[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 14 กรกฎาคม 2557 18:59:56



หัวข้อ: เข้าพรรษา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 กรกฎาคม 2557 18:59:56
.

(http://www.sookjaipic.com/images/3911895466_4.JPG)

เข้าพรรษา

ถึงเดือนแปดแดดอับพยัพฝน
ฤดูดลพระวษาเข้ามาขวาง
จวนจะบวชเป็นพระสละนาง
อยู่เหินห่างเห็นกันเมื่อวันบุญ
ประดับพุ่มบุปผาพฤกษากระถาง
รูปแรดช้างโคควายขายกันวุ่น
 ตุ๊กตาเจ้าพราหมณ์งามละมุน
ต้นพิกุลลิ้นจี่ดูดีจริง

เทศกาลเข้าพรรษา สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หมื่นพรหมสมพัตสร (นายมี) เขียนเป็นกลอนไว้ บรรยากาศคึกคักสดใส มีชีวิตชีวานัก

ต้นไม้ทองเสาธงหงส์สีผึ้ง คู่ละสลึงเขาขายพวกชายหญิง อุณรุทหยุดกินนรชะอ้อนพริ้ง มีทุกสิ่งซื้อมาบูชาพระ

ตอนหนึ่งจากเรื่องนางนพมาส ซึ่งเข้าใจกันว่า เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ บรรยายไว้ เห็นภาพมีสีสัน ไม่แพ้กัน

ฝ่ายมหาชนประชาชายหญิงในตระกูลต่างๆทั่วไป ทั้งพระราชอาณาเขตขอบขัณฑสีมา ประชุมกันเป็นพวกเป็นเหล่าตามวงศ์ญาติแลมิตร ต่างตกแต่งกรัชกายประกวดกัน แห่เทียนจำนำพระวรรษาของตน ไปทางบกบ้าง เรือบ้าง เสียงพิณพาทย์ฆ้องกลอง สนั่นไปทุกแห่งทุกตำบล เอิกเกริกด้วยประชาชนคนแห่ คนดูทั้งทางบกทางน้ำ เป็นมหานักขัตฤกษ์

แล้วเชิญเทียนประทีปจำนำพระวรรษา เข้าตั้งในอุโบสถพิหาร จุดตามบูชาพระรัตนตรัย สิ้นไตรมาสสามเดือน ทุกๆอารามราษฎร

ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน เขียนไว้ในหนังสือ เรื่องประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล ตรุษ-สารทว่า

วันแรกเข้าพรรษา ชาวบ้านนำดอกไม้ธูป เทียน และพุ่มต้นไม้พร้อมทั้งเครื่องใช้ประจำวันอันควรแก่พระสงฆ์ไปถวายพระที่วัด

พุ่มต้นไม้ที่ถวายพระ เวลาก่อนหน้าวันเข้าพรรษา ตามร้านต่างๆ เขาตั้งขาย ใครต้องการอย่างไหน ก็ไปเลือกซื้อหาเอามาตามชอบใจ เมื่อก่อนนี้มีขายกันมากแต่เดี๋ยวนี้เห็นห่างตาไป

ต้นไม้เข้าพรรษานั้น มักมีดอกเหลืองแดงหลายสี เป็นดอกไม้ทำด้วยกระดาษสี เรียกว่าดอกไม้จีน เพราะนำเข้ามาจากเมืองจีน ใบสีเขียวเป็นมันขลับเพราะเขาชุบด้วยขี้ผึ้ง ต้นไม้ต้นเดียวออกดอกสีต่างๆ หรือที่มีดอกหลายอย่างต่างชนิดก็มี

แต่ที่ออกดอกสีเดียว และเป็นชนิดเดียว และทำได้เองงามๆ ไม่ต้องพึ่งดอกไม้จีน ก็มีเหมือนกัน

พุ่มขี้ผึ้ง เดี๋ยวนี้เห็นบางตาไป อันที่จริงพุ่มขี้ผึ้งก็มีความหมายเท่ากับเป็นเทียน แต่จุดไฟไม่ได้เพราะไม่มีไส้

ต้นไม้มีดอกอยู่พราวต้น เห็นจะเท่ากับดอกไม้ เป็นแต่พลิกแพลงทำให้พิเศษ ถวายพระแล้วท่านก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร นอกจากตั้งไว้ที่แท่นบูชา

อาจารย์พระยาอนุมานราชธน ท่านว่าแต่ก่อนเคยเห็นเขาถวายน้ำตาลหล่อเป็นรูปสิงโต ซึ่งร้านจันอับขนมของจีนเขาทำไว้ขายสำหรับไหว้เจ้า ไหว้พระของเขา เราเห็นก็ชอบ เพราะเป็นน้ำตาล พระฉันได้ทุกเวลาเหมาะทีเดียว ซื้อเอาไปถวายพระที่นับถือ ท่านจะได้ใช้เป็นน้ำตาลสำหรับฉัน เพราะเป็นน้ำตาลพระฉันได้ทุกเวลา

เคยถามผู้ที่เขาบวชเรียนมาแล้วฉันสิงโตน้ำตาลเป็นอย่างไรบ้าง เขาสั่นหัวบอกว่า ไม่ไหวฉันเข้าไปทีไรเป็นท้องเสียทุกที

แน่นอนละ เพราะเป็นน้ำตาลที่เจ้าพวกแมลงวัน พากันมาจับกินน้ำตาลสิงโตที่เขาวางตั้งไว้ขาย ไม่เชื่อก็ไปดูที่ร้านเถิด จะเห็นแมลงวันโดยมาก ชนิดหัวเขียวจับกันหึ่งทีเดียว อันที่จริงจะโทษเขาไม่ได้เพราะเขาทำไว้ถวายบูชาเจ้า

ของถวายพระเข้าพรรษา แต่ก่อนนี้ ถ้าอย่างดีทำกันอย่างวิจิตรบรรจง เอาสิ่งของถวายพระประดับตั้งซ้อนพนมกันขึ้นไปในภาชนะ สมมติว่าเป็นเขาพระสุเมรุ เอาน้ำตาลหล่อเป็นรูปสัตว์หิมพานต์ มีหงส์ราชสีห์ และกินนรฯลฯ ประดับไว้ตามเชิงเขา ของที่ขาดไม่ได้ คือของใช้อันเป็นกิจประจำวันของพระ เป็นเครื่องชำระร่างกายมีไม้สีฟัน และไม้ขูดลิ้น ของสองสิ่งนี้ ถ้าไม่รู้ไม่เคยเห็นมาก่อน ก็คงไม่รู้จัก

ไม้สีฟันพระ ถ้าพระท่านไม่อ้าปากให้กว้าง ก็เห็นจะเอายัดเข้าไปในปากท่านไม่ได้ มันใหญ่โตเกินประมาณ อย่าว่าแต่จะเอาเข้าปากเลย เพียงแต่ให้ท่านยิงฟันเอาไม้สีฟันเข้าไปถู ก็ทั้งยาก ด้วยมีขนาดเท่ากระบอกไม้รวก เอากระดาษสีมัดเป็นข้อๆ เพื่อให้งดงาม ปลายข้างหนึ่งทุบให้พองบานเป็นดอกเห็ด  พระท่านไม่ใช้ เพราะสีฟันไม่ได้จริงๆ ท่านรับประเคนเขาไว้ ก็ไม่ทราบว่าจะเอาไป ทำอะไร ทิ้งๆ ขว้างๆ ตามแต่เรื่องลูกศิษย์ที่มีหน้าที่เทกระโถน ถูกระโถนทุกเช้าเพราะพระท่านฉันหมาก หาอะไรไว้ถูไม่ได้เหมาะ ก็เห็นจะใช้เจ้าไม้สีฟันพระนั่นแหละ

ไม้ขูดลิ้น ก็เหมือนกัน ทำด้วยไม้ไผ่ทำรูปโค้งเป็นวงกลม เป็นอย่างรูปผีเสื้อ แมลงปอก็มี ใช้กระดาษสีปิดเป็นแถบเป็นพู่ดูเขียวๆ แดงๆ พราวตา ในที่สุดพระท่านก็ไม่ได้ใช้ เพราะตอนหลังมีแปรงสีฟันใช้แล้ว

ไม้สีฟันของเก่าก็หมดไป จะเหลืออยู่บ้างก็เป็นรักษาประเพณีของเก่าไว้ไม่ให้สูญ

ของถวายพระเข้าพรรษา มีน้ำตาลและอาหารเครื่องขบฉันบางอย่าง เห็นจะถวายเพื่อให้เป็นเสบียงกรังของท่าน ในระหว่าง ๓ เดือน ชาวบ้านบางท้องถิ่น จึงถวายข้าวสาร พริก หอม กระเทียม และอื่นๆ บรรจุลงในกระบุง นำไปถวาย ซึ่งก็คล้ายกับการถวายสลากภัตในเดือน ๗.
...ข้อมูล หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

(http://www.sookjaipic.com/images/3387594438_DSC_0066.JPG)