[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 23 มีนาคม 2559 14:56:57



หัวข้อ: กบฎญวนไกเซิน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มีนาคม 2559 14:56:57

(http://iseehistory.socita.com/images/column_1262355259/Vietnam_GiaLong.jpg)
ภาพจาก : iseehistory.socita.com

กบฏญวนไกเซิน

ญวนไกเซิน หรือ ญวนไตเซิน (Try Son) ชื่อกบฏในเมืองญวน  เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ถูกปราบปรามราบคาบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑)

หัวหน้ากบฏญวนไกเซิน คือ พี่น้องสามคน ชื่ออ้ายหยาก อ้ายบาย และอ้ายดาม ตามลำดับ เดิมเป็นโจรป่าอาศัยอยู่เมืองกุยเยิน ซึ่งราชวงศ์เลปกครอง  ขณะนั้น เมืองเว้เกิดจลาจลเนื่องจากราษฎรไม่พอใจการปกครองของเจ้าเมืองและผู้สำเร็จราชการ สามคนพี่น้องได้เกลี้ยกล่อมผู้คน รวบรวมสมัครพรรคพวกได้จำนวนมาก โดยปรึกษากันว่าจะตีเมืองเว้ แต่ก่อนเข้าตีเมือง ทั้งสามพากันไปสามิภักดิ์เจ้าเมืองกวางหนำ และทำราชการอยู่กับเจ้าเมืองกวางหนำเป็นเวลานาน  เจ้าเมืองกวางหนำเห็นว่าอ้ายบาย น้องคนที่สองมีสติปัญญาอุตสาหะ จึงแต่ตั้งเป็นขุนนางมีสิทธิว่าราชการแทนตน ตั้งแต่นั้นมาทั้งสามคนก็ได้รับการเรียกขานว่า องหยาก องบาย และองดาม  

องบายเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก ส่วนพี่น้องทั้งสองคุมไพร่พลอยู่ในป่า องบายร่วมมือกับเจ้าเมืองตังเกี๋ย ตีเมืองเว้ไว้ในอำนาจ เจ้าเมืองเว้พาองเชียงชุนน้องชายและหลานๆ มีองเชียงสือ เป็นต้น หนีไปอยู่เมืองไซ่ง่อน ต่อมาพี่น้องทั้งสามยกทัพตีเมืองไซ่ง่อนได้เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๙ องเชียงชุนหนีไปอยู่เมืองบันทายมาศ บางแห่งเรียกว่าพุทไธมาส หรือเมืองฮาเตียน ในพงศาวดารญวนกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกกองทัพไปตีเมืองบันทายมาศ แล้วโปรดให้รับองเชียงชุนกับครอบครัวเข้ามาอุปการะที่กรุงธนบุรี แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า องเชียงชุนพาบุตรภรรยาและสมัครพรรคพวกลงเรือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานบ้านเรือนให้อาศัยอยู่ที่พระนครฝั่งตะวันออก

องหยาก องบาย และองดาม เมื่อปราบเมืองไซ่ง่อนเรียบร้อยแล้วก็ตั้งตนเป็นเจ้า องหยากพี่ชายใหญ่เป็นพระเจ้าแผ่นดินชื่อว่า “ไกเซิน” ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองกุยเยิน องบายชื่อ “บากบินเยือง” บางแห่งเรียกว่า “องติงเวือง” ครองเมืองไซ่ง่อน และองดามน้องสุดท้องชื่อ “องลองเยือง” ครองเมืองเว้ หลังจากตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เมืองตังเกี๋ยไม่ยอมอ่อนน้อม องลองเยืองจึงยกทัพไปปราบริบทรัพย์สมบัติพร้อมอาวุธมาไว้ที่เมืองเว้ หลานเจ้าเมืองตังเกี๋ย ชื่อ องเจียวทง คุมแค้นไปขอกำลังจากจีนมาช่วยแต่สู้ไม่ได้ จากนั้นองลองเยืองจึงแต่งตั้งองกะวีบุตรชายให้ครองเมืองตังเกี๋ย เมืององลองเยืองเสียชีวิต เหล่าขุนนางจึงยกองกลัก บุตรคนที่สองขององลองเยืองขึ้นเป็นเจ้าเมืองเว้ต่อไป

ต่อมาองเชียงสือตีเมืองไซ่ง่อนคืนจากพวกไกเซิน และได้เป็นเจ้าเมือง ภายหลังพวกไกเซินตีคืน องเชียงสือจึงต้องลงเรือหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ระหว่างที่พำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้ยกกองทัพออกไปช่วยปราบปรามพวกไกเซินถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกโปรดให้พระยานครสวรรค์เกณฑ์กองทัพเขมรเข้าร่วมด้วย แล้วยกทัพเรือไปที่เมืองญวน บากบินเยือง หรือองติงเวือง เจ้าเมืองไซ่ง่อนจัดทัพเรือออกรบกองทัพไทยฝีมือเข้มแข็ง สามารถตีกองทัพญวนแตกพ่ายหลายครั้ง ต่อมาพระยานครสวรรค์เป็นกบฏจึงโปรดให้ยกทัพกลับแล้วประหารชีวิตเสีย

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพเรือไปตีเมืองไซ่ง่อน ครั้งนี้องเชียงสือไปในกองทัพด้วย ให้พระยาวิชิตณรงค์ ยกทัพบกไปทางเขมร เกณฑ์กองทัพเขมรเข้าร่วม เมืองไซ่ง่อนจัดกองทัพออกสู้รบจนถึงเทศกาลเดือนสิบสอง มีน้ำหลาก ประกอบกับไทยกำลังมีศึกติดพันกับพม่าจึงมิได้จัดกองทัพใหญ่ไปช่วย กองทัพญวนไกเซินจึงได้รับชัยชนะ

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะได้โปรดให้ยกทัพไทยไปช่วยรบกับญวนไกเซินถึง ๒ ครั้ง ก็ยังไม่สำเร็จ องเชียงสือจึงคิดว่าจำต้องหนีออกไปหากำลังที่อื่น โดยขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ แห่งฝรั่งเศสส่งกองทหารมาช่วยกู้บ้านเมือง ผ่านสังฆราชแห่งเมืองอาดรัง ฝรั่งเศสรับว่าจะช่วยเหลือ แต่ยังไม่ทันได้ส่งกองทหารมา พอดีมีข่าวว่าไกเซินซึ่งปกครองแผ่นดินญวนเกือบ ๓๐ ปี บาดหมางกัน ราษฎรได้รับความลำบากยากแค้น ส่วนฝรั่งเศสก็เกิดการจลาจล พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และพระราชวงศ์ถูกปลงพระชนม์ องเชียงสือจึงถือเป็นโอกาสลอบหนีออกไปจากกรุงเทพมหานคร โดยมิได้กราบทูล หวังจะตีเมืองไซ่ง่อนคืนจากพวกไกเซิน และมีหนังสือมากราบทูลขอความช่วยเหลืออีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระราชทานเรือและปืนพร้อมกระสุนดินดำส่งไปให้หลายครั้ง ขณะนั้นพวกไกเซินมีความบาดหมางกันมากขึ้น ต่างลอบหนีมาเป็นพวกองเชียงสือ ซึ่งเกลี้ยกล่อมญวนและเขมรได้มากพอ จึงยกทัพเรือไปรบไกเซิน องดกเซม เจ้าเมืองสู้ไม่ได้ องเชียงสือจึงตีเมืองบันทายมาศ และไซ่ง่อนได้ในที่สุด

พ.ศ.๒๓๓๓ องเชียงสือตั้งตนเป็นเจ้าอนัมก๊ก และถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พร้อมทั้งขอพระราชทานพาหนะและสิ่งของต่างๆ อยู่เนืองๆ เชื้อสายไกเซินที่เมืองตังเกี๋ย ชื่อ องกันถิน บุตรชายยองลองเยืองได้ส่งทูต ๖ คน ถือราชสาสน์พร้อมบรรทุกขนจามรีแดง ๕๐๐ พู่ เข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับไทย ในราชสาส์นระบุว่าถ้าองเชียงสือหนีเข้ามายังกรุงเทพมหานครอีก ขอให้ฝ่ายไทยจับตัวส่งให้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้จัดกองทัพเขมรไปช่วยเจ้าอนัมก๊กปราบไกเซินที่เมืองกุยเยิน เมืองเว้ และเมืองตังเกี๋ย แล้วเจ้าอนัมก๊กก็สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระนามว่า “พระเจ้าเกียลอง” หรือ “พระเจ้ากรุงเวียดนามยาลอง” ในที่สุดพวกไกเซินก็ถูกปราบปรามได้สำเร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


ที่มา : หนังสืออักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย - กรมศิลปากรจัดพิมพ์