หัวข้อ: ความทรงจำนอกมิติ : โลกกับแผ่นดินไหว-ทำไมถึงถี่และรุนแรงจัง? เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 มีนาคม 2553 07:44:06 <CENTER>(http://www.theresilientearth.com/files/images/earth_magnetosphere.jpg)</CENTER>
พืชพันธุ์ป่าไม้กับสัตว์โลกทั้งหลายจำนวนมาก รวมทั้งมนุษย์เรา-ที่มาทีหลังเพื่อน-ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินของโลกในวันนี้ ในตอนแรกล้วนแล้วแต่ไม่รู้ว่าเราอยู่บนแผ่นดินแผ่นหินเปลือกโลก (crust) ที่สุดแสนจะบางมากเพียงประมาณ 10-40 กิโลเมตร ลิทโธเสฟียร์ (lithosphere) คือเปลือกโลกที่เป็นหินเป็นภูเขาจะมีความหนามากกว่านั้นเล็กน้อย คือหนาประมาณ 0-60 กิโลเมตร นั่น-เมื่อเทียบกับขนาดของโลกที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึงราวๆ 12,000 กิโลเมตร แถมที่สำคัญ แผ่นดินแผ่นหินดังกล่าวยังไหลเลื่อนเคลื่อนที่ตลอดเวลา เนื่องจากการที่มันลอยบนของเหลวที่ร้อนจัด โดยเคลื่อนที่ช้ามากเพียงหนึ่งนิ้วต่อปีไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตก เพราะโลกเราหมุนรอบตัวเองไปรอบๆ ดวงอาทิตย์แบบทวนเข็มนาฬิกา จริงๆ แล้วสถิติจะบอกเราว่า ทั่วทั้งโลกจะมีแผ่นดินสั่นไหวน้อยๆ โดยสังเกตไม่รู้ไม่เห็นในทุก 30 วินาที แต่จะมีขนาดใหญ่ที่รุนแรงราวๆ 4-5 มาตรของริกเตอร์ขึ้นไปประมาณ 15-20 ครั้งต่อปี แต่แทบทั้งหมดจะมีความรุนแรงอยู่แค่นั้น แต่ในระยะหลังๆ มานี้โลกเรามีแผ่นดินไหวจริงๆ ถี่ขึ้นกว่านี้ และที่สำคัญอย่างยิ่ง ในส่วนที่ใหญ่กว่าจะมีความรุนแรงมากว่าก่อนหน้านี้มากนัก เฉพาะปีนี้ปีเดียวและเพิ่งผ่านไปสองเดือนเศษๆ เท่านั้น โลกเราได้มีแผ่นดินไหวตั้งแต่ร่วม 6 มาตรของริกเตอร์ไปแล้วถึงแปดครั้ง รวมทั้งที่ไต้หวัน-ตุรกีซึ่งมีขนาดราวๆ 6-7 มาตรของริกเตอร์ มีสองครั้งที่มีขนาดใหญ่เกินกว่า 8.5 ริกเตอร์สเกล ริกเตอร์สเกล หรือมาตรวัดของชาร์ลส์ ริกเตอร์ นั้น เป็นมาตรที่เราใช้วัดความหนักหน่วงรุนแรง (magnitude) ของแผ่นดินไหว จริงๆ แล้วมาตรของริกเตอร์สเกลนี้จะมีแค่ 9 สเกลเท่านั้น แต่แผ่นดินไหวที่ไหนที่มีขนาดหนักเกินกว่า 9 มาตรของริกเตอร์ เราจะถือว่าเกินมาตรปกติของแผ่นดินไหวของริกเตอร์ บางคนจึงคิดว่าริกเตอร์สเกลมี 10 ระดับ ผู้เขียนถึงได้คิดว่าเพื่อให้จำง่าย ทั้งสมัยก่อนไม่ค่อยพบกัน ที่รู้มาก็มีเพียงครั้งเดียวที่ชิลีเหมือนกันในปี 1960 ขนาด 9.7 ริกเตอร์ และก็ที่สุมาตราในมาตรที่ไม่น้อยกว่ากันเท่าไหร่ ซึ่งได้ก่อสึนามิที่ชายฝั่งทะเลอันดามันที่บ้านเรา และมีคนตายไปหลายหมื่นคนเมื่อปลายปี 2004 บางคนที่ว่าจึงนับให้ริกเตอร์สเกลมีทั้งหมดเป็น 10 ระดับเสียเลย อีกอย่างหนึ่งต่อนี้ไปดูจากปริมาณแผ่นดินไหวที่มีถี่ขึ้นและจะรุนแรงหนักขึ้นดังที่สถิติมันบอก แผ่นดินไหวจึงมีแต่หนักหน่วงขึ้น ฉะนั้นต่อไปนี้ระดับริกเตอร์สเกลที่มีเพียง 9 หรือ 8 ระดับด้วยซ้ำคงจะไม่พอ อนึ่ง-ดังที่ผู้เขียนได้เขียนมาแล้วว่า อาจจะมีการย้ายขั้วโลกจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก (ซึ่งเคยมีมาแล้วหลายครั้งในอดีต) และอาจจะเกิดอีกเมื่อไรก็ได้หรือเร็วๆ นี้ก็ได้ ระดับของริกเตอร์สเกลนั้น แต่ละระดับจะมีความหนักหน่วงรุนแรงนับเป็น 10 เท่าของระดับที่ต่ำกว่าเสมอไป พูดง่ายๆ ให้เอา 10 ไปคูณกับระดับที่มีความหนักหน่วงรุนแรงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหนึ่งระดับ ฉะนั้นระดับ 6 อาจจะยกตึกขนาดหลายหมื่นตันได้อย่างสบายๆ แต่ขนาด 7 จะให้พลังงานถึง 10 เท่าของระดับ 6 การย้ายที่ของแผ่นดินแผ่นหินของเปลือกโลก (lithosphere) นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลกเรา เพียงแต่เรายังไม่รู้ว่าแผ่นดินไหวและมหาสมุทรไหวมันเกิดได้อย่างไร? เรารู้แต่สิ่งที่ตามองเห็นหูได้ยินเท่านั้น มิน่าเราถึงเชื่อแต่สิ่งที่อวัยวะสัมผัสบอกเราเท่านั้น เราอยู่กับทฤษฎีกับเหตุผลที่เราใช้ความคิดคิดขึ้น ความรู้ที่เรามีทั้งหมด ครึ่งหนึ่งจึงเป็นความเชื่อที่เชื่อตามๆ กันมาและเราคิดว่ามีเหตุผล อีกครึ่งหนึ่งถึงเป็นความรู้ที่เรารู้จริงๆ เพราะเราเห็นหรือได้ยินหรือสัมผัสได้ และเป็นความจริงทางโลกเท่านั้น เพราะฉะนั้น ปฐพีวิทยา เรื่องของโลก เรื่องของดินของหินนั้น ก็เช่นเดียวกับความรู้ทั้งหลาย คือครึ่งหนึ่งเราไม่รู้ ครึ่งหนึ่งเรารู้เพราะตาเราเห็น เช่นรู้เพราะเชื่อตามที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า 99% ของธาตุที่ประกอบเป็นแผ่นเปลือกโลกนั้นมีอยู่สิบธาตุเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าเปลือกโลกมีขึ้นมาอย่างไร ทวีปหรืออเมริกาและประเทศไทยเรามีมาอย่างไร? ทั้งหมดเป็นแค่ทฤษฎีที่ไม่มีข้อพิสูจน์ตลอดกาล อยู่ที่ใครเชื่อมากน้อยเพียงใด หรือมีเหตุผลที่เราสมควรเชื่อตามหรือไม่? ฉะนั้น ทฤษฎีแผ่นเปลือกโลก (plate tectonic theory) ที่มีขนาดใหญ่มากๆ 6 แผ่น และมีขนาดเล็กย่อยๆ อีกสิบกว่าแผ่น (ซึ่งเกิดจากการแตก-เบียดเสียดกันที่รอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกแผ่นใหญ่ที่ว่านั้น) ในปัจจุบันนี้ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏ แต่นักปฐพีวิทยาบางคนคาดกันว่า เป็นธรรมชาติของโลกที่แผ่นเปลือกโลกใหญ่ๆ จะต้องย้ายเร็วขึ้นเป็นวัฏจักรของมัน และแผ่นเปลือกโลกแผ่นใหญ่ที่มีหกแผ่นนั้น ขณะนี้บางแผ่น เช่น แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกได้มีการย้ายที่มีอัตราเร่งที่เร็วขึ้นมาก และนี่เองอาจอธิบายการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศชิลี ขนาด 8.7 มาตรของริกเตอร์ ที่น้อยกว่าแต่มีจุดศูนย์กลาง (focus) ที่ลึกกว่าแผ่นดินไหวเมื่อปี 1960 ที่มีความรุนแรงถึง 9.6 ริกเตอร์สเกล แต่การไหวที่ประเทศชิลีเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ถึงกับทำให้แกนโลกเอียงไปทางตะวันตกถึง 8 ซม. (ซึ่งได้เคยมีรายงานมาแล้ว (Sciencetific American, 1996 ว่าเพราะน้ำที่กักเอาไว้ที่เขื่อนฮูเวอร์ ทำให้การหมุนรอบตัวเองของโลกฉุดให้แกนโลกต้องเอียงไปทางทิศตะวันตกก่อนหน้านี้อยู่แล้วถึงสามนิ้ว เพราะฉะนั้นแกนโลกหรือขั้วโลกเหนือในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ได้ย้ายไปทางทิศตะวันตกไปแล้ว รวมกันประมาณ 15.5 ซม.) หากเกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณทวีปอเมริกาใต้หรือบริเวณแอฟริกาใต้สุดอีก และหากแผ่นดินไหวนั้นมีจุดที่ปล่อยพลังงาน (focus) ลึกใต้ผืนดินไปเยอะๆ หรือไม่ก็แผ่นดินไหวในทวีปแอนตาร์กติกเอง ก็อาจทำให้มีการย้ายขั้วโลกได้ การย้ายขั้วโลกเหนือไปมากๆ อาจจะก่อความล่มสลายหายนะให้กับสัตว์โลก รวมทั้งมนุษยชาติด้วยอย่างรุนแรง ยิ่งกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโชิมาและนางาซากิระเบิดพร้อมๆ กันนับแสนนับล้านลูกทีเดียว อย่าลืมว่าการหมุนรอบตัวเองของโลกและแกนโลกนั้น ให้เรานึกถึงลูกข่างที่กำลังหมุนติ้วๆ อยู่ตลอดเวลา และฐานของมันหรือปลายล่างสุดของลูกข่างที่หมุนกับพื้น หรือทวีปแอนตาร์กติกหรือแอนตาร์กติกานั้น เป็นเทือกเขาสูงเหมือนเทือกเขาแอลป์ในยุโรป แถมยังมีน้ำแข็งปกคลุมบางแห่งที่หนาถึงสี่กิโลเมตร เราพอนึกภาพออกว่าขั้วโลกใต้มันแน่นหนาและหนักเพียงไร นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่ามันหนักและไม่เปลี่ยนแปลงมากเลย มาตั้งแต่มีแผ่นดินแผ่นหินที่ก่อประกอบเป็นทวีปกอนดาวันแลนด์ ทวีปดึกดำบรรพ์ที่รวมทวีปทั้งหมดของโลกไว้-รวมทั้งทวีปแอนตาร์กติกเอง-เมื่อประมาณ 600 ล้านปีก่อน เพราะฉะนั้น ฐานของลูกข่างหรือขั้วโลกใต้จึงน่าจะไม่ย้ายตำแหน่งเลยมาตั้งแต่ต้น ตรงกันข้ามกับขั้วโลกเหนือที่เคยย้ายที่มาแล้วถึง 200 ครั้งในกว่า 600 ล้านปีก่อน หรืออย่างน้อย 16 ครั้งในระยะหลังหรือไม่กี่ล้านปีมานี้ (Charles Hapgoods: Paths of the Pole, 1970) ที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เขียนคำนำให้และยกย่องแฮปกูดไว้เป็นพิเศษในหนังสือเรื่องเดียวกันที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านั้น ก่อนที่ไอน์สไตน์จะเสียชีวิตในปี 1955 แฮปกูดบอกว่าการย้ายที่ของขั้วโลกเหนือนั้นในทุกๆ ครั้งจะย้ายไม่เกิน 30 ดีกรี หรือ 2,000 ไมล์ (3,200 กิโลเมตร) ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง มีอยู่อีกสองประเด็นที่ชาร์ลส์ แฮปกูด คิดจากการที่ตนค้นคว้ามา นั่นคือ หนึ่งการย้ายขั้วโลก (เหนือ) มักจะเกิดพร้อมๆ กับการเกิดธารน้ำแข็ง หรือทิศทางไหลของเกลซิเอชัน (glaciation) และการเกิดยุคน้ำแข็งที่เกี่ยวข้องกับการลดต่ำของสนามแม่เหล็กโลก (geomagnetics or magnetosphere) และการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ สอง-การย้ายขั้วโลกซึ่งความจริงก็คือการย้ายแผ่นเปลือกโลกทั้งหมดเลย ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นวันๆ แต่จะกินเวลานานหลายปีหรือบางทีนับร้อยๆ ปี แต่เมื่อการย้ายแผ่นเปลือกโลกได้เกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีอัตราเร่งเกิดขึ้นมากโดยเราไม่มีทางรู้ตัวเลย หลักฐานที่ชาร์ลส์ แฮปกูด ใช้คือ การใช้การสลายตัวของกัมมันตภาพรังสีของคาร์บอนและไอโอเนียม (radioactive carbon and ionium) ด้วยการตรวจของทั้งสองประการ แฮปกูดบอกว่าด้วยหลักฐานดังกล่าว เขาคิดว่าขั้วโลก (เหนือ) ในตำแหน่งที่เรารู้ว่าอยู่ในตำแหน่งของมันในปัจจุบันนี้นั้น ก่อนหน้านี้เมื่อราวๆ 18,000 ปีก่อน มันได้เริ่มย้ายจากตำแหน่งที่มันเคยอยู่ (ที่กรีนแลนด์) มาอยู่ที่อ่าวฮัดสันซึ่งต่ำกว่าตำแหน่งในปัจจุบันมาก คืออยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 60 องศาเหนือ และเส้นรุ้งที่ 87 องศาตะวันตก ซึ่งในตอนนั้นเป็นเวลาที่ธารน้ำแข็งของอเมริกาเหนือเกิดมีมากที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่อากาศหนาวจัดที่สุดของยุคน้ำแข็ง (ซึ่งเริ่มราวๆ 90,000 ปีก่อน และน้ำทะเลที่แข็งได้ทำให้มีทางเดินบนพื้นดินสูงถึง 400 ฟีต เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปอเมริกาเหนือที่อะแลสกาพอดี) ยุคน้ำแข็งไม่ว่าใหญ่หรือเล็กเป็นคนละเรื่อง หรือมีคนละเหตุปัจจัยกับภาวะโลกร้อนที่เป็นฝีมือของมนุษย์กับเทคโนโลยี และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมการตลาดเสรี ในขณะที่ยุคน้ำแข็ง-ไม่ว่าจะมีการย้ายขั้วโลก (เหนือ) หรือไม่?-เป็นเรื่องของวัฏจักรธรรมชาติ และยุคน้ำแข็งนั้นนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสัมพันธ์กับจุดดำในดวงอาทิตย์ (sun spots) และการหายไปของแมกนีโตสเฟียร์ของโลก ซึ่งทั้งสองกรณีก็กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้พอดี แถมเรื่องของแผ่นดินไหวที่มีทั้งถี่ขึ้นและรุนแรงหนักหน่วงยิ่งขึ้น จากการย้ายแผ่นเปลือกโลกแผ่นใหญ่ที่มีหลายๆ จุดและหลายๆ แผ่นด้วย เราไม่รู้ว่าแผ่นดินไหวใหญ่จริงๆ และการย้ายแผ่นเปลือกโลกพร้อมๆ กันทั้งหมดหรือแผ่นใหญ่ๆ เพียงบางส่วน อันเป็นสาเหตุของการย้ายตำแหน่งของขั้วโลกเหนือ-ที่ชาร์ลส์ แฮบกูด บอกว่าการย้ายที่แต่ละครั้งจะมีไม่เกิน 30 ดีกรี และไม่เกิน 2,000 ไมล์ที่ได้กล่าวมา แล้วจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? เพราะธรรมชาตินั้นเราจะทำนายอย่างเป๊ะๆ ไม่ได้เลย ไม่เหมือนกับภาวะโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ อย่างน้อยก็มากกว่าครึ่งหนึ่งที่บอกได้บ้าง เช่นเมื่ออุณหภูมิของโลกในเทมเพอเรตโซน (ยุโรปและตอนเหนือของสหรัฐอเมริกากับแคนาดา) เกินกว่า 5 องศา และก๊าซคาร์บอนในบรรยากาศเกินกว่า 390-400 ppm ซึ่งกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนคาดว่า-ตรงตามคำสัมภาษณ์ที่ให้กับหนังสือพิมพ์การ์เดียนเมื่อปีที่แล้วของนักวิทยาศาสตร์ใหญ่อังกฤษ เจมส์ ลัฟล็อก เพียงย่นเวลามาใกล้ๆ อีกสักหน่อย-โลกเราจะมีมนุษย์เหลืออยู่ไม่ถึง 20% ทั่วทั้งโลก ที่เกิดขึ้นเพราะภาวะโลกร้อนและน้ำท่วมโลก ผู้เขียนคิดเอาเอง และเป็นไปได้ที่อาจจะคาดหมายว่าภัยธรรมชาติอันนี้คงจะมาก่อน และที่จะมาทีหลังระยะใกล้ๆ นั้น คือแผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยมีมา จะเกิดทวีปอเมริกา (ใต้หรือเหนือ) พร้อมๆ กันนั้นก็จะมีการย้ายแผ่นเปลือกโลก ที่จะทำให้เกิดการย้ายตำแหน่งของขั้วโลกเหนือไปทางทิศตะวันตก ประเทศไทยจะย้ายที่ไปทางทิศเหนือกับตะวันตก จะเข้าไปใกล้ๆ ขั้วโลกเหนือที่ตำแหน่งใหม่อีกนับเป็นพันๆ กิโลเมตรทีเดียว บวกกับยุคน้ำแข็งที่จะมาถึงพร้อมๆ กันนั้น เนื่องจากการหายไปของจุดดำของดวงอาทิตย์ (Maunder minimum) จึงอาจมีหิมะตกได้ดังที่อาจารย์อาจอง ชมสาย ณ อยุธยา ทำนายไว้. http://www.thaipost.net/sunday/140310/19303 (http://www.thaipost.net/sunday/140310/19303) |