[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 11 กรกฎาคม 2559 17:23:09



หัวข้อ: “มหามุทรา” โดยท่านทิโลปะ ถ่ายทอดด้วยวาจาแก่ท่านนาโรปะ
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 11 กรกฎาคม 2559 17:23:09
(http://www.naturalawareness.net/image87.jpg)

มหามุทรา อุปะเดชา (Mahamudra Upadesha)

 คำสอนเรื่อง “มหามุทรา”  โดยท่านทิโลปะ  ถ่ายทอดด้วยวาจาแก่ท่านนาโรปะ  ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา  แปลจากภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาทิเบตโดยท่าน โชคฺกี โลโดร  มาร์ปะ  แปลจากอังกฤษเป็นไทย โดย ศูนย์อนัมคาราเพื่อปัญญาเมตตาและสันติสุข

1  ขอนอบน้อมแด่ปัญญาและสติอันสมบูรณ์ซึ่งปรากฏโดยพร้อมเพรียง
2  มหามุทรานั้นไม่อาจนำมาแสดงให้เห็นได้
3  แต่สำหรับเธอผู้อุทิศแล้วต่อครู  ผู้เชี่ยวชาญการฝึกฝนอย่างยิ่งยวด
4  เธอผู้อดทนต่อความทุกข์ทั้งมวล  นาโรปะผู้ชาญฉลาด
5  จงรับเอาสิ่งนี้ด้วยหัวใจเธอ  ศิษย์ผู้มีโชคของฉัน
6  จงฟัง !
7  มองดูธรรมชาติที่ดำรงอยู่ของโลกนี้
8  ล้วนแล้วแต่อนิจจัง  เป็นดั่งภาพลวงตาหรือความฝัน
9  ภาพลวงตาหรือความฝันนั้นมิได้มีอยู่จริง
10  ดังนั้น เธอจงฝึกการปล่อยวางและละวางเรื่องราวทางโลกนี้เสีย
11  ปล่อยวางแม้ผู้รับใช้และญาติ  อันเป็นสาเหตุแห่งการหลงรักและหลงเกลียดชัง
12  จงทำสมาธิโดยลำพังในป่า  อยู่ในที่สันโดษ โดดเดี่ยว
13  ด้วยการดำรงอยู่ในภาวะของการ “ไม่ทำสมาธิ”
14  หากเธอบรรลุถึงการไม่บรรลุถึง  นั่นจึงเป็นการเข้าถึงมหามุทรา
15  สภาวะธรรมในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีความสำคัญใดๆเลย  มีแต่ทำให้หลงรักและหลงเกลียดชัง
16  สิ่งต่างๆที่เราสร้างขึ้นล้วนแล้วแต่ไร้สาระ  ดังนั้นจงแสวงหาสาระของความจริงอันสูงสุด
17  สภาวะธรรมของจิตธรรมดา  ไม่สามารถเห็นถึงความหมายของจิตที่ข้ามพ้น
18  สภาวะธรรมของการกระทำไม่สามารถค้นพบความหมายของการไม่กระทำ
19  หากเธอจักบรรลุถึงความรู้แจ้งแห่งจิตที่ข้ามพ้นและการไม่กระทำ
20  จงตัดที่รากของจิตใจ และให้จิตสำนึกของเธอดำรงอยู่อย่างเปลือยเปล่า (ไม่ปกคลุมด้วยความนึกคิดใด)

21  ทำให้ความนึกคิดที่เป็นเสมือนน้ำเสีย กลับคืนความใสกระจ่างอีกครั้ง
22  โดยไม่ต้องไปหยุดความคิดที่ออกสู่ภายนอก  แต่ปล่อยให้มันหยุดพักด้วยตัวมันเอง
23  เมื่อไม่มีทั้งการปฏิเสธหรือการยอมรับ  เมื่อนั้นเธอได้ถูกปลดปล่อยสู่มหามุทรา
24  ดังเช่นต้นไม้ที่งอกแตกใบและกิ่งก้าน
25  หากเธอตัดที่ราก  ใบและกิ่งก้านเหล่านั้นย่อมหลุดล่วงไป
26  เช่นเดียวกับที่เธอตัดที่รากของจิตใจ
27  ความนึกคิดต่างๆก็จะดับลง
28  ความมืดมิดซึ่งสะสมมาอย่างยาวนานนับพันกัลป์
29  คบเพลิงเพียงอันเดียวก็จะขจัดความมืดไปเสียได้
30  เช่นเดียวกับชั่วขณะเดียวแห่งจิตประภัสสร
31  จะสลายมลายบาปกรรมที่ปกคลุมจิตออกได้
32  สำหรับผู้มีสติปัญญาน้อยกว่า  ซึ่งไม่สามารถเข้าใจได้
33  จงจดจ่อความใส่ใจรู้อยู่กับลมหายใจ
34  ผ่านการฝึกเหลือบสายตาแบบต่างๆ และการฝึกสมาธิแบบจดจ่อ
35  ฝึกฝนจิตใจจนกรทั่ง พักจิตได้อย่างเป็นธรรมชาติ
36  หากเธอรับรู้ถึงอวกาศช่องว่าง
37  ให้ตรึงจิตไว้ตรงศูนย์กลาง  และจะทำให้ขอบเขตสลายไป
38  ดังเช่น ถ้าจิตรับรู้จิต
39  ความนึกคิดก็จะหยุดลง  เธอจะดำรงอยู่ในภาวะไร้ความคิด
40  และเธอก็จะเข้าใจแจ้งในโพธิจิตขั้นสูงสุด

41  ไอน้ำระเหยขึ้นจากผืนดินกลายเป็นก้อนเมฆ  แล้วมลายหายไปในท้องฟ้า
42  โดยมิอาจรู้เลยว่า เมื่อเมฆมลายหายไปแล้ว เมฆเหล่านั้นไปที่ใด
43  เหมือนเช่นคลื่นของความคิด ที่เกิดขึ้นจากจิต
44  จะมลายหายไปได้เมื่อจิตรับรู้จิต
45  อวกาศนั้นไม่มีทั้งสีและรูปร่าง
46  มันไม่เปลี่ยนแปลง  ไม่ถูกแต่งแต้มด้วยสีดำหรือขาว
47  เหมือนเช่นที่จิตประภัสสร  ไม่มีทั้งสีและรูปร่าง
48  มันไม่ถูกแต่งแต้มด้วยสีดำหรือขาว ความดีหรือความชั่ว
49  ดังความบริสุทธิ์และสว่างไสวของดวงอาทิตย์
50  ไม่อาจทำให้มืดมัวลงด้วยความมืด ที่แม้จะยาวนานนับพันกัลป์
51  เหมือนเช่นดังความประภัสสรของจิตเดิมแท้
52  ไม่สามารถทำให้มืดมัวลงด้วยกัลป์ของสังสารวัฏฏ์อันยาวนานได้
53  แม้จะกล่าวว่าอวกาศนั้นว่างเปล่า
54  แต่อวกาศแท้จริงก็ไม่สามารถพรรณนาได้
55  เหมือนเช่นที่เราอาจจะกล่าวว่าจิตเดิมนั้นประภัสสร
56  การให้นามเช่นนั้น ไม่ได้พิสูจน์ถึงความมีอยู่ความเป็นอยู่ได้
57  เพราะอวกาศนั้นปราศจากตำแหน่งแห่งที่อย่างสมบูรณ์
58  เหมือนเช่นจิตแห่งมหามุทรา ไม่ดำรงอยู่ที่แห่งใด
59  โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลง  พักอย่างเบาคลายในภาวะจิตเดิม (ไม่ปรุงแต่ง)
60  การยึดติดก็จะหลวมคลายลงได้อย่างไม่ต้องสงสัย

61  แก่นแท้ของจิตใจเป็นเหมือนเช่นอวกาศ
62  ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งใดที่จะโอบล้อมไปไม่ถึง
63  จงปล่อยให้การเคลื่อนไหวของร่างกายเรียบง่ายกลับเข้าสู่ความเป็นจริง
64  หยุดการพูดคุยที่ไร้ประโยชน์  แต่จงให้คำพูดของเธอนั้นกลายเป็นเสียงสะท้อน
       (มีสติรับรู้ได้ยินในสิ่งที่พูดออกไป)
65  เมื่อไม่มีความนึกคิด  แต่เห็นสภาวะธรรมที่ก้าวข้ามไป
66  ร่างกายเปรียบเหมือนท่อนไม้ไผ่กลวง  ไม่มีแก่นสารใดๆ
67  จิตใจเป็นเหมือนความจริงแท้ของอวกาศ  ไม่ได้มีที่สำหรับความคิด
68  พักจิตให้หลวมเบาสบาย  ทั้งไม่ถือไว้และไม่ปล่อยให้ล่องลอย
69 เมื่อจิตใจไร้ซึ่งจุดหมาย  นั่นคือมหามุทรา
70  ความสำเร็จนี้เป็นการบรรลุซึ่งการตรัสรู้อย่างสูงสุด
71  ธรรมชาติของจิตเดิมแท้นั้นประภัสสร  ปราศจากวัตถุใดให้รับรู้
72  เธอจะพบกับมรรคาของพุทธะ  เมื่อไม่มีแล้วซึ่งหนทางของสมาธิ
73  ด้วยการวางใจอยู่กับการไม่ทำสมาธิ  เธอจะบรรลุความเป็นโพธิสูงสุด
74  นี้คือราชาของการมอง  ข้ามพ้นความยึดติดและถือครอง
75  นี้คือราชาของการทำสมาธิ  โดยปราศจากใจที่ล่องลอยไป
76  นี้คือราชาของการกระทำ  โดยปราศจากความพยายาม
77  เมื่อไม่มีความหวังและความกลัวแล้ว   เธอจะได้ประจักษ์แจ้งต่อเป้าหมาย
78  จิตเดิมที่ไม่มีต้นกำเนิด(ธรรมธาตุ) นั้นปราศจากนิสัยและสิ่งปกคลุม
79  พักจิตลงในแก่นแท้แห่งความไม่เกิด  ไม่แยกแยะระหว่างการขณะทำสมาธิและหลังทำสมาธิ ( ดำรงความเท่าเทียม คือการพักจิตลงที่จิตเดิมในทุกสภาวะจิต)
80  เมื่อความนึกคิดออกไปนั้นทำให้จิตหมดกำลังลง

81  เราจะบรรลุถึงราชาของการมอง  อิสะจากข้อจำกัดทั้งหมด
82  อย่างไร้ขอบเขตและลึกซึ้ง เป็นราชาสูงสุดของการทำสมาธิ
83  ดำรงอยู่โดยปราศจากความพยายามใดๆ คือราชาสูงสุดของการกระทำ
84  ดำรงอยู่โดยปราศจากความหวังใดๆ  คือราชาแห่งผลการปฏิบัติ
85  ในตอนแรก จิตใจเป็นดั่งแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว
86  ในตอนกลาง จิตใจเป็นดั่งแม่น้ำคงคา ไหลเรื่อยช้าลง
87  ในตอนสุดท้าย  เป็นดั่งการรวมตัวของสายน้ำทั้งหมด เหมือนมารดาที่ได้พบกับบุตร
88  แม้ผู้ศึกษาตันตระ ปรัชญาปารมิตา
89  พระวินัย พระสูตร และศาสนาอื่นๆ
90  เหล่านี้  เพียงด้วยตำราและปรัชญาคำสอนทั้งหมด
91  ไม่อาจจะเห็นซึ่งมหามุทราอันประภัสสร
92  เมื่อไม่มีความนึกคิด และปราศจากความปรารถนา
93  จงดำรงอยู่อย่างเงียบงัน
94  มัน (ความนึกคิด) เป็นเหมือนระลอกคลื่นของน้ำ
95  ความประภัสสรจึงถูกปกคลุมด้วยความปรารถนา
96  คำอธิษฐานแท้จริงต่อการปฏิบัติจะเสียไป  เมื่อนึกคิดเพียงแค่ศีลเป็นข้อๆ
97  เมื่อใดที่เธอไม่ต้องปักใจจมอยู่  ไม่ต้องพยายามรับรู้ และไม่หลงทางไปจากปรมัตถ์
98  เมื่อนั้นเธอคือนักปฏิบัติผู้ศักดิ์สิทธิ์  คบเพลิงปัญญาได้ส่องสว่างขึ้นในความมืด
99  ถ้าเธออยู่โดยปราศจากความปรารถนา  ไม่จมอยู่กับสุดขั้วทั้งสอง (เดินสายกลาง)
100  เธอจะได้เห็นธรรมะแท้ของคำสอนทั้งหมด

101  เมื่อเธอมุ่งสู่เส้นทางนี้  เธอจะปลดปล่อยตนเองจากการจองจำของสังสารวัฏฏ์
102  เมื่อเธอทำสมาธิในหนทางนี้  เธอจะเผาไหม้เปลือกหุ้มของกรรมอันไม่บริสุทธิ์
103  เมื่อนั้น เธอจะเป็นดั่ง “ คบเพลิงแห่งคำสอน”
104  แม้ผู้ที่ไม่ได้ทุ่มเทอุทิศตนต่อคำสอนนี้
105  เธอก็ยังสามารถช่วยให้เขารอดได้  จากการจมสู่ห้วงน้ำแห่งสังสารวัฏ
106  สรรพชีวิตช่างน่าเห็นใจ  ต้องทนทุกข์ในภพภูมิเบื้องล่าง
107  ผู้ที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองให้อิสระจากความทุกข์  ควรเสาะหาครูที่ชาญฉลาด
108  เมื่อเต็มเปี่ยมด้วยการอธิษฐานพรจากครู  จิตใจของเธอจะเป็นอิสระ
109  เมื่อเธอแสวงหามุทราในการกระทำ ( การกระทำด้วยจิตที่ปล่อยวางผู้กระทำ การกระทำและผลของการกระทำ)  ปัญญาซึ่งหลอมรวมความหฤหรรษ์และความว่างก็จะบังเกิด
110  การรวมของอุปายะ (วิธีการที่แยบคายนี้) และความรู้จะนำมาซึ่งพรอันประเสริฐ
111  นำมา(วิธีการนี้) และให้ปรากฏอยู่บนแมนดาลา (ชีวิตและทุกสิ่งรอบตัว)
112  นำไปวางไว้ในสถานที่อันสมควรและให้กระจายไปยังทั่วทั้งร่างกาย
113  ถ้าไม่มีแล้วซึ่งความปรารถนา  การหลอมรวมความหฤหรรษ์และความว่างก็จะบังเกิด
114  เธอจะมีอายุยืนยาว โดยปราศจากผมขาว  และสว่างไสวขึ้นดังพระจันทร์
115  ส่องแสงสว่างออกไป  ความเข้มแข็งของเธอก็จะสมบูรณ์
116  สำเร็จพลังทางจิตวิญญาณเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว  และเธอจงแสวงไปให้ถึงพลังทางจิตวิญญาณอันสมบูรณ์
117  ขอให้คำสอนมหามุทรานี้ ดำรงอยู่ในหัวใจของผู้มีโชค เทอญ
(แปลจาก  The Myth of Freedom and the Way of Meditation by Chogyam Trungpa, Shambala Publications, 1976.)

จาก http://www.anamcarathai.com/ (http://www.anamcarathai.com/)