[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 08 มีนาคม 2558 13:41:44



หัวข้อ: เมืองสมมุติ 'ดุสิตธานี'
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 มีนาคม 2558 13:41:44
.

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/262/14262/images/10Dec/DuSitTany/temple.jpg)

ดุสิตธานี

“ดุสิตธานี” เรื่องที่จะนำมาคุยในวันนี้ไม่ใช่เรื่องของโรงแรมที่รู้จักกันดีในวันนี้ แต่เป็นเรื่องของเมืองในความฝัน ที่มีผู้คนตีความกันว่าเป็นตัวอย่างของการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยบ้าง หรือว่าเป็นเมืองตุ๊กตาที่สร้างขึ้นโดยต้องการให้เป็นเมืองสมมุติ

ที่น่าสังเกตก็คือ เมืองนี้ชื่อ “ดุสิตธานี” ซึ่งดุสิตนั้นเป็นชื่อชั้นในสวรรค์ เลือกใช้ชื่อนี้เพื่อให้ล้อรับกับคำว่า “กรุงเทพ” ซึ่งก็คือเมืองหลวงอันเป็นเมืองสำคัญที่น่าจะทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ได้

สิ่งที่จะมาชวนให้พิจารณาในครั้งนี้ก็คือการจำลองให้มีเมืองชื่อดุสิตธานี และมอบหมายให้มีเจ้าของบ้านเรือน เมื่อ ๙๖ ปีแล้วนั้น ก็เพื่อจะแนะนำหรือทดลองให้รู้เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเทศบาลหรือไม่ โดยจะพิจารณาจาก “ธรรมนูญลักษณะปกครอง

คณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พระพุทธศักราช ๒๔๖๑” ที่ประกาศใช้ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ และคำบอกเล่าในการดำเนินการหรือกิจการของเมืองสมมุติดุสิตธานี ดูแล้วดุสิตธานีสมัยโน้นน่าจะเป็นการทดลองปกครองส่วนท้องถิ่นในเมืองไทย

การทดลองปกครองท้องถิ่นครั้งนี้เกิดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นการทดลองทำขึ้นโดยพระองค์เองและด้วยความรู้และประสบการณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์เคยได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ได้พบเห็นคือบ้านเมืองที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอย่างประเทศอังกฤษ

การปกครองที่นำมาทดลองทำในเมืองสมมุติดุสิตธานีนั้น เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแน่นอน ใน “ปรารภกรณีย์” หรือคำปรารภของธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล ซึ่งต่อไปจะเรียกว่าธรรมนูญลักษณะปกครอง ได้ระบุว่าเป็นการ “...กำหนดอำนาจการพระราชทานแก่ชาวดุสิตธานีให้มีเสียงและโอกาสแสดงความคิดเห็นในวิธีการปกครองตนเองในกิจการบางอย่าง ส่วนอำนาจในกิจการแผนกใดซึ่งยังมิได้ทรงพระกรุณาประสิทธิ์ประสาทให้ก็ย่อมคงอยู่ในรัฐบาลกลาง ซึ่งมียอดรวมอยู่ในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามแบบฉบับในอารยประเทศทั้งหลายที่จัดการนคราภิบาล”

ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่ามีการอ้างถึง “รัฐบาลกลาง” และงานที่จะให้ทำได้ก็เป็น “การปกครองตนเองในกิจการบางอย่าง” เท่านั้น โดยที่ให้ทำนี้ก็เป็นไปตามแบบประเทศที่พัฒนาแล้วที่เขาได้มีการปกครองท้องถิ่น

ที่เรียกว่า “จัดการนคราภิบาล” นั้นจึงน่าจะเป็นการปกครองแบบเทศบาลหรือที่ภาษาอังกฤษว่า municipality นั่นเอง

นครที่ถูกสมมุติเพื่อจะทดลองนี้มาตรา ๒ ของธรรมนูญลักษณะปกครองเรียกว่า “จังหวัดดุสิตธานี” คนที่อยู่ในจังหวัดนี้ก็ถูกกำหนดให้มี “บ้าน” และตนเองเป็น “เจ้าบ้าน”  ส่วนผู้ปกครองนั้นเรียกว่า “นคราภิบาล” ที่จะได้มาโดยการเลือกตั้ง ดังระบุไว้ในมาตรา ๖ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯที่ระบุว่า “คำว่านคราภิบาลนั้น ท่านให้เข้าใจว่าผู้ที่ซึ่งราษฎรในจังหวัดดุสิตธานี ผู้มีสิทธิตามธรรมนูญนี้จะเลือก พร้อมใจกันเลือกตั้งขึ้นเป็นผู้ปกครองช่วงปีหนึ่ง ๆ...”

ดังนั้น นคราภิบาลหรือผู้ปกครองจังหวัดดุสิตธานีนี้ ราษฎรในจังหวัดดุสิตธานีซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามธรรมนูญนี้เป็นผู้เลือกเข้ามาเป็นและจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียง ๑ ปี นั่นคือสมัยหนึ่งมีอายุ ๑ ปี และจะได้รับเลือกตั้งให้เป็นในปีที่ติดกันไม่ได้ดังที่ได้ระบุห้ามไว้ชัดในมาตรา ๙ ด้วยเหตุนี้ ทุกปีจึงต้องมีการเลือกตั้ง วันเลือกตั้งก็ “ควรเป็นวันที่สุดของปี ตามแต่จะเหมาะแก่โอกาสที่จะเป็นไปได้”

เมื่อมีการเลือกตั้ง สิ่งที่น่าสนใจก็คือจะมีวิธีการเลือกตั้งอย่างไร เป็นการออกเสียงลับหรือเปิดเผย ทั้งนี้มาตรา ๑๒ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯ บัญญัติว่า  “เมื่อจวนจะถึงวันกำหนดที่จะเลือกนคราภิบาลใหม่ ให้ผู้ซึ่งรับอำนาจอำนวยการในการเลือกตั้งนคราภิบาล ป่าวร้องทวยนาครชายหญิงให้ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งนคราภิบาลที่ใดวันใด และจะประกาศข้อความด้วยว่า ถ้าผู้ใดมีความปรารถนาจะสมมุติผู้ใดให้เป็นนคราต่อไป ก็ให้เขียนในนามผู้นั้นกรอกลงในแบบสมมุติที่ได้แนบไว้ท้ายธรรมนูญนี้และต้องลงนาม ๑ ผู้รับรอง ๑ และให้ยื่นหนังสือสมมุติถึงผู้อำนวยการเลือกตั้งนคราภิบาลก่อนวันประชุม ๑ วัน”

นับว่าน่าสนใจมาก.


(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/262/14262/images/10Dec/DuSitTany/A246p7x1.jpg)
บ้านน้อย

ความในมาตรา ๑๒ ที่ยกมาเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าในการจัดการเลือกตั้งนั้นจะต้องมีผู้อำนวยการเลือกตั้งนคราภิบาล ซึ่งเป็นผู้ที่จะประกาศให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าจะมีการประชุมราษฎรของดุสิตธานี ณ สถานที่ใด ในวันเวลาใด หากราษฎรคนใดต้องการเสนอชื่อใครก็ต้องกรอกลงไปในแบบฟอร์ม อันแบบฟอร์มนี้หาดูได้ง่าย เพราะมีอยู่แนบท้ายธรรมนูญลักษณะปกครองฉบับนี้นั่นเอง  จะเสนอชื่อใครก็ได้ ผู้เสนอต้องลงนามหนึ่งคนแล้วยังต้องหาคนอื่นมาเป็นผู้รับรองอีกหนึ่งคนด้วย คนที่เสนอและคนที่รับรองนี้จะต้องเป็นเจ้าบ้าน  เมื่อเสนอและรับรองใครแล้วก็ทำได้เพียงรายเดียวจะไปเสนอหรือรับรองรายอื่นอีกไม่ได้ (ปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๓)

เมื่อได้รายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อแล้ว ต่อมาผู้อำนวยการเลือกตั้งนคราภิบาลก็ต้องเขียนชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมดประกาศให้ผู้คนทั่วไปได้ทราบ (ปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๔)

ในกรณีที่มีการเสนอชื่อคนเป็นนคราภิบาลเพียงคนเดียวก็ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียวนั้นได้รับเลือกเป็นนคราภิบาล (ปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๕) แต่ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ก็จะต้องมีการออกเสียงตัดสิน วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งนั้นมี ๒ วิธี คือวิธีเปิดเผยกับวิธีลับ จะเลือกวิธีใดก็ตามแต่ผู้อำนวยการเลือกตั้งจะเห็นสมควร (ปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๗)

วิธีเลือกตั้งโดยคะแนนลับนั้นน่าสนใจมาก เพราะในมาตรา ๑๘ ระบุไว้ดังนี้

“...ให้ผู้อำนวยการเรียกมาถามทีละคนโดยเงียบๆ ว่าจะเห็นสมควรให้ผู้ใดเป็น แล้วจดชื่อผู้ที่ราษฎรเลือกไว้ หรือจะให้ราษฎรเขียนชื่อผู้ที่จะเลือกนั้นมาส่งคนละฉบับก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร”

นับว่าเป็นการลงคะแนนลับที่ต่างกว่าที่เป็นอยู่ในสมัยปัจจุบัน เพราะวิธีการที่ใช้ในดุสิตธานีนั้น ผู้อำนวยการจะทราบว่าใครออกเสียงอย่างไรและผู้อำนวยการก็จะเป็นผู้ยืนยันว่าใครออกเสียงอย่างไร อันจะเป็นผลของการออกเสียง ที่ว่าลับนั้นก็คือผู้ออกเสียงลงคะแนนจะไม่มีทางทราบว่าใครออกเสียงให้ใคร แต่ผู้อำนวยการทราบ มาถึงสมัยนี้การออกเสียงลับนั้นก็คือไม่มีใครรู้ว่าใครออกเสียงให้ใคร แม้แต่ตัวประธานที่ดำเนินการให้มีการออกเสียงก็ไม่มีทางทราบว่าใครออกเสียงให้ใคร

ที่สำคัญผู้ที่ได้รับเลือกจะปฏิเสธตำแหน่งนคราภิบาลได้ยากเมื่อได้รับเลือกตั้งให้เป็น เพราะถ้าไม่เป็น “ต้องถูกปรับเป็นเงิน ๕๐ บาท”

นับว่าแพงมาก เงิน ๕๐ บาทไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ มีค่ามาก

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า “ดุสิตธานี” เป็นเรื่องของการปกครองท้องถิ่น ฉะนั้นเพื่อดูให้แน่ก็ต้องหันมาพิจารณาว่าดุสิตธานีมีอำนาจและหน้าที่อะไรบ้าง พอจะเทียบกับหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยที่มีต่อมาได้บ้างหรือไม่

เปิดธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ดูจะพบว่ามาตรา ๒๓ ของธรรมนูญฉบับนี้ระบุว่า “รัฐบาลมีหน้าที่” ต่าง ๆ ไว้ชัดเจนดี เช่น
  “ก. ดูแลรักษาเพิ่มพูนความผาสุกของราษฎรทั่วไป ช่วยป้องกันทุกข์ภัยของประชาชนในเขตของตน
   ข. ดูแลการคมนาคม คือถนนหนทางทั้งแม่น้ำลำคลอง ให้ความสว่างไสว จัดการไฟฟ้า ประปาในธานี
   ค. การดับเพลิงและการรักษาสวนสำหรับนครให้เป็นที่หย่อนกายสบายใจ ควรแก่ประโยชน์และความสุขอันจะพึงมีได้สำหรับสาธารณชน
   ฆ. จัดการในเรื่องโรงพยาบาล สุสาน และโรงฆ่าสัตว์
   ง. ดูแลระเบียบการโรงเรียนราษฎร์ ห้องอ่านหนังสือแลโรงเรียนหัตถกรรมต่าง ๆ”

ที่น่าสังเกตคือยังเอา “ฆ” มาใช้ สมัยนี้ถ้าเอาอักษรมาลำดับเรื่องเราจะเรียง ก ข ค แล้วข้ามมา ง เลย สมัยโน้นไม่ข้าม “ฆ”

ถ้าเอาอำนาจหน้าที่ซึ่งเทศบาลต้องทำหรือควรทำ เมื่อมีพระราชบัญญัติเทศบาลเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญหรือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาดู จะเห็นได้ว่าหน้าที่ต่างๆ ของ “รัฐบาล” ข้างบนตามธรรมนูญลักษณะปกครองฯ พ.ศ. ๒๔๖๑ ระบุไว้นั้นเป็นเรื่องของท้องถิ่นนั่นเอง  จะมีที่ต่างโดยเห็นได้ชัดในวันนี้ก็คือการที่ให้ดุสิตธานีดูแลโรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนหัตถกรรม ซึ่งงานด้านการศึกษานี้

ต่อมารัฐบาลกลางจะกำกับดูแลเป็นสำคัญ แต่เรื่องนี้ถ้ามาดูในวันนี้ ก็ดูจะเป็นการมองการณ์ไกลและเป็นความก้าวหน้าในด้านความคิดที่แสดงให้เห็นว่าการศึกษานั้นต้องการให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลในระดับโรงเรียน  ในความเป็นจริงที่น่าสังเกตด้วยก็คือเทศบาลนครและเทศบาลเมืองของไทยบางแห่งก็ได้มีโรงเรียนเทศบาลเป็นของตนเอง ได้จัดการศึกษาประสบความสำเร็จดีมาจนถึงทุกวันนี้ แต่หน้าที่ตามที่กำหนดไว้นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ปกครอง “ท้องถิ่น” เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องการปกครองประเทศ เพราะไม่มีกิจการกลาโหมหรือการทหารในการป้องกันประเทศ ไม่มีเรื่องของความสัมพันธ์ต่างประเทศและไม่มีเรื่องการเงินการคลังของประเทศแต่อย่างใด

เพียงเท่านี้ก็อาจยังไม่เพียงพอ เราจะดูในเรื่องอื่นต่อไป.




หัวข้อ: Re: เมืองสมมุติ 'ดุสิตธานี'
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 มีนาคม 2558 13:53:43
.

เมืองสมมติ ดุสิตธานี (ต่อ)

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/262/14262/images/10Dec/DuSitTany/A246p10x1.jpg)
พระราชวัง

เมื่อเป็นการปกครองตนเองแม้ในระดับท้องถิ่นก็ตามก็จะต้องให้เก็บภาษีท้องถิ่นมาใช้จ่ายเอง อันเป็นการฝึกหัดที่สำคัญในการปกครองตนเอง ดังนั้นจึงได้ระบุอำนาจในการนี้ไว้ในมาตรา ๒๔ ของธรรมนูญลักษณะปกครองว่า  “นคราภิบาลมีอำนาจตั้งพิกัดภาษีอากรขนอน ตลาด เรือนโรง ร้าน เรือ แพ อันอยู่ในเขตหน้าที่ของนคราภิบาล แต่เมื่อกำหนดพิกัดภาษีอากร นคราภิบาลจะต้องเรียกประชุมราษฎรเพื่อทำการตกลงในเรื่องเช่นนี้ และประกาศให้รู้ทั่วกัน”  นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างดุสิตธานีจะกำหนดภาษีท้องถิ่นอย่างไรนั้น ได้กำหนดให้ผู้ปกครองคือนคราภิบาลต้องตกลงกับผู้ถูกปกครองคือราษฎรเสียด้วย  

นอกจากภาษีท้องถิ่น ดุสิตธานียังจะมีรายได้จากการออกใบอนุญาตอีกหลายรายการ เช่น ใบอนุญาตร้านจำหน่ายสุรา และสถานเริงรมย์ เป็นต้น ดังมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯว่า “นคราภิบาลมีอำนาจออกใบอนุญาตและเก็บเงินค่าใบอนุญาตสำหรับยานพาหนะ ร้านจำหน่ายสุรา โรงละคร โรงหนัง สถานเริงรมย์ เก็บเงินจากมหาชนคนดูทั้งปวง”          

อีกหน้าที่หนึ่งซึ่งอาจถูกมองข้าม แต่ได้ถูกกำหนดไว้ก็คือการทำบัญชีสำมะโนครัวราษฎร  “มาตรา ๒๘ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำบัญชีสำมะโนครัวราษฎรในปกครองของตนและคอยแก้ไขบัญชีให้ถูกต้องตามที่เป็นจริงอยู่เสมอ”  

ที่อยากทราบกันมากก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะทำกิจการสาธารณประโยชน์ที่มีผลกำไรได้หรือไม่ เพราะเมื่อทำแล้วก็เป็นการแข่งขันกับเอกชนที่จะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการได้ แต่ถ้าห้ามไม่ให้ทำเลย แม้เอกชนไม่ทำหรือทำแล้วมีราคาแพง ประชาชนที่ใช้บริการก็อาจเดือดร้อนได้  

คำตอบก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างดุสิตธานีสามารถทำได้ดังที่มาตรา ๒๙ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯ กำหนดว่า  “กิจการสาธารณประโยชน์ซึ่งมีผลกำไร เช่น การตั้งธนาคาร โรงจำนำ ตั้งตลาด เรือจ้าง เหล่านี้เป็นอาทิ นคราภิบาลจะดำริให้จัดไปในเวลาที่เห็นสมควรก็ได้ เป็นทางหากำไรบำรุงเมือง เพื่อผ่อนภาษีอากรซึ่งราษฎรจะต้องเสีย และเพื่อกระทำกิจเช่นว่านี้นคราภิบาลจะบอกกู้ก็ควร เพราะหนี้ชนิดนี้นับว่าไม่ใช่หนี้ตายที่ไร้ผล”      

เมื่อแนะนำให้นคราภิบาลออกใบกู้เพื่อกู้เงินมาใช้ดำเนินการได้ ทำให้สงสัยว่านคราภิบาลจะกู้ได้ตามใจต้องการโดยไม่มีใครมาควบคุมดูแลหรืออย่างไร    

ปรากฏว่ามาตรา ๔๐ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ตอบข้อสงสัยเรื่องการออกใบกู้ของนคราภิบาลว่า “ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางเสียก่อน โดยเฉพาะเรื่องเป็นคราวๆ ไป”   จึงแสดงว่าจะออกใบกู้เองตามใจไม่ได้      

เมื่อมีนคราภิบาลขึ้นมาปกครองก็หวังว่าบ้านเมืองจะเป็นระเบียบเรียบร้อยดูงดงาม เพราะ “นคราภิบาลจะกำหนดปลูกสร้างวางแผนสำหรับนคร” เจ้าของที่จะปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนขึ้นมาจึง “ต้องได้รับอนุญาตจากนายช่างก่อสร้างของนคราภิบาลแล้วจึงปลูกได้” (ดูมาตรา ๓๐)      

ทำให้บ้านเมืองงดงามแล้วยังไม่พอ ต้องทำให้บ้านเมืองสะอาดถูกสุขอนามัยมีเจ้าพนักงานดูแลรักษาความสะอาด

“อย่าทอดทิ้งหรือปล่อยให้โสโครก อันเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนทั่วไป”    

การปกครองที่ให้ราษฎรเลือกผู้ปกครอง คือนคราภิบาลนี้ ดูไปแล้วจึงเป็นการเลือกเอาคนเพียงคนเดียว ก็เหมือนการเลือกนายกเทศมนตรีคนเดียว คือระบบ “นายกเทศมนตรีที่เข้มแข็ง” นั่นเอง เพราะเมื่อตรวจดูแล้วการให้ราษฎรเลือกดังกล่าวเป็นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงของประชาชน      

นคราภิบาลคนแรกที่ได้รับเลือกตั้ง ได้แก่ พระยาอนิรุทธเทวา หรือ หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ อธิบดีกรมมหาดเล็กและผู้บัญชาการกรมมหรสพในขณะนั้นได้ทำงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มาโดยตลอด จึงได้ทดลองทำ โดยนคราภิบาล ที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมานี้ก็จะจัดตั้งคณะรัฐบาลท้องถิ่นของตนขึ้นมา ซึ่งในธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ก็จะเรียกชื่อซ้ำเหมือนกันว่า “นคราภิบาล” แต่จะเป็นคณะบุคคล ดังจะดูได้จากมาตรา ๒๑  

“เมื่อผู้ใดได้เป็นนคราภิบาล ผู้นั้นจะมีอำนาจตามพระธรรมนูญนี้ทันทีในการที่จะเลือกตั้งนคราภิบาล คือเจ้าหน้าที่ต่างๆ เช่น เจ้าพนักงานคลัง เจ้าพนักงานโยธา นายแพทย์สุขาภิบาล ผู้รักษาความสะดวกของประชาชน (Inspector of Nuisances) เป็นต้น

สำหรับจัดการให้เป็นไปตามธรรมนูญนี้ ตามแต่จะเห็นสมควร”

ทั้งสี่ตำแหน่งที่ระบุอยู่ในมาตรา ๒๑ ข้างบนนี้น่าจะเป็นเทศมนตรีที่ร่วมคณะกับนคราภิบาลนั่นเอง แต่จากการแต่งตั้งของนคราภิบาล มิใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ถ้าเป็นสมัยนี้ พ.ศ. ๒๕๕๗ ก็คงเป็นตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครหรือรองนายกเทศมนตรีทั้งหลายนั่นเอง สมัยโน้นถือว่าเป็นผู้ที่มาใช้อำนาจของนคราภิบาล จึงได้เรียกชื่อซ้ำกับนคราภิบาล ส่วนตำแหน่งที่ยังไม่ลงตัวนักว่าจะเรียกเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรคือ “ผู้รักษาความสะดวกของประชาชน” จึงต้องมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษอยู่ในวงเล็บและเป็นคำภาษาอังกฤษคำเดียวที่ปรากฏในเอกสารธรรมนูญลักษณะปกครองฉบับนี้ด้วย


(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/262/14262/images/10Dec/DuSitTany/A246p3x1.jpg)
ศาลารัฐบาล

ที่จริงความในมาตรา ๒๑ ที่ยกมาให้พิจารณานั้น คำว่า “นคราภิบาล” คำที่ ๒ ในมาตรา ๒๑ นั้นเข้าใจว่าน่าจะตกคำว่า “คณะ” ไป ไม่แน่ใจว่าตกไปตั้งแต่ตัวกฎหมายเดิม หรือมาพิมพ์ตกกันในภายหลัง คือควรจะเป็น “คณะนคราภิบาล”

เพราะต่อไปในมาตราอื่นๆ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ที่ตามหลังมาจะมีคำว่า “คณะนคราภิบาล”

หากพิจารณาต่อไปอีกก็จะพบว่าคณะบุคคลตามมาตรา ๒๑ นี้เป็นบุคคลฝ่ายการเมืองที่ได้ตำแหน่งมาชั่วคราวอยู่ได้ตามอายุสมัยของนคราภิบาลที่ตั้งตนเท่านั้น ส่วนบุคคลฝ่ายประจำหรือตำแหน่งปลัดเทศบาลในปัจจุบันของไทยนั้นมีระบุไว้ในมาตรา ๓๗ เรียกตำแหน่งนี้ว่า “สภาเลขาธิการ”

“มาตรา ๓๗ คณะนคราภิบาลมีอำนาจที่จะจัดตั้งสภาเลขาธิการขึ้น และสภาเลขาธิการคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะลาออก หรือต้องออกด้วยเหตุอื่น”

ที่คิดเทียบว่าสภาเลขาธิการเท่ากับปลัดเทศบาลที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เพราะได้อ่านเทียบดูอำนาจและหน้าที่ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๘ ที่มีอยู่ ๕ ประการดังนี้
   “๑. ให้มีหน้าที่บังคับบัญชาการแผนกหนังสือและรายงานกิจการทั้งปวงของคณะนคราภิบาล
    ๒. เป็นที่ปรึกษาของคณะนคราภิบาลในทางระเบียบการทางกฎหมาย
    ๓. มีหน้าที่เป็นทนายแถลงคดีแทนคณะนคราภิบาลต่อศาล
    ๔. สภาเลขาธิการ มีสิทธิที่จะนั่งในที่ประชุมคณะนคราภิบาลและในที่ประชุมใหญ่ได้ทุกเมื่อ  
    ๕. ถ้าสภาเลขาธิการเป็นคหบดีเจ้าบ้านอยู่แล้ว เมื่อเวลานั่งในที่ประชุมใหญ่มีสิทธิจะลงคะแนนความเห็นได้ด้วย”

จากอำนาจหน้าที่ทั้ง ๕ ข้อนี้มีการกล่าวถึง “ที่ประชุมใหญ่” ซึ่งน่าจะหมายถึงการประชุมใหญ่ประจำปีเพื่อเลือกนคราภิบาล หรือการประชุมใหญ่เพื่อกำหนดภาษีอากรตามมาตรา ๒๖ ก็ได้นั่นเอง

เมื่อมีการเปลี่ยนตัวนคราภิบาล ทางคณะนคราภิบาลชุดเก่าต้องแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายยื่นต่อที่ประชุมด้วยและส่งมอบงานพร้อมบัญชีสำมะโนครัวแก่คณะนคราภิบาลชุดใหม่ บัญชีแสดงรายรับรายจ่ายนั้นต้องมีการตรวจบัญชีในเวลาสิ้นปีทุกคราวไป โดยคณะกรรมการ ๓ นาย ที่ตั้งโดยรัฐบาล ๒ นาย และตั้งโดยนคราภิบาล ๑ นาย (มาตรา ๔๒)  

แสดงว่าการควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินของคณะนคราภิบาลก็มีอยู่เป็นอย่างดี  

การดำเนินการปกครองดุสิตธานีนี้ เมื่อมีกฎเกณฑ์ มีข้อบังคับให้ราษฎรต้องปฏิบัติตาม เพื่อความสงบสุข เพื่อความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง และเพื่อให้บ้านเมืองมีรายได้มาเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีบทลงโทษผู้ที่ทำผิดด้วย ซึ่งโทษที่กำหนดไว้ก็เป็นโทษ “ปรับเงินเป็นพินัย” เช่นถ้าราษฎรคนใดไม่เชื่อฟังคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย และธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ก็อาจถูกลงโทษปรับเงินได้ไม่เกินครั้งละ ๑๐ บาท อันเป็นโทษอย่างเดียว กับที่ใช้ลงโทษราษฎรที่ไม่ไปประชุมเจ้าบ้านเพื่อกำหนดภาษีอากรโดยไม่ตั้งตัวแทนไปทำหน้าที่ประชุมแทนเช่นกัน

ถ้าเป็นกรณีขัดขืนคำสั่งของนคราภิบาลทางด้านระเบียบสุขาภิบาล ปล่อยให้บ้านชำรุด เกิดความสกปรกโสโครกอันจะก่อให้เกิดโรค หรือเป็นอันตราย หรือเกิดอัคคีภัยได้ ก็อาจถูกลงโทษปรับได้ครั้งละไม่เกิน ๕ บาท อันโทษเหล่านี้ถ้ายังขืนทำซ้ำก็จะถูกปรับเพิ่มขึ้นได้ด้วย

เมื่อประมวลดูความในธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดจำนวน ๕๑ มาตราแล้ว จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำเมือง “ดุสิตธานี” ขึ้นมาเป็นเมืองสมมุติ และเขียนธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ออกมาเป็นกติกาใช้กับเมืองสมมุติ เพื่อเป็นการทดลองปกครองแบบเทศบาล รูปแบบที่ใช้ก็น่าจะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษ ดังที่กล่าวกันว่าพระองค์ได้รูปแบบมาจากการปกครองท้องถิ่นของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่พระองค์ได้เคยเสด็จไปศึกษาจนจบกลับมา

ที่ว่าเป็นเมืองสมมุติก็เพราะไม่ใช่เป็นเมืองจริงๆ ของประเทศไทย เพราะมิได้ยกเอาหมู่บ้านใด หรือตำบลใดหรืออำเภอใด หรือจังหวัดใดของประเทศไทยที่มีอยู่แล้ว เอามาใช้เป็นที่ฝึกหัด แต่สร้างขึ้นเป็นเมืองสมมุติใหม่ในบริเวณพระราชวังดุสิต ต่อมาย้ายไปที่พระราชวังพญาไท เป็นเสมือนเมืองตุ๊กตา เพราะมีขนาดเล็กผู้คนจะเข้าไปอาศัยอยู่จริงๆ ไม่ได้ แต่หากมีการกำหนดมอบหมายหรือให้มหาดเล็กของพระองค์ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแต่ในนาม ดังที่มีรายงานลักษณะของเมืองดุสิตธานี ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ “ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ของ หมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) มีความตอนหนึ่งว่า

“ดุสิตธานีเป็นเมืองเล็กๆ สร้างขึ้นแห่งแรกในพระราชวังดุสิต ( ภายหลังย้ายไปอยู่ที่พระราชวังพญาไท) มีเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ เนื้อที่มีลักษณะเกือบจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ทางด้านใต้ของดุสิตธานีชิดพระที่นั่งอุดร ทางเหนือชิดอ่างหยก บ้านทั้งหมดมีจำนวนประมาณร้อยกว่าหลัง การประชุมโหวตครั้งที่ ๑ มีทวยนาครโหวต ๑๙๙ เสียง บ้านแต่ละหลังมีขนาดโตกว่าศาลพระภูมิ สร้างขึ้นด้วยฝีมือประณีตฉลุสลักลวดลายอย่างวิจิตร ทาสีสวยงาม ทุกๆ บ้านมีไฟฟ้าติดสว่างอยู่กลางบ้าน ถนนหนทางในเมืองดุสิตธานีส่วนมากเป็นถนนสายเล็กๆ มีบางสายที่ใหญ่โตพอที่จะเดินได้ ถนนทุกสายสะอาดสะอ้าน สวยงาม ปลูกต้นไม้เล็กๆไว้ร่มรื่นสองข้างทางถนนที่เป็นสายสำคัญ”  

ที่เรียกว่า “การทดลอง” ก็เพราะมิใช่สภาพบ้านเมืองที่แท้จริง และ “ตัวคน” เองแม้จะเป็นคนจริงๆ แต่ก็มิใช่เจ้าบ้าน ที่บ้านของเขาอย่างแท้จริง หากแต่เป็นบ้านสมมุติที่เสมือนทำขึ้นในห้องทดลอง จึงเป็นการสมมุติที่ต้องการทดลองเพื่อการเรียนรู้เป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายว่าต่อจากนั้นจะนำไปใช้ที่เขตการปกครองจริงของประเทศไทยต่อไปด้วย.


หัวข้อ: Re: เมืองสมมุติ 'ดุสิตธานี'
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 มีนาคม 2558 14:01:51
.

เมืองสมมติ ดุสิตธานี (ต่อ)

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/262/14262/images/10Dec/DuSitTany/A246p5x1.jpg)
อาคารกลุ่ม

ปีที่เริ่มทดลองจัดการปกครองท้องถิ่นที่เมืองจำลอง “ดุสิตธานี” นี้คือ พ.ศ. ๒๔๖๑ นับเป็นปีที่ ๙ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ การทดลองนี้จะเห็นได้ว่าเริ่มจากการใช้บรรดามหาดเล็กและผู้คนที่รับราชการใกล้ชิดกับพระองค์นั่นเอง ซึ่งก็น่าจะสะดวกและไม่เสียงานในหน้าที่ เมื่อจัดการทดลองอย่างนี้ก็จะเห็นข้อดีหรือข้อด้อย และดำเนินการแก้ไขเสียก่อนได้

ดังปรากฏว่าได้ออกธรรมนูญลักษณะปกครองฯ มาใช้ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ และต่อมาอีก ๔๐ วันก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตัวนคราภิบาล ในวันเดียวกันก็ได้ออกพระราชกำหนดเพิ่มเติมและได้แก้ไขธรรมนูญลักษณะปกครอง คณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ ให้มีตำแหน่งเชษฐบุรุษ ที่เลือกจากแต่ละอำเภอ “เพื่อเป็นผู้แทนทวยนาครในอำเภอนั้นเข้าไปนั่งในสภากรรมการนคราภิบาล” (มาตรา ๕)

ฉะนั้นแต่แรกที่มีเพียงคณะนคราภิบาล เป็นผู้บริหารแบบคณะเทศมนตรีโดยไม่มีสภาเทศบาล การแก้ไขก็คือให้มีสภาของท้องถิ่นขึ้นมานั่นเอง แลผู้บริหารหรือตัวนคราภิบาลหรือนายกเทศมนตรีนั้นจะต้องเป็นเชษฐบุรุษเสียก่อนด้วย ชื่อที่เรียก “เชษฐบุรุษ” ก็น่าสนใจในความหมายคือ “ผู้อาวุโส” นั่นเอง

ไม่เพียงแต่มีพระราชกำหนดเพิ่มเติมและแก้ไขธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เท่านั้น ต่อมายังมีกฎหมายออกมาแก้ไขในเรื่องนี้อีก เช่น พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนดเพิ่มเติมธรรมนูญลักษณะปกครองนคราภิบาล พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นต้น

ในการทดลองฝึกจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาลครั้งนั้น จะเห็นได้ว่าในระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นเวลาประมาณ ๒ ปีนั้น ได้มีการเลือกตั้ง “นคราภิบาล” ถึง ๗ ครั้งด้วยกัน แสดงว่านคราภิบาลแต่ละคนดำรงตำแหน่งอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็มีการอภิปรายติติงกัน มีการลาออก และมีการเลือกตั้งคนใหม่ขึ้นมา มีทั้งการหาพวก และวางแผนจะเลือกใคร ตามที่ได้รู้ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องให้ทดลองทำ เป็นการฝึกหัดทดลองมิได้ให้ปกครองจริง จึงมีผู้กล่าวว่าเป็น “ละครเวทีการเมือง” แต่ที่จริงแล้วมิใช่ละครที่แสดงให้ดูเท่านั้น หากเป็นการทดลองให้บุคคลที่ถือได้ว่ามีความรู้ความเข้าใจดีเป็นกลุ่ม “ชนชั้นนำ” ของบ้านเมืองได้ทดลองปฏิบัติดูด้วยตนเองในเมืองสมมุติ

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการทดลองจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นแบบอย่าง ที่จะเอาไปฝึกหัดในพื้นที่การปกครองของประเทศอย่างจริงจังต่อไป ตามที่พระยาสุนทรพิพิธ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้นได้เขียนเล่าเอาไว้

เมืองดุสิตธานี“ เป็นพระราชประสงค์ที่จะทรงฝึกอบรมเสนาอำมาตย์ราชบริพาร นับแต่เสนาบดีลงมาให้ซาบซึ้งในพระบรมราโชบายและวิธีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย จึงมีข้าราชการผู้ใหญ่ไปสมัครเป็นทวยนาครด้วยมาก เฉพาะที่กล่าวกันในที่นี้ก็คือ พระยาราชนุกูล (อวบ เปาโรหิต) ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามุขมนตรี ท่านมีโอกาสได้เฝ้าใกล้ชิดอยู่เสมอๆ เพราะในขณะนั้นท่านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีอาการป่วยกระเสาะกระแสะ จึงมิได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้า เมื่อพระยาราชนุกูลได้ซาบซึ้งในพระบรมราโชบายและพระราชดำริโดยถ่องแท้แล้ว ประกอบกับที่ได้ทรงมีพระราชปฏิสัณฐาน และเพ็ดทูลเรื่องการปกครองบ้านเมืองอยู่บ่อยๆ ครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาสเป็นการเฉพาะ จึงกราบบังคมทูลขึ้นว่า “กระทรวงมหาดไทยได้ซาบซึ้งถึงพระบรมราโชบายและวิธีการของดุสิตธานีแล้ว ถ้าต้องด้วยพระราชประสงค์ กระทรวงมหาดไทยจะรับสนองพระบรมราโชบายนำแบบอย่างของดุสิตธานีไปปฏิบัติในจังหวัดต่างๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมเป็นอันดับไปจนกว่าจะทั่วถึง มีพระราชดำรัสตอบว่า นั่นนะซี ฉันต้องการให้ปกครองท้องที่มีการปรับปรุงกันเสียที จึงได้วางระเบียบไว้เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง”

“เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ทรงเป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมีพระราชดำริหรือพระราชประสงค์ในสิ่งใด ประการใด เพียงตรัสออกไปก็ย่อมสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ แต่พระองค์ทรงพระราชดำริอยู่ในพระราชหฤทัยว่า การสิ่งใดเป็นการใหญ่ ถ้าเพียงแต่ใช้พระราชอำนาจดำรัสสั่งให้ทำๆ กันตามพระราชดำรัสเท่านั้น ก็จะต้องทำกันอย่างแน่นอน แต่การกระทำนั้นอาจไม่สำเร็จ หรือสำเร็จแต่ไม่เป็นผลดีโดยสมบูรณ์ดังนี้ก็ได้ ฉะนั้นเรื่องปฏิรูปการปกครองซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิถีทางการงาน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกในจิตใจด้วยทีเดียว พระองค์จึงได้ทรงทำเป็นการทดลองขึ้นก่อน”

ส่วนการปกครองท้องที่ ซึ่งมีตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านที่ราษฎรในหมู่บ้านได้เลือกผู้นำของตนอย่างเปิดเผยนั้นได้มีกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองท้องที่มาก่อนแล้วคือมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อผู้รับผิดชอบในกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นคล้อยตามและได้ทราบพระราชประสงค์ ก็ได้คิดดำเนินการว่าจะให้เลือกเขตพื้นที่ปกครองที่ใดและจะมอบหมายให้ใครไปเป็นผู้รับผิดชอบดูแล

ในเรื่องตัวบุคคลนั้นคงลงเอยที่ตัว “พระยาสุนทรพิพิธ” (เชย มัฆวิบูลย์) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยที่มีตำแหน่งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นข้าราชการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววางพระราชหฤทัย เป็นมหาดเล็กของพระองค์มาก่อนและเป็นนักเรียนส่วนพระองค์” ที่พระองค์ท่านส่งไปเรียนที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือนมาก่อนด้วย ดังคำบอกเล่าของพระยาสุนทรพิพิธเองที่เล่าให้ฟังว่า

“เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ข้าพเจ้าก็ได้รับโทรเลขกระทรวงมหาดไทยให้มารับราชการกรุงเทพฯ ขณะนั้นข้าพเจ้ารับราชการอยู่จังหวัดนครสวรรค์ ครั้นเข้ามาถึงและรายงานตัวตามระเบียบแล้ว ท่านเสนาบดีก็แจ้งความประสงค์ให้ทราบโดยตรง แล้วสั่งให้ไปฟังเรื่องราวรายละเอียดจากท่านปลัดกระทรวง เมื่อได้พบกับท่านปลัดกระทรวง ท่านจึงได้บอกเรื่องราวให้ทราบโดยตลอด...ท่านบอกว่า จังหวัดที่จะให้เริ่มงานนี้ได้ เลือกเอาจังหวัดสมุทรสาคร เพราะเหมาะด้วยเหตุผลหลายประการ”.



(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/262/14262/images/10Dec/DuSitTany/A246p6x1.jpg)
บ้านใหญ่

สถานที่หรือเขตปกครองที่จะเปลี่ยนจากการลองในเมืองสมมุติอย่างดุสิตธานีมาให้ราษฎรไทยได้ฝึกหัดเรียนรู้การปกครองตนเองระดับล่าง ที่ต่อมาภายหลังเรียกกันว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” นั่นก็คือ จังหวัดสมุทรสาคร

เหตุผลที่เลือกจังหวัดสมุทรสาครนั้นก็มีดังที่ พระยาสุนทรพิพิธ เล่าให้ฟังต่อมา

“ ...คือจังหวัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้โปรดเกล้าให้จัดการสุขาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรก และจังหวัดนี้ราษฎรมีอาชีพส่วนใหญ่อยู่ ๓ ประเภท คือ ทำนา ทำสวน ทำการประมง ซึ่งเหมาะแก่ความคิดที่จะจัดการบำรุงช่วยเหลือยิ่งกว่าจังหวัดที่การอาชีพใหญ่ น้อยประเภท เช่น มีแต่การทำนาเป็นส่วนใหญ่เป็นต้น ทั้งเป็นจังหวัดที่ไม่ใหญ่โต มีพลเมืองไม่มาก และอยู่ใกล้กรุงเทพฯด้วย ดูจะเป็นความสะดวกด้วยประการทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเห็นชอบด้วยแล้ว”

ที่ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ตั้งสุขาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกนั้นก็คือ สุขาภิบาลที่ท่าฉลอมนั่นเอง

สำหรับตัวคนที่จะให้มารับผิดชอบนั้นก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยพระยาสุนทรพิพิธยืนยันว่า ทางกระทรวงตกลงจะย้ายตัวท่านจากจังหวัดนครสวรรค์มาอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร และได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ แล้วด้วย ซึ่งได้กำหนดที่จะให้มีการร่างกฎหมายออกใช้บังคับในการนี้ ตามที่พระยาสุนทรพิพิธเล่า

“ ...ฉะนั้นหน้าที่ของข้าพเจ้าในชั้นต้นก็คือ การร่วมเป็นกรรมการพิจารณาจัดร่างธรรมนูญการปกครอง และระเบียบแบบแผนที่จะต้องใช้ในการนี้ อีกประการหนึ่งก็คือ ข้าพเจ้าจะต้องศึกษาระบบ Municipality ของอังกฤษ โดยให้ไปติดต่อ ปรึกษาหารือกับ หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ซึ่งเป็นกรรมการในเรื่องนี้ด้วยผู้หนึ่ง เมื่อได้ทราบบทบัญญัติ และวางระเบียบแบบแผนเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้นำทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง...”

พระยาสุนทรพิพิธ และ หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ นี้ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อมีกฎหมายว่าด้วยเทศบาลออกมาใช้ ทั้งสองท่านได้ร่วมกันเขียนหนังสือเรื่อง การปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับเทศบาลออกมาเผยแพร่ความรู้ในด้านนี้ ดังนั้นความคิดเห็นต่างๆ ในเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงน่าจะสืบต่อมาให้เห็นได้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย ที่น่าเสียดายก็คือหนังสือฉบับนี้เองมีผู้รู้จักกันค่อนข้างน้อยเพิ่งจะมีนักวิชาการทางด้านกระจายอำนาจ คือ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปพบเข้า ได้เอากลับมาพิมพ์เผยแพร่ให้ได้ศึกษากัน

ที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่อยากรู้เรื่อง โครงการฝึกหัดการปกครองส่วนท้องถิ่นจากของจริง ที่จังหวัดสมุทรสาครในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ว่าทำไมจึงไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้ว แต่มีปัญหา เกิดความล้มเหลวจนต้องล้มเลิกไป เรื่องนี้มีคำตอบอยู่ชัดเจนในคำบอกเล่าของ พระยาสุนทรพิพิธ ว่า

“...ภายหลังต่อมา ดูเหมือนว่าเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างกฎหมาย และระเบียบแบบแผนขึ้นไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะเสนาบดีแล้ว มีข่าวกระเส็นกระสายจะเท็จจริงอย่างไรไม่ทราบ ว่ามีเสนาบดีบางท่านเห็นว่าร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยให้สิทธิแก่ราษฎรกว้างขวางเกินไป อาจกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของรัฐ เรื่องจึงยังตกลงไม่ได้ คงค้างพิจารณาอยู่ ต่อมาไม่ช้าถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๕ กระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงนครบาลก็ถูกยุบรวมเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน ท่านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งก่อนแล้ว ท่านเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาลได้มาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแทน ในระยะนี้เรื่องการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคก็ยังไม่ตกลงว่ากระไร คงเงียบอยู่ ครั้นลุวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต”

แสดงได้อย่างชัดเจนว่าเรื่องที่จะทำจริ ๆ ที่จังหวัดสมุทรสาครไม่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของ “ที่ประชุมเสนาบดี” ฉะนั้นที่น่าสนใจก็คือ ที่ประชุมเสนาบดีนั้นมีใครบ้าง อย่างน้อยเสนาบดีกระทรวงนครบาล คือ เจ้าพระยายมราช นั้นก็คงจะเห็นด้วย เพราะได้ทำงานและมีส่วนรู้เรื่องดุสิตธานีมาเป็นอย่างดี

คำบอกเล่าของพระยาสุนทรพิพิธ ที่ว่า “...มีเสนาบดีบางท่านเห็นว่าร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ให้สิทธิแก่ราษฎรกว้างขวางเกินไป” นั้นบ่งบอกชัดว่า เสนาบดีบางท่านที่ว่านั้น อาจเป็นคนเดียวหรือมากกว่าหนึ่งคนก็ได้ แต่ต้องเป็นเสนาบดีที่มีบทบาทสำคัญ เพราะเมื่อท้วงติงขึ้นมา ก็มีผลทำให้เรื่องการฝึกหัดปกครองจริงๆ ในจังหวัดสมุทรสาคร แม้แต่เพียงจังหวัดเดียวก็ไม่อาจทำได้

ดังนั้นตามที่ได้นำเสนอมาถึงความเป็นมา และลักษณะของการดำเนินการเรื่อง “ดุสิตธานี” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตลอดก็น่าจะสรุปได้ว่าเรื่อง “ดุสิตธานี” เป็นเรื่องฝึกให้ขุนนางได้เรียนรู้การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาลนั่นเอง.


ข้อมูล : 'ดุสิตธานี' โดย นรนิติ เศรษฐบุตร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์