หัวข้อ: หอระฆังแห่งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระฆังซึ่งจะดังเมื่อมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2560 15:18:20 หอระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ระฆังซึ่งจะดังเมื่อมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/84400458799468_10348597_717879214926903_21084.jpg) หอระฆัง ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นใหม่โดยมีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมไทย ย่อมุมไม้สิบสอง (สี่ด้าน ด้านละสามมุม) ประดับด้วยเครื่องถ้วยชามแบบจีน เป็นลวดลายต่างๆวิจิตรพิสดารอย่างยิ่ง ปัจจุบันได้มีการบูรณะซ่อมแซมใหม่ เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 กล่าวกันว่าองค์ระฆัง ได้มาจากวัดระฆังโฆษิตาราม ซึ่งสมเด็จพระพุทธาจารย์โต พรหมรังษีได้ขุดพบพร้อมกับระฆังอีก 5 ใบ แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปว่าเท็จจริงประการใด เนื่องจาก หอระฆังแห่งนี้ตั้งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ระฆังใบนี้จึงจะตีเฉพาะโอกาสสำคัญๆ คือ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชโดยจำตีนับจำนวนครั้งตามลำดับว่าองค์ที่เท่าไหร่ก็ตีเท่านั้น เท่านั้น ข้อมูล: วิกิพีเดีย หัวข้อ: Re: หอระฆังแห่งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระฆังซึ่งจะดังเมื่อมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2560 15:23:58 ด้านนักเขียนชื่อดังอย่าง ส.พลายน้อย เองก็เคยเขียนเกี่ยวกับ หอระฆังวัดพระแก้ว ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ไว้ดังนี้ (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2016/09/%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%86%E0%B8%B1%E0%B8%87-728x1212.jpg) หอระฆังที่เห็นในภาพ เป็นหอระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้รับการยกย่องว่าเป็นหอระฆังที่มีรูปทรงงดงาม ฝีมือการประดับกระเบื้องก็ประณีต ตามประวัติกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้รื้อหอระฆังที่สร้างไว้แต่ครั้งรัชกาลที่ 1 แล้วสร้างใหม่ในที่เดียวกัน ในหนังสือจดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในการฉลองพระนครครบรอบ 200 ปี พุทธศักราช 2525 (กรมศิลปากร) ได้อธิบายต่อไปอีกว่า ในครั้งนั้น “ให้แขวนระฆังซึ่งขุดพบคราวทรงปฏิสังขรณ์วัดระฆังโฆษิตามราม กล่าวกันว่าเป็นระฆังที่มีเสียงกังวานไพเราะอย่างยิ่ง” เรื่องระฆังนี้เป็นปัญหา เพราะมีกล่าวไว้ไม่ตรงกัน ฝ่ายวัดระฆังโฆสิตารามก็ว่าเอามาจากวัดระฆัง ฝ่ายวัดสระเกศก็ว่าเอามาจากวัดสระเกศ จะจริงเท็จอย่างไรก็ไม่ทราบ บางทีอาจจะเป็นระฆังที่เอามาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ครั้นรื้อหอระฆังสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 4 ก็อาจเปลี่ยนระฆังด้วย หรือเปลี่ยนมาก่อนนั้นก็ได้ ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะมีกลอนเพลงยาวของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ กล่าวถึงระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดารามตอนหนึ่งว่า อ้างถึง “ถึงจะทุ่มหนักเบาก็บันดาล ส่งกังวานเสนาะลั่นไม่พลิกแพลง แต่แรกหล่อมาก็นานจนปานนี้ สิบเจ็ดปีที่เป็นนิตย์ไม่ผิดกระแสง” กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2344-2399) ฉะนั้นที่กล่าวว่าระฆังหล่อมาได้นาน 17 ปี จึงเป็นระฆังที่หล่อใหม่อย่างแน่นอน ไม่ใช่ระฆังที่วาเอามาจากวัดสระเกศหรือวัดระฆังที่กล่าวมาข้างต้น แต่จะหล่อไว้เมื่อไรไม่พบหลักฐาน ผู้ที่รู้เรื่องการหล่อระฆังอีกคนหนึ่งก็คือ นายมี กวีมีชื่อในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เขียนจดหมายเหตุพรรณนาถึงระฆังวัดพระแก้วไว้ตอนหนึ่งว่า อ้างถึง “องค์ระฆังแขวนห้อยร้อยเหล็กห่วง อยู่กลางดวงดาวยาววา ๑ ถึงคอเหล็กล้วนปิดทอง ลงมาคล้องหน่วงห่วงนาคหลังระฆังทองหล่อปากแลคอค่างแลขอบรอบไปล้วนใสขัดหมดจด ผ้าพาดและรัดประคดแลปุ่มนั้นปิดสุวรรณคำเปลวล้วน โดยส่วนสูงศอกคืบ ๕ นิ้ว กว้างศอก ๔ นิ้ว ขึ้นลอยลิ่วลั่นชื่อลือเสียงสำเนียงเสนาะ เมื่อถึงยามย่ำบันเดาะเพราะดังเป็นกังวาน วิเวกหวานวังเวงเง่งแว่วเข้าแก้วหู เป็นที่ชูชื่นใจไพร่ฟ้าวงศาสุรศักดิ เคยประจักษ์จำสำเหนียกสำเนียงไก่เมื่อตี ๑๑…” และอีกตอนหนึ่งเล่าประวัติว่า อ้างถึง “ด้วยเดิมที่สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวอันทรงธรรอนันตคุณวิบุลเลิศฟ้าที่ล่วงแล้วนั้นทรงหล่อ พร้อมด้วยพระหน่อสุริวงเสนาองคนางใน ถอดกำไลแหวนทองแลเงินแลนากนั้นหลากหลาย ใส่ละลายหล่อหลอมพร้อมเพรียงเสียงจึงดี ด้วยพระบารมีภินิหารอันทรงหล่อต่อตั้ง มาครั้งนี้เล่าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวอันทรงธรรวิริยาทึก โดยลึกซึ้งแสนละเอียดสุขุมภาพมาทรงปฏิสังขรณ์ ก็ยิ่งวัฒนาถาวรวิจิตรโจกระฆังทั้งจังหวัด คู่บารมีพระศรีรัตนปฏิมากรมรกฏ ซึ่งพระอินทรองค์ทรงรจนามาแต่งตั้ง ใครได้ฟังก็เป็นมงคลควรเงี่ยหูชื่นชูใจ” ตามประวัติอาจเป็นได้ว่าระฆังได้หล่อเมื่อรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ความก็ดูเกี่ยวข้องกันดี สรุปว่าเรื่องระฆังที่เล่ากันมาดังกล่าวข้างต้นไม่เป็นความจริง ที่มา: คอลัมน์ “รูปเก่าเล่าเรื่อง” โดย ส.พลายน้อย ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ 2543 คัดลอกบทความและภาพจาก: www.silpa-mag.com/featured/article_2237 หัวข้อ: Re: หอระฆังแห่งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระฆังซึ่งจะดังเมื่อมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2560 15:30:00 หอระฆัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นให้ครบบริบูรณ์ ตามระเบียบของการสร้างวัดคือ มีพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ พระมณฑปประดิษฐานพระไตรปิฎก และหอระฆัง ระฆังที่นำมาประดิษฐานนี้สันนิษฐานได้เป็น ๒ นัย นัยหนึ่งกล่าวว่า เป็นระฆังซึ่งพบในการขุดสระเพื่อสร้างหอไตร ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และทรงผาติกรรมมาจากวัดนั้น เนื่องด้วยเป็นระฆังที่มีเสียงกังวาลมาก แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวว่าเป็นระฆังที่โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อขึ้นเพื่อประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยเฉพาะ หอระฆังที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีรูปร่างอย่างไร ในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ สันนิฐานว่าสร้างขึ้นในตำแหน่งเดิมโดยรื้อหอระฆังเก่าออกไป แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อเตรียมงานสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงเป็นแม่กองประดับกระเบื้องหอระฆังทั้งหลัง ในรัชกาลที่ ๗ ได้มีการซ่อมเฉพาะส่วนชำรุดโดยทั่วไปพร้อมทั้งลงรักปิดทองประดับกระจกส่วนยอดใหม่ ในรัชกาลที่ ๙ ได้มีการบูรณะในส่วนที่ชำรุดเสียหาย แต่ยังคงรักษาศิลปะเดิมไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ลักษณะสถาปัตยกรรม หอระฆังเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างเป็นบุษบกทรงมณฑป ตั้งบนฐานทักษิณแบบปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง ที่ฐานนี้มีประตูทางเข้า ๔ ด้านทำเป็นซุ้มจรนำรูปโค้งแหลมประดับด้วยกระเบื้องถ้วย หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา เคลือบสีเขียวขอบสีแดง ตอนบนของซุ้มเป็นทรงบันแถลงนาค ๓ เศียร ๒ ชั้น มีช่อฟ้าและหางหงส์เป็นรูปหัวนาค กรอบประตูเป็นไม้ทาสีเขียวเป็นรูปโค้งแหลมตามรูปซุ้มจรนำ ตอนล่างเป็นบานประตู ๒ บาน ทาสีเขียวเปิดเข้าไป ตอนบนเป็นช่องลมกรุด้วยลวดตาข่าย ตรงกลางมีแผ่นไม้รูปกลมรีจำหลักเป็นลายพุดตาน ส่วนล่างของฐานทักษิณประดับด้วยหินอ่อนสีเทารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยรอบ ผนังของฐานทักษิณประดับด้วยกระเบื้องก้นถ้วย รูปกลมสีขาวเป็นพื้น ตกแต่งเป็นดอกด้วยกระเบื้องถ้วยสีต่าง ๆ เฉพาะตรงส่วนย่อมุมไม้สิบสองประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว แบบลายไทย ซึ่งสั่งทำมาจากเมืองจีน พร้อมกับการนำมาประดับที่ปราสาทพระเทพบิดร ตอนบนและล่างทำเป็นบัวหัวเสา และบัวปลายเสาประดับกระเบื้องถ้วย ขอบนอกประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเป็นลายรักร้อย บุษบกประดิษฐานระฆังตั้งอยู่บนฐานเขียง และฐานสิงห์ ๒ ชั้น คั่นด้วยหน้ากระดานฐานบัว ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสีต่าง ๆ ส่วนบุษบกย่อมุมไม้สิบสองเป็นไม้ปิดทองประดับกระจกฐานเสาทำเป็นกาบพรหมศร หัวเสามีคันทวยรับชายคาโดยรอบ ระหว่างเสาตอนบนประดับด้วยสาหร่ายรวงผึ้งปลายลายเป็นพญานาคปิดทอง ตอนล่างประดับด้วยกระจังปูนปั้นประดับกระจก เพดานบุษบกปิดทองฉลุลายเป็นรูปดาวเพดานแขวนระฆังไว้ตรงกลาง ที่มา: www.vcharkarn.com/vcafe/37346 |