หัวข้อ: น้ำเต้ากินได้ แต่คล้ายมดลูก เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 กันยายน 2557 15:28:47 .
(http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2014/09/namtao19-09-57-1-450x239.jpg) น้ำเต้ามีรูปทรงเหมือนมดลูกของแม่ที่ให้กำเนิดลูกคลอดมาทางนี้ น้ำเต้ากินได้ แต่คล้ายมดลูก มดลูกแห่งเอเชีย (womb of Asia) คือคำของสื่อนานาชาติ ยกเป็นฉายาหญิงไทยที่หารายได้เป็นกอบเป็นกำโดยรับจ้างใช้มดลูกของตนตั้งท้องออกลูกอย่างเป็นล่ำเป็นสันให้คนอื่นทั้งในไทยและในประเทศอื่นๆ คนดึกดำบรรพ์กลุ่มหนึ่ง เห็นน้ำเต้าเหมือนมดลูกของแม่ หรือท้องแก่ของแม่ที่มีลูกอยู่ในท้องแก่นั้น เช่น ตระกูลไทย-ลาว น้ำเต้าเป็นพืชผักชนิดหนึ่ง เอามาทำกับข้าวกินอร่อย แพร่หลายทั่วไปในโลกและในเอเชีย น้ำเต้าเหมือนมดลูกของแม่ น้ำเต้าทั่วไปมีรูปทรงกลมป่อง ดูแล้วเหมือนท้องแม่ใกล้คลอดลูก แต่คอดตรงกลาง คนแต่ก่อนจินตนาการว่าเหมือนมดลูกของแม่ที่ให้กำเนิดลูกทุกคน น้ำเต้ามีเมล็ดมากอยู่ข้างใน ถ้าแม่มีลูกมากเหมือนเมล็ดน้ำเต้าจะทำมาหากินได้ผลผลิตมาก เพราะมีลูกช่วยทำ ลูกน้ำเต้ามีรูปต่างๆ หลากหลาย มีทั้งกลมก้นแป้น ตั้งกับพื้นได้ มีคอคอด หรือไม่มีก็ได้ จนถึงมีรูปทรงรีหรือยาว และมีเมล็ดมาก เมื่อแห้งผิวกร้านแข็ง น้ำเต้าแห้งมีพื้นที่ข้างในกว้าง ใส่น้ำไปกินเมื่อเดินทางไกลได้ (โบราณว่าใครกินน้ำในน้ำเต้าทุกวันจะมีอายุยืนยาว) ใส่ของสำคัญบางอย่างก็ได้ เช่น เมล็ดพันธุ์พืช ฯลฯ บางกลุ่มชาติพันธุ์แขวนหรือวางน้ำเต้าแห้งไว้ในบ้าน เป็นเครื่องรางป้องกันผีร้ายโรคภัยไข้เจ็บ ภาชนะดินเผายุคแรกๆทำเลียนแบบรูปทรงน้ำเต้า แล้วส่งอิทธิพลให้ภาชนะหล่อด้วยสัมฤทธิ์ทำตาม (http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2014/09/namtao19-09-57-2-450x433.jpg) รูปทรงน้ำเต้าเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์มีสิริมงคลในวัฒนธรรมจีน (ภาพจาก http://nipic.com (http://nipic.com)) น้ำเต้าให้กำเนิดคน สามัญชนชาวบ้านเชื่อว่าคนทั้งสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์เกิดจากน้ำเต้าปุง (ปุง หมายถึง ภาชนะใส่ของ) เป็นพี่น้องท้อง (น้ำเต้าปุง) เดียวกัน ๕ คน สองคนแรกออกมาก่อนเป็น ข้า สามคนหลังออกตามมาเป็น ไทย (หมายถึง ไม่เป็น ข้า และไม่ใช่คนไทย อย่างปัจจุบัน ไทยคำนี้แปลว่า คน, ชาว เป็นคำร่วมสุวรรณภูมิ ในภาษาลาว, เขมร ก็มี) ทั้งหมดล้วนเป็นไพร่ของผู้เป็นนาย (มีฉบับเต็มอยู่ในหนังสือพงศาวดารล้านช้าง แต่มีสรุปย่อไว้ในหนังสือ ภาษาและวรรณคดีในสยามประเทศ ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๔๖) ความเชื่อของสามัญชนยุคดึกดำบรรพ์ ว่าคน ๕ จำพวก เกิดจากน้ำเต้าปุงเดียวกัน ย่อมเป็นเครือญาติพี่น้องท้องเดียวกัน เหมือนคนที่เกิดจากท้องแม่เดียวกัน คน ๕ จำพวก เป็นสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งผืนแผ่นดินใหญ่แม่น้ำลำคลอง กับชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะ ได้แก่ คนในตระกูลมอญ-เขมร, ตระกูลมาเลย์-จาม หรือชวา-มลายู, ตระกูลม้ง-เย้า, ตระกูลไทย-ลาว-เวียดนาม ฯลฯ เรื่องนี้อาจอธิบายความหมายเป็นตระกูลอื่นต่างไปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตรงกัน (http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2014/09/namtao19-09-57-3-1-450x394.jpg) น้ำเต้าแห้งเป็นภาชนะใส่น้ำดื่มกินของคนทุกชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ (ภาพจาก http://www.cesd.soc.cmu.ac.th (http://www.cesd.soc.cmu.ac.th) ฐานข้อมูลภาพถ่าย ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) (http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2014/09/namtao19-09-57-3-2-450x397.jpg) คนทุกเผ่าพันธุ์ในอุษาคเนย์ นับถือน้ำเต้าเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ต้องเอาน้ำเต้าแห้งไว้ประจำบ้าน แล้วใช้งานในชีวิตประจำวัน ภาพจาก http://www.cesd.soc.cmu.ac.th (http://www.cesd.soc.cmu.ac.th)ฐานข้อมูลภาพถ่าย ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ที่มา - ภาพและข้อมูล : น้ำเต้ากินได้ แต่คล้ายมดลูก โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ น.๘๕ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๙-๒๕ กันยายน ๒๕๕๗ * ท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ กรุณาแจ้งไว้ในเว็บไซต์ท่านว่า ผลงานของท่าน "ไม่สงวนลิขสิทธิ์" |