[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
03 พฤษภาคม 2567 04:39:57 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 171 172 [173] 174 175 ... 274
3441  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อ: 24 กรกฎาคม 2558 15:38:20
.


หมอชีวกโกมารภัจจ์


หมอชีวกโกมารภัจจ์นั้น เป็นนายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล  

สำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์จากสำนักตักศิลา  ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าพิมพิสาร เจ้าแห่งมคธรัฐ ให้ดำรงตำแหน่งแพทย์หลวงประจำพระราชสำนัก  ต่อมาเขาได้ถวายการรักษาพระโรคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  

ด้วยความใกล้ชิดกับพระพุทธองค์นี่เอง เขาจึงเกิดศรัทธาในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ปรุงพระโอสถถวายทุกคราวที่ทรงพระประชวร  นอกจากนี้ เขายังได้ถวายสวนมะม่วงอันเป็นสมบัติของเขาให้เป็นอารามที่ประทับประจำของพระพุทธเจ้าอีกด้วย  ตลอดชีวิตเขาได้บำเพ็ญแต่คุณงามความดี ช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ ไม่เลือกยากดีมีจน จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นที่รักของปวงชน

เรื่องราวชีวิตของเขามีกล่าวไว้ในพระวินัยปิฎก และคัมภีร์อรรถกถาเพียงกระท่อนกระแท่น  ผู้เขียนจึงขอเก็บรวบรวมมาแต่งเติมเสริมต่อให้เป็นเรื่องเป็นราวเพื่อประกาศเกียรติคุณของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งตลอดชีวิตมุ่งทำแต่ประโยชน์เพื่อคนอื่นในด้านที่ตนถนัด จนแทบไม่มีเวลาสำหรับตนเอง  

คนชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นคนที่น่าสรรเสริญและเจริญรอยตามเป็นอย่างยิ่ง

แรงอธิษฐาน
ย้อนหลังจากภัทรกัปนี้เป็นแสนกัป สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตระ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ประสูติที่เมืองจัมปา เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอสมะ กับพระนางอสมา  

ก่อนเสด็จออกผนวช ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางอุตตรา มีพระโอรสพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า รัมมะ  

ภายหลังทรงรู้สึกเบื่อหน่ายในเพศผู้ครองเรือน จึงเสด็จออกทรงผนวช บำเพ็ญพรต จนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเสด็จไปประกาศพระศาสนา โดยได้แสดงธรรมเทศนา กัณฑ์แรก ชื่อ ธนัญชุยยานสูตร   ไม่นาน มีผู้เลื่อมใสมอบตนเป็นสาวกมากขึ้นตามลำดับ ในจำนวนนี้มีพระภราดาทั้งสองของพระองค์ คือ เจ้าชายสาละกับเจ้าชายอุปสาละรวมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ตามลำดับ

สมัยนั้นชีวกโกมารภัจจ์เกิดทันเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาเห็นชายคนหนึ่งท่าทางภูมิฐาน เดินเข้าเดินออกพระอารามที่ประทับของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ อยากรู้ว่าชายคนนี้ไปวัดทำไมบ่อยๆ วันหนึ่งจึงไปดักรออยู่นอกประตูวัด พอชายคนนั้นเดินออกมาจากประตู เขาจึงกรากเข้าไปถามว่า “นี่คุณ ผมเห็นคุณเดินเข้าเดินออกวัดทุกวัน ผมอยากทราบว่าคุณไปทำไม”

สุภาพบุรุษคนนั้นมองเขาแวบหนึ่ง แล้วตอบอย่างสุภาพว่า “ผมเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ผมไปเฝ้าพระองค์ทุกวันเพื่อรับพระโอวาท และถวายการรักษาในคราวที่ทรงพระประชวร”
“แหม คุณช่างมีตำแหน่งน่าสรรเสริญจริงๆ ทำอย่างไรผมจะได้เป็นอย่างคุณบ้างนะ”
“หน้าที่อย่างนี้ ชั่วพุทธกาลหนึ่งก็มีเพียงคนเดียว ถ้าคุณอยากเป็นอย่างผม ก็ตั้งอธิษฐานไว้ชาติหน้าสิ ผมไปล่ะ จะรีบไปดูคนไข้ในเมือง”

แล้วหมอก็รีบผละไป ปล่อยให้เขายืนคิดอยู่คนเดียว “ถ้าคุณอยากเป็นอย่างผม ก็ตั้งอธิษฐานไว้ชาติหน้าสิ” คำพูดของหมอยังก้องอยู่ในใจ ชาติหน้ามีจริงหรือ? อธิษฐานจิตมีผลถึงชาติหน้าจริงหรือ? ฯลฯ คำถามเหล่านี้เรียงคิวเข้ามาสู่สมองของเขาเป็นทิวแถว

แต่ก็ให้คำตอบแก่ตัวเองไม่ได้

พลันนึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ จึงไปเข้าเฝ้าพระองค์ยังพระอาราม กราบทูลถามข้อข้องใจต่างๆ พระองค์ก็ทรงประทานวิสัชนาให้เป็นที่หายสงสัยหมดสิ้น เป็นครั้งแรกที่เขามีโอกาสได้เข้าเฝ้าและสนทนาอย่างใกล้ชิดกับพระผู้เป็นศาสดาเอกในโลก ให้รู้สึกปีติดีใจเหลือพรรณนา   หลังจากได้รับรสพระธรรมจากพระองค์เป็นที่ชุ่มชื่นใจแล้ว เขาได้กราบทูลอาราธนาพระองค์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของเขาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ พระองค์ทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

หลังจากถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกแล้ว เขาเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท กล่าวคำอธิษฐานต่อพระพักตร์ว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายภัตตาหารครั้งนี้ ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าจงเป็นแพทย์ประจำพระพุทธเจ้าในอนาคตเช่นเดียวกับนายแพทย์ผู้อุปัฏฐากพระองค์ด้วยเถิด”

“เอวัง โหตุ ขอให้สัมฤทธิ์ดังปรารถนาเถิด”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำรัสตอบ ทรงประทานอนุโมทนาเสร็จแล้วเสด็จกลับไปยังพระอาราม

ดับขันธ์จากชาตินั้นแล้ว เขาได้เวียนว่ายตายเกิดในภพต่างๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง ตามแรงกรรมที่ก่อสร้างไว้ กาลผ่านไปเป็นระยะเวลานานนับได้แสนกัป  

ในที่สุด “แรงอธิษฐาน” ของเขาสัมฤทธิ์ผล เมื่อเขาได้มาถือกำเนิดเป็นชีวกโกมารภัจจ์โอรสบุญธรรมของเจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารเจ้าแห่งมคธรัฐ

โปรดติดตามเรื่องราวของเขาต่อไปเถิด


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๓ ประจำวันที่ ๒๔-๓๐ ก.ค.๕๘


กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์

ขอกล่าวถึงเมืองไพศาลีก่อน ในครั้งพุทธกาล เมืองไพศาลีเป็นเมืองมั่งคั่ง มีประชาชนพลเมืองมากมาย อุดมสมบูรณ์ด้วยภักษาธัญญาหารนานาชนิด ในพระวินัยปิฎก ท่านพรรณนาถึงความยิ่งใหญ่แห่งเมืองนี้ว่า
“มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ”

ยิ่งกว่านั้นยังมีสิ่งที่แปลกและใหม่ที่เมืองอื่นไม่มี คือ นครโสเภณี หรือหญิงงามเมือง

ตำแหน่งนี้โบราณถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมาก เพราะเป็นตำแหน่งที่พระราชาทรงตั้ง โดยคัดเอาสตรีที่มีเรือนร่างสะคราญตาที่สุด และชำนาญฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีอย่างดีเยี่ยม

สตรีผู้มีเกียรติได้ดำรงตำแหน่งนครโสเภณีเป็นคนแรกชื่อ อัมพปาลี นัยว่า เป็นผู้ที่มีรูปร่างผิวพรรณเฉิดฉาน น่าเสน่หายิ่งนัก ราคาค่าตัวคราวละ ๕๐ กหาปณะ (ประมาณ ๒๐๐ บาท)

เกียรติศัพท์เมืองไพศาลี มีหญิงนครโสเภณีผู้เลอโฉมสำหรับบำเรอชาย ได้ยินไปยังแว่นแคว้นแดนไกล เป็นเหตุให้พ่อค้าคฤหบดีจากเมืองต่างๆ ขนเงินขนทองมาทิ้งให้เมืองไพศาลีเป็นจำนวนมาก

คราวหนึ่ง นายพาณิชจากเมืองราชคฤห์จำนวนหนึ่งเดินทางไปค้าขายที่เมืองไพศาลี ได้ทราบเรื่องนี้เข้า จึงคิดกันว่าตำแหน่งนครโสเภณี เป็นอุบายดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศได้อย่างหนึ่ง สมควรที่จะกราบบังคมทูลพระราชาให้ทรงแต่งตั้งหญิงนครโสเภณีเหมือนอย่างเมืองไพศาลีบ้าง

กลับไปแล้ว พวกเขาได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลความดำริของตนให้พระองค์ทราบ

พระองค์ทรงเห็นชอบด้วย จึงรับสั่งให้คัดเลือกสตรีงามเพื่อดำรงตำแหน่งนี้

ในที่สุดได้สตรีวัยรุ่นนางหนึ่ง ชื่อ สาลวดี โดยได้ตั้งอัตราค่าตัวสำหรับผู้ร่วมอภิรมย์ ๑๐๐ กหปณะ

นางสาลวดีครองตำแหน่งนี้ไม่นานก็ตั้งครรภ์โดยบังเอิญ มาสำนึกได้ว่า อันธรรมดาหญิงโสเภณี เมื่อตั้งครรภ์ย่อมเป็นที่เบื่อหน่ายของชาย รายได้ที่เคยได้ประจำก็ย่อมจะหมด จะทำแห้งหรือ ก็มีมโนธรรมพอที่จะไม่ทำบาปหยาบช้าถึงขั้นฆ่าลูกในไส้ จะทำอย่างไรดีล่ะ

ในที่สุดก็คิดอุบายได้ แสร้งทำเป็นป่วย บอกงดรับแขกชั่วคราว จนคลอดลูกออกมาเป็นชาย ตกดึกสงัดยามปลอดคน นางได้สั่งให้หญิงรับใช้คนสนิท เอาทารกน้อยผู้น่าสงสาร ใส่กระด้งไปทิ้งไว้ที่กองขยะนอกเมือง

อกุศลกรรมใดที่บันดาลให้ทารกน้อยผู้ไร้เดียงสาต้องถูกนำไปทิ้งอย่างน่าอนาถเช่นนี้ ก็สุดที่จะทราบได้ แต่เดชะบุญกุศลที่ทารกน้อยผู้นี้ได้ก่อสร้างไว้ในอดีตชาติ มีมากมายมหาศาล จึงบันดาลให้เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร มีอันต้องเสด็จออกนอกเมืองแต่เช้า มุ่งพระพักตร์มายังกองขยะที่ทารกน้อยนอนอยู่

ฝูงแร้งกาที่มารุมกันอยู่ที่ขยะมูลฝอยกองนั้น เห็นคนเดินมาใกล้มากหน้าหลายตา พากันแตกฮือบินหนีไป เจ้าฟ้าอภัยทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงรับสั่งถามมหาดเล็กที่ตามเสด็จว่า “นั่นแร้งกามันรุมกินอะไรที่กองขยะนั่น ไปดูซิ”

พวกมหาดเล็กวิ่งไปดู เห็นทารกน้อยนอนแบบอยู่ที่กระด้งบนกองขยะ จึงรีบมาทูลว่า
“แร้งกามันรุมกันเพื่อจะจิกกินทารกคนหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครเอามาทิ้งไว้พ่ะย่ะค่ะ”
“ผู้หญิงหรือผู้ชาย”
“ผู้ชาย พ่ะย่ะค่ะ”
“ยังมีชีวิตอยู่ หรือตายแล้ว”
“ยังมีชีวิตอยู่ พะยะค่ะ”

ได้ฟังคำกราบทูลของมหาดเล็ก ทรงเกิดความสงสารขึ้นจับพระทัย “ใครหนอ ช่างใจร้าย เอาลูกในไส้มาทิ้งได้” ทรงรำพึงในพระทัย พลางรีบสาวพระบาทไปยังกองขยะ ทอดพระเนตรเห็นทารกน้อยดิ้นกระแด่วๆ ยื่นมือไขว่คว้ามายังพระองค์  จึงรับสั่งให้นำเด็กน้อยเข้าวัง สั่งให้พี่เลี้ยงนางนมเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอม ทรงรับไว้เป็นโอรสบุญธรรมต่อมา

เพราะคำกราบทูลของมหาดเล็กว่า “ยังอยู่” (ชีวโก) เจ้าชายจึงทรงขนานนามทารกน้อยว่า “ชีวกโกมารภัจจ์” หรือเรียกตามภาษาไทยว่า “บุญยัง” (หมายความว่า ผู้ยังมีชีวิตรอดมาได้ เพราะบุญที่เจ้าฟ้าอภัยทรงนำมาเลี้ยงดู)

เจ้าบุญยังมีแววว่าเป็นเด็กฉลาดมาแต่น้อย หน่วยก้านจะได้ดีต่อไปภายหน้า ไม่ว่าจะเล่นอะไรกับลูกหลวงอื่นๆ เจ้าบุญยังสามารถเอาชนะเขาได้หมด จนพวกเขาขัดใจที่เอาชนะเจ้าบุญยังไม่ได้ ด่าเอาเจ็บๆ ว่า
“เจ้าลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่นี่เก่งจริงโว้ย”
“เจ็บใจนัก เล่นสู้เจ้าเด็กข้างถนนไม่ได้” ฯลฯ

ทำเอาเจ้าหนูน้อยบุญยังสงสัยเป็นกำลัง จึงไปทูลถามเจ้าฟ้าอภัย ว่าใครเป็นพ่อแม่ของตน เจ้าฟ้าอภัยทรงอึดอัดที่ถูกถามอย่างจังเช่นนั้น จึงทรงชี้ไปที่พี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายว่า “พวกโน้นแหละแม่เจ้า”

ครั้นเด็กน้อยย้อนถามอีกว่า “คนอื่นเขามีแม่คนเดียว ทำไมหนูมีแม่หลายคนนัก”

เจ้าชายตอบให้เธอหายสงสัยไม่ได้ ก็ได้แต่บ่ายเบี่ยงไปต่างๆ นานา  ครั้นถูกรุกถามหนักเข้า จึงตัดบทว่า
“ก็ข้าเลี้ยงเอ็งมาตั้งแต่เล็กๆ ข้านี่แหละเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ของเจ้า”
“พวกเพื่อนๆ เขาว่าหนูเป็นเด็กข้างถนน เป็นความจริงเพียงไร” หนูน้อยบุญยังซัก
“เฮ้ย อย่าไปเอาใจใส่กับคำพูดเหลวไหลอย่างนั้น” เจ้าชายดุ

ยิ่งถามก็ยิ่งงง เสด็จพ่อไม่เคยให้ความกระจ่างอะไรเลย ชักจะแน่ใจแล้วว่า ตนเองไม่มีพ่อแม่ที่แท้จริง หาไม่เสด็จพ่อคงไม่บ่ายเบี่ยงเช่นนั้น และพวกเพื่อนๆ ลูกหลวงอื่นๆ คงไม่ด่าว่าเป็นเด็กข้างถนนหรอก เจ้าหนูน้อยนั่งคิด  “เจ้าเด็กข้างถนน...อา มันช่างเสียวแปลบขั้วหัวใจทุกครั้งที่นึกถึงคำดูถูกเหยียดหยามเช่นนี้” น้ำตาเจ้ากรรมมันจะไหลซึมออกมาให้ได้

ฉับพลันแรงแห่งมานะก็ฉายวาบขึ้นในใจ “สักวันหนึ่งเถอะ ไอ้ลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่คนนี้จะหาวิชาความรู้ใส่ตัว เอาชนะลูกผู้ดีเหล่านี้ให้ได้”


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๔ ประจำวันที่ ๓๑ ก.ค.- ๖ ส.ค.๕๘


ศึกษาวิชาแพทย์ที่กรุงตักสิลา

สมัยนั้นสำนักตักสิลาเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นมหาวิทยาลัยแหล่งผลิตสรรพวิชาทั่วโลก

เจ้าบุญยังหรือชีวกโกมารภัจจ์ คอยสืบเสาะหาทางไปศึกษาวิชาที่เมืองนี้อยู่เสมอ

วันหนึ่งพบปะพวกพาณิชมาจากเมืองตักสิลา จึงพยายามตีสนิท ขออาศัยเดินทางไปกับพวกเขาด้วย โดยมิได้ทูลลาแม้กระทั่งเสด็จพ่อ ด้วยเกรงว่า ถ้าทรงทราบความประสงค์ของเขาคงจักไม่ทรงอนุญาตให้เขาไปเป็นแน่

เมื่อไปถึงเมืองตักสิลา เขาได้เข้าไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มอบตัวถวายเป็นศิษย์ ขอเรียนวิชาแพทยศาสตร์

การศึกษาเล่าเรียนในสมัยนั้นมีอยู่สองประเภท คือประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นคนยากจนไม่เสียเงินค่าเล่าเรียน ต้องอยู่รับใช้อาจารย์ ช่วยทำกิจสารพัด ตั้งแต่ตักน้ำ ผ่าฟืน หุงอาหาร บีบนวด ฯลฯ

อีกประเภทหนึ่ง ถ้ามีเงินเสียค่าเล่าเรียน ถึงแม้จะอยู่ในสำนักก็ไม่ต้องทำงานให้อาจารย์ นอกจากเรียนหนังสืออย่างเดียว

ชีวกโกมารภัจจ์ไม่มีเงินให้อาจารย์ จึงมอบตนเป็นศิษย์ประเภทแรก ช่วยทำงานทำการ รับใช้อาจารย์สารพัดอย่าง อาศัยว่าเป็นเด็กที่อ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพเชื่อฟังโอวาทอาจารย์เป็นอย่างดี และมีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่เกียจคร้าน จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ วิชาความรู้เท่าไรอาจารย์ก็ถ่ายทอดให้จนหมด ไม่ปิดบังอำพราง

ชีวกเรียนวิชาแพทย์อยู่กับอาจารย์ ๗ ปี มีความรอบรู้ในสาขาวิชานี้เต็มตามที่อาจารย์ถ่ายทอดให้ แต่ไม่มีทีท่าว่าจะเรียนจบสักที ชักคิดถึงบ้าน คิดถึงเสด็จพ่อเต็มที วันหนึ่งจึงเข้าไปหาอาจารย์เรียนถามท่านว่า
“อาจารย์ครับ เมื่อไร่ผมจะเรียนจบเสียที”
“ทำไมหรือ” อาจารย์ถาม
“ผมคิดถึงบ้านเต็มทีแล้วครับ ผมตั้งใจเรียนตามที่อาจารย์เมตตาสั่งสอนเป็นเวลา ๗ ปีแล้ว ผมอยากทราบว่าเท่านี้ผมพอจะทำมาหากินได้หรือยัง”

“พ่อน่ะพอหรอก แต่วิชาแพทย์เป็นวิชาที่กว้างขวาง เรียนไม่รู้จบ อาจารย์ตั้งใจจะให้เธอเรียนอีก ๒” ปี แล้วจึงจะให้กลับ แต่ถ้าเธออยากกลับบ้านจริงๆ ก็ตามใจ”

อาจารย์มองหน้าศิษย์รักด้วยปรานี แล้วเอ่ยต่อไปว่า
“ก่อนอื่นอาจารย์ขอสอบความรู้เธอก่อน ถ้าเธอสอบผ่านจึงจะอนุญาตให้กลับ เธอจงไปสำรวจดูต้นไม้ต้นหญ้าทุกชนิด ทั่วทั้งสี่ทิศ ภายในรัศมี ๔๐๐ เส้น ให้ดูว่าหญ้าชนิดไหน ใบไม้เปลือกไม้ชนิดไหน ใช้เป็นยาอะไรได้บ้าง อย่างไหนใช้ทำยาไม่ได้เลย”

ชีวกเดินออกจากมหาวิทยาลัยตักสิลา ขึ้นเขาเข้าป่าไปสำรวจสมุนไพรทั่วทั้งสี่ทิศประมาณเจ็ดวัน จึงกลับมาหาอาจารย์ เมื่อถูกถาม เขาได้สาธยายต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่ไปสำรวจมาว่าชนิดนั้นๆ ใช้ผสมทำยาแก้โรคนั้นๆ ตามตำราที่ได้เล่าเรียนมา สุดท้ายเขาบอกแก่อาจารย์ว่า

“ต้นไม้ใบหญ้าและสมุนไพรใดๆ ในชมพูทวีปนี้ที่ใช้ทำยาไม่ได้ ไม่มี ทุกอย่างเป็นยาทั้งนั้น

อาจารย์เอื้อมมือมาลูบศีรษะเขาด้วยปรานี พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า “เป็นอันว่า เธอเรียนจบหลักสูตรวิชาแพทย์แล้ว กลับบ้านได้”

แล้วอาจารย์ได้มอบเงินจำนวนเล็กน้อย พร้อมทั้งกล่าวอวยพรแก่ศิษย์รักด้วยอาลัย เขากราบลาอาจารย์และเพื่อนๆ ออกเดินทางจากเมืองตักสิลา มุ่งหน้ามายังเมืองราชคฤห์ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน

ตรงนี้คัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า เหตุที่อาจารย์ให้เงินและเสบียงเดินทางแก่ชีวกโกมารภัจจ์เพียงเล็กน้อย เพราะอาจารย์คิดว่าชีวกเป็นโอรสเจ้าฟ้า เจริญเติบโตในราชสกุลอันโอ่อ่า พอเรียนศิลปวิทยาจบ กลับไปก็ยังได้รับการยกย่องในฐานันดรอันสมเกียรติจากพระบิดา และพระอัยกา  เมื่อเป็นเช่นนี้เขาคงจักไม่รู้จักบุญคุณของครูบาอาจารย์ และไม่รู้คุณค่าแห่งวิชาการที่ได้เรียนมา

แต่ถ้าเสบียงเดินทางของเขาหมดในระหว่างทาง เขาจักดิ้นรนใช้วิชาความรู้หาเงินหาทองและเสบียงเดินทาง อันจักทำให้เขารู้จักซาบซึ้งในบุญคุณของอาจารย์และวิชาความรู้ยิ่งขึ้น


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๕ ประจำวันที่ ๗-๑๓ ส.ค.๕๘


รักษาภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกต

พอมาถึงเมืองสาเกต ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองตักสิลาและเมืองราชคฤห์ เสบียงเดินทางที่มีติดตัวมาก็หมดเกลี้ยง เจ้าบุญยังชักรู้สึกหิวขึ้นมาตงิดแล้ว จะได้ข้าวที่ไหนกิน?

กำลังคิดหนักใจอยู่พอดี ได้ยินเสียงคนพูดกันถึงเมียเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาเกต เป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี รักษาจนหมดเงินทองมากมาย ไม่มีหมอคนไหนรักษาให้หายได้ จนหมดอาลัยตายอยากในชีวิต นอนรอความตายไปวันๆ

หมอหนุ่มจึงแสดงตัวเป็นหมอที่สำเร็จมาจากเมืองตักสิลา โรคของเมียเศรษฐีเขาสามารถรักษาให้หายได้ ขอให้ช่วยพาเขาไปยังบ้านเศรษฐีเถิด

คนฟังเห็นหมอหนุ่มพูดจาเอาจริงเอาจัง จึงพาเขาไปยังบ้านเศรษฐี แจ้งว่ามีหมอคนหนึ่งรับอาสาจะรักษาโรคให้เมียเศรษฐี “หมอแก่ๆ ยังไม่มีปัญญารักษาให้หายได้ เสียเงินเสียทองไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไร่ หมอหนุ่มจะเก่งอาจมาจากไหน บอกเขาเถิด ไม่ต้องมายุ่งกับฉัน” เมียเศรษฐีกล่าวด้วยความเบื่อหน่าย

“เขาบอกว่าถ้ารักษาไม่หายไม่เอาตังค์” เสียงคนใช้รายงานหลังจากนำความไปแจ้งแก่ชายหนุ่ม และได้รับคำมั่นสัญญาจากเขา
“ถ้างั้นบอกให้เขาเข้ามา” เมียเศรษฐีตัดบท

หมอหนุ่มเข้าไปตรวจอาการไข้ประเดี๋ยวเดียวก็รู้ทางแก้

จึงสั่งให้หาเนยในมาประมาณหนึ่งถ้วยตะไล กับเครื่องยาอีกสองสามชนิดมาผสมกัน ให้เมียเศรษฐีนอนหงาย แล้วให้นัตถุ์

พอนัตถุ์ยาเข้าไป เนยใสไหลเยิ้มออกมาทางปาก นางจึงถ่มลงกระโถน แล้วตะโกนสั่งให้สาวใช้เอาสำลีมาซับเนยใสไว้ กิริยาอาการเช่นนั้นทำให้หมอหนุ่มตะลึง คิดในใจว่า “เรามาเจอแม่ยอดตังเมเข้าแล้วสิ เนยใสที่ถ่มทิ้งแล้วยังอุตส่าห์เอาสำลีซับเก็บไว้อีก อย่างนี้แกจะให้ค่ารักษาเรากี่ตังค์”

เมียเศรษฐีดูเหมือนจะเข้าใจความคิดของหมอหนุ่ม จึงพูดขึ้นว่า “หมอคิดว่าฉันขี้เหนียว แต่หมออย่าลืมว่าฉันป่วยมาตั้ง ๗ ปี เสียค่ารักษาไปแล้วเท่าไหร่ สิ่งใดที่พอจะกระเหม็ดกระแหม่ได้ ก็ไม่ควรให้เสียเปล่า เนยใสที่ซับไว้นี้ ใช้ทามือ ทาเท้า แก้เมื่อยขบหรือใช้เป็นน้ำมันตามไฟก็ได้ หมอไม่ต้องกลัวว่าฉันจะไม่ให้ค่ารักษาแก่หมอหรอก ขอให้หายจริงเถอะ เท่าไหร่เท่ากัน”

“เปล่าหรอกครับคุณนาย ผมมิได้คิดในทำนองนั้น ผมเพียงสงสัยว่าคุณนายให้ซับเนยใสไว้ทำไมเท่านั้นแหละครับ” หมอหนุ่มแก้ตัว

ปรากฏว่าพอนัตถุ์ยาที่หมอชีวกประกอบให้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โรคปวดศีรษะของเมียเศรษฐีได้หายไปดังปลิดทิ้ง นางรู้สึกปลาบปลื้มที่หมอหนุ่มได้บันดาลชีวิตใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากทอดอาลัยตายอยากในชีวิตมานานแล้ว  จึงให้รางวัลเขาถึง ๔,๐๐๐ กหาปณะ (ประมาณหนึ่งหมื่นหกพันบาท)

ฝ่ายลูกเขย ลูกสะใภ้ ลูกชาย ต่างรู้สึกดีใจที่นางหายจากโรค ให้รางวัลหมออีกคนละหลายพัน ชื่อเสียงของหมอหนุ่มได้แพร่สะพัดไปทั่งเมืองสาเกตอย่างรวดเร็ว บ้างก็มาตามตัวไปรักษาโรคของญาติพี่น้องของตน

หมอหนุ่มรวบรวมเงินทองจากการใช้วิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาจากอาจารย์ได้มากเพียงพอแก่ความต้องการ ก็อำลาครอบครัวเศรษฐีและชาวเมืองสาเกต ออกเดินทางไปยังเมืองมาตุภูมิทันที

ไปถึงเมืองราชคฤห์ เขาได้รีบไปเฝ้าเสด็จพ่อ เจ้าฟ้าอภัยตกพระทัยที่จู่ๆ “เจ้าบุญยัง” ก็โผล่พรวดเข้ามา หลังจากหายหน้าไปตั้ง ๗ ปี ครั้งแรกทรงมีพระพักตร์บึ้งตึง ที่โอรสบุญธรรมไปไหนมาไหนไม่บอกกล่าว

เขาได้กราบทูลสาเหตุที่ต้องหลบหนีออกจากพระราชวังไปศึกษาวิชาแพทย์ที่เมืองตักสิลา จนมีความชำนาญรักษาโรคได้สารพัดโรค แล้วกราบทูลขอขมาโทษที่ทำการครั้งนี้ไปโดยพลการ เสมือนมิรู้บุญคุณข้าวแดงแกงร้อนที่ทรงเมตตาอุปถัมภ์ชุบเลี้ยงมา แล้วนำเงินทองที่เหลือจากที่ใช้จ่ายทั้งหมดมาถวายแด่เสด็จพ่อ

“เงินจำนวนนี้ หม่อมฉันได้จากการรักษาภรรยาเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาเกต ขอทูลถวายเพื่อเป็นเครื่องบูชาพระเดชพระคุณที่ทรงเมตตาชุบเลี้ยงหม่อมฉัน”

ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงแน่พระทัยว่าที่ “เจ้าบุญยัง” กล่าวมาทั้งหมดน่าจะเป็นความจริง

ทรงชื่นชมในความกตัญญูรู้คุณของโอรสบุญธรรม ไม่ทรงรับเงินจำนวนนั้น หากแต่รับสั่งให้เขาเก็บไว้เป็นสมบัติของตน

ตั้งแต่นั้นมาเขากลายเป็นนายแพทย์คนโปรดประจำพระองค์เสด็จพ่ออีกตำแหน่งด้วย


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก   หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๖ ประจำวันที่ ๑๔-๒๐ ส.ค.๕๘


รักษาพระโรคพระเจ้าพิมพิสาร

เวลานั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรเป็นโรค “ภคันธลาพาธ” (“ภคันธลา” ภาษาไทยแปลว่า โรคริดสีดวงทวาร แต่ฉบับภาษาฝรั่งแปลว่า fistula ได้แก่โรคที่เกิดเป็นโพรงระหว่างช่องอุจจาระกับผิวหนังที่ก้น คนละชนิดกับโรคริดสีดวงทวารและรักษายากกว่า) มีพระโลหิตไหลออกมาเปื้อนพระภูษา ทรงเป็นที่รำคาญพระทัยอยู่เสมอ

แพทย์หลวงถวายโอสถขนานใดๆ ก็มิได้หายขาด บางคราวต้องระงับพระราชกิจเป็นเวลานาน

เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสได้กราบทูลแนะให้พระราชทานพระราชวโรกาสให้หมอชีวกถวายการรักษาสักครั้ง จึงทรงรับสั่งให้หมอชีวกเข้าเฝ้าตรวจพระอาการ

หมอหนุ่มวินิจฉัยโรคอย่างถี่ถ้วนแล้ว ประกอบพระโอรถถวายให้เสวยเพียงสองสามครั้ง อาการประชวรก็หายขาดเป็นปลิดทิ้ง จึงทรงโปรดปรานหมอชีวกมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เขาดำรงตำแหน่งนายแพทย์ประจำพระราชสำนัก

รับพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นจำนวนมาก

ผ่าตัดใหญ่สองรายซ้อน
ในเมืองพาราณสี มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งป่วยเป็นโรคเนื้องอกในลำไส้ รับประทานอาหารลงไปมีอาการจุกเสียด ได้รับทุกขเวทนามาก ผอมแห้งแรงน้อยลงทุกวัน

เศรษฐีได้ทราบข่าวว่า มีหมอผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร เมืองราชคฤห์ จึงไปกราบทูลขออนุญาตให้เขาไปรักษาบุตรชายของตน พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ตามประสงค์

หมอหนุ่มไปถึงบ้านเศรษฐีตรวจดูคนไข้ก็รู้ทันทีว่า ลำไส้เป็นเนื้องอก ต้องผ่าตัด แต่การที่จะลงมือผ่าตัดใดๆ ในสมัยที่ผู้คนยังไม่รู้จักศัลยกรรม และยังไม่ยอมรับกัน เป็นเรื่องยากลำบาก ดีไม่ดีเขาจะเข้าใจว่าฆ่าลูกเขาก็จะลำบาก

หมอชีวกจึงหันมาพูดกับพ่อของคนไข้ว่า
“ใต้เท้าอยากให้ลูกหายไหม”
“แล้วกัน ไม่อยากให้หายจะตามหมอมาทำไม ถามพิลึก” เศรษฐีเลิกคิ้วด้วยความสงสัย
“คือผมอยากจะขอคำมั่นสัญญาจากใต้เท้าก่อน โรคนี้ร้ายแรงมาก ถ้าใต้เท้าไม่ตกลงให้รักษาตามวิธีของผม ลูกชายใต้เท้าต้องตายแน่” หมอหนุ่มไซโค
“เอาเถอะ จะรักษาด้วยวิธีไหนยอมทั้งนั้น ขอชีวิตลูกฉันก็แล้วกัน” เศรษฐีให้คำมั่น
“เห็นจะต้องผ่าตัดเอาไส้ออก” หมอหนุ่มกล่าวเบาๆ
“หา หมอว่าอะไรนะ?” เศรษฐีตาค้าง
“อย่าลืมว่าใต้เท้าสัญญาไว้แล้ว ผมต้องผ่าตัดลูกชายใต้เท้า ไม่งั้นลูกชายใต้เท้าไม่รอดชีวิตแน่” หมอหนุ่มกล่าวเคร่งขรึม

พูดคำว่าตายบ่อยนัก เศรษฐีชักใจไม่ดี จึงหันหน้าไปมองเมีย แม่เด็กก็กลัวลูกชายตายไม่แพ้พ่อ จึงพยักหน้าอนุญาตให้หมอรักษาตามกรรมวิธีของหมอ เพราะไม่มีทางเลือกอย่างอื่น

หมอชีวกลงมือใช้วิชาผ่าตัดที่เรียนมาจากอาจารย์ วางยาสลบเสร็จ แล้วผ่าพุงคนไข้ล้วงลำไส้ออกมาชะล้างอย่างดี ตัดส่วนที่เสียออก เย็บลำไส้ เย็บพุงให้สนิท ทายาสมาน ชั่วเวลาไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ จากนั้นมาไม่กี่วันคนไข้ก็หาย ได้รับรางวัลจากพ่อแม่ของคนไข้มากมาย

จากนั้นมา เกียรติคุณของหมอหนุ่มก็แพร่สะพัดไปทั่วเมือง ต่างก็โจษจันกันว่า
“หมอหนุ่มจากเมืองราชคฤห์ ผ่าท้องคน เอาไส้ออกมา แล้วนำกลับเข้าไปใหม่ได้ คนที่ถูกผ่าท้องกลับหายป่วยได้ น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เขาเห็นจะเป็นหมอเทวดาเป็นแน่แท้”

เกียรติคุณเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะนำความภูมิใจมาให้แก่เขาเท่านั้น แม้เจ้าฟ้าอภัยและพระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้มีหมอวิเศษเช่นเขาประดับพระราชสำนัก

การผ่าตัดใหญ่รายที่สองกระทำที่เมืองราชคฤห์ อันเป็นเมืองมาตุภูมิของเขานั่นเอง คราวนี้เขาผ่าตัดสมองเศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์คนหนึ่ง เศรษฐีคนนี้เป็นโรคปวดศีรษะมานาน หมอไหนๆ มารักษาก็ไม่หาย จนใจที่สุด อาการทรุดหนักเหลือกำลังที่หมอจะรักษาได้ บางคนคาดว่าเขาจะต้องตายภายใน ๗ วัน บางคนก็ว่าเขาจะต้องตายภายใน ๕ วัน ครั้งสุดท้ายพวกญาติพี่น้องเศรษฐีได้มาตามหมอชีวกไปรักษา

หมอชีวกตรวจดูอาการของเศรษฐีอย่างละเอียดแล้วพูดขึ้นว่า
“โรคของใต้เท้าหนักนัก ถ้าอยากหายก็ต้องให้สัญญากันก่อนจะรักษา”
“เอาเถอะครับหมอ จะเรียกร้องเท่าไหร่ ผมยินดีจ่ายให้ทั้งนั้น ไม่ต้องเซ็นสัญญงสัญญาอะไรก็ได้ ผมไม่โกงหรอก” เศรษฐีกล่าวขึ้น

หมอหนุ่มโบกมือ ยิ้มละไม
“ใต้เท้าเข้าใจผิด ผมมิได้หมายถึงสัญญาอย่างนั้น”
“ถ้างั้นสัญญาอะไร”
“สัญญาว่า ใต้เท้าจะนอนตะแคงข้างขวา ๗ เดือน ข้างซ้าย ๗ เดือน นอนหงาย ๗ เดือน หลังจากผ่าตัด”
“ตกลง” เศรษฐียอมรับคำ เพราะอยากหาย

หมอชีวกสั่งให้จัดห้องพิเศษไว้ห้องหนึ่ง ห้ามใครเข้าไปนอกจากเมียเศรษฐีคนเดียว ผสมยาและเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการผ่าตัดเรียบร้อยดีแล้ว ให้เศรษฐีนอนบนเตียง วางยาสลบ ถลกหนังศีรษะออก ผ่ารอยประสานกะโหลกศีรษะออกพบพยาธิสองตัว เล็กตัวหนึ่ง ใหญ่ตัวหนึ่ง เอาคีมคีบออกมา แล้วปิดแนวประสานศีรษะ เย็บหนังศีรษะแล้วทายาสมานแผล

หลังจากผ่าตัด เขาได้นำพยาธิสองตัวมาแสดงให้บรรดาญาติพี่น้องเศรษฐีดู ที่เขาคาดว่าจะตายภายใน ๕ วันนั้น เพราะเขาตรวจพบพยาธิตัวใหญ่นี้ ส่วนอีกคนที่คาดว่าเศรษฐีจักตายภายใน ๗ วัน เพราะเขาตรวจพบพยาธิตัวเล็กนี้

เศรษฐีนอนตะแคงขวาบนเตียงไปได้ประมาณ ๗ วัน ก็รู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งตัว จึงกล่าวแก่หมอชีวกว่า จะขอเปลี่ยนท่านอนได้หรือยัง จึงอนุญาตให้เปลี่ยนมานอนตะแคงซ้าย เศรษฐีทนนอนไปได้ ๗ วัน ก็ขอเปลี่ยนอีก คราวนี้หมอให้เศรษฐีนอนหงายไปได้ ๗ วัน ก็ร้องว่า ทนต่อไปไม่ไหว

“ถ้าเช่นนั้น เชิญใต้เท้าลุกได้ ใต้เท้าหายแล้ว” หมอหนุ่มกล่าวยิ้มๆ เศรษฐีรีบผุดลุกขึ้นพลางเอามือลูบศีรษะตัวเองด้วยความเคยชิน ปรากฏว่าแผลหายสนิทและความเจ็บปวดปลาสนาการไปหมดสิ้น
“เป็นอันว่าหมอรักษาผมหายภายในสามสัปดาห์เท่านั้น แล้วทำไมหมอให้ผมสัญญาว่าจะต้องนอนถึง ๒๑ เดือน?” เศรษฐีถามขึ้น

“ถ้าผมไม่บอกจำนวนเกินไว้อย่างนี้ ใต้เท้าคงนอนได้ไม่ถึงข้างละสัปดาห์นะซีครับ” หมอหนุ่มอธิบาย

เศรษฐีรู้สึกดีใจเป็นล้นพ้นที่ตนได้พ้นจากโรคอันทรมานนี้ เขาจึงตกรางวัลแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์อย่างมหาศาล


ข้อมูล : บทความพิเศษ หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๒๗ ประจำวันที่ ๒๑-๒๗ ส.ค.๕๘
3442  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / ชื่อพิลึก "เห็ดหำพระ" ของดีในป่า มากสรรพคุณ เมื่อ: 24 กรกฎาคม 2558 15:27:56
.


เห็ดหำพระ บำรุงสุขภาพสตรี

เห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ แม้เป็นเพียงพืชชั้นต่ำจำพวกรา (fungi) ที่ไม่สามารถสร้างอาหารโดยการสังเคราะห์แสงเหมือนพืชชั้นสูงสีเขียวอื่นๆ ที่มีคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) ก็ตาม   แต่เห็ดก็ไม่เบียดเบียนอาศัยเกาะกินร่างคนเหมือนโรคเชื้อราร้ายอื่นๆ ตรงกันข้าม มันดำรงชีวิตอยู่ด้วยการดูดซึมสารอาหารจากซากอินทรียวัตถุและแร่ธาตุต่างๆ ในดิน แล้วก่อรูปเป็นเห็ดชนิดต่างๆ ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ

เห็ดประเภทหลังนี้เองที่กลายมาเป็นเมนูอาหารเก่าแก่ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักกินข้าวเสียอีก เพราะมนุษย์ยุคโบราณที่หาอยู่หากินตามป่าดง ย่อมรู้จักเก็บเห็ดกินก่อนที่จะรู้จักเพาะปลูกข้าวหลายพันปี โดยมีหลักฐานที่พบในโบราณสถานของชนเผ่าอินคาในชิลีว่า มนุษย์รู้จักการใช้ประโยชน์จากเห็ดมาไม่น้อยกว่า 13,000 ปี

ต่อมาเห็ดจึงพัฒนากลายมาเป็นยารักษาโรค และเมนูอาหารชั้นสูงขนาดขึ้นโต๊ะเสวยของจักรพรรดิโรมันและฮ่องเต้เมื่อราวหลายร้อยปีก่อนพุทธกาล

ในประเทศไทยเราเองก็เป็นแดนอุดมด้วยเห็ดนับพันชนิดให้เก็บกินเก็บขายได้ไม่มีวันหมด เฉพาะอีสานบ้านเฮาเองก็มีเห็ดป่าตามธรรมชาติที่ชาวบ้านสามารถเก็บมาบริโภคได้ถึงกว่า 600 ชนิด  ที่สำคัญคือมีเห็ดป่าที่สามารถนำมาใช้เป็นทั้งอาหารและยาตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านถึง 38 ชนิด  

ในที่นี้ขอแนะนำเห็ดป่าตัวหนึ่งที่นิยมใช้กินเป็นยาและอาหารรสเด็ด คือ เห็ดหำพระ

ฟังชื่อเห็ดชนิดนี้แล้ว ทั้งประสกและสีกาสมัยใหม่ก็คงสะดุ้งไปตามๆ กัน ว่าเห็ดอีสานชื่อพิลึกแบบนี้มีด้วยหรือ?

คนกรุงอาจจะฟังแปลกๆ แต่สำหรับชาวบ้านนั้น เขาเห็นเป็นเรื่องปกติเพราะชาวบ้านกับวัดเขาใกล้ชิดกัน การที่คนอีสานตั้งชื่อเห็ดชนิดนี้ว่า เห็ดหำพระ เขามิได้คิดลบหลู่พระสงฆ์องค์เจ้าแต่ประการใด เพียงแต่ต้องการบ่งบอกรูปลักษณ์ของเห็ดชนิดนี้อย่างตรงไปตรงมา ให้ง่ายต่อการแยกแยะไม่ผิดตัว

เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ มีรูปกลมๆ หรือค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางราว 2-3 ซม. ไม่มีครีบ ไม่มีโคนขาเหมือนฟองไข่ จึงเป็นที่มาของชื่อ “หำ” ในภาษาอีสาน

และเอกลักษณ์ที่โดนตาที่สุดคือ สีเหลืองอ๋อยเหมือนสีจีวรพระของเจ้าเห็ดชนิดนี้นี่เอง ทำให้มีการนำพระ-เณรเข้าไปเกี่ยวข้อง  

- ถ้าเห็ดดอกใหญ่ก็เอิ้นว่า เห็ดหำพระ
- ถ้าดอกเล็กก็เอิ้นว่า เห็ดหำเณร

เห็ดชนิดนี้พบเป็นดอกเดี่ยวกระจัดกระจายหรือเกาะเป็นกลุ่ม 3-4 ลูกบนพื้นดินที่มีใบไม้ผุพังทับถมอยู่ตามป่าโคก ป่าเบญจพรรณ ป่าแดงและป่าเต็งรัง ทั้งทางภาคอีสานและเหนือ

เนื่องจากเห็ดเป็นลูกสีเหลืองสังเกตเห็นได้ง่ายเรี่ยรายอยู่กลางดินสวยงาม จึงมีคนโรแมนติกตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ลูกทองคำแห่งแผ่นดินอีสาน”

ช่วงหาเห็ดชนิดนี้คือช่วงหน้าฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน

ในด้านคุณค่าอาหารก็เป็นที่รู้กันว่า เห็ดทุกชนิดเป็นแหล่งโปรตีน เกลือแร่ วิตามิน และใยอาหารที่มีปริมาณสูงกว่าที่พบในผักชนิดอื่นๆ  ส่วนสรรพคุณทางยาถ้ากล่าวเฉพาะเห็ดหำพระเอง หมอพื้นบ้านใช้เห็ดหำพระในการบำรุงรักษาสุขภาพ สตรีที่มีปัญหามดลูกหย่อนคล้อยและเต้านมหย่อนยาน ให้กลับมาฟิตและเฟิร์ม ช่วยขับประจำเดือนให้เป็นปกติ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าเห็ดชนิดนี้ช่วยทำให้ก้อนเนื้อมะเร็งยุบลงได้ด้วย

การปรุงเห็ดหำพระเป็นยาก็ง่ายมาก คือเพียงนำเห็ดสด (ไม่ต้องขัดเอาสีเหลืองออก) หนัก 100 กรัม ต้มกับน้ำประมาณ 1 ลิตร จนเห็ดสุก เอาแต่น้ำดื่มเป็นยา ครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 เวลา ก่อนอาหารเช้า-เย็น

เห็ดหำพระไม่มีพิษข้างเคียงใดๆ สามารถนำมาต้มน้ำดื่มบำรุงสุขภาพได้ทุกวัน ส่วนเนื้อเห็ดก็นำไปปรุงอาหารได้

เห็ดหำพระเป็นเห็ดที่สามารถนำมากินสดได้ไม่มีโทษ แต่ต้องขัดเอาผิวสีเหลืองออกเสียก่อน มิฉะนั้นจะมีรสขม

ชาวบ้านมีวิธีง่ายๆ ในการกินเห็ดหำพระ โดยนำมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วเสียบไม้ย่างไฟอ่อนๆ เหมือนลูกชิ้นปิ้งจนสุกได้ที่แล้วจึงลูบเอาเปลือกสีเหลืองออก ชุบน้ำเกลือแล้วนำไปย่างไฟต่อพอแห้ง จะได้เห็ดตำรับบาร์บิคิวที่หอมกรุ่น เนื้อนุ่ม เคี้ยวหนึบอร่อย

คนอีสานเขาเรียกสูตรตำรับนี้ว่า “จ่ามเห็ดหำพระ” หรือบาร์บิคิวอีสานนั่นเอง





ถ้าอยากจะกินแซบขึ้นอีกขอแนะนำสูตรเด็ด แกงเห็ดหำพระ ประสกกินได้ สีกากินดี ดังนี้

ส่วนผสม
1. เห็ดหำพระอ่อนๆ ย่างไฟขัดเอาสีเหลืองออกหมดแล้ว 1 ขีด
2. พริกแห้ง 5 เม็ด
3. กระเทียมเผา 2 หัว
4. ข่าหั่น 1 หัว
5. ตะไคร้ซอย 2 ต้น
6. หอมเผา 4 หัว
7. ขิงเผา 1 หัว
8. เกลือ 1 หยิบมือ
9. เนื้อปลาที่หาได้ในท้องถิ่น 1 ถ้วย
10. ข้าวคั่ว 2-4 ช้อนโต๊ะ
11. ใบโหระพา 10-20 ใบ

วิธีปรุง
นำวัตถุดิบเครื่องแกงตั้งแต่รายการที่ 2-8 มาโขลกในครกให้แหลกเป็นเนื้อแกงเดียวกัน จากนั้นนำเห็ดหำพระย่างที่หั่นแล้วใส่ลงในหม้อ เติมน้ำเล็กน้อยพอท่วมเห็ด ต้มพอสุก ใส่พริกแกงและเนื้อปลาลงไปคลุกเคล้าเยาะน้ำปลาเล็กน้อยให้ได้รสชาติตามต้องการ ใส่ข้าวคั่ว แล้วต้มอีกสักพักเพื่อให้รสเข้มข้นหอมมัน  จากนั้นโรยใบโหระพาลงไปปิดฝาหม้อ ยกลงพร้อมเสิร์ฟได้เลย

เห็ดเป็นอาหารสุขภาพชั้นดีกินเท่าไรก็ไม่อ้วน มีสารอาหารโปรตีน วิตามินเกลือแร่พอสมควร  แต่ถ้าจะให้ได้สารอาหารครบถ้วน ควรได้แหล่งโปรตีนจากธัญพืชจำพวกถั่วด้วยสำหรับนักมังสวิรัติ

แต่สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการลดน้ำหนักควรได้โปรตีนจากปลาเสริม เพราะเห็ดส่วนใหญ่มีโปรตีนเพียง 2-10% โดยน้ำหนัก ยกเว้นเห็ดหอมที่มีโปรตีนถึง 20%   วสันต์ฤดูนี้ ถ้ายังมีฝนตกหยิมๆ ให้เก็บเห็ดได้มากมาย เราก็คงจะได้เพลิดเพลินเจริญอาหารกับเมนูเห็ดป่าเลิศรสหลากหลายชนิดที่เป็นทั้งยาและอาหารสุขภาพชั้นดี โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยาที่เป็นเคมีเภสัชเลยด้วยซ้ำไป


ที่มา : คอลัมน์ สมุนไพรเพื่อสุภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทยเห็ดหำพระ บำรุงสุขภาพสตรี” หน้า 102 หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1823 ประจำวันที่ 24-30 กรกฎาคม 2558
3443  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / Re: พระประวัติ-บันทึกข้อคิด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2558 16:22:42
.

ม่านบังความสุข

เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๔ ได้เดินทางกลับจากช่วยทอดกฐินที่วัดโพธิ์ทอง บ่อโพง อยุธยา โดยสารรถไฟขบวนนครราชสีมา – กรุงเทพฯ ประมาณเวลา ๑๖ น.เศษ ภายในรถโดยสารชั้นหนึ่ง เห็นมีคน ๓-๔ คน แต่งเครื่องแบบทหารเรือก็มี ทหารบกก็มี พลเรือนก็มี ร่วมโต๊ะดื่มสุรากันสนุกสนาน เมื่อมีพระเข้าไปนั่งมองดูอากัปกิริยาของเขาอยู่ใกล้ๆ ทำให้เขาเหล่านั้น ลดความสนุกลงไปบ้าง แต่เห็นว่าชั้นอื่นจะไม่มีที่นั่ง จึงต้องจำใจนั่งตามสิทธิของตน ผ่านการตรวจตั๋วและขออนุญาตให้พระผู้ติดตามได้นั่งชั้นหนึ่งด้วย เพราะที่ยังว่างอีกหลายที่นั่งแล้ว คงสงบนั่งชมภูมิประเทศอันเป็นทุ่งนาตลอดมา

พอรถออกจากสถานีอยุธยาสักครู่ มีพนักงาน ร.ส.พ. ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มนั้น เข้ามานั่งตรงกันข้าม แนะนำตนเองว่าเคยเห็น เพราะเคยผ่านมาในวัด คุ้นเคยกับพระรูปหนึ่ง ได้สนทนากันในเรื่องพระเครื่องรางของขลังบ้าง การปฏิบัติตัวตามพระศาสนาบ้าง การโต้ตอบได้เป็นไปอย่างสบอารมณ์ สักครู่ใหญ่ ผู้แต่งพลเรือนในกลุ่มนั้น ก็พลอยมานั่งร่วมสนทนาด้วย จากการแนะนำตัวเองของเขา จึงทราบว่าเขาเป็น พ.ร.ร.ประจำขบวน วันนี้เป็นวันพักผ่อนแล้วเลยออกตัวในการที่ต้องดื่มสุราบ้าง ก็เพื่อระงับความกลุ้มใจเสียดายเงิน ๖๐๐ บาทที่สูญหายไปเพราะความเผอเรอของตนเอง แต่การดื่มสุราของเขาเพียงระงับความกลุ้มอกกลุ้มใจเท่านั้น ไม่ดุร้ายรุนแรงเหมือนเมื่อก่อนๆ ได้สนทนาตอบเขาในขณะนั้นว่า ยังแก้ปมกลุ้มใจไม่ถูก กลุ้มอยู่ที่อารมณ์ กลับนำสุรามาย้อมใจ ทำอารมณ์ให้หลงเลือนไปชั่วคราว หายเมาแล้ว ความกลุ้มก็ยังอยู่ ควรแก้ที่อารมณ์ดีกว่า เพราะล่วงเลยมาแล้ว กลับคืนไม่ได้ เป็นเหตุให้ พ.ร.ร.นั้นสนใจขึ้นบ้าง ที่สุดเขายกย่องสุราว่ามีคุณดีมาก ยามจะไปหาผู้หญิงหรือเที่ยวเตร่ ถ้าได้ดื่มเสียบ้างแล้ว ทำให้สุขเกษมเปรมปรีด์กับผู้หญิงเป็นอย่างมากที่สุด

เนื่องจากรู้สึกตัวว่า คุยกับคนเมา เขาพูดถลากไถลตรงไปตรงมา ขาดความยับยั้งบ้าง เป็นเหตุให้ตอบอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน เมื่อได้ฟังเขาเอ่ยคุณของสุราเช่นนั้น จึงชวนให้พูดตอบกับเขาว่า “คุณว่าดื่มสุราเสียบ้างแล้ว คุยกับหญิงสนุกสนานดีนักนั้น ก็จริงของคุณ แต่อยากขอแนะนำว่า ถ้าคุณต้องการสนุกสนานกับหญิงได้เต็มที่จริงแล้ว คุณไม่ควรดื่มสุราเลยเป็นดีที่สุด เพราะเมื่อคุณดื่มสุราแล้ว รสเมามึนของสุราย่อมย้อมดวงใจของคุณให้ผิดปกติไป คล้ายกับว่าฤทธิ์สุราเป็นม่านกั้นใจเสียชั้นหนึ่งแล้ว ความรู้สึกสนุกสนานเบิกบานใจในขณะนั้น เป็นความสุขอยู่นอกม่านไม่ถึงหัวใจจริง ถ้าไม่มีฤทธิ์สุราเป็นม่านกั้นหัวใจแล้ว ความสนุกสนานที่เกิดขึ้น ก็กระทบถึงหัวใจจริงทีเดียว ไม่มีฤทธิ์สุราเป็นม่านกั้นเสียชั้นหนึ่งก่อน จึงขอแนะนำว่า ถ้าคุณอยากสนุกสนานให้ถึงใจจริงแล้ว ไม่ควรดื่มสุราไปก่อนเลย”

เขายกมือไหว้รับว่าจริง แล้วสนทนาต่อเนื่องไปอีกเล็กน้อย เกี่ยวกับโทษของสุรา ซึ่งเขารับว่า เดี๋ยวนี้เขาลดการดื่มลงมากแล้ว จึงวกเข้าหาเรื่องเดิมอีกครั้งว่า “คุณเห็นโทษของสุราด้วยตัวเอง แล้วลดการที่ดื่มให้น้อยลงได้อย่างนี้ ถ้าฉันจะขอบิณฑบาตให้เลิกดื่มในส่วนที่เหลืออยู่น้อยนั้นเสีย จะได้ไหม” เขายิ้มอยู่สักครู่แล้วยกมือไหว้อีกครั้งตอบว่า “ยังถวายไม่ได้ครับ” แล้วทุกคนก็หัวเราะ เริ่มสนทนาเรื่องอื่นแก้เหงากันต่อไป.  

บันทึก ๑๕ พ.ย. ๙๔



คนดี

ขณะนั่งฉันเพลตามปกติ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ อารมณ์ก็น้อมไปถึงสามเณรบ้าง ศิษย์บ้าง ที่ต่างมักแก่งแย่งคอยแต่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติบำรุงตน ส่วนตนไม่ปฏิบัติบำรุงตอบ จึงเป็นเหตุให้ทะเลาะโต้เถียงเกี่ยงงอนกัน เพราะต่างก็สมัครจะเป็นอย่างเทวดาชั้นปรนิมิต ต้องการอะไรคนอื่นจัดแจงให้เสร็จ ไม่สมัครเป็นเทวดาชั้นนิมมานรดี จัดแจงหาด้วยลำพังตนเอง, ทำให้เกิดคติในใจว่า “คนเราทุกคน เมื่อถือตนตามอัธยาศัยของตัวแล้ว เป็นไม่มีคนผิด คนพาล คนบ้า คนเลว เพราะต่างก็ถือตนเป็นคนถูก คนฉลาด คนดี ทั้งนั้น  ถามใครก็ไม่มีใครรับว่าตนเป็นคนผิด คนโง่ ที่สุดคนบ้าในสถานพยาบาล เมื่อใครไปถามเขาจะตอบว่า เขาไม่บ้า กลับไปชี้ที่คนอื่นแล้วบอกว่า คนนั้นแน่บ้า ครั้นไปถามคนนั้นอีก เขาก็จะรับว่าเขาไม่บ้า แต่กลับชี้คนบ้าอื่นต่อไป, หรือในส่วนคนที่ทะเลาะโต้เถียงกัน ต่างก็ว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิด ฝ่ายตนเป็นฝ่ายถูก แทบทุกราย, แม้นักโทษในเรือนจำก็ยังอดที่จะตอบว่าถูกเขาหา ถูกเขาใส่ความ ตนเองไม่ได้ทำผิดเลย, นี่เพราะอัธยาศัยของแต่ละคนชอบเป็นฝ่ายถูก ฝ่ายดี แต่คิดว่าถูกว่าดีเอาตามอัธยาศัยของตน ซึ่งถ้าย้อนตรวจอัธยาศัยตามแนวธรรมแล้วจะเห็นยังเต็มด้วยอคติ เต็มด้วยอกุศลกรรมบถ จึงหาคนดี คนถูก ตามแนวธรรมได้ยาก มีแต่คนดี คนถูก ตามอัธยาศัยของแต่ละคนมากกว่ามาก เรานับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ จะไม่สมควรหรือที่จะถือพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นหลักตัดสินความเป็นคนถูก ความเป็นคนดี กันเสียบ้าง ขืนหลงถือตามอัธยาศัยตัวดิ่งอยู่เสมอเช่นนี้ จะมิต้องทะเลาะโต้เถียงวิวาทกัน จะมิพลาดจากผลที่นับถือพระองค์เป็นสรณะ ตลอดชีวิตหรือ มิหนำซ้ำยังจะย้อนมาลำเลิกถึงว่า ทำบุญให้ทานมามากแล้ว ไม่เห็นบุญทานช่วยให้ร่ำรวยเจริญสุขอีกเล่า อย่างนี้จะสมควรหรือไม่ถ้าจะเรียกผู้เช่นนี้ว่า นับถือศาสนาไม่ถูก, แต่ตัวเองก็ยังไม่รู้จักตัวของตัว จะได้ผลจากพระศาสนาอย่างไร
บันทึก ๑๕ พ.ย.๙๔



ไม่รู้จัก+ไม่รู้จัก=อะไร

วันธรรมสวนะที่ ๓๑ ตุลาคม เมื่อสดับเทศน์กัณฑ์เช้าจบแล้ว มีการสนทนาปราศรัย กับอุบาสกอุบาสิกาตามเคย สักครู่คนงานของวัดก็นำจดหมายว่ารับจากศิษย์วัดมามอบให้หัวหน้าอุบาสกเพื่อช่วยส่งให้อุบาสิกาผู้หนึ่งและให้นำส่งผู้มีชื่อในหลังซองนั้นด้วย หัวหน้าอุบาสกไม่รู้จักอุบาสิกาผู้จะรับฝาก ต้องไต่ถามหา จึงได้ความว่ากลับไปเสียแล้ว จดหมายนั้นเป็นอันไม่ได้ผลอะไร

เมื่อลองสอบถามถึงจดหมายนั้นว่ามาอย่างไรกัน ก็ได้ความ ญาติของพระภิกษุในวัดรูปหนึ่ง วานพระภิกษุให้ช่วยส่งจดหมายติดต่อไปถึงญาติอีกคนหนึ่ง โดยให้ญาติผู้เป็นอุบาสิกาช่วยรับไปอีกต่อหนึ่ง พระภิกษุรูปนั้นจึงให้ศิษย์นำไปที่พระอุโบสถ ศิษย์ไม่รู้จักผู้รับฝากจึงวานคนงานของวัดซึ่งเป็นเชื้อจีนให้นำไปส่งอีกต่อหนึ่ง คนงานไม่ทราบเรื่องถนัดทั้งไม่รู้จักผู้รับด้วย จึงนำมามอบแก่หัวหน้าอุบาสก หัวหน้าอุบาสกก็ไม่รู้จักต้นสายปลายเหตุ ทั้งไม่รู้จักผู้รับเช่นเดียวกัน จึงไต่ถามกันวุ่น จนได้ความว่า อุบาสิกาผู้จะรับช่วยถือไปถึงผู้รับต้นเรื่องนั้นกลับไปเสียแล้ว เลยถือเป็นคติธรรมพูดให้อุบาสกอุบาสิกาฟังว่า “นี่ผลของของความไม่รู้ แม้จะรับช่วงกันมาเป็นทอดๆ ตั้ง ๓-๔ ทอดก็ตาม ผลที่มุ่งหมายในจดหมายก็ไม่สำเร็จอะไรเลย ควรหวนคิดถึงอย่างผู้เทศนากับผู้ฟังว่า ถ้าผู้แสดงก็แสดงไปตามปริยัติ ผู้ฟังก็ฟังอย่างปริยัติ ประดับความรู้เท่านั้น ต่างคนต่างไม่รู้จักธรรมด้วยกัน แล้วผลที่สุดจะเป็นอย่างไร ก็คงไม่ได้ผลอะไร อย่างรับช่วงติดต่อส่งจดหมายกันนั่นเอง คนที่รับช่วงส่งจดหมายคนที่ ๒ คือเด็ก จนถึงคนที่ ๔ หัวหน้าอุบาสก ต่างก็ไม่รู้จักผู้รับฝาก แม้ผู้รับฝากจะยังไม่กลับเสียก่อน ก็คงต้องไต่ถามกันวุ่นวาย ควรถือเป็นตัวอย่างได้ว่า เมื่อผู้แสดงธรรมก็ไม่รู้จักธรรม ผู้ฟังก็ไม่รู้จักธรรม ต่างก็ทำหน้าที่ไปตามพิธีการ ผลบวกก็เท่ากับไม่รู้ ไม่ได้รับผลของธรรมอยู่ตามเดิมนั่นเอง เสียเวลาไปเปล่าๆ

จึงควรฝึกฝนอบรมให้รู้จักธรรมจงได้ รู้จักแล้วจงบำเพ็ญให้เกิดมีอัธยาศัยสันดานเถิด ธรรมจึงจะรักษาผู้ประพฤติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ตลอดกาลเป็นนิตย์.

๒๐ พ.ย.๙๔



อุปาทาน

เที่ยงเศษของวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๙๕ ขุนพยาพัฏสรรพกิจ (ประเสริฐ อังสโวทัย) ไวยาวัจกรของวัดนำบัญชีเบิกนิตยภัตมาให้ลงชื่อรับรอง ได้พบกับหลวงเทพดรุณานุศิษฏ์ (ทวี ธรมธัช ป.๙) ซึ่งเคยอุปสมบทร่วมสำนักเดียวกันมา ปรารภถึงการที่ท่านขุนมาช่วยเหลือกิจการของวัดเป็นการดีแล้ว ท่านขุนก็แสดงความปรารถนาของตนว่า ได้เคยตั้งใจไว้แต่สมัยรับราชการ รู้สึกวุ่นวายรำคาญใจมากว่า ถ้าออกรับบำนาญเป็นต้องเข้าวัดแน่ๆ.

เราผู้ฟังก็รับเอามานึกคิดชวนให้เห็นว่า เมื่อทำงานติดต่อในหน้าที่ราชการ ก็จำต้องวุ่นวายมาก เพราะต้องติดต่อกับคนมาก นับประสาอะไร เพียงแต่ในตัวของตัวเอง ยังต้องวิ่งเต้นแสวงหาเครื่องดำรงชีวิต วุ่นวายอยู่ทุกเวลานาที จะหาใครบอกว่าสบายสักคนได้ยาก ทั้งนี้ ก็แสดงว่า ถ้าติดต่อกับคนหมู่มาก หรือกิจการมาก อารมณ์ก็มากตามไปด้วย ถ้าติดต่อกับคนหมู่น้อย หรือกิจการน้อย อารมณ์ก็อาจน้อยไปตามกัน นี่หมายเอากิจการงานเป็นเกณฑ์

อีกนัยหนึ่ง ท่านขุนบ่นว่าเมื่อรับราชการ ลำบากใจมาก คงเป็นเพราะต้องเอาใจผู้บังคับบัญชาตามระเบียบหน้าที่เป็นสำคัญ ครั้นมาทำหน้าที่ไวยาวัจกรประจำวัดเป็นหน้าที่ตามสบายตัวเองเป็นส่วนมากเช่นนี้ ภาระรับผิดชอบที่จะต้องหนักใจก็มีน้อย แต่ตามหลักธรรมความยึดถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ธุรกิจมากหรือน้อยไม่สำคัญ ความยึดถืออย่างมั่นคงหลงใหลนั่นเอง เป็นภาระที่หนักแก่ผู้ยึดถือด้วยขาดความรู้เช่นเห็นชนิดยิ่งนัก และยิ่งต้องปฏิบัติตามอารมณ์ของผู้ขาดหลักธรรม ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่ก่อกวนความวุ่นวายมิรู้จบ เพราะอารมณ์ของผู้เช่นนี้ ก็คือบทพากย์ของกิเลสนั่นเอง มิหนำซ้ำ ผู้รับปฏิบัติยิ่งนำกิเลสของตัวออกปฏิบัติอีกด้วย ก็เท่ากับกิเลส x กิเลส = ?.

๑๙ ม.ค.๙๕



ทำบุญ ทำบาป

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔ เดินทางด้วยรถยนต์จากการอนุเคราะห์ของนายสวัสดิ์ สุกุมลจันทร์ พร้อมกับพระ ๑  สามเณร ๑  ศิษย์ ๑  รวมเป็น ๕ ทั้งผู้ขับ ออกจากวัดเวลา ๐๗.๓๐ น. เพื่อไปในการฌาปนกิจศพโยมหญิงของพระครูสมุห์วิชัย ฐานานุกรม ที่วัดสระกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม  ถึงวัดสระกะเทียมเวลา ๐๙.๓๐ น. บ่ายพระปฐมนคราจารย์ วัดเสน่หา เทศนา แล้วเริ่มการฌาปนกิจ พอสมควรก็ลากลับ ออกเดินทางเวลา ๑๖.๒๐ น.  พระครูสังวรวินัย วัดท่าตำหนัก กับศิษย์๑ ร่วมโดยสารมาลงที่หน้าวัดด้วย

เมื่อรถผ่านถึงหลักกิโลที่ ๒๒ ถนนลาดยางเรียบร้อย รถวิ่งสะดวก จึงพิงเบาะพนักหลับตาสบาย ความคิดก็แล่นไปถึงงานฌาปนกิจนั้น มีหมู่ญาติมาประชุมฟังเทศน์และร่วมงานประมาณสัก ๒๐๐ คนเศษ ต่างสงบเสงี่ยมประนมมือฟังเทศน์และพระมาติกา ด้วยถือว่าเป็นบุญกุศลแก่ตน ในงานมีพิณพาทย์แตรวงมาบรรเลงอยู่ด้วย เลยน้อมความคิดไปถึงบุคคลบางคนชอบใช้มือเท้าทุบตีเตะต่อยผู้อื่น ใช้ลมปากพูด ดุด่า ว่าร้ายผู้อื่น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความชั่ว เป็นการผูกเวรกับผู้อื่น ก่อกรรมชั่วให้แก่ตัวเองสืบไป ทำไมไม่ดูตัวอย่างคนที่เขาใช้มือตีวัตถุบางอย่างให้เป็นเงินทองบ้าง ใช้ลมปากให้เป็นที่ชอบใจของคนฟัง ได้เงินทองมาเลี้ยงชีพบ้าง ดังคนตีพิณพาทย์ ใช้มือจับไม้เคาะลงบนไม้บ้าง โลหะบ้าง หนังบ้าง ให้เป็นเสียงสูงต่ำเกิดเป็นพลังฟังไพเราะ เร้าใจให้ตื่นเต้นก็มี เยือกเย็นเศร้าสลดก็มี อย่างนี้เพราะการฝึกหัดอบรม ใช้มือให้เป็นคุณ หาเงินทองเลี้ยงชีพ สะดวกกว่าใช้มือในทางประทุษร้ายผู้อื่น, คนเป่าปี่และพวกเป่าแตรเขาใช้ลมปากของเขา ประกอบกับใช้นิ้วแบ่งปิดเปิดลมให้เปล่งเสียงเป็นจังหวะฟังซาบซึ้งจับใจคน ก็เป็นการใช้ลมปากในทางเป็นคุณ ได้เงินทองเลี้ยงชีพ ทำให้อยู่ดีกินดี ส่วนคนที่ใช้ปากในทาง ดุ ด่า ว่าร้ายผู้อื่น มีแต่ก่อทุกข์เดือดร้อนให้ตนเองเสมอ ไม่เป็นทางแห่งความเจริญ เหล่านี้

ทำไมหนอ ชาวเราที่อยากได้บุญเป็นสุขกายสบายใจ ทำมาค้าขึ้น จึงไม่ใช้มือเท้าและลมปากของตนให้เป็นคุณแก่ตน อย่างพวกพิณพาทย์พวกแตรบ้าง มัวแต่หลงใช้มือเท้าและปาก ก่อกรรมทำเข็ญแก่ตนเองและผู้อื่นอยู่ตลอดมา จะได้สุขกายสบายใจมาแต่ไหน และญาติมิตรที่มาประชุมประนมมือให้เสียงพระผ่านหูไป รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ก็ถือว่าได้บุญ ครั้นเลิกพิธี ความสงบอย่างนั้นไม่มีอีก บุญก็คงอยู่ที่ศาลานั่นเอง ไม่ติดตามตัวไปถึงบ้านด้วยเลย เรื่องการบุญ ชาวเรามักรู้มาก ฉลาดหาบุญกันนัก แต่ก็สังเกตว่า มักไม่ได้ตัวบุญ จะได้ก็เพียงกิริยาบุญเป็นครั้งคราวเท่านั้น ส่วนการบาป รู้สึกว่า ชาวเราทำถูกตรงทุกครั้ง อย่างที่กำลังหลับตานึกคิดอยู่นี้

รถผ่านมาใกล้จะถึงสะพานข้ามคลองมอญ มีรถวิ่งนำหน้าห่างกันสัก ๑๐ เมตร คันหนึ่งประเดี๋ยวเห็นรถคันหน้าหลบเขาเลยไป จึงเห็นเด็กชายกลุ่มหนึ่ง ๖-๗ คน นั่งยืนอยู่ริมถนนด้านซ้าย แต่มีคนหนึ่งนั่งออกมากลางถนน เห็นรถวิ่งมาก็ไม่หลบ รถคันหน้าเห็นง่ายจึงหลบไปสะดวก ส่วนคันของเรา ตามมากระชั้น พอคันหน้าหลบ ก็มากระชั้นกับคนที่นั่งดูเฉยอยู่ ทำให้ต้องหักรถเลี้ยวขวากระชั้นชิด ห่างกันสัก ๓-๔ เมตรเท่านั้น พวกนั้นต่างก็หัวเราะต่อกระซิกกันเป็นที่สบายใจ อย่างนี้จะเรียกว่า เขาทำบุญคือคุณงามความดี หรือเขาทำบาปคือความชั่วเลวทราม ถึงกับเอาชีวิตร่างกายมาเสี่ยงกับอันตราย ส่วนตัวเจ้าเด็กหนุ่มคะนองนั้นเขาต้องภูมิใจว่าฉันเก่ง ทำให้รถต้องหลีกได้ หากจะนึกว่า ถ้าหลีกหลบไม่ทัน อย่างน้อยก็คงถลอกปอกเปิกเจ็บปวดไปเท่านั้น เพราะตัวทำผิดเองไม่ใช่ความผิดของคนขับรถ ด้วยมานั่งขวางอยู่กลางถนน ซึ่งเป็นทางจราจรของรถ แม้พวกเขาจะได้รับความสนุกสนาน แต่ในพวกเรา ก็นึกหยามในความเกเรของเขามาเกือบตลอดทาง ถึงวัดเวลา ๑๘.๐๐ น.

บันทึก ๒๕ ก.พ.๙๕



แก้ทีละอย่าง

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๕ เวลา ๑๓.๐๐ น.เศษ ได้ไปหาทันตแพทย์ (ประพันธ์ พืชผล) เพื่อแก้ฟันเทียมที่ไปติดต่อมาหลายครั้งแล้ว เมื่อแพทย์ได้ตรวจดูความเหมาะสมและเริ่มแก้ จึงได้ชี้แจงเพื่อให้แพทย์แก้ ว่าซี่ฟันยังสูง ขบลงไม่เรียบ, ยังกดเจ็บด้านในเกือบตลอดแนว, นายแพทย์จึงตอบว่า ต้องแก้ทีละอย่าง

เมื่อได้ฟังตอบเช่นนั้น รู้สึกสะดุดความคิดเกิดความสนใจในคำว่าแก้ทีละอย่าง และเห็นจริงด้วยว่า ถ้าจะแก้พร้อมกันไปทั้ง ๒ อย่าง ย่อมตรวจความขัดข้องไม่ถนัด ขืนแก้ อาจไม่ได้ผลสะดวกพอเหมาะเจาะ เลยชวนให้นำประโยค “แก้ทีละอย่าง” มาเทียบกับเหตุการณ์ที่ต้องจัดต้องทำ หรือที่เกิดกับอารมณ์ว่า ถ้าจะแก้อุปสรรคหรือความผิดพลาดทั้งหลาย ควรพิจารณาแก้ให้ถูกปมของอุปสรรคทีละอย่างไปตามลำดับ ที่ควรแก้ก่อนแก้หลังอย่างไร เพราะความปรารถนาดีแก่ตนเองหรือแก่ผู้อื่น ถ้าตั้งความปรารถนาไม่ถูกเหมาะ เช่นไม่เหมาะแก่ถิ่นฐาน กาลสมัย และบุคคล ความปรารถนาดีนั้น ย่อมไม่ให้ผลสมปรารถนาก็ได้ ซ้ำร้ายอาจกลายเป็นโทษก็จะพึงมี โดยเฉพาะตนเอง จงอบรมแก้อัธยาศัยที่ไม่ดีไม่งามทีละอย่าง จากง่ายไปหายาก จากหยาบไปหาละเอียด จากพบเห็นบ่อยไปหาพบเห็นยาก จากส่วนที่มักลืมผ่านกันบ่อยๆ ไปหาส่วนที่ลืมผ่านนานๆ ครั้ง หรือจากส่วนกายวาจาไปหาส่วนใจ ก็คงไม่เสียผลเป็นแท้ เว้นแต่บางประการที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ต้องแก้พร้อมกันก็มี ถึงกระนั้น โดยความละเอียด ก็คงต้องแก้ทีละอย่างอยู่นั่นเอง ไม่มีใครแก้พร้อมกันในคราวเดียวหลายอย่างได้.

บันทึก ๑๕ ก.ค.๙๕



บุญช่วยคนทำบุญ

จันทร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ได้เห็นพระสมจิตร์ วัดมัชฌันติการาม บางเขน ผู้เป็นสัทธิวิหาริก ในอุปการะของคุณนายเนื่อง อิ่มสมบัติ เจ้าของร้านเนืองสิน ถนนเฟื่องนคร พระนคร ในการอุปสมบท ถือตะลุ่มดอกไม้ธูปเทียนเข้ามาหา คาดถูกทีเดียวว่า กิริยาอาการทำนองนี้ ไม่มีอย่างอื่นนอกจากมาแจ้งการลาสิกขา เมื่อรับสักการะเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าอย่างไร บอกแต่เพียงว่า เมื่อบวชอยู่ไม่ได้จะลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสควรประพฤติตัวให้ดี ให้สมกับได้รับการศึกษาในทางดีมาแล้ว

พระสมจิตร์ อุปสมบทมาได้ ๕ พรรษาแล้ว ชาติภูมิอยู่ร้อยเอ็ด มาศึกษาได้นักธรรมชั้นโท เริ่มศึกษาบาลีพอมีความรู้ จึงถามต่ออีกว่า ลาสิกขาแล้วจะทำอะไร กลับขึ้นไปบ้านหรือจะอยู่ในกรุงเทพฯ เธอตอบว่า จะลองหางานดูก่อน ถ้าไม่ได้ก็กลับบ้าน ได้เตือนใจเธอว่า –

เราได้เคยศึกษาธรรมวินัย ดำรงตัวอยู่ให้ชาวบ้านเคารพบูชามาแล้ว เมื่อลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส ก็ควรนำคุณงามความดีที่เคยประพฤติแล้วนั้นๆ มาใช้ในเพศฆราวาสด้วย ไม่เป็นการเสียหายอย่างไร เพราะคนประพฤติคุณงามความดี ย่อมเป็นที่ประสงค์ทุกหมู่คณะ ทั้งบรรพชิตและฆราวาส อย่าหลงทิ้งคุณงามความดีเสีย ไปประพฤติในทางเลว อย่างอบายมุข เพราะในพวกฆราวาสเอง เขาก็รังเกียจกันมากอยู่แล้ว เราทำบุญคือคุณงามความดี บุญย่อมช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้มีความสุขเจริญ ทำบาปคือความชั่วเสียหายต่างๆ บาปก็ย่อมเบียดเบียนให้ถึงทุกข์ยากเดือดร้อน จะทำบุญเพื่อแก้บาปไม่ได้ บุญช่วยได้แต่คนทำบุญ บาปก็ล้างผลาญได้แต่คนทำบาป เหมือนพระพุทธภาษิตว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม อธรรมย่อมนำไปถึงนรก ธรรมนำไปถึงสุคติ ฉะนั้นจึงควรทำบุญที่เคยทำมาแล้ว ไปทำต่อในเพศฆราวาสอีก บุญที่ควรทำในที่นี้ ขอยกขึ้นอ้างเพียง ๓ ประการ คือ กตัญญูกตเวที ๑ ขยันหมั่นเพียร ๑ ซื่อสัตย์สุจริต ๑ เมื่อมั่นคงอยู่ในบุญทั้ง ๓ นี้ตลอดไปแล้ว ความสมบูรณ์พูนสุขในชีวิตย่อมเกิดมี จะเป็นมงคลคุ้มตัวในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ

อนึ่ง เมื่อคืนวันที่ ๑๕ กุมภ์นี้ นายแพทย์กอบชัย พรหมินทะโรจน์ จักษุแพทย์ ผู้อุปสมบทในการพระราชทานเพลิงศพหลวงจำรัสฤทธิแพทย์ ผู้บิดา มีกำหนด ๑๕ วัน มาถวายดอกไม้ธูปเทียนเพื่อลาสิกขา ได้เตือนว่า เพราะมีเวลาศึกษาน้อย จึงขอให้ตั้งมั่นในกตัญญูกตเวที ๑ สติสัมปชัญญะใคร่ครวญรอบคอบก่อนจึงดำเนินกิจการทุกอย่าง ๑ ทำได้เท่านี้ ก็พอเป็นหลักยึดตามแนวของพระศาสนาได้.

๑๗ ก.พ.๙๖
3444  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / Re: งานฝีมือ - แพทเทิร์น โครเชต์ เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2558 14:37:02
.


 เสื้อกั๊ก ถักต่อดอก
วัสดุ
1. ด้ายถัก ขนาดบรรจุ 100 กรัม 3 กลุ่ม
2. เข็มโครเชต์ No.6

ขนาดดอก A  เส้นผ่าศูนย์กลาง 5.5 เซนติเมตร

ขนาดสำเร็จ
รอบอก 112 เซนติเมตร
เสื้อยาว 68 เซนติเมตร
รอบวงแขน 58 เซนติเมตร

ดอก A
ดอกแรก
ขึ้นต้น คล้องด้ายเป็นวงกลม
แถวที่ 1 ซ3 เป็นหลักแรก พ1ค 17 ครั้ง ในวงกลม ลห กับหลักแรก
แถวที่ 2 ซ3 เป็นหลักแรก *ซ1 พ1ค บนหลักถัดไป* ถักซ้ำใน *.....* จนรอบ จบด้วย ซ1 ลห กับหลักแรก
แถวที่ 3-5 ถักตามผังลาย

ดอกต่อๆ ไป
ขึ้นต้น คล้องด้ายเป็นวงกลม
แถวที่ 1-4 ถักเหมือนดอกแรก
แถวที่ 5 (แถวสุดท้าย) ถักต่อกับดอกแรกตามผังลาย

ดอก B
ขึ้นต้น คล้องด้ายเป็นวงกลม
แถวที่ 1 ซ3 เป็นหลักแรก พ1ค 10 ครั้ง ในวงกลม พลิกกลับ
แถวที่ 2-4 ถักตามผังลาย
แถวที่ 5 (แถวสุดท้าย) ถักต่อกับดอก A ตามผังลาย

ลายริม
แถวที่ 1 ซ1 เป็นหลักแรก คธ บนหลักเดิม ซ3 คธ บน ซ3 ถัดไป ซ3 คธ บน ซ3 ถัดไป
             ถักต่อไปเรื่อยๆ จนรอบ จบด้วย ซ3 ลห กับหลักแรก
แถวที่ 2 ซ1 เป็นหลักแรก คธ บนทุกหลักถัดไป จนรอบ ลห กับหลักแรก
แถวที่ 3-4 ถักเหมือนแถวที่ 2

วิธีประกอบ
1. นำดอก A และดอก B ถักต่อกันตามผังลายการต่อดอก
2 ถักลายริมจนรอบตัวเสื้อและรอบวงแขนทั้ง 2 ข้าง










 เสื้อถักโครเชต์

วัสดุ
1.ด้าย COTTON SUPIMA  ขนาดกลุ่มละ 50 กรัม 4 กลุ่ม
2.เข็มโครเชต์ No.2/0

ขนาดสำเร็จ
   รอบอก 96 ซม.
   ตัวยาว 52.5 ซม.
   แขนยาว 22.5 ซม.

วิธีถัก
   - เสื้อชิ้นหลัง
ขึ้นต้น ซ 176
แถวที่ 1 ซ1 คธ เป็นหลักแรก คธ หลักถัดไป ซ9 ลห ติดกัน ซ4 เว้น 4 หลัก (คธ หลักถัดไป ซ9 ลห ติดกัน คธ หลักถัดไป ซ9 ลห ติดกัน ซ4 เว้น 4 หลัก) ถักซ้ำในวงเล็บจนจบแถว ด้วย ซ9 ลห ติดกัน คธ บน 2 หลักสุดท้าย พลักกลับ
แถวที่ 2  ซ4 เป็นหลักแรก ซ2 คธ บน ซ9 ของแถวที่แล้ว (คธ บน ซ9 ถัดไป ซ4 คธ บน ซ9 ถัดไป) ถักซ้ำในวงเล็บจนจบแถวด้วย ซ2 พ2ค บนหลักสุดท้าย พลิกกลับ)
แถวที่ 3  ซ1 คธ เป็นหลักแรก ซ2 เว้น ซ2 (ลห หลักถัดไป ซ9 ลห บนหลักเดิม ซ9 ลห หลักถัดไป ซ4 เว้น ซ4) ถัก.ซ้ำในวงเล็บจนจบแถวด้วย ซ2 เว้น ซ2 คธ หลักสุดท้าย พลักกลับ
แถวที่ 4  ซ4 เป็นหลักแรก คธ บน ซ9 ของแถวที่แล้ว ซ4 (คธ บน ซ9 ถัดไป คธ บน ซ9 ถัดไป ซ4) ถักซ้ำในวงเล็บ จนจบแถวด้วย พ2ค บนหลักสุดท้าย พลิกกลับ
แถวที่ 5  ซ1 คธ เป็นหลักแรก ซ9 ลห บนหลักถัดไป (ซ4 เว้น ซ4 ลห หลักถัดไป ซ9 ลห บนหลักเดิม ซ9 ลห บนหลักถัดไป( ถักซ้ำในวงเล็บจนจบแถวด้วย คธ บนหลักสุดท้าย พลิกกลับ (แถวที่ 2-5 = 1 ช่วงลาย)
แถวที่ 6-46  ถักตามผังลาย จนครบทุกแถว พลิกกลับ
แถวที่ 47-80  ถักลดวงแขน และคอ หลัง ตามผังลายจนครบทุกแถว ตัดด้าย

   - เสื้อชิ้นหน้า
ขึ้นต้น  ซ 176
แถวที่ 1-46  ถักเหมือนชิ้นหลัง
แถวที่ 47-57  ถักตามผังลายจนครบทุกแถว พลิกกลับ
แถวที่ 58-80  ถักลดคอหน้าและลดวงแขนพร้อมกันตามผังลาย จนครบทุกแถว ตัดด้าย

   - แขนเสื้อ  (ถัก 2 ชิ้น)
ขึ้นต้น  ซ 116
แถวที่ 1-14  ถักใต้ท้องแขนตามผังลายจนครบทุกแถว พลิกกับ
แถวที่ 15-32  ถักวงแขนตามผังลายจนครบทุกแถว ตัดด้าย

วิธีประกอบ
1.นำเสื้อชิ้นหน้าและหลังเย็บไหล่และด้านข้างติดกัน
2.ติดแขนเสื้อเย็บตามตำแหน่ง
3.ถักลายริมคอเสื้อโดยรอบ
4.ถักปกเสื้อ แล้วนำมาเย็บติดโดยรอบคอเสื้อ
5.ถักลายริมชายเสื้อ และลายริมปลายแขนเสื้อโดยรอบ
6.ถักดอกไม้แล้วเย็บติดตรงกลางปกเสื้อด้านหน้า

ลายริมรอบคอเสื้อ
ขึ้นต้น  ต่อด้ายที่คอเสื้อ
แถวที่ 1-3 ถักตามผังลายโดยรอบคอเสื้อจนครบทุกแถว ตัดด้าย

ลายริมชายเสื้อและลายริมปลายแขนเสื้อ
   -แขนเสื้อ

ขึ้นต้น  ต่อด้ายตามตำแหน่ง
แถวที่ 1-4  ถักตามผังลายจนครบทุกแถว แล้วตัดด้าย

   - ปกเสื้อ
ขึ้นต้น  ซ.163 ตัดด้าย
แถวที่ 1  ต่อด้ายตามตำแหน่ง  ลห คธ เป็นหลักแรก ซ3 เว้น 1 หลัก คธ หลักถัดไป ซ4 เว้น 2 หลัก คธ หลักถัดไป ซ4 เว้น 2 หลัก คธ หลักถัดไป ถักตามผังลายจนถึงตำแหน่ง โยงด้าย พลิกกลับ
แถวที่ 2-11  ถักตามผังลายจนครบทุกแถว (ดูตำแหน่งโยงด้าย พลิกกลับ ตามผังลายที่กำหนดไว้) ต่อด้ายถักแถวที่ 1 ด้านล่างของปกตามผังลาย

   - ดอกไม้
ขึ้นต้น  ซ 4 ลห เป็นวงกลม
แถวที่ 1  ซ1 คธ 2 ครั้งในวงกลม (ซ7 คธ 3 ครั้งในวงกลม) ถักซ้ำในวงเล็กอีก 3 ครั้ง ซ7 คธ 1 ครั้งในวงกลม ลห กับหลักแรก
แถวที่ 2  ซ1 คธ เป็นหลักแรก **ซ4 พ2ค บน ซ7 ของแถวที่ 1 (ซ1 พ2ค บน ซ7 เดิม)* ซ1 พ3ค บน ซ7 เดิม  *ถักซ้ำใน *...* อีก 9 ครั้ง ถักซ้ำในวงเล็บอีก 2 ครั้ง ซ1 พ1ค บน ซ7 เดิม ซ1 พ1ค บน ซ7 เดิม ซ4 เว้น 1 หลัก คธ หลักถัดไป** ถักซ้ำใน **...** อีก 4 ครั้ง ลห กับหลักแรก
แถวที่ 3 ถักตามผังลายจนรอบ ลห กับหลักแรก ตัดด้าย  















  ลายถักเสื้อประดับลูกไม้

วัสดุ
1.ด้าย COTTON SUPIMA  ขนาดกลุ่มละ 50 กรัม 2.5 กลุ่ม
2.เข็มโครเชต์ No.2/0
3.ริบบิ้นสีขาว ขนาดกว้าง 1 ซม.  ยาว 240 ซม.
4.ลูกไม้ผ้า ขนาดกว้าง 4.5 ซม. ยาว 5 เมตร 50 ซม.

ขนาดถัก  ลาย B = 3.5 ซม.

ขนาดสำเร็จ
   รอบอก 100 ซม.
   ตัวยาว 46.5 ซม.
   
วิธีถัก :
     เสื้อชิ้นหน้า-หลัง
     ชายเสื้อช่วงแรก

ขึ้นต้น  ตัดลูกไม้ผ้ายาว 100 ซม.เย็บติดกันเป็นวงกลม=74 ช่วงหยัก ลห ต่อด้ายตามตำแหน่ง
แถวที่ 1  คธ บนช่วงหยักแรก (ซ5 คธ บนช่วงหยักต่อไป) ถักซ้ำในวงเล็บจนรอบจบแถวด้วย ซ2 พ1ค บนหลัก คธ แรกพลิกกลับ
แถวที่ 2  ซ1 คธ เป็นหลักแรก (ซ5 คธ บน ซ 5 ถัดไป) ถักซ้ำในวงเล็บจนรอบ จบแถวด้วย ซ2 พ1ค บนหลักแรก พลิกกลับ
แถวที่ 3-6  ถักเหมือนแถวที่ 2 (แถวที่ 6 คธ ติดกับลูกไม้ผ้าเส้นต่อไป ลห กับหลักแรก ตัดด้าย)

ช่วงต่อไป
ขึ้นต้น  ต่อด้ายบนลูกไม้ผ้า เส้นที่ 2
แถวที่ 1-6  ถักเหมือนชายเสื้อช่วงแรก (แถวที่ 6 คธ ติดกับลูกไม้ผ้าเส้นต่อไป ลห กับหลักแรก ตัดด้าย)

ช่วงต่อไป
ขึ้นต้น  ต่อด้ายบนลูกไม้ผ้า เส้นที่ 3
แถวที่ 1-6  ถักเหมือนชายเสื้อช่วงแรก (แบ่งตัวเสื้อเป็นสองส่วน ตามผังการถัก แถวที่ 6 ติดกับลูกไม้ผ้าในช่วงแขนด้านหลัง เส้นที่ 1  49 ซม.=36 ช่วงหยัก)

ช่วงแขนด้านหลัง
ขึ้นต้น  ต่อด้ายบนลูกไม้ผ้าของช่วงแขนด้านหลังเส้นที่ 1
แถวที่ 1-6  ถักเหมือนชายเสื้อช่วงแรก (แถวที่ 6 คธ ติดกับลูกไม้ผ้าเส้นต่อไป ลห กับหลักแรก ตัดด้าย

ช่วงคอหลัง
ขึ้นต้น  ต่อด้ายบนลูกไม้ผ้าของช่วงแขนด้านหลัง เส้นที่ 2
แถวที่ 1-5  ถักเหมือนชายเสื้อช่วงแรก (16 ช่วงหยัก)
แถวที่ 6  ซ3 เป็นหลักแรก คธ ติดกับหยักแรกของลูกไม้ผ้า (ช่วงไหล่ พับแบ่งครึ่งกับเสื้อด้านหน้า) ซ2 คธ บน ซ5 ของแถวที่ 5 * ซ2 คธ บนหยักลูกไม้ถัดไป ซ2 คธ บน ซ5 ถัดไป* ถักซ้ำใน *...* จนจบแถวที่กำหนดให้ด้วย ซ2 ลห ติดกับหยักลูกไม้ผ้าหยักสุดท้าย พ1ค บนหลัก คธ ถัดไป ตัดด้าย

ช่วงแขนด้านหน้า
ขึ้นต้น  จากแถวที่ 6 ของลาย B คธ ติดกับลูกไม้ผ้าในช่วงแขนด้านหน้า เส้นที่ 1 (49 ซม.=36 ช่วงหยัก)

ช่วงคอหน้า
ขึ้นต้น   ต่อด้ายบนลูกไม้ผ้าของช่วงแขนตรงกึ่งกลางคอหน้า ตามตำแหน่ง
แถวที่ 1-6  ถักคอหน้า ตามฟังลายทั้ง 2 ข้าง (แถวที่ 6 คธ ติดกับลูกไม้ผ้าเส้นต่อไป 15 ช่วงหยัก พับริมทแยงด้านคอหน้าจนเหลือ 13 ช่วงหยัก

ช่วงต่อไป
ขึ้นต้น  ต่อด้ายบนลูกไม่ผ้าช่วงคอเส้นต่อไป 13 ช่วงหยัก
แถวที่ 1-6  ถักตามผังลาย B ทั้ง 2 ข้าง (แถวที่ 6 คธ ติดกับลูกไม้ผ้าเส้นสุดท้าย 10 ช่วงหยัก ซึ่งพับไหล่แบ่งครึ่งกับเสื้อด้านหลังซึ่งถักเรียบร้อยแล้ว

วิธีประกอบ
1.ถักลาย A เป็นลายริมชายเสื้อ
2.ถักลาย C เป็นลายริมแขนเสื้อ
3.ถักลายริมคอเสื้อ
4.สอดริบบิ้น รอบแขนเสื้อทั้ง 2 ข้าง
5.สอดริบบิ้น รอบเอว

ลาย A ลายริมชายเสื้อ
ขึ้นต้น  ต่อด้ายที่ชายเสื้อ
แถวที่ 1-5  ถักตามผังลายจนครบทุกแถวโดยรอบ ลห กับหลักแรก ตัดด้าย

ลาย C ลายริมแขนเสื้อ
ขึ้นต้น  ต่อด้ายตามตำแหน่ง
แถวที่ 1-3  ถักตามผังลาย จนครบทุกแถวโดยรอบ ลห กับหลักแรก ตัดด้าย

ลายริมคอเสื้อ
ขึ้นต้น  ต่อด้ายตามตำแหน่ง
แถวที่ 1-3  ถักตามผังลายจนครบทุกแถวโดยรอบ ลห กับหลักแรก

3445  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / Re: แกลเลอรี 'ปักษี' ในดินสอดำบนกระดาน เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2558 14:29:27

นกตีทอง
Coppersmith Barbet
Megalaima haemacephala

นกตีทอง นกขนาดเล็กที่สุดในกลุ่มโพระดก  หน้าผากสีแดง มีแถบสีดำคาดคิ้ว
และใต้ตาสีเหลือง ลำตัวด้านบนสีเขียวเข้ม คอและลำตัวด้านล่างสีเหลืองอ่อน
มีขีดสีเขียว ขาสีแดง อาศัยป่าโปร่ง ป่าละเมาะ สวนผลไม้ หากินเดี่ยวหรือคู่
บางครั้งรวมกับนกอื่นตามต้นที่มีลูกไม้สุก ชอบเกาะตามยอดไม้ หรือเสาอากาศ
ส่งเสียงร้อง ‘ก๊อง ก๊อง ก๊อง’ ต่อเนื่องยาวนาน คล้ายเสียงเคาะโลหะ ที่มาชื่อ ‘นกตีทอง’
 
มติชนสุดสัปดาห์


นกยอดหญ้าสีดำ
Eastern Stonechat
Saxicola stejnegeri

นกยอดหญ้าสีดำ นกขนาดเล็กมาก หัวและคอดำ ลำตัวด้านบนดำ มีลายน้ำตาลจางๆ
ข้างคอและแถบปีกขาว ลำตัวด้านล่างน้ำตาลส้ม อกน้ำตาลแดง ปากและขาดำ อาศัยตามทุ่งโล่ง
ทุ่งหญ้า พื้นที่เกษตรกรรม ชอบเกาะบนยอดหญ้า ยอดกิ่งไม้พุ่ม จับแมลงกลางอากาศ ลงมากินหนอน
แมลงที่พื้นแล้วบินขึ้นไปเกาะที่เดิม ทำรังเป็นรูปถ้วย ใต้ต้นไม้พุ่มเกือบติดดิน
 
มติชนสุดสัปดาห์


นกคิตติเวคขาดำ
Black-leged Kittiwake
Rissa tridactyla

นกคิตติเวคขาดำ หัวและลำตัวด้านล่างขาว มีแถบโค้งสีเข้มที่หู คล้ายกำลังสวมหูฟังเพลง
ลำตัวด้านบนเทา ปากเหลือง ขาสั้นดำเป็นนกนางนวลหนึ่งในสองชนิดที่หากินในทะเลลึกแถบ
อาร์กติก ต่างจากนกนางนวลทั่วไป ที่หากินตามแนวชายฝั่ง ไม่ห่างทะเล
 
มติชนสุดสัปดาห์


นกเดินดงพันธุ์ญี่ปุ่น
Japanese Thrush
Tudus cardis

นกเดินดงพันธุ์ญี่ปุ่น ลำตัวด้านบนสีเทาดำ วงตาและปากเหลือง ลำตัวด้านล่างใต้อก
ลงไปถึงก้นขาว มีลายจุดดำกระจาย ขาเหลือง ขนปีกด้านล่างสีเทา ตัวเมียด้านบนสีน้ำตาลอมเขียว
ด้านล่างสีขาวจุดดำกระจายเต็มอกและสีข้าง อาศัยป่าดงดิบเขา หากินตัวเดียว บางครั้งอยู่รวมกับ
นกเดินดงชนิดอื่น  หากินผลลูกไม้สุก หนอน แมลง และลูกไม้หล่นตามพื้นดิน พบตัวยาก

มติชนสุดสัปดาห์


นกชายเลนท้องดำ
Dunlin
calidris alpina

นกชายเลนท้องดำ ปากแหลมเรียว หัว คอ อก และลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเทา
ลำตัวด้านล่างขาว คอสั้น  ฤดูผสมพันธุ์ สีเข้มเป็นน้ำตาลแดง คอและอกสีขาว มีขีดประสีดำ
เป็นแนว ท้องมีสีดำเป็นแผ่นขนาดใหญ่ อาศัยชายเลน ชายหาดทะเล หาดแม่น้ำ อยู่รวมกัน
เป็นฝูง และรวมกับนกชายเลนชนิดอื่น เดินจิกหาหอย ปู สัตว์ทะเลตัวเล็กตามหาดเลน
 และบริเวณน้ำขังตื้นๆ
 
มติชนสุดสัปดาห์


นกแต้วแล้วนางฟ้า
Fairy Pitta
Pitta nympha

นกแต้วแล้วนางฟ้า กระหม่อมสีน้ำตาล ขนหนา เวลาตกใจขนตั้งชันขึ้นคล้ายหงอน
คิ้วสีเนื้อยาวจากจมูก เหนือแถบดำหนาคาดหน้าไปถึงท้ายทอย หลัง ไหล่ สีเขียวเข้ม ตะโพก
และโคนหางบนสีฟ้า กลางท้องลงไปถึงโคนหางสีแดงสด หากินตามพื้นป่าใกล้ลำธาร ไส้เดือน
หนอน หอยทาก และแมลง ขึ้นบัญชีเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
 
มติชนสุดสัปดาห์


นกเขนหัวขาวท้ายแดง
White-capped Water Redstart
Chaimarrornis Ieucocephalus

นกเขนหัวขาวท้ายแดง นกขนาดเล็ก มี ๓ สีตัดกันอย่างสวยงาม หัวถึงท้ายทอยขาวเหมือน
ปุยเมฆ หน้าผาก คอ หน้าอก หลัง และปีก สีดำเป็นมัน ท้อง ตะโพก โคนหางทั้งบนและล่างสีแดงสด
ปลายหางเกือบครึ่งความยาวเป็นสีดำ หากินบนโขดหินตามลำธาร หรือก้อนหินที่มีน้ำไหลแรง
หางกระดกขึ้นลง และใช้พยุงตัวจากกระแสน้ำ พบช่วงฤดูหนาว ทางภาคเหนือเท่านั้น
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกกินปลีหางยาวคอดำ
Black-Throated Sunbird
Aethopyga saturata

นกกินปลีหางยาวคอดำ หัวถึงท้ายทอยและคอน้ำเงินแกมม่วง หลังและข้างคอแดงเข้ม อกและท้อง
เหลืองอ่อน ตะโพกเหลืองอ่อนแกมขาว ขนหางคู่กลางยื่นยาวสีน้ำเงินเข้มเป็นมัน ตัวเมียลำตัวด้านบน
เขียวแกมเหลือง ด้านล่างสีอ่อนกว่าหากินตามลำพังหรือเป็นคู่ กระโดดไปตามต้นไม้ที่ออกดอกบานสะพรั่ง
ดูดกินน้ำหวาน
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกคอทับทิม
Siberian Rubythroat
Luscinia calliope

นกคอทับทิม นกที่สวยและมีเสียงไพเราะอีกตัวหนึ่ง ส่วนบนของลำตัวตั้งแต่หัวจนถึงหาง
สีน้ำตาลแกมเขียวอ่อน กลางถึงปลายปีกสีน้ำตาลแดง มีริ้วขาวเหนือตาและด้านข้างคาง คางและ
ใต้คอสีแดงสด ล้อมรอบด้วยเส้นสีดำ อกสีเทาค่อยๆ จางลงไปเป็นสีเนื้อจนเป็นสีขาว ชอบโดดเดี่ยว
หลบซ่อนตัวในดงไม้หรือดงหญ้ารก นพอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์พบได้ทุกภาคยกเว้นภาคใต้
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกกางเขนบ้าน
Oriental Magpie Robin
Copsychus saularis

นกกางเขนบ้าน นกสีดำขาวที่มีรูปร่างเพรียวงาม นกประจำถิ่น พบเห็นบ่อยทั่วทุกภาค ทุกแห่ง
ตั้งแต่ทุ่งนา ป่าไร่ สวนเกษตร สวนสาธารณะ ทั้งชนบท ในเมือง แม้ในบ้านที่มีต้นไม้ มักจะมีนกกางเขน
บินมาเกาะให้เห็นเสมอ บางตัวก็มาอาศัยทำรังวางไข่ประกาศเป็นอาณาเขตของตัวเอง และขับไล่ตัวอื่น
ที่เข้ามาในพื้นที่ แต่อยู่รวมกับนกชนิดอื่น ปรอด อีแพรด นกเขาได้อย่างเพื่อน ส่งเสียงร้องไพเราะในช่วงเช้า-เย็น
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกขุนแผนอกส้ม
Orange-Breasted Trogon
Harpactes oreskios

นกขุนแผนอกส้ม นกในกลุ่มที่มีสีสวยสด ปากอวบหนา ปลายเป็นของุ้มเล็กน้อย หัวและอก
สีเขียวแกมเหลือง อกตอนล่างสีเหลืองส้ม หางสีน้ำตาลแดง ขนใต้หางมีความยาวลดหลั่นกัน ทำให้เห็น
เป็นบั้งขาวดำปีกสีดำ มีลายเล็กๆ สีขาว ชอบอยู่ตัวเดียว เกาะนิ่งตัวตรงบนกิ่งไม้แนวขวางตามต้นไม้
สูงใบโปร่ง บินโฉบจับแมลงกลางอากาศ
 
มติชนสุดสัปดาห์


นกกระปูดใหญ่
Greater Coucal
Centropus rectunguis

นกกระปูดใหญ่ นกขนาดกลางที่ใหญ่กว่าชนิดอื่น ตาสีแดง หัวและลำตัวสีดำเหลือบม่วง หลังและปีก
สีน้ำตาลแดง ปากใหญ่สีดำ หางยาวใหญ่ ชอบเกาะเหนือพุ่มไม้หรือยอดไม้เตี้ยๆ อาศัยทุ่งหญ้าสูงป่าโปร่ง
ซ่อนตัวตามพุ่มไม้ใบทึบ ส่งเสียง ‘ปู๊ด ปู๊ด ปู๊ด’ เดินหากินตามพื้นดิน
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกขุนแผน
Redbilled Magpie
Urocissa Erythorhyncha

นกขุนแผน นกขนาดกลางที่มีสีสันสวยงาม หัว คอ หน้าอกดำ มีแถบสีขาวจากกลาง
กระหม่อมยาวไปถึงหลังคอ ลำตัวด้านบน ตะโพก หาง และปีกสีฟ้าอมม่วง หางยาวมาก ลำตัวล่าง
สีขาว ปากแดง ขาแดง  ชอบอยู่เป็นคู่ และรวมตัวเป็นกลุ่ม ๔-๕ ตัว ออกหากินด้วยกัน บางครั้ง
ล่าเหยื่อขนาดใหญ่ นก หนู และงู โดยแท็กทีมสกัด จนเหยื่อหมดทางหนี ล้อมวงกินโต๊ะ!
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกแซวสวรรค์
Asian Paradise-Flycatcher
Terpsiphone paradisi

นกแซวสวรรค์ หัวเป็นพุ่มหงอนสั้น หางยาวมาก พลิ้วไหวสวยงามเวลาบิน มีวงรอบตาสีน้ำเงิน
ตัวผู้มีขน ๒ ชุด สีขาว หัวและคอหอยสีดำ ขนปลายปีก ก้านขนสีดำ ลำตัวสีขาว สีน้ำตาลแดง
กระหม่อมดำ หัวและอกด้านบนสีเทาเข้ม ลำตัวด้านบน ปีกและหางสีน้ำตาล ท้องสีขาว บินไปมา
ระหว่างกิ่งไม้ โฉบจับแมลง
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกยางทะเล
Pacific Reef Egret
Egretta sacra

นกยางทะเล นกยางที่มีขน ๒ แบบ ขาวและดำ โดยไม่เปลี่ยนสีชุดขนในฤดูผสมพันธุ์  
ท้ายทอยมีขนยาว หลังและอกมีขนเจ้าชู้ยาวแซมออกมาหากินตามชายฝั่งทะเล โขดหิน เดินย่อง
ไปตามชายหาดทรายหรือเลนในช่วงน้ำลดหากิน กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์ทะเลตัวเล็ก ทำรัง
อยู่ตามแอ่งหินหรือต้นไม้ริมชายฝั่ง  นกยางสีเทาดำมีมากกว่าสีขาว
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกจับแมลงหน้าผากขาว
Snowy-browed Flycatcher
Ficedura hyperythra

นกจับแมลงหน้าผากขาว นกขนาดเล็กมาก ปีกและหางค่อนข้างสั้น คิ้วสีขาวสั้นๆ
จากหัวตาไปชนกันที่หน้าผาก หน้าดำ หัวและลำตัวด้านบนสีน้ำเงินอมเทา คอและอกสีส้ม
ท้องและก้นขาว ชอบอยู่ตัวเดียว เกาะนิ่งตามกิ่งไม้เตี้ยๆ คอยจับแมลงที่บินผ่านขาประจำ
เกร่อยู่แถวอ่างกา ดอยอินทนนท์
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกพญาปากกว้างหางยาว
Long-tailed Broadbill
Psarisomus dalhouslae

นกพญาปากกว้างหางยาว หัวเหมือนสวมหมวกกันน็อกสีดำติดป้าย มอก.แบบเปิดหน้า
หน้าและคอสีเหลืองเข้ม ลำตัวสีเขียว อกและท้องสีเขียวอ่อน หางยาวสีฟ้าสดใส ปากสีเขียวเหลือง
ชอบรวมตัวเป็นฝูง ๑๐-๒๐ ตัว หากินหนอน แมลงตามยอดไม้ ทำรังห้อยอยู่ปลายกิ่งไม้เหนือลำน้ำ
หรือถนน แต่ห่างจากลำต้น ป้องกันศัตรูเข้าถึงรัง
มติชนสุดสัปดาห์



นกพญาปากกว้างหางยาว
นกกระเต็นอกขาว
White-throated kingfisher
Halcyon smyrnensis

นกกระเต็นอกขาว หัวไหล่และท้องสีน้ำตาลแดงเข้ม คอและกลางอกสีขาว หลัง ปีก
และหางสีฟ้าสด ปากและขาสีแดง อาศัยป่าใกล้แหล่งน้ำ ทุ่งโล่ง ทุ่งนา ป่าโปร่ง ชอบอยู่ตัวเดียว
เกาะนิ่งบนตอไม้ กิ่งไม้แห้ง สายไฟฟ้าริมถนนเป็นเวลานาน อาหาร ปลา กบ เขียด แมลง
และสัตว์เล็ก ทำรังโดยขุดดินเป็นโพรงตามริมฝั่งน้ำ
มติชนสุดสัปดาห์



นกกระจาบธรรมดา
Baya Weaver
Ploceus Philippinus

นกกระจาบธรรมดา ปกติลำตัวสีเหลืองอ่อน ลายสีน้ำตาล ด้านล่างสีขาวแกมเหลือง
ในฤดูผสมพันธุ์ หัวและท้ายทอยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด หน้าดำ คอน้ำตาลเข้ม ตัวผู้รวมฝูงกัน
เลือกทำเลรัง แขวนเรียงรายอยู่ใกล้กัน โดยใช้ใบหญ้า ใบข้าวมาสอดสาน ถักทอ มีช่องชั้น
ห้องหับ อย่างวิจิตรพิสดาร ตัวเมียตรวจดู ถ้าไม่ชอบก็จิกรื้อ ตัวผู้ต้องรีบซ่อมเสริมเติมแต่ง
จนเธอพอใจยอมเป็นแม่บ้านให้
มติชนสุดสัปดาห์



นกอีแจว
Pheasant-tailed Jacana
Hydrophasianus chirurgus
นกอีแจว
ตัวผู้และตัวเมียสีสันเหมือนกัน เป็นนกที่แสดงสิทธิสตรีนกออกนอกหน้า
โดยไม่แคร์ใคร เมื่อเข้าฤดูฝน นกตัวเมียในชุดเฉิดฉาย ส่งเสียงร้องเกี้ยวพาตัวผู้ จนหลงลม
สมสู่แล้วก็สร้างรังบนพืชลอยน้ำ ตัวเมียวางไข่จนครบ ๔ ฟองให้ตัวผู้เป็นผู้คอยฟูมฟักไข่
จนกว่าจะเป็นตัว ส่วนตัวเมียก็กรีดกรายไปจับคู่กับตัวใหม่ เข้าอีหรอบเดิมอีก ฤดูกาลหนึ่ง
ตัวเมียจับคู่ได้ถึง ๔ ครั้ง!
มติชนสุดสัปดาห์



นกโป่งวิด
Greater Painted Snipe
Rostratula benghalensis
นกโป่งวิด
นกตัวเมียที่มีสีสันสวยกว่าตัวผู้อีกชนิดหนึ่ง ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดงคล้ำ
แถบสีขาวพาดจากไหล่ลงไปที่ท้อง วงรอบตาสีขาวยาวเลยหางตา ปากยาวสีเนื้อ ใช้จิกตามพื้นเลน
และน้ำตื้น  หากินสัตว์น้ำตัวเล็ก หอย แมลง และพืชน้ำ ที่ชอบมาก คือไส้เดือน อาศัยตามหนองบึง
พื้นที่ชุ่มน้ำ ตัวเมียตัวหนึ่ง จับคู่กับตัวผู้หลายตัว
มติชนสุดสัปดาห์



นกพรานผึ้ง
Malaysian Honeyguide
Indicator archipelagicus
นกพรานผึ้ง
ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลปนเขียว อกสีเทา ท้องขาว ข้างมีขีดสีดำ  นกพรานผึ้ง
ในแอฟริกาส่งเสียงร้องเรียกสัตว์คล้ายพังพอน และชาวป่าให้ตามไปจนพบรังผึ้ง โดยได้รับส่วนแบ่ง
เป็นค่านำทาง  เมืองไทยมีตำนานเล่าว่า นกพรานผึ้งนำหมีไปล้วงรังผึ้งจากโพรงไม้แล้วทิ้งรวงผึ้ง
ที่มีตัวอ่อนไว้ให้ (พอมีเค้าอยู่บ้าง เพราะแอฟริกา ไม่มีหมี) แต่ข้อมูลมีน้อยมาก เพราะเป็นนกหายาก
พรานผึ้งผู้ลึกลับแห่งพงไพร
มติชนสุดสัปดาห์

แกลเลอรี
ดินสอดำบนกระดาน

โดย คุณกรินทร์ จิรัจฉริยกุล
(พิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์)

3446  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล เมื่อ: 22 กรกฎาคม 2558 15:14:06
.
 กระดังงาปักกิ่ง
ไม้ต้นนี้ มีวางขาย มีภาพถ่ายดอกจริงให้ชมด้วย ทีแรกที่เห็นคิดว่าเป็นต้นกระดังงาจีน ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย และศรีลังกา มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ นิยมปลูกประดับแพร่หลายในเขตร้อนทั่วไป มีชื่อวิทยาศาสตร์ เฉพาะคือ ARTABOTRYS HEXAPETALUS (L.F.) BHANDARL. อยู่ในวงศ์ANNONACEAE ซึ่งถ้าบอกชื่อกระดังงาจีนจะไม่มีใครรู้จัก แต่หากบอกว่า การเวก หรือสะบันงาเครือ และสะบันงาจีน คนจะร้องอ๋อและรู้จักดีทันที

ส่วน “กระดังงาปักกิ่ง” ผู้ขายกิ่งตอนยืนยันว่าเป็นคนละต้นกับกระดังงาจีน เนื่องจาก “กระดังงาปักกิ่ง” เป็นไม้พุ่มต้น ไม่ใช่ไม้เถาเลื้อย เช่น กระดังงาจีน นำเข้าจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน นานกว่า ๕ ปีแล้ว ผู้ขายกิ่งตอนบอกลักษณะทางพฤกษศาสตร์ต่อว่า ลำต้นตั้งตรง ต้นสูง ๒-๔ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม ใบเดี่ยว ออกสลับ รูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบหรือป้าน หน้าใบสีเขียว หลังใบสีจางกว่า   ดอก ออกเป็นช่อ ๑-๓ ดอก ออกตรงกันข้ามกับใบ และตามลำต้นมีกลีบดอกเรียงซ้อนกัน ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ รูปขอบขนาน ปลายกลีบแหลม โคนมน เนื้อกลีบหนา ดอกอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอมแรง “ผล” เป็นกลุ่ม ๔-๒๐ ผล ก้านผลยาว ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกหรือแก่สีเหลือง แต่ละผลจะมีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง ซึ่งผู้ขายบอกอีกว่า “กระดังงาปักกิ่ง” ปลูกลงดินตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่ม เวลามีดอกดกเต็มต้นจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมกระจายเป็นที่ประทับใจมาก    มีกิ่งตอนขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการเก่า ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


  โมกแดงเขาใหญ่
“โมกแดงเขาใหญ่” เป็นโมกแดงชนิดหนึ่งที่มีแหล่งพบครั้งแรกบนป่าเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา มีความแตกต่างจากโมกแดงทั่วไปคือ รูปทรงของดอกและสีสันของดอกไม่เหมือนกันอย่างชัดเจน และ ที่สำคัญดอกของ “โมกแดงเขาใหญ่” จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นข้าวใหม่เหมือนกลิ่นดอกชมนาด หรือกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นใบเตย โดยกลิ่นจะหอมแรงตั้งแต่พลบค่ำเรื่อยไปตลอดทั้งคืนจนรุ่งเช้ากลิ่นจะจางลงเป็นธรรมชาติ จึงทำให้ “โมกแดงเขาใหญ่” เป็นที่นิยมปลูกอย่างแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน ส่วนกลิ่นหอมของดอกโมกแดงทั่วไปกลิ่นจะฉุนเหมือนกับกลิ่นส่าเหล้า

โมกแดงเขาใหญ่ อยู่ในวงศ์APOCYNA-CEAE เป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๓ เมตร ใบเดี่ยว ออกตรงกัน ข้ามรูปรี ปลายแหลม โคนเป็นรูปลิ่มถึงกลม ใบมีขนาดใหญ่ ดอก ออกเป็นช่อแบบกระจุกที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก กลีบเลี้ยงติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก ๕ แฉก กลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่ ปลายแหลม เนื้อกลีบดอกหนาแข็งกว่ากลีบดอกโมกแดงทั่วไป กลีบดอกเป็นสีโอลด์โรส หรือสีแดงอมส้ม ใจกลางดอกเป็นเส้าสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอมตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมแรงตลอดทั้งคืนเป็นที่ชื่นใจมาก “ผล” เป็นฝักคู่ เมล็ดมีปุยสีขาวติดที่ปลายเมล็ดด้านหนึ่ง ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง   มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑ ราคาสอบถามกันเอง เหมาะจะปลูกประดับในบริเวณบ้านด้านเหนือลม เวลามีดอกถูกลมพัด เอากลิ่นหอมโชยเข้าบ้าน สร้างบรรยากาศเป็นธรรมชาติดีมากครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


  ดีปลี
อัมพฤกษ์ เพิ่งเริ่มเป็นใหม่ๆ ยังไม่ถึงขั้นรุนแรงมีวิธีรักษาหรือบรรเทาได้คือ ให้เอาดอก “ดีปลี” หรือรากแห้ง ๒๐ ดอก หรือหยิบมือหนึ่ง พริกไทยดำแห้ง ๒ ช้อนโต๊ะ ผักเสี้ยนผีแห้งพอประมาณ มะตูมอ่อนแห้ง ๑ ขีด ต้มรวมกันกับน้ำ ๑-๑.๕ ลิตร จนเดือด ๑๐ นาที ดื่มต่างน้ำครั้งละครึ่งแก้วก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ รสชาติจะเผ็ดร้อน ดื่ม ๔ วันแรกจะเฉยๆ พอวันที่ ๕ จะรู้สึกปวดมากจนแทบทนไม่ได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีอาการเยอะ ต้องทนให้ได้ หลังจากนั้นจะหลุดพ้นบรรเทาหรือหายได้เหมือนไม่เคยมีอาการมาก่อน ทดลองดูไม่ได้ผลเลิกได้ไม่อันตรายอะไร

ดีปลี หรือ LONG PEPPER PIPER RETROFRACTUM VAHL. อยู่ในวงศ์ PI-PERACEAE ผล ปรุงเป็นยาได้หลายชนิด เช่น แก้โรคนอนไม่หลับ รักษาอาการอักเสบ ราก ต้มน้ำดื่มแก้เส้นอัมพฤกษ์อัมพาต ประโยชน์ทางอาการ ผลสดหรือตากแห้งรสเผ็ดปรุงกับแกงเผ็ดแกงคั่วอร่อยมาก ยอดอ่อนใส่ข้าวยำปักษ์ใต้ดีมาก  นสพ.ไทยรัฐ  


  ผักแว่นกำมะหยี่
ผักแว่น เป็นพืชผักพื้นบ้านที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายมาช้านานแล้ว โดยธรรมชาติจะพบขึ้นตามหนองน้ำและที่ชื้นแฉะทั่วไป จะเจริญเติบโตดีในช่วงฤดูฝนและจะมีวางขายตามแผงผักพื้นบ้านมากมาย ซึ่งในทางอาหาร นิยมเอายอดอ่อน เถาอ่อนที่มีรสชาติเปรี้ยวปนฝาดเล็กน้อยกินเป็นผักสดกับน้ำพริกชนิดต่างๆ ส้มตำ ลาบ ก้อย หรือนำไปปรุงเป็นแกงรวมใส่หอมแดง กะปิ กระเทียมโขลก และทำแกงอ่อมผักแว่น รสชาติอร่อยมาก

ประโยชน์ทางยา ทั้งต้นเป็นยาสมานแผลในช่องปากและคอ แก้ไข้ แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ ดับพิษร้อน แก้ดีพิการได้ ซึ่งผักแว่นชนิดกินได้ดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ MAR-SILEA CRENATA PRESL. อยู่ในวงศ์ MARSILEACEAE มีชื่อเรียกอีกคือ “ผักลิ้นปี่” (ภาคใต้) เนื่องจากใบย่อยมีลักษณะคล้ายกับลิ้นของปี่ที่ใช้เป่านั่นเอง  ส่วน “ผักแว่นกำมะหยี่” ที่พบมีต้นวางขาย ผู้ขายบอกว่าเป็นไม้นำเข้าจากต่างประเทศ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับผักแว่นชนิดกินได้ทุกอย่าง จะแตกต่างกันคือ แผ่นใบของ “ผักแว่นกำมะหยี่” จะมีขนละเอียดสีขาวหนาแน่นคล้ายกำมะหยี่สีเงินสวยงามมาก จึงถูกตั้งชื่อว่า “ผักแว่นกำมะหยี่” และใบของ “ผักแว่นกำมะหยี่” จะหุบในช่วงเย็นพร้อมกับเริ่มกางออกในช่วงเช้าเป็นประจำทุกวัน ใบอ่อนและเถาอ่อนของ “ผักแว่นกำมะหยี่” รับประทานไม่ได้ จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพียงอย่างเดียว

ผักแว่นกำมะหยี่ เป็นไม้ล้มลุกจำพวกเฟิร์น ลำต้นเป็นเหง้าทอดเลื้อย ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย ๔ ใบ ใบย่อยเป็นรูปพัด มีอัปสปอร์ ขยายพันธุ์ด้วยไหล และอัปสปอร์ ปัจจุบัน “ผักแว่นกำมะหยี่” มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒ แผงขายไม้น้ำ ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ

 กรวย
กรวย ชนิดแรกเรียกชื่อสั้นๆ ว่า “กรวย” อีกชนิดคือ “กรวยป่า” ซึ่งทั้ง ๒ ชนิด มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกันมากจนเกือบแยกไม่ได้ มีชื่อวิทยาศาสตร์และแหล่งที่พบเหมือนกันทุกอย่าง แต่สรรพคุณทางสมุนไพรแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย “กรวย” หรือ “กรวยป่า” มีชื่อเฉพาะคือ HORSFIELDIA IRYA (GAERTN.) WARB. อยู่ในวงศ์ MYRISTI-CACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๒๕ เมตร โคนต้นเป็นพูพอน มักมีรากคํ้ายัน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนมนหรือแหลม ขอบใบเรียบ หน้าใบเป็นสีเขียวสด หลังใบสีนวล   ดอก ทั้ง ๒ ชนิด ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงช่อตามซอกใบ เป็นดอกแยกเพศบนต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้แผ่กว้างกว่าช่อดอกตัวเมีย ดอกมีขนาดเล็กจำนวนมาก เป็นสีเหลือง วงกลีบรวมติดกัน ส่วนบนแยกเป็น ๒ กลีบ ดอกตัวผู้จะมีเกสรตัวผู้ ๖-๑๐ อัน ดอกตัวเมียไม่มีและจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้อย่างชัดเจน ดอกมีกลิ่นหอมแรง เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกัน ทั้งต้นจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียง ทำให้รู้สึกสดชื่นเป็นอย่างยิ่ง “ผล” รูปทรงกลม ติดผลเป็นพวง ๒-๕ ผล สุกเป็นสีส้มอมแดง ๑ ผล มี ๑ เมล็ด เนื้อหุ้มเมล็ดเป็นสีแดงอมส้ม รับประทานไม่ได้ ดอกออกเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง พบขึ้นตามที่ราบริมแม่นํ้าลำคลอง ใกล้ๆ กับพื้นที่ที่มีเขตติดต่อกับทะเลทั่วไป ประเทศไทยพบทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ในต่างประเทศพบตั้งแต่ศรีลังกา หมู่เกาะอันดามัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

สรรพคุณทางสมุนไพร “กรวย” ชาวมาเลเซียใช้เปลือกต้นต้มนํ้าเดือดอมกลั้วในปากแล้วบ้วนทิ้ง เป็นยาบำบัดอาการเจ็บคอ ส่วน “กรวยป่า” ตำรายาไทยระบุว่า ใบสดตำละเอียดทาแก้โรคผิวหนังผื่นคันชนิดมีตัวดีมาก ใบสดหั่นตากแห้งผสมกับใบยาสูบมวนจุดสูบแก้ริดสีดวงจมูกดีมาก ปัจจุบัน “กรวยป่า” หาซื้อต้นได้ยากกว่า “กรวย” ครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 ย่านาง
ในทางอาหาร “ย่านาง” มีวางขายทั่วไป นิยมรับประทานแพร่หลายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคอื่นประปราย ส่วนใหญ่เอาเถา ใบอ่อน หรือใบแก่ตำละเอียดคั้นเอาน้ำสีเขียวปรุงกับแกงหน่อไม้ ใส่แกงขนุน แกงอ่อม ห่อหมก ซุบหน่อไม้ แกงยอดหวายและอีกหลายอย่าง ใช้สยบความขมของผักอื่นๆ ในฐานะแหล่งธาตุอาหาร ทำให้ผักอื่นรับประทานอร่อยขึ้น ผักบางชนิดหากขาดน้ำใบ “ย่านาง” เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้ขื่นลิ้น    

ในทางสมุนไพรตำรายาแผนไทยระบุว่า ใบสดของ “ย่านาง” ช่วยถอนพิษสุรา มีการทดสอบความเป็นพิษด้วยการสกัดใบด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ ๕๐ แล้วฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังของหนูประมาณ ๑๐ กรัม ต่อน้ำหนักตัวหนู ๑ กิโลกรัม มีปริมาณมากกว่า ๖,๒๕๐ เท่าของปริมาณที่คนได้รับ ไม่แสดงความเป็นพิษ ส่วน รากสด มีฤทธิ์แก้ไข้เกือบทุกชนิด เคยมีเด็กอายุ ๙ ขวบเป็นไข้หวัดมีไข้สูงมาก แต่เด็กแพ้ยาแก้ปวดทุกชนิดแม้กระทั่งยาพาราเซตามอล แม่ของเด็กดังกล่าวได้เอารากสดของ “ย่านาง” ต้มน้ำให้ลูกดื่มต่างน้ำ ปรากฏว่าไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ถือว่าได้ผลดีมาก นอกจากนั้น ทั้งต้นของ “ย่านาง” ยังสามารถปรุงเป็นยาแก้ไข้กลับ ใบสดเป็นยาถอนพิษได้อีกด้วย

ย่านาง หรือ TILIACORA TRIANDRA DIELS อยู่ในวงศ์ MENISPERMA เป็นไม้เถาเลื้อย ดอกสีเหลือง เป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้น ไม่มีกลีบดอก “ผล” กลมรี ขนาดเล็ก ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีเหลืองและแดงตามลำดับ มีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและหัว มีชื่อเรียกอีกคือ ย่านนาง, หญ้าภคินี, เถาวัลย์เขียว, จ้อยนาง (เชียงใหม่) วันยอ (สุราษฎร์ธานี) เครือย่านาง, ปู่เจ้าเขาเขียว, ขันยอ และ แฮนกึม  มีต้นขายทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แต่ละแผงราคาไม่เท่ากัน หรืออยู่ที่ขนาดของต้นครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


  ถั่งเช่า
ข้อมูลงานวิจัยที่ได้จากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กทม.โดยศาสตราจารย์ ดร.มณจันทร์ เมฆธน หัวหน้าภาควิชาดังกล่าว ระบุว่า “ถั่งเช่า” เป็นสมุนไพรจีน พบบนที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔,๐๐๐ เมตรขึ้นไป ในฤดูหนาวจะเป็นตัวหนอนและฤดูร้อนจะเป็นหญ้า เกิดจากหนอนผีเสื้อแถบที่ราบสูงทิเบต จำศีลใต้ดินช่วงฤดูหนาว จากนั้นจะถูกสปอร์ของเห็ดราในสกุล OPHIOCORDYCEPS อาศัยเป็น “ปรสิต” และเติบโตสร้างเส้นใยออกมาทางส่วนหัวของตัวหนอนในฤดูร้อน เห็ดชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า OPHIOCORDYCEPS SINENSIS  และราชนิดดังกล่าวจะเกาะติดบนตัวด้วงจำพวกผีเสื้อ หนอน มอด ดักแด้ หรือด้วง ค้างคาว ซึ่งตัวหนอนอ่อนที่มีราเกาะอยู่ช่วงฤดูหนาวจะมุดลงไปอยู่ใต้ดินแล้วค่อยๆ กลายเป็นเชื้อราชื่อว่า OPHIOCORDYCEPS SINENSIS และในช่วงนี้เองเปลือกนอกตัวหนอนจะเป็นตัวสมบูรณ์ขึ้น และเมื่อถึงฤดูร้อน ราดังกล่าวจะค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นมีลักษณะคล้ายต้นหญ้า

พบมาก ในบริเวณภาคใต้ของมณฑลชิงไห่ เขตซองโควในทิเบต มณฑลกานซู และแถบเทือกเขาหิมาลัยในอินเดีย การเก็บเกี่ยวจะเก็บในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ เมื่อขุดหญ้าหนอน หรือ “ถั่งเช่า” ขึ้นมาแล้ว ล้างน้ำให้สะอาดแล้วตากแห้งใช้เป็นยาสมุนไพรได้เลยสรรพคุณจากงานวิจัย “ถั่งเช่า” บำรุงไต ลดอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมไทรอยด์ และมะเร็งเต้านม แก้ภูมิแพ้ บำรุงเลือด ปรับสมดุลของเซลล์เม็ดเลือดแดง ลดปริมาณผมร่วง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ช่วยให้ผิวพรรณดี และสรรพคุณดีๆ อีกเยอะ นสพ.ไทยรัฐ  



สาธร
สาธร เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนครราชสีมา ชื่อวิทยาศาสตร์ Millettia leucantha Kurz อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE ชื่ออื่น อาทิ กระเจาะ ขะเจาะ (ภาคเหนือ), กระพีเขาควาย (ประจวบคีรีขันธ์), กะเชาะ (ภาคกลาง), ขะแมบ คำแมบ (เชียงใหม่) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง ๑๘-๑๙เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ค่อนข้างกลมหรือทรงกระบอก

เปลือกสีเทาเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ใบประกอบเรียงสลับ ใบย่อยติดเป็นคู่ตรงกันข้าม ๓-๕ คู่ ปลายสุดเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบย่อยรูปรี กว้าง ๓-๕ ซ.ม. ยาว ๕-๑๒ ซ.ม. ปลายใบแหลม โคนใบมน ใบและยอดอ่อนมีขนยาว ดอกสีขาว รูปดอกถั่ว สีชมพูอ่อน ออกเป็นช่อตามง่ามใบและปลายกิ่ง ออกดอกระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.

เป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วน ต้องการน้ำและความชื้นมาก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด นสพ.ข่าวสด


     พญากาหลง ดอกเปลี่ยนสีความเชื่อดี
ไม้ต้นนี้ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับต้น ชงโคดอกเหลือง หรือ โยทะกา และ เสี้ยวดอกเหลือง เพียงแต่ “พญากาหลง” จะมีความแตกต่างคือ เวลามีดอกครั้งแรกสีของดอกจะเป็นสีเหลืองเหมือนกัน จากนั้น ๓-๕ วัน สีเหลืองของดอกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มมองเห็นชัดเจน ทำให้ “พญากาหลง” ต้นเดียวมีดอก ๒ สี ดูสวยงามมาก ซึ่งต้น “พญากาหลง” นิยมปลูกในบริเวณบ้านร้านค้าทั่วไป เนื่องจากมีความเชื่อว่า ปลูก “พญากาหลง” แล้วจะช่วยให้อยู่ดีมีสุขและค้าขายคล่องขึ้น นั่นเป็นความเชื่อมาแต่โบราณ ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่
 
พญากาหลง หรือ BAUHINIA TOMEN TOSA LINN. ชื่อสามัญ ST.THOMAS TREE, YELLOW ORCHID TREE อยู่ในวงศ์ LEQUMINOSAE เป็นไม้พุ่มสูง ๑.๕-๓ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปค่อนข้างกลม ปลายเว้าลึกดูคล้ายใบชงโคหรือใบส้มเสี้ยว ด้านหลังมีขนเล็กน้อย ใบเมื่อขยี้จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สีเขียวสด ใบดกน่าชมยิ่งนัก
 
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๒-๓ ดอก ห้อยลง มีกลีบดอก ๕ กลีบ เมื่อแรกมีดอกสีของดอกจะเป็นสีเหลือง จากนั้นสีของดอกจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มดูสวยงามตามที่กล่าวข้างต้น ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔-๔.๕ ซม. มีเกสรตัวผู้ ๑๐ อัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะมีดอกเป็น ๒ สี แปลกตาน่าชมยิ่งนัก “ผล” เป็นฝักแบน มีหลายเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง
 
มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ


    กระพี้จั่นปลูกประดับสวย
กระพี้จั่น” มีถิ่นกำเนิดทั่วไปในเอเชียเขตร้อน และในประเทศไทยพบเกือบทุกภาค พบมากที่สุดทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณที่มีความแห้งแล้ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า MILLETTIA BRAN DISIANA KURZ. อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE PAPILIONOIDEAE
 
เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง ๘-๑๕ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มโปร่งและกว้าง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ก้านใบหลักออกเรียงสลับ ยาว ๓-๗ ซม. ใบย่อยออกตรงกันข้ามจำนวน ๖-๘ คู่ ใบอ่อนมีขนและขนจะร่วงหมดเมื่อใบแก่ ใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบมนหรือแหลม ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เวลามีใบดกจะให้ร่มเงาดีและน่าชมยิ่ง
 
ดอก ออกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นรูประฆังปลายแยกเป็น ๕ แฉก สีม่วงเกือบดำ กลีบดอกเป็นรูปดอกถั่ว มี ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เป็นสีชมพูอมม่วง มีเกสรตัวผู้ ๑๐ อัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักแบน มีเมล็ดหลายเมล็ด ดอกออกเกือบทั้งปี จะมีดอกดกในช่วงฤดูร้อนทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีชื่อเรียกอีกคือ จั่น, ปี้จั่น และ ปี๊จั่น (ภาคเหนือ)
 
นิยมปลูก เป็นไม้ดอกสวยงามประเภทไม้ยืนต้นตามบ้าน ตามสำนักงาน สวนสาธารณะ รีสอร์ตทั่วไป เวลามีต้นสูงใหญ่จะให้ร่มเงาสร้างระบบนิเวศได้ดีและมีดอกสวยงามมาก ประโยชน์ทั่วไป ในยุคสมัยก่อน เนื้อไม้ใช้ทำฟืน ปัจจุบันมีต้นขายทั้งต้นขนาดเล็กและสูงใหญ่ ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาอยู่ที่ขนาดของต้นครับ.


    ทองกวาวสรรพคุณดีหลายอย่าง
ทองกวาว นอกจากจะมีดอกงดงามแล้ว ในทางสมุนไพรบางส่วนของต้นยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย โดยตำรายาแผนไทยระบุว่า ยางจากต้นนำไปปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง ใบสดตำพอกแก้ฝีและสิวบนใบหน้าชนิดที่เป็นเม็ดใหญ่ให้แห้งได้ ถอนพิษ แก้ปวด ใบสดนำไปเข้ายาชนิดอื่นเป็นยาบำรุงกำลัง ดอกเป็นยาถอนพิษ เมล็ดขับพยาธิตัวกลม บดละเอียดผสมน้ำมะนาวทาแก้คันตามร่างกายและแสบร้อน ดอกยังให้สีเหลืองใช้ย้อมผ้าได้ด้วย ส่วนเปลือกต้นทำเชือกและกระดาษ
 
ทองกวาว หรือ BUTEA MONO SPERMA (LAMK) O.KUNTZE อยู่ในวงศ์ LE GUMINOSAE เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง ๘-๑๕ เมตร ใบประกอบมีใบย่อย ๓ ใบ รูปไข่ค่อนข้างกว้าง โคนเบี้ยว เวลามีดอกใบจะร่วงหมดเหลือเพียงดอกน่าชมยิ่ง ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่งก้านและปลายยอด กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นรูปบาตรเล็กๆ มีขน กลีบดอกมี ๕ กลีบ ลักษณะคล้ายดอกถั่ว สีเหลืองถึงสีแดงแสด มีเกสร ๑๐ อัน คล้ายรูปเคียว เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น ใบจะร่วงหมดดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักแบน มีเพียงเมล็ดเดียว ดอกออกช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มีนาคม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าหญ้า ป่าละเมาะที่แห้งแล้ง พบมากทางภาคเหนือ ภาคอื่นกระจัดกระจาย
 
มีชื่อเรียกอีกคือ กวาว, ก้าว (ภาคเหนือ) จอมทอง (ใต้) จ้า (เขมร-สุรินทร์) จาน (อุบลราชธานี) ทองธรรมชาติ, ทองพรมชาติ (ภาคกลาง) และทองต้น (ราชบุรี) มีต้นขาย ทั่วไป ทั้งต้นขนาดเล็กและขนาดสูงใหญ่ ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาอยู่ที่ขนาดของต้น เหมาะจะปลูกเป็นทั้ง ไม้ประดับและปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรตามสรรพคุณที่กล่าวข้างต้น เวลามีดอกตามฤดูกาลใบจะร่วงหมดทั้งต้นเหลือเพียงดอกสีสันเจิดจ้าสวยงามและใช้บางส่วนของต้น “ทองกวาว” เป็นสมุนไพรได้คุ้มค่ามากครับ.


http://www.munjeed.com/image_news/2013-06-04/image_462013122021.jpg
    โมกแดงเขาใหญ่ ดอกกลิ่นข้าวใหม่
“โมกแดงเขาใหญ่” เป็นโมกแดงชนิดหนึ่งที่มีแหล่งพบครั้งแรกบนป่าเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา มีความแตกต่างจากโมกแดงทั่วไปคือ รูปทรงของดอกและสีสันของดอกไม่เหมือนกันอย่างชัดเจน และ ที่สำคัญดอกของ “โมกแดงเขาใหญ่” จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นข้าวใหม่เหมือนกลิ่นดอกชมนาด หรือกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นใบเตย โดยกลิ่นจะหอมแรงตั้งแต่พลบค่ำเรื่อยไปตลอดทั้งคืนจนรุ่งเช้ากลิ่นจะจางลงเป็นธรรมชาติ จึงทำให้ “โมกแดงเขาใหญ่” เป็นที่นิยมปลูกอย่างแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน ส่วนกลิ่นหอมของดอกโมกแดงทั่วไปกลิ่นจะฉุนเหมือนกับกลิ่นส่าเหล้า
 
โมกแดงเขาใหญ่ อยู่ในวงศ์ APOCYNA-CEAE เป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๓ เมตร ใบเดี่ยว ออกตรงกัน ข้ามรูปรี ปลายแหลม โคนเป็นรูปลิ่มถึงกลม ใบมีขนาดใหญ่ ดอก ออกเป็นช่อแบบกระจุกที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก กลีบเลี้ยงติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก ๕ แฉก กลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่ ปลายแหลม เนื้อกลีบดอกหนาแข็งกว่ากลีบดอกโมกแดงทั่วไป กลีบดอกเป็นสีโอลด์โรส หรือสีแดงอมส้ม ใจกลางดอกเป็นเส้าสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอมตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมแรงตลอดทั้งคืนเป็นที่ชื่นใจมาก “ผล” เป็นฝักคู่ เมล็ดมีปุยสีขาวติดที่ปลายเมล็ดด้านหนึ่ง ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง
 
โมกแดงเขาใหญ่ มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑   ราคาสอบถามกันเอง เหมาะจะปลูกประดับในบริเวณบ้านด้านเหนือลม เวลามีดอกถูกลมพัด เอากลิ่นหอมโชยเข้าบ้าน สร้างบรรยากาศเป็นธรรมชาติดีมากครับ.


    กาซะลองคำ ดอกสีสันงดงาม
ไม้ต้นนี้ พบขึ้นตามธรรมชาติบนเทือกเขาหินปูนที่มีสภาพค่อนข้างชื้น ทางภาคเหนือของประเทศไทย ภาคอื่นมีประปราย ซึ่งนอกจากชื่อ “กาซะลองคำ” แล้ว ยังมีชื่อเรียกตามพื้นที่ต่างๆ อีกคือ กากี (สุราษฎร์ธานี) แคะเป๊าะ, สำเภาหลามต้น (ลำปาง) จางจืด (เชียงใหม่) สะเภา, อ้อยช้าง (ภาคเหนือ) และ ปีบทอง (ภาคกลาง) มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะว่า RADERMACHERA IGNEA (KURZ) STEENIS ชื่อสามัญ TREE JASMINE อยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง ๖-๒๐ เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงกันข้าม ใบย่อย ๒-๕ คู่ รูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ส่วนโคนใบแหลม สีเขียวสด
 
ดอก ออกเป็นกระจุกตามกิ่งก้านและตามลำต้น กระจุกละ ๕-๑๐ ดอก ดอกจะทยอยบาน กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกสั้นๆ ๕ แฉก เป็นสีเหลืองอมส้ม ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์ กลางประมาณ ๑.๕-๒ ซม. มีเกสรตัวผู้ ๔ อัน เวลามีดอกจะทิ้งใบหมดทั้งต้นตามสายพันธุ์ เหลือเพียงดอกเป็นสีเหลืองทองเต็มต้นดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักยาว ๓๕-๙๐ ซม. ผลแก่แตกเป็น ๒ ซีก เมล็ดมีปีกสีขาวเป็นปุยติดที่บริเวณส่วนปลายเมล็ดด้านหนึ่ง ดอกออกช่วงระหว่างเดือนมกราคมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน ของทุกปี โดยจะผลัดใบก่อนออกดอกทุกครั้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง และหน่อ
 
ปัจจุบันต้น “กาซะลองคำ” มีขายทั่วไป ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ มีทั้งต้นขนาดเล็กสูงไม่เกิน ๑ เมตร และต้นขนาดใหญ่สูง ๕-๗ เมตร โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลมีดอก จะมีดอกติดตามกิ่งก้านและตามลำต้นให้ชมด้วย ราคาอยู่ที่ขนาดของต้น ปลูกได้ในดินทั่วไป สามารถปลูกในพื้นที่ราบต่ำได้ เมื่อต้นสูงใหญ่และมีดอกตามฤดูกาล จะดูสวยงามมากครับ.


http://eweb.bedo.or.th/wp-content/uploads/2014/09/b090914_1.jpg
    หูกระจงแดง  กิ่งก้านสวยแปลก
ไม้ต้นนี้พบมีวางขาย แต่ละต้นปลูกในกระถางดำขนาดกว้าง ๑๐-๑๒ นิ้วฟุต ต้นสูงเกินกว่า ๒ เมตร ลำต้น ใบ และกิ่งก้านมีสีสันสวยงามแปลกตามาก แต่ไม่มีป้ายชื่อเขียนติดไว้ จึงสอบถามผู้ขาย ทราบว่าเป็นต้น “หูกระจงแดง” เป็นไม้นำเข้าจากต่างประเทศแต่บอกไม่ได้ว่าประเทศไหน ปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๒ ปีแล้ว สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพอากาศในประเทศไทย ผู้นำเข้าจึงขยายพันธุ์นำต้นออกวางขายในชื่อ “หูกระจงแดง” ดังกล่าวและกำลังเป็นที่นิยมของผู้ปลูกอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้
 
หูกระจงแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะว่า TERMINALIA BENTZOL (L.) L.F. อยู่ในวงศ์ COMBERTACEAE เป็นไม้ยืนต้นสูง ๕-๑๐ เมตร ลำต้นตั้งตรง ลำต้นใบและกิ่งก้านเป็นสีแดงอมม่วงปนสีเขียวคล้ำเล็กน้อย แตกกิ่งก้านเป็นชั้นๆรูปทรงฉัตร หรือทรงสามเหลี่ยม น่าชมยิ่ง
 
ใบ เป็นใบประกอบ ก้านใบออกตรงกันข้าม ก้านใบยาว ใบเป็นรูปรีแคบและยาว ปลายใบแหลม โคนใบเป็นกาบ ใบแตกเป็นวงกลม ประกอบด้วยใบย่อย ๘-๑๒ ใบ ผิวใบเรียบ เป็นสีแดงอมม่วงปนสีเขียวคล้ำเล็กน้อยตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีใบดกจะเป็นชั้นๆรูปทรงฉัตรหรือทรงสามเหลี่ยม ดูงดงามแปลกตามาก ที่สำคัญใบของ “หูกระจงแดง” จะไม่ร่วงง่ายเหมือนกับใบของต้นหูกระจงชนิดสีเขียวที่มีใบขนาดเล็ก ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง
 
ปัจจุบัน “หูกระจงแดง” มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกประดับตามบ้าน สำนักงาน สวนสาธารณะ และรีสอร์ตทั่วไป ปลูกได้ทั้งแบบลงดินและปลูกลงกระถางตั้งประดับในที่แจ้ง เวลาต้นสูงใหญ่ได้แสงแดดอย่างสม่ำเสมอ สีสันของต้นใบและกิ่งก้านจะเข้มข้นขึ้นดูสวยงามมากครับ.


    คูณสายรุ้ง บานทนสวยน่าปลูก
ไม้ต้นนี้ เคยแนะนำในคอลัมน์ไปแล้ว แต่ยังมีผู้อ่านไทยรัฐอีกจำนวนมากที่พลาดข้อมูลดังกล่าว อยากทราบว่า “คูนสายรุ้ง” เป็นอย่างไร และจะหาซื้อกิ่งพันธุ์ได้จากที่ไหน ซึ่งก็เป็นจังหวะที่พบว่ามีผู้นำเอากิ่งตอนรุ่นใหม่ออกวางขาย จึงแจ้งให้ทราบ พร้อมนำเรื่องแนะนำในคอลัมน์อีกครั้งตามระเบียบ
 
คูนสายรุ้ง อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมจาก รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์ขายในประเทศไทยบ้านเรานานหลายปีแล้ว มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นสูงไม่เกิน ๕-๖ เมตร ไม่ได้เป็นไม้ผลัดใบเหมือนกับคูนดอกสีเหลืองทั่วไป และหลังจากมีดอกร่วงแล้ว “คูนสายรุ้ง” ยังไม่ติดผลหรือฝัก เช่นคูนทุกชนิดอีกด้วย จึงถือเป็นเรื่องแปลกมาก
 
ส่วน ลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยรวมจะเหมือนกับคูนทั่วไปเกือบทุกอย่าง ดอก ออกเป็นช่อขนาดใหญ่ตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ช่อดอกห้อยลง ลักษณะพิเศษของดอก เมื่อเริ่มแรกจะเป็นสีชมพูอ่อนปนสีครีม จากนั้นจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้มปนสีเหลืองอย่างชัดเจน ทำให้ดูมีหลายสีในช่อเดียว เวลามีดอกดกช่อดอกห้อยลงจะดูสวยงามมาก จึงถูกผู้นำเข้าตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า “คูนสายรุ้ง” ดังกล่าว ที่เป็นจุดเด่นของ “คูนสายรุ้ง” อีกอย่างคือ ช่อดอกจะบานได้ทนนานเป็นเดือน ดอกออกช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคมทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบยอด
 
มีกิ่งตอนขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๕ ราคาสอบถามกันเองครับ.


    หางนกยูงไทย ไม่ใช่ไม้ไทย
หลายคน เข้าใจผิดคิดว่าต้น “หางนกยูงไทย” เป็นไม้ไทยและมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เพราะชื่อบอกตรงๆว่า “หางนกยูงไทย” แต่ความจริงแล้วไม้ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาเขตร้อน และ หมู่เกาะเวสต์อินดีส จากนั้นได้แพร่กระจายปลูกในเขตร้อนไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย และเนื่องจากถูกนำเข้ามาปลูกเป็นเวลานานกับมีชื่อเรียกว่า “หางนกยูงไทย” ด้วย จึงทำให้กลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย
 
หางนกยูงไทย หรือ CAESAL PINIA PULCHERRIMA LINN.อยู่ในวงศ์ LEGU MINOSAE เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒.๕ เมตร ไม่ผลัดใบ แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม ต้นเกลี้ยงหรือมีหนาม ใบประกอบแบบขนนก ๒ ชั้น ออกสลับ ใบย่อย ๗-๑๑ คู่ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายมนหรือเว้า โคนเบี้ยว ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด มีกลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่า ศูนย์กลางประมาณ ๔ ซม. มีเกสรตัวผู้ ๑๐ อัน มีด้วยกันหลายสี คือ สีเหลือง แดง ส้ม ชมพูแก่ และ สีแดงประขาว มีดอกทั้งปี เวลามีดอกจะสวยงามมาก นิยมปลูกประดับกันอย่างแพร่หลาย “ผล” เป็นฝัก มีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีต้นขายทั่วไป ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาอยู่ที่ขนาดของต้น
 
สรรพคุณทางสมุนไพร ของ “หางนกยูงไทย” ราก ของต้นชนิดที่มีดอกเป็นสีแดง สีอื่นใช้ไม่ได้ นำไปปรุงเป็นยารับประทาน สำหรับขับประจำเดือนของสตรี
 
อีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “หางนกยูงฝรั่ง” หรือ DELONIX REGIA (BOJER) RAF มีถิ่นกำเนิดจาก เกาะมาดากัสการ์ ต้นสูงใหญ่ ๑๐-๑๕ เมตร ดอกเป็นสีเหลืองแดง ออกดอกช่วงเดือน เมษายน–มิถุนายน เป็นไม้ผลัดใบก่อนจะมีดอก หรือ ออกดอกขณะแตกใบอ่อน แตกต่างจากชนิดแรกอย่างชัดเจนครับ.

3447  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล เมื่อ: 22 กรกฎาคม 2558 15:07:29
.

  มณฑิรา
ไม้ต้นนี้ มีวางขาย มีป้ายชื่อเขียนติดไว้ว่า “มณฑิรา” และมีภาพถ่ายของดอกจริงแขวนโชว์ให้ชมด้วย ทีแรกที่เห็นคิดว่าเป็นมณฑาป่าหรือมณฑาดอยที่เคยแนะนำในคอลัมน์ไปแล้ว แต่ผู้ขายยืนยันว่าเป็นคนละชนิดกัน เพียงแต่ลักษณะดอก สีสันของดอกจะคล้ายกันเท่านั้น และผู้ขายบอกต่ออีกว่าถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ารูปทรงของดอก “มณฑิรา” จะกลมป้อมกว่าดอกของมณฑาป่าหรือมณฑาดอยที่ดอกจะกลมรีและยาวกว่าอย่างชัดเจน

จากการดูต้นจริงที่วางขาย ประกอบกับภาพถ่ายของดอกแล้ว “มณฑิรา” น่าจะอยู่ในสกุล MAGNOLIACEAE ซึ่งผู้ขายบอกว่าถูกต้องและบอกลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๑๕ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับถี่บริเวณปลายยอด เนื้อใบหนา คล้ายแผ่นหนังเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวสด เวลาใบดกให้ร่มเงาดีมาก  ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกขณะตูมเป็นรูปกลมป้อมหรืออาจรีเล็กน้อย ดอกเป็นสีชมพูอมแดงตั้งแต่ดอกยังตูมอยู่ เรื่อยไปจนกระทั่งดอกแก่และร่วงโรยไป กลีบดอกเป็นรูปกระทง มี ๓ กลีบ เรียงซ้อนกันหลายชั้น กลีบชั้นนอกสุดเมื่อบานจะกางออกตามภาพประกอบคอลัมน์ เนื้อกลีบดอกค่อนข้างหนาและอวบน้ำ ดอกมีขนาดใหญ่มาก มีเกสรตัวผู้หลายอัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามยิ่งนัก “ผล” เป็นผลรวม รูปไข่ป้อม มีผลย่อยจำนวนมาก เมล็ดเยอะ ตามจำนวนของผลย่อย ดอกออกได้เรื่อยๆ อยู่ที่ความสมบูรณ์ของต้น ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง และเสียบยอด  มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑ ผู้ขายบอกว่า “มณฑิรา” สามารถปลูกได้ทั้งลงกระถางขนาดใหญ่และปลูกลงดินกลางแจ้งมีดอกสวยงามเหมือนกัน ราคาสอบถามกันเองครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


  มณฑาป่า
ไม้ต้นนี้ เป็นไม้เฉพาะถิ่น พบขึ้นในหลาย ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขึ้นกระจายตามป่าดิบเขาที่ระดับความสูงตั้งแต่ ๑ พันเมตรขึ้นไป ในประเทศไทยพบมากที่สุดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคอื่นพบประปราย เป็นไม้ยืนต้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือดอกมีขนาดใหญ่และดอกดกเต็มต้น สีสันของดอกสวยงามประทับใจมาก กำลังเป็นที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับอย่างแพร่หลายทั้งตามบ้าน สำนักงาน สวนสาธารณะทั่วไป สามารถเติบโตและมีดอกได้ดีในพื้นที่ราบต่ำ เหมือนกับที่พบตามธรรมชาติในพื้นที่สูง

มณฑาป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า MANG-LIETIA GARRETTII CRAIB อยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๒๐ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับถี่บริเวณปลายยอด ใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนมน ก้านใบยาว ๓-๕ ซม. โคนก้านใบบวมพอง เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวสด ใบดกให้ร่มเงาดีมาก   ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ที่ปลายยอด ดอกตูมรูปกลมป้อม ยาวประมาณ ๖-๖.๕ ซม. กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ก้านดอกยาว ๒.๕-๓ ซม. กลีบดอกเป็นรูปกระทง หนาและอวบน้ำ เป็นสีชมพูอมแดงหรือแกมม่วง กลีบดอกกว้างประมาณ ๓ ซม. ยาว ๖-๖.๕ ซม. มีเกสรตัวผู้ยาว ๑-๑.๕ ซม. เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามประทับใจยิ่งนัก “ผล” เป็นกลุ่ม รูปไข่ป้อม มีผลย่อย จำนวนมาก เมื่อผลแก่จะแยกกัน ส่วนบนมีจะงอยสั้น ดอกออกได้เรื่อยๆ เกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอด มีชื่อเรียกอีกคือ “มณฑาดอย”   มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ราคาสอบถามกันเองครับ.  นสพ.ไทยรัฐ


  ยี่หุบสวรรค์
ยี่หุบสวรรค์ เกิดจากการเขี่ยเกสรผสมระหว่าง ดอกมณฑาสวรรค์ เป็นไม้ในสกุลหรือวงศ์ MAGNOLIACEAE มีดอกเป็นสีชมพู กับเกสรของดอกยี่หุบทั่วไป เป็นไม้อยู่ในสกุลหรือวงศ์เดียวกัน มีดอกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวนวล ทั้งสองชนิดมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นก็นำเอาเมล็ดที่ได้จากผลที่เขี่ยเกสรผสมไปเพาะเป็นต้นกล้า คัดเอาต้นที่ดีที่สุดไปปลูกเลี้ยงจนต้นเจริญเติบโตมีดอก ปรากฏว่าดอกดกเต็มต้น และดอกชูตั้งขึ้นเหมือนกับดอกมณฑาสวรรค์ที่เป็นพันธุ์แม่ สีสันของดอกเป็นสีชมพู มีกลีบดอก ๙ กลีบ เรียงซ้อนกันเป็น ๓ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ดูงดงามมาก  ดอกมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ช่วงที่กลีบดอกเริ่มแย้มบาน ทำให้ได้สูดดมกลิ่นหอมแล้วรู้สึกสดชื่นยิ่งนัก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปช้อน ดอกมีขนาดใหญ่ มีดอกได้ง่ายและมีดอกดกแบบไม่ขาดต้น หรือมีดอกตลอดทั้งปีเหมือนกับดอกของยี่หุบพันธุ์พ่อ ผู้เขี่ยเกสรเชื่อว่าเป็นไม้สกุลหรือวงศ์ MAGNOLIACEAE พันธุ์ใหม่ เลยขยายพันธุ์ปลูกทดสอบความนิ่งอยู่หลายวิธี และหลายครั้ง ปรากฏว่าทุกอย่างยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นไม้กลายพันธุ์แบบถาวรแน่นอนแล้ว จึงตั้งชื่อว่า “ยี่หุบสวรรค์” ดังกล่าว

ยี่หุบสวรรค์ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้พุ่มยืนต้น สูง ๓-๕ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับถี่หรือหนาแน่นบริเวณปลายยอด ใบเป็นรูปใบหอก ขอบใบมักบิดพลิ้วคล้ายกับใบของมณฑาสวรรค์ เนื้อใบหนา สีเขียวเข้ม ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีชมพูมีกลิ่นหอม ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ดและทาบกิ่ง  ปัจจุบัน “ยี่หุบสวรรค์” มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกทั้งแบบลงดินกลางแจ้งและปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ ตั้งในที่มีแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน เวลามีดอกทั้งต้นจะสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจมากครับ นสพ.ไทยรัฐ


  คนทีสอญี่ปุ่น
ไม้ต้นนี้ พบมีวางขาย แต่ละต้นปลูกในกระถางขนาดกลาง ต้นสูงไม่ถึง ๑ เมตร มีดอกดกเต็มต้น สีสันของดอกสวยงามคล้ายช่อดอกคนทีสอทั่วไปมาก ซึ่งในตอนแรกที่เห็นคิดว่าเป็นต้นคนทีสอ แต่พอสังเกตให้ละเอียดจึงพบว่า ใบจะมีลักษณะไม่เหมือนใบคนทีสอทั่วไป โดยใบจะไปเหมือนกับใบต้นเมเปิ้ลแปลกตามาก ผู้ขายบอกว่าไม้ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่นและเพิ่งจะนำออกวางขายเป็นครั้งแรก ในชื่อภาษาไทยว่า “คนทีสอญี่ปุ่น” ส่วนชื่อเฉพาะภาษาอังกฤษผู้ขายบอกต่อว่าคือ VITEX อยู่ในวงศ์อะไรบอกไม่ได้ และที่แปลกได้แก่ใบของต้น “คนทีสอญี่ปุ่น” ดังกล่าวเมื่อเด็ดขยี้ดมจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวแตกต่างจากใบของคนทีสอทั่วไปที่จะไม่มีกลิ่นหอมเลย

คนทีสอญี่ปุ่น ผู้ขายบอกว่า เป็นไม้พุ่มสูง ๒-๓ เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือออกตรงกันข้ามหรือออกเรียงสลับ ใบรูปรีเป็นแฉก ๕แฉก ปลายแหลมคล้ายใบเมเปิ้ลตามที่กล่าวข้างต้น สีเขียวสดน่าชมยิ่งนัก  ดอก ออกเป็นช่อแบบเชิงลดที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย กลีบดอกเป็นหลอดปลายแยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนมี ๒ กลีบ ส่วนล่าง ๓ กลีบ ลักษณะของดอกโดยรวมแล้วจะคล้ายกับกลีบดอกของคนทีสอทั่วไปทุกอย่าง ดอกเป็นสีฟ้าอมม่วง มีเกสรตัวผู้ ๔ อัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก ส่วน “ผล” ผู้ขายบอกว่ายังไม่เคยพบเห็น แต่ยืนยันว่าดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง  ปัจจุบันต้น “คนทีสอญี่ปุ่น” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกประดับทั้งแบบลงดินกลางแจ้งและปลูกลงกระถางตั้งในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน เวลามีดอกบานจะดูสวยงามมากครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


  แอหนัง
ไม้ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานมากแล้ว ส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นพืชคลุมหน้าดินประเภทจัดสวนหย่อมจำนวนหลายๆ ต้น เป็นไม้ประดับรวมกับไม้สวยงามชนิดอื่นๆ เวลาแตกต้นและมีใบดกหนาแน่นจะดูโดดเด่นมาก แต่มักเกิดเชื้อราที่ใบ แล้วจะทิ้งใบจนเกลี้ยงต้น ทำให้ดูแลได้ยาก จึงเป็นสาเหตุให้ต้น “แอหนัง” ไม่ได้รับความนิยมปลูกประดับตามบ้านเท่าที่ควร

แอหนัง หรือ CROSSOSTEPHIUM CHINENSIS (L.) MAK อยู่ในวงศ์ COMPOSITAE หรือ ASTERACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ต้นสูง ๓๐-๕๐ ซม. ลำต้นตั้งตรงหรือเอนทอดเลื้อยได้ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปซ้อน รูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ ถึงรูปรี ใบยาวประมาณ ๓-๔ ซม. เนื้อใบอวบหนา ปลายใบเรียวแหลม โคนสอบหรือป้านยาว ใบดกและหนาแน่นมาก ผิวใบเป็นสีเทาเงินถึงสีเขียวอมเทา มีขนสั้นนุ่มสีขาวปกคลุมทั่วทั้งใบ ใบที่อยู่ด้านล่างสุดหรือใบแก่จะเป็นแฉกลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ปลายใบบางครั้งอาจมีเว้าเป็น ๓ แฉก ปลายแฉกป้าน ก้านใบสั้น เวลามีใบดกหนาแน่นจะดูสวยงามโดดเด่นมาก โดยเฉพาะถ้าปลูกปลายๆ ต้น หลายๆ กระถางรวมกัน  ดอก ออกเป็นช่อกระจุกกลมตามซอกใบใกล้ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กหลายดอก ดอกเป็นสีเหลืองสด ออกปีละครั้ง เมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่ เป็นไม้ชอบแดดจัด อากาศเย็น ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง มีชื่อเรียกอีกคือ ปากหลาน (กรุงเทพฯ) เล่านั่งฮวย และ นั่งฮวย (จีน)  ปัจจุบันต้น “แอหนัง” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๔ ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


  บัวสวรรค์ดอกขาว
โดยปกติ ดอกของบัวสวรรค์ จะเป็นสีชมพู ดอกไม่มีกลิ่นหอม ส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อชมความสวยงามของดอกเท่านั้น มีถิ่นกำเนิดจากประเทศในแถบตะวันออกกลางและประเทศแอฟริกาตะวันออก จากนั้นได้กระจายพันธุ์ปลูกตามเขตร้อนไปทั่วโลก มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ GUSTAVIA GRACILLIMA MIERS อยู่ในวงศ์LECYTHIDACEAE เป็นไม้พุ่ม สูง ๑.๕-๔ เมตร ดอกออกทั้งปี “ผล” มีรูปทรงเหมือนลูกข่าง มีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีชื่ออีกคือ กัสตาเวีย (กทม.)

ส่วน “บัวสวรรค์ดอกขาว” ผู้ขายกิ่งตอนบอกว่า เกิดจากการนำเอาเมล็ดของบัวสวรรค์ชนิดดอกสีชมพูไปเพาะเป็น ต้นกล้าแล้วนำไปปลูกเลี้ยงจำนวนหลายต้นจนต้นโตมี ดอก ปรากฏว่ามี บางต้นดอกกลายเป็นสีขาวแตกต่างจากพันธุ์ดั้งเดิมอย่างชัดเจน และที่สำคัญดอกยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆเฉพาะตัวอีกด้วย ถือเป็นเรื่องแปลกมาก เชื่อว่าเป็นบัวสวรรค์ตัวใหม่ เกิดจากการกลายพันธุ์อย่างแน่นอน จึงขยายพันธุ์ปลูกทดสอบความนิ่งอยู่หลายวิธีและหลายครั้งทุกอย่างยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีก ได้กลายพันธุ์อย่างถาวรแล้ว จึงตั้งชื่อว่า “บัวสวรรค์ดอกขาว” ดังกล่าว

บัวสวรรค์ดอกขาว มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับบัวสวรรค์ชนิดดอกชมพูเกือบทุกอย่าง ต้นสูง ๑.๕-๓ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มหนาแน่นมาก ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปใบหอก ปลายแหลม โคนสอบ ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบใกล้ปลายยอด มีกลีบดอก ๗-๙ กลีบ เนื้อกลีบหนา เป็นสีขาวหรือสีขาวนวล ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตามที่กล่าวข้างต้น ดอกเมื่อบานจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกบัวสวรรค์ชนิดดอกสีชมพูอย่างชัดเจน มีเกสรจำนวนมาก ดอกออกทั้งปี “ผล” คล้ายลูกข่าง มีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วย เมล็ดและตอนกิ่ง   นสพ.ไทยรัฐ  


  พุดกุหลาบฮอลแลนด์
พุดกุหลาบฮอลแลนด์ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือฮอลแลนด์ นำเข้ามาปลูกขยายพันธุ์ในบ้านเรานานแล้ว มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวคือ มีกลีบดอกเรียงซ้อนกันหลายชั้นจนทำให้ดูคล้ายดอกกุหลาบสีขาวสวยงามมาก จึงถูกตั้งชื่อภาษาไทยว่า “พุดกุหลาบฮอลแลนด์” และที่สำคัญดอก จะมีกลิ่นหอมแรงมาก เวลามีดอกดกเต็มต้นและดอกบานพร้อมกัน จะส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายเป็นที่ชื่นใจยิ่งนัก  ส่วนพุดสายพันธุ์ที่มีดอกลักษณะใกล้เคียงกับ “พุดกุหลาบฮอลแลนด์” คือ พุดฮาวายกับพุดเวียดนาม ทั้ง ๒ ชนิดนี้มีข้อแตกต่างกับ “พุดกุหลาบฮอลแลนด์” คือ มีกลีบดอกเรียงซ้อนกัน ๒ชั้น หรือไม่เกิน ๓ ชั้น ขนาดของดอกใหญ่ใกล้เคียงกัน จึงทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเสมอว่าเป็นพุดต้นเดียวกัน

พุดกุหลาบฮอลแลนด์ หรือ GRADENIA JASMINOIDES อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE เป็นไม้พุ่มสูง ๑.๕-๒ เมตร ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้ามรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนสอบ สีเขียวสด ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ที่ปลายยอด มีกลีบดอก ๕-๗ กลีบ เรียงซ้อนกันหนาแน่นหลายชั้นเกินกว่า ๕-๖ ชั้น เนื้อกลีบดอกหนาแข็ง เป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นหอมแรง โดยเฉพาะตอนพลบค่ำ ดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ดอกบานได้ทนนาน ๕ วัน เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๔ นิ้วฟุต ดอกออกได้เรื่อยๆ และดกมาก ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง  มีกิ่งตอนรุ่นใหม่ขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการเก่า ราคาสอบถามกันเองครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


 อโศกขาว
อโศกชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดจาก นิวกินี ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ขายในประเทศไทยบ้านเรานานหลายปีแล้ว โดย “อโศกขาว” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์เฉพาะคือ MANILTOA GRANDIFLORA SCHEFF., WHITE HANDKERCHIEF อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE หรือ FABACEAE มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ต้นสูงเต็มที่เฉลี่ยระหว่าง ๔-๕ เมตรเท่านั้น ไม่ผลัดใบ แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มหนาแน่น   ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดปลายคู่ มีใบย่อย ๑-๓ คู่ เป็นรูปขอบขนานหรือรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือป้าน ใบยาวประมาณ ๙-๑๗ ซม. และที่เป็นจุดเด่นคือเมื่อแตกใบอ่อน ใบอ่อนดังกล่าวจะเป็นพู่ หรือเป็นจีบเรียงซ้อนกันเป็นระเบียบยาวห้อยลงเป็นระย้า และเป็นสีขาวหรือสีชมพูทำให้ดูเหมือนดอก เวลาแตกยอดอ่อนทั้งต้นยอดอ่อนห้อยลงลองหลับตานึกภาพดูว่าจะสวยงามน่าชมขนาดไหน ผู้นำเข้าจึงตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า “อโศกขาว” ดังกล่าว ซึ่งหลังจากใบอ่อนแก่ขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวตามธรรมชาติ จากนั้นก็จะแตกยอดอ่อนเป็นสีขาวหรือสีชมพูให้ ชื่นชมอย่างต่อเนื่องไม่ขาดต้น  

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ที่ปลายยอด หรือออกตามกิ่งก้านใกล้ก้านใบ มีใบประดับหุ้มหลายชั้น มีกลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดเล็กไม่เท่ากัน มีเกสรตัวผู้สีขาวจำนวนมาก “ผล” เป็นฝักยาว ภายในมีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง   ปัจจุบัน “อโศกขาว” มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ หลายแผงหลายเจ้า มีทั้งต้นขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ราคาอยู่ที่ขนาดของต้น ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เวลาแตกยอดอ่อนจะดูสวยงามมากครับ นสพ.ไทยรัฐ  


  จอก
ถ้าพูดถึง “จอก” แล้วหลายคนจะไม่ชอบและคิดว่าเป็นวัชพืชไร้คุณค่า แต่ในความเป็นจริง “จอก” สามารถปลูกเป็นไม้ประดับแบบเฉพาะกาลได้สวยงามไม่แพ้ไม้น้ำชนิดใดๆ โดยส่วนใหญ่นิยมปลูกในบ่อเลี้ยงปลาขนาดเล็กหรือปลูกลงกระถางน้ำเล็กๆ ให้ปลาที่เลี้ยงไว้ได้ว่ายเข้าไปหลบซ่อนตัวตามรากของ “จอก” เป็นธรรมชาติและดูสวยงามมาก แต่มีข้อห้ามไม่ควรปล่อย “จอก” ลงสู่ห้วยหนองคลองบึงหรือแม่น้ำอย่างเด็ดขาด เพราะ “จอก” เป็นไม้แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

จอก หรือ PISTIA STRATIOTES L. อยู่ในวงศ์ ARACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้น้ำขนาดเล็ก มีรากเป็นกระจุกยาวได้ถึง ๔๐ ซม. ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับเป็นกระจุกแบบกลีบกุหลาบซ้อนกันหลายชั้น ใบเป็นรูปลิ่ม รูปช้อน หรือรูปลิ้น กว้างได้ถึง ๘ ซม. ยาว ๙ ซม. ปลายใบกว้าง โคนใบรูปลิ่ม เนื้อใบหนา มีนวลสีขาวคล้ายแป้งทั่วทั้งใบ ดูสวยงามมาก   ดอก ออกเป็นช่อแบบเชิงลด ออกตาม ซอกใบ ลักษณะเป็นดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ก้านช่อดอกเป็นสีขาวแกมเขียว “ผล” รูปทรงกลมขนาดเล็ก ภายในมีเมล็ดจำนวนหลายเมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณทางสมุนไพร ตำรายาพื้นบ้านภาคอีสาน ใช้ทั้งต้นรวมรากแบบสดหรือตากแห้งจำนวนตามต้องการ ต้มกับน้ำท่วมยามากหน่อยจนเดือด ๑๐-๑๕ นาที ดื่มครั้งละ ๑ แก้ว วันละ ๒ ครั้ง เช้าเย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้เป็นยาขับปัสสาวะดีมาก   ปัจจุบันมีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒ ราคาสอบถามกันเอง ผู้ปลูกส่วนใหญ่นิยมซื้อไปปลูกประดับเป็นไม้น้ำในกระถางบัวเลี้ยงปลาทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และเพื่อไว้ใช้ประโยชน์ทางยาตามที่กล่าวข้างต้นครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


  จอกหูช้าง
ไม้ชนิดนี้พบมีต้นขาย ปลูกในกระถางไม้น้ำขนาดกว้าง ๑๒ นิ้วฟุต ลำต้นลอยเหนือผิวน้ำ แตกใบเป็นชั้นๆ ซ้อนกันดูสวยงามแปลกตามาก ผู้ขายบอกไม่ได้ว่า “จอกหูช้าง” มีถิ่นกำเนิดจากที่ไหน บางคนบอกว่าเป็นไม้นำเข้าจากต่างประเทศ แต่บอกไม่ถูกว่าประเทศอะไร และบางคนบอกว่า “จอกหูช้าง” มีแหล่งที่พบตามธรรมชาติทางภาคเหนือของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะปลูกเป็นไม้น้ำประดับในพื้นที่จำกัด เวลาแตกต้นและใบลอยเหนือน้ำจะกระจายเต็มภาชนะที่ปลูกน่าชมยิ่ง

จอกหูช้าง เป็นไม้น้ำในสกุลเดียวกับ จอกทั่วไป คืออยู่ในวงศ์ ARACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้มีเหง้าหรือรากยาวใต้น้ำ ต้นเป็นกอหรือเป็นกระจุก ๑-๓ ต้น แล้วงอกขึ้นตามเหง้าหรือไหลลอย กระจายเหนือผิวน้ำอย่างรวดเร็ว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับถี่ซ้อนกันตามกิ่งก้านหรือลำต้น ใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบเป็นกาบติดกิ่งก้านหรือลำต้น เนื้อใบค่อนข้างหนาและแข็ง สีเขียวสด   ดอก ออกเป็นช่อขนาดเล็กตามซอกใบ ลักษณะดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกันเหมือนกับดอกจอกทั่วไป ดอกเป็นสีขาวหรือสีเขียวอ่อน “ผล” รูปทรงกลมขนาดเล็ก ในผลมีเมล็ดหลายเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น   ปัจจุบันมีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒  ราคาสอบถามกันเอง นิยมปลูกเป็นไม้น้ำประดับบ่อปลาหรือปลูกประดับในกระถางไม้น้ำตามที่กล่าวข้างต้น เวลาแตกต้นกระจายลอยเหนือผิวน้ำจะดูสวยงามมาก ที่สำคัญเหง้าหรือรากยาวใต้น้ำจะช่วยให้ปลาที่เลี้ยงไว้อยู่อาศัยเป็นธรรมชาติดียิ่ง  อย่างไรก็ตาม “จอกหูช้าง” เป็นไม้น้ำที่กระจายต้นได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับจอกทั่วไป จึงไม่ควรนำไปปลูกหรือทิ้งในห้วยหนองคลองบึง จะทำให้ยากต่อการกำจัดในภายหลังครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


  แม่ฮ้างสามสิบสองผัว
ไม้ต้นนี้ มีวางขายมีป้ายชื่อติดไว้ว่า “แม่ฮ้างสามสิบสองผัว” ซึ่งผู้ขายบรรยายสรรพคุณทางสมุนไพรให้ฟังว่า บางส่วนของต้น “แม่ฮ้างสามสิบสองผัว” เป็นยาดีสำหรับสตรีโดยเฉพาะ เมื่อกินแล้วจะทำให้แข็งแรง ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และที่สำคัญจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศให้ผู้หญิงที่เบื่อเรื่องบนเตียงหรือเรื่องเพศ ให้กลับดีขึ้นเหมือนกับสาวแรกรุ่นอีกครั้ง และช่วยเพิ่มน้ำหล่อลื่นให้ผู้หญิงที่ช่องคลอดแห้ง โดยเฉพาะสตรีสูงอายุที่ผู้ขายบอกต่อว่าจะทำให้เลือดลมเดินดี ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลดูอ่อนกว่าวัย บำรุงหัวใจอีกด้วย

ส่วนวิธีกิน ผู้ขายบอกว่าให้เอารากหรือทั้งหัวของต้น “แม่ฮ้างสามสิบสองผัว” จำนวน ๑กำมือ หรือขยุ้มหนึ่ง ต้มกับน้ำท่วมยา หรือมากหน่อยจนเดือด ดื่มขณะน้ำอุ่นๆ เป็นประจำทุกวัน วันละ ๑-๒ แก้ว ก่อนหรือหลังอาหารหรือตอนไหนก็ได้ จะทำให้สตรีมีร่างกายแข็งแรงสุขภาพดีทุกอย่างตามที่กล่าวข้างต้น

แม่ฮ้างสามสิบสองผัว หรือ GOMPHOSTEMMA LUCIDUM VAR. LUCIDUM อยู่ในวงศ์ LABIA-TAE (LAMIACEAE) เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ ๑-๑.๕ เมตร ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ผิวใบเป็นคลื่นและมีขนทั่ว สีเขียวสด   ดอก ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ลักษณะดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นปาก ๒ กลีบ สีขาวอมเหลือง หรือ สีครีม “ผล” รูปทรงกลม มีเมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด  มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการเก่า  ราคาสอบถามกันเองครับ นสพ.ไทยรัฐ  


  แบล็คมิ้นต์
ไม้ต้นนี้ เป็นพืชที่นิยมใช้ประกอบอาหารอย่างแพร่หลายในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา โดยส่วนใหญ่จะใช้ใบสดดับกลิ่นคาวของอาหารจำพวกเนื้อวัว แพะ แกะ และอาหารทะเลชนิดต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มกลิ่นหอมทำให้รับประทานอร่อยยิ่งขึ้น  นอกจากนั้น ใบสดของต้น “แบล็คมิ้นต์” ยังถูกนำไปสกัดเป็นสมุนไพรใช้รักษาโรคได้หลายอย่าง เช่น แก้ปวดท้อง โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ และ กลิ่นหอมจากใบสด เมื่อเด็ดขยี้สูดดมจะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

แบล็คมิ้นต์ เป็นพืชในตระกูลเดียวกับเปปเปอร์ม้ินต์ มีลักษณะคล้ายกันมาก มีข้อแตกต่างที่ลำต้นกิ่งก้านของ “แบล็คมิ้นต์” จะเป็นสีแดงคล้ำหรือสีม่วงเข้มเกือบดำ จึงถูกตั้งชื่อตามสีสันของลำต้นกิ่งก้านว่า “แบล็คมิ้นต์” ดังกล่าว มีชื่อเฉพาะคือ MENTHA PIPERITAL. อยู่ในวงศ์ LABIATAE เป็นวงศ์เดียวกับสะระแหน่ที่คนไทยชอบรับประทานนั่นเอง ซึ่ง “แบล็คมิ้นต์” เป็นพันธุ์ถูกนำเข้ามาจากประเทศในแถบยุโรป เป็นพืชล้มลุก ลำต้นทอดเลื้อยตามหน้าดิน สามารถยาวได้ ๒-๓ ฟุต แตกกิ่งก้านหนาแน่นมาก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม เป็นรูปรี ปลายแหลม โคนมน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย เนื้อใบค่อนข้างหนา มีน้ำหอมระเหยกระจายทั่ว เมื่อเด็ดใบสดขยี้ดมจะมีกลิ่นหอมแรงมาก โดยกลิ่นจะหอมเหมือนกลิ่นหมากฝรั่งที่เคี้ยวอยู่ในปากอย่างชัดเจน แตกต่างจากใบของเปปเปอร์มิ้นต์ ที่จะมีกลิ่นหอมเย็น และกลิ่นจะอ่อนกว่าเยอะ ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น

ปัจจุบัน “แบล็คมิ้นต์” มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทางอาหาร และเป็นสมุนไพรตามที่กล่าวข้างต้น หรือปลูกเพื่อเก็บใบสดไปตากแห้งบรรจุถุงจำหน่ายได้ราคาดีมากครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


  หว้า
หว้า เป็นไม้ป่าที่พบขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าแล้ง และป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยพันธุ์ดั้งเดิมจะมีผลขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันมีผู้นำเอาต้นพันธุ์ที่มีผลขนาดใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์เก็บผลขาย ได้รับความนิยมรับประทานอย่างแพร่หลาย ซึ่งไม่ว่าจะเป็น “หว้า” สายพันธุ์ไหนจะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และสรรพคุณทางสมุนไพรเหมือนกันทุกอย่างคือ เปลือกต้นมีรสฝาด ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้ปากเปื่อย คอเปื่อยเป็นเม็ด แก้น้ำลายเหนียว ใบสดอ่อนกินแก้บิด ผลกินแก้ท้องร่วง เมล็ดแก้ปัสสาวะมาก แก้ท้องร่วง ใบต้มเอาน้ำสระล้างแผลสด ตำทาแก้โรคผิวหนัง เมล็ดต้มหรือบดกินแก้โรคเบาหวาน เปลือกต้นต้มน้ำสระล้างบาดแผลสมานดีมาก

หว้า ทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์ผลใหญ่จากต่าง ประเทศมีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกันคือ BLACK PLUM EUGENIA CUMINI (L.) DRUCE อยู่ในวงศ์ MYRTACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๒๐ เมตร ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนเกือบมน แผ่นใบมีจุดน้ำมันบริเวณขอบใบ  ดอก ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๓-๘ ดอก กลีบดอกสีขาว มีเกสรเป็นเส้นฝอยๆ สีขาวนวลจำนวนมาก “ผล” เป็นผลสด รูปกระสวย ซึ่งสายพันธุ์ไทยจะมีขนาดเล็กเท่าปลายนิ้วก้อยมือผู้ใหญ่ หากเป็นสายพันธุ์ต่างประเทศผลโตเต็มที่เท่าปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ ต่างกันอย่างชัดเจน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีม่วงอมแดงหรือสีม่วงคล้ำเกือบดำ รสชาติหวานฝาด รับประทานอร่อยมาก ๑ ผล มี ๑ เมล็ด มีดอกและติดผลปีละครั้งตามฤดูกาลช่วงฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง  ปัจจุบัน “หว้า” สายพันธุ์ต่างประเทศที่มีผลขนาดใหญ่ มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๗ ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


  ว่านกระแจะจันทร์
สมัยก่อนคนไทยรู้จักนำเอา “ว่านกระแจะจันทร์” ไปใช้ประโยชน์มาแต่โบราณแล้ว โดยแรกทีเดียวนิยมเฉพาะในราชสำนักก่อนจะแพร่หลายสู่ภายนอก ส่วนใหญ่จะเอาหัวของ “ว่านกระแจะจันทร์” จำนวนตามต้องการ ไปสกัดด้วยกรรมวิธีต่างกันทำเป็นเครื่องประทินผิวสตรี เรียกกันว่า “เครื่องหอมกระแจะจันทร์อบร่ำ” นิยมกันมากในยุคสมัยนั้น เพราะจะมีกลิ่นหอมรัญจวนใจยิ่งนัก   นอกจากนั้น ในการทำพระเครื่องจำพวกเนื้อผง หัว “ว่านกระแจะจันทร์” จะต้องเป็นหนึ่งในมวลสารทั้งหมดที่ทำพระเครื่องรวมอยู่ด้วย บ้านไหนเรือนไหน หรือร้านค้าร้านขาย ให้ความนับถือกันว่า “ว่านกระแจะจันทร์” เป็นว่านเสน่ห์มหานิยมระดับแถวหน้า และมักจะปลูกหรือเอาหัวไปแช่น้ำมันจันทร์แล้วว่าคาถา “นะโม พุทธายะ” ๓ จบกำกับก่อนพกติดตัวเดินทางไปติดต่อธุรกิจเข้าพบผู้หลักผู้ใหญ่ประสบความสำเร็จในการเจรจาดีมาก

ว่านกระแจะจันทร์ เป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับเปราะหอม ใบเป็นรูปรีเกือบกลม ปลายใบแหลม โคนมน สีใบด้านหน้าเขียว ท้องใบและขอบใบเป็นสีแดงหรือแดงอมม่วง โดยเฉพาะขณะที่ใบยังเล็กอยู่สีจะเข้มจัด หัว รูปทรงกลม โตเต็มที่ประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ เนื้อในเป็นสีนวลหรือสีขาว มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมื่อนำไปตากแห้งแล้วบดเป็นผงกลิ่นหอมจะยังคงอยู่เหมือนเดิม แตกต่างจากหัวของว่านชนิดอื่นที่ตากแห้งแล้วบดเป็นผงกลิ่นจะจางลง หรือไม่มีกลิ่นหอมเหลืออยู่เลย ดอกสีขาวมีแต้มสีแดงชัดเจน ออกดอกช่วงฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยหัว อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “กระแจะ” เป็นไม้พุ่ม เปลือกต้นต้มน้ำดื่มแก้ไข้ บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่นดีนัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า OCHNA WALLICHII ดอกเป็นสีเหลือง  ส่วน “ว่านกระแจะจันทร์” มีหัวสดหรือต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๓ ราคาสอบถามกันเองครับ  นสพ.ไทยรัฐ  


  ว่านกาบหอยแครง
ไม้ต้นนี้ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเม็กซิโก คิวบา อเมริกากลาง ได้แพร่กระจายปลูกไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย มีชื่อ วิทยาศาสตร์ว่า TRADESCANTIA SPATHACEA SWARTZ อยู่ในวงศ์ COMMELINACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุก สูง ๒๐-๖๐ ซม. ลำต้นอวบใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงซ้อนกันเป็นวงรอบลำต้น ใบเป็นรูปใบหอก ปลายแหลม โคนใบตัดโอบติดลำต้น ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ด้านล่างเป็นสีม่วงแดง เวลามีใบดกจะสวยงามมาก

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ มีทั้งเป็นช่อเดี่ยวและหลายช่อ แต่ละช่อประกอบด้วยใบประดับที่เป็นกาบ ๒ กาบ สีม่วงแซมเขียว รูปหัวใจโค้ง โคนกาบทั้งสองประกบเกยซ้อน และโอบหุ้มดอกสีขาวขนาดเล็กที่อยู่รวมกันเป็นกระจุก มีกลีบเลี้ยงสีขาวบางใส ๓ กลีบ กลีบดอก ๓ กลีบ สีขาวรูปไข่ แผ่นกลีบหนา มีเกสรตัวผู้ ๖ อัน “ผล” รูปรี มีเมล็ดขนาดเล็ก ขยายพันธุ์ด้วยไหล หรือยอด

สรรพคุณเฉพาะ ตำรายาแผนไทยใช้ใบเป็นยาแก้ร้อนในกระหายนํ้า ฟกชํ้า จีนใช้ดอกแก้อาการตกเลือดในลำไส้ แก้บิด แก้ไอ ในประเทศไต้หวันใช้ใบตำพอกแผลถูกมีดบาดและแก้บวม

ส่วนสูตรแก้กรดไหลย้อน ใช้ใบ “ว่านกาบหอย แครง” กับใบเตยสดกะจำนวนเท่ากัน ต้มกับนํ้าจนเดือดดื่มต่างนํ้าทั้งวันครั้งละครึ่งแก้ว ผสมนํ้าผึ้ง ๑ ช้อนชา นํ้ามะนาว ๑ ช้อนชา และเกลือป่นเล็กน้อย ดื่ม ๓-๔ วัน อาการกรดไหลย้อนจะค่อยๆ ดีขึ้น ถ้าต้องการให้หายขาดต้องต้มดื่ม ๓-๖ เดือนติดต่อกัน แต่มีข้อแม้ว่าหลังกินอาหารต้องออกกำลังเบาๆ ทุกครั้ง อย่ากินแล้วนอนอย่างเด็ดขาด   ปัจจุบัน “ว่านกาบหอยแครง” มีต้นขายทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  

3448  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล เมื่อ: 21 กรกฎาคม 2558 17:52:43
.
  จอกหูช้าง
ไม้ชนิดนี้ พบมีต้นขาย ปลูกในกระถางไม้น้ำขนาดกว้าง ๑๒ นิ้วฟุต ลำต้นลอยเหนือผิวน้ำ แตกใบเป็นชั้นๆ ซ้อนกันดูสวยงามแปลกตามาก ผู้ขายบอกไม่ได้ว่า “จอกหูช้าง” มีถิ่นกำเนิดจากที่ไหน บางคนบอกว่าเป็นไม้นำเข้าจากต่างประเทศ แต่บอกไม่ถูกว่าประเทศอะไร และบางคนบอกว่า “จอกหูช้าง” มีแหล่งที่พบตามธรรมชาติทางภาคเหนือของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะปลูกเป็นไม้น้ำประดับในพื้นที่จำกัด เวลาแตกต้นและใบลอยเหนือน้ำจะกระจายเต็มภาชนะที่ปลูกน่าชมยิ่ง

จอกหูช้าง เป็นไม้น้ำในสกุลเดียวกับ จอกทั่วไป คืออยู่ในวงศ์ ARACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้มีเหง้าหรือรากยาวใต้น้ำ ต้นเป็นกอหรือเป็นกระจุก ๑-๓ ต้น แล้วงอกขึ้นตามเหง้าหรือไหลลอย กระจายเหนือผิวน้ำอย่างรวดเร็ว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับถี่ซ้อนกันตามกิ่งก้านหรือลำต้น ใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบเป็นกาบติดกิ่งก้านหรือลำต้น เนื้อใบค่อนข้างหนาและแข็ง สีเขียวสด  ดอกออกเป็นช่อขนาดเล็กตามซอกใบ ลักษณะดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกันเหมือนกับดอกจอกทั่วไป ดอกเป็นสีขาวหรือสีเขียวอ่อน “ผล” รูปทรงกลมขนาดเล็ก ในผลมีเมล็ดหลายเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น  ปัจจุบันมีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒  ราคาสอบถามกันเอง นิยมปลูกเป็นไม้น้ำประดับบ่อปลาหรือปลูกประดับในกระถางไม้น้ำตามที่กล่าวข้างต้น เวลาแตกต้นกระจายลอยเหนือผิวน้ำจะดูสวยงามมาก ที่สำคัญเหง้าหรือรากยาวใต้น้ำจะช่วยให้ปลาที่เลี้ยงไว้อยู่อาศัยเป็นธรรมชาติดียิ่ง  อย่างไรก็ตาม “จอกหูช้าง” เป็นไม้น้ำที่กระจายต้นได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับจอกทั่วไป จึงไม่ควรนำไปปลูกหรือทิ้งในห้วยหนองคลองบึง จะทำให้ยากต่อการกำจัดในภายหลังครับ.   นสพ.ไทยรัฐ  


  ฝาง
ฝางแต่ละชนิด จะมีสีของแก่นแตกต่างกัน แต่มีชื่อวิทยาศาสตร์และลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกันหมดคือ CAESAL-PINIA SAPPAN, L.HAEMA TOXYLIN COMPECHIANUM อยู่ในวงศ์ CAESAL PINEAE ทุกชนิดเป็นไม้พุ่ม สูง ๕-๘ เมตร ลำต้นกิ่งก้านมีหนาม ใบประกอบขนนก ๒ ชั้น ออกเรียงสลับรูปไข่หรือรูปขอบขนาน โคนใบเฉียง ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบใกล้ปลายยอดและปลายยอด กลีบดอกเป็นสีเหลือง เวลามีดอกจะดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักแบนสีน้ำตาลมีเมล็ดดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง แก่นไม้เป็นสีแดง มีวัตถุผลึกไม่มีสี ชื่อ HAEMATOXYLIN อยู่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวัตถุดังกล่าวเมื่อถูกอากาศอาจจะกลายเป็นสีแดงและมีเทนนิน, เรซิน และน้ำมันหอมระเหย ใช้เป็นยาสมานอย่างอ่อน แก้ท้องเดิน ใช้ทำเป็นยาต้ม ๑ ใน ๒๐ หรือยาสกัดสำหรับ “เฮมาท็อกซลิน” ใช้เป็นสีสำหรับย้อมNUCLEI  ของเซลล์

ประโยชน์ทางยา แก่น “ฝาง” ทุกสีมีรสขื่นขมและฝาด กินเป็นยาบำรุงโลหิตสตรี แก้ปอดพิการ ขับหนอง ทำให้โลหิตเย็น แก่นต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้ร้อน แก้โลหิตออกทางทวารหนักและเบา นอกจากนั้นแก่น ยังต้มดื่มแก้คุดทะราด แก้เสมหะ แก้โลหิต แก้เลือดกำเดาด้วยการใช้ทำน้ำยาอุทัยแก่นของ “ฝาง” ทุกสี ชนิดสีไหนก็ได้ ปรุงเป็นยาหัวหน้า และมีบางตำรับกล่าวว่า เนื้อไม้ของ “ฝาง” ทุกสียังเป็นยาขับเลือดประจำเดือนสตรีอย่างแรงได้เช่นกัน

ฝางอีกชนิดแก่นเป็นสีแดงเข้ม เรียกว่า “ฝางเสน” กับชนิดแก่นเป็นสีเหลือง เรียกว่า “ฝางส้ม” ทุกชนิดมีชื่อเรียกอีกคือ ง้าย (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี) หนามโค้ง (แพร่) และ โซบั๊ก (จีน) มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ โครงการ ๒๑ ราคาสอบถามกันเองครับ.   นสพ.ไทยรัฐ  


  คำแสด  
ในตำรายาแผนไทยระบุสรรพคุณว่า เปลือกของราก ต้น “คำแสด” กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือดดื่มขณะอุ่นวันละ ๒ เวลา ก่อนหรือหลังอาหารเช้าเย็น เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย ใบ ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ แก้บิด ขับปัสสาวะ ผล ใช้เป็นยาฝาดสมาน เปลือกช่องเมล็ดมีสาร BIXIN ให้สีแดงใช้แต่งสีอาหารได้ เนื้อเมล็ด นำไปเข้ายาหอม ยาฝาดสมานแก้ไข้ แก้โรคหนองใน ได้ทั้งบุรุษและสตรี แก้ไข้มาลาเรีย ใช้ถอนพิษที่เกิดจากพิษมันสำปะหลังและต้นสบู่แดง

คำแสด หรือ BIXA ORELLANA LINN. ชื่อสามัญ ANNATO, ARNATTO, ROUCOU อยู่ในวงศ์ BIXACEAE มีถิ่นกำเนิดอเมริกาเขตร้อน ในประเทศไทยมีปลูกแพร่หลายทั่วไป เคยพบมากที่สุดในแถบจังหวัดสิงห์บุรี มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น สูง ๕-๑๐ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงสามเหลี่ยมหรือทรงฉัตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายแหลม โคนเว้า สีเขียวสด  ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกมีกลีบดอก ๕ กลีบ เป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้เป็นกระจุกจำนวนมาก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะงดงามยิ่ง “ผล” เป็นรูปไข่หรือรูปทรงกลม มีขนสีแดงคล้ายผลเงาะ เวลาติดผลทั้งต้นจะดูแปลกตามาก ผลแก่แตกได้ ภายในมีเมล็ดเยอะ มีเปลือกหุ้มสีแดง ดอกและผลออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยคือ คำเงาะ, คำแงะ, คำไท, คำแฝด (กรุงเทพฯ) ชาด (ภาคใต้) ซิติหมัก (เลย) มะกายหยุม และ แสด (ภาคเหนือ)   คำแสด มีต้นขาย ทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แต่ละแผงราคาไม่เท่ากันอยู่ที่ขนาดของต้น เหมาะจะปลูกเป็นทั้งไม้ประดับและใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้นคุ้มค่ามากครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


  ดอกฟูจิ (วิสทีเรีย)  
ช่วงฤดูใบไม้ ผลิ ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่เพียงแต่จะ มีซากุระให้ชม อีกหนึ่งดอกไม้งามที่ผลิบานห้อยพวงระย้าคือดอกฟูจิ หรือวิสทีเรีย หนึ่งในเจ็ดต้นไม้มหัศจรรย์ของโลก ไม้เถาที่มีกลิ่นหอมนี้มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย เช่น เกาหลี จีน ญี่ปุ่น รวมถึงทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ตำราบอกว่ามีประมาณสิบ สายพันธุ์ ดอกสีขาว ชมพู ม่วงคราม รวมถึงพันธุ์ไฮเบิร์ดสีแดงที่เริ่มมีให้เห็น แต่สายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากที่สุดคือ เจแปนนิส วิสทีเรีย และ ไชนีสวิสทีเรีย ที่แทบจะไม่มีอะไรแตกต่าง ยกเว้นลักษณะการพันของเถา เจแปนนิสวิสทีเรียจะพันเถาตามเข็มนาฬิกา ส่วนไชนีสวิสทีเรียจะพันทวนเข็มนาฬิกา

ต้นวิสทีเรียจะเริ่มออกดอกประมาณปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม สามารถไต่สูงได้ถึง ๒๐ เมตรเหนือพื้นดิน แผ่กระจายออกไป ๑๐ เมตรโดยรอบ ขนาดของดอกที่ห้อยจะมีขนาดประมาณ ๑๐-๘๐ ซ.ม.  

ด้วยความที่วิสทีเรียเป็นไม้ตระกูลถั่ว บางคนเชื่อว่าเป็นดอกไม้กินได้ แต่ในความเป็นจริงวิสทีเรียเป็นต้นไม้พิษอันดับหนึ่ง ในสิบอันดับดอกไม้อันตราย หากกินเข้าไปจะมีอาการคลื่นเหียน อาเจียน เป็นตะคริวและท้องร่วง  นสพ.ข่าวสด  


  กาบหอยแครง  
กาบหอยแครง หรือ Venus Flytrap เป็นพืชกินสัตว์ที่ดักจับและย่อยกินเหยื่อที่จับได้ซึ่งส่วนมากเป็นแมลงและแมง มีโครง สร้างกับดักคล้ายบานพับแบ่งออกเป็น ๒ กลีบอยู่ที่ปลายใบของแต่ละใบ มีขนกระตุ้นบางๆ บนพื้นผิวด้านในกับดัก เมื่อแมลงมาสัมผัสขนกระตุ้นสองครั้งกับดักจะงับเข้าหากัน

ชื่อ Venus Flytrap อ้างอิงถึงเทพีวีนัส เทพีแห่งความรักของชาวโรมัน ขณะที่ชื่อสกุล Dionaea เป็นสกุลที่มีเพียงชนิดเดียวและเป็นญาติใกล้ชิดกับ Aldrovanda vesiculosa และสกุลหยาดน้ำค้าง

เครื่องปลูก ใช้ขุยมะพร้าว ควรหมั่นเปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่ทุกๆ ๑-๒ ปี ระวังอย่ารดน้ำมากจนเกินไป เจริญเติบโตได้ดีภายใต้สภาพอากาศของประเทศไทย ในแสงแดดพรางแสง ๕๐-๖๐% นสพ.ข่าวสด  


  จำปูน  
จําปูน ดอกไม้ประจำจังหวัดพังงา พบทางภาคใต้ของไทย บริเวณคาบ สมุทรมลายู และยังพบในภาคตะวันออกเฉียงใต้แถบจังหวัดจันทบุรี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anaxagorea java- nica เป็นพรรณไม้ดอกมีกลิ่นหอมหวาน ดอกมีขนาดเล็ก กลีบหนา อูม ลักษณะคล้ายดอกบัวตูม  เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ต้นใบและกิ่งคล้ายกระดังงา ลำต้นสูงราว ๒-๔ เมตร ทรงพุ่มค่อนข้างโปร่ง กิ่งก้านเกลี้ยง ลำต้นตรง เปลือกเรียบมีสีเทาคล้ำ ใบสีเขียวเป็นมัน พื้นใบเกลี้ยง ยาวประมาณ ๔-๖ นิ้ว ดอกเดี่ยวออกตามยอดหรือโคนก้านใบ ลักษณะดอกจะแข็ง มีสีขาวนวลเป็นมัน มี ๓ กลีบ โคนกลีบสีเขียว เมื่อบานเต็มที่ประมาณ ๑นิ้ว มีกลิ่นหอมแรงในช่วงกลางคืนและหอมอ่อนในช่วง เช้า ดอกบานวันเดียวแล้วร่วง ออกดอกตลอดปี แต่ดกในฤดูฝน

ผลเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย ๔-๑๐ ผล เมื่อผลแก่แล้วเมล็ด จะแตกตัว กระเด็นไปได้ไกล ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและ ตอนกิ่ง ชอบแสงแดดรำไร ควรปลูกในดินร่วนระบายน้ำดี  นสพ.ข่าวสด  


  ตีนตุ๊กแก
ตีนตุ๊กแก เป็นไม้ล้มลุก ออกดอกตลอดปี ถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา ในประเทศไทยพบทุกภาคบริเวณที่ชื้นทั่วไปหรือชื้นแฉะริมน้ำ เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี ลำต้นทอดนอนไปตามพื้น ชูยอดและดอกขึ้นตามต้นและใบ  ข้อของต้นที่แตะพื้นจะมีรากและเจริญเป็นต้นใหม่ได้ ลำต้นเล็กเรียวสีขาวแกมเขียว แตกแขนงเล็กน้อย มีขนปกคลุม ใบเดี่ยวเรียงตัวแบบตรงข้าม ก้านใบยาว ๕-๑๕ ม.ม. ด้านบนก้านใบเป็นร่อง ใบรูปไข่หรือรูปข้าวหลามตัด ขอบใบหยัก โคนใบแหลม ปลายใบแหลม ผิวใบมีขนเล็กๆ ปกคลุม ท้องใบและหลังมีขนสีน้ำตาลปกคลุม

ช่อดอกเป็นแบบ ovoid head เกิดที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกเล็กเรียวยาว ๑๐-๒๕ ซ.ม. ผลรูปหอก ๒ อันประกบกัน เมล็ดรูปยาวรี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและปักชำกิ่ง  นสพ.ข่าวสด


  ดอกกระเจียว  
ช่วงนี้ดอกกระเจียวเริ่มบานสวยงาม ชื่อเรียกอื่นๆ คือปทุมมา บัวสวรรค์ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cercuma alismatifolia Gagnep มีถิ่นกำเนิดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ลักษณะทั่วไป ทรงพุ่มสูงประมาณ ๕๕ ซ.ม. กว้างประมาณ ๕๐ ซ.ม. ลำต้นเทียมสูงประมาณ ๓๐ ซ.ม. กาบใบสีเขียวโคนสีแดง ก้านใบยาวประมาณ ๑๐ ซ.ม. ใบเป็นรูปรีค่อนข้างแคบ แผ่นใบเรียบไม่มีขน บริเวณเส้นกลางใบอาจมีสีแดง ไม่มีเส้นลอย

ช่อดอกเกิดจากปลายลำต้นเทียม ใบประดับสีเขียว บางครั้งอาจมีสีม่วงชมพูแต้มบ้าง ใบประดับไม่มีขน ส่วนบนมีสีชมพูอมม่วง ดอกสีขาวปากสีม่วง ปากมีสันตามแนวยาว ๒ สัน ด้านในของสันเป็นสีเหลือง กลีบสเตมิโนดมีสีขาวขนานกัน อับละอองเรณูป่องตลอดอัน  ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด แยกเหง้า ผ่าเหง้า เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ชอบดินร่วนระบายน้ำดี อินทรียวัตถุสูง แสงจัด ดอกอ่อนกินสดได้หรือนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริก มีรสเผ็ดร้อน สรรพคุณช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ  นสพ.ข่าวสด  


  มิกกี้เมาส์  
ได้ยินชื่อปุ๊บ เชื่อว่าเพื่อนๆ คงอยากรู้จักพันธุ์ไม้ชนิดนี้กันแล้ว มิกกี้เมาส์เป็นไม้พื้นเมืองของทวีปแอฟริกา ชื่อสามัญว่า Mickey Mouse Plant เป็นไม้พุ่มสูงได้ถึง ๓ เมตร กิ่งก้านเยอะ พุ่มทึบ ใบแข็งหนาสีเขียวเข้ม รูปมนรี ปลายแหลม ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่ง ดอกจะเติบโตเป็นสองช่วง ในช่วงที่ดอกบานระยะแรกจะมีกลีบบางสีเหลืองสด ๕ กลีบ หลังจากดอกเหลืองโรยไปแล้วกลีบรองดอกจะกลายเป็นสีแดงสด ในดอกมีเม็ด ๓-๔ เม็ด พอแก่กลายเป็นสีดำ มองรวมแล้วเหมือนหน้าหนูมิกกี้เมาส์ในการ์ตูนวอลต์ดิสนีย์

ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ขึ้นง่าย แต่โตช้า นสพ.ข่าวสด  


  จิกทะเล
จิกทะเล ต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม ถิ่นกำเนิดตามหาดทรายชายทะเลทั่วไป ชื่อวิทยาศาสตร์ Barringtonia asiatica (Linn.) Kurz วงศ์ MRY TACEAE ชื่อเรียกอื่นๆ เช่น จิกเล โคนเล อามุง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูง ๑๐ เมตร แผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วต้น กิ่งมีขนาดใหญ่ มีรอยแผลอยู่ทั่วไป เป็นรอยแผลที่เกิดจากใบที่ร่วงหล่นไป เปลือกต้นสีน้ำตาลหรือสีเทา ใบเดี่ยวสีเขียวเข้มสลับกันไปตามข้อต้น ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ อยู่ตามปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว เกสรสีชมพูอยู่ตรงกลาง ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ผลขนาดใหญ่ โคนเป็นสี่เหลี่ยมป้าน ปลายสอบ  

เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบดินร่วนปนทราย หรือดินทราย ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด  นสพ.ข่าวสด  


  พิงก์มอส  
ช่วงนี้ใครไปเที่ยวญี่ปุ่นคงจะได้ชมทุ่งพิงก์มอส อวดสีสันบานสะพรั่งสวยงามสุดสายตาในหลากหลายภูมิภาคทั่วแดนปลาดิบ พิงก์มอสมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชิบะซากุระ (Shibazakura) หรือชื่อเป็นทางการว่า Moss Phlox/Phlox Subulata เป็นดอกไม้พันธุ์เล็กขนาดประมาณ ๑.๕ ซ.ม. มีทั้งสีชมพู แดง ม่วง และขาว

ชิบะซากุระเป็นพันธุ์ที่มาจากอเมริกาเหนือ เรียกว่า Tweet มีลักษณะคล้ายดอกซากุระแต่บานและออกดอกบนพื้นดิน จึงเป็นที่มาของชื่อ Shiba (พื้นดิน) + Zakura (ซากุระ)

ดอกพิงก์มอสหรือชิบะซากุระชอบอยู่บนดินที่ระบายน้ำได้ดีและมีแดดส่องทั่วถึง นิยมปลูกบนกำแพงหินหรือที่ลาดชันเป็นลักษณะคล้ายสโลป จึงกลายเป็นเสน่ห์ของสวนที่ปลูกดอกชนิดนี้ นสพ.ข่าวสด  


  นมแมว    
นมแมวเป็นไม้พุ่มขนาดกลางเข้าข่ายเป็นไม้เลื้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rauwenhoffia siamensis scheff. ขึ้นตามชายป่าชื้นและป่าเบญจ พรรณในภาคกลางและภาคใต้ นำมาปลูกเป็นไม้ประดับบ้างแต่ไม่แพร่หลาย ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันน้อยและหาชมยาก ทั้งๆ ที่เป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกเลี้ยงได้ง่าย ดอกมีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ คนไทยจึงเรียกน้ำหอมปรุงกลิ่นขนมว่า น้ำนมแมว

พันธุ์ไม้ชนิดนี้มีขนละเอียดนุ่มตามกิ่งอ่อนซึ่งมีสีเขียวปนน้ำตาล กิ่งมักจะหักคดไปมาเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวและดกเรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปรี ยาว ๑๐-๑๒ ซ.ม. กว้าง ๓-๔ ซ.ม. ปลายมน สีใบด้านล่างอ่อนกว่าด้านบน ดอกมักจะออกเดี่ยวๆ จากซอกใบ และห้อยลงขนาดประมาณ ๑.๕ ซ.ม. สีเหลืองอ่อนหรือเหลืองอมน้ำตาล กลีบวงนอกและวงในวงละ ๓ กลีบ รูปไข่ ขอบกลีบจรดกัน ปลายตรง เกสรตรงกลางสีเหลืองอมส้ม มักจะมีน้ำหวานเหนียวๆ แทรกอยู่ ดอกหอมตอนเย็นไปจนถึงกลางคืน ผลเล็กขนาดปลายนิ้ว ติดกันเป็นพวง ผลสุกสีเหลืองอมส้ม รับประทานได้

ถึงแม้ว่านมแมวจะไม่มีดอกเด่นสะดุดตา แต่มีกลิ่นหอมชวนดม จึงเป็นที่นิยมและกล่าวถึงกันมานาน  นสพ.ข่าวสด  


  ม่านบาหลี
ม่านบาหลี เป็นไม้เลื้อย ทิ้งรากเป็นเส้นสีแดงดูสวยงาม ชื่อวิทยาศาสตร์ Centella asiatica Urban ชื่อวงศ์ UMBELIFERAE ดอกสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เป็นไม้เลื้อยที่มีรากอากาศ ใบสีเขียวเข้ม รากอากาศเมื่อแตกใหม่จะมีสีชมพู แต่เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีน้ำตาล ชอบแดดจัด เจริญเติบโตได้เร็ว หากได้รับน้ำดี ขยายพันธุ์โดยการปักชำ นิยมเลี้ยงเป็นไม้ประดับซุ้มเพื่อความร่มรื่น ใช้ประดับตกแต่งสวน ปลูกบริเวณประตู หน้าต่าง หรือปลูกเป็นซุ้ม   นสพ.ข่าวสด  


  ม่วงเทพรัตน์
ดอกม่วงเทพรัตน์ หรือ Persian Violet ได้รับพระราชทานชื่อภาษาไทยว่า “ม่วงเทพรัตน์” เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Exacum affine เป็นไม้ล้มลุก เดิมเป็นพืชท้องถิ่นของเกาะ Socotra หมู่เกาะ  Yemen ในมหาสมุทรอินเดีย ใบสีเขียวเข้มรูปไข่ ยาว ๔ ซ.ม. ความสูงในสภาพธรรมชาติประมาณ ๖๐ ซ.ม. ออกดอกในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ดอกมีสีม่วงอมฟ้า รูปร่างของดอกเมื่อบานเต็มที่แล้วมีทรงคล้ายดาว มีเกสรตัวผู้สีเหลืองเห็นได้ชัดเจน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

การขยายพันธุ์คล้ายๆ กับดอกคุณนายตื่นสาย คือ ใช้กิ่งปักชำ แม้ตอนเพาะเนื้อเยื่อต้องมีห้องปรับอากาศ แต่เมื่อต้นแข็งแรงสมบูรณ์ดีแล้วสามารถออกมาปลูกในสภาพธรรมชาติได้แม้จะเป็นไม้ต่างประเทศก็ตาม  นสพ.ข่าวสด  
3449  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล เมื่อ: 21 กรกฎาคม 2558 17:50:12
.
  แย้มปีนัง
ไม้ดอกสวยงามหลายชนิดนอกจากจะมีดอกสวยงามน่าชมแล้ว บางส่วนจากต้นยังมีทั้งประโยชน์และโทษอยู่ในตัวด้วย ซึ่ง “แย้มปีนัง” ก็จัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าวเช่นกัน โดย เมล็ดของ “แย้มปีนัง” มีสารชื่อ G–STROPHANTHIN หรือ OUABAIN ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ในบางประเทศแถบยุโรปเอาไปทำเป็นยาฉีดรักษาโรคหัวใจ ยาพื้นบ้านไทยใช้เมล็ดเป็นยารักษาโรคหนองใน แต่มีความเป็นพิษสูงต้องระวัง ซึ่งอาการของพิษจะทำให้คลื่นไส้ ท้องเสีย หัวใจเต้นแรงและเร็ว วิธีแก้ ต้องทำให้อาเจียนและรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

แย้มปีนัง หรือ STROPHANTHUS GRATUS (HOOK) BAILL. ชื่อสามัญ CREAM FRUIT อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE มีถิ่นกำเนิดจากแอฟริกาและเอเชียทั่วไป เป็นไม้พุ่ม สูง ๓-๔ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนมน ผิวใบเรียบ สีเขียวสด  ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๕-๗ ดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วงอมชมพู มีรยางค์เป็นเส้นสีม่วงรอบปากกรวย มีเกสรตัวผู้ ๕ อัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามน่าชมมาก ดอกออกช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนธันวาคมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป “ผล” เป็นฝักคู่ เมื่อแก่แตกอ้า ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ซึ่งแต่ละเมล็ดจะมีปุยสีขาวเป็นกระจุกติดที่ส่วนปลายเมล็ดด้านหนึ่ง แต่จะไม่ค่อยติดผลให้เห็นนัก ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง มีชื่อเรียกอีกคือ บานทน และ หอมปีนัง (กรุงเทพฯ)  มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาแต่ละแผงไม่เท่ากันอยู่ที่ขนาดของต้น เหมาะจะปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เวลามีดอกจะสวยงามมากครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


  จำปีแดง
ไม้ต้นนี้มีกิ่งตอนวางขายพร้อมมีภาพถ่ายของดอกจากต้นจริงโชว์ให้ชมด้วย ผู้ขาย บอกว่า “จำปีแดง” มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย เป็นลูกผสมระหว่างไม้ดอกสวยงามในวงศ์แมกโนเลียด้วยกัน แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นระหว่างตัวไหนกับตัวไหน ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว สามารถเจริญเติบโตและมีดอกดกสีสันงดงามมากในทุกสภาพอากาศของบ้านเรา  โดยเฉพาะผู้ขายบอกต่อว่า “จำปีแดง” ปลูกได้ทั้งลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวันและปลูกลงดินกลางแจ้ง เป็นไม้ดูแลง่ายเพราะ “จำปีแดง” ไม่ชอบน้ำเยอะหรือน้ำท่วมขัง เนื่องจากจะทำให้รากเน่า ต้นตายยืน เป็นไม้ชอบแดดจัดและ “จำปีแดง” เป็นสายพันธุ์ที่แตกใบอ่อนพร้อมมีดอกได้ตลอดเวลาหรือบ่อยที่สุด ทำให้เวลามีดอกดกและดอกบาน พร้อมกันทั้งต้นดูสีสวยงามมาก

จำปีแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ตามที่ผู้ขายกิ่งตอนเขียนติดไว้คือ MAGNOLIA LILIIFLORA อยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE เป็นไม้ต้น สูงเพียง ๒-๔ เมตรเท่านั้น ไม่ได้สูงใหญ่เหมือนกับไม้สกุลเดียวกันที่จะสูงกว่า ๕ เมตรขึ้นไป ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนเกือบมน สีเขียวสด ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ ดอกตูมรูปกระสวย มีกลีบดอกหลายชั้น รูปกลีบรีกว้าง สีชมพูเข้ม ดอกมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ดอกออกทั้งปีขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง   ปัจจุบัน “จำปีแดง” มีกิ่งตอนขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑ เป็นกิ่งที่ขยายพันธุ์ด้วยระบบเสียบยอดกับตอจำปาพื้นเมืองของไทย มีรากแก้วแข็งแรงทุกต้น เมื่อนำไปปลูกจะทำให้เติบโตเร็ว แข็งแรงและมีดอกดกสวยงามตามภาพ ประกอบคอลัมน์ ราคาสอบถามกันเองครับ.   นสพ.ไทยรัฐ  


  คูนชมพูดอกสีเข้ม
คูนต้นนี้ มีขายพร้อมมีภาพถ่ายของดอกจริงโชว์ให้ชมด้วย ซึ่งทีแรกเข้าใจว่าเป็นคูนสายรุ้งที่เคยแนะนำในคอลัมน์ไปแล้ว แต่ผู้ขายยืนยันและบอกให้สังเกตให้ดีจะพบว่าสีสันของดอกจะเป็นสีชมพูเข้มเกือบแดงแตกต่างจากดอกคูนสายรุ้งอย่างชัดเจน และผู้ขายบอกต่อว่า “คูนชมพูดอกสีเข้ม” เป็นไม้เกิดในไทย โดยนำเอาเมล็ดของคูนชมพูสายพันธุ์ต่างประเทศมีดอกเป็นสีชมพูอ่อนเกือบขาวไปเพาะเป็นต้นกล้าจำนวนหลายต้นปลูกจนต้นโตและมีดอก  ปรากฏว่า มีอยู่ต้นหนึ่งดอกมีขนาดใหญ่กว่าคูนชมพูพันธุ์แม่ ช่อดอกยาว สีสันของดอกเป็นสีชมพูเข้มจนเกือบแดงแตกต่างจากคูนชมพูอย่างชัดเจน จึงขยายพันธุ์ตอนกิ่งปลูกทดสอบพันธุ์หลายวิธีทุกอย่างยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เชื่อว่าเป็นไม้กลายพันธุ์ใหม่อย่างถาวรแน่นอนแล้ว จึงตั้งชื่อว่า “คูนชมพูดอกสีเข้ม” และขยายพันธุ์ทำกิ่งออกขายดังกล่าว

คูนชมพูดอกสีเข้ม อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE เป็นไม้ยืนต้น สูงเต็มที่ไม่เกิน ๕-๖ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง เป็นไม้ผลัดใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ใบย่อย ๓-๘ คู่ รูปไข่ป้อม สีเขียวสด ดอกออกเป็นช่อยาวห้อยลงตามซอกใบ ดอกมีขนาดใหญ่กว่าดอกคูนทั่วไป เป็นสีชมพูเข้มอมแดง เวลามีดอกดกจะทิ้งใบทั้งต้นเหลือเพียงดอกบานทั้งต้นดูสวยงาม “ผล” เป็นฝักยาว มีเมล็ดมาก ดอกออกเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และเสียบยอด  มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงบริเวณโครงการ ๑๕ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เวลามีดอกจะสวยงามมากครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  
 

   กระดังงาไทยเขาใหญ่
กระดังงาไทย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งในแหล่งที่ปลูกอาจมีข้อแตกต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อยตามสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ ส่วนใหญ่แล้วขนาดของดอกและช่อดอกจะใหญ่เล็กไม่เท่ากันและช่อดอกมีมากน้อยไม่เหมือนกัน และ “กระดังงาไทยเขาใหญ่” ที่พบมีกิ่งตอนวางขาย มีภาพถ่ายดอก จริงโชว์ให้ชมด้วยนั้น ผู้ขายบอกว่ามีแหล่งปลูกประดับในพื้นที่รอบเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา มีข้อเด่นคือ กลีบดอกจะมีความหนาใหญ่และยาวกว่ากลีบดอกกระดังงาไทยทั่วไป มีกลิ่นหอมแรงมาก ที่สำคัญดอกจะเป็นช่อกระจุกเกิน ๕-๗ ดอกต่อช่อ ทำให้เวลามีดอกดกดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมแรงกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ประทับใจยิ่ง โดยเฉพาะผู้ขายบอกอีกว่าเมื่อนำเอาดอกไปลนไฟพอสลบจะส่งกลิ่นหอมเพิ่มขึ้น จึงถูกตั้งชื่อว่า “กระดังงาไทยเขาใหญ่” ตามแหล่งปลูกดังกล่าว

กระดังงาไทยเขาใหญ่ หรือ CANANGA ODORATA (LAM.) HOOK.F.-THOMSON ODO-RATA อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๘-๑๐ เมตร แตกกิ่งก้านจำนวนมาก ปลายกิ่งโค้งงอลง ใบเดี่ยว ออกสลับ รูปรี ปลายแหลม โคนมน สีเขียวสด ดอกออกเป็นช่อเหนือรอยแผลของก้านใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๕-๗ ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียวรูปสามเหลี่ยม มี ๓ กลีบ ปลายกลีบงอขึ้น กลีบดอกเรียงซ้อนกัน ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ รูปขอบขนาน ปลายแหลม เนื้อกลีบหนาใหญ่และยาวตามที่กล่าวข้างต้น มีกลิ่นหอมแรง “ผล” รูปกลม ติดผล ๕-๑๐ ผล ผลสุกสีดำ แต่ละผลมีเมล็ด ๒-๑๐ เมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง  มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักรทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเองครับ.   นสพ.ไทยรัฐ  


  ยี่หุบนพรัตน์
ไม้ต้นนี้ พบมีกิ่งตอนวางขายมีภาพถ่ายจากดอกจริงโชว์ให้ชมด้วย ผู้ขายบอกว่า “ยี่หุบนพรัตน์” เกิดจากการผสมเกสรระหว่าง มณฑา-นพรัตน์ กับเกสรของ ยี่หุบพื้นเมืองทั่วไป จากนั้นก็นำเอาเมล็ดที่ได้จากผลที่เกิดจากการผสมเกสรดังกล่าวไปเพาะเป็นต้นกล้าจำนวนหลายต้นแล้ว  แยกต้นไปปลูกจนเจริญเติบโตมีดอก ปรากฏว่ามีอยู่หลายต้นเตี้ยกว่าต้นของพันธุ์พ่อและพันธุ์แม่อย่างชัดเจน ดอกมีขนาดใหญ่ขึ้น สีสันของดอกสวยงาม และที่สำคัญดอกจะมีกลิ่นหอมแรงมากตลอดทั้งวัน ผู้ผสมเกสรเชื่อว่าเป็นไม้กลายพันธุ์แน่นอน จึงคัดเอาต้นที่ดีที่สุดไปขยายพันธุ์ปลูกทดสอบพันธุ์อยู่หลายวิธีและหลายครั้ง ซึ่งทุกอย่างยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และกลายพันธุ์ถาวรแล้วจึงตั้งชื่อว่า “ยี่หุบนพรัตน์” พร้อมขยายพันธุ์ตอนกิ่งออกวางขายดังกล่าว

ยี่หุบนพรัตน์ อยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE เป็นไม้พุ่ม สูง ๑.๕-๒.๕ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับหนาแน่นบริเวณปลายกิ่ง ใบเป็นรูปใบหอก ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา แข็ง สีเขียวสด  ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกตูมโค้งเล็กน้อย มีกลีบรองดอก ๓ กลีบ กลีบหนาแข็ง เป็นสีเขียวอ่อนเกือบขาว กลีบดอกสีขาวครีม มี ๖-๑๒ กลีบ เรียงซ้อนกัน ๒-๔ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ แต่ละกลีบยาวประมาณ ๓-๕ ซม. เป็นรูปไข่ กลีบหนาแข็ง จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อบานเต็มที่ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจำนวนมาก ดอกมีกลิ่นหอมแรงตลอดทั้งวันตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีดอกบานพร้อมกันหลายๆดอก จะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจมาก “ผล” เป็นกลุ่ม มีเมล็ดจำนวนมาก ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด  ปัจจุบันมีกิ่งวางขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑ 11 ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เวลามีดอกสวยงามและส่งกลิ่นหอมประทับใจยิ่งครับ.   นสพ.ไทยรัฐ  


  คลิทอเรีย
ไม้ชนิดนี้มีต้นขายมีดอกเป็นช่อห้อยเป็นพวงสีสันสวยงามมาก ซึ่งทีแรกที่เห็นรูปทรงของดอกคิดว่าเป็นดอกอัญชันพันธุ์ใหม่ เพราะลักษณะดอกเหมือนกันทุกอย่าง แต่ผู้ขายยืนยันว่าเป็นคนละต้นกัน พร้อมบอกชื่อว่า “คลิทอเรีย” มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว สามารถเจริญเติบโตได้ดีและมีดอกงดงามเหมือนปลูกในถิ่นเกิด จึงขยายพันธุ์ตอนกิ่งวางขาย แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากคนคิดว่าเป็นต้นอัญชันนั่นเอง

คลิทอเรีย มีชื่อเฉพาะตามที่ผู้ขายเขียนไว้คือ CLITORIA FAIRCHILDIANA แต่ไม่ระบุวงศ์ ลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๓ เมตร ไม่ใช่ไม้เถาเลื้อย เช่นอัญชัน ใบเดี่ยว ออกสลับ รูปรีแกมขอบขนาน ปลายและโคนใบแหลม ส่วนใบของอัญชันเป็นใบประกอบและใบกลมมนขนาดเล็กกว่าเยอะ แตกต่างกันอย่างชัดเจน  ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ตามซอกใบใกล้ปลายยอด และปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ช่อดอกยาวและห้อยลงตามภาพประกอบคอลัมน์ ต่างจากดอกอัญชันที่ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามซอกใบ ลักษณะดอกของ “คลิทอเรีย” เหมือนกับดอกอัญชันทุกอย่าง แต่จะมีกลีบดอกหลายชั้นและขนาดของดอกใหญ่กว่า ดอกเป็นสีม่วงเข้มอมแดงเช่นเดียวกัน ทำให้เวลามีดอกดกเต็มต้นช่อดอกห้อยลงดูสวยงามยิ่ง ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง   มีกิ่งตอนขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกประดับในบริเวณบ้าน สำนักงาน สวนสาธารณะ และรีสอร์ททั่วไป หลังปลูกรดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ เดือนละครั้ง ตัดแต่งกิ่งสม่ำเสมอจะมีดอกสวยงามทั้งปีครับ.   นสพ.ไทยรัฐ  


  ดอนญ่าแดง
“ดอนญ่าแดง” ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยบ้านเรานานมากแล้ว มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะคือ MUSSAENDA ERYTHROPHLLA SCHUM.ET THOONN. อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ต้นสูง ๒.๕-๓ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาหนาแน่น รูปทรงกลม ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามรูปไข่หรือรูปรีกว้าง ปลายใบแหลม โคนใบมน มีขนนุ่มละเอียดทั่วทั้งใบ  ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด ลักษณะดอกมี กลีบเลี้ยงเป็นสีแดงเข้มขนาดใหญ่คล้ายกลีบดอก แยกเป็น ๕ กลีบ รูปค่อนข้างกลม ปลายแหลมเป็นติ่งโคนมน กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด สีแดงเข้ม ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลือง กลางดอกเป็นสีแดงเลือดนก เมื่อดอกบานเต็มที่เส้น ผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕-๒ ซม. มีเกสรตัวผู้ ๕ อัน เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามเจิดจ้ามาก ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง

ที่พบต้น “ดอนญ่าแดง” วางขาย ผู้ขายบอกว่าเป็นสายพันธุ์นำเข้าจากรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และบอกด้วยว่านำเข้ามาได้ประมาณ ๒-๓ ปีเท่านั้น โดย “ดอนญ่าแดง” เป็นไม้ปลูกกลางแจ้งและธรรมชาติชอบดินร่วนซุย เหมาะจะปลูกเป็นไม้ประดับชมความสวยงามของดอกแบบลงดินและปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ ตั้งประดับในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน รดน้ำบำรุงปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอจะมีดอกและกลีบเลี้ยงสีสันงดงามไม่ขาดต้น ปัจจุบัน “ดอนญ่าแดง” ที่เป็นสายพันธุ์จากรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการเก่า ราคาสอบถามกันเองครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


  ช่อมาลี
ในยุคสมัยก่อน นิยมปลูกต้น “ช่อมาลี” ในบริเวณบ้านเกือบทุกครัวเรือน เนื่องจากเวลามีดอกตามฤดูกาล ดอกจะดกเต็มต้นดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ชื่นใจยิ่งนัก โดยเฉพาะสตรีในยุคนั้น จะชอบหักเอากิ่งที่มีดอกของ “ช่อมาลี” ไปเสียบผมทำให้ส่งกลิ่นหอมเวลาเดินไปไหนต่อไหนผู้เข้าใกล้จะชื่นชอบสวยงามแบบไทยๆ น่ารักน่ามองมาก ปัจจุบัน “ช่อมาลี” ไม่ค่อยได้รับความนิยมปลูกเท่าที่ควร แต่ยังมีผู้ขยายพันธุ์ตอนกิ่งออกวางขายเป็นประจำ จึงแนะนำให้ปลูกอนุรักษ์ก่อนที่ “ช่อมาลี” จะสูญพันธุ์ไปในอนาคต

ช่อมาลี หรือ PARAMERIA LAEVI-GATA (JUSS) MOLDENKE อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นไม้เถาเลื้อย สามารถเลื้อยได้ยาวกว่า ๖-๑๐ เมตร เนื้อไม้เหนียว เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านโปร่ง ใบประกอบแบบขนนก ปลายคู่ รูปใบหอก ใบย่อยออกเรียงสลับ สีเขียวสดและเป็นมันเล็กน้อย  ดอก ออกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก บางช่อชูตั้งขึ้น บางช่อห้อยลง ดอกเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมเย็นเฉพาะตัว เวลามีดอกจะดกเต็มต้นและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามพร้อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจยิ่ง ดอกออกปีละครั้งช่วงระหว่างเดือนตุลาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน กุมภาพันธ์ ปีถัดไป ดอกบานได้ทน ๑-๒ อาทิตย์ ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง มีชื่อเรียกอีกคือ เครือเขามวก, เครือซูด, ส้มเย็น และ สร้อยสุมาลี ปัจจุบัน “ช่อมาลี” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๕ ราคาอยู่ที่ขนาดของต้น ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกให้ต้นเลื้อยซุ้มประตูหรือเลื้อยซุ้มดอกเห็ด ทำม้านั่งรอบโคนต้น รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยขี้วัวขี้ควายแห้งรอบโคนต้น ๒ เดือนครั้ง จะมีดอกดกส่งกลิ่นหอมชื่นใจเมื่อถึงฤดูกาลครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


  ลำดวน
ในยุคสมัยก่อน “ลำดวน” เป็นไม้ยอดนิยมปลูกประดับกันอย่างกว้างขวาง ทั้งตามบ้าน สำนักงาน หน่วยราชการ และโดยเฉพาะตามวัดวาอาราม เวลามีดอกบานจะเป็นสีเหลืองอร่ามทั้งต้นดูสวยงาม และส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจยิ่งนัก ปัจจุบันค่านิยมในการปลูก “ลำดวน” ได้ลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลา ทำให้แทบไม่พบเห็นต้น “ลำดวน” อีกเลย เป็นสาเหตุให้คนรุ่นใหม่รู้จัก “ลำดวน” น้อยมาก และอยากทราบว่าเป็นอย่างไร มีต้นวางขายที่ไหน

ลำดวน จัดเป็นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดศรีสะเกษ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ MELODORUM FROTICOSUM LOUR. อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้น สูง ๘-๑๐ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาแน่นเป็นรูปกรวยคว่ำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับรูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน ปลายและโคนใบแหลม สีเขียวสด ใบดกให้ร่มเงาดีมาก  ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ มีกลีบดอก ๒ ชั้น กลีบชั้นนอก ๓ กลีบ แผ่ออก กลีบชั้นใน ๓ กลีบ หุบเข้าหากัน ทั้ง ๖ กลีบ หนาและแข็ง เป็นสีเหลืองนวล ดอกมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูงดงามและส่งกลิ่นหอมประทับใจเป็นอย่างยิ่งตามที่กล่าวข้างต้น “ผล” เป็นผลกลุ่ม ผลสุกเป็นสีดำ มีเมล็ด ดอกออกตลอดปี จะดกมากในช่วงเดือนตุลาคม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง มีชื่อเรียกอีกคือ “หอมนวล” ประโยชน์ทางยา ดอกแห้ง เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ลม จัดอยู่ในจำพวก เกสรทั้งเก้า  มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๘ ราคาสอบถามกันเองครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


  พุดแตรงอนแอฟริกา
พุดชนิดนี้ พบมีต้นวางขายปลูกในกระถางดำ ขนาดกว้าง ๑๒ นิ้วฟุต แต่ละต้นสูงประมาณ ๑ เมตร มีดอกบานสะพรั่งดูงดงามแปลกตามาก ผู้ขายบอกว่าชื่อ “พุดแตรงอนแอฟริกา” เป็นไม้นำเข้ามาจากประเทศแอฟริกาหลายปีแล้ว สามารถปลูกประดับและขยายพันธุ์ในประเทศไทย บ้านเราได้ดีมีดอกดกเหมือนกับปลูกในถิ่นกำเนิดเดิมทุกอย่าง มีความแตกต่างจากพุดแตรงอนทั่วไปคือ ขนาดของดอกจะเล็กกว่าและเป็นไม้พุ่มไม่ใช่ไม้เลื้อย ดอกดกมากจึงกำลังเป็นที่นิยมปลูกอย่างกว้างขวางอยู่ในเวลานี้

พุดแตรงอนแอฟริกา จัดเป็นไม้ในสกุล GARDENIA อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE และไม้ในสกุลนี้มีมากมายหลายชนิด มีทั้งเป็นไม้พุ่มและไม้เลื้อย ซึ่ง “พุดแตรงอนแอฟริกา” อยู่ในกลุ่มเป็นไม้พุ่ม ต้นสูง ๒-๓ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้ามหรือเหลื่อมกันเล็กน้อย ใบเป็นรูปรี ปลายแหลม โคนมน ขอบใบหยักและเป็นคลื่น ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม เวลามีใบดกจะน่าชมยิ่ง  ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ และเป็นช่อ ๑-๓ ดอก ออกที่ปลายยอด ลักษณะดอกและกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ตัวหลอดเป็นสีเขียวปนขาว กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆัง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๖ กลีบ กลีบดอกรูปรี ปลายกลีบมน สีขาวสดใสใจกลางดอกเป็นสีเขียวอ่อน มีเกสรตัวผู้เป็นกระจุกสีเขียวอ่อนหรือสีขาว ดอกบานเต็มที่ จะมีขนาดเล็กกว่าดอกของพุดแตรงอนทั่วไปอย่างชัดเจน แต่ดอกของ “พุดแตรงอนแอฟริกา” จะดกกว่า จึงทำให้เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งต้นดูสวยงามมาก ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง  ปัจจุบัน “พุดแตรงอนแอฟริกา” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒ ราคาสอบถามกันเองครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


  ไอริสม่วง
ไอริส เป็นไม้ในสกุลใหญ่ทั่วโลกมีมากกว่า ๓๐๐ ชนิด แต่ละชนิดจะมีลักษณะดอก สีสันของดอกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด ในประเทศไทยถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์นานแล้ว ส่วนใหญ่ที่เห็นจนชินตาเป็นไอริสดอกสีเหลือง ซึ่งจะมีทั้งชนิดมีกลิ่นหอมและไม่หอม เป็นพันธุ์จากทวีปอเมริกาเขตร้อน ยุโรป บราซิล แอฟริกา บางส่วน และประเทศญี่ปุ่น  ส่วน “ไอริสม่วง” ในประเทศไทยนานๆ จะมีผู้นำต้นออกวางขายและจะถูกผู้ซื้อไปปลูกประดับแบบเหมาหมดทันที ไอริสจัดเป็นไม้สกุลใหญ่ตามที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งไอริสลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ๆด้วย และไอริสมีทั้งเป็นไม้มีหัว (BULB) และเป็นไม้มีเหง้า (RHIZOME) โดย “ไอริสม่วง” น่าจะอยู่ในกลุ่มลูกผสมใหม่ แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ไหนกับพันธุ์ไหน

ไอริสม่วง อยู่ในวงศ์ IRIDACEAE มีหัวหรือเหง้าใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับรอบลำต้น รูปแถบยาว ปลายแหลม โคนเป็นกาบหุ้มลำต้น สีเขียวสด ใบยาวได้เกือบ ๑ เมตร ดอก ออกเป็นช่อแทงขึ้นจากซอกใบบริเวณโคนต้นหรือหัว ก้านช่อยาวหรือสูงได้กว่า ๑ ฟุต ปลายช่อมีดอกเดี่ยวๆ มีกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปรีกว้าง ขนาดใหญ่ ปลายแหลม สีขาว กลีบดอกแยกเป็นอิสระกัน รูปกลมมน โคนกลีบคอดเล็ก มีด้วยกัน ๓ กลีบ ช่วงโคนกลีบจะเป็นสีน้ำตาลแดง แผ่นกลีบส่วนบนเป็นสีม่วง เส้นกลางใบเป็นลายสีขาวรูปก้างปลามองเห็นชัดเจน ทำให้เวลา “ไอริสม่วง” มีดอกบานจะดูสวยงามมาก ดอกออกช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องไปจนถึงฤดูร้อนของปีถัดไป ขยายพันธุ์ด้วยหัวและเหง้า มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงตรงกันข้ามโครงการ ๑๕ ราคาสอบถามกันเอง  

ไอริส เป็นสัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ หรือการล้างบาป กลีบดอก ๓ กลีบ หมายถึง พระบิดา พระบุตร และพระจิต เป็นดอกไม้แห่งแสงสว่าง ปลูกเป็นกลุ่มเวลามีดอกงดงามมากครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


  พู่จอมพลออสเตรเลีย
ไม้ต้นนี้ มีถิ่นกำเนิดจาก ประเทศออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์ขายในประเทศไทยเกือบ ๒ ปีแล้ว มีข้อเด่นกว่าพู่จอมพลทั่วไปคือ ขนาดของดอกใหญ่กว่า มีดอกดกไม่ขาดต้น สีสันของดอกแดงเข้มกว่าด้วย จึงทำให้เวลามีดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามเจิดจ้าน่าชมยิ่ง ที่สำคัญต้นจะเตี้ยแจ้ แตกกิ่งก้านแผ่กว้างออกทางด้านข้าง ไม่ตั้งตรงหรือสูงขึ้นดูเหมือนไม้เลื้อยหรือไม้คลุมดินเป็นเรื่องแปลกและแตกต่างจากพู่จอมพลทั่วไปอย่างชัดเจน

พู่จอมพลออสเตรเลีย จากการดูต้นและดอกจริง น่าจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับต้นพู่ชมพูที่มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาใต้ อยู่ในวงศ์ย่อยเดียวกันคือ MIMOSOIDEAE ซึ่ง “พู่จอมพลออสเตรเลีย” เป็นไม้พุ่มเตี้ยแจ้ ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๑ เมตร พู่ชมพูสูง ๓-๕ เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบเหมือนกัน แตกกิ่งก้านแผ่กระจายกว้างทางด้านข้างและกิ่งอ่อนลู่ลงไม่ตั้งตรงหรือสูงขึ้นตามที่กล่าวข้างต้น เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเกือบเข้ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ออกเรียงสลับมีใบย่อยขนาดเล็กเกินกว่า ๑๐ คู่ขึ้นไป ใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนเบี้ยวเกือบมน สีเขียวสด เวลาใบดกน่าชมมาก  ดอก ออกเป็นช่อกระจุกคล้ายดอกจามจุรี โดยดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายยอดและที่ปลายยอด ส่วนที่เห็นเป็นฝอยๆสีแดงไม่ใช่กลีบดอก แต่เป็นเกสรตัวผู้จำนวนมากแผ่กระจายกว้างเป็นวงกลมและมีขนาดใหญ่ดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักแบน ยาวประมาณ ๔-๖ ซม. เมื่อผลแก่จะแตกอ้า ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาล ๔-๖ เมล็ด ดอกออกตลอดปี และดอกดกเต็มต้นโดยธรรมชาติแบบไม่ขาดต้น ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือตอนกิ่ง  มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการเก่า ราคาสอบถามกันเองครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


  ลิตเติ้ลเจมส์
ไม้ต้นนี้มีต้นวางขายมีภาพถ่ายดอกจริงโชว์ให้ชมด้วย ผู้ขายกิ่งตอนบอกว่า “ลิตเติ้ลเจมส์” เป็นไม้ในวงศ์ MAGNOLIACEAE อยู่ในกลุ่มเดียวกับจำปี จำปา มณฑา และยี่หุบ ซึ่ง “ลิตเติ้ลเจมส์” มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกประดับในประเทศไทยบ้านเรานานแล้ว สามารถเจริญเติบโตและมีดอกได้ดีไม่แพ้ปลูกในประเทศบ้านเกิด มีข้อโดดเด่นคือ ดอกมีขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอมแรง ขนาดของต้นไม่สูงใหญ่นัก ดอกดกไม่ขาดต้น จึงทำให้เป็นที่นิยมปลูกอย่างกว้างขวางเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ลิตเติ้ลเจมส์ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้พุ่มต้น สูง ๒-๓.๕ เมตร แตกกิ่งก้านกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหนาแน่นบริเวณปลายยอด ใบรูปใบหอก ปลายแหลม โคนสอบ ขนาดใบใหญ่ ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนาและกรอบ ขอบใบเรียบ  ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ลักษณะดอกตูมทรงกลมป้อม มีกลีบรองดอก ๓ กลีบ หนาและแข็ง กลีบดอกมี ๖-๑๒ กลีบ เรียงซ้อนกัน ๒-๔ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ แต่ละกลีบเป็นรูปกลมมนหรือแหลมเล็กน้อย กลีบดอกสีขาว ดอกขนาดใหญ่ มีดอกดกเต็มต้น มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจำนวนมาก เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจยิ่ง “ผล” เป็นผลกลุ่ม สีเขียว มีเมล็ดจำนวนมาก ดอกออกทั้งปีและดอกดกเต็มต้นโดยธรรมชาติ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอดกับตอแมกโนเลียพันธุ์พื้นเมือง  ปัจจุบันมีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑ ปลูกได้ในดินทั่วไปและทุกพื้นที่ในประเทศไทย เหมาะจะปลูกประดับทั้งแบบลงดินกลางแจ้งและปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดวัน รดน้ำพอชุ่มวันละครั้ง บำรุงปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ เดือนละครั้ง จะทำให้มีดอกดกเต็มต้นสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจมาก ราคาสอบถามกันเองครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


  ขิงลำปี
ขิงลำปี เป็นไม้ล้มลุกจำพวกเดียวกันกับกระทือ ขิง และข่า มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์มีหัวหรือเหง้าใต้ดินเป็นสีขาวอมเขียว หัวหรือเหง้ามีกลิ่นหอมฉุนเฉพาะตัวเล็กน้อย ลำต้นแทงขึ้นจากหัวสูงประมาณ ๒-๒.๕ เมตร แตกเป็นกอ ๕-๑๐ ต้น ใบออกสลับซ้อนกันคล้ายใบดาหลา เป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายแหลม โคนเป็นกาบหุ้มลำต้น สีเขียวสด  ดอกออกเป็นช่อแทงขึ้นจากหัวใต้ดินโดยตรง ก้านช่อยาว ๒-๓ ฟุต หรืออาจยาวได้มากกว่านี้อยู่ที่ความสมบูรณ์ของดิน ปลายช่อประกอบด้วยกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่จำนวนมากเรียงซ้อนกันเหมือนกลีบเลี้ยงของดอกกระทือ เพียงแต่ช่อดอกของ “ขิงลำปี” จะยาวกว่ามาก คือ ยาวประมาณ ๑-๒ ฟุต ความใหญ่ของช่อโตเต็มที่ประมาณลำแขนผู้ใหญ่ เวลาช่อยาวจะโค้งงอดูสวยงามแปลกตามาก มีด้วยกันหลายสีคือ เหลืองสด สีส้ม เหลืองอมส้ม ชมพูหม่น และแดงหม่น ที่สำคัญคือ กลีบเลี้ยงดังกล่าวยังสามารถอุ้มน้ำไว้ได้ทำให้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของเหล่าแมลงชนิดต่างๆ เข้าไปวางไข่ขยายพันธุ์ สร้างระบบนิเวศได้ดีอีกด้วย

ส่วนของกลีบดอกเป็นสีเหลืองสด รูปปากมีลายประเป็นจุดสีน้ำตาลอมม่วงกระจายทั่วกลีบ มีเกสรตัวผู้ ๑ อัน เป็นสีดำ กลีบดอกจะแลบออกมาตามซอกของกลีบเลี้ยงสวยงามยิ่ง “ผล” รูปกลม ขนาดเล็กซ่อนอยู่ในซอกกลีบเลี้ยง มีเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยหัวหรือเหง้า พบขึ้นทั่วไปเฉพาะถิ่นทางภาคใต้ โดยจะขึ้นอยู่ในป่าดิบชื้นบนเขาสูง ซึ่งแต่ละแห่งที่พบสีของกลีบเลี้ยงจะแตกต่างกัน ชาวบ้านในพื้นที่บางแห่งเรียกว่า “กระทือช้าง”   นิยมตัดดอกนำไปปักแจกันขนาดใหญ่ ตั้งประดับตามบ้านสำนักงานห้องประชุมหรือประดับตามโรงแรมใหญ่ๆ และร้านอาหาร อยู่ได้นานกว่า ๑-๒ อาทิตย์ สร้างบรรยากาศและสีสันให้ดูงดงามเป็นที่ชื่นชอบยิ่งนัก   นสพ.ไทยรัฐ  


  ชมพูแสนสวย
ไม้ต้นนี้ พบมีต้นวางขายมีป้ายชื่อเขียนติดไว้ว่า “ชมพูแสนสวย” พร้อมมีภาพถ่ายของดอกโชว์ให้ชมด้วย ลักษณะดอก สีสันของดอกและขนาดของต้นแปลกตาไม่เคยพบเห็นมาก่อน ดอกจะคล้ายกับดอกเสือโคร่งและดอกชงโคที่เป็นไม้ยืนต้นสวยงามน่าชมมาก ผู้ขายบอกได้เพียงว่า “ชมพูแสนสวย” มีถิ่นกำเนิดจาก ประเทศออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๒ ปีแล้วสามารถเจริญเติบโตและมีดอกสวยงามได้เป็นอย่างดีในสภาพอากาศบ้านเรา ผู้นำเข้าจึงขยายพันธุ์ออกจำหน่ายดังกล่าว

สำหรับลักษณะต้นและดอกที่ดูด้วยสายตาประกอบกับผู้ขายบอก พอระบุได้ว่า “ชมพูแสนสวย” เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ต้นสูงเต็มที่ผู้ขายบอกว่าไม่เกิน ๑ เมตร ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็งไม่ใช่ไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขาไม่หนาแน่นนัก ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบกิ่งก้าน ใบเป็นรูปรีหรือรูปแถบแคบ ปลายและโคนใบแหลม เนื้อใบค่อนข้างหนาและแข็ง สีเขียวสด  ดอก ออกเป็นช่อกระจุก ๑-๓ ดอก ตามซอกใบและปลายยอด มีกลีบดอก ๔ กลีบ แยกเป็นอิสระกัน เป็นรูปรีเกือบมน ปลายกลีบแหลม โคนกลีบดอกคอดหรือกิ่วเหมือนกลีบดอกเสือโคร่งและกลีบดอกชงโค เป็นสีชมพูดูหวานๆ โคนกลีบมีแต้มแทงขึ้นจากโคนกลีบเป็นสีชมพูอมแดงเข้ม ใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้ยาวสีขาวโผล่พ้นกลีบดอกหลายอัน ทำให้เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นดูงดงามน่ารักยิ่ง ผู้ขายจึงตั้งชื่อตามลักษณะสีดอกว่า “ชมพูแสนสวย” ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง กำลังเป็นที่นิยมของผู้ปลูกอยู่ในเวลานี้  มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้ากองอำนวยการเก่า ราคาสอบถามกันเองครับ นสพ.ไทยรัฐ   <
3450  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ประชาคม 'อาเซียน' เรื่องน่ารู้..ที่คนไทยควรรู้ เมื่อ: 20 กรกฎาคม 2558 14:06:20
.

การทักทาย
เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ เป็นอีกสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกันในประชาคมอาเซียน


  ทักทาย  ไทย ไหว้
ไหว้ไทย
การไหว้สำหรับคนไทย คือ การแสดงความเคารพ นอบน้อม และมารยาทที่พึงปฏิบัติ มีทั้งการไหว้ผู้อาวุโสกว่า ไหว้ทักทายคนวัยไล่เลี่ยกัน ไหว้เพื่อขอร้อง ไหว้ขอบคุณ ไหว้เมื่อต้องลาจาก ไหว้ สักการะพระสงฆ์และพระพุทธรูป รวมถึงการไหว้ถวายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

ท่าทางการไหว้แบบไทยๆ ในชีวิตประจำวันทำได้โดยประสานหรือประณมมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน นิ้วชิด ปลายนิ้วจรดกัน หากไหว้พระต้องจรดหัวแม่มือที่หว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะเหนือหน้าผาก ก้มหัวให้หน้าขนานกับพื้น ไหว้ผู้ใหญ่ นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้จดหว่างคิ้ว ขณะที่การไหว้ผู้มีอายุใกล้เคียงกันหัวแม่มือจรดที่ปลายคาง นิ้วชี้แตะที่จมูก และค้อมหลังพอประมาณ โดยผู้อาวุโสกว่าจะ "รับไหว้" ด้วยการพนมมือไว้บริเวณอก

นอกจากท่าทางแล้ว เวลาคนไทยยกมือไหว้เรายังกล่าวคำทักทายต่างๆ ทั้งสวัสดี ลาก่อน ขอบคุณ และขอโทษ

ไม่ว่าสถานการณ์รอบตัวจะตึงเครียด หรือต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากเพียงใด เพียงยกมือไหว้อย่างจริงใจคนไทยก็จะยิ้มรับและไหว้ตอบเช่นกัน



  ทักทาย ลาว นบ
ภาษาไทยและภาษาลาวละม้ายคล้ายคลึงกัน วิธีทักทายและแสดงความเคารพของชาวลาวก็คล้ายกับ "ไหว้" ของไทย และ "ซัมเปียะห์" ของกัมพูชา แต่เรียกว่า "นบ"  โดยประนมมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน น้อมศีรษะเล็กน้อยพร้อมกล่าวคำทักทายตามกาลเทศะ อาทิ "สะบายดี" แปลว่าสวัสดี "สะบายดีบ่" หมายถึง สบายดีไหม รวมไปถึงขอบใจหลายๆ ขอโทด และลาก่อน

แม้บางโอกาสชายชาวลาวจะทักทายด้วยการจับมือเช็กแฮนด์แบบชาติตะวันตก แต่การนบยังเป็นวิธีส่งผ่านความรู้สึกที่นิยมและถ่ายทอดความจริงใจต่อผู้พบเจอหรือคู่สนทนาได้ดีที่สุด

ไม่เพียงแต่ชาวลาวจะนบเพื่อทักทายเท่านั้น ยังเป็นการแสดงความเคารพและสักการะพระสงฆ์ พระพุทธรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะต่างกันที่ระดับในการโน้มศีรษะ

ชาวลาวยังภาคภูมิใจในการนบ โดยมองว่าการโอบกอดและจูบทักทายแบบฝรั่งถือเป็นการเหยียดหยามและสร้างความอับอาย เว็บไซต์ท่องเที่ยวของประเทศลาว ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงมีข้อมูลแนะนำการแสดงออกที่เหมาะสม พร้อมเชิญชวนให้นักท่องเที่ยว "นบ" ทักทายระหว่างเยือนประเทศลาว เพราะนอกจากจะแสดงถึงความเคารพเล้ว ยังเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไปในตัว



      ทักทาย กัมพูชา'ซัมเปียะห์'
กัมพูชาเป็นอีกประเทศที่การทักทายละม้ายคล้ายการไหว้ของคนไทย คือประสานหรือประนมมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน โดยชาวกัมพูชาเรียกการทักทายนี้ว่า "ซัมเปียะห์" มีรากฐานมาจาก "อัญชลีมุทรา" ของอินเดีย ใช้แสดงความเคารพและนอบน้อมต่อผู้มีวัยวุฒิหรือคุณวุฒิมากกว่า รวมถึงทักทายโดยทั่วไป

ซัมเปียะห์มีด้วยกัน ๕ ระดับ ระดับแรกคือประนมมือไว้ที่อก ใช้ทักทายผู้มีอายุไล่เลี่ยกัน ระดับที่สองประนมมือยกขึ้นให้ปลายนิ้วจรดปากใช้แสดงความเคารพผู้มีคุณวุฒิสูงกว่า อาทิ เจ้านายหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นระดับสูง ระดับสาม การแสดงความนอบน้อมต่อพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ และครูบาอาจารย์ โดยประนมมือขึ้นแตะจมูกและก้มหัวเล็กน้อย

ระดับที่สี่ ประนมมือขึ้นหว่างคิ้วเพื่อสักการะพระสงฆ์ และถวายความจงรักภักดีพระมหากษัตริย์ ระดับห้าถือเป็นการซัมเปียะห์ที่สูงที่สุดคือการสักการะพระเจ้าและรูปปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยประนมมือขึ้นจรดหน้าผาก

ส่วนผู้ได้รับการซัมเปียะห์ต้องซัมเปียะห์ตอบเพื่อแสดงออกถึงไมตรีจิต ความสุภาพและความเคารพต่อบุคคลนั้นๆ เช่นกัน

ซัมเปียะห์ยังนิยมทำควบคู่กับคำทักทายตามสถานการณ์ ตั้งแต่ อรุณซัวซะเดย-สวัสดีตอนเช้า ทิวาซัวซะเดย-สวัสดีตอนเย็น จุมเรียบเลีย-ลาก่อน ออกุน-ขอบคุณ และโซ้มโต๊ก-ขอโทษ



      ทักทาย พม่า มิงกะลาบา
พม่าเป็นอีกประเทศที่มีการทักทายละม้ายคล้ายการไหว้ของไทย แต่เรียกว่า "กาดอว์" คือประสานมือเข้าด้วยกัน ก้มศีรษะและย่อเข่า นิยมใช้ในกรณี ผู้น้อยเคารพผู้อาวุโสกว่า เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ รวมถึงสักการะพระพุทธรูป และพระสงฆ์ ทั้งในแบบเต็มคือนั่งคุกเข่า และก้มกราบแบมือลงกับพื้นแบบเบญจางคประดิษฐ์ของไทย

อย่างไรก็ตาม การทักทายทั่วไปของชาวพม่าโดยเฉพาะคนที่อายุไล่เลี่ยกัน จะยิ้มให้กันพร้อมเอ่ยคำทักทายด้วยคำว่า "มิงกะลาบา" ที่คล้ายอวยพรว่าขอให้พระคุ้มครอง หรือขอให้อยู่ดีมีสุข

แต่ถ้าอยากทักทายแบบคนท้องถิ่นที่เป็นกันเอง ลองใช้คำว่า "เนเกาตะลา" หรือสบายดีไหม หากรู้จักกันในระดับหนึ่งจะทักทายว่า "แบตวามะแล" ที่แปลว่าจะไปไหน หรือ "ทะมินซาปิปิลา" ซึ่งหมายความว่ากินข้าวหรือยัง

ชายพม่าจะทักทายด้วยการจับมือตามมา แต่ไม่ควรใช้ธรรมเนียมนี้กับผู้หญิงพม่า เพราะถือว่าไม่สุภาพ เมื่อทักทายสาวพม่าควรโค้งตัวหรือผงกหัวพร้อมกล่าวคำทักทายแทน



    ทักทาย บรูไน อุรัง มลายู บรูไน

ธรรมเนียมทักทายของ "อุรัง มลายู บรูไน" เป็นของชาวมลายูบรูไน ชาวบรูไนมีวัฒนธรรมรวมถึงธรรมเนียมการทักทายที่คล้ายคลึงกับมาเลเซีย แต่บรูไนเป็นชาติอนุรักษนิยมและเคร่งครัดตามข้อปฏิบัติของอิสลาม จึงไม่ค่อยพบเห็นชาวบรูไนจับมือเช็กแฮนด์แบบสากล ยกเว้นเมื่อติดต่อธุรกิจกับชาวต่างชาติ

วิธีทักทายที่เหมาะสมคือยื่นมือทั้ง ๒ ข้างออกไป จับกับมือของผู้ที่ทักทายเบาๆ และดึงมือข้างหนึ่งกลับมาแตะที่หน้าอกเพื่อแสดงความเคารพและนอบน้อม แน่นอนว่าการจับมือนั้นไม่นิยมใช้กับเพศตรงข้าม ด้วยวิถีหญิงมุสลิมที่มีข้อห้ามแตะต้องผู้ชาย หญิงบรูไนส่วนใหญ่จึงทักทายด้วยการก้มศีรษะ หรือไม่ก็โค้งคำนับแทน อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นหากฝ่ายหญิงยื่นมือออกมาทักทายก่อน ผู้ชายควรใช้มือทั้งสองข้างสัมผัสอย่างนุ่มนวล หากเป็นผู้หญิงเหมือนกัน จะจูบเบาๆ ที่แก้มสองข้างก็ได้

ระหว่างแสดงท่าทาง ชาวบรูไนยังกล่าวคำทักทายและวลีต่างๆ ตามแต่สถานการณ์ อาทิ ซาลามัต ดาตัง-สวัสดี อาปา กาบา-สบายดีไหม เจมบิรา ดาปัด เบอเตมู อันดา-ยินดีที่ได้รู้จัก เตริมา กะชิ-ขอบคุณ ซาลามัต ติงกัล-ลาก่อน และเบอจัมปา ลากิ-พบกันใหม่



     ทักทาย อินโดนีเซีย ซาลามัต

เมื่อชาวอินโดนีเซียเจอะเจอกัน จะมีการทักทาย ๒ แบบ เป็นทางการเรียกว่า "บาปัก" หรือ "อิบู" ไม่เป็นทางการเรียกว่า "คาคัก" "คัก" "อดิก" หรือ "ดิก"

หากทักทายผู้อาวุโสให้เอื้อมจับมือทั้งสองข้างที่ผู้ใหญ่ยื่นหาแล้วนำมาแตะที่หน้าผาก ส่วนผู้มีอายุไล่เลี่ยกันถ้าทักอย่างเป็นทางการจะยื่นมือเช็กแฮนด์แบบสากล จากนั้นใช้มือข้างหนึ่งดึงกลับมาแตะที่หน้าอกเพื่อแสดงความเคารพ ผู้ชายและผู้หญิงชาวอินโดนีเซียทักทายด้วยการเช็กแฮนด์เช่นกันแต่จะจับด้วยความนุ่มนวลมากกว่า ขณะที่ผู้หญิงชาวอินโดนีเซียในกรณีที่สนิทสนมมักจะหอมแก้มกัน วิธีการทักทายแบบตะวันตกนี้ในภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า "ซิปิกาซิปิกี"

ชาวอินโดนีเซียยังนิยมกล่าวคำทักทายพร้อมท่าทางที่แสดงออกมาด้วย ทั้ง ซาลามัต ปากิ-สวัสดีตอนเช้า ซาลามัต เซียง-สวัสดีตอนเที่ยง ซาลามัต โซเร-สวัสดีตอนบ่าย ซาลามัต มาลัม-สวัสดีตอนเย็น อาพาร์ คาบาร์-คุณสบายดีไหม ซัมไพ จำพา ลากิ-พบกันใหม่ เทริมากาสิ-ขอบคุณ เซลามัน เบอร์จัมพา เดนกัน อันดา-ยินดี ที่ได้รู้จัก บาย บาย-ลาก่อน



     ทักทาย สิงคโปร์ หนีห่าว

สิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มี ความหลากหลายในภูมิภาคอาเซียน เชื้อสายหลักๆ คือ จีน มลายู และอินเดีย ยิ่งเมื่อรวมกับวัฒนธรรมที่ได้รับในช่วงอาณานิคมจากญี่ปุ่นและอังกฤษแล้ว ธรรมเนียมของสิงคโปร์จึงมีลักษณะผสมผสานโดยเฉพาะการทักทาย

การทักทายของชาวสิงคโปร์ที่เป็นทางการและนิยม คือการจับมือเช็กแฮนด์แบบสากล แต่ต้องคำนึงถึงเชื้อสาย ศาสนา เพศ และวัยเป็นหลักสำคัญ

แม้การยื่นมือเช็กแฮนด์ของชาวสิงคโปร์รุ่นใหม่หรือคนที่ทำงานในบริษัทต่างชาติจะเป็นเรื่องปกติ แต่หากเจอผู้สูงวัยกว่าควรหลีกเลี่ยง และใช้การโค้งศีรษะเล็กน้อยเพื่อแสดงความเคารพแทน

ชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนเองแม้จะปรับเปลี่ยนหันมาจับมือทักทาย แต่จะจับแบบแตะเบาๆ มากกว่าจับแน่นๆ เหมือนในแวดวงธุรกิจ ถ้าผู้หญิงและผู้ชายจะจับมือทักทาย ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายยื่นมือออกไปก่อน เพื่อส่งสัญญาณว่าสามารถจับมือได้

ส่วนชาวสิงคโปร์มาเลย์นั้น ถ้าเป็นผู้ชายเหมือนกันจะนิยมจับมือทักทายและโค้งศีรษะแสดงความเคารพเมื่อต่างเพศกัน เพราะชาวมุสลิมชายหญิงไม่สามารถจับต้องตัวในที่สาธารณะได้ เช่นเดียวกับชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดีย

แต่ที่คล้ายๆ กัน คือระหว่างแสดงท่าทาง ชาวสิงคโปร์จะกล่าวทักทายไปด้วย ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 ใช้ภาษาจีน อาทิ หนีห่าว-สวัสดี เซี่ยเซี่ย-ขอบคุณ เหิ่นเกาซิ่งเริ่นชื่อหนี่-ยินดีที่ได้รู้จัก และไจ้เจี้ยน-ลาก่อน หรืออาจใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาทางการภาษาที่สองของชาวสิงคโปร์ก็ได้ ทั้ง ไฮ เฮลโล-สวัสดี Thank you -ขอบคุณ ซอร์รี่-ขอโทษ และกู๊ดบาย-ลาก่อน



     ทักทาย มาเลเซีย ซาลามัต ดาตัง

ชาวมาเลเซียนิยมทักทายด้วยการจับมือแบบสากล แต่ใช้มือทั้งสองข้างประคองมือของผู้ทักทาย พร้อมโน้มตัวรวมถึงศีรษะลงเล็กน้อย และที่ขาดไม่ได้คือส่งรอยยิ้มพิมพ์ใจมีอัธยาศัยแบบชนชาวอาเซียน

แน่นอนว่าเมื่อผู้ชายมาเลเซียเจอหน้ากันจะยกมือจับโดยอัตโนมัติ แต่สำหรับสุภาพสตรีแล้ว มักจะก้มศีรษะเป็นการทักทาย ไม่ก็ใช้ฝ่ามือข้างหนึ่งแตะที่เนินอกฝั่งตรงข้าม คือถ้ายกมือซ้ายให้แตะที่เนินอกข้างขวา เพื่อแสดงถึงความเคารพและนอบน้อม อย่างไรก็ตามหากผู้หญิงมาเลเซียยื่นมือเตรียมเช็กแฮนด์ ผู้ชายก็ควรตอบรับการทักทายด้วยการจับมือเช่นกัน

นอกจากท่าทางแล้ว ชาวมาเลเซียยังนิยมกล่าวคำทักทายต่อกันโดยแตกต่างออกไปตามเวลาและสถานการณ์ มีทั้งซาลามัต ดาตัง-สวัสดี อาปา กาบา-สบายดีไหม เจมบิรา ดาปัด เบอเตมู อันดา-ยินดีที่ได้รู้จัก เตริมา กาชิ-ขอบคุณ และเซลามัต ติงกัล-ลาก่อน

แต่หากเจอะเจอชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งมีไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๖ ของประชากรทั้งประเทศ จะเลือกทักทายด้วยคำสวัสดีแบบจีนว่า "หนีห่าว" ก็ได้

ส่วนข้อห้ามที่ไม่ควรทำเมื่อไปเยือนมาเลเซีย คือการแตะศีรษะ เพราะถือเป็นการลบหลู่ เช่นเดียวกับหลายประเทศในอาเซียนรวมถึงไทย

แล้วพบกันใหม่-เบอจัมปา ลากิ...



      ทักทาย เวียดนาม ซินจ่าว

เป็นที่รู้กันว่าชาวเวียดนาม ชาวเหวียต หรือชาวเหยียก มีชาติพันธุ์บางส่วนสืบสายมาจากประเทศจีน การทักทายจึงต่างจากเพื่อนบ้านอาเซียนตอนบน อย่าง พม่า ลาว กัมพูชา และไทย ทั้งยังผสมผสานวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกในช่วงการยึดครองของฝรั่งเศสราวศตวรรษที่ ๑๙ ชาวเหวียตจึงทักทายด้วยการโค้งศีรษะ จับมือเช็กแฮนด์แบบสากล และจับมือพร้อมกันสองข้าง

ถึงอย่างนั้นการทักทายอย่างเป็นทางการ การทักทายเมื่ออยู่ในศาสนสถาน และชาวเหวียตในชนบทบางพื้นที่มักจะประสานมือเข้าด้วยกันและโค้งศีรษะเล็กน้อยคล้ายการคารวะของชาวจีน

ส่วนการทักทายทั่วไป ผู้ชายใช้การจับมือพร้อมโน้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อแสดงความเคารพนับถือและอ่อนน้อมต่อผู้ทักทาย ขณะที่ผู้หญิงนิยมโค้งศีรษะและยิ้มทักทายมากกว่าจับมือโดยเฉพาะการจับมือกับเพศตรงข้าม ที่สำคัญคือต้องไม่สบตาเพราะถือว่าไม่เคารพ รวมถึงไม่ควรขยิบตาซึ่งถือเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ ขณะที่เด็กๆ จะประสานมือกอดอกพร้อมโค้งตัวลงเพื่อคำนับครูอาจารย์และผู้ใหญ่

ชาวเหวียตยังมีธรรมเนียมปฏิบัติในการกล่าวคำทักทาย รวมถึงสอบถามความเป็นอยู่ อาทิ "ซิน จ่าว" ที่แปลว่าสวัสดี และ "บั๊ก โก แคว คง" หมายความว่าสบายดีไหม

นอกจากทักทายแล้ว การโค้งศีรษะยังนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นๆ โดยพูดพร้อมคำว่า "ซิน โหลย" ขอโทษ, "ก๊าม เอิน" ขอบคุณ และ "ต๋าม เบียด" ลาก่อน



     ทักทาย ฟิลิปปินส์ มาโน

การทักทายของชาวปีนอย หรือชาวฟิลิปปินส์ อีกหนึ่งเพื่อนบ้านชาติอาเซียน

ชาวปีนอยมีการทักทายที่เรียกว่า "มาโน" หรือ "ปักมามาโน" คล้ายการจูบที่มือเพื่อแสดงความเคารพ แต่ใช้การแตะมือที่หน้าผากแทน

นิยมใช้ทักทายผู้มีอาวุโส สูงวัย รวมถึงพ่อแม่และครูอาจารย์ โดยยื่นมือออกไปหามือผู้ที่จะทักทาย จากนั้นก้มศีรษะเล็กน้อยขณะดึงมือมาแตะที่หน้าผาก

บางคนมักกล่าวคำว่า "มาโนโป" เพื่อขออนุญาตแสดงความเคารพ มาโนเป็นคำมาจากภาษาสเปนที่แปลว่ามือ ส่วนโปเป็นคำพูดลงท้ายที่ชาวปีนอยใช้แสดงความสุภาพ ดังนั้น มาโนโปจึงมีความหมายว่า "ได้โปรดขอมือหน่อย" พร้อมกล่าวคำทักทายตามสถานการณ์ เช่น กูมูสต้า-สวัสดี กูมูสต้า กา-สบายดีไหม และนาตูตูวา นาอลัม โม-ยินดีที่ได้รู้จัก

ไม่เพียงเท่านี้ชาวปีนอยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคริสต์ศาสนิกชนยังทักทายต่อด้วยคำอวยพรว่า "ขอให้พระเจ้าคุ้มครอง" หรือ "ขอให้พระเจ้าทรงมีเมตตาต่อท่าน"

นอกจากปักมามาโนแล้ว ชาวปีนอยรุ่นใหม่ยังทักทายด้วยวิธี "เบโซ เบโซ" มีความหมายตามภาษาสเปนว่าจูบหรือจุมพิต แต่ในกรณีนี้คือการทักทายแบบหอมแก้ม โดยจะหอมเพียงครั้งเดียวที่แก้มขวา นิยมใช้ในกลุ่มชาวปีนอยชนชั้นสูง หรือครอบครัว ญาติ และเพื่อนสนิท

3451  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / 'อาเซียน' เรื่องน่ารู้..ที่คนไทยควรรู้ เมื่อ: 20 กรกฎาคม 2558 13:41:46


ความรู้เรื่อง อาเซียน

อาเซียน (ASEAN) เป็นการรวมตัวกันของ ๑๐ ประเทศ ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฎิญญาว่าด้วย ความร่วมมืออาเซียนเห็นชอบให้จัดตั้ง  ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีจุดเริ่มต้นโดยประเทศไทย  มาเลเซีย และฟิลิปปินส์  ได้ร่วมกันจัดตั้ง  สมาคมอาสา (Association of South East Asia) เมื่อเดือน กรกฎาคม ๒๕๐๔   เพื่อการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรม  แต่  
ดำเนินการไปได้เพียง๒ ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง  เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย จนเมื่อมีการฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสองประเทศ จึงได้มีการแสวงหาหนทางความร่วมมือกันอีกครั้ง และสำเร็จภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ (ค.ศ.๒๐๒๐) แต่ต่อมาได้ตกลงร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (ค.ศ.๒๐๑๕) ในปีนั้นเองจะมีการเปิดกว้างให้ประชาชนในแต่ละประเทศสามารถเข้าไปทำงานในประเทศอื่นๆ ในประชาคมอาเซียนได้อย่างเสรี เสมือนดังเป็นประเทศเดียวกัน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการมีงานทำของคนไทย ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน

ความเป็นมาของอาเซียน
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) หรือปฏิญญาอาเซียน (ASEAN  Declaration) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ โดยมีประเทศสมาชิก ๕ ประเทศ  ประกอบด้วย  อินโดนีเซีย  มาเลเซีย  ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  และไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ต่อมามีประเทศสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุส-ซาลาม เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ตามลำดับ จึงทำให้ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิก ๑๐ ประเทศ

“อาเซียน” สู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘
ปัจจุบัน บริบททางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้อาเซียนต้องเผชิญสิ่งท้าทายใหม่ๆ อาทิ โรคระบาด การก่อการร้าย ยาเสพติด การค้ามนุษย์ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ อีกทั้งยังมีความจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงและในเวทีระหว่างประเทศ  ผู้นำอาเซียนจึงเห็นพ้องกันว่าอาเซียนควรจะร่วมมือกันให้เหนียวแน่นเข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น จึงได้ประกาศ “ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่ ๒” (Declaration of ASEAN Concord II) ซึ่งกำหนดให้มีการสร้างประชาคมอาเซียนที่ประกอบไปด้วย ๓ เสาหลัก ได้แก่  
- ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community-APSC) มุ่งให้ประเทศกลุ่มสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาระหว่างกันโดยสันติวิธี มีเสถียรภาพและความมั่นคงรอบด้าน เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของเหล่าประชาชน
- ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) มุ่งเน้นให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้
- ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) มุ่งหวังให้ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงทางสังคม มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และมีสังคมแบบเอื้ออาร โดยจะมีแผนงานสร้างความร่วมมือ ๖ ด้าน คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน การลดช่องว่างทางการพัฒนา ซึ่งต่อมาผู้นำอาเซียนได้ตกลงให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นมาเป็นภายในปี ๒๕๕๘

ประชาคมอาเซียน
ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือ การรวมตัวของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นชุมชนที่มีความแข็งแกร่งสามารถสร้างโอกาสและรับมือส่งท้าท้าย ทั้งด้านการเมืองความมั่นคงเศรษฐกิจและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยสมาชิกในชุมชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี  สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น และสมาชิกในชุมชนมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

จุดประสงค์หลักของอาเซียน
ปฏิญญากรุงเทพฯ ได้ระบุวัตถุประสงค์สำคัญ ๗ ประการของการจัดตั้งอาเซียน ได้แก่
๑.ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
๒.ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
๓.เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจพัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค
๔.ส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
๕.ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัย และส่งเสริมการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๖.เพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า ตลอดจนการปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม
๗.เสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การ ความร่วมมือแห่งภูมิภาคอื่นๆ  และองค์การระหว่างประเทศ

ภาษาอาเซียน
ภาษาทางการที่ใช้ในการติดต่อประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก  คือ  ภาษาอังกฤษ

คำขวัญของอาเซียน
"หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม”
(One Vision, One Identity, One Community)

อัตลักษณ์อาเซียน
อาเซียนจะต้องส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมกันของตนและความรู้สึกเป็นเจ้าของในหมู่ประชาชนของตน เพื่อให้บรรลุชะตา เป้าหมาย และคุณค่าร่วมกันของอาเซียน



สัญลักษณ์อาเซียน
คือ ดวงตราอาเซียนเป็นรูปมัดรวงข้าว สีเหลืองบนพื้นวงกลมสีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาวและสีน้ำเงิน  
รวงข้าวสีเหลือง ๑๐ ต้น หมายถึง ความใฝ่ฝันของบรรดาสมาชิกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง ๑๐ ประเทศ ให้มีอาเซียนที่ผูกพันกันอย่างมีมิตรภาพและเป็นหนึ่งเดียว
วงกลม  เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเอกภาพของอาเซียน
ตัวอักษรคำว่า asean สีน้ำเงิน อยู่ใต้ภาพรวงข้าว แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันติภพ เอกภาพ และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน
สีเหลือง : หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง
สีแดง : หมายถึงความกล้าหาญและการมีพลวัติ
สีขาว : หมายถึงความบริสุทธิ์
สีน้ำเงิน : หมายถึงสันติภาพและความมั่นคง

ธงอาเซียน
ธงอาเซียนเป็นธงพื้นสีน้ำเงิน  มีดวงตราอาเซียนอยู่ตรงกลาง แสดงถึงเสถียรภาพ สันติภาพ ความสามัคคีและพลวัตของอาเซียน
สีของธงประกอบด้วย สีน้ำเงิน สีแดง สีขาว และสีเหลือง ซึ่งเป็นสีหลักในธงชาติของบรรดาประเทศสมาชิกของอาเซียนทั้งหมด

วันอาเซียน
ให้วันที่ ๘ สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันอาเซียน

เพลงประจำอาเซียน (ASEAN Anthem)
คือ เพลง ASEAN  WAY

กฎบัตรอาเซียน
กฎบัตรอาเซียน กำหนดให้อาเซียนและประเทศสมาชิกปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้
๑.เคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน และอัตลักษณ์แห่งชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
๒.ผูกพันและรับผิดชอบร่วมกันในการเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งของภูมิภาค
๓.ไม่รุกรานหรือข่มขู่ว่าจะใช้กำลังหรือการกระทำอื่นใดในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
๔.ระงับข้อพิพาทโดยสันติ
๕.ไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
๖.เคารพสิทธิของรัฐสมาชิกทุกรัฐในการธำรงประชาชาติของตนโดยปราศจากการแทรกแซง การบ่อนทำลายและการบังคับจากภายนอก
๗.ปรึกษาหารือที่เพิ่มพูนขึ้นในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียน
๘.ยึดมั่นต่อหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักการประชาธิปไตยและรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ
๙.เคารพเสรีภาพพื้นฐาน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม
๑๐.ยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่รัฐสมาชิกอาเซียนยอมรับ
๑๑.ละเว้นจากการมีส่วนร่วมในการคุกคามอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนหรือเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐสมาชิกอาเซียน
๑๒.เคารพในวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาที่แตกต่างของประชาชนอาเซียน
๑๓. มีส่วนร่วมกับอาเซียนในการสร้างความสัมพันธ์กับภายนอกทั้งในด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคม  โดยไม่ปิดกั้นและไม่เลือกปฏิบัติ
๑๔.ยึดมั่นในกฎการค้าพหุภาคีและระบอบของอาเซียน

ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน)
ประชาคมอาเซียนที่จะถือกำเนิดในปี ๒๕๕๘ นั้น คนไทยจะได้ประโยชน์อะไร แน่นอนเราคงอยากทราบ แต่ในชั้นนี้ขอจำกัดเฉพาะทางเศรษฐกิจก่อน

ประการแรก ไทยจะ “มีหน้ามีตาและฐานะ” เด่นขึ้นประชาคมอาเซียนจะทำให้เศรษฐกิจ “ของเรา” มีมูลค่ารวมกัน ๑.๘ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีขนาดใหญ่อันดับ ๙ ของโลก ยังประโยชน์แก่คนไทยทุกคนที่จะได้ยืนอย่างสง่างาม “ยิ้มสยาม” จะคมชัดขึ้น

ประการที่สอง การค้าระหว่างไทยกับประเทศอาเซียนจะคล่องและขยายตัวมากขึ้น กำแพงภาษีจะลดลงจนเกือบจะหมดไป เพราะ ๑๐ ตลาดกลายเป็นตลาดเดียว ผู้ผลิตจะส่งสินค้าไปขายในตลาดนี้และขยับขยายธุรกิจของตนง่ายขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกมากขึ้นราคาสินค้าจะถูกลง

ประการที่สาม ตลาดของเราจะใหญ่ขึ้น แทนที่จะเป็นตลาดของคน ๖๗ ล้านคน ก็จะกลายเป็นตลาดของคน ๕๙๐ ล้านคน ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ เพราะสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยสามารถส่งออกไปยังอีกเก้าประเทศได้ราวกับส่งไปขายต่างจังหวัด ซึ่งก็จะช่วยให้เราสามารถแข่งขันกับจีนและอินเดียในการดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น

ประการที่สี่ ความเป็นประชาคมจะทำให้มีการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารคมนาคมระหว่างกันเพื่อประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน แต่ก็ยังผลพลอยได้ในแง่การไปมาหาสู่กัน ซึ่งก็จะช่วยให้คนในอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์กัน รู้จักกัน และสนิทแน่นแฟ้นกันมากขึ้น เป็นผลดีต่อสันติสุข ความเข้าใจอันดีและความร่วมมือกันโดยรวม นับเป็นผลทางสร้างสรรค์ในหลายมิติด้วยกัน

ประการที่ห้า โดยที่ไทยตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่อาเซียน ประเทศไทยย่อมได้รับประโยชน์จากปริมาณการคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับจีน (และอินเดีย) มากยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ บริษัทด้านขนส่ง คลังสินค้า ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ จะได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน จริงอยู่ ประชาคมอาเซียนจะยังผลทั้งด้านบวกและลบต่อประเทศไทย ขึ้นอยู่กับพวกเราคนไทยจะเตรียมตัวอย่างไร แต่ผลทางบวกนั้นจะชัดเจนเป็นรูปธรรมและจับต้องได้


ขอขอบคุณที่มาข้อมูลและภาพ : เว็บไซท์. lampangvc.ac.th


เขยิบสัมพันธ์อาเซียนให้แนบแน่นขึ้นอีกนิด
กับเรื่องราวของ "ข้าว" แหล่งกำเนิดวิถีชีวิตอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ
จนกลายเป็นที่มาของรวงข้าวสวยสีทอง ๑๐ ต้นมัดรวมกันในสัญลักษณ์อาเซียน


ข้าว

   ข้าวอาเซียน “กัมพูชา”

คติความเชื่อของชาวกัมพูชานั้น "โปอีโน นอการ์" คือเทพีที่มีความสำคัญมากต่อปากท้องของคนในประเทศ เพราะเป็นเทพีแห่งการเพาะปลูก การเจริญงอกงาม ความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเป็นผู้ปกป้องเรือกสวนไร่นา และ "บาย" หรือข้าวในภาษากัมพูชานั่นเอง

ในอดีตกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์กัมพูชาจะทรงประกอบพิธีไถนาในช่วงเริ่มต้นฤดูปลูกข้าว เพื่อแสดงความเคารพและสร้างความพึงพอใจต่อองค์เทพีโปอีโนนอการ์ที่จะประทานความสำเร็จในการทำนาและช่วยให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์



    ข้าวอาเซียน "ลาว"
มาที่บ้านพี่เมืองน้องของไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่นอกจากจะมีภาษา สังคม และวัฒนธรรมความคล้ายคลึงกันแล้ว วิถีแห่ง "ข้าว" ของชาวลาวยังใกล้เคียงกับไทยอย่างไม่น่าเชื่อ

ชาวไทยเคารพพระแม่โพสพ ขณะที่ลาวมี "นางโคสพ" เป็นเทพีผู้ปกปักรักษาข้าวและผืนแผ่นดิน ตามตำนานที่บันทึกไว้ของวัดสีสะเกดในกรุงเวียงจันทน์ เล่าว่าหลังจากลาวเผชิญภาวะข้าวยากหมากแพงมาร่วม ๑,๐๐๐ ปี วันหนึ่งมีชายชาวบ้านจับปลาทองได้ เจ้าแห่งมัจฉาได้ยินเสียงร้องด้วยกลัวชีวิตจะหาไม่ของปลาทอง จึงขอร้องให้ชายหนุ่มปล่อยปลาน้อยและจะมอบนางโคสพให้เป็นของตอบแทนความเมตตา ซึ่งนางโคสพก็บันดาลให้นาข้าวอุดมสมบูรณ์ ประชาชนกินดีมีใช้นับแต่นั้น

กระทั่งวันหนึ่ง กษัตริย์ผู้ครองนครกลับใช้บารมีกักตุนข้าวที่ควรเป็นของประชาชน เพื่อนำไปแลกกับทอง เพชรนิลจินดา และช้างประดับเกียรติ ระหว่างนี้สองผู้เฒ่าสามีภรรยาบังเอิญไปพบฤๅษีในป่า ฤๅษีจึงทำพิธีขอร้องให้นางโคสพช่วยเหลือ แต่เพราะพระนางสับสนจึงปฏิเสธ ฤๅษีเกรงว่าการแข็งข้อของนางโคสพจะส่ง ผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน จึงสังหารนางโคสพ ตัดร่างกายออกเป็นท่อนๆ นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมข้าวจึงมีหลายชนิด ต่างเม็ด ต่างสี ต่างขนาด

ยังมีตำนานเกี่ยวเนื่องกับนางโคสพอีกเรื่องว่า เทพผู้ดูแลข้าวและท้องนา คือ "ผีนา" จิตวิญญาณของเทพผู้คุ้มครองนาข้าว ซึ่งเดิมประทับอยู่ในพระสิรัฐิ (กะโหลกศีรษะ) พระโอษฐ์ (ปาก) และ พระทนต์ (ฟัน) ของนางโคสพ

กลับมาที่ปัจจุบัน ลาวเป็นประเทศหนึ่งในโลกและในอาเซียนที่มีสายพันธุ์ข้าวจำนวนมากถึง ๕,๐๐๐ ชนิด ด้วยสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เหมาะแก่การทำนาปลูกข้าว อาหารการกินจึงมีข้าวเป็นหลัก ทั้งข้าวเซ่า ข้าวสวาย หรือข้าวแลง มื้ออร่อยของชาวลาวต้องมีข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวเปียก ไม่ก็ข้าวคั่ว รวมอยู่ด้วย



     ข้าวอาเซียน "พม่า"
ข้าวอาเซียน ในประเทศพม่าหรือเมียนมา เพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของไทย แน่นอนว่าชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยในดินแดนแห่งนี้ต่างรับประทานข้าว หรือ "ทมิน" เป็นหลัก แต่ในรัฐคะฉิ่นทางตอนเหนือของพม่ามีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าคนคะฉิ่นเป็นชนเผ่าที่ได้รับเมล็ดข้าวจากเทพเทพี และถูกมอบหมายให้เดินทางหาดินแดนที่เหมาะแก่การปลูกข้าวมากที่สุด บรรพบุรุษชาวคะฉิ่นจึงออกตามหาและมาปักหลักปลูกข้าวที่รัฐคะฉิ่นในปัจจุบันนั่นเอง

ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงรวมถึงชาวปกาเกอะญอและชาวโผล่วหรือโผล่งซึ่งอาศัยอยู่ในพม่าและไทยต่างมีประเพณีแสดงความเคารพต่อแม่โพสพราวเดือนมิ.ย.- ต.ค. ชาวกะเหรี่ยง

ที่ทำนาจะทำพิธีบอกกล่าวกับ "ซุ่งทะรี" แม่ธรณี ด้วยการหยอดข้าว ๙ กอซึ่งเป็นแม่ข้าวหรือขวัญข้าวที่คัดสรรจากกอข้าวที่ดีที่สุดในปีก่อน ข้าว ๙ กอจะหยอดกลางไร่ใต้กรอบไม้สี่เหลี่ยมที่ตรงกลางปักไม้ หุ้มด้วยเมล็ดข้าวที่ห่อไว้ด้วยดินเพื่อขอพรจากแม่โพสพให้ข้าวออกรวง

ข้าวพม่ายังได้รับรางวัลการันตีเป็นสุดยอดข้าวระดับโลก เมื่อปี ๒๕๕๕ คือ ข้าวสายพันธุ์เพิร์ล ปอว์ ซาน หรือข้าวพันธุ์ไข่มุกปอว์ซาน เป็นข้าวเมล็ดกลมหนา ยาวประมาณ ๕-๕.๕ มิลลิเมตร และเมล็ดจะพองตัวยาวขึ้น ๓-๔  เท่าตัวเมื่อหุงเสร็จ แถมยังรักษากลิ่นหอมเฉพาะไว้ได้นาน ด้วยเหตุนี้จึงคว้ารางวัลข้าวหอมสุดอร่อยไปครอง



    ข้าวอาเซียน "ไทย"

"ข้าว" กับคนไทยเป็นของคู่กันอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และความเชื่อทุกๆ สิ่งรอบตัวคนไทยย่อมมีข้าวเป็นส่วนหนึ่งเช่นเดียวกับวิถีชีวิตของชาวอาเซียนอีก ๙ ประเทศ

ตั้งแต่เด็กเราถูกสอนว่าถ้ากินข้าวไม่หมดจะบาป นี่เป็นเพียงกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ปลูกฝังให้เคารพและเห็นคุณค่าของข้าว ยังไม่รวมถึงการยกย่อง "ชาวนา" เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และการบูชา "แม่โพสพ" เทพนารีแห่งข้าว ตำนานหนึ่งเล่าว่าแม่โพสพเป็นเทวีแห่งข้าว วันหนึ่งที่เมืองไพสาลีกลางสโมสรสันนิบาต มนุษย์ปรึกษากันว่าระหว่างพระพุทธเจ้าและแม่โพสพใครมีคุณมากกว่ากัน ที่ประชุมทูลว่าคุณของพระพุทธเจ้าใหญ่กว่า แม่โพสพน้อยใจจึงทรงหนีไปยังป่าหิมพานต์ เมื่อแม่โพสพจากไปก็เกิดความอดอยากบนโลกมนุษย์ พระพุทธเจ้าจึงเชิญให้กลับมา แต่แม่โพสพปฏิเสธและว่าจะให้แต่เมล็ดข้าวไปช่วยพวกมนุษย์เท่านั้น เมื่อได้เวลาเก็บเกี่ยวให้นึกถึงตนและทำขวัญ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อข้าวใกล้สุกชาวนาจึงทำขวัญเชิญแม่โพสพเป็นประจำทุกปี

ข้าวยังทำให้คนไทยใกล้ชิดกันจากการช่วยเหลือลงแขกดำนาและเกี่ยวข้าว ทั้งยังเป็นจุดกำเนิดประเพณีการร้องรำ "เพลงเกี่ยวข้าว" และ "พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" หรือพิธีแรกนาขวัญ พิธีโบราณแบบพราหมณ์ซึ่งปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความเป็นสิริมงคลแก่ชาวนา

ประเทศไทยยังขึ้นชื่อในเรื่องเป็นถิ่นกำเนิดข้าวหอมมะลิที่โด่งดังไปทั่วโลก ขณะที่สารพัดอาหารข้าวแบบไทยก็ไม่น้อยหน้า ทั้งข้าวคลุกกะปิ ข้าวยำ ข้าวหลามและข้าวต้มมัด จึงไม่แปลกที่คนไทยจะติดปากทักทายด้วยคำว่า "กินข้าวหรือยัง"



    ข้าวอาเซียน "มาเลเซีย"
นอกจาก "นาซิ" หรือข้าวในภาษามลายู จะมีความสำคัญเป็นอาหารเลี้ยงปากท้อง ข้าวยังมีบทบาทต่อประเพณีมลายูอีกด้วย

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า "มะโย่ง" หรือ "เมาะโย่ง" ละครรำที่องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นวัฒนธรรมโลก จากการเล่าขานต่อๆ มา มะโย่งเป็นการร่ายรำเพื่อบูชาต่อ "มักฮียัง" หรือ เทพีแห่งข้าว เดิมเป็นประเพณีโบราณที่ถือกำเนิดขึ้นในรัฐปัตตานี และแผ่ขยายมาถึงรัฐกลันตันในมาเลเซียหลายร้อยปีก่อน จะมีหมอทำพิธีทรงวิญญาณมักฮียังเพื่อให้ชาวบ้านแสดงความกตัญญูต่อความเมตตาที่มักฮียังประทานน้ำนมมาเป็นเมล็ดข้าว ผ่านการร่ายรำประกอบดนตรี คาดว่ามะโย่งเป็นคำเรียกที่พ้องเสียงกับพระนามของเทพีแห่งข้าวนั่นเอง

ในเวลาต่อมาการร่ายรำมะโย่งได้รับความนิยมทั้งในวังและในพื้นที่ชนบท แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้เพียงการแสดงตามศูนย์วัฒนธรรม งานแต่งงาน และพิธีฉลองวันชาติ

มาเลเซียมีอาหารจานเด็ดที่ทำจากข้าวมากมาย ทั้ง "นาซิ เลอมัก" ข้าวมันมลายู "นาซิดาแฆ" ข้าวมันแกงไก่ และ "นาซิอูลัม" ข้าวนึ่งสมุนไพร

ปิดท้ายด้วยวลี "มาแกนาซิลากี" กินข้าวหรือยัง ก่อนจะกล่าวคำว่า ซาลามัต จาลัน...ลาก่อนจ้า



    ข้าวอาเซียน "สิงคโปร์"
เป็นที่รู้กันดีว่าสิงคโปร์ได้รับอิทธิพลผสมผสานระหว่างจีน มลายู และอินเดีย อาหารหลักของชาวสิงคโปร์จึงเป็น "ข้าว" เหมือนกับเพื่อนสมาชิกชาติอาเซียนอื่นๆ แต่เพราะภูมิประเทศที่เป็นเกาะซึ่งมีขนาดเล็กเพียง ๖๙๙.๔ ตารางกิโลเมตร หรือขนาดพอๆ กับจังหวัดภูเก็ตของไทย สิงคโปร์จึงต้องพึ่งพิงการนำเข้าข้าวเกือบทั้งหมดของจำนวนบริโภค ถึงอย่างนั้นสิงคโปร์กลับให้ความสำคัญกับการปลูกฝังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รู้จักการทำนา โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สิงคโปร์ (ซีเอสซี) และสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (ไออาร์อาร์ไอ) จัดกิจกรรมเรียนรู้การปลูกข้าวให้นักเรียนทั่วประเทศ ตั้งแต่การเตรียมนา การหว่านหรือดำนา ระยะการเติบโตของข้าว ช่วงเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการสีข้าวเปลือกและกลายมาเป็นข้าวสวยแสนอร่อยที่กินกันทุกวัน

นอกจากวิธีทำนาแล้ว ยังสอดแทรกความรู้ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสียไปกว่าจะได้ข้าวมาแต่ละจาน ทั้งน้ำและดิน แน่นอนว่าเมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้ การกินข้าวจึงเปลี่ยนไปจากแค่กินเพื่ออิ่มท้องกลายเป็นอาหารให้ชีวิต เพราะข้าวแต่ละเม็ดมีคุณค่าใช้เวลาและความทุ่มเทของชาวนา แถมยังมีต้นทุนจากทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญจะกินทิ้งกินขว้างไม่ได้เด็ดขาด

ขนาดไม่ได้ปลูกข้าวเอง เด็กๆ ชาวสิงคโปร์ยังใส่ใจเรื่องข้าวขนาดนี้ เพื่อนๆ เยาวชนอาเซียนประเทศอื่นๆ ควรเอาเป็นแบบอย่างจะได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรมข้าวที่เชื่อมโยงและทำให้ภูมิภาคของเราผูกพันกันมากขึ้น



    ข้าวอาเซียน "ฟิลิปปินส์"
แม้ฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวมากกว่าที่ผลิตได้ แต่ใช่ว่าข้าวจะไม่สำคัญ เพราะนอกจากชาวฟิลิปปินส์จะรับประทานข้าวเป็นหลักเช่นเดียวกับสมาชิกอาเซียนชาติอื่นๆ แล้ว วิถีชีวิตของฟิลิปปินส์ยังผูกพันอยู่กับข้าวและเป็นจุดกำเนิดของ "นาขั้นบันได" วัฒนธรรมสำคัญที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จดทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม เมื่อปี ๒๕๓๘

นาขั้นบันไดแห่งเทือกเขาฟิลิปปินส์ตั้งอยู่ในจังหวัดอิฟูเกา ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะและเต็มไปด้วยเขาสูง ชาวอิฟูเกาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพจากไต้หวันมายังเกาะลูซอนเมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปีก่อน จึงคิดค้นวิธีทำนาแบบขั้นบันไดเพื่อปลูกข้าวยังชีพและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ลูกหลานชาวนาที่สืบเชื้อสายชาวอิฟูเกายังคงยึดอาชีพทำนามาจนถึงปัจจุบัน

นาขั้นบันไดฟิลิปปินส์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอยู่เหนือน้ำทะเล ๑,๕๒๔ เมตร และมีด้วยกัน ๕ แห่ง ได้แก่ นาขั้นบันได บาตัดและนาขั้นบันไดบันกานในบัวนาเว นาขั้นบันไดมาโยเยา นาขั้นบันไดฮางตวน และนาขั้นบันไดนากาคาดานในเคียนกัน



    ข้าวอาเซียน "อินโดนีเซีย"
เรื่องข้าวของสมาชิกอาเซียนสัปดาห์นี้ พาไปทำความรู้จักกับ "นาสิ" หรือข้าวในมุมมองของชาวอินโดนีเซีย ตามไปดูกันว่าข้าวเมล็ดขาวจะมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวอิเหนามากน้อยแค่ไหน

นอกจากข้าวจะเป็นอาหารหลักของชาวอินโดนีเซียแล้ว มีความเชื่อที่เล่าต่อกันมาว่าชื่อของเกาะชวาและเกาะสุมาตรามาจากคำว่า "ดจาวา" หรือ "ดจาวา ทิพา" ซึ่งมีความหมายว่า "เกาะข้าว"

ไม่เพียงเท่านี้ อินโดนีเซียยังมีพิธีบูชาเทพีคล้ายพระแม่โพสพ เรียกว่า "เทวีซรี" "ศรีเทวี" หรือ "ไญ โปฮาจี ซังฮ์ยัง อัสรี" เป็นเทวีผู้อุปถัมภ์ความอุดมสมบูรณ์และพืชพันธุ์ธัญญาหารตามความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวชวา ซุนดา และบาหลี ก่อนรับศาสนาฮินดูและอิสลามเข้ามา

อินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่มีพันธุ์ข้าวมากที่สุดในโลก อย่างน้อยๆ ก็มากกว่า ๗๕ สายพันธุ์ เช่น ข้าวเกตันตาวอน ข้าวเมลาติ ข้าวเพตา และข้าวศรีมูลิห์

อาหารข้าวขึ้นชื่อจึงหนีไม่พ้น "นาซีโกเร็ง" หรือ ข้าวผัดอินโดนีเซีย และข้าวเกรียบกรูปุก มีทั้งผสมกุ้งและปลาคล้ายข้าวเกรียบของไทย

วันนี้ขออำลาด้วยภาษาบาฮาซา อินโด นีเซียว่า "ซูดะมากัน" กินข้าวกันหรือยังจ๊ะ



    ข้าวอาเซียน "เวียดนาม"
ข้าวสำหรับชาวเวียดนามถือเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญเช่นเดียวกัน มีเรื่องราวที่บอกต่อสืบกันมาหลายตำนาน

บ้างก็ว่าเดิมทีข้าวเป็นอาหารที่พระเจ้าประทานให้ มีลักษณะเป็นลูกกลมๆ ขนาดใหญ่ เมื่อใดก็ตามที่ชาวบ้านจุดเครื่องไหว้บูชา ก้อนข้าวจะปรากฏในบ้านแล้วจึงนำมาหุงต้มทำเป็นอาหาร แต่วันหนึ่งชายชาวบ้านบอกให้ภรรยารีบกวาดบ้านเพื่อต้อนรับก้อนข้าว ฝ่ายสามีผละไปจุดธูปเทียนอัญเชิญก้อนข้าว แต่เพราะภรรยามีนิสัยเกียจคร้านจึงกวาดไม่เสร็จ พอสามีไหว้จบ ก้อนข้าวก็ปรากฏขึ้นและถูกไม้กวาดในมือของหญิงสาวกระแทกเข้าอย่างจังจนแตกละเอียดกลายเป็นเมล็ดเล็กๆ นับตั้งแต่นั้นมนุษย์จึงต้องปลูกและขยายพันธุ์ข้าวด้วยตัวเอง

อีกตำนานเล่าว่าพระเจ้าประทานเมล็ดพืชสุดพิเศษ ๒ กระสอบให้คนนำสารไปมอบแก่มนุษย์ กระสอบแรกคือข้าวที่เติบโตได้ทันทีที่เมล็ดสัมผัสพื้นดิน อีกกระสอบเป็นหญ้าซึ่งต้องใช้ความทุ่มเทในการปลูก แต่คนนำสารเกิดผิดพลาด ทำให้ข้าวกลายเป็นพืชปลูกยาก ขณะที่หญ้าขึ้นง่ายจนถอนทิ้งไม่ทัน

เวียดนามยังมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับข้าวอย่างน่าสนใจ เช่น รูปร่างของประเทศละม้ายคล้ายหาบตะกร้าสานใส่ข้าว ๒ ใบเชื่อมด้วยไม้หาบ พ่อแม่ชาวเวียดนามจะไม่ทำโทษลูกๆ ขณะกินข้าวเพราะจะทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับข้าวเลวร้าย

นอกจากนี้ยังมีสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า นักวิชาการเดินนำหน้าชาวบ้านในชนบท แต่เมื่อข้าวหมดชาวบ้านที่ทำนาคือผู้นำทาง



    ข้าวอาเซียน "บรูไน"
ข้าวกันที่บรูไน แม้อาหารประจำชาติของชาวบรูไนคือ "อัมบูยัต" แป้งสาคูเหนียวๆ ที่กินกับเครื่องเคียงและน้ำจิ้ม แต่เมนูที่กินในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยๆ ๑ มื้อต้องเป็นข้าว อาหารจานเดียวก็มีข้าวผัดเบเรียนี และข้าวหมกนาสิบริยานี ส่วนขนมมีเค้กข้าว ข้าวเหนียวนึ่งกับกะทิและไข่ห่อด้วยใบเตย นิยมกินในช่วงเทศกาลวันสำคัญ รวมถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่านแห่งบรูไน วันชาติ และวันปีใหม่

บรูไนนั้นมีพันธุ์ข้าวท้องถิ่นหลักอยู่ ๓ สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวไลลา ข้าวอดัน และข้าวไบโร แต่เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด บรูไนจึงปลูกข้าวไม่เพียงพอกับความต้องการ และหันมาสั่งซื้อข้าวจากชาติอาเซียนรวมถึงไทยด้วย


ที่มา เรื่อง-ภาพ : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3452  สุขใจในธรรม / ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม / Re: ปฏิทินท่องเที่ยว-ประชาสัมพันธ์งานบุญ เมื่อ: 20 กรกฎาคม 2558 12:43:22


"เวียงโกศัย" ปิดเที่ยวน้ำตกแม่เกิ๋งหลวง

นายบทมากร ศรีสุวรรณ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย จ.แพร่
กล่าวว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชพิจารณาทบทวนระยะเวลาการปิดการท่องเที่ยวและพักแรม
ในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
แหล่งท่องเที่ยวเกิดการฟื้นตัว การท่องเที่ยวมีการกระจายไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นมากขึ้น และลดความเสี่ยง
ในการเกิดอันตรายจากสภาพอากาศที่แปรปรวน กรมอุทยานฯ จึงประกาศปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย
เฉพาะบริเวณน้ำตกแม่เกิ๋งหลวง ชั้นที่ 1 ถึง 7 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย. รวม 3 เดือน หากมีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ทราบ

หากประชาชนหรือนักท่องเที่ยวมีข้อสงสัย สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.08-1030-8663







งานประเพณี
"สารทไทยกล้วยไข่และของดีเมืองกำแพง"


นายธานี ธัญญาโภชน์ ผวจ.กำแพงเพชร
แถลงงานประเพณี "สารทไทยกล้วยไข่และของดีเมืองกำแพง" วันที่ 12-21 ตุลาคมนี้
ชมต้นกล้วยและกล้วยไข่ยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก ณ บริเวณลานโพธิ์
หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองกำแพงเพชร และบริเวณวัดพระแก้ว
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร วันเปิดงาน 12 ตุลาคม
ชมขบวนแห่รถกล้วยไข่พร้อมสาวงาม
และการทอดผ้าป่ากลางคืนแห่งเดียวในประเทศไทย 172 กอง
 และวันที่ 21 ตุลาคม ประกวดธิดากล้วยไข่เมืองกำแพงนับร้อยคน



ศิลปะเพื่อคนตาบอด
.ส.วรรณสิริ โมรากุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการท่องเที่ยว
ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร
จัดงานนิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอด ความสุข...ที่สัมผัสได้
"ท่องไป ในอาเซียน" Feel the happiness "ASEAN Travel"
วันนี้ ถึง 9 ตุลาคม ที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ
เปิดโอกาสให้คนตาบอดทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีโอกาสแลกเปลี่ยน
ประสบการณ์ถ่ายทอดจินตนาการระหว่างกันเรื่องแหล่งท่องเที่ยว
สอบถามโทร.0-2618-7781-4 ต่อ 105, 115 หรือ 0-2216-6512
และ www.facebook.com/artfortheblind
 






วัดพระธาตุช่อแฮ
จัดงานประเพณี 'ตานก๋วยสลาก'

พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เปิดเผยว่า วัดพระธาตุช่อแฮฯ จัดงานประเพณีตานก๋วยสลากขึ้น เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวภาคเหนือตอนบน ที่ยึดถือสืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  เชื่อกันว่าวันดังกล่าว ยมทูตจะปล่อยให้เปรตมารับส่วนกุศลทุกคนจึงตานก๋วยสลากของกินให้แก่เปรต และเป็นโอกาสทานไปให้ญาติที่ล่วงลับไป ถือว่ามีอานิสงส์แรง คนทำบุญสลากมักจะมีโชคลอยมา

สำหรับคำว่า "ก๋วย" คือชะลอมสานด้วยไม้ไผ่ แล้วบรรจุของกินของใช้ต่างๆ ลงไป เช่น ข้าว ขนม ผลไม้ ส้ม สมุด ดินสอ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และยารักษาโรค หรือสิ่งที่จำเป็นต้องใช้เท่าที่หาได้ พร้อมอาหารคาว หวาน และข้าวสุกที่พระสงฆ์จะนำไปฉัน และปัจจัย (เงิน) เสียบติดกับไม้ปักบนก๋วยสลาก เรียกว่ายอดเงินที่บริจาค ซึ่งบางชะลอมก็ไม่ใส่ ขึ้นอยู่กับจิตศรัทธาของแต่ละคน

จุดเด่นของประเพณีตานก๋วยสลากที่วัดพระธาตุช่อแฮ คือใช้ภาชนะที่บรรจุเครื่องไทยทานใช้ ก๋วย (ชะลอม) ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งปัจจุบันบางแห่งได้เปลี่ยนเป็นถังน้ำบรรจุเครื่องไทยทาน

จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านรวมงานประเพณีตานก๋วยสลาก ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ในวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน 2558 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป





เปิดขึ้น"ภูกระดึง"แล้ว

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย จะเปิดให้ขึ้นไปท่องเที่ยวและพักแรมบนยอดภูกระดึงได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้
สำรองการใช้บริการล่วงหน้าทั้งบ้านพัก เต็นท์ และพื้นที่กางเต็นท์ก่อนเดินทาง
ได้ใน www.bnp.to.th โทร.0-4281-0833 และ 0-4281-0834
ค่าจ้างหาบสัมภาระขึ้นบนยอดภูกระดึงกิโลกรัมไม่เกิน 30 บาท
พร้อมขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม
ด้วยการงดใช้โฟมและพลาสติกในเขตอุทยานแห่งชาติ




นักปั่นแห่งลุ่มน้ำโขง
ททท.เชิญนักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชอบการปั่นจักรยาน
ร่วมมหกรรมแข่งขันจักรยานทางไกลประเทศไทย (Ride to Khong"s Legendary)
ตอน นักปั่นแห่งลุ่มน้ำโขง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
วันที่ 29 ต.ค.-1 พ.ย.นี้ เส้นทาง จ.หนองคาย-บึงกาฬ-นครพนม-มุกดาหาร-ภูมโนรมย์ 3 STAGE
ระยะทาง 248 กิโลเมตร สมัครออนไลน์ www.ridetokhonglegendary.com
สอบถาม โทร.0-2203-4208,0-2203-4203 สายด่วน 1672
 




ประเพณีรับบัว
วันที่ 23-26 ต.ค.บริเวณที่ว่าการอำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ
ร่วมสืบสานประเพณีการถวายดอกบัวแด่หลวงพ่อโต ตักบาตรทางน้ำ
ล่องเรือชมความสวยงามริมสองฝั่งคลองสำโรง
ภายใต้แนวคิด ส่องแสงชลธาร ศรัทธาอภิฤดี นฤมิตราตรีสุวรรณ
ติดต่อ โทร.0-2337-3489









43 ปี อุทยานดอยอินทนนท์ คนทะลัก
นายพรเทพ เจริญสืบสกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ครบรอบการจัดตั้งเป็นอุทยาน 43 ปี
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา อุทยานได้ปรับภูมิทัศน์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
ล่าสุดคนเริ่มมาเที่ยวกันแล้ว ทั้งบนยอดดอยและจุดชมวิว

"ปีนี้ ได้เตรียมรับนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นมาสัมผัสอากาศบนยอดดอยไว้เต็มที่
เพราะปีที่ผ่านมาคนมามากที่สุด ปีนี้ก็คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยว
ขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี
มีปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งหรือเหมยขาบ ทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่ง และทิวทัศน์สวยงาม
ซึ่งไฮซีซั่นปีที่ผ่านมามีคนมาเที่ยวชมช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม 2-3 แสนคน
ปีนี้ก็คาดว่าน่าจะมากใกล้เคียงกัน ดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เริ่มมากันมากขึ้น
แต่ภาพรวมร้อยละ 50 ยังเป็นคนไทย" นายพรเทพ กล่าว

ทั้งนี้ปี 2555 มีนักท่องเที่ยว 487,571 คน ปี 2556 มี 549,823 คน
ปี 2557 มีนักท่องเที่ยว 549,585 คน และปี 2558 คาดการณ์ว่าเกือบ 6 แสนคน
3453  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ ทอดมันข้าวโพด เมื่อ: 19 กรกฎาคม 2558 16:03:51
.

ทอดมันข้าวโพดจานนี้ใส่แป้งไม่มาก...เน้นที่เนื้อข้าวโพด มากกว่าแป้ง

ทอดมันข้าวโพด

ส่วนผสม
- ข้าวโพดหวาน (ฝักสีเหลือง) ฝานเอาแต่เมล็ด 1 ถ้วย
- น้ำพริกแกงเผ็ด  ½-1 ช้อนโต๊ะ
- แป้งทอดกรอบ ½ ถ้วย
- น้ำเปล่าเย็นจัด
- น้ำปลาดี


เครื่องปรุงพริกแกง
- พริกแห้งเม็ดใหญ่ 2-3 เม็ด
- กระเทียมไทย 5-6 กลีบ
- หอมแดง 1 หัว
- ตะไคร้ 1 ช้อนชา
- ข่า ¼ ช้อนชา
- ผิวมะกรูด ¼ ช้อนชา
- กะปิเล็กน้อย
* โขลกเครื่องปรุงทุกอย่างให้ละเอียด ตามด้วยกะปิโขลกพอเข้ากัน


วิธีทำ
1. นำส่วนผสมทุกอย่างใส่ชาม เติมน้ำเปล่าเย็นจัด
     คนให้ผสมเข้่ากัน (ค่อนข้างข้น) ปรุงรสด้วยน้ำปลาดี
    (ใส่น้ำปลาแต่น้อยก่อน แล้วทดลองทอดชิมรสชาติ อ่อนเค็มจึงค่อยเติมน้ำปลา)
2. ใช้ช้อนตักลงทอดในน้ำมันร้อนปานกลาง จนเหลืองกรอบ
3. จัดใส่จานเสิร์ฟ รับประทานเป็นของว่าง
    (ถ้ารับประทานกับข้าวหรือชอบรสจัด ให้เพิ่มน้ำพริกแกงเผ็ด พร้อมกับใส่ใบมะกรูดซอยละเอียด และใบโหระพาสับหยาบผสมลงไปด้วย...)







ตักใส่ตะแกรงโปร่ง แล้ววางบนกระดาษซับมัน ก่อนจัดใส่จานเสิร์ฟ



ติดตามสูตรอาหารและเคล็ดลับการประกอบอาหารคาว-หวาน มากมายกว่า 200 สูตร
ได้ที่  "สุขใจในครัว" สุขใจดอทคอม
www.sookjai.com
3454  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: วัฒนธรรมร่วมอาเซียน เมื่อ: 19 กรกฎาคม 2558 14:35:37
.

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน กินข้าวเป็นอาหารหลัก

คนอุษาคเนย์อาเซียนโบราณ รู้จักปลูกข้าว แล้วกินข้าวเป็นอาหารหลัก

คนกินข้าวครั้งแรก ราว ๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว (บางคนว่านานมากกว่านี้) พบหลักฐานในไทยเป็นเมล็ดข้าวจากถ้ำปุงฮุง จ.แม่ฮ่องสอน

กินข้าวเหนียว
ข้าวเหนียว หรือ ข้าวนึ่ง เป็นตระกูลข้าวเก่าแก่ในไทยและในภูมิภาค เป็นอาหารหลักของคนทุกชาติพันธุ์ในอาเซียนอุษาคเนย์

เมื่อรับศาสนาจากอินเดียสมัยหลังๆ ข้าวเหนียวยังเป็นอาหารหลักของพระสงฆ์ในวัดด้วย

ราวหลัง พ.ศ.๑,๐๐๐ พบแกลบข้าวเหนียว ผสมดินเหนียวในแผ่นอิฐสร้างเจดีย์แบบทวารวดีทั่วลุ่มน้ำเจ้าพระยา และที่อื่นๆ ทั่วประเทศ



(ซ้าย) เมล็ดข้าว ราว ๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว จากถ้ำปุงฮุง จ.แม่ฮ่องสอน
(กลุ่มกลาง) เปรียบเทียบพันธุ์ข้าวปัจจุบันทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย
(ขวา) เปลือกข้าวที่ขุดได้จากถ้ำปุงฮุง จ.แม่ฮ่องสอน แสดงรอยแตกแบบเดียว
กับเปลือกข้าวที่แตกจากการตำแล้วฝัดเอาเปลือกออก
(ภาพจาก “Hoabinhian Horticulture : The Evidence
and the Question From Northwest THAILAND”.
Sunda and Sahul : Prehistoric Studies in Southeast Asia,
Melanesia and Austraria. J. Allen, J Golson and R. Jones Eds.
Academic Press, London 1977
.)

ราวหลัง พ.ศ.๑๘๐๐ พบเมล็ดข้าวเหนียวที่หุงหรือนึ่งแล้ว ตกอยู่ในดินบริเวณศาลาโถง (เนินปราสารท) หน้าวัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย

น่าจะเป็นข้าวเหนียวที่คนเอามาถวายพระสงฆ์ในงานทำบุญ

ต้นข้าว ตระกูลหญ้า
ต้นข้าว เป็นพืชตระกูลหญ้า มีขึ้นทั่วไปในอุษาคเนย์อาเซียนและในโลก เช่น ข้าวเหนียว, ข้าวเจ้า, ข้าวฟ่าง, ข้าวสาลี เป็นต้น

บางคนว่าต้นข้าวเป็นตระกูลหญ้าอร่อยที่สุด



หมาศักดิ์สิทธิ์เอาพันธุ์ข้าวมาให้มนุษย์ปลูกกินในพิธีเซ่นวักเลี้ยงผีบรรพชน
มีรูปหมาขนาดมหึมาอยู่ศูนย์กลาง (ลายเส้นคัดลอกภาพเขียนสีอายุ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
บนเพิงผาริมแม่น้ำ ที่มณฑลกวางสี ในจีน)

หมาเก้าหาง หมาเก้าหาง หาพันธุ์ข้าวให้คนปลูกกิน

บนหน้าผาที่มณฑลกวางสีในจีน มีภาพเขียนสีแดงรูปหมาขนาดใหญ่สุดอยู่ท่ามกลางฝูงคนที่ทำท่าคล้ายกบเรียงรายล้อมรอบนับพันๆ คน ราวกับกำลังทำพิธีบูชายัญหมา ชาวจ้วง (พูดตระกูลภาษาไทย-ลาว) มีนิทานเล่าว่า

แต่ก่อนคนเรายังโง่ ยังไม่มีข้าวกิน เพราะไม่รู้จักและไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก

ครั้งนั้นมีหมา ๙ หางตัวหนึ่งขึ้นไปบนสวรรค์ แล้วเอาหางทั้ง ๙ จุ่มลงไปในกองข้าวของสวรรค์เพื่อขโมยพันธุ์ข้าวมาให้มนุษย์ พันธุ์ข้าวสวรรค์ก็ติดที่หางทั้ง ๙ แล้วหนีมา

แต่เทวดาเห็นก่อน จึงไล่ตาม แล้วใช้เทพอาวุธฟาดฟันหมาที่ขโมยพันธุ์ข้าว

เทพอาวุธฟาดถูกหางขาดไป ๘ หาง หมาจึงเหลือหางเดียว พร้อมพันธุ์ข้าวที่ติดหางมาให้มนุษย์

นับตั้งแต่นั้นมามนุษย์ก็รู้จักปลูกข้าวกิน แล้วยกย่องหมาเป็นผู้วิเศษที่ทำคุณแก่มนุษย์

นิทานเรื่องหมาเก้าหาง เมื่อหลายพันปีมาแล้ว แพร่กระจายเป็นที่รับรู้ทั่วสุวรรณภูมิ จึงมีภาพเขียนสีรูปหมาบนผนังถ้ำและเพิงผา พบทั่วไปทั้งในไทยและที่ใกล้เคียง



หมาศักดิ์สิทธิ์เอาพันธุ์ข้าวให้มนุษย์ปลูกกิน ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ในภาพเขียนที่ถ้ำขาม ภูซำผักหนาม บ้านวังน้ำอุ่น ต.ทุ่งนาเลา อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
(ภาพลายเส้นคัดลอกจากหนังสือ ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย.
พเยาว์ เข็มนาค เรียบเรียง. กองโบราณคดี กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ ๒๕๓๙.)


หมาศักดิ์สิทธิ์ ที่คนดึกดำบรรพ์เชื่อว่านำพันธุ์ข้าวจากฟ้ามาให้คนปลูกกินเป็นอาหาร
(ลายเส้นของกรมศิลปากร คัดลอกจากภาพเขียนสี ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ที่เขาปลาร้า อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี)

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๑๙) กินข้าวเป็นอาหารหลัก" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน เรือนเสาสูง

เรือนเสาสูง
บรรพชนคนอุษาคเนย์ในอาเซียนหลายพันปีมาแล้ว มีวัฒนธรรมร่วมเรื่องที่อยู่อาศัย ล้วนปลูกเรือนเสาสูงเป็นที่อยู่ทั้งบนหุบเขาและทุ่งราบ ตั้งแต่ตอนใต้ลุ่มน้ำแยงซี (ในจีน) จนถึงหมู่เกาะ

เสาสูง
เรือนเสาสูง หมายถึงเรือนมีต้นเสา และมีหลังคาตั้งบนต้นเสา แล้วยกพื้นสูงอยู่ใต้หลังคาคลุม

ใต้พื้นเรือนถึงพื้นดิน เรียกใต้ถุน (ถุน เป็นคำดั้งเดิม แปลว่า ข้างใต้, ข้างล่าง)

ใต้ถุน
ใต้ถุน หมายถึงบริเวณใต้พื้นเรือนถึงพื้นดิน เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน ตลอดวันตั้งแต่เช้าถึงค่ำก่อนขึ้นไปนอนบนเรือนเพื่อหนีสัตว์ร้าย

กิจกรรมประจำวัน เช่น หุงหาอาหาร ๓ มื้อ, ตีหม้อ, ทอผ้า, เลี้ยงเด็กที่เป็นลูกหลานในชุมชน, เป็นคอกวัวคอกควายเลี้ยงสัตว์, ฯลฯ

ใต้ถุนไม่ได้มีไว้หนีน้ำท่วม (ตามที่บอกกันต่อๆ มา) แต่มีไว้ทำกิจกรรมชีวิตประจำวัน แล้วบังเอิญมีน้ำท่วมก็หยุดกิจกรรมชั่วคราว

เพราะเรือนของคนบนที่สูงในหุบเขาซึ่งน้ำไม่เคยท่วม ก็ล้วนใต้ถุนสูง

แต่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ย่อมมีน้ำท่วมถึงใต้ถุน แล้วคนหนีน้ำท่วมขึ้นไปอยู่บนเรือน โดยไม่ได้มีเจตนาทำใต้ถุนสูงไว้หนีน้ำตั้งแต่แรก

หลังคา
หลังคาเรือนมีไม้ไขว้กัน เป็นเทคโนโลยีค้ำยันไม่ให้หลังคายุบลงของไม้ไผ่สองลำในยุคเริ่มแรก ซึ่งคนบางกลุ่มเรียกอย่างนี้ว่า กาแล

ลักษณะอย่างนี้มีในทุกเผ่าพันธุ์ บางพวกใช้ส่วนไขว้กันเป็นที่แขวนหัวสัตว์เลี้ยงผีบรรพชน เช่น หัวควาย

บ้าน, เรือน
บ้าน แต่ดั้งเดิมคำนี้หมายถึงเรือนหลายหลังอยู่รวมกันเป็นชุมชน ตรงกับปัจจุบันว่า หมู่บ้าน หรือ village

เรือน หมายถึงที่อยู่อาศัยเป็นหลังๆ มีหลังเดียว ตรงกับ house (ปัจจุบันเรียกบ้าน)

สองคำนี้ต่อมาใช้รวมกันเป็นบ้านเรือน ตรงกับ house แล้วผูกคำใหม่คือ หมู่บ้าน ให้ตรงกับ village

๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว คนค่อยๆ ทยอยหยุดร่อนเร่ แล้วเริ่มตั้งหลักแหล่ง ปลูกเพิงอยู่อาศัยอย่างง่ายๆ ด้วยไม้ไผ่ และมุงด้วยใบไม้ทั่วไป หลังจากนั้นก็ทำให้แข็งแรงขึ้นเป็นกระท่อมหรือทับบริเวณที่ราบในหุบเขา

นานเข้าก็รวมอยู่ด้วยกันเป็นหมู่ แล้วมีบุคคลสำคัญเป็นหัวหน้า มีที่ฝังศพหัวหน้า เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ถ้ำ และเพิงผา ฯลฯ แล้วมีพิธีฝังศพหรือพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายด้วย

แต่คนไมได้หยุดร่อนเร่พเนจรพร้อมกันทั้งหมด ฉะนั้นจึงยังมีบางพวกบางกลุ่มที่ล้าหลังยังคงร่อนเร่แสวงหาอาหารตามธรรมชาติต่อไปอีก



(ซ้าย) เรือนเสาสูงของชุมชนยุคแรกๆ นักโบราณคดีจินตนาการจากหลุมเสา ๖ หลุม
ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ขุดพบที่บ้านหนองแช่เสา ต.หินกอง อ.เมือง จ ราชบุรี
(ภาพจาก ลักษณะไทย เล่ม ๑ : ภูมิหลัง ภาค ๒ ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
โดย พิสิฐ เจริญวงศ์ อ้างถึง Sorensen, P. Archaeology
in Thailand : Prehistory through the Neolithic Age.
Sawaddi, July-August, Bangkok, 1972 : 21
.)
(ขวา) เรือนมุงหญ้าคาแบบหลังเต่าของกลุ่มชาติพันธุ์ทางพรมแดนลาว-เวียดนาม


(ซ้าย) เรือนของคนเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว สลักเป็นลายเส้นบนหน้ากลองทองมโหระทึก
พบที่เวียดนาม เทียบกับ (ขวา) เรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ปัจจุบันที่แขวงอัตตะปือ ในภาคใต้ของลาว


เรือนเสาสูง และโครงสร้างหลังคาทรงอานม้า (มีกาแล)
ตัวอย่างจากที่พบในหมู่เกาะอินโดนีเซียตะวันออก (I-VII), ชวาตะวันออก  (VIII),
สุมาตรา (LX-XII), เวียดนาม (XIII)
ลายเส้นวาดโดย Bernard Vroklage ศาสตราจารย์ชาวเนเธอร์แลนด์ เมื่อ ค.ศ.๑๙๓๖
ผู้อธิบายความว่าหลังคาทรงอานม้าสร้างเลียนแบบเรือ โดยสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพชน
ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย (จากหนังสือ The Living House by Roxana Waterson,
Singapore Oxford University Press Oxford New York
๑๙๙๑, p.๒๑)

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๒๑) เรือนเสาสูง" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



.

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน โลหะก่อนสร้างบ้านเมือง

โลหะ ก่อบ้านสร้างเมือง
บรรพชนคนอุษาคเนย์ในอาเซียน ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีเทคโนโลยีก้าวหน้าจากเครื่องมือหินเป็นเครื่องมือโลหะสำริดและเหล็ก

เทคโนโลยีนี้ส่งผลให้เกิดการเดินทางโยกย้ายไปมาหาสู่ของกลุ่มชนนานาชาติพันธุ์ แล้วเกิดเส้นทางการค้าข้ามภูมิภาคจนพัฒนาเป็นการค้าโลก (ต่อไปข้างหน้า)

เฉพาะสำริดเป็นพื้นฐานสำคัญให้เชี่ยวชาญหล่อรูปเคารพ หลังรับศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาจากอินเดีย เช่น เทวรูป, พระพุทธรูป

สำริด, สัมฤทธิ์
โลหะเก่าสุดคือ สำริด หรือสัมฤทธิ์ (เขียนได้สองอย่าง) เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก หรือ ฯลฯ

ทองแดง เป็นโลหะหลัก มีแหล่งใหญ่สุดและสำคัญสุดอยู่บริเวณสองฝั่งโขง ตั้งแต่มณฑลยูนนาน (ในจีน) ลงมาถึงลาวและอีสาน (ในไทย)

[มณฑลยูนนาน ราว ๓,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีวัฒนธรรมร่วมสุวรรณภูมิ และเอกสารจีนโบราณไม่นับเป็นฮั่น แต่เป็นพวกหมาน, เยว์ หมายถึงป่าเถื่อน]

เหล็กสร้างบ้านแปลงเมือง
ราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีการถลุงเหล็กทำเครื่องมือเครื่องใช้อย่างกว้างขวางทั่วไปหมด ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวย้ายหลักแหล่งไปมาเพื่อหาบริเวณที่มีแร่ธาตุและทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เช่น เหล็ก และเกลือ

แหล่งที่มีเหล็กและเกลืออยู่มากที่สุด คือรอบๆ ทุ่งกุลาร้องไห้ (ในเขตอีสานใต้) จึงมีผู้คนจากที่อื่นเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานถาวรเพื่อถลุงเหล็กและต้มเกลือ เป็นเหตุให้มีประชากรเผ่าพันธุ์ต่างๆ หนาแน่นกว่าเดิม

ในจำนวนนี้มีพวกพูดตระกูลภาษาลาว-ไทย จำนวนหนึ่ง เคลื่อนย้ายมาจากดินแดนทางทิศตะวันออกบริเวณตอนใต้ของจีน เช่น มณฑลกวางสี-กวางตุ้ง และทางเหนือของเวียดนามปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีแหล่งแร่เหล็กและร่องรอยการถลุงเหล็ก อยู่บริเวณภาคกลางลุ่มน้ำปิง ยม น่าน และลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี เช่น สุโขทัย ลพบุรี เป็นต้น

เหล็กนี่แหละเป็นโลหะสำคัญที่สุดที่จะกระตุ้นให้เกิดการคมนาคมแลกเปลี่ยนค้าขายทั่วภูมิภาค จนมีการรวมตัวกันสร้างบ้านแปลงเมืองจนรุ่งเรืองเป็นรัฐ (ต่อไปภายหน้า) เช่น รัฐพิมาย (นครราชสีมา) รัฐละโว้ (ลพบุรี) รวมถึงรัฐสุโขทัยที่มีหลักฐานเป็นชุมชนถลุงโลหะ โดยเฉพาะเหล็ก ตั้งแต่เมื่อราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว



หอก


ขวาน


กำไล


เครื่องมือและเครื่องประดับทำด้วยโลหะ พบที่บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี


กำไลลูกกระพรวน


เบ็ด


คนพื้นเมืองในเขมรเมื่อราว ๑๐๐ ปีมาแล้ว ถลุงแร่โลหะธาตุด้วยเทคโนโลยีดั้งเดิมดึกดำบรรพ์


เครื่องมือเหล็ก พบที่บ้านดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี


เครื่องมือเหล็ก พบที่บ้านดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๒๒) โลหะก่อนสร้างบ้านเมือง" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



.

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน เครื่องดนตรีไม้ไผ่ และโลหะ


(ซ้าย) กลุ่มชาติพันทางมณฑลยูนนานในจีน ตีกระบอกไม้ไผ่
(ขวา) เครื่องดนตรีในวัฒนธรรมไม้ไผ่ (ลายเส้นจากหนังสือ เครื่องดนตรีไทย
ของ ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๕๑๐)

คนอุษาคเนย์ในอาเซียน มีเครื่องประโคมร่วมกันในวัฒนธรรมไม้ไผ่ ไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นเครื่องตีจากกระบอกไม้ไผ่
 
หลังจากนั้นราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีเครื่องประโคมร่วมกันในวัฒนธรรมโลหะ เช่น กลองทอง (หรือมโหระทึก) เริ่มบริเวณมณฑลยูนนานกับมณฑลกวางสีทางตอนใต้ของจีน แล้วแพร่กระจายลงไปถึงหมู่เกาะ
 
เครื่องมือโลหะต่อมาภายหลังเรียก ฆ้อง มีหลายขนาด ประโคมตีมีเสียงศักดิ์สิทธิ์ดังกังวาน สื่อสารกับผีหรือเทวดา

ตีไม้ไผ่
คนอุษาคเนย์เริ่มทำเครื่องประโคมวัฒนธรรมไม้ไผ่ เพื่อพิธีกรรมสื่อสารวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ (คือผีบรรพชน)
 
โดยใช้ไม้ไผ่ขนาดต่างๆ ทำเครื่องมือ มีชื่อเรียกสมัยหลังว่า เกราะ, โกร่ง, กรับ

เป็นต้นแบบของโปง ใช้แขวนตีบอกสัญญาณ แล้วมีพัฒนาการเป็นกลองไม้ กระทั่งปัจจุบัน คือกลองเพล แขวนตามวัด มีทั่วไปทุกหนทุกแห่ง
 
กระบอกไม้ไผ่เป็นปล้องๆ ใช้ตีปล้องละหนึ่งเสียง ตัดมาวางเรียงกันหลายปล้อง ได้หลายเสียง ต่อมาภายหลังจะมีพัฒนาการจนเรียก ระนาด
 
เป่าไม้ไผ่
เครื่องเป่าแรกสุดคือใบไม้ เด็ดใบไม้ใบหนึ่ง คาบใบไม้ด้วยริมฝีปาก แล้วใช้ลมปากเป่าใบไม้ที่คาบไว้นั้นเป็นเสียงสูงต่ำ ทำนองตามต้องการ

แขนงไม้ไผ่เล็กๆ ทำให้กลวง หรือใช้ไม้ตระกูลไม้ไผ่ เช่น ไม้ซาง เอาด้านหนึ่งใส่ปากอมแล้วเป่า เรียก ปี่จุ่ม ยังมีในล้านนาและชาติพันธุ์ผู้ไทในเวียดนาม
 
ถ้าเสียบกับลูกน้ำเต้าแห้งแล้วเป่าได้เสียงเดียว เรียกชื่อภายหลังว่า ปี่น้ำเต้า แต่เสียงเบา บางทีก็เรียก เรไร
 
ต่อมาเอาไม้ไผ่, ไม้อ้อ หลายอันเสียบลูกน้ำเต้าแห้งเรียงกัน มีลิ้นทำด้วยโลหะบางเฉียบ เป่าได้หลายเสียง เรียก แคน พบหลักฐานเก่าสุดราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในยูนนาน (จีน) และเวียดนาม ต่อมาพบกระจายทั่วอุษาคเนย์ทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ
 
แม้ปัจจุบันจะใช้ไม้จริงทำที่เป่าแทนผลน้ำเต้า มีไม้ซางเสียบเป็นแผง ก็ยังเรียกที่เป่านั้นว่า เต้าแคน สืบนามน้ำเต้าไว้



(ซ้าย) เป่าปี่น้ำเต้า
(ขวา) เป่าแคนกับฟ้อนเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นการละเล่นในพิธีกรรม
เพื่อความอุดมสมบูรณ์ นุ่งผ้าปล่อยชายยาว ๒ ข้าง ประดับขนนก หรือใบไม้ไว้บนหัว
ประเพณีอย่างนี้ยังมีร่องรอยกระจายทั่วไปทั้งสองฝั่งโขง ถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
(ลายเส้นบนเครื่องมือสำริด พบที่เวียดนาม)

ฆ้อง
ฆ้องที่วางเรียงมีหลายเสียงลดหลั่น เป็นวิธีการเลียนแบบกระบอกไม้ไผ่ที่มีมาก่อน มีร่องรอยเหลือให้เห็นอยู่ในกาเมลันของอินโดนีเซีย
 
เมื่อมนุษย์ค้นพบโลหะ แล้วมีเทคโนโลยีก้าวหน้าถลุงและหล่อโลหะได้ ทำให้เกิดคนชั้นนำมีอำนาจและมีบริวารสร้างสรรค์วัฒนธรรมฆ้อง ขณะที่คนชั้นล่างใช้วัฒนธรรมไม้ไผ่ที่มีมาแต่เดิม
 
วัฒนธรรมฆ้องเก่าสุดอายุราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบที่ยูนนาน, กวางสี (ในมณฑลทางใต้ของจีน) และที่ดงเซิน (ในเวียดนาม)
 
มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น กลองทอง (ไทย, ลาว), ฆ้องบั้ง (ลาว), กลองกบ (กะเหรี่ยง), ฆ้องกบ, มโหระทึก (ไทย), ฯลฯ
 
กลองทอง หรือมโหระทึก มีหูระวิงอยู่ข้างๆ เอาไว้ใช้เชือกร้อยแขวนตีประโคม หูระวิงนี้เป็นต้นแบบให้กลองทัดต่อไปข้างหน้า
 
ฆ้องเป็นวัฒนธรรมร่วมเฉพาะภูมิภาคอุษาคเนย์ มีแหล่งกำเนิดบนผืนแผ่นดินใหญ่ แล้วแพร่กระจายลงไปทางหมู่เกาะทะเลใต้ มีใช้ในทุกกลุ่มชาติพันธุ์สืบเนื่องถึงทุกวันนี้
 
ระฆ้อง-ระฆัง
คำว่าฆ้องมีรากจากภาษาตระกูลชวา-มลายู ว่า gong คู่กับ ระฆัง ใช้ไม้ตีจากข้างนอก เอกสารโบราณใช้คู่กันว่า ระฆ้อง-ระฆัง หรือ รังฆ้อง-รังฆัง ก็มี โลกตะวันตกรับอิทธิพลฆ้อง-ระฆัง จากอุษาคเนย์ แล้วทับศัพท์คำ gong ไปใช้ในภาษาตะวันตกด้วย

gong ของอุษาคเนย์ ต่างจาก bell ของตะวันตก เพราะ gong ตีจากข้างนอก แต่ bell ตีจากข้างใน (มีลูกกระทบแขวนข้างใน bell)



(ซ้าย) มโหระทึก หรือฆ้อง/กลองสัมฤทธิ์ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบที่ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์
(ขวา) ฆ้องทาสี ตรงปุ่มฆ้องเป็นรูปแฉกคล้ายดาว อายุราวหลัง พ.ศ. ๒๐๐๐
พบที่แหล่งเรือจมน้ำตื้นรอแยลกัปตัน บริเวณเกาะปาลาวัน ฟิลิปปินส์

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๒๓) เครื่องดนตรีไม้ไผ่ และโลหะ" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

3455  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / วัฒนธรรมชาวจีน เรื่อง อาหาร เมื่อ: 17 กรกฎาคม 2558 14:12:55
.

วัฒนธรรมชาวจีน
เรื่อง 'อาหาร'



ช้อนอาหาร...อีกหนึ่งความเก่าแก่ของวิถีจีน

ยามเอ่ยถึงสิ่งที่อยู่บนโต๊ะอาหาร ผู้คนส่วนมากก็มักจะเทความสนใจไปที่ตัวตนของอาหาร ทั้งรูปร่างหน้าที่ชี้ชวนให้ชื่นชมและรสชาติหลังจากที่ได้ลิ้มลอง ถัดมาก็อาจจะพินิจพิจารณาภาชนะที่นำมาใช้ ว่าสวยหรูดูเข้ากันเพียงใด ในขณะที่อุปกรณ์สำหรับใช้รับประทานนั้น มักจะได้รับความสำคัญในระดับรองๆ ลงมา

อย่างไรก็ดี อุปกรณ์ช้อนส้อมที่เปรียบเสมือนอาวุธคู่มือยามออกรบบนโต๊ะอาหารนี้ แท้จริงแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เคียงบ่าเคียงไหล่ ให้ความสะดวกกับผู้รับประทานโดยตรง ซึ่งในมื้ออาหารจีนนั้น แม้จะมีจอมยุทธ์เอกเช่นตะเกียบแสดงบทเด่นเป็นสำคัญ  กระนั้นก็ดี ในบางครั้งบางครา ก็ยังต้องอาศัยจอมยุทธ์รายอื่นมาร่วมด้วย

จอมยุทธ์รายถัดไปที่เห็นกันได้บ่อยนั้น นิยมนำมาแสดงตนในยามที่มีอาหารจำพวกที่มีส่วนประกอบของน้ำอยู่มาก เช่นว่า น้ำแกง น้ำซุป บะหมี่น้ำ และโจ๊ก เป็นอาทิ หรือประกบคู่อยู่กับข้าวบ้างเป็นบางโอกาส

ซึ่งจอมยุทธ์รายนี้ ก็คือ ช้อนอาหารนั่นเอง

เมื่อเทียบรัศมีของช้อนกับตะเกียบบนโต๊ะอาหารจีนแล้วไซร้ ต้องยอมรับเลยว่ายังทาบกันไม่ติด ผู้คนทั่วโลกคิดถึงตะเกียบในฐานะหนึ่งในข้าวของที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของจีน

เพราะในขณะที่มีประโยชน์ใช้สอยที่สมจริงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมกันนั้น ตะเกียบก็ยังซ่อนมนต์ขลังของวัฒนธรรมแห่งซีกโลกตะวันออกไว้ ทำให้มีการหยิบจับนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรม รวมถึงเป็นของที่ระลึกในบางโอกาสด้วย

แสดงให้เห็นถึงสายตาที่มองตะเกียบในมุมที่มากกว่าการเป็นแค่เครื่องมือใช้ทานอาหาร

แต่ถึงช้อนอาจจะดูธรรมดา ไม่ได้สะดุดตาดังเช่นตะเกียบ กระนั้นก็ดี ช้อนก็เป็นของเก่าของแก่ของจีนอีกประการ ที่เก่าแก่มากอย่างไม่น่าเชื่อ

เพราะจากหลักฐานทางโบราณคดี จีนเชื่อว่าชาวจีนได้คิดค้นและเริ่มใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะเหมือนช้อนมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ราว ๗ พันกว่าปีก่อนแล้ว

และแม้ว่าข้อมูลจากตำรับตำราของชนชาติอื่นๆ ที่กล่าวถึงการใช้ช้อนในยุคเก่าแก่ก็มีปรากฏให้เห็นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น อียิปต์หรืออินเดีย แต่ความเป็นมาที่ยาวนานของการใช้ช้อนในสังคมจีนยุคโบราณ ก็เป็นสิ่งที่มีหลักมีฐานให้อ้างอิงได้อย่างหนักแน่น

การนำช้อนมาใช้ในยุคแรกเริ่มของจีนนั้น เกี่ยวพันกับการรับประทานอาหารโดยตรง เพราะนำมาไว้ใช้ทานข้าวต้มแบบโบราณที่ได้จากการต้มธัญพืชกับน้ำ เพื่อเป็นอาหารหลัก

ซึ่งข้าวต้มเช่นนี้ ทั้งร้อนระอุ ทั้งมีส่วนประกอบของน้ำ รับประทานด้วยมือเช่นอาหารอื่นๆ ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องคิดหาตัวช่วย

เริ่มจากของใกล้มือที่ดูเหมาะสม ในยุคต้นได้มาเป็นเปลือกหอยหรือแผ่นกระดูกที่พอดีมือ มีส่วนสำหรับไว้ใช้จับ และส่วนที่ไว้ใช้สัมผัสอาหาร ตักได้ใช้คล่อง ก่อนจะค่อยๆ ปรับแต่งกันไป จนก่อกำเนิดเป็นช้อนแบบที่เป็นชิ้นเป็นอัน

ช้อนในสมัยโบราณที่ขุดค้นพบได้หลายชิ้นยังมีรูอยู่ตรงส่วนปลาย นัยว่าสำหรับใช้พกพาติดตัวเวลาไปไหนมาไหนได้อีกด้วย

และเมื่อมาถึงราวพันกว่าปีก่อน ธรรมเนียมการใช้ช้อนรับประทานอาหารก็เป็นที่แพร่หลายไปทั่วจีนแล้ว

และเมื่อถึงยุคโลหะ ก็มีช้อนที่ใช้วัสดุทำมาจากโลหะเพิ่มขึ้นมา ซึ่งช้อนโลหะนี้ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหลายยุค รวมไปถึงช้อนที่ทำจากเงินแท้ ก่อนที่สมาชิกชาวช้อนแบบต่างๆ จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในเวลาต่อๆ มา ทั้งในด้านของวัสดุ เช่น ไม้ กระเบื้อง สแตนเลส และอื่นๆ

และในด้านของประโยชน์ใช้สอย เช่น ขนาดใหญ่เล็กตามวัตถุประสงค์การใช้ ความโค้งมนและความตื้นลึกของปลายช้อน หรือความเรียวยาวของด้ามจับ เป็นต้น ที่ล้วนแต่ได้รับการปรับเปลี่ยนหน้าตา ให้เหมาะแก่การใช้งานมากยิ่งขึ้น ประณีตขึ้นและสวยงามขึ้นด้วย

พัฒนาการของช้อนดำเนินเดินมาเรื่อยๆ ไม่ได้หวือหวามากนักเมื่อเทียบกับข้าวของอีกหลายอย่าง แต่ก็มีช้อนรูปร่างแปลกๆ ใหม่ๆ ที่คิดหาออกแบบให้แปลกตากันอยู่เสมอ สร้างความสนุกในแง่ของดีไซน์ และสร้างสีสันบนโต๊ะอาหาร ในเวลาเดียวกัน ก็ยังมีช้อนพลาสติกที่ออกมายึดครองตลาด เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับอาหารจานด่วนด้วย

สำหรับช้อนอาหารจีนที่พบเห็นได้เป็นส่วนใหญ่นั้น จะเป็นช้อนในลักษณะช้อนน้ำแกง ที่มีขนาดของด้ามจับสั้นกว่าช้อนทานข้าวแบบไทย หรือช้อนซุปแบบฝรั่ง มีแต่ขนาดส่วนปลายช้อนที่ใช้ตักอาหารใหญ่และลึกกว่า ที่เห็นได้บ่อยตามร้านอาหารจีนทั่วไป ก็คงเป็นช้อนที่ทำมาจากกระเบื้อง สีขาวล้วนบ้าง เล่นลวดลายบ้าง เสิร์ฟมาพร้อมอาหารประเภทที่ใช้ช้อนสะดวกกว่าใช้ตะเกียบ รวมถึงของหวาน ทำให้ทานได้เรียบร้อยและเอร็ดอร่อย

แต่หากเป็นภัตตาคารหรูหรา ก็จะเห็นเป็นช้อนที่มีส่วนปลายเป็นทรงกลม ด้ามจับเรียวยาว สลักลวดลายตรงปลาย วางไว้คู่กับตะเกียบ มักเป็นชุดสีทอง

และเห็นกันมากในวิถีทางของอาหารแบบกวางตุ้งฮ่องกง

ว่ากันว่า ช้อนคันที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ก็อยู่ที่จีน มีขนาดยาวถึง ๔ เมตร และนักถึง ๒ ตัน มีฉายาว่า ช้อนอันดับ ๑ ในใต้หล้า มีหน้าตาเป็นช้อนน้ำแกง และเป็นกรรมสิทธิ์ของพิพิธภัณฑ์ด้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองฉางซา ที่สั่งทำช้อนนี้ขึ้นมาเป็นของพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ

ช้อนจึงนับเป็นสิ่งของที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี แม้จะมีคนสนใจน้อยบ้างมากบ้าง แต่ช้อนก็ดำรงทรงตัวอยู่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาอย่างเนิ่นนานจนแทบจะไม่น่าเชื่อ ว่ากันอีกว่า ในบรรดาอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารทั้งหลายนั้น ช้อนน่าจะเป็นชิ้นที่มีอายุอานามเก่าแก่มากที่สุดเลยทีเดียว




วัฒธรรมจีน
เรื่อง 'อาหาร'

http://i472.photobucket.com/albums/rr90/nanthinee/Chai%20Tao%20Kuay/DSC_3160_zps59e3121f.jpg


ขนมผักกาด...มาดเรียบง่าย แต่ได้รสล้ำ

เมนูชนิดหนึ่ง ซึ่งคนไทยคุ้นลิ้นชินรสกันไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะยามแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนร้านอาหารจีนสไตล์กวางตุ้งที่เสิร์ฟสารพันอาหารเข่ง เช่น ติ่มซำ ก็คือ เมนูที่เราเรียกว่าขนมด้วยชื่อแปลกหูว่า ขนมผักกาด

ขนมชนิดนี้แม้จะมีหน้าตาเรียบๆ ดูไม่หรูหราหรือเลอค่า แต่ก็เป็นเมนูโปรดของคอติ่มซำหลายต่อหลายกลุ่ม ปรากฏกายมาในรูปร่างสี่เหลี่ยม สีขาวออกขุ่น แต่งแต้มด้วยส่วนผสมเป็นชิ้นเล็กๆ สีแดงบ้าง สีส้มบ้าง สีเขียวบ้าง ผสมเสร็จสรรพมาในตัว

ลักษณะของขนมนิดนี้ พลิกซ้ายดูขวา อาจจะพอเทียบได้กับขนมพุดดิ้งสี่เหลี่ยมแบนๆ แต่เป็นพุดดิ้งแบบเค็ม มิใช่แบบหวาน

และด้วยความที่มีผิวกรอบนิดๆ เนื้อในนุ่มๆ รสกลมกล่อม หอมกลิ่นเฉพาะ จะทานเดี่ยวก็ได้ หรือจับคู่กับซีอิ๊ว ซอสเปรี้ยว ซอสหวาน พริกน้ำมัน หรือซอสอื่นๆ ก็ไปกันได้ดี

จึงกลายเป็นขนมของคาวที่เด็กก็ทานได้ ผู้ใหญ่ก็ทานเพลิน

ขนมผักกาดนี้ จัดว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากแถบกวางตุ้งและฮกเกี้ยน จึงพบปะเจอะเจอได้ตามโต๊ะติมซำ ทั้งที่ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน บนจีนแผ่นดินใหญ่ เรื่อยไปจนถึงในหลายประเทศที่มีชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่จำนวนไม่น้อย

นอกจากนี้ ตามร้านโจ๊กและร้านหมี่บางแห่ง ก็ยังเสิร์ฟขนมผักกาดแบบโฮมเมดมาเป็นของทานเล่นเคียงกันอีกด้วย ทำให้แพร่หลายทั้งในร้านเล็กร้านใหญ่

และแม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้มาในเข่งไม้ แต่ก็มีสถิติความถี่ของการขึ้นโต๊ะติ่มซำไม่เป็นรองใคร และใช่ว่าจะทานกันแค่ในวันทั่วๆ ไปเท่านั้น หากยังขึ้นชื่อว่า ได้รับคะแนนนิยมเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ตามธรรมเนียมจีนด้วย

ซึ่งนั่นก็สืบเนื่องมาจากการที่ขนมผักกาดมีความหมายสื่อถึงโชคดีและความรุ่งเรืองเปรื่องปราด

ทำให้เชื่อว่า ถ้าได้รับประทานในช่วงปีใหม่แล้ว จะเป็นการเพิ่มสิ่งดีๆ ให้กับปีนั้น

แต่ถ้าจะสืบสาวถึงเหตุถึงผลที่มีหลักการอ้างอิงขึ้นมาอีกนิด ก็อาจจะเป็นเพราะว่า ผลผลิตหัวไชเท้าที่ปลูกได้ในช่วงนี้ของปี มักจะมีรสหวานกว่าในฤดูอื่น ดังนั้น เมื่อนำมาทำขนมผักกาด จึงได้รสที่อร่อยล้ำยิ่งขึ้น และทำให้เป็นที่โปรดปรานเพิ่มขึ้นกว่ายามธรรมดา

ขนมผักกาดจึงเป็นหนึ่งในขนมที่มีให้เห็นกันหนาตาในช่วงตรุษจีน โดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศ บางคนถึงกับเปรียบเปรยว่า ขนมผักกาดสำหรับตรุษจีน ก็เปรียบได้กับขนมปังขิงของเทศกาลคริสต์มาสนั่นเอง

ขนมผักกาดนี้เป็นชื่อที่เรียกกันในภาษาไทย น่าจะได้มาจากการเรียกตามส่วนผสมหลักที่เป็นหัวผักกาด หรือที่บางคนก็เรียกผักกาดหัว และที่หลายคนก็เรียกว่า หัวไชเท้า ซึ่งในภาษาจีน รวมถึงภาษาแต้จิ๋ว จะเรียกกันในชื่อ ขนมหรือเค้กหัวไชเท้า สะท้อนต้องตรงกับตัวตนที่แท้จริงของขนมประเภทนี้

เพราะส่วนผสมหลักหรือเรียกได้ว่าแทบจะทั้งหมดนั้น ได้มาจากหัวไชเท้าขูด หรือบางที่ก็อาจจะใช้วิธีซอย หั่น หรือฝานเป็นแผ่น ทำได้ทั้งนั้น บางสูตรนำไปผสมแป้งกับน้ำเลย บางสูตรนำมาผัดก่อนผสม ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงที่หาได้ทั่วไปอย่างเกลือ น้ำตาล ซอสถั่วเหลือง อาจเสริมด้วยพริกไทย น้ำมันงา และน้ำมันเล็กน้อย

หลายสูตรของหลายร้านยังเพิ่มเสริมเติมแต่งด้วยลูกเล่นอื่นๆ เช่น กุนเชียง กุ้งแห้ง เห็ด และผักใบเขียวเล็กๆ อย่างผักชี ต้นหอม หรือจะเลือกใช้วัตถุดิบราคาแพงลิบอย่างปลิงทะเลกับเป่าฮื้อมาผสม ก็ทำได้เช่นกัน หั่นเป็นลูกเต๋าจิ๋วๆ ผสมลงไปในส่วนผสมของไชเท้าในสัดส่วนที่ไม่สูงนัก พอให้เห็นประปราย ได้รสนิด เพิ่มกลิ่นหน่อย แต่ไม่กลบรสชาติของพระเอกนำอย่างหัวไชเท้า

พอได้องค์ประกอบครบ จะเทส่วนผสมใส่พิมพ์ นำไปนึ่งจนสุก เกาะตัวเป็นแผ่นแข็งดี หากเป็นการทานกันเองในครอบครัว ก็อาจจะทานบางส่วนตอนที่นึ่งเสร็จร้อนๆ เลย ชื่นชมรสชาติความสำเร็จในทันใด แล้วเก็บอีกส่วนใส่ห่อให้เรียบร้อย แช่เย็นอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะเหมือนกับตามร้านอาหาร

ก่อนจะเป็นขนมผักกาดที่สมบูรณ์นั้น จะต้องนำมาหั่นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าบ้าง จัตุรัสบ้าง เสิร์ฟแบบนึ่งหลังสุกเลยแบบที่ทานในครัวเรือนก็ได้ หรือจะนำที่แช่เย็นจนอยู่ตัวดีแล้วมาทอดแบบใช้น้ำมันน้อยๆ อีกทีก็ดี

โดยปกติแล้ว จะทอดจนผิวทั้งสองด้านออกเป็นสีน้ำตาลอ่อนนิดๆ กรอบพอประมาณ และเปิดโอกาสให้บรรดาตัวช่วยทั้งเนื้อสัตว์ เห็ด และผักร่วมด้วยช่วยกันส่งกลิ่นหอมชวนรับประทาน

แต่บางร้าน อาจจะแหวกแนวไปกว่านั้น เช่นว่าทอดจนเป็นสีเหลืองทองจัด ผิวกรุบกรอบถ้วนทั่วหรือเป็นชิ้นพอดีคำ ทอดแล้วนำไปผัดกับซอสต่างๆ เช่น ซอส XO ก็ทำให้หรูดูดีไปได้อีกแบบ

สำหรับแบบที่หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กลงมา ผัดกับถั่วงอกและซอสหวานปรุงรส เพิ่มไข่ ใส่ต้นหอมบ้างนั้น เป็นวิธีการปรุงขนมผักกาดอีกแบบ จะเจอะเจอทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า อย่างในสิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงไทย มีผัดร้อนๆ จำหน่ายให้เห็นกันจนชินหูชินตา ปรับตัวจนกลายมาเป็นเมนูท้องถิ่นไปแล้ว และเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง

ขนมชิ้นสี่เหลี่ยม ผิวขาวนุ่มลิ้น แต่แฝงไว้ด้วยความกรอบ ความหอม ความหวานจากหัวไชเท้า และความอร่อยจากวัตถุดิบเสริม ชนิดครบเครื่อง ภายใต้หน้าตาเรียบๆ ง่ายๆ นี้ จึงนับเป็นของว่างสัญชาติจีนอีกจาน ที่นอกจากจะอร่อยแล้ว ก็ยังมีความหมายดีๆ

และมีที่มีทางในการร่วมฉลองเทศกาลตามธรรมเนียมของชุมชนจีนด้วย



วัฒธรรมจีน
เรื่อง 'อาหาร'



ไข่เยี่ยวม้า
ใบใสสีเข้ม เต็มรสอร่อย

ไข่เยี่ยวม้าเป็นผลิตภัณฑ์ไข่ชนิดหนึ่ง ที่มีรูปร่างหน้าตาแสนจะแตกต่างไปจากไข่ในรูปแบบทั่วไปที่คุ้นเคยกัน

เริ่มจากส่วนของไข่ขาวที่เป็นสีเขียวเข้มจนคล้ำแต่กลับใส ดูคล้ายวุ้นสีเข้ม ต่างจากไข่ชนิดอื่นๆ ที่มีผิวไข่ขาวสีขาวสมชื่อ

ส่วนด้านในตรงที่เป็นไข่แดง ก็เป็นสีเทาสลับชั้นอ่อนแก่แทนสีแดงหรือสีส้มสด

สำหรับชาวไทยเรานั้น เรียกได้ว่า คุ้นหน้าคุ้นตากับไข่เยี่ยวม้ากันพอสมควร เพราะมีให้เห็นได้ตั้งแต่ตามตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านข้าวต้ม ไปจนถึงร้านอาหารจีนหรูหราราคาแพง

เช่นเดียวกันกับในอีกหลายประเทศ ที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายไปตั้งรกรากจนมีชุมชนจีนขนาดใหญ่ ก็คุ้นเคยกับไข่เยี่ยวม้าเช่นกัน

ไข่เยี่ยวม้านี้ แท้จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับม้าแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่ ไข่เป็ด หรือไข่ชนิดอื่น เช่นว่าไข่นกกระทา ก็สามารถนำมาทำให้เป็นไข่เยี่ยวม้าได้ทั้งนั้น  เพราะเป็นวิธีการถนอมอาหารของชาวจีนโบราณ ที่นำไข่สดไปผ่านกระบวนการทางเคมีด้วยการหมักให้เป็นด่าง เพื่อให้เก็บรักษาได้นาน

การหมักที่ว่านี้ จะใช้น้ำผสมกับส่วนประกอบต่างๆ อาทิ ปูนขาว เกลือ โซเดียม ขี้เถ้า ใบชา หมักด้วยแกลบหรือดิน ต่างร้านก็มีสูตรต่างกันไป




ในบางกระบวนการ ตรงส่วนที่เป็นไข่ขาวยังอาจจะแตกลายงาได้ เป็นลวดลายคล้ายใบสนที่แผ่ออกมา บางคนจึงเรียกไข่เยี่ยวม้าที่มีลายตรงไข่ขาวว่า ไข่ใบสน

ส่วนตรงที่เป็นไข่แดงนั้น ก็จะกลายเป็นสีเขียวอมฟ้า ไล่เฉดเข้มไปเรื่อยๆ จนถึงกับเป็นสีเทาเข้มและเกาะตัวกันดูชุ่มฉ่ำ ทำให้ไข่เยี่ยวม้าที่หมักบ่มจนได้ที่ จะดูเหมือนเป็นไข่ที่ผ่านกระบวนการทำให้สุกมาแล้ว

ซึ่งการหมักนี้ ก็มีได้ตั้งแต่สิบวันจนถึงนานกว่านั้นเป็นหลายเดือน ตามแต่ตำราที่นำมาใช้  ซึ่งระยะเวลาที่นานถึงเพียงนี้ แทนที่ไข่สดจะเสีย กลับได้รับการถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูจากสารพัดส่วนประกอบที่นำมาหมัก ทำให้ไม่เพียงแต่จะสามารถยืดอายุได้เท่านั้น แต่ยังช่วยขจัดเชื้อโรคภายในได้อีกต่างหาก

ส่วนเปลือกภายนอกนั้น ตามสูตรดั้งเดิม จะมีผิวออกสีฟ้าหม่น ดูละม้ายคล้ายไข่ฟอสซิลโบราณ ไข่เยี่ยวม้าจึงได้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า ไข่ศตวรรษ ไข่ร้อยปี หรือแม้กระทั่งไข่พันปี เนื่องมาจากดูเป็นของเก่าแก่ แต่บางคนก็ว่า เนื่องจากต้องรอนานหลายวันหรือเป็นเดือนกว่าจะได้ทาน เลยได้ชื่อมาเช่นนี้

แต่บางสูตรโดยเฉพาะที่เห็นกันในบ้านเรา เมื่อหมักจนได้ที่แล้ว เปลือกไข่จะแปรเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม แทนสีฟ้าหม่น ก็มีให้เห็นได้อีกเช่นกัน

สำหรับอายุอานามการเก็บรักษา ก็แน่นอนว่าจะต้องยาวนานกว่าไข่สดหลายเท่าตัว เพราะเก็บได้อย่างน้อยๆ ถึงหกเดือนในอุณหภูมิที่เหมาะสม

ที่จีนเรียกไข่แปรรูปประเภทนี้ว่า ชงฮวาตั้น หรือบางก็เรียกว่า ผีตั้น ซึ่งทั้งชื่อจีนและขื่ออังกฤษ ก็ไม่ได้มีคำใดที่เกี่ยวข้องกับม้าอีกเช่นกัน แต่ก็ยังมีคนพยายามเล่าว่า เหตุที่เรียกชื่อว่าไข่เยี่ยวม้านั้น เป็นเพราะผู้ที่ค้นพบวิธีการทำ ไปพบเจอไข่ที่ซุกไว้ในกองแกลบริมคอกม้าเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่เน่าเสีย มิหนำซ้ำยังมีรสอร่อย จึงเป็นที่มาของไข่ประเภทนี้

แต่ว่าเรื่องเล่านี้ ก็ไม่ได้มีหลักฐานยืนยันแต่อย่างใด

ในขณะที่ที่มาที่ไปที่ดูจะชัดเจนกว่าเรื่องราวในคอกม้าแต่หนหลัง กลับเล่าไว้ว่า ไข่เยี่ยวม้าเป็นผลิตภัณฑ์จากมณฑลทางตอนกลางค่อนมาทางใต้ในสมัยราชวงศ์หมิง เมื่อราวห้าถึงหกร้อยปีก่อน เมื่อชาวบ้านคนหนึ่งได้เจอไข่เป็ดอยู่ในบ่อปูนขาว ซึ่งเดาเอาว่า แม่เป็ดที่เลี้ยงอยู่มาไข่ทิ้งไว้ คำนวณระยะเวลาไปมา น่าจะได้ราวสองเดือน  พอนำมาชิม ก็พบว่ามีรสชาติที่อร่อยแตกต่างและยังเก็บไว้ได้นาน จึงลองนำเอาไข่สดมากลบฝัง นับวันจนได้ที่ ก่อนจะเริ่มการค้าขายไข่ชนิดนี้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศ

ในร้านอาหารตามสั่งทั่วไปที่จีนนั้น เมนูต้อนรับหรือเมนูของว่าที่อ่านเจอได้เป็นประจำ จึงมักจะมีเมนูไข่เยี่ยวม้าแสดงตัวอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นไข่เยี่ยวม้าที่ฉายเดี่ยวหรือวางเรียงกันมา หรือเพิ่มพริกสด พริกน้ำมันไว้ตรงกลางเพื่อช่วยตัดรส จะทานเล่นๆ เลยก็ได้ หรือทานกับข้าวต้มร้อนๆ ก็เข้าที

ไข่เยี่ยวม้าที่เสิร์ฟมากับเต้าหู้แบบเย็น เป็นของทานเล่นแบบง่ายๆ ก็เรียกน้ำย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบางครั้งก็มีเพียงสองครองคู่กันมาในจาน แต่บางคราวก็มีตัวประกอบอื่นมาช่วยเพิ่มรสชาติ เช่น ขิงซอย พริก แตงกวา หรือถั่ว

ส่วนที่นำมาประกอบอาหารแบบปรุงสุกนั้น ที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะทางตอนใต้และแถบฮ่องกง มาเก๊า ก็คือโจ๊กสีขาวข้นแสนหอมที่ชูรสด้วยหมูเส้นเรียวกับไข่เยี่ยวม้าที่หั่นเป็นซีกหรือแบบลูกเต๋า

นอกจากนี้ ก็ยังมีซุปบางประเภท เช่น ซุปปลาใส่ไข่เยี่ยวม้า หรือที่จะแหวกแนวกว่านั้น ก็เช่น ไข่เยี่ยวม้าผ่าซีกที่นำไปชุบแป้งทอดจนผิวกรอบ ก่อนจะนำมาผัดกับผักประเภทต่างๆ ก็อร่อยล้ำไปอีกแบบ

ว่ากันว่า ไข่เยี่ยวม้า แม้จะเป็นของหมักดอง แต่ก็มีสรรพคุณอันเป็นประโยชน์ เช่นว่า บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต และช่วยให้ผู้ที่ชื่นชอบเจริญอาหาร

แต่ก็แน่นอนว่า ด้วยกลิ่นและรสที่เฉพาะตัวของไข่เยี่ยวม้านี้ ใช่ว่าทุกคนทุกชาติจะนิยมชมชื่นเสมอไป  เพราะไข่เยี่ยวม้านี้ เคยติดอันดับการรายงานข่าวของสื่อระดับโลกอย่าง CNN มาแล้วเหมือนกันเมื่อสี่ปีก่อนว่า เป็นหนึ่งในอาหารที่ไม่น่าพิสมัย ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวจีนอย่างครึกโครมว่า รายงานดังกล่าวพาดพิงวัฒนธรรมจีน จน CNN ต้องออกมาให้ข่าวใหม่ว่า มิได้มีเจตนาเช่นนั้น รวมถึงไม่ได้ต้องการโจมตีผู้ที่ชื่นชอบรับประทานหรือผู้ผลิตไข่เยี่ยวม้า

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม รายงานข่าวดังกล่าวก็ไม่ได้สั่นคลอนความรักปักใจของชาวจีนที่มีต่อไข่เยี่ยวม้าแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้ไข่เยี่ยวม้าจัดอยู่ในข่ายอาหารที่พึงระวัง กลับมาจากกระบวนการหมัก ที่อาจมีสารตะกั่วปนเปื้อนจากกรรมวิธีที่ผู้ผลิตนำมาใช้

ดังนั้น จึงมีคำเตือนกันปากต่อปากว่า ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป และที่สำคัญ คือควรหลีกเลี่ยงไข่เยี่ยวม้าที่สีมีส่วนของไข่ขาวสีขุ่น เพราะแสดงว่าน่าจะมีสารตะกั่วแฝงตัวอยู่

ไข่เยี่ยวม้าจึงเป็นไข่ใบใสสีเข้ม ที่แม้จะมีภาพลักษณ์ที่ต่างไปจากครอบครัวชาวไข่ใบอื่นๆ แต่ก็เป็นผลผลิตของวัฒนธรรมอาหารจีนที่มีมาหลายร้อยปี อีกประการครองใจแฟนคลับทั่วโลกจำนวนไม่น้อย และยังได้รับการนำมาพลิกแพลงแปลงแต่งให้เข้ากับความชอบของคนในอีกหลายพื้นที่ เช่น ยำไข่เยี่ยวม้า หรือแม้กระทั่งส้มตำไข่เยี่ยวม้า เมนูโปรดของใครหลายคนในไทย

แสดงให้เห็นถึงความชื่นชมที่มีต่อไข่ใบเล็กๆ ใบนี้ที่แพร่ไปในวงกว้างได้อย่างดี


ที่มา : คอลัมน์ "จากเมืองจีน" โดย จีระพร จีระนันทกิจ  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
3456  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: เสน่ห์ปลายจวัก ตามตำรับโบราณ เมื่อ: 17 กรกฎาคม 2558 13:54:21
.



ความรู้เกี่ยวกับอาหาร

อาหารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งของมนุษย์ ถ้ารับประทานได้ถูกส่วน ร่างกายก็แข็งแรง เพราะอาหารช่วยสุขภาพอนามัยให้แข็งแรงสดชื่นอยู่เสมอ และสามารถต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย อาหารคือสิ่งที่กินเข้าไปแล้วไม่เป็นต่อพิษร่างกาย จึงควรเลือกอาหารที่จำเป็นและเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย

อาหารที่สำคัญ มีอยู่ ๒ ประเภท คือ อาหารที่ให้กำลัง และอาหารที่สร้างความเจริญเติบโต โดยทั่วๆ ไปร่างกายต้องการ “โปรตีน”

โปรตีน มีความจำเป็นในการเติบโตของร่างกาย ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อาหารที่มีโปรตีนได้จากอาหารจำพวกข้าวต่างๆ เช่น ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว จำพวกเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ ไข่ ปลา เป็ด เนื้อ และมันสัตว์ จำพวกพืช วัชพืช ผลไม้ต่างๆ เช่น ถั่วต่างๆ ผลไม้ เผือก มัน น้ำตาล นม เนย เป็นต้น

ฉะนั้น การประกอบอาหาร จึงจำต้องเลือกอาหารที่มีโปรตีนเป็นสำคัญ เช่น ไข่ นม เนื้อ และต้องรู้จักรักษาความสะอาดของอาหารทุกชนิด ตลอดจนภาชนะที่จะใช้ประกอบอาหาร ถ้ารับประทานผักสดต้องล้างให้สะอาดด้วยน้ำด่างทับทิม เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆ และปลอดภัย ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ก็ต้องทำให้สุกดีเสียก่อน

คุณประโยชน์ของอาหาร อาหารที่จำเป็นแก่ร่างกายจะขาดเสียไม่ได้ คือ:-
1. น้ำตาลและแป้ง
2. โปรตีน จาก ไข่ ถั่ว นม และเนื้อสัตว์ต่างๆ
3. ไขมัน
4. วิตามัน ได้จากผักต่างๆ และอาหารอื่นๆ
5. แร่ธาตุ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก  ได้จาก ไข่แดง ตับ ไต นม เนยแข็ง และผักชนิดต่างๆ

อาหารที่ให้ประโยชน์
- กระชาย  รสขม เผ็ด แก้ไข้อันเกิดในคอ-ปาก
- กระดอม  มีไขมัน บำรุงกำลังและให้ความอบอุ่น
- กระทือ  แก้เบื่ออาหาร มีโปรตีน วิตามิน คาร์โบไฮเดรต บำรุงกำลังและให้ความอบอุ่นเช่นเดียวกับขิง
- กระเทียม ให้วิตามิน ช่วยย่อยอาหาร บำรุงกระดูก และบำรุงร่างกาย
- กระท้อน ให้วิตามินและเซลลูโลส บำรุงโลหิต ช่วยย่อยอาหาร และแก้โรคผิวหนัง
- กะปิ ให้เกลือ โปรตีน บำรุงกระดูกและโลหิต
- กะเพรา ให้รสเผ็ด แก้ท้องขึ้น ตั้งธาตุ แก้ปวดท้องและแก้ลม
- กะหล่ำปลี ให้โปรตีน บำรุงกระดูก บำรุงร่างกาย และให้ความร้อน
- กระวาน  แก้ลมในเบื้องต่ำ แก้เสมหะ ช่วยกระจายเลือด กระจายเสมหะ และลม
- กากหมู  มีไขมันเป็นส่วนมาก ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
- กานพลู ช่วยกระจายโลหิต แก้โรคลักปิด หืด
- เกลือ มีแร่ธาตุบำรุงกระดูกและโลหิต
- กล้วยน้ำว้า มีน้ำตาล วิตามิน ป้องกันโรคผิวหนัง
- กล้วยหอม มีน้ำตาลมาก มีวิตามิน ป้องกันโรคผิวหนัง
- กล้วยหักมุก  ย่อยง่าย ช่วยบำรุงกำลัง และให้ความอบอุ่น
- กุ้งสด ให้โปรตีน บำรุงกำลังและร่างกาย มีฟอสฟอรัสบำรุงเส้นประสาท ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
- กุ้งแห้ง  ให้โปรตีน  ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
- ขนมปัง ให้โปรตีน แป้ง บำรุงกำลัง ให้ความอบอุ่น
- ขมิ้นอ้อย รสฝาดเฝื่อน รักษาลำไส้
- ข่า  บำรุงธาตุ ให้โปรตีน วิตามินบี และเกลือ บำรุงกระดูกและโลหิต
- ข้าว ให้โปรตีนและแป้งเป็นส่วนมาก ให้ความอบอุ่นและซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดสึกหรอ
- ขิง  ให้โปรตีน วิตามิน คาร์โบไฮเดรต
- ไข่ไก่ ให้โปรตีน ไขมัน วิตามิน บำรุงกระดูก บำรุงร่างกาย สมอง และอวัยวะอื่นๆ ให้เจริญเติบโต
- ไข่เค็ม บำรุงธาตุ
- ไข่เป็ด ให้โปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต ช่วยย่อยอาหาร ช่วยต้านทานโรค  
- เครื่องเทศทั้งหลาย  บำรุงธาตุ ช่วยให้น้ำย่อยอาหารออก (ใช้มากเกินไปให้โทษแก่ร่างกาย)
- เครื่องในไก่  ให้วิตามิน ควบคุมความเจริญเติบโตของร่างกาย ป้องกันโรคเหน็บชา บำรุงกำลัง และบำรุงประสาท
- งา  บำรุงกำลัง ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
- จันทน์เทศ  ลูกหอม รสฝาด แก้โลหิตและเสมหะ ช่วยบำรุงตับ น้ำดี ปอด และหัวใจ
- ชะเอม รสหวานเย็น แก้เสมหะทำให้เสมหะแห้ง
- ดอกขจร ให้วิตามินเอ ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต
- ดีปลี  ป้องกันโรคตาอักเสบ
- ตะไคร้  ทำให้อาหารมีรส มีแป้งให้ความอบอุ่น
- ตำลึง  แก้ตาฝ้า และแก้พิษทั้งปวง
- แตงกวา ให้โปรตีน มีวิตามินเอเป็นส่วนมาก ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต ป้องกันโรคกระดูกอ่อน
- แตงร้าน  ให้วิตามินเอเป็นส่วนมาก ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต ป้องกันโรคกระดูกอ่อน
- ตับไก่  แก้ตามืด ตามัว บำรุงตับ
- ตับหมู  แก้ตามืด ตามัว บำรุงตับ
- เต้าเจี้ยว  ให้โปรตีน วิตามินบีและจี.
- เต้าหู้  ให้โปรตีน แป้ง ไขมัน ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
- กุยช่าย  ให้วิตามินสำหรับบำรุงกระดูกและอวัยวะอื่นให้แข็งแรง
- ขึ้นฉ่าย  ให้วิตามิน ช่วยบำรุงกระดูก
- ถั่วพู  ให้โปรดตีน  วิตามินบีและจี ช่วยบำรุงกำลัง
- ถั่วเพาะ  ให้โปรตีน แป้ง และไขมัน บำรุงร่างกายให้แข็งแรง
- ถั่วลิสง  ให้โปรตีน แป้ง วิตามิน บำรุงร่างกายให้แข็งแรง
- เทียนขาว  รสเผ็ดร้อน ทำลายเสมหะ แก้ลม
- ทองหลาง  แก้ลม
- เนื้อไก่  ให้โปรตีน บำรุงกำลัง บำรุงร่างกายให้เจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
- เนื้อเค็ม  ให้โปรตีน บำรุงโลหิต เกลือบำรุงกระดูกให้เจริญเติบโต
- เนื้อหมู  ให้โปรตีน  เกลือบำรุงโลหิต กระดูก และให้ความอบอุ่น
- เนื้อวัว  ให้โปรตีน  ช่วยบำรุงกำลัง
- น้ำกระดูกไก่ (ต้ม)  ให้โปรตีน  บำรุงกำลัง
- น้ำข้าว  ให้โปรตีน คาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนมาก ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
- น้ำตาล  ให้ความร้อน ชูกำลังให้สดชื่น
- น้ำตาลกรวด  บำรุงกำลังทำให้ร่างกายเบาคล่องตัว แก้เสมหะจุกคอ ทำให้ชุ่มคอ
- น้ำตาลทราย  ให้ความร้อน ขับน้ำเหลือง ล้างท่อปัสสาวะ
- น้ำตาลหม้อ  ให้ความร้อน บำรุงกำลัง เลือดลม
- น้ำปลา  ให้โปรตีน และเกลือ ช่วยบำรุงกระดูกและบำรุงโลหิต
- น้ำผึ้ง  ช่วยบำรุงธาตุ แก้สะอึก และช่วยให้ร่างกายสดชื่น
- น้ำส้ม  ใช้บำรุงรส (ใช้มากเกินไปมีโทษ)
- หนังหมู  ให้โปรตีน ช่วยบำรุงกล้ามเนื้อ และให้ความอบอุ่น
- ใบหอม  ให้วิตามินซี
- ใบโหระพา  ให้วิตามิน ช่วยบำรุงกระดูก
- ปลาช่อน  ให้โปรตีนเป็นส่วนมาก ช่วยบำรุงร่างกายและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
- ปลาทู  ให้โปรตีน  ช่วยบำรุงร่างกายและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
- ปูทะเล  ให้โปรตีน บำรุงร่างกายและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
- เปราะหอม  ช่วยกระจายโลหิต แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
- แป้งข้าวเหนียว  ให้คาร์โบไฮเดรต  ช่วยบำรุงกำลังและให้ความอบอุ่น
- แป้งมัน  ให้คาร์โบไฮเดรต  ช่วยบำรุงกำลังและให้ความอบอุ่น
- แป้งท้าว ให้คาร์โบไฮเดรต  ช่วยบำรุงกำลังและให้ความอบอุ่น
- แป้งสาลี  ให้คาร์โบไฮเดรต  ช่วยบำรุงกำลังและให้ความอบอุ่น
- ผักกระเฉด  รสมัน ถอนยาเบื่อเมา และถอนพิษต่างๆ
- ผักกาดขาว  ให้วิตามิน เอ บี ซี บำรุงกระดูก ช่วยระบายท้อง บำรุงปอด และป้องกันโรคกระดูกอ่อน
- ผักกาดหอม  ให้วิตามิน เอ บี ซี บำรุงกระดูก ช่วยระบายท้อง บำรุงปอด และป้องกันโรคกระดูกอ่อน
- ผักกาดสลัด  ให้วิตามิน เอ บี ซี
- ผักขม  แก้ลม แก้กระหายน้ำ และถอนยา
- ผักชี  ให้วิตามิน กลิ่นหอมฉุน ช่วยชูรสอาหาร บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย และบำรุงหัวใจ
- ผักต่างๆ มีวิตามินเอ เป็นส่วนมากช่วยให้ร่างกายเติบโต และป้องกันโรคกระดูกอ่อน
- ผักบุ้ง รสจืดเย็น ถอนพิษร้อน ถอนสำแลง ถอนยา บำรุงกระดูก ช่วยระบายท้อง
- ผักแพงพวย  รสเย็นจืด ถอนสำแลง
- ผิวมะกรูด  ช่วยชูรสอาหาร และช่วยบำรุงธาตุ
- เผือก  ให้คาร์โบไฮเดรต ให้กำลังและความอบอุ่น
- ผลเงาะ  ให้วิตามิน บำรุงโลหิต ช่วยระบายท้อง
- ฝักบัว  ถอนพิษร้อน ถอนสำแลง และถอนยา
- พริกสด  บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ บำรุงอาหาร แก้ท้องขึ้น และช่วยชูรสอาหาร (ใช้มากเกินเกิดโทษ)
- พริกไทย บำรุงธาตุ  แก้เสมหะ และช่วยชูรสอาหาร
- พริกแห้ง  ทำให้อาหารมีรส (ใช้มากเกิดโทษ) บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ
- พุงปลา  ให้วิตามินดี เป็นส่วนมาก ป้องกันโรคกระดูกอ่อน
- ฟักทอง  ให้วิตามินเอและซี
- มะกอก  เปลือกมีรสเย็น เปรี้ยว ฝาด ดับพิษกาฬ ลูกแก้กระหายน้ำ เม็ดมีรสเย็นหวานแก้สะอึก
- มะกรูด  มีวิตามินซี ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต
- มะขาม  รสเฝื่อนฝาด บำรุงโลหิต แก้ลม แก้ไข้
- มะพร้าว  ให้ไขมัน บำรุงกำลังและให้ความอบอุ่น
- มะเฟือง  ถอนพิษของผิดสำแดง ถอนพิษไข้
- มะรุม  แก้พิษร้อน แก้ลม
- มะละกอ  ขับปัสสาวะ ระบายท้อง
- มะแว้ง  รักษาโรคเบาหวาน
- มะอึก  ให้วิตามินซี ช่วยบำรุงโลหิต ป้องกันโรคฟันต่างๆ แก้ไข้สันนิบาต
- แมงลัก  ให้คาร์โบไฮเดรต
- มักกะโรนี  ให้คาร์โบไฮเดรต ให้ความอบอุ่นและบำรุงกำลัง
- มันแกว  ให้คาร์โบไฮเดรต ให้ความอบอุ่นและบำรุงกำลัง
- มันฝรั่ง  ให้คาร์โบไฮเดรต  ให้ความอบอุ่นและบำรุงกำลัง
- มันหมู  บำรุงกำลังและให้ความอบอุ่น
- มะเขือขาว  ให้วิตามินเอ บี ซี
- มะเขือขื่น  ให้รสขม ฝาดเฝื่อน แก้เสมหะ บำรุงกำลัง
- มะเขือต่างๆ  ให้เกลือแร่ บำรุงกระดูก ฟัน และอวัยวะส่วนอื่นๆ
- มะเขือเทศ  ให้วิตามินเอ ป้องกันโรคตาอักเสบ มีวิตามินบี ป้องกันโรคเหน็บชา มีวิตามินซี ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน
- มะเดื่อชุมพร  ให้รสฝาด แก้ไข้ แก้ลม แก้เสมหะ และโลหิตทำพิษ
- มะดัน  ช่วยล้างเสมหะ
- มะตูม  บำรุงธาตุ แก้ลม และแก้โลหิตทำพิษ
- มะนาว  ให้วิตามิน ช่วยบำรุงโลหิต ป้องกันโรคฟันต่างๆ
- มะปราง  ช่วยถอนพิษของแสลง
- มัสตาร์ด  บำรุงรส (ใช้มากเกินเกิดโทษ)
- ยอ  แก้อาเจียน ร้อนในอก
- เยลลี่  ให้วิตามิน บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันโรคบางชนิด
- รังนก (นกนางแอ่น) บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต
- ลูกชิ้นปลา  ให้โปรตีน  บำรุงร่างกาย ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น
- ลูกตาลสด  ให้ความอบอุ่น บำรุงกระดูก
- ลูกยี่หร่า  ช่วยให้อาหารมีรส (ใช้มากเกินเกิดโทษ)
- เลือดหมู  บำรุงร่างกายและบำรุงโลหิต
- ว่านเปราะ  ให้กลิ่นหอม และความร้อน
- สมอไทย  บำรุงธาตุและน้ำดี
- สะระแหน่  ให้วิตามิน ช่วยบำรุงธาตุ
- สาคู  ให้คาร์โบไฮเดรต  บำรุงร่างกาย
- ส้มเกลี้ยง  ให้วิตามินซี ช่วยบำรุงโลหิต ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ส้มซ่า  ให้วิตามินซี ช่วยย่อยอาหาร
- ส้มมะขามเปียก  ช่วยระบาย
- เส้นหมี่  ให้คาร์โบไฮเดรต ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
- เห็ดหูหนู  ให้เซลลูโลสเล็กน้อย
- หัวกะทิ  บำรุงกำลังและให้ความร้อน
- หัวผักกาดเค็ม ให้วิตามินเล็กน้อย และให้เซลลูโลส
-หอม ให้วิตามินบี จี บำรุงประสาท และป้องกันเลือดออกตามไรฟัน บำรุงกระดูก บำรุงธาตุ
- หอมหัวใหญ่ (ฝรั่ง)  ให้วิตามิน บี จี
- อบเชย  บำรุงธาตุ ขับลม แก้ลมอัมพฤกษ์
- อ้อย ให้ความอบอุ่นและให้กำลัง
- แอปเปิ้ล  ให้คาร์โบไฮเดรต  น้ำตาล ช่วยบำรุงกำลังและให้ความอบอุ่น



มีต่อ
3457  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ดับคนดัง - วินาทีสังหารบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ: 17 กรกฎาคม 2558 13:41:43
.


พลเรือเอก อิโซโรกุ ยามาโมโต้ แห่งญี่ปุ่น

ดับคนดัง - วันสังหาร
พลเรือเอก ยามาโมโต้ แห่งญี่ปุ่น

พลเรือเอก อิโซโรกุ ยามาโมโต้ เป็นผู้วางแผนและอนุมัติการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลก ครั้งที่ ๒

อเมริกามีคำสั่งลับสุดยอดลงมาว่า “สังหารยามาโมโต้ให้จงได้ ไม่ว่าจะสูญเสียสักเท่าใดก็ตาม”  เขาเสียชีวิตเวลา ๐๙.๓๔ น. วันที่๑๘ เมษายน ๑๙๔๓ ตายเพราะว่าเขาเป็นคน “ตรงต่อเวลา

พลเรือเอก อิโซโรกุ ยามาโมโต้ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือแห่งราชนาวีญี่ปุ่น เป็นผู้ที่ทำการเจรจาเงื่อนไขสันติภาพที่ทำเนียบขาว เขาเป็นคนตรงต่อเวลา แล้วสิ่งนี้ก็เป็นสาเหตุของการดับสูญของเขา

ยามาโมโต้เดินทางโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดมิตซูบิชิ ซี ๔ เอ็ม “เบตตี้” (Betty) ใหม่เอี่ยมด้วยความเร็ว ๔ ไมล์ต่อ ๑ นาที เครื่องบินบินมาแล้ว ๑๑ นาที นับตั้งแต่ออกจากสนามบินกาฮิลี่ เกาะบูเกนวิล ในหมู่เกาะโซโลมอน มีเครื่องบินซีโร่ฝูงหนึ่งบินคุ้มกัน เขาคิดว่าน่าจะพ้นจากพิสัยของเครื่องบินขับไล่อเมริกันแล้ว

นายพลยาโมโต้ มิได้สังหรณ์ใจเลยว่า ทำเนียบขาวในวอชิงตัน กำหนดให้เขาตายกลางอากาศ

ถ้าเขามองไปทางหน้าต่าง เครื่องบินทิ้งระเบิดอีกเพียง ๖๐ วินาที ก่อนที่เขาจะถึงวาระสุดท้าย เขาจะเห็นมอสกิโต้ ล็อกฮีด ไลท์นิ่งของกองทัพอากาศอเมริกัน ๒ เครื่อง กำลังดำดิ่งลงมา เครื่องบินขับไล่ทั้งสองเครื่อง และอีก ๑๔ เครื่อง เตรียมพ่นกระสุนใส่ตามเวลาและสถานที่ที่กำหนดมาจากวอชิงตัน

นายพลเรือก็ได้บินตรงตามเวลาที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ห่างจากราเบาวล์ประมาณ ๔๐๐ ไมล์ ไปยังจุดหนึ่ง ห่างจากสนามบินกาฮิลี่ทางอากาศ ๑๑ นาที ไลท์นิ่งบินห่างจากกัวดัลคะนาล ๔๓๕ ไมล์ ตรงตามเวลาเช่นกัน บินเลี้ยวเข้าโจมตีเป้าหมายตรงเวลา

ความจริงที่ยามาโมโต้ถูกสกัดกั้นและถูกยิงตกนั้น เกิดจากการประสานงานของหลายๆ คน ผู้ที่ให้ความร่วมมือมากที่สุดคือ นายพลยามาโมโต้เอง ถ้าเขาไม่เป็นคนตรงต่อเวลา เขาคงไม่กลับไปโตเกียวในฐานะผู้เสียชีวิต

กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ข่าวสารโดยละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทุกย่างก้าวที่เขาออกไปเยี่ยมที่ตั้งทางทหารในแปซิฟิกใต้ ในกลางเดือนเมษายน ข่าวนี้ถูกส่งไปยัง พันตรี จอห์น ดับบลิว มิทเชลล์ ในตอนบ่ายของวันที่ ๑๗ เมษายน ค.ศ.๑๙๔๓

ในเอกสารแจ้งว่า พลเรือเอกยามาโมโต้และคณะจะเดินทางทางอากาศมาถึงบริเวณกาฮิลี่ในวันรุ่งขึ้น พร้อมทั้งแจ้งเวลาที่แน่นอนที่จะออกจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง และยังออกคำสั่งให้ใช้ความพยายามในการสังหารยามาโมโต้ให้จงได้ ลงชื่อ ดน็อค (แฟรงค์ ดน็อค) รัฐมนตรีทบวงการทหารเรือ

เมื่อการจู่โจมไม่ให้ข้าศึกรู้ตัวเป็นปัจจัยพื้นฐานในการปฏิบัติการ การจู่โจมเช่นนี้จะกระทำได้โดยเครื่องบินที่มีพิสัยบินระยะไกลเท่านั้น “กาฮิลี่” อยู่ห่างจากกัวดัลคะนาล ซึ่งเป็นฐานทัพของอเมริกาถึง ๓๐๐ ไมล์ และจะต้องเพิ่มระยะทางมากขึ้นอีก ๑๐๐ ไมล์ ในการบินวนระดับต่ำเพื่อหลบเรดาร์ของข้าศึก

อเมริกันประมาณอัตราความเร็วของเครื่องบินนายพลยามาโมโต้ว่า อยู่ในประมาณสามไมล์ครึ่งถึงสี่ไมล์ และบินในระดับสูง ๑๐,๐๐ ฟุต หรือต่ำกว่านั้น เพื่อไม่ต้องสวมหน้ากากออกซิเจน เมื่อรู้ว่าเครื่องบินนายพลเรือยามาโมโต้จะมาถึงกาฮิลี่ เมื่อเวลา ๐๙.๔๕ น.

วันรุ่งขึ้นจึงตกลงใจที่จะพบกัน ห่างจุดหมายปลายทาง ๓๕ ไมล์

อเมริกามีเครื่องบินสำหรับภารกิจนี้เพียง ๑๘ เครื่อง ต่อเครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่นซึ่งคาดว่าจะมีถึง ๑๐๐ เครื่อง ทำการบินคุ้มกันบริเวณกาฮิลี่ (อเมริกัน) จึงต้องหาเป้าหมายให้พบ ยิงแล้วหลบออกมาทันที โดยแบ่งฝูงบินเข้าโจมตี ฝูงหนึ่งคอยคุ้มกันตอนที่เข้าโจมตี ต้องคอยการมาของท่านนายพลเรือในความสูง ๑๐,๐๐๐ ฟุต ฝ่าซีโร่คุ้มกัน ๖ เครื่อง เข้าไปโดยไม่ทันให้ญี่ปุ่นรู้ตัว

ตอนคุ้มกันล็อกฮีด พันตรีมิทเชลล์เป็นผู้นำฝูงบินไปยังจุดนัดพบอีกด้วย เขาจะต้องบินในระดับสูง ๒๐,๐๐๐ ฟุต

วันรุ่งขึ้น ๑๘ เมษายน ๑๙๔๓ เวลา ๐๗.๒๕ น. ฝูงบินสองลำตัวล็อกฮีด ไลท์นิ่ง ขึ้นบินวนรอบสนาม เพื่อจัดขบวนเริ่มเดินทางด้วยอัตราความเร็ว ๒๑๐ ไมล์ต่อชั่วโมง เริ่มแรกด้วยการบิน ๓๕ ไมล์ เหนือพื้นน้ำ บินครึ่งวงกลมระยะทาง ๔๓๕ ไมล์ รอบที่ตั้งของญี่ปุ่นที่มุนดาเรนไดว่าเวลล่า ลาเวลล์ ชอรทแลนด์ กาฮิลี่ ห้ามพูดวิทยุเป็นอันขาดตลอดทาง

หลังสองชั่วโมงที่บินเรี่ยคลื่นเพื่อหลบเรดาร์ญี่ปุ่น ฝูงบินเพชฌฆาตก็เบนทิศสู่ตะวันออกเฉียงใต้ของบูเกนวิลตามกำหนด บินในอัตราความเร็วเดิม อเมริการู้ดีกับการตรงต่อเวลาของยามาโมโต้ ซึ่งจะต้องรักษาเวลาอย่างมั่นคงอย่างที่เคยปฏิบัติมาตลอดชีวิต

นักบินทุกคนพกถุงเงินชิลลิ่งของอังกฤษติดตัวไปด้วย เพื่อซื้อข้าวของที่จำเป็นจากชาวเกาะโซโลมอน ถ้าต้องลงฉุกเฉินหรือถูกยิงตก เครื่องยนต์ครางกระหึ่มด้วยความหนักเพราะถังเชื้อเพลิงอะไหล่

ส่วนใหญ่ฝูงบินลำตัวคู่บินเรี่ยน้ำและห่างจากฝั่งปิดวิทยุไม่ใช้ตลอดทาง บินตามแสงอาทิตย์ที่ร้อนจัดในตอนสายถึงสองชั่วโมง การบินใช้แค่เข็มทิศและเครื่องวัดความเร็วเท่านั้น เมื่อบินเข้าไปใกล้ชายฝั่งตะวันออกหลังจากบินมาแล้ว ๔๐๐ ไมล์ จึงเชิดหัวไต่ขึ้นพ้นจากการสาดกระเซ็นของระลอกคลื่นทะเล

ทันใดนั้นโทรเลขข่าวแจ้งมาว่า อิโซโรกุ ยามาโมโต้ แจ้งเวลามาของเขาไม่พลาดแม้แต่เสี้ยววินาที ขณะนั้น ๐๙.๓๔ น. บนท้องฟ้าทุกคนเห็นเครื่องบินทิ้งระเบิดของญี่ปุ่นสองเครื่อง พร้อมเครื่องบินขับไล่ “ซีโร่” อีก ๖ เครื่อง

อย่างไม่ละสายตาจากฝูงบินขับไล่ ฝูงบินเพชฌฆาตเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงถังภายในเครื่อง  สลัดถังอะไหล่ใต้ท้อง เพื่อลดน้ำหนัก และให้คล่องตัว และเพิ่มความเร็วขึ้น ทั้งหมดบินเกาะกลุ่ม ๔ เครื่อง บินต่ำกว่าฝูงของนายพลญี่ปุ่น ทันใดฝูงซีโร่ ๓ เครื่อง ซึ่งบินอยู่ทางทะเลก็สลัดถังอะไหล่ออกจากท้อง เป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้ว่า กำลังจะเข้าประจัญบาน

ฝูงบินญี่ปุ่นเครื่องบินขับไล่บินระดับสูง ฝูงบินลำตัวคู่มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า คราวนี้จะเป็นการรบทางอากาศครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดกับการคุ้มกันอย่างหนาแน่นของญี่ปุ่นจากกาฮิลี่

เหลือแยกจากฝูงสองเครื่องเพื่อปฏิบัติภารกิจ คือการยิงทำลายมิตซูบิชิ “เบตตี้” สองเครื่องของยามาโมโต้ และเครื่องบินคุ้มกัน

เครื่องบิน “เบตตี้” บินต่ำลงอยู่เหนือแผ่นดินเรี่ยยอดไม้ ล็อกฮีดลำตัวแฝดดิ่งเข้าหาฝูงบินขับไล่ญี่ปุ่นตามมาติดๆ สามสี่วินาทีกว่าจะได้ระยะและมุมยิงด้านขวาของเครื่องบินทิ้งระเบิด แล้วพ่นกระสุนสาดเข้าทางด้านขวาเป็นมุมฉาก เครื่องยนต์ ได้ผล เครื่องยนต์เครื่องขวาเครื่องบินทิ้งระเบิดและปีกขวาไฟลุกไหม้

ภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อไฟลุกไหม้เครื่องบินบนอากาศ ไม่มีใครสามารถดับได้ นอกจากระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และแล้วปีกเครื่องบินทิ้งระเบิดลำตัวเครื่องบินฉีกขาดลงป่าไปทันที

มันเป็นวาระสุดท้ายของ พลเรือเอก อิโซโรกุ ยามาโมโต้

“สังหารยามาโมโต้ให้ได้ไม่ว่าจะสูญเสียเท่าไร” เป็นคำขาดจากทำเนียบขาวสหรัฐฯ หลังจากถูกลอบถล่มเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ฮาวาย ฐานทัพเรืออเมริกัน

อีกเดือนเศษต่อมา ญี่ปุ่นยอมรับอย่างเป็นทางการว่า พลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมไต้ เสียชีวิตจากการรบในเดือนเมษายน เครื่องบินตกในป่า เขาถูกไฟลวกท่วมตัวในเครื่องบินมิตซูบิชิสองเครื่องยนต์ และในขณะที่เสียชีวิต มือของเขายังกุมดาบเอาไว้แน่น.


เรื่อง : คอลัมน์ บันทึกวันวาร โดย สังคีต จันทนะโพธิ นิตยสารสกุลไทย


พลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโต้ ผู้วางแผนโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ของสหรัฐอเมริกา


ภาพความเสียหายจากการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์


ภาพความเสียหายจากการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์

ที่มา : คอลัมน์ บันทึกวันวาร โดย สังคีต จันทนะโพธิ นิตยสารสกุลไทย
3458  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: 'กามนิต' วรรณกรรมอิงอาศัยหลักพุทธศาสนาและพระสูตรต่างๆ เป็นโครงเรื่อง เมื่อ: 16 กรกฎาคม 2558 13:38:50
.

"ถึงหากพระพุทธเจ้าจะเสด็จข้ามขุนเขานั้น
เพื่อไปสู่ภูมิแดนอันสูงสุดถึงไหนก็ตาม ฉันเป็นขอตามเสด็จไปให้พบจนได้"


๔๓ มหาปรินิพพาน

ฉันยังมีกำลังน้อยอยู่ เดินทางไกลเรื่อยทุกวันไปไม่ไหว จำเป็นต้องหยุดพักในบางวัน เพราะฉะนั้นจึงรอนแรมมาตั้งหนึ่งเดือน กว่าจะถึงเมืองเวสาลี ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่เมืองนี้ช้านาน แต่ได้เสด็จออกจากเมืองไปเมื่อล่วงมาสักหกสัปดาห์นี่เอง

ก่อนหน้านี้เล็กน้อย ได้ยินข่าวจากชาวบ้านตำบลหนึ่งซึ่งเป็นพุทธบริษัทว่า พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานนิพพานเสียแล้ว เมื่อมาได้ทราบข่าวพระอัครสาวกทั้งสองซึ่งเรานับถือว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในลัทธิธรรม ไม่ได้อยู่ในโลกนี้ต่อไปแล้ว ใจก็สลดผอยลง อันที่จริงมิใช่รู้ว่า พระอัครสาวกหรือองค์สมเด็จพระศาสดา ก็มีพระกายพระชีพเป็นมนุษย์อย่างเรา แต่เรื่องที่ว่าจะต้องละโลกนี้ไปเป็นธรรมดา เราไม่ได้เคยนึกถึง พระสารีบุตรซึ่งเป็นผู้เคยอธิบายข้ออรรถธรรมอันลึกซึ้งให้ฉันฟังเข้าใจแจ่มแจ้งอยู่บ่อยๆ นิพพานเสียแล้ว ท่านมีรูปลักษณะคล้ายพระพุทธเจ้ามาก และมีชนมายุได้แปดสิบพรรษา เสมอด้วยพระชนมายุพระพุทธเจ้า นี่พระพุทธองค์จะมิจวนเสด็จปรินิพานอยู่แล้วหรือ?

บางทีจะเป็นเพราะความไม่สบายใจที่คิดวิตกไปอย่างนี้ โรคเรื้อรังในกายซึ่งยังไม่หายขาด กลับกำเริบขึ้นอีก จะอย่างไรก็ตาม ยังพยายามมาถึงเมืองเวสาลีได้ แต่ทว่ามีอาการเหนื่อยอ่อนทรุดลง ในเมืองเวสาลีมีเศรษฐินีคนหนึ่ง เป็นพุทธบริษัทรับอุปัฏฐากเป็นพิเศษแก่บรรดาภิกษุภิกษุณี ที่จาริกผ่านมา เมื่อได้ทราบว่าภิกษุณีอาพาธเดินทางมาถึงนางก็รีบไปหาทันที นำเมทินีและฉันไปพักที่บ้าน ช่วยเหลือพยาบาลอย่างเต็มใจด้วยความเลื่อมใส

ฉันรู้สึกในความกรุณาแห่งเศรษฐินีผู้นี้เป็นอันมาก ต่อมาไม่ช้าฉันแสดงความในใจให้ฟังถึงเรื่องวิตกว่า พระพุทธเจ้าก็มีพระชนมายุเท่ากับพระสารีบุตร จะมิจวนเสด็จปรินิพพานเข้าบ้างหรือ?

พูดถึงเรื่องนี้ เศรษฐินีคนนั้นก็ร้องให้น้ำตาไหล ตอบออกมามีเสียงกระเส่าสะอื้นว่า-
"ท่านยังไม่ทราบ เมื่อสองเดือนล่วงมา ครั้งพระองค์ยังเสด็จประทับอยู่ในเมืองเวสาลีนี้ ทรงพระปรารภว่าจะเสด็จปรินิพพาน ในกำหนดราวสามเดือนข้างหน้า ขอให้คิดดูเถิด ถ้าพระอานนท์มีเชาวน์แล่นพอ และกล่าวคำในขณะที่ควรกล่าว เรื่องที่พูดนี้จะไม่เกิดขึ้น และพระพุทธเจ้าก็คงจะดำรงอยู่ต่อไปในโลกนี้จนสิ้นกัลป์"

ฉันถามว่าเรื่องเป็นอย่างไร หญิงนั้นเล่าว่า
"เรื่องเป็นอย่างนี้ วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่กับพระอานนท์นอกเมืองนี้ ณ จปลเทวาลัย* ในขณะสนทนากัน มีพระพุทธฎีกาว่า ผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่ประการบริบูรณ์แล้ว หากมีความปรารถนาก็ย่อมอยู่ในโลกนี่ได้จนสิ้นกัลป์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสโอกาสอย่างนี้ ถ้าพระอานนท์จะปรารภเหตุอาราธนาให้พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในโลกจนตลอดกัลป์ก็จะได้ แต่จะเป็นด้วยถูกพญามารเข้าครอบงำหรืออย่างไรไม่ทราบ ท่านจึ่งไม่ปรารภเรื่องนี้แต่ก่อนเสียเลย มัวรีรอมาจนพ้นเวลาเสียแล้ว"

ฉันถามว่า "รู้ได้อย่างไรว่าพ้นเวลามาเสียแล้ว เพราะพระพุทธเจ้าก็ยังดำรงพระชนม์อยู่?"

นางตอบว่า "เรื่องเป็นดั่งนี้ เมื่อห้าสิบปีที่ล่วงมา ครั้งพระองค์แสวงหาวิโมกษธรรม ณ อุรุเวลา ท่านทำทุกรกิริยาเป็นเวลาถึงเจ็ดปี จนบรรลุโพธิญาณตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสวยวิมุตติสุขอยู่ควงไม้นิโครธของนายอัชบาล พญามารวุ่นว้าใจ เกรงอำนาจตนจะเสื่อมถอย ก็มาทำการกีดขวางเพื่อมิให้ประกาศพระอมฤตธรรม ได้กราบทูลว่า "พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ บัดนี้ก็สำเร็จมโนประณิธานแล้ว และจะกระทำประโยชน์แก่สัตว์โลกให้ลำบากพระกายไปใยเล่า ขอเชิญเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานเสียเถิด" พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนมารผู้ใจบาป ต่อเมื่อบริษัทของตถาคตคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา เป็นพหูสูตอันฉลาดอาจทรงไว้ได้ซึ่งพระธรรมวินัย แล้วปฏิบัติศึกษาเล่าเรียนบอกกล่าวสืบต่อกันไป และสำแดงธรรมเทศนาโปรดเวไนยนิกรสัตว์เทวดามนุษย์ให้สำเร็จมรรคผลลุอมฤตมหานิพพานได้ ยังศาสนมรรคพรหมจรรย์ให้แผ่ไพศาลไปทั่วโลกธาตุแล้ว ตถาคตจึ่งรับอาราธนาเข้าสู่พระปรินิพพานในกาลเมื่อนั้น"

"เมื่อพระพุทธเจ้ายังประทับอยู่ในเมืองนี้ ได้ตรัสสนทนากะพระอานนท์อย่างที่เล่าให้ท่านฟัง แต่พระอานนท์มิได้เฉลียวใจ กราบทูลให้เสด็จอยู่ในโลกต่อไป และยังออกไปอยู่เสีย ณ วิเวกสถานรุกขมูลแห่งหนึ่งในภายนอก ขณะนั้นพญามารได้โอกาสก็เข้าไปเฝ้ากราบทูลเตือนว่า-

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะเสด็จเข้าพระปรินิพพานดั่งที่ได้ตรัสไว้แต่ปางก่อนภายใต้ควงไม้นิโครธของนายอัชบาล ณ อุรุเวลา ว่าจะเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานนั้น เพราะพระศาสนธรรมก็ถึงซึ่งความมั่นคงแล้ว ข้าพระองค์หวังว่าจะได้เสด็จสู่พระปรินิพพานเสียแต่บัดนี้" พระพุทธองค์จึ่งตรัสตอบพญามารว่า "ดูก่อนมารใจบาป ท่านไม่ควรวิตก แต่นี้ไปอีกสามเดือน เราตถาคตจะปรินิพพาน"

"เมื่อตรัสดั่งนี้ แผ่นดินก็ไหว ซึ่งบางทีท่านคงจะสังเกตรู้มาบ้างแล้ว"

ความจริง เมื่ออยู่กรุงโกสัมพี ก่อนหน้าที่จะออกเดินทางมาราวหนึ่งเดือน เราก็รู้สึกว่ามีแผ่นดินไหวที่นั่นแต่เบาๆ จึ่งได้กล่าวรับรอง

หญิงนั้นพูดต่อไป มีอาการอันตื่นเต้นว่า "เห็นหรือไม่ ท่าน? หวั่นไหวไปทั่วทุกแห่ง ทวยเทพตกตะลึงโทมนัสในเหตุที่พระองค์ทรงรับคำมาร ที่จะไม่เสด็จอยู่ในโลกต่อไป น่าเสียใจ! ถ้าพระอานนท์ไหวทันชิงทูลอาราธนาเสียก่อนหน้ามาร ก็จะไม่เป็นอย่างนี้ ครั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวแล้วซิ ท่านจึงรู้สึกกราบทูลปรารภเหตุขอให้ดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป แต่พระองค์ทรงปฏิเสธเสีย"

ตามคำบอกเล่าของเศรษฐินีผู้มีศรัทธา แต่กระเดียดไปในทางเหตุศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้างดั่งนี้ เป็นอันได้ความว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังประทับอยู่ในเมืองเวสาลี ทรงรู้สึกพระองค์ว่าจวนจะปรินิพพานแล้ว และคงจะทรงแจ้งเรื่องนี้แก่บรรดาพระสาวก เพราะฉะนั้น ฉันจะรอช้าอยู่ในบ้านหญิงใจดีนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว จะต้องรีบไปเฝ้าให้ทันเวลาก่อนปรินิพพานให้จงได้ ความมุ่งหมายอันใหญ่ยิ่งอยู่ที่ตรงนี้ เพราะมีแต่พระองค์เท่านั้นที่อาจทำลายความพลุ่งพล่านเดือดร้อนในดวงจิตได้ มีแต่พระองค์เท่านั้น ที่สามารถประทานความสุขสงบใจคืนมาได้ คือความสุขสงบใจอย่างที่ฉันรู้สึกมาแล้วครั้งที่ได้เฝ้าอยู่แทบพระบาท ณ เทวาลัยเก่าพระกฤษณ์ในป่าประดู่ลายกรุงโกสัมพี แต่ขณะนี้เสื่อมหายไปแล้ว

ด้วยประการฉะนี้ เมื่อล่วงมาได้สิบวันพอฉันมีกำลังพอจะเดินทางได้ต่อไป เราก็ออกเดินทาง เจ้าของบ้านใจดีไม่เต็มใจจะให้ไป เพราะเห็นว่าฉันยังกะปลกกะเปลี้ยอยู่ แต่ฉันรับรองให้หายวิตกว่าไม่เป็นไร และสัญญาว่า เมื่อได้เฝ้าแล้ว จะกราบทูลถึงที่แกขอถวายอภิวาทมาแทบพระบาทด้วย เราได้เดินมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สืบถามทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโดยลำดับ

ครั้นไปถึงอัมพคน ได้ทราบว่า ได้เสด็จออกจากที่นั้นไปแล้วราวแปดวัน ครั้นตามไปถึงป่ารัง เมืองโภคนคร ก็ได้ทราบว่าเสด็จไปเมืองปาวา ก่อนหน้าที่เราไปถึงโภคนครได้สามวัน เพลาบ่ายลงนิดหน่อยในวันหนึ่งเราถึงเมืองปาวา ระทวยใจเหนื่อยอ่อนเต็มที

บ้านแรกที่เราพบ เป็นบ้านนายช่างทองแดง เห็นเครื่องภาชนะรูปพรรณ ที่ทำขึ้นไว้เรียงอยู่ตามผนังห้องมากมายหลายอย่าง แต่ไม่ได้ยินเสียงสูบเป่าแล่น ดูเหมือนคนในบ้านหยุดพักในเวลาตรุษสารทอะไรอย่างหนึ่ง ที่บ่อในบริเวณบ้าน พวกคนใช้กำลังล้างชามจานกันอยู่ ท่าทางมีพิธีแต่งงานเพิ่งจะเสร็จไปใหม่ๆ

ทันใดนั้น มีชายร่างเล็กนุ่งห่มผ้าใหม่เข้ามาขอทำบุณย์ใส่บาตร และพูดแถมว่า "ถ้าท่านมาเร็วกว่านี้สักสองสามชั่วโมงก็จะเป็นการดี ได้มีโอกาสต้อนรับ เพราะพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก เสด็จประทับเสวยพระกระยาหารที่บ้านข้าพเจ้าในวันนี้"

"เช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ยังเสด็จอยู่ในเมืองปาวากระมัง?"
"หามิได้ เมื่อเสวยเสร็จ ก็ประชวรมีพระอาการเจ็บปวดเป็นที่สุด เกือบจะทรงวิสัญญี ทำให้ข้าพเจ้าและคนอื่นๆ ตกใจกันอลหม่าน แต่แล้วก็ฟื้นพระองค์และเสด็จไปถึงเมืองกุสินาราเมื่อสักชั่วโมงล่วงมานี้เอง"

ฉันสมัครจะรีบตามไปทันที เพราะตามคำบอกเล่าของนายช่างทองแดงถึงเรื่องประชวร ก็เห็นว่าเป็นที่น่าวิตกมาก แต่จำต้องอยู่บริโภคอาหาร และพักเหนื่อยพอมีกำลังเสียบ้างเล็กน้อยก่อน

ทางจากเมืองปาวาถึงกุสินาราไปมาได้ง่าย ในไม่ช้าเราก็เดินข้ามทุ่งนาตัดป่าหญ้าสูง เมื่อผ่านลำธารสายหนึ่งลงไปชำระสนานกายรู้สึกชุ่มชื่นขึ้น หยุดพักอยู่สักครู่ แล้วเดินทางต่อไป เวลาจวนโพล้เพล้แล้ว ฉันแทบหมดกำลัง เดินอีกไม่ไหว

เมทินีพยายามเอาใจ ชวนให้หาที่พักแรมคืน ณ ควงไม้ในที่อันสูงสักหน่อย บอกว่าไม่จำเป็นจะรีบร้อนหักโหมกำลังให้เกินไปนัก ได้พูดว่า-
"ฉันคาดว่า เมืองกุสินาราคงอยู่ไม่ไกลไปกว่าระยะอีกหมู่บ้านหนึ่ง และดูเหมือนเป็นเมืองที่อยู่กลางป่า ไฉนพระพุทธเจ้าจะเลือกเสด็จเข้าปรินิพพานเมืองนี้? พระองค์ควรจะเสด็จปรินิพพานในสวนป่าเชตวัน จังหวัดสาวัตถี หรือไม่เช่นนั้นก็ที่ในสวนป่าจังหวัดราชคฤห์ พระองค์คงจะไม่ปรินิพพานที่เมืองกันดารอย่างนี้ ใครเคยได้ยินออกชื่อเมืองกุสินารากันบ้าง?"

"แต่ประชาชนคงจะได้ยินชื่อเสียงเมืองกุสินาราต่อไปในวันนี้" ฉันพูดตอบแล้วเดินทางต่อไป ในไม่ช้าก็ละเหี่ยหมดกำลัง ต้องตะเกียกตะกายขึ้นไปบนเนินสูงที่ไม่มีต้นไม้เพื่อชะเง้อดูว่าจวนจะถึงกุสินาราหรือยัง มิฉะนั้นจะต้องค้างคืนอยู่ในที่ไม่มีการป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายงูเงี้ยว และจะต้องกระทบอากาศซึ่งเป็นพิษทำให้เจ็บไข้

ครั้นขึ้นไปถึงยอดเนิน มองโดยรอบไม่พบหมู่บ้านที่ไหนสักแห่งเดียว ดูเป็นสล้างแลเป็นป่าพืดเรื่อยไป เห็นแต่ต้นไม้ใหญ่ ๆ สูงชะลูด แผ่กิ่งก้านบังแสงแดดภายล่างจนรกเรี้ยวเป็นป่าดิบสลับซับซ้อนกันขึ้นไป ถัดไปในที่แห่งหนึ่งเป็นชะเวิกลำธาร คือ ลำธารเดียวกับที่เราลงไปสนานกายก่อนหน้านี้สักครู่

อากาศตลอดทั้งวันอบอ้าว ท้องฟ้าพยับ แต่มาในตอนนี้ มีลมพัดฉิวๆ บ้างแล้ว อากาศเริ่มปลอดโปร่งเห็นภูมิประเทศได้ชัดขึ้นบ้าง เห็นภูเขากั้นเป็นกำแพงใหญ่ และตระหง่านขึ้นเหนือยอดไม้ บนยอดเขามีต้นไม้ขึ้นสล้าง มองดูแต่ไกลคล้ายสนามหญ้าเขียวชอุ่มอยู่หลายแห่ง ยอดที่สูงสุดพุ่งหายขึ้นไปในท้องฟ้า มีเมฆสีแดงเรื่อ ๆ อยู่ก้อนเดียวลอยผ่านเป็นพืดยาวไกลลิบ

ขณะเพ่งมองดูเมฆก้อนนี้ อันสอดสีอย่างแปลก เลยหวนระลึกถึงความหลัง ครั้งที่ได้เห็นบิดาเอาคีมคีบทองคำที่หลอมเหลือเนื้อบริสุทธิ์แล้วออกจากเตาทั้งเบ้า เมื่อเนื้อทองเย็นลง ก็เอาไปวางไว้บนเบาะแพรสีน้ำเงินอ่อน ลักษณะสีที่ว่านี้ ช่างเหมือนกับสีเมฆที่เห็นอยู่ในขณะนี้เสียจริงๆ และค่อยๆ เปลี่ยนสีไปแปลกๆ

ที่แลเห็นเป็นเมฆเปลี่ยนสีอย่างงามตาน่าดูนี้ หาใช่เป็นเมฆไม่

เมทินีมีอาการตื่นเต้นคล้ายตกใจอะไร มือสั่นเข้าจับแขนฉัน กระซิบบอกว่า "นั่นคือเขาหิมพาน"

จริงอย่างว่า เห็นสูงตระหง่านอยู่ข้างหน้า คือ ขุนเขาแห่งเขาทั้งหลาย เป็นสถานที่อยู่แห่งหิมะไม่มีขาด คือ หิมาลัย เป็นที่สถิตแห่งทวยเทพ และเป็นสำนักของฤๅษีมุนีผู้สำเร็จ 'ภูเขาหิมพาน' ข้อนี้แม้แต่เมื่อฉันยังเด็กอยู่ ก็นับถือว่าเป็นนามศักดิ์สิทธิ์ กระทำให้รู้สึกทั้งเคารพทั้งเกรงอย่างซึ้งใจอย่างไรพูดไม่ถูก อันเรื่องราวที่เนื่องด้วยขุนเขานี้มีมากมายและเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ เช่นว่า "แล้วก็ไปสู่ป่าหิมพาน ประพฤติพรตเป็นฤษี" ได้เคยเป็นผู้ป่วยปีนเขานี้มาแล้วแต่กาลก่อน นับจำนวนเป็นเรือนพัน เพื่อหาความเป็นไปในที่สงัดวิเวกให้บรรลุภูมิความสุขโดยการบำเพ็ญตบะโยคะ อันเป็นทางหลุดพ้น ต่างผู้ต่างแสวงทางวิโมกษ์ตามวิธีที่เห็นว่าถูก ซึ่งลงท้ายเป็นมายาเข้าใจผิดทั้งนั้น แต่บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จมาใกล้แดนนี้แล้ว พระองค์เท่านั้นที่ล่วงพ้นมายาความหลงผิด – พระผู้ซึ่งเราโดยเสด็จตามรอยพระบาทมาในขณะนี้

ขณะฉันยืนนึกเพลินอยู่ รูปที่เห็นเป็นสีรุ่งเรืองก็เลือนหายไป ประหนึ่งว่าโพยมสวรรค์หลุบลงมาคลุมเสียหมดไม่ให้เห็น แต่เมื่อได้เห็นมาแล้ว ก็พอทำให้มีใจชุ่มชื่นเกิดกำลังกระปรี้กระเปร่าขึ้นอีก

ฉันพูดกะเมทินีว่า "ถึงหากพระพุทธเจ้าจะเสด็จข้ามขุนเขานั้น เพื่อไปสู่ภูมิแดนอันสูงสุดถึงไหนก็ตาม ฉันเป็นขอตามเสด็จไปให้พบจนได้"

เมื่อมีมานะเช่นนี้ ฉันก็เดินต่อไป ไม่ทันถึงครึ่งชั่วโมง ก็หมดแดนป่าไม้ที่รกเรี้ยว เข้าเขตไร่นาข้างหน้าเรื่อยไป เวลานั้นมืดลงแล้ว พระจันทร์กำลังขึ้นปรากฏดวงโตอยู่เหนือยอดไม้ ตรงข้ามกับที่ซึ่งเราไปถึงแล้ว คือ เมืองกุสินารา

อันที่จริง เมืองกุสินาราก็ไม่ใหญ่โตยิ่งไปกว่าหมู่บ้านของพวกมัลละ มีบ้านและกำแพงเมือง ใช้ไม้สานเอาดินทา เห็นในครั้งแรก ก็เข้าใจว่าคงจะมีโรคระบาดอะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่เมืองน้อยๆ นี้ จนผู้คนเบาบางไป ตามประตูบ้าน มีคนชราและคนเจ็บนั่งร้องให้กันอยู่เซ็งแซ่

เราเข้าไปถามว่าเกิดอะไรขึ้น
พวกนั้นบิดไม้บิดมือตอบว่า "พระศาสดาจะด่วนเสด็จเข้าปรินิพพานเสียแล้ว ในเวลานี้เอง ดวงประทีปของโลกจะดับแสงไป พวกมัลละพากันไปที่ป่ารัง เพื่อไปเฝ้าถวายบูชาแด่พระองค์ผู้ทรงพระภาค เพราะเมื่อก่อนหน้าจะมืดค่ำเล็กน้อย พระอานนท์มาในเมืองตรงไปที่ตลาด ซึ่งเป็นที่ชุมนุม กำลังพวกมัลละประชุมโต้เถียงกันด้วยเรื่องการเมือง เมื่อพระอานนท์ไปถึงได้บอกว่า ‘ดูก่อนพวกมัลละ ในวันนี้ก่อนเวลาเที่ยงคืน พระพุทธเจ้าจะเสด็จเข้าพระปรินิพพาน ท่านจงรีบพากันไปเฝ้า เพราะพระพุทธองค์จะได้เสด็จเข้าพระปรินิพพานในเมืองท่าน เป็นโอกาสที่พวกท่านจะได้เฝ้าครั้งสุดท้าย’ เมื่อพวกมัลละได้ทราบดั่งนี้ ก็ปริเทวนาการด้วยความเสียใจ พาบุตรภริยารีบไปที่ป่ารัง ส่วนพวกข้าพเจ้าที่เหลืออยู่เป็นคนชราและพิการเดินเหินไม่ไหว จึ่งจำต้องแกร่วอยู่กับที่ ไม่สามารถไปบูชาพระศาสดาในครั้งสุดท้ายได้"

เมื่อได้ความดั่งนี้ เราก็รีบออกประตูเมืองไปยังป่ารัง** ทันทีซึ่งชาวบ้านเหล่านั้นชี้ทางให้ ไปตามทางเห็นพวกมัลละกลับมาเป็นหมู่ อารามที่อยากจะให้ถึงทันใจ เรารีบสาวก้าวตัดข้ามทุ่ง ตรงไปทางมุมป่าน้อย

ครั้นไปถึง เห็นภิกษุองค์หนึ่งยืนพิงร้องให้อยู่กับต้นไม้ ฉันรู้สึกตื้นขึ้นมาในใจ หยุดมองดู ขณะนั้น ภิกษุองค์นั้นเงยหน้าแหงนขึ้นไปบนท้องฟ้า แสงจันทร์วันเพ็ญส่องมากระทบเต็มหน้าท่าน ฉันก็จำได้ว่าเป็นพระอานนท์

ฉันเข้าใจว่า คงมาไม่ทันก่อนเวลาเสด็จปรินิพพานเสียแล้วกระมัง คิดแล้วก็ใจหาย ไม่ทราบว่ากำลังวังชาไปไหนหมด

ขณะนั้น ได้ยินเสียงมีใครแหวกสุมทุมไม้ แล้วเห็นพระภิกษุร่างใหญ่องค์หนึ่งเข้ามาเอามือทาบบ่า พระอานนท์พูดว่า "ท่านพระอานนท์ พระศาสดารับสั่งให้หา"

เท่านั้นเอง ก็เป็นอันทราบได้แน่ว่ายังมีโอกาสได้เฝ้าทันในครั้งสุดท้าย แรงฉันแข็งขันขึ้นมาทันที สามารถเดินต่อออกไปได้อีก ขณะนั้นพระองคุลิมาลเหลียวมาเห็นและจำฉันได้ มีหน้าตาแสดงวิตกกลัวเราจะเข้าไปรบกวนพระพุทธเจ้า ฉันจึ่งชิงพูดให้เบาใจเสียก่อนว่า-

"ท่านอย่าวิตกเลย พวกฉันจะไม่รบกวนร้องไห้ร่ำไรอย่างผู้หญิงธรรมดา ในเวลาอันเป็นปัจฉิมกาลแห่งพระพุทธเจ้า พวกฉันตั้งใจรีบเร่งจากเมืองเวสาลีมาโดยไม่หยุดพัก ความประสงค์ก็เพียงได้เฝ้าพระองค์อีกหนหนึ่งซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น ขอท่านอย่าให้เสียความตั้งใจนี้เลย โปรดอนุญาตให้ได้เข้าเฝ้า เพื่อจะได้มีอินทรีย์กล้าแข็งบำเพ็ญกุศลต่อไป"

ท่านก็ทำกิริยาให้เราตามไป เราไปไม่สู้ไกลกี่มากน้อย ถึงช่องว่างน้อยๆ ในป่ารัง มีพระภิกษุราวสองร้อยองค์ยืนเฝ้าอยู่เป็นรูปอัฒจันทร์ ณ ท่ามกลางที่นี้ มีต้นรังขนาดใหญ่สองต้นกำลังออกดอกเป็นกลุ่มก้อนขาวไสว ระวางควงไม้รังทั้งคู่นี้ เห็นพระพุทธเจ้าประทับบรรทมบนพระแท่น ซึ่งปูลาดด้วยผ้าสีเหลืองมีพระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร ดอกรังก็โปรยเกสรเป็นละอองมาอาบพระองค์

ด้านพระปฤษฎางค์ถัดไปไกล คือ เขาหิมพาน มีหิมะปกคลุมเป็นนิตย์นิรันดร แต่บัดนี้ถูกความมืดเข้าปกคลุม ซึ่งฉันดูเหมือนจะเห็นขึ้นในใจ ว่าที่ฉันเกิดมีกำลังมาได้ทันเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่นี่ ก็เพราะได้เห็นขุนเขานั้นในคราวแรกเมื่อเวลามา

พระพุทธเจ้าตรัสกะพระอานนท์ก่อนกว่าผู้อื่นหมด เพราะท่านมายืนเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ แล้วว่า "สำแดงอานนท์ เรารู้ได้ดีว่าท่านร้องไห้โศกเศร้าถึงเรา และท่านคงคิดอยู่ว่าท่านยังไม่สิ้นอาสวกิเลส ยังไม่บรรลุความเห็นแจ้ง และบัดนี้พระศาสดาผู้กรุณาแก่ท่านก็ยังจะเข้าปรินิพพานเสียแล้ว สำแดงอานนท์ ท่านจงเลิกคิดอย่างนั้นเสียเถิด จงอย่าปริเทวนาการ จงอย่าโศกเศร้า สำแดงอานนท์ เราได้บอกแก่ท่านแล้วมิใช่หรือว่าบรรดาสิ่งที่ยึดถือรักใคร่ ย่อมมีอันต้องจากไป ธรรมดาย่อมเป็นธรรมดาของมันกระนั้น สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นเองโดยสภาพธรรม เราไม่ได้จัดการให้เกิดขึ้น แต่ชอบออกรับว่า เป็นของเรา สิ่งนั้นๆ ย่อมมีอาการแปรไปตามธรรมดาวิสัย เราจะดิ้นรนให้เป็นอย่างใจเราคิดไม่ได้นอกจากออกรับเอาเป็นของเหลวๆ และในที่สุดมันก็ต้องล่วงลับไปด้วยอำนาจแห่งธรรมดา และจะฝืนให้คงอยู่ไม่สำเร็จเลย จะได้ก็แต่ความคลั่งเพ้อออกรับเอาเสียเต็มแปล้ นับประสาอะไร ตัวท่านเองก็อย่าทะนง ย่อมตกอยู่ในอำนาจธรรมดาที่จะบันดาลให้เป็นอย่างไรได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ธรรมดาทั้งหลายจึ่งเป็นอนัตตา คือเลือกไม่ได้ ไม่สำเร็จด้วยเราสักอย่างเดียว มันเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป มันรวมกันแล้วย่อมจากไป ปรุงมันขึ้น มันก็แตกสลายไป สำแดงอานนท์ ท่านได้ปฏิบัติเรามานานด้วยความเต็มใจจงรัก ไม่มีอิดเอื้อนท้อถอย ชื่อว่าได้พยายามดีแล้ว จงใช้ความพยายามอันสม่ำเสมอนั้น มาในทางบำเพ็ญเพียรในไม่ช้าท่านจะหลุดพ้นจากกิเลสดำฤษณา ทิฐิความเห็นเชือนและอวิชชาความไม่รู้แจ้งเห็นผิดไปตามมายา"

ท่านพระอานนท์พยายามกลืนสะอื้น เพื่อแสดงว่าไม่มีความเสียใจต่อไปแล้ว แข็งใจกราบทูลถามว่า "พระสรีระร่าง จะโปรดให้จัดการอย่างไร?"
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "ไม่ควรวิตกในเรื่องนี้ เพราะสาวกที่ทรงสติปัญญา พร้อมทั้งพราหมณ์และคฤหบดีมหาศาลที่เขานับถือ คงจะจัดทำกันไปเอง ตามเห็นสมควรแก่การณ์ ตัวท่านมีสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจอยู่คือ จงนึกถึงอมฤตธรรม อย่าได้นึกสิ่งอะไรเลย จงเร่งพยายามขวนขวายต่อไปให้บรรลุ อย่าย่อท้อถอยหลัง"

พระพุทธเจ้าตรัสเฉพาะพระอานนท์แล้ว ก็ทรงทอดทัศนาการมายังเหล่าพระสาวกที่ยืนเฝ้าอยู่เป็นวง ตรัสว่า-
"ภิกษุทั้งหลาย บางทีท่านทั้งหลายจะนึกว่า พระธรรมนั้นขาดศาสดาเสียแล้ว ท่านไม่มีศาสดาต่อไปแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านอย่าพึงคิดอย่างนี้ ธรรมที่เราแสดงไว้เมื่อเราล่วงไปจักเป็นศาสดาของพวกท่าน เพราะฉะนั้น ท่านอย่าพึงยึดเอาสิ่งภายนอกเป็นที่พึ่ง จงถือพระธรรมเป็นที่พึ่งให้มั่น พระธรรมนั้นจะเป็นความสว่างแก่ท่านเอง จะเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง"

ส่วนตัวฉันนั้น พระพุทธเจ้าทรงชำเลืองเห็น พระองค์ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณ ได้ทอดพระเนตรเพ่งอยู่ครู่หนึ่ง ฉันรู้สึกว่าที่ได้บากบั่นเดินทางมา เป็นอันไม่เปล่าผลเลย

ล่วงมาสักครู่ พระองค์ตรัสอีกว่า-
"ภิกษุทั้งหลาย บางทีจะมีบางท่านที่เกิดความสงสัยขึ้นในส่วนศาสดา หรือในส่วนพระธรรม ท่านจงถามเสียให้สิ้นระแวงเถิด เพื่อไปภายหน้า ท่านจะไม่ได้โทษตัวเองว่าเมื่อพระศาสดายังทรงมีชีวิตอยู่ มิได้ไต่ถามอะไรไว้"

พระองค์ตรัสดั่งนี้ ประทานโอกาสให้ผู้ที่เฝ้าอยู่กราบทูลข้อสงสัยได้ แต่ก็นิ่งกันหมด ใครเล่ายังจะมีใจลังเลสงสัย เมื่อได้มาเฝ้าเฉพาะพระพักตร์แห่งพระองค์ ผู้จะเสด็จลับไปแล้ว? พระพุทธเจ้าเสด็จไสยาสน์อยู่ที่นั้น มีแสงเดือนในวันเพ็ญส่องสีเหลืองอ่อนมาทั่ววรกาย ประหนึ่งว่า เทพบุตรกำลังเตรียมการสนานพระสรีราพยพในครั้งสุดท้าย กล่าวคือ โปรดละอองเกสรดอกไม้ลงมา

พระอานนท์เต็มตื้นในหฤทัย ประสานหัตถ์ กราบทูลว่า-
"ข้าแต่พระองค์ ประหลาดนักหนา พระสัจธรรมนี้ ข้าพระองค์เชื่อว่าในที่ประชุมสงฆ์นี้ ไม่มีผู้ใดแม้แต่รูปเดียวที่ยังมีความไม่สนิทใจในคำสั่งสอนและศาสดาอยู่"

และพระผู้ประเสริฐสุด ก็ตรัสว่า-
"สำแดงอานนท์ ท่านกล่าวด้วยมีศรัทธาเต็มที่ แต่เรารู้แล้วว่าไม่มีความกินแหนงตะขิดตะขวงอยู่ในใจผู้ใด เพราะแม้ผู้ที่นับว่ามีเชาวน์ปัญญาล้าหลังกว่าเพื่อน ก็โปร่งใจในลัทธิธรรมแล้ว และในที่สุดก็จะได้บรรลุโมกษธรรมเหมือนกัน"

ครั้นพระองค์ตรัสดั่งนี้แล้ว ผู้ที่เฝ้าอยู่ก็รู้สึกเยือกประหนึ่งว่า มีมืออันทรงพลังการอำนาจมาเปิดทวารวิถีแห่งความเป็นอนิจจาประจำสังขาร สำหรับเชิญพระองค์เสด็จเข้า

พระองค์เผยพระโอษฐ์อีกครั้งหนึ่ง เป็นพระปัจฉิมวาจาที่จารึกไว้แก่สังสารโลก เป็นพระสัจธรรมอันล้ำเลิศว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตขอเตือนท่าน อันสังขารทั้งหลายมีแต่เสื่อมไปเป็นธรรมดา ขอท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญกุศลให้เต็มที่ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

นี้คือ พระโอวาทแห่งพระศาสดาเป็นมรดกครั้งสุดท้าย
ครั้นแล้ว สิ้นพระดำรัส สิ้นพระสุรเสียง หับพระโอษฐ์หลับพระเนตร พระอัสสาสประสาทซึ่งเคยระบายตามธรรมดาก็ค่อย แผ่วเบาลงๆ ทุกที แล้วก็สิ้นกระแสลม โดยพระอาการอันสงบ พระภิกษุองค์หนึ่ง*** ประกาศว่า พระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว

อนิจจา! แสงเดือนเพ็ญผ่องกระจ่างจับพระพักตร์อยู่เมื่อกี้ก็จางซีดขมุกขมัวลง ท้องฟ้าสลัวมัวพยับครึ้ม อากาศเย็นเฉียบจับหัวใจ น้ำค้างหยดเผาะๆ เป็นหยาดน้ำตาแห่งสวรรค์ เกสรดอกรังร่วงพรูเป็นสายสหัสธาราสรงพระพุทธสรีระ จักจั่นเรไรสงัดเงียบดูไม่มีแก่ใจจะทำเสียง ธรรมชาติรอบข้างต่างสลดหมดความคะนองทุกสิ่งทุกอย่าง

แล้วจึ่งมีเสียงกระซิกๆ สะอื้นไห้แห่งพระภิกษุสงฆ์ ฝ่ายพวกมัลละก็ร้องไห้โฮแทบสิ้นสมฤดี

ขณะนั้น อันว่า ปฐวีกัมปนาการก็บังเกิดปรากฏพิลึกพึงกลัวทั่วโลกธาตุทั้งปวง อีกทั้งห้วงมหรรณพก็กำเริบตีฟ้องคะนองคลื่นครืนครั่น นฤนาทสนั่นในมหาสมุทรสาคร ทั้งหมู่มัจฉาชาติมังกรผุดดำกระทำให้ศัพท์สำนานนฤโฆษ  ทั้งขุนเขาสิเนรุราชราชบรรพตก็น้อมยอดโอนอ่อน มีอาการปานประหนึ่งว่ายอดหวายถูกอัคคีลน อเนกมหัศจรรย์ก็บันดาลทั่วเมทินีดลสกลนภากาศ ปางเมื่อพระบรมโลกนาถเจ้าสู่พระปรินิพพาน นั้นแล.


----------------------------------
* ปาวาลเจดีย์
อัมพปาลีวัน ซึ่งนางอัมพปาลีคณิกาถวายเป็นสังฆราม
กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน?
จุนทกัมมารบุตร
** ต่อมาเรียกว่า อุปวัตตนสาลวันมงคลสถาน
*** พระอนุรุทธ์
3459  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท) เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2558 15:06:02
.

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓ (ต่อ)
(พระวินัยข้อที่ ๑๗)
ภิกษุประทุษร้ายตระกูล สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับติเตียนสงฆ์
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤติ ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

    ๔. เป็นอาบัติปาจิตตีย์กับทุกกฎแก่ภิกษุผู้ปลูกกอไม้ดอกเองในอกัปปิยปฐพี เพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายสกุล, ภิกษุใช้ให้ปลูกด้วยอกัปปิยโวหารก็เป็นอาบัติเหมือนกัน, ในการปลูกเองก็ดี ใช้ให้ปลูกก็ดีในกัปปิยปฐพี เป็นทุกกฎอย่างเดียว, ในปฐพีแม้ทั้งสอง ในเพราะใช้ให้ปลูกกอไม้ดอกแม้มาก ด้วยการสั่งครั้งเดียว เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎ หรือเป็นทุกกฎล้วนแก่ภิกษุผู้นั้นครั้งเดียวเท่านั้น
     ไม่เป็นอาบัติในเพราะใช้ให้ปลูกด้วยกัปปิยโวหาร ในพื้นที่ที่เป็นกัปปิยะ หรือพื้นที่ที่เป็นอกัปปิยะ เพื่อประโยชน์แก่การบริโภค, แม้ปลูกเพื่อประโยชน์แก่อารามเป็นต้นในอกัปปิยปฐพี ก็คงเป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ปลูกเอง หรือใช้ให้ปลูกด้วยถ้อยคำที่เป็นอกัปปิยะ
     - ในการรดเองและใช้ให้รด มีวินิจฉัยดังนี้, เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ แห่งด้วยน้ำที่เป็นอกัปปิยะ เพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายตระกูลและการบริโภค แต่เพื่อประโยชน์แก่การทั้งสองนั้นเท่านั้น เป็นทุกกฎด้วยน้ำที่เป็นกัปปิยะ, ก็ในการประทุษร้ายตระกูลและการบริโภคนี้ เพื่อต้องการบริโภคไม่เป็นอาบัติในการใช้ให้รดน้ำด้วยกัปปิยโวหาร แต่ในฐานะแห่งอาบัติผู้ศึกษาพึงทราบความเป็นอาบัติมาก เพราะมีประโยคมากด้วยอำนาจสายน้ำขาด
     ในการเก็บเองเพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายตระกูล เป็นทุกกฎกับปาจิตตีย์ตามจำนวนดอกไม้, ในการบูชาพระรัตนตรัยเป็นต้น เป็นปาจิตตีย์อย่างเดียว (พรากของเขียว), แต่ภิกษุผู้เก็บดอกไม้เป็นจำนวนมาก ด้วยประโยคอันเดียว พระวินัยธรพึงปรับด้วยอำนาจแห่งประโยคในการใช้ให้เก็บ เพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายตระกูล คนที่ภิกษุใช้ครั้งเดียวเก็บแม้มากครั้ง ก็เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎแก่ภิกษุนั้นครั้งเดียวเท่านั้น, ในการเก็บเพื่อบูชาพระรัตนตรัยเป็นต้น เป็นปาจิตตีย์อย่างเดียว
     ๕. การลงปัพพาชนียกรรมนั้น สงฆ์พึงให้ทำโอกาสว่าพวกผมต้องการจะพูดกะพวกท่าน แล้วพึงโจทด้วยวัตถุและอาบัติ ครั้นโจทแล้วพึงให้ระลึกถึงอาบัติที่พวกเธอยังระลึกไม่ได้ ถ้าพวกเธอปฏิญญาวัตถุและอาบัติ หรือปฏิญญาเฉพาะอาบัติไม่ปฏิญญาวัตถุ พึงยกอาบัติขึ้นปรับ, ถ้าปริญญาเฉพาะวัตถุไม่ปฏิญญาอาบัติ ก็พึงยกอาบัติขึ้นปรับว่า เป็นอาบัติชื่อนี้ในเพราะวัตถุนี้, ถ้าพวกเธอไม่ปฏิญญาทั้งวัตถุ ไม่ปฏิญญาทั้งอาบัติ ไม่พึงยกอาบัติขึ้นปรับ
     - ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมแล้ว ไม่ควรอยู่ในวัดที่ตนเองอยู่ หรือในบ้านที่ตนประทุษร้าย, เมื่อจะอยู่ในวัดนั้น ไม่พึงเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านใกล้เคียง แม้จะอยู่ในวัดใกล้เคียงก็ไม่ควรเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านนั้น
     - ถามว่า สงฆ์ได้กระทำแก่พวกภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะอย่างไร?  ตอบว่า สงฆ์ไม่ได้ไปข่มขี่กระทำเลย โดยที่แท้ เมื่อพวกตระกูลอาราธนานิมนต์แล้ว กระทำภัตตาหารเพื่อสงฆ์, พระเถระทั้งหลายที่มาในที่นิมนต์นั้นจะแสดงข้อปฏิบัติของสมณะให้พวกมนุษย์เข้าใจว่า นี้เป็นสมณะ นี้ไม่ใช่สมณะ แล้วให้ภิกษุ ๑ รูป ๒ รูป เข้าสู่สีมาแล้ว ได้กระทำปัพพาชนียกรรมแก่พวกภิกษุนั้น โดยอุบายนี้แล
    ก็เมื่อภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมอย่างนี้แล้ว บำเพ็ญวัตร ๑๘ ประการ ให้บริบูรณ์ขออยู่กรรมอันสงฆ์พึงระงับ, และภิกษุผู้มีกรรมระงับแล้ว (สงฆ์รับเข้าหมู่อีกครั้งแล้ว) ตนทำกุลทูสกกรรมไว้ในตระกูลใดในครั้งก่อน ไม่ควรรับปัจจัยจากตระกูลเหล่านั้น แม้จะบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะแล้ว (เป็นพระอรหันต์) ก็ไม่ควรรับปัจจัยเหล่านั้น จัดเป็นของไม่สมควรแท้
     แม้ถูกทายกถามว่า ทำไมท่านจึงไม่รับ? ตอบว่า เพราะได้กระทำไว้อย่างนี้ เมื่อครั้งก่อนดังนี้ ถ้าพวกชาวบ้านกล่าวว่า พวกกระผมไม่ถวายด้วยเหตุอย่างนั้น ถวายเพราะท่านมีศีลในบัดนี้ต่างหาก ดังนี้ควรรับได้, กุลทูสกกรรมเป็นกรรมอันภิกษุผู้กระทำเฉพาะในสถานที่ให้ทานตามปกติ จะรับทานตามปกติจากสถานที่นั่นแล ควรอยู่, ทานที่ทายกถวายเพิ่มเติม ไม่ควรรับ
     ๖. พวกภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะเหล่านั้น กลับไม่ยอมประพฤติชอบในวัตร ๑๘ ประการ หลังจากสงฆ์ลงปัพพาชียกรรมแล้ว, เป็นผู้ไม่หายเย่อหยิ่ง ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควร, ไม่กระทำให้ภิกษุทั้งหลายอดโทษอย่างนี้ว่า “พวกกระผมกระทำผิด ขอรับ พวกกระผมจะไม่กระทำเช่นนี้อีก ขอท่านทั้งหลายจงยกโทษแก่พวกผมเถิด,” ย่อมด่าการกสงฆ์ด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐, กล่าวสงฆ์ลำเอียงบ้าง, บรรดาสมณะ ๕๐๐ ซึ่งเป็นบริวารของพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะบางพวกหลีกไปสู่ทิศอื่น บางพวกก็สึกเป็นคฤหัสถ์, ท่านเรียกภิกษุแม้ทั้งหมดว่า อัสสชิและปุนัพพสุกะ เพราะภิกษุทั้งสองรูปนั้นเป็นหัวหน้า
     ๗. บ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ชื่อว่าคามและนิคม, บรรดาบ้านเป็นต้นนั้น หมู่บ้านที่ไม่มีกำแพงเป็นเครื่องล้อม มีร้านตลาด พึงทราบว่า “นิคม”
     ภิกษุใดประทุษร้ายซึ่งตระกูลทั้งหลาย เหตุนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า กุลทูสกะ, และเมื่อประทุษร้ายด้วยของเสีย มีของไม่สะอาดเป็นต้น โดยที่แท้ย่อมทำความเลื่อมใสของตระกูลทั้งหลายให้พินาศไปด้วยข้อปฏิบัติชั่วของตน
     ๘. ภิกษุใดนำไปให้เองก็ดี ให้นำไปให้ก็ดี เรียกมาให้ก็ดี ให้เรียกมาให้ก็ดี หรือว่าให้ดอกไม้ที่เป็นของตน อย่างใดอย่างหนึ่ง แก่บุคคลทั้งหลายที่เข้าไปหาเอง เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ตระกูล ภิกษุนั้นต้องทุกกฎ, ให้ดอกไม้ของคนอื่นเป็นทุกกฏเหมือนกัน, ถ้าให้ด้วยไถยจิต พระวินัยธรพึงปรับตามราคาสิ่งของ, แม้ในของสงฆ์ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, ส่วนความแปลกมีดังนี้ เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้ให้ดอกไม้ที่เขากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ โดยถือว่าตนเป็นใหญ่ (ในอาวาส)
     ถามว่า ดอกไม้ควรให้แก่ใคร ไม่ควรให้แก่ใคร?  ตอบว่า เมื่อจะให้แก่มารดาบิดาก่อน นำไปให้เองก็ดี ให้นำไปให้ก็ดี เรียกมาให้เองก็ดี ให้เรียกมาให้ก็ดี ควรทั้งนั้น,  สำหรับญาติที่เหลือ ให้เรียกมาให้เท่านั้น จึงควร,  ก็แลการให้ดอกไม้นั้นเพื่อประโยชน์แก่การบูชาพระรัตนตรัย จึงควร, แต่จะให้ดอกไม้แก่ใคร, เพื่อประโยชน์แก่การประดับ หรือเพื่อประโยชน์แก่การบูชาศิวลึงค์เป็นต้น ไม่ควร, และเมื่อจะให้นำไปให้แก่มารดาบิดา ควรใช้สามเณรผู้เป็นญาติเท่านั้นให้นำไปให้, สามเณรผู้มิใช่ญาตินอกนั้น ถ้าปรารถนาจะนำไปเองเท่านั้น จึงควรให้นำไป, ภิกษุผู้แจกดอกไม้ที่ได้รับสมมติ จะให้ส่วนกึ่งหนึ่งแก่พวกสามเณรผู้มาถึงในเวลาแจก ก็ควร
     ในกุรุนทีกล่าวว่า ควรให้ครึ่งส่วนแก่คฤหัสถ์ที่มาถึง, ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ควรให้แต่น้อย, ภิกษุผู้ไม่ได้รับสมมติควรอปโลกน์ให้, พวกสามเณรผู้มีความเคารพในอาจารย์และอุปัชฌาย์ได้นำดอกไม้เป็นอันมากมากองไว้ พระเถระทั้งหลายให้แก่พวกสัทธิวาริกเป็นต้น หรือแก่พวกอุบาสกผู้มาถึงแต่เช้าตรู่ ด้วยกล่าวว่า เธอจงถือเอาดอกไม้นี้ ไม่จัดว่าเป็นการให้ดอกไม้, พวกภิกษุผู้ถือเอาไปด้วยคิดว่า พวกเราจักบูชาพระเจดีย์ก็ดี กำลังทำการบูชาก็ดี ให้แก่พวกคฤหัสถ์ผู้มาถึงในที่นั่น, เพื่อประโยชน์แก่การบูชาพระเจดีย์ แม้การให้นี้ก็ไม่จัดว่าเป็นการให้ดอกไม้, เมื่อเห็นพวกอุบาสกกำลังบูชาด้วยดอกรักเป็นต้น แล้วกล่าวว่าอุบาสกทั้งหลาย ดอกกรรณิการ์เป็นต้น ที่วัดมี พวกท่านจงไปเก็บดอกกรรณิการ์เป็นต้น มาบูชาเถิด ดังนี้ ก็ควร
     - แม้ผลไม้ที่เป็นของของตน จะให้แก่มารดาบิดาและพวกญาติที่เหลือย่อมควร โดยนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล แต่เมื่อภิกษุผู้ให้เพื่อประโยชน์การการสงเคราะห์ตระกูล พึงทราบว่าเป็นทุกกฎเป็นต้น ในเพราะผลไม้ของตน ของคนอื่น ของสงฆ์ และของที่เขากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ โดยนัยดังกล่าวแล้ว, เฉพาะผลไม้ที่เป็นของตน จะให้แก่พวกคนไข้ หรือแก่พวกอิสรชนผู้มาถึงซึ่งหมดเสบียงลง ก็ควร, แม้ภิกษุผู้แจกผลไม้ที่สงฆ์สมมติ จะให้กึ่งส่วนแก่พวกชาวบ้านผู้มาถึงในเวลาแจกผลไม้แก่สงฆ์ ก็ควร, ผู้ไม่ได้รับสมมติควรอปโลกน์ให้
     แม้ในสังฆาราม สงฆ์ก็ควรทำกติกาไว้ ด้วยการกำหนดผลไม้หรือด้วยการกำหนดต้นไม้ เมื่อพวกคนไข้ หรือพวกคนอื่นขอผลไม้ จากผลหรือจากต้นไม้ที่กำหนดไว้ พึงให้ผลไม้ ๔-๕ ผล หรือพึงแสดงต้นไม้ตามที่กำหนดไว้ว่า พวกเธอถือเอาจากต้นนี้ได้ แต่ไม่ควรพูดว่าผลไม้ที่ต้นนี้ดี พวกเธอจงถือเอาจากต้นนี้
     - ภิกษุให้จุรณสน หรือน้ำฝาดอย่างอื่นของตน เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ตระกูล เป็นทุกกฎ แม้ในของของคนอื่นเป็นต้น ก็พึงทราบวินิจฉัยตามที่กล่าวแล้ว ส่วนความแปลกมีดังนี้ ในจุรณวิสัยนี้เปลือกไม้แม้ที่สงฆ์รักษาและสงวนไว้ ก็จัดเป็นครุภัณฑ์แท้
     - กรรม คือ การงานของทูต และการส่งข่าวของพวกคฤหัสถ์ ท่านเรียกว่า ชังฆเปสนียะ อันภิกษุไม่ควรกระทำ ด้วยว่าเมื่อภิกษุรับข่าวสาสน์ของพวกคฤหัสถ์แล้วเดินไป เป็นทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว แม้เมื่อฉันโภชะที่อาศัยกรรมนับได้มาก็เป็นทุกกฎทุกๆ คำกลืน, แม้เมื่อไม่รับข่าวสาสน์แต่แรก ภายหลังตกลงใจว่า บัดนี้คือบ้านนั้น เอาละ เราจักแจ้งข่าวสาสน์นั้นแล้วแวะออกจากทาง ก็เป็นทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว, เมื่อฉันโภชะที่บอกข่าวสาสน์ได้มา เป็นทุกกฎโดยนัยก่อนเหมือนกัน, แต่ภิกษุไม่รับข่าวสาสน์มา เมื่อถูกคฤหัสถ์ถามว่า ท่านขอรับ อันผู้มีชื่อนั้นในบ้านนี้ มีข่าวคราวเป็นอย่างไร? จะบอกก็ควร
     แต่จะส่งข่าวสาสน์ของพวกสหธรรมิก ๕ ของมารดาบิดา คนปัณฑุปลาส และไวยาวัจกรของตน ควรอยู่ และภิกษุจะส่งข่าวสาสน์ที่สมควร (อย่างเช่นที่อุบาสกในเรื่องนี้ฝากกราบทูลความประพฤติของพวกอัสสชิและปุนัพพสุกะ) ของพวกคฤหัสถ์ ควรอยู่ เพราะข่าวสาสน์ที่สมควรนี้ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นกรรม คือ การเดินข่าว, ก็แลปัจจัยก็เกิดขึ้นจากกุลทูสกรรม ๘ อย่างนี้ (มีการปลูกดอกไม้เป็นต้น) ย่อมไม่สมควรแก่สหธรรมิกทั้ง ๕ เป็นเช่นกับปัจจัยที่เกิดขึ้นจากอวดอุตริมนุสธรรมอันไม่เป็นจริง และการซื้อขายด้วยรูปิยะทีเดียว
    ๙. พึงเห็นความอย่างนี้ว่า เป็นทุกกฎอย่างเดียว เพราะกุลทูสกกรรม, แต่ภิกษุนั้นหลีกเลี่ยงกล่าวคำใดกะสงฆ์ว่า เป็นผู้มีความลำเอียงเพราะชอบพอกันเป็นต้น สงฆ์พึงกระทำสมนุภาสนกรรม เพื่อสละคืนซึ่งคำว่าเป็นผู้ลำเอียงเพราะชอบพอกันเป็นต้นนั้นเสีย
     ๑๐. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนปฐมสังฆเภทสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑๐)
     ๑๑. สังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบทนี้ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ มีการต้องแต่แรก ๙ สิกขาบท เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ปฐมปัตติกะ (เช่น สิกขาบทที่ ๑ เป็นต้น) และชื่อว่า ยาวตติกะ ๔ สิกขาบท เพราะต้องในสมนุภาสนกรรมครั้งที่ ๓ (มีสิกขาบทที่ ๑๐ เป็นต้น)
     - เมื่อต้องอาบัติแล้ว รู้อยู่แต่ปกปิดไว้ ไม่บอกแก่เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้ สิ้นวันประมาณเท่านี้, ปิดเท่าใด ต้องอยู่ปริวาสสิ้นวันมีประมาณเท่านั้น, จากนั้นแล้วมาอยู่นัตสิ้น ๖ ราตรี เพื่อประโยชน์ เพื่อความยอมรับของภิกษุทั้งหลาย, ภิกษุประพฤติมานัตแล้ว ภิกษุสงฆ์อย่างต่ำ ๒๐ รูป (วีสติคณะ) อยู่ในสีมาใด พึงเรียกภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นเข้าหมู่ (อัพภาน) ในสีมานั้น ถ้าภิกษุสงฆ์หย่อน ๒๐ รูปแม้รูปหนึ่ง การเรียกเข้าหมู่นั้นไม่เป็นการเรียกเข้าหมู่แล้ว (ยังไม่เป็นการอัพภาน) และภิกษุเหล่านั้นควรถูกตำหนิ นี้เป็นสามีจิกรรมในกรรมนั้น



สารญฺจ สารโต ญตฺวา   อาสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ   สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา ฯ ๑๒ ฯ

ผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ  และสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ
มีความคิดเห็นชอบ  ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ

Knowing the essential as the essential,
And the unessential as the unessential,
They who feed on right thoughts as such
Achieve the essential
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

3460  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท) เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2558 15:01:30
.

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๖)
ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละ ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

    พระฉันนะประพฤติมารยาทอันไม่สมควร ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า ดูก่อนฉันนะ ท่านอย่าได้กระทำอย่างนี้ ประพฤติอย่างนี้ไม่ควร
     พระฉันนะกล่าวตอบว่า ดูก่อนท่านทั้งหลาย พวกท่านสำคัญว่าเราเป็นผู้ที่ท่านควรว่ากล่าวกระนั้นหรือ เราต่างหากควรว่ากล่าวพวกท่าน เพราะพระพุทธเจ้าก็ของเรา พระธรรมก็ของเรา พระลูกเจ้าของเราตรัสรู้ธรรมแล้ว พวกท่านต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ ต่างสกุลกัน บวชรวมกันอยู่ ดุจลมกล้าพัดหญ้าไม้และใบไม้แห้งให้อยู่ร่วมกัน หรือดุจแม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขาพัดพวกสาหร่ายและแหนให้อยู่รวมกันฉะนั้น เราต่างหากควรว่ากล่าวท่าน
     ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนท่านพระฉันนะอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม จึงได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายาก อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกธรรมในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุเทศ กลับทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ด้วยกล่าวโต้ว่า พวกท่านอย่าได้กล่าวอะไรต่อเรา เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม แม้เราก็จักไม่กล่าวอะไรๆ ต่อพวกท่านเหมือนกัน เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม ขอพวกท่านจงเว้นจากการว่ากล่าวเราเสีย
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ขอท่านจงทำตนให้เขาว่ากล่าวได้แล แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แม้ภิกษุทั้งหลายก็จักว่ากล่าวท่านโดยชอบธรรม เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเจริญแล้วด้วยการอย่างนี้ คือ ด้วยการว่ากล่าวซึ่งกันและกัน ด้วยเตือนกันและกันให้ออกจากอาบัติ แลภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องยืนยันอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาส ก่อนจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสียเป็นสังฆาทิเสส”


อรรถาธิบาย
     - คำว่า ภิกษุเป็นผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายาก ความว่า เป็นผู้ว่าได้โดยยาก ประกอบด้วยธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุสาสนี โดยเคารพ
     - คำว่า ในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุเทศ ได้แก่ สิกขาบทอันนับเนื่องในพระปาติโมกข์
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ภิกษุเหล่าอื่น
     - ที่ชื่อว่า ถูกทางธรรม คือ สิกขาบทใดอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้ว สิกขาบทนั้นชื่อว่า ถูกทางธรรม ภิกษุนั้น ผู้อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยถูกทางธรรมนั้น ย่อมทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ด้วยกล่าวโต้ว่าพวกท่านอย่าได้กล่าวอะไรๆ ต่อเรา เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม แม้เราก็จักไม่กล่าวคำอะไรๆ ต่อพวกท่าน เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม ขอพวกท่านจงเว้นจากการว่ากล่าวเสีย
     - บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายากนั้น
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดเห็นอยู่ ได้ยินอยู่ ภิกษุเหล่านั้นควรว่ากล่าวภิกษุผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายากนั้นว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ขอท่านจงทำตนให้เขาว่าได้, แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แม้ภิกษุทั้งหลายก็จักว่ากล่าวท่านโดยชอบธรรม เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเจริญแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือ ด้วยว่ากล่าวซึ่งกันและกัน ด้วยเตือนกันและกันให้ออกจากอาบัติ ควรว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง ควรว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสียได้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าวต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงคุมตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์แล้ว พึงกล่าวว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้...หากสละได้เป็นการดี หากเธอไม่สละ ต้องทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันสงฆ์พึงสวดสมนุภาส ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อผู้นี้ อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ย่อมทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ภิกษุนั้นไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นบัญญัติ
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ... เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด    
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ภิกษุมีชื่อนี้อันสงฆ์สวดสมนุภาสแล้ว เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
     จบญัตติต้องทุกกฎ  จบกรรมวาจาสองครั้งต้องถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องสังฆาทิเสส
     เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฎและถุลลัจจัยเป็นอันระงับ

อาบัติ
     ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องทุกกฎ
     ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑  ภิกษุผู้สละเสียได้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๖๐๔-๖๐๘
      ๑. พระฉันนะกระทำการล่วงละเมิดทางกายทวารและวจีทวาร มีอเนกประการ
            พระฉันนะกล่าวหมายเอาความประสงค์อย่างนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกพร้อมกับเรา ทรงผนวชแล้ว, ครั้นกล่าวว่า พระธรรมของเราแล้ว เมื่อจะแสดงข้อยุติในความเป็นของตนอีก จึงกล่าวว่าพระธรรมนี้ พระลูกเจ้าของเราได้ตรัสรู้แล้ว อธิบายว่า เพราะว่าสัจธรรมอันพระลูกเจ้าของเราแทงตลอดแล้ว ฉะนั้นแม้พระธรรมก็เป็นของเรา, แต่พระฉันนะสำคัญพระสงฆ์ว่า ตั้งอยู่ในฝักฝ่ายแห่งคนคู่เวรของตน จึงไม่กล่าวว่าพระสงฆ์ของเรา, แต่ใคร่จะกล่าวเปรียบเปรย รุกรานสงฆ์ จึงกล่าวคำว่า พวกท่านต่างชื่อต่างโคตรกัน” ดังนี้เป็นต้น
     ๒. บทว่า ทุพฺพจชาติโก ได้แก่ มีภาวะแห่งบุคคลผู้ว่ายาก ผู้อันใครๆ ไม่อาจว่ากล่าวได้ ผู้อันใครๆ กล่าวสอนได้โดยลำบาก ไม่อาจว่ากล่าวได้โดยง่าย
          - ธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่ายาก ๑๙ อย่าง ได้แก่ ความเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ๑  ความยกตนข่มผู้อื่น ๑  ความเป็นคนมักโกรธ ๑  ความผูกโกรธ ๑  ความเป็นผู้มักระแวงเพราะความโกรธเป็นเหตุ ๑  ความเป็นผู้เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ ๑  ความกลับเป็นผู้โต้เถียงโจทย์ ๑  ความเป็นผู้รุกรานโจทก์ ๑  ความเป็นผู้ปรักปรำโจทก์ ๑  ความกลบเรื่องอื่นด้วยเรื่องอื่น ๑  ความเป็นผู้ไม่พอใจตอบด้วยความประพฤติ ๑  ความเป็นผู้ลบหลู่ตีเสมอ ๑  ความเป็นคนริษยาเป็นคนตระหนี่ ๑  ความเป็นคนโอ้อวดเจ้ามายา ๑  ความเป็นคนกระด้างดูหมิ่นผู้อื่น ๑  ความเป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ๑  ความเป็นคนดื้อรั้น ๑  ความเป็นผู้สอนได้ยาก ๑  อันมีมาแล้วในอนุมานสูตร
          - ผู้ใด ไม่อดไม่ทนโอวาท เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อักขมะ, ผู้ใดเมื่อปฏิบัติตามที่ท่านพร่ำสอน ไม่รับอนุสาสนีโดยเบื้องขวา เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า มีปกติไม่รับโดยเบื้องขวาซึ่งอนุสาสนี
            - ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ด้วยสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ อันได้นามว่า สหธรรมิก เพราะเป็นสิกขาอันสหธรรมิก ๕ พึงศึกษา หรือเพราะเป็นพระสหธรรมิก ๕ เหล่านั้น
     ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนปฐมสังฆเภทสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑๐) ที่กล่าวมาแล้ว




อสาเร สารมติโน   สาเร จ อสารททสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจํฉนฺติ   มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา ฯ ๑๑ ฯ

ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ    เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ
ผู้นั้นมีความคิดผิดเสียแล้ว   ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ

In the unessential they imagine the essential,
In the essential they see the unessential;
They who feed on wrong thoughts as such
Never achieve the essential.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก



สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๗)
ภิกษุประทุษร้ายตระกูล สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับติเตียนสงฆ์
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤติ ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

    ภิกษุพวกพระอิสสชิและพระปุนัพพสุกะ เป็นเจ้าถิ่นในชนบทฏาคิรี เป็นภิกษุอลัชชี ชั่วช้า ภิกษุพวกนั้นประพฤติอนาจารเห็นปานนี้ คือ ปลูกต้นไม้ดอก...รดน้ำ...เก็บดอกไม้...ร้อยกรองดอกไม้...ทำมาลัยต่อก้าน...ทำมาลัยเรียงก้าน...ทำดอกไม้ช่อ...ทำดอกไม้พุ่ม...แล้วนำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้เพื่อให้กุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้แห่งสกุล กุลทาสี ฉันอาหารในภาชนะอันเดียวกัน...ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันกับกุลสตรี กุลธิดา ฉันอาหารในเวลาวิกาล...ดื่มน้ำเมา...ทัดทรงดอกไม้... ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม ฯลฯ  
     ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาในแคว้นกาสี จะเดินทางไปพระนครสาวัตถี ถึงกิฏาคีรีชนบทแล้ว เวลาเช้าถือบาตรเข้าไปบิณฑบาต มีอาการเดินไปถอยกลับ แลเหลียว เหยียดแขน คู้แขน น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ
     คนทั้งหลายได้เห็นแล้ว พูดว่า ภิกษุรูปนี้เป็นใคร ดูคล้ายคนไม่ค่อยมีกำลัง เหมือนคนอ่อนแอมีหน้าสยิ้ว (เพราะท่านมีจักษุทอดลง ไม่สบตาใครๆ) ใครเล่าจักถวายแก่ท่าน ส่วนพระผู้เป็นเจ้า พระอิสสชิ และพระปุนัพพสุกะของพวกเรา เป็นผู้อ่อนโยน พูดไพเราะ อ่อนหวาน ยิ้มแย้มก่อน มีหน้าชื่นบาน มักพูดก่อน ใครๆ ก็ต้องถวายแก่ท่าน
     อุบาสกคนหนึ่งแลเห็นภิกษุรูปนั้น ได้กราบนิมนต์ถวายบิณฑบาต พอรู้ว่าท่านกำลังจะไปเข้าเฝ้า จึงขอให้ท่านช่วยกราบทูลถ้อยคำของท่านด้วยว่า...วัดในกิฏาคีรีชนบท โทรม พวกพระอิสสชิและพระปุนัพพะสุกะเป็นภิกษุเจ้าถิ่น เป็นอลัชชีเลวทราม พวกเธอประพฤติเลวทรามเป็นปานนี้ คือ...
     เมื่อถึงพระอารามเชตวัน ท่านเข้าเฝ้ากราบทูลถ้อยคำของอุบาสกนั้น ทรงให้ประชุม ทรงสอบถามแล้ว ตรัสให้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเดินทางไปชนบทกิฏาคีรี แล้วจงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุ พวกพระอัสสชิและปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรี เพราะภิกษุพวกนั้นเป็นสัทธิวิหาริกของเธอ
     พระเถระทั้งสองทูลถามถึงวิธีปฏิบัติ ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงไปพร้อมด้วยภิกษุหลายๆ รูป

• วิธีทำปัพพาชนียกรรม
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลวิธีปัพพาชนียกรรมพึงทำอย่างนี้ พึงโจทภิกษุพวกอัสสชิและปุนัพพสุกะก่อน ครั้นแล้วพึงให้พวกเธอให้การ ครั้นแล้วพึงยกอาบัติขึ้น ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาดพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุพวกพระอัสสชิและปุนัพพสุกะเหล่านี้ เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของภิกษุเหล่านี้ เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันภิกษุเหล่านี้ประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุ พวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรีว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ ไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี นี้เป็นบัญญัติ
     ท่านเจ้าข้า...ขอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ปัพพาชนียกรรม สงฆ์ทำแล้วแก่ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จากชนบทกิฏาคีรี ว่า ภิกษุพวกพระอิสสชิและพระปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”
     ภิกษุสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ได้ไปสู่ชนบทกิฏาคีรี ทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกนั้นแล้ว
     ภิกษุเหล่านั้นถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรม ไม่ประพฤติชอบ ไม่หายเย่อหยิ่ง ไม่ประพฤติแก้ตัว ไม่ขอขมาภิกษุทั้งหลาย ยังด่าบริภาษการกสงฆ์ ยังใส่ความว่าลำเอียง ด้วยความพอใจ...ขัดเคือง...หลง...กลัว หลีกไปเสียก็มี สึกไปเสียก็มี
     ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียนภิกษุผู้ไม่ประพฤติชอบเหล่านั้น แล้วกราบทูล...พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุเข้าไปอาศัยบ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของเธอ เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันเธอประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ พึงว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า พวกภิกษุถึงความพอใจด้วย ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย ย่อมขับภิกษุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกษุบางรูป เพราะอาบัติเช่นเดียวกัน
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายหาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ หาได้ถึงความกลัวไม่ ท่านเองแลเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปจากอาวาสนี้ ท่านอย่าได้อยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องยันอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสก่อนจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสก่อนจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละ เป็นสังฆาทิเสส”


อรรถาธิบาย
     - คำว่า อนึ่ง ภิกษุ...บ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่ง ความว่า บ้านก็ดี นครก็ดี มีชื่อว่า บ้านและนิคม
     - บทว่า เข้าไปอาศัย...อยู่ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขาร เป็นปัจจัยของภิกษุไข้ เป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องอยู่ในที่นั้น
     - ที่ชื่อว่า สกุล หมายถึง สกุล ๔ คือ สกุลกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
     - บทว่า เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล คือ ประจบสกุลด้วยดอกไม้ก็ดี ผลไม้ก็ดี แป้งก็ดี ดินก็ดี ไม้สีฟันก็ดี ไม้ไผ่ก็ดี การแพทย์ก็ดี การสื่อสารก็ดี
     - บทว่า มีความประพฤติเลวทราม คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง
     - บทว่า เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย คือ ชนเหล่าใดอยู่เฉพาะหน้า ชนเหล่านั้นชื่อว่า ได้เห็นอยู่ ชนเหล่าใดอยู่ลับหลัง ชนเหล่านั้นชื่อว่าได้ยินอยู่ บทว่า และสกุลทั้งหลาย อันเธอประทุษร้ายแล้ว คือ ชนทั้งหลายเมื่อก่อนมีศรัทธาอาศัยภิกษุนั้นกลับเป็นคนไม่มีศรัทธา เมื่อก่อนเป็นคนเลื่อมใสอาศัยภิกษุนั้น กลับเป็นคนไม่เลื่อมใส
     - บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลรูปนั้น
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น อันอธิบายว่า ภิกษุพวกที่ได้เห็นได้ยินเหล่านั้น พึงกล่าวกับภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลรูปนั้นว่า ท่านแล เป็นผู้ประทุษร้ายสกุลมีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่านนั้น เขาได้เห็นอยู่แล้ว เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ พึงว่าภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายถึงความพอใจด้วย ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย ย่อมขับภิกษุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกษุบางรูป เพราะอาบัติเช่นเดียวกัน
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลายได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น  อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดได้เห็น ภิกษุเหล่าใดได้ยิน ภิกษุเหล่านั้น พึงว่ากล่าวภิกษุผู้ทำกรรมรูปนั้นว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายหาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ และหาได้ถึงความกลัวไม่ ท่านแลเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่านแลเขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสียได้นั้นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุทั้งหลายได้ยินอยู่ไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงคุมตัวสู่ท่ามกลางสงฆ์ แล้วพึงว่ากล่าวว่าท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น...หากเธอสละได้นั้นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันสงฆ์พึงสวดสมนุภาส...ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว ใส่ความภิกษุทั้งหลายว่า ลำเอียงด้วยพอใจ ลำเอียงด้วยความขัดเคือง ลำเอียงด้วยความหลง ลำเอียงด้วยความกลัว เธอยังไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย นี้เป็นญัตติ
    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว...เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ภิกษุผู้มีชื่อนี้อันสงฆ์สวดสมนุภาสแล้ว เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”

     - จบญัตติต้องทุกกฎ จบกรรมวาจาสองครั้งต้องถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องสังฆาทิเสส
     เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฎและถุลลัจจัยเป็นอันระงับ

อาบัติ
     ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม  ต้องทุกกฎ
     ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑  ภิกษุสละเสียได้ ๑  วิกลจริต ๑  มีจิตฟุ้งซ่าน ๑  กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๖๓๐-๖๖๑     ๑. อาวาสของภิกษุเหล่านี้มีอยู่ เหตุนั้นภิกษุเหล่านี้จึงชื่อว่า อาวาสิกะ (เจ้าอาวาส), วิหาร ท่านเรียกว่า อาวาส วิหารนั้นเกี่ยวเนื่องแก่ภิกษุเหล่าใด โดยความเป็นผู้ดำเนินหน้าที่ มีการก่อสร้างสิ่งใหม่ๆ และการซ่อมของเก่า เป็นต้น ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า อาวาสิกะ (เจ้าอาวาส), แต่ภิกษุเหล่าใด เพียงแต่อยู่ในวิหารอย่างเดียว ภิกษุเหล่านั้นท่านเรียกว่า เนวาสิกะ (เจ้าถิ่น) ภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะนี้ได้เป็นเจ้าอาวาส, เป็นพวกภิกษุลามก ไม่มีความละอาย เพราะว่าภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะเหล่านั้น เป็นภิกษุฉัพพัคคีย์ชั้นหัวหน้าแห่งภิกษุฉัพพัคคีย์ทั้งหลาย

“ประวัติของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์”
     ได้ยินว่า ชน ๖ คน ในกรุงสาวัตถี เป็นสหายกัน (ปัณฑุกะ ๑  โลหิตกะ ๑  เมตติยะ ๑  ภุมมชกะ ๑  อัสสชิ ๑  ปุนัพพสุกะ ๑  เมื่อบวชแล้วเรียกว่า ภิกษุฉัพพัคคีย์  แปลว่า มีพวก ๖) ปรึกษากันว่า การกสิกรรมเป็นต้น เป็นการงานที่ลำบาก เอาเถิดสหายทั้งหลาย พวกเราจะพากันบวช แล้วได้บวชในสำนักของพระอัครสาวกทั้งสอง พวกเธอมีพรรษาครบ ๕ พรรษา ท่องมาติกา (แม่บท เช่นตัวสิกขาบท เรียกว่าเป็นมาติกา) คล่องแล้ว ปรึกษากันว่า ธรรมดาว่า ชนบทบางคราวมีภิกษาสมบูรณ์ บางคราวก็มีภิกษาฝืดเคือง พวกเราอย่าอยู่ร่วมในที่แห่งเดียวกันเลย จงแยกกันอยู่ในที่ ๓ แห่ง
     ลำดับนั้น พวกเธอจึงกล่าวกะภิกษุชื่อ ปัณฑุกะและโลหิตกะว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ชื่อว่ากรุงสาวัตถี มีตระกูลห้าล้านเจ็ดแสนตระกูล เป็นปากทางแห่งความเจริญของแคว้นกาสีและโกศล ทั้งสองแคว้นกว้างประมาณ ๓๐๐ โยชน์ ประดับด้วยหมู่บ้าน ๘ หมื่นตำบล  พวกท่านจงให้สร้างสำนักในสถานที่ใกล้ๆ กรุงสาวัตถีนั่นแล แล้วปลูกมะม่วง ขนุน และมะพร้าว เป็นต้น สงเคราะห์ตระกูลด้วยดอกและผลไม้เหล่านั้น ให้พวกเด็กหนุ่มของตระกูลบวชแล้วขยายบริษัทให้เจริญเถิด
     แล้วกล่าวกะภิกษุชื่อว่าเมตติยะและภุมมชกะว่า ท่านผู้มีอายุ ชื่อว่ากรุงราชคฤห์มีพวกมนุษย์ ๑๘ โกฏิ อยู่ครอบครอง เป็นปากทางแห่งความเจริญของแคว้นอังคะและมคธทั้งสองกว้าง ๓๐๐ โยชน์ ประดับด้วยหมู่บ้าน ๘ หมื่นตำบล พวกท่านจงให้สร้างสำนักใกล้ๆ กรุงราชคฤห์ แล้วปลูกมะม่วง ขนุน และมะพร้าว เป็นต้น สงเคราะห์ด้วยตระกูลด้วยดอกและผลไม้เหล่านั้น ให้พวกเด็กหนุ่มของตระกูลบวชแล้วขยายบริษัทให้เจริญเถิด
     แล้วกล่าวกะภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะว่า ท่านผู้มีอายุ ขึ้นชื่อว่ากิฏาคีรีชนบท อันเมฆฝน ๒ ฤดู อำนวยแล้ว ย่อมได้ข้าวกล้า ๓ คราว พวกท่านจงให้สร้างสำนักในที่ใกล้ๆ กิฏาคีรีชนบทนั้น ปลูกมะม่วง ขนุน และมะพร้าว เป็นต้น ไว้สงเคราะห์ตระกูลด้วยดอกและผลไม้เหล่านั้น ให้พวกเด็กหนุ่มของตระกูลบวชแล้วขยายบริษัทให้เจริญเถิด
     พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น ได้กระทำอย่างนั้น บรรดาภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น แต่ละฝ่ายมีภิกษุเป็นบริวารฝ่ายละ ๕๐๐ รูป รวมเป็นจำนวนภิกษุ ๑,๕๐๐ รูปกว่า ด้วยประการฉะนั้น
     ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุชื่อ ปัณฑุกะและโลหิตกะ พร้อมทั้งบริวารเป็นผู้มีศีล เที่ยวไปยังชนบท เที่ยวจาริกร่วมเสด็จกับพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกเธอไม่ก่อให้เกิดเรื่องใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำ แต่ชอบย่ำยีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้ว ส่วนพระภิกษุฉัพพัคคีย์พวกนี้ทั้งหมดเป็นอลัชชี ย่อมก่อให้เกิดเรื่องใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำด้วย ย่อมพากันย่ำยีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้วด้วย
     ๒. พวกภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะ ประพฤติอนาจารมีประการต่างๆ เช่น ลุกขึ้นดุจลอยตัวอยู่เพราะปีติ แล้วให้นางระบำผู้ชำนาญเต้นรำ ร่ายระบำ รำฟ้อน คือให้จังหวะร่ายรำ, แล้วร่ายรำไปข้างหน้าและข้างหลังหญิงฟ้อนนั้น, ย่อมขับร้องคลอไปตามการฟ้อนรำด้วย, เล่นหมากรุก เล่นหมากเก็บ, ทำวงเวียนมีเส้นต่างๆ ลงบนพื้นดินแล่นวกวนไปตามเส้นวกวนในวงเวียนนั้น (เล่นชิงนาง) เล่นกีฬาหมากไหวบ้าง อธิบายว่า ตัวหมากรุกและหินกรวด เป็นต้น ที่ทอดไว้รวมกัน เอาเล็บเขี่ยออกและเขี่ยเข้าไม่ให้ไหว ถ้าว่า ลูกสกา ตัวหมากรุก หรือหินกรวดเหล่านั้น บางอย่างไหว เป็นแพ้, เล่นเอาพู่กันจุ่มน้ำครั่ง น้ำฝาง หรือน้ำผสมแป้ง แล้วถามว่าจะเป็นรูปอะไร? จึงแต้มพู่กันนั้นลงที่พื้นหรือที่ฝาผนัง แสดงรูปช้างและรูปม้าเป็นต้น, เล่นเป่าหลอดใบไม้, เล่นหกคะเมนตีลังกา, เล่นกีฬาทายความคิดทางใจ, เล่นแสดงประกอบท่าทางของคนพิการ มีคนตาบอด คนกระจอก  และคนค่อมเป็นต้น ท่านเรียกว่า เล่นเลียนแบบคนพิการ, เล่นปล้ำกัน เป็นต้น
     ๓. ควรทราบลักษณะ ๕ อย่างเหล่านี้คือ อกัปปิยโวหาร ๑  กัปปิยโวหาร ๑  ปริยาย ๑  โอภาส ๑  นิมิตกรรม ๑
     - ที่ชื่อว่า อกัปปิยโวหาร ได้แก่ การตัดเอง การใช้ให้ตัดจำพวกของสดเขียว การขุดเอง การใช้ให้ขุดหลุม, การปลูกเอง, การใช้ให้ปลูกกอไม้ดอก, การก่อเอง การใช้ให้ก่อคันกั้น, การรดน้ำเอง การใช้ให้รดน้ำ เป็นต้น (คือ ทำเอง และใช้ให้ทำ ด้วยถ้อยคำตรงๆ)
     - ที่ชื่อว่า กัปปิยโวหาร ได้แก่ คำว่า จงรู้ต้นไม้นี้, จงรู้หลุมนี้, จงรู้กอไม้ดอกนี้, จงรู้น้ำในที่นี้
     - ที่ชื่อว่า ปริยาย (นัยอ้อม) ได้แก่ คำมีอาทิว่า บัณฑิตควรให้ปลูกต้นไม้ทั้งหลาย มีต้นไม้ดอก เป็นต้น จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อกาลไม่นานนัก
     - ที่ชื่อว่า โอภาส (การพูดหรือแสดงออกที่เป็นเชิงเปิดช่องทางหรือให้โอกาส) ได้แก่ การยืนถือจอบและเสียมเป็นต้น และกอไม้ดอกทั้งหลายอยู่ จริงอยู่ พวกสามเณรเป็นต้น เห็นพระเถระยืนอยู่อย่างนั้น ย่อมรู้ว่าพระเถระประสงค์จะใช้ให้ทำ แล้วจะมาทำให้
     - ที่ชื่อว่า นิมิตกรรม (ทำอาการ) ได้แก่ การนำจอบ เสียม มีด ขวาน และภาชนะ น้ำ มาวางไว้ในที่ใกล้ๆ
     ลักษณะทั้ง ๕ ประการนี้ ย่อมไม่ควรในการปลูก เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ตระกูล, แต่หากเพื่อประโยชน์แก่การบริโภคผล กิจ ๒ อย่าง คือ อกัปปิยโวหารและกัปปยโวหาร เท่านั้นไม่ควร, กิจ ๓ อย่างนอกนี้ควรอยู่, แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า แม้กัปปิยโวหารก็ควร (เพื่อประโยชน์แก่การบริโภคผล)
     และการปลูกใด ย่อมควรเพื่อประโยชน์แก่การบริโภคของตน การปลูกนั้นก็ควรเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น แก่สงฆ์ หรือแก่เจดีย์ด้วย แต่การใช้ให้ปลูกเพื่อต้องการอาราม เพื่อต้องการป่า และเพื่อต้องการร่มเงา อกัปปิยโวหารอย่างเดียวย่อมไม่สมควร, ที่เหลือควรอยู่, และมิใช่จะควรแต่กิจที่เหลืออย่างเดียว ก็หามิได้ แม้การทำเหมืองให้ตรงก็ดี การรดน้ำที่เป็นกัปปิยะก็ดี การทำห้องอาบน้ำแล้วอาบเองก็ดี และการเทน้ำล้างมือ ล้างเท้า และล้างหน้า ลงในที่ปลูกต้นไม้นั้นก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง สมควรอยู่, แต่ในมหาปัจจรีและในกุรุนทีท่านกล่าวว่า แม้จะปลูกเองในกัปปิยะปฐพี ก็ควร ถึงแม้จะบริ
โภคผลไม้ที่ปลูกเอง หรือใช้ปลูกเพื่อประโยชน์แก่อารามเป็นต้น ก็ควร (ปลูกขายนำรายได้ดูแลบำรุงอาราม), ในการเก็บเอง และในเพราะการใช้ให้เก็บผลไม้ แม้ตามปกติก็เป็นปาจิตตีย์ แต่ในการเก็บและในการใช้ให้เก็บ เพื่อต้องการประทุษร้ายตระกูล เป็นปาจิตตีย์ด้วย เป็นทุกกฎด้วย ในเพราะการร้อยดอกไม้ มีการร้อยตรึงเป็นต้น มีพวงดอกไม้สำหรับประดับประดาเป็นที่สุด เป็นทุกกฎอย่างเดียวแก่ภิกษุผู้ทำเพื่อต้องการประทุษร้ายตระกูลหรือเพื่อประการอื่น
     ถามว่า เพราะเหตุไร?  ตอบว่า เพราะเป็นอนาจารและเพราะเป็นบาปสมาจาร (ความประพฤติเหลวไหล เลวทราม)
     - ไม่เป็นอาบัติในการปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์แก่อาราม และเพื่อการบูชาพระรัตนตรัย เพราะปลูกด้วยกัปปิยโวหารและอาการมีปริยาย เป็นต้น
     - เป็นอาบัติในการร้อยดอกไม้เป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่กุลสตรีเป็นต้น, แต่ไม่เป็นอาบัติหากว่ามีการร้อยเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่การบูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น
 
หน้า:  1 ... 171 172 [173] 174 175 ... 274
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.197 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 30 สิงหาคม 2566 04:07:30