[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
06 พฤษภาคม 2567 18:04:17 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: งานพระเมรุ จากเอกสารสมัยอยุธยา  (อ่าน 9308 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5472


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 25 ตุลาคม 2556 17:08:40 »

.


พระเมรุ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ณ พระเมรุท้องสนามหลวง


งานพระเมรุจากเอกสารสมัยอยุธยา

งานพระเมรุเป็นพระราชประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา การสร้างพระเมรุแต่ละครั้งจัดทำขึ้นตามพระเกียรติยศของเจ้านาย หากเป็นพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ก็จะทำอย่างยิ่งใหญ่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ทั้งในด้านพระราชพิธีตลอดจนศิลปะแขนงต่างๆ อันแสดงถึงวัฒนธรรมไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน

หลักฐานเกี่ยวกับงานพระเมรุในสมัยรัตนโกสินทร์มีการจดบันทึกอย่างละเอียดในพระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุ หมายรับสั่งและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลรายละเอียดนั้นได้รับถ่ายทอดจากสมัยอยุธยาโดยผ่านการบอกเล่าของผู้รู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ หรือรับทราบกันมา ส่วนเอกสารที่บันทึกรายละเอียดนั้นมีไม่มากนักซึ่งอาจเกิดจากการสูญหายในช่วงเสียกรุง  อย่างไรก็ตาม เอกสารที่หลงเหลืออยู่นั้นก็มีความสำคัญมากในการถ่ายทอดพระราชพิธีที่สำคัญของชาติ  บทความนี้เน้นศึกษาเอกสารสมัยอยุธยาเกี่ยวกับงานพระเมรุที่สามารถศึกษาให้ทราบแนวปฏิบัติตามพระราชประเพณีได้ ซึ่งได้แก่
   ๑. กฎหมายงานพระบรมศพครั้งกรุงเก่า
   ๒. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง
   ๓. คำให้การขุนหลวงหาวัด


ก่อนอื่นเพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ควรทราบความเป็นมาของประเพณีงานศพไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลความคิดจากชมพูทวีป ทั้งทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ฮินดู วิธีปลงศพของไทยใช้การเผา ส่วนพิธีการเผาศพได้มีวิวัฒนาการสืบมาช้านาน และมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดบางประการเพื่อความเหมาะสมของแต่ละยุคสมัย  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน ตำนานสุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ว่าแบบแผนการปลงศพของชาวอินเดีย มี ๒ คติ กล่าวคือ คติทางพระพุทธศาสนาใช้หีบใส่ศพ เมื่อเผาแล้วนำอัฐิธาตุไปบรรจุในสถูปหรือเจดีย์ คติทางศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูใช้โกศใส่ศพ เมื่อเผาแล้วนำอัฐิธาตุลอยน้ำ   ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์ผ่านทางขอมจึงได้ใช้โกศเฉพาะพระศพพระเจ้าแผ่นดินหรือพระราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น ด้วยคติพราหมณ์ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระอิศวรหรือพระนารายณ์แบ่งภาคมายังโลก ส่วนศพผู้มีบรรดาศักดิ์ เช่น ศพเสนาบดีที่ได้ใส่โกศนั้นเป็นเพราะพระมหากษัตริย์พระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ข้อความที่กล่าวว่าคติทางพระพุทธศาสนาใช้หีบใส่ศพแล้วเผานั้น พิจารณาได้จากพุทธประวัติตอนถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระตั้งแต่ครั้งพุทธกาล กล่าวคือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานมัลลกษัตริย์ทำพุทธบูชาพระพุทธสรีระ ๖ วัน พอครบวันที่ ๗ ก็ปรึกษากันว่าจะเชิญพระสรีระไปทางทักษิณทิศแห่งพระนคร แล้วจะถวายพระเพลิงภายนอกพระนคร แต่ไม่สามารถเคลื่อนพระสรีระได้ จึงถามพระอนุรุทธเถระ ท่านอธิบายว่า เทพยดาคิดจะเชิญพระสรีระไปทางทิศอุดรเข้าไปยังพระนครแล้วออกทางประตูทิศบูรพา เชิญพระสรีระไปประดิษฐานเพื่อถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองกุสินารา มัลลกษัตริย์จึงปฏิบัติตาม ก็เคลื่อนพระสรีระได้ และห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่ซับด้วยน้ำสำลี ๕๐๐ ชิ้น แล้วเชิญลงประดิษฐาน ณ รางเหล็กซึ่งเต็มด้วยน้ำมัน ปิดด้วยรางอื่นเป็นฝา ทำจิตกาธานเชิงตะกอนด้วยสรรพไม้หอม เชิญขึ้นประดิษฐาน ณ เชิงตะกอนไม้หอมนั้น  มัลลกษัตริย์จะถวายพระเพลิงแต่ไม่สามารถจุดเพลิงติดได้ ต้องรอจนพระมหากัสสปเถระมาถึงมกุฏพันธนเจดีย์ เข้าไปใกล้จิตตกาธาน ทำผ้าอุตราสงค์ บังสุกุล จีวรเฉียงบ่าข้างหนึ่ง นมัสการ ทำประทักษิณเวียนขวารอบจิตกาธาน ๓ รอบ ถวายบังคมพระบาทด้วยเศียรเกล้าแล้วพระสงฆ์อีก ๕๐๐ รูปก็กระทำเช่นเดียวกัน จากนั้นจึงเกิดเพลิงเผาพระพุทธสรีระ

ประชาชนชาวไทยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา จึงได้รับพิธีกรรมดังกล่าวมายึดถือเป็นขนบประเพณีสืบต่อกันมา และได้ผสมผสานกับพิธีพราหมณ์ พิธีฮินดู ชาวไทยจึงจัดการเผาศพโดยเชิญศพผู้ตายใส่หีบแล้วเผาตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนพระมหากษัตริย์หรือบุคคลชั้นสูง เชิญพระศพ หรือศพใส่โกศแล้วเผา ด้วยเชื่อกันว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ ตามคติพราหมณ์หรือฮินดู เทพย่อมสถิตอยู่บนเขาพระสุเมรุล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ เมื่อจุติมายังมนุษยโลกก็เป็นสมมุติเทพ เมื่อเสด็จสวรรคตจึงตั้งพระศพบนพระเมรุ เพื่อส่งเสด็จกลับคืนสู่เขาพระสุเมรุ แนวความคิดนี้สะท้อนให้เห็นได้จากการออกแบบพระสุเมรุให้มีลักษณะเป็นเสมือนเขาพระสุเมรุ แวดล้อมด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์  มหานทีสีทันดร ป่าหิมพานต์ สัตว์หิมพานต์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายในตำนานสุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ว่าการสร้างพระเมรุเห็นจะมีแบบอย่างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ถ้าเป็นเจ้านายชั้นสูงสุด เช่น สมเด็จเจ้าฟ้า สร้างพระเมรุที่กลางเมือง ถ้าเป็นเจ้านายชั้นสูงรองลงมา เช่น เป็นแต่ต่างกรมผู้ใหญ่ สร้างพระเมรุที่วัด แต่ตัวเมรุทำฝาแผงไม้อย่างพระเมรุกลางเมือง ถ้าเป็นเจ้านายชั้นสามัญสร้างพระเมรุที่วัด ตัวพระเมรุเป็นแต่หุ้มผ้าขาว ส่วนศพขุนนางนั้น โรงทึมที่เผาต้องสร้างที่วัดและทำได้แต่หุ้มผ้าขาว จะทำขนาดใหญ่หรือเล็กขึ้นกับบรรดาศักดิ์หรือกำลังของเจ้าภาพ


http://www.sookjaipic.com/images/3314854134_g3.gif
งานพระเมรุ จากเอกสารสมัยอยุธยา

แผนผังพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา

หลักฐานเกี่ยวกับงานพระบรมศพในสมัยอยุธยานั้น มีปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ในสมัยตอนต้นกรุงศรีอยุธยาบันทึกถึงงานพระบรมศพและงานพระศพแต่เพียงสั้นๆ ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ ตอนแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) หน้า ๖๑ บันทึกว่า...ท่านจึงให้ขุดเอาพระศพเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา ไปถวายพระเพลิง ที่ถวายพระเพลิงนั้นให้สถาปนาพระมหาธาตุและพระวิหารเป็นพระอารามแล้วให้นามชื่อ วัดราชบูรณะ...สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระบรมราชา) หน้า ๖๙ ว่า ศักราช ๘๓๖ ปีมะเมีย ฉศก (พุทธศักราช ๒๐๑๗) ประดิษฐานพระอัฐิธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า และพระอัฐิธาตุสมเด็จพระอินทราชาเข้าไว้ในมหาสถูป...สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช กล่าวถึงการจัดงานพระศพสมเด็จพระสุริโยทัย ในหน้า ๘๑ ว่า...ให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้นเป็นพระเจดีย์วิหารเสร็จแล้วให้นามวัดสบสวรรค์...หลักฐานดังกล่าวทำให้ทราบว่าการจัดการพระศพใช้การถวายพระเพลิง แต่ไม่ทราบละเอียดอื่นใด


http://www.sookjaipic.com/images/6822838149_g2.gif
งานพระเมรุ จากเอกสารสมัยอยุธยา

ศิลปกรรมตอนถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ วัดทองนพคุณ

ส่วนหลักฐานการสร้างพระเมรุปรากฏในสมัยสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๓ (พระเอกาทศรถ) ซึ่งทรงจัดงานพระบรมศพถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ หน้า ๑๘๐ ว่า

แต่งพระเมรุมาศสูงเส้นสิบเจ็ดวา ประดับด้วยเมรุทิศเมรุรายราชวัติฉัตรทองฉัตรนาคฉัตรเบญจรงค์นานาเสร็จ ก็อัญเชิญพระบรมศพเสด็จเหนือมหากฤษฎาธารอันประดับด้วยอภิรุมกลิ้งกลดรจนา และท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายมาประดับแห่ห้อมลิ้อมมหากกฤษฎาธารก็อัญเชิญพระศพเสด็จลีลาโดยรัถยาราชวัติไปยังพระเมรุมาศด้วยยศบริวารและเครื่องสักการบูชาหนักหนา พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนารถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จไปถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

ในรัชกาลนี้ ทำให้ทราบถึงรายละเอียดของงานพระเมรุเพิ่มขึ้น รวมทั้งพิธีอัญเชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุ

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไม่บันทึกรายละเอียดพิธีพระศพจมื่นศรีสรรักษ์ราชบุตรบุญธรรมที่เป็นพระมหาอุปราช แต่มีหลักฐานที่น่าสนใจคือ การสร้างสถานที่สำหรับถวายพระเพลิงอย่างแน่นอน ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ หน้า ๒ ดังนี้...ศักราช ๙๖๘ ปีมะเมีย อัฐศก ทรงพระกรุณาให้พูนดินหน้าพระวิหารแกลบไว้เป็นที่สำหรับถวายพระเพลิง...วิหารแกลบอยู่ระหว่างวัดพระมงคลบพิตรกับวัดพระราม

รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระราชบิดา มีการบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับพระเมรุมาศและการพระราชพิธีพระบรมศพมากขึ้นอีก และต่อมาในงานพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสมเด็จพระเพทราชาทรงจัดถวาย บันทึกรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นอีก เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตที่เมืองลพบุรี ทรงจัดพิธีอัญเชิญพระโกศพระบรมศพมายังกรุงศรีอยุธยาด้วยเรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย และกระบวนเรือพยุหยาตราสมพระเกียรติยศ เชิญพระโกศประดิษฐาน ณ พระที่นั่งสุริยามรินทรามหาปราสาท แล้วมีพระราชดำรัสให้สร้างพระเมรุขนาดใหญ่ขื่อเจ็ดวาสองศอก สูงสองเส้น สิบเอ็ดวา ศอกคืบ มียอด ๕ ยอด ภายในพระเมรุทอง ประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณพิจิตรต่างๆ และมีพระเมรุทิศ พระเมรุแทรกและสามซ่าง ใช้เวลาก่อสร้าง ๘ เดือน

จากนั้นสมเด็จพระเพทราชาทรงอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระที่นั่งประดิษฐานเหนือบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ จัดกระบวนแห่อย่างอลังการตามอย่างพระราชประเพณีมาแต่ก่อน...ยาตรากระบวนแห่ทั้งปวงไปถึงพระเมรุมาศ จึงเชิญพระบรมโกศเข้าประดิษฐานในพระเมรุทอง...ทรงจัดมหรสพสมโภชครบ ๗ วันแล้วถวายพระเพลิง เก็บพระอัฐิใส่พระโกศน้อย อัญเชิญขึ้นพระยานุมาศแห่เป็นขบวนเข้ามายังพระราชวัง อัญเชิญพระโกศพระอัฐิบรรจุไว้ ณ ท้ายจรนำพระมหาวิหารวัดพระศรีสรรเพชรญดาราม งานพระเมรุคราวนี้จัดอย่างยิ่งใหญ่กว่าคราวงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง


หนังสือ เรื่องสมเด็จพระบรมศพ

ส่วนเอกสารสำคัญ ๓ ฉบับที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานพระเมรุในสมัยอยุธยาดังที่ได้กล่าวแล้ว จะได้อธิบายความสำคัญ ดังนี้

๑. กฎหมายงานพระบรมศพครั้งกรุงเก่า
“กฎหมายงานพระบรมศพครั้งกรุงเก่า” หรือ “จดหมายการพระศพสมเด็จพระรูปวัดพุทไธสวรรย์ กรุงเก่า” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เรื่องสมเด็จพระบรมศพ”  เป็นเอกสารสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื้อหาเป็นจดหมายเหตุงานพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายในสมเด็จพระเพทราชา และเป็นพระชนนีของเจ้าฟ้าตรัสน้อย เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาทรงผนวชเป็นชีประทับที่พระตำหนักใต้ วัดพุทไธสวรรย์ จึงเรียกกันว่า สมเด็จพระรูป พระองค์สิ้นพระชนม์ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อพุทธศักราช ๒๒๗๘  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้เชิญพระศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ในพระราชวังหลวง แล้วโปรดให้ทำพระเมรุกลางเมือง แห่พระศพโดยกระบวนอย่างใหญ่ไปพระราชทานเพลิงที่พระเมรุ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์อธิบายที่มาของเอกสารฉบับนี้ว่า เดิมอยู่ในห้องอาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงพบและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ขนบธรรมเนียมครั้งกรุงเก่าแจ่มแจ้งดีมาก และได้ทรงพระราชนิพนธ์สอบเรื่องราวตำราพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพกับพระราชพงศาวดารไว้ด้วย และในตอนท้ายของจดหมายเหตุฉบับนี้ มีจดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแต่ไม่สมบูรณ์เพราะข้อความตอนต้นหายไปเหลืออยู่แต่ตอนท้ายหน่อยหนึ่ง

“กฎหมายงานพระบรมศพครั้งกรุงเก่า”  จดบันทึกเรื่องงานพระศพอย่างละเอียดตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์ การจัดการพระศพ การตั้งพระศพ จัดพระเมรุ แห่พระศพ การบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระเมรุ การพระราชทานเพลิงและแห่พระอัฐิกลับพระราชวัง นอกจากนี้ยังมีแผ่นที่ที่ตั้งพระศพและแผนที่พระเมรุ ประกอบด้วย

ตัวอย่างที่ปรากฏในเอกสาร หน้า ๖ ได้แก่
 
วัน ๒ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๐๙๗ ปีเถาะ สัปตศก เพลาย่ำฆ้องแล้ว ๓ บาท สมเด็จพระรูปเจ้า เสด็จนิพพาน ณ วัดพุทไธสวรรย์ เสด็จพระราชดำเนินลงไป ณ พระศพ จึงทรงพระกรุณาสั่งว่าให้เชิญพระบรมศพขึ้นไปไว้ ณ พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท... การตั้งพระบรมโกศ ในเอกสารหน้า ๗ มีความว่า

...ถึงพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท...ชาวที่เชิญพระเสลี่ยงเงิน ชาวเครื่องไปรับสมเด็จพระบรมศพจากพระยานุมาศขึ้นบนร้านม้า ซึ่งสี่ตำรวจทำไว้ข้างพระที่นั่งนั้น ล้นเกล้าฯ เสด็จขึ้นเกยฝ่ายขวาแล้วเสด็จออกมาให้เชิญสมเด็จพระบรมศพเข้าไปในพระที่นั่งตั้งเหนือพระเบญจา แล้วจึงเชิญเครื่องพระอภิรมย์ ๕ ชั้นเข้าตั้ง ๓ ด้าน เป็นเครื่องสูง ๔ คู่ แลฐานเครื่องนั้นเป็นพนักงานสี่ตำรวจการขาดได้เอามาตั้ง มีแจ้งอยู่ในแผนที่พระที่นั่งจักรวรรดินั้นแล้ว...

ส่วนการปลูกพระเมรุนั้น...ให้ทำตามแผนที่เมื่อครั้งปีฉลูเบญจศกนั้นเถิด...คือให้ทำตามพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตรวจสอบแล้ว เห็นว่าการตกแต่งพระเมรุครั้งนั้นมีผิดเพี้ยนอยู่ จึงโปรดให้แก้ไขให้ถูกต้อง เช่น การผูกม่าน ที่พระสงฆ์นั่งฉัน สดับปกรณ์ เป็นต้น และในจดหมายเหตุได้บันทึกรายละเอียดการสร้างและตกแต่งพระเมรุอย่างละเอียดตามแผนที่พระเมรุที่เขียนไว้ด้วย

เมื่อถึงวันเชิญพระโกศสู่พระเมรุ ก็ได้มีการบรรยายถึงพิธีการอย่างละเอียด นับตั้งแต่การนำพระเสลี่ยงเงินไปเชิญสมเด็จพระบรมโกศเคลื่อนลงจากพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ถึงพระยานุมาศสามคาน ประกอบพระลองเข้ากับพระบรมโกศ จัดกระบวนเชิญพระยานุมาศไปยังพระมหาพิไชยราชรถกฤษฎาธาร จัดกระบวนแห่สมเด็จพระบรมโกศไปยังพระเมรุ แล้วเชิญขึ้นประดิษฐานเหนือพระเบญจาบนพระเมรุ พิธีการก่อนจะถึงการพระราชทานเพลิง พิธีสรงพระอัฐิ การเชิญพระอัฐิและพระอังคาร เข้ากระบวนแห่ไปบรรจุพระอัฐิ ณ พระวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์ ส่วนพระอังคารเชิญลงเรือพระที่นั่งไปลอย ณ วัดพุทไธสวรรย์


http://www.sookjaipic.com/images/1827123926_g5.gif
งานพระเมรุ จากเอกสารสมัยอยุธยา
http://www.sookjaipic.com/images/5669733062_g6.gif
งานพระเมรุ จากเอกสารสมัยอยุธยา

(ซ้าย) แผนผังพระเมรุ ในกฏหมายงานพระบรมศพครั้งกรุงเก่า  (ขวา) แผนที่พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์

จากข้อมูลที่ปรากฏใน “กฎหมายงานพระบรมศพครั้งกรุงเก่า” จะเห็นได้ว่ามีการบันทึกอย่างละเอียดลออ สามารถใช้เป็นตำราหรือแบบอย่างในการจัดงานให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีได้เป็นอย่างดีทุกขึ้นตอน รวมทั้งมีแผนผังประกอบ ดังนั้นเอกสารฉบับนี้จึงถือได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากเกี่ยวกับงานพระบรมศพในสมัยอยุธยา ซึ่งได้ใช้เป็นแนวทางในการสืบทอดพระราชประเพณีต่อมาจนถึงปัจจุบัน

๒. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง  เอกสารจากหอหลวงเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร  เมื่อครั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงไว้ในคำนำเมื่อนำมาจัดพิมพ์เผยแพร่พุทธศักราช ๒๕๓๔ ว่า เอกสารฉบับนี้น่าจะเป็นฉบับที่ได้รับการคัดลอกและเรียบเรียงมาจากต้นฉบับในหอหลวง สำนวนภาษาที่คัดลอกน่าจะทำประมาณรัชกาลที่ ๔ มีเนื้อหาแบ่งเป็น ๔ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ คำพรรณนาภูมิสัณฐานของกรุงศรีอยุธยา ส่วนที่ ๒ เป็นบันทึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเชื่อ การจัดการพระศาสนาและพระราชพิธี ส่วนที่ ๓ เป็นตำราสอนข้าราชการชั้นสูง ส่วนที่ ๔ เป็นเหตุการณ์สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาจนเสียกรุง

เรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีงานพระศพ มีปรากฏอยู่ในส่วนที่ ๒ ซึ่งรายละเอียดน่าจะได้คัดลอกมาจากจดหมายเหตุโบราณมากกว่าจะมาจากการบอกเล่าตามที่ได้ตั้งชื่อเอกสารว่าเป็นคำให้การ มีการจัดแบ่งหัวข้อเกี่ยวกับงานพระศพเป็น ๓ หัวข้อ แล้วอธิบายอย่างชัดเจน กล่าวคือ

ว่าด้วยเครื่องยศสำหรับศพ อธิบายเรื่องเครื่องราชอิศริยยศสำหรับพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและสำหรับพระราชทานในการพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ที่มีความชอบตามตำแหน่งยศ รวมถึงพระสงฆ์ที่มีฐานันดรสมณศักดิ์ตามลำดับชั้น กำหนดลักษณะการตีกลองประโคมศพตามอิศริยยศ ตำแหน่งข้าราชการ แบ่งเครื่องยศสำหรับศพที่ไม่ใช่พระบรมศพเป็น เอก โท ตรี ดังนี้

เครื่องยศสำหรับศพเอก ดังนี้ พระโกษฏไม้สิบสอง สำหรับพระศพอย่างเอก ตั้งแต่พระมหาอุปราช และพระอรรคมเหษี พระชนนี และพระบรมวงศ์ ผู้มีบันดาศักดิ์สูง แลพระเจ้าลูกยาเธอ เท่านั้น พระโกษฏยอดทรงมณฑปนพสูร สำหรับพระศพอย่างโทเท่านั้น พระโกษฏแปดเหลี่ยมลายกุดั่นยอดทรงมงกุฎ สำหรับพระศพอย่างตรีเท่านั้น พระโกษฏทั้งสามชนิดนั้น สำหรับพระศพพระองค์เจ้าในพระราชวังหลวงทั้งสิ้น...ที่น่าสนใจ มีการกำหนดเครื่องยศสำหรับศพช้างเผือกด้วย



แผนผังพระเมรุ สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ
พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ส่วนกระบวนแห่พระบรมศพ บรรยายดังนี้

กระบวนแห่พระบรมศพ มีม้านำริ้วคู่ ๑ แล้วมีธงต่างๆ แลมีเครื่องผ้าย่ามทำบุญแห่หน้าด้วย ถัดมามีรูปสัตว์ แรต รับบุษบกไฟ มีคันชิงหน้าแรตคู่ ๑ ถัดมารูปสัตว์ จตุบาท ทวิบาต รับบุศบกสังเฆศแล้วถึงเทวดาถือดอกบัว แล้วจึ่งถึงรถพระสังฆราช สำแดงพระอภิธรรมคาถาหน้ารถพระสังฆราชนั้น มีมหาดเล็กนุ่งสองปักทองขาว สรวมเสื้อครุย สวมพอกเกี้ยว เชิญพระแสงดาบคู่ ๑ พระแสงหอก ๑ พระแสงง้าว ๑ พระแสงตรี ๑ เดินนำหน้ารถพระสังฆราชฯ มีเครื่องสูง แตรสังข์กลองชนะประโคม ข้างรถพระสงฆ์ มีขุนนางนุ่งสองปักลายทองขาวสวมเสื้อครุย สวมพอกเกี้ยว เดินเปนคู่เคียงซ้าย ๔ คน ขวา ๔ คน ถัดมาถึงรถโปรยข้าวตอกดอกไม้ และรถโยงพระภูษา รถทั้งสองนั้นมีคู่เคียงแตรสังข์กลองชนะเหมือนดุจรถพระสังฆราช ถัดมาถึงรถพระบรมศพ มีมหาดเล็กเชิญพระแสงนำหน้ารถและขุนนางคู่เคียง เครื่องสูงแตรสังข์มีกลองชนะทอง ๕๐ เงิน ๕๐ แดง ๑๐๐ มโหรทึก ๒ คู่ หลังพระมหาพิชัยราชรถนั้น มีเจ้าพนักงานเชิญเครื่องราโชปโภคสำหรับพระบรมราชอิศริยยศพระเจ้าแผ่นดิน ถัดมาถึงรถพระโกษฎจันทน์เปนพระที่นั่งรองถัดมาถึงรถพานทองรับท่อนจันทน์ รถพระโกษฎจันทน์ รถท่อนจันทน์ นั้น มีคู่เคียงและเครื่องสูงเหมือนรถพระบรมศพ ราชรถทั้ง ๗ นั้นเทียมด้วยม้ารถละ ๔ ม้า เป็นธรรมเนียม แลรถทั้ง ๗ นั้นมีบุศบกยอดมณฑปทุกรถ ถัดมาถึงรถพระประเทียบ มีหลังคาช่อฟ้า ๑๒ รถ ในรถพระประเทียบนั้น มีเจ้าจอมพระสนมนุ่งขาวนั่งมาในรถตามพระบรมศพ ถัดมาถึงกระบวนสิบสองพระกำนัล นางข้างในเดินตามพระบรมศพ ถัดมาถึงกระบวนพระราชวงศานุวงศ์ ที่เป็นชายทรงม้า ทรงเครื่องต้นตามพระบรมศพเป็นคู่ๆ มาตามรัฐยาราชวัติ ฉัตรเป็นเบ็ญจรงค์รายทางแห่พระบรมศพ

แบบอย่างการพระเมรุ เอก โท ตรี บรรยายถึงการสร้างพระเมรุแบบเอก โท ตรี อย่างละเอียด กล่าวคือ พระเมรุแบบเอก เสายาว ๒๐ วา พระเมรุแบบโท เสายาว ๑๗ วา พระเมรุแบบตรี เสายาว ๑๕ วา ส่วนประกอบพระเมรุก็มากน้อยลดหลั่นกันตามลำดับ

เอกสารทั้ง “กฎหมายงานพระบรมศพครั้งกรุงเก่า” และ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ต่างให้ความรู้เรื่องการจัดงานพระบรมศพและพระศพ ตลอดจนการสร้างพระเมรุได้เป็นอย่างดี แต่รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการพระบรมศพตั้งแต่เสด็จสวรรคตมีปรากฏใน

๓. คำให้การขุนหลวงหาวัด
เอกสารฉบับนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์อธิบายว่าเป็นที่นับถือว่าเป็นถ้อยคำของท่านผู้รู้แบบแผนการงานครั้งกรุงเก่าได้บอกให้จดไว้ สรุปความได้ว่า เมื่อเสียกรุงเก่า พระเจ้าอังวะเชิญพระเจ้าอุทุมพรและข้าราชการไทยไปเมืองพม่า ได้สอบถามถึงพงศาวดารและขนบธรรมเนียมเมืองไทย จัดเก็บรักษาไว้ในหอหลวง อังกฤษได้ต้นฉบับมา เมื่อตีได้เมืองมัณฑะเลย์ แต่ฉบับที่นำมาพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์หมอสมิธ ในพุทธศักราช ๒๔๒๖ น่าจะเป็นฉบับที่มีการแก้ไขและแทรกเนื้อความไปจนไม่น่าเชื่อถือ ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๕๓ กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณพบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำให้การขุนหลวงหาวัด จึงได้คัดมาแปลเป็นภาษาไทยและนำมาพิมพ์เผยแพร่

เอกสารฉบับนี้ได้ให้รายละเอียดในการจัดพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทุกขั้นตอน นอกเหนือไปจากการจัดงานพระเมรุ มีรายละเอียดมากกว่าที่บันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ที่มีอยู่ จึงเห็นสมควรนำมาเผยแพร่ให้เป็นที่ทราบกัน ดังนี้

...จึงเอาน้ำหอมและน้ำดอกไม้เทศและน้ำกุหลาบน้ำหอมต่างๆ เป็นอันมากมา...ครั้นสรงน้ำหอมแล้ว จึ่งทรงสุคนธรสและกระแจะจวงจันทน์ทั้งปวงแล้ว ทรงสนับเพลงเชิงงอนทองชั้นใน แล้วทรงพระภูษาพื้นขาวปักทองชั้นนอก แล้วจึ่งทรงเครื่องต้นและเครื่องทรง  แล้วจึ่งทรงฉลองพระองค์อย่างใหญ่กรองทอง สังเวียนหยักและชายไหวชายแครง ตาบทิศและตาบหน้าและสังวาลประดับเพชร จึ่งทรงทองต้นพระกรและปลายพระกรประดับเพชร แล้วจึ่งทรงพระมหาชฎาเดินหนมียอดห้ายอด แล้วจึ่งประดับเพชรอยู่เพลิง ทั้งสิบนิ้วพระหัตถ์และสิบนิ้วพระบาท แล้วจึ่งเอาไม้ง่ามหุ้มทองนั้นค้ำพระหนุ เรียกว่าไม้กาจับหลัก  จึ่งประนมกรเข้าแล้วเอาซองหมากทองปากประดับใส่ในพระหัตถ์ แล้วเอาพระภูษาเนื้ออ่อนเข้าพันเป็นอันมาก ครั้นได้ที่แล้วจึ่งเอาผ้าขาวเนื้อดีสี่เหลี่ยมเข้าห่อ เรียกว่าผ้าห่อเมี่ยงตามอย่างธรรมเนียมมา แล้วจึ่งเชิญเข้าพระโกศลองในทองหนักสิบสองชั่ง แล้วจึ่งใส่ในพระโกศทองใหญ่เป็นเฟื่องกลีบจงกลประดับพลอย มียอดเก้ายอด เชิงนั้นมีครุฑและสิงห์อัดทองหนักยี่สิบห้าชั่ง แล้วเชิญพระโกศนั้นขึ้นบนเตียงหุ้มทอง แล้วจึ่งเอาเตียงที่รองพระโกศนั้นขึ้นบนพระแท่นแว่นฟ้า แล้วจึ่งกั้นราชวัติตาข่ายปะวะหล่ำแดง อันทำด้วยแก้ว มีเครื่องสูงต่างๆ แล้วจึ่งเชิญพระพุทธรูปมาตั้งที่สูง จึ่งตั้งเครื่องบริโภคนานา ตั้งพานพระสุพรรณบัฏถมยาใส่บนพานทองประดับสองชั้น แล้วจึ่งตั้งพานพระสำอาง พระสุพรรณศรี และพระสุพรรณราช และพระเต้าครอบทอง และพระคนทีทอง และพานทองประดับ และเครื่องอุปโภคบริโภคนานา ตั้งเป็นชั้นหลั่นกันมาตามที่ซ้ายขวา เป็นอันดับกันมาเป็นอันมาก แล้วจึ่งตั้งมยุรฉัตรซ้ายขวา มียอดหุ้มทองและระบายทองและคันหุ้มทองประดับ ตั้งแปดคันทั้งแปดทิศ และมีบังพระสูรย์และอภิรุมและบังแทรกจามรทานตะวันและพัดโบก สารพัดเครื่องสูงนานาตั้งซ้ายขวา เป็นชั้นหลั่นกันมาตามที่ตามทาง.

เมื่อศึกษาเอกสารทั้ง ๓ ฉบับโดยละเอียด จะทำให้ทราบถึงโบราณราชประเพณีในการจัดงานพระบรมศพ พระศพ ตลอดจนรายละเอียดในงานพระเมรุ ตามกระบวนพิธีที่จัดทำกันมาแต่โบราณและสืบทอดมาจนปัจจุบัน อันแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมไทยแท้ดั้งเดิมที่มีความดีงามสูงส่ง แสดงถึงความเป็นชาติที่เก่าแก่มีประเพณีอันเป็นมรดกล้ำค่าเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน สมควรที่ชาวไทยทุกคนจะได้รับทราบ เข้าใจ และสืบทอดให้คงอยู่ตลอดไป


บทความ : งานพระเมรุจากเอกสารสมัยอยุธยา โดย สุทธิพันธ์  ขุทรานนท์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร (ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร)


พระโกศทองคำลงยา
พระโกศทรงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ทำด้วยทองคำลงยาประดับพลอย

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 ตุลาคม 2556 17:10:35 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.702 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 02 พฤษภาคม 2567 17:44:54