หัวข้อ: โองการแช่งน้ำ ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 มีนาคม 2560 12:27:03 (http://www.sookjaipic.com/images_upload/66186613713701_14.gif) เครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลองทองคำ ประกอบด้วยพระแส้ วาลวิชนี (พัชนีฝักขาม) และพัดโบก ศิลปะอยุธยาตอนต้น (พุทธศักราช ๑๙๖๗) พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา . โองการแช่งน้ำ ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา . ผู้เรียบเรียง : กิมเล้ง โองการแช่งน้ำ (ลิลิต) สะท้อนให้เห็นการผสมผสานของความเชื่อในสังคมไทย มีทั้งความเชื่อในเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ พระรัตนตรัยในศาสนาพุทธ และผีตามความเชื่อแบบดั้งเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าว่า อาลักษณ์เป็นผู้อ่านโองการแช่งน้ำ และเมื่ออ่านบทนมัสการเทพเจ้าแต่ละองค์เสร็จ พราหมณ์พระมหาราชครูก็จะนำพระแสงศรอาวุธประจำเทพเจ้าองค์นั้นๆ จุ่มในน้ำที่จะให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชผู้ใหญ่ผู้น้อยดื่ม และได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายถึงพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ไว้ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน มีความตอนหนึ่งว่า...มีคำบอกเล่าว่าแต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ทรงสงสัยว่าน่าจะแต่งก่อนรัชสมัยนั้น และเมื่อทรงพิจารณาจากถ้อยคำตอนท้ายบทซึ่งกล่าวสดุดีพระมหากษัตริย์ใช้คำว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” จึงทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า น่าจะหมายถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา หรือที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าถ้อยคำน่าจะตกหล่นและผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก ทั้งยังมีคำศัพท์ที่เข้าใจยากอยู่ด้วย จนทรงสงสัยว่าอาจมีมาก่อนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ก็เป็นได้ ราชประเพณีถือน้ำนี้ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง มีมาแต่โบราณครั้งกรุงทวารวดีศรีอยุธยาโบราณ เนื่องจากเป็นบทอ่านในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จึงสันนิษฐานกันว่าผู้แต่งน่าจะเป็นพราหมณ์ในราชสำนัก ถ้อยคำที่ใช้มีคำเขมร สันสกฤต คำไทยโบราณ มีการแผลงอักษร การใช้สร้อยสลับวรรค ความบางตอนเป็นคำอรรถ ซึ่งยากแก่การเข้าใจ เนื้อความหลักของลิลิตโองการแช่งน้ำเริ่มด้วยร่ายสามบท เป็นคำสรรเสริญพระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม ตอนต่อมาเป็นโคลงและร่าย เนื้อความว่าด้วยการสร้างโลกตามคติไตรภูมิ แล้วอัญเชิญพระรัตนตรัย ผีสางเทวดา และผู้มีฤทธานุภาพทั้งหลายมาชุมนุมเพื่อเป็นพยานในพิธี แล้วจึงเป็นคำสาปแช่งให้ผู้คิดร้ายไม่ซื่อต่อสมเด็จพระรามาธิบดีต้องประสบภัยพิบัตินานัปการ และอวยพรผู้ที่ซื่อตรงจงรักภักดีให้มีความสุขและลาภยศ อนึ่ง คำแช่งน้ำที่พราหมณ์อ่านมีแบบเป็นโคลงแต่หารู้ว่าแบบโคลงอย่างไรไม่ เรียกแต่ว่าโคลงแช่งน้ำ ซึ่งต่อมา เปลื้อง ณ นคร ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า เป็นหนังสือเรื่องเดียวในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ กล่าวได้ว่าเป็นหนังสือกาพย์กลอนเรื่องแรกที่สุดที่ยังคงมีต้นฉบับอยู่... ประกาศแช่งน้ำนี้เป็นคำแช่งตรงตามชื่อ เป็นโองการสำหรับพราหมณ์อ่านประกาศแก่เทพยดาและผีปีศาจในเวลาทำพิธีถือน้ำ ซึ่งเป็นพิธีที่เสนาข้าราชการแสดงและสาบานตนว่า จะจงรักภักดีต่อหัวหน้า คือกษัตริย์ เดิมเขียนเป็นตัวหนังสือขอม เนื้อความเป็นคำภาษาไทย แต่งเป็นโคลงห้าสลับกับร่ายดั้น แต่แลเห็นได้ชัดว่า ไม่ถือเคร่งทางระเบียบบังคับของการประพันธ์ ผู้แต่งคงจะเป็นพราหมณ์ จะเห็นได้ว่า การใดที่ถือเป็นพิธีหลวงหรือเป็นพิธีในราชสำนักแต่โบราณ มักนิยมให้พราหมณ์เป็นผู้ประกอบการ แม้ปัจจุบันพราหมณ์ที่รับราชการก็จะสังกัด กองพระราชพิธี แผนกพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เพื่อปฏิบัติหน้าที่สำคัญในงานพระราชพิธี ได้แก่ อ่านฉันท์กล่อมช้าง กล่อมพระอู่เจ้านาย กล่อมสมโภชพระแก้วมรกต อ่านฉันท์สดุดีสังเวย พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล และพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะถือว่า พราหมณ์เป็นบุคคลในวรรณะที่ ๑ แห่งสังคมฮินดู ที่ได้รับการยกย่องให้มีวรรณะเหนือกษัตริย์ก็ได้ ดังนั้น เมื่อมีพิธีกรรมชั้นสูงในราชสำนัก พราหมณ์จึงได้รับมอบหมายจากกษัตริย์ให้อ่านโองการสืบมา โดยเฉพาะการอ่านโองการแช่งน้ำที่พราหมณ์เป็นผู้อ่านนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ได้แสดงความเห็นไว้ว่า “...โองการแช่งน้ำได้รับการยกย่องให้เป็นเสมือนหนึ่งมนต์สรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า จึงให้พราหมณ์เป็นผู้อ่าน มิใช่ให้อาลักษณ์อ่านเหมือนคำแช่งอื่นๆ ที่กษัตริย์แต่ละองค์ได้มีรับสั่งให้แต่งขึ้นสำหรับรัชกาลของตน...” ซึ่งตรงกับประกาศการพระราชพิธีได้อธิบายถึงลิลิตโองการแช่งน้ำ ไว้ว่า “พราหมณ์อ่านเมื่อเวลาทรงศีลแล้ววันถือน้ำ” ซึ่งพิธีถือน้ำเป็นพระราชพิธีสำคัญสำหรับแผ่นดินที่มีสืบมาแต่โบราณไม่มีเว้นว่าง ถือกันว่าเป็นพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง ส่วนที่มีความหมายเป็นพิเศษของพิธีก็คือ ให้ผู้เข้าร่วมพิธีสาบานทำสัตย์แล้วดื่มน้ำชำระพระแสง เป็นการสาบานตนว่าจะซื่อสัตย์จงรักภักดีไม่คิดทรยศ แม้องค์พระมหากษัตริย์ก็โปรดเสวยน้ำชำระพระแสงก่อนด้วย เท่ากับพระองค์ได้พระราชทานสัจจะในอันที่จะทรงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในพระราชกรณียกิจต่อพสกนิกร อาจสรุปได้ว่า ลิลิตโองการแช่งน้ำ หรือ ประกาศแช่งน้ำ แต่งขึ้นสำหรับใช้อ่านทำนองสำหรับใช้ในพิธีกรรมคือพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หรือ พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญสำหรับแผ่นดินที่มีสืบมาแต่โบราณ ถือกันว่าเป็นพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง โดยมีพราหมณ์เป็นผู้อ่านสืบทอดกันมาแต่สมัยอยุธยาตอนต้นจนปัจจุบัน ทำให้ทราบประเพณีพราหมณ์ที่ไทยรับมาไว้ในวัฒนธรรมไทยเป็นเวลาช้านาน ปัจจุบัน ในหอสมุดแห่งชาติมีลิลิตโองการแช่งน้ำทั้งที่เป็นอักษรไทย อักษรขอม และอักษรคฤนถ์ ซึ่งนักวรรณคดีได้พิจารณาจากเนื้อหาและถ้อยคำภาษาที่ใช้แล้ว มีความเห็นร่วมกันว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น อ่านทำนองโองการแช่งน้ำ ร่ายโบราณ ๏ โอมสิทธิสรวง/ศรีแก้ว แผ้ว/มฤตยู เอางู/เป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้า/กลืนดิน บินเอาครุฑ/มาขี่ สี่มือถือสังข์/จักรคธาธรณี ภีรุ/อวตาร อสูร/แลงลาญทัก ททัค/-นิจรนาย ฯ ๏ โอมบรเม/ศวราย ผายผาหลวง/อะคร้าว ท้าวเสด็จ/เหนือวัวเผือก เอาเงือก/เกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์/เป็นปิ่น ทรงอินทร/ชฎา สามตาม/พระแพร่ง แกว่ง/เพชรกล้า ฆ่าพิฆัน/จัญไร ฯ ๏ โอมชัยชัย/ไขโสฬสพรหมญาณ บาน/เศียรเกล้า เจ้าคลี่/บัวทอง ผยอง/เหนือขุนห่าน ท่านรังก่อดิน/ก่อฟ้า หน้า/จตุรทิศ ไทมิตร/ดา มหา/กฤตราไตร อมไตย/โลเกศ จงตรี/ศักดิท่าน พิญาณ/ปรมาธิเบศ ไทธเรศ/สุรสิทธิพ่อ เสวยพราหมาณฑ์/ใช่น้อย ประถมบุญ/ภารดิเรก บูรภพ/บรู้กี่ร้อย ก่อมา ฯ ลิลิตโองการแช่งน้ำ อ่านทำนองโองการแช่งน้ำ โคลงห้า
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/79851480035318_1.gif)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/96454308306177_3.gif)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87803477131658__3621_3636_3621_3636_3605_1.gif)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/95634658965799__3621_3636_3621_3636_3605_2.gif)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/75212349452906__3621_3636_3621_3636_3605_3.gif) ลิลิตโองการแช่งน้ำฉบับอักษรไทย (ภาพจากหนังสือพจนานุกรมศัพท์- วรรณคดีไทยสมัยอยุธยา ลิลิตโองการแช่งน้ำฉบับราชบัณฑิตยสถาน) (http://www.sookjai.com/index.php?action=dlattach;attach=11720;type=avatar) เอกสารอ้างอิง : - สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง , โองการแช่งน้ำ,ลิลิต น.๗๕๐๘-๗๕๑๑ มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, เล่ม ๑๕ - เสนาะศัพท์สดับทำนองร้อยกรองไทย, โองการแช่งน้ำ, น.๔๖-๔๙, โครงการสารานุกรมไทยฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว - เว็บไซท์ วิกิซอร์ซ |