[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 18 สิงหาคม 2557 12:48:45



หัวข้อ: วิชาตีผึ้ง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 สิงหาคม 2557 12:48:45
.

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSD5Bb3VXdTDpX3ugzqJXx3fr2XgicyEVwZsAN9RlzGYRyTChbS-Q)
ภาพจาก : bloggang.com-

วิชาตีผึ้ง

ชุดความรู้ วิชาอาชีพชาวสยาม ตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ ร.ศ.๑๐๙ ถึง ร.ศ.๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๔๓๔) สมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือเก่าหายาก เพื่อสืบอายุหนังสือทรงคุณค่า กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๕๕๑
 
อาชีพแรก คือ เรื่องตีผึ้ง
 
การที่ทำน้ำผึ้งขี้ผึ้งนี้ นับเป็นสินค้าใหญ่ๆ อย่างหนึ่งในประเทศ ถ้าฝ่ายเหนือ ไม่มีเมืองไหนจะมากกว่าเมืองพิษณุโลก ฝ่ายใต้ เมืองนครศรีธรรมราช ฝ่ายตะวันออก ผึ้งไม่ค่อยชุมเหมือนฝ่ายตะวันตก ตามบรรดาหัวเมืองในพระราชอาณาเขต มีผึ้งทั่วทุกหัวเมือง
 
วิธีที่จะตีผึ้ง ขอกล่าวแต่เฉพาะวิธีตีผึ้ง ที่เมืองพิจิตร การตีผึ้งต้องนับถือ ยกครูบาอาจารย์ ถ้าผู้ใดไม่เคยตี ต้องมีครูครอบเสียก่อน วิธีครอบครู ศิษย์ต้องมีเงิน ๖ สลึง ขันล้างหน้า สำรับ ๑ ผ้าเช็ดหน้าผืน ๑ ดอกไม้ธูปเทียน ๑ เสื้อที่สำหรับสวมตัวเมื่อตีผึ้งเสื้อ ๑ ลูกทอยมัด ๑ ค้อนสำหรับตอกลูกทอยค้อน ๑
 
ครูสั่งสอน เสกๆ เป่าๆ จบแล้วก็หยิบเอาเสื้อลูกทอยค้อน มอบให้ศิษย์
 
ศิษย์พร้อมตีผึ้ง แต่ก็ต้องรอให้ถึงเดือนยี่ข้างขึ้น ไปตรวจดูแขวงป่าไหนมีผึ้งมากน้อย แล้วก็กลับมาผูกภาษีป่าต่อเจ้าภาษีใหญ่ ค่าภาษีเขาเอาเป็นสีผึ้ง ตำบลหนึ่ง อย่างมากขี้ผึ้งหนัก ๕๐ ชั่ง อย่างน้อย ขี้ผึ้งหนัก ๓๐ ชั่ง
 
อุปกรณ์ใช้ตีผึ้ง มีเกวียน ๒ เกวียน ควาย ๒ คู่ ครุ ๓ คู่ ๔ คู่ เชือกเส้นหนึ่งยาวราว ๒๐ วา แฟ้มสานด้วยหวายสำหรับใส่ลูกทอยใบหนึ่ง โอ่งไหราว ๙-๑๐ ใบ ลูกทอยราว ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ลูก
 
ลูกทอยนี้ ต้องไปตัดซอไม้ไผ่ป่าหรือสีสุกแก่ๆ เอามาผ่าออก ตัดเป็นท่อนๆ ยาว ๗ นิ้ว เหลาให้เป็นสี่เหลี่ยม เสี้ยมปลายให้แหลม ย่างไฟไว้
 
พอเดือน ๓ ข้างขึ้น จัดแจงเครื่องมือเสบียงอาหารบรรทุกเกวียนยกไป ตั้งหลักไกลที่จะตีผึ้งราว ๒ เส้นเศษ ตัดไม้เกี่ยวหญ้าคาปลูกเป็นโรงพัก เสร็จแล้วก็ทำ “ขวัญป่า” การทำขวัญป่าเป็นพิธีการใหญ่ต้องใช้เวลา ๑ วัน
 
ระหว่างเวลานี้ ก็ช่วยกันทำคบไฟ ที่จะใช้เมื่อเวลาตีผึ้ง ด้ามคบไฟใช้ไม้ที่ตายเอง เอามาผ่ามัดเข้ากับปลายไม้ ยาวราว ๑ วา
 
ผึ้งที่จะตี มีอยู่ ๕ ชนิด ผึ้งด้ง หรือผึ้งหลวง ๑ ผึ้งดา ๑ ผึ้งมิ้ม ๑ ผึ้งหอยโข่ง ๑ ผึ้งโพรง ๑
 
ผึ้งด้งหรือผึ้งหลวง รังโตเท่ากระด้งตากข้าว ตัวผึ้งเท่ากับตัวเหลือบ ไม่ชอบจับรังเป็นพวกมากๆ มักจับอยู่ ๒ รัง ๕ รังเป็นอย่างมาก ผึ้งดา รังเล็กกว่าผึ้งด้ง ชอบจับอยู่พวกมากๆ ต้นหนึ่งมี ๓๐ รังไปถึง ๒๒๐ รัง ผึ้งด้ง ผึ้งดา มักชอบจับอยู่ที่ไม้สูงๆ เช่น ต้นยาง
 
ผึ้งมิ้มกับผึ้งหอยโข่ง ตัวเท่ากับตัวชันโรง แต่รังผิดกัน ผึ้งมิ้มรังเท่ากับจานฝรั่งย่อมๆ แต่ผึ้งหอยโข่งรังกลมๆเท่ากับกุญแจหอยโข่ง ผึ้งสองพวกนี้ไม่ค่อยมีในป่าสูง มักชอบจับอยู่ตามกอไผ่
 
ผึ้งโพรง ตัวเท่าผึ้งหอยโข่ง มักอยู่ในโพรงไม้ หรือใต้แผ่นดิน
 
รู้จักชนิดของผึ้งแล้ว ทำขวัญป่าเสร็จแล้ว รุ่งขึ้นก็เริ่มการตีผึ้ง พอไปถึงป่าผึ้ง ก็ช่วยกันขุดบ่อไว้บ่อหนึ่ง กว้าง ๓ ศอก ลึก ๓ ศอกเตรียมไว้สำหรับใส่น้ำผึ้ง
 
คนตอกลูกทอย ก็เอาแฟ้มใส่ลูกทอยผูกเข้ากับเอว พร้อมกับค้อน เลือกตอกทอยต้นที่ผึ้งจับมากก่อน
 
การตอกทอย ก็มีวิธี ก่อนตอกลูกทอยลูกแรก ต้องเอาใบไม้ ๓ ใบซ้อนกัน เอาลูกทอยตอกลงที่ใบไม้ให้ติดกับต้นไม้ ระหว่างตอกก็ต้องเสกคาถาสะกด เหมือนการสะกดผีเด็ก
 
สะกดลูกทอยลูกแรกแล้ว ทอยลูกต่อไป ตอกโดยไม่ต้องสะกด ระยะห่างราวก้าวหนึ่ง จนถึงกิ่งเล็ก พอมือยึดกิ่งได้ คนตอกทอยก็จะลงไปตอกต้นอื่นต่อ
 
การตอกทอยเสร็จตามเป้าหมาย คนตีผึ้งก็นุ่งกางเกงสวมเสื้อ เสกๆ เป่าๆ เอาเชือกเส้นหนึ่งคาดเอว แล้วก็ปีนขึ้นไปตามลูกทอยที่ตอกไว้ ครั้นถึงกิ่งที่ยึดนั่งได้ถนัด ก็เอาเชือกหย่อนลงมา คนข้างล่างก็เอาคบ ๑ คบ ขอ ๑ ขอ ผูกเชือกให้คนข้างบนสาวขึ้นไป
 
เอาไฟจุดคบจนไฟติดเป็นควันได้ที่ ก็เอาคบแกว่งใต้รังผึ้ง ปากก็บอกว่า “เบิกพ่อเบิก”
 
แค่นี้ ตัวผึ้งก็จะแตกฮือจากรังจนเกือบหมดรัง คนตีก็เอาขอปาดรังผึ้งให้ตกลงกับพื้น แล้วก็เลื่อนไปตีรังอื่นต่อไป จนกว่าจะหมดต้นนี้ ก็ลงจากต้นไปตีรังอื่น
 
ส่วนคนข้างล่าง ก็จะช่วยกันขนรังผึ้งไปไว้ริมบ่อ เอาเท้าเหยียบให้น้ำผึ้งไหลลงบ่อ ได้น้ำผึ้งมากพอสมควร ก็ตักน้ำผึ้งใส่ไห ขนเอาไว้ที่โรงพัก
 
น้ำผึ้งแบ่งเป็นสองอย่าง ตั้งแต่เดือน ๓ ถึงเดือน ๖ เรียกน้ำผึ้งแล้ง เดือน ๖ ถึงเดือน ๙ เรียกน้ำผึ้งน้ำ หรือ ต่อวาย
 
ได้น้ำผึ้งและขี้ผึ้งมากพอควร ก็บรรทุกเกวียนกลับบ้านเสียครั้งหนึ่ง แล้วก็บรรทุกเสบียงอาหารกลับไปตีผึ้งต่อ ตั้งกองทำกันอย่างนี้ จนถึงเดือน ๙ จึงเลิก
 
น้ำผึ้งที่ได้ ไม่ใช่สินค้าหลัก แล้วแต่ทางไกลทางใกล้ ถ้าทางใกล้ ได้น้ำผึ้งเท่าไหร่ไม่ทิ้ง แต่ถ้าทางไกล การขนส่งไม่คุ้มทุน จึงทิ้งเสียเป็นส่วนใหญ่ เอาไปเป็นส่วนน้อย
 
ส่วนขี้ผึ้ง ถือเป็นสินค้าหลัก คนที่บ้านจะต้องเคี่ยวทำเป็นปึกเอาไว้ หนาบางไม่เป็นข้อยุติ แล้วแต่ภาชนะที่ใส่
 
ราคาที่พ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน ขี้ผึ้งหนักชั่ง ๑ เป็นเงิน ๕ สลึง ๖ สลึง น้ำผึ้ง ๑๐ ทะนาน เป็นเงินบาท ๑ ปีหนึ่ง เงินค่าขี้ผึ้ง น้ำผึ้งรวมหมดทั้งในพระราชอาณาเขตประมาณเงิน ๑๐,๕๐๐ ชั่งเศษ.


ข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗