุว่า ในปี พ.ศ.๑๙๑๗ พระมหาธรรมราชาลิไทยได้สวรรคตไปแล้ว บางแห่งว่าพระองค์อยู่ในราชสมบัติ ๒๒ ปี คือประมาณ พ.ศ.๑๘๙๗-๑๙๑๙)  พระมหาธรรมราชาลิไทย ทรงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกจนสิ้นพระชนม์  และช่วงนั้นเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองที่มีบุคคลเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์สุโขทัยพากันมาประทับอยู่เป็นจำนวนมาก มีการสร้างพระราชวังที่ประทับ (พระราชวังจันทน์) และสร้างพระพุทธชินราช สำหรับประดิษฐานในวัดประจำพระราชวังแห่งนี้

จากข้อความในศิลาจารึก กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไทยทรงมีพระโอรสหลายพระองค์และประสูติต่างพระมารดากัน กล่าวคือ พระยาลือไทย ประสูติแต่พระมหาเทวี พระธรรมราชา และพระอโศกประสูติแต่พระศรีจุฬาลักษณ์

พระยาลือไทย โอรสของพระองค์นั้นได้อภิเษกกับพระธิดาของพระยาคำตัน เจ้าครองเมืองน่าน ต่อมามีโอรสพระนามว่า พระยาไสลือไทย ส่วนพระอโศก พระโอรสอีกองค์หนึ่งได้ออกบวชบำเพ็ญธรรม



๘.พระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พระยาลือไทย)

พระมหาธรรมราชาที่ ๒ หรือ พระยาลือไทย เป็นพระโอรสของพระมหาธรรมราชาลิไทย ประมาณว่าครองราชย์เป็นกษัตริย์เมื่อ พ.ศ.๑๙๑๒ (บ้างว่า พ.ศ.๑๙๑๑-๑๙๑๗) จนถึง พ.ศ.๑๙๔๒ ในรัชกาลของพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ด้วยเหตุที่มีความสมพันธ์กับราชวงศ์เมืองน่าน คือมีพระมเหสีเป็นพระธิดาเมืองน่าน และเป็นไมตรีกับอาณาจักรล้านนามาตั้งแต่รัชกาลก่อน  จึงทำให้อาณาจักรอยุธยามีความหวั่นเกรงว่าหากเมืองสุโขทัยถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาแล้ว ภายหน้าหากอาณาจักรล้านนาคิดทำการสงครามขยายอาณาเขตลงมาตอนใต้ ด้วยเหตุที่มีเส้นทางเดินทัพทั้งทางบกและทางน้ำสะดวกเช่นนี้ก็จะเป็นอันตรายต่ออาณาจักรอยุธยา และเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นราชธานีสำรอง ก็ไม่อยู่ในฐานะเข้มแข็งพอที่จะต่อต้านกองทัพใหญ่ได้ ดังนั้น อาณาจักรอยุธยาจึงจำต้องหาหนทางที่จะชิงเอาเมืองต่างๆ ของอาณาจักรสุโขทัยมาไว้ในอำนาจเสียก่อน แต่การจะยกกองทัพไปชิงเมืองสุโขทัยหรือเมืองพิษณุโลกโดยตรงก็จะทำให้อาณาจักรล้านนาส่งกองทัพลงมาช่วยเหลือ ด้วยสองอาณาจักรผูกสัมพันธไมตรีต่อกันอยู่   สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพะงั่ว (พ.ศ.๑๙๑๓-๑๙๓๑) จึงได้ยกกองทัพเข้าไปรุกรานหัวเมืองต่างๆ ของอาณาจักรสุโขทัย เหมือนลองท่าทีของอาณาจักรล้านนา และสู้รบกับกำลังของเมืองสุโขทัยด้วย ดังปรากฏเหตุการณ์ชิงเมือง ดังนี้

 พ.ศ.๑๙๑๔ กองทัพจากอาณาจักรของเมืองอยุธยาโดยการนำของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ มีชัยชนะหัวเมืองเหนือทั้งปวง ต่อมาในปีรุ่งขึ้น พ.ศ.๑๙๑๕ กองทัพกรุงศรีอยุธยาได้ยกกำลังเข้าตีเอาเมืองนครพังคาและเมืองแสงเชราได้ พ.ศ.๑๙๑๖ กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงยกไปตีเมืองชากังราว พระยาไสแก้วกับพระยาคำแหงทำการสู้รบป้องกันเมืองอย่างสุดความสามารถ ทำให้กองทัพกรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้ในที่สุด พระยาไสแก้วได้เสียชีวิตในการสู้รบ และครั้งหลังสุด พ.ศ.๑๙๑๙ กองทัพกรุงศรีอยุธยายกกองทัพไปตีเมืองชากังราวอีก ครั้งนี้พระยาผากอง เจ้าเมืองน่านได้ยกกำลังมาช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถต้านกำลังของอาณาจักรอยุธยาได้ พระยาผากองจึงถอยทัพกลับไปทำให้กองทัพอยุธยาไล่จับทหารเมืองน่านได้จำนวนมาก

กองทัพกรุงศรีอยุธยายกทัพมาตีหัวเมืองต่างๆ ของเมืองสุโขทัย ตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๑๔-๑๙๑๙ ทำการสู้รบกัน ๖ ปี จนพ.ศ.๑๙๒๑ กรุงศรีอยุธยาจึงตีเอาเมืองชากังราว ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงด้านทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัยได้ จากจารึกวัดช้างล้อม กล่าวไว้ว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ได้ป้องกันเมืองเป็นสามารถ แต่เมื่อเห็นว่าไม่สามารถทำการสู้รบต่อไปได้แล้ว จึงออกมาถวายบังคมยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี   สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) จึงโปรดให้พระมหาธรรมราชาลิไทยครองอาณาจักรสุโขทัยต่อไปในฐานะประเทศราชขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา  ต่อมา พ.ศ.๑๙๓๑ อาณาจักรสุโขทัยแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ จึงยกกองทัพมาตีเอาเมืองชากังลาวอีก แต่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเสด็จสวรรคตเสียก่อนระหว่างทาง

พระมหาธรรมราชาที่ ๒ (น่าจะประทับที่เมืองพิษณุโลก) เสด็จสวรรคตเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ประมาณว่าพระองค์ครองราชย์ได้ ๙ ปี (พ.ศ.๑๙๑๒-๑๙๒๑) บางแห่งว่าพระองค์ครองราชย์ได้ ๒๒ ปี ทำให้ศักราชดูแตกต่างกันมาก



๙.พระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พระยาไสลือไทย)

พระมหาธรรมราชาที่ ๓ หรือพระยาไสลือไทย เป็นพระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พระยาลือไทย) บางแห่งว่าเป็นพระนัดดา ในพระราชพงศาวดารเรียกพระนามว่า พระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลก ครองราชย์ พ.ศ.๑๙๑๙-๑๙๒๐ เพียงปีเดียว บางแห่งว่าครองราชย์ พ.ศ.๒๙๔๓ (บางแห่งว่า พ.ศ.๑๙๔๒) และสวรรคต พ.ศ.๑๙๖๒ รวมครองราชย์ประมาณ ๒๐ ปี    พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีฝีมือเข้มแข็ง ได้ขยายอาณาเขตเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง นัยว่าในรัชกาลของพระองค์มีการทำสงครามกับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว พ.ศ.๑๙๑๓-๑๙๓๑) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ยกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้ในอำนาจ ทำให้เมืองฝ่ายเหนือต้องขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา เมื่อสอบศักราชแล้วไม่น่าจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันได้ น่าจะเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์อื่น

ในตำนานพื้นเมืองของเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า พ.ศ.๑๙๓๓ กษัตริย์เมืองสุโขทัยขอเป็นไมตรีกับเมืองเชียงใหม่ โดยขอกองทัพจากเมืองเชียงใหม่ไปป้องกันเมือง อ้างว่าเกิดผิดใจกับกษัตริย์อยุธยา  แต่เมื่อกองทัพเมืองเชียงใหม่ยกไปช่วยเมืองสุโขทัยแล้ว เมืองสุโขทัยเกิดเปลี่ยนใจนำกำลังเข้าโจมตีกองทัพเมืองเชียงใหม่จนพ่ายแพ้ ใน พ.ศ.๑๙๔๕  เหตุการณ์นี้เหมือนว่าเมืองสุโขทัยลวงให้เมืองเชียงใหม่ยกทัพมาช่วยแล้วกลับช่วยกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าทำการสู้รบจนเมืองเชียงใหม่พ่ายแพ้ในที่สุด ต่อมา พ.ศ.๑๙๕๔ ท้าวยี่กุมกาม เจ้าเมืองเชียงราย เกิดผิดหวังที่ไม่ได้ครองอาณาจักรล้านนาจึงหนีมาพึ่งเมืองสุโขทัย   พระยาไสลือไทยจึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองต่างๆ ของอาณาจักรล้านนา จากนั้นได้ยกกองทัพไปตีเอาเมืองพะเยาแต่ไม่สำเร็จ จึงยกทัพต่อไปตีเอาเมืองเชียงราย และเมืองฝาง  ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสองเมืองนี้ได้มีการสู้รบกัน  สันนิษฐานว่า ท้าวยี่กุมกามเคยเป็นเจ้าเมืองเชียงรายมาก่อนจึงไม่ได้ต่อสู้หรือเข้าครองเมืองได้ กองทัพเมืองสุโขทัยจึงยกทัพเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ แต่ตีไม่ได้ จึงถอยทัพกลับและทำการกวาดต้อนครอบครัวชาวเชียงราย เชียงใหม่ ไปอยู่ที่เมืองสุโขทัย

เมื่อสมเด็จพระอินทรราชา ซึ่งมาจากเมืองสุพรรณบุรีได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยา พระองค์ให้ยกกองทัพปราบปรามเมืองสุโขทัย จนในที่สุดทำให้พระมหาธรรมราชาที่ ๓ หรือพระยาไสลือไทยต้องย้ายจากเมืองสุโขทัยมาประทับอยู่ที่เมืองสองแควหรือเมืองพิษณุโลก  พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกจนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.๑๙๖๒ ส่วนเมืองสุโขทัยนั้นก็เกิดจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ



๑๐.พระมหาธรรมราชาที่ ๔ (พระยาปาลราช)

พระมหาธรรมราชาที่ ๔ หรือพระยาปาลราช หรือพระบรมปาล  เป็นโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๓ ครองราชย์อยู่ที่เมืองสองแคว หรือเมืองพิษณุโลก  ประมาณ พ.ศ.๑๙๖๒-๑๙๘๑ รวม ๑๙ ปี

เมื่อครั้งพระมหาธรรมราชาที่ ๓ หรือพระยาไสลือไทยสวรรคต ได้มีเหตุการณ์ชิงราชสมบัติครองอาณาจักรสุโขทัย ระหว่างพระยาบาลกับพระยาราม โอรสของพระองค์จนสมเด็จพระอินทราชา กษัตริย์อยุธยาได้ถือโอกาสยกกองทัพขึ้นมาชิงอำนาจ และจัดการให้อาณาจักสุโขทัยที่ยอมอ่อนน้อมอยู่ในอำนาจ ยอมให้จัดการบ้านเมืองโดยแบ่งเอาเมืองในอาณาจักรสุโขทัยให้พระยาทั้งหลายครอง คือ พระยาบาล แต่งตั้งให้เป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๔ มีพระนามว่า “พระเจ้าสุริยวงศ์บรมปาล มหาธรรมราชาธิราช” ครองเมืองพิษณุโลก  พระยารามครองเมืองสุโขทัย  พระยาเชลียง ครองเมืองเชลียงหรือเมืองศรีสัชนาลัย และแสนสอยดาว ครองเมืองกำแพงเพชร  การแบ่งเมืองให้พระยาครองเช่นนี้เป็นกุศโลบายที่อาณาจักรอยุธยาต้องการจะลดทอนอำนาจของอาณาจักรสุโขทัยที่มีอยู่เดิมลงเป็นเมืองธรรมดา แม้ว่าจะยังคงให้มีพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ครองเมืองพิษณุโลกอยู่ ก็ไม่ได้ยกให้เป็นราชธานีสำรองเช่นเดิม แล้วเมืองทั้ง ๔ นี้ก็ให้ขึ้นครองกับอาณาจักรอยุธยาด้วย

ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยามีการเปลี่ยนแผ่นดินโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ขึ้นครองเป็นกษัตริย์อยุธยา ใน พ.ศ.๑๙๖๗ ฐานะอาณาจักรของเมืองสุโขทัยก็ยังไม่สามารถที่จะฟื้นสถานภาพเป็นอาณาจักรอย่างเดิมได้อีก จวบจนพระมหาธรรมราชที่ ๔ สิ้นพระชนม์ลงเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๑๙๘๑ ความเป็นอาณาจักรสุโขทัยจึงสิ้นสุดราชวงศ์กษัตริย์ครองอาณาจักรนี้ต่อไป

แม้ในเมืองพิษณุโลกและเมืองสุโขทัย จะยังมีเชื้อสายกษัตริย์สุโขทัยอยู่ก็มีฐานะเป็นเพียงเจ้าครองเมือง ดังนั้น พระยายุทธิษเฐียร โอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ จึงได้เป็นผู้ครองเมืองพิษณุโลกต่อมา แม้ว่าพระยายุทธิษเฐียรจะเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระราเมศวร คือมีพระมารดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยเช่นเดียวกัน  ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) นั้น ได้โปรดให้พระราเมศวร พระราชโอรสขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลก  เมื่อพระราเมศวรขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อ พ.ศ.๑๙๑๙ พระยายุทธิษเฐียร ซึ่งตั้งความหวังแต่เดิมไว้ว่ากษัตริย์อยุธยาพระองค์นี้จะคืนความเป็นอาณาจักรสุโขทัยกลับคืนโดยไม่แบ่งเมืองออกเป็น ๔ เมืองดังกล่าว ในฐานะที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย แสดงว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ทรงมีพระมเหสีเป็นคนเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย และเป็นพระราชชนนีของพระราเมศวร

เมื่อพระยายุทธิษเฐียรไม่ได้รับการสนับสนุนตามที่คาดหวัง จึงทำให้เกิดน้อยใจและผิดหวัง จึงนำไพร่พลไปสวามิภักดิ์พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ของอาณาจักรล้านนา จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามยืดเยื้อกันระหว่างอาณาจักรล้านนากับอาณาจักรอยุธยา ใน พ.ศ.๑๙๙๔  ส่วนเมืองพิษณุโลก ภายหลังพระราชชนนีของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองเมืองพิษณุโลกต่อมา จนพระนางสิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ.๒๐๐๖ หลังจากนั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงโปรดจะเสด็จขึ้นมาประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกเป็นเวลานาน  

ด้วยเหตุนี้ บุคคลผู้เป็นเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยจึงต่างพากันมาอาศัยหรือพำนักในเมืองพิษณุโลกมากขึ้น เมื่อมีการรวมอาณาจักรสุโขทัยกับอาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรเดียวกันแล้ว เชื้อพระวงศ์ราชวงศ์สุโขทัยในเมืองพิษณุโลกจึงพากันลงไปรับราชการและติดต่อไปมาหาสู่กับกรุงศรีอยุธยา ราชธานีของอาณาจักรสยามที่ตั้งขึ้นใหม่ทางตอนใต้มากขึ้น โดยเฉพาะพระธิดาหรือหญิงสาวจากเชื้อพระวงศ์นี้ได้อภิเษกเป็นพระมเหสีของกษัตริย์อยุธยาและมีพระโอรสเป็นเชื้อสายกษัตริย์อยุธยา

เมื่อพระโอรสผู้มีพระมารดาเชื้อสายราชวงศ์กษัตริย์สุโขทัยได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ครองราชย์ในอาณาจักรอยุธยา ได้แก่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พระราเมศวร) สมเด็จพระชัยราชาธิราช สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระเฑียรราชา) สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ขุนพิเรนทรเทพ) พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ผู้สืบเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย เป็นต้น  สรุปแล้ว เชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยได้กลับมามีอำนาจเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรสยามตอนใต้ มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่ช่วงสมัยหนึ่ง


หมายเหตุ : ศักราชการครองราชย์ของกษัตริย์เมืองสุโขทัย มีความแตกต่างกัน จึงสรุปชัดเจนไม่ได้


กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง แคว้นสุโขทัย

แคว้นสุโขทัยหรืออาณาจักรสุโขทัย มีพ่อขุนหรือกษัตริย์ครองเมืองสุโขทัยสืบเนื่องมาหลายรัชกาล เมื่อมีการชำระตามหลักฐานที่มีการพบใหม่นั้น ได้มีการลำดับรัชกาลของกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัยหรือราชวงศ์พระร่วงใหม่ คือ

อาณาจักรสยาม ในยุคที่มีเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี มีพ่อขุนหรือกษัตริย์ครองเมืองสุโขทัย มีพระนามดังนี้
     ๑.พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางหาว) เสวยราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๗๖๒-๑๗๘๑ พระองค์สถาปนาอาณาจักรสุโขทัย โดยการขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง ออกไปจากเมือง เมื่อ พ.ศ.๑๗๖๒ ไม่ปรากฏปีสวรรคต บ้างว่า พ.ศ.๑๗๘๑ และบ้างว่าครองราชย์ พ.ศ.๑๘๐๐
     ๒.พ่อขุนบานเมือง เป็นพระโอรสองค์โตของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ไม่ปรากฏปีครองราชย์ สวรรคตราว พ.ศ.๑๘๒๒
     ๓.พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระโอรสองค์รองของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ครองราชย์ประมาณ พ.ศ.๑๘๒๒-๑๘๔๒ พระองค์ทรงคิดประดิษฐ์ลายสือไท (อักษรไทย) ขึ้นในปี พ.ศ.๑๘๖๒
     ๔.พระยาไสสงคราม (ปู่ไสสงคราม) เชื่อว่าน่าจะเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นเชื้อพระวงศ์ที่ครองราชย์แทนรัชทายาทใน พ.ศ.๑๘๔๒ จึงยังไม่ได้ราชาภิเษก ครั้นเมื่อพระยาเลอไท ผู้เป็นรัชทายาทเสด็จกลับมาจากเมืองจีนแล้ว จึงได้เวนคืนเมืองให้ครองราชย์ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๑๘๔๒  พระยาไสสงครามน่าจะสิ้นพระชนม์เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๘๖๖
     ๕.พระยาเลอไทย พระโอรสของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระเชษฐาของปู่ไสสงคราม เมื่อเสด็จกลับจากเมืองจีนจึงครองราชย์เมื่อ พ.ศ.๑๘๔๒-๑๘๘๔ (บางแห่งว่าครองราชย์ถึง พ.ศ.๑๘๔๒-๑๘๘๒)
     ๖.พระยางั่วนำถม โอรสพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระอนุชาของพระยาเลอไทย ครองราชย์ประมาณ พ.ศ.๑๘๘๔-๑๘๙๐ (บางแห่งว่า พ.ศ.๑๘๘๒-๑๘๙๒)
     ๗.พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไทย บางแห่งใช้ชื่อว่า พระยาสุริยพงศ์ราม มหาธรรมราชาธิราช) โอรสของพระยาเลอไทย ครองราชย์ พ.ศ.๑๘๙๐-๑๙๑๒ (บางแห่งว่าสวรรคตปีหนึ่งในระหว่าง พ.ศ.๑๙๑๑-๑๙๑๒) พระองค์ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาและมีวรรณกรรมสำคัญคือ ไตรภูมิพระร่วง แต่งเมื่อ พ.ศ.๑๘๘๘ ใช้สั่งสอนอาณาประชาราษฎร์
     ๘.พระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พระยาลือไทย) โอรสของพระมหาธรรมราชาลิไทย เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ.๑๙๑๑-๑๙๑๒ และสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๑๙๔๒ (บางแห่งว่า พ.ศ.๑๙๔๓)
     ๙.พระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พระยาไสลือไทย) พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (บางแห่งว่าเป็นพระนัดดา) เสวยราชย์ พ.ศ.๑๙๔๓-๑๙๖๒
    ๑๐.พระมหาธรรมราชาที่ ๔ (พระบรมปาล บางแห่งใช้ชื่อว่าพระยาสุริยวงศ์บรมปาลธรรมมิกราช) โอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๓ เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ.๑๙๖๒-๑๙๘๑

ราชวงศ์พระร่วงคนสุดท้าย ปรากฏชื่อ พระยายุทธิษเฐียร โอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก
3080  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: ชุดภาพ 'เงาะป่า' ภาพและคำบรรยาย โดย เหม เวชกร เมื่อ: 12 กรกฎาคม 2559 15:51:52














หน้า:  1 ... 152 153 [154] 155 156 ... 274
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.711 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 22:28:37