[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 14 มีนาคม 2560 14:50:16



หัวข้อ: ฤๅษีดัดตน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 มีนาคม 2560 14:50:16

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/67187901462117__3620_3625_3637_.gif)   (http://www.sookjaipic.com/images_upload/38110600411891_9.jpg)

ฤๅษีดัดตน
เรื่อง : kimleng

ฤๅษี หมายถึงบุคคลประเภทหนึ่งที่มีบทบาทอยู่ในสังคมไทยสมัยโบราณและมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมบางสาขาของไทยเราอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวสัมพันธ์กับอินเดียโบราณ แสดงถึงความสืบเนื่องติดต่อทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศนี้อย่างชัดเจน

ในตำนานหรือนิทานโบราณมักจะเรียกผู้ที่เป็นนักบวชว่า “ฤษี” หรือ “ฤๅษี

คำว่า ฤษี มาจาก ฤษิ แปลว่า ผู้เห็น หมายถึง การแลเห็นด้วยความรู้พิเศษอันเกิดจากญาน  สามารถแลเห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งรวมเรียกว่า ตฺริกาลชฺญ แปลว่า ผู้รู้กาลทั้งสาม ในวรรณคดีพุทธศาสนามีข้อความเปรียบเทียบกำลังความรู้เรื่องในอดีตที่เรียกว่า “ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ” ของฤๅษีกับของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าแตกต่างกัน กล่าวคือ ฤๅษีมีความรู้ระลึกอดีตชาติได้ไม่เกินแปดสิบชาติ แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ระลึกอดีตชาติได้มากมายอันหาที่สุดมิได้ และด้วยคุณธรรมข้อนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าฤๅษีทั้งปวง ดังข้อความในเถรคาถาแห่งขุททกนิกายว่า “พระองค์เป็นผู้ประเสริฐกว่าฤๅษีทั้งหลาย”  

ว่าโดยการแต่งกายของฤๅษี มีแบบแตกต่างกัน เช่น นุ่งห่มด้วยหนังสัตว์ (หนังสือ) นุ่งห่มด้วยผ้าเปลือกไม้ ผ้าย้อมน้ำฝาด เป็นต้น ในมหาเวสสันดรชาดก เมื่อพระเวสสันดรผนวชเป็นฤๅษีก็นุ่งห่มด้วยหนังเสือ  และมีอีกประเภทหนึ่งนุ่งห่มด้วยผ้าขาวล้วน เรียกว่า ชีปะขาว หรือปะขาวดาบส กล่าวว่า ชูชกเมื่อปลอมตนเป็นฤๅษีดาบส เดินทางจากเมืองเชตุดร มารับสองกุมาร กัณหา-ชาลี ในป่าที่พระเวสสันดรบำเพ็ญเพียร ก็นุ่งห่มด้วยผ้าขาว

ในคัมภีร์พระเวท คัมภีร์ปุราณะต่างๆ คัมภีร์ภควัทคีตา กาพย์มหาภารตะ วรรณคดีสันสกฤต มีเรื่องราวเกี่ยวกับฤๅษีเป็นอันมาก แสดงถึงความสำคัญของฤๅษีที่มีอยู่ในสังคมทั้งของสวรรค์และโลกมนุษย์ แม้แต่ในพระไตรปิฎกมีการอ้างถึงบุคคลโดยโคตร เช่น พวกเสฏฐโคตร หมายถึงผู้สืบเชื้อสายมาจากฤๅษีวศิษฐ์  ภารัทวาชโคตร หมายถึงผู้สืบเชื้อสายมาจากฤๅษีภรัทวาช และแม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระสมณโคดมก็ทรงอยู่ในเคาตมโคตร หมายถึงอยู่ในตระกูลอันสืบเชื้อสายมากจากฤๅษีเคาตมหรือโคดม

ฤๅษีดัดตน
การปั้นรูปฤๅษีไม่มีหลักฐานว่าลอกแบบมาจากที่ใด แต่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าคนไทยเคารพนับถือฤๅษีเป็นครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแพทย์แผนโบราณหรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นผู้บอกตำรายาที่ปรุงจากสมุนไพรต่างๆ เพราะฤๅษีเป็นผู้อยู่ป่าและท่องเที่ยวไปในป่า ย่อมรู้จักสมุนไพรนานาชนิดได้ดี ในเมืองไทยหมอยาแผนโบราณต้องปั้นรูปฤๅษีไว้บูชาในฐานะครูแพทย์


ฤๅษีดัดตน
ในสังคมไทยในอดีต มีนักบวช “ฤๅษี” แสวงหาความสงบ บำเพ็ญเพียร นั่งสมาธิ อยู่ตามป่าเขา พอนั่งนานๆ อาจมีอาการเมื่อยขบ เมื่อทดลองขยับเขยื้อนร่างกาย การยึดข้อพับและเกร็งตัวดัดตน ทำให้เกิดท่าทางต่างๆ แล้วทำให้อาการเจ็บป่วยเมื่อยขบบรรเทาหายไป จึงได้สรุปประสบการณ์บอกเล่าสืบต่อกันมา และระบุชื่อฤๅษีผู้คิดท่าซึ่งอาจเป็นกลวิธีทำให้เกิดความขลัง เพราะผู้ฝึกต้องมาฝึกทำท่ากับรูปปั้นเท่ากับฝึกหัดกับครู เพราะฤๅษีเป็นครูของศิลปะวิทยาการทุกสาขา

หมอโบราณบางคนพยายามเชื่อมโยงว่าคนไทยเลียนแบบโยคะของอินเดีย เมื่อดูตามตำราต่างๆ ของโยคะแล้วไม่เหมือนกัน และท่าดัดตนของไทยไม่ใช่ท่าผาดโผนหรือฝืนคนจนเกินไป ส่วนใหญ่เป็นท่าดัดตามอิริยาบถของคนไทย ที่มีความสุภาพ และสามารถปฏิบัติได้โดยคนทั่วๆ ไป อย่างไรก็ตามในจำนวนท่าฤๅษีดัดตน ๘๐ ท่า มีท่าแบบจีน ๑ ท่า แบบแขก ๑ ท่า ท่าดัดคู่ ๑ ท่า แสดงถึงการแลกเปลี่ยนความรู้กัน และมีการระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นของต่างชาติ

ฤๅษีดัดตน นอกจากมีสรรพคุณในการรักษาโรคแล้ว ยังเป็นการบริหารร่างกาย ทำให้ร่างกายตื่นตัวแข็งแรง และเป็นการพักผ่อน

ประโยชน์ของการฝึกท่าฤๅษีดัดตนคือ
๑.ช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของแขนขาหรือข้อต่างๆ ให้เป็นไปอย่างคล่องแคล่ว
๒.ทำให้โลหิตหมุนเวียนเลือดลมเดินสะดวก
๓.เป็นการต่อต้านโรคภัย บำรุงรักษาสุขภาพให้มีอายุยืนยาว
๔.ช่วยยกระดับจิตใจให้พ้นอารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิด ความง่วง ความท้อแท้ ความเครียด เป็นต้น

การฝึกท่าฤๅษีดัดตนในตำรามิได้มีการระบุชัดเจนเกี่ยวกับการหายใจ อย่างไรก็ตามในพุทธศาสนามีการนั่งสมาธิ โดยการฝึกการบริหารลมหายใจเช่นกัน ดังนั้น ท่าฤๅษีดัดตนจึงน่าจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดลมหายใจและการกลั้นลมหายใจด้วย




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/52852229732606_3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/59429096430540_7.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/17170223883456_1.jpg)
ภาพ : ประติมากรรมฤๅษีดัดตน ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
สมัยโบราณ คนไทยสมัยก่อนมักไม่ค่อยได้เรียนรู้หนังสือ เพราะไม่มีสถานที่เรียน
รัชกาลที่ ๓ จึงโปรดฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตที่มีความรู้ความชำนาญแต่ละสาขาวิชา
จดตำราให้นายช่างจารึกไว้ในแผ่นศิลาหรือปั้นรูปแสดงท่าทางต่างๆ ให้เห็นเด่นชัด
เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ แม้คนที่อ่านหนังสือไม่ออกก็สามารถเรียนรู้หรือทำได้ถูกต้อง
เท่ากับสร้างอุปกรณ์ทำการสอนไว้แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/76250617288880_a1.gif)
อ่านความรู้เพิ่มเติมที่
http://www.sookjai.com/index.php?topic=177557.msg208000#msg208000 (http://www.sookjai.com/index.php?topic=177557.msg208000#msg208000)
(กดอ่านที่ตัวอักษรสีเทาค่ะ)

facebook : กิมเล้ง สุขใจดอทคอม