[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => กระบวนการ NEW AGE => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 14:00:45



หัวข้อ: ความทรงจำนอกมิติ : รูป นาม วิญญาณกับจักรวาลวิทยา
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 14:00:45
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/c2o.jpg)

คอลัมน์ - ความทรงจำนอกมิติ / นสพ.ไทยโพสต์

เมื่อไม่กี่วันก่อนได้ไปพูดที่ มหาวิทยาลัยสงฆ์เรื่องจิตวิญญาณ ในแง่วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสตร์
ให้นักศึกษาปริญญาโทที่ส่วนมากเป็นพระ ตั้งแต่เปรียญ 4 ประโยคกระทั่งเปรียญ 9 ประโยคฟัง
มีฆราวาสราวๆ หนึ่งในสี่ร่วมเสวนาอยู่ด้วย

ได้พูดถึงจักรวาลวิทยาใหม่กับแควนตัมฟิสิกส์เท่าที่พอจะรู้
มีคำถามของพระสองคำถามที่เป็นคำถามที่คนทั่วไปมักถามที่ ตอบได้ยากมากๆ หรือตอบแล้วก่อคำถามต่อจึงตอบได้ไม่หมด หรือไม่มีทางหมดเลย ทำให้ทุกคนเข้าใจเหมือนกันไม่ได้

คำถามแรกถามว่า
จิตวิญญาณกับจิตใจและสมองมีความสัมพันธ์ต่อกัน หรือเป็นเหตุปัจจัยต่อกัน และกันอย่างไร?



คำถามที่สองพระอีกรูปถามว่า รูป นามและวิญญาณใน ทางวิทยาศาสตร์แยกกันอย่างไร?

พระผู้ถามคำถามที่สองนี้ได้ให้ข้อมูลความ เห็นเพิ่มเติมแล้วถามบนข้อมูลที่ให้ใหม่ว่า

ในทางพุทธศาสนาถือว่าแสงหรือ รังสีที่แผ่ไปกระทบวัตถุและสะท้อนจากวัตถุหรือสิ่งของมากระทบกับตา
ทำให้ตา “เห็น” เป็นรูปนั้น แสงหรือรังสีนั้นเองก็จัดเป็นรูปด้วย เฉพาะแต่ สิ่งที่เกิดจากจิตรู้ทำให้เรารู้ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ชอบหรือไม่ชอบถึงจะเป็นนาม

ดังนั้น ถ้าหากว่าวิทยาศาสตร์แควนตัมบอกว่า ในระดับที่ละเอียดนั้น ความจริงมันให้ความเป็นได้ทั้งเป็นสสาร
ที่เรียกว่าอนุภาคซึ่งก็คือรูป อย่างหนึ่ง กับเป็นคลื่นที่รวมแสงรังสีเสียงที่บอกว่าเป็นนามอีกอย่างหนึ่ง ความรู้วิทยาศาสตร์จะไม่ขัดหรือค้านกับพุทธปรัชญาหรือ?

อีกประการหนึ่งที่ วิทยาศาสตร์ใหม่บอกว่า
จิตไม่ได้เป็นผลตามหลังของสมองหรือของกายตามที่วิทยาศาสตร์กายภาพบอกให้เชื่อ
วิทยาศาสตร์ใหม่จะจัดเรื่องของวิญญาณ หรือจิตวิญญาณในทางศาสนา กับเรื่องของนาม กับเรื่องของรูปเอาไว้ตรง ไหนอย่างไร?

นั่นไม่ใช่คำถามธรรมดา บางทีผู้ถามที่เรียนปริยัติทางศาสนา อาจมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากกว่านักศึกษาวิทยาศาสตร์เสียด้วยซ้ำ คำถามสองคำถามนั้นต่างกัน แต่คาบเกี่ยวกัน และจริงๆ แล้วเชื่อว่าเป็นคำถาม ที่ค้างคาใจของคนช่างคิดทุกคนในโลก เพราะคำตอบตอบไม่ได้ทั้งหมด แถมที่ตอบได้บ้างนั้นก็เช่นที่กล่าวไปแล้ว แม้แต่คนฟังแต่ละคนที่รับฟังคำ
ตอบด้วยกันพร้อมๆ กัน ก็ยังเข้าใจไม่เหมือนกัน

นั่นก็เพราะว่าเรื่องของจิต เรื่องของวิญญาณมันมีแต่คำถามๆๆ แต่ไม่มีคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์สุดท้าย ได้สมบูรณ์ทั้งหมด เพราะจิตมันไม่มีสัญญาอะไรที่จะบ่งบอกว่ามันเป็นจิต และก็ไม่มีอะไรมาค้ำจุนให้จิตมันตั้งอยู่ได้
ดังนั้นเองนักวิทยาศาสตร์ที่มองอะไรเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์อยู่แล้ว ก็ต้องบอกว่าจิตไม่มีอยู่จริง หรือไม่

หากจะคงเอาไว้ก็พยายามอธิบายจิตให้เป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ให้ได้ รถไฟรถยนต์วิ่งได้คงไม่ใช่เพราะใครเอาม้าไปซ่อนไว้ข้างใน หรือมีผีอยู่ในเครื่องจักรนั้น หากแต่เมื่อกระบวนการพัฒนาวิวัฒนาการมันซับซ้อนถึงจุดหนึ่ง มันก็สามารถทำงานได้เอง

เมื่อสมองมีความซับซ้อนมากขึ้นเช่นสมองของคน จิตก็เกิดขึ้นมาเอง
เราเลยคิดจะสร้างจิตเทียมด้วยคอมพิวเตอร์แม้กระทั่งทุกวันนี้
แต่จิตกลับเป็นความจริงแท้ในทางศาสนา และปรัชญาที่ บอกกับเราเช่นนั้นนับเป็นพันๆ ปีมาแล้ว ไม่ใช่ว่ามองไม่เห็นหรือไม่มี สัญญาแล้วแปลว่าไม่มี หรือว่าอะไรที่ไม่มีสิ่งใดค้ำเอาไว้ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ดังที่กล่าวเอาไว้เป็นพุทธปรัชญาว่า
อนิทัสสนามัง วิญญานามัง...อับติทิษ ฐามัง วิญญานามัง

ที่ใครก็สามารถรู้ได้ว่ามีจริง เมื่อเราเป็นอิสระจากสิ่งลวงตามายาทั้งหลายสามารถขยายสติให้ละเอียดถึงที่สุด...
จะวิมุตตามัง...คือ ความอิสระนั้น

เพียงแต่ความจริงเช่นนั้นเป็นประสบการณ์ของแต่ละคนด้วยตนเองเป็นปัจเจก เป็นปัจจัตตังเวทิตัพโพธิ วิญญูหิติ
เป็นญาณทัสนะที่ได้ มาจากสมาธิภาวนา และต้องเป็นสมาธิภาวนาที่วิมุตติอย่างว่าจริงๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าได้มาครึ่งๆ กลางๆ
แล้วก็มาคิดว่ารู้หมดแล้ว ต่างเถียงกันหน้าดำ หน้าแดงจนสาธารณชนทั่วไปสับสนกันไปหมด

บทความวันนี้จึงเป็นความพยายามที่จะตอบคำถามสองข้อนั้น ซึ่งอาจตอบรวมกันได้
เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับใจกับสมองนั้น ไม่มีข้อ พิสูจน์เด็ดขาด หรือแม้ว่าใกล้เคียงเด็ดขาด หรือให้ความเป็นเอกฉันท์ได้

ระหว่างนักวิทยาศาสตร์แท้ๆ ด้วยกัน เพราะวิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ จิตให้เป็นรูปธรรมได้ทั้งหมดหรือเป็นส่วนมาก และวิทยาศาสตร์ก็ทำสมอง ให้เป็นนามธรรมไม่ได้อยู่แล้ว สมองอาจทำได้เพียงจิตในระดับที่ต่ำสุด เช่น
การตอบสนองของระบบประสาท การบริหารข้อมูลและการใช้ข้อมูล (จำ - ระลึก - คิดและเรียบเรียงหรือคอมพิวต์)
ที่เป็นเรื่องของตรรกะ เช่น ภาษา หรือคณิตศาสตร์
หรือจะกล่าวได้ว่า สมองสามารถบริหารที่สมองเองได้ เพียงการกระทำตามคำสั่ง (intentional)
ด้วยกายวจีและใจที่เกี่ยวกับการคิดคำนวณ สมองไม่สามารถรู้ได้ รู้ว่าเป็นฉันเองที่รู้ และรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ
กระทั่งรู้ว่าอยากได้ และฉันต้องได้มันมาให้ได้ ในกระบวนการทั้งหมดของ
จิตที่สมองอาจทำได้ก็แค่บางส่วนของเวทนากับสัญญา
ส่วนที่เหลือรวมทั้ง เรื่องของสังขารหรือเจตนา (volition-intentionality)
รวมทั้งและโดยเฉพาะวิญญาณ (ในที่นี้แปลว่าจิตที่รู้ว่าตัวเองรู้) นั้นสมองอาจไม่เกี่ยวข้องด้วยเลย


ดังที่ เซอร์จอห์น เอ็คเคิลส์ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล บอกว่า จิตรู้ หรือจิตตั้งใจ (intention) อยู่นอกมิติของที่ว่างและเวลาเป็นสากลในทุกหน แห่งเข้ามาอยู่ในสมองมนุษย์ตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนอยู่ในครรภ์แม่
(John Eccles, The Wonder of Being Human, 1985)

สมองเป็นเพียงเปียโน ที่รอการเคาะการเล่น หรือเป็นผู้แปลโค้ด
แม้ตรงนี้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่เด็ดขาด หรือมีบ้างก็มักจะเหลื่อมล้ำหรือซ้อนทับกัน
จนระหว่างนักวิทยาศาสตร์ กันเองก็ตกลงกันไม่ได้

เอากันง่ายๆ ระหว่างนักฟิสิกส์ยุคใหม่ส่วนมากที่ เป็นนักปรัชญาไปแล้ว กับนักชีววิทยาและนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ส่วนใหญ่ (ที่ล้วนเป็นนักประสาทวิทยาศาสตร์หรือประสาทสรีรวิทยาที่เป็นวิทยาศาสตร์วัตถุนิยม) ต่างก็เหมือนอยู่กันคนละโลก


นักชีววิทยาที่รู้เรื่องชีวิตทั้งหมด จากทฤษฎีของดาร์วิน จึงหงุดหงิดใจที่ตัวเองให้คำตอบเรื่องจิตที่เป็นส่วนของชีวิตไม่ได้ นักจิตวิทยาแบบเก่าลูกศิษย์ลูกหาของฟลอยด์ที่ศึกษาจิตแท้ๆ ก็หงุดหงิดใจที่ตอบอะไรในเรื่องของจิตไม่ได้ทั้งหมดหรือเป็นส่วนมาก มันจะตอบได้อย่างไรในเมื่อนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้พยายามทำเรื่องที่ไม่ใช่สสาร เรื่องที่ไม่อยู่ในมิติสามมิติของสสารที่ต่อเนื่องกับอีกหนึ่งมิติของเวลา ย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
ไม่ว่าจะพยายามอย่างไร ทั้งๆ ที่ได้พยายาม มากว่าสองร้อยปีแล้ว


อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ทางจิตทางประสาท และสมองในทุกสาขาส่วนหนึ่งที่สำคัญ ได้ยอมรับร่วมกันว่า
จิตมีอยู่จริงๆ โดยธรรมชาติและเรื่องของจิตที่ทุกวันนี้เรียกว่าวิทยาศาสตร์ทางจิตนั้น ไม่ว่าสาขาใดก็มีความสำคัญและถูกต้องในขอบเขตที่จำกัดนั้นๆ

ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์พวกนี้จึงหันมาทำงานร่วมกัน ค้นคว้าความสัมพันธ์ระหว่าง จิตกับสมองที่อาจจะสรุปอย่างหยาบที่สุดได้เป็นสามประเด็นใหญ่ คือ

(1) จิตเป็นผลผลิตของกายวิภาคและสรีรภาพของสมองหรือกาย ตามกระบวน วิวัฒนาการชีววิทยา (epiphenomenon)

ในกรณีนี้คำว่าจิตก็คือกาย นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้พยายามพิสูจน์ให้จิตเป็นเรื่องของสมองให้ได้ทั้งหมด สมองก็คือสารเคมีหรือคอมพิวเตอร์ทำด้วยเลือดเนื้อ สมองจึงเป็นทั้งหมด คือเป็นทั้งตัวรู้ว่าเป็นตัวฉันที่รู้ และรู้ว่ารูปนั้นเป็นอะไร หรือรู้ว่าฉันกำลัง กระทำอะไรในขณะนั้นๆ

จิตกับสมองแยกจากกัน (dualism) จิตเป็นนาม สมองเป็นรูป การทำงานของจิตผ่านสมองมีตัวกลาง

ตัวรู้ที่รู้ว่า เป็นฉันที่รู้ เป็นเรื่องของจิต (res-cogitan) ของเดส์การ์ตส์ ส่วนรูปที่ฉันเห็น หรือการกระทำที่ฉันกำลังกระทำ อยู่เป็นเรื่องของกายของสมอง (res-extensa) (3) จิตกับสมองมีที่มาดั้งเดิมเดียวกัน เช่นที่มาของสรรพสิ่งทั้งหมดของจักรวาล
ซึ่งเคลื่อนไหวเชื่อมโยง เป็นองค์รวมเป็นนิรันดร “ที่มา” นี้คือพลังงานจิตที่เป็นพื้นฐานของจักรวาล ที่ เดวิด โบห์ม คิดว่าอยู่ในรูป ของสนามเหนือแควนตัม (เหนือนามสภาพความเป็นคลื่น wave-function field) สนามที่ม้วนซ่อนสสาร พลังงานและความหมาย
ในที่นี้ความหมาย คือตัวรู้ตัวที่ทำให้เรารู้ว่าดำรงอยู่ (being) คือจิต ผู้สร้างจักรวาลและสรรพ สิ่งกระทั่งเป็นนามรูปเป็นใจกายของเราก็คือสภาวะหนึ่งของ “ที่มา” สนามที่ไม่หยุดนิ่งตัวนี้

(3) ข้อนี้กำลังมาแรง กรณีนี้จึงเป็นจิตของมนุษย์ที่มาจาก
“ที่มา” ตัวนี้ที่สร้างพระเจ้าเทวดาขึ้นมา สร้างโลก สร้างดวงดาว สร้างกาแล็กซีขึ้นมา
ถ้าหากไม่มีจิตรู้ที่เข้ามาอยู่ในตัวมนุษย์ในตัวเรา จักรวาลและสรรพสิ่งจะมีขึ้นมาได้อย่างไร?
พระเจ้าเทวดามาได้อย่างไร?


จิตเรานั้นแหละที่สร้างทั้งหมดขึ้นมา เราจึงสร้างเทพธิดา เทวดาหรือพระเจ้า ให้มีรูปร่างเหมือนกับเรา
ถ้าแบบไทยก็ใส่ชฎาไม่ใส่เสื้อ เพราะเทวดาก็ร้อน เป็นเช่นเดียวกับมนุษย์
เทวดาฝรั่งจะมีปีกและสวมเสื้อคลุมยาว แต่จิตที่เข้า มาอยู่ในชีวิตนั้นเองก็มีหลายระนาบระดับ
และมีขั้นตอนที่วิวัฒนาการไปตาม วิวัฒนาการของชีวิตของกาย

นั่นคือวิวัฒนาการของจิตและของกายที่ตามมาทีหลังตามขั้น ตอนที่เป็นธรรมชาติ
จิตที่เป็นตัวรู้ที่เรียกว่าวิญญาณหรือจิตวิญญานจึงเป็นสากล เป็นทั้งหมด และอยู่ในทุกหนทุกแห่งไม่มีตำแหน่งแหล่งที่ (non-local)

ที่ วิลเดอร์ เพ็นฟิลด์ บอกว่า ไม่อยู่ในคอร์เท็กซ์สมองแน่นอน
และเซอร์จอห์น เอ็คเคิลส์ บอกว่า ไม่อยู่ในสมอง แต่มีสมองเป็นตัวผ่านเป็นที่ทำงาน


ที่ โรเจอร์ เพ็นโรส บอกว่า เป็นคลื่นอนุภาคจากข้างนอกที่วิ่ง เข้ามาทำงานในรูปแบบแควนตัมในไมโครทุบูล์ของเซลล์สมอง <!--colorc-->

ที่ จุง เรียกว่าจิตไร้สำนึกโบราณ (Jung’s archetype) รู้ผ่านตัวฉันและผ่านสมองของฉัน - ที่เห็นเป็นรูปอะไรหรือรู้ว่ากำลังกระทำอะไร ผ่านกล้ามเนื้อหรือเป็น ภาษาพูดในการสื่อกับภายนอก หรือเป็นการคิดหรือคอมพิวต์ที่ภายในด้าน ภาษาของสมอง

นั่นคือความสัมพันธ์ของจิตหรือจิตวิญญาณ กับจิตใจหรือนาม กับสมองหรือรูป นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณ - นาม - รูปที่อยู่ในคำถามทั้งสองคำถาม

ในความเข้าใจนั้น คลื่นหรืออนุภาคที่เป็นอิสระในธรรมชาติ คือนามรูปที่ต้องไปด้วยกันตลอดเวลาไม่แน่นอน เป็นอนิจจัง อนัตตา จึงไม่ใช่นามหรือรูปที่แยกกันโดดๆ แต่เป็นธรรมชาติสภาวธรรมตามกฎของ ไฮเซ็นเบิร์ก (uncertainty) และของ นีลส์ บอห์ร (complimentarity) แต่หากคลื่นกับอนุภาคแยกจากกันมาทำงานทั้งสองจะมีลักษณะและมีหน้าที่เฉพาะ

ดังนั้น ที่พุทธศาสนาจัดเป็นรูปจึงถูกต้องและไม่ขัดกัน แต่ในธรรมชาติคลื่นกับอนุภาคเป็นสองสภาวะที่ร่วมกันเสริมกันและกัน
เช่นเดียว กับนามรูปที่เป็นสภาวธรรมร่วมกันในความหมายเมื่อไม่ได้แยกจากกัน

นามรูปไม่ใช่นามหรือรูป

ไม่ใช่คลื่นที่แยกออกมาโดดๆ เช่นแสงแดดหรือแสงเทียน

ซึ่งผู้ถามในฐานะเป็นผู้ศึกษาพุทธศาสนาจบเปรียญ 9 ประโยค ผ่านการวิตกวิจารณ์มายาวนาน อาจเทียบเคียงเพื่อความเข้าใจได้ว่า ที่มาของสรรพสิ่งของสสารวัตถุ ของกาย ของจิตอันเป็นธรรมธาตุหรือธรรมฐิติ
หรือพื้นฐานของจักรวาลที่เป็นความจริงแท้นั้น เป็นรูปแบบหนึ่ง ของพลังงานที่ม้วนซ่อนอยู่ในสนามของความเป็นหนึ่งที่บริสุทธิ์ยิ่ง

หนึ่ง ที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นหนึ่งที่เป็นดวงๆ เช่นดวงแก้วดวงใหญ่ดวงเดียว แต่เป็นหนึ่งเช่นเป็นเยื่อใยร่างแหผืนเดียวที่เป็นพื้นฐานของทั้งหมด
พลังงาน ที่เป็นหนึ่งเดียวกันในความหมายนี้คือร่างแหจิต
(พลังงานในรูปแบบอื่นคือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่างๆ คือสสาร คือที่ว่างเวลา และก็คือข้อมูล)

สนามจิตบริสุทธิ์หรือหนึ่งดั้งเดิมนี้อาจเทียบได้กับพุทธะหรือจิตหนึ่งหรือ
ธรรมชาติที่สุดของธรรมชาติตามที่ท่านพุทธทาสเรียก และสภาวะของความ บริสุทธิ์นี้คือสภาวะที่เป็นนิพพานด้วย

ทั้งสองเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้โดยความบริสุทธิ์ หรือต่างกันก็ได้โดยลักษณะ
จิตพุทธะเป็นเนื้อหาที่นำไปสู่การ เปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งหลากหลายไม่สิ้นสุด เป็นอนันตัง ดังที่มีกล่าวว่า
อนิทัสสนามัง วิญญานามัง อนันตามัง สัพโตปภามัง

เมื่อสิ้น อิสระเมื่อก่อประกอบเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนุภาคก็คือ ปฐมามังอุปปัญโญ
ที่ที่ จะเป็นที่มาของนามหรือรูปที่แยกกันออกไป ที่เป็นนามจะมีวิวัฒนาการไป ตามขั้นตอนของนาม สอดคล้องกับด้านที่วิวัฒนาการไปเป็นรูปกาย ที่เป็นนามคือจิตระดับต่างๆ ของชีวิตที่หลากหลาย
กระทั่งเป็นจิตของมนุษย์ที่ จะยังต้องวิวัฒนาการต่อไปอีก

ส่วนที่เป็นรูป ก็คือรูปร่างอันหลากหลาย ของมวลชีวิต ทั้งสองกระบวนธรรมชาติที่เป็นไปเองตามหลักการและขั้นตอนของสังสารวัฏ นั่นคือเส้นทางขามา

ส่วนนิพพานนั้นเป็นสภาวะจิตที่ บริสุทธิ์ที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงได้อีก อันเป็นเส้นทางขากลับ

ซึ่งสำหรับพุทธ ปรัชญาแล้วไม่จำเป็นว่าจะต้องไปรวมกัน
เช่นศาสนาพราหมณ์ที่สุดท้าย อาตมันรวมกับปรมาตมันหรือพรหมมัน ความบริสุทธิ์ของหลักสำคัญสูงสุด ทั้งสองประการ

คือ จิตหนึ่งหรือพุทธะด้านหนึ่ง
กับนิพพานอีกด้านหนึ่ง

จะมีคุณสมบัติและความบริสุทธิ์เป็นเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันที่บริบทที่มิติและ มีเส้นทางที่ต่างกันออกไป

เปรียบได้กับจักรวาลวิทยาว่าด้วยการเกิดของ จักรวาลที่เป็นขามาหลังบิ๊ก-แบง กับจักรวาลที่เป็นขากลับ
(ซึ่งความเห็นยัง ไม่ยุติระหว่างจักรวาลปิดหรือจักรวาลเปิด)

แต่ไม่ว่าจะเป็นบิ๊ก-ครันช์ของจักรวาลปิด หรือจุดกลางของหลุมดำของจักรวาลเปิด ต่างก็มีแต่การเกิดๆ ดับๆ ที่ไม่สิ้นสุดในวิชาจักรวาลวิทยาใหม่ ที่ก็ไม่ได้ต่างกันกับจักรวาลวิทยาในทางพุทธศาสตร์
ความเป็นขามาและขากลับไปของวิวัตตา – สังวิวัตตาตลอดไป.