[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 17 ตุลาคม 2558 11:08:30



หัวข้อ: อักษร ฃ และ ฅ ยังมีอยู่ในแบบอักษรไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 ตุลาคม 2558 11:08:30
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/39154054183098__3626_1.gif)

ฃ และ ฅ ยังมีอยู่ในแบบอักษรไทย
The Presence and Use
of ‘’Kho Khuat and ‘Kho Khon’, Letters of Thai Alphabet

ผู้สนใจอักษรไทยถามว่า ปัจจุบันอักษร  ฃ และ ฅ   หายไปไหน ยังคงมีอยู่ในกลุ่มอักษรไทยหรือไม่

ก่อนตอบคำถามนี้ ขอย้อนหลังไปถึงสมัยแรกที่ปรากฏมีอักษรไทยขึ้นในโลก

เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีเศษล่วงมาแล้ว ดินแดนอันเป็นที่ตั้งประเทศไทยปัจจุบันแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเลยขึ้นไปถึงบริเวณลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน มีกลุ่มชนคนไทยตั้งหลักแหล่งเป็นชนกลุ่มย่อยแผ่กระจายอยู่ทั่วไปตามบริเวณลุ่มน้ำเหล่านั้น ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จึงได้รวมตัวกันสร้างความเป็นชาติอิสระขึ้น ก่อตั้งอาณาจักรล้านนาที่ลุ่มน้ำแม่ปิง  อาณาจักรสุโขทัยที่ลุ่มแม่น้ำยม และอาณาจักรศรีอยุธยาที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ความเป็นชาติไทยของคนไทยได้ปรากฏขึ้นในโลกนับแต่นั้นเป็นลำดับสืบมาจนถึงปัจจุบัน

หลักฐานที่ได้จากจารึกสุโขทัยทำให้ทราบชัดว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งอาณาจักรสุโขทัยทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่บ้านเมืองนานัปการ โดยที่พระองค์น่าจะทรงเล็งเห็นว่า ความเป็นอิสรภาพของชาติจะแผ่ไพศาลได้ ต้องมีอารยธรรมที่บ่งบอกความเป็นไทยได้ชัดเจนโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พี่น้องไทยทุกกลุ่มได้รับรู้กันทั่วไปว่า บัดนี้ไทยมีประเทศเป็นของตนเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงกระทำให้เห็นเด่นชัดก็คือ ทรงคิดประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นในพุทธศักราช ๑๘๒๖ ดังปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๘ - ๑๑ ความว่า
“...เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้ จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้...”

ลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ขึ้นนั้นได้เปลี่ยนแปลงพัฒนารูปแบบและแพร่ขยายอิทธิพลไปอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงครึ่งศตวรรษ ก็เปลี่ยนเป็นรูปอักษรไทยสุโขทัยและเผยแพร่ไปสู่อาณาจักรใกล้เคียง ที่อาณาจักรล้านนาซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรศรีอยุธยาซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของอาณาจักรสุโขทัย

รูปอักษรที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาดังกล่าวข้างต้นเป็นการเปลี่ยนไปเฉพาะลักษณะรูปสัณฐานแห่งเส้นอักษรเท่านั้น ส่วนจำนวนตัวอักษรยังคงมีอยู่ครบถ้วนเท่าเดิม ถึงแม้ว่าในเอกสารโบราณบางชิ้น รูปตัวอักษรบางตัวจะไม่ปรากฏให้เห็น ก็มิใช่ว่าจะเลิกใช้ โดยเฉพาะรูปอักษร ฃ และ ฅ ยังคงมีใช้อยู่ตลอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงปัจจุบัน ดังตัวอย่างภาพที่ ๑ – ๕ ดังนี้



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/43395126859346__3626_2.gif)
ภาพที่ ๑ รูปอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย พุทธศักราช ๑๙๓๕
จารึกปู่ขุนจิด ขุนจอด ด้านที่ ๓ บรรที่ ๕ ความว่า...กินเมืองนอกฃอกแฅม...

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/28705918499165__3626_4.gif)
ภาพที่ ๒ รูปอักษรฝักขาม ภาษาไทย พุทธศักราช ๒๐๒๗
จารึกพระพุทธรูปในถ้ำ (เชียงราย) ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๓ ความว่า...คูไวเป็นฃองบูชา...

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/23303674451178__3626_5.gif)
ภาพที่ ๓ รูปอักษรไทยที่ซิมอน เดอ ลาลูแบร์
บันทึกไว้ในหนังสือ Du royaume de Siam
ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/37605793360206__3626_6.gif)
ภาพที่ ๔ รูปอักษรไทย จากหนังสือชั้นประถม กข ก กา
เข้าใจว่าเป็นหนังสือที่หมอบรัดเลย์พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก
ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/19085848745372__3626_7.gif)
ภาพที่ ๕ รูปอักษรไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พุทธศตวรรษที่ ๒๕

ในระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ความเจริญด้านการพิมพ์หนังสือไทยด้วยเครื่องพิมพ์ ได้เข้ามาสู่ประเทศไทย มีการสร้างแท่นพิมพ์พร้อมตัวพิมพ์ขึ้น พิมพ์หนังสือออกเผยแพร่ ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ การพิมพ์หนังสือของไทยเรานั้น นอกจากจะพิมพ์จากแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์แล้ว ยังใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์ตัวอักษรด้วย แต่เนื่องจากแป้นพิมพ์ดีดที่สร้างขึ้นในครั้งนั้นมีจำนวนแป้นอักษรน้อยกว่าจำนวนรูปอักษร ผู้สร้างจึงตัดอักษร ฃ และ ฅ  ออก  ทำให้อักษร ๒ ตัวนี้หายไปจากแป้นพิมพ์ดีด เป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดว่าอักษร ๒ ตัวนี้เลิกใช้แล้ว  แต่ปัจจุบันเครื่องพิมพ์สมัยใหม่มีความเจริญพัฒนาขึ้น อักษร ฃ และ ฅ ได้กลับเข้าสู่ระบบการพิมพ์ สามารถใช้รูปอักษรไทยได้ครบทั้ง ๔๔ ตัวเช่นเดิม  

ฉะนั้น จึงขอยืนยันว่ารูปอักษรไทยยังคงมีจำนวนเท่ากับเมื่อสร้างโดยเฉพาะ อักษร และ ยังคงมีอยู่ และใช้ได้เหมือนเดิมจนถึงปัจจุบัน


ถามมา-ตอบไป เรื่อง อักษร ฃ และ ฅ ยังมีอยู่ในแบบอักษรไทย โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (ข้าราชการบำนาญ) กรมศิลปากร



หัวข้อ: Re: อักษร ฃ และ ฅ ยังมีอยู่ในแบบอักษรไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 13:12:27
./size]

นานาทัศนะ ของผู้ทรงความรู้
ที่ได้ค้นคว้าศึกษา และแสดงความคิดเห็นผ่านบทความ
เรื่อง ฃ และ ฅ ยังมีอยู่ในแบบอักษรไทยหรือไม่?
จึงนำเสนอข้อมูลมาเพื่อพิจารณาค่ะ...
และโปรดอย่าลืมว่าพยัญชนะไทยในปัจจุบันมี ๔๔ ตัว (ซึ่งรวมถึง ฃ และ ฅ อยู่ด้วย)
 kimleng

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/75306672230362__3586_.gif)
พยัญชนะ ปรากฏในภาพนรกภูมิ
จิตรกรรมหน้าบันพระวิหารวัดม่วง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

ค.คน (ฅ) ที่หาย

              ฯลฯ
หนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม เล่ม ๙ (สำนักพิมพ์สารคดี พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๓) คำถามที่ ๘๘๙ ข.ขวด (ฃ) กับ ค.คน (ฅ) หายไปตั้งแต่เมื่อไร?  รศ.ดร.คุณหญิง สุริยา รัตนกุล ผู้เขียนหนังสือ ข.ขวด ค.คน หายไปไหน? ศึกษาความเป็นมาของพยัญชนะทั้งสอง และชี้ให้เห็นว่า หากเริ่มนับตั้งแต่ที่พบครั้งแรก ฃ ฅ ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย จนถึงการประกาศเลิกใช้ ในปทานุกรม พ.ศ.๒๔๗๐ และพจนานุกรม พ.ศ.๒๔๙๓  ฃ ฅ ใช้ในภาษาไทยนานถึง ๗๐๐ ปี

หากแต่อัตราการใช้ และความแม่นยำที่ใช้ แตกต่างกันไปตามยุคสมัย

เดิม ฃ ฅ เป็นพยัญชนะแทนเสียงซึ่งเคยใช้กันมาแต่เดิม (แตกต่างจากเสียง ข.ไข่ และ ค.ควาย) แต่เสียงนี้หายไปในระยะหลัง เป็นเหตุให้พยัญชนะทั้งสอง หมดความสำคัญในภาษาไทยปัจจุบัน

รศ.ดร.คุณหญิง สุริยา บอกว่า เมื่อครั้งที่มีการประดิษฐ์พิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ ผู้ประดิษฐ์ได้ตัด ฃ ฅ ทิ้ง ด้วยเหตุว่าพื้นที่บนแป้นพิมพ์ดีดไม่เพียงพอ และยังให้เหตุเพิ่มเติมว่า เป็นพยัญชนะที่ไม่ค่อยได้ใช้และสามารถแทนด้วยคำพยัญชนะอื่น

นี่อาจเป็นครั้งแรก ที่ ฃ ฅ ถูกตัดทิ้งอย่างเป็นทางการ

ครั้งต่อมา ก็คือการประกาศงดใช้ ค.คน (ฅ) ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งปรับปรุงภาษาไทยให้เจริญก้าวหน้าในยุครัฐนิยม รวมถึงการประกาศเลิกใช้ในปทานุกรมและพจนานุกรม ดังได้กล่าวแล้ว

อาจารย์คุณหญิง สุริยา ตั้งข้อสังเกตว่า แต่ก่อน พยัญชนะ ค.คน (ฅ) ไม่ได้ใช้ในคำว่า คนเลย  ค.คนใช้ในคำ ค.คอเสื้อ

ความสับสนเรื่องนี้ คงเกิดมาจาก ก.ไก่ คำกลอน ผลงานของครูย้วน ทันนิเทศ ในหนังสือแบบเรียนไว เล่ม ๑ ตอนต้น พ.ศ.๒๔๗๓ ที่แต่งว่า ค.คนโสภา แล้วต่อมา หนังสือ ก.ไก่ ฉบับประชาช่าง ก็แต่งว่า ค.คนขึงขัง

ก.ไก่ฉบับนี้ เป็นฉบับที่คนรุ่นปัจจุบันคุ้นเคยที่สุด แล้วก็เลยพลอยเข้าใจว่า ค.คน (ฅ)  ใช้ในคำว่า คน

พอได้ข้อสรุปว่า ตอนนี้พยัญชนะไทย เหลือใช้กันแค่ ๔๒ ตัว คนไทยก็ไม่เดือดร้อนอะไร หากอยากใช้ ข.ขวด (ฃ) ก็ใช้ ข.ไข่ อยากใช้ ค.คน (ฅ) ก็เลือกใช้ ค.ควาย แทนได้สบายๆ
               ฯลฯ



ข้อมูล : คอลัมน์ชักธงรบ "ค.คน (ฅ) ที่หาย" น.๓ นสพไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙