[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 29 มกราคม 2556 11:47:10



หัวข้อ: แคว้นตามพรลิงค์ ชุมชนโบราณภาคใต้
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 มกราคม 2556 11:47:10
.

(http://www.m-culture.go.th/nakhonsithammarat/images/images/vip/vip2.jpg)
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)

แคว้นตามพรลิงค์ ชุมชนโบราณภาคใต้

ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตามหลักฐานโบราณคดี พบว่ามีแคว้นเกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย ๔ แคว้นคือ แคว้นไชยา แคว้นตามพรลิงค์ หรือแคว้นนครศรีธรรมราช  แคว้นสทิงพระ และแคว้นทางปัตตานียะลา

แคว้นไชยา ตั้งแต่อำเภอท่าชนะถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอพุนพิน แต่ไม่ถึงอำเภอพระแสงและอำเภอเวียงสระ วัฒนธรรมในแคว้นนี้ มีทั้งฮินดูและพราหมณ์ สัมพันธ์กับทางภาคกลาง เพราะว่าศิลปะแบบทวาราวดีมีพบในแคว้นนี้มาก เช่น พระพิมพ์ดินดิบที่อำเภอพุนพิน พบธรรมจักร พบพระพุทธรูปมากมายที่ถ้ำอำเภอกาญจนดิษฐ์ พระพิมพ์ดินดิบมีลักษณะศิลปะแบบทวาราวดี

แคว้นตามพรลิงค์ หรือแคว้นนครศรีธรรมราช ตั้งแต่เขตอำเภอสิชลจนถึงนครศรีธรรมราช มีลักษณะแตกต่างจากเขตไชยา มีอิทธิพลฮินดูมาก โดยเฉพาะเขตสิชล ท่าศาลา ศาสนสถานส่วนใหญ่เป็นฮินดู และที่นครศรีธรรมราชนั้นแปลก คือพบของทวารวดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนย้ายมามากกว่า

แคว้นสทิงพระ อยู่ในเขตอำเภอระโนด อำเภอสทิงพระและพัทลุง คือบริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา

แคว้นสุดท้าย ตั้งแต่ปากน้ำปัตตานี เรื่อยไปถึงยะลา ไม่ปรากฏชื่อแคว้น

ตามหลักฐานทางโบราณคดี ถือว่าแคว้นตามพรลิงค์หรือแคว้นนครศรีธรรมราช เป็นแคว้นสำคัญที่สุด  เพราะนครศรีธรรมราชเป็นด่านสำคัญ  บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชพบวัฒนธรรมซึ่งผสมกันระหว่างฝ่ายตะวันตกกับฝ่ายตะวันออก โดยมีนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลาง แล้วผ่านเขตกระบี่ ตรัง ทุ่งสง มาถึงนครศรีธรรมราช

จากแคว้นตามพรลิงค์
มาเป็นอาณาจักรตามพรลิงค์หรืออาณาจักรนครศรีธรรมราช
 
กำเนิดอาณาจักรตามพรลิงค์ จากหลักฐานทางโบราณคดีหรือหลักฐานเอกสารหนังสือจดหมายเหตุ ที่ได้บันทึกจัดทำขึ้นแต่แรกนั้น นอกจากมีน้อยแล้ว ส่วนใหญ่ก็ชำรุดสูญหายไป ที่พอมีอยู่ก็มักคลุมเครือไม่ให้ความการะจ่าง หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดก็น่าจะเป็นหนังสือคัมภีร์บาลีมหานิทเทศที่ได้กล่าวถึงอาณาจักรตามพรลิงค์ครั้งแรก  อาณาจักรตามพรลิงค์ซึ่งต่อมากลายเป็นอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นเมืองขนาดย่อมกว่าเล็กน้อยถ้าเทียบกับเมืองสำคัญในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง แต่เป็นเมืองใหญ่ที่สุดและถือว่าเก่าแก่ที่สุดบนแหลมมลายู ซึ่งหมายความว่าอาณาจักรตามพรลิงค์หรืออาณาจักรนครศรีธรรมราช จะต้องกำเนิดอยู่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ก่อนที่จะบันทึกไว้ในคัมภีร์บาลีมหานิทเทศ หรือตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนที่ชาวอินเดียจะเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์

ในเขตอาณาจักรตามพรลิงค์ ได้พบศิลาจารึกหลายแห่งโดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน ได้พบศิลาจารึกโบราณอย่างน้อย ๕ หลัก คือ
จารึกหลักที่ ๒๓ พบที่วัดเสมาเมือง เป็นภาษาสันสกฤต สลักเมื่อ พ.ศ. ๑๓๑๘
จารึกหลักที่ ๒๗ พบที่วัดมเหยงคณ์  เป็นภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือ หลังจากนี้
จารึกหลักที่ ๒๘ พบที่วัดพระมหาธาตุ เป็นอักษรรุ่นเก่า อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑
จารึกหลักที่ ๒๙ พบที่วัดพระมหาธาตุ เป็นภาษาทมิฬ  อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ หรือหลังจากนี้

อาณาจักรตามพรลิงค์ หรืออาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองและสำคัญยิ่งบนแหลมมลายู และมีอำนาจยากจะหาเมืองใดเทียบได้  ได้พบเครื่องมือเครื่องใช้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ เช่น ขวานหิน กำไล หม้อ ตะคัน ลูกปัด โครงกระดูก ในเกือบทุกจังหวัด  อาณาจักรตามพรลิงค์ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชปัจจุบัน หรือเป็นเมืองเดียวกันกับที่ฝรั่งชาติโปรตุเกสเรียกว่าลิกอร์  มีหลักฐานว่าเมืองไขยาก็มีลักษณะคล้ายกับจะเป็นศูนย์กลางอาณาจักรอีกแห่งหนึ่ง ดังข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๒๘  พบที่ศาลตาปะหมอใต้โคนต้นสำโรงใหญ่ริมรั้ววัดเวียงไชยา เป็นภาษาสันสกฤตสลักขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ กล่าวว่าพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช พระราชาแห่งประเทศตามพรลิงค์โปรดให้จารึกขึ้นโดยกล่าวแสดงถึงสิ่งที่อุทิศถวายแด่ศาสนสถานในพระพุทธศาสนา โดยเหตุที่ตำแหน่ง “ศรีธรรมราชเป็นตำแหน่งเฉพาะของผู้ครองนครศรีธรรมราช และพระนาม “จันทรภาณุ” ก็เป็นตำแหน่งมหาอุปราชเมืองนครศรีธรรมราชโดยตรง จึงมีผู้สันนิษฐานว่า ศิลาจารึกนี้ น่าจะอยู่ที่นครศรีธรรมราช โดยสับเปลี่ยนกันกับศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ วัดเสมาเมือง

การเลือกภูมิประเทศเพื่อตั้งเมืองก็อยู่ในทำเลที่เหมาะสมและแปลกมาก นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย หรือทางฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู ค่อนมาทางตอนเหนือของแหลมมลายูเล็กน้อย บ้านเรือน  ศาสนสถาน ตั้งอยู่บนแนวสันทรายอันเป็นที่ดอนริมชายทะเล  มีเทือกเขานครศรีธรรมราชที่มีทรัพย์ยากรอุดมสมบูรณ์เป็นฉากหลังของอาณาจักร และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำลำคลองหลายสายที่สามารถใช้เพาะปลูก และเป็นเส้นทางคมนาคม จึงเหมาะที่จะเป็นเมืองท่าค้าขายชายทะเล  อาณาจักรตามพรลิงค์จึงเป็นเสมือนประตูทางผ่านหรือชุมทางเดินเรือ    

ชื่อที่ใช้เรียกอาณาจักรตามพรลิงค์หรืออาณาจักรนครศรีธรรมราช มีเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ ตามความรู้ความเข้าใจและสำเนียงภาษาของชนชาติ ซึ่งเคยเดินทางผ่านมาต่างระยะเวลากัน ชื่อที่ใช้เรียกอาณาจักรตามพรลิงค์หรืออาณาจักรนครศรีธรรมราช มีดังนี้
๑.ตามพลิงคม  หรือ ตมพลิงคม เป็นภาษาบาลีปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหานิทเทศ เขียนขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ คัมภีร์นี้เป็นวรรณคดีอินเดียโบราณ กล่าวถึงการเดินทางของนักเผชิญโชค เพื่อแสวงหาโชคลาภ ความร่ำรวยยังดินแดนต่างๆ อันห่างไกลในเอเชียอาคเนย์

๒.ตามพรลิงค์ เป็นภาษาสันสกฤต  เป็นศิลาจารึก ซึ่งมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือหลังจากนี้ และปรากฏในหลักศิลาจารึกสมัยต่อมา เช่น ศิลาจารึกหลักที่ ๒๔

๓.มัทธมาลิงคัม เป็นภาษาทมิฬ ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ที่พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ กษัตริย์แห่งคาดารัมในอินเดียภาคใต้ โปรดให้จารึกไว้ที่เมืองตันชอร์ ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๗๓-๑๕๗๔ ภายหลังที่ทรงส่งกองทัพไปปราบเมืองต่างๆ ในอาณาจักรศรีวิชัย จนได้รับชัยชนะหมดแล้ว ในบัญชีรายชื่อเมืองท่าต่างๆ ที่พระองค์ทรงตีได้นั้น มีเมืองตามพรลิงค์อยู่ด้วย

๔. ตัน-มา-ลิง  เป็นชื่อที่เฉาจูกัวและวังตาหยวน-นักจดหมายเหตุจีน ได้เขียนหนังสือชื่อ เต่า-อี-ชี-เลี้ยว นอกจากนี้นักจดหมายเหตุจีนรุ่นก่อนก็เคยบันทึกไว้  ดังปรากฏในหนังสือ สุงชี  ซึ่งบันทึกไว้ว่า อาณาจักรตามพรลิงค์ได้ส่งทูตไปติดต่อทำไมตรีกับเมืองจีเมื่อ พ.ศ.๑๕๔๔ ศาสตราจารย์ชิลแวง เลวี  มีความเห็นว่า คำ ตมะลี  ที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศ อาจตรงกับคำ ตมภลิง ที่เกิดของท่านพุทธปาลิตผู้คงแก่เรียน และเป็นคำเดียวกับคำว่าตามพรลิงค์ ตามที่ปรากฏในที่อื่นๆ

๕.สิริธรรมนคร ซึ่งหมายถึงชื่อเมืองหรือนคร ถ้าหมายถึงชื่อกษัตริย์ก็จะเรียกว่าพระเจ้าสิริธรรม หรือพระสิริธรรมนคร หรือพระเจ้าสิริธรรมราช เป็นชื่อที่ปรากฏในหนังสือบาลีเรื่องจามเทวีวงศ์ ซึ่งพระโพธิรังสี พระเถระชาวเชียงใหม่แต่งประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑  นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งท่านรัตนปัญญาพระเถระชาวเมืองเชียงใหม่ แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๐๖๑  ส่วนในหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ซึ่งพระโพธิรังสีแต่งไว้เป็นภาษาบาลีประมาณระหว่าง พ.ศ.๑๙๔๕-๑๙๘๔  ในรัชกาลพระเจ้าสามฝังแกนหรือพระเจ้าวิไชยดิส  ครองราชย์ในนครเชียงใหม่ อาณาจักรลานนาไทย เรียกว่าพระเจ้าศรีธรรมราช ซึ่งก็เป็นคำเดียวกัน

๖.ลิกอร์ (Ligor) เป็นชื่อที่พ่อค้าชาวโปรตุเกส ที่เข้ามาค้าขายกับไทยในสมัยอยุธยาตอนต้นเป็นชาติแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ ในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้เรียกต่างไปเป็นละกอร์ก็มี  คำว่าลิกอร์นี้ฝรั่งเรียกเพี้ยนไปจากคำ “นคร”  ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อย่อของเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากชาวโปรตุเกสไม่ถนัดในการออกเสียง –น.-  ถนัดออกเสียง –ล-

๗.นครศรีธรรมราช เป็นชื่อที่คนไทยฝ่ายเหนือเรียกขนานนามราชธานี “ศรีธรรมราช” ตามนามอิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนคร และได้เรียกกันมาตราบจนทุกวันนี้

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เมืองหลวงของอาณาจักรตามพรลิงค์ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นจังหวัดนครศรีธรรมราชปัจจุบันนี้ คือตรงละติจูด ๘ องศา ๑๘ ลิปดา ซึ่งเดิมเรียกกันว่า ลิกอร์ และอีกหลายชื่อ  หลักฐานที่สำคัญได้แก่ ซากเมืองโบราณ ตลอดจนที่ตั้งชุมชนโบราณขนาดใหญ่หลายแห่งในท้องที่นครศรีธรรมราช



ที่มา : สารนครศรีธรรมราช ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๑๐ เดือนตุลาคม ๒๕๕๔