หัวข้อ: "ทวิราช" แผ่นดินสองกษัตริย์ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มิถุนายน 2557 06:44:52 .
(http://www.chaoprayanews.com/wp-content/uploads/2009/03/e0b8a3-e0b994.jpg) พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๔) ภาพจาก : http://202.28.17.15 (http://202.28.17.15) ทวิราช ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวร ถึงขั้นไม่เสวยไม่บรรทม ติดต่อกันหลายวัน เพราะความเจ็บช้ำน้ำพระทัย กรณีเรือรบฝรั่งเศสรังแกสยาม ทรงพระราชนิพนธ์ระบายความคับแค้น ไว้ตอนหนึ่ง...กลัวเป็นทวิราช บ่ตริป้องอยุธยา เสียเมืองจึงนินทา บ่ละเว้นฤาว่างวาย ว.วินิจฉัยกุลเขียนไว้ใน “สืบตำนานสานประวัติ” (สำนักพิมพ์ทรีบีส์) เรื่องสองกษัตริย์ว่า ทวิราช หรือสองพระราชา นั้นหมายถึงพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์สององค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ทำไมสองพระนามจึงเป็นที่ติฉินนินทาต่อมายาวนาน ก็เพราะคนไทยที่เหลือรอดมาตั้งอาณาจักรธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ถือกันว่าสองพระองค์ควรรับผิดชอบยิ่งกว่าคนไทยอื่นๆ กรณีเสียกรุงฯ ครั้งที่สอง พระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ ทรงเป็นเจ้าฟ้าพระราชโอรสในพระเจ้าบรมโกศ ประสูติแต่พระมเหสีพระองค์ที่สอง คนละองค์กับพระราชมารดาเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เจ้าฟ้าเอกทัศเป็นพระเชษฐาของเจ้าฟ้าอุทุมพร เมื่อไม่มีเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์แล้ว ก็น่าจะทวงสิทธิ์ในราชบัลลังก์เป็นลำดับต่อมา แต่พระราชบิดาไม่โปรด มีพระบรมราชโองการให้ไปผนวชที่วัดกระโจม ให้พ้นทางเจ้าฟ้าอุทุมพร ผู้มีพระปรีชาสามารถมากกว่า เมื่อพระเจ้าบรมโกศสวรรคต เจ้าฟ้าเอกทัศก็ลาผนวช เสด็จกลับเข้าวัง แสดงสิทธิ์ของพระองค์ พงศาวดารกล่าวว่า เสด็จเข้าไปในพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ประทับนั่งบนพระแท่น พาดพระแสงดาบบนพระเพลา โปรดฯ ให้พระเจ้าอุทุมพรเข้าเฝ้า พระอนุชาผู้ครองพระราชบัลลังก์ได้ไม่กี่วัน ก็เข้าพระทัย ยอมถวายราชบัลลังก์ให้โดยดี แล้วหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมา ด้วยการไปผนวชเสียที่วัดประดู่ทรงธรรม พระเจ้าเอกทัศครองราชย์ ๙ ปี ช่วงแรกเมื่อพม่ายังไม่เข้ามารุกรานก็กินบุญเก่าไม่เดือดร้อน ราษฎรทำมาหากินกันไปตามประสา พ่อค้าแขก จีน อังกฤษ และตะวันออกกลาง ก็ต่างทำมาค้าขาย นำความมั่งคั่งมาสู่อาณาจักร เหมือนในแผ่นดินก่อนๆ ในสายตาต่างชาติ มองเซนเยอร์ บริโกต บาทหลวงฝรั่งเศส พระเจ้าแผ่นดิน ผู้ซึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง หรือเกี่ยวกับสงคราม ไม่ทรงมีอำนาจที่จะขจัดเหตุร้ายได้ กล่าวถึงพระเจ้าเอกทัศไว้ว่า เมื่อบุญเก่าหมดลง พ.ศ. ๒๓๐๒-๒๓๐๓ พระเจ้าอลองพญาของพม่า ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศทรงเห็นเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะทรงสู้ศึกเองได้ ไปขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชมาบัญชาการรบ พระเจ้าอุทุมพรก็ทำตาม ในการศึกครั้งนั้น อลองพญาถูกกระสุนปืนใหญ่ของไทย บาดเจ็บสาหัส ถอยทัพกลับและสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง อยุธยาพ้นศึกกลับมาสงบสุข พระเจ้าเอกทัศก็ทรงใช้แม่ไม้เดิม ประทับนั่งพาดพระแสงดาบบนพระเพลา พระอนุชาก็ว่าง่าย ทูลลากลับไปผนวชเป็นพระอย่างเดิม...ที่มาของพระนามขุนหลวงหาวัด จนกระทั่งสงครามครั้งสุดท้าย...พม่ายกมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ไทยเริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำหลายครั้ง จนถึงขั้นคับขัน ราษฎรหมดหวังในพระเจ้าเอกทัศ ก็พากันไปถวายฎีการ้องทุกข์ ทูลขอพระเจ้าอุทุมพรให้ลาผนวชออกมาบัญชาการรบ แต่จะด้วยความเกรงพระทัยพระเชษฐา หรือเอือมระอาเต็มที ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับราชการงานเมือง ก็ทรงเฉยไม่ยอมลาผนวช ปล่อยให้พระเจ้าเอกทัศบัญชาการรบไปตามประสา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย พงศาวดารเล่าว่า พระเจ้าเอกทัศทรงหนีออกจากอยุธยาไปได้ แต่ก็หนีไปไม่ตลอด เพราะอดอาหารมิได้เสวยถึงสิบเอ็ดสิบสองวัน จนไปสิ้นพระชนม์ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ฝรั่งที่ยังเหลืออยู่ในเหตุการณ์ บันทึกเอาไว้ให้คนไทยไปหาอ่านภายหลังว่า...ทรงถูกปลงพระชนม์ที่ประตูวัง ขณะพยายามเสด็จหนีจากเมือง ไม่ว่าเรื่องที่ไทยหรือฝรั่งเล่าเรื่องไหนจริง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงวาระสุดท้ายอันน่าสลดใจของผู้เคยอยู่ในฐานะประมุขสูงสุดของอาณาจักร ส่วนพระเจ้าอุทุมพรเป็นเชลยพร้อมกับเจ้านายและขุนนางอยุธยาจำนวนมาก ถูกนำตัวไปพม่า ทรงอยู่ในพม่าจนสิ้นพระชนม์ ระหว่างนั้นทรงให้ปากคำบันทึกกับชาวพม่า ถึงประวัติศาสตร์อยุธยา ต่อมาเรื่องนี้ถูกแปลเป็นไทย เรียกกันว่า "คำให้การของขุนหลวงหาวัด" กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทใน รัชกาลที่ ๑ เคยเป็นมหาดเล็กหุ้มแพร ตำแหน่งนายสุดจินดา ตอนปลายอยุธยา รู้ตื้นลึกหนาบางในพระราชสำนักดี ทรงคับแค้นพระทัย จนถึงกับบรรยายเอาไว้ในพระนิพนธ์ ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ มิได้พิจารณาพวกข้าไท เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา สุภาษิตท่านกล่าว เป็น "รามา" จะแต่งตั้งเสนาธิบดี ไม่ควรอย่าให้อัครฐาน จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี จึงเสียที เสียวงศ์กษัตรา เสียยศเสียศักดิ์นคเรศ เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา เสียทั้งตระกูลนานา เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร ว.วินิจฉัยกุลเขียนทิ้งท้าย...ไม่ว่าพระเจ้าอุทุมพร หรือพระเจ้าเอกทัศ จะทรงกระทำการต่างๆ ที่ว่านี้ ไปด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นก็คือความล่มจมของกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรที่ตั้งมายาวนานถึง ๔๑๗ ปี. ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันจันทร์ที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗ |