[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 28 เมษายน 2559 15:57:32



หัวข้อ: ที่มาของชื่อเดือนในปฏิทิน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 เมษายน 2559 15:57:32

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/59873529854747_view_resizing_images_1_.jpg)

ที่มาของชื่อเดือนในปฏิทิน

ชื่อเดือนในภาษาไทยทั้ง ๑๒ เดือน ในปฏิทินสุริยคติไทย ซึ่งก็คือปฏิทินอย่างเป็นทางการของประเทศไทยในปัจจุบัน ตั้งโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

ย้อนไป พ.ศ.๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศใช้ปฏิทินแบบใหม่ตามสุริยคติตามแบบสากล (จากเดิมที่ประเทศไทยใช้แบบจันทรคติ คือปฏิทินที่นับตามคติการโคจรของดวงจันทร์ โดยหมายดูจากปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา หรือเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ ๔) ซึ่งทรงสนพระทัยในวิชาโหราศาสตร์ ทรงเป็นผู้คิดปฏิทินไทยใช้ตามสุริยคติ เรียกว่า "เทวะประติทิน" ทั้งกำหนดชื่อเดือนขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่ใช้เดือนอ้าย เดือนยี่ ถึงเดือนสิบสอง เป็นชื่อเดือนแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงใช้คำว่า "ปฏิทิน" แทนประติทิน)

โดยกำหนดแบ่งให้หนึ่งปีมี ๑๒ เดือน และในแต่ละเดือนจะมี ๒๘-๓๑ วันตามปฏิทินสากล การตั้งชื่อเดือนในครั้งนั้นกำหนดเดือนแรกของปีคือเดือนเมษายน จนถึงเดือนสุดท้ายของปีคือเดือนมีนาคม ซึ่งยังคงใช้รัตนโกสินทรศกเป็นชื่อปีอย่างเป็นทางการ โดยใช้ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๐๘ แทนที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๒ จนกระทั่งเลิกใช้ปีรัตนโกสินทรศกที่ ๑๓๑ จึงได้เปลี่ยนมาใช้ปีพุทธศักราชอย่างเป็นทางการ โดยปีพุทธศักราชแรกที่ใช้คือปี พ.ศ.๒๔๕๖

ทั้งนี้ การตั้งชื่อเดือนทรงใช้ตำราจักรราศี ซึ่งแสดงการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ในหนึ่งปีตามวิชาโหราศาสตร์ โดยทรงนำคำสองคำมาสนธิกัน คำต้นเป็นชื่อราศีที่ปรากฏในช่วงเวลานั้น รวมกับคำว่า "อาคม" หรือ "อายน" ที่แปลว่า "การมาถึง" โดยได้ระบุวันอย่างชัดเจน คือ คำว่า คม สำหรับเดือนที่มี ๓๑ วัน และคำว่า ยน สำหรับเดือนที่มี ๓๐ วัน (ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ที่มี ๒๘ หรือ ๒๙ วัน ถ้าเป็นปีอธิกสุรทิน) ดังนี้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/93148666537470_view_resizing_images_2_.jpg)

มกราคม อักษรย่อ ม.ค. อ่านว่า มะ-กะ-รา-คม รากศัพท์มาจาก มกร+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีมกร (มังกร)
กุมภาพันธ์ ย่อ ก.พ. อ่านว่า กุม-พา-พัน รากศัพท์มาจาก กุมภ+อาพันธ์ แปลว่า การมาถึงของราศีกุมภ์ (หม้อ)
มีนาคม ย่อ มี.ค. อ่านว่า มี-นา-คม รากศัพท์มาจาก มีน+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีมีน (ปลา)
เมษายน ย่อ เม.ย. อ่านว่า เม-สา-ยน รากศัพท์มาจาก เมษ+อายน การมาถึงของราศีเมษ (แกะ)
พฤษภาคม ย่อ พ.ค. อ่านว่า พรึด-สะ-พา-คม รากศัพท์มาจาก พฤษภ+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีพฤษภ (วัว, โค)
มิถุนายน ย่อ มิ.ย. อ่านว่า มิ-ถุ-นา-ยน รากศัพท์มาจาก มิถุน+อายน แปลว่า การมาถึงของราศีมิถุน (ชายหญิงคู่)
กรกฎาคม ย่อ ก.ค. อ่านว่า กะ-ระ-กะ-ดา-คม รากศัพท์มาจาก กรกฎ+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีกรกฎ (ปู)
สิงหาคม ย่อ ส.ค. อ่านว่า สิง-หา-คม รากศัพท์มาจาก สิงห+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีสิงห์ (สิงห์)
กันยายน ย่อ ก.ย. อ่านว่า กัน-ยา-ยน รากศัพท์มาจาก กันย+อายน แปลว่า การมาถึงของราศีกันย์ (สาวพรหมจารี)
ตุลาคม ย่อ ต.ค. อ่านว่า ตุ-ลา-คม รากศัพท์มาจาก ตุล+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีตุล (ตาชั่ง)
พฤศจิกายน ย่อ พ.ย. อ่านว่า พฺรึด-สะ-จิ-กา-ยน รากศัพท์มาจาก พฤศจิก+อายน แปลว่า การมาถึงของราศีพิจิก (แมงป่อง) และ
ธันวาคม ย่อ ธ.ค. อ่านว่า ทัน-วา-คม รากศัพท์มาจาก ธนู+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีธนู (ธนู)

สำหรับปีอธิกสุรทิน คือปีที่มีการเพิ่ม ๑ วันเข้าไปเพื่อให้ปีปฏิทินสอดคล้องกับปีดาราศาสตร์หรือปีฤดูกาล เพราะฤดูกาลและเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์มิได้เกิดซ้ำในจำนวนเต็มวัน ปฏิทินซึ่งมีจำนวนวันในแต่ละปีเท่าเดิมจึงต้องเลื่อนให้ตรงกับเหตุการณ์ที่ปฏิทินควรจะติดตามเมื่อเวลาผ่านไป โดยการแทรกวันหรือเดือนเพิ่มเข้าไปในปีนั้น

การเลื่อนจึงสามารถทำให้ถูกต้องได้ ปีที่มิใช่ปีอธิกสุรทิน เรียกว่า ปีปกติสุรทิน
.....ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

(http://www.mfa.go.th/main/contents/images/text_editor/images/personmfa3.jpg)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ